ปฐมเหตุโลกและชีวิต

ถอดเทปคำบรรยาย เรื่อง ปฐมเหตุของโลก – ชีวิต
(โดยอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๙)

        พระคุณเจ้าทั้งหลาย ในวันนี้จะได้บรรยายถึงเรื่อง ปฐมเหตุของโลกและปฐมเหตุของชีวิต คือว่าเมื่อเราได้ทราบถึงข้อเหตุผล เกี่ยวกับ วัฏฏสงสาร และ เหตุผลกฎแห่งกรรมในหลักพระพุทธศาสนาแล้ว ปัญหาที่จะติดตามมาก็ได้แก่ปัญหา วิวัฒนาการของโลก กับ วิวัฒนาการของชีวิต ว่าโลกและชีวิตนี้เป็นอย่างไร? ตามทรรศนะในพระพุทธศาสนาถือว่ามีสมุฏฐานเหตุมาจากอะไร ในประเด็นปัญหานี้เข้าในลักษณะอัพยากตะปัญหา คือ ปัญหาที่พระบรมศาสดาไม่ทรงพยากรณ์ เกี่ยวกับ ปัญหาว่าโลกหน้ามีหรือ ชีวิตดวงนี้กับดวงหน้าเป็นอันเดียวกันหรือ สรีระนี้กับสรีระหน้าเป็นสรีระอันเดียวกันหรือ ปัญหาต่างๆทั้งหมด ในครั้งพุทธกาลนี้เคยมี พระบ้าง คฤหัสห์บ้าง นำมาผูกเป็นปัญหาทูลถามพระพุทธองค์ อย่าง พระมาลุงกยะ ได้ตั้งปัญหากระทู้ถามพระบรมศาสดา พร้อมกับตั้งข้อแม้ว่าถ้าพระบรมศาสดาไม่เฉลยปัญหาเหล่านี้กับพระมาลุงกยะแล้ว พระมาลุงกยะก็จะทูลลาสิกขาไม่อยู่บวชในพระพุทธศาสนาต่อไป

พระพุทธองค์ได้ตรัสสอบพระมาลุงกยะ ว่าดูก่อนมาลุงกยะ การที่เธอมาบวชนี้ตถาคตเป็นผู้ขอร้องอ้อนวอนให้เธอมาบวชหรือเปล่า พระมาลุงกยะก็ทูลบอกว่าเปล่า เมื่อเปล่าแล้วเธอจะมาขอร้องบอกคืนกับใครล่ะ เราจะพยากรณ์ถึงเรื่องปัญหาโลกแตกดังที่ท่านตั้งมาถามเหล่านี้ จะพยากรณ์ก็ตาม ไม่พยากรณ์ก็ตาม ธรรมะเหล่าใดที่เราแสดงไปแล้ว อันบุรุษผู้มีความปรารถนาอย่างจริงใจรับไปปฏิบัติตามก็ย่อมทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นการจะตอบหรือไม่ตอบนั้นไม่เป็นสาระสำคัญในพรหมจรรย์ของเราเลย การที่ตัวของเธอมาพัวพันยุ่งเหยิงกับปัญหาเหล่านี้ จะหนีลักษณะฉายาของโมฆะบุรุษไปได้อย่างไร

คือพระพุทธเจ้า ถ้าหากจะตรัสประณามใครอย่างแรงที่สุดก็ตรัสใช้คำว่าโมฆะบุรุษ หมายถึงคนเปล่า เปล่าจากสาระคือ คุณธรรมและคุณสมบัติโดยประการทั้งปวง แต่ว่าในที่อื่น ๆ อาคตสถานแห่งอื่นบางแห่งพระพุทธเจ้าเป็นผู้พยากรณ์เอง โดยที่ไม่มีผู้ใดมาทูลขอ อย่างในมหาปรินิพพานสูตร ตรัสพยากรณ์คติของบรรดาอุบาสก อุบาสิกากับพระอานนท์เถรเจ้าว่า ท่านผู้นั้นอุบาสกนั้น อุบาสิกานั้นเมื่อขันธ์แตกไปแล้ว ได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ชั้นนั้น ๆ พยากรณ์ไว้อย่างนี้ ตรัสกับพระอานนท์เถรเจ้าว่า เราพยากรณ์อย่างนี้ก็เพื่อที่จะเป็นเครื่องเชิดชูกำลังใจให้แก่ปฏิมาชนตาชน ที่ได้รู้ว่าผลของการปฏิบัติธรรมนั้นไม่เป็นโมฆะ (ข้อคิด: แสดงว่าผู้บรรลุโสดาบันบางท่านก็ไม่รู้ตัว พยากรณ์ตัวเองไม่ได้แต่บางท่านก็พยากรณ์ได้ ) ได้รับผลประโยชน์ทั้งในทิฏฐธรรม ในสัมปรายภพ จะได้เป็นกำลังใจ จะได้เป็นตัวอย่างแบบฉบับสำหรับคนชั้นต่อ ๆ ไปอย่างนี้ ทรงตรัสพยากรณ์เอง



เมื่อเราพิจารณาดูอย่างนี้แล้วประหนึ่งว่าพระบรมศาสาดานั้นทำอะไรขัดกับพระองค์โดยปริยาย ประหนึ่งเป็นอย่างนั้นแหละครับ แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น มีข้อน่าสังเกตว่า คนที่มาตั้งปัญหาเป็นอัพยากตปัญหาหรือที่เรียกกันว่าปัญหาโลกแตก ถ้าตั้งปัญหาเหล่านี้มาถามพระองค์ด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ ยกตัวอย่างว่าพวกเหล่านี้มีทิฏฐิฝังอยู่ในสันดานแล้ว บางคนเป็นสัสสตทิฏฐิ บางคนเป็น อุจเฉทิฏฐิ ฝังแน่น เป็นทิฏฐิปรามาส ทิฏฐิปรามาส นี่หมายความว่าเป็น ทิฏฐิที่แรงมาก เป็นทิฏฐิชั้นคณาจารย์ ทิฏฐิของชาวบ้านธรรมดาที่เป็น มิจฉาทิฏฐิยังไม่แรงอย่างพวกมิจฉาทิฏฐิของบุคคลชั้นคณาจารย์ มิจฉาทิฏฐิของบุคคลชั้นคณาจารย์ถึงแม้ว่ารู้ว่าผิดก็ไม่ยอมกลับทิฏฐิอันนั้น ยกตัวอย่างเช่น สัญชัยเวรัฎบุตร ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าพระธรรมของพระพุทธเจ้าดี เมื่อสาวกของตัวคือ พระสารีบุตร กับ พระโมคคัลลานะ เมื่อยังเป็นปริพาชกอยู่ในสำนักของ สญชัย มาชักชวนอาจารย์สัญชัยไปฟังธรรมในสำนักพระพุทธองค์ด้วยกัน อาจารย์สัญชัยไม่ยอมไป กลับย้อนถามท่านอุปติสสะ กับท่านโกลิตะ ทั้งสองท่านว่า คนในโลก นี้ คนโง่ มากหรือ คนฉลาดมาก เมื่อได้รับคำตอบว่า คนโง่มากกว่าคนฉลาด สญชัยก็บอกว่าดีแล้ว คนฉลาดก็ไปหาพระสมณโคดม คนโง่ก็มาหาเรา เราได้ประโยชน์จากพวกคนโง่ ลาภสักกการะของเราก็มากกว่า เพราะคนโง่มีมากกว่า อย่างนี้แสดงให้เห็นว่าทิฏฐิปรามาสของบุคคลทั้งเจ้าหมู่เจ้าคณะนั้นมีความรุนแรง ถอนได้ยาก เพราะฉะนั้นคนที่มีสัสสตทิฏฐิอยู่ในสันดานหรือคนที่มี อุจเฉทิฏฐิอยู่ในสันดาน ถ้าหากว่ามาตั้งปัญหาประเภท อัพพะยากตปัญหา ถาม พระพุทธองค์แล้ว ถ้าพระองค์ไปมัวตอบปัญหาของพวกเจ้าทิฏฐิเหล่านี้ เหนื่อยเปล่า ป่วยการเปล่า เพราะตอบไปแล้ว พวกเหล่านี้ก็ไม่มีทางที่จะกลับอกกลับใจมาเลื่อมใส มิหนำซ้ำเคราะห์ดีเคราะห์ร้าย บางทีจะฟังไม่ได้ศัพท์ จับเอาไปกระเดียด อีก นึกว่าพระพุทธเจ้าสนับสนุนทรรศนะตัว ยกตัวอย่าง พระองค์บอกว่า ชาติหน้ามี ว่าคนเราตายแล้วต้องมีปฏิสนธิวิญญาณไปเวียนว่ายตายเกิดอีก ผู้ที่มีสัสสตทิฏฐิเป็นเจ้าเรือนฟังแล้วก็นึกว่า โอ นี่พระสมณโคดมพยากรณ์สัสสตทิฏฐิเช่นเดียวกับเราแล้ว คือแสดงว่า มีวิญญาณดวงนี้เป็นตัวตั้งตัวตีไปเวียนว่ายตายเกิดอยู่ นึกอย่างนั้นไม่ได้เฉลียวใจว่าคำว่า ปฏิสนธิวิญญาณในพระพุทธศาสนา ต่างกับปฏิสนธิวิญญาณในศาสนาอื่นอย่างไร คือ ปฏิสนธิวิญญาณในพุทธศาสนาเรานั้นไม่ใช่เป็นนิจจัง แต่ว่าเป็น อนิจจัง เกิดดับ ทุกขณะ ส่งไปด้วยอำนาจพลังกรรม กับ พลังตัณหา พลังอุปทาน ๓ อันนี้ เพราะฉะนั้นจึงมีพุทธภาษิต ใน อังคุตรนิกายว่า กรรมนี้เป็นเนื้อนา วิญญาณเป็นพืช ตัณหานี้เป็นยางเหนียวในพืชนั้น สิเนโหตัณหา สิเนโห แปลว่า ยางเหนียว สิเนหะคือ เสน่หานี่แหละ แปลว่ายางเหนียว มีกรรมเป็นผืนนา มีวิญญาณเป็นพืช และก็มีตัณหาเป็นยางเหนียวในพืชนั้น

เพราะฉะนั้นเมื่อรับ พืช คือวิญญาณลงไปในแปลงนาคือ กรรม เมื่อวิญญาณนั้นยังมียางเหนียวอยู่ก็มีการเจริญเติบกล้าขึ้นมา เมื่อได้รับปัจจัยเช่น แสงแดด อาหาร น้ำ อันเป็นโอชะมาบำรุง วัฏฏสงสารก็เกิด ทรรศนะในเรื่องวิญญาณในพุทธศาสนาจึงต่างกับพวกสัสสตทิฏฐิ เพราะเราถือว่าวิญญาณก็เกิดจากกรรมเกิดจากสิเนหะ คือยางเหนียว ปรุงแต่งกัน เมื่อได้อาศัยปัจจัยปรุงแต่ง สิ่งนั้นก็ไม่มีสภาวะที่เที่ยงในตัวมันเอง ต่างกับทรรศนะวิญญาณในฝ่ายสัสสตทิฏฐิที่ถือว่า วิญญาณนั้นเที่ยง วิญญาณดวงนี้ดวงเดียวยืนโรงอยู่ เป็นผู้เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามภพต่างๆ เป็นผู้ท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ เพราะฉะนั้นคนที่มี สัสสตทิฏฐิเป็นเจ้าเรือน หากมาฟัง พุทธพยากรณ์ แล้วก็จะฟังไม่ได้ศัพท์จับเอาไปกระเดียด ดีอกดีใจ บอกว่าพระสมณะโคดมพยากรณ์สัสสตทิฏฐิเหมือนกับเราอย่างนี้ ป่วยการเปล่านี่พวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่ง ถ้าหากว่ามีอุจเฉทิฏฐิเป็นเจ้าเรือนอยู่ ขันธะสันดาน พวกนี้จะตั้งปัญหาอัพยากตปัญหาทูลถามพระพุทธองค์เข้า พระพุทธองค์จะตรัสพยากรณ์ บอกว่าวิญญาณดวงที่ท่องเที่ยวต่างกับวิญญาณดวงนี้ ไม่ใช่วิญญาณดวงนี้ไปเกิดในภพหน้า แต่เป็นคนละอัน คนละดวงกัน ถ้าพยากรณ์อย่างนี้ พวกที่มีอุจเฉทิฏฐิเป็นเจ้าเรือน ฟังไม่ได้ศัพท์จับเอาไปกระเดียด นึกว่า โอ พระสมณโคดมพยากรณ์ว่าวิญญาณขาดสูญ เพราะตรัสว่า ดวงนี้ไม่ใช่ดวงนั้น ขาดสูญแล้ว เป็นการสนับสนุนทิฏฐิของเรา พวกเจ้าลัทธิ ๒ พวกมีความโน้มเอียงไปในทางที่ตัวเชื่ออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่จะมาพยากรณ์อัพยากตปัญหากับพวกเหล่านี้เหนื่อยเปล่า พระองค์จึงตัดบทเสีย ไม่พูด พูดไปแล้วก็เหนื่อย

แต่หากว่าคนที่เขาตั้งปัญหาถามชนิดที่ว่าอยากรู้อยากเห็นจริง ๆ มีความสงสัยในเรื่องนี้จริง ๆ โดยที่ไม่มีสัสสตทิฏฐิหรืออุจเฉทิฏฐิเป็นเจ้าเรือนแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์ทุกรายไปเลยทีเดียว ไม่มีเลยที่จะไม่พยากรณ์ และก็บางครั้งไม่ต้องอาศัยใครมาทูลถามพระองค์ ๆ พยากรณ์ขึ้นมาเฉย ๆ ก็มี ปรารภเหตุต่าง ๆ และก็เล่าความเป็นไปต่างๆ ขึ้นมาเอง เพราะฉะนั้นการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าจึงเข้าลักษณะว่า วาจาใดแท้แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระองค์ก็จะไม่ตรัสเลย แต่ถ้าวาจาประเภทใดเป็นของแท้ของจริงแล้วมีประโยชน์ด้วย พระองค์จะเป็นผู้ที่รู้กาละที่จะตรัส ไม่ใช่ว่าถ้าของจริงแล้วมีประโยชน์จะตรัสพร่ำเพรื่อไม่เอา ตรัสไม่ดูบริษัท ไม่ดูบุคคล ไม่ถูก พระองค์เป็นผู้รู้กาลตรัส กาลที่ควรจะตรัสก็ตรัส และกาลที่ไม่ควรจะตรัส พระองค์ก็ไม่ตรัส นี่เป็นอย่างนั้นเพราะฉะนั้นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับ วิวัฒนาการของโลก หรือ วิวัฒนาการทางชีวิตตามพุทธคติ เราจะเห็นว่าศาสนาพุทธต่างกับศาสนาอื่น ศาสนาในโลกนี้ เมื่อแบ่งกันแล้วก็มี ๓ พวกใหญ่ ๆ คือ

๑. ศาสนาประเภท พหุเทวนิยมพวกหนึ่ง
๒. ศาสนาประเภท เอกะเทวนิยมพวกหนึ่ง
๓. ศาสนาประเภท อะเทวนิยมพวกหนึ่ง

มี ๓ พวกนะครับ ศาสนาประเภท พหุเทวนิยม นั้นได้แก่ ศาสนาที่บูชาพระเป็นเจ้า ประจำธรรมชาติ มีพระเจ้าฟ้าร้อง พระเจ้าฟ้าผ่า พระเจ้าร้อน พระเจ้าหนาว พระเจ้าฝน พระเจ้าอบอุ่น พระเจ้าแสงแดด พระเจ้าอะไรมากมายตามธรรมชาติ ปรากฏการณ์ของธรรมชาติศาสนาพหุเทวนิยม นี้เป็นศาสนาดึกดำบรรพ์ ติดมาตั้งแต่มนุษย์เรายังเป็นอนารยชน เป็นคนป่าร่อนเร่อยู่ในท่ามกลางป่าดงพงไพร เป็นศาสนาที่เกิดจากความกลัวของคนจริง ๆ เพราะฉะนั้นจึงมีพุทธภาษิตบอกว่าเมื่อมนุษย์เกิดมีความกลัวคุกคามแล้ว ก็ยึดเอาป่าเป็นที่พึ่งบ้าง ยึดเอาเจติยะ เอาต้นไม้ เอาภูเขา เป็นที่พึ่งบ้าง สุดแต่ว่าอะไรที่จะให้ใจตัวเข้าไปยึดเหนี่ยวแล้ว นึกว่าดับความกลัวได้ มนุษย์ก็แสวงหาเป็นที่พึ่ง ที่พึ่งเหล่านั้นไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม ไม่ใช่ที่พึ่งอันประเสริฐ แต่ผู้ใดถึงพระรัตนตรัย มีปัญญาเห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ ผู้นั้นจึงชื่อว่าได้มีที่พึ่งอันเกษม มีที่พึ่งอันประเสริฐ เพราะผู้ใดถึงที่พึ่งอย่างนี้แล้ว ย่อมทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ นี่ในพุทธภาษิตตรัสอย่างนี้ เพราะฉะนั้นพวกนักวิเคราะห์ทางจิตเขาบอกว่า “ คนที่นับถือศาสนาเป็นพวกที่มีจิตใจอ่อนแอ “ วิเคราะห์ทางจิต ฝ่ายวัตถุนิยมนะ เขาบอกว่าคนที่มีศาสนาเป็นคนจิตใจอ่อนแอก็จริง แต่ว่าศาสนาที่คนนับถือประเภทจิตอ่อนแอ ไม่ใช่ พุทธศาสนา เพราะว่า พุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาประเภทที่ ๓ เป็นพวกอเทวนิยม ไม่มีพระเจ้า ไม่มีพระเจ้าสร้างโลก พุทธศาสนาเป็นอเทวนิยม ไม่ได้ให้เกียรติกับพระเจ้าองค์ไหน หรือ เทวดาองค์ไหนเป็นผู้ประเสริฐสุด ไม่ใช่

แล้วในพุทธศาสนาก็รับด้วยว่าถูกศาสนาที่มีบ่อเกิดมาจากความกลัวนั้นคือ ศาสนาสมัยยุคอนารยะ ยุคคนป่าเกิด เมื่อวิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญ มนุษย์ยังไม่รู้จักปรากฏการณ์ที่แท้จริงของธรรมชาติ พอเจอแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรือโรคระบาด ก็นึกว่าจะต้องมีผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือผีสางอะไรเป็นผู้ดลบันดาลเป็นผู้สั่งการ ไม่เช่นนั้นอยู่ดี ๆ ทำไมฟ้าผ่าเปรี้ยงปร้างลงมาได้ อยู่ดีๆ ทำไมแผ่นดินไหวขึ้นมาได้ จะต้องมีคนดลบันดาล นึกอย่างนั้น จากความโง่เขลาของคนป่าในยุคกระโน้นกลัวขึ้นมา กลัวก็อ้อนวอนบวงสรวงบูชาสมมุติให้เป็นพระเจ้า เป็นตัวเป็นตนขึ้น เรียกว่า พหุเทวนิยมมากมาย เทวดามากมาย พระเจ้ามากมาย สมมติกันขึ้นเป็นพระเจ้าประจำธรรมชาติ ศาสนาประเภทนี้มนุษย์ในโลกภาคต่างๆ เหมือนกันหมด ไม่ว่ายุโรปอเมริกาหรือเอเชียเหมือนกันหมด นับถือพระเจ้าประจำธรรมชาติ การนับถือพระเจ้าประจำธรรมชาตินั้นบางทีก็พลอยนับถือพวก “ สัตว์เดรัจฉานเป็นพระเจ้าด้วย “ เพราะไปเจอสัตว์เดรัจฉานที่มีเขี้ยวเล็บมาก ๆ มีความดุร้ายมาก ๆ ก็เลยสมมติว่ามีวิญญาณที่ดุร้ายสิงสู่อยู่นับถือพวก เสือ พวกจระเข้ หนักเข้านับถือ หมู แมว บูชา หมู หมา แมว ไปด้วยเลย อย่างศาสนาโบราณของพวกอียิปต์นับถือ แมวเป็นพระเจ้าก็มี นับถือแมวนะ อย่างพวกฮินดูนับถือ โคเป็นพระเจ้า ว่าโคนี่เป็นพาหนะของพระอิศวร เฝ้าอยู่ประตูเขาไกรลาศเป็นเทวดาอยู่ และเวลาพระอิศวรจะขี่ก็แปลงเป็นวัวให้พระอิศวรขี่นับถือวัวเป็นพระเจ้า พวกฮินดูจึงไม่กล้ากินเนื้อโคเพราะเขาถือว่าโคเป็นเทวดาแปลงแล้วพวกคนป่าบางเผ่านับถือ จระเข้เป็นพระเจ้า นับถือ เสือเป็นพระเจ้า นับถือช้างเป็นพระเจ้า มีมากมาย นี่เกิดจากความกลัวของมนุษย์ทั้งนั้น ก็ตรงกับหลักนักจิตวิทยาในปัจจุบัน แล้วเขาบอกว่าศาสนาเกิดจากคนที่ใจอ่อนแอ อย่างนี้ต้องจำกัดความหมายว่า ยกเว้นพุทธศาสนานะ เพราะว่าพุทธศาสนานี้ไม่มีลักษณะที่เกิดจากความอ่อนแอ หรือเกิดจากความกลัว ไม่ใช่ นี่เป็นศาสนาประเภทพหุเทวะนิยม

ต่อมาเมื่อสังคมมนุษย์เจริญขึ้น สังคมของมนุษย์มีส่วนสะท้อนไปถึงศาสนาประเภท พหุเทวนิยมด้วย เพราะว่าในสมัยบุพพกาล มนุษย์เราไม่ได้อยู่เป็นประเทศ สังคมเป็นสังคมย่อย ๆ เป็นกลุ่มก้อน มีรัฐ มีพ่อบ้าน มีพ่อหมู่ ประจำหมู่ ประจำคณะไม่มีพระเจ้าแผ่นดินแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อยู่กันเป็นหมู่ๆ พระเจ้าก็มีมากไปตามหมู่ บางหมู่ก็นับถือช้าง บางหมู่ก็นับถือเสือ บางหมู่ก็นับถือดาว นับถือพระอาทิตย์ แล้วแต่ เพราะฉะนั้นลักษณะ พหุเทวนิยม ก็คล้อยไปกับลักษณะสังคมในยุคโบราณของมนุษย์เมื่อแยกเป็นหมู่เป็นคณะ ต่อมาเมื่อโลกวิวัฒนาการเจริญขึ้น เกิดมีประเทศเป็นหลักเป็นฐาน เป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นมา และลักษณะของความแตกเป็นหมู่เป็นคณะก็หมดไปกลายเป็นชนกลุ่มใหญ่ ๆ ตั้งขึ้นเป็นประเทศ ก็มีพระเจ้าแผ่นดินเกิดขึ้น เป็นผู้คุ้มครองประเทศเป็นพ่อเมือง ไม่ใช่พ่อหมู่ ศาสนาก็เปลี่ยนไปตามกาลนิยม คือเมื่อมนุษย์ไม่นับถือเทวดาพระเจ้ามาก ๆ องค์ ก็มาตั้งปัญหาถามว่าพระเจ้าเหล่านี้มีมาก ๆ เวลามีภัยมาปรากฏกับเราแล้ว เราจะอ้อนวอนองค์ไหนจะได้มีฤทธิ์เดช จะได้มาคุ้มครองเรา หนักเข้าก็ไม่รู้จะอ้อนวอนองค์ไหนดี เพราะต่างองค์ต่างก็ศักดิ์สิทธิ์ขลังด้วยกันทั้งนั้น ความรู้สึกของมนุษย์ก็นึกว่าในหมู่พระเจ้าคงจะเหมือนคน คือจะต้องมีประธานของพระเจ้ามาสักองค์หนึ่ง เป็นเทวาดิเทพ บังคับบัญชาบรรดา เทวดาบริวาร เหล่านี้เหมือนอย่างมนุษย์เรามี พระเจ้าแผ่นดินเพราะฉะนั้นก็เลยสมมติให้มี เทวาดิเทพองค์หนึ่งเป็นประธานพระเจ้า เกิดศาสนาประเภท เอกะเทวนิยม ขึ้น เมื่อเกิดประธานพระเจ้าแล้ว การที่จะไปเอาอกเอาใจพวกตีนโรงตีนศาลก็หมดไป ไม่จำเป็น มาอ้อนวอนพวกตีนโรงตีนศาลหรอกหนัก ๆ เข้าก็ตัดพระเจ้าปลีกย่อย ๆ พระเจ้าเบ็ดเตล็ด ๆ หายเข้าโรงไปทีละองค์สององค์หมดไป เหลือแต่พระบิดาของโลกองค์หนึ่ง ตามความเข้าใจของคนโบราณในยุคนั้น ท่านผู้นั้นคือพระเจ้าผู้สร้างโลก ผู้รังสฤษดิ์ความเป็นไปต่างๆ ในสากลจักรวาล เป็นศาสนาเอกเทวนิยม ค่อยๆพัฒนามาจากศาสนา พหุเทวนิยม นี่เป็นลักษณะ พัฒนาการของศาสนา เป็น เอกะเทวนิยมเสียแล้ว เพราะฉะนั้นลักษณะนี้เราจะเห็นว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างพระเจ้า ไม่ใช่พระเจ้าสร้างมนุษย์แล้ว



มนุษย์ที่สร้างพระเจ้านั้นเป็นมนุษย์สมัยยุคอนารยะที่ยังไม่เข้าใจปรากฏการณ์ที่แท้จริงของธรรมชาติ สร้างพระเจ้าจากความกลัวของตัวเองขึ้นมาแล้วตัวเองก็อ้อนวอนบูชาในสิ่งที่ตัวสร้างขึ้น นี่เป็นสมัยวิวัฒนาการศาสนาจาก พหุเทวนิยมเป็นเอกเทวนิยม ต่อมาเมื่อปัญญาของมนุษย์เฉลียวฉลาดขึ้น รู้ข้อเท็จจริงในปรากฏการณ์ธรรมชาติมากขึ้น มนุษย์ก็เลิกที่จะบูชาพระเจ้าภายนอก หันมาขบคิดปัญหาชีวิตภายในตัวเราเป็นใคร มาจากไหน เกิดมาทำไม ตายแล้วจะไปไหน อันนี้ความคิดเห็นของมนุษย์ในยุคนี้ทำให้เกิด ปรัชญาเมธีต่างๆ ทำให้เกิดการคิดที่จะสร้างระบบ ยกระดับชีวิตจิตใจให้พ้นจากห้วงทุกข์ห้วงกิเลส ลักษณะนี้ก็เกิดขึ้นในบรรดาหมู่เจ้าลัทธิในศาสนาพราหมณ์เกิดปรัชญาอุปนิษัท ได้สร้างเรื่องอาตมันหรือวิญญาณสากลขึ้น เพราะฉะนั้นลักษณะนี้วิวัฒนาการจากวัตถุมาเป็นจิตใจ พระเจ้าก็เป็นวัตถุของภายนอก เป็นตัวเป็นตนเหมือนอย่างเรา มีโลภ มีโกรธ มีหลง เหมือนอย่างมนุษย์ คือมนุษย์สร้างพระเจ้าจากจินตนาการของตัวเอง มนุษย์อยากจะให้คนเอาใจ มนุษย์ก็นึกว่าพระเจ้าต้องการคนเอาใจบ้างไปประจบประแจงพระเจ้า มนุษย์รู้ตัวเองว่าเวลาใครทำขัดใจตัว ตัวโกรธ ก็นึกว่าพระเจ้าต้องโกรธ ถ้าไปขัดใจพระองค์ ต้องคอยเอาใจพระเจ้า นี่เพราะฉะนั้นพระเจ้าก็เป็นผลจากมนุษย์เสกสรรค์ขึ้น ต่อมาเมื่อมนุษย์มีปัญญาเฉลียวฉลาด เลิกบูชาสิ่งภายนอก เห็นว่าแท้จริงเราจะไปบูชาอ้อนวอนสักกี่มากน้อย ความทุกข์ก็ไม่หมด ความทุกข์ในชีวิตก็ไม่หมด อย่าเลยมาค้นหาความจริงภายในดีกว่า ว่าตัวเรานี่เป็นใคร มาแต่ไหน การที่ต้องการจะขบปัญหาว่าตัวเราเป็นใคร มาแต่ไหนนี่จึงได้เกิดปรัชญาชนิดที่ว่า อาตมัน หรือ ปรัชญาประเภท นิยม อัตตะ ขึ้นมา เกิดขบไปขบมาก็เห็นว่าตัวเราที่จริงไม่ใช่ตัว ๆ นี้ ตัว ๆ นี้เป็นเพียงแต่เรือนร่าง ตัวเราที่จริงเป็นเจ้าของเรือนร่างอันนี้เป็นผู้อาศัยร่าง บังคับบัญชาเรือนร่างอันนี้ ตัวเราอันนี้จะต้อง ไม่เกิดไม่ดับ ไม่แตกไม่สูญ เป็นผู้ท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ เพราะฉะนั้นเมื่อ ศาสนาวิวัฒนาการมาถึงยุคที่ ๓ คือ ยุคที่ค้นหา ความจริงภายใน จึงได้เกิดลัทธิปรัชญาประเภท สัสสตทิฏฐิ ที่ถือ อาตมัน หรือ วิญญาณสากลเป็นบรรทัดฐานแล้ว วิญญาณสากล หรือ อาตมันนี้ก็เรียกว่า เป็นพรหมบ้าง เป็นปรมาตมันบ้าง หรือเรียกอะไรก็แล้วแต่เถิด จิตสากลบ้าง อะไรต่างๆ อย่างแม้ในทางตะวันตกก็เหมือนตะวันออก ตะวันตกอย่างปรัชญาของ สปิโนซ่า อย่างนี้สปิโนซ่า ก็ถือว่ามี ยูนิเวอร์แซลไมนด์ คือ จิตที่เป็นจิตสากล เป็นที่รวมของจิตต่าง ๆ ของโลก ความเป็นไปของโลก รังสฤษดิ์ออกมาจากยูนิเวอร์แซลไมนด์ อันนี้คือจิตสากล อันนี้สะท้อนภาพแบ่งแยกออกมา อันนี้เราจะเห็นว่าค่อย ๆ เจริญขึ้นมา ระดับนี้มนุษย์เลิกเชื่อ อภินิหารพระเจ้าภายนอกแล้วนึกว่าตัวเรานี่คือพระเจ้า คือ พรหม อหัมพรัมมัสมิ ตัสวัมอสิ นี่เป็นหัวใจในปรัชญาฮินดูเขา ปรัชญาศาสนาพราหมณ์ที่เป็นขั้น อัลทิเมท (Ultimate) คือชั้นสูงสุด ชั้นโลกุตระของเขาเขามีคำขวัญประจำปรัชญาใน อุปนิษัท บอกว่า อหัมพรัมมัสมิ ตัวเรานี่เป็นพรหม ตัสวัมอสิ แม้สูก็เช่นเดียวกัน พูดกันอย่างง่ายๆ บอกว่าไม่ต้องไปบูชาพระเจ้าภายนอกหรอก พระเจ้าสร้างโลกภายนอกเก๊ทั้งนั้นแหละ แต่ของข้านี่เป็น พระเจ้า คือ อัตตานี่แหละเป็นตัวพระเจ้า แม้แต่ตัวท่านก็มีพระเจ้าในตัวท่านเอง คือ อัตตาที่ที่แท้ของท่านก็เป็นพระเจ้า ศาสนาวิวัฒนาการมาถึงขั้นนี้ก็ถือเอาตัวตนของตัวเองเป็นพระเจ้า อัตตา ที่แท้จริงเป็นพระเจ้า โซล (Soul)

อาตมัน เป็นพระเจ้า เป็นพรหม นี่เป็นจุดสูงสุดในศาสนาประเภทที่วิวัฒนาการมาพอปัญญาของมนุษย์ฉลาดขึ้น อีกยุคหนึ่งคือมาในสมัยที่พุทธศาสนาอุบัติขึ้นแล้ว พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่ถือ อเทวนิยม ไม่ให้ความสำคัญแก่ พระเจ้าหรือ ก๊อด (God) เลย นี่เป็นลักษณะพิเศษในพุทธศาสนาพุทธศาสนาได้เจริญขึ้นในท่ามกลางบรรดาเจ้าหมู่เจ้าคณะที่กำลังคิดว่าตัวตนเป็น พระเจ้า และในอินเดียเราก็ทราบแล้วว่า ศาสนาพราหมณ์ เป็นศาสนาที่จะเรียกแล้วก็เป็นศาสนา จับฉ่าย คือถ้าจะเปรียบเทียบเป็นห้างสรรพสินค้าก็มีสินค้าหลายประเภทตั้งแต่ บุ้งกี๋ ไม้กวาด ที่นอน หมอน มุ้ง กระทั่งโทรทัศน์ จำหน่าย สำหรับให้คนที่ต้องการสินค้าภายในหยิบเอาไป ในศาสนาพราหมณ์นะครับ พวกที่มีปัญญาสูงหน่อยก็นับถือพระเจ้าในตัวของตัวเอง ถืออัตตาของตัวเป็นพระเจ้า พวกที่โง่ลงมาก็นับถือพระเจ้าภายนอกเป็นตัวเป็นตน มี ๔ มือ ๘ มืออะไรต่างๆ เป็นนารายณ์ ศิวะไป พวกที่ต่ำยิ่งกว่านั้น ก็นับถือพระเจ้าประเภทสัตว์เดรัจฉานไป ไหว้วัว ไหว้ค่าง ไหว้หนุมาน เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ไหว้ลิงไหว้ค่างไป นี่ต่ำไปกว่านั้น ที่ต่ำลงไปยิ่งกว่านั้นก็คือ บูชาศิวลึงค์บ้าง เครื่องเพศของมนุษย์ นี่ต่ำลงยิ่งกว่าบูชา เดรัจฉานอีก ค่อย ๆ ต่ำลงมา ศาสนาพราหมณ์มีหมด ผมถึงบอกเปรียบเหมือนกับห้างสรรพสินค้าหรือสโตร์ มีสินค้าสารพัด

พุทธศาสนาเกิดขึ้นในท่ามกลางศาสนาที่มีสปิริตทั้งสูงทั้งต่ำอย่างนั้น เพราะฉะนั้นการที่ พุทธศาสนา อุบัติขึ้นจึงเท่ากับว่าได้เปรียบยิ่งกว่าทุกศาสนาในโลก ได้เปรียบมาก ได้เปรียบกว่าทุกศาสนา พระพุทธเจ้าเราได้เกิดในหมู่คนฉลาด การที่พระองค์ประดิษฐานพุทธศาสนานี้ ถ้าไม่ดีจริงละก็ตั้งไม่ได้แน่ คนอื่นเขาเจ๊งไปหมด นี่ถ้าไม่ดีนะ ไม่เหมือนกับศาสนาบางท่าน ไปเกิดในทะเลทรายบ้าง ไปเกิดในบ้านเล็กเมืองน้อยในที่ที่อารยธรรมไม่เจริญ จะพูดอะไรคนก็เชื่อง่าย แต่การที่พระพุทธเจ้าของเราเกิดในอินเดียในครั้งกระนั้น ไม่ใช่พูดอะไรคนจะเชื่อเอาง่าย ๆ ถ้าไม่มีเหตุผล ไม่มีหลักข้อพิสูจน์ดีจริงที่ทนต่อการพิสูจน์แล้วอยู่ไม่ได้ พระพุทธเจ้าตั้งศาสนาขึ้นจึงไม่ใช่มีสมุฏฐานมาจากความกลัว ไม่ใช่ เป็นศาสนาเดียวที่ไม่ได้ตั้งขึ้นจากความกลัวหรือความอ่อนแอในทางจิตใจของมนุษย์ ถ้าอย่างนั้นพระพุทธศาสนาเกิดจากอะไร… ? เกิดจากเจตจำนงที่ปรารถนาแสวงหาความจริง เกิดจากเจตจำนงที่ต้องการแสวงหาความพ้นทุกข์ ไม่ใช่เกิดจากความกลัว พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้กลัวทุกข์ แต่สอนให้กำหนดรู้ทุกข์ ที่เราเข้าใจผิดว่าพุทธศาสนาสอนให้คนกลัวทุกข์ละก็เราต้องฆ่าตัวตายกันแล้ว ทุกข์ กลัวไม่ได้ ต้องกำหนดรู้ เพราะฉะนั้น ทุกข์อริยสัจ จึงอยู่ในข้อที่เรียกว่า ปริญญาตัพพะกิจ ในกิจในอริยสัจ ๔ เรายกได้ทีเดียว ใครมากล่าวหาตั้งข้อปรับวาทะประณามว่าพุทธศาสนา ว่าพุทธศาสนานี่ก็เหมือนศาสนาอื่น ๆ เกิดจากความกลัว ความอ่อนแอของคนเรา ไม่จริงหรอก พระองค์ตรัสบอกว่า ปริเญยยกิจ ต้องเข้าไปกำหนดรู้ ไม่ได้สอนให้กลัว ไม่ได้สอนให้หนี ไม่ได้สอนให้กลัวทุกข์ สอนให้หนีทุกข์ เปล่า สอนให้กำหนดรู้ทุกข์ สิ่งที่ทรงสอนให้หนีคือ ตัณหา ต่างหากเล่า อันเป็น สมุทัยอริยสัจ ต้อง ปหานสัพพกิจ ต้องเข้าไปตัด เพราะฉะนั้นคนที่นับถือพุทธศาสนาแล้วเกิดจิตใจอ่อน เป็นด้วยความเข้าใจผิดของคนนั้นเอง ที่เข้าไม่ถึงแก่นในพุทธศาสนา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาเดียวในโลก ที่ไม่ได้เกิดจากความกลัว แต่เกิดจากความต้องการแสวงหาความจริงในชีวิตเกิดจากความต้องการจะแก้ปมเรื่องทุกข์ของมนุษย์ให้แตกหักออกไป หรืออีกอย่างหนึ่งว่าเกิดจากน้ำใจอันกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวในการที่ต้องการต่อสู้กับความทุกข์ ไม่ใช่หนีทุกข์ อันนี้สำคัญนะครับท่าน ต้องย้ำให้ดี เพราะมีคนโจมตีพุทธศาสนาว่าเป็น เพสซิมิสต์ มองโลกในแง่ร้าย มัวแต่สอนกันเรื่องทุกข์ ไม่ต้องทำอะไรกันล่ะ เห็นทุกสิ่งเป็นทุกข์หมด อย่างนี้ใจคอห่อเหี่ยวหมด เราต้องแก้เขาบอกว่าท่านเข้าใจผิดแล้ว

ธรรมะพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้หนีทุกข์นะ สอนให้สู้กับทุกข์ ถ้าสอนให้หนีทุกข์ละก็ พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ไม่ต้องมาสอนคนแล้ว ทิ้งบ้านทิ้งช่องอยู่ในป่า พระอรหันต์ตรัสรู้แล้วก็เข้าป่าเข้ารกเข้าพง รีบอนุปาสิเสสะนิพพาน ไม่ต้องมาทรมานทรกรรม ชีวิตทำประโยชน์ให้แก่โลก พุทธศาสนาสอนให้สู้หน้ากับทุกข์ คือสู้หน้ากับความจริง ไม่ใช่หนีความจริง ทุกข์นี่เป็นความจริง เป็นอริยสัจ ให้สู้หน้ากับความจริง ทุกข์นี่เป็นของจริง เป็นอริยสัจให้สู้หน้ากับความจริง ให้รับรู้ในความจริงอันนั้น สิ่งที่เราจะถอนจะละ ตัณหา ต่างหาก ไม่ใช่ตัวทุกข์ เราต้องรู้จักอธิบายครับ แก้คนที่ยังหลงผิด เข้าใจพุทธศาสนาผิด ๆ เพราะฉะนั้นเมื่อเรารู้ว่าพุทธศาสนาไม่ใช่เกิดจากสมุฏฐานของความกลัว ไม่ได้เกิดจากสมุฏฐานของความอ่อนแอเช่นนี้ โลกทัศน์ ในพุทธศาสนาจึงแตกต่างกัน โลกทัศน์ ในศาสนาอื่น ๆ ทั้งหมด

ศาสนาที่เป็นฝ่ายอเทวนิยมในโลกนี้มีเพียง ๒ ศาสนา คือ พุทธกับศาสนาเชน ซึ่งตั้งโดย มหาวีระ เจ้าลัทธิที่มีชีวิตร่วมพุทธสมัยเป็นเชื้อสายกษัตริย์เมืองเวสาลี มหาวีระ หรืออีกนัยหนึ่งคือ นิครนถ์นาฏบุตร ครูทั้ง ๖ ครู คนหนึ่งในครู ๖ คน นิครนถ์นาฏบุตรนี่ ศาสนาเชน ก็เป็นศาสนาที่อยู่ในประเภท อเทวนิยมไม่มีพระเจ้า ปฏิเสธพระเจ้า ปฏิเสธการสร้างโลกจากพระเจ้า ถือว่าโลกเกิดจากกรรมเป็นผู้สร้าง เหมือนพุทธศาสนา แต่พุทธกับเชนแม้จะตรงกันในข้อนี้ แต่ไปเลี่ยงกันในวิธีปฏิบัติคือ เชน เป็นฝ่ายถือ อัตตกิละมถานุโยค ให้ทรมานตัวให้แสนเผ็ดอย่างสาหัส เมื่อบำเพ็ญตบะถึงขั้นสุดท้าย ใครอดข้าวจนตายตลอดชีวิต ถือว่าหลุดพ้น เข้า นิพพาน อดข้าวจนตาย นี่อัตตกิละมถานุโยค อย่างสาหัส พระพุทธเจ้าท่านเลือกเดินทางสายกลาง นี่ต่างกับเชน ตรงนี้ ในทางปฏิบัตินะครับในทางทฤษฏีเชนรับรองมี อาตมัน หรือ อัตตา แต่พุทธปฏิเสธอัตตา นี่เพราะฉะนั้น พุทธศาสนากับศาสนาเชน ตรงกันในข้อที่ว่าเป็น อเทวนิยม เหมือนกัน ปฏิเสธพระเจ้าผู้สร้างโลกเหมือนกัน ถือว่ากรรมเป็นผู้ปรุงโลก สร้างโลกเหมือนกัน แตกต่างกันคือ

๑. เชนถือว่ามีอัตตา อัตตาเที่ยง พุทธถือ อนัตตา เช่นบอกว่าทำอัตตกิละมถานุโยคดี ทำแล้วหลุดพ้นทุกข์ พุทธบอกว่าไม่ดี ต้องเดิน มัชฌิมาปฏิปทา ต่างกันตรงนี้
๒. ศาสนานี้ ศาสนาเชนเวลานี้มีคนนับถือราว ๆ ไม่เกิน ๑๐ ล้านคนในอินเดีย และเป็นศาสนาที่ไม่เคยแพร่หลายออกนอกประเทศอินเดียเลย เพราะเป็นศาสนาที่รุนแรงเกินไปในทางปฏิบัติ จึงไม่สามารถที่จะแพร่หลายไปในต่างประเทศได้ หาคนนับถือได้ยาก เป็นศาสนาพวกชีเปลือย พวกนิครนถ์

คราวนี้โลกทัศน์ในพุทธศาสนา เกี่ยวกับเรื่องพระเจ้า เรื่องวิวัฒนาการหรือสมุฏฐานของชีวิตว่ามีมาจากอะไร เราก็แตกต่างกับโลกทัศน์ในศาสนาอื่น คือ โลกทัศน์ในศาสนาอื่นมักจะตั้งปัญหาถามบอกว่าตัวเรามาจากไหน วิญญาณของเรามาแต่ไหน การตอบปัญหาเหล่านี้ก็พุ่งไปในทางที่ว่าโลกมาจากพระเจ้าผู้สร้าง พอมนุษย์มาอัดอั้นตันอุราก็ต้องโยนกลองให้พระเจ้าตะพึดตะพือ เป็นผู้รับผิดชอบ เป็นดีที่สุด โลกมาจากพระเจ้าผู้สร้างตัวเราหรือพระเจ้าเป็นผู้สร้างวิญญาณเรามาอย่างไร นี่เป็นคำตอบอย่างกำปั้นทุบดินของพวกที่นับถือ พหุเทวนิยม หรือ เอกะเทวนิยม สำหรับพุทธศาสนานั้นไม่ได้ตั้งปัญหาถามอย่างนี้ พุทธศาสนาขึ้นต้นตั้งปัญหาว่า ทุกข์นี่มาแต่ไหน จะดับทุกข์ด้วยวิธีประการใด ต่างกับศาสนาอื่นแล้ว ศาสนาอื่นเขาตั้งปัญหาถาม บอกว่าโลกนี้มาแต่ไหน วิญญาณนี่สืบมาจากใคร ใครเป็นผู้สร้างวิญญาณ ปัญหาเพ่งออกนอกตัว ออกไปข้างนอก แต่พุทธเราเพ่งเข้าข้างใน บอกว่าทุกข์นี้มาจากไหน ตั้งปัญหาถาม บอกว่าทุกข์นี่มาจากไหน จะดับทุกข์ด้วยวิธีใด นี่มีประเด็นอันเป็นสมุฏฐานบ่อเกิดศาสนาแตกต่างกันอย่างนี้ คำตอบหรือคำเฉลยในปัญหา ๒ ประการนี้จึงแตกต่างไปอย่างซ้ายข้างหนึ่ง ขวาข้างหนึ่งทีเดียว ศาสนาประเภทที่มีเทวนิยมก็ต้องพุ่งไปว่าพระเจ้าสร้างโลก พระเจ้าเป็นผู้รังสฤษดิ์โลก เป็นผู้สร้างดวงวิญญาณ แต่พุทธเราเพ่งไปทางปฏิจสมุปบาท เมื่ออวิชชาดับ ทุกข์ก็ดับ เพราะฉะนั้นพระองค์จึงสรุปสาระสำคัญในพุทธศาสนาบอกว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทั้งในอดีตและปัจจุบัน สิ่งเดียวที่ตถาคตสอนกับพวกเธอคือ ทุกข์และความดับทุกข์เท่านั้น “ นี่เป็นคำสรุปสาระสำคัญในพุทธศาสนา ทรงแสดงเรื่องทุกข์กับความดับทุกข์ คำนี้เป็นคำย่อ ๆ แต่เริ่ม ปฏิจสมุปบาท รวมอริยสัจ ๔ อยู่ในนี้หมด หรือพูดอย่างพระอัสชิก็ เยธัมมา เหตุปัพภวา นี่แหละ รวมอยู่ในคำว่าทุกข์กับความดับทุกข์ อันนี้เป็นหัวใจในพุทธศาสนา แล้วแต่ใครจะไปพลิกแพลงพูดในโวหารต่าง ๆ กัน แต่สรุปแล้วก็อยู่ในคำสองคำนี้ ทุกข์กับความดับทุกข์ นี่เป็นสาระในพุทธศาสนาของเรา ถ้าหากว่ามีคนเขาตั้งปรับวาทะถามบอกว่า ในพุทธศาสนาสอนบอกว่ามีพระเจ้าผู้สร้างไหม เราบอกไม่มี เขาตั้งปัญหาถามว่าถ้าโลกไม่มีพระเจ้าผู้สร้างแล้ว บ้านที่ท่านอยู่เกิดขึ้นเองได้ไหม ต้องมีผู้สร้างไหมบ้านนี่ เราบอกว่ามี มีนายช่างสร้าง เขาก็ย้อนบอกว่าโลกนี้ก็เหมือนกัน ต้องมีผู้สร้างสิ ไม่มีผู้สร้างจะเกิดเป็นโลกได้อย่างไร เขาตั้งปัญหาถามอย่างนี้ แล้วท่านจะตอบเขาอย่างไร พวกที่ถือ เทวนิยม เขาตั้งปัญหาอย่างนี้ วิธีการตอบ ของเราชาวพุทธ เราก็มีวิธีตอบ เราถามบอกว่า แหม ขอบคุณมากที่ท่านนิยมเหตุผลนะ โลกเป็นผลมาจากพระเจ้าเป็นเหตุ แหม เหตุผลดีเหลือเกิน พุทธศาสนาก็เป็นศาสนานิยมเหตุผล โลกเป็นผล พระเจ้าเป็นเหตุในประการเดียวกัน อยากจะย้อนเอาเหตุผลที่ท่านใช้กับข้าพเจ้านี่ ย้อนถามท่านหน่อยเถิดว่าแล้วพระเจ้าเล่า ใครเป็นผู้สร้าง เขาบอกว่า เกิดขึ้นเองไม่ต้องมีใครสร้าง แล้วกัน นี่ท่านกำลังค้านตัวเองนะ เมื่อกี้นี้หยก ๆ ท่านบอกว่าต้องมีเหตุต้องมีผล ผลมาจากเหตุ แต่ในขณะนี้ท่านอ้างเป็นตุเป็นตะบอกว่าโลกนี้เป็นผล จะต้องมาจากเหตุคือผู้สร้าง แล้วเวลานี้ท่านกำลังค้านตัวท่านเอง แล้วบอกไม่ต้องพระเจ้าเกิดขึ้นเอง นี่เป็นการค้านเหตุผลในตัวท่านเองแล้วถ้าหากว่าพระเจ้าท่านเกิดขี้นเองได้ ทำไมท่านไม่ยอมให้พวกข้าพเจ้าหรือว่าโลกนี้เกิดโดยธรรมดาบ้างไม่ได้หรือ เขาบอกไม่ได้ ต้องมีช่างไม้ ต้องมีช่างปูน เราถามบอกว่าช่างไม้ช่างปูนก่อนจะมาสร้างบ้านนี่ ใครจ้างเขามา ใครเรียกเขามา ช่างไม้ช่างปูนก็เป็นผลนะ ต้องมีผู้จ้าง เงินไม่ออกจากกระเป๋า เขาก็ไม่มาสร้างให้ฟรี ๆ นะ จะบอกให้



การที่จะมาสร้างบ้านอะไร เรือนโรงก็ต้องมีสัมภาระวัตถุในการก่อสร้างเช่น อิฐ เหล็ก ดิน ทราย มันต้องมีซิ แล้วจะเอาอุปกรณ์อะไรมาสร้าง พระเจ้าของท่านเอาอุปกรณ์อะไรมาสร้างโลก มีอุปกรณ์สร้างบ้างไหม นายช่างจะสร้างบ้านก็ต้องมีอุปกรณ์สร้าง เครื่องไม้เครื่องมือในการสร้าง แล้วพระเจ้าจะสร้างโลกนี่ก็ต้องมีอุปกรณ์เหมือนกัน อุปกรณ์อันนี้มาจากไหน บอกบันดาลให้มีเอง อ้าว แล้วกัน นี่กำลังพูดถึงเหตุผล ท่านเองก็กล่าวเรื่องเหตุเรื่องผลเป็นตุเป็นตะ แล้วเวลานี้ท่านกำลังปฏิเสธเหตุผลที่ท่านกล่าวอ้างมาเสียแล้ว บอกว่าเกิดเองได้อีกแล้ว มีหรือเกิดขึ้นเอง ถ้าเกิดเองได้ ก็มีโลกเกิดเองบ้างไม่ได้หรือ ท่านจะยอมไหม ให้โลกเกิดเองถ้าไม่ได้ ข้าพเจ้าก็ไม่ยอมให้พระเจ้าเกิดเองได้เหมือนกัน ว่าอย่างนั้น ถ้าท่านไม่ยอมให้โลกเกิดเองได้ เราก็ไม่ยอมให้พระเจ้าเขาเกิดเองได้ ไม่ได้ซิ เสมอกันซิ เวลาจะมาเล่นงานพุทธศาสนา รู้จักเอาเหตุผลมายกมาอ้าง แล้วตัวเองไม่รู้จักเอาเหตุผลในข้อเดียวกันมาถามตัวเองบ้าง พอถูกฝ่ายพุทธเล่นงานเข้าบ้าง บอกว่าเกิดเอง แล้วพูดบอกว่าโลกเกิดเอง กลับตอบไม่ยอม นี่เราบอกว่าให้วิญญูชนพิจารณาดูเถิดว่าใครจะเป็นคนนิยมเหตุผลกันแน่ ให้พิจารณาดู ติ๊งคราวนี้ ต่างว่าโลกมีพระเจ้าจริง เอาละ เรายอมรับละ โลกมีพระเจ้าจริง สมมตินะ โลกมีพระเจ้าจริง อยากจะทราบว่า พระเจ้าองค์ไหนเป็นผู้สร้าง พระศาสนาต่างๆ ในโลกมีมากมายที่มีพระเจ้า ของจีนก็มีเง็กเซียนฮ่องเต้ ฮ่วนกูสี เป็นผู้สร้างโลก ของคริสต์ก็มียะโฮวาเป็นผู้ก่อสร้างโลก ของอียิปต์ก็มีเทพเจ้าราบ้าง สุริยเทพเป็นผู้สร้างโลก ศาสนาชินโตของญี่ปุ่น สุริยเทพ ไม่ใช่ผู้ชาย เป็นผู้หญิงชื่อ อมะเตระสุ นางเทพีสุริยะ เป็นผู้สร้างโลกศาสนาพราหมณ์ก็มีอิศวร นารายณ์ พรหม เป็นผู้สร้าง และมิหนำซ้ำ พระเจ้า ๓ องค์นี้ยังทะเลาะกัน แย่งตำแหน่งผู้สร้างเสียด้วยซ้ำ ศาสนาพราหมณ์เองพระเจ้า ๓ องค์ยังขัดคอกันอยู่เลย ใครเป็นผู้สร้างแน่ ยังไม่รู้เลยพราหมณ์ที่นับถือพระนารายณ์เป็นใหญ่ ไวษณพ นิกาย ก็บอกว่านารายณ์นี่แหละสร้างพระพรหมกับสร้างอิศวร พระพรหมเกิดจากนาภีพระนารายณ์ ในเวลาบรรทมกระสินธุ์ สมุทรอยู่บนพญานาคราช อนันตนาคราชในกระแสสินธสาคร เข้าฌาน ไปเกิด ดอกบัวโผล่มาจากนาภี คือ พระนารายณ์แล้วดอกบัวบานมาเป็นพระพรหม เกิดในดอกบัวพระพรหมนี่ต่างหากเล่า เป็นลูกพระนารายณ์ พราหมณ์พวก ไวษณพนิกายถืออย่างนั้น



๓. อนัตตตา

ความเข้าใจใน อนัตตตา มีคุณค่าสำคัญทางจริยธรรม คือ

    ๑) ในขั้นต้น ทางด้านตัณหา ช่วยลดทอนความเห็นแก่ตน มีให้ทำการต่างๆ โดยยึดถือแต่ประโยชน์ตน
เป็นประมาณ ทำให้มองเห็นประโยชน์ในวงกว้าง ที่ไม่มีตัวตนมาเป็นเครื่องกีดกั้นจำกัด อนึ่ง ภาวะที่สิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตนของมันเอง เกิดจากส่วนประกอบ และเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้น สอนว่า สิ่งทั้งหลายจะปรากฏรูปเป็นอย่างไร ย่อมแล้วแต่การปรุงแต่ง ด้วยการทำเหตุปัจจัย และชักโยงเชื่อมความสัมพันธ์ให้เป็นไปตามความมุ่งหมายและขอบเขตวิสัยความสามารถ โดยนัยนี้ จึงเป็นการข้อที่ว่าบุคคลควรปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายตรงตัวเหตุปัจจัย ด้วยท่าทีที่เป็นอิสระ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะให้ได้ทั้งผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย และไม่เกิดทุกข์เพราะตัณหาอุปาทาน

    ๒) ในขั้นกลาง ทางด้านทิฏฐิ ทำให้จิตใจกว้างขวางขึ้น สามารถเข้าไปเกี่ยวข้อง พิจารณา และจัดการกับปัญหาและเรื่องราวต่างๆ โดยไม่เอาตัวตน ความอยากของตน ตลอดจนความเห็น ความยึดมั่นถือมั่นของตนเข้าไปขัด แต่พิจารณาจัดการไปตามตัวธรรม ตามตัวเหตุตัวผล ตามที่มันเป็นของมันหรือควรจะเป็นแท้ๆ คือสามารถตั้งอุเบกขา วางจิตเป็นกลาง เข้าไปเพ่งตามที่เป็นจริง งดเว้นอัตตาธิปไตย ปฏิบัติตามหลักธรรมาธิปไตย

    ๓) ในขั้นสูง การรู้หลักอนัตตตา ก็คือ การรู้สิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นอย่างแท้จริง คือ รู้หลักความจริงของธรรมชาติถึงที่สุด ความรู้สมบูรณ์ถึงขั้นนี้ ทำให้สลัดความยึดมั่นถือมั่นเสียได้ ถึงความหลุดพ้น บรรลุอิสรภาพโดยสมบูรณ์ อันเป็นจุดหมายของพุทธธรรม อย่างไรก็ดี ความรู้แจ่มแจ้งในหลักอนัตตตา ต้องอาศัยความเข้าใจตามแนวปฏิจจสมุปบาท และการปฏิบัติตามแนวมรรค ซึ่งจะกล่าวต่อไป

    ๔) กล่าวโดยทั่วไป หลักอนัตตตา พร้อมทั้งหลักอนิจจตา และหลักทุกขตา เป็นเครื่องยืนยันความถูกต้องแท้จริง ของหลักจริยธรรมอื่นๆ โดยเฉพาะหลักกรรม และหลักการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น เช่น เพราะสิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตน ความเป็นไปในรูปกระแสแห่งเหตุปัจจัย ที่สัมพันธ์สืบต่อเนื่องอาศัยกันจึงเป็นไปได้ กรรมจึงมีได้ และเพราะสิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตน ความหลุดพ้นจึงมีได้ ดังนี้เป็นต้น อย่างไรก็ดี คำอธิบายในเรื่องนี้ จะต้องพิจารณาตามแนวปฏิจจสมุปบาทที่จะกล่าวต่อไป


พุทธพจน์เกี่ยวกับไตรลักษณ์
ก.ความรู้เท่าทันสภาวะไตรลักษณ์

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออะไรมีอยู่ เพราะอาศัยอะไร เพราะยึดถืออะไร จึงเกิดทิฏฐิขึ้นว่า นั่นของเรา, เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาตัวตนของเรา

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อรูป...เมื่อเวทนา...เมื่อสัญญาเมื่อสังขาร...เมื่อวิญญาณมีอยู่ เพราะอาศัย (รูป...เวทนา...สัญญา สังขาร วิญญาณ เพราะยึดมั่น (รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ จึงเกิดทิฏฐิขึ้นว่า นั่นของเรา, เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาตัวตนของเรา

“ภิกษุทั้งหลาย สมณะทั้งหลาย ก็ดี พราหมณ์ทั้งหลาย ก็ดี เหล่าหนึ่งเหล่าใด ก็ตาม ที่มองเห็นอัตตาตัวตน แบบต่างๆ หลากหลายเป็นอเนก ย่อมมองเห็นอุปาทานขันธ์เหล่านั้นทั้งหมด หรือไม่ก็มองเห็นขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง ในบรรดาอุปาทานขันธ์เหล่านั้น (ว่าเป็นอัตตา) กล่าวคือ “ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ที่ได้เรียนสดับ...ย่อมมองเห็นรูปว่าเป็นอัตตาบ้าง ย่อมมองเห็นอัตตามีรูปบ้าง ย่อมมองเห็นรูปในอัตตาบ้าง ย่อมมองเห็นอัตตาในรูปบ้าง ย่อมมองเห็นเวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย...วิญญาณ (ทำนองเดียวกัน) โดยนัยดังกล่าวนั้น การมองเห็นนี้แล ก็กลายเป็นความปักใจยึดถือของเขาว่า “ตัวเรามีตัวเราเป็น

“ภิกษุทั้งหลาย รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ ไม่เที่ยง, สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์, สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา, สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นจึงเห็นด้วยสัมมาปัญญาตามที่มันเป็นว่า นั่นไม่ใช่ของเรา มิใช่เราเป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

“ภิกษุทั้งหลาย รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา แม้สภาวะที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้รูป ฯลฯ วิญญาณเกิดขึ้น ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา รูป ฯลฯ วิญญาณ ซึ่งเกิดจากสภาวะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา จักเป็นของเที่ยง เป็นสุข...เป็นอัตตา ได้จากที่ไหน

“ท่านเอย อริยสาวกผู้ได้เรียนสตับแล้ว ได้พบเห็นอริยชนทั้งหลาย ฉลาดในอริยธรรม ฝึกอบรมดีแล้วในอริยธรรม ได้พบเห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ฉลาดในสัปปุริสธรรม ฝึกอบรมแล้วในสัปปุริสธรรม ย่อมไม่มองเห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอัตตา ไม่มองเห็นอัตตามีรูป มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ, ไม่มองเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในอัตตา ไม่มองเห็นอัตตา ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ อริยสาวกนั้น รู้ชัดตามที่มันเป็นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นสิ่งปรุงแต่ง บั่นรอนกันเอง อริยสาวกนั้น ไม่ยึดติด ไม่ถือค้างไว้ ไม่มั่นหมายปักใจ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นตัวตนของเรา, อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ที่อริยสาวกนั้น ไม่ยึดติด ไม่ถือมั่นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน

"แน่ะท่านคหบดี อย่างไร จึงชื่อว่าป่วยทั้งกาย ป่วยทั้งใจ? ในข้อนี้ ปุถุชนผู้มิได้เรียนสตับ ไม่ได้พบเห็นอริยชนทั้งหลาย ไม่ฉลาดในอริยธรรม ไม่ได้ฝึกอบรมในอริยธรรม...ย่อมมองเห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นตน (อัตตา), มองเห็นตน มีรูป มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ, มองเห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในตน, มองเห็นตน ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ, อยู่ด้วยความรู้สึกรุมเร้าว่ารูปเป็นเรา รูปของเรา, เวทนาเป็นเรา เวทนาของเรา, สัญญาเป็นเรา สัญญาของเรา, สังขาร เป็นเรา สังขารของเรา, วิญญาณเป็นเรา วิญญาณของเรา

“เมื่อเขาอยู่ด้วยความรู้สึกรุมเร้าว่า รูปเป็นเรา รูปของเรา ฯลฯ วิญญาณเป็นเรา วิญญาณของเรา, รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อมแปรปรวนไป กลายเป็นอย่างอื่น เขาย่อมเกิดความโศกเศร้า ความครำครวญ ความทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นผิดหวัง เพราะการที่รูป ฯลฯ วิญญาณ แปรปรวนไป กลายเป็นอย่างอื่น

“แน่ะท่านคหบดี อย่างไร จะชื่อว่า ป่วยแต่กาย ใจไม่ป่วย? ในข้อนี้ อริยสาวกผู้ได้เรียนสตับแล้ว...ย่อมไม่มองเห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นต้น (อัตตา), ไม่มองเห็นตน มีรูป มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ, ไม่มองเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในตน, ไม่มองเห็นตน ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ, ไม่อยู่ด้วยความรู้สึกรุมเร้าว่า รูปเป็นเรา รูปของเรา, เวทนาเป็นเรา เวทนาของเรา, สัญญาเป็นเรา สัญญาของเรา, สังขารเป็นเรา สังขารของเรา, วิญญาณเป็นเรา วิญญาณของเรา"

“เมื่ออริยสาวกนั้น ไม่อยู่ด้วยความรู้สึกเร้ารุมว่า รูปเป็นเรา รูปของเรา ฯลฯ วิญญาณเป็นเรา วิญญาณของเรา, รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้น แปรปรวนไป กลายเป็นอย่างอื่น เธอก็ไม่เกิดความโศกเศร้า ความคร่ำครวญ ความทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นผิดหวัง เพราะการที่รูป ฯลฯ วิญญาณ แปรปรวนไป กลายเป็นอย่างอื่น"

“ภิกษุทั้งหลาย อย่างไรจึงจะมีความไม่กระวนกระวายที่เกิดจากความไม่ถือมั่น? ในข้อนี้อริยสาวกผู้ได้เรียนสดับแล้ว... ย่อมไม่มองเห็นรูปเป็นตน ไม่มองเห็นตนมีรูป, ไม่มองเห็นตนในรูป, ไม่มองเห็นรูปในตน ถึงรูปของเธอนั้น จะแปรปรวนไป กลายเป็นอย่างอื่น เธอก็ไม่มีวิญญาณที่หมุนคล้อยไปตามความแปรปรวนของรูป เพราะการที่รูปแปรปรวนไปกลายเป็นอย่างอื่นนั้นด้วย ความกระวนกระวายและประชาความรู้สึกนึกคิด (ธรรมสมุปบาท) ที่เกิดจากการหมุนคล้อยไปตามความแปรปรวนของรูป ก็ครอบงำจิตของเธอไม่ได้"

“เพราะการที่จิตไม่ถูกครอบงำ เธอย่อมไม่มีความหวั่นหวาด ไม่มีความคับแค้นใจ ไม่มีความห่วงหาอาลัย เพราะไม่ถือมั่น จึงไม่กระวนกระวาย (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เช่นกัน)"

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อรู้แล้วซึ่งความเป็นอนิจจัง ความแปรปรวนไป จางคลายไป ดับไปของรูป มองเห็นอยู่ด้วยสัมมาปัญญา ตามที่มันเป็นว่า รูปในกาลก่อนก็ดี รูปทั้งปวงในบัดนี้ก็ดีล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ดังนั้น ก็ย่อมละความโศกเศร้า ความใคร่ครวญ ความทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นผิดหวังเสียได้ เพราะละความโศกเศร้า ฯลฯ ได้ ก็ไม่กระวนกระวาย เมื่อไม่กระวนกระวาย ก็อยู่เป็นสุข, ภิกษุผู้อยู่เป็นสุข เราเรียกว่า นิพพานเฉพาะกรณีนั้นๆ (ตทังคนิพพุตะ) (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เช่นกัน)"

“ปุถุชนผู้มิได้เรียนสดับนั้น ย่อมมนสิการโดยไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ) อย่างนี้ว่า ในอดีตกาลอันยาวนาน เราได้มีแล้วหรือหนอ...หรือว่าเรามิได้มี...เราได้เป็นอะไรหนอ...เราได้เป็นอย่างไรหนอ....เราเป็นอะไรแล้วจึงได้เป็นอะไรหนอ, ในอนาคตกาลอันยาวนาน เราจักมีหรือจะเป็นอะไรหนอ....หรือว่าเราจักไม่มี...เราจักเป็นอะไรหนอ...เราจักเป็นอย่างไรหนอ....เราจักเป็นอะไรแล้วจึงหรือปรารภกาลปัจจุบันในบัดนี้ มีความสงสัยขึ้นภายในว่า เรามีอยู่หรือ หรือว่าเราไม่มี, เราเป็นอะไรหนอ, เราเป็นอย่างไรหนอ, สัตว์นี้มาจากไหนหนอ, สัตว์นั้นจักไป ณ ที่ใดหนอ? เมื่อปุถุชนนั้น มนสิการโดยไม่แยบคายอย่างนี้ ทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งในทิฏฐิ ๕ อย่าง ย่อมเกิดขึ้น คือ เขาย่อมเกิดทิฏฐิ (ยึดถือ) เอาเป็นจริงเป็นแท้ว่า เรามีอัตตา...เราไม่มีอัตตา...เรากำหนดอัตตาด้วยอัตตา...เรากำหนดรู้สภาวะที่มิใช่อัตตาด้วยอัตตา...เรากำหนดอัตตาด้วย
สภาวะที่มิใช่อัตตา, หรือมิฉะนั้นก็จะมีทิฏฐิดังนี้ว่า อัตตาของเรานี้แหละ ที่เป็นตัวบงการ เป็นผู้เสวย ประสบวิบากแห่งกรรมที่ดีและชั่ว ณ ที่นั้นๆ เป็นสภาวะที่เที่ยงแท้ ยั่งยืน คงอยู่ตลอดไป มีความไม่ผันแปรเป็นธรรมดา รักคงอยู่อย่างนั้นเสมอตลอดไป ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทิฏฐิ รกชัฏแห่งทิฏฐิ กันดารแห่งทิฏฐิ เสี้ยนหนามทิฏฐิ ความดิ้นรนแห่งทิฏฐิ ทิฏฐิเครื่องผูกมัดสัตว์, ปุถุชนผู้มิได้เรียนสลับ ซึ่งถูกทิฏฐิเครื่องผูกมัดรัดตัวไว้ ย่อมไม่พ้นจาก ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมไม่พ้นจากทุกข์"

“ภิกษุทั้งหลาย ส่วนอริยสาวก ผู้ได้เรียนสดับแล้ว ฯลฯ ย่อมรู้ชัดธรรมที่ควรมนสิการ รู้ชัดในธรรมที่ไม่ควรมนสิการ, ย่อมไม่มนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ย่อมมนสิการธรรมที่ควรมนสิการ"

“ธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ซึ่งอริยสาวกไม่มนสิการ เป็นไฉน? กล่าวคือ เมื่ออริยสาวกมนสิการธรรมเหล่าใด กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เจริญ, เหล่านี้คือธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ซึ่งอริยสาวกไม่มนสิการ" 

“ธรรมที่ควรมนสิการ ซึ่งอริยสาวกมนสิการ เป็นไฉน? กล่าวคือ เมื่ออริยสาวกมนสิการธรรมเหล่าใด กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะที่ดี ที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็ถูกละเสียได้, เหล่านี้คือธรรมที่ควรมนสิการ ซึ่งอริยสาวกย่อมมนสิการ"

“เพราะอริยสาวกนั้น ไม่มนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ และมนสิการธรรมที่ควรมนสิการ อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิด ก็จะไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว ก็จะถูกละเสียได้"

“อริยสาวกนั้น ย่อมมนสิการโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) ว่า นี้ทุกข์นี้เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์...ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการโดยแยบคายอย่างนี้ สังโยชน์ ๓ ย่อมถูกละเสียได้ กล่าวคือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส"

ข. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ (ด้านทำจิตเป็นอิสระ และด้านทำกิจโดยไม่ประมาท อนิจจตาแห่งชีวิต และการเห็นคุณค่าของกาลเวลา)

“พระอาทิตยพันธุ์ (พระพุทธเจ้า) ได้ตรัสแสดงไว้ว่า
รูปอุปมาเหมือนฟูมฟองแม่น้ำ
เวทนาอุปมาเหมือนฟองน้ำฝน
สัญญาอุปมาเหมือนพยับแดด
สังขารอุปมาเหมือนต้นกล้วย
วิญญาณอุปมาเหมือนมายากล
ภิกษุพินิจ พิจารณาโดยแยบคาย ซึ่งเบญจขันธ์นั้นด้วยประการใดๆ ก็มีแต่สภาวะที่ว่างเปล่า พระผู้ทรงปัญญาตั้งผืนแผ่นดิน ทรงปรารภร่างกายนี้แล้ว ทรงแสดงการละธรรม ๓ อย่าง (โลภะ โทสะ โมหะ หรือตัณหา มานะ ทิฏฐิ) ไว้ ท่านทั้งหลาย จงดูรูปที่เขาทิ้งแล้ว เมื่อใด อายุ ไออุ่น และวิญญาณ ละกาย เมื่อนั้น ร่างกายก็ถูกทิ้ง นอน ไร้จิตใจ กลายเป็นอาหารของสัตว์อื่น แหละการสืบต่อ (ชีวิต) ก็อย่างนี้ มันเป็นมายากลหลอกคนโง่ให้เพ้อ ได้บอกแล้วว่า เบญจขันธ์นี้เป็นผู้ล่าสังหารอยู่ในตัว จะหาแก่นสารในเบญจขันธ์นี้ย่อมไม่มี"

“ภิกษุระดมเพียรแล้ว จึงพิจารณาขันธ์ทั้งหลายอย่างนี้ โดยมีสัมปชัญญะ มีสติมั่น ทั้งวันทั้งคืน จึงละเครื่องผูกมัดเสียให้หมด จึงสร้างที่พึ่งให้แก่ตน เมื่อปรารถนาอัจจุดบท (นิพพาน) ก็พึงประพฤติเหมือนดังคนที่ศีรษะถูกไฟไหม้"

“ภิกษุทั้งหลาย อายุของมนุษย์ทั้งหลายนี้น้อย, จะต้องไปสู่ภพหน้า จึงวินิจฉัยการด้วยความรู้คิด พึงกระทำการดีงาม (กุศล), พึงครองชีวิตประเสริฐ (พรหมจรรย์), ผู้ที่เกิดมาแล้วที่จะไม่ตายเป็นไม่มี ผู้ใดอยู่ได้นาน ผู้นั้นก็อยู่ได้แค่ร้อยปี จะเกินไปบ้างก็เพียงเล็กน้อย"

“อายุของมนุษย์ทั้งหลายน้อย สัตบุรุษพึงดูหมิ่นอายุที่น้อยนั้น พึงประพฤติเหมือนดังถูกไฟไหม้ศีรษะ, การที่มัจจุราชจะไม่มาหานั้น เป็นอันไม่มี, วันคืนย่อมล่วงไป ชีวิตก็หดสั้นเข้า, อายุของสัตว์ทั้งหลายย่อมหมดสิ้นไป เหมือนดั่งน้ำในการน้ำน้อย"

“ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีใครรู้ ทั้งยาก ทั้งน้อยและระคนด้วยทุกข์ ความเพียรพยายามที่จะช่วยให้สัตว์ที่เกิดมาแล้ว ไม่ต้องตายได้นั้น ไม่มีเลย แม้อยู่ได้ถึงชรา ก็ต้องตาย เพราะสัตว์ทั้งหลายมีธรรมดาอย่างนี้เอง"

พุทธพจน์เกี่ยวกับอนัตตา 👉หน้าต่อไป

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา


วิกิ

ผลการค้นหา