วันจันทร์

เจตสิก คืออะไร

เจตสิก เป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ในจำนวนปรมัตถธรรม ๔ อย่าง คือ จิต, เจตสิก, รูป และนิพพาน เจตสิกเป็นธรรมชาติที่อาศัยจิตเกิด (จิตฺตนิสฺสิตลกฺขณํ) เจตสิกที่อาศัยจิตเกิดขึ้นนี้ไม่เหมือนกับต้นไม้ที่อาศัยพื้นแผ่นดินเกิด เพราะพื้นแผ่นดินกับต้นไม้นั้น พื้นแผ่นดินเป็นฐานรองรับ และต้นไม้ตั้งอยู่บนพื้นแผ่นดินที่รองรับนั้น ซึ่งพื้นแผ่นดินจะต้องปรากฏขึ้นก่อน เพื่อเป็นฐานรองรับให้ต้นไม้เกิดภายหลัง และการเกิดขึ้นของต้นไม้นั้น ก็เป็นคนละส่วนกับพื้นแผ่นดิน คือ ต้นไม้ตั้งอยู่บนพื้นแผ่นดิน

เจตสิกที่อาศัยจิตนั้น มีสภาพเหมือนอาจารย์กับศิษย์ คือ ทั้งอาจารย์และศิษย์ปรากฏขึ้นพร้อมกัน คือมีอาจารย์ก็ต้องมีศิษย์ หรือมีศิษย์ก็ต้องมีอาจารย์ ถ้าเว้นอาจารย์เสียแล้ว ศิษย์ย่อมมีไม่ได้ หรือถ้าเว้นศิษย์เสียแล้ว อาจารย์ก็ย่อมมีไม่ได้เช่นเดียวกัน จึงย่อมกล่าวได้ว่าธรรมชาติของเจตสิกนั้น เกิดพร้อมกับจิต หรือประกอบกับจิตเป็นนิตย์  ดังวจนัตถะว่า

เจตสิก ภวํ = เจตสิกํ (วา) เจตสิก นิยุตตํ = เจตสิกํ แปลความว่า ธรรมชาติที่เกิดกับจิต หรือธรรมชาติที่ประกอบกับจิตเป็นนิตย์ ชื่อว่า เจตสิก

อาการที่เจตสิกประกอบกับจิตนั้นเรียกว่า เจโตยุตตลกฺขณํ คือ การประกอบที่บริบูรณ์ด้วยลักษณะ ๔ ประการคือ :

  • เอกุปฺปาท  เกิดพร้อมกับจิต
  • เอกนิโรธ  ดับพร้อมกับจิต
  • เอกาลมฺพน  มีอารมณ์เป็นอันเดียวกับจิต
  • เอกวตฺถุก  อาศัยวัตถุอันเดียวกับจิต

ดังคาถาสังคหะ มีแสดงไว้ว่า

คาถาสังคหะ
๑. เอกุปฺปาทนิโรธา จ เอกาลมฺพนวตุถุกา
เจโตยุตฺตา ทฺวิปญฺญาส ธมฺมา เจตสิกา มตา ฯ

แปลความว่า ธรรมชาติใด ที่เกิดพร้อมกับจิต, ดับพร้อมกับจิต, มีอารมณ์อันเดียวกับจิต และอาศัยวัตถุอันเดียวกับจิต ธรรมชาตินั้นชื่อว่าเจตสิกมีจํานวน ๕๒ ดวง

ลักษณะพิเศษของเจตสิกปรมัตถ์
เจโตยุตตลักษณะ ดังคาถาสังคหะนั้น เป็นลักษณะที่เจตสิกประกอบกับจิต หรืออาศัยจิตเกิดขึ้น ส่วนลักษณะพิเศษของเจตสิกปรมัตถ์นั้น ก็มี ๔ ประการเช่นกัน เรียกว่า ลักขณาทิจตุกะ ของเจตสิก ซึ่งมีดังนี้คือ :-

  • จิตฺตนิสฺสิตลกฺขณํ  มีการอาศัยจิตเกิดขึ้น  เป็นลักษณะ
  • อวิโยคุปฺปทานรสํ  มีการเกิดร่วมกับจิต  เป็นกิจ
  • เอกาลมฺพนปจฺจุปฏฐานํ  มีการรับอารมณ์อันเดียวกับจิต  เป็นผล
  • จิตฺตุปฺปาทปทฏฺฐานํ  มีการเกิดขึ้นแห่งจิต  เป็นเหตุใกล้

จิตและเจตสิก ต่างก็เป็นนามธรรมด้วยกัน จึงประกอบเข้ากันได้สนิทโดยที่จิตนั้นเป็นธรรมชาติรู้อารมณ์ และเจตสิกเป็นธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิตให้รู้อารมณ์เป็นไปต่างๆ ตามลักษณะของเจตสิก แม้เจตสิกจะเป็นธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิตก็ตาม แต่ก็ต้องนับว่า จิตเป็นใหญ่หรือเป็นประธาน เพื่อให้เจตสิกได้ปรุงแต่ง หรือเพื่อให้เจตสิกอิงอาศัยจิตเกิด จิตและเจตสิกที่ประกอบเข้าด้วยกันนี้ เรียกว่า "สัมปยุตตธรรม"


🔅 จำนวนของเจตสิก

ในปริจเฉทที่ ๑ ได้กล่าวถึงจิตทั้งหมด มีจำนวน ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง ที่จำแนกจิตออกไปเช่นนั้น ไม่ได้จำแนกโดยสภาวลักษณะของจิต แต่จำแนกโดยอาศัยการปรุงแต่งของเจตสิก ที่เกิดพร้อมกับจิตเป็นต้นนั้น จึงทำให้จิตมีความสามารถในการรู้อารมณ์พิเศษแตกต่างจากกันออกไป เช่น ในเรื่องของกาม เรื่องของรูปฌาน อรูปฌาน และรู้นิพพานอารมณ์ ด้วย เหตุนี้เอง จึงจำแนกจิตออกไปได้ถึง ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง

แต่การนับจำนวนเจตสิก ไม่เหมือนกับการนับจำนวนจิตดังกล่าวนั้น เพราะการนับจำนวนเจตสิก นับตามสภาวลักษณะของตนๆ โดยเฉพาะ ซึ่งสภาวะลักษณะของเจตสิกมีทั้งหมด ๕๒ ประเภท จึงนับจำนวนเจตสิกทั้งหมดได้ ๕๒ ดวง

จำแนกเจตสิก ๕๒ โดยราสี

เจตสิกทั้ง ๕๒ ดวงนี้ แบ่งออกได้เป็น ๓ ราสี (กอง, หมู่) ตามสภาวะลักษณะที่จะประกอบเข้ากันได้

คาถาสังคหะ

๒. เตรสญฺฺญสมานา จ  จุฑฺทสากุสลา ตถา
โสภณา ปญฺจวิสาติ  ทฺวิปญฺญาส ปวุจฺจเร ฯ

แปลความว่า เจตสิก ๕๒ ดวง แบ่งออกได้เป็น ๓ ราสีคือ อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวง, อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง และโสภณเจตสิก ๒๕ ดวง

แสดงการจำแนกเจตสิกโดยราสี

ความหมายของเจตสิกตามลำดับราสี

๑. อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวง
- ก. สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง
        ผัสสเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่กระทบอารมณ์
        เวทนาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่เสวยอารมณ์
        สัญญาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่จำอารมณ์
        เจตนาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่จัดแจงอารมณ์ที่สัมปยุตกับตน
        เอกัคคตาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่สงบ และทำให้สัมปยุตธรรมตั้งอยู่ในอารมณ์เดียว
        ชีวิตินทรียเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่รักษาสัมปยุตธรรม
        มนสิการเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่นำสัมปยุตธรรมมุ่งสู่อารมณ์

- ข. ปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง
        วิตกเจตสิก  หมายถึง ธรรมชาติที่ยกสัมปยุตธรรมขึ้นสู่อารมณ์
        วิจารเจตสิก  หมายถึง ธรรมชาติที่ประคองสัมปยุตธรรมไว้ในอารมณ์
        อธิโมกขเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ตัดสินอารมณ์
        วิริยเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่มีความพยายามในอารมณ์
        ปีติเจตสิก หมายถึง  ธรรมชาติที่มีความชื่นชมยินดีในอารมณ์
        ฉันทเจตสิก หมายถึง  ธรรมชาติที่มีความพอใจในอารมณ์

๒. อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง
- ก. โมจตุกเจตสิก ๔ ดวง
        โมหเจตสิก หมายถึง  ธรรมชาติที่ปิดบังสภาพความจริงของอารมณ์ คือหลง
        อหิริกเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ไม่มีความละอายต่อทุจริต
        อโนตตัปปเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ไม่กลัวต่อทุจริต
        อุทธัจจเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ฟุ้งซ่าน คือจับอารมณ์ไม่มั่น

- ข. โลติกเจตสิก ๓ ดวง
        โลภเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่มีความต้องการ และติดใจในอารมณ์
        ทิฏฐิเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่มีความเห็นผิดในอารมณ์
        มานเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่มีความอวดดื้อถือตัว

- ค. โทจตุกเจตสิก ๔ ดวง
        โทสเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ประทุษร้ายอารมณ์
        อิสสาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ไม่พอใจในสมบัติ หรือคุณความดีผู้อื่น
        มัจฉริยเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่มีความหวงแหนในสมบัติหรือคุณงามความดีของตน
        กุกกุจจเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่มีความรำคาญใจในทุจริตที่ได้ทำไปแล้ว และในสุจริตที่ยังไม่ได้ทำ

- ง. ถีทุกเจตสิก ๒ ดวง
        ถีนเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำให้จิตใจหดหู่ท้อถอยจากอารมณ์
        มิทธเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำให้เจตสิกหดหู่ท้อถอยจากอารมณ์

- จ. วิจิกิจฉาเจตสิก ๑ ดวง
        วิจิกิจฉาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่มีความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ชาตินี้ ชาติหน้าเป็นต้น

๓. โสภณเจตสิก ๒๕ ดวง
- ก. โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง
        สัทธาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่มีความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ คือมีความเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อในกรรมและผลของกรรมเป็นต้น
        สติเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่มีความระลึกได้ในอารมณ์ทำให้จิตเป็นกุศลธรรม
        หิริเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่เป็นความเกลียด และละอายต่อทุจริตกรรม
        โอตตัปปเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่สะดุ้งกลัวต่อทุจริตกรรม
        อโลภเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ไม่อยากได้ และไม่ติดอยู่ในอารมณ์
        อโทสเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ไม่ประทุษร้ายอารมณ์
        ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำให้โสภณจิตเจตสิก สม่ำเสมอในกิจการของตนๆ โดยไม่ยิ่งหย่อน
        กายปัสสัทธิเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำความสงบให้เจตสิกขันธ์ ๓ ในการงานอันเป็นกุศล
        จิตตปัสสัทธิเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำความสงบให้จิตในการงานอันเป็นกุศล
        กายลหุตาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำความเบาให้เจตสิกขันธ์ ๓ ในการงานอันเป็นกุศล
        จิตตลหุตาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำความเบาให้จิต ในการงานอันเป็นกุศล
        กายมุทุตาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำความอ่อนให้เจตสิกขันธ์ ๓ ในการงานอันเป็นกุศล
        จิตตมุทุตาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำความอ่อนให้จิต ในการงานอันเป็นกุศล
        กายกัมมัญญตาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำความเหมาะควรให้เจตสิกขันธ์ ๓ ในการงานอันเป็นกุศล
        จิตตกัมมัญญตาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำความเหมาะควรให้จิต ในการงานอันเป็นกุศล
        กายปาคุญญตาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำความคล่องแคล่วให้เจตสิกขันธ์ ๓ ในการงานอันเป็นกุศล
        จิตตปาคุญญตาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำความคล่องแคล่วให้จิตในการงานอันเป็นกุศล
        กายุชุกตาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำความซื่อตรงให้เจตสิกขันธ์ ๓ ในการงานอันเป็นกุศล
        จิตตุชุกตาเจตสิก หมายถึง หมายถึง ธรรมชาติที่ทําความซื่อตรงให้จิตในงานอันเป็นกุศล

- ข. วิรติเจตสิก ๓ ดวง
        สัมมาวาจาเจตสิก หมายถึง เว้นการกล่าววจีทุจริต ๔ (ที่ไม่เป็นอาชีพ)
        สัมมากัมมันตเจตสิก หมายถึง เว้นจากกายทุจริต ๓ (ที่ไม่เป็นอาชีพ)
        สัมมาอาชีวเจตสิก หมายถึง เว้นวจีทุจริต ๔ และกายทุจริต ๓ ที่เกี่ยวด้วยอาชีพ

- ค. อัปปมัญญาเจตสิก ๒ ดวง
        กรุณาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่มีความสงสารต่อทุกขิตสัตว์
        มุทิตาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่มีความยินดีต่อสุขิตสัตว์

- ง. ปัญญินทรีย์เจตสิก ๑ ดวง
        ปัญญา (อโมหะ) เจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่รู้สภาพธรรมทั้งหลาย ตามความเป็นจริง

ความหมายของเจตสิกที่แสดงไว้แล้วนั้น เป็นการแสดงโดยย่อ เพื่อประโยชน์แห่งการกำหนดจดจํา ต่อไปจะได้ขยายความหมายของเจตสิกธรรมทั้งหมดนั้น เพื่อให้เข้าใจในสภาวธรรมเหล่านั้นได้กว้างขวางยิ่งขึ้นโดยลำดับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น