วันอังคาร

๓. นรกภูมิ

อบายภูมิ ๔ แดนเกิดของกรรมฝุายชั่ว อบายภูมิ คือ ภูมิอันเป็นที่อยู่ของสัตว์ที่มีเจตนาฝ่ายอกุศลกรรมนำเกิด เป็นภูมิที่ขวางต่อนิพพาน มี ๔ ภูมิ ได้แก่
๑. นิรยะ แปลตามศัพท์ว่า ที่ที่ไร้ความเจริญ หรือเรียกว่า นรกภูมิ
๒. ติรัจฉานโยนิ กำเนิดดิรัจฉาน ได้แก่ สัตว์ดิรัจฉานทุกประเภท หรือเรียกว่า ดิรัจฉานภูมิ
๓. เปตวิสย วิสัยเปรต ได้แก่ ภูมิภพของเปรต หมายถึง สัตว์จำพวกหนึ่งที่เกิดมาเพื่อรับผลกรรมที่เป็นเศษของกรรม เช่นเมื่อไปนรกแล้ว พ้นจากนรก แต่กรรมนั้นยังไม่หมด ยังมีเศษของกรรมเหลืออยู่ ก็ต้องไปเกิดเป็นเปรต ใช้เศษของกรรมไปจนหมดก่อน
๔. อสุรกายะ แปลว่า สัตว์ที่ได้รับทุกข์


นรกภูมิ

นรกภูมิ เป็นสถานที่เกิดของผู้ที่ทำบาปอกุศลไว้ เมื่อบุคคลผู้ทำบาปตายลง ถ้าบาปอกุศลนั้นส่งผลจะส่งผลนำเกิดในนรก ต้องเสวยผลของบาปที่ทำไว้ ได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส แบ่งเป็นขุมได้ ๘ ขุม เรียกว่า “มหานรก ๘ ขุม” มหานรก มี ๘ ขุม
    ๑. สัญชีวนรก แปลว่า คืนชีวิตขึ้นเอง หมายถึงสัตว์นรกในขุมนี้ถูกตัดเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่แล้วก็กลับคืนชีวิตขึ้นมาเองอีก ได้รับการทรมานอยู่ร่่ำไป
    ๒. กาฬสุตตนรก แปลว่า เส้นด้ายดำ หมายถึงสัตว์นรกขุมนี้ที่ร่างกายถูกตีเส้นด้วยเส้นด้ายสีดำ เหมือนอย่างตีเส้นที่ต้นซุงเพื่อที่จะเลื่อย แล้วถูกผ่าด้วยขวานเป็น ๘ เสี่ยง ๑๖ เสี่ยง ได้รับทุกข์อย่างแสนสาหัส
    ๓. สังฆาตนรก แปลว่า กระทบกัน หมายถึงมีภูเขาเหล็กคราวละ ๒ ลูก จากทิศที่ตรงกันข้ามเลื่อนเข้ามากระทบกันเอง บดสัตว์นรกในระหว่างให้แหลกละเอียด จาก ๔ ทิศก็เป็นภูเขา ๔ ลูกเลื่อนเข้ามากระทบกันตลอดเวลา
    ๔. โรรุวนรก แปลว่า ร้องครวญคราง คือ มีเปลวไฟเข้าไปทางทวารทั้งเก้า เผาไหม้ในสรีระจึงร้องครวญครางเพราะเปลวไฟ บางพวกถูกหมอกควันด่าง(เป็นกรด) เข้าไปละลายสรีระจนละเอียดเหมือนแป้ง จึงร้องครวญครางเจ็บปวดเพราะหมอกควัน
    ๕. มหาโรรุวนรก แปลว่า ร้องครวญครางมาก คือเป็นทุกข์ทรมานยิ่งกว่าข้อที่ ๔
    ๖. ตาปนนรก แปลว่า ร้อน คือถูกให้นั่งเสียบตรึงไว้ด้วยหลาวเหล็กบนพื้นแผ่นดินเหล็กแดงลุกเป็นไฟร้อนแรง บ้างก็ถูกต้อนขึ้นไปบนภูเขาเหล็กที่มีไฟลุกโชน ถูกลมพัดตกลงมาถูกเสียบด้วยหลาวเหล็กที่โผล่ขึ้นมาจากพื้นแผ่นดินเหล็กแดงที่ลุกโชนด้วยเปลวเพลิง
    ๗. มหาตาปนนรก แปลว่า ร้อนสูงมาก คือเป็นที่ทุกข์ทรมานยิ่งกว่าข้อที่ ๖
    ๘. อวีจินรก แปลว่า ไม่มีระหว่าง คือไม่เว้นว่างจากทุกข์ บางทีเรียกว่า มหาอวีจิ แปลว่า อเวจีใหญ่ ภาษาไทยมักเรียกว่า นรกอเวจี นรกขุมนี้มีไฟลุกโพลงเต็มทั่วไปหมด ไม่มีระหว่างหรือเว้นว่าง สัตว์นรกขุมนี้ก็แน่นขนัดเหมือนยัดทะนาน ไม่มีระหว่างหรือเว้นว่าง แต่ก็ไม่เบียดเสียดกันอย่างวัตถุสิ่งของ เพราะสัตว์นรกต่างถูกไฟเผาหม้อยู่ในที่เฉพาะตนๆ ความทุกข์ทรมานของสัตว์นรกในขุมนี้เกิดขึ้นตลอดเวลาไม่มีว่างเว้น พระเทวทัตบังเกิดในอวีจินรก ยืนถูกทรมานอยู่บนพื้นเหล็กที่มีไฟลุกโชน เท้าทั้ง ๒ จมพื้นลงไปถึงข้อเท้า มือทั้ง ๒ จมฝาเหล็กถึงข้อมือ ศีรษะเข้าไปในเพดานโลหะถึงคิ้ว หลาวโลหะอันหนึ่งออกจากพื้นเบื้องล่างแทงร่างกายทะลุขึ้นไปในเพดาน หอกเล่มหนึ่งออกจากฝาทิศตะวันออกแทงทะลุหัวใจไปเข้าฝาทิศตะวันตก หอกอีกเล่มหนึ่งออกจากฝาทิศเหนือแทงทะลุซี่โครงไปเข้าฝาทิศใต้ ถูกตรึงแน่นขยับไม่ได้ ถูกเผาไหม้อยู่ในอวีจินรก เครื่องทรมานสัตว์นรก ในนรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุมนี้ มีเหล็ก เช่น พื้นแผ่นดินเหล็ก เครื่องอาวุธเหล็กต่างๆ มีไฟ คือ เหล็กนั่นแหละลุกเป็นไฟร้อนแรง มีภูเขาเหล็กที่กลิ้งมาบด และมีหมอกควันชนิดเป็นกรดหรือด่าง เป็นเครื่องทรมานสัตว์นรกทั้งหลาย

ในนรกขุมที่ ๑ และที่ ๒ มีนายนิรยบาล แปลว่า ผู้รักษานรก ไทยนิยมเรียกว่า ยมบาล เป็นผู้ทำการทรมานสัตว์นรก แต่นรกขุมที่ลึกลงไปกว่านั้น ในอรรถกถาสังกิจจชาดกไม่ได้กล่าวถึงนายนิรยบาล มีแต่ไฟ เหล็ก เครื่องอาวุธต่างๆเป็นต้น บังเกิดขึ้นเองเพื่อทรมานสัตว์นรกเอง

อุสสทนรก มี ๔ ขุม อายุของสัตว์นรกบางพวกมีอายุยืนยาวมาก แต่เมื่อสิ้นเวรจากนรกทั้ง ๘ ขุมแล้ว ถ้ายังไม่หมดกรรมก็จะต้องไปเกิดในนรกบริวารขุมเล็กๆ ที่อยู่รายรอบมหานรกอีก เพื่อรับทุกข์โทษจากเศษกรรมอีก ต่อไปจะศึกษาเรื่องนรกบริวารที่มีชื่อว่า อุสสทนรก

อุสสทนรก คือ นรกขุมเล็กนอกจากนรกขุมใหญ่ ๘ ขุมแล้ว ยังมีนรกขุมเล็กเป็นบริวารทั้ง ๔ ด้านๆ ละ ๔ ขุม รวมเป็น ๑๖ ขุม รวมนรกขุมเล็กที่เป็นบริวารของนรกขุมใหญ่ทั้ง ๘ ขุม ได้ ๑๒๘ ขุม รวมนรกใหญ่อีก ๘ ขุม เป็น ๑๓๖ ขุม ต่อไปเป็นรายละเอียดของอุสสทนรก ๔ ขุม
    ๑. คูถนรก นรกอุจจาระเน่า นรกขุมนี้จะเต็มไปด้วยอุจจาระที่เน่าเหม็น ตั้งอยู่ติดกับมหานรก สัตว์นรกจะมีปากแหลมเหมือนอย่างเข็มพากันเจาะไชผิวหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก เจ็บปวด รวดร้าวยิ่งนัก แต่ก็ไม่ตาย สัตว์นรกเมื่อตายจากนรกขุมใหญ่แล้วก็มาเสวยกรรมในนรกขุมย่อยๆ นี้อีก
    ๒. กุกกุลรก นรกหลุมขี้เถ้าร้อน เมื่อสัตว์นรกพ้นจากนรกอุจจาระเน่าแล้ว และยังไม่หมดกรรมจะต้องมาเสวยทุกขเวทนาต่อที่นรกขุมนี้อีก ทุกข์ทรมานอยู่ในขี้เถ้าที่ร้อนระอุ แต่ก็ไม่ตาย
    ๓. สิมปลิวนนรก นรกป่างิ้ว เมื่อสัตว์นรกพ้นจากนรกขี้เถ้าร้อนแล้ว และยังไม่หมดกรรมจะต้องไปเสวยทุกขเวทนาในนรกป่างิ้วอีก งิ้วใหญ่แต่ละต้นสูงตั้งโยชน์ มีหนามยาว ๑๖ นิ้ว ร้อนโชน สัตว์นรกต้องปีนขึ้นปีนลงต้นงิ้ว ถูกหนามทิ่มแทงเจ็บปวด ร้อนแรง แต่ก็ไม่ตาย ในนรกขุมนี้ยังมีปุาใบไม้ดาบด้วย เรียกว่า อสิปัตตวนนรก เป็นนรกขุมเดียวกัน มีใบไม้คมดุจดาบ เมื่อลมพัดก็บาดร่างกายสัตว์นรกให้ได้รับทุกขเวทนา แต่ก็ไม่ตาย
    ๔. เวตตรณีนรก นรกน้ำเค็มน้ำกรด เป็นนรกที่เต็มไปด้วยหนามหวายอยู่ในน้ำเค็ม เมื่อสัตว์นรกพ้นจากนรกขุมต้นๆ แล้ว และยังไม่หมดกรรม จะต้องเสวยทุกข์ในนรกขุมนี้ต่อไปอีก สัตว์นรกตกลงไปลอยไปตามกระแสบ้าง ทวนกระแสบ้าง รีๆ ขวางๆ บ้าง เสวยทุกขเวทนา แต่ก็ไม่ตาย นายนิรยบาลเอาเบ็ดเกี่ยวขึ้นมาบนบก ถามว่าอยากอะไร เขาบอกว่าหิว นายนิรยบาลเอาขอเหล็กแดงงัดปาก ยัดก้อนเหล็กแดงเข้าไป ไหม้ริมฝีปาก ไหม้ปาก คอ อก พาเอาไส้ใหญ่ไส้น้อยออกมาทางเบื้องล่าง แต่ถ้าเขาบอกว่ากระหาย นายนิรยบาลจะงัดปากเอาทองแดงละลายกรอกเข้าปาก เผาอวัยวะที่กล่าวแล้วนำออกมาเบื้องล่าง เสวยทุกขเวทนาเผ็ดร้อน แต่ก็ไม่ตายต้องเสวยผลกรรมต่อไป

นรกภูมิ ที่มีมาในเนมิราชชาดก คัมภีร์ขุททกนิกาย ยังมีกล่าวไว้อีก สรุปดังนี้
เวตตรณีนรกสัตว์เหล่าใดเมื่อยังอยู่ในมนุษยโลกเป็นผู้มีกำลังได้เบียดเบียน ด่า กระทบผู้หากำลังมิได้ ถ้ากรรมนี้ส่งผลเขาต้องไปตกแม่น้ำเวตตรณีนรกที่มีน้ำกรดทำให้แสบเผ็ดร้อนเดือดพล่าน เปรียบดั่งเปลวไฟ
นรกสุนัขด่าง สัตว์เหล่าใดเป็นผู้ตระหนี่เหนียวแน่น มักด่าบริภาษ ด่ากระทบสมณพราหมณ์ สัตว์เหล่านั้นมีกรรมหยาบช้าจึงถูกฝูงสุนัข ฝูงกา ฝูงแร้ง เคี้ยวกิน
นรกพื้นแผ่นดินเหล็ก สัตว์เหล่าใดเมื่อยังอยู่ในมนุษยโลกเป็นผู้เบียดเบียน ด่ากระทบชายหญิงผู้มีธรรม สัตว์เหล่านั้น มีกรรมหยาบช้า จึงมีร่างกายถูกเผาลุกโพลงด้วยไฟ เดินเหยียบแผ่นดินเหล็กลุกเป็นไฟ ถูกนายนิรยบาลโบยด้วยท่อนเหล็กแดง(ด้วยไฟ)
นรกหลุมถ่านเพลิง สัตว์นรกเหล่านี้ได้ใช้จ่ายทรัพย์ตามชอบจ่าย โกงทรัพย์ของประชุมชน คือทำการเรี่ยไรทรัพย์ เพื่อนำไปทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ก็เอาทรัพย์ หรือใช้จ่ายทรัพย์ในโดยส่วนตัว กล่าวเท็จเพื่อเอาทรัพย์นั้นมาเป็นของตน เข้าในทำนองทำการหลอกลวงประชุมชม เพราะกรรมนี้จึงมาร้องไห้ดิ้นรนอยู่ในหลุมถ่านเพลิง
โลหกุมภีนรกที่ ๑ สัตว์เหล่าใดเป็นผู้มีบาปธรรม เบียดเบียนด่ากระทบสมณพราหมณ์ผู้มีศีล สัตว์เหล่านั้นมีกรรมหยาบช้า จึงตกในหม้อโลหะใหญ่มีไฟติดทั่วลุกโพลงโชติช่วง
โลหกุมภีนรกที่ ๒ สัตว์เหล่าใดเมื่อยังอยู่ในมนุษยโลก จับนกมาฆ่า สัตว์เหล่านั้นมีกรรมหยาบช้า จึงถูกนายนิรยบาลผูกคอด้วยเชือกเหล็กลุกโพลงแล้วตัดศีรษะโยนลงไปในน้ำร้อน
นรกแม่น้ำกลายเป็นแกลบไฟ สัตว์เหล่าใดมีการงานไม่บริสุทธิ์ ขายข้าวเปลือกแท้เจือด้วยข้าวลีบและแกลบแก่ผู้ซื้อ เขาจึงมาอยู่ในนรกนี้ นรกนี้มีน้ำมาก ไหลอยู่เสมอ มีตลิ่งไม่สูง มีท่าน้ำ สัตว์นรกเหล่านั้นเร่าร้อน เพราะความร้อนแห่งไฟ จะดื่มน้ำ น้ำจึงกลายเป็นแกลบถูกไฟเผา
นรกอาวุธต่างๆ สัตว์เหล่าใดเมื่อยังอยู่ในมนุษยโลก ถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้ คือ ธัญชาติ ทรัพย์ เงิน ทอง เป็นต้น มาเลี้ยงชีพ นายนิรยบาลใช้ลูกศร หอก โตมร(อาวุธสำหรับซัด,หอกซัด,สามง่ามที่มีปลอกรูปเป็นใบโพสวมอยู่) แทงทะลุข้างตัวให้ได้รับตวามทุกข์ทรมาน
นรกกองเนื้อ สัตว์นรกเคยเป็นผู้ฆ่าแพะ แกะ ไก่ สุกร วัว ควาย เป็นต้น แล้ววางไว้ในร้านที่ขายเนื้อ สัตว์นรกจึงถูกนายนิรยบาลผูกคอบ้าง ตัดทำให้เป็นชิ้นๆบ้าง
นรกอุจจารปัสสาวะ สัตว์เหล่าใดเมื่อยังอยู่ในมนุษยโลก ได้เบียดเบียนผู้อื่นทุกเมื่อ สัตว์เหล่านั้นมีกรรมหยาบช้า เป็นพาล ประทุษร้ายมิตร จึงต้องตกลงในห้วงน้ำที่เต็มไปด้วยมูตรและคูถ มีกลิ่นเหม็นเน่า ฟุูงไป สัตว์นรกมีความหิวกระหายจึงกินมูตรและคูถนั้น
นรกเลือดหนอง สัตว์นรกเหล่าใดเมื่อยังอยู่ในมนุษยโลก ฆ่ามารดา บิดา และพระอรหันต์ชื่อว่าปาราชิกในคฤหัสถ์ สัตว์นรกเหล่านั้นมีกรรมหยาบช้า จึงมาตกอยู่ในนรกนี้ มีห้วงน้ำเต็มไปด้วยเลือดและหนอง มีกลิ่น เหม็นคลุ้งตลบ สัตว์นรกถูกความร้อนแผดเผา หิวกระหาย ก็กินเลือดและหนองนั้น
นรกเบ็ดเหล็ก สัตว์นรกเหล่าใดเมื่อยังอยู่ในมนุษยโลก อยู่ในตำแหน่งผู้ตีราคา ยังราคาซื้อให้เสื่อมเพราะเหตุโลภทรัพย์ ดุจคนเข้าไปใกล้ปลาเพื่อจะฆ่าเอาเหยื่อเกี่ยวเบ็ดปิดเบ็ดนั้นไว้ ฉะนั้น ด้วยกรรมนี้ จึงถูกนายนิรยบาลทรมานด้วยการเอาเบ็ดเกี่ยวลิ้น เกี่ยวหนัง
นรกภูเขาเหล็ก สัตว์นรกเหล่าใดเป็นกุลธิดา เมื่อยังอยู่ในมนุษยโลกมีงานอันไม่บริสุทธิ์ เป็นหญิงนักเลงละสามีไปคบชายอื่น ยังจิตของตนให้ยินดีในบุรุษอื่น ตายแล้วมาเกิดในนรกนี้ จึงถูกภูเขาเหล็กลุกเป็นเพลิงมาจาก ๔ ทิศ ผลัดกันบดร่างกายให้แตก มีแมลงวันตอม เปรอะเปื้อนด้วยเลือดและหนอง มีศีรษะขาดเหมือนฝูงโคที่ศีรษะขาด บนที่ฆ่าหญิงนรกเหล่านี้จมอยู่ในพื้นแค่สะเอวตลอดเวลา
นรกที่มีศีรษะทิ่มลง สัตว์นรกเหล่าใดเมื่อยังมีชีวิตอยู่ในมนุษยโลก เป็นผู้ล่วงภรรยาแห่งบุรุษอื่นและลักขโมย จึงมาตกนรกนี้ มีศีรษะทิ่มลงเบื้องล่าง เพราะนายนิรยบาลได้จับสัตว์เหล่านั้นพุ่งให้มีศีรษะทิ่มลงไปในนรก
นรกป่าไม้งิ้ว สัตว์นรกเหล่าใดเมื่อยังอยู่ในมนุษยโลก เป็นผู้มีความเห็นผิดหลงทำกรรมจนเคยชินด้วยมิจฉาทิฏฐิ ๑๐ และชักชวนผู้อื่นในทิฏฐินั้นคือกล่าวว่า ทานที่ให้ไม่มีผล การบูชาไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลของความดีความชั่วไม่มี มารดาบิดาไม่มี สมณพราหมณ์ไม่มี สัตว์ลอยมาเกิดไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี สัตว์เหล่านั้นมีทิฏฐิลามกจึงต้องเสวยทุกเวทนาอันกล้าแข็งเผ็ดร้อนใน นรกนี้

พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นผู้ที่คบคนผิด คือทรงคบกับพระเทวทัต เหตุนั้นพระเจ้าอชาตศัตรูจึงทรงมีอภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ เกิดขึ้นจนถึงกับทำการปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชบิดา ตามธรรมดาบุคคลผู้ฆ่าบิดามารดาต้องไปสู่นรกอเวจี แต่พระองค์ไม่ต้อง เพราะในสมัยที่พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้นได้ทรงเลิกคบกับพระเทวทัต หันมาประพฤติดีมีพระพุทธเจ้าพร้อมพระอริยสงฆ์เป็นที่พึ่ง ทรงเป็นผู้มีความเลื่อมใสสละจตุปัจจัยให้เป็นทาน จนถึงเป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงการสังคายนา ฉะนั้นเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว จึงไม่ต้องไปสู่นรกอเวจี แต่ต้องไปเสวยทุกข์อยู่ในโลหกุมภี ที่เป็นบริวารของอวีจิมหานรกแทน การเสวยทุกข์ในโลหกุมภี คือค่อยๆจมลงไปทีละน้อยๆ จนถึงพื้นล่างของหม้อโลหะ นับเป็นเวลานานถึงสามหมื่นปีของนรกนี้ เมื่อจะโผล่ขึ้นมาจากพื้นล่างก็ค่อยๆโผล่ขึ้นมาทีละน้อยๆ นับเป็นเวลานานถึงสามหมื่นปีแห่งนรกนี้อีกเช่นกัน รวมเวลาเสวยทุกข์ของพระเจ้าอชาตศัตรูในโลหกุมภีกำหนดหกหมื่นปีจึงจะพ้นออกจากนรกนี้ ในอนาคตต่อไปได้สองอสงไขยแสนมหากัป จักได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้ามีนามว่าวิชิตาวี 
โลกันตนรก เป็นนรกขุมใหญ่พิเศษ ซึ่งตั้งอยู่ที่ระหว่างช่องว่างของขอบจักรวาลทั้ง ๓ ที่เชื่อมต่อกัน มีแต่ความมืดสนิท สัตว์ที่อุบัติในโลกันตนรกนี้จะมีร่างกายใหญ่โตมหึมามีเล็บเท้ายาวเกาะอยู่ตามขอบเชิงจักรวาลห้อยโหนตัวอยู่ตลอดกาล เมื่อไปพบพวกเดียวกันต่างก็คิดว่าเป็นอาหารจึงไล่ตะปบกัน จนตกลงมาในน้ำกรดที่เย็นยะเยือก สัตว์นั้นก็จะละลายเป็นจุณหายไป แล้วอุบัติเกิดขึ้นใหม่ที่ขอบจักรวาลนั้น ห้อยโหนตัวอยู่ไปมาและเมื่อ พบกันก็ตะปบกัน ต่อสู้กัน พลาดพลั้งก็ตกลงไปในน้ำกรด ร่างก็ละลาย เป็นเช่นนี้ไปตลอดกาล (นรกขุมนี้เป็นขุมพิเศษ เป็นที่อยู่ของพวกอสุรกายประเภท นิรยอสุรา) 

ทำบาปกรรมอะไรจึงเกิดในโลกันตนรก
๑. เป็นผู้ประทุษร้ายทรมานบิดามารดา ปราศจากความกตัญญูกตเวที
๒. เป็นมิจฉาทิฏฐิบุคคล คือ ไม่เชื่อบุญบาป ไม่เชื่อนรกสวรรค์ แล้วทำบาปอยู่เป็นนิจ
๓. ประทุษร้ายต่อผู้ทรงศีล ทรงธรรม หรือกระทำปาณาติบาตฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นประจำทุกวัน

ด้วยอำนาจของกรรมหนักเหล่านี้ จึงส่งผลให้เกิดในโลกันตนรกซึ่งมืดมิดอยู่เป็นนิตย์ตลอดกาลนาน ครั้นเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก จึงมีโอกาสเห็นแสงสว่างขึ้นแวบหนึ่งประมาณชั่วฟ้าแล่บ หรือชั่วลัดนิ้วมือเดียวเท่านั้น

อัธยาศัยจิตใจของบุคคลทั้งหลาย สรุปได้ ๔ คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้มีอัธยาศัยจิตใจชอบบำเพ็ญกุศลมาก
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้มีอัธยาศัยจิตใจชอบในการกุศลและอกุศลเท่าๆกัน
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้มีอัธยาศัยจิตใจชอบในอกุศลมากกว่ากุศล
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้มีอัธยาศัยจิตใจชอบในอกุศลฝุายเดียว

บุคคลประเภทที่ ๑ ในขณะใกล้ตายย่อมระลึกนึกถึงกุศลได้มาก ฉะนั้น บุคคลจำพวกนี้ย่อมพ้นจากการไปบังเกิดในอบายภูมิ
บุคคลประเภทที่ ๒ ในขณะใกล้ตายถ้าตัวเองพยายามระลึกถึงกุศลให้มากหรือญาติ บุคคลใกล้ชิดช่วยเตือนสติให้ระลึกถึงกุศล ก็สามารถช่วยให้พ้นจากการบังเกิดในอบายภูมิ
บุคคลประเภทที่ ๓ ในขณะใกล้ตายชีวิตที่ผ่านมาทำอกุศลมากกว่ากุศล ลำพังตัวเองจะนึกถึงกุศลนั้นย่อมนึกถึงไม่ได้ นอกจากจะได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่นเท่านั้น แต่ต้องเป็นการช่วยเหลืออย่างพิเศษจึงจะช่วยได้ ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างพิเศษแล้วบุคคลจำพวกนี้ย่อมจะต้องไปสู่อบายแน่นอน
บุคคลประเภทที่ ๔ ในขณะใกล้ตายชีวิตย่อมไม่พ้นจากการไปสู่อบายได้เลย นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อัครสาวก มหาสาวกเท่านั้นที่จะช่วยเหลือได้ และการที่จะได้รับความช่วยเหลือจากท่านเหล่านี้ได้บุคคลผู้นั้นก็จะต้องมี กุศลอปราปริยเวทนียกรรม(กุศลในชาติก่อนๆ)ที่มีกำลังมาก(ตัวอย่าง"โจรเคราแดง"จะอยู่ในเรื่อง กฎแห่งกรรมหมวดที่ ๗) ฉะนั้นถ้าบุคคลจำพวกนี้ต้องไปสู่นรกแล้ว ก็ไปสู่นรกโดยตรง ไม่มีโอกาสที่จะได้พบกับพระยายมราช เฉพาะบุคคลประเภทที่ ๒ และ ๓ ถ้าต้องไปสู่นรกแล้วก็มีโอกาสได้พบกับพระยายมราชเพื่อทำการสอบถาม ๕ เรื่อง หรือเรียกว่า เทวทูต ๕ เสียก่อน แล้วจึงไปเสวยทุกข์ในนรกนั้นๆ ภายหลัง

คำถามของพระยายมราช มี ๕ เรื่อง 
๑. ความเกิด ได้แก่ ทารกที่แรกเกิด
๒. ความแก่ ได้แก่ คนชรา 
๓. พยาธิ ได้แก่ ผู้ป่วยไข้ 
๔. คนต้องราชทัณฑ์ ได้แก่ ผู้ที่ถูกลงโทษตามกฎหมาย 
๕. มรณะ ได้แก่ คนตาย 

พระยายมราชผู้มีจิตกรุณาจะไต่ถามว่า “นี่แน่ะเจ้า! เราจะถามเจ้าว่า เมื่อเจ้ายังอยู่ในมนุษย์โลกนั้นได้เคยเห็นเด็กแรกเกิดนอนเปื้อนมูตรคูถของตนเองบ้างไหม” ถ้าสัตว์นรกตอบว่า “ข้าพเจ้าเคยเห็น” พระยายมราชจะถามต่อไปว่า “ในขณะที่เจ้าเห็นเด็กแรกเกิดนั้น เจ้าเคยนึกถึงตนเองบ้างไหมว่า ตัวของเจ้าเองนี้จะต้องเกิดอีกเช่นเดียวกัน และได้เคยพยายามสร้างทาน ศีล ภาวนา เพื่อจะได้เป็นหนทางที่จะช่วยตัวเองให้พ้นไปจากความเกิดอันเป็นชาติทุกข์ บ้างไหม” สัตว์นรกได้ฟังคำถามของพระยายมราชแล้ว ถ้าระลึกถึงกุศลได้ในขณะนั้นก็จะพ้นจากนรกโดยทันที ได้ไปเกิดเป็นมนุษย์ หรือเทวดา ถ้าระลึกถึงกุศลไม่ได้ในขณะนั้นก็จะกล่าวตอบว่า “ข้าพเจ้าเคยเห็นเด็กแรกเกิดก็จริง แต่ก็ไม่มีความนึกคิดอะไร คงมีแต่ความยินดี พอใจเพลิดเพลิน สนุกสนานไป ตามวิสัยของชาวโลกเท่านั้น” พระยายมราชจึงกล่าวต่อไปว่า “เจ้าเป็นผู้มีความประมาท ไม่ทำความดี ทางกายวาจาใจ ด้วยการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ความประมาท เพลิดเพลินสนุกสนานของเจ้าที่ได้กระทำไปแล้วล้วนแต่เป็นความประมาทที่เกิดขึ้นจากตัวของเจ้าทั้งนั้น ไม่ใช่บิดามารดา บุตร ภรรยา มิตรสหาย หรือ เทวดาทั้งหลายมากระทำให้เจ้า ฉะนั้นเจ้าก็ต้องได้รับผลที่เจ้าได้กระทำไว้แล้วนั้นด้วย ตนเองไม่มีผู้ใดจะมารับโทษแทนเจ้าได้” ต่อจากนั้นพระยายมราชจะถามปัญหาที่ ๒ ต่อไป

พระยายมราชผู้มีจิตกรุณาจะถามต่อไปว่า “เจ้าเคยเห็นคนแก่หลังโก่งงอ ผมหงอก หนังเหี่ยว ตกกระ บ้างไหม ในขณะที่เจ้าเห็นนั้น เจ้าเคยนึกถึงตนเองบ้างไหมว่าตัวของเจ้าเองนี้จะต้องแก่เช่นเดียวกัน และได้เคยพยายามสร้างทาน ศีล ภาวนา เพื่อจะได้เป็นหนทาง ที่จะช่วยตัวเองให้พ้นไปจากความแก่อันเป็นชราทุกข์บ้างไหม” สัตว์นรกได้ฟังคำถามของพระยายมราชแล้ว ถ้าระลึกถึงกุศลได้ในขณะนั้นก็จะพ้นจากนรกโดยทันที ได้เกิดเป็นมนุษย์ หรือเทวดา ถ้าระลึกถึงกุศลไม่ได้ในขณะนั้นก็จะกล่าวตอบว่า “ข้าพเจ้าเคยเห็นคนแก่ก็จริงแต่ไม่มีความนึกคิดอะไร คงมีแต่การใช้ชีวิตที่พอใจเพลิดเพลิน สนุกสนานไปตาม วิสัยของชาวโลกเท่านั้น” พระยายมราชกล่าวต่อไปว่า “เจ้าเป็นผู้ประมาท ฯลฯ ฉะนั้นเจ้าก็ต้องได้รับผลที่เจ้าได้ กระทำไว้แล้วนั้นด้วยตนเอง ไม่มีผู้ใดจะมารับโทษแทนเจ้าได้” ต่อจากนั้นพระยายมราชจะ ถามปัญหาที่ ๓ ต่อไป

พระยายมราชผู้มีจิตกรุณาจะถามต่อไปว่า “เจ้าเคยเห็นคนป่วยไข้ที่กำลังได้รับความทุกข์เวทนาบ้างหรือไม่ ในขณะที่เจ้าเห็น เจ้าเคยนึกถึงตนเองบ้างไหมว่า ตัวของเจ้าเองนี้จะต้องเจ็บป่วยเช่นเดียวกัน และได้เคยพยายามสร้างทาน ศีล ภาวนา เพื่อจะได้เป็นหนทางที่จะช่วยตัวเองให้พ้นไปจากความเจ็บป่วยอันเป็นพยาธิทุกข์บ้างไหม” สัตว์นรกได้ฟังแล้ว ถ้าระลึกถึงกุศลได้ในขณะนั้นก็จะพ้นจากนรกโดยทันที ฯลฯ ถ้าระลึกถึงกุศลไม่ได้ ฯลฯ พระยายมราชจึงกล่าวต่อไปว่า “เจ้า เป็นผู้ประมาท ฯลฯ ฉะนั้นเจ้าก็ต้องได้รับผลที่เจ้าได้กระทำไว้แล้วนั้นด้วยตนเอง ไม่มีผู้ใดจะมารับโทษแทนเจ้าได้” ต่อจากนั้นพระยายมราชจะถามปัญหา ที่ ๔ ต่อไป

พระยายมราชผู้มีจิตกรุณาจะถามต่อไปว่า “เจ้าเคยเห็นคนที่ถูกจองจำ เช่น โจร ผู้ร้าย ผู้กระทำผิด ซึ่งถูกลงโทษด้วยวิธีต่างๆ เช่น โบยด้วยแส้ หวาย ตีด้วยกระบอง ถูกตัดมือ เท้า หู จมูก ยิงเป้า แขวนคอบ้างหรือไม่ ในขณะที่เจ้าเห็นเจ้าเคยนึกถึงตนเองบ้างไหมว่าตัวของเจ้าเองนี้จะต้องเพียรเร่งสร้างความดี เพื่อจะได้เป็นหนทางที่จะช่วยตัวเองให้พ้นไปจากความทุกข์บ้างไหม? สัตว์นรกได้ฟังแล้ว ถ้าระลึกถึงกุศลได้ในขณะนั้นก็จะพ้นจากนรกโดยทันที ฯลฯ ถ้าระลึกถึงกุศลไม่ได้ ฯลฯ พระยายมราชกล่าวต่อไปว่า “เจ้าเป็นผู้ประมาท ฯลฯ ฉะนั้นเจ้าก็ต้องได้รับผลที่เจ้าได้กระทำไว้แล้วนั้นด้วยตนเอง ไม่มีผู้ใดจะมารับโทษแทนเจ้าได้ ” ต่อจากนั้นพระยายมราชจะถามปัญหาที่ ๕ ต่อไป

พระยายมราชผู้มีจิตกรุณาจะถามต่อไปว่า “เจ้าเคยเห็นคนตายบ้างหรือไม่ ในขณะที่เจ้าเห็นคนตายเจ้าเคยนึกถึงตนเองบ้างไหมว่าตัวของเจ้าเองนี้ จะต้องตายเช่นเดียวกัน และได้เคยพยายามสร้างทาน ศีล ภาวนา เพื่อจะได้เป็นหนทางที่จะช่วยตัวเองให้พ้นไปจากความตายอันเป็นมรณทุกข์บ้างไหม” สัตว์นรกได้ฟังแล้ว ถ้าระลึกถึงกุศลได้ในขณะนั้นก็จะพ้นจากนรกโดยทันที ฯลฯ ถ้าระลึกถึงกุศลไม่ได้ ฯลฯ พระยายมราชจึงกล่าวต่อไปว่า “เจ้าเป็นผู้ประมาท ฯลฯ ฉะนั้นเจ้าก็ต้องได้รับผลที่เจ้าได้กระทำไว้แล้วนั้นด้วยตนเอง ไม่มีผู้ใดจะมารับโทษแทนเจ้าได้”

เมื่อเป็นเช่นนี้ พระยายมราชก็พยายามช่วยระลึกให้ว่าสัตว์นรกผู้นี้ได้สร้างกุศลอะไรไว้บ้าง เพราะบุคคลบางคนเมื่อทำกุศลแล้วก็แผ่ส่วนกุศลให้แก่ พระยายมราช พระยายมราชผู้เคยได้รับส่วนกุศลก็จะพยายามช่วยให้สัตว์นรกนึกถึงกุศลที่เคยทำไว้ เมื่อระลึกถึงกุศลกรรมของตนได้เช่นนี้ ในขณะนั้น ก็พ้นไปจากนรกแต่ถ้าพระยายมราชช่วยแล้วก็ยังระลึกไม่ได้ก็จะนิ่งเสีย แล้ว นายนิรยบาลก็จะนำตัวไปลงโทษในนรกต่างๆ เสวยกรรมในนรกไปจนกว่าจะหมดกรรม พระยายมราชเป็นราชาแห่งเปรตที่มีวิมาน ในคราวหนึ่งเสวยทิพยสมบัติ ในคราวหนึ่งเป็นธรรมิกราชเสวยวิบากกรรม พระยายมราชเองก็ปรารถนาความเป็นมนุษย์และได้พบได้ฟังธรรม ได้รู้ธรรม ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หน้าที่ของพระยายมราช คือเป็นผู้ซักถามผู้ทำบาปที่ถูกนำตัวเข้าไปหลักซักถาม ๕ อย่างข้างต้น ถ้าพิจารณาดูตรงๆ ก็ยากที่จะเข้าใจว่าจะใช้ เป็นกฎเกณฑ์สำหรับวินิจฉัยได้อย่างไร แต่เมื่อพิจารณาโดยหลักธรรม ก็อาจจะเห็นความมุ่งหมายว่า คนที่ทำบาปทุจริตต่างๆ นั้น ก็เพราะมีความประมาท ไม่ได้คิดพิจารณาว่าเกิดมาแล้วจะต้องแก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา


๒. ภพภูมิทั้ง ๓๑ ภูมิ

เมื่อยังมีกิเลส กรรม วิบากอยู่ การเวียนว่ายตายเกิดก็ยังเป็นไปอยู่ การเกิดขึ้นของรูปนามอันเป็นวิบากของกรรมและกิเลส จึงเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องสงสัย ถ้าเป็นกรรมชั่ว รูปนามอันเป็นวิบากก็เป็นรูปนามของกรรมชั่ว ถ้าเป็นกรรมดีรูปนามอันเป็นวิบากก็เป็นรูปนามของกรรมดี สถานที่อุบัติเกิดขึ้นของรูปนามที่เป็นผลของกรรม มี ๓๑ สถานที่ หรือ ที่เรียกว่า ๓๑ ภูมิ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนใหญ่ๆ คือ

อบายภูมิ ๔ ภูมิอันเป็นที่อุบัติเกิดขึ้นของรูปนามที่มาจากผลของอกุศลกรรมได้แก่
นรกภูมิ ๑
ดิรัจฉานภูมิ ๑
เปรตภูมิ ๑
อสุรกายภูมิ ๑

สุคติภูมิ ๒๗ ภูมิอันที่เป็นที่อุบัติเกิดขึ้นของรูปนามที่มาจากผลของกรรมดีได้แก่
มนุษยภูมิ ๑
เทวภูมิ ๖
รูปภูมิ ๑๖
อรูปภูมิ ๔

ภูมิทั้ง ๓๑ ภูมิ ยังมีวิธีการเรียกชื่อแตกต่างกันไปได้อีกดังนี้
เรียกว่ากามภูมิ ๑๑ หรือ กามาวจรภูมิ คือ รวมเอาอบายภูมิ ๔ มนุษยภูมิ ๑ และเทวภูมิ ๖ รวมเรียกว่า กามภูมิ ๑๑ เพราะเหตุว่าเป็นภูมิที่อาศัยเกิดของจิตที่ท่องเที่ยวไปในการรับกามคุณ อารมณ์ และกามภูมิ ๑๑ นี้ ยังแยกออกได้ ๒ กลุ่ม คือ มนุษยภูมิ ๑ และเทวภูมิ ๖ รวมเฉพาะ ๗ ภูมินี้เรียกว่า กามสุคติภูมิ ๗ อีกด้วย เพราะเหตุว่าทั้ง ๗ ภูมินี้เป็นที่อยู่ที่มีความสุข เฉพาะอบายภูมิ ๔ เท่านั้นเรียกว่า ทุคติภูมิเพราะเป็นภูมิที่มีแต่ความทุกข์

ส่วนภูมิที่ไม่ประกอบด้วยกามคุณเรียกว่า รูปภูมิ ๑๖ หรือ รูปาวจรภูมิ แบ่งเป็นรูปภูมิที่เป็นสถานที่อุบัติเกิดขึ้นของนามและรูป มี ๑๕ ภูมิ ส่วนที่เหลืออีก ๑ ภูมิ คือ อสัญญสัตตภูมิ เป็นสถานที่อุบัติเกิดเฉพาะแต่รูปเท่านั้นไม่มีนาม ในรูปภูมิ ๑๖ นอกจากจะมีชื่อเรียกภูมิโดยเฉพาะๆแล้วยังเรียกชื่อภูมิที่เป็นที่อยู่ของพรหมที่เป็นพระอริยบุคคลโดยเฉพาะได้อีก ๕ ภูมิ คือ สุทธาวาสภูมิ ๕

ส่วนภูมิที่ไม่ประกอบด้วยกามคุณและนามรูปรูปเรียกว่า อรูปภูมิ ๔ หรือ อรูปาวจรภูมิ คืออรูปภูมิทั้งหมดมี ๔ ภูมิ

อธิบายภูมิทั้ง ๓๑ ดังนี้
อบายภูมิ มี ๔ ภูมิ ได้แก่ นรกภูมิ เดรัจฉานภูมิ เปรตภูมิ อสุรกายภูมิ เป็นสถานที่อุบัติเกิดขึ้นของรูปนามที่เป็นผลของอกุศลกรรมได้แก่อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ
ทางกาย มี ๓ คือ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิด ทางกาม
ทางวาจา มี ๔ คือ พูดปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
ทางใจ มี ๓ คือ การเพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ

มนุษยภูมิ มี ๑ ภูมิ เป็นสถานที่อุบัติเกิดขึ้นของรูปนามที่เป็นผลของกุศลกรรม คือ
การประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐
ทางกายมี ๓ คือ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดทางกาม
ทางวาจา มี ๔ คือ งดเว้นจากการพูดปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
ทางใจ มี ๓ คือ อนภิชฌา อพยาบาท สัมมาทิฏฐิ
และกุศลกรรมในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญ ภาวนา เป็นต้น

เทวภูมิ มี ๖ ภูมิ ได้แก่ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรตี ปรนิมมิตวสวัตตี เป็นสถานที่อุบัติเกิดขึ้นของรูปนามที่เป็นผลของกุศลกรรม

รูปภูมิ มี ๑๖ ภูมิ เป็นสถานที่อุบัติเกิดขึ้นของรูปและนาม มี ๑๕ ภูมิ และ อุบัติเกิดเฉพาะรูปอย่างเดียวไม่มีนาม มี ๑ ภูมิ คือ อสัญญสัตตภูมิ เป็นภูมิที่มีความสุขจากผลของกุศลขั้นรูปฌาน ผู้ที่เกิดในภูมินี้อาศัยภาวนากุศลในด้านการเจริญสมถกรรมฐานจนสำเร็จรูปฌานและรูปฌานนั้นยังไม่เสื่อมจึงนำไปเกิดในภูมินี้

รูปภูมิ ๑๖ แบ่งตามระดับการเข้าถึงฌานมีดังนี้
• ปฐมฌานภูมิ ๓ ได้แก่ ปาริสัชชา ปุโรหิตา มหาพรหมา
• ทุติยฌานภูมิ ๓ ได้แก่ ปริตตาภา อัปปมาณาภา อาภัสสรา
• ตติยฌานภูมิ ๓ ได้แก่ ปริตตสุภา อัปปมาณสุภา สุภกิณหา
• จตุตถฌานภูมิ ๗ ได้แก่ เวหัปผลา อสัญญสัตตา และสุทธาวาสภูมิ ๕ ได้แก่ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา

อรูปภูมิ มี ๔ ภูมิ ได้แก่ อากาสานัญจายตนภูมิ วิญญาณัญจายตนภูมิ อากิญจัญญายตนภูมิ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ

อรูปภูมิ ๔ เป็นสถานที่อุบัติเกิดได้เฉพาะนามอย่างเดียวไม่มีรูป เป็นภูมิที่มีความสุขจากผลของการเจริญกุศลขั้นอรูปฌาน ผู้ที่เกิดในภูมินี้อาศัยอรูปฌานกุศลที่ยังไม่เสื่อมนำไปเกิด การเวียนว่ายตายเกิดในภูมิทั้งหลายก็ด้วยเจตนาในการทำกรรมทั้งกุศลและอกุศล จึงเป็นกำลังผลักดันให้ต้องโคจรไปเกิดยังภพภูมิต่างๆ


ท่านพระสารีบุตรได้ตอบคำถามที่เกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิด สรุปได้ดังนี้

ถาม ภพมีเท่าไร
ตอบ มี ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ

ถาม การเกิดในภพใหม่มีได้เพราะเหตุใด
ตอบ เพราะความยินดียิ่งของเหล่าสัตว์ทีมีอวิชชา มีตัณหาเป็นเครื่องผูกพันไว้ หรือตัณหาเป็นเครื่องผูกพันอารมณ์ ๖ ไว้ การเกิดในภพใหม่มีได้ต่อไปเพราะเหตุนี้

ถาม การไม่เกิดในภพใหม่มีได้อย่างไร
ตอบ เพราะอวิชชาสิ้นไป มีวิชชาเกิดขึ้นและเพราะตัณหาดับไป การเกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไปไม่มีเพราะอย่างนี้


๑. ความเป็นไปในสังสารวัฏ

การศึกษาเรื่องภพภูมิ จะทำให้เข้าใจถึงชีวิตการเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั้นเป็นอย่างไร และเป็นเช่นนั้นได้ เพราะเหตุใด มีผู้สร้างมีผู้กำหนดให้เป็นไปเช่นนั้นหรือไม่ และจะมีอะไรมาหยุดการเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั้นได้หรือไม่ คำตอบเรื่องเหล่านี้ มีอยู่ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา

ในยุคนี้แม้ว่าพระพุทธองค์ทรงดับขันธปรินิพพานไปแล้ว อริยสาวกทั้งหลายก็ปรินิพพานไปแล้ว ถึงกระนั้นคำสอนในพระพุทธศาสนาเรื่องความเป็นไปในสังสารวัฏและการดับซึ่งสังสารวัฏนั้นยังมีอยู่ เมื่อยังมี การศึกษาตามคำสอนแล้วประพฤติตาม ก็ย่อมนำมาซึ่งการดับสังสารวัฏได้ เมื่อบุคคลได้ศึกษาเรื่องความเป็นไปในสังสารวัฏแล้วพึงพิจารณาให้เห็นความจริงในวัฏฏะ พึงพิจารณาให้เห็นหนทางแห่งการดับวัฏฏะ และเพียรเจริญภาวนาเพื่อยังมรรคมีองค์ ๘ ให้เกิดขึ้น ก็จะได้บรรลุแก่นแท้แห่งคำสอนในพระพุทธศาสนานี้ คือเพื่อความสิ้นไปแห่งวัฏฏทุกข์นี้เสียก่อนจะศึกษาเรื่องความเป็นไปในสังสารวัฏ ควรศึกษาความหมายของศัพท์ดังนี้


สงสาร หมายความว่า การเวียนว่ายตายเกิด คำว่าสงสารยังมีความหมายอีกนัยหนึ่งว่ารู้สึกเห็นใจในความเดือดร้อนหรือความทุกข์ของผู้อื่น รู้สึกห่วงใยด้วยเมตตา กรุณา เช่นเห็นเด็กๆ อดอยากก็รู้สึกสงสาร เห็นเขาประสบอัคคีภัยแล้วสงสาร

ในที่นี้คำว่าสงสารมุ่งหมายถึงความหมายโดยนัยแรก คือ การเวียนว่ายตายเกิด จะเห็นได้ว่าคำศัพท์ตามความหมายทางโลกกับทางธรรมนั้นแตกต่างกัน ฉะนั้นการศึกษาธรรมะจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจศัพท์ให้ถี่ถ้วน สงสารทุกข์ สังสารวัฏ หรือ วัฏสงสาร หมายความว่าทุกข์ที่ต้องเวียนว่ายตายเกิด การเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลายจะอยู่ในภพภูมิต่างๆ ด้วยกำลังของกิเลส กรรม วิบาก หมุนวนอยู่เช่นนั้นตราบเท่าที่ยังตัดกิเลส กรรม วิบาก ไม่ได้

กิเลส หมายความว่า เครื่องทำใจให้เศร้าหมองได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง
ตัณหา หมายความว่า ความทะยานอยาก
วัฏฏะ คือความวน หรือความเวียน ตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา มี สามอย่างคือ
• กิเลสวัฏฏะ ความวน คือ กิเลส
• กรรมวัฏฏะ ความวน คือ กรรม
• วิปากวัฏฏะ ความวน คือ วิบากผลของกรรม
กิเลสก็เป็นเหตุให้ทำกรรม กิเลสจึงเป็นเหตุ กรรมจึงเป็นผลของกิเลส และ กรรมนั้นเองก็เป็นตัวเหตุให้เกิดวิบากคือผลกรรมจึงเป็นเหตุวิบากจึงเป็นผล และวิบากนั้นเองก็เป็นตัวเหตุ ก่อกิเลสขึ้นอีก เมื่อเป็นดังนี้ วิบากนั้นก็ เป็นเหตุ กิเลสก็เป็นผลของวิบาก


ฉะนั้น กิเลส กรรม วิบาก จึงวนอยู่ดังนี้ จึงทำให้ขันธ์ ๕ นี้ วนอยู่ใน กิเลส กรรม วิบาก แล้วก็กลับเป็นเหตุก่อกิเลส กรรม วิบากขึ้นอีก ขันธ์ ๕ เมื่อกล่าวโดยความเป็นสัตว์และบุคคลจึงวนเวียนอยู่ในกิเลส กรรม วิบาก แสดงให้เห็นว่า กิเลส กรรม วิบาก นี้เองเป็นวัฏฏะ กิเลส ตัณหา เป็นสิ่งที่แฝงติดอยู่ในใจ แล้วทำให้ใจเศร้าหมองขุ่นมัว ตัณหาเป็นต้นเหตุทำให้เกิดทุกข์ เมื่อดับตัณหาเสียได้ ก็เป็นอันว่าดับวัฏฏะ ดังกล่าวได้ ดับกิเลส ดับทุกข์ทางจิตใจในปัจจุบันได้ และถึงที่สุดคือเมื่อดับขันธ์ได้ไม่เกิดอีก ดับรอบสิ้นทุกข์ด้วยประการทั้งปวง การเวียนว่ายตายเกิด เมื่อว่าโดยสภาวธรรมแล้วไม่มีสัตว์บุคคลใดๆ เกิด ตาย มีแต่สภาวธรรมที่เกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย คือ กิเลสตัณหา เมื่อเหตุ ปัจจัยยังมีอยู่ สภาวธรรมทั้งหลายก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นๆ เมื่อหมดเหตุ ปัจจัยแล้วสภาวธรรมนั้นก็ดับไป

ทบทวน ชีวิตคืออะไร

ชีวิตความหมายตามนัยแห่งพระอภิธรรม มี ๒ อย่าง คือ
๑. ชีวิตรูป ชีวิตรูปเป็นรูปๆหนึ่ง ในจำนวนรูปที่เกิดจากกรรม (ได้แก่ จักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กาย ปสาท อิตถีภาวะ ปุริสภาวะ หทยะ และชีวิตรูป) จะมีหน้าที่รักษารูปอื่นๆ ที่เกิดจากกรรมให้ดำรงอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แล้วจะดับสลายไปพร้อมกับรูปทั้งหมดที่เกิดจากกรรมนั้น และมีการเกิดขึ้นใหม่สืบต่อกันเรื่อยๆไปไม่ขาดสายตลอดชีวิต ชีวิตรูปนี้จะหล่อเลี้ยงรักษารูปอื่นๆที่เกิดจากกรรมมิให้แตกสลายไปก่อนกำหนด เหมือนน้ำที่หล่อเลี้ยงดอกบัว

ชีวิตรูป หรือ รูปชีวิตของสัตว์บุคคลก็เนื่องด้วยกุศลกรรมและอกุศลกรรมที่กระทำไว้แล้วนั่นเอง กุศลและอกุศลที่กระทำไว้ในอดีตชาติก็เป็นตัวส่งผลทำให้เกิดรูปนามนี้ขึ้นมา แล้วสมมติเรียกว่า คน สัตว์ เทวดา พรหม สุดแท้แต่จะเกิดขึ้นมาในภพภูมิใด การเกิดขึ้นของชีวิตก็เพื่อมารับผลของกุศลและอกุศลที่กระทำไว้ เมื่อกุศลส่งผลก็สมมติเรียกว่ากำลังเสวยสุข เมื่ออกุศลส่งผลก็สมมติเรียกว่ากำลังเสวยทุกข์ เหมือนกับการปลูกพืช ถ้าปลูกพืชที่ให้ผลเป็นรสเปรี้ยว ก็จะได้รับผลที่มีรสเปรี้ยว ถ้าปลูกพืชที่มีรสหวานก็จะได้รับผลที่มีรสหวาน ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อบุคคลทำกรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลมาแล้ว ผลที่ได้รับจึงมีทั้งความทุกข์บ้างสุขบ้างสลับกันไป สำหรับสิ่งที่ไม่มีชีวิต เช่น ต้นไม้ โต๊ะ เก้าอี้ บ้านเรือนฯลฯ เหล่านี้เป็น รูปธรรม เป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิตจิตใจ ไม่มีวิญญาณครอง (อนุปาทินนกสังขาร) บางคนเข้าใจว่าต้นไม้มีชีวิตจึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ต้นไม้นั้นมีอุตุเป็นสมุฏฐาน คือเป็นรูปที่เกิดจากอุตุ มีเพียงรูป ๘ เท่านั้น คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา ส่วนคน สัตว์ มีรูป ๒๘ รูป อันได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ เป็นต้น มนุษย์,สัตว์เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ คือ กรรม จิต อุตุ และอาหาร ต้นไม้เกิดจากสมุฏฐานเดียว คือ อุตุ ต้นไม้ไม่ได้ เกิดจากกรรม จึงไม่มีชีวิตรูปคอยอนุบาลรักษาเหมือนสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย

ชีวิตนามหรือ นามชีวิต คือ ชีวิตินทรีย์เจตสิกนั่นเอง จะเกิดพร้อมกับ นามธรรมอื่นๆ เช่น ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา มนสิการ เป็นต้น และทำหน้าที่รักษานามธรรมที่เกิดพร้อมกันกับตนให้ตั้งมั่นในอารมณ์แล้วดับไป เมื่อเข้าใจชีวิตแล้ว ต่อไปจะศึกษาสถานที่เกิดของสัตว์ทั้งหลาย มีอยู่ ๓๑ ภูมิ ไปตามลำดับ

วันอาทิตย์

นัยที่ ๕ รูปปวัตติกมนัย

รูปปวัตติกมนัย เป็นการแสดงการเกิด - ดับของรูป ๒๘ ของสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งธรรมดาของรูปนามขันธ์ ๕ ย่อมมีความไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่ใช่ตัวตนที่จะบังคับบัญชาให้คงสภาพเดิมอยู่ได้ คือ ต้องตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ ดังนั้นรูปร่างกายของคน สัตว์ ย่อมจะต้องมีการเกิด-ดับ ในหมวดนี้ท่านจึงแสดงความเกิดดับของรูปไว้ ๓ นัย คือ

๑. ตามนัยแห่งภูมิ แสดงการเกิด-ดับของรูป ที่เกิดขึ้นในภพภูมิต่างๆ
๒. ตามนัยแห่งกาล แสดงการเกิด-ดับของรูปที่เกิดขึ้นในกาลต่างๆ
๓. ตามนัยแห่งกำเนิด การเกิด-ดับของรูปตามประเภทแห่งการเกิด

รูป ๒๘ มี ดิน น้ำ ไฟ ลม จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ เป็นต้นนั้น ในแต่ละภูมิก็มีรูปเกิดได้จำนวนไม่เท่ากัน ต่อไปจะศึกษาเรื่องภูมิใดจะมีรูปเกิดได้เท่าไร อะไรบ้าง ๑.๑ ใน ๓๑ ภูมิ มีรูปเกิดได้อย่างไร ภูมิอันเป็นที่เกิดของสัตว์ทั้งหลายมีทั้งหมด ๓๑ ภูมิ แบ่งเป็น
๑. กามภูมิ
๒. รูปภูมิ
๓. อรูปภูมิ

๑.๑.๑ กามภูมิ มี ๑๑ ภูมิ กามภูมิเป็นภูมิที่เกิดของสัตว์ทั้งหลาย คือ มนุษย์ เทวดา สัตว์ ดิรัจฉาน ตลอดจนสัตว์นรก มีรูปทั้ง ๒๘ เกิดได้ แต่ถ้าเกิดเป็นหญิงก็เว้นปุริสภาวะรูป ถ้าเกิดเป็นชายก็เว้นอิตถีภาวะรูป ส่วนในคนที่พิการแต่กำเนิด เช่น ตาบอด ฯลฯ ก็จะไม่มีจักขุปสาทรูปเกิด
๑.๑.๒ รูปภูมิ มี ๑๖ ภูมิ แบ่งเป็นภูมิที่รูปขันธ์และนามขันธ์ มี ๑๕ ภูมิ ภูมิที่มีแต่รูปอย่างเดียวมี ๑ คือ อสัญญสัตวพรหมภูมิ ในรูปภูมินั้นจะมีรูปเกิดได้ ๒๓ รูป (เว้น ฆานะ ชิวหา กายะ และภาวรูปทั้ง ๒) ในอสัญญสัตพรหมภูมิ ๑ จะมีรูปเกิดได้เพียง ๑๗ รูป (เว้นปสาทรูปทั้ง ๕ สัททรูป ๑ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ วิญญัติรูป ๒)
๑.๑.๓ อรูปภูมิ มี ๔ ภูมิ เป็นภูมิที่ไม่มีรูปมีแต่นามเท่านั้น ด้วยอำนาจของปัญจมฌาน ที่ไม่ปรารถนาจะมีรูป รูปจึงเกิดขึ้นไม่ได้

๑. ตามนัยแห่งภูมิ

แสดงการเกิด-ดับของรูปในภูมิต่าง ๆ ๓๑ ภูมิ

ใน กามภูมิ ๑๑
ภพภูมินี้ รูป ๒๘ เกิดได้หมด ประกอบด้วยภพ
• นรก ๑
• เปรต ๑
• อสุรกาย ๑
• เดรัจฉาน ๑
• มนุษย์ ๑
• เทวภูมิ ๖

ใน รูปภูมิ ๑๕
ภพภูมินี้ รูปเกิดได้ ๒๓ รูป (เว้นฆานปสาท ๑, ชิวหาปสาท ๑, กายปสาท ๑, ภาวรูป ๒)
• ปฐมฌานภูมิ ๓
• ทุติยฌานภูมิ ๓
• ตติยฌานภูมิ ๓
• จตุตถฌานภูมิ ๖

ใน อสัญญสตัตภมูิ ๑
ภพภูมินี้ รูปเกิดได้เพียง ๑๗ รูป เท่านั้น คืออวินิพโภครูป ๘, ชีวิตรูป ๑, ปริจเฉทรูป ๑, วิการรูป ๓, ลักขณรูป ๔

ใน อรูปภูมิ ๔
ภพภูมินี้ ไม่มีรูปเกิดขึ้นได้เลย

ในภูมิต่างๆ รูปเกิดจากสมุฎฐานใดบ้าง
กามภูมิ ๑๑ เกิดจากสมุฏฐาน ๔ คือ
เกิดจากกรรม ๑๘ รูป
เกิดจากจิต ๑๕ รูป
เกิดจากอุตุ ๑๓ รูป
เกิดจากอาหาร ๑๒ รูป

รูปภูมิ ๑๕ เกิดจากสมุฏฐาน ๓ คือ
เกิดจากกรรม ๑๓ รูป
เกิดจากจิต ๑๕ รูป
เกิดจากอุตุ ๑๓ รูป

อสัญญสัตตภูมิ ๑ เกิดจากสมุฏฐาน ๒ คือ
เกิดจากกรรม ๑๐ รูป
เกิดจากอุตุ ๑๒ รูป

๒. ตามนัยแห่งกาล

โดยนัยแห่งกาล เป็นการแสดงการเกิด-ดับของรูป ๒๘ ตามกาลว่ากาลใดมีรูปเกิดได้ และกาลใด รูปเกิดไม่ได้ คำว่า “กาล” มี ๓ กาล คือ
๑. ปฏิสนธิกาล หมายถึง เวลาที่นาม-รูป เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในภพใหม่
๒. ปวัตติกาล หมายถึง เวลาที่นาม-รูป มีชีวิตดำเนินไปในชาตินั้นๆ
๓. จุติกาล หมายถึง เวลาที่นาม-รูป ตายจากภพชาตินั้นๆ

ในกาลทั้ง ๓ มีรูปเกิดได้อย่างไร
ปฏิสนธิกาล (ขณะเกิด)
รูปที่เกิดได้ มี ๒๐ คือ
ปสาทรูป ๕ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ อวินิพโภครูป ๘ ปริจเฉทรูป ๑ อุปจยรูป ๑ และ สันตติรูป ๑
รูปที่เกิดไม่ได้ มี ๘ คือ
สัททรูป ๑ วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๓ ชรตารูป ๑ และ อนิจจตารูป ๑

ปวัตติกาล (ขณะดำรงชีวิต)
รูปที่เกิดได้ มี ๒๘ คือ
เกิดได้ตามสมควรแก่ภูมิ หรือตามสมควรแก่กำเนิด เกิดได้ครบทั้ง ๔ สมุฎฐานได้แก่ กรรมสมุฏฐาน จิตตสมุฏฐาน อุตุสมุฏฐาน และอาหารสมุฏฐาน

จุติกาล (ขณะตาย)
รูปที่เกิดได้ คือ
จิตตชรูปของสัตว์ในปัญจโวการภูมิ เกิดในอุปปาทักขณะของจิตและตั้งอยู่จนครบอายุแล้วจึงดับ (เว้นจุติจิตของพระอรหันต์)
อาหารชรูป เกิดได้อีก ๕๐ อนุขณะของจุติจิต
อุตุชรูป เกิดได้ตลอดจนกระทั่งตอนเป็นซากศพ
รูปที่เกิดไม่ได้ คือ
กรรมชรูปทั้งหมดที่นับถอยหลังไป ๑๗ ขณะ จากจุติจิต และ จิตตชรูปของพระอรหันต์

๓. ตามนัยแห่งกำเนิด

ในบรรดาสัตว์ทั้งหลายที่เกิดในภูมิทั้ง ๓๑ ภูมิ จะมีลักษณะการเกิดได้ ๔ อย่าง คือ
๑) อัณฑชะกำเนิด (เกิดจากไข่) ได้แก่ ไก่ นก จิ้งจก ตุ๊กแก งู เป็นต้น
๒) ชลาพุชะกำเนิด (เกิดจากครรภ์) ได้แก่ พวกที่อาศัยเกิดจากครรภ์มารดาและคลอดออกมาเป็นตัวหรือทารกเล็กๆ แล้วค่อยเจริญเติบโตมาตามลำดับได้แก่ มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน เทวดาชั้นต่ำบางพวก เป็นต้น
๓) สังเสทชะกำเนิด (เกิดจากเถ้าไคล) การเกิดชนิดนี้ไม่ต้องอาศัยบิดามารดา คือ จะอาศัยเถ้าไคล หรือยางเหนียวที่ชุ่มชื้นมีอุณหภูมิเหมาะสมเป็นที่อาศัยเกิดของสัตว์ชนิดนี้ เช่น หนอนในปลาเน่า มอดในข้าวสาร เป็นต้น มนุษย์ที่เกิดจากดอกไม้ ต้นไม้ ผลไม้ เช่น นางจิญจมานวิกา เกิดจากต้นมะขาม นางเวฬุวดี เกิดจากต้นไผ่ นางปทุมวดี เกิดจากดอกบัว เป็นต้น
๔) โอปปาติกกำเนิด (เกิดขึ้นโตทันที) คือ เกิดแล้วโตทันที ไม่ต้องอาศัยครรภ์มารดา หรือที่ชื้นแฉะแต่อย่างใด แต่อาศัยอดีตกรรมอย่างเดียว โดยการผุดเกิดขึ้นมีรูปร่างใหญ่โตทันที ได้แก่ เทวดา เปรต อสุรกาย มนุษย์ต้นกัป เป็นต้น
ในกำเนิดทั้ง ๔ ยังสามารถจัดกลุ่มการเกิดได้อีก ๒ แบบ คือ เอาแบบที่ ๑ และ ๒ รวมกัน เรียกว่า คัพภไสยยกกำเนิด หมายถึงสัตว์ที่ต้องอาศัยครรภ์มารดาเกิด ส่วนสังเสทชะกำเนิดและโอปปาติกกำเนิด ทั้งสองนี้ไม่ต้องอาศัยครรภ์มารดาเกิด

ปฏิสนธิวิญญาณจะเกิดในครรภ์มารดาได้นั้นต้องประกอบด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ
๑. มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน
๒. มารดาอยู่ในวัยมีประจำเดือน
๓. มีปฏิสนธิวิญญาณมาเกิด

เมื่อวิญญาณปฏิสนธิในครรภ์มารดาแล้ว รูปต่างๆ จะเกิดขึ้นเจริญตามลำดับดังนี้ คือ
สัปดาห์แรก เป็นกลละ มีลักษณะเป็นหยาดน้ำใสเหมือนน้ำมันงา มีปริมาณเท่ากับหยาดน้ำมันที่ติดอยู่ที่ปลายขนจามรีที่สลัดแล้ว ๗ ครั้ง
สัปดาห์ที่ ๒ เป็นอัพพุทะ มีลักษณะเป็นฟอง มีสีเหมือนน้ำล้างเนื้อ
สัปดาห์ที่ ๓ เป็นเปสิ มีลักษณะเป็นชิ้นเนื้อ ชิ้นเนื้อมีลักษณะเหลวคล้ายกับดีบุก
สัปดาห์ที่ ๔ เป็นฆนะ มีลักษณะเป็นก้อนมีสัณฐานเหมือนไข่ไก่
สัปดาห์ที่ ๕ เป็นปัญจสาขา มีลักษณะเกิดปุ่มขึ้น ๕ แห่ง เพื่อเป็นศีรษะ ๑ มือและเท้าอย่างละ ๒
สัปดาห์ที่๖-๔๒ จะเกิดอวัยวะต่าง ๆ และในสัปดาห์ที่ ๑๑ เป็นสัปดาห์ที่จะเกิด จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานะปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป ทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาจะมีสายสะดือของทารกติดกับแผ่นท้องของมารดา สายสะดือจะมีลักษณะเป็นรูเหมือนก้านบัว เมื่อมารดาบริโภคอาหารเข้าไปแล้ว สารอาหารจะไปเลี้ยงทารกทางสายสะดือ จนกระทั่งทารกมีอายุ ๑๐ เดือน จึงคลอดออกมา
หมายเหตุ ๑ เดือน นับตามปีจันทรคติ มี ๒๘ วัน ทารกอายุ ๑๐ เดือน เท่ากับ ๒๘๐ วัน แต่ในปัจจุบัน ๑ เดือน นับตามปีสุริยคติมี๓๐ วัน ในปัจจุบันจึงนับว่าทารกจะอยู่ในครรภ์มารดาประมาณ ๙ เดือนหรือกว่านั้น โดยทางแพทย์จะนับจำนวนวันเท่ากับจำนวนวันทางจันทรคติ คือ ๒๘๐ วันเช่นกัน

สรุป

เรื่องรูปปรมัตถ์ที่ได้แสดงมาแล้วโดยนัยทั้ง ๕ นั้น เพื่อประโยชน์ในการพิจารณารูปทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับสัตว์ดิรัจฉาน มนุษย์ เทวดา พรหม เป็นอย่างไร? มีอะไรบ้าง? ความรู้ที่ละเอียดลึกซื้งอย่างนี้มีได้ก็ด้วยพระสัพพัญญุตญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วพระองค์ทรงแสดงความจริงอย่างนี้แก่สาวก สาวกจึงนำมาสั่งสอนต่อไป เมื่อได้ศึกษาเรื่องจิต เจตสิก และรูป มาแล้วก็ควรนำประโยชน์จากการศึกษาไปพิจารณาเพื่อหยั่งลงสู่การปฏิบัติเพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้นได้ โดยการพิจารณาตามความเป็นจริงของนาม (คือ จิตและเจตสิก) และพิจารณาตามความเป็นจริงของรูป คือ รูปทั้ง ๒๘ ว่าอะไรคือรูป อะไรคือนาม เมื่อพิจารณาลักษณะของนามและรูปโดยความเป็นจริงได้บ่อยๆ ปัญญาก็จะเกิดขึ้น โดยพึงพิจารณาถึงรูปอย่างถูกต้องพิจารณาเห็นจิตที่รู้รูปนั้นว่าเป็นเพียงนาม เป็นเพียงรูป ไม่ใช่ สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของตน ดังนี้ การรู้จักนามรู้จักรูปตามความเป็นจริงอย่างนี้เป็นการเริ่มต้นเจริญวิปัสสนาอย่างถูกต้อง บุคคลผู้สามารถเริ่มต้นเจริญวิปัสสนาอย่างถูกต้องตามหลักปริยัติอย่างนี้จึงจะเห็นแจ้งพระนิพพานบรรลุธรรมในภายต่อไปได้


วันอังคาร

นัยที่ ๔ รูปกลาปนัย แสดงการเกิดขึ้นเป็นกลุ่มของรูป(๒)


หน้าแรก รูปกลาปนัย(๑)

๒.๔ ลหุตาทิเอกาทสกกลาป คือ กลุ่มรูปที่ทำให้เกิดความเบา มี ๑๑ รูป เป็นกลุ่มรูปที่เกิดขึ้นในขณะที่ไม่ได้มีการเคลื่อนไหว ไม่มีการพูด แต่ในขณะนั้น จิตมีความสบายเข้มแข็งดี หน้าตาแจ่มใสชื่นบาน กลุ่มรูปนี้ มี ๑๑ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูปวิการรูป


๒.๕ กายวิญญัติลหุตาทิทวาทสกกลาป คือ กลุ่มรูปที่ทาให้เกิดการคล่องตัวในการเคลื่อนไหวกายมี ๑๒รูป (อ่านว่า กา-ยะ-วิด-ยัด-ละ-หุ-ตา-ทิ-ทะ-วา-ทะ-สะ-กะ-กะหลาป) ในขณะที่จิตใจแจ่มใส เข้มแข็ง มี ๑๒ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูปวิการรูป ๓ กายวิญญัติรูป ๑



๒.๖ วจีวิญญัติสัททลหุตาทิเตรสกกลาป คือ กลุ่มรูปที่ทำให้เกิดการพูดที่คล่องแคล่ว มี ๑๓ รูป ในขณะที่จิตใจแจ่มใส เข้มแข็ง มีการพูด การสวดมนต์ การร้องเพลง เป็นต้น มี ๑๓ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูปวิการรูป ๓ สัททรูป ๑ กายวิญญัติรูป ๑



๓. อุตุชกลาปอุตุชกลาป คือ กลุ่มของรูปที่เกิดมาจากอุตุเป็นสมุฏฐาน อุตุ คือ ความเย็น และความร้อน เกิดได้ทั้งภายในร่างกายและภายนอกร่างกาย คือเกิดได้ทั้งในสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต

ถ้าในสิ่งที่มีชีวิตอุตุชกลาปย่อมเกิดได้ทั้งหมด ๔ กลาป ถ้าภายนอกตัวคนสัตว์จะเกิดได้เพียง ๒ กลาปเท่านั้น

อุตุชกลาป มี ๔ กลาป คือ

๓.๑ สุธัฏฐกกลาป (อ่านว่า สุ-ทัด-ทะ-กะ-กะ-หลาบ) เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานเป็นพื้นฐานของรูปทั้งหมด ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต กลาปนี้เกิดขึ้นในขณะที่ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่สบาย เป็นต้น มี ๘ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป

๓.๒ สัททนวกกลาป (อ่านว่า สัด-ทะ-นะ-วะ-กะ-กะ-หลาบ) เป็นกลุ่มรูปที่ทาให้เกิดเสียง เกิดขึ้นได้ทั้งภายในและภายนอก เช่นเดียวกัน แต่เป็นเสียงที่ไม่ชัดเจนนัก เช่น เสียงท้องร้อง เสียงกรน หรือเสียงลมพัด เสียงฟ้าร้อง เป็นต้น มี ๙ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ และ สัททรูป ๑ (สัททรูป หมายถึงสิ่งที่สามารถปรากฏได้ทางหู ซึ่งมีลักษณะที่ดังและกระทบกับโสตปสาท)

๓.๓ ลหุตาทิเอกาทสกกลาป (อ่านว่า ละ-หุ-ตา-ทิ-เอ-กา-ทะ-สะ-กะ-กะ-หลาบ) เกิดขึ้นได้เฉพาะในสิ่งที่มีชีวิตเท่านั้น เกิดขึ้นได้ ในขณะที่มีร่างกายปกติแข็งแรงดี มี ๑๑ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ และวิการรูป ๓

๓.๔ สัททลหุตาทิทวาทสกกลาป (อ่านว่า สัด-ทะ-ละ-หุ-ตา-ทิ-ทะ-วา-ทะ-สะ-กะ-กะ-หลาบ) เป็นกลุ่มรูปที่ทำให้เกิดเสียง ตามข้อ ๒ คือ กลุ่มของสัททนวกกลาป แต่เป็นเสียงที่ดังออกมาชัดเจน เช่น เสียงกรน เสียงท้องร้อง เสียงลมหายใจ เป็นต้น เป็นเสียงที่ไม่เกี่ยวกับการพูด มี ๑๔ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูปวิการรูป ๓ และ สัททรูป ๑

๔. อาหารชกลาป
อาหารชกลาป คือ กลุ่มรูปที่เกิดจากอาหาร คนสัตว์จะมีชีวิตอยู่ได้ก็ต้องอาศัยอาหารทั้งนั้น อาหารมีทั้งชนิดที่เป็นรูปเรียกว่า รูปอาหาร และอาหารที่เป็นนาม เรียกว่า นามอาหาร

รูปอาหาร ก็คืออาหารที่เรารับประทานเข้าไปเป็นคำ ๆ เรียกว่า กพฬีการาหาร เช่น ข้าว น้ำ ยา หรือวิตามินต่าง ๆ ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตได้ นามอาหาร มี ๓ คือ ผัสสาหาร มโนสัณเจตนาหาร และวิญญาณาหาร รูปอาหารเมื่อจัดเป็นกลาปแล้ว ได้ ๒ กลาป คือ

๔.๑ สุทธัฏฐกกลาป คือ กลุ่มของรูปที่เกิดจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปที่ยังไม่ย่อย ทำให้เกิดการอึดอัดหรือง่วงซึมไม่กระปรี้กระเปร่า เนื่องจากยังไม่มีวิการรูป ๓ คือ รูปเบา รูปอ่อน หรือรูปที่ควรแก่การงานเกิดร่วมด้วย ยังไม่เกิดความคล่องตัวที่จะทำงานให้เกิดมีประสิทธิภาพขึ้น กลาปรูปนี้มีเพียง ๘ รูปเท่านั้น คือ อวินิพโภครูป

๔.๒ ลหุตาทิเอกาทสกกลาป คือ อาหารที่ย่อยเป็นโอชะแล้ว มีวิการรูป ๓ เข้าประกอบด้วยจึงนำเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทำให้ร่างกายเจริญเติบโตแข็งแรง กลาปรูปนี้จึงประกอบด้วย อวินิพโภครูป ๘ และวิการรูป ๓


สรุป การศึกษาเรื่องรูปกลาป จะทำให้เราทราบถึงกลุ่มรูปที่เกิดมาล้วนมีเหตุหรือสมุฏฐานแห่งการเกิดทั้งสิ้น จะได้ทำลายความสงสัยว่า คนหรือสัตว์ทั้งหลายเกิดมาได้อย่างไร ? พรหมสร้างให้เกิดมาหรือ ? ตลอดจนเป็นความรู้ให้เข้าถึงวิปัสสนาได้ รูปทั้ง ๒๘ ที่ได้ศึกษาผ่านไปแล้วโดยนัยต่าง ๆ เป็นความรู้ที่จะทำให้นักศึกษารู้จักคำว่า “รูป” ได้อย่างละเอียดถูกต้อง จะได้ไม่หลงเข้าใจผิดระหว่างรูปกับอิริยาบถ ในอิริยาบถต่าง ๆ มีการเดิน ยืน นั่ง นอน เป็นต้นนั้น ไม่ใช่รูปเพราะเป็นเพียงกิริยา อาการ ท่าทาง เท่านั้น การเจริญวิปัสสนาเพื่อให้รู้จักนามและรูป ต้องรู้เหตุแห่งการเกิดอิริยาบถ ซึ่งเหตุแห่งการเกิดอิริยาบถก็คือ วาโยธาตุ หรือธาตุลมนั้นเอง ถ้าพิจารณาได้อย่างถูกต้องอย่างนี้ก็เป็นการเจริญวิปัสสนาได้อย่างถูกต้องแท้จริง



วันเสาร์

นัยที่ ๔ รูปกลาปนัย

คำว่ากลาป (อ่านว่า กะ-หลาบ หรือ กะ-ลา-ปะ ) แปลว่า กลุ่ม หรือ หมวด,หมู่,คณะ,กลุ่มดังนั้นรูปที่ชื่อว่า กลาป ก็คือกลุ่มของรูปที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ ที่มีอยู่ในร่างกายของคนสัตว์ทั้งหลาย เกิดมาจากสมุฏฐาน ๔ คือ เกิดจากกรรม จิต อุตุ อาหาร รูปกลาปมีลักษณะ ๓ ประการ คือ
๑. เกิดพร้อมกัน
๒. ดับพร้อมกัน
๓. มีมหาภูตรูปเป็นที่อาศัยเกิด


รูปกลาป มีทั้งหมด ๒๑ กลาป และเกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ มีดังนี้
แบ่งรูปกลาปตามสมุฏฐานของการเกิด
๑. รูปกลาปที่เกิดจากกรรม การกระทำบุญบาป ทางกาย วาจา และใจ ได้แก่เจตนา ๒๕ ที่เกิดใน อกุศลจิต ๑๒ มหากุศลจิต ๘ และรูปาวจรกุศลจิต ๕ ชื่อว่า เป็นกรรม สิ่งนี้เรียกว่า กรรมชกลาป มี ๙ กลาป
๒. รูปกลาปที่เกิดจากจิต เป็นตัวบงการหรือชักใยทำให้รูป ๒๘ เคลื่อนไหวไปทำกรรม ในส่วนที่เป็นบาปบ้าง ส่วนที่เป็นบุญบ้าง ทั้งทางกาย วาจา และใจ ได้แก่ จิต ๗๕ ดวง ส่วนทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ และ อรูปาวจรวิบากจิต ๔ จิต ๑๔ ดวงนี้ไม่ทำให้เกิดรูป สิ่งนี้เรียกว่า จิตตชกลาป มี ๖ กลาป
๓. รูปกลาปที่เกิดจากอุตุ หมายถึง อุณหภูมิ คือ ความร้อน ความเย็น ที่มีอยู่ในร่างกาย ของสัตว์ทั้งหลายและในสิ่งไม่มีชีวิต แม้ตอนตาย อุตุก็ยังคงอยู่ในซากศพต่อไป จนกว่าจะสลายหมดไปเองตามธรรมชาติสิ่งนี้เรียกว่า อุตุชกลาป มี ๔ กลาป
๔. รูปกลาปที่เกิดจากอาหาร หมายถึง อาหารที่เรารับประทานอยู่เป็นประจำวัน เมื่อไฟธาตุย่อยเป็นโอชะ แล้วก็จะนำไปบำรุงเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ถ้าขาดอาหารเสียแล้วชีวิตเราก็คงจะอยู่ไม่ได้ สิ่งนี้เรียกว่า อาหารชกลาป มี ๒ กลาป

๑.กรรมชกลาป
กรรมชกลาป
คือ กลุ่มรูปที่เกิดจากกรรม เป็นรูปที่เกิดจากอำนาจของบุญ หรือ อำนาจของบาป ที่บุคคลได้กระทำไว้ในภพชาตินี้ และภพชาติก่อนๆ ถ้าเป็นรูปร่างกายของมนุษย์ เทวดา พรหม ก็เกิดขึ้นด้วยอำนาจของกรรมดี คือ บุญ ถ้าเป็นรูปร่างกายของสัตร์นรก เปรต อสุรกาย หรือ เดรัจฉาน ก็เกิดขึ้นด้วยอำนาจของกรรมชั่ว คือ บาป

รูปที่เกิดจากอำนาจของกรรมดีและกรรมชั่ว (เจตนา ๒๕) นั้น มี ๑๘ รูป เรียกว่ากรรมชรูป ๑๘

กรรมชรูป ๑๘ นี้เกิดได้ในภพภูมิต่าง ๆ ถึง ๒๗ ภพภูมิ คือ อบายภูมิ ๔ มนุษยภูมิ ๑ เทวภูมิ ๖ รูปพรหมภูมิ ๑๖ กรรมชรูปนี้เกิดได้ทุกขณะจิตจนถึงใกล้จะตาย กรรมชรูปจะเกิดขึ้นครั้งสุดท้าย โดยนับถอยหลังจากจุติจิตขึ้นไป ๑๗ ขณะ (มีรายละเอียดถ้าศึกษาถึงเรื่องของวิถีจิตตอนใกล้จะตาย) แล้วจะไม่เกิดขึ้นอีก เป็นการจบชีวิตในชาติหนึ่งภพหนึ่ง มนุษย์ เทวดา พรหม เกิดขึ้นจากกุศลกรรม ส่วนสัตว์ในอบายภูมิเกิดจากอกุศลกรรม กลุ่มรูปที่เกิดจากกรรรมมี ๙ กลุ่ม คือ (กรรมชกลาป อ่านว่า กัม-มะ-ชะ-กะ-หลาบ)
    ๑.๑ จักขุทสกกลาป หมายถึง กลาปที่มีจำนวนรูป ๑๐ มี จักขุปสาท เป็นประธาน
    ๑.๒ โสตทสกกลาป หมายถึง กลาปที่มีจำนวนรูป ๑๐ มี โสตปสาท เป็นประธาน
    ๑.๓ ฆานทสกกลาป หมายถึง กลาปที่มีจำนวนรูป ๑๐ มี ฆานปสาท เป็นประธาน
    ๑.๔ ชิวหาทสกกลาป หมายถึง กลาปที่มีจำนวนรูป ๑๐ มี ชิวหาปสาท เป็นประธาน
    ๑.๕ อิตถีภาวทสกกลาป หมายถึง กลาปที่มีจำนวนรูป ๑๐ มี อิตถีภาวรูป เป็นประธาน
    ๑.๖ อิตถีภาวทสกกลาป หมายถึง กลาปที่มีจำนวนรูป ๑๐ มี อิตถีภาวรูป เป็นประธาน
    ๑.๗ ปุริสภาวทสกกลาป หมายถึง กลาปที่มีจำนวนรูป ๑๐ มี ปุริสภาวรูป เป็นประธาน
    ๑.๘ วัตถุทสกกลาป หมายถึง กลาปที่มีจำนวนรูป ๑๐ มี หทยวัตถุรูป เป็นประธาน
    ๑.๙ ชีวิตนวกกลาป หมายถึง กลาปที่มีจำนวนรูป ๙ มี ชีวิตรูป เป็นประธาน

๒. จิตตชกลาป
จิตตชกลาป คือ กลุ่มของรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน ได้แก่ อาการยืน เดิน นั่ง นอน การเคลื่อนไหวในอิริยาบถต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของคนเรา รวมทั้งการพูดจาเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นไปตามอำนาจความต้องการของจิตทั้งสิ้น จึงเรียกว่า มีจิตเป็นสมุฏฐาน ถ้าคนตายคือไม่มีจิตเสียแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหวหรือพูดจาใดๆได้เลย จิตที่เป็นตัวการหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวกาย หรือการพูดนั้น ได้แก่ จิต ๗๕ ดวง มีอำนาจทำให้เกิดรูปได้ ๑๕ รูป รูปที่เกิดจากอำนาจของจิตนี้ เรียกว่า จิตตชรูปรูปที่เกิดจากจิต หรือ จิตตชกลาป มี ๖ กลุ่ม (กลาป) คือ

    ๒.๑ สุทธัฏฐกกลาป คือ กลุ่มรูปพื้นฐาน จะเกิดในขณะจิตใจอ่อนเพลียโดยที่ยังไม่พูดหรือเคลื่อนไหวกาย กลุ่มรูปนี้ได้แก่ อวินิพโภครูป

    ๒.๒ กายวิญญัตินวกกลาป คือ กลุ่มรูปที่ทำให้กายเคลื่อนไหว มี ๙ รูป เกิดขึ้นในขณะที่จิตใจอ่อนเพลียแล้วเคลื่อนไหวกาย มี ๙ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูปกายวิญญัติรูป


    ๒.๓ วจีวิญญัติสัทททสกกลาป
คือ กลุ่มรูปที่ทำให้เกิดการพูด มี ๑๐ รูป มีการอ่านหนังสือ ร้องเพลง สวดมนต์ เป็นต้น ที่ไม่เป็นไปตามปกติ คือ ทำในขณะที่ไม่ค่อยสบาย เกิดความท้อถอย ไม่เต็มใจ เป็นต้น กลุ่มรูปนี้ มี ๑๐ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูปสัททรูป ๑ วจีวิญญัติรูป ๑
    ๒.๔ ลหุตาทิเอกาทสกกลาป คือ กลุ่มรูปที่ทำให้เกิดความเบา มี ๑๑ รูป เป็นกลุ่มรูปที่เกิดขึ้นในขณะที่ไม่ได้มีการเคลื่อนไหว ไม่มีการพูด แต่ในขณะนั้น จิตมีความสบายเข้มแข็งดี หน้าตาแจ่มใสชื่นบาน กลุ่มรูปนี้ มี ๑๑ รูปได้แก่อวินิพโภครูปวิการรูป

    ๒.๕ กายวิญญัติลหุตาทิทวาทสกกลาป
คือ กลุ่มรูปที่ทาให้เกิดการคล่องตัวในการเคลื่อนไหวกายมี ๑๒รูป (อ่านว่า กา-ยะ-วิด-ยัด-ละ-หุ-ตา-ทิ-ทะ-วา-ทะ-สะ-กะ-กะหลาป) ในขณะที่จิตใจแจ่มใส เข้มแข็ง มี ๑๒ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูปวิการรูป ๓ กายวิญญัติรูป ๑


    ๒.๖ วจีวิญญัติสัททลหุตาทิเตรสกกลาป คือ กลุ่มรูปที่ทำให้เกิดการพูดที่คล่องแคล่ว มี ๑๓ รูป ในขณะที่จิตใจแจ่มใส เข้มแข็ง มีการพูด การสวดมนต์ การร้องเพลง เป็นต้น มี ๑๓ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูปวิการรูป ๓ สัททรูป ๑ กายวิญญัติรูป ๑


๓. อุตุชกลาป
อุตุชกลาป คือ กลุ่มของรูปที่เกิดมาจากอุตุเป็นสมุฏฐาน อุตุ คือ ความเย็น และความร้อน เกิดได้ทั้งภายในร่างกายและภายนอกร่างกาย คือเกิดได้ทั้งในสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต

ถ้าในสิ่งที่มีชีวิตอุตุชกลาปย่อมเกิดได้ทั้งหมด ๔ กลาป ถ้าภายนอกตัวคนสัตว์จะเกิดได้เพียง ๒ กลาปเท่านั้น

อุตุชกลาป มี ๔ กลาป คือ

    ๓.๑ สุธัฏฐกกลาป (อ่านว่า สุ-ทัด-ทะ-กะ-กะ-หลาบ) เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานเป็นพื้นฐานของรูปทั้งหมด ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต กลาปนี้เกิดขึ้นในขณะที่ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่สบาย เป็นต้น มี ๘ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘

    ๓.๒ สัททนวกกลาป (อ่านว่า สัด-ทะ-นะ-วะ-กะ-กะ-หลาบ) เป็นกลุ่มรูปที่ทาให้เกิดเสียง เกิดขึ้นได้ทั้งภายในและภายนอก เช่นเดียวกัน แต่เป็นเสียงที่ไม่ชัดเจนนัก เช่น เสียงท้องร้อง เสียงกรน หรือเสียงลมพัด เสียงฟ้าร้อง เป็นต้น มี ๙ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ และ สัททรูป ๑ (สัททรูป หมายถึงสิ่งที่สามารถปรากฏได้ทางหู ซึ่งมีลักษณะที่ดังและกระทบกับโสตปสาท)

    ๓.๓ ลหุตาทิเอกาทสกกลาป (อ่านว่า ละ-หุ-ตา-ทิ-เอ-กา-ทะ-สะ-กะ-กะ-หลาบ) เกิดขึ้นได้เฉพาะในสิ่งที่มีชีวิตเท่านั้น เกิดขึ้นได้ ในขณะที่มีร่างกายปกติแข็งแรงดี มี ๑๑ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ และวิการรูป ๓

    ๓.๔ สัททลหุตาทิทวาทสกกลาป (อ่านว่า สัด-ทะ-ละ-หุ-ตา-ทิ-ทะ-วา-ทะ-สะ-กะ-กะ-หลาบ) เป็นกลุ่มรูปที่ทำให้เกิดเสียง ตามข้อ ๒ คือ กลุ่มของสัททนวกกลาป แต่เป็นเสียงที่ดังออกมาชัดเจน เช่น เสียงกรน เสียงท้องร้อง เสียงลมหายใจ เป็นต้น เป็นเสียงที่ไม่เกี่ยวกับการพูด มี ๑๔ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ วิการรูป ๓ และ สัททรูป ๑

๔. อาหารชกลาป
อาหารชกลาป คือ กลุ่มรูปที่เกิดจากอาหาร คนสัตว์จะมีชีวิตอยู่ได้ก็ต้องอาศัยอาหารทั้งนั้น อาหารมีทั้งชนิดที่เป็นรูปเรียกว่า รูปอาหาร และอาหารที่เป็นนาม เรียกว่า นามอาหาร

รูปอาหาร ก็คืออาหารที่เรารับประทานเข้าไปเป็นคำ ๆ เรียกว่า กพฬีการาหาร เช่น ข้าว น้ำ ยา หรือวิตามินต่าง ๆ ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตได้ นามอาหาร มี ๓ คือ ผัสสาหาร มโนสัณเจตนาหาร และวิญญาณาหาร รูปอาหารเมื่อจัดเป็นกลาปแล้ว ได้ ๒ กลาป คือ

    ๔.๑ สุทธัฏฐกกลาป คือ กลุ่มของรูปที่เกิดจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปที่ยังไม่ย่อย ทำให้เกิดการอึดอัดหรือง่วงซึมไม่กระปรี้กระเปร่า เนื่องจากยังไม่มีวิการรูป ๓ คือ รูปเบา รูปอ่อน หรือรูปที่ควรแก่การงานเกิดร่วมด้วย ยังไม่เกิดความคล่องตัวที่จะทำงานให้เกิดมีประสิทธิภาพขึ้น กลาปรูปนี้มีเพียง ๘ รูปเท่านั้น คือ อวินิพโภครูป

    ๔.๒ ลหุตาทิเอกาทสกกลาป คือ อาหารที่ย่อยเป็นโอชะแล้ว มีวิการรูป ๓ เข้าประกอบด้วยจึงนำเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทำให้ร่างกายเจริญเติบโตแข็งแรง กลาปรูปนี้จึงประกอบด้วย อวินิพโภครูป ๘ และวิการรูป ๓


สรุป
การศึกษาเรื่องรูปกลาป จะทำให้เราทราบถึงกลุ่มรูปที่เกิดมาล้วนมีเหตุหรือสมุฏฐานแห่งการเกิดทั้งสิ้น จะได้ทำลายความสงสัยว่า คนหรือสัตว์ทั้งหลายเกิดมาได้อย่างไร ? พรหมสร้างให้เกิดมาหรือ ? ตลอดจนเป็นความรู้ให้เข้าถึงวิปัสสนาได้ รูปทั้ง ๒๘ ที่ได้ศึกษาผ่านไปแล้วโดยนัยต่าง ๆ เป็นความรู้ที่จะทำให้นักศึกษารู้จักคำว่า “รูป” ได้อย่างละเอียดถูกต้อง จะได้ไม่หลงเข้าใจผิดระหว่างรูปกับอิริยาบถ ในอิริยาบถต่าง ๆ มีการเดิน ยืน นั่ง นอน เป็นต้นนั้น ไม่ใช่รูปเพราะเป็นเพียงกิริยา อาการ ท่าทาง เท่านั้น การเจริญวิปัสสนาเพื่อให้รู้จักนามและรูป ต้องรู้เหตุแห่งการเกิดอิริยาบถ ซึ่งเหตุแห่งการเกิดอิริยาบถก็คือ วาโยธาตุ หรือธาตุลมนั้นเอง ถ้าพิจารณาได้อย่างถูกต้องอย่างนี้ก็เป็นการเจริญวิปัสสนาได้อย่างถูกต้องแท้จริง



บารมี ๑๐ สำหรับผู้ปราถนาเป็นพระพุทธเจ้า

สุเมธดาบสนั้นนอนบนหลังเปือกตมนั้นนั่นแหละ ลืมตาทั้งสองเห็นพระพุทธสิริของพระทศพลทีปังกร จึงคิดว่า “ ถ้าเราพึงต้องการก็พึงเผากิเลสทั้งปวงหมดแล้วเป็นพระสงฆ์นวกะเข้าไปสู่รัมมกนครได้ แต่เราไม่มีกิจด้วยการเผากิเลสด้วยเพศที่ใครไม่รู้จักแล้วบรรลุนิพพาน ถ้ากระไรเราพึงเป็นดังพระทศพลทีปังกรบรรลุพระอภิสัมโพธิญาณอย่างสูงยิ่ง แล้วขึ้นสู่ธรรมนาวา ให้มหาชนข้ามสงสารสาครได้แล้วปรินิพพานกาย หลังข้อนี้สมควรแก่เรา ” แล้วต่อจากนั้น ประมวลธรรม ๘ ประการกระทำความปรารถนาอย่างยิ่งใหญ่เพื่อความเป็น พระพุทธเจ้าแล้วนอนลง ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า “ ทีปังกร ” เสด็จมาประทับยืนที่เบื้องศีรษะของสุเมธดาบส ทรงลืมพระเนตรทั้งสองอันสมบูรณ์ด้วยประสาทมีวรรณะ ๕ ชนิด ประหนึ่งว่าเปิดอยู่ซึ่งสีหบัญชรแก้วมณี ทอดพระเนตรเห็นสุเมธดาบสนอนบนหลังเปือกตมทรงดำริว่า 


“ 
ดาบสนี้ กระทำความปรารถนาอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า ความปรารถนาของเขาจักสำเร็จหรือไม่หนอ ” ทรงส่งพระอนาคตังสญาณ ใคร่ครวญอยู่ ทรงทราบว่า “ ล่วงไป ๔ อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปนับแต่นี้เขาจักได้เป็นพระพุทธเจ้านามว่าโคดม ” ยังทรงประทับยืนอยู่นั่นแหละแล้วทรงพยากรณ์ด้วยพระดำรัสว่า “ พวกท่านจงดูดาบสผู้มีตบะกล้านี้ ซึ่งนอนอยู่บนหลังเปือกตม ” ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ เห็นแล้วพระเจ้าข้า ” จึงตรัสว่า “ ดาบสนี้กระทำความปรารถนายิ่งใหญ่เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า แล้วความปรารถนาของเขาจักสำเร็จ ในที่สุดแห่ง ๔ อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปนับแต่นี้เขาจักได้เป็นพระพุทธเจ้านามว่า “ โคดม ” ก็ในอัตภาพนั้นของเขา นครนามว่า “ กบิลพัสดุ์ ” จักเป็นที่อยู่อาศัย พระเทวีทรงพระนามว่า “ มายา ” เป็นพระมารดา พระราชาทรงพระนามว่า “ สุทโทธนะ ” เป็นพระราชบิดา พระเถระชื่อว่า “ อุปติสสะ ” เป็นอัครสาวก และเถระชื่อโกลิตะ เป็นอัครสาวกที่สอง พุทธอุปัฎฐากชื่อว่า “ อานนท์ ” พระเถรีนามว่า “ เขมา ” เป็นอัครสาวิกา พระเถรีนามว่า “ อุบลวรรณา ” เป็นอัครสาวิกาที่สอง เขามีญาณแก่กล้าแล้ว ออกมหาภิเนษกรมณ์ ตั้งความเพียรอย่างใหญ่ รับข้าวปายาสที่โคนต้นไทร เสวยที่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ขึ้นสู่โพธิมณฑลจักตรัสรู้ที่โคนต้น “ อัสสัตถพฤกษ์"  

สุเมธดาบสได้บังเกิดโสมนัสว่า “
นัยว่า ความปรารถนาของเราจักสำเร็จ ” มหาชนได้ฟังพระดำรัสของพระทศพลทีปังกรแล้ว ต่างได้พากันร่าเริงยินดีว่า “ นัยว่า สุเมธดาบสเป็นพืชแห่งพระพุทธเจ้า เป็นหน่อแห่งพระพุทธเจ้า “ และพวกเขาเหล่า นั้นก็ได้มีความคิดว่า “ ธรรมดาว่าบุรุษเมื่อจะข้ามแม่น้ำ ไม่สามารถข้ามโดยท่าโดยตรงได้ ย่อมข้ามโดยท่าข้างใต้ฉันใด แม้พวกเราก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อไม่ได้มรรคและผลในศาสนาของพระทศพลทีปังกร ในกาลใดในอนาคตท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าในกาลนั้นพวกเราพึงสามารถกระทำให้แจ้งซึ่งมรรคและผลในที่ต่อหน้าของท่าน ”

ต่างพากันตั้งความปรารถนาไว้ แม้พระทศพลทีปังกรทรงสรรเสริญพระโพธิสัตว์ ด้วยของหอมแลนับได้สี่แสนต่างก็พากันบูชาพระโพธิสัตว์ ด้วยของหอมและพวงดอกไม้กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป พระโพธิสัตว์ลุกขึ้นจากที่นอนในเวลาที่คนทั้งปวงหลีกไปแล้ว คิดว่า “
เราจักเลือกเฟ้นดูบารมีทั้งหลาย ” จึงนั่งขัดสมาธิบนที่สุดของกองดอกไม้ เมื่อพระโพธิสัตว์นั่งแล้วอย่างนี้ เทวดาในหมื่นจักรวาลทั้งสิ้นได้ให้สาธุการกล่าวว่า

 “ นี่แนะพระผู้เป็นเจ้า สุเมธดาบสในเวลาที่พระโพธิสัตว์เก่าก่อนทั้งหลาย ” นั่งขัดสมาธิด้วยคิดว่า "เราจักเลือกเฟ้นบารมีทั้งหลายชื่อว่าบุรพนิมิตเหล่าใดจะปรากฎบุรพนิมิตเหล่านั้น แม้ทั้งหมดปรากฏแจ่มแจ้งแล้วในวันนี้ ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัย พวกเราก็รู้ข้อนั้น นิมิตเหล่านี้ปรากฏแก่ผู้ใด ผู้นั้นจะเป็นพระพุทธเจ้าโดยส่วนเดียว ท่านจงประคองความเพียรของตนให้มั่น ” ได้กล่าวสรรเสริญพระโพธิสัตว์ ได้ฟังพระดำรัสของพระทศพลทีปังกรและถ้อยคำของเทวดาในหมื่นจักรวาลเกิดความอุตสาหะโดยประมาณยิ่งขึ้นจึงคิดว่า “ ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย มีพระดำรัสไม่ว่างเปล่า ถ้อยคำของพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีเป็นอย่างอื่น เหมือนอย่างว่าก้อนดินที่ขว้างไปในอากาศจะต้องตก สัตว์ที่เกิดแล้วจะต้องตาย เมื่ออรุณขึ้นพระอาทิตย์ก็ต้องขึ้น ราชสีห์ที่ออกจากถ้ำที่อาศัยจะต้องบันลือสีหนาท หญิงที่ครรภ์แก่จะต้องปลดเปลื้องภาระ(คลอด) เป็นของแน่นอน จะต้องมีเป็นแน่แท้ฉันใด ธรรมดาพระดำรัสของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมเป็นของแน่นอนไม่ว่างเปล่าฉันนั้น เราจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่ ”


สุเมธดาบสนั้น กระทำการตกลงใจว่า “ เราจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน ” เพื่อที่จะใคร่ครวญถึงธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อตรวจตราดูธรรมธาตุทั้งสิ้นโดยลำดับว่า “ ธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้ามีอยู่ ณ ที่ไหนหนอ เบื้องสูงหรือเบื้องต่ำในทิศใหญ่หรือทิศน้อย ” จึงได้เห็น
บารมี๑๐
  • ทานบารมีข้อที่ ๑ ที่พระโพธิสัตว์แต่เก่าก่อนทั้งหลายถือปฏิบัติเป็นประจำจึงกล่าวสอนตนว่า “ ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไปท่านพึงบำเพ็ญทานบารมีข้อแรกให้เต็ม เหมือนอย่างว่าหม้อน้ำที่คว่ำแล้ว ย่อมคายน้ำออกไม่เหลือ ไม่นำกลับเข้าไปอีกฉันใด แม้ท่านเมื่อไม่เหลียวแลทรัพย์ ยศ บุตร ภริยา หรืออวัยวะใหญ่น้อย ให้สิ่งที่เขาต้อง การอยากได้ทั้งหมดแก่ผู้ขอที่มา ถึงกระทำมิให้มีส่วนเหลือ อยู่จักได้นั่งที่โคนต้นโพธิ์เป็นพระพุทธเจ้าได้ ” ท่านได้อธิษฐานทานบารมีข้อแรกทำให้มั่นแล้ว ลำดับนั้น เมื่อสุเมธดาบสได้ใคร่ครวญอยู่ยิ่ง ๆขึ้นด้วยคิดว่า “ ธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้าไม่พึงมีเพียงเท่านี้แน่ ” เขาได้เห็น

  • ศีลบารมีข้อที่ ๒ จึงได้กล่าวสอนตนว่า “ ดูก่อนสุเมธบัณฑิต นับจำเดิมแต่นี้ไปท่านพึงบำเพ็ญศีลบารมีให้เต็มเปี่ยมเหมือนอย่างว่าธรรมดาว่า เนื้อจามรีไม่เหลียวแลแม้ชีวิตรักษาหางของตนอย่างเดียวฉันใด จำเดิมแต่นี้แม้ท่านก็ไม่เหลียวแลแม้ชีวิต รักษาศีลอย่างเดียวจักเป็นพระพุทธเจ้าได้ ” เขาได้อธิษฐานศีลบารมีข้อที่สองทำให้มั่นแล้ว ลำดับนั้น เมื่อสุเมธดาบสได้ใคร่ครวญอยู่ยิ่ง ๆ ขึ้นด้วยคิดว่า ธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้าไม่พึงมีเพียงเท่านี้แน่ ” จึงได้เห็น

  • เนกขัมมบารมีข้อที่ ๓ จึงได้กล่าวสอนตนว่า “ ดูก่อนสุเมธบัณฑิตนับจำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญเนกขัมมบารมีให้เต็มเปี่ยม เหมือนอย่างว่าบุรุษผู้อยู่ในเรือนจำ มิได้มีความรักใคร่ในเรือนจำนั้นเลย โดยที่แท้เขาย่อมรำคาญอย่างเดียวและไม่อยากจะอยู่เลยฉันใด แม้ท่านก็จงทำภพทั้งปวงให้เป็นเช่นกับเรือนจำ รำคาญอยากจะพ้นไปจากภพทั้งปวง มุ่งหน้าต่อการออกบวช ฉันนั้น เหมือนกันท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าโดยอาการอย่างนี้ ” ได้อธิษฐานเนกขัมมบารมี ข้อที่สามมั่นแล้ว ลำดับนั้น เมื่อสุเมธดาบสได้ใคร่ครวญยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยคิดว่า “ ธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้าไม่พึงมีเพียงเท่านั้นแน่ ” จึงได้เห็น

  • ปัญญาบารมีข้อที่ ๔ จึงได้กล่าวสอนตนว่า “ ดูก่อนสุเมธบัณฑิต นับจำเดิมแต่นี้ไปท่านพึงบำเพ็ญปัญญาบารมีให้บริบูรณ์ ท่านอย่าได้เว้นใคร ๆ เลยไม่ว่าจะเป็นคนชั้นเลว ชั้นปานกลางและชั้นสูง พึงเข้าไปหาบัณฑิตทุกคนแล้วถามปัญหาเหมือนอย่างว่าภิกษุผู้เที่ยวไปบิณฑบาตมิได้เว้นตระกูลใด ๆ ในบรรดาตระกูลที่แตกต่างกันมีตระกูลชั้นต่ำเป็นต้น เที่ยวไปบิณฑบาตตามลำดับ ย่อมได้อาหารพอยังชีพโดยพลัน ฉันใด แม้ท่านก็เข้าไปหาบัณฑิตแล้วได้ถามอยู่ จักเป็นพระพุทธเจ้าได้ฉันนั้น ” ได้อธิษฐานกระทำปัญญาบารมีข้อที่ ๔ ให้มั่นแล้ว ลำดับนั้นเมื่อสุเมธดาบสได้ใคร่ครวญยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยคิดว่า “ ธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ไม่พึงมีเพียงเท่านี้แน่จึงได้เห็น

  • วิริยบารมีข้อที่ ๕ จึงได้กล่าวสอนตนว่า “ ดูก่อนสุเมธบัณฑิต นับจำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญวิริยาบารีให้เต็มเปี่ยมเหมือนอย่างว่าราชสีห์พระยามฤคราชเป็นสัตว์ มีความเพียรมั่นในทุกอิริยาบถฉันใด แม้ท่านเมื่อเป็นผู้มีความเพียรมั่น มีความเพียรไม่ย่อหย่อนจักเป็นพระพุทธเจ้าได้ ” ได้อธิษฐานวิริยบารมีข้อที่ ๕ กระทำให้มั่นแล้ว ลำดับนั้น เมื่อสุเมธดาบสได้ใคร่ครวญยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยคิดว่า “ ธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้าไม่พึงมีเพียงเท่านั้นแน่ ” จึงได้เห็น

  • ขันติบารมีข้อที่ ๖ จึงได้กล่าวสอนว่า “ ดูก่อนสุเมธบัณฑิต นับจำเดิมแต่นี้ไปท่านพึงบำเพ็ญขันติบารมีให้เต็มเปี่ยม พึงเป็นผู้อดทนได้ทั้งในความนับถือทั้งในความดูหมิ่นเหมือนอย่างว่า คนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้างไม่สะอาดบ้างลงบนแผ่นดิน แผ่นดินย่อมไม่กระทำความชอบใจ ไม่กระทำความแค้นใจ มีแต่อดทนอดกลั้นเท่านั้นฉันใด แม้ท่านเมื่ออดทนได้ในความนับถือก็ดี ในความดูหมิ่นก็ดี จักเป็นพระพุทธเจ้าได้" ได้อธิษฐานขันติบารมี ข้อที่ ๖ เพราะทำให้มั่นแล้ว ลำดับนั้น เมื่อสุเมธดาบสได้ใคร่ครวญยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยคิดว่า “ ธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ไม่พึงมีเพียงเท่านี้แน่ ” จึงได้เห็น

  • สัจจบารมีข้อที่ ๗ จึงได้กล่าวสอนตนว่า “ ดูก่อนสุเมธบัณฑิต นับจำเดิมแต่นี้ไปท่านพึงบำเพ็ญสัจจบารมีให้เต็มเปี่ยม อย่าได้กระทำการพูดเท็จทั้งรู้ตัวอยู่ด้วยมุ่งทรัพย์เป็นต้น แม้เมื่ออสนีบาตจะตกลงบนกระหม่อมของท่าน เหมือนอย่างว่า ธรรมดาดาวประกายพรึกในทุกฤดูหาเว้นทางโคจรของตนไม่ จะไม่โคจรไปในทางอื่นโคจรไปเฉพาะในทางของตนเท่านั้น ฉันใดแม้ท่านไม่ละสัจจะ ไม่กระทำการพูดเท็จเด็ดขาด จักเป็นพระพุทธเจ้าได้ ” ได้อธิษฐานสัจบารมีข้อที่ ๗ ทำให้มั่นแล้ว ลำดับนั้น เมื่อสุเมธดาบสได้ใคร่ครวญยิ่ง ๆ ขึ้นไปโดยคิดว่า “ ธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ไม่พึงมีเพียงเท่านี้แน่ ” จึงได้เห็น

  • อธิษฐานบารมีข้อที่ ๘ จึงได้กล่าวสอนตนว่า “ ดูก่อนสุเมธบัณฑิต นับจำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญอธิษฐานบารมีท่านอธิษฐานสิ่งใดไว้ พึงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในอธิษฐานนั้นเหมือนอย่างว่าธรรมดาภูเขาเมื่อลมทั่วทุกทิศพัดกระทบอยู่ย่อมไม่สะเทือน ไม่หวั่นไหว ยังคงตั้งอยู่ในที่เดิมของตนฉันใดแม้ท่านก็ฉันนั้น เป็นผู้ไม่หวั่นไหวในความตั้งใจมั่นของตนจักเป็นพระพุทธเจ้าได้ ” ได้อธิษฐานอธิษฐานบารมีข้อที่ ๘ กระทำให้มั่นแล้ว ลำดับนั้น เมื่อสุเมธดาบสได้ใคร่ครวญยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยคิดว่า “ ธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้าไม่พึงมีเพียงเท่านี้แน่ ” จึงได้เห็น

  • เมตตาบารมีข้อที่ ๙ จึงได้กล่าวสอนตนว่า “ ดูก่อนสุเมธบัณฑิต นับจำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญเมตตาบารมีให้เต็มเปี่ยม ในสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลและมิใช่ประโยชน์เกื้อกูลพึงมีจิตเป็นอย่างเดียวกัน เหมือนอย่างว่า ธรรมดาว่าน้ำย่อมกระทำให้เย็นแผ่ซ่านไปเช่นเดียวกัน ทั้งแก่คนชั่วทั้งแก่คนดีฉันใด แม้ท่านเมื่อเป็นผู้มีน้ำใจ เป็นอันเดียวกัน ด้วยเมตตาจิตในสัตว์ทั้งปวงจักเป็นพระพุทธเจ้าได้ ” ได้อธิษฐานเมตตาบารมีข้อที่ ๙ กระทำให้มั่นแล้ว ต่อมาเมื่อสุเมธดาบสได้ใคร่ครวญแม้ยิ่งขึ้นไปอีกด้วยคิดว่า “ ธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้าไม่พึงมีเพียงเท่านี้แน่ ” จึงได้เห็น

  • อุเบกขาบารมีข้อที่ ๑๐ จึงได้กล่าวสอนตนว่า “ ดูก่อนสุเมธบัณฑิต นับจำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญอุเบกขาบารมีพึงวางใจเป็นกลาง ในสุขก็ดีในทุกข์ก็ดีเหมือนอย่างว่า ธรรมดาแผ่นดิน เมื่อคนทิ้งของสะอาดบ้างไม่สะอาดบ้าง ย่อมวางใจเป็นกลางทีเดียวฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้น เมื่อวางใจเป็นกลางได้ในสุขและทุกข์ก็จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ” ได้อธิษฐานอุเบกขาบารมีข้อที่๑๐ ทำให้มั่นแล้ว

  • ต่อจากนั้น สุเมธดาบสจึงคิดว่า “ พุทธการกธรรมที่เป็นเครื่องบ่มโพธิญาณมีเพียงเท่านี้เท่านั้น ยกเว้นบารมี ๑๐ เสียธรรมเหล่าอื่นไม่มีบารมีทั้ง ๑๐ แม้เหล่านี้ แม้ในเบื้องสูง แม้ในอากาศก็ไม่มี ภายใต้แผ่นดินก็ดีในทิศทั้งหลาย มีทิศตะวันออกเป็นต้นก็ดี ก็ไม่มีตั้งอยู่ในหทัยของเรานี้เอง ” สุเมธดาบส เมื่อเห็นว่า “ บารมี ” เหล่านั้น ตั้งอยู่ในหทัยแล้ว จึงอธิษฐานบารมีแม้ทั้งหมดกระทำให้มั่น พิจารณาอยู่แล้ว ๆ เล่า ๆ พิจารณากลับไปกลับมา ยึดเอาตอนปลายทวนมาให้ถึงต้น ยึดเอาตอนต้นมาตั้งไว้ตอนปลาย และยึดเอาตรงกลางให้จบลงตรงข้างทั้งสอง ยึดที่ที่สุดข้างทั้งสองมาให้จบลงตรงกลาง ยึดเอาบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ คือการบริจาคสิ่งของภายนอกเป็น “ ทานบารมี ” การบริจาคอวัยวะเป็น “ ทานอุปบารมี ” การบริจาคชีวิตเป็น “ ทานปรมัตบารมี ” ที่ตรงท่ามกลางแล้ว