วันจันทร์

ความสัมพันธ์ระหว่างขันธ์ต่างๆ

ความสัมพันธ์ระหว่างขันธ์ต่างๆ

ขันธ์ทั้ง ๕ อาศัยซึ่งกันและกัน รูปขันธ์เป็นส่วนกาย นามขันธ์ทั้งสี่เป็นส่วนใจ มีทั้งกายและใจ จึงจะเป็นชีวิต กายกับใจทำหน้าที่เป็นปกติและประสานสอดคล้องกัน ชีวิตจึงจะดำรงอยู่ได้ด้วยดี ตัวอย่าง เช่น กิจกรรมของจิตใจ ต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับโลก ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยอาศัยอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย อารมณ์ทั้งห้าก็ดี ตา หู จมูกคือ เป็นฝ่ายกาย อย่างไรก็ตาม ในที่นี้จะพูดเน้นด้านจิตใจ โดยถือกายเป็นเสมือนอุปกรณ์สำเร็จรูปที่สร้างขึ้้นมารับใช้กิจกรรมของจิตใจ ถือว่าจิตใจเป็นศูนย์กลางแห่งกิจกรรมของชีวิต มีความกว้างขวาง ซับซ้อนและลึกซึ้งมาก เป็นที่ให้คุณค่าและความหมายแก่ชีวิต และเกี่ยวข้องโดยตรงกับพุทธธรรมที่จะกล่าวต่อไป

นามขันธ์ ๔ มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและส่งอิทธิพลเป็นปัจจัยแก่กัน การเกิดขึ้นของนามขันธ์ทั้งสี่เหล่านั้น ตามปกติจะดำเนินไปตามกระบวนธรรมดังนี้ 🔅(รูป เสียง ฯลฯ + วิญญาณ) เป็นปัจจัย 👉การเสวยอารมณ์ (เวทนา) จึงมี; บุคคลเสวยอารมณ์ใด 👉ย่อมหมายรู้อารมณ์นั้น (สัญญา), หมายรู้อารมณ์ใด 👉ย่อมตริตรึกอารมณ์นั้น (สังขาร)

    ตัวอย่าง: - นาย ก. ได้ยินเสียงระฆังกังวาน (หู + เสียง + วิญญาณทางหู) รู้สึกสบายหูสบายใจ (เวทนา) หมายรู้ว่าเป็นเสียงไพเราะ ว่าเป็นเสียงระฆัง ว่าเป็นเสียงระฆังอันไพเราะ (สัญญา) ชอบใจเสียงนั้น, อยากฟังเสียงนั้นอีก, คิดจะไปตีระฆังนั้น, อยากได้ระฆังนั้น, คิดจะไปซื้อระฆังอย่างนั้น, คิดจะลักระฆังใบนั้น ฯลฯ (สังขาร) พึงสังเกตว่า ในกระบวนธรรมนั้น เวทนามีบทบาทสำคัญมาก อารมณ์ใดให้สุขเวทนา สัญญาก็มักกำหนดหมายอารมณ์นั้น ยิ่งให้สุขเวทนามาก ก็จะกำหนดหมายมาก และเป็นแรงผลักดันให้คิดปรุงแต่งทำการต่างๆ เพื่อให้ได้เสวยสุขเวทนานั้นมากขึ้น ความเป็นไปอย่างนี้ เรียกได้ว่าเป็นกระบวนธรรมง่ายๆ พื้นๆ เบื้องต้นเป็นแบบสามัญหรือแบบพื้นฐาน

ในกระบวนธรรมนี้ เวทนาเป็นตัวล่อและชักจูงใจ เหมือนผู้คอยเสนอให้เอาหรือไม่เอาหรือหลีกเลี่ยงอะไร สัญญาเหมือนผู้สะสมเก็บข้อมูลหรือวัตถุดิบ สังขารเหมือนผู้นำเอาข้อมูลหรือวัตถุดิบนั้นไปใช้ปรุงแปรตระเตรียมทำการ วิญญาณเหมือนเจ้าของงาน ใครจะทำอะไรคอยรับรู้ไปหมด เป็นทั้งผู้เปิดโอกาสให้มีการทำงานและเป็นผู้รับผลของการทำงาน ในกระบวนธรรมนี้มีความซับซ้อนอยู่ในตัว มิใช่ว่าเวทนาจะเป็นตัวชักจูงผลักดันขันธ์อื่นฝ่ายเดียว ขันธ์อื่นก็เป็นปัจจัยแก่เวทนา เช่น เสียงดนตรี เสียงเพลงเดียวกัน คนหนึ่งได้ยินแล้ว สุขสบายชื่นใจ อีกคนหนึ่ง รู้สึกบีบคั้นใจเป็นทุกข์ หรือคนเดียวกันนั่นแหละ สมัยหนึ่งได้ยินแล้วเป็นสุข ล่วงไปอีกสมัยหนึ่งได้ยินแล้วเป็นทุกข์ (กระบวนธรรมที่ครบถ้วนของความที่อ้างนี้ พึงดูในตอนว่าด้วยอายตนะ)

คัมภีร์วิสุทธิมัคค์ เป็นต้น เปรียบเทียบว่า รูปเปรียบเหมือนภาชนะ เวทนาเหมือนโภชนะ สัญญาเหมือนกับข้าว สังขารเหมือนผู้ปรุงอาหาร วิญญาณเหมือนผู้บริโภค หรือ รูปเหมือนเรือนจำ เวทนาเหมือนการลงโทษ สัญญาเหมือนโทษ สังขารเหมือนเจ้าหน้าที่ผู้ลงโทษ วิญญาณเหมือนนักโทษ (วิสุทธิมัคค์ ๓/๕๘; สงคห.ฎีกา ๒๒๗)

หลักทั่วไปคือ ของที่ชอบ ที่ต้องการ ตรงกับความปรารถนา เมื่อได้ประสบก็เป็นสุข ของไม่ชอบ ขัดความปรารถนา เมื่อได้ประสบก็เป็นทุกข์ ในกรณีเช่นนี้ สังขาร คือ ความชอบ ไม่ชอบ ปรารถนา เกลียดกลัว เป็นต้นเป็นตัวปรุงแต่งเวทนาอีกต่อหนึ่ง แต่ที่กล่าวอย่างนี้ ความจริงมีสัญญาเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในตัว คือสังขารปรุงแต่งสัญญาไว้ แล้วกลับมามีอิทธิพลต่อเวทนา ตัวอย่างที่อาจจะชัดกว่า เช่น เคยเห็นคนที่รักที่นิยมชมชอบทำอากัปกิริยาบางอย่าง ก็กำหนดหมายเอาไว้ว่าอย่างนี้สวย น่ารัก เห็นกิริยาอาการบางอย่างของบางคนแล้วไม่ชอบ กำหนดหมายไว้ว่าอย่างนี้ น่าหมั่นไส้ (สัญญา) ต่อมาเห็นกิริยาอย่างที่นิยมหมายไว้ว่า สวย น่ารัก หรืออย่างที่หมายไว้ว่าน่าชัง น่าหมั่นไส้ ก็สบายตาชื่นใจ หรือเดือดร้อนตาบีบคั้นใจ (เวทนา) แล้วชอบหรือโกรธ (สังขาร) ไปตามนั้น ที่ซับซ้อนยิ่งกว่านั้น เช่น งานบางอย่าง หรือการเล่าเรียนบางอย่าง เป็นสิ่งยากลำบาก หากลำพังจะต้องทำหรือเล่าเรียนขึ้นมาโดดๆ แล้ว ก็จะต้องเกิดทุกขเวทนา แล้วก็ส่งผลต่อไปให้ไม่อยากทำไม่อยากเรียน แต่หากมีเครื่องล่อมาให้ ก็อาจกลับสนใจและตั้งใจทำตั้งใจเรียนต่อไปได้ เครื่องล่อนี้อาจเป็นเวทนาที่เป็นสุขในปัจจุบัน เช่น วิธีการที่ให้สนุกสนานบันเทิง เป็นต้น หรืออาจเป็นสิ่งซับซ้อนเนื่องด้วยการกำหนดหมายเกี่ยวกับสุขเวทนาในอนาคต เช่น รางวัล ความสำเร็จของงาน ประโยชน์แก่ชีวิตตน แก่ผู้อื่นหรือแก่ส่วนรวม เป็นต้น แล้วแต่จะปรุงด้วยสังขารฝ่ายใด เช่น ด้วยตัณหา ด้วยมานะ หรือด้วยปัญญา เป็นอาทิ ซึ่งจะส่งผลสะท้อนกลับมาทำให้การทำงาน หรือการเรียนนั้น เกิดมีความหมาย มีค่า มีความสำคัญขึ้นแก่ผู้ทำหรือผู้เรียน แล้วแต่งให้เขากลับได้รับสุขเวทนาในขณะที่เรียนหรือทำงานนั้นด้วย แม้อาจมีทุกขเวทนาทางกาย แต่ภายในใจมีสุขเวทนาเป็นโสมนัสอาบอยู่ ทำให้เล่าเรียนหรือทำงานนั้นแข็งขันต่อไป

เมื่อระฆังโรงเรียนกังวานขึ้นในเวลาเย็น นักเรียนทั้งหลายได้ยิน (วิญญาณ) รู้สึกเรื่อยๆ ต่อเสียงนั้น (เวทนา) เพราะชินชาอยู่ทุกวัน ต่างก็รู้กำหนดหมายว่าเป็นสัญญาณเลิกเรียน (สัญญา) เด็กคนหนึ่งดีใจ (สุขเวทนา + สังขาร) เพราะจะได้เลิกเรียนไม่ต้องนั่งปวดเมื่อยและจะได้ไปเล่นสนุกสนาน (สัญญาซ้อน), เด็กอีกคนหนึ่งเสียใจ (ทุกขเวทนา + สังขาร) เพราะจะต้องหยุดบทเรียนอันมีคุณค่า ขาดประโยชน์อันพึงได้ หรือเพราะจะต้องกลับไปพบกับผู้ปกครองที่แสนจะน่ากลัว (สัญญาซ้อน)

โดยนัยนี้ กระบวนธรรมตลอดสาย เริ่มแต่วิญญาณที่รับรู้เป็นต้นไป จึงล้วนสัมพันธ์กันเป็นเหตุปัจจัยซับซ้อน ร่วมเสริมสร้างบุคลิกภาพและกำหนดชะตาชีวิตของแต่ละบุคคลให้เป็นไปต่างๆ และให้แตกต่างจากกันและกัน ในกระบวนธรรมนี้ สังขารนั่นแหละเป็นตัวปรุงแต่ง และสังขารนั้น ซึ่งมีเจตนาเป็นตัวแทน ก็คือชื่อตัวหรือชื่อที่เรียกกันในครอบครัว ของคำว่ากรรม ดังนั้น กรรมซึ่งเป็นชื่อประจำตำแหน่งหรือชื่อที่ออกงานของสังขาร จึงถูกกล่าวขวัญถึงอย่างเป็นผู้มีบทบาทอันสำคัญยิ่งว่า “กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายให้ต่างๆ ออกไป คือ ให้ทรามและให้ประณีต” “หมู่สัตว์เป็นไปเพราะกรรม”

🔅 บทที่ ๑ ขันธ์ ๕
    ความสัมพันธ์ระหว่างขันธ์ต่างๆ
บันทึกพิเศษท้ายบท







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น