วันพุธ

๓. ปิณฑปาติกังคกถา

๓. ปิณฑปาติกังคกถา

การสมาทาน
ปิณฑบาติกังคธุดงค์ก็เช่นเดียวกัน จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ อติเรกลาภํปฏิกขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธลาภอันฟุ่มเฟือย ดังนี้อย่างหนึ่ง ปิณฺฑปาติกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้มีอันเที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียม ดังนี้อย่างหนึ่ง ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้วด้วยคำสมาทานอันใดอันหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในปิณฑบาติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันภิกษุผู้มีอันเที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียมนั้น จะยินดีภัต ๑๔ อย่างเหล่านี้ไม่ได้ คือ
สังฆภัต ภัตที่เขาถวายสงฆ์ ๑
อุทเทสภัต ภัตที่เขาถวายเจาะจง ๑
นิมันตนภัต ภัตที่เขาถวายด้วยการนิมนต์ ๑
สลากภัต ภัตที่เขาถวายด้วยสลาก ๑
ปักขิกภัต ภัตที่เขาถวายประจำปักษ์ ๑
อุโปสถิกภัต ภัตที่เขาถวายประจำวันอุโบสถ ๑
ปาฏิปทกภัต ภัตที่เขาถวายในวันขึ้นค่ำหนึ่งหรือแรมค่ำหนึ่ง ๑
อาคันตุกภัต ภัตที่เขาถวายแก่พระอาคันตุกะ ๑
คมิกภัต ภัตที่เขาถวายแก่ภิกษุผู้เตรียมจะเดินทาง ๑
คิลานภัต ภัตที่เขาถวายแก่ภิกษุอาพาธ ๑
คิลานุปัฏฐากภัต ภัตที่เขาถวายแก่ภิกษุผู้อุปัฏฐากภิกษุอาพาธ ๑
วิหารภัต ภัตที่เขาหุงต้มขึ้นในวัด ๑
ธุรภัต ภัตที่เขาถวาย ณ ที่บ้านใกล้เรือนเคียง ๑
วารกภัต ภัตที่เขาผลัดกันถวายโดยวาระ ๑

แต่ถ้าภัตเหล่านี้เขาถวายโดยมิได้ระบุชื่อโดยมีนัยอาทิว่า “ขอนิมนต์ท่านทั้งหลายรับสังฆภัต” แต่ระบุเพียงว่า “ขอสงฆ์จงรับภิกษา ณ ที่บ้านของพวกข้าพเจ้า แม้ท่านทั้งหลายก็ขอนิมนต์ไปรับภิกษาด้วย” ดังนี้ จะยินดีภัตเหล่านั้นก็สมควรอยู่ สลากภัตที่ไม่มีอามิสจากสงฆ์ก็ดี ภัตที่อุบาสกอุบาสิกาหุงต้มจัดทำขึ้นในวัดก็ดีสมควรแก่ภิกษุผู้มีอันเที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียม ว่าด้วยกรรมวิธีในปิณฑบาติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้


ประเภท
ก็แหละ โดยประเภท แม้ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียมนี้ ก็มี ๓ ประเภทเหมือนกัน ใน ๓ ประเภทนั้น
ปิณฑปาติกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ จะรับภิกษาที่เขานำมาถวายข้างหน้าบ้างข้างหลังบ้างก็ได้ แม้เมื่อพวกทายกซึ่งอยู่ประตูบ้านที่ตนไปถึงขอรับบาตรจะให้บาตรก็ได้ แม้จะรับภิกษาที่พวกทายกกลับไปนำมาถวายก็ได้ แต่ในวันนั้น ครั้นนั่งเสียแล้ว ย่อมไม่รับภิกษา (อื่น)
ปิณฑบาติกภิกษุชั้นกลาง ในวันนั้น แม้ถึงจะนั่งเสียแล้วก็รับภิกษาอื่นอีกได้แต่จะรับนิมนต์รับภิกษาเพื่อวันพรุ่งนี้ไม่ได้
ปิณฑบาติกภิกษุชั้นต่ำ จะรับนิมนต์รับภิกษาแม้เพื่อวันพรุ่งนี้ก็ได้ แม้เพื่อวันต่อไปอีกก็ได้

แต่อย่างไรก็ดี ปิณฑปาติกภิกษุ ๒ จำพวกหลังนั้น ย่อมไม่ได้รับความสะดวกสบายในอันอยู่อย่างเสรี คงได้แต่เฉพาะปิณฑบาติกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์เท่านั้น มีเรื่องสาธกอยู่ว่า ได้มีธรรมเทศนาเรื่องอริยวังสสูตรขึ้นในบ้าน ๆ หนึ่ง ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียมชั้นอุกฤษฎ์ ได้ชักชวนภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็น
ธรรมเนียมชั้นกลางและชั้นต่ำนอกนี้ว่า “อาวุโสทั้งหลาย เรามาไปฟังธรรมกันเถิด” ในภิกษุ ๒ รูปนั้น รูปหนึ่งพูดขอตัวว่า “ท่านครับ กระผมถูกโยมคนหนึ่งนิมนต์ให้ไปรับบิณฑบาต” อีกรูปหนึ่ง ก็พูดขอตัวว่า “ท่านครับ กระผมรับนิมนต์เพื่อภิกษาไว้กับโยมคนหนึ่งในวันพรุ่งนี้” ด้วยประการดังนี้ จึงเป็นอันว่า ภิกษุ ๒ รูปผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียมชั้นกลางและชั้นต่ำนั้นเป็นผู้พลาดจากธรรม ส่วนภิกษุชั้นอุกฤษฎ์นอกนี้บิณฑบาตแต่เช้ามืดแล้วก็ไป จึงได้เสวยรสพระธรรมสมประสงค์ ว่าด้วยประเภทในปิณฑบาติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ในขณะที่ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียมทั้ง ๓ ประเภทนี้ ยินดีต่อลาภอันเหลือเฟือมีสังฆภัตเป็นต้นนั่นแล ธุดงค์ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ว่าด้วยความแตกในปิณฑบาติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ โดยที่มีพระพุทธพจน์อยู่ว่าการบวชอาศัยโภชนะคือคำข้าวอันจะพึงได้ด้วยกำลังปลีแข้ง ดังนี้ ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียมนั้น เป็นผู้มีข้อปฏิบัติสมควรกับปัจจัยอันเป็นเครื่องอาศัย, เป็นการดำรงตนไว้ในอริยวงศ์ข้อที่ ๒ (ความสันโดษในบิณฑบาต), เป็นผู้ไม่มีพฤติการณ์เป็นที่เกาะอาศัยของคนอื่น, เป็นผู้มีปัจจัยเครื่องอาศัยตรงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญไว้ว่า ปัจจัยเหล่านั้นเป็นสิ่งเล็กน้อยด้วย เป็นสิ่งที่หาได้ง่ายด้วย เป็นสิ่งที่หาโทษมิได้ด้วย, เป็นผู้ย่ำยีเสียได้ซึ่งความเกียจคร้าน, เป็นผู้มีอาชีพอันบริสุทธิ์ เป็นการทำข้อปฏิบัติ คือเสขิยวัตรให้บริบูรณ์, ไม่ใช่ผู้ที่ผู้อื่นเลี้ยงดู, เป็นการกระทำความอนุเคราะห์แก่คนอื่น (ทั่วถึงกัน), เป็นการละมานะ เป็นการปิดกั้นความติดในรส, ไม่ต้องอาบัติ โดยคณโภชนสิกขาบท ปรัมปรโภชนสิกขาบท และจาริตตสิกขาบท” มีความประพฤติอันสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น, เป็นการเพิ่มพูนสัมมาปฏิบัติให้เจริญยิ่งขึ้น เป็นการสงเคราะห์มวลชนในภายหลัง ภิกษุผู้สำรวม ยินดีแต่ในคำข้าวที่หาได้ด้วยกำลังปลีแข้งไม่มีชีวิตเกาะอาศัยคนอื่น ละความละโมบในอาหารแล้วย่อมเป็นผู้ไปได้ในทิศทั้ง ๔ ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียมนั้น ย่อมกำจัดปัดเป่าความเกียจคร้านเสียได้ ชีวิตของท่านก็บริสุทธิ์เพราะเหตุฉะนั้นแล ผู้มีปัญญาอันหลักแหลมจึงไม่ควรดูหมิ่นในการภิกษาจาร เป็นความจริงแม้ทวยเทพทั้งหลายมีท้าวสักกะเป็นต้น ย่อมกระหยิ่มอิ่มใจต่อภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียมเลี้ยงตนเองได้ อันผู้อื่นไม่ต้องเลี้ยงดู ผู้มีความมั่นคงเห็นปานดังนั้น ถ้าหากว่าภิกษุนั้นไม่เป็นผู้มุ่งหวังลาภสักการะและความสรรเสริญ ว่าด้วยอานิสงส์ในปิณฑบาติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ในปิณฑบาติกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น