วันศุกร์

บันทึกพิเศษท้ายบท (บันทึกที่ ๑ เรื่อง ปัญญา ๓)

บันทึกพิเศษท้ายบท

เพื่อความเข้าใจลึกลงไปจำเพาะเรื่อง

🔅 บันทึกที่ ๑: เรื่อง ปัญญา ๓
ปัญญานั้น แท้จริงก็มีอย่างเดียว ได้แก่ธรรมชาติที่เป็นความรู้เข้าใจสภาวะ คือหยั่งถึงความจริงของสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น แต่ก็นิยมจำแนกแยกประเภทออกไปเป็นหลายอย่าง ตามระดับของความรู้เข้าใจบ้าง ตามหน้าที่หรือแง่ด้านของการทำงานของปัญญาบ้าง ตามทางที่ปัญญานั้นเกิดขึ้นบ้าง เป็นต้น

ปัญญาชุดหนึ่งซึ่งจำแนกตามแหล่งที่มา หรือทางเกิดของปัญญา ได้แก่ ปัญญา ๓ อย่าง ชุดที่แยกออกไปเป็นสุตมยปัญญา จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญา คำท้ายคือปัญญาเป็นตัวกลางร่วมกัน ส่วนคำข้างหน้าที่ต่างกัน บอกที่มาหรือแหล่งเกิดของปัญญานั้น ว่า หนึ่ง เกิดจากสุตะ (การสดับฟัง การอ่าน และเล่าเรียน) สอง เกิดจากจินตะ (การคิดไตร่ตรองพิจารณา) และสาม เกิดจากภาวนา (การปฏิบัติต่อจากนั้น)

ปัญญา ๓ อย่างชุดนี้ ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงน้อย แต่มีผู้นำมาพูดกันค่อนข้างบ่อย ข้อสำคัญคือเข้าใจความหมายกันไม่ค่อยชัด จึงควรแสดงคำอธิบายที่พ่วงมากับถ้อยคำเหล่านี้สืบแต่เดิมไว้ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา เริ่มด้วยการเรียงลำดับ ปัญญา ๓ นั้น ตามที่พูดกัน มักเรียงสุตมยปัญญาเป็นข้อแรก แต่ของเดิมในพระไตรปิฎก ทั้งในพระสูตร (ที.ปา.๑๑/๒๒๔/๒๓๑) และในพระอภิธรรม (อภิ.วิ.๓๕๗๙๗/๕๒๒) เริ่มด้วยจินตามยปัญญาเป็นข้อแรก อย่างไรก็ตามในเนตติปกรณ์ ซึ่งพระเถรวาทสายพม่าถือเป็นคัมภีร์หนึ่งในพระไตรปิฎกด้วย (จัดรวมไว้ใน ขุททกนิกาย แห่งพระสุตตันตปิฎก) เรียงสุตมยปัญญาขึ้นก่อน (และเรียกชื่อต่างไปเล็กน้อยเป็น สุตมยปัญญา จินตามยีปัญญา ภาวนามยปัญญา) และต่อมา ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา ฎีกา นิยมมากขึ้นในทางที่จะเรียกชื่อเป็น สุตมยญาณ จินตามยญาณ และภาวนามยญาณ ในที่นี้ ขอเรียงลำดับ ปัญญา ๓ ตามพระไตรปิฎกชั้นเดิมไว้ก่อน พร้อมด้วยแสดงความหมายสั้นๆ ดังนี้

๑. จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิดพิจารณา (ปัญญาเกิดจากโยนิโสมนสิการที่ตั้งขึ้นในตนเอง)
๒. สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการสดับเล่าเรียน (ปัญญาเกิดจากปรโตโฆสะ)
๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการปฏิบัติบำเพ็ญ (ปัญญาเกิดจากปัญญาสองอย่างแรกนั้นแล้วหมั่นมนสิการในประดาสภาวธรรม)

การที่ท่านเรียงจินตามยปัญญาขึ้นก่อน หรือสุตมยปัญญาขึ้นก่อนนั้น จับความได้ว่า อยู่ที่การคำนึงถึงบุคคลเป็นหลักหรือมองธรรมตามความเกี่ยวข้องของบุคคล ในกรณีที่เรียงจินตามยปัญญาเป็นข้อแรก ก็คือ ท่านเริ่มที่บุคคลพิเศษประเภทมหาบุรุษก่อน หมายความว่า พระพุทธเจ้า (และพระปัจเจกพุทธเจ้า) ผู้ค้นพบและเปิดเผยความจริงขึ้นนั้น มิได้อาศัยสุตะ ไม่ต้องมีปรโตโฆสะคือการฟังจากผู้อื่น แต่รู้จักคิดพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการของตนเอง สามารถสืบสาว เรียงต่อ ไล่ตามประสบการณ์ทั้งหลายอย่างถึงทันทั่วรอบทะลุตลอด จนหยั่งเห็นความจริงได้ จากจินตามยปัญญาจึงต่อเข้าภาวนามยปัญญาไปเลย ไม่ต้องอาศัยสุตมยปัญญา)

แต่เมื่อมองที่บุคคลทั่วไป ท่านเริ่มด้วยสุตมยปัญญาเป็นข้อแรก โดยมีคำอธิบายตามลำดับว่า บุคคลเล่าเรียนสดับฟังได้สุตะ ได้ข้อธรรม ได้ข้อมูลแล้ว เกิดศรัทธาขึ้นเป็นพื้นเบื้องต้น จึงนำไปใคร่ครวญตรวจสอบพิจารณาได้ความรู้เข้าใจในสุตะนั้น ก็เกิดเป็นสุตมยปัญญา แล้วในขั้นต่อไป อาศัยสิ่งที่ได้เรียนสดับนั้นเป็นฐาน เขาตรวจสอบชั่งตรองเพ่งพินิจขบคิดลึกชัดลงไป มองเห็นเหตุผลความสัมพันธ์เป็นไปชัดเจน เกิดเป็นจินตามยปัญญา เมื่อเขาใช้ปัญญาทั้งสองนั้นขะมักเขม้นมนสิการในสภาวธรรมทั้งหลาย (พูดอีกสำนวนหนึ่งว่า อาศัยหรือตั้งอยู่ในปัญญาทั้งสองนั้นแล้ว เจริญวิปัสสนา (สุตจินตามยญาเณสุ หิปติฏฐิโต วิปสุสน์ อารภูติ, เนตุติ.) แล้วเกิดญาณ มีความรู้สว่างประจักษ์แจ้งความจริง เป็นมรรคที่จะให้เกิดผลขึ้น ก็เป็นภาวนามยปัญญา

พึงสังเกตด้วยว่า สำหรับคนทั่วไปนี้ ถึงจะได้รับสุตะคือข่าวสารข้อมูลมากมาย แต่คนจำนวนมากก็ได้แค่สุตะเท่านั้นหาได้ปัญญาไม่ คือ ในข้อที่ ๑ นั้น ต้องแยกว่า คนจำนวนมากได้แค่สุตะ มีเพียงบางคนที่อาศัยสุตะนั้นแล้วสามารถทำให้เกิดสุตมยปัญญา น่าสังเกตว่า ในคัมภีร์วิภังค์แห่งอภิธรรมปิฎก ท่านอธิบายภาวนามยปัญญาว่า ได้แก่ “สมาปนนสุส ปญญา” ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า “ปัญญาของผู้ประกอบ” หรือ “ปัญญาของผู้ถึงพร้อม” (สมาปนุน คือประกอบ หรือถึงพร้อมนี้ ในที่ทั่วไป ใช้ได้ทั้งทางดีและทางร้าย เช่น ถึงพร้อมด้วยสิกขาสาชีพ ประกอบการบรรพชา ถึงพร้อมด้วยอิจฉาและโลภะ ประกอบการสนุกสนาน เล่นหัว ประกอบด้วยโสกะปริเทวะ เปี่ยมด้วยกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก ฯลฯ แต่เวลาใช้โดดๆ ในทางธรรม มักหมายถึงเข้าฌานสมาบัติ) และอรรถกถาแห่งคัมภีร์วิภังค์นั้น (วิภงด.อ.๕๔๑) ไขความว่า “สมาปตฺติสมงคิสส, อนุโตสมาปตติย์ ปรตุตา ปญญา ภาวนามยา นาม” (ปัญญาของผู้ประกอบด้วยสมาบัติ อันเป็นไปในสมาบัติ ชื่อว่าเป็นภาวนามัย) ทำให้รู้สึกว่าความหมายจำกัดเฉพาะมาก แต่คัมภีร์ต่างๆ เช่น ปรมัตถมัญชุสา อธิบายว่า คำไขความดังกล่าวนั้นเป็นเพียงการแสดงตัวอย่าง โดยสาระก็มุ่งเอาการเห็นแจ้งความจริงที่เป็นมัคคปัญญาอันเป็นไปด้วยวิปัสสนานั่นเอง

มีแง่ของการอธิบายที่กินความคลุมถึงฌานสมาบัติ และมองได้กว้างออกไป พร้อมทั้งเข้าใจง่ายขึ้นด้วย คือจับที่คำว่าอัปปนา ซึ่งหมายถึงสมาธิที่เป็นแกนของฌานทั้งหมด ดังที่ท่านไขความว่า “ปัญญาที่สำเร็จด้วยอำนาจภาวนา อันถึงอัปปนาชื่อว่า "ภาวนามัย" (วิสุทธิ.๓/๔) คำไขความตรงนี้ ที่กล่าวถึงภาวนา โยงไปถึงข้อความข้างต้นที่ว่าขะมักเขม้นมนสิการในประดาสภาวธรรม ซึ่งก็คือ🔎วิปัสสนา เมื่อวิปัสสนาปัญญาเห็นแจ้งชัดถึงขีด จิตก็เป็นสมาธิถึงอัปปนา (ถึงฌาน) ความประจักษ์แจ้งจดจิตสนิทแน่ว ถึงกับทำให้สิ่งหมักหมมผูกรัดหุ้มพอกจิต ที่เรียกว่ากิเลส ถูกสลายล้างออกไป จิตพ้นจากกิเลสสิ้นเชิงหรือบางส่วนก็ตาม ความรู้แจ้งถึงขั้นทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของชีวิตอย่างนี้ได้ คือภาวนามยปัญญา ซึ่งเป็นมรรคญาณ 

มีความรู้ประกอบอีกหน่อยว่า ในเนตติปกรณ์ (เนตติ.๘) ท่านโยงปัญญา ๓ นี้ กับการจัดประเภทบุคคล ๔ ด้วย โดยแสดงความหมายของบุคคล ๓ ประเภทแรกที่เป็นเวไนย (เวไนย ๓) ให้เห็นทุนเดิมก่อนจะก้าวสู่ภาวนามยปัญญาว่า
  • คนที่มี ๒ อย่าง ทั้งสุตมยปัญญา และจินตามยปัญญา เป็น อุคฆฏิตัญญู (ผู้รู้ได้ฉับพลันเพียงแค่ฟังหัวข้อก็เข้าใจ) 
  • คนที่มีสุตมยปัญญาอย่างเดียว เป็น วิปจิตัญญ (ผู้รู้เข้าใจต่อเมื่อมีการขยายความ)
  • คนที่ยังไม่มีปัญญา ๒ อย่าง ทั้งสุตมยปัญญา และจินตามยปัญญา เป็น เนยยะ (ผู้ที่จะพึงแนะนำโดยฝึกสอนอบรมให้เข้าใจต่อไป) 
ส่วนปทปรมะ (พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ) ไม่เป็นเวไนย เป็นอันไม่ต้องพูดถึง เมื่อรู้เข้าใจหลักต่างๆ ข้างต้นเป็นพื้นฐานแล้ว อาจจะประมวลเป็นคำอธิบาย ปัญญา ๓ สำหรับคนทั่วไป ที่จะเข้าใจได้ง่ายๆ คร่าวๆ ทวนความก่อนว่า อัจฉริยบุคคล ในขั้นพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นนักคิดที่แท้จริง คือมีปัญญายิ่งใหญ่เหนือคนทั่วไป อย่างที่ว่า ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ทั้งหลาย ที่คนอื่นๆ พบเห็นกันมาเป็นสิบปีร้อยปีพันปีแล้ว กี่รุ่นกี่ชั่วคน เขาก็อยู่กันมา ก็รู้เข้าใจตามๆ กันมาอยู่แค่นั้น แต่พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมา ทรงมีโยนิโสมนสิการ ที่จะมองเห็นสิ่งทั้งหลายในแง่มุมอื่นๆ ที่คนทั่วไปนึกไม่ถึง มองไม่เห็น สามารถคิดสืบสาวหยั่งเห็นความจริงที่ลึกล้ำอยู่เบื้องหลัง คิดริเริ่มใหม่ๆ ในสิ่งที่คนอื่นยังไม่เคยคิด ทำให้มีการมองใหม่เห็นใหม่ค้นพบใหม่ ได้ความรู้ความเข้าใจใหม่ และก้าวต่อไปในโยนิโสมนสิการนั้น จนเข้าถึงความจริงที่ไม่มีใครอื่นหยั่งถึงได้

ปัญญาที่เกิดจากการรู้จักคิดด้วยโยนิโสมนสิการของตนเองอย่างนี้ เรียกว่าจินตามยปัญญา ซึ่งพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงมีโดยไม่ต้องอาศัยการสั่งสอนแนะนำจากผู้อื่น และก็ไม่มีคนอื่นมีปัญญารู้ที่จะมาบอกมาสอนให้ได้ จึงเป็นปัญญาของบุคคลพิเศษ ที่คนทั่วไปไม่มี ถ้าไม่มีบุคคลพิเศษที่มีจินตามยปัญญาอย่างนี้ การค้นพบใหม่ การแหวกวงล้อมหรือกรอบทางปัญญาออกไป ก็ไม่อาจเป็นไปได้ และคนก็อยู่ก็รู้ก็คิดตามๆ กันเรื่อยๆ ไป ในเมื่อคนทั่วไปไม่มีจินตามยปัญญาจากการใช้โยนิโสมนสิการเริ่มคิดด้วยตนเอง จึงต้องอาศัยการสดับตรับฟังเล่าเรียนคำแนะนำสั่งสอนจากผู้อื่นเป็นจุดเริ่ม นี่คือเริ่มจากการสร้างสุตมยปัญญาก่อน ในขณะที่บุคคลพิเศษข้ามสุตมยปัญญานี้ไป

สำหรับในที่นี้ เมื่อแยกบุคคลพิเศษออกไปแล้ว จึงจะกล่าวถึง ปัญญา ๓ ครบจำนวน และเรียงลำดับโดยถือเอาคนทั่วไปเป็นที่ตั้ง ดังนี้

๑. สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากสุตะ ได้แก่ปัญญาที่คนทั่วไปจะพัฒนาขึ้นได้ โดยต้องอาศัยสุตะ คือ เมื่อยังคิดเองไม่เป็น หรือคิดไปไม่ถึง มองอะไรๆ ไม่ออก ไม่เข้าใจ ก็ต้องมีผู้แนะนำสั่งสอนบอกให้ เช่นมีท่านที่เรียกว่าเป็นกัลยาณมิตร อย่างพระพุทธเจ้า ท่านผู้รู้ ครูอาจารย์ มาแนะนำชี้แจงอธิบาย จึงรู้เข้าใจหยั่งความจริงได้ในระดับหนึ่ง

๒. จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากจินตะ ได้แก่การรู้จักคิด คือ เมื่อได้ความรู้เข้าใจในสุตะ เกิดมีสุตมยปัญญาจากการเล่าเรียนสดับฟังแล้ว ก็ฝึกโยนิโสมนสิการให้มองเห็นรู้เข้าใจกว้างไกลลึกรอบทั่วตลอดแยกโยงได้ ทำให้ก้าวต่อไปในการเข้าถึงความจริง และใช้ความรู้อย่างได้ผล

๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากภาวนา คือการปฏิบัติบำเพ็ญ ทำให้เป็นให้มีขึ้นได้จริง โดยลงมือทำกับประสบการณ์ตรง หมายถึงปัญญาที่พัฒนาต่อจากสุตมยปัญญาและจินตามยปัญญาสองอย่างแรกนั้น คืออาศัยปัญญาสองอย่างแรกนั้น พัฒนาต่อไปด้วยการมนสิการ (หมายถึงโยนิโสมนสิการ) ที่ตัวสภาวะ จนเกิดปัญญารู้แจ้งจริงที่สำเร็จเป็นมรรคให้บรรลุผล

ขอให้สังเกตไว้เป็นข้อสำคัญประการแรกว่า ภาวนามยปัญญานี้ อาศัยและต่อจากสุตมยปัญญาและจินตามยปัญญา ไม่ใช่ว่ายังไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย ไปนั่งสมาธิ แล้วมาบอกว่าเข้าฌานได้ภาวนามยปัญญา อย่างนั้นไม่ใช่ พึงตระหนักว่า คนทั่วไปนี้แม้แต่จินตามยปัญญาก็ยังทำให้เกิดเองไม่ได้ ต้องเริ่มจากสุตมยปัญญา (สุตมยปัญญาก็ยังไม่ค่อยจะได้ มีแต่ได้แค่สุตะ อย่างที่พูดแล้วข้างต้น)

จุดสังเกตสำคัญประการที่สอง คือ โยนิโสมนสิการ เป็นตัวทำงาน เรียกได้ว่าเป็นแกนในการพัฒนาหรือสร้างปัญญาทั้งสามอย่างนี้ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่บุคคลพิเศษอย่างพระพุทธเจ้า ที่ว่าตั้งต้นด้วยจินตามยปัญญา โดยไม่ต้องอาศัยสุตะจากคนอื่น (ไม่ต้องพึ่งปรโตโฆสะ) ก็คือใช้โยนิโสมนสิการที่มีขึ้นมาเป็นของเริ่มต้นในตนเอง เป็นที่มาของปัญญาที่เกิดจากการคิด ที่ทำให้คิดเป็นได้อย่างเฉพาะพิเศษ ส่วนคนทั่วไป แม้จะได้พึ่งสุตะจากผู้อื่น แต่เมื่อจะก้าวต่อไปจากนั้น จะให้ปัญญาพัฒนาขึ้นไป ก็ต้องใช้โยนิโสมนสิการจนกระทั่ง ในที่สุดการเกิดของปัญญาข้อที่ ๓ อันสูงสุดนั้น มีการทำงานของโยนิโสมนสิการเป็นสาระสำคัญเลยทีเดียว

เรื่องจึงเป็นอย่างที่พูดแล้วแต่ต้นว่า ปัญญา ๓ อย่างในชุด สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญานี้ ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงน้อยนัก พระสารีบุตรประมวลมาแสดงไว้ เป็นการให้มองเห็นแหล่งที่เกิดที่มาของปัญญา ไม่เป็นหลักที่ท่านเน้นย้ำมาก

เรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นย้ำบ่อยมาก ตรัสอยู่เสมอ ก็คือ โยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติในการทำให้เกิดปัญญา เมื่อมีโยนิโสมนสิการแล้ว ปัญญาทั้งสามนั้นก็มาได้ และให้สัมฤทธิ์บรรลุจุดหมาย

ก็มาสรุปไว้ท้ายนี้อีกทีว่า คนทั้งหลายที่รับข่าวสารข้อมูลกันนั้น บางคนได้แค่สุตะ โดยไม่ได้ปัญญาเลย แม้แต่สุตมยปัญญาก็ไม่ได้ บางคนรู้จักมนสิการไตร่ตรองพิจารณาสุตะนั้นแล้ว สามารถทำสุตมยปัญญาให้เกิดขึ้น บางคนได้สุตมยปัญญาแล้ว รู้จักมนสิการคิดพินิจยิ่งขึ้นไป ก็พัฒนาจินตามยปัญญาให้เกิดขึ้นมา บางคน ใช้สุตมยปัญญา และจินตามยปัญญา ที่มีที่ได้แล้วนั้น เป็นฐาน พัฒนาปัญญาด้วยโยนิโสมนสิการยิ่งขึ้นไป ก็อาจทำภาวนามยปัญญาให้เกิดขึ้นได้

🔅 บทที่ ๒ อายตนะ ๖
ประเภทของความรู้
ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้
บันทึกพิเศษท้ายบท
    บันทึกที่ ๑: เรื่อง ปัญญา ๓


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น