วันอังคาร

๗ สิ่งที่พึงระวังในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

สิ่งที่พึงระวังในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

๑. ธรรมที่เหมาะสมแก่ตน
ในการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้านั้น ด้วยทรงมุ่งหวังประโยชน์ของผู้ฟังแต่ละหมู่คณะตามความเป็นจริง เนื้อหาที่ทรงแสดงกับพระภิกษุและชาวบ้านจึงมีระดับของความยากง่ายและความลึกซึ้งที่ต่างกันอยู่พอสมควร ในระดับชาวบ้านท่านมักทรงแสดงธรรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง ทาน ศีล และความเมตตากรุณา ส่วนในระดับพระภิกษุท่านมักทรงแสดงธรรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความไม่ยึดติดถือมั่นซึ่งเป็นโลกุตรธรรมโดยตรง ดังตัวอย่างใน อนาถปิณฑิโกวาทสูตร ความโดยย่อว่า พระสารีบุตรกล่าวธรรมแก่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีซึ่งกำลังป่วยหนักจวนเจียนจะสิ้นชีพ โดยธรรมกถามีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวธรรมีกถาจบแล้ว ท่านเศรษฐีซาบซึ้งในรสพระธรรมอย่างยิ่ง กล่าวว่าไม่เคยได้สดับธรรมเห็นปานนี้ (แม้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีจะมีโอกาศใกล้ชิดได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าอยู่บ่อยครั้ง แต่พระพุทธองค์ก็ไม่เคยเทศนาเรื่องของอัตตาให้ท่านเศรษฐีฟังแม้แต่ครั้งเดียว ด้วยเรื่องของอัตตาเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยากและพระพุทธองค์ก็ทรงระวังในเรื่องนี้เพราะหากผู้ฟังยังไม่พร้อมก็จะเกิดทิฎฐิให้ยึดอัตตาให้เหนี่ยวแน่นกว่าเดิม เมื่อพระพุทธองค์ทรงเห็นว่าถึงเวลาที่เหมาะสมแล้วจึงส่งพระสารีบุตรไปเทศนาสอนท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี) พระอานนท์ตอบว่า ธรรมีกถาเห็นปานนี้ไม่แจ่มแจ้งแก่คฤหัสถ์ แต่แจ่มแจ้งแก่บรรพชิต (อนาถปิณฑิโกวาทสูตร) 

ความไม่ยึดติดถือมั่น สามารถกล่าวได้ว่าเป็นหลักการอันสำคัญยิ่งของพระพุทธศาสนา เป็นการแสดงโลกุตรธรรมโดยย่อ ดังที่ท่านตรัสตอบแก่ผู้ต้องการฟังธรรมอย่างย่นย่อ ในจูฬตัณหาสังขยสูตรว่า “ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น” นั่นเอง แต่ควรเข้าใจว่าเป็นธรรมในระดับสูงและไม่ใช่ง่ายที่จะทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ จึงควรศึกษาด้วยความระมัดระวัง การประเมินตัวเองตามความเป็นจริงและเลือกเฟ้นธรรมที่เหมาะกับตนจึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากธรรมในระดับสูงที่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นแล้ว ธรรมเพื่อความอยู่ดีมีสุขในสังคมที่สามารถจะเอื้อประโยชน์และปฏิบัติได้ไม่ยากมีอยู่มากมาย เช่น บุญกิริยาวัตถุ (หลักการทำความดี), สังคหวัตถุ (หลักประสานสามัคคี) เป็นต้น ธรรมเหล่านี้นอกจากสะดวกต่อการปฏิบัติในชีวิตประจำวันแล้วยังเป็นพื้นฐานที่ดีให้แก่ธรรมในระดับที่สูงยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกด้วย


๒. ศึกษาหลักธรรมสำคัญที่เป็นพื้นฐานให้เข้าใจเพียงพอก่อน
เนื่องจากการเจริญวิปัสสนากรรมฐานไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม กล่าวในภาพรวมแล้วล้วนมีวัตถุประสงค์ให้เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของขันธ์ ๕ เพื่อละวางเสียจากความยึดติดถือมั่นเสมอเหมือนกันทั้งสิ้น พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวว่า “มรรคนั้นต่างกันโดยเทศนา แต่โดยอรรถก็อันเดียวกันนั้นเอง” แต่ถ้าผู้ปฏิบัติไม่มีความเข้าใจในหลักธรรมสำคัญอย่างเพียงพอ ก็อาจทำให้เกิดความไขว้เขวในการปฏิบัติได้

ยกตัวอย่างเช่น หลักไตรลักษณ์แม้จะเป็นหลักธรรมที่ท่องจำกันได้คล่อง แต่โดยสาระแท้ๆแล้วกลับสุขุมลุ่มลึกอย่างยิ่ง ส่วนที่ง่ายมีเพียงบางส่วนที่ตื้นและปรากฏชัด เช่น เห็นความไม่เที่ยงของสิ่งต่างๆทั่วไป เห็นปัญหาความเป็นทุกข์ในชีวิตประจำวัน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม
หลักไตรลักษณ์แสดงความเป็นจริงตามธรรมชาติของโลกในระดับที่ลึกซึ้งถึงสภาวะ ซึ่งครอบคลุมเสมอกันไปหมด (สามัญลักษณะ) ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะทำความเข้าใจให้ถูกแท้ ทั้งนี้ ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานถ้าผู้ปฏิบัติก้าวไปถูกก็จะส่งเสริมความเข้าใจหลักธรรมต่างๆให้มากขึ้นพร้อมกันไปด้วย อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจในระดับหลักการควรที่จะมีให้ชัดไว้ก่อน (🔎ไตรลักษณ์, 🔎อริยสัจ, 🔎ปฏิจจสมุปบาท, 🔎นิพพาน เป็นต้น) เปรียบเสมือนสร้างตึกสูงต้องเริ่มจากรากฐานที่มั่นคง และสมดังที่ท่านตรัสว่า “ธรรมรถมีสัมมาทิฏฐินำหน้าเป็นสารถี” นั่นเอง

๓. ระวังการมองโลกในแง่ร้าย กลายเป็นคนมีความสุขยาก
เมื่อได้ยินได้ฟังเนื้อหาบางตอนเช่น “กามเป็นทุกข์” “ทุกข์เสมอด้วยเบญจขันธ์ไม่มี” “สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง” ดังนี้แล้ว บางท่านเกิดความเห็นแล่นเลยเถิดไปว่าความสุขนั้นไม่มีอยู่จริงโดยสิ้นเชิง มองไปทางใดก็พบเจอแต่ทุกข์ ด้วยความเห็นนี้เขาย่อมละทิ้งสุขอันชอบธรรม แล้วเอาทุกข์เข้าท่วมทับตน ซึ่งเป็นทางดำเนินที่ผิดพลาด เสียประโยชน์ ในเบื้องต้นควรเข้าใจว่า “ทุกข์” ในที่นี้แปลโดยย่อว่า ความเป็นภาวะบีบคั้นคงสภาพอยู่ไม่ได้ เป็นศัพท์ต่อเนื่องกับ อนิจจัง ความเกิดดับไม่เที่ยง เป็นการมองที่ตัวสภาวะแท้ อันเป็นสามัญลักษณะของโลก มิใช่มองแต่เพียงว่าเป็น ความทุกข์ระทม ขมขื่น ซึ่งเป็นความหมายอย่างแคบๆ

การมองโลกในแง่ร้ายในลักษณะที่ว่าสิ่งต่างๆเป็นความทุกข์ทรมานนั้น ส่งผลให้เกิดความ “เบื่อหน่ายโลกด้วยโทสะ, วิภวตัณหา”
ซึ่งทำให้ใจเป็นทุกข์โดยไม่จำเป็น ส่วนการ “เบื่อหน่ายโลกเพราะรู้เห็นตามเป็นจริงด้วยนิพพิทาญาน” ทำให้ปลอดโปร่งเบิกบาน ทั้งสองกรณีนี้แม้โดยคำศัพท์อาจมีส่วนเหมือนกัน แต่แท้จริงความหมายและผลลัพธ์ต่อชีวิตจิตใจต่างกันอย่างตรงข้ามทีเดียว จึงจำเป็นที่จะต้องแยกให้ออกว่าการมองสิ่งทั้งหลายในโลกเป็นทุกข์นี้ เป็นการมองแบบเจาะลึกลงไปในขั้นสภาวะ (ปรมัตถสัจจะ) ไม่ได้เป็นการกล่าวตามความรู้สึกทั่วไป (สมมติสัจจะ) ซึ่งพุทธพจน์ที่ท่านตรัสตามความรู้สึกทั่วไป (ว่าเป็นสุข) ก็มีอยู่มากมายแม้แต่กามสุข พระพุทธศาสนาก็ถือว่าเป็นความสุข เพียงแต่ท่านเตือนว่ามีโทษมากและมีสุขอื่นที่ดียิ่งกว่า (ดู ธรรมหมวด🔎กามโภคีสุข ๔ (สุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนควรมี)  นอกจากนี้พึงทราบว่า กรรมฐานที่ให้มองเห็นอะไรๆเป็นของไม่สวยไม่งาม (🔎อสุภกรรมฐาน ปฏิกูลมนสิการ เช่น 🔎อาหาเรปฏิกูลสัญญา) เป็นการปฏิบัติในขั้นสมถะ ยังมองไปตามสมมติบัญญัติ เพียงแต่ถือเอาสมมติในแง่ที่จะมาใช้ข่ม ตัณหา ราคะ ที่ฟุ้งขึ้นให้สงบลง ส่วนในขั้นวิปัสสนา มองเห็นตามสภาวะแท้ๆ ตรงตามที่สิ่งทั้งหลายมันเป็นของมัน ตามเหตุปัจจัย เรียกว่า ตามความเป็นจริงในขั้นปรมัตถ์ ที่สิ่งทั้งหลาย ไม่มีงาม หรือไม่งาม เป็นแต่ธาตุทั้งหลายที่มาประกอบกันเข้า

ผู้ศึกษาพึงเข้าใจว่าการเจริญวิปัสสนา เป็นการมองโลกตามความเป็นจริง มิใช่การมองโลกในแง่ร้าย ซึ่งการมองโลกตามความเป็นจริงย่อมต้องมองทั้งสองระดับ คือ ในระดับของความรู้สึก ความรู้สึกสุข ความรู้สึกว่าสิ่งนั้นสวยงามมีอยู่ในขั้นสมมติก็เข้าใจไปตามเป็นจริง (สมมติสัจจะ) ส่วนในระดับของสภาวะแท้ (ปรมัตถสัจจะ) ซึ่งสิ่งทั้งหลายทั้งรูปธรรมและนามธรรม เป็นธาตุมาประกอบกันเข้า เกิดดับไม่คงอยู่เที่ยงแท้ (อนิจจัง) ถูกความแปรปรวนบีบคั้น (ทุกขัง) ไม่มีอัตตาตัวตน (อนัตตา) เมื่อมองในแง่นี้ ก็เข้าใจไปตามความเป็นจริงเช่นกัน ทั้งนี้ การตั้งมุมมองและทัศนคติในภาพรวมว่า “พุทธศาสนา คือ ระบบการพัฒนาความสุข” ผู้จดบันทึกเชื่อว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ศึกษาส่วนใหญ่ในยุคสมัยนี้ (รวมถึงตัวผู้บันทึกเองซึ่งนิยมชมชอบมุมมองนี้เป็นอย่างมาก) เนื่องจากการตั้งหลักคิดที่มั่นคงแข็งแรงโดยถือเอามุมมองด้านประโยชน์สุขเป็นที่ตั้งเช่นนี้ เป็นการปิดความเสี่ยงที่ตัวผู้ศึกษาจะตกไปในฝั่งของการมองโลกในแง่ร้ายซึ่งอาจเกิดขึ้นได้บ้างในระหว่างการพิจารณาสภาวธรรมต่างๆ เหตุเพราะยังไม่เข้าถึงความเป็นจริงได้โดยสมบูรณ์ (🔎พุทธศาสนา คือ ระบบการพัฒนาความสุข) อย่างไรก็ตาม การมองพุทธศาสนาในแง่มุมอื่น เช่น เป็นศาสนาแห่งความพ้นทุกข์ เป็นศาสนาแห่งปัญญา เป็นต้น ล้วนเป็นแง่มุมที่น่าศึกษาพิจารณาทั้งสิ้น เพราะไม่ว่าจะมองในแง่มุมไหนถ้าความเห็นนั้นเป็นไปอย่างถูกต้อง สุดท้ายแล้วย่อมส่องให้เห็นสัจธรรมเดียวกัน

๔. ปัญหาเรื่องการหมดแรงจูงใจในชีวิต
ดังที่ท่านเจ้าคุณสมเด็จประยุทธ์ฯ ได้กล่าวสอนไว้ว่า “เมื่อศึกษาเรื่องการปล่อยวาง ไม่ยึดติดถือมั่นแล้ว ควรทำความเข้าใจให้ชัด มิใช่กลายเป็นว่า ไม่เอาเรื่องเอาราว ปล่อยปละละเลย ใช้ชีวิตอย่างเลื่อนลอยปราศจากเป้าหมาย ต้องการผลแต่ไม่ทำเหตุที่ควรทำ ปล่อยเวลาให้ล่วงผ่านไปเปล่า ซึ่งถือเป็นความประมาทอย่างยิ่ง” ข้อนี้ผู้จดบันทึกเองเคยมีปัญหาว่า เมื่อพิจารณาโลกุตรธรรมอย่างเข้มข้นแล้ว เป็นเหตุให้แรงจูงใจในการดำเนินชีวิตลดลงอย่างมาก ทั้งยังเกิดความรู้สึกชังชีวิตอยู่ลึกๆ จนน่ากังวลว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปในระยะยาวจะส่งผลเสียต่อความสำเร็จทางโลกได้ จึงต้องเตือนสติตัวเองให้กลับมาตั้งหลักให้ดี เพราะในความเป็นจริง ถ้าเรารู้สึกว่าการศึกษาธรรมะนั้น ก่อให้เกิดผลเสียไม่ว่าจะในแง่ใดๆก็ตาม ควรตระหนักว่า เป็นความผิดพลาดในการศึกษาพิจารณาของเราเอง มิใช่ธรรมะนั้นมีโทษ หลักธรรมทั้งหลายท่านตรัสไว้ดีแล้ว มีแต่คุณประโยชน์ถ้าทำความเข้าใจได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับตน หากแต่ต้องยอมรับว่า โลกุตรธรรมนั้นเป็นของยาก ก็คงจะมีบ้างที่ความเข้าใจของผู้ศึกษาเอนเอียง เฉไฉไปบ้าง ไม่ถูกต้องถ่องแท้ตามความหมายที่แท้จริง จึงเกิดโทษบางประการจากความเห็นที่ไม่ตรงนั้น

ในภาพรวมถ้าศึกษาพิจารณาธรรมะใดแล้ว ผู้ปฏิบัติรู้สึกว่าเกิดความรู้สึกในแง่ลบ หดหู่ กดดัน เคร่งเครียด จนเกินไป หรือสูญเสียแรงจูงใจในการดำเนินชีวิตปกติไปอย่างมาก มีความเป็นไปได้สูงว่าการปฏิบัตินั้นจะผิดทาง หรืออาจไม่ผิดแต่ยังไม่เหมาะสมกับตน กรณีเช่นนี้ ขอให้ตั้งหลักให้ดีแล้วมองภาพรวมกว้างๆว่า เราศึกษาปฏิบัติตามหลักของพระพุทธศาสนา ก็เพื่อความสุขและความเจริญ ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า “ถ้าปฏิบัติธรรมถูกทาง ต้องได้ปราโมทย์ (ความเบิกบานใจ)”

๕. สงบนิวรณ์เพื่อให้ปัญญาแสดงศักยภาพได้เต็มที่
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย 🔎นิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้แล ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ทุรพล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นไม่ละนิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ อันครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทุรพลแล้ว จักรู้จักประโยชน์ของตน ประโยชน์ของผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ สามารถกระทำความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ด้วยปัญญาที่ไม่มีกำลัง ทุรพล ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้” (อาวรณสูตร)

ดังที่พบเห็นได้ว่า ผู้ที่จิตใจถูกกลุ้มรุมไปด้วยกิเลส เมื่อจะคิดพิจารณาเรื่องที่ไม่ยากก็เป็นเสมือนยาก คิดพิจารณาเรื่องที่ไม่ซับซ้อนไม่น่าจะผิดพลาดก็กลับผิดพลาดไปได้ คนเราถ้าจะก่อความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่รู้สึกว่าไม่น่าให้อภัยตัวเอง ก็มักเกิดขึ้นในเวลาที่สติปัญญามืดบอดเพราะถูกกิเลสกลุ้มรุมเข้ามาอย่างรุนแรงนี่เอง กล่าวคือ แม้ในการคิดพิจารณาเรื่องทั่วๆไป กิเลสก็ฉุดรั้งปัญญาให้ถดถอยลงจนหวังผลสำเร็จได้ยากแล้ว
เมื่อเล็งถึงการเจริญวิปัสสนาเพื่อให้เห็นแจ้งในธรรมอันเป็นของลึกซึ้งอย่างยิ่งนั้น ผู้ปฏิบัติย่อมต้องสงบความฟุ้งซ่านของนิวรณ์ลงให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ก่อน จึงสามารถใช้ศักยภาพทางปัญญาของตนได้อย่างเต็มที่

ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุละนิวรณ์ (นีวรณปหานวรรค, ๒๐/๑๗-๒๑)
ละกามราคะ ด้วยการกำหนดใจให้ปราศจากความเพ่งเล็งในโลก, พิจารณาอสุภนิมิตโดยแยบคาย
ละพยาบาท ด้วยการกำหนดใจให้ปราศจากความคิดประทุษร้าย, เจริญเมตตา
ละถีนมิทธะ ด้วยการกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง (เมื่ออยู่ในที่มืดก็ง่วงซึมได้ง่าย) ,ปรารภความเพียรมั่น
ละอุทธัจจกุกกุจจะ ด้วยความสงบใจ (ไม่ให้ฟุ้งซ่าน)
ละวิจิกิจฉา ด้วยการคิดพิจารณาโดยแยบคาย ไม่คลางแคลงใจในกุศลธรรมทั้งหลาย

ทั้งนี้ ผู้ที่มีความสามารถด้านสมาธิ นิวรณ์ย่อมถูกข่มลงได้ชั่วคราวด้วยกำลังของอุปจารสมาธิเป็นต้นไปนั่นเอง การเจริญวิปัสสนาต่อเนื่องจากการเจริญสมาธิจึงเป็นแนวทางปฏิบัติที่ยอดเยี่ยมนอกจากนี้ ท่านผู้ปรารถนาจะทำเหตุปัจจัยแวดล้อมให้นิวรณ์สงบลงได้ง่าย เพื่อให้เอื้อต่อการเข้าถึงธรรมที่ลึกซึ้ง พึงดูการปฏิบัติ สีลขันธ์ อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ สันโดษ อย่างผู้เจริญแล้ว จากพระสูตรหลายบทในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๙. ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เช่น สามัญญผลสูตร, อัมพัฏฐสูตร เป็นต้น

๖. ไม่ควรละเลยการปฏิบัติด้านสมถกรรมฐาน
ความสำเร็จในด้านสมาธินั้น น่าจะกล่าวได้ว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติจะเข้าถึงสุขประณีตลึกซึ้งอันเกิดจากความสงบได้ด้วยตัวเองในปัจจุบัน ดังมีพุทธพจน์มากมายที่ตรัสสนับสนุนไว้ทั้งในด้านการเป็นฐานของปัญญาและในด้านความสุข เช่น “การประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข ที่เป็นไปเพื่อนิพพาน ได้แก่ ความสุขในฌาน ๔ …” (ปาสาทิกสูตร) เป็นต้น

ธรรมทั้งหลายมีปัญญาเป็นยอดยิ่ง
การเจริญวิปัสสนาเพื่อถอนรากถอนโคนกิเลสนั้นเป็นหน้าที่โดยตรงของปัญญา หากแต่ถ้าปราศจากความสนับสนุนทางด้านสมาธิแล้ว ก็คล้ายกับการเข้าสู่สนามรบโดยปราศจากอาวุธที่ยอดเยี่ยม แม้อาจมีหวังชนะได้แต่คงจะยากมิใช่น้อยเลย ดังจะเห็นได้จากในพระสูตรมากมายหลายบทที่ท่านกล่าวถึงการเจริญสมาธิเพื่อให้ได้ฌาน ๔ ในลักษณะที่เป็นขั้นตอนหนึ่งของการปฏิบัติเพื่อเชื่อมต่อไปให้ถึงการเกิดญาณทัสสนะ นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับสุขจากสมาธิอยู่เป็นประจำ ความจำเป็นต้องพึ่งพาสุขจากสิ่งเสพบริโภคย่อมลดลง ความโลภ การแก่งแย่ง ความอิจฉา ความขัดข้องใจต่างๆ ก็มักจะบรรเทาเบาบางลงไป จึงมีชีวิตที่เป็นสุขและสามารถจะมีศีลที่ดีได้โดยง่าย อย่างไรก็ตาม ตามหลักฐานในประไตรปิฎกพระอรหันต์ที่ไม่ได้ฌานสมาบัติก็มีอยู่ เช่น ในปุตตสูตร ซึ่งคัมภีร์ชั้นอรรถกถาได้จัดแบ่งพระอรหันต์ที่ไม่ได้ฌานสมาบัติว่า พระอรหันต์สุกขวิปัสสก (อาจารย์บางท่านกล่าวว่าได้ฌานเฉพาะในขณะจิตที่เกิดมรรคผล)

๗. พึงนึกเสมอว่าพระพุทธศาสนาเป็น กรรมวาที วิริยะวาที
ถือความเพียรพยายามเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในความเจริญก้าวหน้า ดังพุทธพจน์มากมายที่ตรัสถึงความเพียร อาทิเช่น “บุคคลผู้ปรารภความเพียรมั่น มีชีวิตอยู่วันเดียว ประเสริฐกว่าบุคคลผู้เกียจคร้านมีความเพียรอันเลว มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี” (คาถาธรรมบท สหัสสวรรคที่ ๘)
“บุคคลอย่าพึงดูหมิ่นบุญว่า บุญมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาดๆ นักปราชญ์สั่งสมบุญแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบุญ” (คาถาธรรมบท ปาปวรรคที่ ๙)
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เกียจคร้านอาเกียรณ์ด้วยธรรมอันเป็นบาปอกุศล ย่อมอยู่เป็นทุกข์ และย่อมยังประโยชน์ของตนอันใหญ่ให้เสื่อมเสีย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนบุคคลผู้ปรารภความเพียร ผู้สงัดจากธรรมอันเป็นบาปอกุศล ย่อมอยู่เป็นสุข และยังประโยชน์ของตนอันใหญ่ให้บริบูรณ์ได้” (ทสพลสูตรที่ ๒)



การทำทานและผลของทาน

พระพุทธพจน์                    
เย นํ ททนฺติ สทฺธาย วิปฺปสนฺเนน เจตสา ตเมว อนฺนํ ภชติ อสฺมึ โลเก ปรมฺหิ จ
บุคคลเหล่าใดมีใจผ่องใส ย่อมให้ข้าวด้วยศรัทธา บุคคลเหล่านั้นย่อมได้ข้าวนั้นเอง ทั้งโลกนี้และโลกหน้า
ตสฺมา วิเนยฺย มจฺเฉรํ ทชฺชา ทานํ มลาภิภู ปุญฺญานิ ปรโลกสฺมึ ปติฏฺฐา โหนฺติ ปาณินํ
เพราะเหตุนั้นพึงเปลื้องความตระหนี่เสีย แล้วให้ทานบุญเท่านั้น เป็นที่พึ่งของสัตว์ในโลกหน้า
จากเสรีสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ข้อ ๒๘๔


🔅 ทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
คนเราที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ มิได้อยู่โดยลำพังเพียงคนเดียว ย่อมมีพ่อแม่ พี่น้อง ญาติ มิตร สหาย ข้าทาส บริวาร และบุตรภรรยา สามีด้วยกันทั้งนั้น การที่เราจะอยู่ร่วมกับคนเหล่านั้นด้วยความสุขและเป็นที่รักของคนเหล่านั้น นอกจากจะต้องเป็นคนดี มีเมตตากรุณา มีสัมมาคารวะต่อผู้ที่ควรคารวะ พูดวาจาอ่อนหวานแล้ว ยังต้องอาศัยความมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อุดหนุน เจือจานกันเป็นเครื่องผูกใจคนเหล่านั้นด้วย

ผู้ขอบ่อยๆ ย่อมเป็นที่รังเกียจของผู้อื่นฉันใด ผู้ให้ก็ย่อมเป็นที่รักของผู้อื่นฉันนั้น ด้วยเหตุนี้ การให้จึงเป็นการผูกน้ำใจผู้อื่นไว้ได้ประการหนึ่ง ปกตินั้นคนเรามักจะมีความตระหนี่หวงแหนอยู่เป็นประจำใจ ยากนักที่จะหยิบยื่นสิ่งใดให้แก่ใครๆ ได้โดยง่าย เพราะฉะนั้น คนที่สามารถหยิบยื่นของๆ ตนให้แก่ผู้อื่นได้นั้นนับว่าน่าสรรเสริญอย่างยิ่ง ถ้ารู้จักให้เสียครั้งหนึ่งแล้ว ก็ไม่ยากเลยที่จะให้ในครั้งต่อๆไป ทั้งๆ ที่ทุกคนรู้จักการรับ และการให้มาตั้งแต่เด็กๆ เพราะต่างก็เคยรับและเคยให้กันมาแล้ว การรับนั้นไม่ยาก ขอให้รับด้วยความอ่อนน้อมเป็นพอ ส่วนการให้นั้นเชื่อว่าคงมีคนไม่มากนักที่จะให้ได้ถูกต้องให้เกิดประโยชน์ ทั้งฝ่ายผู้ให้และผู้รับ เป็นการให้แบบสัตบุรุษ คือคนดีทั้งหลาย ตามที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ ถ้าไม่ได้ศึกษาเรียนรู้มาก่อน น้อยคนนักที่จะประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้อง แม้แต่ทรัพย์ที่เราขวนขวายแสวงหามา เราก็ยังไม่ทราบว่าจะใช้ทรัพย์นั้นไปในทางใดจึงจะเกิดประโยชน์ ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงแสดงเรื่องการใช้ทรัพย์ ไว้ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต อาทิยสูตรที่ ๑ (ข้อ ๔) ๕ ประการ คือ

๑. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยสุจริตชอบธรรม บำรุงเลี้ยงตนเอง บิดา มารดา บุตร ภรรยาและบ่าวไพร่ให้มีความสุข ไม่อดยาก
๒. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยสุจริตชอบธรรม เลี้ยงดูมิตรสหายให้อิ่มหนำสำราญ
๓. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยสุจริตชอบธรรม ป้องกันอันตรายอันเกิดจากไฟ จากน้ำ พระราชา โจร หรือทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก เพื่อให้ตนปลอดภัยจากอันตรายนั้นๆ
๔. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยชอบธรรม ทำพลี คือบูชา หรือบำรุงในที่ ๕ สถาน คือญาติพลี บำรุงญาติ อติถิพลี ต้อนรับแขก ปุพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ราชพลี บำรุงราชการมีการเสียภาษีอากรเป็นต้น และเทวตาพลี ทำบุญแล้วอุทิศให้แก่เทวดา เพราะว่าเทวดาย่อมคุ้มครองรักษาผู้นั้นด้วยคิดว่า 
"คนเหล่านี้แม้ไม่ได้เป็นญาติของเราเขาก็ยังมีน้ำใจให้ส่วนบุญแก่เรา เราควรอนุเคราะห์เขาตามสมควร"
๕. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยชอบธรรม บำเพ็ญทักษิณาทานที่มีผลเลิศ เกื้อกูลแก่สวรรค์ มีวิบากเป็นสุข ไว้ในสมณะพราหมณ์ผู้เว้นจากความประมาท มัวเมา ตั้งอยู่ในขันติโสรัจจะเป็นผู้หมั่นฝึกฝนตนให้สงบระงับจากกิเลส

ในข้อ ๕ นี้ตรัสสอนให้ใช้ทรัพย์ที่หามาได้ให้ทานแก่ผู้มีศีล ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเพื่อความหมดจดจากกิเลส ผู้เป็นทักขิเณยยบุคคล เพราะทานที่ให้แก่ผู้มีศีลมีผลมาก ทำให้เกิดในสวรรค์ ได้รับความสุขอันเป็นทิพย์ นอกจากนั้นผู้ถวายยังอาจบรรลุคุณวิเศษ เพราะธรรมที่ท่านผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบเหล่านั้นยกมาแสดงให้ฟังได้อีกด้วย ผู้มีปัญญาย่อมไม่เสียดายทรัพย์ที่หมดเปลืองไปเพราะเหตุ
เหล่านี้ เพราะว่าท่านได้ใช้ทรัพย์นั้นถูกทางแล้วเกิดประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นแล้ว โดยเฉพาะทรัพย์คือบุญที่ท่านถวายไว้ในผู้มีศีลเหล่านั้น ยังสามารถติดตามตนไปในโลกหน้าได้อีกด้วย ควรหรือไม่ที่เราจะใช้ทรัพย์ให้ถูกต้องตามที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้และควรหรือไม่ที่เราจะใช้ทรัพย์นั้นจำแนกแจกทาน ด้วยเหตุนี้ จึงควรที่จะรับรู้เรื่องของทาน ตลอดจนการให้ทานที่ถูกต้องไว้บ้าง เพื่อทานของเราจะได้เป็นทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก

คำว่า ทาน ที่แปลว่า การให้ นั้น จัดเป็นบุญเป็นกุศล เป็นความดีอย่างหนึ่ง หมายถึง เจตนาที่เป็นเหตุให้เกิดการให้ก็ได้ หมายถึงวัตถุ คือสิ่งของที่ให้ก็ได้ ทานจึงมีความหมายที่เป็นทั้งนามธรรมและรูปธรรม ถ้าหมายถึงเจตนาที่ให้ก็เป็นนามธรรม ถ้าหมายถึงวัตถุที่ให้ก็เป็นรูปธรรม ในที่นี้จะขอกล่าวถึงทานในความหมายทั้งสองอย่างนี้รวมๆ กันไป

เจตนาที่เป็นเหตุให้เกิดการให้ทานนั้น แบ่งตามกาลเวลาได้ ๓ กาล คือ
ปุพเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นก่อน คือเมื่อนึกจะให้ ก็แสวงหาตระเตรียมสิ่งที่จะให้นั้นให้พร้อม
มุญจเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นในขณะกำลังให้ของเหล่านั้น
อปรเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นหลังจากได้ให้เรียบร้อยแล้ว แล้วเกิดความปีติยินดีในการให้ของตน

บุคคลใดที่ทำบุญหรือให้ทานด้วยจิตใจที่โสมนัสยินดี ทั้งประกอบด้วยปัญญา เชื่อกรรมและผลของกรรมครบทั้ง ๓ กาลแล้ว บุญของผู้นั้นย่อมมีผลมาก เจตนาทั้ง ๓ กาลนี้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องดับไปเช่นเดียวกับสังขารธรรมอื่นๆ และเมื่อดับไปแล้วสามารถจะส่งผลนำเกิดในสุคติภูมิเป็นมนุษย์และเทวดาได้ ในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน แสดงความบุพกรรม คือกรรมในชาติก่อนๆ ของผู้ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ที่เกี่ยวกับทานไว้มากมาย ตัวอย่างเช่น พระอรหันต์รูปหนึ่งในอดีตชาติได้ถวายผลมะกอกผลหนึ่งแก่พระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ในป่าใหญ่ รูปหนึ่งเคยถวายดอกบุนนาค รูปหนึ่งเคยถวายขนม รูปหนึ่งเคยถวายรองเท้าเป็นต้น นับแต่นั้นมาท่านเหล่านั้นไม่เคยเกิดในทุคติภูมิเลย เกิดอยู่แต่ในสุคติภูมิ เป็นมนุษย์และเทวดาเท่านั้น ตราบจนในชาติสุดท้ายได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

🔅 วัตถุทาน
คือสิ่งของที่ให้นั้นก็มีหลายอย่าง กล่าวกว้างๆ ก็ได้แก่ปัจจัย ๔ คือ จีวร ซึ่งรวมทั้งเครื่องนุ่งห่มด้วย บิณฑบาต ซึ่งรวมทั้งอาหารเครื่องบริโภคทุกอย่าง เสนาสนะ ที่อยู่อาศัย คิลานเภสัช คือยารักษาโรค 
ในโภชนทานสูตร อัง. ปัญจก. ข้อ ๓๗ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ทายกผู้ให้โภชนะเป็นทาน ชื่อว่าให้ฐานะ ๕ อย่างแก่ปฏิคาหก คือ ผู้รับ ๕ อย่าง คือ
๑. ให้อายุ
๒. ให้วรรณะ คือผิวพรรณ
๓. ให้ความสุข คือสุขกายสุขใจ
๔. ให้กำลัง คือความแข็งแรงของร่างกาย
๕. ให้ปฏิภาณ คือฉลาดในการตั้งปัญหาและตอบปัญหา

ถ้าจะพูดให้ละเอียดขึ้นไปอีก พระพุทธองค์ก็ทรงจำแนกวัตถุทานไว้ ๑๐ อย่างคือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน (พาหนะ) ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่อยู่ ที่อาศัย และประทีปดวงไฟ ในกินททสูตร สัง. สคาถ. ข้อ ๑๓๘ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
การให้ข้าวและน้ำ ชื่อว่าให้กำลัง
การให้ผ้า เครื่องนุ่งห่ม ชื่อว่าให้ผิวพรรณ
การให้ยานพาหนะ ชื่อว่าให้ความสุขทั้งกายและใจ
การให้ประทีบดวงไฟ ชื่อว่าให้ดวงตา
การให้ที่อยู่อาศัย ชื่อว่าให้ทุกอย่าง คือให้กำลัง ให้ผิวพรรณ ให้ความสุขและให้ดวงตา
การพร่ำสอนธรรม คือการให้ธรรมะ ชื่อว่าให้สิ่งที่ไม่ตาย (นิพพาน) เพราะบุคคลจะพ้นจากความตายไม่ต้องเกิดอีกได้ ก็เพราะอาศัยการได้สดับตรับฟังธรรม ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า การให้ธรรมะชนะการให้ (สิ่งอื่น) ทั้งปวง แม้การจะทำทานให้ถูกต้องก็ต้องอาศัยการฟังธรรม

ในวนโรปสูตร สัง สคาถ. ข้อ ๑๔๖ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบเทวดาที่มาทูลถามว่า ชนพวกไหนมีบุญเจริญในกาลทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน ชนพวกไหนตั้งอยู่ในธรรมสมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์ ?
ชนเหล่าใดสร้างอาราม (คือสวนดอกไม้ สวนผลไม้) ปลูกหมู่ไม้ (เพื่อให้ร่มเงา) สร้างสะพาน และชนเหล่าใดให้โรงน้ำดื่มเป็นทาน บ่อน้ำ บ้านเป็นที่พักอาศัย ชนเหล่านั้นย่อมมีบุญเจริญในกาลทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์

ซึ่งมีความหมายว่า ชนเหล่าใดทำกุศลมีการสร้างอารามเป็นต้นเหล่านี้ เมื่อระลึกถึงการทำกุศลนั้นในกาลใด ในกาลนั้นบุญย่อมเจริญ คือเพิ่มขึ้น และเมื่อชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม คือกุศลธรรม ๑๐ มีการไม่ฆ่าสัตว์เป็นต้น ย่อมเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ ละโลกนี้ไปแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ นอกจากนั้น เจตนาที่เป็นเครื่องงดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น พระพุทธองค์ก็ตรัสว่าเป็นมหาทาน เป็นทานที่ยิ่งใหญ่ดังที่ตรัสไว้ในปุญญาภิสันทสูตร อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๒๙ ว่า
ㆍการงดเว้นจากปาณาติบาต คือการไม่ฆ่าสัตว์ทั้งด้วยตนเองและใช้ผู้อื่น เป็นการให้ความไม่มีเวรไม่มีภัยแก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นการให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตสัตว์
ㆍการงดเว้นจากอทินนาทาน คือการถือเอาของที่เจ้าของเขามิได้ให้ทั้งโดยตนเอง และใช้ผู้อื่นเป็นการให้ความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น
ㆍการงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร คือการประพฤติผิดในบุตร ภรรยา สามีของผู้อื่น ชื่อว่าให้ความบริสุทธิ์แก่บุตร ภรรยา สามีของผู้อื่น
ㆍการงดเว้นจากมุสาวาท คือการกล่าวเท็จ กล่าวไม่จริง ชื่อว่าให้ความจริงแก่ผู้อื่น
ㆍการงดเว้นจากสุรา เมรัย และของมึนเมา เสพติด อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ชื่อว่าให้ความปลอดภัยแก่ทุกสิ่ง คือให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตสัตว์ แก่ทรัพย์สินของผู้อื่น แก่บุตร ภรรยา สามีของผู้อื่น และให้แต่คำพูดที่เป็นจริงแก่ผู้อื่น ทั้งนี้เพราะผู้ที่มึนเมาแล้วย่อมขาดสติ เป็นผู้ประมาท สามารถจะประพฤติล่วงศีลได้ทุกข้อ รวมทั้งประพฤติผิดอื่นๆ ด้วย

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่อัตคัตขาดแคลนทรัพย์สิ่งของที่จะนำออกให้เป็นทานก็ไม่ควรเดือดร้อนใจ เพราะเราสามารถจะบำเพ็ญทานที่ยิ่งใหญ่เป็นมหาทาน เป็นทานที่ไม่เจาะจง เป็นทานที่แผ่ไปยังสัตว์ทั้งหลายหาประมาณมิได้ ด้วยการรักษาศีล ๕ ยิ่งถ้าสามารถจะทำได้ทั้งสองอย่างก็ยิ่งประเสริฐ


🔅 ทานของอสัตบุรุษและทานของสัตบุรุษ
ขอกล่าวถึงทาน ที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า ทานของอสัตบุรุษและทานของสัตบุรุษ ตามที่แสดงไว้ในอสัปปุริสสูตร และสัปปุริสสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ดังต่อไปนี้

ทานของอสัตบุรุษ คือทานของคนไม่ดี มีอยู่ ๕ อย่าง คือ
ให้โดยไม่เคารพ ๑
ให้โดยไม่ยำเกรง ๑ 
ไม่ให้ด้วยมือของตนเอง ๑
ให้โดยทิ้งขว้าง ๑
ไม่เห็นผลในอนาคตแล้วให้ ๑

ทานของสัตบุรุษ คือทานของคนดี มีอยู่ ๕ อย่าง คือ 
ย่อมให้ทานโดยเคารพ ๑
ให้โดยยำเกรง ๑
ให้ด้วยมือของตนเอง ๑
ให้โดยไม่ทิ้งขว้าง ๑
เห็นผลในอนาคตจึงให้ ๑

อีกนัยหนึ่ง แสดงว่า ทานของสัตบุรุษ มี ๕ อย่าง คือให้ทานโดยศรัทธา ๑ ให้ทานโดยเคารพ ๑ ให้ทานตามกาลอันควร ๑ เป็นผู้มีจิตคิดอนุเคราะห์ให้ทาน ๑ ให้ทานโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น ๑ ถ้าตรงข้ามกับ ๕ ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นทานของอสัตบุรุษ

ทานของสัตบุรุษนัยที่ ๑
๑. ให้ทานโดยเคารพ คือให้โดยความเต็มใจ ไม่ได้ให้ด้วยความเกรงกลัวหรือจำใจให้ เวลาให้ก็ให้ด้วยกิริยาที่นอบน้อมยิ้มแย้มแจ่มใส
๒. ให้ทานโดยยำเกรง คือเคารพในทานของตนและเคารพในผู้รับ การเลือกให้แต่ของดี ของมีประโยชน์ ของสะอาดมีรสดีเป็นต้น ชื่อว่าเคารพทานของตน อีกประการหนึ่ง ผู้ที่ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ผู้ที่ให้ของที่เลิศ ย่อมได้ของที่เลิศ ผู้ที่ให้ของที่ดี ย่อมได้ของดี ผู้ที่ให้ของที่ประเสริฐย่อมเข้าถึงสถานที่ประเสริฐ นรชนใดให้ของที่เลิศ ให้ของที่ดี ให้ของที่ประเสริฐ นรชนนั้นจะบังเกิดในที่ใดๆ ย่อมมีอายุยืน มียศ นี้เป็นพระดำรัสของพระพุทธเจ้า การเลือกผู้รับที่สมควรแก่ของ และเลือกผู้รับที่เป็นผู้มีศีล มีคุณธรรม ชื่อว่าเคารพในผู้รับ ข้อนี้มิได้หมายความว่าถ้าผู้รับเป็นสัตว์ดิรัจฉาน หรือเป็นผู้ไม่มีศีลแล้ว ไม่ต้องให้ ควรให้ทั้งสิ้น แต่ของที่ดี ของที่ประณีต ของที่สะอาด มีรสเลิศ ย่อมสมควรแก่ผู้รับที่เลิศ คือผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรม ผู้มีศีลยิ่งกว่าผู้อื่น ยิ่งให้แก่ผู้มีศีลจำนวนมากเป็นประโยชน์สุขแก่ผู้มีศีลจำนวนมาก ที่เรียกว่าสังฆทาน ยิ่งมีผลมากจนประมาณไม่ได้ว่าเท่านั้นเท่านี้ชาติ
๓. ให้ด้วยมือของตน ข้อนี้หมายความว่า เวลานี้เราเป็นมนุษย์ มีมือ มีเท้า มีอวัยวะครบบริบูรณ์เราจึงควรทำทานนั้นด้วยมือตนเอง ไม่ควรใช้ผู้อื่นทำแทนอยู่เสมอๆ ถ้าจะใช้ก็ควรใช้เป็นบางครั้งบางคราวในเวลาจำเป็น นอกจากนั้นแล้วควรทำทานด้วยมือของตนเอง เพราะนอกจากจะทำให้เกิดเจตนาที่เป็นบุญในขณะที่กำลังให้แล้ว ในวัฏฏะอันยาวนานนี้ เราไม่อาจทราบได้ว่าเราจะเกิดเป็นคนมือขาดเท้าขาดเมื่อใด ถ้าเราเกิดเป็นคนมือขาดแล้ว แม้ของมีอยู่และเราอยากให้ทานด้วยมือของเราเอง เราจะให้ได้อย่างไร นอกจากจะอาศัยผู้อื่นทำแทนเท่านั้น
๔. ให้โดยไม่ทิ้งขว้าง ข้อนี้หมายถึงไม่ทิ้งขว้างการให้ คือให้อยู่โดยสม่ำเสมอ ให้อยู่เป็นประจำ
๕. เห็นผลในอนาคตจึงให้ หมายความว่า ให้เพราะเชื่อว่า ทานมีจริง ผลของทานมีจริง ทานทำให้เกิดในสวรรค์ได้จริง แม้เกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นผู้มั่งคั่งบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สิน หรือเชื่อว่าทานเป็นการขัดเกลาความตระหนี่ เป็นบันไดก้าวไปสู่สวรรค์และมรรคผล นิพพานได้ สัตบุรุษท่านเชื่ออย่างนี้จึงให้ทาน ถ้าเป็นทานของอสัตบุรุษ ก็มีนัยตรงข้ามกับที่กล่าวนี้

ทานของสัตบุรุษนัยที่ ๒
๑. ให้ทานโดยศรัทธา ผู้ที่เป็นสัตบุรุษ คือคนดีทั้งหลายนั้นย่อมให้ทานเพราะเชื่อกรรม และผลของกรรมว่ามีจริงจึงให้ ครั้นให้แล้วย่อมเป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีรูปงาม น่าดูน่าเลื่อมใส มีผิวพรรณงดงามในที่ๆ ทานนั้นเผล็ดผล
๒. ให้ทานโดยเคารพ คือ ให้ด้วยกิริยาที่เคารพ นอบน้อม ครั้นให้แล้วย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีบุตร ภรรยา ทาส และคนใช้หรือคนงาน เป็นผู้เคารพเชื่อฟัง สนใจสดับรับฟังคำสั่ง ตั้งใจใคร่รู้ในที่ๆ ทานนั้นเผล็ดผล
๓. ให้ทานตามกาลอันควร ครั้นให้แล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และย่อมเป็นผู้มีความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลบริบูรณ์ ในที่ๆ ทานนั้นเผล็ดผล คือ เป็นผู้มีทรัพย์มาตั้งแต่วัยเด็ก สามารถจะนำทรัพย์สินนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในขณะที่ยังมีกำลังวังชาแข็งแรง สติปัญญาเฉียบแหลม ไม่ใช่ได้ทรัพย์มาเมื่อหมดกำลังกายและกำลังปัญญาจะนำทรัพย์สินนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์แล้ว
กาลทาน ทานที่ให้ในกาลอันควรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ในกาลทานสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจก นิบาต ว่ามีอยู่ ๕ อย่าง คือ
        ก. อาคันตุกะทาน คือทานที่ให้แก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน หมายความว่าผู้นั้นเป็นผู้มาใหม่ ยังไม่รู้จักสถานที่และบุคคลในถิ่นนั้น เราก็ช่วยสงเคราะห์ให้ที่พักหรือข้าวของต่างๆ เพื่อให้เขาได้รับความสะดวกสบาย แม้พระภิกษุที่จรมาจากที่อื่น ท่านยังไม่รู้จักทางที่จะไปบิณฑบาตเป็นต้น ภิกษุที่อยู่ก่อนหรืออุบาสก อุบาสิกา ก็ช่วยอนุเคราะห์ท่าน ด้วยการถวายอาหารบิณฑบาต และของใช้ที่จำเป็นแก่สมณะ ทำให้ท่านได้รับความสะดวกสบายไม่เดือดร้อน อย่างนี้จัดเป็น อาคันตุกะทาน และเป็นกาลทาน
        ข. คมิกะทาน คือทานที่ให้แก่ผู้เตรียมตัวจะไป หมายความว่า ให้แก่บุคคลที่เตรียมตัวจะไปยังถิ่นอื่น สัตบุรุษย่อมสงเคราะห์คนที่จะเดินทางไปนั้น ด้วยค่าพาหนะ หรือด้วยยานพาหนะ ตลอดจนเครื่องอุปโภคบริโภคที่สมควร
        ค. ทุพภิกขทาน คือ ทานที่ให้ในสมัยข้าวยากหมากแพง ผู้คนอดอยาก ได้รับความเดือดร้อน แม้ในสมัยที่น้ำท่วม ไฟไหม้ ผู้คนเดือดร้อนไร้ที่อยู่ การให้ที่พักอาศัย และข้าวของ เครื่องใช้ข้าวปลาอาหารในเวลานั้น ก็จัดเป็นกาลทาน
        ง. นวสัสสะทาน การให้ข้าวใหม่แก่ผู้มีศีล
        จ. นวผละทาน การให้ผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล
ที่ข้อ ง และข้อ จ จัดเป็นกาลทาน เพราะข้าวใหม่ก็ดีผลไม้ที่ออกใหม่ตามฤดูกาลก็ดี มิใช่ว่าจะมีอยู่เสมอตลอดปี มีเป็นครั้งเป็นคราวตามฤดูกาลเท่านั้น สัตบุรุษย่อมนำข้าวใหม่และผลไม้ที่เพิ่งออกใหม่ ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีล แล้วจึงบริโภคเองต่อภายหลัง ท่านที่เคยมีชีวิตอยู่ในชนบทคงจะเคยพบเห็นว่า เวลาที่ข้าวออกรวงเป็นน้ำนม ชาวนาก็จะเก็บเอารวงข้าวอ่อนมาทำเป็นข้าวยาคูถวายพระ ข้าวแก่อีกนิดก็เอามาทำเป็นข้าวเม่า ข้าวสุกแล้วก็เอามาสีเป็นข้าวสารหุง ถวายพระภิกษุผู้ทรงศีลก่อน แม้ชาวสวนเมื่อผลไม้แก่จัดเขาก็จะเก็บเอามาถวายพระเสียก่อน แล้วจึงนำออกขายหรือบริโภคเอง คนที่มิใช่ชาวนา ชาวสวนบางคน เมื่อเห็นข้าวใหม่หรือผลไม้ออกใหม่วางขายตามตลาด ก็ซื้อมาแบ่งถวายพระเสียก่อนแล้วจึงบริโภค นับว่าท่านเหล่านี้ ได้ทำบุญของท่านถูกกาละเทศะเป็นอย่างยิ่ง ตรงต่อคำสอนของพระบรมศาสดา ในข้อกาลทาน บางแห่งท่านรวมเอาการให้ข้าวใหม่ และการให้ผลไม้ใหม่ไว้เป็นข้อเดียวกัน แล้วเพิ่มคิลานทาน คือการให้ทานแก่คนเจ็บไข้ไร้ที่พึ่ง ด้วยยา และอาหารเป็นต้น ซึ่งคิลานทาน นี้ก็สมควรจะเป็นกาลทานได้เช่นกัน เพราะเหตุที่กาลทาน เป็นทานที่ให้ในเวลาจำกัดทำไม่ได้โดยสม่ำเสมอ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าเป็นทานที่มีผลมาก ยิ่งให้ในผู้มีศีลผู้ประพฤติตรงยิ่งมีผลมาก แม้บุคคลผู้อนุโทนาต่อทานของผู้นั้น หรือช่วยเหลือให้ทานของผู้นั้นสำเร็จผล ก็ได้รับผล ทั้งบุญของผู้ให้ก็ไม่บกพร่อง เพราะฉะนั้นบุคคลจึงควรยินดีในการให้ทาน ทานที่บุคคลให้แล้วย่อมมีผลมาก ทั้งยังติดตามไปเป็นที่พึ่งแก่เขาในโลกหน้าด้วย

๔. มีจิตคิดอนุเคราะห์จึงให้ หมายความว่า สัตบุรุษนั้นเมื่อเห็นผู้ใดได้รับความลำบาก ขาดแคลนสิ่งใด ก็มีจิตคิดช่วยเหลือคนเหล่านั้นด้วยความเต็มใจ โดยไม่หวังผลตอบแทนโดยไม่คิดว่าเมื่อเราช่วยเหลือเขาแล้ว เขาจะต้องตอบแทนคุณของเรา แต่ช่วยเหลือเพราะต้องการให้คนเหล่านั้นได้รับความสุขสบาย ครั้นให้แล้วย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีโภคะมาก และเป็นผู้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ ที่สูงๆที่ประณีตที่เป็นของดียิ่งๆ ขึ้นไปในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล
๕. ให้ทานโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น หมายความว่าไม่กระทบคุณงามความดีของตน และไม่กระทบคุณงามความดีของผู้อื่น บางคนเคยทำทานด้วยทรัพย์สินและเงินทองครั้งละมากๆ แต่บางคนก็ทำเพียงครั้งละเล็กๆ น้อยๆ ตามฐานะของตน คนที่ทำมากบางคนทำแล้วก็ชอบข่มคนอื่น ชอบกล่าววาจาดูถูกผู้อื่นที่ทำน้อยกว่า เป็นการยกตนข่มท่านอย่างนี้ชื่อว่าทำให้คุณงามความดีของตนลดน้อยลง เพราะอะไร เพราะเราอุตส่าห์ละความตระหนี่ นำทรัพย์สินเงินทองออกทำบุญให้ทาน แต่แล้วเราก็กลับทำลายความดีของเราเองด้วยการเพิ่มกิเลส คือดูถูก ดูหมิ่นผู้อื่น ทั้งผู้ที่ทำบุญให้ทานน้อยนั้นเกิดได้ยินคำพูดอันไม่เพราะหูนั้นเข้า ถ้าเขาขาดโยนิโสมนสิการ จิตใจที่เป็นกุศลของเขาก็ดับวูบลง แล้วอกุศลคือความโทมนัสเสียใจก็จะเกิดขึ้นแทน อย่างนี้ชื่อว่าทำลาย คุณงามความดีของผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นเสื่อมจากคุณความดี คือกุศลที่มีอยู่ หรือบางคนเป็นผู้รักษาศีล ๕ โดยเคร่งครัดแต่ได้ให้สุรายาเมาเป็นทานแก่ผู้อื่นไม่ว่าจะด้วยกรณีใดๆ ก็ตามทำให้ผู้รับมึนเมา ขาดสติ สามารถจะกระทำบาปอกุศลต่างๆ มีการฆ่าสัตว์เป็นตนได้ อย่างนี้ก็เป็นการให้ที่กระทบความดีของตนและผู้อื่นเช่นกัน เพราะเราเป็นผู้มีศีลอยู่แล้ว แทนที่จะชักชวนคนอื่นให้เขามีศีลอย่างเรา กลับทำให้เขาเสื่อมเสียจากศีล ทานอย่างนี้สัตบุรุษท่านไม่กระทำ สัตบุรุษครั้นให้ทานโดยไม่กระทบตนและผู้อื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และโภคทรัพย์นั้น ย่อมไม่เป็นอันตรายจากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากทายาทหรือจากคนที่ไม่เป็นที่รักในที่ๆ ทานนั้นให้ผล

นี่คือการให้ทานของสัตบุรุษ ถ้าตรงกันข้ามก็เป็นทานของอสัตบุรุษ ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ถ้าไม่มีเหตุ ผลก็เกิดไม่ได้ทั้งเหตุก็สมควรแก่ผลด้วย คือเหตุดี ผลต้องดี เหตุชั่วผลต้องชั่ว ไม่ใช่เหตุดีแล้วผลชั่ว หรือเหตุชั่วแล้วผลดี ถ้าเป็นอย่างนั้นเหตุก็ไม่สมควรแก่ผล สัตบุรุษท่านทำเหตุ คือทานของท่านดีผลที่ได้รับก็ต้องดีเป็นธรรมดาในอิสสัตถสูตร สัง. สคาถ. ข้อ ๔๐๕ พระเจ้าปเสนทิโกศลได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลควรให้ทานในที่ไหน ?
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า มหาบพิตร ควรให้ทานในที่ที่จิตเลื่อมใส คือจิตเลื่อมใสในที่ใด ในบุคคลใด ควรให้ในที่นั้น ในบุคคลนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานที่ให้แล้วในที่ไหนจึงมีผลมากพระเจ้าข้า ?
ทานที่ให้แล้วแก่ท่านผู้มีศีล มีผลมาก ให้ในท่านผู้ไม่มีศีลหามีผลมากไม่ เพราะฉะนั้น ควรให้ทานในที่ใด จึงเป็นอย่างหนึ่ง ที่นั้นมีผลมากหรือไม่ เป็นอีกอย่างหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ หากบุคคลที่ท่านเลื่อมใสเป็นผู้มีศีล ทานของท่านย่อมมีผลมาก ยิ่งผู้มีศีลนั้นเป็นผู้ละกิเลสทั้งปวงได้แล้ว เป็นพระอรหันตขีณาสพแล้ว ทานของท่านที่ถวายในท่านผู้มีศีลนั้น ด้วยจิตผ่องใส ยิ่งมีผลมาก

ถึงแม้พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแสดงว่า ควรให้ทานในผู้ที่ท่านเลื่อมใส และมีศีลก็จริง แต่พระองค์ก็มิได้ทรงสอนให้ละเลยบุคคลที่ท่านมิได้เลื่อมใส ตลอดจนสัตว์เดรัจฉาน ยาจก วณิพก เป็นต้นเสีย เพราะเห็นว่าได้ผลน้อย ทั้งนี้เพราะขึ้นชื่อว่าบุญแล้วแม้เล็กน้อย ก็ไม่ควรประมาท ปล่อยให้ผ่านไปโดยไม่สนใจ ด้วยว่าน้ำที่หยดลงในตุ่มทีละหยด ก็ยังเต็มตุ่มได้ ฉันใด บุญที่ว่าเล็กน้อยนั้น เมื่อสะสมไว้บ่อยๆ เนืองๆ ก็เป็นบุญมากได้ฉันนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า การสาดน้ำล้างภาชนะลงไปในบ่อน้ำครำ ด้วยเจตนาที่จะให้สัตว์ที่อาศัยอยู่ในที่เหล่านั้นได้รับความสุข ก็ยังมีอานิสงส์ไม่น้อย จะป่วยกล่าวไปไยกับการให้ทานในผู้มีศีล หรือในบุคคลหมู่มากที่ประพฤติปฏิบัติตรง ทั้งโดยเจาะจงและไม่เจาะจง

🔅 อานิสงส์ของทาน
ในทักขิณาวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกอานิสงส์ของทานที่ให้โดยเจาะจงและไม่เจาะจงไว้ตามลำดับขั้น ถึง ๒๑ ประเภท คือ
๑. ให้ทานแก่ดิรัจฉาน มีอานิสงส์ร้อยชาติ คือ ให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ ถึง ๑๐๐ ชาติ
๒. ให้ทานแก่ปุถุชนทุศีล มีอานิสงส์พันชาติ
๓. ให้ทานแก่ปุถุชนผู้มีศีล มีอานิสงส์แสนชาติ
๔. ให้ทานแก่ปุถุชนผู้ปราศจากความยินดีในกาม นอกพุทธศาสนา อย่างพวกนักบวชหรือฤาษีที่ได้ฌานเป็นต้น แม้ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา ก็ยังมีอานิสงส์ถึงแสนโกฏิชาติ

สี่ประเภทนี้เป็นปาฏิปุคคลิกทาน เป็นทานที่ให้โดยเจาะจง คือให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ และมีผลจำกัด ยังมีปาฏิปุคคลิกทานที่มีผลไม่จำกัด คือให้ผลนับประมาณชาติไม่ได้ มากน้อยตามลำดับขึ้นอีก ๑๐ ประเภท ดังต่อไปนี้

๕. ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่ง โสดาปัตติผล
๖. ให้ทานแก่พระโสดาบันบุคคล คือผู้ที่บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว
๗. ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล
๘. ให้ทานแก่พระสกทาคามีบุคคล
๙. ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล
๑๐. ให้ทานแก่พระอนาคามีบุคคล
๑๑. ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล
๑๒. ให้ทานแก่พระอรหันต์
๑๓. ให้ทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า
๑๔. ให้ทานแก่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

รวมเป็นปาฏิปุคคลิกทาน คือทานที่ให้โดยเจาะจง ๑๔ ประเภท ใน ๑๔ ประเภทนี้ ประเภทที่ ๑ มีผลน้อยที่สุด ประเภทที่ ๑๔ มีผลมากที่สุด
ทานที่ให้โดยไม่เจาะจงผู้ใดผู้หนึ่ง ที่เรียกว่าสังฆทาน มี ๗ อย่าง

๑๕. ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย (คือภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
๑๖. ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ในเมื่อพระตถาคตปรินิพพานไปแล้ว
๑๗. ให้ทานในภิกษุสงฆ์
๑๘. ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์
๑๙. ให้ทานในบุคคลที่ขอมาจากสงฆ์ ๒ ฝ่าย ด้วยคำว่าขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า
๒๐. ให้ทานในบุคคลที่ขอมาจากภิกษุสงฆ์ ด้วยคำว่าขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า
๒๑. ให้ทานในบุคคลที่ขอมาจากภิกษุณีสงฆ์ ด้วยคำว่าขอได้โปรดจัดภิกษุณีสงฆ์จำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า

สังฆทานทั้ง ๗ อย่างนี้ ปัจจุบันเราทำได้เพียง ๒ อย่าง คือให้ทานในภิกษุสงฆ์ และให้ทานในบุคคลที่ขอมาจากภิกษุสงฆ์เท่านั้น เพราะพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว ภิกษุณีสงฆ์ก็สูญวงศ์แล้ว

🔅 สังฆทาน
ขึ้นชื่อว่าสังฆทานย่อมมีผลมาก มากจนประมาณไม่ได้ว่าเท่านั้นเท่านี้ชาติ
แม้ในอนาคตกาล จักมีแต่ โคตรภูภิกษุ มีผ้ากาสาวะพันที่คอ หรือผูกข้อมือ เป็นคนทุศีล มีธรรมลามก พระพุทธองค์ก็ยังตรัสว่า คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะสงฆ์ได้ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้ในเวลานั้นก็มีผลนับประมาณไม่ได้ ปาฏิปุคคลิกทานจะมีผลมากกว่าสังฆทาน คือทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้โคตรภูสงฆ์ หาเป็นไปได้ไม่แต่ว่าสังฆทาน จะเป็นสังฆทานได้ก็ต่อเมื่อผู้ถวายมีความเคารพยำเกรงต่อสงฆ์เท่านั้น วางใจในสงฆ์เสมอเหมือนกันหมด ไม่ยินดีเมื่อได้พระหรือสามเณรที่ชอบใจ หรือไม่ยินร้ายเมื่อได้พระหรือสามเณรที่ไม่ชอบใจ หรือต้องการผู้แทนของสงฆ์ที่เป็นพระเถระ แต่ได้พระนวกะหรือสามเณรก็เสียใจ หรือได้พระเถระผู้ใหญ่ก็ดีใจอย่างนี้ ทานของผู้นั้นก็ไม่เป็นสังฆทานเพราะขาดความเคารพในสงฆ์ หรือผู้แทนที่สงฆ์ส่งไปในนามของสงฆ์ ด้วยเหตุนี้การถวายสังฆทานที่ถูกต้องจึงทำได้ไม่ง่ายนัก ในทางพระวินัย ภิกษุ ๔ รูปขึ้นไป จึงเรียกว่า สงฆ์ แต่การถวายไทยธรรมแก่ภิกษุแม้รูปเดียว ที่สงฆ์จัดให้เป็นองค์แทนของสงฆ์ ก็จัดเป็นสังฆทานเหมือนกัน ดังมีเรื่องเล่าไว้ใน อรรถกถาปปัญจสูทนี ภาค ๓ (หน้า ๗๑๗) อรรถกถาทักขิณาวิภังคสูตร ว่า

กุฎุมพี คือ เศรษฐีคนหนึ่งเป็นเจ้าของวัดวัดหนึ่ง ได้ไปขอภิกษุรูปหนึ่งมาจากสงฆ์ ด้วยคำว่า ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายจงให้ภิกษุรูปหนึ่งจากสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แม้เขาจะได้ภิกษุทุศีลรูปหนึ่งเขาก็ปฏิบัติต่อภิกษุรูปนั้นด้วยความเคารพนอบน้อม ตกแต่งเสนาสนะและเครื่องบูชาสักการะพร้อม ล้างเท้าให้ภิกษุนั้น เอาน้ำมันทาเท้าให้ แล้วถวายไทยธรรมด้วยความเคารพยำเกรงต่อสงฆ์เหมือนกับบุคคลเคารพยำเกรงต่อพระพุทธเจ้า ภิกษุรูปนั้นฉันภัตตาหารแล้วก็กลับวัด หลังจากนั้นได้กลับมาขอยืมจอบที่บ้านของกุฎุมพีนั้นอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้กุฎุมพีเอาเท้าเขี่ยจอบให้ คนที่เห็นกิริยาของกุฎุมพีนั้นก็ถามว่า เมื่อเช้านี้ท่านถวายทานแก่ภิกษุรูปนี้ด้วยความเคารพนบนอบอย่างยิ่ง แต่บัดนี้แม้สักว่ากิริยาที่เคารพก็ไม่มี กุฎุมพีตอบว่า เมื่อเช้านี้เราเคารพยำเกรงต่อสงฆ์ เราหาได้เคารพยำเกรงต่อภิกษุรูปนี้เป็นส่วนตัวไม่

การถวายทานในสงฆ์ที่เรียกว่าสังฆทานนั้น คำว่า สงฆ์ ท่านมุ่งเอา พระอริยสงฆ์ คือ พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล พระสกทาคามิมรรค พระสกทาคามิผล พระอนาคามิมรรค พระอนาคามิผล พระอรหัตตมรรค และพระอรหัตตผล รวมเป็น ๔ คู่ ๘ บุคคล หาได้หมายเอาสมมุติสงฆ์ไม่ ทั้งนี้เพราะพระอริยสงฆ์นั้นเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุปฏิปันโน คือปฏิบัติดี อุชุปฏิปันโน ปฏิบัติตรง ญายปฏิปันโน ปฏิบัติแล้วเพื่อญายธรรม สามีจิปฏิปันโน ปฏิบัติชอบ ทั้งพระอริยสงฆ์เหล่านั้นยังเป็น อาหุเนยโย คือ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาบูชา ปาหุเนยโย เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาต้อนรับ ทักขิเณยโย เป็นผู้ควรแก่ไทยธรรมที่เขานำมาถวายด้วยศรัทธา อัญชลีกรณีโย เป็นผู้ควรแก่การกระทำอัญชลี อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ เป็นนาบุญอันเยี่ยมของโลก ไม่มีนาบุญอื่นที่ยิ่งกว่า
ใน ขุ. วิมานวัตถุ ทัททัลลวิมาน ข้อ ๓๔ กล่าวถึงอานิสงส์ของสังฆทานมากกว่าทานธรรมดา ดังนี้
นางภัททาเทพธิดาผู้พี่สาว ได้ถามนางสุภัททาเทพธิดาผู้น้องสาวว่า

นางภัททาเทพธิดาผู้พี่สาว : ท่านรุ่งเรืองด้วยรัศมี ทั้งเป็นผู้เรืองยศ ย่อมรุ่งโรจน์ล่วงเทพเจ้าชาวดาวดึงส์ทั้งหมดด้วยรัศมี ดิฉันไม่เคยเห็นท่าน เพิ่งจะมาเห็นในวันนี้เป็นครั้งแรก ท่านมาจากเทวโลกชั้นไหน จึงมาเรียกดิฉันด้วยชื่อเดิมว่าภัททา ดังนี้เล่า ?
นางสุภัททาเทพธิดาผู้น้องสาว : ข้าแต่พี่ภัททา ฉันชื่อว่าสุภัททา ในภพก่อนครั้งยังเป็นมนุษย์อยู่ ดิฉันได้เป็นน้องสาวของพี่ ทั้งได้เคยเป็นภริยาร่วมสามีเดียวกับพี่ด้วย ดิฉันตายจากมนุษย์โลกนั้นมาแล้ว ได้มาแล้วเกิดเป็นเทพธิดาประจำสวรรค์ ชั้นนิมมานรดี
นางภัททาเทพธิดาผู้พี่สาว : ดูก่อนแม่สุภัททา ขอเธอได้บอกการอุบัติของเธอในหมู่เทพเจ้าเหล่านิมมานรดี ซึ่งเป็นที่ๆ สัตว์ได้สั่งสมบุญกุศลไว้มากแล้วจึงได้มาบังเกิด เธอได้มาเกิดในที่นี้ เพราะทำบุญกุศลสิ่งใดไว้ และใครเป็นครูแนะนำสั่งสอนเธอ เธอเป็นผู้เรืองยศ และถึงความสุขพิเศษไพบูลย์ถึงเช่นนี้ เพราะได้ให้ทานและรักษาศีลเช่นไรไว้ ดูก่อนแม่เทพธิดา ฉันถามเธอแล้ว นี่เป็นผลของกรรมอะไร โปรดตอบฉันด้วย
นางสุภัททาเทพธิดาผู้น้องสาว : เมื่อชาติก่อน ดิฉันมีใจเลื่อมใส ได้ถวายบิณฑบาต ๘ ที่แก่สงฆ์ผู้เป็นทักขิไณยบุคคล ๘ รูป ด้วยมือของตน เพราะบุญกรรมนั้น ดิฉันจึงมีวรรณะงามเช่นนี้ ฯลฯ และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ เพราะบุญกรรมนั้น
นางภัททาเทพธิดาผู้พี่สาว : พี่เลี้ยงดูพระภิกษุทั้งหลาย ผู้สำรวมดี ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ให้อิ่มหนำสำราญด้วยข้าวและน้ำ ด้วยมือของตนเองมากกว่าเธอ ครั้นให้ทานมากกว่าเธอแล้ว ก็ยังได้บังเกิดในเหล่าเทพเจ้าต่ำกว่าเธอ ส่วนเธอได้ถวายทานเพียงเล็กน้อย อย่างไรจึงมาได้ผลอย่างพิเศษไพบูลย์ถึงเช่นนี้เหล่าแน่ะแม่เทพธิดา ฉันถามเธอแล้ว นี่เป็นผลเป็นกรรมอะไร โปรดตอบฉันด้วย
นางสุภัททาเทพธิดาผู้น้องสาว : เมื่อชาติก่อน ดิฉันได้เห็นพระภิกษุผู้อบรมทางจิตใจเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่ จึงได้นิมนต์ท่านรวม ๘ รูปด้วยกัน มีพระเรวตเถระเป็นประธาน ด้วยภัตตาหาร ท่านพระเรวตเถระนั้นมุ่งจะให้เกิดประโยชน์ อนุเคราะห์แก่ดิฉัน จึงบอกดิฉันว่าจงถวายสงฆ์เถิด ดิฉันได้ทำตามคำของท่าน ทักขิณาของดิฉันนั้นจึงเป็นสังฆทาน อันดิฉันให้เข้าไปตั้งไว้ในสงฆ์ เป็นทานที่ไม่อาจปริมาณผลได้ว่ามีอยู่เท่าไร ส่วนทานที่คุณพี่ได้ถวายแก่ภิกษุด้วยความเลื่อมใสนั้น เป็นรายบุคคล จึงมีผลไม่มาก

นางภัททาเทพธิดา เมื่อจะรับรองความข้อนั้น จึงกล่าวว่า พี่เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า การถวายสังฆทานนี้ มีผลมาก ถ้าว่าพี่ได้ไปบังเกิดเป็นมนุษย์อีก จักเป็นผู้รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่ถวายสังฆทาน และไม่ประมาทเป็นนิตย์ เมื่อสนทนากันแล้ว นางสุภัททาเทพธิดาก็กลับไปสู่ทิพวิมานของตนบนสวรรค์ขั้นนิมมานรดี ท้าวสักกเทวราชได้ทรงสดับการสนทนานั้น จึงตรัสถามนางภัททาเทพธิดาว่า เทพธิดาผู้นั้นเป็นใคร มาสนทนากับเธอ มีรัศมีรุ่งโรจน์กว่าเทพเจ้าเหล่าดาวดึงส์ทั้งหมด นางภัททาเทพธิดา เมื่อจะบรรยายข้อที่สังฆทานของเทพธิดาผู้น้องสาวว่ามีผลมาก จึงทูลว่าขอเดชะ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมเทพ เทพธิดาผู้นั้นเมื่อชาติก่อนยังเป็นมนุษย์อยู่ในมนุษย์โลก เป็นน้องสาวของหม่อมฉัน และยังได้เคยร่วมสามีเดียวกับหม่อมฉันด้วย เธอสั่งสมบุญกุศล คือ 
ถวายสังฆทาน จึงได้ไพโรจน์ถึงอย่างนี้เพคะ

สมเด็จอมรินทราธิราช เมื่อจะทรงสรรเสริญสังฆทานจึงตรัสว่า ดูก่อนนางภัททา น้องสาวของเธอไพโรจน์กว่าเธอ ก็เพราะเหตุในปางก่อน คือ การถวายสังฆทานที่ไม่อาจปริมาณผลได้ อันที่จริง ฉันได้ทูลถามพระพุทธเจ้า ครั้งประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ถึงผลแห่งไทยธรรมที่ได้จัดแจงถวายในเขตที่ผลมากของมนุษย์ทั้งหลาย ผู้มุ่งบุญ ให้ทานอยู่หรือทำบุญปรารภเหตุแห่งการเวียนเกิดเวียนตาย จะถวายในบุคคลประเภทใดจึงจะมีผลมาก พระพุทธเจ้าตรัสตอบข้อความนั้นแก่ฉันอย่างแจ่มแจ้งว่า ท่านผู้ปฏิบัติเพื่ออริยมรรค ๔ จำพวก และท่านผู้ตั้งอยู่ในอริยผล ๔ จำพวก พระอริยบุคคล ๘ จำพวกนี้ ชื่อว่าสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติตรง ดำรงมั่นอยู่ในปัญญาและศีล เมื่อมนุษย์ทั้งหลายผู้มุ่งบุญถวายทานในท่านเหล่านี้ หรือทำบุญปรารภการเวียนเกิดเวียนตาย ทานที่ถวายในสงฆ์ย่อมมีผลมาก พระสงฆ์นี้เป็นผู้มีคุณความดีอันยิ่งใหญ่ ยังผลให้เกิดแก่ผู้ถวายทานในท่านอย่างไพบูลย์ ยากที่ใครจะปริมาณว่าเท่านี้ๆ ได้ เหมือนทะเลยาก ที่คาดคะเนได้ว่ามีน้ำเท่านี้ๆ ฉะนั้นพระสงฆ์เหล่านี้แล เป็นพระผู้ประเสริฐสุด เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีความเพียรเป็นเยี่ยมในหมู่นรชน เป็นแหล่งสร้างแสงสว่าง คือญาณของชาวโลก ได้แก่ นำเอาแสงสว่าง คือ พระสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศไว้แล้วมาชี้แจง ปวงชนผู้ใคร่ต่อบุญเหล่าใด ถวายทานมุ่งตรงต่อสงฆ์ทักขิณาของเขาเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นทักขิณาที่ถวายดีแล้ว เป็นยัญวิธีที่เซ่นสรวงถูกต้อง จัดเป็นบูชากรรมที่บูชาแล้วชอบเพราะทักขิณานั้นจัดเป็นสังฆทาน มีผลมาก อันพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้าทั้งหลายผู้รู้แจ้งโลก ทรงสรรเสริญ ชนเหล่าใดยังท่องเที่ยวอยู่ในโลก มาหวนระลึกถึงบุญเช่นนี้ได้ เกิดปีติโสมนัส ก็จะกำจัดมลทิน คือความตระหนี่ทั้งความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความลังเลในใจ และความวิปลาสอันเป็นมูลฐานเสียได้ ทั้งจะไม่เป็นผู้ถูกผู้รู้ติเตียน ชนเหล่านั้นก็จะเข้าถึงสถานที่ที่เป็นแดนสวรรค์

จากวิมานวัตถุเรื่องนี้ แสดงชัดว่า สังฆทาน ที่ถวายเจาะจงแด่พระอริยสงฆ์นั้น มีผลมาก มีอานิสงส์มากจริง ทั้งนี้ เพราะเหตุที่พระอริยสงฆ์ท่านประกอบด้วย พระคุณ ๙ ประการดังกล่าวมาแล้ว ทานที่ถวายในท่านเหล่านี้จึงมีผลมาก ถ้ายังเกิดอยู่ตราบใดสังฆทานนี้ก็ให้ผลไปเกิดในที่ดีมีความสุขนับชาติไม่ได้ทีเดียว ยิ่งกว่านั้น พระอริยสงฆ์ท่านยังอาจแสดงธรรมที่ท่านได้เห็นแล้วบรรลุแล้วให้ผู้ถวายได้เห็นตามบรรลุตามเป็นผู้บริสุทธิ์ หมดจดจากกิเลสเช่นเดียวกับท่านได้อีกด้วย การหมดจดจากกิเลสนี้เป็นอานิสงส์สูงที่สุดสำหรับบุคคลที่ถวายในสงฆ์ ด้วยเหตุนี้ ทานที่ถวายในสงฆ์หรือสังฆทานจึงมีผลมากและอานิสงส์มากอย่างนี้

🔅 เศรษฐีเท้าแมว ก็พระคุณ ๙ ประการ ของพระอริยสงฆ์นั้น ๔ ประการแรก เป็นพระคุณเฉพาะส่วนตัวของท่าน ๕ ประการหลัง มีอาหุเนยโยเป็นต้น เป็นพระคุณที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่ถวายทานแก่ท่าน คือให้ได้รับผลมาก แม้อุทิศให้แก่เปรต เปรตทราบแล้วอนุโมทนาชื่นชมยินดี ก็ยังพ้นสภาพเปรต เป็นเทวดาได้ ขอนำเรื่องของ เศรษฐีเท้าแมว ใน ธรรมบทภาค ๕ มาเล่าประกอบไว้ด้วย

เรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ อุบาสกผู้หนึ่งไปฟังธรรมที่วัดเชตวัน ในกรุงสาวัตถีได้ยินพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

"บุคคล
บางคนให้ทานด้วยตนเอง แต่ไม่ชักชวนผู้อื่น เพราะฉะนั้นเมื่อเขาตายไป เขาย่อมได้รับโภคสมบัติ แต่ไม่ได้รับบริวารสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิดส่วนบางคนตนเองไม่ให้ทาน แต่เที่ยวชักชวนคนอื่นให้ให้ทาน เพราะฉะนั้นเมื่อเขาตายไป เขาก็ย่อมได้รับแต่บริวารสมบัติ แต่ไม่ได้รับโภคสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิด ส่วนบางคนตนเองก็ไม่ให้ทาน ทั้งไม่ชักชวนคนอื่นให้ให้ทานด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเขาตายไป เขาก็ย่อมไม่ได้รับทั้งโภคสมบัติ และบริวารสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิดส่วนบางคนตนเองก็ไห้ทาน ทั้งยังชักชวนคนอื่นให้ให้ทานด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเขาตายไป เขาก็ได้รับทั้งโภคสมบัติ และบริวารสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิด"

อุบาสกผู้นี้เป็นบัณฑิต ได้ฟังดังนั้นก็คิดจะทำบุญให้ได้รับผลครบทั้งโภคสมบัติและบริวารสมบัติ เขาจึงเข้าไปกราบทูลขอถวายภัตตาหารแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกทั้งหมดในวันรุ่งขึ้น พระพุทธเจ้าก็ทรงรับคำอาราธนานั้น อุบาสกนั้นจึงได้เที่ยวป่าวร้องไปตามชาวบ้านร้านตลาดทั้งหลาย ชักชวนให้บริจาคข้าวสารและของต่างๆ เพื่อนำมาประกอบอาหารถวายก็ได้รับสิ่งของต่างๆ มากบ้างน้อยบ้างตามศรัทธาและ ฐานะของผู้บริจาค อุบาสกคนนั้นเที่ยวป่าวร้องไปอย่างนี้ จนมาถึงร้านค้าของท่านเศรษฐีผู้หนึ่ง ท่านเศรษฐีเกิดไม่ชอบในที่เห็นอุบาสกนั้นเที่ยวป่าวร้องไปอย่างนั้น ท่านคิดว่า "อุบาสกคนนี้เมื่อไม่สามารถถวายอาหารแก่พระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวกทั้งวัดเชตวันได้ ก็ควรจะถวายตามกำลังของตน ไม่ควรจะเที่ยวชักชวนคนอื่นเขาทั่วไปอย่างนี้" เพราะเหตุที่คิดอย่างนี้ แม้ท่านจะร่วมทำบุญกับอุบาสกนั้นด้วย แต่ท่านก็ทำด้วยความไม่เต็มใจ ได้หยิบของให้เพียงอย่างละนิดละหน่อย คือใช้นิ้ว ๓ นิ้วหยิบของนั้น จะหยิบได้สักเท่าไร เวลาให้น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ก็ให้เพียงไม่กี่หยด เพราะเหตุที่ท่านมือเบามาก หยิบของให้ทานเพียงนิดหน่อย คนทั้งหลายก็เลยตั้งชื่อท่านว่า เศรษฐีเท้าแมว เป็นการเปรียบเทียบความมือเบาของท่านกับความเบาของเท้าแมว

อุบาสกนั้นเป็นคนฉลาด เมื่อรับของจากท่านเศรษฐีจึงได้แยกไว้ต่างหาก ไม่ได้รวมกับของที่ตนรับมาจากผู้อื่นเศรษฐีก็คิดว่า "อุบาสกนี้คงจะเอาเราไปเที่ยวประจานเป็นแน่" เมื่อคิดอย่างนี้ จึงใช้ให้คนใช้ติดตามไปดู คนรับใช้ได้เห็นว่าอุบาสกนั้นนำเอาของของเศรษฐีไปแบ่งใส่ลงในหม้อที่ใช้หุงต้มอาหารนั้นหม้อละนิด อย่างข้าวสารก็ใส่หม้อละเมล็ดสองเมล็ดเพื่อให้ทั่วถึง พร้อมกับกล่าวให้พรท่านเศรษฐีด้วยว่า "ขอให้ทานของท่านเศรษฐีจงมีผลมาก" คนรับใช้ก็นำความมาบอกนาย ท่านเศรษฐีก็คิดอีกว่า "วันนี้เขายังไม่ประจานเราพรุ่งนี้เวลานำเอาอาหารไปถวายพระที่วัดเชตวัน เขาคงจะประจานเรา ถ้าเขาประจานเรา เราจะฆ่าเสีย" ดังนั้นในวันรุ่งขึ้นท่านจึงเหน็บกริชซ่อนไว้แล้วไปที่วัดเชตวัน ในเวลาที่อุบาสกและชาวเมืองช่วยกันอังคาสเลี้ยงดูพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ เมื่อช่วยกันถวายภัตตาหารแล้ว อุบาสกผู้นั้นได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้เที่ยวชักชวนมหาชนให้ถวายทานนี้ขอให้คนทั้งหลายผู้ที่ข้าพระองค์ชักชวนแล้ว บริจาคแล้ว ทั้งผู้บริจาคของมาก ทั้งผู้บริจาคของน้อย จงได้รับผลมากทุกคนเถิด" ท่านเศรษฐีได้ยินแล้วก็ไม่สบายใจ กลัวอุบาสกจะประกาศว่า ท่านให้ของเพียงหยิบมือเดียว คิดอีกว่า "ถ้าอุบาสกเอ่ยชื่อเรา เราจะแทงให้ตาย" แต่อุบาสกนั้นกลับกราบทูลว่า "แม้ผู้ที่บริจาคของเพียงหยิบมือเดียว ทานของผู้นั้นก็จงมีผลมากเถิด"

ท่านเศรษฐีได้ฟังดังนั้นก็ได้สติ คิดเสียใจว่า "เราได้คิดร้ายล่วงเกิดต่ออุบาสกนี้อยู่ตลอดเวลา แต่อุบาสกนี้เป็นคนดีเหลือเกิน ถ้าเราไม่ขอโทษเขา เราก็เห็นจะได้รับกรรมหนัก" คิดดังนี้แล้ว จึงเข้าไปหมอบแทบเท้าของอุบาสกนั้น เล่าเรื่องให้ฟังพร้อมทั้งขอให้ยกโทษให้ พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็นกริยาอาการของท่านเศรษฐีอย่างนี้ก็ตรัสถามขึ้น เมื่อทรงทราบแล้วจึงได้ตรัสว่า "ขึ้นชื่อว่าบุญแล้ว ใครๆ ไม่ควรดูหมิ่นว่าบุญนี้เล็กน้อย ทานที่บุคคลถวายแล้วแก่ภิกษุสงฆ์ อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขเช่นนี้ ไม่ควรดูหมิ่นว่าบุญนี้เล็กน้อย คนที่ฉลาดทำบุญอยู่ ย่อมเต็มด้วยบุญ เหมือนหม้อน้ำที่เปิดปากไว้ ย่อมเต็มด้วยน้ำฉันนั้น" ในตอนท้าย พระพุทธองค์ตรัสพระคาถาว่า "บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบุญเล็กน้อยว่าจะไม่มาถึง แม้หม้อน้ำก็ยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมาฉันใด ผู้ฉลาดเมื่อสะสมบุญแม้ทีละน้อยทีละน้อย ก็ย่อมเต็มด้วยบุญฉะนั้น"

ท่านเศรษฐีได้ฟังแล้วก็ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคล พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ประกอบด้วยประโยชน์อย่างยิ่งอย่างนี้ ถ้าเราหมั่นฟังอยู่เสมอและฟังด้วยความตั้งใจ ก็ย่อมได้ปัญญา ดังเศรษฐีท่านนี้เป็นตัวอย่าง จากเรื่องของท่านเศรษฐีผู้นี้ ทำให้ทราบว่าการให้ทานนั้น เป็นเหตุให้ได้รับโภคสมบัติ การชักชวนผู้อื่นให้ทานนั้นเป็นเหตุให้ได้รับบริวารสมบัติ ในที่ๆ ตนไปเกิด เพราะฉะนั้น เมื่อใครเขาทำบุญ หรือใครเขาชักชวนใครๆ ทำบุญ ก็อย่างได้ขัดขวางห้ามปรามเขาเพราะการกระทำเช่นนี้เป็นบาป เป็นการทำลายประโยชน์ของบุคคลทั้ง ๓ ฝ่าย คือตนเองเกิดอกุศลจิตก่อน ๑ ทำลายลาภของผู้รับ ๑ ทำลายบุญของผู้ให้ ๑ และจากเรื่องนี้ก็ทำให้เห็นชัดว่า สังฆทานนั้นมีผลมาก และมีอานิสงส์มาก การที่กิเลสคือความตระหนี่ได้ถูกขัดเกลาออกไป ทำให้จิตใจที่หนาอยู่ด้วยกิเลสเบาบางลงไปได้ชั่วขณะนี้แหละ คืออานิสงส์ที่แท้จริงของบุญ ยิ่งกิเลสถูกขัดเกลาไปได้มากเท่าไร ทานของผู้นั้นก็มีอานิสงส์มากเท่านั้น เสื้อผ้าที่สกปรกเปรอะเปื้อนต้องการสบู่หรือผงซักฟอกเข้าไปช่วยชำระล้างให้สะอาดฉันใด จิตใจที่เปรอะเปื้อนด้วยกิเลสก็ต้องการบุญ มีทานเป็นต้น เข้าไปช่วยชำระล้างขัดเกลาให้สะอาดหมดจดฉันนั้น

🔅 ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา คือทานไว้ ๔ อย่าง คือ
๑. ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายทายกคือผู้ให้ แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคคาหกคือผู้รับ กล่าวคือผู้ให้เป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม ได้ของมาโดยชอบธรรม เป็นผู้เชื่อกรรมและผลของกรรม แต่ผู้รับเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก
๒. ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคคาหก แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก กล่าวคือผู้รับเป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม แต่ผู้ให้เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก ได้ของมาโดยไม่ชอบธรรม เป็นผู้ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรม
๓. ทักษิณาบางอย่าง ไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและปฏิคคาหก คือทั้งผู้ให้และผู้รับเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก
๔. ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและปฏิคคาหก คือทั้งผู้ให้และผู้รับเป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงามทานที่บริสุทธิ์ทั้งสองฝ่ายอย่างนี้ย่อมมีผลไพบูลย์

อนึ่ง พระบรมศาสดาตรัสว่า ถ้าทายกคือผู้ให้เป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม ได้ของมาโดยชอบธรรม มีศรัทธาเชื่อกรรมและผลของกรรม และปฏิคคาหกคือผู้รับ เป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม ปราศจากราคะแล้วทานของผู้นั้นเลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย

อนึ่งในทานานิสังสสูตร อัง. ปัญจก. ข้อ ๓๕ พระพุทธองค์ทรงแสดงอานิสงส์ของทานไว้ ๕ อย่างคือ
๑. ผู้ให้ทาน ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก
๒. สัปบุรุษ ผู้สงบ มีพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมคบหาผู้ให้ทาน
๓. กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทาน ย่อมขจรขจายไปทั่ว
๔. ผู้ให้ทาน ย่อมไม่เหินห่างจากธรรมของคฤหัสถ์ คือมีศีล ๕ ไม่ขาด
๕. ผู้ให้ทาน เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

แล้วทรงสรุปเป็นคาถาว่า
ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักของชนเป็นอันมาก ชื่อว่าดำเนินตามธรรมของสัปบุรุษ (คือ มหาบุรุษ หรือพระโพธิสัตว์) สัปบุรุษผู้สงบ ผู้สำรวมอินทรีย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ย่อมคบหาผู้ให้ทานทุกเมื่อ สัปบุรุษเหล่านั้น ย่อมแสดงธรรมเป็นที่บรรเทาทุกข์แก่เขา เขาได้ทราบชัดแล้ว ย่อมเป็นผู้หาอาสวะมิได้ ปรินิพพานในโลกนี้

ควรอย่างยิ่งที่เราจะสะสมบุญ มีทานเป็นต้น ให้งอกงามเพิ่มพูนขึ้นในจิตใจของเรา เพราะว่าเมื่อไรที่จิตใจของเราเต็มเปี่ยมไปด้วยบุญ เมื่อนั้นกิเลสจะไม่มีหลงเหลืออยู่ในจิตใจของเราเลย ในทานสูตร อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ข้อ ๔๙ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้ทานที่ให้แล้ว มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก และเหตุปัจจัยที่ทำให้ทานที่ให้แล้วมีผลมาก และมีอานิสงส์มาก ไว้ดังต่อไปนี้

๑. บุคคลบางคนให้ทานด้วยความหวังว่าเมื่อตายไปแล้ว จักได้เสวยผลของทานนี้ เมื่อตายไป ได้เกิดในเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกา สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก
๒. บุคคลบางคนไม่ได้ให้ทาน เพราะหวังผลของทาน แต่ให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี เป็นบุญ เป็นกุศล จึงให้ เมื่อตายไปได้เกิดในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก
๓. บุคคลบางคนไม่ได้ให้ทาน เพราะหวังผลของทาน ไม่ได้ให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี แต่ให้ทานเพราะละอายใจที่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย บรรพบุรุษเคยทำมา ถ้าไม่ทำก็ไม่สมควร ครั้นตายลงได้เกิดในเทวโลกชั้นยามา สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก
๔. บุคคลบางคน ไม่ได้ให้ทานเพราะหวังผลของทาน ไม่ได้ให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี ไม่ได้ให้ทานตามบรรพบุรุษ แต่ให้ทานเพราะเห็นสมณพราหมณ์เหล่านั้นหุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ ถ้าไม่ให้ก็ไม่สมควร ครั้นตายลงได้เกิดในเทวโลกชั้นดุสิต สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก
๕. บุคคลบางคน ไม่ได้ให้ทานเพราะหวังผลของทาน ไม่ได้ให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี ไม่ได้ให้ทานตามบรรพบุรุษ ไม่ได้ให้ทานเพราะเห็นว่า สมณพราหมณ์หุงหากินไม่ได้ แต่ให้ทานเพราะ
ต้องการจำแนกแจกทานเหมือนกับฤาษีทั้งหลายในปางก่อนได้กระทำมหาทานมาแล้ว เขาตายไปได้เกิดในเทวโลกชั้นนิมมานรดี สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก
๖. บุคคลบางคน ไม่ได้ให้ทานเพราะหวังผลของทาน ไม่ได้ให้ทานเพราะว่าทานเป็นของดี ไม่ได้ให้ทานตามบรรพบุรุษ ไม่ได้ให้ทานเพราะเห็นว่าสมณพราหมณ์หุงหากินไม่ได้ ไม่ได้ให้ทานเพราะต้องการจำแนกแจกทานเหมือนฤาษีทั้งหลายในปางก่อนได้กระทำมหาทาน แต่ให้ทานเพราะคิดว่า เมื่อให้แล้ว จิตจะเลื่อมใสโสมนัสจึงให้ ครั้นตายไปย่อมเกิดในเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัตดี สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก
๗. บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ให้ทานเพราะเหตุที่กล่าวแล้วทั้ง ๖ อย่างข้างต้นนั้น แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต คือให้ทานนั้นเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจหมดจดจากกิเลสด้วยอำนาจของสมถะและวิปัสสนา จนได้ฌานและบรรลุ จนได้ฌานและบรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล ตายแล้วได้ไปเกิดในพรหมโลก เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในพรหมโลกแล้ว เป็นผู้ไม่ต้องกลับมาเกิดในโลกนี้อีก คือปรินิพพานในพรหมโลกนั้นเอง ทานชนิดนี้เป็นทานที่มีผลมาก และมีอานิสงส์มาก

สรุปรวมความว่า ทานชนิดใดก็ตาม เป็นปัจจัยให้ต้องเกิดอีก ทานชนิดนั้นแม้มีผลมาก ได้เกิดที่ดีมีความสุขอันเป็นทิพย์ แต่ทานนั้นก็ไม่มีอานิสงส์มาก เพราะไม่สามารถจะทำให้หมดจดจากกิเลสได้ ส่วนทานชนิดใดเป็นปัจจัยให้ไม่ต้องเกิดอีก ทานชนิดนั้นชื่อว่ามีผลมากด้วย มีอานิสงส์มากด้วย ฉะนั้นคำว่า "อานิสงส์มาก" ในที่นี้ จึงหมายถึงการหมดจดจากกิเลสทั้งปวง ไม่ต้องเกิดอีก

จริงอยู่ การเกิดในสวรรค์แต่ละชั้นนั้น มีความสุขมาก เพราะได้รับกามคุณอันเลอเลิศที่เป็นทิพย์ ละเอียดประณีตขึ้นไปตามลำดับชั้น แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสว่า กามคุณนั้นเป็นของเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของชวนให้หลงใหล เป็นของมีสุขน้อย แต่มีโทษมาก เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรม คือ อนุปุพพิกถา แก่คฤหัสถ์ จึงได้ทรงแสดงโทษของกามไว้ด้วย ผู้ที่ยินดีหลงไหลเพลิดเพลินในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันน่าใคร่ น่าพอใจ ย่อมไม่อาจล่วงทุกข์ไปได้ ผู้ที่จะล่วงทุกข์ได้ก็เพราะเห็นโทษของกาม ก้าวออกจากกามด้วยสมถะและวิปัสสนาเท่านั้น ด้วยเหตุนั้น ทานที่เป็นเครื่องปรุงแต่งจิต ขัดเกลาจิตให้อ่อน ให้ควรแก่การเจริญสมถะและวิปัสสนาจนบรรลุมรรคผลไม่ต้องกลับมาเกิดอีก จึงเป็นทานที่มีผลมาก และมีอานิสงส์มากแม้สังฆทานที่กล่าวว่ามีผลมาก มีอานิสงส์มาก ก็เพราะผู้ถวายมีโอกาสได้ฟังธรรมจากสงฆ์แล้วบรรลุอริยสัจธรรม ก้าวล่วงทุกข์ทั้งปวงไม่ต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก

พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่แก่สัตว์โลกแม้เมื่อทรงแสดงเรื่องทาน ก็ทรงแสดงให้พุทธบริษัทได้รับประโยชน์ครบทั้ง ๓ ประการ คือ ประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง คือ มรรค ผล นิพพาน ด้วยเหตุนี้ จึงควรทำใจให้เลื่อมใส บำเพ็ญทานให้เกิดประโยชน์ทั้ง ๓ ประการ จึงจะได้ชื่อว่า ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์อย่างแท้จริง


วันจันทร์

๒. เตจีวริกังคกถา

เตจีวริกังคกถา

ลำดับนี้จักพรรณนาเตจีวริกังคะ คือ องค์แห่งภิกษุผู้ทรงไว้ซึ่งผ้า ๓ ผืนเป็นปกติ ซึ่งเป็นอันดับรองต่อมาจากปังสุกูลิกงคกถานั้นต่อไป

การสมาทาน
จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ จตุตฺถกจีวรํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธผ้าพื้นที่ ๔ ดังนี้อย่างหนึ่ง เตจีวริกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาองค์แห่งภิกษุผู้ทรงไว้ซึ่งผ้า ๓ ผืนเป็นปกติดังนี้อย่างหนึ่ง ด้วยคำใดคำหนึ่ง ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้วซึ่งเตจีวริกังคธุดงค์ ว่าด้วยการสมาทานในเตจีวริกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันภิกษุผู้มีอันทรงไว้ซึ่งผ้า ๓ ผืนเป็นปกตินั้น ครั้นได้ผ้าสำหรับทำจีวรมาแล้ว เมื่อยังไม่สามารถที่จะทำจีวรเพราะไม่สบายอยู่เพียงใด หรือยังไม่ได้ผู้จัดการเพียงใด หรือบรรดาเครื่องมือทั้งหลายเช่นเข็มเป็นต้น อะไร ๆ ยังไม่สมบูรณ์เพียงใด ก็พึงเก็บผ้าไว้ได้ชั่วระยะกาลเพียงนั้น ย่อมไม่เป็นโทษเพราะการสะสมเป็นเหตุ แต่นับแต่เวลาที่ได้ย้อมผ้าเสร็จแล้วจะเก็บไว้ต่อไปไม่สมควร (ถ้าขืนเก็บไว้) ก็จะกลายเป็นโจรธุดงค์ไปเท่านั้นว่าด้วยกรรมวิธีในเตจีวริกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้



วันศุกร์

๑. ปังสุกูลิกงคกถา

๑. ปังสุกูลิกงคกถา

ทีนี้จักพรรณนาถึงการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก(ขาด) และอานิสงส์แห่งธุดงค์แต่ละประการ ๆ ต่อไป จะพรรณนาปังสุกูลกังคธุดงค์ เป็นประการแรก ดังนี้ :-

๑. คำว่า ผู้ทรงจำสังคีติอันหนึ่ง หมายเอาผู้ทรงจำนิกายอันหนึ่ง ในนิกายทั้ง ๕ มีทีฆนิกายเป็นต้น
๒. เรื่องของพระเถระสองพี่น้องนี้ มีอยู่ในอรรถกถารถวินีตสูตร ในพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย พระเถระผู้พี่ ท่านสมาทานเอาธุดงค์ด้วยตนเองเพราะท่านสันโดษ ไม่ประสงค์ที่จะให้ใคร ๆ ทราบการปฏิบัติของท่าน

การสมาทาน
ในคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ คหปติทานจีวรํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธผ้าจีวรที่คหบดีถวาย ดังนี้อย่างหนึ่ง ปํสุกูลิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาองค์แห่งภิกษุผู้มีอันทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ปังสุกูลิกังคธุดงค์ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้วด้วยคำใดคำหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานอันเป็นประการแรกในปังสุกูลิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันโยคีบุคคลนั้น เมื่อได้สมาทานเอาธุดงค์อย่างนี้แล้ว พึงเอาผ้าชนิดใดชนิดหนึ่งในบรรดาผ้า ๒๓ ชนิด เหล่านี้คือ
ผ้าที่ตกอยู่ในป่าช้า,
ผ้าที่ตกอยู่ในตลาด,
ผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามถนน,
ผ้าที่เขาทิ้งไว้ ณ กองขยะมูลฝอย,
ผ้าเช็ดครรภ์,
ผ้าที่เขาใช้อาบน้ำมนต์,
ผ้าที่เขาทิ้งไว้ที่ท่า,
ผ้าที่คนเขาไปป่าช้าแล้วกลับมาทิ้งไว้,
ผ้าที่ถูกไฟไหม้,
ผ้าที่โคขย้ำ,
ผ้าที่ปลวกกัด,
ผ้าที่หนูกัด,
ผ้าที่ขาดกลาง,
ผ้าที่ขาดชาย,
ผ้าที่เขาเอามาทำธง,
ผ้าที่เขาวงล้อมจอมปลวก,
ผ้าของสมณะ,
ผ้าที่เขาทิ้งไว้ ณ ที่อภิเษก,
ผ้าที่เกิดด้วยฤทธิ์,
ผ้าที่ตกอยู่ในทาง,
ผ้าที่ลมพัดไป,
ผ้าที่เทวดาถวาย,
ผ้าที่คลื่นซัดขึ้นบก,

ครั้นแล้วจึงฉีกส่วนที่ทุรพลใช้ไม่ได้ทิ้งเสีย เอาส่วนที่ยังแน่นหนาถาวรอยู่มาซักให้สะอาดแล้วทำเป็นจีวร เปลื้องผ้าคหบดีจีวรชุดเก่าออกแล้ว จึงใช้ผ้าชุดบังสุกุลจีวรแทนต่อไปเถิด


อรรถาธิบายชนิดของผ้า
ในบรรดาผ้า ๒๓ ชนิดนั้น
คำว่า โสสานิกะ ได้แก่ผ้าที่ตกอยู่ในป่าช้า
คำว่า ปาปณิกะ ได้แก่ผ้าที่ตกอยู่ที่ประตูตลาด
คำว่า รถยโจฬะ ได้แก่ผ้าที่ผู้ต้องการบุญทั้งหลายทิ้งไว้ที่ถนนรถ โดยทางช่องหน้าต่าง
คำว่า สังการโจฬะ ได้แก่ผ้าที่คนเขาทิ้งไว้ ณ ที่เทขยะมูลฝอย
คำว่า โสตถิยะ ได้แก่ผ้าที่เขาใช้เช็ดมลทินแห่งครรภ์แล้วทิ้งไว้ ได้ยินมาว่า มารดาของท่านติสสะอำมาตย์ ได้ให้คนเอาผ้ามีราคาเรือนร้อยมาเช็ดมลทินแห่งครรภ์ แล้วให้เอาไปทิ้งไว้ ณ ถนนชื่อตาลเวพิมัคคา* (ถนนชื่อนี้ มีอยู่ในตำบลบ้านชื่อมหาคามในสมัยนั้น ณ ประเทศลังกา) ด้วยมีความประสงค์ว่า ภิกษุผู้ทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติทั้งหลายจักได้เอาไปทำจีวร ภิกษุทั้งหลายก็พากันเก็บเอาเพื่อปะผ้าตรงที่ชำรุดนั่นเทียว
คำว่า นหานโจฬะ ได้แก่ผ้าซึ่งคนทั้งหลายอันพวกหมอผีคลุมให้รดน้ำมนต์เปียกทั่วทั้งตัวทิ้งไว้แล้วหลีกหนีไป ด้วยถือว่าเป็นผ้ากาศกัณณี
คำว่า ติตถโจฬะ ได้แก่ผ้าเก่า ๆ ที่เขาทิ้งไว้ที่ท่าอาบน้ำ
คำว่า คตปัจจาคตะ ได้แก่ผ้าที่พวกมนุษย์ใช้ไปป่าช้า ครั้นกลับมาอาบน้ำแล้วทิ้งไว้
คำว่า อัคคิทัฑฒะ ได้แก่ผ้าที่ถูกไฟไหม้ไปแถบหนึ่ง จริงอยู่ ผ้าที่ถูกไฟไหม้แล้วเช่นนั้น พวกมนุษย์ย่อม
ทิ้งเสีย
ตั้งแต่คำว่า โคขายิตะ เป็นต้นไป ความปรากฏชัดอยู่แล้ว จริงอยู่ ผ้าที่โคขย้ำแล้วเป็นต้นนั้นมนุษย์ทั้งหลายย่อมทิ้งเสียเหมือนกัน
คำว่า ธชาหฎะ ได้แก่ผ้าที่คนเขาเมื่อจะขึ้นเรือเอามาผูกทำเป็นธงขึ้นไว้ ในเมื่อล่วงเลยทัศนวิสัยของคนเหล่านั้นไปแล้ว จะเอาธงนั้นมาก็สมควร แม้ผ้าที่เขาเอามาผูกทำเป็นธงปักไว้ในยุทธภูมิในเมื่อกองทัพทั้งสองฝ่ายผ่านพ้นไปแล้ว จะเก็บเอาธงนั้นมาก็สมควร
คำว่า ถูปจีวระได้แก่ผ้าที่เขาใช้ทำพลีกรรมเอาไปวงล้อมจอมปลวกไว้
คำว่า สมณจีวระ ได้แก่ผ้าอันเป็นสมบัติของภิกษุ
คำว่า อาภิเสกิกะ ได้แก่ผ้าที่เขาทิ้งไว้ ณ สถานที่อภิเษกของพระราชา
คำว่า อิทธิมยะ ได้แก่ผ้าของเอหิภิกขุ
คำว่า ปันถกะ ได้แก่ผ้าที่ตกอยู่ในระหว่างทาง ก็แหละ ผ้าใดที่พลัดตกไปด้วยความเผลอสติของพวกเจ้าของแล้ว ผ้าเช่นนั้นต้องรอไปสักพักหนึ่งแล้วจึงค่อยเก็บเอา 
คำว่า วาตาหฏะ ได้แก่ผ้าที่ลมพัดไปตกในไกลที่ ก็แหละ ผ้าเช่นนั้นเมื่อไม่เห็นเจ้าของ จะเก็บเอาไป
ก็สมควร 
คำว่า เทวทัตติยะ ได้แก่ผ้าที่เทวดาทั้งหลายถวาย เหมือนอย่างถวายแก่พระอนุรุทธเถระ* (เรื่องเทวดาถวายผ้าทิพย์แก่พระอนุรุทธเถระ ปรากฏใน ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๔)
คำว่า สามททิยะ ได้แก่ผ้าที่คลื่นสมุทรทั้งหลายซัดขึ้นไว้บนบก

ก็แหละ ผ้าใดที่ทายกเขาถวายแก่สงฆ์ด้วย คำว่า สํฆสฺส เทม ดังนี้ก็ดี หรือผ้าที่ภิกษุทั้งหลายเที่ยวขอได้มาก็ดี ผ้านั้นจัดเป็นผ้าบังสุกุลไม่ได้ แม้ในประเภทผ้าที่ภิกษุด้วยกันถวาย ผ้าใดที่ภิกษุถวายโดยให้รับเอาด้วยส่วนแห่งพรรษาก็ดี หรือที่เป็นผ้าเกิดขึ้นประจำเสนาสนะก็ดี ผ้านั้นก็จัดเป็นผ้าบังสุกุลไม่ได้เช่นกัน เฉพาะผ้าที่ภิกษุถวายโดยไม่ให้รับเอาด้วยส่วนแห่งพรรษาเท่านั้น จึงนับเป็นผ้าบังสุกุล แม้ในบรรดาผ้าที่ภิกษุด้วยกันถวายนั้น ผ้าใดที่พวกทายกทอดวางไว้ ณ ที่ใกล้เท้าของภิกษุ แล้วภิกษุนั้นจึงเอามาถวายโดยวางลงในมือของภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุล ผ้านั้นจัดเป็นผ้าบริสุทธิ์ฝ่ายเดียว ผ้าใดที่พวกทายกถวายโดยวางไว้ในมือของภิกษุแล้วภิกษุนั้นจึงเอาไปทอดวางไว้ ณ ที่ใกล้เท้าของภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุล แม้ผ้านั้นก็จัดเป็นผ้าบริสุทธิ์ฝ่ายเดียว ผ้าใดที่พวกทายกทอดวางไว้ ณ ที่ใกล้เท้าของภิกษุด้วยแม้ภิกษุนั้นก็เอาไปถวายโดยทอดวางไว้ ณ ที่ใกล้เท้าของภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุลเหมือนอย่างนั้นด้วย ผ้านั้นจัดเป็นผ้าบริสุทธิ์สองฝ่าย ผ้าใดที่ภิกษุได้มาโดยทายกวางไว้ในมือ แล้วภิกษุนั้นก็วางไว้ในมือของภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุลอีกทอดหนึ่ง ผ้านั้นไม่จัดเป็นผ้าอย่างอุกฤษฎ์ อันภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุลจีวร ครั้นทราบความแตกต่างกันของผ้าบังสุกุลนี้ฉะนี้แล้วจึงใช้สอยจีวรตามควรนั่นเถิดว่าด้วยกรรมวิธีในปังสุกูลิกังคธุดงค์ เพียงเท่านี้

ประเภท
ก็แหละ ประเภทแห่งปังสุกูลกังคธุดงค์นี้ดังนี้ ภิกษุผู้ทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติ มี ๓ ประเภท คือ ชั้นอุกฤษฎ์ ๑ ชั้นกลาง ๑ ชั้นต่ำ ๑

ในปังสุกูลิกภิกษุ ๓ ประเภทนั้นปังสุกูลิกภิกษุผู้รับเอาเฉพาะผ้าที่ตกอยู่ในป่าช้าเท่านั้น จัดเป็นชั้นอุกฤษฎ์ ปังสุกูลิกภิกษุผู้รับเอาผ้าที่ทายกถวายทอดไว้ด้วยความประสงค์ว่า บรรพชิตทั้งหลายจักเก็บเอาไปดังนี้ จัดเป็นชั้นกลาง ปังสุกูลิกภิกษุผู้รับเอาผ้าที่ทายกถวายโดยวางทอดไว้ ณ ที่ใกล้เท้า จัดเป็นชั้นต่ำ ฉะนี้ ว่าด้วยประเภทในปังสุกูลิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ในบรรดาปังสุกูลิกภิกษุ ๓ ประเภทนั้น ในขณะที่ปังสุกูลิกภิกษุรูปใดรูปหนึ่งยินดีต่อผ้าที่พวกคฤหัสถ์ถวายตามความพอใจตามความเห็นของเขานั่นเที่ยว ธุดงค์ย่อมแตก (ขาด) คือ หายจากสภาพธุดงค์ทันที ว่าด้วยความแตกในปังสุกูลิกังคธุดงค์ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังต่อไปนี้ คือ โดยที่มีพระพุทธพจน์อยู่ว่า การบวชอาศัยบังสุกุลจีวร ดังนี้ ภิกษุผู้ทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลนั้น ชื่อว่า เป็นผู้มีความประพฤติปฏิบัติสมควรแก่ปัจจัยอันเป็นเครื่องอาศัย, เป็นการดำรงตนไว้ในอริยวงศ์ประการที่หนึ่ง (คือ ความสันโดษในจีวร), ไม่เป็นทุกข์ในการรักษา, ไม่มีพฤติการณ์เป็นที่เกาะอาศัยของผู้อื่น, ไม่หวาดกลัวด้วยโจรภัย, ไม่เป็นการบริโภคด้วยตัณหา, มีบริขารเหมาะสมแก่สมณสารูป, เป็นผู้มีปัจจัยเหมือนดังพระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญไว้ว่า ปัจจัยเหล่านั้น เป็นสิ่งเล็กน้อยด้วยหาได้ง่ายด้วย หาโทษมิได้ด้วย ดังนี้ เป็นผู้เป็นที่น่าเลื่อมใส, เป็นการสำเร็จผลแห่งคุณมีความเป็นผู้มักน้อยเป็นต้นให้เจริญ เป็นการเพิ่มพูนสัมมาปฏิบัติยิ่งขึ้น เป็นการวางไว้ซึ่งทิฏฐานคติแก่มวลชนในภายหลัง ภิกษุผู้สำรวม ทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุล เพื่อพิฆาตพญามารและเสนามาร ย่อมสง่างามเหมือนดังกษัตริย์ผู้ทรงสวมสอดเกราะแล้ว ย่อมทรงสง่างามในยุทธภูมิ ฉะนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นครูแห่งโลกทรงเลิกใช้ผ้าอย่างดีมีผ้าที่ทำในแคว้นกาสีเป็นต้น แล้วมาทรงใช้ผ้าบังสุกุลจีวรอันใด ใครเล่าที่จะไม่ใช้ผ้าบังสุกุลจีวรอันนั้น

เพราะเหตุฉะนี้แหละ อันภิกษุผู้เห็นภัยในสังสารวัฏเมื่อระลึกถึงคำปฏิญญาณของตน (ที่ให้ไว้แก่อุปัชฌาย์ในเวลาอุปสมบท) พึงเป็นผู้ยินดีในการใช้ผ้าบังสุกุลจีวร อันเป็นเครื่องส่งเสริมการบำเพ็ญความเพียรนั่นเถิด ว่าด้วยอานิสงส์ในปังสุกูลิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ในปังสุกูลิกังคธุดงค์ ประการแรกนี้ ยุติลงเพียงเท่านี้



ธุดงค์ ๑๓ ประการ

🔅ปริจเฉทที่ ๒ ธุตังคนิเทศ

อารัมภพจนกถา
โดยที่โยคีบุคคลสมาทานเอาศีลแล้วจะต้องทำการสมาทานเอาธุดงค์ต่อไปทั้งนี้เพื่อที่จะทำคุณทั้งหลายมีความเป็นผู้มักน้อยและความสันโดษเป็นต้น อันเป็นเครื่องผ่องแผ้วของศีล ซึ่งมีประการดังกล่าวแล้วในสีลนิเทศให้สมบูรณ์ แหละเมื่อโยคีบุคคลทำการสมาทานเอาธุดงค์เช่นนี้แล้ว ศีลของท่านซึ่งถูกชำระล้างมลทินแล้วด้วยน้ำคือคุณ มีความเป็นผู้มักน้อย, ความสันโดษ, ความขัดเกลากิเลส, ความสงัด, ความไม่สั่งสมกิเลส, การปรารภความเพียรและความเป็นผู้เลี้ยงง่าย เป็นต้น ก็จักเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ด้วยดี กับทั้งพรตทั้งหลายของท่านก็จักสมบูรณ์ด้วย

อันโยคืบุคคลผู้มีมารยาททั้งปวงบริสุทธิ์แล้วด้วยคุณคือศีลและพรตอันหาโทษมิได้เช่นนี้ ดำรงตนอยู่ในอริยวงศ์อันเป็นของเก่าแก่ ๓ ประการ (คือความสันโดษในจีวร, ความสันโดษในบิณฑบาต, ความสันโดษในเสนาสนะตามมีตามได้) แล้ว จักเป็นบุคคลสมควรเพื่อจะบรรลุอริยวงศ์ประการที่ ๔ ซึ่งได้แก่ความเป็นผู้ยินดีในภาวนา (สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา) เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจักเริ่มแสดงธุดงคกถา ณ บัดนี้


🙏 ธุตังคกถา 🙏

ธุดงค์ ๑๓ ประการ
ก็แหละ พระผู้มีพระภาคได้ทรงอนุญาตธุดงค์ไว้สำหรับกุลบุตรทั้งหลายผู้สละโลกามิสแล้ว ผู้ไม่เสียดายอาลัยในร่างกายและชีวิต ผู้ปรารถนาจะทำข้อปฏิบัติอันสมควรแก่นิพพานให้ถึงพร้อม รวมเป็น ๑๓ ประการ คือ

หมวดที่ ๑ จีวรปฏิสังยุต

๑. ปังสุกูลิกังคธุดงค์
๒. เตจีวริกังคธุดงค์
หมวดที่ ๒ ปิณฑปาตปฏิสังยุต
๓. ปิณฑบาติกังคธุดงค์
๔. สปทานจาริกังคธุดงค์
๕. เอกาสนิกังคธุดงค์
๖. ปัตตปิณฑิกังคธุดงค์
๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์
หมวดที่ ๓ เสนาสนปฏิสังยุต
๘. อารัญญิกังคธุดงค์
๙. รุกขมูลกังคธุดงค์
๑๐. อัพโภกาสิกังคธุดงค์
๑๑. โสสานิกังคธุดงค์
๑๒. ยถาสันถติกังคธุดงค์
หมวดที่ ๔ วิริยปฏิสังยุต
๑๓. เนสัชชิกังคธุดงค์

วินิจฉัยธุดงค์โดยอาการ ๑๐ อย่าง
นักศึกษาพึงศึกษาให้เข้าใจข้อวินิจฉัยในธุดงค์ ๑๓ ประการนั้น (โดยอาการ ๑๐ อย่างเหล่านี้ คือ)
๑. โดยอรรถวิเคราะห์
๒. โดยลักษณะเป็นต้น
๓. โดยสมาทาน
๔. โดยกรรมวิธี
๕. โดยประเภท
๖. โดยความแตก(ขาด)
๗. โดยอานิสงส์
๘. โดยเป็นกุสลติกะ
๙. โดยแยกออกเป็นคำ ๆ มีคำว่าธุตะเป็นต้น
๑๐. โดยย่อและโดยพิสดาร

วินิจฉัยโดยอรรถวิเคราะห์
ในอาการ ๑๐ อย่างนั้น จะวินิจฉัยโดยอรรถวิเคราะห์เป็นประการแรกดังนี้:

๑. ปังสุกูลิกังคะ
ผ้าใดเป็นเหมือนผ้าที่สะสมด้วยขี้ฝุ่น ณ ที่นั้น ๆ โดยที่ฟุ้งตลบไป เพราะเหตุวางทิ้งไว้บนขี้ฝุ่น ณ ที่ใดที่หนึ่ง เช่น ถนน, ป่าช้าและกองขยะมูลฝอยเป็นต้น ผ้านั้นชื่อว่าผ้าบังสุกุล อีกนัยหนึ่ง ผ้าใดถึงซึ่งภาวะที่น่าเกลียด คือ ถึงซึ่งภาวะที่น่าสยะแสยง เหมือนขี้ฝุ่น ผ้านั้นชื่อว่าผ้าบังสุกุล การทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลอันได้อรรถวิเคราะห์อย่างนี้ ชื่อว่า ปังสุกุล แปลว่าการทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุล, การทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลนั้นเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ชื่อว่า ปังสุกูลิโก แปลว่า ผู้มีอันทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติ ชื่อว่า ปังสุกูลิกังคะ เหตุ เรียกว่า องค์ เพราะฉะนั้น นักศึกษาจึงเข้าใจว่าภิกษุนั้นเป็นผู้มีอันทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติ ด้วยเจตนาเป็นเหตุสมาทานอันใด คำว่า องค์ นี้เป็นชื่อของเจตนาเป็นเหตุสมาทานอันนั้น

๒. เตจีวริกังคะ
โดยนัยอย่างเดียวกันนั้น การทรงไว้ซึ่งผ้า ๓ ผืน คือ ผ้าสังฆาฏิ ๑ ผ้าอุตตราสงค์ ๑ ผ้าอันตรวาสก ๑ เป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ชื่อว่า เตจีวริโก แปลว่าผู้มีอันทรงไว้ซึ่งผ้า ๓ ผืนเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันทรงไว้ซึ่งผ้า ๓ ผืนเป็นปกติชื่อว่า เตจีวริยังคะ

๓. ปิณฑปาติกังคะ
การตกลงแห่งก้อนอามิสคือภิกษาหาร ได้แก่การตกลงในบาตรแห่งก้อนข้าวที่ผู้อื่นเขาถวาย ชื่อว่า ปิณฑบาต ภิกษุใดแสวงหาบิณฑบาตนั้น คือเข้าไปสู่ตระกูลนั้น ๆ แสวงหาอยู่ ภิกษุนั้นชื่อว่า ปิณฑปาติโก แปลว่า ผู้แสวงหาซึ่งบิณฑบาตอีกอย่างหนึ่ง การเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตเป็นธรรมเนียมของภิกษุนี้ เหตุนั้น ภิกษุนี้ชื่อว่า ปิณฑปาตี แปลว่า ผู้มีอันเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตเป็นธรรมเนียม บทว่า ปติตํ แปลว่า การเที่ยวไป บทว่า ปิณฺฑปาตี กับบทว่า ปิณฺฑปาติโก ความเหมือนกัน, องค์แห่งภิกษุผู้แสวงหาซึ่งบิณฑบาต หรือองค์แห่งภิกษุผู้มีอันเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตเป็นธรรมเนียม ชื่อว่า ปิณฑปาติกังคะ

๔. สปทานจาริกังคะ
การขาดตอนเรียกว่า ทานะ กิจใดที่ปราศจากการขาดตอนคือไม่ขาดตอนกิจนั้นเรียกว่า อปทานะ กิจใดเป็นไปกับด้วยการไม่ขาดตอน ได้แก่เว้นการขาดระยะ คือ ไปตามลำดับเรือน กิจนั้นชื่อว่า สปทานะ การเที่ยวไป (บิณฑบาต) อย่างไม่ขาดตอน (คือไปตามลำดับเรือน) นี้ เป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ชื่อว่า สปทานจารี แปลว่า ผู้มีอันเที่ยวไปอย่างไม่ขาดตอนเป็นปกติ บทว่า สปทานจารี กับบทว่า สปทานจาริโก ความเหมือนกัน, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันเที่ยวไปอย่างไม่ขาดตอนเป็นปกติ ชื่อว่า สปทานจาริกังคะ

๕. เอกาสนิกังคะ
การฉันในที่นั่งอันเดียว ชื่อว่า เอกาสนะ การฉันในที่นั่งอันเดียวนั้นเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ ชื่อว่า เอกาสนิโก แปลว่า ผู้มีอันฉันในที่นั่งอันเดียวเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันฉันในที่นั่งอันเดียวเป็นปกตินั้น ชื่อว่า เอกาสนิกังคะ

๖. ปัตตปิณฑิกังคะ
บิณฑบาตเฉพาะแต่ในบาตรอย่างเดียวเท่านั้น เพราะห้ามภาชนะอันที่สองเสียชื่อว่า ปัตตปิณโฑ แปลว่า บิณฑบาตในบาตร บิณฑบาตในบาตรเป็นปกติของภิกษุนี้เพราะในขณะหยิบเอาบิณฑบาตในบาตรก็ทำความสำนึกว่าเป็นบิณฑบาตในบาตร เหตุนั้นภิกษุนี้ชื่อว่า ปัตตปิณฑิโก แปลว่า ผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกติ องค์แห่งภิกษุผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกตินั้น ชื่อว่า ปัตตปิณฑิกังคะ

๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ
คำว่า ขลุ เป็นศัพท์นิบาตลงในความปฏิเสธ ภัตตาหารที่ได้มาหลังจากที่ตนห้ามแล้ว ชื่อว่า ปัจฉาภัตตัง การฉันปัจฉาภัตนั้น ชื่อว่า ปัจฉาภัตตโภชนัง การฉันปัจฉาภัตเป็นปกติของภิกษุนี้ เพราะรู้อยู่ว่าเป็นปัจฉาภัตในขณะฉันปัจฉาภัต เหตุนั้น ภิกษุนี้ ชื่อว่า ปัจฉาภัตติโก แปลว่า ผู้มีอันฉันปัจฉาภัตเป็นปกติ ภิกษุผู้มิใช่ปัจฉาภัตติโก ชื่อว่า ขลุปัจฉาภัตติโก แปลว่า ผู้มิใช่ผู้มีอันฉันปัจฉาภัตเป็นปกติ (ลงมือฉันแล้วไม่ยอมรับเพิ่ม) คำนี้เป็นชื่อของโภชนะที่มากเกินไป ซึ่งท่านห้ามไว้ด้วยอำนาจแห่งการสมาทาน ส่วนในคัมภีร์อรรถกถาพรรณนาไว้ว่า คำว่า ขลุ ได้แก่นกประเภทหนึ่ง นกขลุนั้นเอาปากคาบผลไม้แล้ว ครั้นผลไม้นั้นล่วงไปจากปากแล้วก็ไม่ยอมกินผลไม้อื่นอีก ภิกษุนี้มีปฏิปทาเหมือนนกขลุนั้น เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ขลุปัจฉาภัตติโก แปลว่ามิใช่ผู้มีอันฉันปัจฉาภัตเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุมิใช่ผู้มีอันฉันปัจฉาภัต เป็นปกตินั้นชื่อว่า ขลุปัจฉาภัตติกังคะ

๘. อารัญญิกังคะ
การอยู่ในป่าเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ ชื่อว่า อารัญญิโก แปลว่า ผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นปกตินั้น ชื่อว่า อารัญญิกังคะ

๙. รุกขมูลิกังคะ
การอยู่ ณ ที่โคนไม้ชื่อว่า รุกขมูล การอยู่ ณ ที่โคนไม้นั้นเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ ชื่อว่า รุกขมูลิโก แปลว่า ผู้มีอันอยู่ ณ ที่โคนไม้เป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ ณ ที่โคนไม้เป็นปกติ ชื่อว่า รุกขมูลกังคะ

๑๐. อัพโภกาสิกังคะ
การอยู่ ณ ที่กลางแจ้งเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ ชื่อว่า อัพโภกาสิโก แปลว่า ผู้มีอันอยู่ ณ ที่กลางแจ้งเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ ณ ที่กลางแจ้งเป็นปกติ ชื่อว่า อัพโภกาสิกังคะ

๑๑. โสสานิกังคะ
การอยู่ในป่าช้าเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ชื่อว่า โสสานิโก แปลว่า ผู้มีอันอยู่ในป่าช้าเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าช้าเป็นปกติ ชื่อว่า โสสานิกังคะ

๑๒. ยถาสันถติกังคะ
เสนาสนะที่จัดแจงไว้อย่างไรนั่นเทียว ชื่อว่า ยถาสันถตะ คำนี้เป็นชื่อของเสนาสนะที่สงฆ์มอบให้แต่แรกด้วยคำว่า เสนาสนะนี้ถึงแก่ท่าน การอยู่ในเสนาสนะที่จัดแจงไว้อย่างนั้น เป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ ชื่อว่า ยถาสันถติโก แปลว่า ผู้มีอันอยู่ในเสนาสนะที่จัดแจงไว้แล้วอย่างไรเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในเสนาสนะที่จัดแจงไว้แล้วอย่างไรเป็นปกตินั้น ชื่อว่า ยถาสันถติกังคะ

๑๓. เนสัชชิกังคะ
การห้ามอิริยาบถนอนเสียแล้วอยู่ด้วยอิริยาบถนั่งเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ ชื่อว่า เนสัชซิโก แปลว่า ผู้มีอันอยู่ด้วยอิริยาบถนั่งเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ด้วยอิริยาบถนั่งเป็นปกตินั้น ชื่อว่า เนสัชชิกังคะ

อรรถาธิบายธุตั้งคะ
ก็แหละ ธุดงค์ทั้งหมดนั้นนั่นเที่ยวเป็น องค์ แห่งภิกษุผู้ซึ่งได้ชื่อว่า ธุระ เพราะเป็นผู้มีกิเลส (คือตัณหาและอุปาทาน) อันกำจัดแล้ว ด้วยเจตนาเป็นเครื่องสมาทานนั้น ๆ ฉะนั้นจึงชื่อว่า ธุตังคะ อีกอย่างหนึ่ง ญาณอันได้โวหารว่า ธุระ เพราะเป็นเครื่องกำจัดกิเลส เป็นเหตุแห่งการสมาทานเหล่านั้น ฉะนั้น การสมาทานเหล่านั้น จึงชื่อว่า ธุตังคะ อีกอย่างหนึ่ง การสมาทานเหล่านั้น ชื่อว่า ธุระ เพราะเป็นเครื่องกำจัดซึ่งธรรมอันเป็นข้าศึกด้วย เป็นเหตุแห่งสัมมาปฏิบัติด้วย เพราะฉะนั้น การสมาทานเหล่านั้น จึงชื่อว่า ธุตั้งคะ นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยในธุดงค์ ๑๓ ประการนั้น โดยอรรถวิเคราะห์เป็นประการแรกเพียงเท่านี้

วินิจฉัยโดยลักษณะเป็นต้น
ก็แหละ ธุดงค์หมดทั้ง ๑๓ ประการนั่นแล มีเจตนาเครื่องสมาทานเป็นลักษณะข้อนี้สมดังที่ท่านอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า “ผู้ที่สมาทานได้แก่บุคคล เครื่องสมาทานได้แก่ธรรม คือจิตและเจตสิก เจตนาเป็นเครื่องสมาทานอันใด อันนั้นเป็นตัวธุดงค์ สิ่งที่ถูกห้ามได้แก่วัตถุ และธุดงค์ทั้งหมดนั่นแล” มีการกำจัดความละโมบเป็นรส มีการปราศจากความละโมบเป็นอาการปรากฏ มีอริยธรรมเช่นความเป็นผู้มักน้อยเป็นต้น เป็นปทัฏฐาน คือเป็นเหตุใกล้ นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยในธุดงค์ ๑๓ ประการนี้ โดยลักษณะเป็นต้นเพียงเท่านี้

วินิจฉัยโดยการสมาทานเป็นต้น
ก็แหละ ในอาการ ๕ อย่างมีโดยการสมาทานและกรรมวิธีเป็นต้น มีวินิจฉัยดังนี้ ธุดงค์ ๑๓ ประการนั่นแล
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงพระชนม์อยู่ ก็พึงสมาทานเอาในสำนักของพระผู้มีพระภาคนั่นเทียว,
เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว จึงสมาทานเอาในสำนักของพระมหาสาวก,
เมื่อพระมหาสาวกนั้นไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของพระอรหันตขีณาสพ,
เมื่อพระอรหันตขีณาสพไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของพระอนาคามี,
เมื่อพระอนาคามีไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของพระสกทาคามี,
เมื่อพระสกทาคามีไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของพระโสดาบัน,
เมื่อพระโสดาบันไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของท่านผู้ทรงจำปิฎก ๓,
เมื่อท่านผู้ทรงจำปิฎก ๓ ไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของท่านผู้ทรงจำปิฎก ๒,
เมื่อท่านผู้ทรงจำปิฏก ๒ ไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของท่านผู้ทรงจำปิฎก ๑,
เมื่อท่านผู้ทรงจำปิฎก ๑ ไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของท่านผู้ทรงจำสังคีติอันหนึ่ง,
เมื่อท่านผู้ทรงจำสังคีติอันหนึ่ง ไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของท่านอรรถกถาจารย์,
เมื่อท่านอรรถกถาจารย์ไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของท่านผู้ทรงธุดงค์,
แม้เมื่อท่านผู้ทรงธุดงค์ก็ไม่มีอยู่แล้ว ก็จงปัดกวาดลานพระเจดีย์ให้สะอาดแล้วนั่งยอง ทำเป็นเหมือนกล่าวสมาทานเอาอยู่ในสำนักของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเถิด

อีกประการหนึ่ง แม้จะสมาทานเอาด้วยตนเองก็ใช้ได้ในข้อนี้ บรรดาพระเถระสองพี่น้องที่วัดเจติยบรรพต จึงยกเอาเรื่องของพระเถระผู้พี่มาเป็นตัวอย่าง เพราะท่านเป็นผู้มีความมักน้อยในธุดงค์ ที่วินิจฉัยมาแล้วนี้ เป็นสาธารณกถาทั่วไปแก่ธุดงค์ทั้งปวง