แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ พระอภิธัมมัตถสังคหะ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ พระอภิธัมมัตถสังคหะ แสดงบทความทั้งหมด

วันพฤหัสบดี

กามาวจรโสภณจิต ๒๔

กามาวจรโสภณจิต เป็นจิตที่ยังท่องเที่ยววนเวียนอยู่ในกามภูมิ คือภูมิอันเป็นแดนเกิดแห่งกิเลสกาม และวัตถุกาม แต่เป็นจิตที่ดีงาม เพราะประกอบด้วยโสภณเจตสิก ซึ่งปรุงแต่งจิตให้ประพฤติเป็นไปเพื่อให้เกิดประโยชน์ ปราศจากโทษร้ายภัยพิบัติ กามาวจรโสภณจิตนี้ จำแนกออกเป็น ๓ ประเภท ตามคาถาสังคหะที่แสดงว่า

คาถาสังคหะ
เวทนาญาณสังขาร เภเทน จตุวีสติ สเหตุกามาวจร ปุญฺญปากกริยา มตาฯ
แปลว่า “จิต ๒๔ ดวง เมื่อกล่าวโดยประเภทแห่ง เวทนา ญาณ และสังขารเรียกว่า สเหตุกกามาวจรกุศลจิต สเหตุกกามาวจรวิบากจิต และ สเหตุกกามาวจรกิริยาจิต”

อธิบาย
กามาวจรโสภณจิต ๒๔ ดวง เป็นจิตที่ประกอบด้วยเหตุเรียกว่า “สัมปยุตเหตุ” เหตุที่ประกอบกับจิตนี้ เป็นฝ่ายโสภณเหตุหรือเหตุบุญ อันได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุ ตามสมควร จิตที่มีเหตุต่างๆ ประกอบนี้ เรียกว่า “สเหตุกจิต” ในกามาวจรโสภณจิตทั้ง ๒๔ ดวงนี้ มีเหตุประกอบทุกดวง จึงชื่อว่าเป็นสเหตุกจิตทั้งสิ้น ฉะนั้น เมื่อจำแนกโดยชาติเภทนัยออกไปเป็น ๓ ประเภทแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเอาคำ “สเหตุก” นำหน้าอีก คงใช้แต่ กามาวจรกุศล กามาวจรวิบากจิต และกามาวจรกิริยาจิตเท่านั้น

แสดงการจําแนกกามาวจรโสภณจิต ๓ ประเภท
กามาวจรโสภณจิต ๒๔ ดวง

  • กามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง
  • กามาวจรวิบากจิต ๘ ดวง
  • กามาวจรกิริยาจิต ๘ ดวง

กามาวจรกุศลจิต กามาวจรวิบากจิต และกามาวจรกิริยาจิต ทั้ง ๓ ประเภทนี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มหากุศลจิต มหาวิบากจิต และมหากิริยาจิต

อรรถแห่งกุศล
กุจฺฉิเต ปาปธมฺเม สลยติ กมุเปติ วิทฺธํเสตีติ = กุสลํ
แปลว่า ธรรมชาติใด ย่อมทำให้หวั่นไหว หรือย่อมทำลายซึ่งบาปธรรม อันบัณฑิตทั้งหลายจึงเกลียด ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น จึงชื่อว่า กุศล

คำว่า “กุศล” หมายถึง กุศลจิต ซึ่งเป็นจิตที่ดีงาม ปราศจากความเศร้าหมองเร่าร้อนไม่มีโทษ และให้ผลเป็นความสุขมีความหมายอยู่ ๕ ประการ คือ

๑.อโรคยตฺถ มีอรรถว่า ไม่มีโรค คือ ไม่มีกิเลสราคะ เป็นต้น เสียดแทงจิตใจและร่างกาย ราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เหล่านี้ ชื่อว่า “โรค” เพราะเสียดแทงประทุษร้ายจิตใจและร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย
๒. สุนทรตฺก มีอรรถว่า เป็นสิ่งที่ดีงาม คือ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายได้
๓. เฉกตฺถ มีอรรถว่า เป็นสิ่งฉลาดเรียบร้อย คือ เมื่อเป็นผู้ที่มีจิตใจเป็นกุศลจึงมีกิริยาวาจาสุภาพอ่อนน้อม
๔. อนวชฺชตฺถ มีอรรถว่า ไม่มีโทษอันใดจะพึงติเตียนได้
๕. สุขวิปากตฺถ มีอรรถว่า ให้ผลเป็นความสุขสมปรารถนา

อรรถแห่งบุญ
อตฺตโน สนฺตานํ ปุนาติ โสเธตีติ = ปุญฺญํ
แปลว่า การกระทำใด ย่อมชำระสันดานของตนให้ขาวสะอาด ฉะนั้นการกระทำนั้น ชื่อว่า บุญ

วันพุธ

อโสภณจิต กับ โสภณจิต

จำนวนจิตทั้งหมดนับโดยย่อ ๘๙ หรือนับโดยพิสดาร ๑๒๑ ดวงนั้น เมื่อจำแนกโดยความเป็นอโสภณจิต และ โสภณจิตแล้ว ได้อโสภณจิต ๓๐ ดวง และ โสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวง

แสดงการจำแนกจิตโดย อโสภณะ และโสภณะ

จิต ๘๙, ๑๒๑ 

อโสภณจิต ๓๐ ดวง (จิตที่ไม่ดีงาม)
  • อกุศลจิต
    • โลภมูลจิต ๘
    • โทสมูลจิต ๒
    • โมหมูลจิต ๒
  • อเหตุกจิต
    • อกุศลวิบากจิต ๗
    • อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘
    • อเหตุกกิริยาจิต ๓

โสภณจิต ๕๙, ๙๑ ดวง (จิตที่ดีงาม)

  • กามาวจรโสภณจิต
    • มหากุศลจิต ๘
    • มหาวิบากจิต ๘
    • มหากิริยาจิต ๘
  • รูปาวจรจิต
    • รูปาวจรกุศลจิต ๕
    • รูปาวจรวิบากจิต ๕
    • รูปาวจรกิริยาจิต ๕
  • อรูปาวจรจิต
    • อรูปาวจรกุศลจิต ๔
    • อรูปาวจรวิบากจิต ๔
    • อรูปาวจรกิริยาจิต ๔
  • โลกุตตรจิต
    • มัคคจิต
    • ผลจิต

อโสภณจิต หมายถึง จิตที่นอกจากโสภณจิต หรือหมายถึงจิตที่ไม่ได้เกิดพร้อมกับโสภณเจตสิก, อโสภณจิตนี้ มีจำนวน ๓๐ ดวง คือ อกุศลจิต ๑๒ และ อเหตุกจิต ๑๘ รวมอโสภณจิต ๓๐ ดังได้แสดงมาแล้ว ต่อไปนี้ จะได้แสดงถึงโสภณจิต ๕๙ ดวง หรือ ๙๑ ดวง ตามคาถาสังคหะที่แสดงว่า

คาถาสังคหะ

ปาปาเหตุกมุตตานิ        โสภณานีติ วุจฺจเร
เอกูนสฎฺฐี จิตฺตานิ        อเถกนวุตีปิ วาฯ

แปลความว่า จิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวง ที่นอกจากอกุศลจิต และ อเหตุกจิต นั้นเรียกว่า “โสภณจิต” อธิบาย โสภณจิต เป็นจิตที่ดีงาม หรือเป็นจิตที่มีโสภณเจตสิกประกอบ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน นับโดยย่อ ๕๙ ดวง หรือโดยพิสดาร ๙๑ ดวง เมื่อจำแนกจิตเหล่านี้โดยภูมิแล้วได้ ๔ ภูมิ


แสดงการจำแนกโสภณจิตโดยภูมิ

โสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑

  • กามาวจรโสภณจิต ๒๔
  • รูปาวจรจิต ๑๕
  • อรูปาวจรจิต ๑๒
  • โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐

จิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในกามภูมิ หรือในกามารมณ์นั้น มีทั้งอโสภณจิตและโสภณจิตฉะนั้น เมื่อจำแนกโสภณจิตโดยกามภูมิแล้ว จึงจำต้องมีคำว่า “โสภณ” กำกับให้ชัดเจน ส่วนในรูปภูมิ อรูปภูมิ และโลกุตรภูมิ จิตจะเกิดขึ้นได้แต่โสภณจิตอย่างเดียวจึงไม่จำเป็นต้องมีคำว่า “โสภณ” กำกับ เหมือนอย่างโสภณจิตที่เกิดในกามภูมิด้วย

ต่อไปจะได้แสดงโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวงโดยลำดับ นับตั้งแต่กามาวจรโสภณจิต ๒๔ เป็นต้นไป

อเหตุกจิต ๑๘ (หน้า ๑)

คำว่า “อเหตุกะ” หมายถึง ไม่ประกอบด้วยเหตุ “อเหตุกจิต” จึงหมายถึง จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ตามธรรมดาจิตที่ปรากฏขึ้นส่วนมาก ต้องประกอบด้วยเหตุ ไม่เหตุบุญ ก็เหตุบาป อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า กุศลเหตุ อกุศลเหตุ

เหตุบาป หรือ อกุศลเหตุนั้น ได้แก่ โลภเหตุ, โทสเหตุ, และโมหเหตุ
เหตุบุญ หรือ กุศลเหตุ ก็ได้แก่ อโลภเหตุ, อโทสเหตุ และ อโมหเหตุ

รวมเหตุบุญและเหตุบาปมีอยู่ด้วยกันเพียง ๖ เหตุนี้เท่านั้น ธรรมที่เป็นเหตุนี้เป็นเจตสิกธรรม ที่ประกอบกับจิต จิตที่เกิดขึ้นโดยมีเหตุดังกล่าวประกอบด้วยนั้น ชื่อว่า “สเหตุกจิต” แต่ยังมีจิตอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ได้ประกอบด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งใน ๖ เหตุดังกล่าวแล้วนั้นเลย จิตประเภทนี้แหละ ที่ชื่อว่า “อเหตุกจิต” เป็นจิตที่ไม่มีทั้งเหตุบุญและเหตุบาปประกอบด้วยเลย เหตุที่ประกอบนี้ มุ่งหมายถึง สัมปยุตเหตุ คือเหตุที่ประกอบกับจิตทันที แต่อุปัตติเหตุ คือเหตุที่ทำให้จิตแต่ละดวงปรากฏขึ้น เหล่านี้ย่อมมีอยู่ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

อเหตุกจิต จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุนี้ มีอยู่ ๑๘ ดวง แบ่งออกตามที่แสดงไว้ในคาถาสังคหะได้ ๓ จำพวก

คาถาสังคหะ

สตฺตากุศลปากานิ  ปุญฺญปากานิ อฏฺฐธา กริยาจิตฺตานิ ตีณีติ  อฏฐารส อเหตุกา ฯ แปลความว่า อกุศลวิปากจิต ๗ อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ อเหตุกกริยาจิต ๓ รวมจิต ๑๘ ดวงนี้ เป็น "อเหตุกจิต"

🔆 แสดงอเหตุกจิต ๑๘ ดวง

อกุศลวิปากจิต ๗ เป็นจิตที่เป็นผลของอกุศลกรรม หมายความว่า อกุศลกรรมอันเป็นกรรมฝ่ายชั่ว ฝ่ายบาป ที่ได้กระทำไว้แล้วแต่อดีต ย่อมไม่สูญหายไปไหน จะคอยโอกาสเพื่อสนองให้ได้รับผลเป็นอกุศลวิปากจิต ๗ ดวง มีการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รส ถูกต้องสัมผัส รับ และพิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดีต่าง ๆ อันมีแต่จะเป็นผลให้จิตต้องรับรู้อารมณ์ในทางที่ไม่ดี ๗ ประการด้วยกัน จิตที่รับรู้ผลของอกุศลกรรมเหล่านี้ จึงชื่อว่า อกุศลวิปากจิต ซึ่งมีจำนวน๗ ดวง

อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ เป็นจิตที่เป็นผลของกุศลกรรม หมายความว่ากุศลกรรมอันเป็นกรรมฝ่ายดี คือ บุญ ที่ได้กระทำไปแล้วในอดีต ย่อมจะไม่สูญหายไปไหนเช่นเดียวกัน จะคอยโอกาสที่จะสนองให้ได้รับผลเป็นอเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ ดวง กล่าวคือ ถ้ากุศลกรรมที่ได้ทำไว้แล้วในอดีตนั้นมีกำลังอ่อน คือเป็นกุศลกรรมชนิดปรารภอกุศลเป็นมูลเดิม หรือกุศลกรรมชนิดที่มีอกุศลตามเป็นบริวาร หรือกุศลชวนะดวงที่ ๑ ในปัจจุบันภพนี้ ย่อมจะมีกำลังในการให้ผลอ่อนเป็นอเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ มีการเห็น ได้ยินได้กลิ่น รู้รสที่ดีๆ เป็นต้น ผลของกุศลกรรมที่มีกำลังอ่อนนี้ ย่อมให้จิตรับรู้โดยความเป็นอเหตุกกุศลวิปากจิต คือเป็นจิตที่รับรู้ผลในทางที่มีอยู่ ๘ ดวง

อเหตุกกิริยาจิต ๓ เป็นจิตที่ไม่ได้เป็นผลของอกุศลกรรม หรือกุศลกรรมแต่อย่างใด และก็ไม่ใช่เป็นกุศลจิตด้วย หรืออกุศลจิตด้วย แต่เป็นจิตที่เกิดขึ้นตามหน้าที่การงานของตนเท่านั้น คือ ทำหน้าที่เปิดทวารให้อารมณ์ที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้า ได้ผ่านเข้ามากระทบกับ หรืออีกอย่างหนึ่ง เป็นจิตที่ทำให้เกิดการยิ้มของพระอรหันต์เพราะประสบกับอนิฏฐารมณ์ ซึ่งสักแต่ว่าเป็นกิริยาของจิตที่จะทำหน้าที่การงานในการรับอารมณ์เช่นนั้น จึงชื่อว่า เป็นอเหตุกกิริยาจิตมีจำนวน ๓ ดวง


ข้อควรสังเกต จิตที่เป็นผลของอกุศลกรรม เรียกว่า “อกุศลวิปากจิต” แต่ส่วนจิตที่เป็นผลของกุศลกรรม เรียกว่า “อเหตุกกุศลวิปากจิต” ที่เรียกเช่นนี้ เพราะอกุศลกรรมนั้น มีกำลังอ่อน ให้ผลแต่ในประเภทอเหตุกจิตประเภทเดียว ทั้งนี้เพราะอกุศลกรรมย่อมเกิดจากอกุศลจิต และอกุศลจิตทุกดวง สัมปยุตด้วยอุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านที่ทำให้จิตจับอารมณ์ไม่มั่นคงทำให้อกุศลเจตนาที่ประกอบด้วยเหตุนั้นอ่อนกำลังลง และไม่สามารถที่จะให้ผลเป็นอกุศลวิบากชนิดที่ประกอบด้วยเหตุได้ฉะนั้น ผลของอกุศลกรรม จึงมีแต่ประเภทอเหตุกจิตฝ่ายเดียว ไม่มีผลเป็นประเภทสเหตุกจิต เหมือนอย่างผลของมหากุศล จึงไม่จำเป็นต้องเรียก “อเหตุกอกุศลวิปากจิต” คงเรียกแต่ “อกุศลวิปากจิต”เท่านั้น

ส่วนผลของกุศลกรรมนั้น ถ้ากุศลกรรมมีกำลังมาก ก็ให้ผลเป็นสเหตุกจิต คือ มีกุศลเหตุเข้าประกอบ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุสัมปยุตด้วย แต่ถ้ากุศลกรรมมีกำลังในการให้ผลน้อย เพราะกุศลมีอกุศลเป็นบริวารแล้ว ก็จะให้ผลเป็นอเหตุกจิต คือ ไม่มีกุศลสัมปยุตเหตุ ด้วยเหตุนี้ ผลของกุศลจึงมี ๒ ฝ่าย คือ สเหตุกกุศลวิปากจิต และอเหตุกกุศลวิปากจิต ฉะนั้น ผลของกุศลที่มีกำลังน้อย จึงต้องแยกเรียกเป็น“อเหตุกกุศลวิปากจิต”

กิริยาจิตก็มี ๒ ฝ่าย คล้ายกุศลวิปากจิต คือมีทั้งสเหตุกกิริยาจิต ได้แก่จิตของพระอรหันต์ที่กระทำการงานต่าง ๆ เป็นกิริยาจิตที่ประกอบด้วยเหตุที่เรียกว่ามหากิริยาจิตมีจำนวน ๘ ดวง และอเหตุกิริยาจิต ซึ่งได้แก่ จิตที่ทำหน้าที่การงานเปิดทวารรับกระทบอารมณ์ใหม่ๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของสัตว์ทั้งหลายมีจำนวน ๒ ดวง และจิตที่ทำให้เกิดการยิ้มของพระอรหันต์ ที่เรียกว่า “หสิตุปปาทจิต” เกิดขึ้น เพราะประสบอนิฏฐารมณ์อีก ๑ ดวง จิตทั้ง ๓ ประเภทที่กล่าวนี้ ไม่มีสัมปยุตเหตุ จึงชื่อว่า “อเหตุกจิต” และสักแต่ว่ามีหน้าที่ในการกระทำกิจการงานจึงชื่อว่า “อเหตุกกิริยาจิต” ซึ่งจะได้ศึกษารายละเอียดต่อไป


👉 อกุศลวิปากจิต ๗

อกุศลวิปากจิต เป็นจิตที่เป็นผลของอกุศลกรรม ที่ได้กระทำไปแล้วในอดีต มีจำนวน ๗ ดวง ได้แก่

๑. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ จักขุวิญญาณํ จิตที่อาศัยจักขุวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของอกุศลกรรม เห็นรูปารมณ์ที่ไม่ดี
๒. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ โสตวิญญาณํ จิตที่อาศัยโสตวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของอกุศลกรรม ได้ยินเสียงที่ไม่ดี
๓. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ  ฆานวิญญาณํ จิตที่อาศัยฆานวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของอกุศลกรรม ได้กลิ่นที่ไม่ดี
๔. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ ชิวหาวิญญาณํ จิตที่อาศัยชิวหาวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉย ๆ เป็นผลของอกุศลกรรม ได้รสที่ไม่ดี
๕. ทุกขสหคตํ อกุศลวิปากํ กายวิญญาณ จิตที่อาศัยกายวัตถุเกิดพร้อมทุกขเวทนา เป็นผลของอกุศลกรรม ได้สัมผัสสิ่งที่ไม่ดี

๖. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ  สมปฏิจฉนจิตฺตํ จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆเป็นผลของอกุศลกรรม รับอารมณ์ทั้ง ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่าง ๆ) ที่ไม่ดี
๗. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ  สนุรณจิตฺตํ จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของอกุศลกรรม พิจารณาอารมณ์ทั้ง ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) ที่ไม่ดี

ในอกุศลวิปากจิต ๗ ดวงนี้ มีสิ่งที่ควรทำความเข้าใจอยู่ ๒ ประการ คือ

        ๑. อกุศลวิปากจิต ๗ ดวงนั้น มีชื่อเรียกต่างกัน คือ เรียกว่า “วิญญาณ” บ้าง เรียกว่า “จิต” บ้าง ที่เรียกว่า “วิญญาณ” นั้น ได้แก่

  • จักขุวิญญาณ หมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ทางตา คือ เห็น
  • โสตวิญญาณ หมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ทางหู คือ ได้ยิน
  • ฆานวิญญาณ หมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ทางจมูก คือ รู้กลิ่น
  • ชิวหาวิญญาณ หมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ทางลิ้น คือ รู้รส
  • กายวิญญาณ หมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ทางกาย คือ รู้สัมผัสถูกต้อง

การบัญญัติชื่อเรียก จิต ธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์นั้น บัญญัติขึ้นโดยอาศัย เวทนา, เหตุ, กิจ, ทวาร, อารมณ์และวัตถุ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่ความเหมาะสม ในที่นี้จักขุวิญญาณ เป็นจิตที่อาศัยรู้อารมณ์ทางจักขุทวาร เมื่อรูปารมณ์มากระทบจักขุทวาร ถ้าเรียกว่า จักขุจิต จะทำให้เข้าใจไปว่า “จักขุ” นั้นเป็น “จิต” แท้ที่จริงแล้วจักขุมีสภาพเป็นรูปธรรม ซึ่งไม่อาจรู้อารมณ์ได้ สภาพที่รู้อารมณ์ได้แก่วิญญาณซึ่งเป็นนามธรรม แต่วิญญาณนี้อาศัยรู้อารมณ์ทางจักขุ จึงเรียกว่า “จักขุวิญญาณ” วิญญาณอื่นๆ มีโสตวิญญาณ เป็นต้น ก็เป็นไปโดยทำนองเดียวกัน แต่ส่วนอกุศลวิปากจิตที่เหลืออีก ๒ ดวง คือ สัมปฏิจฉนจิต และสันตีรณจิตนั้น เรียกว่า “จิต” ไม่เรียกว่า “วิญญาณ”

เพราะดังที่กล่าวมาแล้ว จักขุวิญญาณ เป็นต้น บัญญัติขึ้นโดยอาศัยทวารและวัตถุ ซึ่งเป็นชื่อของรูปธรรมเป็นหลัก เพื่อป้องกันมิให้เข้าใจผิดไปว่า รูปธรรมนั้นเป็นจิตได้ ส่วนสัมปฏิจฉนจิต และสันตีรณจิตนี้ บัญญัติโดยอาศัยกิจคือ หน้าที่การงานของจิต ซึ่งเป็นนามธรรม และจิตก็เป็นผู้กระทำอยู่แล้ว จึงไม่ต้องเอาคำว่าวิญญาณมาซ้อนกับจิตอีกซึ่งเรียกชื่อโดยตรงว่า “สัมปฏิจฉนจิต” เป็นจิตที่ทำหน้าที่รับปัญจารมณ์โดยตรง และ “สันตีรณจิต” ก็เป็นจิตที่ทำหน้าที่พิจารณาปัญจารมณ์โดยตรง

        ๒. เวทนาที่เกิดพร้อมกับอกุศลวิปากจิตนั้น มี ๒ เวทนา คือ อุเบกขาเวทนาและทุกขเวทนา จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ สัมปฏิจฉนจิตและสันตีรณจิต จิตทั้ง ๖ นี้ เกิดพร้อมกับอุเบกขาเวทนา คือความเฉยๆ ไม่รู้สึกว่า เป็นทุกข์หรือเป็นสุข เพราะจิตเหล่านี้เกิดขึ้นโดยการกระทบกันระหว่างอุปาทายรูป กับ อุปาทายรูป คือ รูปารมณ์ กับ จักขุปสาท เป็นต้น อุปมาเหมือนสำลีกระทบกับสำลีย่อมมีกำลังแห่งการกระทบกันน้อย จึงไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกขนาดเป็นทุกข์ เป็นสุขขึ้นมาได้ ส่วนกายวิญญาณนั้น จิตรู้การสัมผัสถูกต้องทางกายอกุศลวิบากกายวิญญาณจิตย่อมเกิดพร้อมกับทุกขเวทนา เพราะกายวิญญาณนี้ จะเกิดขึ้นได้ก็โดยอาศัยการกระทบกันระหว่างมหาภูตรูป คือ ปถวี เตโช วาโย ธาตุ (เว้นอาโป คือ ธาตุน้ำ) กับอุปาทายรูป (กายปสาท) อุปมาเหมือนเอาฆ้อนทุบสำลีที่วางอยู่บนทั่ง ย่อมมีกำลังในการกระทบกันแรง จึงก่อให้เกิดทุกขเวทนาปรากฏขึ้นได้


👉 อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘

อเหตุกกุศลวิปากจิต เป็นจิตที่เป็นผลของกุศลกรรม หรือจิตที่เกิดจากอำนาจของกุศลเจตนาในมหากุศลจิต ๘ ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต แต่เพราะความบกพร่องแห่งเจตนาในกาลทั้ง ๓ คือ เจตนาก่อนการกระทำกุศลกรรม เจตนาขณะกำลังกระทำกุศลกรรม และเจตนาภายหลังที่ได้กระทำกุศลกรรมนั้นแล้ว กาลใดกาลหนึ่งจึงทำให้ผลแห่งกุศลเจตนานั้น มีกำลังอ่อน และให้ผลเป็นอเหตุกะ คือ เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีกุศลเหตุ อันได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุ ประกอบในฐานะเป็นสัมปยุตเหตุ อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ จึงปรากฏขึ้น เป็นผลของกุศลกรรมในอดีต มีจำนวน ๘ ดวง คือ

๑. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก จักขุวิญญาณํ จิตที่อาศัยจักขุวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล เห็นรูปที่ดีๆ
๒. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก โสตวิญญาณํ จิตที่อาศัยโสตวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล ได้ยินเสียงที่ดี
๓. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก ฆานวิญญาณํ จิตที่อาศัยฆานวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล ได้กลิ่นที่ดี
๔. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก ชิวหาวิญญาณํ จิตที่อาศัยชิวหาวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล ได้รสที่ดี
๕. สุขสหคตํ กุสลวิปากํ กายวิญญาณํ จิตที่อาศัยกายวัตถุเกิดพร้อมกับสุขเวทนาเป็นผลของกุศล ได้สัมผัสสิ่งที่ดี
๖. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก สมปฏิจฉนจิตตํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล ทำหน้าที่รับอารมณ์ทั้ง ๕ ที่ดี
๗. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก สนุรณจิตตํ จิตที่เกิดพร้อมด้วยความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ทั้ง ๕ ที่ดี
๘. โสมนสฺสสหคตํ กุสลวิปากํ สนุตีรณจิตตํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความยินดีเป็นผลของกุศล ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ทั้ง ๕ ที่ดียิ่ง


อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ ดวงนี้ เป็นสภาพจิตที่รับอารมณ์ทางปัญจทวารทำนองเดียวกับอกุศลวิปากจิต ๗ ดวงที่กล่าวแล้ว แต่ต่างกันที่ว่า อเหตุกกุศลวิปากจิตนี้ เป็นผลในทางดีที่เป็นฝ่ายกุศล ทำให้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รส ถูกต้องสัมผัสแต่ที่ดีๆ ซึ่งเป็นไปโดยนัยที่ตรงกันข้ามกับอกุศลวิปากจิต เป็นที่น่าสังเกตว่า อเหตุกกุศลวิปากจิตนั้น มีจำนวน ๘ ดวง ซึ่งมีมากกว่าอกุศลวิปากจิต ๑ ดวง คือ โสมนัสสันตีรณจิต ที่เป็นเช่นนี้ เพราะสันตีรณจิต เป็นจิตที่ทำหน้าที่ในการพิจารณาอารมณ์ และอารมณ์ทางฝ่ายกุศลวิปากจิตนั้นจำแนกเป็น ๒ ชนิด คือ

  • อิฏฐมัชฌัตตารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ดีอย่างธรรมดาอย่างหนึ่ง
  • อติอิฏฐารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ดีอย่างยิ่งอีกอย่างหนึ่ง
กุศลวิบากสันตีรณจิตนั้นเมื่อเวลาได้รับอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ ย่อมเกิดขึ้นพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา กุศลวิบากสันตีรณจิตนี้ จึงชื่อว่า อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิต << ขยายความ เช่น ท่านได้ทานอาหารเช้าเป็นข้าวต้มทุกวัน ๆ  อาหารเป็นกุศลวิบากที่ท่านได้รับ แต่อารมณ์ที่ได้ลิ้มรสอาหารมันก็ธรรมดาๆ เหมือนๆเ ดิม อารมณ์ในการกินอาหารจึงเป็นได้แค่อิฎมัชฌัตตารมณ์ แต่ถ้าวันไหนมื้อเช้าเปลี่ยนจากข้าวต้ม เป็นอาหารเริสรสอย่างอื่น เป็นเป็ดย่าง ขาหมูรมควัน อารมณ์ท่านก็จะดียิ่งขึ้น มีความโสมนัส ความพอใจยิ่งๆกว่าเก่า เกิดขึ้น อารมณ์ที่ดียิ่งขึ้นเป็นโสมนัสนี้ก็เรียกว่า อติอิฎฐารมณ์ >> เมื่อเวลาได้รับอติอิฏฐารมณ์ย่อมเกิดขึ้นพร้อมด้วยโสมนัสเวทนา กุศลวิบากชนิดนี้ จึงชื่อว่า โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากจิต

แต่ส่วนอกุศลวิบากสันตีรณจิตนั้น เมื่อเวลาได้รับอนิฏฐมัชฌัตตารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่ดีอย่างธรรมดา หรือได้รับอติอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่ดีอย่างยิ่ง ทั้ง ๒ อารมณ์นี้ย่อมเกิดขึ้นพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาอย่างเดียว ไม่อาจเกิดพร้อมด้วยโทมนัสเวทนา (ความเสียใจ, ทุกข์ใจ เกิดขึ้นเฉพาะทางใจ) ได้เพราะโทมนัสเวทนา (ความเสียใจ) นั้น จะต้องประกอบกับโทสมูลจิตเท่านั้น ดังได้กล่าวแล้วว่าโทสมูลจิตนี้ เมื่อว่าโดยชาติตระกูลของจิตแล้วก็เป็นอกุศลชาติ และเมื่อว่าโดยเหตุแล้ว ก็เป็นอกุศลเหตุ คือ โทสะเหตุ แต่สันตีรณจิตนั้น ย่อมเป็นจิตที่เป็นวิปากชาติอย่างเดียว คือ เป็นจิตชนิดที่เป็นผล ไม่ใช่ชนิดที่เป็นเหตุ และยังเป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุต่าง ๆ อีกด้วย ฉะนั้นอกุศลวิบากสันตีรณจิต ถึงแม้จะได้รับอารมณ์ชนิดที่เป็นอติอนิฏฐารมณ์ ก็เกิดพร้อมด้วยโทมนัสเวทนาไม่ได้เลยต้องเกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาอยู่นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ อกุศลวิปากจิต จึงต้องมีเพียง ๗ ดวง น้อยกว่าอเหตุกกุศลวิปากจิตอยู่ ๑ ดวง <<ตรงนี้ให้พิจารณา อกุศลวิบากสันตีรณจิตก็เป็นจิตดวงนึง โทมนัสที่เกิดร่วมกับโทสะก็เป็นจิตดวงนึง ตัวสันตีรณะ เป็นวิบากจิตก็จริง ตัวมันเองไม่เป็นบุญเป็นบาป แต่ก็เป็นเหตุส่งต่ออารมณ์ให้จิตดวงต่อไปว่าจะเกิดเป็นโทสะ,โทมนัส หรือ มีปัญญาไต่สรวญอารมณ์ที่ไม่ดีให้ยุติที่อุเบกขาคือรู้ตามสภาพจริงว่ามันคืออกุศลวิบาก ข้อนี้พระพุทธองค์จึงกล่าวแยกจิตออกเป็น ๒ ดวง เพราะแม้แต่ผู้บรรลุอรหันตผลแล้วก็ยังต้องรับอกุศลวิบากอยู่ แต่การปรุงแต่งของจิตต่อจากนั้นไม่มีแล้ว คือก็สักแต่ว่ารับรู้จิตดวงที่เป็นอกุศลวิบากแต่จิตที่เป็นโทสะจะไม่เกิดขึ้นตาม โทสะมูลจิตไม่เกิดโทมนัสก็เกิดไม่ได้>>

อนึ่ง จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ และกายวิญญาณ ที่เป็นไปทั้งฝ่ายอกุศลวิบาก และ กุศลวิบากนั้น นิยมเรียกกันว่า “ทวิปัญจวิญญาณจิต ซึ่งหมายถึงจิต ๑๐ ดวง ที่อาศัยเกิดทางตา หู จมูก ลิ้น และกายทั้งทางฝ่ายดี และไม่ดีเพื่อประโยชน์แก่การจดจำ และเรียกชื่อจิตเหล่านั้นนั่นเอง

👉 หน้าต่อไป

วันศุกร์

โมหมูลจิต ๒

โมหมูลจิต เป็นจิตที่หลงไปจากรูป-นาม ตามความเป็นจริงหรือจิตที่ไม่สามารถรู้เหตุผลตามความเป็นจริงของสภาวธรรมได้ กล่าวคือ เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยมีโมหเจตสิกเป็นประธานหรือเป็นมูลเหตุ จึงเรียกจิตนี้ว่า โมหมูลจิต จิตที่ถูกโมหเจตสิกเข้าครอบงำนั้น ย่อมหลงใหลงมงาย ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะธรรมชาติของโมหเจตสิกนั้น มีลักษณะพิเศษอยู่ ๔ ประการ คือ

๑. อญาณลกฺขโณ มีความไม่รู้ในอริยสัจ เป็นลักษณะ
๒. อารมมณสภาวจฺฉาทนรโส มีการปกปิดไว้ซึ่งสภาวะแห่งอารมณ์ เป็นกิจ
๓. อนฺธการปจฺจุปฏฐาโน มีความมืดมน เป็นผล
๔. อโยนิโสมนสิการปทฎฺฐาโน มีการไม่ได้พิจารณาอารมณ์นั้นๆ ด้วยดี เป็นเหตุใกล้

🔆โมหมูลจิต มี ๒ ดวง
๑. อุเปกขาสหคตํ วิจิกิจฉาสมฺปยุตตํ แปลว่า จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉย ๆ ประกอบด้วยความสงสัย
๒. อุเบกขาสหคตํ อุทธจฺจสมปยุตตํ แปลว่า จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉย ๆ ประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน

โมหมูลจิตแต่ละดวง ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ คือ "อุเบกขาสหคตํ" เกิดพร้อมกับ เวทนา อย่างหนึ่ง และวิจิกิจฉา หรือ อุทธจจ สัมปยุต ประกอบด้วย ความสงสัย หรือความฟุ้งซ่าน อีกอย่างหนึ่ง

“อุเบกขาสหคตํ” หมายความว่า เกิดพร้อมกับเวทนา ซึ่งมีอยู่เวทนาเดียว คือ อุเบกขาเวทนา แต่สภาพของอุเบกขาเวทนาในโมหมูลจิตนี้ ต่างกันกับอุเบกขาเวทนาในโลภมูลจิต อุเบกขาเวทนาในโมหมูลจิตนั้น หมายถึงสภาพความรู้สึกเฉย ๆ ต่ออารมณ์ที่ปรากฏนั้น เพราะความโง่ไม่รู้ถึงคุณค่าของสภาพอารมณ์ที่ปรากฏขึ้นตามความเป็นจริง ส่วนอุเบกขาเวทนาในโลภมูลจิตนั้น หมายถึงความยินดีเพียงเล็กน้อย ยังไม่ถึงกับจะทำให้เกิดความรู้สึกยินดีมากเป็นโสมนัสเวทนาไป

วิจิกิจฉาสมปยุตตํ” แปลว่า ประกอบด้วยความสงสัย, ความสงสัยมีอยู่ ๒ อย่าง คือ
    ๑. นิวรณวิจิกิจฉา ความสงสัยที่เป็นนิวรณ์สกัดกั้นกุศลกรรม
    ๒. ปฏิรูปกวิจิกิจฉา ความสงสัยในชื่อคน สัตว์ สิ่งของที่ยังไม่รู้จัก หรือ สงสัยในวิชาความรู้ต่างๆ ที่ยังไม่เข้าใจ หรือพระอรหันต์ สงสัยในอาบัติเหล่านี้ ไม่จัดว่าเป็นวิจิกิจฉาในโมหมูลจิต

ความสงสัยที่ประกอบกับโมหมูลจิตที่เป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตนั้น มุ่งหมายเอานิวรณวิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัยที่เป็นไปเพื่อสกัดกั้น มรรค ผล นิพพาน ซึ่งมีอยู่ ๘ ประการ ด้วยกันคือ
            ๑. พุทฺเธ กงฺขติ มีความสงสัยในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แก่ สงสัยในพระสรีระ เช่น สงสัยว่า พระพุทธเจ้านี้ ถ้าจะไม่มีตัวตนจริงๆ คงจะสมมุติขึ้นมาเพื่อเป็นอุบายล่อให้คนมีความสามัคคี ไม่ทะเลาะวิวาทบาดหมางใจกัน หรือสงสัยในพระพุทธคุณ ๙ ประการ เช่นสงสัยว่า พระพุทธเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลสดังพระคุณบทว่า “อรหํ” เป็นผู้ตรัสรู้ธรรมเองโดยชอบ “สมมาสมพุทโธ” เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้และการปฏิบัติอย่างประเสริฐ “วิชชาจรณสมฺปนฺโน” เป็นผู้เสด็จไปด้วยดีแล้ว “สุคโต” เป็นผู้รู้แจ้งโลกทั้ง ๓ คือ สัตว์โลก โอกาสโลก สังขารโลก ในพระคุณ บทว่า “โลกวิทู” เป็นผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม “อนุตตโร ปุริสทมุมสารถิ” เป็นศาสดาของมนุษย์ เทวดา พรหม ทั้งหลาย “สตฺถา เทวมนุสสานํ” เป็นผู้รู้ แจ้งอริยสัจโดยถูกถ้วน และสามารถยังสัตว์ทั้งหลายให้รู้ตาม “พุทโธ” เป็นผู้มี บุญญาธิการอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง “ภควา” ทรงเป็นผู้มีโชค คือ หวังพระโพธิญาณก็ได้สมหวัง ประกาศพระศาสนาก็ชักจูงผู้คนให้ได้บรรลุธรรมสมปรารถนา ความสงสัยในพระพุทธคุณต่างๆ เหล่านี้ พระพุทธคุณต่าง ๆ ดังกล่าวนั้นจะมีจริงหรือไม่ หรือจะเป็นคำกล่าว เพื่อมุ่งยกย่องสรรเสริญกันในฐานะเป็นผู้วิเศษ
            ๒. ธมฺเม กงฺขติ  สงสัยในพระธรรมว่า สวากขาตธรรม คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ และพระไตรปิฎกนั้นมีจริง ๆ หรือสงสัยว่า พระธรรมคุณอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ดังบทว่า “สวากขาโต” เป็นของอันบุคคลพึงเข้าไปเห็นเอง “สนุทิฏฐิโก” เป็นของไม่มีกาลเวลา “อกาลิโก, เป็นของอันจะเรียกร้องท้าทายให้ผู้อื่นมาพิสูจน์ความจริงดูได้ “เอหิปัสสิโก” เป็นของที่มีอยู่อันบุคคลพึงน้อมเข้ามาใส่ใจได้ “โอปนยิโก” เป็นของอันวิญญูชนทั้งหลายพึงรู้ได้เฉพาะตัว “ปจฺจตต์ เวทิตพฺโพวิญญ” ผู้สงสัยย่อมเกิดความสงสัยต่าง ๆ ได้ เช่น สงสัยว่าสวากขาตธรรม จะทำให้พ้นออกจากทุกข์ได้จริงหรือ?
            ๓. สังเฆ กงฺขติ  สงสัยในพระสงฆ์ว่า พระอริยสงฆ์มีจริงหรือ หรือสงสัยว่าพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว “สุปฏิปันโน, เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว “อุชุปฏิปันโน, เป็นผู้ปฏิบัติมุ่งต่อพระนิพพานแล้ว “ญายปฏิปันโน, เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้ว “สามีจิปฏิปันโน” เป็นผู้ควรสักการะ “อาหุเนยโย, เป็นผู้ควรต้อนรับ “ปาหุเนยโย, เป็นผู้ควรทักษิณาทาน “ทุกขิเนยโย, เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม “อญชลีกรณีโย” เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาอื่นยิ่งกว่า “อนุตตร์ ปุญญกเขตต์ โลกสฺส, เหล่านี้จะมีจริง เป็นจริงหรือ?
            ๔. สิกขาย กงฺขติ  สงสัยว่า สิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์นั้น มีผลจริงหรือ และผลานิสงส์แห่งการปฏิบัติในสิกขานั้น จะป้องกันผู้ปฏิบัติมิให้ตกล่วงไปในทุคติภูมิ แต่กลับจะเป็นผลน้อมนำให้เป็นไปในสุคติภูมิ และสามารถพาให้เข้าถึงความพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง คือ พระนิพพาน จะเป็นไปได้เช่นนั้นหรือ?
            ๕. ปุพฺพนฺเต กงฺขติ  สงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ คือ สภาพตัวตน คนสัตว์ที่เคยปรากฏเป็นอดีตนั้น มีจริงหรือ คือสงสัยว่า ชาติก่อนนั้น มีจริงหรือ?
            ๖. อปรนฺเต กงฺขติ  สงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ คือ สภาพความเป็นตัวตนคน สัตว์ ที่จะปรากฏอีกใหม่ในอนาคต มีจริงหรือ คือสงสัยว่า ชาติหน้าจะมีจริงหรือ?
            ๗. ปุพฺพนตาปรนฺเต กงฺขติ  สงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ คือสภาพความเป็นตัวตน คน สัตว์ ที่เคยปรากฏแล้วในชาติก่อนและชาติหน้า ซึ่งรวมทั้งชาตินี้จะมีจริงหรือ?
            ๘. ปฏิจฺจสมุปปาเท กงฺขติ  สงสัยว่า ธรรม คือรูปนามที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเหตุเป็นผล เกี่ยวเนื่องอาศัยกันเกิดขึ้นสืบต่อกันโดยไม่ขาดสาย เป็นปัจจยาการตามนัยแห่งปฏิจจสมุปบาท จะเป็นไปได้ และมีจริงหรือ สิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยเหตุให้เกิด จะไม่มีบ้างทีเดียวหรือ?

“วิจิกิจฉาสัมปยุตจิต” นั้น ย่อมมุ่งหมายเอาจิตที่ประกอบด้วยความลังเลสงสัย ๔ ประการดังกล่าวแล้วเท่านั้น ส่วนความสงสัยอื่นๆ นอกจากนี้ ย่อมไม่ใช่ความสงสัยที่เกิดจากวิจิกิจฉา ที่ประกอบในโมหมูลจิต

อุทธจจสมปยุตตํ” แปลว่า ประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน หมายความว่าจิตนั้นฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไปในอารมณ์ต่าง ๆ แต่อารมณ์เหล่านั้นไม่มั่นคง จึงซัดส่ายปรวนแปรไปเรื่อยๆ

โมหมูลจิตทั้ง ๒ ดวงนี้ ในพระบาลีมิได้แสดงความต่างกันของสังขารเภท คือ ประเภทแห่งสังขาร อันได้แก่ อสังขาริก และสสังขารึกไว้ในวิสุทธิมรรคและในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกากล่าวไว้ว่า จิตที่ยังลังเลสงสัย ไม่แน่ใจก็ดี จิตที่ฟุ้งซ่านก็ดี เป็นจิตที่เว้นจากความกำหนัดหรืออภิชฌา และเว้นจากความขัดเคืองหรือโทมนัส จึงเป็นจิตที่มีกำลังน้อย และขาดความอุตสาหะในกิจการงานต่าง ๆ ความแตกต่างกันในสภาพแห่งสังขารจึงไม่มี แต่ก็ได้สงเคราะห์โมหมูลจิตทั้ง ๒ ดวงนี้ว่า เป็นอสังขาริกจิต เพราะความโง่ความไม่รู้ในเหตุผลตามความเป็นจริงนั้น ย่อมไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลชักชวนของผู้ใด คือความโง่นั้นย่อมเกิดขึ้นที่ตนเอง ผู้ใดอื่นจะมาชักชวนให้โง่ ย่อมไม่ได้

โมหมูลจิต ๒ ดวงนี้ ไม่ประกอบด้วยทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด และปฏิฆะ คือ ความโกรธ เพราะโมหมูลจิตมีความไม่รู้อารมณ์ตามความเป็นจริงเป็นพื้นฐานหรือเป็นมูลเหตุอยู่อย่างเดียว จึงรับอารมณ์ด้วยความรู้สึกเฉย ๆ ไม่ยินดียินร้ายในอารมณ์ เพราะฉะนั้น ทิฏฐิ ซึ่งอาศัยความยินดีในอารมณ์ และปฏิฆะ ซึ่งอาศัยความไม่ยินดีในอารมณ์เป็นตัวการให้เกิด โมหมูลจิตมีแต่ความไม่รู้ในอารมณ์ตามความเป็นจริงเสียแล้ว จึงไม่มีทิฏฐิ และปฏิฆะ ประกอบด้วย

🔆 เหตุให้เกิดโมหะ มี ๒ ประการ

๑. อโยนิโสมนสิการ
๒. อาสวสมุปปาท

อธิบาย “อโยนิโสมนสิการ” การกระทำในใจไม่แยบคายนั้น คือ ขาดการพิจารณาอารมณ์ให้รอบคอบในเหตุและผลด้วยดี เพราะการคิดพิจารณาอารมณ์ไม่สุขุม การกระทำในใจไม่แยบคายมีอาสวะเป็นเหตุให้เกิดคัมภีรภาพนั้น ย่อมก่อให้เกิดความลังเลสงสัยและความฟุ้งซ่าน ซึ่งความสงสัยและความฟุ้งซ่านนี้ ก็จะกลับเป็นเหตุให้เกิดความไม่รู้ คือ โมหะ ต่อไปอีก

อาสวสมุปปาท” มีอาสวะเป็นเหตุให้เกิดอวิชชา คือเครื่องหมักดองกิเลสที่เก็บหมักหมมไว้ในจิตใจ มีกามาสวะ คือ หมักดองกามคุณอารมณ์ไว้ในจิตใจเป็นต้น เมื่อได้ประสบกับกามคุณอารมณ์ใหม่อีกก็จะหลงงมงายติดใจในกามคุณอารมณ์นั้นอีก จึงทำให้ปิดบังสภาพความรู้ตามความเป็นจริงต่ออารมณ์นั้นเสีย ซึ่งเป็นธรรมชาติของโมหะหรืออวิชชา นั่นเอง

🙏 ผลที่เกิดจากโมหมูลจิต

โมหมูลจิต เป็นจิตที่สร้างเหตุหลงงมงาย ฉะนั้น บุคคลใดถูกครอบงำด้วยอำนาจโมหะ ย่อมหลงใหลเพลิดเพลินไปตามความรู้ไม่เท่าทันอารมณ์นั้นๆ อำนาจแห่งโมหะนี้ ถ้าสมัยใดมนุษย์มีสันดานมากไปด้วยโมหะ สมัยนั้นย่อมเกิดโรคันตราย คือ อันตรายที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน เป็นเหตุให้เกิดโรคระบาดล้มตายเป็นอันมาก สรรพโรคจะปรากฏ คร่าชีวิตประชาชนทั้งหลายให้สิ้นไป สำหรับผลของโมหะที่เกิดขึ้นในอนาคตนั้น ย่อมผลักส่งให้เกิดในดิรัจฉานภูมิ ดังพระบาลีแสดงว่า

โมเหน หิ นิจฺจสมมุฬฺหํ ติรจฺฉานโยนีย์ อุปปฺชชนฺติฯ สัตว์ทั้งหลายย่อมไปเกิดเป็นเดรัจฉาน ด้วยอำนาจแห่งโมหะ เพราะเป็นสภาพที่ยังสัตว์ให้ลุ่มหลงงมงายอยู่เสมอ

🔆 แสดงสัมปยุตในอกุศลจิต

ในอกุศล ๑๒ คือ โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ และโมหมูลจิต ๒ ที่กล่าวมาแล้วนั้นพระอนุรุทธาจารย์แสดงสัมปยุตไว้เพียง ๔ ประการ คือ

        ๑. ทิฏฐิคตสมฺปยุตฺต มีความเห็นผิดเข้าประกอบในโลภมูลจิต ๔ ดวง
        ๒. ปฏิฆสมปยุตฺต ความโกรธที่ประกอบในโทสมูลจิต ๒ ดวง
        ๓. วิจิกิจฉาสมปยุตต ความสงสัยที่ประกอบในโมหมูลจิต ๑ ดวง
        ๔. อุทธจฺจสมุปยุตฺต ความฟุ้งซ่านที่ประกอบอย่างชัดแจ้งในโมหมูลจิต ๑ ดวง

คำว่า “สมปยุตต” นี้ แปลว่า “ประกอบ” (กับจิต) เป็นวิเสสนบท มีหน้าที่แสดงให้รู้ถึงการแตกต่างกันของจิต เช่น ทิฏฐิคตสมปยุตฺต แปลว่า จิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิด แสดงให้เห็นว่าทิฏฐิคือความเห็นผิดนี้ เป็นธรรมที่ประกอบกับจิต แต่มิได้ประกอบกับจิตทุกดวงเหมือนอย่างผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เหล่านี้ เป็นต้น แต่อกุศลโลภมูลจิตที่มีจำนวนทั้งหมด ๘ ดวงนั้น มีทิฏฐิเข้าประกอบเพียง ๔ ดวงเท่านั้น มิได้ประกอบในโลภมูลจิตทั้งหมด เพราะฉะนั้น ปฏิฆสมปยุตต วิจิกิจฉาสมปยุตต หรือ อุทธจจสมปยุตต ก็ล้วนเป็นวิเสสนบท ที่แสดงให้เห็นความแตกต่างของจิตโดยทำนองเดียวกันเป็นการแสดงสภาพธรรมที่ประกอบกับจิตโดยเฉพาะอย่างเด่นชัด ทำให้เห็นความแตกต่างของจิตได้ชัดเจน

🔆 สงเคราะห์อกุศลกรรมบถ ๑๐ ลงในอกุศลจิต ๑๒

อกุศลกรรมบถ คือ ทางแห่งการกระทำบาป มี ๑๐ เรียกว่า อกุศลกรรมบถ ๑๐ หรือทุจริต ๑๐ ซึ่งเกิดได้ ๓ ทาง คือ ถ้าเกิดขึ้นทางกาย เรียกว่า อกุศลกายกรรมหรือกายทุจริต เกิดทางวาจา เรียกว่า อกุศลวจีกรรม หรือวจีทุจริต และถ้าเกิดทางใจเรียกว่าอกุศลมโนกรรม หรือมโนทุจริต อกุศลที่เกิดขึ้นทางกายทวาร เป็นอกุศลกายกรรม หรือกายทุจริตนั้น มี ๓ ประการ คือ
        ๑. ปาณาติบาต ฆ่าสัตว์
        ๒. อทินนาทาน ลักทรัพย์
        ๓. กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม

อกุศลที่เกิดขึ้นทางวจีทวาร เป็นอกุศลวจีกรรม หรือวจีทุจริตนั้น มี ๔ ประการ คือ
        ๔. มุสาวาท พูดปด
        ๕. ปิสุณวาจา พูดส่อเสียด
        ๖. ผรุสวาจา พูดคําหยาบ
        ๗. สัมผัสปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ

อกุศลที่เกิดขึ้นมาในมโนทวาร เป็นอกุศลมโนกรรม หรือมโนทุจริต มี ๓ ประการ คือ
        ๘. อภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่น
        ๙. พยาบาท คิดปองร้ายเขา
        ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิด (นิยตมิจฉาทิฏฐิ)

ในโลภมูลจิต ๘ ดวง มีทุจริตเกิดได้ทั้ง ๓ ทวาร ๗ ประการ คือ
ทางกายกรรม มี ๒ คือ อทินนาทาน และกาเมสุมิจฉาจาร
ทางวจีกรรม มี ๓ คือ มุสาวาท ปีสุณวาจา สัมผัปปลาปะ
ทางมโนกรรม มี ๒ คือ อภิชฌา มิจฉาทิฏฐิ

ในโทสมูลจิต ๒ ดวง มีทุจริตเกิดได้ทั้ง ๓ ทวาร ๗ ประการ คือ
ทางกายกรรม มี ๒ คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน
ทางวจีกรรม มี ๔ คือ มุสาวาท ปิสุณวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ
ทางมโนกรรม มี ๑ คือ พยาบาท

ในโมหมูลจิต ๒ ดวง มีทุจริตเกิดได้ทั้ง ๓ ทวาร ๑๐ ประการ คือ
ทางกายกรรม มี ๓ คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร
ทางวจีกรรม มี ๔ คือ มุสาวาท ปิสุณวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ
ทางมโนกรรม มี ๓ คือ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ

ในอกุศลกรรมบถ ๑๐ นี้ ถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว ก็จะเห็นว่า อกุศลกรรมบถ ๓ ได้แก่ ปาณาติบาต ผรุสวาจา และพยาบาท เกิดได้ด้วยอำนาจโทสมูลจิต อันมีโทสะเป็นเหตุนำ อกุศลกรรมบถอีก ๓ ได้แก่ กาเมสุมิจฉาจาร อภิชฌา และมิจฉาทิฏฐิ เกิดด้วยอำนาจแห่งโลภมูลจิต อันมีโลภเป็นเหตุ ส่วนอกุศลกรรมบถที่เหลือ คือ อทินนาทาน มุสาวาท ปิสุณวาจา และสัมผัปลาปะ ทั้ง ๔ ประการนี้ บางครั้งก็เกิดโดยโลภมูลจิต เช่น ลักทรัพย์ เพราะหวังร่ำรวย หรือพูดปด เพื่อแสวงหาประโยชน์ เป็นต้น ขณะนั้นก็มีโลภะ เป็นเหตุ แต่บางครั้ง เช่น ลักทรัพย์ อกุศลกรรมบถดังกล่าว ก็เกิดขึ้นโดยโทสมูลจิต อันมีโทสะ เป็นเหตุ เอาไปทิ้ง เพราะเกลียดเจ้าทรัพย์ หรือพูดปด เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เป็นต้น

อกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ นี้ อาศัยโลภมูลจิตและโทสะมูลจิตเป็นมูลเหตุก่อให้เกิดขึ้นโดยตรง แต่ที่กล่าวว่า อกุศลกรรมบถเกิดได้ในโมหมูลจิตครบ ๑๐ ประการบริบูรณ์นั้นเพราะเป็นการกล่าวโดยอ้อม เพราะอกุศลกรรมบถ ๑๐ อาศัยอวิชชาเป็นมูลเหตุนั่นเอง ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า เมื่อ

โลภมูลจิต เกิดขึ้น มีโลภะ เป็นเหตุนำ - โมหะเป็นเหตุหนุน
โทสมูลจิต เกิดขึ้น มีโทสะ เป็นเหตุนำ - โมหะเป็นเหตุหนุน
โมหมูลจิต เกิดขึ้น มีโมหะ เป็นเหตุนำอย่างเดียว

🔆 เหตุให้เกิดอกุศลจิต

การเกิดขึ้นแห่งอกุศลจิต ๑๒ ดวงนั้น เพราะการไม่ใส่ใจพิจารณาอารมณ์ให้แยบคาย เรียกว่า “อโยนิโสมนสิการ สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ผู้ที่มีอโยนิโสมนสิการนั้น อกุศลจิตที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น อกุศลจิตที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญยิ่งขึ้น กุศลจิตที่จะเกิดย่อมไม่มีโอกาสจะเกิด และกุศลจิตที่กำลังเกิดขึ้น ย่อมดับสิ้นลงพลัน อโยนิโสมนสิการนี้ ย่อมเกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุ ๕ ประการ คือ

๑. ปุพเพอกตปุญญตา ไม่ได้สร้างสมบุญไว้แต่ปางก่อน
๒. อปฏิรูปเทสวาส อยู่ในประเทศที่ไม่สมควร
๓. อสปปุริสปนิสฺสย ไม่ได้คบหาสนทนากับสัปบุรุษ
๔. อสทฺธมฺมสฺสวน ไม่ได้ฟังธรรมของสัปบุรุษ
๕. อตฺตมิจฉาปณิธิ ตั้งตนไว้ผิด

เหตุให้เกิดอโยนิโสมนสิการ ๕ ประการนี้ ย่อมมีอุปาระแก่กัน คือไม่ได้สร้างสมบุญไว้แต่ปางก่อน เป็นอดีตเหตุ เพราะไม่ได้สร้างสมบุญไว้แต่ปางก่อน จึงทำให้มาเกิดในประเทศที่ไม่สมควร คือ ไม่มีสัปบุรุษ จึงทำให้ไม่ได้ฟังธรรมและเพราะเหตุที่ไม่ได้ฟังธรรม จึงทำให้หลงผิดตั้งจิตไว้โดยไม่ชอบ คือตั้งตนไว้ผิดนั่นเอง จึงทำให้อกุศลจิตเกิดขึ้นโดยอาศัยอโยนิโสมนัสสิการ เหตุให้เกิดอโยนิโสมนัสสิการนี้จึงเท่ากับเป็นเหตุให้เกิดอกุศลจิตด้วย

🔆 อกุศลจิตเป็นธรรมที่ควรละ

อกุศลจิต เป็นจิตที่ชั่ว ที่บาป มีโทษและให้ผลเป็นทุกข์ ซึ่งตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนานั้น สอนให้ละชั่ว เป็นประการแรก ให้ประพฤติดี เป็นประการที่สอง และให้ทำจิตให้บริสุทธิ์ ปราศจากเรื่องเศร้าหมอง เป็นประการสุดท้าย เพราะฉะนั้น อกุศลจิตเป็นจิตที่ก่อให้เกิดการทำ การพูด และการคิดที่ไม่ดีเป็นการงานที่ชั่ว ที่บาปจึงจำเป็นต้องละอกุศลจิตก่อน การละอกุศลจิตนั้น ย่อมกระทำได้ ๓ ลักษณะ คือ
        ๑. ตทงฺคปหาน ละได้ชั่วคราว ด้วยศีล
        ๒. วิกฺขมฺภนปหาน ละโดยการข่มไว้ ด้วยสมาธิ
        ๓. สมุจเฉทปหาน ละโดยเด็ดขาด ด้วยปัญญา

การละอกุศลจิตได้ชั่วคราวนั้น หมายถึง การที่บุคคลระมัดระวังไม่ให้อกุศลจิต คือ โลภมูลจิต โทสมูลจิต และ โมหมูลจิต เกิดขึ้น ซึ่งจะต้องอาศัยธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเกิดขึ้นของอกุศลจิตเหล่านั้น คือ

โลภมูลจิต ซึ่งเป็นจิตที่เกิดจากความโลภ คือ ความอยากได้ ถ้าไม่สำรวมระวังให้ดีแล้ว ความโลภอยากได้ในอารมณ์ที่น่ายินดีนั้น ก็จะลุกลามแผ่ขยายกว้างขวางออกไปจนหาประมาณที่สุดมิได้เพื่อป้องกันมิให้ความโลภอยากได้ฟูขึ้นในใจต้องอาศัยธรรมที่ชื่อว่า สันโดษ คือ ความพอใจเท่าที่มีอยู่ หรือพอใจเท่าที่จะพึงหาได้โดยชอบธรรมรู้จักประมาณความอยากได้ ซึ่งองค์ธรรมได้แก่ อโลภเจตสิกการละโลภะด้วยอโลภะมีสันโดษ เป็นต้นนี้ เป็นการละได้เพียงชั่วคราวเท่าที่มีความระมัดระวังไม่ให้ความโลภอยากได้เกิดขึ้นชั่วขณะเท่านั้น เรียกว่า ละได้โดย ตทังคปหาน ถ้าจะละโดยอาการข่มความโลภไว้ไม่ให้เกิดขึ้นเป็นเวลานานๆ นั้นต้องอาศัย สมาธิ หรือฌานเป็นเครื่องมือ การละอกุศลจิตโดยการข่มไว้นี้ เรียกว่าละโดย วิกขัมภนปหาน ส่วนการที่จะละโลภมูลจิตโดยเด็ดขาดนั้น ต้องใช้ ปัญญาในมัคจิตเป็นผู้ละ ซึ่งสามารถจะละความโลภอย่างหยาบไปจนถึงขั้นละเอียดที่สุดในชั้นอรหัตมัคจิต การละโดยปัญญานี้ เป็นการละโดยเด็ดขาดที่เรียกว่า สมุจเฉทปหาน

โทสมูลจิต เป็นจิตที่เกิดจากความโกรธ เกลียด กลัว ความประทุษร้ายอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา เมื่อใครก็ตาม มีความเห็นเข้าข้างตนเป็นใหญ่แล้ว ย่อมมีแต่จะขู่วามเดือดร้อนก่อให้เกิดโทษประทุษร้ายตนเอง และผู้อื่นที่สมาคมด้วย เพราะความนิยมชมชื่นในตนเองมากเกินไปนั่นเอง จึงมองข้ามความผิดของตนเองไปมองเห็นแต่โทษผู้อื่นและคอยหาโอกาสเบียดเบียนเสมอ ฉะนั้น เพื่อผ่อนคลายความเบียดเบียนอันมีสภาพเป็นโทสมูลจิตนี้จึงจำเป็นต้องละโทสะโดยวิธีเจริญเมตตา คือ ต้องพิจารณาเสมอว่า ตัวเราเกลียดทุกข์ ปรารถนาสุขฉันใด ผู้อื่น สัตว์อื่น ก็เกลียดทุกข์ ปรารถนาสุขเหมือนเราฉันนั้น เมื่อพิจารณาดังนี้แล้ว ย่อมผ่อนคลายความเบียดเบียนซึ่งกันและกันลงได้ เป็นการละอกุศลโทสมูลจิตลงได้ชั่วคราวที่เรียกว่า ตทังคปหาน ในสติปัฏฐานอรรถกถาแสดงเหตุที่ประหาณโทสะไว้ ๖ ประการ คือ
    ๑. เมตตานิมิตฺตสฺส อุคุคโห ศึกษาในเครื่องหมายแห่งการเจริญเมตตา
    ๒. เมตตาภาวนานุโยโค ประกอบภาวนาในเมตตาเนือง ๆ
    ๓. กมฺมสฺสกตาปัจจเวกขณ พิจารณาเนือง ๆ ว่า เป็นกรรมของตน
    ๔. ปฏิสงฺขานพหุลีกตา ทำให้มากด้วยปัญญา
    ๕. กลยาณมิตตตา คบมิตรที่ดีมีเมตตา
    ๖. สปปยกถา ได้ฟังถ้อยคำที่สบาย (เมตตากถา)

นอกจากจะละโทสะด้วยเมตตาและเหตุอื่นๆ ทั้ง ๖ ประการดังกล่าวแล้ว ยังใช้สมาธิหรือฌานละได้โดยการข่มไว้ ตราบเท่าที่อยู่ในฌาน หรือสมาธิยังคงอยู่ เรียกการละนี้ว่า วิกขัมภนปหาน ส่วนการจะละโทสะขั้นเด็ดขาดไม่ให้เกิดขึ้นใหม่อีกนั้นต้องละโดยปัญญาแห่งอนาคามิมัคจิต เป็นการละที่สิ้นสุด เป็นสมุจเฉทปหาน

โมหมูลจิต เป็นจิตที่ไม่ได้แสดงโทษออกมาให้ประจักษ์ แต่ก็เป็นรากเหง้าแห่งอกุศลจิตทั้งปวง มีสภาพปิดบังความจริงไว้ ซึ่งเปรียบเสมือนความมืด ฉะนั้น การประหานความมืดนั้น ต้องอาศัยความสว่าง ซึ่งได้แก่ ปัญญานั่นเอง ในสติปัฏฐานอรรถกถาแสดงเหตุที่ประหาณโมหะ ประกอบด้วยวิจิกิจฉา และอุทธัจจะไว้ดังนี้ คือ

เหตุที่ประหาณวิจิกิจฉา ๖ ประการ
๑. พหุสสุตตา เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก
๒. ปริปุจฺฉกตา หมันสอบสวนทวนถาม
๓. วินเย ปกตญฺญุตา รอบรู้ชำนาญและเคร่งครัดในระเบียบวินัย
๔. อธิโมกขพหุลตา เต็มไปด้วยการตัดสินใจมั่น
๕. กลยาณมิตตตา มีมิตรที่ดี
๖. สปฺปายกถา ได้ฟังถ้อยคำอันคลายสงสัย

เหตุที่ประหาณอุทธัจจะ ๖ ประการ
๑. พหุสฺสุตตา เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก
๒. ปริปุจฺฉกตา หมันสอบสวนทวนถาม
๓. วินเย ปกตญฺญุตา รอบรู้ชำนาญและเคร่งครัดในระเบียบวินัย
๔. พุทฺธเสวิตา ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าบ่อยๆ
๕. กลยาณมิตฺตตา มีมิตรที่ดี
๖. สปปายกถา ได้ฟังถ้อยคำอันเป็นที่สบาย

การละโมหะ หรือ อวิชชานั้น ต้องอาศัยปัญญา ตั้งแต่สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา และ ภาวนามยปัญญา โดยลำดับ เพราะปัญญานั้นเป็นแสงสว่างที่จะทำลายความมืด คือ โมหะโดยตรง แต่การที่จะละโมหะ หรืออวิชชาได้โดยเด็ดขาดไม่ให้มีเหลืออยู่เลยนั้น จะต้องใช้ปัญญาในอรหัตมัคจิตเป็นผู้ละ

จิตตสังคหวิภาค


ปริเฉจที่ ๑
จิตปรมัตถ์


🔅 จิต คืออะไร?

จิตเป็นธรรมชาติรู้อารมณ์ คือ ได้รับอารมณ์อยู่เสมอ จึงเรียกว่า รู้อารมณ์ ดังพระบาลีที่ว่า อารมณํ จินฺเตตีติ - จิตฺตํ ธรรมชาติใด ย่อมรู้อารมณ์อยู่เสมอธรรมชาตินั้น ชื่อว่า "จิต"

อารมณ์ เป็นธรรมชาติที่ถูกจิตรู้ มี ๖ อย่าง คือ : -

๑. รูปารมณ์ ได้แก่รูปสี ถูกจิตรู้ด้วยการ เห็น
๒. สัททารมณ์ ได้แก่เสียง ถูกจิตรู้ด้วยการ ได้ยิน
๓. คันธารมณ์  ได้แก่กลิ่น ถูกจิตรู้ด้วยการ รู้กลิ่น
๔. รสารมณ์ ได้แก่รส ถูกจิตรู้ด้วยการ รู้รส
๕. โผฏฐัพพารมณ์  ได้แก่ แข็ง-อ่อน, เย็น-ร้อน, หย่อน-ตึง ถูกจิตรู้ด้วยการ รู้สัมผัส
๖. ธรรมารมณ์ ได้แก่จิต-เจตสิก, ปสาทรูป, สุขุมรูป, นิพพาน, บัญญัติ ถูกจิตรู้ด้วยการ คิดนึก

การรู้อารมณ์ มี ๓ แบบ คือ : -

๑. การรู้แบบสัญญารู้ คือ การรู้โดยอาศัยการกำหนดจดจำเอาไว้ เช่น จำได้ว่าสีขาว สีดำ ผู้หญิง ผู้ชาย เป็นต้น
๒. การรู้แบบปัญญารู้ คือ การรู้เหตุผลตามความเป็นจริง เช่น รู้บาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ หรือรู้รูปนามตามความเป็นจริงเป็นการรู้เพื่อทำลายกิเลส มีความเห็นผิด เป็นต้น เรียกว่า "ปัญญารู้"
๓. การรู้แบบวิญญาณ คือ รู้ว่า ได้มีการรับอารมณ์อยู่เสมอตามทวารต่างๆ ได้แก่ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รส รู้สึกถูกต้อง และรู้คิดนึก

การรู้อารมณ์ของจิต จึงเป็นการรู้แบบวิญญาณรู้นั่นเอง เพราะคำว่า “จิต” หรือ “วิญญาณ” มีความหมายเป็นอย่างเดียวกันในปฏิสัมภิทาพระบาลีมหาวรรคได้แสดงไว้ว่าจิตมีชื่อต่าง ๆ ที่ใช้เรียกขานกันถึง ๑๐ ชื่อ ดังแสดงว่า

ยํ จิตฺตํ มโน หทยํ มานสํ ปณฺฑรํ มนายตนํ มนินฺทฺรียํ วิญญาณํ วิญญาณกฺขนฺโธ ตชฺชา มโนวิญญาณธาตุ อิทํ จิตฺตํ อัฏฐสาลินีอรรถกถาธิบายไว้ว่า

ธรรมชาติใดย่อมคิด ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า “จิต”
ธรรมชาติใดย่อมน้อมไปหาอารมณ์ ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า “มโน”
จิตที่รวบรวมไว้ภายในนั่นแหละ ชื่อว่า “หทัย”
ธรรมชาติฉันทะ คือความพอใจที่มีอยู่ในใจนั้น ชื่อว่า “มานัส”
จิตเป็นธรรมชาติที่ผ่องใส จึงชื่อว่า “ปัณฑระ”
มนะที่เป็นอายตนะ คือเครื่องต่อ จึงชื่อว่า “มนายตนะ”
มนะที่เป็นอินทรีย์ คือครองความเป็นใหญ่ จึงชื่อว่า “มนินทรีย์”
ธรรมชาติใดที่รู้อารมณ์ ธรรมชาตินั้น ชื่อ “วิญญาณ”
วิญญาณที่เป็นขันธ์ จึงชื่อว่า “วิญญาณขันธ์”
มนะที่เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งรู้อารมณ์ จึงชื่อว่า “มโนวิญญาณธาตุ”


🔅 สามัญลักษณะของจิต

จิตเป็นสังขตธรรม คือ เป็นธรรมชาติที่ถูกปรุงแต่งโดยอำนาจแห่งปัจจัยมี อารัมณปัจจัย อนันตรปัจจัย เป็นต้น จิตจึงมีสภาวะที่เป็นสามัญลักษณะ หรือไตรลักษณะคือ: -

อนิจจลักษณะ คือ สภาพความไม่เที่ยง แปรปรวน
ทุกขลักษณะ คือ สภาพความทนอยู่ไม่ได้ เพราะถูกบีบคั้นเบียดเบียน
อนัตตลักษณะ คือ สภาพความไม่ใช่ตัวตน ไม่เป็นแก่นสารที่เหนืออำนาจการบังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างใด ๆ ได้

เพราะจิตมีสภาพที่เป็นไตรลักษณ์ดังกล่าวนี้ จิตจึงมีอาการเกิด-ดับ สืบต่อเนื่องกันไปเป็นสาย และการเกิด-ดับสืบต่อนี้รวดเร็วมาก มีอนุมานว่า ชั่วลัดนิ้วมือเดียว จิตเกิด-ดับถึงแสนโกฏิขณะ

สังขตธรรมอื่น คือ เจตสิกและรูป ก็มีสามัญลักษณะเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจสภาวะลักษณะอันแท้จริงของจิตนั้นได้จะต้องพิจารณาจากวิเสสลักษณะ คือ ลักษณะพิเศษประจำตัวของจิต ๔ ประการ ที่เรียกว่า ลักขณาทิจตุกะของจิต คือ : -

วิชานนลกขณํ มีการรู้อารมณ์ เป็นลักษณะ
ปุพฺพงฺคมรสํ มีการเป็นประธานในธรรมทั้งปวง เป็นกิจ
สนธานปัจจุปัฏฐาน มีการเกิดสืบเนื่องกันไม่ขาดสาย เป็นอาการปรากฏ
นามรูปปทฏฐานํ มีนามรูป เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

ในธรรมบท ภาค ๒ ได้แสดงถึงสภาพของจิตไว้ ดังนี้

ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คุหาสยํ เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา แปลว่า ชนทั้งหลายใดจักระวังจิต ซึ่งไปไกล ไปเดี่ยว ไม่มีสรีระ มีคูหา เป็นที่อาศัยไว้ได้ ชนทั้งหลายนั้นจะพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร

จากคาถาธรรมบทนี้ แสดงสภาพของจิตให้ได้ทราบไว้หลายนัย คือ : -

จิต ธรรมชาติรู้อารมณ์ ไปได้ไกล (ทูรงฺคมํ) หมายถึง จิตสามารถน้อมเอาอารมณ์ที่อยู่ไกลแสนไกล ที่เคยพบเห็นมาแล้ว เอามาคิดนึกได้ ไม่ใช่จิตออกจากร่างไปท่องเที่ยวได้ไกล

จิต เป็นธรรมชาติไปเดี่ยว หรือไปดวงเดียว (เอกจร) หมายถึง จิตรู้อารมณ์ได้ทีละอย่าง จิตขณะหนึ่งจะรู้อารมณ์หลายอย่างพร้อมกันไม่ได้ จิตขณะหนึ่งรู้อารมณ์ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เนื่องจากจิตเกิด-ดับรวดเร็วมาก จึงเหมือนกับสามารถรู้อารมณ์ได้หลายอย่างในคราวเดียวกันได้จิตขณะหนึ่ง ๆ ย่อมรู้อารมณ์ได้อย่างเดียวเท่านั้น

จิต เป็นนามธรรมไม่มีรูปร่างสัณฐานให้รู้ได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ต้องรู้ได้ด้วยใจเท่านั้น มีสภาวะเป็นอรูปธรรม จึงไม่อาจแสดงรูปร่างสัณฐานให้ปรากฏได้ (อสรีรํ)

จิต เป็นธรรมชาติที่ต้องมีวัตถุเป็นที่เกิดและที่อาศัย (คหาสนํ) สำหรับสัตว์ที่เกิดในปัญจโวการภูมิ คือ ภูมิที่มีรูปนามขันธ์ ๕ วัตถุที่อาศัยของจิตมี ๖ แห่ง ได้แก่ จักขุวัตถุ, โสตวัตถุ, ฆานวัตถุ, ชิวหาวัตถุ, กายวัตถุ, และหทัยวัตถุ โดยสภาวปรมัตถธรรมได้แก่ ปสาทรูป ๕ และหทัยวัตถุรูป ๑ จิตจะล่องลอยออกไปนอกวัตถุที่อาศัยไม่ได้ แม้เวลาตาย จิตก็ดับลงพร้อมกับความดับของหทัยวัตถุรูป นั่นเอง

จิตของสัตว์ทั้งหลาย นอกจากจิตของพระอรหันต์ ย่อมถูกอาสวกิเลสผูกพันอยู่เป็นประจำ ทำให้ไม่รู้ความจริงของรูปนาม คือทุกขสัจจะ จึงเกิดความสำคัญผิดว่ารูปนามขันธ์ ๕ เป็นอัตตาตัวเรา ปรารถนาความสวย ความสุข ความเที่ยง วิปลาสไปจากความเป็นจริงอยู่เสมอ เพราะเหตุนั้นพระพุทธองค์จึงให้ระวังรักษาจิตให้พ้นจากเครื่องผูกของมาร (กิเลส) โดยจะต้องเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นทางเดียว ที่จะทำให้หมดจดจากกิเลส, แจ้งพระนิพพาน และพ้นจากสังสารทุกข์ได้ ฉะนั้น จึงไม่มีจิตของใครที่เกิดมาพร้อมความบริสุทธิ์ได้ ต้องถูกกิเลสมารผูกพันไว้อยู่ทั่วหน้ากัน จำเป็นต้องฟังธรรม และปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์เท่านั้น จึงจะสามารถหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องผูกของมารได้

🔅 อำนาจจิต

จิต นอกจากจะมีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะแล้ว ยังมีกิจหรือหน้าที่เป็นประธานในธรรมทั้งปวง คือ ทำให้สำเร็จการงานทั้งหลาย ทางกาย วาจา ใจ ดังในธรรมบทกล่าวว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฎฐา มโนมยา มนสา เจ ปทุฏฺเฐน ภาสติ วา กโรติ วา ตโตนํ ทุกฺขมเนฺวติ จกฺกํว วหโต ปทํ ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าบุคคลใด มีใจชั่วแล้ว พูดอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม เพราะความชั่วนั้น ทุกข์ย่อมตามบุคคลนั้นไปดุจล้อหมุนตามรอยเท้าแห่งโค ที่นำแอกไปอยู่ ฉะนั้น

มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฐา มโนมยา มนสา เจ ปสนฺเนน ภาสติ วา กโรติ วา ตโตนํ สุขมเนฺวติ ฉายาว อนุปายินี ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าบุคคลใด มีใจดีแล้ว พูดอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม เพราะความดีนั้น สุขย่อมตามบุคคลนั้นไปดุจเงาติดตามตน ฉะนั้น

แสดงว่า การงานต่าง ๆ ของสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำบาป ทำบุญอย่างไรก็ตาม ล้วนสำเร็จได้ด้วยจิตใจทั้งสิ้น ถ้าไม่มีจิตแล้วก็ไม่อาจทำกรรมอะไรได้เลย จิตจึงมีอำนาจกระทำความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลายให้วิจิตรต่าง ๆ ดังวจนะว่า :-

จิตฺตึกโรตีติ = จิตฺตํ แปลความว่า ธรรมชาติใด ทำความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลายให้วิจิตร ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า จิต ฉะนั้น จิตจึงมีอำนาจทำให้ธรรมชาติทั้งหลายเป็นไปโดยวิจิตร ประมวลความวิจิตรของจิตไว้ ๖ ประการ คือ : -

  • ๑. วิจิตรโดยการกระทำ หมายความว่า วัตถุสิ่งของทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในโลกและความประพฤติเป็นไปของสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นย่อมมีทั้งงดงามแปลกประหลาดน่าพิศวง และน่าสยดสยองนั้น ล้วนสำเร็จได้ด้วย จิต
  • ๒. วิจิตรด้วยตนเอง หมายถึง สภาพของจิตนั่นเอง มีความเป็นไปอย่างน่าพิศวงนานาประการ มีทั้งจิตที่เป็นอกุศล กุศล, วิบาก, อภิญญาและกิริยา เช่น จิตที่มีราคะ, จิตมีโทสะ และจิตที่มีศรัทธา, อภิญญา, ปัญญา และจิตที่สงบ เป็นต้น
  • ๓. วิจิตรในการสั่งสมกรรม และ กิเลส หมายถึง กรรม คือ การกระทำและกิเลสเครื่องทำให้จิตใจเศร้าหมอง ที่ปรากฏขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลายอยู่เป็นประจำนั้น เพราะมีการสั่งสมไว้ในจิตมาแล้วแต่อดีต ครั้นมาได้รับอารมณ์ใหม่ในปัจจุบัน ก็สนับสนุนกรรมและกิเลสให้ปรากฏขึ้นมาใหม่ และจะเก็บสั่งสมไว้ต่อไปอีก
  • ๔. วิจิตรในการรักษาวิบากที่กรรมและกิเลสได้สั่งสมไว้ หมายถึง กรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรมที่จิตก่อให้เกิดขึ้น ผลของกรรมคือวิบาก ย่อมไม่สูญหายไปไหน แม้กรรมนั้นจะเล็กน้อย หรือได้กระทำมาแล้วช้านานปานใดก็ตามผลแห่งกรรม คือวิบากนั้น จะติดตามไปให้ต้องได้รับผล เมื่อถึงโอกาส
  • ๕. วิจิตรในการสั่งสมสันดานตนเอง หมายถึง จิตที่ก่อให้เกิดการกระทำอย่างใดขึ้นก็ตามเมื่อได้กระทำอยู่เสมอๆ เป็นนิตย์แล้วย่อมจะติดเป็นนิสัยเป็นสันดาน ทำให้เกิดความชำนาญในการกระทำอย่างนั้นเรื่อยๆ ไป ทั้งนี้ เพราะเมื่อจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป และทำให้จิตดวงใหม่เกิดสืบต่ออยู่เรื่อย ๆ ไป จิตดวงเก่าที่ดับไปนั้น ย่อมส่งมอบกิจการงานให้จิตดวงใหม่โดยไม่ขาดสาย ในลักษณะที่เป็นอนันตรปัจจัย และอาเสวนปัจจัย เป็นต้น
  • ๖. วิจิตรด้วยอารมณ์ต่าง ๆ หมายถึง จิตย่อมรับอารมณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ คือ ประเดี๋ยวเห็น, ประเดี๋ยวได้ยิน ได้กลิ่น, รู้รส เป็นต้น สับเปลี่ยนเวียนวนอยู่ในอารมณ์ทั้ง ๖ มีรูปารมณ์บ้าง สัททารมณ์บ้าง คันธารมณ์บ้าง เป็นต้น


ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่า 
สิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งหมดที่วิจิตรพิสดารนั้น เพราะอำนาจแห่งจิต คือ มีจิตเป็นผู้กระทำให้วิจิตร ในสิ่งที่ไม่มีชีวิต ก็ได้แก่วัตถุสิ่งของทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในโลก และในสิ่งที่มีชีวิต ก็ได้แก่สัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายที่วิจิตรนั้น เพราะกำเนิดวิจิตร, กำเนิดวิจิตร เพราะการกระทำ (อกุศลกุศล) วิจิตร, การกระทำวิจิตร เพราะตัณหา คือ ความยินดีติดใจวิจิตร, ตัณหาวิจิตร เพราะสัญญาวิจิตร, สัญญาวิจิตร เพราะจิตสั่งสมวิจิตร ดังบาลีในปรมัตถทีปนีฎีกาแสดงว่า

จิตฺตวิจิตฺตตาย สญฺญาวิจิตฺตตา, สญฺญาวิจิตตตาย ตณฺหาวิจิตฺตตา, ตณฺหาวิจิตฺตตาย กมฺมานิ วิจิตฺตานิ กมฺมวิจิตตฺตา โยนิโย วิจิตฺตตา, โยนิวิจิตฺตตาย เตสํ ติรจฺฉานคตานํ วิจิตฺตตา เวทิตพฺพา แปลว่า ความวิจิตรของสัตว์ทั้งหลายนั้น เพราะกำเนิดวิจิตร, กำเนิดวิจิตรเพราะการกระทำทางกาย วาจา ใจ วิจิตร, การกระทำทางกาย วาจา ใจ วิจิตร เพราะตัณหา คือ ความพอใจวิจิตร, ตัณหาวิจิตรก็เพราะสัญญา คือ ความจำเรื่องราวต่างๆ วิจิตร, สัญญาวิจิตรก็เพราะจิตวิจิตร รวมความแล้ว จิต ทำให้วิจิตรทั้งภายในและภายนอกสันดานของตน คือ ทำให้สัตว์ทั้งหลายวิจิตร และทำให้วัตถุภายนอกวิจิตร

🔅 จํานวนจิต

เมื่อกล่าวตามสภาวลักษณะของจิตแล้ว จิตมีจำนวนเพียง ๑ เท่านั้น เพราะจิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ขณะใดจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นการรู้อารมณ์ก็เกิดขึ้น จะห้ามการรู้อารมณ์ไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้ สภาวลักษณะของจิตเมื่อกล่าวโดยทั่วไป จึงเป็นการรู้อารมณ์อย่างเดียว เมื่อนับจำนวนโดยสภาวลักษณะแล้ว จึงมีเพียง ๑ แต่จะกล่าวถึงลักษณะที่รู้อารมณ์พิเศษของจิตแล้ว จิตจะมีความสามารถในการรู้อารมณ์ไม่เหมือนกัน โดยอำนาจการปรุงแต่งของเจตสิกที่เกิดขึ้นพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีที่อาศัยและมีอารมณ์อันเดียวกันกับจิต จึงทำให้จิตมีความสามารถในการรู้อารมณ์พิเศษแตกต่างกันออกไป เช่น รู้ในเรื่องที่เป็นบุญ เป็นบาป รู้ในการสงบระงับจากกาม คือ รู้ในเรื่องรูปฌาน อรูปฌาน และรู้อารมณ์นิพพาน เพราะฉะนั้น เมื่อจะศึกษากันถึงความพิสดารของจิตแล้ว จะต้องศึกษาประเภทต่าง ๆ ของจิตที่รับอารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ต่อไป ซึ่งจำแนกจิตออกไปทั้งหมดได้อย่างย่อ ๘๙ และอย่างพิสดารได้ ๑๒๑


🔅 จําแนกประเภทจิตโดยนัยต่าง ๆ

จิตจำนวน ๘๙ หรือ ๑๒๑ นั้น จำแนกเป็นนัยต่างๆ ได้ ๙ นัย คือ: -

  • ๑. ชาติเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตโดยชาติ มี ๔ ชาติ ได้แก่ อกุศลชาติ กุศลชาติ วิปากชาติ และกิริยาชาติ   
  • ๒. ภูมิเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตโดยภูมิ มี ๔ ภูมิ ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ และโลกุตรภูมิ 
  • ๓. โสภณเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตที่ดีงามประเภทหนึ่ง เรียกว่า “โสภณจิต” และประเภทจิตที่เหลือนอกนั้น เรียกว่า “อโสภณจิต” 
  • ๔. โลกเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตที่เป็นอยู่ในโลกทั้ง ๓ มี กามโลก รูปโลก และอรูปโลก เรียกว่า “โลกียจิต” กับจิตที่พ้นจากความเป็นไปในโลกทั้งที่เรียกว่า “โลกุตรจิต”
  • ๕. เหตุเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตที่ประกอบด้วยเหตุ ที่เรียกว่า “สเหตุกจิต” และที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ที่เรียกว่า “อเหตุกจิต
  • ๖. ฌานเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตที่สามารถกระทำฌานเรียกว่า "ฌานจิต" และที่ไม่สามารถกระทำฌาน เรียกว่า "อฌานจิต"
  • ๗. เวทนาเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตโดยการเสวยอารมณ์ ได้แก่จิตที่เกิดพร้อมด้วย สุขเวทนา ทุกขเวทนา โสมนัสสเวทนา โทมนัสสเวทนา และอุเบกขาเวทนา
  • ๘. สัมปโยคเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตโดยสัมปยุตและวิปปยุต
  • ๙. สังขารเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตโดยสภาพมีกำลังแก่กล้าเรียกว่า “อสังขาริก” และสภาพที่มีกำลังอ่อนกว่า เรียกว่า “สสังขาริก

การอธิบายจิตต่อไปนี้ พระอนุรุทธาจารย์ แสดงจิตโดยภูมิเภทนัยก่อนเพราะเป็นการแสดงความเป็นไปของจิตที่ท่องเที่ยวไปในภูมิต่างๆ มีกามภูมิ เป็นต้น อย่างที่เราท่านทั้งหลายกำลังประสบอยู่นี้ ย่อมเข้าใจง่ายกว่าการแสดงจิตในประเภทอื่นๆ


🔅 
จำแนกจิตโดยภูมิ

ตตฺถ จิตตํ ตาว จตุพฺพิธํ โหติ กามาวจรํ รูปาวจรํ อรูปาวจรํ โลกุตฺตรญฺเจติ จิตปรมัตถ์ที่แสดงภูมิไว้เป็นอันดับแรกนี้ มี ๔ ประเภท คือ กามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต และโลกุตรจิต

ในจำนวนจิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ นั้น เมื่อจำแนกโดยภูมิแล้วได้ ๔ ประเภทคือ 
๑. กามาวจรจิต ๕๔ ดวง
๒. รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
๓. อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง
๔. โลกุตรจิต ๘ ดวง หรือ ๔๐

🔅 กามาวจรจิต ๕๔

คำว่า กามาวจรจิต เมื่อแยกบทแล้วได้ ๓ บท คือ กาม + อวจร + จิต = กามาวจรจิต 
กาม” หมายถึง ความยินดีติดใจในอารมณ์ ๖ มีรูป, เสียง, กลิ่น รส โผฏฐัพพะและเรื่องราวที่คิดนึก หรือหมายถึงสิ่งใดอันเป็นที่ชอบใจ สิ่งนั้นก็ได้ชื่อว่า "กาม" 

ดังมีวจนัตถะว่า กาเมตีติ = กาโมกามียตีติ

กาโม ซึ่งแปลว่า “ธรรมชาติใด
ย่อมมีความต้องการกามอารมณ์ ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า “กาม” ได้แก่ กิเลสกาม คือ กามตัณหา หรือ “ธรรมชาติใดเป็นที่ชอบของกามตัณหา ธรรมชาตินั้นก็ชื่อว่า "กาม" ได้แก่ วัตถุกาม คือ กามจิต เจตสิก รูป ที่เป็นอารมณ์ของกามตัณหา

กิเลสกาม หมายถึง สภาพที่เป็น ตัวปรารถนา ตัวใคร่ ตัวกำหนัดยินดีเพลิดเพลินในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ที่เป็นกามธรรม

วัตถุกาม หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ให้กามตัณหาเข้าไปยึดหน่วงไว้ได้แก่ กามอารมณ์ คือ กามจิต กับ เจตสิกที่ประกอบและรูปธรรม

“อวจร” แปลว่า “ท่องเที่ยวไป” หรือ “ซึ่งอาศัยอยู่” ฉะนั้น “กามาวจรจิตจึงหมายถึง จิตที่ท่องเที่ยว หรืออาศัยอยู่ในภูมิ อันเป็นที่เกิดของกิเลสกามและวัตถุกามรวมความว่า กามาวจรจิต หรือเรียกสั้นๆ ว่า กามจิตนั้น มีความหมายเป็น ๓ นัย คือ: -

๑. หมายถึง จิตที่รับกามอารมณ์โดยมาก
๒. หมายถึง จิตที่เกิดอยู่ในกามภูมิ ๑๑ โดยมาก
๓. หมายถึง จิตที่ข้องอยู่ในกามคุณอารมณ์

มีวจนัตถะว่า กาเม อวจรตีติ = กามาวจรํ แปลว่า "จิตเหล่าใดท่องเที่ยวอยู่ในกามอารมณ์หรือกามภูมิโดยมาก จิตเหล่านั้น ชื่อว่า กามาวจร"

กามาวจรจิตหรือกามจิต ซึ่งมีจำนวน ๕๔ ดวงนั้น จำแนกได้ ๓ ชนิด คือ

  • อกุศลจิต ๑๒
  • อเหตุกจิต ๑๘
  • กามาวจรโสภณจิต ๒๔

ในกามาวจรจิต ๕๔ ดวงนี้ พระอนุรุทธาจารย์ ได้แสดงอกุศลจิตก่อนเพราะอกุศลจิตนี้ เมื่อเกิดขึ้นแก่ผู้ใด ก็ย่อมให้โทษแก่ผู้นั้น จึงสมควรที่จะได้รู้สภาพของจิตที่ก่อให้เกิดโทษภัยแก่ชีวิตก่อน เป็นเบื้องต้น

🔅 อกุศลจิต ๑๒

อกุศลจิต เป็นจิตที่ไม่ดีไม่งาม เป็นจิตที่หยาบ ที่ต่ำทราม หรือเป็นจิตที่ประกอบด้วยอกุศลเจตสิก ที่เป็นโทษ มีโทษ และให้ผลเป็นความทุกข์

คาถาสังคหะ
อฏฐิธา โลภมลานิ โทสมูลานิ จ ทฺวิธา โมหมูลานิ จ เทฺวติ ทฺวาทสากุสลา สิยุํฯ
แปลความว่า “โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ รวม ๑๒ ดวงนี้เป็น อกุศลจิต

อธิบายอกุศลจิต ๑๒ ดวงนี้ จำแนกออกเป็น ๓ ชนิด คือ โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ และโมหมูลจิต ๒

โลภมูลจิต หมายความว่า จิตที่เกิดขึ้น โดยมีอกุศลเจตสิกประกอบ และมีโลภเจตสิก เป็นประธาน
โทสมูลจิต หมายความว่า จิตที่เกิดขึ้น โดยมีอกุศลเจตสิกประกอบ และมีโทสเจตสิก เป็นประธาน
โมหมูลจิต หมายความว่า จิตที่เกิดขึ้น โดยมีอกุศลเจตสิกประกอบ และมีโมหเจตสิก เป็นประธาน

แสดงการจําแนกอกุศลจิตเป็น ๓ ชนิด

อกุศลจิต ๑๒

  • โลภมูลจิต ๘
  • โทสมูลจิต ๒
  • โมหมูลจิต ๒

ผังภาพอกุศลจิต ๓ ชนิดโดยพิสดาร


วันพุธ

ความเบื้องต้น

เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ และได้ทรงสอนมนุษย์ เทพยดา และพรหมเป็นเวลา ๕ พรรษาแล้ว ก็ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ใต้ต้นมะม่วง ชื่อว่า คัณฑามพฤกษ์ ใกล้นครสาวัตถี เพื่อประสงค์จะทรมานบรรดาเดียรถีย์ทั้งหลาย เมื่อเสร็จการแสดงยกมปาฏิหาริย์แล้ว ทรงพิจารณาว่าพระพุทธเจ้าในอดีตเมื่อสิ้นสุดยมกปฏิหาริย์แล้วเสด็จไปไหน ก็ทรงเห็นว่าเสด็จไปดาวดึงส์พิภพ จึงเหยียบยืนบนพื้นปฐพีด้วยพระบาทข้างหนึ่งวางพระบาทที่สองลงบนยอดเขายุคันธร แล้วยกพระบาทแรกก้าวไปเหยียบยอดเขาสิเนรุ ทรงประทับนั่งบนพระแท่นบัณฑุกัมพลแล้วทรงแสดงอภิธรรมกถาตั้งแต่ต้นพรรษา แก่เทพยดาในหมื่นจักรวาลที่มาประชุมกัน

ในเวลาภิกขาจาร (การเที่ยวบิณฑบาต) ทรงนิมิตพุทธนิมิตขึ้นแสดงธรรมแทน ทรงชำระพระทนต์ และชำระพระโอษฐ์ที่สระอโนดาต รับบิณฑบาตในหมู่ชนชาวอุตรกุรุแล้วกลับมาเสวยที่ริมสระอโนดาต พระสารีบุตรเถระขึ้นไปเฝ้าทุกวัน พระองค์โปรดประทานอภิธรรมกถา สังเขปนียแต่ทรงแสดงแก่เทพยดาและพรหมโดยวิตถารนัย ตลอดสมัย ๓ เดือน ธรรมาภิสมัยได้มีแก่เทวดาถึง ๘๐ โกฏิ ด้วยประการฉะนี้

อภิธรรมกถา มีการแสดง ๓ นัย คือ

๑. พระพุทธองค์แสดงแก่เทวดาและพรหมในดาวดึงส์ด้วยวิตถารนัย คือ นัยพิศดาร
๒. พระพุทธองค์ แสดงแก่ พระสารีบุตร ที่ริมสระอโนดาต ด้วยสังเขปนัยโดยย่อ
๓. พระสารีบุตร แสดงแก่สานุศิษย์ ๕๐๐ ที่เคยเกิดเป็นค้างคาวด้วยนาติวิตถารนาสังเขปนัย (กึ่งย่อถึงพิสดาร)

พระอานนท์ทรงจํามาแสดง ปรากฏอยู่ในพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ เป็นนาติวิตถารนาสังเขปนัย ที่รวบรวมไว้ในพระอภิธรรมปิฎกนั้นเอง ต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๙๐๐ เศษ มีเถระผู้มีความรู้ความสามารถแตกฉานในพระไตรปิฎกท่านหนึ่ง มีนามว่า พระอนุรุทธเถระ เป็นชาวเมืองกาวิลกัญจ์ แขวงเมืองมัทราช ทางทิศใต้ของประเทศอินเดีย ท่านได้มาศึกษาพระอภิธรรมอยู่ที่เมืองอนุราธปุรี สำนักวัดตุมูลโสมาราม ประเทศลังกา มีความสันทัดจัดเจนแตกฉานมาก นามของท่านปรากฏโดยทั่วไป ท่านได้อาศัยบาลี อรรถกถา ฎีกาและอนุฎีกา อันเป็นหลักสำคัญแล้วรวบรวมร้อยกรอง ย่อความมาจากพระอภิธรรมปิฎกซึ่งเป็นคัมภีร์ที่สำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนามีเนื้อหาที่ว่าด้วยเรื่องสภาวธรรมอันลึกซึ้ง ละเอียดลออพิสดารเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยากแก่การศึกษา และยากที่จะอธิบายให้บังเกิดความเข้าใจ ท่านได้อุตส่าห์พยายามย่อคัมภีร์อันแสนที่จะลุ่มลึก โดยแยกแยะลำดับเรื่องออกมาให้ง่ายแก่การศึกษาและจดจํา ชื่อว่า “อภิธัมมัตถสังคหะ” เพื่อหวังประโยชน์อันไพศาลที่จะให้ประชาชนเกิดปัญญาทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยดวงจิตที่เต็มไปด้วยความกรุณา

เป็นการยากยิ่ง ที่ผู้ใดจะศึกษาโดยตรงจากคัมภีร์พระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์ ให้บังเกิดความเข้าใจโดยมิต้องอาศัยพระอภิธัมมัตถสังคหะ ซึ่งรจนาขึ้นโดยพระอนุรุทธาจารย์ให้เป็นพื้นฐานรองรับเสียก่อน เริ่มตั้งแต่ปริจเฉทที่ ๑ ไปจนถึงปริจเฉทที่ ๔ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับความนับถือ ในฐานะเป็นพระคันถรจนาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์พระอภิธัมมัตถสังคหะ อันท่านผู้ศึกษาที่มีความเข้าใจได้เหตุผลจะเว้นกราบไหว้ระลึกถึงพระคุณของท่านด้วยความซาบซึ้งเสียมิได้ การที่ท่านได้รจนาอภิธัมมัตถสังคหะ จากคัมภีร์พระอภิธรรมปิฎกทั้ง ๗ คัมภีร์ออกมาเป็นอีกคัมภีร์หนึ่ง เพื่อให้ผู้ศึกษาบังเกิดความเข้าใจไม่สับสน โดยเรียงลำดับจากง่ายๆ ขึ้นไปนี้เอง ได้เป็นเหตุให้บางท่านที่มิได้เคยศึกษาพระอภิธรรมมาก่อน ทั้งอ่านอภิธัมมัตถสังคหะด้วยตนเองก็ยังไม่อาจเข้าใจ จึงได้กล่าวหาว่าอภิธัมมัตถสังคหะนั้นมิใช่เป็นพุทธพจน์ เพราะเป็นการแต่งขึ้นโดยพระอนุรุทธาจารย์ในภายหลัง เมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี่เอง

ความจริง ผู้บรรยายอภิธรรมส่วนมาก และผู้ศึกษาอภิธรรมที่มีความเข้าใจพอสมควร ย่อมประจักษ์แก่ใจตนเองว่า พระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์ กับพระอภิธัมมัตถสังคหะ ที่ท่านอุรุทธาจารย์รจนาขึ้นนั้น มิได้มีเนื้อความใดแตกต่างกันเลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นองค์ธรรม หรือตัวเลขมากมาย ที่บังคับควบคุมเอาไว้ไม่ให้กระจัดกระจายนั้น ก็มิได้ขัดแย้งกันเลย ทั้งเมื่อท่านจะแต่งคัมภีร์นี้ท่านก็ยังได้สรรเสริญพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียก่อน พร้อมด้วยแสดงความเคารพตั้งแต่เริ่มต้นปริจเฉทที่ ๑


อย่างไรก็ดี ท่านผู้ศึกษาก็ย่อมเป็นผู้มีความคิดพิจารณา เป็นผู้มีเหตุผลของตนเอง เมื่อท่านได้ศึกษาไปไม่ต้องจบปริจเฉทที่ ๑ ท่านก็จะทราบได้ด้วยตนเองว่า พระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์นั้น ไม่มีผู้ใดในโลกจะแต่งขึ้นมาเองได้ เว้นไว้แต่จะต้องอาศัยพระสัพพัญญุตญานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น แล้วท่านก็จะทราบได้ด้วยตนเองอีกว่า ผู้กล่าวหาว่า พระอภิธรรมมิใช่พุทธพจน์นั้น เพราะไม่เคยได้ศึกษา จึงไม่มีความเข้าใจในพระอภิธรรมเลย พระอภิธรรมจะเกิดขึ้นในโลกได้นั้น จะต้องอาศัยพระสัพพัญญุตญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ดังมีสาธกบาลี ที่ได้แสดงไว้ในปิฎกปริวารพระบาลีว่า "พุทฺธจนฺเท อนุปฺปนฺเน พุทฺธาทิจฺเจ อนุคฺคเต เตสํ สภาวธมุมานํ นามมตฺตํ น นายติ" แปลว่า พระจันทร์ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่อุบัติขึ้น พระอาทิตย์คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ปรากฏขึ้น ใครๆ ก็ไม่สามารถที่จะรู้ เพียงแต่ชื่อของสภาวธรรมเหล่านั้นได้เลย

ท่านพระอรรถกถาจารย์ แสดงไว้ในอัฏฐสาลินีอรรถกถาว่า “อภิธมฺโม นาม น อญฺเญสํ วิสโย สพฺพญฺญุตตพุทธานํ เยววิสโย เตสํ วเสน เทเสตพฺพเทสนา" แปลว่า ที่ชื่อว่า พระอภิธรรม เพราะไม่ใช่เป็นวิสัยของผู้อื่น เป็นวิสัยแห่งพระสัพพัญญูของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น และการแสดงพระอภิธรรมที่ปรากฏขึ้นได้โดยอำนาจแห่งพระสัมพัญญูของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายนั่นเอง

ท่านพระอนุรุทธาจาร รจนาพระอภิธัมมัตถสังคหะนั้น ท่านได้แบ่งออกเป็น ๙ ปริจเฉทด้วยกัน คือ

ปริจเฉทที่ ๑ แสดงเรื่องจิตปรมัตถ์ ชื่อ จิตตสังคหวิภาค
ปริจเฉทที่ ๒ แสดงเรื่องเจตสิกปรมัตถ์ ชื่อ เจตสิกสังคหวิภาค
ปริจเฉทที่ ๓ แสดงการรวบรวมธรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับจิต และเจตสิก คือ เวทนา เหตุกิจ ทวาร อารมณ์ และวัตถุ ชื่อว่า ปกิณณกสังคหวิภาค
ปริจเฉทที่ ๔ แสดงเรื่องการงานของจิต คือวิถีจิต ชื่อ วิถีสังคหวิภาค
ปริจเฉทที่ ๕ แสดงเรื่องจิตที่พ้นวิถี ตลอดจนธรรมที่สัมพันธ์กัน ชื่อ วิถีมุตตสังคหวิภาค
ปริจเฉทที่ ๖ แสดงเรื่องรูปปรมัตถ์และนิพพาน ชื่อ รูปสังคหวิภาค
ปริจเฉทที่ ๗ แสดงธรรมที่สงเคราะห์เข้าเป็นหมวดหมู่ รวมกันได้ ชื่อว่า สมุจจยสังคหวิภาค
ปริจเฉทที่ ๘ แสดงปรมัตถธรรมที่เป็นปัจจัยอุปการะกันตลอดจนบัญญัติธรรม ชื่อ ปัจจยสังคหวิภาค
ปริจเฉทที่ ๙ แสดงการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา ชื่อว่า กัมมัฏฐานสังคหวิภาค


การเข้าถึงพระพุทธศาสนามี ๓ ประการ

๑. ปริยัติศาสนา
ได้แก่ การศึกษาค้าสอนให้เกิดความเข้าใจ เพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติ โดยย่อแล้ว ปริยัติศาสนา ได้แก่ การศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกให้เข้าใจ นั่นเอง
๒. ปฏิบัติศาสนา ได้แก่ การปฏิบัติธรรม ตามที่ได้ศึกษามาจากปริยัติมีอยู่ ๓ อย่าง คือ ปฏิบัติด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา
๓. ปฏิเวธศาสนา ได้แก่ ผลที่เกิดขึ้นจากปริยัติ และปฏิบัติที่ถูกต้อง คือ นวโลกุตรธรรม ๙ ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนในเรื่องอะไร? ตลอดเวลา ๔๕ พรรษา นับตั้งแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็ได้แสดงธรรมโปรดแก่เวไนยสัตว์ เพื่อให้พ้นจากทุกข์ด้วยความหมดจรดจากกิเลส ซึ่งเมื่อรวมคำสอนทั้งสิ้นแล้ว ก็ได้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์สงเคราะห์ไว้เป็นปิฎก แบ่งออกเป็น ๓ ปิฏกด้วยกัน เรียกว่า พระไตรปิฎก ได้แก่

๑. พระวินัยปิฎก มี ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
๒. พระสุตตันตปิฎก มี ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
๓. พระอภิธรรมปิฎก มี ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

พระวินัยปิฎก แสดงเรื่องอะไร? พระวินัยปิฎก เป็นธรรมที่แสดงถึงเรื่องระเบียบ หรือข้อบังคับ วางหลักให้ประพฤติปฏิบัติเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม เหมือนดอกไม้ที่เขานํามาร้อย เอาไว้มิให้กระจัดกระจาย ผู้ที่มิได้ประพฤติตามกฎเกณฑ์ข้อบังคับ หรือล่วงละเมิด ย่อมถูกลงโทษตามสมควร พระวินัยปิฎกนี้ มีอยู่ ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แยกออกเป็น ๕ คัมภีร์ด้วยกัน คือ: -

๑. คัมภีร์อาทิกัมมิกะ
๒. คัมภีร์ปาจิตติยะ
๓. คัมภีร์มหาวรรค
๔. คัมภีร์จุลวรรค
๕. คัมภีร์ปริวาร

คัมภีร์ทั้ง ๕ นี้ มีชื่อย่อ เพื่อให้จําง่ายๆ โดยเอาพยางค์หน้ามาตั้งชื่อว่า อา, ปา, มะ, จุ, ปะ

พระสุตตันตปิฎก แสดงเรื่องอะไร? พระสุตตันตปิฎก เป็นธรรมที่แสดงถึงเรื่องที่เกี่ยวกับสมมุติสัจจะ อันเป็นความจริงส่วนหนึ่งสำหรับชาวโลก เป็นธรรมที่ยกสัตว์บุคคลขึ้นมาตั้ง เพื่อสรรสร้างให้บังเกิดความประพฤติที่ดีงาม อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความเรียบร้อยมีอยู่ ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฎกนี้ บางทีก็เรียกกันอย่างสั้นๆ ว่า พระสูตร ซึ่งจำแนกออกเป็น ๕ นิกายด้วยกัน คือ: -

๑. ทีฆนิกาย
๒. มัชฌิมนิกาย
๓. สังยุตตนิกาย
๔. อังคุตตรนิกาย
๕. ขุททกนิกาย

นิกายทั้ง ๕ นี้ มีชื่อย่อ เพื่อให้จําง่าย ๆ โดยเอาพยางค์หน้ามาตั้งว่า ที, มะ, สัง, อัง, ขุ

พระอภิธรรมปิฎก แสดงเรื่องอะไร? พระอภิธรรมปิฎก เป็นธรรมที่แสดงปรมัตถสัจจะ ปฏิเสธสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา เป็นเนื้อความที่จริงแท้แน่นอน ไม่มีการแปรปรวนกลับกลอก ไม่ว่าเวลาไหน หรือในที่ใด คล้ายวิชาวิทยาศาสตร์ที่เราศึกษาถึงความร้อน แสงเสียง แม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยเรื่องของสภาวธรรมที่เป็นความจริง เมื่อรู้แล้วทำให้เกิดปัญญา สามารถละกิเลส นำตนให้พ้นทุกข์ได้ มีอยู่ ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์มากเท่ากับพระวินัย และพระสูตร รวมกัน พระอภิธรรมปิฎก ในจํานวน ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แยกออกเป็น ๗ คัมภีร์

๑. ธัมมสังคนี ว่าด้วย หมวดหมู่แห่งปรมัตถธรรม
๒. วิภังค์ ว่าด้วย การแยกปรมัตถธรรมออกเป็นส่วนๆ
๓. ธาตุกถา ว่าด้วย เรื่องของธาตุแห่งปรมัตถธรรม
๔. บุคคลบัญญัติ ว่าด้วย บัญญัติ บุคคล และปรมัตถ์
๕. กถาวัตถุ ว่าด้วย คําถาม-คําตอบในปรมัตถ์
๖. ยมก ว่าด้วย การแสดงปรมัตถ์เป็นคู่ๆ
๗. มหาปัฏฐาน ว่าด้วย เหตุปัจจัยของปรมัตถ์

คัมภีร์ทั้ง ๗ นี้ มีชื่อให้เรียกสําหรับให้จำได้ง่ายกว่า สัง, วิ, ธา, ปู, กะ, ยะ, ปะ

พระอภิธัมมัตถสังคหะ คืออะไร? อภิธัมมัตถสังคหะ แยกออกเป็น อภิธัมมะ-อรรถะ-สังคหะ

อภิ - อันประเสริฐยิ่ง
ธัมมะ - ธรรมชาติที่ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่ชีวิต หรือธรรมชาติที่ทรงสภาพไว้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
อัตถะ - เนื้อความ
สัง - โดยย่อ
คหะ - รวบรวม

อภิธัมมัตถสังคหะ เป็นชื่อคัมภีร์อรรถกถา ที่ได้ประมวลเนื้อความจาก พระอภิธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทั้ง ๗ คัมภีร์เข้าไว้โดยย่อ เมื่อย่อคัมภีร์พระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์ลงไปให้สั้นที่สุดแล้ว ก็ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน บัญญัติ

พระบาลี คืออะไร? บาลี หมายถึง ถ้อยคําที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาโปรดแก่เวไนยสัตว์ซึ่งได้แก่ พระพุทธพจน์โดยตรง

อรรถกถา ได้แก่อะไร? อัตถะ - เนื้อความ กถา - กล่าวหรือถ้อยคํา รวมกันเข้าแล้วก็แปลว่า กล่าวเนื้อความนั้น คือกล่าวเนื้อความตามบาลีนั้นอีกทีหนึ่ง ผู้ขยายความตามบาลีนั้น เรียกว่า อรรถกถาจารย์ ท่านได้ขยายความจากบาลีออกมา เพื่อจะให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ให้แจ่มแจ้งขึ้น เพื่อสะดวกแก่การศึกษาเล่าเรียน อรรถกถาจารย์ได้รับความยกย่องจากบรรดาผู้ศึกษาทั้งหลาย เพราะเป็นผู้มีความรู้แตกฉาน โดยมากเป็นพระอริยบุคคล และทรงพระไตรปิฎก

ฎีกา ได้แก่อะไร? เมื่ออรรถกถาอธิบายขยายความออกมาแล้ว ผู้ศึกษาก็ยังเข้าใจไม่ได้อยู่อีก ท่านฎีกาจารย์จึงเป็นผู้ขยายความอรรถกถานั้นอีกชั้นหนึ่ง ต่อจากนี้ ก็มีอนุฎีกาจารย์ และเกจิอาจารย์ เป็นผู้ขยายความในข้อธรรมทั้งหลายที่ฎีกาจารย์ได้ทำไว้เพื่อให้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้นอีกเป็นชั้น ๆ ไป

พระอภิธรรม แสดงถึงอะไร? พระอภิธรรมนั้น เป็นธรรมที่แสดงถึงความจริง ๒ ประเภท คือ ปรมัตถธรรม กับ บัญญัติธรรม
๑. ปรมัตถธรรม หรือ ปรมัตถสัจจะ คือ ธรรมชาติอันประเสริฐ ที่เป็นความจริง ซึ่งปฏิเสธสัตว์และชีวิต ได้แก่ ธรรมชาติที่เป็นความจริง ที่ไม่มีการแปรปรวน หรือไม่มีความวิปริตด้วยประการใด ๆ มีอยู่ ๔ ประการ ได้แก่ จิต, เจตสิก, รูป, นิพพาน การรู้ปรมัตถธรรม มีประโยชน์อย่างยิ่ง คือทำให้พ้นทุกข์ได้แน่นอน
๒. บัญญัติธรรม หรือ สมมุติสัจจะ เป็นสิ่งที่บัญญัติแต่งตั้งขึ้น แล้วเป็นที่ยอมรับของหมู่ชน จึงได้เป็นสิ่งสมมุติขึ้นมาว่า เป็นความจริง เพื่อจะได้ใช้เรียกชื่อได้ถูกต้อง ตามความนิยมของคนหมู่หนึ่ง หรือประเทศหนึ่ง

ปรมัตถธรรม มีลักษณะอย่างไร? ปรมัตถธรรม มีลักษณะปฏิเสธสัตว์ และ ชีวิต (นิสสฤต นิชชีวสมม) เป็นสภาวธรรมที่มีจริงเป็นจริง มีลักษณะประจำอยู่ ๒ ลักษณะ คือ

๑. สามัญลักษณะ เป็นธรรมชาติที่มีลักษณะสามัญทั่วๆ ไป หรือมีลักษณะปกติธรรมดา ที่เหมือนกันของรูปธรรม และนามธรรม ในสามัญลักษณะ ที่ว่าเป็นตามธรรมดา หรือเป็นไปตามธรรมชาตินั้นเป็นไปใน ๓ ลักษณะเหล่านี้ คือ: -
        ก. อนิจจลักษณะ เป็นลักษณะที่มีความไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีความไม่มั่นคงต้องเปลี่ยนแปลงไปมาอยู่เสมอ
        ข. ทุกขลักษณะ เป็นลักษณะที่ทนไม่ได้ หรืออยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องเสื่อมสลาย
        ค. อนัตตลักษณะ เป็นลักษณะที่ว่างเปล่าจากตัวตน คือไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่สิ่งของ ทั้งไม่อยู่ในอำนาจการบังคับบัญชาของใคร

ปรมัตถธรรมโดยย่อนั้น มีอยู่ ๔ ประการ คือ จิต, เจตสิก, รูป, และนิพพาน จิต, เจตสิก, รูป ทั้ง ๓ นี้ มีสามัญลักษณะ เพราะประกอบไปด้วย อนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ อนัตตลักษณะ ที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ ส่วน พระนิพพานนั้น ไม่ได้อยู่ในลักษณะครบทั้ง ๓ ประการ มีสามัญลักษณะเพียงประการเดียว คือ อนัตตลักษณะ เท่านั้น สําหรับบัญญัติธรรม ไม่ประกอบด้วยไตรลักษณ์ หรือสามัญลักษณะทั้ง ๓ เลย เพราะเป็นเพียงบัญญัติหรือสมมุติขึ้น เพื่อให้เข้าใจกันเท่านั้น หาได้มีจริงๆ ไม่

๒. วิเสสลักษณะ เป็นธรรมชาติพิเศษที่มีประจำตัว ปรมัตถธรรมแต่ละอย่างก็มีลักษณะพิเศษเฉพาะ ๆ ของตน ที่ไม่เหมือนกันเลย วิเสสลักษณะมี ๔ ประการ คือ ลักษณะ, รส, ปัจจุปัฏฐาน และ ปทัฏฐาน
        ก. ลักษณะ ได้แก่ เครื่องแสดงออก หรือคุณสมบัติที่มีประจำตัวโดยเฉพาะ 
        ข. รสะ ได้แก่ หน้าที่การงานที่กระทำ หรือความสำเร็จที่มีอยู่ในตัวของปรมัตถธรรมทั้งหลาย รสะ จึงแบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ: 
                ๑) กิจรสะ ได้แก่ หน้าที่การงานของปรมัตถธรรมทั้งหลาย เช่น จิต มีหน้าที่การงานที่เป็นกิจรสะ ก็คือ เป็นประธานในสัมปยุตธรรมทั้งปวง หรือกิจรสะของเตโชธาตุ คือ ธาตุไฟ ย่อมมีหน้าที่การงานในการเผาไหม้ และกระทำสิ่งต่าง ๆ ให้สุกได้ เป็นหน้าที่ของไฟ
                ๒) สัมปัตติรสะ ได้แก่คุณสมบัติที่มีอยู่ประจำของปรมัตถธรรมทั้งหลาย เช่น จิต มีคุณสมบัติอยู่ประจำที่เป็นสัมปัตติรสะ ก็คือ มีเจตสิก ประกอบ เป็นสัมปยุตธรรมด้วย สัมปัตติรสะของพระนิพพาน คือ มีสภาพไม่เปลี่ยนแปลงเป็นนิจจัง หรือสัมปัตติรสะของเตโชธาตุ คือ ความร้อน ย่อมยังแสงสว่างให้สำเร็จเป็นคุณสมบัติ เป็นต้น

        ค. ปัจจุปัฏฐาน ได้แก่ ผลที่เกิดขึ้นจากรสะนั่นเอง หรือเป็นความปรากฏขึ้นจากกิจการนั้นๆ
        ง. ปทัฏฐาน ได้แก่ เหตุใกล้ที่เป็นเหตุให้ธรรมนั้นๆ ปรากฏขึ้น

วิเสสลักษณะ ๔ ประการดังกล่าวนี้ ชื่อว่า ลักขณาจตุกะ ซึ่งมีความหมายว่า ธรรมที่มีองค์ ๔ ประการ มีลักษณะ เป็นต้น

จิต เจตสิก รูป มีวิเสสลักษณะ ๔ ประการ ครบบริบูรณ์
นิพพาน มีวิเสสลักษณะ ๓ ประการเท่านั้น คือ มีลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน แต่ไม่มีปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ให้เกิดด้วยเหตุว่า พระนิพพานนั้น เป็นธรรมที่พ้นไปจากเหตุปัจจัยปรุงแต่ง

สำหรับบัญญัติธรรมนั้น ไม่มีวิเสสลักษณะเลย