วันอังคาร

วิธีละอาสวะ ๗ ประการ

ปุจฉา  เท่าที่ได้สดับมานั้น เราจะละอาสวะได้โดยอาศัยการปฏิบัติตามหลักศีล สมาธิ ปัญญาอย่างเคร่งครัดเท่านั้น มีวิธีใดอีกบ้างหรือไม่ที่เราจะละอาสวะได้? 

พุทธดำรัสตอบ “....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะที่จะพึงละได้เพราะการเห็นมีอยู่ ที่จะพึงละได้เพราะการสังวรก็มี ที่จะพึงละได้เพราะเสพเฉพาะก็มี ที่จะพึงละได้เพราะความอดกลั้นก็มี ที่จะพึงละได้เพราะเว้นรอบก็มี ที่จะพึงละได้เพราะบรรเทาก็มี ที่จะพึงละได้เพราะอบรมก็มี

อรรถาธิบาย

🔆 อาสวะพึงละได้เพราะการเห็น
ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะ ย่อมไม่รู้ทั่วถึงธรรมอันตนควรมนสิการ ย่อมไม่รู้ทั่วถึงธรรมอันตนไม่ควรมนสิการ เมื่อเขาไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ควรมนสิการ ไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการย่อมมนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ย่อมไม่มนสิการธรรมที่ควรมนสิการ

ธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ที่ปุถุชนมนสิการอยู่เป็นไฉน?
เมื่อปุถุชนนั้นมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญขึ้น ธรรมที่ไม่ควรมนสิการเหล่านี้ ที่เขามนสิการอยู่

ก็ธรรมที่ควรมนสิการที่ปุถุชนไม่มนสิการอยู่เป็นไฉน?
เมื่อปุถุชนนั้นมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดีที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมสิ้นไป ธรรมที่ควรมนสิการเหล่านี้ 

ที่เขาไม่มนสิการอยู่ เพราะมนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ และเพราะไม่มนสิการธรรมที่ควรมนสิการ อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญแก่ปุถุชนนั้น 

ปุถุชนนั้นมนสิการอยู่โดยไม่แยบคายอย่างนี้ว่า เราได้มีแล้วในอดีตกาลหรือเราไม่ได้มีแล้วในอดีตกาล เราได้เป็นอะไรหนอ เราได้เป็นอย่างไร เราได้เป็นอะไรแล้วจึงเป็นอะไร ในอนาคตกาลเราจักมีหรือเราจักไม่มีเราจักเป็นอะไร เราจักเป็นอย่างไร เราจักเป็นอะไรแล้วจึงจักเป็นอะไร หรือว่า ปรารภกาลปัจจุบันในบัดนี้ มีความสงสัยขึ้นภายในว่าเรามีอยู่หรือเราไม่มีอยู่ เราเป็นอะไรหนอ เราเป็นอย่างไรหนอ สัตว์นี้มาแต่ไหนหนอ และมันจักไปที่ไหน เมื่อปุถุชนนั้นมนสิการอยู่โดยไม่แยบคายอย่างนี้ บรรดาทิฏฐิ ๖ ทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนนั้นว่า ....

เหตุแห่งทิฏฐิ ๖
ดูกรภิกษุทั้งหลายเหตุแห่งทิฏฐิ ๖  ประการเหล่านี้ ๖ ประการ เป็นไฉน?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนในโลกนี้

๑. ย่อมพิจารณาเห็นรูปว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา 
๒. ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา 
๓. ย่อมพิจารณาเห็นสัญญาว่า นั่นของเรา เราเป็นนั้น  นั่นเป็นอัตตาของเรา 
๔. ย่อมพิจารณาเห็นสังขารทั้งหลายว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา   
๕. ย่อมพิจารณาเห็นรูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ฟังแล้ว กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ทราบแล้ว อารมณ์ที่รู้แจ้งแล้ว ถึงแล้ว แสวงหาแล้ว ใคร่ครวญแล้วด้วยใจว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั้นเป็นอัตตาของเรา 
๖. ย่อมพิจารณาเห็นเหตุแห่งทิฏฐิว่า นั้นโลก นั้นอัตตาในปรโลก เรานั่นจักเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงที่ ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เสมอด้วยความเที่ยงอย่างนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา

ทิฏฐิย่อมเกิดมีแก่ปุถุชนนั้นอย่างนี้ว่า ตนของเราเป็นผู้เสวย ย่อมเสวยวิบากแห่งกรรมทั้งดีทั้งชั่วในอารมณ์นั้น ๆ ก็ตนของเรานี้นั้นเป็นของแน่นอน ยั่งยืน เที่ยงแท้ ไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่อย่างนั้นเสมอด้วยสิ่งยั่งยืนแท้ข้อนี้เรากล่าวว่าทิฏฐิ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับผู้ประกอบด้วยทิฏฐิสังโยชน์ ย่อมไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมไม่พ้นจากทุกข์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ส่วนอริยสาวกผู้สดับแล้ว ผู้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับแนะนำดีแล้วในธรรมของพระอริยะ เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับแนะนำดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ
๑. ย่อมพิจารณาเห็นรูปว่านั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา 
๒. ย่อมพิจารณา เห็นเวทนาว่านั่นไม่ใช่ของเรา  เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา 
๓. ย่อมพิจารณาเห็นสัญญาว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น  นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา 
๔. ย่อมพิจารณาเห็นสังขารทั้งหลายว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น  นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา   
๕. ย่อมพิจารณาเห็นรูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ฟังแล้ว กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ทราบแล้ว อารมณ์ที่รู้แจ้งแล้ว ถึงแล้ว แสวงหาแล้ว ใคร่ครวญแล้วแล้วด้วยใจว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา   
๖. ย่อมพิจารณาเห็นเหตุแห่งทิฏฐิว่า นั่นโลก นั่นตน ในปรโลก เรานั้นจักเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงที่ ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เสมอด้วยความเที่ยงอย่างนั้นว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา  พระอริยสาวกนั้นพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่สะดุ้ง ในเพราะสิ่งที่ไม่มีอยู่ 

ส่วนอริยสาวกผู้สดับแล้ว ผู้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับแนะนำด้วยดีในธรรมของพระอริยะ ย่อมรู้ทั่วถึงธรรมที่ควรมนสิการ และไม่ควรมนสิการ เมื่ออริยสาวกนั้นรู้ทั่วถึงธรรมที่ควรมนสิการ และไม่ควรมนสิการ ย่อมไม่มนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ และมนสิการธรรมที่ควรมนสิการ ก็ธรรมที่ไม่ควรมนสิการเหล่าไหน ที่อริยสาวกไม่มนสิการ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้นย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญขึ้น ธรรมที่ไม่ควรมนสิการเหล่านี้ ที่อริยสาวกไม่มนสิการ

ธรรมที่ควรมนสิการเหล่าไหน ที่อริยสาวกมนสิการอยู่ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมสิ้นไป ธรรมที่ควรมนสิการเหล่านี้ ที่อริยสาวกมนสิการอยู่

เพราะไม่มนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ และเพราะมนสิการธรรมที่ควรมนสิการ อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น จะไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว จะเสื่อมสิ้นไปแก่อริยสาวกนั้น อริยสาวกนั้นย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการอยู่โดยแยบคายอย่างนี้ สังโยชน์ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ย่อมเสื่อมสิ้นไป 

อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการเห็น

🔆 อาสวะพึงละได้เพราะการสังวร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหน ที่จะพึงละได้เพราะการสังวร?  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วเป็นผู้สำรวมแล้วด้วยความสำรวม ในจักขุนทรีย์อยู่ ในโสตินทรีย์อยู่ ในฆานินทรีย์อยู่ ในชิวหินทรีย์อยู่ ในกายินทรีย์อยู่ ในมนินทรีย์อยู่

ก็อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้สำรวมในอินทรีย์อยู่อย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการสังวร 

👉 ดูอินทรีย์สังวรในวิสุทธิมรรคเพิ่มเติม

🔆 อาสวะพึงละได้เพราะการเสพ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพจีวรเพียงเพื่อกำจัด หนาว ร้อน สัมผัส แห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อจะปกปิดอวัยวะที่ให้ความละอายกำเริบ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพบิณฑบาตมิใช่เพื่อจะเล่น มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อประดับ มิใช่เพื่อตบแต่ง เพียงเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ เพื่อให้เป็นไป เพื่อกำจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยคิดว่า จะกำจัดเวทนาเก่าเสียด้วย จะไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้นด้วย ความเป็นไป ความไม่มีโทษ และความอยู่สบายด้วย จักมีแก่เราฉะนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพเสนาสนะ เพียงเพื่อกำจัดหนาวร้อน สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อบรรเทาอันตรายแต่ฤดู เพื่อรื่นรมย์ในการหลีกออกเร้นอยู่ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพบริขาร คือ ยาอันเป็นปัจจัยบำบัดไข้ เพียงเพื่อกำจัดเวทนาที่เกิดแต่อาพาธต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อความเป็นผู้ไม่มีอาพาธเบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นผู้ไม่พิจารณาเสพปัจจัยอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้พิจารณาเสพอยู่อย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการพิจารณาเสพ

👉 ดูปัจจัย ๔ ที่ใช้เสพเพิ่มเติมในปัจจยสันนิสิตศีล

🔆 อาสวะพึงละได้เพราะการอดกลั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหน ที่จะพึงละได้เพราะความอดกลั้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วเป็นผู้อดทนต่อหนาว ร้อน หิว กระหาย สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เป็นผู้มีชาติของผู้อดกลั้นต่อถ้อยคำที่ผู้อื่นกล่าวชั่ว ร้ายแรงต่อเวทนาที่มีอยู่ในตัว ซึ่งบังเกิดขึ้นแล้ว เป็นทุกข์ กล้า แข็ง เผ็ดร้อน ไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่ชอบใจ อาจพล่าชีวิตเสียได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิด ขึ้นแก่ภิกษุนั้นผู้ไม่อดกลั้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้อดกลั้นอยู่อย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะความอดกลั้น

👉 อธิบายไว้ในการสร้างขันติบารมี

🔆 อาสวะพึงละได้เพราะการเว้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหนที่จะพึงละได้เพราะความเว้นรอบ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วเว้นช้างที่ดุร้าย ม้าที่ดุร้าย โคที่ดุร้าย สุนัขที่ดุร้าย งู หลักตอ สถานที่มีหนาม บ่อ เหว แอ่งน้ำครำ บ่อน้ำครำ เพื่อนพรหมจรรย์ ผู้เป็นวิญญูชนทั้งหลาย พึงกำหนดลงซึ่งบุคคลผู้นั่ง ณ ที่มิใช่อาสนะเห็นปานใด ผู้เทียวไป ณ ที่มิใช่โคจรเห็นปานใด ผู้คบมิตรที่ลามกเห็นปานใด ในสถานทั้งหลายอันลามก ภิกษุนั้น พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เว้นที่มิใช่อาสนะนั้น ที่มิใช่โคจรนั้น และมิตรผู้ลามกเหล่านั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จริงอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่เว้นสถานหรือบุคคลอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้เว้นรอบอยู่อย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่าจะพึงละได้เพราะการเว้นรอบ

👉 ข้อนี้พึงพิจารณาในอนาจารและอโคจร 

🔆 อาสวะพึงละได้เพราะการบรรเทา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหนที่จะพึงละได้เพราะความบรรเทา? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทา กามวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้สิ้นสูญ ให้ถึงความไม่มี ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทา พยาบาทวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้สิ้นสูญ ให้ถึงความไม่มี ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทา วิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้สิ้นสูญ ให้ถึงความไม่มี ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทาธรรมที่เป็นบาปอกุศลที่บังเกิดขึ้นแล้ว ทำให้สิ้นสูญ ให้ถึงความไม่มี

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่บรรเทาธรรมอันใดอันหนึ่งอาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้บรรเทาอยู่อย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะความบรรเทา



การบรรเทานี้มีความอดทนอดกลั้นอยู่ก็จริง แต่จะต่างกับขันติตรงที่ ขันติ เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้ามีอโทสะเป็นองค์ธรรม  ส่วนการบรรเทานั้นใช้สัมมาสังกัปปะพิจารณาเหตุการณ์หรือประสบการณ์ไม่ดีของโทสะที่ผ่านล่วงพ้นไปแล้ว 👉 ดูสัมมาสัมมาทิฎฐิร่วมสัมมาสังกัปปะ

🔆 อาสวะพึงละได้เพราะการอบรม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหนที่จะพึงละได้เพราะอบรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในความสละลง เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ... เจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ...เจริญปิติสัมโพชฌงค์ ... เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ... เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ... เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในความสละลง

ดูกรภิกษุทั้งหลายก็อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่อบรมธรรมอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้นผู้อบรมอยู่อย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะอบรม

เหตุเกิดโพชฌงค์ ๗

พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบว่า “ กายนี้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร เมื่อไม่มีอาหารก็ดำรงอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด โพชฌงค์ ๗ ก็มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร เมื่อไม่มีอาหารก็ดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหาร(เหตุ)ให้สติสัมโพชฌงค์ (ตลอดจน ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์………..อุเบกขาสัมโพชฌงค์) ที่ยังไม่เกิด ได้เกิดขึ้นหรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์ ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายเป็นที่เหตุแห่งสติสัมโพชฌงค์มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้สติสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิด ได้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์”

👉 พิจารณาใน โพธิปักขิยสังคหะ



สรุป

การละอาสวะกิเลสในสันดานตนนั้น สามารถละได้ด้วยวิธีการต่างๆทั้ง ๗ วิธีนี้ เมื่อละกิเลสได้ตามลำดับชั้นของการบรรลุแล้ว พระพุทธองค์ก็กล่าวว่า เป็นผู้ซึ่งสำรวมในอาสวะทั้งปวง ตัดตัณหาได้แล้ว ยังสังโยชน์ให้หมดไป ได้ทำที่สุดแห่งทุกข์เพราะความตรัสรู้ ด้วยการเห็นและการละมานะโดยชอบ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น