วันเสาร์

ปัญหาในสมาธิ ๘ ข้อ

ปริจเฉทที่ ๓
กัมมัฏฐานคหณนิเทศ

เริ่มเรื่องสมาธิ

โดยเหตุที่โยคีบุคคลเมื่อตั้งตนไว้ในศีลอันบริสุทธิ์ผุดผ่องด้วยคุณทั้งหลาย มีความเป็นผู้มักน้อยเป็นต้น ซึ่งสำเร็จขึ้นด้วยการบำเพ็ญธุดงควัตรฉะนี้แล้ว จำต้องจะเจริญสมาธิภาวนาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ด้วยหัวข้อว่า จิตฺตํ โดยพระบาลี ว่า สีเล ปติฏฺฐาย นโร สปญฺโญ จิตฺตํ ปญฺญฺจ ภาวยํ ดังนี้ประการหนึ่งกับอีกประการหนึ่ง โดยเหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสมาธินั้นไว้อย่างย่อสั้นมากไม่ต้องกล่าวถึงที่จะเจริญภาวนาแม้แต่เพียงจะเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะกระทำได้ง่ายเลย ฉะนั้น บัดนี้ เพื่อที่จะแสดงสมาธินั้นอย่างพิสดาร และเพื่อที่จะแสดงวิธีเจริญสมาธินั้น จึงขอตั้งปัญหากรรมเป็นมาตรฐานขึ้นไว้ดังต่อไปนี้ คือ

ปัญหาในสมาธิ ๘ ข้อ

๑. อะไร ชื่อว่าสมาธิ
๒. ที่ชื่อว่าสมาธิ เพราะอรรถว่ากระไร
๓. อะไร เป็นลักษณะ, เป็นรส, เป็นอาการปรากฏ และเป็นปทัฏฐานของสมาธิ
๔. สมาธิ มีกี่อย่าง
๕. อะไร เป็นความเศร้าหมองของสมาธิ
5. อะไร เป็นความผ่องแผ้วของสมาธิ
๗. สมาธินั้น จะพึงเจริญภาวนาอย่างไร
๘. อะไร เป็นอานิสงส์ของสมาธิภาวนา

🙏วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๑
บรรดาปัญหาเหล่านั้น มีคำวิสัชนาดังต่อไปนี้ :-
ปัญหาข้อว่า อะไรชื่อว่าสมาธิ
วิสัชนาว่า สมาธินั้นมีหลายอย่างหลายประการด้วยกัน การที่จะยกมาวิสัชนาแสดงให้แจ่มแจ้งทุก ๆ อย่างนั้น เห็นทีจะไม่สำเร็จสมความหมายเฉพาะที่ต้องการ กลับจะทำให้เกิดความฟันเฟือยิ่งขึ้นเสียด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงขอวิสัชนาเจาะเอาเฉพาะที่ต้องการในที่นี้ว่า ภาวะที่จิตมีอารมณ์อันเดียวฝ่ายกุศลชื่อว่าสมาธิ

🙏วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๒
ปัญหาข้อว่า ที่ชื่อว่าสมาธิ เพราะอรรถว่ากระไร 
วิสัชนาว่า ที่ชื่อว่าสมาธิ เพราะอรรถว่า ความตั้งมั่น ที่ว่า ความตั้งมั่น นี้ได้แก่อะไร ? ได้แก่ความตั้งอยู่หรือความดำรงอยู่ของจิตและเจตสิกทั้งหลายในอารมณ์อันเดียวอย่างสม่ำเสมอ และโดยถูกทางด้วย เพราะฉะนั้น จิตและเจตสิกทั้งหลายย่อมตั้งอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างสม่ำเสมอและโดยถูกทางด้วย ไม่ฟุ้งซ่านและไม่ส่ายไปในอารมณ์อื่น ด้วยอำนาจแห่งธรรมชาติใดธรรมชาตินี้ พึงทราบว่า คือ ความตั้งมั่น

🙏วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๓
ปัญหาข้อว่า อะไรเป็นลักษณะ, เป็นรส, เป็นอาการปรากฏ และเป็นปทัฏฐานของสมาธิ 
วิสัชนาว่า สมาธินั้นมีความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ มีการกำจัดเสียซึ่งความฟุ้งซ่านเป็นรส มีการไม่หวั่นไหวเป็นอาการปรากฏ มีความสุขเป็นปทัฏฐาน เพราะพระบาลีรับรองว่า "สุขิโน จิตฺตํ สมาธิยติ" จิตของบุคคลผู้มีความสุขย่อมตั้งมั่น ฉะนี้

🙏วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๔
ปัญหาข้อว่า สมาธิ มีกี่อย่าง 
วิสัชนาว่า :-
๑. สมาธิมีอย่างเดียว ด้วยมีลักษณะไม่ฟุ้ง เป็นประการแรก
๒. สมาธิมี ๒ อย่าง มีดังนี้ คือ
หมวดที่ ๑ โดยแยกเป็น อุปจารสมาธิ ๑ อัปปนาสมาธิ ๑
หมวดที่ ๒ โดยแยกเป็น โลกิยสมาธิ ๑ โลกุตตรสมาธิ ๑
หมวดที่ ๓ โดยแยกเป็น สัปปีติกสมาธิ ๑ สมาธิประกอบด้วยปีติ ๑ นิปปีติกสมาธิ สมาธิปราศจากปีติ ๑
หมวดที่ ๔ โดยแยกเป็น สุขสหคตสมาธิ สมาธิประกอบด้วยสุขเวทนา ๑ อุเปกขาสหคตสมาธิ สมาธิประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา ๑
๓. สมาธิมี ๓ อย่าง ดังนี้ คือ
หมวดที่ ๑ โดยแยกเป็น หีนสมาธิ ๑ มัชฌิมสมาธิ ๑ ปณีตสมาธิ ๑
หมวดที่ ๒ โดยแยกเป็น สวิตักกสวิจารสมาธิ สมาธิมีทั้งวิตกมีทั้งวิจาร ๑ อวิตักกวิจารมัตตสมาธิ สมาธิไม่มีวิตกมีแต่วิจาร ๑ อวิตกกาวิจารสมาธิ สมาธิไม่มีทั้งวิตกทั้งวิจาร ๑
หมวดที่ ๓ โดยแยกเป็น ปีติสหคตสมาธิ สมาธิประกอบด้วยปีติ ๑ สุขสหคตสมาธิ สมาธิประกอบด้วยสุขเวทนา ๑ อุเปกขาสหคตสมาธิ สมาธิประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา ๑
หมวดที่ ๔ โดยแยกเป็น ปริตตสมาธิ สมาธิมีประมาณน้อย ๑ มหัคคตสมาธิ สมาธิอันยิ่งใหญ่ ๑ อัปปมาณสมาธิสมาธิอันหาประมาณมิได้ ๑
๔. สมาธิมี ๔ อย่าง ดังนี้ คือ
หมวดที่ ๑ โดยแยกเป็น ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญาสมาธิ สมาธิที่มีปฏิปทาลำบากทั้งรู้ช้า ๑ ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญาสมาธิ สมาธิที่มีปฏิปทาลำบากแต่รู้เร็ว ๑ สุขาปฏิปทาทันธาภิญญาสมาธิ สมาธิ
ที่มีปฏิปทาสบายแต่รู้ช้า ๑ สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญาสมาธิ สมาธิที่มีปฏิปทาสบาย ด้วยรู้เร็วด้วย ๑
หมวดที่ ๒ โดยแยกเป็น ปริตตปริตตารัมมณสมาธิ สมาธิที่ไม่คล่องแคล่วและไม่ได้ขยายอารมณ์ ๑ ปริตตอัปปมาณารัมมณสมาธิ สมาธิที่ไม่คล่องแคล่วแต่ขยายอารมณ์ ๑ อัปปมาณปริตตารัมมณสมาธิ สมาธิที่คล่องแคล่วแต่ไม่ได้ขยายอารมณ์ ๑ อัปปมาณอัปปมาณารัมมณสมาธิ สมาธิที่คล่องแคล่วและขยายอารมณ์ ๑
หมวดที่ ๓ โดยแยกเป็นองค์แห่งฌาน ๔ คือ องค์แห่งปฐมฌาน ๑ องค์แห่งทุติยฌาน ๑ องค์แห่งตติยฌาน ๑ องค์แห่งจตุตถฌาน ๑
หมวดที่ ๔ โดยแยกเป็น หานภาคิยสมาธิ สมาธิเป็นไปในส่วนแห่งความเสื่อม ๑ ฐิติภาคิยสมาธิ สมาธิเป็นไปในส่วนแห่งความติดแน่น ๑ วิเสสภาคิยสมาธิ สมาธิเป็นไปในส่วนแห่งคุณวิเศษ ๑ นิพเพธภาคิยสมาธิ สมาธิเป็นไปในส่วนแห่งอันแทงทะลุสัจธรรม ๑
หมวดที่ ๕ โดยแยกเป็น กามาวจรสมาธิ สมาธิเป็นกามาวจร ๑ รูปาวจรสมาธิ สมาธิเป็นรูปาวจร ๑ อรูปาวจรสมาธิ สมาธิเป็นอรูปาวจร ๑ อปริยาปันนสมาธิ สมาธิเป็นโลกุตตระ ๑
หมวดที่ ๖ โดยแยกเป็น ฉันทาธิปติสมาธิ สมาธิมีฉันทะเป็นอธิบดี ๑ วีริยาธิปติสมาธิ สมาธิมีวีริยะเป็นอธิบดี ๑ จิตตาธิปติสมาธิ สมาธิมีจิตเป็นอธิบดี ๑ วิมังสาธิปติสมาธิ สมาธิมีวิมังสาคือปัญญาเป็นอธิบดี ๑
๕. สมาธิมี ๕ อย่าง ดังนี้ คือ
โดยแยกเป็น องค์แห่งฌาน ๕ ในปัญจกนัยได้แก่ องค์แห่งปฐมฌาน ๑ องค์แห่งทุติยฌาน ๑ องค์แห่งตติยฌาน ๑ องค์แห่งจตุตถฌาน ๑ องค์แห่งปัญจมฌาน ๑


อธิบายสมาธิอย่างเดียว
สมาธิที่มีส่วนอย่างเดียวมีเนื้อความกระจ่างอยู่แล้ว ไม่ต้องพรรณนาความอีก

อธิบายสมาธิ ๒ อย่าง
ในสมาธิที่มีส่วน ๒ อย่าง
หมวดที่ ๑ ที่ว่า สมาธิมี ๒ อย่าง โดยแยกเป็น อุปจารสมาธิ ๑ อัปปนาสมาธิ ๑ นั้น มีอรรถาธิบาย ดังนี้
อุปจารสมาธิ คือ ภาวะที่จิตเป็นเอกัคคตา* ที่โยคีบุคคลได้มาด้วยอำนาจกัมมัฏฐาน ๑๐ เหล่านี้คือ 🔎อนุสสติ ๖ (พุทธานุสสติถึงเทวตานุสสติ) มรณสติ ๑ อุปสมานุสสติ ๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ นี้อย่างหนึ่ง กับเอกัคคตาในบุพภาคเบื้องต้นแห่งอัปปนาสมาธิทั้งหลายอย่างหนึ่ง  (คำว่า เอกัคคตา* ตามรูปศัพท์แปลว่า ภาวะที่จิตมีอารมณ์อันเดียว โดยความหมาย ได้แก่เอกัคคตาเจตสิกในอัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวง ซึ่งโดยปกติย่อมเข้าประกอบกับจิตทุกดวง แต่มีกำลังอ่อน ในที่นี้มีกำลังกล้าสามารถจะทำให้สัมปยุตธรรมตั้งอยู่ในอารมณ์อันเดียวได้นาน ๆ ซึ่งจัดเป็นองค์ฌานองค์หนึ่ง)
อัปปนาสมาธิ คือ เอกัคคตาถัดไปแต่บริกรรมภาวนา เอกัคคตาชนิดนี้ เรียกว่าอัปปนาสมาธิ  เพราะมีพระบาลีรับรองว่าบริกรรมภาวนาแห่งปฐมฌาน ย่อมเป็นปัจจัยแก่ปฐมฌานโดยอนันตรปัจจัย ฉะนี้

หมวดที่ ๒ ที่ว่า สมาธิมี ๒ อย่าง โดยแยกเป็น โลกยสมาธิ ๑ โลกุตตรสมาธิ ๑ นั้น มีอรรถาธิบาย ดังนี้
โลกียสมาธิ คือ เอกัคคตาที่ประกอบด้วยกุศลจิต ในภูมิ ๓ คือ กามภูมิ, รูปภูมิและอรูปภูมิ
โลกุตตรสมาธิ คือ เอกัคคตาที่ประกอบด้วยอริยมัคคจิต

หมวดที่ ๓ ที่ว่า สมาธิมี ๒ อย่าง โดยแยกเป็น สัปปีติกสมาธิ ๑ นิปปีติกสมาธิ ๑ นั้น มีอรรถาธิบาย ดังนี้
เอกัคคตาในฌาน ๒ ข้างต้นในจตุกกนัย และในข้างต้นในปัญจกนัย เรียกว่า
สัปปีติกสมาธิ คือสมาธิที่ประกอบด้วยปีติ
เอกัคคตาในฌาน ๓ ที่เหลือข้างปลาย เรียกว่า
นิปปีติกสมาธิ คือสมาธิที่ปราศจากปีติ
ส่วนอุปจารสมาธิที่ประกอบด้วยปีติก็มีที่ปราศจากปีติก็มี

หมวดที่ ๔ ที่ว่า สมาธิมี ๒ อย่าง โดยแยกเป็น สุขสหคตสมาธิ ๑ อุเปกขาสหคตสมาธิ ๑ นั้น มีอรรถาธิบาย ดังนี้ เอกัคคตาในฌาน ๓ ข้างต้นในจตุกกนัยและในฌาน ๔ ข้างต้นในปัญจกนัย เรียกว่า
สุขสหคตสมาธิ คือสมาธิที่ประกอบด้วยสุขเวทนา
เอกัคคตาในฌานที่เหลือข้างปลาย เรียกว่า
อุเปกขาสหคตสมาธิ คือสมาธิที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา
ส่วนอุปจารสมาธิที่ประกอบด้วยสุขเวทนาก็มีที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาก็มี

อธิบายสมาธิ ๓ อย่าง
ในสมาธิที่แยกเป็น ๓ อย่าง
หมวดที่ ๑ ที่ว่า สมาธิมี ๓ อย่าง โดยแยกเป็น หีนสมาธิ ๑ มัชฌิมสมาธิ ๑ ปณีตสมาธิ ๑ นั้น มีอรรถาธิบาย ดังนี้ 
หีนสมาธิ คือสมาธิขั้นต่ำ สมาธิที่พอได้บรรลุ ยังไม่ได้ต้องเสพให้หนัก ยังไม่ได้ทำให้มาก ๆ
มัชฌิมสมาธิ คือสมาธิขั้นกลาง สมาธิที่ทำให้เกิดขึ้นยังไม่ได้ที่ คือยังไม่ได้ทำให้ถึงความคล่องแคล่วเป็นอย่างดี
ปณีตสมาธิ คือสมาธิขั้นประณีต สมาธิที่ทำให้เกิดขึ้นได้ที่ดีแล้ว คือถึงความเป็นวสีมีความสามารถอย่างคล่องแคล่วแล้ว

ไขความทั้ง ๓ อย่าง
ที่ชื่อว่า หีนสมาธิ เพราะให้เป็นไปด้วยความปรารถนาผลบุญอันโอฬา
ที่ชื่อว่า มัชฌิมสมาธิ เพราะให้เป็นไปด้วยจะให้สำเร็จอภิญญาโลกีย์
ที่ชื่อว่า ปณีตสมาธิ เพราะท่านผู้ดำรงอยู่ในอริยภาพให้เป็นไปด้วยปรารถนาความสงัดจิต

อีกนัยหนึ่ง
ที่ชื่อว่า หีนสมาธิ เพราะให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนด้วยต้องการภวสมบัติ
ที่ชื่อว่า มัชฌิมสมาธิ เพราะให้เป็นไปด้วยอัธยาศัยที่ไม่โลภอย่างเดียว
ที่ชื่อว่า ปณีตสมาธิ เพราะให้เป็นไปเพื่อประโยชน์คนอื่น

อีกนัยหนึ่ง
ที่ชื่อว่า หีนสมาธิ เพราะให้เป็นไปด้วยมีอัธยาศัยติดอยู่ในวัฏฏะ
ที่ชื่อว่า มัชฌิมสมาธิ เพราะให้เป็นไปด้วยอัธยาศัยชอบความสงัด
ที่ชื่อว่า ปณีตสมาธิ เพราะให้เป็นไปด้วยอัธยาศัยใคร่ปราศจากวัฏฏะด้วยต้องการให้บรรลุถึงโลกุตตรธรรม

หมวดที่ ๒ ที่ว่า สมาธิมี ๓ อย่าง โดยแยกเป็น สวิตักกสวิจารสมาธิ ๑ อวิตกกวิจารมัตตสมาธิ ๑ อวิตกกาวิจารสมาธิ ๑ นั้น มีอรรถาธิบาย ดังนี้ สมาธิในปฐมฌานรวมทั้งอุปจารสมาธิ เรียกว่า
สวิตักกสวิจารสมาธิ คือสมาธิมีทั้งวิตกทั้งวิจาร
อวิตักกวิจารมัตตสมาธิ คือสมาธิไม่มีวิตกมีแต่วิจาร อธิบายว่า โยคีบุคคลใดเห็นโทษแต่ในวิตกอย่างเดียวไม่เห็นโทษในวิจาร จึงปรารถนาที่จะละวิตกอย่างเดียว ผ่านพ้นปฐมฌานไป โยคีผู้นั้นย่อมได้สมาธิที่ไม่มีวิตกมีแต่วิจาร ข้อว่า อวิตักกวิจารมัตตสมาธินั้น หมายเอาสมาธิในทุติยฌานในปัญจกนัย
อวิตกกาวิจารสมาธิ คือสมาธิไม่มีทั้งวิตกทั้งวิจาร เอกัคคตาในฌาน ๓ สำหรับจตุกกนัย มีทุติยฌานเป็นต้นไป สำหรับปัญจกนัย มีตติยฌานเป็นต้นไป

หมวดที่ ๓ ที่ว่า สมาธิมี ๓ อย่าง โดยแยกเป็น ปีติสหคตสมาธิ ๑ สุขสหคตสมาธิ ๑ อุเปกขาสหคตสมาธิ ๑ นั้น มีอรรถาธิบาย ดังนี้
เอกัคคตาในฌาน ๒ เบื้องต้นในจตุกกนัย และในฌาน ๓ เบื้องต้นในปัญจกนัย เรียกว่า
ปีติสหคตสมาธิ คือสมาธิประกอบด้วยปีติ เอกัคคตาในฌานที่ ๓ และฌานที่ ๔
ในจตุกกนัยและปัญจกนัยนั้นนั่นแหละ เรียกว่า
สุขสหคตสมาธิ คือสมาธิประกอบด้วยสุขเวทนา
เอกัคคตาในฌานอันสุดท้ายทั้งในจตุกกนัย และปัญจกนัย คือในจตุตถฌานหรือในปัญจมฌาน เรียกว่า
อุเปกขาสหคตสมาธิ คือสมาธิประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา ส่วนอุปจารสมาธิ ประกอบด้วยสุขเวทนาก็มี ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาก็มี

หมวดที่ ๔ ที่ว่าสมาธิมี ๓ อย่าง โดยแยกเป็น ปริตตสมาธิ ๑ มหัคคตสมาธิ ๑ อัปปมาณสมาธิ ๑ นั้น มีอรรถาธิบาย ดังนี้ เอกัคคตาในอุปจารฌานภูมิ คือในจิตตุปบาทที่ประกอบด้วยอุปจารฌาน เรียกว่า
ปริตตสมาธิ สมาธิมีประมาณน้อย (หรือกามาวจรสมาธิ)
เอกัคคตาในรูปาวจรกุศลจิตและอรูปาวจรกุศลจิต เรียกว่า
มหัคคตสมาธิ คือสมาธิอันยิ่งใหญ่ อธิบายว่า สมาธิที่ถึงภาวะอันยิ่งใหญ่โดยการข่มกิเลส ๑ โดยมีผลอันไพบูลย์กว้างขวาง ๑ โดยสืบต่ออยู่ได้นาน ๆ ๑ หรือสมาธิที่ดำเนินไปด้วยคุณอันยิ่งใหญ่มีฉันทะอันยิ่งใหญ่เป็นต้น เรียกว่า มหัคคตสมาธิ
เอกัคคตาที่ประกอบด้วยอริยมัคคจิต คือที่เกิดร่วมกับอริยมัคคจิต เรียกว่า
อัปปมาณสมาธิ คือสมาธิอันหาประมาณมิได้ หรือสมาธิอันมีธรรมหาประมาณมิได้เป็นอารมณ์

อธิบายสมาธิ ๔ อย่าง
ในสมาธิที่แยกเป็น ๔ อย่าง
หมวดที่ ๑ ที่ว่า สมาธิมี ๔ อย่าง โดยแยกเป็นทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญาสมาธิ เป็นต้นนั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ คือ : สมาธิ ๔ อย่าง ได้แก่ ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญาสมาธิ ๑ ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญาสมาธิ ๑ สุขาปฏิปทาทันธาภิญญาสมาธิ ๑ สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญาสมาธิ ๑ อธิบายว่า ในปฏิปทาและอภิญญา ๒ อย่างนั้น การเจริญภาวนาสมาธิที่ดำเนินไปนับตั้งแต่ลงมือสำรวจจิตเจริญกัมมัฏฐานครั้งแรก จนถึงอุปจารฌานของฌานนั้น ๆ เกิดขึ้น เรียกว่า ปฏิปทา คือการปฏิบัติ ส่วนปัญญาที่ดำเนินไปนับตั้งแต่อุปจารฌานไปจนถึงอัปปนาฌาน เรียกว่า อภิญญา คือการรู้แจ้ง ก็แหละ ปฏิปทาคือการปฏิบัตินี้นั้น ย่อมเป็นทุกข์คือลำบาก ต้องเสพไม่สะดวกสำหรับโยคีบุคคลบางคน เพราะการรบเร้าและยึดครองของธรรมที่เป็นข้าศึกมีนิวรณ์เป็นต้น แต่เป็นความสะดวกสบายสำหรับโยคีบุคคลบางคน เพราะไม่มีการรบเร้าและยึดครองของธรรมที่เป็นข้าศึก แม้อภิญญาคือการรู้แจ้งก็เป็นการเชื่องช้าเฉื่อยชา ไม่เกิดโดยฉับพลันสำหรับโยคีบุคคลบางคน แต่สำหรับโยคีบุคคลบางคนก็รวดเร็วไม่เฉื่อยชาเกิดโดยฉับพลัน ก็แหละ ธรรมอันเป็นที่สบายและไม่เป็นที่สบาย ๑ บุพกิจเบื้องต้นมีการตัดปลิโพธ คือเครื่องกังวลให้สิ้นห่วง ๑ และความฉลาดในอัปปนาทั้งหลาย ๑ เหล่าใดที่ข้าพเจ้าจักยกมาพรรณนาข้างหน้า ในบรรดาธรรมเหล่านั้น

โยคีบุคคลใดเป็นผู้ร้องเสพธรรมอันไม่เป็นที่สบาย โยคีบุคคลผู้นั้นย่อมมีปฏิปทาคือการปฏิบัติลำบากเป็นทุกข์ และมีอภิญญาคือการรู้แจ้งเชื่องช้า โยคีบุคคลผู้ร้องเสพธรรมอันเป็นที่สบาย ย่อมมีปฏิปทาคือการปฏิบัติสะดวกสบาย และมีอภิญญาคือการรู้แจ้งอย่างรวดเร็ว ส่วนโยคีบุคคลใด ในตอนต้นก่อนแต่ได้บรรลุอุปจารสมาธิ ต้องเสพธรรมอันไม่เป็นที่สบาย ตอนหลังจากที่บรรลุอุปจารสมาธิแล้ว ได้ร้องเสพธรรมอันเป็นที่สบาย หรือในตอนต้นได้ต้องเสพธรรมอันเป็นที่สบาย ตอนหลังได้ร้องเสพธรรมอันไม่เป็นที่สบาย พึงทราบว่า ปฏิปทาและอภิญญาของโยคีบุคคลนั้นคละกัน อธิบายว่า โยคีบุคคลใดในตอนต้นส้องเสพธรรมอันไม่เป็นที่สบาย ตอนหลังได้ร้องเสพธรรมอันเป็นที่สบายโยคีบุคคลนั้นมีปฏิปทาลำบากเป็นทุกข์แต่มีอภิญญาการรู้แจ้งอย่างรวดเร็ว ส่วนโยคีบุคคลใด ในตอนต้นต้องเสพธรรมอันเป็นที่สบาย ตอนหลังได้ร้องเสพธรรมอันไม่เป็นที่สบาย โยคีบุคคลนั้น มีปฏิปทาสะดวกสบายแต่มีอภิญญาการรู้แจ้งเชื่องช้า พึงทราบสมาธิที่ ๒ และที่ ๓ เพราะความคละกันแห่งสมาธิที่ ๑ และที่ ๔ ฉะนี้ สำหรับโยคีบุคคลผู้ไม่ได้จัดแจงทำบุพกิจเบื้องต้น มีการตัดปลิโพธเครื่องกังวล ให้สิ้นห่วงเป็นต้นเสียก่อน แล้วลงมือประกอบการเจริญภาวนาก็เหมือนกัน คือ ย่อมมีปฏิปทาการปฏิบัติลำบากเป็นทุกข์ โดยปริยายตรงกันข้าม สำหรับโยคีบุคคลผู้จัดแจงทำบุพกิจให้เสร็จสิ้นแล้ว จึงลงมือประกอบการเจริญภาวนา ย่อมมีปฏิปทาสะดวกสบาย ส่วนโยคีบุคคลผู้ที่ไม่ได้เรียนอัปปนาโกศล คือความเป็นผู้ฉลาดในอัปปนาให้สำเร็จก่อน ย่อมมีอภิญญาการรู้แจ้งอย่างเชื่องช้า ผู้ที่เรียนอัปปนาโกศลให้สำเร็จก่อน ย่อมมีอภิญญาการรู้แจ้งอย่างรวดเร็ว อีกประการหนึ่ง พึงทราบประเภทของปฏิปทาและอภิญญานี้ด้วยอำนาจแห่งตัณหาและอวิชชา ๑ ด้วยอำนาจแห่งสมถาธิการและวิปัสสนาธิการ ๑ ต่อไป

กล่าวคือ
โยคีบุคคลผู้อันตัณหาครอบงำ ย่อมมีปฏิปทาลำบากเป็นทุกข์
ผู้ที่ไม่ถูกตัณหาครอบงำ ย่อมมีปฏิปทาสะดวกสบาย
โยคีบุคคลผู้อันอวิชชาครอบงำ ย่อมมีอภิญญาเชื่องช้า
ผู้ที่ไม่ถูกอวิชชาครอบงำ ย่อมมีอภิญญารวดเร็ว
โยคีบุคคลผู้มีอธิการอันไม่ได้ทำไว้ในสมถภาวนา ย่อมมีปฏิปทาลำบากเป็นทุกข์
ผู้มีอธิการอันได้ทำไว้แล้ว ย่อมมีปฏิปทาสะดวกสบาย
ส่วนผู้มีอธิการอันไม่ได้ทำไว้ในวิปัสสนาภาวนา ย่อมมีอภิญญาเชื่องช้า
ผู้มีอธิการอันได้ทำไว้แล้ว ย่อมมีอภิญญารวดเร็ว

พึงทราบประเภทของปฏิปทาและอภิญญาเหล่านี้ แม้ด้วยอำนาจแห่งกิเลสและอินทรีย์ ๕ อีก กล่าวคือ

โยคืบุคคลผู้มีกิเลสรุนแรงแต่มีอินทรีย์ย่อหย่อน ย่อมมีปฏิปทาลำบากเป็นทุกข์ และมีอภิญญาเชื่องช้า
ผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้า ย่อมมีอภิญญารวดเร็ว
โยคีบุคคลผู้มีกิเลสบางเบามีอินทรีย์ย่อหย่อน ย่อมมีปฏิปทาสะดวกสบาย แต่มีอภิญญาเชื่องช้า
ผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้า ย่อมมีอภิญญารวดเร็ว

ด้วยประการฉะนี้ ในปฏิปทาและอภิญญาเหล่านี้ โยคีบุคคลใดได้บรรลุซึ่งสมาธิด้วยปฏิปทาอันลำบากเป็นทุกข์และด้วยอภิญญาอันเชื่องช้า สมาธิของโยคีบุคคลนั้นเรียกว่า ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญาสมาธิ โยคีบุคคลใดได้บรรลุซึ่งสมาธิด้วยปฏิปทาอันลำบากเป็นทุกข์และด้วยอภิญญาอันรวดเร็ว สมาธิของโยคีบุคคลนั้น เรียกว่าทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญาสมาธิ โยคีบุคคลใดได้บรรลุซึ่งสมาธิด้วยปฏิปทาอันสะดวกสบายและด้วยอภิญญาอันเชื่องช้า สมาธิของโยคีบุคคลนั้น เรียกว่า สุขาปฏิปทาทันธาภิญญาสมาธิ โยคีบุคคลใดได้บรรลุซึ่งสมาธิด้วยปฏิปทาอันสะดวกสบายและด้วยอภิญญาอันรวดเร็ว สมาธิของโยคีบุคคลนั้น เรียกว่า สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญาสมาธิ

หมวดที่ ๒ ที่ว่า สมาธิมี ๔ อย่างโดยแยกเป็น ปริตตปริตตารัมมณสมาธิเป็นต้นนั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ คือ : สมาธิ ๔ อย่าง ได้แก่ ปริตตปริตตารัมมณสมาธิ ๑ ปริตตอัปปมาณารัมมณสมาธิ ๑ อัปปมาณปริตตารัมมณสมาธิ ๑ อัปปมาณอัปปมาณารัมมณสมาธิ ๑ อธิบายว่า ในสมาธิเหล่านั้น สมาธิใดยังไม่คล่องแคล่ว ไม่สามารถที่จะเป็นปัจจัยแก่ฌานเบื้องสูงขึ้นไปได้ สมาธินี้ชื่อว่า
ปริตตสมาธิ คือสมาธิมีประมาณน้อย ส่วนสมาธิใดเป็นไปในอารมณ์ที่ไม่ได้ขยาย สมาธินั้นชื่อว่า
ปริตตารัมมณสมาธิ คือสมาธิมีอารมณ์มีประมาณน้อย สมาธิใดคล่องแคล่วแล้ว เจริญให้เกิดขึ้นได้ที่แล้วสามารถที่จะเป็นปัจจัยแก่ฌานเบื้องสูงขึ้นไปได้ สมาธินี้ชื่อว่า
อัปปมาณสมาธิ คือสมาธิหาประมาณมิได้ และสมาธิใดเป็นไปในอารมณ์ที่ขยายแล้ว สมาธินี้ชื่อว่า อัปปมาณารมมณสมาธิ คือสมาธิมีอารมณ์หาประมาณมิได้ ส่วนนัยที่คละกันแห่งสมาธิที่ ๑ และที่ ๔ ซึ่งสงเคราะห์เข้าเป็นสมาธิที่ ๒ และที่ ๓ พึงทราบโดยความคละกันแห่งลักษณะที่กล่าวแล้วดังนี้คือ สมาธิใดยังไม่คล่องแคล่ว ไม่สามารถที่จะเป็นปัจจัยแก่ฌานเบื้องสูงขึ้นไปได้ แต่เป็นไปในอารมณ์ที่ขยายแล้ว สมาธินี้ชื่อว่า
ปริตตอัปปมาณารัมมณสมาธิ คือสมาธิมีประมาณน้อย มีอารมณ์หาประมาณมิได้ ส่วนสมาธิใดคล่องแคล่วแล้ว สามารถที่จะเป็นปัจจัยแก่ฌานเบื้องสูงขึ้นไปได้ แต่เป็นไปในอารมณ์ที่ไม่ได้ขยาย สมาธินี้ชื่อว่า อัปปมาณปริตตารัมมณสมาธิคือ สมาธิหาประมาณมิได้ มีอารมณ์มีประมาณน้อย

หมวดที่ ๓ ที่ว่า สมาธิมี ๔ อย่าง โดยแยกเป็นองค์แห่งฌาน ๔ นั้นมีอรรถาธิบายดังนี้ คือ :
ปฐมฌาน มีองค์ ๕ ด้วยอำนาจวิตก ๑ วิจาร ๑ ปีติ ๑ สุข ๑ สมาธิ ๑ ซึ่งข่มนิวรณ์ได้แล้ว เหนือจากปฐมฌานไป วิตกกับวิจารสงบลง (องค์แห่งปฐมฌานองค์ที่ ๕ นี้ บางทีก็เรียกว่า เอกัคคตา ในที่นี้ท่านเรียกว่า สมาธิ พึงทราบว่าสมาธิกับเอกัคคตา โดยความหมายเป็นอย่างเดียวกัน)
ทุติยฌาน จึงมีเพียงองค์ ๓ คือ ปีติ ๑ สุข ๑ สมาธิ ๑ เหนือจากทุติยฌานไป ปีติสร่างหายไป
ตติยฌาน จึงมีเพียงองค์ ๒ คือ สุข ๑ สมาธิ ๑ เหนือจากตติยฌานไปละสุขเสีย 
จตุตถฌาน คงมีองค์ ๒ คือสมาธิ ๑ อุเบกขาเวทนา ๑
ด้วยประการฉะนี้ องค์แห่งฌาน ๔ เหล่านี้จึงเป็นสมาธิ ๔ อย่าง สมาธิ ๔ อย่างโดยแยกเป็นองค์ฌาน ๔ ยุติเพียงเท่านี้ 

หมวดที่ ๔ ที่ว่า สมาธิมี ๔ โดยแยกเป็น หานภาคิยสมาธิ เป็นต้น มีอรรถาธิบายดังนี้ คือ : สมาธิ ๔ อย่าง ได้แก่ หานภาคิยสมาธิ ๑ ฐิติภาคิยสมาธิ ๑ วิเสสภาคียสมาธิ ๑ นิพเพธภาคิยสมาธิ ๑ อธิบายว่า ในสมาธิ ๔ อย่างนั้น พึงทราบว่าที่ชื่อว่า
หานภาคิยสมาธิ สมาธิเป็นไปในส่วนแห่งความเสื่อม ด้วยอำนาจของความรบกวนของธรรมเป็นข้าศึกของฌานนั้น ๆ มีนิวรณ์, วิตกและวิจาร เป็นต้น 
ฐิติภาคิยสมาธิ สมาธิเป็นไปในส่วนแห่งความติดแน่น ด้วยอำนาจความติดแน่นด้วยสติอันสมควรแก่สมาธินั้น ที่ชื่อว่า
วิเสสภาคิยสมาธิ สมาธิเป็นไปในส่วนแห่งคุณวิเศษ ด้วยอำนาจเป็นเหตุบรรลุซึ่งคุณวิเศษเบื้องสูงขึ้นไป และที่ชื่อว่า
นิพเพธภาคิยสมาธิ สมาธิเป็นไปในส่วนแห่งอันแทงทะลุสัจธรรม ด้วยอำนาจความใฝ่ใจในสัญญาอันประกอบด้วยนิพพิทาญาณและความเร่งเร้า เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า :-

"บุคคลผู้ได้สำเร็จปฐมฌาน ความใฝ่ใจในสัญญาทั้งหลายอันประกอบด้วยความหมายมั่นในกามคุณ ย่อมเร่งเร้ารบกวนอยู่ ปัญญาก็ยังมีส่วนแห่งความเสื่อม, สติอันสมควรแก่ฌานนั้น ย่อมติดแน่น ปัญญาก็มีส่วนแห่งความติดมั่น, ความใฝ่ใจในสัญญาทั้งหลายอันประกอบด้วยฌานที่ไม่มีวิตก ย่อมเร่งเร้า ปัญญาก็มีส่วนแห่งคุณวิเศษ, ความใฝ่ใจในสัญญาทั้งหลายอันประกอบด้วยญาณเป็นเหตุให้เบื่อหน่าย ย่อมเร่งเร้า ปัญญามีส่วนแห่งความแทงทะลุสัจธรรม ประกอบด้วยธรรมอันคลายความกำหนัด"


ก็แหละ แม้สมาธิที่ประกอบด้วยปัญญานั้น ก็จัดเป็นสมาธิ ๔ อย่าง ฉะนี้สมาธิ ๔ อย่างโดยแยกเป็น หานภาคิยสมาธิ เป็นต้น ยุติเพียงเท่านี้

หมวดที่ ๕ ที่ว่า สมาธิมี ๔ อย่างโดยแยกเป็นกามาวจรสมาธิ เป็นต้นนั้นมีอรรถาธิบายดังนี้ คือ : สมาธิ ๔ อย่างนั้น คือ กามาวจรสมาธิ ๑ รูปาวจรสมาธิ ๑ อรูปาวจรสมาธิ ๑ อปริยาในนสมาธิ ๑ อธิบายว่า ในสมาธิ ๔ อย่างนั้น เอกัคคตาในอุปจารฌานแม้ทั้งสิ้น เรียกว่า กามาวจรสมาธิ จิตเตกัคคตาอันเป็นรูปาวจรกุศล เรียกว่า รูปาวจรสมาธิ จิตเตกัคคตาอันเป็นอรูปาวจรกุศล เรียกว่า อรูปาวจรสมาธิ จิตเตกัคคตาอันเป็นโลกุตตรกุศล เรียกว่า อปริยาปันนสมาธิ สมาธิ ๔ อย่างนี้โดยแยกเป็น กามาวจรสมาธิ เป็นต้น ยุติเพียงเท่านี้

หมวดที่ ๖ ที่ว่า สมาธิมี ๔ อย่างโดยแยกเป็นอธิบดี ๔ นั้น มีอรรถาธิบายโดยมีพระบาลีรับสมอ้างดังนี้ คือ : ถ้าภิกษุทำฉันทะให้เป็นอธิบดีแล้ว ได้สมาธิ ได้ภาวะที่จิตมีอารมณ์อันเดียว สมาธินี้เรียกว่า ฉันทาธิปติสมาธิ ถ้าภิกษุทำวีริยะให้เป็นอธิบดีแล้ว ได้สมาธิ ได้ภาวะที่จิตมีอารมณ์อันเดียว สมาธินี้เรียกว่า วีริยาธิปติสมาธิ ถ้าภิกษุทำจิตให้เป็นอธิบดีแล้วได้สมาธิ ได้ภาวะที่จิตมีอารมณ์อันเดียว สมาธินี้เรียกว่า จิตตาธิปติสมาธิ ถ้าภิกษุทำวิมังสาคือ ปัญญาให้เป็นอธิบดีแล้ว ได้สมาธิ ได้ภาวะที่จิตมีอารมณ์ อันเดียว สมาธินี้เรียกว่า วิมังสาธิปติสมาธิ สมาธิ ๔ อย่าง โดยแยกเป็นอธิบดี ๔ ยุติเพียงเท่านี้


อธิบายสมาธิ ๕ อย่าง
ในสมาธิที่แยกเป็น ๕ อย่างนั้น นักศึกษาพึงทราบภาวะที่แยกสมาธิเป็น ๕ อย่างด้วยอำนาจแห่งองค์ฌานทั้ง ๕ ในปัญจกนัยดังนี้ คือ :- ฌานที่จัดเป็น ๕ ฌานนั้น เพราะแยกทุติยฌานที่กล่าวไว้ในประเภทแห่งฌาน โดยจตุกกนัยเป็น ๒ ฌานอย่างนี้ คือ เป็นทุติยฌานด้วยก้าวล่วงแต่วิตก ๑ เป็นตติยฌานด้วยก้าวล่วงทั้งวิตกทั้งวิจาร ๑ (นอกนั้นเหมือนในจตุกกนัย กล่าวคือปฐมฌานมีองค์ ๕ ได้แก่ วิตก วิจาร, ปีติ, สุข, และสมาธิ ทุติยฌานมีองค์ ๔ ได้แก่ วิจาร, ปีติ, สุข, และสมาธิ, ตติยฌานมีองค์ ๓ ได้แก่ ปีติ, สุข, และสมาธิ จตุตถฌานมีองค์ ๒ ได้แก่ สุข และสมาธิ ปัญจมฌานมีองค์ ๒ ได้แก่ อุเบกขาและสมาธิ) ก็แหละ องค์แห่งฌาน ๔ เหล่านั้น เรียกว่า สมาธิ ๕ อย่าง ด้วยประการฉะนี้

🙏วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๕ ข้อที่ ๖
ก็แหละ ในปัญหา ๒ ข้อที่ว่า อะไรเป็นความเศร้าหมองของสมาธิและอะไรเป็นความผ่องแผ้วของสมาธินี้ พระผู้มีพระภาคทรงวิสัชนาไว้ในญาณวิภังค์แห่งคัมภีร์วิภังคปกรณ์แล้วนั่นเทียว เป็นความจริงทีเดียว ในญาณวิภังค์นั้นท่านแสดงไว้ว่า ธรรมอันเป็นไปในส่วนแห่งความเสื่อม ชื่อว่า สังกิเลสคือความเศร้าหมอง ธรรมอันเป็นไปในส่วนแห่งคุณวิเศษ ชื่อว่า โวทานะคือความผ่องแผ้วในธรรม ๒ อย่างนั้น ธรรมอันเป็นไปในส่วนแห่งความเสื่อม นักศึกษาพึงทราบโดยนัยดังนี้ว่า :- บุคคลผู้ได้สำเร็จปฐมฌาน ความใฝ่ใจในสัญญาทั้งหลายซึ่งประกอบด้วยความมุ่งมั่นในกามคุณ ย่อมรบเร้าได้อยู่ ปัญญาก็มีส่วนแห่งความเสื่อม อธิบายว่า โยคีบุคคลผู้ได้สำเร็จปฐมฌานอันไม่คล่องแคล่ว เมื่อออกจากปฐมฌานนั้นแล้ว ความใฝ่ใจในสัญญาทั้งหลาย ซึ่งเป็นสภาวะที่ประกอบด้วยความมั่นหมายในกามคุณ ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ย่อมรบเร้า คือกระตุ้นเตือนได้อยู่ ปัญญาในปฐมฌานของโยคีบุคคลนั้นก็เสื่อมไปด้วยอำนาจความใฝ่ใจในสัญญาทั้งหลายที่มุ่งดิ่งไปหากามคุณเพราะฉะนั้น ปัญญาจึงมีส่วนแห่งความเสื่อม

ธรรมอันเป็นไปในส่วนแห่งคุณวิเศษ นักศึกษาพึงทราบโดยนัยดังนี้ว่า :- ความใฝ่ใจในสัญญาทั้งหลายอันประกอบด้วยฌานที่ไม่มีวิตก ย่อมเร่งเร้า ปัญญาก็มีส่วนแห่งคุณวิเศษ อธิบายว่า เมื่อโยคีผู้ฌานลาภีบุคคลนั้นใฝ่ใจถึงทุติยฌานอันไม่มีวิตกอยู่ ความใฝ่ใจในสัญญาทั้งหลายซึ่งประกอบด้วยฌานอันไม่มีวิตกด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ย่อมเร่งเร้า คือกระตุ้นเตือน ซึ่งโยคีบุคคลนั้นผู้ออกจากปฐมฌานอันคล่องแคล่วแล้ว ทั้งนี้เพื่อต้องการที่จะบรรลุซึ่งทุติยฌานต่อไป ปัญญาในปฐมฌานของโยคีบุคคลนั้นด้วยอำนาจความใฝ่ใจในสัญญาทั้งหลายที่มุ่งหน้าสู่ทุติยฌาน ชื่อว่า เป็นปัญญามีส่วนแห่งคุณวิเศษ เพราะเป็นปทัฏฐานแห่งการบังเกิดขึ้นของทุติยฌาน อันนับเป็นคุณวิเศษแต่อย่างไรก็ดี ณ ที่นี้ประสงค์เอาสมาธิซึ่งประกอบด้วยปัญญานั้น ส่วนหานภาคิยธรรม ธรรมอันเป็นไปในส่วนแห่งความเสื่อม และวิเสสภาคิยธรรม ธรรมอันเป็นไปในส่วนแห่งคุณวิเศษ ในทุติยฌานเป็นต้น นักศึกษาพึงทราบโดยวิธีที่กล่าวไว้แล้วในปฐมฌานนี้


🙏วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๗
ก็แหละ ในปัญหาข้อที่ว่า สมาธินั้นจะพึงเจริญภาวนาอย่างไรนั้น มีอรรถาธิบาย ดังต่อไปนี้ : สมาธิอันประกอบด้วยอริยมรรคนี้ใดที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในคำมีอาทิว่า สมาธิมี ๒ อย่าง โดยแยกเป็น โลกยสมาธิ ๑ โลกุตตรสมาธิ ๑ ฉะนี้ นัยแห่งการภาวนาซึ่งสมาธิอันประกอบด้วยอริยมรรคนั้น ท่านสงเคราะห์เข้าไว้กับนัยแห่งปัญญาภาวนาแล้วนั่นเทียว เพราะว่า เมื่อปัญญาอันโยคีบุคคลภาวนาให้เกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นอันได้ภาวนาให้สมาธินั้นเกิดขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น อริยมัคคสมาธินั้น ข้าพเจ้าจะไม่ยกเอามาอธิบายไว้แผนกหนึ่งต่างหากจากปัญญาภาวนาแต่ประการใดว่า อริยมัคคสมาธินั้นพึงเจริญภาวนาอย่างนี้

วิธีภาวนาสมาธิโดยสังเขป
ส่วนสมาธิที่เป็นโลกิยะนี้ใด สมาธินั้นข้าพเจ้าจะยกมาอธิบายด้วยภาวนาวิธีต่อไป ดังนี้ : โยคีบุคคลชำระศีลทั้งหลายให้บริสุทธิ์ตามนัยที่ได้แสดงมาในสีลนิเทศนั้นแล้วพึงตั้งตนไว้ในศีลอันบริสุทธิ์ดีแล้วนั้น บรรดาปลิโพธเครื่องกังวล ๑๐ ประการอย่างใดมีอยู่แก่ตน ก็จงตัดปลิโพธเครื่องกังวลอย่างนั้นเสียให้สิ้นห่วง แล้วจึงเข้าไปหากัลยาณมิตรผู้ให้พระกัมมัฏฐาน เรียนเอาพระกัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาพระกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ อันเหมาะสมแก่จริตจริยาของตน แล้วจึงออกจากวัดที่ไม่สมควรแก่การที่จะภาวนาสมาธิไปอยู่ในวัดที่สมควร ครั้นแล้วจึงทำการตัดเครื่องกังวลเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นตัดเล็บโกนหนวดเป็นต้นให้สิ้นเสร็จเรียบร้อย แต่นั้นจึงลงมือภาวนาสมาธินั้น ด้วยไม่ทำวิธีภาวนาทุก ๆ อย่าง ให้ขาดตกบกพร่องไป นี้เป็นวิธีภาวนาอย่างสังเขปในสมาธิภาวนานี้ (คำวิสัชนาปัญหาข้อนี้มีความยืดยาวมาก เพราะเป็นการแสดงถึงสมาธิภาวนาวิธีในกัมมัฏฐานทั้ง ๔๐ ประการ ศึกษาเพิ่มใน 🔎อภิธรรมเบื้องต้น หมวดที่ ๐๙ สมถกรรมฐาน)

วิธีภาวนาสมาธิโดยพิสดาร
ส่วนวิธีภาวนาอย่างพิสดาร มีอรรถาธิบายตามลำดับ โดยต้องทำความเข้าใจในเรื่องปลิโพธ เครื่องกังวล ๑๐ อย่างในบทต่อไป 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น