วันพุธ

ประเภทของความรู้ (อายตนะ ๖)

ประเภทของความรู้

เมื่อพูดถึงกระบวนการรับรู้แล้ว ก็ควรกล่าวถึงประเภทของความรู้ไว้ด้วย แม้ว่าจะต้องกล่าวถึงอย่างยนย่อก็ตาม ว่าตามแนวพุทธธรรม อาจแยกประเภทของความรู้ได้หลายนัย ดังนี้

ก. จำแนกโดยสภาวะ หรือโดยธรรมชาติของความรู้
วิธีจำแนกตามสภาวะอย่างง่ายๆ ก็คือ จำแนกตามหลักขันธ์ ๕ ความรู้เป็นนามธรรมจำพวกหนึ่ง ซึ่ง
กระจายอยู่ในนามขันธ์ (ขันธ์ที่เป็นนามธรรม หรือหมวดนามธรรม) ๓ ขันธ์ คือ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ความรู้ที่จำแนกตามสภาวะของขันธ์ ได้แก่ สัญญา วิญญาณ และปัญญา

๑. สัญญา คือ ความรู้ทั้งหมดที่อยู่ในสัญญาขันธ์ ได้แก่ ความกำหนดได้ หมายรู้ รวมทั้งความรู้ที่เกิด
จากการกำหนดหมาย หรือหมายรู้แล้วบันทึกเก็บรวมไว้เป็นวัตถุดิบของความคิดต่อๆ ไป ทำให้มีการรู้จัก จำได้ รู้ เข้าใจ และคิดได้ยิ่งๆ ขึ้นไป

สัญญา แบ่งตามอารมณ์ คือ สิ่งที่หมายรู้ หรือ กำหนดจดหมายไว้ มี ๖ ชนิด คือ รูปสัญญา (สัญญาเกี่ยวกับรูป) สัททสัญญา (สัญญาเกี่ยวกับเสียง) คันธสัญญา (สัญญาเกี่ยวกับกลิ่น) รสสัญญา (สัญญาเกี่ยวกับรส) โผฏฐพพสัญญา (สัญญาเกี่ยวกับสิ่งต้องกาย) ธัมมสัญญา (สัญญาเกี่ยวกับเรื่องในใจหรือสิ่งที่ใจรู้และนึกคิด) ว่าโดยสภาพปรุงแต่ง สัญญาอาจแบ่งคร่าวๆ ได้ ๒ ระดับ คือ
        ๑) สัญญาชั้นต้น ได้แก่ ความหมายรู้ลักษณะอาการตามสภาวะของสิ่งนั้นๆ โดยตรง เช่น หมายรู้ว่า สีเขียว ขาว ดำ แดง แข็ง อ่อน รสเปรี้ยว หวาน รูปร่างกลม แบน ยาว สั้น เป็นต้น รวมทั้งความหมายรู้เกี่ยวกับบัญญัติต่างๆ ว่า แมว ว่าโต๊ะ ว่าเก้าอี้ ฯลฯ
    ๒) สัญญาซ้อนเสริม ได้แก่ ความหมายรู้ไปตามความคิดปรุงแต่ง หรือตามความรู้ความเข้าใจในระดับต่างๆ เช่น หมายรู้ว่า สวย ว่าน่าเกลียด น่าชัง ว่าไม่เที่ยง ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นต้น ถ้าแยกย่อยออกไปสัญญาซ้อนเสริมหรือสัญญาสืบทอดนี้ก็แบ่งได้เป็น ๒ พวก คือ
            ๒.๑) สัญญาซึ่งเกิดจากความคิดปรุงแต่งที่เป็นอกุศล เรียกว่า ปปัญจสัญญา คือสัญญาฟ่ามเผือหรือซับซ้อนหลากหลาย ซึ่งเกิดจากการแต่งเสริมเติมต่อให้พิสดาร ของตัณหา มานะ และทิฏฐิ เรียกอีกอย่างหนึ่งตามสำนวนอรรถกถาบางแห่งว่า กิเลสสัญญา แปลว่าสัญญาที่เกิดจากกิเลส หรือสัญญาที่ประกอบด้วยกิเลส (สัญญาเจือกิเลส) สัญญาพวกนี้ถูกกิเลสปรุงแต่งให้ฟันเฟือและห่างเหเฉไฉออกไปจากทางแห่งความรู้ ไม่เป็นเรื่องของความรู้ แต่เป็นเรื่องของการที่จะให้เกิดโลภะ โทสะ โมหะ แทนที่จะช่วยให้เกิดความรู้ กลับเป็นเครื่องปิดกั้นบิดเบือนความรู้ ดังได้เคยอธิบายแล้วข้างต้น ยกตัวอย่างเช่น หมายรู้ลักษณะที่ตนถือว่าน่าชัง หมายรู้ลักษณะอาการที่สนองความอยากได้อยากเอา หมายรู้ลักษณะอาการที่ตนเป็นคนยิ่งใหญ่ หมายรู้ลักษณะอาการในผู้อื่นที่ตนถือว่าต่ำต้อยด้อยกว่า หมายรู้ภาวะที่ตนเป็นเจ้าของ เป็นผู้ครอบครอง ฯลฯ
            ๒.๒) สัญญาที่เกิดจากความคิดดีงาม หรือเกิดจากความรู้ความเข้าใจถูกต้อง เรียกว่า กุศลสัญญา บ้างวิชชาภาคิยสัญญา (สัญญาที่ช่วยให้เกิดวิชชา) บ้าง หรือเรียกชื่ออื่นๆ ในทำนองนี้บ้าง เป็นสัญญาที่ช่วยส่งเสริมความเจริญปัญญาและความงอกงามแห่งกุศลธรรม เช่น หมายรู้ลักษณะอาการที่ชวนให้เกิดความเป็นมิตร หมายรู้ลักษณะอาการซึ่งแสดงภาวะที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ภาวะที่เป็นของไม่เที่ยง ภาวะที่ไร้ตัวตน เป็นต้น พระอรหันต์ก็มีสัญญา แต่เป็นสัญญาที่ปราศจากอาสวะ คือสัญญาไร้กิเลส พระอรหันต์ก็หมายรู้ปปัญจสัญญาตามที่ปุถุชนเข้าใจ หรือตามที่ท่านเองเคยเข้าใจเมื่อครั้งยังเป็นปุถุชน แต่ท่านหมายรู้เพียงเพื่อเป็นความรู้ เพื่อใช้ประโยชน์ เช่นในการช่วยแก้ไขปัญหาของผู้อื่น ไม่หมายรู้ในแง่ที่จะมีตัวตนออกรับความกระทบ แม้ผู้ปฏิบัติธรรมก็พึ่งดำเนินตามแนวทางเช่นนั้น

 (- สัญญาชั้นต้น เรียกว่า ปัญจทวาริกสัญญา แปลว่าสัญญาที่เป็นไปทางปัญจทวาร คือ ความหมายรู้เกี่ยวกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐพพะ)(ดู ม.อ.๓/๔๓๔) สัญญาอื่นๆ ต่อจากนี้ไป เป็นสัญญาทางมโนทวารทั้งหมด
- ตัวอย่างแสดงสัญญาที่เกิดจากความคิดปรุงแต่ง “เมื่อเขาดำรงอยู่ในสัญญาอย่างยอด (สัญญาละเอียดประณีตสุด) ก็เกิดมีความคิดว่า เมื่อเราคิดจำนง ก็จะมีแต่เสีย เราไม่คิดจำนง จะดีกว่า, หากว่าเราจะพึงคิดจำนงคิดปรุงแต่ง สัญญาเหล่านี้ก็คงจะดับไปเสีย และสัญญาอื่นที่หยาบก็จะพึงเกิดขึ้น อย่ากระนั้นเลย เราจะไม่จำนงละ จะไม่คิดปรุงแต่งละ” (ที.ส.๔/๒๕๖/๒๒๙) สัญญาอย่างยอด = 🔎อากิญจัญญายตนะ)

๒. วิญญาณ คือความรู้ทั้งหมดที่อยู่ในหมวดวิญญาณขันธ์ ได้แก่ ความรู้ยืนโรงที่เป็นกิจกรรมประจำของจิต และซึ่งคอยรู้กิจกรรมอย่างอื่นทุกอย่างของจิต ดังได้อธิบายแล้วในบทที่ ๑ ว่าด้วย 🔎 ขันธ์ ๕


๓. ปัญญา เป็นความรู้หลักในหมวดสังขารขันธ์ ความหมายของปัญญาได้แสดงไว้แล้วพอสมควร ในบทที่ ๑ จึงจะไม่กล่าวซ้ำในที่นี้ แต่นอกจากปัญญาที่เป็นความรู้หลักแล้ว ในหมวดสังขารขันธ์ ยังมีข้อธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความรู้อีกหลายอย่าง ซึ่งสัมพันธ์กับปัญญาในแง่ช่วยเกื้อหนุนบ้าง เป็นขั้นตอนในระหว่างของการพัฒนาปัญญาบ้าง เป็นคู่เทียบฝ่ายตรงข้ามที่แสดงความมี ความขาด ความลด ความเพิ่มของปัญญาบ้าง กล่าวคือ
        ๓.๑) ศรัทธา คือ ความเชื่อ ความซาบซึ้ง ไม่ใช่ความรู้ แต่อาจเป็นทางเชื่อมต่อนำไปสู่ความรู้ได้ เพราะ ศรัทธามีลักษณะเป็นการยอมรับความรู้ของผู้อื่น ฝากความไว้วางใจในปัญญาของผู้อื่น ยอมฟัง และอาศัยความรู้ของผู้อื่นหรือแหล่งแห่งความรู้นั้นเป็นเครื่องชี้นำแก่ตน ถ้าผู้มีศรัทธารู้จักคิตรู้จักใช้ปัญญาของตนเป็นทุนประกอบไป ศรัทธานั้นก็สามารถนำไปสู่ความเจริญปัญญาและการรู้ความจริงได้ เฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อผู้อื่นนั้นหรือแหล่งความรู้นั้นมีความรู้แท้จริง และมีกัลยาณมิตรช่วยชี้แนะให้รู้จักใช้ปัญญา แต่ถ้าเชื่ออย่างงมงายคือไม่รู้จักคิด ไม่ใช้ปัญญาของตนเลย และผู้อื่นหรือแหล่งแห่งความรู้นั้นไม่มีความรู้จริง ทั้งไม่มีกัลยาณมิตรที่จะช่วยชี้แนะ หรือมีปาปมิตร ผลอาจกลับตรงข้าม นำไปสู่ความหลงผิด ห่างไกลจากความรู้ยิ่งขึ้น
        ๓.๒) ทิฏฐิ คือ ความเห็น ความเข้าใจตามแนวความคิดของตน เป็นขั้นตอนสำคัญในกระบวนการพัฒนาปัญญา เพราะความรู้ความเข้าใจของมนุษย์ปุถุชน ที่ต่อจากขั้นขึ้นต่อผู้อื่นด้วยศรัทธา ก้าวมาสู่การมีความคิดความเข้าใจหรือมีสิ่งที่เรียกว่าเหตุผลของตนเองประกอบ พอจะนับได้ว่าเป็นความเข้าใจของตนเอง ก็คือ ทิฏฐิ บางครั้งทิฏฐิก็สัมพันธ์กับศรัทธาอย่างใกล้ชิด หรือถึงกับเป็นคนละแง่ของเรื่องเดียวกัน กล่าวคือ แง่ที่เป็นการมอบความไว้วางใจไว้ในความรู้ของผู้อื่น ยอมไปตามปัญญาของเขา (แล่นออกหรือพุ่งไปหา) เป็นศรัทธา ส่วนแง่ที่เป็นการรับเอาความรู้นั้นหรือสิ่งที่เขาบอกให้นั้นมายึดถือทำเป็นของตน (รับมาถือหรือเอาเข้ามา) เป็นทิฏฐิ ลักษณะสำคัญของทิฏฐิ คือการยึดถือเป็นของตน ความรู้ที่เป็นทิฏฐินี้มีได้ตั้งแต่ขั้นไม่มีเหตุผลเลย จนถึงมีเหตุผลบ้างและมีเหตุผลมาก เมื่อใดทิฏฐินั้นพัฒนาขึ้นไปจนเป็นความรู้ ความเห็น ความเข้าใจ ที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง คือ ตรงตามสภาวะ ก็เรียกว่า เป็นสัมมาทิฏฐิ และจัดเป็นปัญญา เมื่อปัญญานั้นเจริญขึ้นจนมองเห็นสภาวะนั้นด้วยตนเองอย่างชัดแจ้งสมบูรณ์แล้ว ก็ไม่ต้องยึดถือความรู้นั้นเป็นของตน เพราะความจริงแท้ดำรงอยู่อย่างเป็นกลางๆ ไม่ต้องมีที่อ้างที่ยัน เป็นอันเลยพ้นขั้นของทิฏฐิไปเอง แต่เพราะทิฏฐิพ่วงอยู่กับความยึดถือเป็นของตน ทิฏฐิจึงมักก่อให้เกิดผลเสีย ถ้ายึดถือเหนียวแน่น แม้จะเป็นทิฏฐิที่ใกล้เคียงความจริงอย่างมาก แต่ก็กลายเป็นเครื่องปิดบังขวางกั้นไม่ให้เข้าถึงความจริงนั้น
( -ไม่พึงปะปนกับคำว่าทิฏฐิ ที่หมายถึงความดื้อดึงในความเห็น ตามที่ใช้ในภาษาไทย (ทิฏฐินี้ รูปสันสกฤตเป็นทฤษฎี แต่ก็มีความหมายไม่ตรงกันนักกับคำว่าทฤษฎีที่ใช้ในภาษาไทย)
- ไวพจน์บางคำของทิฏฐิ คือ อภินิเวส ปรามาส และ อุปาทาน (ซึ่งลึกลงไปย่อมมีตัณหาเป็นปัจจัย) ดู อภิวิ.๓๕๓๑๒/๒๐๐)
        ๓.๓)โมหะ คือ ความหลง ความไม่รู้ เป็นไวพจน์ของคำว่า “อวิชชา” หมายถึงความไม่รู้ตามความเป็นจริง ไม่รู้ตรงตามสภาวะ เป็นภาวะตรงข้ามกับปัญญา โดยเฉพาะปัญญาที่เรียกชื่อเฉพาะว่า วิชชา พูดอย่างสามัญว่า โมหะหรืออวิชชา คือความไม่รู้นี้ เป็นภาวะพื้นเดิมของคนซึ่งจะต้องกำจัดให้หมดไปด้วยวิชชา คือความรู้ หรือด้วยการฝึกอบรมเจริญปัญญา อย่างไรก็ตาม แม้จะเล่าเรียนศิลปวิทยาต่างๆ มากมาย และใช้ศิลปวิทยาเหล่านั้นทำกิจประกอบการต่างๆ ได้มากมาย แต่ถ้าไม่ช่วยให้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ไม่มองเห็นสังขารธรรมทั้งหลายหรือโลกและชีวิตตามสภาวะของมันแล้ว ศิลปวิทยาเหล่านั้น ก็เป็นเพียงสุตะ คือสิ่งที่สดับถ่ายทอดกันไปเท่านั้น ยังไม่เป็นปัญญาแท้จริง ไม่สามารถกำจัดโมหะหรืออวิชชาได้ และไม่อาจแก้ปัญหาพื้นฐานของชีวิตได้สำเร็จ บางที่จะแก้แต่กลายเป็นก่อปัญหาขึ้นใหม่ เหมือนคนต้องการแสงสว่าง แสวงหารวบรวมพื้นและเชื้อไฟชนิดต่างๆ มามากมาย ถึงจะรวมมาได้เท่าใด และจะปฏิบัติอย่างไรต่อฟื้นและเชื้อไฟเหล่านั้น จะตกแต่งประดับประดา ประดิดประดอยอย่างไร แต่ตราบใดที่ยังมิได้จุดไฟขึ้น ก็ไม่อาจให้แสงสว่างเกิดขึ้นได้
        ๓.๔) ปัญญา ที่เป็นตัวความรู้ในสังขารขันธ์นั้น เป็นสิ่งที่จะต้องทำให้เกิดให้มีขึ้น ต้องฝึกปรือ ทำให้เจริญเพิ่มพูนขึ้นไปโดยลำดับ ปัญญาจึงมีหลายขั้นหลายระดับ และมีชื่อเรียกต่างๆ ตามขั้นของความเจริญบ้าง ตามทางเกิดของปัญญานั้นบ้าง ตามลักษณะเฉพาะของปัญญาชนิดนั้นบ้าง อันจะพึงศึกษาความหมายของแต่ละอย่างสืบต่อไป จะขอยกชื่อของปัญญามาให้ดูเป็นตัวอย่าง เช่น ปริญญา ญาณ วิชชา อัญญา อภิญญา พุทธิ โพธิ สัมโพธิ เป็นต้น

สัญญา วิญญาณ และปัญญา แตกต่างกันอย่างไร ได้อธิบายแล้วในบทที่ ๑ ว่าด้วยขันธ์ ๕ ข้อที่ควรไว้ ณ ที่นี้ มีเพียงอย่างเดียวคือ
🔅วิญญาณ เป็นปริญไญยธรรม คือ เป็นสิ่งที่เราควรกำหนดรู้ หรือทำความรู้จักมันตามสภาวะของมันเท่านั้น เราไม่มีหน้าที่ที่จะต้องทำอะไรต่อมันอีก เพราะถึงอย่างไร มันก็ทำหน้าที่ของมันอยู่อย่างนั้น
🔅สัญญา โดยทั่วไปเป็นปริญไญยธรรม คือเป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้หรือทำความรู้จักเท่านั้น แต่สัญญาเจือกิเลสหรือปปัญจสัญญา เป็นปหาตัพพธรรม คือ เป็นสิ่งที่ควรละหรือกำจัดให้สิ้นไป ส่วนสัญญาที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาความรู้ และส่งเสริมกุศลธรรม เป็นภาเวตัพพธรรม คือ สิ่งที่ควรเจริญ ควรทำให้เกิดให้มี และให้เพิ่มพูนขึ้นจนใช้ประโยชน์ได้บริบูรณ์
🔅ปัญญา เป็นภาเวตัพพธรรม คือ เป็นสิ่งที่ควรฝึกอบรม ทำให้เกิดให้มี และให้เจริญยิ่งขึ้นไป จนทำลายโมหะหรืออวิชชาได้โดยสิ้นเชิง

🔅 บทที่ ๒ อายตนะ ๖
ประเภทของความรู้
        ก. จำแนกโดยสภาวะ หรือโดยธรรมชาติของความรู้
ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้
บันทึกพิเศษท้ายบท


วันอังคาร

ตัวสภาวะ (อายตนะ ๖)

ตอน ๑ : ชีวิตคืออะไร?

ข. ชีวิต ตามความหมายของมนุษย์ และโดยสัมพันธ์กับโลก

อายตนะ ๖ แดนรับรู้และเสพเสวยโลก

🔅บทที่ ๒

        แม้ว่าชีวิตจะประกอบด้วย🔎ขันธ์ ๕ ซึ่งแบ่งซอยออกไปเป็นหน่วยย่อยต่างๆ มากมาย คือ ในการดำเนินชีวิตทั่วไป มนุษย์ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับส่วนประกอบเหล่านั้นโดยทั่วถึงแต่อย่างใด ส่วนประกอบหลายอย่างมีอยู่และทำหน้าที่ของมันไปโดยมนุษย์ไม่รู้จัก หรือแม้รู้จัก ก็แทบไม่ได้นึกถึงเลย เช่น ในด้านรูปธรรม อวัยวะภายในร่างกายหลายอย่าง ทำหน้าที่ของมันอยู่โดยมนุษย์ผู้เป็นเจ้าของไม่รู้และไม่ได้ใส่ใจที่จะรู้ จนบางคราวมันเกิดความวิปริตหรือทำหน้าที่บกพร่องขึ้น มนุษย์จึงจะหันมาสนใจ แม้องค์ประกอบต่างๆ ในกระบวนการฝ่ายจิตก็เป็นเช่นเดียวกัน การศึกษาวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆ และกระบวนการทำงานทางร่างกาย เราปล่อยให้เป็นภาระของนักศึกษาทางแพทยศาสตร์และชีววิทยา ส่วนการศึกษาวิเคราะห์องค์ประกอบและกระบวนการทำงานด้านจิตใจ ก็ปล่อยให้เป็นภาระของนักอภิธรรมและจิตวิทยา แต่สำหรับคนทั่วไป ความหมายของชีวิตอยู่ที่ชีวิตในทางปฏิบัติหรือชีวิตที่ดำเนินอยู่เป็นประจำในแต่ละวัน ซึ่งได้แก่การติดต่อเกี่ยวข้องกับโลก สิ่งที่ให้ความหมายแก่ชีวิตก็คือการติดต่อเกี่ยวข้องกับโลก พูดสั้นๆ ว่า ชีวิตตามความหมายของมนุษย์ คือชีวิตโดยความสัมพันธ์กับโลก ชีวิตในทางปฏิบัติหรือชีวิตโดยความสัมพันธ์กับโลกนี้ แบ่งออกได้เป็น ๒ ภาค แต่ละภาคมีระบบการทำงานซึ่งอาศัยช่องทางที่ชีวิตจะติดต่อเกี่ยวข้องกับโลกได้ ซึ่งเรียกว่า “ทวาร” (ประตู, ช่องทาง) ดังนี้

๑. ภาครับรู้และเสพเสวยโลก อาศัยทวาร ๖ (ผัสสทวาร) คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำหรับรับรู้และเสพเสวยโลกซึ่งปรากฏแก่มนุษย์โดยลักษณะและอาการต่างๆ ที่เรียกว่า อารมณ์ ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐพพะ และธรรมารมณ์
๒. ภาคแสดงออกหรือกระทำต่อโลก อาศัยทวาร ๓” (กรรมทวาร) คือ กาย วาจา ใจ (กายทวาร วจีทวาร มโนทวาร) สำหรับกระทำตอบต่อโลก โดยแสดงออกเป็นการทำ การพูด และการคิด กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม)

🙏ในภาคที่ ๑ มีข้อที่พึ่งย้ำเป็นพิเศษเพื่อสะดวกแก่การศึกษาต่อไปว่า คำว่า “ทวาร” (ในทวาร ๖) นั้น เมื่อกล่าวถึงในระบบการทำงานของกระบวนธรรมแห่งชีวิต ท่านนิยมเปลี่ยนไปใช้คำว่า “อายตนะ” ซึ่งแปลว่า แดนเชื่อมต่อให้เกิดความรู้ หรือทางรับรู้ ดังนั้น ในการศึกษาเรื่องนี้ต่อไป จะใช้คำว่า “อายตนะ” แทนคำว่า “ทวาร” 

🙏ในภาคที่ ๒ พึ่งย้ำว่า กระบวนธรรมของชีวิตในภาคนี้ รวมอยู่ในขันธ์ที่ ๔ คือ สังขารขันธ์ ที่กล่าวมาแล้วในบทก่อนสังขารต่างๆ ในสังขารขันธ์ ซึ่งมีอยู่มากมาย แบ่งเป็นฝ่ายดีบ้าง ฝ่ายชั่วบ้าง ฝ่ายกลางๆบ้าง จะปรากฏตัวออกมาปฏิบัติการโดยถูกเจตนาที่เป็นหัวหน้าหรือเป็นตัวแทนเลือกชักจูงมา หรือจัดแจงมอบหมายหน้าที่ให้ช่วยกันทำการปรุงแต่งการแสดงออกหรือการกระทำทาง กาย วาจา ใจ เกิดเป็นกรรม คือการทำ การพูด การคิด

ในกรณีนี้ สังขารจะถูกจัดประเภทเสียใหม่ให้สอดคล้องกับบทบาทของมัน โดยแบ่งตามทางหรือทวารที่
แสดงออก เป็น กายสังขาร วจีสังขาร และมโนสังขาร เรียกตามชื่อหัวหน้าหรือตัวแทนว่า กายสัญเจตนา วจีสัญเจตนา และมโนสัญเจตนา หรือเรียกตามงานที่ทำออกมาว่า กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม แสดงให้เห็นง่ายขึ้นดังนี้

๑. กายสังขารกายสัญเจตนา → กายทวาร → กายกรรม
(สภาพปรุงแต่งการกระทำทางกายความจงใจ (แสดงออก) → ทางกาย  การกระทำทางกาย)
๒. วจีสังขาร วจีสัญเจตนา → วจีทวาร → วจีกรรม
(สภาพปรุงแต่งการกระทำทางวาจา ความจงใจ (แสดงออก) → ทางวาจา → การกระทำทางวาจา)
๓. มโนสังขาร มโนสัญเจตนา → มโนทวาร → มโนกรรม
(สภาพปรุงแต่งการกระทำทางใจ ความจงใจ (แสดง) → ทางใจ → การกระทำทางใจ)

สังขารในฐานะเครื่องปรุงแต่งคุณภาพหรือคุณสมบัติต่างๆ ของจิต ได้กล่าวแล้วในเรื่องขันธ์ ๕ ส่วนสังขารในฐานะกระบวนการปรุงแต่งแสดงออกและกระทำการต่างๆ ต่อโลก เป็นเรื่องกิจกรรมของชีวิต ซึ่งจะแสดงเป็นพิเศษส่วนหนึ่งต่างหาก ในตอนว่าด้วยชีวิตเป็นไปอย่างไร ในที่นี้มุ่งแสดงแต่สภาวะอันเนื่องอยู่ที่ตัวชีวิตเองหรือองค์ประกอบของชีวิตพร้อมทั้งหน้าที่ของมันตามสมควร จึงจะกล่าวเฉพาะภาคที่ ๑ คือเรื่อง อายตนะ ๖ (ผัสสทวาร) อย่างเดียว

(ตามคำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ “อายตนะ” มีความหมายหลายนัย เช่น แปลว่า เป็นที่สืบต่อแห่งจิตและเจตสิก คือเป็นที่ที่จิตและเจตสิกทำหน้าที่กันง่วน, เป็นที่แผ่ขยายจิตและเจตสิกให้กว้างขวางออกไป, เป็นตัวการนำสังสารทุกข์อันยืดเยื้อให้ดำเนินสืบต่อไปอีก, เป็นบ่อเกิด, แหล่ง, ที่ชุมนุม เป็นต้น (ดู วิสุทธิ.๓/๖๑, สงคห.ฎีกา ๒๒๗) อนึ่ง พึงสังเกตว่า ประสาทรับความรู้สึกภายในร่างกายเกี่ยวด้วยท่าทางการเคลื่อนไหว ทรงตัว เป็นต้น จำพวกที่เรียกว่า Somesthesia (kinesthetic, vestibular and visceral senses) ท่านไม่ได้จัดเพิ่มไว้ในพวกอายตนะด้วย แม้ท่านจะไม่ได้ชี้แจงเรื่องนี้ไว้ ก็มองเห็นเหตุผลได้ว่า ความรับรู้ประเภทนี้ บางส่วนรวมอยู่แล้วในอายตนะที่ ๕ ที่ท่านใช้คำกว้างๆ ว่า “กาย” แต่เหตุผลข้อสำคัญอยู่ ที่ว่า ประสาทจำพวกนี้ ทำหน้าที่จำกัดเพียงในด้านสรีรวิทยา มุ่งเพื่อรักษาสภาพปกติแห่งการทำงานของร่างกายเท่านั้น มีลักษณะจำเพาะตัว และจำกัดอยู่ภายใน เป็นเครื่องสนับสนุนที่จำเป็น แต่มีค่าคงตัว ไม่มีคุณค่าที่จะก่อผลงอกเงยทั้งด้านความรู้และด้านเสพเสวยโลก ทั้งด้านญาณวิทยาและด้านจริยธรรม จึงไม่เข้ากับความหมายของอายตนะ)

🙏 ตัวสภาวะ 

อายตนะ แปลว่า ที่ต่อ หรือแดน หมายถึงที่ต่อกันให้เกิดความรู้ แดนเชื่อมต่อให้เกิดความรู้ หรือ แหล่งที่มาของความรู้ แปลอย่างง่ายๆ ว่า ทางรับรู้ มี ๖ อย่าง ดังที่เรียกในภาษาไทยว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ว่าต่อ หรือเชื่อมต่อ ให้เกิดความรู้นั้น ต่อ หรือ เชื่อมต่อกับอะไร? ตอบว่า เชื่อมต่อกับโลก คือสภาพแวดล้อมภายนอก แต่โลกนั้นปรากฏลักษณะอาการแก่มนุษย์เป็นส่วนๆ ด้านๆ ไป เท่าที่มนุษย์จะมีแดนหรือเครื่องมือสำหรับรับรู้ คือ เท่าจำนวนอายตนะ ๖ ที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น ดังนั้น อายตนะทั้งหก จึงมีคู่ของมันอยู่ในโลกเป็นสิ่งที่ถูกรับรู้สำหรับแต่ละอย่างๆ โดยเฉพาะ สิ่งที่ถูกรับรู้หรือลักษณะอาการต่างๆ ของโลก เหล่านี้ เรียกชื่อว่าอายตนะเหมือนกัน เพราะเป็นสิ่งที่เชื่อมต่อให้เกิดความรู้ หรือเป็นแหล่งความรู้ เช่นเดียวกัน แต่เป็นฝ่ายภายนอก เพื่อแยกประเภทจากกันไม่ให้สับสน ท่านเรียกอายตนะพวกแรกว่า “อายตนะภายใน” (แดนต่อความรู้ฝ่ายภายใน) และเรียกอายตนะพวกหลังนี้ว่า “อายตนะภายนอก” (แดนต่อความรู้ฝ่ายภายนอก) อายตนะภายนอก ๖ อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งต้องกาย และสิ่งที่ใจนึก โดยทั่วไปนิยมเรียกว่า อารมณ์” แปลว่า สิ่งอันเป็นที่สำหรับจิตมาหน่วงอยู่ หรือ สิ่งสำหรับยึดหน่วงของจิต แปลง่ายๆ ว่าสิ่งที่ถูกรับรู้หรือสิ่งที่ถูกรู้นั่นเอง

เมื่ออายตนะ (ภายใน) ซึ่งเป็นแดนรับรู้ กระทบกับอารมณ์ (อายตนะภายนอก) ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ก็จะเกิดความรู้จำเพาะด้านของอายตนะแต่ละอย่างๆ ขึ้น เช่น ตากระทบรูป เกิดความรู้เรียกว่า เห็น หูกระทบเสียง เกิดความรู้ เรียกว่าได้ยิน เป็นต้น ความรู้จำเพาะแต่ละด้านนี้เรียกว่า “วิญญาณ” แปลว่า ความรู้แจ้ง คือรู้อารมณ์ ดังนั้น จึงมีวิญญาณ ๖ อย่าง เท่ากับอายตนะและอารมณ์ ๖ คู่ คือ วิญญาณทางตา ได้แก่ เห็น วิญญาณทางหู ได้แก่ ได้ยิน วิญญาณทางจมูก ได้แก่ ได้กลิ่น วิญญาณทางลิ้น ได้แก่ รู้รส วิญญาณทางกาย ได้แก่ รู้สิ่งต้องกาย วิญญาณทางใจ ได้แก่า รู้อารมณ์ทางใจ หรือรู้เรื่องในใจ สรุปได้ว่า อายตนะ ๖ อารมณ์ ๖ และวิญญาณ ๖ มีชื่อในภาษาธรรม และมีความเกี่ยวเนื่องกัน ดังนี้

๑. จักขุ - ตา เป็นแดนรับรู้ → รูป-รูป เกิดความรู้คือ → จักขุวิญญาณ เห็น
๒. โสตะ - หู เป็นแดนรับรู้ → สัททะ-เสียง เกิดความรู้คือ → โสตวิญญาณ ได้ยิน
๓. ฆานะ - จมูก เป็นแดนรับรู้ → คันธะ-กลิ่น เกิดความรู้คือ → ฆานวิญญาณ ได้กลิ่น
๔. ชิวหา - ลิ้น เป็นแดนรับรู้ → รส-รส เกิดความรู้คือ → ชิวหาวิญญาณ รู้รส
๕. กาย - กาย เป็นแดนรับรู้ → โผฏฐพพะ - สิ่งต้องกาย เกิดความรู้คือ → กายวิญญาณ รู้สิ่งต้องกาย
๖. มโน - ใจ เป็นแดนรับรู้ → ธรรมารมณ์-เรื่องในใจ เกิดความรู้คือ → มโนวิญญาณ รู้เรื่องในใจ

(คำว่าทวาร นิยมใช้คู่กับอารมณ์, อายตนะภายใน คู่กับ อายตนะภายนอก แต่ในที่นี้ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาต่อไปจะเรียกอายตนะภายในว่า อายตนะ เรียกอายตนะภายนอกว่า อารมณ์
- อายตนะ ๖ (sense-bases): eye, ear, nose, tongue, body, mind
- อารมณ์ ๖ (sense-objects): form, sound, smell, taste, touch, mind-objects หรือ visible objects, audible objects, odorous objects, sapid objects, tangible objects, cognizable objects.
- วิญญาณ ๖ (consciousness): eye-consciousness, ear-consciousness, nose-consciousness, tongue-consciousness, body-consciousness, mind-consciousness)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวิญญาณจะต้องอาศัยอายตนะและอารมณ์กระทบกันจึงจะเกิดขึ้นได้ก็จริง แต่
การที่อารมณ์เข้ามาปรากฎแก่อายตนะ ก็มิใช่จะทำให้วิญญาณเกิดขึ้นได้เสมอไป จำต้องมีความใส่ใจ ความกำหนดใจ หรือความใฝ่ใจประกอบอยู่ด้วย วิญญาณนั้นๆ จึงจะเกิดขึ้น ดังตัวอย่าง ในบางคราว เช่น เวลาหลับสนิท เวลาฟุ้งซ่าน หรือใจลอยไปเสีย เวลาใจจดจ่อแน่วแน่อยู่กับกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ตลอดจนขณะอยู่ในสมาธิ รูปและเสียงเป็นต้นหลายๆ อย่างที่ผ่านเข้ามา อยู่ในวิสัยที่จะเห็น จะได้ยิน แต่หาได้เห็น หาได้ยินไม่ หรือตัวอย่างง่ายๆ ขณะเขียนหนังสือใจจดจ่ออยู่ จะไม่รู้สึกส่วนของร่างกายที่แตะอยู่กับโต๊ะและเก้าอี้ ตลอดจนมือที่แตะกระดาษและนิ้วที่แตะปากกาหรือดินสอ ในเมื่อมีอายตนะและอารมณ์เข้ามาถึงกันแล้ว แต่วิญญาณไม่เกิดขึ้นเช่นนี้ ก็ยังไม่เรียกว่าการรับรู้ได้เกิดขึ้น การรับรู้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีองค์ประกอบเกิดขึ้นครบทั้งสามอย่าง คือ อายตนะ อารมณ์ และวิญญาณ

ภาวะนี้ในภาษาธรรมมีคำเรียกโดยเฉพาะว่า “ผัสสะ” หรือ “สัมผัส” แปลตามรูปศัพท์ว่า การกระทบ แต่มีความหมายทางธรรมว่า การประจวบหรือบรรจบพร้อมกันแห่งอายตนะ อารมณ์ และวิญญาณ พูดอย่างเข้าใจกันง่ายๆ ผัสสะ ก็คือ การรับรู้นั่นเอง ผัสสะ หรือ สัมผัส หรือการรับรู้นี้ มีชื่อเรียกแยกเป็นอย่างๆ ไปตามทางรับรู้คืออายตนะนั้นๆ ครบจำนวน ๖ คือ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส

ผัสสะ เป็นขั้นตอนสำคัญในกระบวนการรับรู้ เมื่อผัสสะเกิดขึ้นแล้ว กระบวนธรรมก็ดำเนินต่อไป เริ่มแต่ความรู้สึกต่ออารมณ์ที่รับรู้เข้ามานั้น ปฏิกิริยาอย่างอื่นของจิตใจ การจำหมาย การนำอารมณ์นั้นไปคิดปรุงแต่ง ตลอดจนการแสดงออกต่างๆ ที่สืบเนื่องไปตามลำดับ ในกระบวนธรรมนี้ สิ่งที่ควรสนใจเป็นพิเศษในการศึกษาขั้นนี้ ก็คือ ความรู้สึกต่ออารมณ์ที่รับรู้เข้ามาซึ่งเกิดขึ้นในลำดับถัดจากผัสสะนั้นเอง ความรู้สึกนี้ในภาษาธรรมเรียกว่า “เวทนา” แปลว่า การเสวยอารมณ์หรือการเสพรสอารมณ์ คือความรู้สึกต่ออารมณ์ที่รับรู้เข้ามานั้น โดยเป็น สุข สบาย ไม่สบาย หรือเฉยๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง

เวทนานี้ ถ้าแบ่งตามทางรับรู้ ก็มี ๖ เท่าจำนวนอายตนะ คือ เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางตา เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางหู เป็นต้น แต่ถ้าแบ่งตามคุณภาพจะมีจำนวน ๓ คือ
๑. สุข ได้แก่ สบาย ชื่นใจ ถูกใจ
๒. ทุกข์ ได้แก่ ไม่สบาย เจ็บปวด
๓. อทุกขมสุข ไม่ทุกข์ ไม่สุข คือเรื่อยๆ เฉยๆ ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า อุเบกขา

อีกอย่างหนึ่ง แบ่งละเอียดลงไปเป็น ๕ อย่าง คือ
๑. สุข ได้แก่ สบายกาย
๒. ทุกข์ ได้แก่ ไม่สบายกาย เจ็บปวด
๓. โสมนัส ได้แก่ สบายใจ ชื่นใจ
๔. โทมนัส ได้แก่ ไม่สบายใจ เสียใจ และ
๕. อุเบกขา ได้แก่ เฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์

(-“ผัสสะ” และ “สัมผัส” (contact) นี้ ไม่ควรเข้าใจสับสนกับความหมายในภาษาไทย: แม้คำอื่นๆ คือ อารมณ์ วิญญาณ เวทนา ก็มี
ความหมายไม่ตรงกันแท้กับที่ใช้ในภาษาไทย
- เวทนา ๖ (feeling): ๑. จักขุสัมผัสสชา เวทนา – เวทนาเกิดจากสัมผัสทางตา ๒. โสตสัมผัสสชาเวทนา - เวทนาเกิดจากสัมผัสทางหู ๓. ฆานสัมผัสสชา เวทนา – เวทนาเกิดจากสัมผัสทางจมูก ๔. ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา – เวทนาเกิดจากสัมผัสทางลิ้น ๕. กายสัมผัสสชาเวทนา – เวทนาเกิดจากสัมผัสทางกาย ๖. มโนสัมผัสสชา เวทนา – เวทนาเกิดจากสัมผัสทางใจ (ส.สฬ.๑๔/๔๓๔/๒๘๗)
- อุเบกขา ในหมวดเวทนานี้ เป็นคนละอย่างกับอุเบกขาในหมวดสังขาร (เช่น อุเบกขาพรหมวิหาร อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เป็นต้น)

กระบวนการรับรู้เท่าที่กล่าวมานี้ เขียนให้เห็นง่ายๆ ได้ดังนี้
อายตนะ+อารมณ์+วิญญาณ = ผัสสะ → เวทนา
(ทางรับรู้ + สิ่งที่ถูกรู้ +ความรู้ = การรับรู้ → ความรู้สึกต่ออารมณ์

ดังได้กล่าวแล้ว อารมณ์ก็คือโลกที่ปรากฏลักษณะอาการแก่มนุษย์ทางอายตนะต่างๆ การรับรู้อารมณ์เหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยให้มนุษย์มีความสามารถในการเกี่ยวข้องกับโลก ทำให้ชีวิตอยู่รอดและดำเนินไปด้วยดี ในกระบวนการรับรู้นี้ เวทนาก็เป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่ง โดยทำหน้าที่เป็นเครื่องชี้บอกให้ทราบว่า อะไรเป็นอันตรายแก่ชีวิต ควรหลีกเว้น อะไรเกื้อกูลแก่ชีวิต ควรถือเอาประโยชน์ได้ เวทนาจึงช่วยให้กระบวนการรับรู้ที่ดำเนินต่อไป สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจที่ครบถ้วนบริบูรณ์ เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น แต่สำหรับมนุษย์ปุถุชน เวทนามิได้มีความหมายเพียงเท่านั้น คือมิใช่เพียงแค่ว่ากระบวนการรับรู้ได้มีส่วนประกอบเพิ่มเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง ที่ช่วยเสริมความรู้ให้สมบูรณ์ อันจะทำให้เขามีความสามารถมากขึ้นในการดำเนินชีวิตที่ดีงาม แต่เวทนายังหมายถึงการที่โลกมีอะไรอย่างหนึ่งเป็นผลตอบแทนหรือรางวัลแก่เขาในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับโลกด้วย ผลตอบแทนที่ว่านี้ คือความเอร็ดอร่อย ความชื่นใจที่เกิดจากอารมณ์ซึ่งเรียกว่าสุขเวทนา

ในกรณีที่กระบวนการรับรู้ดำเนินมาตามลำดับจนถึงเวทนา ถ้ามนุษย์หันเข้าจับเวทนาไว้ตามความหมายในแง่นี้มนุษย์ก็จะหันเหออกไปจากกระบวนการรับรู้ ทำให้กระบวนธรรมอีกอย่างหนึ่งได้โอกาสเข้ามารับช่วงแล่นต่อไปแทนที่ โดยเวทนาจะกลายเป็นปัจจัยตัวเอกที่จะก่อให้เกิดผลสืบเนื่องต่อไป พร้อมกันนั้น กระบวนการรับรู้ซึ่งกลายไปเป็นส่วนประกอบและเดินควบไปด้วย ก็จะถูกกำลังจากกระบวนธรรมใหม่นี้บีบคั้นให้บิดเบือนและเอนเอียงไปจากความเป็นจริง กระบวนธรรมรับช่วงที่ว่านี้ มักดำเนินไปในแบบง่ายๆ พื้นๆ คือ เมื่อรับรู้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเกิดความรู้สึกสุขสบายชื่นใจ (สุข-เวทนา) ก็อยากได้ (ตัณหา) เมื่ออยากได้ ก็ติดใจพัวพันจนถึงขั้นยึดติดถือมั่น (อุปาทาน) ค้างใจอยู่ ไม่อาจวางลงได้ ทั้งที่ตามความเป็นจริงไม่อาจถือเอาไว้ได้ เพราะสิ่งนั้นๆ ล่วงเลยผ่านพ้นหมดไปแล้ว จากนั้น ก็เกิดความครุ่นคิดสร้างภาพต่างๆ ที่จะให้ตนอยู่ในภาวะครอบครองอารมณ์อันให้เกิดสุขเวทนานั้น พร้อมทั้งคิดปรุงแต่งสร้างวิธีการที่จะให้ได้อารมณ์และสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์นั้น แล้วลงมือกระทำการต่างๆ ทางกายบ้าง วาจาบ้าง เพื่อให้ได้มาซึ่งผลที่ต้องการ เพื่อจะได้เวทนาที่ชอบใจนั้นยิ่งๆ ขึ้นไปอีก

ในทางตรงข้าม ถ้ารับรู้อารมณ์ใดแล้ว เกิดความรู้สึกทุกข์ เจ็บปวด ไม่สบาย (ทุกขเวทนา) ก็ไม่ชอบใจขัดเคือง อยากจะพ้นไป หรือให้มันสูญสิ้นไป อยากทำลาย (ตัณหา) ผูกใจ ปักใจ ค้างใจกับสิ่งนั้น (อุปาทาน) ในทางร้าย ที่จะชิงชัง เกลียดกลัว หลีกหนี อย่าให้พบเห็นอีก เป็นต้น พร้อมกับเกิดเป็นปฏิกิริยา ให้ยิ่งยึด ให้ยิ่งยึดมั่นฝันหาผูกใจมั่นหมาย ที่จะให้พบให้ได้สุขเวทนาและสิ่งที่หวังว่าจะให้สุขเวทนาแก่ตนยิ่งขึ้นไปอีก ในกระบวนการนี้ ก็จึงบังเกิดเป็นสุขทุกข์แบบซับซ้อนรุนแรงเข้มข้น ที่เป็นผลเสกสรรค์ของมนุษย์เอง ซึ่งหมุนเวียนเข้าวงจรที่เริ่มจากเวทนาใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า กลายเป็นสังสารวัฏ วนอยู่อย่างนั้น ไม่สามารถก้าวต่อไปสู่ผลเลิศอย่างอื่น ที่ชีวิตนี้ยังสามารถเข้าถึงได้ยิ่งกว่านั้นขึ้นไป

โดยนัยนี้ จะเห็นว่า ช่วงต่อที่กระบวนธรรมจะสืบทอดจากการรับรู้ (ผัสสะ) ต่อไปนั้นเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่ง เรียกได้ว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทีเดียว และในภาวะเช่นนี้ เวทนาเป็นองค์ธรรมที่มีบทบาทสำคัญมาก กระบวนธรรมที่ดำเนินต่อไปจะเป็นอย่างไร ต้องขึ้นต่อบทบาทของเวทนาว่าจะมีลักษณะอย่างใด ทั้งนี้ พอจะตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่า

ก. กระบวนธรรมที่สืบทอดจากผัสสะ เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ระหว่างกระบวนการรับรู้ที่บริสุทธิ์ กับ
กระบวนการสังสารวัฏ ในกระบวนการรับรู้บริสุทธิ์ เวทนามีบทบาทเป็นเพียงองค์ประกอบย่อยๆ อย่างหนึ่งที่ช่วยให้เกิดความรู้ที่ถูกต้องสมบูรณ์ ส่วนในกระบวนการสังสารวัฏ เวทนาเป็นปัจจัยตัวเอกที่มีอิทธิพลครอบงำความเป็นไปของกระบวนธรรมทั้งหมด กล่าวได้ว่า มนุษย์จะคิดปรุงแต่งอย่างไรและทำการอะไร ก็เพราะเวทนา และเพื่อเวทนา หรือชีวิตจะเป็นอย่างไร ก็เพราะเวทนา และเพื่อเวทนา นอกจากนั้น ในกระบวนการสังสารวัฏนี้ มนุษย์มิได้หยุดอยู่เพียงแค่เป็นผู้รับรู้อารมณ์เรียนรู้โลกเพื่อเกี่ยวข้องจัดการกับโลกอย่างได้ผลดีเท่านั้น แต่ได้ก้าวต่อไปสู่ความเป็นผู้เสพเสวยโลกด้วย สำหรับกระบวนการรับรู้บริสุทธิ์นั้น ถ้าจะพูดให้ละเอียดชัดเจนตามหลัก ก็ต้องตัดตอนที่ช่วงต่อจากผัสสะนี้ด้วยเหมือนกัน โดยถือว่า การรับรู้เกิดขึ้นเสร็จสิ้นแล้วที่ผัสสะ ดังนั้น กระบวนธรรมต่อจากนี้ไปจึงแยกได้เป็นอีกตอนหนึ่ง และขอเรียกชื่อว่า กระบวนการญาณทัศนะ หรือกระบวนธรรมแบบวิวัฏฏ เป็นคู่ปฏิปักษ์กับกระบวนการสังสารวัฏ แต่กระบวนธรรมแบบวิวัฏฏ เป็นเรื่องของการแก้ปัญหาชีวิต จึงจะยกไปพูดในตอนที่ว่าด้วย “ชีวิตควรให้เป็นอย่างไร?” และ “ชีวิตควรเป็นอยู่อย่างไร?” ไม่กล่าวไว้ในที่นี้

ข. กระบวนธรรมที่สืบทอดจากผัสสะ เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางจริยธรรม ระหว่างความดีกับความชั่ว ระหว่างกุศลกับอกุศล ระหว่างความหลุดพ้นเป็นอิสระกับการหมกติดหมุนเวียนอยู่ในสังสารวัฏเมื่อกล่าวถึงส่วนอื่นๆ ของกระบวนธรรมแล้ว ก็ต้องย้อนกลับไปพูดถึงอายตนะอีก เพราะกระบวนธรรมต่างๆ ที่กล่าวมานั้น ต้องอาศัยอายตนะ เริ่มต้นที่อายตนะ เมื่อว่าองค์ธรรมอื่นๆ สำคัญ ก็ต้องว่าอายตนะสำคัญเหมือนกัน เช่น เมื่อว่าเวทนาเป็นองค์ธรรมสำคัญยิ่งในกระบวนธรรมแบบเสพเสวยโลก อายตนะก็ย่อมมีความสำคัญมากด้วย เพราะอายตนะเป็นแหล่งหรือเป็นช่องทางที่อำนวยให้เวทนาเกิดขึ้น เวทนาเป็นสิ่งที่มนุษย์มุ่งประสงค์ อายตนะเป็นแหล่งอำนวยสิ่งที่มุ่งประสงค์นั้น

เท่าที่กล่าวมา สรุปได้ว่า อายตนะ ๖ ทำหน้าที่รับใช้มนุษย์ ๒ อย่าง คือ
๑. เป็นทางรับรู้โลก หรือเป็นแหล่งนำโลกมาเสนอต่อมนุษย์ เป็นเครื่องมือสื่อสาร ทำให้มนุษย์ได้รับข้อมูลแหล่งความรู้ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถเกี่ยวข้องกับโลกได้ถูกต้อง ทำให้ชีวิตอยู่รอด และดำเนินไปด้วยดี
๒. เป็นช่องทางเสวยโลก หรือเป็นประตูที่มนุษย์จะเปิดออกไปรับอารมณ์ที่เป็นรสอร่อยของโลก มาเสพเสวย ด้วยการดู การฟัง การดม การลิ้มชิมรส การแตะต้องเสียดสี ความสนุกสนานบันเทิง ตลอดจนจินตนาการสิ่งที่หวานชื่นระรื่นใจ

ความจริง หน้าที่ทั้งสองอย่างนี้ ก็ติดเนื่องอยู่ด้วยกัน หน้าที่อย่างแรกเรียกได้ว่าเป็นหน้าที่หลัก หรือ 
หน้าที่พื้นฐานที่จำเป็น ส่วนหน้าที่ที่สองเป็นหน้าที่รอง จะว่าเป็นของแถมหรือส่วนเกินก็คงได้

ในกรณีสนองหน้าที่ทั้งสองนั้น การทำงานของอายตนะก็อย่างเดียวกัน ความแตกต่างอยู่ที่เจตจำนงของมนุษย์ ซึ่งมุ่งไปที่ความรู้ หรือมุ่งไปที่เวทนา สำหรับมนุษย์ปุถุชน ความสำคัญของอายตนะมักจะก้าวข้ามมาอยู่กับหน้าที่อย่างที่สอง คือการเสพเสวยโลก จนถึงขั้นที่กลายเป็นว่า หน้าที่อย่างที่หนึ่งมีไว้เพียงเพื่อเป็นส่วนประกอบสนองการทำหน้าที่อย่างที่สอง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า กระบวนการรับรู้มีไว้เพื่อรับใช้กระบวนการเสพเสวยโลก หรือรับใช้กระบวนการสังสารวัฏเท่านั้นเอง ทั้งนี้เพราะปุถุชนมักใช้อายตนะเพื่อมุ่งรับรู้เฉพาะความรู้ส่วนที่จะทำให้ตนได้เสพเสวยอารมณ์อร่อยของโลกเท่านั้น หาสนใจสิ่งอันพึงรู้นอกจากนั้นไม่ ยิ่งกว่านั้น สำหรับปุถุชน แม้กระทั่งความสัมพันธ์กับโลกในภาคแสดงออกด้วยการทำ การพูด การคิด ก็จะกลายเป็นการกระทำเพื่อรับใช้กระบวนการสังสารวัฏเช่นเดียวกัน คือ มุ่งทำ พูด คิด เพื่อแสวงหาและให้ได้มาซึ่งอารมณ์สำหรับเสพเสวย ยิ่งเป็นปุถุชนที่หนามากเท่าใด ความติดข้องพัวพันอยู่กับหน้าที่อย่างที่สองของอายตนะก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น จนถึงขั้นที่ว่า ชีวิตและโลกของมนุษย์วนเวียนอยู่แค่อายตนะ ๖ เท่านั้นเอง เท่าที่กล่าวมานี้ จึงเห็นได้ว่า แม้อายตนะ (ภายใน) ๖ จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของขันธ์ ๕ และไม่ครอบคลุมทุกส่วนแห่งชีวิตมนุษย์โดยสิ้นเชิง เหมือนอย่างขันธ์ ๕ ก็จริง แต่มันก็มีบทบาทสำคัญยิ่งในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ มีอำนาจกำกับวิถีชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก จนกล่าวได้ว่า ชีวิตเท่าที่มนุษย์รู้จักและดำเนินอยู่ ก็คือการติดต่อเกี่ยวข้องกับโลกทางอายตนะเหล่านี้ และชีวิตมีความหมายต่อมนุษย์ก็ด้วยอาศัยอายตนะเหล่านี้

ถ้าอายตนะไม่ทำหน้าที่แล้ว โลกก็ดับ ชีวิตก็ไร้ความหมายสำหรับมนุษย์ มีข้อความแห่งหนึ่งในบาลี แสดงกระบวนธรรมเท่าที่กล่าวมานี้ได้อย่างกะทัดรัด และช่วยเชื่อมความที่กล่าวมาในตอนว่าด้วยขันธ์ ๕ เข้ากับเรื่องที่อธิบายในตอนนี้ให้ต่อเนื่องกัน มองเห็นกระบวนธรรมได้ครบถ้วนตลอดสายยิ่งขึ้น จึงขอยกมาอ้างไว้ ดังนี้ “อาศัยตาและรูป เกิดจักขุวิญญาณ, ความประจวบแห่งธรรมทั้งสามนั้น เป็นผัสสะ, เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี, บุคคลเสวยอารมณ์ใด ย่อมหมายรู้อารมณ์นั้น (สัญญา), หมายรู้อารมณ์ใด ย่อมตริตรึกอารมณ์นั้น (วิตักกะ), ตริตรึกอารมณ์ใด ย่อมผันพิสตารซึ่งอารมณ์นั้น (ปปัญจะ), บุคคลผันพิสดารซึ่งอารมณ์ใด เพราะการผันพิสดารนั้นเป็นเหตุ ปปัญจสัญญาแง่ต่างๆ (คำเต็มว่า ปปญจสญญาสงฺขา สัญญาที่ซับซ้อนหลากหลาย) ย่อมผุดพลุ่งสุมรุมเขา ในเรื่องรูปทั้งหลาย ที่พึงรู้ได้ด้วยตา ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน” (ต่อไป ว่าด้วยอายตนะ และอารมณ์อื่นๆ จนครบ ๖ คู่ ใจความอย่างเดียวกัน)

(อายตนะทั้ง ๑๒ (คือรวมทั้งอายตนะภายนอก) จัดลงในขันธ์ ๕ (อายตนะภายใน ๖ ลงได้หมด แต่อายตนะภายนอก ๖ เกินขันธ์ ๕) ดังนี้
๑. อายตนะ ๕ คู่แรก (จักขุ-รูป โสต-สัททะ ฆานะ-คันธะ ชิวหา รส กาย-โผฏฐพพะ) อยู่ในรูปขันธ์ ๒.อายตนะภายในที่ ๖ คือ มโน หรือใจ อยู่ในวิญญาณขันธ์
๓. อายตนะภายนอกที่ ๖ คือ ธรรม หรือธรรมารมณ์ อยู่ในขันธ์ ๔ คือ นามขันธ์ ๓ (เวทนา สัญญา สังขาร) และ รูปขันธ์ (เฉพาะที่เป็นสุขุมรูปเท่านั้น เช่น อากาศธาตุ ความเป็นหญิง ความเป็นชาย ความเบา ความอ่อนสลวย ความสืบต่อ ความทรุดโทรม การขยายตัว ความแปรสลายของรูป เป็นต้น) กับทั้งนิพพาน ซึ่งเป็นภาวะพ้นจากขันธ์ (ขันธวินิมุต) - (ดู อภิ.วิ.๓๕/๑๐๐/๘๕))

กระบวนธรรมนี้ เขียนให้เห็นง่ายขึ้นดังนี้

→ กระบวนการรับรู้บริสุทธิ์ → 🙏→ กระบวนธรรมแบบเสพเสวยโลก 
→ (กระแสปกติตามธรรมชาติ→  🙏 (เกิดมีผู้เสวย - สิ่งถูกเสวย ผู้คิด สิ่งถูกคิด→ 

อายตนะ + อารมณ์ + วิญญาณ + ผัสสะ 👉 เวทนา →  สัญญา →  วิตักกะ(สังขาร→  ปปัญจะ (สังขาร)  →  ปปัญจสัญญาแง่ต่างๆ

เมื่อเกิดปปัญจสัญญาแล้ว ก็ยิ่งมีความตริตรึกนึกคิด (วิตกกะ) ได้มากมายและกว้างขวางพิสดารยิ่งขึ้นทำให้เกิดกิเลสต่างๆ เช่น ชอบใจ ไม่ชอบใจ หวงแหน ริษยา เป็นต้น ปนเป คลุกเคล้า ไปกับความคิดนั้นๆ

หมายเหตุ:
๑. คำที่ควรเข้าใจคือ “ปปัญจะ” หมายถึง อาการที่คลอเคลียพัวพันอยู่กับอารมณ์นั้น และคิดปรุงแต่งไปต่างๆ ด้วยแรงตัณหา มานะ และทิฏฐิผลักดัน หรือเพื่อสนองตัณหา มานะ และทิฏฐิ คือปรุงแต่งในแง่ที่จะเป็นของฉัน ให้ตัวฉันเป็นนั่นเป็นนี่ หรือเป็นไปตามความเห็นของฉัน ออกรูปออกร่างต่างๆ มากมายพิสดาร จึงทำให้เกิดปปัญจสัญญาแง่ต่างๆ คือสัญญาทั้งหลายที่เนื่องด้วยปปัญจะนั่นเอง
๒. จะเห็นว่ามีสัญญา ๒ ตอน สัญญาตอนแรก คือสัญญาขั้นต้น ที่กำหนดหมายอารมณ์ซึ่งปรากฏตามปกติธรรมดาของมัน สัญญาตอนหลัง เรียกว่า “ปปัญจสัญญา” เป็นสัญญาเนื่องจากสังขารที่ปรุงแต่งภาพอารมณ์ให้ออกรูปร่างแง่มุมต่างๆ มากมายพิสดารดังกล่าวแล้ว
๓. จะเห็นว่า กระบวนธรรมทั้งหมดนั้นแยกได้เป็น ๒ ตอน
    ก. ตอนแรก ตั้งแต่อายตนะภายในถึงเวทนา เป็นกระบวนการรับรู้บริสุทธิ์ พึงสังเกตว่า ช่วงตอนนี้กระบวนธรรมเป็นกระแสบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ มีแต่องค์ธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย (พึ่งอ่านความที่ยกมาอ้างข้างบน) ยังไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เกี่ยวข้อง
    ข. ตอนปลาย ตัดตอนแต่เวทนาไปแล้ว เกิดเป็นกระบวนธรรมแบบเสพเสวยโลก หรือกระบวนการสังสารวัฏ มารับช่วงไป, ความจริงตั้งแต่เวทนานี้เป็นทางแยก อาจต่อด้วยกระบวนธรรมแบบวิวัฏฏก็ได้ แต่ในที่นี้มุ่งแสดงแต่แบบสังสารวัฏก่อน ข้อพึงสังเกตในตอนนี้ก็คือ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของช่วงหลังนี้ จะไม่มีเพียงองค์ธรรมต่างๆ ที่เป็นเหตุปัจจัยแก่กันตามธรรมชาติเท่านั้น แต่จะเกิดมีสัตว์บุคคลขึ้นมากลายเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้เสพเสวยกับสิ่งที่ถูกเสพเสวย ผู้คิดและสิ่งที่ถูกคิด เป็นต้น
๔. กระบวนธรรมเสพเสวยโลกในช่วงปลาย ที่แสดงข้างบนนี้ เป็นเพียงวิธีแสดงแบบหนึ่งเท่านั้น เลือกเอามาเพราะเห็นว่าสั้น และเข้ากับเรื่องที่กำลังอธิบายคือขันธ์และอายตนะได้ดี อาจแสดงแบบอื่นอีกก็ได้ เช่นที่แสดงอย่างพิสดารในหลักปฏิจจสมุปบาทแบบทั่วไป ซึ่งเป็นกระบวนธรรมแบบสังสารวัฏโดยสมบูรณ์
๕. ว่าตามหลักอย่างเคร่งครัด วิญญาณ ผัสสะ เวทนา สัญญา ในกระบวนธรรมนี้ เป็นสหชาตธรรม ท่านถือว่าเกิดร่วมกัน จึงเข้าใจว่า ที่เขียนแสดงลำดับไว้อย่างนี้ มุ่งเพื่อศึกษาได้ง่าย

เนื่องด้วยกระบวนธรรมนี้ แยกได้เป็น ๒ ช่วงตอน และช่วงตอนหลังอาจแยกไปเป็นกระบวนธรรมแบบสังสารวัฏ หรือแบบวิวัฏฏก็ได้ ดังนั้น เพื่อมองเห็นภาพได้กว้างขวางขึ้น อาจเขียนแสดงได้ ดังนี้

อายตนะ + อารมณ์ + วิญญาณ = ผัสสะ→ เวทนา 👉 กระบวนธรรมแบบสังสารวัฏฏ์ หรือ 👉 กระบวนธรรมแบบวิวัฏฏ (อย่างใดอย่างหนึ่ง)

ในเรื่องอายตนะนี้ มีข้อควรทราบเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ในการศึกษาต่อไป ดังนี้ อายตนะภายในหรือทวาร ๖ นั้น มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อินทรีย์ ๖” คำว่า อินทรีย์ แปลว่า ภาวะที่เป็นใหญ่ หมายถึงสิ่งที่ทำหน้าที่เป็นใหญ่ เป็นเจ้าหน้าที่ หรือเป็นเจ้าการในเรื่องนั้นๆ เช่น ตาเป็นเจ้าการในการรับรู้รูป หูเป็นเจ้าการในการรับรู้เสียง เป็นต้น อินทรีย์ ๖ คือ จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ และ มนินทรีย์ คำว่า อินทรีย์ นิยมใช้กับอายตนะ ในขณะทำหน้าที่ของมัน ในชีวิตจริง และเกี่ยวกับจริยธรรม เช่น การสำรวมจักขุนทรีย์ เป็นต้น ส่วนอายตนะนิยมใช้ในเวลาพูดถึงตัวสภาวะที่อยู่ในกระบวนธรรม เช่นว่า อาศัยจักขุ อาศัยรูป เกิดจักขุวิญญาณ เป็นต้น และเมื่อพูดถึงสภาวลักษณะ เช่นว่า จักขุไม่เที่ยง เป็นต้น อีกคำหนึ่งที่ใช้พูดกันบ่อยในเวลากล่าวถึงสภาวะในกระบวนธรรม คือคำว่า “ผัสสายตนะ” แปลว่า ที่เกิดหรือบ่อเกิดแห่งผัสสะ คือที่มาของการรับรู้นั่นเอง

อายตนะภายนอก หรืออารมณ์ ก็มีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก คือ “โคจร” (ที่เที่ยว, ที่หากิน) และ “วิสัย” (สิ่งผูกพัน, แดนดำเนิน), และชื่อที่ควรกำหนดเป็นพิเศษ ใช้เฉพาะกับอารมณ์ ๕ อย่างแรก ซึ่งมีอิทธิพลมากในกระบวนธรรมแบบเสพเสวยโลก หรือแบบสังสารวัฏ คือคำว่า “กามคุณ” (ส่วนที่น่าใคร่น่าปรารถนา, ส่วนที่ดีหรือส่วนอร่อยของกาม) กามคุณ ๕ หมายถึง รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐพพะ เฉพาะที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจเท่านั้น

🔅 บทที่ ๒ อายตนะ ๖
    ตัวสภาวะ
ประเภทของความรู้
ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้
บันทึกพิเศษท้ายบท



วันจันทร์

บันทึกที่ ๑: เรื่อง ขันธ์ ๕

บันทึกพิเศษท้ายบท เพื่อความเข้าใจลึกลงไปจำเพาะเรื่อง

บันทึกที่ ๑: เรื่อง ขันธ์ ๕

มีรายละเอียดบางอย่างเกี่ยวกับขันธ์ ๕ ซึ่งควรทราบไว้เป็นความรู้ประกอบเบื้องต้น ดังนี้
๑. รูป ตามแนวอภิธรรมแบ่งรูปเป็น ๒๘ อย่าง คือ
    ๑) มหาภูตรูป ๔ (เรียกง่าย ๆ ว่า ธาตุ ๔) คือ ปฐวีธาตุ (สภาพที่แผ่ไปหรือกินเนื้อที่) อาโปธาตุ (สภาพที่ดึงดูดซาบซึม) เตโชธาตุ (สภาพที่แผ่ความร้อน) วาโยธาตุ (สภาพที่สั่นไหว)
    ๒) อุปาทายรูป ๒๔ (รูปอาศัยหรือรูปที่สืบเนื่องมาจากมหาภูตรูป) คือ
            ประสาททั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น 
(จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา และกาย)
            อารมณ์ ๔ คือ รูป เสียง กลิ่น รส (รูปะ สัททะ คันธะ รสะ; โผฏฐพพะ
ไม่นับ เพราะตรงกันกับ ปฐวี เตโช และวาโย)
            ความเป็นหญิง ๑ (อิตินทรีย์)
            ความเป็นชาย ๑ (ปุริสินทรีย์)
            ที่ตั้ง
ของจิต ๑ (หทัยวัตถุ)
            การแสดงให้รู้ความหมายด้วยกาย ๑ (กายวิญญัติ)
            การแสดงให้รู้ความหมายด้วยวาจา ๑ 
(วชีวิญญัติ)
            ชีวิตินทรีย์ ๑
            ช่องว่าง ๑ (อากาศ)
            ความเบาของรูป ๑ (รูปสุส ลหุตา)
            ความอ่อนหยุ่นของรูป ๑ (รูปสุส
มุทุตา)
            ภาวะที่ควรแก่การงานของรูป ๑ (รูปสุส กมุมญญตา)
            ความเจริญหรือขยายตัวของรูป ๑ (รูปสุส อุปจย)
            การสืบต่อของรูป ๑ (รูปสุส สนุตติ)
            ความเสื่อมตัว ๑ (ชรตา)
            ความสลายตัว ๑ (อนิจจตา)
            อาหาร ๑ (หมายถึง
โอชา)

พึงสังเกตว่า คำว่า “หทัยวัตถุ” ซึ่งแปลกันว่าหัวใจ และถือว่าเป็นที่ทำงานของจิตนั้น เป็นมติในคัมภีร์
รุ่นหลัง ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก

๒. เวทนา แบ่งเป็น ๓ คือ สุข (ทางกายหรือทางใจก็ตาม) ทุกข์ (ทางกายหรือทางใจก็ตาม) อทุกขมสุข (ไม่ทุกข์ไม่สุข คือเฉยๆ บางทีเรียกว่า (อุเบกขา); อีกอย่างหนึ่ง แบ่งเป็น ๕ คือ สุข (ทางกาย) ทุกข์ (ทางกาย) โสมนัส (ดีใจ) โทมนัส (เสียใจ) อุเบกขา (เฉยๆ); แบ่งตามทางที่เกิดเป็น ๕ คือ เวทนาเกิดจากสัมผัสทางจักขุ ทางโสตะ ทางฆานะ ทางชิวหา ทางกาย และทางมโน

๓. สัญญา แบ่งเป็น ๖ ตามทางแห่งการรับรู้ คือ
    ๑. รูปสัญญา ความหมายรู้รูป เช่นว่า ดำ แดง เขียว ขาว เป็นต้น
    ๒. สัททสัญญา ความหมายรู้เสียง เช่นว่า ดัง เบา หุ้ม แหลม เป็นต้น
    ๓. คันธสัญญา ความหมายรู้กลิ่น เช่นว่า หอม เหม็น เป็นต้น
    ๔. รสสัญญา ความหมายรู้รส เช่นว่า หวาน เปรี้ยว ขม เค็ม เป็นต้น
    ๕. โผฏฐพพสัญญา ความหมายรู้สัมผัสทางกาย เช่นว่า อ่อน แข็ง หยาบ ละเอียด ร้อน เย็น เป็นต้น
    ๖. ธัมมสัญญา ความหมายรู้อารมณ์ทางใจ เช่นว่า งาม น่าเกลียด เที่ยง ไม่เที่ยง เป็นต้น

๔. สังขาร ตามหลักอภิธรรม แบ่งเจตสิกเป็น ๕๒ อย่าง ถ้าเทียบกับการแบ่งแบบขันธ์ ๕ เจตสิกก็ได้แก่ เวทนา สัญญา
และสังขารทั้งหมด คือในจำนวนเจตสิก ๕๒ นั้น เป็นเวทนา ๑ เป็นสัญญา ๑ ที่เหลืออีก ๕๐ อย่าง เป็นสังขารทั้งสิ้น สังขารขันธ์ จึงเท่ากับเจตสิก ๕๐ อย่าง ซึ่งแยกย่อยได้ดังนี้
    ๑) อัญญสมานาเจตสิก ๑๑  (เจตสิกที่เข้าได้ทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว) (นับครบมี ๑๓ เพราะเวทนาและสัญญาเป็นเจตสิกหมวดนี้ แต่ไม่เป็นสังขาร จึงตัดออกไป) คือ
        (๑) สัพพจิตตสาธารณเจตสิก  (เจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง) คือ ผัสสะ เจตนา เอกัคคตา (สมาธิ) ชีวิตินทรีย์ มนสิการ (จำนวนเดิมมี ๗ ทั้งเวทนา กับสัญญา)
        (๒) ปกิณณกเจตสิก  (เกิดกับจิตได้ทั่วๆ ไป ทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว แต่ไม่ตายตัว) คือ วิตก วิจาร อธิโมกข์ (ความปักใจ) วิริยะ ปีติ ฉันทะ
    ๒) อกุศลเจตสิก ๑๔ (เจตสิกที่เป็นอกุศล)  คือ
        (๑) อกุศลสาธารณเจตสิก  (เกิดกับจิตที่เป็นอกุศลทุกดวง) คือ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ และ อุทธัจจะ
        (๒) ปกิณณกอกุศลเจตสิก ๑๐ (เกิดกับจิตที่เป็นอกุศลแต่ไม่ตายตัวทุกครั้ง) คือ โลภะ ทิฏฐิ มานะ โทสะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ ถิ่นะ มิทธะ และวิจิกิจฉา
    ๓) โสภณเจตสิก ๒๕ (เจตสิกดีงาม คือ เกิดกับจิตที่เป็นกุศลและอัพยากฤต)  คือ
        (๑) โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ (เกิดกับจิตดีงามทุกดวง) คือ ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ (เมตตา) ตัตรมัชฌัตตตา (บางที่เรียกอุเบกขา) กายปัสสัทธิ (ความสงบแห่งนามกายคือกองเจตสิก) จิตตปัสสัทธิ กายลหุตา จิตตลหุตา กายมุทุตา จิตตมุทุตา กายกัมมัญญตา จิตตกัมมัญญตา กายปาคุญญตา (ความคล่องแคล่วแห่งนามกายคือกองเจตสิก) จิตตปาคุญญตา กายุชุกตา (ความชื่อตรงแห่งนามกายคือกองเจตสิก) จิตตุชุกตา
        (๒) ปกิณณกโสภณเจตสิก   (เกิดกับจิตฝ่ายดีงาม แต่ไม่ตายตัวทุกครั้ง) คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ (รวมเรียก วีรตีเจตสิก ๓) กรุณา มุทิตา (เรียกรวมกันว่า อัปปมัญญาเจตสิก ๒) และปัญญา

(🙏 ศึกษาเพิ่มความเข้าใจในอภิธรรมเบื้องต้น เจตสิกกลุ่มที่ ๑- ๓)

ในพระสูตร (เช่น สํ.ข.๑๗/๑๑๖/๗๔) ตามปกติ ท่านแสดงความหมายของสังขารว่า ได้แก่ เจตนา ๖ หมวด คือ รูปสัญเจตนา สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา รสสัญเจตนา โผฏฐพพสัญเจตนา และธรรมสัญเจตนา แปลว่า เจตจำนงหรือความคิดปรุงแต่ง เกี่ยวกับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐพพะ และธรรมารมณ์

๕. วิญญาณ แบ่งตามทางที่เกิดเป็น ๖ คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และ 
มโนวิญญาณ (แปลตามแบบว่า ความรู้แจ้งอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ) ตามแนวอภิธรรม เรียกวิญญาณขันธ์ทั้งหมดว่า “จิต” และจำแนกจิตออกไปเป็น ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง คือ
    ก. จำนวนตามภูมิ หรือระดับของจิต เป็นกามาวจรจิต ๕๔ รูปาวจรจิต ๑๕ อรูปาวจรจิต ๑๒ โลกุตรจิต ๘ (แยกพิสดารเป็น ๔๐)
    ข. จำแนกโดยคุณสมบัติเป็น อกุศลจิต ๑๒ กุศลจิต ๒๑ (พิสดารเป็น ๓๗) วิบากจิต ๓๖ (พิสดารเป็น ๕๒) กิริยาจิต ๒๐ ในที่นี้ จะไม่แสดงรายละเอียดชื่อของจิตแต่ละอย่างๆ เพราะเกินจำเป็น และจะทำให้ฟันเฟือ


🔅 บทที่ ๑ ขันธ์ ๕
บันทึกพิเศษท้ายบท
    บันทึกที่ ๑: เรื่อง ขันธ์ ๕



ขันธ์ ๕ กับอุปาทานขันธ์ ๕ หรือชีวิตกับชีวิตซึ่งเป็นปัญหา

 ขันธ์ ๕ กับอุปาทานขันธ์ ๕ หรือชีวิต กับชีวิตซึ่งเป็นปัญหา

ในพุทธพจน์แสดงความหมายของอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ประมวลใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา มีข้อความที่น่าสังเกตเป็นพิเศษเกี่ยวกับขันธ์ ๕ ปรากฏอยู่ในอริยสัจข้อที่ ๑ คือ ข้อว่าด้วยทุกข์ในอริยสัจข้อที่ ๑ นั้น ตอนต้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงความหมายหรือคำจำกัดความของทุกข์ ด้วยวิธียกตัวอย่างเหตุการณ์ต่างๆ ที่มองเห็นได้ง่ายและมีอยู่เป็นสามัญในชีวิตของบุคคล ขึ้นแสดงว่าเป็นความทุกข์แต่ละอย่างๆ แต่ในตอนท้าย พระองค์ตรัสสรุปลงเป็นข้อเดียวว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ดังพุทธพจน์ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย นี้คือ ทุกขอริยสัจ ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์”

พุทธพจน์นี้ นอกจากแสดงถึงฐานะของขันธ์ ๕ ในพุทธธรรมแล้ว ยังมีข้อสังเกตสำคัญ คือ ความหมายของ “ทุกข์” นั้น จำง่ายๆ ด้วยคำสรุปที่สั้นที่สุดว่า คือ อุปาทานขันธ์ ๕ หรือเบญจอุปาทานขันธ์เท่านั้น และคำว่าขันธ์ในที่นี้ มี “อุปาทาน” นำหน้ากำกับไว้ด้วย สิ่งที่ควรศึกษาในที่นี้ ก็คือคำว่า “ขันธ์” กับ “อุปาทานขันธ์” ซึ่งขอให้พิจารณาตามพุทธพจน์ ต่อไปนี้

“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงขันธ์ ๕ และอุปาทานขันธ์ ๕ เธอทั้งหลายจงฟัง” “ขันธ์ ๕ เป็นไฉน? รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม หยาบก็ตาม ละเอียดก็ตาม ทรามก็ตาม ประณีตก็ตาม ไกลหรือใกล้ก็ตามเหล่านี้ เรียกว่า ขันธ์ ๕” อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน? รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม หยาบก็ตาม ละเอียดก็ตาม ทรามก็ตาม ประณีตก็ตาม ไกลหรือใกล้ก็ตาม ที่ประกอบด้วยอาสวะ (สาสวะ) เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน (อุปาทานิยะ) เหล่านี้ เรียกว่า อุปาทานขันธ์ ๕” “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน และตัวอุปาทานเธอทั้งหลายจงฟัง” รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ฉันทราคะ (ความชอบใจจนติด หรืออยากอย่างแรงจนยึดติด) ในรูป..เวทนา สัญญา สังขาร..วิญญาณ นั้นคืออุปาทาน ใน (สิ่ง) นั้นๆ” หลักดังกล่าวนี้ เป็นพื้นฐานความเข้าใจที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในการศึกษาพุทธธรรมต่อๆ ไป

คุณค่าทางจริยธรรมตามปกติ มนุษย์มีความโน้มเอียงที่จะยึดถืออยู่เสมอว่า ตัวตนที่แท้ของตนมีอยู่ในรูปใดรูปหนึ่ง บ้างก็ยึดเอาจิตเป็นตัวตน” บ้างก็ยึดว่ามีสิ่งที่เป็นตัวตนอยู่ต่างหากแฝงซ้อนอยู่ในจิตนั้น ซึ่งเป็นเจ้าของ และเป็นตัวการที่คอยควบคุมบังคับบัญชากายและใจนั้นอีกชั้นหนึ่ง การแสดงขันธ์ ๕ นี้ มุ่งให้เห็นว่า สิ่งที่เรียกว่า “สัตว์” “บุคคล” “ตัวตน” เป็นต้นนั้น เมื่อแยกออกไปแล้วก็จะพบแต่ส่วนประกอบ ๕ ส่วนเหล่านี้เท่านั้น ไม่มีสิ่งอื่นเหลืออยู่ที่จะมาเป็นตัวตนต่างหากได้ และแม้ขันธ์ ๕ เหล่านั้น แต่ละอย่างก็มีอยู่เพียงในรูปที่สัมพันธ์เนื่องอาศัยกัน ไม่เป็นอิสระ ไม่มีโดยตัวของมันเอง ดังนั้นขันธ์ ๕ แต่ละอย่างๆ นั้นก็ไม่ใช่ตัวตนอีกเช่นกัน รวมความว่า หลักขันธ์ ๕ แสดงถึงความเป็นอนัตตา ให้เห็นว่าชีวิตเป็นการประชุมเข้าของส่วนประกอบต่างๆ หน่วยรวมของส่วนประกอบเหล่านี้ ก็ไม่ใช่ตัวตน ส่วนประกอบแต่ละอย่างๆ นั้นเอง ก็ไม่ใช่ตัวตน และสิ่งที่เป็นตัวตนอยู่ต่างหากจากส่วนประกอบเหล่านี้ก็ไม่มี เมื่อมองเห็นเช่นนั้นแล้ว ก็จะถอนความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องตัวตนได้ ความเป็นอนัตตานี้ จะเห็นได้ชัดต่อเมื่อเข้าใจกระบวนการของขันธ์ ๕ ในวงจรแห่งปฏิจจสมุปบาทที่จะกล่าวต่อไป

อนึ่ง เมื่อมองเห็นว่า ขันธ์ ๕ มีอยู่อย่างสัมพันธ์และอาศัยซึ่งกันและกัน ก็จะไม่เกิดความเห็นผิดว่าขาดสูญ ที่เรียกว่า อุจเฉททิฏฐิ และความเห็นผิดว่าเที่ยง ที่เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ นอกจากนั้น เมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตนและมีอยู่อย่างสัมพันธ์อาศัยกันและกันเช่นนี้แล้ว ก็จะเข้าใจหลักกรรมโดยถูกต้องว่าเป็นไปได้อย่างไร กระบวนการแห่งความสัมพันธ์และอาศัยกันของสิ่งทั้งหลายนี้ มีคำอธิบายอยู่ในหลักปฏิจจสมุปบาทเช่นเดียวกัน

อีกประการหนึ่ง การมองสิ่งทั้งหลายโดยวิธีแยกส่วนประกอบออกไปอย่างวิธีขันธ์ ๕ นี้ เป็นการฝึกความคิด หรือสร้างนิสัยที่จะใช้ความคิดแบบวิเคราะห์ความจริง คือ เมื่อประสบหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ความคิดก็ไม่หยุดตันอึ้ง ยึดถือเฉพาะรูปลักษณะภายนอกเท่านั้น เป็นการสร้างนิสัยชอบสอบสวนสืบค้นหาความจริง และที่สำคัญยิ่งคือ ทำให้รู้จักมองสิ่งทั้งหลายตามสภาวะ ล้วนๆ ของมัน หรือตามแบบสภาววิสัย (objective) คือ มองเห็นสิ่งทั้งหลาย “ตามที่มันเป็น” ไม่นำเอาตัณหาอุปาทานเข้าไปจับ อันเป็นเหตุให้มองเห็นตามที่อยากหรือไม่อยากให้มันเป็น อย่างที่เรียกว่า สกวิสัย (subjective) คุณค่าอย่างหลังนี้ นับว่าเป็นการเข้าถึงจุดหมายที่ต้องการของพุทธธรรมและของหลักขันธ์ ๕ นี้ คือการไม่ยึดมั่นถือมั่น การไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายด้วยการใช้ตัณหาอุปาทาน แต่เข้าไปเกี่ยวข้องจัดการด้วยปัญญา

อย่างไรก็ดี ในการแสดงพุทธธรรมนั้น ตามปกติท่านไม่แสดงเรื่องขันธ์ ๕ ลำพังโดดๆ เพราะขันธ์ ๕ เป็นแต่สภาวะที่ยกขึ้นเป็นตัวตั้งสำหรับพิจารณา และการพิจารณานั้นย่อมเป็นไปตามแนวแห่งหลักธรรมอย่างอื่นที่เป็นประเภทกฎสำหรับนำมาจับหรือกำหนดว่าขันธ์ ๕ มีสภาวะเป็นอย่างไร มีความเป็นไปอย่างไร เป็นต้น คือ ต้องแสดงโดยสัมพันธ์กับหลักธรรมอย่างอื่น เช่น หลักอนัตตา เป็นต้น จึงจะปรากฏคุณค่าในทางปฏิบัติโดยสมบูรณ์ ดังนั้นจึงขอยุติเรื่องขันธ์ ๕ ไว้เพียงในฐานะสิ่งที่ยกขึ้นเป็นตัวตั้งสำหรับนำไปพิจารณาในหลักต่อๆ ไป

🙏พึงสังเกตพุทธพจน์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย การที่ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้จะเข้าไปยึดถือร่างกายอันประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ ว่าเป็นตัวตน ยังดีกว่าจะยึดถือจิตว่าเป็นตัวตน เพราะว่า กายอันประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ นี้ ยังปรากฏให้เห็นว่าดำรงอยู่ปีหนึ่งบ้าง ๒ ปีบ้าง ๓-๔-๕ ปีบ้าง ๑๐-๒๐-๓๐-๔๐-๕๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง เกินกว่านั้นบ้าง แต่สิ่งที่เรียกว่าจิต มโน หรือวิญญาณนี้ เกิดดับอยู่เรื่อย ทั้งคืนทั้งวัน” (ส.นิ.๑๖/๒๓๑/๑๑๔)

🔅 บทที่ ๑ ขันธ์ ๕
    ขันธ์ ๕ กับอุปาทานขันธ์ ๕ หรือชีวิต กับชีวิตซึ่งเป็นปัญหา
บันทึกพิเศษท้ายบท