วันอังคาร

โทสมูลจิต ๒

โทสมูลจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพราะมีโทสะเป็นเหตุ ความไม่ปรารถนาอารมณ์นั้นๆ ย่อมมีโทสะ เป็นตัวนำ หรือเป็นเหตุ โทสะ เป็นเจตสิกธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความเสียใจ ความกลัดกลุ้มรำคาญใจ และความกลัว จิตที่ถูกโทสเจตสิกครอบงำนั้น ย่อมเป็นจิตประทุษร้ายอารมณ์ เพราะธรรมชาติของโทสเจตสิก มีคุณลักษณะอยู่ ๔ ประการ คือ

    จณฺฑิกลกฺขโณ มีความหยาบกระด้าง เป็นลักษณะ
    นิสฺสยาทาหนรโส มีการทำให้จิตใจตนและผู้อื่นหม่นไหม้ เป็นกิจ
    ทูสนปจฺจุปฏฺฐาโน มีการประทุษร้ายอารมณ์ เป็นอาการปรากฏ
    อาฆาตวัตถุปทฏฐาโน มีอาฆาตวัตถุ เป็นเหตุใกล้

ฉะนั้น โทสมูลจิต จึงมีหมายความว่า จิตที่เกิดขึ้น โดยมีโทสเจตสิกเป็นมูลเป็นประธาน

🔆โทสมูลจิต มี ๒ ดวง

๑. โทมุนสุสสหคตํ ปฏิฆสมปยุตตํ อสงฺขาริกํ แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความเสียใจประกอบด้วยความโกรธ
๒. โทมนสุสสหคตํ ปฏิฆสมฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความเสียใจประกอบด้วยความโกรธ

โทสมูลจิต ๒ ดวงนี้ มีสภาพธรรม ๓ ประการ คือ

๑. โทมนสุสสหคตํ เกิดพร้อมด้วยความเสียใจ ทุมนะ แปลตามศัพท์ว่า "ใจชั่ว" แปลตามอรรถว่า มีใจชั่ว คือภาวะแห่งใจชั่ว เร่าร้อน เศร้าหมอง บุคคลที่มีใจชั่วนั้นชื่อว่า “โทมนัส” ซึ่งมีองค์ธรรม ได้แก่ เวทนาเจตสิก (ธรรมชาติที่เสวยอารมณ์) เป็นเวทนาประเภท ๑ ในเวทนา ๕ ข้อ คือ ทุกขเวทนา สุขเวทนา โสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา และอุเบกขาเวทนา

โทมนัสเวทนานี้ จะเกิดพร้อมโทสมูลจิต ๒ ดวงนี้เท่านั้น จะเกิดพร้อมกับจิตอื่นหาได้ไม่ เพราะฉะนั้น เมื่อโทสมูลจิตเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้น โทมนัสเวทนาจะต้องเกิดพร้อมด้วยเสมอ จึงเรียกว่า “โทมนสุสสหคต์”

๒. ปฏิฆสมฺปยุตตํ ประกอบด้วยความโกรธ ปฏิฆะ แปลว่า ความโกรธ ความคับแค้น หรือการกระทบกระทั่ง ซึ่งเมื่อแปลโดยอรรถแล้ว หมายถึงการกระทบกระทั่งในอารมณ์ คือ มีสภาพประทุษร้าย ทำลายอารมณ์ที่กระทบให้เสียหายไปองค์ธรรม ได้แก่ โทสเจตสิก (ธรรมชาติที่ประทุษร้ายอารมณ์) ปฏิฆะ หรือโทสะนี้เป็นภาวะที่จะต้องประกอบกับโทมนัสเวทนา จะเกิดพร้อมกับเวทนาอื่น ๆ ไม่ได้

คำที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า โทมนัส และปฏิฆะ มีสภาพต่างกัน คือ

โทมนัส เป็นเวทนาเจตสิก และเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในเวทนาขันธ์ มีการเสวยอนิฏฐารมณ์ (เป็นอารมณ์ที่ไม่ดี) เป็นลักษณะ
ปฏิฆะ นั้น เป็นโทสเจตสิก และเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ มีความประทุษร้ายอารมณ์ เป็นลักษณะ

รวมทั้ง ๒ ประการนี้ แม้ต่างกันโดยสภาวะลักษณะ แต่ด้วยอำนาจแห่งโทสจิตตุปบาทแล้ว โทมนัสเวทนาจะต้องเกิดร่วมกับปฏิฆะเสมอไป

๓. อสงฺขาริกํ เป็นอาการที่ปฏิฆจิตมีกำลังกล้าแข็งเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักชวน ส่วน สสงขาริกํ นั้น เป็นปฏิฆจิตที่เกิดขึ้นโดยมีสิ่งที่ชักชวนยั่วยุให้เกิดขึ้นจึงเป็นจิตที่มีกำลังอ่อน ทำนองเดียวกับอสังขาริกํ และ สสังขาริกํ ในโลภมูลจิตนั่นเอง

โทมนัส และ ปฏิฆะ นี้ อาศัยการที่ได้ประสบกับอนิฏฐารมณ์และอาฆาตวัตถุ ๑๐ อย่าง เป็นเหตุใกล้ให้เกิดอาฆาตวัตถุ ๑๐ ประการ
๑. อาฆาตเขาโดยคิดว่า ได้เคยทำความเสื่อมเสียแก่เรา
๒. อาฆาตเขาโดยคิดว่า กำลังทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา
๓. อาฆาตเขาโดยคิดว่า จะทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา
๔. อาฆาตเขาโดยคิดว่า ได้เคยทำความเสื่อมเสียให้แก่ผู้ที่เรารัก
๕. อาฆาตเขาโดยคิดว่า กำลังทำความเสื่อมเสียแก่ผู้ที่เรารัก
๖. อาฆาตเขาโดยคิดว่า จะทำความเสื่อมเสียแก่ผู้ที่เรารัก
๗. อาฆาตเขาโดยคิดว่า ได้เคยทำคุณประโยชน์แก่ผู้ที่เราเกลียดชัง
๘. อาฆาตเขาโดยคิดว่า กำลังทำคุณประโยชน์แก่ผู้ที่เราเกลียดชัง
๙. อาฆาตเขาโดยคิดว่า จะทำคุณประโยชน์แก่ผู้ที่เราเกลียดชัง
๑๐. อาฆาตในฐานะอันไม่ควร เช่น ขณะที่เดินสะดุด หรือเหยียบหนาม เป็นต้น


แต่กล่าวรวมถึง อดีตเหตุ คือเหตุใกล้ด้วยแล้ว เหตุให้เกิดโทสะหรือปฏิฆะ มี ๕ ประการ คือ

๑. โทสชฺฌาสยตา มีอัธยาศัยเป็นคนมักโกรธ
๒. อคมฺภีรปกติตา มีความคิดไม่สุขุม
๓. อปฺปสสุตตา มีการศึกษาน้อย
๔. อนิฏฐารมฺมณสมาโยโค ประสบอารมณ์ที่ไม่ดี
๕. อาฆาตวตถุสมาโยโค ประสบกับอาฆาตวัตถุ ๑๐ ประการ


เป็นที่น่าสังเกตว่า ในโทสมูลจิตนี้ เป็นจิตที่มีแต่ปฏิสัมปยุต คือ ประกอบด้วยความโกรธ แต่ไม่มีความเห็นผิดประกอบ คือทิฏฐิคตสัมปยุตที่เป็นเช่นนี้เพราะ ทิฏฐิ ความเห็นผิดนั้น ย่อมรับสภาพอารมณ์ที่น่ายินดีพอใจแต่โทสจิตนั้น มีแต่รับสภาพอารมณ์ที่ไม่พอใจ ฉะนั้น ความยินดีพอใจจะเกิดพร้อมกับความไม่พอใจในขณะเดียวกันไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ โทสจิตจึงไม่มีทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดเข้าประกอบด้วย


 🙏 ผลที่เกิดจากโทสมูลจิต 🙏 

โทสมูลจิตนี้ เป็นจิตที่ประกอบด้วยเหตุโกรธ ไม่พอใจในอารมณ์ที่กำลังประสบอยู่ ฉะนั้น เมื่อโทสะปรากฏแก่บุคคลใดแล้ว บุคคลนั้นย่อมเศร้าหมองเร่าร้อนดิ้นรน เพื่อทําลายอารมณ์ที่ไม่พอใจนั้นให้สูญหายไป หน้าตาบูดบึ้งตึงเครียดจนเป็นเหตุให้ผู้ที่ได้พบเห็นขณะนั้นได้รู้ว่ากำลังโกรธ และจิตใจพลอยเศร้าหมองเร่าร้อนไปด้วย สมัยใด มนุษย์มีสันดานมากไปด้วยโทสะ สมัยนั้น ย่อมเกิด สตฺถนตราย คือ อันตรายที่เกิดจากศัสตราวุธต่างๆ เป็นเหตุให้ทำสงครามฆ่าฟันกันตาย สรรพภัยต่าง ๆ จะปรากฏแก่ประชาชนอย่างน่ากลัว

สำหรับผลแห่งโทสะในอนาคต คือ ในภพหน้า ชาติหน้า ย่อมจะผลักส่งไปให้เกิดเป็นสัตว์นรกในนิรยภูมิ ดังบาลีที่แสดงว่า โทเสน หิ จณฺฑชาติตาย โทสสฺทิสํ นิรยํ อุปปชฺชนฺติฯ สัตว์ทั้งหลายย่อมไปเกิดในนรกเป็นส่วนมากด้วยอำนาจแห่งโทสะ อันเป็นที่ทรมานสัตว์ให้เร่าร้อน เช่นเดียวกับสภาวะของโทสะที่ทรมานตนเองให้เร่าร้อนอยู่เสมอฉะนั้น

การแสดงโทสมูลจิต ต่อจากโลภมูลจิต เพราะโทสะย่อมเกิดขึ้นโดยอาศัยกามราคะ (โลภะ) ถ้าบุคคลละกามราคะได้แล้ว โทสะก็เกิดขึ้นไม่ได้ ดังเช่น พระอนาคามีทั้งหลาย ท่านละกามราคะได้แล้ว โทสะก็พลอยถูกละไปด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น