วันอังคาร

จูฬตัณหาสังขยสูตร

ข้าพเจ้า(พระอานนท์)ได้สดับมาอย่างนี้

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของมิคารมาตา ณ บุพพารามเขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายอภิวาทแล้ว ได้ประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นแล้วด้วยธรรม
๑. เป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด  (หมายถึงผ่านที่สุดกล่าวคือความสิ้นไปและเสื่อมไปเพราะไม่มีธรรมเครื่องกำเริบอีก ได้แก่ ถึงพระนิพพาน)
๒. มีความเกษมจากโยคะสูงสุด (หมายถึงบรรลุธรรมที่สูงสุดอันปราศจากโยคะ ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา บรรลุพระนิพพาน ชื่อว่าผู้มีความปลอดโปร่งจากโยคกิเลส)
๓. ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด (ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด หมายถึงอยู่จบพรหมจรรย์ แล้วมีสภาวะที่ไม่เสื่อมอีก)
๔. มีที่สุดอันสูงสุด (หมายถึงมีที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่อยู่จบแล้ว)
เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”

             
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “จอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า‘ธรรมทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่น’(หมายถึงขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘ เป็นธรรมที่ไม่ควรยึดมั่นด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ เพราะเป็นภาวะไม่ดำรงอยู่โดยอาการที่บุคคลจะยึดถือได้)

ถ้าข้อนั้นภิกษุได้สดับแล้วอย่างนี้ว่า ‘ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น’ ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง
ครั้นรู้ยิ่งธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง
ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม

เธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด
พิจารณาเห็นความดับ
และพิจารณาเห็นความสลัดทิ้งในเวทนาทั้งหลายนั้นอยู่

เมื่อพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความสลัดทิ้งในเวทนาทั้งหลายนั้นอยู่ ย่อมไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก

เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น
เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสได้เฉพาะตนและรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป


จอมเทพกล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเท่านี้ ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นแล้วด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”

ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วอันตรธานไปจากที่นั้นนั่นเอง

พระมหาโมคคัลลานะทดสอบท้าวสักกะ
            สมัยนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค ได้มีความคิดว่า
ท้าวสักกะนั้นทราบเนื้อความแห่งพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วจึงยินดี หรือว่าไม่ทราบแล้วก็ยินดี ทางที่ดี เราควรรู้เรื่องที่ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบเนื้อความแห่งพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วยินดี หรือว่าไม่ทราบแล้วก็ยินดี

จากนั้นท่านพระมหาโมคคัลลานะได้อันตรธานจากปราสาทของมิคารมาตา ในบุพพารามไปปรากฏในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ เปรียบเหมือนคนแข็งแรงเหยียดแขน ออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น ครั้งนั้นท้าวสักกะจอมเทพกำลังเอิบอิ่มพร้อมพรั่งบำเรออยู่ด้วยทิพยดนตรี ๕๐๐ ชนิด ในสวนดอกบุณฑริกล้วน ท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะมาแต่ไกล จึงรับสั่งให้หยุดบรรเลงทิพยดนตรีทั้ง ๕๐๐ ชนิดไว้เสด็จ เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะแล้วตรัสว่า “นิมนต์เข้ามาเถิด ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ผู้นิรทุกข์ ขอต้อนรับ นานๆท่านจะมีเวลามา ณ ที่นี้ นิมนต์นั่งบน อาสนะที่ปูลาดไว้เถิด”

ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้แล้ว ส่วนท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงเลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงทูล ถามท้าวสักกะจอมเทพว่า “ท้าวโกสีย์ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถึงความหลุดพ้นด้วย ธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาโดยย่อแก่ท่านอย่างไร ขอโอกาสเถิด แม้อาตมภาพก็จักขอมี ส่วนในการฟังกถานั้น”

ท้าวสักกะตรัสตอบว่า “ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ข้าพเจ้ามีกิจมาก มีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก ทั้งหน้าที่ส่วนตัวและหน้าที่ของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ พระภาษิตใดที่ข้าพเจ้าฟังแล้วก็ลืมเสียเร็วพลัน พระภาษิตนั้น ท่านฟังดี เรียนดี ใส่ใจดีแล้ว ทรงจำไว้ดีแล้ว เรื่องเคยมีมาแล้ว สงครามระหว่างเทวดากับอสูรได้ ประชิดกันแล้ว ในสงครามนั้นพวกเทวดาชนะ พวกอสูรแพ้ ข้าพเจ้าชนะ เทวาสุรสงครามเสร็จสิ้นแล้ว กลับจากสงครามนั้นแล้วได้สร้างเวชยันตปราสาท เวชยันตปราสาทมี ๑๐๐ ชั้น ในชั้นหนึ่งๆ มีกูฏาคาร(เรือนมียอด) ๗๐๐ หลัง ใน กูฏาคารหลังหนึ่งๆ มีนางอัปสร ๗ องค์ นางอัปสรองค์หนึ่งๆ มีเทพธิดาบำเรอ ๗ องค์ ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านปรารถนาเพื่อจะชมสถานที่น่ารื่นรมย์แห่ง เวชยันตปราสาทหรือไม่”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะรับโดยดุษณีภาพ

พระเถระใช้นิ้วเท้าเขย่าเวชยันตปราสาท
            ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพและท้าวเวสวัณมหาราช นิมนต์ท่านพระมหาโมคคัลลานะให้นำหน้าเขายังเวชยันตปราสาท พวกเทพธิดาผู้บำเรอของท้าวสักกะเห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะมาแต่ไกลก็เกรงกลัวละอายอยู่ จึงเข้าสู่ห้องเล็กของตนๆ ดุจหญิงสะใภ้เห็นพ่อผัวแล้วก็เกรงกลัวละอายอยู่ ฉะนั้น

จากนั้น ท้าวสักกะจอมเทพและท้าวเวสวัณมหาราช เมื่อนิมนต์ให้ท่านพระมหาโมคคัลลานะเที่ยวเดินชมไปในเวชยันตปราสาท ได้ตรัสว่า “ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ขอท่านจงดูสถานที่ที่น่ารื่นรมย์แห่งเวชยันตปราสาทแม้นี้ ขอท่านจงดูสถานที่ที่น่ารื่นรมย์แห่งเวชยันตปราสาทแม้นี้” 

ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า “สถานที่ที่น่ารื่นรมย์ของท่านท้าวโกสีย์นี้งดงาม เหมือนสถานที่ของผู้ที่ได้ทำบุญไว้ในปางก่อน แม้มนุษย์ทั้งหลายเห็นสถานที่ที่น่ารื่นรมย์ใดๆ แล้ว ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘งามจริง ดุจสถานที่ที่น่ารื่นรมย์ของพวกเทพชั้นดาวดึงส์” ในขณะนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้มีความคิดว่า “ท้าวสักกะนี้เป็นผู้ประมาทอยู่มากนัก ทางที่ดีเราควรให้ท้าวสักกะนี้สังเวช” จึงบันดาลอิทธาภิสังขาร (อิทธาภิสังขาร หมายถึงการแสดงฤทธิ์ ในที่นี้พระมหาโมคคัลลานเถระ เข้าอาโปกสิณแล้วอธิษฐานว่า “ขอให้โอกาส(พื้นที่)อันเป็นที่ตั้งเฉพาะปราสาท จงเป็นน้ำ แล้วใช้หัวแม่เท้ากดลงที่ช่อฟ้าปราสาท ปราสาทนั้นสั่นสะท้านหวั่นไหวไปมา เหมือนบาตรวางไว้บนหลังน้ำ เอานิ้วเคาะที่ขอบบาตร ก็หวั่นไหวไปมา อยู่นิ่งไม่ได้ฉะนั้น) ใช้นิ้วหัวแม่เท้ากดเวชยันตปราสาทเขย่าให้สั่นสะท้านหวั่นไหว ทันใดนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ท้าวเวสวัณมหาราช และพวกเทพชั้นดาวดึงส์ มีความประหลาดมหัศจรรย์ใจ กล่าวกันว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง ไม่ เคยปรากฏ พระสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ใช้นิ้วหัวแม่เท้ากดทิพยพิภพเขย่าให้สั่นสะท้านหวั่นไหวได้”

ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะทราบว่า “ท้าวสักกะจอมเทพทรงมีความ สลดจิตขนลุกแล้ว” จึงทูลถามว่า “ท้าวโกสีย์ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสความหลุด พ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาโดยย่ออย่างไร ขอโอกาสเถิด แม้อาตมภาพก็จักขอมีส่วนเพื่อฟังกถานั้น”

ข้อปฏิบัติเพื่อความสิ้นตัณหา 
            ท้าวสักกะจึงตรัสว่า “ท่านพระมหาโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ ข้าพเจ้าจะเล่าถวาย ข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายอภิวาทแล้ว จึงได้ ยืนอยู่ ณ ที่สมควร แล้วได้ทูลถามว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มี ที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’

เมื่อข้าพเจ้าทูลถาม อย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ‘จอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ‘ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น’ ถ้าข้อนั้นภิกษุได้สดับแล้วอย่างนี้ว่า ‘ธรรมทั้งปวงไม่ ควรยึดมั่น’

ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่งธรรมทั้งปวงแล้ว
ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว
เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม
เธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด
พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความสลัดทิ้งในเวทนาทั้งหลายนั้นอยู่
เมื่อพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด
พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความสลัดทิ้งในเวทนาทั้งหลายนั้นอยู่
ย่อมไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก

เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น
เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตน และรู้ชัดว่า
‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ อีกต่อไป’ จอมเทพ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ หลุดพ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ท่านพระมหาโมคคัลลานะ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสความหลุดพ้นด้วยธรรม เป็นที่สิ้นตัณหาโดยย่อแก่ข้าพเจ้าอย่างนี้”


            ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะชื่นชมยินดีภาษิตของท้าวสักกะแล้วอันตรธานจากหมู่เทพชั้นดาวดึงส์มาปรากฏที่ปราสาทของมิคารมาตาในบุพพาราม เปรียบเหมือนคนแข็งแรงเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น ครั้งนั้น พวกเทพธิดาผู้บำเรอท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อท่านพระมหาโมคคัลลานะจากไปแล้วไม่นาน ได้ทูลถามท้าวสักกะจอมเทพว่า “ข้าแต่พระองค์ ผู้นิรทุกข์ พระสมณะนั้นเป็นพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระศาสดาของพระองค์หรือ หนอ”

ท้าวสักกะตรัสตอบว่า “เหล่าเทพธิดาผู้นิรทุกข์ พระสมณะนั้นไม่ใช่พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระศาสดาของเรา เป็นท่านพระมหาโมคคัลลานะผู้เป็นเพื่อนพรหมจารี ของเรา” 
พวกเทพธิดาเหล่านั้นทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เป็นลาภของพระองค์ พระองค์ได้ดีแล้วที่ได้พระสมณะผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ เป็นเพื่อน พรหมจารีของพระองค์ พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระศาสดาของพระองค์คงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากเป็นอัศจรรย์เป็นแน่”

ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น
            ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบว่า ‘พระองค์เป็นผู้ตรัสความหลุดพ้นด้วยธรรม เป็นที่สิ้นตัณหาโดยย่อแก่จอมเทพผู้มีศักดามากผู้ใดผู้หนึ่งบ้าง หรือหนอ”
              พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โมคคัลลานะ เรารู้อยู่ จะเล่าให้ฟัง ท้าวสักกะ จอมเทพเข้ามาหาเรา ถวายอภิวาทแล้วได้ประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควร แล้วได้ตรัส ถามเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุ จึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษม จากโยคะสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่า เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’

เมื่อท้าวสักกะนั้นถามอย่างนี้แล้ว เราตอบว่า ‘จอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ‘ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น’ ถ้าข้อนั้นภิกษุได้สดับแล้วอย่างนี้ว่า ‘ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น’
ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่งธรรมทั้งปวงแล้วย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง
ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม
เธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด
พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความสลัดทิ้งในเวทนาทั้งหลายนั้นอยู่
เมื่อพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด
พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความสลัดทิ้งในเวทนาทั้งหลายนั้นอยู่
ย่อมไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก
เมื่อไม่ยึดมั่น
 ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น
เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตน และรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจ อื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป
จอมเทพ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู็ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย โมคคัลลานะ เรารู้อยู่ว่า ‘เราเป็นผู้กล่าวความหลุดพ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาโดยย่อแก่ท้าวสักกะจอมเทพ อย่างนี้”


พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะมีใจยินดีชื่นชม พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล



วันอาทิตย์

วชิราสูตร

ข้าพเจ้า(พระอานนท์)ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ 

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ ครั้งนั้น เวลาเช้า วชิราภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตไปในพระนครสาวัตถีแล้ว เวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้วเข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อพักกลางวัน ครั้นถึงป่าอันธวันแล้ว จึงนั่งพักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง ฯ

ลำดับนั้น มารผู้มีบาปใคร่จะให้วชิราภิกษุณีบังเกิดความกลัวความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้าไปหาวชิราภิกษุณีถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้วได้กล่าวกะวชิราภิกษุณีด้วยคาถาว่า สัตว์นี้ ใครสร้าง ผู้สร้างสัตว์อยู่ที่ไหน สัตว์บังเกิดในที่ไหน สัตว์ดับไปในที่ไหน ฯ



ลำดับนั้น วชิราภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่ใครหนอกล่าวคาถาจะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์ ฯ ทันใดนั้น วชิราภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่คือมารผู้มีบาปใคร่จะให้เราบังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงกล่าวคาถา ฯ


ครั้นวชิราภิกษุณีทราบว่า นี่คือมารผู้มีบาป แล้วจึงได้กล่าวกะมารผู้มีบาปด้วยคาถาว่า ดูกรมาร เพราะเหตุไรหนอ ความเห็นของท่านจึงหวนกลับมาว่าสัตว์ ฯ ในกองสังขารล้วนนี้ ย่อมไม่ได้นามว่าสัตว์ ฯ  เหมือนอย่างว่า เพราะคุมส่วนทั้งหลายเข้า เสียงว่ารถย่อมมีฉันใด ฯ เมื่อขันธ์ทั้งหลายยังมีอยู่ การสมมติว่าสัตว์ย่อมมี ฉันนั้น ฯ

ความจริงทุกข์เท่านั้นย่อมเกิด ทุกข์ย่อมตั้งอยู่และเสื่อมสิ้นไป นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับ ฯ

ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า วชิราภิกษุณีรู้จักเรา ดังนี้จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ



เพิ่มเติม 
๑. เมื่อขันธ์ทั้งหลายยังมีอยู่ การสมมติว่าสัตว์ย่อมมี ฉันนั้น ฯ
ดูความหมายใน 
ความหมายปรมัตถธรรมและบัญญัติธรรม 
๒. 
นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับ ฯ
ดูความหมายใน องค์แห่งอริยสัจ ๔

วันเสาร์

อาทิตตปริยายสูตร

“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอาทิตตบรรยายและธรรมบรรยายแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง

อาทิตตบรรยายและธรรมบรรยาย เป็นอย่างไร ?
คือ บุคคลแทงจักขุนทรีย์ด้วยหลาวเหล็กที่ร้อนไฟติดลุกโชนโชติช่วง ยังประเสริฐกว่า ส่วนการถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะ*  รูปที่พึงรู้แจ้งทางตาไม่ประเสริฐเลย วิญญาณที่เนื่องด้วยความยินดีในนิมิตหรือเนื่องด้วยความยินดีในอนุพยัญชนะเมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ได้ ถ้าบุคคลกระทำกาลกิริยาในสมัยนั้น เป็นไปได้ที่บุคคลนั้นจะพึงถึงคติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เราเห็นโทษนี้แลจึงกล่าวอย่างนี้

* อนุพยัญชนะ หมายถึงคือลักษณะน้อยๆ หรือลักษณะอันเป็นข้อปลีกย่อยของพระพุทธเจ้า ความยินดีในนิมิตอนุพยัญชนะ เช่น การแยกถือว่ามืองามเท้างามเป็นต้น 
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลทะลวงโสตินทรีย์ด้วยขอเหล็กที่คม ไฟติด ลุกโชน โชติช่วง ยังประเสริฐกว่า ส่วนการถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในเสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู ไม่ประเสริฐเลย วิญญาณที่เนื่องด้วยความยินดีในนิมิตหรือเนื่องด้วยความยินดีใน อนุพยัญชนะ เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ได้ ถ้าบุคคลกระทำกาลกิริยาในสมัยนั้น เป็นไปได้ที่บุคคลนั้นจะพึงถึงคติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เราเห็นโทษนี้แลจึงกล่าวอย่างนี้

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลคว้านฆานินทรีย์ด้วยมีดตัดเล็บที่คม ไฟติด ลุกโชน โชติช่วง ยังประเสริฐกว่า ส่วนการถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในกลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก ไม่ประเสริฐเลย วิญญาณที่เนื่องด้วยความยินดีในนิมิต หรือเนื่องด้วยความยินดี ในอนุพยัญชนะ เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ได้ ถ้าบุคคลกระทำกาลกิริยาในสมัยนั้น เป็นไปได้ที่บุคคลนั้นจะพึงถึงคติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์ ดิรัจฉาน เราเห็นโทษนี้แลจึงกล่าวอย่างนี้

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเฉือนชิวหินทรีย์ด้วยมีดโกนที่คม ไฟติด ลุกโชน โชติช่วง ยังประเสริฐกว่า ส่วนการถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในรสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้นไม่ประเสริฐ เลย วิญญาณที่เนื่องด้วยความยินดีในนิมิตหรือเนื่องด้วยความยินดีในอนุพยัญชนะ เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ได้ ถ้าบุคคลกระทำกาลกิริยาในสมัยนั้น เป็นไปได้ที่บุคคลนั้น จะพึงถึงคติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เราเห็นโทษนี้แลจึงกล่าวอย่างนี้

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลแทงกายินทรีย์ด้วยหอกที่คม ไฟติด ลุกโชน โชติช่วง ยังประเสริฐกว่า ส่วนการถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในโผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกายไม่ ประเสริฐเลย วิญญาณที่เนื่องด้วยความยินดีในนิมิตหรือเนื่องด้วยความยินดีใน อนุพยัญชนะ เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ได้ ถ้าบุคคลกระทำกาลกิริยาในสมัยนั้น เป็นไป ได้ที่บุคคลนั้นจะพึงถึงคติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เราเห็นโทษนี้จึงกล่าวอย่างนี้


ภิกษุทั้งหลาย ความหลับยังประเสริฐกว่า แต่เรากล่าวว่าความหลับเป็นหมันสำหรับผู้มีชีวิต กล่าวว่าไร้ผลสำหรับผู้มีชีวิต กล่าวว่าเป็นความเขลาสำหรับผู้มีชีวิต ส่วนบุคคลตกอยู่ในอำนาจของวิตกเช่นใดแล้ว พึงทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ก็ไม่ควรตรึกถึงวิตกเช่นนั้นเลย เราเห็นโทษนี้แลว่าเป็นหมันสำหรับผู้มีชีวิต จึงกล่าวอย่างนี้

ภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้นอริยสาวกผู้ได้สดับย่อมเห็นดังนี้ว่า จักขุนทรีย์ที่บุคคลแทงด้วยหลาวเหล็กที่ร้อน ไฟติด ลุกโชน โชติช่วง ยกไว้ก่อน เอาเถิด เราจะใส่ใจข้อนี้ว่า ‘จักขุไม่เที่ยง รูปไม่เที่ยง จักขุวิญญาณไม่เที่ยง จักขุสัมผัสไม่เที่ยง แม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่ เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยงด้วยประการฉะนี้’

โสตินทรีย์ที่บุคคลทะลวงด้วยขอเหล็กที่คม ไฟติด ลุกโชน โชติช่วง ยกไว้ก่อน เอาเถิด เราจะใส่ใจข้อนี้ว่า ‘โสตะไม่เที่ยง สัททะไม่เที่ยง โสตวิญญาณไม่เที่ยง โสตสัมผัสไม่เที่ยง แม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่ เกิดขึ้นเพราะโสตสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยงด้วยประการฉะนี้’ 

ฆานินทรีย์ที่บุคคลคว้านด้วยมีดตัดเล็บที่คม ไฟติด ลุกโชน โชติช่วง ยก ไว้ก่อน เอาเถิด เราจะใส่ใจข้อนี้ว่า ‘ฆานะไม่เที่ยง คันธะไม่เที่ยง ฆานวิญญาณ ไม่เที่ยง ฆานสัมผัสไม่เที่ยง แม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุข มิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะฆานสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยงด้วยประการฉะนี้’

ชิวหินทรีย์ที่บุคคลเฉือนด้วยมีดโกนที่คม ไฟติด ลุกโชน โชติช่วง ยกไว้ก่อน เอาเถิด เราจะใส่ใจข้อนี้ว่า ‘ชิวหาไม่เที่ยง รสไม่เที่ยง ชิวหาวิญญาณไม่เที่ยง ชิวหาสัมผัสไม่เที่ยง แม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่ เกิดขึ้นเพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยงด้วยประการฉะนี้’

กายินทรีย์ที่บุคคลแทงด้วยหลาวเหล็กที่คม ไฟติด ลุกโชน โชติช่วง ยกไว้ก่อน เอาเถิด เราจะใส่ใจข้อนี้ว่า ‘กายไม่เที่ยง โผฏฐัพพะไม่เที่ยง กายวิญญาณไม่เที่ยง กายสัมผัสไม่เที่ยง แม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่ เกิดขึ้นเพราะกายสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยงด้วยประการฉะนี้’

ความหลับยกไว้ก่อน ฯลฯ เอาเถิด เราจะใส่ใจข้อนี้ว่า ‘มโนไม่เที่ยง ธรรมารมณ์ไม่เที่ยง มโนวิญญาณไม่เที่ยง มโนสัมผัสไม่เที่ยง แม้ความเสวย อารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ก็ไม่เที่ยงด้วยประการฉะนี้’

อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักขุ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักขุวิญญาณ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักขุสัมผัส ฯลฯ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้น

เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก ต่อไป’ ภิกษุทั้งหลาย นี้แลคืออาทิตตบรรยายและธรรมบรรยายฉะนี้แล”




เทศนาสูตร

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปาวาริกอัมพวัน ใกล้เมืองนาฬันทา ครั้งนั้นนายบ้านนามว่าอสิพันธกบุตร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงเกื้อกูลอนุเคราะห์สัตว์ทั่วหน้าอยู่มิใช่หรือ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อย่างนั้นนายคามณี (นายบ้าน, ผู้ใหญ่บ้าน) ตถาคตเกื้อกูลอนุเคราะห์สัตว์ทั่วหน้าอยู่ ฯ

             คามณี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เมื่อเช่นนั้น เพราะเหตุไรพระผู้มีพระภาค จึงทรงแสดงธรรมโดยเคารพแก่คนบางพวก ไม่ทรงแสดงธรรมโดยเคารพเหมือนอย่างนั้นแก่คนบางพวก ฯ

             พระผู้มีพระภาค. ดูกรนายคามณี ถ้าอย่างนั้นเราจักทวนถามท่านถึงในข้อนี้ ปัญหาควรแก่ท่านด้วยประการใด ท่านพึงพยากรณ์ปัญหานั้นด้วยประการนั้น ดูกรนายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน นาของคฤหบดีชาวนาในโลกนี้มีอยู่ ๓ ชนิด คือ ชนิดหนึ่งเป็นนาดี ชนิดหนึ่งเป็นนาปานกลาง ชนิดหนึ่งเป็นนาเลวมีดินเหลว เค็ม พื้นดินเลว ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คฤหบดีชาวนาต้องการจะหว่านพืช จะพึงหว่านในนาไหนก่อนเล่า ฯ

              คามณี. คฤหบดีชาวนาต้องการจะหว่านพืช พึงหว่านพืชในนาดีก่อน ครั้นหว่านในนานั้นแล้ว พึงหว่านในนาปานกลาง ครั้นหว่านในนาปานกลางนั้นแล้ว พึงหว่านในนาเลว มีดินเหลว เค็ม พื้นดินเลว พึงหว่านบ้างไม่หว่านบ้าง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะที่สุดจักเป็นอาหารโค ฯ

             พระผู้มีพระภาค. ดูกรนายคามณี เปรียบเหมือนนาดีฉันใด เราย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่ภิกษุและภิกษุณีของเราเหล่านั้น (ก่อน) ฉันนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุและภิกษุณีเหล่านี้มีเราเป็นที่พึ่ง มีเราเป็นที่เร้น มีเราเป็นที่ต้านทาน มีเราเป็นสรณะอยู่ ดูกรนายคามณี นาเลว มีดินเหลว เค็ม พื้นดินเลวฉันใด เราย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่อัญเดียรถีย์ สมณะ พราหมณ์และปริพาชกของเราเหล่านั้น (ในที่สุด) ฉันนั้น ฯ

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอัญเดียรถีย์ สมณะ พราหมณ์และปริพาชกจะพึงรู้ธรรมแม้บทเดียว ความรู้ของเขานั้นพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่เขาสิ้นกาลนาน

           
ดูกรนายคามณี บุรุษมีขวดน้ำ ๓ ใบ คือ
๑. ขวดน้ำใบหนึ่ง

ไม่มีช่อง ใส่น้ำไม่ได้ เจ้าของไม่ใช้ (ภิกษุ, ภิกษุณี)
๒. ขวดใบหนึ่งไม่มีช่อง ใส่น้ำได้ เจ้าของใช้ (อุบาสก, อุบาสิกา)
๓. ขวดใบหนึ่งมีช่อง ใส่น้ำได้ เจ้าของใช้ (อัญเดียรถีย์, สมณะ, พราหมณ์ และปริพาชก)

ดูกรนายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้น
เป็นไฉน บุรุษคนโน้นต้องการจะกรอกน้ำใส่ พึงกรอกน้ำใส่ในขวดไม่มีช่องใส่น้ำไม่ได้ เจ้าของไม่ใช้ หรือขวดน้ำไม่มีช่อง ใส่น้ำได้ เจ้าของใช้ หรือว่าขวดน้ำที่มีช่อง ใส่น้ำได้ เจ้าของใช้ก่อน ฯ

             คามณี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษคนโน้นต้องการจะกรอกน้ำใส่ พึงกรอกน้ำใส่ในขวดน้ำไม่มีช่อง ใส่น้ำไม่ได้ เจ้าของไม่ใช้ แล้วพึงกรอกน้ำใส่ในขวดน้ำไม่มีช่อง ใส่น้ำได้ เจ้าของใช้ แล้วพึงกรอกน้ำใส่ในขวดน้ำมีช่อง ใส่น้ำได้ เจ้าของใช้บ้าง ไม่กรอกใส่บ้าง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะที่สุดจักเป็นน้ำสำหรับล้างสิ่งของ ฯ

            พระผู้มีพระภาค. ดูกรนายคามณี ขวดน้ำไม่มีช่อง ใส่น้ำไม่ได้ เจ้าของไม่ใช้ฉันใด เราย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุดประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่ภิกษุและภิกษุณีของเราเหล่านั้น ฉันนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุและภิกษุณีเหล่านี้ มีเราเป็นที่พึ่ง มีเราเป็นที่เร้น มีเราเป็นที่ต้านทาน มีเราเป็นสรณะอยู่

ดูกรนายคามณี ขวดน้ำไม่มีช่อง ใส่น้ำได้ เจ้าของใช้ ฉันใด 
เราย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่อุบาสกและอุบาสิกาของเราเหล่านั้น (เป็นที่สอง) ฉันนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอุบาสกและอุบาสิกาเหล่านี้ มีเราเป็นที่พึ่ง มีเราเป็นที่เร้น มีเราเป็นที่ต้านทานมีเราเป็นสรณะอยู่

ดูกรนายคามณี ขวดน้ำมีช่อง ใส่น้ำได้ ทั้งเจ้าของใช้ ฉันใด 
เราย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่อัญเดียรถีย์สมณะ พราหมณ์ และปริพาชกของเราเหล่านั้น (ในที่สุด) ฉันนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะแม้ไฉนอัญเดียรถีย์ สมณะ พราหมณ์ และปริพาชกจะพึงรู้ทั่วถึงธรรมนั้นแม้บทเดียว ความรู้นั้นก็พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่เขาสิ้นกาลนาน ฯ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นายบ้านนามว่าอสิพันธกบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ดุจหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางให้แก่คนหลงทาง หรือส่องไฟในที่มืดด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉันนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับทั้งพระธรรมและภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ




อนัตตลักขณสูตร

ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า

ภิกษุทั้งหลายรูปเป็นอนัตตา
ภิกษุทั้งหลาย ถ้ารูปนี้จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ รูปนี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในรูปว่า
“รูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะรูปเป็นอนัตตา ฉะนั้น รูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธและบุคคลย่อมไม่ได้ในรูปว่า “รูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”

ภิกษุทั้งหลาย เวทนาเป็นอนัตตา
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเวทนานี้จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ เวทนานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในเวทนาว่า “เวทนาของเราจงเป็นอย่างนี้ เวทนาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเวทนาเป็นอนัตตา ฉะนั้น เวทนาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในเวทนาว่า “เวทนาของเราจงเป็นอย่างนี้ เวทนาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”

ภิกษุทั้งหลาย สัญญาเป็นอนัตตา
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าสัญญานี้จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ สัญญานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในสัญญาว่า “สัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้ สัญญาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะสัญญาเป็นอนัตตา ฉะนั้น สัญญาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในสัญญาว่า “สัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้ สัญญาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”

ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าสังขารเหล่านี้จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ สังขารเหล่านี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในสังขารทั้งหลายว่า “สังขารทั้งหลายของเราจงเป็นอย่างนี้ สังขารทั้งหลายของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะสังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ฉะนั้น สังขารทั้งหลายจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในสังขารทั้งหลายว่า “สังขารทั้งหลายของเราจงเป็นอย่างนี้ สังขารทั้งหลายของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”

ภิกษุทั้งหลายวิญญาณเป็นอนัตตา
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าวิญญาณนี้จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ วิญญาณนี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในวิญญาณว่า “วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้ วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น” ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะวิญญาณเป็นอนัตตา ฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในวิญญาณว่า “วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้ วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”


พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเข้าใจข้อนั้นอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
ภิกษุปัญจวัคคีย์ทูลว่า “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
 “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“เวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“สัญญาเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“สังขารทั้งหลายเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น รูปอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือ ประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั่น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา

เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั่น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา

สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั่น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา

สังขารทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั่น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา

วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั่น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา


ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขารทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ

เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด
เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น
เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว
อริยสาวกย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนัตตลักขณสูตรนี้แล้ว ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็มีใจยินดีชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค เมื่อพระพุทธองค์ตรัสเวยยากรณ์นี้อยู่ จิตของภิกษุปัญจวัคคีย์ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่นครั้งนั้น มีพระอรหันต์ในโลก ๖ รูป




เพิ่มเติม
เมื่อไม่เห็นรูป นาม ตามสภาพความเป็นจริงก็จะไม่เกิดความเบื่อหน่าย เมื่อไม่เบื่อหน่ายย่อมถูกตัณหาคือความอยากยึดเอาไว้กับสังสารวัฎอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ศึกษาเพิ่มเติม
๑. ความเป็นไปในสังสารวัฏ
๒. กายานุสติปัฎฐาน



วันจันทร์

พระมหานามเถระ

เล่นออดิโอ 

 


ชาติภูมิ
ท่านพระมหานามเถระ เกิดในสกุลพราหมณ์ ในกบิลพัศดุ์นคร ได้ยินพราหมณ์ผู้เป็นบิดาเล่าให้ฟังว่า พระมหาบุรุษมีลักษณะถูกต้องตามตำราลักษณะพยากรณ์ศาสตร์ เพราะได้เคยเห็นพระองค์ในเมื่อครั้งได้รับเชิญเลี้ยงโภชนาหารในพระราชพิธีทำนายพระลักษณะ จึงได้มีความเคารพนับถือ และเชื่อในพระองค์เป็นอันมาก จึงพร้อมด้วยพราหมณ์อีก ๔ คน มีโกณฑัญญะพราหมณ์เป็นหัวหน้า พากันออกบวชเป็นฤาษีตามเสด็จ คอยปฏิบัติพระองค์อยู่ ต่อมาพระมหาบุรุษทรงเลิกการบำเพ็ญทุกกรกิริยา หันมาบำเพ็ญเพียรในทางใจใหม่ พวกท่านพากันเข้าใจว่าจะไม่ได้บรรลุธรรมพิเศษเสียแล้ว จึงเกิดความเบื่อหน่าย พากันหลีกหนีพระองค์ไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ครั้นพระมหาบุรุษได้ตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปตรัสเทศนาธรรมจักกัปปวัตนสูตร โปรดเป็นครั้งแรก และทรงตรัส ปกิรณกเทศนาในวันเป็นลำดับไป ท่านได้สดับเทศนาทั้งสองนั้น แต่หาได้สำเร็จมรรคผลอันใดไม่ เมื่อได้สดับ ปกิรณกเทศนาในวาระที่สาม ท่านได้ดวงตาเห็นธรรมฯ

อุปสมบท
ท่านได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธี “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” ภายหลังได้ฟังเทศนา อนัตตลักขณสูตร ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ผู้ชื่อว่า อเสขบุคคล ครั้นเมื่อสมเด็จพระบรมศาสดา ทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนาในตอนปฐมโพธิกาล ท่านองค์หนึ่งอยู่ในจำนวนนั้น ได้ช่วยเป็นกำลัง ประกาศพระศาสนาในนานาชนบท สั่งสอนกุลบุตรให้เกิดความเชื่อและความเลื่อมใส ให้ได้รับผลตามสมควรแก่อุปนิสัย ท่านดำรงอายุสังขารอยู่พอสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพานฯ



พระภัททิยเถระ

พระภัททิยเถระ เอตทัคคะในทางผู้เกิดในตระกูลสูง

เล่นออดิโอ 

พระภัททิยะ เกิดในตระกูลกษัตริย์ศากยวงศ์ ในกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นราชโอรสของพระนางกาฬีโคธา (พระนามเดิมชื่อว่า โคธา แต่เพราะมีผิวกายดำ คนทั่วไปจึงเรียกว่า กาฬีโคธา) เมื่อเจริญวัยขึ้นได้ครองครองราชย์สมบัติสืบศากยวงศ์ ทรงพระนามว่า “พระเจ้าภัททิยราชา”มีพระสหายที่รักใคร่สนิทสนมกันมาก พระนามว่า “เจ้าชายอนุรุทธกุมาร” ซึ่งเป็นเชื้อสายศากยวงศ์เช่นกัน


บวชเพราะเพื่อนชวน

สมัยหนึ่ง เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ อนุปิยนิคมของมัลลกษัตริย์ ครั้งนั้นศากยกุมารจากตระกูลต่าง ๆ ผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่ว ๆ ไป ได้ออกบวชติดตามพระพุทธองค์เป็นจำนวนมาก ดังนั้น เจ้าชายมหานามะ โอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ จึงได้ปรึกษากับเจ้าชายอนุรุทธะผู้เป็นอนุชาว่า:-“อนุรุทธะ ศากยกุมารจากตระกูลอื่น ๆ ออกบวชติดตามพระบรมศาสดาเป็นจำนวนมากตระกูลของเรานี้ ถ้าไม่มีใครออกบวชเสียเลยก็ดูจะไม่สมควร ดังนั้นเราสองคนนี้ ใครคนใดคนหนึ่งควรจะออกบวชติดตามพระบรมศาสดาบ้าง”

เนื่องจากอนุรุทธกุมารนั้น ได้รับการบำรุงเลี้ยงดูมาอย่างดีไม่เคยได้รับความเหนื่อยยากลำบากเลย เป็นบุตรสุขุมาลชาติละเอียดอื่น จึงทูลแก่เจ้าพี่มหานามะว่า:-“เจ้าพี่มหานามะ ขอให้เจ้าพี่ออกบวชเองเถิด น้องเป็นคนอ่อนแอ ไม่สามารถจะบวชได้”

เจ้าชายมหานามะก็ตกลงที่จะบวชเอง ดังนั้นจึงสอนหน้าที่ของคนที่จะอยู่ครองเรือนให้เจ้าชายอนุรุทธะทราบ โดยยกเรื่องการทำนาขึ้นมาสอน เพราะเป็นงานหลักของผู้อยู่ครองเรือน โดยเริ่มตั้งแต่การไถนา การหว่านข้าวเป็นลำดับไปจนกระทั่งเก็บเกี่ยว การนวดข้าวแล้วจึงนำเข้าไปเก็บในยุ้งฉาง และต้องทำอย่างนี้ทุกปีเมื่อถึงฤดูกาล

เจ้าชายอนุรุทธะ ได้สดับแล้วเกิดความท้อแท้ขึ้นมา เห็นว่าการบวชน่าจะเป็นงานที่เบากว่าและเป็นงานที่มีจุดสิ้นสุด จึงเปลี่ยนใจทูลเจ้าพี่มหานามะว่า “จะขอบวชเอง ให้เจ้าพี่อยู่ครองเรือนต่อไปเถิด”

เมื่อตกลงกับเจ้าพี่มหานามะแล้ว จึงเข้าไปทูลลาพระมารดา เพื่อออกบวชแต่ไม่ได้รับอนุญาต ได้พยายามอ้อนวอนอยู่หลายวัน พระมารดาก็ยังคงไม่อนุญาตเช่นเดิม จึงกราบทูลว่าถ้าไม่อนุญาตก็จะขออดข้าวอดน้ำจนกว่าจะตายแล้วก็เริ่มอดอาหารและน้ำดื่ม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป

พระมารดา เห็นว่าลูกชายทำตามที่พูดจริง ด้วยเกรงว่าลูกชายจะได้รับอันตรายถึงชีวิตจึงคิดว่า “ถ้าให้ลูกชายบวชก็ยังจะได้เห็นหน้าลูกชายต่อไป บางทีลูกชายบวชแล้ว ได้รับความลำบากก็อาจจะสึกออกมาเอง แต่ถ้าไม่ให้บวชลูกชายอาจจะตายจริง ๆ ก็ได้” จึงบอกแก่ลูกชายว่า “อนุญาตให้บวชได้ แต่มีข้อแม้ว่า พระเจ้าภัททิยะจะต้องเสด็จออกบวชด้วย จึงจะอนุญาตให้บวช” เหตุที่พระนางมีข้อแม้อย่างนี้ก็ด้วยคิดว่า “พระเจ้าภัททิยะนั้นทรงเป็นพระราชาปกครองบ้านเมือง ถึงอย่างไรก็คงไม่ออกบวชแน่” เจ้าชายอนุรุทธะ ดีพระทัย จึงรีบไปชวนพระเจ้าภัททิยะทันที พระเจ้าภัททิยะ ไม่คิดว่าพระสหายจะมาชักชวนด้วยเรื่องอย่างนี้ พระองค์เองก็มีภาระหน้าที่รับผิดชอบต่อบ้านเมืองมากมาย จะออกบวชได้อย่างไร จึงตรัสปฏิเสธไปว่า:-“สหาย เราไม่สามารถจะออกบวชได้ แต่ถ้ามีกิจอื่นใดที่เราสามารถจะทำให้ได้ก็จะทำให้ทุกอย่าง ส่วนเรื่องการบวชนั้น ขอสหายจงบวชเองเถิด”

เจ้าชายอนุรุทธะ จึงอ้างพระดำรัสของพระมารดาซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้มากล่าวให้สหายฟังว่า:-“ถ้าสหายออกบวชด้วย เราจึงจะได้บวช ดังนั้นการบวชของเราจึงเกี่ยวเนื่องด้วยสหายเป็นสำคัญ”

พระเจ้าภัททิยะ ทนต่อการอ้อนวอนรบเร้าของสหายรักไม่ได้ จึงยอมตกลงออกบวชด้วย เพียงพอเวลาจัดมอบหมายงานต่าง ๆ ให้ผู้รับช่างสืบต่อไปให้เรียบร้อยก่อนสัก ๒-๓ วัน ในการเสด็จออกบวชของ เจ้าชายภัททิยะ กับ เจ้าชายอนุรุทธะ นั้น ได้มีศากยกุมารอื่น ๆ ออกบวชด้วยอีก ๓ พระองค์ คือ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภัคคุ และ เจ้าชายกิมพิละ จึงรวมเป็นฝ่ายศากยะ ๕ พระองค์ และมีฝ่ายโกลิยะ ๑ พระองค์ คือ เจ้าชายเทวทัต และมีนายภูษามาลาชื่อ อุบาลี ได้ร่วมออกบวชด้วยกัน เป็นอันว่าการออกบวชในครั้งนี้มีทั้งหมด ๗ ท่าน ด้วยกันได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ที่อนุปิยอัมพวัน แคว้นมัลละ กราบทูลขออุปสมบทพระพุทธองค์ประทานด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา

เปล่งอุทานว่าสุขหนอ ๆ
พระภัททิยะเถระ เมื่ออุปสมบทแล้วศึกษาพระกรรมฐานจากสำนักของพระบรมศาสดาอุตสาห์บำเพ็ญเพียรไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยวิชชา ๓ ภายในพรรษานั้น ตั้งแต่นั้นมาไม่ว่าท่านจะอยู่ในที่ใด ได้แก่ ในป่า ใต้ร่มไม้ หรือในอาราม เมื่อยามว่าง ยามสงบ ท่านก็มักจะเปล่งอุทานว่า “สุขหนอ ๆ” อยู่เสมอ จนภิกษุทั้งหลายได้ยินได้ฟังแล้วเข้าใจว่า ท่านไม่ยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์รำถึงนึกถึงแต่ราชสมบัติอยู่ จึงนำความเข้ากราบทูลพระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์รับสั่งให้เรียกท่านมา ตรัสถาว่า:- ภัททิยะ ทราบว่าเธอเปล่งอุทานว่าอย่างนั้นจริงหรือ ?
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เป็นความจริง พระเจ้าข้า”
เธอเห็นประโยชน์อะไร จึงเปล่งอุทานอย่างนั้น ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยเมื่อข้าพระองค์เป็นฆราวาส ครอบครองราชย์สมบัติอยู่ต้องดูแลป้องกันรักษาขอบขัณฑสีมาทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ทั่วราชอาณาเขต แม้แต่ตัวข้าพระองค์เองจะมีคนคอยดูแลป้องกันรักษาอยู่รอบข้างกายเป็นนิตย์ ก็อดที่จะสะดุ้งจิตหวาดกลัว มิได้ บัดนี้ แม้ข้าพระองค์จะอยู่ในที่ใด ๆ ในป่า หรือใต้ร่มไม้ หรือที่อื่น ๆ เพียงลำพัง ก็ไม่ต้องสะดุ้งกลัว ขนก็ไม่ลุกชูชัน อาศัยอาหารผู้อื่นเลี้ยงชีพ ไม่ต้องวิตกกังวลรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมืองและประชากร ข้าพระองค์เห็นประโยชน์สุขอย่างนี้ จึงเปล่งอุทานอย่างนั้น พระเจ้าข้า"

พระบรมศาสดา ทรงสดับแล้ว ได้ตรัสยกย่องชมเชยในการกระทำของท่าน และโดยที่ท่านเกิดในตระกูลกษัตริย์ จัดว่าเป็นตระกูลสูงสุด (พระมารดาของท่านเป็นผู้มีอายุสูงกว่าศากิยานีทั้งหลาย) พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทาง ผู้เกิดในตระกูลสูง

ท่านพระภัททิยเถระ ดำรงอายุสังขาร โดยสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน



๕. ญาณ ๑๖ (หน้า ๒)

( 🙏 กลับไปอ่าน ญาณ ๑๖ หน้าแรก )

๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ
มุญจิตุกัมยตาญาณ หมายความว่า ญาณที่มีความปรารถนาใคร่จะพ้นจากรูปนาม โดยที่พิจารณาเห็นรูปนามเป็นของน่ากลัว มีทุกข์ มีโทษ เป็นเหยื่อลวงให้หลงติดอยู่ในวัฏฏสงสาร เป็นสังขารผู้ปรุงแต่งให้ได้รับความเดือดร้อนและมีความแปรปรวนอยู่เป็นนิตย์ จิตก็เกิดความเบื่อหน่าย อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นจากสังขตธรรม อยากพ้นจากสังสารวัฏ ใจก็น้อมไปสู่พระนิพพาน

จิตของผู้ปฏิบัติธรรมเมื่อดำเนินมาถึงมุญจิตุกัมยตาญาณแล้ว ก็อยากจะหลุดอยากจะพ้นจากสังสารวัฏฏ์ เพราะพิจารณาเห็นแน่ชัดแล้วว่าความเกิดในภพนี้ความเป็นไปของขันธ์ที่เกิดแล้ว ความไม่เที่ยงของรูปนาม การสั่งสมกรรมที่จะให้เกิดอีกการเกิดมาอีกทำให้คติต่างๆที่จะไปเกิด เช่นทุคติ สุคติ ความบังเกิดขึ้นของขันธ์ทั้งหลายความเป็นไปแห่งผลกรรม ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ อุปายาส เป็นภัยเป็นทุกข์เป็นโทษ เป็นเหยื่อล่อให้หลงติดอยู่ในภพ เป็นสังขารปรุงแต่งให้ได้รับความเดือดร้อนทั้งนั้น จึงเกิดความเบื่อหน่าย ไม่ยินดี ไม่ชอบ ไม่ติด จิตอยากออกอยากหนี อยากหลุด อยากพ้น เพราะเห็นประจักษ์ชัดแล้วว่า ถ้าไม่มีรูปนามเสียได้ จะเกษมปลอดภัย เป็นสุข ไม่มีเหยื่อล่อให้ลุ่มหลง เป็นนิพพาน จิตมีกำลังกล้ามุ่งหน้าแต่จะออกจะหนี จะหลุด จะพ้นไปจากสังขารธรรมและสังสารวัฏฏ์

ผู้ปฏิบัติจะมีจิตใจอุปมาได้ ๘ อย่าง คือ
๑. ปลาติดข่าย ติดแห ติดอวน ย่อมดิ้นรนกระวนกระวายอยากหลุดออกไปจากข่าย จากแห จากอวนฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น
๒. กบถูกงูคาบไว้กำลังอยู่ในปากงู อยากออกอยากกระโดดหนี ทั้งดิ้น ทั้งร้อง จนสุดความสามารถฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น
๓. ไก่ป่าเป็นสัตว์อยู่ป่าเป็นประจำ เมื่อคนดักบ่วงจับได้นำมาขังไว้ในกรง ย่อมดิ้น กระวนกระวายไม่มีความสุข มีแต่ทุกข์ทรมาน อยากออก อยากบินหนีไปอยู่ป่าอันแสนกว้างแสนสบายตามที่ตนเคยอยู่อย่างอิสระฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น
๔. เนื้อที่ติดบ่วงอยู่ ย่อมพยายามดิ้นจนสุดความสามารถเพราะอยากออก อยากหลุด อยากพ้นไปจากบ่วงฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น
๕. งูอยู่ในมือของหมองู ย่อมอยากออกไปให้พ้นมือ อยากจะแล่นหนีไปอยู่ในป่าดงพงทึบ ตามความพอใจของตนฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น
๖. ช้างติดหล่มลึก อยากจะถอนตนให้ขึ้นจากหล่ม พยายามทุกวิถีทางที่จะช่วยตัวเองให้พ้นจากหล่มฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น
๗.พญานาคอยู่ในปากครุฑ ย่อมอยากออก อยากหลุดหนีไปให้พ้นฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น
๘. ผู้ที่ถูกข้าศึกล้อม อยากจะออกหนีไปให้พ้นต้องพยายามหาหนทางที่จะออก ที่จะหนีให้พ้นฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น

ผู้ปฏิบัติเมื่อเป็นดังเช่นข้ออุปมา ๘ ข้อข้างต้นแล้ว ย่อมไม่ชอบ ไม่ติดอยู่ในรูปนาม ซึ่งมีแต่ความแตกสลาย มีแต่ความสิ้นความเสื่อมอยู่เป็นนิตย์ บรรดาผู้ที่อยู่ในภพ ๓ กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐีติ ๗ สัตตาวาส ๙ จิตของผู้ปฏิบัติมีแต่อยากจะออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นจากสังขารทั้งปวง ปราศจากความอาลัยในสังขารทุกอย่าง สังขารทั้งหลาย จะปรากฏว่ามีแต่ภัย มีแต่โทษมากมายเป็นที่น่าเบื่อหน่าย จึงอยากจะหนี อยากจะพ้นไปเสียโดยเร็ว แล้วก็พยายามปฏิบัติต่อไป ไม่ท้อถอย

ลักษณะของญาณนี้ตามที่ปรากฏในปฏิสัมภิทามรรค
ผู้ปฏิบัติได้ดำเนินมาถึงญาณนี้แล้ว ย่อมมีสภาวะดังนี้ คือ
๑. มีจิตอยากหลุดพ้นจากความเกิด เพราะเห็นความเกิดเป็นทุกข์ ความเกิดเป็นภัย ความเกิดเป็นอามิสให้ติดอยู่ ความเกิด เป็นผู้ปรุงแต่ง
๒. จิตอยากหลุดพ้นจากความเป็นไปของรูปนาม เพราะเห็นความเป็นไปไม่ขาดสายของรูปนาม เป็นทุกข์เป็นของน่ากลัวเป็นอามิสให้หลงติดอยู่ เป็นผู้ปรุงแต่ง
๓. จิตอยากหลุดพ้นจากสังขารนิมิต คือ เครื่องหมายของรูปนาม เป็นของไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เป็นต้น เพราะเห็นว่าสังขารนิมิตเป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัวเป็นอามิสให้หลงติด อยู่เป็นผู้ปรุงแต่ง
๔. จิตอยากหลุดพ้นจากการสั่งสมกรรม เพื่อให้เกิดในภพใหม่อีก เพราะเห็นว่าการสั่งสมกรรมเป็นทุกข์เป็นของน่ากลัว เป็นอามิสให้หลงติดอยู่ เป็นผู้ปรุงแต่ง
๕. จิตอยากหลุดพ้นจากการปฏิสนธิอีกเพราะเห็นว่า การถือปฏิสนธิอีกเป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัว เป็นอามิสให้หลงติดอยู่เป็นผู้ปรุงแต่ง
๖. จิตอยากหลุดพ้นจากคติเพราะเห็นว่า คติต่างๆ เช่น สุคติ ทุคติ เป็นทุกข์เป็นของน่ากลัว เป็นอามิสให้หลงติดอยู่ เป็นผู้ปรุงแต่ง
๗. จิตอยากหลุดพ้นจากความบังเกิดขึ้นของขันธ์ทั้งหลาย เพราะเห็นว่าความบังเกิดขึ้นของขันธ์ทั้งหลาย เป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัว เป็นอามิสให้หลงติดอยู่ เป็นผู้ปรุงแต่ง
๘. จิตอยากหลุดพ้นจากความเป็นไปของผลกรรมเพราะเห็นว่าผลกรรมต่างๆ เป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัว เป็นอามิสให้หลงติดอยู่
๙. จิตอยากหลุดพ้นจากความเกิด เพราะเห็นว่าชาติเป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัว เป็นอามิสให้หลงติดอยู่ เป็นผู้ปรุงแต่ง
๑๐. จิตอยากหลุดพ้นจากความแก่ เพราะเห็นว่าความแก่เป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัว เป็นอามิส ให้หลงติดอยู่
๑๑. จิตอยากหลุดพ้นจากพยาธิ เพราะเห็นว่าเป็นพยาธิเป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัว เป็นอามิส ให้หลงติดอยู่
๑๒. จิตอยากหลุดพ้นจากมรณะ เพราะเห็นว่ามรณะเป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัว เป็นอามิสให้ หลงติดอยู่
๑๓. จิตอยากหลุดพ้นจากความเศร้าโศก เสื่อมญาติ เสื่อมโภคะ เสื่อมเพราะโรคเบียดเบียน เพราะเห็นว่า ความเศร้าโศกเป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัว เป็นอามิสให้หลงติดอยู่
๑๔. จิตอยากหลุดพ้นจากความคับแค้นใจ เพราะถูกความเสื่อมต่างๆ ครอบงำ เพราะเห็น ว่าความคับแค้นใจเป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัว เป็นอามิสให้หลงติดอยู่

จบมุญจิตุกัมยตาญาณ


๑๐. ปฏิสังขาญาณ

ปฏิสังขาญาณ หมายความว่า ญาณพิจารณาเห็นรูปนามโดยขะมักเขม้นต่อจากมุญจิตุกัมยตา -ญาณ เป็นความรอบรู้ในกองสังขารตามความเป็นจริง ปฏิสังขาญาณ คือ ปัญญาย้อนกลับไปพิจารณาสังขารแล้วยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์

ปฏิสังขาญาณ คือ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามเป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นของน่ากลัว เป็นเหยื่อของมาร เกิดความเบื่อหน่าย อยากออก อยากหนี อยากหลุดพ้น จึงตั้งใจปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้ได้บรรลุซึ่งมรรค ผล นิพพาน โดยหาอุบายในการหลุดพ้น ๑๕ อย่าง คือ

๑. พิจารณาการเกิดขึ้นและการดับไปของรูปนาม แล้วตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๒. พิจารณาความเป็นไปของรูปนามที่เกิดขึ้นแล้วกำลังเป็นไปไม่ขาดสาย แล้วตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๓. พิจารณาสังขารนิมิต คือลักษณะของสังขารรูปนามว่าเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๔. พิจารณาเห็นรูปนามกำลังสั่งสมกรรม อันกรรมนั้นจะนำให้เกิดอีก จึงเบื่อหน่าย เพื่อหลุดพ้น แล้วตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๕. พิจารณาเห็นรูปนาม ที่กำลังเกิดขึ้นมาใหม่ว่า เป็นทุกข์น่ากลัว เพื่อหลุดพ้น แล้วตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๖. พิจารณารูปนามที่กำลังตกอยู่ในคติต่างๆ มีทุคติ สุคติ ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๗. พิจารณารูปนามที่กำลังเกิดเป็นขันธ์ ๕ อยู่ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๘. พิจารณารูปนามที่กำลังเป็นไปตามวิบาก คือกรรมของตนๆ ที่ทำมาตั้งแต่ภพก่อน และในภพนี้ชาตินี้ว่าล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึง พระนิพพาน
๙. พิจารณาเห็นรูปนามที่กำลังเกิดขึ้นมาเป็น รูปชาติ นามชาติ รูปโลก นามโลก ว่าเป็นของน่ากลัว เป็นทุกข์ไม่มีแก่นสาร แล้วเบื่อหน่ายอยากพ้น ตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๑๐. พิจารณารูปนามที่กำลังเสื่อมไป สิ้นไป แก่ไป คร่ำคร่าไป ว่าเป็นทุกข์เป็นโทษ น่ากลัวน่าเบื่อ แล้วเบื่อหน่ายอยากหลุดพ้นแล้วปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๑๑. พิจารณารูปนามที่กำลังถูกพยาธิเบียดเบียน ครอบงำว่าเป็นทุกข์ เป็นภัย เป็นโทษ ไม่มีสารประโยชน์ไม่มีสุข จึงเกิดความเบื่อหน่าย อยากหนียากพ้น แล้วหาทางพ้น โดยปฏิบัติต่อไปเพื่อให้ได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน
๑๒. พิจารณารูปนามที่กำลังแตกดับ คือตายอยู่ทุกขณะ ว่าเป็นทุกข์ น่ากลัว น่าเบื่อหน่ายเกิดความเบื่อหน่าย อยากหลุด อยากพ้น จึงตั้งใจปฏิบัติต่อไปเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๑๓. พิจารณารูปนามที่กำลังเศร้าโศก เพราะถูกความเสื่อมครอบงำแล้วเบื่อหน่าย อยากหลุดพ้น จึงตั้งใจปฏิบัติต่อไปเพื่อให้ได้ถึงพระนิพพาน
๑๔. พิจารณารูปนามที่กำลังร้องไห้อยู่ เพราะถูกความเสื่อม ๕ ประการ (เป็นความเสื่อมที่เกิดจากเหตุ ๕ อย่าง คือ เสื่อมญาติ มีโรคภัยเบียดเบียน เสื่อมทรัพย์ เสื่อมจากศีล เสื่อมจากสัมมาทิฏฐิ) ครอบงำว่าเป็นของน่ากลัว เป็นทุกข์ เป็นโทษ น่าเบื่อหน่าย อยากหลุดพ้น แสวงหาทางพ้นโดยตั้งใจปฏิบัติต่อไปเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๑๕. พิจารณารูปนามที่กำลังมีความคับแค้นใจ เพราะความเสื่อม ๕ ประการครอบงำ เห็นว่าเป็นของน่ากลัว เป็นทุกข์โทษ น่าเบื่อหน่าย อยากหลุดพ้น ตั้งใจปฏิบัติเพื่อ ให้ได้บรรลุมรรค ผลนิพพาน

เมื่อผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานพิจารณาเห็นรูปนามโดยแจ้งชัดอย่างนี้แล้ว ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีวิปัสสนาญาณอันเจริญขึ้นแล้ว เพราะกำหนดสังขารพิจารณาได้ดี เพื่อจะยังอุบายแห่งการหลุดพ้น ให้เกิดขึ้น ความอยากหนีอยากพ้น ก็มีอุปมาดังนี้

เปรียบเหมือนกับชายคนหนึ่งต้องการจะจับปลา เมื่อเอาสุ่มๆ ลงไปในน้ำแล้วเอามือล้วงลงไปในสุ่มเพื่อจับปลา แต่เขาจับได้งูเห่าที่อยู่ในสุ่มนั้น ขณะที่มือยังไม่พ้นจากน้ำเขาเข้าใจว่าเป็นปลาตัวใหญ่ เขาดีใจมากแต่เมื่อยกมือขึ้นพ้นน้ำก็เห็นว่าเป็นงูไม่ใช่ปลาอย่างที่คิดก็หวาดกลัวว่างูนั้นจะกัดทำร้ายตนแต่จะทำอย่างไรดีเมื่องูอยู่ในมือตน จึงคิดวางแผนที่จะปล่อยงูให้พ้นไปโดยเร็ว โดยการจับงูชูขึ้นเหนือศีรษะแล้วเหวี่ยงไปรอบๆ ทำให้งูอิดโรยและอ่อนกำลังลงแล้วจึงเหวี่ยงทิ้งไปอย่างแรง อุปมานี้เปรียบเหมือนบุคคลย่อมยินดีพอใจเมื่อได้เกิดมา เพลิดเพลินสนุกสนาน เปรียบเหมือนชายคนนั้นจับงูได้นึกว่าเป็นปลาใหญ่แล้วดีใจมาก ฉะนั้น บุคคลผู้ไม่ปฏิบัติย่อมไม่รู้จักความจริง เมื่อไม่รู้จักความจริงจึงหลงติดอยู่ เพลิดเพลินยินดีอยู่กับโลก

เมื่อผู้ปฏิบัติเห็นรูปนามโดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏเป็นของน่ากลัว จัดเป็นญาณตั้งแต่ต้นจนถึงภยญาณ เปรียบเหมือนบุรุษดึงงูออกจากสุ่มเมื่อเห็นว่าเป็นงูแล้วกลัว เมื่อผู้ปฏิบัติวิปัสสนาพิจารณาเห็นรูปนามว่า เป็นทุกข์ เป็นโทษเป็นภัย แล้วเกิดความเบื่อหน่าย เป็นนิพพิทาญาณ เปรียบเหมือนกับบุรุษพิจารณาเห็นทุกข์ เห็นโทษ เห็นภัย อันจะเกิดขึ้นแก่ตนอย่างใหญ่หลวงเพราะการจับคองูนั้น

เมื่อผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน อยากหลุดพ้นจากรูปนาม อยากหลุดพ้นจากสังสารวัฏนี้เป็น มุญจิตุกัมยตาญาณ เปรียบเหมือนกับบุรุษที่จับคองูนั้นอยากจะเหวี่ยงงูให้พ้นไปจากตัว เมื่อผู้ปฏิบัติยกรูปนามขึ้นสู่พระไตรลักษณ์นี้เป็น มุญจิตุกัมยตาญาณอย่างแก่ และเข้าเขตปฏิสังขาญาณอย่างอ่อน เปรียบเหมือนกับบุรุษแสวงหาวิธีจะเหวี่ยงงู แล้วทำการเหวี่ยงงูไปให้พ้น เมื่อผู้ปฏิบัติวิปัสสนาพิจารณารูปนามยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์บ่อยๆวนไปเวียนมาอยู่กับพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำให้กิเลสหมดกำลังลงจนไม่สามารถจะเห็นว่าเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นของสวยงาม เป็นตัวตน เรา เขา จะเห็นตรงกันข้ามคือเห็นว่าเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา เป็นอสุภะ อย่างนี้เป็น ปฏิสังขาญาณ เปรียบเหมือนบุรุษจับงูแกว่งอย่างแรงเพื่อทำให้หมดกำลังจนงูไม่สามารถจะมากัดเขาได้ แล้วเหวี่ยงไปไกลๆ ให้พ้นตัว ฉะนั้น

จบปฏิสังขาญาณ

๑๑. สังขารุเปกขาญาณ
สังขารุเปกขาญาณ หมายความว่า ญาณพิจารณาเห็นรูปนามโดยอาการวางเฉยใน สังขาร-นิมิตอารมณ์ สังขาร คือ สภาวธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่ ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อลงมาได้แก่ รูปกับนาม ขันธ์ที่ ๑ เป็นรูป ขันธ์ที่ ๒-๓-๔-๕ เป็นนาม การวางเฉยนั้นคือ เป็นกลางๆ ในสังขารุเปกขาญาณนั้นปัญญาพิจารณากำหนดรู้รูปนามเป็นของไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ บังคับบัญชาไม่ได้ ว่างเปล่าจากสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา แล้ววางเฉยมีสติกำหนดได้ดี โดย

สรุปดังนี้
๑. ปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นของรูปนามว่า เป็นทุกข์ เห็นความเป็นไปของรูปนาม ที่เกิดขึ้นมาแล้วว่าเป็นทุกข์ เห็นนิมิต คือ เครื่องหมายของรูปนามที่บอกให้รู้ว่า ไม่เที่ยงทนอยู่ไม่ได้ บังคับบัญชาไม่ได้ ว่าเป็นทุกข์ เห็นการสั่งสมกรรม เพื่อให้เกิดอีกว่าเป็นทุกข์ เห็นคติทั้ง ๕ ว่าเป็นทุกข์ เห็นปฏิสนธิว่าเป็นทุกข์ เห็นความบังเกิดของขันธ์ ๕ ว่าเป็นทุกข์ เห็นการเกิดเป็นไปของผลกรรมว่าเป็นทุกข์ เห็นโสกะว่าเป็นทุกข์ เห็นปริเทวะว่าเป็นทุกข์ เห็นอุปายาสะว่าเป็นทุกข์ เพื่อพิจารณาเห็นทุกข์อย่างนี้แล้วเกิดความเบื่อหน่าย อยากหลุดพ้น จึงมนสิการถึงพระไตรลักษณ์ซ้ำอีกแล้ววางเฉย จัดเป็นสังขารุเปกขาญาณ
๒. ปัญญาพิจารณาเ ห็นความเกิดขึ้นของรูปนามว่า เป็นภัย เห็นความเป็นไปของรูปนาม ที่เกิดมาแล้วว่าเห็นภัย เห็นนิมิตคือเครื่องหมายของรูปนามที่บอกให้รู้ว่าไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ บังคับไม่ได้ว่าเป็นภัย เห็นการสั่งสมกรรมเพื่อให้เกิดอีกว่าเป็นภัย เห็นคติทั้ง ๕ ว่าเป็นภัย เห็นปฏิสนธิว่าเป็นภัย เห็นความบังเกิดขึ้นของขันธ์ ๕ ว่าเป็นภัย เห็นการเกิดซึ่งเป็นผลของกรรมว่าเป็นภัย เห็นชาติว่าเป็นภัย เห็นชราว่าเป็นภัย เห็นพยาธิว่าเป็นภัย เห็นมรณะว่าเป็นภัย เห็นปริเทวะว่าเป็นภัย เห็นอุปายาสะว่าเป็นภัย เมื่อพิจารณาเห็นภัยอย่างนี้แล้ว เกิดความเบื่อหน่ายอยากหลุดพ้น จึงมนสิการถึงพระไตรลักษณ์ซ้ำอีก แล้วจึงวางเฉย จัดเป็นสังขารุเปกขาญาณ
๓. ปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นของรูปนามว่าสังขารคือผู้ปรุงแต่ง เห็นความเป็นไปของรูปนามที่บอกให้รู้ว่าไม่เที่ยงทนอยู่ไม่ได้ บังคับบัญชาไม่ได้ว่าสังขารคือผู้ปรุงแต่ง เห็นการสั่งสมกรรมเพื่อให้ได้เกิดอีกว่าเป็นสังขารคือผู้ปรุงแต่ง เห็นความบังเกิดขึ้นของ ขันธ์ ๕ ว่าเป็นสังขารคือผู้ปรุงแต่ง เห็นความเกิดเป็นไปของวิบากว่าเป็นสังขารคือผู้ปรุงแต่ง เห็นชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ อุปายาสะว่าเป็นสังขารคือผู้ปรุงแต่ง เมื่อพิจารณาเห็นสังขารโดยอาการอย่างนี้แล้วเกิดความเบื่อหน่ายอยากหลุดพ้น จึงมนสิการถึงพระไตรลักษณ์ซ้ำอีก แล้ววางเฉยจัดเป็นสังขารุเปกขาญาณ
๔. ปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นของรูปนาม ตั้งแต่ชาติจนถึงอุปายาสะ (ความคับแค้นใจ) เพราะถูกความเสื่อม ๕ ประการ คือความเสื่อมญาติ เสื่อมทรัพย์ เป็นต้น ถูกครอบงำเป็นไปด้วยเหยื่อล่อให้หลงติดอยู่ในวัฏฏะ จึงเบื่อหน่าย อยากหลุดพ้น จึงมนสิการ ถึงพระไตรลักษณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก แล้ววางเฉยจัดเป็นสังขารุเปกขาญาณ
๕. ปัญญาพิจารณาเห็นว่าความเกิดขึ้นของรูปนาม ตั้งแต่ชาติจนถึงอุปายาสะ ว่าเป็นสังขารผู้ปรุงแต่งให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนนานาประการ แล้ววางเฉยสังขารเหล่านั้นปัญญาเช่นนี้ จัดเป็นสังขารุเปกขาญาณ
๖. ปัญญาพิจารณาเห็นว่าสังขารและอุเปกขาทั้ง ๒ ก็เป็นสังขารแล้ววางเฉยสังขารทั้ง ๒ เหล่านั้น จัดเป็นสังขารุเปกขาญาณ
๗. จิตของปุถุชน พระเสขบุคคล พระอเสขบุคคล เมื่อถึงสังขารุเปกขาญาณ จะมีอาการ ดังนี้

๘. จิตของปุถุชนกับจิตของพระเสขบุคคล เมื่อถึงสังขารุเปกขาญาณจะมีลักษณะเหมือนกัน ๔ ประการ คือ
     ๑) เศร้าหมองเพราะยินดีต่อสังขารุเปกขาญาณ
     ๒) เป็นอันตรายต่อภาวนา
     ๓) เป็นอันตรายต่อปฏิเวธ คือ เป็นสิ่งที่จะมาตัดรอนต่อการรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔
     ๔) เป็นปัจจัยต่อการปฏิสนธิในภพชาติต่อไปอีก
๙. จิตของปุถุชน พระเสขบุคคล วีตราคบุคคล (หมายถึงพระอรหันต์เช่นเดียวกับพระอเสขบุคคล) เมื่อถึงสังขารุเปกขาญาณแล้ว มีสภาวะเหมือนกันตรงเห็นพระไตรลักษณ์ เมื่อเห็นพระไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน ก็เห็นแจ้งสังขารุเปกขาว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกัน
๑๐. จิตของปุถุชน เสขบุคคล วีตราคบุคคล เมื่อถึงสังขารุเปกขาญาณแล้ว ต่างกันตรงที่เป็นกุศลและอัพยากฤต คือ สังขารุเปกขาของปุถุชนกับของพระเสขบุคคลเป็นกุศล แต่ของพระอรหันต์เป็นอัพยากฤต
๑๑. สังขารุเปกขาของปุถุชน พระเสขบุคคล พระอเสขบุคคล มีความต่างกัน คือ

    🔅 ปุถุชน
            ๑.) สังขารุเปกขาญาณปรากฏชัดดี แต่รู้ได้ดีเฉพาะในเวลาเจริญวิปัสสนา
            ๒.) เจริญวิปัสสนาพิจารณาสังขารุเปกขาญาณเพราะยังไม่ถึงที่สุดเนื่องจากยังทำวิปัสสนากรรมฐานไม่สำเร็จ
            ๓.) พิจารณาสังขารุเปกขาญาณเพื่อละสังโยชน์ ๓ คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เพื่อให้ได้โสดาปัตติมรรค
    🔅 พระเสขบุคคล
            ๑.) สังขารุเปกขาญาณปรากฏชัดดี คือรู้ได้ดีถึงแม้ไม่ได้เจริญวิปัสสนา
            ๒.) พระเสขบุคคลต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐานพิจารณาสังขารุเปกขาต่อไปอีกเพราะยังไม่ถึงที่สุด คือยังทำวิปัสสนาไม่สมบูรณ์
            ๓.) พิจารณาสังขารุเปกขาญาณเพื่อให้ได้มรรคผลเบื้องสูงขึ้นจนถึงอรหัตตมรรค อรหัตตผล
    🔅 พระอเสขบุคคล
            ๑.) สังขารุเปกขาปรากฏชัดดี คือ รู้ได้ดีตลอดไปเพราะท่านละความยินดียินร้ายได้หมดแล้ว
            ๒.) พระอเสขบุคคลท่านทำวิปัสสนาส าเร็จแล้วละกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว กิจที่ควรทำไม่มีอีก อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
            ๓.) พิจารณาสังขารุเปกขาญาณเพื่ออยู่เป็นสุขในภพปัจจุบันทันตาเห็น เพราะท่านละกิเลสได้หมดทุกอย่างแล้ว

๑๒. สังขารุเปกขาญาณเกิดขึ้นด้วยอำนาจสมถะและวิปัสสนา ดังนี้
สังขารุเปกขาญาณที่เกิดด้วยอำนาจสมถะ มี ๘ คือ
    ๑.) ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยนิวรณ์ ๕ เพื่อให้ได้ปฐมฌาน
    ๒.) ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยวิตก วิจารเพื่อให้ได้ทุติยฌาน
    ๓.) ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยปีติเพื่อให้ได้ตติยฌาน
    ๔.) ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยสุขเพื่อให้ได้จตุตถฌาน
    ๕.) ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญา เพื่อให้ได้อากาสานัญจายตนฌาน
    ๖.) ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยอากาสานัญจายตนสัญญา เพื่อให้ได้วิญญาณัญจายตนฌาน
    ๗.) ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยวิญญาณัญจายตนสัญญา เพื่อให้ได้อากิญจัญญายตนฌาน
    ๘.) ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉย อากิญจัญญายตนสัญญา เพื่อให้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
สังขารุเปกขาญาณที่เกิดจากวิปัสสนา มี ๑๐ คือ 
    ๑.) ปัญญาที่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นของรูปนามจนถึง อุปายาสะ เพื่อให้ได้โสดาปัตติมรรค แล้ววางเฉย
    ๒.) ปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นของ รูปนามจนถึง อุปายาสะเพื่อให้ได้โสดาปัตติผล สมาบัติ แล้ววางเฉย
    ๓.) ปัญญาที่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ของรูปนามจนถึง อุปายาสะ เพื่อให้ได้สกทาคามิมรรค แล้ววางเฉย
    ๔.) ปัญญาที่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ของรูปนามจนถึง อุปายาสะ เพื่อให้ได้สกทาคามิผล สมาบัติ แล้ววางเฉย
    ๕.) ปัญญาที่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ของรูปนาม เพื่อให้ได้อนาคามิมรรค แล้ววางเฉย
    ๖.) ปัญญาที่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ของรูปนาม เพื่อให้ได้อนาคามิผลสมาบัติ แล้ววางเฉย
    ๗.) ปัญญาที่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ของรูปนาม เพื่อให้ได้อรหัตตมรรค แล้ววางเฉย
    ๘.) ปัญญาที่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ของรูปนาม เพื่อให้ได้อรหัตตผลสมาบัติ แล้ววางเฉย
    ๙.) ปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นของ รูปนาม เพื่อให้ได้สุญญตวิหารสมาบัติ แล้ววางเฉย
    ๑๐.) ปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ของรูปนาม เพื่อให้ ได้อนิมิตตวิหารสมาบัติ แล้ววางเฉย

ผลของสังขารุเปกขาญาณ
เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาเห็นรูปนามโดยความเป็นของสูญอยู่อย่างนี้แล้วยกขึ้นสู่ความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กำหนดพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำอีก ผลก็จะปรากฏดังนี้
๑.) ละความกลัว ละความยินดี มีใจวางเฉยในรูปนาม
๒.) ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น ในรูปนามว่าเป็นของเรา
๓.) จิตไม่หวนกลับไปยินดีใน ภพ ๓ กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐีติ ๗ สัตตาวาส ๙ คงเหลืออยู่แต่ความวางเฉยในรูปนาม หรือเห็นรูปนามเป็นปฏิกูลสะอิดสะเอียนขยะแขยงถึงถอยกลับ หวนกลับจากภพชาติเป็นต้น อุปมาเหมือนหยาดน้ำค้างบนใบบัวที่เมื่อใบบัวเอียงลงน้ำค้าง ก็มีแต่จะไหลลงไปอย่างเดียวไม่หวนกลับ ไม่ย้อนกลับมาติดอยู่บนใบบัวอีกฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติเมื่อถึงญาณนี้ก็ไม่หวนกลับไม่เวียนกลับมาในภพ ๓ เป็นต้นอีก
๔.) ผู้ปฏิบัติเมื่อสติมีกำลังแก้กล้าปรากฏแล้ว ความโลภ โกรธ หลง ก็ไม่มี อุปมาเหมือนกับไฟฟัากำลังมากย่อมให้แสงสว่างมากดูอะไรๆ ก็เห็นได้ชัดเจนไม่มีความมืดฉันนั้น ดังนั้น ใจจึงมีแต่ความวางเฉย
๕.) ใจไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น ไม่ผูกพัน ไม่เกาะเกี่ยว ไม่กำหนัดพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น จึงปรากฏแต่ความวางเฉย
๖.) ไม่รับบัญญัติไว้เป็นอารมณ์ คือ ไม่รับว่าขันธ์ ๕ เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตน เพราะ มีสติปัญญาพิจารณาเห็นแน่ชัดแล้วว่า ขันธ์ ๕ เป็นอสุภะ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำให้สัญญาวิปัลลาสหายไป ไม่เข้าใจผิดและไม่หลงติดอยู่ ใจจึงมีแต่ความวางเฉยในรูปนาม
๗.)ไม่สั่งสมทุกข์ไว้ มีแต่พยายามตัดรากของทุกข์ให้หมดไปให้สลายไป ใจก็วางเฉยในรูปนาม
๘.) เมื่อเห็นรูปนามว่าเป็นภัย เป็นทุกข์ เป็นโทษ เบื่อหน่าย อยากหลุดพ้น ใจเข้มแข็งแล้ววางเฉย จิตก็จะไปสู่ความสงบ ถ้ายังไม่ถึงพระนิพพานก็จะยึดรูปนามมาเป็นอารมณ์ซ้ำๆ อยู่ อย่างนั้นอีก
๙.) สังขารุเปกขาญาณนี้ยิ่งนานก็ยิ่งละเอียด สุขุม ประณีต ดุจบุคคลเอาตะแกรงร่อนแป้ง ฉะนั้น เมื่อพิจารณารูปนามโดยประการต่างๆ แล้ว ละความกลัว ละความยินดี วางเฉยได้ จิตย่อมตั้งมั่นอยู่ด้วยอำนาจของอนุปัสสนาทั้ง ๓ เมื่อตั้งอยู่โดยอาการอย่างนี้ย่อม ถึงความเป็นวิโมกขมุข ๓ (วิโมกขมุข แปลว่าหนทางแห่งความหลุดพ้นโดยวิเศษจากกิเสสทั้งปวง ได้แก่อนุปัสสนาทั้ง ๓ เพราะเป็นหนทางนำออกไปจากโลกนำไปเหนือโลกคือโลกุตตระ ได้แก่หนทางไปสู่พระนิพพาน)

เปรียบเทียบ อนุปัสสนา ๓ วิโมกขมุก ๓ และพระอริยบุคคล ๘
อนุปัสสนา ๓
๑.) อนิจจานุปัสสนา ได้แก่ ปัญญาพิจารณาเห็นรูป นามว่าไม่เที่ยงเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป เกิดที่ไหนก็ดับไปที่นั่น ใจจึงแล่นไปในธาตุที่ไม่มีนิมิต จึงทำให้รูปนามปรากฏว่ามีแต่ความเสื่อมไปสิ้นไป แล้วมี ใจวางเฉยมีสติกำหนดรู้อยู่
๒.) ทุกขานุปัสสนา ได้แก่ ปัญญาพิจารณาเห็นรูป นามว่า เป็นทุกข์ทนอยู่ ไม่ได้ ใจก็เกิดความ สังเวชสลด ในรูปนามแล้ว แล่นไปในธาตุซึ่งไม่มีที่ตั้ง รูปนามก็ปรากฏว่าเป็นภัย คือเป็นของน่ากลัว แล้วมี ใจวางเฉยมีสติกำหนดรู้อยู่
๓.) อนัตตานุปัสสนา ได้แก่ปัญญาพิจารณา เห็นรูปนามว่า ไม่ใช่ ตัวตนเป็นของสูญ ว่างเปล่า ใจก็แล่นไปในธาตุ ว่าง รูปนามก็จะปรากฏโดยความเป็นของสูญฝ่ายเดียว แล้วมีใจวางเฉยมี สติกำหนดรู้อยู่
วิโมกขมุก ๓
๑.) อนิมิตตวิโมกข์ เป็นการหลุดพ้นด้วยการพิจารณา เห็นรูปนามโดยความเป็น อนิจจัง และเป็นผู้มากไป ด้วยศรัทธา การหลุดพ้นอย่างนี้เรียกว่า อนิมิตตวิโมกข์
๒.) อัปปณิหิตวิโมกข์ เป็น การหลุดพ้นด้วยการ พิจาณาเห็นรูปนาม เป็นทุกข์ และเป็นผู้ที่มากไปด้วยความสงบ การหลุด พ้นอย่างนี้เรียกว่า อัปปณิหิตวิโมกข์
๓.) สุญญตวิโมกข์ เป็นการ หลุดพ้นด้วยการพิจารณานามรูปเป็น อนัตตา และผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น เป็นผู้มากไปด้วยปัญญาอัน ละเอียดสุขุมคัมภีรภาพมาก การหลุดพ้นอย่างนี้เรียกว่า สุญญตวิโมกข์ 
พระอริยบุคคล ๘ 
โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล ผู้ที่บรรลุเป็นพระ อริยบุคคล ๘เหล่านี้ ทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องลงมือเจริญวิปัสสนากรรมฐาน สำหรับพระโสดาปัตติมรรมต้องผ่านญาณ ๑๖ ส่วนมรรคที่ ๒ ๓ ๔ ต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐานผ่านญาณ ต่างๆ เพียง ๑๓ ญาณ

ยอดของวิปัสสนา
ธรรมดาต้นไม้ต้องมียอดฉันใด วิปัสสนาก็มียอดฉันนั้น ยอดของวิปัสสนามี ๒ อย่าง คือ
๑. สิกขาปัตตะ วิปัสสนาที่ถึงยอดถึงปลายถึงความสูงสุด ได้แก่ สังขารุเปกขาญาณ ที่ครบอง ค์ ๖ คือ
    ๑.) ไม่มีความกลัว ไม่มีความยินดียินร้าย
    ๒.) ดีใจก็ไม่มี เสียใจก็ไม่มี
    ๓.) วางเฉยในสังขารทั้งปวง
    ๔.) ปล่อยวางแล้ววางเฉยได้ในที่สุดหรือสมาธิตั้งอยู่นานกำหนดอยู่ได้นานๆ
    ๕.) มีความเป็นกลางในการตรวจสอบสังขารหรือตั้งอยู่ในอนุปัสสนา ๓
    ๖.) ไม่ปรารถนาในภพต่าง
เมื่อครบองค์ ๖ แล้ว ผู้นั้นก็มีหวังจะได้บรรลุ มรรค ผล นิพพานอย่างแน่นอน
๒. วุฏฐานคามินี วิปัสสนาที่ออกจากนิมิตจากวัตถุที่เป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่น ได้แก่ขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา และวิปัสสนาที่ออกไปจากมิจฉาทิฏฐิ ภายในขันธสันดานของตนและออกไปจากกองกิเลสที่เป็นไปตามมิจฉาทิฏฐินั้นเอง

จบสังขารุเปกขาญาณ

๑๒.อนุโลมญาณ
อนุโลมญาณ คือ ญาณที่อนุโลมไปตามลำดับเพื่อสำเร็จกิจแห่งวิปัสสนาญาณ ๘ โดยมีรูปนามเป็นอารมณ์ หรืออนุโลมไปตามโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการในเบื้องสูง ผลของอนุโลมญาณนั้นย่อมสามารถกำจัดความมืดคือกิเลสที่ปกปิดอริยสัจ ๔ อนุโลมไปตามลำดับมี ๒ ประการ คือ

๑. อนุโลมตามญาณต่ำไปสู่ญาณสูง โดยเริ่มตั้งแต่
    ๑.๑) อุทยัพพยญาณ พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและดับไปของรูปนาม
    ๑.๒) ภังคญาณ พิจารณาเห็นความดับไปของรูปนามอย่างเดียว
    ๑.๓) ภยญาณ พิจารณาเห็นรูปนามว่าเป็นของน่ากลัว
    ๑.๔ป อาทีนวญาณ พิจารณาเห็นรูปนามว่ามีโทษมาก
    ๑.๕ป นิพพิทาญาณ พิจารณาเห็นทุกข์โทษของรูปนามแล้วเบื่อหน่าย
    ๑.๖) มุญจิตุกัมยตาญาณ พิจารณาเห็นทุกข์โทษเบื่อหน่ายแล้วอยากหลุดพ้น
    ๑.๗) ปฏิสังขาญาณ พิจารณาเห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วตั้งใจปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง
    ๑.๘) สังขารุเปกขาญาณ พิจารณาเห็นพระไตรลักษณ์แล้วมีใจวางเฉยอยู่กับรูปนามทั้ง ๘ อย่างข้างต้น เรียกว่า อนุโลมตามญาณต้น เพราะมีกิจพิจารณาพระไตรลักษณ์ เป็นอารมณ์เหมือนกัน

๒. อนุโลมตามโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ได้แก่
สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เมื่ออนุโลมตามญาณต่ำได้กำลัง พอแล้ว คือได้อินทรีย์ ๕ แก่กล้าแล้ว ก็เข้าเขตอนุโลมตามโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ

จบอนุโลมญาณ

๑๓. โคตรภูญาณ 
โคตรภูญาณ คือ ปัญญาที่ทำลายโคตรของปุถุชนแล้วเข้าสู่โคตรของพระอริยเจ้า
ปุถุชน แปลว่า ผู้มีกิเลสหนา มีความหมาย ๙ ประการ
๑. ผู้มีกิเลสหนาด้วยประการต่างๆ ได้แก่ มีสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เป็นต้น
๒. ผู้หนาด้วยคติทั้ง ๕ ผู้ไม่ออกจากคติทั้ง ๕ ได้แก่ นิรยคติ ติรัจฉานคติ ปิตติวิสยคติ มนุสสคติ เทวคติ
๓. ผู้สร้างสังขารทั้ง ๓ คือ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร
๔. ผู้ถูกโอฆะทั้ง ๔ พัดไป คือถูกทิฏโฐฆะ กาโมฆะ ภโวฆะ อวิชโชฆะ พัดไป
๕. ผู้เร่าร้อนอย่างมากเพราะ ราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น
๖. ผู้กำหนัด ชอบใจ ติดใจ ข้อง จม หลง พัวพันอยู่ในกามคุณทั้ง ๕ อย่างหนาแน่นคือ พอใจอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
๗.ผู้ถูกนิวรณ์ ๕ ครอบงำท่วมทับหุ้มห่อปกปิดไว้ ถูกกามฉันทะ คือความพอใจในกามคุณ ๕ ปกปิดไว้ ถูกพยาบาทอาฆาตจองเวรกันและกันปกปิดไว้ ถูกถีนมิทธะ คือความท้อใจ อ่อนใจ ท้อถอย หดหู่ ง่วงเหงาหาวนอนปกปิดไว้ ถูกอุทธัจจกุกกุจจะคือความฟุูงซ่านรำคาญปกปิดไว้ ถูกวิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย บุญ บาป เป็นต้น ปกปิดไว้
๘.ผู้หยั่งลงสู่ธรรมอันต่ำ สู่มรรยาทอันต่ำ ผู้หันหลังให้อารยธรรม อารยธรรมมี ๖ อย่าง คือ ไม่โกรธ ไม่ผูกโกรธ ไม่ลบหลู่บุญคุณท่าน มีความบริสุทธิ์ เป็นสัมมาทิฏฐิ และมีปัญญา
๙.ผู้ปราศจากสารธรรมทั้ง ๕ คือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา 

พระผู้มีพระภาคจำแนกปุถุชนไว้ ๒ พวก คือ อันธปุถุชนและกัลยาณปุถุชน
๑. อันธปุถุชน คือ ผู้ที่มีดบอดและมีกิเลสหนา ได้แก่ บุคคลที่ไม่ได้เรียน ไม่ได้สอบถาม ไม่ได้ฟัง ไม่ได้จำ ไม่ได้พิจารณาวิปัสสนาภูมิ ๖ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ เป็นต้น
๒. กัลยาณปุถุชน คือ คนมีกิเลสหนา แต่ได้นามว่าเป็นคนดี เพราะได้เรียนรู้ ได้สอบถาม ได้ฟัง จำได้ และได้พิจารณาวิปัสสนาภูมิ ๖ มีศีล ๕ และมีกัลยาณธรรม คือมี เมตตา จาคะ สันโดษ สัจจะ สติ

ปัญญาที่ทำลายโคตรของปุถุชนทั้ง ๒ ชนิด ที่หมุนออกไปจากสังขารนิมิตภายนอก คือ โคตรภูญาณ

ลักษณะของโคตรภูญาณ
๑. เมื่อปฏิบัติถึงโคตรภูญาณแล้ว รูปนามก็ดับไป
๒. ปัญญาที่รู้ความเป็นไปไม่ขาดสายของรูปนามที่เกิดขึ้นมาแล้วเพราะกรรมในภพก่อนเป็นปัจจัย
๓. ปัญญาที่รู้สังขารนิมิต ไม่เข้าใจผิดคิดว่ารูปนาม เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา
๔. ปัญญาที่รู้ในกรรมที่เป็นเหตุให้เกิดในภพต่อๆ ไป เมื่อปฏิบัติถึงญาณนี้แล้วกรรมต่างๆ ที่จะนำบุคคลนั้นให้ไปเกิดในภพอื่นอีกคงเหลือเพียง ๗ ชาติเป็นอย่างมาก
๕. ปัญญาที่สามารถครอบงำการเกิด เพราะเมื่อโคตรภูญาณเกิดขึ้นกับบุคคลใด การเวียนเกิดในภพต่างๆ กันถูกครอบงำไว้ได้
๖. ปัญญาที่สามารถครอบงำคติทั้ง ๕ ได้ หมายความว่า เมื่อโคตรภูญาณเกิดขึ้นกับบุคคลใด คติคือที่เกิดจะไม่มีแล้ว
๗.ปัญญาที่ครอบงำความบังเกิดขึ้นแห่งขันธ์ทั้งหลายได้หมายความว่า ขันธ์ที่เป็นอารมณ์ปัจจุบันในขณะนั้นดับไม่เกิด และขันธ์ในอนาคตก็ลดน้อยถอยลงไป จะเหลือเพียง ๑ ถึง ๗ ชาติเป็นอย่างมาก
๘. ปัญญาที่ครอบงำอุปบัติ คือ ความเกิดของวิบาก หมายความว่าถ้าท่านผู้ใดปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมาจนถึงโคตรภูญาณนี้แล้ว ท่านผู้นั้นจะพ้นจากผลกรรมต่างๆ ตามสมควรเพราะ มีความเกิดลดน้อยถอยลงมาจะเกิดอีกเพียง ๗ ชาติเป็นอย่างมาก
๙.ปัญญาที่ครอบงำชาติได้ หมายความว่า ชาติคือความเกิดนี้ แบ่งออกเป็น ๓ คือ ปัจจุบัน อดีต อนาคต เมื่อโคตรภูเกิดขึ้นแล้วความเกิดขึ้นของรูปนามในขณะปัจจุบันก็ดับไปหมดเพราะขณะนั้นมีพระนิพพานเป็นอารมณ์
๑๐. ปัญญาที่ครอบงำชราได้ หมายความว่า ขณะโคตรภูญาณเกิดขึ้น รูปนามที่กำลังเสื่อมอยู่ดับไป เพราะมีพระนิพพานเป็นอารมณ์
๑๑. เมื่อโคตรภูญาณเกิดขึ้นแล้วครอบงำ พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ อุปายาสะ ย่อมสงบไปดับไปได้ เพราะมีพระนิพพานเป็นอารมณ์

จบ โคตรภูญาณ

๑๔. มรรคญาณ
โสดาปัตติมรรคญาณ เมื่อโคตรภูญาณเกิดขึ้นแล้วดับไป โสดาปัตติมรรคก็เกิดขึ้นติดต่อกันทันที ทั้งสองญาณมีพระนิพพานเป็นอารมณ์เหมือนกัน แต่ทำหน้าที่ต่างกัน เมื่อโสดาปัตติมรรคเกิดขึ้นสามารถประหาณกิเลสได้ อุปมาดังนี้ การยิงธนูของนักแม่นธนูที่มีผ้าผูกตา เมื่อได้ยินสัญญาณเคาะไม้กระดานที่วางซ้อนกันไว้ ๑๐๐ แผ่น ก็สามารถยิงธนูไปเจาะทะลุกระดานทั้ง ๑๐๐ แผ่นทันที อุปมาโคตรภูญาณเปรียบเหมือนสัญญาณเคาะไม้ มรรคญาณเปรียบเหมือนนักยิงธนู การที่มรรคญาณไม่ลืมสัญญาณที่โคตรภูญาณให้ไว้แล้วทำพระนิพพานให้เป็นอารมณ์ แล้วเจาะทะลุทำลาย กองโลภะ โทสะ โมหะ ที่ไม่เคยทำลายมาก่อน เปรียบเหมือนนักยิงธนูที่ไม่ลืมสัญญาณเคาะไม้แล้วยิงธนูทะลุไม้กระดาน ๑๐๐ แผ่นทันที อานิสงส์ของโสดาปัตติมรรค มิใช่แต่ทำการเจาะทะลุกองกิเลสเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทำมหาสมุทรแห่งความทุกข์ในสังสารวัฏซึ่งไม่มีใครรู้เบื้องต้นและเบื้องปลายให้เหือดแห้งไปด้วย ปิดประตูอบายทั้งปวง ทำให้เป็นผู้มีอริยทรัพย์ ๗ ประการสมบูรณ์ สลัดทิ้งหนทางดำเนินผิด ๘ ประการเสียได้ ทำเวรภัยทุกอย่างให้สงบลง นำให้เข้าถึงความเป็นบุตรอันเกิดจากพระอุระของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นไปเพื่ออานิสงส์อื่นๆ อีกนานัปประการ

สกทาคามิมรรคญาณ เมื่อพระโสดาบันสำรวจทบทวนใน มรรค ผล นิพพาน และกิเลส ด้วยปัจจเวกขณญาณแล้ว อาจจะนั่งอยู่ที่อาสนะเดิม หรือในโอกาสต่อมาแล้วทำความเพียรในวิปัสสนาให้ยิ่งขึ้นเพื่อบรรลุสกทาคามิมรรคญาณ เพื่อทำกามราคะและพยาบาทอย่างหยาบให้เบาบาง ท่านจึงรวบรวมอินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ ทำให้สม่ำเสมอกัน แล้วพิจารณาสังขารธรรมคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ด้วยปัญญาที่กำหนดว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทบทวนไปมาแล้วหยั่งลงสู่วิถีของวิปัสสนาญาณ เมื่อพระโสดาบันปฏิบัติเช่นนี้แล้วอนุโลมญาณและโคตรภูญาณก็จะเกิดขึ้นต่อจาก สังขารุเปกขาญาณ แล้วสกทาคามิมรรคญาณจะบังเกิดต่อจากโคตรภูญาณ

อนาคามิมรรคญาณ เมื่อพระสกทาคามีสำรวจทบทวนดูมรรค ผล นิพพาน และกิเลส ด้วยปัจจเวกขณญาณแล้วอาจจะนั่งอยู่ที่อาสนะเดิม หรือในโอกาสต่อมาทำความเพียรในวิปัสสนาให้ยิ่งขึ้น เพื่อบรรลุอนาคามิ มรรคญาณ เพื่อละสังโยชน์เบื้องต่ำอีก ๒ คือ กามราคะและพยาบาทอย่างละเอียดโดยไม่เหลือ ท่านจึงเจริญอินทรีย์ พละ และโพชฌงค์ ทำให้สม่ำเสมอกัน แล้วพิจารณาสังขารธรรมด้วยปัญญาที่กำหนดว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทบทวนไปมาแล้วหยั่งลงสู่วิถีของวิปัสสนาญาณ เมื่อพระสกทาคามีปฏิบัติเช่นนี้แล้วอนุโลมญาณและโคตรภูญาณก็จะบังเกิดขึ้นต่อจากสังขารุเปกขาญาณ แล้วอนาคามิมรรคญาณจะบังเกิดต่อจากโคตรภูญาณ

อรหัตตมรรคญาณ เมื่อพระอนาคามีสำรวจทบทวนดู มรรค ผล นิพพาน และกิเลสด้วยปัจจเวกขณญาณแล้ว อาจจะนั่งอยู่ ณ อาสนะเดิม หรือในโอกาสต่อมาแล้วทำความเพียรในวิปัสสนาให้ยิ่งๆ ขึ้น เพื่อบรรลุอรหัตตมรรคญาณ เพื่อละสังโยชน์เบื้องบนอีก ๕ คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา โดยไม่มีเหลือ ท่านจึงเจริญอินทรีย์ พละ และโพชฌงค์ ทำให้สม่ำเสมอกัน แล้วพิจารณาสังขารด้วยปัญญา ที่กำหนดว่า ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทบทวนไปมาแล้วหยั่งลงสู่วิถีของวิปัสสนาญาณเมื่อพระอนาคามีปฏิบัติเช่นนี้แล้วอนุโลมญาณและโคตรภูญาณก็จะบังเกิดขึ้นต่อจากสังขารุเปกขาญาณ และอรหัตตมรรคญาณจะบังเกิดต่อจากโคตรภูญาณ

จบมัคคญาณ

๑๕. ผลญาณ 
โสดาปัตติผลญาณ ในลำดับต่อจากโสดาปัตติมรรคจิตดับลงแล้ว ผลจิตที่เป็นวิบากของมรรคจิต ได้แก่ โสดาปัตติผลจิตหรือโสดาปัตติผลญาณก็เกิดขึ้น พระโสดาบันท่านยังต้องเกิดในมนุษยโลกและเทวโลกทั้งหลาย อีก ๗ ชาติ แล้วก็จะเป็นผู้ทำที่สุดแห่งกองทุกข์ได้ การที่จะประหาณกิเลสดัณหาอันมีฤทธิ์ร้าย มีอยู่วิธีเดียวคือ การบำเพ็ญวิปัสสนาจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ ด้วยการประหาณกิเลสตัณหาได้อย่างเด็ดขาดเป็นขั้นๆ ไป

กิเลสมี ๑๕๐๐ ตัณหามี ๑๐๘ แต่เพื่อความเข้าใจได้ง่ายขึ้นจึงประมวลเอากิเลสตัณหาเหล่านั้นลงไว้ในกิเลส ๑๐ อย่าง คือ
    ๑. ทิฏฐิกิเลส
    ๒. วิจิกิจฉากิเลส
    ๓. โลภกิเลส
    ๔. โทสกิเลส
    ๕. โมหกิเลส
    ๖. มานกิเลส
    ๗. ถีนกิเลส
    ๘. อุทธัจจกิเลส
    ๙. อหิริกกิเลส
    ๑๐. อโนตตัปปกิเลส

พระโสดาบันละกิเลส ๒ ได้เด็ดขาด คือ
    ๑. ทิฏฐิกิเลส ได้แก่ สักกายทิฏฐิ ความเข้าใจผิดในขันธ์ ๕ เข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าขันธ์ ๕ เป็นของตน เป็น สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ความเข้าใจผิดเช่นนี้ชื่อว่าสักกายทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดที่ ทำให้ติดอยู่ในความหมุนเวียนของวัฏฏสงสาร
    ๒. วิจิกิจฉากิเลส ได้แก่ ธรรมชาติที่ทำให้ตัดสินใจลำบาก คือ สงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ 

สกทาคามิผลญาณ
เมื่อสกทาคามิมรรคจิตดับลง สกทาคามิผลจิตหรือสกทาคามิผลญาณก็เกิดขึ้นติดต่อกันโดยไม่มีระหว่างคั่น ทำนองเดียวกันกับโสดาปัตติมรรคญาณและโสดาปัตติผลญาณ การบังเกิดขึ้นของสกทาคามิผลญาณ ทำให้เป็นพระอริยบุคคล มีนามว่า พระสกทาคามี ซึ่งท่านจะกลับมาถือปฏิสนธิ ในโลกนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น และท่านสามารถทำที่สุดแห่งกองทุกข์ได้ พระสกทาคามีบุคคล ไม่ได้ประหาณกิเลสเพิ่ม แต่ทำราคะ โทสะ โมหะให้เบาบางลง

อนาคามิผลญาณ
เมื่ออนาคามิมรรคจิตดับลง อนาคามิผลจิตหรืออนาคามิผลญาณก็บังเกิดขึ้นติดต่อกันโดยไม่มีระหว่างคั่น ทำนองเดียวกันกับสกทาคามิมรรคญาณและสกทาคามิผลญาณ และการบังเกิดของอนาคามิผลญาณนี้ พระอริยบุคคลนั้นมีนามว่าพระอนาคามี สามารถฆ่ากิเลสที่ทำให้เวียนว่ายตายเกิด อยู่ในวัฏฏสงสารได้อีก ๑ คือ โทสกิเลส โทสกิเลส แบ่งออกได้ ๒ คือ ๑.) โทสะที่นำสู่อบายภูมิได้ เพราะความโกรธที่ดุร้ายสามารถทำอกุศลกรรมบถ มีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น โทสะชนิดนี้พระโสดาบันละได้แล้ว ๒.) โทสะที่ไม่นำไปสู่อบายภูมิ ได้แก่ ความขัดใจ โกรธเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่ถึงกับล่วงอกุศลกรรมบถ โทสะที่ละเอียดทั้งหมดพระอนาคามีละได้เด็ดขาดแล้ว

อรหัตตผลญาณ
เมื่ออรหัตตมรรคจิตดับลง อรหัตตผลจิตหรืออรหัตตผลญาณก็บังเกิดขึ้นติดต่อกันโดยไม่มีระหว่างคั่น พระอริยบุคคลนั้นมีนามว่าพระอรหันต์หรือพระมหาขีณาสพ ผู้มีร่างกายนี้เป็นวาระสุดท้าย เป็นผู้ปลงภาระลงได้แล้ว เป็นผู้บรรลุถึงความต้องการของตนเอง เป็นผู้หมดสิ้นสังโยชน์ในภพ เป็นผู้พ้นจากกองทุกข์ด้วยความรู้อันชอบแล้ว เป็นทักขิไณยบุคคลชั้นสุดยอดของมนุษยโลกและเทวโลก

จบผลญาณ

๑๖. ปัจจเวกขณญาณ
🙏 พระอริยบุคคลสำรวจทบทวนดูมรรคว่า “ ข้าพเจ้าสำเร็จมาด้วยอำนาจแห่งมรรคนี้แน่แล้ว”
🙏 พระอริยบุคคลสำรวจทบทวนดูผลว่า “ อานิสงส์ดังกล่าวนี้ข้าพเจ้าได้รับแล้ว”
🙏 พระอริยบุคคลสำรวจทบทวนดูกิเลสที่ละได้แล้วว่า “ กิเลสทั้งหลายชื่อนี้ๆข้าพเจ้าละได้แล้ว”
🙏 พระอริยบุคคลสำรวจดูกิเลสที่ยังเหลืออยู่ว่า “ กิเลสทั้งหลายชื่อนี้ๆ ของข้าพเจ้ายังเหลืออยู่”
🙏 พระอริยบุคคลสุดท้ายก็สำรวจทบทวนดูพระนิพพานว่า “ พระธรรมนี้ข้าพเจ้าแทงตลอดแล้ว”

ปัจจเวกขณญาณของพระโสดาบัน พระสกาทาคามี พระอนาคามี ต้องพิจารณา ๕ อย่างทั้งหมดข้างต้น แต่สำหรับพระอรหันต์ไม่ต้องพิจารณากิเลสที่เหลืออยู่แล้ว เพราะท่านประหาณกิเลสได้ ทั้งหมดแล้ว

จบปัจจเวกขณญาณ


 สรุปญาณ ๑๖
ญาณเหล่านี้เรียกว่า โสฬสญาณ เมื่อผ่านญาณ ๑๖ ไปแล้วหมายความว่าโยคีบุคคลผู้นั้นได้ดำเนินถึงจุดหมายปลายทางอันยิ่งใหญ่ในชีวิตได้ประสบสมบัติอันเป็นอมฤต ซึ่งจะหาสมบัติอื่นใดมาเปรียบปานอีกไม่ได้ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะอานิสงส์ของพระอริยบุคคลมี พระโสดาบันเป็นต้น เป็นอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่