วันพฤหัสบดี

๕. เอกาสนิกงคกถา

เอกาสนิกงคกถา

การสมาทาน
แม้เอกาสนิกังคธุดงค์ก็เป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้คือ นานาสนโภชน์ ปฏิกขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธการฉันในที่นั่งมากแห่ง ดังนี้อย่างหนึ่ง เอกาสนิกงค์ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้มีอันฉันในที่นั่งอันเดียวเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในเอกาสนิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันภิกษุผู้ฉันในที่นั่งอันเดียวเป็นปกตินั้น เมื่อจะนั่งในหอฉัน อย่านั่งบนที่นั่งของพระเถระ พึงกำหนดเอาที่นั่งอันสมควรแก่ตนว่า ที่นั่งนี้จักได้แก่อาตมา ฉะนี้แล้วจึงนั่งที่นั่งนั่น ถ้าเมื่อภิกษุผู้เอกาสนิกนั้นกำลังฉันค้างอยู่ มีอาจารย์หรืออุปัชฌาย์มาถึงเข้า สมควรที่จะลุกขึ้นทำอาจริยวัตรหรืออุปัชฌายวัตร แหละพระจูฬอภยเถระผู้ทรงพระไตรปิฎกได้แสดงมติไว้ว่าจะพึงรักษาซึ่งที่นั่งหรือโภชนะไว้ ด้วยว่าเอกาสนิกภิกษุนี้มีการฉันยังค้างอยู่ เพราะฉะนั้น จึงทำอาจริยวัตรหรืออุปัชฌายวัตรเถิด แต่จงอย่าฉันโภชนะเลย ว่าด้วยกรรมวิธีในเอกาสนิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้
ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้ภิกษุผู้ฉันในที่นั่งอันเดียวเป็นปกตินี้ก็มี ๓ ประเภทเช่นกัน ใน ๓ ประเภทนั้น
เอกาสนิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ โภชนะจะน้อยหรือมากก็ตามเมื่อหย่อนมือลงไปในโภชนะอันใดแล้ว ย่อมไม่ยอมรับเอาซึ่งโภชนะอื่นจากโภชนะนั้น แม้คนทั้งหลายเขาเห็นว่า พระเถระไม่ได้ฉันอะไร ๆ แล้วพากันเอาเภสัชเช่นเนยใสเป็นต้นมาถวาย ควรจะรับไว้ได้ก็แต่เพียงเพื่อเป็นเภสัช จะรับไว้เพื่อเป็นอาหารหาได้ไม่
เอกาสนิกภิกษุชั้นกลาง เมื่อภัตตาหารในบาตรยังไม่หมดเพียงใด ก็ยังรับภัตตาหารอื่นได้อยู่เพียงนั้น ด้วยว่าเอกาสนิกภิกษุชั้นกลางนี้ ย่อมชื่อว่าเป็นผู้มีโภชนะเป็นที่สุด
เอกาสนิกภิกษุชั้นต่ำ เมื่อยังไม่ลุกขึ้นจากที่นั่งเพียงใด ก็ยังฉันภัตตาหารได้อยู่เพียงนั้น ด้วยว่าเอกาสนิกภิกษุชั้นต่ำนี้ ย่อมชื่อว่าเป็นผู้มีน้ำเป็นที่สุด เพราะฉันได้ตลอดเวลาที่ยังไม่รับน้ำล้างบาตร หรือชื่อว่าเป็นผู้มีการนั่งเป็นที่สุด เพราะฉันได้ตลอดเวลาที่ยังไม่ลุกขึ้นจากที่นั่ง ว่าด้วยประเภทในเอกาสนิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะที่เอกาสนิกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนี้ฉันโภชนะในที่นั่งหลายแห่ง ว่าด้วยความแตกในเอกาสนิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ ความเป็นผู้มีอาพาธน้อย, ความเป็นผู้มีความลำบากกายน้อย, ฐานเบา คือกลับเนื้อกลับตัวคล่องแคล่ว, กำลังแข็งแรงมีการอยู่อย่างผาสุกสบาย, ไม่ต้องอาบัติเพราะโภชนะอันไม่เป็นเดนเป็นเหตุ, บรรเทาความติดในรสอาหารเสียได้, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อย เป็นต้น โรคทั้งหลายซึ่งมีการฉันเป็นเหตุ ย่อมไม่เบียดเบียน ภิกษุผู้สำรวมผู้ยินดีในการฉันในที่นั่งอันเดียว ภิกษุไม่ละโมบในรสอาหาร ย่อมอดทนได้ ไม่ทำให้งานคือการบำเพ็ญเพียรของตนเสื่อมเสียไปด้วยประการฉะนี้ ภิกษุผู้สำรวม มีใจสะอาด พึงสร้างความพอใจให้บังเกิดในการฉันในที่นั่งอันเดียว อันเป็นเหตุแห่งความผาสุกที่ผู้ยินดีในการขัดเกลากิเลสให้สะอาดเข้าไปร้องเสพแล้วนั่นเถิด ว่าด้วยอานิสงส์ในเอกาสนิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ในเอกาสนิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น