วันพฤหัสบดี

พุทธพจน์เกี่ยวกับอายตนะ

 พุทธพจน์เกี่ยวกับอายตนะ

🔅 “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงแก่พวกเธอซึ่ง “สรรพสิ่ง" (สิ่งทั้งปวง, ครบหมด, ทุกสิ่งทุกอย่าง), จงฟังเถิต: อะไรเล่าคือ สรรพสิ่ง: ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับโผฏฐพพะ ใจกับธรรมารมณ์ - นี้เราเรียกว่า สรรพสิ่ง”

🔅 “พระองค์ผู้เจริญ เรียกกันว่า “โลก โลก” ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงไร จึงมีโลก หรือบัญญัติว่าเป็นโลก?”
“ดูกรสมิทธิ ที่ใดมีตา มีรูป มีจักขุวิญญาณ มีธรรมอันพึงรู้ตัวยจักขุวิญญาณ, ที่นั่นก็มีโลก หรือบัญญัติว่าเป็นโลก, ที่ใดมีหูมีจมูก...มีลิ้นมีกายมีใจ มีธรรมารมณ์ มีมโนวิญญาณมีสิ่งอันพึงรู้ด้วยมโนวิญญาณ ที่นั้นก็มีโลกหรือบัญญัติว่าโลก"

🔅 “ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวว่า ที่สุดโลก เป็นสิ่งที่รู้ได้ เห็นได้ ถึงได้ ด้วยการไป, แต่เราก็ไม่กล่าวเช่นกันว่า บุคคลยังไม่ถึงที่สุดโลก จะทำความสิ้นทุกข์ได้"

(พระอานนท์กล่าว:) “ข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อ ยังมิได้ทรงแจกแจงเนื้อความโดยพิสดารนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจความโดยพิสดารดังนี้: บุคคลย่อมสำคัญหมายในโลกว่าเป็นโลก ถือโลกว่าเป็นโลกด้วยสิ่งใด สิ่งนั้นเรียกว่า “โลก” ในอริยวินัย.” “ด้วยอะไรเล่า คนจึงสำคัญหมายในโลกว่าเป็นโลก ถือโลกว่าเป็นโลก? ด้วยตาตัวยหู ตัวยจมูกด้วยลิ้น...ด้วยกาย...ด้วยใจ คนจึงสำคัญหมายในโลกว่าเป็นโลก ถือโลกว่าเป็นโลก"

🔅 “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงการอุทัยพร้อม และการอัสดงแห่งโลก, จงฟังเถิด.
การอุทัยพร้อมแห่งโลกเป็นไฉน?
อาศัยตา และรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ,
ความประจวบแห่งสิ่งทั้งสามนั้น คือ ผัสสะ,
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี,
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี,
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี,
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี,
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี,
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาสก็มีพร้อม; นี้คือการอุทัยพร้อมแห่งโลก”

"อาศัยหู...อาศัยจมูก....อาศัยลิ้น...อาศัยกาย...อาศัยใจและธรรมารมณ์ จึงเกิดมโนวิญญาณ ฯลฯ นี้คือ การอุทัยพร้อมแห่งโลก”

"อัสดงแห่งโลกเป็นไฉน?
อาศัยตาและรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ,
ความประจวบแห่งสิ่งทั้งสามนั้นคือ ผัสสะ,
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา,
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี,
เพราะตัณหานั้นแหละสำรอกตับไปไม่เหลือ ความดับอุปาทานจึงมี,
เพราะตับอุปาทาน ความดับภพจึงมี,
เพราะดับภพ ความดับชาติจึงมี,
เพราะดับชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จึงดับ,
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งหมด ย่อมมีได้อย่างนี้ นี้เรียกว่าอัสดงแห่งโลก”

อาศัยหู....อาศัยจมูก..อาศัยลิ้น....อาศัยกาย...อาศัยใจและธรรมารมณ์ จึงเกิดมโนวิญญาณ ฯลฯ นี้คือ การอัสดงของโลก"

🔅 “พระองค์ผู้เจริญ เรียกกันว่า “มาร มาร” เรียกกันว่า “สัตว์ สัตว์” เรียกกันว่า “ทุกข์ ทุกข์ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงไร จึงมีมารหรือบัญญัติว่ามารจึงมีสัตว์หรือบัญญัติว่าสัตว์ จึงมีทุกข์หรือบัญญัติว่าทุกข์"

“ตูกรสมิทธิ ที่ใดมีตา มีรูป มีจักขุวิญญาณ มีธรรมอันพึงรู้ด้วยจักขุวิญญาณ ฯลฯ
มีใจ มีธรรมารมณ์ มีมโนวิญญาณ มีธรรมอันพึงรู้ตัวยมโนวิญญาณ,
ที่นั้นก็มีมารหรือบัญญัติว่ามาร สัตว์หรือบัญญัติว่าสัตว์....ทุกข์หรือบัญญัติว่าทุกข์"

“เมื่อตามีอยู่ พระอรหันต์ทั้งหลายจึงบัญญัติสุขทุกข์,
 เมื่อตาไม่มี พระอรหันต์ทั้งหลายย่อมไม่บัญญัติสุขทุกข์,
เมื่อหู....จมูก...สิ้น....กาย...ใจมีอยู่ พระอรหันต์ทั้งหลายจึงบัญญัติสุขทุกข์,
เมื่อหู ฯลฯ ใจไม่มี พระอรหันต์ทั้งหลายย่อมไม่บัญญัติสุขทุกข์,

🔅 “ภิกษุทั้งหลาย ตา...จมูก ลิ้น กายใจไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา, แม้สิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดขึ้น ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา, ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเกิดจากสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จักเป็นของเที่ยง จักเป็นสุข จักเป็นอัตตาได้แต่ที่ไหน”

"รูป...เสียงกลิ่น...รส..โผฏฐพพะธรรมารมณ์ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์...เป็นอนัตตา, แม้สิ่งที่เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐพพะ ธรรมารมณ์เกิดขึ้น ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา, รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐพพะ ธรรมารมณ์ ซึ่งเกิดจากสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา จักเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตาได้แต่ที่ไหน”

🔅 “ภิกษุทั้งหลาย ข้าวกล้างอกงามบริบูรณ์ และคนเฝ้าข้าวกล้าก็ประมาทเสีย, โคกินข้าวกล้าลงสู่ข้าวกล้าโน้น พึงเมาเพลินประมาทเอาจนเต็มที่ ฉันใด, ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ไม่สังวร์ในผัสสายตนะ ๖ ย่อมเมาเพลิน ประมาทในกามคุณ ๕ จนเต็มที่ ฉันนั้น"

🔅 “ภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ ๖ เหล่านี้ ที่ไม่ฝึก ไม่คุ้มครอง ไม่รักษา ไม่สังวร ย่อมเป็นเครื่องนำทุกข์มาให้ผัสสายตนะ ๖ เหล่านี้ ที่ฝึกดีแล้ว คุ้มครองดี รักษาดี สังวรดี ย่อมเป็นเครื่องนำสุขมาให้"

🔅 “ตาเป็นเครื่องผูกล่ามรูปไว้, รูปเป็นเครื่องผูกล่ามตาไว้ หู-เสียง, จมูก-กลิ่น: ลิ้นรส กาย-โผฏฐพพะ, ใจเป็นเครื่องผูกล่ามธรรมารมณ์ไว้, ธรรมารมณ์เป็นเครื่องผูกล่ามใจไว้ ดังนี้หรือ?"

“(หามิได้) ตาก็มิใช่เครื่องผูกล่ามรูปไว้,
รูปก็มิใช่เครื่องผูกล่ามตาไว้,
ฉันทราคะ (ความชอบใจจนติด) ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยตาและรูปทั้งสองอย่างนั้นต่างหาก เป็นเครื่องผูกล่ามที่ตาและรูปนั้น
ใจก็ไม่ใช่เครื่องผูกล่ามธรรมารมณ์,
ธรรมารมณ์ก็มิใช่เครื่องผูกล่ามใจ,
ฉันทราคะ ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งสองอย่างนั้นต่างหาก เป็นเครื่องผูกล่ามที่ใจธรรมารมณ์นั้น” “หากตาเป็นเครื่องผูกล่ามรูปไว้ หรือรูปเป็นเครื่องผูกล่ามตาไว้แล้วไซร์, การครองชีวิตประเสริฐ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ ก็จะปรากฏไม่ได้"

"แต่เพราะเหตุที่ตาไม่ใช่เครื่องผูกล่ามรูป, รูปมิใช่เครื่องผูกล่ามตา, ฉันทราคะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยตาและรูปสองอย่างนั้นต่างหาก เป็นเครื่องผูกล่ามที่ตาและรูปนั้น เพราะเหตุฉะนั้น การครองชีวิตประเสริฐเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ จึงปรากฏได้ ฯลฯ”

“พระผู้มีพระภาคก็ทรงมีพระจักษุ, พระผู้มีพระภาคก็ทรงเห็นรูปด้วยจักษุ, (แต่) ฉันทราคะไม่มีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า, พระผู้มีพระภาคทรงมีพระทัยหลุดพ้นดีแล้ว: พระผู้มีพระภาคก็ทรงมีพระโสต....พระฆานะพระชิวหา...พระกาย...พระทัย.... (แต่) ฉันทราคะไม่มีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคทรงมีพระทัยหลุดพ้นดีแล้ว"

🔅 “พระองค์ผู้เจริญ! ถึงแม้ข้าพระองค์ชราแล้ว เป็นผู้เฒ่าผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับก็ตาม ขอพระผู้มีพระภาคสุคตเจ้าโปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์แต่โดยย่อเถิด ข้าพระองค์คงจะเข้าใจความแห่งพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคได้เป็นแน่ ข้าพระองค์คงจะเป็นทายาทแห่งพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคได้เป็นแน่

"แน่ะมาลุงกยบุตร! ท่านเห็นเป็นประการใด? รูปทั้งหลายที่พึงรู้ด้วยจักษุอย่างใดๆ ซึ่งเธอยังไม่เห็น ทั้งมิเคยได้เห็น ทั้งไม่เห็นอยู่ ทั้งไม่เคยคิดหมายว่าขอเราพึงเห็น, ความพอใจ ความใคร่ หรือความรัก ในรูปเหล่านั้น จะมีแก่เธอไหม?”
🙏ทูลตอบ “ไม่มี พระเจ้าข้า”
"เสียง...กลิ่น...รส...โผฏฐพพะธรรมารมณ์ทั้งหลาย อย่างใดๆ เธอไม่ได้ทราบ ไม่เคยทราบ ไม่ทราบอยู่ และทั้งไม่เคยคิดหมายว่าเราพึงทราบ, ความพอใจ ความใคร่ หรือความรักในธรรมารมณ์เหล่านั้น จะมีแก่เธอไหม?”
🙏ทูลตอบ “ไม่มี พระเจ้าข้า”
“มาลุงกยบุตร! บรรดาสิ่งที่เห็นได้ยินรู้ทราบเหล่านี้ ในสิ่งที่เห็น เธอจักมีแค่เห็น ในสิ่งที่ได้ยิน จักมีแค่ได้ยิน ในสิ่งที่ลิ้มดมแตะต้อง จักมีแค่รู้ (รสกลิ่นแตะต้อง) ในสิ่งที่ทราบ จักมีแค่ทราบ"
"เมื่อใด (เธอมีแค่เห็นได้ยินได้รู้ได้ทราบ) เมื่อนั้น เธอก็ไม่มีด้วยนั้น (อรรถกถาอธิบายว่าไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำ), เมื่อไม่มีด้วยนั่น ก็ไม่มีที่นั่น (อรรถกถาว่า ไม่พัวพันหมกติดอยู่ในสิ่งที่ได้เห็นเป็นต้นนั้น), เมื่อไม่มีที่นั่น เธอก็ไม่มีที่นี่ ไม่มีที่โน่น ไม่มีระหว่างที่นี่ที่โน่น (ไม่ใช่ภพนี้ ไม่ใช่ภพโน้น ไม่ใช่ระหว่างภพทั้งสอง) นั่นแหละคือที่จบสิ้นแห่งทุกข์ (พระมาลุงกยบุตรสดับแล้ว กล่าวความตามที่ตนเข้าใจออกมาว่า)

“พอเห็นรูป สติก็หลงหลุด ด้วยมัวใส่ใจแต่นิมิตหมายที่น่ารัก แล้วก็มีจิตกำหนัดติดใจ เสวยอารมณ์ แล้วก็สยบอยู่กับอารมณ์นั้นเอง" "เวทนาหลากหลายอันก่อกำเนิดขึ้นจากรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้น จิตของเขาก็คอยถูกกระทบกระทั่ง ทั้งกับความอยากและความยุ่งยากใจ เมื่อสั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ ก็เรียกว่าไกลนิพพาน” “พอได้ยินเสียง..พอได้กลิ่น..พอลิ้มรส..พอถูกต้องโผฏฐพพะ..พอรู้ธรรมารมณ์ สติก็หลง หลุด ฯลฯ ก็เรียกว่าไกลนิพพาน”

“เห็นรูปก็ไม่ติดในรูป ด้วยมีสติมั่นอยู่, มีจิตไม่ติดใจ เสวยเวทนาไป ก็ไม่สยบกับอารมณ์นั้น; เขามีสติดำเนินชีวิตอย่างที่ว่า เมื่อเห็นรูป และถึงจะเสพเวทนา ทุกข์ก็มีแต่สิ้น ไม่สั่งสม; เมื่อไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ก็เรียกว่าใกล้นิพพาน” “ได้ยินเสียงได้กลิ่น ลิ้มรสถูกต้องโผฏฐพพะรู้ธรรมารมณ์ ก็ไม่ติดในธรรมารมณ์ด้วยมีสติมั่นอยู่ ฯลฯ ก็เรียกว่าใกล้นิพพาน

🔅 “ด้วยเหตุเพียงไร บุคคลชื่อว่าเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวาร? คนบางคนเห็นรูปด้วยตาแล้ว ย่อมน้อมรักฝากใจในรูปที่น่ารัก ย่อมขุ่นเคืองขัดใจในรูปที่ไม่น่ารัก มิได้มีสติกำกับใจ มิใจเล็กจ้อยอยู่ ไม่เข้าใจตามเป็นจริง ซึ่งความหลุดรอดปลอดพ้นของจิต และความหลุดรอดปลอดพ้นด้วยปัญญา ที่จะทำให้บาปอกุศลธรรมซึ่งเกิดขึ้นแล้วแก่ตัวเขา ดับไปได้โดยไม่เหลือ, ฟังเสียงด้วยหู สูดกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ต้องโผฏฐพพะด้วยกาย ทราบธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมน้อมรักฝากใจในธรรมารมณ์อันน่ารัก ย่อมขุ่นเคืองขัดใจในธรรมารมณ์อันไม่น่ารัก ๆลฯ”

“ด้วยเหตุเพียงไร บุคคลชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวาร? ภิกษุเห็นรูปด้วยตาแล้ว ย่อมไม่น้อมรักฝากใจในรูปที่น่ารัก ไม่ขุ่นเคืองขัดใจในรูปที่ไม่น่ารัก มีสติกำกับใจ เป็นอยู่อย่างผู้มีจิตกว้างขวาง ไม่มีประมาณ เข้าใจตามเป็นจริง ซึ่งความหลุดรอดปลอดพ้นของจิต และความหลุดรอดปลอดพันด้วยปัญญา ที่จะทำให้บาปอกุศลธรรมซึ่งเกิดขึ้นแล้วแก่ตัวเขา ดับไปได้โดยไม่เหลือ, ฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ ทราบธรรมารมณ์ด้วยใจ ย่อมไม่น้อมรักฝากใจในธรรมารมณ์อันน่ารัก ไม่ขุ่นเคืองขัดใจในธรรมารมณ์อันไม่น่ารัก ฯลฯ"

“ภิกษุทั้งหลาย อย่างไรจึงจะชื่อว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท? เมื่อภิกษุสังวรจักขุนทรีย์อยู่ จิตย่อมไม่ซ่านแส่ไปในรูปทั้งหลายที่พึงรู้ด้วยจักษุ, เมื่อมีจิตไม่ซ่านแส่ ปราโมทย์ก็เกิด, เมื่อมีปราโมทย์แล้ว ปีติก็เกิด, เมื่อมีใจปีติ กายก็สงบระงับ, ผู้มีกายสงบ ย่อมเป็นสุข, ผู้มีสุข จิตย่อมเป็นสมาธิ, เมื่อจิตเป็นสมาธิ ธรรมทั้งหลายก็ปรากฏ, เพราะธรรมทั้งหลายปรากฏ ผู้นั้นจึงนับว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท” (เกี่ยวกับโสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน ก็เช่นเดียวกัน)

🔅 "อานนท์ การอบรมอินทรีย์ ที่ยอดเยี่ยมในแบบแผนของอารยชน (อริยวินัย) เป็นอย่างไร? เพราะเห็นรูปด้วยตาเพราะได้ยินเสียงด้วยหู...เพราะได้กลิ่นด้วยจมูก...เพราะรู้รสด้วยลิ้น...เพราะต้องโผฏฐพพะด้วยกาย...เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ย่อมเกิดความชอบใจบ้าง เกิดความไม่ชอบใจบ้าง เกิดทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจบ้าง แก่ภิกษุ เธอเข้าใจชัดดังนี้ว่า ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรานี้ เป็นสิ่งปรุงแต่ง เป็นธรรมหยาบ เป็นของอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น, ภาวะต่อไปนี้จึงจะสงบประณีต นั่นคืออุเบกขา (ความมีใจเป็นกลาง), (ครั้นแล้ว) ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแก่เธอนั้น ก็ดับไป อุเบกขาก็ตั้งมั่น”

“สำหรับบุคคลผู้ใดก็ตาม ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป อุเบกขาย่อมตั้งมั่นได้เร็วพลันทันทีโดยไม่ยาก เสมือนคนหลับตาแล้วลืมตา หรือลืมตาแล้วหลับตา นี้เรียกว่า การอบรมอินทรีย์ที่ยอดเยี่ยมในแบบแผนของอารยชน..."

🔅 “ภิกษุทั้งหลาย ก่อนสัมโพธิ เมื่อยังเป็นโพธิสัตว์ ผู้ยังไม่ตรัสรู้ เราได้เกิดความดำริขึ้นดังนี้ว่า: อะไรเป็นคุณของจักษุ? อะไรเป็นโทษ (ข้อเสีย) ของจักษุ? อะไรเป็นทางออก (พ้นอาศัยเป็นอิสระ) แห่งจักษุ? อะไรเป็นคุณเป็นโทษเป็นทางออกแห่งโสตะ... ฆานะ..ชิวหา...กาย...มโน?”
“เราได้เกิดความคิดขึ้นดังนี้: สุข โสมนัส ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุ นี้คือคุณของจักษุ,
ข้อที่จักษุไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา นี้คือโทษของจักษุ
การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในเพราะจักษุเสียได้ นี้คือทางออกแห่งจักษุ
(ของโสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน ก็เช่นเดียวกัน)

“ตราบใด เรายังมิได้รู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งคุณของอายตนะภายใน ๖ เหล่านี้โดยเป็นคุณ ซึ่งโทษโดยเป็นโทษ, ซึ่งทางออกโดยเป็นทางออก, ตราบนั้นเราก็ยังไม่ปฏิญญาว่าเราบรรลุแล้วซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ..." (ต่อไปตรัสถึงคุณ โทษ ทางออกพ้นแห่งอายตนะภายนอก ๖ ในทำนองเดียวกัน) (ทบทวน คุณ, โทษ, ทางออก อายตนะ ๖ ดูใน 🔎มหาสติปัฎฐานสูตร หมวด อายตนะ)

🔅 “ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่รู้เห็นจักษุตามที่มันเป็น รู้เห็นรูปทั้งหลายตามที่มันเป็น รู้เห็นจักขุวิญญาณตามที่มันเป็น รู้เห็นจักขุสัมผัสตามที่มันเป็น รู้เห็นเวทนาอันเป็นสุข หรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย ตามที่มันเป็น ย่อมไม่ติดพันในจักษุ ไม่ติดพันในรูปทั้งหลาย ไม่ติดพันในจักขุวิญญาณ ไม่ติดพันในจักขุสัมผัส ไม่ติตพันในเวทนา อันเป็นสุขหรือทุกข์หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ที่เกิดเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย"

“เมื่อผู้นั้นไม่ติดพัน ไม่หมกมุ่น ไม่ลุ่มหลง รู้เท่าทันเห็นโทษตระหนักอยู่ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ย่อมถึงความไม่ก่อตัวพอกพูนต่อไป อนึ่ง ตัณหาที่เป็นตัวการก่อภพใหม่ อันประกอบด้วยนันทิราคะ คอยแต่เพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์ต่างๆ ที่จะถูกละไปเสียด้วย, ความกระวนกระวายทางกายก็ดี ความกระวนกระวายทางใจก็ดี ความเร่าร้อนกายก็ดี ความเร่าร้อนใจก็ดี ความกลัดกลุ้มทางกายก็ดี ความกลัดกลุ้มทางใจก็ดี ย่อมถูกเขาละได้"

“ผู้นั้นย่อมเสวยทั้งความสุขทางกาย ทั้งความสุขทางใจ, บุคคลผู้เป็นเช่นนั้นแล้ว มีความเห็นอันใด ความเห็นนั้นก็เป็นสัมมาทิฏฐิ, มีความดำริใด ความดำรินั้นก็เป็นสัมมาสังกัปปะ, มีความพยายามใด ความพยายามนั้นก็เป็นสัมมาวายามะ, มีความระลึกใด ความระลึกนั้นก็เป็นสัมมาสติ มีสมาธิใด สมาธินั้นก็เป็นสัมมาสมาธิ, ส่วนกายกรรม วจีกรรม และอาชีวะของเขา ย่อมบริสุทธิ์ดีมาแต่ต้นทีเดียว ด้วยประการดังนี้ เขาชื่อว่ามีอริยอัฏฐงคิกมรรค อันถึงความเจริญบริบูรณ์” (เกี่ยวกับโสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน ก็เช่นกัน)

🔅 บทที่ ๒ อายตนะ ๖
ประเภทของความรู้
ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้
    พุทธพจน์เกี่ยวกับอายตนะ
บันทึกพิเศษท้ายบท



ข. วิปลาส หรือวิปัลลาส ๓

 ข. วิปลาส หรือวิปัลลาส ๓

วิปลาส คือ ความรู้คลาดเคลื่อน ความรู้ที่ผันแปรผิดพลาดจากความเป็นจริง หมายถึง ความรู้คลาดเคลื่อนขั้นพื้นฐาน ที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด หลงผิด การลวงตัวเอง วางใจ วางท่าที ประพฤติ ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ต่อโลก ต่อชีวิต ต่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวง และเป็นเครื่องกีดกั้นขัดขวางบังตาไม่ให้มองเห็นสัจภาวะ วิปลาสมี ๓ อย่าง คือ

๑. สัญญาวิปลาส สัญญาคลาดเคลื่อน หมายรู้ผิดพลาดจากความเป็นจริง
๒. จิตตวิปลาส จิตคลาดเคลื่อน ความคิดผิดพลาดจากความเป็นจริง
๓. ทิฏฐิวิปลาส ทิฏฐิคลาดเคลื่อน ความเห็นผิดพลาดจากความเป็นจริง

วิปลาส ๓ประเภทนี้เรียงตามลำดับความมีกำลังแรงกว่ากัน

🔅 สัญญาวิปลาส หมายรู้คลาดเคลื่อน เช่น คนตกใจเห็นเชือกเป็นงู กาและกวางป่ามองหุ่นฟางสวมเสื้อกางเกงมีหม้อครอบ เห็นเป็นคนเฝ้านา คนหลงทางเห็นทิศเหนือเป็นทิศใต้ เห็นทิศใต้เป็นทิศเหนือ คนเห็นแสงไฟโฆษณากะพริบอยู่กับที่เป็นไฟวิ่ง เป็นต้น

🔅 จิตตวิปลาส ความคิดคลาดเคลื่อน เช่น คนบ้าคิดเอาหญ้าเป็นอาหารของตน คนจิตฟันเฟือนมองเห็นคนเข้ามาหาคิดว่าเขาจะทำร้าย คนเห็นเงาเคลื่อนไหวในที่มืดสลัวคิดวาดภาพเป็นผีหลอก กระต่ายตื่นตูมได้ยินเสียงลูกมะพร้าวหล่นคิดวาดภาพเป็นว่าโลกกำลังแตก เป็นต้น

🔅 ทิฏฐิวิปลาส ความเห็นคลาดเคลื่อน ตามปกติ สืบเนื่องมาจากสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสนั่นเอง เมื่อหมายรู้ผิดอย่างไร ก็เห็นผิดไปตามนั้น เมื่อคิดวาดภาพเคลื่อนคลาดไปอย่างไร ก็พลอยเห็นผิด เชื่อถือผิดพลาดไปตามอย่างนั้น เช่น เมื่อหมายรู้ผิดว่าเชือกเป็นงู ก็อาจลงความเห็นยึดถือว่าสถานที่บริเวณนั้นมีงูหรือมีงูชุม เมื่อหมายรู้ว่าผืนแผ่นดินเรียบราบขยายออกไปเป็นเส้นตรง ก็จึงลงความเห็นยึดถือว่าโลกแบน เมื่อคิดไปว่าสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น เป็นไป เคลื่อนไหวต่างๆ ก็ต้องมีผู้จัดแจงผลักดัน ก็จึงลงความเห็นยึดถือว่า ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม มีเทพเจ้าประจำอยู่และคอยบันดาล ดังนี้เป็นต้น

ตัวอย่างที่กล่าวมานี้เป็นชั้นหยาบที่เห็นง่ายๆ อาจเรียกอย่างภาษาพูดว่าเป็นความวิปลาสขั้นวิปริต ส่วนในทางธรรม ท่านมองความหมายของวิปลาสอย่างละเอียดถึงขั้นพื้นฐาน หมายถึงความรู้คลาดเคลื่อนชนิดที่มิใช่มีเฉพาะในบางคนบางกลุ่มเท่านั้น แต่มีในคนทั่วไปแทบทั้งหมดอย่างไม่รู้ตัว คนทั้งหลายตกอยู่ใต้อิทธิพลครอบงำของมัน และวิปลาสทั้ง ๓ ชนิดนั้นจะสอดคล้องประสานกันเป็นชุดเดียว วิปลาสขั้นละเอียดหรือขั้นพื้นฐานนั้น พึงเห็นตามบาลีดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส มี ๔ อย่างดังนี้: สื่อย่างอะไรบ้าง? (กล่าวคือ)
๑. สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ในสิ่งไม่เที่ยง ว่าเที่ยง
๒. สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นสุข
๓. สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ในสิ่งมิใช่ตัวตน ว่าตัวตน
๔. สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ในสิ่งที่ไม่งาม ว่างาม"

วิปลาสเหล่านี้ เป็นอุปสรรคต่อการฝึกอบรมเจริญปัญญา และก็เป็นเป้าหมายของการฝึกอบรมปัญญาที่จะกำจัดมันเสีย การพัฒนาความรู้และเจริญปัญญาตามวิธีที่กล่าวมาแล้ว ล้วนช่วยแก้ไขบรรเทาและกำจัดวิปลาสได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้โยนิโสมนสิการแบบสืบสาวหาเหตุปัจจัย และแยกแยะองค์ประกอบตรวจดูสภาวะ โดยมีสติพรั่งพร้อมอยู่

🔅 บทที่ ๒ อายตนะ ๖
ประเภทของความรู้
ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้
        ข. วิปลาส หรือวิปัลลาส ๓
บันทึกพิเศษท้ายบท


ก. สัจจะ ๒ ระดับ

ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้

เรื่องราวที่ควรทราบเกี่ยวกับความรู้ ยังมีอีกหลายอย่าง ไม่อาจแสดงไว้ในที่นี้ทั้งหมด จึงจะกล่าวอีกเพียงเรื่องเดียว คือ ความถูกต้องผิดพลาดของความรู้ และแม้ในหัวข้อนี้ ก็จะกล่าวถึงหลักที่ควรทราบเพียง ๒ อย่าง เท่านั้น

ก. สัจจะ ๒ ระดับ

ผู้สดับคำสอนในพระพุทธศาสนาบางคน เกิดความสับสน เมื่อได้อ่านได้ฟังข้อความบางอย่าง เช่น บางแห่งว่า ไม่ควรคบคนพาล ควรคบบัณฑิต คนพาลมีลักษณะอย่างนี้ๆ บัณฑิตมีลักษณะอย่างนี้ๆ ควรยินดีแต่ของของตน ไม่ควรอยากได้ของของผู้อื่น ตนเป็นที่พึ่งของตน คนควรช่วยเหลือกัน ดังนี้ เป็นต้น แต่บางแห่งว่าพึงพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงว่า กายก็แค่กาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา พึ่งรู้เท่าทันตามเป็นจริงว่าไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา สิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา ดังนี้เป็นต้น แล้วมองไปว่า คำสอนในทางพระศาสนาขัดแย้งกันเอง หรือไม่ก็งง แล้วไม่เข้าใจ หรือบางคนเข้าใจบ้างแต่ไม่ชัดเจนพอ ทำให้เกิดการปฏิบัติสับสนผิดพลาด ดำเนินชีวิตไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ในเวลาที่ควรพูดควรปฏิบัติตามความรู้ในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน กลับพูดหรือปฏิบัติด้วยความยึดถือในความรู้ตามสภาวะ เป็นต้น ทำให้เกิดความวุ่นวายและเสียหาย ทั้งแก่ตนและผู้อื่น

คัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม หวังจะช่วยป้องกันความสับสนผิดพลาดเช่นนี้ จึงสอนให้รู้จักแยกสัจจะหรือความจริง เป็น ๒ ระดับ กล่าวคือ (ความคิดเกี่ยวกับสัจจะ ๒ นี้ เริ่มแสดงออกเป็นคำบัญญัติในคัมภีร์กถาวัตถุ แต่ยังไม่ระบุแบ่งเป็นถ้อยคำชัดเจน คือ กล่าวถึง สมมติสัจจะ ใน อภิ.ก.๓๗/๑๐๖๒/๓๓๔ และกล่าวถึง สัจฉิกัตถปรมัตถ์ และ ปรมัตถ์ ใน อภิก ๓๗/๓-๑๙๐/๑-๘๓: การระบุชัดปรากฏใน ปญจ.อ.๑๕๓,๒๔๑ นอกจากนี้มีกล่าวถึงและใช้อธิบายธรรมในที่อื่นหลายแห่ง เช่น ม.อ.๑/๒๙๙ = ส.อ.๒/๑๖; ธ.อ.๗/๕๖; สงคณี มูลฎีกา ๑๖๕, ๒๘๐, ๒๔๗, สงคณี อนุฎีกา ๓๒๘, วิสุทธิ ฎีกา ๒/๑๔๐; อุ.อ.๕๐๑; อิติ.อ.๒๑๓; สงคห.ฎีกา ๒๕๕)

    🔅 ๑. สมมติสัจจะ ความจริงโดยสมมติ (เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โวหารสัจจะ ความจริงโดยโวหารหรือโดยสำนวนพูด) คือ จริงตามมติร่วมกัน ตามที่ได้ตกลงกันไว้ หรือหมายรู้ร่วมกัน เป็นเครื่องมือสื่อสาร พอให้สำเร็จประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น คน สัตว์ คนดี คนชั่ว โต๊ะ เก้าอี้ หนังสือ เป็นต้น (conventional truth) ตัวอย่างที่พอเทียบให้เห็นเค้า เช่น ภาษาสามัญพูดว่า น้ำ ว่า เกลือ เป็นต้น

    🔅 ๒. ปรมัตถสัจจะ ความจริงโดยปรมัตถ์ คือ จริงตามความหมายสูงสุด ตามความหมายแท้อย่างยิ่งหรือ ตามความหมายแท้ขั้นสุดท้ายที่ตรงตามสภาวะและเท่าที่พอจะกล่าวถึงได้ หรือพอจะยังพูดให้เข้าใจกันได้เพื่อสำหรับให้เกิดความรู้ความเข้าใจเท่าทันความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย คือ รู้จักสิ่งเหล่านั้นตามที่มันเป็น และเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด คือ การหยั่งรู้สัจธรรม ที่จะทำให้ความยึดติดถือมั่นหลงผิดทั้งหลายสลายหมดไป ทำให้วางใจวางท่าที่ต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ มีจิตใจเป็นอิสระ ปลอดโปร่ง ผ่องใส เบิกบาน มีความสุขที่แท้จริง

สิ่งที่เป็นจริงโดยปรมัตถ์ เช่น นามธรรม รูปธรรม เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ผัสสะ เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ ฯลฯ (ultimate truth) ตัวอย่างที่พอเทียบให้เห็นเค้า เช่น ในทางวิทยาศาสตร์ถือว่า คำว่า น้ำ ว่า เกลือ เป็นต้น ยังไม่ตรงสภาวะแท้ อาจมีแง่ความหมายที่คลุมเครือ หรือเขวได้ น้ำแท้ๆ คือ Hydrogen Oxide (H,0) เกลือสามัญก็เป็น Sodium Chloride (NaCl) จึงถูกแท้ ดังนี้เป็นต้น (ข้อเปรียบเทียบนี้ไม่ใช่ตรงกันแท้ แต่เทียบพอให้เห็นว่า ในวิชาการอื่น ก็มีการมองเห็นความจริงด้านอื่น ของสิ่งสามัญ)

อย่างไรก็ดี ความคิดเกี่ยวกับสมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ ที่ท่านระบุออกมาเป็นคำบัญญัติในพระอภิธรรมนั้น ก็ยกเอาความในพระสูตรนั่นเองเป็นที่อ้าง แสดงว่า ความคิดความเข้าใจเรื่องนี้ เป็นของมีแต่เดิม แต่ในครั้งเดิมนั้น คงเป็นที่เข้าใจกันดี จนไม่ต้องระบุคำบัญญัติ ๒ คำนี้ ข้อความในพระสูตรที่ท่านยกมาอ้างนั้นเป็นคำของพระภิกษุณีชื่อวชิรา มีเนื้อความดังนี้

“นี่แน่ะมาร! ท่านจะมีความเห็นยึดถือว่าเป็นสัตว์ได้อย่างไร, ในสภาวะที่เป็นเพียงกองแห่งสังขารล้วนๆ นี้ จะหาตัวสัตว์ไม่ได้เลย" เปรียบเหมือนว่า เพราะคุมส่วนประกอบเข้าด้วยกัน ศัพท์ว่า รถ ย่อมมี ฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ สมมติว่าสัตว์ ก็ย่อมมี ฉันนั้น

ความคล้ายกันนี้ ที่เน้นในแง่ปฏิบัติ คือ ความรู้เท่าทันสมมติ และเข้าใจปรมัตถ์ แล้วรู้จักใช้ภาษา เป็นเครื่องสื่อความหมาย โดยไม่ยึดติดในสมมติเป็นทาสของภาษา สามารถยกบาลีที่เป็นพุทธพจน์มาอ้างได้อีกหลายแห่ง เช่น "ภิกษุผู้เป็นอรหันตขีณาสพ..จะพึงกล่าวว่า ฉันพูด ดังนี้ก็ดี เขาพูดกับฉัน ดังนี้ก็ดี เธอเป็นผู้ฉลาด รู้ถ้อยคำที่เขาพูดกันในโลก ก็พึงกล่าวไปตามโวหารเท่านั้น เหล่านี้เป็นโลกสมัญญา เป็นโลกนิรุติ เป็นโลกโวหาร เป็นโลกบัญญัติ ซึ่งตถาคต์ใช้พูดจา แต่ไม่ยึดติด”

อนึ่ง พระอรรถกถาจารย์บรรยายลักษณะของพระสูตร (สุตตันตปิฎก) ว่าเป็น โวหารเทศนา เพราะเนื้อหาส่วนมากแสดงโดยโวหาร คือ ใช้ภาษาสมมติ ส่วนพระอภิธรรมเป็น ปรมัตถเทศนา เพราะเนื้อหาส่วนมากแสดงโดยปรมัตถ์ คือ กล่าวตามสภาวะแท้ๆ นี้เป็นข้อสังเกตเพื่อประดับความรู้อย่างหนึ่ง

🔅 บทที่ ๒ อายตนะ ๖
ประเภทของความรู้
ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้
        ก. สัจจะ ๒ ระดับ
บันทึกพิเศษท้ายบท




วันพุธ

ง. จำแนกโดยกิจกรรมและผลงานของมนุษย์

ง. จำแนกโดยกิจกรรมและผลงานของมนุษย์

ความรู้ที่จัดโดยกิจกรรมและผลงานของมนุษย์ ได้แก่ความรู้ที่เนื่องด้วยปฏิบัติการทางสังคม เช่น การสื่อสาร ถ่ายทอด แสวงหา เอ่ยอ้าง นับถือ สังกัด และที่เป็นมรดกตกทอดต่อกันมา เป็นสมบัติของมวลมนุษย์ เป็นความเจริญก้าวหน้าของอารยธรรม ความรู้ที่จัดตามแนวนี้ พอจำแนกได้เป็น ๓ อย่าง คือ

๑. สุตะ หรือ สุติ ความรู้ที่ได้สดับ เล่าเรียน หรือถ่ายทอดต่อกันมา แบ่งย่อยได้เป็น ๒
    ก) ความรู้ที่ได้สดับตรับฟัง บอกเล่า สอนเรียน ถ่ายทอดต่อกันมา โดยทั่วไปนิยมเรียกว่า สุตะในทางพระพุทธศาสนาถือว่า สุตะเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญมาก เมื่อมองในแง่ของพัฒนาการทางปัญญา ท่านจัดเข้าเป็นปรโตโฆสะ และเน้นปรโตโฆสะที่ดี โดยฐานเป็นปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ การเรียนการสอน ข่าวสาร ความรู้ประเภทตำรับตำรา และตำนานทั้งหลาย เป็นสุตะ แม้พระสูตรทั้งหลายในพระไตรปิฎกก็เป็นสุตะ (ทุกสูตรตามปกติขึ้นต้นว่า เอวมเม สุต)
    ข) ความรู้ที่บางศาสนาถือว่าได้รับการเปิดเผยแจ้งดลใจจากองค์บรมเทพ เช่น พราหมณ์ถือว่าพระเวทเป็นความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดจากพระพรหมโดยตรง ความรู้ในข้อนี้มักเรียกชื่อจำเพาะว่า สุติ ตรงกับคำสันสกฤตว่า ศรุติ แต่ในทางพระพุทธศาสนาไม่ถือเป็นความรู้พิเศษต่างหากออกไป จึงรวมเข้าในประเภทสุตะเหมือนกันหมด จะเรียกว่า สุตะ หรือสูติ ก็มีค่าทางปัญญาไม่ต่างกัน ความแตกต่างอยู่ที่เนื้อหาสาระ

๒. ทิฏฐิ ความเห็น ทฤษฎี ลัทธิ ความเชื่อถือต่างๆ ได้แก่ ความรู้ที่ได้ลงข้อสรุปให้แก่ตนอย่างใดอย่างหนึ่ง ประกอบด้วยความยึดถือผูกพันกับตัวตน หรือมีลักษณะอาการที่อาจให้เกิดการถือแบ่งเป็นของเขาของเราเป็นต้นได้ ดังเคยกล่าวถึงแล้วในข้อก่อน แต่ที่จัดเข้าในชุดนี้ เพราะมองในแง่สังคมโดยฐานเป็นกิจกรรมและผลงานของมนุษย์ ในเมื่อความยึดถือนั้นขยายออกมา มีการแสดงหรือเผยแพร่ความเห็นออกไป มีผู้เชื่อถือหรือยึดถือตาม อาจมีการรวมหมู่รวมกลุ่ม ตลอดจนจัดตั้งเป็นสำนัก เป็นต้น ทิฏฐินี้ (ตรงกับคำสันสกฤตว่า ทฤษฏิ) มีไวพจน์มากมายหลายคำ แต่ที่ใช้มากยิ่งและควรทราบคือ ขันติ (ข้อที่เห็นเข้ากันได้, หลักการที่เห็นสม) รุจิ (ข้อที่ถูกใจ, หลักการที่ชื่นชอบ) และ ลัทธิ (ข้อที่ได้ไว้, หลักการหลักความเชื่อ หลักปฏิบัติที่คิดขึ้นได้ หรือถือเป็นการได้รับผล) รวมทั้งความเชื่อทางศาสนา

๓. ญาณ ความรู้ ความหยั่งรู้ ความรู้บริสุทธิ์ ความรู้ตรงตามสภาวะ หรือปัญญาที่ทำงานออกผลเป็นเรื่องๆ หรือมองเห็นตลอดสายในด้านหนึ่งๆ ญาณเป็นความรู้ระดับสุดยอดของปัญญามนุษย์ และเป็นผลสำเร็จสำคัญของมนุษย์ ญาณไม่ว่าจะเป็นโลกิยญาณหรือโลกุตรญาณ เป็นส่วนผลักดันสำคัญให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในอารยธรรมของมนุษยชาติ ญาณที่ยิ่งใหญ่สูงสุดเรียกชื่อเฉพาะว่า โพธิ หรือ โพธิญาณ แปลกันว่า ความตรัสรู้ พระพุทธเจ้าทรงบรรลุ สัมมาสัมโพธิญาณ จึงทำให้เกิดพระพุทธศาสนา เป็นดวงตาใหญ่ของโลก 

นอกจากนี้ ยังมีวิธีจำแนกความรู้อย่างอื่นอีก ซึ่งอาจถือว่าเป็นวิธีเบ็ดเตล็ด เอาความรู้ในชุดต่างๆ ที่กล่าวแล้วข้างต้นมาคลุกเคล้าเข้าหมวดกัน เช่นแห่งหนึ่งท่านกล่าวไว้ สรุปได้เป็นความรู้ต่างชนิด ดังนี้
๑. อิติหะ อิติกิรา ปรัมปรา ความรู้ที่ได้จากการบอกกล่าว เล่าลือ ตรับฟัง เล่าเรียนถ่ายทอด นำสืบกันมา
๒. ปิฏกสัมปทา ความรู้ตามแบบแผนตำรา
๓. ตักกะ นยะ อาการปริวิตก ความรู้ที่ได้จากการคิดหาเหตุผล คือ ตรรก อนุมาน การตริตรองตามแนวเหตุผล
๔. ทิฏฐนิชฌานักขันติ ความรู้ที่พิจารณาเห็นสมกับหรือยอมรับเข้าเป็นทิฏฐิหรือทฤษฎีของตน
๕. สยมภิญญา หรือสักขิธรรม ความรู้ที่ได้ด้วยรู้แจ้งชัดประจักษ์กับตัว (เป็นอัตตประจักษ์) ขยายความว่า ความรู้ที่ได้เห็นจริง ได้รู้จริง ได้ฟังเหตุผล ได้ไตร่ตรอง ได้ทำให้แจ่มชัด ปรากฏชัดแล้ว

🔅 บทที่ ๒ อายตนะ ๖
ประเภทของความรู้
        ง. จำแนกโดยกิจกรรมและผลงานของมนุษย์
ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้
บันทึกพิเศษท้ายบท




วันอังคาร

ค. จำแนกโดยพัฒนาการทางปัญญา (ภายในบุคคล)

 ค. จำแนกโดยพัฒนาการทางปัญญา (ภายในบุคคล)

เมื่อพิจารณาในแง่พัฒนาการ ความรู้ที่อยู่ในขอบเขตซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องก็คือ ความรู้ประเภทที่เป็นภาเวตัพพธรรม (สิ่งที่ควรเจริญหรือฝึกปรือ) ส่วนความรู้ประเภทปริญไญยธรรม (สิ่งที่ควรกำหนดรู้หรือรู้จัก) ก็เป็นอันไม่ต้องกล่าวถึง ดังนั้น ความรู้ที่เรียกว่า วิญญาณ จึงไม่จัดเข้าในหัวข้อนี้ ความรู้ที่อยู่ในขอบเขตของการฝึกอบรม จำแนกได้เป็น ๓ ประเภท เรียงตามลำดับแห่งพัฒนาการ หรือความเจริญแก่กล้า ที่ออกผลมาเป็นอย่างๆ ดังนี้

    ๑. สัญญา ความกำหนดได้ หมายรู้ ได้แก่ ความรู้ที่เกิดจากการกำหนดหมาย หรือจำได้หมายรู้ซึ่งบันทึกไว้เป็นแบบสำหรับเทียบเคียงและเป็นวัตถุดิบของการรู้และการคิดต่อๆ ไป แบ่งได้เป็น ๒ พวก ดังได้อธิบายแล้วใน🔎ความรู้ชุด ก. เมื่อว่าโดยคุณภาพในกระบวนการพัฒนาความรู้ จะเห็นได้ว่า สัญญาที่เกิดขึ้นตามปกติในกระบวนการรับรู้ คือ สัญญาชั้นต้นทั้งหลายก็ดี สัญญาที่หมายรู้ตามความรู้ความเข้าใจที่เจริญเพิ่มพูนขึ้นในการฝึกอบรมปัญญาก็ดี แม้ว่าอาจแตกต่างกันได้เป็นความรู้หลายระดับ ตั้งแต่รู้คลุมเครื่อถึงรู้ชัดเจน ตั้งแต่รู้บางแง่ถึงรู้สมบูรณ์ ตั้งแต่รู้ผิดพลาดถึงรู้ถูกต้อง ก็เป็นเพียงเรื่องของการรู้และไม่รู้เท่านั้น จึงนับว่าเป็นเรื่องของความรู้และการพัฒนาความรู้โดยตรง ส่วนสัญญาฟ้ามเฟ้อที่เรียกว่า ปปัญจสัญญา หรือ กิเลสสัญญา มีลักษณะตรงข้าม คือ เป็นเครื่องกีดกั้น ปิดบัง และบิดเบือนความรู้

    ๒. ทิฏฐิ ความเห็น ความเข้าใจโดยนัยเหตุผล ความจริงในความคิด หรือความรู้ที่ผสมปรุงแต่งจับถือเอาด้วยความคิด ได้แก่ ความรู้ที่ลงข้อสรุปอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือในทางใดทางหนึ่ง และประกอบด้วยความยึดถือโดยอาการผูกพันกับตัวตน อาจเป็นความรู้ที่มาจากแหล่งภายนอก แต่ได้คิดกลั่นกรองยอมรับเอาหรือสรุปเข้าเป็นของตนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความรู้ที่มีเหตุผลมากหรือน้อย หรือแม้ไม่มีเหตุผลเลยก็ตาม ตัวอย่างทิฏฐิ เช่น สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง เข้าใจว่ามีอัตตาที่คงอยู่ยั่งยืนตลอดไป อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปโดยไม่มีเหตุปัจจัย เป็นต้น

    ๓. ญาณ ความรู้ ความหยั่งรู้ เป็นไวพจน์คำหนึ่งของปัญญา แต่มักใช้ในความหมายที่จำเพาะกว่า คือเป็นปัญญาที่ทำงานออกผลมาเป็นเรื่องๆ เช่น กัมมัสสกตาญาณ ความหยั่งรู้ภาวะที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตน อตีตังสญาณ ปรีชาหยั่งรู้ส่วนอดีต สัจจานุโลมิกญาณ ความหยั่งรู้สอดคล้องกับสัจจะ ฐานาฐานญาณ ปรีชาหยังรู้การณ์ที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ นานาธิมุตติกญาณ ปรีชาหยั่งรู้อัธยาศัย แนวโน้มความเชื่อความสนใจของสัตว์ทั้งหลายที่ต่างๆ กัน เป็นต้น กล่าวได้ว่า ญาณ คือ ความรู้บริสุทธิ์ที่ผุดโพลงสว่างแจ้งขึ้น มองเห็นตามสภาวะของสิ่งนั้นๆ หรือเรื่องนั้นๆ แม้ว่าญาณจะมีหลายระดับ บางที่เป็นความรู้ผิด บางที่เป็นความรู้บางส่วน ไม่สมบูรณ์ แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นความรู้บริสุทธิ์ หรือความรู้ล้วนๆ เพราะยังไม่มีความรู้สึกของตัวตนหรือความยึดถือเป็นของตนเข้าไปจับ บางครั้งญาณเกิดขึ้นโดยอาศัยความคิดเหตุผล แต่ญาณนั้นเป็นอิสระจากความคิดเหตุผล คือไม่ต้องขึ้นต่อความคิดเหตุผล แต่ออกไปสัมพันธ์กับตัวสภาวะที่เป็นอยู่จริง ข้อนี้นับว่าเป็นลักษณะที่แตกต่างกันอย่างหนึ่งระหว่างทิฏฐิกับญาณ กล่าวคือ ความรู้แบบทิฏฐิเข้ามาอิงความยึดถือและความคิดเหตุผลข้างใน ส่วนความรู้ที่เรียกว่าญาณออกไปสัมผัสกับตัวสภาวะที่เป็นอยู่ข้างนอกโดยตรง (สงคห.ฎีกา ๑๐๒ แสดงความแตกต่างระหว่างทิฏฐิกับญาณว่า:- ทิฏฐิมีลักษณะยึดถือว่านี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ, ญาณรู้อารมณ์ตามสภาวะ ทิฏฐิละสภาวะตามที่เป็นเสีย ถือเอาโดยมิใช่ตามที่เป็น)

ในขั้นพื้นฐาน สัญญาเป็นวัตถุดิบของความรู้และความคิดต่างๆ ดังนั้น ความรู้อีก ๒ ประเภท คือ ทิฏฐิและญาณ จึงต้องอาศัยสัญญา ทิฏฐิเกิดจากสัญญาอย่างไร มองเห็นได้ไม่ยาก เมื่อกำหนดหมายหรือหมายรู้สิ่งต่างๆ อย่างไร ก็ชวนให้ลงความเห็นสรุปเอาว่าเป็นอย่างนั้นๆ และสัญญาที่กำหนดหมายต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว แม้ใช้ได้สำเร็จประโยชน์บางอย่างในการดำเนินชีวิต แต่ก็มักกลายเป็นเครื่องกำบังปิดกั้นไม่ให้เห็นความจริงด้านอื่นๆ ของสิ่งนั้น ดังนั้น เมื่อไม่ใคร่ครวญวิเคราะห์ให้ดี คนก็ถูกสัญญาหลอกเอาหรือปิดบังปัญญาเอาได้ และชีวิตของมนุษย์ที่เป็นอยู่ก็ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้มิใช่น้อย ทิฏฐิที่ผิดก็เกิดขึ้นเพราะสัญญาผิดบ้าง ใช้สัญญาไม่ถูกต้องบ้าง มีบาลีแห่งหนึ่งกล่าวถึงทิฏฐิที่เกิดจากสัญญาว่า “ทิฏฐิแม้เพียงเล็กน้อย ซึ่งเกิดจากสัญญา ถูกสัญญาจัดแต่ง เกี่ยวกับสิ่งที่เห็นก็ดี สิ่งที่ได้ยินก็ดี สิ่งที่ได้สบทราบก็ดี ในโลกนี้ ย่อมไม่มีแก่พระอรหันต์นั้น, อธิบายว่า ทิฏฐิ ซึ่งสัญญาก่อให้เกิดขึ้น กำหนดขึ้น ปรุงแต่งจัดแจงไว้ เพราะเหตุที่ทิฏฐิมีสัญญาเป็นหัวหน้า มีสัญญาเป็นเจ้าการใหญ่ และถือต่างกันด้วยสัญญานั้น เกี่ยวกับสิ่งที่เห็นก็ดี ฯลฯ ย่อมไม่มีแก่พระอรหันตขีณาสพ (ขุ.ม.๒๙/๑๗๓/๑๓๓ (ไขความ ขุ.สุ.๒๕๔๑๒/๔๙๑-๒); และพึ่งอ้าง อ.อ.๔๗๒ ซึ่งกล่าวว่า “สัญญาเป็นนิมิต (ร่องรอยหรือจุดก่อตัว) ของทิฏฐิปปัญจะ”)


สัจจะที่แน่แท้ในโลก มิใช่จะมีต่างๆ มากหลาย นอกจากสัญญา (ทำให้เห็นต่างๆ กันไป) ญาณก็ต้องอาศัยสัญญาจึงเกิดขึ้นได้ ดังบาลีว่า “นี่แน่ะโปฏฐบาท! สัญญาย่อมเกิดก่อน ญาณย่อมเกิดทีหลัง, และเพราะสัญญาเกิดขึ้นญาณจึงเกิดขึ้น" อีกแห่งหนึ่งข้อความว่า “ท่านไม่ได้เห็นสัญญาแม้สักหน่อยจากนี่” ไขความว่า ท่านไม่ได้สัญญาในสิ่งที่เคยประกอบหรือสัญญาในสิ่งที่เคยถึง หรือสัญญาในลักษณะ หรือสัญญาในเหตุ หรือ สัญญาในฐานะ จากนี้ คือ จากความสงบภายใน หรือจากการปฏิบัติ หรือจากธรรมเทศนาท่านจะได้ญาณจากที่ไหน

บุรุษหนึ่งมองเห็นใบไม้แก่ร่วงหล่น บังเกิดวิปัสสนาญาณสว่างขึ้น มองเห็นความเป็นอนิจจังของสิ่งทั้งหลาย ญาณนั้นอาศัยสัญญามากหลายเป็นเค้า เช่น สัญญาเกี่ยวกับชีวิตและความทรงตัวอยู่ของสิ่งทั้งหลายเกี่ยวกับความแก่ ความทรุดโทรม เกี่ยวกับการร่วงหล่น ความตาย ความสิ้นสุด เกี่ยวกับเบื้องบน เบื้องล่าง เป็นต้น ปัญญาที่มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสัญญาเหล่านั้นอย่างทั่วถึง ทำให้เกิดญาณดังกล่าวแล้วนั้น หรือตัวอย่างเกี่ยวกับโลกิยญาณอย่างอื่น เช่น นายนิวตันมองเห็นผลแอปเปิลตกลงมา เกิดความรู้สว่างแจ้งเห็นกฎแห่งความดึงดูด ความรู้โพลงทั่วนั้นก็อาศัยสัญญามากหลายเป็นเค้า เช่น สัญญาเกี่ยวกับการร่วงหล่นและการเข้าหากันระหว่างสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับช่องว่าง เกี่ยวกับแรง เกี่ยวกับการดึงการเหนี่ยว การเคลื่อนที่ การหลุดหนี การลอย เส้นตรง เส้นคดโค้ง เป็นต้น ปัญญาที่มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสัญญาเหล่านั้นอย่างทั่วตลอดในด้านหนึ่ง ทำให้เกิดความหยั่งรู้นั้นขึ้น 

ญาณก็ทำให้เกิดทิฏฐิได้
ตัวอย่างที่ชัดในคัมภีร์ เช่น พกพรหมมีญาณระลึกชาติได้ตลอดกาลยาวนาน อย่างดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด มองเห็นสัตว์อื่นทั้งหลายเกิดดับนับไม่ถ้วน แต่ตนเองคงอยู่อย่างเดิมตลอด จึง
เกิดทิฏฐิ คือ ยึดถือความเห็นขึ้นว่า สถานะแห่งพรหมนั้นยั่งยืนคงที่ มีอยู่ตลอดกาลนิรันดร พรหมเป็นผู้สร้างผู้บันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง หรืออย่างผู้เกิดความหยั่งรู้ดังท่านนิวต้นนั้น ครั้นความหยั่งรู้สว่างแจ้งเกิดขึ้น ใช้ความหยั่งรู้หรือญาณนั้น มองดูสภาวะทั้งหลาย ก็เห็นเป็นไปอย่างนั้น แต่ไม่เห็นปรุโปร่งตลอดไปทุกกรณีโดยสิ้นเชิง มีติดหรือเคลือบคลุมบ้างในบางจุดบางด้าน ความรู้นั้นก็อาจต้องถูกยึดถือไว้โดยอาการที่เรียกได้ว่าเป็นทิฏฐิ ทิฏฐิระดับสูงมักเกิดจากการได้ญาณบางอย่างขึ้นก่อน ส่วนทิฏฐิก็เป็นเครื่องหนุนช่วยให้เกิดญาณได้เหมือนกัน ดังจะเห็นได้ว่า ทิฏฐิไม่น้อย เป็นผลความคิดและเป็นข้อยึดถือของปราชญ์ผู้มีปัญญามาก และเป็นทิฏฐิที่มีเหตุผลมาก ดังนั้น ถ้าไม่มีความยึดติตในทิฏฐินั้นเหนียวแน่นจนเกินไป และรู้จักสดับรู้จักมองรู้จักใช้ปัญญาพินิจพิจารณา ก็ย่อมมีโอกาสมากที่จะเกิดญาณซึ่งช่วยให้ก้าวหน้าต่อไป และสามารถทำลายจุดที่ยังติดตันผ่านต่อไปได้

เมื่อทิฏฐิก็ดี ญาณก็ดี เกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมมีการกำหนดหมาย หรือหมายรู้ตามทิฏฐิหรือตามญาณนั้นเกิดเป็นสัญญาใหม่ขึ้นอีก ทิฏฐิและญาณจึงทำให้เกิดสัญญาซึ่งเป็นวัตถุดิบของความรู้และความคิดอื่นสืบต่อไป ข้อแตกต่างกันคือ ทิฏฐิมักพลอยทำให้เกิดสัญญาใหม่ที่ผิดพลาด ส่วนญาณจะช่วยให้เกิดสัญญาที่ถูกต้อง และแก้สัญญาที่ผิดพลาด ความรู้ที่ออกรูปมา ๓ แบบ ในกระบวนการพัฒนาปัญญาภายในบุคคลนี้ พึงพิจารณาโดยสัมพันธ์กับวิธีทำให้เกิดปัญญา ๓ วิธี ที่ท่านแสดงไว้ในเรื่อง ปัญญา ๓ ประเภท ด้วย คือ

        ๑. จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิดการพิจารณาหาเหตุผลด้วยตนเอง
        ๒. สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการสดับเล่าเรียนหรือถ่ายทอดต่อกันมา
        ๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการลงมือปฏิบัติฝึกหัดอบรม

นอกจากตัววิธีที่เป็นหลักใหญ่แล้ว ยังมีกิจกรรมอีกหลายอย่างที่พึงใช้ประกอบในกระบวนการก่อให้เกิดปัญญา โดยเฉพาะในวิธีที่ ๓ กิจกรรมที่สำคัญๆ คือ การฟัง ซักถาม สอบค้น (สวนะ และปริปุจฉา) การสนทนา ถกเถียง อภิปราย (สากัจฉา) การสังเกตดู เฝ้าดู ดูอย่างพินิจ (ปัสสนะ และนิชฌาน) การพิจารณาโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ หรือ โยนิโสอุปปริกขา) การชั่งเหตุผล (ตุลนา) การไตร่ตรอง ตรวจสอบ ทดสอบ สอบสวน ทดลอง และเฟ้น (วิมังสา และวิจัย) การเสพคุ้น ฝึกหัด ทำบ่อย ทำให้มาก (อาเสวนะ ภาวนา และพหุลีกรณ์) การคิด การเล่าเรียนสดับฟัง และการปฏิบัติฝึกปรือ ย่อมเป็นเครื่องช่วยให้สัญญา ทิฏฐิและญาณนั้นเกิดมีใหม่ขึ้นบ้าง ก้าวหน้าเพิ่มพูนขึ้นบ้าง ได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องขึ้นบ้างว่าที่จริง สุตะคือความรู้ที่ได้เล่าเรียนสดับมา ก็ดี การคิดอะไรได้ต่างๆ ก็ดี และปัญญาที่รู้เข้าใจอย่างนั้น อย่างนี้ ก็ดี ย่อมเป็นความรู้แบบต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวบุคคลด้วยเหมือนกัน แต่ความรู้ที่จะออกผลเป็นชิ้นเป็นอันเป็นรูปสำเร็จขึ้นในตัวบุคคล ก็คือ ความรู้ ๓ อย่างข้างต้น คือ สัญญา ทิฏฐิ และญาณนั้น อาจพูดได้ว่าสัญญาทิฏฐิ และญาณ ก็คือ ผลข้างปลายของสุตะ จินตา และภาวนานั่นเอง

เมื่อความรู้ออกรูปเป็นสัญญา ทิฏฐิ และญาณแล้ว ย่อมมีผลต่อชีวิตของบุคคลมาก สัญญามีอิทธิพลยิ่งต่อการรับรู้ การมองเห็น การเข้าใจโลกรอบตัว และการที่จะสร้างความรู้อย่างอื่นต่อๆ ไป ทิฏฐิตั้งแต่ความยึดถือลัทธิศาสนา และอุดมการณ์ต่างๆ ตลอดลงมาจนถึงค่านิยมต่างๆ เป็นตัวชี้นำแนวทางแห่งพฤติกรรมและวิถีชีวิตของบุคคลได้ทั้งหมด ส่วนความรู้ประเภทญาณ เป็นความรู้กระจ่างชัดและลึกซึ้งที่สุด เป็นผลสำเร็จทางปัญญาสูงสุดที่มนุษย์จะทำได้ สามารถชำระล้างลงไปถึงจิตสันดานของบุคคล สร้างหรือเปลี่ยนแปลงท่าทีแห่งการมองโลกและชีวิต ที่เรียกว่าโลกทัศน์และชีวทัศน์ได้ใหม่ มีผลต่อพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของบุคคลอย่างเด็ดขาดและแน่นอนยั่งยืนยิ่งกว่าทิฏฐิ ความรู้ชุดนี้ สัมพันธ์กับความรู้ที่จำแนกอีกแบบหนึ่ง ในชุดต่อไปด้วย

พึ่งเทียบบาลีว่า: ชนเหล่าใดคิดคาดคะเน อิงอาศัยทิฏฐิคู่นี้ คือ ภวทิฏฐิและวิภวทิฏฐิ ชนเหล่านั้นย่อมไม่มีญาณในนิโรธ (และ) จึงเป็นเหตุให้ชาวโลกมีสัญญาวิปริต (ขุ.ปฏิ.๓๑/๒๕๕/๒๔๐)

🔅 บทที่ ๒ อายตนะ ๖
ประเภทของความรู้
        ค. จำแนกโดยพัฒนาการทางปัญญา (ภายในบุคคล)
ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้
บันทึกพิเศษท้ายบท

ข. จำแนกโดยทางรับรู้

ข. จำแนกโดยทางรับรู้

กล่าวตามพุทธธรรม ผัสสะ เป็นแหล่งแห่งความรู้ ความรู้ทั้งหมดทุกอย่างทุกประเภทเกิดจากผัสสะหรือเกิดขึ้นที่ผัสสะ คืออาศัยการรับรู้ โดยผ่านอายตนะ (แดนรับรู้) ทั้ง ๖ หรือเรียกง่ายๆ ว่าผ่านทวาร (ทางรับรู้ทั้ง ๖ คือ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน หรือเรียกง่ายๆ ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ดังอธิบายแล้วข้างต้น

ถ้าถือ อายตน หรือ ทวาร เป็นหลัก โดยฐานเป็นต้นทางของการรับรู้ ก็สามารถจัดกลุ่มความรู้ ได้เป็น๒ ประเภท คือ
        ๑. ความรู้ (ที่ได้) ทางปัญจทวาร หรือเบญจทวาร คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้แก่ ความรู้ชั้นต้นหลายอย่าง คือ ความรู้รูป (สี) เสียง กลิ่น รส และโผฏฐพพะ (สิ่งต้องกายทั้งหลาย ซึ่งสรุปลงได้ใน ปฐวี-สภาวะแข้นแข็ง เตโช-ความร้อนหรืออุณหภูมิ และวาโย-ความสั่นไหว เคลื่อนและเคร่งตึง)
        ๒. ความรู้ (ที่ได้) ทางมโนทวาร คือ ใจ ได้แก่ ธรรมารมณ์ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ธรรม กล่าวคือ สิ่งทั้งหลายที่ใจรู้ที่ใจคิด ธรรมารมณ์ หรือ ธรรม นี้ ว่าตามแนวอภิธรรม” ท่านแยกแยะให้เห็นชัดขึ้นอีกว่า มี ๕
            ก. เวทนาขันธ์ (หมายถึงเวทนาในฐานะเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ข้อต่อๆ ไปก็พึงเข้าใจเช่นเดียวกัน)
            ข. สัญญาขันธ์
            ค. สังขารขันธ์
            ง. อนิทัสสนอัปปฏิฆรูป (รูปที่เห็นไม่ได้ กระทบหรือถูกต้องไม่ได้) อันนับเนื่องในธรรมายตนะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สุขุมรูป มี ๑๖ อย่าง คือ อาโป (อาโปธาตุ คือสภาวะดึงดูดซึมซาบ) อิตถีภาวะ (ความเป็นหญิง) ปุริสภาวะ (ความเป็นชาย) หทัยรูป (ที่ตั้งแห่งใจ) ชีวิตินทรีย์ อาหารรูป (หมายถึงโอชา) อากาส (คืออวกาศหรือช่องว่าง) กายวิญญัติ (การสื่อความหมายด้วยกาย) วจีวิญญัติ (การสื่อความหมายด้วยวาจา) วิการรูป ๓ คือ ลหุตา (ความเบา) มุทุตา (ความอ่อนนุ่ม) กัมมัญญตา (ความควรแก่งาน) และลักขณรูป ๔ คือ อุปจยะ (ความก่อตัวหรือเติบขึ้น) สันตติ (ความสืบต่อ) ชรตา (ความทรุดโทรม) อนิจจตา (ความแปรสลาย)
            จ. อสังขตธาตุ คือ นิพพาน

คัมภีร์อภิธรรมชั้นหลัง ประสงค์จะให้เข้าใจง่ายและละเอียดยิ่งขึ้น ได้จัดแบ่งธรรมารมณ์ คือ สิ่งที่เป็นความรู้ทางใจนี้ อีกแบบหนึ่ง โดยจำแนกเป็น ๖ อย่าง คือ
        ๑) ปสาท หรือประสาททั้ง ๕ คือ ความใสหรือความไวที่เป็นตัวสื่อรับรู้ของตา หู จมูก ลิ้น กาย
        ๒) สุขุมรูป ๑๖ (ที่กล่าวแล้วในข้อ ๔) ของชุดก่อน
        ๓) จิต
        ๔) เจตสิก (ตรงกับเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ในชุดก่อน)
        ๕) นิพพาน
        ๖) บัญญัติ คือ คำเรียกขาน ชื่อเรียก คำกำหนดที่วางไว้ เช่น ชื่อเรียกว่า พื้นดิน ภูเขา รถ คน ทิศเหนือ ทิศใต้ หลุม บ่อ เกาะ แหลม เป็นต้น ซึ่งตัวจริงของสิ่งที่บัญญัติเรียกนั้น เป็นของมีจริงก็มี ไม่มีอยู่จริง ก็มี แต่จะมีหรือไม่มีก็ตาม คำบัญญัตินั้น ก็เป็นกาลวินิมุต คือไม่ขึ้นต่อกาลและไม่พินาศ เช่น ช่องว่างที่ลึกลงไปในแผ่นดินเราเรียกว่าหลุม ช่องเช่นนั้นมีที่ไหน เมื่อใด ก็เรียกว่าหลุม คงที่เสมอไป แต่หลุมต่างหากจากช่องในแผ่นดินหามีไม่ และหลุมเองทุกๆ หลุม ย่อมตื้นเขิน ย่อมพัง ย่อมเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นอื่นได้ หรือ เช่น สิ่งที่เรียกว่าสัญญา ย่อมเกิดดับเสื่อมสลายไป แต่บัญญัติว่าสัญญาหาเสื่อมสลายไม่ เพราะสิ่งที่มีภาวะเช่นนั้นเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อใด ก็เรียกว่าสัญญาเสมอไป (ถ้าได้ตกลงไว้อย่างนั้น) หรือเช่น สิ่งที่เป็นร่างกายย่อมทรุดโทรมแตกสลายได้ แต่บัญญัติว่ากายย่อมคงที่ ของอย่างนั้น เกิดที่ไหนพบที่ไหน ก็เรียกอย่างนั้นตามบัญญัติ ผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องบัญญัตินี้ อาจงงหรือสับสน เมื่อได้ฟังคำว่า เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง เป็นต้น โดยจับไม่ถูกว่าเนื้อตัวของเวทนาและสัญญาไม่เที่ยง หรือ บัญญัติของเวทนาและสัญญาไม่เที่ยง

พูดด้วยภาษาทางวิชาการอย่างนี้ อาจเข้าใจยากสักหน่อย โดยเฉพาะความรู้ทางมโนทวารบางอย่าง ๆ คนอาจแยกไม่ออกจากความรู้ทางปัญจทวาร ถ้าสามารถแยกได้ ก็จะเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น ขอยกตัวอย่างเช่น เมื่อได้ยินคนพูด ความรู้ทางปัญจทวาร (ในที่นี้ ได้แก่ โสตทวาร คือหู) เป็นเพียงความรู้เสียง คือได้ยินเสียงเท่านั้น หาใช่รู้คำพูดไม่ ส่วนการรู้คำพูด คือความหมายของถ้อยคำนั้นๆ ว่าเขาพูดอะไรๆ เป็นความรู้ที่เกิดในมโนทวาร หรือเมื่อมองดูหลังคา ความรู้ทางปัญจทวาร (ในที่นี้ ได้แก่จักขุทวาร คือตา) เป็นเพียงความรู้รูปหรือรู้สีเท่านั้น หาใช่รู้หลังคาไม่ การรู้ภาวะที่คลุม ที่มุง ที่ปกป้อง และรู้ความเป็นหลังคา สำเร็จได้ที่มโนทวาร โดยนัยนี้ จะเห็นว่า ความรู้ทางใจ หรือความรู้ธรรมารมณ์ คือสิ่งที่ใจรู้ หรือเรื่องในใจนั้น มีขอบเขตกว้างขวางมาก ครอบคลุมไปถึงความรู้ที่รับเข้ามาทางปัญจทวาร พร้อมทั้งความรู้ที่เป็นเรื่องจำเพาะของใจ ถ้าพูดด้วยภาษาง่ายลงสักหน่อย อาจแยกประเภท ความรู้ทางมโนทวาร ได้อีกแนวหนึ่ง ดังนี้
    ก) อารมณ์เฉพาะของใจ เช่น ความรัก ความโกรธ ความขุ่นมัว ผ่องใส ดีใจ เสียใจ ซึม เศร้า เหงาหงอย ว้าเหว่ เบิกบาน กล้าหาญ หวั่นกลัว เป็นต้น
    ข) อารมณ์อดีต ซึ่งได้รับรู้ไว้ด้วยอายตนะ ๕ อย่างแรก เรียกง่ายๆ ว่า อารมณ์อดีตของปัญจทวาร
    ค) อารมณ์ที่เนื่องอยู่กับรูปธรรมที่เป็นอารมณ์ของปัญจทวารนั้นเอง แต่วิญญาณทางปัญจทวารนั้นไม่รู้ ได้แก่ บัญญัติ และความสัมพันธ์ต่างๆ เกี่ยวกับรูปธรรมทั้งหลาย เช่น หน้าที่ความสืบเนื่อง ความคลี่คลายขยายตัว ความเป็นองค์ประกอบกัน ของรูปธรรมต่างๆ เป็นต้น
    ง) การปรุงแต่งอารมณ์อดีตที่รับเข้ามาทางปัญจทวาร พร้อมทั้งอารมณ์เฉพาะของใจและความรู้ เกี่ยวกับบัญญัติและความสัมพันธ์ต่างๆ ขึ้นเป็นความตริตรึก คิดหาเหตุผลและจินตนาการต่างๆ ตลอดจนการวินิจฉัยสั่งการ
    จ) ความหยั่งรู้ หรือปรีชาพิเศษต่างๆ ที่ผุดโพลงขึ้นในใจสว่างชัดทั่วตลอด เช่น มองเห็นอาการที่สัมพันธ์กันของบางสิ่งแล้ว เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้ง มองเห็นกฎแห่งความสัมพันธ์นั้น ได้แก่ความรู้ที่เรียกว่า ญาณ เช่น อภิญญา เป็นต้น
    ฉ) อสังขตธรรม คือนิพพาน

ถ้าจับเอาตรงแค่ผัสสะ โดยถือว่าเป็นจุดที่ความรู้เริ่มต้นอย่างแท้จริง ก็แยกประเภทความรู้เป็น ๒ คือ ความรู้ (ที่ได้) ด้วยผัสสะทางปัญจทวาร และความรู้ (ที่ได้) ด้วยมโนสัมผัส (ผัสสะทางมโนทวาร) ซึ่งก็ได้ความเท่ากับที่จำแนกโดยทวารอย่างที่กล่าวมาแล้ว อีกอย่างหนึ่ง ตามความนิยมในคัมภีร์ทั้งหลาย ท่านจัดความรู้ตามทางรับรู้ เป็น ๔ ประเภท คือ

๑. ทิฏฐะ สิ่งที่เห็น ได้แก่ รูปารมณ์ทั้งหลาย หรือความรู้ที่ได้ด้วยการเห็นการดู
๒. สุตะ สิ่งที่ได้ยิน ได้แก่ เสียง และความรู้ที่ได้ด้วยการสดับทั้งหลาย
๓. มุตะ สิ่งที่สบทราบ ได้แก่ กลิ่น รส และโผฏฐพพะ หรือสิ่งที่รับรู้ทางจมูก ลิ้น และกาย
๔. วิญญาตะ สิ่งที่แจ้งใจ ได้แก่ ธรรมารมณ์ กล่าวคือ สิ่งทั้งหลายที่รู้ด้วยใจ

สามอย่างแรก คือ ทิฏฐะ สุตะ และมุตะ เป็นความรู้ทางปัญจทวาร แต่ท่านแยกออกเป็น ๓ พวก เพราะการเห็น และการได้ยิน เป็นแหล่งความรู้สำคัญ มีขอบเขตกว้างขวางมาก จึงแยกเป็นแต่ละอย่าง ส่วนความรู้ทางทวารอีกสาม ได้แก่ ทางจมูก ลิ้น และกาย มีลักษณะร่วมกันคือ เป็นความรู้ของทวาร ซึ่งรับอารมณ์ที่มาถึงตัว คือ กลิ่น รส และโผฏฐพพะ ต้องมาถูกต้องที่อายตนะจึงรู้ได้ ต่างจากตา หู ซึ่งรับอารมณ์ที่ไม่มาแตะต้องถึง อายตนะ (รูปอาศัยแสง เสียงอาศัยคลื่น เป็นสื่อเชื่อมต่อ) ว่าโดยความหมายอย่างเคร่งครัด ความรู้ทางปัญจทวารมีขอบเขตจำกัดแคบมากดังกล่าวแล้วข้างต้น แต่ ตามที่ใช้ทั่วไป ท่านมุ่งเอาความหมายกว้างๆ หลวมๆ กล่าวคือ

ทิฏฐะ หมายถึง สิ่งที่เห็น และความรู้ที่ได้ด้วยอาศัยตาหรือด้วยการดูการเห็นทั้งหมด แม้ที่ใจได้แปลความหมายออกไปแล้ว แต่ยังเป็นความหมายโดยตรง ขั้นต้น ที่ไม่มีการปรุงแต่งเสริมต่อ
สุตะ ก็หมายถึงสิ่งที่ได้ยินและความรู้ที่ได้จากการฟังทั้งหมด รวมทั้งถ้อยคำพูดจา ซึ่งใจได้แปลความหมายขั้นต้นแล้ว แต่ยังไม่ได้เอาไปปรุงแต่งต่อเสริมอีก
มุตะ ก็พึงทราบทำนองเดียวกันนี้

หากจะใช้คำศัพท์ ความรู้ทางปัญจทวาร คือ ทิฏฐะ สุตะ และมุตะ นี้ กินความหมายกว้างออกมาได้
เพียงแค่ปัญจทวาริกสัญญา คือ สัญญาที่เป็นไปทางปัญจทวาร นอกจากนั้นไปก็เป็น
วิญญาตะ คือ ความรู้ที่อาศัยมโนทวาร

🔅 บทที่ ๒ อายตนะ ๖
ประเภทของความรู้
        ข. จำแนกโดยทางรับรู้
ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้
บันทึกพิเศษท้ายบท


วันพุธ

ประเภทของความรู้ (อายตนะ ๖)

ประเภทของความรู้

เมื่อพูดถึงกระบวนการรับรู้แล้ว ก็ควรกล่าวถึงประเภทของความรู้ไว้ด้วย แม้ว่าจะต้องกล่าวถึงอย่างยนย่อก็ตาม ว่าตามแนวพุทธธรรม อาจแยกประเภทของความรู้ได้หลายนัย ดังนี้

ก. จำแนกโดยสภาวะ หรือโดยธรรมชาติของความรู้
วิธีจำแนกตามสภาวะอย่างง่ายๆ ก็คือ จำแนกตามหลักขันธ์ ๕ ความรู้เป็นนามธรรมจำพวกหนึ่ง ซึ่ง
กระจายอยู่ในนามขันธ์ (ขันธ์ที่เป็นนามธรรม หรือหมวดนามธรรม) ๓ ขันธ์ คือ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ความรู้ที่จำแนกตามสภาวะของขันธ์ ได้แก่ สัญญา วิญญาณ และปัญญา

๑. สัญญา คือ ความรู้ทั้งหมดที่อยู่ในสัญญาขันธ์ ได้แก่ ความกำหนดได้ หมายรู้ รวมทั้งความรู้ที่เกิด
จากการกำหนดหมาย หรือหมายรู้แล้วบันทึกเก็บรวมไว้เป็นวัตถุดิบของความคิดต่อๆ ไป ทำให้มีการรู้จัก จำได้ รู้ เข้าใจ และคิดได้ยิ่งๆ ขึ้นไป

สัญญา แบ่งตามอารมณ์ คือ สิ่งที่หมายรู้ หรือ กำหนดจดหมายไว้ มี ๖ ชนิด คือ รูปสัญญา (สัญญาเกี่ยวกับรูป) สัททสัญญา (สัญญาเกี่ยวกับเสียง) คันธสัญญา (สัญญาเกี่ยวกับกลิ่น) รสสัญญา (สัญญาเกี่ยวกับรส) โผฏฐพพสัญญา (สัญญาเกี่ยวกับสิ่งต้องกาย) ธัมมสัญญา (สัญญาเกี่ยวกับเรื่องในใจหรือสิ่งที่ใจรู้และนึกคิด) ว่าโดยสภาพปรุงแต่ง สัญญาอาจแบ่งคร่าวๆ ได้ ๒ ระดับ คือ
        ๑) สัญญาชั้นต้น ได้แก่ ความหมายรู้ลักษณะอาการตามสภาวะของสิ่งนั้นๆ โดยตรง เช่น หมายรู้ว่า สีเขียว ขาว ดำ แดง แข็ง อ่อน รสเปรี้ยว หวาน รูปร่างกลม แบน ยาว สั้น เป็นต้น รวมทั้งความหมายรู้เกี่ยวกับบัญญัติต่างๆ ว่า แมว ว่าโต๊ะ ว่าเก้าอี้ ฯลฯ
    ๒) สัญญาซ้อนเสริม ได้แก่ ความหมายรู้ไปตามความคิดปรุงแต่ง หรือตามความรู้ความเข้าใจในระดับต่างๆ เช่น หมายรู้ว่า สวย ว่าน่าเกลียด น่าชัง ว่าไม่เที่ยง ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นต้น ถ้าแยกย่อยออกไปสัญญาซ้อนเสริมหรือสัญญาสืบทอดนี้ก็แบ่งได้เป็น ๒ พวก คือ
            ๒.๑) สัญญาซึ่งเกิดจากความคิดปรุงแต่งที่เป็นอกุศล เรียกว่า ปปัญจสัญญา คือสัญญาฟ่ามเผือหรือซับซ้อนหลากหลาย ซึ่งเกิดจากการแต่งเสริมเติมต่อให้พิสดาร ของตัณหา มานะ และทิฏฐิ เรียกอีกอย่างหนึ่งตามสำนวนอรรถกถาบางแห่งว่า กิเลสสัญญา แปลว่าสัญญาที่เกิดจากกิเลส หรือสัญญาที่ประกอบด้วยกิเลส (สัญญาเจือกิเลส) สัญญาพวกนี้ถูกกิเลสปรุงแต่งให้ฟันเฟือและห่างเหเฉไฉออกไปจากทางแห่งความรู้ ไม่เป็นเรื่องของความรู้ แต่เป็นเรื่องของการที่จะให้เกิดโลภะ โทสะ โมหะ แทนที่จะช่วยให้เกิดความรู้ กลับเป็นเครื่องปิดกั้นบิดเบือนความรู้ ดังได้เคยอธิบายแล้วข้างต้น ยกตัวอย่างเช่น หมายรู้ลักษณะที่ตนถือว่าน่าชัง หมายรู้ลักษณะอาการที่สนองความอยากได้อยากเอา หมายรู้ลักษณะอาการที่ตนเป็นคนยิ่งใหญ่ หมายรู้ลักษณะอาการในผู้อื่นที่ตนถือว่าต่ำต้อยด้อยกว่า หมายรู้ภาวะที่ตนเป็นเจ้าของ เป็นผู้ครอบครอง ฯลฯ
            ๒.๒) สัญญาที่เกิดจากความคิดดีงาม หรือเกิดจากความรู้ความเข้าใจถูกต้อง เรียกว่า กุศลสัญญา บ้างวิชชาภาคิยสัญญา (สัญญาที่ช่วยให้เกิดวิชชา) บ้าง หรือเรียกชื่ออื่นๆ ในทำนองนี้บ้าง เป็นสัญญาที่ช่วยส่งเสริมความเจริญปัญญาและความงอกงามแห่งกุศลธรรม เช่น หมายรู้ลักษณะอาการที่ชวนให้เกิดความเป็นมิตร หมายรู้ลักษณะอาการซึ่งแสดงภาวะที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ภาวะที่เป็นของไม่เที่ยง ภาวะที่ไร้ตัวตน เป็นต้น พระอรหันต์ก็มีสัญญา แต่เป็นสัญญาที่ปราศจากอาสวะ คือสัญญาไร้กิเลส พระอรหันต์ก็หมายรู้ปปัญจสัญญาตามที่ปุถุชนเข้าใจ หรือตามที่ท่านเองเคยเข้าใจเมื่อครั้งยังเป็นปุถุชน แต่ท่านหมายรู้เพียงเพื่อเป็นความรู้ เพื่อใช้ประโยชน์ เช่นในการช่วยแก้ไขปัญหาของผู้อื่น ไม่หมายรู้ในแง่ที่จะมีตัวตนออกรับความกระทบ แม้ผู้ปฏิบัติธรรมก็พึ่งดำเนินตามแนวทางเช่นนั้น

 (- สัญญาชั้นต้น เรียกว่า ปัญจทวาริกสัญญา แปลว่าสัญญาที่เป็นไปทางปัญจทวาร คือ ความหมายรู้เกี่ยวกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐพพะ)(ดู ม.อ.๓/๔๓๔) สัญญาอื่นๆ ต่อจากนี้ไป เป็นสัญญาทางมโนทวารทั้งหมด
- ตัวอย่างแสดงสัญญาที่เกิดจากความคิดปรุงแต่ง “เมื่อเขาดำรงอยู่ในสัญญาอย่างยอด (สัญญาละเอียดประณีตสุด) ก็เกิดมีความคิดว่า เมื่อเราคิดจำนง ก็จะมีแต่เสีย เราไม่คิดจำนง จะดีกว่า, หากว่าเราจะพึงคิดจำนงคิดปรุงแต่ง สัญญาเหล่านี้ก็คงจะดับไปเสีย และสัญญาอื่นที่หยาบก็จะพึงเกิดขึ้น อย่ากระนั้นเลย เราจะไม่จำนงละ จะไม่คิดปรุงแต่งละ” (ที.ส.๔/๒๕๖/๒๒๙) สัญญาอย่างยอด = 🔎อากิญจัญญายตนะ)

๒. วิญญาณ คือความรู้ทั้งหมดที่อยู่ในหมวดวิญญาณขันธ์ ได้แก่ ความรู้ยืนโรงที่เป็นกิจกรรมประจำของจิต และซึ่งคอยรู้กิจกรรมอย่างอื่นทุกอย่างของจิต ดังได้อธิบายแล้วในบทที่ ๑ ว่าด้วย 🔎 ขันธ์ ๕


๓. ปัญญา เป็นความรู้หลักในหมวดสังขารขันธ์ ความหมายของปัญญาได้แสดงไว้แล้วพอสมควร ในบทที่ ๑ จึงจะไม่กล่าวซ้ำในที่นี้ แต่นอกจากปัญญาที่เป็นความรู้หลักแล้ว ในหมวดสังขารขันธ์ ยังมีข้อธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความรู้อีกหลายอย่าง ซึ่งสัมพันธ์กับปัญญาในแง่ช่วยเกื้อหนุนบ้าง เป็นขั้นตอนในระหว่างของการพัฒนาปัญญาบ้าง เป็นคู่เทียบฝ่ายตรงข้ามที่แสดงความมี ความขาด ความลด ความเพิ่มของปัญญาบ้าง กล่าวคือ
        ๓.๑) ศรัทธา คือ ความเชื่อ ความซาบซึ้ง ไม่ใช่ความรู้ แต่อาจเป็นทางเชื่อมต่อนำไปสู่ความรู้ได้ เพราะ ศรัทธามีลักษณะเป็นการยอมรับความรู้ของผู้อื่น ฝากความไว้วางใจในปัญญาของผู้อื่น ยอมฟัง และอาศัยความรู้ของผู้อื่นหรือแหล่งแห่งความรู้นั้นเป็นเครื่องชี้นำแก่ตน ถ้าผู้มีศรัทธารู้จักคิตรู้จักใช้ปัญญาของตนเป็นทุนประกอบไป ศรัทธานั้นก็สามารถนำไปสู่ความเจริญปัญญาและการรู้ความจริงได้ เฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อผู้อื่นนั้นหรือแหล่งความรู้นั้นมีความรู้แท้จริง และมีกัลยาณมิตรช่วยชี้แนะให้รู้จักใช้ปัญญา แต่ถ้าเชื่ออย่างงมงายคือไม่รู้จักคิด ไม่ใช้ปัญญาของตนเลย และผู้อื่นหรือแหล่งแห่งความรู้นั้นไม่มีความรู้จริง ทั้งไม่มีกัลยาณมิตรที่จะช่วยชี้แนะ หรือมีปาปมิตร ผลอาจกลับตรงข้าม นำไปสู่ความหลงผิด ห่างไกลจากความรู้ยิ่งขึ้น
        ๓.๒) ทิฏฐิ คือ ความเห็น ความเข้าใจตามแนวความคิดของตน เป็นขั้นตอนสำคัญในกระบวนการพัฒนาปัญญา เพราะความรู้ความเข้าใจของมนุษย์ปุถุชน ที่ต่อจากขั้นขึ้นต่อผู้อื่นด้วยศรัทธา ก้าวมาสู่การมีความคิดความเข้าใจหรือมีสิ่งที่เรียกว่าเหตุผลของตนเองประกอบ พอจะนับได้ว่าเป็นความเข้าใจของตนเอง ก็คือ ทิฏฐิ บางครั้งทิฏฐิก็สัมพันธ์กับศรัทธาอย่างใกล้ชิด หรือถึงกับเป็นคนละแง่ของเรื่องเดียวกัน กล่าวคือ แง่ที่เป็นการมอบความไว้วางใจไว้ในความรู้ของผู้อื่น ยอมไปตามปัญญาของเขา (แล่นออกหรือพุ่งไปหา) เป็นศรัทธา ส่วนแง่ที่เป็นการรับเอาความรู้นั้นหรือสิ่งที่เขาบอกให้นั้นมายึดถือทำเป็นของตน (รับมาถือหรือเอาเข้ามา) เป็นทิฏฐิ ลักษณะสำคัญของทิฏฐิ คือการยึดถือเป็นของตน ความรู้ที่เป็นทิฏฐินี้มีได้ตั้งแต่ขั้นไม่มีเหตุผลเลย จนถึงมีเหตุผลบ้างและมีเหตุผลมาก เมื่อใดทิฏฐินั้นพัฒนาขึ้นไปจนเป็นความรู้ ความเห็น ความเข้าใจ ที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง คือ ตรงตามสภาวะ ก็เรียกว่า เป็นสัมมาทิฏฐิ และจัดเป็นปัญญา เมื่อปัญญานั้นเจริญขึ้นจนมองเห็นสภาวะนั้นด้วยตนเองอย่างชัดแจ้งสมบูรณ์แล้ว ก็ไม่ต้องยึดถือความรู้นั้นเป็นของตน เพราะความจริงแท้ดำรงอยู่อย่างเป็นกลางๆ ไม่ต้องมีที่อ้างที่ยัน เป็นอันเลยพ้นขั้นของทิฏฐิไปเอง แต่เพราะทิฏฐิพ่วงอยู่กับความยึดถือเป็นของตน ทิฏฐิจึงมักก่อให้เกิดผลเสีย ถ้ายึดถือเหนียวแน่น แม้จะเป็นทิฏฐิที่ใกล้เคียงความจริงอย่างมาก แต่ก็กลายเป็นเครื่องปิดบังขวางกั้นไม่ให้เข้าถึงความจริงนั้น
( -ไม่พึงปะปนกับคำว่าทิฏฐิ ที่หมายถึงความดื้อดึงในความเห็น ตามที่ใช้ในภาษาไทย (ทิฏฐินี้ รูปสันสกฤตเป็นทฤษฎี แต่ก็มีความหมายไม่ตรงกันนักกับคำว่าทฤษฎีที่ใช้ในภาษาไทย)
- ไวพจน์บางคำของทิฏฐิ คือ อภินิเวส ปรามาส และ อุปาทาน (ซึ่งลึกลงไปย่อมมีตัณหาเป็นปัจจัย) ดู อภิวิ.๓๕๓๑๒/๒๐๐)
        ๓.๓)โมหะ คือ ความหลง ความไม่รู้ เป็นไวพจน์ของคำว่า “อวิชชา” หมายถึงความไม่รู้ตามความเป็นจริง ไม่รู้ตรงตามสภาวะ เป็นภาวะตรงข้ามกับปัญญา โดยเฉพาะปัญญาที่เรียกชื่อเฉพาะว่า วิชชา พูดอย่างสามัญว่า โมหะหรืออวิชชา คือความไม่รู้นี้ เป็นภาวะพื้นเดิมของคนซึ่งจะต้องกำจัดให้หมดไปด้วยวิชชา คือความรู้ หรือด้วยการฝึกอบรมเจริญปัญญา อย่างไรก็ตาม แม้จะเล่าเรียนศิลปวิทยาต่างๆ มากมาย และใช้ศิลปวิทยาเหล่านั้นทำกิจประกอบการต่างๆ ได้มากมาย แต่ถ้าไม่ช่วยให้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ไม่มองเห็นสังขารธรรมทั้งหลายหรือโลกและชีวิตตามสภาวะของมันแล้ว ศิลปวิทยาเหล่านั้น ก็เป็นเพียงสุตะ คือสิ่งที่สดับถ่ายทอดกันไปเท่านั้น ยังไม่เป็นปัญญาแท้จริง ไม่สามารถกำจัดโมหะหรืออวิชชาได้ และไม่อาจแก้ปัญหาพื้นฐานของชีวิตได้สำเร็จ บางที่จะแก้แต่กลายเป็นก่อปัญหาขึ้นใหม่ เหมือนคนต้องการแสงสว่าง แสวงหารวบรวมพื้นและเชื้อไฟชนิดต่างๆ มามากมาย ถึงจะรวมมาได้เท่าใด และจะปฏิบัติอย่างไรต่อฟื้นและเชื้อไฟเหล่านั้น จะตกแต่งประดับประดา ประดิดประดอยอย่างไร แต่ตราบใดที่ยังมิได้จุดไฟขึ้น ก็ไม่อาจให้แสงสว่างเกิดขึ้นได้
        ๓.๔) ปัญญา ที่เป็นตัวความรู้ในสังขารขันธ์นั้น เป็นสิ่งที่จะต้องทำให้เกิดให้มีขึ้น ต้องฝึกปรือ ทำให้เจริญเพิ่มพูนขึ้นไปโดยลำดับ ปัญญาจึงมีหลายขั้นหลายระดับ และมีชื่อเรียกต่างๆ ตามขั้นของความเจริญบ้าง ตามทางเกิดของปัญญานั้นบ้าง ตามลักษณะเฉพาะของปัญญาชนิดนั้นบ้าง อันจะพึงศึกษาความหมายของแต่ละอย่างสืบต่อไป จะขอยกชื่อของปัญญามาให้ดูเป็นตัวอย่าง เช่น ปริญญา ญาณ วิชชา อัญญา อภิญญา พุทธิ โพธิ สัมโพธิ เป็นต้น

สัญญา วิญญาณ และปัญญา แตกต่างกันอย่างไร ได้อธิบายแล้วในบทที่ ๑ ว่าด้วยขันธ์ ๕ ข้อที่ควรไว้ ณ ที่นี้ มีเพียงอย่างเดียวคือ
🔅วิญญาณ เป็นปริญไญยธรรม คือ เป็นสิ่งที่เราควรกำหนดรู้ หรือทำความรู้จักมันตามสภาวะของมันเท่านั้น เราไม่มีหน้าที่ที่จะต้องทำอะไรต่อมันอีก เพราะถึงอย่างไร มันก็ทำหน้าที่ของมันอยู่อย่างนั้น
🔅สัญญา โดยทั่วไปเป็นปริญไญยธรรม คือเป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้หรือทำความรู้จักเท่านั้น แต่สัญญาเจือกิเลสหรือปปัญจสัญญา เป็นปหาตัพพธรรม คือ เป็นสิ่งที่ควรละหรือกำจัดให้สิ้นไป ส่วนสัญญาที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาความรู้ และส่งเสริมกุศลธรรม เป็นภาเวตัพพธรรม คือ สิ่งที่ควรเจริญ ควรทำให้เกิดให้มี และให้เพิ่มพูนขึ้นจนใช้ประโยชน์ได้บริบูรณ์
🔅ปัญญา เป็นภาเวตัพพธรรม คือ เป็นสิ่งที่ควรฝึกอบรม ทำให้เกิดให้มี และให้เจริญยิ่งขึ้นไป จนทำลายโมหะหรืออวิชชาได้โดยสิ้นเชิง

🔅 บทที่ ๒ อายตนะ ๖
ประเภทของความรู้
        ก. จำแนกโดยสภาวะ หรือโดยธรรมชาติของความรู้
ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้
บันทึกพิเศษท้ายบท