๑.๓ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน 

จิตเป็นสิ่งถูกรู้ได้ยากกว่าเวทนา เพราะปกติคนเราจะถูกความรู้สึกนึกคิดห่อหุ้มไว้ เป็นเปลือกหนาชั้นแรกสุด หากขาดการรองรับจากการรู้ระดับต้นๆ เช่น การมีสติกำหนดรู้กายในกายานุปัสสนาและการกำหนดรู้เวทนาในเวทนานุปัสสนา ก็จะเข้าถึงการรู้สภาพจริงๆ ของจิตในปัจจุบันขณะได้ยากมาก เมื่อพิจารณาข้อปฏิบัติการดูจิตก็คือให้รู้จักจิตทุกแบบ ไม่ยกเว้นแม้แต่จิตที่นิ่ง หรือจิตที่หลุดพ้น

พระพุทธองค์ทรงมีอุบายวิธีให้รู้จักจิตอย่างเหมาะสมในขั้นต้น คือให้ดูที่เปลือกหยาบของจิตก่อน คือให้รู้ตามจริงว่าจิตมีราคะเป็นอย่างไร จิตมีโทสะเป็นอย่างไร จิตมีโมหะเป็นอย่างไร พอเห็นบ่อยๆ ก็ค่อยๆ เข้าใจสภาวะของจิตแบบหยาบได้เองว่ามีลักษณะอย่างไร เมื่อเห็นสภาวจิตแบบหยาบได้ ต่อไปก็ค่อยพัฒนาไปเห็นสภาวจิตแบบละเอียดได้เช่นกัน และสรุปสุดท้ายก็ให้รู้ว่าจิตทุกสภาวะนั้นมีลักษณะเหมือนกันหมด คือ มีความไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องมีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดาเหมือนกัน

หลักการใช้สติพิจารณาจิต 

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ควรพิจารณาจิตดังต่อไปนี้ คือถ้าจิตมีราคะ (โลภ กำหนัด) ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้มีราคะ”
ถ้าจิตปราศจากราคะ ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้ปราศจากราคะ”
ถ้าจิตมีโทสะ (โกรธ) ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้มีโทสะ”
ถ้าจิตปราศจากโทสะ ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้ปราศจากโทสะ”
ถ้าจิตมีโมหะ (หลง) ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้มีโมหะ”
ถ้าจิตปราศจากโมหะ ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้ปราศจากโมหะ”
ถ้าจิตหดหู่ ก็ให้กำหนดรู้ว่า “ จิตดวงนี้หดหู่”
ถ้าจิตฟุู้งซ่าน ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้ฟุู้งซ่าน”
ถ้าจิตบรรลุฌาน ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้บรรลุฌาน”
ถ้าจิตยังไม่บรรลุฌาน ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้ยังไม่บรรลุฌาน”
ถ้าจิตยังมีจิตอื่นสูงกว่า ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้ยังมีจิตอื่นสูงกว่า”
ถ้าจิตไม่มีจิตอื่นสูงกว่า ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้ไม่มีจิตอื่นสูงกว่า”
ถ้าจิตเป็นสมาธิ ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้เป็นสมาธิ”
ถ้าจิตไม่เป็นสมาธิ ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้ไม่เป็นสมาธิ”
ถ้าจิตหลุดพ้นจากกิเลส ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้หลุดพ้นจากกิเลส”
ถ้าจิตยังไม่หลุดพ้นจากกิเลส ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้ยังไม่หลุดพ้นจากกิเลส”

ผู้ปฏิบัติควรนำวิธีการข้างต้นนี้มาพิจารณาโดยมีวิธีการปฏิบัติโดย

สรุป คือ 

๑. ผู้ปฏิบัติควรนำวิธีข้างต้นนี้มาพิจารณา จิตภายในคือจิตของตนให้เห็นเป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นจิต
๒. หรือจะนำจิตภายในมาพิจารณาเปรียบเทียบกับ จิตภายนอกคือ จิตของผู้อื่น ให้เห็นว่าจิตของผู้อื่นก็เป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นจิตเหมือนกับจิตของเรานั่นเอง
๓. หรือจะใช้สติพิจารณาทั้งจิตภายในและจิตภายนอกให้เห็นเป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นจิต สลับกันไปก็ได้
๔. ใช้สติพิจารณาการเกิดและธรรมเป็นเหตุเกิดแห่งจิต หรือใช้สติพิจารณาการดับและธรรมเป็นเหตุดับแห่งจิต หรือใช้สติพิจารณาทั้งการเกิด -ดับและธรรมเป็นเหตุเกิด -ดับแห่งจิต สลับกันไปก็ได้
๕. ต้องมีสติอยู่เสมอว่า สภาวะที่ปรากฏอยู่นี้เป็นแต่เพียงจิตเท่านั้น (ไม่ใช่บุคคลอัตตาตัวตนเราเขา) และควรตระหนักด้วยว่าการที่นำเอาจิตมาพิจารณาตามนัยข้างต้นนั้นมีวัตถุประสงค์เพียงต้องการให้ญาณปัญญาแก่กล้ายิ่งๆ ขึ้น และเพียงเพื่อความสมบูรณ์แห่งการเจริญสติเท่านั้น จึงไม่ควรที่จะหลงผิดยึดติดอยู่ในสังขาร (จิต) ใดๆ ที่กำลังเกิดดับอยู่

 

จบ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน


🔊 พระวัปปเถระ

วัปปเถรคาถา สุภาษิตว่าด้วยการเห็นและไม่เห็นอันธพาล
"บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทัสสนะ ย่อมเห็นคนอันธพาลผู้เห็นอยู่ด้วย ย่อมเห็นคนอันธพาลผู้ไม่เห็นอยู่ด้วย ส่วนคนอันธพาลผู้ไม่สมบูรณ์ด้วยทัสสนะย่อมไม่เห็นคนอันธพาลผู้ไม่เห็นและคนอันธพาลผู้เห็น"

เล่นออดิโอ 🔈

พระวัปปเถระ เป็นบุตรพราหมณ์ในเมืองกบิลพัสดุ์ เมื่อคราวที่มหาบุรุษประสูติใหม่ พราหมณ์ผู้เป็นบิดาของท่านได้รับเชิญในการเลี้ยงโภชนาหารในพระราชพิธีทำนายพระลักษณะ ท่านได้เห็นพระลักษณะถูกต้องตามตำราลักษณพยากรณ์ศาสตร์ของมหาบุรุษ จึงเกิดความเลื่อมใสและเคารพในพระองค์เป็นอันมาก มีความหวังว่าอยากจะเห็นพระองค์ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


    ในคราวที่ตนจะสิ้นชีวิตจึงได้สั่งสอนบุตรของตนไว้ว่า เมื่อพระมหาบุรุษเสด็จออกทรงผนวชเมื่อใด ให้ติดตามเสด็จเมื่อนั้น ครั้นเมื่อพระมหาบุรุษออกทรงผนวชแล้วและกำลังบำเพ็ญทุกรกิริยา พระวัปปะพร้อมด้วยพราหมณ์ ๔ คน มีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า ออกบวชเป็นฤาษีตามเสด็จพระมหาบุรุษ คอยอุปัฏฐากทุกเช้าค่ำ คาดหวังว่าพระองค์ได้บรรลุธรรมแล้วจักได้สั่งสอนให้ตนได้บรรลุธรรมนั้นบ้าง เมื่อเห็นพระองค์ทรงละการบำเพ็ญทุกรกิริยาที่ทรงประพฤติมานานถึง ๖ ปี จึงมีความเห็นร่วมกันว่า พระองค์คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากในกามคุณเสียแล้วและพระองค์คงไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน จึงเกิดความเบื่อหน่ายคลายความเลื่อมใส พากันหลีกหนีไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

     เมื่อพระมหาบุรุษได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์จึงเสด็จไปโปรดแสดงพระธรรมเทศนา ชื่อว่า "ธัมมจักกัปปวัตนสูตร" เป็นปฐมเทศนา เมื่อจบพระธรรมเทศนานั้น ท่านไม่ได้สำเร็จมรรคผลอะไรเลย พอถึงวันรุ่งขึ้น ท่านได้ฟังปกิณณกเทศนา จึงได้ดวงตาเห็นธรรม คือได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบัน จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย

     พระวัปปเถระ บวชด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา เมื่อท่านมีอินทรีย์ แก่กล้าแล้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนาชื่อ อานัตตลักขณสูตร ก็ได้สำเร็จเป็น พระอรหันต์

ท่านได้ช่วยเป็นกำลังสำคัญรูปหนึ่งในการประกาศพระศาสนา เมื่อท่านดำรงอายุสังขารพอสมควร ก็ ดับขันธปรินิพพาน





🔊 พระอัญญาโกณฑัญญะ


เล่นออดิโอ🔈
พระอัญญาโกณฑัญญะ ตอนที่ ๑

พระอัญญาโกณฑัญญะ ตอนที่ ๒

พระอัญญาโกณฑัญญะ ตอนที่ ๓

พระอัญญาโกณฑัญญะ ตอนที่ ๔


พระอัญญาโกณฑัญญะ เอตทัคคะในทางรัตตัญญู

🙏พระอัญญาโกณฑัญญะ เกิดในตระกูลพราหมณ์ในหมู่บ้านโทณวัตถุ อันไม่ห่างไกล จากกรุงกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อ “โกณฑัญญะ” เมื่อเจริญเติบโตขึ้นได้ศึกษาศิลปะวิทยาจบไตรเพท และวิชาการทำนายลักษณะอย่างเชี่ยวชาญ

🔅ร่วมทำนายพระลักษณะ
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะพระบิดา ได้เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน มาเลี้ยงโภชนาหารในพระราชนิเวศน์ เพื่อทำพิธีทำนายพระลักษณะตามราชประเพณี ให้คัดเลือกพราหมณ์ผู้มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษจาก ๑๐๘ คน เหลือ ๘ คน และมีโกณฑัญญะ อยู่ในจำนวน ๘ คน นี้ด้วย ในบรรดาพราหมณ์ทั้ง ๘ คนนั้น โกณฑัญญะมีอายุน้อยที่สุดจึงทำนายเป็นคนสุดท้าย ฝ่ายพราหมณ์ ๗ คนแรก ได้พิจารณาตรวจดูพระลักษณะของสิทธัตถะอย่างละเอียด เห็นถูกต้องตามตำรามหาบุรุษลักษณะพยากรณ์ศาสตร์ ครบทุกประการแล้ว จึงยกนิ้วมือขึ้น ๒ นิ้ว เป็นสัญลักษณ์ในการทำนายเป็น ๒ นัย เหมือนกันทั้งหมดว่า “พระราชกุมารนี้ ถ้าดำรงอยู่ในเพศฆราวาส จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ปราบปราม ได้รับชัยชนะทั่วปฐพีมณฑล จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก แนะนำสั่งสอนเวไนยสัตว์ โดยไม่มีศาสดาอื่นยิ่งไปกว่า” ส่วนโกณฑัญญะพราหมณ์ ได้สั่งสมบารมีมาครบถ้วนตั้งแต่อดีตชาติ และการเกิดในภพนี้ก็จะเป็นภพสุดท้าย จึงมีปัญญามากกว่าพราหมณ์ทั้ง ๗ คนแรก ได้พิจารณาตรวจดูพระลักษณะของพระกุมารโดยละเอียดแล้ว ได้ยกนิ้วขึ้นเพียงนิ้วเดียวเป็นการยืนยันการพยากรณ์ อย่างเด็ดเดี่ยวเป็นนัยเดียวเท่านั้นว่า “พระราชกุมาร ผู้บริบูรณ์ด้วยมหาบุรุษลักษณะอย่างนี้ จะไม่อยู่ครองเพศฆราวาสอย่างแน่นอน จักต้องเสด็จออกบรรพชา และได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างมิต้องสงสัย”

🔅 ออกบวชติดตามสิทธัตถะ
ครั้นกาลเวลาล่วงเลยมาถึง ๒๙ ปี เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกบรรพชาโกณฑัญญะพราหมณ์ทราบข่าวก็ดีใจ เพราะตรงกับคำทำนายของตน จึงรีบไปชวนบุตรของพราหมณ์ทั้ง ๗ คนที่ร่วมทำนายด้วยกันนั้น โดยกล่าวว่า:- “บัดนี้ เจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร โอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ เสด็จออกบรรพชาแล้ว พระองค์จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญเจ้าแน่นอน ถ้าบิดาของพวกท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็คงจะออกบวชด้วยกันกับเรา ถ้าท่านทั้งหลายปรารถนาจะบวชก็จงบวชตามเสด็จพระมหาบุรุษพร้อมกันเถิด” บุตรพราหมณ์เหล่านั้นยอมออกบวชเพียง ๔ คน คือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และ อัสสชิ โกณฑัญญะ จึงพามาณพทั้ง ๔ คนนั้นพร้อมทั้งตนด้วยรวมเป็น ๕ ได้นามบัญญัติว่า “ปัญจวัคคีย์” ออกบวชสืบเสาะติดตามถามหาพระมหาบุรุษไปตามสถานที่ต่าง ๆ จนมาพบพระองค์กำลังบำเพ็ญความเพียรอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ด้วยความมั่นใจว่าพระองค์จะได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณอย่างแน่นอน จึงพากันเข้าไปอยู่เฝ้าทำกิจวัตรอุปัฏฐาก ด้วยการจัดน้ำใช้ น้ำฉัน และ ปัดกวาดเสนาสนะ เป็นต้น ด้วยหวังว่าเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว จะได้แสดงธรรมโปรดพวกตนให้รู้ตามบ้าง เมื่อพระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอย่างอุกฤษฏ์เป็นเวลาถึง ๖ ปี ก็ยังไม่ได้บรรลุพระโพธิญาณ จึงทรงพระดำริว่า “วิธีนี้คงจะไม่ใช่ทางตรัสรู้” จึงทรงเลิกละความเพียรด้วยวิธีทรมานกาย หันมาบำเพ็ญเพียรทางจิต เลิกอดพระกระยาหาร กลับมาเสวยตามเดิม เพื่อบำรุงพระวรกายให้แข็งแรง

🔅 ปัญจวัคคีย์ปลีกตัวหลีกหนี ฝ่ายปัญจวัคคีย์ ผู้มีความเลื่อมใสในการปฏิบัติแบบทรมานร่างกาย ครั้นเห็นพระโพธิสัตว์ละความเพียรนั้นแล้ว ก็รู้สึกหมดหวัง จึงพากันเหลีกหนีทิ้งพระโพธิสัตว์ให้ประทับอยู่ ตามลำพังพระองค์เดียว พากันเที่ยวสัญจรไปพักอาศัยอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี ครั้นพระโพธิสัตว์ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงดำริพิจารณาหาบุคคลผู้สมควรจะรับฟังพระปฐมเทศนาและตรัสรู้ตามได้โดยเร็วในชั้นแรก พระองค์ทรงระลึกถึงอาจารย์ทั้งสองที่พระองค์เคยเข้าไปศึกษา คือ อาฬารดาบสกาลามโคตร แต่ได้ทราบว่าท่านได้ถึงแก่กรรมไปได้ ๗ วันแล้วและอีกท่านหนึ่ง คือ อุทกดาบสรามบุตร แต่ก็ได้ทราบด้วยพระญาณว่าท่านเพิ่งจะสิ้นชีพไปเมื่อวันวานนี้เอง ต่อจากนั้น พระพุทธองค์ทรงระลึกถึง ปัญจวัคคีย์ ผู้ซึ่งเคยมีอุปการคุณแก่พระองค์เมื่อสมัยทำทุกรกิริยา และทรงทราบว่าขณะนี้ท่านทั้ง ๕ พักอาศัยอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทรงดำริดังนี้แล้ว จึงได้เสด็จพุทธดำเนินไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ฝ่ายปัญจวัคคีย์นั่งสนทนากันอยู่ เห็นพระพุทธองค์เสด็จมาแต่ไกลเข้าใจว่า พระองค์เสด็จมาเพื่อแสวงหาผู้อุปัฏฐาก จึงทำกติกากันว่า:- “พระสมณโคดม นี้ คลายความเพียรแล้วเวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก พวกเราไม่ควรไหว้ ไม่ควรลุกขึ้นต้อนรับ ไม่รับบาตรและจีวรของพระองค์เลย เพียงแต่จัดอาสนะไว้ เมื่อพระองค์ปรารถนาจะประทับนั่ง ก็จงนั่งตามพระอัธยาศัยเถิด” ครั้นพระพุทธองค์เสด็จมาถึง ต่างพากันลืมกติกาที่นัดหมายกันไว้ กลับทำการต้อนรับ เป็นอย่างดีดังที่เคยทำมา แต่ยังใช้คำทักทายว่า “อาวุโส” และเรียกพระนามว่า “โคดม” อันเป็นถ้อยคำที่แสดงความไม่เคารพ ดังนั้น

พระพุทธองค์ทรงห้ามแล้วตรัสว่า:- “อย่าเลย พวกเธออย่างกล่าวอย่างนั้น บัดนี้ ตถาคตได้บรรลุอมตธรรมเองโดยชอบแล้ว เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟังเถิด เราจะแสดงให้ฟัง เมื่อเธอปฏิบัติตามที่เราสอนแล้ว ไม่นานก็จะบรรลุ อมตธรรมนั้น”

“อาวุโสโคดม แม้พระองค์บำเพ็ญอย่างอุกฤษฏ์เห็นปานนั้น ก็ยังไม่บรรลุธรรมพิเศษอัน ใด บัดนี้พระองค์คลายความเพียรนั้นแล้วหันมาปฏิบัติเพื่อความเป็นคนมักมาก แล้วจะบรรลุ อมตธรรมได้อย่างไร?”

พระพุทธองค์ตรัสเตือนปัญจวัคคีย์ ให้ระลึกถึงความหลังว่า “ท่านทั้งหลายจำได้หรือไม่ว่า วาจาเช่นนี้เราเคยพูดกับท่านบ้างหรือไม่”

ปัญจวัคคีย์ ระลึกขึ้นได้ว่า พระองค์ไม่เคยตรัสมาก่อนเลย จึงยินยอมพร้อมใจกันฟังพระธรรมเทศนาโดยเคารพ


🔅 ฟังปฐมเทศนา
พระพุทธองค์ ทรงประกาศพระสัพพัญญุตญาณแก่เหล่าปัญจวัคคีย์ โดยตรัสพระธัมมจักกัปวัตนสูตร เป็นปฐมเทศนา ซึ่งเนื้อความในพระธรรมเทศนานี้ พระพุทธองค์ทรงตำหนิหนทางปฏิบัติอันไร้ประโยชน์ ๒ ทาง ที่บรรพชิตไม่ควรเสพ คือ
    ๑ กามสุขัลลิกานุโยค การปฏิบัติที่ย่อหย่อนเกินไป แสวงหาแต่กามสุขอันพัวพันหมกมุ่นแต่รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ซึ่งเป็นสิ่งเลวทราม เป็นเหตุให้ตั้งบ้านเรือน เป็นกิจของคนกิเลสหนา มิใช่ของพระอริยะ มิใช่ทางตรัสรู้หาประโยชน์มิได้
    ๒ อัตตกิลมถานุโยค การปฏิบัติตนให้ได้รับความลำบาก เคร่งครัดเกินไป กระทำตนให้ได้รับความทุกข์ทรมาน เป็นการกระทำที่เหนื่อยเปล่า ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่ทางแห่งความหลุดพ้น จากนั้นพระพุทธองค์ตรัสชี้แนะวิธีปฏิบัติ แบบ “มัชฌิมาปฏิปทา” คือ การปฏิบัติแบบกลาง ๆ ไม่ย่อหย่อนเกินไปแบบประเภทที่หนึ่ง และไม่ตึงเกินไป แบบประเภทที่สอง ดำเนินตามทางสายกลางซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค คือทางอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ได้แก่
    ๑ สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ (ปัญญาเห็นในอริยสัจ ๔)
    ๒ สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ (ดำริออกจากกาม เบียดเบียนและพยาบาท)
    ๓ สัมมาวาจา เจรจาชอบ (เว้นจากวจีทุจริต ๔)
    ๔ สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ (เว้นจากกายทุจริต ๓)
    ๕ สัมมาอาชีพ เลี้ยงชีพชอบ (เว้นจากเลี้ยงชีพในทางที่ผิด)
    ๖ สัมมาวายะมะ เพียรชอบ (เพียรละความชั่วทำความดี)
    ๗ สัมมาสติ ระลึกชอบ (ระลึกในสติปัฏฐาน ๔)
    ๘ สัมมาสมาธิ ตั้งจิตไว้ชอบ (เจริญฌานทั้ง ๔)
เมื่อจบพระธรรมเทศนา ธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลีมลทิน เกิดขึ้นแก่โกณฑัญญะว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา” พระพุทธองค์ ทรงทราบว่า โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคลในพระพุทธศาสนาแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานด้วยความพอพระทัยด้วยพระดำรัสว่า:- “อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ” ซึ่งแปลว่า “โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ” ด้วยพระพุทธดำรัสนี้ คำว่า “อัญญา” จงเป็นคำนำหน้า ชื่อของท่านโกณฑัญญะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนเป็นที่รู้ทั่วกันว่าพระอัญญาโกณฑัญญะ

🔅 พระสงฆ์รูปแรกในพุทธศาสนา
ต่อจากนั้น ท่านได้กราบทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ประทานการอุปสมบทให้ด้วย พระดำรัสว่า:- “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” ด้วยพระวาจาเพียงเท่านี้ โกณฑัญญะ ก็สำเร็จเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา นับว่า เป็นพระสงฆ์รูปแรกในโลก และการอุปสมบทด้วยวิธีนี้เรียกว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” วันต่อ ๆ มา ท่านที่เหลืออีก ๔ คน ก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน และอุปสมบทด้วยกันทั้งหมด พระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า พระปัจวัคคีย์ มีญาณแก่กล้า พอที่จะบรรลุธรรมเบื้องสูงได้แล้ว จึงตรัสพระธรรมเทศนา “อนัตตลักขณสูตร” คือสูตรที่แสดงลักษณะแห่งเบญจขันธ์ว่าเป็นอนัตตาความไม่มีตัวตน โปรดพระปัญจวัคคีย์ เมื่อจบพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุพระอรหัตผลเป็นพระอเสขบุคคลด้วยกันทั้งหมด ขณะนั้นมีพระอรหันต์ เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์ รวมทั้งพระบรมศาสดาด้วย

🔅 ได้รับยกย่องทางรัตตัญญู
พระอัญญาโกณฑัญญะ เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว พระพุทธองค์ทรงส่งออกไปประกาศพระศาสนาพร้อมกับพระสาวกรุ่นแรก จำนวน ๖๐ รูป ท่านได้เดินทางไปยังบ้านเดิมของท่าน ได้นำหลานชายชื่อ ปุณณมันตานี ซึ่งเป็นบุตรของ นางมันตานี ผู้เป็นน้องสาวของท่าน มาบวช และได้มีชื่อว่า พระปุณณมันตานีบุตรเถระ เพราะความที่ท่านเป็นพระเถระ ผู้มีอายุพรรษากาลมาก มีประสบการณ์มาก จึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดา ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศกว่าภิกษุ ทั้งหลายในทางผู้รัตตัญญู หมายถึง ผู้รู้ราตรีนาน

🔅 บั้นปลายชีวิต
พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นพระเถระผู้เฒ่า ไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ชอบหลีกเร้น อยู่ในสถานที่อันสงบวิเวกตามลำพัง ในคัมภีร์มโนรถปูรณี และคัมภีร์ธุรัตวิลาสินี กล่าวไว้ตรงกันว่า เป็นเวลา ๑๒ ปี ก่อนที่ท่านจะนิพพานท่านได้กราบทูลลาพระบรมศาสดาไปจำพรรษา ณ ป่าหิมพานต์ ตามลำพัง นอกจากต้องการความสงบดังกล่าวแล้ว ยังมีเหตุผลส่วนตัวของท่าน อีก ๓ ประการคือ
    ๑ ท่านไม่ประสงค์จะเห็นพระอัครสาวก คือ พระสารีบุตรเถระ และพระมหาโมคคัลลานเถระ ผู้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยแบ่งเบาภาระของพระพุทธองค์ กิจการพระศาสนาด้านต่าง ๆ ที่ต้องมาแสดงความเคารพนอบน้อมต่อพระผู้เฒ่าชราอย่างท่าน ซึ่งสังขารนับวันจะร่วงโรย และใกล้แตกดับเข้าไปทุกขณะ
    ๒ ท่านได้รับความเหน็ดเหนื่อยอย่างมาก ที่ต้องคอยต้อนรับผู้ไปมาหาสู่ ซึ่งมีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ การอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้านจึงไม่เหมาะสมสำหรับพระแก่ชราอย่างท่าน
    ๓ ท่านเบื่อหน่ายในความดื้อรั้น ของพระสัทธิวิหาริกรุ่นหลัง ๆ ที่มักประพฤตินอกลู่นอกทาง ห่างไกลจากการบรรลุมรรคผล ท่านได้อยู่จำพรรษาในป่าหิมพานต์ บริเวณใกล้สระฉัททันต์เป็นเวลานาน ๑๒ ปี วันที่ท่านจะนิพพาน ท่านพิจารณาอายุสังขารแล้วได้มาเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อกราบทูลลานิพพาน ครั้นพระพุทธองค์ประทานอนุญาตแล้ว ท่านเดินทางกลับยังป่าหิมพานต์ และนิพพานในบรรณศาลาที่พักริมสระฉัททันต์นั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกจำนวนมากได้เสด็จไปทำฌาปนกิจศพให้ท่าน



พระอรหันต์

พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล
🔈 พระอัญญาโกณฑัญญะ  เอตทัคคะในทางรัตตัญญู
🔈 พระวัปปเถระ  
🔈 พระภัททิยเถระ   เอตทัคคะในทางผู้เกิดในตระกูลสูง
🔈 พระมหานามเถระ
🔈 พระมหาอัสสชิเถระ
🔈 พระยสเถระ
🔈 พระวิมลเถระ
🔈 พระสุพาหุเถระ
🔈 พระปุณณชิเถระ
🔈 พระควัมปติเถระ
🔈 พระอุรุเวลกัสสปเถระ
🔈 พระนทีกัสสปเถระ
🔈 พระคยากัสสปเถระ
🔈 พระสารีบุตรเถระ
🔈พระโมคคัลลานเถระ
🔈พระมหากัสสปเถระ
🔈พระมหากัจจายนเถระ
🔈พระอชิตเถระ
🔈พระติสสเมตเตยยเถระ
🔈พระปุณณกเถระ
🔈พระเมตตคูเถระ
🔈พระโธตกเถระ
🔈พระอุปสีวเถระ
🔈พระนันทกเถระ
🔈พระเหมกเถระ
🔈พระโตเทยยเถระ
🔈พระกัปปเถระ
🔈พระชตุกัณณีเถระ
🔈พระภัทราวุธเถระ
🔈พระอุทยเถระ
🔈พระโปสาลเถระ
🔈พระโมฆราชเถระ
🔈พระปิงคิยเถระ
🔈พระราธเถระ
🔈พระปุณณมันตานีบุตรเถระ
🔈พระกาฬุทายีเถระ
🔈พระนันทเถระ
🔈พระราหุลเถระ
🔈พระอุบาลีเถระ
🔈พระภัททิยเถระ
🔈พระอนุรุทธเถระ
🔈พระอานนทเถระ
🔈พระภคุเถระ
🔈พระกิมพิลเถระ
🔈พระโสณโกฬิวิสเถระ
🔈พระรัฏฐปาลเถระ
🔈พระปิณโฑลภารทวาชเถระ
🔈พระมหาปัณถกเถระ
🔈พระจูฬปัณถกเถระ
🔈พระโสณกุฏิกัณณเถระ
🔈พระลกุณฏกภัทิยเถระ
🔈.พระสุภูติเถระ
🔈พระกังขาเรวตเถระ
🔈พระวักกลิเถระ
🔈พระโกณฑธานเถระ
🔈พระวังคีสเถระ
🔈พระปิลินทวัจฉเถระ
🔈พระกุมารกัสสปเถระ
🔈พระมหาโกฏฐิตเถระ
🔈พระโสภิตเถระ
🔈พระนันทกเถระ
🔈พระมหากัปปินเถระ
🔈พระสาคตเถระ
🔈พระอุปเสนเถระ
🔈พระขทิรวนิยเรวัตตเถระ
🔈พระสีวลีเถระ
🔈พระพาหิยทารุจิริยเถระ
🔈พระพากุลเถระ
🔈พระทัพพมัลลบุตรเถระ
🔈พระอุทายีเถระ
🔈พระอุปวาณเถระ
🔈พระเมฆิยเถระ
🔈พระนาคิตเถระ
🔈พระจุนทเถระ
🔈พระยโสชเถระ
🔈พระสภิยเถระ
🔈พระเสลเถระ
🔈พระมหาปรันตปเถระ
🔈พระนาลกเถระ
🔈พระองคุลิมาลเถระ

สมสีสีบุคคล

สมสีสีบุคคล คือบุคคล เมื่อคราวบรรลุอรหัตตมรรค ความสิ้นอาสวะ และ ความสิ้นชีวิต จะเป็นไปในคราวเดียวกัน เหตุเพราะศรีษะทั้งสองประเภท คือ อวิชชาในอกุศลจิตร อันเป็นกิเลสศรีษะ และ ชีวิตินทรีย์ในจุติจิตร อันเป็น ปวัตตศรีษะ ถึงความเสื่อมสิ้นกำลังไปพร้อมๆกัน ไม่ก่อนไม่หลังกันเลย คือ ในขณะที่บรรลุอรหัตตมรรนั่นเอง ด้วยเหตุดังกล่าว เมื่ออรหัตตมรรคญาณ อรหัตตผลญาณ และอรหัตตปัจเวกขณะญาณสิ้นสุดลงตามลำดับแล้ว จิตรก็ลงสู่ภวังค์ถัดไปจุติจิตรก็ปรากฏขึ้น แต่เพราะความสูญสิ้นกำลังของชีวิตินทรีย์ในจุติจิตรนั่นเอง เป็นเหตุให้ปฏิสนธิจิตรเกิดขึ้นไม่ได้พระอรหันต์จึงสิ้นภพสิ้นชาติได้ก็ด้วยประการฉะนี้แล

การสิ้นภพสิ้นชาติแบบสมสีสี มี 3 ประเภทคือ
๑. อริยาปถสมสีสี ที่ใช้อิริยาบถสี่ เป็นอารมณ์เจริญวิปัสสนา
๒. โรคสมสีสี ที่ใช้โรค(เวทนา)ที่รุมเร้าอยู่เป็นอารมณ์เจริญวิปัสสนา
๓. ชีวิตสมสีสี ใช้อารมณ์(อื่นจากอิริยาบถและโรค) ที่รุนแรงต่อการเบื่อหน่ายปัญจขันธ์ เช่น บาดแผลที่เกิดจากการเชือดคอเป็นต้น


เพื่อความเข้าใจประเภทอารมณ์ที่รุนแรงต่อการเบื่อหน่ายปัญจขันธ์ได้ถูกต้องชัดเจน คัมภีร์นิสสยอักษรล้านช้างจึงนำตัวอย่างเมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ทรงทราบว่าหมู่ภิกษุ ๖๐ รูปในอตีตชาติ ร่วมกันเป็นพรานฆ่าสัตว์เป็นอาชีพ กรรมนั้นตามมาทันในชาตินี้ คือต้องถูกฆ่าตายแล้วก็ต้องเสวยกรรมนั้นในนรก จึงทรงแนะนำให้เจริญมรณานุสติกรรมฐาน ด้วยวิบากกรรมที่รุนแรง แทนที่จะเบื่อหน่ายด้วยปัญญากลับเบื่อหน่ายด้วยโทสะ รุนแรงถึงกับยับยั้งไม่อยู่ จึงฆ่าซึ่งกันและกันบ้าง ร้องขอหรือจ้างวานด้วยของใช้สอยบ้าง เป็นความเบื่อหน่ายที่รุนแรงด้วยโทสะก็จริงแต่ก็ไม่ได้อาศัยเรือน(กาม) จึงไม่มีกำลังส่งผลนำไปปฏิสนธิในนรกภูมิได้ การที่พระพุธทองค์ทรงพระกรุณาแนะนำมรณานุสติกรรมฐานให้แก่หมู่พระภิกษุเหล่านี้ก็เพื่อกันไม่ให้พวกพระภิกษุเหล่านั้นตกนรกได้ ก็ด้วยอารมณ์เช่นนี้นั่นเอง ส่วนตัวอย่างที่เบื่อหน่ายปัญจขันธ์รุนแรงด้วยปัญญาก็ เช่น พวกโจรใช้เถาหัวด้วน มัดพระเถระรูปหนึ่ง ให้นอนอยู่ที่ตัมพปัณณิทวีป เมื่อไฟป่าลามมาถึง
เพราะความเบื่อหน่ายเห็นโทษการมีปัญจขันธ์อย่างรุนแรง และเห็นคุณของปาติโมกขสังวรศีลอย่างลึกซึ้ง จึงไม่ย่อมตัดเถาวัลย์ เจริญวิปัสสนา เป็นชีวิตสมสีสี ปรินิพพาน (วิสุทธิมรรค ปาติโมกขสังวรศีล)



๑.๒ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เวทนานี้มีสภาพของความเป็นนาม นามจะรู้ได้ยากกว่ารูป แต่เวทนาก็ยังเป็นสิ่งถูกรู้ได้ง่ายกว่าสภาพของจิต เพราะความรู้สึกเป็นสุขและเป็นทุกข์ที่เรียกว่าเวมนานั้นเกิดขึ้นเนื่องจากผัสสะ คือ การกระทบทางตา หูจมูก ลิ้น และกาย แม้แต่ความคิดซึ่งเข้ากระทบใจอยู่ตลอดก็มีผัสสะที่ให้ความรู้สึกเป็นสุขและเป็นทุกข์ได้ หากพิจารณาข้อปฏิบัติอันเป็นที่สุดของเวทนาก็คือให้รู้จักเวทนาทุกชนิด ทุกเงื่อนไข โดยเริ่มจากง่ายๆ คือให้รู้ว่า อย่างนี้สุข อย่างนี้ทุกข์ อย่างนี้เฉยๆ

เวทนาเป็นนามธรรมที่มีลักษณะ
เฉพาะที่สังเกตเห็นได้ เช่น สุขใจ กับ ทุกข์ใจ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะเห็นลักษณะของเวทนา ซึ่งเวทนาแต่ละอย่างก็มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน การพิจารณาจะต้องเป็นไปเพื่อเข้าใจสภาพความเป็นจริง เพื่อปล่อยวาง ฉะนั้นการปฏิบัติในหมวดเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตจะเข้าไปรู้ธรรมชาติในระดับที่ละเอียดขึ้นกว่ากายานุปัสสนาแล้ว ยังเป็นการปฏิบัติที่เข้าใกล้สัจจะที่เกี่ยวกับอนิจจังของสภาวะแห่งรูปและนามได้ดีอีกด้วย


หลักการใช้สติพิจารณาเวทนา 

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ควรพิจารณาเวทนา ดังต่อไปนี้คือ

ถ้ารู้สึกเป็นสุข ก็ให้กำหนดรู้ว่า “ สุข”
ถ้ารู้สึกเป็นทุกข์ ก็ให้กำหนดรู้ว่า “ ทุกข์”
ถ้ารู้สึกไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์ (เฉยๆ) ก็ให้กำหนด รู้ว่า“ ไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์(เฉยๆ)”
ถ้ารู้สึกเป็นสุขที่อิงอาศัยอามิส (กามคุณ) ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ สุขนี้อิงอามิส”
ถ้ารู้สึกเป็นสุขที่ไม่อิงอาศัยอามิส (กามคุณ) ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ สุขนี้ไม่อิงอามิส”
ถ้ารู้สึกเป็นทุกข์ที่อิงอาศัยอามิส (กามคุณ) ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ ทุกข์นี้อิงอามิส”
ถ้ารู้สึกเป็นทุกข์ที่ไม่อิงอาศัยอามิส (กามคุณ) ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ ทุกข์นี้ไม่อิงอามิส”
ถ้ารู้สึกไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์ (เฉยๆ) ที่อิงอาศัยอามิส (กามคุณ) ก็ให้กำหนดรู้ว่า “ ความไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์ (เฉยๆ) นี้อิงอามิส”
ถ้ารู้สึกไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์ (เฉยๆ) ที่ไม่อิงอาศัยอามิส (กามคุณ) ก็ให้กำหนดรู้ว่า “ ความไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์ (เฉยๆ) นี้ไม่อิงอามิส

การรู้สุขเวทนาแบบชาวโลกที่รู้กันทั่วๆไป เช่น เด็กอ่อนที่ยังนอนแบเบาะอยู่
เมื่อได้กินนมก็ย่อมรู้ชัดว่าเรากำลังสุขอยู่ การรู้แบบนี้ไม่เป็นไปเพื่อละทิฏฐิ ตัณหา มานะ ฉะนั้น การเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานไม่ได้มุ่งหมายความรู้สุขเวทนาเป็นต้น เหมือนอย่างที่เด็กอ่อนรู้นั้น แต่ต้องกำหนดรู้สุขเวทนานั้นที่สภาวะลักษณะว่ามีลักษณะอย่างไร เกิดขึ้นเพราะมีอะไรเป็นเหตุ เช่น สุขเวทนา เกิดขึ้นเพราะมีการสัมผัสถูกต้องกับอารมณ์ที่ดี เกิดขึ้นแล้วมีความสุขทางกาย ซึ่งไม่ใช่เป็นการรับรู้อารมณ์โดยใคร เวทนาที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่สัตว์บุคคล แต่ที่เป็นไปได้ก็เพราะมีวัตถุเป็นอารมณ์ จึงมีการรับรู้(เสวย)อารมณ์นั้นๆ แต่เพราะไม่เข้าใจความเป็นจริงอย่างนี้ บุคคลทั้งหลายจึงยึดถือเอาความเป็นไปแห่งเวทนานั้นว่าเราเสวยเวทนา 

ฉะนั้น คำว่าเราสุข เราทุกข์ จึงเป็นเพียงแค่โวหารเรียกขานกันเท่านั้น ความเป็นจริงหามีเราสุข เราทุกข์ไม่ มีแต่อารมณ์กับการรับรู้อารมณ์เท่านั้น ดังตัวอย่างจากอรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ แสดงไว้ว่า พระเถระรูปหนึ่งท่านไม่สบาย ถอนหายใจพลาง นอนกลิ้งไปมาอยู่ ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งถามท่านว่า ท่านขอรับ ที่ตรงไหนของท่านที่โรคเสียดแทง พระเถระตอบว่า ชื่อว่าที่ซึ่งโรคเสียดเฉพาะแห่งไม่มี เวทนาต่างหากเสวย เพราะกระทำวัตถุให้เป็นอารมณ์ ภิกษุหนุ่มเรียนว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านควรจะยับยั้งไว้ตั้งแต่เวลาที่รู้ มิใช่หรือ พระเถระตอบว่า ผมกำลังยับยั้ง ภิกษุหนุ่มเรียนว่า ท่านขอรับ การยับยั้งไว้เป็นของประเสริฐ พระเถระได้ยับยั้งไว้แล้ว ลำดับนั้นลมเสียดแทงถึงหัวใจ ใส้ใหญ่ได้ออกมากองอยู่บนเตียง พระเถระได้ชี้ให้ภิกษุหนุ่มดูว่า ยับยั้งไว้ขนาดนี้สมควรหรือยัง ภิกษุหนุ่มนิ่ง พระเถระประกอบความเพียรสม่ำเสมอ แล้วได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา แล้วปรินิพพานทันที (เป็นพระอรหันต์ประเภทชีวิตสมสีสี)

การกำหนดเวทนา เวทนาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการรับกระทบกับอารมณ์ คือมี ผัสสะ เวทนา วิญญาณ เมื่อผัสสะเกิดขึ้นก็ไม่ใช่เกิดแต่เฉพาะผัสสะเท่านั้น แต่เวทนาที่รับรู้อารมณ์ก็เกิดขึ้นพร้อมกันกับผัสสะตลอดจนกระทั่งธรรมอื่นอันได้แก่ สัญญา ความจำได้หมายรู้ในอารมณ์ 

เจตนา คือความจงใจ ตลอดจน วิญญาณ ที่รู้แจ้งซึ่งอารมณ์ก็เกิดขึ้นพร้อมกัน ฉะนั้นผู้ปฏิบัติจะกำหนดเวทนาก็ย่อมจะต้องกำหนดเจตสิกธรรม คือ ผัสสะนั้นด้วยเมื่อการกระทบอารมณ์เกิดขึ้นแล้วเวทนา สัญญา และธรรมอื่นๆ ก็เกิดขึ้น เมื่อพิจารณาได้ดังนี้แล้วก็จะทราบชัดว่า ธรรมทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะอาศัยกรชกาย(รูปร่างกาย)นี้ เมื่อพิจารณากรชกายก็จะเห็นแต่เพียงมหาภูตรูปและอุปาทายรูปนั้นเอง ธรรม (อันได้แก่ ผัสสะ เวทนา)ที่อาศัยมหาภูตรูปและอุปาทายรูปเกิดขึ้น ธรรมเหล่านี้เป็นเพียงนาม ฉะนั้น ทั้งหมดล้วนแต่เป็นขันธ์ ๕ คือ รูปเป็นรูปขันธ์ ธรรมที่เหลือเป็นนามขันธ์ ๔ เมื่อพิจารณาได้อย่างถูกต้องอย่างนี้แล้วก็จะมีแต่เพียงรูปกับนามเท่านั้น มีแต่ขันธ์ ๕ เท่านั้น สิ่งที่จะพ้นไปจากรูปนามขันธ์ ๕ ย่อมไม่มี 

เมื่อพิจารณาโดยขันธ์ ๕ ได้แล้วก็ต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า ขันธ์เหล่านี้มีอะไรเป็นเหตุให้เกิดขึ้น ก็จะพบว่าเพราะอวิชชา(ความไม่รู้)เป็นต้นเหตุ เพราะความไม่รู้จึงไปทำบุญบ้างทำบาปบ้าง เมื่อเหตุบุญเหตุบาปมีแล้วผลย่อมปรากฏโดยการนำเกิดขึ้นมาในภพใหม่ชาติใหม่ต่อไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อสาวหาเหตุได้ถูกต้องแล้วว่า เพราะอวิชชาเป็นเหตุนี้เองจึงทำให้มาเกิดและได้รับเวทนาเหล่านี้อยู่ในขณะนี้ ต่อจากนั้นก็ยกขันธ์ ๕ นั้นขึ้นสู่การพิจารณาโดยความเป็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกสิ่งทั้งมวลไม่มีอย่างอื่นที่เป็นสัตว์หรือบุคคล มีเพียงกองสังขารล้วนๆ เท่านั้น แล้วพิจารณาโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไปตามลำดับแห่งวิปัสสนา

ผู้ปฏิบัติควรนำวิธีการข้างต้นนี้มาพิจารณา โดยมีวิธีการปฏิบัติสรุป ดังนี้ 

๑. นำวิธีข้างต้นมาพิจารณาเวทนา คือเวทนาที่เป็นความรู้สึกของตนให้เห็นเป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นเวทนา
๒. หรือพิจารณาเปรียบเทียบเวทนาภายในกับภายนอก โดยการเปรียบเทียบเวทนาของตนกับของบุคคลอื่น ให้เห็นเป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นเวทนา
๓. หรือจะใช้สติพิจารณารู้สลับกันไปมาระหว่างเวทนาภายในกับเวทนาภายนอก ให้เห็นเป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นเวทนา 
๔. ใช้สติพิจารณาการเกิดและธรรมอันเป็นเหตุเกิดแห่งเวทนา หรือใช้สติพิจารณาการดับและธรรมเป็นเหตุดับแห่งเวทนา หรือใช้สติพิจารณาทั้งการเกิด-ดับและธรรมเป็นเหตุเกิด-ดับแห่งเวทนา สลับกันไปก็ได้
๕. ต้องมีสติอยู่เสมอว่า สภาวะที่ปรากฏอยู่นี้เป็นแต่เพียง เวทนาคือความรู้สึกเท่านั้น (ไม่ใช่บุคคลอัตตาตัวตนเราเขา ) และควรตระหนักด้วยว่าการที่นำเอา เวทนาคือความรู้สึกมาพิจารณาตามนัยข้างต้นนั้น มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อต้องการให้ญาณปัญญาแก่กล้ายิ่งๆ ขึ้น และเพียงเพื่อความสมบูรณ์แห่งการเจริญสติยิ่งๆ ขึ้นเท่านั้น จึงไม่ควรที่จะหลงผิดยึดติดอยู่ในสังขารใดๆ ที่กำลังเกิดดับอยู่ 

จบ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน (โดยสังเขป)


สถานการณ์พุทธศาสนาจากอินเดียสู่เอเซีย



หัวข้อ มองสงครามอเมริกา-ตาลีบัน ผ่านภูมิหลังชมพูทวีป
ตอนที่ ๑

ตอนที่ ๒

ตอนที่ ๓

ตอนที่ ๔


หัวข้อ ภัยแห่งพระพุทธศาสนาในประเทศไทย


หัวข้อ มาลายูสู่แหลมทอง


หัวข้อ 
ศูนย์พุทธโลก
ตอนที่ ๑

ตอนที่ ๒

ตอนที่ ๓