วันจันทร์

อธิบายปาติโมกขสังวรศีล

🔅ธิบายปาติโมกขสังวรศีล 

ในปาติโมกขสังวรศีลเป็นต้นนั้น มีกถาวินิจฉัยพร้อมทั้งการพรรณนาตามลำดับ บทจำเดิมตั้งแต่ต้น ดังต่อไปนี้ 

บทว่า อิธ หมายความว่า ในศาสนานี้ บทว่า ภิกขุ ได้แก่ กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธา ที่ได้โวหารว่าอย่างนั้น เพราะเป็นผู้เห็นภัยในสงสารอย่างหนึ่ง เพราะเป็นผู้ใช้ผ้าที่ถูกทำลายแล้วเป็นต้นอย่างหนึ่ง บทว่า ปาติโมกข ในคำว่า สำรวมแล้วด้วยสังวร คือปาติโมกข์นี้ ได้แก่ศีลอันเป็นสิกขาบท จริงอยู่ ศีลอันเป็นสิกขาบทนั้นเรียกว่า ปาติโมกข เพราะคุ้มครองรักษาภิกษุนั้น คือปลดเปลื้องภิกษุผู้รักษาศีลนั้นให้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย มีทุกข์ในอบายเป็นต้น ความระวัง ชื่อว่า ความสังวร ความสังวรนี้ เป็นชื่อของการไม่ล่วงละเมิดที่เกิดทางกายและเกิดทางวาจา ความสังวรคือปาติโมกข์ ชื่อว่า ปาติโมกขสังวร เป็นผู้สำรวมด้วยสังวรคือปาติโมกข์นั้น ชื่อว่า ปาติโมกขส์วรวุโต อธิบายว่า ผู้สำรวม คือผู้เข้าถึง ได้แก่ผู้ประกอบด้วยสังวร คือปาติโมกข์ บทว่า วิหรติ หมายความว่า ยังอัตภาพให้เป็นไปอยู่ (คืออยู่ด้วยอิริยาบถ ๔) อรรถาธิบายของบทว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยอาจารและโคจร เป็นต้น พึงทราบโดยนัยอันมาแล้วในพระบาลีนั่นเทียว จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ดังต่อไปนี้

พระบาลีแสดงอาจารและโคจร

บทว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยอาจารและโคจร ไขความว่า อาจารมีอยู่ อนาจารมีอยู่
อนาจาร 
ในอาจารและอนาจารนั้น อนาจาร เป็นอย่างไร ?
ความล่วงละเมิดที่เกิดทางกาย ความล่วงละเมิดที่เกิดทางวาจา ความล่วงละเมิดที่เกิดทั้งทางกายและทางวาจา นี้เรียกว่า อนาจาร แม้ความทุศีลทุก ๆ อย่าง ก็ชื่อว่าอนาจาร ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ ย่อมสำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยมิจฉาอาชีพ คือด้วยการให้ไม้ไผ่บ้าง ด้วยการให้ใบไม้บ้าง ด้วยการให้ดอกไม้, ผลไม้, แป้งเครื่องสนานและไม้สีฟันบ้าง ด้วยความเป็นผู้ประจบสอพลอบ้าง ด้วยความเป็นผู้เหมือนแกงถั่วบ้าง (คือพูดจริงบ้างไม่จริงบ้าง สุก ๆ ดิบ ๆ เหมือนแกงถั่ว) ด้วยความเป็นผู้รับเลี้ยงเด็กบ้าง ด้วยรับส่งหนังสือด้วยกำลังแข้งบ้าง หรือด้วยมิจฉาอาชีพที่พระพุทธเจ้าทรงครหา อย่างใดอย่างหนึ่ง การสำเร็จความเลี้ยงชีพนี้ เรียกว่า อนาจาร

อาจาร ในอาจารและอนาจารนั้น อาจาร เป็นอย่างไร ?
ความไม่ล่วงละเมิดที่เกิดทางกาย ความไม่ล่วงละเมิดที่เกิดทางวาจา ความไม่ล่วงละเมิดที่เกิดทั้งทางกายและทางวาจา ความไม่ล่วงละเมิดนี้ เรียกว่า อาจาร แม้สังวรคือศีลทั้งหมดก็เรียกว่า อาจาร ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ ย่อมไม่สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยมิจฉาอาชีพ คือด้วยการให้ไม้ไผ่บ้าง ด้วยการให้ใบไม้บ้าง ด้วยการให้ดอกไม้, ผลไม้, แป้งเครื่องสนานและไม้สีฟันบ้าง ด้วยความเป็นผู้ประจบสอพลอบ้างด้วยความเป็นผู้เหมือนแกงถั่วบ้าง ด้วยความเป็นผู้รับเลี้ยงเด็กบ้าง ด้วยรับส่งหนังสือด้วยกำลังแข้งบ้างหรือด้วยมิจฉาอาชีพที่พระพุทธเจ้าทรงครหาอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง การไม่สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยมิจฉาอาชีพนี้ เรียกว่า อาจาร

บทว่า อโคจร ไขความว่า โคจรมีอยู่ อโคจรมีอยู่
อโคจร 
ในโคจรและอโคจรนั้น อโคจร เป็นอย่างไร ?
ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ เป็นผู้มีหญิงแพศยาเป็นที่โคจรบ้าง มีหญิงหม้าย, สาวเทือ, บัณเฑาะก์, ภิกษุณีและร้านสุราเป็นที่โคจรบ้าง เป็นผู้อยู่คลุกคลีกับพระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา กับพวกเดียรถีย์ และสาวกของพวกเดียรถีย์ ด้วยการคลุกคลีกับคฤหัสถ์ อันไม่สมควร แหละหรือ ย่อมต้องเสพคบหา ย่อมเข้าไปนั่งใกล้ ซึ่งตระกูลทั้งหลายเห็นปานฉะนี้ คือ ตระกูลที่ไม่มีศรัทธา ตระกูลที่ไม่เลื่อมใส ตระกูลที่มิได้เตรียมตั้งเครื่องดื่มไว้ ตระกูลที่ด่าที่บริภาษ ตระกูลที่ไม่ใคร่ประโยชน์ ตระกูลที่ไม่ใคร่ความเกื้อกูล ตระกูลที่ไม่ใคร่ความผาสุก ตระกูลที่ไม่ใคร่ความเกษมจากโยคธรรม แก่ภิกษุภิกษุณีอุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย พฤติการณ์ของภิกษุนั้นเช่นนี้ เรียกว่า อโคจร

โคจร ในโคจรและอโคจรนั้น โคจร เป็นอย่างไร ?
ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ เป็นผู้ไม่มีหญิงแพศยาเป็นที่โคจร เป็นผู้ไม่มีหญิงหม้าย, สาวเทือ, บัณเฑาะก์, ภิกษุณีและร้านสุราเป็นที่โคจร เป็นผู้ไม่คลุกคลีกับพระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา กับพวกเดียรถีย์ และสาวกของพวกเดียรถีย์ ด้วยความคลุกคลีกับคฤหัสถ์ อันไม่สมควร แหละหรือ ย่อมต้องเสพคบหา ย่อมเข้าไปนั่งใกล้ ซึ่งตระกูลทั้งหลายเห็นปานฉะนี้ คือ ตระกูลมีศรัทธา ตระกูลเลื่อมใส ตระกูลเตรียมตั้งเครื่องดื่มไว้ ตระกูลรุ่งเรืองไปด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ ตระกูลฟุ้งตลบไปด้วยกลิ่นฤาษี ตระกูลใคร่ประโยชน์ ตระกูลใคร่ความเกื้อกูล ตระกูลใคร่ความผาสุก ตระกูลใคร่ความเกษมจากโยคธรรม แก่ภิกษุภิกษุณีอุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลายพฤติการณ์ของภิกษุนั้นเช่นนี้ เรียกว่า โคจร

ภิกษุเป็นผู้ประกอบแล้ว ประกอบพร้อมแล้ว เข้าไปแล้ว เข้าไปพร้อมแล้ว เข้าถึงแล้ว เข้าถึงพร้อมแล้ว มาตามพร้อมแล้ว ด้วยอาจารนี้และด้วยโคจรนี้ ด้วยประการดังอรรถาธิบายมา เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า อาจารโคจร สมุปนโน แปลว่า ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยอาจารและโคจร ฉะนี้ อีกประการหนึ่ง ในอธิการแห่ง ปาติโมกขสังวรศีล นี้ นักศึกษาพึงทราบ อาจารและโคจร แม้โดยนัยดังจะพรรณนาต่อไปนี้

อนาจารทางกาย
ก็แหละ อนาจาร มี ๒ ประการ คือ อนาจารทางกาย ๑ อนาจารทางวาจา ๑

ใน ๒ ประการนั้น อนาจารทางกาย เป็นอย่างไร ?
คือ ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ แม้เข้าสู่ที่ประชุมสงฆ์ก็ไม่ทำความเคารพ ยืนเบียดบ้าง นั่งเบียดบ้าง ซึ่งภิกษุทั้งหลายชั้นเถระ ยืนข้างหน้าบ้าง นั่งข้างหน้าบ้าง นั่งบนอาสนะสูงบ้าง นั่งคลุมศีรษะบ้าง ยืนพูดบ้าง กวักมือพูดบ้าง เมื่อภิกษุทั้งหลายชั้นเถระเดินไม่สวมรองเท้า ก็เดินสวมรองเท้า เมื่อภิกษุทั้งหลายชั้นเถระเดินจงกรมอยู่ ณ ที่จงกรม ไพล่ไปเดินบนที่จงกรมสูง เมื่อภิกษุทั้งหลายชั้นเถระเดินจงกรมอยู่ที่พื้นดิน ไพล่ไปเดินจงกรมเสียบนที่จงกรม ยืนแทรกบ้าง นั่งแทรกบ้าง ซึ่งภิกษุทั้งหลายชั้นเถระ ย่อมกีดกันแม้พวกภิกษุใหม่ด้วยอาสนะ แม้อยู่ในเรือนไฟ ไม่อาปุจฉาภิกษุทั้งหลายชั้นเถระ ก็ใส่ฟืน ปิดประตู แม้ ณ ที่ท่าน้ำ ก็ลงเบียดภิกษุทั้งหลายชั้นเถระ ลงไปข้างหน้าเสียบ้าง สรงเบียดบ้าง สรงอยู่ข้างหน้าบ้าง ขึ้นเบียดบ้าง ขึ้นไปข้างหน้าบ้าง แม้เมื่อเข้าไปสู่ละแวกบ้าน เดินเบียดภิกษุทั้งหลายชั้นเถระบ้าง เดินไปข้างหน้าบ้าง และเดินแซงไปข้างหน้า ๆ ของภิกษุทั้งหลายชั้นเถระ แม้ ณ ห้องลับและห้องปิดบังสำหรับตระกูลทั้งหลายที่กุลสตรีกุลกุมารีทั้งหลายพากันนั่งเล่นเช่นนั้น เธอก็จู่โจมเข้าไปลูบคลำศีรษะเด็กบ้าง อันว่าพฤติการณ์เช่นนี้ เรียกว่า อนาจารทางกาย

อนาจารทางวาจา
ในอนาจาร ๒ ประการนั้น อนาจารทางวาจา เป็นอย่างไร ?
คือ ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ แม้ไปสู่ที่ประชุมสงฆ์แล้วก็ไม่ทำความเคารพ ไม่อาปุจฉาภิกษุทั้งหลายชั้นเถระ พูดธรรม วิสัชนาปัญหา แสดงพระปาติโมกข์ ยืนพูดบ้าง กวักมือพูดบ้าง แม้เข้าไปสู่ละแวกบ้านแล้ว ย่อมพล่ามพูดกับสตรีบ้าง กับกุมารีบ้าง อย่างนี้ว่า “คุณโยมผู้มีชื่ออย่างนี้ มีนามสกุลอย่างนี้ มีอะไรไหม ? มีข้าวยาคูไหม ? มีข้าวสวยไหม ? มีของเคี้ยวไหม ? อาตมาจักดื่มอะไร ? จักเคี้ยวอะไร ? จักฉันอะไร ? คุณโยมจักถวายอะไรแก่อาตมาหรือ ?” อันว่าพฤติการณ์ของภิกษุนั้นเช่นนี้ เรียกว่า อนาจารทางวาจา

ส่วน อาจาร นักศึกษาพึงทราบด้วยสามารถข้อความอันตรงกันข้ามกับอนาจาร นั้นเถิด

อาจารตามนัยแห่งอรรถกถา
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีความคารวะ มีความเคารพ สมบูรณ์ด้วยหิริและโอตตัปปะ นั่งสบงห่มจีวรเรียบร้อย มีการเดินหน้าถอยหลัง มีการเหลียวไป แลมา มีการเหยียด อันน่าเลื่อมใส มีจักษุทอดลงประมาณชั่วแอก มีอิริยาบถเรียบร้อย รักษาทวารในอินทรีย์ ๖ รู้จักประมาณในโภชนะ หมั่นประกอบความเพียร ประกอบด้วยสติและสัมปชัญญะ มักน้อย สันโดษ ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร มีปกติทำความเคารพในอาภิสมาจาริกศีลทั้งหลาย เป็นผู้มากด้วยการทำความเคารพในบุคคลผู้อยู่ในฐานะแห่งความเคารพ พฤติการณ์ของภิกษุนั้นเช่นนี้ เรียกว่า อาจาร

นักศึกษาพึงทราบ อาจาร อันเป็นประการแรก ด้วยประการดังพรรณนามานี้

โคจร ๓ อย่าง ส่วน โคจร มี ๓ อย่าง คือ อุปนิสสยโคจร ๑ อารักขโคจร ๑ อุปนิพันธโคจร ๑

ในโคจร ๓ อย่างนั้น อุปนิสสยโคจร เป็นอย่างไร ?
กัลยาณมิตร ซึ่งประกอบด้วยคุณคือกถาวัตถุ ๑๐ ที่ภิกษุพึ่งพิงแล้ว ย่อมได้ฟังพุทธวจนะที่ยังไม่เคยฟัง ย่อมทำพุทธวจนะที่ฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง ย่อมสิ้นความสงสัย ย่อมทำทฤษฎีให้ถูกต้อง ย่อมทำจิตใจให้เลื่อมใส” แหละหรือ กัลยาณมิตรผู้ที่ภิกษุศึกษาสำเหนียกตามอยู่ ย่อมเจริญด้วยศรัทธา, ศีล, สุตะ, จาคะและปัญญา กัลยาณมิตรนี้ เรียกว่า อุปนิสสยโคจร

อารักขโคจร เป็นอย่างไร ?
ภิกษุในศาสนานี้ เข้าไปสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามถนน ทอดสายตาลงมองดูประมาณชั่วแอก เดินไปอย่างสำรวม ไม่เหลียวดูพลช้าง ไม่เหลียวดูพลม้า ไม่เหลียวดูพลรถ ไม่เหลียวดูพลเดินเท้า ไม่เหลียวดูสตรี ไม่เหลียวดูบุรุษ ไม่แหงนขึ้นข้างบนไม่เหลียวลงข้างล่าง ไม่เดินมองทิศใหญ่ทิศน้อย พฤติการณ์ของภิกษุนั้นเช่นนี้เรียกว่า อารักขโคจร

อุปนิพันธโคจร เป็นอย่างไร?
คือ สติปัฏฐาน ๔ อันเป็นที่ผูกจิตไว้ สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า :- ภิกษุทั้งหลาย ก็โคจรของภิกษุได้แก่อะไร ? ได้แก่วิสัยอันเป็นสมบัติของพุทธบิดาของตน คือ สติปัฏฐาน ๔ นี้เรียกว่า อุปนิพันธโคจร 

ภิกษุเป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว เข้าไปแล้ว เข้าไปพร้อมแล้ว เข้าถึงแล้ว 
เข้าถึงพร้อมแล้ว มาตามพร้อมแล้ว ด้วยอาจารนี้และด้วยโคจรนี้ ด้วยประการดังอรรถาธิบายมา แม้ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า อาจารโคจรสมุปนโน แปลว่า ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยอาจารและโคจร ฉะนี้ 

คำว่า มีปกติมองเห็นภัยในโทษมีประมาณเล็กน้อย คือมีปกติเห็นภัยในโทษ
ทั้งหลายมีประมาณเล็กน้อย อันต่างด้วยโทษ เช่น การต้องอาบัติเสขิยวัตรโดยไม่ได้จงใจและเกิดอกุศลจิตเป็นต้น

คำว่า สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ความว่า ศีลอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะพึงศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย ศีลนั้นทั้งหมดเธอถือเอามาศึกษาสำเหนียกอยู่โดยความเคารพ

นักศึกษาพึงทราบว่า ปาติโมกขสังวรศีล พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้วในบทว่า ปาติโมกขสวรวโต ที่แปลว่า ผู้สำรวมด้วยสังวรคือปาติโมกข์นี้ และด้วยเทศนาบุคคลาธิษฐานมีประมาณเท่านี้ ส่วนบทว่า อาจารโคจรสมุปนโน ที่แปลว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยอาจารและโคจร เป็นต้น พระผู้มีพระภาคตรัสไว้เพื่อทรงแสดงถึงข้อปฏิบัติโดยประการที่ศีลนั้นทั้งหมดจะสำเร็จแก่ผู้ปฏิบัติ





องุ่นเปรี้ยว กับ การปฏิบัติธรรม

ในหมู่ผู้สนใจศึกษาธรรมะนั้น คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิเสธว่า มีอยู่ไม่น้อยที่หันหน้าเข้าหาธรรมะด้วยเหตุเพราะต้องการดิ้นรนให้พ้นจากความทุกข์หรือความผิดหวังบางประการในชีวิต ซึ่งผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในนั้นจากปัญหาด้านสุขภาพ เมื่อเข้ามาด้วยแรงจูงใจจากความผิดหวังในชีวิตทางโลก ก็อาจพลั้งเผลอหยิบจับเอาคำสอนของพระพุทธศาสนาบางช่วงบางตอน ที่กล่าวถึงโทษภัยของโลก เช่น “กามเป็นทุกข์” “ทุกข์เสมอด้วยเบญจขันธ์ไม่มี” “สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง” ด้วยความเข้าใจอย่างตื้นเขิน เพราะรู้สึกว่าเข้ากันได้พอดิบพอดีกับความเห็นของตัวในขณะนั้น คล้ายๆสำนวน “องุ่นเปรี้ยว” คือ เมื่อหมดโอกาสที่จะได้เสียแล้วก็หลอกตัวเองโดยมองว่าสิ่งนั้นไร้ประโยชน์ไปเสียเลยทั้งที่จริงๆแล้วลึกๆตัวเองก็ยังอยากได้สิ่งนั้นมาครอบครอง ยังตัดไม่ขาด ยังละไม่ได้ อีกทั้งคำสอนบางช่วงก็มีสำนวนที่เมื่อพิจารณาเพียงผิวเผิน ชวนให้เกิดความรู้สึกหดหู่ เบื่อหน่ายเกลียดชังชีวิต สิ้นหวังต่อโลก เช่น

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วรู้เห็นตามเป็นจริงนี้ เป็นธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้รู้เห็นตามเป็นจริง ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอเราจงเบื่อหน่ายเถิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้รู้เห็นตามเป็นจริงเบื่อหน่ายนี้ เป็นธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เบื่อหน่าย ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอเราจงคลายกำหนัดเถิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้เบื่อหน่ายคลายกำหนัดนี้ เป็นธรรมดา…” (เจตนาสูตร)

เมื่อศึกษาผิวเผินเช่นนี้ ประกอบเข้ากับปัญหาชีวิตที่หนักหน่วงของตนเองแล้ว จึงเป็นการง่ายที่ความคิดจะเลยเถิดผิดไปในทางที่เห็นแต่โทษภัยของโลกเพียงด้านเดียว ทรรศนะเช่นนี้นอกจากเป็นความเข้าใจผิดในหลักการของพระพุทธศาสนา ไม่เข้าใจความหมายอันลึกซึ้งที่ท่านทรงแสดงแล้ว ยังนำทุกข์มาท่วมทับตน ไม่นำไปสู่ความเจริญงอกงามในชีวิตแต่อย่างใด จริงอยู่ที่การมองโลกแบบองุ่นเปรี้ยวเช่นนี้ อาจสามารถลดความทุกข์จากความผิดหวังรุนแรงลงได้บ้างในช่วงแรก แต่ทัศนคติผิดๆเช่นนี้ ในระยะยาวย่อมไม่สามารถนำพาชีวิตให้ก้าวหน้าไปได้จริง ทั้งในทางโลกและทางธรรม บางครั้งพระพุทธศาสนาจึงถูกมองเป็นเพียงที่พึ่งขณะเมื่อชีวิตมีทุกข์หนัก แต่เมื่อทุกข์เริ่มจางคลายลงไปตามกาลเวลาที่ล่วงเลยผ่านแล้ว ความสนใจ ความฝักใฝ่ในธรรม ก็จางหายไปด้วย เพราะมองไม่เห็นและเข้าไม่ถึงคุณค่าที่แท้จริงของพระพุทธศาสนามาตั้งแต่แรก

อย่างไรก็ตาม การที่มีข้อความหรือถ้อยคำสำนวนในบางช่วงตอนที่อาจชวนให้เกิดความรู้สึกชังชีวิตเช่นนี้ จะเป็นปัญหาของธรรมะก็หามิได้ แท้จริงเป็นปัญหาด้านข้อจำกัดของภาษาที่ไปไม่ถึงสิ่งที่ลึกซึ้ง เช่นในเจตนาสูตรที่ยกมาข้างต้น คำว่า “เบื่อหน่าย” ท่านแปลจากบาลีคือ “นิพพิทา” ศัพท์คำว่า นิพพิทา นี้จะแปลด้วยคำศัพท์ภาษาไทยคำใดให้ตรงตามความหมายที่ต้องการครบถ้วน ก็เห็นจะไม่มี ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้ให้ความหมายว่า นิพพิทา “ความหน่าย” หมายถึง ความหน่ายที่เกิดขึ้นจากปัญญาพิจารณาเห็นความจริง, ความเบื่อหน่ายในกองทุกข์

ความมุ่งหมายของพระสูตรที่แสดงโทษภัยของโลกนั้น ล้วนเป็นไปเพื่อให้เกิด “นิพพิทา” ซึ่งเป็นความหน่ายอันประกอบด้วยปัญญารู้เห็นตามเป็นจริง เป็นความหน่ายที่ทำให้รู้สึกปลอดโปร่ง เบิกบาน มีความสุขอย่างเป็นอิสระ เนื่องจากกิเลสทั้งหลายสงบลงไปจากความไม่ยึดติดถือมั่น อาจกล่าวแบบภาษาง่ายๆได้ว่า เพราะเข้าถึงวิถีทางใหม่ที่ดียิ่งกว่า จึงเลิกสนใจวิถีทางเดิมๆ ต่างจากความเบื่อหน่ายเกลียดชังต่อโลกซึ่งเกิดจากกิเลสจำพวกโทสะ หรือความอยากจะพ้นไปจากสิ่งที่ตนไม่ปรารถนาซึ่งเป็นกิเลสจำพวกโลภะ (วิภวตัณหา) เหล่านี้ก่อให้เกิดเป็นความเบื่อหน่ายที่ทำให้ตรอมตรม งอมระงมเผาอยู่ในจิตใจ ซึ่งจะเห็นว่าในความคล้ายของคำศัพท์ภาษาไทยที่ว่า “เบื่อหน่าย” นี้ มีความแตกต่างอย่างใหญ่หลวงที่จำเป็นจะต้องแยกออกจากกันให้ชัด เพื่อมิให้เผลอปล่อยให้กิเลสจำพวกนี้ก่อตัวขึ้นเผาจิตใจตัวเองอย่างเงียบๆให้เป็นทุกข์ แม้ในขณะที่กำลังพยายามพิจารณาเพื่อต้องการลดละกิเลสอยู่นั่นเอง

กล่าวคือ การมองโลกในแง่ร้ายในลักษณะที่ว่าสิ่งต่างๆเป็นความทุกข์ทรมานนั้น ส่งผลให้เกิดความ “เบื่อหน่ายโลกด้วยโทสะ ซึ่งทำให้เป็นทุกข์โดยไม่จำเป็น ส่วนการ “เบื่อหน่ายโลกเพราะรู้เห็นตามเป็นจริงด้วยนิพพิทาญานทำให้ปลอดโปร่งเบิกบาน จะเห็นว่าทั้งสองกรณีนี้แม้โดยคำศัพท์อาจมีส่วนเหมือนกัน แต่แท้จริงความหมายที่ต้องการจะสื่อต่างกันอย่างตรงข้ามทีเดียว ผู้ที่หันหน้าเข้าหาธรรมด้วยเหตุจากความผิดหวังใดๆในชีวิต พึงพิจารณาว่า ควรหรือที่จะเอาสุขทุกข์ของตนไปขึ้นต่อ ไปยึดโยงอยู่กับสิ่งใดๆ เพื่อสนองตัณหาของตน คราวเมื่อได้สิ่งนั้นมาก็เป็นสุข เมื่อสูญเสียสิ่งนั้นไป หรือขวนขวายแล้วไม่ได้ตามต้องการก็เป็นทุกข์ เหตุแห่งทุกข์จึงเกิดเพราะความที่เรามีตัณหาอยู่ในขันธสันดาน เมื่อจะแก้ที่ต้นตอของปัญหาจึงต้องแก้ที่กิเลสตัณหาในจิตใจของเรานี่เอง เมื่อตัณหาเบาบาง ทุกข์ต่างๆในจิตใจก็จางคลายลงไปด้วย เมื่อปราศจากตัณหา ย่อมอยู่เป็นสุขทุกเมื่อ

อย่างไรก็ตาม การกล่าวถึงความปราศจากตัณหา แม้เป็นการเอาชนะปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ก็อาจดูจะเป็นเป้าหมายที่ไกลตัวเกินไปสักหน่อย ในที่นี้จึงนำเสนอแนวทางอยู่ร่วมกับกิเลสตัณหาอย่างเป็นปกติสุขตามสมควรสำหรับคฤหัส โดยพยายามจะให้เป็นวิถีทางที่ทำได้ไม่ยากและสามารถจะเห็นประจักษ์กับตัวเองได้ค่อนข้างชัด ซึ่งแท้จริงแล้วทุกคนสามารถสร้างขึ้นได้มากมาย หลายกรณีก็มิใช่ของยากหรือไกลตัวแต่อย่างใด ยกตัวอย่าง ดังนี้

สุขจากความพอใจในสิ่งที่ตนมี ใช้จ่ายทรัพย์ตามสมควร ความประพฤติไม่เป็นโทษ (🔎 กามโภคีสุข “สุขของคฤหัสถ์”)
สุขจากการทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ (สุขจากการสนองฉันทะ)
สุขจากการมีศรัทธาถูกทาง : เป็นศรัทธาที่นำไปสู่ปัญญา ไม่เป็นศรัทธาที่งมงายแต่เป็นศรัทธาที่ทำให้หายงมงาย มีความปีติยินดีว่าทางที่มุ่งไปเป็นทางแห่งความสุขความเจริญโดยแท้
สุขจากทาน : เช่น จากที่เคยหวังพึ่งแต่สุขจากการกินการใช้อย่างหรูหราราคาแพง ลองมองหาผู้ที่ขาดแคลนแล้วแบ่งปันให้เขาโดยที่ไม่หวังผลตอบแทน แล้วสังเกตสุขในจิตใจของตนดูว่าเกิดขึ้นหรือไม่เพียงใด บางครั้งการให้ผู้อื่นโดยที่มีต้นทุนเพียงเล็กน้อย อาจสร้างสุขให้แก่ตนเองมากกว่าการกินใช้หรูหราก็เป็นไปได้
สุขจากศีล : การมีศีลที่ดีย่อมเป็นเหตุ เป็นพื้นฐาน และเป็นต้นทางแห่งความสุขความเจริญทั้งหลายทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพียงระลึกถึงความมีศีลที่ดีของตนแล้วก็พาให้แช่มชื่นใจ
สุขจากการเจริญเมตตา : การมีความคิดขุ่นเคืองแค้น อาฆาตพยาบาท อิจฉาริษยา ล้วนเป็นมลทินโทษของจิตใจ เป็นไฟที่เผาผลาญอยู่ภายในให้เป็นทุกข์ พึงเจริญเมตตาแก่ตนเอง แก่ผู้เป็นที่รัก แก่ศัตรูทั้งหลาย เผื่อแผ่ความปรารถนาดีไปโดยไม่จำกัดขอบเขตเช่นนี้ จิตใจย่อมผาสุข
สุขจากสมาธิ : จากที่เคยหวังสุขที่ต้องพึ่งพิงสิ่งอื่นหรือผู้อื่น ลองฝึกปฏิบัติสมาธิเพื่อให้ได้รับสุขจากความสงบประณีต การได้สัมผัสสุขจากสมาธินั้น สามารถกล่าวได้ว่าเป็นก้าวย่างสำคัญของความเจริญในกุศลธรรมต่างๆ
สุขจากปัญญา : มีความสุขจากความใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาในธรรม ความยินดีในธรรม ความปลอดโปร่งจากกิเลส พึงทราบว่าปัญญาเป็นยอดแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย

แม้ยังไม่สามารถถอนกิเลสให้หมดสิ้นไปโดยสิ้นเชิง การบรรเทากิเลสตัณหาของตนให้เบาบางในระดับที่ไม่สร้างปัญหาเดือดร้อนให้แก่ตนและผู้อื่น จับจ่ายใช้สอยพอเหมาะ มีศีลที่ดี มีจิตใจเมตตากรุณา มีความรู้ความเข้าใจธรรมะตามสมควร รู้จึกสุขอื่นที่ดีกว่าสุขจากการสนองกิเลส ก็ได้ชื่อว่าเป็น กัลยาณปุถุชน ผู้ซึ่งเมื่อครั้งหนึ่งได้มีโอกาสสดับสัทธรรมแล้ว สามารถรับเอาความเจริญงอกงามติดตัวกลับไปตามสมควรแก่ตน

อะไรเล่าเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐสุดของคนในโลกนี้ ?
อะไรเล่าที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ ?
อะไรเล่าเป็นรสที่ดีกว่ารสทั้งหลาย ?
บุคคลมีความเป็นอยู่อย่างไร นักปราชญ์จึงกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ ?

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้
ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐสุดของคนในโลกนี้
ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้
สัจจะเท่านั้น เป็นรสที่ดีกว่ารสทั้งหลาย
บุคคลมีความเป็นอยู่ด้วยปัญญา นักปราชญ์จึงกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ (อาฬวกสูตร)

“ดูกรมหานามะ สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระตถาคตเนืองๆ สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุมไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม ย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว ก็อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภพระตถาคต ย่อมได้ความทราบซึ้งอรรถ ย่อมได้ความทราบซึ้งธรรมย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม เมื่อปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติเมื่อมีใจประกอบด้วยปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น ดูกรมหานามะ นี้อาตมภาพกล่าวว่า อริยสาวกเป็นผู้ถึงความสงบเรียบร้อยอยู่ ในเมื่อหมู่สัตว์ยังไม่สงบเรียบร้อย เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ ในเมื่อหมู่สัตว์ยังมีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมกระแสธรรม ย่อมเจริญพุทธานุสสติ” (ตรัสถึง ธรรมานุสสติ, สังฆานุสสติ, สีลานุสสติ, จาคานุสสติ, เทวตานุสสติ ด้วย) (มหานามสูตร)



กาลามสูตร ตรรกวิทยาและความศรัทธา

สมัยหนึ่ง พวกชนกาลามะโคตร ชาวเกสปุตตนิคม ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า 

“พระเจ้าข้า มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม สมณพราหมณ์พวกนั้น พูดประกาศแต่เฉพาะวาทะของตัวเท่านั้น ส่วนวาทะของผู้อื่นช่วยกันกระทบกระเทียบ ดูหมิ่นพูดกด ทำให้ไม่น่าเชื่อ พระเจ้าข้า มีสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคมถึงพราหมณ์พวกนั้น ก็พูดประกาศแต่เฉพาะวาทะของตนเท่านั้น ส่วนวาทะของผู้อื่นช่วยกันกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น พูดกด ทำให้ไม่น่าเชื่อ พระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ยังมีความเคลือบแคลงสงสัยในสมณพราหมณ์เหล่านั้นอยู่ทีเดียวว่า ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็ควรแล้วที่ท่านทั้งหลายจะเคลือบแคลงสงสัย กาลามสูตร (วิธีปฏิบัติในเรื่องที่ควรสงสัย)
๑. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
๒. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบๆกันมา
๓. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
๔. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
๕. อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ
๖. อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน (คาดเดา คาดคะเน)
๗. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการตรึกตามอาการ
๘. อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับความเห็นของตน
๙. อย่าปลงใจเชื่อเพราะผู้พูดสมควรเชื่อถือได้
๑๐. อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่า ท่านผู้นี้เป็นครูของเรา
“ต่อเมื่อใด พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมเหล่าใด เป็นอกุศล มีโทษ นักปราชญ์ติเตียน เมื่อทำแล้วย่อมให้เกิดแต่ส่วนที่ไม่เป็นประโยชน์และความทุกข์ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสีย ธรรมเหล่าใด เป็นกุศล ไม่มีโทษ นักปราชญ์สรรเสริญ เมื่อทำแล้วย่อมให้เกิดประโยชน์และความสุข ท่านควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้น” (กาลามสูตร)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ท่านได้ชี้จุดที่ควรทำความเข้าใจเป็นพิเศษ คือคำว่า “อย่าปลงใจเชื่อ” ไม่ใช่การห้ามไม่ให้เชื่อ หรือปฏิเสธความศรัทธา แต่ท่านหมายความว่า อย่าพึ่งเชื่อสนิทใจ นั่นคือ ให้พิจารณาดูก่อน ปฏิบัติดูก่อน จนประจักษ์แก่ตน ว่าเป็นของดีจริง จึงค่อยเพิ่มพูนความเชื่อมั่นขึ้นไปตามลำดับ ขอให้สังเกตข้อ ๕-๗ เป็นเรื่องของตรรกะ หรือ Logic ซึ่งมีความหมายอย่างกว้างๆ คือ เป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนวิธีคิดเพื่อนำความจริงที่รู้แล้วขยายไปสู่ความจริงที่ยังไม่รู้ หรือความรู้โดยตรงขยายไปสู่ความรู้โดยอ้อม การพูดโดยอาศัยตรรกะนั้น ถ้าผู้พูดมีวาทะศิลป์ที่ยอดเยี่ยมแล้ว ก็จะทำให้คำพูดของเขานั้นดูมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ สละสลวยน่าฟัง ชวนให้คล้อยตามไปได้โดยง่าย แม้จะไม่ใช่เรื่องจริงก็ตาม เพราะการอ้างตรรกะก็มีช่องโหว่ ไม่ใช่การเข้าถึงความจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ในทุกกรณี ในกาลามสูตรท่านจึงไม่ให้ถือตรรกะเป็นที่ยุติ ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น

คนที่เคยติดคุก เป็นคนเลว นาย ก. เคยติดคุก ดังนั้น นาย ก. เป็นคนเลว, ในความเป็นจริงนาย ก. อาจเป็นแพะรับบาป หรือกลับตัวเป็นคนดีแล้วก็ได้

ประเทศชาติของเราจะเจริญรุ่งเรือง ถ้าทุกคนในชาติมีแนวคิดชาตินิยม เราจึงควรปลูกฝังแนวคิดชาตินิยม นาย ก. ไม่สนับสนุนแนวคิดชาตินิยม ดังนั้น นาย ก. เป็นคนไม่รักชาติ, ในความเป็นจริงนาย ก. อาจเป็นคนที่รักชาติ แต่ไม่เห็นด้วยว่าแนวคิดชาตินิยมจะทำให้ชาติเจริญก็ได้

อย่างไรก็ตาม การใช้ตรรกะแม้จะมีช่องโหว่อยู่บ้าง แต่ก็มีประโยชน์ช่วยในการคิดพิจารณา ปะติดปะต่อเรื่องราวและความรู้ต่างๆได้อย่างมีเหตุมีผล แม้จะไม่อยู่ในขั้นที่สมบูรณ์แบบเหมือนการรู้เห็นอย่างประจักษ์แจ้งด้วยปัญญา แต่ก็สามารถทำหน้าที่เป็นบันไดต่อไปสู่ความรู้อย่างประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาได้ ตัวอย่างเช่น พระปุณณาเถรีได้กล่าวแก่พราหมณ์ผู้ถือธรรมเนียมการอาบน้ำล้างบาปในแม่น้ำว่า “ …ถ้าคนจะพ้นจากบาปกรรมได้ก็เพราะการอาบน้ำ (ล้างบาป) พวกกบ เต่า งู จระเข้ และสัตว์เหล่าอื่นที่เที่ยวหากินอยู่ในน้ำทั้งหมดก็คงพากันไปสวรรค์แน่แท้, ถ้าแม่น้ำเหล่านี้จะพึงนำบาปที่ท่านก่อไว้แต่ก่อนไปได้ แม่น้ำเหล่านี้ก็จะพึงนำทั้งบุญของท่านไปด้วย, ท่านพราหมณ์ ท่านกลัวบาปใด จึงลงอาบน้ำเป็นประจำ ท่านก็อย่าได้ทำบาปอันนั้น… ” (ปุณณิกาเถรีคาถา) เมื่อได้ฟังการอธิบายเช่นนี้ แม้แต่พราหมณ์ที่ถือธรรมเนียมของตนมาอย่างยาวนานก็เข้าใจได้โดยง่าย

กล่าวถึงเรื่องของความศรัทธา พระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธประโยชน์ของศรัทธา คนเดินทางไกลในถิ่นทุรกันดาล ถ้ามีผู้นำทางที่ยอดเยี่ยม ย่อมไม่กลัวความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวและภัยอันตรายฉันใด ความมีศรัทธาก็เปรียบเสมือนมีประทีปส่องนำทางให้ความรู้สึกอบอุ่นใจแก่ผู้ศึกษาฉันนั้น แต่ท่านกล่าวว่าความศรัทธาเป็นการพึ่งปัญญาของผู้อื่น ถ้าผู้ที่เราน้อมใจศรัทธา แท้จริงเป็นคนพาลผู้มาในรูปของกัลยาณมิตรแล้ว ย่อมจะนำความเสื่อมและโทษภัยมาให้แก่ผู้หลงตามไปเป็นอย่างยิ่ง

อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ (จากหนังสือ คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา) ได้ชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจว่า “…ในพระพุทธศาสนานั้น ไม่มีที่ไหนเลย เมื่อกล่าวถึงศรัทธาแล้วจะไม่กล่าวถึงปัญญากำกับไว้ด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดเหลือเกินว่า ในที่ใดใช้ศรัทธาความเชื่อ ในที่นั้นจะต้องใช้ปัญญากำกับไว้เป็นข้อสุดท้ายเสมอ เพราะถือว่าเป็นเครื่องมือขั้นสุดท้ายที่จะให้ประจักษ์แจ้งความจริง หรือได้รับผลสมบูรณ์ใดๆ เช่น อินทรีย์ ๕, อริยทรัพย์ ๗, สัปปุริสธรรม ๗, สัมปรายิกัตถะ ๔, เวสารัชชกรณธรรม ๕ เป็นต้น”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ศรัทธาที่แท้ในทางพระพุทธศาสนา คือศรัทธาที่ไม่ทำให้งมงายแต่เป็นศรัทธาที่ทำให้หายงมงาย หรือศรัทธาที่เอื้อต่อปัญญา

พุทธพจน์ “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นคนพาล ไม่เฉียบแหลม ไม่ใช่สัตบุรุษ ย่อมเป็นผู้ประกอบไปด้วยโทษ นักปราชญ์ติเตียน ย่อมประสบกรรมมิใช่บุญเป็นอันมาก และย่อมเกิดในนรกเหมือนถูกนำมาโยนลง ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ
    บุคคลไม่พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว กล่าวสรรเสริญบุคคลที่ไม่ควรสรรเสริญ ๑
    ไม่พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว กล่าวติเตียนบุคคลที่ควรสรรเสริญ ๑
    ไม่พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว ปลูกความเลื่อมใสในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส ๑
    ไม่พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว ปลูกความไม่เลื่อมใสในฐานะที่ควรเลื่อมใส ๑

“บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นบัณฑิตเฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ เป็นผู้หาโทษมิได้ ทั้งนักปราชญ์ไม่ติเตียน ย่อมประสบบุญเป็นอันมาก และย่อมเกิดในสวรรค์เหมือนถูกเชิญมา ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ
    บุคคลพิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว ย่อมติเตียนบุคคลที่ควรติเตียน ๑
    พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว ย่อมสรรเสริญบุคคลที่ควรสรรเสริญ ๑
    พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว ปลูกความไม่เลื่อมใสในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส ๑
    พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว ปลูกความเลื่อมใสในฐานะที่ควรเลื่อมใส ๑ (ขตสูตร ; วัณณสูตร)



ความรัก ๒ ระดับ ของบุคคลสำคัญสมัยพุทธกาล

ประเด็นเรื่องความรักกับคำสอนของพระพุทธศาสนานั้น เราๆท่านๆอาจได้ยินได้ฟังกัน หรือจำกันได้ติดหู ในประโยคที่ว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” ซึ่งเป็นข้อความบางส่วนจากพระพุทธพจน์ในวิสาขาสูตร จากสำนวนที่ค่อนข้างรวบรัดตัดตอนนี้ทำให้บางครั้งอาจเกิดทัศนคติต่อความรักในเชิงลบ หรือมองว่าความรักเป็นสิ่งที่ขัดขวางความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย ซึ่งทัศนคติดังกล่าวนี้ ถูกต้องเพียงบางส่วน บทความนี้จึงมุ่งหวังให้เกิดความกระจ่างในประเด็นเรื่องของความรัก ในทัศนะของพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้นตามแนวทางที่ครูอาจารย์ได้เคยชี้แนะเอาไว้แล้ว

ความรักที่เกิดจากตัณหา ราคะ ย่อมเป็นความเกิดพร้อมของเหตุแห่งทุกข์ ความรักด้วยแรงจูงของกิเลสนั้น ท่านมีศัพท์เฉพาะว่า “สิเนหะ” (เสน่หา ในภาษาไทย) “เปมะ” หรือ “ปิย” เป็นต้น นอกจากนี้คำว่า “หึง” นั้น ผู้เขียนเคยได้ยินว่าแผลงมาจากบาลีว่า “หิงสะ” ที่แปลว่า เบียดเบียน (ตรงข้ามกับ อหิงสา ไม่เบียดเบียน) ความรักใดที่มาพร้อมกับความหึงหวง ความรักนั้นย่อมมีมูลเหตุมาจากกิเลส ส่วนความรักแบบเมตตา กรุณา เป็นความเกิดพร้อมของเหตุแห่งสุข อาจกล่าวได้ว่า เป็นด้านดีของความรัก

ประเด็นเรื่องความรักนี้ จริงๆแล้วไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากนัก แต่ที่เป็นปัญหาส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของการใช้คำศัพท์ ทั้ง ตัณหา ราคะ สิเนหะ กับ เมตตา กรุณา ภาษาไทยเราเรียกคลุมๆกันไปหมดว่า เป็นความรัก ทั้งๆที่อย่างหนึ่งเป็นอกุศลธรรม อีกอย่างหนึ่งเป็นกุศลธรรม ดังนั้น จึงควรสังเกตความแตกต่าง และแยกออกจากกันให้ชัดเจน โดย แบ่งเป็นความรัก ๒ แบบ

แบบที่ ๑ ความรักด้วยตัณหา : คือ ความรักเพราะอยากได้ มีความเห็นแก่ตัวเป็นสมุทฐาน มองผู้นั้นเป็นเครื่องสนองความสุข สนองความต้องการของตนเอง เมื่อผิดหวังไม่ได้ดังใจตนก็เกิดความรู้สึกกระทบกระทั่งรุนแรง หรือถ้าผู้นั้นไม่อยู่ในภาวะที่จะสนองความต้องการให้แก่ตนได้ ความรักก็อาจเปลี่ยนเป็นความเบื่อหน่าย รังเกียจ ความรักแบบนี้แท้จริงแล้วคือการคิดจะได้จะเอาจากผู้อื่น ไม่ใช่ความดีงามอะไร ผู้ที่มีความรักด้วยกิเลสตัณหามากย่อมเป็นการสะสมเหตุแห่งความทุกข์ทางใจเอาไว้มากด้วย

แบบที่ ๒ ความรักอันประเสริฐ : คือ ความรักด้วยพรหมวิหาร ๔ อยู่ในฝ่ายของฉันทะ เป็นกุศลธรรมล้วนๆ เป็นความรักที่ทำให้การให้กลายเป็นความสุข เป็นความรักเพื่อตัวเขา โดยไม่ต้องเอาตัวเราเข้าไปรอรับผลตอบแทนใดๆ เพราะความที่ไม่ต้องมีตัวเราเข้าไปรับกระทบใดๆนี่แหละ ผู้มีความรักอย่างประเสริฐจึงมีความสุข ความเบิกบานในจิตใจอย่างยิ่ง ยามเขาปกติก็บันเทิงอยู่ด้วยเมตตาอยากให้เขามีความสุข เมื่อเขาทุกข์ร้อนก็ชุ่มด้วยกรุณาอยากให้พ้นจากความทุกข์ เมื่อเขาเจริญรุ่งเรืองประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นก็พลอยยินดีด้วยมุทิตาจิต แม้ยามพ้นวิสัยที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลอะไรได้ ก็วางใจสงบด้วยอุเบกขา ผู้ที่มีความรักด้วยเมตตากรุณามากย่อมเป็นการสะสมเหตุแห่งความสุขทางใจเอาไว้มากด้วย

การแยกออกเป็นสองแบบนั้น ไม่ใช่ว่าความรักแต่ละกรณีจะจัดลงในแบบใดแบบหนึ่งได้โดยสิ้นเชิง ปกติแล้วก็มักจะประกอบด้วยส่วนผสมทั้งสองด้านนี้เจือปนกันอยู่ เช่น ความรักของพ่อแม่ ก็มักจะมีส่วนของความรักอันประเสริฐด้วยพรหมวิหารมาก ความรักของหนุ่มสาว ก็มักจะมีส่วนของความรักด้วยตัณหามาก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม พึงทราบว่าผลสำเร็จที่เป็นอุดมคติของความรักอันประเสริฐ หรือการเจริญพรหมวิหารธรรม คือ มีความปรารถนาดีต่อสัตว์ทั้งปวงอย่างเสมอกัน โดยไม่แบ่งแยกหมู่คณะ มิตร ศัตรู ดี เลว ดังพุทธพจน์

“มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน แม้ด้วยการยอมสละชีวิตได้ ฉันใด กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้น”

อาจมีคำถามเกิดขึ้นว่า ความรักแบบหนุ่มสาว ที่ว่าเป็นความรักเพราะอยากได้ ประกอบด้วยกิเลสตัณหามาก นำมาซึ่งความทุกข์นั้น …มันก็นำมาซึ่งความสุข เป็นเหตุแห่งความสุขด้วยมิใช่หรือ?

ข้อนี้ข้าพเจ้าขอแสดงความเห็นว่า กามสุข (สุขจาก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) มันก็เป็นเหตุแห่งความสุขตามเหตุปัจจัยปกติของมัน เช่น รูปที่น่ารัก อาหารอร่อย ดนตรีไพเราะ ธรรมชาติงดงาม เป็นต้น มันก็ให้ความสุขตามระดับของมันเช่นนั้น ไม่ว่าเราจะยือถือมันไว้ด้วยกิเลสตัณหาหรือไม่ก็ตาม (พระอรหันต์ยามว่างจากภาระกิจที่พึงกระทำก็ยังนิยมเข้าฌานเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน อันเป็นสุขที่เหนือกว่าสุขจากกามคุณ ๕ แม้ท่านไม่มี รูปราคะ และอรูปราคะแล้ว) ที่ว่าความรักของหนุ่มสาวก็นำมาซึ่งความสุขได้นั้น จึงเป็นความจริงในแง่ด้านหนึ่ง เพราะกามคุณ ๕ ก็ย่อมเป็นเหตุแห่งสุขตามระดับของมัน (กามสุข < ฌานสุข < นิพพานสุข) ประเด็นคือกิเลสตัณหานั้น เป็นส่วนโทษเป็นเหตุแห่งทุกข์ ความรักใดๆก็ตามที่เคยประกอบด้วยกิเลสตัณหามาก ผู้ฉลาดควรที่จะค่อยๆแทนที่ด้วยความรักแบบ เมตตา กรุณา เพื่อให้การเข้าไปเกี่ยวข้องกับสัตว์บุคคลทั้งหลาย เป็นทั้งเหตุแห่งสุขตามปกติธรรมดาของมันและเป็นเหตุแห่งสุขด้วยกุศลธรรมความปรารถนาดีโดยไม่หวังผลตอบแทน ในขณะที่เป็นเหตุแห่งทุกข์เพียงเล็กน้อยตามระดับของกิเลสตัณหาที่เบาบางลง หรือแม้กระทั่งไปจนถึงเป้าหมายในอุดมคติคือ ปลอดกิเลส ปลอดทุกข์ มีแต่ความสุข

ในภาพรวมของเนื้อหา จะนำเสนอเรื่องราวความรักของบุคคลสำคัญในสมัยพุทธกาล ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถา โดยจัดเป็นคู่ๆ เพื่อให้สามารถมองเห็นความแตกต่าง และเปรียบเทียบลักษณะของ “ความรัก” ที่เกิดขึ้นในแต่ละเหตุการณ์ได้โดยสะดวก


🙏 ๑) นางวิสาขา กับ พระโพธิสัตว์ในอุรคชาดก
(วิสาขาสูตร)

นางวิสาขาเกิดในตระกูลเศรษฐี แคว้นอังคะ เมื่อพระบรมศาสดาเสร็จมาสู่เมือง ได้ตามผู้เป็นปู่ไปฟังธรรม และบรรลุเป็นโสดาบันบุคคล ในขณะที่มีอายุเพียง ๗ ขวบ กาลต่อมาท่านได้รับยกย่องว่าเป็นมหาอุบาสิกาผู้เลิศในด้านการถวายทาน เป็นผู้สร้างวัดบุพพาราม และเป็นผู้ริเริ่มการถวายผ้าอาบน้ำฝน

ครั้งหนึ่ง… นางวิสาขา ได้สูญเสียหลานอันเป็นที่รักยิ่งไป ด้วยเหตุเพราะหลานสาวผู้นี้เป็นเด็กหญิงที่มีความเพียบพร้อมทั้งกิริยามารยาทอันน่ารักน่าชมและคุณธรรมอันดีงาม เธอเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ที่พึงกระทำแก่ ภิกษุ ภิกษุณี เมื่อนางวิสาขาไม่อยู่บ้าน จึงเป็นที่รักที่พึงใจของนางวิสาขาอย่างยิ่ง เมื่อหลานสาวผู้นี้ป่วยจนถึงแก่อสัญกรรม ท่านจึงบังเกิดความโศกเศร้าเสียใจ ร้องให้น้ำตานองหน้าเข้ามากราบทูลพระพุทธเจ้า เพื่อประสงค์จะฟังธรรมเพื่อคลายความทุกข์โศก มีใจความตอนหนึ่งว่า

“ดูกรนางวิสาขา ท่านพึงปรารถนาบุตรและหลานเท่ามนุษย์ในพระนครสาวัตถีหรือ”
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ หม่อมฉันพึงปรารถนาบุตรและหลานเท่ามนุษย์ในพระนครสาวัตถี เจ้าค่ะ”
“ดูกรนางวิสาขา มนุษย์ในพระนครสาวัตถีมากเพียงไร ทำกาละ (ตาย) อยู่ทุกวันๆ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มนุษย์ในพระนครสาวัตถี ๑๐ คนบ้าง ๙ คนบ้าง ๘ คนบ้าง ๗ คนบ้าง ๖ คนบ้าง ๕ คนบ้าง ๔ คนบ้าง ๓ คนบ้าง ๒ คนบ้าง ๑ คนบ้าง ทำกาละอยู่ทุกวันๆ”
“ดูกรนางวิสาขา ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านพึงเป็นผู้มีผ้าเปียกหรือมีผมเปียกเป็นบางครั้งบางคราวหรือหนอ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่ใช่อย่างนั้น เจ้าค่ะ พอเพียงแล้วด้วยบุตรและหลานมากเพียงนั้นแก่หม่อมฉัน”
“ดูกรนางวิสาขา ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑๐๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑๐๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๙๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๙๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๘๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๘๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๗๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๗๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๖๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๖๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๕๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๕๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๔๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๔๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๓๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๓๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๒๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๒๐ … ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑ ผู้ใดไม่มีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่มีความโศก ปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่มีอุปายาส”  “ความโศกก็ดี ความร่ำไรก็ดี ความทุกข์ก็ดี มากมายหลายอย่างนี้มีอยู่ในโลก เพราะอาศัยสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักเมื่อไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก ความโศก ความร่ำไรและความทุกข์เหล่านี้ย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้นแล ผู้ใดไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในโลกไหนๆ ผู้นั้นเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความโศก เพราะเหตุนั้น ผู้ปรารถนาความไม่โศก อันปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่พึงทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รัก ในโลกไหนๆ”

ทั้งนี้ เมื่อนางวิสาขามีความรักอันประกอบด้วยกิเลสตัณหา หรืออาจเรียกว่า รักด้วยเสน่หาต่อหลาน ในขณะเดียวกันท่านย่อมมีความรักในลักษณะของกุศลธรรม คือ เมตตา กรุณา ต่อผู้เป็นหลานอยู่มากมายด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย จะเห็นว่าแม้แต่ผู้ที่มีคุณธรรมสูงถึงเพียงนี้ ยังมีความรักอันเจือด้วยกิเลสต่อหลานของตน (ในขณะเดียวกันท่านย่อมมีความรักด้วย เมตตา กรุณา ต่อผู้เป็นหลานอยู่มากมายเช่นกัน) ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่า เป็นธรรมดาของผู้ที่ยังไม่หมดกิเลส ย่อมจะมีความรักด้วยเสน่หาเช่นนี้อยู่มากเช่นเดียวกัน หากแต่ความเข้าใจว่าความรักชนิดนี้เป็นของมีโทษ ความรักด้วยเมตตากรุณา เป็นของมีคุณประโยชน์ ก็เป็นสิ่งที่ควรศึกษาเพื่อความผาสุขยิ่งในชีวิตและเพื่อประดับปัญญา

มีทัศนคติหนึ่งในสังคม ที่พบบ่อยแต่ไม่สู้จะถูกต้องนัก กล่าวคือ แม้แต่ความรักที่เจือด้วยกิเลสตัณหา ก็ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ดี (สุดโต่งไปคนละทางกับกลุ่มที่มองว่าความรักนั้นไม่ดีทั้งหมด) ยกตัวอย่างสถานการณ์สมมติเช่นว่า ถ้าผู้ที่เป็นที่รักล่วงลับจากไป แล้วเราไม่โศกเศร้าเสียใจ อาจถูกมองว่าเป็นคนมีจิตใจหยาบไม่มีเมตตากรุณา ทั้งๆที่จริงๆแล้ว ถ้ามีเมตตากรุณาแท้ๆโดยไม่มีกิเลสตัณหา ไม่มีความยึดติดเสน่หาในตัวบุคคลผู้นั้นเจือปน จะไม่โศกเศร้าเสียใจเลย

ด้วยปรารถนาจะให้ความกระจ่าง 🔎คัมภีร์วิสุทธิมรรคจึงได้แสดงวิบัติ (ความผิดพลาด) ของพรหมวิหารธรรมแต่ละข้อไว้ ดังนี้
เมตตา : มีราคะ และสิเนหะเป็นวิบัติ
กรุณา : มีความรู้สึกพลอยโศกเศร้าเป็นวิบัติ
มุทิตา : มีความรู้สึกพลอยยินดีด้วยกิเลสตนเป็นวิบัติ
อุเบกขา : มีความเฉยโง่เป็นวิบัติ

ดังจะเห็นตัวอย่างเพิ่มเติมจากพระสูตรบทถัดไป

พ่อค้าผู้หนึ่ง บุตรได้ตายลงมีความโศกเศร้ายิ่ง พระบรมศาสดาได้ตรัสต่อพ่อค้าผู้นั้นว่า

“ชื่อว่าสิ่งที่มีการแตกทำลายเป็นธรรมดา ย่อมจะแตกทำลายไป ชื่อว่าสิ่งที่มีการพินาศไปเป็นธรรมดา ย่อมจะพินาศไป ก็แหละสิ่งที่มีการแตกและการพินาศไปนั้น จะมีแก่คนผู้เดียวเท่านั้นก็หามิได้ จะมีในหมู่บ้านเดียวเท่านั้น ก็หามิได้ ชื่อว่าสภาวธรรม คือ ความไม่ตายย่อมไม่มีในภพทั้งสาม ในจักรวาลอันหาประมาณมิได้ แม้สังขารอย่างหนึ่งซึ่งสามารถดำรงอยู่โดยภาวะนั้นเท่านั้น ชื่อว่าเที่ยงยั่งยืนย่อมไม่มี สัตว์ทั้งปวงมีความตายเป็นธรรมดา สังขารทั้งหลายมีการแตกสลายไปเป็นธรรมดา แม้โบราณบัณฑิตทั้งหลาย เมื่อบุตรตายแล้ว คิดว่าสิ่งที่มีการพินาศไปเป็นธรรมดา พินาศไปแล้ว จึงไม่เศร้าโศกเลย”

และได้ทรงแสดงเรื่องในอดีตเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ ความโดยย่อดังนี้

ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ ทำอาชีพกสิกรรม ครอบครัวประกอบด้วย ภรรยา บุตร ธิดา ลูกสะใภ้ และคนรับใช้ พระโพธิสัตว์ได้ให้โอวาทแก่บุคคลดังกล่าวเรื่อง ศีล ความไม่ประมาท และมรณานุสติ ชนเหล่านั้นรับไปปฏิบัติเป็นอันดีเรื่อยมา กาลล่วงมาวันหนึ่ง บุตรของพระโพธิสัตว์ถูกงูพิษกัดเสียชีวิตลง เมื่อทุกคนทราบข่าว ก็มิได้ร้องให้คร่ำครวญ เพราะเป็นผู้เจริญมรณานุสติไว้ดีแล้ว ท้าวสักกะเห็นดังนี้ก็บังเกิดความสนใจใคร่รู้ จึงเสด็จลงมาตรัสถาม

เขาคงจะเป็นบุตรผู้ไม่เป็นที่รักของท่าน? 
พระโพธิสัตว์กล่าวว่า เขาเป็นบุตรที่รักยิ่งของข้าพเจ้า บุตรละทิ้งร่างกายตนเหมือนงูลอกคราบ เมื่อเขาตายแล้วเขาย่อมไม่รับรู้ถึงความเสียใจของญาติ เพราะฉะนั้นการโศกเศร้าเสียใจจึงไม่มีประโยชน์ เขาย่อมไปตามคติที่ไปอันควรแก่เขา ภรรยาพระโพธิสัตว์กล่าวว่า  ดิฉันไม่ได้เชิญให้เขามาเกิด เมื่อจะไปก็มิได้อนุญาต การโศกเศร้าจะมีประโยชน์อะไร เขาย่อมไปตามคติที่ไปอันควรแก่เขา ลูกสาวกล่าวว่า เมื่อพี่ชายตายแล้วดิฉันร้องให้เสียใจก็จะผ่ายผอม ญาติมิตรก็จะเสียใจยิ่งขึ้น ดิฉันจึงไม่โศกเศร้า เขาย่อมไปตามคติที่ไปอันควรแก่เขา ภรรยาของผู้ตายกล่าวว่า บุคคลร้องให้ถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเปรียบเสมือนเด็กร้องให้ขอพระจันทร์ในอากาศ จะพึงมีประโยชน์อันใด เขาย่อมไปตามคติที่ไปอันควรแก่เขา คนรับใช้ของพระโพธิสัตว์กล่าวว่า ลูกเจ้านายของดิฉัน เป็นผู้เสมือนบุตรที่ดิฉันให้เจริญเติบโตในอก หม้อน้ำที่แตกแล้วเชื่อมให้สนิทอีกไม่ได้ ฉันใด การที่บุคคลมาเศร้าโศกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็ ฉันนั้น จะพึงมีประโยชน์อันใด เขาย่อมไปตามคติที่ไปอันควรแก่เขา

ชนทั้ง ๕ เมื่อทราบข่าวการตายของบุตร มิได้มีอาการโศกเศร้า เป็นเพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่มีความรักต่อผู้ตายหรือ? โปรดพิจารณาข้อความที่พระโพธิสัตว์ตรัสตอบท้าวสักกะว่า เขาเป็นบุตรที่รักยิ่งของข้าพเจ้า แสดงว่าความรักที่ไม่ได้เป็นเหตุแห่งทุกข์มีอยู่ นั่นคือ ความรักด้วยเมตตา กรุณา มิใช้รักด้วย ตัณหา ราคะ สิเนหะ (อุรคชาดก)

🙏 ๒) พระสารีบุตร และพระอานนท์ (อุปปติสสะสูตร)

บทนี้เป็นภาษิตของพระสารีบุตรเถระเจ้า ซึ่งได้กล่าวแก่พระอานนท์และพระสงฆ์กลุ่มหนึ่ง โดยพระสารีบุตรได้กล่าวว่าความเศร้าโศก เสียใจ ร่ำให้ จะไม่เกิดแก่ตัวท่าน เพราะเหตุของการที่สิ่งใดๆในโลกเกิดความแปรผันไป ท่านพระอานนท์จึงถามว่า แม้ความแปรผันไปของพระบรมศาสดา ความเศร้าโศก เสียใจ ก็จะไม่บังเกิดขึ้นแก่ท่านหรือ พระสารีบุตรได้กล่าวตอบ ดังนี้

“ท่านผู้มีอายุ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสไม่พึงเกิดขึ้นแก่ผมเพราะความแปรผันเป็นอย่างอื่นแม้แห่งพระศาสดา แต่ผมมีความคิดว่า ‘ท่านผู้เจริญพระศาสดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ มีฤทธานุภาพมาก อันตรธานไปแล้ว ถ้าพระองค์พึงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และเพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย‘”

พระอานนท์ได้ฟังก็กล่าวยอมรับ เพราะเหตุที่พระสารีบุตรได้ถอนกิเลสทั้งหลายหมดสิ้นแล้ว

“จริงอย่างนั้น ท่านพระสารีบุตรได้ถอนอหังการ มมังการ และมานานุสัย หมดสิ้นมานานแล้ว เพราะฉะนั้น โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จึงไม่เกิดขึ้นแก่ท่านพระสารีบุตร เพราะความแปรผันเป็นอย่างอื่นแม้แห่งพระศาสดา”

ถ้าจะพิจารณาว่า พระสารีบุตร มีความรัก ความปรารถนาดี ต่อพระพุทธเจ้าหรือไม่? พระสารีบุตร ท่านย่อมมีความรักและความปรารถนาดีต่อพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง พิจารณาได้จากพระสูตรหลายๆบทที่ท่านกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ เช่น สาริปุตตสุตตนิทเทสที่ ๑๖ ว่าด้วยพระสารีบุตรกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ และในพระสูตรอื่นอีกหลายแห่ง แต่การที่ท่านไม่มีความโศกเศร้าเพราะเหตุแห่งความแปรผันของพระศาสดา ก็เพราะท่านไม่ได้มีความรักชนิดที่เจือด้วยกิเลสตัณหาในพระบรมศาสดา ต่างจากพระอานนท์ซึ่งสมัยนั้นท่านยังไม่บรรลุอรหัตตผล ดังจะได้พิจารณาต่อไป

หลังจากที่พระบรมศาสดาทรงปลงอายุสังขาร และจะปรินิพพานในไม่ช้า พระอานนท์เถระเจ้าได้เกิดความโศกเศร้าอย่างรุนแรง จนต้องปลีกตัวออกไปร้องไห้ เนื้อความในพระไตรปิฎก ส่วนหนึ่งบันทึกไว้ ดังนี้

“ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปสู่วิหารยืนเหนี่ยวไม้สลักเพชรร้องไห้อยู่ว่า เรายังเป็นเสขบุคคลมีกิจที่จะต้องทำอยู่ แต่พระศาสดาของเรา ซึ่งเป็นผู้อนุเคราะห์เรา ก็จักปรินิพพานเสีย”

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งถามพวกภิกษุว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์ไปไหน พวกภิกษุกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านอานนท์นั้น เข้าไปสู่วิหารยืนเหนี่ยวไม้สลักเพชรร้องไห้อยู่ว่าเรายังเป็นเสขบุคคล มีกิจที่จะต้องทำอยู่ แต่พระศาสดาของเรา ซึ่งเป็นผู้อนุเคราะห์เรา ก็จักปรินิพพานเสีย …”

จะเห็นว่าในเนื้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า ท่านพระอานนท์เสียใจเนื่องจากตัวท่านยังไม่บรรลุอรหัตตผล (ขณะนั้นท่านดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล) ยังจำเป็นต้องศึกษาให้ยิ่งขึ้นไปอีก แต่พระบรมศาสดากำลังจะปรินิพพานแล้ว ในกรณีนี้อาจวิเคราะห์ได้ว่า พระอานนท์ท่านปล่อยให้ความยึดติดด้วยกิเลสส่วนตัว มามีอิทธิพลต่อจิตใจ กล่าวคือ ท่านเกรงว่าเมื่อไม่มีพระบรมศาสดาชี้แนะแล้ว ตัวท่านจะเจริญขึ้นในธรรมได้อย่างไร ในที่นี้เทียบเข้ากันได้กับความรักแบบที่ ๑ คือ ความรักเพราะอยากได้บางสิ่งบางอย่างเพื่อตัวเอง

ทั้งนี้ ข้าพเจ้าไม่ได้มีเจตนาล่วงเกินหรือลบหลู่คุณธรรมของพระอานนท์ ตรงกันข้ามข้าพเจ้านับถือท่านเป็นอย่างยิ่งที่นอกจากมีความสามารถด้านต่างๆเป็นเลิศแล้ว (พระอานนท์ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะ ถึง ๕ ด้าน คือ มีสติเป็นเลิศ, มีความทรงจำเป็นเลิศ, มีความเพียรเป็นเลิศ, พหูสูต, ยอดพระพุทธอุปัฏฐาก) ยังถือเป็นผู้เสียสละตัวเองเพื่อประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาอย่างหาผู้ใดจะเทียบได้ยาก  พระบรมศาสดาเมื่อทราบว่าพระอานนท์มีความเศร้าโศกเสียใจ ได้ตรัสกับพระอานนท์ ดังนี้

 “ดูกรอานนท์ เธอได้อุปัฏฐากตถาคตด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา ซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นความสุข ไม่มีสอง หาประมาณมิได้มาช้านาน เธอได้กระทำบุญไว้แล้ว อานนท์ จงประกอบความเพียรเถิด เธอจักเป็นผู้ไม่มีอาสวะโดยฉับพลัน ฯ” (มหาปรินิพพานสูตร)

🙏 ๓) พระวักกลิ และภิกษุณีมารดาพระกุมารกัสสปะ

ประวัติของพระวักกลิ และพระกุมารกัสสปะ เป็นตัวอย่างของการมีความรักอย่างยึดติดถือมั่นด้วยกิเลสตัณหา ซึ่งนอกจากเป็นเหตุแห่งทุกข์แล้ว ในกรณีนี้ยังเป็นเหตุขัดขวางการเจริญขึ้นของกุศลธรรมด้วย ต่อเมื่อได้ปลดเปลื้องความยึดติดเสน่หาแล้ว ความเจริญในธรรมก็ก้าวรุดหน้าไปได้

พระวักกลิ
พระวักกลิเมื่อครั้งเป็นทารก เป็นผู้มีโรคภัยเบียดเบียนมาก มารดาจึงได้นำท่านมาถวายแก่พระพุทธเจ้า เมื่อได้พึ่งพระพุทธคุณ ทารกวักกลิก็หายจากการเป็นผู้มีโรคภัยมาก จึงเป็นผู้ที่มีความใฝ่ใจ ลุ่มหลง ในพระบรมศาสดาอย่างมาก เมื่อพระองค์ทรงห่างไปเพียงครู่เดียวก็กระวนกระวาย เมื่อบวชเป็นภิกษุแล้ว พระวักกลิจึงเฝ้าติดตามพระพุทธเจ้าไปทุกหนแห่ง พระวักกลิเที่ยวติดตามชื่นชมรูปโฉมเรื่อยไป จนถึงวันหนึ่งพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า

“ดูก่อนวักกลิ จะมีประโยชน์อะไรด้วยการที่เธอต้องมาดูร่างกายอันเปื่อยเน่านี้ วักกลิเอย ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม ก็วักกลิเห็นธรรมอยู่ ก็ชื่อว่าเห็นเรา”

แต่พระวักกลิไม่อาจเข้าใจได้ เนื่องจากมีความยึดติดในรูปโฉมของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างรุนแรง พระองค์เมื่อประสงค์จะเปลื้องความยึดติดของพระวักกลิ วันหนึ่ง จึงได้ตรัสขับไล่พระวักกลิไปเสีย เมื่อเป็นเช่นนั้น… พระวักกลิบังเกิดความสะเทือนใจอย่างรุนแรงขึ้นไปบนภูเขาหมายจะปลิดชีวิตตนเอง เมื่อไปถึงยอดเขา พระบรมศาสดาได้เนรมิตกายปรากฎให้เห็นและแสดงธรรมเรื่องความเกิด ความเสื่อม แห่งขันธ์ทั้งหลาย พระวักกลิจึงได้บรรลุอรหัตตผล ณ ที่นั้น

ภิกษุณีมารดาพระกุมารกัสสปะ

พระกุมารกัสสปะ ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะผู้แสดงธรรมอันวิจิตรไพเราะ เป็นบุตรของภิกษุณีผู้ซึ่งตั้งครรภ์ในขณะบวช เมื่อครรภ์แก่ถูกพระเทวทัตขับไล่ให้ลาสิกขา นางไม่ยอมเนื่องจากอ้างว่าเมื่อบวชแล้วนางมิได้ละเมิดวินัยร้ายแรงใด พระพุทธเจ้าจึงให้พระอุบาลีชำระความ โดยมีนางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นผู้ช่วย ความจึงกระจ่างว่านางตั้งครรภ์ก่อนบวชเป็นภิกษุณีจริงๆ

เมื่อคลอดบุตรแล้วเลี้ยงดูบุตรชั่วระยะเวลาหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ขอรับไปเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรม ประทานนามว่า กัสสปะ แต่เพราะพระองค์ทรงชุบเลี้ยงประดุจราชกุมาร จึงเรียกกันว่า “กุมารกัสสปะ” …ครั้นกุมารกัสสปะเจริญวัยขึ้นทราบความเป็นมาของตน แล้ว เกิดความสลดใจในชะตาชีวิตจึงออกบวช และบรรลุพระอรหัตผลในกาลต่อมา ฝ่ายนางภิกษุณีมารดาของพระกุมารกัสสปะ ตั้งแต่วันที่พระเจ้าปเสนทิโกศลรับเอาบุตรไปชุบเลี้ยงก็เศร้าโศกเสียใจเพราะความพลัดพรากจากบุตรผู้เป็นที่รักเป็นเวลานานถึง ๑๒ ปี แม้ต่อมาจะทราบว่าบุตรชายของนางบวชแล้วก็ตาม แต่นางก็ยังมิได้เห็นหน้าพระลูกชายเลย จนกระทั่งเช้าวันหนึ่ง นางได้พบพระกุมารกัสสปะกำลังออกเดินรับบิณฑบาตอยู่ ด้วยความดีใจสุดจะยับยั้ง นางได้ร้องเรียกขึ้นว่า “ลูก ลูก” แล้ววิ่งเข้าไปหาด้วยปรารถนาจะกอดพระลูกชายด้วยความคิดถึง แต่เพราะรีบร้อนเกินไป จึงได้สะดุดล้มลงตรงหน้า

พระกุมารกัสสปะคิดว่า “ถ้าหากว่าเราพูดกับมารดาด้วยถ้อยคำอันไพเราะแล้ว นางก็ยิ่งเกิดความสิเนหารักใคร่ในตัวเรามากยิ่งขึ้น และจะเป็นเหตุทำให้นางเสื่อมเสียโอกาสบรรลุอมตธรรมได้ ควรที่เราจะกล่าวคำพูดที่ทำให้นางหมดอาลัยในตัวเรา นางก็จะได้บรรลุอมตธรรม” ดังนี้แล้ว จึงกล่าวแก่นางว่า “ท่านมัวทำอะไรอยู่ จึงตัดไม่ได้แม้กระทั่งความรัก”ถ้อยคำของพระกุมารกัสสปะทำให้นางรู้สึกน้อยใจเสียใจเป็นอย่างยิ่งพลางคิดว่า “เราร้องไห้เพราะคิดถึงลูกชายนานถึง ๑๒ ปี เมื่อพบลูกชายแล้วกลับถูกลูกชายพูดจาตัดเยื่อใยให้ต้องช้ำใจอีก” ด้วยความน้อยใจเช่นนี้ จึงตัดรักตัดอาลัย หมดความสิเนหาในตัวลูกชายอย่างสิ้นเชิง แล้วนางก็ได้ตั้งใจปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนได้บรรลุอรหัตผลในวันนั้นนั่นเอง

สรุป

การมีความรักด้วยกิเลสตัณหามากย่อมเป็นการพอกพูนเหตุแห่งทุกข์มาก อีกทั้งยังมักเป็นเหตุขัดขวางการเจริญขึ้นของกุศลธรรม ส่วนความรักด้วยเมตตา กรุณา ย่อมเป็นการพอกพูนเหตุแห่งความสุข ด้วยประโยชน์และโทษที่ตรงข้ามกันดังนี้ จึงควรพัฒนาจิตใจ ให้เบาบางจากความรักที่เจือด้วยทุกข์ มาสู่ความรักแบบบริสุทธิ์ ที่มีแต่ความสุขความเบิกบาน มากขึ้นไปตามลำดับ



รู้จักพระไตรปิฎกเพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้ (ย่อความ)

พระไตรปิฎก คือคัมภีร์ที่ประมวลเอาพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้ามาจารึกไว้ จึงกล่าวได้ว่า พระไตรปิฎก คือที่จารึกไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า

“ดูกรอานนท์ ธรรมและวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย ในเมื่อเราล่วงลับไป”
(มหาปรินิพพานสูตร)

คำสอน คำกล่าว และข้อปฏิบัติใดๆ จะถือว่าเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนาได้ จะต้องสอดคล้องกับพระธรรมวินัยซึ่งมีมาในพระไตรปิฎก การอธิบายหรือกล่าวอ้างเกี่ยวกับหลักการของพระพุทธศาสนา จะเป็นที่น่าเชื่อถือหรือยอมรับได้ด้วยดี เมื่ออ้างอิงหลักฐานในพระไตรปิฎก ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานอ้างอิงขั้นสูงสุด

เราจึงได้ถือกันมาเป็นหลักว่า จะต้องรักษา เล่าเรียน และปฏิบัติตามหลักคำสอนในพระไตรปิฎกนี้ ประการสำคัญการธำรงพระไตรปิฎก ก็คือการธำรงพระพุทธศาสนา ไม่มีพระไตรปิฎกเสียอย่างเดียว เป็นอันหมดสิ้นพระพุทธศาสนา พระเถระรุ่นก่อนนั้น ถือความสำคัญของพระไตรปิฎกเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ในยุคที่จารึกเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วก็ต้องถึงกับพูดกันว่า “อักษรตัวหนึ่งๆ อันเป็นพระปริยัติศาสน์ของพระศาสดา มีค่าเท่ากับพระพุทธรูปองค์หนึ่ง” (ญาโณทยปกรณ์)

เพราะฉะนั้น ถ้ามองในแง่บวก ก็คือจะต้องช่วยกันรักษาไว้ให้ดี แม้แต่จารึกหรือสนับสนุนการจารึกเพียงนิดหน่อย ก็เป็นบุญเป็นกุศลมาก แต่มองในแง่ลบก็คือ ถ้าใครไปทำให้ผิดพลาด แม้แต่อักษรเดียว ก็เหมือนทำลายพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เป็นบาปมาก ท่านให้ความสำคัญถึงเพียงนี้ เพราะฉะนั้น พระเถระรุ่นก่อน ท่านจึงระวังมากในเรื่องการรักษาทรงจำพระไตรปิฎกไม่ให้ผิดเพี้ยน

การสังคายนา เป็นการที่จะรักษาคำสอนเดิมเอาไว้ให้แม่นยำที่สุด และซักซ้อมตรวจสอบคนที่ไปทรงจำ หรือไปนับถืออะไรต่างๆ ที่อาจจะผิดเพี้ยนไป ให้มาปรับความเห็น ความเชื่อ การปฏิบัติ ให้ตรงตามพระไตรปิฎกที่รักษากันมาอย่างแม่นยำ ที่เป็นหลักกลางนี้ ไม่ใช่ว่าพระภิกษุที่สังคายนามีสิทธิ์ไปปรับแต่ง หรือเอาความคิดเห็นของตนใส่ลงไป ควรทราบว่าในพระไตรปิฎกไม่ใช่มีเฉพาะคำตรัสของพระพุทธเจ้าอย่างเดียว คำของพระสาวกก็มีไม่น้อย เช่น ภาษิตของพระสารีบุตร (ซึ่งมีคุณค่าควรแก่การศึกษาอย่างยิ่ง)

คัมภีร์ที่นิพนธ์หลังพุทธกาลก็มีบ้าง อย่างในคราวสังคายนาครั้งที่ ๓ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานสังคายนา ท่านได้เห็นว่าพระในสมัยนั้น บางพวกมีความเชื่อถือวิปริตผิดแผกแตกออกไป จึงเรียบเรียงคัมภีร์กถาวัตถุขึ้น เพื่อแก้ความเข้าใจที่ผิดแผกแตกต่างกันออกไปดังกล่าว แต่ก็เป็นการยกเอาพุทธพจน์มารวมไว้ในอีกลักษณะหนึ่ง โดยมีเรื่องราว หรือข้อคิด หรือข้อพิจารณาอะไรอย่างหนึ่งเป็นแกน รวมความก็คือ ประเทศพุทธศาสนาเถรวาททั้งหมดมีพระไตรปิฎกชุดเดียวกัน ซึ่งเนื้อหาเหมือนกันทั้งหมด จะตกหล่นบางคำบ้าง ก็น้อยเต็มที เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาเถรวาทจึงมีความภูมิใจโดยชอบธรรมว่า เรารักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้เป็นแบบเดิมแท้ ส่วนพระสูตรต่างๆของพระพุทธศาสนาแบบมหายาน หลายบทเป็นของที่แต่งขึ้นภายหลัง เรื่องนี้เป็นที่ยอมรับกันเป็นสากล ในวงวิชาการทั่วโลก

นอกจากพระไตรปิฎกอันเป็นมาตรฐานชั้นสูงสุดแล้ว ยังมีคัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎกนั้นอีกทีหนึ่ง เรียกว่า อรรถกถา คัมภีร์รุ่นหลังต่อจากอรรถกถาเรียกว่า ฎีกา และอนุฎีกา ส่วนคำสอนหรือคำอธิบายของพระอาจารย์รุ่นหลัง เรียกกันว่าเป็น อัตตโนมติ คือ มติส่วนตัว คัมภีร์เหล่านี้ทรงความสำคัญลดหลั่นกันลงมาตามลำดับ

ย่อความจากผลงานของ : สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)



วันเสาร์

ปัญหาเรื่องศีล ๒

ปัญหาเรื่องศีล หน้าที่ ๒ กลับไป🔎หน้าแรก

อธิบายศีลมีอย่างเดียว 
ในบรรดาศีลเหล่านั้น อรรถาธิบายในส่วนแห่งศีลมีอย่างเดียว นักศึกษาพึงทราบ โดยนัยที่ได้กล่าวมาแล้วนั่นเทียว


อธิบายศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๑
ในส่วนแห่งศีลมี ๒ อย่าง มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ การบำเพ็ญสิกขาบทตามที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า สิ่งนี้ควรทำ ดังนี้ อันใด การบำเพ็ญสิกขาบทนั้นชื่อว่า จาริตตศีล การไม่ฝ่าฝืนสิกขาบทที่ทรงห้ามไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ควรทำ ดังนี้ อันใดการไม่ฝ่าฝืนนั้นชื่อว่า วาริตตศีล ในศีล ๒ อย่างนั้น มีอรรถวิเคราะห์ถ้อยคำดังนี้

บุคคลทั้งหลายย่อมประพฤติในศีลนั้น คือเป็นไปด้วยความเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ฉะนั้นศีลนั้น ชื่อว่า จาริตตศีล แปลว่า ศีลเป็นที่ประพฤติตามของบุคคลทั้งหลาย, ย่อมป้องกันคือรักษา ซึ่งสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงห้ามด้วยศีลนั้น ฉะนั้นศีลนั้น ชื่อว่า วาริตตศีล แปลว่า ศีลเป็นเครื่องป้องกันสิกขาบทที่ทรงห้าม, ในศีล ๒ อย่างนั้น จาริตตศีลสำเร็จด้วยศรัทธา และวีริยะ วาริตตศีลสำเร็จด้วยศรัทธา ศีล ๒ อย่างโดยแยกเป็นจาริตตศีลและวาริตตศีล ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๒
ในศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๒ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ คำว่า อภิสมาจาร ได้แก่ ความประพฤติอย่างสูง อภิสมาจารศัพท์นั่นแหละสำเร็จรูปเป็น อาภิสมาจาริก อีกอย่างหนึ่ง สิกขาบทที่ทรงบัญญัติปรารภอภิสมาจาร ชื่อว่า อาภิสมาจาริก คำว่า อาภิสมาจาริก นี้เป็นชื่อของศีลที่นอกเหนือไปจากอาชีวัฏฐมกศีล ศีลชื่อว่า อาทิพรหมจริยก เพราะเหตุว่า เป็นเบื้องต้นแห่งมรรคพรหมจรรย์ คำว่า อาทิพรหมจริยก นี้เป็นชื่อของ อาชีวัฏฐมกศีล เป็นความจริง ศีลนั้นมีภาวะเป็นเบื้องต้นของมรรค เพราะเป็นสิ่งที่จะต้องชำระให้บริสุทธิ์ในกาลอันเป็นส่วนเบื้องต้นนั่นเทียว เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสไว้ว่า

“ก็แหละ กายกรรม วจีกรรม 
อาชีพของภิกษุนั้น ย่อมเป็นสภาพบริสุทธิ์ด้วยดีในเบื้องต้น โดยแท้แล”

อีกประการหนึ่ง สิกขาบทเหล่าใดที่ตรัสไว้ว่าเป็นสิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ สิกขาบทนี้
จัดเป็น อาภิสมาจาริกศีล สิกขาบทที่เหลือจัดเป็น อาทิพรหมจริยกศีล อีกประการหนึ่ง สิกขาบทที่นับเนื่องในอุภโตวิภังค์ (คำว่าอุภโตวิภังค์ ได้แก่วิภังค์ ๒ คือ ภิกขุวิภังค์และภิกขุนีวิภังค์) ชื่อว่า อาทิพรหมจริยกศีล สิกขาบทที่นับเนื่องในขันธกะและวัตรชื่อว่า อาภิสมาจาริกศีล อาทิพรหมจริยกศีลจะสำเร็จได้ก็ด้วยความสมบูรณ์แห่งอาภิสมาจาริกศีลนั้น เพราะเหตุฉะนั้นแหละ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นหนา ไม่ทำอาภิสมาจาริกธรรมให้บริบูรณ์แล้ว
จักทำอาทิพรหมจริยกธรรมให้บริบูรณ์ดังนี้ ข้อนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้” 
ศีล ๒ อย่างโดยแยกเป็นอาภิสมาจาริกศีลและอาทิพรหมจริยกศีล ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๓
ในศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๓ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ภาวะสักว่าความงดเว้นจากบาปธรรมทั้งหลาย มีปาณาติบาตเป็นต้น ชื่อว่า วิรติศีล คุณธรรมที่เหลือมีเจตนาเป็นต้น ชื่อว่า อวิรติศีล ศีล ๒ อย่างโดยแยกเป็นวิรติศีลและอวิรติศีล ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๔
ในศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๔ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ คำว่า นิสสัย ได้แก่นิสสัย ๒ อย่าง คือ ตัณหานิสสัย ๑ ทิฏฐินิสสัย ๑ ในศีล ๒ อย่างนั้น ศีลใดที่บุคคลปรารถนาภวสมบัติให้เป็นไปอย่างนี้ว่า “เราจักได้เป็นเทพเจ้าหรือเทวดาตนใดตนหนึ่งด้วยศีลนี้” ศีลนี้ชื่อว่า ตัณหานิสสตศีล ศีลใดที่บุคคลให้เป็นไปด้วยทิฏฐิล้วน ๆ อย่างนี้ว่า “เราจักเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยศีลนี้” ศีลนี้ชื่อว่า ทิฏฐินิสสตศีล ส่วนศีลใดที่เป็นโลกุตตรศีล และเป็นโลกิยศีลแต่เป็นเหตุแห่งโลกุตตรศีลนั้น เฉพาะศีลนี้ชื่อว่า อนิสสิตศีล ศีล ๒ อย่างโดยแยกเป็นนิสสตศีลและอนิสสตศีล ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๕
ในศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๕ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ศีลที่บุคคลสมาทาน กำหนดเวลาชื่อว่า กาลปริยันตศีล ศีลที่บุคคลสมาทานตลอดชีวิตแล้วคงให้ดำเนิน ไปได้เหมือนอย่างนั้น ชื่อว่า อาปาณโกฏิกศีล ศีล ๒ อย่างโดยแยกเป็นกาลปริยันตศีลและอาปาณโกฏิกศีล ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๖
ในศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๖ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ศีลที่มีความเห็นด้วยสามารถแห่งลาภ, ยศ, ญาติ, อวัยวะและชีวิตเป็นที่สุด ชื่อว่า สปริยันตศีล ศีลที่ตรงกันข้าม ชื่อว่า อปริยันตศีล สมจริงดังที่ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีปุตตะกล่าวไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคว่า “ศีลมีที่สุดนั้นเป็นอย่างไร ? ศีลมีลาภเป็นที่สุดมีอยู่ ศีลมียศเป็นที่สุดมีอยู่ ศีลมีญาติเป็นที่สุดมีอยู่ ศีลมีอวัยวะเป็นที่สุดมีอยู่ ศีลมีชีวิตเป็นที่สุดมีอยู่ ศีลมีลาภเป็นที่สุดนั้น เป็นอย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมล่วงละเมิดสิกขาบทตามที่ตนสมาทานแล้ว เพราะลาภเป็นเหตุ เพราะลาภเป็นปัจจัยเพราะลาภเป็นตัวการ นี้ชื่อว่า ศีลมีลาภเป็นที่สุดนั้น”

แม้ศีลทั้งหลายนอกนี้ นักศึกษา
ก็พึงอธิบายให้พิสดาร โดยทำนองนี้นั่นเทียว แม้ในอธิการวิสัชนาอปริยันตศีลท่านพระธรรมเสนาบดีสารีปุตตะก็ได้กล่าวไว้ว่า “ศีลที่มิใช่มีลาภเป็นที่สุดนั้น เป็นอย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้แต่จิตก็ไม่ให้เกิดขึ้นเพื่อล่วงละเมิดสิกขาบท
ตามที่ตนสมาทานแล้ว เพราะลาภเป็นเหตุ เพราะลาภเป็นปัจจัย เพราะลาภเป็นตัวการ ไฉนเขาจักล่วงละเมิด นี้ชื่อว่า ศีลมิใช่มีลาภเป็นที่สุดนั้นๆ แม้ศีลทั้งหลายนอกนี้นักศึกษาก็พึ่งอธิบายให้พิสดารโดยทำนองนี้นั่นเทียว ศีล ๒ อย่างโดยแยกเป็นสปริยันตศีลและอปริยันตศีล ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๗
ในศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๗ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ศีลที่ประกอบด้วยอาสวะแม้ทุกประเภท ชื่อว่า โลกิยศีล ศีลที่ไม่ประกอบด้วยอาสวะ ชื่อว่า โลกุตตรศีล ในศีล ๒ อย่างนั้น โลกิยศีลย่อมนำมาซึ่งภพชั้นวิเศษ และเป็นเหตุแห่งอันออกจากภพด้วย สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

“วินัยเพื่อประโยชน์แก่ความสังวร 
ความสังวรเพื่อประโยชน์แก่ความไม่เดือดร้อนใจ ความไม่เดือดร้อนใจเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมช ความปราโมชเพื่อประโยชน์แก่ปีติ ปีติเพื่อประโยชน์แก่ความสงบใจ ความสงบใจเพื่อประโยชน์แก่ความสุข ความสุขเพื่อประโยชน์แก่สมาธิ 
สมาธิเพื่อประโยชน์แก่ยถาภูตญาณทัสสนะ ยถาภูตญาณทัสสนะเพื่อประโยชน์แก่นิพพิทา นิพพิทาเพื่อประโยชน์แก่วิราคะ วิราคะเพื่อประโยชน์แก่วิมุตติ วิมุตติ เพื่อประโยชน์แก่วิมุตติญาณทัสสนะ วิมุตติญาณทัสสนะเพื่อประโยชน์แก่อนุปาทานปรินิพพาน การหลุดพ้นแห่งอนุปาทาจิตนี้ใด การพูดวินัยก็มีการหลุดพ้นแห่ง อนุปาทาจิตนั้นเป็นประโยชน์ การปรึกษาวินัยก็มีการหลุดพ้นแห่งอนุปาทาจิตนั้นเป็นประโยชน์ การเข้าไปอิงวินัยก็มีการหลุดพ้นแห่งอนุปาทาจิตนั้นเป็นประโยชน์ การเงี่ยโสตลงฟังวินัยก็มีการหลุดพ้นแห่งอนุปาทาจิตนั้นเป็นประโยชน์ "

โลกุตตรศีล 
ย่อมนำมาซึ่งการออกจากภพและเป็นภูมิแห่งปัจจเวกขณญาณด้วย ศีล ๒ อย่างโดยแยกเป็นโลกิยศีลและโลกุตตรศีล ยุติด้วยประการฉะนี้


อธิบายศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๑
ในบรรดาศีล ๓ อย่าง มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ในศีลหมวดที่ ๑ ความว่า ศีลที่บุคคลประพฤติเป็นไปด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะ หรือวิมังสา ชั้นต่ำชื่อว่า หีนศีล ศีลที่บุคคลประพฤติเป็นไป ด้วยอิทธิบาทธรรมทั้งหลายมีฉันทะเป็นต้น ชั้นปานกลาง ชื่อว่า มัชฌิมศีล ศีลที่บุคคลประพฤติเป็นไปด้วยอิทธิบาทธรรมทั้งหลายชั้นประณีต ชื่อว่า ปณีตศีล

อีกอย่างหนึ่ง ศีลที่บุคคลสมาทานด้วยความเป็นผู้ใคร่ยศ ชื่อว่า หีนศีล ศีลที่บุคคลสมาทานด้วยความเป็นผู้ใคร่ผลบุญ ชื่อว่า มัชฌิมศีล ศีลที่บุคคลสมาทานเพราะอาศัยอริยภาพว่า ศีลนี้เป็นสิ่งที่ควรทำ ชื่อว่า ปณีตศีล

อีกอย่างหนึ่ง ศีลที่หม่นหมองไปด้วยบาปธรรมทั้งหลาย มีการยกตนและ
ข่มผู้อื่นเป็นต้นอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ส่วนภิกษุอื่น ๆ นี้นั้นเป็นผู้ทุศีลมีบาปธรรม ชื่อว่า หีนศีล ศีลที่ไม่หม่นหมองอย่างนั้นแต่เป็นชั้นโลกิยะ ชื่อว่ามัชฌิมศีล ศีลชั้นโลกุตตระ ชื่อว่า ปณีตศีล

อีกอย่างหนึ่ง ศีลที่บุคคลประพฤติเป็นไปเพื่อต้องการภวสมบัติและโภคสมบัติด้วยอำนาจแห่งตัณหา ชื่อว่า หีนศีล ศีลที่บุคคลประพฤติเป็นไปเพื่อต้องการความหลุดพ้นสำหรับตน ชื่อว่า มัชฌิมศีล ปารมิตาศีลที่พระโพธิสัตว์ประพฤติเป็นไปเพื่อต้องการความหลุดพ้นสำหรับสรรพสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่า ปณีตศีล

ศีล ๓ อย่างโดยแยกเป็นหีนศีล, มัชฌิมศีลและปณีตศีล ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๒
ในศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๒ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ศีลที่บุคคลผู้ใคร่เพื่อจะสละทิ้งสิ่งซึ่งไม่สมควรแก่ตน ผู้มีตนเป็นที่เคารพ ประพฤติเป็นไปแล้วด้วยความคารวะในตน ชื่อว่า อัตตาธิปไตยศีล ศีลที่บุคคลผู้ใคร่เพื่อจะหลีกเลี่ยงการตำหนิของชาวโลก ผู้มีโลกเป็นที่เคารพ ประพฤติเป็นไปแล้วด้วยความคารวะในโลก ชื่อว่าโลกาธิปไตยศีล ศีลที่บุคคลผู้ใคร่เพื่อจะบูชาความยิ่งใหญ่ของธรรม ผู้มีธรรมเป็นที่เคารพ ประพฤติเป็นไปแล้วด้วยความคารวะในธรรม ชื่อว่า ธัมมาธิปไตยศีล ศีล ๒ อย่าง โดยแยกเป็นอัตตาธิปไตยศีลเป็นต้น ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๓
ในศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๓ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ศีลใดที่ข้าพเจ้าเรียกว่านิสสตศีลในหมวด ๒ ศีลนั้นชื่อว่า ปรามัฏฐศีล เพราะอันตัณหาและทิฏฐิถูกต้องแล้วล ศีลอันเป็นเหตุแห่งมัคคญาณของกัลยาณปุถุชน และประกอบด้วยมัคคญาณของพระเสกขบุคคลทั้งหลาย ชื่อว่า อปรามัฏฐศีล ศีลอันประกอบด้วยผลญาณของพระเสกขะและพระอเสกขบุคคลทั้งหลาย ชื่อว่า ปฏิปัสสัทธิศีล ศีล ๓ อย่างโดยแยกเป็นปรามัฏฐศีลเป็นต้น ยุติด้วยประการฉะนี้

 อธิบายศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๑

ในบรรดาศีล ๔ ทั้งหลาย ศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๑ มีอรรถาธิบายดังต่อ
ไปนี้ ภิกษุใดในศาสนานี้ ชอบคบแต่พวกภิกษุทุศีล ไม่ชอบคบพวกภิกษุมีศีล มองไม่เห็นโทษในการล่วงละเมิดวัตถุเป็นผู้โง่เซอะ มากไปด้วยความดำริผิด ไม่รักษาอินทรีย์ทั้งหลาย ศีลของภิกษุเช่นนี้นั่นแล จัดเป็นหานภาคิยศีล ส่วนภิกษุใดในศาสนานี้ เป็นผู้พอใจอยู่ด้วยศีลสมบัติไม่ทำความพอใจให้เกิดขึ้นในการบำเพ็ญกัมมัฏฐานเนือง ๆ ศีลของภิกษุนั้นผู้ยินดีเฉพาะเพียงแค่ศีล ไม่พยายามเพื่อคุณเบื้องสูงขึ้นไป จัดเป็นฐิติภาคิยศีล

อนึ่ง ภิกษุใดใน
ศาสนานี้ ผู้มีศีลสมบูรณ์แล้ว ยังพยายามเพื่อต้องการ
สมาธิต่อไปอีก ศีลของภิกษุนี้ จัดเป็นวิเสสภาคิยศีล
อนึ่ง ภิกษุใดในศาสนานี้ ไม่ยินดีอยู่แต่เฉพาะแค่ศีลสมบัติ ย่อมประกอบเนือง ๆ ซึ่งนิพพิทา คือวิปัสสนาต่อไป ศีล ของภิกษุนี้ จัดเป็นนิพเพธภาคิยศีล ศีล ๔ อย่างโดยจำแนกเป็นหานภาคิยศีลเป็นต้น ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๒
ในศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๒ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ สิกขาบททั้งหลายที่ทรงบัญญัติปรารภเฉพาะพวกภิกษุ และสิกขาบทเหล่าใดที่พวกภิกษุเหล่านั้นจะต้องรักษานอกเหนือจากบทบัญญัติของภิกษุณีทั้งหลาย นี้ชื่อว่า ภิกขุศีล สิกขาบททั้งหลายที่ทรงบัญญัติปรารภเฉพาะพวกภิกษุณี และสิกขาบทเหล่าใดที่พวกภิกษุณีจะต้องรักษานอกเหนือจากบทบัญญัติของภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่า ภิกขุนีศีล ศีล ๑๐ ประการของสามเณรและสามเณรี ชื่อว่า อนุปสัมปันนศีล สิกขาบท ๕ ประการด้วยอำนาจแห่งนิจศีล หรือในเมื่อมีความอุตสาหะ ก็สิกขาบท ๑๐ ประการ และสิกขาบท ๘ ประการด้วยสามารถองค์แห่งอุโบสถ สำหรับอุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย นี้ชื่อว่า คหัฏฐศีล ศีล ๔ อย่างโดยแยกเป็นภิกขุศีลเป็นต้น ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๓
ในศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๓ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ การไม่ล่วงละเมิด (เบญจศีล) ของพวกมนุษย์ชาวอุตตรกุรุทวีปทั้งหลาย จัดเป็น ปกติศีล จารีต ประเพณีในขอบเขตของตน ๆ ของตระกูลของตำบลและของลัทธิเดียรถีย์ทั้งหลายจัดเป็น อาจารศีล ศีลพระมารดาของพระโพธิสัตว์ที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า

“อานนท์
ในกาลใดพระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์พระมารดา ความพอพระทัยในบุรุษอันประกอบด้วยกามคุณ ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่พระมารดาพระโพธิสัตว์”

ดังนี้ ศีลนี้จัดเป็น
ธัมมตาศีล อนึ่ง ศีลในชาตินั้น ๆ ของจำพวกสัตว์ผู้บริสุทธิ์ เช่นพระมหากัสสปะเป็นต้นและของพระโพธิสัตว์ จัดเป็น ปุพพเหตุกศีล ศีล ๔ อย่างโดยแยกเป็นปกติศีลเป็นต้น ยุติด้วยประการฉะนี้


อธิบายศีล ๔  
อย่าง หมวดที่ ๔

ในศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๔ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ศีลใดที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างนี้ว่า “ภิกษุในศาสนานี้เป็นผู้สำรวมด้วยความสังวรคือปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจารและโคจร มีปกติมองเห็นภัยในโทษมีประมาณเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย” ศีลนี้ชื่อว่า ปาติโมกขสังวรศีล 

อนึ่ง ศีลใดที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุแล้วไม่ยึดถือ
ซึ่งนิมิต ไม่ยึดถือซึ่งอนุพยัญชนะ อกุศลบาปธรรมทั้งหลายคืออภิชฌาและโทมนัสย่อมไหลไปสู่ภิกษุนั้นผู้ไม่สำรวมซึ่งจักขุนทรีย์เพราะมีจักขุนทรีย์ใดเป็นเหตุ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสังวรซึ่งจักขุนทรีย์นั้น ย่อมรักษาซึ่งจักขุนทรีย์ ย่อมถึงความสังวรในจักขุนทรีย์, ได้ยินเสียงด้วยโสตะแล้วได้ดมกลิ่นด้วยฆานะแล้วได้ลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว...ได้สัมผัสโผฏฐพพะด้วยกายแล้วได้รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วย่อมไม่ยึดถือ
ซึ่งนิมิต...ย่อมถึงซึ่งความสังวรในมนินทรีย์” ฉะนี้ ศีลนี้จัดเป็น อินทรียสังวรศีล

อนึ่ง การวิรัติจากมิจฉาอาชีพอันใด ซึ่งเป็นไปด้วยอำนาจแห่งการล่วงละเมิด
ซึ่งสิกขาบท ๖ ประการ ที่ทรงบัญญัติไว้เพราะมีอาชีวะเป็นเหตุ และด้วยอำนาจแห่งบาปธรรมทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ คือ “การหลอกลวง การพูดเลาะเล็ม การกระทำนิมิต การด่าแช่ง การแสวงหาลาภด้วยลาภ” นี้จัดเป็น อาชีวปาริสุทธิศีล

การบริโภคปัจจัย ๔ อันบริสุทธิ์ด้วยการพิจารณา ที่ตรัสไว้โดยนัยมีอาทิว่า “ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงใช้สอยจีวร เพียงเพื่อกำจัดเสียซึ่งความเย็น" ฉะนี้ จัดเป็น ปัจจยสันนิสสตศีล