แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ พุทธธรรม แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ พุทธธรรม แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธ

๑.๒๒ พระอริยบุคคล ๗ (ทักขิไฌยบุคคล ๗)

พระอริยบุคคล ๗ (ทักขิไฌยบุคคล ๗)
เป็นการแสดงระดับขั้นของท่านผู้บรรลุธรรม โดยแยกตามอินทรีย์เด่น
บุคคลที่ ๑, ๒ ได้แก่พระอรหันต์
๑. อุภโตภาควิมุต : ผู้ได้สัมผัสด้วยกาย ซึ่งวิโมกข์อันละเอียด (คืออรูปฌานขึ้นไป บางท่านได้โลกียอภิญญา) และพัฒนาต่อด้วยปัญญาจนหลุดพ้น ในสมัยพุทธกาล พระอรหันต์อุภโตภาควิมุต มีจำนวนน้อยกว่าปัญญาวิมุต
๒. ปัญญาวิมุต : ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา ได้อาสวขยญาณอย่างเดียว ไม่ได้โลกิยอภิญญา, สมาธิไม่เกินกว่าขั้นรูปฌาน ๔, บางครั้งท่านแยกออกอีกเป็น ๒ พวกคือ ได้ฌานเฉพาะในขณะที่บรรลุอรหัตตผล เรียก สุกขวิปัสสก ได้รูปฌาน เรียก ปัญญาวิมุต

บุคคลที่ ๓, ๔, ๕ ได้แก่ ผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค
        - พระอนาคามี + ผู้ตั้งอยู่ในอนาคามีมรรค
        พระสกทาคามี + ผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามีมรรค
        พระโสดาบัน
๓. กายสักขี : ผู้เป็นพยานด้วยนามกาย และอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัต ที่มีสมาธินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ (ได้สมาธิถึงขั้นอรูปฌาน)
๔. ทิฏฐิปปัตตะ : ผู้บรรลุสัมมาทิฏฐิ คือ ท่านที่เข้าใจอริยสัจจธรรมถูกต้องแล้วและอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัต ที่มีปัญญินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ
๕. สัทธาวิมุต : ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา คือ ท่านที่เข้าใจอริยสัจจธรรมถูกต้องแล้วและอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัต ที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ

บุคคลที่ ๖, ๗ ได้แก่ ผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค
๖. ธัมมานุสารี : ผู้แล่นไปตามธรรม หรือผู้แล่นตามไปด้วยธรรม คือ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล ที่มีปัญญินทรีย์แก่กล้า อบรมอริยมรรคโดยมีปัญญาเป็นตัวนำ ท่านผู้นี้ถ้าบรรลุผลแล้วกลายเป็นทิฏฐิปัตตะ
๗. สัทธานุสารี : ผู้แล่นไปตามศรัทธา หรือผู้แล่นตามไปด้วยศรัทธา คือ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผลที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้า อบรมอริยมรรคโดยมีศรัทธาเป็นตัวนำ ท่านผู้นี้ถ้าบรรลุผลแล้วกลายเป็นสัทธาวิมุต

พึงเข้าใจว่า ไม่ว่าผู้ใดจะมีอินทรีย์ใดแรงกล้า แต่ในเวลาตรัสรู้ ปัญญา ย่อมทำหน้าที่เป็นใหญ่ ไม่พึงสับสนกับ เจโตวิมุตติ : ความหลุดพ้นด้านจิต เป็นผลของสมถะ มีสมาธิในขั้นฌานขึ้นไปเป็นตัวนำ ปุถุชน ก็อาจมีเจโตวิมุตติได้ด้วยกำลังของสมาธิระดับฌานขึ้นไป แต่จะเสื่อมได้,

ปัญญาวิมุตติ : ความหลุดพ้นด้วยปัญญา เป็นผลของวิปัสสนา ซึ่งเป็นการกล่าวถึงภาวะและอาการ ผู้บรรลุอรหัตตผล จะต้องได้เจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตตินี้ ครบทั้งสองอย่างทุกบุคคล อย่างไรก็ตามถ้าจัดอย่างไม่เคร่งครัด หรือเน้นอินทรีย์ที่เด่นก็พอใช้เรียกได้ เช่น จัดให้พระสารีบุตรเป็นปัญญาวิมุต (แต่ท่านก็สำเร็จสมาบัติ ๘ และนิโรธสมาบัติ) จัดให้พระโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์ประเภทเจโตวิมุตติ จัดให้พระวักกลิเป็นพระอรหันต์ประเภทสัทธาวิมุตติ เป็นต้น

ผู้ปฏิบัติแม้ใช้วิธีเจริญวิปัสสนาล้วนๆ สมาธิก็พลอยได้รับการฝึกอบรมไปด้วย จนในที่สุดเมื่อถึงขณะบรรลุมรรคผล สมาธินั้นก็แน่วสนิทเป็นอัปปนาสมาธิ อย่างน้อยถึงระดับปฐมฌาน เป็นอันสอดคล้องกับหลักว่า ผู้บรรลุอริยภูมิ จะต้องมีทั้งสมถะและวิปัสสนาครบทั้งสองทั่วกันทุกบุคคล (ในผู้ที่ไม่ได้ฌานมาก่อน อัปปนาสมาธิเกิดแค่เฉพาะช่วงมรรคจิต ผลจิต เท่านั้น)

“ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างนี้ คือ ธรรมที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดวิชชา ได้แก่ สมถะ และวิปัสสนา สมถะ เจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร? จิตจะได้รับการเจริญ เมื่อจิตเจริญแล้ว จะละราคะได้ วิปัสสนา เจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร? ปัญญาจะได้รับการเจริญ เมื่อปัญญาเจริญแล้ว จะละอวิชชาได้” (พาลวรรค)



วันพฤหัสบดี

๑.๒๑ สังโยชน์ ๑๐

สังโยชน์ หมายถึง กิเลสอันผู้ใจสัตว์, อกุศลธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับวัฏฏะ หรือ ผูกกรรมไว้กับผล

โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ : สังโยชน์เบื้องต่ำ

๑. สักกายทิฏฐิ : ความเห็นเป็นเหตุถือตัวถือตน, ความเห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวของตน เห็นว่ามีตนอยู่ในขันธ์ ๕ เช่น เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นสัญญา เห็นสังขาร เห็นวิญญาณเป็นตัวของตน มีตนอยู่ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ, ความเห็นที่ยังติดแน่นในสมมติว่าเป็นตัวตน เราเขา เป็นนั่นเป็นนี่ มองไม่เห็นสภาพความเป็นจริง ที่สัตว์บุคคลเป็นเพียงองค์ประกอบต่างๆมาประชุมกันเข้า ทำให้มีความเห็นแก่ตัวในขั้นหยาบ และความรู้สึกกระทบกระทั่งบีบคั้นเป็นทุกข์ได้รุนแรง

สักกายทิฏฐิ มีความหมายเหมือนกับ อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในวาทะว่ามีตัวตน) การละสักกายทิฏฐิ เป็นขั้นละมิจฉาทิฏฐิ ไปสู่สัมมาทิฏฐิ คือ ในขั้นนี้แม้จะเลิกเห็นว่าเป็นตัวตนแล้ว แต่ความยึดถือที่ฝังลึก (มานะ) ยังละออกไปได้ไม่หมด ทั้งนี้ครูอาจารย์บางท่านเตือนให้ระวังเข้าใจผิด เพราะความหมายใกล้กับคำว่า นิรัตตา คือ ความดับสูญ รวมถึง นัตถิกทิฏฐิ คือ ความเห็นผลบุญผลบาปว่าไม่มี ซึ่งเหล่านี้เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างยิ่ง

๒. วิจิกิจฉา : ความลังเล สงสัย เคลือบแคลงต่างๆ เช่น สงสัยในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในอริยสัจ ๔ ในสิกขา ในเรื่องที่มาที่ไปของชีวิต ในปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น ทำให้ไม่มั่นใจ ไม่เข้มแข็งแกล้วกล้าที่จะดำเนินชีวิตตามหลักธรรม ด้วยความมีเหตุผล และในการที่จะเดินหน้าแน่วดิ่งไปในอริยมรรคา

๓. สีลัพพตปรามาส : ความถือมั่นศีลและพรต จนเลยเถิด, ถือโดยสักว่าทำตามๆกันไปอย่างงมงาย ไม่เป็นไปตามความมุ่งหมายที่แท้จริงของศีลและพรต เห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและพรต หรือพิธีกรรมต่างๆ ในเรื่องของศีลพรต มีหลักการโดยสรุปว่า เมื่อบุคคลถือปฏิบัติศีลพรตใดแล้ว อกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม ศีลพรตอย่างนั้นผิดพลาด ไร้ผล บุคคลถือปฏิบัติศีลพรตใดแล้ว กุศลธรรมเจริญ อกุศลธรรมเสื่อมถอย ศีลพรตอย่างนั้นถูกต้องมีผลดี

ตามหลักแล้ว ตราบใดยังเป็นปุถุชน สีลัพตปรามาสย่อมมีอยู่ไม่มากก็น้อย ต่อเมื่อใดเป็นพระโสดาบัน จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้บำเพ็ญบริบูรณ์ในศีล (ปรามาส แปลได้หลายความหมาย ๑. ลูบคลำ หยิบฉวย จับต้อง ๒. ยึดมั่นถือมั่นเลยเถิดจากวัตถุประสงค์ ๓. ดูถูก)

๔. กามราคะ (กามฉันทะ, อภิชฌา) : ความติดใคร่ในกามคุณทั้ง ๕, ความอยากได้ใฝ่หาในเรื่องรูป รส กลิ่น เสียง และโผฏฐัพพะ ที่ชอบใจ

๕. ปฏิฆะ (พยาบาท) : ความกระทบกระทั่งในใจ, ความหงุดหงิดขัดเคือง (ท่านว่าที่ใช้คำว่าปฏิฆะแทน โทสะ หรือ พยาบาท เพราะปฏิฆะใช้ในความหมายที่เบากว่า คือหมายถึง โทสะที่เป็นเพียงการขุ่นเคืองในจิตใจ ซึ่งไม่ถึงกับจะไปตีรันฟันแทงใครจริงๆ ส่วนโทสะ (และโลภะ) ในขั้นหยาบพระโสดาบันก็ละได้แล้ว)

อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ : สังโยชน์เบื้องสูง

๖. รูปราคะ : ความติดใจในรูปธรรม ติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน ติดใจปรารถนาในรูปภพ

๗. อรูปราคะ : ความติดใจในอรูปธรรม ติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน ติดใจปรารถนาในอรูปภพ

๘. มานะ : ความสำคัญตน ถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่

๙. อุทธัจจะ : ความฟุ้งซ่าน จิตใจไม่สงบ ว้าวุ่น ซัดส่าย คิดพล่านไป

๑๐. อวิชชา : ความไม่รู้จริง, ไม่รู้เท่าทันสภาวะ ไม่เข้าใจกฎธรรมดาแห่งเหตุและผล ไม่รู้อริยสัจ (ในบรรดากิเลสทั้งหลายทั้งปวงที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองนั้น ตัวรากเหง้าที่สุดก็คือ โมหะ หรือ อวิชชา นี่เอง)



๑.๒๐ พระอริยบุคคล

  พระอริยะบุคคล   

คือผู้ปฏิบัติเพื่อเข้าถึงนิพพาน ที่ดำเนินก้าวหน้ามาในทางที่ถูกจนถึงขั้นมองเห็นจุดหมายอยู่เบื้องหน้าและจะต้องบรรลุจุดหมายนั้นอย่างแน่นอน ท่านจัดเข้าสังกัดในกลุ่มชนผู้เป็นสาวกที่แท้ของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า สาวกสงฆ์ หรือ อริยสงฆ์ มี ๔ ระดับ

๑. พระโสดาบัน

พระโสดาบันเป็นผู้ทำได้บริบูรณ์ในขั้นศีล ทำได้พอประมาณในสมาธิ และทำได้พอประมาณในปัญญา, โลกุตระปัญญาเจริญขึ้นแล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์ จึงต้องอาศัยปัญญาที่หนุนด้วยแรงศรัทธา พระโสดาบันได้เริ่มรู้จักความสงบสุขผ่องใส เป็นอิสระ ที่เป็นด้านโลกุตระ ซึ่งทำให้มองเห็นคุณค่าของธรรม จนเกิดฉันทะในธรรมอย่างจริงจัง จนไม่มีทางที่จะกลับมามัวเมาในการเสพแสวงสิ่งปรนเปรอทางวัตถุอีกต่อไป จึงมีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดาและเป็นผู้แน่นอนแล้วในการเดินหน้าสู่ความตรัสรู้

พระอริยบุคคลอีก ๓ ลำดับ เป็นการเจริญขึ้นในธรรมที่พระโสดาบันเห็นไว้ทั่วพร้อมแล้ว แต่ยังรู้แจ้งประจักษ์กับตัวเพียงบางส่วน คือ เดินทางถูกต้องตามอริยมรรคอย่างแท้จริงแล้ว เป็นผู้ที่จะเกิดในสุคติภพอีกไม่เกิน ๗ ชาติ

ในพระไตรปิฎกมีข้อความที่แสดงถึงคุณสมบัติของพระโสดาบันปรากฏอยู่มากมาย เช่น ผู้ถึงกระแส, ผู้อยู่ชิดประตูอมตะ, ผู้มีสัมมาทิฏฐิสมบูรณ์, ผู้รู้จักโลกแท้จริง, ผู้เห็น / มาถึงสัทธรรมนี้แล้ว

ภาวะและชีวิตของพระโสดาบัน ไม่ห่างไกลและไม่น่ากลัวเลยสำหรับปุถุชนทั้งหลายแม้ในสมัยปัจจุบัน กลับจะเป็นที่น่าชื่นชมอย่างยิ่งสำหรับสาธุชนด้วยซ้ำ พุทธสาวกโสดาบันจำนวนมากมายในครั้งพุทธกาลเป็นคฤหัสถ์ ดำเนินชีวิตที่ดีงามอยู่ท่ามกลางสังคมของชาวโลก มีชีวิตครอบครัวที่เป็นสุข บำเพ็ญประโยชน์แก่ชุมชน พระศาสนา และบ้านเมือง มีชีวประวัติที่น่ายึดถือเป็นแบบอย่าง พุทธสาวกโสดาบันที่พึงออกชื่อเป็นตัวอย่างแสดงหลักฐานไว้ ณ ที่นี้ เช่น พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ยิ่งใหญ่แห่งแคว้นมคธ, อนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้บำรุงพระสงฆ์และสงเคราะห์คนอนาถาอย่างไม่มีใครอื่นเทียบเท่า, นางวิสาขามหาอุบาสิกา ผู้แม้มีบุตรมากถึง ๒๐ คน แต่สามารถบำเพ็ญประโยชน์ส่วนรวมได้เป็นอย่างดี มีเกียรติคุณสูงเด่นในสังคมแคว้นโกศล, หมอชีวก โกมารภัจ แพทย์ใหญ่ประจำพระองค์ราชาแห่งมคธ ประจำพระองค์พระพุทธเจ้าและคณะสงฆ์, นกุลบิดาและนกุลมารดา คู่สามีภรรยาผู้ครองรักอันภักดีมั่นคงตราบชรา และยังปรารถนาเกิดพบกันทุกชาติไป เป็นต้น

คุณสมบัติของพระโสดาบัน

๑.๑ คุณสมบัติฝ่ายมี
๑) ด้านศรัทธา : มีความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่นด้วยปัญญา ในพระรัตนตรัย (บางสำนวนนิยมใช้ว่า “ตถาคตโพธิสัทธา” คือ ความเชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งความหมายก็ครอบคลุมถึงพระรัตนตรัยไปด้วยในตัว) เป็นศรัทธาซึ่งแน่วแน่ มั่นคง ไม่มีทางผันแปร เพราะเกิดจากญาณ คือ ความรู้ ความเข้าใจ ทำให้มีความมั่นคงในธรรมโดยสมบูรณ์ เป็นศรัทธาที่แท้ คือ ไม่ทำให้งมงายแต่เป็นศรัทธาที่ทำให้หายงมงาย หรือ ศรัทธาที่เอื้อต่อปัญญานั่นเอง แม้ประสบความไม่เกื้อกูลสักเท่าใด ความมั่นใจในคุณธรรมก็ไม่มีทางเสื่อมถอย กล่าวได้ว่าเป็นผู้มีศรัทธาในพระรัตนตรัยอย่างสมบูรณ์

๒) ด้านศีล : มีศีลที่เป็นไท เป็นอิสระไม่เป็นทาสของตัณหา ไม่ถูกถือมั่นหรือไม่ต้องยึดมั่น เป็นศีลที่เกิดจากคุณธรรมภายใน การรักษาศีลจึงจะเป็นไปเอง เพราะเป็นศีลอยู่ในตัว เป็นปกติธรรมดา ตรงตามหลัก ตามความมุ่งหมายที่แท้ ไม่หย่อน ไม่เขว ไม่เลยเถิดไป เนื่องจากไม่มีกิเลสอย่างหยาบอันเป็นเหตุให้ละเมิด โดยทั่วไปหมายถึงศีล ๕ ที่ประพฤติได้อย่างถูกต้อง จัดเป็นขั้นที่บำเพ็ญศีลได้บริบูรณ์

พระพุทธเจ้าตรัสแสดงว่า แม้แต่พระอรหันต์ก็ยังต้องอาบัติเล็กๆน้อยๆได้ แต่พระอริยะทั้งหลายจะไม่ต้องอาบัติที่เป็นหลักพื้นฐานของพรหมจรรย์ด้วยความจงใจเลย ส่วนปุถุชน ศีล ดำรงอยู่ได้ดีด้วยศรัทธา

๓) ด้านสุตะ : ได้เรียนรู้ นับว่าเป็นผู้มีการศึกษา (เน้นเฉพาะด้านทางธรรม)

๔) ด้านจาคะ : อยู่ด้วยใจที่ปราศจากความตระหนี่ มีน้ำใจเผื่อแผ่เสียสละ ยินดีในการให้ การเฉลี่ยเจือจานแบ่งปัน สิ่งของที่ควรให้เท่าที่ตนเองมี ดังคำที่ท่านบรรยายว่า สิ่งของที่ควรให้ได้ บุคคลโสดาบันเฉลี่ยแบ่งปันกับคนมีศีลมีกัลยาณธรรมได้ทั้งหมด

๕) ด้านปัญญา : มีปัญญาอย่างเสขะ คือ รู้ชัดในอริยสัจ ๔ มองเห็นปฏิจจสมุปบาท เข้าใจไตรลักษณ์ เป็นอย่างดี จนสลัดมิจฉาทิฏฐิทั้งหลายในรูปแบบต่างๆได้สิ้นเชิง มีสัมมาทิฏฐิเพียบพร้อม ทำให้หมดความสงสัยในอริยสัจทั้ง ๔ นั้น เรียกตามสำนวนธรรมว่า เป็นผู้รู้จักโลกแท้จริง

        👉๕ ข้อแรก รวมเรียกว่า อารยวัฒิ ๕ คือ ความเจริญอย่างอริยชน, ธรรมที่ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าอันมั่นคง ใช้วัดความเจริญก้าวหน้าในธรรม เป็นธรรมหมวดที่ถือได้ว่ามีความสำคัญมาก ท่านยกขึ้นมาตรัสสอนอยู่บ่อยครั้ง เช่น

“แม้ผู้ที่เป็นปุถุชน แต่มีธรรม ๕ อย่างนี้ ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้เตรียมการสู่ชัยชนะในโลกหน้า” (อิฐโลกสูตร)
“ผู้ใดเจริญด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา, ผู้นั้นนับเป็นสัตบุรุษผู้ปรีชา (หรืออุบาสิกาผู้มีศีล) ย่อมถือเอาสาระในโลกนี้ไว้แก่ตนได้” (วัฑฒิสูตร)
“ภิกษุทั้งหลาย สำหรับมารดาและบิดา เราไม่กล่าวว่าจะกระทำการตอบแทนคุณได้ง่ายเลย, หากบุตรจะเอามารดาไว้บนบ่าข้างหนึ่ง เอาบิดาไว้บนบ่าข้างหนึ่ง ปรนนิบัติ ตลอดร้อยปี นั่นก็ยังไม่ชื่อว่าเป็นอันได้ตอบแทนแก่มารดาบิดา, ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก เป็นผู้บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย  บุตรคนใดชักจูง ปลูกฝัง ให้มารดาบิดาเจริญขึ้นใน ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา, ด้วยการกระทำนี้ จึงชื่อว่าเป็นอันได้ทำคุณ ได้ตอบแทนแก่มารดาบิดา” (สมจิตตวรรค)


๖) มีทิฏฐิสามัญญตา : มีความเห็นชอบร่วมกับเพื่อนร่วมหมู่ในอารยทฤษฏี, เมื่อต้องอาบัติ (ละเมิดวินัย) ก็จะรีบเปิดเผยแสดงให้หมู่คณะที่เป็นวิญญูได้ทราบแล้วสังวรต่อไป, ทั้งช่วยส่วนรวม ทั้งคอยฝึกตนให้ก้าวต่อไปในมรรคา

๗) ด้านความสุข : เริ่มรู้จักโลกุตรสุข ที่ประณีตลึกซึ้ง ซึ่งไม่ต้องอาศัยอามิส (เพราะได้บรรลุอริยวิมุตติแล้วตามระดับภูมิธรรม) ความสุขนี้เป็นทั้งผล และเป็นทั้งปัจจัยพันเนื่องอยู่ด้วยกันกับคุณธรรมที่ประพฤติ จึงเป็นหลักยืนยันถึงความไม่ไหลเวียนกลับลงต่ำอีกต่อไป มีแต่จะช่วยค้ำชูส่งเสริมให้ก้าวสูงขึ้นไปในเบื้องหน้า


๑.๒ คุณสมบัติฝ่ายหมด หรือฝ่ายละ

๑) ละสังโยชน์ได้ ๓ ข้อแรก (สังโยชน์ ๑๐ ดูบทถัดไป)

๒) ละมัจฉริยะ : ความตระหนี่ ความใจคับแคบ หวงแหน คอยกีดกันผู้อื่นทั้ง ๕ อย่าง คือ หวงถิ่นที่อยู่, หวงตระกูล เล่นพรรคเล่นพวก, หวงลาภ คิดกีดกันไม่ให้คนอื่นได้, หวงกิตติคุณ ไม่พอใจให้ใครมาแข่งดีกับตน ไม่พอใจเมื่อคนอื่นได้ดี, หวงธรรม หวงวิชาความรู้

๓) ละอคติ : ความลำเอียง ทั้ง ๔ อย่าง คือ ลำเอียงเพราะชอบ, ลำเอียงเพราะชัง, ลำเอียงเพราะกลัว, ลำเอียงเพราะหลงหรือเขลา

๔) ละราคะ โทสะ โมหะ ขั้นหยาบหรือรุนแรง ที่จะทำให้ถึงอบาย, ไม่ทำชั่วขั้นร้ายแรงที่จะเป็นเหตุให้ไปอบาย

๕) ระงับทุกข์ทางใจต่างๆ ที่จะพึงเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามศีล ๕ : เป็นผู้พ้นจากอบายสิ้นเชิง ความทุกข์ในจิตใจส่วนใหญ่หมดสิ้นไปแล้ว ที่เหลืออยู่อีกเพียงเล็กน้อย

* คุณสมบัติฝ่ายหมดและฝ่ายมีนี้ ว่าโดยสาระสำคัญ ก็เป็นอย่างเดียวกัน กล่าวคือ จะละสักกายทิฏฐิได้ ก็เพราะมีปัญญาหยั่งรู้สภาวธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง

* เมื่อเกิดปัญญาเข้าใจชัดขึ้นอย่างนี้ วิจิกิจฉา คือ ความสงสัยคลางแคลงใจก็หมดไป ศรัทธาที่อาศัยปัญญาก็แน่นแฟ้น

* พร้อมกันนั้น ก็จะรักษาศีลได้ถูกต้องตามหลักการ ตามความมุ่งหมาย สีลัพตปรามาสก็มลายสิ้นไป

* เมื่อจาคะเจริญขึ้น มัจฉริยะก็หมดไป

* เมื่อราคะ โทสะ โมหะ เบาบางลง ก็ไม่ตกไปในอำนาจของอคติ และไม่มีเหตุจูงใจให้ทำชั่วร้ายแรง

* ราคะ โทสะ โมหะ เบาบางลง ก็เพราะปัญญาที่มองเห็นความจริงของโลกและชีวิต ทำให้คลายความยึดติด เมื่อยึดติดถือมั่นน้อยลง ความทุกข์ก็ผ่อนคลาย และรู้จักความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้น

พระโสดาบันได้พบกับความสุขที่ประณีตล้ำลึก อันประจักษ์เฉพาะตนว่าเป็นสิ่งมีคุณค่าสูงล้ำ ซึ่งแม้ตนจะยังเสวยกามสุขหรือโลกิยสุขอื่นๆอยู่ ก็จะไม่ยอมให้ความสุขที่หยาบกว่าเหล่านั้นเป็นเหตุบั่นรอนความสุขที่ประณีต คือ จะไม่ยอมสละโลกุตรสุข เพื่อมาเติมขยายให้แก่โลกิยสุข พูดอีกนัยหนึ่งว่า โลกิยสุขถูกทำให้สมดุลด้วยโลกุตรสุขอันประณีต

ความเป็นโสดาบัน เป็นชีวิตระดับที่ยอมรับได้ว่าน่าพอใจ และวางใจได้ ทั้งในด้านคุณธรรมและความสุข พระพุทธเจ้าได้ตรัสเน้นถึงคุณค่าและความสำคัญของความเป็นโสดาบันอย่างมากมาย ดังจะทรงสนับสนุนให้เวไนยชน หันมาสนใจภูมิธรรม หรือระดับชีวิตขั้นนี้ อย่างจริงจัง และยึดเอาเป็นเป้าหมายของการดำรงอยู่ในโลก ดังพุทธพจน์สำคัญตอนหนึ่งว่า

“เลิศล้ำ เหนือกว่าความเป็นจักรพรรดิ ยิ่งกว่าการได้ไปสวรรค์ ประเสริฐกว่าสิ่งใดในโลก คือ การบรรลุโสดาปัตติผล” (คาถาธรรมบท โลกวรรค)

หากยังรู้สึกว่านิพพานห่างไกลและยากเกินไปที่จะเข้าใจ ถ้าพูดถึงนิพพานแล้ว ยังให้เกิดความรู้สึกอ้างว้างโหวงเหวง ก็พึงยึดเอาภาวะโสดาบันนี่แหละเป็นสะพานทอดไปสู่ความเข้าใจนิพพาน เพราะความเป็นโสดาบันเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงความรู้สึกและเข้าใจได้ง่ายกว่าสำหรับคนสมัยปัจจุบัน ในเวลาเดียวกันก็เกี่ยวข้องกับนิพพาน โดยฐานเป็นการเข้าถึงกระแสสู่นิพพาน หรือที่อรรถกถาเรียกว่าเป็น “ปฐมทัศน์แห่งนิพพาน” นับว่าได้ผลทั้งสองด้าน และยังถูกต้องตามหลักการที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ด้วย

พุทธพจน์ “ทุกข์ส่วนที่หมดไปแล้วของพระโสดาบันเปรียบเหมือนกับขุนเขาสิเนรุ ส่วนทุกข์ที่ยังเหลือเปรียบเหมือนก้อนหินขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียว ๗ ก้อน” (สิเนรุสูตร)

“ดูกรคฤหบดี เมื่อใด อริยสาวกมีภัยเวร ๕ ประการ (การผิดศีล ๕) ระงับแล้ว เป็นผู้ประกอบด้วยโสดาปัตติยังคะ 4๔ ประการ, และได้เห็นได้เข้าใจปรุโปร่งเป็นอย่างดีด้วยปัญญา ซึ่งอริยญายธรรม (ปฏิจจสมุปบาท), อริยสาวกนั้น เมื่อประสงค์ ก็พึงพยากรณ์ตนได้ด้วยตัวเองว่า เราเป็นโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้แน่นอนแล้ว ที่จะเดินหน้าสู่การตรัสรู้” (เวรสูตร)

๒. พระสกทาคามี

ผู้กลับมาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียวก็จะกำจัดทุกข์ได้สิ้น (เกิดในกามาวจรสุคติภูมิอีกครั้งเดียวก็ถึงพระนิพพาน) เป็นผู้ทำได้บริบูรณ์ในขั้นศีล ทำได้พอประมาณในสมาธิ และทำได้พอประมาณในปัญญา นอกจากละสังโยชน์ ๓ ข้อต้นได้แล้ว ยังทำราคะ โทสะ และโมหะ ให้เบาบางลงไปอีกต่อจากขั้นของพระโสดาบัน

๓. พระอนาคามี

ผู้จะปรินิพพานในที่ผุดเกิดขึ้น (ชั้นสุทธาวาส) ไม่เวียนกลับมาอีก ทำได้บริบูรณ์ในขั้นศีล ทำได้บริบูรณ์ในสมาธิ และทำได้พอประมาณในปัญญา ละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ครบ 5 ข้อ แม้ไม่ได้ฌานสมาบัติ แต่ก็เป็นสมาธิที่สมบูรณ์ในตัว ยั่งยืนคงระดับ เพราะไม่มีกิเลส (กามราคะ, ปฏิฆะ) ที่จะทำให้เสื่อมถอยหรือรบกวน

๔. พระอรหันต์

ผู้ควรแก่ทักขิณา ผู้หักกำแห่งสังสารจักรได้แล้ว เป็นผู้สิ้นอาสวะ เป็นผู้ทำได้บริบูรณ์ในสิกขาทั้งสาม คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ละสังโยชน์ได้หมดทั้ง ๑๐ ข้อ ไม่มีภูมิธรรมสูงกว่านั้นที่จะต้องขวนขวายบรรลุอีก

พระอริยบุคคล ๓ ระดับต้น เรียกว่า พระเสขะ แปลว่า ผู้ยังต้องศึกษา (ขั้นรู้ชัดด้วยปัญญา อันยังต้องประกอบด้วยศรัทธา) ส่วนพระอรหันต์ เรียกว่า พระอเสขะ แปลว่า ผู้ไม่ต้องศึกษา เพราะศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว (เข้าถึง หลุดพ้น โดยประจักษ์แจ้งกับตัว ไม่จำเป็นต้องอาศัยศรัทธา)

พระอรหันต์ทั้งหลายเสวยอารมณ์ด้วยจิตใจที่เป็นอิสระ ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันธรรมชาติของมัน ไม่ถูกกิเลสครอบงำหรือชักจูง ไม่ถูกเผาลนด้วยตัณหา และไม่มืดมัวด้วยอวิชชา เป็นอยู่ด้วยจิตใจที่โปร่งโล่ง ผาสุข เป็นอิสระ เมื่อไม่มีกิเลสชักนำไปสู่ภพ กระบวนธรรมสังสารวัฏฏ์ก็สิ้นสุดลง เข้าสู่วิวัฏฏ์ (นิพพาน) บรรลุภาวะแห่งความดับทุกข์ เป็นผู้มีชัยต่อปัญหาชีวิต มีความสุขอย่างแท้จริง อันเป็นประโยชน์สูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้ คุ้มค่ากับการที่ได้เกิดมามีชีวิต

อริยชน กับ ปุถุชน ต่างกันในข้อสำคัญ คือ อริยชนมีความสุขไร้ทุกข์ เป็นพื้นประจำตัว ส่วนปุถุชนต้องทะยานหาความสุข เพราะมีความขาดสุข หรือมีทุกข์คอยเร้า ยืนพื้นอยู่เป็นประจำ




วันศุกร์

๑.๑๙ นิพพาน มีอัตตาไหม เป็นอัตตาไหม?

บรรดาสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ใช้คำเรียกให้สั้นที่สุดว่าธรรม ยืดออกไปหน่อยว่าสภาวะ หรือสภาวธรรม ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า สิ่งทั้งหลายนั้นมีอยู่เป็นอยู่ตามภาวะของมัน ตามธรรมดาของมัน ถ้าเป็นสังขารหรือสังขตธรรม ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เมื่อพูดถึงนิพพาน ที่เป็นวิสังขาร หรืออสังขตธรรม นิพพานก็มีอยู่เป็นอยู่ตามภาวะของนิพพาน เช่นว่าเป็นภาวะบริสุทธิ์ ไม่ขึ้นต่ออะไรๆ เป็นต้น ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้แล้วมากมาย เมื่อนิพพานมีภาวะของนิพพานอย่างนั้น เป็นธรรมดาเช่นนั้นอยู่แล้ว จะมีอัตตามาแทรกมาซ้อนมาครอบมาครอง มาสั่งบังคับบัญชานิพพานอย่างนั้นอย่างนี้อีก ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้  ขอให้ดูตัวอย่างในพุทธภาษิตที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งของตน” นี่เป็นการใช้ในภาษาสมมติ (สมมติสัจจะ) ในความจริงแท้ (ปรมัตถสัจจะ) เราก็เรียนรู้กันว่าตัวเราแท้ๆนั้นไม่มีจริง ยอมรับกันแค่ตามสมมติ

นิพพานจะเป็นอัตตา จะเป็นตัวเราได้ ก็คือมีความยึดถือ ได้แก่อุปาทาน นี่ก็ขัดกับสภาวธรรมเอง เพราะจะประจักษ์แจ้งนิพพานได้ ต้องหมดสิ้นอุปาทานแล้ว พระอรหันต์จึงไม่มีความสำคัญหมายว่านิพพานของเรา

หลักพระพุทธศาสนาบอกชัดเจนว่าการถือว่ามีว่าเป็นอัตตา เป็นกิเลสที่เรียกว่า “อัตตวาทุปาทาน” หมายถึง การยึดวาทะถ้อยคำที่ส่อแสดงความคิดความเข้าใจว่ามีว่าเป็นอัตตา ขอให้สังเกตว่าประกอบด้วยศัพท์คำว่า “อัตตา+วาทะ+อุปาทาน” เพราะเมื่ออัตตาไม่มีจริง จะไปยึดอัตตาที่ไหน ก็เป็นแต่เพียงการยึดในวาทะว่ามีอัตตาเท่านั้น เป็นคำศัพท์ที่เรียกได้ว่าเคร่งครัด การปฏิบัติเกี่ยวกับนิพพานก็ดี นิพพานก็ดี ไม่ใช่เรื่องของการดับอัตตา เพราะไม่มีอัตตาที่จะต้องไปดับหรือไปทำลาย สิ่งที่จะต้องดับหรือทำลาย คือความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา ทิฏฐิว่ามีอัตตา ถ้ายังยึดว่าอะไรเป็นอัตตา ก็คือยืนยันว่ายังไม่รู้จักนิพพาน

สรุปด้วยพุทธพจน์ว่า “เรามองไม่เห็นความยึดถือวาทะว่ามีว่าเป็นอัตตา อย่างใด ที่เมื่อยึดติดถือมั่นเข้าแล้ว จะไม่ก่อให้เกิด โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส” (อลคัททูปมสูตร)


๑.๑๘ ความเข้าใจสับสนเกี่ยวกับนิพพาน

มีความเข้าใจสับสนเกี่ยวกับนิพพานซึ่งควรกล่าวถึง คือ ความเชื่อว่านิพพานคือภาวะที่เข้ารวมเป็นหนึ่งเดียวกับบรมสภาวะ พระผู้เป็นเจ้า ปรมาตมัน เป็นต้น

ตามปกตินั้น พระพุทธศาสนาชอบพูดอย่างง่ายๆตรงๆ เมื่อกล่าวถึงนิพพานก็ว่า เป็นภาวะดับกิเลสได้ หายร้อน หลุดพ้น เป็นอิสระ ไร้ทุกข์ ผ่องใส เบิกบาน ไม่ติดข้อง ไม่ถูกครอบงำรัดรึง พูดทำนองนี้จบแล้ว ก็พอกัน ไม่ต้องไปรวมไปกลืนหายเข้าในอะไรๆอีก พระอรหันต์ท่านหลุดโล่งโปร่งสบาย จิตใจไร้เขตแดน เป็นอิสระเสรีโดยสมบูรณ์แล้ว ไม่ปรากฏว่าท่านเคยคิดจะรวมเข้ากับอะไรๆอีก หรือว่าได้เข้ารวมกลมกลืนไปในอะไรๆแล้ว มีแต่ปุถุชนพยายามจะคิดให้ท่าน

การบรรลุนิพพาน ทำให้กิเลสและความทุกข์นั้นสูญสิ้นไปโดยเด็ดขาด เพราะขุดหรือถอนทิ้งด้วยปัญญา และสิ่งที่ดับไปในการประจักษ์แจ้งนิพพานนั้น ก็เป็นการดับเฉพาะสิ่งที่ชั่วร้าย และเหตุให้วุ่นวายเดือดร้อนต่างๆ เช่น ดับโลภะ โทสะ โมหะ ดับตัณหา ดับภพ ดับทุกข์ ดับอวิชชา มิได้ดับอะไรที่เป็นสิ่งดีงามเลย ยิ่งกว่านั้น เมื่อดับสิ่งชั่วร้ายแล้ว ก็กลับมีคุณลักษณะที่ดีเด่นขึ้นมาแทน อย่างชนิดเป็นไปเองตามธรรมดา นอกเหนือจากความสุข คือ การดำเนินชีวิตด้วยปัญญา และการบำเพ็ญกิจด้วยกรุณา



๑.๑๗ วิมุตติ ๕

๑. วิขัมภนวิมุตติ : ความหลุดพ้นด้วยอำนาจสมาธิ ข่มกิเลสไว้ ได้แก่สมาบัติ ๘ แต่บางครั้งท่านผ่อนลงมาถึงอุปจารสมาธิด้วย
๒. ตทังควิมุตติ : ความหลุดพ้นด้วยองค์ธรรมจำเพาะ คือ พ้นจากความเห็นผิดด้วยอาศัยวิปัสสนาญาณที่เป็นคู่ปรับกัน เช่น พิจารณาความไม่เที่ยงทำให้พ้นจากความสำคัญหมายว่าเป็นของเที่ยง ตามความหมายที่ผ่อนลงมาใช้ได้กับความดีความชั่วทั่วๆไป เช่น น้อมใจไปทางทาน ทำให้พ้นจากความโลภ, น้อมใจไปทางเมตตา ทำให้พ้นจากพยาบาท เป็นต้น
๓. สมุจเฉทวิมุตติ : ความหลุดพ้นเด็ดขาด คือการทำลายกิเลสที่ผูกรัดไว้ ได้แก่ วิมุตติในความหมายที่เป็นมรรค
๔. ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ : ความหลุดพ้นด้วยสงบระงับราบคาบไป ได้แก่ วิมุตติในความหมายที่เป็นผล
๕. นิสสรณวิมุตติ : ความหลุดพ้นที่เป็นภาวะหลุดรอดปลอดโปร่ง ได้แก่ วิมุตติในความหมายที่เป็นนิพพาน

วิมุตติ ๒ อย่างแรกเป็นโลกิยวิมุตติ (ชั่วคราว), วิมุตติ ๓ อย่างหลังเป็นโลกุตรวิมุตติ (ถาวร) ว่าโดยสาระแท้ๆ วิมุตติ ๕ นี้ก็คือ สมถะ วิปัสสนา มรรค ผล และนิพพาน ตามลำดับ


วันพุธ

๑.๑๖ ความพร้อมที่จะมีความสุข

ความสุขเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นยิ่งในทางจริยธรรม และพระพุทธศาสนาก็สนับสนุนให้ปฏิบัติเพื่อเข้าถึงภาวะที่จะเสวยความสุขได้ในระดับต่างๆมากมายหลายระดับ โดยเฉพาะเน้นให้พยายามบรรลุความสุขประณีตด้านใน ที่ไม่ต้องอิงอาศัยอามิส ซึ่งมีประโยชน์ในทางจริยธรรมมาก (กามสุขไม่จำเป็นต้องสนับสนุนเพราะคนคอยแต่จะหมกมุ่นกันเกินพออยู่แล้ว) แต่กระนั้นก็ไม่สนับสนุนให้ติดพันในความสุขชนิดใดๆเลย (แม้กระทั่งไม่ติดเพลินนิพพาน, ไม่มีความสำคัญหมายว่านิพพานของเรา) ยิ่งกว่านั้น พระพุทธศาสนาสนใจการสร้างความพร้อมที่จะมีความสุข หรือการทำตนให้พร้อมที่จะมีความสุขมากยิ่งกว่าการสร้างภาวะแห่งการเสวยสุขต่างระดับต่างประเภทนั้นเสียอีก ภาวะพร้อมที่จะมีความสุขนี้ เมื่อบรรลุถึงแล้ว ผู้บรรลุสามารถเลือกเสวยความสุขระดับต่างๆที่ตนเองสร้างไว้ก่อนแล้วได้ตามที่พอใจ


อนึ่ง ภาวะพร้อมที่จะเสวยสุขนี้ เป็นความสุขเองด้วยในตัว และเป็นความสุขที่เหนือกว่าสุขอื่นทั้งหมด ทั้งนี้ เพราะมันไม่มีสิ่งที่เป็นเชื้อมูลของความทุกข์เหลือติดอยู่เลย และเพราะการที่ไม่มีเชื้อทุกข์เหลืออยู่นี้เอง จึงกลับทำให้ผู้บรรลุ สามารถเสวยความสุขอย่างอื่นได้อย่างดีโดยสมบูรณ์ คือทำให้ความสุขเหล่านั้นไม่เป็นทางก่อโทษก่อทุกข์แก่ผู้เสวยมันหรือผู้ใดอื่นได้อีก ภาวะพร้อมที่จะเสวยสุข ซึ่งเป็นความสุขด้วยในตัวของมันเองนี้ คือลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของนิพพาน



วันอังคาร

๑.๑๔ ภาวะแห่งนิพพาน

โดยพยัญชนะ นิพพาน มาจาก นิ (ไม่มี ออกไป) + วาน (พัดไป เครื่องร้อยรัด ลูกศร) อรรถกถาส่วนมากนิยมแปลว่า ไม่มีตัณหาเครื่องร้อยรัด หรือ ออกไปแล้วจากตัณหาที่เป็นเครื่องร้อยติดไว้กับภพ

นิพพานเป็นธรรมธาตุอันดำรงอยู่ตามสภาวะของมัน ที่ไม่เกิดจากปัจจัย มิใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ไม่เป็นของใคร ไม่มีใครกำกับบังคับควบคุม ไม่มีตัวทำการที่จะดลบันดาลอะไรแก่ใครๆ ไม่มีลักษณะอาการเหมือนสิ่งใดที่ปุถุชนเคยรู้เคยเห็น อยู่นอกเหนือประสาทสัมผัสของมนุษย์ ถ้อยคำที่จะใช้บอกตรงๆ และสัญญาที่จะใช้กำหนดไม่มี ปุถุชนจึงไม่อาจนึกเห็นหรือคิดเข้าใจโดยชัดเจนได้ (ตรรกะหยั่งไม่ถึง) เหมือนกับคนตาดีไม่สามารถอธิบายลักษณะของสีต่างๆให้คนตาบอด ซึ่งรับรู้ได้แต่ รส กลิ่น เสียง สัมผัสได้โดยตรง บอกได้แต่เพียงโดยอ้อม หรือเทียบเคียง (โดยปริยาย) เท่านั้น (เช่น เอาสีแดงไปเทียบกับความรู้สึกร้อน สีน้ำเงินเทียบกับความรู้สึกเย็น) ตามปกติพระพุทธศาสนาพูดถึงนิพพานอย่างง่ายๆตรงๆว่า เป็นภาวะดับกิเลสได้ หายร้อน หลุดพ้น เป็นอิสระ ไร้ทุกข์ ผ่องใส เบิกบาน ไม่ถูกปรุงแต่ง ภาวะแห่งนิพพานเป็นอสังขตธาตุ ซึ่งไม่มีเชื้อคือปัจจัยปรุงแต่ง ส่วนพระอรหันต์ คือ ผู้บรรลุจุดหมายแห่งชีวิตประเสริฐ, ผู้เข้าถึงประโยชน์ตนแล้ว, ผู้ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว, ผู้ได้พัฒนาตนแล้ว


อย่างไรก็ตามอาจจัดแนวการอธิบายได้ดังนี้

๑. โดยนัยปฏิเสธ แสดงการเพิกถอนภาวะที่ไม่ดี เช่น ความสิ้นตัณหา, ที่จบสิ้นของทุกข์, ความดับแห่งภพ, ความไม่มีโรค, ไม่มีอะไรค้างใจ ไร้กังวล, ไม่แก่ไม่ตาย (อมตะธาตุ), ไม่เสื่อมคลาย ไม่กลับกลาย เป็นต้น

๒. โดยคุณภาพ แสดงความดีงามสูงสุด เช่น สงบ, ประณีต, บริสุทธิ์, แสนเกษมสำราญ, อิสรภาพ, บรมสุข, ยอดเยี่ยมไม่มีอะไรยิ่งกว่า, ประเสริฐสุด, ดีที่สุด เป็นต้น

๓. โดยอุปมา เช่น เหมือนคนข้ามมหาสมุทรที่มีอันตรายมากมาถึงฝากขึ้นยืนบนฝั่งแล้ว, จะว่าไปเกิดที่ไหน หรือจะว่าไม่เกิด ก็ไม่ถูกทั้งสิ้น เหมือนไฟดับไปเมื่อสิ้นเชื้อ (แต่ก็มีที่ท่านเปรียบเทียบนิพพานด้วยความไม่เกิดด้วย ควรเข้าใจไว้ว่าท่านพยายามแสดงสิ่งเดียวกัน เพียงแต่ต่างสำนวนกัน), ภูมิภาคอันราบเรียบน่ารื่นรมย์, ที่พ้นภัย, ความสมบูรณ์ไม่มีโรค เป็นต้น อนึ่ง ในคัมภีร์รุ่นต่อๆมา ที่เป็นสาวกภาษิต เปรียบเทียบนิพพานเป็นเมืองเช่น อุดมบุรี, นิพพานนคร, อมตมหานครนฤพาน เป็นต้น ไม่จัดเข้าในบรรดาถ้อยคำที่ยอมรับว่าใช้แสดงภาวะของนิพพานได้

บรรยายสภาวะโดยตรง นอกจากการแสดง ๓ แนวข้างต้นแล้ว ยังมีที่ท่านแสดงแบบบรรยายสภาวะโดยตรงด้วย ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพุทธพจน์หลายบท ดังนี้

“มีอยู่นะ ภิกษุทั้งหลาย อายตนะ ที่ไม่มีปฐวี ไม่มีอาโป ไม่มีเตโช ไม่มีวาโย ไม่มีอากาสานัญจายตนะ ไม่มีวิญญาณัญจายตนะ ไม่มีอากิญจัญญายตนะ ไม่มีเนวสัญญานาสัญญายตนะ ไม่มีโลกนี้ ไม่มีปรโลก ไม่มีดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เราไม่กล่าวอายตนะนั้นว่าเป็น การมา การไป การหยุดอยู่ การจุติ การอุบัติ อายตนะนั้น ไม่มีที่ตั้งอาศัย (แต่ก็) ไม่เป็นไป ทั้งไม่ต้องมีเครื่องยึดหน่วง นี้แลคือจุดจบของทุกข์” (ปาฏลิคามิยวรรค นิพพานสูตร)

พุทธพจน์นี้ เน้นย้ำว่าไม่ให้เข้าใจเอานิพพานเป็นดินแดนหรือสถานที่ใด ไปจนถึงภพใดๆรวมทั้งอรูปภพ

(อ.เสถียร โพธินันทะ) อายตนะในที่นี้ใช้ในความหมายว่า “สิ่งนั้น” คือใช้แทนนิพพานโดยตรง ไม่ใช้ในความหมายเหมือนอายตนะ ๖ โดยสรุปคือ สิ่งนั้นมีอยู่ แต่ไม่ใช่สิ่งใดๆที่มีในโลก … นิพพานไม่ใช่จิต เพราะถ้านิพพานเป็นจิต ก็เป็นวิญญาณขันธ์ซึ่งไม่เที่ยง จิตเป็นนามธรรมจึงไม่มีเทศะ (ไม่กินพื้นที่) แต่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกาละ (เวลา) จิตจึงไม่ใช่นิพพานเพราะนิพพานเป็นธรรมที่พ้นกาละพ้นเทศะ พ้นจากความเป็นรูปธรรมนามธรรม แต่นิพพานนั้นสามารถเป็นอารมณ์ของจิต (ธรรมารมณ์) อันผู้บรรลุแล้วพึงรู้ได้ เช่น การเข้าผลสมาบัติของพระอริยบุคคล

ในบรรดาคำที่ใช้เป็นคำแทน แสดงอรรถของนิพพานอยู่เสมอ เช่น วิมุตติ อสังขตะ เกษม นิโรธ วิราคะ สันติ วิชชา วิสุทธิ ปรมัตถ์ เหล่านี้เป็นไวพจน์ซึ่งแสดงลักษณะด้านต่างๆของนิพพาน วิมุตติ คือ ความหลุดพ้น เป็นคำหลัก (คำอื่นๆยังมีอีกมากโปรดดูที่ท่านประมวลไว้ในหนังสือพุทธธรรม)

“เมื่อพระอรหันต์ปรินิพพานเพราะความดับไปแห่งจิตดวงสุดท้ายในภพ (จริมจิต) ธรรมเหล่านี้ คือ ปัญญาและสติ นามและรูป ย่อมดับ คือสงบ ถึงความไม่ตั้งอยู่ ระงับไป ณ ที่นี้” (อชิตมาณวกปัญหานิสเทส)

“มีอยู่นะ ภิกษุทั้งหลาย ไม่เกิด ไม่เป็น ไม่ถูกสร้าง ไม่ถูกปรุงแต่ง, หากว่า ไม่เกิด ไม่เป็น ไม่ถูกสร้าง ไม่ถูกปรุงแต่ง จักมิได้มีแล้วไซร้ การรอดพ้นภาวะเกิดแล้ว เป็นแล้ว ถูกสร้าง ถูกปรุงแต่ง ก็จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้ได้เลย, แต่เพราะเหตุที่ มีไม่เกิด ไม่เป็น ไม่ถูกสร้าง ไม่ถูกปรุงแต่ง ฉะนั้น การรอดพ้นภาวะเกิดแล้ว เป็นแล้ว ถูกสร้าง ถูกปรุงแต่ง จึงปรากฏได้” (นิพพานสูตร)

“ยังอิงอยู่ จึงมีการไหว ไม่อิงแล้ว ก็ไม่มีการไหว, เมื่อการไหวไม่มี ก็นิ่งสนิท, เมื่อนิ่งสนิท ก็ไม่มีการโอนเอน, เมื่อไม่มีการโอนเอน ก็ไม่มีการมาการไป, เมื่อไม่มีการมาการไป ก็ไม่มีการจุติและอุบัติ, เมื่อไม่มีการจุติและอุบัติ ก็ไม่มีที่ภพนี้ ไม่มีที่ภพโน้น ไม่มีในระหว่างภพทั้งสอง, นั่นแหละคือที่จบสิ้นของทุกข์” (นิพพานสูตร)

ครั้งหนึ่งภิกษุเที่ยวไปทุกหนทุกแห่ง เพื่อหาผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับที่ที่ธาตุ ๔ ดับหมดไม่มีเหลือ จนถึงท้าวมหาพรหม ก็ไม่ได้คำตอบ ในที่สุดต้องกลับมาทูลถามพระพุทธเจ้า “ที่ไหนหนอ มหาภูต ๔ เหล่านี้ กล่าวคือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ย่อมดับไปไม่เหลือเลย” พระองค์ได้ตรัสตอบว่า “ไม่ควรถามว่า มหาภูติ ๔ ย่อมดับไม่เหลือ ณ ที่ใด แต่ควรถามว่า อาโป ปฐวี เตโช และวาโย ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ ณ ที่ไหน, ยาว สั้น เล็ก ใหญ่ งาม ไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ ณ ที่ไหน, นามและรูปย่อมดับหมดไม่มีเหลือ ณ ที่ไหน” และมีคำตอบว่าดังนี้ “ภาวะที่พึงรู้ได้ (นิพพาน) มองด้วยตาไม่เห็น เป็นอนันต์ เข้าถึงได้ทุกด้าน, ที่นี้ อาโป ปฐวี เตโช และวาโย ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้, ที่นี้ ยาว สั้น ละเอียด หยาบ งาม ไม่งาม ก็ตั้งอยู่ไม่ได้, ที่นี้ นามและรูปดับไปหมดไม่เหลือ, เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับที่นี้” (เกวัฏฏสูตร)

“ความสุขทางกามอันใดในโลก และความสุขอันเป็นทิพย์ ความสุขทั้งหมดนั้น ย่อมไม่ถึงเศษเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งความสุขที่ได้ เมื่อสิ้นตัณหา” (ราชสูตร)

“นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” (สุขวรรค)

พุทธพจน์สำนวนหนึ่งกล่าวว่า แม้ภิกษุจำนวนมากมายจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุจะปรากฏว่าพร่องหรือเต็มเพราะเหตุนั้นก็หามิได้ เรียกภาวะเช่นนี้ว่า ความพร้อมเพรียงกันไม่แสดงตนในภพ หรือ ความพร้อมใจกันไม่เกิด, อีกสำนวนหนึ่งท่านว่า พระพุทธเจ้าในอดีต ปัจจุบัน อนาคต มีจำนวนมากมายเหมือนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา

บางคนตั้งข้อสังเกตว่า นิพพาน ซึ่งเป็นอสังขตะธรรมนั้น น่าจะมีเหตุคือ มรรค ซึ่งก็จะกลายเป็นว่ายังเป็นไปด้วยเหตุปัจจัย ข้อนี้อธิบายว่า มรรคเป็นเหตุปัจจัยของการถึงนิพพานไม่ใช่ตัวนิพพาน เปรียบเหมือน การนั่งเครื่องบินเป็นเหตุปัจจัยของการถึงเมืองเชียงใหม่ แต่ไม่ใช่เหตุปัจจัยของเมืองเชียงใหม่

นิพพาน สภาพที่ดับกิเลสและกองทุกข์แล้ว, ภาวะที่เป็นสุขสูงสุด เพราะไร้กิเลสไร้ทุกข์ เป็นอิสรภาพสมบูรณ์

สอุปาทิเสสนิพพาน : นิพพานของพระอรหันต์ผู้ยังเสวยอารมณ์ ยังมีเบญจขันธ์, กิเลสปรินิพพาน
อนุปาทิเสสนิพพาน : นิพพานของพระอรหันต์ผู้ระงับการเสวยอารมณ์ทั้งปวงแล้ว, ขันธปรินิพพาน

“ภิกษุทั้งหลาย สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้ว มีสังโยชน์เครื่องผูกมัดไว้กับภพหมดสิ้นไปแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ, อินทรีย์ ๕ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) ของเธอยังดำรงอยู่เทียวเพราะอินทรีย์ทั้งหลายยังไม่เสียหาย เธอย่อมได้เสวยอารมณ์ทั้งที่พึงใจและไม่พึงใจ ย่อมเสวยทั้งสุขและทุกข์ ; อันใดเป็นความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ ของเธอ, อันนี้เรียกว่าสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ”

“ภิกษุทั้งหลาย อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว … หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ, อารมณ์ที่ได้เสวยทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละของเธอ ซึ่งเธอไม่ติดใจเพลินแล้ว จักเป็นของเย็น, ข้อนี้เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ”

“นิพพานธาตุอย่างหนึ่ง เป็นทิฏฐธัมมิกะ (มีในปัจจุบัน) ชื่อว่า สอุปาทิเสส เพราะสิ้นตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพ ; ส่วนนิพพานธาตุอีกอย่างหนึ่ง เป็นสัมปรายิกะ (มีในเบื้องหน้า) เป็นที่ภพทั้งหลายดับไปหมดสิ้น” (ธาตุสูตร)

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้ฟังข้อความที่แสดงภาวะของนิพพานมามากแล้ว แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้ปฏิบัติจนเข้าถึงและรู้เห็นด้วยตนเอง ก็พึงเตือนสติกันไว้ว่า ภาพความเข้าใจเกี่ยวกับนิพพานของผู้ศึกษาทุกคน ก็คงมีอาการที่ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงไปบ้างเป็นธรรมดา จึงไม่ควรเอาแต่คิดสร้างภาพและถกเถียงกันจนเลยเถิดไป ทางที่ดีหรือทางที่ถูก ควรจะลงมือปฏิบัติให้เข้าถึง เพื่อรู้เห็นประจักษ์ชัดกับตนเอง หรืออาจใช้คำว่านึกไม่เห็น แต่ต้องปฏิบัติให้รู้เอง ในเบื้องต้นเพียงมองให้เห็นหลักใหญ่ๆในภาพรวมให้ถูกต้อง ไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิไว้ก่อนเป็นสำคัญ (นิพพานนั้นไม่ใช่ของที่แตะต้องไม่ได้ หรือห้ามมิให้ตริตรึกนึกคิด เพราะการพิจารณาภาวะของนิพพานนั้น ก็เป็นการทำกิจในอริยสัจ ข้อนิโรธ นั่นเอง เพียงแต่ท่านแนะว่าไม่ควรเอาแต่คิดจนเลยเถิด)

“ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุผู้มองเห็นนิพพานโดยความเป็นทุกข์ จักเป็นผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ ย่อมเป็นไปไม่ได้, ข้อที่ภิกษุผู้ไม่ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ จักบรรลุโสดาปัตติผล … ฯลฯ ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ 

ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุผู้มองเห็นนิพพานโดยความเป็นสุข จักเป็นผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้, ข้อที่ภิกษุผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ จักบรรลุโสดาปัตติผล … ฯลฯ ก็ย่อมเป็นไปได้”
(นิพพานสูตร)

ส่วนแทรกเสริมตามความเห็นของผู้บันทึก

การพิจารณาหลักการของผลสมาบัติ อาจช่วยทำให้ผู้ศึกษามองภาพของนิพพานได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น ในอรรถกถาญาณัตตยานิทเทส พระอรรถกถาจารย์ท่านอธิบายการเข้าอนิมิตสมาธิว่า “สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้พอใจความเป็นไปอันเป็นวิบากกล่าวคือสุคติ แต่พระโยคาวจรนี้ประสงค์จะเข้าผลสมาบัติ เห็นความเป็นไปแม้นั้นและสังขารทั้งปวงโดยความเป็นของไม่เที่ยง ครั้นเห็นอย่างนี้แล้วย่อมสามารถเข้าผลสมาบัติได้ … สมาบัติอันหานิมิตมิได้ ชื่อว่าอนิมิตสมาบัติ เพราะเห็นนิมิตโดยความเป็นภัยแล้วเข้าถึง” (ละความดำริถึงสังขตธรรมทั้งปวงแล้วเข้าถึง)



๑.๑๓ นิพพาน : ประโยชน์สูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้จากชีวิตนี้

ปัญหาของมนุษย์มาจากการที่ชีวิตนั้นโดยธรรมชาติ เป็นที่ตั้งของปัญหา คือ ทุกข์ อันเป็นสภาวะด้านหนึ่งตามธรรมชาติของชีวิต ที่ขึ้นต่อเหตุปัจจัยหลากหลาย ไม่เที่ยง ไม่คงที่ แปรปรวนเรื่อยไป ไม่มีไม่เป็นตัวตนของมันเองอย่างแท้จริง จะให้คงอยู่หรือเป็นไปอย่างที่ใจปรารถนาไม่ได้ ต้องว่ากันไปตามเหตุปัจจัย ในเมื่อตามสภาวะ ชีวิตมีทุกข์เป็นธรรมชาติพื้นฐานของมันอยู่แล้ว การที่จะมีความสุขได้ คนก็ต้องมีจิตใจที่มั่นคงในการอยู่กับความจริง โดยมีปัญญาที่ทำให้จิตเป็นอิสระจากทุกข์พื้นฐานนั้น หรือให้ใจอยู่กับมันได้สบายๆ เผชิญหน้ายอมรับความจริงด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันความจริงนั้น เมื่อมนุษย์มีปัญญารู้เท่าทันความเป็นจริงตามสภาวะของมันแล้ว ทุกข์ที่เป็นสภาวะตามธรรมดาในธรรมชาติ ก็ไม่มีผลที่จะก่อปัญหาทำให้เกิดเป็นทุกข์ขึ้นในจิตใจ


พระพุทธเจ้าเมื่อทรงแสดงหลักปฏิจจสมุปบาทสมุทยวาร อันเป็นที่มาของปัญหาหรือความทุกข์แล้ว ก็มิได้ทรงหยุดอยู่เพียงนั้น แต่ได้ทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทนิโรธวาร อันเป็นกระบวนธรรมฝ่ายดับทุกข์ หรือแก้ไขปัญหาต่อไปอีกด้วย เป็นการชี้ให้เห็นว่า ทุกข์หรือปัญหาของมนุษย์เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ ยิ่งกว่านั้น ยังทรงชี้ต่อไปถึงภาวะที่เลิศล้ำสมบูรณ์ ซึ่งมนุษย์สามารถมีชีวิตที่ดีงามและเป็นสุขแท้จริงได้ โดยไม่ต้องฝากตัวขึ้นต่อปัจจัยภายนอก ไม่ต้องเอาสุขทุกข์ของตนไปพิงไว้กับสิ่งทั้งหลาย ซึ่งสิ่งเหล่านั้นแม้แต่ตัวมันเองก็ทรงเอาไว้ไม่ได้

แสดงการตัดวงจรปฏิจจสมุปบาทที่ขั้วอวิชชา

อวิชชาดับ > สังขารดับ > วิญญาณดับ > นามรูปดับ > สฬายตนะดับ > ผัสสะดับ > เวทนาดับ > ตัณหาดับ > อุปาทานดับ > ภพดับ > ชาติดับ > ชรามรณะ + โสกะ ฯลฯ อุปายาสดับ = ทุกขนิโรธ

แสดงการตัดวงจรปฏิจจสมุปบาทที่ขั้วตัณหา

อวิชชา > สังขาร > วิญญาณ > นามรูป > สฬายตนะ > ผัสสะ > เวทนา > ตัณหาดับ > อุปาทานดับ > ภพดับ > ชาติดับ > ชรามรณะ + โสกะ ฯลฯ อุปายาสดับ = ทุกขนิโรธ

บ่อยครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกขนิโรธ โดยชูตัณหาเป็นตัวเด่น คือ เมื่อเสวยเวทนาแล้ว ไม่เกิดตัณหา ก็เพราะมีความรู้เท่าทันสภาวะสังขารของสิ่งที่เสพเสวย คือมีวิชชารองเป็นพื้นอยู่ เมื่อไม่มีอวิชชาสัมผัส เวทนาที่เกิดขึ้นก็ไม่นำไปสู่ตัณหา ดังนั้นที่ว่าตัณหาดับ จึงบ่งถึงอวิชชาดับอยู่แล้วในตัว การที่ทรงแสดงแบบนี้ ก็เพื่อให้เห็นภาพในทางปฏิบัติได้ง่ายขึ้น

พระอรหันต์ทั้งหลายเสวยอารมณ์ด้วยจิตใจที่เป็นอิสระ ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันธรรมชาติของมัน ไม่ถูกกิเลสครอบงำหรือชักจูง ไม่ถูกเผาลนด้วยตัณหา และไม่มืดมัวด้วยอวิชชา เป็นอยู่ด้วยจิตใจที่โปร่งโล่ง ผาสุข เป็นอิสระ เมื่อไม่มีกิเลสชักนำไปสู่ภพ กระบวนธรรมสังสารวัฏฏ์ก็สิ้นสุดลง เข้าสู่วิวัฏฏ์ (นิพพาน) บรรลุภาวะแห่งความดับทุกข์ เป็นผู้มีชัยต่อปัญหาชีวิต มีความสุขอย่างแท้จริง อันเป็นประโยชน์สูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้ คุ้มค่ากับการที่ได้เกิดมามีชีวิต



วันจันทร์

๑.๑๒ แก้กรรม ด้วยปฏิกรรม

ปฏิกรรม เป็นคำสอนสำคัญส่วนหนึ่งของหลักกรรม แปลว่า การแก้ไข การทำให้กลับคืนดี หรือการกลับตัว ซึ่งเป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสนับสนุนให้ปฏิบัติ มีหลักสำคัญคล้ายกันทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ คือ เมื่อใดก็ตาม ถ้ามีการทำผิด ละเมิด ล่วงเกินต่อผู้อื่น ต่อมารู้ตัวแล้ว แสดงความยอมรับสำนึกผิด และถ้ามีโอกาสมาบอกขอให้เขายอมรับความสำนึกของตนเพื่อปฏิกรรม และสำรวมระวังต่อไปนั้น เป็นความเจริญงอกงามในวินัยของอารยชน เปรียบเทียบกับการขออโหสิกรรมในปัจจุบัน จะเห็นว่าสาระแท้จริงของปฏิกรรมนั้นอยู่ที่การเปลี่ยนการกระทำที่ผิดพลาดให้กลับเป็นดี ส่วนการขออโหสิกรรมนั้นไม่ค่อยมีการพูดเน้นถึงการพัฒนากรรม และถือเป็นความนิยมในยุคหลัง (ความหมายเดิม อโหสิกรรม คือ กรรมเลิกให้ผล ได้แก่กรรมที่ไม่ได้โอกาสที่จะให้ผลภายในเวลาที่จะออกผลได้)


“ผู้ใดเป็นพาล รู้ตัวว่าเป็นพาล ก็ยังนับว่าเป็นบัณฑิตได้บ้าง ส่วนผู้ใดเป็นพาล แต่สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ผู้นั้นแล เรียกว่าเป็นพาลแท้ๆ” (คาถาธรรมบท พาลวรรค)

“ขุมกำลังของคนพาล คือการจ้องหาโทษของคนอื่น ขุมกำลังของบัณฑิต คือการไตร่ตรองโดยพินิจ” (พลสูตร)

“ผู้ไม่โกรธตอบคนโกรธ ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก” (พรหมทัตตเถระคาถา)

“ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมเป็นทุกข์ พระขีณาสพผู้สงบระงับ ละความชนะความแพ้ได้แล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข” (สุขวรรค)

“ผู้ใดเคยประมาทในตอนต้น ภายหลังเขาไม่ประมาท ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากเมฆหมอก” (องคุลิมาลเถระคาถา)



วันศุกร์

๑.๑๑ กรรม ๑๒

กรรม ๑๒ นี้ เป็นมติของอรรถกถาจารย์ มีข้อที่ได้ต้นเค้ามาจากพระไตรปิฎกคือ ๓ ข้อแรก โดยท่านจัดแบ่งกรรมไว้เป็น ๓ หมวด

หมวดที่๑ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล
กรรมให้ผลในชาติปัจจุบันนี้ : เจตนาที่เกิดในชวนจิตดวงที่ ๑ เป็นการปรุงแต่งแต่เริ่มต้น แต่ไม่ได้การเสพคุ้น ถ้าไม่มีโอกาสให้ผลในชาตินี้ ก็กลายเป็นอโหสิกรรม ท่านเปรียบเหมือน พรานเห็นเนื้อ หยิบลูกศรยิงไปทันที ถ้าถูกเนื้อก็ล้มที่นั่น ถ้าพลาดก็รอดไปเลย

กรรมให้ผลในที่จะไปเกิด : เจตนาที่เกิดในชวนจิตดวงที่ ๗ เป็นเจตนาที่ได้เสพคุ้นมาแล้ว แต่มีกำลังจำกัดเพราะเป็นจิตที่กำลังสิ้นสุดวิถี กรรมนี้ให้ผลเฉพาะในชาติถัดจากนี้ไปเท่านั้น ถ้าไม่มีโอกาสให้ผลในชาติหน้าก็กลายเป็นอโหสิกรรม

กรรมให้ผลในภพต่อๆไป : เจตนาที่เกิดในชวนจิตดวงที่ ๒-๖ กรรมนี้ให้ผลได้เรื่อยไปในอนาคต ไม่เป็นอโหสิกรรม เปรียบเหมือนสุนัขไล่เนื้อ ทันเมื่อใด ก็กัดเมื่อนั้น (จนกว่าผลของกรรมนั้นจะหมด)

อโหสิกรรม : กรรมเลิกให้ผล ได้แก่กรรมที่ไม่ได้โอกาสที่จะให้ผลภายในเวลาที่จะออกผลได้

 
หมวดที่ ๒ จำแนกตามการให้ผลตามหน้าที่
กรรมแต่งให้เกิด (ชนกกรรม) : กรรมที่เป็นตัวทำให้เกิดขันธ์ที่เป็นวิบาก ทั้งในขณะปฏิสนธิ และในเวลาที่ชีวิตเป็นไป

กรรมสนับสนุน (อุปัตถัมภกกรรม) : กรรมพวกเดียวกับชนกกรรม ซึ่งไม่สามารถให้เกิดวิบากได้เอง แต่เข้าช่วยสนับสนุน หรือซ้ำเติม ต่อจากชนกกรรม ทำให้สุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นในขันธ์ ซึ่งเป็นวิบากนั้น เป็นไปนาน

กรรมบีบคั้น (อุปปีฬกกรรม) : กรรมฝ่ายตรงข้ามกับชนกกรรม ทำให้สุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นในขันธ์ ซึ่งเป็นวิบากนั้น ไม่เป็นไปนาน

กรรมตัดรอน (อุปฆาตกรรม) : กรรมฝ่ายตรงข้ามที่มีกำลังแรง เข้าตัดรอนกรรมอื่นๆที่มีกำลังน้อยกว่าเสีย ห้ามวิบากของกรรมนั้นขาดไปเสียทีเดียว แล้วเปิดช่องแก่วิบากของตน เช่น ปิตุฆาตกรรมของพระเจ้าอชาตศัตรู ที่ตัดรอนกุศลกรรมของพระองค์เสีย เป็นต้น

      (อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ) คนที่ชนกกรรมคือกรรมดั้งเดิมแต่งมาให้ตกต่ำแล้ว ไม่ทอดอาลัยในความตกต่ำนั้น ทำความดีให้มากขึ้น ความดีนั้นก็จะเป็นอุปปีฬกกรรม คือกรรมที่เบียดกรรมดั้งเดิมได้ ควรจะตกต่ำมาก ก็ทำให้กลายเป็นตกต่ำแต่เล็กน้อย หรือทรงตัวอยู่ได้ ถ้าทำความดีมากถึงขนาด ความดีนั้นก็จะเป็นอุปัจเฉทกกรรม คือกรรมตัดรอนกรรมดั้งเดิม ควรจะตกต่ำล่มจม ก็กลายเป็นฟื้นตัวและเฟื่องฟูเจริญขึ้นได้ เข้าในลักษณะ “ตโมโชติปรายโน” เป็นผู้มืดมาแล้วสว่างไป, แต่ในเรื่องเช่นนี้ ไม่พึงเข้าใจว่ามีเฉพาะทางดี แม้ทางชั่วก็มีได้เหมือนกัน

จำแนกตามลำดับความแรงในการให้ผล
กรรมหนัก (ครุกรรม) : ในฝ่ายดี ได้แก่สมาบัติ ๘ ในฝ่ายชั่ว ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕ (บางคัมภีร์รวมนิยตมิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นในทางปฏิเสธกรรมและผลแห่งกรรมด้วย) ย่อมให้ผลก่อน และครอบงำกรรมอื่นๆเสีย เปรียบเหมือนห้วงน้ำใหญ่ไหลบ่ามาท่วมทับน้ำน้อยไป

กรรมเคยชิน (อาจิณณกรรม) : กรรมที่ทำมาก สั่งสมเคยชินเป็นนิสัย เช่น เป็นคนมีศีลดี หรือคนทุศีล เป็นต้น กรรมไหนทำบ่อย ทำมาก มีกำลังกว่า ก็จะให้ผลก่อน กรรมต่อไปนี้ให้ผลต่อจากครุกรรม

กรรมใกล้ตาย (อาสันนกรรม) : กรรมที่กระทำหรือระลึกขึ้นมาในเวลาใกล้จะตาย ให้ผลหลังจากกรรม ๒ ข้อก่อน (แต่บางคัมภีร์ ก็ว่าให้ผลก่อนอาจิณณกรรม บ้างก็ว่าอาสันนกรรมโดยมากก็สืบมาแต่อาจิณกรรมนั่นเอง)

(อรรถกถาจารย์ขยายความว่า ขณะใกล้ตาย ถ้ามีอวิชชาเป็นกิเลสหลัก พร้อมด้วยมิจฉาทิฏฐิ จะนำไปสู่ทุคติภพ, ถ้ามีภวตัณหา (ความอยากมีอยากเป็น) เป็นกิเลสหลัก พร้อมด้วยสัมมาทิฏฐิ จะนำไปสู่ สุคติภพ)

(ตามนัยพุทธพจน์ จะไปเกิดสุคติ หรือ ทุคติ ดูจากอาการสุข ทุกข์ ของจิตใจในขณะตายของผู้นั้นก็ได้เพราะจุติจิตนั้นเป็นเหตุของปฏิสนธิจิต ไม่มีระหว่างขั้น เปรียบเหมือนบุรุษโหนเถาวัลย์จากฟากหนึ่งไปอีกฟากหนึ่ง ตายด้วยจิตเป็นสุข สงบเย็นด้วยกุศลธรรม ย่อมหวังสุคติภพได้)

กรรมสักว่าทำ (กตัตตากรรม) : กรรมที่ทำด้วยเจตนาอันอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้นๆโดยตรง เป็นกรรมเบา ต่อเมื่อไม่มีกรรม ๓ ข้อก่อน กรรมนี้จึงให้ผล

นอกจากนี้คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ยังแสดงกรรมไว้อีกหมวดหนึ่ง คือ
จำแนกตามภพเป็นที่ให้ผล
อกุศลกรรม : (ยกเว้นอุทธัจจะ) เช่น ที่จำแนกเป็นอกุศลกรรมบถ ๑๐ ย่อมให้กำเนิดในอบายภูมิ

กามาวจรกุศลกรรม : กรรมที่เป็นกุศลระดับกามาวจร เช่นที่จำแนกเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ย่อมให้กำเนิดในกามสุคติภพ ๗ (มนุษย์ และสวรรค์ ๖)

รูปาวจรกุศลกรรม : กรรมที่เป็นกุศลระดับรูปาวจร คือ รูปฌาน ๔ ของผู้ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ย่อมให้กำเนิดในรูปภพ

อรูปาวจรกุศลกรรม : กรรมที่เป็นกุศลระดับอรูปาวจร คือ อรูปฌาน ๔ ของผู้ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ย่อมให้กำเนิดในอรูปภพ

อธิบายเรื่องกรรมตามพระสูตร

ในสังสาระ (การเวียนว่ายตายเกิดที่กำหนดจุดเริ่มต้นมิได้) สัตว์ที่ไม่เคยเป็นมารดา ไม่เคยเป็นบิดา ไม่เคยเป็นบุตร ไม่เคยเป็นธิดากัน มิใช่หาได้ง่าย” (มาตุสูตร)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารวัฏนี้กำหนดที่สุด เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ เธอทั้งหลายเห็นทุคตบุรุษผู้มีมือและเท้าไม่สมประกอบ พึงลงสันนิษฐานในบุคคลนี้ว่า เราทั้งหลายก็เคยเสวยทุกข์เห็นปานนี้มาแล้ว โดยกาลนานนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารวัฏนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้” (ทุคคตสูตร)

ดูกรสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ความหมดจดย่อมมีได้ด้วยสังสารวัฏ ดูกรสารีบุตร ก็สังสารวัฏที่เราไม่เคยท่องเที่ยวไป โดยกาลยืดยาวนานนี้ เว้นแต่เทวโลกชั้นสุทธาวาส (ที่เกิดของพระอนาคามี) เป็นสิ่งที่หาไม่ได้ง่ายนัก ดูกรสารีบุตร ถ้าเราพึงท่องเที่ยวไปในเทวโลกชั้นสุทธาวาส เราก็จะไม่พึงมาสู่โลกนี้อีก” (มหาสีหนาทสูตร)

ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนห่วงหนึ่งอยู่ในมหาสมุทร ในมหาสมุทรนั้น มีเต่าตาบอดตัวหนึ่งล่วงไป ร้อยปีจะผุดขึ้นมาครั้งหนึ่ง, ข้อที่เต่าตาบอดตัวนั้น จะพึงยื่นคอเข้าไปในห่วงนั้น ยังจะเร็วเสียกว่าการที่คนพาลซึ่งเข้าถึงการเกิดเป็นวินิบาตแล้ว (นรก, อสุรกาย) จักได้ความเป็นมนุษย์สักครั้งหนึ่ง และเมื่อเกิดเป็นมนุษย์ย่อมเกิดในสกุลต่ำ” (พาลบัณฑิตสูตร)

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงช้อนฝุ่นไว้ในปลายพระนขา (เล็บ) แล้วตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ฝุ่นเล็กน้อยที่เราช้อนไว้ในปลายเล็บกับแผ่นดินใหญ่นี้ ไหนจะมากกว่ากัน?” ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเทียบกับแผ่นดินใหญ่ ฝุ่นเล็กน้อยที่ปลายพระนขา ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่กลับมาเกิดในหมู่มนุษย์มีน้อย โดยที่แท้สัตว์ที่กลับมาเกิดนอกจากมนุษย์มีมากกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ฉะนั้นเธอทั้งหลาย พึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา” (อัญญตรสูตร)

 “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วย ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เธอมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า, โอหนอ หลังจากตายไป ขอให้เราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งขัตติยมหาศาลเถิด (พระราชา), ดังนี้ เธอจึงตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น ความปรารถนาและวิหารธรรมเหล่านั้นอันเธอเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อให้เธออุบัติในฐานะนั้น
 “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วย ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เธอมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า, โอหนอ เราจักบรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน, ดังนี้ เธอก็บรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ย่อมไม่เกิดในที่ไหนๆ” (สังขารูปปัตติสูตร)



วันอังคาร

๑.๑๐ กรรม

หลักธรรมส่วนย่อยของปฏิจจสมุปบาท ที่นิยมอธิบายกันมากที่สุด ได้แก่ หลักกรรม เนื่องจากการอธิบายเรื่องกรรม อาจทำได้หลายระดับ คือ จะอธิบายอย่างง่ายๆในระดับผิวเผิน พอให้เห็นเหตุเห็นผลในสายตาของชาวบ้านก็ได้ หรือจะอธิบายลึกลงไปถึงกระบวนธรรมภายในจิต จนต้องใช้หลักปฏิจจสมุปบาทเต็มรูปก็ได้

ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับกรรม
กรรมในฐานะกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตามพึงเข้าใจว่า แม้กระทั่งความเชื่อที่ว่าทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะกรรมก็ถือว่าไม่ถูกต้องครบถ้วน เช่น เหงื่อออก อาจเป็นเพราะอากาศร้อนก็ได้ ความเครียดก็ได้ เป็นอาการของโรคบางอย่างก็ได้ เป็นต้น

ความหมายของกรรม
คือ การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา หรือ การกระทำที่เป็นไปด้วยความจงใจ ถ้าเป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนา ก็ไม่เรียกว่าเป็นกรรม

ประเภทของกรรม
ถ้ามี กุศลมูล เป็นเครื่องปรุงแต่งจิตก็เป็น กุศลกรรม
ถ้ามี อกุศลมูล เป็นเครื่องปรุงแต่งจิตก็เป็น อกุศลกรรม

กุศลมูล : อโลภะ อโทสะ อโมหะ
กุศลกรรม : กรรมดี กรรมอันเป็นกุศล ประกอบด้วยปัญญา เกิดจากกุศลมูล ตัดโรคหรือตัดสิ่งชั่วร้าย ไม่มีโทษ สะอาด ผ่องแผ้ว ฉลาด ทำให้มีความสุข มีสุขเป็นวิบาก ผ่อนคลาย บริสุทธิ์ผ่องใส ตั้งมั่น เป็นอิสระ เหมาะแก่การใช้งาน เป็นเครื่องชำระสันดาน ทำให้กุศลธรรมเจริญขึ้น อกุศลธรรมเสื่อมไป
อกุศลมูล : โลภะ โทสะ โมหะ
อกุศลกรรม : กรรมชั่ว เกิดจากอกุศลมูล

(โดยความหมายอย่างกว้าง บุญมีความหมายเท่ากับ กุศล, บาปก็มีความหมายเท่ากับอกุศล)

กรรม จะให้ผลสำเร็จตามต้องการต้องมากับความเพียร (วิริยะ) และ ปัญญา ซึ่งทำให้เห็นธรรม รู้เหตุปัจจัย แล้วก็ทำกรรมได้ตรงที่จะให้เกิดผลดีที่พึงต้องการ เมื่อพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ กรรมก็ประณีตขึ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งพ้นกรรมไปเลย นี่คือหลักการใหญ่ๆของพระพุทธศาสนา

การนับถือสิ่งที่เรียกว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ถ้าตราบใดยังไม่เสียหลักกรรม ก็ยังไม่ตกจากพระพุทธศาสนา แต่ถ้าผิดหลักกรรมเมื่อไร ก็หลุดจากพระพุทธศาสนาทันที เพราะกรรมคือธรรมส่วนที่โยงมาหามนุษย์ ที่ว่าไม่เสียหลักกรรมอย่างไร คือ ถ้าเราไปเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว หวังผลจากการดลบันดาล อ้อนวอนนอนรอคอย ก็เป็นอันว่าพลาดหลักกรรมแล้ว ถ้าเชื่อถือแล้วทำให้มีความมั่นคงในการกระทำ ทำการเข้มแข็งยิ่งขึ้น เพียรพยายามกระทำการตามเหตุปัจจัย ก็ยังไม่หลุดไปจากหลักกรรม ฉะนั้นชาวพุทธ ในขั้นเบื้องต้น แม้จะนับถือพระรัตนตรัยแบบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็อนุโลมได้ (เฉพาะในขั้นต้น เพื่อนำไปสู่ปัญญา) ถ้ายังไม่หลุดจากหลักกรรม พระพุทธศาสนากล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก อย่าไปหลงติดพูดด้วนๆขาดห้วนใจความไปแค่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ จุดสำคัญที่ประเสริฐของมนุษย์ก็คือ การฝึกตัวเองได้ และฝึกได้จนประเสริฐเลิศที่สุด

มีพุทธพจน์หลายบทที่ท่านทรงตรัสถึงการให้ความสำคัญกับการกระทำอันเป็นกุศล แทนการถือเรื่องฤกษ์ยาม ความฝัน ฯลฯ เช่น “ผู้ใดไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถืออุกกาบาต ไม่ถือความฝัน ไม่ถือลักษณะดีหรือชั่ว ผู้นั้นชื่อว่าล่วงพ้นโทษแห่งการถือมงคลตื่นข่าว” (มังคลชาดก)

“ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนเขลาผู้คอยนับฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นตัวฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวจักทำอะไรได้” (นักขัตตชาดก)

“ฤกษ์ดีสำเร็จทุกเมื่อแก่ผู้บริสุทธิ์” (วัตถูปมสูตร)

“บุคคลประพฤติชอบเวลาใด เวลานั้นได้ชื่อว่า เป็นฤกษ์ดี” (สุปุพพัณหสูตร)

ผลกรรมตามนัยแห่งพระไตรปิฎก ที่บรรยายในลักษณะสืบเนื่องไปถึงภพภายภาคหน้า (จูฬกัมมวิภังคสูตร) ผู้มักทำปาณาติบาต เป็นคนเหี้ยมโหด, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนมีอายุสั้น
ผู้มีนิสัยชอบเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนมีโรคมาก
ผู้เป็นคนมักโกรธ เคียดแค้นพยาบาท, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนมีลักษณะทราม ไม่สวยไม่งาม
ผู้มีใจริษยา, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนต่ำต้อยด้อยอำนาจ
ผู้ไม่บำเพ็ญทาน, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนมีโภคะน้อย
ผู้เป็นคนแข็งกระด้าง ไม่กราบไหว้ ไม่เคารพนับถือแก่ผู้ที่สมควรได้รับการปฏิบัติเช่นนั้น, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนมีตระกูลต่ำ
ผู้ไม่ศึกษาปฏิบัติ เพื่อพัฒนาปัญญา, หากมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นคนทรามปัญญา

ส่วนผู้ที่ปฏิบัติในทางกุศล ซึ่งตรงข้ามกับสาระในแต่ละหัวข้อนั้น ก็จะได้รับผลดีที่ตรงข้ามกันนั้น

จะเห็นว่าในสูตรนี้ แม้จะกล่าวถึงผลที่ประสบในชีวิตข้างหน้า แต่ก็เน้นที่การกระทำในปัจจุบัน ที่อาศัยกรรมคือคุณภาพจิตใจและคุณภาพแห่งความประพฤติ ที่ตนมีอยู่ในปัจจุบันนี้เอง ที่เป็นปัจจัยโดยตรงแก่ผลจำเพาะแต่ละอย่าง ไม่ใช่เป็นอานิสงส์เฟ้อชนิดที่ว่าทำกรรมดีอะไรครั้งเดียว ก็มีผลมากมายไม่มีขอบเขต

ควรสังเกตว่า ท่านตรัสผลในภพภายภาคหน้า เช่น ผู้บำเพ็ญทาน เมื่อมาสู่ความเป็นมนุษย์ในภพภายภาคหน้าจะเป็นผู้มีโภคะสมบัติมาก อาจกล่าวได้ว่าเป็นเหตุไกล-ผลไกล ส่วนถ้าหวังผลในปัจจุบัน ควรทำเหตุใกล้ ดังธรรมหมวดที่มีชื่อว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ บางแห่งนิยมเรียกว่า หัวใจเศรษฐี ๔ ประการ คือ ขยันหมั่นเพียร, รู้จักรักษาทรัพย์, คบคนดีไม่คบคนชั่ว, เลี้ยงชีวิตพอเหมาะ

หลักบุญกิริยาวัตถุ ๓ คือ ทาน ศีล ภาวนา พูดอย่างกว้างๆท่านจัดว่าเป็นบุญที่มีผลมากกว่ากันตามลำดับ ซึ่งจะเห็นว่า ศีล และภาวนา นั้นไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพย์สินเงินทองก็ทำได้

“บุคคลทำกรรมใด ด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ กรรมนั้นแหละ เป็นของๆเขา และเขาย่อมพาเอากรรมนั้นติดตามไป เหมือนเงาติดตามตน ฉะนั้น บุคคลควรทำกรรมดี สั่งสมไว้สำหรับภพหน้า บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า” (ทุติยาปุตตกสูตร)

“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง กรรมใหม่ กรรมเก่า ความดับกรรม และข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับกรรม, กรรมเก่าเป็นไฉน? ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า ซึ่งถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เกิดจากเจตจำนง เป็นที่เสวยเวทนา นี้เรียกว่า กรรมเก่า, กรรมใหม่เป็นไฉน? กรรมที่บุคคลกระทำด้วยกาย วาจา ใจ ในบัดนี้ เรียกว่า กรรมใหม่, ความดับกรรมเป็นไฉน? ภาวะที่สัมผัสวิมุตติ เพราะความดับไปแห่ง กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เรียกว่า ความดับกรรม, ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับกรรมเป็นไฉน? ได้แก่ มรรคามีองค์ ๘ประการอันประเสริฐนี้เอง เรียกว่า ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับกรรม” (กรรมสูตร)

“ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการเหล่านี้ คือ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม กรรมใดที่ทำเพราะ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้นเหตุ กรรมนั้นเป็นอกุศล มีโทษ มีทุกข์เป็นวิบาก, กรรมนั้นย่อมให้ผลในที่ที่อัตภาพของเขาบังเกิด หรือในลำดับต่อๆไป ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกรรม ไม่เป็นไปเพื่อความดับแห่งกรรม

ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการเหล่านี้ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม กรรมใดที่ทำเพราะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นต้นเหตุ กรรมนั้นเป็นกุศล ไม่มีโทษ มีสุขเป็นวิบาก, กรรมนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความดับกรรม ไม่เป็นไปเพื่อความเกิดกรรม” (นิทานสูตร)



วันศุกร์

๑.๙ กิเลส

กิเลส แปลว่า สภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมอง, สิ่งเกาะติด สิ่งเปรอะเปื้อน สิ่งสกปรก

จุดมุ่งหมายของการศึกษาเรื่องกิเลส คือ เพื่อให้มีความเข้าใจ รู้เท่าทัน ถึงคุณ โทษ ของกิเลส เพื่อเลือกที่จะใช้ประโยชน์จากกิเลสนั้น (ใช้กิเลสเป็นแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง อกุศล เปลี่ยนเป็น กุศล) หรือเลือกที่จะละกิเลสนั้นตามสมควร โดยไม่ถูกกิเลสทำให้จิตเศร้าหมอง เรียกว่า เป็นนายของกิเลส ซึ่งจะพัฒนาขึ้นตามระดับของปัญญา

อนึ่ง คำว่าละกิเลสนั้น ถ้าพูดในแง่ของผลสำเร็จเช่น พระอนาคามีละสังโยชน์ได้ ๕ ข้อ หมายถึงว่า เข้าถึงภาวะที่กิเลส ๕ ข้อนั้นไม่เกิดขึ้นอีก หรืออาจใช้คำว่า ปลอดกิเลส พระอรหันต์จึงได้ชื่อว่า ปลอดกิเลสโดยสมบูรณ์

กิเลสในชื่อต่างๆ
กิเลสทั้งหมดนั้นล้วนแต่รวมลงได้ใน ราคะ โทสะ โมหะ ทั้งสิ้น การที่แยกออกมาเป็นชื่อต่างๆ เพื่อจำแนกให้เห็นชัดในลักษณะอาการของกิเลสนั้นๆแต่ละแง่ด้าน เช่น อาสวะ อนุสัย ตัณหา อุปาทาน อวิชชา สังโยชน์ นิวรณ์ อุปกิเลส เป็นต้น

อาสวะ ๔  :สิ่งที่ไหลซ่านไปทั่ว, สิ่งที่หมักหมมหรือหมักดอง ไม่ว่าจะรับรู้อะไรทางอายตนะใด หรือจะคิดนึกสิ่งใด อาสวะเหล่านี้ก็เที่ยวกำซาบซ่านไปแสดงอิทธิพลอาบย้อมมอมมัวสิ่งที่รับรู้เข้ามาและความนึกคิดนั้นๆ ทำให้ไม่ได้ความรู้ความคิดที่บริสุทธิ์ และเป็นเหตุก่อทุกข์ก่อปัญหาเรื่อยไป อาสวะต่างๆเหล่านี้ จึงเป็นที่มาแห่งพฤติกรรมของมนุษย์ปุถุชนทุกคน
    กามาสวะ    : ความใฝ่ในการสนองความต้องการทางประสาททั้ง ๕
    ภวาสวะ    : ความใฝ่ในความมีอยู่คงอยู่ของตัว ตลอดจนการที่จะได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และดำรงอยู่ในภาวะที่อยากเป็นนั้นยั่งยืนตลอดไป
    ทิฏฐาสวะ    : ความเห็น ความเชื่อถือ แนวคิด ที่สั่งสมอบรมมา และยึดถือเชิดชูไว้ (หมายถึงมิจฉาทิฏฐิ)
    อวิชชาสวะ    : ความหลง ความไม่เข้าใจ สิ่งทั้งหลายตามสภาวะโดยธรรมชาติของมันเอง, ไม่รู้เห็นตามที่มันเป็น แต่รู้เห็นตามที่คิดว่ามันเป็น

อนุสัย ๗ :กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน บางอาจารย์ท่านว่ามุ่งแสดงถึงกิเลสประณีตที่ตกตะกอนนอนก้นอยู่ในจิตใจ ถ้าไม่ถูกกระตุ้นก็จะเหมือนกับว่าจะไม่ปรากฏโทษภัย แต่แท้จริงกิเลสยังคงนอนก้นอยู่ เช่น เด็กทารกกิเลสบางอย่างก็ยังไม่ฟุ้งขึ้น แต่ก็มีอนุสัยอยู่เป็นปกติ เหมือนไฟสุมภายในขอนไม้ ที่ยังไม่ลุกโพลงขึ้นมา
    กามราคะ    : ความกำหนัดในกาม
    ปฏิฆะ    : ความขัดใจ หงุดหงิดขัดเคือง คือ โทสะ
    ทิฏฐิ     : ความเห็นผิด
    วิจิกิจฉา     : ความลังเล สงสัย
    มานะ     : ความถือตัว
    ภวราคะ     : ความกำหนัดในภพ ความอยากเป็น อยากยิ่งใหญ่ อยากยั่งยืน
    อวิชชา     : ความไม่รู้จริง คือ โมหะ

อนุสัย ๗ นี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังโยชน์ ๗



ตัณหา ๓
นุษย์มีความอยากที่เป็นพื้นฐานสำคัญคือ ความอยากมีอยู่เป็นอยู่ หรืออยากมีชีวิตอยู่ ซึ่งหมายถึงความอยากให้ตัวตนในความรู้สึกนั้นคงอยู่ยั่งยืนต่อไป ความอยากเป็นอยู่นี้สัมพันธ์กับความอยากได้ คือ อยากอยู่เพื่อเสวยสิ่งที่จะให้สุขเวทนาสนองความต้องการของตนต่อไป จึงกล่าวได้ว่า ที่อยากเป็นอยู่ ก็เพราะอยากได้ เมื่ออยากได้ ความอยากเป็นอยู่ก็ยิ่งรุนแรงขึ้น
    กามตัณหา     : อยากได้สิ่งสนองความต้องการทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕
    ภวตัณหา     : อยากเป็นอยู่
    วิภวตัณหา     : อยากให้ดับสูญ
(ความอยากไม่ใช่เป็นตัณหาไปเสียทั้งหมด ความอยากที่เป็นกุศลก็มี เรียกว่า ฉันทะ)

อุปาทาน ๔
ความยึดติดถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส
    กามุปาทาน     : ความยึดมั่นในกาม, จะต้องเอาต้องเสพต้องครอบครองสิ่งนั้นให้ได้
    ทิฏฐุปาทาน     : ความยึดมั่นในทิฏฐิต่างๆ, ต้องอย่างนี้ถึงจะดี ได้อย่างนี้ถึงจะเป็นสุข
    สีลัพพตุปาทาน     : ความยึดติดถือมั่นในศีลและพรตอย่างผิดๆ, ประพฤติปฏิบัติศีลพรตในแง่ที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งที่อยากได้นั้น เช่น คุณวิเศษบางอย่าง โดยไม่เข้าใจความหมายและเหตุผลของศีลนั้น
    อัตตวาทุปาทาน     : ความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา (เพราะอัตตาไม่มีจริง เมื่อพูดอย่างเคร่งครัดจึงต้องเติม วาทะ เข้าไป, ท่านจึงมักย้ำว่า การปฏิบัติเกี่ยวกับนิพพานก็ดี นิพพานก็ดี ไม่ใช่เรื่องของการดับอัตตา หรือทำลายอัตตา เพราะไม่มีอัตตาที่จะต้องไปดับหรือไปทำลาย สิ่งที่จะต้องดับหรือทำลาย คือความยึดมั่นในอัตตา วาทะว่ามีอัตตา ความเห็นว่ามีอัตตา หรือภาพอัตตาที่สร้างขึ้นมายึดถือไว้)

นิวรณ์ ๕
ธรรมที่ขวางกันการเจริญจิตเจริญปัญญา, สิ่งที่กั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในกุศลธรรม
    กามฉันทะ     ความพอใจติดใคร่กาม / เปรียบเหมือนคนเป็นหนี้
    พยาบาท     ความผูกใจโกรธ หงุดหงิด ขัดใจ / เปรียบเหมือนคนไข้หนัก
    ถีนมิทธะ     ถีน : ความหดหู่ , มิทธะ : ความง่วงซึม / เปรียบเหมือนคนติดในเรือนจำ
    อุทธัจจะกุกกุจจะ     อุธัจจะ : ความฟุ้งซ่าน, กุกกุจจะ : กระวนกระวายใจ / เปรียบเหมือนคนเป็นทาส
    วิจิกิจฉา     ความลังเลสงสัย คลางแคลงใจในกุศลธรรมทั้งหลาย / เปรียบเหมือนคนเดินทางกันดารมีภัยน่าหวาดเสียว)



วันเสาร์

๑.๘ ธรรมนิยาม

ธรรมนิยาม คือ หลักความจริงที่มีอยู่โดยธรรมดาตามที่ดำรงอยู่หรือเป็นไปของมันเอง พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ มันก็มีก็เป็นไปของมันอยู่อย่างนั้นๆ (นิยามแปลว่ากำหนดอันแน่นอน) มี ๒ หมวดสำคัญ คือ

๑. ไตรลักษณ์
๒. ปฏิจจสมุปบาท

ถ้าจะเข้าใจไตรลักษณ์ให้ชัด ต้องลงให้ถึงปฏิจจสมุปบาท เช่น ที่ว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงนั้น มันไม่ได้เปลี่ยนไปอย่างเลื่อนลอย แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย จึงต้องศึกษาระบบความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลาย ข้อสังเกตที่สำคัญ (เทียบเคียงกับหลัก อริยสัจ ๔) เมื่อขันธ์ ๕ เป็นไปตามปฏิจจสมุปบาท โดยมีลักษณะเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันจึงมีสภาพเป็นที่ตั้ง ที่ก่อตัวของทุกข์ หรือเป็นที่รวมไว้แห่งศักยภาพของการที่จะเป็นทุกข์ (เข้าใจว่าเพ่งที่ทุกข์ทางใจเป็นหลัก) ขันธ์  อันประกอบพร้อมด้วยความยึดมั่นถือมั่น (อุปาทานขันธ์ ) จึงเป็นความหมายของ ทุกขอริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท ถือเป็นความหมายของ สมุทัยอริยสัจ ดังที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทสมุทัยวาร

นอกจากธรรมที่เป็นสังขตธรรมหรือสังขาร ก็ยังมีธรรมที่เป็นอสังขตธรรม ซึ่งพ้นเหนือปฏิจจสมุปบาท ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง จึงไม่เป็น อนิจจัง และทุกขัง นี่ก็คือ นิโรธอริยสัจ อันได้แก่ นิพพาน

ส่วนอริยสัจข้อที่ ๔ มรรค คือ วิธีปฏิบัติในการที่จะให้กระบวนการปฏิจจสมุปบาทสมุทัยวาร ไม่เป็นไป หรือพลิกกลับเป็นปฏิจจสมุปบาทนิโรธวารนั่นเอง ในการปฏิบัติเมื่อแยกแยะออกไปแล้วจัดเป็นระบบชีวิตที่ดีงามเรียกว่า มรรคมีองค์ ๘

พุทธพจน์ ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว ก็ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง

ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนั้น อะไรเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก เป็นข้อแตกต่างระหว่างอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ กับปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้?

ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ย่อมเศร้าโศกคร่ำครวญ เขาย่อมเสวยเวทนาทั้ง ๒ อย่าง คือ เวทนาทางกาย และเวทนาทางใจ

เปรียบเหมือนนายขมังธนู ยิงบุรุษด้วยลูกศรดอกหนึ่ง แล้วยิงซ้ำด้วยลูกศรดอกที่ ๒ อีก เมื่อเป็นเช่นนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศรทั้ง ๒ ดอก คือ ทั้งทางกาย ทั้งทางใจ ฉันใด ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ก็ฉันนั้น ย่อมเสวยเวทนาทั้ง ๒ อย่าง คือ ทั้งทางกาย และทางใจ

อนึ่ง เพราะถูกทุกขเวทนานั้นกระทบ เขาย่อมเกิดความขัดใจ เมื่อเขามีความขัดใจเพราะทุกขเวทนา ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนาก็ย่อมนอนเนื่อง เขาถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ก็หันเข้าระเริงกับกามสุข เพราะไม่รู้ทางออกจากทุกขเวทนา นอกไปจากกามสุข และเมื่อเขาระเริงอยู่กับกามสุข ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้นย่อมนอนเนื่อง เขาย่อมไม่รู้เท่าทันความเกิดขึ้น ความสูญสลาย ข้อดีข้อเสีย และทางออกของเวทนาเหล่านั้นตามที่มันเป็น เมื่อเขาไม่รู้ตามที่มันเป็น อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา ย่อมนอนเนื่อง

ถ้าได้เสวยสุขเวทนา เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว ถ้าเสวยทุกขเวทนา เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว, นี้แล เรียกว่า ปุถุชน ผู้มิได้เรียนรู้ ผู้ประกอบด้วยชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เราเรียกว่าผู้ประกอบด้วยทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ ถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก คร่ำครวญ เธอย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่เสวยเวทนาทางใจ

เปรียบเหมือนนายขมังธนู ยิงบุรุษด้วยลูกศร แล้วยิงซ้ำด้วยลูกศรดอกที่ ๒ ผิดไป เมื่อเป็นเช่นนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศรดอกเดียว ฉันใด อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ก็ฉันนั้น ย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ

อนึ่ง เธอย่อมไม่มีความขัดใจเพราะทุกขเวทนานั้น เมื่อไม่มีความขัดใจเพราะทุกขเวทนานั้น ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนานั้น ย่อมไม่นอนเนื่อง เธอถูกทุกขเวทนากระทบ ก็ไม่หันระเริงเข้ากับกามสุข เพราะอริยสาวกผู้เรียนรู้แล้ว ย่อมรู้ทางออกจากทุกขเวทนา นอกจากกามสุขไปอีก เมื่อไม่ระเริงกับกามสุข ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้นก็ไม่นอนเนื่อง เธอย่อมรู้เท่าทันความเกิดขึ้น ความสูญสลาย ข้อดี ข้อเสีย และทางออกของเวทนาเหล่านั้นตามที่มันเป็น เมื่อเธอรู้ตามที่มันเป็นอวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา ก็ไม่นอนเนื่อง

ถ้าเสวยสุขเวทนา ก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว ถ้าเสวยทุกขเวทนา ก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว นี้เรียกว่า อริยสาวก ผู้ได้เรียนรู้ ผู้ปราศจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เราเรียกว่า ผู้ปราศจากทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก เป็นข้อแตกต่าง ระหว่างอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ กับปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ (สัลลัตถสูตร)


ธรรมดาโลก ธรรมนิยาม

สังขตธรรม (ธรรมที่ถูกปรุงแต่ง, สิ่งทั้งหลายในโลกทั้งรูปธรรมและนามธรรม) ล้วนเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย เรียกว่า นิยาม  คือ ความเป็นไปอันมีระเบียบแน่นอน เพราะเมื่อมีเหตุปัจจัยอย่างนั้นๆแล้ว ก็จะมีความเป็นไปอย่างนั้นๆแน่นอน ประกอบด้วย

๑. อุตุนิยาม : เกี่ยวกับอุณหภูมิ
๒. พีชนิยาม : เกี่ยวกับพันธุกรรม
๓. จิตตนิยาม : เกี่ยวกับการทำงานของจิต
๔. กรรมนิยาม : การกระทำและผล
. ธรรมนิยาม : อาการที่เป็นเหตุเป็นผลแก่กันแห่งสิ่งทั้งหลาย (ข้ออื่นๆรวมลงได้ในข้อนี้ทั้งหมด)
อาจมีอีก ๑ อย่าง คือ
๖. สมมตินิยาม : กฎระเบียบต่างๆที่มนุษย์ตั้งขึ้นใช้ในสังคม ไม่มีผลกับความจริงตามธรรมชาติ และอาจสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับความจริงตามธรรมชาติก็ได้ สังคมที่เจริญแล้วคนทั้งหลายมีปัญญา มักบัญญัติสมมตินิยาม ได้สอดคล้องกับกรรมนิยาม เพื่อสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นในสังคม