อโสภณจิต กับ โสภณจิต

จำนวนจิตทั้งหมดนับโดยย่อ ๘๙ หรือนับโดยพิสดาร ๑๒๑ ดวงนั้น เมื่อจำแนกโดยความเป็นอโสภณจิต และ โสภณจิตแล้ว ได้อโสภณจิต ๓๐ ดวง และ โสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวง

แสดงการจำแนกจิตโดย อโสภณะ และโสภณะ

จิต ๘๙, ๑๒๑ 

อโสภณจิต ๓๐ ดวง (จิตที่ไม่ดีงาม)
  • อกุศลจิต
    • โลภมูลจิต ๘
    • โทสมูลจิต ๒
    • โมหมูลจิต ๒
  • อเหตุกจิต
    • อกุศลวิบากจิต ๗
    • อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘
    • อเหตุกกิริยาจิต ๓

โสภณจิต ๕๙, ๙๑ ดวง (จิตที่ดีงาม)

  • กามาวจรโสภณจิต
    • มหากุศลจิต ๘
    • มหาวิบากจิต ๘
    • มหากิริยาจิต ๘
  • รูปาวจรจิต
    • รูปาวจรกุศลจิต ๕
    • รูปาวจรวิบากจิต ๕
    • รูปาวจรกิริยาจิต ๕
  • อรูปาวจรจิต
    • อรูปาวจรกุศลจิต ๔
    • อรูปาวจรวิบากจิต ๔
    • อรูปาวจรกิริยาจิต ๔
  • โลกุตตรจิต
    • มัคคจิต
    • ผลจิต

อโสภณจิต หมายถึง จิตที่นอกจากโสภณจิต หรือหมายถึงจิตที่ไม่ได้เกิดพร้อมกับโสภณเจตสิก, อโสภณจิตนี้ มีจำนวน ๓๐ ดวง คือ อกุศลจิต ๑๒ และ อเหตุกจิต ๑๘ รวมอโสภณจิต ๓๐ ดังได้แสดงมาแล้ว ต่อไปนี้ จะได้แสดงถึงโสภณจิต ๕๙ ดวง หรือ ๙๑ ดวง ตามคาถาสังคหะที่แสดงว่า

คาถาสังคหะ

ปาปาเหตุกมุตตานิ        โสภณานีติ วุจฺจเร
เอกูนสฎฺฐี จิตฺตานิ        อเถกนวุตีปิ วาฯ

แปลความว่า จิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวง ที่นอกจากอกุศลจิต และ อเหตุกจิต นั้นเรียกว่า “โสภณจิต” อธิบาย โสภณจิต เป็นจิตที่ดีงาม หรือเป็นจิตที่มีโสภณเจตสิกประกอบ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน นับโดยย่อ ๕๙ ดวง หรือโดยพิสดาร ๙๑ ดวง เมื่อจำแนกจิตเหล่านี้โดยภูมิแล้วได้ ๔ ภูมิ


แสดงการจำแนกโสภณจิตโดยภูมิ

โสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑

  • กามาวจรโสภณจิต ๒๔
  • รูปาวจรจิต ๑๕
  • อรูปาวจรจิต ๑๒
  • โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐

จิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในกามภูมิ หรือในกามารมณ์นั้น มีทั้งอโสภณจิตและโสภณจิตฉะนั้น เมื่อจำแนกโสภณจิตโดยกามภูมิแล้ว จึงจำต้องมีคำว่า “โสภณ” กำกับให้ชัดเจน ส่วนในรูปภูมิ อรูปภูมิ และโลกุตรภูมิ จิตจะเกิดขึ้นได้แต่โสภณจิตอย่างเดียวจึงไม่จำเป็นต้องมีคำว่า “โสภณ” กำกับ เหมือนอย่างโสภณจิตที่เกิดในกามภูมิด้วย

ต่อไปจะได้แสดงโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวงโดยลำดับ นับตั้งแต่กามาวจรโสภณจิต ๒๔ เป็นต้นไป

อเหตุกจิต ๑๘ (หน้า๒)

 👉 อเหตุกจิต ๑๘ (หน้าแรก)



🔅 อเหตุกกิริยาจิต

อเหตุกกิริยาจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้น เพื่อทำหน้าที่การงานในการรับอารมณ์ใหม่ทางทวารทั้ง ๖ และทำหน้าที่ตัดสินปัญจารมณ์ รวมถึงจิตที่ทำหน้าที่ยิ้มแย้มของพระอรหันต์ทั้งหลายด้วย ซึ่งจิตที่เกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่การงานนี้ เป็นจิตที่สักแต่ว่ากระทำกิจการงาน ไม่ได้อาศัยเกิดขึ้นเพราะเหตุบุญ เหตุบาป จึงไม่ใช่จิตที่เป็นบุญเป็นบาปและไม่ใช่วิปากจิต ซึ่งเป็นผลของบุญหรือบาปด้วย อเหตุกกิริยาจิตนี้มีจำนวน ๓ ดวง

๑. อุเปกขาสหคตํ ปญฺจทวาราวชฺชนจิตฺตํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความรู้สึกเฉยๆ เพื่อพิจารณาอารมณ์ทางปัญจทวาร หมายความว่า จิตดวงนี้ เป็นจิตที่ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ที่มากระทบทางทวารนั้นๆ อุปมาเหมือนนายทวารที่รักษาประตูพระราชวัง ที่คอยเปิดประตูให้แขกผ่าน เข้ามาตามฐานะของบุคคล ไม่ได้ติดตามไปทำหน้าที่อย่างอื่นเลย

๒. อุเบกขาสหคตํ มโนทวาราวชฺชนจิตฺตํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ พิจารณาอารมณ์ทางมโนทวารหมายความว่า จิตดวงนี้ เป็นจิตที่มีหน้าที่พิจารณาอารมณ์ ๖ หรือเป็นจิตที่ทำหน้าที่ตัดสินปัญจารมณ์ทางปัญจทวาร

๓. โสมนสฺสสหคตํ หสิตุปปาทจิตฺตํ จิตที่เกิดการยิ้มของพระอรหันต์ที่เกิดขึ้น เพราะการเห็นเปรต หรือเห็นเทพยดานางฟ้าที่กำลังได้รับทุกข์อยู่ เป็นการเห็นด้วยกิริยาอภิญญาจิต ที่เป็นไปพร้อมด้วยมหากิริยาญาณสัมปยุตจิตก่อนเมื่อพิจารณาแล้วหสิตุปปาทจิตจึงเกิดขึ้นดังปรากฏในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา “หสิตุปฺปาทจิตฺเตน ปน ปวตฺติยามานํ ปี เสต์ สิตกรณํ ปุพเพนิวาสอนาคตํส สพฺพญญุตญาณานํ อนุวตฺตกตา ญาณานุ ปริวตฺตํ เยวาติฯ” การยิ้มของพระอรหันต์เหล่านั้น แม้เป็นอยู่ด้วยหตุปปาทจิต ก็ชื่อว่า เป็นไปตามบุพเพนิวาสานุสติญาณ อนาคตังสญาณ สัพพัญญุตญาณฯ หมายความว่า เมื่ออภิญญาจิตเห็นสัตว์เหล่านั้นแล้ว มหากิริยาจิตก็พิจารณาว่าสภาพเช่นนั้นไม่มีแก่ท่านแล้ว หสิตุปปาทจิตจึงเกิด ทั้งนี้เพราะอภิญญาจิต ย่อมเกิดขณะเดียวเท่านั้นต่อไปจึงเป็นหน้าที่ของมหากิริยาจิต เป็นผู้พิจารณา และพิจารณาแล้วก็เสพอารมณ์ด้วยหสิตุปปาทจิต จึงทำให้อาการยิ้มชนิดที่เป็นสิตะ และหสิตะปรากฏขึ้นมา

การยิ้มและการหัวเราะ

การยิ้มและการหัวเราะ ในคัมภีร์อลังการได้จำแนกไว้ ๖ อย่าง คือ
๑. สิตะ ยิ้มอยู่ในหน้าไม่เห็นไรฟัน เป็นการยิ้มของพระพุทธเจ้า
๒. หสิตะ ยิ้มพอเห็นไรฟัน เป็นการยิ้มที่เกิดจากจิตของพระอรหันต์ หรือพระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบันและปุถุชน แต่การยิ้มชนิดนี้นอกจากพระอรหันต์แล้ว ย่อมเป็นการยิ้มที่ประกอบด้วยเหตุบุญ หรือเหตุบาปเสมอ
๓. วิหสิตะ การหัวเราะมีเสียงเบาๆ เกิดได้จากจิตของปุถุชน และพระอริยบุคคล ๓ คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี
๔. อติหสิตะ การหัวเราะมีเสียงดังมาก ซึ่งมีได้ในปุถุชน พระโสดาบัน และสกทาคามี
๕. อปหสิตะ การหัวเราะจนไหวโยกทั้งกาย เป็นการหัวเราะเฉพาะปุถุชน
๖. อุปหสิตะ การหัวเราะจนน้ำตาไหล เป็นการหัวเราะของปุถุชนเท่านั้น

การยิ้มและการหัวเราะทั้ง ๖ ประการที่กล่าวนี้ ก็ย่อมเห็นได้ว่า การยิ้มอยู่ภายในไม่เห็นไรฟัน ที่ชื่อว่า สิตะ ซึ่งเกิดได้เฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นและการยิ้มพอเห็นไรฟันที่เกิดกับพระอรหันต์นั้น เป็นจิตที่ทำให้เกิดการยิ้มโดยไม่ประสงค์จะยึดมั่นในอารมณ์เหมือนอย่างจิตที่เกิดการหัวเราะอื่น ๆ จิตนี้ จึงมีกำลังน้อย เป็นจิตพิเศษ เรียกว่าหสิตุปปาทจิต ที่สามารถก่อให้เกิดการยิ้มได้เพียงชนิดที่เป็น สิตะ และ หสิตะ เท่านั้น และการที่จิตนี้ มีกำลังน้อยนี้เอง จึงเป็นอเหตุกจิต ส่วนจิตที่เกิดจากการหัวเราะนั้น ย่อมเป็นจิตที่มีกำลังมาก และสามารถยึดอารมณ์ไว้มั่นคง จนเป็นเหตุให้ถึงกับหัวเราะในลักษณะต่างๆ จึงเป็น สเหตุกจิต

สังขารเภทแห่งอเหตุกจิต

อเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ดวงนี้มิได้แสดงไว้ว่าเป็นจิตประเภทอสังขาริกจิตหรือสสังขาริกจิตแต่อย่างใด ตามหลักฐานที่ปรากฏในวาทะต่างๆ อันเกี่ยวกับสังขารประเภทของอเหตุกจิตนี้ พอรวบรวมได้เป็น ๓ นัยด้วยกัน คือ 

๑. ในมูลฎีกาและในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกากล่าวว่าเป็นสังขารวิมุตติทั้ง ๑๘ ดวง เพราะไม่มีพระบาลีระบุไว้ที่ไหนเลยว่า เป็นอสังขาริก หรือสสังขาริก เมื่อไม่มีบาลีแสดงไว้ก็ต้องถือว่าเป็นสังขารวิมุตติ คือ พ้นจากความเป็นอสังขาริก และสสังขาริกไปเลยทีเดียว
๒. ในปรมัตถทีปนีฎีกา กล่าวว่า เป็นได้ทั้งอสังขาริก และ สสังขาริกทั้งหมด ๑๘ ดวง เพราะในมรณาสันนกาล คือ เวลาที่ใกล้จะตาย วิถีจิตต่าง ๆ จะปรากฏขึ้นเองหรืออาจจะมีผู้ใดผู้หนึ่งชักจูงให้ดูพระพุทธรูป หรือให้ฟังเสียงสวดมนต์เป็นต้นก็ได้ จึงจัดว่า เป็นสังขารได้ทั้ง ๒ อย่าง
๓. โบราณาจารย์กล่าวว่า เป็นอสังขาริกจิตทั้ง ๑๘ ดวง เพราะการเห็นได้ยิน ได้กลิ่น รส ถูกต้องสัมผัส เหล่านี้ ย่อมเห็นเอง ได้ยินเอง ได้กลิ่นเอง รู้รสเอง ได้ถูกต้องสัมผัสเอง อาศัยอุปัตติเหตุให้จิตเหล่านี้เกิดขึ้น จึงกล่าวว่าเป็นอสังขาริกทั้ง ๑๘ ดวง

อเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ดวง จึงสงเคราะห์เข้าในอสังขาริก เพราะอเหตุกจิตนี้ย่อมเกิดขึ้นเอง โดยอาศัยอุปัตติเหตุประชุมกันให้เกิด แม้จะมีผู้ใดมาชักจูงแนะนำก็ดี แต่ถ้าอุปัตติเหตุมีไม่ครบองค์โดยบริบูรณ์แล้ว จิตที่รู้ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น เป็นต้น ก็หาเกิดขึ้นเองได้ไม่

อเหตุกจิต เป็นจิตที่ไม่มีเหตุ ๖ คือ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุ ประกอบด้วยเลย ถ้าจิตใดมีเหตุใดเหตุหนึ่งหรือหลายเหตุในเหตุ ๖ ดังกล่าวนั้นประกอบด้วยจิตเหล่านั้น เรียกว่า “สเหตุกจิต” และการประกอบด้วยเหตุของจิตเหล่านั้น เรียกว่า “สัมปยุตเหตุ” เพราะฉะนั้น อเหตุกจิต จึงหมายถึงจิตที่ไม่มีสัมปยุตเหตุ แต่ธรรมทั้งหลายย่อมไหลมาแต่เหตุ หรือมีเหตุเป็นแดนเกิด เหตุที่กล่าวนี้มิใช่เหตุ ๖ ที่ประกอบกับจิตที่เป็นสัมปยุตเหตุดังกล่าวแล้ว แต่เป็นเหตุที่ทำให้จิตเกิดขึ้นได้ เพราะอาศัยเหตุนั้น เหตุที่ทำให้จิตเกิดขึ้นนี้ เรียกว่า อุปัตติเหตุ เพราะฉะนั้น อเหตุกจิตจะปรากฏขึ้นได้ก็ต้องอาศัยอุปัตติเหตุ คือ เหตุที่จะก่อให้จิตเกิดโดยประการต่างๆ ดังนี้ คือ

 🙏 อุปัตติเหตุแห่งอเหตุกจิต ๑๘ เหตุที่ทำให้อเหตุกจิต ๑๘ ดวง เกิดขึ้นได้นั้น มีดังต่อไปนี้ คือ

เหตุให้เกิดจักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. จักขุปสาท        มีประสาทตาดี
๒. รูปารมณ์           มีรูปต่างๆ
๓. อาโลกะ            มีแสงสว่าง
๔. มนสิการ           มีความสนใจ (หมายถึง ปัญจทวาราวัชนจิต)

เหตุให้เกิดโสตวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. โสตปสาท        มีประสาทหูดี
๒. สัททารมณ์       มีเสียงต่าง ๆ
๓. วิวรากาส          มีช่องว่าง (มีอากาศ)
๔. มนสิการ           มีความสนใจ (ปัญจทวาราวัชนจิต)

เหตุให้เกิดฆานวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. ฆานปลาท        มีประสาทจมูกดี
๒. คันธารมณ์        มีกลิ่นต่างๆ
๓. วาโยธาตุ          มีธาตุลมพา 
๔. มนสิการ           มีความสนใจ (ปัญจทวาราวัชนจิต)

เหตุให้เกิดชิวหาวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. ชิวหาปสาท      มีประสาทลิ้นดี
๒. รสารมณ์           มีรสต่างๆ
๓. อาโปธาตุ         มีธาตุน้ำ
๔. มนสิการ           มีความสนใจ (ปัญจทวาราวัชนจิต)

เหตุให้เกิดกายวิญญาณจิต ๒ ดวง

๑. กายปลาท        มีประสาทกายดี
๒. โผฏฐัพพารมณ์        มีความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง
๓. ถัทธปฐวี         มีปฐวีธาตุ
๔. มนสิการ         มีความสนใจ (ปัญจทวาราวัชนจิต)

จักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง โสตวิญญาณจิต ๒ ดวง ฆานวิญญาณจิต ๒ ดวง ชิวหาวิญญาณจิต ๒ ดวง และกายวิญญาณจิต ๒ ดวง รวมจิต ๑๐ ดวงนี้ เรียกว่า “ทวิปัญจวิญญาณจิต

เหตุให้เกิดมโนธาตุ ๓

๑. ปัญจทวาร        มีทวารทั้ง ๕ คือ ประสาทตา หู จมูก ลิ้น และกายดี
๒. ปัญจารมณ์       มีอารมณ์ทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ
๓. หทยวัตถุ          มีหทยวัตถุรูป อันเป็นที่อาศัยเกิดของจิต
๔. มนสิการ          มีความสนใจ

มโนธาตุ เป็นจิตที่รู้อารมณ์น้อยกว่าจิตดวงอื่นๆ มีอยู่ด้วยกัน ๓ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชนจิต ๑ ดวง และสัมปฏิจฉนจิต (รับอารมณ์) ๒ ดวง รวมจิต ๓ ดวงนี้ เรียกว่า “มโนธาตุ

เหตุให้เกิดมโนวิญญาณธาตุแห่งอเหตุกจิต ๕ ดวง

๑. ทวาร ๖         มีจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร และ มโนทวาร
๒. อารมณ์ ๖     มีรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ และ ธรรมารมณ์
๓. หทยวตถุ      มีหทยวัตถุ (เว้นอรูปพรหม)
๔. มนสิการ        มีความสนใจ

มโนวิญญาณธาตุ เป็นจิตที่มีความสามารถรู้อารมณ์ได้มากกว่าปัญจวิญญาณและมโนธาตุ ในอเหตุกจิตมี มโนวิญญาณธาตุ ๕ ดวง คือ มโนทวาราวัชนจิต ๑ หตุปปาทจิต ๑ และสันตีรณจิต ๓ รวมเป็นมโนวิญญาณธาตุ ๕ อันที่จริงจิตทั้งหมดมี ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง นอกจากทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวง และมโนธาตุ ๓ ดวงแล้ว นอกนั้นจิตที่เหลือ ๗๖ หรือ ๑๐๘ ดวงทั้งหมดนั้นเป็น “มโนวิญญาณธาตุ"

เหตุต่าง ๆ ที่ทำให้จักขุวิญญาณเป็นต้นเหตุเกิดขึ้นได้นั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าเมื่อมีเหตุประชุมกันทั้ง ๔ อย่างครบบริบูรณ์แล้ว การเห็นหรือจักขุวิญญาณ เป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นทันทีไม่มีสิ่งอื่นใดจะหักห้ามการเห็นไว้ได้ และถ้าขาดเหตุหนึ่งเหตุใดไปไม่ครบบริบูรณ์ทั้ง ๔ เหตุนั้นแล้ว ก็ไม่มีใครที่ไหนจะช่วยให้การเห็นเกิดขึ้นโดยตรง นอกจากจะช่วยทำเหตุที่ขาดไปนั้นให้ครบบริบูรณ์เสียก่อน การเห็นหรือจักขุวิญญาณจิตจึงจะเกิดขึ้นได้

ฉะนั้น ถ้าจะพิจารณากันให้ดีแล้ว สภาพที่เป็นไปในการเห็น การได้ยิน เป็นต้นนั้น ต้องอาศัยมีเหตุปัจจัยทำให้ปรากฏผลขึ้น และธรรมที่เป็นเหตุปัจจัยนั้นก็ล้วนมีสภาพเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครได้ หาตัวตนไม่ได้ มีแต่รูปนามเท่านั้น แต่เพราะโมหะ คือ อวิชชา ย่อมเข้าครอบงำปิดบังสภาพความจริงต่างๆ เหล่านั้นไว้เสีย ทำให้ปุถุชนทั้งหลายหลงยินดีติดใจในอารมณ์ที่เกิดทางทวารต่าง ๆ ใน

อัฏฐสาลินี และวิสุทธิมรรคอรรถกถาได้อุปมาทวาริกจิตทั้ง ๖ไว้ว่า

ตา เหมือนงู ชอบซอกซอนไปในที่ลี้ลับ อยากเห็นสิ่งที่ปกปิดไว้
หู เหมือนจระเข้ ที่ชอบวังน้ำวนที่เย็นๆ หูก็ชอบฟังถ้อยคำที่อ่อนหวาน
จมูก เหมือนนก ที่ชอบโผผินไปในอากาศ จมูกก็ชอบสูดดมกลิ่นหอมที่ลอยลมโชยมา
ลิ้น เหมือนสุนัขบ้าน ที่ชอบให้น้ำลายไหลอยู่เสมอ ลิ้นก็อยากจะลิ้มชิมรสอยู่เสมอเช่นเดียวกัน
กาย เหมือนสุนัขจิ้งจอก ที่ชอบเคี้ยวกินเนื้อมนุษย์ในป่าช้าผีดิบ กายก็ชอบอบอุ่นชอบสัมผัสทางกาย
ใจ เหมือนลิง  ที่ชอบซุกซนไม่หยุดนิ่งใจก็ชอบดิ้นรนกลับกลอกไปในอารมณ์ต่าง ๆ ที่ไม่อยู่นิ่งเหมือนกัน

หน้าที่ของอเหตุกจิต ๑๘ ดวง

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ ทัสสนกิจ คือ เห็นรูปารมณ์
โสตวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ สวนกิจ คือ ได้ยินสัททารมณ์
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ ฆายนกิจ คือ รู้คันธารมณ์
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ สายนกิจ คือ รู้รสารมณ์
กายวิญญาณ ๒ ดวง ทำหน้าที่ ผุสสนกิจ คือ รู้สัมผัสโผฏฐัพพารมณ์
สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง ทำหน้าที่ สัมปฏิจฉนกิจ คือ รับปัญจารมณ์

อุเบกขาสันตีรณจิต ๒ ดวง ทำหน้าที่ ๕ อย่าง คือ

  • ปฏิสนธิกิจ คือ เกิดในภพชาติใหม่
  • ภวังคกิจ คือ รักษาภพ
  • จุติกิจ คือ สิ้นจากภพ
  • สันตีรณกิจ คือ ไต่สวนอารมณ์
  • ตทาลัมพนกิจ คือ รับอารมณ์ต่อจากชวนะ
โสมนัสสันตีรณจิต ๑ ดวง ทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ
  • สันตีรณกิจ คือ ไต่สวนอารมณ์
  • ตทาลัมพนกิจ คือ รับอารมณ์ต่อจากชวนะ

ปัญจทวาราวัชนะ ๑ ดวง ทำหน้าที่ อาวชนกิจ คือ รับปัญจารมณ์ทางปัญจทวาร

มโนทวาราวัชนะ ๑ ดวง ทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ

  • อาวชนกิจ คือ รับอารมณ์ ๖ ทางมโนทวาร
  • โวฏฐัพพนกิจ คือ ตัดสินปัญจารมณ์ ว่าดี หรือไม่ดีทางปัญจทวาร

หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง ทำหน้าที่ ชวนกิจ คือ เสพอารมณ์ ทำให้เกิดการยิ้มของพระอรหันต์

ทวารของอเหตุกจิต ๑๘

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง จักขุทวาร
โสตวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง โสตทวาร
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง ฆานทวาร
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง ชิวหาทวาร
กายวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง กายทวาร

ปัญจทวาราวัชนะ ๑ ดวง อาศัยเกิดทาง ปัญจทวาร
สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง อาศัยเกิดทาง ปัญจทวาร

มโนทวารวัชนะ ๑ ดวง อาศัยเกิดทาง ทวารทั้ง ๖
สันตีรณจิต ๓ ดวง อาศัยเกิดทาง ทวารทั้ง ๖
หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง อาศัยเกิดทาง ทวารทั้ง ๖

วัตถุของอเหตุกจิต ๑๘

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ จักขุวัตถุ
โสตวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ โสตวัตถุ
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ ฆานวัตถุ
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ ชิวหาวัตถุ
กายวิญญาณ ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ กายวัตถุ

สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ
สันตีรณจิต ๓ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ
ปัญจทวาราวัชนจิต ๑ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ
มโนทวาราวัชนะจิต ๑ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ
หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง อาศัยเกิดที่ หทยวัตถุ

อารมณ์ของอเหตุกจิต ๑๘

จักขุวิญญาณ ๒ ดวง รู้รูปารมณ์ คือ เห็นสิ่งต่าง ๆ
โสตวิญญาณ ๒ ดวง รู้สัททารมณ์ คือ ได้ยินเสียงต่างๆ
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง รู้คันธารมณ์ คือ คือ รู้กลิ่นต่างๆ
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง รู้รสารมณ์ คือ รู้รสต่างๆ
กายวิญญาณ ๒ ดวง รู้โผฏฐัพพารมณ์ คือ เย็น ร้อน อ่อนแข็ง หย่อน ตึง

ปัญจทวาราวัชนจิต ๑ และ สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง รู้รูปารมณ์ รู้สัททารมณ์ รู้คันธารมณ์ รู้รสารมณ์ รู้โผฏฐพพารมณ์ (อารมณ์ ๕)

มโนทวาราวัชนจิต ๑ ดวง สันตีรณจิต ๓ ดวง และหสิตุปปาทจิต ๑ ดวง รู้รูปารมณ์ รู้สัททารมณ์ รู้คันธารมณ์ รู้รสารมณ์ รู้โผฏฐพพารมณ์ รู้ธรรมารมณ์ (อารมณ์ ๖)

แสดงการเกิดของอเหตุกจิต ๑๘ โดยวิถี
ปัญจทวารวิถี อติมหันตารมณ์


แผนผังอเหตุกจิต ๑๘ ดวง



อเหตุกจิต ๑๘ เป็นวิญญาณธาตุ 



วิญญาณธาตุ หมายถึง ธาตุอารมณ์ของจิต, จิตทั้งหมด ๘๙ ดวง หรือ ๑๒๑ ดวงนั้น มีความรู้อารมณ์ไม่เท่ากัน เมื่อสรุปแล้ว มีความรู้อารมณ์ ๓ แบบ คือ

ปัญจวิญญาณธาตุ
เป็นจิตที่มีหน้าที่รู้อารมณ์มากระทบ โดยเฉพาะทวารของตนๆ โดยตรง จึงรู้อารมณ์ได้มากปานกลาง ได้แก่จิต ๑๐ ดวง คือ ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐

มโนธาตุ
เป็นจิตที่รู้อารมณ์ได้น้อยที่สุด เพราะปัญจทวาราวัชนจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นรับอารมณ์เป็นขณะแรก และสัมปฏิจฉนะ ก็เป็นจิตที่เกิดในหทยวัตถุ รับปัญจารมณ์ต่อจากปัญจวิญญาณ ซึ่งจิตทั้งสองนี้ อาศัยวัตถุต่างกันเกิดขึ้น คือ ปัญจวิญญาณจิตอาศัยปัญจวัตถุ, สัมปฏิจฉนจิต อาศัยหทยวัตถุ เพราะจิตอาศัยวัตถุต่างกัน ย่อมจะมีกำลังน้อย มโนธาตุนี้ จึงรู้อารมณ์น้อยที่สุด ได้แก่จิต ๓ ดวง คือ ปัญจทวาราวชนจิต ๑ และสัมปฏิจฉนจิต ๒

มโนวิญญาณธาตุ
เป็นจิตที่รู้อารมณ์มากที่สุดเพราะได้รับปัจจัยจากปัญจวิญญาณธาตุ และมโนธาตุย่อมมีกำลังมาก จึงรู้อารมณ์มากที่สุด ได้แก่จิต ๗๖ ดวง (เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ มโนธาตุ ๓)

🔅 อกุศลจิต กับ อเหตุกจิต
อกุศลจิต ๑๒ ดวง กับ อเหตุกจิต ๑๘ ดวง รวมจิต ๓๐ ดวงนี้ ชื่อว่า “อโสภณจิต” ที่ชื่อว่า อโสภณจิตนั้น มิได้หมายความว่า เป็นจิตที่ไม่ดีไม่งาม หรือเป็นจิตที่เป็นบาปต่ำทรามแต่อย่างใดไม่ แต่เป็นการแสดงภาวะของจิตโดยปริยายว่า “อโสภณจิต” เป็นจิตที่นอกจากโสภณจิต เป็นจิตที่ไม่ได้เกิดพร้อมกันกับโสภณเจตสิก

อโสภณจิต ๓๐
🔺 อกุศลจิต ๑๒
                โลภมูลจิต ๘
                - โทสมูลจิต ๒
                - โมหมูลจิต ๒

🔺 อเหตุกจิต ๑๘
               - อกุศลวิปากจิต ๗
               - อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘
               - อเหตุกกิริยาจิต ๓

ทำไมอโสภณจิต จึงไม่ได้มีความหมายว่า เป็นจิตที่ไม่ดีไม่งามเหมือน อกุศลจิต ?
เพราะอกุศลจิตนั้นเกิดในทุกคนไม่ได้เหมือนอย่างอเหตุกจิต เช่น อกุศลจิตบางดวงเกิดไม่ได้ในพระโสดาบัน มีโลภจิตที่เกิดพร้อมกับความเห็นผิด เป็นต้น หรือพระอนาคามีบุคคล อกุศลจิตชนิดมีกามราคะหรือโทสจิต ย่อมเกิดไม่ได้อีกในสันดานของพระอนาคามีบุคคลทั้งหลาย ยิ่งพระอรหันต์ด้วยแล้ว อกุศลจิตทั้งหลายย่อมเกิดไม่ได้เลย แต่พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ปรินิพพาน ย่อมยังจะต้องเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รส ถูกต้องสัมผัส และนึกคิดเป็นไปเช่นเดียวกับบุคคลอื่นทั้งหลาย แสดงว่า ท่านยังมือเหตุกจิต ซึ่งเป็นอโสภณจิต แต่ไม่ใช่จิตที่ไม่ดีไม่งาม เพราะพระอรหันต์ทั้งหลายผู้สิ้นกิเลสาสวะทั้งปวงแล้ว ถ้าอโสภณจิต แปลว่า เป็นจิตที่ไม่ดีไม่งามแล้ว ก็กลายเป็นว่า พระอรหันต์ยังมีจิตที่ไม่ดีไม่งามอยู่อีก ดังนั้น อโสภณจิตจึงต้องมีความหมายเพียงจิตที่นอกจากโสภณจิต หรือจิตที่ไม่มีโสภณเจตสิกประกอบตามเหตุผลดังกล่าวแล้วเท่านั้น


อเหตุกจิต ๑๘ (หน้า ๑)

คำว่า “อเหตุกะ” หมายถึง ไม่ประกอบด้วยเหตุ “อเหตุกจิต” จึงหมายถึง จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ตามธรรมดาจิตที่ปรากฏขึ้นส่วนมาก ต้องประกอบด้วยเหตุ ไม่เหตุบุญ ก็เหตุบาป อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า กุศลเหตุ อกุศลเหตุ

เหตุบาป หรือ อกุศลเหตุนั้น ได้แก่ โลภเหตุ, โทสเหตุ, และโมหเหตุ
เหตุบุญ หรือ กุศลเหตุ ก็ได้แก่ อโลภเหตุ, อโทสเหตุ และ อโมหเหตุ

รวมเหตุบุญและเหตุบาปมีอยู่ด้วยกันเพียง ๖ เหตุนี้เท่านั้น ธรรมที่เป็นเหตุนี้เป็นเจตสิกธรรม ที่ประกอบกับจิต จิตที่เกิดขึ้นโดยมีเหตุดังกล่าวประกอบด้วยนั้น ชื่อว่า “สเหตุกจิต” แต่ยังมีจิตอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ได้ประกอบด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งใน ๖ เหตุดังกล่าวแล้วนั้นเลย จิตประเภทนี้แหละ ที่ชื่อว่า “อเหตุกจิต” เป็นจิตที่ไม่มีทั้งเหตุบุญและเหตุบาปประกอบด้วยเลย เหตุที่ประกอบนี้ มุ่งหมายถึง สัมปยุตเหตุ คือเหตุที่ประกอบกับจิตทันที แต่อุปัตติเหตุ คือเหตุที่ทำให้จิตแต่ละดวงปรากฏขึ้น เหล่านี้ย่อมมีอยู่ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

อเหตุกจิต จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุนี้ มีอยู่ ๑๘ ดวง แบ่งออกตามที่แสดงไว้ในคาถาสังคหะได้ ๓ จำพวก

คาถาสังคหะ

สตฺตากุศลปากานิ  ปุญฺญปากานิ อฏฺฐธา กริยาจิตฺตานิ ตีณีติ  อฏฐารส อเหตุกา ฯ แปลความว่า อกุศลวิปากจิต ๗ อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ อเหตุกกริยาจิต ๓ รวมจิต ๑๘ ดวงนี้ เป็น "อเหตุกจิต"

🔆 แสดงอเหตุกจิต ๑๘ ดวง

อกุศลวิปากจิต ๗ เป็นจิตที่เป็นผลของอกุศลกรรม หมายความว่า อกุศลกรรมอันเป็นกรรมฝ่ายชั่ว ฝ่ายบาป ที่ได้กระทำไว้แล้วแต่อดีต ย่อมไม่สูญหายไปไหน จะคอยโอกาสเพื่อสนองให้ได้รับผลเป็นอกุศลวิปากจิต ๗ ดวง มีการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รส ถูกต้องสัมผัส รับ และพิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดีต่าง ๆ อันมีแต่จะเป็นผลให้จิตต้องรับรู้อารมณ์ในทางที่ไม่ดี ๗ ประการด้วยกัน จิตที่รับรู้ผลของอกุศลกรรมเหล่านี้ จึงชื่อว่า อกุศลวิปากจิต ซึ่งมีจำนวน๗ ดวง

อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ เป็นจิตที่เป็นผลของกุศลกรรม หมายความว่ากุศลกรรมอันเป็นกรรมฝ่ายดี คือ บุญ ที่ได้กระทำไปแล้วในอดีต ย่อมจะไม่สูญหายไปไหนเช่นเดียวกัน จะคอยโอกาสที่จะสนองให้ได้รับผลเป็นอเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ ดวง กล่าวคือ ถ้ากุศลกรรมที่ได้ทำไว้แล้วในอดีตนั้นมีกำลังอ่อน คือเป็นกุศลกรรมชนิดปรารภอกุศลเป็นมูลเดิม หรือกุศลกรรมชนิดที่มีอกุศลตามเป็นบริวาร หรือกุศลชวนะดวงที่ ๑ ในปัจจุบันภพนี้ ย่อมจะมีกำลังในการให้ผลอ่อนเป็นอเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ มีการเห็น ได้ยินได้กลิ่น รู้รสที่ดีๆ เป็นต้น ผลของกุศลกรรมที่มีกำลังอ่อนนี้ ย่อมให้จิตรับรู้โดยความเป็นอเหตุกกุศลวิปากจิต คือเป็นจิตที่รับรู้ผลในทางที่มีอยู่ ๘ ดวง

อเหตุกกิริยาจิต ๓ เป็นจิตที่ไม่ได้เป็นผลของอกุศลกรรม หรือกุศลกรรมแต่อย่างใด และก็ไม่ใช่เป็นกุศลจิตด้วย หรืออกุศลจิตด้วย แต่เป็นจิตที่เกิดขึ้นตามหน้าที่การงานของตนเท่านั้น คือ ทำหน้าที่เปิดทวารให้อารมณ์ที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้า ได้ผ่านเข้ามากระทบกับ หรืออีกอย่างหนึ่ง เป็นจิตที่ทำให้เกิดการยิ้มของพระอรหันต์เพราะประสบกับอนิฏฐารมณ์ ซึ่งสักแต่ว่าเป็นกิริยาของจิตที่จะทำหน้าที่การงานในการรับอารมณ์เช่นนั้น จึงชื่อว่า เป็นอเหตุกกิริยาจิตมีจำนวน ๓ ดวง


ข้อควรสังเกต จิตที่เป็นผลของอกุศลกรรม เรียกว่า “อกุศลวิปากจิต” แต่ส่วนจิตที่เป็นผลของกุศลกรรม เรียกว่า “อเหตุกกุศลวิปากจิต” ที่เรียกเช่นนี้ เพราะอกุศลกรรมนั้น มีกำลังอ่อน ให้ผลแต่ในประเภทอเหตุกจิตประเภทเดียว ทั้งนี้เพราะอกุศลกรรมย่อมเกิดจากอกุศลจิต และอกุศลจิตทุกดวง สัมปยุตด้วยอุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านที่ทำให้จิตจับอารมณ์ไม่มั่นคงทำให้อกุศลเจตนาที่ประกอบด้วยเหตุนั้นอ่อนกำลังลง และไม่สามารถที่จะให้ผลเป็นอกุศลวิบากชนิดที่ประกอบด้วยเหตุได้ฉะนั้น ผลของอกุศลกรรม จึงมีแต่ประเภทอเหตุกจิตฝ่ายเดียว ไม่มีผลเป็นประเภทสเหตุกจิต เหมือนอย่างผลของมหากุศล จึงไม่จำเป็นต้องเรียก “อเหตุกอกุศลวิปากจิต” คงเรียกแต่ “อกุศลวิปากจิต”เท่านั้น

ส่วนผลของกุศลกรรมนั้น ถ้ากุศลกรรมมีกำลังมาก ก็ให้ผลเป็นสเหตุกจิต คือ มีกุศลเหตุเข้าประกอบ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุสัมปยุตด้วย แต่ถ้ากุศลกรรมมีกำลังในการให้ผลน้อย เพราะกุศลมีอกุศลเป็นบริวารแล้ว ก็จะให้ผลเป็นอเหตุกจิต คือ ไม่มีกุศลสัมปยุตเหตุ ด้วยเหตุนี้ ผลของกุศลจึงมี ๒ ฝ่าย คือ สเหตุกกุศลวิปากจิต และอเหตุกกุศลวิปากจิต ฉะนั้น ผลของกุศลที่มีกำลังน้อย จึงต้องแยกเรียกเป็น“อเหตุกกุศลวิปากจิต”

กิริยาจิตก็มี ๒ ฝ่าย คล้ายกุศลวิปากจิต คือมีทั้งสเหตุกกิริยาจิต ได้แก่จิตของพระอรหันต์ที่กระทำการงานต่าง ๆ เป็นกิริยาจิตที่ประกอบด้วยเหตุที่เรียกว่ามหากิริยาจิตมีจำนวน ๘ ดวง และอเหตุกิริยาจิต ซึ่งได้แก่ จิตที่ทำหน้าที่การงานเปิดทวารรับกระทบอารมณ์ใหม่ๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของสัตว์ทั้งหลายมีจำนวน ๒ ดวง และจิตที่ทำให้เกิดการยิ้มของพระอรหันต์ ที่เรียกว่า “หสิตุปปาทจิต” เกิดขึ้น เพราะประสบอนิฏฐารมณ์อีก ๑ ดวง จิตทั้ง ๓ ประเภทที่กล่าวนี้ ไม่มีสัมปยุตเหตุ จึงชื่อว่า “อเหตุกจิต” และสักแต่ว่ามีหน้าที่ในการกระทำกิจการงานจึงชื่อว่า “อเหตุกกิริยาจิต” ซึ่งจะได้ศึกษารายละเอียดต่อไป


👉 อกุศลวิปากจิต ๗

อกุศลวิปากจิต เป็นจิตที่เป็นผลของอกุศลกรรม ที่ได้กระทำไปแล้วในอดีต มีจำนวน ๗ ดวง ได้แก่

๑. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ จักขุวิญญาณํ จิตที่อาศัยจักขุวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของอกุศลกรรม เห็นรูปารมณ์ที่ไม่ดี
๒. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ โสตวิญญาณํ จิตที่อาศัยโสตวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของอกุศลกรรม ได้ยินเสียงที่ไม่ดี
๓. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ  ฆานวิญญาณํ จิตที่อาศัยฆานวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของอกุศลกรรม ได้กลิ่นที่ไม่ดี
๔. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ ชิวหาวิญญาณํ จิตที่อาศัยชิวหาวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉย ๆ เป็นผลของอกุศลกรรม ได้รสที่ไม่ดี
๕. ทุกขสหคตํ อกุศลวิปากํ กายวิญญาณ จิตที่อาศัยกายวัตถุเกิดพร้อมทุกขเวทนา เป็นผลของอกุศลกรรม ได้สัมผัสสิ่งที่ไม่ดี

๖. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ  สมปฏิจฉนจิตฺตํ จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆเป็นผลของอกุศลกรรม รับอารมณ์ทั้ง ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่าง ๆ) ที่ไม่ดี
๗. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ  สนุรณจิตฺตํ จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของอกุศลกรรม พิจารณาอารมณ์ทั้ง ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) ที่ไม่ดี

ในอกุศลวิปากจิต ๗ ดวงนี้ มีสิ่งที่ควรทำความเข้าใจอยู่ ๒ ประการ คือ

        ๑. อกุศลวิปากจิต ๗ ดวงนั้น มีชื่อเรียกต่างกัน คือ เรียกว่า “วิญญาณ” บ้าง เรียกว่า “จิต” บ้าง ที่เรียกว่า “วิญญาณ” นั้น ได้แก่

  • จักขุวิญญาณ หมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ทางตา คือ เห็น
  • โสตวิญญาณ หมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ทางหู คือ ได้ยิน
  • ฆานวิญญาณ หมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ทางจมูก คือ รู้กลิ่น
  • ชิวหาวิญญาณ หมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ทางลิ้น คือ รู้รส
  • กายวิญญาณ หมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ทางกาย คือ รู้สัมผัสถูกต้อง

การบัญญัติชื่อเรียก จิต ธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์นั้น บัญญัติขึ้นโดยอาศัย เวทนา, เหตุ, กิจ, ทวาร, อารมณ์และวัตถุ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่ความเหมาะสม ในที่นี้จักขุวิญญาณ เป็นจิตที่อาศัยรู้อารมณ์ทางจักขุทวาร เมื่อรูปารมณ์มากระทบจักขุทวาร ถ้าเรียกว่า จักขุจิต จะทำให้เข้าใจไปว่า “จักขุ” นั้นเป็น “จิต” แท้ที่จริงแล้วจักขุมีสภาพเป็นรูปธรรม ซึ่งไม่อาจรู้อารมณ์ได้ สภาพที่รู้อารมณ์ได้แก่วิญญาณซึ่งเป็นนามธรรม แต่วิญญาณนี้อาศัยรู้อารมณ์ทางจักขุ จึงเรียกว่า “จักขุวิญญาณ” วิญญาณอื่นๆ มีโสตวิญญาณ เป็นต้น ก็เป็นไปโดยทำนองเดียวกัน แต่ส่วนอกุศลวิปากจิตที่เหลืออีก ๒ ดวง คือ สัมปฏิจฉนจิต และสันตีรณจิตนั้น เรียกว่า “จิต” ไม่เรียกว่า “วิญญาณ”

เพราะดังที่กล่าวมาแล้ว จักขุวิญญาณ เป็นต้น บัญญัติขึ้นโดยอาศัยทวารและวัตถุ ซึ่งเป็นชื่อของรูปธรรมเป็นหลัก เพื่อป้องกันมิให้เข้าใจผิดไปว่า รูปธรรมนั้นเป็นจิตได้ ส่วนสัมปฏิจฉนจิต และสันตีรณจิตนี้ บัญญัติโดยอาศัยกิจคือ หน้าที่การงานของจิต ซึ่งเป็นนามธรรม และจิตก็เป็นผู้กระทำอยู่แล้ว จึงไม่ต้องเอาคำว่าวิญญาณมาซ้อนกับจิตอีกซึ่งเรียกชื่อโดยตรงว่า “สัมปฏิจฉนจิต” เป็นจิตที่ทำหน้าที่รับปัญจารมณ์โดยตรง และ “สันตีรณจิต” ก็เป็นจิตที่ทำหน้าที่พิจารณาปัญจารมณ์โดยตรง

        ๒. เวทนาที่เกิดพร้อมกับอกุศลวิปากจิตนั้น มี ๒ เวทนา คือ อุเบกขาเวทนาและทุกขเวทนา จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ สัมปฏิจฉนจิตและสันตีรณจิต จิตทั้ง ๖ นี้ เกิดพร้อมกับอุเบกขาเวทนา คือความเฉยๆ ไม่รู้สึกว่า เป็นทุกข์หรือเป็นสุข เพราะจิตเหล่านี้เกิดขึ้นโดยการกระทบกันระหว่างอุปาทายรูป กับ อุปาทายรูป คือ รูปารมณ์ กับ จักขุปสาท เป็นต้น อุปมาเหมือนสำลีกระทบกับสำลีย่อมมีกำลังแห่งการกระทบกันน้อย จึงไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกขนาดเป็นทุกข์ เป็นสุขขึ้นมาได้ ส่วนกายวิญญาณนั้น จิตรู้การสัมผัสถูกต้องทางกายอกุศลวิบากกายวิญญาณจิตย่อมเกิดพร้อมกับทุกขเวทนา เพราะกายวิญญาณนี้ จะเกิดขึ้นได้ก็โดยอาศัยการกระทบกันระหว่างมหาภูตรูป คือ ปถวี เตโช วาโย ธาตุ (เว้นอาโป คือ ธาตุน้ำ) กับอุปาทายรูป (กายปสาท) อุปมาเหมือนเอาฆ้อนทุบสำลีที่วางอยู่บนทั่ง ย่อมมีกำลังในการกระทบกันแรง จึงก่อให้เกิดทุกขเวทนาปรากฏขึ้นได้


👉 อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘

อเหตุกกุศลวิปากจิต เป็นจิตที่เป็นผลของกุศลกรรม หรือจิตที่เกิดจากอำนาจของกุศลเจตนาในมหากุศลจิต ๘ ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต แต่เพราะความบกพร่องแห่งเจตนาในกาลทั้ง ๓ คือ เจตนาก่อนการกระทำกุศลกรรม เจตนาขณะกำลังกระทำกุศลกรรม และเจตนาภายหลังที่ได้กระทำกุศลกรรมนั้นแล้ว กาลใดกาลหนึ่งจึงทำให้ผลแห่งกุศลเจตนานั้น มีกำลังอ่อน และให้ผลเป็นอเหตุกะ คือ เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีกุศลเหตุ อันได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุ ประกอบในฐานะเป็นสัมปยุตเหตุ อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ จึงปรากฏขึ้น เป็นผลของกุศลกรรมในอดีต มีจำนวน ๘ ดวง คือ

๑. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก จักขุวิญญาณํ จิตที่อาศัยจักขุวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล เห็นรูปที่ดีๆ
๒. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก โสตวิญญาณํ จิตที่อาศัยโสตวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล ได้ยินเสียงที่ดี
๓. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก ฆานวิญญาณํ จิตที่อาศัยฆานวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล ได้กลิ่นที่ดี
๔. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก ชิวหาวิญญาณํ จิตที่อาศัยชิวหาวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล ได้รสที่ดี
๕. สุขสหคตํ กุสลวิปากํ กายวิญญาณํ จิตที่อาศัยกายวัตถุเกิดพร้อมกับสุขเวทนาเป็นผลของกุศล ได้สัมผัสสิ่งที่ดี
๖. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก สมปฏิจฉนจิตตํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล ทำหน้าที่รับอารมณ์ทั้ง ๕ ที่ดี
๗. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก สนุรณจิตตํ จิตที่เกิดพร้อมด้วยความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ทั้ง ๕ ที่ดี
๘. โสมนสฺสสหคตํ กุสลวิปากํ สนุตีรณจิตตํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความยินดีเป็นผลของกุศล ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ทั้ง ๕ ที่ดียิ่ง


อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ ดวงนี้ เป็นสภาพจิตที่รับอารมณ์ทางปัญจทวารทำนองเดียวกับอกุศลวิปากจิต ๗ ดวงที่กล่าวแล้ว แต่ต่างกันที่ว่า อเหตุกกุศลวิปากจิตนี้ เป็นผลในทางดีที่เป็นฝ่ายกุศล ทำให้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รส ถูกต้องสัมผัสแต่ที่ดีๆ ซึ่งเป็นไปโดยนัยที่ตรงกันข้ามกับอกุศลวิปากจิต เป็นที่น่าสังเกตว่า อเหตุกกุศลวิปากจิตนั้น มีจำนวน ๘ ดวง ซึ่งมีมากกว่าอกุศลวิปากจิต ๑ ดวง คือ โสมนัสสันตีรณจิต ที่เป็นเช่นนี้ เพราะสันตีรณจิต เป็นจิตที่ทำหน้าที่ในการพิจารณาอารมณ์ และอารมณ์ทางฝ่ายกุศลวิปากจิตนั้นจำแนกเป็น ๒ ชนิด คือ

  • อิฏฐมัชฌัตตารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ดีอย่างธรรมดาอย่างหนึ่ง
  • อติอิฏฐารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ดีอย่างยิ่งอีกอย่างหนึ่ง
กุศลวิบากสันตีรณจิตนั้นเมื่อเวลาได้รับอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ ย่อมเกิดขึ้นพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา กุศลวิบากสันตีรณจิตนี้ จึงชื่อว่า อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิต << ขยายความ เช่น ท่านได้ทานอาหารเช้าเป็นข้าวต้มทุกวัน ๆ  อาหารเป็นกุศลวิบากที่ท่านได้รับ แต่อารมณ์ที่ได้ลิ้มรสอาหารมันก็ธรรมดาๆ เหมือนๆเ ดิม อารมณ์ในการกินอาหารจึงเป็นได้แค่อิฎมัชฌัตตารมณ์ แต่ถ้าวันไหนมื้อเช้าเปลี่ยนจากข้าวต้ม เป็นอาหารเริสรสอย่างอื่น เป็นเป็ดย่าง ขาหมูรมควัน อารมณ์ท่านก็จะดียิ่งขึ้น มีความโสมนัส ความพอใจยิ่งๆกว่าเก่า เกิดขึ้น อารมณ์ที่ดียิ่งขึ้นเป็นโสมนัสนี้ก็เรียกว่า อติอิฎฐารมณ์ >> เมื่อเวลาได้รับอติอิฏฐารมณ์ย่อมเกิดขึ้นพร้อมด้วยโสมนัสเวทนา กุศลวิบากชนิดนี้ จึงชื่อว่า โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากจิต

แต่ส่วนอกุศลวิบากสันตีรณจิตนั้น เมื่อเวลาได้รับอนิฏฐมัชฌัตตารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่ดีอย่างธรรมดา หรือได้รับอติอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่ดีอย่างยิ่ง ทั้ง ๒ อารมณ์นี้ย่อมเกิดขึ้นพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาอย่างเดียว ไม่อาจเกิดพร้อมด้วยโทมนัสเวทนา (ความเสียใจ, ทุกข์ใจ เกิดขึ้นเฉพาะทางใจ) ได้เพราะโทมนัสเวทนา (ความเสียใจ) นั้น จะต้องประกอบกับโทสมูลจิตเท่านั้น ดังได้กล่าวแล้วว่าโทสมูลจิตนี้ เมื่อว่าโดยชาติตระกูลของจิตแล้วก็เป็นอกุศลชาติ และเมื่อว่าโดยเหตุแล้ว ก็เป็นอกุศลเหตุ คือ โทสะเหตุ แต่สันตีรณจิตนั้น ย่อมเป็นจิตที่เป็นวิปากชาติอย่างเดียว คือ เป็นจิตชนิดที่เป็นผล ไม่ใช่ชนิดที่เป็นเหตุ และยังเป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุต่าง ๆ อีกด้วย ฉะนั้นอกุศลวิบากสันตีรณจิต ถึงแม้จะได้รับอารมณ์ชนิดที่เป็นอติอนิฏฐารมณ์ ก็เกิดพร้อมด้วยโทมนัสเวทนาไม่ได้เลยต้องเกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาอยู่นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ อกุศลวิปากจิต จึงต้องมีเพียง ๗ ดวง น้อยกว่าอเหตุกกุศลวิปากจิตอยู่ ๑ ดวง <<ตรงนี้ให้พิจารณา อกุศลวิบากสันตีรณจิตก็เป็นจิตดวงนึง โทมนัสที่เกิดร่วมกับโทสะก็เป็นจิตดวงนึง ตัวสันตีรณะ เป็นวิบากจิตก็จริง ตัวมันเองไม่เป็นบุญเป็นบาป แต่ก็เป็นเหตุส่งต่ออารมณ์ให้จิตดวงต่อไปว่าจะเกิดเป็นโทสะ,โทมนัส หรือ มีปัญญาไต่สรวญอารมณ์ที่ไม่ดีให้ยุติที่อุเบกขาคือรู้ตามสภาพจริงว่ามันคืออกุศลวิบาก ข้อนี้พระพุทธองค์จึงกล่าวแยกจิตออกเป็น ๒ ดวง เพราะแม้แต่ผู้บรรลุอรหันตผลแล้วก็ยังต้องรับอกุศลวิบากอยู่ แต่การปรุงแต่งของจิตต่อจากนั้นไม่มีแล้ว คือก็สักแต่ว่ารับรู้จิตดวงที่เป็นอกุศลวิบากแต่จิตที่เป็นโทสะจะไม่เกิดขึ้นตาม โทสะมูลจิตไม่เกิดโทมนัสก็เกิดไม่ได้>>

อนึ่ง จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ และกายวิญญาณ ที่เป็นไปทั้งฝ่ายอกุศลวิบาก และ กุศลวิบากนั้น นิยมเรียกกันว่า “ทวิปัญจวิญญาณจิต ซึ่งหมายถึงจิต ๑๐ ดวง ที่อาศัยเกิดทางตา หู จมูก ลิ้น และกายทั้งทางฝ่ายดี และไม่ดีเพื่อประโยชน์แก่การจดจำ และเรียกชื่อจิตเหล่านั้นนั่นเอง

👉 หน้าต่อไป