วันจันทร์

การฝึกสมาธิเบื้องต้นเพื่อความสุขในชีวิตประจำวัน

ในยุคสมัยที่มีสิ่งเสพบริโภคให้แสวงหาความสุขกันอย่างพรั่งพร้อม และผู้คนก็ติดในสุขจากการเสพบริโภคกันมากอย่างที่บางครั้งเรียกว่าเป็นยุค “สุขนิยม” เมื่อผู้คนสนใจในความสุขกันมากดังนี้แล้ว ก็อาจเป็นการดีที่จะยกเอาประโยชน์ด้านความสุขนี่แหละขึ้นมาตั้งพิจารณาให้เห็นประจักษ์ สุขจากการเสพบริโภค กับสุขจากการเจริญสมาธิ มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบกันอย่างไร

ผู้ปฏิบัติเมื่อก้าวหน้าไปตามลำดับ แม้ในเบื้องต้น ก็พอจะเห็นได้ด้วยตนเอง โดยในที่นี้จะใช้การฝึกสมาธิแบบอานาปานสติ ซึ่งเป็นวิธีที่ในพระไตรปิฎกปรากฎว่าพระพุทธเจ้าทรงสนับสนุนบ่อยครั้ง (การฝึกสมาธิ รวมถึงสติ ในรูปแบบอื่นๆ ถ้าปฏิบัติถูกทางแล้วล้วนเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น)

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้สมาธิในอานาปานสตินี้แลอันภิกษุอบรมทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานสงบไปโดยฉับพลัน ดุจละอองและฝุ่นที่ฟุ้งขึ้นในเดือนท้ายฤดูร้อน ฝนใหญ่ที่ตกในสมัยมิใช่ฤดูกาล ย่อมยังละอองและฝุ่นนั้นๆ ให้อันตรธานสงบไปได้ โดยฉับพลัน ฉะนั้น” (มหาวิภังค์)

“ภิกษุทั้งหลาย ถ้านักบวชลัทธิอื่นกล่าวหาว่า สมณะศากยบุตรประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข พึงถามว่าประกอบแบบไหน เพราะมีอยู่มากด้วยกัน คือ บางคนฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ พูดปด บำเรอตนด้วยกามคุณ อย่างนี้ชื่อว่าประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุขแบบชาวบ้าน ซึ่งไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน “การประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข ที่เป็นไปเพื่อนิพพาน ได้แก่ ความสุขในฌาน ๔ ถ้านักบวชลัทธิอื่นกล่าวว่า สมณะศากยบุตร ประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข ๔ อย่างนี้ ก็พึงรับรองว่ากล่าวถูกต้อง” (ปาสาทิกสูตร)

อย่างไรก็ตาม ต้องขอออกตัวไว้แต่ต้นว่า ผู้เขียนไม่เคยได้สมาธิถึงขั้นอัปปนาสมาธิเลย แต่ในอานาปานสติ และกสิณบางอย่าง เมื่อไม่มีปัญหาสุขภาพรบกวน สามารถเจริญอุปจารสมาธิขึ้นได้ไม่ยากนัก ความเข้าใจในระดับที่ประจักษ์แจ้งกับตัวนั้น จึงตันอยู่แค่ระดับอุปจารสมาธิ ขั้นที่สูงไปกว่านี้เป็นเพียงการบรรยายไปตามหลักการที่ได้ศึกษามาและตามความเห็นส่วนตัวเท่านั้น


สมาธิ เป็นภาวะที่จิตสรรสร้างขึ้น ความเข้าใจในตัวสภาวะ และวิธีปฏิบัติ จึงเป็นเรื่องสำคัญ วิธีฝึกสมาธิทุกวิธีล้วนมีเป้าหมายอย่างเดียวกัน คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้เกิดภาวะที่จิตสามารถแนบสนิทอยู่กับงาน (อารมณ์กรรมฐาน) อย่างเดียวต่อเนื่องกันไป โดยไม่มีอารมณ์อื่นฟุ้งขึ้นมารบกวนแม้ขณะจิตเดียว ท่านเปรียบเสมือนเปลวไฟที่ใหม้ไส้เทียนไปเรื่อยๆโดยไม่มีการกระเพื่อมไหวเพราะแรงลม เมื่อสมาธิตั้งมั่นดีแล้ว ก็จะมีกำลังพอที่จะข่มกิเลสให้สงบลงได้ตลอดช่วงระยะเวลานั้น ทางพระอภิธรรมท่านอธิบายว่าในอัปปนาสมาธิ เอกัคคตาเจตสิกมีกำลังแรง ชวนจิตเกิดดับสืบต่อกันไปตลอดต่อเนื่องไม่ขาดสายไม่ตกภวังค์ นิวรณ์ ๕ จึงไม่มีช่องให้แทรกฟุ้งขึ้นมา (อุปจารสมาธิก็เป็นลักษณะเดียวกันนี้ แต่เกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ)

“สมาธิที่ตั้งมั่นดีแล้ว ชื่อว่าเป็นนิพพานโดยปริยาย” (สันทิฏฐิกสูตร)

วัตถุประสงค์ที่สำคัญข้อหนึ่งในการฝึกสมาธิ ก็เพื่อจะให้ผู้ปฏิบัติได้สัมผัสโดยตรงกับภาวะความหลุดพ้นจากกิเลสชั่วคราวด้วยกำลังสมาธิ (วิขัมภนวิมุตติ) เมื่อได้สัมผัสเองแล้ว ในส่วนนี้ก็ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น ไม่ต้องคาดเดา หรือจินตนาการวาดภาพขึ้นมาลอยๆ ว่าภาวะนั้นจะดีเลิศเพียงใด อย่างไรก็ตาม ควรทราบว่า ภาวะความหลุดพ้นจากกิเลสชั่วคราวด้วยกำลังสมาธิดังกล่าวนั้น ท่านหมายถึงสมาธิระดับฌาน ซึ่งไม่ใช่ของง่ายที่จะทำให้เกิดขึ้น แม้กระนั้น ผู้ปฏิบัติได้ถูกต้อง ก้าวหน้าเพียงขั้นอุปจารสมาธิ ก็จะได้สัมผัสกับภาวะที่สุขสงบประณีตในระดับหนึ่งแล้ว เนื่องด้วยกำลังของอุปจารสมาธิหรือแม้แต่ขณิกสมาธิก็เพียงพอที่จะข่มกิเลสลงได้อย่างมีนัยยะให้ตัวผู้ปฏิบัติรู้สึกได้ ขอให้ลองนึกถึงเวลาที่ฟังเพลง ชมภาพยนตร์ หรือทำงานอดิเรกอะไรก็ตามที่ชอบมากๆ บางครั้งจะมีบางช่วงบางตอนที่ท่านรู้สึกว่ามันสุดแสนจะประทับใจ จนความสนใจทั้งหมดถูกดึงดูดไปที่สิ่งๆนั้นเพียงสิ่งเดียว และได้ดื่มด่ำกับความสุขของช่วงเวลานั้น นั่นคือสิ่งๆนั้นมีอิทธิพลต่อความสนใจอย่างมากจนดึงดูดให้สมาธิเกิดขึ้นมาได้เอง ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านพอจะนึกออกกันหรือเปล่า แบบที่บางคนเวลาฟังเพลงที่เพราะมากๆแล้วรู้สึกขนลุก นั่นเป็นอาการทางร่างกายที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อเกิดปีติ ซึ่งเป็นองค์ธรรมหนึ่งของปฐมฌาน (วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา) องค์ธรรมเหล่านี้อุปจารสมาธิก็มีเช่นเดียวกัน เพียงแต่อ่อนกำลังกว่าและเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ เพียงไม่กี่วินาที ภาวะเช่นนี้ เกิดขึ้นได้เองบางครั้งในชีวิตประจำวัน นี่เป็นสิ่งที่ใช้อธิบายว่า ทำไมบางครั้งการฟังเพลง หรือชมภาพยนตร์ ที่มีเนื้อหาเศร้า แต่กลับรู้สึกเพลิดเพลิน มีความสุข สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าสิ่งนั้นดึงดูดความสนใจของเราได้มากในระดับที่เริ่มจะเกิดสมาธินั่นเอง (ผู้เขียนเข้าใจว่าสมาธิที่เกิดขึ้นเองนี้จะไม่เกินขณิกสมาธิ คือ อย่างมากได้แค่เฉียดเข้าไปใกล้อุปจารสมาธิเท่านั้น)

ทั้งนี้สมาธิในลักษณะนี้เกิดจากความวิจิตรของสิ่งเสพบริโภคนั้นดึงดูดใจเรา ต่างจากสมาธิจากการปฏิบัติซึ่งเป็นภาวะที่เราสร้างขึ้นเอง กล่าวคือ สุขจากสมาธินั้นเราเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้นมาได้เอง (นิรามิสสุข) โดยไม่ต้องพึ่งพิงอิงอาศัยสิ่งเสพบริโภคจากภายนอกมาทำให้เกิดความสุข (สามิสสุข) ซึ่งเป็นการแสวงหาความสุขที่มีข้อบกพร่อง มีโทษภัยมากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ ในที่นี้จะใช้อานาปานสติเป็นหลักในการอธิบาย

“… นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า …”

เฉพาะส่วนที่เป็นสมถภาวนา ผู้เขียนมีความเห็นว่าในเบื้องต้นเราอาจจับหลักไว้เพียงเท่านี้ เนื้อความต่อจากนี้เป็นการใช้อานาปานสติเป็นฐานของการพิจารณาสังขตธรรม กล่าวคือเป็นส่วนที่ยกขึ้นสู่วิปัสสนาภาวนานั่นเอง เช่น ในอานาปานสติสูตร, สติปัฏฐานสูตร, ฯลฯ (พึงทราบว่าโดยมากครูอาจารย์ท่านจัด สติปัฏฐาน ๔ เฉพาะหมวดแรกทั้งหมวด คือ กายานุปัสสนา เป็นสมถะ) นอกจากนี้ผู้สนใจควรศึกษาเพิ่มเติมจากปฏิสัมภิทามรรค อานาปาณกถา, คัมภีร์วิสุทธิมรรค อานาปาณสติกถา การที่คัมภีร์ในชั้นพระไตรปิฏกไม่ค่อยพบเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวกับการสอนวิธีปฏิบัติสมถภาวนาโดยละเอียดนั้น เข้าใจว่าเป็นเพราะสมัยพุทธกาล การฝึกสมาธิเป็นของที่ทำกันได้อยู่แล้ว แม้ในผู้ปฏิบัติภายนอกพุทธศาสนา ไม่เป็นของพิเศษน่าอัศจรรย์อะไร ท่านจึงแสดงวิธีการเจริญสมาธิเพียงเล็กน้อย แล้วแสดงวิธีการเจริญวิปัสสนาอย่างละเอียด

ก็แต่ว่าเราๆท่านๆในยุคนี้ห่างเหินจากการเจริญจิตเจริญปัญญากันพอสมควร ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่าในที่นี้เราควรจับเอาเฉพาะด้านสมถภาวนาก่อน ให้ได้เห็นผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจแก่ผู้ปฏิบัติจริงๆ ทีละเรื่องไป บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อความสำเร็จเฉพาะด้านสมาธิก่อน ยังไม่ขยายผลไปสู่การเจริญปัญญา ขอเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจเกี่ยวกับนิมิต (เครื่องหมาย) ที่จะใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน ในที่นี้คือ ลมหายใจ ในการหายใจเข้า-ออก สิ่งที่ควรทำคือ มีสติอยู่กับลมหายใจเท่านั้น ไม่ควรเพิ่มความซับซ้อนให้นิมิต โดยไม่จำเป็น ควรปล่อยให้การหายใจเป็นไปตามปกติ ลมหายใจจะสั้นหรือยาว ลึกหรือตื้น ท้องยุบหรือพอง สัมผัสของลมหายใจอยู่ที่ปลายจมูกหรือริมฝีปากบน ไม่ควรถือเป็นสำคัญ เพราะบางอย่างเกี่ยวกับสภาพจิตใจของผู้ปฏิบัติตอนนั้น เช่น ตื่นเต้น เหนื่อย หรือง่วง บางอย่างเกี่ยวกับลักษณะทางกายภาพของผู้ปฏิบัติแต่ละคน เช่น รูปทรงของจมูก ไปจนถึงท่านั่งที่ถนัด ซึ่งผู้ปฏิบัติแต่ละคนล้วนมีปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้ไม่เหมือนกัน ตัวการปฏิบัติจริงๆคือมีสติอยู่กับลมหายใจเท่านั้น ลักษณะและสัมผัสของลมหายใจควรปล่อยให้เป็นไปอย่างเรียบง่ายตามธรรมชาติ ขอให้ลองเทียบกับนิมิตของกสิณต่างๆ เช่น ปฐวีกสิณ ตามคัมภีร์ท่านให้ใช้ดินที่เป็นสีเดียวกันล้วน ไม่มีสีอื่นปน ไม่มีก้อนหิน รากหญ้า ฯลฯ แม้กระทั่งเวลาจะทรงจำก็ให้ตั้งห่างจากสายตาพอประมาณเพื่อไม่ให้เห็นรอยฝ่ามือหรือตำหนิอื่นๆในดินนั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าสิ่งที่ใช้เป็นนิมิตสำหรับการจำที่ดีนั้น โดยมากล้วนมีลักษณะเรียบง่าย กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งสิ้น (รายละเอียดเพิ่มเติมดู 🔎คัมภีร์วิสุทธิมรรค)

อีกประเด็นหนึ่งที่ช่วยเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนิมิต คือ ระดับของสมาธิที่ใช้ในการวิปัสสนา ที่ท่านใช้คำว่า วิปัสสนาสมาธินั้น จัดอยู่ในระหว่างขั้น ขนิกสมาธิ ถึง อุปจารสมาธิ ที่เป็นเช่นนี้เพราะการวิปัสสนานั้นเป็นลักษณะของการปะติดปะต่อความรู้ และประสบการณ์ต่างๆเข้าด้วยกัน กล่าวคือ เป็นการนำความรู้ด้านปริยัติ และประสบการณ์ด้านปฏิบัติ เข้ามาเชื่อมโยงกันเพื่อให้เกิดปฏิเวธ คือ ความเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้ง เห็นประจักษ์กับตัว สิ้นสงสัยในเรื่องนั้นๆ ลักษณะที่ต้องปะติดปะต่อเชื่อมโยงกันนี้เอง วิปัสสนาสมาธิจึงไม่สามารถแนบสนิทอยู่กับอารมณ์เดียวอย่างต่อเนื่องยาวนานถึงขั้นเป็นอัปปนาสมาธิได้ (ยกเว้นผู้ปฏิบัติแนวสมถยานิก) นิมิตของกรรมฐานก็เช่นเดียวกัน ถ้าผู้ปฏิบัติใช้นิมิตที่มีความซับซ้อนมาก หรือใช้รูปแบบการปฏิบัติที่ซับซ้อนมาก สมาธิก็จะเกิดขึ้นได้ยากตามไปด้วย กรรมฐานบางกอง เช่น พุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ มรณานุสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ท่านจึงกล่าวว่าให้สมาธิระดับสูงสุดไม่เกินอุปจารสมาธิ ส่วนในเรื่องของการบริกรรมภาวนานั้น ไม่ใช่อารมณ์หลักของกรรมฐาน ผู้เขียนเข้าใจว่าพระอรรถกถาจารย์ท่านเสริมเข้ามาเพื่อช่วยประคองจิตไม่ให้ฟุ้งซ่านไปได้ง่ายในช่วงแรกของการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติจะเลือกใช้คำใดก็ได้ ในที่นี้ใช้คำว่า พุท-โธ พร้อมไปกับการหายใจ เข้า-ออก เมื่อสมาธิเจริญขึ้นเรื่อยๆ ประโยชน์ของการบริกรรมภาวนาก็ลดน้อยลง จะละจากการบริกรรมภาวนาเสีย ให้จิตมีสมาธิอยู่กับลมหายใจเพียงอย่างเดียวก็ได้ หรือถ้าผู้ปฏิบัติรู้สึกว่าลมหายใจกับการบริกรรมภาวนานั้นกลมกลืนกันไปด้วยดี จะบริกรรมภาวนาไปด้วยตลอดการปฏิบัติก็ได้

ท่านั่งที่เหมาะสมในการปฏิบัติ สมัยพุทธกาลท่านถือตามสำนวน “นั่งคู้บัลลังค์ ตั้งกายตรง” ซึ่งเป็นท่านั่งที่ถือว่าสบายๆ ถูกสุขลักษณะ และเหมาะสมกับพระภิกษุและชาวบ้านทั่วไปในยุคสมัยนั้น ซึ่งไม่ได้มีข้าวของเครื่องใช้เหมือนสมัยนี้ ควรดูที่วัตถุประสงค์คือ นั่งให้สบายๆ ถูกสุขลักษณะ ก็เป็นอันว่าใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องฝืนนั่งในท่าที่รู้สึกปวดเมื่อย ไม่สบาย (แต่ควรนั่งหลังตรง การนั่งหลังงอนอกจากไม่ถูกสุขลักษณะแล้ว มักจะทำให้รู้สึกง่วงได้ง่าย) สมาธิ ท่านตรัสว่า มีสุขเป็นปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ การปฏิบัติด้วยวิธีที่สบายๆ จึงเอื้อต่อการเกิดสมาธิมากกว่าการปฏิบัติที่จะต้องฝืนทน ข่มกาย ข่มใจ มากจนเกินไป ดังพุทธพจน์

“… เมื่อร่างกายเหน็ดเหนื่อย จิตก็ฟุ้งซ่าน เมื่อจิตฟุ้งซ่าน จิตก็ห่างจากสมาธิ” (เทวธาวิตักกสูตร)

บางครั้งผู้เขียนได้ยินได้ฟังมาว่า ผู้ปฏิบัติบางท่านเมื่อฝึกสมาธิไปสักระยะหนึ่ง มักเกิดความรับรู้บางอย่างปรากฏขึ้นในระหว่างการปฏิบัติ อาจเป็นภาพหรือความรู้สึกอะไรก็ตาม ซึ่งไม่ใช่นิมิตที่เป็นอารมณ์กรรมฐาน (ในที่นี้คือลมหายใจ) แต่เรียกว่านิมิตเหมือนกันเพราะศัพท์คำว่านิมิตนั้นเป็นคำกลางๆ แปลว่า เครื่องหมาย ผู้ปฏิบัติพึงเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น มาจากความจำได้หมายรู้ (สัญญา) ของตัวเราเองที่จิตปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา บางท่านเห็นไปในลักษณะที่ชวนให้เกิดศรัทธาปสาทะ เช่น เห็นองค์พระพุทธรูป เห็นแสงสว่างมีรัศมีเรืองรอง เห็นสวรรค์วิมาน ได้กลิ่นหอม เป็นต้น บางท่านเห็นไปในลักษณะที่น่าหวาดกลัว เช่น เห็นซากศพมีกลิ่นเหม็น เห็นโครงกระดูก เห็นเหวลึก เห็นนรก เป็นต้น ไม่ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นไปในเชิงดีหรือร้าย ผู้ปฏิบัติไม่ควรถือเอาเป็นสาระ ควรเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่จิตของเราเองปรุงแต่งขึ้นมา ไม่ต่างอะไรกับความฝันนั่นเอง อนึ่ง ผู้ปฏิบัติจะพิจารณานิมิตปรุงแต่งที่เกิดขึ้นโดยความเป็นไตรลักษณ์ (ไม่เที่ยง คงสภาพอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ตนแท้) คือนำมาใช้เจริญวิปัสสนาก็ได้ แต่ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าวัตถุประสงค์ของบทความนี้ คือ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้รู้จักความสุขจากสมาธิเป็นเบื้องต้นก่อน การเจริญวิปัสสนายกไว้ในลำดับถัดไป พึงมีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออกไปตามปกติ เมื่อรักษาจิตให้อยู่กับอารมณ์กรรมฐานจนสติละเอียดปราณีตสมาธิแนบแน่นขึ้นตามลำดับ ผู้ปฏิบัติก็จะได้สัมผัสกับความสุขอันเกิดจากความสงบลงของกิเลสภายในจิตใจมากขึ้นตามลำดับเช่นเดียวกัน วิธีการปฏิบัติอานาปานสติในส่วนของสมถภาวนาในเบื้องต้นก็มีเพียงเท่านี้

เมื่อผู้ปฏิบัติเริ่มต้นด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ความก้าวหน้าในการปฏิบัติจะเกิดขึ้นได้เพียงใด ขึ้นอยู่กับความขวนขวายของแต่ละบุคคล เนื่องจากความสม่ำเสมอในการปฏิบัติมีผลต่อความก้าวหน้าของสมาธิมากพอสมควร รวมถึงขึ้นอยู่กับอินทรีย์อันเป็นพื้นฐานที่สั่งสมมาแต่กาลก่อนและความเจริญขึ้นในปัจจุบันของผู้ปฏิบัติเอง

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)


 

นางขุชชุตตราสาวพิการหลังค่อม

นางขุชชุตตรานางขุชชุตตรา มีชื่อว่า อุตตรา เป็นลูกสาวแม่นมของโฆษกเศรษฐี ด้วยความที่นางเป็นคนหลังค่อม คนทั่วไปจึงเรียกนางว่า “นางขุชชุตตรา นางอุตตระหลังค่อม” เมื่อเจริญวัยนางได้ทำงานเป็นสาวใช้ของนางสามาวดี บุตรีบุญธรรมของโฆษกเศรษฐี ต่อมานางสามาวดีได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับพระเจ้าอุเทน นางขุชชุตตราได้ติดตามไปรับใช้นางสามาวดีดังเดิมในการนี้นางได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เป็นคนดูแลดอกไม้ที่ใช้สำหรับบูชาและประดับตกแต่งอาคารสถานที่ซึ่งนางก็สามารถทำหน้าที่ได้อย่างดี โดยไม่มีข้อบกพร่อง

วันหนึ่งโฆษกเศรษฐีกับเพื่อน ๆ ได้กราบทูลอาราธนานิมนต์พระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระสาวกเสด็จมาฉันภัตตาหารและถวายวัดที่ได้สร้างขึ้น นางขุชชุตตราได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องดอกไม้เช่นเคย ด้วยภาระหน้าที่ที่ต้องอยู่บริเวณใกล้เคียงที่ประทับของพระพุทธเจ้าทำให้นางมีโอกาสได้ฟังธรรมของพระพุทธองค์ เมื่อจบพระธรรมเทศนานางได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็นอริยบุคคลขั้นโสดาบัน

วันต่อมาขณะที่นางขุชชุตตราถือดอกไม้มาจากตลาด นางสามาวดีสังเกตเห็นว่ามีดอกไม้มากกว่าปกติ จึงสอบถามว่าดอกไม้ราคาถูกหรืออย่างไร หรือว่าได้เงินซื้อดอกไม้เพิ่มขึ้นจึงสามารถซื้อดอกไม้ได้มากขนาดนี้ นางขุชชุตตราจึงยอมรับสารภาพว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ได้รับมอบหมายให้ทำงานนี้ เธอไม่ได้ซื้อดอกไม้เต็มตามจำนวนเงิน โดยซื้อเพียงครึ่งหนึ่งของเงินที่ได้เท่านั้น ส่วนที่เหลือเก็บไว้ใช้จ่ายส่วนตัว แต่หลังจากการฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วทำให้เข้าใจว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งไม่ดี แม้จะไม่มีใครเห็น แต่เรารู้แก่ใจของเราเองจึงตั้งใจเลิกประพฤติแบบนี้ วันนี้จึงซื้อดอกไม้มาเต็มราคา ดอกไม้จึงมีมากอย่างที่เห็นพร้อมกับกล่าวคำขอโทษต่อนางสามาวดี นางสามาวดียกโทษให้พร้อมขอให้นางช่วยบอกคำสอนที่ได้ฟังจากพระพุทธเจ้าให้ตนฟังบ้าง นางจึงเล่าสิ่งที่ได้รับฟังมาทั้งหมดแก่นางสามาวดีและนางรับใช้คนอื่นๆ ส่งผลให้นางสามาวดีพร้อมกับนางรับใช้เกิดดวงตาเห็นธรรม ได้บรรลุธรรมเป็นอริยบุคคล ขั้นโสดาบัน

ชีวิตบั้นปลาย นางขุชชุตตราเสียชีวิตลงพร้อมๆ กับนางสามาวดีและนางรับใช้คนอื่นๆ ภายในปราสาทที่ถูกวางเพลิงจากฝีมือของนางมาคันทิยา มเหสีอีกพระองค์หนึ่งของพระเจ้าอุเทนนั่นเอง

บุพกรรมล้อเลียนพระ 

สมัยหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลถาม พระบรมศาสดาว่า:- 

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะกรรมอะไร นางขุชชุตตรา จึงเป็นหญิงหลังค่อม พระเจ้าข้า”  
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ในอดีตชาติ พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง เป็นผู้มีสภาพร่างกาย เป็น คนค่อมนิดหน่อย มาฉันภัตตาหารในราชสำนักเป็นประจำ นางกุมาริกานางหนึ่ง แสดงอาการเป็นคนค่อม ล้อเลียนแบบพระปัจเจกพุทธเจ้า ด้วยความคึกคะนอง ต่อหน้าเพื่อนกุมาริกาทั้งหลาย เพราะกรรมนั้น จึงส่งผลให้เธอเป็นคนค่อมในอัตภาพนี้” 

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะกรรมอะไร นางขุชชุตตรา จึงเป็นทางทาสีของบุคคลอื่น พระเจ้าข้า ?” 
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีต ครั้งที่พระพุทธเจ้านามว่ากัสสปะ นางได้เกิดในตระกูลเศรษฐีในเมืองพาราณสี มีภิกษุณีผู้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ซึ่งมีความคุ้นเคยกับตระกูลของนางมาเยี่ยมเยือนที่บ้าน ขณะนั้นนางกำลังแต่งตัวอยู่ ได้ออกปากขอให้พระเถรีช่วยหยิบกระเช้า เครื่องประดับส่งให้ พระเถรีนั้นคิดว่า “ถ้าเราไม่หยิบส่งให้ นางก็จักโกรธอาฆาตเรา เพราะกรรมนี้ เมื่อนางตายไปแล้ว ก็จะไปเกิดในนรก แต่ถ้าเราหยิบส่งให้นาง นางก็จักเกิดเป็นหญิงรับใช้คนอื่น เพราะกรรมที่ใช้พระอรหันต์"  ภิกษุณี จึงเลือกกรรมสถานเบา เพื่อเป็นการอนุเคราะห์ต่อนาง จึงได้หยิบกระเช้าส่งให้ เพราะ กรรมนี้นางจึงเกิดเป็นหญิงรับใช้บุคคลอื่น” 

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะกรรมอะไร นางขุชชุตตรา จึงมีปัญญามากและบรรลุพระ โสดาปัตติผล ?” 
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตชาติ ครั้งเดียวกันนั้น พระราชาได้ถวายข้าวปายาส ที่ยังร้อนอยู่ลงในบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้า นางเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ต้องเปลี่ยนมือถือบาตร กลับไป กลับมาด้วยความร้อน นางจึงถอดกำไล ที่ทำด้วยงาจากข้อมือ ๘ อัน ถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้า ใช้สำหรับรองมือ กันความร้อน ด้วยผลแห่งกรรมที่นางถวายกำไลข้อมือ และกรรมที่ช่วยบำรุง อุปัฏฐากพระปัจเจกพุทธเจ้าครั้งนั้น ทำให้นางมีปัญญามาก และได้บรรลุพระโสดาปัตติผล”

เพราะความที่นางขุชชุตตราเป็นผู้มีปัญญามา สามารถแสดงธรรมได้อย่างไพเราะลึกซึ้ง ดีกว่าอุบาสิกาคนอื่น ๆ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องนางในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่ายผู้แสดงธรรม



วันศุกร์

ความสำคัญของสัมมาสมาธิในพุทธศาสนา

ดังที่หลายท่านได้ทราบมาดีแล้วว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ถือปัญญาเป็นยอดแห่งธรรม ธรรมทั้งหลายย่อมเป็นของคล้อยตามปัญญา การปฏิบัติขัดเกลาทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นแนวทางใดมีจุดมุ่งหมายสูงสุดมาบรรจบที่เดียวกัน คือการทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งตามความเป็นจริง

สมาธินั้น เมื่อมองตามหลักไตรสิกขา อันเป็นแม่แบบของการศึกษาปฏิบัติในภาพรวมของพุทธศาสนาแล้ว เป็นไตรสิกขาลำดับที่ ๒ ท่านจัดวางไว้ในตำแหน่งต่อจากศีลและก่อนปัญญา เนื่องจากสมาธิมีความสำคัญในฐานะเป็นฐานของปัญญา ทำให้ปัญญาเจริญได้ดี ความคิดไม่ฟุ้งซ่าน ซัดส่าย ช่วยให้คิดพิจารณาสิ่งที่ยากประสบผลสำเร็จได้ ทั้งยังมีประโยชน์เกื้อกูลอีกหลายประการ เช่น ช่วยส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิต ช่วยข่มกามราคะให้สงบลง เป็นทิฏฐธรรมสุขวิหาร (เพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน) เป็นบาทของอภิญญา เป็นต้น

เมื่อตามหลักการแล้วสมาธิมีความสำคัญมากเช่นนี้ จึงควรที่จะทำความเข้าใจให้สมาธินั้นเป็น “สัมมาสมาธิ” และเกิดประโยชน์สมดังวัตถุประสงค์ที่ต้องการ อนึ่ง ขอบเขตของงานวิจัยนี้จะไม่รวมไปถึงวิธีการปฏิบัติสมาธิแบบต่างๆ เพราะมีรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างมาก จะนำเสนอเฉพาะประเด็นความสำคัญและประโยชน์ของสมาธิ โดยยกเนื้อหาพระไตรปิฎกขึ้นมาพิจารณาเป็นหลัก

นอกจากนี้ผู้วิจัยเคยพบว่า ผู้ปฏิบัติธรรมบางท่าน มีความวิตกกังวลในการฝึกสมาธิ กล่าวคือ มีความเห็นว่า ผู้ฝึกสมาธิเมื่อสิ้นชีวิตต้องไปเกิดในอรูปภพเสียโอกาสฟังธรรม ไม่เป็นเหตุแห่งความดับทุกข์ จึงมีความเห็นในทำนองที่ไม่ปรารถนาจะฝึกสมาธิ ซึ่งเป็นความเห็นที่ไม่เอื้อต่อการเจริญขึ้นในกุศลธรรมของตัวผู้ปฏิบัติเอง ขัดแย้งกับแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ทั้งนี้ แม้ผู้ปฏิบัติแต่ละท่านจะมีความเหมาะสมที่จะฝึกฝนในแนวทางที่ต่างกันตามจริตของตน แต่ความเข้าใจที่ถูกต้องในภาพรวมของการปฏิบัติย่อมเป็นพื้นฐานอันสำคัญและพึงมี ดังพุทธพจน์ในมหาจัตตารีสกสูตรที่ท่านตรัสว่า สัมมาทิฏฐิ เป็นประธานขององค์มรรคทั้งหลาย แต่ทว่าอย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้แท้จริงแล้วมิใช่ว่าจะไม่มีมูลเหตุ ข้อมูลในชั้นพระไตรปิฎกเองก็มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องซึ่งน่าสนใจอยู่ไม่น้อย ดังมีพุทธพจน์ตอนหนึ่งตรัสว่า

“ฌานย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาก็ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ผู้มีทั้งฌานและปัญญานั่นแล จึงนับว่าอยู่ใกล้นิพพาน”


ความหมายของ สัมมาสมาธิ

สัมมาสมาธิ สำนวนแบบที่ ๑

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นไฉน? “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แลเรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ”

ในสำนวนแบบที่ ๑ สัมมาสมาธิ หมายถึง ความที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว ไม่ฟุ้งซ่าน ประกอบพร้อมด้วยมรรคมีองค์ ๘ กล่าวคือ สมาธิในระดับฌานขึ้นไปอันประกอบพร้อมด้วยความเห็นที่ถูกต้องนั่นเอง (สัมมาทิฎฐิเป็นประธานของมรรค ๘)

สัมมาสมาธิ สำนวนแบบที่ ๒

“สัมมาสมาธิ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่
๒. เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่
๓. เพราะปีติจางคลายไป มีจิตเป็นอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะอยู่และเสวยสุขด้วยกาย (นามกาย) บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายกล่าวสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’
๔. เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้วบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่

ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ”

ในสำนวนนี้ ท่านแสดงความหมายของ สัมมาสมาธิ ว่าเป็นสมาธิใน ฌาน ๔ (สังเกตได้จากองค์ธรรมในแต่ละประโยค) ซึ่งการแสดงความหมายของสมาธิในสำนวนคล้ายกันนี้ ยังมีพบในปัญจังคิกสูตร อีกแห่งหนึ่งด้วย จะเห็นว่าท่านไม่ได้กล่าวเลยไปถึงสมาธิขั้นอรูปฌาน

สัมมาสมาธิ สำนวนแบบที่ ๓

“ก็สมาธินทรีย์เป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ยึดหน่วงนิพพานให้เป็นอารมณ์แล้ว ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่า สมาธินทรีย์”

ถ้าตีความจากสำนวนนี้ ผู้วิจัยเข้าใจว่า สัมมาสมาธิยังหมายความรวมไปถึงสมาธิอันเกิดจากกำลังของวิปัสสนาด้วย เนื่องจากการยึดหน่วงนิพพานเป็นอารมณ์ย่อมเป็นงานในฝั่งของปัญญาเป็นหลัก อาจเป็นลักษณะของสัมมาสมาธิในผู้ปฏิบัติแนววิปัสสนายาน ซึ่งเมื่อเจริญวิปัสสนาถูกทางแล้วสัมมาสมาธิย่อมเกิดขึ้นเองจากการน้อมดิ่งไปในธรรม องค์มรรคทั้ง ๘ ข้อก็สมบูรณ์จนถึงขั้นบรรลุมรรคผลได้ โดยที่ไม่เคยได้ฌานมาก่อน

พระอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ก็ได้ให้ความหมายของสัมมาสมาธิในทำนองเดียวกันนี้ เช่น

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) สัมมาสมาธิ : ตั้งจิตมั่นชอบ, จิตมั่นชอบ คือสมาธิที่เจริญตามแนวของ ฌาน ๔ (พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์)

สัมมาสมาธิ : สมาธิที่ใช้ถูกทาง เพื่อจุดหมายในทางหลุดพ้น เป็นไปเพื่อปัญญาที่รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง มิใช่เพื่อผลในทางสนองความอยากของตัวตน (พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย, หน้า ๘๑๕)

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส.
สัมมาสมาธิ : ตั้งใจไว้ชอบ คือเจริญฌานทั้ง ๔

จึงสรุปในเบื้องต้นได้ว่า ความหมายของสัมมาสมาธิที่ปรากฏในหลักฐานชั้นพระไตรปิฎกนั้น คือสมาธิที่ประกอบด้วยปัญญาและเป็นไปเพื่อความเจริญปัญญา ดังที่ท่านใช้สำนวนว่า จิตมั่นชอบ นั่นเอง


ความหมายของ มิจฉาสมาธิ
จากหลักฐานในชั้นพระไตรปิฎก ในเบื้องต้นผู้เขียนบทความยังไม่พบคำอธิบาย มิจฉาสมาธิ ที่มีรายละเอียดโดดเด่น พบข้อความที่บรรยายกว้างๆ เช่น
“มิจฉาสมาธิ ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เป็นไฉน?
“ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่ ความตั้งมั่น ความไม่ซัดส่าย ความไม่ฟุ้งซ่าน ความที่จิตไม่ซัดส่าย สมถะ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ มิจฉาสมาธิ ในสมัยนั้น นี้ชื่อว่ามิจฉาสมาธิที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น”

ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา ท่านได้ขยายความตอนหนึ่งว่า ชื่อว่ามิจฉาสมาธิ เพราะมีจิตตั้งมั่นอันไม่ประกอบด้วยความเห็นตรงตามความเป็นจริง อนึ่ง จิตอาจแน่วแน่เป็นเอกัคคตาได้แม้ในการกระทำที่เป็นอกุศล จึงจัดเป็นมิจฉาสมาธิ ยกตัวอย่าง เช่น คนที่มีจิตแน่วแน่ขณะเอาศัสตราฟาดฟันลงที่ร่างกายของสัตว์ไม่ให้ผิดพลาด หรือ ในเวลาตั้งใจลักขโมย เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าเอกัคคตา หรือจิตที่เป็นสมาธิในระดับอุปจารสมาธิขึ้นไปนั้น ก็อาจเกิดขึ้นได้ในขณะที่จิตเป็นอกุศล อย่างไรก็ตามท่านกล่าวว่า เอกัคคตาในฝ่ายอกุศลเช่นนี้ มีกำลังน้อย อ่อนแอ ไม่เข้มแข็งทนทานเหมือนในฝ่ายกุศล (สงฺคณี.อ. ๒๔๓)

ความหมายของมิจฉาสมาธิตามสำนวนที่พระอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิได้แสดงไว้

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์.

มิจฉาสมาธิ : ตั้งใจผิด ได้แก่ จดจ่อ ปักใจ แน่วในกามราคะ ในพยาบาท เป็นต้น

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส.

มิจฉาสมาธิ : ตั้งจิตผิด ได้แก่ภาวนาสะกดใจในทางหาลาภ ในทางให้ร้ายผู้อื่น และในทางนำให้หลง

กล่าวในสำนวนอย่างง่ายๆว่า มิจฉาสมาธิ หมายถึง การมีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ แต่มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ในฐานะเป็นฐานของปัญญา หรือมิได้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ นั่นเอง

จุดมุ่งหมายหลักของการฝึกสมาธิตามหลักพุทธศาสนา

การทำหน้าที่เป็นฐานของปัญญา เป็นจุดมุ่งหมายหลักของการฝึกสมาธิตามหลักพุทธศาสนา กล่าวได้ว่า สมาธิที่ทำหน้าที่เป็นฐานของปัญญา หรือสมาธิที่ประกอบด้วยปัญญานั้น ตรงตามความหมายของ สัมมาสมาธิอย่างแท้จริง ซึ่งมีพุทธพจน์ที่ทรงแสดงถึงประเด็นนี้อยู่มากมาย ในที่นี้จะขอยกพระสูตร ๒ บทมานำเสนอ

มหาปรินิพพานสูตร “… สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีลเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐานย่อมหลุดพ้นโดยชอบจากอาสวะทั้งหลาย …”

ในมหาปรินิพพานสูตร พระบรมศาสดาทรงตรัสเนื้อความเดียวกันนี้ ในต่างโอกาสต่างสถานที่ รวมถึง ๘ ครั้ง อาทิเช่น ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์, ปาวาริกัมพวัน เขตเมืองนาฬันทา, โกฏิคาม เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสมาธิ ในฐานะที่เป็น ไตรสิกขาลำดับที่ ๒ ถัดจากศีล และก่อนหน้าปัญญา โดยไตรสิกขาแต่ละข้อ ทำหน้าที่เป็นฐานให้แก่สิกขาลำดับถัดไป

กิมัตถิยสูตร พระสูตรบทนี้เริ่มต้นด้วยการที่พระอานนท์ถามพระพุทธเจ้าว่า ศีลมีอะไรเป็นผล พระบรมศาสดาจึงทรงตรัสแสดง ผลของศีลว่า มีความไม่ร้อนใจ (อวิปปฏิสาร) เป็นผล พระอานนท์ก็ถามต่อไปเป็นลำดับว่า ความไม่ร้อนใจมีอะไรเป็นผล ฯลฯ เรื่อยไปดังนี้

“… ศีลที่เป็นกุศลมีอวิปปฏิสารเป็นผล มีอวิปปฏิสารเป็นอานิสงส์ อวิปปฏิสารมีปราโมทย์เป็นผล มีปราโมทย์เป็นอานิสงส์ ปราโมทย์มีปีติเป็นผล มีปีติเป็นอานิสงส์ ปีติมีปัสสัทธิเป็นผล มีปัสสัทธิเป็นอานิสงส์ ปัสสัทธิมีสุขเป็นผล มีสุขเป็นอานิสงส์ สุขมีสมาธิเป็นผล มีสมาธิเป็นอานิสงส์ สมาธิมียถาภูตญาณทัสสนะเป็นผล มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ ยถาภูตญาณทัสสนะมีนิพพิทาและวิราคะเป็นผล มีนิพพิทาและวิราคะเป็นอานิสงส์ นิพพิทาและวิราคะมีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นผล มีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ …”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า สมาธิมียถาภูตญาณทัสสนะ คือ ความรู้เห็นตามความเป็นจริง เป็นผล เป็นการเน้นย้ำความสำคัญของสมาธิในฐานะเป็นฐานของปัญญา ซึ่งเมื่อพิจารณาดูก็จะพบว่าเนื้อหาที่ทรงแสดง ก็มีแก่นสารสาระเดียวกับส่วนหนึ่งของมหาปรินิพพานสูตรที่ยกมาข้างต้นนั่นเอง เพียงแต่มีรายละเอียดมากกว่า กล่าวคือ ทรงแสดงลำดับของการสนับสนุนหรือเกื้อกูลกันของธรรมจากหยาบไปหาละเอียด ตั้งแต่ขั้นศีล อันเป็นฐานของสมาธิ สมาธิเป็นฐานของปัญญา เรื่อยไปจนถึง ปัญญาอันนำไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือ ความหลุดพ้น


สมาธิอย่างเดียวไม่ใช่เป้าหมายหลักของพระพุทธศาสนา
ความเข้าใจที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ ลำพังแต่ด้านสมาธิล้วนๆนั้น ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญปัญญาโดยตรง แต่อยู่ในฐานะของการเป็นบาทฐาน หรือเป็นที่มั่น ให้การเจริญปัญญานั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังในสัลเลขสูตร พระพุทธเจ้าตรัสกับพระจุนทะว่า ฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ ยังไม่ใช่ธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส แต่เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน

“จุนทะ เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่
“ภิกษุนั้น พึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราอยู่ด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส’ ธรรมคือปฐมฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสในอริยวินัย แต่เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันในอริยวินัย” 
(สัลเลขสูตร)

ดังนั้น การที่ครูอาจารย์บางท่านกล่าวเตือนว่าไม่ควรติดอยู่เพียงแต่ในขั้นของสมาธิ โดยไม่ก้าวไปสู่ภาควิปัสสนานั้น ก็มีเหตุผลสมควรอย่างยิ่ง หากแต่ถ้าเป็นการกล่าวในทำนองที่ไม่สนับสนุนการปฏิบัติสมาธินั้นถือว่าเลยเถิดไปอย่างมาก

ประโยชน์ของสมาธิในด้านอื่นๆ
นอกจากสัมมาสมาธิ อันมีวัตถุประสงค์หลักในการเป็นฐานของปัญญาแล้ว สมาธิก็ยังมีคุณประโยชน์อื่นๆอีกมากมาย บางอย่างก็เข้าถึงได้ไม่ยากนัก แต่บางอย่างก็เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ยาก ทำให้สำเร็จได้ยากอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม เป็นสิ่งที่น่าสนใจทราบเพื่อประดับความรู้ และอาจเป็นประโยชน์ได้บ้างตามสมควร

ประโยชน์ในด้านความสุขอันประณีต
ความสุขเป็นปทัฏฐาน (เหตุใกล้) ของสมาธิ ครูอาจารย์บางท่านได้กล่าวแนะนำให้กำหนดไว้เป็นข้อสังเกตสำคัญ เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดว่า สิ่งที่จะเรียกได้ว่าเป็นสมาธินั้น อย่างน้อยในขั้นต้น จะต้องมากับความสุข ไม่จำเป็นต้องถึงอัปปนาสมาธิ (ปฐมฌานขึ้นไป) เพียงขั้นอุปจารสมาธิ ผู้ปฏิบัติก็จะได้สัมผัสสุขจากสมาธิแล้ว เพราะอุปจารสมาธิมีองค์ธรรมเหมือนปฐมฌาน (วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา) เพียงแต่อ่อนกำลังและเกิดขึ้นชั่วระยะสั้นๆ

จากพระสูตรบทนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงสุขที่ดีกว่าและประณีตกว่ากันขึ้นไปตามลำดับ ๑๐ ลำดับ คือ กามสุข ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญ-จัญญายนตฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน สัญญาเวทยิตนิโรธ

“อานนท์ กามคุณ ๕ ประการนี้ กามคุณ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ รูป (รส กลิ่น เสียง สัมผัส) ที่พึงรู้แจ้งทางตา (หู จมูก ลิ้น กาย) ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รักชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ฯลฯ กามคุณ ๕ ประการนี้ สุขโสมนัสที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ ประการนี้ เราเรียกว่า กามสุข

“ชนเหล่าใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสที่สงบอย่างยิ่งนี้’ เราก็ไม่คล้อยตามคำของชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะยังมีสุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้“อานนท์ สุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เป็นอย่างไร

“คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและจากอกุศลธรรมแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ สุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เป็นอย่างนี้แล …” (ปัญจกังคสูตร) 

โดยย่อความ ท่านตรัสว่า บุคคลที่ได้เสวยกามสุขแล้วกล่าวว่าเราได้รับสุขอย่างดีเลิศ นั้นยังไม่ควร เพราะมีสุขที่ดีกว่า ประณีตกว่า คือ ปฐมฌาน และมีสุขที่ดีกว่า ประณีตกว่าปฐมฌานนั้นอีก คือ ทุติยฌาน… สูงขึ้นตามลำดับจนถึง สัญญาเวทยิตนิโรธ

ในสมัยพุทธกาล มีแนวปฏิบัติชนิดสุดโต่งอันเป็นที่นิยมกัน ๒ แนวทาง ทางหนึ่งเรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค คือ การหมกมุ่นบำเรอตนด้วยกามสุข เพราะเชื่อว่าชีวิตมีแล้วก็ควรตักตวงหากามสุขในปัจจุบันให้เต็มที่ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความเป็นไปในภายภาคหน้า กับอีกทางหนึ่งเรียกว่า อตกิลมถานุโยค คือ การเฝ้าทรมานตนเองให้เดือดร้อน เพราะเชื่อว่าการลงโทษตนเองเช่นนี้ จะชดใช้หนี้กรรมเก่าให้หมดสิ้นไปได้ และบรรลุถึงความสุขอันเป็นนิรันดร์ในภายภาคหน้า

ในสมัยพุทธกาล แนวปฏิบัติแบบอตกิลมถานุโยค อันเป็นแนวทางของศาสนาเชน มีนิครนนาถบุตรเป็นศาสดา ได้รับความนิยมพอสมควร นักบวชเชนซึ่งเปลือยกาย และทรมานตนเองด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะการอดอาหารอย่างรุนแรงจนซูบผอม ร่างกายทรุดโทรมไม่น่ามอง มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย การที่ศาสนาเชนได้รับการยอมรับนั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประชาชนบางส่วน มีความเห็นผิดในทำนองว่า การจะบรรลุถึงความสุข ด้วยแนวปฏิบัติที่เป็นสุข นั้นเป็นไปไม่ได้ การจะบรรลุถึงความสุข ย่อมต้องปฏิบัติด้วยแนวปฏิบัติที่เป็นทุกข์ ชาวบ้านบางกลุ่มจึงมีความนับถือศรัทธาในเหล่านักบวชชีเปลือย ที่เฝ้าทรมานร่างกายตนเอง

เมื่อผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งเป็นเช่นนี้ สมัยหนึ่งพระพุทธองค์จึงทรงตรัสธรรมีกถาแก่พระจุนทะ ในปาสาทิกสูตร ความโดยย่อว่า เป็นไปได้ ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก จะกล่าวตู่พระสงฆ์ในพุทธศาสนาว่ามีความเบิกบานเพราะยึดถือกามสุขัลลิกานุโยคอยู่ ให้ปฏิเสธว่านั่นเป็นธรรมของชาวบ้าน ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ หากแต่พระสงฆ์ในพุทธศาสนามีความเบิกบาน ในฌานสุข อันเป็นสุขที่พึงมี สุขอันประกอบด้วยประโยชน์ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นไปเพื่อความตรัสรู้

กล่าวโดยย่อ ฌาน ๔ เป็นความสุขเหนือกว่า กามคุณ เป็นความสุขที่สมควรแก่พระสงฆ์ (แน่นอนว่าควรแก่คฤหัสด้วย) และเป็นไปเพื่อนิพพาน นอกจากนี้ พระสูตรบทนี้ยังแสดงให้เห็นถึง แนวทางปฏิบัติอันเป็นสุข เพื่อบรรลุเป้าหมายอันเป็นบรมสุข ที่ตรงข้ามกับศาสนาเชน ที่เชื่อว่า สุขต้องบรรลุถึงด้วยทางปฏิบัติอันเป็นทุกข์ อย่างชัดเจนอีกด้วย

ประโยชน์ในด้านส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพจิต
เนื่องจากสมาธิทำให้กิเลสจำพวกนิวรณ์ (กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา) ที่ปกติมักจะฟุ้งซ่านรบกวนจิตใจให้มัวหมองสงบลง การเจริญสมาธิจึงช่วยให้เกิดความรู้สึก สงบ ผ่อนคลาย เช้มแข็ง มั่งคง ทั้งยังมีความสดใสเบิกบาน จึงกล่าวได้ว่า ส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพจิต ของผู้ปฏิบัติได้เป็นอย่างดียิ่ง

ประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพจิต ของการเจริญสมาธินั้นมีตัวอย่างในพระไตรปิฎกอยู่ไม่น้อย ในที่นี้ยกตัวอย่าง อิจฉานังคละสูตร ที่พระพุทธเจ้าสนับสนุนให้ภิกษุทั้งหลายเจริญอานาปานสติ ซึ่งเป็นวิธีเจริญสมาธิที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญมาก ทรงสนับสนุนบ่อยครั้ง และพระพุทธองค์เองก็ได้ทรงใช้เป็นวิหารธรรมมาก ทั้งก่อนและหลังตรัสรู้ เนื่องจากปฏิบัติได้สะดวก ร่ายกายผ่อนคลายสบายในขณะปฏิบัติ ส่งเสริมสุขภาพ ดังตัวอย่างพระสูตรที่ยกมาความโดยย่อดังนี้

สมัยหนึ่งในช่วงเข้าพรรษา พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เขตกรุงอิจฉานังคละ ได้ตรัสว่าจะทรงหลีกเร้นอยู่ผู้เดียวเป็นเวลา ๓ เดือน ครั้นล่วง ๓ เดือนผ่านไป พระผู้มีพระภาคเจ้าเสร็จออกจากที่หลีกเร้น แล้วรับสั่งให้เรียกภิกษุทั้งหลายแล้วตรัสว่า ถ้าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกถามว่าทรงอยู่จำพรรษาด้วยวิหารธรรมใด พึงตอบว่า “ท่านทั้งหลาย โดยมากพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอยู่จำพรรษาด้วยอานาปานสติสมาธิ”

ต่อมาตรัสแสดงวิธีปฏิบัติ อานาปานสติสมาธิ แล้วแสดงอานิสงส์ของการปฏิบัติ ดังนี้

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรามีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น ย่อมรู้ชัดว่า เราจักกำหนดรู้กองลมหายใจทั้งปวงหายใจออก … ย่อมรู้ชัดว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก ย่อมรู้ชัดว่าเราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า”

“ภิกษุทั้งหลาย ความจริง บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงธรรมนั้นใดว่า อริยวิหาร (ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะ) บ้าง พรหมวิหาร (ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหม) บ้าง ตถาคตวิหาร (ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระตถาคต)บ้าง เมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง ก็พึงกล่าวถึงอานาปานสติสมาธิว่า อริยวิหารบ้าง พรหมวิหารบ้าง ตถาคตวิหารบ้าง

“ภิกษุเหล่าใดเป็นพระเสขะยังไม่บรรลุอรหัตตผลย่อมปรารถนาธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมอยู่ อานาปานสติสมาธิที่ภิกษุเหล่านั้นเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ ส่วนภิกษุเหล่าใดเป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ อานาปานสติสมาธิที่ภิกษุเหล่านั้นเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบันและเพื่อมีสติ มีสัมปชัญญะ”

ประโยชน์ทางอภิญญา
ผู้เจริญสมาธิได้ถึงขั้นสูงนั้น บางท่านได้อภิญญา คือ สามารถทำให้เกิดฤทธิ์ปาฏิหาริย์อันเกิดจากอำนาจจิต เช่น การเดินน้ำ ดำดิน เหาะเหิน เป็นต้น ซึ่งมีคำกล่าวว่า ผู้ที่ฝึกสมาธิได้ถึงขั้นฌานนั้นมีน้อยอย่างยิ่ง ในผู้ได้ฌานนั้นผู้ที่ได้อรูปฌานมีน้อยอย่างยิ่ง ในผู้ได้อรูปฌานนั้นผู้ได้อภิญญามีจำนวนน้อยอย่างยิ่ง อภิญญาจึงไม่ได้เป็นเรื่องที่ใครๆจะคาดหวังที่จะทำให้เกิดขึ้นได้โดยง่าย

คัมภีร์วิสุทธิมรรคได้อธิบายวิธีการเจริญอภิญญาอย่างพิสดาร ซึ่งสรุปใจความโดยย่อว่า ให้เจริญสมาบัติทั้ง ๘ แต่จำกัดว่าต้องเป็นสมาบัติที่ได้ในกสิณ ครั้นแล้วฝึกสมาบัตินั้นให้คล่องแคล่วโดยทำนองต่างๆเป็นการเตรียมจิตให้พร้อม พอถึงเวลาใช้งานก็เข้าฌานเพียงแค่จตุตถฌาน แล้วน้อมเอาจิตนั้นไปใช้เพื่ออภิญญาตามความต้องการ

อย่างไรก็ตามอภิญญาเป็นของที่ต้องใช้เวลาฝึกฝนมาก ไม่อาจสำเร็จได้โดยง่ายดังกล่าวข้างต้น ประการสำคัญพระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ใช่อารยฤทธิ์ อาจเกิดโทษ และไม่ทำให้หลุดพ้น ไม่ใช่สาระของพระพุทธศาสนา เป็นของมีมาก่อนพุทธกาล มิใช่เครื่องแสดงความประเสริฐของบุคคลหรือของพระพุทธศาสนา ดังสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือพุทธธรรมว่า

“ในแง่การทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นนั้น ถ้าการทำฤทธิ์ทำอภิญญาเป็นกระบวนการที่ยาก และกินเวลา อย่างที่บรรยายไว้ในวิสุทธิมัคค์ พระอรหันต์ย่อมนำเอาเวลาและความเพียรนั้นไปใช้ในการสั่งสอนธรรมแก่ประชาชน เป็นการทำอนุสาสนีปาฏิหาริย์ (คำสอนให้เห็นจริงนำไปปฏิบัติได้ผลสมจริงเป็นอัศจรรย์) ที่พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญว่าดีเลิศประเสริญกว่าอิทธิปาฏิหาริย์ทั้งปวง ดีกว่าจะมาวุ่นวานกับโลกิยอภิญญาที่เสี่ยงต่อโทษ…”

ปังสุโธวกสูตร : ว่าด้วยคนล้างฝุ่นหลอมแร่ทอง

พระสูตรบทนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบเทียบการฝึกจิตกับการทำทองให้บริสุทธิ์ ซึ่งต้องทำจากหยาบไปหาละเอียด กล่าวคือ เมื่อต้องการทองที่บริสุทธิ์จากเศษแร่ทอง ย่อมต้องเริ่มต้นด้วยการร่อนเศษดิน หิน กรวด ชนิดหยาบ ออกจากแร่ทอง ต่อมาย่อมต้องร่อนกรวดละเอียด ออกจากแร่ทอง ต่อมาย่อมต้องล้างฝุ่นละเอียดออกจากเศษทอง ต่อมายังต่อนำไปหลอมในเบ้า เป่าซ้ำจนได้ที่

ฉันใดก็ฉันนั้น จิตอันประกอบด้วยกิเลสอย่างหยาบ คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ยังมีอยู่ก็พึงละให้สิ้นไป กิเลสอย่างกลาง คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ยังมีอยู่ก็พึงละให้สิ้นไป กิเลสอย่างละเอียด คือ ความนึกคิดถึงชาติ ความนึกคิดถึงชนบท ความนึกคิดที่ประกอบด้วยความไม่ดูหมิ่น ยังมีอยู่ก็พึงละให้สิ้นไป เมื่อละได้สิ้นแล้วก็ยังมีธรรมวิตกเหลืออยู่ สมาธินั้นยังไม่สงบ ไม่ประณีต ไม่ได้ความสงบระงับ ยังไม่บรรลุภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ยังมีการข่มห้ามกิเลสด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่งอยู่

เนื้อความต่อมา ขอยกพุทธพจน์มานำเสนอ ดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย มีสมัยที่จิตตั้งมั่นอยู่ภายใน สงบนิ่งอยู่ มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้นตั้งมั่นอยู่ สมาธินั้นเป็นธรรมสงบ ประณีต ได้ความสงบระงับ ถึงภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีการข่มห้ามกิเลสด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่ง และภิกษุนั้นจะน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งใดๆ เมื่อมีเหตุแห่งสติเธอย่อมบรรลุความเป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัดในธรรมนั้นๆ

“ถ้าภิกษุนั้นหวังว่า “เราพึงแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ทะลุฝา กำแพง และภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดินเหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์และดวงอาทิตย์อันมีฤทธ์มากมีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้” เมื่อมีเหตุแห่งสติเธอย่อมบรรลุความเป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัดในธรรมนั้นๆ”

ท่านตรัสแสดงความสามารถทางฤทธิ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีสมาธิระดับสูงแล้ว ในตอนท้ายของธรรมีกถา ทรงแสดงความสิ้นอาสวะกิเลส อันเป็นเป้าหมายสูงสุด ดังนี้

“ถ้าภิกษุนั้นหวังว่า “เราพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน” เมื่อมีเหตุแห่งสติเธอย่อมบรรลุความเป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัดในธรรมนั้นๆ”

ประเด็นฝึกสมาธิขั้นอรูปฌานแล้วไปเกิดเป็นอรูปพรหมไม่สามารถบรรลุธรรม

ดังได้กล่าวในบทนำ ว่าผู้เขียนบทความเคยได้ยินได้ฟังผู้สนใจศึกษาพุทธศาสนาบางท่าน มีความวิตกกังวลในการฝึกสมาธิ กล่าวคือ มีความเห็นว่า ผู้ฝึกสมาธิเมื่อสิ้นชีวิตต้องไปเกิดในอรูปภพ เสียโอกาสในการฟังธรรม ไม่เป็นเหตุแห่งความดับทุกข์ จึงมีความเห็นในทำนองที่ไม่ปรารถนาจะฝึกสมาธิ ซึ่งเป็นความเห็นที่ไม่เอื้อต่อการเจริญขึ้นในกุศลธรรมของตัวผู้ปฏิบัติเอง ขัดแย้งกับแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ และแม้ท่านผู้ปฏิบัติจะสามารถสำเร็จอรูปฌานได้จริงโดยยังไม่บรรลุโลกุตรธรรม คัมภีร์ชั้นอรรถกถาก็ได้กล่าวทางแก้ไว้โดยง่าย ขอกล่าวถึงที่มาก่อน ความกังวลนี้แท้จริงแล้วก็มีเหตุผลและหลักฐานในคัมภีร์ที่น่าพิจารณาไม่น้อย โดยแบ่งออกเป็น๒ ส่วน

ส่วนที่ ๑. จากข้อความบางตอนในนาลกสูตรและโพธิราชกุมารสูตร

นาลกสูตร : เนื้อหาแสดงถึงเรื่องราวของ อสิตฤๅษี ผู้เป็นที่เคารพนับถือของพระเจ้าสุทโธทนะและราชตระกูล ได้เข้ามาถวายพระพรเจ้าชายสิทธัตถะพระราชโอรส เมื่อได้เห็นลักษณะของพระราชโอรส ก็กราบแทบพระบาท และทำนายว่าต่อไปพระราชโอรสจะทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วอสิตฤๅษีก็ร้องให้เนื่องจากตนแก่ชราเกินกว่าจะได้อยู่ฟังพระธรรม ทั้งยังบรรลุอรูปฌาน ซึ่งจะไปเกิดเป็นอรูปพรหมในภพหน้า ซึ่งเป็นภพที่ไม่สามารถฟังธรรมได้ (เข้าใจว่าอรูปภพเป็นภพที่ขาดการติดต่อกับภพอื่นเสพสุขจากความสงบของอรูปฌานอย่างเดียว)

โพธิราชกุมารสูตร : เนื้อหาตอนหนึ่งแสดงถึงช่วงเวลาหลังพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใหม่ๆ พระองค์ทรงพิจารณาผู้ที่มีอินทรีย์สูง ควรแก่การไปแสดงธรรมก่อนเป็นลำดับแรก ก็ทรงดำริถึงอาฬารดาบส กาลามโคตร ผู้สำเร็จอากิญจัญญายตนะ ก็ทรงทราบว่าตายไปเกิดในอากิญจัญญายตนะภพแล้ว ทรงดำริถึงอุทกดาบส รามบุตร ผู้สำเร็จเนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็ทรงทราบว่าตายไปเกิดในเนวสัญญานาสัญญายตนะภพแล้ว ความตอนหนึ่ง ดังนี้

“อนึ่ง อาตมภาพก็ได้เกิดญาณทัสสนะขึ้นว่า ‘อุทกดาบส รามบุตร ได้ทำกาละเมื่อวานนี้’ จึงดำริว่า ‘อุทกดาบส รามบุตร เป็นผู้มีความเสื่อมจากคุณอันยิ่งใหญ่แล้วหนอ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ ก็จะพึงรู้ได้ฉับพลัน’”

คัมภีร์อรรถกถาขยายความว่า มีความเสื่อมจากคุณอันยิ่งใหญ่ หมายถึงมีความเสื่อมมากเพราะเสื่อมจากมรรคและผลที่จะพึงบรรลุ เพราะเกิดในอักขณะ คือ อาฬารดาบส ตายไปเกิดในอากิญจัญญายตนภพ ส่วนอุทกดาบสตายไปเกิดในเนวสัญญานาสัญญายตนภพ

ส่วนที่ ๒. จากพระสูตรที่ท่านแสดงความหมายของ สัมมาสมาธิ คือ สมาธิในฌาน ๔ ไม่ได้กล่าวเลยไปถึงอรูปฌาน ซึ่งในจุดนี้น่าจะพอตีความได้ว่า สมาธิขั้นอรูปฌานนั้นอาจไม่เกิดประโยชน์เพิ่มเติมขึ้นอีกมากนักในฐานะเป็นฐานของปัญญา ยิ่งขึ้นไปกว่า ฌาน ๔ ท่านจึงแสดงความหมายของสัมมาสมาธิเพียงแค่ ฌาน ๔

หลักฐานสนับสนุนการตีความนี้ปรากฏใน มหามาลุงกโยวาทสูตร พระสูตรว่าด้วยการละสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ ดังนี้

“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะละอกุศลธรรมทั้งหลายด้วยอุปธิวิเวก เพราะระงับความเกียจคร้านทางกายได้โดยประการทั้งปวง จึงสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้วบรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่มีอยู่ในปฐมฌานนั้นโดยเป็นสภาวะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดุจโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศรเป็นสิ่งคอยก่อความเดือดร้อน เป็นที่ทำให้ขัดข้อง เป็นดุจคนฝ่ายอื่น เป็นสิ่งที่ต้องแตกสลาย เป็นของว่างเปล่า เป็นอนัตตา เธอย่อมทำจิตให้กลับจากธรรมเหล่านั้นครั้นแล้ว จึงน้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุว่า ‘ภาวะที่สงบ ประณีต คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิกิเลสทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความคลายกำหนัดความดับ นิพพาน’ เธอดำรงอยู่ในปฐมฌานนั้น ย่อมบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย หากยังไม่บรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ก็จะเป็นโอปปาติกะเพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไป ด้วยความยินดีเพลิดเพลินในธรรมนั้นจักปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก (รูปฌานอีก ๓ ลำดับ สำนวนคล้ายกัน)

“อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน โดยกำหนดว่า ‘อากาศหาที่สุดมิได้’ อยู่ เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณ ที่มีอยู่ในอากาสานัญจายตนฌานนั้นโดยเป็นสภาวะไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นดุจโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศร เป็นสิ่งคอยก่อความเดือดร้อนเป็นที่ทำให้ขัดข้อง เป็นดุจคนฝ่ายอื่น เป็นสิ่งที่ต้องแตกสลาย เป็นของว่างเปล่าเป็นอนัตตา เธอย่อมทำจิตให้กลับจากธรรมเหล่านั้น ครั้นแล้ว จึงน้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุว่า ‘สภาวะที่สงบ ประณีต คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิกิเลสทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน’เธอดำรงอยู่ในอากาสานัญจายตนฌานนั้น ย่อมบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายหากยังไม่บรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ก็จะเป็นโอปปาติกะ เพราะโอรัมภาคิสังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไป ด้วยความยินดีเพลิดเพลินในธรรมนั้น จักปรินิพพานในภพนั้นไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก (วิญญาณัญจายตนฌาน สำนวนคล้ายกัน)

เนื้อหาคล้ายกันนี้ยังปรากฎใน อัฏฐกนาครสูตร

กล่าวคือ ท่านตรัสอานิสงค์ของการเจริญฌานให้เกิดขึ้น พิจารณาความเป็นไตรลักษณ์แม้ของภาวะแห่งฌานนั้น แล้วแสดงอานิสงค์ว่าเป็นไปเพื่อบรรลุธรรม โดยมีเนื้อความเดียวกันในฌานทุกระดับ ตั้งแต่ ปฐมฌาน ถึง วิญญาณัญจายตนฌาน ไม่ปรากฎว่าผู้ที่ฌานระดับสูงกว่า จะมีอานิสงค์ในด้านการบรรลุธรรมได้สูงกว่าปฐมฌาน นอกจากนี้ในพระสูตรบทนี้ท่านไม่ได้แสดง อรูปฌาน อีก ๒ ระดับ คือ อากิญจัญญายตนะและเนวสัญญานาสัญญายตนะ ในฐานะเป็นฐานของการเจริญวิปัสสนา อาจารย์บางท่านกล่าวว่าเพราะเป็นฌานขั้นละเอียดเกินไปพิจารณาธรรมในฌานนั้นได้ยากลำบาก เป็นวิสัยเฉพาะของผู้มีปัญญามาก เช่น พระสารีบุตร จึงจะพิจารณาธรรมในอากิญจัญญายตนะและเนวสัญญานาสัญญายตนะได้

อย่างไรก็ตามใน ฌานสูตร ท่านได้ทรงแสดงว่า อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้โดยอาศัยฌานลำดับต่างๆทั้ง ๘ ระดับ รวมถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ เนื้อหาคล้ายกับ มหามาลุงกโยวาทสูตร ในที่นี้ขอยกมาเฉพาะตอนต้น

“ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า
๑. อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะอาศัยปฐมฌาน
๒. อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะอาศัยทุติยฌาน
๓. อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะอาศัยตติยฌาน
๔. อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะอาศัยจตุตถฌาน
๕. อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะอาศัยอากาสานัญจายตนฌาน
๖. อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะอาศัยวิญญาณัญจายตนฌาน
๗. อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะอาศัยอากิญจัญญายตนฌาน
๘. อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะอาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
๙. อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะอาศัยสัญญาเวทยิตนิโรธ”

ใน อนุปทสูตร แสดงการบรรลุธรรมของพระสารีบุตร ก็เป็นลักษณะคล้ายกันนี้ คือ เจริญฌานให้เกิดขึ้นแล้วพิจารณาธรรมในฌานนั้นๆไปตามลำดับทั้ง ๘ ลำดับ เมื่อได้นำเสนอหลักฐานจากพระไตรปิฎกแล้ว ผู้เขียนบทความขอเรียบเรียงและนำเสนอข้อสรุปในประเด็นนี้ ดังนี้

มีพุทธพจน์อยู่มากมายที่ พระพุทธเจ้าทรงสนับสนุนให้พุทธศาสนิกชนเจริญสมาธิ และทรงแสดงอานิสงส์ของการเจริญสมาธิมากมาย ไม่ปรากฏว่าท่านเตือนว่าจะทำให้ไปเกิดในอรูปภพเสียโอกาสฟังธรรม ยกเว้นบุคคลนอกพุทธศาสนาผู้ฝึกสมาธิอย่างเดียวไม่เจริญปัญญาแล้วได้อรูปฌาน ซึ่งก็ถือว่าไม่ใช่สัมมาสมาธิมาแต่แรกแล้ว เพราะไม่ประกอบด้วยองค์มรรคอีก ๗ ข้อ โดยเฉพาะสัมมาทิฏฐิ อย่างไรก็ตามสมาธิในฐานะเป็นฐานของปัญญานั้น ท่านตรัสอานิสงค์ไว้เท่าเทียมกัน ในฌานทั้ง ๘ ระดับ ดังนั้น อาจไม่จำเป็นที่จะต้องเจริญสมาธิถึงขั้นอรูปฌานก็ได้ และแม้แต่ผู้ปฏิบัติแนววิปัสสนายานที่ไม่ได้สมาธิขั้นฌานก็สามารถมี สัมมาสมาธิได้ ถ้าปฏิบัติถูกทาง

ความเป็นผู้มีสมาธิดี เอื้อต่อการเจริญปัญญาอย่างยิ่ง ดังศัพท์คำว่า “ฌานสุข” นั้น บางครั้งท่านใช้คำว่า “เนกขัมมสุข” แปลว่า สุขที่เอื้อต่อการบรรลุนิพพาน นอกจากนี้ ยังมีพุทธพจน์มากมายที่ตรัสแสดงการบรรลุธรรมในลักษณะที่สอดคล้องไปกับการเจริญฌานสมาบัติ มีชื่อเรียกว่าการปฏิบัติแนวสมถยาน คือเจริญฌานก่อนแล้วค่อยเจริญปัญญา และถ้าบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล ย่อมไม่ไปเกิดในอรูปภพเองตามธรรมดา ถ้าได้สมาธิถึงขั้นอรูปฌาน แต่ไม่บรรลุธรรม อรรถกถาจารย์กล่าวว่าเพียงน้อมจิตไปยังรูปภพก็แก้ปัญหาได้ ข้อความดังนี้ “…อสิตฤษีนี้พึงน้อมจิตไปในรูปภพ ก็จะไม่เกิดเดือดร้อนอะไรถึงกับร้องไห้อย่างนั้น. แต่เกิดเดือดร้อน เพราะความไม่ฉลาดไม่รู้จักวิธี” ผู้ที่สามารถไปอุบัติในภพสูงแต่ปรารถนาภพต่ำกว่าบางครั้งอาจเรียกว่ามี นิกันติตัณหา คือถ้ามีความน้อมใจไปในภพต่ำกว่า ผู้นั้นก็สามารถไปอุบัติในภพที่ตนต้องการได้ตามปรารถนา

สรุป

สมาธิมีความสำคัญต่อการปฏิบัติขัดเกลา พัฒนาตนเอง ในแนวทางของพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ดังพุทธพจน์ ในมหาปรินิพพานสูตร “… สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีลเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐานย่อมหลุดพ้นโดยชอบจากอาสวะทั้งหลาย …” พระบรมศาสดาทรงตรัสเนื้อความเดียวกันนี้ ในต่างโอกาสต่างสถานที่ รวมถึง ๘ ครั้ง ในช่วงท้ายของกาลบำเพ็ญพุทธกิจ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ ศีล สมาธิ ปัญญา ในฐานะเป็นแกนหลัก ๓ ประการ ในการพัฒนาตนเองตามหลักพระพุทธศาสนา

หลักสำคัญที่ควรย้ำ คือ สมาธิอันมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นฐานในการเจริญปัญญา จึงถือเป็นสัมมาสมาธิ อย่างไรก็ตาม สมาธิยังมีประโยชน์รอง หรือผลพลอยได้อื่นๆ เช่น เป็นทิฏฐธรรมสุขวิหาร ส่งเสริมสุขภาพกายสุขภาพจิต บางท่านได้อภิญญา เป็นต้น แนวทางการฝึกสมาธิที่พระพุทธเจ้าทรงสนับสนุนมากคือ อานาปานสติ ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิบัติที่มีความผ่อนคลายตั้งแต่ขั้นเริ่มต้น แต่ไม่ว่าจะเป็นการฝึกสมาธิรูปแบบใด ถ้าเป็นสัมมาสมาธิแล้ว ควรถือว่าดีทั้งสิ้น

อาจมีข้อที่ควรระวังอยู่บ้าง คือ แม้สมาธิจะมีความสำคัญต่อการเจริญจิตเจริญปัญญาอย่างยิ่ง และเป็นภาวะที่ให้ความสุขแก่ผู้ปฏิบัติอย่างมาก ดังที่บางครั้งท่านใช้คำว่า สมาธิเป็นเนกขัมมสุข คือ สุขที่เอื้อต่อการบรรลุธรรม แต่ความที่สมาธิให้ความสุขแก่ผู้ปฏิบัติมากนั้น บางครั้งเป็นเหตุให้หลงเพลิน ไม่ขวนขวายพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคท่านแนะให้ใช้หลัก อินทรียสมตา คือ ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน ถ้าสมาธิมากแต่วิริยะน้อย โกสัชชะคือความเกียจคร้านก็จะเข้าครอบงำได้ สมาธิจึงควรมีเสมอกับวิริยะ นอกจากนี้ สมาธิในขั้นอรูปฌานอาจมีความจำเป็นค่อนข้างน้อยในแง่ของการเป็นฐานของการเจริญปัญญา เมื่อมีความเข้าใจดังนี้ การปฏิบัติก็เป็นสัมมาสมาธิ อำนวยประโยชน์มากมาย ดังได้รวบรวมมา



วันจันทร์

อธิบายปาติโมกขสังวรศีล

🔅ธิบายปาติโมกขสังวรศีล 

ในปาติโมกขสังวรศีลเป็นต้นนั้น มีกถาวินิจฉัยพร้อมทั้งการพรรณนาตามลำดับ บทจำเดิมตั้งแต่ต้น ดังต่อไปนี้ 

บทว่า อิธ หมายความว่า ในศาสนานี้ บทว่า ภิกขุ ได้แก่ กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธา ที่ได้โวหารว่าอย่างนั้น เพราะเป็นผู้เห็นภัยในสงสารอย่างหนึ่ง เพราะเป็นผู้ใช้ผ้าที่ถูกทำลายแล้วเป็นต้นอย่างหนึ่ง บทว่า ปาติโมกข ในคำว่า สำรวมแล้วด้วยสังวร คือปาติโมกข์นี้ ได้แก่ศีลอันเป็นสิกขาบท จริงอยู่ ศีลอันเป็นสิกขาบทนั้นเรียกว่า ปาติโมกข เพราะคุ้มครองรักษาภิกษุนั้น คือปลดเปลื้องภิกษุผู้รักษาศีลนั้นให้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย มีทุกข์ในอบายเป็นต้น ความระวัง ชื่อว่า ความสังวร ความสังวรนี้ เป็นชื่อของการไม่ล่วงละเมิดที่เกิดทางกายและเกิดทางวาจา ความสังวรคือปาติโมกข์ ชื่อว่า ปาติโมกขสังวร เป็นผู้สำรวมด้วยสังวรคือปาติโมกข์นั้น ชื่อว่า ปาติโมกขส์วรวุโต อธิบายว่า ผู้สำรวม คือผู้เข้าถึง ได้แก่ผู้ประกอบด้วยสังวร คือปาติโมกข์ บทว่า วิหรติ หมายความว่า ยังอัตภาพให้เป็นไปอยู่ (คืออยู่ด้วยอิริยาบถ ๔) อรรถาธิบายของบทว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยอาจารและโคจร เป็นต้น พึงทราบโดยนัยอันมาแล้วในพระบาลีนั่นเทียว จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ดังต่อไปนี้

พระบาลีแสดงอาจารและโคจร

บทว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยอาจารและโคจร ไขความว่า อาจารมีอยู่ อนาจารมีอยู่
อนาจาร 
ในอาจารและอนาจารนั้น อนาจาร เป็นอย่างไร ?
ความล่วงละเมิดที่เกิดทางกาย ความล่วงละเมิดที่เกิดทางวาจา ความล่วงละเมิดที่เกิดทั้งทางกายและทางวาจา นี้เรียกว่า อนาจาร แม้ความทุศีลทุก ๆ อย่าง ก็ชื่อว่าอนาจาร ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ ย่อมสำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยมิจฉาอาชีพ คือด้วยการให้ไม้ไผ่บ้าง ด้วยการให้ใบไม้บ้าง ด้วยการให้ดอกไม้, ผลไม้, แป้งเครื่องสนานและไม้สีฟันบ้าง ด้วยความเป็นผู้ประจบสอพลอบ้าง ด้วยความเป็นผู้เหมือนแกงถั่วบ้าง (คือพูดจริงบ้างไม่จริงบ้าง สุก ๆ ดิบ ๆ เหมือนแกงถั่ว) ด้วยความเป็นผู้รับเลี้ยงเด็กบ้าง ด้วยรับส่งหนังสือด้วยกำลังแข้งบ้าง หรือด้วยมิจฉาอาชีพที่พระพุทธเจ้าทรงครหา อย่างใดอย่างหนึ่ง การสำเร็จความเลี้ยงชีพนี้ เรียกว่า อนาจาร

อาจาร ในอาจารและอนาจารนั้น อาจาร เป็นอย่างไร ?
ความไม่ล่วงละเมิดที่เกิดทางกาย ความไม่ล่วงละเมิดที่เกิดทางวาจา ความไม่ล่วงละเมิดที่เกิดทั้งทางกายและทางวาจา ความไม่ล่วงละเมิดนี้ เรียกว่า อาจาร แม้สังวรคือศีลทั้งหมดก็เรียกว่า อาจาร ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ ย่อมไม่สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยมิจฉาอาชีพ คือด้วยการให้ไม้ไผ่บ้าง ด้วยการให้ใบไม้บ้าง ด้วยการให้ดอกไม้, ผลไม้, แป้งเครื่องสนานและไม้สีฟันบ้าง ด้วยความเป็นผู้ประจบสอพลอบ้างด้วยความเป็นผู้เหมือนแกงถั่วบ้าง ด้วยความเป็นผู้รับเลี้ยงเด็กบ้าง ด้วยรับส่งหนังสือด้วยกำลังแข้งบ้างหรือด้วยมิจฉาอาชีพที่พระพุทธเจ้าทรงครหาอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง การไม่สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยมิจฉาอาชีพนี้ เรียกว่า อาจาร

บทว่า อโคจร ไขความว่า โคจรมีอยู่ อโคจรมีอยู่
อโคจร 
ในโคจรและอโคจรนั้น อโคจร เป็นอย่างไร ?
ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ เป็นผู้มีหญิงแพศยาเป็นที่โคจรบ้าง มีหญิงหม้าย, สาวเทือ, บัณเฑาะก์, ภิกษุณีและร้านสุราเป็นที่โคจรบ้าง เป็นผู้อยู่คลุกคลีกับพระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา กับพวกเดียรถีย์ และสาวกของพวกเดียรถีย์ ด้วยการคลุกคลีกับคฤหัสถ์ อันไม่สมควร แหละหรือ ย่อมต้องเสพคบหา ย่อมเข้าไปนั่งใกล้ ซึ่งตระกูลทั้งหลายเห็นปานฉะนี้ คือ ตระกูลที่ไม่มีศรัทธา ตระกูลที่ไม่เลื่อมใส ตระกูลที่มิได้เตรียมตั้งเครื่องดื่มไว้ ตระกูลที่ด่าที่บริภาษ ตระกูลที่ไม่ใคร่ประโยชน์ ตระกูลที่ไม่ใคร่ความเกื้อกูล ตระกูลที่ไม่ใคร่ความผาสุก ตระกูลที่ไม่ใคร่ความเกษมจากโยคธรรม แก่ภิกษุภิกษุณีอุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย พฤติการณ์ของภิกษุนั้นเช่นนี้ เรียกว่า อโคจร

โคจร ในโคจรและอโคจรนั้น โคจร เป็นอย่างไร ?
ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ เป็นผู้ไม่มีหญิงแพศยาเป็นที่โคจร เป็นผู้ไม่มีหญิงหม้าย, สาวเทือ, บัณเฑาะก์, ภิกษุณีและร้านสุราเป็นที่โคจร เป็นผู้ไม่คลุกคลีกับพระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา กับพวกเดียรถีย์ และสาวกของพวกเดียรถีย์ ด้วยความคลุกคลีกับคฤหัสถ์ อันไม่สมควร แหละหรือ ย่อมต้องเสพคบหา ย่อมเข้าไปนั่งใกล้ ซึ่งตระกูลทั้งหลายเห็นปานฉะนี้ คือ ตระกูลมีศรัทธา ตระกูลเลื่อมใส ตระกูลเตรียมตั้งเครื่องดื่มไว้ ตระกูลรุ่งเรืองไปด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ ตระกูลฟุ้งตลบไปด้วยกลิ่นฤาษี ตระกูลใคร่ประโยชน์ ตระกูลใคร่ความเกื้อกูล ตระกูลใคร่ความผาสุก ตระกูลใคร่ความเกษมจากโยคธรรม แก่ภิกษุภิกษุณีอุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลายพฤติการณ์ของภิกษุนั้นเช่นนี้ เรียกว่า โคจร

ภิกษุเป็นผู้ประกอบแล้ว ประกอบพร้อมแล้ว เข้าไปแล้ว เข้าไปพร้อมแล้ว เข้าถึงแล้ว เข้าถึงพร้อมแล้ว มาตามพร้อมแล้ว ด้วยอาจารนี้และด้วยโคจรนี้ ด้วยประการดังอรรถาธิบายมา เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า อาจารโคจร สมุปนโน แปลว่า ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยอาจารและโคจร ฉะนี้ อีกประการหนึ่ง ในอธิการแห่ง ปาติโมกขสังวรศีล นี้ นักศึกษาพึงทราบ อาจารและโคจร แม้โดยนัยดังจะพรรณนาต่อไปนี้

อนาจารทางกาย
ก็แหละ อนาจาร มี ๒ ประการ คือ อนาจารทางกาย ๑ อนาจารทางวาจา ๑

ใน ๒ ประการนั้น อนาจารทางกาย เป็นอย่างไร ?
คือ ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ แม้เข้าสู่ที่ประชุมสงฆ์ก็ไม่ทำความเคารพ ยืนเบียดบ้าง นั่งเบียดบ้าง ซึ่งภิกษุทั้งหลายชั้นเถระ ยืนข้างหน้าบ้าง นั่งข้างหน้าบ้าง นั่งบนอาสนะสูงบ้าง นั่งคลุมศีรษะบ้าง ยืนพูดบ้าง กวักมือพูดบ้าง เมื่อภิกษุทั้งหลายชั้นเถระเดินไม่สวมรองเท้า ก็เดินสวมรองเท้า เมื่อภิกษุทั้งหลายชั้นเถระเดินจงกรมอยู่ ณ ที่จงกรม ไพล่ไปเดินบนที่จงกรมสูง เมื่อภิกษุทั้งหลายชั้นเถระเดินจงกรมอยู่ที่พื้นดิน ไพล่ไปเดินจงกรมเสียบนที่จงกรม ยืนแทรกบ้าง นั่งแทรกบ้าง ซึ่งภิกษุทั้งหลายชั้นเถระ ย่อมกีดกันแม้พวกภิกษุใหม่ด้วยอาสนะ แม้อยู่ในเรือนไฟ ไม่อาปุจฉาภิกษุทั้งหลายชั้นเถระ ก็ใส่ฟืน ปิดประตู แม้ ณ ที่ท่าน้ำ ก็ลงเบียดภิกษุทั้งหลายชั้นเถระ ลงไปข้างหน้าเสียบ้าง สรงเบียดบ้าง สรงอยู่ข้างหน้าบ้าง ขึ้นเบียดบ้าง ขึ้นไปข้างหน้าบ้าง แม้เมื่อเข้าไปสู่ละแวกบ้าน เดินเบียดภิกษุทั้งหลายชั้นเถระบ้าง เดินไปข้างหน้าบ้าง และเดินแซงไปข้างหน้า ๆ ของภิกษุทั้งหลายชั้นเถระ แม้ ณ ห้องลับและห้องปิดบังสำหรับตระกูลทั้งหลายที่กุลสตรีกุลกุมารีทั้งหลายพากันนั่งเล่นเช่นนั้น เธอก็จู่โจมเข้าไปลูบคลำศีรษะเด็กบ้าง อันว่าพฤติการณ์เช่นนี้ เรียกว่า อนาจารทางกาย

อนาจารทางวาจา
ในอนาจาร ๒ ประการนั้น อนาจารทางวาจา เป็นอย่างไร ?
คือ ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ แม้ไปสู่ที่ประชุมสงฆ์แล้วก็ไม่ทำความเคารพ ไม่อาปุจฉาภิกษุทั้งหลายชั้นเถระ พูดธรรม วิสัชนาปัญหา แสดงพระปาติโมกข์ ยืนพูดบ้าง กวักมือพูดบ้าง แม้เข้าไปสู่ละแวกบ้านแล้ว ย่อมพล่ามพูดกับสตรีบ้าง กับกุมารีบ้าง อย่างนี้ว่า “คุณโยมผู้มีชื่ออย่างนี้ มีนามสกุลอย่างนี้ มีอะไรไหม ? มีข้าวยาคูไหม ? มีข้าวสวยไหม ? มีของเคี้ยวไหม ? อาตมาจักดื่มอะไร ? จักเคี้ยวอะไร ? จักฉันอะไร ? คุณโยมจักถวายอะไรแก่อาตมาหรือ ?” อันว่าพฤติการณ์ของภิกษุนั้นเช่นนี้ เรียกว่า อนาจารทางวาจา

ส่วน อาจาร นักศึกษาพึงทราบด้วยสามารถข้อความอันตรงกันข้ามกับอนาจาร นั้นเถิด

อาจารตามนัยแห่งอรรถกถา
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีความคารวะ มีความเคารพ สมบูรณ์ด้วยหิริและโอตตัปปะ นั่งสบงห่มจีวรเรียบร้อย มีการเดินหน้าถอยหลัง มีการเหลียวไป แลมา มีการเหยียด อันน่าเลื่อมใส มีจักษุทอดลงประมาณชั่วแอก มีอิริยาบถเรียบร้อย รักษาทวารในอินทรีย์ ๖ รู้จักประมาณในโภชนะ หมั่นประกอบความเพียร ประกอบด้วยสติและสัมปชัญญะ มักน้อย สันโดษ ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร มีปกติทำความเคารพในอาภิสมาจาริกศีลทั้งหลาย เป็นผู้มากด้วยการทำความเคารพในบุคคลผู้อยู่ในฐานะแห่งความเคารพ พฤติการณ์ของภิกษุนั้นเช่นนี้ เรียกว่า อาจาร

นักศึกษาพึงทราบ อาจาร อันเป็นประการแรก ด้วยประการดังพรรณนามานี้

โคจร ๓ อย่าง ส่วน โคจร มี ๓ อย่าง คือ อุปนิสสยโคจร ๑ อารักขโคจร ๑ อุปนิพันธโคจร ๑

ในโคจร ๓ อย่างนั้น อุปนิสสยโคจร เป็นอย่างไร ?
กัลยาณมิตร ซึ่งประกอบด้วยคุณคือกถาวัตถุ ๑๐ ที่ภิกษุพึ่งพิงแล้ว ย่อมได้ฟังพุทธวจนะที่ยังไม่เคยฟัง ย่อมทำพุทธวจนะที่ฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง ย่อมสิ้นความสงสัย ย่อมทำทฤษฎีให้ถูกต้อง ย่อมทำจิตใจให้เลื่อมใส” แหละหรือ กัลยาณมิตรผู้ที่ภิกษุศึกษาสำเหนียกตามอยู่ ย่อมเจริญด้วยศรัทธา, ศีล, สุตะ, จาคะและปัญญา กัลยาณมิตรนี้ เรียกว่า อุปนิสสยโคจร

อารักขโคจร เป็นอย่างไร ?
ภิกษุในศาสนานี้ เข้าไปสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามถนน ทอดสายตาลงมองดูประมาณชั่วแอก เดินไปอย่างสำรวม ไม่เหลียวดูพลช้าง ไม่เหลียวดูพลม้า ไม่เหลียวดูพลรถ ไม่เหลียวดูพลเดินเท้า ไม่เหลียวดูสตรี ไม่เหลียวดูบุรุษ ไม่แหงนขึ้นข้างบนไม่เหลียวลงข้างล่าง ไม่เดินมองทิศใหญ่ทิศน้อย พฤติการณ์ของภิกษุนั้นเช่นนี้เรียกว่า อารักขโคจร

อุปนิพันธโคจร เป็นอย่างไร?
คือ สติปัฏฐาน ๔ อันเป็นที่ผูกจิตไว้ สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า :- ภิกษุทั้งหลาย ก็โคจรของภิกษุได้แก่อะไร ? ได้แก่วิสัยอันเป็นสมบัติของพุทธบิดาของตน คือ สติปัฏฐาน ๔ นี้เรียกว่า อุปนิพันธโคจร 

ภิกษุเป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว เข้าไปแล้ว เข้าไปพร้อมแล้ว เข้าถึงแล้ว 
เข้าถึงพร้อมแล้ว มาตามพร้อมแล้ว ด้วยอาจารนี้และด้วยโคจรนี้ ด้วยประการดังอรรถาธิบายมา แม้ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า อาจารโคจรสมุปนโน แปลว่า ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยอาจารและโคจร ฉะนี้ 

คำว่า มีปกติมองเห็นภัยในโทษมีประมาณเล็กน้อย คือมีปกติเห็นภัยในโทษ
ทั้งหลายมีประมาณเล็กน้อย อันต่างด้วยโทษ เช่น การต้องอาบัติเสขิยวัตรโดยไม่ได้จงใจและเกิดอกุศลจิตเป็นต้น

คำว่า สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ความว่า ศีลอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะพึงศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย ศีลนั้นทั้งหมดเธอถือเอามาศึกษาสำเหนียกอยู่โดยความเคารพ

นักศึกษาพึงทราบว่า ปาติโมกขสังวรศีล พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้วในบทว่า ปาติโมกขสวรวโต ที่แปลว่า ผู้สำรวมด้วยสังวรคือปาติโมกข์นี้ และด้วยเทศนาบุคคลาธิษฐานมีประมาณเท่านี้ ส่วนบทว่า อาจารโคจรสมุปนโน ที่แปลว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยอาจารและโคจร เป็นต้น พระผู้มีพระภาคตรัสไว้เพื่อทรงแสดงถึงข้อปฏิบัติโดยประการที่ศีลนั้นทั้งหมดจะสำเร็จแก่ผู้ปฏิบัติ





องุ่นเปรี้ยว กับ การปฏิบัติธรรม

ในหมู่ผู้สนใจศึกษาธรรมะนั้น คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิเสธว่า มีอยู่ไม่น้อยที่หันหน้าเข้าหาธรรมะด้วยเหตุเพราะต้องการดิ้นรนให้พ้นจากความทุกข์หรือความผิดหวังบางประการในชีวิต ซึ่งผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในนั้นจากปัญหาด้านสุขภาพ เมื่อเข้ามาด้วยแรงจูงใจจากความผิดหวังในชีวิตทางโลก ก็อาจพลั้งเผลอหยิบจับเอาคำสอนของพระพุทธศาสนาบางช่วงบางตอน ที่กล่าวถึงโทษภัยของโลก เช่น “กามเป็นทุกข์” “ทุกข์เสมอด้วยเบญจขันธ์ไม่มี” “สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง” ด้วยความเข้าใจอย่างตื้นเขิน เพราะรู้สึกว่าเข้ากันได้พอดิบพอดีกับความเห็นของตัวในขณะนั้น คล้ายๆสำนวน “องุ่นเปรี้ยว” คือ เมื่อหมดโอกาสที่จะได้เสียแล้วก็หลอกตัวเองโดยมองว่าสิ่งนั้นไร้ประโยชน์ไปเสียเลยทั้งที่จริงๆแล้วลึกๆตัวเองก็ยังอยากได้สิ่งนั้นมาครอบครอง ยังตัดไม่ขาด ยังละไม่ได้ อีกทั้งคำสอนบางช่วงก็มีสำนวนที่เมื่อพิจารณาเพียงผิวเผิน ชวนให้เกิดความรู้สึกหดหู่ เบื่อหน่ายเกลียดชังชีวิต สิ้นหวังต่อโลก เช่น

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วรู้เห็นตามเป็นจริงนี้ เป็นธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้รู้เห็นตามเป็นจริง ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอเราจงเบื่อหน่ายเถิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้รู้เห็นตามเป็นจริงเบื่อหน่ายนี้ เป็นธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เบื่อหน่าย ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอเราจงคลายกำหนัดเถิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้เบื่อหน่ายคลายกำหนัดนี้ เป็นธรรมดา…” (เจตนาสูตร)

เมื่อศึกษาผิวเผินเช่นนี้ ประกอบเข้ากับปัญหาชีวิตที่หนักหน่วงของตนเองแล้ว จึงเป็นการง่ายที่ความคิดจะเลยเถิดผิดไปในทางที่เห็นแต่โทษภัยของโลกเพียงด้านเดียว ทรรศนะเช่นนี้นอกจากเป็นความเข้าใจผิดในหลักการของพระพุทธศาสนา ไม่เข้าใจความหมายอันลึกซึ้งที่ท่านทรงแสดงแล้ว ยังนำทุกข์มาท่วมทับตน ไม่นำไปสู่ความเจริญงอกงามในชีวิตแต่อย่างใด จริงอยู่ที่การมองโลกแบบองุ่นเปรี้ยวเช่นนี้ อาจสามารถลดความทุกข์จากความผิดหวังรุนแรงลงได้บ้างในช่วงแรก แต่ทัศนคติผิดๆเช่นนี้ ในระยะยาวย่อมไม่สามารถนำพาชีวิตให้ก้าวหน้าไปได้จริง ทั้งในทางโลกและทางธรรม บางครั้งพระพุทธศาสนาจึงถูกมองเป็นเพียงที่พึ่งขณะเมื่อชีวิตมีทุกข์หนัก แต่เมื่อทุกข์เริ่มจางคลายลงไปตามกาลเวลาที่ล่วงเลยผ่านแล้ว ความสนใจ ความฝักใฝ่ในธรรม ก็จางหายไปด้วย เพราะมองไม่เห็นและเข้าไม่ถึงคุณค่าที่แท้จริงของพระพุทธศาสนามาตั้งแต่แรก

อย่างไรก็ตาม การที่มีข้อความหรือถ้อยคำสำนวนในบางช่วงตอนที่อาจชวนให้เกิดความรู้สึกชังชีวิตเช่นนี้ จะเป็นปัญหาของธรรมะก็หามิได้ แท้จริงเป็นปัญหาด้านข้อจำกัดของภาษาที่ไปไม่ถึงสิ่งที่ลึกซึ้ง เช่นในเจตนาสูตรที่ยกมาข้างต้น คำว่า “เบื่อหน่าย” ท่านแปลจากบาลีคือ “นิพพิทา” ศัพท์คำว่า นิพพิทา นี้จะแปลด้วยคำศัพท์ภาษาไทยคำใดให้ตรงตามความหมายที่ต้องการครบถ้วน ก็เห็นจะไม่มี ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้ให้ความหมายว่า นิพพิทา “ความหน่าย” หมายถึง ความหน่ายที่เกิดขึ้นจากปัญญาพิจารณาเห็นความจริง, ความเบื่อหน่ายในกองทุกข์

ความมุ่งหมายของพระสูตรที่แสดงโทษภัยของโลกนั้น ล้วนเป็นไปเพื่อให้เกิด “นิพพิทา” ซึ่งเป็นความหน่ายอันประกอบด้วยปัญญารู้เห็นตามเป็นจริง เป็นความหน่ายที่ทำให้รู้สึกปลอดโปร่ง เบิกบาน มีความสุขอย่างเป็นอิสระ เนื่องจากกิเลสทั้งหลายสงบลงไปจากความไม่ยึดติดถือมั่น อาจกล่าวแบบภาษาง่ายๆได้ว่า เพราะเข้าถึงวิถีทางใหม่ที่ดียิ่งกว่า จึงเลิกสนใจวิถีทางเดิมๆ ต่างจากความเบื่อหน่ายเกลียดชังต่อโลกซึ่งเกิดจากกิเลสจำพวกโทสะ หรือความอยากจะพ้นไปจากสิ่งที่ตนไม่ปรารถนาซึ่งเป็นกิเลสจำพวกโลภะ (วิภวตัณหา) เหล่านี้ก่อให้เกิดเป็นความเบื่อหน่ายที่ทำให้ตรอมตรม งอมระงมเผาอยู่ในจิตใจ ซึ่งจะเห็นว่าในความคล้ายของคำศัพท์ภาษาไทยที่ว่า “เบื่อหน่าย” นี้ มีความแตกต่างอย่างใหญ่หลวงที่จำเป็นจะต้องแยกออกจากกันให้ชัด เพื่อมิให้เผลอปล่อยให้กิเลสจำพวกนี้ก่อตัวขึ้นเผาจิตใจตัวเองอย่างเงียบๆให้เป็นทุกข์ แม้ในขณะที่กำลังพยายามพิจารณาเพื่อต้องการลดละกิเลสอยู่นั่นเอง

กล่าวคือ การมองโลกในแง่ร้ายในลักษณะที่ว่าสิ่งต่างๆเป็นความทุกข์ทรมานนั้น ส่งผลให้เกิดความ “เบื่อหน่ายโลกด้วยโทสะ ซึ่งทำให้เป็นทุกข์โดยไม่จำเป็น ส่วนการ “เบื่อหน่ายโลกเพราะรู้เห็นตามเป็นจริงด้วยนิพพิทาญานทำให้ปลอดโปร่งเบิกบาน จะเห็นว่าทั้งสองกรณีนี้แม้โดยคำศัพท์อาจมีส่วนเหมือนกัน แต่แท้จริงความหมายที่ต้องการจะสื่อต่างกันอย่างตรงข้ามทีเดียว ผู้ที่หันหน้าเข้าหาธรรมด้วยเหตุจากความผิดหวังใดๆในชีวิต พึงพิจารณาว่า ควรหรือที่จะเอาสุขทุกข์ของตนไปขึ้นต่อ ไปยึดโยงอยู่กับสิ่งใดๆ เพื่อสนองตัณหาของตน คราวเมื่อได้สิ่งนั้นมาก็เป็นสุข เมื่อสูญเสียสิ่งนั้นไป หรือขวนขวายแล้วไม่ได้ตามต้องการก็เป็นทุกข์ เหตุแห่งทุกข์จึงเกิดเพราะความที่เรามีตัณหาอยู่ในขันธสันดาน เมื่อจะแก้ที่ต้นตอของปัญหาจึงต้องแก้ที่กิเลสตัณหาในจิตใจของเรานี่เอง เมื่อตัณหาเบาบาง ทุกข์ต่างๆในจิตใจก็จางคลายลงไปด้วย เมื่อปราศจากตัณหา ย่อมอยู่เป็นสุขทุกเมื่อ

อย่างไรก็ตาม การกล่าวถึงความปราศจากตัณหา แม้เป็นการเอาชนะปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ก็อาจดูจะเป็นเป้าหมายที่ไกลตัวเกินไปสักหน่อย ในที่นี้จึงนำเสนอแนวทางอยู่ร่วมกับกิเลสตัณหาอย่างเป็นปกติสุขตามสมควรสำหรับคฤหัส โดยพยายามจะให้เป็นวิถีทางที่ทำได้ไม่ยากและสามารถจะเห็นประจักษ์กับตัวเองได้ค่อนข้างชัด ซึ่งแท้จริงแล้วทุกคนสามารถสร้างขึ้นได้มากมาย หลายกรณีก็มิใช่ของยากหรือไกลตัวแต่อย่างใด ยกตัวอย่าง ดังนี้

สุขจากความพอใจในสิ่งที่ตนมี ใช้จ่ายทรัพย์ตามสมควร ความประพฤติไม่เป็นโทษ (🔎 กามโภคีสุข “สุขของคฤหัสถ์”)
สุขจากการทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ (สุขจากการสนองฉันทะ)
สุขจากการมีศรัทธาถูกทาง : เป็นศรัทธาที่นำไปสู่ปัญญา ไม่เป็นศรัทธาที่งมงายแต่เป็นศรัทธาที่ทำให้หายงมงาย มีความปีติยินดีว่าทางที่มุ่งไปเป็นทางแห่งความสุขความเจริญโดยแท้
สุขจากทาน : เช่น จากที่เคยหวังพึ่งแต่สุขจากการกินการใช้อย่างหรูหราราคาแพง ลองมองหาผู้ที่ขาดแคลนแล้วแบ่งปันให้เขาโดยที่ไม่หวังผลตอบแทน แล้วสังเกตสุขในจิตใจของตนดูว่าเกิดขึ้นหรือไม่เพียงใด บางครั้งการให้ผู้อื่นโดยที่มีต้นทุนเพียงเล็กน้อย อาจสร้างสุขให้แก่ตนเองมากกว่าการกินใช้หรูหราก็เป็นไปได้
สุขจากศีล : การมีศีลที่ดีย่อมเป็นเหตุ เป็นพื้นฐาน และเป็นต้นทางแห่งความสุขความเจริญทั้งหลายทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพียงระลึกถึงความมีศีลที่ดีของตนแล้วก็พาให้แช่มชื่นใจ
สุขจากการเจริญเมตตา : การมีความคิดขุ่นเคืองแค้น อาฆาตพยาบาท อิจฉาริษยา ล้วนเป็นมลทินโทษของจิตใจ เป็นไฟที่เผาผลาญอยู่ภายในให้เป็นทุกข์ พึงเจริญเมตตาแก่ตนเอง แก่ผู้เป็นที่รัก แก่ศัตรูทั้งหลาย เผื่อแผ่ความปรารถนาดีไปโดยไม่จำกัดขอบเขตเช่นนี้ จิตใจย่อมผาสุข
สุขจากสมาธิ : จากที่เคยหวังสุขที่ต้องพึ่งพิงสิ่งอื่นหรือผู้อื่น ลองฝึกปฏิบัติสมาธิเพื่อให้ได้รับสุขจากความสงบประณีต การได้สัมผัสสุขจากสมาธินั้น สามารถกล่าวได้ว่าเป็นก้าวย่างสำคัญของความเจริญในกุศลธรรมต่างๆ
สุขจากปัญญา : มีความสุขจากความใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาในธรรม ความยินดีในธรรม ความปลอดโปร่งจากกิเลส พึงทราบว่าปัญญาเป็นยอดแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย

แม้ยังไม่สามารถถอนกิเลสให้หมดสิ้นไปโดยสิ้นเชิง การบรรเทากิเลสตัณหาของตนให้เบาบางในระดับที่ไม่สร้างปัญหาเดือดร้อนให้แก่ตนและผู้อื่น จับจ่ายใช้สอยพอเหมาะ มีศีลที่ดี มีจิตใจเมตตากรุณา มีความรู้ความเข้าใจธรรมะตามสมควร รู้จึกสุขอื่นที่ดีกว่าสุขจากการสนองกิเลส ก็ได้ชื่อว่าเป็น กัลยาณปุถุชน ผู้ซึ่งเมื่อครั้งหนึ่งได้มีโอกาสสดับสัทธรรมแล้ว สามารถรับเอาความเจริญงอกงามติดตัวกลับไปตามสมควรแก่ตน

อะไรเล่าเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐสุดของคนในโลกนี้ ?
อะไรเล่าที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ ?
อะไรเล่าเป็นรสที่ดีกว่ารสทั้งหลาย ?
บุคคลมีความเป็นอยู่อย่างไร นักปราชญ์จึงกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ ?

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้
ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐสุดของคนในโลกนี้
ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้
สัจจะเท่านั้น เป็นรสที่ดีกว่ารสทั้งหลาย
บุคคลมีความเป็นอยู่ด้วยปัญญา นักปราชญ์จึงกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ (อาฬวกสูตร)

“ดูกรมหานามะ สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระตถาคตเนืองๆ สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุมไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม ย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว ก็อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภพระตถาคต ย่อมได้ความทราบซึ้งอรรถ ย่อมได้ความทราบซึ้งธรรมย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม เมื่อปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติเมื่อมีใจประกอบด้วยปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น ดูกรมหานามะ นี้อาตมภาพกล่าวว่า อริยสาวกเป็นผู้ถึงความสงบเรียบร้อยอยู่ ในเมื่อหมู่สัตว์ยังไม่สงบเรียบร้อย เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ ในเมื่อหมู่สัตว์ยังมีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมกระแสธรรม ย่อมเจริญพุทธานุสสติ” (ตรัสถึง ธรรมานุสสติ, สังฆานุสสติ, สีลานุสสติ, จาคานุสสติ, เทวตานุสสติ ด้วย) (มหานามสูตร)



กาลามสูตร ตรรกวิทยาและความศรัทธา

สมัยหนึ่ง พวกชนกาลามะโคตร ชาวเกสปุตตนิคม ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า 

“พระเจ้าข้า มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม สมณพราหมณ์พวกนั้น พูดประกาศแต่เฉพาะวาทะของตัวเท่านั้น ส่วนวาทะของผู้อื่นช่วยกันกระทบกระเทียบ ดูหมิ่นพูดกด ทำให้ไม่น่าเชื่อ พระเจ้าข้า มีสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคมถึงพราหมณ์พวกนั้น ก็พูดประกาศแต่เฉพาะวาทะของตนเท่านั้น ส่วนวาทะของผู้อื่นช่วยกันกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น พูดกด ทำให้ไม่น่าเชื่อ พระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ยังมีความเคลือบแคลงสงสัยในสมณพราหมณ์เหล่านั้นอยู่ทีเดียวว่า ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็ควรแล้วที่ท่านทั้งหลายจะเคลือบแคลงสงสัย กาลามสูตร (วิธีปฏิบัติในเรื่องที่ควรสงสัย)
๑. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
๒. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบๆกันมา
๓. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
๔. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
๕. อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ
๖. อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน (คาดเดา คาดคะเน)
๗. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการตรึกตามอาการ
๘. อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับความเห็นของตน
๙. อย่าปลงใจเชื่อเพราะผู้พูดสมควรเชื่อถือได้
๑๐. อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่า ท่านผู้นี้เป็นครูของเรา
“ต่อเมื่อใด พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมเหล่าใด เป็นอกุศล มีโทษ นักปราชญ์ติเตียน เมื่อทำแล้วย่อมให้เกิดแต่ส่วนที่ไม่เป็นประโยชน์และความทุกข์ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสีย ธรรมเหล่าใด เป็นกุศล ไม่มีโทษ นักปราชญ์สรรเสริญ เมื่อทำแล้วย่อมให้เกิดประโยชน์และความสุข ท่านควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้น” (กาลามสูตร)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ท่านได้ชี้จุดที่ควรทำความเข้าใจเป็นพิเศษ คือคำว่า “อย่าปลงใจเชื่อ” ไม่ใช่การห้ามไม่ให้เชื่อ หรือปฏิเสธความศรัทธา แต่ท่านหมายความว่า อย่าพึ่งเชื่อสนิทใจ นั่นคือ ให้พิจารณาดูก่อน ปฏิบัติดูก่อน จนประจักษ์แก่ตน ว่าเป็นของดีจริง จึงค่อยเพิ่มพูนความเชื่อมั่นขึ้นไปตามลำดับ ขอให้สังเกตข้อ ๕-๗ เป็นเรื่องของตรรกะ หรือ Logic ซึ่งมีความหมายอย่างกว้างๆ คือ เป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนวิธีคิดเพื่อนำความจริงที่รู้แล้วขยายไปสู่ความจริงที่ยังไม่รู้ หรือความรู้โดยตรงขยายไปสู่ความรู้โดยอ้อม การพูดโดยอาศัยตรรกะนั้น ถ้าผู้พูดมีวาทะศิลป์ที่ยอดเยี่ยมแล้ว ก็จะทำให้คำพูดของเขานั้นดูมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ สละสลวยน่าฟัง ชวนให้คล้อยตามไปได้โดยง่าย แม้จะไม่ใช่เรื่องจริงก็ตาม เพราะการอ้างตรรกะก็มีช่องโหว่ ไม่ใช่การเข้าถึงความจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ในทุกกรณี ในกาลามสูตรท่านจึงไม่ให้ถือตรรกะเป็นที่ยุติ ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น

คนที่เคยติดคุก เป็นคนเลว นาย ก. เคยติดคุก ดังนั้น นาย ก. เป็นคนเลว, ในความเป็นจริงนาย ก. อาจเป็นแพะรับบาป หรือกลับตัวเป็นคนดีแล้วก็ได้

ประเทศชาติของเราจะเจริญรุ่งเรือง ถ้าทุกคนในชาติมีแนวคิดชาตินิยม เราจึงควรปลูกฝังแนวคิดชาตินิยม นาย ก. ไม่สนับสนุนแนวคิดชาตินิยม ดังนั้น นาย ก. เป็นคนไม่รักชาติ, ในความเป็นจริงนาย ก. อาจเป็นคนที่รักชาติ แต่ไม่เห็นด้วยว่าแนวคิดชาตินิยมจะทำให้ชาติเจริญก็ได้

อย่างไรก็ตาม การใช้ตรรกะแม้จะมีช่องโหว่อยู่บ้าง แต่ก็มีประโยชน์ช่วยในการคิดพิจารณา ปะติดปะต่อเรื่องราวและความรู้ต่างๆได้อย่างมีเหตุมีผล แม้จะไม่อยู่ในขั้นที่สมบูรณ์แบบเหมือนการรู้เห็นอย่างประจักษ์แจ้งด้วยปัญญา แต่ก็สามารถทำหน้าที่เป็นบันไดต่อไปสู่ความรู้อย่างประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาได้ ตัวอย่างเช่น พระปุณณาเถรีได้กล่าวแก่พราหมณ์ผู้ถือธรรมเนียมการอาบน้ำล้างบาปในแม่น้ำว่า “ …ถ้าคนจะพ้นจากบาปกรรมได้ก็เพราะการอาบน้ำ (ล้างบาป) พวกกบ เต่า งู จระเข้ และสัตว์เหล่าอื่นที่เที่ยวหากินอยู่ในน้ำทั้งหมดก็คงพากันไปสวรรค์แน่แท้, ถ้าแม่น้ำเหล่านี้จะพึงนำบาปที่ท่านก่อไว้แต่ก่อนไปได้ แม่น้ำเหล่านี้ก็จะพึงนำทั้งบุญของท่านไปด้วย, ท่านพราหมณ์ ท่านกลัวบาปใด จึงลงอาบน้ำเป็นประจำ ท่านก็อย่าได้ทำบาปอันนั้น… ” (ปุณณิกาเถรีคาถา) เมื่อได้ฟังการอธิบายเช่นนี้ แม้แต่พราหมณ์ที่ถือธรรมเนียมของตนมาอย่างยาวนานก็เข้าใจได้โดยง่าย

กล่าวถึงเรื่องของความศรัทธา พระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธประโยชน์ของศรัทธา คนเดินทางไกลในถิ่นทุรกันดาล ถ้ามีผู้นำทางที่ยอดเยี่ยม ย่อมไม่กลัวความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวและภัยอันตรายฉันใด ความมีศรัทธาก็เปรียบเสมือนมีประทีปส่องนำทางให้ความรู้สึกอบอุ่นใจแก่ผู้ศึกษาฉันนั้น แต่ท่านกล่าวว่าความศรัทธาเป็นการพึ่งปัญญาของผู้อื่น ถ้าผู้ที่เราน้อมใจศรัทธา แท้จริงเป็นคนพาลผู้มาในรูปของกัลยาณมิตรแล้ว ย่อมจะนำความเสื่อมและโทษภัยมาให้แก่ผู้หลงตามไปเป็นอย่างยิ่ง

อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ (จากหนังสือ คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา) ได้ชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจว่า “…ในพระพุทธศาสนานั้น ไม่มีที่ไหนเลย เมื่อกล่าวถึงศรัทธาแล้วจะไม่กล่าวถึงปัญญากำกับไว้ด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดเหลือเกินว่า ในที่ใดใช้ศรัทธาความเชื่อ ในที่นั้นจะต้องใช้ปัญญากำกับไว้เป็นข้อสุดท้ายเสมอ เพราะถือว่าเป็นเครื่องมือขั้นสุดท้ายที่จะให้ประจักษ์แจ้งความจริง หรือได้รับผลสมบูรณ์ใดๆ เช่น อินทรีย์ ๕, อริยทรัพย์ ๗, สัปปุริสธรรม ๗, สัมปรายิกัตถะ ๔, เวสารัชชกรณธรรม ๕ เป็นต้น”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ศรัทธาที่แท้ในทางพระพุทธศาสนา คือศรัทธาที่ไม่ทำให้งมงายแต่เป็นศรัทธาที่ทำให้หายงมงาย หรือศรัทธาที่เอื้อต่อปัญญา

พุทธพจน์ “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นคนพาล ไม่เฉียบแหลม ไม่ใช่สัตบุรุษ ย่อมเป็นผู้ประกอบไปด้วยโทษ นักปราชญ์ติเตียน ย่อมประสบกรรมมิใช่บุญเป็นอันมาก และย่อมเกิดในนรกเหมือนถูกนำมาโยนลง ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ
    บุคคลไม่พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว กล่าวสรรเสริญบุคคลที่ไม่ควรสรรเสริญ ๑
    ไม่พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว กล่าวติเตียนบุคคลที่ควรสรรเสริญ ๑
    ไม่พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว ปลูกความเลื่อมใสในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส ๑
    ไม่พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว ปลูกความไม่เลื่อมใสในฐานะที่ควรเลื่อมใส ๑

“บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นบัณฑิตเฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ เป็นผู้หาโทษมิได้ ทั้งนักปราชญ์ไม่ติเตียน ย่อมประสบบุญเป็นอันมาก และย่อมเกิดในสวรรค์เหมือนถูกเชิญมา ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ
    บุคคลพิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว ย่อมติเตียนบุคคลที่ควรติเตียน ๑
    พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว ย่อมสรรเสริญบุคคลที่ควรสรรเสริญ ๑
    พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว ปลูกความไม่เลื่อมใสในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส ๑
    พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว ปลูกความเลื่อมใสในฐานะที่ควรเลื่อมใส ๑ (ขตสูตร ; วัณณสูตร)