วันอังคาร

ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสุกรมัทวะ ๑

พระคุณเจ้าและท่านสาธุชนทั้งหลายปาฐกถาในวันนี้เป็นเรื่องหนักไปในทางวิชาการ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวค้นคว้าข้อเปรียบเทียบในการที่จะต้องสันนิษฐานและวินิจฉัยในปัญหาบางประการที่สำคัญ ที่มีคนส่วนมากกล่าวว่า เป็นเหตุทำให้พระผู้มีพระภาคเจ้าดับขันธปรินิพพาน ในการที่ไปเสวยสูกรมัททวะของนายจุนทกัมมารบุตรเข้า การที่จะพูดกันถึงเรื่องนี้ จำจะต้องเล่าทบทวนเหตุการณ์ในตอนปลายสมัยพุทธกาลเสียก่อน และก็ต้องเล่าเรื่องที่พระพุทธองค์อาพาธ ในตอนสมัยพุทธกาลนั้น มีปัญหาเกี่ยวกับพระชนมายุของพระศาสดา ตามความเข้าใจของเราชาวพุทธทั่วไปก็ว่า พระบรมศาสดาดับขันธ์ปรินิพพานเมื่อพระชนมายุ ๘๐ แต่ตามการค้นคว้าของผมได้ประจักษ์หลักฐานว่า พระบรมศาสดาดับขันธปรินิพพานนั้นเมื่อพระชนมายุ ๘๑ ไม่ใช่ ๘๐ คือย่างเข้าปี ๘๑ ยังไม่เต็ม ดับขันธ์ปรินิพพานในปีนั้นไม่ใช่ ๘๐ ถ้วน

ก่อนที่จะพูดถึงประเด็นนี้ อันนำไปสู่ประเด็นสูกรมัททวะในตอนปลายนั้น ก็จำต้องเล่าทบทวนเสียก่อนว่า ในปีที่พระผู้มีพระภาคมีพระชนมายุได้ ๘๐ นั้นเข้าใจว่าในตอนต้น ๆ ปีคงจะประทับอยู่ที่แคว้นโกศล เพราะมีข้อความปรากฏในบาลีธรรมเจติยสูตร กล่าวถึงพระเจ้าปเสนทิโกศล ราชาแห่งแคว้นโกศล ได้เดินทางไปเฝ้าพระพุทธองค์ และได้แสดงความเลื่อมใสปสาทนียกิจยิ่งนักในพระผู้มีพระภาค คือเสด็จเข้าไปนวดที่พระยุคลบาททั้งสอง และจุมพิตพระยุคลบาททั้งสองประกาศนามว่า

"ข้าพระพุทธเจ้าปเสนทิ ข้าพระพุทธเจ้าปเสนทิ มีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคยิ่งนัก"
พระบรมศาสดาจึงทูลถามพระเจ้าปเสนทิว่า "ดูก่อนมหาราช เหตุไฉนพระองค์จึงแสดงความเคารพอย่างยิ่งในตถาคตเห็นปานเช่นนี้" พระเจ้าปเสนทิก็พรรณนาพุทธคุณมีเอนกปริยายต่าง ๆ เป็นข้อ ๆ แต่มีข้อความตอนหนึ่งว่า พระผู้มีพระภาคมีพระชนมายุได้ ๘๐ แม้หม่อมฉันก็มีพระชนมายุได้ ๘๐ พระผู้มีพระภาคเป็นชาวโกศลแม้หม่อมฉันก็เป็นชาวโกศล ปรากฏว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลเมื่อออกจากที่เฝ้าแล้ว ราชโอรส คือ เจ้าชายวิฑูฑภะเป็นกบฏต่อพระราชบิดา ปิดประตูเมืองสาวัตถีไม่ให้ต้อนรับ ช่วงชิงเอาราชสมบัติไป พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงต้องซัดเซพเนจร หวังที่จะมาพึ่งหลานชาย คือเจ้าอชาตศัตรู ที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ แล้วก็เลยเสด็จสวรรคตที่หน้าประตูเมืองราชคฤห์นั้นเอง เพราะแก่เฒ่าชรามากแล้ว อายุตั้ง ๘๐ ปีแล้ว เดินทางข้ามเมืองข้ามประเทศบุกป่าฝ่าดงรอนแรมมาหลายวัน ข้าวปลาอาหารก็ไม่ได้ตกถึงท้อง ความลำบากตรากตรำประกอบที่ทรงเสียพระทัยที่ลูกชายเนรคุณอกตัญญูเป็นกบฏผสมกันเข้า และอากาศในคืนนั้นก็หนาวเย็นผสมกัน จึงมีเหตุให้พระเจ้าปเสนทิเสด็จสวรรคต ในวันรุ่งขึ้น

ข่าวนี้ได้ทราบไปถึงพระเจ้าอชาตศัตรูผู้หลาน กว่าจะเห็นองค์ก็เป็นพระบรมศพไปแล้ว จึงได้จัดกาพระบรมศพของพระมาตุลาธิราช ถ้าในปัจจุบันแล้ว มีฐานะเป็นพ่อตาของพระเจ้าอชาตศัตรู พระเจ้าอชาตศัตรูนี้เป็นสามีของเจ้าวัชรีพล เพราะฉะนั้นก็มีศักดิ์เป็นทั้งพ่อตาของพระเจ้าอชาตศัตรู และเป็นทั้งลุงของพระเจ้าอชาตศัตรู เรื่องราวตอนนี้ก็บ่งว่าพระเจ้าวิฑูฑภะชิงราชสมบัติสำเร็จ ได้ยกกองทัพไปตีเมืองกบิลพัสดุ์ กำจัดพวกศากยวงศ์ ทำลายเมืองกบิลพัสดุ์เสียราบไป เหตุการณ์ตอนนี้เกิดขึ้นตอนที่พระองค์มีพระชนมายุ ๘๐ เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ปรินิพพานจะเกิดขึ้นในปีเดียวกันไม่ได้ เพราะเป็นขณะที่วิฑูฑภะยกกองทัพมากำจัดพวกศากยวงศ์ก็ดี หรือกรณีที่พระเจ้าปเสนทิโกศล ถูกลูกชายเป็นกบฏ กำจัดเสียจากราชสมบัติก็ดี สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในปีเดียวกับที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานนั้นไม่ได้ พระพุทธเจ้าจะไปนิพพานในปีที่พระชนมายุย่างเข้า ๘๑ แล้ว ไม่ใช่ ๘๐ ต้องถัดไปอีกปีหนึ่ง

หลังจากที่เหตุการณ์ร้ายเหล่านี้เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว จึงจะดับขันธปรินิพพานในปีนั้นได้ ตามที่เราทราบกันทั่ว ๆ ไปว่าพระองค์ปรินิพพานเมื่อพระชนมายุ ๘๐ นั้นเพราะว่าจำนวนเลขที่ลงตัวอยู่แล้ว เพื่อจำง่ายและสะดวกด้วย เพราะเรื่องเศษเลขเป็นเรื่องออกจะจำยาก ไม่เหมือนเลขที่ลงตัว แต่ตามหลักฐานที่ปรากฏในธรรมเจติยสูตรก็ดี และหลักฐานที่เจ้าชายวิฑูฑภะยกกองทัพไปกำจัดศากวงศ์เมืองกบิลพัสดุ์ก็ดี บ่งว่าเหตุการณ์ครั้งนี้มิได้เกิดขึ้นในปีเดียวกับที่พระพุทธองค์ปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคต้องเสด็จมาห้ามทัพของเจ้าชายวิฑูฑภะถึง ๓ ครั้ง โดยเสด็จอยู่โคนต้นไม้ใบโกร๋นริมทางที่กองทัพของเจ้าชายวิฑูฑภะจะผ่าน ในขณะเดียวกับที่มีร่มไม้ใบหนาอยู่ริมทางอีกมากต้น เจ้าชายวิฑูฑภะ พอเห็นพระพุทธองค์ประทับอยู่อย่างนั้น ที่ชายแดนระหว่างแคว้นสักกะกับแคว้นโกศล ก็ไม่กล้ายกกองทัพข้ามแดนไปด้วยความเกรงพระหฤทัยพระบรมศาสดา แต่นึกในใจว่า แน่นอน พระศาสดาต้องเสด็จมาคุ้มครอง

สุดท้ายพระพุทธองค์ทรงเล็งการณ์แล้วเห็นว่า ห้ามไม่ได้แล้ว เป็นผลกรรมของบรรดาศากยวงศ์ในอดีตชาติ ซึ่งเคยเบื่อยาลงในแม่น้ำ ทำให้ปลา เต่า ตายเป็นจำนวนมหาศาล ผลกรรมอันนี้ได้ติดตามมาสนองแล้ว เพราะฉะนั้น จึงมิอาจจะห้ามไว้ได้ จึงมิได้เสด็จไปประทับห้ามทัพของเจ้าชายวิฑูฑภะอีก เจ้าชายวิฑูฑภะจึงได้ยาตราเข้าไปในเมืองกบิลพัสดุ์ได้โดยสะดวก และฆ่าฟันพระญาติวงศ์ของพระพุทธองค์เสียมากต่อมาก เรื่องราวตอนนี้ต้องเกิดขึ้นในปีที่พระพุทธองค์มีพระชนมายุ ๘๐ แล้วลองมาเทียบเคียงในบาลีมหาปรินิพพานสูตร เริ่มต้นก็กล่าวถึงที่ประทับของพระพุทธองค์ว่า อยู่ที่แขวงเมืองราชคฤห์ ในแคว้นมคธ ก็เรื่องราวอันนี้ เกิดขึ้นในตอนต้นปีที่ประทับอยู่ในเมืองราชคฤห์ เพราะฉะนั้นจะเป็นต้นปี หรือกลางปีที่ประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์ จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วน แล้วไปพ้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระเจ้าปเสนทิไม่ได้ อย่างน้อยก็ต้องลำดับเหตุการณ์ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระเจ้าปเสนทิ กับเรื่องพระเจ้าวิฑูฑภะกำจัดศากยวงศ์นั้น จะต้องเกิดขึ้นต้นปีที่พระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๘๐ หลังจากเหตุการณ์นั้นผ่านไปแล้ว พระพุทธองค์ได้เสด็จจากแคว้นโกศล ไปประทับอยู่แขวงเมืองราชคฤห์ ราว ๆ กลางปีก่อนจะเข้าพรรษา ในระหว่างประทับอยู่เมืองราชคฤห์นี้ ก็มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นเช่นว่า พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นกษัตริย์ทั้งแคว้นโกศลและมคธ เวลานั้นเจ้าชายวิฑูฑภะเมื่อยาตราทัพไปกำจัดศากยวงศ์ได้แล้ว ผลกรรมก็ติดตามไปสนอง พักพลอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ เกิดน้ำหลากท่วมมาหนีน้ำไม่ทัน ตายกันหมดทั้งกองทัพ รวมทั้งเจ้าชายวิฑูฑภะก็จมน้ำตาย ผลกรรมให้ผลทันตาเห็น เมื่อราชบัลลังก์ของแคว้นโกศลว่างกษัตริย์ เจ้าชายอชาตศัตรู ในฐานะเป็นทั้งหลานและลูกเขยของพระเจ้าปเสนทิ เพราะฉะนั้นจึงโอนโกศลไปขึ้นกับมคธอีก พระเจ้าอชาตศัตรูก็ได้ครอบครองแคว้นโกศลอีกแคว้นหนึ่ง แล้วก็ได้เริ่มคิดวางแผนแผ่จักรวรรดิโดยจะฮุบเอาแคว้นวัชชี โดยการจัดเตรียมวางกลยุทธเพื่อเข้าโจมตีแคว้นวัชชี อันเป็นแคว้นอยู่ตรงกันข้ามกับแคว้นมคธ คนละฝั่งแม่น้ำ มีแม่น้ำคงคาเป็นเขตแดนกั้น เรื่องจะตีแคว้นวัชชีนั้น เป็นเรื่องที่ทราบกันโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว แม้พระพุทธองค์ก็ทรงทราบ

ถ้าเราจะสังเกตจะเห็นได้ว่า ในปีสุดท้ายแห่งพระชนมายุของพระพุทธองค์ พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เมืองเวสาลีเป็นเวลานานเหลือเกิน ประทับอยู่เป็นเวลาตั้งเกือบ ๘ เดือน โดยไม่ยอมไปเสด็จประทับในที่อื่นใดทั้งหมด ดูราวประหนึ่งว่าพระพุทธองค์ทรงตั้งพระหฤทัยต้องการที่จะป้องกันแคว้นวัชชี ให้พ้นจากภัยของพระเจ้าอชาตศัตรู ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อสรรพสัตว์ ด้วยเกรงว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายในแคว้นวัชชีจะเป็นอันตรายไป แม้ข้อความตอนนี้ แม้จะไม่ได้บ่งชัดในพุทธประวัติมหาปรินิพพานสูตรก็จริง แต่ดูตามเหตุการณ์ก็ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ก็ควรจะเป็นไปในฐานะเช่นนั้น เพราะเมื่อเสด็จออกจากแคว้นมคธแล้ว ก็เสด็จข้ามแม่น้ำคงคา มุ่งเข้าสู่แคว้นวัชชี ประทับอยู่ที่แคว้นวัชชีถึงหนึ่งพรรษาเต็ม ๆ ในปีที่พระชนมายุ ๘๐ นั้น ออกพรรษาแล้วก็ยังเสด็จวนเวียนอยู่รอบ ๆ ตำบลต่าง ๆ ในแคว้นวัชชี ซึ่งประทับอยู่ที่ ภัณฑุคาม อัมพุคาม โภคนครเป็นต้น อันเป็นตำบลต่าง ๆ อยู่รอบ ๆ เมืองเวสาลี ไม่ได้ตั้งพระหฤทัยจะเสด็จจากไปง่าย ๆ เมื่อพระองค์ยังเสด็จประทับอยู่ที่เมืองเวสาลีตราบใด พระเจ้าอชาตศัตรูก็ไม่กล้ายกกองทัพมาเบียดเบียนแคว้นวัชชีตราบนั้น ด้วยเกรงพระบารมี เพราะมีความเคารพในพระพุทธเจ้า เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในที่ใด ก็นำความผาสุกมาสู่ที่นั้น ไม่เบียดเบียนผู้ใด จนกระทั่งในพรรษาสุดท้ายนั่นเอง เมื่อพระองค์เสด็จประทับจำพรรษาอยู่ตำบลบ้านเวฬุวคาม อันเรียกกันง่าย ๆ ว่าตำบลบ้านไผ่ ในพรรษานั้นพระองค์ได้ประชวรหนัก เกือบที่จะเอาพระชนม์ชีพไม่รอด แต่ก็มีมติในพระหฤทัยว่า ถ้าเราจะมาปรินิพพานเสียระหว่างนี้เป็นการไม่สมควรแก่เรา เรายังไม่ได้บอกลาบรรดาภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐาก ยังไม่ได้แจ้งให้กับคณะสงฆ์ทราบเป็นทางการแล้วอยู่ ๆ จะมาดับขันธ์เช่นนี้ จะไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นการสมควร เมื่อมีความปริวิตกเช่นนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงใช้อิทธิบาทภาวนาขับไล่อาพาธทั้งหมดให้พ้นไป เรื่องการเจริญอิทธิบาทขับไล่อาพาธให้หายนั้น นับว่าเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่ง ตามที่เราทราบกันทั่ว ๆ ไป เจริญอิทธิบาท ๔ เป็นการต่ออายุได้ ขับไล่อาพาธได้นั้น อิทธิบาท ๔ นั้นเจริญอย่างไร เจริญธรรมอะไร เพราะอิทธิบาทนั้นเป็นกริยาเข้าไปเจริญ จะต้องมีธรรมอะไรที่ถูกเข้าไปเจริญ ที่เป็นผล หรือต้นตอพื้นฐานรองรับธรรมะคืออิทธิบาท ๔ ที่เข้าไปเจริญนั้น เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่น่าวินิจฉัยมาก เพราะส่วนมากเราทราบกันทั่ว ๆ ไปเพียงว่า เพราะอิทธิบาท ๔ ต่อพระชนมายุได้ ทราบกันเพียงแค่นี้ และอิทธิบาท ๔ ที่เรารู้กันก็ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ท่องกันได้ ถ้า ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ธรรมดาพื้น ๆ นี้เป็นอิทธิบาทแล้ว คนที่เขารำพัดคือเล่นไพ่ เขาก็มีอิทธิบาทเหมือนกันหนา เพราะฉันทะเขาก็มีความพอใจที่จะเล่น วิริยะ ขยัน พากเพียร ขวนขวายที่จะเล่น จิตตะ ความใส่ใจหมกมุ่น วิมังสา ไตร่ตรองหาอุบาย ใช้เล่ห์อุบายที่จะเอาชนะให้ได้ ต้องมีพร้อม มิเช่นนั้นแล้วจะเล่นกันหามรุ่งหามค่ำ ๓ วัน ๓ คือ ไม่ต้องลุกขึ้นจากที่ ไม่ต้องขี้เยี่ยวกัน ไม่ต้องเข้าห้องน้ำห้องส้วมกัน ขี้เยี่ยวหายไปไหนหมดเวลารำพัดกัน ถ้าเช่นนั้นแล้วอิทธิบาท ๔ ก็เป็นธรรมะที่ต่ำไป ถ้าเข้าใจอิทธิบาท ๔ เช่นนี้แล้ว ก็เป็นการเข้าใจอิทธิบาทเป็นธรรมะที่พื้น ๆ ดาด ๆ เกินไป

แท้จริง อิทธิบาทที่กล่าวดังนี้ หาใช่อิทธิบาทดังที่ชาวบ้านสามัญชนเข้าใจกันอย่างนั้นไม่ คือไม่ใช่เป็นแต่เพียงความพอใจ ฉันทะ วิริยะ มีความพากเพียร จิตตะ มีความใฝ่ใจ วิมังสา คือ การใช้ปัญญา นี้ไม่ใช่ เพราะธรรมดาคาถาว่า จะต้องเป็นธรรมะที่ลึกซึ้งและสูงกว่านั้น เราจะมาวินิจฉัยกันในประเด็นนี้ ก่อนอื่นเราต้องวินิจฉัยว่า อะไรเป็นตัวอิทธิบาท ๔ ได้แก่ธรรมะอะไร ? ธรรมะอะไรที่พระองค์เข้าไปเจริญให้มาก ทำให้มาก ธรรมะอันนั้นคืออะไร ข้อนี้นับว่าสำคัญมาก ควรพิจารณาข้อความในพุทธภาษิตในตอนนี้ ในระหว่างพรรษานั้นพระอานนท์เป็นผู้ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า เห็นเหตุการณ์หมดว่าพระองค์ได้ใช้ความอดกลั้นอย่างสูงต่ออาพาธนั้น และได้ทรงขับไล่อาพาธนั้นด้วยอิทธิบาทภาวนา พอออกพรรษาแล้ว เย็นวันหนึ่ง ขณะที่พระองค์ประทับสำราญพระอิริยาบถอยู่ พระอานนท์ก็เข้าไปกราบทูลว่า "พระพุทธเจ้าข้า ธรรมะก็ไม่เป็นที่แจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ในเวลานี้ ทิศทั้งหลายก็เป็นที่มืดมัวแก่ข้าพระองค์ในเวลานี้ การคิดปัญหาธรรมะต่าง ๆ ที่เคยแจ่มแจ้งไม่แจ่มแจ้งเสียแล้วในเวลานี้ ทั้งนี้เพราะข้าพระองค์ได้มองเห็นความอดกลั้นยิ่งนัก ต่ออาพาธอันแรงกล้าของพระผู้มีพระภาคในระหว่างพรรษา แต่ก็ยังมีความหวังใจอยู่ว่า พระองค์ยังไม่คงรีบด่วนมาละพระสงฆ์สาวกไปเสีย"  เมื่อพระอานนท์กราบทูลไปในทำนองนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสกับพระอานนท์ว่า "ดูก่อนอานนท์ เธอยังจะมาหวังอะไรในตัวตถาคตอีกเล่า สรีระของตถาคตก็มีกาลผ่านวัยมาตั้ง ๘๐ แล้ว ก็เหมือนเกวียนที่คร่ำคร่า ผุพัง ที่อยู่ได้ปะทะปะทังใช้การได้ก็ด้วยลำไม้ไผ่ที่มาผูกเอาไว้ จึงจะพอใช้การได้ แต่ก็เป็นเกวียนที่คร่ำคร่าเต็มทีแล้ว เธอยังจะมาหวังอะไร แล้วพระองค์ก็ได้ตรัสใจความได้ว่า ตถาคตสฺส โข อานนฺท จตฺตาโร อิทฺธิปาทา ภาวิตา พาหุลีกตา" เป็นต้น ความว่า "ดูก่อนอานนท์อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้ดุจยาน กระทำให้ดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารถนาดีแล้ว ตถาคตนั้นเมื่อดำรงอยู่ จะพึงดำรงอยู่ตลอดกัปป์ หรือเกินกว่ากัปป์ก็ได้" ตรัสอย่างนี้ ข้อความนี้ ก็เข้าประเด็นที่ว่าทรงใช้อิทธิบาท ๔ เจริญธรรมะ อะไรข้อนี้เราไม่ต้องไปหาหลักฐานที่ไหน เพราะข้อความบ่งชัดในมหาปรินิพพานสูตรนั่นเอง คือในมหาปรินิพพานสูตรตรัสไว้กับพระอานนท์ว่า.. "ยสฺมึ อานนฺท สมเย ตถาคโต สพฺพญฺญุตญาณํ อมนสิการา เอกจฺจานํ เวทนานํ นิโรธาอนิมิตฺตํ เจโตสมาธึ อุปสมฺปชฺช วิหรติ ผาสุกโร อานนฺท ตสฺมึ สมเย ตถาคตสฺส กาโย โหติ แปลความว่า อานนท์ สมัยใด ตถาคตเข้าถึงเจโตสมาธิ อันไม่มีนิมิต เพราะไม่ทำไว้ในใจ ซึ่งนิมิตทั้งปวง เพราะดับเวทนาบางเหล่าอยู่ สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมผาสุข" ตรัสอย่างนี้

เมื่อพระอานนได้กราบทูลว่า หลังจากได้เห็นอาการอดทนของพระผู้มีพระภาคต่ออาพาธ พระอานนท์ก็มีจิตใจทุกข์ร้อนไม่สบาย ธรรมะที่เคยขบคิด แจ่มแจ้งก็ไม่แจ่มแจ้ง รู้สึกว่ามันมืดมัวใจไปเสียทุกหนทุกแห่ง หมดหวังไปเสียทุกหนทุกแห่ง แต่ว่ายังเคราะห์ดีที่ว่า ตราบใดที่พระองค์ยังไม่ตรัสล่ำลาภิกษุสงฆ์อย่างเป็นทางการ ก็ยังเป็นอันหวังได้ว่าชนมชีพของพระองค์จะอยู่ยั่งยืนอยู่กับพวกพระสงฆ์ต่อไป เป็นมิ่งขวัญของชาวพุทธต่อไปทำนองนั้น พระพุทธเจ้าก็ได้ให้สติแก่พระอานนท์ว่า อย่าได้หวังอะไรกับพระองค์มากเลย พระองค์ก็มีพระชนมายุสูงมากแล้ว๘๐ ปีบริบูรณ์แล้ว เหมือนกับเกวียนที่คร่ำคร่าจะต้องปะทะปะทังด้วยลำไม้ไผ่จึงเป็นไปได้อยู่ และได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า ในสมัยที่ใจไม่ไปใฝ่หรือกำหนดในสิ่งใด ๆ ทั้งสิ้น เรียกว่าอนิมิตตเจโตสมาธิ สมัยนั้นร่างกายของตถาคตรู้สึกผาสุกเหลือเกิน พระพุทธพจน์ตอนนี้เอง ที่เป็นการตอบปัญหาไปในตัวว่า ที่พระองค์หายจากอาพาธได้ จะเป็นเหตุให้อายุยั่งยืนต่อไปอีกตั้งเกือบปีหนึ่งได้ ก็เพราะอานุภาพของอนิมิตตเจโตสมาธิ อนิมิตตเจโตสมาธิที่พระองค์เจริญ ทำให้มากแล้วก็หมายความวา ถ้าพระองค์ใช้อิทธิบาท ๔ ให้เป็นไปในอนิมิตตเจโตสมาธิอยู่เนือง ๆ กระทำให้มาก กระทำให้เคยชินเป็นเวลานาน ๆ แล้ว ถ้าพระองค์จะปรารถนาให้มีพระชนม์ชีพยืนยาวถึงหนึ่งกัปป์ หรือมากกว่ากัปป์ก็ย่อมเป็นไปได้ คำว่ากัปป์ หรือยิ่งกว่ากัปป์ (บาลีเป็นกัปป์ สันสกฤตเป็นกัลป์) คำนี้ไม่ใช่อายุกัปป์ของโลก แต่เป็นกัปป์ของอายุชีวิตมนุษย์ ไม่ใช่อายุกัปป์ของโลก ถ้าเป็นอายุกัปป์ของโลก กัปป์หนึ่งมีกี่ปี ถ้าคติตามศาสนาพราหมณ์ หนึ่งกัปป์มี ๔,๐๐๐ กว่าล้านปี โลกเรานี้เพิ่งจะมีมนุษย์ก็เพิ่งจะราว ๆ กว่าล้านปีมานี่เอง ที่มีหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกับมนุษย์นี้ และมีหน้าตาครึ่งลิงครึ่งคนคือเป็นมนุษย์วานรนี่เมื่อห้าแสนปีมานี่ และที่จะมีหน้าตาเหมือนกับมนุษย์เรานี้ ก็คงจะสองสามพันปีมานี่กระมัง แต่อายุของกัปป์นั้นสี่พันกว่าล้านปี คิดดูเอาเองว่าอายุมากแค่ไหน ตามคติของศาสนาพราหมณ์ แต่ตามคติของพุทธกาลที่เราจะคำนวณอายุของกัปป์หนึ่งนั้นยาก แต่มีข้ออุปมาว่า เหมือนกับพระพรหมเอาผ้าสไบที่ทอด้วยใยผ้า มาปัดยอดเขาพระสุเมรุหนึ่งครั้งต่อหนึ่งร้อยปี จนกว่ายอดเขาพระสุเมรุจะราบเรียบเสมอกับพื้นมหาสมุทรเป็น ๑ กัปป์ ไม่ทราบเวลาเท่าใดกันเป็นอัประไมย โลกในยุคหนึ่ง พอพ้นจากยุคหนึ่ง ก็มีไฟทำลายสิ้นยุคสิ้นกัลป์ จักฉิบหายเพราะไฟบ้าง เพราะลมบ้าง เพราะน้ำบ้างจะต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ โลกแตกก็เป็นกัลป์หนึ่ง เพราะฉะนั้น พระพุทธพจน์ที่ว่า เจริญอิทธิบาท ๔ กระทำให้มาก เจริญให้มาก อบรมให้มากเป็นต้น จะมีอายุกัปป์หนึ่ง หรือยิ่งกว่ากัปป์หนึ่ง คำว่ากัปป์ในที่นี้ เป็นอายุกัปป์ของมนุษย์ อายุกัปป์ของมนุษย์ในสมัยนั้นมีอายุ ๑๐๐ ปี ถ้าใครมีอายุถึงร้อยปีก็ประเสริฐนักหนาแล้ว หรือยิ่งกว่าร้อยก็ยิ่งประเสริฐนักหนา อายุของคนในปัจจุบันไม่ต้องเสียใจว่า เกิดมาอายุสั้นเพราะว่าเป็นอายุกัปป์ประเมิน อายุไขแห่งกัปป์ ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งเป็นอย่างนั้น ในสมัยพุทธกาลนั้นใครมีอายุ ๑๐๐ ปี เป็นกำหนดหรือเกินกว่าร้อยมีจำนวนน้อยก็เป็นของประเสริฐ เป็นลาภแล้ว

ในที่นี้ถ้าหากพระพุทธเจ้า พระองค์ท่านเจริญอิทธิบาท ๔ เป็นไปในอนิมิตตเจโตสมาธิแล้ว ก็อย่างมากก็จะยืดอายุของพระองค์ต่อไปอีก ๒๐-๒๕ ปี เช่นว่าเป็น ๑๐๐ หรือ ๑๐๕ ปี อาจจะมากกว่านั้นอีกนิดหน่อย แต่ไม่ใช่จะมีอายุมาถึงปัจจุบันนี่ไม่ใช่ นี่เป็นอายุการกำหนดในยุคนั้น เพราะฉะนั้น การที่พระองค์ตรัสให้เจริญอิทธิบาท ๔ เป็นไปในอนิมิตตเจโตสมาธิให้มากแล้ว ใครเจริญอนิมิตตเจโตสมาธิให้มากแล้ว คนนั้นจะอาศัยอำนาจสมาธินี้ ดับอาพาธ ดับทุกขเวทนาทางกายได้หมด แล้วเป็นการเปลี่ยนเซลล์ในร่างกายใหม่หมด เช่นว่ามีเซลล์มันจะตายไปบ้างหรือสึกหรอไปบ้าง ก็เปลี่ยนใหม่หมด เซลล์ต่าง ๆ เป็นของใหม่หมด ร่างกายก็กระปรี้กระเปร่า มีพละ กำลัง อาจจะมีอายุยืนต่อไปอีกตั้งหลายปี เป็นการต่ออายุ คราวนี้อรรถกถาจารย์ท่านแก้ความไว้ในสุมังคลวิลาสินีว่า ได้แก่การเข้าผลสมาบัติชื่อว่าเป็นเครื่องทำชีวิตให้ดำรงอยู่ได้ ผลสมาปตฺติ ธมฺมาติ ชีวโต สงฺขาโร แล้วพระอรรถกถาจารย์ ท่านก็ตั้งเป็นคำถามขึ้นว่า ก็พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงเข้าผลสมาบัติในกาลก่อนบ้างเลยหรือ เพิ่งจะมาเข้าตอนที่มาเกิดอาพาธ ในพรรษาสุดท้ายตอนที่ประทับอยู่ที่เวฬุคามกระนั้นหรือ แก้ว่า พระองค์ก็ได้ทรงเข้าผลสมาบัติมาก่อนเหมือนกัน ผลสมาบัติแต่ก่อนนั้น ๆ เป็นขณิกสมาบัติชั่วขณะ ไม่นานนักมีอานุภาพข่มเวทนาได้ เฉพาะในเวลาที่อยู่ในสมาบัติเท่านั้น เมื่อออกจากสมาบัติแล้ว เวทนาก็สามารถครอบงำ สรีระของบุคคลได้ เปรียบเหมือนท่อนไม้หรือสาหร่ายแหวกออกชั่วครูแล้วก็กลับมารวมตัวปิดน้ำไว้อีก ส่วนสมาบัติที่เข้าด้วยอำนาจแห่งมหาวิปัสสนา สมาบัตินั้นมีอานุภาพมาก สามารถข่มเวทนาได้อย่างแน่นอนสนิท อุปมาดังบุรุษที่เดินลงไปในสระน้ำ ใช้มือและเท้าแหวกสาหร่ายออก และเหวี่ยงไปโดยกำลังแรง สาหร่ายที่กระจายออกไป กว่าจะกลับมารวมตัวอย่างเดิมอีกก็มีระยะเวลานานกว่า

คำว่า อนิมิตตเจโตสมาธินั้น ที่พระองค์เข้าเจริญในพรรษาสุดท้ายที่บ้านเวฬุคาม เป็นเหตุให้มีพละกำลังกายยืนยาวต่อไปถึงกระทั่งนิพพานในปีหน้า ก็แตกต่างจากอานุภาพของผลสมาบัติ เจโตสมาธิที่มีนิมิตนั้นเอง เรียกผลสมาบัติ ปัญหามีว่า ทำไมก่อนหน้านี้พระองไม่เคยเข้าผลสมาบัติบ้างเลยหรือ? ตอบว่าก่อนนี้ก็เคยเข้า แต่เข้าแต่ละครั้งนั้นไม่นาน เพราะพระองค์มีกรณียกิจที่จะต้องบำเพ็ญเกี่ยวกับการบริหารงานพระศาสนา ในฐานะเป็นผู้นำ เป็นพระบรมศาสดาจะต้องออกเที่ยวสั่งสอนสรรพสัตว์ ไม่มีเวลามาเข้าสมาธิได้เป็นเวลาหลายวัน หรือติด ๆ กันเป็นเวลาสัปดาห์ ไม่มี เข้าสมาธิก็เข้าได้นิดหน่อย เรียกว่า ขณิกสมาบัติ ชั่วขณะก็ต้องออกแล้วเพราะว่าพุทธกิจในฐานะเป็นพระบรมศาสดานั้นมีมาก เพิ่งจะมาเข้าสมาบัติจริง ๆ ที่ใช้เวลามากติดต่อกันก็ตอนอาพาธในระหว่างพรรษา ขณะที่ประทับอยู่ที่บ้านเวฬุคาม ต้องเข้าใช้เวลานาน เพราะต้องการใช้อำนาจสมาธิไประงับทุกขเวทนาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแก่พระองค์ แล้วท่านก็เปรียบว่า เหมือนกับมีบึงใหญ่อยู่บึงหนึ่ง ในบึงนั้นมีบัวและสรรพสิ่งขึ้นปกคลุมไปหมด ถ้าเราเอาก้อนอิฐเพียงก้อนเดียวขว้างปาลงไปในบึงป๋อมหนึ่งก็จะมีคลื่นเพียงนิดเดียว เพราะกำลังแรงมันน้อยป๋อมหนึ่งมันก็แหวกพวกบัวเป็นช่องนิดหนึ่งแล้ว ประเดี๋ยวมันก็รวมตัวกันอย่างเดิมฉันใด ผลสมาบัติที่เข้าประเดี๋ยวประด๋าวชั่วขณะนั้น ระงับทุกขเวทนาได้ในขณะที่เข้า พอออกมาแล้วเวทนาที่ระงับไปในขณะที่เข้าสมาบัติมันก็อาจจะกำเริบขึ้นอีก แม้โรคภัยไข้เจ็บที่ระงับไปในขณะที่เข้า เมื่อออกแล้วมันก็อาจจะกำเริบขึ้นอีก คราวนี้ถ้าหากเข้าผลสมาบัตินาน ๆ ก็ทำให้มีอานุภาพเหมือนหนึ่งบุคคลที่มีกำลังร่างกายแข็งแรง เดินลงไปในบึง เอามือตีน้ำแหวกใบบัวและสรรพสิ่งให้ออกไปเป็นช่อง เหวี่ยงไปด้วยกำลังแรงด้วยมือทั้งสองข้าง กว่ามันจะกลับมารวมตัวเป็นเวลานานมากหน่อย เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่ามหาวิปัสสนานั่นแหละ คือ ผลสมาบัติที่พระพุทธองค์เข้าขับไล่อาพาธ มหาวิปัสสนานั้นคืออะไร ? ก็ปรากฏว่ามหาวิปัสสนานั้นมีถึง ๑๘ อย่างคือ
    ๑. อนิจจาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความไม่เที่ยง
    ๒. ทุกขาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความทุกข์
    ๓. อนัตตา วิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ว่าไม่ใช่ตน
    ๔. นิพพิทาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น เป็นความเบื่อหน่าย
    ๕. วิราคาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น เป็นความคลาย ราคะ
    ๖. นิโรธวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความดับสนิท
    ๗. ปฏินิคฺสคฺควิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความสละคืน
    ๘. วิตกฺกวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความตรึก
    ๙. วยาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความเสื่อม
    ๑๐. วิปริณามาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความแปรเปลี่ยน
    ๑๑. อนิมิตตวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความไม่มีเครื่องหมาย
    ๑๒. อปณิหิตานุวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความไม่มีที่ ตั้ง
    ๑๓. สุญญตาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็นความว่างเปล่า
    ๑๔. อธิปัญญาคมวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความแจ้งในธรรมคือปัญญาอันยิ่ง
    ๑๕. ยถาภูตถาณทัสสนวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็นตามความเป็นจริงโดยญาณ 
    ๑๖. อาทีนววิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ตามความเป็นจริงโดยญาณ
    ๑๗. ปฏิสังขารวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความเข้าใจกระจ่าง 
    ๑๘. วิวัฏฏวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความปราศจากวัฏฏะ

นี่แหละญาณทัสสนะที่เป็นไปทั้ง ๑๘ อย่างนี้เรียกว่ามหาวิปัสสนา ปรากฏว่าอนิมิตตเจโตสมาธิ ที่พระองค์เข้าขับไล่อาพาธ เพื่อต่อพระชนมายุนั้นอยู่ในอันดับที่สิบเอ็ด คืออนิมิตตวิปัสสนาใน ๑๘ ประการนี้ พระองค์ทรงใช้ประการที่สิบเอ็ด ความจริงใช้ได้ทุกประการ แต่ทรงเลือกเอาข้อหนึ่งเพื่อขับไล่อาพาธ เพื่อต่อพระชนมายุ

คราวนี้อิทธิบาท ๔ ที่เข้าไปเจริญในอนิมิตตเจโตสมาธิ นั้นเป็นอิทธิบาทสามัญหรือ ? ข้อนี้ไม่ใช่อิทธิบาทธรรมดาสามัญ ถ้าหากเป็นอิทธิบาทธรรมดาสามัญ กระนั้นในวงรำพัดเขาก็มีกันได้ อิทธิบาทนี้ ต้องเป็นอิทธิบาทพิเศษ เรียกว่า ฉันทสมาธิปธานสังขาร วิริยสมาธิปธานสังขาร จิตตสมาธิปธานสังขาร วิมังสาสมาธิปธานสังขาร คือจะต้องเป็นอิทธิบาทที่ประกอบด้วยสมาธิปธานสังขารด้วย ไม่ใช่เป็นอิทธิ-บาทเฉย ๆ ไม่ใช่ฉันทะเฉย ๆ วิริยะเฉย ๆ จิตตะเฉย ๆ วิมังสาเฉย ๆ ต้องประกอบด้วยสมาธิปธานสังขาร จึงเป็นอิทธิบาทที่ประสงค์ในที่นี้ ถึงจะเป็นอิทธิบาทธรรมดาสามัญ และจะต้องประกอบด้วยความแข็งแกร่งมั่นคงไพบูลย์แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจสมาธินั้น ๆ ท่านเรียกว่าปธานสังขาร หลักฐานที่กล่าวนี้มีมาในบาลีสังยุตตนิกาย

คราวนี้เมื่อออกพรรษาแล้ว พระองค์ได้ปลงพระชนมายุในวันเพ็ญเดือน ๓ คือในวันมาฆบูชา วันมาฆบูชานั้นนอกจากจะเป็นวันสำคัญที่มีเกิดจาตุรงค์สันนิบาตแล้ว ยังเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงปลงพระชนมายุสังขาร คือตั้งพระหฤทัยว่าตั้งแต่นี้ต่อไปอีก ๓ เดือน ตถาคตจะปรินิพพาน เพ็ญเดือน ๓ ที่ว่านี้มิใช่เพียงเดือน ๓ ในปีที่พระชนมายุ ๘๐ ปี เป็นปีย่างเข้า ๘๑ เพราะว่าในปีที่พระชนมายุ ๘๐ ผมได้ลำดับเหตุการณ์แล้ว ว่าต้นปีพระองค์ทรงอยู่แคว้นโกศล เหตุการณ์เกิดขึ้นแก่ศากยวงศ์ เนื่องจากวิฑูฑภะได้ยาตราเข้ามาทำลายศากวงศ์ พอจวนจะเข้าพรรษาเสด็จมาที่ราชคฤห์ แล้วข้ามแม่น้ำคงคาไปจำพรรษาที่เมืองเวสาลีเลย อยู่ที่เมืองเวสาลี แคว้นวัชชีถึง ๘ เดือน ออกพรรษาแล้ว ก็ยังไม่เสด็จออกจากเมืองเวสาลีง่าย ๆ ยังคงประทับอยู่ที่อัมพุคาม ชมพุคาม โภคนคร อยู่ในละแวกตำบลต่าง ๆ ในเมืองเวสาลี ตลอดฤดูหนาวในปีที่พระชนมายุ ๘๐ นั้น พระองค์ประทับอยู่ที่แขวงเมืองเวสาลีโดยตลอด พอพ้นฤดูหนาวเข้าฤดูใหม่ย่างเข้าปีที่ ๘๑ แล้ว จึงเสด็จออกจากแคว้นวัชชีเสด็จต่อไป เมื่อตอนเสด็จออกจากแคว้นวัชชีนั้นพระองค์ทรงทำอาการกิริยาที่เรียกวา “นาคาวโลก”* คือการดูอย่างช้างตัวประเสริฐดู ทอดพระเนตรเหลียวกลับมาดูเมืองเวสาลีและตรัสกับพระอานนท์ว่า :- ดูก่อนอานนท์ การทัสสนาดูเมืองเวสาลีของตถาคตครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย เป็นปัจฉิมทัสสนา ต่อไปนี้ไม่มีโอกาสแลดูเมืองเวสาลีต่อไปแล้ว



ปัญหามีว่า ที่พระองค์จะทำกริยา นาคาวโลกนั้นดูทำไม มีพุทธประสงค์อย่างไร ? จึงตรัสกับพระอานนท์เช่นนั้น เรื่องนี้ถ้าเราพิจารณาดูเหตุการณ์หลังพุทธปรินิพพานแล้ว เราจะเข้าใจความหมาย เพราะเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานในปีนั้นแล้ว พระเจ้าอชาตศัตรู กษัตริย์มคธ ได้ยาตราทัพเข้าตีแคว้นวัชชีทันที ** ได้แคว้นวัชชีเป็นเมืองขึ้นหลังถวายพระเพลิงพุทธสรีระแล้ว พระองค์ตรัสอย่างนั้นกับพระอานนท์ก็ด้วยความมหากรุณากับแคว้นวัชชี ทั้งนี้เพราะพระองค์ผู้อยู่กับพระหฤทัยว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว แคว้นวัชชีจะต้องได้รับอันตรายจากกองทัพมคธเป็นแน่แท้ หนีไม่พ้นแล้ว เป็นกรรมของสัตว์ วาระของกรรมมันมาถึงแล้ว พระองค์จึงตรัสกับพระอานนท์ว่า การแลดูแคว้นวัชชีที่มีความรุ่งเรืองเป็นเอกราชอย่างนี้ ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว แต่พระองค์ไม่ได้ตรัสให้ใครนึกไปทางเรื่องการเมือง ทรงหลีกเลี่ยงทุกประการในการพูดในทำนองที่จะไม่ให้นึกไปทางเรื่องการเมือง เพราะพระพุทธเจ้านั้นท่านไม่พูดเรื่องการเมืองแล้ว การพูดเรื่องการเมืองเป็นติรัจฉานกถา แต่ท่านตรัสเป็นแต่เพียงให้นัยไว้ว่า ดูก่อนอานนท์ การแลดูเมืองเวสาลีของตถาคตครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้ายก็เพียงเท่านี้เอง ส่วนความหมายนั้นแล้วแต่ใครจะไปคิดเอา ที่เรามาตีความกันในปัจจุบันนี้ว่า การแลดูเมืองเวสาลีของพระตถาคต ที่เป็นอิสรรัฐ มีความรุ่งโรจน์ ความเจริญ มีเศรษฐกิจที่มั่นคง จนกระทั่งเป็นที่อิจฉาริษยาของแคว้นมคธนั้น เป็นทางให้แคว้นวัชชีต้องถูกทำลายจากแคว้นมคธนั้น เพราะความมั่งคั่ง ความรุ่งเรืองของแคว้นวัชชี แม้แต่การแต่งตัวของพวกเจ้าลิจฉวี ซึ่งได้ประดับประดาด้วยภูษิตาภรณ์ที่ประดับองค์ต่าง ๆ มีความสวยงามวิจิตรการมาก ถึงขนาดที่พระบรมศาสดาตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายไม่เคยเห็นเทวดาชั้นดาวดึงส์เขาแต่งตัวกันอย่างไร ก็จงดูพระเจ้าวัชชีนี่แหละเขาแต่งตัวกันอย่างไร พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ เขาแต่งร่างกายสวยงามอย่างนั้น ข้อนี้แปลความหมายได้ว่าแคว้นวัชชีเจริญถึงขั้นไหน การแต่งตัวเป็นแฟชั่นที่สวยงามมากถึงขั้นที่พระองค์ได้นำไปเปรียบเทียบว่า พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์เขาแต่งตัวสวยอย่างไร พวกเจ้าวัชชีเขาแต่งตัวสวยอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ข้อเปรียบเทียบเพราะฉะนั้นการเสด็จไปจากวัชชีนี้ จึงทรงเหลียวกลับแลดูเป็นครั้งสุดท้าย นี่ในความหมายนี้ เมื่อออกจากวัชชีแล้วก็มุ่งจะไปเสด็จดับขันธ์ ณ เมืองกุสินารา ในระหว่างทางก่อนจะถึงแคว้นมัลละ เมืองกุสินารา ก็ทรงแวะที่เมืองปาวา ปาวาและกุสินาราทั้งสองเมืองนี้ ในทางโบราณคดีถือกันว่า เป็นเมืองเดียวกัน  👉 หน้าต่อไป 



วันพฤหัสบดี

๓. การแปลความหมายหลักปฏิจจสมุปบาท

หลักปฏิจจสมุปบาทนี้ ถูกนำมาแปลความหมายและอธิบายโดยนัยต่างๆ ซึ่งพอสรุปเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้

๑. การอธิบายแบบแสดงวิวัฒนาการของโลกและชีวิต โดยการตีความพุทธพจน์บางแห่งตามตัวอักษร เช่น พุทธดำรัสว่า โลกสมุทัย เป็นต้น
๒. การอธิบายแบบแสดงกระบวนการเกิด - ดับแห่งชีวิต และความทุกข์ของบุคคล ซึ่งแยกได้เป็น ๒ นัย
        ๒.๑) แสดงกระบวนการช่วงกว้างระหว่างชีวิตต่อชีวิต คือ แบบข้ามภพข้ามชาติ เป็นการแปลความหมายตามรูปศัพท์อีกแบบหนึ่ง และเป็นวิธีอธิบายที่พบทั่วไปในคัมภีร์รุ่นอรรถกถา ซึ่งขยายความหมายออกไปอย่างละเอียดพิสดาร ทำให้กระบวนการนี้มีลักษณะเป็นแบบแผน มีขั้นตอนและคำบัญญัติเรียกต่างๆ จนดูสลับซับซ้อนแก่ผู้เริ่มศึกษา
        ๒.๒) แสดงกระบวนการที่หมุนเวียนอยู่ตลอดเวลาในทุกขณะของการดำรงชีวิต เป็นการแปลความหมายที่แฝงอยู่ในคำอธิบายนัยที่ ๑) นั่นเอง แต่เล็งเอานัยอันลึกซึ้งหรือนัยประยุกต์ของศัพท์ตามที่เข้าใจว่าเป็นพุทธประสงค์ (หรือเจตนารมณ์ของหลักธรรม) เฉพาะส่วนที่เป็นปัจจุบัน วิธีอธิบายนัยนี้ยืนยันตัวเองโดยอ้างพุทธพจน์ในพระสูตรได้หลายแห่ง เช่น ในเจตนาสูตร ทุกขนิโรธสูตร และโลกนิโรธสูตร เป็นต้น ส่วนในพระอภิธรรม มีบาลีแสดงกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาททั้งหมดที่เกิดครบถ้วนในขณะจิตอันเดียวไว้ด้วย จัดเป็นตอนหนึ่งในคัมภีร์ทีเดียว (• วิสุทธิ์ ๓/๑๐๗-๒๐๖, วิภงด.อ.๑๖๘-๒๗๘ (เฉพาะหน้า ๒๖๐-๒๗๘ แสดงกระบวนการแบบที่เกิดครบถ้วนในขณะจิตอันเดียว)

ในการอธิบายแบบที่ ๑ บางครั้งมีผู้พยายามตีความหมายให้หลักปฏิจจสมุปบาทเป็นทฤษฎีแสดงต้นกำเนิดของโลก โดยถือเอาอวิชชาเป็นมูลการณ์ (The First Cause) แล้วจึงวิวัฒนาการต่อมาตามลำดับหัวข้อทั้ง ๑๒ นั้น การแปลความหมายอย่างนี้ทำให้เห็นไปว่าคำสอนในพระพุทธศาสนามีส่วนคล้ายคลึงกับศาสนาและระบบปรัชญาอื่นๆ ที่สอนว่ามีตัวการอันเป็นต้นเดิมสุด เช่น พระผู้สร้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสัตว์และสิ่งทั้งปวง ต่างกันเพียงว่า ลัทธิที่มีพระผู้สร้าง แสดงกำเนิดและความเป็นไปของโลกในรูปของการบันดาลโดยอำนาจเหนือธรรมชาติ ส่วนคำสอนในพระพุทธศาสนา ที่มีความหมายอย่างนี้ แสดงความเป็นไปในรูปวิวัฒนาการตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยในธรรมชาติเอง อย่างไรก็ดี การตีความหมายแบบนี้ย่อมถูกตัดสินได้แน่นอนว่า ผิดพลาดจากพุทธธรรม เพราะคำสอนหรือหลักลัทธิใดก็ตามที่แสดงว่าโลกมีมูลการณ์ (คือเกิดจากตัวการที่เป็นต้นเดิมที่สุด) ย่อมเป็นอันขัดต่อหลักอิทัปปัจจยตา หรือหลักปฏิจจสมุปบาท หลักปฏิจจสมุปบาทแสดงเหตุผลเป็นกลางๆ ว่า สิ่งทั้งหลายเป็นปัจจัยเนื่องอาศัยกัน เกิดสืบต่อกันมาตามกระบวนการแห่งเหตุผลอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มูลการณ์เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะในรูปพระผู้สร้างหรือสิ่งใดๆ ด้วยเหตุนี้ การแปลความหมายหลักปฏิจจสมุปบาทให้เป็นคำอธิบายวิวัฒนาการของโลกและชีวิต จึงเป็นที่ยอมรับได้เฉพาะในกรณีที่เป็นการอธิบายให้เห็นความคลี่คลายขยายตัวแห่งกระบวนธรรมชาติในทางที่เจริญขึ้น และทรุดโทรมเสื่อมสลายลงตามเหตุปัจจัยหมุนเวียนกันเรื่อยไป ไม่มีเบื้องต้น ไม่มีเบื้องปลาย

เหตุผลอย่างหนึ่งสำหรับประกอบการพิจารณาว่าการแปลความหมายอย่างใดถูกต้อง ควรยอมรับหรือไม่ ก็คือพุทธประสงค์ในการแสดงพุทธธรรม ซึ่งต้องถือว่าเป็นความมุ่งหมายของการทรงแสดงหลักปฏิจจสมุปบาทด้วย โดยเป็นไปตามหลักความสอดคล้องที่ย้อนกลับมาบ่งบอกว่า ความจริงของหลักปฏิจจสมุปบาทนั้นอำนวยความมุ่งหมายเชิงปฏิบัติดังที่กล่าวในการแสดงพุทธธรรมนั้น พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหมายและสั่งสอนเฉพาะสิ่งที่จะนำมาใช้ปฏิบัติให้เป็นประโยชน์ในชีวิตจริงได้ เกี่ยวข้องกับชีวิต การแก้ไขปัญหาชีวิต และการลงมือทำจริงๆ ไม่ทรงสนับสนุนการพยายามเข้าถึงสัจธรรมด้วยวิธีครุ่นคิดและถกเถียงหาเหตุผลเกี่ยวกับปัญหาทางอภิปรัชญา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ การกำหนดความเป็นพุทธธรรม จึงพึงพิจารณาคุณค่าทางจริยธรรมประกอบด้วย ในกรณีการแปลความหมายแบบวิวัฒนาการชนิดหมุนเวียนไม่มีต้นปลายนั้น แม้จะพึงยอมรับได้ ก็ยังจัดว่ามีคุณค่าทางจริยธรรม (คือคุณค่าในทางปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ชีวิตจริง) น้อย หรืออย่างไม่มั่นใจเต็มที่ คือได้เพียงโลกทัศน์หรือชีวทัศน์อย่างกว้างๆ ว่า ความเป็นไปของโลกและชีวิตดำเนินไปตามกระแสแห่งเหตุผล ขึ้นต่อเหตุปัจจัยในกระบวนการของธรรมชาติเอง ไม่มีผู้สร้าง ผู้บันดาล และไม่เป็นไปลอยๆ โดยบังเอิญ ดังนั้น จึงเอื้อหรือน้อมไปในทางที่จะให้เกิดคุณค่าในทางปฏิบัติ ๓ ประการต่อไปนี้ คือ

        ๑. การมองเห็นตระหนักว่า ผลที่ต้องการ ไม่อาจให้สำเร็จเพียงด้วยความหวังความปรารถนา ด้วยการอ้อนวอนต่อพระผู้สร้างหรืออำนาจเหนือธรรมชาติใดๆ หรือด้วยการรอคอยโชคชะตาความบังเอิญ แต่ต้องสำเร็จด้วยการลงมือกระทำ คือ บุคคลจะต้องพึ่งตนด้วยการทำเหตุปัจจัยที่จะให้ผลสำเร็จที่ต้องการนั้นเกิดขึ้น
        ๒. การกระทำเหตุปัจจัยเพื่อให้ได้ผลที่ต้องการ จะเป็นไปได้ ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในกระบวนการของธรรมชาตินั้นอย่างถูกต้อง จึงถือปัญญาเป็นคุณธรรมสำคัญ คือ ต้องเกี่ยวข้องและจัดการกับสิ่งทั้งหลายด้วยปัญญา
        ๓. การรู้เข้าใจในกระบวนการของธรรมชาติ ว่าเป็นไปตามกระแสแห่งเหตุปัจจัย ย่อมช่วยลดหรือทำลายความหลงผิดที่เป็นเหตุให้เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายว่าเป็นตัวตนของตนลงได้ ทำให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องเป็นประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ โดยไม่กลับตกไปเป็นทาสของสิ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้องนั้นเสีย ยังคงเป็นอิสระอยู่ได้

โลกทัศน์และชีวทัศน์ที่กล่าวนี้ แม้จะถูกต้อง และมีคุณค่าตรงตามความมุ่งหมายของพุทธธรรมทุกประการ ก็ยังนับว่าหยาบ ไม่หนักแน่นและกระชั้นชิดพอที่จะให้มั่นใจเด็ดขาดว่าจะเกิดคุณค่าทั้ง ๓ ประการนั้น (โดยเฉพาะประการที่ ๓) อย่างครบถ้วนและแน่นอน 
เพื่อให้การแปลความหมายแบบนี้มีคุณค่าสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จะต้องพิจารณากระบวนการหมุนเวียนของธรรมชาติ ให้ชัดเจนถึงส่วนรายละเอียดยิ่งกว่านี้ คือ จะต้องเข้าใจรู้เท่าทันสภาวะของกระบวนการนี้ ไม่ว่า ณ จุด ใดก็ตามที่ปรากฏตัวให้พิจารณาเฉพาะหน้าในขณะนั้นๆ และมองเห็นกระแสความสืบต่อเนื่องอาศัยกันแห่งเหตุปัจจัยทั้งหลาย แม้ในช่วงสั้นๆ เช่นนั้นทุกช่วง เมื่อมองเห็นสภาวะแห่งสิ่งทั้งหลายต่อหน้าทุกขณะโดยชัดแจ้งเช่นนี้ คุณค่า ๓ ประการนั้น จึงจะเกิดขึ้นอย่างครบถ้วนแน่นอน และย่อมเป็นการครอบคลุมเอาความหมายแบบวิวัฒนาการช่วงยาวเข้าไว้ในตัวไปด้วยพร้อมกัน

ในการแปลความหมายแบบที่ ๑ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นความหมายอย่างหยาบหรืออย่างละเอียดก็ตาม จะเห็นว่า การพิจารณาเพ่งไปที่โลกภายนอก คือเป็นการมองออกไปข้างนอก ส่วนการแปลความหมายแบบที่ ๒ เน้นหนักทางด้านชีวิตภายใน สิ่งที่พิจารณาได้แก่กระบวนการสืบต่อแห่งชีวิต และความทุกข์ของบุคคล เป็นการมองเข้าไปข้างใน

การแปลความหมายแบบที่ ๒ นัยที่ ๑ เป็นแบบที่ยอมรับและนำไปอธิบายกันมากในคัมภีร์รุ่นอรรถกถา
ทั้งหลาย มีรายละเอียดพิสดาร และมีคำบัญญัติต่างๆ เพิ่มอีกมากมาย เพื่อแสดงกระบวนการให้เห็นเป็นระบบที่มีขั้นตอนแบบแผนชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ในเวลาเดียวกัน ก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกตายตัวจนกลายเป็นยึดถือแบบแผน ติดระบบขึ้นได้ พร้อมกับที่กลายเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนสำหรับผู้เริ่มศึกษา ในที่นี้จึงจะได้แยกไปอธิบายไว้ต่างหากอีกตอนหนึ่ง ส่วนความหมายตามนัยที่ ๒ ก็มีลักษณะสัมพันธ์กับนัยที่ ๑ ด้วย จึงจะนำไปอธิบายไว้ในลำดับต่อไป


วันศุกร์

๒. ตัวบทและแบบความสัมพันธ์ ในหลักปฏิจจสมุปบาท

พุทธพจน์ ที่เป็นตัวบทแสดงหลักปฏิจจสมุปบาทนั้น แยกได้เป็น ๒ ประเภท คือ ที่แสดงเป็นกลางๆ ไม่ระบุชื่อหัวข้อปัจจัย อย่างหนึ่ง กับที่แสดงเจาะจงระบุชื่อหัวข้อปัจจัยต่างๆ ซึ่งสืบทอดต่อกัน โดยลำดับเป็นกระบวนการ อย่างหนึ่ง อย่างแรก มักตรัสไว้นำหน้าอย่างหลัง เป็นทำนองหลักกลาง หรือหลักทั่วไป ส่วนอย่างหลัง พบได้มากมาย และส่วนมากตรัสไว้ล้วนๆ โดยไม่มีอย่างแรกอยู่ด้วย อย่างหลังนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นหลักแจงหัวข้อหรือขยายความ เพราะแสดงรายละเอียดให้เห็น หรือเป็นหลักประยุกต์ เพราะนำเอากระบวนการธรรมชาติมาแสดงให้เห็นความหมายตามหลักทั่วไปนั้น

อนึ่ง หลักทั้ง ๒ อย่างนั้น แต่ละอย่างแบ่งออกได้เป็น ๒ ท่อน คือ ท่อนแรกแสดงกระบวนการเกิด ท่อนหลังแสดงกระบวนการดับ เป็นการแสดงให้เห็นแบบความสัมพันธ์ ๒ นัย ท่อนแรกที่แสดงกระบวนการเกิด เรียกว่า สมุทยวาร และถือว่าเป็นการแสดงตามลำดับ จึงเรียกว่าอนุโลมปฏิจจสมุปบาท เทียบในอริยสัจเป็นข้อที่ ๒ คือ ทุกขสมุทัย ท่อนหลังที่แสดงกระบวนการดับ เรียกว่า นิโรธวาร และถือว่าเป็นการแสดงย้อนลำดับ จึงเรียกว่า ปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท เทียบในหลักอริยสัจเป็นข้อที่ ๓ คือ ทุกขนิโรธ

แสดงตัวบททั้ง ๒ อย่าง ดังนี้

🔅 ๑) หลักทั่วไป
ก. อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น

ข. อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี
อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชุฌติ เพราะสิ่งที่ดับไป สิ่งนี้ก็ดับ (ด้วย)

พิจารณาตามรูปพยัญชนะ หลักทั่วไปนี้ เข้ากับชื่อที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา (หลักทั่วไปนี้บางครั้งท่านขยายความโดยแสดงเพียงปัจจัยเดียว ก็มี เช่น ส.น.๑๖/๒๓๗/๑๑๗) เรียกว่า เองคปฏิจจสมุปบาท (ปฏิจจสมุปบาทแบบหัวข้อเดียว))

🔅 ๒) หลักแจงหัวข้อ หรือ หลักประยุกต์
ก. อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
สงฺขารปจฺจยา วิญญาณํ เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
วิญญาณปจฺจยา นามรูปํ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
ผสฺสปจฺจยา เวทนา เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เวทนาปจฺจยา ตณฺหา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
อุปาทานปจฺจยา ภโว เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
ภวปจฺจยา ชาติ เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
ชาติปจฺจยา ชรามรณํ เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี
...............................................................................................
โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ
ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ จึงมีพร้อม
เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีได้ ด้วยประการฉะนี้

ข. อวิชฺชาย เตฺวว อเลสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ
สงฺขารนิโรธา วิญฺญาณนิโรโธ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
วิญฺญาณนิโรธา นามรูปนิโรโธ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
นามรูปนิโรธา สฬายตนนิโรโธ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
สฬายตนนิโรธา ผสฺสนิโรโธ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
ผสฺสนิโรธา เวทนานิโรโธ เพราะผัสสะดับ เวทนางดับ
เวทนานิโรธา ตณฺหานิโรโธ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
ตณฺหานิโรธา อุปาทานนิโรโธ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
อุปาทานนิโรธา ภวนิโรโธ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
ภวนิโรธา ชาตินิโรโธ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
ชาตินิโรธา ชรามรณํ เพราะชาติดับ ชรามรณะ (จึงดับ)
...............................................................................................
โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา นิรุชฺฌนฺติ
ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส ความคับแค้นใจ ก็ดับ
เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส นิโรโธ โหติ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้

ขอให้สังเกตว่า คำสรุปปฏิจจสมุปบาทนี้ บ่งว่า เป็นกระบวนการเกิดขึ้นและดับไปแห่งความทุกข์ ข้อความเช่นนี้ เป็นคำสรุปส่วนมากของหลักปฏิจจสมุปบาทที่ปรากฏในที่ต่างๆ แต่บางแห่งสรุปว่า เป็นการเกิดขึ้นและสลายหรือดับไปของโลก ก็มี โดยใช้คำบาลีว่า “อยํ โข ภิกฺขเว โลกสฺส สมุทโย นี้แล ภิกษุทั้งหลาย คือความเกิดขึ้นแห่งโลก” “อยํ โข ภิกฺขเว โลกสฺส อตฺถงฺคโม นี้แล ภิกษุทั้งหลาย คือความดับสลายแห่งโลก หรือว่า “เอวมยํ โลโก สมุทยติ โลกนี้ย่อมเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้” “เอวมยํ โลโก นิรุชฌติ โลกนี้ย่อมดับไปด้วยอาการอย่างนี้

อย่างไรก็ดี ว่าโดยความหมายที่แท้จริงแล้ว คำสรุปทั้งสองอย่างนี้ ได้ความตรงกัน และเท่ากัน ปัญหาอยู่ที่ความหมายของศัพท์ ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจกันต่อไป อนึ่ง หลักปฏิจจสมุปบาทนี้ ในคัมภีร์ที่เป็นส่วนท้ายของพระไตรปิฎก เริ่มปรากฏคำเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “ปัจจยาการ” (แปลว่า อาการที่สิ่งทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่กัน) และต่อมา ในอรรถกถา ฎีกา นิยมใช้คำว่าปัจจยาการนั้นมากขึ้นจนปรากฏบ่อยครั้งกว่าคำว่าอิทัปปัจจยตา ในหลักที่แสดงเต็มรูปอย่างในที่นี้ องค์ประกอบทั้งหมดมีจำนวน ๑๒ หัวข้อ องค์ประกอบเหล่านี้ เป็นปัจจัยเนื่องอาศัยสืบต่อกันไปเป็นรูปวงเวียน ไม่มีต้น ไม่มีปลาย คือไม่มีตัวเหตุเริ่มแรกที่สุด (มูลการณ์ หรือ The First Cause) การยกเอาอวิชชาตั้งเป็นข้อที่หนึ่ง ไม่ได้หมายความว่า อวิชชาเป็นเหตุเบื้องแรก หรือเป็นมูลการณ์ของสิ่งทั้งหลาย แต่เป็นการตั้งหัวข้อเพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจ โดยตัดตอนยกเอาองค์ประกอบ อันใดอันหนึ่ง ที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุด ขึ้นมาตั้งเป็นลำดับที่ ๑ แล้วก็นับต่อไปตามลำดับ บางคราวท่านป้องกันมิให้มีการยึดเอาอวิชชาเป็นมูลการณ์ โดยแสดงความเกิดของอวิชชาว่า “อวิชชาเกิด เพราะอาสวะเกิด อวิชชาดับ เพราะอาสวะดับ อาสวสมุทยา อวิชชาสมุทโย อาสวนิโรธา อวิชชานิโรโธ

องค์ประกอบ ๑๒ ข้อของปฏิจจสมุปบาทนั้น นับตั้งแต่อวิชชา ถึง ชรามรณะเท่านั้น คือ อวิชชา ➔ สังขาร ➔ วิญญาณ ➔ นามรูป ➔ สฬายตนะ ➔ ผัสสะ ➔ เวทนา ➔ ตัณหา ➔ อุปาทาน ➔ ภพ ➔ ชาติ ➔ ชรามรณะ ส่วน โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส (ความคับแค้นใจ) เป็นเพียงตัวพลอยผสม เกิดแก่ผู้มีอาสวกิเลสเมื่อมีชรามรณะแล้ว เป็นตัวการหมักหมมอาสวะซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชาหมุนวงจรต่อไปอีก ในการแสดงปฏิจจสมุปบาทแบบประยุกต์ พระพุทธเจ้ามิได้ตรัสตามลำดับ และเต็มรูปอย่างนี้ คือ ชักต้นไปหาปลายเสมอไป การแสดงในลำดับและเต็มรูปเช่นนี้ มักตรัสในกรณีเป็นการแสดงตัวหลัก แต่ในทางปฏิบัติซึ่งเป็นการเริ่มต้นด้วยข้อปัญหา มักตรัสในรูปย้อนลำดับ คือ ชักปลายมาหาต้น เป็น ชรามรณะ ➔ ชาติ ➔ ภพ ➔ อุปาทาน ➔ ตัณหา ➔ เวทนา ➔ ผัสสะ ➔ สฬายตนะ ➔ นามรูป ➔ วิญญาณ ➔ สังขาร ➔ อวิชชา

ในทางปฏิบัติเช่นนี้ การแสดงอาจเริ่มต้นที่องค์ประกอบข้อหนึ่งข้อใดในระหว่างก็ได้ สุดแต่องค์ประกอบข้อไหนจะกลายเป็นปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา เช่น อาจจะเริ่มที่ชาติ ที่เวทนา ที่วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วเชื่อมโยงกันขึ้นมาตามลำดับจนถึงชรามรณะ (ชักกลางไปหาปลาย) หรือสืบสาวย้อนลำดับลงไปจนถึงอวิชชา (ชักกลางมาหาต้น) ก็ได้ หรืออาจเริ่มต้นด้วยเรื่องอื่นๆ ที่มิใช่ชื่อใดชื่อหนึ่งใน ๑๒ หัวข้อนี้ แล้วชักเข้ามาพิจารณาตามแนวปฏิจจสมุปบาทก็ได้ โดยนัยที่กล่าวมา การแสดงปฏิจจสมุปบาท จึงไม่จำเป็นต้องครบ ๑๒ หัวข้ออย่างข้างต้น และไม่ จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบที่ตายตัวเสมอไป

ข้อควรทราบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ความเป็นปัจจัยแก่กันขององค์ประกอบเหล่านี้ตรงกับคำว่า “เหตุ” ทีเดียว เช่น ปัจจัยให้ต้นไม้งอกขึ้น มิใช่หมายเพียงเมล็ดพืช แต่หมายถึง ดิน น้ำ ปุ๋ย อากาศ อุณหภูมิ เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยแต่ละอย่าง และการเป็นปัจจัยแก่กันนี้ เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่จำต้องเป็นไปตามลำดับก่อนหลังโดยกาละหรือเทศะ เช่น พื้นกระดาน เป็นปัจจัยแก่การตั้งอยู่ของโต๊ะ เป็นต้น

วันอังคาร

๑. ฐานะและความสำคัญ

ตอน ๓: ชีวิตเป็นไปอย่างไร?


ปฏิจจสมุปบาท การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันๆ จึงเกิดมี

🔅 ตัวกฎหรือตัวสภาวะ

๑. ฐานะและความสำคัญ
ปฏิจจสมุปบาท แปลพอให้ได้ความหมายในเบื้องต้นว่า การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายโดยอาศัยกัน การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันๆ จึงเกิดมีขึ้น หรือการที่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันมา ปฏิจจสมุปบาท เป็นหลักธรรมอีกหมวดหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในรูปของกฎธรรมชาติ หรือหลักความจริงที่มีอยู่โดยธรรมดา ไม่เกี่ยวกับการอุบัติของพระศาสดาทั้งหลาย พุทธพจน์แสดงปฏิจจสมุปบาทในรูปของกฎธรรมชาติว่าดังนี้ “ตถาคตทั้งหลาย จะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ธาตุ (หลัก) นั้น ก็ดำรงอยู่ เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยาม คือ อิทัปปัจจยตา* ตถาคตตรัสรู้ เข้าถึงหลักนั้นแล้ว จึงบอก แสดง วางเป็นแบบ ตั้งเป็นหลัก เปิดเผยแจกแจง ทำให้เข้าใจง่าย และจึงตรัสว่าจงดูสิ “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ฯลฯ “ภิกษุทั้งหลาย ตถตา (ภาวะที่เป็นอย่างนั้น) อวิตถตา (ภาวะที่ไม่คลาดจากการเป็นอย่างนั้น) อนัญญฤตา (ภาวะที่ไม่เป็นอย่างอื่น) คืออิทัปปัจจยตา ดังกล่าวมานี้แล เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ความสำคัญของปฏิจจสมุปบาท จะเห็นได้จากพุทธพจน์ว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้น เห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้น เห็นปฏิจจสมุปบาท ภิกษุทั้งหลาย แท้จริง อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น ฯลฯ เมื่อใด อริยสาวกรู้ทั่วถึงความเกิดและความดับของโลกตามที่มันเป็นอย่างนี้ อริยสาวกนี้เรียกว่าเป็นผู้มีทิฏฐิสมบูรณ์ ก็ได้ ผู้มีทัศนะสมบูรณ์ ก็ได้ ผู้ถึงสัทธรรมนี้ ก็ได้ ว่าผู้ประกอบด้วยเสขญาณ ก็ได้ ผู้ประกอบด้วยเสขวิชชา ก็ได้ ผู้บรรลุกระแสธรรมแล้ว ก็ได้พระอริยะผู้มีปัญญาชำแรกกิเลส ก็ได้ ผู้อยู่ชิดประตูอมตะ ก็ได้ “สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ชัดธรรมเหล่านี้ รู้ชัดเหตุเกิดแห่งธรรมเหล่านี้ รู้ชัดความดับแห่งธรรมเหล่านี้ รู้ชัดทางดำเนินถึงความดับแห่งธรรมเหล่านี้ ฯลฯ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นแล จึงควรแก่การยอมรับว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ และยอมรับได้ว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ และจึงได้ชื่อว่า ได้บรรลุประโยชน์ของความเป็นสมณะ และประโยชน์ของความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
 👉(อิทัปปัจจยตา เป็นชื่อหนึ่งของหลักปฏิจจสมุปบาท แปลตามตัวอักษรว่า การประชุมปัจจัยของสิ่งเหล่านี้ หรือ ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย ในคัมภีร์ชั้นรองลงมา บางทีเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ปัจจยาการ แปลว่า อาการที่เป็นปัจจัย (mode of conditionality))
อย่างไรก็ดี มีพุทธพจน์ตรัสเตือนไว้ ไม่ให้ประมาทหลักปฏิจจสมุปบาทนี้ว่า เป็นหลักเหตุผลที่เข้าใจง่ายเพราะเคยมีเรื่องที่พระอานนท์เข้าไปกราบทูลพระองค์ และได้ตรัสตอบ ดังนี้

พระอานนท์ : “น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาเลย พระเจ้าข้า หลักปฏิจจสมุปบาทนี้ ถึงจะเป็นธรรมลึกซึ้งและปรากฏเป็นของลึกซึ้ง ก็ยังปรากฏแก่ข้าพระองค์ เหมือนเป็นธรรมง่ายๆ"
พระพุทธองค์ : “อย่ากล่าวอย่างนั้น อย่ากล่าวอย่างนั้น อานนท์ ปฏิจจสมุปบาทนี้ เป็นธรรมลึกซึ้งและปรากฏเป็นของลึกซึ้ง เพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่แทงตลอดหลักธรรมข้อนี้แหละ หมู่สัตว์นี้จึงวุ่นวายเหมือนเส้นด้ายที่ขอดกันยุ่ง จึงขมวดเหมือนกลุ่มเส้นด้ายที่เป็นปม จึงเป็นเหมือนหญ้ามุงกระต่าย และหญ้าปล้อง จึงผ่านพ้น อบาย ทุคติ วินิบาต สังสารวัฏ ไปไม่ได้"

ผู้ศึกษาพุทธประวัติแล้ว คงจำพุทธดำริเมื่อครั้งหลังตรัสรู้ใหม่ๆ ก่อนเสด็จออกประกาศพระศาสนาได้ว่าครั้งนั้น พระพุทธเจ้าทรงน้อมพระทัยไปในทางที่จะไม่ทรงประกาศธรรม ดังความในพระไตรปิฎกว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราได้มีความดำริเกิดขึ้นว่า “ธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว เป็นของลึกซึ้งเห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบระงับ ประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรก ละเอียด บัณฑิต จึงจะรู้ได้” “ก็แหละ หมู่ประชานี้ เป็นผู้เริงรมย์อยู่ด้วยอาลัย* ยินดีอยู่ในอาลัย ระเริงอยู่ในอาลัย สำหรับหมู่ประชาผู้เริงรมย์ รื่นระเริงอยู่ในอาลัย (เช่นนี้) ฐานะอันนี้ย่อมเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าวคือ อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท” “แม้ฐานะอันนี้ ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าวคือ ความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสลัดอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะ นิโรธ นิพพาน” “ก็ถ้าเราพึงแสดงธรรม และคนอื่นไม่เข้าใจซึ้งต่อเรา ข้อนั้นก็จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา” 
👉(อาลัย คือ ความผูกพัน ความยึดติด สิ่งที่ติดเพลิน สภาพพัวพันอิงอาศัย ชีวิตที่ขึ้นต่อปัจจัยภายนอก)

พุทธดำริตอนนี้ กล่าวถึงหลักธรรม ๒ อย่าง คือ ปฏิจจสมุปบาท และนิพพาน เป็นการย้ำทั้งความยาก ของหลักธรรมข้อนี้ และความสำคัญของหลักธรรมนี้ ในฐานะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และจะทรงนำมาสั่งสอนแก่หมู่ประชา



วันจันทร์

เอาธรรมไปเป็นหลักประกันชีวิตและสังคมไว้ให้เจริญอย่างเดียวไม่มีเสื่อม

อีกประการหนึ่งที่ควรจะเป็นข้อคิด ก็คือ การที่เราจะเข้าถึงธรรมด้วยอาศัยคำสอนของพระองค์ ให้บรรลุสิ่งประเสริฐแห่งชีวิตของเรานี้ย่อมเป็นกิจส่วนตัวของแต่ละคน ซึ่งเราทุกคนมีหน้าที่สำหรับชีวิตของตนๆ เราควรจะต้องเข้าถึงสิ่งที่ดีงามที่ประเสริฐสุดของชีวิต คือการเข้าถึงธรรมอันจะทำให้ได้รับผลแห่งอมตะ อันเป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา แต่พร้อมกันนั้น อีกด้านหนึ่ง คือ ในด้านที่เกี่ยวกับสังคม หรือการดำรงอยู่ของหมู่มนุษย์ เราจะต้องรู้ตระหนักถึงความเป็นไปของสรรพสิ่งที่เป็นสังขาร ว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย มีความเปลี่ยนแปลงเป็นอนิจจัง แต่ทีนี้ อนิจจัง ที่เป็นความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตัวมนุษย์ และสังคมมนุษย์นั้น เรามีศัพท์เรียกพิเศษ

อธิบายว่า ที่จริง ความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นของกลางๆ แต่เมื่อมันเปลี่ยนแปลงไปในด้านหนึ่ง ก็ถูกใจมนุษย์ เมื่อเปลี่ยนแปลงไปอีกด้านหนึ่ง ก็ไม่ถูกใจมนุษย์ ทั้งที่ว่า ในแง่ของธรรมชาติ มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นกลางๆ ไม่เข้าใครออกใคร คือ ธรรมชาตินี้ไม่ได้ดีไม่ได้ร้ายเมื่อพูดในแง่ของกฎแห่งความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้นมันก็เป็นธรรมดาของธรรมชาติ ไม่ดีไม่ชั่ว แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นปรากฏแก่มนุษย์ในแง่ที่ว่า ความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเป็นที่ปรารถนา ความเปลี่ยนแปลงบางอย่างไม่เป็นที่ปรารถนา ความเปลี่ยนแปลงที่เราปรารถนา เราเรียกว่า “ความเจริญ" ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ปรารถนา เราเรียกว่า “ความเสื่อม" ความเปลี่ยนแปลง ที่เรียกว่าความเสื่อม หรือความเจริญนั้น เป็นเรื่องของมนุษย์ เกี่ยวพันกับความต้องการของมนุษย์ มนุษย์นี้เป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งที่สำคัญในการที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และมนุษย์ที่จะมาเป็นเหตุปัจจัยนี้ ถ้าเป็นผู้ที่มีสติปัญญา สามารถนำเอาความรู้ในความจริงของธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่พึงประสงค์สำหรับตนได้ และความเปลี่ยนแปลงในทางที่พึงประสงค์ ที่เกิดจากการทำเหตุปัจจัยให้ตรงกับผลอย่างนั้นได้นี้แหละ เรียกว่าความเจริญ

ฉะนั้น มนุษย์ที่มีสติปัญญา เมื่อเข้าถึงธรรมแล้ว จะได้ประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง คือ เขาสามารถที่จะใช้ความรู้ในการเข้าถึงเหตุปัจจัยนั้น มากระทำเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่พึงปรารถนา ที่เรียกว่า ความเจริญ พร้อมกันนั้น เขาก็สามารถรู้เข้าใจเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่าความเสื่อม แล้วด้วยความรู้นั้น เขาก็สามารถป้องกันแก้ไขกำจัดเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อม และสร้างเหตุปัจจัยแห่งความเจริญนั้นได้ 

คนที่มีปัญญา จึงสามารถทำให้สังคม รวมทั้งชีวิตของตน มีความสุขความเจริญดีงามขึ้นไปได้อันนี้เป็นจุดสำคัญอย่างหนึ่งในคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า เหตุปัจจัยที่เกี่ยวกับตัวมนุษย์ ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อมและความเจริญ มนุษย์มีส่วนเข้าไปจัดการได้ และอันนี้ก็เป็นผลส่วนหนึ่งของการมีปัญญาที่เข้าถึงธรรม แล้วนำความรู้ในธรรม โดยเฉพาะในเหตุปัจจัย มาใช้ให้เป็นประโยชน์ พระพุทธเจ้าตรัสถึงกับว่า ถ้าเรารู้จักปฏิบัติธรรมให้ถูกต้อง เราจะสามารถสร้างสรรค์สังคมและประเทศชาติของเราให้มีแต่ความเจริญ
ไม่มีความเสื่อมก็ได้ อย่างเช่นในหลักอปริหานิยธรรม พระองค์ได้ตรัสแสดง ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความไม่เสื่อม หรือธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม พระองค์ถึงกับตรัสเป็นหลักประกันว่า "ตราบใดที่พระภิกษุทั้งหลายยังประพฤติปฏิบัติตั้งอยู่ในอปริหานิยธรรม ก็พึงหวังได้แต่ความเจริญ ไม่มีเสื่อมเลย" แม้ในด้านชาวบ้าน รวมถึงทางฝ่ายบ้านเมือง ก็ตรัสไว้ก่อนแล้ว คือ แก่พวกกษัตริย์ลิจฉวี แคว้นวัชชี ที่เราผ่านมาแล้ว พระองค์ตรัสว่า "ถ้าหากกษัตริย์ลิจฉวี ชาวแคว้นวัชชี ยังตั้งอยู่ในอปริหานิยธรรม ๗ ประการ ที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้ ชาววัชชีก็จะมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อม ไม่มีใครจะสามารถมาทำลายได้" อันนี้ก็เป็นการนำธรรมมาใช้ประโยชน์อย่างหนึ่ง

ทรงแสดงหลักอปริหานิยธรรมแก่จ้าวลิจฉวี

เป็นอันว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องเกี่ยวกับธรรมดาของสังขาร และการเข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลายนี้ มีคติที่เป็นประโยชน์ต่อแต่ละชีวิตของแต่ละบุคคล คือสอนว่า เราจะมัวมาฝากความหวัง ฝากความสุขแห่งชีวิตของเรา ไว้กับสิ่งทั้งหลายที่เป็นสังขารภายนอกอันไม่เที่ยงแท้ ไม่เป็นสาระที่แท้จริงไม่ได้ เราควรจะเข้าถึงธรรมที่เป็นสาระเป็นแก่นสารที่แท้จริง ที่จะทำให้ชีวิตมีความประเสริฐ เลิศ มีความสุข ไร้ทุกข์ เข้าถึงความเป็นอิสระได้ พร้อมกันนั้น ในทางสังคม ก็สามารถน้อมนำเอาความรู้ในธรรมที่หยั่งถึงเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลายนี้ไปใช้ประโยชน์ ในการที่จะสร้างสรรค์สังคม ทำให้สังคมมีความเจริญงอกงาม ด้วยการตั้งอยู่ในธรรม ที่เป็นหลักสำคัญ คือ ความไม่ประมาท

สาระสำคัญในวันนี้ก็คือ การโยงจากภาพที่เราพบเห็น ไปหาคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งถ้าเราเข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้อง ก็จะได้รับประโยชน์เป็นอันมาก จุดที่จะต้องก็มีสองส่วนอย่างที่กล่าวมา ส่วนหนึ่งเกี่ยวกับชีวิตของแต่ละคน ที่จะให้เข้าถึงสิ่งที่ดีงาม ที่ประเสริฐ แล้วก็มาช่วยกันสร้างสรรค์สังคม ให้หมู่มนุษย์มีความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป อย่างที่พระองค์ทรงรับรองยืนยันไว้แล้วว่า ถ้าเราเข้าใจเหตุ ปัจจัยแห่งความเสื่อมและความเจริญแล้วปฏิบัติตามนั้น โดยไม่มัวแต่ทอดทิ้งสติ ไม่มัวแต่ปล่อยปละละเลยลุ่มหลงมัวเมาเสีย เราก็สามารถจะทำให้มีแต่ความเจริญ ไม่มีเสื่อมก็ได้ นี่ก็คือการใช้ธรรมให้เป็นประโยชน์นั่นเอง และทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้สําเร็จ ต้องอาศัยปัญญา ซึ่งจะพัฒนาขึ้นมา และงอกงามสมบูรณ์บนฐานแห่งศรัทธาที่เป็นไปอย่างเหมาะสมถูกทาง วันนี้เราได้มา ณ ที่นี่แล้ว (พระมูลคันธกุฎี) โดยศรัทธาเป็นตัวนำเรามา แล้วก็ได้มานมัสการสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยประทับ เมื่อศรัทธาได้ทําหน้าที่ของมันอย่างดีเช่นนี้แล้ว ก็ขอให้ศรัทธานั้นยังประโยชน์ให้สมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไป โดยมาเชื่อมต่อเข้ากับปัญญาที่จะเข้าถึงธรรม ดังที่กล่าวมา แล้วคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสแก่พระ วักกลิ ก็จะเกิดผลต่อตัวเราด้วย

อย่างที่กล่าวแล้วว่า อย่ามัวแต่หลงอยู่แค่รูปกายของพระองค์เท่านั้น ผู้ใดถึงแม้แต่เกาะชายสังฆาฏิของพระองค์ ตามพระองค์ไปตลอดเวลาทุกย่างพระบาท ก็ไม่ชื่อว่าเห็นพระองค์ การที่จะเห็นองค์พระพุทธเจ้าก็คือ ต้องเห็นธรรม การจะเห็นธรรมได้ ก็ต้องอาศัยพระพุทธองค์นั่นแหละ เพราะพระวรกายของพระพุทธเจ้าที่เสด็จเคลื่อนไหวไปในที่ต่างๆ นั้น ก็นำเอาธรรมไปด้วย และเอาไปประกาศ เมื่อเราเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เป็นโอกาสให้ได้ฟังธรรมของพระองค์ จากการฟังธรรมของพระองค์ เราก็สามารถเข้าถึงธรรม เมื่อเราเข้าถึงธรรมนั่นก็คือ ศรัทธานำไปสู่ปัญญาทำให้เกิดผลงอกงามอย่างที่กล่าวมา จึงขออนุโมทนาโยมญาติมิตรทุกท่าน ที่ได้เดินทางมาด้วยศรัทธา ขอให้ทุกท่านมีปีติ มีความอิ่มใจว่า ถึงแม้ว่าเราจะทุกข์ยากลำบากแค่ไหนก็ตามในการเดินทางมาถึงที่นี่ เราได้สละเวลา สละเรี่ยวแรง และกำลังกาย และ สละกำลังทรัพย์ มาจนถึงจุดหมายแห่งนี้แล้ว อันเป็นจุดสุดยอดแห่งหนึ่ง การเดินทางของเรา เราได้บรรลุวัตถุประสงค์แล้ว

พระธรรมปิฎก (สมณะศักดิ์ในขณะนั้น) ณ. คันธกุฎี ปี ๒๕๓๘

ขอให้ทุกท่านเกิดความสมใจปรารถนา มีปีติ อิ่มใจ ดังที่กล่าวมาแล้ว ปีตินี้จะเป็นเครื่องบำรุงใจให้มีกำลังและเข้มแข็งมั่นคง แท้จริง คนที่มีความปีติอิ่มใจนี้ สามารถอดอาหารได้นานๆ เพราะว่ามีปีติเป็นภักษา ปีติเป็นความอิ่มชนิดหนึ่ง คนเรารับประทานอาหาร ก็ได้ความอิ่ม แต่เป็นความอิ่มกาย เมื่ออิ่มกายแล้วก็ดำรงรักษาร่างกายไว้ได้ แม้ความอิ่มใจก็เหมือนกัน ความอิ่มใจก็หล่อเลี้ยงชีวิตของเรา ทำให้อยู่ได้นานๆ โดยมีปีติเป็นภักษา เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจ ความอิ่มใจนี้มีผลดียิ่งกว่าอาหารที่ทำให้มีความอิ่มกายเสียอีก ถึงแม้อิ่มกาย แต่ถ้าใจไม่สบาย หน้าตาไม่สดชื่นผ่องใส ทั้งๆ ที่มีอาหารกินดี แต่หน้าตาก็ไม่อิ่มเอิบ ไม่ผ่องใส แต่ถ้าอิ่มใจ ก็จะทำให้หน้าตายิ้มย่องผ่องใส มีความสุขที่แท้จริงได้ ถ้าโยมถือว่า ปีตินั้นเป็นส่วนของใจ เราต้องมีความอิ่มทางกายด้วย ก็ขอให้ความอิ่มใจมาเป็นส่วนเติมเต็ม ให้ความอิ่มกายนี้ได้ผลสมบูรณ์ เป็นชีวิตที่สมบูรณ์ทั้งกายและใจ จึงขอให้โยมทำใจให้เกิดปีติ เพื่อเป็นการปรุงแต่งในทางที่เป็นกุศล เรียกว่าบุญญาภิสังขาร อย่าไปปรุงแต่งให้เป็นบาปเป็นอกุศล การมาถึงนี้ ทำให้มีโอกาสปรุงแต่งใจด้วยบุญญาภิสังขาร ทำใจให้เป็นบุญกุศล แล้วบุญกุศลนั้น ก็จะปรุงแต่งให้ชีวิตของเรามีความเจริญก้าวหน้าพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไปในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และประสบความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

ขออนุโมทนาโยมผู้ศรัทธาอีกครั้งหนึ่ง ขอเอากำลังใจมาร่วมอวยพรโดยอ้างคุณพระรัตนตรัย โดยเฉพาะเมื่อมาถึงสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยประทับ ณ ที่นี้แล้ว ก็ขออ้างพุทธานุภาพ เป็นเครื่องอำนวยพรแด่โยมญาติมิตรทุกท่าน จงเจริญด้วยปีติสุขทั่วกัน ทุกเมื่อ เทอญ

วันศุกร์

ธรรม เป็นอิสระจากคน คนถึงธรรม เป็นอิสระจากสังขาร

ธรรมอย่างหนึ่งที่พระองค์ตรัสไว้ ที่พึงระลึกในเวลานี้ ก็คือ ธรรมในแง่ความจริงของสิ่งทั้งหลาย โดยเฉพาะความไม่เที่ยง คือภาวะที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป การที่เรามา ณ สถานที่นี้ มองในแง่หนึ่งก็เป็นเครื่องเตือนใจของเราให้ระลึกถึงความจริงข้อนี้ จะเห็นว่าสถานที่นี้ ซึ่งเคยเป็นที่ประทับขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น บัดนี้เหลือแต่ซากเพียงนิดเดียวเท่านั้น และแม้แต่ซากเท่าที่มองเห็นเหล่านี้ ก็ยังต้องอาศัยการขุดการแต่งจึงปรากฏได้ เพราะผ่านกาลเวลายาวนานตั้ง ๒,๕๐๐ กว่าปีแล้ว สถานที่นี้ก็ทรุดโทรมแตกหักปรักพังไป ความเป็นอนิจจังก็เข้ามาครอบงำสิ่งที่เป็นสังขารทั้งหลาย ไม่เฉพาะแต่พระคันธกุฎีเท่านั้น พระพุทธเจ้าเองก็ทรงล่วงลับดับขันธปรินิพพานไปแล้ว

มองกว้างออกไป ที่ตั้งของพระคันธกุฎีนี้ คือเมืองราชคฤห์ทั้งหมด ที่เคยเป็นเมืองหลวง เป็นราชธานีของมหาอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ คือแคว้นมคธ เคยเต็มไปด้วยผู้คนประชาชนพลเมืองมากมาย บัดนี้ก็ไม่มีอะไรเหลือเป็นร่องรอย ราชคฤห์ได้กลายเป็นที่รกร้าง ถิ่นห่างไกล อยู่ในชนบท เป็นบ้านนอกไป นี้คือความเปลี่ยนแปลงซึ่งเราจะเห็นได้ในเรื่องของความเสื่อมและความเจริญของสังคม ของประเทศชาติ ตลอดจนอารยธรรมทั้งหลาย ดังที่สังคมอินเดียที่เป็นชมพูทวีปได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ประเทศอินเดีย เคยเป็นดินแดนแห่งอารยธรรม มีความเจริญก้าวหน้า เป็นศูนย์กลางทางความคิด สติปัญญา และวิทยาการต่างๆ มากมาย แต่บัดนี้ อินเดียก็เสื่อมลงไป อารยธรรมก็จบสิ้นสลายลงไปเป็นยุคๆ จนกล่าวได้ว่า อินเดียที่เคยเป็นอู่เป็นแหล่งที่เกิดและที่ดำรงอยู่ของอารยธรรม ต่อมาก็ได้กลายเป็นสุสานของอารยธรรม เวลานี้อินเดียกลายเป็นตู้โชว์ของอดีต คือไม่มีอะไรที่ดีงามยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน มีแต่เรื่องของความรุ่งเรืองในอดีต เวลาเรามาอินเดีย ก็มาชมสิ่งที่เป็นหลักฐานแสดงความเจริญในอดีตเท่านั้น ส่วนในปัจจุบันนี้ เราจะได้เห็นแต่สภาพที่น่าสลดหดหู่ใจ ถ้าเราทำใจไม่ถูก ก็จะมีแต่ความหดหูเศร้าหมองขุ่นมัว หรือบางทีก็รำคาญหงุดหงิดด้วย จึงต้องเตือนกันอยู่เสมอว่า ถ้ามาอินเดียแล้วต้องทำใจให้ถูก อันนี้จึงเป็นคติเตือนใจ ให้มองเห็นความหมายหลายอย่าง นอกจากให้คติในอนิจจังความไม่เที่ยงของสังขารทั้งหลายแล้ว ยังทำให้เรามองตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ถึงเรื่องความเป็นไปตามเหตุปัจจัย และได้ความรู้จากการศึกษาสังคมของคนอินเดียด้วย

ในสมัยพุทธกาล พระพุทธศาสนาเคยเจริญ ผู้คนก็มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ต่อมา ถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระพุทธศาสนาเจริญยิ่งขึ้น แผ่ไพศาล ประชาชนก็มีความเจริญทั้งด้านวัตถุและจิตใจ ครั้นมาถึงบัดนี้ ประเทศอินเดียเป็นอย่างไร สภาพที่เราเห็นมีแต่ความยากจนข้นแค้น สกปรกรกรุงรัง ญาติโยมหลายคนอาจมีความไม่สบายใจ ถ้าเราไม่ได้ทำใจตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็จะสงสัยข้องใจว่ามันเป็นอย่างนี้ไปได้อย่างไร อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความเสื่อมความเจริญ เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะน้อมนำมาพิจารณาให้เกิดประโยชน์ เป็นเรื่องทางสติปัญญาทั้งสิ้น ดูอย่างง่ายๆ ว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดมีขึ้นมาอันเกี่ยวข้องกับสถานที่นี้ จะเป็นพระมูลคันธกุฎีบนเขาคิชฌกูฏนี้ก็ดี หรือกว้างออกไปข้างล่าง คือเมืองราชคฤห์ ตลอดจนดินแดนที่เราผ่านมา คือมหาอาณาจักรมคธ ทั้งหมด ที่เป็นชมพูทวีป มีเมืองปาตลีบุตรของพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเจริญรุ่งเรืองยิ่งกว่าที่เมืองราชคฤห์นี้ เพราะในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น ชมพูทวีปแห่งแคว้นมคธนี้แผ่ไพศาล จนได้กล่าวแล้วว่าใหญ่กว่าประเทศอินเดียในปัจจุบัน หรือในยุคใดๆ ก็ตามของชมพูทวีป

ปัจจุบันนี้ ไม่ว่าเมืองราชคฤห์ หรือปาตลีบุตร หรือปัตนะ ก็มีแต่ความเสื่อมโทรมทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่แสดงถึงความเจริญ ถ้าไม่มีประวัติศาสตร์ ไม่มีนักค้นคว้า ไม่มีนักโบราณคดี มาเล่าขานบรรยายแสดงหลักฐาน คนก็ไม่รู้ว่าเมืองราชคฤห์อยู่ที่ไหน ปาตลีบุตรอยู่ที่ไหน สิ่งเหล่านี้สูญหาย ปรักหักพัง ทลายไป หายไป พร้อมกับกาลเวลา แม้แต่มหาอาณาจักรต่างๆ ก็หมดไปได้ พระพุทธเจ้าทรงเตือนเรา สอนเราไว้แต่พุทธกาล ดังที่จารึกในพระไตรปิฎก ตรัสเล่าเรื่องราวของอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในอดีต บางพระสูตรก็ตรัสถึงเมืองใหญ่ๆ เช่นในมหาสุทัสสนสูตร พระองค์ได้ตรัสแสดงเรื่องของเมืองกุสาวดี อันยิ่งใหญ่ในอดีต ตรัสพรรณนาถึงความรุ่งเรื่องงดงามความใหญ่โตของสิ่งก่อสร้างในพระราชวังต่างๆ แล้วท้ายที่สุดพระองค์ก็ตรัสว่า บัดนี้ สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดได้สูญสลายสิ้นไปกับกาลเวลาแล้ว นี่แหละคือความเป็นอนิจจัง

บางแห่งก็ตรัสถึงความเป็นไปในพระชนมชีพของพระองค์เองว่า พระองค์ได้ตรัสรู้เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระมหาสาวกและพระสาวกมากมายแวดล้อมเป็นบริวาร พระวรกายของพระองค์ก็สง่างาม มีฉัพพรรณรังสีเป็นที่ชื่นชม เสด็จไปทรงบำเพ็ญพุทธกิจในที่ต่างๆ ปรากฏเป็นเหตุการณ์อันตื่นตาตื่นใจมากมาย พระองค์ตรัสถึงความรุ่งเรืองและความสำเร็จในพระชนมชีพของพระองค์ แล้วลงท้ายก็ตรัสว่า ในที่สุดพระองค์ก็ต้องจากไป สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสังขาร มีความไม่เที่ยง จะต้องสูญสิ้น หรือแตกดับไปเป็นธรรมดา ทั้งหมดนั้นคือการที่พระองค์ตรัสเตือนเราให้น้อมรำลึกถึงธรรม ฉะนั้น เมื่อเราได้มายังสถานที่ที่เกี่ยวกับพระพุทธองค์อย่างนี้ อันเป็นความจริงของสิ่งทั้งหลายแล้ว ในแง่หนึ่งก็ให้มีความเจริญศรัทธาว่า เราได้มาเฝ้าถึงที่ประทับของพระองค์แล้ว ด้วยความเลื่อมใสที่มีต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พร้อมกันนั้น ศรัทธาของชาวพุทธก็ไม่ทันอยู่แค่นั้น แต่จะนำไปสู่ปัญญาขั้นที่หนึ่ง คือทำให้ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสแสดงไว้ แล้วนำมาประพฤติปฏิบัติ เมื่อเราต้องการแสดงศรัทธาด้วยการบูชาพระพุทธเจ้า และนำเอาดอกไม้ธูปเทียนมากราบไหว้ พระองค์ก็ตรัสเตือนว่า การบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนที่เป็นอามิสบูชานี้ ยังไม่ใช่เป็นการบูชาที่มีผลมากอย่างแท้จริง ถ้าจะบูชาให้ได้ผลอย่างแท้จริง ก็ต้องบูชาด้วยการปฏิบัติ คือนำเอาธรรมของพระองค์มาใช้ประโยชน์ ให้เกิดผลในชีวิตของเราอย่างแท้จริง
ฉะนั้น ปฏิบัติบูชา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมบูชา คือ การบูชาด้วยธรรม ซึ่งตรงกับการปฏิบัติธรรมนั่นเอง ถ้าเราทำได้สำเร็จ ก็จะทำให้การมานมัสการสถานที่สำคัญ มีสังเวชนียสถาน เป็นต้น เกิดผลเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง นอกจากนั้น ก็น้อมนำจิตใจ มาระลึกนึกถึงธรรมในความหมายอย่างที่กล่าวเมื่อกี้ คือการระลึกถึงความจริงของสังขารทั้งหลายที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วจะได้ไม่ฝากชีวิตเอาไว้กับของที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอนเหล่านั้น สิ่งเหล่านี้ล่วงลับไป แตกดับไป ก็เห็นๆ กันอยู่ มองลงมาตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ปรินิพพานสิ้นไป มหาสาวกทั้งหลาย ๘๐ องค์ หรือพระสาวกกี่องค์ก็ตาม ก็ปรินิพพานหมด อาณาจักรมคธในสมัยราชคฤห์ก็สลายไป อาณาจักรมคธในสมัยปาตลีบุตรก็สลายไป สังคมจะสลายไป ผู้คนจะหมดไป แต่ภูเขายังอยู่ ดินยังอยู่ ฟ้ายังอยู่ แต่ อ้อ! ยังมีสิ่งที่คงอยู่ นั่นดูสิ แม้อาณาจักรเหล่านี้จะสิ้นไปที่เห็นอยู่คือสิ่งเหล่านี้ ดิน น้ำ ลม ไฟ ภูเขา ทะเล ยังมี ในทะเลก็ยังคลื่นซัดฝั่งอยู่ตลอดเวลา แม้อาณาจักรทั้งหลายจะผ่านพ้นล่มสลายลงไป สิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์จะหมดสิ้นไป แต่ธรรมชาติก็ยังทำหน้าที่ของมันต่อไป เราไปยืนอยู่ริมฝั่งทะเล จะเห็นคลื่นซัดฝั่ง ทำหน้าที่ของมันตลอดเวลา สองพันปี สามพันปี มันเคยทำอย่างไร มันก็ทำของมันอยู่อย่างนั้น กาลเวลาผ่านไป มนุษย์ล่วงลับไป อาณาจักรล่มสลายไป อารยธรรมต่างๆ สูญสิ้นไป คลื่นทะเลก็ยังซัดฝั่งอยู่ตามเดิม เหมือนดังว่าธรรมชาตินี่แหละยืนยงคงอยู่แท้จริง แต่มองไปอีกทีหนึ่ง แม้แต่ธรรมชาติเหล่านี้ก็มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อย่างเช่น ภูเขา ดิน น้ำ ลม ไฟ มันก็ไม่ได้คงสภาพอยู่ ภูเขาก็เปลี่ยนแปลงไป แต่อาศัยกาลเวลายาวนาน ดังจะเห็นได้ง่าย ตามทางที่เราจะเดินทางต่อไปอีก ยังสถานที่อีกมากมายในไม่ช้า เช่น สถานที่ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ที่แม่น้ำเนรัญชรา เมื่อไปเห็นที่นั่น เราก็จะได้คติธรรมที่ยิ่งชัดขึ้นมาว่า ที่นั่น ณ ริมฝั่งแม่น้ำที่พระพุทธเจ้าเคยประทับ แน่นอน ตัวสถานที่และบริเวณพร้อมทั้งสิ่งแวดล้อมย่อมเปลี่ยนไป แต่คงจะมีดิน มีน้ำ มีแม่น้ำอยู่ตรงนั้น กล่าวคือแม่น้ำเนรัญชรา

อย่างไรก็ตาม หาเป็นเช่นนั้นไม่ แม่น้ำเนรัญชราปัจจุบัน ก็ไม่เหมือนอย่างเก่า บัดนี้ มันไม่เป็นแม่น้ำแล้ว แต่เป็นแม่ทราย คือ น้ำไม่เหลืออยู่ในสภาพที่จะให้เราได้เห็น เราจะเห็นแต่ทราย เมื่อเดินลงไป เราสามารถเดินข้ามแม่น้ำได้ เพราะมีแต่ทรายทั้งนั้น นั่นคือความเปลี่ยนแปลงของสังขาร แม้แต่ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็เปลี่ยนแปรสภาพของมันไปในรูปต่างๆ ฉะนั้น ไม่ว่าจะมองอะไร ก็เป็นอนิจจังทั้งสิ้น มีแต่ความเปลี่ยนแปลงไป คติเหล่านี้ก็มาสอนใจของเราว่า อย่าเอาชีวิต และความสุขของเราไปฝากไว้กับสิ่งเหล่านั้น ซึ่งเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา เราต้องเร่งสร้างความดีงาม สิ่งที่ประเสริฐให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตของเราด้วยการปฏิบัติธรรม ธรรมเท่านั้นที่จะทำให้เราเข้าถึงสิ่งที่ดีงามมีชีวิตที่ประเสริฐ ถ้ามัวแต่เอาชีวิตของเราไปฝากไว้กับสิ่งภายนอก เช่นทรัพย์สิน เงินทอง ก็จะไม่ได้สาระที่แท้จริง เพราะสิ่งเหล่านี้จะล่วงลับดับสลายไปสิ้น ทำอย่างไรเราจึงจะประสบสาระที่แท้จริงได้ ธรรมคือความจริงเท่านั้นที่จะทำให้เราเข้าถึงสาระ อันนี้พระพุทธองค์ก็ทรงนำไว้เป็นแบบอย่างแล้ว โดยที่พระองค์ได้
ทรงเข้าถึงธรรม คือความจริง ที่ทำให้พระองค์ซึ่งเป็นมนุษย์ผู้หนึ่งเปลี่ยนเป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงสั่งสอน ตรัสเตือนเราอยู่เสมอ ตามคติในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่เราสวดกันอยู่ แม้แต่ญาติโยมก็ได้ยินพระสงฆ์สวดอยู่บ่อยๆ เมื่อไปในงานพิธีที่วัดดังข้อความในพระสูตรหนึ่งที่ตรัสว่า อุปปาทา วา ภิกฺขเวตถาคตานํ เป็นต้น (องตก. ๒๐/๕๗๖) ซึ่งมีใจความว่า พระตถาคตหรือพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ความจริงที่เป็นภาวะตามธรรมดา ก็คงอยู่ของมันอย่างนั้น พระพุทธเจ้าทรงค้นพบความจริง คือหลักที่เป็นธรรมนิยามนั้น แล้วก็ทรงนำมาแสดง ชี้แจง ทำให้เข้าใจได้ง่าย อันนี้แหละ คือตัวความจริง ที่พระพุทธเจ้าทรงเพียรพยายามบำเพ็ญพุทธกิจ สั่งสอนเรา เพื่อให้เราเข้าใจ และเข้าถึง ไม่ใช่จะอยู่แค่ติดตามไปดูเห็นใกล้ชิดพระองค์เท่านั้น การที่มีพระพุทธเจ้านั้น ความมุ่งหมายและประโยชน์ของพระองค์ที่แท้ก็คือ การที่พระองค์เป็นผู้ที่จะนำเราในการพัฒนาตนให้เข้าถึงความจริงนั้น 

ธรรม คือความจริงนั้นก็มีอยู่ เป็นอยู่ ปรากฏอยู่ตลอดเวลาตามธรรมดาของมัน แต่เราไม่มีดวงตาปัญญาที่จะมองเห็น พระองค์ทรงใช้ปัญญามาค้นพบธรรม และนำธรรมนั้นมาแสดง เราได้ฟังคำสอนของพระองค์ และมองตามที่พระองค์ทรงชี้บอกเปิดเผยให้ แล้วเราก็สามารถเข้าถึงความจริงนั้นได้ เมื่อเข้าถึงความจริงแล้ว เราก็เห็นธรรมอันเดียวกับที่พระพุทธเจ้าทรงเห็นนั่นเอง เมื่อเห็นธรรมและเข้าถึงธรรมที่พระองค์เห็นแล้ว เราก็จะมีชีวิตที่ดีงาม ประเสริฐ เข้าถึงสิ่งที่สูงสุดเช่นเดียวกับพระองค์แล้วเราก็จะมีความสุขเป็นอิสระแท้จริง พระพุทธเจ้าทรงมีหลักการสำคัญว่า ไม่ต้องการให้สาวกหรือผู้ใดมาติดยึดขึ้นต่อพระองค์ ความสัมพันธ์กับพระองค์มีเพียงแค่ว่า อาศัยพระองค์เป็นสื่อที่ช่วยชักนำไปสู่สิ่งดีงาม คือเข้าถึงธรรมนั่นเอง พระพุทธเจ้าทรงย้ำนัก ในเรื่องความสัมพันธ์ของเราที่มีต่อพระองค์ เริ่มต้นด้วยศรัทธา เมื่อเรามีศรัทธาในพระพุทธองค์ ก็ทำให้เราเข้ามาหาและฟังคำสอนของพระองค์ จากการฟังคำสอนของพระองค์ ก็ทำให้เราพัฒนาปัญญาขึ้นมาเพื่อเข้าถึงความจริงตามที่พระองค์ทรงเข้าถึงมาแล้ว ด้วยปัญญาของเราเอง เช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงเข้าถึงแล้ว เพราะฉะนั้น ศรัทธาจึงนำไปสู่ปัญญา และการพึ่งพาอาศัยก็เพื่อนำไปสู่อิสรภาพ นี้คือประโยชน์ที่แท้จริงของการนับถือพระพุทธศาสนา ฉะนั้น เมื่อเราได้เดินทางมาถึงสถานที่นี้ และได้เจริญศรัทธาจึงเป็นประโยชน์มาก เมื่อศรัทธามีกำลังแรงกล้าขึ้น ก็จะทำให้เรามีกำลังใจเข้มแข็งในการที่จะเล่าเรียนศึกษาประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทำให้การปฏิบัติของเราหนักแน่นจริงจัง

วันพฤหัสบดี

ศรัทธาและปัญญา นำเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

บัดนี้เรามาถึงเมืองนี้ซึ่งมีความสำคัญดังได้กล่าวแล้ว และได้มาประชุมกันที่พระมูลคันธกุฎี บนยอดเขาคิชฌกูฏแห่งนี้ที่เป็นศูนย์กลางของการบำเพ็ญพุทธกิจ และศาสนกิจทั้งหมดในการประดิษฐานพระพุทธศาสนา ฉะนั้น เมื่อเรามาถึงที่นี่แล้ว จึงควรจะได้มีความปลาบปลื้มใจและอิ่มใจว่า เราได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับของพระองค์ พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสประทานพระโอวาทไว้ว่า แม้พระรูปกายของพระองค์จะล่วงลับไป แต่พระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงแสดงไว้ก็ยังคงอยู่ คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น มีทั้งในขั้นของศรัทธา และปัญญา ด้วยศรัทธานั้นในแง่หนึ่งเราก็อยากจะมาเฝ้านมัสการพระพุทธเจ้า ด้วยการไปดู ไปรู้ ไปเห็น ไปเยือนสถานที่สำคัญที่เกี่ยวกับพระองค์ เราเรียกสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จประทับว่าเป็นเจดีย์ชนิดหนึ่ง


เจดีย์ คือสิ่งที่เตือนใจให้เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า เจดีย์นั้นมีหลายอย่าง และอย่างหนึ่งก็คือ บริโภคเจดีย์ ซึ่งแปลว่า เจดีย์คือ สถานที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย พระคันธกุฎี เป็นสถานที่ที่พระองค์เคยประทับ เป็นเสนาสนะที่พระองค์เคยใช้สอย จึงจัดเป็นปริโภคเจดีย์หรือบริโภคเจดีย์ชนิดหนึ่งด้วย เรามานมัสการพระองค์ที่นี่ คือมานมัสการบริโภคเจดีย์ แต่ที่สำคัญก็คือ เป็นที่ที่พระองค์เคยประทับอยู่จริง เมื่อมาถึงมาดูมาเห็นมากราบไหว้ด้วยตัวเองอย่างนี้แล้ว จิตใจของเราก็เกิดความรู้สึกปลาบปลื้มดื่มด่ำขึ้นมาว่า เราในฐานะที่เป็นชาวพุทธ แม้จะห่างจากพระพุทธองค์โดยกาลเวลาถึง ๒,๕๐๐ กว่าปี และห่างโดยสถานที่ คือเป็นผู้ที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งห่างไกลจากประเทศอินเดียหรือชมพูทวีป แม้จะมีความห่างไกลทั้งสองประการนั้น แต่บัดนี้ เราได้นำตัวเข้ามาใกล้พระองค์ มาอยู่หน้าที่ประทับแล้ว เมื่อน้อมใจรำลึกถึงพระ
องค์ เราก็มีความรู้สึกปลาบปลื้มใจ ดังที่ได้กล่าวมา เป็นเครื่องเจริญศรัทธา และศรัทธาก็จะน้อมนำจิตใจของเราให้เจริญงอกงามในธรรม แต่ศรัทธาจะเกิดผลดังกล่าวได้ จะต้องสัมพันธ์กับปัญญา ศรัทธาในพระพุทธศาสนา ท่านให้เกื้อกูลต่อปัญญา เริ่มแรกก็ประกอบด้วยปัญญา และจะต้องนำไปสู่ปัญญาเสมอ

ศรัทธาของเรานำไปสู่ปัญญาเบื้องต้น โดยเป็นเครื่องเตือนใจเราให้ระลึกถึงคำสอนของพระองค์ เมื่อเราระลึกถึงพระพุทธเจ้าด้วยศรัทธา ใจเราก็จะน้อมไปถึงคำสอนของพระองค์ จะไม่ติดอยู่แค่พระรูปกายของพระองค์เท่านั้น เราจะนึกไปถึงว่า อ้อ! พระองค์ทรงสอนเราไว้ให้เราประพฤติปฏิบัติดีงามอย่างนี้ๆ เมื่อเราระลึกถึงพระองค์แล้ว ก็มาระลึกถึงคำสอนของพระองค์ ทำให้มีผลในทางปฏิบัติ เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเรา ยิ่งกว่านั้น เมื่อเราปฏิบัติ นอกจากมีผลต่อชีวิตของเราเองแล้ว ก็ยังมีผลต่อสังคม ต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อโลก เมื่อทุกคนประพฤติดีปฏิบัติชอบตามคำสั่งสอนของพระองค์ ก็จะทำให้โลกนี้มีสันติสุขสืบต่อไป

โดยนัยนี้ ศรัทธาจึงต้องนำไปสู่ปัญญา เรื่องนี้ พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสเตือนอยู่เสมอ อย่างเช่นพระสาวกองค์หนึ่งในสมัยพุทธกาล เมื่อบวชแล้วก็มีความหลงใหลในพระรูปกายของพระพุทธเจ้า คือติดใจในพระรูปโฉมของพระพุทธเจ้ามาก แม้มาบวชก็บวชด้วยความรู้สึกอย่างนั้น คืออยากอยู่ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า จะได้เข้าเฝ้าคอยติดตามพระองค์ได้เรื่อยไป ท่านผู้นั้นคือ พระวักกลิ เมื่อบวชแล้วก็คอยติดตามพระองค์ไปโน่นไปนี่ตลอดเวลา พระพุทธองค์ทรงมองเห็นความเป็นไปหรือพฤติกรรมเหล่านี้ของพระวักกลิอยู่เสมอ ทรงปรารถนาประโยชน์แก่พระวักกลิ โดยทรงเห็นว่า ถ้าพระวักกลิมามัวแต่ติดใจอยู่กับพระรูปกายของพระองค์ ก็จะไม่ก้าวหน้าในธรรม จะอยู่แค่ในขั้นศรัทธา ควรให้ศรัทธานั้นนำสู่ปัญญาสืบต่อไป คือศรัทธานั้น ควรจะเป็นสื่อนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อชีวิตที่ดีงามของพระวักกลิเอง จนบรรลุถึงความเป็นอิสระด้วยปัญญา พระองค์จึงทรงรอเวลา เมื่อพระพุทธเจ้าจะตรัสจะสอนอะไร พระองค์จะทรงตรวจความพร้อมของบุคคล เช่น ทรงตรวจดูความแก่ของอินทรีย์ หรือความสุกงอมของอินทรีย์ก่อน ในกรณีของพระวักกลิน เหตุการณ์ก็ดำเนินมา จนกระทั่งวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสออกไปเป็นการให้สติแก่พระวักกลิ แต่วิธีตรัสของพระองค์ บางครั้งก็ทรงใช้ถ้อยคำที่ค่อนข้างรุนแรงบ้าง เพื่อต้องการให้สะดุดหรือกระตุก เพื่อทำให้เกิดความรู้สึกที่สะท้อนขึ้นมา หรือทำให้เกิดการคิดขึ้นใหม่ ที่จะก้าวต่อไปได้ อันจะนำไปสู่ผลที่ดีงามสืบไปข้างหน้าวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่พระวักกลว่า “ดูกรวักกลิ เธอจะตามไปทำไมกับร่างที่เปื่อยเน่าได้นี้ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม" (เช่น สํ.ข. ๑๗/๒๑๖)

พระองค์ยังตรัสไว้ ณ ที่อื่นอีกว่า "ผู้ใด แม้จะจับมุมชายผ้าสังฆาฏิของพระองค์ ติดตามพระองค์ไปทุกย่างพระบาท แต่ถ้าเขาถูกกิเลสครอบงำใจ ก็ชื่อว่าอยู่ห่างไกลจากพระองค์ เพราะผู้นั้นไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรม ก็ไม่เห็นพระองค์ แต่ผู้ใด ถึงจะอยู่ห่างไกลพระองค์ตั้งร้อยโยชน์ แต่จิตใจมั่นคงไม่ถูกกิเลสครอบงำ ก็ชื่อว่าอยู่ใกล้พระองค์ เพราะผู้นั้นเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรม ก็เห็นพระองค์" (ขุ.อิติ. ๒๕/๒๗๒)

พระดำรัสนี้เป็นพุทธพจน์ที่สำคัญ เรามักจำกันได้แต่ก่อนที่ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” หมายความว่า เพียงแต่มาติดตามพระองค์มองเห็นพระวรกายของพระองค์นี้ ไม่ใช่เป็นการเห็นพระองค์อย่างแท้จริง แต่เมื่อใดเห็นธรรม เมื่อนั้นจึงจะชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า ขอย้ำพุทธพจน์ที่พระองค์ตรัสเตือนไว้ “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม” หมายความว่า การเห็นองค์พระพุทธเจ้า กับการเห็นธรรมนั้น มีความหมายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าผู้ใดจะติดตามพระองค์เพื่อดูพระวรกายแล้ว ผู้นั้นก็จะไม่ได้เห็นอะไร นอกจากขันธ์ ๕ ที่มีความแตกดับเสื่อมสลายไปได้ ถ้าจะเห็นพระพุทธเจ้าที่แท้จริงก็ต้องเห็นธรรม อันนี้เป็นคำตรัสเตือนสติที่สำคัญมาก และเป็นการโยงศรัทธา ศรัทธาที่เกิดจากการมีความเลื่อมใสในองค์พระพุทธเจ้า อย่างเรามานมัสการพระองค์ ณ สถานที่นี้ จะเป็นเครื่องเตือนใจเรา ให้ระลึกต่อไปถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า คือตัวธรรมะ และพยายามประพฤติปฏิบัติให้เกิดผลต่อชีวิตอย่างแท้จริงไปสู่ปัญญา เป็นการใช้ศรัทธาให้เป็นประโยชน์ 

ราชคฤห์: ศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

เจริญพรโยมผู้ศรัทธาทุกท่าน เราได้เดินทางมาบนเส้นทางบุญจาริกโดยลำดับ และขณะนี้เราได้มานั่งเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ ณ ที่ประทับของพระองค์ คือพระมูลคันธกุฎี เมื่อเช้านี้เรามาถึงเมืองปัตนะหรือเมืองปาตลีบุตร ซึ่งก็ได้เล่าให้โยมฟังแล้วว่า เป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่พระพุทธศาสนา เป็นแหล่งที่พระพุทธศาสนาเผยแพร่ออกจากชมพูทวีปไปสู่ประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย อันนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อประมาณ ๒๓๕ ปีหลังพุทธกาลหลังจากนั้น เราก็ได้เดินทางต่อมา จนถึงเมืองนาลันทา แล้วก็เดินทางมายังเมืองราชคฤห์ ตามลำดับ ขณะนี้เรามาถึงเมืองราชคฤห์แล้ว

ราชคฤห์: ศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

เมืองราชคฤห์ นี้ เป็นเมืองหลวงเก่าของแคว้นมคธ เมืองปาตลีบุตรมีความสำคัญในสมัยหลังพุทธกาล ในฐานะเป็นแหล่งที่คำสอนของพระพุทธศาสนาเผยแพร่ออกไปสู่ประเทศต่างๆ เมื่อเรามาถึงเมืองราชคฤห์นี้ ก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะแผ่ออกไปจากเมืองปาตลีบุตรสู่ประเทศต่างๆ ได้ ก็ต้องมาเริ่มต้นที่นี่ก่อน เมืองทั้งสองนี้มีความสำคัญด้วยกันทั้งคู่

ในทางการเมืองก็สำคัญ ในแง่ที่ว่าทั้งสองแห่งต่างก็เป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธด้วยกันดังที่กล่าวแล้วว่า ปาตลีบุตรเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธหลังพุทธกาล ส่วนราชคฤห์นี้ เป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธในสมัยพุทธกาล ในทางส่วนในทางพระศาสนาก็เหมือนกันในแง่ของการเป็นศูนย์กลางการเมืองมีความเหมือนกันอย่างนี้
ที่พระพุทธศาสนาเผยแพร่ออกไป สำหรับเมืองราชคฤห์นี้ เป็นที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาประดิษฐานพระพุทธศาสนา มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติ พระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ก็เคยเสด็จมาที่นี่ ดังที่เราทราบกันว่า ในการเสด็จออกบรรพชานั้น เมื่อเสด็จมาที่แม่น้ำอโนมาแล้ว อธิษฐานเพศบรรพชาและตัดพระเมาลีที่นั่น ต่อมาก็เสด็จมาที่เมืองราชคฤห์นี้ พระเจ้าพิมพิสารได้ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์เสด็จบิณฑบาตอยู่ ก็ทรงมีความเลื่อมใส แล้วก็ได้ทรงสนทนากับพระโพธิสัตว์ พร้อมทั้งได้รับพรคล้ายๆ เป็นคำปฏิญญาจากพระโพธิสัตว์ ที่ทรงรับว่า เมื่อทรงค้นพบสัจธรรมแล้วจะเสด็จมายังเมืองราชคฤห์นี้ เมื่อพระพุทธเจ้าบรรลุโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ได้เสด็จมาประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่เมืองราชคฤห์นี้ ในแง่หนึ่ง ก็เหมือนกับว่า ทรงปฏิบัติตามพระพุทธปฏิญญาที่ได้ทรงให้ไว้แก่พระเจ้าพิมพิสาร แต่อีกแง่หนึ่งมองในด้านกิจการของพระพุทธศาสนา ก็ถือว่ามีความสำคัญ ในฐานะที่เมืองนี้เป็นเมืองใหญ่ เป็นศูนย์กลางของกิจการบ้านเมือง พระพุทธเจ้าทรงเลือกว่าการที่จะให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองควรเริ่มต้นที่ใด ก็ปรากฏว่า เมื่องราชคฤห์ได้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนา โดยทรงเสด็จมาแสดงธรรมที่นี่ ทำให้พระเจ้าพิมพิสารได้ดวงตาเห็นธรรม และปฏิญาณพระองค์เป็นพุทธมามกะ

ต่อจากนั้น เหตุการณ์สำคัญที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในพระพุทธศาสนาหลายอย่างก็ได้เกิดขึ้นที่นี่ เช่น การถวายวัดเวฬุวัน ที่เป็นวัดแห่งแรกของพระพุทธศาสนา ซึ่งพรุ่งนี้ก็เข้าใจว่าจะได้ไปแวะเยี่ยมเยียนด้วยยิ่งกว่านั้นประจวบกับช่วงนี้จะถึงวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่วัดเวฬุวันนั้น จึงนับว่าเป็นเวลาอันเหมาะที่จะได้ไปนมัสการพระพุทธเจ้าที่วัดเวฬุวันนั้นด้วย พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพุทธกิจที่เมืองราชคฤห์นี้ในพรรษาแรก พุทธกิจได้ดำเนินก้าวหน้าไปอย่างมาก ความก้าวหน้าที่ควรกล่าวไว้อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่การได้พระอัครสาวก คือ พระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะ หรือที่ชาวพุทธเรานิยมเรียกว่า พระโมคคัลลาน์-สารีบุตร ซึ่งมาเป็นกำลังสำคัญในการที่จะเผยแพร่พระพุทธศาสนาต่อไป

จุดสําคัญที่เป็นสุดยอด แห่งความเป็นศูนย์กลางพุทธกิจของเมืองราชคฤห์ก็คือที่นี่ ที่พระมูลคันธกุฎี นี้ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์เสด็จมาประทับที่นี่ เรียกว่า เป็นศูนย์กลางพุทธกิจเพราะว่า กิจการพระพุทธศาสนาเริ่มต้นไปจากองค์พระพุทธเจ้า ฉะนั้นการที่เราได้มาที่นี่ จึงถือว่าเป็นจุดสุดยอดเลยทีเดียว นับว่าเป็นจุดศูนย์กลางของเมืองราชคฤห์อีกทีหนึ่ง เมื่อเราถือว่า เมืองราชคฤห์เป็นศูนย์กลางของการประดิษฐานพระพุทธศาสนา ก็ต้องถือว่า พระมูลคันธกุฎีนี้ เป็นศูนย์กลางการทำงานในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาอีกชั้นหนึ่ง

พระมูลคันธกุฏี (แปลว่า กุฏิที่มีกลิ่นหอม)
อีกประการหนึ่ง เมืองราชคฤห์ยังมีความสําคัญหลังพุทธกาลด้วย คือ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระสาวกทั้งหลายหลายได้เลือกเอาเมืองราชคฤห์นี้แหละเป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๑ การสังคายนานั้น ถือว่ามีความสำคัญมากที่สุด เป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนาหลังพุทธกาล คือ เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ก็ถือว่า พระพุทธเจ้าเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา การปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์จึงเป็นการเริ่มต้นของการที่พระพุทธศาสนาจะเผยแพร่ออกไป แต่หลังพุทธกาลแล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า เมื่อพระองค์ล่วงลับไป พระธรรมวินัยที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้และบัญญัติไว้ จะเป็นศาสดาแทนพระองค์ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระสาวกทั้งหลาย มีพระมหากัสสปะ เป็นประธาน ได้ปรารภว่า พระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ อาจจะกระจัดกระจายและเลือนลางหายไปได้ จึงได้มีการตกลงกัน โดยมีมติว่าจะประชุมกันทำสังคายนา รวบรวมพระธรรมวินัยมาเป็นองค์พระศาสดาสืบแทนองค์พระพุทธเจ้า เป็นการเริ่มต้นเหตุการณ์ครั้งใหญ่หลังพุทธกาล จุดเริ่มต้นหลังพุทธกาลก็เริ่มต้นที่นี่ เพราะฉะนั้น เมืองราชคฤห์จึงมีความสำคัญมากในแง่ของการเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา ทั้งในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่และเป็นจุดเริ่มต้นของงานพระศาสนาคือสังคายนาหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว