วันพฤหัสบดี

๔. สปทานจาริกังคกถา

สปทานจาริกังคกถา

การสมาทาน
แม้สปทานจาริกังคธุดงค์ก็เหมือนกัน จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ โลลุปปาจาร ปฏิกขิปามิ ข้าพเจ้าปฏิเสธการเที่ยวไปด้วยความละโมบ ดังนี้ อย่างหนึ่ง สปทานจาริกงค์ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาองค์แห่งภิกษุผู้มีอันเที่ยวไปไม่ขาดตอนเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในสปทานจาริกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันภิกษุผู้เที่ยวไปไม่ขาดตอนเป็นปกตินั้น ครั้นไปยืนอยู่ที่ประตูบ้านแล้วต้องกำหนดดูให้รู้ถึงความไม่มีอันตรายก่อน ถนนหรือบ้านใดมีอันตราย จะเที่ยวไปในถนนหรือบ้านอื่น โดยข้ามถนนหรือบ้านที่มีอันตรายนั้นไปก็ได้ เมื่อไม่ได้ภิกษาอะไร ๆ ณ ที่ประตูเรือนหรือถนนหรือบ้านใด พึงทำความสำคัญว่าไม่ใช่บ้าน แล้วผ่านเลยไป เมื่อได้ภิกษาอะไร ๆ ณ ที่ใด จะผ่านเลยที่นั้นไป ย่อมไม่สมควร แหละอันภิกษุผู้สปทานจาริกนี้ต้องเข้าไปบิณฑบาตแต่เช้า ๆ หน่อย เพราะเมื่อเข้าไปแต่เช้า ๆ อย่างนี้ จึงจักสามารถเพื่อที่จะผ่านสถานที่อันไม่สะดวกแล้วเที่ยวไป ณ ที่อื่นได้ทันกาล ก็แหละ ถ้าคนทั้งหลายให้ทานอยู่ในวัดของภิกษุผู้สปทานจาริกนั้น หรือเขาเดินมาพบในระหว่างทาง เขาจะขอรับเอาบาตรแล้วถวายบิณฑบาตก็สมควร และแม้เมื่อภิกษุผู้สปทานจาริกนี้เดินทาง จะพึงเดินเลยบ้านที่ตนไปถึงในเวลาแห่งภิกษาจารหาได้ไม่ เมื่อไม่ได้ภิกษาในบ้านนั้น หรือได้เพียงนิดหน่อย ก็พึงเดินเที่ยวไปตามลำดับบ้านนั่นเถิด ว่าด้วยกรรมวิธีในสปทานจาริกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท
ว่าโดยประเภท แม้ภิกษุผู้เที่ยวไปไม่ขาดตอนเป็นปกตินี้ ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
สปทานจาริกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ ย่อมไม่รับภิกษาที่เขานำมาข้างหน้า ย่อมไม่รับภิกษาที่เขานำตามมาข้างหลัง ย่อมไม่รับภิกษาแม้ที่เขากลับไปเอามาถวาย แต่ยอมสละบาตรให้ที่ประตูบ้านซึ่งไปถึงแล้ว ก็แหละ ในธุดงค์นี้ใคร ๆ ที่จะปฏิบัติเสมอเหมือนกับพระมหากัสสปเถระเป็นอันไม่มี แม้สถานที่สละให้บาตรของ
ท่านยังปรากฏอยู่นั่นเทียว (ที่สละให้บาตรนี้ ได้ถูกสร้างขึ้นเป็นอนุสาวรีย์ไว้ที่ประตูเรือนของท้าวสักกะ ซึ่งเขาสร้างรูปนายช่างหูก ประดิษฐานไว้ที่ถนนนายช่างหูก)
สปทานจาริกภิกษุชั้นกลาง ย่อมรับภิกษาที่เขานำมาข้างหน้าหรือข้างหลัง แม้ภิกษาที่เขากลับไปเอามาก็รับ ย่อมสละบาตรให้แม้ที่ประตูบ้านซึ่งตนเดินไปถึงแล้วก็แต่ว่า ไม่นั่งรอรับภิกษา โดยนัยนี้ เป็นอันว่าสปทานจาริกภิกษุชั้นกลางนั้น ย่อมอนุโลมแก่ปิณฑบาติกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์
สปทานจาริกภิกษุชั้นต่ำ ย่อมนั่งคอยรับภิกษาในวันนั้นได้
ว่าด้วยประเภทในสปทานจาริกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ขณะเมื่อมีการเที่ยวไปด้วยความละโมบเกิดขึ้นแก่สปทานจาริกภิกษุ ทั้ง ๓ ประเภทนี้ ธุดงค์ย่อมแตก คือ หายจากสภาพธุดงค์ ว่าด้วยความแตกในสปทานจาริกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ ความเป็นผู้ใหม่อยู่เป็นนิจในทุก ๆ ตระกูล เป็นผู้มีอาการเหมือนพระจันทร์, เป็นการละเสียได้ซึ่งความตระหนี่ตระกูล, เป็นผู้มีการอนุเคราะห์อย่างเสมอหน้ากัน, ไม่มีโทษในเพราะการเข้าไปสู่ตระกูล, ไม่ใยดีต่อคำนิมนต์, เป็นผู้ไม่มีความต้องการด้วยการยื่นให้ซึ่งภิกษา, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น ภิกษุผู้มีอันเที่ยวไปอย่างไม่ขาดตอนเป็นปกติในศาสนานี้ ย่อมเป็นผู้มีอาการปานดังพระจันทร์ เป็นผู้ใหม่อยู่เป็นนิจในตระกูลทั้งหลาย ไม่ตระหนี่ตระกูล มีความอนุเคราะห์เสมอทั่วหน้ากัน เป็นผู้พ้นแล้วจากโทษในเพราะการเข้าไปสู่ตระกูล เพราะเหตุฉะนั้น อันภิกษุสปทานจาริกผู้เป็นบัณฑิตพึงละเสียซึ่งการเที่ยวไปด้วยความละโมบ มีตาทอดลงมองดูประมาณชั่วแอก และเมื่อยังหวังอยู่ซึ่งการเที่ยวไปอย่างเสรีในโลกปฐพีก็พึงเที่ยวไป (เพื่อบิณฑบาต) อย่างไม่ขาดตอน คือเที่ยวไปตามลำดับเรือนนั่นเถิด ว่าด้วยอานิสงส์ในสปทานจาริกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ในสปทานจาริกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น