วันพฤหัสบดี

๓.๒ ความสุข และปัญหาเกี่ยวกับแรงจูงใจ

ความสุข คืออะไร ?
ความสุข (ความหมายพื้นฐาน) คือ การได้สนองความต้องการ ความสมอยากสมปรารถนา

ที่จริงความสมอยาก หรือการได้สนองความต้องการนั้น พูดอีกสำนวนหนึ่ง ก็คือการทำให้ความต้องการสงบระงับไปนั่นเอง เหมือนอย่างระงับความกระหาย ด้วยการดื่มน้ำ หรือระงับความหิว ด้วยการกินอาหาร เมื่อความหิวสงบไป หรือเมื่อความกระหายสงบไป ก็เป็นความสุข ดังนั้น เมื่อพูดตามความหมายนี้ ความสงบระงับไปของความต้องการนั่นเอง เป็นความสุข หรือพูดให้สั้นว่า ความสุขคือความสงบ เมื่อความต้องการเกิดขึ้นแล้วพยายามระงับด้วยการไม่สนองมัน ฝืนข่มบังคับ ก็จะยิ่งทำให้มีอาการรุนแรง เร่าร้อนกระวนกระวายมากขึ้น ทำให้เกิดทุกข์แก่ตน และอาจเป็นภัยแก่ผู้อื่น ไม่ใช่สงบจริง เป็นขั้นการฝึกหัดฝืนข่มใจ แต่การฝึกฝนพัฒนายังมีแนวทางวิธีมากกว่านี้ กล่าวคือ

วิธีที่ ๑. วิธีการทางจิต โดยให้ฝ่ายกุศลมีกำลังเหนือกว่า เช่น อยากหนีเรียนกินเหล้าเที่ยวเตร่ ให้เจริญฉันทะที่ใฝ่รู้ใฝ่ดีอยากศึกษาหาความรู้ จนแรงเข้มกว่าตัณหา, อยากขโมยเงิน ให้เจริญเมตตากรุณา นึกถึงว่าเขาหามาด้วยความลำบาก ไม่ควรไปเบียดเบียนเขา เป็นต้น

วิธีที่ ๒. วิธีทางปัญญา ก็เช่นว่า เขาเอาทองมาขายให้ในราคาถูก ก็ตาลุกอยากได้เหลือเกิน แต่พอรู้ทันว่าเป็นทองเก๊ ความอยากได้ก็หายวับไปหมดสิ้น สงบลงได้ แต่ปัญญาอย่างนี้ ควรเรียกล้อว่าเป็นปัญญาเทียม แค่รู้ทันทองเก๊ พอแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปที จะเป็นปัญญาแท้ ก็ต้องอย่างพระสาวกที่มองเห็นความจริงว่า เงินทองเพชรนิลจินดาประดาทรัพย์ ไม่ใช่แก่นสารของชีวิต ไม่เป็นของเราของเขาของใครจริง ทำชีวิตให้ดีงามประเสริฐเป็นสุขแท้จริงไม่ได้ ทั้งเราทั้งมันก็เป็นไปตามธรรมชาติ คืออนิจจังทุกขังอนัตตาทั้งนั้น ถ้าจะอยู่กับมัน ก็ต้องใช้ประโยชน์อย่างรู้เท่าทัน ไม่ให้เป็นเหตุก่อทุกข์ภัย อย่างนี้คือปัญญาที่ทำให้ตัณหาไม่มีที่ตั้งตัว จึงสงบจริง

รวมแล้ว ไม่ว่าจะสงบระงับด้วยการสนองความต้องการก็ตาม หรือสงบระงับด้วยวิธีทางจิตทางปัญญาให้ไม่ต้องสนองความต้องการที่ไม่ถูกไม่ดีก็ตาม ความสงบนั้นก็เป็นความสุข และความสุขก็คือความสงบ สันติเป็นสุข สุขเป็นสันติ คือสันติสุข ดังความหมายที่ได้ว่ามา


ปัญหาเกี่ยวกับแรงจูงใจ
การจะพัฒนาความสุขได้นั้น ก็ต้องพัฒนาความอยาก ความปรารถนาด้วย มิฉะนั้น การพัฒนาความสุข ก็จะไม่สำเร็จ ความอยาก (ทั้งการกระทำและไม่กระทำ) นี้เป็นเรื่องใหญ่ จะต้องเข้าใจกันให้ชัดเต็มที่ ถ้ามิฉะนั้นจะไม่มีทางเข้าถึงพระพุทธศาสนา ในชีวิตของคนที่ว่าเป็นสัตว์ประเสริฐนั้น เรามิใช่มีตัณหาเท่านั้นเป็นแรงจูงใจ แต่เรามีความอยากหรือความต้องการอีกอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า ฉันทะ แต่เดิม คำว่า ฉันทะ เป็นศัพท์ที่มีความหมายกว้าง ครอบคลุมความอยากที่เป็นแรงจูงใจของมนุษย์ทุกอย่าง ทั้งด้าน อกุศล และกุศล ดังในพุทธพจน์ที่ใช้ ฉันทะ ในความหมายเดียวกับ ตัณหา

“อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ มีฉันทะเป็นมูล” (ปุณณมสูตร)
“ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อจะเกิดก็เกิด ทุกข์ทั้งหมดนั้น มีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะเป็นต้นเหตุ เพราะฉันทะเป็นมูลแห่งทุกข์” (คันธภกสูตร)

เมื่อได้ทราบความหมายเดิมที่แผกผันหลากหลายของคำว่าฉันทะแล้ว ก็ควรจะสรุปให้ยุติเพื่อให้สะดวกในการใช้และไม่สับสน โดยสอดคล้องตามมติที่ถือสืบมาของอรรถกถาและคัมภีร์ทั้งหลาย จึงใช้คำว่า
        ฉันทะ ในความหมายที่เป็นกุศล เป็นความอยากเพื่อสภาวะของสิ่งนั้นๆเอง อยากทำให้ดี ใฝ่ศึกษา ใฝ่สร้างสรรค์ เพื่อความดี เพื่อความสมบูรณ์ของสิ่งนั้นๆ
        ตัณหา ในความหมายที่เป็นอกุศล เป็นความอยากเพื่อตัวตนของเรา อยากได้ อยากเอา อยากมี อยากเสพ อยากเป็น อยากทำลาย

คนมีฉันทะรักที่จะทำเหตุของความเจริญ คนมากด้วยตัณหาได้แต่รอเสพผลของความเจริญนั้น พูดสั้นๆว่า พวกฉันทะเป็นนักสร้าง มีความสุขในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม พวกตัณหาเป็นนักเสพมีสุขต่อเมื่อได้เสพ จุดต่างที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ ตลอดกระบวนการของความอยากแบบฉันทะนี้ มีแต่ความอยาก แต่ไม่เกิดตัวผู้อยาก เมื่อไม่สมอยากจึงไม่กระทบกระทั่งในจิตใจ ตรงข้ามกับกระบวนการของตัณหา ที่จะต้องเกิดมีอัตตาตัวตนขึ้นมาเป็นผู้เสพ เป็นเจ้าของ เป็นผู้ครอบครอง เมื่อมนุษย์พัฒนาขึ้น ชีวิตก็ลดขบวนงานของ อวิชชา > ตัณหา > เจตนา (อกุศลธรรม) ให้น้อยลงไป พร้อมกันนั้น ก็เปิดให้ขบวนงานที่ก้าวหน้าของ ปัญญา > ฉันทะ > เจตนา (กุศลธรรม) ที่เป็นความอยากให้สิ่งนั้นๆ ดีงามสมบูรณ์ตามสภาวะของมัน เข้ามาดำเนินการมากขึ้นๆ จนกลายเป็นวิถีชีวิตของอริยชนในที่สุด

จะเห็นว่าเมื่อยกเอาตัณหาออกไปแล้ว การเคลื่อนไหว การกระทำ ก็ยังคงดำเนินต่อไป แถมดีขึ้นอีกด้วย จึงควรหันไปสร้างเสริมปัญญา ปลูกฉันทะขึ้นแทน อย่างไรก็ตาม ในหลายกรณี ตัณหา สามารถนำมาใช้เป็นอุบายในการนำเข้าไปให้ถึงจุดหมายได้ เช่นตัวอย่างหนึ่งในพระไตรปิฎก ภิกษุรูปหนึ่ง (พระนันทะ ภายหลังบรรลุอรหัตตผล เป็นเอตทัตตะทางด้าน อินทรีย์สังวรณ์) เกิดความคิดถึงคู่รัก เบื่อหน่ายพรหมจรรย์ คิดจะสึก พระพุทธเจ้าทรงทราบ จึงทรงพาไปเที่ยวชมนางฟ้า ภิกษุนั้นหายคิดถึงคู่รัก เกิดความอยากได้นางฟ้าแทน พระพุทธเจ้าจึงตรัสรับรองว่าภิกษุนั้นจะได้นางฟ้า ๕๐๐ ตน โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ ต่อมาเมื่อตั้งใจปฏิบัติแล้ว จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ภิกษุนั้นก้าวหน้าต่อไปจนบรรลุอรหัตตผลในที่สุด

ซึ่งวิธีการล่อด้วยตัณหานี้ ไม่ปรากฏว่าท่านใช้บ่อย ท่านคงใช้เมื่อปัจจัยแวดล้อมต่างๆ กำหนดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด และคงใช้อย่างระมัดระวัง โดยคำนึงถึงผลติดตาม และวิธีนี้จะสำเร็จก็ต่อเมื่อตัณหาชักจูงให้เกิดฉันทะขึ้นมาร่วมด้วย มีข้อสังเกตว่า คนไทยทั่วไปโดยเฉพาะชาวพุทธไทยนี้เอง พอพูดถึงความอยาก ก็มักจะบอกว่าไม่ดี ไม่ถูก ใช้ไม่ได้ แล้วก็ชอบบอกกัน สอนกันไม่ให้อยาก ซึ่งนับว่าเป็นอันตราย อาจกลายเป็นการตัดรอนพัฒนาการของคน และขัดขวางการพัฒนาสังคมประเทศชาติ ส่วนอีกพวกหนึ่งก็เลยเถิดไปในทางตรงข้าม ชอบพูดชอบสอนว่าให้อยากได้อยากเอา อยากมั่งอยากมี บางทีถึงกับสอนให้โลภ อยากเด่นดัง เป็นใหญ่เป็นโต บอกว่าอย่างนี้สังคมจึงจะพัฒนา แต่ไม่ได้พัฒนาจริงเลย มีแต่พัฒนาไปสู่ความไม่ยั่งยืน จนถึงพินาศ พาคนพาโลกออกจากสันติภาพ ทั้งสองพวกนี้ ก็คือสุดโต่งไปคนละด้าน แต่เหมือนกันคือไม่รู้จักความอยาก ไม่รู้ไม่เข้าใจธรรมชาติของความต้องการ แล้วก็จัดการกับความอยากนั้นไม่ถูกต้อง

เรื่องความอยากนั้น เมื่อแยกได้แล้ว เรื่องราวอะไรต่างๆ ก็จะกระจ่างแจ้งชัดเจนขึ้นอย่างมากมาย ฉันทะในกรณีที่ใช้กับสรรพสัตว์ โดยเฉพาะมนุษย์ด้วยกันนี้ เป็นส่วนสำคัญ ท่านจึงมีศัพท์พิเศษให้แทนที่จะใช้คำว่าฉันทะคำเดียว คือ แยกเป็น ๔ คำ ได้แก่ เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา โดยใน ๓ ขั้นแรก เป็นขั้นของความรู้สึก มาจบเต็มที่อุเบกขา ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เกิดจากมีปัญญาเข้ามาร่วมเพื่อรักษาธรรม เป็นตัวสร้างสมดุล ให้ ๔ ข้อ ครบบริบูรณ์เต็มที่นั่นเอง จึงเป็นพระพรหมผู้อภิบาลโลกได้จริง ตามความหมายในแบบของพระพุทธศาสนา (พรหมวิหาร ๔ : ธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ)

“ถึงผู้ใดจะชนะเหล่าชน ได้พันครั้งในสงคราม ก็หาชื่อว่าเป็นผู้ชนะยอดเยี่ยมไม่ ส่วนผู้ใดชนะตนคนเดียวได้ ผู้นั้นแล ชื่อว่าผู้ชนะยอดเยี่ยมในสงคราม “ผู้ใดเกียจคร้าน หย่อนความเพียร ถึงจะมีชีวิตอยู่ได้ร้อยปี ก็ไม่ดีอะไร ชีวิตของผู้เพียรพยายามจริงจังมั่นคง เพียงวันเดียวยังประเสริฐกว่า” (สหัสสวรรค)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น