๔. ดิรัจฉานภูมิ

ดิรัจฉาน หมายความว่า ไปขวาง คือเดินไปตามขวาง หรือขวางจากมรรคผลนิพพาน
ดิรัจฉาน มี ๒ ชนิด คือ ดิรัจฉานที่ไม่เห็นได้ด้วยตาเป็นปกติ เช่น พญานาค กินนรา พญาครุฑ เป็นต้น และที่เห็นได้ด้วยตาเป็นปกติ เช่น สุนัข แมว ช้าง ปลา เป็นต้น

ดิรัจฉาน จำแนกโดยขา มี ๔ จำพวก คือ
๑. อปทติรัจฉาน ได้แก่ ดิรัจฉานที่ไม่มีขา เช่น ปลา งู เป็นต้น
๒. ทวิปทติรัจฉาน ได้แก่ ดิรัจฉานที่มี ๒ ขา เช่น นก เป็นต้น
๓. จตุปปทติรัจฉาน (อ่านว่า จะ-ตุป-ปะ-ทะ-ติ-รัด-ฉาน) ได้แก่ ดิรัจฉานที่มี ๔ ขา เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น
๔. พหุปปทติรัจฉาน (อ่านว่า พะ-หุป-ปะ-ทะ-ติ-รัด-ฉาน) ได้แก่ดิรัจฉานที่มีขามากกว่า ๔ ขา เช่น ปู แมงมุม ตะขาบ เป็นต้น

ดิรัจฉานโดยทั่วไป มีทั้งอดอยาก อ้วนพี มีความเดือดร้อน ที่มีสุขมากก็มีเหมือนกันแต่มีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่จะมีความเดือดร้อนมาก มีความสุขน้อย 
ดิรัจฉานมีสัญชาตญาณ หรือสัญญา ๓ อย่าง คือ
๑. กามสัญญา คือ รู้จักเสวยกามคุณ
๒. โคจรสัญญา คือ รู้จักกินนอน
๓. มรณสัญญา คือ รู้จักกลัวตาย



สัญญาทั้ง ๓ นี้มีแก่สัตว์ดิรัจฉานทั้งหลาย คือสัตว์รู้จักสืบพันธุ์ รู้จักกิน รู้จักนอน และกลัวตายแต่มนุษย์นั้นมีสัญญาต่างกันกับสัตว์ดิรัจฉาน คือ มนุษย์มีธรรมสัญญา มนุษย์จึงรู้ดี รู้ชอบ รู้ผิด รู้ถูก รู้จักบุญ รู้จักบาป สัตว์ดิรัจฉานทั่วไปไม่มีธรรมสัญญาอย่างมนุษย์ แต่ดิรัจฉานที่เป็นพระโพธิสัตว์จะมีธรรมสัญญา พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย เมื่อได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว จะไม่เกิดเป็นดิรัจฉานที่มีขนาดเล็กกว่านกกระจาบ และมีขนาดไม่ใหญ่กว่าช้าง

นาคและครุฑ เรื่องนาคและครุฑ ได้มีกล่าวไว้ใน นาคสังคยุต ว่า กำเนิดนาคมี ๔ คือ นาคเกิดจากฟองไข่ นาคเกิดจากครรภ์ นาคเกิดจากเถ้าไคล นาคเกิดผุดขึ้น (อย่างเทพหรือสัตว์นรก) นาคเหล่านี้ประณีตกว่ากันขึ้นไปโดยลำดับ นาคโดยมากกลัวหมองูและครุฑ ต้องคอยซ่อนกายซ่อนตัวอยู่เสมอ แต่นาคบางพวกคิดว่าตนมาเกิดเป็นนาคก็เพราะเมื่อชาติก่อนมีความประพฤติดีบ้างชั่วบ้างทั้งสองอย่าง ถ้าบัดนี้ประพฤติสุจริตก็จะพึงไปเกิดในสวรรค์ได้ในชาติต่อไป จึงตั้งใจประพฤติสุจริตกายวาจาใจ รักษาอุโบสถศีล นาคผู้รักษาอุโบสถนี้ ย่อมปล่อยกายตามสบาย ไม่กลัวหมองูหรือครุฑจะจับ 
เหตุที่ให้ไปเกิดเป็นนาค เพราะกรรมสองอย่าง ดีบ้างชั่วบ้าง และเพราะปรารถนาไปเกิดในกำเนิดเช่นนั้นด้วยชอบใจว่า นาคมีอายุยืน มีวรรณะงาม มีสุขมาก บางทีชอบใจ ตั้งปรารถนาไว้ดังนั้นแล้วก็ให้ทานต่างๆ เพื่อให้ไปเกิดเป็นนาคสมความปรารถนา

ครุฑ
หรือ สุบรรณ ที่กล่าวไว้ใน สุปัณณสังยุต ว่ามีกำเนิดสี่ และประณีตกว่ากันโดยลำดับเช่นเดียวกัน เหตุที่จะให้ไปเกิดเป็นครุฑก็เช่นเดียวกัน ข้อที่กล่าวไว้เป็นพิเศษ ก็คือ อำนาจในการจับนาค ครุฑย่อมจับนาคที่มีกำเนิดเดียวกับตน และที่มีกำเนิดต่ากว่าได้ จะจับนาคที่มีกำเนิดสูงกว่าไม่ได้
เรื่องนาคเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าหลายแห่ง ในคัมภีร์พระวินัย มหาวรรค ได้กล่าวถึงพญานาคมาแผ่พังพานเป็นร่มกันฝนถวายพระพุทธเจ้า ในปฐมโพธิกาลกล่าวถึงนาค มีใจความโดยย่อว่า เมื่อพระพุทธเจ้าประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้มุจลินท์ (ไม้จิก) ๗ วัน ในสมัยนั้นมหาเมฆที่ไม่ใช่กาลตั้งขึ้น ฝนตกพร่ำเจือด้วยลมหนาว ๗ วัน นาคราช ชื่อว่า มุจลินท์ ออกจากภพของตนเข้ามาวงพระกายของพระองค์ด้วยขนด ๗ รอบ แผ่พังพานปกเบื้องบนเพื่อป้องกันฝนและลมมิให้ถูกพระกาย ครั้นฝนหายแล้ว คลายขนดออก จำแลงเพศเป็นมาณพหนุ่มมายืนเฝ้า ณ ที่เฉพาะพระพักตร์ พระองค์ทรงทราบแล้วได้ทรงเปล่งอุทานมีความว่า “ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้พอใจแล้ว ได้ประสบธรรมแล้วเห็นแจ้งอยู่ ความไม่เบียดเบียนคือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลายเป็นสุขในโลก ความปราศจากกำหนัดคือความล่วงกามทั้งหลายเสียได้เป็นสุข ความกำจัดอัสมิมานะ คือความถือว่าตัวตนให้หมดได้เป็นสุขอย่างยิ่ง” จากคัมภีร์พระวินัยปิฎก กล่าวถึงเรื่องนาคจำแลงมาบวช มีใจความโดยย่อว่า

นาคตนหนึ่งอึดอัดรังเกียจในชาติกาเนิดนาคของตน คิดว่าทำไฉนจะพ้นไปเกิดเป็นมนุษย์โดยเร็วได้ เห็นว่าพระสมณะศากยบุตรเหล่านี้ประพฤติธรรมอันสมควรสม่ำเสมอ เป็นพรหมจารี มีวาจาสัจ มีศีลมีธรรม ถ้าได้บวชในพระเหล่านี้ ก็จะมีผลานิสงส์ให้พ้นชาติกำเนิดนาคไปเกิดเป็นมนุษย์เร็วดั่งปรารถนาเป็นแน่แท้ ครั้นคิดเห็นดั่งนี้แล้วจึงจำแลงเพศเป็นมาณพคือชายหนุ่มน้อย เข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอบวช ภิกษุทั้งหลายก็ให้มาณพจำแลงนั้นบรรพชาอุปสมบท นาคนั้นอยู่ในกุฏิท้ายวัดกับภิกษุรูปหนึ่ง ตกถึงเวลาใกล้รุ่ง ภิกษุรูปนั้นลงจากกุฏิไปเดินจงกรมในที่แจ้ง ฝุายนาคเมื่อภิกษุออกไปแล้วก็ปล่อยใจม่อยหลับไป ร่างจำแลงก็กลับเป็นงูใหญ่เต็มกุฏิขนาดล้นออกไปทางหน้าต่าง ภิกษุร่วมกุฏิเดินจงกรมพอแล้วกลับขึ้นกุฏิ ผลักบานประตูจะเข้าไปมองเห็นงูใหญ่นอนขดอยู่เต็มห้องขนดล้นออกไปทางหน้าต่าง ก็ตกใจร้องลั่นขึ้น ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ใกล้เคียงก็พากันวิ่งมาไต่ถามว่ามีเหตุอะไร ภิกษุนั้นได้เล่าให้ฟัง ขณะนั้นนาคตื่นขึ้นเพราะเสียงเอะอะ ก็จำแลงเพศเป็นคนครองผ้ากาสาวพัสตร์นั่งอยู่บนอาสนะของตน พวกภิกษุถามว่าเป็นใคร ก็ตอบตามจริงว่าเป็นนาค พระองค์ตรัสให้ประชุมภิกษุสงฆ์แล้วตรัสแก่นาคว่า “เกิดเป็นนาคไม่มีโอกาสที่จะงอกงามในพระธรรมวินัยนี้ได้แล้ว จงไปรักษาอุโบสถในวัน ๑๔-๑๕ ค่ำ และในวัน ๘ ค่ำ แห่งปักษ์นั้นเถิด ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้ก็จักพ้นจากชาติกำเนิดนาคและจะได้เป็นมนุษย์โดยเร็ว” นาคได้ฟังดั่งนั้นมีทุกข์เสียใจว่าตนหมดโอกาสที่จะงอกงามในพระธรรมวินัยนี้ น้ำตาไหลร้องไห้หลีกออกไป พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า มีเหตุปัจจัย ๒ ประการที่ทำให้นาคปรากฏภาวะของตน คือ อยู่ร่วมกับนางนาคผู้มีชาติเสมอกัน และปล่อยใจสู่ความหลับ พระองค์ทรงถือเรื่องนี้เป็นเหตุ ทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามอุปสมบทสัตว์ดิรัจฉานแต่เมื่อกล่าวถึงกาลเวลาทั้งหมดที่นาคจะต้องปรากฏตัว ก็มีอยู่ ๕ ประการ คือ
๑.เวลาปฏิสนธิ
๒.เวลาลอกคราบ
๓.เวลาอยู่กับนางนาคผู้มีชาติเสมอกัน
๔.เวลาปล่อยใจเข้าสู่ความหลับ
๕.เวลาตาย



โลกันตนรก

โลกันตนรก เป็นนรกขุมใหญ่พิเศษ ซึ่งตั้งอยู่ที่ระหว่างช่องว่างของขอบจักรวาลทั้ง ๓ ที่เชื่อมต่อกัน มีแต่ความมืดสนิท สัตว์ที่อุบัติในโลกันตนรกนี้จะมีร่างกายใหญ่โตมหึมามีเล็บเท้ายาวเกาะอยู่ตามขอบเชิงจักรวาลห้อยโหนตัวอยู่ตลอดกาล เมื่อไปพบพวกเดียวกันต่างก็คิดว่าเป็นอาหารจึงไล่ตะปบกัน จนตกลงมาในน้ำกรดที่เย็นยะเยือก สัตว์นั้นก็จะละลายเป็นจุณหายไป แล้วอุบัติเกิดขึ้นใหม่ที่ขอบจักรวาลนั้น ห้อยโหนตัวอยู่ไปมาและเมื่อ พบกันก็ตะปบกัน ต่อสู้กัน พลาดพลั้งก็ตกลงไปในน้ากรด ร่างก็ละลาย เป็นเช่นนี้ไปตลอดกาล (นรกขุมนี้เป็นขุมพิเศษ เป็นที่อยู่ของพวกอสุรกายประเภท นิรยอสุรา)

ทำบาปกรรมอะไรจึงเกิดในโลกันตนรก
๑. เป็นผู้ประทุษร้ายทรมานบิดามารดา ปราศจากความกตัญญูกตเวที
๒. เป็นมิจฉาทิฏฐิบุคคล คือ ไม่เชื่อบุญบาป ไม่เชื่อนรกสวรรค์ แล้วทำบาปอยู่เป็นนิจ
๓. ประทุษร้ายต่อผู้ทรงศีล ทรงธรรม หรือกระทำปาณาติบาตฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นประจำทุกวัน

ด้วยอำนาจของกรรมหนักเหล่านี้ จึงส่งผลให้เกิดในโลกันตนรกซึ่งมืดมิดอยู่เป็นนิตย์ตลอดกาลนาน ครั้นเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก จึงมีโอกาสเห็นแสงสว่างขึ้นแวบหนึ่งประมาณชั่วฟ้าแล่บ หรือชั่วลัดนิ้วมือเดียวเท่านั้น

อัธยาศัยจิตใจของบุคคลทั้งหลาย สรุปได้ ๔ คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้มีอัธยาศัยจิตใจชอบบำเพ็ญกุศลมาก
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้มีอัธยาศัยจิตใจชอบในการกุศลและอกุศลเท่าๆกัน
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้มีอัธยาศัยจิตใจชอบในอกุศลมากกว่ากุศล
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้มีอัธยาศัยจิตใจชอบในอกุศลฝุายเดียว

บุคคลประเภทที่ ๑ ในขณะใกล้ตายย่อมระลึกนึกถึงกุศลได้มาก ฉะนั้น บุคคลจำพวกนี้ย่อมพ้นจากการไปบังเกิดในอบายภูมิ
บุคคลประเภทที่ ๒ ในขณะใกล้ตายถ้าตัวเองพยายามระลึกถึงกุศลให้มากหรือญาติ บุคคลใกล้ชิดช่วยเตือนสติให้ระลึกถึงกุศล ก็สามารถช่วยให้พ้นจากการบังเกิดในอบายภูมิ
บุคคลประเภทที่ ๓ ในขณะใกล้ตายชีวิตที่ผ่านมาทำอกุศลมากกว่ากุศล ลำพังตัวเองจะนึกถึงกุศลนั้นย่อมนึกถึงไม่ได้ นอกจากจะได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่นเท่านั้น แต่ต้องเป็นการช่วยเหลืออย่างพิเศษจึงจะช่วยได้ ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างพิเศษแล้วบุคคลจำพวกนี้ย่อมจะต้องไปสู่อบายแน่นอน
บุคคลประเภทที่ ๔ ในขณะใกล้ตายชีวิตย่อมไม่พ้นจากการไปสู่อบายได้เลย นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อัครสาวก มหาสาวกเท่านั้นที่จะช่วยเหลือได้ และการที่จะได้รับความช่วยเหลือจากท่านเหล่านี้ได้บุคคลผู้นั้นก็จะต้องมี กุศลอปราปริยเวทนียกรรม(กุศลในชาติก่อนๆ)ที่มีกำลังมาก(ตัวอย่าง"โจรเคราแดง"จะอยู่ในเรื่อง กฎแห่งกรรม) ฉะนั้นถ้าบุคคลจำพวกนี้ต้องไปสู่นรกแล้ว ก็ไปสู่นรกโดยตรง ไม่มีโอกาสที่จะได้พบกับพระยายมราช เฉพาะบุคคลประเภทที่ ๒ และ ๓ ถ้าต้องไปสู่นรกแล้วก็มีโอกาสได้พบกับพระยายมราชเพื่อทำการสอบถาม ๕ เรื่อง หรือเรียกว่า เทวทูต ๕ เสียก่อน แล้วจึงไปเสวยทุกข์ในนรกนั้นๆ ภายหลัง

คำถามของพระยายมราช มี ๕ เรื่อง คือ
๑. ความเกิด ได้แก่ ทารกที่แรกเกิด
๒. ความแก่ ได้แก่ คนชรา
๓. พยาธิ ได้แก่ ผู้ป่วยไข้
๔. คนต้องราชทัณฑ์ ได้แก่ ผู้ที่ถูกลงโทษตามกฎหมาย
๕. มรณะ ได้แก่ คนตาย

พระยายมราชผู้มีจิตกรุณาจะไต่ถามว่า “นี่แน่ะเจ้า! เราจะถามเจ้าว่า เมื่อเจ้ายังอยู่ในมนุษย์โลกนั้นได้เคยเห็นเด็กแรกเกิดนอนเปื้อนมูตรคูถของตนเองบ้างไหม” ถ้าสัตว์นรกตอบว่า “ข้าพเจ้าเคยเห็น” พระยายมราชจะถามต่อไปว่า “ในขณะที่เจ้าเห็นเด็กแรกเกิดนั้น เจ้าเคยนึกถึงตนเองบ้างไหมว่า ตัวของเจ้าเองนี้จะต้องเกิดอีกเช่นเดียวกัน และได้เคยพยายามสร้างทาน ศีล ภาวนา เพื่อจะได้เป็นหนทางที่จะช่วยตัวเองให้พ้นไปจากความเกิดอันเป็นชาติทุกข์ บ้างไหม” สัตว์นรกได้ฟังคำถามของพระยายมราชแล้ว ถ้าระลึกถึงกุศลได้ในขณะนั้นก็จะพ้นจากนรกโดยทันที ได้ไปเกิดเป็นมนุษย์ หรือเทวดา ถ้าระลึกถึงกุศลไม่ได้ในขณะนั้นก็จะกล่าวตอบว่า “ข้าพเจ้าเคยเห็นเด็กแรกเกิดก็จริง แต่ก็ไม่มีความนึกคิดอะไร คงมีแต่ความยินดี พอใจเพลิดเพลิน สนุกสนานไป ตามวิสัยของชาวโลกเท่านั้น” พระยายมราชจึงกล่าวต่อไปว่า “เจ้าเป็นผู้มีความประมาท ไม่ทำความดี ทางกายวาจาใจ ด้วยการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ความประมาท เพลิดเพลินสนุกสนานของเจ้าที่ได้กระทำไปแล้วล้วนแต่เป็นความประมาทที่เกิดขึ้นจากตัวของเจ้าทั้งนั้น ไม่ใช่บิดามารดา บุตร ภรรยา มิตรสหาย หรือ เทวดาทั้งหลายมากระทำให้เจ้า ฉะนั้นเจ้าก็ต้องได้รับผลที่เจ้าได้กระทำไว้แล้วนั้นด้วย ตนเองไม่มีผู้ใดจะมารับโทษแทนเจ้าได้” ต่อจากนั้นพระยายมราชจะถามปัญหาที่ ๒ ต่อไป

พระยายมราชผู้มีจิตกรุณาจะถามต่อไปว่า “เจ้าเคยเห็นคนแก่หลังโก่งงอ ผมหงอก หนังเหี่ยว ตกกระ บ้างไหม ในขณะที่เจ้าเห็นนั้น เจ้าเคยนึกถึงตนเองบ้างไหมว่าตัวของเจ้าเองนี้จะต้องแก่เช่นเดียวกัน และได้เคยพยายามสร้างทาน ศีล ภาวนา เพื่อจะได้เป็นหนทาง ที่จะช่วยตัวเองให้พ้นไปจากความแก่อันเป็นชราทุกข์บ้างไหม” สัตว์นรกได้ฟังคำถามของพระยายมราชแล้ว ถ้าระลึกถึงกุศลได้ในขณะนั้นก็จะพ้นจากนรกโดยทันที ได้เกิดเป็นมนุษย์ หรือเทวดา ถ้าระลึกถึงกุศลไม่ได้ในขณะนั้นก็จะกล่าวตอบว่า “ข้าพเจ้าเคยเห็นคนแก่ก็จริงแต่ไม่มีความนึกคิดอะไร คงมีแต่การใช้ชีวิตที่พอใจเพลิดเพลิน สนุกสนานไปตาม วิสัยของชาวโลกเท่านั้น” พระยายมราชกล่าวต่อไปว่า “เจ้าเป็นผู้ประมาท ฯลฯ ฉะนั้นเจ้าก็ต้องได้รับผลที่เจ้าได้ กระทำไว้แล้วนั้นด้วยตนเอง ไม่มีผู้ใดจะมารับโทษแทนเจ้าได้” ต่อจากนั้นพระยายมราชจะ ถามปัญหาที่ ๓ ต่อไป

พระยายมราชผู้มีจิตกรุณาจะถามต่อไปว่า “เจ้าเคยเห็นคนป่วยไข้ที่กำลังได้รับความทุกข์เวทนาบ้างหรือไม่ ในขณะที่เจ้าเห็น เจ้าเคยนึกถึงตนเองบ้างไหมว่า ตัวของเจ้าเองนี้จะต้องเจ็บป่วยเช่นเดียวกัน และได้เคยพยายามสร้างทาน ศีล ภาวนา เพื่อจะได้เป็นหนทางที่จะช่วยตัวเองให้พ้นไปจากความเจ็บป่วยอันเป็นพยาธิทุกข์บ้างไหม” สัตว์นรกได้ฟังแล้ว ถ้าระลึกถึงกุศลได้ในขณะนั้นก็จะพ้นจากนรกโดยทันที ฯลฯ ถ้าระลึกถึงกุศลไม่ได้ ฯลฯ พระยายมราชจึงกล่าวต่อไปว่า “เจ้า เป็นผู้ประมาท ฯลฯ ฉะนั้นเจ้าก็ต้องได้รับผลที่เจ้าได้กระทำไว้แล้วนั้นด้วยตนเอง ไม่มีผู้ใดจะมารับโทษแทนเจ้าได้” ต่อจากนั้นพระยายมราชจะถามปัญหา ที่ ๔ ต่อไป

พระยายมราชผู้มีจิตกรุณาจะถามต่อไปว่า “เจ้าเคยเห็นคนที่ถูกจองจำ เช่น โจร ผู้ร้าย ผู้กระทำผิด ซึ่งถูกลงโทษด้วยวิธีต่างๆ เช่น โบยด้วยแส้ หวาย ตีด้วยกระบอง ถูกตัดมือ เท้า หู จมูก ยิงเป้า แขวนคอบ้างหรือไม่ ในขณะที่เจ้าเห็นเจ้าเคยนึกถึงตนเองบ้างไหมว่าตัวของเจ้าเองนี้จะต้องเพียรเร่งสร้างความดี เพื่อจะได้เป็นหนทางที่จะช่วยตัวเองให้พ้นไปจากความทุกข์บ้างไหม? สัตว์นรกได้ฟังแล้ว ถ้าระลึกถึงกุศลได้ในขณะนั้นก็จะพ้นจากนรกโดยทันที ฯลฯ ถ้าระลึกถึงกุศลไม่ได้ ฯลฯ พระยายมราชกล่าวต่อไปว่า “เจ้าเป็นผู้ประมาท ฯลฯ ฉะนั้นเจ้าก็ต้องได้รับผลที่เจ้าได้กระทำไว้แล้วนั้นด้วยตนเอง ไม่มีผู้ใดจะมารับโทษแทนเจ้าได้ ” ต่อจากนั้นพระยายมราชจะถามปัญหาที่ ๕ ต่อไป

พระยายมราชผู้มีจิตกรุณาจะถามต่อไปว่า “เจ้าเคยเห็นคนตายบ้างหรือไม่ ในขณะที่เจ้าเห็นคนตายเจ้าเคยนึกถึงตนเองบ้างไหมว่าตัวของเจ้าเองนี้ จะต้องตายเช่นเดียวกัน และได้เคยพยายามสร้างทาน ศีล ภาวนา เพื่อจะได้เป็นหนทางที่จะช่วยตัวเองให้พ้นไปจากความตายอันเป็นมรณทุกข์บ้างไหม” สัตว์นรกได้ฟังแล้ว ถ้าระลึกถึงกุศลได้ในขณะนั้นก็จะพ้นจากนรกโดยทันที ฯลฯ ถ้าระลึกถึงกุศลไม่ได้ ฯลฯ พระยายมราชจึงกล่าวต่อไปว่า “เจ้าเป็นผู้ประมาท ฯลฯ ฉะนั้นเจ้าก็ต้องได้รับผลที่เจ้าได้กระทำไว้แล้วนั้นด้วยตนเอง ไม่มีผู้ใดจะมารับโทษแทนเจ้าได้”

เมื่อเป็นเช่นนี้ พระยายมราชก็พยายามช่วยระลึกให้ว่าสัตว์นรกผู้นี้ได้สร้างกุศลอะไรไว้บ้าง เพราะบุคคลบางคนเมื่อทำกุศลแล้วก็แผ่ส่วนกุศลให้แก่ พระยายมราช พระยายมราชผู้เคยได้รับส่วนกุศลก็จะพยายามช่วยให้สัตว์นรกนึกถึงกุศลที่เคยทำไว้ เมื่อระลึกถึงกุศลกรรมของตนได้เช่นนี้ ในขณะนั้น ก็พ้นไปจากนรกแต่ถ้าพระยายมราชช่วยแล้วก็ยังระลึกไม่ได้ก็จะนิ่งเสีย แล้ว นายนิรยบาลก็จะนำตัวไปลงโทษในนรกต่างๆ เสวยกรรมในนรกไปจนกว่าจะหมดกรรม พระยายมราชเป็นราชาแห่งเปรตที่มีวิมาน ในคราวหนึ่งเสวยทิพยสมบัติ ในคราวหนึ่งเป็นธรรมิกราชเสวยวิบากกรรม พระยายมราชเองก็ปรารถนาความเป็นมนุษย์และได้พบได้ฟังธรรม ได้รู้ธรรม ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หน้าที่ของพระยายมราช คือเป็นผู้ซักถามผู้ทำบาปที่ถูกนำตัวเข้าไปหลักซักถาม ๕ อย่างข้างต้น ถ้าพิจารณาดูตรงๆ ก็ยากที่จะเข้าใจว่าจะใช้ เป็นกฎเกณฑ์สำหรับวินิจฉัยได้อย่างไร แต่เมื่อพิจารณาโดยหลักธรรม ก็อาจจะเห็นความมุ่งหมายว่า คนที่ทำบาปทุจริตต่างๆ นั้น ก็เพราะมีความประมาท ไม่ได้คิดพิจารณาว่าเกิดมาแล้วจะต้องแก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา


วิกิ

ผลการค้นหา