วันพุธ

๑.๒๘ วิสุทธิ ๗

พุทธพจน์ที่แสดงหลักการปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพาน มักเป็นไปในรูปของคำสอนให้พิจารณาสภาวธรรม อย่างที่ได้ยกมาอ้างไว้แล้วข้างต้น หากจะแสดงลำดับขั้นตอนของการปฏิบัติ ที่จะเรียกได้ว่าเป็นระบบ ก็เป็นเพียงการแสดงขั้นตอนอย่างกว้างๆ จนถึงยุคของพระอรรถกถาจารย์ ท่านจึงได้นำเอาแบบแผนและรายละเอียดบางส่วนของขั้นตอนการปฏิบัติเหล่านั้น มาเรียบเรียงบันทึกไว้ในคัมภีร์ ดังตัวอย่างที่เด่นคือ ใน🔎วิสุทธิมัคค์ ซึ่งได้แสดงลำดับขั้นตอนและแบบแผนการฝึกทั้งด้านภายนอกและความเจริญก้าวหน้าภายใน โดยเค้าโครงทั่วไปท่านถือตามหลักการของไตรสิกขา แล้วขยายออกตามแนววิสุทธิ ๗ ซึ่งในชั้นเดิมมีแสดงเพียงลำดับหัวข้อ

วิสุทธิ ๗ คือ ธรรมที่ชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์เป็นขั้นๆไปโดยลำดับ จนบรรลุจุดมุ่งหมาย คือ นิพพาน จำแนกเป็น ๗ ชั้น (วิสุทธิ แปลว่า ความบริสุทธิ์หมดจด)


ระดับศีล

๑. สีลวิสุทธิ : ความหมดจดแห่งศีล คือ รักษาศีลตามภูมิขั้นของตนให้บริสุทธิ์และให้เป็นไปเพื่อสมาธิ

 ระดับสมาธิ

๒. จิตตวิสุทธิ : ความหมดจดแห่งจิต คือ ฝึกอบรมจิตจนบังเกิดสมาธิพอเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนา ตามคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ว่าได้แก่อุปจารสมาธิขึ้นไป (ในหนังสือพุทธธรรมฯ ท่านว่าวิปัสสนาสมาธิ คือ สมาธิระดับขนิกสมาธิถึงอุปจารสมาธิ การเจริญวิปัสสนาถ้าไม่ได้ใช้ฌานเป็นบาท โดยปกติจะมีสมาธิอยู่ในระดับนี้, ขนิกสมาธิ แปลว่า สมาธิชั่วขณะหรือสมาธิขั้นต้น ซึ่งการเล่าเรียนหรือทำงานทั่วไปก็สามารถเกิดขึ้นได้เอง ใช้เริ่มปฏิบัติวิปัสสนาได้)

ระดับปัญญา

🔅 ญาตปริญญา

๓. ทิฏฐิวิสุทธิ : ความหมดจดแห่งทิฏฐิ คือ ความรู้เข้าใจมองเห็นนามรูปตามสภาวะที่เป็นจริง เป็นเหตุข่มความเข้าใจผิดว่าเป็นสัตว์บุคคลเสียได้ เริ่มดำรงในภูมิแห่งความไม่หลงผิด กล่าวคือ กำหนดได้ว่า อะไรเป็นรูปธรรม อะไรเป็นนามธรรม เช่น รูป แสง สี เป็นรูปธรรม จักขุวิญญาณหรือการเห็น เป็นนามธรรม เป็นต้น (รูปธรรม หมายถึง สิ่งที่มีรูป สิ่งที่เป็นรูป, นามธรรม หมายถึง สิ่งที่ไม่มีรูป คือรู้ไม่ได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่รู้ได้ด้วยใจ) (จัดเป็นขั้น🔎กำหนดทุกขสัจจ์)

๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ : ความบริสุทธิ์ขั้นที่ทำให้กำจัดความสงสัยได้ คือ กำหนดรู้ปัจจัยแห่งนามรูปได้ (ว่านามธรรมและรูปธรรมล้วนเกิดจากเหตุปัจจัย และเป็นปัจจัยแก่กันและกัน อาศัยกัน) จึงสิ้นสงสัยในกาลทั้ง ๓ (อดีต ปัจจุบัน อนาคต) (จัดเป็นขั้น🔎กำหนดสมุทัยสัจจ์)

🔅 ตีรณปริญญา 

๕. มัคคามัคญาณทัสสนวิสุทธิ : ความหมดจดแห่งญาณที่รู้เห็นว่าเป็นทางหรือมิใช่ทาง คือ ยกเอารูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายขึ้นมาพิจารณาเป็นหมวดๆ ตามแนวไตรลักษณ์ทีละอย่างๆ เช่น พิจารณารูป โดยอนิจจลักษณะ โดยทุกขลักษณะ โดยอนัตตลักษณะ แล้วพิจารณาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (โดยอนิจจลักษณะ โดยทุกขลักษณะ โดย🔎อนัตตลักษณะ) ตามลำดับ จนพบว่าความหลุดพ้นคือทางประเสริฐสุด

ญาณข้อนี้เรียกว่า ดรุณวิปัสสนา (วิปัสสนาญาณอ่อนๆ) แสดงถึงการเป็นผู้เริ่มเห็นแจ้ง ในช่วงนี้จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า 🔎วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ประการ ขึ้นมา ชวนให้หลงผิดว่าบรรลุมรรคผลแล้ว ถ้าหลงไปตามนั้นก็เป็นอันพลาดจากทาง เป็นอันปฏิบัติผิดไป แต่ถ้ามีสติสัมปชัญญะ ก็จะกำหนดแยกได้ว่า วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ นั้นไม่ใช่ทาง แล้วกำหนด วิปัสสนาญาณที่ดำเนินถูกทางพ้นไปจากอุปกิเลสแล้วว่า นั่นแหละเป็นทางแท้จริง เมื่อความรู้นี้เกิดขึ้น ก็เรียกว่า เป็นมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ (จัดเป็นขั้น🔎กำหนดมรรคสัจจ์)

🔅 ปหานปริญญา

๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ : ความหมดจดแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน ได้แก่ วิปัสสนาญาณ ๙ คือพ้นจากวิปัสสนูปกิเลสเป็นต้นไปจนสุดทางแห่งความเป็นปุถุชน

วิปัสสนาญาณ ๙ มีดังนี้

    ๑. ญาณเห็นความเกิดดับแห่งขันธ์ ๕
    ๒. ญาณเห็นความดับสลาย คือ เมื่อเห็นความเกิดดับชัดเจนถี่เข้า ก็จะคำนึงเห็นเด่นชัดในส่วนความดับที่เป็นจุดจบสิ้นของสิ่งทั้งหลาย
    ๓. ญาณมองเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว ไม่ปลอดภัย
    ๔. ญาณอันคำนึงเห็นโทษของสังขาร
    ๕. ญาณคำนึงเห็นด้วยความหน่าย (นิพพิทาญาณ)
    ๖. ญาณหยั่งรู้ที่ทำให้ต้องการจะพ้นไปเสีย
    ๗. ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อให้เห็นทาง คือ เมื่อต้องการจะพ้นไปเสีย จึงกลับหันไปยกเอาสังขารทั้งหลายขึ้นมาพิจารณากำหนดด้วยไตรลักษณ์ เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออกไป
    ๘. ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร คือ เมื่อพิจารณาสังขารทั้งหลายต่อไป ย่อมเกิดความรู้เห็นสภาวะของสังขารตามเป็นจริงว่า เป็นไปของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา จึงวางใจเป็นกลาง ไม่ขัดใจติดใจ ในสังขารทั้งหลาย แต่นั้นก็มองเห็นนิพพานเป็นสันติบท ญาณจึงโน้มน้อมที่จะมุ่งแล่นไปยังนิพพาน เลิกละความเกี่ยวเกาะกับสังขารทั้งหลาย
    ๙. ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ คือ เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลาย ไม่พะวง และญาณก็โน้มน้อมแล่นมุ่งตรงสู่นิพพานแล้ว ญาณอันคล้อยตามต่อการตรัสรู้อริยสัจ ย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไป เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ (วิปัสสนาญาณ ๙ นี้ตรงกับข้อ ๔-๑๒ ใน 
🔎ญาณ ๑๖)

เมื่อสำเร็จญาณข้อ ๙ แล้ว ก็จะเกิด โคตรภูญาณ ทำนิพพานอันปราศจากสังขารให้เป็นอารมณ์ เป็นการคำนึงถึงครั้งแรก (ปฐมทัศน์) ในอารมณ์พระนิพพาน แล้วจึงเกิดมรรคญาณ ก้าวขึ้นจากภูมิของปุถุชนสำเร็จความเป็นอริยบุคคล

๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ (มรรคญาณ) : ความหมดจดแห่งญาณทัศนะตามลำดับขั้นของความเป็นอริยบุคคล ความเป็นอริยบุคคลย่อมเกิดขึ้นโดยวิสุทธิข้อนี้ เป็นอันจบกระบวนการบรรลุมรรคผลนิพพานในขั้นหนึ่งๆ



วันจันทร์

๑.๒๗ หลักวิปัสสนาบางส่วนจากพระไตรปิฎก

วิปัสสนา แปลง่ายๆว่า การเห็นแจ้ง หรือ วิธีทำให้เกิดการเห็นแจ้ง หมายถึง ปัญญาในส่วนของการบรรลุธรรม การละกิเลส เพื่อเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา วิปัสสนา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ โดยหลักแล้วก็คือส่วนขยายของข้อความที่ท่านบรรยายไว้สั้นๆว่า “เพราะเห็นด้วยปัญญา อาสวะทั้งหลายก็หมดสิ้นไป” ซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา จะต้องผ่านการปฏิบัติส่วนนี้ทั้งสิ้น

การพิจารณาสังขารให้เกิดความเห็นแจ้งเข้าใจชัด รู้จักมองสิ่งทั้งหลายตามสภาวะที่เป็นจริง ซึ่งเรียกสั้นๆว่าวิปัสสนานั้น เป็นส่วนสาระสำคัญของการตรัสรู้หรือบรรลุมรรคผล ซึ่งแม้จะมีหลายสำนวนแต่ก็ลงในแนวเดียวกัน กล่าวคือ สภาวธรรมหรือสังขารธรรมทั้งหลายมักถูกแยกแยะออกเป็นส่วนย่อยในรูปต่างๆ ซึ่งโดยมากแยกออกเป็นขันธ์ ๕ แล้วพิจารณาความจริงตามแนวไตรลักษณ์ มีมากแห่งที่เน้นเฉพาะแง่ที่เกี่ยวกับอัตตาและภาวะที่เป็นอนัตตา บางคราวก็สืบสาวความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยตามแนวปฏิจจสมุปบาท ถ้าพูดในแง่หลักปฏิบัติก็จะเป็นการกล่าวถึงหลักธรรมหมวดใดหมวดหนึ่งในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (ซึ่งทั้ง ๓๗ ประการนั้น ก็สรุปลงได้ในองค์มรรคทั้ง ๘ นั่นเอง) (ในจุดนี้ผู้บันทึกขอให้กำลังใจผู้ศึกษาบางท่านที่อาจรู้สึกว่า พระธรรมมีจำนวนมากมาย จนรู้สึกท้อแท้ในการศึกษา ควรเข้าใจว่า โลกุตรธรรมทั้งหมดนั้น มีสาระอย่างเดียวกัน เพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน แต่อธิบายคนละแง่ด้าน หรืออธิบายต่างสำนวนกัน เหตุเพราะพระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงธรรมตามจริตของผู้ฟังที่ต่างกันนั่นเอง พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวว่า “มรรคนั้นต่างกันโดยเทศนา แต่โดยอรรถก็อันเดียวกันนั้นเอง”)


พึงพิจารณาตัวอย่างพระสูตรที่กล่าวถึงแนวทางการวิปัสสนาในแต่ละสำนวน ดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด เรารู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งอัสสาทะ (คุณ, ส่วนดี) ของอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ โดยความเป็นอัสสาทะ ซึ่งอาทีนพ (โทษ, ส่วนเสีย) โดยความเป็นอาทีนพ และซึ่งนิสสรณะ (ภาวะรอดพ้น, ทางออก, ความเป็นอิสระ) โดยความเป็นนิสสรณะ, เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณในโลก … ว่าเราได้ตรัสรู้แล้ว ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ … บัดนี้ ภพใหม่อีก ไม่มี” (อัสสาทสูตร)

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด เรารู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งสมุทัย ความอัสดง อัสสาทะ อาทีนพ และนิสสรณะ ของอินทรีย์ทั้ง ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เหล่านี้, เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณในโลก … ว่าเราได้ตรัสรู้แล้ว ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ … บัดนี้ ภพใหม่อีก ไม่มี” (อรหันตสูตร)

“ภิกษุทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง ; อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติดแม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขารทั้งหลาย แม้ในวิญญาณ, เมื่อหายติด (นิพพิทา) ย่อมคลายออก (วิราคะ), เพราะคลายออก ย่อมหลุดพ้น ; เมื่อหลุดพ้น ย่อมมีญาณว่า หลุดพ้นแล้ว ; ย่อมรู้ชัดว่า สิ้นเกิด จบมรรคาชีวิตประเสริฐ (พรหมจรรย์) เสร็จกรณีย์ ไม่มีกิจอื่นอีกเพื่อภาวะเช่นนี้ (อนิจจสูตร)

“ภิกษุทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปัจจัยบีบคั้นได้ (ทุกข์) ; อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ” (ทุกขสูตร)

“ภิกษุทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เป็นตน (อนัตตา) ; อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ” (อนัตตสูตร)

“รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ทั้งไกลทั้งใกล้ ภิกษุย่อมมองดู รูป ฯลฯ วิญญาณ นั้น ย่อมพินิจ ย่อมตรองดูโดยแยบคาย, เมื่อเธอมองดู พินิจ ตรองดูโดยแยบคาย ย่อมปรากฏแต่สิ่งที่ว่างเปล่า หาแก่นสารมิได้เลย, แก่นสารในรูป ฯลฯ วิญญาณ จะพึงมีได้อย่างไร ; เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ” (เผณปิณฑสูตร)

“ภิกษุทั้งหลาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นสิ่งไม่เที่ยง ปัจจัยบีบคั้นได้ ไม่เป็นตัวเป็นตน, แม้สิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ปัจจัยบีบคั้นได้ ไม่เป็นตัวเป็นตน, ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเกิดจากสิ่งที่ไม่เที่ยง เกิดจากสิ่งที่ปัจจัยบีบคั้นได้ เกิดจากสิ่งที่ไม่เป็นตัวเป็นตน จักเป็นสุข จักเป็นอัตตาได้แต่ที่ไหน ; เมื่อมองเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ (ก็เป็นเช่นเดียวกัน) ; เมื่อมองเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติด ฯลฯ” (เหตุอัชฌัตตสูตร)

พระมหาโกฏฐิตะ : “ท่านสารีบุตร ภิกษุผู้มีศีล ควรโยนิโสมนสิการธรรมจำพวกไหน?”
พระสารีบุตร : “ท่านโกฏฐิตะ ภิกษุผู้มีศีล ควรโยนิโสมนสิการอุปาทานขันธ์ ๕ โดยอาการที่เป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่ปัจจัยบีบคั้นได้ เป็นดังโรค เป็นดังฝี เป็นดังลูกศร เป็นสิ่งคอยก่อความเดือดร้อน เป็นที่ทำให้ข้องขัดไม่สบาย เป็นดังคนพวกฝ่ายอื่น เป็นสิ่งที่จะต้องแตกสลาย เป็นของว่างเปล่าไม่มีสาระจริง ไม่เป็นอัตตา, มีฐานะเป็นไปได้ที่เมื่อภิกษุผู้มีศีล โยนิโสมนสิการอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ โดยอาการที่เป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ จะพึงประจักษ์แจ้งโสดาปัตติผล”
พระมหาโกฏฐิตะ : “ภิกษุโสดาบันล่ะท่าน ควรโยนิโสมนสิการธรรมจำพวกไหน?”
พระสารีบุตร : “แม้ภิกษุที่เป็นโสดาบัน ก็ควรโยนิโสมนสิการอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ โดยอาการที่เป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ มีฐานะเป็นไปได้ที่เมื่อภิกษุโสดาบัน โยนิโสมนสิการอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ โดยอาการที่เป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ จะพึงประจักษ์แจ้งสกทาคามิผล”
(ภิกษุสกทาคามี และภิกษุอนาคามี ก็เนื้อความทำนองเดียวกัน)
พระมหาโกฏฐิตะ : “พระอรหันต์ล่ะท่าน ควรโยนิโสมนสิการธรรมจำพวกไหน?”
พระสารีบุตร : “แม้พระอรหันต์ก็ควรโยนิโสมนสิการอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านั้นแหละ โดยอาการที่เป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ, พระอรหันต์ไม่มีกิจซึ่งจะต้องทำยิ่งขึ้นไปอีก ก็แต่ว่าธรรมเหล่านี้ เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทิฏฐธรรมสุขวิหาร (อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน) และเพื่อสติสัมปชัญญะ” (สีลสูตร)

“ดูก่อนอานนท์ มรรคปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ (สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕) เป็นไฉน? ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมเพราะอุปธิวิเวก (อุปธิ แปลว่า สิ่งที่ยังระคนด้วยกิเลส) เพราะละอกุศลธรรมได้ เพราะระงับความคร้านกายได้โดยประการทั้งปวง บรรลุปฐมฌาน มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมีอยู่ในกาย ในสมาบัตินั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นไข้ เป็นอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของสูญ เป็นของมิใช่ตัวตน

เธอย่อมเปลี้องจิตจากธรรมเหล่านั้น ครั้นเธอเปลื้องจิตจากธรรมเหล่านั้นแล้ว ย่อมน้อมจิตไปในอมตธาตุว่า ธรรมชาตินี้สงบ ธรรมชาตินี้ประณีต คือ ธรรมเป็นที่สงบสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นที่สิ้นกำหนัด เป็นที่ดับสนิท เป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์ดังนี้, เธอตั้งอยู่ในวิปัสสนา อันมีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์นั้น ย่อมบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ถ้ายังไม่บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายย่อมเป็นโอปปาติกะ (พระอนาคามี) จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะความยินดี ความเพลิดเพลินในธรรมนั้น และเพราะความสิ้นไปแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ทั้ง ๕ ดูกรอานนท์ มรรคแม้นี้แล ปฏิปทาแม้นี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕” (มหามาลุงโกยวาทสูตร)

(พระสูตรบทนี้แสดงให้เห็นว่าเมื่อเทียบกับนิพพานแล้วภาวะอื่นใดในโลกย่อมเสมือนเป็นดังความทุกข์ทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ภาวะที่ถือว่าเป็นสุขชั้นเยี่ยมยอดที่สุดของโลกอย่างฌานและอรูปฌาน ส่วนสุขระดับต่ำกว่าอย่างกามสุขนั้นย่อมเป็นอันไม่ต้องกล่าวถึง)



๑.๒๖ ปริญญา

ปริญญา การทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ โดยครบถ้วนหรือรอบด้าน แบ่งเป็น ๓ ขั้น คือ

ขั้นที่ ๑. ญาตปริญญา : กำหนดรู้ขั้นรู้จัก รู้จักลักษณะของสิ่งนั้น กำหนดรู้ตามสภาวะลักษณะ (ลักษณะที่เป็นภาวะของมันเอง) เช่น เวทนา คือ สิ่งที่มีลักษณะเสวยอารมณ์, สัญญา คือ สิ่งที่มีลักษณะกำหนดได้หมายรู้ เป็นต้น

ขั้นที่ ๒. ตีรณปริญญา : กำหนดรู้ขั้นหยั่งถึงไตรลักษณ์ คือ รู้ด้วยปัญญาที่หยั่งลึกซึ้งไปถึงสามัญลักษณะ (ลักษณะร่วมที่เสมอเหมือนกับสิ่งอื่น) ได้แก่ รู้ถึงการที่สิ่งนั้นๆ เป็นไปตามกฎธรรมดา พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา รวมถึงเข้าใจว่าสังขารทั้งหลายมีสามัญลักษณะคือสภาวะที่มีที่เป็นตามเหตุปัจจัย

ขั้นที่ ๓ ปหานปริญญา : กำหนดรู้ถึงขั้นละได้, รู้ว่าจะทำอย่างไร คือ รู้ถึงขั้นที่ทำให้ถอนความยึดติด เป็นอิสระจากสิ่งนั้นๆได้ และปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆได้ถูกต้อง เช่น เมื่อรู้ว่าสิ่งนั้นๆเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ก็ละความยึดติดในสิ่งนั้นๆได้

พระโสดาบัน สามารถกำหนดรู้ในขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ และมีญาณกำหนดรู้ในขั้นที่ ๓ ได้บางส่วน เรียกว่า บรรลุมรรคผลในขั้นแรก ถัดจากนั้น ก็พิจารณามรรคผล พิจารณากิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่ยังเหลืออยู่ และพิจารณานิพพาน เพื่อพัฒนาตนเองในขั้นต่อๆไป นิพพานเป็นจุดหมายที่ทุกคนเข้าถึงได้ เมื่อมีฉันทะ เพียรพยายาม มีความพร้อมแล้ว ก็สามารถบรรลุนิพพานได้ ไม่มีข้อจำกัด ชาติชั้นวรรณะ ฐานะ เพศ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต

“เราไม่กล่าวว่ามีความแตกต่างอะไรเลย ระหว่างอุบาสกผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้ กับภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วตลอดร้อยปี คือ วิมุตติ กับ วิมุตติ เหมือนกัน” (คิลายนสูตร)

กระบวนธรรมฝ่ายก่อทุกข์ อาจเรียกชื่อตามองค์ธรรมที่เป็นตัวการสำคัญว่า กระบวนธรรมฝ่ายอวิชชา-ตัณหา ส่วนกระบวนธรรมฝ่ายดับทุกข์ ก็อาจเรียกชื่อตามองค์ธรรมที่สำคัญว่า กระบวนธรรมฝ่าย วิชชา-วิมุตติ ถ้าเรียกอย่างง่ายๆ ฝ่ายแรก คือ ไม่รู้ จึงติด ฝ่ายหลังเป็น พอรู้ ก็หลุด ในฝ่ายอวิชชา-ตัณหา องค์ธรรมที่เป็นขั้วต่อ นำไปสู่ชาติภพ คือ อุปาทาน ส่วนในฝ่ายวิชชา-วิมุตติ องค์ธรรมที่เป็นขั้วต่อ ซึ่งพาออกไป หรือเป็นจุดแยกออกจากสังสารวัฏฏ์ ได้แก่ นิพพิทา แปลว่า ความหน่าย ความหมดใคร่ หายอยาก หายติด, ความปรีชาหยั่งเห็นสังขารตามความเป็นจริง จึงเกิดความหน่ายในสังขารทั้งปวงว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา, ความรู้ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งที่ทำให้เบื่อหน่ายในสังสารวัฏหรือกองทุกข์, ปรีชาคำนึงถึงสังขารด้วยความหน่าย เพราะมีแต่ทุกข์และโทษมากมาย แต่ไม่ใช่การอยากทำลายตนเองเพราะเบื่อสังขารด้วยวิภวตัณหา พึงแยกนิพพิทา กับ วิภวตัณหา ให้ชัดเจน

อุปาทาน เกิดสืบเนื่องมาจากอวิชชา ความไม่รู้สภาวะ ส่วนนิพพิทา เกิดจากความรู้เข้าใจตามเป็นจริง (มีศัพท์เฉพาะว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ, นิพพิทาญาณ) การที่นิพพิทาจะเกิดขึ้น หรือการที่จะถอนทำลายอุปาทานได้นั้น เป็นเรื่องที่เกิดจากความรู้ความเข้าใจ คือ เมื่อรู้เข้าใจสภาวะแล้ว นิพพิทาก็เกิดเอง อุปาทานก็หมดไปเอง (พร้อมๆกัน) เป็นเรื่องของกระบวนธรรมแห่งเหตุปัจจัย หรือภาวะที่เป็นเองตามเหตุปัจจัยของมัน



วันศุกร์

๑.๒๕ หลักการบรรลุนิพพาน

หลักการบรรลุนิพพาน หลักวิธี ๔ อย่าง

๑. สมถยาน : วิปัสสนามีสมถะนำหน้า

คือเจริญสมถะขึ้นก่อน (จะเป็นอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิก็ได้) จากนั้นจึงพิจารณาขันธ์ ๕ ในสมาธินั้น โดยความเป็นไตรลักษณ์ เพื่อละความยึดติดถือมั่น จนอริยมรรคเกิดขึ้น
“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุปฐมฌาน (หรือ ทุติยฌาน ฯลฯ), เธอพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีอยู่ในปฐมฌานนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดังลูกศร เป็นอาพาธ เป็นของสูญ เป็นอนัตตา, เธอยังจิตให้ยั้งหยุด จางคลายหายติดจากธรรมเหล่านั้น ครั้นแล้วเธอย่อมน้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุว่า นั่นสงบ นั่นประณีต กล่าวคือ นิพพาน เธอดำรงอยู่ในปฐมฌานนั้น (หรือ ทุติยฌาน ฯลฯ) ย่อมบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย” (ฌานสูตร)

๒. วิปัสสนายาน : สมถะมีวิปัสสนานำหน้า

ผู้เริ่มปฏิบัติด้วยเจริญวิปัสสนาทีเดียว โดยไม่เคยฝึกหัดเจริญสมาธิใดๆมาก่อน คัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์อธิบายว่า เบื้องแรกใช้ปัญญาพิจารณาเห็นสิ่งต่างๆ (ขันธ์ ๕) ตามสภาวะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา (ไตรลักษณ์) ครั้นเห็นตามความเป็นจริงแล้วจิตเกิดความปล่อยวางธรรมทั้งหลายอันปรากฏในวิปัสสนานั้น ขณะนั้นสมาธิเกิดขึ้น โดยจิตมีภาวะปล่อยวางนั้นเองเป็นอารมณ์ กล่าวคือ เมื่อผู้ปฏิบัติใช้ปัญญาพิจารณาความจริงเกี่ยวกับสิ่งทั้งหลายอย่างถูกทางแล้ว จิตก็จะสงบ เกิดมีสมาธิตามมาเอง จนในที่สุดเมื่อถึงขณะที่บรรลุมรรคผล สมาธินั้นก็จะแน่วแน่สนิทเป็นอัปปนาสมาธิ อย่างน้อยถึงระดับปฐมฌาน (อัปปนาสมาธิเช่นนี้ เกิดขึ้นแค่ช่วงมรรคจิต ผลจิตเท่านั้น) เมื่อปฏิบัติโดยวิธีนี้ อริยมรรคก็เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน

พึงเข้าใจว่าขณิกสมาธิ ซึ่งเป็นขั้นที่คนทั่วๆไปก็ได้กันมาบ้างแล้วในชีวิตประจำวัน จัดเป็นสมาธิอย่างน้อยที่สุดเท่าที่สามารถจะทำให้วิปัสสนาเริ่มต้นดำเนินไปได้ แต่ปราศจากขณิกสมาธิเสียแล้ว วิปัสสนาย่อมมีไม่ได้

๓. สมถะและวิปัสสนาเข้าคู่กัน

เข้าสมาบัติถึงไหนก็พิจารณาสังขารถึงนั่น กล่าวคือ เข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้วพิจารณาสังขาร เข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้วพิจารณาสังขาร เรื่อยไปตามสำดับ ดังเช่นพระสารีบุตร ซึ่งได้เจริญสมถะและวิปัสสนาเข้าคู่กันมา ตั้งแต่ปฐมฌานจนตลอดบรรลุมรรคผล

๔. วิธีปฏิบัติเมื่อจิตเขวเพราะธรรมุธัจจ์ (วิปัสสนูปกิเลส ๑๐)

เมื่อผู้ปฏิบัติกำลังพิจารณาขันธ์ ๕ อยู่โดยความเป็นไตรลักษณ์ เกิดมี โอภาส (แสงสว่าง) ญาณ ปีติ ปัสสัทธิ (ความสงบเย็น) สุข อธิโมกข์ (ศรัทธาแก่กล้า) ปัคคาหะ (ความเพียรที่พอดี) อุปัฏฐาน (สติชัด) อุเบกขา (จิตเป็นกลาง) นิกันติ (ความติดใจ) ขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งภาวะทั้ง ๑๐ นี้เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง และไม่เคยเกิดมี ไม่เคยประสบมาก่อน จึงชวนให้ผู้ปฏิบัตินึกเข้าใจสิ่งนั้นว่าเป็นมรรค ผล นิพพาน จนเกิดความฟุ้งซ่านไขว้เขว ก็จะไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งสภาพที่ปรากฏอยู่โดยภาวะเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เรียกว่ามีจิตถูกชักให้เขวไปด้วยธรรมุธัจจ์ แต่ครั้นมีเวลาเหมาะที่จิตตั้งแน่วสงบสนิทลงได้ในภายใน เด่นชัด เป็นสมาธิ มรรคก็เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัตินั้นได้

วิธีปฏิบัติที่จะให้จิตสงบเป็นสมาธิได้ ก็คือกำหนดด้วยปัญญา รู้เท่าทันฐานะทั้ง ๑๐ มีโอภาสเป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุให้จิตกวัดแกว่งหวั่นไหวเหล่านี้ ว่าเป็นของไม่เที่ยง เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งจะต้องเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา จนมองเห็นว่าไม่ใช่อัตตาตัวตน (ใช้พิจารณาความเป็นไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน) เมื่อรู้เท่าทันแล้วไม่ตื่นเต้นหวั่นไหว ไม่ลุ่มหลงคล้อยไป ก็จะเป็นผู้ฉลาดในธรรมุธัจจ์ จิตภาวนาก็จะไม่คลาด ไม่เสื่อมเสีย เป็นอันสางอุปกิเลสเสียได้ ดำเนินก้าวหน้าไปในมรรคาที่ถูกต้องต่อไป จนบรรลุมรรคผล

หลักวิธีทั้ง ๔ ที่กล่าวมานี้ ถ้าถือตามแนวอรรถกถาแล้ว มีวิธีที่เป็นหลักใหญ่เพียง ๒ อย่าง คือ สมถยานและวิปัสสนายาน ส่วนสองวิธีหลังเป็นส่วนเสริมขยาย จะเห็นว่า ไม่ว่าจะเจริญวิปัสสนาโดยมีสมถะนำหน้า (สมถยาน) หรือเจริญสมถะโดยมีวิปัสสนานำหน้าก็ตาม (วิปัสสนายาน) เมื่อถึงขณะที่อริยมรรคเกิดขึ้น ทั้งสมถะและวิปัสสนา จะต้องเกิดขึ้นควบคู่ไปด้วยกันเสมอไป เพราะโดยหลักการแล้ว สมถะและวิปัสสนาก็คือองค์ของมรรคนั่นเอง วิปัสสนาได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ, สมถะ ได้แก่ องค์มรรคที่เหลืออีก ๖ ข้อ



วันพฤหัสบดี

๑.๒๔ สำนวนแสดงความแตกต่างระหว่างพระอริยบุคคลแต่ละระดับ

ผู้ปฏิบัติเพื่อโสดาปัตติผล กับ พระโสดาบัน

“ภิกษุทั้งหลาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์, วิญญาณ ๖, สัมผัส ๖, เวทนา ๖, สัญญา ๖, สัญเจตนา ๖, ตัณหา ๖, ธาตุ ๖, ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เป็นของปรวนแปร กลายเป็นอย่างอื่นได้, ผู้ใดเชื่อ น้อมใจดิ่ง ต่อธรรมเหล่านี้ตามที่มันเป็นจริง ผู้นี้เรียกว่าเป็นสัทธานุสารี (อริยบุคคลขั้น โสดาปัตติมรรค) เป็นผู้ก้าวลงแล้วสู่ภูมิแห่งสัตบุรุษ ล่วงเลยภูมิแห่งปุถุชนไปแล้ว เป็นผู้ไม่อาจกระทำกรรมชนิดที่กระทำแล้วจะพึงเข้าถึงนรก ดิรัจฉาน หรือเปรตวิสัย ไม่อาจจบชีวิตจนกว่าจะประจักษ์แจ้งโสดาปัตติผล”

“สำหรับผู้ใด ธรรมเหล่านี้ ทนการเพ่งพิสูจน์ด้วยปัญญาอย่างนี้บ้างพอประมาณ, ผู้นี้เรียกว่าเป็นธัมมานุสารี (อริยบุคคลขั้น โสดาปัตติมรรค) ไม่อาจจบชีวิตจนกว่าจะประจักษ์แจ้งโสดาปัตติผล”

“ส่วนผู้ใด รู้ชัดธรรมเหล่านี้, ผู้นี้เรียกว่า เป็นโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้แน่นอนที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า” (โอกกันตสังยุก)

พระโสดาบัน กับ พระอรหันต์

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดอริยสาวก รู้ชัดซึ่งสมุทัย (เหตุให้เกิด) ความอัสดง (ความดับ) อัสสาทะ (คุณ) อาทีนพ (โทษ) และนิสสรณะ (ทางหลุดพ้น) แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ตามที่มันเป็นจริง, อริยสาวกนี้เรียกว่าโสดาบัน เป็นผู้มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา แน่นอนที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า"

“เมื่อใด ภิกษุ รู้ซึ่งสมุทัย ความอัสดง อัสสาทะ อาทีนพ และนิสสรณะ แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ตามที่มันเป็นจริงแล้ว เป็นผู้เข้าถึงและผู้หลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น ภิกษุนี้เรียกว่า อรหันตขีณาสพ เป็นผู้อยู่จบ เสร็จกิจ ปลงภาระลงได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตน หมดเครื่องผูกรัดไว้กับภพ เป็นผู้หลุดพ้น เพราะรู้ถูกถ้วน” (โสตาปันนสูตร; อรหันตสูตร)

สัจจกนิครนถ์ “ด้วยเหตุผลเพียงไรหนอ สาวกของท่านพระโคดมผู้เจริญ จึงจะชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสอน ปฏิบัติตรงต่อโอวาท ข้ามวิจิกิจฉา ปราศจากความเคลือบแคลงใจ ถึงความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใครอื่นในคำสอนของพระศาสดา” (คุณสมบัติของพระโสดาบัน)
พระพุทธเจ้า “สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ ย่อมมองเห็นรูปทั้งปวง ไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต ไม่ว่าภายในหรือภายนอก ไม่ว่าไกลหรือใกล้ ด้วยสัมมาปัญญา ตามที่มันเป็นจริงว่า มิใช่ นั่นของเรา, มิใช่ เราเป็นนั่น, มิใช่ นั่นเป็นตัวตนของเรา, มองเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามที่มันเป็นจริง (อย่างเดียวกับรูป) ด้วยเหตุผลเท่านี้แล สาวกของเรา ชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสอน ไม่ต้องอาศัยคนอื่น (คือไม่ต้องเชื่อคนอื่น) อยู่ในศาสนาของพระศาสดา”

สัจจกนิครนถ์ “ด้วยเหตุผลเพียงไรหนอ ภิกษุจึงจะชื่อว่า เป็นอรหันตขีณาสพ เป็นผู้หลุดพ้น เพราะรู้ถูกถ้วน”
พระพุทธเจ้า “ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มองเห็นรูปทั้งปวง ไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใด ด้วยสัมมาปัญญา ตามที่มันเป็นจริงว่า มิใช่ นั่นของเรา, มิใช่ เราเป็นนั่น, มิใช่ นั่นเป็นตัวตนของเรา, มองเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามที่มันเป็นจริง (อย่างเดียวกับรูป) ดังนี้แล้ว เป็นผู้หลุดพ้นด้วยไม่ถือมั่น ด้วยเหตุผลเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นอรหันตขีณาสพ หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้ถูกถ้วน” (จูฬสัจจกสูตร)

พระอนาคามี กับ พระอรหันต์

สังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง ๕ เป็นสิ่งที่พระอนาคามีละได้แล้วก็จริง แต่กระนั้น มานะว่า เรามี, อนุสัยว่า เรามี ที่ตามคลออยู่ (คืออย่างละเอียด) ในอุปาทานขันธ์ ๕ พระอนาคามีนั้นก็ยังละไม่ได้ ดังคำสนทนาของพระเขมกะ กับ พระเถระ

“ผมมิได้กล่าวว่ารูป (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เป็น เรามี, มิได้กล่าวว่าเรามีอยู่ นอกเหนือจากรูป (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) แต่กระนั้น ผมยังมีความรู้สึกถือติดอยู่ในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เรามีอยู่ ทั้งที่ผมก็มิได้เห็นคล้อยไปว่า เราเป็นอันนี้”
“เปรียบเหมือนกลิ่นปทุม ผู้ใดกล่าวว่ากลิ่นของกลีบ หรือว่ากลิ่นของสี หรือว่ากลิ่นของเกสร จะชื่อว่าพูดถูกต้องหรือ?”
“ไม่ถูกเลยท่าน”
“จะตอบให้ถูกว่าอย่างไรล่ะท่าน?”
“จะตอบให้ถูกก็ต้องว่ากลิ่นของดอกสิท่าน”
“ฉันนั้นเหมือนกันแล ผมก็ยังมีความรู้สึกถือติดอยู่ในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เรามีอยู่ ทั้งที่ผมก็มิได้เห็นคล้อยไปว่า เราเป็นอันนี้” (เขมกะสูตร)

พระอนาคามีแม้จะละสักกายทิฏฐิได้แล้ว แต่ก็ยังไม่หมดอัสมิมานะ และตัณหาที่ประณีตก็ยังหลงเหลืออยู่บ้าง พูดอย่างภาษาง่ายๆว่า แม้จะเลิกวาดภาพตัวเราแล้ว (ละสักกายทิฏฐิได้แล้ว) แต่ความรู้สึกที่ฝังลึกว่า นี่เรา นี่ของเรา (อันเป็นมานะอย่างละเอียด) ก็ยังล้างไม่หมด

สมัยต่อมา อริยสาวกนั้น พิจารณาเห็นอยู่เนืองๆ ซึ่งความเกิดขึ้นและความเสื่อมสิ้นไปในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ว่า รูปดังนี้ สมุทัยแห่งรูปดังนี้ อัสดงแห่งรูปดังนี้  (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ทำนองเดียวกัน) เมื่ออริยสาวกนั้น พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมสิ้นไปในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เหล่านี้อยู่เสมอๆ มานะว่า เรามี, อนุสัยว่า เรามี  ที่ตามคลออยู่ในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ซึ่งท่านยังถอนไม่ได้นั้น ก็จะถึงซึ่งความขาดถอนไปสิ้น



๑.๒๓ โสดาปัตติยังคะ ๔

โสดาปัตติยังคะ ๔ แสดงถึง องค์คุณของพระโสดาบัน, ใช้สำหรับสำรวจคุณสมบัติของบุคคลโสดาบัน บางแห่งเรียกว่า แว่นส่องธรรม ประกอบด้วย

๑. มีศรัทธาหยั่งลงมั่นด้วยปัญญาในพระพุทธเจ้า
๒. มีศรัทธาหยั่งลงมั่นด้วยปัญญาในพระธรรม
๓. มีศรัทธาหยั่งลงมั่นด้วยปัญญาในพระสงฆ์
๔. มีศีลสมบูรณ์

      ทั้ง ๔ ข้อนี้เป็นคุณสมบัติประจำตัว ซึ่งการจะมีคุณสมบัติดังนี้ได้ ก็จะต้องมีคุณสมบัติอื่นที่เป็นเหตุเป็นผลกัน เช่น การที่ศรัทธาหยั่งรากลงมั่นย่อมเป็นผลจากปัญญาที่รู้เห็นประจักษ์แจ้งกับตัวเองแล้วบางส่วน จึงสิ้นสงสัยในธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และกิเลสที่เบาบางลงก็เป็นเหตุให้ความมีศีลสมบูรณ์นั้นเกิดขึ้นมาเองเป็นธรรมดา

ปัญญาวุฒิธรรม ๔

      ธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามแห่งปัญญาตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันขึ้นไปถึงพระอรหันต์ บางครั้งก็เรียก โสดาปัตติยังคะ ๔ แต่ไม่ใช่เป็นคุณสมบัติของพระโสดาบัน เป็นข้อปฏิบัติที่จะทำให้เป็นพระโสดาบันและเจริญในธรรมยิ่งขึ้นไป

๑. สัปปุริสังเสวะ (คบหาสัตบุรุษ, เสวนาท่านผู้รู้ผู้ทรงคุณ)
๒. สัทธัมมัสสวนะ (ฟังสัทธรรม, เอาใจใส่เล่าเรียน หาความรู้จริง)
๓. โยนิโสมนสิการ (ทำในใจโดยแยบคาย, คิดหาเหตุผลโดยถูกวิธี, การรู้จักคิดพิจารณาด้วยใจที่ปลอดโปร่งเป็นอิสระ ไม่เอนเอียง ไม่มีอคติ ไม่ยึดติดทั้งในทางชอบใจ ไม่ชอบใจ จึงทำให้สามารถมองเห็นและเข้าใจสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง)
๔. ธัมมานุธัมมปฏิบัติ (ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม, ปฏิบัติธรรมหลักน้อยคล้อยตามหลักใหญ่, ปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องตามหลักคือให้สอดคล้องพอดีตามขอบเขตความหมายและวัตถุประสงค์ที่สัมพันธ์กับธรรมข้ออื่นๆ, นำสิ่งที่ได้เล่าเรียนและตริตรองเห็นแล้วไปใช้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลัก ตามความมุ่งหมายของสิ่งนั้นๆ)




วันพุธ

อ. เสถียร โพธินันทะ #๓


๖๑. สารพันปัญหา ๘
๖๒. สารพันปัญหา ๙
๖๓. สารพันปัญหา ๑๐
๖๔. สารพันปัญหา ๑๑
๖๕. ปปปป
๖๖. ปปปปป
๖๗. ปปปป
๖๘. ปปป
๖๙. ปปปป
๗๐. ปปปป
๖๑. ปปปปป
๖๒. ปปปป
๖๓. ปปป
๖๔. ปปปป
๖๕. ปปปป
๖๑. ปปปปป
๖๒. ปปปป
๖๓. ปปป
๖๔. ปปปป
๖๕. ปปปป
๖๑. ปปปปป
๖๒. ปปปป
๖๓. ปปป
๖๔. ปปปป
๖๕. ปปปป
๖๑. ปปปปป
๖๒. ปปปป
๖๓. ปปป
๖๔. ปปปป
๖๕. ปปปป


 <<<  หน้า ๑     หน้า ๒    หน้า ๓   >>> 


๑.๒๒ พระอริยบุคคล ๗ (ทักขิไฌยบุคคล ๗)

พระอริยบุคคล ๗ (ทักขิไฌยบุคคล ๗)
เป็นการแสดงระดับขั้นของท่านผู้บรรลุธรรม โดยแยกตามอินทรีย์เด่น
บุคคลที่ ๑, ๒ ได้แก่พระอรหันต์
๑. อุภโตภาควิมุต : ผู้ได้สัมผัสด้วยกาย ซึ่งวิโมกข์อันละเอียด (คืออรูปฌานขึ้นไป บางท่านได้โลกียอภิญญา) และพัฒนาต่อด้วยปัญญาจนหลุดพ้น ในสมัยพุทธกาล พระอรหันต์อุภโตภาควิมุต มีจำนวนน้อยกว่าปัญญาวิมุต
๒. ปัญญาวิมุต : ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา ได้อาสวขยญาณอย่างเดียว ไม่ได้โลกิยอภิญญา, สมาธิไม่เกินกว่าขั้นรูปฌาน ๔, บางครั้งท่านแยกออกอีกเป็น ๒ พวกคือ ได้ฌานเฉพาะในขณะที่บรรลุอรหัตตผล เรียก สุกขวิปัสสก ได้รูปฌาน เรียก ปัญญาวิมุต

บุคคลที่ ๓, ๔, ๕ ได้แก่ ผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค
        - พระอนาคามี + ผู้ตั้งอยู่ในอนาคามีมรรค
        พระสกทาคามี + ผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามีมรรค
        พระโสดาบัน
๓. กายสักขี : ผู้เป็นพยานด้วยนามกาย และอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัต ที่มีสมาธินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ (ได้สมาธิถึงขั้นอรูปฌาน)
๔. ทิฏฐิปปัตตะ : ผู้บรรลุสัมมาทิฏฐิ คือ ท่านที่เข้าใจอริยสัจจธรรมถูกต้องแล้วและอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัต ที่มีปัญญินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ
๕. สัทธาวิมุต : ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา คือ ท่านที่เข้าใจอริยสัจจธรรมถูกต้องแล้วและอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัต ที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ

บุคคลที่ ๖, ๗ ได้แก่ ผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค
๖. ธัมมานุสารี : ผู้แล่นไปตามธรรม หรือผู้แล่นตามไปด้วยธรรม คือ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล ที่มีปัญญินทรีย์แก่กล้า อบรมอริยมรรคโดยมีปัญญาเป็นตัวนำ ท่านผู้นี้ถ้าบรรลุผลแล้วกลายเป็นทิฏฐิปัตตะ
๗. สัทธานุสารี : ผู้แล่นไปตามศรัทธา หรือผู้แล่นตามไปด้วยศรัทธา คือ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผลที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้า อบรมอริยมรรคโดยมีศรัทธาเป็นตัวนำ ท่านผู้นี้ถ้าบรรลุผลแล้วกลายเป็นสัทธาวิมุต

พึงเข้าใจว่า ไม่ว่าผู้ใดจะมีอินทรีย์ใดแรงกล้า แต่ในเวลาตรัสรู้ ปัญญา ย่อมทำหน้าที่เป็นใหญ่ ไม่พึงสับสนกับ เจโตวิมุตติ : ความหลุดพ้นด้านจิต เป็นผลของสมถะ มีสมาธิในขั้นฌานขึ้นไปเป็นตัวนำ ปุถุชน ก็อาจมีเจโตวิมุตติได้ด้วยกำลังของสมาธิระดับฌานขึ้นไป แต่จะเสื่อมได้,

ปัญญาวิมุตติ : ความหลุดพ้นด้วยปัญญา เป็นผลของวิปัสสนา ซึ่งเป็นการกล่าวถึงภาวะและอาการ ผู้บรรลุอรหัตตผล จะต้องได้เจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตตินี้ ครบทั้งสองอย่างทุกบุคคล อย่างไรก็ตามถ้าจัดอย่างไม่เคร่งครัด หรือเน้นอินทรีย์ที่เด่นก็พอใช้เรียกได้ เช่น จัดให้พระสารีบุตรเป็นปัญญาวิมุต (แต่ท่านก็สำเร็จสมาบัติ ๘ และนิโรธสมาบัติ) จัดให้พระโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์ประเภทเจโตวิมุตติ จัดให้พระวักกลิเป็นพระอรหันต์ประเภทสัทธาวิมุตติ เป็นต้น

ผู้ปฏิบัติแม้ใช้วิธีเจริญวิปัสสนาล้วนๆ สมาธิก็พลอยได้รับการฝึกอบรมไปด้วย จนในที่สุดเมื่อถึงขณะบรรลุมรรคผล สมาธินั้นก็แน่วสนิทเป็นอัปปนาสมาธิ อย่างน้อยถึงระดับปฐมฌาน เป็นอันสอดคล้องกับหลักว่า ผู้บรรลุอริยภูมิ จะต้องมีทั้งสมถะและวิปัสสนาครบทั้งสองทั่วกันทุกบุคคล (ในผู้ที่ไม่ได้ฌานมาก่อน อัปปนาสมาธิเกิดแค่เฉพาะช่วงมรรคจิต ผลจิต เท่านั้น)

“ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างนี้ คือ ธรรมที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดวิชชา ได้แก่ สมถะ และวิปัสสนา สมถะ เจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร? จิตจะได้รับการเจริญ เมื่อจิตเจริญแล้ว จะละราคะได้ วิปัสสนา เจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร? ปัญญาจะได้รับการเจริญ เมื่อปัญญาเจริญแล้ว จะละอวิชชาได้” (พาลวรรค)



วันพฤหัสบดี

๑.๒๑ สังโยชน์ ๑๐

สังโยชน์ หมายถึง กิเลสอันผู้ใจสัตว์, อกุศลธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับวัฏฏะ หรือ ผูกกรรมไว้กับผล

โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ : สังโยชน์เบื้องต่ำ

๑. สักกายทิฏฐิ : ความเห็นเป็นเหตุถือตัวถือตน, ความเห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวของตน เห็นว่ามีตนอยู่ในขันธ์ ๕ เช่น เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นสัญญา เห็นสังขาร เห็นวิญญาณเป็นตัวของตน มีตนอยู่ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ, ความเห็นที่ยังติดแน่นในสมมติว่าเป็นตัวตน เราเขา เป็นนั่นเป็นนี่ มองไม่เห็นสภาพความเป็นจริง ที่สัตว์บุคคลเป็นเพียงองค์ประกอบต่างๆมาประชุมกันเข้า ทำให้มีความเห็นแก่ตัวในขั้นหยาบ และความรู้สึกกระทบกระทั่งบีบคั้นเป็นทุกข์ได้รุนแรง

สักกายทิฏฐิ มีความหมายเหมือนกับ อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในวาทะว่ามีตัวตน) การละสักกายทิฏฐิ เป็นขั้นละมิจฉาทิฏฐิ ไปสู่สัมมาทิฏฐิ คือ ในขั้นนี้แม้จะเลิกเห็นว่าเป็นตัวตนแล้ว แต่ความยึดถือที่ฝังลึก (มานะ) ยังละออกไปได้ไม่หมด ทั้งนี้ครูอาจารย์บางท่านเตือนให้ระวังเข้าใจผิด เพราะความหมายใกล้กับคำว่า นิรัตตา คือ ความดับสูญ รวมถึง นัตถิกทิฏฐิ คือ ความเห็นผลบุญผลบาปว่าไม่มี ซึ่งเหล่านี้เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างยิ่ง

๒. วิจิกิจฉา : ความลังเล สงสัย เคลือบแคลงต่างๆ เช่น สงสัยในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในอริยสัจ ๔ ในสิกขา ในเรื่องที่มาที่ไปของชีวิต ในปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น ทำให้ไม่มั่นใจ ไม่เข้มแข็งแกล้วกล้าที่จะดำเนินชีวิตตามหลักธรรม ด้วยความมีเหตุผล และในการที่จะเดินหน้าแน่วดิ่งไปในอริยมรรคา

๓. สีลัพพตปรามาส : ความถือมั่นศีลและพรต จนเลยเถิด, ถือโดยสักว่าทำตามๆกันไปอย่างงมงาย ไม่เป็นไปตามความมุ่งหมายที่แท้จริงของศีลและพรต เห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและพรต หรือพิธีกรรมต่างๆ ในเรื่องของศีลพรต มีหลักการโดยสรุปว่า เมื่อบุคคลถือปฏิบัติศีลพรตใดแล้ว อกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม ศีลพรตอย่างนั้นผิดพลาด ไร้ผล บุคคลถือปฏิบัติศีลพรตใดแล้ว กุศลธรรมเจริญ อกุศลธรรมเสื่อมถอย ศีลพรตอย่างนั้นถูกต้องมีผลดี

ตามหลักแล้ว ตราบใดยังเป็นปุถุชน สีลัพตปรามาสย่อมมีอยู่ไม่มากก็น้อย ต่อเมื่อใดเป็นพระโสดาบัน จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้บำเพ็ญบริบูรณ์ในศีล (ปรามาส แปลได้หลายความหมาย ๑. ลูบคลำ หยิบฉวย จับต้อง ๒. ยึดมั่นถือมั่นเลยเถิดจากวัตถุประสงค์ ๓. ดูถูก)

๔. กามราคะ (กามฉันทะ, อภิชฌา) : ความติดใคร่ในกามคุณทั้ง ๕, ความอยากได้ใฝ่หาในเรื่องรูป รส กลิ่น เสียง และโผฏฐัพพะ ที่ชอบใจ

๕. ปฏิฆะ (พยาบาท) : ความกระทบกระทั่งในใจ, ความหงุดหงิดขัดเคือง (ท่านว่าที่ใช้คำว่าปฏิฆะแทน โทสะ หรือ พยาบาท เพราะปฏิฆะใช้ในความหมายที่เบากว่า คือหมายถึง โทสะที่เป็นเพียงการขุ่นเคืองในจิตใจ ซึ่งไม่ถึงกับจะไปตีรันฟันแทงใครจริงๆ ส่วนโทสะ (และโลภะ) ในขั้นหยาบพระโสดาบันก็ละได้แล้ว)

อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ : สังโยชน์เบื้องสูง

๖. รูปราคะ : ความติดใจในรูปธรรม ติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน ติดใจปรารถนาในรูปภพ

๗. อรูปราคะ : ความติดใจในอรูปธรรม ติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน ติดใจปรารถนาในอรูปภพ

๘. มานะ : ความสำคัญตน ถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่

๙. อุทธัจจะ : ความฟุ้งซ่าน จิตใจไม่สงบ ว้าวุ่น ซัดส่าย คิดพล่านไป

๑๐. อวิชชา : ความไม่รู้จริง, ไม่รู้เท่าทันสภาวะ ไม่เข้าใจกฎธรรมดาแห่งเหตุและผล ไม่รู้อริยสัจ (ในบรรดากิเลสทั้งหลายทั้งปวงที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองนั้น ตัวรากเหง้าที่สุดก็คือ โมหะ หรือ อวิชชา นี่เอง)



๑.๒๐ พระอริยบุคคล

  พระอริยะบุคคล   

คือผู้ปฏิบัติเพื่อเข้าถึงนิพพาน ที่ดำเนินก้าวหน้ามาในทางที่ถูกจนถึงขั้นมองเห็นจุดหมายอยู่เบื้องหน้าและจะต้องบรรลุจุดหมายนั้นอย่างแน่นอน ท่านจัดเข้าสังกัดในกลุ่มชนผู้เป็นสาวกที่แท้ของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า สาวกสงฆ์ หรือ อริยสงฆ์ มี ๔ ระดับ

๑. พระโสดาบัน

พระโสดาบันเป็นผู้ทำได้บริบูรณ์ในขั้นศีล ทำได้พอประมาณในสมาธิ และทำได้พอประมาณในปัญญา, โลกุตระปัญญาเจริญขึ้นแล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์ จึงต้องอาศัยปัญญาที่หนุนด้วยแรงศรัทธา พระโสดาบันได้เริ่มรู้จักความสงบสุขผ่องใส เป็นอิสระ ที่เป็นด้านโลกุตระ ซึ่งทำให้มองเห็นคุณค่าของธรรม จนเกิดฉันทะในธรรมอย่างจริงจัง จนไม่มีทางที่จะกลับมามัวเมาในการเสพแสวงสิ่งปรนเปรอทางวัตถุอีกต่อไป จึงมีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดาและเป็นผู้แน่นอนแล้วในการเดินหน้าสู่ความตรัสรู้

พระอริยบุคคลอีก ๓ ลำดับ เป็นการเจริญขึ้นในธรรมที่พระโสดาบันเห็นไว้ทั่วพร้อมแล้ว แต่ยังรู้แจ้งประจักษ์กับตัวเพียงบางส่วน คือ เดินทางถูกต้องตามอริยมรรคอย่างแท้จริงแล้ว เป็นผู้ที่จะเกิดในสุคติภพอีกไม่เกิน ๗ ชาติ

ในพระไตรปิฎกมีข้อความที่แสดงถึงคุณสมบัติของพระโสดาบันปรากฏอยู่มากมาย เช่น ผู้ถึงกระแส, ผู้อยู่ชิดประตูอมตะ, ผู้มีสัมมาทิฏฐิสมบูรณ์, ผู้รู้จักโลกแท้จริง, ผู้เห็น / มาถึงสัทธรรมนี้แล้ว

ภาวะและชีวิตของพระโสดาบัน ไม่ห่างไกลและไม่น่ากลัวเลยสำหรับปุถุชนทั้งหลายแม้ในสมัยปัจจุบัน กลับจะเป็นที่น่าชื่นชมอย่างยิ่งสำหรับสาธุชนด้วยซ้ำ พุทธสาวกโสดาบันจำนวนมากมายในครั้งพุทธกาลเป็นคฤหัสถ์ ดำเนินชีวิตที่ดีงามอยู่ท่ามกลางสังคมของชาวโลก มีชีวิตครอบครัวที่เป็นสุข บำเพ็ญประโยชน์แก่ชุมชน พระศาสนา และบ้านเมือง มีชีวประวัติที่น่ายึดถือเป็นแบบอย่าง พุทธสาวกโสดาบันที่พึงออกชื่อเป็นตัวอย่างแสดงหลักฐานไว้ ณ ที่นี้ เช่น พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ยิ่งใหญ่แห่งแคว้นมคธ, อนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้บำรุงพระสงฆ์และสงเคราะห์คนอนาถาอย่างไม่มีใครอื่นเทียบเท่า, นางวิสาขามหาอุบาสิกา ผู้แม้มีบุตรมากถึง ๒๐ คน แต่สามารถบำเพ็ญประโยชน์ส่วนรวมได้เป็นอย่างดี มีเกียรติคุณสูงเด่นในสังคมแคว้นโกศล, หมอชีวก โกมารภัจ แพทย์ใหญ่ประจำพระองค์ราชาแห่งมคธ ประจำพระองค์พระพุทธเจ้าและคณะสงฆ์, นกุลบิดาและนกุลมารดา คู่สามีภรรยาผู้ครองรักอันภักดีมั่นคงตราบชรา และยังปรารถนาเกิดพบกันทุกชาติไป เป็นต้น

คุณสมบัติของพระโสดาบัน

๑.๑ คุณสมบัติฝ่ายมี
๑) ด้านศรัทธา : มีความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่นด้วยปัญญา ในพระรัตนตรัย (บางสำนวนนิยมใช้ว่า “ตถาคตโพธิสัทธา” คือ ความเชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งความหมายก็ครอบคลุมถึงพระรัตนตรัยไปด้วยในตัว) เป็นศรัทธาซึ่งแน่วแน่ มั่นคง ไม่มีทางผันแปร เพราะเกิดจากญาณ คือ ความรู้ ความเข้าใจ ทำให้มีความมั่นคงในธรรมโดยสมบูรณ์ เป็นศรัทธาที่แท้ คือ ไม่ทำให้งมงายแต่เป็นศรัทธาที่ทำให้หายงมงาย หรือ ศรัทธาที่เอื้อต่อปัญญานั่นเอง แม้ประสบความไม่เกื้อกูลสักเท่าใด ความมั่นใจในคุณธรรมก็ไม่มีทางเสื่อมถอย กล่าวได้ว่าเป็นผู้มีศรัทธาในพระรัตนตรัยอย่างสมบูรณ์

๒) ด้านศีล : มีศีลที่เป็นไท เป็นอิสระไม่เป็นทาสของตัณหา ไม่ถูกถือมั่นหรือไม่ต้องยึดมั่น เป็นศีลที่เกิดจากคุณธรรมภายใน การรักษาศีลจึงจะเป็นไปเอง เพราะเป็นศีลอยู่ในตัว เป็นปกติธรรมดา ตรงตามหลัก ตามความมุ่งหมายที่แท้ ไม่หย่อน ไม่เขว ไม่เลยเถิดไป เนื่องจากไม่มีกิเลสอย่างหยาบอันเป็นเหตุให้ละเมิด โดยทั่วไปหมายถึงศีล ๕ ที่ประพฤติได้อย่างถูกต้อง จัดเป็นขั้นที่บำเพ็ญศีลได้บริบูรณ์

พระพุทธเจ้าตรัสแสดงว่า แม้แต่พระอรหันต์ก็ยังต้องอาบัติเล็กๆน้อยๆได้ แต่พระอริยะทั้งหลายจะไม่ต้องอาบัติที่เป็นหลักพื้นฐานของพรหมจรรย์ด้วยความจงใจเลย ส่วนปุถุชน ศีล ดำรงอยู่ได้ดีด้วยศรัทธา

๓) ด้านสุตะ : ได้เรียนรู้ นับว่าเป็นผู้มีการศึกษา (เน้นเฉพาะด้านทางธรรม)

๔) ด้านจาคะ : อยู่ด้วยใจที่ปราศจากความตระหนี่ มีน้ำใจเผื่อแผ่เสียสละ ยินดีในการให้ การเฉลี่ยเจือจานแบ่งปัน สิ่งของที่ควรให้เท่าที่ตนเองมี ดังคำที่ท่านบรรยายว่า สิ่งของที่ควรให้ได้ บุคคลโสดาบันเฉลี่ยแบ่งปันกับคนมีศีลมีกัลยาณธรรมได้ทั้งหมด

๕) ด้านปัญญา : มีปัญญาอย่างเสขะ คือ รู้ชัดในอริยสัจ ๔ มองเห็นปฏิจจสมุปบาท เข้าใจไตรลักษณ์ เป็นอย่างดี จนสลัดมิจฉาทิฏฐิทั้งหลายในรูปแบบต่างๆได้สิ้นเชิง มีสัมมาทิฏฐิเพียบพร้อม ทำให้หมดความสงสัยในอริยสัจทั้ง ๔ นั้น เรียกตามสำนวนธรรมว่า เป็นผู้รู้จักโลกแท้จริง

        👉๕ ข้อแรก รวมเรียกว่า อารยวัฒิ ๕ คือ ความเจริญอย่างอริยชน, ธรรมที่ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าอันมั่นคง ใช้วัดความเจริญก้าวหน้าในธรรม เป็นธรรมหมวดที่ถือได้ว่ามีความสำคัญมาก ท่านยกขึ้นมาตรัสสอนอยู่บ่อยครั้ง เช่น

“แม้ผู้ที่เป็นปุถุชน แต่มีธรรม ๕ อย่างนี้ ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้เตรียมการสู่ชัยชนะในโลกหน้า” (อิฐโลกสูตร)
“ผู้ใดเจริญด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา, ผู้นั้นนับเป็นสัตบุรุษผู้ปรีชา (หรืออุบาสิกาผู้มีศีล) ย่อมถือเอาสาระในโลกนี้ไว้แก่ตนได้” (วัฑฒิสูตร)
“ภิกษุทั้งหลาย สำหรับมารดาและบิดา เราไม่กล่าวว่าจะกระทำการตอบแทนคุณได้ง่ายเลย, หากบุตรจะเอามารดาไว้บนบ่าข้างหนึ่ง เอาบิดาไว้บนบ่าข้างหนึ่ง ปรนนิบัติ ตลอดร้อยปี นั่นก็ยังไม่ชื่อว่าเป็นอันได้ตอบแทนแก่มารดาบิดา, ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก เป็นผู้บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย  บุตรคนใดชักจูง ปลูกฝัง ให้มารดาบิดาเจริญขึ้นใน ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา, ด้วยการกระทำนี้ จึงชื่อว่าเป็นอันได้ทำคุณ ได้ตอบแทนแก่มารดาบิดา” (สมจิตตวรรค)


๖) มีทิฏฐิสามัญญตา : มีความเห็นชอบร่วมกับเพื่อนร่วมหมู่ในอารยทฤษฏี, เมื่อต้องอาบัติ (ละเมิดวินัย) ก็จะรีบเปิดเผยแสดงให้หมู่คณะที่เป็นวิญญูได้ทราบแล้วสังวรต่อไป, ทั้งช่วยส่วนรวม ทั้งคอยฝึกตนให้ก้าวต่อไปในมรรคา

๗) ด้านความสุข : เริ่มรู้จักโลกุตรสุข ที่ประณีตลึกซึ้ง ซึ่งไม่ต้องอาศัยอามิส (เพราะได้บรรลุอริยวิมุตติแล้วตามระดับภูมิธรรม) ความสุขนี้เป็นทั้งผล และเป็นทั้งปัจจัยพันเนื่องอยู่ด้วยกันกับคุณธรรมที่ประพฤติ จึงเป็นหลักยืนยันถึงความไม่ไหลเวียนกลับลงต่ำอีกต่อไป มีแต่จะช่วยค้ำชูส่งเสริมให้ก้าวสูงขึ้นไปในเบื้องหน้า


๑.๒ คุณสมบัติฝ่ายหมด หรือฝ่ายละ

๑) ละสังโยชน์ได้ ๓ ข้อแรก (สังโยชน์ ๑๐ ดูบทถัดไป)

๒) ละมัจฉริยะ : ความตระหนี่ ความใจคับแคบ หวงแหน คอยกีดกันผู้อื่นทั้ง ๕ อย่าง คือ หวงถิ่นที่อยู่, หวงตระกูล เล่นพรรคเล่นพวก, หวงลาภ คิดกีดกันไม่ให้คนอื่นได้, หวงกิตติคุณ ไม่พอใจให้ใครมาแข่งดีกับตน ไม่พอใจเมื่อคนอื่นได้ดี, หวงธรรม หวงวิชาความรู้

๓) ละอคติ : ความลำเอียง ทั้ง ๔ อย่าง คือ ลำเอียงเพราะชอบ, ลำเอียงเพราะชัง, ลำเอียงเพราะกลัว, ลำเอียงเพราะหลงหรือเขลา

๔) ละราคะ โทสะ โมหะ ขั้นหยาบหรือรุนแรง ที่จะทำให้ถึงอบาย, ไม่ทำชั่วขั้นร้ายแรงที่จะเป็นเหตุให้ไปอบาย

๕) ระงับทุกข์ทางใจต่างๆ ที่จะพึงเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามศีล ๕ : เป็นผู้พ้นจากอบายสิ้นเชิง ความทุกข์ในจิตใจส่วนใหญ่หมดสิ้นไปแล้ว ที่เหลืออยู่อีกเพียงเล็กน้อย

* คุณสมบัติฝ่ายหมดและฝ่ายมีนี้ ว่าโดยสาระสำคัญ ก็เป็นอย่างเดียวกัน กล่าวคือ จะละสักกายทิฏฐิได้ ก็เพราะมีปัญญาหยั่งรู้สภาวธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง

* เมื่อเกิดปัญญาเข้าใจชัดขึ้นอย่างนี้ วิจิกิจฉา คือ ความสงสัยคลางแคลงใจก็หมดไป ศรัทธาที่อาศัยปัญญาก็แน่นแฟ้น

* พร้อมกันนั้น ก็จะรักษาศีลได้ถูกต้องตามหลักการ ตามความมุ่งหมาย สีลัพตปรามาสก็มลายสิ้นไป

* เมื่อจาคะเจริญขึ้น มัจฉริยะก็หมดไป

* เมื่อราคะ โทสะ โมหะ เบาบางลง ก็ไม่ตกไปในอำนาจของอคติ และไม่มีเหตุจูงใจให้ทำชั่วร้ายแรง

* ราคะ โทสะ โมหะ เบาบางลง ก็เพราะปัญญาที่มองเห็นความจริงของโลกและชีวิต ทำให้คลายความยึดติด เมื่อยึดติดถือมั่นน้อยลง ความทุกข์ก็ผ่อนคลาย และรู้จักความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้น

พระโสดาบันได้พบกับความสุขที่ประณีตล้ำลึก อันประจักษ์เฉพาะตนว่าเป็นสิ่งมีคุณค่าสูงล้ำ ซึ่งแม้ตนจะยังเสวยกามสุขหรือโลกิยสุขอื่นๆอยู่ ก็จะไม่ยอมให้ความสุขที่หยาบกว่าเหล่านั้นเป็นเหตุบั่นรอนความสุขที่ประณีต คือ จะไม่ยอมสละโลกุตรสุข เพื่อมาเติมขยายให้แก่โลกิยสุข พูดอีกนัยหนึ่งว่า โลกิยสุขถูกทำให้สมดุลด้วยโลกุตรสุขอันประณีต

ความเป็นโสดาบัน เป็นชีวิตระดับที่ยอมรับได้ว่าน่าพอใจ และวางใจได้ ทั้งในด้านคุณธรรมและความสุข พระพุทธเจ้าได้ตรัสเน้นถึงคุณค่าและความสำคัญของความเป็นโสดาบันอย่างมากมาย ดังจะทรงสนับสนุนให้เวไนยชน หันมาสนใจภูมิธรรม หรือระดับชีวิตขั้นนี้ อย่างจริงจัง และยึดเอาเป็นเป้าหมายของการดำรงอยู่ในโลก ดังพุทธพจน์สำคัญตอนหนึ่งว่า

“เลิศล้ำ เหนือกว่าความเป็นจักรพรรดิ ยิ่งกว่าการได้ไปสวรรค์ ประเสริฐกว่าสิ่งใดในโลก คือ การบรรลุโสดาปัตติผล” (คาถาธรรมบท โลกวรรค)

หากยังรู้สึกว่านิพพานห่างไกลและยากเกินไปที่จะเข้าใจ ถ้าพูดถึงนิพพานแล้ว ยังให้เกิดความรู้สึกอ้างว้างโหวงเหวง ก็พึงยึดเอาภาวะโสดาบันนี่แหละเป็นสะพานทอดไปสู่ความเข้าใจนิพพาน เพราะความเป็นโสดาบันเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงความรู้สึกและเข้าใจได้ง่ายกว่าสำหรับคนสมัยปัจจุบัน ในเวลาเดียวกันก็เกี่ยวข้องกับนิพพาน โดยฐานเป็นการเข้าถึงกระแสสู่นิพพาน หรือที่อรรถกถาเรียกว่าเป็น “ปฐมทัศน์แห่งนิพพาน” นับว่าได้ผลทั้งสองด้าน และยังถูกต้องตามหลักการที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ด้วย

พุทธพจน์ “ทุกข์ส่วนที่หมดไปแล้วของพระโสดาบันเปรียบเหมือนกับขุนเขาสิเนรุ ส่วนทุกข์ที่ยังเหลือเปรียบเหมือนก้อนหินขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียว ๗ ก้อน” (สิเนรุสูตร)

“ดูกรคฤหบดี เมื่อใด อริยสาวกมีภัยเวร ๕ ประการ (การผิดศีล ๕) ระงับแล้ว เป็นผู้ประกอบด้วยโสดาปัตติยังคะ 4๔ ประการ, และได้เห็นได้เข้าใจปรุโปร่งเป็นอย่างดีด้วยปัญญา ซึ่งอริยญายธรรม (ปฏิจจสมุปบาท), อริยสาวกนั้น เมื่อประสงค์ ก็พึงพยากรณ์ตนได้ด้วยตัวเองว่า เราเป็นโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้แน่นอนแล้ว ที่จะเดินหน้าสู่การตรัสรู้” (เวรสูตร)

๒. พระสกทาคามี

ผู้กลับมาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียวก็จะกำจัดทุกข์ได้สิ้น (เกิดในกามาวจรสุคติภูมิอีกครั้งเดียวก็ถึงพระนิพพาน) เป็นผู้ทำได้บริบูรณ์ในขั้นศีล ทำได้พอประมาณในสมาธิ และทำได้พอประมาณในปัญญา นอกจากละสังโยชน์ ๓ ข้อต้นได้แล้ว ยังทำราคะ โทสะ และโมหะ ให้เบาบางลงไปอีกต่อจากขั้นของพระโสดาบัน

๓. พระอนาคามี

ผู้จะปรินิพพานในที่ผุดเกิดขึ้น (ชั้นสุทธาวาส) ไม่เวียนกลับมาอีก ทำได้บริบูรณ์ในขั้นศีล ทำได้บริบูรณ์ในสมาธิ และทำได้พอประมาณในปัญญา ละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ครบ 5 ข้อ แม้ไม่ได้ฌานสมาบัติ แต่ก็เป็นสมาธิที่สมบูรณ์ในตัว ยั่งยืนคงระดับ เพราะไม่มีกิเลส (กามราคะ, ปฏิฆะ) ที่จะทำให้เสื่อมถอยหรือรบกวน

๔. พระอรหันต์

ผู้ควรแก่ทักขิณา ผู้หักกำแห่งสังสารจักรได้แล้ว เป็นผู้สิ้นอาสวะ เป็นผู้ทำได้บริบูรณ์ในสิกขาทั้งสาม คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ละสังโยชน์ได้หมดทั้ง ๑๐ ข้อ ไม่มีภูมิธรรมสูงกว่านั้นที่จะต้องขวนขวายบรรลุอีก

พระอริยบุคคล ๓ ระดับต้น เรียกว่า พระเสขะ แปลว่า ผู้ยังต้องศึกษา (ขั้นรู้ชัดด้วยปัญญา อันยังต้องประกอบด้วยศรัทธา) ส่วนพระอรหันต์ เรียกว่า พระอเสขะ แปลว่า ผู้ไม่ต้องศึกษา เพราะศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว (เข้าถึง หลุดพ้น โดยประจักษ์แจ้งกับตัว ไม่จำเป็นต้องอาศัยศรัทธา)

พระอรหันต์ทั้งหลายเสวยอารมณ์ด้วยจิตใจที่เป็นอิสระ ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันธรรมชาติของมัน ไม่ถูกกิเลสครอบงำหรือชักจูง ไม่ถูกเผาลนด้วยตัณหา และไม่มืดมัวด้วยอวิชชา เป็นอยู่ด้วยจิตใจที่โปร่งโล่ง ผาสุข เป็นอิสระ เมื่อไม่มีกิเลสชักนำไปสู่ภพ กระบวนธรรมสังสารวัฏฏ์ก็สิ้นสุดลง เข้าสู่วิวัฏฏ์ (นิพพาน) บรรลุภาวะแห่งความดับทุกข์ เป็นผู้มีชัยต่อปัญหาชีวิต มีความสุขอย่างแท้จริง อันเป็นประโยชน์สูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้ คุ้มค่ากับการที่ได้เกิดมามีชีวิต

อริยชน กับ ปุถุชน ต่างกันในข้อสำคัญ คือ อริยชนมีความสุขไร้ทุกข์ เป็นพื้นประจำตัว ส่วนปุถุชนต้องทะยานหาความสุข เพราะมีความขาดสุข หรือมีทุกข์คอยเร้า ยืนพื้นอยู่เป็นประจำ




วันศุกร์

๑.๑๙ นิพพาน มีอัตตาไหม เป็นอัตตาไหม?

บรรดาสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ใช้คำเรียกให้สั้นที่สุดว่าธรรม ยืดออกไปหน่อยว่าสภาวะ หรือสภาวธรรม ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า สิ่งทั้งหลายนั้นมีอยู่เป็นอยู่ตามภาวะของมัน ตามธรรมดาของมัน ถ้าเป็นสังขารหรือสังขตธรรม ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เมื่อพูดถึงนิพพาน ที่เป็นวิสังขาร หรืออสังขตธรรม นิพพานก็มีอยู่เป็นอยู่ตามภาวะของนิพพาน เช่นว่าเป็นภาวะบริสุทธิ์ ไม่ขึ้นต่ออะไรๆ เป็นต้น ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้แล้วมากมาย เมื่อนิพพานมีภาวะของนิพพานอย่างนั้น เป็นธรรมดาเช่นนั้นอยู่แล้ว จะมีอัตตามาแทรกมาซ้อนมาครอบมาครอง มาสั่งบังคับบัญชานิพพานอย่างนั้นอย่างนี้อีก ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้  ขอให้ดูตัวอย่างในพุทธภาษิตที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งของตน” นี่เป็นการใช้ในภาษาสมมติ (สมมติสัจจะ) ในความจริงแท้ (ปรมัตถสัจจะ) เราก็เรียนรู้กันว่าตัวเราแท้ๆนั้นไม่มีจริง ยอมรับกันแค่ตามสมมติ

นิพพานจะเป็นอัตตา จะเป็นตัวเราได้ ก็คือมีความยึดถือ ได้แก่อุปาทาน นี่ก็ขัดกับสภาวธรรมเอง เพราะจะประจักษ์แจ้งนิพพานได้ ต้องหมดสิ้นอุปาทานแล้ว พระอรหันต์จึงไม่มีความสำคัญหมายว่านิพพานของเรา

หลักพระพุทธศาสนาบอกชัดเจนว่าการถือว่ามีว่าเป็นอัตตา เป็นกิเลสที่เรียกว่า “อัตตวาทุปาทาน” หมายถึง การยึดวาทะถ้อยคำที่ส่อแสดงความคิดความเข้าใจว่ามีว่าเป็นอัตตา ขอให้สังเกตว่าประกอบด้วยศัพท์คำว่า “อัตตา+วาทะ+อุปาทาน” เพราะเมื่ออัตตาไม่มีจริง จะไปยึดอัตตาที่ไหน ก็เป็นแต่เพียงการยึดในวาทะว่ามีอัตตาเท่านั้น เป็นคำศัพท์ที่เรียกได้ว่าเคร่งครัด การปฏิบัติเกี่ยวกับนิพพานก็ดี นิพพานก็ดี ไม่ใช่เรื่องของการดับอัตตา เพราะไม่มีอัตตาที่จะต้องไปดับหรือไปทำลาย สิ่งที่จะต้องดับหรือทำลาย คือความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา ทิฏฐิว่ามีอัตตา ถ้ายังยึดว่าอะไรเป็นอัตตา ก็คือยืนยันว่ายังไม่รู้จักนิพพาน

สรุปด้วยพุทธพจน์ว่า “เรามองไม่เห็นความยึดถือวาทะว่ามีว่าเป็นอัตตา อย่างใด ที่เมื่อยึดติดถือมั่นเข้าแล้ว จะไม่ก่อให้เกิด โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส” (อลคัททูปมสูตร)


๑.๑๘ ความเข้าใจสับสนเกี่ยวกับนิพพาน

มีความเข้าใจสับสนเกี่ยวกับนิพพานซึ่งควรกล่าวถึง คือ ความเชื่อว่านิพพานคือภาวะที่เข้ารวมเป็นหนึ่งเดียวกับบรมสภาวะ พระผู้เป็นเจ้า ปรมาตมัน เป็นต้น

ตามปกตินั้น พระพุทธศาสนาชอบพูดอย่างง่ายๆตรงๆ เมื่อกล่าวถึงนิพพานก็ว่า เป็นภาวะดับกิเลสได้ หายร้อน หลุดพ้น เป็นอิสระ ไร้ทุกข์ ผ่องใส เบิกบาน ไม่ติดข้อง ไม่ถูกครอบงำรัดรึง พูดทำนองนี้จบแล้ว ก็พอกัน ไม่ต้องไปรวมไปกลืนหายเข้าในอะไรๆอีก พระอรหันต์ท่านหลุดโล่งโปร่งสบาย จิตใจไร้เขตแดน เป็นอิสระเสรีโดยสมบูรณ์แล้ว ไม่ปรากฏว่าท่านเคยคิดจะรวมเข้ากับอะไรๆอีก หรือว่าได้เข้ารวมกลมกลืนไปในอะไรๆแล้ว มีแต่ปุถุชนพยายามจะคิดให้ท่าน

การบรรลุนิพพาน ทำให้กิเลสและความทุกข์นั้นสูญสิ้นไปโดยเด็ดขาด เพราะขุดหรือถอนทิ้งด้วยปัญญา และสิ่งที่ดับไปในการประจักษ์แจ้งนิพพานนั้น ก็เป็นการดับเฉพาะสิ่งที่ชั่วร้าย และเหตุให้วุ่นวายเดือดร้อนต่างๆ เช่น ดับโลภะ โทสะ โมหะ ดับตัณหา ดับภพ ดับทุกข์ ดับอวิชชา มิได้ดับอะไรที่เป็นสิ่งดีงามเลย ยิ่งกว่านั้น เมื่อดับสิ่งชั่วร้ายแล้ว ก็กลับมีคุณลักษณะที่ดีเด่นขึ้นมาแทน อย่างชนิดเป็นไปเองตามธรรมดา นอกเหนือจากความสุข คือ การดำเนินชีวิตด้วยปัญญา และการบำเพ็ญกิจด้วยกรุณา



๑.๑๗ วิมุตติ ๕

๑. วิขัมภนวิมุตติ : ความหลุดพ้นด้วยอำนาจสมาธิ ข่มกิเลสไว้ ได้แก่สมาบัติ ๘ แต่บางครั้งท่านผ่อนลงมาถึงอุปจารสมาธิด้วย
๒. ตทังควิมุตติ : ความหลุดพ้นด้วยองค์ธรรมจำเพาะ คือ พ้นจากความเห็นผิดด้วยอาศัยวิปัสสนาญาณที่เป็นคู่ปรับกัน เช่น พิจารณาความไม่เที่ยงทำให้พ้นจากความสำคัญหมายว่าเป็นของเที่ยง ตามความหมายที่ผ่อนลงมาใช้ได้กับความดีความชั่วทั่วๆไป เช่น น้อมใจไปทางทาน ทำให้พ้นจากความโลภ, น้อมใจไปทางเมตตา ทำให้พ้นจากพยาบาท เป็นต้น
๓. สมุจเฉทวิมุตติ : ความหลุดพ้นเด็ดขาด คือการทำลายกิเลสที่ผูกรัดไว้ ได้แก่ วิมุตติในความหมายที่เป็นมรรค
๔. ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ : ความหลุดพ้นด้วยสงบระงับราบคาบไป ได้แก่ วิมุตติในความหมายที่เป็นผล
๕. นิสสรณวิมุตติ : ความหลุดพ้นที่เป็นภาวะหลุดรอดปลอดโปร่ง ได้แก่ วิมุตติในความหมายที่เป็นนิพพาน

วิมุตติ ๒ อย่างแรกเป็นโลกิยวิมุตติ (ชั่วคราว), วิมุตติ ๓ อย่างหลังเป็นโลกุตรวิมุตติ (ถาวร) ว่าโดยสาระแท้ๆ วิมุตติ ๕ นี้ก็คือ สมถะ วิปัสสนา มรรค ผล และนิพพาน ตามลำดับ


วันพุธ

๑.๑๖ ความพร้อมที่จะมีความสุข

ความสุขเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นยิ่งในทางจริยธรรม และพระพุทธศาสนาก็สนับสนุนให้ปฏิบัติเพื่อเข้าถึงภาวะที่จะเสวยความสุขได้ในระดับต่างๆมากมายหลายระดับ โดยเฉพาะเน้นให้พยายามบรรลุความสุขประณีตด้านใน ที่ไม่ต้องอิงอาศัยอามิส ซึ่งมีประโยชน์ในทางจริยธรรมมาก (กามสุขไม่จำเป็นต้องสนับสนุนเพราะคนคอยแต่จะหมกมุ่นกันเกินพออยู่แล้ว) แต่กระนั้นก็ไม่สนับสนุนให้ติดพันในความสุขชนิดใดๆเลย (แม้กระทั่งไม่ติดเพลินนิพพาน, ไม่มีความสำคัญหมายว่านิพพานของเรา) ยิ่งกว่านั้น พระพุทธศาสนาสนใจการสร้างความพร้อมที่จะมีความสุข หรือการทำตนให้พร้อมที่จะมีความสุขมากยิ่งกว่าการสร้างภาวะแห่งการเสวยสุขต่างระดับต่างประเภทนั้นเสียอีก ภาวะพร้อมที่จะมีความสุขนี้ เมื่อบรรลุถึงแล้ว ผู้บรรลุสามารถเลือกเสวยความสุขระดับต่างๆที่ตนเองสร้างไว้ก่อนแล้วได้ตามที่พอใจ


อนึ่ง ภาวะพร้อมที่จะเสวยสุขนี้ เป็นความสุขเองด้วยในตัว และเป็นความสุขที่เหนือกว่าสุขอื่นทั้งหมด ทั้งนี้ เพราะมันไม่มีสิ่งที่เป็นเชื้อมูลของความทุกข์เหลือติดอยู่เลย และเพราะการที่ไม่มีเชื้อทุกข์เหลืออยู่นี้เอง จึงกลับทำให้ผู้บรรลุ สามารถเสวยความสุขอย่างอื่นได้อย่างดีโดยสมบูรณ์ คือทำให้ความสุขเหล่านั้นไม่เป็นทางก่อโทษก่อทุกข์แก่ผู้เสวยมันหรือผู้ใดอื่นได้อีก ภาวะพร้อมที่จะเสวยสุข ซึ่งเป็นความสุขด้วยในตัวของมันเองนี้ คือลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของนิพพาน



๑.๑๕ ลักษณะของพระอรหันต์ผู้เข้าถึงนิพพาน (ภาวิต ๔)

ลักษณะของพระอรหันต์ผู้เข้าถึงนิพพาน สรุปตามแนวหลัก ภาวิต ๔ คือ ผู้มีตนที่พัฒนาแล้ว, ท่านผู้ได้ทำภาวนา ๔ เสร็จแล้ว หลักนี้เป็นแนวเดียวกับ ไตรสิกขา ต่างกันที่สิ่งที่มุ่งหมายจะแสดง คือ ไตรสิกขามุ่งแสดงการฝึกหัดพัฒนา แต่ภาวิต ๔ มุ่งแสดงคุณสมบัติของผู้ที่ได้พัฒนาสำเร็จแล้ว

หลักภาวิต ๔ 
๑. ภาวิตกาย :
มีกายที่ได้พัฒนาแล้ว
พัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุสมบูรณ์แล้ว ใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆได้อย่างเหมาะสม โดยไม่เกิดโทษ หรือให้เกิดโทษน้อยที่สุด, เป็นผู้พร้อมที่จะทำให้สถานที่นั้นเป็นรมณีย์น่ารื่นรมณ์ เพราะบังคับสัญญาของตนได้ จึงสามารถหมายรู้ในของปฏิกูลเป็นไม่ปฏิกูล เช่น คนหน้าตาไม่ดี อาการไม่งาม มองด้วยเมตตา หรือของไม่สวย มองตามสภาวะของธาตุ ให้เห็นเป็นของสบายตา, หมายรู้ในของไม่ปฏิกูลเป็นปฏิกูล เช่น คนหรือของที่เห็นกันว่าสวยงาม มองด้วยอนิจจตา หรือตามสภาวะของธาตุก็กลายเป็นไม่สวยงาม หรือจะวางใจเป็นกลางก็ได้ตามต้องการ

ดังพุทธพจน์ “พระอรหันต์ได้พัฒนาอินทรีย์แล้ว เป็นอย่างไร? เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ ได้ยินเสียงด้วยหู … สภาพที่น่าชอบใจ หรือไม่น่าชอบใจก็เกิดขึ้น เธอนั้นหากจำนงว่าจะหมายรู้สิ่งปฏิกูลว่าเป็นของไม่ปฏิกูล ก็ได้ หากจำนงว่าจะหมายรู้ในสิ่งไม่ปฏิกูลว่าเป็นของปฏิกูลก็ได้ หากจำนงว่า เราจะเว้นคำนึงทั้งปฏิกูลและไม่ปฏิกูล มีอุเบกขาอยู่ก็ได้” (อินทริยภาวนาสูตร)

๒. ภาวิตศีล : มีศีลที่ได้พัฒนาแล้ว
พัฒนาความสัมพันธ์ทางสังคมสมบูรณ์แล้ว พระอริยบุคคลย่อมเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ชั้นโสดาบัน การบรรลุอรหัตตผล เป็นภาวะที่ทำให้ความทุศีลหรือความประพฤติเสียหาย ไม่มีเหลืออีกต่อไป พระอรหันต์เป็นผู้ดับกรรม การกระทำของท่านไม่เป็นกรรมอีกต่อไป เรียกว่าเป็น กิริยา มีแรงจูงใจมาจากคุณธรรมเช่น ฉันทะ กรุณา เป็นต้น ไม่ได้มาจากตัณหา มีปัญญารู้แจ้งชัดตามเหตุผล คือ ไม่ทำการด้วยความยืดมั่นในความดีความชั่วที่เกี่ยวกับตัวเราของเรา ไม่มีความปรารถนาเพื่อตัวตนเคลือบแฝงอยู่ ทำไปตามวัตถุประสงค์ของกิจนั้นๆตามที่มันควรจะเป็นล้วนๆ จึงเป็นการกระทำขั้นที่ลอยพ้นเหนือกรรมดีขึ้นไปอีก ส่วนกรรมชั่วเป็นอันไม่ต้องพูดถึง เพราะหมด โลภะ โทสะ โมหะ ที่จะเป็นเหตุปัจจัยให้ทำความชั่วเสียแล้ว

โดยเฉพาะสำหรับท่านผู้ถึงนิพพานนั้น มีลักษณะเด่นเห็นชัดในแง่ที่ว่า เป็นผู้ปลอดโปร่งไร้ทุกข์ มีความสุขอย่างสมบูรณ์แล้ว เป็นผู้ทำประโยชน์ตนเสร็จสิ้นแล้ว จึงขับดันให้แรงฉันทะในข้อกรุณาแสดงออกมาเต็มที่ ดังที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายมีกรุณาเป็นพระคุณข้อสำคัญ

๓. ภาวิตจิต : มีจิตที่ได้พัฒนาแล้ว
จิตมีความเป็นอิสระหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของกิเลส ทำให้ไม่มีเรื่องติดใจกังวล ไม่หงุดหงิด ไม่หงอยเหงา ไม่มีความสะดุ้งสะท้านหวั่นไหว ไม่ต้องฝากชีวิตหรือความสุขของตนไว้กับความหวังเพราะเป็นคนบริบูรณ์เต็มอิ่ม ปลอดโปร่ง เกษม ผ่องใส เบิกบานใจ เป็นบรมสุขในตัว การไม่มีความกลัว ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่ตกใจไหวหวั่น เป็นลักษณะทางจิตที่สำคัญอย่างหนึ่งของพระอรหันต์ ความหวาดเสียวสะดุ้งตกใจนี้ เกิดจากกิเลสแฝงลึก อย่างที่ในปัจจุบันเรียกกันว่าอยู่ในจิตไร้สำนึก เป็นของปกปิดได้ยาก จึงเป็นเครื่องฟ้องถึงกิเลสที่ยังแฝงอยู่ภายใน ยากที่จะเสแสร้งแก่ผู้อื่นและไม่อาจหลอกลวงตนเอง

“ผู้ถึงธรรม ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ฝันเพ้อถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง ดำรงอยู่ด้วยสิ่งที่เป็นปัจจุบัน” (อรัญญสูตร)

ข้อควรทำความเข้าใจเป็นพิเศษในเรื่องนี้คือ การไม่รำพึงหลัง ไม่หวังอนาคตนี้ จัดเป็นลักษณะของภาวะทางจิต ที่ปลอดโปร่งจากอดีตและอนาคต ไม่ใช่ลักษณะของภาวะทางปัญญา มิได้หมายความว่าพระอรหันต์ไม่ใช้ปัญญาพิจารณากิจการงานภายหน้า และไม่ใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ และความรู้เกี่ยวกับอดีต พระอรหันต์ บรรลุภาวะมีอำนาจเหนือจิต ประสงค์จะตริตรึกความคิดใด ก็ตริตรึกความคิดนั้น ไม่ประสงค์จะตริตรึกความคิดใด ก็ไม่ตริตรึกความคิดนั้น พระอรหันต์เสวยเวทนาทางกายอย่างไม่มีกิเลสร้อยรัด เป็นการเสวยเวทนาชั้นเดียว ไม่เสวยเวทนาทางจิต เมื่อเสวยเวทนาแล้วไม่มีกิเลสอาสวะตกค้าง (ปุถุชนเมื่อเสวยสุข ก็จะมีราคานุสัยตกค้าง เสวยทุกข์ ก็มีปฏิฆานุสัยตกค้าง เสวยอารมณ์เฉยๆ ก็มีอวิชชานุสัยตกค้าง)

“สัตว์ที่ยืนยันได้ว่าตนปราศจากโรคทางจิต แม้เพียงครู่หนึ่งนั้น หาได้ยาก ยกเว้นแต่พระขีณาสพ” (จตุตถปัณณาสก์ อินทรียวรรค)

มีความดับเย็นเป็นสุขภายใน ไม่ต้องอาศัยอามิส ท่านเรียกว่าเป็นนิรามิสสุขอย่างยิ่ง (ยิ่งกว่านิรามิสสุขในฌาน) เมื่อสุขของผู้ถึงนิพพานไม่ขึ้นต่อปัจจัยภายนอก ความผันแปรแห่งสังขารจึงไม่เป็นเหตุให้ท่านเกิดความทุกข์ อยู่เป็นสุขได้ตลอดเวลา ตรงข้ามกับปุถุชนผู้ยังมีกิเลสอันเป็นเหตุให้ต้องแสวงหาความสุขจากอารมณ์ทั้งหลายที่เป็นกามคุณ แม้จะได้ความสุขจากการหาอารมณ์มาสนองความอยากนั้น แต่ก็ถูกเชื้อความอยากต่างๆทั้งหลายเร้า ระคาย ให้เร่าร้อนทุรนทุราย กระสับกระส่าย เมื่อดำเนินชีวิตไปในแนวทางเช่นนี้ ความสุขความรื่นรมย์ที่มีอยู่ ก็วนอยู่แค่การปลุกเร้าเชื้อความอยากให้ร้อนแรงยิ่งขึ้น แล้วก็หาสิ่งที่จะเอามาสนองระงับดับความกระวนกระวายนั้นลงไปคราวหนึ่งๆ อาจเปรียบเทียบได้ดังนี้
        ๑. เปรียบเหมือนผู้เป็นโรคเรื้อนย่อมได้รับความสุขเป็นครั้งคราวจากการเกาแผลโรคเรื้อนนั้น แต่ผู้ที่มีสุขภาพดีย่อมอยู่เป็นสุขทุกเมื่อ
        ๒. เปรียบเหมือนการโหมไฟขึ้นแล้วดับไฟลงชั่วคราวเพื่อได้รับความสุขเย็น ย่อมเทียบไม่ได้กับความสุขเย็นของไฟที่ดับลงอย่างถาวรแล้ว
        ๓. เปรียบเหมือนกับการเติบโตจากเด็กขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ ของเล่นต่างๆที่เคยรักใคร่หวงแหนในสมัยเด็ก ครั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็จืดจาง วิธีการหาความสนุกสนานต่างๆตามแบบของเด็กๆก็กลายเป็นสิ่งไร้ความหมาย ข้อนี้ฉันใด ผู้ที่บรรลุนิพพาน เข้าถึงพัฒนาการที่สูงเลยขึ้นไปจากปุถุชน ย่อมมีท่าทีต่อโลกและชีวิต ต่อสิ่งที่ชื่นชมยินดี และต่อวิถีทางดำเนินชีวิตของปุถุชน เปลี่ยนแปลงไป ฉันนั้น

ลักษณะที่ควรกล่าวย้ำไว้ เพราะท่านกล่าวถึงอยู่บ่อยๆ คือความเป็นสุข มีทั้งคำแสดงภาวะของนิพพานว่าเป็นสุข คำกล่าวถึงผู้บรรลุนิพพานว่าเป็นสุข และคำกล่าวของผู้บรรลุเองว่าตนมีความสุข เช่น นิพพานเป็นบรมสุข, นิพพานเป็นสุขยิ่งหนอ, สุขยิ่งกว่านิพพานสุขไม่มี, นี่คือสุขที่ยอดเยี่ยม, พระอรหันต์ทั้งหลายมีความสุขจริงหนอ, ผู้ปรินิพพานแล้ว นอนเป็นสุขทุกเมื่อแล, ผู้ไร้กังวลเป็นผู้มีความสุขหนอ, พวกเราผู้ไม่มีอะไรให้กังวล เป็นสุขจริงหนอ แม้นิพพานจะเป็นสุข และผู้บรรลุนิพพานก็เป็นผู้มีความสุข แต่ผู้บรรลุนิพพานไม่ติดในความสุข ไม่ว่าชนิดใดๆ รวมทั้งไม่ติดเพลินนิพพานด้วย

๔. ภาวิตปัญญา : มีปัญญาที่ได้พัฒนาแล้ว
ลักษณะสำคัญที่เป็นพื้นฐานทางปัญญาของผู้บรรลุนิพพาน คือ การมองสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นหรือเห็นตามเป็นจริง เข้าใจทั้งส่วนดีหรือส่วนที่น่าชื่นชม (อัสสาทะ) ส่วนเสียหรือส่วนที่เป็นโทษ (อาทีนวะ) และทางปลอดพ้น (นิสสรณะ) ของกาม ของโลก ที่ละกาม หายติดใจในโลก เลิกยึดขันธ์ ๕ เสีย ก็เพราะมองเป็นทางปลอดพ้นเป็นอิสระ (นิสสรณะ) ที่จะทำให้อยู่ดีมีสุขอย่างสมบูรณ์ได้โดยไม่ต้องขึ้นต่อส่วนดีและส่วนเสียเหล่านั้น อีกทั้งเป็นการอยู่ดีมีสุขที่ประเสริฐกว่า ประณีตกว่า อีกด้วย

“ภิกษุใดข้ามเปือกตมคือกามได้แล้ว ย่ำยีหนาม คือกามได้แล้ว ภิกษุนั้นบรรลุถึงความสิ้นโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวในเพราะสุขและทุกข์” (นันทะสูตร)

ในพุทธพจน์ที่ตรัสเรียกพระอรหันต์ว่าเป็น “อัตตัญชโห” แปลแค่ตามรูปศัพท์ว่า “ผู้ละอัตตา” แต่ความหมายคือ “ผู้ละความยึดถืออัตตา” เพราะไม่มีอัตตาที่จะไปละ เมื่อละความยึดถืออัตตาได้ อัตตาที่ไม่มีอยู่แล้วก็หมดภาพที่สร้างใส่ให้ไว้แก่ชื่อของมัน ภาพอัตตาที่ยึดไว้ถือมาก็ลับตาหายไป ทั้งนี้ มีข้อพึงตระหนักว่า คุณลักษณะและคุณสมบัติต่อไปนี้ แม้จะจัดแยกไว้ต่างหากกันเป็นด้านนั้นด้านนี้ แต่แท้จริงแล้ว มิใช่แยกขาดจากกัน เพียงแต่จัดแยกออกไปตามด้านที่ปรากฏเด่น เพื่อประโยชน์ในการศึกษา ส่วนในการพัฒนา คุณเหล่านี้เนื่องกัน พัฒนามาด้วยกัน โดยเฉพาะในด้านปัญญา

โดยสรุป คุณสมบัติของผู้บรรลุนิพพาน ไม่ว่าจะพูดพรรณนาในลักษณะใด รวมแล้วก็ตั้งอยู่บนฐานของธรรม ๓ ประการ คือ ปัญญาที่เรียกจำเพาะว่า วิชชา, ความหลุดพ้นเป็นอิสระที่เรียกว่า วิมุตติ และกรุณา ที่เป็นพลังแผ่ปรีชาญาณออกไปทำให้ผู้อื่นพลอยได้วิชชา และถึงวิมุตติด้วย เนื่องจาก ผู้บรรลุนิพพาน สำเร็จกิจประโยชน์ส่วนตนแล้ว จึงมุ่งบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ดังพุทธดำรัสอันตรัสเน้นอยู่เสมอ “เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พหูชน เพื่อความสุขของพหูชน เพื่อเกื้อการุณย์แก่ชาวโลก” ภาวะของผู้บรรลุนิพพานจึงเป็นความบรรจบกันของความสุขของบุคคล ที่จะเป็นไปเพื่อความสุขของมวลชนทั้งโลก