วันอังคาร

๗ สิ่งที่พึงระวังในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

สิ่งที่พึงระวังในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

๑. ธรรมที่เหมาะสมแก่ตน
ในการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้านั้น ด้วยทรงมุ่งหวังประโยชน์ของผู้ฟังแต่ละหมู่คณะตามความเป็นจริง เนื้อหาที่ทรงแสดงกับพระภิกษุและชาวบ้านจึงมีระดับของความยากง่ายและความลึกซึ้งที่ต่างกันอยู่พอสมควร ในระดับชาวบ้านท่านมักทรงแสดงธรรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง ทาน ศีล และความเมตตากรุณา ส่วนในระดับพระภิกษุท่านมักทรงแสดงธรรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความไม่ยึดติดถือมั่นซึ่งเป็นโลกุตรธรรมโดยตรง ดังตัวอย่างใน อนาถปิณฑิโกวาทสูตร ความโดยย่อว่า พระสารีบุตรกล่าวธรรมแก่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีซึ่งกำลังป่วยหนักจวนเจียนจะสิ้นชีพ โดยธรรมกถามีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวธรรมีกถาจบแล้ว ท่านเศรษฐีซาบซึ้งในรสพระธรรมอย่างยิ่ง กล่าวว่าไม่เคยได้สดับธรรมเห็นปานนี้ (แม้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีจะมีโอกาศใกล้ชิดได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าอยู่บ่อยครั้ง แต่พระพุทธองค์ก็ไม่เคยเทศนาเรื่องของอัตตาให้ท่านเศรษฐีฟังแม้แต่ครั้งเดียว ด้วยเรื่องของอัตตาเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยากและพระพุทธองค์ก็ทรงระวังในเรื่องนี้เพราะหากผู้ฟังยังไม่พร้อมก็จะเกิดทิฎฐิให้ยึดอัตตาให้เหนี่ยวแน่นกว่าเดิม เมื่อพระพุทธองค์ทรงเห็นว่าถึงเวลาที่เหมาะสมแล้วจึงส่งพระสารีบุตรไปเทศนาสอนท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี) พระอานนท์ตอบว่า ธรรมีกถาเห็นปานนี้ไม่แจ่มแจ้งแก่คฤหัสถ์ แต่แจ่มแจ้งแก่บรรพชิต (อนาถปิณฑิโกวาทสูตร) 

ความไม่ยึดติดถือมั่น สามารถกล่าวได้ว่าเป็นหลักการอันสำคัญยิ่งของพระพุทธศาสนา เป็นการแสดงโลกุตรธรรมโดยย่อ ดังที่ท่านตรัสตอบแก่ผู้ต้องการฟังธรรมอย่างย่นย่อ ในจูฬตัณหาสังขยสูตรว่า “ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น” นั่นเอง แต่ควรเข้าใจว่าเป็นธรรมในระดับสูงและไม่ใช่ง่ายที่จะทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ จึงควรศึกษาด้วยความระมัดระวัง การประเมินตัวเองตามความเป็นจริงและเลือกเฟ้นธรรมที่เหมาะกับตนจึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากธรรมในระดับสูงที่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นแล้ว ธรรมเพื่อความอยู่ดีมีสุขในสังคมที่สามารถจะเอื้อประโยชน์และปฏิบัติได้ไม่ยากมีอยู่มากมาย เช่น บุญกิริยาวัตถุ (หลักการทำความดี), สังคหวัตถุ (หลักประสานสามัคคี) เป็นต้น ธรรมเหล่านี้นอกจากสะดวกต่อการปฏิบัติในชีวิตประจำวันแล้วยังเป็นพื้นฐานที่ดีให้แก่ธรรมในระดับที่สูงยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกด้วย


๒. ศึกษาหลักธรรมสำคัญที่เป็นพื้นฐานให้เข้าใจเพียงพอก่อน
เนื่องจากการเจริญวิปัสสนากรรมฐานไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม กล่าวในภาพรวมแล้วล้วนมีวัตถุประสงค์ให้เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของขันธ์ ๕ เพื่อละวางเสียจากความยึดติดถือมั่นเสมอเหมือนกันทั้งสิ้น พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวว่า “มรรคนั้นต่างกันโดยเทศนา แต่โดยอรรถก็อันเดียวกันนั้นเอง” แต่ถ้าผู้ปฏิบัติไม่มีความเข้าใจในหลักธรรมสำคัญอย่างเพียงพอ ก็อาจทำให้เกิดความไขว้เขวในการปฏิบัติได้

ยกตัวอย่างเช่น หลักไตรลักษณ์แม้จะเป็นหลักธรรมที่ท่องจำกันได้คล่อง แต่โดยสาระแท้ๆแล้วกลับสุขุมลุ่มลึกอย่างยิ่ง ส่วนที่ง่ายมีเพียงบางส่วนที่ตื้นและปรากฏชัด เช่น เห็นความไม่เที่ยงของสิ่งต่างๆทั่วไป เห็นปัญหาความเป็นทุกข์ในชีวิตประจำวัน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม
หลักไตรลักษณ์แสดงความเป็นจริงตามธรรมชาติของโลกในระดับที่ลึกซึ้งถึงสภาวะ ซึ่งครอบคลุมเสมอกันไปหมด (สามัญลักษณะ) ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะทำความเข้าใจให้ถูกแท้ ทั้งนี้ ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานถ้าผู้ปฏิบัติก้าวไปถูกก็จะส่งเสริมความเข้าใจหลักธรรมต่างๆให้มากขึ้นพร้อมกันไปด้วย อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจในระดับหลักการควรที่จะมีให้ชัดไว้ก่อน (🔎ไตรลักษณ์, 🔎อริยสัจ, 🔎ปฏิจจสมุปบาท, 🔎นิพพาน เป็นต้น) เปรียบเสมือนสร้างตึกสูงต้องเริ่มจากรากฐานที่มั่นคง และสมดังที่ท่านตรัสว่า “ธรรมรถมีสัมมาทิฏฐินำหน้าเป็นสารถี” นั่นเอง

๓. ระวังการมองโลกในแง่ร้าย กลายเป็นคนมีความสุขยาก
เมื่อได้ยินได้ฟังเนื้อหาบางตอนเช่น “กามเป็นทุกข์” “ทุกข์เสมอด้วยเบญจขันธ์ไม่มี” “สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง” ดังนี้แล้ว บางท่านเกิดความเห็นแล่นเลยเถิดไปว่าความสุขนั้นไม่มีอยู่จริงโดยสิ้นเชิง มองไปทางใดก็พบเจอแต่ทุกข์ ด้วยความเห็นนี้เขาย่อมละทิ้งสุขอันชอบธรรม แล้วเอาทุกข์เข้าท่วมทับตน ซึ่งเป็นทางดำเนินที่ผิดพลาด เสียประโยชน์ ในเบื้องต้นควรเข้าใจว่า “ทุกข์” ในที่นี้แปลโดยย่อว่า ความเป็นภาวะบีบคั้นคงสภาพอยู่ไม่ได้ เป็นศัพท์ต่อเนื่องกับ อนิจจัง ความเกิดดับไม่เที่ยง เป็นการมองที่ตัวสภาวะแท้ อันเป็นสามัญลักษณะของโลก มิใช่มองแต่เพียงว่าเป็น ความทุกข์ระทม ขมขื่น ซึ่งเป็นความหมายอย่างแคบๆ

การมองโลกในแง่ร้ายในลักษณะที่ว่าสิ่งต่างๆเป็นความทุกข์ทรมานนั้น ส่งผลให้เกิดความ “เบื่อหน่ายโลกด้วยโทสะ, วิภวตัณหา”
ซึ่งทำให้ใจเป็นทุกข์โดยไม่จำเป็น ส่วนการ “เบื่อหน่ายโลกเพราะรู้เห็นตามเป็นจริงด้วยนิพพิทาญาน” ทำให้ปลอดโปร่งเบิกบาน ทั้งสองกรณีนี้แม้โดยคำศัพท์อาจมีส่วนเหมือนกัน แต่แท้จริงความหมายและผลลัพธ์ต่อชีวิตจิตใจต่างกันอย่างตรงข้ามทีเดียว จึงจำเป็นที่จะต้องแยกให้ออกว่าการมองสิ่งทั้งหลายในโลกเป็นทุกข์นี้ เป็นการมองแบบเจาะลึกลงไปในขั้นสภาวะ (ปรมัตถสัจจะ) ไม่ได้เป็นการกล่าวตามความรู้สึกทั่วไป (สมมติสัจจะ) ซึ่งพุทธพจน์ที่ท่านตรัสตามความรู้สึกทั่วไป (ว่าเป็นสุข) ก็มีอยู่มากมายแม้แต่กามสุข พระพุทธศาสนาก็ถือว่าเป็นความสุข เพียงแต่ท่านเตือนว่ามีโทษมากและมีสุขอื่นที่ดียิ่งกว่า (ดู ธรรมหมวด🔎กามโภคีสุข ๔ (สุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนควรมี)  นอกจากนี้พึงทราบว่า กรรมฐานที่ให้มองเห็นอะไรๆเป็นของไม่สวยไม่งาม (🔎อสุภกรรมฐาน ปฏิกูลมนสิการ เช่น 🔎อาหาเรปฏิกูลสัญญา) เป็นการปฏิบัติในขั้นสมถะ ยังมองไปตามสมมติบัญญัติ เพียงแต่ถือเอาสมมติในแง่ที่จะมาใช้ข่ม ตัณหา ราคะ ที่ฟุ้งขึ้นให้สงบลง ส่วนในขั้นวิปัสสนา มองเห็นตามสภาวะแท้ๆ ตรงตามที่สิ่งทั้งหลายมันเป็นของมัน ตามเหตุปัจจัย เรียกว่า ตามความเป็นจริงในขั้นปรมัตถ์ ที่สิ่งทั้งหลาย ไม่มีงาม หรือไม่งาม เป็นแต่ธาตุทั้งหลายที่มาประกอบกันเข้า

ผู้ศึกษาพึงเข้าใจว่าการเจริญวิปัสสนา เป็นการมองโลกตามความเป็นจริง มิใช่การมองโลกในแง่ร้าย ซึ่งการมองโลกตามความเป็นจริงย่อมต้องมองทั้งสองระดับ คือ ในระดับของความรู้สึก ความรู้สึกสุข ความรู้สึกว่าสิ่งนั้นสวยงามมีอยู่ในขั้นสมมติก็เข้าใจไปตามเป็นจริง (สมมติสัจจะ) ส่วนในระดับของสภาวะแท้ (ปรมัตถสัจจะ) ซึ่งสิ่งทั้งหลายทั้งรูปธรรมและนามธรรม เป็นธาตุมาประกอบกันเข้า เกิดดับไม่คงอยู่เที่ยงแท้ (อนิจจัง) ถูกความแปรปรวนบีบคั้น (ทุกขัง) ไม่มีอัตตาตัวตน (อนัตตา) เมื่อมองในแง่นี้ ก็เข้าใจไปตามความเป็นจริงเช่นกัน ทั้งนี้ การตั้งมุมมองและทัศนคติในภาพรวมว่า “พุทธศาสนา คือ ระบบการพัฒนาความสุข” ผู้จดบันทึกเชื่อว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ศึกษาส่วนใหญ่ในยุคสมัยนี้ (รวมถึงตัวผู้บันทึกเองซึ่งนิยมชมชอบมุมมองนี้เป็นอย่างมาก) เนื่องจากการตั้งหลักคิดที่มั่นคงแข็งแรงโดยถือเอามุมมองด้านประโยชน์สุขเป็นที่ตั้งเช่นนี้ เป็นการปิดความเสี่ยงที่ตัวผู้ศึกษาจะตกไปในฝั่งของการมองโลกในแง่ร้ายซึ่งอาจเกิดขึ้นได้บ้างในระหว่างการพิจารณาสภาวธรรมต่างๆ เหตุเพราะยังไม่เข้าถึงความเป็นจริงได้โดยสมบูรณ์ (🔎พุทธศาสนา คือ ระบบการพัฒนาความสุข) อย่างไรก็ตาม การมองพุทธศาสนาในแง่มุมอื่น เช่น เป็นศาสนาแห่งความพ้นทุกข์ เป็นศาสนาแห่งปัญญา เป็นต้น ล้วนเป็นแง่มุมที่น่าศึกษาพิจารณาทั้งสิ้น เพราะไม่ว่าจะมองในแง่มุมไหนถ้าความเห็นนั้นเป็นไปอย่างถูกต้อง สุดท้ายแล้วย่อมส่องให้เห็นสัจธรรมเดียวกัน

๔. ปัญหาเรื่องการหมดแรงจูงใจในชีวิต
ดังที่ท่านเจ้าคุณสมเด็จประยุทธ์ฯ ได้กล่าวสอนไว้ว่า “เมื่อศึกษาเรื่องการปล่อยวาง ไม่ยึดติดถือมั่นแล้ว ควรทำความเข้าใจให้ชัด มิใช่กลายเป็นว่า ไม่เอาเรื่องเอาราว ปล่อยปละละเลย ใช้ชีวิตอย่างเลื่อนลอยปราศจากเป้าหมาย ต้องการผลแต่ไม่ทำเหตุที่ควรทำ ปล่อยเวลาให้ล่วงผ่านไปเปล่า ซึ่งถือเป็นความประมาทอย่างยิ่ง” ข้อนี้ผู้จดบันทึกเองเคยมีปัญหาว่า เมื่อพิจารณาโลกุตรธรรมอย่างเข้มข้นแล้ว เป็นเหตุให้แรงจูงใจในการดำเนินชีวิตลดลงอย่างมาก ทั้งยังเกิดความรู้สึกชังชีวิตอยู่ลึกๆ จนน่ากังวลว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปในระยะยาวจะส่งผลเสียต่อความสำเร็จทางโลกได้ จึงต้องเตือนสติตัวเองให้กลับมาตั้งหลักให้ดี เพราะในความเป็นจริง ถ้าเรารู้สึกว่าการศึกษาธรรมะนั้น ก่อให้เกิดผลเสียไม่ว่าจะในแง่ใดๆก็ตาม ควรตระหนักว่า เป็นความผิดพลาดในการศึกษาพิจารณาของเราเอง มิใช่ธรรมะนั้นมีโทษ หลักธรรมทั้งหลายท่านตรัสไว้ดีแล้ว มีแต่คุณประโยชน์ถ้าทำความเข้าใจได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับตน หากแต่ต้องยอมรับว่า โลกุตรธรรมนั้นเป็นของยาก ก็คงจะมีบ้างที่ความเข้าใจของผู้ศึกษาเอนเอียง เฉไฉไปบ้าง ไม่ถูกต้องถ่องแท้ตามความหมายที่แท้จริง จึงเกิดโทษบางประการจากความเห็นที่ไม่ตรงนั้น

ในภาพรวมถ้าศึกษาพิจารณาธรรมะใดแล้ว ผู้ปฏิบัติรู้สึกว่าเกิดความรู้สึกในแง่ลบ หดหู่ กดดัน เคร่งเครียด จนเกินไป หรือสูญเสียแรงจูงใจในการดำเนินชีวิตปกติไปอย่างมาก มีความเป็นไปได้สูงว่าการปฏิบัตินั้นจะผิดทาง หรืออาจไม่ผิดแต่ยังไม่เหมาะสมกับตน กรณีเช่นนี้ ขอให้ตั้งหลักให้ดีแล้วมองภาพรวมกว้างๆว่า เราศึกษาปฏิบัติตามหลักของพระพุทธศาสนา ก็เพื่อความสุขและความเจริญ ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า “ถ้าปฏิบัติธรรมถูกทาง ต้องได้ปราโมทย์ (ความเบิกบานใจ)”

๕. สงบนิวรณ์เพื่อให้ปัญญาแสดงศักยภาพได้เต็มที่
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย 🔎นิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้แล ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ทุรพล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นไม่ละนิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ อันครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทุรพลแล้ว จักรู้จักประโยชน์ของตน ประโยชน์ของผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ สามารถกระทำความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ด้วยปัญญาที่ไม่มีกำลัง ทุรพล ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้” (อาวรณสูตร)

ดังที่พบเห็นได้ว่า ผู้ที่จิตใจถูกกลุ้มรุมไปด้วยกิเลส เมื่อจะคิดพิจารณาเรื่องที่ไม่ยากก็เป็นเสมือนยาก คิดพิจารณาเรื่องที่ไม่ซับซ้อนไม่น่าจะผิดพลาดก็กลับผิดพลาดไปได้ คนเราถ้าจะก่อความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่รู้สึกว่าไม่น่าให้อภัยตัวเอง ก็มักเกิดขึ้นในเวลาที่สติปัญญามืดบอดเพราะถูกกิเลสกลุ้มรุมเข้ามาอย่างรุนแรงนี่เอง กล่าวคือ แม้ในการคิดพิจารณาเรื่องทั่วๆไป กิเลสก็ฉุดรั้งปัญญาให้ถดถอยลงจนหวังผลสำเร็จได้ยากแล้ว
เมื่อเล็งถึงการเจริญวิปัสสนาเพื่อให้เห็นแจ้งในธรรมอันเป็นของลึกซึ้งอย่างยิ่งนั้น ผู้ปฏิบัติย่อมต้องสงบความฟุ้งซ่านของนิวรณ์ลงให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ก่อน จึงสามารถใช้ศักยภาพทางปัญญาของตนได้อย่างเต็มที่

ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุละนิวรณ์ (นีวรณปหานวรรค, ๒๐/๑๗-๒๑)
ละกามราคะ ด้วยการกำหนดใจให้ปราศจากความเพ่งเล็งในโลก, พิจารณาอสุภนิมิตโดยแยบคาย
ละพยาบาท ด้วยการกำหนดใจให้ปราศจากความคิดประทุษร้าย, เจริญเมตตา
ละถีนมิทธะ ด้วยการกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง (เมื่ออยู่ในที่มืดก็ง่วงซึมได้ง่าย) ,ปรารภความเพียรมั่น
ละอุทธัจจกุกกุจจะ ด้วยความสงบใจ (ไม่ให้ฟุ้งซ่าน)
ละวิจิกิจฉา ด้วยการคิดพิจารณาโดยแยบคาย ไม่คลางแคลงใจในกุศลธรรมทั้งหลาย

ทั้งนี้ ผู้ที่มีความสามารถด้านสมาธิ นิวรณ์ย่อมถูกข่มลงได้ชั่วคราวด้วยกำลังของอุปจารสมาธิเป็นต้นไปนั่นเอง การเจริญวิปัสสนาต่อเนื่องจากการเจริญสมาธิจึงเป็นแนวทางปฏิบัติที่ยอดเยี่ยมนอกจากนี้ ท่านผู้ปรารถนาจะทำเหตุปัจจัยแวดล้อมให้นิวรณ์สงบลงได้ง่าย เพื่อให้เอื้อต่อการเข้าถึงธรรมที่ลึกซึ้ง พึงดูการปฏิบัติ สีลขันธ์ อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ สันโดษ อย่างผู้เจริญแล้ว จากพระสูตรหลายบทในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๙. ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เช่น สามัญญผลสูตร, อัมพัฏฐสูตร เป็นต้น

๖. ไม่ควรละเลยการปฏิบัติด้านสมถกรรมฐาน
ความสำเร็จในด้านสมาธินั้น น่าจะกล่าวได้ว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติจะเข้าถึงสุขประณีตลึกซึ้งอันเกิดจากความสงบได้ด้วยตัวเองในปัจจุบัน ดังมีพุทธพจน์มากมายที่ตรัสสนับสนุนไว้ทั้งในด้านการเป็นฐานของปัญญาและในด้านความสุข เช่น “การประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข ที่เป็นไปเพื่อนิพพาน ได้แก่ ความสุขในฌาน ๔ …” (ปาสาทิกสูตร) เป็นต้น

ธรรมทั้งหลายมีปัญญาเป็นยอดยิ่ง
การเจริญวิปัสสนาเพื่อถอนรากถอนโคนกิเลสนั้นเป็นหน้าที่โดยตรงของปัญญา หากแต่ถ้าปราศจากความสนับสนุนทางด้านสมาธิแล้ว ก็คล้ายกับการเข้าสู่สนามรบโดยปราศจากอาวุธที่ยอดเยี่ยม แม้อาจมีหวังชนะได้แต่คงจะยากมิใช่น้อยเลย ดังจะเห็นได้จากในพระสูตรมากมายหลายบทที่ท่านกล่าวถึงการเจริญสมาธิเพื่อให้ได้ฌาน ๔ ในลักษณะที่เป็นขั้นตอนหนึ่งของการปฏิบัติเพื่อเชื่อมต่อไปให้ถึงการเกิดญาณทัสสนะ นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับสุขจากสมาธิอยู่เป็นประจำ ความจำเป็นต้องพึ่งพาสุขจากสิ่งเสพบริโภคย่อมลดลง ความโลภ การแก่งแย่ง ความอิจฉา ความขัดข้องใจต่างๆ ก็มักจะบรรเทาเบาบางลงไป จึงมีชีวิตที่เป็นสุขและสามารถจะมีศีลที่ดีได้โดยง่าย อย่างไรก็ตาม ตามหลักฐานในประไตรปิฎกพระอรหันต์ที่ไม่ได้ฌานสมาบัติก็มีอยู่ เช่น ในปุตตสูตร ซึ่งคัมภีร์ชั้นอรรถกถาได้จัดแบ่งพระอรหันต์ที่ไม่ได้ฌานสมาบัติว่า พระอรหันต์สุกขวิปัสสก (อาจารย์บางท่านกล่าวว่าได้ฌานเฉพาะในขณะจิตที่เกิดมรรคผล)

๗. พึงนึกเสมอว่าพระพุทธศาสนาเป็น กรรมวาที วิริยะวาที
ถือความเพียรพยายามเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในความเจริญก้าวหน้า ดังพุทธพจน์มากมายที่ตรัสถึงความเพียร อาทิเช่น “บุคคลผู้ปรารภความเพียรมั่น มีชีวิตอยู่วันเดียว ประเสริฐกว่าบุคคลผู้เกียจคร้านมีความเพียรอันเลว มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี” (คาถาธรรมบท สหัสสวรรคที่ ๘)
“บุคคลอย่าพึงดูหมิ่นบุญว่า บุญมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาดๆ นักปราชญ์สั่งสมบุญแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบุญ” (คาถาธรรมบท ปาปวรรคที่ ๙)
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เกียจคร้านอาเกียรณ์ด้วยธรรมอันเป็นบาปอกุศล ย่อมอยู่เป็นทุกข์ และย่อมยังประโยชน์ของตนอันใหญ่ให้เสื่อมเสีย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนบุคคลผู้ปรารภความเพียร ผู้สงัดจากธรรมอันเป็นบาปอกุศล ย่อมอยู่เป็นสุข และยังประโยชน์ของตนอันใหญ่ให้บริบูรณ์ได้” (ทสพลสูตรที่ ๒)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น