คุณค่าทางจริยธรรม

คุณค่าทางจริยธรรม

๑. อายตนะเป็นจุดเริ่มต้น และเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของทางแยกระหว่างกุศลกับอกุศล ทางสายหนึ่งนำไปสู่ความประมาทมัวเมา ความชั่ว และการหมกติดอยู่ในโลก อีกสายหนึ่งนำไปสู่ความรู้เท่าทัน การประกอบกรรมดี และความหลุดพ้นเป็นอิสระ ความสำคัญในเรื่องนี้อยู่ที่ว่า หากไม่มีการฝึกฝนอบรมให้เข้าใจและปฏิบัติในเรื่องอายตนะอย่างถูกต้องแล้ว ตามปกติมนุษย์ทั่วไปจะถูกชักจูงล่อให้ดำเนินชีวิตในทางที่มุ่งเพื่อเสพเสวยโลก เที่ยวทำการต่างๆ เพียงเพื่อแสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐพพะที่ชอบใจ และความสนุกสนานบันเทิงต่างๆ มาปรนเปรอตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย และใจอยากของตน พอกพูนความโลภ โกรธ หลง แล้วก่อให้เกิดความวุ่นวายเดือดร้อนทั้งแก่ตนและผู้อื่น

พอจะเห็นได้ไม่ยากว่า การเบียดเบียนกัน การขัดแย้งแย่งชิง การกดขี่บีบคั้น เอารัดเอาเปรียบกัน ตลอดจนปัญหาสังคมต่างๆ ที่เกิดเพิ่มขึ้น และที่แก้ไขกันไม่สำเร็จ โดยส่วนใหญ่แล้ว ก็สืบเนื่องมาจากการดำเนินชีวิตแบบปล่อยตัว ให้ถูกล่อถูกชักจูงไปในทางที่จะปรนเปรออายตนะอยู่เสมอ จนเคยชินและรุนแรงยิ่งขึ้นๆ นั่นเอง คนจำนวนมาก บางที่ไม่เคยได้รับการเตือนสติให้สำนึกหรือยั้งคิด ที่จะพิจารณาถึงความหมายแห่งการกระทำของตน และอายตนะที่ตนปรนเปรอบ้างเลย และไม่เคยปฏิบัติเกี่ยวกับการฝึกอบรมหรือสังวรระวังเกี่ยวกับอายตนะหรืออินทรีย์ของตน จึงมีแต่ความลุ่มหลงมัวเมายิ่งๆ ขึ้น การแก้ไขทางจริยธรรมในเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งอยู่ที่การสร้างความเข้าใจให้รู้เท่าทันความหมายของอายตนะและสิ่งที่เกี่ยวข้องว่าควรจะมีบทบาทและความสำคัญในชีวิตของตนแค่ไหน เพียงไร และอีกส่วนหนึ่ง ให้มีการฝึกฝนอบรมด้วยวิธีประพฤติปฏิบัติเกี่ยวกับการควบคุม การสำรวมระวังใช้งาน และรับใช้อายตนะเหล่านั้นในทางที่จะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ชีวิตของตนเองและแก่สังคม

๒. อายตนะเป็นแหล่งที่มาของความสุขความทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายแห่งการดำเนินชีวิตทั่วไปและความเพียรพยายามเฉพาะกิจแทบทุกอย่างของปุถุชน ด้านสุขก็เป็นการแสวงหา ด้านทุกข์ก็เป็นการหลีกหนีนอกจากสุขทุกข์จะเกี่ยวเนื่องกับปัญหาความประพฤติดีประพฤติชั่วที่กล่าวในข้อ ๑ แล้ว ตัวความสุขทุกข์นั้น ก็เป็นปัญหาอยู่ในตัวของมันเอง ในแง่ของคุณค่า ความมีแก่นสาร และความหมายที่จะเข้าพึ่งพาอาศัยมอบกายถวายชีวิตให้อย่างแท้จริงหรือไม่

คนไม่น้อย หลังจากระดมเรี่ยวแรงและเวลาแห่งชีวิตของตนวิ่งตามหาความสุขจากการเสพเสวยโลกจน
เหนื่อยอ่อนแล้ว ก็ผิดหวัง เพราะไม่ได้สมปรารถนาบ้าง เมื่อหารสอร่อยหวานชื่น ก็ต้องเจอรสขื่นขมด้วย บางที ยิ่งได้สุขมาก ความเจ็บปวดเศร้าแสบกลับยิ่งทวีล้ำหน้า เสียค่าตอบแทนในการได้ความสุขไปแพงกว่าได้มา ไม่คุ้มกันบ้าง ได้สมปรารถนาแล้วแต่ไม่ชื่นเท่าที่หวัง หรือถึงจุดที่ตั้งเป้าหมายแล้วความสุขกลับวิ่งหนีออกหน้าไปอีก ตามไม่ทันอยู่ร่ำไปบ้าง บางพวกก็จบชีวิตลงทั้งที่กำลังวิ่งหอบ ยังตามความสุขแท้ไม่พบหรือยังไม่พอ ส่วนพวกที่ผิดหวังแล้วก็เลยหมดอาลัยปล่อยชีวิตเรื่อยเปื่อยไปตามเรื่อง อยู่อย่างทอดถอนความหลังบ้าง หันไปดำเนินชีวิตในทางเอียงสุดอีกด้านหนึ่ง โดยหลบหนีตีจากชีวิตไปอยู่อย่างทรมานตนเองบ้าง การศึกษาเรื่องอายตนะนี้ มุ่งเพื่อให้เกิดความรู้เท่าทันสภาพความจริง และประพฤติปฏิบัติด้วยการวางท่าทีที่ถูกต้อง ไม่ให้เกิดเป็นพิษเป็นภัยแก่ตนเองและผู้อื่นมากนัก อย่างน้อยก็ให้มีหลัก พอรู้ทางออกที่จะแก้ไขตัว นอกจากจะระมัดระวังในการใช้วิธีการที่จะแสวงหาความสุขเหล่านี้แล้ว ยังเข้าใจขอบเขตและขั้นระดับต่างๆ ของมัน แล้วรู้จักหาความสุขในระดับที่ประณีตยิ่งขึ้นไปด้วย ความประพฤติปฏิบัติเกี่ยวกับสุขทุกข์นี้ ย่อมเป็นเรื่องของจริยธรรมไปด้วยในตัว

๓. อายตนะในแง่ที่เป็นเรื่องของกระบวนการรับรู้และการแสวงปัญญา ก็เกี่ยวข้องกับจริยธรรมตั้งแต่จุดเริ่มต้น เพราะถ้าปฏิบัติในตอนเริ่มแรกไม่ถูกต้อง การรับรู้ก็จะไม่บริสุทธิ์ แต่จะกลายเป็นกระบวนการรับรู้ที่รับใช้กระบวนการเสพเสวยโลก หรือเป็นส่วนประกอบของกระบวนธรรมแบบสังสารวัฏไปเสีย ทำให้ได้ความรู้ที่บิดเบือน เอนเอียง เคลือบแฝง มีอคติ ไม่ถูกต้องตรงตามความจริง หรือตรงกับสภาวะตามที่มันเป็น การปฏิบัติในทางจริยธรรมที่จะช่วยเกื้อกูลในเรื่องนี้ ก็คือวิธีการที่จะรักษาจิตให้ดำรงอยู่ในอุเบกขา คือ ความมีใจเป็นกลาง มีจิตราบเรียบเที่ยงตรงไม่เอนเอียง ไม่ให้ถูกอำนาจกิเลสมีความชอบใจไม่ชอบใจเป็นต้นเข้าครอบงำ


๔. การปฏิบัติทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับอายตนะโดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง มีหลายอย่าง บางอย่างก็มีไว้เพื่อใช้ในขั้นตอนต่างๆ กัน ทั้งนี้สุดแต่ว่าปัญหามักจะเกิดขึ้นที่จุดใด ทุกข์และบาปอกุศลมักได้ช่องเข้ามาที่ช่วงตอนใด อย่างไรก็ตาม ท่านมักสอนให้ใช้วิธีระวังหรือป้องกันตั้งแต่ช่วงแรกที่สุด คือ ตอนที่อายตนะรับอารมณ์ทีเดียว เพราะจะทำให้ปัญหาไม่เกิดขึ้นเลย จึงเป็นการปลอดภัยที่สุด ในทางตรงข้าม ถ้าปัญหาเกิดขึ้นแล้ว คือ บาปอกุศลธรรมได้ช่องเข้ามาแล้ว มักจะแก้ไขยาก เช่น เมื่อปล่อยให้อารมณ์ที่ล่อเร้าเย้ายวนครอบงำใจ จิตถูกปรุงแต่งจนราคะหรือโลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นแล้ว ทั้งที่รู้ผิดชอบชั่วดี มีความสำนึกในสิ่งชอบธรรมอยู่ แต่ก็ทนต่อความเย้ายวนไม่ได้ ลุอำนาจกิเลส ทำบาปอกุศลลงไป ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงย้ำวิธีระมัดระวังป้องกันให้ปลอดภัยไว้ก่อนตั้งแต่ต้น

องค์ธรรมสำคัญที่ใช้ระมัดระวังตั้งแต่ต้น ก็คือ สติ ซึ่งเป็นตัวควบคุมจิตไว้ให้อยู่กับหลัก หรือพูดอีกนัยหนึ่ง เหมือนเชือกสำหรับดึงจิต สติที่ใช้ในขั้นระมัดระวังป้องกันเกี่ยวกับการรับอารมณ์ของอายตนะแต่เบื้องต้นนี้ ใช้หลักที่เรียกว่า 🔎อินทรียสังวร ซึ่งแปลว่า การสำรวมอินทรีย์ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การคุ้มครองทวาร หมายถึง การมีสติพร้อมอยู่ เมื่อรับอารมณ์มีรูป เป็นต้น ด้วยอินทรีย์มีตาเป็นอาทิ ก็ไม่ปล่อยใจถือไปตามนิมิตหมายต่างๆ อันจะเป็นเหตุให้เกิดความติดพันขุ่นเคืองชอบใจไม่ชอบใจ แล้วถูกอกุศลธรรมเข้าครอบงำจิตใจ การปฏิบัติตามหลักนี้ ช่วยได้ทั้งด้านป้องกันความชั่วเสียหาย ป้องกันความทุกข์ และป้องกันการสร้างความรู้ความคิดที่บิดเบือนเอนเอียง (ในแง่ความรู้ความคิดที่เอนเอียงบิดเบือนนั้น ในที่นี้หมายเฉพาะปลอดภัยจากเหตุใหม่ ไม่พูดถึงเหตุที่สั่งสมไว้เก่า คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ที่มีอยู่เดิม ซึ่งเป็นอีกตอนหนึ่งต่างหาก)

อย่างไรก็ตาม การที่จะปฏิบัติให้ได้ผล มิใช่ว่าจะนำหลักมาใช้เมื่อไรก็ได้ตามปรารถนา เพราะสติจะตั้งมั่นเตรียมพร้อมอยู่เสมอ จำต้องมีการฝึกฝนอบรม อินทรียสังวรจึงต้องมีการซ้อมหรือใช้อยู่เสมอ การฝึกอบรมอินทรีย์ มีชื่อเรียกว่า อินทรียภาวนา (แปลตามแบบว่าการเจริญอินทรีย์) เรียกเต็มว่า คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ผู้ที่ฝึกอบรมหรือเจริญอินทรีย์แล้ว ย่อมปลอดภัยจากบาปอกุศลธรรม ความทุกข์ และความรู้ที่เอนเอียงบิดเบือนทั้งหลาย เพราะป้องกันไว้ได้ก่อนที่สิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้น หรือแม้หากความชอบใจไม่ชอบใจจะหลุดรอดเกิดขึ้นมา ก็สามารถระงับ หรือสลัดทิ้งไปได้เร็วพลัน

อินทรียสังวรนี้จัดว่าเป็นหลักธรรมในขั้นศีล แต่องค์ธรรมสำคัญที่เป็นแกนคือสตินั้นอยู่ในจำพวกสมาธิทำให้มีการใช้กำลังจิตและการควบคุมจิตอยู่เสมอ จึงเป็นการฝึกอบรมสมาธิไปด้วยในตัว หลักธรรมอีกอย่างหนึ่ง ที่ท่านแนะนำให้เป็นข้อปฏิบัติในเรื่องนี้ เป็นหลักในระดับปัญญา เรียกว่าโยนิโสมนสิการ หลักนี้ใช้ในช่วงตอนที่รับอารมณ์เข้ามาแล้ว โดยให้พิจารณาอารมณ์นั้นเพื่อเกิดความรู้เท่าทัน เช่น พิจารณาคุณ โทษ ข้อดีข้อเสียของอารมณ์นั้น พร้อมทั้งภาวะอันเป็นอิสระปลอดภัยอยู่ดีมีสุขได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอารมณ์นั้น ในแง่ที่จะต้องให้คุณและโทษของมันเป็นตัวกำหนดความสุข ความทุกข์และชะตาชีวิต ข้อปฏิบัติที่กล่าวถึงเหล่านี้ มีแนวปรากฏอยู่ในพุทธพจน์ข้างต้นบ้างแล้ว และบางหลักก็จะอธิบายต่อไปข้างหน้าอีก จึงพูดไว้โดยย่อเพียงเท่านี้

🔅 บทที่ ๒ อายตนะ ๖
ประเภทของความรู้
ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้
    คุณค่าทางจริยธรรม
บันทึกพิเศษท้ายบท