วันพุธ

กัมมัฏฐาน ๒ อย่าง

กัมมัฏฐาน ๒ อย่าง

แหละในหัวข้อสังเขปที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า พึงเข้าไปหากัลยาณมิตรผู้ให้พระกัมมัฏฐาน ฉะนี้ มีอรรถาธิบายโดยพิสดารดังต่อไปนี้ :- กัมมัฏฐานมี ๒ อย่าง คือ สัพพัตถกกัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานที่ปรารถนาเป็นเบื้องต้น ในการบำเพ็ญกัมมัฏฐานทั้งปวง ๑ ปาริหาริยกัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานที่จำต้องรักษาอยู่เป็นนิจ ๑

ใน ๒ อย่างนั้น ที่ชื่อว่า สัพพัตถกกัมมัฏฐาน ได้แก่ ความมีเมตตาในหมู่ภิกษุเป็นต้น ๑ กับมรณสติ คือการระลึกถึงความตาย ๑ ฝ่าย เกจิอาจารย์พวกหนึ่ง หมายเอาอสุภสัญญา คือความสำคัญเห็นในแง่ที่ไม่สวยไม่งามอธิบายว่า อันภิกษุผู้บำเพ็ญกัมมัฏฐานนั้น ชั้นต้นต้องกำหนดเสียก่อนแล้วจึงเจริญเมตตาไปในหมู่ภิกษุซึ่งอยู่ในเขตว่า ภิกษุที่อยู่ในวัดนี้ทั้งหมด จงมีความสุขเถิดอย่าได้เบียดเบียนกันเลย แต่นั้นพึงเจริญเมตตาไปในเทวดาทั้งหลายที่อยู่ในเขต แต่นั้นพึงเจริญไปในชนผู้เป็นใหญ่ในโคจรคาม คือหมู่บ้านที่ไปรับบิณฑบาต แต่นั้นพึงเจริญไปในสัตว์ทุกชนิดนับแต่มนุษย์ทั้งหลายซึ่งอยู่ในโคจรคามนั้น

โดยเหตุที่ภิกษุผู้บำเพ็ญกัมมัฏฐานนั้นมีเมตตาจิตในหมู่ภิกษุ ชื่อว่าทำให้หมู่ภิกษุที่อยู่ร่วมกันนั้นเกิดมีจิตใจนุ่มนวลในตน แต่นั้นภิกษุเหล่านั้นก็จะมีการอยู่ร่วมกันอย่างสบายกับภิกษุผู้บำเพ็ญกัมมัฏฐานนั้น โดยเหตุที่เธอมีเมตตาจิตในเทวดาทั้งหลายซึ่งอยู่ในเขต พวกเทวดาผู้ที่เธอทำให้มีจิตใจอันนุ่มนวลแล้วนั้น ก็จะทำหน้าที่รักษาเธอเป็นอย่างดี ด้วยการรักษาอันเป็นธรรม โดยเหตุที่เธอมีเมตตาจิตในชนผู้เป็นใหญ่ ในโคจรคาม พวกชนผู้เป็นใหญ่ที่เธอทำให้เป็นผู้มีจิตอันนุ่มนวลแล้วนั้น ก็จะช่วยรักษาเครื่องบริขารเป็นอย่างดี ด้วยการรักษาอันเป็นธรรม โดยเหตุที่เธอมีเมตตาจิตในมนุษย์ทั้งหลายในโคจรคามนั้น พวกมนุษย์ทั้งหลายที่เธอทำให้เป็นผู้มีความเลื่อมใสแล้วนั้น ก็จะไม่ข่มเหงเบียดเบียน โดยเหตุที่เธอมีเมตตาจิตในสรรพสัตว์ทุกชนิดนั้นเธอก็จะเป็นผู้มีอันเที่ยวไปไม่เดือดร้อนในที่ทั้งปวง

ก็แหละ เมื่อภิกษุผู้บำเพ็ญกัมมัฏฐานนั้นครุ่นคิดพิจารณาอยู่ด้วยมรณสติว่า เราจะต้องตายอย่างแน่นอน ฉะนี้ เธอก็จะงดเว้นอเนสนาคือการแสวงหาอันไม่สมควรเสีย จะมีความสังเวชสลดใจเพิ่มพูนทวียิ่ง ๆ ขึ้นไป ย่อมจะเป็นผู้มีจิตไม่ท้อถอยในสัมมาปฏิบัติ แหละเมื่อเธอมีจิตสั่งสมอบรมดีแล้วด้วยอสุภสัญญา แม้อารมณ์อันเป็นทิพย์ก็จะครอบงำจิตด้วยอำนาจแห่งความโลภไม่ได้ ฉะนี้แล

กัมมัฏฐาน ๒ อย่างมีเมตตากัมมัฏฐานเป็นต้นนั้น เรียกว่า สัพพัตฤกกัมมัฏฐาน เพราะเป็นกัมมัฏฐานที่ต้องการปรารถนาด้วยการอาเสวนะเบื้องต้นในการบำเพ็ญ กัมมัฏฐานทั้งปวง ด้วยเป็นกัมมัฏฐานที่มีอุปการะมากดังพรรณนามาอย่างหนึ่ง เพราะเป็นเหตุให้สำเร็จแก่การประกอบภาวนาอันที่ตนประสงค์อย่างหนึ่ง แหละในบรรดากัมมัฏฐาน ๔๐ ประการนั้น กัมมัฏฐานบทใดเหมาะสมแก่จริยาของโยคีบุคคลใด กัมมัฏฐานบทนั้นเรียกว่า ปาริหาริยกัมมัฏฐาน เพราะเหตุที่โยคีบุคคลนั้นจะต้องรักษาไว้เป็นนิจอย่างหนึ่ง เพราะเป็นปทัฏฐานแก่ภาวนากรรมขั้นสูง ๆ ขึ้นไปอย่างหนึ่ง

อาจารย์ผู้ให้กัมมัฏฐาน
ท่านผู้ใดก็ตามที่ให้กัมมัฏฐานทั้ง ๒ อย่างที่กล่าวแล้วนี้ได้ ท่านผู้นี้แหละชื่อว่าผู้สามารถให้พระกัมมัฏฐาน ตามที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ข้างต้นนั้น ผู้ประสงค์จะเจริญกัมมัฏฐานพึงเข้าไปหาท่านผู้เช่นนั้นนั่นเทียว ส่วนคำว่า กัลยาณมิตร นั้น หมายเอากัลยาณมิตรผู้ที่ดำรงตนอยู่ในฝ่ายข้างดี มีจิตมุ่งในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งประกอบด้วยคุณสมบัติประจำตนมีอาทิอย่างนี้ คือ ด้วยสติ รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นโทษของสัตว์ทั้งหลายตามเป็นจริงด้วยปัญญา มีจิตแน่วแน่อยู่ในสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นโทษนั้นด้วยสมาธิ ช่วยกำจัดสิ่งที่เป็นโทษ พยายามชักจูงแนะนำสัตว์ทั้งหลายในสิ่งที่เป็นประโยชน์ด้วยวีริยะ ฉะนี้




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น