วันพุธ

โลกุตรจิตพิสดาร ๔๐ ดวง

การนับโลกุตรจิตนั้น มี ๒ นัย

    ๑)โลกุตรจิต นับโดยย่อ มีจำนวน ๘ ดวง
    ๒) โลกุตรจิต นับโดยพิสดาร มีจำนวน ๔๐ ดวง

โลกุตรจิต โดยย่อ ๘ ดวงนั้น ได้แสดงไว้แล้ว ซึ่งได้แก่ มัคคจิต ๔ และผลจิต ๔ รวมเป็น ๘ ดวง โลกุตรจิตที่นับโดยย่อนี้ หมายถึงโลกุตรจิตที่ประกอบด้วย อารัมมนูปนิชฌาน โดยที่ ผู้ปฏิบัติพิจารณาการเกิดดับของสังขารธรรม รูป นาม เป็นอารมณ์ จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ที่เรียกว่า สุขวิปัสสกพระอรหันต์ โลกุตรจิตที่ไม่มี อารัมมนูปนิชฌานนี้ อนุโลมนับรวมอยู่ในปฐมฌาน โดยเหตุที่ว่า มีเจตสิกที่เป็นองค์ของปฐมฌานประกอบอยู่ครบ แต่พระโยคาวจรผู้เป็นสุขวิปัสสกไม่สามารถพิจารณาองค์ฌานให้เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ และไม่อาจละองค์ฌาน มีวิตก วิจาร เป็นต้นได้ และไม่สามารถ เข้าปฐมฌานได้ หรือพระโยคาวจรฌานลาภีบุคคล ที่นิยมวิปัสสนา ไม่นิยมฌานที่ตนได้ แต่พิจารณาสังขารธรรม มีรูป นาม เป็นอารมณ์ ก็เป็นสุขวิปัสสกเหมือนกัน 

ความแตกต่างขแฉองโลกุตรจิตตามประเภททา ืมมมมืืของฌาน จึงไม่มีในโลกุตรจิตที่ไม่ได้ประกอบ ด้วยอารัมมนูปนิชฌาน จึงมีได้เพียง ๔ ดวง ตามจำนวนที่นับโดยย่อเท่านั้น ส่วนโลกุตรจิตที่นับโดยพิสดารนั้น หมายถึง โลกุตรจิตโดยย่อ ๔ ดวงนั้น เมื่อประกอบกับอารัมมนูปนิชฌาน และมีความเบื่อหน่ายในองค์ฌานอย่างใด อย่างหนึ่ง ซึ่งมี ๕ ชั้น คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และ ปัญจมฌาน จึงเป็นจำนวน ๔๐ ดวง หมายความว่า จิตของพระอริยบุคคลที่ได้ฌาน ด้วยนั้น เมื่อโลกุตรจิตเกิดขึ้น โดยอาศัยฌานจิตเป็นบาท จิตแต่ละดวงนั้นประกอบด้วย ฌานแต่ละชั้น จึงต่างกันเป็นชั้นละประเภท โลกุตรจิต ๘ ดวง ประกอบด้วยฌาน ๔ ชั้น จึงเป็นจำนวน ๘ X ๕ = ๔๐ ดวง

โลกุตรจิตพิสดาร มีจำนวน ๔๐ ดวงนี้ จำแนกได้เป็นมัคคจิตพิสดาร ๒๐ ดวง และผลจิตพิสดารอีก ๒๐ ดวง ดังพระบาลีแสดงว่า
๑๐. จตุมคฺคปุปเภเทน    จตุธา กุสลนุตถา
ปากนฺตสฺส ผลตฺตาติ       อฎฐธานุตฺตรํ มตํฯ
            ฯลฯ                             ฯลฯ
๑๔. ฌานงฺคโยคเภเทน   กเตวเกกนฺต ปญฺจธา
วุจฺจตานุตฺตรํ จิตฺตํ            จตฺตาฬีสวธนฺติ จฯ

พึงทราบว่า โลกุตรจิตโดยย่อ มี ๘ ดวง คือ กุศลจิตว่าโดยประเภทแห่งมรรคมี ๔ วิบากจิตก็มี ๔ เพราะเป็นผลของมรรคทั้ง ๔ โลกุตรจิต ๘ เมื่อแสดงโดยพิสดารมี ๔๐ ดวงนั้น เพราะว่าโดยประเภทแห่งการประกอบขององค์ฌานแล้ว โลกุตรจิตดวงหนึ่ง ๆ มีฌาน ๔ ฉะนั้น โลกุตรจิต ๘ จึงเป็น ๔๐

ข้อสังเกต
โลกุตรจิตไม่ได้จำแนกไปตามอรูปฌานอีก ๔ ฌาน เพราะอรูปฌานทั้ง ๔ นั้น นับเป็นปัญจมฌาน และเมื่อว่าโดยองค์ฌาน ก็มีเพียง ๒ คือ อุเบกขา กับ เอกัคคตา และเหมือนกันกับรูปาวจรปัญจมฌาน ต่างกันแต่อารมณ์เท่านั้น ส่วนองค์ฌานคงเท่ากัน ดังนั้น จึงนับว่า ฌานทั้ง ๙ ฌาน มีองค์ฌานเพียง ๕ ชั้น โลกุตรจิต ๘ ดวง จำแนก ตามฌาน ๕ ชั้น จึงมี ๔๐ ดวง

🔅 จิตเภท

จิตเภท หมายถึง การจำแนกจิตออกเป็นประเภทต่างๆ จิตทั้งหมดเมื่อนับโดยย่อมีจำนวน ๘๙ ดวง และนับโดยพิสดารมี ๑๒๑ ดวง เมื่อจำแนกเป็นประเภทต่าง ๆ แล้วมีอยู่ด้วยกัน ๙ นัย คือ : -
  • ๑. ชาติเภทนัย คือ การจำแนกประเภทของจิตโดยชาติ มี ๔ ชาติ ได้แก่ อกุศลชาติ, กุศลชาติ, วิปากชาติ และกิริยาชาติ
  • ๒. ภูมิเภทนัย คือ จำแนกประเภทของจิตโดยภูมิ มี ๔ ได้แก่ กามภูมิ, รูปภูมิ, อรูปภูมิ และโลกุตรภูมิ
  • ๓. โสภณเภทนัย คือ การจำแนกประเภทของจิตโดยอโสภณะ และโสภณะ
  • ๔. โลกเภทนัย คือ การจำแนกประเภทของจิต โดยโลกียะ และโลกุตระ
  • ๕. เหตุเภทนัย คือ การจำแนกประเภทของจิต โดยอเหตุกะ และสเหตุกะ
  • ๖. ฌานเภทนัย คือ การจำแนกประเภทของจิต โดยอฌาน และฌาน
  • ๗. เวทนาเภทนัย คือ การจำแนกประเภทของจิต โดยเวทนา ๕ ได้แก่ สุขเวทนา, ทุกขเวทนา, โสมนัสเวทนา, โทมนัสเวทนา และอุเบกขาเวทนา
  • ๘. สัมปโยคเภทนัย คือ การจำแนกประเภทของจิต โดยสัมปยุต และวิปปยุต
  • ๙. สังขารเภทนัย คือ การจำแนกประเภทของจิตโดยอสังขาริกและสสังขาริก



🔅 ๑. จำแนกจิต ๘๙ โดยชาติเภทนัย
จิต ๘๙ ดวงนั้น เมื่อจำแนกโดยชาติ หรือตระกูลแห่งการเกิดขึ้นของจิตแล้วมี ๔ ชาติด้วยกัน ดังนี้
คาถาสังคหะ
๑๑. ทุวาทสากุสลาเนว        กุสลาเนกวีสติ
              อตุตีเสว วิปากานิ        กุริยาจิตฺตานิ วีสติฯ

แปลความว่า จิตทั้งหมด ๘๙ ดวงนั้น เมื่อจำแนกโดยชาติเภทนัยแล้ว มี ๔ ชาติ คือ อกุศลชาติ ๑๒ กุศลชาติ ๒๑ วิปากชาติ ๓๖ และกิริยาชาติ ๒๐
        อกุศลชาติ ๑๒  เป็นชาติที่เป็นแดนเกิดแห่งโทษ และให้ผลเป็นความทุกข์ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ ดวง
        กุศลชาติ ๒๑    เป็นชาติอันเป็นแดนเกิดที่ปราศจากโทษ และให้ผลเป็นความสุข ได้แก่ กุสลจิต ๒๑ คือ : -
มหากุศลจิต            ๘ ดวง 
มหัคคตกุศลจิต       ๙ ดวง
โลกุตรกุศลจิต        ๔ ดวง

        วิปากชาติ ๓๖ เป็นชาติที่เป็นผลของบาปและบุญ ได้แก่
อกุศลวิบากจิต          ๗ ดวง
อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ ดวง
มหาวิบากจิต             ๘ ดวง
มหัคคตวิบากจิต        ๙ ดวง
โลกุตรวิบากจิต          ๔ ดวง

        กิริยาชาติ ๒๐  เป็นชาติของจิตที่ไม่เป็นบุญและบาป และทั้งไม่ใช่เป็นผลของบุญหรือบาปด้วย เป็นจิตที่สักแต่ว่ากระทำกิจตามหน้าที่เท่านั้น ได้แก่
อเหตุกกิริยาจิต         ๓ ดวง
มหากิริยาจิต             ๘ ดวง 
มหัคคตกิริยาจิต        ๙ ดวง      

วิปากชาติ และกิริยาชาตินี้ เรียกว่า อัพยากตชาติ หมายถึง เป็นชาติของจิตที่ไม่ใช่อกุศลชาติ และกุศลชาติทั้ง ๒

🔅 ๒. จำแนกจิต ๘๙ โดยภูมิเภทนัย
จิตทั้ง ๘๙ ดวง เมื่อจำแนกโดยภูมิ คือสถานที่เกิด หรือที่อยู่อาศัยของจิตแล้วมี ๔ ภูมิด้วยกัน ดังนี้

คาถาสังคหะ
๑๒. จตุปญฺญาสธา กาเม    รูเป ปณฺณรสิริเย
จิตฺตานิ ทฺวาทสารูเป           อฎฐธานุตฺตโร ตถาฯ

ฺแปลความว่า จิตทั้งหมด ๘๙ ดวงนั้น เมื่อจำแนกโดยภูมิแล้ว ได้กามาวจรภูมิ ๕๔ รูปาวจรภูมิ ๑๕ อรูปาวจรภูมิ ๑๒ และโลกุตรภูมิ ๘ เท่านั้น

กามาวจรภูมิ ๕๔ เป็นภูมิอันเป็นที่เกิดของกามาวจรจิต ได้แก่
  • อกุศลจิต    ๑๒ ดวง
  • อเหตุกจิต    ๑๘ ดวง
  • มหากุศลจิต    ๘ ดวง
  • มหาวิบากจิต    ๘ ดวง
  • มหากิริยาจิต    ๘ ดวง
รูปาวจรภูมิ ๑๕ เป็นภูมิอันเป็นที่เกิดของรูปาวจรจิต ได้แก่
  • รูปาวจรกุศลจิต  ๕ ดวง
  • รูปาวจรวิบากจิต  ๕ ดวง
  • รูปาวจรกิริยาจิต  ๕ ดวง
อรูปาวจรภูมิ ๑๒ เป็นภูมิอันเป็นที่เกิดของอรูปาวจรจิต ได้แก่
  • อรูปาวจรกุศลจิต  ๔ ดวง
  • อรูปาวจรวิบากจิต  ๔ ดวง
  • อรูปาวจรกิริยาจิต  ๔ ดวง
โลกุตรภูมิ ๘ เป็นที่เกิดของจิตที่พ้นจากภูมิทั้ง ๓ ข้างต้น ได้แก่
  • โลกุตรกุศลจิต  ๔ ดวง
  • โลกุตรวิบากจิต  ๔ ดวง
หมายเหตุ ความหมายของคำว่า ภูมิ แปลได้หลายนัย คือ แปลว่า แผ่นดิน, ที่อยู่อาศัย, พื้นเพหรือชั้นก็ได้ ความหมายของภูมิในที่นี้ หมายถึง ชั้น อันเป็นที่อาศัยของจิตต่าง ๆ ซึ่งจำแนกด้วยอำนาจของตัณหา ที่เรียกว่าอวัตถาภูมิ



จำแนกประเภทการนับจำนวนจิต
คาถาสังคหะ
๑๓. อิตฺถเมกูนนวุติปฺ    ปเภทํ ปน มานสํ
เอกวีสสตํ วาถ    วิภชนุติ วิจกฺขณาฯ

แปลความว่า จิตทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว มีการนับ ๒ ประเภท คือ นับจิตมี ๘๙ ดวง ประเภทหนึ่ง และนับจิตมี ๑๒๑ ดวง อีกประเภทหนึ่ง จำนวนที่ต่างกันของจิต ๒ ประเภทนั้น ต่างกันที่โลกุตรจิตแห่งเดียวเท่านั้น ส่วนกามาวจรจิต, รูปาวจรจิต หรืออรูปาวจรจิต มีจำนวนเท่าเดิม ไม่มีจำนวนที่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด


🔅 ๓. จำนวนจิต ๘๙ โดยโสภณเภทนัย
การจำแนกจิต เป็นประเภทจิตที่ดีงาม ที่เรียกว่า “โสภณจิต” และจิตประเภทอื่นที่นอกจากโสภณจิต ที่เรียกว่า “อโสภณจิต” นั้น จำแนกออกได้ดังนี้

โสภณจิต มี ๕๙ ดวง ได้แก่
  • กามาวจรโสภณจิต ๒๔ ดวง
  • มหัคคตจิต ๒๗ ดวง
  • โลกุตรจิต ๘ ดวง
อโสภณจิต มี ๓๐ ดวง ได้แก่
  • อกุศลจิต ๑๒ ดวง
  • อเหตุกจิต ๑๘ ดวง
🔅 ๔. จำแนกจิต ๘๙ โดยโลกเภทนัย
การจำแนกจิตเป็นประเภทจิตที่ยังต้องท่องเที่ยว วนเวียนไปในโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก, รูปโลก และอรูปโลก ที่เรียกว่า “โลกียจิต” กับจิตที่พ้นจากการท่องเที่ยวไปในโลก เรียกว่า “โลกุตรจิต” จำแนกได้ดังนี้

โลกียจิต มี ๘๑ ดวง ได้แก่
  • กามาวจรจิต ๕๔ ดวง
  • รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
  • อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง
โลกุตรจิต มี ๘ ดวง ได้แก่
  • โลกุตรจิต ๘ ดวง
🔅 ๕. จํานวนจิต ๘๙ โดยเหตุเภทนัย
การจำแนกจิตโดยเหตุเภทนัย หมายถึง การจำแนกจิต ๘๙ ดวง โดยประเภทที่ไม่มีสัมปยุตเหตุ เรียกว่า “อเหตุกจิต” ส่วนประเภทที่มีสัมปยุตเหตุ เรียกว่า “สเหตุกจิต”

อเหตุกจิต เป็นจิตที่ไม่มีทั้งเหตุบาป และเหตุบุญประกอบ คือ ไม่มี โลภเหตุ, โทสเหตุ, โมหเหตุ และไม่มีอโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ ประกอบด้วยเลย ได้แก่ อเหตุกจิต ๑๘ ดวง คือ
  • อกุศลวิบากจิต ๗
  • อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ 
  • อเหตุกกิริยาจิต ๓
สเหตุกจิต เป็นจิตที่ประกอบด้วยเหตุ ทั้งเหตุบาปและเหตุบุญตามสมควร คือ สเหตุกจิตบางดวง มีเหตุประกอบเพียงเหตุเดียว เรียกว่า “เอกเหตุกจิต” บางดวงก็มีเหตุประกอบได้ ๒ เหตุ เรียกว่า “ทวิเหตุกจิต” และบางคราวก็มีเหตุประกอบได้ถึง ๓ เหตุ เรียกว่า “ติเหตุกจิต” จิตประกอบด้วยเหตุอย่างมากที่สุดได้เพียง ๓ เหตุเท่านั้น ดังนั้น สเหตุกจิตทั้ง ๓ ประเภท จึงจำแนกออกได้ดังนี้ คือ : -
    ๑) เอกเหตุกจิต มี ๒ ดวง ได้แก่ โมหมูลจิต ๒ มี โมหเหตุ เพียงเหตุเดียว
    ๒) ทวิเหตุกจิต มี ๒๒ ดวง ได้แก่
  • โลภมูลจิต ๘ มี โลภเหตุ กับ โมหเหตุ
  • โทสมูลจิต ๒ มี โทสเหตุ กับ โมหเหตุ
  • มหากุศลญาณวิปปยุตจิต ๔ มี อโลภเหตุ กับ อโทสเหตุ
  • มหาวิบากญาณวิปปยุตจิต ๔ มี อโลภเหตุ กับ อโทสเหตุ
  • มหากิริยาญาณวิปปยุตจิต ๔  มี อโลภเหตุ กับ อโทสเหตุ
    ๓) ติเหตุกจิต มี ๔๗ ดวง ได้แก่
  • มหากุศลญาณสัมปยุตจิต ๔ มี อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
  • มหาวิบากญาณสัมปยุตจิต ๔ มี อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
  • มหากิริยาญาณสัมปยุตจิต ๔ มี อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
  • รูปาวจรกุศลจิต ๕ มี อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
  • รูปาวจรวิบากจิต ๕ มี อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
  • รูปาวจรกิริยาจิต ๕ มี อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
  • อรูปาวจรกุศลจิต ๔ มี อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
  • อรูปาวจรวิบากจิต ๔ มี อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
  • อรูปาวจรกิริยาจิต ๔ มี อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
  • โลกุตรจิต ๘ มี อโลภเหตุ, อโทสเหตุ, อโมหเหตุ
รวมความว่า จิต ๘๙ ดวง เมื่อจำแนกโดยเหตุเภทนัยแล้ว ได้แก่ “อเหตุกจิต ๑๘ ดวง” และ “สเหตุกจิต ๗๑ ดวง


🔅 ๖. จำแนกจิต ๘๙ โดยฌานเภทนัย
การจำแนกจิตโดยประเภทแห่งฌานนั้น หมายถึง การจำแนกจิตที่ประกอบด้วยอารัมมนูปนิชฌาน หรือประกอบด้วยองค์ฌาน เรียกว่า “ฌานจิต” และจิตที่ไม่ได้ประกอบด้วยอารัมมนูปนิชฌาน หรือไม่ได้ประกอบด้วยองค์ฌานที่เรียกว่า “อฌานจิต” จำแนกได้ดังนี้

ฌานจิต มี ๓๕ ดวง ได้แก่
  • รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
  • อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง
  • โลกุตรจิต ๘ ดวง
อฌานจิตมี ๕๔ ดวง ได้แก่
  • อกุศลจิต ๑๒ ดวง
  • อเหตุกจิต ๑๘ ดวง
  • กามาวจรโสภณจิต ๒๔ ดวง
ข้อสังเกต สำหรับโลกุตรจิตที่จัดเป็น ฌานจิต นั้น แม้โลกุตรจิตของพระโยคาวจรผู้เจริญวิปัสสนาล้วนๆ เมื่อมัคคจิตเกิดเป็นอัปปนาจิตที่มีองค์ของปฐมฌานร่วมด้วย จึงสงเคราะห์เป็นฌานจิตด้วย แต่ถ้าเป็นมรรค-ผลของฌานลาภีบุคคลแล้ว โลกุตรจิต ซึ่งต้องนับโดยพิสดาร ๔๐ ดวง โลกุตรจิตนี้ ต้องจัดเป็น “ฌานจิต” โดยแน่นอน

จําแนกโลกุตรจิตโดยองค์ฌาน
อวสานคาถา
๑๔. ฌานงฺคโยคเภเทน    กเตฺวเกกนฺตุ ปญฺจธา
วุจฺจตานุตฺตรํ จิตฺตํ    จตุตาฬีสวิธนฺติ จฯ  
 
แปลความว่า โลกุตรจิต ๘ เมื่อแสดงโดยพิสดาร ๔๐ ดวง เพราะว่าโดยประเภทแห่งการประกอบขององค์ฌานแล้ว โดยโลกุตรจิตดวงหนึ่ง ๆ มีฌาน ๕ ฉะนั้น โลกุตรจิต ๘ จึงเป็น ๔๐ คาถาบทนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า โลกุตรจิต ๘ นั้น เมื่อแสดงโดยพิสดารย่อมจำแนกออกไปตามจำนวนองค์ฌานที่ประกอบ จึงจัดว่า โลกุตรจิต โดยพิสดารนั้นเป็น “ฌานจิต” แน่นอน


สงเคราะห์โลกุตรจิตกับฌาน
คาถาสังคหะ
๑๕. ยถา จ รูปาวจรํ    คยุหตานุตฺตรํ ตถา
ปฐมาทิชฺฌานเภเท    อารุปฺปญฺจาปิ ปญฺจเมฯ

แปลความว่า โลกุตรจิต ๘ นั้น ถือเสมือนว่า ปฐมฌาน เป็นต้น ฉันใด แม้อรูปาวจร ก็ถือเสมือนว่า ปัญจมฌาน ฉันนั้น หมายความว่า โลกุตรจิตที่พระอริยบุคคลได้บรรลุมรรคผลนั้น ย่อมมีองค์ฌานประกอบด้วยทั้งสิ้น ไม่ว่าพระอริยบุคคลนั้น จะได้เคยสำเร็จฌานมาก่อนหรือไม่ก็ตาม ถ้าเคยสำเร็จฌานมาก่อน องค์ฌานย่อมเกิดพร้อมกันในขณะมรรคผลปรากฏ แต่ถ้าไม่เคยได้กระทำฌานมาก่อน และไม่มีบุพพาธิการอบรมฌานไว้ องค์ฌานย่อมไม่มีโอกาสปรากฏ แต่จะอย่างไรก็ตาม องค์ฌานทั้ง ๕ คือ วิตก วิจาร, ปีติ, สุข และเอกัคคตา ย่อมมีอยู่พร้อมกันในขณะที่มรรคจิต หรือผลจิตเกิดขึ้น จึงนับได้ว่าโลกุตรจิตถือเสมือนว่าตั้งอยู่ใน ปฐมฌานด้วย



🔅 ๗. จำแนกจิต ๘๙ โดยเวทนาเภทนัย
การจำแนกจิตโดยเวทนาเภทนัย หมายถึงการจำแนกจิตทั้ง ๘๙ ดวง ที่เกิดพร้อมกับเวทนาต่าง ๆ ซึ่งได้แก่เวทนา ๕ ประการ คือ
๑. สุขเวทนา จิตที่เกิดพร้อมกับสุขเวทนา (สุขกาย) ได้แก่สุขสหคตกายวิญญาณจิต ๑ ดวง
๒. ทุกขเวทนา จิตที่เกิดพร้อมกับทุกขเวทนา (ทุกข์กาย) ได้แก่ทุกขสหคตกายวิญญาณจิต ๑ ดวง
๓. โสมนัสเวทนา จิตที่เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนามี ๓๘ ดวง ได้แก่

          กามโสมนัส ๑๘
  • โสมนัสโลภมูลจิต ๔ ดวง
  • โสมนัสสันตีรณจิต ๑ ดวง
  • โสมนัสหสิตุปปาทจิต ๑ ดวง                                  
  • โสมนัสมหากุศลจิต ๔ ดวง
  • โสมนัสมหาวิบากจิต ๔ ดวง
  • โสมนัสมหากิริยาจิต ๔ ดวง
         ฌานโสมนัส ๒๐
  • รูปาวจรปฐมฌาน ๓ ดวง
  • รูปาวจรทุติยฌาน ๓ ดวง
  • รูปาวจรตติยฌาน ๓ ดวง
  • รูปาวจรจตุตถฌาน ๓ ดวง
  • โลกุตรจิต ๘ ดวง
เมื่อกล่าวโดยทั่วไปแล้ว การจำแนกจิต ๘๙ โดยเวทนานั้น โลกุตรจิต ๘ ดวงนั้น ย่อมเกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา แต่ถ้าจำแนกจิต ๑๒๑ ดวง โดยประเภทแห่งเวทนาแล้ว ก็จัดเป็นโสมนัสโลกุตรจิต ๓๒ ดวง คือ โลกุตรจิตที่ประกอบด้วยองค์ฌานแห่งปฐมฌาน ๘ ดวง, ทุติยฌาน ๘ ดวง, ตติยฌาน ๘ ดวง และจตุตถฌาน ๘ ดวง เป็นโสมนัสโลกุตรจิต ส่วนปัญจมฌาน ย่อมเกิดพร้อมกับอุเบกขาเวทนา 

๔. โทมนัสเวทนา จิตที่เกิดพร้อมกับโทมนัสเวทนา ได้แก่ โทสมูลจิต ๒ ดวง
๕. อุเบกขาเวทนา จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา มี ๔๗ ดวง คือ

         กามอุเบกขา ๓๒
  • อุเบกขาโลภมูลจิต ๔ ดวง
  • อุเบกขาโมหมูลจิต ๒ ดวง
  • อุเบกขาอเหตุกจิต ๑๔ ดวง
  • อุเบกขามหากุศลจิต ๔ ดวง
  • อุเบกขามหาวิบากจิต ๔ ดวง
  • อุเบกขามหากิริยาจิต ๔ ดวง

    มหัคตอุเบกขา ๑๕

  • รูปาวจรปัญจมฌานจิต ๓ ดวง
  • อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง

🔅 ๘. จำแนกจิต ๘๙ โดยสัมปโยคเภทนัย

การจำแนกจิตโดยสัมปโยคเภทนัย คือ การจำแนกจิตที่มีสภาพธรรมบางอย่างประกอบ เรียกว่า “สัมปยุต” และไม่มีสภาพธรรมอย่างนั้นประกอบ เรียกว่า “วิปปยุต เมื่อจำแนกจิต ๘๙ โดย “สัมปยุต” และ “วิปปยุต” แล้ว ได้ดังนี้ คือ

สัมปยุตจิต มี ๕๕ ดวง แบ่งเป็น ๕ ประเภท คือ
๑. ทิฏฐิคตสัมปยุตจิต มี ๔ ดวง ได้แก่ โลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตสมปยุต ๔ ดวง
๒. ปฏิฆสัมปยุตจิต มี ๒ ดวง ได้แก่ โทสมูลจิต ๒ ดวง
๓. วิจิกิจฉาสัมปยุตจิต มี ๑ ดวง ได้แก่ โมหมูลจิตดวงที่ ๑ ที่มีวิจิกิจฉาสัมปยุต
๔. อุทธัจจสัมปยุตจิต มี ๑ ดวง ได้แก่ โมหมูลจิตดวงที่ ๒ ที่มีอุทธัจจสัมปยุต
๕. ญาณสัมปยุตจิต มี ๔๗ ดวง ได้แก่
            - กามาวจรโสภณญาณสัมปยุตจิต ๑๒ ดวง
            - มหัคคตจิต ๒๗ ดวง
            - โลกุตรจิต ๘ ดวง

วิปปยุตจิต มี ๓๔ ดวง แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. ทิฏฐิคตวิปปยุตจิต มี ๔ ดวง ได้แก่ โลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตจิต ๔ ดวง
๒. ญาณวิปปยุตจิต มี ๑๒ ดวง ได้แก่ กามาวจรโสภณญาณวิปปยุตจิต ๑๒ ดวง
๓. วิปปยุตจิต มี ๑๘ ดวง ได้แก่ อเหตุกจิต ๑๘ ดวง สําหรับอเหตุกจิต ๑๘ ดวงนั้น ไม่มีทิฏฐิ, ปฏิฆะ, วิจิกิจฉา, อุทธัจจะหรือฌานแม้อย่างใดอย่างหนึ่งประกอบในอเหตุกจิตเลย จึงจัดเป็นวิปปยุตจิต เพราะไม่มีสัมปยุตธรรม ๕ อย่างดังกล่าวนั้นเลย

🔅 ๙. การจำแนกจิต ๘๙ โดยสังขารเภทนัย
การจำแนกจิตโดยสังขารเภทนัย ก็คือ การจำแนกจิตที่เกิดขึ้นโดยอุตสาหะของตนเอง หรือจิตที่เกิดขึ้นได้โดยต้องอาศัยมีการชักชวน จิตที่เกิดขึ้นโดยอุตสาหะแห่งตน ไม่มีการชักชวนนั้นชื่อว่า “อสังขาริกจิต” และจิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยมีการชักชวนนั้น ชื่อว่า “สสังขาริกจิต” เมื่อจำแนกโดยประเภทแห่งสังขารแล้ว ได้ดังนี้

อสังขาริกจิต มี ๓๗ ดวง ได้แก่
  • อกุศลอสังขาริกจิต ๗
  • อเหตุกจิต ๑๘
  • กามาวจรโสภณอสังขาริกจิต ๑๒
สสังขาริกจิต มี ๕๒ ดวง ได้แก่
  • อกุศลสสังขาริกจิต ๕ ดวง
  • กามาวจรโสภณสสังขาริกจิต ๑๒ ดวง
  • มหัคคตจิต ๒๗ ดวง
  • โลกุตรจิต ๘ ดวง
สำหรับพระอริยบุคคลเคยได้ฌานมาก่อนแล้วฌานใดฌานหนึ่ง ตั้งแต่ปฐมฌานจนถึงปัญจมฌาน เมื่อสำเร็จมรรคผล องค์ฌานนั้น ๆ ก็เกิดพร้อมด้วยแม้ในอรูปฌานทั้งหมด ก็ปรากฏเหมือนปัญจมฌาน และฌานจิตทั้งหมดสงเคราะห์เป็นสสังขาริกจิต

ฌานจิต ๖๗
คาถาสังคหะ
๑๖. เอกาทสวิธํ ตสฺมา    ปฐฺมาทิกมีริตํ
ฌานเมเกกมนฺเต ตุ    เตวีสติวิธํ ภเวฯ

แปลความว่า ปฐมฌาน เป็นต้น ท่านกล่าวว่า แต่ละฌานมี ๑๑ ดวง ที่สุด คือ 
ปัญจมฌานนั้น มี ๒๓ ดวง
หมายความว่า ในจำนวนจิตพิสดาร ๑๒๑ ดวงนั้น นับตามจิตที่เข้าถึงฌานแล้วมีดังนี้คือ 

ปฐมฌานจิ ๑๑ ดวง 
คือ เป็นโลกียจิต ๓ โลกุตรจิต ๘ 
ทุติยฌานจิต ๑๑ ดวง คือ เป็นโลกียจิต ๓ โลกุตรจิต ๘         
ตติยฌานจิต ๑๑ ดวง คือ เป็นโลกียจิต ๓ โลกุตรจิต ๘ 
จตุตถฌานจิต ๑๑ ดวง คือ เป็นโลกียจิต ๓ โลกุตรจิต ๘ 
ปัญจมฌานจิต ๒๓ ดวง คือ เป็นโลกียจิต ๑๕ โลกุตรจิต ๘ 

รวมฌานจิตทั้งหมด ๖๗ ดวง ได้แก่
มหัคคตจิต ๒๗ ดวง 
 
โลกุตรจิต ๔๐ ดวง





จำแนกกุศลจิต และ วิบากจิตโดยพิสดาร
คาถาสังคหะ
๑๗. สตฺตตึสวิธํ ปุญฺญํ    ทฺวิปญฺญาสวิธนฺตถา
ปากมิจฺจาหุ จิตฺตานิ    เอกวีสสตมฺพุธาติฯ

แปลความว่า กุศลจิต ๓๗ และวิบากจิต ๕๒ อย่างนี้ บัณฑิตพึงทราบว่าเป็นการกล่าวโดยจิตพิสดาร
หมายความว่า ตามคาถาสังคหะที่ ๑๑ ได้แสดงแล้วว่า กุศลจิต ๒๑ และวิบากจิต มี ๓๖ นั้น เป็นการแสดงชาติของจิตโดยย่อ ๘๙ เท่านั้น แต่เมื่อมีการแสดงชาติของจิตโดยพิสดาร ๑๒๑ ดวงแล้ว ได้ดังนี้

กุศลจิต 
๓๗ ดวงนั้น ได้แก่
  • กามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง
  • มหัคคตกุศลจิต ๙ ดวง
  • โลกุตรกุศลจิต ๒๐ ดวง
วิบากจิต ๕๒ ดวงนั้น ได้แก่
  • กามาวจรวิบาก ๒๓ ดวง
       - อกุศลวิบากจิต ๗ ดวง
       - อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ ดวง
       - มหาวิบาก ๘ ดวง
  • มหัคคตวิบาก ๙ ดวง
  • โลกุตรวิบาก ๒๐ ดวง
เมื่อขยายความตามคาถาที่ ๑๗ อันเป็นคาถาสุดท้ายแห่งพระอภิธัมมัตถสังคหะ จึงขอแสดงการจำแนกจิตโดยพิสดารไว้ดังนี้ คือ : -

จำแนกจิต ๑๒๑ โดยชาติเภทนัย
อกุศลชาติ ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ ดวง
กุศลชาติ ได้แก่ กุศลจิต ๓๗ ดวง
วิบากชาติ ได้แก่ วิบากจิต ๕๒ ดวง
กิริยาชาติ ได้แก่ กิริยาจิต ๒๐ ดวง

จำแนกจิต ๑๒๑ โดยภูมิเภทนัย
กามภูมิ ได้แก่ กามาวจรจิต ๕๔ ดวง
รูปภูมิ ได้แก่ รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
อรูปภูมิ ได้แก่ อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง
โลกุตรภูมิ ได้แก่ โลกุตรจิต ๔๐ ดวง

จำแนกจิต ๑๒๑ โดยโสภณเภทนัย
อโสภณะ ได้แก่ อโสภณจิต ๓๐ ดวง
โสภณะ ได้แก่ โสภณจิต ๙๑ ดวง

จําแนกจิต ๑๒๑ โดยโลกเภทนัย
โลกียะ ได้แก่ โลกียจิต ๘๑ ดวง
โลกุตระ ได้แก่ โลกุตรจิต ๔๐ ดวง

จำแนกจิต ๑๒๑ โดยเหตุเภทนัย
อเหตุกะ ได้แก่ อเหตุกจิต ๑๘ ดวง
สเหตุกะ ได้แก่ สเหตุกจิต ๑๐๓ ดวง

จำแนกจิต ๑๒๑ โดยฌานเภทนัย
จิตที่ไม่ประกอบด้วยฌาน ได้แก่ อฌานจิต ๕๔ ดวง
จิตที่ประกอบด้วยฌาน ได้แก่ ฌานจิต ๖๗ ดวง

จำแนกจิต ๑๒๑ โดยเวทนาเภทนัย
สุขเวทนา ได้แก่ สุขสหคตจิต ๑ ดวง
ทุกขเวทนา ได้แก่ ทุกขสหคตจิต ๑ ดวง
โสมนัสเวทนา ได้แก่ โสมนัสสหคตจิต ๖๒ ดวง
โทมนัสเวทนา ได้แก่ 
โทมนัสสหคตจิต ๒ ดวง
อุเบกขาเวทนา ได้แก่ อุเบกขาสหคตจิต ๕๔ ดวง

จําแนกจิต ๑๒๑ โดยสัมปโยคเภทนัย
สัมปโยค มี ๒ อย่าง คือ “สัมปยุต” และ “วิปปยุต
สัมปยุต ได้แก่ สัมปยุตจิต ๘๗ ดวง
วิปปยุต ได้แก่ วิปปยุตจิต ๓๔ ดวง

จําแนกจิต ๑๒๑ โดยสังขารเภทนัย
อสังขาร ได้แก่ อสังขาริกจิต ๓๗ ดวง
สสังขาร ได้แก่ สสังขาริกจิต ๘๔ ดวง



ข้อสังเกตพิเศษ
อเหตุกจิต ๑๘ สงเคราะห์เข้าใน วิปปยุตจิต
ฌานจิต ๖๗ สงเคราะห์เข้าใน สัมปยุตจิต

โมหมูลจิต ๒ สงเคราะห์เข้าใน อสังขาริกจิต
อเหตุกจิต ๑๘ สงเคราะห์เข้าใน อสังขาริกจิต

ฌานจิต ๖๗ สงเคราะห์เข้าใน สสังขาริกจิต


อวสานคาถา
อิจฺจานุรุทฺธรจิเต    อภิธมฺมตฺถสงฺคเห
ปฐโม ปริจฺเฉโทยํ    สมาเสเนว นิฏฐิโต ฯ

ปริจเฉทที่ ๑ “จิตตสังคหวิภาค” ในปกรณ์อันรวบรวมซึ่งอรรถแห่งพระอภิธรรม ที่พระอนุรุทธาจารย์ได้รจนาไว้ จบแล้วโดยย่อเพียงเท่านี้















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น