วันพุธ

ปฏิจจสมุปบาทอย่างง่ายๆสำหรับผู้เริ่มศึกษา

ท่านผู้อ่านผู้ศึกษาคงเคยได้เห็นมาบ้างแล้วว่าหลักปฏิจจสมุปบาทมีความสุขุมลุ่มลึกเพียงใด ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยที่จะทำความเข้าใจให้กระจ่าง ทั้งในด้านความหมายของคำศัพท์ และด้านความเป็นไปของกระบวนธรรม รวมไปถึงการที่ปฏิจจสมุปบาทนั้นสามารถแสดงยักเยื้องไปในรูปแบบต่างๆเช่น แทนที่ อวิชชา ด้วยกุศลมูล ในปฏิจจสมุปบาทนิโรธวาร (แสดงการดับทุกข์)

สำหรับในเบื้องต้น ผู้บันทึกขอเสนอสำนวนการอธิบายปฏิจจสมุปบาท (สมุทยวาร, แสดงกระบวนการเกิดทุกข์) อีกสำนวนหนึ่งให้พิจารณา ซึ่งโปรดเข้าใจว่าไม่ใช่การสรุปหลัก เป็นเพียงการพยายามอธิบายวงจรปฏิจจสมุปบาทแบบข้ามภพชาติอย่างง่ายๆโดยยอมเสียอรรถและพยัญชนะบางส่วนที่สุขุมลุ่มลึกไป ด้วยวิธีการรวบเข้ามาเป็นช่วงๆ เพื่อให้สะดวกในการมองภาพรวม ตามแนวที่อรรถกถาจารย์ท่านได้แสดงไว้แล้ว เสมือนการปีนเชือกเส้นเดียวขึ้นที่สูง ถ้าเชือกเส้นนั้นมีการขมวดปมไว้เป็นระยะ สำหรับจับยึดพยุงตัว ก็คงจะปีนได้ง่ายขึ้น แลกกับการที่เชือกนั้นต้องบิดเสียรูปไปบ้าง ขอเริ่มต้นด้วยการชวนให้ท่านลองพิจารณาตนเองดูว่า

👉 เราย่อมมีกิเลสตัณหา และความไม่รู้แจ้ง มาแต่เดิมเป็นธรรมดา (อดีตกิเลส : อวิชชา)

👉 ด้วยแรงจูงใจนั้นเป็นเหตุให้เกิดเจตนาในการทำสิ่งต่างๆในอดีตที่ผ่านมาแล้ว (อดีตกรรม : สังขาร)

👉กรรมในอดีตส่งผลให้เกิดวิบาก คือ ตัวเราในปัจจุบัน พร้อมทั้งการเสพเสวยสุข และทุกข์ (ปัจจุบันวิบาก : วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา)

👉เพราะความไม่รู้แจ้ง เมื่อได้เสพสุขย่อมติดใจ เมื่อได้เสวยทุกข์ย่อมขัดใจ (ปัจจุบันกิเลส : ตัณหา อุปาทาน)

👉ด้วยแรงจูงใจนั้นเป็นเหตุให้เกิดเจตนาในการทำสิ่งต่างๆในปัจจุบัน (ปัจจุบันกรรม : ภพ)

👉กรรมในปัจจุบันส่งผลให้เกิดวิบาก คือ ตัวเราในอนาคตซึ่งล่วงกาลผ่านวัย เข้าสู่มรณะ (อนาคตวิบาก : ชาติ ชรามรณะ)

เมื่อกิเลสตัณหา และความไม่รู้แจ้ง (อวิชชา) ยังมีอยู่ ย่อมส่งผลให้วงจรหมุนเวียนต่อไปสู่ภพชาติใหม่สืบเนื่องเป็นวัฏฏะ หาที่สุดเบื้องต้นและเบื้องปลายมิได้

ศึกษาเพิ่ม 🔎ปฎิจจสมุปบาท 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น