วันศุกร์

โมหมูลจิต ๒

โมหมูลจิต เป็นจิตที่หลงไปจากรูป-นาม ตามความเป็นจริงหรือจิตที่ไม่สามารถรู้เหตุผลตามความเป็นจริงของสภาวธรรมได้ กล่าวคือ เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยมีโมหเจตสิกเป็นประธานหรือเป็นมูลเหตุ จึงเรียกจิตนี้ว่า โมหมูลจิต จิตที่ถูกโมหเจตสิกเข้าครอบงำนั้น ย่อมหลงใหลงมงาย ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะธรรมชาติของโมหเจตสิกนั้น มีลักษณะพิเศษอยู่ ๔ ประการ คือ

๑. อญาณลกฺขโณ มีความไม่รู้ในอริยสัจ เป็นลักษณะ
๒. อารมมณสภาวจฺฉาทนรโส มีการปกปิดไว้ซึ่งสภาวะแห่งอารมณ์ เป็นกิจ
๓. อนฺธการปจฺจุปฏฐาโน มีความมืดมน เป็นผล
๔. อโยนิโสมนสิการปทฎฺฐาโน มีการไม่ได้พิจารณาอารมณ์นั้นๆ ด้วยดี เป็นเหตุใกล้

🔆โมหมูลจิต มี ๒ ดวง
๑. อุเปกขาสหคตํ วิจิกิจฉาสมฺปยุตตํ แปลว่า จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉย ๆ ประกอบด้วยความสงสัย
๒. อุเบกขาสหคตํ อุทธจฺจสมปยุตตํ แปลว่า จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉย ๆ ประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน

โมหมูลจิตแต่ละดวง ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ คือ "อุเบกขาสหคตํ" เกิดพร้อมกับ เวทนา อย่างหนึ่ง และวิจิกิจฉา หรือ อุทธจจ สัมปยุต ประกอบด้วย ความสงสัย หรือความฟุ้งซ่าน อีกอย่างหนึ่ง

“อุเบกขาสหคตํ” หมายความว่า เกิดพร้อมกับเวทนา ซึ่งมีอยู่เวทนาเดียว คือ อุเบกขาเวทนา แต่สภาพของอุเบกขาเวทนาในโมหมูลจิตนี้ ต่างกันกับอุเบกขาเวทนาในโลภมูลจิต อุเบกขาเวทนาในโมหมูลจิตนั้น หมายถึงสภาพความรู้สึกเฉย ๆ ต่ออารมณ์ที่ปรากฏนั้น เพราะความโง่ไม่รู้ถึงคุณค่าของสภาพอารมณ์ที่ปรากฏขึ้นตามความเป็นจริง ส่วนอุเบกขาเวทนาในโลภมูลจิตนั้น หมายถึงความยินดีเพียงเล็กน้อย ยังไม่ถึงกับจะทำให้เกิดความรู้สึกยินดีมากเป็นโสมนัสเวทนาไป

วิจิกิจฉาสมปยุตตํ” แปลว่า ประกอบด้วยความสงสัย, ความสงสัยมีอยู่ ๒ อย่าง คือ
    ๑. นิวรณวิจิกิจฉา ความสงสัยที่เป็นนิวรณ์สกัดกั้นกุศลกรรม
    ๒. ปฏิรูปกวิจิกิจฉา ความสงสัยในชื่อคน สัตว์ สิ่งของที่ยังไม่รู้จัก หรือ สงสัยในวิชาความรู้ต่างๆ ที่ยังไม่เข้าใจ หรือพระอรหันต์ สงสัยในอาบัติเหล่านี้ ไม่จัดว่าเป็นวิจิกิจฉาในโมหมูลจิต

ความสงสัยที่ประกอบกับโมหมูลจิตที่เป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตนั้น มุ่งหมายเอานิวรณวิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัยที่เป็นไปเพื่อสกัดกั้น มรรค ผล นิพพาน ซึ่งมีอยู่ ๘ ประการ ด้วยกันคือ
            ๑. พุทฺเธ กงฺขติ มีความสงสัยในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แก่ สงสัยในพระสรีระ เช่น สงสัยว่า พระพุทธเจ้านี้ ถ้าจะไม่มีตัวตนจริงๆ คงจะสมมุติขึ้นมาเพื่อเป็นอุบายล่อให้คนมีความสามัคคี ไม่ทะเลาะวิวาทบาดหมางใจกัน หรือสงสัยในพระพุทธคุณ ๙ ประการ เช่นสงสัยว่า พระพุทธเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลสดังพระคุณบทว่า “อรหํ” เป็นผู้ตรัสรู้ธรรมเองโดยชอบ “สมมาสมพุทโธ” เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้และการปฏิบัติอย่างประเสริฐ “วิชชาจรณสมฺปนฺโน” เป็นผู้เสด็จไปด้วยดีแล้ว “สุคโต” เป็นผู้รู้แจ้งโลกทั้ง ๓ คือ สัตว์โลก โอกาสโลก สังขารโลก ในพระคุณ บทว่า “โลกวิทู” เป็นผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม “อนุตตโร ปุริสทมุมสารถิ” เป็นศาสดาของมนุษย์ เทวดา พรหม ทั้งหลาย “สตฺถา เทวมนุสสานํ” เป็นผู้รู้ แจ้งอริยสัจโดยถูกถ้วน และสามารถยังสัตว์ทั้งหลายให้รู้ตาม “พุทโธ” เป็นผู้มี บุญญาธิการอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง “ภควา” ทรงเป็นผู้มีโชค คือ หวังพระโพธิญาณก็ได้สมหวัง ประกาศพระศาสนาก็ชักจูงผู้คนให้ได้บรรลุธรรมสมปรารถนา ความสงสัยในพระพุทธคุณต่างๆ เหล่านี้ พระพุทธคุณต่าง ๆ ดังกล่าวนั้นจะมีจริงหรือไม่ หรือจะเป็นคำกล่าว เพื่อมุ่งยกย่องสรรเสริญกันในฐานะเป็นผู้วิเศษ
            ๒. ธมฺเม กงฺขติ  สงสัยในพระธรรมว่า สวากขาตธรรม คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ และพระไตรปิฎกนั้นมีจริง ๆ หรือสงสัยว่า พระธรรมคุณอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ดังบทว่า “สวากขาโต” เป็นของอันบุคคลพึงเข้าไปเห็นเอง “สนุทิฏฐิโก” เป็นของไม่มีกาลเวลา “อกาลิโก, เป็นของอันจะเรียกร้องท้าทายให้ผู้อื่นมาพิสูจน์ความจริงดูได้ “เอหิปัสสิโก” เป็นของที่มีอยู่อันบุคคลพึงน้อมเข้ามาใส่ใจได้ “โอปนยิโก” เป็นของอันวิญญูชนทั้งหลายพึงรู้ได้เฉพาะตัว “ปจฺจตต์ เวทิตพฺโพวิญญ” ผู้สงสัยย่อมเกิดความสงสัยต่าง ๆ ได้ เช่น สงสัยว่าสวากขาตธรรม จะทำให้พ้นออกจากทุกข์ได้จริงหรือ?
            ๓. สังเฆ กงฺขติ  สงสัยในพระสงฆ์ว่า พระอริยสงฆ์มีจริงหรือ หรือสงสัยว่าพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว “สุปฏิปันโน, เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว “อุชุปฏิปันโน, เป็นผู้ปฏิบัติมุ่งต่อพระนิพพานแล้ว “ญายปฏิปันโน, เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้ว “สามีจิปฏิปันโน” เป็นผู้ควรสักการะ “อาหุเนยโย, เป็นผู้ควรต้อนรับ “ปาหุเนยโย, เป็นผู้ควรทักษิณาทาน “ทุกขิเนยโย, เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม “อญชลีกรณีโย” เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาอื่นยิ่งกว่า “อนุตตร์ ปุญญกเขตต์ โลกสฺส, เหล่านี้จะมีจริง เป็นจริงหรือ?
            ๔. สิกขาย กงฺขติ  สงสัยว่า สิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์นั้น มีผลจริงหรือ และผลานิสงส์แห่งการปฏิบัติในสิกขานั้น จะป้องกันผู้ปฏิบัติมิให้ตกล่วงไปในทุคติภูมิ แต่กลับจะเป็นผลน้อมนำให้เป็นไปในสุคติภูมิ และสามารถพาให้เข้าถึงความพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง คือ พระนิพพาน จะเป็นไปได้เช่นนั้นหรือ?
            ๕. ปุพฺพนฺเต กงฺขติ  สงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ คือ สภาพตัวตน คนสัตว์ที่เคยปรากฏเป็นอดีตนั้น มีจริงหรือ คือสงสัยว่า ชาติก่อนนั้น มีจริงหรือ?
            ๖. อปรนฺเต กงฺขติ  สงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ คือ สภาพความเป็นตัวตนคน สัตว์ ที่จะปรากฏอีกใหม่ในอนาคต มีจริงหรือ คือสงสัยว่า ชาติหน้าจะมีจริงหรือ?
            ๗. ปุพฺพนตาปรนฺเต กงฺขติ  สงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ คือสภาพความเป็นตัวตน คน สัตว์ ที่เคยปรากฏแล้วในชาติก่อนและชาติหน้า ซึ่งรวมทั้งชาตินี้จะมีจริงหรือ?
            ๘. ปฏิจฺจสมุปปาเท กงฺขติ  สงสัยว่า ธรรม คือรูปนามที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเหตุเป็นผล เกี่ยวเนื่องอาศัยกันเกิดขึ้นสืบต่อกันโดยไม่ขาดสาย เป็นปัจจยาการตามนัยแห่งปฏิจจสมุปบาท จะเป็นไปได้ และมีจริงหรือ สิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยเหตุให้เกิด จะไม่มีบ้างทีเดียวหรือ?

“วิจิกิจฉาสัมปยุตจิต” นั้น ย่อมมุ่งหมายเอาจิตที่ประกอบด้วยความลังเลสงสัย ๔ ประการดังกล่าวแล้วเท่านั้น ส่วนความสงสัยอื่นๆ นอกจากนี้ ย่อมไม่ใช่ความสงสัยที่เกิดจากวิจิกิจฉา ที่ประกอบในโมหมูลจิต

อุทธจจสมปยุตตํ” แปลว่า ประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน หมายความว่าจิตนั้นฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไปในอารมณ์ต่าง ๆ แต่อารมณ์เหล่านั้นไม่มั่นคง จึงซัดส่ายปรวนแปรไปเรื่อยๆ

โมหมูลจิตทั้ง ๒ ดวงนี้ ในพระบาลีมิได้แสดงความต่างกันของสังขารเภท คือ ประเภทแห่งสังขาร อันได้แก่ อสังขาริก และสสังขารึกไว้ในวิสุทธิมรรคและในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกากล่าวไว้ว่า จิตที่ยังลังเลสงสัย ไม่แน่ใจก็ดี จิตที่ฟุ้งซ่านก็ดี เป็นจิตที่เว้นจากความกำหนัดหรืออภิชฌา และเว้นจากความขัดเคืองหรือโทมนัส จึงเป็นจิตที่มีกำลังน้อย และขาดความอุตสาหะในกิจการงานต่าง ๆ ความแตกต่างกันในสภาพแห่งสังขารจึงไม่มี แต่ก็ได้สงเคราะห์โมหมูลจิตทั้ง ๒ ดวงนี้ว่า เป็นอสังขาริกจิต เพราะความโง่ความไม่รู้ในเหตุผลตามความเป็นจริงนั้น ย่อมไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลชักชวนของผู้ใด คือความโง่นั้นย่อมเกิดขึ้นที่ตนเอง ผู้ใดอื่นจะมาชักชวนให้โง่ ย่อมไม่ได้

โมหมูลจิต ๒ ดวงนี้ ไม่ประกอบด้วยทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด และปฏิฆะ คือ ความโกรธ เพราะโมหมูลจิตมีความไม่รู้อารมณ์ตามความเป็นจริงเป็นพื้นฐานหรือเป็นมูลเหตุอยู่อย่างเดียว จึงรับอารมณ์ด้วยความรู้สึกเฉย ๆ ไม่ยินดียินร้ายในอารมณ์ เพราะฉะนั้น ทิฏฐิ ซึ่งอาศัยความยินดีในอารมณ์ และปฏิฆะ ซึ่งอาศัยความไม่ยินดีในอารมณ์เป็นตัวการให้เกิด โมหมูลจิตมีแต่ความไม่รู้ในอารมณ์ตามความเป็นจริงเสียแล้ว จึงไม่มีทิฏฐิ และปฏิฆะ ประกอบด้วย

🔆 เหตุให้เกิดโมหะ มี ๒ ประการ

๑. อโยนิโสมนสิการ
๒. อาสวสมุปปาท

อธิบาย “อโยนิโสมนสิการ” การกระทำในใจไม่แยบคายนั้น คือ ขาดการพิจารณาอารมณ์ให้รอบคอบในเหตุและผลด้วยดี เพราะการคิดพิจารณาอารมณ์ไม่สุขุม การกระทำในใจไม่แยบคายมีอาสวะเป็นเหตุให้เกิดคัมภีรภาพนั้น ย่อมก่อให้เกิดความลังเลสงสัยและความฟุ้งซ่าน ซึ่งความสงสัยและความฟุ้งซ่านนี้ ก็จะกลับเป็นเหตุให้เกิดความไม่รู้ คือ โมหะ ต่อไปอีก

อาสวสมุปปาท” มีอาสวะเป็นเหตุให้เกิดอวิชชา คือเครื่องหมักดองกิเลสที่เก็บหมักหมมไว้ในจิตใจ มีกามาสวะ คือ หมักดองกามคุณอารมณ์ไว้ในจิตใจเป็นต้น เมื่อได้ประสบกับกามคุณอารมณ์ใหม่อีกก็จะหลงงมงายติดใจในกามคุณอารมณ์นั้นอีก จึงทำให้ปิดบังสภาพความรู้ตามความเป็นจริงต่ออารมณ์นั้นเสีย ซึ่งเป็นธรรมชาติของโมหะหรืออวิชชา นั่นเอง

🙏 ผลที่เกิดจากโมหมูลจิต

โมหมูลจิต เป็นจิตที่สร้างเหตุหลงงมงาย ฉะนั้น บุคคลใดถูกครอบงำด้วยอำนาจโมหะ ย่อมหลงใหลเพลิดเพลินไปตามความรู้ไม่เท่าทันอารมณ์นั้นๆ อำนาจแห่งโมหะนี้ ถ้าสมัยใดมนุษย์มีสันดานมากไปด้วยโมหะ สมัยนั้นย่อมเกิดโรคันตราย คือ อันตรายที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน เป็นเหตุให้เกิดโรคระบาดล้มตายเป็นอันมาก สรรพโรคจะปรากฏ คร่าชีวิตประชาชนทั้งหลายให้สิ้นไป สำหรับผลของโมหะที่เกิดขึ้นในอนาคตนั้น ย่อมผลักส่งให้เกิดในดิรัจฉานภูมิ ดังพระบาลีแสดงว่า

โมเหน หิ นิจฺจสมมุฬฺหํ ติรจฺฉานโยนีย์ อุปปฺชชนฺติฯ สัตว์ทั้งหลายย่อมไปเกิดเป็นเดรัจฉาน ด้วยอำนาจแห่งโมหะ เพราะเป็นสภาพที่ยังสัตว์ให้ลุ่มหลงงมงายอยู่เสมอ

🔆 แสดงสัมปยุตในอกุศลจิต

ในอกุศล ๑๒ คือ โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ และโมหมูลจิต ๒ ที่กล่าวมาแล้วนั้นพระอนุรุทธาจารย์แสดงสัมปยุตไว้เพียง ๔ ประการ คือ

        ๑. ทิฏฐิคตสมฺปยุตฺต มีความเห็นผิดเข้าประกอบในโลภมูลจิต ๔ ดวง
        ๒. ปฏิฆสมปยุตฺต ความโกรธที่ประกอบในโทสมูลจิต ๒ ดวง
        ๓. วิจิกิจฉาสมปยุตต ความสงสัยที่ประกอบในโมหมูลจิต ๑ ดวง
        ๔. อุทธจฺจสมุปยุตฺต ความฟุ้งซ่านที่ประกอบอย่างชัดแจ้งในโมหมูลจิต ๑ ดวง

คำว่า “สมปยุตต” นี้ แปลว่า “ประกอบ” (กับจิต) เป็นวิเสสนบท มีหน้าที่แสดงให้รู้ถึงการแตกต่างกันของจิต เช่น ทิฏฐิคตสมปยุตฺต แปลว่า จิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิด แสดงให้เห็นว่าทิฏฐิคือความเห็นผิดนี้ เป็นธรรมที่ประกอบกับจิต แต่มิได้ประกอบกับจิตทุกดวงเหมือนอย่างผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เหล่านี้ เป็นต้น แต่อกุศลโลภมูลจิตที่มีจำนวนทั้งหมด ๘ ดวงนั้น มีทิฏฐิเข้าประกอบเพียง ๔ ดวงเท่านั้น มิได้ประกอบในโลภมูลจิตทั้งหมด เพราะฉะนั้น ปฏิฆสมปยุตต วิจิกิจฉาสมปยุตต หรือ อุทธจจสมปยุตต ก็ล้วนเป็นวิเสสนบท ที่แสดงให้เห็นความแตกต่างของจิตโดยทำนองเดียวกันเป็นการแสดงสภาพธรรมที่ประกอบกับจิตโดยเฉพาะอย่างเด่นชัด ทำให้เห็นความแตกต่างของจิตได้ชัดเจน

🔆 สงเคราะห์อกุศลกรรมบถ ๑๐ ลงในอกุศลจิต ๑๒

อกุศลกรรมบถ คือ ทางแห่งการกระทำบาป มี ๑๐ เรียกว่า อกุศลกรรมบถ ๑๐ หรือทุจริต ๑๐ ซึ่งเกิดได้ ๓ ทาง คือ ถ้าเกิดขึ้นทางกาย เรียกว่า อกุศลกายกรรมหรือกายทุจริต เกิดทางวาจา เรียกว่า อกุศลวจีกรรม หรือวจีทุจริต และถ้าเกิดทางใจเรียกว่าอกุศลมโนกรรม หรือมโนทุจริต อกุศลที่เกิดขึ้นทางกายทวาร เป็นอกุศลกายกรรม หรือกายทุจริตนั้น มี ๓ ประการ คือ
        ๑. ปาณาติบาต ฆ่าสัตว์
        ๒. อทินนาทาน ลักทรัพย์
        ๓. กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม

อกุศลที่เกิดขึ้นทางวจีทวาร เป็นอกุศลวจีกรรม หรือวจีทุจริตนั้น มี ๔ ประการ คือ
        ๔. มุสาวาท พูดปด
        ๕. ปิสุณวาจา พูดส่อเสียด
        ๖. ผรุสวาจา พูดคําหยาบ
        ๗. สัมผัสปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ

อกุศลที่เกิดขึ้นมาในมโนทวาร เป็นอกุศลมโนกรรม หรือมโนทุจริต มี ๓ ประการ คือ
        ๘. อภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่น
        ๙. พยาบาท คิดปองร้ายเขา
        ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิด (นิยตมิจฉาทิฏฐิ)

ในโลภมูลจิต ๘ ดวง มีทุจริตเกิดได้ทั้ง ๓ ทวาร ๗ ประการ คือ
ทางกายกรรม มี ๒ คือ อทินนาทาน และกาเมสุมิจฉาจาร
ทางวจีกรรม มี ๓ คือ มุสาวาท ปีสุณวาจา สัมผัปปลาปะ
ทางมโนกรรม มี ๒ คือ อภิชฌา มิจฉาทิฏฐิ

ในโทสมูลจิต ๒ ดวง มีทุจริตเกิดได้ทั้ง ๓ ทวาร ๗ ประการ คือ
ทางกายกรรม มี ๒ คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน
ทางวจีกรรม มี ๔ คือ มุสาวาท ปิสุณวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ
ทางมโนกรรม มี ๑ คือ พยาบาท

ในโมหมูลจิต ๒ ดวง มีทุจริตเกิดได้ทั้ง ๓ ทวาร ๑๐ ประการ คือ
ทางกายกรรม มี ๓ คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร
ทางวจีกรรม มี ๔ คือ มุสาวาท ปิสุณวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ
ทางมโนกรรม มี ๓ คือ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ

ในอกุศลกรรมบถ ๑๐ นี้ ถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว ก็จะเห็นว่า อกุศลกรรมบถ ๓ ได้แก่ ปาณาติบาต ผรุสวาจา และพยาบาท เกิดได้ด้วยอำนาจโทสมูลจิต อันมีโทสะเป็นเหตุนำ อกุศลกรรมบถอีก ๓ ได้แก่ กาเมสุมิจฉาจาร อภิชฌา และมิจฉาทิฏฐิ เกิดด้วยอำนาจแห่งโลภมูลจิต อันมีโลภเป็นเหตุ ส่วนอกุศลกรรมบถที่เหลือ คือ อทินนาทาน มุสาวาท ปิสุณวาจา และสัมผัปลาปะ ทั้ง ๔ ประการนี้ บางครั้งก็เกิดโดยโลภมูลจิต เช่น ลักทรัพย์ เพราะหวังร่ำรวย หรือพูดปด เพื่อแสวงหาประโยชน์ เป็นต้น ขณะนั้นก็มีโลภะ เป็นเหตุ แต่บางครั้ง เช่น ลักทรัพย์ อกุศลกรรมบถดังกล่าว ก็เกิดขึ้นโดยโทสมูลจิต อันมีโทสะ เป็นเหตุ เอาไปทิ้ง เพราะเกลียดเจ้าทรัพย์ หรือพูดปด เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เป็นต้น

อกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ นี้ อาศัยโลภมูลจิตและโทสะมูลจิตเป็นมูลเหตุก่อให้เกิดขึ้นโดยตรง แต่ที่กล่าวว่า อกุศลกรรมบถเกิดได้ในโมหมูลจิตครบ ๑๐ ประการบริบูรณ์นั้นเพราะเป็นการกล่าวโดยอ้อม เพราะอกุศลกรรมบถ ๑๐ อาศัยอวิชชาเป็นมูลเหตุนั่นเอง ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า เมื่อ

โลภมูลจิต เกิดขึ้น มีโลภะ เป็นเหตุนำ - โมหะเป็นเหตุหนุน
โทสมูลจิต เกิดขึ้น มีโทสะ เป็นเหตุนำ - โมหะเป็นเหตุหนุน
โมหมูลจิต เกิดขึ้น มีโมหะ เป็นเหตุนำอย่างเดียว

🔆 เหตุให้เกิดอกุศลจิต

การเกิดขึ้นแห่งอกุศลจิต ๑๒ ดวงนั้น เพราะการไม่ใส่ใจพิจารณาอารมณ์ให้แยบคาย เรียกว่า “อโยนิโสมนสิการ สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ผู้ที่มีอโยนิโสมนสิการนั้น อกุศลจิตที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น อกุศลจิตที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญยิ่งขึ้น กุศลจิตที่จะเกิดย่อมไม่มีโอกาสจะเกิด และกุศลจิตที่กำลังเกิดขึ้น ย่อมดับสิ้นลงพลัน อโยนิโสมนสิการนี้ ย่อมเกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุ ๕ ประการ คือ

๑. ปุพเพอกตปุญญตา ไม่ได้สร้างสมบุญไว้แต่ปางก่อน
๒. อปฏิรูปเทสวาส อยู่ในประเทศที่ไม่สมควร
๓. อสปปุริสปนิสฺสย ไม่ได้คบหาสนทนากับสัปบุรุษ
๔. อสทฺธมฺมสฺสวน ไม่ได้ฟังธรรมของสัปบุรุษ
๕. อตฺตมิจฉาปณิธิ ตั้งตนไว้ผิด

เหตุให้เกิดอโยนิโสมนสิการ ๕ ประการนี้ ย่อมมีอุปาระแก่กัน คือไม่ได้สร้างสมบุญไว้แต่ปางก่อน เป็นอดีตเหตุ เพราะไม่ได้สร้างสมบุญไว้แต่ปางก่อน จึงทำให้มาเกิดในประเทศที่ไม่สมควร คือ ไม่มีสัปบุรุษ จึงทำให้ไม่ได้ฟังธรรมและเพราะเหตุที่ไม่ได้ฟังธรรม จึงทำให้หลงผิดตั้งจิตไว้โดยไม่ชอบ คือตั้งตนไว้ผิดนั่นเอง จึงทำให้อกุศลจิตเกิดขึ้นโดยอาศัยอโยนิโสมนัสสิการ เหตุให้เกิดอโยนิโสมนัสสิการนี้จึงเท่ากับเป็นเหตุให้เกิดอกุศลจิตด้วย

🔆 อกุศลจิตเป็นธรรมที่ควรละ

อกุศลจิต เป็นจิตที่ชั่ว ที่บาป มีโทษและให้ผลเป็นทุกข์ ซึ่งตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนานั้น สอนให้ละชั่ว เป็นประการแรก ให้ประพฤติดี เป็นประการที่สอง และให้ทำจิตให้บริสุทธิ์ ปราศจากเรื่องเศร้าหมอง เป็นประการสุดท้าย เพราะฉะนั้น อกุศลจิตเป็นจิตที่ก่อให้เกิดการทำ การพูด และการคิดที่ไม่ดีเป็นการงานที่ชั่ว ที่บาปจึงจำเป็นต้องละอกุศลจิตก่อน การละอกุศลจิตนั้น ย่อมกระทำได้ ๓ ลักษณะ คือ
        ๑. ตทงฺคปหาน ละได้ชั่วคราว ด้วยศีล
        ๒. วิกฺขมฺภนปหาน ละโดยการข่มไว้ ด้วยสมาธิ
        ๓. สมุจเฉทปหาน ละโดยเด็ดขาด ด้วยปัญญา

การละอกุศลจิตได้ชั่วคราวนั้น หมายถึง การที่บุคคลระมัดระวังไม่ให้อกุศลจิต คือ โลภมูลจิต โทสมูลจิต และ โมหมูลจิต เกิดขึ้น ซึ่งจะต้องอาศัยธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเกิดขึ้นของอกุศลจิตเหล่านั้น คือ

โลภมูลจิต ซึ่งเป็นจิตที่เกิดจากความโลภ คือ ความอยากได้ ถ้าไม่สำรวมระวังให้ดีแล้ว ความโลภอยากได้ในอารมณ์ที่น่ายินดีนั้น ก็จะลุกลามแผ่ขยายกว้างขวางออกไปจนหาประมาณที่สุดมิได้เพื่อป้องกันมิให้ความโลภอยากได้ฟูขึ้นในใจต้องอาศัยธรรมที่ชื่อว่า สันโดษ คือ ความพอใจเท่าที่มีอยู่ หรือพอใจเท่าที่จะพึงหาได้โดยชอบธรรมรู้จักประมาณความอยากได้ ซึ่งองค์ธรรมได้แก่ อโลภเจตสิกการละโลภะด้วยอโลภะมีสันโดษ เป็นต้นนี้ เป็นการละได้เพียงชั่วคราวเท่าที่มีความระมัดระวังไม่ให้ความโลภอยากได้เกิดขึ้นชั่วขณะเท่านั้น เรียกว่า ละได้โดย ตทังคปหาน ถ้าจะละโดยอาการข่มความโลภไว้ไม่ให้เกิดขึ้นเป็นเวลานานๆ นั้นต้องอาศัย สมาธิ หรือฌานเป็นเครื่องมือ การละอกุศลจิตโดยการข่มไว้นี้ เรียกว่าละโดย วิกขัมภนปหาน ส่วนการที่จะละโลภมูลจิตโดยเด็ดขาดนั้น ต้องใช้ ปัญญาในมัคจิตเป็นผู้ละ ซึ่งสามารถจะละความโลภอย่างหยาบไปจนถึงขั้นละเอียดที่สุดในชั้นอรหัตมัคจิต การละโดยปัญญานี้ เป็นการละโดยเด็ดขาดที่เรียกว่า สมุจเฉทปหาน

โทสมูลจิต เป็นจิตที่เกิดจากความโกรธ เกลียด กลัว ความประทุษร้ายอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา เมื่อใครก็ตาม มีความเห็นเข้าข้างตนเป็นใหญ่แล้ว ย่อมมีแต่จะขู่วามเดือดร้อนก่อให้เกิดโทษประทุษร้ายตนเอง และผู้อื่นที่สมาคมด้วย เพราะความนิยมชมชื่นในตนเองมากเกินไปนั่นเอง จึงมองข้ามความผิดของตนเองไปมองเห็นแต่โทษผู้อื่นและคอยหาโอกาสเบียดเบียนเสมอ ฉะนั้น เพื่อผ่อนคลายความเบียดเบียนอันมีสภาพเป็นโทสมูลจิตนี้จึงจำเป็นต้องละโทสะโดยวิธีเจริญเมตตา คือ ต้องพิจารณาเสมอว่า ตัวเราเกลียดทุกข์ ปรารถนาสุขฉันใด ผู้อื่น สัตว์อื่น ก็เกลียดทุกข์ ปรารถนาสุขเหมือนเราฉันนั้น เมื่อพิจารณาดังนี้แล้ว ย่อมผ่อนคลายความเบียดเบียนซึ่งกันและกันลงได้ เป็นการละอกุศลโทสมูลจิตลงได้ชั่วคราวที่เรียกว่า ตทังคปหาน ในสติปัฏฐานอรรถกถาแสดงเหตุที่ประหาณโทสะไว้ ๖ ประการ คือ
    ๑. เมตตานิมิตฺตสฺส อุคุคโห ศึกษาในเครื่องหมายแห่งการเจริญเมตตา
    ๒. เมตตาภาวนานุโยโค ประกอบภาวนาในเมตตาเนือง ๆ
    ๓. กมฺมสฺสกตาปัจจเวกขณ พิจารณาเนือง ๆ ว่า เป็นกรรมของตน
    ๔. ปฏิสงฺขานพหุลีกตา ทำให้มากด้วยปัญญา
    ๕. กลยาณมิตตตา คบมิตรที่ดีมีเมตตา
    ๖. สปปยกถา ได้ฟังถ้อยคำที่สบาย (เมตตากถา)

นอกจากจะละโทสะด้วยเมตตาและเหตุอื่นๆ ทั้ง ๖ ประการดังกล่าวแล้ว ยังใช้สมาธิหรือฌานละได้โดยการข่มไว้ ตราบเท่าที่อยู่ในฌาน หรือสมาธิยังคงอยู่ เรียกการละนี้ว่า วิกขัมภนปหาน ส่วนการจะละโทสะขั้นเด็ดขาดไม่ให้เกิดขึ้นใหม่อีกนั้นต้องละโดยปัญญาแห่งอนาคามิมัคจิต เป็นการละที่สิ้นสุด เป็นสมุจเฉทปหาน

โมหมูลจิต เป็นจิตที่ไม่ได้แสดงโทษออกมาให้ประจักษ์ แต่ก็เป็นรากเหง้าแห่งอกุศลจิตทั้งปวง มีสภาพปิดบังความจริงไว้ ซึ่งเปรียบเสมือนความมืด ฉะนั้น การประหานความมืดนั้น ต้องอาศัยความสว่าง ซึ่งได้แก่ ปัญญานั่นเอง ในสติปัฏฐานอรรถกถาแสดงเหตุที่ประหาณโมหะ ประกอบด้วยวิจิกิจฉา และอุทธัจจะไว้ดังนี้ คือ

เหตุที่ประหาณวิจิกิจฉา ๖ ประการ
๑. พหุสสุตตา เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก
๒. ปริปุจฺฉกตา หมันสอบสวนทวนถาม
๓. วินเย ปกตญฺญุตา รอบรู้ชำนาญและเคร่งครัดในระเบียบวินัย
๔. อธิโมกขพหุลตา เต็มไปด้วยการตัดสินใจมั่น
๕. กลยาณมิตตตา มีมิตรที่ดี
๖. สปฺปายกถา ได้ฟังถ้อยคำอันคลายสงสัย

เหตุที่ประหาณอุทธัจจะ ๖ ประการ
๑. พหุสฺสุตตา เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก
๒. ปริปุจฺฉกตา หมันสอบสวนทวนถาม
๓. วินเย ปกตญฺญุตา รอบรู้ชำนาญและเคร่งครัดในระเบียบวินัย
๔. พุทฺธเสวิตา ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าบ่อยๆ
๕. กลยาณมิตฺตตา มีมิตรที่ดี
๖. สปปายกถา ได้ฟังถ้อยคำอันเป็นที่สบาย

การละโมหะ หรือ อวิชชานั้น ต้องอาศัยปัญญา ตั้งแต่สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา และ ภาวนามยปัญญา โดยลำดับ เพราะปัญญานั้นเป็นแสงสว่างที่จะทำลายความมืด คือ โมหะโดยตรง แต่การที่จะละโมหะ หรืออวิชชาได้โดยเด็ดขาดไม่ให้มีเหลืออยู่เลยนั้น จะต้องใช้ปัญญาในอรหัตมัคจิตเป็นผู้ละ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น