วันศุกร์

การเวียนว่ายตายเกิด ๑

ท่านสาธุชนทั้งหลาย หัวข้อปาฐกถาธรรมวันนี้เป็นการพูดข้อเบ็ดเตล็ดบางสิ่งบางอย่างที่ยังเป็นปัญหาในกลุ่มชาวพุทธมามกะของเรา เรื่องเบ็ดเตล็ดที่เป็นปัญหาที่ชาวพุทธของเรา พูดกันถกเถียงกันอยู่นั้นไม่ใช่มีอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ความจริงแล้วถ้าจะประมวลเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่สมัยพุทธกาลลงมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ เรื่องราวก็มีมาก เป็นปัญหาที่น่าขบคิดทั้งนั้น เพราะในวันนี้จะได้นำเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่มาวิจารณ์สักสองเรื่องด้วยกันก่อน

🔅เรื่องแรกก็คือปัญหาเรื่องของ การเวียนว่ายตายเกิด
        เรื่องนี้ไม่ว่าจะไปพูดในที่ใด ถ้ายิ่งไปพูดตามโรงเรียนด้วยแล้วมักจะมีนักเรียนนักศึกษาเอาปัญหานี้มาถามว่าตายแล้วเกิดจริงหรือไม่จริง สวรรค์นรกมีจริงหรือไม่จริง ถามกันอย่างนี้บ่อย และก็เป็นปัญหาที่มีมาก่อนพุทธกาลแล้ว เคยมีคนไปทูลถามพระพุทธองค์ก็เคย แล้วพระพุทธองค์ก็ได้ตอบไปแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องกันเรื่อยมากระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ และเชื่อว่าจะต้องเป็นปัญหาต่อเนื่องกันต่อไปจนกว่ามนุษย์ในโลกนี้จะไม่มี

คือถ้าหาว่าในโลกนี้ยังมีมนุษย์อยู่ ปัญหาเรื่องว่าสงสัยว่าตายแล้วเกิดหรือไม่นี้มันก็มีอยู่เรื่อยไปละครับ อันนี้ก็น่าจะเป็นประเด็นอันหนึ่งที่เราน่าจะเอามาวิจารณ์กันเกี่ยวกับปัญหาเรืองนี้ ปัญหาตายแล้วเกิดหรือไม่ ถ้าหากว่าจะพูดตามนัยในพระพุทธศาสนา การตอบปัญหาในพระพุทธศาสนาเรา พระพุทธเจ้า ท่านได้เสนอวิธีการที่จะโต้ตอบปัญหานี้ออกเป็น ๔ ประการด้วยกัน คือว่าปัญหาบางอย่างเมื่อมีผู้ตั้งขึ้นแล้ว ผู้ที่จะแก้ปัญหาก็ต้องตอบด้วยวิธียืนกระต่ายขาเดียว ปัญหาประเภทนี้เรียกว่า เอกังสพยากรณ์ คือ การตอบโดยการยืนกระต่ายขาเดียว

ปัญหาบางอย่างตอบด้วยวิธีการยืนกระต่ายขาเดียวไม่ได้ จะต้องกล่าวจำแนกตามประเภทตามเหตุการณ์ อย่างนี้เรียกว่า วิภัชพยากรณ์ 

ปัญหาบางอย่างผู้ตั้งปัญหาถามขึ้นแล้ว ผู้ตอบก็ต้องเอาคำถามของเขานี่ยันผู้ถามอย่างนี้ เรียกว่าย้อนหรือเรียกว่าศอกกลับ ถ้าจะว่าไปแล้วก็เรียกว่าศอกกลับก็ว่าได้ เรียกว่า ปฏิปุจฉาพยากรณ์

ปัญหาบางอย่างตั้งขึ้นมาถามแล้วผู้ถามมีเจตนาที่ไม่ใคร่จะบริสุทธิ์ ผู้ตอบพิจารณาเห็นว่า ตอบไปแล้วไม่เกื้อกูลต่อประโยชน์ทั้งใน อดีต ปัจจุบันและอนาคต ก็เป็นสิทธิที่ผู้ตอบจะยกเลิก ยกปัญหาเสีย ไม่ตอบ อย่างนี้เรียกว่า ฐปนียพยากรณ์

เป็นวิธีการตอบปัญหาในพระพุทธศาสนา ๔ ประการ วิธีการตอบปัญหา ๔ ประการนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงใช้มาตลอดสมัยของพระองค์ในการโต้ตอบกับพวกสมณพราหมณ์ เดียรถีนิครนถ์ต่างๆ ที่เข้ามาลองดีพุทธิปัญญาของพระองค์ หรือผู้ที่เข้ามาตั้งคำถามโดยความเจตนาบริสุทธิ์ ต้องการจะมีความรู้ความสว่างจากพระองค์ก็ต้องอาศัยการพิจารณาของพระองค์ว่าปัญหาเหล่านี้ควรจะตอบด้วยวิธีอะไร ควรที่จะตอบด้วยเอกังสพยากรณ์ก็ตอบด้วยเอกังสพยากรณ์ ควรที่จะตอบด้วยวิภัชชพยากรณ์ก็ตอบด้วยวิภัชชพยากรณ์ ควรที่จะตอบด้วยปฏิปุจฉาพยากรณ์ก็ตอบด้วยปฏิปุจฉาพยากรณ์ แล้วควรที่จะตอบด้วยฐปนียพยากรณ์ก็ตอบด้วยฐปนียยพยากรณ์ไปตามเรื่อง


คราวนี้ปัญหาเรื่อง ตายแล้วเกิด ในข้อนี้ถ้าจะเอาวิธีการตอบปัญหา ๔ ประเด็นมาตอบปัญหาตายแล้วเกิดควรจะเอาอะไรมาตอบ ในวิธีการ ๔ ข้อ ก็ต้องดูเหตุการณ์อีกนะครับ ยกตัวอย่างเช่นว่ามีปริพาชกคนหนึ่งเป็นคนถือ🔎สัสสตทิฏฐิ ถึอว่าตายแล้วอัตตาของเขานี่ อัตตาตัวนี้แหละหรือเรียกว่าวิญญาณนี่แหละ ไปเวียนว่ายตายเกิด อัตตาตัวนี้ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แปรผัน มั่นคงดุจเสาระเนียด ชื่อว่า วัชชโคตรปริพาชก

วัชชโคตรมีทิฏฐิอย่างนี้ เมื่อตั้งปัญหาถามพระพุทธเจ้าว่าพระสมณโคดม ตายแล้วเอาอะไรไปเกิด ? 
พระพุทธเจ้าไม่ตอบ ไม่ตอบปัญหาข้อนี้แก่วัชชโคตร วัชชโคตรก็เสียใจ ก็ตัดพ้อพระพุทธเจ้าว่า แหม ช่างกระไรเลย เขาเองมีความสงสัยในปัญหาข้อนี้ ผูกใจมานานนักหนาแล้ว นึกว่าได้รับความสว่างในสำนักของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ากลับไม่ตอบปัญหา เขาตัดพ้อพระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็บอกว่าวัชชโคตร ถ้าหากว่าตถาคตจะตอบปัญหาข้อนี้แก่เธอ เธอเป็นสัสสตทิฉฐิอยู่แล้วนะ ถ้าตอบปัญหาข้อนี้แก่เธอเมื่อไหร่ละก็ เธอจะเข้าใจผิด ยิ่งจะเป็นสัสสตทิฉฐิยิ่งขั้นไปอีก เป็นทวีตรีคูณทีเดียวละ เพราะฉะนั้นปัญหาข้อนี้เราจึงไม่ตอบเธอ

เพราะอะไรถึงทรงแสดงอย่างนั้น เพราะว่าโดยความจริงแล้วคนที่ยังมีกิเลสอยู่ ตายแล้วก็ต้องเกิด ถ้าพระองค์ตรัสบอกกับวัชชโคตรบอกว่าคนเราตายแล้วเกิด วัชชโคตรซึ่งกำลังหลงผิดยึดถืออยู่แล้ว ว่าอัตตาของตัวนี่แหละมั่นคงดุจจะเสาระเนียด เป็นผู้ไปเวียนว่ายตายเกิดในชาติภพต่างๆ ก็ยิ่งจะเตลิดเปิดเปิงนึกวาพระพุทธเจ้ามาสนับสนุนทิฏฐิของตัวว่าจริง เมื่อคนเราตายแล้วต้องเกิด สิ่งที่ไปเกิดเป็นตัวนั่นแหละ คือตัวอัตตาที่ข้ากำลังถืออยู่ ณ บัดนี้นี่แหละ พระพุทธเจ้ามาสนับสนุนทิฏฐิของตัวอย่างนี้แหละ พระพุทธเจ้าจึงไม่ตอบวัชชโคตรก่อน

เป็นเหตุให้เขาเกิดความสงสัยยิ่งขึ้น เมื่อตัดพ้อเช่นนี้แล้วพระองค์จึงแสดง “🔎 ปฏิจจสมุปบาท “ ให้เห็นเป็นการทำลายสัสสตทิฏฐิของวัชชโคตรปริพาชก ถ้าไปตอบอย่างง่ายๆ บอกว่า เออ คนเราตายแล้วก็ต้องไปเกิดซิ วิญญาณนี่แหละไปเกิด ตอบง่าย ๆ อย่างนี้ คนที่เป็นสัสสตทิฏฐิก็จะหลงผิดเป็นสัสสตทิฏฐิยิ่งขึ้น จึงไม่ทรงตอบในเบื้องแรก แล้วก็แสดง ปฏิจจสมุปบาท ในเบื้องปลายเป็นการทำลายความเข้าใจผิดของวัชชโคตรปริพาชกไปเสีย นี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง

คราวนี้ถ้าหากว่าสำหรับคนที่เชื่ออยู่แล้วว่ากฏแห่งกรรมมีจริง การเวียนว่ายตายเกิดมีจริง แล้วสิ่งที่ไปเวียนว่ายตายเกิดนี่ ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน เราเขาอะไร แต่ทว่าเป็นสังขารธรรมที่เกิดดับสืบสันตติกันได้ ถ้าคนมีความเชื่อถือเช่นนี้มาตั้งปัญหากับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงพยากรณ์ไปตามเหตุคือ พยากรณ์ใช้วิธีวิภัชชพยากรณ์ บอกว่าถ้าคนยังมีกิเลสตัณหาอยู่ก็ต้องทำอะไรที่เป็นกรรม เมื่อมีกรรมแล้วก็มีวิบาก ชีวิตยังสั้นอยู่ในชาติหนึ่งภพหนึ่ง ไม่สามารถจะชดเชยวิบากในชาติหนึ่งภพหนึ่งได้ มันก็ต้องไปยกยอดในชาติหน้า ไปรับวิบากในชาติใหม่ภพใหม่ต่อไป อย่างนี้ก็ทรงตอบ อย่างเช่นมีอุบาสก อุบาสกหรือชาวพุทธในพระศาสนาที่มีความเข้าใจในเรื่องกฎของกรรมดีพอแล้ว ตั้งปัญหาถามพระองค์พระองค์ก็แสดงโดยวิภัชชพยากรณ์หรือแม้ไม่ต้องตั้งปัญหา พระองค์ก็แสดงอยู่แล้ว เช่นว่าแสดงกับพระอานนท์เถรเจ้า พยากรณ์คติพจน์ของบรรดาอุบาสก อุบาสิกาในนาลันทคามว่า อุบาสกชื่อนั้นมรณะไปแล้วกำลังเสวยอยู่ในสวรรค์ชั้นนั้น ๆ ตาม ทิฏฐานุคติอันชอบของผู้นั้น ทรงพยากรณ์ทิฏฐิอยู่แล้ว ทรงพยากรณ์คติของผู้ล่วงลับไปแล้วให้กับพระอานนท์เถระเจ้าฟัง แล้วก็ตรัสบอกว่าดูก่อนอานนท์ ที่ตถาคตพยากรณ์คติสัปรายภพของอุบาสกชื่อนั้น อุบาสิกาชื่อนั้น ณ. ตำบลบ้านนั้น ๆ เพราะเหตุไร ก็เพื่อว่าจะเป็นเครื่องพยุงใจให้แก่ปัจฉิมาชนตาชน คือชนที่เกิดภายหลัง ได้มีความกระปรี้กระเปร่า มีกำลังใจในการประกอบกุศลกรรม มีกำลังใจในการทำความดี เพราะมีข้อยืนยันว่าเมื่อทำกรรมดีอย่างนี้แล้ว ตายไปแล้วก็ได้เสวยผลกรรมดีในคติสัมปรายภพนั้น ๆ ทรงแสดงอย่างนี้

คนที่ไม่เข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวตะวันตกที่แรกเริ่มศึกษาพุทธศาสนาใหม่ ๆ พอรู้ว่าพระพุทธเจ้าปฏิเสธเรื่องโซล คือ วิญญาณหรือตัวอาตมัน ภาษาฝรั่งเรียกกันว่าโซลก็นึกว่าพุทธศาสนานี้ไม่ได้สอนเรื่องเวียนว่ายตายเกิด เรื่องเวียนว่ายตายเกิดเป็นเรื่องไร้สาระ หรือแม้แต่นักปราชญ์บางท่านในเมืองไทยเรา เวลาแสดงปาฐกถาก็ยังโจมตีว่าการพูดเรื่อง เวียนว่ายตายเกิดนี้เป็นเรื่องนอกคอก นอกบาลี ที่ไหนพระพุทธเจ้าจะมาสนใจเรื่องนี้ ควรจะพูดแต่เรื่องทางพ้นทุกข์ลัดนิ้วมือเดียว ทำอย่าไรถึงจะพ้นทุกข์ดีกว่า พูดเรื่องพุทธภาวะในจิตเดิมแท้นี่ดีกว่า จะได้พ้นทุกข์ไปไว ๆ ตรัสรู้เร็ว ๆ ดีกว่าจะไปมัวแต่พูดเรื่องเนิ่นช้า เรื่องเวียนว่ายตายเกิด เรื่องวัฏสงสาร เป็นเรื่อทำให้คนเนิ่นช้า ไปพูดเรื่องนี้ทำไม ปฏิจจสมุปบาทว่าที่จริงแล้วก็มีขณะ ปัจจุบันขณะเดียว นี่มติของบางท่านนะ แต่ไม่ใช่ทั่วไปหรอก บางท่านว่าปฏิจจสมุปบาทอยู่ในขณะจิต ปัจจุบันขณะเดียวอย่างนี้ โดยปฏิเสธอตีตอัทธา อนาคตอัทธาปฏิเสธหมด ว่าเรื่องการแบ่งปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องอดีต ปัจจุบัน อนาคต เป็นมติของพระอรรถกถาจารย์ ที่ไหนจะมีในบาลีพุทธพจน์ ปฏิเสธอย่างนี้ก็มีอยู่

🔰อ่านหน้าต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น