วันพุธ

๕. โลกุตตรจิต ๘ ดวง


โลกุตฺตร มาจากคำว่า โลก+อุตฺตร
โลก หมายถึง กามโลก (กามภูมิ) รูปโลก (รูปภูมิ) และอรูปโลก (อรูปภูมิ)
อุตฺตร หมายถึง เหนือ หรือพ้น ฉะนั้น คำว่า โลกุตตร จึงหมายถึงธรรมที่เหนือโลกทั้ง ๓ ธรรมที่พ้นจากโลกทั้ง ๓ อันหมายถึง นิพพาน ดังนั้น โลกุตตรจิต จึงหมายถึง จิตที่มี นิพพานเป็นอารมณ์

โลกุตตรจิตนั้นมี ๒ ชาติ คือ ชาติกุศล เรียกว่า โลกุตตรกุศลจิต หรือ มรรคจิต มีจำนวน ๔ ดวง ชาติวิปาก เรียกว่า โลกุตตรวิปากจิต หรือ ผลจิต มีจำนวน ๔ ดวง เช่นกัน รวมเป็น โลกุตตรจิต ๘ ดวง

โลกุตตรกุศลจิต หรือมัคคจิต ๔ ดวง
โลกุตตรกุศลจิต หรือ อีกนัยหนึ่ง เรียกว่า มัคคจิต เป็นจิตที่พ้นโลก เป็นจิตที่ประหาณอนุสัยกิเลส เป็นสมุจเฉทปหาน กล่าวโดยย่อ มีจำนวน ๔ ดวง คือ
ดวงที่ ๑ โสดาปัตติมัคคจิต
ดวงที่ ๒ สกทาคามิมัคคจิต
ดวงที่ ๓ อนาคามิมัคคจิต
ดวงที่ ๔ อรหัตตมัคคจิต

โลกุตตรวิปากจิต หรือผลจิต ๔ ดวง
โลกุตตรวิปากจิต หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า ผลจิต เป็นจิตที่เป็นผลของโล กุตตรกุศลจิต เป็นจิตที่พ้นจากโลก เป็นจิตที่ประหาณแล้วซึ่งอนุสัยกิเลส เป็นปฏิปัสสัทธิปหาน คือละได้โดยสงบ เมื่อมัคคจิตเกิดขึ้นและดับลงแล้ว ผลจิตก็จะเกิดติดต่อกันทันทีทันใด โดยไม่มีระหว่างคั่น คือ ไม่มีจิตใดเกิดขึ้นมาคั่นเลย ดังนั้นจึงเรียกมัคคจิตว่า “ อกาลิโก” เพราะเป็นเหตุให้ผลจิตเกิดขึ้นในปัจจุบันทันที ไม่ต้องรอกาล รอเวลา ผลจิต ๔ เมื่อกล่าวโดยย่อ มีจำนวน ๔ ดวง คือ
ดวงที่ ๑ โสดาปัตติผลจิต
ดวงที่ ๒ สกทาคามิผลจิต
ดวงที่ ๓ อนาคามิผลจิต
ดวงที่ ๔ อรหัตตผลจิต

เมื่อโสดาปัตติมัคคจิต เกิดขึ้นแก่บุคคลใด โสดาปัตติผลจิต จะเกิดแก่บุคคลนั้นทันทีเป็นโสดาบันบุคคล
เมื่อสกทาคามิมัคคจิต เกิดขึ้นแก่บุคคลใด สกทาคามิผลจิต จะเกิดแก่บุคคลนั้นทันทีเป็น
สกทาคามีบุคคล
เมื่ออนาคามิมัคคจิต เกิดขึ้นแก่บุคคลใด อนาคามิผลจิต จะเกิดแก่บุคคลนั้นทันทีเป็น อนาคามีบุคคล
เมื่ออรหัตตมัคคจิต เกิดขึ้นแก่บุคคลใด อรหัตตผลจิต จะเกิดแก่บุคคลนั้นทันทีเป็น
อรหันตบุคคล


กิเลส ๓ ระดับ
กิเลสทั้งหมดจะเข้าประกอบเฉพาะกับอกุศลจิตเท่านั้น การประหาณกิเลสก็คือการประหาณอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวงนั้นเอง กิเลสแบ่งได้เป็น ๓ ระดับ การประหาณกิเลสแต่ละระดับจะต้องใช้วิธีการที่แตกต่างกันดังนี้

๑. วีติกกมกิเลส คือ กิเลสอย่างหยาบ ที่แสดงออกมาทางกายหรือทางวาจา กิเลสชั้นนี้ระงับไว้ได้ด้วยศีล สงบได้เป็นครั้งคราวขณะที่ยังมีการรักษาศีลอยู่ การประหาณในลักษณะนี้เรียกว่า ตทังคปหาน
๒. ปริยุฏฐานกิเลส คือ กิเลสอย่างกลาง ที่เกิดอยู่ภายในใจไม่ถึงกับแสดงออกมาทางกาย หรือวาจา ตัวเองรู้ได้ ผู้อื่นบางทีก็รู้ บางทีก็ไม่รู้ กิเลสชนิดนี้สามารถข่มไว้ได้ด้วยอำนาจของสมาธิ (อัปปนาสมาธิ) เป็นเวลานานตราบเท่าที่สมาธิยังไม่เสื่อม การประหาณในลักษณะนี้เรียกว่า วิกขัมภนปหาน
๓. อนุสัยกิเลส คือ กิเลสอย่างละเอียด ที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานของตนเอง และผู้อื่นก็ไม่สามารถรู้ได้นอกจากพระพุทธองค์เท่านั้น ต้องประหาณด้วยปัญญาในมัคคจิตทั้ง ๔ อันเป็นการประหาณได้โดยสิ้นเชื้อ และจะไม่กลับมีขึ้นอีก การประหาณในลักษณะนี้เรียกว่า
สมุจเฉทปหาน
การประหาณกิเลสของพระอริยบุคคล
โสดาปัตติมัคคจิต ประหาณโลภมูลจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิด ๔ ดวง และโมหมูลจิตที่ประกอบด้วยความสงสัย ๑ ดวง
สกทาคามิมัคคจิต ประหาณกิเลสที่เหลือให้มีกำลังเบาบางลง
อนาคามิมัคคจิต ประหาณโทสมูลจิตทั้ง ๒ ดวง
อรหัตตมัคคจิต ประหาณโลภมูลจิต ที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ๔ ดวง และ โมหมูลจิตที่ประกอบด้วยความฟุูงซ่าน ๑ ดวง
รวมมัคคจิต ๔ ดวง ประหาณอกุศลจิตได้ ๑๒ ดวง จึงไม่มีโอกาส เกิดขึ้นอีกเลย เพราะถูกประหาณอย่างสิ้นเชิงด้วยมัคคจิตทั้ง ๔ เหมือนกับ การถอนรากถอนโคนต้นไม้ ไม่มีโอกาสที่จะงอกขึ้นมาได้อีก


ผลของการประหาณกิเลส
๑. เมื่อโสดาปัตติมัคคจิตเกิดขึ้นแก่บุคคลใด
โสดาปัตติผลจิต ก็เกิด ขึ้นกับบุคคลนั้นขึ้นมาทันที ชื่อว่าเป็น โสดาบันบุคคล หรือ เสขะบุคคล คือ บุคคลที่จะต้องศึกษาเพียรพยายามประหาณกิเลสส่วนที่เหลือต่อไปอีก ซึ่ง ต้องใช้เวลาอีกไม่เกิน ๗ ชาติ จึงจะประหาณกิเลสได้หมดแล้วจึงจะบรรลุเป็นพระอรหันต์

โสดาบันบุคคล มี ๓ ประเภทคือ
ประเภทที่ ๑ เอกพีชีโสดาบัน คือ โสดาบันที่จะเกิดอีกชาติเดียวก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ เพราะมีอินทรีย์แก่กล้าแล้ว
ประเภทที่ ๒ โกลังโกลโสดาบัน คือ โสดาบันที่จะต้องเกิดอีก ๒ -๖ ชาติ ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ เพราะเป็นผู้มีอินทรีย์ไม่แก่กล้านัก คือปานกลาง
ประเภทที่ ๓ สัตตักขัตตุปรมโสดาบัน คือ โสดาบันจะต้องเกิดอีก ๗ ชาติ จึงจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ เพราะเป็นผู้มีอินทรีย์อ่อน

เหตุที่พระโสดาบันแบ่งเป็น ๓ ประเภท เนื่องจากการอบรมอินทรีย์ ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ไม่เท่ากัน คือ อย่างแรงกล้า ปานกลาง และอย่างอ่อน อย่างไรก็ดี พระโสดาบันทั้ง ๓ ประเภทนี้ จะไม่ไปเกิดใน อบายภูมิ ๔ ชื่อว่าได้ปิดประตูอบายได้อย่างแน่นอนแต่จะไปเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เทวดาบ้าง ยังมีพระโสดาบันอีกประเภทหนึ่ง ที่มีอัธยาศัยยินดีพอใจในการ ท่องเที่ยวไปในวัฏฏะจนครบ ๗ ชาติ เรียกว่า วัฏฏภิรตโสดาบัน จะไปเกิด ในเทวโลกทั้ง ๖ ชั้น ตลอดจนถึงอกนิฏฐภูมิ เช่น อนาถบิณฑิกเศรษฐี วิสาขามหาอุบาสิกา ท้าวสักกเทวราช เป็นต้น
๒. เมื่อสกทาคามิมัคคจิตเกิดขึ้นแก่บุคคลใด
สกทาคามิผลจิตย่อม เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น ทำให้สำเร็จเป็นสกทาคามีบุคคล สามารถเข้าเสวย วิมุตติสุข (ความสุขที่เกิดจากผลของการประหาณกิเลสของสกทาคามิมัคค จิต) ขณะเข้าผลสมาบัติได้ ซึ่งจะกลับมาเกิดในมนุษยโลกอีกเพียงครั้งเดียว และสำเร็จเป็นพระอรหันต์

พระสกทาคามีบุคคล มี ๕ ประเภท คือ
ประเภทที่ ๑ ผู้สำเร็จเป็นพระสกทาคามีในมนุษยโลก แล้วทำความเพียรจนสำเร็จพระอรหันต์
ประเภทที่ ๒ ผู้สำเร็จเป็นพระสกทาคามีในเทวโลก แล้วทำความเพียรจนสำเร็จพระอรหันต์
ประเภทที่ ๓ ผู้สำร็จเป็นพระสกทาคามีในมนุษยโลกไปเกิดบนเทวโลก แล้วทำความเพียรจนสำเร็จพระอรหันต
ประเภทที่ ๔ ผู้สำเร็จเป็นพระสกทาคามีในเทวโลก มาเกิดในมนุษยโลก แล้วทำความเพียรจนสำเร็จพระอรหันต์
ประเภทที่ ๕ ผู้สำเร็จเป็นพระสกทาคามีในมนุษยโลก ไปเกิดบนเทวโลก แล้วกลับมาเกิดใน มนุษยโลกอีกครั้งหนึ่งทำความเพียรแล้วบรรลุพระอรหันต์

๓. เมื่อพระอนาคามิมัคคจิตเกิดขึ้นแก่บุคคลใด อนาคามิผลจิตย่อมเกิดแก่บุคคลนั้นทันที สำเร็จเป็นพระอนาคามีบุคคล ซึ่งจะไม่มาเกิดใหม่ในมนุษยโลกอีก จะไปเกิดในสุทธาวาสภูมิ ๕ คือ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา หรือจะไปเกิดในรูปภูมิ ๑๐ ที่นอกจากสุทธาวาส ๕ อสัญญสัตตภูมิ ๑ และอรูปภูมิ ๔

พระอนาคามีบุคคล มี ๕ ประเภท คือ
ประเภทที่ ๑ พระอนาคามีที่เกิดในพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่ง บรรลุพระอรหันต์แล้วนิพพานในกึ่งแรกของอายุในภูมินั้น
ประเภทที่ ๒ พระอนาคามีที่เกิดในพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่ง บรรลุพระอรหันต์แล้วนิพพานในกึ่งหลังของอายุในภูมินั้น
ประเภทที่ ๓ พระอนาคามีที่เกิดในพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่ง บรรลุพระอรหันต์โดยไม่ต้องใช้ความเพียรมากแล้วนิพพาน
ประเภทที่ ๔ พระอนาคามีที่เกิดในพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่ง บรรลุพระอรหันต์ ต้องใช้ความเพียรมาก แล้วนิพพาน
ประเภทที่ ๕ พระอนาคามีเกิดในสุทธาวาสตั้งแต่ชั้นที่ ๑ ถึง ชั้นที่ ๕ ตามลำดับ แล้วเข้านิพพานในชั้นที่ ๕ นั้น

๔. เมื่ออรหัตตมัคคจิตเกิดขึ้นแก่บุคคลใด
อรหัตตผลจิต ก็จะบังเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นทันที บรรลุเป็นพระอรหันต์ ซึ่งเป็นการประหาณกิเลสขั้นสุดท้าย คือโลภมูลจิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ๔ ดวง และโมหมูลจิตที่ประกอบด้วยความฟุูงซ่าน ๑ ดวง เป็นการประหาณอกุศลจิต ๑๒ ครบถ้วน อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง ก็จะหมดไปโดยสิ้นเชิง เพราะไม่มีที่จะอาศัยเกิด (อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง จะประกอบกับอกุศลมูลจิต ๑๒ ดวง เท่านั้น)



พระอรหันต์
๑. พระอรหันต์ การเรียกชื่อพระอรหันต์ เรียกตามคุณลักษณะ มี ๔ ชื่อ
๒. พระอรหันต์ แบ่งตามลักษณะของการหลุดพ้นจากอาสว กิเลส มี ๒ ประเภท
๓. พระอรหันต์ แบ่งตามลักษณะระยะเวลาการสร้างบารมี มี ๓ ประเภท
๔. พระอรหันต์ แบ่งตามลักษณะปัญญาที่รู้พิเศษ มี ๒ ประเภท
๕. พระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์ที่บรรลุอภิญญา

๑. พระอรหันต์ เป็นการเรียกชื่อพระอรหันต์ตามคุณลักษณะ มี ๔ ชื่อ คือ
ชื่อที่ ๑. พระอรหันต์ หมายถึง ผู้บริสุทธิ์จากกิเลส
ชื่อที่ ๒. พระขีณาสพ หมายถึง ผู้สิ้นแล้วซึ่งอาสวกิเลส
ชื่อที่ ๓. อเสขบุคคล หมายถึง ผู้ไม่ต้องศึกษา (ศีล สมาธิ ปัญญา) ต่อไปอีก
ชื่อที่ ๔. วีตราคะ หมายถึง ผู้สำรอกราคะแล้ว

๒. พระอรหันต์ แบ่งตามลักษณะของการหลุดพ้นจากอาสวกิเลส มี ๒ ประเภท
ประเภทที่ ๑ . ปัญญาวิมุตติ หมายถึง ผู้สำเร็จเป็นพระอรหันต์โดยการเจริญ วิปัสสนา
ประเภทที่ ๒. เจโตวิมุตติ หมายถึง ผู้สำเร็จโดยการเจริญสมถและวิปัสสนา

๓. พระอรหันต์ แบ่งตามลักษณะระยะเวลาการสร้างบารมี มี ๓ ประเภท
ประเภทที่ ๑. พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ผู้สำเร็จเป็นพระอรหันต์โดยการตรัสรู้ด้วย พระองค์เองและสอนผู้อื่นให้รู้ตามได้
ประเภทที่ ๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า คือ ผู้สำเร็จเป็นพระอรหันต์โดยการตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง แต่สอนผู้อื่นให้รู้ตามไม่ได้
ประเภทที่ ๓. พระอรหันต์สาวก ผู้สำเร็จเป็นพระอรหันต์โดยการรู้ตาม คือรู้แจ้ง ตามความเป็น จริงตามปัญญาตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เฉพาะพระอรหันต์สาวกยัง แบ่งตามความสามารถออกได้อีก ๓ ประเภท คือ
๓.๑ ปกติสาวก หมายถึง พระสาวก หรือพระอรหันต์ ทั่วไป
๓.๒ มหาสาวก หมายถึง พระสาวกผู้ใหญ่ผู้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า ๘๐ รูป และส่วนมากจะได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ(มีความเป็นเลิศ)ด้วย
๓.๓ อัคคสาวก หมายถึง อัคคสาวกเบื้องซ้ายและพระอัคคสาวกเบื้องขวา ซึ่งในพุทธศาสนาของพระสมณโคตมนี้ อัคคสาวกเบื้องซ้ายคือ พระโมคคัลลาน์ พระอัคคสาวกเบื้องขวาคือ พระสารีบุตร ซึ่งจะเห็นในโบสถ์ที่ยืนอยู่ด้านซ้าย และขวาของพระประธาน
๔. พระอรหันต์ แบ่งตามลักษณะปัญญาที่รู้พิเศษ มี ๒ ประเภท
ประเภทที่ ๑. พระอรหันต์ผู้มีปฏิสัมภิทาญาณ ๔ คือ
๑. อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาที่แตกฉานรู้ในผลทั้งปวงที่มาจากเหตุ
๒. ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาที่แตกฉานรู้ในเหตุที่ทำไห้บังเกิดผล
๓. นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาที่แตกฉานในภาษาที่มาของผลและเหตุทั้งปวง
๔. ปฏิภานปฏิสัมภิทาญาณ ปัญญาที่แตกฉานในธรรม ๓ ประการข้างต้น มีความคล่องแคล่ว ว่องไว เฉียบแหลมคมคาย
ประเภทที่ ๒. พระอรหันต์ธรรมดา ผู้ไม่มีปฏิสัมภิทาญาณ ๔ ดังกล่าวข้างต้น

๕. พระอรหันต์ ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์และสำเร็จคุณพิเศษคือได้อภิญญา
ด้วย คำว่า อภิญญามีทั้งอภิญญา ๓ และอภิญญา ๖ ( หรือเรียกว่า วิชา ๓ วิชา ๖) รายละเอียดดังนี้ อภิญญา ๖ คือ
๑.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติได้
๒.ทิพพจักขุญาณ หรือ จุตูปปาตญาณ ตาทิพย์และรู้ว่าตายแล้วไปเกิดที่ไหน
๓.อาสวักขยญาณ รู้วิธีทำกิเลสให้หมดไป
๔.ปริจิตตวิชานน หรือ เจโตปริยญาณ รู้จิตใจผู้อื่น
๕. ทิพพโสตญาณ หูทิพย์
๖. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้



วันอังคาร

อปัณณกชาดก

พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อเสด็จเข้าไปอาศัยพระนครสาวัตถี ประทับอยู่ ในพระเชตวันมหาวิหาร ตรัสอปันณกธรรมเทศนานี้ก่อน ถามว่า ก็เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะปรารภใคร ? ตอบว่า เพราะปรารภสาวกของเดียรถีย์สหาย ของท่านเศรษฐี
ความพิสดารมีว่า วันหนึ่ง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ชักพาพวกสาวกของอัญญเดียรถีย์ ๕๐๐ คน ผู้เป็นสหายของตน ให้ถือดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้เป็นอันมาก และนํ้ามัน นํ้าผึ้ง นํ้าอ้อย และผ้าเครื่องปกปิด ไปยังพระเชตวัน ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า บูชาด้วยของหอม และดอกไม้เป็นต้น สละเภสัชและผ้าถวายแก่ภิกษุสงฆ์ แล้วนั่ง ณ ส่วนสุดข้างหนึ่ง 

สาวกของอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น ถวายบังคมพระตถาคตแล้ว แลดูพระพักตร์ของพระศาสดาอันงามสง่า ดุจพระจันทร์ในวันเพ็ญ แลดูพระวรกายดุจกายพรหมอันประดับด้วยพระลักษณะและพระอนุพยัญชนะ แวดวงด้วยพระรัศมีด้านละวา ลำดับนั้น พระศาสดาได้ตรัสธรรมกถาอันไพเราะ วิจิตรด้วยนัยต่าง ๆ ด้วยพระสุรเสียงประดุจเสียงพรหม น่าสดับฟัง แก่สาวกของ​อัญญเดียรถีย์เหล่านั้น สาวกของอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว มีจิตเลื่อมใส ลุกขึ้นถวายบังคมพระทศพล ทำลายสรณะของอัญญเดียรถีย์แล้ว ได้ถึงพระ พุทธเจ้าเป็นสรณะ

จำเดิมแต่นั้น พวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น มีมือถือของหอมและดอกไม้เป็นต้น ไปพระวิหาร ฟังธรรม ให้ทาน รักษาศีล กระทำ อุโบสถกรรม พร้อมกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นนิตยกาล ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จจากกรุงสาวัตถีกลับไปกรุงราชคฤห์อีกแล ในเวลาที่พระตถาคตเสด็จไปแล้ว สาวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นก็ได้ทำลายสรณะนั้นเสีย กลับไปถึงอัญญเดียรถีย์เป็นสรณะอีก ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นเค้ามูลเดิมของตนนั่นเอง ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยับยั้งอยู่ ๗ - ๘ เดือน ได้เสด็จกลับไปยังพระเชตวันเหมือนเดิมอีก ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็พาสาวกอัญญเดียรถีย์ เหล่านั้นไปเฝ้าพระศาสดาอีก บูชาพระศาสดาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง พวกสาวกอัญญเดียรถีย์แม้เหล่านั้น ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง ลำดับนั้น

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงความที่พวกสาวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น เมื่อพระตถาคตเสด็จหลีกจาริกไปแล้ว ได้ทำลายสรณะที่รับไว้ กลับไปถืออัญญเดียรถีย์เป็นสรณะ ดำรงอยู่ในฐานะเดิมอีก พระผู้มีพระ ภาคเจ้าทรงตรัสถามว่า ได้ยินว่า พวกท่านผู้เป็นอุบาสก ทำลายสรณะ ๓ เสียแล้วถึงอัญญเดียรถีย์เป็นสรณะ จริงหรือ ? ลำดับนั้น เมื่อพวกสาวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นไม่อาจปกปิดไว้ได้พากันกราบทูลว่า จริง พระเจ้าข้า

พระศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย ในโลกธาตุ เบื้องล่างจดอเวจี มหานรก เบื้องบนจดภวัคคพรหม และตามขวางหาประมาณมิได้ ชื่อว่าบุคคล เช่นกับพระพุทธเจ้าโดยพระคุณทั้งหลาย ย่อมไม่มี บุคคลที่ยิ่งกว่าจักมีมาแต่ไหน แล้วทรงประกาศคุณของพระรัตนตรัยที่ทรงประกาศไว้ด้วย พระสูตรทั้งหลายแล้วจึงตรัสว่า บุคคลจะเป็นอุบาสกหรืออุบาสิกาก็ตาม ผู้ถึงพระรัตนตรัยอันประกอบด้วยอุดมคุณอย่างนี้ ชื่อว่าจะเป็นผู้บังเกิดในนรกย่อมไม่มี อนึ่งพ้นจากการบังเกิดในอบายแล้ว ยังจะเกิดขึ้นในเทวโลกได้เสวยมหาสมบัติ เพราะเหตุไร พวกท่านจึงพากันทำลายสรณะเห็นปานนี้ แล้วถึงอัญญเดียรถีย์ เป็นสรณะ กระทำกรรมอันไม่สมควรเลย พระผู้ มีพระภาคเจ้าครั้นทรงโอวาทอุบาสกทั้งหลาย โดยประการต่าง ๆ อย่างนี้แล้ว ได้ตรัสว่า

ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน มนุษย์ทั้งหลาย ถือเอา สิ่งที่ไม่ใช่สรณะ ว่าเป็นสรณะ โดยการถือเอาด้วยการคาดคะเน โดยการถือ เอาผิด ได้ตกเป็นภักษาหารของยักษ์ในทางกันดาร ซึ่งอมนุษย์หวงแหนแล้ว ถึงความพินาศอย่างใหญ่หลวง ส่วนเหล่ามนุษย์ผู้ถือการยึดถือชอบธรรม ยึดถือความแน่นอน ยึดถือไม่ผิด ได้ถึงความสวัสดีในทางกันดารนั้นนั่นเอง ครั้นตรัสแล้วได้ทรงนิ่งเสีย ลำดับนั้นแล ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีลุกขึ้น จากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กล่าวชมเชยแล้ว ประคองอัญชลี เหนือเศียรเกล้า กราบทูลอย่างนี้ว่า บัดนี้ การที่พวกอุบาสกเหล่านี้ ทำลายสรณะอันอุดมแล้ว ถือสรณะยึดถือเอาด้วยการคาดคะเน ยึดถือเอาอย่างผิด ๆ ปรากฏแก่พระองค์ก่อน ส่วนในปางก่อนพวกมนุษย์ผู้ยึดถือด้วยการคาดคะเน มีความพินาศ และพวกมนุษย์ผู้ยึดถือโดยชอบธรรม มีความสวัสดีในทางกันดารที่อมนุษย์หวงแหนยังลี้ลับสำหรับข้าพระองค์ ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์เลย ดังข้าพระองค์ขอโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงกระทำเหตุนี้ ให้ปรากฏ เหมือนยังพระจันทร์เต็มดวงให้เด่นขึ้นในอากาศฉะนั้น. 

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี เราแลบำเพ็ญ บารมี ๑๐ ทัศในกาลหาปริมาณมิได้ ได้แทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณ ก็เพื่อ จะตัดความสงสัยของชาวโลกนั่นแล ท่านจงเงี่ยโสตฟังโดยเคารพ แล้วได้ทรงเล่าอดีตนิทานไว้ดังนี้
ในอดีตกาล ได้มีพระราชาพระนามว่าพรหมทัตอยู่ในพระนครพาราณสี แคว้นกาสิกรัฐ ในกาลนั้นพระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในตระกูลพ่อค้าเกวียน ครั้นเติบใหญ่ได้เที่ยวกระทำการค้าด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม ในการเดินทางไปค้าขายของพระโพธิสัตว์นั้น บางครั้งจากเดินทางจากต้นแดนไปยังปลายแดน บางครั้งจากปลายแดน ไปยังต้นแดน ในเมืองพาราณสีนั่นเองมีบุตรพ่อค้าเกวียนอีกคนหนึ่ง บุตรพ่อค้าเกวียนคนนั้น เป็นคนเขลา เป็นคนไม่มีปัญญา ไม่ฉลาดในอุบาย

ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์มาเอาสินค้ามีค่ามาจากเมืองพาราณสีบันทุกเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม เตรียมการจะเดินทางแล้วพักอยู่ ฝ่ายบุตรพ่อค้าเกวียน ผู้เขลานั้นก็บันทุกเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม เตรียมการจะเดินทางแล้วพักอยู่เหมือนกัน พระโพธิสัตว์คิดว่า ถ้าบุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลานี้จักไปพร้อมกับเราทีเดียวไซร้ เมื่อเกวียนพันเล่มไปพร้อมกัน แม้ทางก็จักไม่พอเดิน ฟืน และน้ำเป็นต้น ของพวกมนุษย์ก็ดี หญ้าของพวกโคก็ดี จักหาได้ยาก บุตรพ่อ ค้าเกวียนผู้เขลานี้หรือเรา ควรจะไปข้างหน้าจึงจะสมควร พระโพธิสัตว์นั้นจึงเรียกบุตรพ่อค้าเกวียนนั้นมาบอกเนื้อความนั้นแล้วกล่าวว่า เราทั้งสองไม่อาจไปรวมกัน ท่านจักไปก่อนหรือจะให้เราไปก่อน

บุตรพ่อค้าเกวียนนั้นคิดว่า เมื่อเราไปข้างหน้าจะมี อานิสงส์มาก เราจักไปโดยหนทางยังไม่แตกเลย พวกโคจักได้เคี้ยวกินหญ้าที่ยังไม่มีใครถูกต้อง พวกผู้คนจักมีผักอันเกื้อกูลแก่แกงซึ่งยังไม่ได้จับต้อง น้ำจักใส เราเมื่อไปตามชอบใจ จักตั้งราคาขายสินค้าได้ บุตรพ่อค้าเกวียนนั้นจึงกล่าว ว่า สหาย เราจักไปก่อน พระโพธิสัตว์ได้เห็นการไปทีหลังว่ามีอานิสงส์มาก โดยทรงคิดอย่างนี้ว่า คนเหล่านี้เมื่อไปก่อน จักกระทำหนทางขรุขระที่ให้เรียบเตียน เราจักเดินทางไปตามทางที่คนเหล่านี้ไปแล้ว เมื่อโคงานซึ่งเดินทางไปก่อนกินหญ้าแก่และแข็ง โคทั้งหลายของเราจักเคี้ยวกินหญ้าอร่อยซึ่งงอกขึ้นมาใหม่ ผักซึ่งใช้ทำแกงของพวกมนุษย์ ซึ่งงอกขึ้นจากที่ที่ถูกเด็ดเอาไปจักแตกยอดออกมาใหม่ จักเป็นของอร่อย ในที่ที่ไม่มีน้ำ คนเหล่านี้จักขุดบ่อทำให้น้ำเกิดขึ้น เราจักดื่มน้ำในบ่อที่คนเหล่านี้ขุดไว้ การตั้งราคาสินค้า เราไปข้างหลังจักขายสินค้า ตามราคาที่คนเหล่านี้ตั้งไว้ พระโพธิสัตว์นั้นเห็นอานิสงส์มีประมาณเท่านี้จึงกล่าวว่า ดูก่อนสหาย ท่านจงไปก่อนเถิด บุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลารับคำ แล้ว จึงเทียมเกวียนทั้งหลายเป็นการใหญ่ ออกไปล่วงพ้นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์ ถึงปากทางกันดาร โดยลำดับ. 

ชื่อว่ากันดารมี ๕ อย่าง คือ กันดารเพราะโจร ๑ กันดารเพราะสัตว์ร้าย ๑ กันดารเพราะขาดน้ำ ๑ กันดารเพราะอมนุษย์ ๑ กันดารเพราะอาหารน้อย ๑ กันดารในที่นี้นั้นหมายเอากันดารเพราะการขาดน้ำและกันดารเพราะมีอมนุษย์สิงอยู่ เพราะฉะนั้น บุตรพ่อค้า เกวียนผู้เขลานั้นจึงตั้งตุ่มใหญ่ ๆ ไว้บนเกวียนทั้งหลาย บรรจุเต็มด้วยน้ำ เดินทางกันดาร ๖๐ โยชน์. ครั้นในเวลาที่บุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลานั้นถึงท่ามกลางทางกันดาร ยักษ์ผู้อาศัยอยู่ในทางกันดารคิดว่า เราจักให้พวกมนุษย์เหล่านี้ ทิ้งน้ำที่บรรทุกมาเสีย ทำให้อ่อนเพลียกระปลกกระเปลี้ยแล้วกินมันทั้งหมด จึงนิรมิตยานน้อย น่ารื่นรมย์ เทียมด้วย โคหนุ่มขาวปลอด ห้อมล้อมด้วยอมนุษย์ ๑๒ คน ชุ่มด้วยน้ำและโคลน ถืออาวุธพร้อมทั้งโล่เป็นต้น ประดับดอกอุบลและโกมุท มีผมเปียกและผ้าเปียกนั่งมาบนยานน้อยนั้น มีล้อยานเปื้อนเปีอกตม เดินสวนทางมา ธรรมดาว่าพ่อค้าเกวียนทั้งหลาย เมื่อใดที่ลมพัดมาข้างหน้า เมื่อนั้นก็จะนั่งบนยานน้อยคันหน้า ห้อมล้อมด้วยคนอุปัฏฐาก เพื่อหลีกเลี่ยงฝุ่นที่เกิดขึ้น ในกาลใด ลมพัดมาข้างหลัง ในกาลนั้น ก็หลีกยานไปอยู่ทางข้างหลัง ก็ในกาลนั้น ลมพัดได้มาข้างหน้า เพราะฉะนั้น บุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลานั้น จึงได้ไปข้างหน้า

ยักษ์นั้นเห็นบุตรพ่อค้าเกวียนนั้นกำลังเดินทางอยู่ จึงให้ยานน้อยของตนหลีกลงจากทาง และได้ทำการปฏิสันถารกับบุตรพ่อค้าเกวียนนั้นว่า ท่าน ทั้งหลายจะไปไหน ฝ่ายบุตรพ่อค้าเกวียนนำยานน้อยของตนหลีกลงจากทาง เพื่อให้ให้เกวียนสินค้าทั้งหลายที่ตามหลังอยู่ไปก่อน แล้วยืนกล่าวกะยักษ์ว่า ท่านผู้เจริญ พวกเรามาจากเมืองพาราณสี ส่วนท่านทั้งหลายประดับดอกอุบลและโกมุท ถือดอกปทุมและบุณฑริกเป็นต้น เคี้ยวกินเหง้าบัว เปื้อนด้วยเปือกตม มีหยดน้ำไหล พากันเดินมา ในหนทางที่ท่านทั้งหลายผ่านมา ฝนตกหรือหนอ มีสระน้ำอันดารดาษด้วยดอกอุบลเป็นต้นหรือ ยักษ์ได้ฟังถ้อยคำของบุตรพ่อค้าเกวียนนั้น แล้วจึงกล่าวว่า สหาย ท่านพูดอะไร ที่นั่น ราวป่าเขียวปรากฏอยู่ ตั้งแต่ที่นั้นไป ป่าทั้งสิ้นมีน้ำอยู่ทั่วไป ฝนตกเป็นประจำ แม้แต่ซอกเขาก็เต็มไปด้วยน้ำ ในที่นั้น ๆ มีสระน้ำดารดาษด้วยดอกปทุม แล้วยักษ์จึงถามว่า ท่านพาเกวียนเหล่านี้มา จะไปไหนกัน? บุตรพ่อค้าเกวียนกล่าวว่า จะ ไปยังชนบทชื่อโน้น ยักษ์กล่าวว่า ในเกวียนเหล่านี้บรรทุกสินค้าอะไรหรือ ? บุตรพ่อค้าจึงตอบชื่อสินค้าให้ทราบ ยักษ์กล่าวว่า เกวียนที่มากำลังข้างหลังดูเป็นเกวียนที่หนักมาก ในเกวียนนั้นมีสินค้าอะไร บุตรพ่อค้าเกวียนกล่าวว่า ในเกวียนนั้นมีน้ำ ยักษ์กล่าวว่า ท่านทั้งหลายนำน้ำมาข้างหลังด้วย ได้กระทำความเนิ่นช้าแล้ว ก็ตั้งแต่นี้ไป ความกังวลเรื่องน้ำย่อมไม่มี ข้างหน้ามีน้ำมาก ท่านทั้งหลายจงทุบตุ่ม เทน้ำทิ้งเสีย จงไปด้วยเกวียน เบาเถิด ก็แหละครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วจึงพูดว่า ท่านทั้งหลายจงไปเถอะ ความ ชักช้าจะมีแก่พวกเรา แล้วเดินไปหน่อยหนึ่ง ถึงที่ที่คนเหล่านั้นมองไม่เห็น ก็ได้ไปยังนครยักษ์ของตนนั่นแล

ฝ่ายพ่อค้าเกวียนผู้เขลานั้น เพราะความที่ตนเป็นคนเขลาจึงเชื่อคำของยักษ์นั้น จึงให้ทุบตุ่มทั้งหลายทิ้งทั้งหมดไม่เหลือน้ำแม้สักฟายมือเดียว แล้วขับเกวียนไป แต่ว่าในทางข้างหน้าน้ำแม้แต่นิดเดียวก็มิได้มี มนุษย์ทั้งหลาย เมื่อไม่ได้น้ำดื่ม ก็พากันลำบากแล้ว คนเหล่านั้นพากันไปจนพระอาทิตย์อัสดง จึงปลดเกวียน พักเกวียนให้เป็นวงแล้วผูกโคที่ล้อเกวียน น้ำก็ไม่มีให้แก่พวกโค ข้าวปลาอาหารก็ไม่มีแก่พวกมนุษย์ พวกพ่อค้าเกวียนเหล่านั้นก็มีกำลังเปลี้ยลง ไม่ใส่ใจในการงาน พากันนอนหลับไปในนั้น ๆ ครั้นถึงเวลากลางคืน ยักษ์ทั้งหลายพากันมาจากที่อยู่ ฆ่าโคและมนุษย์ทั้งหมดนั้นให้ถึงแก่ความตาย แล้วกินเนื้อ ของโคและมนุษย์เหล่านั้น ไม่มีเหลือแม้แต่กระดูก แล้วจึงพากันไป ชนเหล่านั้นแม้ทั้งหมดถึงความพินาศ เพราะอาศัยบุตรพ่อค้าเกวียนผู้โง่เขลาคนเดียว ด้วยประการอย่างนี้ กระดูกทั้งหลายก็ได้กระจัดกระจายไปในทิศน้อยใหญ่ เกวียน ๕๐๐ เล่มได้ตั้งอยู่ตามที่บรรทุกไว้เต็มอย่างเดิมแล

ฝ่ายพระโพธิสัตว์แล จำเดิมแต่วันที่บุตรพ่อค้าเกวียนโง่ออกไปแล้ว ก็ยับยั้งอยู่ประมาณกึ่งเดือน จึงพากันออกจากพระนครพร้อมกับเกวียน ๕๐๐ เล่ม ถึงปากทางกันดารโดยลำดับ พระโพธิสัตว์นั้นจึงให้ใส่น้ำให้เต็มตุ่ม ณ ปากทางกันดารนั้น แล้วให้เที่ยวตีกลองป่าวร้องภายในกองค่าย ประกาศให้พวกชนประชุมกันแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ถ้าพวกท่านยังไม่ได้รับอนุญาตจากข้าพเจ้า อย่าได้เทน้ำ แม้สักเท่าฟายมือหนึ่งทีเดียว ชื่อว่าต้นไม้มีพิษ ย่อมมีในทางกันดาร ใบไม้ดอกไม้หรือผลไม้ ท่านทั้งหลายไม่เคยกินมาก่อนมีอยู่ พวกท่านถ้ายังไม่ได้ไต่ถามข้าพเจ้า ก็จงอย่าได้เคี้ยวกิน ครั้นให้โอวาทแก่คนทั้งหลายอย่างนี้แล้วจึงเดินทางกันดารด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม. เมื่อพระโพธิสัตว์ถึงท่ามกลางทางกันดาร ยักษ์นั้นได้แสดงตนใน หนทางสวนกันแก่พระโพธิสัตว์ โดยนัยก่อนนั่นแหละ พระโพธิสัตว์พอเห็นยักษ์นั้นเท่านั้นก็ได้รู้ว่า ในทางกันดารนี้แหละ ไม่มีน้ำ นี้ชื่อว่ากันดารเพราะ ไม่มีน้ำ อนึ่ง ผู้นี้ไม่มีท่าทีเกรงกลัว มีนัยน์ตาแดง แม้เงาของเขาก็ไม่ปรากฏ บุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลาพร้อมทั้งบริวารคงถูกยักษ์นี้กินเสียแล้วโดยไม่ต้องสงสัย แต่ยักษ์นี้เห็นจะไม่รู้ความที่เราเป็นบัณฑิต และความที่เราเป็นผู้ฉลาดในอุบาย

ลำดับนั้นพระโพธิสัตว์นั้นกล่าวกะยักษ์นั้นว่า พวกท่านจงไปเถิด พวกเราชื่อว่าเป็นพ่อค้า ยังไม่เห็นน้ำอื่นจะไม่ทิ้งน้ำที่บรรทุกเอามา แต่เราทั้งหลายจะทิ้งในที่ที่ได้เห็นแล้ว ทำเกวียนทั้งหลายให้เบาแล้วจึงไป ฝ่ายยักษ์ ไปได้หน่อยหนึ่ง เข้าถึงที่ที่มองไม่เห็น แล้วไปนครยักษ์ของตนทีเดียว เมื่อยักษ์ไปแล้ว คนทั้งปวงจึงเข้าไปหาพระโพธิสัตว์แล้วกล่าวว่า ข้าแต่เจ้านาย คนเหล่านี้กล่าวว่า นั่นแนวป่าเขียวปรากฏอยู่ จำเดิมแต่นั้นไป ฝนจักตกเป็นนิตย์ เป็นผู้สวมมาลัยดอกอุบลและโกมุท ถือกำดอกปทุมและบุณฑริก เคี้ยวกินเหง้าบัว มีผ้าเปียก และมีผมเปียก มีหยาดน้ำและโคลนไหลหยดมา พวกเราจักทิ้งน้ำ มีเกวียนเบาจะไปได้เร็ว ฝ่ายพระโพธิสัตว์ได้ฟังคำของคนเหล่านั้นแล้วจึงให้พักเกวียน ให้คนทั้งหมดประชุมกันแล้วถามว่า พวกท่านเคยฟังมาจากใคร ๆ หรือว่า ในที่กันดารนี้ มีสระน้ำหรือสระโบกขรณี คนทั้งหลายกล่าวว่า ข้าแต่เจ้าน้อย ไม่เคยได้ยิน พระโพธิสัตว์กล่าวว่า นี้ชื่อว่ากันดารเพราะไม่มีน้ำ บัดนี้ คนพวกหนึ่งพูดว่า เบื้องหน้าแต่แนวป่า เขียวนั่น ฝนตก ธรรมดาว่าลมฝนจะพัดไปถึงที่มีประมาณเท่าไร ? คน ทั้งหลายกล่าวว่า พัดไปได้ประมาณ ๓ โยชน์ ขอรับ เจ้านาย พระโพธิสัตว์ ถามว่า ลมกับฝนกระทบร่างกายของบุคคลแม้คนหนึ่ง บรรดาพวกท่าน มีอยู่หรือ ? คนทั้งหลายกล่าวว่า ไม่มีขอรับ พระโพธิสัตว์ถามว่า ธรรมดา ก้อนเมฆย่อมปรากฏในที่มีประมาณเท่าไร ? คนทั้งหลายกล่าวว่า ในที่ประมาณ ๓ โยชน์ ขอรับ พระโพธิสัตว์ถาม ก็บรรดาท่านทั้งหลาย ใคร ๆ เห็น ก้อนเมฆก้อนหนึ่ง มีอยู่หรือ ? คนทั้งหลายกล่าวว่า ไม่มีขอรับ พระโพธิสัตว์ ธรรมดาสายฟ้าปรากฏในที่มีประมาณเท่าไร ? คนทั้งหลาย ในที่ประมาณ ๔ - ๕ โยชน์ ขอรับ. พระโพธิสัตว์ ก็บรรดาท่านทั้งหลาย ใคร ๆ ที่เห็นแสงสว่างของสายฟ้า มีอยู่หรือ ? คนทั้งหลาย ไม่มีขอรับ. พระโพธิสัตว์ ธรรมดาเสียงฟ้าร้องจะได้ยินในที่ประมาณเท่าไร ? คนทั้งหลาย ในที่ ๑ - ๒ โยชน์ ขอรับ. พระโพธิสัตว์ ก็บรรดาท่านทั้งหลาย ใคร ๆ ที่ได้ยินเสียงฟ้าร้อง มีอยู่ หรือ ? คนทั้งหลาย ไม่มีขอรับ.
พระโพธิสัตว์จึงถามต่อ ท่านทั้งหลายรู้จักคนเหล่านี้หรือ ? คนทั้งหลาย ไม่รู้จักขอรับ. พระโพธิสัตว์กล่าวว่า คนเหล่านี้ไม่ใช่มนุษย์ คนเหล่านี้เป็นยักษ์ พวกมันจักมาเพื่อยุให้พวกเราทิ้งน้ำ กระทำให้อ่อนกำลังแล้วจะเคี้ยวกิน บุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลาซึ่งไปข้างหน้า ไม่ฉลาดในอุบาย เขาคงถูกยักษ์เหล่านี้หลอกให้ทิ้งน้ำ ปล่อยให้ลำบากแล้วเคี้ยวกินเสียเป็นแน่ เกวียน ๕๐๐ เล่ม จักจอดอยู่ตามที่บรรทุกไว้เต็มนั่นแหละ วันนี้ พวกเราจักเห็นเกวียนเหล่านั้น ท่านทั้งหลาย อย่าได้ทิ้งน้ำแม้แต่ฟายมือหนึ่ง จงรีบขับเกวียนไปเร็ว ๆ เมื่อพระโพธิสัตว์นั้นมาถึง ก็เห็นเกวียน ๕๐๐ เล่ม ตามที่บรรทุกไว้เต็มนั่น แหละ กระดูกของมนุษย์ทั้งหลายและของเหล่าโคกระจัดกระจาย อยู่ในทิศน้อยใหญ่ จึงให้ปลดเกวียน ให้ตั้งกองค่ายโดยเอาเกวียนวงรอบ ให้คนและโคกินอาหารเย็น ต่อเวลายังวันให้โคทั้งหลายนอนตรงกลางกลุ่มคนทั้งหลาย ตนเองพาเอาคนผู้มีกำลังแข็งแรง มือถือดาบ ตั้งการอารักขาตลอดราตรีทั้ง ๓ ยาม จนอรุณขึ้น วันรุ่งขึ้น พระโพธิสัตว์ทำกิจทั้งปวงให้เสร็จแต่เช้าตรู่ ให้โคทั้งหลายกินแล้วให้ทิ้งเกวียนที่ไม่แข็งแรงเสีย ให้เอาแต่เกวียนที่แน่นหนา ให้ทิ้งสิ่งของที่มีราคาน้อยเสีย ให้ขนสิ่งของที่มีค่ามากขึ้น ไปยังที่ตนปรารถนา ๆ ขายสิ่งของด้วยมูลค่า ๒ เท่า ๓ เท่า ได้พาบริษัท ทั้งหมดไปยังนครของตน ๆ นั่นแลอีก


พระศาสดาครั้นตรัสธรรมกถานี้แล้วตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี ในกาล ก่อน คนผู้มีปรกติยึดถือโดยการคาดคะเน ถึงความพินาศใหญ่หลวงด้วย ประการอย่างนี้ ส่วนคนผู้มีปรกติยึดถือตามความจริง พ้นจากเงื้อมือของ พวกอมนุษย์ ไปถึงที่ที่ปรารถนา ๆ โดยสวัสดี แล้วกลับมาเฉพาะยังที่อยู่ของตนได้ พระศาสดา ครั้งทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้แล้ว ทรงประมวลชาดกมาแสดงทรงทำพระเทศนาให้จบ ลงว่า บุตรพ่อค้าเกวียนผู้โง่เขลาในสมัยนั้น ได้เป็น พระเทวทัต ในบัดนี้ แม้บริษัทของบุตรพ่อค้าเกวียนโง่นั้นก็ได้เป็นบริษัทของเทวทัต ในบัดนี้ บริษัทของบุตรพ่อค้าเกวียนผู้เป็นบัณฑิต ในครั้งนั้น ได้เป็นพุทธบริษัทใน บัดนี้ ส่วนบุตรของพ่อค้าเกวียนผู้เป็นบัณฑิตในครั้งนั้น ได้เป็นเราตถาคต

๔. อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง

อรูปาวจรจิต คือ จิตที่มีอารมณ์อันปราศจากรูป (มีบัญญัติและนามเป็นอารมณ์) ผู้ปฏิบัติสมถกรรมฐานจนได้รูปฌานชั้นที่ ๕ แล้ว หากปรารถนาที่จะเจริญฌานสมาบัติให้ยิ่งขึ้นไปอีกก็จะต้องเจริญอรูปฌานอีก ๔ ชั้น แต่ละชั้นมีลักษณะ ดังนี้

อรูปฌานชั้นที่ ๑ชื่อว่า อากาสานัญจายตนฌาน ผู้ปฏิบัติจะเพ่งอากาศที่ว่างเปล่าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เป็นอารมณ์ในการเจริญกรรมฐาน อารมณ์เช่นนี้เรียกว่า กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ
อรูปฌานชั้นที่ ๒​ ชื่อว่า วิญญาณัญจายตนฌาน ผู้ปฏิบัติจะน้อมนาเอาฌานจิตที่เกิดในอรูปฌานชั้นที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนฌานจิต มาเป็นอารมณ์ในการเจริญกรรมฐาน
อรูปฌานชั้นที่ ๓​ ชื่อว่า อากิญจัญญายตนฌาน เมื่อผู้ปฏิบัติได้เจริญวิญญานัญจายตนฌาน​ บ่อยๆ จนชำนาญ ก็จะรู้สึกขึ้นมาว่าอากาศอันไม่มีที่สิ้นสุดก็ดี หรือ วิญญาณ คือตัวรู้ว่าอากาศนั้นไม่มีที่สิ้นสุดก็ดี จริงๆ แล้วก็คือความไม่มีอากาสานัญจายตนฌานที่เป็นอารมณ์ของวิญญาณัญจายตนจิต ผู้ปฏิบัติ จึงน้อมเอาสภาพที่ไม่มีอากาสานัญจายตนฌานมาเป็นอารมณ์ อารมณ์เช่นนี้เรียกว่านัตถิภาว-บัญญัติ
อรูปฌานชั้นที่ ๔​ ชื่อว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ผู้ปฏิบัติจะน้อมเอาความสงบอันประณีตละเอียดอ่อนของฌานจิตที่เกิดในอรูปฌานชั้นที่ ๓ คือ อากิญจัญญายตนฌานจิต มาเป็นอารมณ์ในการเจริญกรรมฐาน
อรูปาวจรจิต หรือ อรูปจิต หรือ อรูปฌาน ซึ่งมี ๔ ชั้น หรือ ๔ ฌานนี้ แต่ละฌานจะแตกต่างกันที่ลักษณะของอารมณ์เท่านั้น ส่วนองค์ฌานนั้นเหมือนกันทั้งหมด คือมีเพียงอุเบกขา กับเอกัคคตาเท่านั้น เช่นเดียวกันกับองค์ฌานของรูปาวจรปัญจมฌาน (รูปฌานที่ ๕) ดังนั้น จึงถือว่า อรูปฌานเป็น ปัญจมฌาน ด้วย อรูปาวจรจิต มี ๑๒ ดวง แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ

๑. อรูปาวจรกุศลจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่เข้าอรูปฌานชั้นต่างๆ มีจานวน ๔ ดวง คือ ดวงที่ ๑​ คือ อากาสานัญจายตนกุศลจิต
ดวงที่ ๒​ คือ วิญญานัญจายตนกุศลจิต
ดวงที่ ๓​ คือ อากิญจัญญายตนกุศลจิต
ดวงที่ ๔​ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนกุศลจิต
๒.อรูปาวจรวิปากจิต เป็นจิตที่เป็นผลของอรูปาวจรกุศลจิต ซึ่งจะนาไปเกิดเป็นอรูปพรหมโลกชั้นต่างๆ ตามกาลังของอรูปาวจรกุศลจิต มีจำนวน ๔ ดวงเช่นกัน คือ
ดวงที ๑​ คือ อากาสานัญจายตนวิปากจิต
ดวงที่ ๒​ คือ วิญญานัญจายตนวิปากจิต
ดวงที่ ๓​ คือ อากิญจัญญายตนวิปากจิต
ดวงที่ ๔​ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนวิปากจิต
๓. อรูปาวจรกริยาจิต​ เป็นจิตที่เกิดขึ้นกับพระอรหันต์ ในขณะที่ท่านกาลังเข้าอรูปฌาน เพราะการกระทาใดๆ ของท่านไม่มีวิปากอีกต่อไป จึงเรียกจิตทุกประเภทที่เกิดกับพระอรหันต์ว่า กิริยาจิต ซึ่งแท้จริงแล้วอรูปาวจรกิริยาจิตนั้นก็คือ อรูปาวจรกุศลจิตนั่นเอง ดังนั้นอรูปาวจรกิริยาจิต จึงมี ๔ ดวง เช่นกัน คือ
ดวงที่ ๑​ คือ อากาสานัญจายตนกิริยาจิต
ดวงที่ ๒​ คือ วิญญานัญจายตนกิริยาจิต
ดวงที่ ๓​ คือ อากิญจัญญายตนกิริยาจิต
ดวงที่ ๔​ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนกิริยาจิต
อรูปาวจรจิต​ คือ จิตที่มีอารมณ์อันปราศจากรูป (มีบัญญัติและนามเป็นอารมณ์) ผู้ปฏิบัติสมถกรรมฐานจนได้รูปฌานชั้นที่ ๕ แล้ว หากปรารถนาที่จะเจริญฌานสมาบัติให้ยิ่งขึ้นไปอีกก็จะต้องเจริญอรูปฌานอีก ๔ ชั้น แต่ละชั้นมีลักษณะ ดังนี้

อรูปฌานชั้นที่ ๑ ชื่อว่า อากาสานัญจายตนฌาน ผู้ปฏิบัติจะเพ่งอากาศที่ว่างเปล่าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เป็นอารมณ์ในการเจริญกรรมฐาน อารมณ์เช่นนี้เรียกว่า กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ
อรูปฌานชั้นที่ ๒ ชื่อว่า วิญญาณัญจายตนฌาน ผู้ปฏิบัติจะน้อมนาเอาฌานจิตที่เกิดในอรูปฌานชั้นที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนฌานจิต มาเป็นอารมณ์ในการเจริญกรรมฐาน
อรูปฌานชั้นที่ ๓ ชื่อว่า อากิญจัญญายตนฌาน เมื่อผู้ปฏิบัติได้เจริญวิญญานัญจายตนฌาน​ บ่อยๆ จนชำนาญ ก็จะรู้สึกขึ้นมาว่าอากาศอันไม่มีที่สิ้นสุดก็ดี หรือ วิญญาณ คือตัวรู้ว่าอากาศนั้นไม่มีที่สิ้นสุดก็ดี จริงๆ แล้วก็คือความไม่มีอากาสานัญจายตนฌานที่เป็นอารมณ์ของวิญญาณัญจายตนจิต ผู้ปฏิบัติ จึงน้อมเอาสภาพที่ไม่มีอากาสานัญจายตนฌานมาเป็นอารมณ์ อารมณ์เช่นนี้เรียกว่านัตถิภาว-บัญญัติ
อรูปฌานชั้นที่ ๔ ชื่อว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ผู้ปฏิบัติจะน้อมเอาความสงบอันประณีตละเอียดอ่อนของฌานจิตที่เกิดในอรูปฌานชั้นที่ ๓ คือ อากิญจัญญายตนฌานจิต มาเป็นอารมณ์ในการเจริญกรรมฐาน


อรูปาวจรจิต หรือ อรูปจิต หรือ อรูปฌาน ซึ่งมี ๔ ชั้น หรือ ๔ ฌานนี้ แต่ละฌานจะแตกต่างกันที่ลักษณะของอารมณ์เท่านั้น ส่วนองค์ฌานนั้นเหมือนกันทั้งหมด คือมีเพียงอุเบกขา กับเอกัคคตาเท่านั้น เช่นเดียวกันกับองค์ฌานของรูปาวจรปัญจมฌาน (รูปฌานที่ ๕) ดังนั้น จึงถือว่า อรูปฌานเป็น ปัญจมฌาน ด้วย อรูปาวจรจิต มี ๑๒ ดวง แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ

๑. อรูปาวจรกุศลจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่เข้าอรูปฌานชั้นต่างๆ มีจานวน ๔ ดวง คือ ดวงที่ ๑​ คือ อากาสานัญจายตนกุศลจิต
ดวงที่ ๒​ คือ วิญญานัญจายตนกุศลจิต
ดวงที่ ๓​ คือ อากิญจัญญายตนกุศลจิต
ดวงที่ ๔​ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนกุศลจิต
๒.​ อรูปาวจรวิปากจิต​ เป็นจิตที่เป็นผลของอรูปาวจรกุศลจิต ซึ่งจะนาไปเกิดเป็นอรูปพรหมโลกชั้นต่างๆ ตามกาลังของอรูปาวจรกุศลจิต มีจำนวน ๔ ดวงเช่นกัน คือ
ดวงที ๑​ คือ อากาสานัญจายตนวิปากจิต
ดวงที่ ๒​ คือ วิญญานัญจายตนวิปากจิต
ดวงที่ ๓​ คือ อากิญจัญญายตนวิปากจิต
ดวงที่ ๔​ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนวิปากจิต
๓. อรูปาวจรกริยาจิต​ เป็นจิตที่เกิดขึ้นกับพระอรหันต์ ในขณะที่ท่านกาลังเข้าอรูปฌาน เพราะการกระทาใดๆ ของท่านไม่มีวิปากอีกต่อไป จึงเรียกจิตทุกประเภทที่เกิดกับพระอรหันต์ว่า กิริยาจิต ซึ่งแท้จริงแล้วอรูปาวจรกิริยาจิตนั้นก็คือ อรูปาวจรกุศลจิตนั่นเอง ดังนั้นอรูปาวจรกิริยาจิต จึงมี ๔ ดวง เช่นกัน คือ
ดวงที่ ๑​ คือ อากาสานัญจายตนกิริยาจิต
ดวงที่ ๒​ คือ วิญญานัญจายตนกิริยาจิต
ดวงที่ ๓​ คือ อากิญจัญญายตนกิริยาจิต
ดวงที่ ๔​ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนกิริยาจิต

การปฏิบัติทางจิตในสายสมาธิ​ หรือสมถกรรมฐาน มีสูงสุดเพียงเท่านี้คือ​ มีรูปฌาน ๕ อรูปฌาน ๔ รวม เรียกว่า สมาบัติ ๙ ถ้านับรูปฌาน ๔ ตามนัยแห่งพระสูตรก็จะเป็นรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ รวมเรียกว่า สมาบัติ ๘ นั่นเอง ทั้งสมาบัติ ๙ หรือสมาบัติ ๘ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ ได้เคยศึกษามาแล้วในสำนักของดาบสทั้ง ๒ ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ไม่ใช่ทางตรัสรู้ จึงอำลาจากดาบสทั้ง ๒ มาแสวงหาทางพ้นทุกข์ด้วยพระองค์เอง จนได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นการปฏิบัติทางจิตในสายสมาธิ (สมถกรรมฐาน) เพียงอย่างเดียวนั้น จึงไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ต้องเจริญสติปัฏฐาน หรือที่เรียกว่าวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น จึงจะเป็นหนทางพ้นทุกข์ถึงซึ่งสันติสุข คือ พระนิพพานได้

การปฏิบัติทางจิตในสายสมาธิ​ หรือสมถกรรมฐาน มีสูงสุดเพียงเท่านี้คือ​ มีรูปฌาน ๕ อรูปฌาน ๔ รวม เรียกว่า สมาบัติ ๙ ถ้านับรูปฌาน ๔ ตามนัยแห่งพระสูตรก็จะเป็นรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ รวมเรียกว่า สมาบัติ ๘ นั่นเอง ทั้งสมาบัติ ๙ หรือสมาบัติ ๘ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ ได้เคยศึกษามาแล้วในสำนักของดาบสทั้ง ๒ ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ไม่ใช่ทางตรัสรู้ จึงอำลาจากดาบสทั้ง ๒ มาแสวงหาทางพ้นทุกข์ด้วยพระองค์เอง จนได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นการปฏิบัติทางจิตในสายสมาธิ (สมถกรรมฐาน) เพียงอย่างเดียวนั้น จึงไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ต้องเจริญสติปัฏฐาน หรือที่เรียกว่าวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น จึงจะเป็นหนทางพ้นทุกข์ถึงซึ่งสันติสุข คือ พระนิพพานได้



วันจันทร์

๓. รูปาวจรจิต

รูปาวจรจิต​ หมายถึงจิตที่เป็นรูปฌานนั่นเอง ซึ่งเกิดจากการเจริญสมาธิ(สมถภาวนา) อธิบายคำว่า “ฌาน” คือ จิตมีการเพ่งในอารมณ์ ได้แก่เพ่งในอารมณ์กรรมฐาน มีการเพ่งกสิณเป็นต้น ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ หรือเป็นข้าศึกของฌานคือ ธรรมที่คอยขัดขวางไม่ให้ฌานจิตเกิดขึ้น เรียกว่านิวรณ์ มี ๕ ประการ ได้แก่ 

๑. กามฉันทนิวรณ์ คือ ความติดใจในกามคุณอารมณ์ อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และการสัมผัสถูกต้องที่ดี เมื่อใดที่ไปเพลิดเพลินติดใจในสิ่งเหล่านี้แล้ว จิตก็จะไม่สามารถเข้าถึงฌานได้ 
๒. พยาปาทนิวรณ์ คือ ความมุ่งปองร้ายผู้อื่น เปรียบเหมือนน้ำที่เดือดพล่าน ถ้าจิตครุ่นคิดปองร้ายผู้อื่นอยู่ฌานจิตก็จะเกิดไม่ได้ จึงต้องใช้ปีติข่ม ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อฌานจิตนี้ 
๓. ถีนมิทธนิวรณ์ คือ ความหดหู่ ความท้อถอยไม่ใส่ใจเป็นอันดีต่ออารมณ์ที่เพ่งนั้น เปรียบเหมือนน้ำที่มีจอกมีแหนปิดบังอยู่ ถ้าจิตใจเกิดความท้อถอยไม่ใส่ใจต่ออารมณ์ที่กำลังเพ่งอยู่ ฌานย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ต้องใช้ วิตกข่มธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อฌานนี้ 
๔. อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ คือ ความฟุูงซ่านรำคาญใจ ซึ่งเปรียบเหมือนน้ำที่ถูกลมพัดกระเพื่อมอยู่เสมอ ถ้าจิตใจยังนึกคิดในเรื่องราวต่างๆอยู่ จิตก็จะไม่สามารถที่จะเข้าถึงฌานได้ ต้องใช้สุขข่มอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ อันเป็นปฏิปักษ์ต่อฌานนี้ 
๕. วิจิกิจฉานิวรณ์ คือ ความลังเลสงสัยไม่แน่ใจ เปรียบเหมือนน้ำที่ขุ่นเป็นตมหรือน้ำที่ตั้งไว้ ในที่มืด ถ้าเกิดลังเลไม่แน่ใจอยู่ตราบใด ก็จะเป็นเหตุให้เข้าถึงฌานไม่ได้ตราบนั้น ต้องใช้วิจารข่มธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อฌานนี้เสีย เมื่อได้ข่มนิวรณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ธรรมที่ขัดขวางมิให้เกิดฌานได้เมื่อใด ฌานจิตจึงจะเกิดขึ้นได้เมื่อนั้น ถ้านิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ ยังคงมีอยู่ประการใด ประการหนึ่งเพียงประการเดียวฌานจิตก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เหตุนี้ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา จึงสำคัญยิ่งที่เป็นปัจจัยให้เกิดฌานจิต ดังนั้นจึงเรียก ธรรม ๕ ประการนี้ว่า 

องค์ฌาน เพราะเป็นองค์สำคัญที่ทำให้เกิดฌาน จิต กล่าวคือ 
วิตก ทำหน้าที่ ข่มถีนมิทธนิวรณ์ 
วิจาร ทำหน้าที่ ข่มวิจิกิจฉานิวรณ์ 
ปืติ ทำหน้าที่ ข่มพยาปาทนิวรณ์ 
สุข ทำหน้าที่ ข่มอุทธัจจนิวรณ์ 
เอกัคคตา ทำหน้าที่ ข่มกามฉันทนิวรณ์



การข่มนิวรณ์ด้วยองค์ของฌานทั้ง ๕ มีดังนี้
๑. วิตก คือ การยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ เริ่มแรกทำฌานต้องมีสิ่งสำหรับเพ่ง เช่นใช้ไฟมาทำกสิณ แล้วยกจิตขึ้นสู่อารมณ์คือการเพ่งดวงกสิณโดยไม่ให้ จิตใจไปนึกคิดเรื่องราวต่างๆ ถ้าจิตนึกคิดเรื่องราวต่างๆอยู่ จิตก็จะตกไป จากการเพ่งดวงกสิณต้องยกจิตขึ้นสู่การเพ่งใหม่ จิตจะต้องเพ่งอยู่กับดวงกสิณตลอดเวลา เมื่อจิตเกิดความท้อถอย ความง่วง (ถีนมิทธะ) ก็จะเข้า ครอบงำจิตใจได้ (วิตกเจตสิกข่มถีนมิทธเจตสิก)
๒. วิจาร คือ การประคองจิตให้มั่นคงอยู่ในอารมณ์ที่เพ่ง เมื่อวิตกยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ที่เพ่งแล้ว วิจารก็ประคองจิตไม่ให้ตกไปจากอารมณ์ที่เพ่ง เหมือนการถลาไปในอากาศของนก (วิตกเหมือนการกระพือปีกของนก)ดังนั้น ผู้ปฏิบัติควรทำจิตใจให้ตั้งมั่นไม่ให้เกิดความลังเลสงสัยเกิดขึ้นในจิตใจว่าการเพ่งเช่นนี้จะได้ฌานจริงหรือ ถ้าเกิดลังเลใจ(วิจิกิจฉา) จิตก็จะตกไปจากอารมณ์ที่เพ่ง
๓. ปีติ คือ มีความชื่นชมยินดีในอารมณ์ที่เพ่ง ทำให้เกิด ความอิ่มเอิบใจและมีผลทำให้กายซาบซ่าน มีความฟูกายและใจ ผู้ปฏิบัติเมื่อยกจิต ขึ้นสู่อารมณ์ต้องประคองจิตให้มั่นโดยปราศจากการท้อถอยและลังเลใจ ความปลาบปลื้มอิ่มเอิบใจย่อมเกิดขึ้น ขณะที่จิตมีปีติปลาบปลื้มอิ่มเอิบใจอยู่นั้น จะไม่มีความพยาบาทมุ่งร้ายหรือขุ่นเคืองใจเข้ามาแทรกแซงได้ ปีติ ความปลาบปลื้มอิ่มเอิบใจ มี ๕ ประการ คือ
๓.๑. ขุททกาปีติ ปลาบปลื้มใจเล็กน้อย พอรู้สึกขนลุก
๓.๒. ขณิกาปีติ ปลาบปลื้มใจชั่วขณะ เกิดขึ้นบ่อยๆ
๓.๓. โอกกันติกาปีติ ปลาบปลื้มใจถึงกับตัวโยกตัวโคลง
๓.๔. อุพเพงคาปีติ ปลาบปลื้มใจจนตัวลอย
๓.๕. ผรณาปีติ ปลาบปลื้มใจ จนอิ่มเอิบซาบซ่านไปทั่วกายและใจ
ปีติที่เป็นองค์ฌานที่สามารถข่มพยาปาทนิวรณ์ได้นั้น ต้องถึงผรณาปีติ ส่วนปีติอีก ๔ ไม่นับว่าเป็นองค์ฌานเพราะยังเป็นของหยาบและมีกำลังน้อย
๔. สุข ในองค์ฌานหมายถึงความสุขใจหรือโสมนัสเวทนา เมื่อยกจิต ขึ้นสู่อารมณ์แล้วประคองให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์จนปีติเกิดเช่นนี้แล้ว สุขก็ ย่อมเกิดตามมา ความสุขก็คือความสงบที่ปราศจากความฟุูงซ่านรำคาญใจนั่นเอง
๕. เอกัคคตา คือ จิตที่มีสมาธิแน่วแน่ในอารมณ์เดียว คือจะแน่วแน่อยู่ในอารมณ์ที่เพ่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้นเอกัคคตามี ๓ ระดับ คือ
๕.๑. ขณิกสมาธิ คือ จิตที่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ได้ชั่วขณะ เป็นสมาธิขณะบริกรรมว่าเตโช ๆ เป็นต้น
๕.๒. อุปจารสมาธิ คือ จิตที่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ใกล้จะได้ฌาน
๕.๓. อัปปนาสมาธิ คือ จิตตั้งมั่นหรือแนบแน่นอยู่ในอารมณ์ที่กำหนด ไม่ซัดส่ายไปไหน กิเลสไม่สามารถรบกวนได้ และอัปปนาสมาธิก็คือฌานจิตที่เป็นอัปปนาเกิดขึ้นแล้ว การข่มนิวรณ์ด้วยอำนาจแห่งองค์ฌานนี้ เรียกว่า วิกขัมภนปหาน เป็น การประหาณไว้ได้นานตราบเท่าที่ฌานยังไม่เสื่อม เปรียบประดุจหินทับหญ้า ถ้าไม่ยกหินออก หญ้าก็งอกขึ้นไม่ได้ฉันใด ถ้าฌานยังไม่เสื่อมนิวรณ์ก็ไม่มี โอกาสจะเกิดขึ้นได้ฉันนั้น หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า นิวรณ์กำเริบขึ้นได้เมื่อใด ฌานก็จะเสื่อมไปได้เมื่อนั้น
ประเภทแห่งฌาน ตามนัยแห่งพระอภิธรรม จำแนกประเภทของฌานไว้ ๕ ฌาน เรียกชื่อว่า ฌานปัญจกนัย ฌานทั้ง ๕ ได้แก่
ปฐมฌาน มีองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
ทุติยฌาน มีองค์ฌาน ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
ตติยฌาน มีองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
จตุตถฌาน มีองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา
ปัญจมฌาน มีองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา
แต่ตามนัยแห่งพระสุตตันตปิฎก คือตามนัยแห่งพระสูตร จำแนกประเภทแห่งฌานออกเป็นฌาน ๔ เรียกว่า ฌานจตุกนัย ดังนี้
ปฐมฌาน มีองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
ทุติยฌาน มีองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
ตติยฌาน มีองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา
จตุตถฌาน มีองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา
เหตุที่ทุติยฌานตามนัยแห่งพระอภิธรรมละวิตกได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งต่างจากทุติยฌานตามนัยแห่งพระสุตตันตปิฎกที่ละวิตกและวิจารได้พร้อมๆกัน เป็นเพราะว่าการละวิตกและวิจารได้ในเวลาเดียวกันสามารถกระทำได้เฉพาะผู้ปฏิบัติที่เป็นติกขบุคคล (ผู้รู้เร็ว) เท่านั้น เหตุนี้ตามนัยแห่งพระสูตรจึงแสดงว่า รูปฌานมี ๔ อรูปฌานมี ๔ รวม เป็นฌาน ๘ และเมื่อกล่าวโดยการเข้าฌานสมาบัติ จึงเรียกว่าสมาบัติ ๘ ส่วนตามนัยแห่งพระอภิธรรมแสดงว่า รูปฌานมี ๕ อรูปฌานมี ๔ รวมเป็นฌาน ๙ หรือสมาบัติ ๙ ปฐมฌานจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีองค์ฌาน คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ครบทั้ง ๕ เพื่อข่มนิวรณ์ทั้ง ๕ ให้สงบราบคาบ แต่หลังจากที่เข้าปฐมฌานได้อย่างชำนิชำนาญแล้ว นิวรณ์ทั้ง ๕ ที่เคยเป็นปฏิปักษ์กับฌานจิต ก็จะอ่อนกำลังลงจนไม่สามารถเข้าแทรกแซงได้เพราะถูกข่มไว้ด้วยอำนาจของปฐมฌานจิต เมื่อมาถึงตอนนี้หากผู้ปฏิบัติต้องการได้ฌานที่สูงขึ้นไปก็
จะต้องละองค์ฌานเบื้องต่ำ อันได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ สุข ตามลำดับ ฌานจิตก็จะเลื่อนสูงขึ้นตามลำดับเช่นกัน

รูปาวจรกุศลจิต ๕ เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยการบำเพ็ญสมาธิหรือสมถภาวนา ในตอนแรกย่อมเป็นมหากุศลจิต แต่เมื่อเจริญภาวนาไปจนได้สมาธิแนบแน่นเป็นอัปปนาสมาธิแล้ว จิตจึงเปลี่ยนจากมหากุศลจิต เป็นรูปาวจรกุศลจิต ที่เกิดพร้อมกับ องค์ฌาน ๕ มี ๕ ดวง คือ
รูปาวจรกุศลจิต ดวงที่ ๑ จิต เกิดพร้อมด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นปฐมฌานกุศล (ฌานที่ ๑)
รูปาวจรกุศลจิต ดวงที่ ๒ เกิดพร้อมด้วย วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นทุติยฌานกุศล (ฌานที่ ๒)
รูปาวจรกุศลจิต ดวงที่ ๓ เกิดพร้อมด้วย ปีติ สุข เอกัคคตา
เป็นตติยฌานกุศล (ฌานที่ ๓)
รูปาวจรกุศลจิต ดวงที่ ๔ เกิดพร้อมด้วย สุข เอกัคคตา
เป็นจตุตถ ฌานกุศล (ฌานที่ ๔)
รูปาวจรกุศลจิต ดวงที่ ๕ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา
เป็นปัญจมฌานกุศล(ฌานที่ ๕)
รูปาวจรวิปากจิต ๕ เป็นจิตที่เป็นผลของรูปาวจรกุศลจิต ที่ทำหน้าที่นำเกิด (ปฏิสนธิ) ในรูปภูมิ คือเป็นจิตของรูปพรหมในพรหมโลก มีจำนวน ๕ ดวง เท่ากับรูปาวจรกุศลจิตคือ
รูปาวจรวิปากจิต ดวงที่ ๑ จิตเกิดพร้อมด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นปฐมฌานวิปาก
รูปาวจรวิปากจิต ดวงที่ ๒ จิตเกิดพร้อมด้วย วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นทุติยฌานวิปาก
รูปาวจรวิปากจิต ดวงที่ ๓ จิตเกิดพร้อมด้วย ปีติ สุข เอกัคคตา เป็น ตติยฌานวิปาก
รูปาวจรวิปากจิต ดวงที่ ๔ จิตเกิดพร้อมด้วย สุข เอกัคคตา เป็นจตุตถฌานวิปาก
รูปาวจรวิปากจิต ดวงที่ ๕ จิตเกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นปัญจมฌานวิปาก
รูปาวจรกิริยาจิต ๕ เป็นจิตของพระอรหันต์ที่เข้าถึงรูปฌาน มีลักษณะเช่นเดียวกับรูปาวจร กุศลจิต แต่เกิดขึ้นกับพระอรหันต์เท่านั้นจึงชื่อว่า รูปาวจรกิริยาจิตเพราะไม่มีผลเป็นวิปากจิตในอนาคต มี ๕ ดวง คือ
รูปาวจรกิริยาจิต ดวงที่ ๑ จิตเกิดพร้อมด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นปฐมฌานกิริยา
รูปาวจรกิริยาจิต ดวงที่ ๒ จิตเกิดพร้อมด้วย วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นทุติยฌานกิริยา
รูปาวจรกิริยาจิต ดวงที่ ๓ จิตเกิดพร้อมด้วย ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นตติยฌานกิริยา
รูปาวจรกิริยาจิต ดวงที่ ๔ จิตเกิดพร้อมด้วย สุข เอกัคคตา เป็นจตุตถฌานกิริยา
รูปาวจรกิริยาจิต ดวงที่ ๕ จิตเกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นปัญจมฌานกิริยา



๒. กามาวจรจิต​ ๕๔ดวง

คำว่า กามาวจรจิต” มาจาก กาม+อวจร+จิต 
กาม หมายถึง อารมณ์อันเป็นที่ต้องการ หรือเป็นที่ปรารถนาของกิเลส ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ และธัมมารมณ์อันเป็นที่น่ายินดีน่าพอใจ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ากามคุณอารมณ์ หรือ กามารมณ์
อวจร หมายถึง อาศัยอยู่หรือท่องเที่ยวไป
จิต หมายถึง ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ฉะนั้น คำว่า กามาวจรจิต จึงมีความหมาย ๒ ประการ คือ
๑. เป็นจิตที่รับหรือเกี่ยวข้องกับกามคุณอารมณ์
๒. เป็นจิตที่เกิดอยู่เป็นประจำในกามภูมิ ๑๑ ได้แก่ มนุษยภูมิ ๑ เทวภูมิ ๖ อบายภูมิ ๔ กามาวจรจิตนี้เป็นจิตที่เป็นกุศลก็มี เป็นจิตที่เป็นอกุศลก็มี และเป็นจิตที่เป็นผลของบุญ เป็นผลของบาปก็มี การแสดงออกทางกาย วาจา ทั้งที่เป็นบุญ และบาป สำเร็จได้ก็เพราะกามาวจรจิตเป็นผู้สั่งการทั้งสิ้น

กามาวจรจิตมีทั้งหมด ๕๔ ดวง แบ่งออกเป็นอกุศลจิต ๑๒ ดวง อเหตุกจิต ๑๘ ดวง และกามาวจรโสภณจิต ๒๔ ดวง (ดูรูปประกอบ)



อกุศลจิต​ ๑๒​ดวง​ คือ​ จิตฝ่ายบาปที่เกิดด้วยอำนาจของความโลภ (โลภเหตุ) บ้าง ความโกรธ (โทสเหตุ) บ้าง โดยมีความหลง (โมหเหตุ) เป็น ผู้สนับสนุน
จิตประเภทนี้จะให้ผลเป็นความทุกข์ เพราะเป็นตัวการให้ กระทำบาปทางกาย ทางวาจา และทางใจ ดังต่อไปนี้
– การฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์ให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน
– ลักทรัพย์ขโมย ปล้น จี้ ชิงทรัพย์
– ประพฤติผิดในกาม
– พูดโกหกหลอกลวงผู้อื่น
– พูดยุยงส่อเสียดให้ผู้อื่นผิดใจกัน
– กล่าวคำหยาบคายด่าทอผู้อื่น
– พูดเพ้อเจ้อไร้สาระปราศจากประโยชน์
– มีความต้องการอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่น
– มีความโกรธ อาฆาต พยาบาท คิดประทุษร้าย หรืออิจฉาริษยาผู้อื่น
– มีความเห็นผิด เช่น ไม่เชื่อกฎแห่งกรรม ไม่เชื่อเรื่องผลของ บุญผลของบาป ไม่เชื่อว่าชาติหน้ามีจริง ไม่เชื่อว่านรกสวรรค์มีจริง
อกุศลจิตมีทั้งหมด ๑๒ ดวง แบ่งออกเป็น
๑.โลภมลูจิต ๘ ดวง (อ่านว่า โล-ภะ-มูล-ละ-จิต)
๒.โทสมลูจิต ๒ ดวง (อ่านว่า โท-สะ-มูล-ละ-จิต)
๓.โมหมลูจิต ๒ ดวง (อ่านว่า โม-หะ-มูล-ละ-จิต)
โลภมูลจิต ๘ โลภมูลจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นโดยมีโลภะเป็นมูลเหตุ โลภะเป็นเจตสิกที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดความยินดี พอใจและยึดติดในรูปที่สวย เสียงที่ไพเราะ กลิ่นที่หอม รสที่อร่อย การสัมผัสถูกต้องทางกายที่น่าอภิรมย์ ตลอดจนความยินดีพอใจและยึดติดในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข โลภมูลจิตเป็นจิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยโสมนัสคือความดีใจก็ได้ เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาคือรู้สึกเฉยๆก็ได้ ประกอบด้วยความเห็นผิดก็ได้ ปราศจากความเห็นผิดก็ได้ เกิดขึ้นเองก็ได้ หรือเกิดจากการชักชวนก็ได้ เมื่อจำแนกตามลักษณะต่างๆ ที่แตกต่างกันแล้ว โลภมูลจิตจะมีอยู่ ๘ ดวง แต่ละดวงมีลักษณะเฉพาะดังนี้
โลภมูลจิตดวงที่ ๑ เกิดพร้อมด้วยความดีใจ ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นเอง
โลภมูลจิตดวงที่ ๒ เกิดพร้อมด้วยความดีใจ ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดจากการชักชวน
โลภมูลจิตดวงที่ ๓ เกิดพร้อมด้วยความดีใจ *ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นเอง
โลภมูลจิตดวงที่ ๔ เกิดพร้อมด้วยความดีใจ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดจากการชักชวน
โลภมูลจิตดวงที่ ๕ เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นเอง
โลภมูลจิตดวงที่ ๖ เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดจากการชักชวน
โลภมูลจิตดวงที่ ๗ เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นเอง
โลภมูลจิตดวงที่ ๘ เกิดพร้อมด้วยความเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดจากการชักชวน
ที่กล่าวว่า *ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด คือ เชื่อเรื่องกรรม เชื่อเรื่องผลของกรรม เชื่อว่านรกสวรรค์มีจริง เชื่อว่าโลกนี้มี โลกหน้าก็มี เชื่อว่าเมื่อตายแล้วต้องเกิดใหม่ในภพใดภพหนึ่งแล้วแต่กรรมจะจัดสรร สัตว์อายุสั้นก็เพราะกรรม อายุยืนก็เพราะกรรม เกิดมาในตระกูลที่ร่ำรวยก็เพราะกรรม มีปัญญาดีหรือโง่เขลาก็เพราะกรรม เป็นต้น แต่ที่ทำบาปลงไปก็เพราะกำลังของโลภมูลจิตมีมากกว่าจึงทำให้ขาดสติสัมปชัญญะไปบ้างในบางครั้ง ซึ่ง ต่างจากผู้ที่มีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ที่คิดว่าชาติหน้าไม่มี บุญบาปไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี กรรมและผลของกรรมก็ไม่มี ดังนั้นจึงกระทำบาปอกุศล ด้วยความประมาทอยู่เป็นประจำ
ตัวอย่างที่ ๑ นายดำเป็นผู้ที่มีความเห็นผิดว่ากฎแห่งกรรมเป็นเรื่องไร้สาระ วันหนึ่งมีเพื่อนมาชวนไปขโมยเงินในตู้รับบริจาคที่วัดแห่งหนึ่ง นายดำเห็นดีด้วยจึงไปงัดตู้รับบริจาคกับเพื่อนด้วยความดีใจเพราะมีเงินอยู่ในตู้เป็นจำนวนมาก ขณะนั้นโลภมูลจิตดวงที่ ๒ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อกระทำกรรมดังกล่าว เพราะโลภมูลจิตดวงที่ ๒ เป็นจิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความดีใจ ประกอบด้วยความเห็นผิดและเกิดโดยมีการชักชวน โลภมูลจิตนี้ เป็นต้นเหตุสำคัญในการสร้างภพสร้างชาติให้แก่บรรดาสัตว์ทั้งหลาย เพราะบาปอกุศลทั้งหลายมีโลภะอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น แม้กระทั่งโทสมูลจิตที่จะกล่าวถึงต่อไป จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะความไม่สมหวังของโลภะ เมื่อใดที่หมดความทะยานอยาก หมดความใคร่ หมดความปรารถนาในอารมณ์ที่น่ายินดีพอใจแล้ว ความโกรธ ความเสียใจ ซึ่งเป็นอาการของความไม่สมหวังหรือความผิดหวังก็จะไม่มีอีกต่อไป
โลภมูลจิตเกิดได้กับปุถุชนครบทั้ง ๘ ดวง แต่เกิดกับพระเสกขบุคคล หมายถึงพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีเกิดได้เฉพาะโลภมูลจิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ๔ ดวงเท่านั้น(หมายถึงดวงที่ ๓,๔,๗,๘ โลภมูลจิตทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้นแก่พระอรหันต์ผู้สิ้นอาสวกิเลส อาการปรากฏของโลภมูลจิต ที่เกิดแก่บุคคลในภูมิต่างๆ มีดังนี้
๑. โลภมูลจิตของสัตว์เดรัจฉาน ย่อมอยากกิน อยากนอน และอยากสืบพันธุ์ เป็นต้น
๒. โลภมูลจิตของมนุษย์ ย่อมอยากเห็นสิ่งที่สวยๆงามๆ อยากได้ฟังเสียงที่ไพเราะ อยากได้ กลิ่นหอมๆ อยากได้ลิ้มรสที่อร่อยๆ อยากได้สัมผัสอันประณีต อยากได้ลาภ ยศ สรรเสริญ และความสุขต่างๆ ตลอดจนความเป็นผู้มีสุขภาพดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและมีอายุยืนยาว
๓. โลภมูลจิตของเทวดา ย่อมอยากได้ทิพยสมบัติยิ่งๆขึ้นไป และยินดีพอใจอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอันประณีต
๔. โลภมูลจิตของพรหม ย่อมยินดีพอใจอยู่ในรูปกรรมฐาน ย่อมเสวยรสของปีติและสุขเป็นอาหาร หรือยินดีพอใจอยู่ในอรูปกรรมฐานดำรงมั่นอยู่ในอุเบกขาและเอกัคคตา
๕. โลภมูลจิตของพระโสดาบันและพระสกทาคามี ยังมีความยินดีพอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่น่าใคร่น่าปรารถนา แต่น้อยกว่าปุถุชนทั่วไป เพราะมีโลภะ โทสะ โมหะ ที่เบาบางแล้ว และไม่เป็นไปด้วยความเห็นผิดอีกด้วย 
๖. โลภมูลจิตของพระอนาคามี ยังมีความยินดีพอใจในสุขอันเกิดจากการทำฌาน แต่ไม่มีความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสอีกต่อไป

โทสมูลจิต โทสมูลจิต คือจิตที่เกิดขึ้นโดยมีโทสะเป็นมูลเหตุ โทสะเป็นเจตสิกธรรมที่เป็นประธานในการปรุงแต่งจิตให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความกลุ้มใจ ความเสียใจ ความอิจฉาริษยา ความตระหนี่หวงแหน (มัจฉริยะ) ความรำคาญใจ (กุกกุจจะ) ความอาฆาต พยาบาท จองเวร จนถึงขั้นประทุษร้าย ฯลฯโทสมูลจิตนี้ เกิดขึ้นพร้อมด้วยความไม่พอใจเสมอ เพราะเกิดจากการรับอารมณ์ไม่น่ายินดีและไม่น่าพอใจ เกิดขึ้นเองบ้าง ถูกผู้อื่นหรือสิ่งอื่นชักชวนให้เกิดบ้าง ฉะนั้นโทสมูลจิตจึงมี ๒ ดวง คือ
โทสมูลจิตดวงที่ ๑ เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความไม่พอใจ
โทสมูลจิตดวงที่ ๒ เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความไม่พอใจ
โทสมูลจิตจะเกิดขึ้นได้เอง เช่น ในขณะที่คิดพยาบาท อาฆาต มุ่งร้าย ปองร้ายผู้อื่น โทสมูลจิตดวงที่ ๑ ย่อมเกิดขึ้น เมื่อรู้ข่าวการจากไปของคนใกล้ชิดก็จะร้องไห้เสียใจ หรือเมื่อได้ยินเสียงรถจักรยานยนต์ดังหนวกหูก็เกิดความรำคาญใจและด่าออกไป ก็ด้วยโทสมูลจิตดวงที่ ๒ โทสะนี้เป็นอนุสัยกิเลส คือเป็นกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานมาตั้งแต่อดีตชาติแล้ว สัตว์ในอบายภูมิมีเดรัจฉานเป็นต้น ก็มีโทสะ มาเป็นมนุษย์ก็ยังมีโทสะ แม้ไปเป็นเทวดาก็ยังมีโทสะ ถึงแม้เป็นพระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบันและพระสกทาคามีก็ยังมีโทสะเพียงแต่เบาบางลงเท่านั้น สำหรับผู้ที่ไปเกิดเป็นพรหมโทสะจะถูกข่มเอาไว้ด้วยอำนาจของฌาน ส่วนพระอนาคามีและพระอรหันต์จะไม่มีโทสะหลงเหลืออยู่เลย เพราะโทสะได้ถูกทำลายเป็นการถาวรแล้ว (สมุจเฉทปหาน)

โมหมูลจิต โมหมูลจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นโดยมีโมหะเป็นมูลเหตุ โมหะเป็นเจตสิกธรรมที่ปรุงแต่งให้เกิดความหลงผิดในวิสุทธิมรรคกล่าวว่า โมหะนี้เป็นรากเหง้าแห่งบาปอกุศลทั้งปวง โมหมูลจิตมี ๒ ดวง คือ
โมหมูลจิตดวงที่ ๑ เกิดขึ้นพร้อมด้วยความเฉยๆ ประกอบด้วยความ*สงสัย (วิจิกิจฉา)
โมหมูลจิตดวงที่ ๒ เกิดขึ้นพร้อมด้วยความเฉยๆ ประกอบด้วยความ*ฟุูงซ่าน (อุทธัจจะ)
คำว่า“สงสัย” ในที่นี้หมายถึงความสงสัยในเรื่องกรรมและผลของกรรม สงสัยว่าบุญบาปมีจริงหรือไม่ นรกสวรรค์มีจริงหรือไม่ ตายแล้วไปไหน ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับความสงสัยในวิชาการหรือเรื่องราวต่างๆทางโลกทั้งสิ้น
คำว่า “ฟุูงซ่าน” ในที่นี้หมายถึง คิดเลื่อนลอยไปในอารมณ์ต่างๆ ไม่มีความสงบ ไม่มีความตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว และที่คิดมากมายหลายอย่างนั้นก็คิดไปเฉยๆ คิดไปเรื่อยๆ ไม่ได้มุ่งมั่นจริงจังในสิ่งที่คิดนั้น
สรุปอกุศลจิต ๑๒ 
อกุศลจิต ๑๒ ซึ่งประกอบด้วย โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ และโมหมูลจิต ๒ นี้ เป็นจิตฝุายบาปให้ผลเป็นความทุกข์ เกิดได้ง่ายในบุคคลและสัตว์ทั้งหลาย โดยอาศัยเหตุ ๕ ประการ คือ
๑ . ไม่ได้สร้างสมบุญไว้แต่ปางก่อน เป็นอดีตกรรม
๒ . อยู่ในประเทศที่ไม่มีสัปปุรุษ
๓ . ไม่คบหาสมาคมกับสัปปุรุษ
๔ . ไม่ได้ฟังธรรมของสัปปุรุษ
๕ . ตั้งตนไว้ผิด


๑. ประเภทของจิต

จิตเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์ เมื่อประสาทตากระทบกับรูป(รูปารมณ์) ก็เกิดการเห็นโดยจักขุวิญญาณ(จิตที่เกิดทางตา) โดยธรรมชาติของจิตจะเกิดขึ้นและดับไปอย่าง รวดเร็วทางทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพื่อไปรับอารมณ์ในแต่ละทวาร จิตแต่ละดวงที่เกิดขึ้นจะมีอายุสั้นมาก แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว จิตดวงใหม่ที่เกิดขึ้นจะตั้งอยู่ชั่วขณะแล้วก็ดับไปอีก จะมีจิตมากกว่า ๑ ดวงเกิดขึ้นซ้อนกันในขณะเดียวกันไม่ได้เด็ดขาด เพราะจิตดวงใหม่จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากจิตดวงก่อนยังไม่ดับลงไป
ตลอดชีวิตในชาติหนึ่งๆ มีจิตที่เกิดขึ้นและดับไปจำนวนมากมายสุดที่จะนับได้ ซึ่งก็หมายความว่าในชาติหนึ่งๆนั้นเรามีการเกิดและตายนับครั้งไม่ถ้วนเช่นกัน เพราะจิตเกิดขึ้น ๑ ครั้ง ก็เท่ากับเราเกิด ๑ ครั้ง จิตดับลง ๑ ครั้ง ก็เท่ากับเราตายลง ๑ ครั้ง ความตายชั่วขณะนี้ท่านเรียกว่า ขณิกมรณะ แต่เพราะจิตเกิด-ดับสืบต่อกันรวดเร็วมากจึงปิดบังความจริงในเรื่องนี้ไว้ทำให้หลงผิดคิดว่าเป็นตัวเราเป็นของเราอยู่ตลอดเวลา ปัญญาที่เห็นประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐานตามแนวมหาสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งจะได้ศึกษาโดยละเอียดต่อไป
จิตมีสภาพรู้อารมณ์เป็นลักษณะ หรือเป็นธาตุรู้เท่านั้น ตามสภาวะแล้วจิตจะเกิดโดยลำพังไม่ได้จะต้องมีเจตสิก (ธรรมชาติที่ประกอบกับจิต) เกิดร่วมอยู่ด้วยเสมอ กล่าวคือเมื่อจิตเกิดเจตสิกก็เกิดร่วมด้วย เมื่อจิตดับเจตสิกก็ดับพร้อมกับจิตด้วย ประดุจความร้อนและแสงสว่างของไฟที่แยกออกจากกันไม่ได้ฉันนั้น เจตสิกธรรม คือ ธรรมชาติที่ประกอบกับจิต แบ่งออกเป็น ๓ ฝ่าย ดังนี้คือ

ฝ่ายอกุศลได้แก่ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก (ความโลภ ความโกรธ ความหลง)
ฝ่ายกุศลได้แก่ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก (ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง)
ฝ่ายกลางๆ ไม่เป็นอกุศลไม่เป็นอกุศลได้แก่ ผัสสเจตสิก เป็นต้น อาศัยความแตกต่างแห่งลักษณะของจิตที่เกิดขึ้นโดยเจตสิกที่แตกต่างกันดังกล่าวท่านจึงได้จำแนกลักษณะของจิตออกเป็น ๘๙ ดวง (โดยย่อ) หรือ ๑๒๑ ดวง (โดยพิสดาร) ดังแสดงในภาพจิต

เหตุที่จำแนกจำนวนไว้ไม่เท่ากันก็เนื่องมาจากมรรคจิตและผลจิต ซึ่งโดยย่อจะนับแค่มรรคจิต ๔ ดวง และผลจิต ๔ ดวง ส่วนโดยพิสดารนั้น จะนำระดับของฌานคือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และปัญจมฌาน ที่เกิดกับมรรคจิตทั้ง ๔ มาพิจารณาด้วย ทำให้มรรคจิตเพิ่มจาก ๔ ดวง เป็น ๒๐ ดวง ส่วนผลจิตก็จะ เพิ่มจาก ๔ ดวง เป็น ๒๐ ดวง ในทำนองเดียวกัน โดยเหตุที่เจตสิกธรรมเข้าประกอบปรุงแต่งจิต แล้วทำให้จิตมีลักษณะแตกต่างกันไป ท่านจึงได้จำแนกลักษณะของจิตออกเป็น ๔ ประเภทใหญ่ๆ คือ

๑. กามาวจรจิต
๒. รูปาวจรจิต
๓. อรูปาวจรจิต
๔. โลกุตตรจิต



วันอาทิตย์

ประวัติพระอภิธรรม ๒

พระวินัยปิฎก หรือเรียกสั้นๆ ว่า พระวินัย เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับศีลหรือสิกขาบท (บทบัญญัติ) ตลอดจนพิธีกรรมและธรรมเนียมของสงฆ์ อันเป็นกฎระเบียบที่พระภิกษุสงฆ์และพระภิกษุณีสงฆ์จะต้องปฏิบัติ รวมถึงพุทธประวัติบางตอนและประวัติการทำสังคายนา มีทั้งสิ้น ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งออกเป็น ๕ คัมภีร์ เรียกโดยย่อว่า อา. ปา. มะ. จุ. ปะ. (หัวใจพระวินัย) ได้แก่

๑. คัมภีร์อาทิกัมมิกะ ว่าด้วยอาบัติปาราชิก สังฆาทิเสส อนิยต และต้น บัญญัติในสิกขาบทต่างๆ
๒. คัมภีร์ปาจิตตีย์ ว่าด้วยอาบัติปาจิตตีย์ ซึ่งเป็นอาบัติอย่างเบา
๓. คัมภีร์มหาวรรค ว่าด้วยพุทธประวัติตอนปฐมโพธิกาล และพิธีกรรมทางพระวินัย
๔. คัมภีร์จุลวรรค ว่าด้วยพิธีกรรมทางพระวินัยต่อจากมหาวรรค ตลอดจนความเป็นมาของภิกษุณี และประวัติการทำสังคายนา
๕. คัมภีร์ปริวาร ว่าด้วยข้อเบ็ดเตล็ดทางพระวินัย


พระสุตตันตปิฎก หรือเรียกสั้นๆ ว่า พระสูตร เป็นหมวดที่ประมวล พระธรรมเทศนา คำบรรยายธรรม และเรื่องเล่าต่างๆ อันยักเยื้องตามบุคคลและโอกาส เป็นธรรมที่แสดงโดยใช้สมมุติโวหาร คือยกสัตว์ บุคคล กษัตริย์ เทวดา เป็นต้น มาแสดง มีคำสอนทั้งสิ้น ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งออกเป็น ๕ นิกาย เรียกโดยย่อว่า ที. มะ. สัง. อัง. ขุ. (หัวใจพระสูตร) ได้แก่

๑. ทีฆนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรขนาดยาว จำนวน ๓๔ สูตร
๒. มัชฌิมนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรขนาดปานกลางจำนวน ๑๕๒ สูตร
๓. สังยุตตนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรที่จัดเป็นหมวดหมู่ เรียกว่า สังยุตต์ มีชื่อตามเนื้อหา เช่น เกี่ยวกับแคว้นโกสล เรียกว่า โกสลสังยุตต์ เกี่ยวกับมรรคเรียกว่า มรรคสังยุตต์ มีจำนวน ๗,๗๖๒ สูตร
๔. อังคุตตรนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรที่จัดหมวดหมู่ตามจำนวนข้อของหลักธรรม เรียกว่า นิบาต เช่น เอกนิบาต ว่าด้วยหลักธรรมที่มี หัวข้อเดียว จนถึงหลักธรรมที่มี ๑๑ หัวข้อที่เรียกว่า เอกาทสกนิบาต ในนิกายนี้มีจำนวนพระสูตร ๙,๕๕๗ สูตร
๕. ขุททกนิกาย ประกอบด้วยภาษิตเบ็ดเตล็ด ประวัติและนิทานต่างๆ นอกเหนือจากที่จัดไว้ในนิกายทั้ง ๔ ข้างต้น แบ่งออกเป็นหมวดได้ ๑๕ หมวดคือ
>>๕.๑) ขุททกปาฐะ แสดงบทสวดเล็กๆ น้อยๆ โดยมากเป็นบทสวดสั้นๆ
>>๕.๒) ธรรมบท แสดงคาถาพุทธภาษิต ประมาณ ๓๐๐ คาถา
>>๕.๓) อุทาน แสดงพระพุทธดำรัสที่เปล่งอุทานเป็นภาษิตโดยมีเนื้อเรื่อง ประกอบตามสมควร
>>๕.๔) อิติวุตตก แสดงคำอ้างอิงว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนั้นอย่างนี้
>>๕.๕) สุตตนิบาต เป็นหมวดที่รวบรวมพระสูตรเบ็ดเตล็ดไว้ด้วยกัน
>>๕.๖) วิมานวัตถุ แสดงเรื่องราวของผู้ได้วิมานและแสดงเหตุที่ทำให้ได้ วิมานไว้ด้วย
>>๕.๗) เปตวัตถุ แสดงเรื่องราวของเปรตที่ได้ทำบาปกรรมไว้
>>๕.๘) เถรคาถา แสดงภาษิตต่างๆ ของพระอรหันตสาวก
>>๕.๙) เถรีคาถา แสดงภาษิตต่างๆ ของพระอรหันตสาวิกา
>>๕.๑๐)ชาดก เป็นหมวดที่ประมวลคาถาธรรมภาษิตเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธองค์
>>๕.๑๑) นิทเทส เป็นหมวดที่ว่าด้วยเรื่องของนิทเทส (การชี้แจง, การแสดง, การจำแนก) แบ่งเป็นมหานิทเทส และจุลนิทเทส
>>๕.๑๒) ปฏิสัมภิทามรรค กล่าวถึงการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความมีปัญญาอันประเสริฐ
>>๕.๑๓) อปทาน หมวดนี้จะกล่าวถึงอัตตชีวประวัติของพระพุทธองค์และ พระอรหันตสาวกและอรหันตสาวิกา
>>๕.๑๔) พุทธวงศ์ แสดงประวัติของอดีตพระพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์
>>๕.๑๕) จริยาปิฎก แสดงเรื่องราวการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า
พระอภิธรรมปิฎก หรือเรียกสั้นๆ ว่า พระอภิธรรม เป็นหมวดที่ ประมวลพุทธพจน์อันเกี่ยวกับหลักธรรมที่เป็นวิชาการว่าด้วยเรื่องของปรมัตถธรรมล้วนๆ ยกตัวอย่างเช่นเมื่อกล่าวถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ทางพระอภิธรรมถือว่าบุคคลนั้นไม่มี มีแต่สิ่งซึ่งเป็นที่ประชุมรวมกันของ จิต เจตสิก รูป เท่านั้น ดังนั้น ธรรมะในหมวดนี้จึงไม่มีเรื่องราวของบุคคล เหตุการณ์ หรือสถานที่ซึ่งเป็นสิ่งสมมุติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเลย พระอภิธรรมปิฎกมีอยู่ทั้งสิ้น ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งออกเป็น ๗ คัมภีร์ เรียกโดยย่อว่า สัง. วิ. ธา. ปุ. กะ. ยะ. ปะ. (หัวใจพระอภิธรรม) ได้แก่

๑. คัมภีร์ธัมมสังคณี ว่าด้วยธรรมะที่ประมวลไว้เป็นหมวดเป็นกลุ่ม เรียกว่า กัณฑ์ มีทั้งหมด ๔ กัณฑ์ คือ
>>๑.๑) จิตตวิภัตติกัณฑ์ แสดงการจำแนกจิตและเจตสิก เป็นต้น
>>๑.๒) รูปวิภัตติกัณฑ์ แสดงการจำแนกรูป เป็นต้น
>>๑.๓) นิกเขปราสิกัณฑ์ แสดงธรรมที่เป็นแม่บท (มาติกา) ของ ปรมัตถธรรม
>>๑.๔) อัตถุทธารกัณฑ์ แสดงการจำแนกเนื้อความตามแม่บทของ ปรมัตถธรรม
๒. คัมภีร์วิภังค์ ว่าด้วยการจำแนกมาติกาในคัมภีร์ธัมมสังคณี ทั้งติกมาติกา ๒๒ หมวด และทุกมาติกา ๑๐๐ หมวด โดยแบ่งเป็น ๑๘ วิภังค์ เช่น ขันธวิภังค์ จำแนกขันธ์ อายตนวิภังค์ จำแนกอายตนะ, ธาตุวิภังค์ จำแนกธาตุ, สัจจวิภังค์ จำแนกสัจจะ, อินทริยวิภังค์ จำแนกอินทรีย์, ปฏิจจสมุปบาทวิภังค์ จำแนกปฏิจจสมุปบาท, สติปัฏฐานวิภังค์ จำแนก สติปัฏฐาน เป็นต้น
๓. คัมภีร์ธาตุกถา ว่าด้วยคำอธิบายเรื่องขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘ โดยนำมาติกาของคัมภีร์นี้จำนวน ๑๐๕ บท และมาติกาจากคัมภีร์ธัมมสังคณีจำนวน ๒๖๖ บท (ติกมาติกา ๖๖ บท ใน ๒๒ หมวด และทุกมาติกา ๒๐๐ บท ใน ๑๐๐ หมวด) มาแสดงด้วยนัยต่างๆ (จานวน ๑๔ นัย) เพื่อหาคำตอบว่าสภาวธรรมบทนั้นๆ สงเคราะห์เข้าได้กับขันธ์เท่าไร เข้าได้กับอายตนะเท่าไร และเข้าได้กับธาตุเท่าไร เข้าไม่ได้กับขันธ์เท่าไร เข้าไม่ได้กับอายตนะเท่าไร และเข้าไม่ได้กับธาตุเท่าไร
๔. คัมภีร์ปุคคลบัญญัติ ว่าด้วยการบัญญัติ (การประกาศ แสดง หรือชี้แจง) ในเรื่อง ๖ เรื่อง คือ
>>๔.๑) ขันธบัญญัติ การบัญญัติเรื่องขันธ์
>>๔.๒) อายตน บัญญัติ การบัญญัติเรื่องอายตนะ
>>๔.๓) ธาตุบัญญัติ การบัญญัติเรื่องธาตุ
>>๔.๔) สัจจบัญญัติ การบัญญัติเรื่องสัจจะ
>>๔.๕) อินทริยบัญญัติ การบัญญัติ เรื่องอินทรีย์
>>๔.๖) ปุคคลบัญญัติ การบัญญัติเรื่องบุคคล
๕. คัมภีร์กถาวัตถุ ว่าด้วยการโต้วาทะเพื่อชี้แจงแสดงเหตุผลให้เห็นว่าวาทกถา (ความเห็น) ของฝ่ายปรวาที (พวกภิกษุในนิกายที่แตกไปจากเถรวาทในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช) จำนวน ๒๒๖ กถา ล้วนผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากพระพุทธพจน์ดั้งเดิมที่ภิกษุฝ่ายเถรวาทยึดถือปฏิบัติอยู่ วิธีการโต้วาทะใช้หลักตรรกศาสตร์ที่น่าสนใจมาก นับเป็น พุทธตรรกศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดซึ่งมีในคัมภีร์นี้เท่านั้น
๖. คัมภีร์ยมก ว่าด้วยการปุจฉา-วิสัชนา สภาวธรรม ๑๐ หมวด ด้วยวิธีการยมก คือการถาม-ตอบ เป็นคู่ๆ ซึ่งเป็นวิธีการเฉพาะของคัมภีร์ยมกสภาวธรรม ๑๐ หมวด ได้แก่
(๑) หมวดมูล (สภาวธรรมที่เป็นเหตุ)
(๒) หมวดขันธ์
(๓) หมวดอายตนะ
(๔) หมวดธาตุ
(๕) หมวดสัจจะ
(๖) หมวดสังขาร
(๗) หมวดอนุสัย
(๘) หมวดจิต
(๙) หมวดสภาวธรรมในกุสลติกะ เรียกสั้นๆ ว่า หมวดธรรม
(๑๐) หมวดอินทรีย์

สภาวธรรม ๑๐ หมวดนี้ทำให้แบ่งเนื้อหาของคัมภีร์ยมกออกเป็น ๑๐ ยมก เรียกชื่อตามหมวดสภาวธรรมที่เป็นเนื้อหา คือ
(๑) มูลยมก
(๒) ขันธยมก
(๓) อายตนยมก
(๔) ธาตุยมก
(๕) สัจจยมก
(๖) สังขารยมก
(๗) อนุสยยมก
(๘) จิตตยมก
(๙) ธัมมยมก
(๑๐) อินทริยยมก

๗. คัมภีร์ปัฏฐาน ว่าด้วยการจำแนกสภาวธรรมแม่บท หรือ มาติกา ทั้ง ๒๖๖ บท (๑๒๒ หมวด) ในคัมภีร์ธัมมสังคณี โดยอำนาจปัจจัย ๒๔ ประการ มี เหตุปัจจัย เป็นต้น เพื่อให้เห็นว่าสภาวธรรมทั้งหลายปรากฏเกิดขึ้น ตามเหตุ ตามปัจจัยทั้งสิ้น มิได้เกิดจากการบงการของผู้ใด แต่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ที่เรียกว่า จิตตนิยาม กรรมนิยาม และธรรมนิยาม

สรุปแล้ว พระอภิธรรมก็คือธรรมะหมวดที่ ๓ ในพระไตรปิฎกที่สอนให้รู้จักธรรมชาติอันแท้จริงที่มีอยู่ในตัวเราและสัตว์ทั้งหลายอันได้แก่ จิต เจตสิก รูป และรู้จักพระนิพพานซึ่งเป็นจุดหมายอันสูงสุดในพระพุทธศาสนา ธรรมชาติทั้ง ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพานนี้รวมเรียกว่า ปรมัตถธรรม หากแปลตามศัพท์ คำว่า อภิธัมม หรือ อภิธรรม แปลว่าธรรมอัน ประเสริฐ, ธรรมอันยิ่ง, ธรรมที่มีอยู่แท้จริงปราศจากสมมุติ เนื้อความในพระอภิธรรมเกือบทั้งหมด จะกล่าวถึงปรมัตถธรรม ล้วนๆ โดยไม่มี บัญญัติธรรม (สมมุติโวหาร) เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงควร ทำความเข้าใจไว้ในเบื้องต้นก่อนว่า ปรมัตถธรรม และ บัญญัติธรรม นั้น ต่างกันอย่างไร

๓. ที่เกิดและอำนาจของจิต

เปลวเทียนต้องอาศัยไส้เทียนในการลุกไหม้ฉันใด จิตจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีที่ตั้งให้อาศัยเกิดฉันนั้น ฉะนั้นที่ตั้งอันเป็นที่ให้อาศัยเกิดของจิตมี ๖ แห่ง คือ
๑. ประสาทตา (จักขุปสาทรูป) เป็นที่ตั้งของจิตเห็น (จักขุวิญญาณ) ประสาทตานี้มิได้หมายถึงดวงตาหรือลูกตาทั้งลูก แต่หมายเฉพาะประสาทตา ที่อยู่กลางตาดำมีขนาดประมาณเท่ากับศีรษะของเหา จักขุปสาทนี้จะซึมซาบอยู่ที่เยื่อตาบางๆ ๗ ชั้น มีความสามารถในการรับคลื่นแสง (รูปารมณ์) ที่มากระทบ
๒. ประสาทหู (โสตปสาทรูป) เป็นที่ตั้งของจิตได้ยิน (โสตวิญญาณ) อยู่ภายในช่องหู มีลักษณะเป็นวงกลมคล้ายวงแหวน และมีขนอันละเอียดอ่อนสีแดงปรากฏอยู่โดยรอบ มีความสามารถในการรับเสียง (สัททารมณ์) ที่มากระทบ
๓. ประสาทจมูก (ฆานปสาทรูป) เป็นที่ตั้งของจิตรู้กลิ่น (ฆานวิญญาณ) อยู่ภายในช่องจมูก มีลักษณะคล้ายกีบเท้าแพะ มีความสามารถในการรับกลิ่น (คันธารมณ์) ที่มากระทบ
๔. ประสาทลิ้น (ชิวหาปสาทรูป) เป็นที่ตั้งหรือที่อาศัยเกิดของจิตลิ้มรส (ชิวหาวิญญาณ) อยู่ตรงกลางลิ้น มีลักษณะเหมือนปลายกลีบดอกบัวเรียงรายซ้อนกันเป็นชั้นๆ มีความสามารถในการรับรส (รสารมณ์) ที่มากระทบ
๕. ประสาทกาย (กายปสาทรูป) เป็นที่ตั้งของจิตที่รับสัมผัสทางกาย (กายวิญญาณ) ประสาทกายนี้จะเกิดอยู่ทั่วร่างกาย ยกเว้นที่เส้นผม ขน เล็บ ฟัน กระดูก และบริเวณที่มีหนังหนาด้าน มีลักษณะคล้ายสำลีที่แผ่บางๆ ชุบน้ำมันจนชุ่มซ้อนกันหลายๆชั้น มีความสามารถในการรับความรู้สึก เย็น ร้อน อ่อนแข็ง หย่อนตึง (โผฏฐัพพารมณ์) ที่มากระทบ
๖. หทัย (หทัยรูป) เป็นที่ตั้งหรือที่อาศัยเกิดของมโนวิญญาณ ได้แก่จิตที่ไม่ได้อาศัยปสาทรูปทั้ง ๕ ข้างต้น ที่เกิดอยู่ภายในช่องเนื้อหัวใจ มีลักษณะเหมือนบ่อ มีโลหิตอันเป็นน้ำหล่อเลี้ยงหัวใจบรรจุอยู่ประมาณกึ่งซองมือ ( วิธีวัด คือให้ห่อฝ่ามือนิ้วเรียงชิดติดกัน นำน้ำมาใส่บรรจุไว้ในฝ่ามือปริมาตรน้ำประมาณครึ่งหนึ่งนั้นเท่ากับกึ่งซองมือ ) มีสัณฐานโตประมาณเท่า เมล็ดในดอกบุนนาค เป็นรูปอันเป็นที่อาศัยเกิดของมโนวิญญาณ
หากถามว่า อะไรคือปสาทรูป อะไรคือวัตถุ และอะไรคือทวาร ก็จักตอบได้ว่า ปสาทรูปทั้ง ๕ ได้แก่ จักขุปสาทรูป, โสตปสาทรูป, ฆานปสาทรูป, ชิวหาปสาทรูป, กายปสาทรูป เมื่อเป็นที่อาศัยเกิดของจิต ก็เรียกปสาทรูปว่า จักขุวัตถุ , โสตวัตถุ , ฆานวัตถุ , ชิวหาวัตถุ , กายวัตถุ นั่นก็หมายความว่า จักขุปสาทเมื่อเป็นที่อาศัยเกิดของจิต ก็ชื่อว่าจักขุวัตถุ แต่ขณะที่ไม่ได้เป็นที่อาศัยเกิดของจิตเห็น ก็ชื่อว่าจักขุปสาทรูปนั่นเอง ในปสาทรูปที่เหลือคือ โสต ฆาน ชิวหา กาย ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน อีกประการหนึ่ง ปสาทรูปทั้ง ๕ ยังทำหน้าที่เป็นประตู (ทวาร) สำหรับรับอารมณ์ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย จึงเรียกปสาทรูปว่า จักขุทวาร, โสตทวาร, ฆานทวาร, ชิวหาทวาร กายทวาร ส่วนหทัยรูป ซึ่งเป็นที่อาศัยเกิดของมโนวิญญาณ (จิต)ทั้งหมด (ยกเว้น จิตที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย) หทัยรูปนี้ก็ได้ชื่อว่า หทัยวัตถุ และเมื่อเป็นประตูสำหรับรับธัมมารมณ์ หทัยรูปนี้ก็ได้ชื่อว่า มโนทวาร
อำนาจของจิต
จิต หรือ วิญญาณ นี้ นอกจากจะเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ตามที่ทราบแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นประธานในธรรมทั้งปวง คือ การงานต่างๆ ทั้งทายกาย ทางวาจา และทางใจ ไม่ว่าจะเป็นบุญ (กุศลกรรม) หรือเป็นบาป (อกุศลกรรม) จะสำเร็จได้ก็ด้วยจิตทั้งสิ้น ดังในธรรมบทที่แสดงไว้ว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺนา มโนเสฏฺฐา มโนมยา ซึ่งก็หมายความว่า ธรรมทั้งหลายมีจิตเป็นใหญ่ มีจิตเป็นหัวหน้า สำเร็จได้ด้วยจิต
จิต นี้ แม้จะเป็นนามธรรมที่ไม่มีรูปร่างตัวตน และแสดงความรู้สึกอยู่ภายในเท่านั้นก็จริง แต่ก็มีอำนาจวิเศษอย่างน่าอัศจรรย์และวิจิตรพิสดารยิ่งนัก กล่าวคือ
๑. มีอำนาจในการกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของอวัยวะน้อยใหญ่ในร่างกาย การพูด การเคลื่อนไหว การกระทำต่าง ๆ ตลอดจนการคิดก็เกิดขึ้นด้วยจิตทั้งสิ้น สรรพสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถ เรือ เครื่องบิน ยาวอวกาศ อาวุธยุทโธปกรณ์ อุปกรณ์สื่อสาร เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ สิ่งก่อสร้าง ภาพวาด วิทยาการและเทคโนโลยีต่างๆ ฯลฯ ก็ล้วนมีจิตเป็นผู้คิดขึ้นมาทั้งสิ้น
๒. มีอำนาจด้วยตนเอง คือ มีอำนาจในการทำบุญ ทำบาป ทำสมาธิถึงขั้นฌานสมาบัติ มีอำนาจในการแสดงอิทธิฤทธิ์ต่างๆ (อภิญญา) ตลอดจนมีอำนาจในการทำลายอนุสัยกิเลสที่เป็นเหตุให้มีการเวียนว่ายายเกิดอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น
๓. มีอานาจในการสั่งสมกรรม เพราะจิตเป็นต้นเหตุให้มีการทำบาป ทำบุญ ทำฌาน อภิญญา ทำวิปัสสนากรรมฐาน กรรมทั้งหลายที่ได้กระทำลงไปแล้ว ไม่ว่าจะดีหรือชั่ว จะถูกเก็บบันทึกเอาไว้ด้วยอำนาจของจิต
๔. มีอำนาจในการรักษาวิบาก (ผลของกรรม) กรรมทั้งหลายที่ได้กระทำลงไปแล้ว ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล แม้จะนานเท่าไรก็ตาม กี่ภพกี่ชาติก็ตาม ย่อมติดตามส่งผลตลอดไปจนกว่าจะปรินิพพาน
๕. มีอำนาจในการสั่งสมสันดานของตนเอง การกระทำใดๆ หากกระทำอยู่บ่อยๆ กระทำอยู่เสมอๆ ก็จะฝังในจิตติดเป็นสันดาน และคิดจะทำเช่นนั้นเรื่อยไป เช่น คบคนพาลก็จะกลายเป็นคนพาล คบบัณฑิตก็จะเป็นบัณฑิต ทั้งนี้เป็นเพราะอำนาจในการสั่งสมสันดานของจิตนั่นเอง
๖. มีอำนาจในการรับอารมณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ไม่ว่าจะเป็นอดีตอารมณ์ อนาคตอารมณ์ หรือปัจจุบันอารมณ์ และไม่ว่าจะเป็นบัญญัติอารมณ์ หรือ ปรมัตถอารมณ์ จิตก็สามารถรับได้ทั้งสิ้น

แม้จิตจะเกิดดับอยู่ตลอดเวลาก็ตาม แต่ บาป บุญ ที่ทำไว้ และอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน จะไม่สูญหายไปพร้อมกับการดับของจิตแต่ละดวง ทั้งนี้ เพราะจิตดวงใหม่มีเหตุมีปัจจัยมาจากจิตดวงเดิม และจิตดวงใหม่ที่เกิดขึ้นก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให่แก่จิตดวงต่อไป เพื่อสืบต่อ บาป บุญ และกิเลสที่สั่งสมไว้ไปจนกว่าจะปรินิพพาน



๔. บุญบาปเกิดขึ้นได้อย่างไร

ตามธรรมชาติของจิต เมื่อมีอารมณ์มาปรากฏทางทวารใด จิตหรือวิญญาณจะเกิดขึ้นเพื่อรับอารมณ์ทางทวารนั้น เช่น เมื่อมีเสียงมาปรากฏทางหู โสตวิญญาณวิถีจะเกิดขึ้นเพื่อรับรู้เสียงนั้น โสตวิญญาณจะเกิดดับเร็วมากเป็นจำนวนนับครั้งไม่ถ้วน สลับกับมโนวิญญาณวิถีที่เกิดขึ้นทางใจ เพื่อตีความหมายของเสียงที่กำลังปรากฏอยู่ เมื่อรู้ความหมายว่าเป็นเสียงชมเชยก็จะมีความยินดีพอใจ แต่หากเป็นเสียงด่าก็จะเกิดโทสะ ถ้ามีสติยับยั้งไว้ได้ก็ดีไป แต่เมื่อใดที่ขาดสติก็จะเกิดการตอบโต้ทางกาย (กายกรรม) เช่น ไปชกหน้าผู้ที่กำลังด่าเรา หรือทางวาจา (วจีกรรม) เช่น ด่าตอบไปทันที ซึ่งเป็นการสร้างกรรมใหม่ที่จะต้องได้รับผลของกรรม (วิบาก) ในอนาคตต่อไป ใจจะเป็นผู้สั่งให้เกิดการกระทำทางกายและทางวาจา ทั้งที่เป็นบุญ (กุศลกรรม) และที่เป็นบาป (อกุศลกรรม) บางครั้งก็เพียงแต่คิดไว้ในใจ (มโนกรรม) โดยที่ไม่ได้แสดงออกทางกาย หรือ ทางวาจาเลยก็มี การแสดงออกทางกายและทางวาจาที่เป็นบุญ เรียกว่า กายสุจริต วจีสุจริต ส่วนการแสดงออกทางกายและทางวาจาที่เป็นบาป เรียกว่า กายทุจริต วจีทุจริต กรรมที่ทำด้วยเจตนาดีมีจิตสะอาดผ่องใส ผลลัพธ์จะออกมาเป็นความสุขท่านเรียกว่า บุญ ส่วนกรรม ที่ทำด้วยเจตนาไม่ดี มีจิตเศร้าหมองและจะส่งผลออกมาเป็นความทุกข์ ท่านเรียกว่า บาป

กรรมที่กระทำไว้แล้ว ไม่ว่าดีหรือชั่วย่อมไม่สูญหายไปไหน เพราะกรรมสามารถติดตามไปให้ผลได้ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ปัญหาที่น่าสงสัยคือ เราสั่งสมกรรมไว้ได้อย่างไร มีใครจดบันทึกบัญชีกรรมของเราไว้ เหมือนบัญชีเงินฝากในธนาคารหรือไม่ คำตอบก็คือบุญบาปที่เราทำไว้ไม่ต้องมีใครมาติดตามจดบันทึกไว้ เพราะจิตมีอานาจวิเศษอย่างหนึ่งในการสั่งสมบุญและบาป เมื่อเราได้กระทำกรรมใดๆ ลงไปไม่ว่าจะดีหรือชั่ว แม้จะนานสักเพียงใดก็ตามจะกี่ภพกี่ชาติก็ตาม ผู้กระทำย่อมจะต้องได้รับผล (หรือเรียกว่าได้รับวิบาก) ของบุญและบาปเมื่อกรรมมีโอกาสส่งผล ถึงแม้จิตจะเกิดดับอยู่ตลอดเวลาก็ตาม แต่ผลกรรมที่ได้กระทำไว้ไม่ว่าจะเป็นบุญหรือเป็นบาป ก็จะไม่สูญหายไปพร้อมกับการดับของจิตแต่ละดวง ทั้งนี้เพราะจิตดวงใหม่มีเหตุปัจจัยมาจากจิตดวงเดิม และจิตดวงใหม่ที่เกิดขึ้นมานั้น ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้แก่จิตดวงต่อไปเช่นกัน
การที่จะเกิดมาเป็นมนุษย์ได้นั้น จะต้องอาศัยผลของบุญกุศลในอดีต ครั้นหมดเหตุหมดปัจจัยของบุญกุศลก็ต้องตายไปจากโลกมนุษย์ เมื่อตายไปแล้วก็ต้องเกิดอีก การเกิดใหม่ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยชุดใหม่ทำให้ชีวิตเกิดขึ้นมาใหม่อีก สุดแล้วแต่เหตุปัจจัยใหม่นี้จะเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าเป็นกุศลก็จะปฏิสนธิ (เกิด) ในสุคติภูมิ คือเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดา ถ้าเป็นอกุศลก็จะปฏิสนธิในอบายภูมิ คือ เกิดเป็นสัตวนรก เปรต อสุรกาย หรือสัตว์เดรัจฉาน แล้วแต่เวรกรรมของตน เพราะชีวิตของคนเราและสัตว์ทั้งหลาย ต้องเวียนเกิดเวียนตายตามอำนาจของ กิเลส กรรม และวิบาก อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้




๕. ลักษณะของจิต

คำว่าลักษณะนี้ ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาใช้เรียกทั้งบัญญัติและปรมัตถ์ โดยมีหลักการแบ่งเป็นหลักอยู่ดังนี้

๑. ถ้าเป็นปรมัตถธรรม มีสภาวะอยู่จริง เรียกว่า ปัจจัตตลักษณะ หรือ วิเสสลักษณะ เช่น การรับรู้เป็นลักษณะของจิต เพราะทำให้เราสามารถกำหนดเจาะจงลงไปได้ว่า “นี้เป็นจิต ไม่ใช่ดิน” เป็นต้น จะสังเกตได้ว่าลักษณะแบบนี้ก็คือตัวสภาวะนั้นๆนั่นเอง เพราะสามารถกำหนดหมายลงไปได้ด้วยตัวเอง เช่น จิตก็คือการรับบรู้-การรับรู้ก็คือจิต เป็นต้น ฉะนั้น ท่านจึงตั้งชื่อว่า ปัจจัตตลักษณะ(ปฏิ+อัตต+ลักขณะ) แปลว่า เอกลักษณ์, เอกลักษณ์เฉพาะตัว, สัญลักษณ์ส่วนตัว

๒.ถ้าไม่ใช่ปรมัตถธรรม ไม่มีสภาวะอยู่จริง เรียกว่า “บัญญัติ” เช่น อนิจจลักษณะเป็นลักษณะของขันธ์ ๕ เพราะทำให้เราสามารถกำหนดเจาะจงลงไปได้ว่า “สิ่งนี้เป็นตัวอนิจจัง(ขันธ์) ไม่ใช่นิพพาน” เช่นเดียวกัน นิจจลักษณะก็เป็นลักษณะของนิพพาน เพราะทำให้เราทราบได้ว่า “สิ่งนี้เป็นนิพพาน ไม่ใช่ขันธ์” คำว่า “จักขุปสาท” เป็นลักษณะของตัวจักขุปสาท เพราะทำให้เราระลึกถึงจักขุปสาทนั้นได้ เป็นต้น จะสังเกตได้ว่าลักษณะแบบนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ทราบถึงตัวสภาวะได้(เช่นคำว่า “จักขุปสาท”) หรือไม่ก็สามารถจะทำให้ทราบถึงบัญญัติที่มีความเกี่ยวเนื่องกับสภาวะได้ (เช่น อนิจจลักษณะ) เป็นต้น อนึ่ง ไตรลักษณ์ ก็จัดเข้าในลักษณะประเภทที่ ๒ นี้ด้วย เพราะท่านระบุไว้ว่าเป็นบัญญัติ
จิตมีลักษณะสามัญตามธรรมชาติ (สามัญลักษณะ) อยู่ ๓ ประการ คือ
๑. อนิจจลักษณะ คือ มีลักษณะที่ไม่เที่ยง ไม่คงที่ ต้องเปลี่ยนแปลง (เกิด-ดับ) อยู่ตลอดเวลา
๒. ทุกขลักษณะ คือ มีลักษณะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (เกิดขึ้นแล้วต้องดับไป)
๓. อนัตตลักษณะ คือ มีลักษณะที่มิใช่ตัว มิใช่ตน ไม่อยู่ใน อำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด จะ บังคับให้หยุดการเกิดดับก็ไม่ได้

สามัญลักษณะทั้ง ๓ นี้ เป็นสิ่งจริงแท้แน่นอน เป็นกฎธรรมชาติที่เรียกว่า “ไตรลักษณ์” รูปธรรม และนามธรรมทั้งหลายอันได้แก่ รูป จิตและ เจตสิก ย่อมจะต้องมีลักษณะเช่นนี้เหมือนกันทั้งหมด นอกจากจิตจะมีลักษณะสามัญตามที่กล่าวมาแล้ว จิตยังมีลักษณะพิเศษ เฉพาะตัว(วิเสสลักษณะ) อีก ๔ ประการ คือ
๑. มีการรู้อารมณ์ เป็นลักษณะ
๒. เป็นประธานในธรรมทั้งปวงเป็นกิจ
๓. มีการเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสายเป็นผล
๔. มีอดีตกรรม ทวาร อารมณ์และเจตสิก เป็นเหตุใกล้ให้จิตเกิดขึ้น


การทำงานของจิต
การทำงานของจิตจะเกิดดับสืบต่อกันไปอย่างไม่ขาดสาย ในพระสูตร ตอนหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้มีใจความว่า “ยากที่จะนำสิ่งอื่นๆ ทั้งหลายในโลก มาเปรียบเทียบกับความเกิดดับอันรวดเร็วของจิต เพราะจิต เกิดดับๆรวดเร็วกว่าสิ่งใดๆ ในโลก เพียงชั่วลัดนิ้วมือเดียว จิตจะเกิดดับถึง แสนโกฏิขณะ หรือ ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ดวง (หนึ่งล้านล้านดวง) ”

ที่ว่าจิตมีการเกิดดับสืบต่ออย่างไม่ขาดสาย เพราะจิตดวงที่ ๑ เกิดขึ้นแล้วดับไป ต่อจากนั้นจิตดวงที่ ๒ ก็จะเกิดขึ้นติดต่อกันแล้วก็ดับไปอีก เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ดังในภาพ
ภาวะที่จิตเกิดดับสืบต่อกันเป็นกระแสนี้ท่านเรียกว่า สันตติ ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้กับกระแสน้ำที่ประกอบไปด้วยอณูของน้ำเล็กๆ เรียงติดต่อกันเป็นสาย ขณะที่กระแสจิตไม่ออกมารับรู้เรื่องราว (อารมณ์) ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เช่นเวลานอนหลับ จิตในขณะนั้นมีชื่อเรียกว่า ภวังคจิต ซึ่งเป็นจิตที่ทำหน้าที่ รักษารูปนามในภพปัจจุบันไว้มิให้แตกทำลายไป จนกว่าจะสิ้นอายุจากภพนี้
แม้ในขณะหลับสนิท (ไม่มีการฝัน) หรือสลบไป ก็จะมีภวังคจิตเกิดดับสืบเนื่องกันตลอดเวลา อารมณ์ของภวังคจิตเป็นอารมณ์ที่สืบเนื่องมาจากเหตุปัจจัยในอดีตภพ เมื่อใดก็ตามที่จิตออกมารับรู้เรื่องราว(อารมณ์) ทางประตู(ทวาร) ทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อนั้นจิตจะขึ้นสู่วิถีซึ่งเรียกว่า วิถีจิต และ เมื่อสิ้นสุดแต่ละวิถีก็จะมีภวังคจิตที่คอยรักษาภพชาติ เกิดคั่นอยู่ทุกครั้ง แต่ เราจะไม่รู้สึกตัว เพราะการเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมานั้นเกิดขึ้นรวดเร็ว มาก



๒. จิตคืออะไร

จิต คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ หรือธรรมชาติที่ทำหน้าที่ เห็น ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สึกต่อการสัมผัสถูกต้องทางกายและรู้สึกนึกคิดทางใจ จิต นี้ไม่ว่าจะเกิดแก่สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา หรือพรหมก็ตาม ย่อมมีลักษณะเหมือนกัน คือ มีการรู้อารมณ์เหมือนกันทั้งสิ้น 
จิต เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งที่มองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้ด้วยกาย ไม่มีรูปร่างสัณฐาน สีสัน วรรณะใดๆ แต่เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งที่มีอยู่จริง เป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติฝ่ายนามธรรมที่เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยเหตุอาศัยปัจจัยต่างๆ ทำให้เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปตามกฎธรรมชาติ
อำนาจของจิตมีอยู่มากมาย เช่น มีอำนาจในการกระทำ การพูด การคิด การสั่งสมกรรมดี กรรมชั่ว นอกจากนี้ยังมีอำนาจในการสร้างฤทธิ์ ทำสมาธิ ทำฌาน ทำอภิญญา และอื่น ๆ ให้เกิดขึ้นได้อย่างมหัศจรรย์
จิต จะเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก ชั่วเวลาลัดนิ้วมือเดียว จิตจะมีการเกิดดับถึงแสนโกฏิขณะ คือ ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ครั้ง (หนึ่งล้านล้านครั้ง) จึงเป็นการยากที่บุคคลจะรู้เท่าทันได้
สถานที่เกิดของจิตมีอยู่ด้วยกัน ๖ แห่ง คือ
๑. ที่ตา เพื่อทำหน้าที่เห็นรูปที่ปรากฏทางตา จิตนี้มีชื่อว่า จักขุวิญญาณ (จักขุ = ตา)
๒. ที่หู เพื่อทำหน้าที่ได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู จิตนี้มีชื่อว่า โสตวิญญาณ (โสต = หู)
๓. ที่จมูก เพื่อทำหน้าที่รู้กลิ่น ที่ปรากฏทางจมูก จิตนี้มีชื่อว่า ฆานวิญญาน (ฆาน = จมูก)
๔. ที่ลิ้น เพื่อทำหน้าที่รู้รส ที่ปรากฏทางลิ้น จิตนี้มีชื่อว่า ชิวหาวิญญาณ (ชิวหา = ลิ้น)
๕. ที่กาย เพื่อทำหน้าที่รับความรู้สึกต่อการสัมผัสถูกต้องทาง กาย จิตนี้มีชื่อว่า กายวิญญาณ
๖. ที่ใจ เพื่อทำหน้าที่ รู้สึก นึก คิด ทางใจ จิตนี้มีชื่อว่า มโนวิญญาณ (มโน = ใจ)

ดังนั้น จิต หรือ วิญญาณ จึงหมายถึงสิ่งเดียวกัน นอกจากนี้ จิต ยังมี ชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น หทัย ปัญฑระ มโน มนัส มนินทรีย์ มโนธาตุ มโนวิญญาณธาตุ วิญญาณขันธ์ มนายตนะ เป็นต้น จึงขอให้เข้าใจว่า แม้จะเรียกชื่ออย่างไรก็ตาม ชื่อเหล่านั้นก็คือ จิต นั่นเอง