พระพุทธดำรัส (๑๕)

 🙏 พระพุทธดำรัส 🙏


🔅 ทุกข์เกิดจากยึดถือขันธ์ ๕ เป็นต้น
ปัญหา ความยึดถือขันธ์ ๕ เป็นอัตตา ก่อให้เกิดทุกข์อย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ในโลกนี้มิได้เห็นพระอริยเจ้า ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ย่อมเห็นรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ว่าเป็นตน ย่อมเห็นตนมีรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ย่อมเห็นรูป (เป็นต้น) ในตน ย่อมเห็นตนในรูป (เป็นต้น) รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณของเขานั้นย่อมแปรปรวนไป ย่อมเป็นอย่างอื่นไป เพราะเหตุที่รูป (เป็นต้น) ของเขาแปรปรวนและเป็นอย่างอื่นไป วิญญาณ(จิต) ของเขาจึงพลอยผันแปรไปตามความผันแปรแห่งรูป (เป็นต้นนั้น) ความสะดุ้งและความทุกข์อันเกิดแต่ความหมุนเวียนเปลี่ยนแปรแห่งรูป (เป็นต้น) ย่อมเข้าครอบงำจิตของปุถุชนนั้น เพราะจิตถูกครอบงำ ปุถุชนนั้นย่อมมีความหวาดเสียว มีความลำบากใจ มีความห่วงใย และความสะดุ้งอยู่ เพราะความถือมั่น... ความสะดุ้งและความถือมั่นย่อมมีอย่างนี้แล....”

อุปาทานปริตัสสนาสูตร ที่ ๑


🔅 สุขเกิดเพราะไม่ยึดขันธ์ ๕ เป็นต้น
ปัญหา ความไม่ยึดถือขันธ์ ๕ เป็นอัตตา ก่อให้เกิดสุขอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ผู้ได้เรียนรู้แล้ว ย่อมไม่เห็นรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ว่าเป็นตน ย่อมไม่เห็นตนมีรูป (เป็นต้น) ย่อมไม่เห็นรูป ในตน ย่อมไม่เห็นตนในรูป  รูป ของอริยสาวกนั้นย่อมแปรปรวน ย่อมเป็นอย่างอื่นไปเพราะรูป แปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป วิญญาณ (จิต) ของเขาจึงไม่ผันแปรไปตามความผันแปรแห่งรูป (เป็นต้นนั้น) ความสะดุ้ง และความทุกข์อันเกิดแต่ความหมุนเวียนแปรปรวนแห่งรูป ย่อมไม่เข้าครอบงำจิตของอริยสาวกนั้น เพราะจิตไม่ถูกครอบงำ อริยสาวกนั้นย่อมไม่มีความหวาดเสียว ไม่มีความลำบากใจ ไม่มีความห่วงใย และไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความไม่สะดุ้งเพราะความไม่ถือมั่นย่อมมีอย่างนี้แล”

อุปาทานปริตัสสนาสูตร ที่ ๑


🔅 อัตตา-อนัตตา ในขันธ์ ๕
ปัญหา การเห็นหลัก อัตตา และ อนัตตา คือเห็นอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ยังมิได้เรียนรู้ในโลกนี้ ย่อมเห็นรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ส่วน อริยสาวกในพระพุทธศาสนา ผู้ได้เรียนรู้แล้วย่อมพิจารณาเห็นว่า รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.....”

อุปาทานปริตัสสนาสูตร ที่ ๒ 


🔅 ขันธ์ ๕ ในกาลทั้ง ๓ กับไตรลักษณ์
ปัญหา พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติตนอย่างไร คิดอย่างไร เกี่ยวกับขันธ์ ๕ ในกาลทั้ง ๓?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ที่เป็นอดีตและอนาคตไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ส่วนรูป (เป็นต้น) ที่เป็นปัจจุบันนั้นไม่ต้องพูดถึง อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่มีความอาลัยในรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ที่เป็นอดีต ไม่เพลิดเพลินในรูป (เป็นต้น) ที่เป็นอนาคต ย่อมปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ที่เป็นปัจจุบัน”

อตีตานาคตปัจจุปันนสูตร ที่ ๑-๓


🔅 ไตรลักษณ์เกี่ยวข้องกัน
ปัญหา ไตรลักษณ์ทั้ง ๓ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกี่ยวข้องกันอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ข้อนี้อริยสาวกพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง....”

อนิจจาสูตร ที่ ๒


🔅 เหตุให้ขันธ์ ๕ เป็นไตรลักษณ์
ปัญหา ทำไมขันธ์ ๕ จึงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แม้ปัจจัยที่ให้รูป (เป็นต้นนั้น) เกิดขึ้นก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา รูป (เป็นต้น) ที่เกิดจากสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ที่ไหนจักเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตาเล่า?”

อนิจจเหตุสูตรฯ


🔅 นิโรธดับอะไร
ปัญหา อริยสัจจ์ที่ ๓ คือ นิโรธ ที่แปลว่าความดับนั้น คือ ดับอะไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนอานนท์ รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ เป็นของไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา... มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา... มีความดับไปเป็นธรรมดา ความดับแห่ง รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ นั้นเรียกว่า นิโรธ... ความดับแห่งธรรมเหล่านี้แลเรียกว่า นิโรธ...

อานันทสูตร


🔅 ภาระหนักของมนุษย์
ปัญหา ภาระอันหนักของมนุษย์คืออะไร? จะปลงลงได้อย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุปาทานขันธ์ ๕ คือ ภาระ อุปาทานขันธ์ ๕ คืออะไร? คือ รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ นี้เรียกว่า ภาระ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้แบกภาระคือใคร? ผู้แบกภาระ คือ บุคคล... ที่มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ นี่เรียกว่า ผู้แบกภาระ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุปกรณ์สำหรับแบกภาระคืออะไร ? ตัณหาที่นำไปเกิดในภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัดยินดี ทำให้หลงเพลิดเพลินในภพนั้น ๆ กล่าวคือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหานี้ เรียกว่า อุปกรณ์ เครื่องแบกภาระ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การปลงภาระคืออย่างไร? คือการดับตัณหา สิ้นความกำหนัดอย่างสิ้นเชิง การสละทอดทิ้งหลุดพ้นจากตัณหาอย่างไม่มีเยื่อใยนี้ เรียกว่า การปลงภาระลง...”

ภารสูตร


🔅 ขันธ์ ๕ ควรเรียนรู้
ปัญหา ตามหลักพระพุทธศาสนา อะไรคือสิ่งที่ควรเรียนรู้ และ ปริญญา ที่แท้จริงนั้นคืออะไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ควรเรียนรู้นั้นคืออะไร ? รูป เป็นธรรมที่ควรเรียนรู้ เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ เป็นธรรมที่ควรเรียนรู้ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปริญญาคือใคร? คือความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ นี้เรียกว่า ปริญญา "

ปริญญาสูตร


🔅 คนที่เหมาะสมต่อการสิ้นทุกข์
ปัญหา บุคคลควรปฏิบัติต่อขันธ์ ๕ อย่างไร จึงจะสิ้นทุกข์ได้ ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ไม่รู้จริง ไม่รู้ทั่วถึง ไม่เบื่อหน่าย ไม่สละเสียซึ่ง รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ จัดเป็นคนอาภัพต่อการสิ้นทุกข์
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่รู้จริง รู้ทั่วถึง เบื่อหน่าย และสละเสียซึ่ง รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ จึงเป็นผู้เหมาะสมต่อการสิ้นทุกข์

ปริชานสูต


🔅 วิธีดับขันธ์ ๕
ปัญหา บุคคลจะดับขันธ์ ๕ ได้อย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละความใคร่ ความพอใจ ในรูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ เสีย เมื่อเป็นเช่นนี้รูป (เป็นต้นนั้น) ก็จะเป็นอันถูกละ ถูกตัดราก เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ถูกทำให้เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ ไม่มีการเกิดขึ้นอีกเป็นธรรมดา....”

ฉันทราคสูตร


🔅 แง่ดีและเสียของขันธ์ ๕
ปัญหา ขันธ์ ๕ มีแต่แง่ทุกข์อย่างเดียว หรือว่ามีแง่สุขอยู่บ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์ยังไม่ได้ตรัสรู้ เราเคยรำพึงว่า อะไรหนอเป็นคุณของรูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นการสละคืน? เรารำพึงต่อไปว่า ความสุข ความเบิกบานใจเกิดขึ้นเพราะอาศัยรูป (เป็นต้น) มีอยู่ นี้เป็นคุณของรูป รูป ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษ.... การกำจัดเสีย การประหารเสียซึ่งความใคร่ ความพอใจในรูป (เป็นต้นนั้น) นี้เป็นการสละคืนขันธ์ ๕
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตราบใดที่เรายังไม่รู้แจ้งตามความเป็นจริง ซึ่งคุณโดยความเป็นคุณ ซึ่งโทษโดยความเป็นโทษ ซึ่งการสละคืนว่าเป็นการสละคืนแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ตราบนั้น เราก็ไม่ปฏิญาณว่าตนได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลก...
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดเรารู้แจ้งตามความเป็นจริง.... เมื่อนั้นเราจึงปฏิญาณ... ญาณคือความเห็นแจ้งได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ความพ้นทุกข์ของเราไม่มีผันแปร ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ไม่มีภพใหม่อีก....”

อัสสาทสูตรที่ ๑ 

“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเคยท่องเที่ยวแสวงหาคุณแห่ง รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ รูป (เป็นต้นนั้น) มีคุณอย่างใด เราก็ได้พบคุณอย่างนั้น .... มีคุณเท่าใด เราก็ได้เห็นแจ้งด้วยปัญญาเท่านั้น .... เราเคยท่องเที่ยว แสวงหาโทษของ รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ เราก็ได้พบโทษ.... ได้เห็นโทษด้วยปัญญา..... เราเคยท่องเที่ยวแสวงหาการสลัดออกซึ่งขันธ์ ๕ เราก็ได้พบการสลัดออก...”

อัสสาทสูตรที่ ๒ 

“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าคุณแห่ง รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ จักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่ยินดีเพลิดเพลินในรูป (เป็นต้นนั้น) แต่เพราะคุณแห่งรูปมีอยู่ สัตว์ทั้งหลายจึงยินดีเพลินเพลิด....
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าโทษแห่ง รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ จักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่เบื่อหน่ายในรูป (เป็นต้นนั้น) แต่เพราะโทษแห่งรูป มีอยู่ สัตว์ทั้งหลายจึงเบื่อหน่าย...
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าการสลัดออกซึ่ง รูป (เป็นต้นนั้น) จักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่แล่นออกไปจากรูป แต่เพราะการสลัดออกมีอยู่ สัตว์ทั้งหลายจึงออกไป.....ได้

อัสสาทสูตรที่ ๓ 


🔅 เพลิดเพลินขันธ์ ๕ เพลิดเพลินทุกข์
ปัญหา คนเช่นใด มีโอกาสที่จะพ้นทุกข์มากกว่าคนอื่น?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดเพลิดเพลิน รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ผู้นั้นชื่อว่าเพลิดเพลินทุกข์ ผู้ใดเพลิดเพลินทุกข์เรายืนยันว่าผู้นั้นไม่พ้นไปจากทุกข์ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดแลไม่เพลิดเพลินรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ผู้นั้นไม่เพลิดเพลินทุกข์ ผู้ใดไม่เพลิดเพลินทุกข์เรายืนยันว่าผู้นั้นพ้นไปจากทุกข์

อภินันทนสูตร


🔅 มีขันธ์ ๕ ก็มีทุกข์
ปัญหา ขันธ์ ๕ กับทุกข์เกี่ยวข้องกันอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความบังเกิด ความปรากฏแห่ง รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ นี้เป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นความตั้งอยู่แห่งโรคทั้งหลาย เป็นความปรากฏแห่งชรา มรณะ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความดับ ความสงบระงับความตั้งอยู่ไม่ได้ แห่ง รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ นี้เป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นสงบระงับแห่งโรคทั้งหลาย เป็นความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งชรา มรณะ

อุปปาทสูตร


🔅 ขันธ์ ๕ เหมือนใบไม้นอกตัวเรา
ปัญหา การถือขันธ์ ๕ ว่าเป็นของตน เป็นการถูกต้องหรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่ของท่านทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสีย เพื่อละได้แล้วจักเป็นเพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุข.... ก็อะไรเล่าไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย? รูปไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนชนพึงเก็บเอาไป หรือเผาไฟ หรือกระทำตามที่เห็นเหมาะสมซึ่งหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ในพระเชตวันนั้น ท่านควรคิดว่า ฝูงชนเอาไปหรือเผา หรือกระทำตามที่เห็นเหมาะสม ซึ่งเราทั้งหลายกระนั้นหรือ?
“ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า หามิได้พระเจ้าข้า
“พระพุทธองค์ตรัสถามว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร
“ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า เพราะสิ่งนั้นไม่ใช่เราหรือ นับเนื่องด้วยเรา
“อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ไม่ใช่ของท่าน จงละเสีย เมื่อละได้แล้วจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข”

นตุมหากสูตร ที่ ๑


🔅 คิดถึงอะไร เป็นสิ่งนั้น
ปัญหา ภิกษุรูปหนึ่งไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ขอให้พระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดแต่โดยย่อ เพื่อจักได้นำไปปฏิบัติต่อไป พระโอวาทย่อว่าอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลย่อมครุ่นคิดในสิ่งใด ย่อมเข้าไปมีส่วนเป็นสิ่งนั้น บุคคลย่อมไม่ครุ่นคิดถึงสิ่งใด ย่อมไม่เข้าไปมีส่วนในสิ่งนั้น.... ถ้าบุคคลครุ่นคิดถึง รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ย่อมเข้าไปมีสวน เป็น รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ นั้น ถ้าไม่ครุ่นคิดถึงรูป (เป็นต้น) นั้น ก็ไม่เข้าไปมีส่วนเป็นรูป (เป็นต้นนั้น)

ภิกขุสูตร ที่ ๑


🔅 เพราะหน่ายจึงรู้ เพราะรู้จึงพ้น
ปัญหา ชาวพุทธควรมีทัศนคติต่อขันธ์ ๕ อย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมย่อมมีธรรมอันเหมาะสม คืออยู่ด้วยความเบื่อหน่ายอย่างมากใน รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ เมื่อเป็นผู้อยู่ด้วยความเบื่อหน่ายอย่างมากในรูป (เป็นต้น) ย่อมรอบรู้ รูป (เป็นต้นนั้น) เมื่อรอบรู้... ย่อมหลุดพ้นจากรูป ย่อมหลุดพ้นจากความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ ความระทม ความแค้นใจ ความแห้งใจ เรากล่าวว่าย่อมหลุดพ้นไปจากทุกข์
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมีธรรมอันเหมาะสม คือพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง.... เห็นความทุกข์... เห็นความเป็นอนัตตาในรูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ เมื่อพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความทุกข์ ความเป็นอนัตตาในรูป ย่อมรอบรู้ในรูป เมื่อรอบรู้ .... ย่อมหลุดพ้นจากชาติ ชรา มรณะ... เรากล่าวว่าย่อมหลุดพ้นจากทุกข์


อนุธรรมสูตร ที่ ๑-๔


🔅 ที่พึ่งของชาวพุทธ
ปัญหา อะไรคือที่พึ่งอันแท้จริงของชาวพุทธ และจะพึ่งได้อย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจงมีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอจะมีตนเป็นที่พึ่ง.... มีธรรมเป็นที่พึ่ง....จะต้องพิจารณาโดยรอบคอบว่า ความโศก ความคร่ำครวญ ความระทม ความแค้นใจ ความแห่งใจ มีกำเนิดมาอย่างไร เกิดมาจากอะไร
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ย่อมพิจารณาเห็น รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ว่าเป็นต้น เห็นตนว่ามีรูป (เป็นต้น) เห็นรูป ในตน ย่อมเห็นตนในรูป รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ นั้นของเขาย่อมแปรไป.....ความโศก ความคร่ำครวญ ย่อมเกิดขึ้นแก่เขา
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุรู้ว่า รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ไม่เที่ยง แปรปรวนไป.... ดับไป เห็นตามเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบดังนี้ว่ารูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ในกาลก่อนและในบัดนี้ ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวน เป็นธรรมดาดังนี้ ย่อมละความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์ได้ เพราะละความโศกได้จึงไม่เดือดร้อน เพราะไม่เดือดร้อนจึงอยู่เป็นสุข ภิกษุผู้มีปกติอยู่เป็นสุข เรากล่าวว่า เป็นผู้ดับเย็นแล้วอย่างครบถ้วน”

อัตตทีปสูตร 


🔅 เกิดมีตน ก็เกิดมีทุกข์
ปัญหา ความเห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวตน เกิดขึ้นได้อย่างไร ? และจะดับได้อย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้แล้ว ในโลกนี้ ย่อมเข้าในรูป....เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ว่าเป็นต้น ย่อมเห็นตนว่ามีรูป (เป็นต้น) ย่อมเห็นรูป (เป็นต้น) ในตน ย่อมเห็นตนในรูป (เป็นต้น).... นี้เรียกว่าทางดำเนินอันจะให้เกิดความเห็นว่ามีตัวตน... อันจะยังสัตว์ให้ถึงความเกิดขึ้นแห่งทุกข์
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในโลกนี้ ได้เรียนรู้แล้ว ย่อมไม่เข้าใจ
รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ว่าเป็นต้น ย่อมไม่เข้าใจว่าตนมีรูป ย่อมไม่เข้าใจว่ารูป มีในตน ย่อมไม่เข้าใจว่าตนในรูป (เป็นต้น).....นี้เรียกว่าทางดำเนินอันจะยังสัตว์ให้เกิดความดับตัวตน... เรียกว่าการพิจารณาเห็นอันจะยังสัตว์ให้ถึงความดับทุกข์

ปฏิปทาสูตร


🔅 อุปาทานขันธ์ คืออะไร
ปัญหา สิ่งที่เรียกว่า อุปาทานขันธ์ นั้น คืออะไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีตอยู่ในที่ไกลหรือใกล้ มีอาสวะ ในตัว เป็นปัจจัยแก่อุปาทาน นี้เรียกว่าอุปาทาน ขันธ์คือ รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่าอุปาทานขันธ์ ๕

ปัญจักขันธสูตร


🔅 ขันธ์ตนกับขันธ์คนอื่น
ปัญหา บุคคลควรพิจารณาเปรียบเทียบขันธ์ ๕ ของตนกับ ขันธ์ ๕ ของคนอื่นหรือไม่?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนโสณะ ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมพิจารณาเห็นว่า เราประเสริฐกว่าเขา... เราเท่าเทียมกับเขา.. เราเลวกว่าเขาโดย รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ อันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ที่เป็นดังนี้มิใช่อื่นไกล นอกจากการไม่เห็นธรรมตามความเป็นจริง “..... ดูก่อนโสณะ ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมไม่พิจารณาเห็นว่า เราประเสริฐกว่าเขา... เราเท่าเทียมกับเขา.. เราเลวกว่าเขาโดย รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ อันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ที่เป็นดังนี้มิใช่อื่นไกล นอกจากการเห็นธรรมตามความเป็นจริง....”

โสณสูตร ที่ ๑


🔅 วิญญาณอาศัยขันธ์ ๕
ปัญหา วิญญาณจะมีอยู่โดยไม่ต้องอาศัยขันธ์ ๕ ได้หรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เข้ายึดรูป พึงดำรงอยู่ได้ วิญญาณที่มีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้ง เข้าไปซ่องเสพด้วยความยินดี พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์... วิญญาณที่เข้ายึดเวทนา... สัญญา.... สังขาร...พึงดำรงคงอยู่ได้ วิญญาณที่มี รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...เป็นอารมณ์ มี รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร... เป็นที่ตั้ง เข้าไปซ่องเสพ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร ) ด้วยความยินดี พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่าเราจักบัญญัติการมา การไป การจุติ การอุปบัติ หรือความเจริญงอกงามไพบูลย์แห่งวิญญาณ โดยไม่ต้องอาศัยรูป เวทนา สัญญา สังขารดังนี้ ข้อนี้ไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้

“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุละราคะในรูปธาตุ เวทนาธาตุ สัญญาธาตุ สังขารธาตุ วิญาณธาตุได้แล้ว อารมณ์ (แห่งวิญญาณ) ก็เป็นอันตัดขาดเพราะละราคะนั้นได้ ที่ตั้งแห่งวิญญาณย่อมไม่มี วิญญาณที่ไม่มีที่ตั้งย่อมไม่งอกงาม ไม่สร้างต่อ (อนภิสงฺขจฺจ) ย่อมหลุดพ้น เพราะหลุดพ้นจึงตั้งมั่นเพราะตั้งมั่นจึงอิ่มเอิบ (สนฺตุสิตํ) เพราะอิ่มเอิบจึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้งจึงดับเย็นสนิทเฉพาะตน ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ครบถ้วนแล้ว กิจที่ควรทำได้เสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อให้เกิดผลเช่นนี้ไม่มีอีกแล้ว”

อุปายสูตร


🔅 วิญญาณอาศัยรูป
ปัญหา วิญญาณธาตุ ต้องอาศัย รูป เวทนา สัญญา สังขารอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุพืช ๕ อย่างนี้... คือ พืชงอกจากเหง้า ๑ พืชงอกจากลำต้น ๑ พืชงอกจากข้อ ๑ พืชงอกจากยอด ๑ พืชงอกจากเมล็ด ๑ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็พืช ๕ อย่างนี้ มิได้ถูกทำลาย ไม่เน่า ไม่ถูกลม แดด ทำให้เสีย ยังเพาะขึ้น ที่เขาเก็บไว้อย่างดี แต่ไม่มีดิน ไม่มีน้ำ พืช ๕ อย่างนี้พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้หรือ ? ไม่ได้พระพุทธเจ้าข้า
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็พืช ๕ อย่างนี้.... ที่เขาเก็บไว้อย่างดี และมีดิน มีน้ำ พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้หรือ? ....ได้ พระพุทธเจ้าข้า “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเห็นที่ตั้งทั้ง ๔ ของวิญญาณ (คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร) เหมือนธาตุดิน พึงเห็นความยินดีเพลิดเพลินเหมือนธาตุน้ำ พึงเห็นวิญญาณพร้อมด้วยอาหารเหมือนพืช ๕ อย่าง...ฯ”

พืชสูตร


🔅 ขันธ์ ๕ ความเกิดและความดับขันธ์ ๕
ปัญหา ขันธ์ ๕ เหตุให้เกิดขันธ์ ๕ ความดับขันธ์ ๕ และทางปฏิบัติเพื่อดับขันธ์ ๕ คืออะไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็รูปคืออะไร คือ มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ นี้เรียกว่ารูป ความเกิดขึ้นแห่งรูปก่อนมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งอาหาร อริยมรรคประกอบด้วยองค์แปด.... เป็นปฏิปทา อันให้ถึงความดับแห่งรูป...

“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เวทนาคืออะไร เวทนา ๖ หมวดนี้ คือ เวทนา เกิดแต่จักษุสัมผัส (ตากระทบกับรูป) โสตสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส นี้เรียกว่าเวทนา ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาย่อมมีเพราะเกิดแห่งผัสสะ ความดับแห่งเวทนาย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ.... เป็นปฏิปทา ให้ถึงความดับแห่งเวทนา

“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สัญญาคืออะไร สัญญา ๖ หมวดนี้ คือ ความจำหมายในรูป ความจำหมายในเสียง ความจำหมายในกลิ่น ความจำหมายในรส ความจำหมายในโผฏฐัพพะ ความจำหมายในธรรมารมณ์.... นี้เรียกว่าสัญญา ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ ความดับแห่งสัญญาย่อมมี เพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ.... เป็นปฏิปทา ให้ถึงความดับแห่งสัญญา

“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สังขารคืออะไร เจตนา ๖ หมวดนี้ คือ สัญเจตนา (ความจงใจมุ่งหวังอย่างแรง) ในรูป สัญเจตนาในเสียง สัญเจตนาในกลิ่น สัญเจตนาในรส สัญเจตนาในโผฏฐัพพะ สัญเจตนาในธรรมารมณ์.... นี้เรียกว่าสังขาร ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ ความดับแห่งสังขาร ย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ.... เป็นปฏิปทา ให้ถึงความดับแห่งสังขาร

“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็วิญญาณคืออะไร วิญญาณ ๖ หมวดนี้ คือ ความรับรู้อารมณ์ทางตา...ทางหู...ทางจมูก...ทางลิ้น..ทางกาย...ทางมโน...นี้เรียกว่าวิญญาณ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งนามรูป ความดับแห่งวิญญาณ ย่อมมีเพราะความดับแห่งนามรูป อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ.... เป็นปฏิปทา ให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ”

ปริวัฏฏสูตร


🔅 วิธีพิจารณา ขันธ์ ๕
ปัญหา พุทธศาสนิกชนควรจะรู้จักขันธ์ ๕ ในด้านไหนบ้างและควรเพ่งพินิจขันธ์ ๕ คืออะไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ฉลาดในฐานะ ๗ ประการ ผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ เราเรียกว่ายอดบุรุษผู้เสร็จกิจ.... ฐานะ ๗ ประการเป็นอย่างไร
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้

รู้ชัดซึ่งรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ
เหตุเกิดแห่งรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ
ความดับแห่งรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ
ปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ
คุณแห่งรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ
โทษแห่งรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ
อุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณฯ

“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการเป็นอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้

ย่อมเพ่งพินิจโดยความเป็นธาตุประการหนึ่ง
โดยความเป็นอายตนะประการหนึ่ง
โดยเป็นปฏิจจสมุปบาทประการหนึ่ง

อย่างนี้แล ภิกษุย่อมเป็นผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ”

สัตตัฏฐานสูตร

พระพุทธดำรัส (๑๔)

 🙏 พระพุทธดำรัส 🙏


🔅 เตือนใจพระทุศีล
ปัญหา กุลบุตรที่บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ประพฤติล่วงละเมิดพุทธบัญญัติมีธรรมอันลามก หลอกลวงชาวบ้าน จะมีโทษอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจะขอบอกเธอทั้งหลาย จะขอเตือนเธอทั้งหลาย การที่บุคคลผู้ทุศีล มีธรรมลามก มีความประพฤติสกปรก น่ารังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว มิใช่สมณะ แต่ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญาณว่าประพฤติพรหมจรรย์ เน่าใน มีความกำหนัดกล้าเป็นดังหยากเยื่อ บริโภคบิณฑบาตที่เขาถวายด้วยศรัทธา ของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาลหรือคฤหบดีมหาศาลจะดีอย่างไร การที่บุรุษมีกำลังเอาขอเหล็กแดงไฟกำลังลุกรุ่งโรจน์โชติช่วงเกี่ยวปากอ้าไว้ แล้วกรอกก้อนเหล็กแดง ไฟกำลังลุกโชติช่วงเข้าในปาก ก้อนเหล็กแดงนั้นจะพึงไหม้ริมฝีปาก ไหม้ปาก ไหม้ลิ้น ไหม้คอ ไหม้อก ไหม้เรื่อยไปถึงไส้ใหญ่ไส้น้อย แล้วออกทางทวารเบื้องต่ำ นี้ดีกว่าข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้นั้นพึงถึงความตายหรือทุกข์ปางตาย มีข้อนั้นเห็นเหตุ แต่ผู้นั้นเมื่อตายไปไม่พึงเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย

“ส่วนการที่บุคคลผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก..... เป็นดังหยากเยื่อ บริโภคบิณฑบาตที่เขาถวายด้วยศรัทธา ของกษัตริย์ มหาศาล... ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหายมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน แก่บุคคลผู้ทุศีลนั้น และบุคคลผู้ทุศีลนั้น เมื่อตายไปย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก....ฯ”

อัคคิขันธูปมสูตร


🔅 พระธรรมวินัยแท้และของปลอม
ปัญหา พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามีมากมายเหลือหลาย อาจจะมีคำสอนของศาสนาอื่นหรือคนอื่นแทรกแซงอยู่บ้าง เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าอันไหนเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อันไหนไม่ใช่?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนอุบาลี เธอพึงรู้ธรรมเหล่าใดแลว่า ธรรมเหล่านี้ไม่เป็นไป เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพานโดยส่วนเดียว เธอพึงทรงธรรมเหล่านั้นไว้โดยส่วนหนึ่งว่า นี้ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่เป็นคำสั่งสอนของพระศาสนา ส่วนธรรมเหล่าใด.... เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพานโดยส่วนเดียว.... นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา”

วินัยวรรค


🔅 วิธีสร้างปัญญา
ปัญหา วิธีปฏิบัติในหลักศีลและสมาธิปรากฏว่า มีแจ่มแจ้งอยู่แล้ว แต่วิธีเจริญหลักที่ ๓ คือ ปัญญา ยังไม่แจ่มแจ้งพอ ขอได้โปรดแนะวิธีเจริญปัญญาด้วย ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้เพื่อความงอกงามไพบูลย์ เจริญบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว

“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งผู้ตั้งอยู่ในฐานะครูซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรักและความเคารพไว้อย่างแรงกล้า นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๑

“เธออาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์..... ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู.... นั้นแล้ว เธอเข้าไปหาแล้วไต่ถามเป็นครั้งคราวว่า.... ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นอย่างไร ท่านเหล่านั้นย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่ได้เปิดเผยทำให้แจ้งข้อที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง และบรรเทาความสงสัยในธรรมอันน่าสงสัยแก่เธอ.... นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๒

“เธอฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมยังความสงบ ๒ อย่าง คือความสงบกายและความสงบจิต ให้ถึงพร้อมนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๓

“เธอเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในปาฏิโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย.... นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๔

“เธอเป็นพหูสูต ทรงจำสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมากทรงจำไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น... ท่ามกลาง... ที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง... นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๕

“เธอย่อมปรารถนาความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความพร้อมมูลแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระกุศลธรรม นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๖

"เธอย่อมเข้าประชุมสงฆ์ ไม่พูดเรื่องต่างๆ ไม่พูดเรื่องไม่มีประโยชน์ ย่อมแสดงธรรมเองบ้าง ย่อมเชื้อเชิญให้ผู้อื่นแสดงบ้าง ไม่ดูหมิ่นการนิ่งอย่างอริยเจ้า นี้เป็นเหตุปัจจัยข้อที่ ๗"

“เธอพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่ารูป.... ความเกิดขึ้นแห่งรูป ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนา... สัญญา.... สังขาร... วิญญาณ.... ความดับแห่งวิญญาณดังนี้.... นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๘ เพื่อได้ปัญญา...ฯ”

ปัญญาสูตร


🔅 พุทธศาสนาเป็นคำสอนแบบลบจริงหรือ
ปัญหา ชาวยุโรปบางคนเห็นว่า พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนแบบลบ (Negative) ประกาศการไม่กระทำ (อกริยวาท) ไม่ส่งเสริมการสร้างสรรค์ไม่สู้กับโลก มีแต่สอนให้หนีจากโลก เป็นความจริงหรือไม่เพียงใด?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนพราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนกล่าวการไม่กระทำดังนี้ เชื่อว่ากล่าวชอบนั้นมีอยู่ เพราะเรากล่าวการไม่ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรากล่าวการไม่ทำซึ่งธรรมที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่างนี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนกล่าวการไม่กระทำ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบ แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งหมายกล่าว

“.....ดูก่อนพราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนกล่าวความขาดสูญ ดังนี้ เชื่อว่ากล่าวชอบนั้นมีอยู่ เพราะเรากล่าวความขาดสูญ แห่ง ราคะ โทสะ โมหะ เรากล่าวความขาดสูญ แห่งธรรมที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่างนี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนกล่าวความขาดสูญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบ แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งหมายกล่าวฯ”

เวรัญชสูตร

🔅 การตรัสรู้โดยฉับพลันมีได้หรือไม่
ปัญหา มีพระพุทธศาสนาบางนิกายถือว่า การบรรลุมรรคผล อาจเกิดขึ้นได้โดยแบพลัน เช่นเดียวกับแสงสว่างวาบขึ้นทันทีทันใด ขับไล่ความมืดให้หมดสิ้นไป การบรรลุมรรคผลโดยฉับพลันดังกล่าวจะมีได้หรือไม่?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนปหาราทะ มหาสมุทรลาดลุ่มลึกลงไปโดยลำดับไม่โกรกชันเหนือเหวฉันใด ในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการกระทำไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ มิใช่ว่าจะมีการบรรลุอรหัตตผลโดยตรง...ฯ”

มหาปราทสูตร


🔅 การกำหนดรู้จิตใจของคนอื่น
ปัญหา มีตามตำรากล่าวว่า ถ้าเราสามารถฝึกฝนจิตจนได้เจโตปริยญาณแล้ว เราจะสามารถรู้ความคิดของคนอื่นดังนี้ มีเรื่องใดหรือไม่ในพระไตรปิฎกที่แสดงให้เห็นตัวอย่างการรู้จิตใจคนอื่น ?

ตอบ “.....มี ในอุโบสถสูตร มีเรื่องเล่าไว้ว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับ อยู่ ณ บุพพาราม ใกล้พระนครสาวัตถี ขณะนั้นพระพุทธองค์ประทับนั่งแวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เตรียมจะทรงแสดงปาติโมกข์ ในอุโบสถสังฆกรรมคราวหนึ่ง เมื่อปฐมยามผ่านไป พระอานนท์พุทธอุปัฆฐากได้กราบทูลให้ทรงแสดงปาติโมกข์ แต่พระพุทธองค์ก็ทรงนั่งอยู่ แม้เมื่อมัชฌิชยามล่วงไป พระอานนท์กราบทูลอีก พระองค์ก็ทรงนิ่ง เมื่อปัจฉิมยามล่วงไป แสงเงินแสงทองขึ้นแล้ว พระอานนท์ได้กราบทูลอีก พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ บริษัทคือหมู่ภิกษุที่ประชุมกันอยู่ไมบริสุทธิ์ (เมื่อบริษัทไม่บริสุทธิ์ก็แสดงปาติโมกข์ไม่ได้)

“ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้มีความดำริอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ทรงหมายเอาบุคคลไหนหนอ ลำดับนั้น พระมหาโมคคัลลานะกำหนดใจด้วยใจ กระทำจิตภิกษุสงฆ์ทั้งหมดไว้ในใจแล้ว ได้เห็นบุคคลทุศีลมีบาปธรรม มีสมาจารไม่สะอาด น่ารังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว.... นั่งอยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ครั้นแล้วลุกจากอาสนะเข้าไปหาบุคคลนั้น กล่าวกะบุคคลนั้นว่า อาวุโส จงลุกไป พระผู้มีพระภาคทรงเห็นเธอแล้ว เธอไม่มีสังวาส (ฐานะที่จะอยู่ร่วม) กับภิกษุทั้งหลาย เมื่อท่านพระโมคคัลลานะกล่าวอย่างนี้แล้ว บุคคลนั้นนิ่งเฉยเสีย แม้พระมหาโมคคัลลานะ ได้บอกอีกเป็นครั้งที่ ๒ ที่ ๓ บุคคลนั้นก็นิ่งเฉยเสีย ลำดับนั้นพระมหาโมคคัลลานะจับแขนบุคคลนั้นฉุดออกมาให้พ้นซุ้มประตูด้านนอกแล้วใส่ดาล กลับไปกราบทูลพระพุทธองค์ให้ทรงแสดงปาติโมกข์ต่อไปฯ”

อุโปสถสูตร


🔅 จะรู้ได้อย่างไรว่าอาสวะสิ้นแล้ว
ปัญหา สมมติว่าบุคคลปฏิบัติธรรมจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นพระขีฌาสพ หมดสิ้นกิเลสอาสวะทั้งปวง ท่านจะรู้ได้อย่างไรว่าท่านสิ้นอาสวะ มีอะไรเป็นนิมิตเป็นเครื่องหมายให้ทราบบ้าง?

พระสารีบุตรตอบ “.....ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กำลังของภิกษุผู้ขีณาสพ ๘ ประการ ที่เป็นเหตุให้ท่านผู้ประกอบแล้วปฏิญาณความสิ้นไปแห่งอาสวะ ทั้งหลายได้ว่า อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นแล้ว (มีดังต่อไปนี้)

๑. ภิกษุผู้ขีณาสพ ในธรรมวินัยนี้ เห็นสังขารทั้งปวงแจ่มแจ้ง โดยความเป็นของไม่เที่ยง ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง....
๒. ภิกษุผู้ขีณาสพ เห็นกามทั้งหลายว่าเปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง แจ่มแจ้งด้วยปัญญา อันชอบตามความเป็นจริง....
๓. ภิกษุผู้ขีณาสพ มีจิตน้อมไป โน้มไปโอนไปในวิเวก ตั้งอยู่ในวิเวกยินดีแล้วในเนกขัมมะ ปราศจากธรรมอันจะเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะโดยประการทั้งปวง.....
๔. ภิกษุผู้ขีณาสพ เจริญสติปัฏฐาน ๔ อบรมบริบูรณ์ดีแล้ว
๕. ภิกษุผู้ขีณาสพ เจริญอิทธิบาท ๔ อบรมดีแล้ว
๖. ภิกษุผู้ขีณาสพ เจริญอินทรีย์ ๕ อบรมดีแล้ว
๗. ภิกษุผู้ขีณาสพ เจริญโพชฌงค์ ๗ อบรมดีแล้ว
๘. ภิกษุผู้ขีณาสพ เจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อบรมดีแล้ว..

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กำลังของภิกษุผู้ขีณาสพ ๘ ประการนี้แล ที่เป็นเหตุให้ท่านผู้ประกอบแล้ว ปฏิญาณความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายได้ว่า อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นแล้วฯ”

พลสูตร ที่ ๒


🔅 ผู้ไม่มีโชคได้พบพระพุทธศาสนา
ปัญหา มีคนประเภทไหนบ้าง ที่ไม่มีโชคได้พบพระพุทธศาสนา ได้ประพฤติพรหมจรรย์ และได้ลิ้มรสความสุขอันเกิดจากการปฏิบัติธรรม?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้.... เป็นผู้จำแนกธรรม.... และธรรมอันพระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดง นำความสงบมาให้.... แต่บุคคลผู้นี้เขาถึงนรกเสีย...

“อีกประการหนึ่ง ตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้.... เป็นผู้จำแนกธรรมและธรรมอันพระผู้มีพระภาคย่อมแสดง นำความสงบมาให้ .... แต่บุคคลผู้นี้เข้าถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเสีย....

“อีกประการหนึ่ง ตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้.... เป็นผู้จำแนกธรรมและธรรมอันพระผู้มีพระภาคย่อมแสดง นำความสงบมาให้ .... แต่บุคคลผู้นี้เข้าถึงเปตติวิสัยเสีย....

“อีกประการหนึ่ง ตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้.... เป็นผู้จำแนกธรรมและธรรมอันพระผู้มีพระภาคย่อมแสดง นำความสงบมาให้ .... แต่บุคคลผู้นี้เข้าถึงเทพนิกายผู้มีอายุยืนชั้นใดชั้นหนึ่งเสีย....

“อีกประการหนึ่ง ตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้.... เป็นผู้จำแนกธรรม..... นำความสงบมาให้ .... แต่บุคคลนี้กลับมาเกิดในปัจจันตชนบท และอยู่ในพวกมิลักขะไม่รู้ดีรู้ชอบ.... อันเป็นสถานที่ไม่มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ไปมา....

“อีกประการหนึ่ง ตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้.... แต่บุคคลนี้กลับมาเกิดในมัชฌิมชนบท แต่เขาเป็นมิจฉาทิฐิ มีความเห็นวิปริตว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การบวงสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มีโลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ทั้งหลายที่ผุดเกิดขึ้น (โอปปาติก) ไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ กระทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสั่งสอนประชุมชนให้รู้ตาม ไม่มีในโลก

“อีกประการหนึ่ง ตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้.... บุคคลนี้กลับมาเกิดในมัชฌิมชนบท แต่เขามีปัญญาทราม บ้าใบ้ ไม่สามารถรู้อรรถแห่งสุภาษิต และทุภาษิต

“อีกประการหนึ่ง ตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้.... เป็นผู้จำแนกธรรม.... แต่พระตถาคตมิได้แสดง ถึงบุคคลผู้นี้จะเกิดในมัชฌมิชนบท และมีปัญญาไม่บ้าใบ้ ทั้งสามารถจะรู้อรรถแห่งสุภาษิตและทุภาษิต....”

อักขณสูตร


🔅 ทำไมสตรีจึงไม่ควรบวช
ปัญหา พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สตรีบวชเป็นภิกษุณีก็จริงแต่ทรงบัญญัติข้อปฏิบัต ิอันยิ่งยวดไว้ให้ภิกษุณีปฏิบัติ จนในที่สุดก็ปรากฏว่าภิกษุณีได้หายสาบสูญไปจากวงการพระพุทธศาสนา อันเป็นเหตุผลแสดงว่าพระพุทธองค์ไม่ประสงค์จะให้สตรีได้บวชในพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงมีเหตุผลอย่างไรจึงไม่ประสงค์ให้สตรีบวช?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนอานนท์ หากมาตุคาม (สตรี) จักไม่ได้ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว พรหมจรรย์ก็ยังจะตั้งอยู่ได้นาน สัทธรรมพึงดำรงอยู่ได้ ๑,๐๐๐ ปี แต่เพราะมาตุคามออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว พรหมจรรย์จะไม่ตั้งอยู่นาน ทั้งสัทธรรมก็จักดำรงอยู่เพียง ๕๐๐ ปี

“.....ดูก่อนอานนท์ ตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ที่มีหญิงมากชายน้อย ตระกูลนั้นถูกพวกโจรกำจัดง่าย แม้ฉันใด มาตุคามได้ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยใด พรหมจรรย์ในธรรมวินัยนั้น จักไม่ตั้งอยู่นานฉันนั้นเหมือนกัน อนึ่ง ขยอกลงในนาข้าวที่สมบูรณ์ นาข้าวนั้นย่อมตั้งอยู่นาน เพลี้ยลงในไร่อ้อยที่สมบูรณ์ ไร่อ้อยนั้นย่อมตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด มาตุคามได้ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยใด พรหมจรรย์ในธรรมวินัยนั้น ย่อมไม่ตั้งอยู่นาน ฉันนั้นเหมือนกัน

“อนึ่ง บุรุษกั้นคันสระใหญ่ไว้ก่อน เพื่อไม่ให้น้ำไหลออกแม้ฉันใด เราบัญญัติครุธรรม ๘ ประการ ไม่ให้ภิกษุณีก้าวล่วงตลอดชีวิตเสียก่อน ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ”

โคตมีสูตร


🔅 ก้าวแรกในการปฏิบัติธรรม
ปัญหา ธรรมข้อไหนจำเป็นในการปฏิบัติธรรมเบื้องต้น?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อสติสัมปชัญญะมีอยู่ หิริและโอตตัปปะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์.. เมื่อหิริและโอตตัปปะมีอยู่ อินทรีย์สังวรชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่ออินทรีย์สังวรมีอยู่ ศีลชื่อว่ามีเหตุอันสมบูรณ์... เมื่อศีลมีอยู่ สัมมาสมาธิชื่อว่ามีเหตุอันสมบูรณ์ .... เมื่อสัมมาสมาธิมีอยู่ ยถาภูตญาณทัสสนะชื่อวามีเหตุสมบูรณ์.... เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะมีอยู่ นิพพิทาวิราคะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์.... เมื่อนิพพิทาวิราคะมีอยู่ วิมุติญาณทัสสนะชื่อว่ามีเหตุอันสมบูรณ์ เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีกิ่งและใบสมบูรณ์ แม้กะเทาะของต้นไม้นั้นก็ย่อมบริบูรณ์ แม้เปลือก แม้กระพี้ แม้แก่นของต้นไม้นั้นก็ย่อมบริบูรณ์ฉะนั้น ฯ”

สติสูตร


🔅 แม้โจรก็ต้องมีธรรมะ
ปัญหา มีผู้กล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมไว้สำหรับคนทุกจำพวก แม้กระทั่งโจร จริงหรือไม่? ถ้าจริง พระองค์ทรงแดสงธรรม ของโจรไว้อย่างไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๘ ประการย่อมพลันเสื่อม ตั้งอยู่ไม่นาน องค์ ๘ ประการเป็นไฉน คือประหารคนที่ไม่ประหารตอบ ๑ ถือเอาสิ่งของไม่เหลือ ๑ ลักพาสตรี ๑ ประทุษร้ายกุมารี ๑ ปล้นบรรพชิต ๑ ปล้นราชทรัพย์ ๑ ทำงานใกล้ถิ่นเกินไป ๑ ไม่ฉลาดในการเก็บ ๑....

“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๘ ประการย่อมไม่เสื่อมเร็ว ตั้งอยู่ได้นาน องค์ ๘ ประการเป็นไฉน คือไม่ประหารคนที่ไม่ประหารตอบ ๑ ไม่ถือเอาสิ่งของจนไม่เหลือ ๑ ไม่ลักพาสตรี ๑ ไม่ประทุษร้ายกุมารี ๑ ไม่ปล้นบรรพชิต ๑ ไม่ปล้นราชทรัพย์ ๑ ไม่ทำงานใกล้ถิ่นเกินไป ๑ ฉลาดในการเก็บ ๑....”

โจรสูตร ที่ ๑-๒


🔅 สมาธิกับฌาน
ปัญหา การบำเพ็ญสมาธิจนได้ฌาน จะเป็นเหตุละอาสวะได้หรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง ทุติยฌานบ้าง ตติยฌานบ้าง จตุตถฌานบ้าง ฯลฯ เพราะอาศัยแนวสัญญานาสัญญายตนะบ้าง....

“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีอยู่ในขณะแห่งปฐมฌานนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร ไม่มีสุข เป็นอาหร เป็นของผู้อื่น เป็นของชำรุด ว่างเปล่า เป็นอนัตตา เธอย่อมยังจิตให้ตั้งอยู่ด้วยธรรมเหล่านั้น ครั้นแล้วเธอย่อมโน้มจิตไปเพื่ออมตธาตุ นั้นสงบ นั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสละ คือ อุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน เธอตั้งอยู่ในปฐมฌานนั้นย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย....”

ฌานสูตร


🔅 พระพุทธเจ้าในฐานะคนธรรมดา
ปัญหา เท่าที่ศึกษาจากพุทธประวัติ รู้สึกว่าพระพุทธองค์ทรงเป็นบุคคลพิเศษ เต็มไปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ ผิดสามัญมนุษย์ มีลักษณะอะไรบ้างที่แสดงว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นมนุษย์ธรรมดา?

คำตอบ “.....ครั้งนั้นเป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้นเสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลา (ซึ่งพระนันทกะกำลังแสดงธรรมอยู่) ประทับยืนรอจนจบการแสดง ณ ซุ้มประตุด้านอก ครั้นทรงทราบว่าการแสดงจบแล้วทรงกระแอมไอและทรงเคาะที่ลิ่มประตู ภิกษุเหล่านั้นเปิดประตูให้พระผู้มีพระภาคลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลา ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้ ครั้นแล้วตรัสกะพระนันทกะว่า ดูก่อนนัทกะ ธรรมบรรยายของเธอที่ยาวมาก แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ เรายืนฟังจนจบ การแสดงที่ซุ้มประตูด้านนอก หลังของเราย่อมเมื่อย ....”

นันทกสูตร


🔅 ศีลกับอรหัตตผล
ปัญหา การรักษาศีล จะสามารถนำไปสู่การบรรลุมรรคผลได้หรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนอานนท์ ศีลที่เป็นกุศลมีอวิปปฏิสาร (ความไม่เดือดร้อน) เป็นผล.... อวิปปฏิสารมีปราโมทย์เป็นผล.... ปราโมทย์มีปีติเป็นผล.... ปีติมีปัสสัทธิเป็นผล.... ปัสสัทธิมีสุขเป็นผล... สุขมีสมาธิเป็นผล.... สมาธิมียถาภูฌาณทัสสนะเป็นผล... ยถาภูฌานทัสสนะมีนิพพิทาวิราคะเป็นผล.. นิพพิทาวิราคะมีวิมุตฌาณทัสสนะเป็นผล ด้วยประการดังนี้ ดูก่อนอานนท์ ศีลที่เป็นกุศลย่อมถึงอรหัตตผลโดยลำดับด้วยประการดังนี้แล ฯ”

กิมัตถิยสูตร 


🔅 เหตุแห่งสังฆเภท
ปัญหา ได้ทราบว่า การทำลายสงฆ์ให้แตกกันเป็นอนันตริยกรรมอย่างหนึ่ง อยากทราบว่ามีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้สงฆ์แตกแยกกัน?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนอุบาลี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมว่าเป็นธรรม ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นธรรมว่าไม่ใช่ธรรม ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่ใช่วินัยว่าเป็นวินัย ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นวินัยว่าไม่ใช่วินัย ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้กล่าวไว้ (แต่)ได้บอกไว้ว่าตถาคตกล่าวไว้บอกไว้ ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตกล่าวไว้ บอกไว้ว่าตถาคตไม่ได้กล่าวไว้บอกไว้ ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่เคยประพฤติมาว่า ตถาคตเคยประพฤติมา ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตประพฤติมา ว่าตถาคตไม่เคยประพฤติมา ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ ว่าตถาคตเคยบัญญัติไว้ ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้ ว่าตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ ๑ ภิกษุเหล่านั้นย่อมทอดทิ้งกันแยกจากกัน ทำสังฆกรรมแยกกัน สวดปาติโมกข์แยกจากกันด้วยสัตถุ ๑๐ ประการนี้ ดูก่อนอุบาลี สงฆ์ จะเป็นผู้แตกกันด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล ฯ”

อุปาลิสังฆเภทสูตร


🔅 เหตุแห่งความชั่ว
ปัญหา อะไรบ้างเป็นเหตุให้คนกระทำความชั่ว?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนมหาลี โลภะแล... โทสะแล... โมหะแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการทำบาปกรรมแห่งความเป็นไปแห่งบาปกรรม อโยนิโสมนสิการแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการทำบาปกรรม... จิตอันบุคคลตั้งไว้ผิดแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการทำบาปกรรม....ฯ”

มหาลิสูตร


🔅 อวิชชาก็มีเหตุ
ปัญหา ตามหลักปฏิจจสมุปบาทนั้น ทุกข์ทั้งหลายเมื่อไล่เลียงไปถึงที่สุดแล้วก็ไปหยุดแค่อวิชชา อยากทราบว่าอวิชชาเองมีอะไรเป็นเหตุหรือไม่?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวอวิชชาว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของอวิชชา ควรจะกล่าวว่านิวรณ์ ๕ ก็อะไรเป็นอาหารของนิวรณ์ ๕ ควรจะกล่าวว่าทุจริต ๓ ก็อะไรเป็นอาหารของทุจริต ๓ ควรจะกล่าวว่าการไม่สำรวมอินทรีย์ ก็อะไรเป็นอาหารแห่งการไม่สำรวมอินทรีย์ ควรจะกล่าวว่าความไม่มีสติสัมปชัญญะ ก็อะไรเป็นอาหารของความไม่มีสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่า การกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย อะไรเป็นอาหารของการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ควรจะกล่าวว่าความไม่มีศรัทธา ก็อะไรเป็นอาหารของความไม่มีศรัทธา ควรจะกล่าวว่าการไม่ฟังธรรม ก็อะไรเป็นอาหารของการไม่ฟังธรรม ควรกล่าวว่าการไม่คบสัตบุรุษ การไม่คบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่ฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ .......ฯ”

อวิชชาสูตร


🔅 เหตุให้พระพุทธเจ้าอุบัติ
ปัญหา อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้ ไม่พึงมีในโลก พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่พึงบังเกิดในโลก ธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้แล้ว ไม่พึงรุ่งเรืองในโลก ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ ชาติ ๑ ชรา๑ มรณะ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แลไม่พึงมีในโลก พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่พึงบังเกิดในโลก...ฯ”

อภัพพสูตร


🔅 ความหลุดพ้นผิด
ปัญหา ความหลุดพ้นหรือทางรอด ย่อมมีเฉพาะความหลุดพ้นที่ถูกต้องอย่างเดียว หรือความหลุดพ้นผิดก็มี?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยมิจฉัตตะ (การตั้งตนไว้ผิด) จึงมีการพลาดจากสวรรค์และมรรคผล ไม่มีการบรรลุสวรรค์และมรรคผล เพราะอาศัยมิจฉัตตะอย่างไร... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความเห็นผิด ย่อมมีความดำริผิด ผู้มีความดำริผิด ย่อมมีวาจาผิด ผู้มีวาจาผิด ย่อมมีการงานผิด ผู้มีการงานผิด ย่อมมีการเลี้ยงชีพผิด ผู้มีการเลี้ยงชีพผิด ย่อมมีความพยายามผิด ผู้มีความพยายามผิด ย่อมมีความระลึกผิด ผู้มีความระลึกผิด ย่อมมีความตั้งใจผิด ผู้มีความตั้งใจผิด ย่อมมีความรู้ผิด ผู้มีความรู้ผิด ย่อมมีความหลุดพ้นผิด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยมิจฉัตตะ อย่างนี้แล จึงมีการพลาดจากสวรรค์และมรรคผล.....”

มิจฉัตตสูตร


🔅 เหตุให้เกิดภวตัณหา
ปัญหา ภวตัณหา คือ ความอยากเกิดในภพ มีอะไรเป็นเหตุ หรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นแห่งภวตัณหาย่อมไม่ปรากฏในกาลก่อนแต่นี้ ภวตัณหาไม่มี แต่ภายหลังจึงมี เพราะเหตุนั้นเราจึงกล่าวคำอย่างนี้ว่า ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ภวตัณหามีข้อนี้เป็นปัจจัย จึงปรากฏ

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวภวตัณหาว่ามีอาหารมิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของภวตัณหา ควรกล่าวว่าอวิชชา....ฯ”

ตัณหาสูตร


🔅 ปฏิปักษ์ของธรรมต่าง
ปัญหา ธรรมต่างๆ ย่อมจะมีธรรมเป็นคู่กัน โปรดแสดงให้เห็นว่าธรรมอะไรมีอะไรเป็นปฏิปักษ์บ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเป็นผู้ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เป็นปฏิปักษ์ต่อความเป็นผู้ยินดีในที่สงัด ๑ การประกอบสุภนิมิต เป็นปฏิปักษ์ต่ออสุภนิมิต ๑ การดูมหรสพที่เป็นข้าศึก เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้คุ้มครองอินทรีย์ในทวารทั้งหลาย ๑ การติดต่อกับมาตุคาม เป็นปฏิปักษ์ต่อพรหมจรรย์ ๑ เสียงเป็นปฏิปักษ์ต่อปฐมฌาน ๑ วิตกวิจารเป็นปฏิปักษ์ต่อทุติยฌาน ๑ ปีติเป็นปฏิปักษ์ต่อตติยฌาน ๑ ลมอัสสาสะปัสสาสะเป็นปฏิปักษ์ต่อ จตุตถฌาน ๑ สัญญาและเวทนาเป็นปฏิปักษ์ต่อสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ๑ ราคะเป็นปฏิปักษ์ โทสะเป็นปฏิปักษ์ ๑....”

กัณฏกสูตร


🔅 ความเจริญ ๑๐ ประการ
ปัญหา มีหลักฐานอะไรบ้างที่แสดงว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงปฏิเสธโลกอย่างสิ้นเชิง ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเมื่อเจริญด้วยความเจริญ ๑๐ ประการ ย่อมเจริญด้วยความเจริญอันประเสริฐ และเป็นผู้ถือเอาสิ่งที่เป็นสาระ... ความเจริญ ๑๐ ประการเป็นไฉน คืออริยสาวก

ย่อมเจริญด้วยนาและสวน ๑
ย่อมเจริญด้วยทรัพย์และข้าวเปลือก๑
ย่อมเจริญด้วยบุตรและภรรยา ๑
ย่อมเจริญด้วยทาส กรรมการ และคนใช้ ๑
ย่อมเจริญด้วยสัตว์ ๔ เท้า ๑
ย่อมเจริญด้วยศรัทธา ๑
ย่อมเจริญด้วยศีล ๑
ย่อมเจริญด้วยสุตะ ๑
ย่อมเจริญด้วยจาคะ ๑
ย่อมเจริญด้วยปัญญา ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเมื่อเจริญด้วยความเจริญ ๑๐ ประการนี้ ย่อมเจริญด้วยความเจริญอันประเสริฐ....ฯ”

วัฑฒิสูตร 


🔅 คนใจไม่เป็นทุกข์และทุกข์ไปตามกาย
ปัญหา คนประเภทไหน เมื่อร่างกายเป็นทุกข์ จิตใจก็พลอยทุกข์ไปด้วย คนประเภทไหน แม้ร่างกายเป็นทุกข์ แต่จิตใจไม่พลอยทุกข์ไปด้วย ?

พระสารีบุตรตอบ “.....ดูก่อนคฤหบดี ปุถุชนในโลกนี้ ผู้มิได้เรียนรู้ มิได้เห็นพระอริยเจ้า ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ย่อมเห็นรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณว่าเป็นตน เห็นตนมี รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ย่อมเห็นรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณในตน ย่อมเห็นตนในรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ เป็นผู้อยู่ด้วยความถือมั่นว่าเราเป็นรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณเป็นของเรา รูป (เป็นต้นนั้น) ย่อมแปรปรวนไปเป็นอย่างอื่นเมื่อรูป (เป็นต้นนั้น) แปรปรวนไปเป็นอย่างอื่นความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์ ความขัดเคือง และความตรอมใจย่อมเกิดขึ้น... ดูก่อนคฤหบดี ด้วยเหตุอย่างนี้แล บุคคลจึงชื่อว่า มีกายกระสับกระส่าย และมีจิตกระสับกระส่าย

“.....ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ได้เรียนรู้แล้ว ได้เห็นพระอริยเจ้า ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ย่อมไม่เห็นรูปในตน ว่าเป็นตน ย่อมไม่เห็นตนมีรูป ย่อมไม่เห็นรูปในตน

ย่อมไม่เห็นตนมีรูป ไม่อยู่ด้วยความถือมั่นว่า เราเป็นรูป  รูปเป็นของเรา.... เมื่อรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ แปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป ความโศก ..... ย่อมไม่เกิดขึ้น ดูก่อนคฤหบดี อย่างนี้แล บุคคลแม้จะมีกายกระสับกระส่าย แต่หามีจิตกระสับกระส่ายไม่....”

นกุลปิตาสูตร


🔅 สาระของพระพุทธโอวาท
ปัญหา ถ้ามีคนถามเราว่าพระศาสดาของท่านมีวาทะอย่างไร ตรัสสอนอย่างไร จะตอบว่าอย่างไรจึงจะถูกต้อง?

พระสารีบุตรตอบ “.....ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงตอบอย่างนี้ว่า... พระศาสดาของเราตรัสสอนให้กำจัดความยินดีและความใคร่... ความยินดีและความใคร่ในอะไร ? ความยินดีและความใคร่ในรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ.... ทรงเห็นโทษอะไรจึงตรัสสอนให้กำจัดความยินดีและความใคร่...เพราะว่า เมื่อบุคคลมีความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความกระหาย ความกระวนกระวาย ความทะยานอยากในรูป (เป็นต้น) ยังไม่หายขาด ความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์ ความขัดเคือง และความตรอมใจย่อมเกิดขึ้น... ในเมื่อรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ.... แปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป”

เทวทหสูตร


🔅 เหตุเกิดและดับแห่งขันธ์ ๕
ปัญหา พระพุทธพจน์ที่ว่า ภิกษุมีจิตเป็นสมาธิแล้วย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง หมายความว่ารู้อะไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมรู้ชัดซึ่งความเกิดและความดับแห่ง รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นความจริงแห่งรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ? “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลในโลกนี้ย่อมเพลิดเพลินหลงใหล ดื่มด่ำอยู่ในรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ เมื่อเพลิดเพลินหลงใหล ดื่มด่ำอยู่ในรูป ความยินดีพอใจก็เกิดขึ้น ความยินดีพอใจในรูป เป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานของบุคคลนั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพระภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีความแก่ ความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์ ความขัดเคือง ความตรอมตรมใจ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวล ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นความดับแห่งรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ?
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่หลงใหล ไม่ดื่มด่ำใน รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ เมื่อเธอไม่เพลิดเพลิน ไม่หลงใหล....... ความยินดีในรูปย่อมดับไป เพราะความยินดีของภิกษุนั้นดับไป อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ความแก่ ความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ... จึงดับไป ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวล ย่อมมีด้วยประการฉะนี้”

สมาธิสูต

พระพุทธดำรัส (๑๓)

 🙏 พระพุทธดำรัส 🙏

🔅 พุทธทำนายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
ปัญหา ความเจริญหรือเสื่อมแห่งพระพุทธศาสนาท่านว่า ย่อมขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติของพุทธบริษัททั้ง ๔ เฉพาะอย่างยิ่งภิกษุบริษัทซึ่งเป็นผู้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ภิกษุประพฤติปฏิบัติอย่างไรจะชื่อว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา ?

พุทธดำรัสตอบ “......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอนาคตภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้ชอบจีวรดีงาม เมื่อชอบจีวรดีงาม ก็จักละความเป็นผู้ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร จักละเสนาสนะอันสงัดคือป่า และป่าชัฏ จะประชุมกันอยู่ที่บ้าน นิคมและราชธานี และจักถึงการแสวงหาไม่สมควร อันไม่เหมาะสมต่าง ๆ เพราะเหตุจีวร....

“อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้ชอบบิณฑบาตที่ดีงาม..... จักละความเป็นผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร..... จักประชุมกันอยู่ที่บ้าน นิคมและราชธานี แสวงหาบิณฑบาตที่มีรสเลิศด้วยปลายลิ้น แลจักถึงการแสวงหาอันไม่สมควร ไม่เหมาะสมต่างๆ เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต....

“อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้ชอบเสนาสนะที่ดีงาม..... จักละความเป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร..... จักประชุมกันอยู่ที่บ้าน นิคมและราชธานี แลจักถึงการแสวงหาอันไม่สมควร ไม่เหมาะสมต่าง ๆ เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ....

“อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้คลุกคลีด้วยภิกษุณีนางสิกขมานา แลสมณุทเทส เมื่อมีการคลุกคลี... พึงหวังข้อนี้ได้ว่า เธอเหล่านั้นจักเป็นผู้ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ จักต้องอาบัติเศร้าหมองบางอย่าง หรือจักบอกคืนสิกขา เวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์

“อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้คลุกคลีด้วยอารามิกบุรุษ แลสมณุทเทส เมื่อมีการคลุกคลี... พึงหวังข้อนี้ได้ว่า เธอเหล่านั้นจักเป็นผู้ประกอบการบริโภคของที่สะสมไว้มีประการต่าง ๆ จักกระทำนิมิตแม้อย่างหยาบที่แผ่นดินบ้าง ที่ปลายของเขียวบ้าง

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคต ๕ ประการนี้แล.... อันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยเหล่านั้นฯ”

อนาคตสูตร


🔅 ภัยของพระพุทธศาสนา
ปัญหา ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีภัย เมื่อภัยเกิดขึ้นย่อมทำลายสิ่งนั้น ๆ ให้เสียหายหรือพินาศ พระพุทธศาสนาก็น่าจะมีภัยเช่นเดียวกัน อยากทราบว่าภัยของพระพุทธศาสนามีอะไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอนาคตภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย... ศีล... จิต... ปัญญาจักให้อุปสมบทกุลบุตรเหล่าอื่น จักไม่สามารถแนะนำกุลบุตรแม้เหล่านั้นในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แม้กุลบุตรเหล่านั้น ก็จักไม่อบรมกาย... ศีล... จิต... ปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย... ศีล... จิต... ปัญญา ก็จักให้อุปสมบทกุลบุตรเหล่าอื่น จักไม่สามารถแนะนำกุลบุตร แม้เหล่านั้นในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แม้กุลบุตรเหล่านั้น ก็จักไม่อบรมกาย... ศีล... จิต... ปัญญา เพราะเหตุนี้แล การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย.....

“อีกประการหนึ่ง ในอนาคตภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย....ศีล.... จิต.....ปัญญา.... จะให้นิสัยแก่กุลบุตรเหล่านั้น จักไม่สามารถแนะนำกุลบุตรแม้เหล่านั้นในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แม้กุลบุตรเหล่านั้น ก็จักไม่อบรมกาย... ศีล... จิต... ปัญญา เพราะเหตุนี้แล การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย ย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย.....

“อีกประการหนึ่ง ในอนาคตภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย....ศีล.... จิต.....ปัญญา.... เมื่อแสดงอภิธรรมกถา เวทัลลกถา หยั่งลงสู่ธรรมที่ผิด ก็จักไม่รู้สึก เพราะเหตุนี้แล การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม.....

“อีกประการหนึ่ง ในอนาคตภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย....ศีล.... จิต.....ปัญญา.... พระสูตรต่างๆ ที่ตถาคตได้ภาษิตไว้ เป็นสูตรลึกซึ้ง เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยสุญญตาธรรม พระสูตรเหล่านั้นอันบุคคลแสดงอยู่ก็จักไม่ฟังด้วยดี.... จักไม่เงี่ยโสตลงสดับ จักไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ จักไม่ใฝ่ใจในธรรมเหล่านั้น ว่าควรศึกษาเล่าเรียน แต่ว่าสูตรต่างๆ ที่นักกวีแต่งไว้ ประพันธ์เป็นบทว่า มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะสละสลวย เป็นพาหิรกถา เป็นสาวกภาษิต เมื่อสูตรเหล่านั้นอันบุคคลแสดงอยู่ จักฟังด้วยดี... เพราะเหตุนี้แล การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย.....

“อีกประการหนึ่ง ในอนาคตภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย....ศีล.... จิต.....ปัญญา.... ภิกษุผู้เถระจักเป็นผู้มักมาก มีความประพฤติย่อหย่อนเป็นหัวหน้าในความล่วงละเมิด ทอดธุระในความสงัด จักไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง.... ประชุมชนรุ่นหลังก็จักถือเอาภิกษุเหล่านั้นเป็นตัวอย่าง แม้ประชุมชนนั้นก็จะเป็นผู้มักมาก..... เพราะเหตุนี้แล การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย.....

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคต ๕ ประการนี้แล.... อันเธอทั้งหลายถึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยเหล่านั้น”

อนาคตสูตร ที่ ๓


🔅 ทางสู่ความดับทุกข์
ปัญหา ก็เมื่อภิกษุเป็นผู้อยู่ในธรรม แล้ว จะพึงปฏิบัติโดยลำดับขั้นอย่างไร จึงจะบรรลุถึงความดับทุกข์?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเสพเสนาสนะอัน สงัด คือโคนไม้ ภูเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฝาง เธออยู่ในป่าโคนไม้หรือเรือนว่าง ย่อมนั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอย่อมละอภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้) ในโลกเสีย.... เธอย่อมละความคิดประทุษร้ายคือพยาบาท....เธอย่อมละถีนมิทธะ (ความง่วงเหง่าหาวนอน) เสีย...เป็นผู้มีอาโลกสัญญา มีสติสัมปชัญญะ.... เธอย่อมลุอุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านรำคาญ) มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายใน.... เธอย่อมละวิจิกิจฉา หมดความสงสัยในธรรมทั้งหลาย.... เธอละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งใจ ซึ่งทำปัญญาให้อ่อนกำลัง แล้วบรรลุ ปฐมฌาน..... ทุติยฌาน.... ตติยฌาน... จตุตถฌาน.... เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้วไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวแล้วอย่างนี้ เธอย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยฌาณ (ความรู้ที่ทำอาสวะให้สิ้น) เธอย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาเหล่านี้อาสวะ เหล่านี้เหตุเกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตของเธอย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีฌานหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก นี้ชื่อว่าชัยชนะ ในสงครามของเธอ...ฯ”

โยธาชีวสูตร ที่ ๑


🔅 ทำอย่างไรจึงจะถูกพุทธประสงค์
ปัญหา ภิกษุที่บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ควรจะปฏิบัติตนอย่างไร หรือไม่ควรจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าเป็นผู้ อยู่ในธรรม อย่างแท้จริง หรือว่าจะปฏิบัติกิจเบื้องต้นอย่างไร จึงจะถูกต้องพระพุทธประสงค์ ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณ์ คาถา อุทาน อติวุตตกะ ชาดก อัพภูธรรม เวทัลละ เธอย่อมปล่อยให้วันคืนล่วงไป ละการหลีกออกเร้นอยู่ไม่ประกอบความสงบใจในภายใน เพราะการเรียนธรรมนั้น ภิกษุนี้เรียกว่าเป็นผู้มากด้วยการเรียน ไม่ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรม

“อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมแสดงธรรมตามที่ได้สดับมาแล้ว ตามที่ได้เรียนมาแล้ว โดยพิสดาร เธอย่อมปล่อยให้วันคืนล่วงไป... ไม่ประกอบความสงบใจในภายใน.... ภิกษุนี้เรียกว่าเป็นผู้มากด้วยการแสดงธรรม ไม่ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรม

“อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมทำการสาธยายธรรมตามที่ได้สดับมาแล้ว ตามที่ได้เรียนมาแล้ว โดยพิสดาร เธอย่อมปล่อยให้วันคืนล่วงไป... ไม่ประกอบความสงบใจในภายใน.... ภิกษุนี้เรียกว่าเป็นผู้มากด้วยการสาธยายธรรม ไม่ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรม

“อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตามด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ได้สดับมาแล้ว ตามที่ได้เรียนมาแล้ว เธอย่อมปล่อยให้วันคืนล่วงไป... ไม่ประกอบความสงบใจในภายใน.... ภิกษุนี้เรียกว่าเป็นผู้มากด้วยการตรึกตรองธรรม ไม่ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรม

“อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเล่มเรียนธรรม คือ สุตตะ... เวทัลละ เธอย่อมปล่อยให้วันคืนล่วงไป... ไม่ละการหลีกออกเร้นอยู่ ประกอบความสงบใจในภายใน.... เพราะการเล่าเรียนธรรมนั้น ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรมอย่างนี้แล.....

“ดูก่อนภิกษุ นั่นโคนต้นไม้ นั่นเรือนว่าง เธอจงเพ่งฌานอย่าประมาท อย่าเป็นผู้มีความเดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นอนุสาสนีของเราเพื่อเธอทั้งหลายฯ”

ธรรมวิหาริกสูตร ที่ ๑


🔅 ทำไมคนจึงต้องคิดถึงความตาย
ปัญหา ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นเรื่องของความเศร้า ความทุกข์ คนไม่ชอบ ไม่อยากประสบ แม้แต่คิดถึงก็ไม่อยากคิด แต่เหตุไฉนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พุทธบริษัทพิจารณาธรรมชาติเหล่านี้เสมอ ๆ?

พุทธดำรัสตอบ “......ความมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาว มีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายประพฤติทุจริตด้วย กาย วาจา ใจ เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้น (ว่าเรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้) อยู่เนืองๆ ย่อมละความมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาวนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้

“......ความมัวเมาในความไม่มีโรค มีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายประพฤติทุจริตด้วย กาย วาจา ใจ เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้น (ว่าเรามีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้) อยู่เนืองๆ ย่อมละความมัวเมาในความไม่มีโรคนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้

“......ความมัวเมาในชีวิตมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายประพฤติทุจริตด้วย กาย วาจา ใจ เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้น (ว่าเรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้) อยู่เนืองๆ ย่อมละความมัวเมาในชีวิตนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้”

ฐานสูตร


🔅 วิธีงดเว้นความชั่ว
ปัญหา คนย่อมทำความชั่วทาง กาย วาจา ใจ ด้วยเหตุต่างๆ กัน ทำเพราะความจำเป็นก็มี ทำเพราะสันดานชั่วก็มี ทำเพราะความโง่เขลาก็มี ทำเพราะความเห็นผิดเป็นชอบก็มี จะทำอย่างไร จึงจะให้คนละการทำความชั่วได้ ?

พุทธดำรัสตอบ “......สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่าเรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต มีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนือง ๆ ย่อมละทุจริตได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้”

ฐานสูตร


🔅 ควรบวชเมื่อหนุ่มหรือเมื่อแก่
ปัญหา การบวชในเมื่อยังหนุ่มแน่น กับบวชเมื่อแก่ อย่างไหนจะดีกว่ากัน ?

พุทธดำรัสตอบ “......ภิกษุบวชเมื่อแก่ เป็นคนละเอียดหาได้ยาก เป็นผู้มีมารยาทสมบูรณ์หาได้ยาก เป็นพหูสูตรหาได้ยาก เป็นธัมมกถึกหาได้ยาก เป็นวินัยธรหาได้ยาก... เป็นผู้ว่าง่ายหาได้ยาก เป็นผู้คงแก่เรียนหาได้ยาก เป็นผู้รับโอวาทด้วยความเคารพหาได้ยาก....”

ทุลลภสูตร ๑-๒


🔅 ประโยชน์ของการเดินจงกรม
ปัญหา วิธีการบำเพ็ญสมถกรรมฐาน เพื่อทำจิตให้สงบระงับนั้น มีอยู่หลายวิธี การเดินจงกรมก็เป็นวิธีหนึ่ง อยากทราบว่าพระพุทธองค์ทรงเห็นประโยชน์อย่างไร จึงทรงแนะนำให้ภิกษุเดินจงกรม?

พุทธดำรัสตอบ “......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการเดินจงกรมมี ๕ ประการ ๕ ประการเป็นไฉน คือ

ภิกษุผู้เดินจงกรมย่อมเป็นผู้อดทนต่อการเดินทางไกล ๑
ย่อมเป็นผู้อดทนต่อการบำเพ็ญเพียร ๑
ย่อมเป็นผู้มีอาพาธน้อย ๑
อาหารที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มแล้วย่อมย่อยไปโดยดี ๑
สมาธิที่ได้เพราะการเดินจงกรมย่อมตั้งอยู่ได้นาน ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการเดินจงกรมมี ๕ ประการฉะนี้แลฯ”

จังกมสูตร 


🔅 บางครั้งก็ควรงดการบำเพ็ญเพียร
ปัญหา ขึ้นชื่อว่าเป็นพระภิกษุแล้ว จะต้องบำเพ็ญเพียรเพื่อมรรคผลเรื่อยไป หรือว่ามีกาลสมัยพิเศษที่ภิกษุไม่ควรบำเพ็ญเพียร?

พุทธดำรัสตอบ “......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยที่ควรบำเพ็ญเพียร ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นคนแก่ ถูกชราครอบงำ นี้เป็นสมัยที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียรข้อที่หนึ่ง

“อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้อาพาธ ถูกพยาธิครอบงำ นี้เป็นสมัยที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียรข้อที่สอง

“อีกประการหนึ่ง สมัยที่มีข้างแพง ข้าวเสียหาย มีบิณฑบาต หาได้ยาก ไม่สะดวกที่จะยังอัตตภาพให้เป็นไปด้วยการแสวงหาบิณฑบาต นี้เป็นสมัยที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียรข้อที่สาม

“อีกประการหนึ่ง สมัยมีภัย มีความกำเริบในป่าดง ชาวชนบทพากันขึ้นยานพาหนะอพยพไป นี้เป็นสมัยที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียรข้อที่สี่

“อีกประการหนึ่ง สมัยที่สงฆ์แตกกัน.... ย่อมมีการด่ากันและกัน บริภาษกันและกัน มีการใส่ร้ายกันและกัน มีการทอดทิ้งกันและกัน คนผู้ไม่เลื่อมใส ในหมู่สงฆ์นั้น ย่อมเลื่อมใส และคนบางพวกที่เลื่อมใสอยู่แล้ว ย่อมเป็นอื่นไป นี้เป็นเวลาที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียรข้อที่ ๕ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียร ๕ ประการ มีดังนี้แล ฯ

สมยสูตร


🔅 เจริญมรณัสสติอย่างไร
ปัญหา ทางพระพุทธศาสนาสนให้หมั่นเจริญมรณัสสติ คือ การระลึกถึงความตายเพื่อความไม่ประมาท อยากทราบว่าจะเจริญมรณัสสติโดยวิธีใด?

พุทธดำรัสตอบ “......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุใดย่อมเจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่ง (อาจจะมีชีวิตอยู่เพียงวันหนึ่งกับคืนหนึ่งเท่านั้น) (หรือ)... เราพึงเป็นอยู่ได้ตลอดวันหนึ่ง (หรือ).... เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะที่ฉันบิณฑบาตมื้อหนึ่ง (หรือ).... เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะที่เคี้ยวคำข้าวสี่ห้าคำกลืนกิน เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้ เรากล่าวว่าเป็นผู้ประมาท เจริญมรณัสสติ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายช้า

“ส่วนภิกษุใด ย่อมเจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะที่เคี้ยวคำกลืนกิน (หรือ).... เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะที่หายใจเข้าแล้วหายใจออก หรือหายใจออกแล้วหายใจเข้า เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้เรากล่าวว่าเป็นผู้ไม่ประมาท ย่อมเจริญมรณัสสติ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย แรงกล้า...เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้”

มรณัสสติสูตร ที่ ๑

“......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางวันผ่านไป กลางคืนย่างเข้ามา ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เหตุแห่งความตายของเรามีมากหนอ คือ งูพึงกัดเรา แมงป่องพึงต่อยเรา หรือตะขาบพึงกัดเรา เราพึงตายเพราะเหตุนั้น อันตรายนั้นพึงมีแก่เราพึงพลาดล้มลง อาหารที่เราฉันแล้วไม่พึงย่อมดี.... เสมหะ... หรือลมที่มีพิษเพียงดังศัสตราของเราพึงกำเริบ เราพึงตายเพราะเหตุนั้น.... ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้ อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้กระทำกาละ (ตาย) ในกลางคืนมีอยู่หรือหน ถ้าภิกษุพิจาณาอยู่ย่อมราบอย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปเพียรความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีปริมาณยิ่ง เพื่อละธรรมอันเป็นบาปกุศลนั้น เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าโพกศีรษะ ถูกไฟไหม้ พึงทำฉันทะ.... เมื่อดับผ้าโพกศีรษะหรือศีรษะนั้น.... ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ย่อมทราบอย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศล... ไม่มี ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์ ตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งกลางวันกลางคืนอยู่เถิด...ฯ”

มรณัสสติสูตร ที่ ๒



🔅 คนฆ่าไม่รวย-คนรวยไม่ฆ่า
ปัญหา ทำไมคนที่เลี้ยงชีพด้วยการฆ่าปลา ฆ่าวัว ฆ่าเนื้อ ฆ่าแพะ ฆ่าสุกร ฯลฯ ขาย จึงไม่ค่อยร่ำรวย?

พุทธดำรัสตอบ “......ดูก่อนภิกษุ เรา.... ไม่ได้เห็นไม่ได้ฟังมาว่า ชาวประมงผูกปลา ฆ่าปลาขายอยู่.... คนฆ่าโค ฆ่าโคขายอยู่.... พรานเนื้อฆ่าเนื้อขายอยู่... ย่อมขี่ช้าง ขี่ม้า ขี่รถ ขึ้นยาน เป็นเจ้าของโภคะหรือครอบครองกองโภคะสมบัติเป็นอันมาก เพราะกรรมนั้น เพราะอาชีพนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าเขาย่อมเพ่งดูปลาเหล่านั้น.... เพ่งดูโคเหล่านั้น.... เพ่งดูเนื้อเหล่านั้น ที่พึงฆ่า... ที่นำมาเพื่อฆ่าด้วยใจที่เป็นบาป เขาจึงไม่ได้ขี่ช้าง.... ไม่ได้เป็นเจ้าของโภคะ ไม่ได้ครอบครองกองโภคะสมบัติเป็นอันมาก.... จะกล่าวอะไรถึงบุคคลผู้เพ่งดูมนุษย์ที่พึงฆ่า ที่นำมาเพื่อฆ่าด้วยใจที่เป็นบาปเล่า เพราะผลข้อนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานแก่เขา เมื่อตายไปแล้ว เขาย่อมเข้าพึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก”

มัจฉสูตร


🔅 วิธีดับอาสวะ ๖ วิธี
ปัญหา เท่าที่ได้ยินได้ฟังมานั้น อาสวะทั้งหลายดูเหมือนจะละได้ด้วยการบำเพ็ญเพียรทางจิต จนได้บรรลุมรรคผลเท่านั้น จะมีวิธีละอาสวะวิธีใดวิธีหนึ่งอีกหรือไม่ ที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้....?

พุทธดำรัสตอบ “......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะอันภิกษุพึงละด้วยการสำรวม คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมด้วยการสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเมื่อเธอไม่รวมพึงเป็นเหตุให้อาสวะที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อนเกิดขึ้น เมื่อเธอสำรวมอยู่ อาสวะเหล่านั้น... ย่อมไม่มีแก่เธอ...

“......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะอันภิกษุพึงละด้วยการซ่องเสพ.... คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นเสพจีวรเพียงเพื่อป้องกัน หนาว ร้อน เหลือบ ยุง ลม แดด.... เพียงเพื่อปกปิดอวัยวะอันน่าละอาย... ย่อมเสพบิณฑบาต... เพียงเพื่อความดำรงอยู่... ย่อมเสพเสนาสนะ เพียงเพื่อป้องกันหนาว ร้อน เหลือบ ยุง ลม แดด... เพียงเพื่อบรรเทาอันตรายที่เกิดจากฤดู.... ย่อมเสพคิลานปัจจัย เภสัชบริขารเพียงเพื่อบรรเทาเวทยาอันเกิดจากอาพาธต่าง ๆ ... เมื่อเธอเสพอยู่ อาสวะเหล่านั้นที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อนย่อมไม่มี....

“......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะอันภิกษุพึงละด้วยความอดกลั้น.... คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมเป็นผู้อดทนต่อหนาว ร้อน หิว กระหาย เหลือบ ยุง ลม แดด ย่อมเป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำหยาบ คำเสียดสี... อดกลั้นต่อทุกขเวทนาทางกาย.... เมื่อเธออดทนอยู่ อาสวะเหล่านั้นที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อนย่อมไม่มีแก่เธอ....

“......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะอันภิกษุพึงละด้วยการหลีกเลี่ยง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมหลีกเลี่ยง ช้างดุ ม้าดุ โคดุ สุนัขดุ งู หลักตอ ที่มีหนาม หลุม ตลิ่งชัน บ่อโสโครก ท่อโสโครก... ย่อมหลีกเหลี่ยงที่ไม่ควรนั่ง ที่ไม่ควรเที่ยวไป และบาปมิตร.... เมื่อเธอหลีกเลี่ยงอยู่ อาสวะเหล่านั้นที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อนย่อมไม่มีแก่เธอ....

“......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะอันภิกษุพึงละด้วยการบรรเทา.... คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมไม่รับไว้ ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้สิ้นไป ย่อมทำให้หมดไปซึ่งพยาบาทวิตก.... ซึ่งวิหิงสาวิตก... ซึ่งธรรมที่เป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ... เมื่อเธอบรรเทาทาอยู่ อาสวะเหล่านั้นที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อนย่อมไม่มีแก่เธอ....

“......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะอันภิกษุพึงละด้วยการภาวนา.... คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมเจริญธรรมอันเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ๗ ประการ คือ สติ.... ธัมมวิจยะ... วิริยะ... ปีติ.... ปัสสสัทธิ... สมาธิ... อุบเกขา อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธน้อมไปเพื่อความสละ ... เมื่อเธอเจริญโพชฌงค์อยู่ อาสวะเหล่านั้นที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อนย่อมไม่มีแก่เธอ....ฯ”

อาสวสูตร


🔅 ความมุ่งหมายในชีวิตของคน ๖ ประเภท
ปัญหา บุคคลประเภทต่างๆ ต่อไปนี้คือ กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี สตรี โจร และสมณะ ประสงค์อะไร นิยมอะไร มั่นใจอะไร ต้องการอะไร มีอะไรเป็นที่สุด?

พุทธดำรัสตอบ “......ดูก่อนพราหมณ์ ธรรมดากษัตริย์ ย่อมประสงค์โภคทรัพย์ นิยมปัญญา มั่นใจในกำลังทหาร ต้องการได้แผ่นดิน มีความเป็นใหญ่เป็นที่สุด

“ธรรมดาพราหมณ์ ย่อมประสงค์โภคทรัพย์ นิยมปัญญา มั่นใจในมนต์ ต้องการบูชายัญ มีพรหมโลกเป็นที่สุด

“ธรรมดาคฤหบดีทั้งหมาย ย่อมประสงค์โภคทรัพย์ นิยมปัญญา มั่นใจในศิลปะ ต้องการการงาน มีการงานที่สำเร็จแล้วเป็นที่สุด

“ธรรมดาสตรีทั้งหลาย ย่อมประสงค์บุรุษ นิยมเครื่องแต่งตัว มั่นใจในบุตร ต้องการไม่ให้มีสตรีอื่นร่วมสามี มีความเป็นใหญ่ในบ้านเป็นที่สุด

“ธรรมดาโจรทั้งหลาย ย่อมประสงค์ลักทรัพย์ของผู้อื่น นิยมที่ลับเร้น มั่นใจในศัสตรา ต้องการที่มืด มีการที่ผู้อื่นไม่เห็นเขาเป็นที่สุด

“ธรรมดาสมณะทั้งหลาย ย่อมประสงค์ขันติ โสรัจจะ (สงบเสงี่ยมเจียมตัว) นิยมเครื่องปัญญา มั่นใจในศีล ต้องการความไม่มีห่วงใย มีพระนิพพานเป็นที่สุด”

ขันติยาธิปปายสูตร


🔅 ทำไมพระจึงลาสิกขา
ปัญหา ภิกษุผู้ปฏิบัติทางจิตใจอย่างแรงกล้า จนได้บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และเจโตสมาธิแล้ว จะมีทางสละเพศสึกออกมาเป็นคฤหัสถ์ได้หรือไม่ ?

พระมหาโกฏฐิตะตอบ “......ดูก่อนท่านผู้มีอายุ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นดุจสงบเสงี่ยม.... อ่อนน้อม... สงบเรียบร้อย ตลอดเวลาที่อาศัยพระศาสนาหรือเพื่อพรหมจรรย์ผู้อยู่ในฐานะเป็นครูรูปใดรูปหนึ่งอยู่ แต่ว่าเมื่อใดเขาหลีกออกไปจากพระศาสนา หลีกออกไปจากเพื่อนพรหมจรรย์... เมื่อนั้นเขาย่อมคลุกคลีด้วยพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชามหาอำมาตย์ พวกเดียรถีย์ พวกสาวกเดียรถีย์อยู่ เมื่อเขาคลุกคลีอยู่ด้วยหมู่ ปล่อยจิตไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบคุย ราคะย่อมรบกวนจิตเขา เขามีจิตถูกราคะรบกวน ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ เปรียบเหมือนโคที่เคยกินข้าวกล้า ถูกเขาผูกไว้ด้วยเชือกหรือขังไว้ในคอก ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่าโค.... ตัวนี้จักไม่ลงกินข้าวกล้าอีก

“อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ สงัดจากกามสงัดจากอกุศลกรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เขากล่าวว่า เราได้ปฐมฌาน (แต่) คลุกคลีด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ปล่อยจิตไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบคุย ราคะย่อมรบกวนจิตเขา ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ เปรียบเหมือนฝนเม็ดใหญ่ตกลงที่ทางใหญ่ ๔ แพร่ง พึงยังฝุ่นให้หายไป ปรากฏเป็นทางลื่น ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่าฝุ่นจักไม่ปรากฏที่ทางใหญ่ ๔ แพร่งโน้นอีก?

“อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ บรรลุทุติฌาน.... เขาย่อมกล่าวว่า เราได้ทุติยฌาน (แต่) คลุกคลีด้วยพวกภิกษุ ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ เปรียบเหมือนฝนเม็ดใหญ่ตกลงที่สระใหญ่ใกล้บ้านหรือนิคมพึงยังทั้งหอยกาบและหอยโข่ง ทั้งก้อนกรวด และกระเบื้องให้หายไป ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า บัดนี้หอยกาบหอยโข่ง ก้อนกรวดแลกระเบื้อง จักไม่ปรากฏในสระโน้นอีก ?

“อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ บรรลุตติยฌาน... เขากล่าวว่า เราได้ตติยฌาน (แต่) คลุกคลีด้วยพวกภิกษุ ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ เปรียบเหมือนอาหารค้างคืน ไม่พึงชอบใจแก่บุรุษผู้บริโภคอาหารประณีต ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่าอาหารจักไม่เป็นที่ชอบใจแก่บุรุษชื่อโน้นอีก ?

“อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ บรรลุเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต... เขากล่าวว่า เราได้เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต (แต่) คลุกคลีด้วยพวกภิกษุ ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ เปรียบเหมือนพระราชา หรือมหาอำมาตย์ของพระราชามีจตุรงค์เสนาเดินทางไกลไปพักแรมคืนอยู่ที่ป่าทึบแหงหนึ่ง... เสียงจักจั่นเรไรพึงหายไปเพราะเสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียพลเดินเท้า เสียงกึกก้องแห่งกรอง บัณเฑาะว์ สังข์และพิณ เรา ผู้ใดพึงกล่าว บัดนี้ ที่ป่าทึบแห่งโน้น เสียงจักจั่นเรไร จักไม่มีปรากฏอีก?ฯ”

จิตตหัตถิสารีปุตตสูตร


🔅 ภรรยา ๗ ประเภท
ปัญหา พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกภรรยาไว้กี่ประเภท มีอะรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ “......ดูก่อนสุชาดา ภรรยาของบุรุษ ๗ จำพวกนี้... คือ ภรรยาเสมอด้วยเพชฌฆาต ๑ ภรรยาเสมอด้วยโจร ๑ ภรรยาเสมอด้วยนาย ๑ ภรรยาเสมอด้วยแม่ ๑ ภรรยาเสมอด้วยพี่สาวน้องสาว ๑ ภรรยาเสมอด้วยเพื่อน ๑ ภรรยาเสมอด้วยทาสี ๑

ปัญหา ที่ว่าภรรยาเสมอด้วยเพชฌฆาตนั้น เป็นอย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ภรรยาผู้มีจิตประทุษร้าย ไม่อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ยินดีในชายอื่น ดูหมิ่นสามี เป็นผู้อันเขาซื้อมาด้วยทรัพย์ พยายามจะฆ่าผัว ภรรยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่าวธกาภริยา ภรรยาผู้เสมอด้วยเพชฌฆาต”

ปัญหา ที่ว่าภรรยาเสมอด้วยโจร นั้น มีลักษณะอย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....สามีของหญิงประกอบด้วยศิลปกรรม พาณิชยกรรม และกสิกรรม ได้ทรัพย์ใดมา ภรรยาปรารถนาจะยักยอกทรัพย์แม้มีอยู่น้อยนั้นเสีย ภรรยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่าโจรภริยา ภรรยาผู้เสมอด้วยโจร”

ปัญหา ที่ว่าภรรยาเสมอด้วยนายนั้น มีลักษณะอย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ภรรยาที่ไม่สนใจการงาน เกียจร้าน กินมาก ปากร้าย ปากกล้า ร้ายกาจ กล่าวคำหยาบข่มขี่สามีผู้ขยันขันแข็ง ภรรยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่าอัยยภริยา ภรรยาผู้เสมอด้วยนาย”

ปัญหา ที่ว่าภรรยาเสมอด้วยแม่นั้น มีลักษณะอย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ภรรยาใดอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูลทุกเมื่อ ตามรักษาสามีเหมือนมารดารักษาบุตร รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้ ภรรยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่ามาตาภริยา ภรรยาผู้เสมอด้วยแม่”

ปัญหา ที่ว่าภรรยาเสมอด้วยพี่สาวน้องสาวนั้น มีลักษณะอย่างไร ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ภรรยาที่เป็นเหมือนพี่สาวน้องสาว มีความเคารพในสามีของตน เป็นคนละอายาบาป เป็นไปตามอำนาจสามี ภรรยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่าภคินีภริยา ภรรยาผู้เสมอด้วยพี่สาวน้องสาว”

ปัญหา ที่ว่าภรรยาเสมอด้วยเพื่อนนั้น มีลักษณะอย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ภรรยาใดในโลกนี้ เห็นสามีและชื่นชมยินดีเหมือนเพื่อนผู้จากไปนานแล้วกลับมา เป็นหญิงมีตระกูล มีศีล มีวัตร ปฏิบัติสามี ภรรยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่าสขีภริยา ภรรยาผู้เสมอด้วยเพื่อน”

ปัญหา ที่ว่าภรรยาเสมอด้วยทาสีนั้น มีลักษณะอย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ภรรยาสามีเฆี่ยนตี ขู่ตะคอก ก็ไม่โกรธ ไม่คิดพิโรธโกรธตอบสามี อดทนได้ เป็นไปตามอำนาจสามี ภรรยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่าทาสีภริยา ภรรยาผู้เสมอด้วยทาสี”

ภริยาสูตร


🔅 โทษของความโกรธ
ปัญหา ความโกรธมีโทษอย่างไรบ้าง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแนะนำให้ระงับกำจัดเสีย ?

พุทธดำรัสตอบ “.....คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะอาบน้ำ ไล้ทา ตัดผม โกนหนวด นุ่งผ้าขาวสะอาดแล้วกตาม... ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณทราม.....

“.....คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะนอนบนบัลลังก์อันลาด้วยฝ้าขนสัตว์ ลาด้วยฝ้าขาวเนื้ออ่อน ลาดด้วยเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด มีผ้าดาดเพดาน มีหมอนหนุนศีรษะและหนุนเท้าแดงทั้งสองข้างก็ตาม ย่อมนอนเป็นทุกข์....

“.....คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็สำคัญว่าเราถือเอาสิ่งเป็นประโยชน์ แม้จะถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ก็สำคัญว่าเราถือเอาสิ่งไม่เป็นประโยชน์ ธรรมเหล่านี้อันคนผู้โกรธ... ถือเอาแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหายมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาล

“.....คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะมีโภคะที่ตนหามาได้ด้วยความขยันขันแข็ง สั่งสมได้ด้วยกำลังแขนอาบเหงื่อต่างน้ำ เป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม พระราชาย่อมริบโภคะของคนขี้โกรธเข้าพระคลังหลวง....

“.....คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้เขาจะมีมิตร อมาตย์ ญาติสายโลหิต เหล่านั้นก็เว้นเสียห่างไกล...

“.....คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ครั้นแล้วเมื่อตายไปย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาตนรก....”

โกธนาสูตร


🔅 การให้ทานในแบบต่างๆ และผลของทานชนิดนั้น
ปัญหา ก่อนที่จะให้ทาน ถ้าเราตั้งใจขอให้ได้เสวยผลของทานผลจะเป็นอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “...บุคคลมีความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผลแล้วให้ทานมุ่งการสั่งสมให้ทาน ให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจตุมหาราช สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังมีการกลับมา คือมาสู่ความเป็น (มนุษย์) อย่างนี้”

ปัญหา คนบางคนเมื่อให้ทาน ไม่มุ่งหวังผลตอบแทนอะไร เห็นว่าการให้ทานเป็นความดี ก็ให้ทานเพื่อกระทำความดี ทานแบบนี้จะมีผลอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “...ในการให้ทานนั้น บุคคลไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้แต่ให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี เขาผู้นั้นเมื่อให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์ สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังมีการกลับมา คือมาสู่ความเป็น อย่างนี้”

ปัญหา บางคนให้ทาน ไม่ใช่เพราะหวังผลทาน ไม่ใช่เพราะเห็นว่าการให้ทานเป็นความดี แต่ให้ทานเพราะมารดาบิดาปู่ย่าตายายเคยให้มา ให้ทานเพื่อรักษาประเพณี ผลทานจะเป็นอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “...บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่มีความหวังจึงให้ทาน... ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า มารดาบิดาปู่ย่าตายายเคยให้มา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ฯลฯ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นยามา สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังมีการกลับมา คือมาสู่ความเป็น อย่างนี้”

ปัญหา บางคนให้ทาน ไม่มุ่งผล ไม่เห็นว่าทานเป็นของดี ไม่ทำตามประเพณี แต่ให้เมื่อมุ่งอนุเคราะห์แก่พระภิกษุสงฆ์ ผู้ไม่ได้ประกอบอาชีพอย่างตน ผลทานจะเป็นอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “...บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า มารดาบิดาปู่ย่าตายายเคยให้มา แต่ให้ท่านด้วยคิดว่า เราหุงหากิน สมณะและพราหมณ์เหล่านี้ไม่หุงหากิน เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้ไม่หุงหา ไม่สมควร เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ฯลฯ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดุสิต สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังมีการกลับมา ...”

ปัญหา บางคนให้ทาน ไม่ใช่เพื่อมุ่งหวังผลใดๆ แต่ให้ทานเพื่อจะกระทำตามตัวอย่างของบุคคลสำคัญในอดีตที่เขาให้มาแล้ว ผลทานจะเป็นอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “...บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากิน แต่สมณะและพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร แต่ให้ทานด้วยคิดว่าเราจักเป็นผู้จำแนกแจกทานเหมือนฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี สมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี วาเสฏฐฤาษี กัสสปถาษี และภคุฤาษีบูชามหายัญฉะนั้น เขาให้ทานคือ ข้าว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นนิมมานรดี สิ้นกรรม ... แล้ว ยังมีการกลับมา ...”

ปัญหา บางคนให้ทาน ไม่มุ่งหวังผลตอบแทนทางวัตถุ แต่เห็นว่าให้ทานแล้วสบายใจดี ก็ให้ทาน ผลทานจะเป็นอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “...บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เหมือนฤาษีแต่ครั้งก่อน แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะผ่องใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส เขาให้ทานคือข้าว... เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี สิ้นกรรม แล้ว ยังมีการกลับมา ...”

ปัญหา บางคนให้ทาน ไม่ได้ให้ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว แต่ให้เพื่อให้ทานนั้นเป็นเครื่องชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จากกิเลส มีความตระหนี่เห็นแก่ตัว เป็นต้น ผลทานจะเป็นอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “...ในการให้ทานนั้นบุคคลไม่มีความหวังให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานนี้จิตจะผ่องใส จะเกิดความปลื้มใจและโสมนัส แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เขาให้ทานเช่นนี้แล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหม เขาสิ้นกรรม แล้ว เป็นผู้ไม่ต้องกลับมา คือ ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ...”

ทานสูตร


🔅 ความหมายของพระธรรมคุณ
ปัญหา พระธรรมคุณที่ว่า ธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน นั้นมีความหมายแค่ไหน?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนสิวกะ การที่ท่านทราบชัดโลภะที่มีอยู่ภายในว่า โลภะมีอยู่ในภายในของเรา หรือทราบชัดโภคะที่ไม่มีอยู่ภายในว่า โลภะไม่มีอยู่ภายในของเรา.....ทราบชัดโทสะที่มีอยู่ภายในว่า โทสะมีอยู่ภายในของเรา.....ทราบชัดโทสะที่ไม่มีอยู่ภายในว่า โทสะไม่มีอยู่ภายในของเรา.....ทราบชัดโมหะที่มีอยู่ภายในว่า โมหะมีอยู่ภายในของเรา.....ทราบชัดโมหะที่ไม่มีอยู่ภายในว่า โมหะไม่มีอยู่ภายในของเรา.....

ทราบชัดธรรมที่ ประกอบด้วย โลภะ โทสะ โมหะ ที่มีอยู่ภายในว่า ธรรมที่ประกอบด้วย..... โลภะ โทสะ โมหะ มีอยู่ภายในของเรา.....ทราบชัดธรรมที่ ประกอบด้วย โลภะ โทสะ โมหะ ที่ไม่มีอยู่ภายในว่า ธรรมที่ประกอบด้วย..... โลภะ โทสะ โมหะ ไม่มีอยู่ภายในของเรา.....อย่างนี้แล เป็นธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ฯ”

สันทิฏฐสูตร ที่ ๑


🔅 จะรู้จักพระอรหันต์ได้ไหม
ปัญหา ฆราวาสผู้อยู่ครองเรือน มีทางจะทราบได้หรือไม่ว่าภิกษุองค์ไหนเป็นพระอรหันต์ ได้บรรลุมรรคผล?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนคฤหบดี ท่านผู้เป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม อยู่ครองเรือน นอนเบียดเสียดบุตร บริโภคจันทน์จากแคว้นกาสี ทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงินอยู่ พึงรู้ขอนี้ได้ยากว่า ภิกษุเหล่านี้เป็นพระอรหันต์ หรือเป็นผู้บรรลุอรหัตตมรรค (เมื่อไม่รู้ว่าใครเป็นพระอรหันต์ และอยากทำบุญให้ทานกับพระอรหันต์ ย่อมมีทางจะให้ได้ถูกต้องฉะนั้น)..... เชิญทานให้สังฆทานเถิด เมื่อท่านให้สังฆทานอยู่ จิตจักเลื่อมใส... เมื่อตายไปจักเข้าพึงสุคติโลกสวรรค์”

ทารุกัมมิกสูตร


🔅 กรรม เหตุของกรรมและวิธีดับกรรม
ปัญหา กรรมคืออะไร อะไรเป็นเหตุของกรรม จะดับกรรมได้ดีโดยวิธีใด ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรมบุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ก็เหตุเกิดแห่งกรรมเป็นไฉนคือผัสสะ (การกระทบกันระหว่างตากับรูป หูกับเสียง เป็นต้น) เป็นเหตุเกิดแห่งกรรม ก็ความต่างแห่งกรรมเป็นไฉน คือกรรมที่ให้วิบากในนรกก็มี ทำให้วิบากในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานก็มี ที่ให้วิบากในเปรตวิสัยก็มี ที่ให้วิบากในมนุษยโลกก็มี ที่ให้วิบากในเทวโลกก็มี นี้เรียกว่าความต่างแห่งกรรม

“ก็วิบากแห่งกรรมเป็นไฉน คือ เราย่อมกล่าววิบากแห่งกรรม ว่ามี ๓ ประการ คือ กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน ๑ กรรมที่ให้ผลในภพที่เกิด ๑ กรรมที่ให้ผลในภพต่อๆ ไป ๑ นี้เรียกว่า วิบากแห่งกรรม

“ความดับแห่งกรรมเป็นไฉน คือ ความดับแห่งกรรมย่อมเกิดขึ้นเพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ... สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกรรม

“ก็เมื่อใด อริยสาวกย่อมทราบชัด กรรม เหตุเกิดแห่งกรรม ความต่างแห่งกรรม วิบากแห่งกรรม ความดับแห่งกรรม ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งกรรมอย่างนี้ ๆ เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นย่อมทราบชัดพรหมจรรย์ อันเป็นไปในส่วนแห่งความชำแรกกิเลสเป็นที่ดับกรรมนี้”

นิพเพธิกสูตร


🔅 เหตุทำให้พระศาสนาเสื่อม
ปัญหา อะไรเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ไมได้นาน?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรง ในพระศาสนา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา ในความไม่ประมาท ในปฏิสันถาร ดูก่อนกิมพิละ นี้แลเห็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้พระสัทธรรมไม่ดำรงอยู่นาน ในเมื่อตถาคตปรินพพานแล้ว ฯ”

กิมมิลสูตร


🔅 ความคิดเรื่องสสาร-พลังงานในพระพุทธศาสนา
ปัญหา ไอน์สไตน์กล่าวไว้ว่า สสารเป็นแต่เพียงรูปหนึ่งของพลังงาน เราอาจแปลงสสารให้เป็นพลังงานได้ ทางพระพุทธศาสนาเห็นด้วยหรือไม่กับมตินี้ ?

คำตอบของพระสารีบุตร “.....ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญทางใจ เมื่อจำนงพึงน้อมใจถึงกองไม้กองโน้นให้เป็นดินได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะกองไม้โน้นมีปฏวีธาตุเมื่อจำนง พึงน้อมใจถึงกองไม้กองโน้นให้เป็นน้ำได้.... เพราะกองไม้โน้นมีอาโปธาต...เมื่อจำนง พึงน้อมใจถึงกองไม้โน้นให้เป็นไฟได้.... เพราะกองไม้กองโน้นมีเตโชธาตุ...เมื่อจำนง พึงน้อมใจถึงกองไม้กองโน้นให้เป็นลมได้.... เพราะกองไม้กองโน้นวาโยธาตุ....เมื่อจำนง พึงน้อมใจถึงกองไม้กองโน้นให้เป็นของงามได้.... เพราะกองไม้กองโน้นมีสุภธาตุ....เมื่อจำนงพึงน้อมใจถึงกองไม้กองโน้น ให้เป็นของไม่งามได้....เพราะกองไม้โน้นมีอสุภธาต

ซึ่งภิกษุผู้มีฤทธิ์ มีความชำนาญทางใจ พึงอาศัยน้อมใจถึงให้เป็นของไม่งามได้ ฯ”

ทารุกขันธสูตร


🔅 ความทุกข์ของผู้เป็นหนี้เขา
ปัญหา ความทุกข์ของฆราวาสผู้อยู่ครองเรือนมีอะไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ย่อมกู้ยืมแม้การกู้ยืมก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก.... กู้ยืมแล้ว ย่อมรับใช้ดอกเบี้ย แม้การรับใช้ดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์.... รับใช้ดอกเบี้ยแล้วไม่ใช้ดอกเบี้ยตามกำหนดเวลา เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมทวงเขา แม้การทวงก็เป็นทุกข์.... (เมื่อ) ถูกเจ้าหนี้ทวงไม่ได้ เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมติดตามเขา มีการติดตามก็เป็นทุกข์.... (เมื่อ) ถูกจ้าหนี้ติดตามทันไม่ให้ทรัพย์ เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมจองจำเขา แม้การจองจำก็เป็นทุกข์ฯ”

อิณสูตร


🔅 วาระสุดท้ายของโลก
ปัญหา นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า โลกของเราจะมีอายุประมาณ ๕,๐๐๐ ล้านปีแล้วก็จะแตกดับ ทางพระพุทธศาสนาแสดงเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม.... ควรเบื่อหน่าย.... ควรคลานกำหนัด.... ควรหลุดพ้น

“ขุนเขาสิเนรุโดยยาว ๘๔,๐๐๐ โยชน์ โดยกว้าง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ หยั่งลงในมหาสมุทร ๘๔,๐๐๐ โยชน์ สูงจากมหาสมุทรขึ้นไป ๘๔,๐๐๐ โยชน์ มีกาลบางคราวที่ฝนไม่ตกหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี หลายแสนปี เมื่อฝนไม่ตก พืชคาม ภูตคามและติณชาติป่าไม้ใหญ่ย่อมเฉา เหี่ยวแห้ง เป็นอยู่ไม่ได้

“.....โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่สองปรากฏ...แม่น้ำลำคลองทั้งหมดย่อมงวดแห้ง.... ไม่มีน้ำ

“.....โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๓ ปรากฏ...แม่น้ำสายใหญ่ ๆ คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรพู มหี ทั้งหมดย่อมงวดแห้ง.... ไม่มีน้ำ

“.....โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๔ ปรากฏ...แม่น้ำสายใหญ่ ๆ ที่ไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำใหญ่ คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรพู มหี ทั้งหมดย่อมงวดแห้ง.... ไม่มีน้ำ

“.....โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๕ ปรากฏ...น้ำในมหาสมุทรลึก ๑๐๐ โยชน์ก็ดี.... ๗๐๐ โยชน์ก็ดี ย่อมงวดลงเหลืออยู่เพียง ๗ ชั่วต้นตาลก็มี ๖ ชั่วต้นตาลก็มี.... ชั่วต้นตาลเดียวก็มี แล้วยังจะเหลืออยู่ ๗ ชั่วคน ๖ ชั่วคน.... เพียงเขา... เพียงรอยเท้าโค

“.....โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๖ ปรากฏ...แผ่นดินใหญ่นี้และเขาสินเนรุ ย่อมมีกลุ่มควันพลุ่งขึ้น เปรียบเหมือนนายช่างหม้อเผาหม้อที่ปั้นดีแล้ว ย่อมมีกลุ่มควันพลุ่งขึ้น ฉะนั้น

“.....โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๗ ปรากฏ...แผ่นดินใหญ่นี้และเขาสินเนรุ ไฟจะติดทั่วลุกโชติช่วง มีแสงเพลิงเป็นอันเดียวกัน.... เมื่อแผ่นดินใหญ่และเขาสิเนรุ ถูกไฟเผาผลาญอยู่ ย่อมไม่ปรากฏขี้เถ้าและเขม่า.....

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย..... สังขารทั้งหลาย.... เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม ควรจะเบื่อหน่าย.... ควรคลายกำหนัด.... ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง

สุริยสูตร


🔅 ทำไมอาสวะจึงไม่สิ้น
ปัญหา การบรรลุมรรคผล หลุดพ้นจากอาสวะกิเลสทั้งปวง รู้สึกว่าเป็นกิจที่ทำได้ยากมาก เพราะเหตุไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่หมั่นเจริญภาวนา แม้จะพึงเกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอจิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่นก็จริง แต่จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่หลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ข้อนั้นเพราะเหตุไร จะพึงกล่าวได้ว่าเพราะไม่ได้เจริญ เพราะไม่ได้เจริญอะไร เพราะไม่ได้เจริญ

สติปัฏฐาน ๔
สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔
อินทรีย์ ๕
พละ ๕
โพชฌงค์ ๗
มรรคมีองค์ ๘

“เปรียบเหมือนแม่ไก่ มีไข่อยู่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ไข่เหล่านั้น แม่ไก่กกไม่ดี ให้ความอบอุ่นไม่พอ ฟักไม่ดี แม่ไก่นั้นแม้จะพึงเกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอให้ลูกของเราพึงใช้ปลายเล็บเท้า หรือจะงอยปาก เจาะกระเปาะไข่ฟักตัวออกมาโดยสวัสดีก็จริง แต่ลูกไก่เหล่านั้นไม่สามารถจะใช้ปลายเล็บเท้า หรือจะงอยปากเจาะกระเปาะไข่ฟักตัวออกมาโดยสวัสดีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะแม่ไก่กกไม่ดี ให้ความอบอุ่นไม่พอฟักไม่ดีฉะนั้น....”

ภาวนาสูตร