วันจันทร์

รู้จักพระไตรปิฎกเพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้ (ย่อความ)

พระไตรปิฎก คือคัมภีร์ที่ประมวลเอาพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้ามาจารึกไว้ จึงกล่าวได้ว่า พระไตรปิฎก คือที่จารึกไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า

“ดูกรอานนท์ ธรรมและวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย ในเมื่อเราล่วงลับไป”
(มหาปรินิพพานสูตร)

คำสอน คำกล่าว และข้อปฏิบัติใดๆ จะถือว่าเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนาได้ จะต้องสอดคล้องกับพระธรรมวินัยซึ่งมีมาในพระไตรปิฎก การอธิบายหรือกล่าวอ้างเกี่ยวกับหลักการของพระพุทธศาสนา จะเป็นที่น่าเชื่อถือหรือยอมรับได้ด้วยดี เมื่ออ้างอิงหลักฐานในพระไตรปิฎก ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานอ้างอิงขั้นสูงสุด

เราจึงได้ถือกันมาเป็นหลักว่า จะต้องรักษา เล่าเรียน และปฏิบัติตามหลักคำสอนในพระไตรปิฎกนี้ ประการสำคัญการธำรงพระไตรปิฎก ก็คือการธำรงพระพุทธศาสนา ไม่มีพระไตรปิฎกเสียอย่างเดียว เป็นอันหมดสิ้นพระพุทธศาสนา พระเถระรุ่นก่อนนั้น ถือความสำคัญของพระไตรปิฎกเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ในยุคที่จารึกเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วก็ต้องถึงกับพูดกันว่า “อักษรตัวหนึ่งๆ อันเป็นพระปริยัติศาสน์ของพระศาสดา มีค่าเท่ากับพระพุทธรูปองค์หนึ่ง” (ญาโณทยปกรณ์)

เพราะฉะนั้น ถ้ามองในแง่บวก ก็คือจะต้องช่วยกันรักษาไว้ให้ดี แม้แต่จารึกหรือสนับสนุนการจารึกเพียงนิดหน่อย ก็เป็นบุญเป็นกุศลมาก แต่มองในแง่ลบก็คือ ถ้าใครไปทำให้ผิดพลาด แม้แต่อักษรเดียว ก็เหมือนทำลายพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เป็นบาปมาก ท่านให้ความสำคัญถึงเพียงนี้ เพราะฉะนั้น พระเถระรุ่นก่อน ท่านจึงระวังมากในเรื่องการรักษาทรงจำพระไตรปิฎกไม่ให้ผิดเพี้ยน

การสังคายนา เป็นการที่จะรักษาคำสอนเดิมเอาไว้ให้แม่นยำที่สุด และซักซ้อมตรวจสอบคนที่ไปทรงจำ หรือไปนับถืออะไรต่างๆ ที่อาจจะผิดเพี้ยนไป ให้มาปรับความเห็น ความเชื่อ การปฏิบัติ ให้ตรงตามพระไตรปิฎกที่รักษากันมาอย่างแม่นยำ ที่เป็นหลักกลางนี้ ไม่ใช่ว่าพระภิกษุที่สังคายนามีสิทธิ์ไปปรับแต่ง หรือเอาความคิดเห็นของตนใส่ลงไป ควรทราบว่าในพระไตรปิฎกไม่ใช่มีเฉพาะคำตรัสของพระพุทธเจ้าอย่างเดียว คำของพระสาวกก็มีไม่น้อย เช่น ภาษิตของพระสารีบุตร (ซึ่งมีคุณค่าควรแก่การศึกษาอย่างยิ่ง)

คัมภีร์ที่นิพนธ์หลังพุทธกาลก็มีบ้าง อย่างในคราวสังคายนาครั้งที่ ๓ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานสังคายนา ท่านได้เห็นว่าพระในสมัยนั้น บางพวกมีความเชื่อถือวิปริตผิดแผกแตกออกไป จึงเรียบเรียงคัมภีร์กถาวัตถุขึ้น เพื่อแก้ความเข้าใจที่ผิดแผกแตกต่างกันออกไปดังกล่าว แต่ก็เป็นการยกเอาพุทธพจน์มารวมไว้ในอีกลักษณะหนึ่ง โดยมีเรื่องราว หรือข้อคิด หรือข้อพิจารณาอะไรอย่างหนึ่งเป็นแกน รวมความก็คือ ประเทศพุทธศาสนาเถรวาททั้งหมดมีพระไตรปิฎกชุดเดียวกัน ซึ่งเนื้อหาเหมือนกันทั้งหมด จะตกหล่นบางคำบ้าง ก็น้อยเต็มที เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาเถรวาทจึงมีความภูมิใจโดยชอบธรรมว่า เรารักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้เป็นแบบเดิมแท้ ส่วนพระสูตรต่างๆของพระพุทธศาสนาแบบมหายาน หลายบทเป็นของที่แต่งขึ้นภายหลัง เรื่องนี้เป็นที่ยอมรับกันเป็นสากล ในวงวิชาการทั่วโลก

นอกจากพระไตรปิฎกอันเป็นมาตรฐานชั้นสูงสุดแล้ว ยังมีคัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎกนั้นอีกทีหนึ่ง เรียกว่า อรรถกถา คัมภีร์รุ่นหลังต่อจากอรรถกถาเรียกว่า ฎีกา และอนุฎีกา ส่วนคำสอนหรือคำอธิบายของพระอาจารย์รุ่นหลัง เรียกกันว่าเป็น อัตตโนมติ คือ มติส่วนตัว คัมภีร์เหล่านี้ทรงความสำคัญลดหลั่นกันลงมาตามลำดับ

ย่อความจากผลงานของ : สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)



วันเสาร์

ปัญหาเรื่องศีล ๒

ปัญหาเรื่องศีล หน้าที่ ๒ กลับไป🔎หน้าแรก

อธิบายศีลมีอย่างเดียว 
ในบรรดาศีลเหล่านั้น อรรถาธิบายในส่วนแห่งศีลมีอย่างเดียว นักศึกษาพึงทราบ โดยนัยที่ได้กล่าวมาแล้วนั่นเทียว


อธิบายศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๑
ในส่วนแห่งศีลมี ๒ อย่าง มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ การบำเพ็ญสิกขาบทตามที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า สิ่งนี้ควรทำ ดังนี้ อันใด การบำเพ็ญสิกขาบทนั้นชื่อว่า จาริตตศีล การไม่ฝ่าฝืนสิกขาบทที่ทรงห้ามไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ควรทำ ดังนี้ อันใดการไม่ฝ่าฝืนนั้นชื่อว่า วาริตตศีล ในศีล ๒ อย่างนั้น มีอรรถวิเคราะห์ถ้อยคำดังนี้

บุคคลทั้งหลายย่อมประพฤติในศีลนั้น คือเป็นไปด้วยความเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ฉะนั้นศีลนั้น ชื่อว่า จาริตตศีล แปลว่า ศีลเป็นที่ประพฤติตามของบุคคลทั้งหลาย, ย่อมป้องกันคือรักษา ซึ่งสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงห้ามด้วยศีลนั้น ฉะนั้นศีลนั้น ชื่อว่า วาริตตศีล แปลว่า ศีลเป็นเครื่องป้องกันสิกขาบทที่ทรงห้าม, ในศีล ๒ อย่างนั้น จาริตตศีลสำเร็จด้วยศรัทธา และวีริยะ วาริตตศีลสำเร็จด้วยศรัทธา ศีล ๒ อย่างโดยแยกเป็นจาริตตศีลและวาริตตศีล ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๒
ในศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๒ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ คำว่า อภิสมาจาร ได้แก่ ความประพฤติอย่างสูง อภิสมาจารศัพท์นั่นแหละสำเร็จรูปเป็น อาภิสมาจาริก อีกอย่างหนึ่ง สิกขาบทที่ทรงบัญญัติปรารภอภิสมาจาร ชื่อว่า อาภิสมาจาริก คำว่า อาภิสมาจาริก นี้เป็นชื่อของศีลที่นอกเหนือไปจากอาชีวัฏฐมกศีล ศีลชื่อว่า อาทิพรหมจริยก เพราะเหตุว่า เป็นเบื้องต้นแห่งมรรคพรหมจรรย์ คำว่า อาทิพรหมจริยก นี้เป็นชื่อของ อาชีวัฏฐมกศีล เป็นความจริง ศีลนั้นมีภาวะเป็นเบื้องต้นของมรรค เพราะเป็นสิ่งที่จะต้องชำระให้บริสุทธิ์ในกาลอันเป็นส่วนเบื้องต้นนั่นเทียว เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสไว้ว่า

“ก็แหละ กายกรรม วจีกรรม 
อาชีพของภิกษุนั้น ย่อมเป็นสภาพบริสุทธิ์ด้วยดีในเบื้องต้น โดยแท้แล”

อีกประการหนึ่ง สิกขาบทเหล่าใดที่ตรัสไว้ว่าเป็นสิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ สิกขาบทนี้
จัดเป็น อาภิสมาจาริกศีล สิกขาบทที่เหลือจัดเป็น อาทิพรหมจริยกศีล อีกประการหนึ่ง สิกขาบทที่นับเนื่องในอุภโตวิภังค์ (คำว่าอุภโตวิภังค์ ได้แก่วิภังค์ ๒ คือ ภิกขุวิภังค์และภิกขุนีวิภังค์) ชื่อว่า อาทิพรหมจริยกศีล สิกขาบทที่นับเนื่องในขันธกะและวัตรชื่อว่า อาภิสมาจาริกศีล อาทิพรหมจริยกศีลจะสำเร็จได้ก็ด้วยความสมบูรณ์แห่งอาภิสมาจาริกศีลนั้น เพราะเหตุฉะนั้นแหละ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นหนา ไม่ทำอาภิสมาจาริกธรรมให้บริบูรณ์แล้ว
จักทำอาทิพรหมจริยกธรรมให้บริบูรณ์ดังนี้ ข้อนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้” 
ศีล ๒ อย่างโดยแยกเป็นอาภิสมาจาริกศีลและอาทิพรหมจริยกศีล ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๓
ในศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๓ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ภาวะสักว่าความงดเว้นจากบาปธรรมทั้งหลาย มีปาณาติบาตเป็นต้น ชื่อว่า วิรติศีล คุณธรรมที่เหลือมีเจตนาเป็นต้น ชื่อว่า อวิรติศีล ศีล ๒ อย่างโดยแยกเป็นวิรติศีลและอวิรติศีล ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๔
ในศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๔ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ คำว่า นิสสัย ได้แก่นิสสัย ๒ อย่าง คือ ตัณหานิสสัย ๑ ทิฏฐินิสสัย ๑ ในศีล ๒ อย่างนั้น ศีลใดที่บุคคลปรารถนาภวสมบัติให้เป็นไปอย่างนี้ว่า “เราจักได้เป็นเทพเจ้าหรือเทวดาตนใดตนหนึ่งด้วยศีลนี้” ศีลนี้ชื่อว่า ตัณหานิสสตศีล ศีลใดที่บุคคลให้เป็นไปด้วยทิฏฐิล้วน ๆ อย่างนี้ว่า “เราจักเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยศีลนี้” ศีลนี้ชื่อว่า ทิฏฐินิสสตศีล ส่วนศีลใดที่เป็นโลกุตตรศีล และเป็นโลกิยศีลแต่เป็นเหตุแห่งโลกุตตรศีลนั้น เฉพาะศีลนี้ชื่อว่า อนิสสิตศีล ศีล ๒ อย่างโดยแยกเป็นนิสสตศีลและอนิสสตศีล ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๕
ในศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๕ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ศีลที่บุคคลสมาทาน กำหนดเวลาชื่อว่า กาลปริยันตศีล ศีลที่บุคคลสมาทานตลอดชีวิตแล้วคงให้ดำเนิน ไปได้เหมือนอย่างนั้น ชื่อว่า อาปาณโกฏิกศีล ศีล ๒ อย่างโดยแยกเป็นกาลปริยันตศีลและอาปาณโกฏิกศีล ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๖
ในศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๖ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ศีลที่มีความเห็นด้วยสามารถแห่งลาภ, ยศ, ญาติ, อวัยวะและชีวิตเป็นที่สุด ชื่อว่า สปริยันตศีล ศีลที่ตรงกันข้าม ชื่อว่า อปริยันตศีล สมจริงดังที่ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีปุตตะกล่าวไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคว่า “ศีลมีที่สุดนั้นเป็นอย่างไร ? ศีลมีลาภเป็นที่สุดมีอยู่ ศีลมียศเป็นที่สุดมีอยู่ ศีลมีญาติเป็นที่สุดมีอยู่ ศีลมีอวัยวะเป็นที่สุดมีอยู่ ศีลมีชีวิตเป็นที่สุดมีอยู่ ศีลมีลาภเป็นที่สุดนั้น เป็นอย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมล่วงละเมิดสิกขาบทตามที่ตนสมาทานแล้ว เพราะลาภเป็นเหตุ เพราะลาภเป็นปัจจัยเพราะลาภเป็นตัวการ นี้ชื่อว่า ศีลมีลาภเป็นที่สุดนั้น”

แม้ศีลทั้งหลายนอกนี้ นักศึกษา
ก็พึงอธิบายให้พิสดาร โดยทำนองนี้นั่นเทียว แม้ในอธิการวิสัชนาอปริยันตศีลท่านพระธรรมเสนาบดีสารีปุตตะก็ได้กล่าวไว้ว่า “ศีลที่มิใช่มีลาภเป็นที่สุดนั้น เป็นอย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้แต่จิตก็ไม่ให้เกิดขึ้นเพื่อล่วงละเมิดสิกขาบท
ตามที่ตนสมาทานแล้ว เพราะลาภเป็นเหตุ เพราะลาภเป็นปัจจัย เพราะลาภเป็นตัวการ ไฉนเขาจักล่วงละเมิด นี้ชื่อว่า ศีลมิใช่มีลาภเป็นที่สุดนั้นๆ แม้ศีลทั้งหลายนอกนี้นักศึกษาก็พึ่งอธิบายให้พิสดารโดยทำนองนี้นั่นเทียว ศีล ๒ อย่างโดยแยกเป็นสปริยันตศีลและอปริยันตศีล ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๗
ในศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๗ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ศีลที่ประกอบด้วยอาสวะแม้ทุกประเภท ชื่อว่า โลกิยศีล ศีลที่ไม่ประกอบด้วยอาสวะ ชื่อว่า โลกุตตรศีล ในศีล ๒ อย่างนั้น โลกิยศีลย่อมนำมาซึ่งภพชั้นวิเศษ และเป็นเหตุแห่งอันออกจากภพด้วย สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

“วินัยเพื่อประโยชน์แก่ความสังวร 
ความสังวรเพื่อประโยชน์แก่ความไม่เดือดร้อนใจ ความไม่เดือดร้อนใจเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมช ความปราโมชเพื่อประโยชน์แก่ปีติ ปีติเพื่อประโยชน์แก่ความสงบใจ ความสงบใจเพื่อประโยชน์แก่ความสุข ความสุขเพื่อประโยชน์แก่สมาธิ 
สมาธิเพื่อประโยชน์แก่ยถาภูตญาณทัสสนะ ยถาภูตญาณทัสสนะเพื่อประโยชน์แก่นิพพิทา นิพพิทาเพื่อประโยชน์แก่วิราคะ วิราคะเพื่อประโยชน์แก่วิมุตติ วิมุตติ เพื่อประโยชน์แก่วิมุตติญาณทัสสนะ วิมุตติญาณทัสสนะเพื่อประโยชน์แก่อนุปาทานปรินิพพาน การหลุดพ้นแห่งอนุปาทาจิตนี้ใด การพูดวินัยก็มีการหลุดพ้นแห่ง อนุปาทาจิตนั้นเป็นประโยชน์ การปรึกษาวินัยก็มีการหลุดพ้นแห่งอนุปาทาจิตนั้นเป็นประโยชน์ การเข้าไปอิงวินัยก็มีการหลุดพ้นแห่งอนุปาทาจิตนั้นเป็นประโยชน์ การเงี่ยโสตลงฟังวินัยก็มีการหลุดพ้นแห่งอนุปาทาจิตนั้นเป็นประโยชน์ "

โลกุตตรศีล 
ย่อมนำมาซึ่งการออกจากภพและเป็นภูมิแห่งปัจจเวกขณญาณด้วย ศีล ๒ อย่างโดยแยกเป็นโลกิยศีลและโลกุตตรศีล ยุติด้วยประการฉะนี้


อธิบายศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๑
ในบรรดาศีล ๓ อย่าง มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ในศีลหมวดที่ ๑ ความว่า ศีลที่บุคคลประพฤติเป็นไปด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะ หรือวิมังสา ชั้นต่ำชื่อว่า หีนศีล ศีลที่บุคคลประพฤติเป็นไป ด้วยอิทธิบาทธรรมทั้งหลายมีฉันทะเป็นต้น ชั้นปานกลาง ชื่อว่า มัชฌิมศีล ศีลที่บุคคลประพฤติเป็นไปด้วยอิทธิบาทธรรมทั้งหลายชั้นประณีต ชื่อว่า ปณีตศีล

อีกอย่างหนึ่ง ศีลที่บุคคลสมาทานด้วยความเป็นผู้ใคร่ยศ ชื่อว่า หีนศีล ศีลที่บุคคลสมาทานด้วยความเป็นผู้ใคร่ผลบุญ ชื่อว่า มัชฌิมศีล ศีลที่บุคคลสมาทานเพราะอาศัยอริยภาพว่า ศีลนี้เป็นสิ่งที่ควรทำ ชื่อว่า ปณีตศีล

อีกอย่างหนึ่ง ศีลที่หม่นหมองไปด้วยบาปธรรมทั้งหลาย มีการยกตนและ
ข่มผู้อื่นเป็นต้นอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ส่วนภิกษุอื่น ๆ นี้นั้นเป็นผู้ทุศีลมีบาปธรรม ชื่อว่า หีนศีล ศีลที่ไม่หม่นหมองอย่างนั้นแต่เป็นชั้นโลกิยะ ชื่อว่ามัชฌิมศีล ศีลชั้นโลกุตตระ ชื่อว่า ปณีตศีล

อีกอย่างหนึ่ง ศีลที่บุคคลประพฤติเป็นไปเพื่อต้องการภวสมบัติและโภคสมบัติด้วยอำนาจแห่งตัณหา ชื่อว่า หีนศีล ศีลที่บุคคลประพฤติเป็นไปเพื่อต้องการความหลุดพ้นสำหรับตน ชื่อว่า มัชฌิมศีล ปารมิตาศีลที่พระโพธิสัตว์ประพฤติเป็นไปเพื่อต้องการความหลุดพ้นสำหรับสรรพสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่า ปณีตศีล

ศีล ๓ อย่างโดยแยกเป็นหีนศีล, มัชฌิมศีลและปณีตศีล ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๒
ในศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๒ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ศีลที่บุคคลผู้ใคร่เพื่อจะสละทิ้งสิ่งซึ่งไม่สมควรแก่ตน ผู้มีตนเป็นที่เคารพ ประพฤติเป็นไปแล้วด้วยความคารวะในตน ชื่อว่า อัตตาธิปไตยศีล ศีลที่บุคคลผู้ใคร่เพื่อจะหลีกเลี่ยงการตำหนิของชาวโลก ผู้มีโลกเป็นที่เคารพ ประพฤติเป็นไปแล้วด้วยความคารวะในโลก ชื่อว่าโลกาธิปไตยศีล ศีลที่บุคคลผู้ใคร่เพื่อจะบูชาความยิ่งใหญ่ของธรรม ผู้มีธรรมเป็นที่เคารพ ประพฤติเป็นไปแล้วด้วยความคารวะในธรรม ชื่อว่า ธัมมาธิปไตยศีล ศีล ๒ อย่าง โดยแยกเป็นอัตตาธิปไตยศีลเป็นต้น ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๓
ในศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๓ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ศีลใดที่ข้าพเจ้าเรียกว่านิสสตศีลในหมวด ๒ ศีลนั้นชื่อว่า ปรามัฏฐศีล เพราะอันตัณหาและทิฏฐิถูกต้องแล้วล ศีลอันเป็นเหตุแห่งมัคคญาณของกัลยาณปุถุชน และประกอบด้วยมัคคญาณของพระเสกขบุคคลทั้งหลาย ชื่อว่า อปรามัฏฐศีล ศีลอันประกอบด้วยผลญาณของพระเสกขะและพระอเสกขบุคคลทั้งหลาย ชื่อว่า ปฏิปัสสัทธิศีล ศีล ๓ อย่างโดยแยกเป็นปรามัฏฐศีลเป็นต้น ยุติด้วยประการฉะนี้

 อธิบายศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๑

ในบรรดาศีล ๔ ทั้งหลาย ศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๑ มีอรรถาธิบายดังต่อ
ไปนี้ ภิกษุใดในศาสนานี้ ชอบคบแต่พวกภิกษุทุศีล ไม่ชอบคบพวกภิกษุมีศีล มองไม่เห็นโทษในการล่วงละเมิดวัตถุเป็นผู้โง่เซอะ มากไปด้วยความดำริผิด ไม่รักษาอินทรีย์ทั้งหลาย ศีลของภิกษุเช่นนี้นั่นแล จัดเป็นหานภาคิยศีล ส่วนภิกษุใดในศาสนานี้ เป็นผู้พอใจอยู่ด้วยศีลสมบัติไม่ทำความพอใจให้เกิดขึ้นในการบำเพ็ญกัมมัฏฐานเนือง ๆ ศีลของภิกษุนั้นผู้ยินดีเฉพาะเพียงแค่ศีล ไม่พยายามเพื่อคุณเบื้องสูงขึ้นไป จัดเป็นฐิติภาคิยศีล

อนึ่ง ภิกษุใดใน
ศาสนานี้ ผู้มีศีลสมบูรณ์แล้ว ยังพยายามเพื่อต้องการ
สมาธิต่อไปอีก ศีลของภิกษุนี้ จัดเป็นวิเสสภาคิยศีล
อนึ่ง ภิกษุใดในศาสนานี้ ไม่ยินดีอยู่แต่เฉพาะแค่ศีลสมบัติ ย่อมประกอบเนือง ๆ ซึ่งนิพพิทา คือวิปัสสนาต่อไป ศีล ของภิกษุนี้ จัดเป็นนิพเพธภาคิยศีล ศีล ๔ อย่างโดยจำแนกเป็นหานภาคิยศีลเป็นต้น ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๒
ในศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๒ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ สิกขาบททั้งหลายที่ทรงบัญญัติปรารภเฉพาะพวกภิกษุ และสิกขาบทเหล่าใดที่พวกภิกษุเหล่านั้นจะต้องรักษานอกเหนือจากบทบัญญัติของภิกษุณีทั้งหลาย นี้ชื่อว่า ภิกขุศีล สิกขาบททั้งหลายที่ทรงบัญญัติปรารภเฉพาะพวกภิกษุณี และสิกขาบทเหล่าใดที่พวกภิกษุณีจะต้องรักษานอกเหนือจากบทบัญญัติของภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่า ภิกขุนีศีล ศีล ๑๐ ประการของสามเณรและสามเณรี ชื่อว่า อนุปสัมปันนศีล สิกขาบท ๕ ประการด้วยอำนาจแห่งนิจศีล หรือในเมื่อมีความอุตสาหะ ก็สิกขาบท ๑๐ ประการ และสิกขาบท ๘ ประการด้วยสามารถองค์แห่งอุโบสถ สำหรับอุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย นี้ชื่อว่า คหัฏฐศีล ศีล ๔ อย่างโดยแยกเป็นภิกขุศีลเป็นต้น ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๓
ในศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๓ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ การไม่ล่วงละเมิด (เบญจศีล) ของพวกมนุษย์ชาวอุตตรกุรุทวีปทั้งหลาย จัดเป็น ปกติศีล จารีต ประเพณีในขอบเขตของตน ๆ ของตระกูลของตำบลและของลัทธิเดียรถีย์ทั้งหลายจัดเป็น อาจารศีล ศีลพระมารดาของพระโพธิสัตว์ที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า

“อานนท์
ในกาลใดพระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์พระมารดา ความพอพระทัยในบุรุษอันประกอบด้วยกามคุณ ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่พระมารดาพระโพธิสัตว์”

ดังนี้ ศีลนี้จัดเป็น
ธัมมตาศีล อนึ่ง ศีลในชาตินั้น ๆ ของจำพวกสัตว์ผู้บริสุทธิ์ เช่นพระมหากัสสปะเป็นต้นและของพระโพธิสัตว์ จัดเป็น ปุพพเหตุกศีล ศีล ๔ อย่างโดยแยกเป็นปกติศีลเป็นต้น ยุติด้วยประการฉะนี้


อธิบายศีล ๔  
อย่าง หมวดที่ ๔

ในศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๔ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ศีลใดที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างนี้ว่า “ภิกษุในศาสนานี้เป็นผู้สำรวมด้วยความสังวรคือปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจารและโคจร มีปกติมองเห็นภัยในโทษมีประมาณเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย” ศีลนี้ชื่อว่า ปาติโมกขสังวรศีล 

อนึ่ง ศีลใดที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุแล้วไม่ยึดถือ
ซึ่งนิมิต ไม่ยึดถือซึ่งอนุพยัญชนะ อกุศลบาปธรรมทั้งหลายคืออภิชฌาและโทมนัสย่อมไหลไปสู่ภิกษุนั้นผู้ไม่สำรวมซึ่งจักขุนทรีย์เพราะมีจักขุนทรีย์ใดเป็นเหตุ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสังวรซึ่งจักขุนทรีย์นั้น ย่อมรักษาซึ่งจักขุนทรีย์ ย่อมถึงความสังวรในจักขุนทรีย์, ได้ยินเสียงด้วยโสตะแล้วได้ดมกลิ่นด้วยฆานะแล้วได้ลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว...ได้สัมผัสโผฏฐพพะด้วยกายแล้วได้รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วย่อมไม่ยึดถือ
ซึ่งนิมิต...ย่อมถึงซึ่งความสังวรในมนินทรีย์” ฉะนี้ ศีลนี้จัดเป็น อินทรียสังวรศีล

อนึ่ง การวิรัติจากมิจฉาอาชีพอันใด ซึ่งเป็นไปด้วยอำนาจแห่งการล่วงละเมิด
ซึ่งสิกขาบท ๖ ประการ ที่ทรงบัญญัติไว้เพราะมีอาชีวะเป็นเหตุ และด้วยอำนาจแห่งบาปธรรมทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ คือ “การหลอกลวง การพูดเลาะเล็ม การกระทำนิมิต การด่าแช่ง การแสวงหาลาภด้วยลาภ” นี้จัดเป็น อาชีวปาริสุทธิศีล

การบริโภคปัจจัย ๔ อันบริสุทธิ์ด้วยการพิจารณา ที่ตรัสไว้โดยนัยมีอาทิว่า “ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงใช้สอยจีวร เพียงเพื่อกำจัดเสียซึ่งความเย็น" ฉะนี้ จัดเป็น ปัจจยสันนิสสตศีล






ปัญหาเรื่องศีล

พรรณนาศีลโดยพิสดาร
ก็แหละ วิสุทธิมรรค คือทางแห่งวิสุทธินี้ แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะได้ทรงแสดงโดยมุขคือศีลสมาธิปัญญาอันสงเคราะห์ด้วยคุณธรรมเป็นอเนกประการดังที่พรรณนามาแล้วก็ตาม นับว่าทรงแสดงไว้อย่างย่อมาก เหตุนั้น จึงยังไม่เพียงพอเพื่อความเป็นอุปการะ แก่เวไนยสัตว์ทั่ว ๆ ไป ดังนั้น เพื่อจะพรรณนาความแห่งวิสุทธิมรรคนั้นอย่างพิสดาร ขอตั้งปัญหากรรมปรารภถึงศีล เป็นประการแรก ดังนี้ :-


ปัญหาเรื่องศีล
๑. อะไร ชื่อว่าศีล
๒. ที่ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่ากระไร
๓. อะไรเป็นลักษณะ, เป็นรส, เป็นอาการปรากฏและเป็นปทัฏฐานของศีล
๔. ศีลมีอานิสงส์อย่างไร
๕. ศีลนี้มีกี่อย่าง
๖. อะไรเป็นความเศร้าหมองของศีล
๗. อะไร เป็นความผ่องแผ้วของศีล

🔅 วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๑ 
ในปัญหากรรมเหล่านั้น มีคำวิสัชนาดังต่อไปนี้
ปัญหาข้อว่า อะไร ชื่อว่าศีล วิสัชนาว่า ธรรมทั้งหลายมีเจตนาเป็นต้น ของบุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้นอยู่ก็ดี ของบุคคลผู้บำเพ็ญวัตตปฏิบัติอยู่ก็ดี ชื่อว่าศีล คำนี้สมดังที่พระธรรมเสนาบดีสารีปุตตะกล่าวไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค

“อะไร ชื่อว่าศีล เจตนา  ชื่อว่าศีล เจตสิก ชื่อว่าศีล สังวร ชื่อว่าศีล การไม่ล่วงละเมิด 
ชื่อว่าศีล”

เจตนาศีล
ในศีลเหล่านั้น คำว่า เจตนาชื่อว่าศีล ได้แก่เจตนาของบุคคลผู้งดเว้นจากบาปธรรมมีปาณาติบาตเป็นต้นอยู่ หรือเจตนาของบุคคลผู้กำลังบำเพ็ญวัตตปฏิบัติอยู่

เจตสิกศีล
เจตสิก ชื่อว่าศีล ได้แก่ วิรติเจตสิก ของบุคคลผู้งดเว้นจากบาปธรรมมีปาณาติบาตเป็นต้น อีกประการหนึ่ง เจตนา ชื่อว่าศีล ได้แก่เจตนาในกรรมบถ ๗ ดวง ของบุคคลผู้ละอยู่ซึ่งบาปธรรมทั้งหลายมีปาณาติบาตเป็นต้น เจตสิก ชื่อว่าศีล ได้แก่กุศลธรรมทั้งหลายคือความไม่โลภ ความไม่พยาบาท ความเห็นชอบ ที่ตรัสไว้โดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุละอภิชฌาแล้วเป็นผู้มีจิตปราศจากอภิชฌาอยู่สังวรศีล

สังวร
ในคำว่าสังวรชื่อว่าศีลนี้ นักศึกษาพึงทราบโดยประการ ๕ อย่าง คือ ปาติโมกขสังวร ๑ สติสังวร ๑ ญาณสังวร ๑ ขันติสังวร ๑ วีริยสังวร ๑ ในสังวร ๕ อย่างนั้น สังวรนี้คือ “ภิกษุเป็นผู้เข้าถึงแล้ว เข้าถึงพร้อมแล้วด้วยความสังวรคือปาติโมกข์นี้ ชื่อว่า ปาติโมกขสังวร สังวรนี้คือ “ภิกษุย่อมรักษาซึ่งอินทรีย์คือจักษุ ย่อมถึงซึ่งความสังวรในอินทรีย์คือจักษุ ชื่อว่า สติสังวร สติสังวรสังวรนี้ คือ “พระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาอชิตมานพว่า อชิตะ กระแสกิเลสเหล่าใดในโลก สติเป็นเครื่องกั้นซึ่งกระแสเหล่านั้น เรากล่าวสติว่าเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น กระแสเหล่านั้นจะพึงตัดให้เด็ดขาดได้ด้วยปัญญา ชื่อว่า ญาณสังวร แม้การเสพปัจจัย
ก็ถึงซึ่งอันรวมลงในญาณสังวรนี้ด้วย ส่วนสังวรนี้ใดซึ่งมาโดยนัยมีอาทิว่า “ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อความหนาว เป็นผู้อดทนต่อความร้อน” สังวรนี้ชื่อว่า ขันติสังวร อนึ่ง สังวรใดที่มาโดยนัยมีอาทิว่า “ภิกษุย่อมไม่ให้กามวิตกซึ่งเกิดขึ้น แล้วตั้งอยู่ในภายใน” สังวรนี้ชื่อว่า วิริยสังวร แม้อาชีวปาริสุทธิคือความบริสุทธิ์แห่งอาชีพ ก็ถึงซึ่งอันรวมลงในวีริยสังวรนี้ด้วย

สังวรทั้ง ๕ อย่างนี้ก็ดี การงดเว้นจากวัตถุที่ประจวบเข้าของเหล่ากุลบุตรผู้กลัวบาปก็ดี แม้ทั้งหมดนี้ พึงทราบเถิดว่าเป็น สังวรศีล ด้วยประการฉะนี้

อวีติกกมศีล
คำว่า การไม่ล่วงละเมิด ชื่อว่าศีล ได้แก่ การไม่ล่วงละเมิดที่เป็นไปทางกายและเป็นไปทางวาจาของบุคคลผู้สมาทานศีลแล้ว การวิสัชนาปัญหาข้อว่า อะไรชื่อว่าศีล ประการแรก ยุติด้วยประการฉะนี้

🔅 วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๒
จะวิสัชนาในปัญหาข้อที่เหลือต่อไปดังนี้ ปัญหาข้อว่า ที่ชื่อว่าศีลเพราะอรรถว่ากระไร วิสัชนาว่า ที่ชื่อว่าศีลเพราะอรรถว่า ความปกติ

ถาม ที่ว่าความ
ปกติ นี้คืออย่างไร ? ตอบอย่างหนึ่ง คือ ความทรงอยู่อย่างเรียบร้อย หมายความว่า ความเป็นผู้มีกิริยาทางกายเป็นต้นไม่เกะกะด้วยอำนาจความสุภาพเรียบร้อย อีกอย่างหนึ่ง คือ ความรองรับ หมายความว่า ภาวะที่รองรับด้วยสามารถเป็นฐานรองรับกุศลธรรมทั้งหลาย ก็แหละ ความหมาย ๒ อย่างนี้เท่านั้น ใน สีล ศัพท์นี้
บรรดาอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในลักษณะของศัพท์รับรองต้องกัน

ส่วนอาจารย์ฝ่ายอื่น 
พรรณนาความหมายใน สีล ศัพท์นี้ไว้แม้โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า ความหมายแห่งสีลศัพท์ หมายความว่า ยอด ความหมายแห่งสีลศัพท์ หมายความว่า เย็น ฉะนี้ (ฉบับพม่า บาลีเป็น สิรฏโฐ สีลตโถ, สีตลฏโฐ สีลตโถ แปลตามนี้)


🔅 วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๓
ลำดับนี้ จะวิสัชนาในปัญหาข้อที่ว่าอะไรเป็นลักษณะ, เป็นรส, เป็นอาการปรากฏและเป็นปทัฏฐานของศีล ต่อไปดังนี้

แม้ศีลนั้นถึงจะต่างกันโดยประเภทเป็นอันมาก ก็มีความปกติเป็นลักษณะเหมือนรูปซึ่งต่างกันโดยประเภทเป็นอันมาก ก็มีภาวะจะพึงเห็นได้เป็นลักษณะ ฉะนั้นเหมือนอย่างว่า แม้รูปายตนะถึงจะต่างกันโดยประเภทเป็นอันมากโดยที่ต่างกันด้วยสีเขียวสีเหลืองเป็นต้น ก็มีภาวะที่จะพึงเห็นได้เป็นลักษณะ เพราะถึงแม้รูปายตนะ จะต่างกันโดยประเภทแห่งสีเขียวเป็นต้น ก็ไม่พ้นไปจากภาวะที่จะพึงเห็นได้ ฉันใด แม้ศีลถึงจะต่างกันโดยประเภทเป็นอันมากโดยต่างกัน มีเจตนาเป็นต้น ก็มีความปกติซึ่งได้กล่าวมาแล้วด้วยสามารถแห่งความทรงอยู่อย่างเรียบร้อยของกิริยาทางกายเป็นต้น และด้วยสามารถแห่งความเป็นฐานรองรับกุศลธรรมทั้งหลายนั้นนั่นแลเป็นลักษณะเพราะถึงแม้ศีลจะต่างกันโดยประเภทแห่งเจตนาเป็นต้น ก็ไม่พ้นไปจาก ความทรงอยู่อย่างเรียบร้อย และ ความรองรับ ฉันนั้น

อนึ่ง การขจัดเสียซึ่งความเป็นผู้ทุศีล หรือคุณคือความหาโทษมิได้ ท่านกล่าวว่าเป็นรสของศีลอันมีลักษณะดังกล่าวมาแล้ว โดยอรรถว่า เป็นกิจ และ เป็นสมบัติ เพราะฉะนั้น ชื่อว่าศีลนี้นักศึกษาพึงทราบว่า ที่ว่ามีการขจัดเสียซึ่งความเป็นผู้ทุศีลเป็นรสนั้น ด้วยรสเพราะอรรถว่า กิจ ที่ว่ามีความหาโทษมิได้เป็นรสนั้น ด้วยรสเพราะอรรถว่า สมบัติ เป็นความจริง ในปัญหากรรมมีลักษณะเป็นต้น กิจ หรือ สมบัตินั่นเองท่านเรียกว่า รส

ศีลนี้นั้นมีความสะอาด เป็นอาการปรากฏ วิญญูชนทั้งหลายรับรองกันว่า โอตตัปปะและหิริ เป็นปทัฏฐานของศีลนั้น จริงอยู่ ศีลนี้นั้นมีความสะอาดที่ตรัสไว้อย่างนี้คือ “ความสะอาดกายความสะอาดวาจาความสะอาดใจ” เป็นอาการปรากฏย่อมปรากฏโดยสภาวะอันสะอาด ย่อมถึงภาวะอันจะพึงถือเอาได้ ส่วนหิริและโอตตัปปะวิญญูชนทั้งหลายรับรองกันว่าเป็นปทัฏฐานของศีลนั้น อธิบายว่า หิริและโอตตัปปะเป็นเหตุใกล้ของศีล เป็นความจริง เมื่อหิริและโอตตัปปะมีอยู่ ศีลจึงเกิดขึ้นและดำรงอยู่ เมื่อหิริและโอตตัปปะไม่มี ศีลย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ตั้งอยู่ไม่ได้เลย นักศึกษาพึงทราบลักษณะ, รส, อาการปรากฏและปทัฏฐานของศีลตามที่พรรณนามา ด้วยประการฉะนี้

🔅 วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๔
ปัญหาข้อว่า ศีลมีอานิสงส์อย่างไร วิสัชนาว่า ศีลนั้นมีอันได้ซึ่งคุณเป็น
อันมากมีความไม่เดือดร้อนเป็นต้นเป็นอานิสงส์ สมดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า

“อานนท์
กุศลศีลมีความไม่เดือดร้อนเป็นผล มีความไม่เดือดร้อนเป็นอานิสงส์แล”

ยังมีพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้อย่างอื่นอีกว่า คหบดีทั้งหลาย อานิสงส์ของศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล มี ๕ ประการเหล่านี้
อานิสงส์ ๕ ประการนั้น คืออะไรบ้าง ?
    ๑. คหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลในโลกนี้ ย่อมประสบกองแห่งโภคทรัพย์อันยิ่งใหญ่ซึ่งมีความไม่ประมาทเป็นเหตุนี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๑ ของศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
    ๒. คหบดีทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก เกียรติศัพท์อันงามของบุคคลผู้มีศีลสมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมฟุ้งขจรไป นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒ ของศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
    ๓. คหบดีทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล เข้าไปสู่สังคมใด ๆ จะเป็นสังคมกษัตริย์ก็ดี จะเป็นสังคมพราหมณ์ก็ดี จะเป็นสังคมคหบดีก็ดี จะเป็นสังคมสมณะก็ดี ย่อมเข้าไปอย่างองอาจไม่เก้อเขิน นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓ ของศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
    ๔. คหบดีทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไม่หลงทำกาลกิริยา นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๔ ของศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
    ๕. คหบดีทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลเบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ, โลกสวรรค์

นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๕ ของศีล

สมบัติของบุคคลผู้มีศีล 
แม้อานิสงส์ของศีลอย่างอื่น ๆ เป็นอเนกประการซึ่งมีความเป็นที่รักเป็นที่เจริญใจเป็นต้น มีความสิ้นไปแห่งอาสวะเป็นที่สุด พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสไว้โดยนัยมีอาทิว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุพึงมุ่งหวังอยู่ว่า ขอให้เราพึงเป็นที่รักเป็นที่เจริญใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่สรรเสริญของบรรดาภิกษุเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย เธอพึงทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลายนั่นเถิด”

ศีลมีคุณเป็นอันมากมีความไม่เดือดร้อนเป็นต้นเป็นอานิสงส์ ดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้

อานิสงส์แห่งศีลอีกนัยหนึ่ง ที่พึ่งของกุลบุตรทั้งหลายในพระศาสนา เว้นเสียซึ่งศีลอันใดแล้วย่อมไม่มี ใครเล่าจะพึ่งพรรณนากำหนดอานิสงส์ของศีลอันนั้นได้ น้ำคือศีลย่อมล้างมลทินอันใดของสัตว์ทั้งหลายได้ แม่น้ำสายใหญ่ ๆ คือ คงคา, ยมนา, สรภู, สรัสวดี, อจิรวดีหรือมหีที่ไหลไป หาสามารถล้างมลทินนั้นของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ได้ไม่ , ศีลที่รักษาดีแล้วเป็นศีลห่างไกลจากกิเลสมีความเย็นอย่างที่สุดนี้ ย่อมบันดาลความร้อนกลุ่มของสัตว์ทั้งหลายให้สงบลงได้ ลมปนฝนก็ดี จันทน์เหลืองก็ดี แก้วมุกดาหารก็ดี แก้วมณีก็ดี แสงจันทร์อ่อนก็ดี หาบันดาลความร้อนลุ่มของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ให้สงบลงได้ไม่ , กลิ่นอันใดที่ฟุ้งไปได้ทั้งทวนลมและตามลมเสมอกัน กลิ่นอันนั้นที่จะทัดเทียมด้วยกลิ่นคือศีล จักมีแต่ที่ไหน บันไดสำหรับขึ้นสู่สวรรค์ หรือประตูในอันเข้าสู่นครนฤพานอย่างอื่น ๆ ที่จะเสมอด้วยศีล จักมีแต่ที่ไหน , พระราชาทั้งหลายผู้ทรงประดับแล้วด้วยแก้วมุกดาและแก้วมณีก็ไม่งามเหมือนนักพรตทั้งหลายผู้ประดับด้วยเครื่องประดับคือศีล ศีลของบุคคลผู้มีศีล ย่อมกำจัดภัยมีการตำหนิตนเป็นต้นเสียได้โดยประการทั้งปวง และย่อมบันดาลให้เกิดเกียรติและความหรรษาในกาลทุกเมื่อ

นักศึกษาพึงทราบกถามุขอันแสดงถึงอานิสงส์ของศีลอันเป็นมูลรากแห่งคุณทั้งหลาย และเป็นเครื่องทำลายกำลังแห่งโทษทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้แล

🔅 วสัชนาปัญหาข้อที่ ๕
ลำดับนี้ จะวิสัชนาในปัญหากรรมข้อที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า ศีลนี้มีกี่อย่าง ต่อไปดังนี้

ศีลมีอย่างเดียว
ศีลนี้สิ้นทั้งมวล ชื่อว่า มีอย่างเดียว ด้วยลักษณะคือความปกติของตน เป็นประการแรก

ศีล ๒ อย่าง
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๑ โดยแยกเป็น จาริตตศีล ๑ วาริตตศีล ๑
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๒ โดยแยกเป็น อาภิสมาจาริกศีล ๑ อาทิพรหมจริยกศีล ๑
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๓ โดยแยกเป็น วิรติศีล ๑ อวิรติศีล ๑
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๔ โดยแยกเป็น นิสสตศีล ๑ อนิสสตศีล ๑
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๕ โดยแยกเป็น กาลปริยันตศีล ๑ อาปาณโกฏิกศีล ๑
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๖ โดยแยกเป็น สปริยันตศีล ๑ อปริยันตศีล ๑
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๗ โดยแยกเป็น โลกิยศีล ๑ โลกุตตรศีล ๑

ศีล ๓ อย่าง
☉ ศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๑ โดยแยกเป็น หีนศีล ๑ มัชฌิมศีล ๑ ปณีตศีล ๑
☉ ศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๒ โดยแยกเป็น อัตตาธิปไตยศีล ๑ โลกาธิปไตยศีล ๑ ธัมมาธิปไตยศีล ๑
☉ ศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๓ โดยแยกเป็น ปรามัฏฐศีล ๑ อปรามัฏฐศีล ๑ ปฏิปัสสิทธิศีล ๑
☉ ศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๔ โดยแยกเป็น วิสุทธศีล ๑ อวิสุทธศีล ๑ เวมติกศีล ๑
☉ ศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๕ โดยแยกเป็น เสกขศีล ๑ อเสกขศีล ๑ เนวเสกขนาเสกขศีล ๑

ศีล ๔ อย่าง
☉ ศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๑ โดยแยกเป็น หานภาคิยศีล ๑ ฐิติภาคิยศีล ๑ วิเสสภาคิยศีล ๑ นิพเพธภาคิยศีล ๑
☉ ศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๒ โดยแยกเป็น ภิกขุศีล ๑ ภิกขุนีศีล ๑ อนุปสัมปันนศีล ๑ คหัฏฐศีล ๑
☉ ศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๓ โดยแยกเป็น ปกติศีล ๑ อาจารศีล ๑ ธัมมทาศีล ๑ ปุพพเหตุกศีล ๑
☉ ศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๔ โดยแยกเป็น ปาติโมกขสังวรศีล ๑ อินทรียสังวรศีล ๑ อาชีวปาริสุทธิศีล ๑ ปัจจยสันนิสสตศีล ๑

ศีล ๕ อย่าง
☉ ศีล ๕ อย่าง หมวดที่ ๑ โดยแยกเป็น ปริยันตปาริสุทธิศีลเป็นต้น ข้อนี้สมจริง ดังที่ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีปุตตะแสดงไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคว่า ศีล ๕ อย่าง คือ ปริยันตปาริสุทธิศีล ๑ อปริยันตปาริสุทธิศีล ๑ ปริปุณณปาริสุทธิศีล ๑ อปรามัฏฐปาริสุทธิศีล ๑ ปฏิปัสสัทธิปาริสุทธิศีล ๑
☉ ศีล ๕ อย่าง หมวดที่ ๒ โดยแยกเป็น ปหานศีล  เวรมณีศีล ๑ เจตนาศีล ๑ สังวรศีล  อวีติกกมศีล 



 ปัญหาเรื่องศีล หน้าที่๑ 🔎 หน้าที่ ๒ 

วันศุกร์

๓.๘ นิพพานสุข และบทลงท้าย

ความสุขนั้นไม่จำเป็นต้องหมายเอาเฉพาะสุขเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น ในที่ใดๆ ภาวะใดๆ มีความสุข ก็ย่อมบัญญัติภาวะนั้นๆเข้าเป็นความสุข ความสุขสูงสุดตามหลักพระพุทธศาสนา ก็คือ “นิพพานัง ปรมัง สุขัง” นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง หรือเป็นความสุขที่สูงสุด โดยมีลักษณะที่พอจะปรากฏออกมาให้พูดถึงได้ ก็คือ

เป็นสุขตลอดเวลา : ไม่ต้องหา เป็นคุณสมบัติประจำของชีวิต มีอยู่กับตัว
เป็นสุขอิสระ : ไม่ต้องพึ่งพา ไม่ขึ้นต่ออะไรๆ ตรงข้ามกับกามสุขที่เป็นสุขแบบพึ่งพาอาศัยสิ่งเสพอย่างเต็มที่
เป็นสุขล้วน : บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่มีทุกข์แฝงหรือค้างคาเหลืออยู่เลย

เมื่อมองที่ตัวสภาวะตามกฏไตรลักษณ์ (มองขั้นปรมัตถสัจจะ) สุขที่ยังเป็นเวทนา หรือสุขที่ยังอาศัยการเสวยอารมณ์ ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น เพราะสุขเวทนาเป็นสังขารธรรม จึงย่อมมีความสิ้น สลาย จางหาย แปรปรวนไปได้เป็นธรรมดา ดังทรงแสดงในพระสูตร

“พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ คือ ๑. สุขเวทนา  ๒. ทุกขเวทนา ๓. อทุกขมสุขเวทนา … พระดำรัสที่ว่า ‘ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นทุกข์’ นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงอะไร”

“ดีละ ดีละ ภิกษุ เรากล่าวเวทนาไว้ ๓ ประการนี้ คือ ๑. สุขเวทนา  ๒. ทุกขเวทนา ๓. อทุกขมสุขเวทนา เรากล่าวเวทนาไว้ ๓ ประการนี้ สมจริงดังคำที่เรากล่าวว่า ‘ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นทุกข์’

“คำที่ว่า ‘ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นทุกข์’ นั้นเรากล่าวหมายถึงความที่สังขารทั้งหลายนั้นแลไม่เที่ยง ฯลฯ มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความแตกไปเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความดับไปเป็นธรรมดา ฯลฯ คำที่ว่า ‘ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นทุกข์’ นั้นเรากล่าวหมายถึงความที่สังขารทั้งหลายนั้นแลมีความแปรผันเป็นธรรมดา” (รโหคตสูตร)

นิพพานเป็นภาวะที่ตรงข้ามกับความสุขจากกามและฌาน เพราะในขณะที่ภาวะของกามและฌานสมาบัติ ยังเป็นภาวะแห่งการเข้าหา ยังต้องขึ้นต่ออารมณ์ แต่นิพพานเป็นภาวะหลุดออก ปลอดพ้น โปร่งโล่ง

ความสุขที่ไม่เป็นเวทนา ไม่พึ่งพา ไม่ขึ้นต่ออารมณ์นี้ เป็นเรื่องยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ เพราะไม่เคยประสบ ตัวอย่างที่จะเทียบก็ไม่มี แต่กระนั้นก็อาจพูดให้เห็นเค้าว่า ตามปกติ คนทั่วไปก็มีความสุขพื้นฐานอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งต่างจากความสุขจากการเสพรสอารมณ์ ได้แก่ ภาวะที่จิตใจปลอดโปร่งผ่องใสเบิกบาน ไม่มีความกังวลใจใดๆ เช่น ทำงานสำคัญเสร็จ, หายจากการป่วยหนัก, พ้นจากการเป็นหนี้ เป็นต้น ผู้ที่มีภาวะจิตเช่นนี้ ย่อมเรียกได้ว่าเป็นผู้มีความสุขอยู่แล้วในตัว

ผู้ใดสามารถปล่อยวาง ละความติดใจพัวพันในภาวะเลิศล้ำของฌานสมาบัติได้ คือถอนความติดในกามมาได้ขั้นหนึ่งแล้ว ยังถอนความติดในฌานสมาบัติได้อีก ไม่มีความเกี่ยวเกาะติดพันใดๆเลย เขาก็จะถึงภาวะหลุดพ้นเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ นี้คือภาวะที่เรียกว่า นิพพาน ซึ่งเป็นภาวะหลุดออก ปลอดพ้น โปร่งโล่ง เบิกบาน แม้นิพพานจะเป็นสุข และผู้บรรลุนิพพานก็เป็นผู้มีความสุข แต่ผู้บรรลุนิพพานไม่ติดในความสุข ไม่ว่าชนิดใดๆ รวมทั้งไม่ติดเพลินนิพพาน ไม่ถือว่านี่คือนิพพานของเราด้วย แต่ถึงจะเป็นเช่นนี้ ผู้ประจักษ์แจ้งนิพพานแล้ว กลับเป็นผู้มีสิทธิหรือพร้อมที่จะเสวยความสุขชนิดก่อนๆทั้งหมดได้อย่างดีที่สุด โดยไม่มีพิษภัยอีกด้วย ทั้งนี้ ธรรมดาปรากฏเป็นของมันเองว่า ผู้ที่บรรลุนิพพานแล้วไม่เสพกามสุข เพราะไม่นึกอยากเสพ เขาได้ประสบสิ่งอื่นที่ดีกว่าจนไม่เห็นกามคุณนั้นมีคุณค่าที่เขาจะเกี่ยวข้องเสพเสวยแล้ว

การทำบุญหรือทำความดีในทางพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นทาน ศีล ภาวนา ว่าตามหลักแท้แล้ว ท่านไม่สอนให้มุ่งหาผลตอบแทนเป็นกามสุข เช่น ลาภ ยศ การไปเกิดในสวรรค์ เป็นต้น แต่ท่านสนับสนุนให้ทำความดีเพื่อขัดเกลาจิตใจตนเอง เพื่อลดละกิเลส ทำลายความสั่งสมก่อตัวของตัณหาเชื้อทุกข์ ทำให้ผู้ทำความดีนั้นประสบสุขประณีตที่ลึกซึ้งภายใน ซึ่งจะนำความร่มเย็นเป็นสุขมาให้ พัฒนาชีวิตก้าวสูงขึ้นไปในความสุขที่แท้จริงยั่งยืน โดยมีนิพพานสุขเป็นจุดหมายสุดท้าย ท่านจึงกล่าวแสดงภาวะของนิพพานอยู่บ่อยครั้งว่า คือ ความเป็นสุขที่ยอดเยี่ยม สุขยิ่งกว่านิพพานสุขไม่มี ตัวอย่างจากพระสูตรบางตอน เช่น

“กามสุขในโลก และทิพยสุข ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งความสุขคือความสิ้นตัณหา” (ราชสูตร)

“ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี โทษเสมอด้วยโทสะไม่มี ทุกข์เช่นด้วยขันธ์ไม่มี สุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง, บัณฑิตทราบเนื้อความนี้ตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน เพราะนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง, ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง ทรัพย์มีความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง ญาติทั้งหลายมีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” (สุขวรรค)

แม้แต่ผู้ปฏิบัติธรรม ก็ต้องมองนิพพานว่าเป็นสุข จึงจะเป็นทรรศนะที่ถูกต้อง ดังพุทธพจน์

“ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุผู้มองเห็นนิพพานโดยความเป็นทุกข์ จักเป็นผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ ย่อมเป็นไปไม่ได้, ข้อที่ภิกษุผู้ไม่ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ จักบรรลุโสดาปัตติผล … ฯลฯ ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้

“ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุผู้มองเห็นนิพพานโดยความเป็นสุข จักเป็นผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้, ข้อที่ภิกษุผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ จักบรรลุโสดาปัตติผล … ฯลฯ ก็ย่อมเป็นไปได้” (นิพพานสูตร)

พระอรหันต์ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ท่านเองก็ร่าเริงใจได้หมด แล้วก็พาคนอื่นให้รื่นรมย์ไปด้วย นี่เป็นเรื่องของความสามารถในการพัฒนาการมีความสุข การปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าถูกทางแล้ว ความสุขก็จะเลื่อนขั้นพัฒนาไป

“ไม่ว่าบ้าน ไม่ว่าป่า ไม่ว่าที่ลุ่ม ไม่ว่าที่ดอน ท่านผู้ไกลกิเลสอยู่ที่ไหน ที่นั้นไซร้ เป็นภูมิสถานอันรื่นรมย์” (คาถาธรรมบท อรหันตวรรค)

จะพูดว่า พระพุทธศาสนาคือระบบการพัฒนาความสุขก็ได้ จะพูดว่า กระบวนการกำจัดทุกข์ก็ได้ ทั้งหมดก็เป็นแง่ความหมายที่มาโยงถึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พระพุทธศาสนา จึงเป็นระบบการพัฒนาความสุข และเป็นศาสนาแห่งความสุข ตามนัยที่ได้กล่าวมาฉะนี้แล


จบการย่อความหนังสือพุทธธรรม ฉบับปรับขยาย


๓.๗ ข้อบกพร่องของฌานสุข

ภาวะในฌานยังไม่โปร่งโล่งเต็มที่ มีความคับแคบด้วยสัญญาและองค์ธรรมอื่นๆที่เนื่องอยู่ในฌานนั้นๆ ยังมีความคำนึงด้วยสัญญาเกี่ยวกับฌานชั้นต่ำกว่าฟุ้งขึ้นมาในใจได้ ถึงแม้จะจัดเป็นนิรามิสสุข แต่ก็เป็นภาวะปรุงแต่งถูกปัจจัยทางจิตสรรสร้างขึ้นมา ไม่เที่ยงแท้ จะต้องดับไปตามสภาวะ ลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่งของฌานสุข คือ ยังเป็นสุขระดับเวทนา หมายความว่า เป็นสุขที่เกิดจากการเสวยอารมณ์ หรือเสพรสอารมณ์ ซึ่งในแง่นี้เหมือนกับกามสุข คือเป็นสุขเวทนา ส่วนข้อดีที่สำคัญของฌานสุข นอกจากความสุขที่ดื่มด่ำกว่ากามสุขแล้ว ฌานสุขยังเป็นสุขที่ไม่มีความเบียดเบียน เพราะเป็นการเสพอารมณ์ภายใน ไม่ต้องอิงอาศัยอารมณ์ภายนอก (อามิส) จึงจัดฌานสุขเป็นนิรามิสสุข ส่วนนิพพานเป็นยอดแห่งนิรามิสสุข

“ภิกษุทั้งหลาย ถ้านักบวชลัทธิอื่นกล่าวหาว่า สมณะศากยบุตรประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข พึงถามว่าประกอบแบบไหน เพราะมีอยู่มากด้วยกัน คือ บางคนฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ พูดปด บำเรอตนด้วยกามคุณ อย่างนี้ชื่อว่าประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุขแบบชาวบ้าน ซึ่งไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน การประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข ที่เป็นไปเพื่อนิพพาน ได้แก่ ความสุขในฌาน ๔ ถ้านักบวชลัทธิอื่นกล่าวว่า สมณะศากยบุตร ประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข ๔ อย่างนี้ ก็พึงรับรองว่ากล่าวถูกต้อง” (ปาสาทิกสูตร)

เมื่อมีความสุขที่ประณีตกว่าเข้ามาเทียบแล้ว ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่กามสุขจะตกต่ำมีค่าน้อย ดังคำที่ท่านใช้เรียกกามสุข ว่าเป็นปุถุชนสุข ตรงข้ามกับฌานสุข ซึ่งเป็นเนกขัมมสุข สุขที่เอื้อต่อการบรรลุนิพพาน มีพุทธพจน์ตรัสว่า ผู้ยังติดอยู่ในกามสุข ก็คือติดข้องอยู่ในโลก ผู้ใดเข้าถึงฌาน (จะเป็นรูปฌานหรืออรูปฌานก็ตาม) ท่านเรียกผู้นั้นว่าได้มาถึงที่สุดของโลกแล้ว และอยู่ ณ ที่สุดแห่งโลก แต่ก็ยังเป็นผู้เนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตัวไม่พ้นจากโลก ส่วนผู้ใดสำเร็จฌานขั้นสูงสุดแล้วก้าวล่วงความยึดติดถือมั่นในฌานสุขไปได้ เป็นผู้หมดอาสวะเพราะเห็น (สัจธรรม) ด้วยปัญญา ผู้นี้จึงจะเรียกได้ว่า ได้มาถึงที่สุดแห่งโลกแล้ว อยู่ ณ ที่สุดแห่งโลก และทั้งได้ข้ามพ้นโยงใยที่เหนี่ยวพันให้ติดอยู่ในโลกไปได้


ส่วนแทรกเสริม

ในอรรถกถาปุคคลบัญญัติ ท่านว่าอย่างน้อยต้องเป็นพระอนาคามีฌานถึงไม่เสื่อม พระโสดาบัน พระสกทาคามี ฌานอาจเสื่อมได้ มิใช่ด้วยเหตุอกุศล แต่เป็นเพราะธรรมอันเป็นข้าศึกบางอย่าง เช่น ความกังวลใจในการงานที่จะต้องทำ ส่วนโลกุตรธรรม ธรรมอันมิใช่วิสัยของโลก, สภาวะพ้นโลก, ประกอบด้วยมรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑.ที่ได้สำเร็จแล้วของพระอริยบุคคลทุกระดับ ไม่มีวันเสื่อมได้เลย



๓.๖ ข้อเสีย หรือจุดบกพร่องของกามสุข

ความเอร็ดอร่อยสนุกสนานหวานชื่นที่คนปรารถนา กามอำนวยให้เพียงชั่วครู่ยามในเวลาที่เสพ ไม่มีความจิรังยั่งยืน ไม่ให้ความสุขที่เต็มอิ่มแท้จริง เมื่อเสพนานเข้าก็เกิดความเบื่อหน่าย ต้องเปลี่ยนอารมณ์อยู่เรื่อยๆ ดังพุทธพจน์

“ความอิ่มด้วยกามทั้งหลาย ไม่มีในโลก” (รัฐปาลสูตร)

ในเวลาที่ไม่ได้เสพ รวมถึงเมื่อกามสุขจางคลายหายลับล่วงผ่านไปแล้ว กลับเหลือความเจ็บปวดชอกช้ำ เสียดายหวนหาอาลัยทุกข์ทรมานประทับลงอย่างแน่นแฟ้น ความลำบากทุกข์ยากในการแสวงหา ระวังรักษากามวัตถุไว้เสพเสวย ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการวิวาท แย่งชิง จนไปถึงสงครามเข่นฆ่ากัน ครั้นประกอบการทุจริตแล้ว ตายไปก็ยังได้รับโทษ คือ ความทรมานในอบาย ทั้งนี้ก็เพราะสาเหตุจากกาม



ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา คำว่า “กาม” โดยปกติจะใช้ในความหมายกว้าง คือหมายถึง ความอยากในสิ่งเสพทางประสาทสัมผัสทางกาย ๕ ประกอบด้วย รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่ได้ใช้ในความหมายแคบดังที่ใช้ใน ศีล ๕ ข้อ ๓ อันเจาะจงเฉพาะการเสพเมถุน ท่านที่บรรลุความสุขประณีตอย่างสูงแล้ว หลายท่านก็ยังดำเนินชีวิตโดยเสพเสวยสุขควบกันไปทั้งสองอย่าง (เสพเสวยกามอย่างรู้เท่าทัน ปฏิบัติต่อกามคุณอย่างถูกต้อง) จึงมีทางเลือกในการเสวยความสุขมากขึ้น เมื่อประสบความทุกข์ก็มีทางบรรเทาพิษภัยของกิเลสโดยไม่ต้องถูกบีบบังคับให้พึ่งกามสุขเพียงอย่างเดียว คือ มีความสุขฝ่ายนิรามิสเป็นทางเลือกและทางออก (นิสสรณะ)

ผู้ปฏิบัติถูกต้องต่อกามสุข ย่อมก้าวหน้าไปสู่สุขที่ประณีตได้ง่ายขึ้น
เพราะกามสุขที่บริหารจัดการได้ดี ก็จะเป็นฐานที่ค้ำจุนสนับสนุนในการพัฒนาตนให้ก้าวขึ้นสู่ประโยชน์สุขที่สูงขึ้นไป เมื่อประสบสุขประณีตแล้ว สุขประณีตนั้นก็กลับเป็นเครื่องช่วยควบคุมการแสวงหาและการเสพกามสุข ให้อยู่ในขอบเขตแห่งความถูกต้องดีงามยิ่งขึ้นไปอีก เพราะบุคคลผู้นั้น มีหลักประกันในด้านความสุขสำหรับตนเองแล้ว และเห็นคุณค่าของสุขประณีตที่สูงกว่า ครั้นบุคคลนั้นบรรลุภูมิธรรมสูงยิ่งขึ้นไปอีก ประสบสุขประณีตยิ่งขึ้นไปอีก ในที่สุดก็จะไม่วกเวียนมาหากามสุขอันเป็นสุขระดับล่างอีกเลย




๓.๕ ระดับขั้นของความสุข

ความสุขมีความสำคัญมากในการปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา กล่าวได้ว่า พุทธจริยธรรมไม่แยกต่างหากจากความสุข เริ่มแต่ขั้นต้น ในการทำความดีหรือกรรมดีทั่วๆไป ที่เรียกว่าบุญ ก็มีพุทธพจน์ตรัสว่า

“บุญเป็นชื่อของความสุข” (ปุญญวิปากสูตร)

ในการเจริญภาวนา บำเพ็ญเพียรทางจิต ความสุขก็เป็นปทัฏฐานให้เกิดสมาธิ แม้ฌานในระดับสูง ไม่มีสุขเป็นองค์ฌาน ก็พึงเข้าใจว่าเป็นความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไปอีก

จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือ นิพพาน เป็นบรมสุข คือ สุขสูงสุด ก็พึงบรรลุได้ด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์ (หมายถึง ทุกรกิริยา, ไม่พึงสับสนกับ ทุกขาปฏิปทา ซึ่งคำว่าทุกข์ในที่นั้น หมายถึง ปฏิบัติด้วยความยากลำบาก)


ระดับขั้นของความสุข แนวที่ ๑ : แบ่งออกเป็น ๑๐ ขั้น ๓ ระดับ

ระดับที่ ๑. กามสุข (ขั้นที่ ๑) กามสุข แปลว่า ความสุขทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ (เรียกว่า สามิสสุข, อามิสสุข ตรงข้ามกับ นิรามิสสุข คือ สุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม)
ระดับที่ ๒. ฌานสุข (ขั้นที่ ๒-๙) ได้แก่ รูปฌาน ๔, อรูปฌาน ๔ จัดเป็นเป็นนิรามิสสุข ภาวะในฌาน ท่านเรียกว่าเป็นนิพพานได้โดยปริยาย คือ เทียบคล้ายในบางด้าน
ระดับที่ ๓. นิโรธสมาบัติสุข (ขั้นที่ ๑๐) เป็นนิรามิสสุขอย่างยิ่ง นิโรธสมาบัติ เป็นสมาบัติที่เข้าได้เฉพาะพระอนาคามี และพระอรหันต์ ท่านจัดเป็น นิพพานโดยนิปริยาย คือ โดยตรง แต่ยังเป็นของชั่วคราว ข้อนี้อาจเรียกว่า นิพพานสุขก็ได้ ซึ่งในความหมายอย่างที่ผ่อนลงมา ถือเป็นความสุขที่มีอยู่เป็นปกติของพระอริยบุคคลทุกลำดับ ตามระดับขั้นของภูมิธรรม

สุขทั้ง ๓ ระดับนี้ ท่านยอมรับว่าเป็นความสุขทั้งนั้น หากแต่เป็นความสุขที่ดีกว่า ประณีตลึกซึ้งยิ่งกว่ากันขึ้นไปตามลำดับ เพราะความสุขขั้นต้นๆ มีส่วนเสีย หรือแง่ที่เป็นทุกข์แทรกอยู่ด้วยมาก เมื่อเป็นสุขขั้นสูงขึ้นไป ก็ยิ่งประณีตบริสุทธิ์มากขึ้น เมื่อเห็นโทษของสุขที่หยาบ ก็จะหน่ายหายติด และโน้มใจไปหาสุขที่ประณีตยิ่งกว่า เมื่อรู้จักและได้ประสบความสุขที่ประณีตประจักษ์กับตัวแล้ว ก็จะละความสุขที่หยาบกว่าเสียได้ มุ่งบรรลุสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไปตามลำดับ จนถึงภาวะที่เป็นที่หมายโดยสมบูรณ์ หรืออย่างน้อยก็จะไม่มัวเมาหมกมุ่นในสุขที่หยาบนั้นจนเกินไป ข้อที่ว่านี้ ก็เป็นลักษณะด้านหนึ่งของความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม

พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ได้ทรงบรรลุถึงความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม และความสุขอย่างอื่นที่ประณีตยิ่งไปกว่านั้นแล้ว จึงทรงยืนยันได้ว่าจะไม่ทรงเวียนกลับมาหากามอีก พร้อมกันนั้นก็ได้ตรัสทำนองเตือนผู้ปฏิบัติธรรมให้ระลึกว่า ถึงหากอริยสาวกจะมองเห็นอย่างชัดเจนตามความเป็นจริงด้วยสัมมาปัญญาว่า กามทั้งหลายมีความหวานชื่นน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้ยิ่งนัก แต่ถ้าอริยสาวกนั้นยังไม่ประสบ ยังไม่รู้จักปีติและความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม หรือความสุขที่ประณีตยิ่งไปกว่านั้น ก็ยังวางใจไม่ได้ว่าเธอจะไม่วกเวียนกลับมาหากามอีก

ในทำนองเดียวกันนั้น ได้ตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายไว้โดยจำเพาะว่า ถ้าผู้บวชแล้ว ยังมิได้ประสบปีติและความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม หรือความสุขที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น กิเลสทั้งหลาย เช่น อภิชฌา พยาบาท ความฟุ้งซ่าน เกียจคร้าน เบื่อหน่าย ก็จะเข้าครอบงำจิตได้ หมายความว่า ก็จะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ หรือทนประพฤติพรหมจรรย์อยู่ไม่ได้ (อาจารย์บางท่านจึงมักแนะนำให้ผู้ที่ต้องการบวชเจริญอุปจารสมาธิให้ได้ก่อนเป็นอย่างน้อย เพื่อเป็นทิฏฐธรรมสุขวิหาร, ธรรมเพื่อการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน)

สำหรับคฤหัส พระพุทธเจ้ามิได้ทรงเพ่งแต่จะสอนให้ละเลิกความเกี่ยวข้องกับกามคุณไปถ่ายเดียว แต่ทรงสอนให้รู้จักปฏิบัติต่อกามคุณอย่างถูกต้อง โดยยังคงความเป็นอิสระอยู่ได้ ไม่ตกไปเป็นทาสของกามคุณ และมิให้กามคุณกลายเป็นสิ่งก่อโทษทุกข์ภัย กล่าวคือ ทั้งที่กามคุณยังเป็นของขาดพร่องแหว่งเว้านี้แหละ เมื่อรู้จักบริหารจัดการได้ดี ก็ยังเป็นคุณที่ดีแก่ชีวิตและขยายออกไปให้เกื้อกูลเป็นประโยชน์แก่สังคมให้อยู่กันร่มเย็นเป็นสุข ยิ่งกว่านั้น ก็จะเป็นฐานที่ค้ำจุนสนับสนุนในการพัฒนาตนให้ก้าวขึ้นสู่ประโยชน์สุขที่สูงขึ้นไปๆ


กามโภคีสุข ๔ : สุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนควรมี

สุขของคฤหัสถ์ หรือ คิหิสุข หรือ กามโภคีสุข ๔ (สุขของชาวบ้าน, สุขที่ชาวบ้านควรพยายามเข้าถึงให้ได้สม่ำเสมอ, สุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนควรมี

๑. อัตถิสุข สุขเกิดจากความมีทรัพย์ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ ว่าตนโภคทรัพย์ที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงความขยันหมั่นเพียรของตน และโดยชอบธรรม
๒. โภคสุข สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ ว่าตนได้ใช้ทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบนั้น เลี้ยงชีพ เลี้ยงผู้ควรเลี้ยง และบำเพ็ญประโยชน์
๓. อนณสุข สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ ว่าตนเป็นไท ไม่มีหนี้สินติดค้างใคร
๔. อนวัชชสุข สุขเกิดจากความประพฤติไม่มีโทษ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ ว่าตนมีความประพฤติสุจริต ไม่บกพร่องเสียหาย ใครๆ ติเตียนไม่ได้ ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ

บรรดาสุข ๔ อย่างนี้ อนวัชชสุข มีค่ามากที่สุด

ความที่ยกมานี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาถือความสุขเป็นเรื่องสำคัญแล้ว ยังให้ข้อสังเกตต่อไปว่า การที่อริยสาวกละกามนั้น มิใช่เพราะกามไม่มีความสุข แต่อริยสาวกละกาม เพราะเห็นว่า กามมีความสุขก็จริง แต่ยังปะปนด้วยทุกข์มาก และข้อสำคัญคือ ยังมีความสุขอย่างอื่นที่สุขยิ่งกว่า อริยสาวกละกาม ก็เพราะได้ประสบความสุขที่ประณีตกว่านั้น


ระดับขั้นของความสุข แนวที่ ๒ : แบ่งออกเป็น ๒ ระดับ

ความสุขที่เกิดจากการสนองความต้องการ : ขั้นโลกียะ
๑.๑) ความสุขเมื่อได้สนองตัณหา (ความสุขจากการสนองความต้องการที่เป็นอกุศล)
๑.๒) ความสุขเมื่อได้สนองฉันทะ (ความสุขจากการสนองความต้องการที่เป็นกุศล)

ความสุขทุกกาล โดยไม่ต้องสนองความต้องการ : ขั้นโลกุตระ
ความสุขในระดับโลกียะ มีความหมายว่า การได้สนองความต้องการ หรือ ความสมอยาก สมปรารถนา, คนมีความอยากต้องการอย่างไหน (ตัณหา, ฉันทะ) เมื่อเขาได้สนองความต้องการอย่างนั้น เขาก็มีความสุข ดังนั้น ก็แสดงว่าความสุขนั้นยังไม่มีอยู่ จึงต้องรอการได้สนอง 

ความสุขขั้นโลกุตระนี้มีเป็นคุณสมบัติในตัวอยู่แล้ว จึงไม่ต้องขึ้นต่อการสนอง ทั้งไม่ต้องหา และไม่ต้องสร้าง (พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย มีฉันทะเต็มบริบูรณ์ แต่ความสุขของท่านไม่ขึ้นต่อการสนองฉันทะ คือท่านมีความสุขอยู่แล้วเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง)

เทียบกับแนวที่ ๑. ขั้นที่ ๑-๙ เป็นโลกียสุข, ขั้นที่ ๑๐ เป็นโลกุตรสุข

“กามสุขในโลก และทิพยสุข ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งความสุขคือความสิ้นตัณหา” (ราชสูตร)

“ดูก่อนอานนท์ มีฐานะอยู่ที่นักบวชเจ้าลัทธิอื่นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมบัญญัติสัญญาเวทยิตนิโรธ (นิโรธสมาบัติ) ในความสุข ข้อนั้นคืออะไรกัน? เป็นไปได้อย่างไรกัน? ดูก่อนอานนท์ท่านพึงชี้แจงว่า ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคย่อมไม่ทรงบัญญัติในความสุขหมายเอาเฉพาะสุขเวทนาอย่างเดียว ในที่ใดๆย่อมหาความสุขได้ ในฐานะใดๆมีความสุข พระผู้มีพระภาคย่อมทรงบัญญัติฐานะนั้นๆในความสุข” (ภิกขุสูตร)

“ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี โทษเสมอด้วยโทสะไม่มี ทุกข์เช่นด้วยขันธ์ไม่มี สุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง, บัณฑิตทราบเนื้อความนี้ตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน เพราะนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง, ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง ทรัพย์มีความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง ญาติทั้งหลายมีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” (สุขวรรค)

ในขณะที่พวกชาวสวรรค์บันเทิงด้วยวัตถุและกิจกรรมทางกามสุข พวกชั้นพรหมอิ่มอยู่กับความสุขทางจิตถึงขั้นฌานสุข และพระอรหันต์ลุนิพพานสุข พ้นไปแล้วจากเยื่อใยในอามิสสุข บุคคลโสดาบันเข้าถึงความสุขใน ๓ ภูมินั้น ทั้งกามสุข ทั้งอธิจิตตสุข (สุขด้วยคุณธรรมเช่น พรหมวิหารธรรม และฌาน) และโลกุตรสุข โดยยังไม่ทิ้งอย่างหนึ่งอย่างใด

บทที่เกี่ยวข้อง : 🔎พระโสดาบัน



วันพฤหัสบดี

๓.๔ พุทธศาสนา คือ ระบบการพัฒนาความสุข

“คนมีปัญญา ถึงเผชิญอยู่กับความทุกข์ ก็ไม่ยอมสิ้นหวังที่จะได้ประสบความสุข” (มหาชนกชาดก)

“ความเสื่อมจากญาติ ทรัพย์ ยศ ยังนับว่าเป็นความเสื่อมเพียงเล็กน้อย ภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมที่นับว่าเลวร้ายยิ่งกว่าความเสื่อมทั้งหลาย คือความเสื่อมจากปัญญา “ความเจริญด้วยญาติ ทรัพย์ ยศ ยังนับว่าเป็นความเจริญเพียงเล็กน้อย ภิกษุทั้งหลาย ความเจริญที่เรากล่าวว่าเป็นยอด คือความเจริญด้วยปัญญา เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้เจริญด้วยปัญญา” (กัลยาณมิตตาทิวรรค)

        ความสุขมีมากมาย หลายขั้น หลายระดับ และความสุขนั้นพัฒนาได้ ทุกคนจึงควรพัฒนาขึ้นไป จนกว่าจะถึงความสุขที่ดีเลิศยอดเยี่ยมที่สุด เมื่อพูดถึงความสุขระดับต่างๆ พึงพิจารณาดูว่า ความสุขอย่างนี้มีข้อดีอย่างไร (อัสสาทะ) มีข้อเสียอย่างไร (อาทีนวะ) และในเมื่อมันยังไม่สมบูรณ์ เราจะมีทางพัฒนาให้พ้นไปจากสภาพที่ไม่สมบูรณ์อย่างไร (นิสสรณะ) ซึ่งลักษณะสำคัญของความสุขที่พัฒนาสูงขึ้นไปนั้น ก็คือเป็นความสุขที่เป็นอิสระมากขึ้น สามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องพึ่งพา ไม่ต้องขึ้นต่อการเสพวัตถุ ไม่ค่อยได้สังเกตกันว่า พระพุทธศาสนานี้เป็นศาสนาแห่งความสุข การปฏิบัติในพระพุทธศาสนา พูดในสำนวนหนึ่ง ก็คือการพัฒนาให้ก้าวไปในความสุขเหล่านี้ และจะพูดว่า พระพุทธศาสนา คือระบบการพัฒนาความสุข ก็ได้

วิธีปฏิบัติต่อความสุข ไม่เอาทุกข์ทับถมตน ที่มิได้ถูกทุกข์ท่วมทับ ไม่ละทิ้งความสุขที่ชอบธรรม ไม่หมกมุ่นสยบในความสุข แม้ที่ชอบธรรมนั้น เพียรพยายามทำเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไป, เพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสุขที่สูงขึ้นไป จนถึงสุขสูงสุดที่เป็นภาวะอันไร้ทุกข์โดยสิ้นเชิง


ส่วนแทรกเสริม เมื่อจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับภาวะที่ยากลำบากแสนสาหัส ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ พึงพิจารณาว่า ถึงกายป่วยแต่ใจเราจะไม่ป่วย ดังพุทธพจน์ที่ตรัสแก่นกุลบิดาผู้ชราความตอนหนึ่ง ดังนี้

“ดูกรคฤหบดี ก็บุคคลผู้บริหารกายนี้อยู่ พึงรับรองความเป็นผู้ไม่มีโรคได้แม้เพียงครู่เดียว จะมีอะไรเล่า นอกจากความเป็นคนเขลา ดูกรคฤหบดี เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเรามีกายกระสับกระส่ายอยู่ จิตของเราจักไม่กระสับกระส่าย” (นกุลปิตาสูตร) (พระสารีบุตรได้ขยายความตอบนกุลบิดาว่า บุคคลชื่อว่ากายป่วยแต่ใจไม่ป่วย เพราะละสักกายทิฏฐิ ไม่ยึดติดถือมั่น ไม่เห็นขันธ์ ๕ ว่าเป็นตน ถือเป็นการฝึกขันติ ความอดทน)

“ขันติความอดทน เป็นตบะ อย่างยิ่ง” (มหาปทานสูตร)

พระอริยสาวกที่ท่านบรรลุอรหัตตผลในขณะเจ็บป่วยทุกขเวทนาใกล้จะดับขันธ์ก็ยังมี เราอาจหาประโยชน์อะไรจากการพิจารณาความทุกข์ความลำบากนี้ได้บ้างก็เป็นได้ (เช่น โคธิกสูตร อรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร เรื่องทุกข์ของภิกษุ ๓๐ รูป เป็นต้น)



๓.๓ ความหมายของ ศีล วินัย สิกขาบท พรต วัตร ตบะ

ศีล คือ ความประพฤติดีงามสุจริต, เป็นคุณสมบัติของคนตามปกติ จึงใช้เป็นคำเอกพจน์ ไม่ได้เป็นข้อๆ

วินัย ความหมายตามศัพท์ แปลว่า การชี้นำอย่างวิเศษหรือการจัดการให้ดี (ที่จะฝึกคนให้มีศีล), วินัยจึงเป็นประมวลแห่งสิกขาบททั้งหลายนั่นเอง เป็นคำเอกพจน์

สิกขาบท แปลว่า ข้อศึกษา ข้อฝึกความประพฤติ คือ ข้อบัญญัติ โดยเฉพาะข้อที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เป็นข้อปฏิบัติที่จะต้องทำหรือต้องเว้นการใดๆ ตามที่บัญญัติไว้นั้น เพื่อให้มีความประพฤติและการปฏิบัติที่ถูกต้องดีงาม จะเห็นว่าสิกขาบทเป็นข้อๆ เมื่อพูดถึงหลายข้อ ก็เป็นพหูพจน์ ตามที่ว่ามานี้ สิกขาบททั้งหลายทั้งหมด รวมกันเป็นวินัย

การปฏิบัติตามสิกขาบททั้งหลาย คือ ตั้งอยู่ในวินัย ก็เป็นศีล เช่น สิกขาบท ๕ ข้อ เรียกรวมว่า วินัยของคฤหัสถ์ เมื่อประพฤติถูกต้อง ก็เป็นผู้มีศีล, สิกขาบท ๒๒๗ ข้อ เรียกรวมว่า วินัยของภิกษุ ภิกษุที่ตั้งอยู่ในวินัยนี้ ประพฤติถูกต้อง ก็เป็นผู้มีศีล กล่าวคือ วินัย และสิกขาบท มีเป้าหมายเพื่อ ศีล

พรต หมายถึง การสมาทานถือปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เรียกว่าธุดงค์ทั้งหลาย (ธุดงค์ ๑๓ เป็น พรต ที่พระพุทธเจ้ายอมรับให้นำไปปฏิบัติได้) ไม่เป็นศีล ถือเป็นส่วนพิเศษเพื่อความเคร่งครัด ขัดเกลา ฝึกอบรมตนเองให้ยิ่งกว่าปกติ เน้นที่ความมักน้อยสันโดษ เป็นเรื่องของความสมัครใจและความเหมาะสมของแต่ละคน ใครจะถือปฏิบัติหรือไม่ก็ได้ไม่มีความผิด โดยถือหลักว่าถ้ารับข้อใดมาปฏิบัติแล้ว กุศลธรรมเจริญขึ้น อกุศลธรรมเสื่อมลง ก็เป็นอันว่าผู้นั้นควรปฏิบัติข้อนั้น ต่างจากศีลซึ่งสมาชิกทุกคนของหมู่พึงรักษาเสมอเหมือนกัน ถ้าไม่รักษาย่อมมีผลเสียหายทั้งส่วนตัวและส่วนรวม

พรตบางอย่างเช่น ไม่พูด ฉันอาหารเฉพาะผลไม้ที่ตกพื้นเท่านั้น ถือว่าผิดวินัย เพราะเป็นการทรมานตนเกินพอดี

วัตร เป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมเนียมและมารยาทอันควรปฏิบัติ

ตบะ มีความหมาย ๒ นัย 
        ๑. ความหมายตามแนวพระพุทธศาสนา คือ การบำเพ็ญเพียรอย่างยวดยิ่งเพื่อกำจัดกิเลส
        ๒. ความหมายตามแนวศาสนาอื่น คือ พิธีข่มกิเลสโดยการทรมานตน