วันพุธ

ประเภทของความรู้ (อายตนะ ๖)

ประเภทของความรู้

เมื่อพูดถึงกระบวนการรับรู้แล้ว ก็ควรกล่าวถึงประเภทของความรู้ไว้ด้วย แม้ว่าจะต้องกล่าวถึงอย่างยนย่อก็ตาม ว่าตามแนวพุทธธรรม อาจแยกประเภทของความรู้ได้หลายนัย ดังนี้

ก. จำแนกโดยสภาวะ หรือโดยธรรมชาติของความรู้
วิธีจำแนกตามสภาวะอย่างง่ายๆ ก็คือ จำแนกตามหลักขันธ์ ๕ ความรู้เป็นนามธรรมจำพวกหนึ่ง ซึ่ง
กระจายอยู่ในนามขันธ์ (ขันธ์ที่เป็นนามธรรม หรือหมวดนามธรรม) ๓ ขันธ์ คือ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ความรู้ที่จำแนกตามสภาวะของขันธ์ ได้แก่ สัญญา วิญญาณ และปัญญา

๑. สัญญา คือ ความรู้ทั้งหมดที่อยู่ในสัญญาขันธ์ ได้แก่ ความกำหนดได้ หมายรู้ รวมทั้งความรู้ที่เกิด
จากการกำหนดหมาย หรือหมายรู้แล้วบันทึกเก็บรวมไว้เป็นวัตถุดิบของความคิดต่อๆ ไป ทำให้มีการรู้จัก จำได้ รู้ เข้าใจ และคิดได้ยิ่งๆ ขึ้นไป

สัญญา แบ่งตามอารมณ์ คือ สิ่งที่หมายรู้ หรือ กำหนดจดหมายไว้ มี ๖ ชนิด คือ รูปสัญญา (สัญญาเกี่ยวกับรูป) สัททสัญญา (สัญญาเกี่ยวกับเสียง) คันธสัญญา (สัญญาเกี่ยวกับกลิ่น) รสสัญญา (สัญญาเกี่ยวกับรส) โผฏฐพพสัญญา (สัญญาเกี่ยวกับสิ่งต้องกาย) ธัมมสัญญา (สัญญาเกี่ยวกับเรื่องในใจหรือสิ่งที่ใจรู้และนึกคิด) ว่าโดยสภาพปรุงแต่ง สัญญาอาจแบ่งคร่าวๆ ได้ ๒ ระดับ คือ
        ๑) สัญญาชั้นต้น ได้แก่ ความหมายรู้ลักษณะอาการตามสภาวะของสิ่งนั้นๆ โดยตรง เช่น หมายรู้ว่า สีเขียว ขาว ดำ แดง แข็ง อ่อน รสเปรี้ยว หวาน รูปร่างกลม แบน ยาว สั้น เป็นต้น รวมทั้งความหมายรู้เกี่ยวกับบัญญัติต่างๆ ว่า แมว ว่าโต๊ะ ว่าเก้าอี้ ฯลฯ
    ๒) สัญญาซ้อนเสริม ได้แก่ ความหมายรู้ไปตามความคิดปรุงแต่ง หรือตามความรู้ความเข้าใจในระดับต่างๆ เช่น หมายรู้ว่า สวย ว่าน่าเกลียด น่าชัง ว่าไม่เที่ยง ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นต้น ถ้าแยกย่อยออกไปสัญญาซ้อนเสริมหรือสัญญาสืบทอดนี้ก็แบ่งได้เป็น ๒ พวก คือ
            ๒.๑) สัญญาซึ่งเกิดจากความคิดปรุงแต่งที่เป็นอกุศล เรียกว่า ปปัญจสัญญา คือสัญญาฟ่ามเผือหรือซับซ้อนหลากหลาย ซึ่งเกิดจากการแต่งเสริมเติมต่อให้พิสดาร ของตัณหา มานะ และทิฏฐิ เรียกอีกอย่างหนึ่งตามสำนวนอรรถกถาบางแห่งว่า กิเลสสัญญา แปลว่าสัญญาที่เกิดจากกิเลส หรือสัญญาที่ประกอบด้วยกิเลส (สัญญาเจือกิเลส) สัญญาพวกนี้ถูกกิเลสปรุงแต่งให้ฟันเฟือและห่างเหเฉไฉออกไปจากทางแห่งความรู้ ไม่เป็นเรื่องของความรู้ แต่เป็นเรื่องของการที่จะให้เกิดโลภะ โทสะ โมหะ แทนที่จะช่วยให้เกิดความรู้ กลับเป็นเครื่องปิดกั้นบิดเบือนความรู้ ดังได้เคยอธิบายแล้วข้างต้น ยกตัวอย่างเช่น หมายรู้ลักษณะที่ตนถือว่าน่าชัง หมายรู้ลักษณะอาการที่สนองความอยากได้อยากเอา หมายรู้ลักษณะอาการที่ตนเป็นคนยิ่งใหญ่ หมายรู้ลักษณะอาการในผู้อื่นที่ตนถือว่าต่ำต้อยด้อยกว่า หมายรู้ภาวะที่ตนเป็นเจ้าของ เป็นผู้ครอบครอง ฯลฯ
            ๒.๒) สัญญาที่เกิดจากความคิดดีงาม หรือเกิดจากความรู้ความเข้าใจถูกต้อง เรียกว่า กุศลสัญญา บ้างวิชชาภาคิยสัญญา (สัญญาที่ช่วยให้เกิดวิชชา) บ้าง หรือเรียกชื่ออื่นๆ ในทำนองนี้บ้าง เป็นสัญญาที่ช่วยส่งเสริมความเจริญปัญญาและความงอกงามแห่งกุศลธรรม เช่น หมายรู้ลักษณะอาการที่ชวนให้เกิดความเป็นมิตร หมายรู้ลักษณะอาการซึ่งแสดงภาวะที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ภาวะที่เป็นของไม่เที่ยง ภาวะที่ไร้ตัวตน เป็นต้น พระอรหันต์ก็มีสัญญา แต่เป็นสัญญาที่ปราศจากอาสวะ คือสัญญาไร้กิเลส พระอรหันต์ก็หมายรู้ปปัญจสัญญาตามที่ปุถุชนเข้าใจ หรือตามที่ท่านเองเคยเข้าใจเมื่อครั้งยังเป็นปุถุชน แต่ท่านหมายรู้เพียงเพื่อเป็นความรู้ เพื่อใช้ประโยชน์ เช่นในการช่วยแก้ไขปัญหาของผู้อื่น ไม่หมายรู้ในแง่ที่จะมีตัวตนออกรับความกระทบ แม้ผู้ปฏิบัติธรรมก็พึ่งดำเนินตามแนวทางเช่นนั้น

 (- สัญญาชั้นต้น เรียกว่า ปัญจทวาริกสัญญา แปลว่าสัญญาที่เป็นไปทางปัญจทวาร คือ ความหมายรู้เกี่ยวกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐพพะ)(ดู ม.อ.๓/๔๓๔) สัญญาอื่นๆ ต่อจากนี้ไป เป็นสัญญาทางมโนทวารทั้งหมด
- ตัวอย่างแสดงสัญญาที่เกิดจากความคิดปรุงแต่ง “เมื่อเขาดำรงอยู่ในสัญญาอย่างยอด (สัญญาละเอียดประณีตสุด) ก็เกิดมีความคิดว่า เมื่อเราคิดจำนง ก็จะมีแต่เสีย เราไม่คิดจำนง จะดีกว่า, หากว่าเราจะพึงคิดจำนงคิดปรุงแต่ง สัญญาเหล่านี้ก็คงจะดับไปเสีย และสัญญาอื่นที่หยาบก็จะพึงเกิดขึ้น อย่ากระนั้นเลย เราจะไม่จำนงละ จะไม่คิดปรุงแต่งละ” (ที.ส.๔/๒๕๖/๒๒๙) สัญญาอย่างยอด = 🔎อากิญจัญญายตนะ)

๒. วิญญาณ คือความรู้ทั้งหมดที่อยู่ในหมวดวิญญาณขันธ์ ได้แก่ ความรู้ยืนโรงที่เป็นกิจกรรมประจำของจิต และซึ่งคอยรู้กิจกรรมอย่างอื่นทุกอย่างของจิต ดังได้อธิบายแล้วในบทที่ ๑ ว่าด้วย 🔎 ขันธ์ ๕


๓. ปัญญา เป็นความรู้หลักในหมวดสังขารขันธ์ ความหมายของปัญญาได้แสดงไว้แล้วพอสมควร ในบทที่ ๑ จึงจะไม่กล่าวซ้ำในที่นี้ แต่นอกจากปัญญาที่เป็นความรู้หลักแล้ว ในหมวดสังขารขันธ์ ยังมีข้อธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความรู้อีกหลายอย่าง ซึ่งสัมพันธ์กับปัญญาในแง่ช่วยเกื้อหนุนบ้าง เป็นขั้นตอนในระหว่างของการพัฒนาปัญญาบ้าง เป็นคู่เทียบฝ่ายตรงข้ามที่แสดงความมี ความขาด ความลด ความเพิ่มของปัญญาบ้าง กล่าวคือ
        ๓.๑) ศรัทธา คือ ความเชื่อ ความซาบซึ้ง ไม่ใช่ความรู้ แต่อาจเป็นทางเชื่อมต่อนำไปสู่ความรู้ได้ เพราะ ศรัทธามีลักษณะเป็นการยอมรับความรู้ของผู้อื่น ฝากความไว้วางใจในปัญญาของผู้อื่น ยอมฟัง และอาศัยความรู้ของผู้อื่นหรือแหล่งแห่งความรู้นั้นเป็นเครื่องชี้นำแก่ตน ถ้าผู้มีศรัทธารู้จักคิตรู้จักใช้ปัญญาของตนเป็นทุนประกอบไป ศรัทธานั้นก็สามารถนำไปสู่ความเจริญปัญญาและการรู้ความจริงได้ เฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อผู้อื่นนั้นหรือแหล่งความรู้นั้นมีความรู้แท้จริง และมีกัลยาณมิตรช่วยชี้แนะให้รู้จักใช้ปัญญา แต่ถ้าเชื่ออย่างงมงายคือไม่รู้จักคิด ไม่ใช้ปัญญาของตนเลย และผู้อื่นหรือแหล่งแห่งความรู้นั้นไม่มีความรู้จริง ทั้งไม่มีกัลยาณมิตรที่จะช่วยชี้แนะ หรือมีปาปมิตร ผลอาจกลับตรงข้าม นำไปสู่ความหลงผิด ห่างไกลจากความรู้ยิ่งขึ้น
        ๓.๒) ทิฏฐิ คือ ความเห็น ความเข้าใจตามแนวความคิดของตน เป็นขั้นตอนสำคัญในกระบวนการพัฒนาปัญญา เพราะความรู้ความเข้าใจของมนุษย์ปุถุชน ที่ต่อจากขั้นขึ้นต่อผู้อื่นด้วยศรัทธา ก้าวมาสู่การมีความคิดความเข้าใจหรือมีสิ่งที่เรียกว่าเหตุผลของตนเองประกอบ พอจะนับได้ว่าเป็นความเข้าใจของตนเอง ก็คือ ทิฏฐิ บางครั้งทิฏฐิก็สัมพันธ์กับศรัทธาอย่างใกล้ชิด หรือถึงกับเป็นคนละแง่ของเรื่องเดียวกัน กล่าวคือ แง่ที่เป็นการมอบความไว้วางใจไว้ในความรู้ของผู้อื่น ยอมไปตามปัญญาของเขา (แล่นออกหรือพุ่งไปหา) เป็นศรัทธา ส่วนแง่ที่เป็นการรับเอาความรู้นั้นหรือสิ่งที่เขาบอกให้นั้นมายึดถือทำเป็นของตน (รับมาถือหรือเอาเข้ามา) เป็นทิฏฐิ ลักษณะสำคัญของทิฏฐิ คือการยึดถือเป็นของตน ความรู้ที่เป็นทิฏฐินี้มีได้ตั้งแต่ขั้นไม่มีเหตุผลเลย จนถึงมีเหตุผลบ้างและมีเหตุผลมาก เมื่อใดทิฏฐินั้นพัฒนาขึ้นไปจนเป็นความรู้ ความเห็น ความเข้าใจ ที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง คือ ตรงตามสภาวะ ก็เรียกว่า เป็นสัมมาทิฏฐิ และจัดเป็นปัญญา เมื่อปัญญานั้นเจริญขึ้นจนมองเห็นสภาวะนั้นด้วยตนเองอย่างชัดแจ้งสมบูรณ์แล้ว ก็ไม่ต้องยึดถือความรู้นั้นเป็นของตน เพราะความจริงแท้ดำรงอยู่อย่างเป็นกลางๆ ไม่ต้องมีที่อ้างที่ยัน เป็นอันเลยพ้นขั้นของทิฏฐิไปเอง แต่เพราะทิฏฐิพ่วงอยู่กับความยึดถือเป็นของตน ทิฏฐิจึงมักก่อให้เกิดผลเสีย ถ้ายึดถือเหนียวแน่น แม้จะเป็นทิฏฐิที่ใกล้เคียงความจริงอย่างมาก แต่ก็กลายเป็นเครื่องปิดบังขวางกั้นไม่ให้เข้าถึงความจริงนั้น
( -ไม่พึงปะปนกับคำว่าทิฏฐิ ที่หมายถึงความดื้อดึงในความเห็น ตามที่ใช้ในภาษาไทย (ทิฏฐินี้ รูปสันสกฤตเป็นทฤษฎี แต่ก็มีความหมายไม่ตรงกันนักกับคำว่าทฤษฎีที่ใช้ในภาษาไทย)
- ไวพจน์บางคำของทิฏฐิ คือ อภินิเวส ปรามาส และ อุปาทาน (ซึ่งลึกลงไปย่อมมีตัณหาเป็นปัจจัย) ดู อภิวิ.๓๕๓๑๒/๒๐๐)
        ๓.๓)โมหะ คือ ความหลง ความไม่รู้ เป็นไวพจน์ของคำว่า “อวิชชา” หมายถึงความไม่รู้ตามความเป็นจริง ไม่รู้ตรงตามสภาวะ เป็นภาวะตรงข้ามกับปัญญา โดยเฉพาะปัญญาที่เรียกชื่อเฉพาะว่า วิชชา พูดอย่างสามัญว่า โมหะหรืออวิชชา คือความไม่รู้นี้ เป็นภาวะพื้นเดิมของคนซึ่งจะต้องกำจัดให้หมดไปด้วยวิชชา คือความรู้ หรือด้วยการฝึกอบรมเจริญปัญญา อย่างไรก็ตาม แม้จะเล่าเรียนศิลปวิทยาต่างๆ มากมาย และใช้ศิลปวิทยาเหล่านั้นทำกิจประกอบการต่างๆ ได้มากมาย แต่ถ้าไม่ช่วยให้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ไม่มองเห็นสังขารธรรมทั้งหลายหรือโลกและชีวิตตามสภาวะของมันแล้ว ศิลปวิทยาเหล่านั้น ก็เป็นเพียงสุตะ คือสิ่งที่สดับถ่ายทอดกันไปเท่านั้น ยังไม่เป็นปัญญาแท้จริง ไม่สามารถกำจัดโมหะหรืออวิชชาได้ และไม่อาจแก้ปัญหาพื้นฐานของชีวิตได้สำเร็จ บางที่จะแก้แต่กลายเป็นก่อปัญหาขึ้นใหม่ เหมือนคนต้องการแสงสว่าง แสวงหารวบรวมพื้นและเชื้อไฟชนิดต่างๆ มามากมาย ถึงจะรวมมาได้เท่าใด และจะปฏิบัติอย่างไรต่อฟื้นและเชื้อไฟเหล่านั้น จะตกแต่งประดับประดา ประดิดประดอยอย่างไร แต่ตราบใดที่ยังมิได้จุดไฟขึ้น ก็ไม่อาจให้แสงสว่างเกิดขึ้นได้
        ๓.๔) ปัญญา ที่เป็นตัวความรู้ในสังขารขันธ์นั้น เป็นสิ่งที่จะต้องทำให้เกิดให้มีขึ้น ต้องฝึกปรือ ทำให้เจริญเพิ่มพูนขึ้นไปโดยลำดับ ปัญญาจึงมีหลายขั้นหลายระดับ และมีชื่อเรียกต่างๆ ตามขั้นของความเจริญบ้าง ตามทางเกิดของปัญญานั้นบ้าง ตามลักษณะเฉพาะของปัญญาชนิดนั้นบ้าง อันจะพึงศึกษาความหมายของแต่ละอย่างสืบต่อไป จะขอยกชื่อของปัญญามาให้ดูเป็นตัวอย่าง เช่น ปริญญา ญาณ วิชชา อัญญา อภิญญา พุทธิ โพธิ สัมโพธิ เป็นต้น

สัญญา วิญญาณ และปัญญา แตกต่างกันอย่างไร ได้อธิบายแล้วในบทที่ ๑ ว่าด้วยขันธ์ ๕ ข้อที่ควรไว้ ณ ที่นี้ มีเพียงอย่างเดียวคือ
🔅วิญญาณ เป็นปริญไญยธรรม คือ เป็นสิ่งที่เราควรกำหนดรู้ หรือทำความรู้จักมันตามสภาวะของมันเท่านั้น เราไม่มีหน้าที่ที่จะต้องทำอะไรต่อมันอีก เพราะถึงอย่างไร มันก็ทำหน้าที่ของมันอยู่อย่างนั้น
🔅สัญญา โดยทั่วไปเป็นปริญไญยธรรม คือเป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้หรือทำความรู้จักเท่านั้น แต่สัญญาเจือกิเลสหรือปปัญจสัญญา เป็นปหาตัพพธรรม คือ เป็นสิ่งที่ควรละหรือกำจัดให้สิ้นไป ส่วนสัญญาที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาความรู้ และส่งเสริมกุศลธรรม เป็นภาเวตัพพธรรม คือ สิ่งที่ควรเจริญ ควรทำให้เกิดให้มี และให้เพิ่มพูนขึ้นจนใช้ประโยชน์ได้บริบูรณ์
🔅ปัญญา เป็นภาเวตัพพธรรม คือ เป็นสิ่งที่ควรฝึกอบรม ทำให้เกิดให้มี และให้เจริญยิ่งขึ้นไป จนทำลายโมหะหรืออวิชชาได้โดยสิ้นเชิง

🔅 บทที่ ๒ อายตนะ ๖
ประเภทของความรู้
        ก. จำแนกโดยสภาวะ หรือโดยธรรมชาติของความรู้
ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้
บันทึกพิเศษท้ายบท


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น