อนิยตโยคี และ นิยตโยคีเจตสิก

อนิยตโยคีเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้เป็นบางครั้งบางคราวไม่แน่นอน
นิยตโยคีเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้แน่นอน

คาถาสังคหะ
อิสฺสามจฺเฉรกุกฺกุจฺจ      วิรติกรุณาทโย
นานา กทาจิ มาโน จ       ถีนมิทฺธํ ตถา สห ฯ

แปลความว่า อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ วิรตีเจตสิก ๓ กับกรุณา มุทิตา รวมเจตสิก ๘ ดวงนี้ ประกอบกับจิตได้เป็นบางครั้งบางคราว และ ไม่ประกอบพร้อมกัน เรียกเจตสิกทั้ง ๘ นี้ว่า “นานากทาจิเจตสิก” มานเจตสิกก็ประกอบกับจิตเป็นครั้งคราวไม่แน่นอนจึงชื่อว่า “กทาจิเจตสิก” ถีนะมิทธะเจตสิก ๒ ดวงนี้ ประกอบกับจิตได้เป็นบางครั้งบางคราว แต่ประกอบกับจิตพร้อมกันจึงชื่อว่า “สหกทาจิ”

คาถาสังคหะ
ยถาวุตฺตานุสาเรน      เสสา นิยตโยคิโน
สงฺคหญฺง ปวกฺขามิ      เตสนฺทานิ ยถารหํ ฯ

แปลความว่า เจตสิก ๔๑ ดวงที่เหลือจาก ๑๑ ดวง ดังกล่าวแล้วนั้นเป็นเจตสิกที่ประกอบกับจิตได้แน่นอน จึงชื่อว่า “นิยตโยคีเจตสิก”

อธิบาย
เจตสิกปรมัตถ์มี ๕๒ ดวง เมื่อกล่าวโดยประกอบกับจิตแล้วจําแนกได้เป็น ๒ ประเภท คือ
    ๑. อนิยตโยคีเจตสิก ๑๑ ดวง
    ๒. นิยตโยคีเจตสิก ๔๑ ดวง

๑. อนิยตโยคีเจตสิก 

เป็นเจตสิกที่ประกอบกับจิตได้ในบางครั้งบางคราวไม่แน่นอน ได้แก่ เจตสิก ๑๑ ดวง คือ :-

  • มานะ ๑ ดวง
  • อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ ๓ ดวง
  • ถีนะ มิทธะ ๒ ดวง
  • สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ๓ ดวง
  • กรุณา มุทิตา ๒ ดวง

เจตสิกทั้ง ๑๑ ดวงนี้ที่ประกอบจิตได้เป็นครั้งคราวไม่แน่นอนนั้นหมายความว่า เจตสิกเหล่านี้กำหนดไว้ว่า สามารถประกอบกับจิตดวงใดได้บ้าง และเมื่อจิตดวงนั้นเกิดขึ้น บางครั้งเจตสิกเหล่านี้ก็ประกอบ บางครั้งก็ไม่เข้าประกอบ ฉะนั้น จึงกล่าวว่า ประกอบเป็นครั้งคราวไม่แน่นอน และในกลุ่มอนิยตโยคีเจตสิก ๑๑ ดวงนี้ ยังจำแนกออกไปเป็น ๓ จำพวก ตามลักษณะการประกอบกับจิต คือ :-

    🔅 นานากทาจิเจตสิก มี ๘ ดวง คือ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ (โลกิยวิรตี ๓) กรุณา มุทิตา เจตสิก ๘ ดวงนี้ ประกอบกับจิตได้เป็นครั้งคราวไม่แน่นอน และไม่ประกอบพร้อมกันด้วย แม้ว่า อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ จะอยู่ในกลุ่มของโทจตุกเจตสิกด้วยกัน หรือแม้สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะจะเป็นวิรตีเจตสิก (โลกียวิรตี) ด้วยกัน หรือ กรุณา มุทิตา จะเป็นอัปปมัญญาเจตสิกด้วยกัน แต่ขณะประกอบกับจิตนั้น ย่อมไม่ประกอบพร้อมกัน เพราะว่าอารมณ์เป็นขอบเขตจำกัดโดยเฉพาะ การประกอบได้เป็นครั้งคราว และไม่ประกอบพร้อมกันของเจตสิกนี้ จึงชื่อว่า “นานากทาจิเจตสิก”

    🔅 กทาจิเจตสิก มี ๑ ดวง ได้แก่ มานเจตสิก เพราะมานเจตสิกเป็นเจตสิกดวงเดียวในกลุ่มโลติกเจตสิก (โลภะ ทิฏฐิ มานะ) ที่เป็นอนิยตโยคีเจตสิก ฉะนั้นการประกอบกับจิตได้ไม่แน่นอนของเจตสิกดวงเดียวนี้จึงชื่อว่า “กทาจิเจตสิก”

    🔅 สหกทาจิเจตสิก มี ๒ ดวง ได้แก่ ถีนะ มิทธะ เจตสิก ๒ ดวงนี้ประกอบกับจิตได้เป็นครั้งคราว แต่ประกอบพร้อมกันทั้ง ๒ ดวง จึงชื่อว่า “สหกทาจิเจตสิก”

แสดงการประกอบของอนิยตโยคีเจตสิก

อนิยตโยคีเจตสิกที่ประกอบกับจิตได้เป็นครั้งคราวไม่แน่นอนนั้นเพราะเจตสิกเหล่านี้มีอารมณ์จำกัดขอบเขตไว้โดยเฉพาะจึงจะเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่ประกอบกับจิตได้ทั่วไป ดังกำหนดไว้ กล่าวคือ

มานเจตสิก ที่กำหนดว่า ประกอบกับทิฏฐิคตวิปปยุตจิต ๔ ดวงนั้นย่อมประกอบได้ไม่แน่นอน หมายความว่า ถ้าเวลาใดทิฏฐิคตวิปปยุตจิตเกิดขึ้นโดยสภาวะที่ถือตัวคือ อหํคาห เวลานั้นมานเจตสิกก็ประกอบ แต่ถ้าเวลาใดทิฏฐิคตวิปปยุตจิตเกิดขึ้นโดยไม่เกี่ยวกับความถือตัว เวลานั้นมานเจตสิกก็ไม่ประกอบ จึงนับว่า มานเจตสิกย่อมประกอบเป็นครั้งคราว จัดเป็นกทาจิเจตสิก

อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ เจตสิก ๓ ดวงนี้ กำหนดว่าประกอบกับ โทสมูลจิต ๒ ดวงนั้น ย่อมประกอบได้ไม่แน่นอนและประกอบได้ไม่พร้อมกัน ที่ประกอบได้ไม่แน่นอนนั้น หมายความว่า เวลาใดที่โทสมูลจิตเกิดขึ้นโดยไม่มีความอิจฉาริษยา ตระหนี่ หรือรำคาญใจอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์ คงมีแต่โทสมูลจิตเกิดขึ้นจากอารมณ์อย่างอื่น เวลานั้นเจตสิกทั้ง ๓ ดวงไม่ได้ประกอบกับโทสมูลจิตเลย คงมีแต่โทสเจตสิกในกลุ่มของโทจตุกเจตสิกประกอบอย่างเดียวเท่านั้น แต่ถ้าเวลาใดโทสมูลจิตเกิดขึ้น โดยมีความริษยาคุณความดีของผู้อื่นเป็นอารมณ์แล้ว เวลานั้นโทสมูลจิตเกิดขึ้นโดยมีอิสสาเจตสิกเข้าประกอบด้วย แต่มัจฉริยะและกุกกุจจะย่อมไม่เข้าประกอบ หรือถ้าเวลาใดจิตเกิดขึ้น โดยมีความตระหนี่สมบัติของตนเป็นอารมณ์เวลานั้นโทสมูลจิตก็มีมัจฉริยเจตสิกเข้าประกอบ แต่อิสสาและกุกกุจจะย่อมไม่เข้าประกอบ หรือเวลาใดโทสมูลจิตเกิดขึ้นโดยมีความรำคาญใจในทุจริตที่ได้ทำไปแล้ว หรือในสุจริตที่ยังไม่ได้ทำ เวลานั้นโทสมูลจิตก็มีกุกกุจจเจตสิกเข้าประกอบ แต่อิสสาและมัจฉริยะย่อมไม่เข้าประกอบด้วย

ถีนมิทธเจตสิก เจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ กำหนดว่าประกอบกับอกุศลสสังขาริกจิต ๕ ดวงนั้น ก็ประกอบได้ไม่แน่นอน เพราะถ้าเวลาใดอกุศลสสังขาริกจิตเกิดขึ้นก็จริง แต่จิตนั้นยังเข้มแข็งอยู่ไม่หดหู่ท้อถอยจากอารมณ์เวลานั้นถีนมิทธเจตสิกก็ไม่เข้าประกอบ แต่เมื่ออกุศลสสังขาริกจิตเกิดขึ้นแล้วมีความไม่เข้มแข็งท้อถอยจากอารมณ์เวลาใด เวลานั้นถีนมิทธเจตสิกก็เข้าประกอบ และการประกอบของถีนมิทธเจตสิก ๒ ดวงนี้ ย่อมเข้าประกอบพร้อมกันเสมอ

วิรตีเจตสิก ๓ ดวงคือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ เป็นเจตสิกที่ประกอบกับจิต ๑๖ หรือ ๔๘ ดวง ที่ว่าเป็นอนิยตโยคีเจตสิกจำพวกนานากทาจินั้น มุ่งหมายเอาโลกียวิรตีเจตสิกคือ วิรตีเจตสิกที่ประกอบกับมหากุศลจิต ๘ ดวงนั้น ส่วนโลกุตตรวิรตีคือ วิรตีเจตสิกที่ประกอบกับโลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ นั้นเป็น นิยตเอกโตเจตสิก คือเจตสิกที่ประกอบได้แน่นอนและพร้อมกันเสมอ ดังที่พระอนุรุทธาจารย์แสดงว่า

วิรตโย ปน ติสฺโสปิ โลกุตตรจิตฺเตสุ สพฺพณปินิยตา เอกตโว ลพฺภนฺติ ฯ
โลกิเยสุ ปน กามาวจรกุสเลเสฺวว กทาจิ สนฺทิสฺสนฺติ วิสุ วิสุํ ฯ


แปลความว่า วิรตีเจตสิก ๓ ดวงนั้น เมื่อประกอบกับโลกุตตรจิต ย่อมประกอบได้แน่นอนและพร้อมกัน (นิยตเอกโต) ในฐานะกระทำหน้าที่ประหารทุจริต ทุราชีวะเป็นสมุจเฉท แต่เมื่อประกอบกับโลกียจิต คือมหากุศลจิตนั้น ย่อมประกอบได้เป็นบางครั้งบางคราว และประกอบไม่พร้อมกัน

การที่วิรตีเจตสิก ๓ ดวง ประกอบในมหากุศลจิตได้ไม่แน่นอน และไม่พร้อมกันนั้น เพราะถ้าเวลาใดมหากุศลจิตเกิดขึ้นโดยอาศัยสัทธา สติ ปัญญา เมตตา กรุณา มิได้เกี่ยวกับการเว้นทุจริต ทุราชีวะ เวลานั้นมหากุศลจิตที่เกิดขึ้นนั้นก็มิได้มีวิรตีเจตสิกประกอบด้วยเลย แต่ถ้าเวลาใดมหากุศลจิตเกิดขึ้นโดยการเว้นวจีทุจริต ๔ ที่ไม่เกี่ยวกับอาชีพ เวลานั้นมหากุศลจิตที่เกิดขึ้นก็ประกอบด้วยสัมมาวาจาเจตสิก แต่สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะไม่เข้าประกอบ ถ้าเวลาใดมหากุศลจิตเกิดขึ้นโดยการเว้นกายทุจริต ๓ อันไม่เกี่ยวกับอาชีพ เวลานั้นมหากุศลจิตเกิดขึ้นก็ประกอบด้วยสัมมากัมมันตเจตสิก แต่สัมมาวาจาและสัมมาอาชีวะไม่เข้าประกอบ ถ้าเวลาใดมหากุศลจิตเกิดขึ้นโดยการเว้นกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ ในการประกอบอาชีพการงานเวลานั้นมหากุศลจิตเกิดขึ้นจะประกอบด้วยสัมมาอาชีวเจตสิก แต่ส่วนสัมมาวาจาและสัมมากัมมันตะไม่ได้เข้าประกอบด้วย

อัปปมัญญาเจตสิก ๒ ดวงคือ กรุณา และมุทิตา เป็นเจตสิกที่ประกอบได้ในจิต ๒๘ ดวงไม่แน่นอนนั้น เพราะเวลาใดมหากุศลจิตเกิดขึ้น โดยอาศัย สัทธา สติ ปัญญา สัมมาวาจา เป็นต้น ไม่ได้เกี่ยวกับความรู้สึกสงสารสัตว์หรือยินดีสัตว์มีสุขแล้ว เวลาที่มหากุศลจิตนั้นเกิดขึ้นก็ไม่มี อัปปมัญญาเจตสิกประกอบร่วมด้วยเลย หรือเวลาใดที่พระโยคาวจรเจริญฌานโดยอาศัยกสิณเป็นกรรมฐานจนรูปาวจรฌานจิตเกิด เวลานั้นไม่ได้อาศัยสัตวบัญญัติกรรมฐาน อัปปมัญญาเจตสิกก็ไม่เข้าประกอบ แต่ถ้าเวลาใดมหากุศลจิต มหากิริยาจิต หรือรูปาวจรฌานจิต เกิดขึ้นโดยอาศัยทุกขิตสัตวบัญญัติเป็นอารมณ์ หรือเป็นกรรมฐาน เวลานั้นกรุณาเจตสิกย่อมเข้าประกอบกับจิต ๒๘ คือมหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ และรูปาวจรฌานจิต ๑๒ (เว้นรูปาวจรปัญจมฌานจิต ๓) มุทิตาเจตสิกไม่ได้เข้าประกอบด้วย แต่ถ้าเวลาใดจิต ๒๘ ดวงนั้น มีสุขิตสัตวบัญญัติเป็นอารมณ์ หรือเป็นกรรมฐานแล้ว มุทิตาเจตสิกจึงเข้าประกอบกับจิต ๒๘ ดวงดังกล่าวนั้น แต่กรุณาเจตสิกหาประกอบด้วยไม่ อัปปมัญญาเจตสิก ๒ ดวงนี้จึงประกอบกับจิตได้เป็นครั้งคราว และประกอบไม่พร้อมกันด้วย จึงชื่อว่า นานากทาจิเจตสิก


๒. นิยตโยคีเจตสิก 

ได้แก่ เจตสิกที่เหลือจากอนิยตโยคีเจตสิกอีก ๔๑ ดวงคือ :-

  • สัพพจิตตสาธารณเจตสิก  ๗
  • ปกิณณกเจตสิก  ๖ ดวง
  • โมจตุกเจตสิก  ๔ ดวง
  • โลภเจตสิก ๑ ดวง
  • ทิฏฐิเจตสิก ๑ ดวง
  • โทสเจตสิก ๑ ดวง
  • วิจิกิจฉาเจตสิก ๑ ดวง
  • โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง
  • ปัญญาเจตสิก ๑ ดวง

แสดงการประกอบของนิยตโยคีเจตสิก

เจตสิกทั้ง ๔๑ ดวงนี้ย่อมประกอบกับจิตที่ประกอบได้ตามกำหนดไว้โดยแน่นอนเสมอ กล่าวคือ เวลาใดจิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ เกิดขึ้น เวลานั้น สัพพจิตตสาธารณเจตสิกย่อมเข้าประกอบด้วยแน่นอนเสมอ

- เวลาใดจิต ๕๕, ๖๖, ๗๘ (๑๑๐), ๗๓ (๑๐๕), ๕๑, ๖๙ (๑๐๑) เกิดขึ้นเวลานั้น ปกิณณกเจตสิก คือวิตก วิจาร อธิโมกข์ วิริยะ ปิติ ฉันทะ ย่อมเข้าประกอบจิตตามลำดับนั้นโดยแน่นอนเสมอ
- เวลาใดอกุศลจิต ๑๒ เกิดขึ้น เวลานั้น โมจตุกเจตสิก คือโมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ ย่อมเข้าประกอบกับจิตนั้นโดยแน่นอนเสมอ
- เวลาใดโลภมูลจิต ๘ เกิดขึ้น เวลานั้น โลภเจตสิก ย่อมเข้าประกอบกับโลภมูลจิตนั้นโดยแน่นอนเสมอ
- เวลาใดทิฏฐิคตสัมปยุตจิต ๔ ดวงเกิดขึ้น เวลานั้น ทิฏฐิเจตสิกย่อมเข้าประกอบกับจิตนั้นด้วยแน่นอนเสมอ
- เวลาใดโทสมูลจิต ๒ ดวงเกิดขึ้น เวลานั้น โทสเจตสิก ย่อมเข้าประกอบกับจิตนั้นด้วยแน่นอนเสมอ
- เวลาใดวิจิกิจฉาสัมปยุตจิตเกิดขึ้น เวลานั้น วิจิกิจฉาเจตสิก ย่อมเข้าประกอบกับจิตนั้นด้วยโดยแน่นอนเสมอ
- เวลาใดโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ เกิดขึ้น เวลานั้น โสภณสาธารณเจตสิกย่อมเข้าประกอบกับโสภณจิตนั้นด้วยโดยแน่นอนเสมอ
- เวลาใดญาณสัมปยุตจิต ๔๗ หรือ ๗๙ เกิดขึ้น เวลานั้น ปัญญาเจตสิกย่อมเข้าประกอบกับจิตนั้นด้วยโดยแน่นอนเสมอ

ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า เจตสิก ๔๑ ดังกล่าวเป็นนิยตโยคีเจตสิก คือเจตสิกที่ประกอบกับจิตได้แน่นอนเสมอ อนึ่งวิรตีเจตสิก ๓ ดวงถ้าประกอบกับโลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ ก็ชื่อว่าเป็นนิยตโยคีเจตสิกเหมือนกัน แต่จัดเป็นนิยตโยคีเจตสิกพิเศษที่ประกอบกับจิตโดยแน่นอน และประกอบพร้อมกันเสมอ เรียกว่า “นิยตเอกโตเจตสิก”