วันพุธ

ข. คุณค่าที่ ๒: คุณค่าด้านการทำกิจ หรือคุณค่าเพื่อความไม่ประมาท

ในด้านการทำกิจ คือ ปฏิบัติหน้าที่การงานหรือทำสิ่งที่ควรทำนั้น เป็นธรรมดาที่ว่า ปุถุชนทั้งหลายมักมีความโน้มเอียงดังต่อไปนี้

๑. เมื่อถูกทุกข์บีบคั้นเข้าแล้ว มีภัยมาถึงตัว เกิดความจำเป็นขึ้นเฉพาะหน้า จึงหันมาเอาใจใส่ปัญหาหรือกิจที่จะต้องทำ แล้วดิ้นรนหรือบางทีถึงกับตะลีตะลานที่จะพยายามแก้ไขปัญหา หรือทำการนั้นๆ ซึ่งบางคราวก็แก้ไขหรือทำได้สำเร็จ แต่บางทีก็ไม่ทันการ ต้องประสบความสูญเสีย หรือถึงกับพินาศย่อยยับ แม้ถึงจะแก้ไขหรือทำได้เสร็จ ก็ต้องเดือดร้อนกระวนกระวายมาก และยากที่จะสำเร็จอย่างเรียบร้อยด้วยดี อาจเป็นอย่างที่เรียกว่า สำเร็จอย่างยับเยิน

ข. ยามปกติอยู่สบาย หรือแก้ไขปัญหาลุล่วงไปได้ ทำกิจเฉพาะหน้าเสร็จไปที่หนึ่งแล้ว ก็นอนกายนอนใจ เฝ้าแสวงหาแส่เสพแต่ความสุขสำราญ หลงใหลมัวเมาในความปรนเปรอบำรุงบำเรอ หรือไม่ก็เพลิดเพลินติดในความปกติสุขอยู่สบายไปชั่ววันๆ ไม่คิดคำนึงที่จะป้องกันความเสื่อมและภัยที่อาจมาถึงในวันข้างหน้า มีกิจที่ควรทำ ถ้ายังไม่จวนตัว ก็ผิดเพี้ยนรอเวลาไว้ก่อน พอทุกข์บีบคั้น ภัยถึงตัว จำเป็นเข้า ก็ตะลีตะลานแก้ไข พอผ่านพ้นไปได้ ก็ลงนอนเสพสุขต่อไปอีก ปฏิบัติวนเวียนอยู่ในวงจรเช่นนี้ จนกว่าจะถึงวันหนึ่งที่ไม่อาจแก้ไขได้ทันการ หรือแก้ไขสำเร็จอย่างยับเยินเกิน กว่าจะดำรงอยู่ต่อไปได้ ก็เป็นอันจบสิ้นสภาพความเป็นอยู่

การดำเนินชีวิตอย่างที่กล่าวมานี้ เรียกว่าความประมาท ซึ่งแปลง่ายๆ ว่า ความละเลย หลงเพลิน ปล่อยตัว ทอดทิ้งกิจ ไม่ใส่ใจ ไม่เห็นสำคัญ ไม่กระตือรือร้นขวนขวาย ผัดเพี้ยน เรื่อยเปื่อย เฉื่อยชา มักพ่วงมาด้วยความเกียจคร้าน ขาดความเพียรพยายาม ความเป็นอยู่ หรือการดำเนินชีวิต ที่ตรงข้ามกับที่กล่าวมานั้น เรียกว่า ความไม่ประมาท หรือ อัปปมาท แปลง่ายๆ ว่า การอยู่ไม่ขาดสติ หรือการกระทำจริงจังต่อเนื่องไม่ทอดทิ้ง หมายถึงความเป็นอยู่อย่างพากเพียร โดยมีสติเป็นเครื่องเร้าเตือนและควบคุม คือสำนึกอยู่เสมอถึงสิ่งที่จะต้องเว้นและสิ่งที่จะต้องทำ ใส่ใจเว้นการอันพึงเว้นและทำการอันพึงทำให้สำเร็จ มองเห็นความสำคัญของกาลเวลา กิจกรรม และเรื่องราวทุกอย่าง แม้ที่เล็กน้อย ไม่ยอมถลำพลาดไปในทางเสื่อมเสีย และไม่ทอดทิ้งโอกาสสำหรับความดีงาม ความเจริญ เร่งรุด ก้าวหน้าไปในทางที่ดำเนินสู่จุดหมาย หรือในทางแห่งความดีงาม ไม่หยุดยั้ง และคิดเตรียมการโดยรอบคอบ

กล่าวได้ว่า ลักษณะสำคัญของอัปปมาท หรือความไม่ประมาทนี้มี ๓ อย่าง คือ

ก) เห็นคุณค่าและความสำคัญของเวลาที่ผ่านไปทุกๆ ขณะ ไม่ปล่อยกาละและโอกาสให้ผ่านไปเสียเปล่าใช้เวลาอย่างมีคุณค่า ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์อย่างคุ้มควร

ข) ไม่มัวเมา ไม่หลงระเริง ไม่ละเลิงเหลิงไป และไม่เลื่อนลอย ระมัดระวังควบคุมตนอยู่เสมอ ที่จะไม่ให้เผลอพลาดลงไปในทางผิด ไม่ปล่อยตัวให้ถลำลงไปในทางที่เสื่อมเสีย หรือที่จะทำกรรมชั่ว

ค) เร่งสร้างสรรค์ความดีงามและประโยชน์สุข กระตือรือร้นขวนขวายในการทำกิจหน้าที่ ไม่ละเลย แต่ขะมักเขม้นในการพัฒนาจิตปัญญา และทำการอย่างรอบคอบ (ข้อนี้เรียกว่า ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย)

ความรู้ในไตรลักษณ์ เป็นตัวเร่งโดยตรงสำหรับความไม่ประมาท เพราะเมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่คงตัว จะต้องแตกสลายกลับกลายไป ไม่รอเวลาและไม่ฟังใคร เป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จำเป็นอยู่เองว่า วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องย่อมมีอยู่อย่างเดียว คือ พึ่งเร่งรัดทำการตามเหตุปัจจัย หมายความว่า จะต้องเร่งขวนขวายป้องกันความเสื่อมที่ยังไม่เกิดขึ้น แก้ไขปัญหาหรือความเสียหายผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้ว รักษาสิ่งดีที่มีให้คงอยู่ และทำสิ่งที่ดีเพื่อให้เจริญงอกงามต่อไป ทั้งนี้ด้วยการศึกษาเหตุปัจจัยและทำการตรงตัวเหตุปัจจัยนั้น เช่น รู้อยู่ว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง จะเสื่อมสิ้นสูญสลายไปตามเหตุปัจจัย เมื่อเราต้องการความดีงามความเจริญ เราก็ต้องเพียรพยายามทำกรรมทั้งหลาย อันจะเป็นเหตุให้สิ่งดีงามนั้นเกิดมีขึ้น เจริญงอกงาม ดำรงอยู่ได้นานที่สุด และบังเกิดประโยชน์แก่คนมากที่สุด โดยนัยนี้จึงเรียกว่า คุณค่าด้านการทำกิจ หรือคุณค่าเพื่อความไม่ประมาท

เมื่อพิจารณาให้ละเอียด จะเห็นได้ว่า ตัวแกนหรือฐานแท้จริง (ตัวบีบหรือแรงดัน) ที่ทำให้เกิดความเร่งในการทำกิจนั้น ก็คือ ทุกข์ แต่ความสัมพันธ์ของคนกับความทุกข์ จะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ท่าทีต่อการทำกิจแตกต่างกันออกไป เป็นความประมาท ความไม่ประมาท และความไม่ประมาทที่มีคุณภาพอันแผกกัน การแยกแยะในเรื่องนี้จะช่วยให้มองเห็นลักษณะและคุณค่าของความไม่ประมาทที่ถูกต้องอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น จึงขอนำมากล่าว ณ ที่นี้ด้วย

ทุกข์เป็นฐานให้เกิดแรงเร่งในการทำกิจ ๓ แบบ คือ

๑. ทำการเพราะถูกทุกข์บีบ ได้แก่ พวกที่หลงใหลเพลิดเพลินอยู่ในความสุขสบาย ปล่อยปละละเลยกิจ เพลิดเพลินมัวเมา ไม่คิดถึงความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย รอจนกระทั่งภัยมาถึงตัว เกิดความเดือดร้อนและจำเป็นขึ้นแล้ว จึงรีบทำการ รีบแก้ไข หรือปรับปรุงเฉพาะหน้า ซึ่งทันการบ้าง ไม่ทันการบ้างอย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น

๒. ทำการเพราะกลัวความทุกข์ ได้แก่ พวกที่หวาดระแวง หวั่นต่อภัยอันตราย ความทุกข์ ความเดือดร้อนที่ยังไม่มาถึง จึงเร่งรีบแก้ไขปรับปรุงและทำการต่างๆ ที่เห็นว่าควรทำ เพื่อป้องกันภัยหรือความทุกข์ คือความเสื่อม ความพินาศ เป็นต้น และสร้างเสริมความเจริญก้าวหน้ามั่นคง ซึ่งการที่ทำก็มักสำเร็จได้ผลดี แต่เป็นไปด้วยจิตใจที่มีความเร่าร้อนกระวนกระวาย พูดง่ายๆ ว่ากลัวความทุกข์ แล้วก็ทุกข์เพราะความกลัว และทำการเพราะถูกความกลัวบีบอีกต่อหนึ่ง

๓. ทำการด้วยความรู้ทุกข์ ได้แก่ พวกที่คิดจัดการกับทุกข์ที่อาจเกิดมีข้างหน้าด้วยปัญญา มิใช่หวาดผวาด้วยความหวั่นกลัว กล่าวคือ รู้เท่าทันสภาวะที่จะต้องเป็นไปตามไตรลักษณ์ เข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงและความทุกข์หรือปัญหาที่อาจเกิดมีในภายหน้า จึงใช้ปัญญาศึกษาพิจารณาเหตุปัจจัยในกระบวนการแห่งความเปลี่ยนแปลง แล้วอาศัยความรู้ในวิถีแห่งอนิจจตา และโอกาสที่อำนวยโดยอนัตตา กำหนดเอาทางเลือกแห่งความเปลี่ยนแปลงที่พึงปรารถนาหรือที่ดีกว่า พร้อมทั้งใช้ความรู้ในประสบการณ์ส่วนอดีตเป็นบทเรียนแล้วเร่งรัดปรับปรุงแก้ไข และทำการต่างๆ เพื่อตัดทางมิให้ทุกข์เข้ามาครอบงำตน หรือบรรเทาเสีย ตลอดจนเบนให้เป็นไปในทางที่ดีงามเจริญก้าวหน้า เท่าที่เป็นไปได้ ทำให้สามารถป้องกันทุกข์ หรือทำตนให้ปลอดทุกข์ข้างหน้าเท่าที่อยู่ในวิสัยด้วย และทั้งปลอดโปร่งผ่องใส ไม่มีทุกข์ ไม่หวาดหวั่นกระวนกระวายในขณะกำลังทำการด้วย

แบบที่ ๑. ก็คือ ความเป็นอยู่ด้วยความประมาทอย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น
แบบที่ ๒ และแบบที่ ๓. คือความเป็นอยู่โดยไม่ประมาท หรือเป็นอยู่ด้วยอัปปมาท แต่ความไม่ประมาทในแบบที่ ๒. เป็นอัปปมาทที่อาศัยกิเลส จึงเจือปนด้วยความทุกข์ ส่วนความไม่ประมาทในแบบที่ ๓. เป็นอัปปมาทที่เกิดพร้อมด้วยปัญญา จึงปราศจากปมปัญหา ไม่มีความทุกข์ในจิตใจ เป็นความไม่ประมาทที่ถูกต้องสมบูรณ์ ซึ่งพระอรหันต์เท่านั้นจะบำเพ็ญได้อย่างเต็มความหมาย ส่วนปุถุชนจะบำเพ็ญความไม่ประมาทได้ดีแค่ไหน ก็สุดแต่ว่าจะใช้ปัญญา (ตามแบบที่ ๓.) ได้มาก และถูกบีบคั้นด้วยความกลัวและความเร่าร้อนกระวนกระวาย (ตามแบบที่ ๒.) น้อยลงเพียงใด ดังได้ยกหลักฐานมาให้ดูแล้วในตอนท้าย🔎คำอธิบายของคุณค่าข้อที่ ๑. ว่า ไม่เฉพาะแต่ปุถุชนเท่านั้น แม้ถึงพระอริยบุคคลชั้นต้นๆ ก็ยังอาจเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาทได้ เหตุที่ทำให้ประมาทก็คือ ความพอใจ อิ่ม หรือสันโดษด้วยคุณวิเศษบางอย่างบางขั้นที่ตนได้บรรลุแล้ว ซึ่งเป็นความติดเพลินในความสุขสบายและความปล่อยปละละเลยทอดทิ้งกิจ อย่างหนึ่ง ๆทั้งนี้ กินความรวมถึงการที่มองเห็นไตรลักษณ์ รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงเป็นต้นแล้ว ปลงใจได้ต่อสังขารทั้งหลาย หายเศร้าโศก ไม่ทุกข์ ไม่เดือดร้อนคับแค้นใจเพราะความสูญเสียเสื่อมสลายพลัดพรากเป็นต้น

เมื่อสุขสบายภายในหรือปรับภายในได้แล้ว ก็เลยหยุดนิ่ง ไม่สนใจ ไม่ขวนขวาย ไม่เพียรพยายามแก้ไขปัญหาที่ค้างคาอยู่ภายนอก ไม่ทำกิจที่ควรทำเพื่อป้องกันหรือปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ปล่อยปละละเลยสิ่งที่เป็นปัญหาให้ดำเนินสภาพของมันต่อไปหรือยิ่งขึ้นไป กรณีอย่างนี้ เรียกว่าการได้คุณค่าข้อที่ ๑. คือคุณค่าด้านการทำจิต หรือคุณค่าเพื่อความหลุดพ้นเป็นอิสระของจิต (ระดับต้นๆ) นั้น เป็นปัจจัยให้เกิดความประมาท เพราะผู้นั้นปฏิบัติผิด คือปฏิบัติเพียงด้านเดียวไม่ครบถ้วน ขาดการปฏิบัติเพื่อให้ได้คุณค่าข้อที่ ๒. ด้านการทำกิจ หรือคุณค่าเพื่อความไม่ประมาทไปเสีย ซึ่งจำเป็นจะต้องแก้ไขโดยให้ตระหนักในคุณค่าทั้งสองด้าน แล้วปฏิบัติให้คุณค่าทั้งสองอย่างนั้นเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์

ปัจจัยปลีกย่อยอย่างหนึ่งที่ทำให้บางคนกลายเป็นผู้ประมาทไปโดยไม่สมควร ก็คือ “ความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น” ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับไตรลักษณ์เหมือนกัน และเป็นเรื่องที่พึ่งเข้าใจให้ถูกให้ชัดว่าตามหลัก ความรู้เท่าทันสังขารด้วยมองเห็นไตรลักษณ์ ทำให้คลายหรือถอนความยึดติดถือมั่นในสังขารทั้งหลายเสียได้ ความไม่ยึดติดถือมั่นนี้ เป็นหัวใจของความหลุดพ้นเป็นอิสระและความปลอดพ้นจากทุกข์ซึ่งจะทำให้เข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนาในการปฏิบัติที่ถูกต้อง ความไม่ยึดติดถือมั่นจะเกิดขึ้นเอง เป็นผลจากการมองเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงเมื่อมองเห็นไตรลักษณ์ชัดเจนแล้ว แต่ความผิดเพี้ยนหรือภาวะครึ่งๆ กลางๆ เกิดขึ้นในกรณีที่บางคนยังไม่ได้รู้เห็นความจริงด้วยความประจักษ์แจ้งไตรลักษณ์อย่างนั้น เป็นแต่ได้ยินได้ฟังมาและคิดเห็นไปตามเหตุผลพร้อมทั้งถือตามไปด้วยสัญญาว่าจะต้องไม่ยึดติดถือมั่นสิ่งใดๆ ในโลก จึงจะหลุดพ้นจากทุกข์คนที่ถือไปตามสัญญาอย่างที่ว่า เมื่อคิดคำนึงไปเช่นนั้น จึงพยายามแสดงทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่นว่าตนไม่ยึดติดถือมั่นต่อสิ่งทั้งหลาย หรือหมดกิเลสแล้ว โดยอาการที่กลายเป็นการไม่เอาเรื่องเอาราวอะไร ทำให้เกิดการกระทำและการไม่กระทำที่เกินพอดี และเกินเลยความสมควรตามความเป็นจริง การเพิกเฉยละเลยเรื่องที่ควรเอาใจใส่และการไม่กระทำกิจที่ควรทำโดยไม่สมเหตุผล อาการละเลยการกระทำในลักษณะนี้ เรียกว่า ความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น เป็นความไม่ยึดมั่นอย่างเทียม ไม่ใช่ความไม่ยึดมั่นที่ถูกต้องแท้จริง ถ้านำเอาการกระทำและการไม่กระทำหลายๆ แบบ ที่มีแรงจูงใจเบื้องหลังแตกต่างกัน มาวางเทียบกันดู ก็อาจจะทำให้มองเห็นลักษณะของการกระทำและการไม่กระทำที่เกิดจากความไม่ประมาท ชัดเจนมากขึ้น จึงขอลองนำการกระทำและการไม่กระทำสัก ๔ แบบมาวางให้พิจารณา ดังต่อไปนี้

๑) คนพวกหนึ่ง ถ้าไม่ได้ผลประโยชน์เพื่อตน หรือถ้าทำจะเสียผลประโยชน์ของตน ก็ไม่ทำ จะทำต่อเมื่อตนจะได้ผลประโยชน์ หรือทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน
๒) คนพวกหนึ่ง ไม่ทำ เพราะยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น คือจะแสดงว่าตนไม่มีกิเลส จึงไม่ทำ
๓) คนพวกหนึ่ง ไม่ทำ เพราะมีความประมาท ติดเพลินในความสุขสบาย เนื่องจากไม่ถูกทุกข์บีบคั้นหรือเนื่องจากปรับใจได้แล้ว สบายใจ พอใจแล้ว ก็จึงวางใจนอนใจเสีย
๔) คนพวกหนึ่ง ทำหรือไม่ทำ แล้วแต่ความสมควรแห่งเหตุผล เมื่อรู้ว่าควรทำ แม้ว่าทำแล้วตนจะไม่ได้ผลประโยชน์ ก็ทำ เมื่อรู้ว่าไม่ควรทำ แม้ว่าทำแล้วตนจะได้ผลประโยชน์ ก็ไม่ทำ และทำในทันทีที่ควรกระทำ ไม่ละเลย ไม่ผิดเพี้ยนรีรอ

การกระทำในข้อ ๔) เป็นลักษณะของการกระทำด้วยความไม่ประมาทที่ถูกต้องแท้จริง ซึ่งเป็นไปพร้อมด้วยสติและปัญญาที่บริสุทธิ์เป็นอิสระ คำสอนของพระพุทธเจ้าที่แนะนำให้ทำกิจด้วยความไม่ประมาทนั้น แบ่งตามประเภทของกิจได้ ๒ อย่างคือ

๑.เกี่ยวกับกิจด้านใน ได้แก่ คำสอนที่แนะนำกระตุ้นเตือนให้เร่งพัฒนาจิตใจของตน อย่างที่เรียกว่าทำความเพียรทางจิต เพื่อบรรลุภูมิธรรมที่สูงยิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งก็คือ การเข้าถึงคุณค่าด้านการทำจิตของไตรลักษณ์ หรือ ความสามารถทำใจของตนให้หลุดพ้นเป็นอิสระได้มากขึ้นไปโดยลำดับนั่นเอง กิจด้านนี้อาจเรียกง่ายๆ ว่าการปรับปรุงภายใน หรือเรียกให้สั้นว่า ปรับภายใน

๒. เกี่ยวกับกิจด้านภายนอก ได้แก่ คำสอนที่แนะนำเร้าเตือนให้เร่งพัฒนาชีวิตด้านนอก เกี่ยวกับความเป็นอยู่ประจำวัน การดำรงตนในโลก ให้กระตือรือร้นขยันหมั่นเพียร ในการประกอบอาชีพการงาน การทำหน้าที่ของตน การแก้ไขป้องกันปัญหาต่างๆ การสร้างสรรค์สิ่งดีงาม และการบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม กิจด้านนี้อาจเรียกง่ายๆ ว่า การปรับปรุงภายนอก หรือเรียกให้สั้นว่า ปรับภายนอกในด้านกาลเวลา คำสอนเกี่ยวกับความไม่ประมาท ย่อมเกี่ยวข้องกับกาลทั้ง ๓ คือ

    ๑) ส่วนอดีต ให้พิจารณาเหตุการณ์ ปรากฏการณ์ หรือประสบการณ์ที่ล่วงแล้ว แล้วถือเอามาเป็นบทเรียน เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้เร่งแก้ไขปรับปรุงและเพียรพยายามทำกิจต่อไป
    ๒) ส่วนปัจจุบัน ให้เร่งทำกิจของตนๆ อย่างจริงจัง ไม่ให้รีรอ ไม่ให้ผิดเพี้ยน ให้ใช้เวลาทุกขณะทุกโอกาสให้เป็นประโยชน์
    ๓) ส่วนอนาคต ให้คิดถึงความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อไปภายหน้า ทั้งในทางดีและในทางร้ายโดยใช้ปัญญาพิจารณาความเป็นไปตามเหตุปัจจัย แล้วเตรียมการป้องกันอนาคตภัย และกำหนดวิธีปฏิบัติเพื่อส่งเสริมความเป็นไปในทางที่ดีงามหรือเจริญมั่นคง

ถ้าเปรียบเทียบกับคำสอนเกี่ยวกับคุณค่าด้านการท่าจิต คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เกี่ยวกับคุณค่าด้านการทำกิจ แสดงเนื้อหาและรายละเอียดน้อยกว่า กระจายอยู่ห่างๆ และมักเป็นคำสอนสั้นๆ ทั้งนี้ เพราะกิจกรรมของมนุษย์ย่อมแตกต่างกันไปหลากหลายตามกาลเทศะ มิใช่เรื่องยืนตัวที่จะพูดไว้แน่นอนเป็นอย่างเดียว จึงแสดงแต่หลักการหรือให้คติไว้เท่านั้นก็เพียงพอ ต่างจากการทำจิตที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ ซึ่งตราบใดที่ยังเป็นมนุษย์ สภาวะด้านจิตก็เหมือนๆ กัน อีกทั้งเป็นเรื่องประณีตล้ำลึก เข้าใจได้ยากปฏิบัติได้ยาก และเป็นส่วนพิเศษจำเพาะของคำสอน จึงแสดงรายละเอียดเท่าที่เป็นไปได้ไว้ให้แล้วเสียทีเดียว

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            ข. คุณค่าที่ ๒: คุณค่าด้านการทำกิจ หรือคุณค่าเพื่อความไม่ประมาท
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา

                ๓. อนัตตตา

วันอาทิตย์

ก. คุณค่าที่ ๑: คุณค่าด้านการทำจิต หรือคุณค่าเพื่อความหลุดพ้นเป็นอิสระ

คุณค่าทางจริยธรรม

ในด้านคุณค่าทางจริยธรรม คำสอนต่างๆ มักอ้างอิงถึงอนิจจตา คือความไม่เที่ยง มากกว่าลักษณะอื่นอีกสองอย่าง ทั้งนี้เพราะความไม่เที่ยง เป็นภาวะที่ปรากฎชัด มองเห็นง่าย ส่วนทุกขตาเป็นภาวะที่มองเห็นยากปานกลาง จัดเป็นลำดับที่สอง และอนัตตตา เป็นภาวะที่ประณีต มองเห็นได้ยากที่สุด จัดเป็นลำดับสุดท้าย อีกประการหนึ่ง ท่านกล่าวถึงอนิจจตาที่มองเห็นได้ง่าย เพื่อเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่จะนำเข้าสู่ความเข้าใจในทุกขตาและอนัตตตาต่อไป

พุทธพจน์สองแห่งต่อไปนี้ ซึ่งก็แสดงอนิจจตาเป็นข้อเด่นนำไว้ อาจถือได้ว่าเป็นตัวแทนที่ชี้ถึงคุณค่าทางจริยธรรม ๒ ประการ ของไตรลักษณ์ คือ

๑. “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป, ความสงบวางแห่งสังขารเหล่านั้น เป็นสุข” 
๒. “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม” (หรือจงบำเพ็ญกิจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท)

เบื้องต้น ขอให้เข้าใจไว้ก่อนว่า ที่จริง พุทธพจน์ข้อแรกแสดงถึงสภาวะที่เป็นสัจจะ คือภาวะสงบสังขารหมายถึงนิพพานนั่นเอง เป็นการบอกให้รู้ว่า นิพพานที่เป็นภาวะสงบสังขาร ไม่ต้องเปลี่ยนแปรขึ้นต่อการเกิดดับเสื่อมสลายอีกต่อไปนั้น เป็นภาวะที่เป็นสุข แต่พุทธพจน์ที่เป็นคาถาบทนี้เรานำมาพูดนำมาอ้างกันบ่อยมากจนอยู่ในประเพณีของคนทั่วไป (คือบทว่า “อนิจจา วต สงขารา ) เมื่อเกี่ยวข้องกับคนทั่วไปจะให้เขาได้รับประโยชน์ก็จึงมองความหมายซึ่งอิงนิพพาน ที่โยงมาสู่การปฏิบัติในแนวทางของความสงบสังขารที่คนทั่วไปเหล่านั้นจะพิจารณาได้ เป็นการชี้นัยที่เน้นคุณค่าทางจริยธรรม ดังจะกล่าวในที่นี้

พุทธพจน์ข้อที่ ๑ ชี้ถึงคุณค่าในด้านการวางใจต่อสังขาร คือโลกและชีวิต ให้รู้เท่าทันว่า สิ่งทั้งหลายซึ่งเป็นสภาพปรุงแต่ง ล้วนไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน ต้องเปลี่ยนแปลงแปรปรวนไป ไม่อาจคงสภาพเดิมอยู่ได้ มิใช่ตัวตนที่จะบังคับบัญชาให้เป็นไปได้ตามความปรารถนา มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย และเป็นธรรมดาของมันอย่างนั้นเอง เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ก็จะมีท่าทีของจิตใจที่ถูกต้อง ไม่ยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย แม้สิ่งทั้งหลายที่พบเห็นเกี่ยวข้องจะแปรปรวนเสื่อมสลายพลัดพรากสูญหายไป จิตใจก็ไม่ถูกครอบงำย่ำยีบีบคั้น ยังคงปลอดโปร่ง ผ่องใส เบิกบานอยู่ได้ ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันธรรมดา พาให้ถึงความสงบ คุณค่าข้อนี้เน้นความหลุดพ้นเป็นอิสระของจิตใจ เป็นระดับโลกุตระ เรียกง่ายๆ ว่า คุณค่าด้านการทำจิต

พุทธพจน์ข้อที่ ๒ ชี้ถึงคุณค่าในด้านการปฏิบัติกิจหน้าที่ เพื่อความมีชีวิตที่เรียกว่าเป็นอยู่หรือดำเนินไปอย่างถูกต้องดีงามในโลก อันเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขทั้งแก่ตนเองและบุคคลอื่น และเพื่อให้เข้าถึงบรมธรรมที่เป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิต โดยให้รู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งชีวิตและโลก ล้วนเกิดจากองค์ประกอบทั้งหลายประมวลกันขึ้น ดำรงอยู่ได้ชั่วคราว ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีความบีบคั้น กดอัดขัดแย้งแฝงอยู่ทุกขณะ ทั้งภายนอกและภายใน จะต้องทรุดโทรมแตกสลายเปลี่ยนแปลงกลายรูปไป ไม่อยู่ในอำนาจของความปรารถนา ขึ้นต่อเหตุปัจจัยและเป็นไปตามเหตุปัจจัย กระบวนการแห่งความเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัยนี้ ดำเนินไปตลอด ไม่รอเวลา ไม่คอยความปรารถนา ไม่ฟังเสียงเรียกร้องวิงวอนของใคร เฉพาะอย่างยิ่ง ชีวิตนี้สั้นนัก และไม่แน่นอน จะวางใจมิได้เลย เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ก็จะได้กระตือรือร้นเร้าเตือน กระตุ้นตนเองให้เร่งรัดขวนขวายทำสิ่งที่ควรทำ และเว้นสิ่งที่ควรเว้น ไม่ละเลย ไม่รอช้า ไม่ปล่อยเวลาและโอกาสให้สูญเสียไปเปล่า เอาใจใส่แก้ไขสิ่งเสียหายที่ได้เกิดขึ้น ระมัดระวังป้องกันหนทางที่จะเกิดความเสื่อมทรุดเสียหายต่อไป และสร้างสรรค์สิ่งดีงามความเจริญก้าวหน้า โดยไตร่ตรองพิจารณาและดำเนินการด้วยปัญญาอันรู้ที่จะจัดการตามเหตุปัจจัย ทำให้เกิดผลสำเร็จด้วยดีทั้งในแง่กิจที่ทำและจิตใจของตน คุณค่าข้อนี้เน้นด้านความไม่ประมาทเร่งรัดทำกิจ เป็นระดับโลกิยะ เรียกง่ายๆ ว่า คุณค่าด้านการทำกิจ

คุณค่าข้อที่ ๒ นี้ จะต้องใช้กับเรื่องของชีวิตและกิจต่อโลกทุกขั้นทุกระดับ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยส่วนตัว จนถึงความเรียบร้อยดีงามของสังคมส่วนรวม ตั้งแต่ประโยชน์ขั้นต้นจนถึงประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่การประกอบการงานอาชีพแสวงหาทุนทรัพย์ของคฤหัสถ์ จนถึงการบำเพ็ญเพียรแสวงโพธิญาณของพระพุทธเจ้า ดังจะเห็นพุทธพจน์ต่อไปนี้เป็นเครื่องชี้คุณค่า

ชุดที่ ๑: “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ตน (อัตตัตถะ) ก็ควรทีเดียวที่จะยังประโยชน์นั้นให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท, เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถะ) ก็ควรทีเดียวที่จะยังประโยชน์นั้นให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท, เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (อุภยัตถะ) ก็ควรทีเดียวที่จะยังประโยชน์นั้นให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท"

ชุดที่ ๒: “มหาบพิตร ธรรมเอกอันเดียวที่ยึดเอาประโยชน์ (อัตถะ) ได้ทั้งสองอย่าง คือ ทั้งประโยชน์บัดนี้ (หรือประโยชน์สามัญที่ตาเห็น-ทิฏฐธัมมิกัตถะ) และประโยชน์เบื้องหน้า (หรือประโยชน์ที่ลึกล้ำยิ่งขึ้นไปสัมปรายกัตถะ) นั้น มีอยู่ ฯลฯ นั่นคือ ความไม่ประมาท (อัปปมาทะ) ฯลฯ ผู้ไม่ประมาทเป็นบัณฑิต ย่อมยึดเอาได้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองอย่าง คือทั้งประโยชน์บัดนี้ และประโยชน์เบื้องหน้า, จะเรียกว่าธีรชน (หรือ) บัณฑิต ก็เพราะบรรลุประโยชน์ (ทั้งสองนี้)

ชุดที่ ๓:
    ก) “ภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องนี้ ผู้มีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล อาศัยความไม่ประมาทเป็นเหตุ ย่อมประสบกองโภคะอันใหญ่”
    ข) “ภิกษุทั้งหลาย โพธิ ความตรัสรู้ของเรานั้นได้บรรลุด้วยความไม่ประมาท, แม้นหากพวกเธอจะพึงเพียรพยายามอย่างไม่ระย่อท้อถอย ฯลฯ ไม่นานเลย แม้พวกเธอก็จะประจักษ์แจ้งจุดหมายของชีวิตประเสริฐ (พรหมจรรย์) เข้าถึงได้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในชาตินี้ที่เดียว”

คุณค่าสองข้อนี้ สัมพันธ์กันและเสริมกัน เมื่อปฏิบัติให้ได้คุณค่าครบทั้งสองอย่าง จึงจะได้รับประโยชน์บริบูรณ์ และคุณค่าทั้งสองนี้ยังมีรายละเอียดที่พึงทราบเพิ่มเติมอีก จึงจะได้บรรยายต่อไป

ก. คุณค่าที่ ๑: คุณค่าด้านการทำจิต หรือคุณค่าเพื่อความหลุดพ้นเป็นอิสระ

คุณค่าด้านนี้ พร้อมทั้งหลักปฏิบัติเพื่อเข้าถึงคุณค่านั้น เป็นเรื่องเกี่ยวด้วยจุดหมายสูงสุดของพุทธธรรมซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ สำคัญ เป็นส่วนคลุมยอดของระบบทั้งหมดของพระพุทธศาสนา มีขอบเขตกว้างขวาง อีกทั้งมีรายละเอียดในการปฏิบัติที่พึงทำความเข้าใจโดยเฉพาะ คัมภีร์ทั้งหลายจึงกล่าวถึงบ่อยและมาก บางคัมภีร์ก็นำมาประมวลแสดงเป็นขั้นตอนตามลำดับโดยตลอด ดังเช่นคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ เป็นต้น แม้ในหนังสือนี้เอง ก็ได้บรรยายไว้ทั่วๆ ไปแล้ว จึงจะไม่นำมากล่าวรวมไว้ในที่นี้ แต่จะพูดไว้พอเป็นแนวสำหรับความเข้าใจอย่างกว้างๆ ตามปกติ ผู้เจริญปัญญาด้วยการพิจารณาไตรลักษณ์ จะพัฒนาความเข้าใจต่อโลกและชีวิตให้เข้มคมชัดเจนยิ่งขึ้น พร้อมกับมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพจิตเป็นขั้นตอนสำคัญ ๒ ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่ ๑ เมื่อเกิดความรู้เท่าทันสังขาร มองเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่เป็นตัวตนชัดเจนขึ้นในระดับปานกลาง จะมีความรู้สึกทำนองเป็นปฏิกิริยาเกิดขึ้น คือรู้สึกในทางตรงกันข้ามกับความรู้สึกที่เคยมีมาแต่เดิม ก่อนนั้นเคยยึดติดหลงใหลในรูปรสกลิ่นเสียง เป็นต้น มัวเมาเพลิดเพลินอยู่กับสิ่งเหล่านั้น คราวนี้ พอมองเห็นไตรลักษณ์เข้าแล้ว ความรู้สึกเปลี่ยนไป กลายเป็นรู้สึกเบื่อหน่าย รังเกียจ อยากจะหนีไปเสียให้พ้น บางทีถึงกับรู้สึกเกลียดกลัว หรือขยะแขยง นับว่าเป็นขั้นที่ความรู้สึกแรงกว่าความรู้ (เรียกอย่างภาษาไทยว่า อารมณ์เหนือปัญญา)

ขั้นตอนแรกนี้ แม้ว่าจะเป็นขั้นตอนที่ปัญญายังไม่สมบูรณ์ และความรู้สึกยังเอนเอียง แต่ก็เป็นขั้นตอนที่สำคัญ หรือบางทีถึงกับจำเป็น ในการที่จะถอนตนให้หลุดออกไปได้จากความหลงใหลยึดติด ซึ่งเป็นภาวะที่มีพลังแรงมาก เพื่อจะสามารถก้าวต่อไปสู่ภาวะที่สมบูรณ์ในขั้นตอนที่ ๒ ต่อไป ในทางตรงข้าม ถ้าหยุดอยู่เพียงขั้นนี้ ผลเสียจากความรู้สึกที่เอนเอียงก็จะเกิดขึ้นได้

ขั้นตอนที่ ๒ เมื่อความรู้เท่าทันนั้นพัฒนาต่อไป จนกลายเป็นความรู้เห็นตามความเป็นจริง ปัญญาเจริญเข้าสู่ภาวะสมบูรณ์ เรียกว่ารู้เท่าทันธรรมดาอย่างแท้จริง ความรู้สึกเบื่อหน่ายรังเกียจและอยากจะหนีให้พ้นไปเสียนั้น ก็จะหายไป กลับรู้สึกเป็นกลาง ทั้งไม่หลงใหล ทั้งไม่หน่ายแสยง ไม่ติดใจ แต่ก็ไม่รังเกียจ ไม่พัวพันแต่ก็ไม่เหม็นเบื่อ มีแต่ความรู้ชัดตามที่มันเป็น และความรู้สึกโปร่งโล่งเป็นอิสระ พร้อมด้วยท่าทีของการที่จะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ ไปตามความสมควรแก่เหตุผล และตามเหตุปัจจัย พัฒนาการทางจิตปัญญาในขั้นตอนที่สองนี้ ในระบบการปฏิบัติของวิปัสสนา ท่านเรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร) เป็นขั้นตอนที่สำคัญและจำเป็น ในการที่จะเข้าถึงความรู้ประจักษ์แจ้งสัจจะ และความเป็นอิสระของจิตโดยสมบูรณ์

คุณค่าด้านความเป็นอิสระหลุดพ้นของจิตนี้ โดยเฉพาะในระดับที่พัฒนาสมบูรณ์แล้ว (ถึงขั้นตอนที่ ๒) จะมีลักษณะและผลข้างเคียงที่สำคัญ ๒ ประการ คือ

๑) ความปลอดทุกข์ คือ เป็นอิสระหลุดพ้นจากความรู้สึกบีบคั้นที่เกิดจากความยึดติดถือมั่นต่างๆ มีความสุขที่ไม่อิงอาศัยอามิส หรือไม่ขึ้นต่อสิ่งล่อ ปลอดโปร่ง ผ่องใส สดชื่น เบิกบาน ไร้กังวล ไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าโศก ไม่เหี่ยวแห้งไปตามความผันผวนปรวนแปรขึ้นๆ ลงๆ ที่เรียกว่าโลกธรรม ไม่ถูกกระทบกระแทกเนื่องจากความสูญเสียเสื่อมสลายพลัดพราก เป็นต้น ลักษณะข้อนี้มีผลไปถึงจริยธรรมด้วย ในแง่ที่จะไม่ก่อปัญหาเนื่องจากการระบายทุกข์ของตนแก่ผู้อื่นหรือแก่สังคม ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของปัญหาจริยธรรม และในแง่ที่มีสภาพจิตใจซึ่งง่ายต่อการเกิดขึ้นของคุณธรรม โดยเฉพาะเมตตากรุณา ความมีไมตรีจิตมิตรภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกื้อกูลแก่จริยธรรมเป็นอันมาก

๒) ความปลอดกิเลส คือ เป็นอิสระหลุดพ้นจากอำนาจบีบคั้นครอบงำและบงการของกิเลสทั้งหลาย เช่น ความโลภ ความโกรธ ความติดใคร่ ชอบชัง ความหลง ความริษยา และความถือตัวถืออำนาจ เป็นต้น โปร่งโล่ง เป็นอิสระ สงบ และบริสุทธิ์ ลักษณะข้อนี้มีผลโดยตรงต่อจริยธรรม ทั้งด้านภายในที่จะคิดการหรือใช้ปัญญาอย่างบริสุทธิ์เป็นอิสระ ไม่เอนเอียงไปด้วยชอบซังรังเกียจและความปรารถนาผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นต้น และ ด้านภายนอก ที่จะไม่ทำความผิดความชั่วต่างๆ ตามอำนาจบังคับบัญชาของกิเลสทุกอย่าง ตลอดจนสามารถทำการต่างๆ ที่ดีงามตามเหตุผลได้อย่างจริงจังเต็มที่ เพราะไม่มีกิเลส เช่น ความเกียจคร้าน ความห่วงผลประโยชน์เป็นต้น มาคอยยึดถ่วงหรือดึงให้พะวักพะวน

อย่างไรก็ดี คุณค่าข้อที่ ๑ นี้ ในขั้นที่อยู่ระหว่างกำลังพัฒนา ยังไม่สมบูรณ์สิ้นเชิง ถ้ามีแต่ลำพังอย่างเดียว ก็มีช่องทางเสีย คือ อาจก่อให้เกิดโทษได้ ตามหลักที่ว่า กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลได้” กล่าวคือ เมื่อทำจิตได้แล้ว ใจสบาย มีความสุขแล้ว ก็ติดใจเพลิดเพลินอยู่กับความสุขทางจิตใจเสีย หรือพอใจในผลสำเร็จทางจิตนั้น แล้วหยุดความเพียรพยายามเสีย หรือปล่อยปละละเลยไม่เร่งทำกิจที่ควรทำ ไม่จัดการแก้ไขปัญหาภายนอกที่ค้างคาอยู่ เรียกว่าตกอยู่ในความประมาท ดังตัวอย่างในพุทธพจน์ที่ว่า

“นันทิยะ อย่างไรอริยสาวกจะชื่อว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาท? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม... ในพระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลทั้งหลายที่พระอริยะยอมรับ...อริยสาวกนั้น พอใจ (หรืออิ่มเพราะสันโดษ) ด้วยความเลื่อมใส ด้วยศีลทั้งหลายที่พระอริยะยอมรับเหล่านั้น ย่อมไม่พยายามให้ยิ่งขึ้นไป ฯลฯ อย่างนี้แล นันทิยะ อริยสาวกชื่อว่าเป็นอยู่ด้วยความประมาท”

ทางออกที่จะป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียที่กล่าวถึงนี้ ก็คือ จะต้องปฏิบัติตามหลักการที่จะให้เกิดคุณค่าข้อที่ ๒ ควบคู่กันไปด้วย

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            ก. คุณค่าที่ ๑: คุณค่าด้านการทำจิต หรือคุณค่าเพื่อความหลุดพ้นเป็นอิสระ
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา

                ๓. อนัตตตา

วันศุกร์

อัตตา กับ มานะ

อัตตา กับ มานะ

ปัจจุบันนี้ ได้มีความสับสนเกิดขึ้นบ้างในการใช้คำศัพท์ที่มีความหมายเกี่ยวกับเรื่องตัวตน และการยึดถือตัวตน ซึ่งเห็นว่าควรจะนำมาชี้แจงเป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดแทรกไว้ ณ ที่นี้ด้วย คำที่เป็นปัญหาในกรณีนี้ คือ “อัตตา" เป็นคำบาลี รูปสันสกฤตเป็น “อาตมัน” แปลว่า ตน ตัว หรือตัวตน พุทธธรรมสอนว่า ตัวตนหรืออัตตานี้ ไม่มีอยู่จริง แต่เป็นสิ่งที่สมมติขึ้นเพื่อสะดวกในการสื่อสาร เพื่อความหมายรู้ร่วมกันของมนุษย์ในความเป็นอยู่ประจำวัน กำหนดตามชื่อที่บัญญัติขึ้น หรือตั้งขึ้น สำหรับเรียกหน่วยรวมหรือภาพรวมหนึ่งๆ อัตตานี้จะเกิดเป็นปัญหาขึ้น ก็ต่อเมื่อคนหลงผิดเกิดความยึดถือขึ้นมา ว่ามีตัวตนจริงๆ หรือเป็นตัวตนจริงๆ เรียกว่ารู้ไม่เท่าทันความเป็นจริง หรือหลงสมมติ

ในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับอัตตานี้ พึงทราบว่า อัตตาไม่ใช่เป็นกิเลส มิใช่สิ่งที่จะต้องละ เพราะอัตตาไม่มีอยู่จริง จึงไม่มีอัตตาที่ใครจะละได้ อัตตามีอยู่แต่เพียงในความยึดถือ สิ่งที่จะต้องทำก็มีเพียงการรู้เท่าทันตามเป็นจริงว่า ไม่มีอัตตา หรือไม่เป็นอัตตา อย่างที่เรียกว่า รู้ทันสมมติเท่านั้น พูดอีกนัยหนึ่งว่า ละความยึดถือในอัตตา ละความยึดถือว่าเป็นอัตตา หรือถอนความหลงผิดในภาพของอัตตา หรือในบัญญัติแห่งอัตตาเสียเท่านั้นเรื่องอัตตาและการปฏิบัติต่ออัตตาในความหมายที่ใช้ทั่วไป มีเพียงเท่านี้

อย่างไรก็ดี ในสุตตนิบาตที่ได้ยกมาอ้างในข้อก่อน ท่านใช้คำว่า อัตตา คู่กับ นิรัตตา (หรือ อัตตังคู่กับ นิรัตตัง) และได้ขยายความหมายของ “อัตตา" ในกรณีนี้ออกไปว่า หมายถึงการยึดถือในอัตตา หรือการยึดถือว่ามีอัตตา และอีกนัยหนึ่งว่า สิ่งที่ยึดถือไว้ คู่กับ “นิรัตตา” ซึ่งหมายถึงการยึดถือว่าไม่มีอัตตา หรือการถือว่าอัตตาขาดสูญไป และอีกนัยหนึ่งว่า สิ่งที่จะต้องปล่อยละ ความหมายของอัตตาในกรณีนี้ เป็นความหมายแบบขยายตัวเป็นศัพท์ คือ มุ่งเน้นที่ ทิฏฐิ อันได้แก่ความเชื่อถือหรือความยึดถือในอัตตา ที่เรียกว่า อัตตทิฏฐิ หรือ อัตตานุทิฏฐิ ซึ่งก็คือความเชื่อว่ามีตัวตนที่เป็นแก่นเป็นแกนถาวร ที่เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ ดังนั้น ในคัมภีร์มหานิทเทสและจูฬนิทเทส ที่อธิบายสุตตนิบาตตอนที่อ้างนั้น จึงไขความคำ “อัตตา” หรือ “อัตดัง” ว่าได้แก่ อัตตทิฏฐิ หรือ สัสสตทิฏฐิ ในเมื่ออัตตาในกรณีนี้หมายถึงตัวทิฏฐิ ซึ่งเป็นกิเลส (คือ ทิฏฐิต่ออัตตา หรือทิฏฐิว่ามีอัตตา) จึงเป็นสิ่งที่ต้องละ ฉะนั้น ในสุตตนิบาตนั้น จึงมีข้อความบาลีกล่าวถึงการละอัตตาว่า “ผู้ละอัตตา (อตฺตญชโห) บ้าง “ละอัตตา (คืออัตตทิฏฐีหรือสัสสตทิฏฐิ) ได้แล้ว (อตตํ ปหาย) บ้าง 

ยังมีการถือเกี่ยวกับตัวตนอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากการถืออย่างทิฏฐิ กล่าวคือ ทิฏฐินั้นเป็นการถือว่ามีตัวตนหรือเป็นตัวตน เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นตัวตน เห็นว่าตัวตนเป็นของถาวร เป็นต้น ส่วนการถือเกี่ยวกับตัวตนอีกอย่างหนึ่งนั้น เป็นการถือสำคัญ หมายความว่า ถือเทียบเคียงระหว่างตัวเองกับตัวอื่น ถือเอาไว้วัดไว้แข่งกัน ถือสูงต่ำ ถือตัวตนในลักษณะที่จะเอาตัวตนนั้นไปเป็นนั่นเป็นนี่ เช่นว่า ฉันเป็นนี่ ฉันแค่นี้ ฉันสูงกว่า ฉันต่ำกว่า เราต้อยกว่า เราเท่ากับเขา เป็นต้น การถืออย่างนี้มีชื่อเฉพาะเรียกว่า มานะ แปลว่า ความถือตัว ความทะนงตน ความสำคัญตนว่าสูง ต่ำ เด่น ต้อย เท่าเทียม เทียบเขาเทียบเรา ตลอดจนความรู้สึกภูมิๆ พองๆ ถือตัวอยู่ภายใน มานะนี้เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับทิฏฐิ จึงเป็นสิ่งที่ต้องละหรือต้องกำจัดเสีย

ในปัจจุบัน ได้เริ่มมีความนิยมขึ้นบ้างในบางท่านหรือบางหมู่ที่จะใช้ “อัตตา” ในความหมายของมานะ อย่างนี้ เช่นว่า คนนั้นมีอัตตามาก อัตตาเขาใหญ่ อย่าเอาอัตตามาว่ากัน อย่าให้อัตตาแรงนัก ดังนี้เป็นต้นพึงตระหนักว่า การใช้ "อัตตา” ในความหมายอย่างนี้ เป็นเพียงความนิยมเท่านั้น แต่ไม่ถูก คำที่ถูกต้องสำหรับกรณีนี้คือ “มานะ” ซึ่งเป็นกิเลสตัวการที่ทำให้ไม่ฟังกัน ไม่ลงกัน ไม่ยอมกัน ทำให้แข่งให้อวด ตลอดจนกดข่มกัน อนึ่ง พึงสังเกตด้วยว่า แม้แต่การถือตัวว่าเท่ากับเขา ก็เป็นมานะ เป็นกิเลส เช่นเดียวกับการถือว่าสูงกว่าเหนือกว่าเขา หรือต่ำกว่า ด้อยกว่าเขา เพราะตราบใดที่ยังเป็นการถือ ตราบนั้นก็ยังเป็นการเทียบตัว และการกดบีบหรือเบ่งพองของจิต ซึ่งอาจไม่ตรงเท่ากับความเป็นจริง หรือเอาความจริงมาเป็นฐานก่อความกำเริบกดบีบเบ่งพองจิตจึงยังเป็นภาวะไม่อิสระ ไม่ปลอดโปร่งผ่องใส การที่จะไม่ให้เป็นมานะ ไม่ให้เป็นกิเลส ก็คือการรู้ตามที่เป็นจริง ไม่ว่าจะรู้ว่าสูง ต่ำ หรือเท่ากันก็ตาม ถ้าเป็นการเข้าถึงความรู้และเป็นเพียงแค่รู้ ก็ไม่เป็นมานะ ไม่เป็นกิเลส

ขอสรุปอีกครั้งหนึ่งว่า “อัตตา” และ “มานะ” เป็นคำศัพท์เกี่ยวกับตัวตน และการยึดถือตัวตน ๒ คำ ที่เข้ามาในภาษาไทยแล้ว มีความหมายเพี้ยนไป และสับสนกัน สันนิษฐานได้ว่า ตอนแรก มานะถูกใช้เพี้ยนไปก่อน คือ มานะ แทนที่จะหมายถึงการถือตัวถือตน คนไทยใช้กันไปมา กลายเป็นหมายถึงความพากเพียร เมื่อมานะมีความหมายเพี้ยนเป็นความเพียรไปเสียแล้ว ต่อมา คนไทยจะพูดถึงความยึดถือตัวตน หรือความถือตัวถือตนนั้นก็ต้องหาคำอื่นมาใช้ เห็นคำว่า “อัตตา” มีความหมายใกล้กัน ก็เลยเอาคำว่าอัตตามาใช้ในความหมายของมานะ ทำให้ทั้งมานะและอัตตามีความหมายคลาดเคลื่อนไปทั้งสองคำ และแถมยังทำให้สับสนกันเสียอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องของภาษานี้ เมื่อคนหมู่ใหญ่นิยมใช้กันไปกว้างขวางยาวนานแล้ว ก็แก้ไขได้ยาก มักจะต้องปล่อยไป ยอมให้เป็นความหมายที่งอกไปอีกแง่หนึ่ง แต่สำหรับผู้ศึกษา เป็นเรื่องที่จะต้องรู้เท่าทันและใช้ด้วยความระมัดระวังโดยไม่ประมาท เฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมาศึกษาธรรม จะให้เข้าใจถึงสภาวะ ก็ต้องรู้ให้ถึงความหมายแท้ที่ถูกต้องชัดเจน

ใจความของเรื่องนี้อยู่ที่ว่า อัตตา เป็นปัญหาของปัญญา เป็นเรื่องของความรู้ ว่าจริงหรือเท็จ มีจริงหรือไม่ เป็นเรื่องของสภาวะหรือสภาพความเป็นจริงที่จะต้องรู้เข้าใจด้วยปัญญา ถ้ารู้ไม่ถึงสภาวะที่แท้ ก็เกิดความเข้าใจผิด เห็นผิดว่ามีตัวมีตน มีอัตตาจริงๆ ก็เป็นทิฏฐิขึ้นมา จึงว่าเป็นปัญหาของปัญญา คือจะต้องแก้ด้วยปัญญา หน้าที่ของเราก็เพียงแค่รู้เข้าใจ หรือรู้ความจริง พอเกิดปัญญารู้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า อัตตาไม่มีจริง มีแค่สมมติกัน สิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่มีไม่เป็นอัตตา เท่านั้นเรื่องก็จบ

ส่วน มานะ เป็นปัญหาของจิตใจ เป็นเรื่องของความรู้สึก แต่เป็นความรู้สึกที่ไม่ดี (เรียกว่ากิเลส) เป็นอาการของจิตที่มุ่งจะถือให้ตัวสำคัญ จะยกตัวขึ้น จะกดเขาลง มัวหมอง กดดัน หนัก เครียด ขัดแย้ง แบ่งแยก เบียดเบ่ง ให้ตัวป่อง ให้ตัวพองโต ไม่โล่ง ไม่โปร่ง ไม่เบาสบาย เป็นอาการของจิตที่จะต้องแก้ไขไถ่ถอน หน้าที่ของเราคือฝึกจิตพัฒนาใจ พยายามเลิกละ กำจัดมันเสีย และหัดเป็นคนสุภาพ อ่อนโยน อ่อนน้อม ถ่อมตน รู้จักให้เกียรติ ให้โอกาส ให้ความสำคัญแก่ผู้อื่น เป็นต้น

พูดให้ง่ายว่า มานะเป็นปัญหาด้านจริยธรรม เพื่อไม่ให้ปล่อยใจไปตามกิเลส ก็สอนว่า ไม่ควรถือตัวถือตนส่วนอัตตาเป็นปัญหาด้านสัจธรรม ที่แก้ไขด้วยการที่ปัญญารู้ความจริงว่า ไม่มีตัวตนที่จะถือแล้วในขั้นสุดท้าย ทั้งสองอย่างนี้ก็มาบรรจบกัน คือ การรู้เข้าใจอนัตตา ทำให้ละมานะไปเอง เมื่อรู้เข้าใจว่าไม่มีอัตตา ไม่ยึดเอาอะไรเป็นอัตตาแล้ว ความยึดถืออัตตาหายไป มานะก็หมดไป เมื่อเกิดปัญญารู้เข้าใจว่าสิ่งทั้งหลายไม่เป็นตัวตน มองเห็นความไม่เป็นตัวตน (เห็นอนัตตา) แล้ว ปัญญาก็ปลดปล่อยจิตใจให้หมดความถือตัวถือตน ไม่ทะนงตัว ไม่หยิ่งผยอง ไม่ลำพองตน เลิกสำคัญตนว่าสูงต่ำ ยิ่งใหญ่เป็นต้น (หมดมานะ)ดังพุทธพจน์ว่า

"ผู้หมายรู้ในสิ่งทั้งหลายว่าเป็นอนัตตา จะลุถึงภาวะที่ถอนเสียได้ซึ่งอัสมิมานะ
(ความถือพองว่าเป็นตัวกู) เป็นนิพพานในปัจจุบันที่เดียว"

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา





วันพฤหัสบดี

สวรรค์อยู่ที่ไหน

ปัญหาเรื่องนรกสวรรค์ ออกจะเป็นปัญหาที่คนทั่วไป ไม่ว่าในอดีต ปัจจุบัน หรือแม้ในอนาคตพากันสนใจ เพราะว่ามนุษย์เรามีชีวิตอยู่ด้วยความหวัง ถ้าหากว่าขาดความหวังเสียอย่างเดียวแล้ว รสชาติของความเป็นมนุษย์ก็หมดไปด้วย แต่ทว่า มนุษย์เราก็มีอายุขัยจำกัด เพราะฉะนั้นความสุขความทุกข์ที่ได้รับอยู่ในชีวิตชั่วอายุขัยหนึ่งนั้น จึงไม่เพียงพอกับความหวังของมนุษย์เรา เรื่องปรโลก จึงเป็นปัญหาสำคัญที่มนุษย์ถูกใจ เพราะเท่ากับเป็นการต่ออายุความหวังของมนุษย์เราให้ไพบูลย์ยิ่งขึ้น ถ้าสมมติว่า ในชาตินี้เราหวังสิ่งใดไม่สมปรารถนา เรายังหวังไว้ว่าในชาติหน้า เราจะได้สิ่งนั้นดังนึก เรื่องของปรโลกซึ่งเกี่ยวโยงมาถึงเรื่องนรกสวรรค์ก็กลายเป็นปัญหาที่ทุกผู้นามสนใจ ศาสนาและลัทธิปรัชญาต่าง ๆ เกิดขึ้นก็เพื่อที่จะแก้ข้อข้องใจของมนุษย์ในปัญหาเหล่านี้ด้วย ประการหนึ่ง แต่ว่าเฉพาะในทรรศนะพระพุทธศาสนาเรา สวรรค์นรกคืออะไรอยู่ที่ไหน พระพุทธองค์ ได้ตรัสแสดงนัยไว้อย่างไร ข้อนี้เราน่าจะพิจารณากันดู

ในสมัยพุทธกาลได้มีลัทธิปรัชญาบางสำนัก ซึ่งเรียกกันว่าเป็นลัทธิ “โลกายตะ” แปลว่าลัทธิที่ดำเนินไปตามโลก ลัทธิหนึ่ง กับลัทธิ “อุจเฉทวาทะ” คือลัทธิที่ว่าด้วยการขาดสูญอีกลัทธิหนึ่ง สองลัทธินี้ไม่ยอมรับเรื่องปรโลกว่าเป็นของมีอยู่จริง

ลัทธิโลกายตะ รับรองว่า ความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ที่เนื้อหนังมังสัง การที่เราตามใจกิเลสได้เป็นดีที่สุด หาทางป้อนกิเลสมากเท่าไรเป็นสบายมากเท่านั้น เพราะฉะนั้น ลัทธินี้จึงมีชื่อว่า “โลกายตะ” แปลว่าดำเนินไปตามโลก ลัทธินี้ไม่คำนึงถึงเรื่องปรโลกว่าสำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่าปัจจุบันทำอย่างไร เราถึงจะได้หาเนื้อหนังมังสังของเราให้สมบูรณ์
ลัทธิอุจเฉทวาท ลัทธินี้ก็ไม่คำนึงถึงปรโลกอีกเหมือนกัน เพราะไม่ยอมรับรองคุณค่าของศีลธรรมจริยธรรมใด ๆ ทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้นสองลัทธินี้ พระพุทธองค์จึงทรงประฌานไว้แล้วว่า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ผู้ใดที่เกิดมีทรรศนะพ้องกับสองลัทธินี้ ผู้นั้นห้ามมรรค ห้ามผล ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพานหมด แต่ว่าอีกลัทธิหนึ่งชื่อว่า

ลัทธิสัสสตทิฏฐิ ลัทธินี้ถือว่าวิญญาณเที่ยง ถ้าเกิดเป็นคนต้องเกิดเป็นคนกันตะพึด ไม่ว่ากี่หมื่นกี่โกฏิชาติ เกิดเป็นสัตว์ก็ต้องเป็นสัตว์กันตะพึด ไม่ว่ากี่หมื่นกี่โกฏิชาติ หรือถือว่าอัตตาเที่ยง แม้จะเปลี่ยนแปลงทางรูปกายเป็นคนบ้าง เป็นสัตว์บ้าง เป็นเทวดาบ้าง เป็นอินทร์บ้าง เป็นพรหมบ้าง แต่ว่าคน ๆ นั้นแหละ อัตตาตัวนั้นแหละเป็นผู้ไปเกิดเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ลัทธิอย่างนี้เรียกว่า “สัสสตทิฏฐิ”

ลัทธินี้พระพุทธองค์เพียงตรัสว่า ห้ามมรรค ห้ามผล ห้ามนิพพาน ไม่ห้ามสวรรค์ เพราะว่าอย่างน้อย เมื่อเราถือว่ามีอัตตา มีตัวตน เราก็รักนวลสงวนตัว อยากจะให้ตัวเองมีความสุข ไม่กล้าไปประกอบกรรมทำชั่ว มีความหวังว่าชาติหน้า จะได้รับผล ความสุขในการทำความดีของตนให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป พวกนี้ยังมีความหวงแหนตัว ยังเห็นคุณค่าของจริยธรรม มีความรักตัวสงวนตัว เพราะฉะนั้นพวกนี้จึงเพียงแต่ว่าห้ามมรรค ห้ามผล ห้ามนิพพาน แต่ไม่ห้ามสวรรค์ ยังไปสวรรค์ได้

เฉพาะพวก “โลกกายตะ” กับพวก “อุจเฉททิฏฐิ” แล้วเป็นอันห้ามทั้งสวรรค์ มรรค ผล นิพพานไปหมดเลย มีทางเดียวที่จะบ่ายหน้าไปก็คือ โลกันตนรก ไปสู่อบายทางเดียว เมื่อแสดงมติเช่นนี้ ก็เป็นอันแสดงได้แล้วว่า พระพุทธศาสนาเราถือว่านรกสวรรค์มีจริง

ถ้านรกสวรรค์มีจริงจะพิสูจน์ให้คนปัจจุบันเรารู้เห็นเชื่อได้อย่างไรว่ามีจริง ?  
ข้อนี้แหละเป็นข้อสำคัญอย่างยิ่ง การพิสูจน์ว่านรกสวรรค์ในปัจจุบันนี้มีจริงนั้น ภาษาธรรมะจึงบัญญัติว่าตาเราเห็นได้คือสี ถ้าไม่มีสีเสียอย่างเดียว ตาเราเห็นไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่วัตถุสิ่งนั้นวางอยู่ต่อหน้า เราก็มองไม่เห็น ทีนี้สีอันนั้นภาษาธรรมะ เรียกว่าเป็นวรรณรูป-รูปายตนะอันเป็นวิสัยแห่งจักษุที่จะเข้าไปรับรู้นี้เป็นวรรณรูป แล้วธรรมดาสีนี้ทางวิทยาศาสตร์เขาว่าอย่างไง วิทยาศาสตร์บอกว่าสีที่แท้จริงไม่มีในโลกหรอก ที่เราเห็นว่ากุหลาบสีแดง มะลิสีขาว ที่เราเห็นสีต่าง ๆ แม้กระทั่งถึงสีสันต่าง ๆ ของเสื้อผ้า สีต่าง ๆ ในโลก ถ้าว่าโดยตามสัจจ์ตามจริงสีไม่มี มันมีแต่คลื่น วิทยาศาสตร์ว่าเป็นคลื่นแสงแล่นมากระทบแล้วแต่ช่วงของมัน คลื่นบางอย่างช่วงระยะยาวทำให้เป็นสีแดง คลื่นบางอย่างกระทบช่วงระยะสั้น เห็นเป็นสีเหลือง คลื่นบางอย่างมาในระยะเท่านั้นเท่านี้เห็นเป็นสีน้ำเงิน สีเขียว สีแสด

เพราะฉะนั้นคลื่นนี้แหละมากระทบแล้ว ที่พุทธศาสนาเราเรียกว่ารูป คำว่ารูปนี้ รูปธาตุในพระพุทธศาสนาไม่ใช่หมายความเป็นเพียงแต่วัตถุธรรมอย่างเดียว แม้พลังงาน แม้คลื่นแสง ก็เป็นรูป รูปธาตุหรือรูปายตนะด้วย อันนี้เราจะเห็นว่าความก้าวหน้าของธรรมะในพุทธศาสนาเราล้ำยุคกว่าวิทยาศาสตร์ เพราะว่าเป็นผลงานของสัพพัญญุตญาณ ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ค้นคว้ามาก่อนหน้าวิทยาศาสตร์จะรู้ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ถึง ๒๔๐๐ กว่าปี อันเป็นพุทธคุณที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ก็เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่จะมากระทบเราทางตานั้นมันมาในรูปของคลื่นสั้นบ้าง คลื่นยาวบ้าง คลื่นช้าบ้าง คลื่นเร็วบ้าง อย่างนี้แล้ว คลื่นบางชนิดที่มันมีอยู่รอบตัวเรากระทบตาเราวันยังค่ำ คืนยังรุ่ง แต่เราไม่เห็นก็มี คลื่นชนิดนั้นเรียกว่าอะไร คืออุลตราไวโอเลต แสงอุลตราไวโอเลต ภาษาวิทยาศาสตร์ว่ามีอยู่ในโลก เวลานี้ก็มีคลื่นชนิดนี้ สีชนิดนี้ แต่ตาเรามองไม่เห็นทั้ง ๆ ที่ตาเราไม่บอด มองจ้องมันก็ไม่เจอ แล้วเราจะปฏิเสธว่า คลื่นอุลตราไวโอเลตไม่มีได้ไหม ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเมื่อเรามองไม่เห็นแล้วปฏิเสธสิ่งนั้นว่าไม่มี ถ้าหากว่าเราอยากจะเห็นคลื่นอุลตราไวโอเลต เราก็ต้องมีเครื่องอุปกรณ์ช่วยทางจักษุสัมผัสของเราให้มีประสิทธิภาพสูง เราจึงสามารถจับแสงของคลื่นอุลตราไวโอเลตได้ฉันใด เราจะเห็นนรกสวรรค์ภูตผีปีศาจเทวดาได้ ก็ต้องสร้างประสาทพิเศษ สร้างอุปกรณ์พิเศษที่จะเป็นสื่อนำจักษุสัมผัสของเราไปประจวบกับรูปายตนะของเทวดาอินทร์พรหมยมยักษ์เหล่านี้ได้ฉันนั้นเหมือนกัน



เพราะฉะนั้นในประเด็นนี้เราก็หักได้ข้อหนึ่งว่า ข้อสมมติฐานของพวกที่ไม่เชื่อนรกสวรรค์ บอกว่านรกสวรรค์ถ้ามีฉันต้องเห็น เทวดาผีสางมีทำไมฉันมองไม่เห็นล่ะ ข้อนี้ก็เป็นอันพับผ่านไปได้แล้ว เถียงไม่ขึ้น เพราะว่าสิ่งที่ไม่เห็นน่ะเยอะแยะทั้งที่ตาเราไม่บอดแต่เราก็มองไม่เห็น นักวิทยาศาสตร์ที่เขามีความรู้ดี เขาจึงไม่กล้าค้านว่าสรรค์ไม่มี นรกไม่มี เขาไม่กล้าค้านหรอก อย่างมากเขาก็เพียงบอกว่า สวรรค์กับนรกน่ะ เป็นสิ่งซึ่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยังพิสูจน์ค้นคว้าไปไม่ถึง ตอบอย่างนี้เป็นการตอบอย่างไม่เสียภูมินักปราชญ์ พวกที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ปลอมหรือวิทยาศาสตร์เทียม พวกนี้ต่างหากล่ะที่รีบตอบว่าไม่มี เพราะฉันไม่เห็น พิสูจน์ไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น นี่เป็นประเด็นแรก

ประเด็นที่สอง และถ้าอย่างนั้น ถ้าหากว่ายอมรับว่านรกสวรรค์มีล่ะ มันตั้งอยู่ที่ไหน ?
นรกสวรรค์มีมันจะไปตั้งอยู่ที่ไหน ความจริงภูมิของนรกสวรรค์นี้ ทางพุทธศาสนาเราแยกเป็น ๓ ประเด็นด้วยกันนะครับ ข้อต้นเมื่อมีคนมาถามพระพุทธองค์ว่า นรกสวรรค์มีไหม พระพุทธเจ้าจะพิจารณาว่า คนตั้งปัญหานี้ เขาถามด้วยความสงสัยอยากรู้จริง ๆ หรือถามเพื่อที่จะชวนวิวาท

ถ้าหากเป็นคำถามที่ตั้งขึ้นจะชวนวิวาทอย่างนี้แล้ว พระศาสดาไม่ทรงตอบ เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสแล้วว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์ที่เราประพฤตินี้ ไม่ใช่ประพฤติเพื่อจะหลอกลวง ไม่ใช่เพื่อจะตั้งตัวเป็นเจ้าลัทธิสำหรับแก้วาทะอย่างโน้น แก้วาทะอย่างนี้ โต้แย้งกัน เราประพฤติพรหมจรรย์อันนี้มิใช่เพื่อลาภสักการะ ชื่อเสียง ไม่ใช่ทั้งนั้น แต่ที่แท้พรหมจรรย์นี้ตถาคตบัญญัติ และสั่งสอนพวกเธอก็ด้วยมีวิราคะเป็นแก่นสาร มีวิมุตติเป็นแก่นสาร มีนิโรธะ มีนิพพานเป็นแก่นสาร พระพุทธเจ้าพระองค์ประกาศเจตจำนงของศาสนาออกมาอย่างนี้ เพราะฉะนั้นใครก็ตาม ถ้าหากว่าตั้งปัญหาประเด็น แบบชวนวิวาทแล้ว เป็นอันยกเลิกไม่ตอบหมดเลย

แต่ถ้าปัญหาประเด็นที่เรียกว่าอยากรู้จริงด้วยความสงสัยจริง ๆ อย่างนี้แล้วจะทรงตอบ แล้วก็ตอบออกเป็น ๓ นัย วิธีการตอบปัญหาแบ่งเป็น ๓ นัยนี่แหละ พระองค์ได้ตรัสบอกว่าภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นวิกขวาที หาใช่เอกังสวาทีไม่ ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นกรรมวาที เป็นวิรยวาที คือว่าเป็นผู้ที่กล่าวว่ามีกรรมมีความพากเพียรเพื่อความหลุดพ้นทุกข์ แล้วก็เป็นผู้กล่าวจำแนกตามเหตุการณ์ อย่างประเด็นที่ถามว่านรกสวรรค์มีไหมอย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงใช้วิภขพยากรณ์ คือว่า
        ๑ ต้องแบ่งว่านรกสวรรค์น่ะมี ทั้งที่เป็นปัจจุบันและที่เป็นสัมปรายภพ เฉพาะประเภทที่เป็นปัจจุบันน่ะยังแบ่งอีกเป็น ๒ คือ
                ประการที่ ๑. ได้แก่สวรรค์ในอกนรกในใจ ประเภทนี้พระองค์ทรงชี้นรกสวรรค์อยู่ที่อารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าไปเสพอารมณ์ชนิดใด อันเป็นที่ตั้งแห่งความสุขความโสมนัสปรีดา นั้นแหละเป็นสวรรค์ ตรงกันข้าม ถ้าหากว่าอารมณ์ที่มาให้เราเสพเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนาหรือโทมนัสเวทนาแล้ว อันนั้นเป็นนรก เพราะสวรรค์ก็ตาม นรกก็ตาม คุณสมบัติอยู่ที่ว่าความเพลิดเพลิน หรือความทุกข์เข็ญของอารมณ์ทางทวาร ๖ ใช่หรือไม่ เราตัดสินความสุขกับความทุกข์น่ะ ไม่ใช่ตัดสินที่วัตถุว่า ต้องตึกหลังใหญ่ ๆ ถึงจะเป็นความสุข มหาเศรษฐีที่อยู่ตึกหลังใหญ่ ๆ นอนก่ายหน้าผากลืมตาโพลงมีเยอะแยะไป เพราะฉะนั้นตึกใหญ่ ๆ นี่ก็ไม่ใช่ความสุขจริง ๆ มันเป็นอุปกรณ์ของความสุข แต่ก็ไม่ใช่ตัวความสุข เรากล่าวบอกว่าคุกตะรางเป็นความทุกข์มหันต์ แต่นักโทษที่เห็นคุกเป็นวิมานก็มี ถึงกำหนดปล่อยออกมาวันนี้แล้ว อ้อนวอนบอกว่าออกไปทำมาหากินลำบาก เดี๋ยวจะต้องไปแก่งแย่งเขากิน สมัครงานก็ยาก ยิ่งเขารู้ว่าเป็นคนขี้คุกขี้ตะรางอย่างนี้แล้ว ใครเขาอยากจะรับกัน ไม่อยากรับ ลูกเต้าก็ไม่มีแล้ว เมียก็ไปมีผัวใหม่แล้ว พ่อแม่ก็ตายหมดแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าเลยจะขอสมัครอยู่ในคุกกินข้าวหลวงฟรีเถอะ อยู่บ้านฟรี กินข้าวหลวงฟรี ใช้น้ำประปา ไฟฟ้าฟรี เสื้อผ้าก็หลวงก็แจกฟรี ขออยู่ที่นี่ต่อไปดีกว่า หลวงก็ไม่ยอม บอกไม่ได้ แกพ้นโทษแล้ว แทงบัญชีขาดแล้วออกไป อ้ายหมอนั่นพอออกจากคุก ก็รีบหาไม้ไปตีกบาลหัวคนเข้า เพื่อที่จะหาเหตุให้ตำรวจจับมาเข้าคุกใหม่ ตำรวจบอกว่า ทำไมเจ้าเพิ่งปล่อยเมื่อเช้านี้ บ่ายนี้เห็นหน้าบนโรงพักอีกแล้ว มันเรื่องอะไร นักโทษก็บอกว่า เรื่องมันมีอย่างนี้แหละหมู่ เพราะหตุที่ว่าการครองชีพก็ลำบาก เมียก็ไปมีครอบครัวใหม่แล้ว ไม่มีญาติโกญาติเกที่ไหนแล้ว เพราะฉะนั้นขอกลับคืนมาที่นี่ เมื่อไม่ให้อยู่กันดี ๆ ก็ต้องหาเหตุเป็นอาชญากรรมมาอยู่คุกต่อไปน่ะซี เพราะฉะนั้นความสุขความทุกข์ จึงไม่ใช่อยู่ที่อุปกรณ์แวดล้อม แต่หากว่าอยู่ที่อารมณ์ของจิตใช่หรือไม่ การตัดสินสวรรค์นรกก็เหมือนกัน อยู่ที่อารมณ์ ถ้าอารมณ์นั้นเป็นที่ตั้งแห่งความโสมนัส เราตัดสินได้ว่าผู้นั้นเสวยสวรรค์ ถ้าอารมณ์นั้นเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส เราตัดสินได้ว่าผู้นั้นตกนรก แม้จะอยู่ในเวียงวังปราสาทราชฐาน แต่ถ้ามีจิตรุ่นร้อนเหมือนอยู่ในไฟแล้วคนนั้นก็ตกนรกเหมือนกัน นี่เป็นประเภที่ ๑ ที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ว่า ได้แก่สวรรค์ในอกนรกในใจ คือบัญญัติ นรกสวรรค์ที่อายตนะ ๖ รับอารมณ์ ๖ อันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัสบ้าง โทมนัสบ้าง เป็นสวรรค์

             ประการที่ ๒ นรกสวรรค์ที่เป็นทิฏฐธรรมเวทนียะ อีกอย่างหนึ่ง ก็ทรงชี้ไปที่ชีวิตความเป็นอยู่ภายนอกของบุคคลต่าง ๆ ในสังคม เช่นว่าพระมหากษัตริย์ เราก็เรียกว่าเป็นเทวดา เป็นสมมติเทพ พระมหากษัตริย์ เจ้านายในราชวงศ์ เราก็ถือว่าเป็นสมมติเทพ เพราะมีความสุข ความเป็นอยู่ อุปกรณ์ภายนอกประณีตกว่าชาวบ้านธรรมดาสามัญชนคนที่เป็นทุกขตะเข็ญใจ เป็นง่อยเปลี้ยเสียขาพิกลพิการวิปริตต่าง ๆ ลำบากลำบนทรมานอยู่ เราก็เรียกกันว่าเป็นนรก เป็นสัตว์นรก เสวยทุกข์ในนรก อย่างนี้เป็นการชี้สวรรค์นรกในทางวัตถุธรรมภายข้างนอก

ชีวิตในสังคมที่เราประสบกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะฉะนั้นนรกสวรรค์ ๒ ประเด็นนี้ก็ได้แก่ นรกสวรรค์ที่เราอาจจะเห็นได้ด้วยตาเนื้อในปัจจุบันทิฏฐธรรมเวทนียะนี้แหละ คราวนี้มาถึงนรกสวรรค์อันเป็นปรโลภที่เราจะมองด้วยตาเนื้อไม่เห็น แปลว่าจะต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับชาติหน้าจริง ๆ แล้ว สวรรค์นรกประเภทนี้ เป็นประเภทที่สำคัญมาก เพราะจะต้องอาศัยกรณีแวดล้อมพิสูจน์ต่าง ๆ ว่ามันตั้งอยู่ที่ไหนนะ ทุกวันนี้ความรู้ทางอวกาศเจริญมากแล้ว บางคนก็บอกว่า เอ ขี่จรวดขี่เครื่องบินไม่เห็นเจอ ไม่เห็นชมวิมานเทวดาเสียที ก็เคยดูในภาพเขียนตามศาลาตามโบสถ์ตามวิหารเขียนว่าวิมานเทวดาอยู่บนก้อนเมฆ คราวนี้เครื่องบินที่เร็วกว่าเสียง บินเหนือก้อนเมฆ มิหนำซ้ำยังมีจรวดบินพ้นโลกตั้งระยะตั้งเป็นร้อย ๆ ไมล์ ก็ไม่เห็นวิมานเทวดาไปอยู่ที่ไหน คนโบราณหลอกเอาเสียละมัง ว่าสวรรค์นรกมีจริงน่ะ ถ้าเราจะไปวิมานเทวดาในก้อนเมฆรับรองผิดหวัง ๑๐๐% เพราะเรื่องวิมานเทวดา บนก้อนเมฆน่ะเป็นเรื่องของจิตกรเขา เขาเขียนด้วยมโนภาพ ความจริงสวรรค์นรกไม่ได้ตั้งอยู่บนก้อนเมฆหรอก สวรค์เป็นโลกธาตุโลกหนึ่ง เป็นดาวดวงหนึ่งคล้าย ๆ โลกเรานี่ โลกเราก็เป็นดาวหนึ่ง เรียกว่าเป็นท่อนหนึ่งของราหู วิชาโหราศาสตร์เขาแบ่งดาวใหญ่ ๆ เป็นนพเคราะห์ ๙ โลกราหูถูกตัดเป็นสองท่อน โลกเรานี่เป็นหางราหูนะ ท่อนตัวท่อนหัวราหูออกไปเป็นอีกโลกหนึ่ง ท่อนหางคือโลกที่เราอยู่นี้ เพราะฉะนั้นดาวราหู วิชาโหราศาสตร์เขาทายบอกว่า ถ้าจะทายมัวเมาให้ดูราหู ราหูเสวยอายุเป็นกาลี คนนั้นแปลว่าอยู่ในความหลง จิตใจมัวเมาขุ่นข้อง ไม่มีความสว่างแจ่มใสเลย ถ้าใครราหูเป็นอายุกุมลัคนาอีก คนนั้นก็แย่ มืดเมามัว มีโมหคติมาก อย่างนี้เป็นต้น เพราะถ้าเผอิญใครว่าราหูเล็งอายุ เล็งลัคนา เล็งจันทร์ อย่างนี้ต้องให้ทายบอกว่า คนนั้นสายตาไม่ดี อาจจะเป็นโรคในจักษุ หรืออะไรต่าง ๆ ก็ว่ากันตามตำราโหราศาสตร์ แต่เอาความว่าโลกเรานี้เป็นท่อนหางราหู เพราะฉะนั้น สัตว์โลกที่เกิดมาในโลกนี้จึงหลงมัวเมาด้วยโลภมาก โหราศาสตร์เขาว่าอย่างนั้น 

แต่มันก็ปรับความจริงกับดาราศาสตร์ว่า โลกเรานี้เป็นสะเก็ดของดาวนพเคราะห์ดวงมหึมา แตกแยกออกมา และนอกจากโลกเราแล้วยังมีดาวพระเคราะห์อื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกับโลกเรา ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง นับไม่ถ้วนดวง ไม่เชื่อตอนกลางคืนเราก็แหงนคอมองบนท้องฟ้าดูซิจริงไหม ใครสามารถนับดวงดาวบนท้องฟ้าได้ว่ามีกี่ดวง รับรองไม่มีใครนับได้ ความจริงมันมีมากกว่าที่เราเห็นเสียอีก ที่เราเห็นแสงดาวนั้น ดวงดาวดวงหนึ่งกว่าจะส่งรัศมีมาให้เราเห็นน่ะต้องเดินทางเป็นล้าน ๆ ๆ ปีแสง หนึ่งวินาทีต่อความเร็วของแสงเดินนะ เดินหนึ่งวินาทีต่อสองแสนไมล์ แสงมันเดินเร็วอย่างนี้ ไม่มีอะไรจะเดินเร็วเท่าแสง แสงเดินเร็วยิ่งกว่าเสียงอีก เสียงยังเดินช้ากว่าแสงตามวิชาวิทยาศาสตร์ ฉะนั้นหนึ่งวินาทีน่ะแสงเดินถึง ๒ แสนไมล์ เราเห็นดวงดาวดวงหนึ่งเห็นว่ามันระยิบระยับ ท่านทั้งหลายทราบหรือไม่ว่าการที่แสงของดวงดาวนั้นมาสัมผัสกับจักษุประสาทของเรานี้ มันเดินทางล้าน ๆๆ โกฏิปีของแสงถึงจะมาถึง แต่ถึงกระนั้น เราเองก็แหงนคอทีไรก็เห็นมันระยิบระยับทุกทีในเวลากลางคืนทุกทีเลย หารู้ไม่ว่า นั่นแหละกว่าจะมาเข้าสัมผัสกับจักษุเราน่ะเป็นโกฏิ ๆ ล้านปีแสงแล้ว เพราะฉะนั้นอันนั้นก็จักรวาลในสุริยะระบบต่าง ๆ จึงรูปมีเอนกอนันตัง ซึ่งทางวิชาอวกาศและดาราศาสตร์ได้พิสูจน์ไว้แล้ว ในข้อนี้ หากจะปรับสมมติเข้าเทียบเคียงพระพุทธศาสนา พุทธศาสนาเราก็ก้าวไปลิบลับ

พระพุทธเจ้าได้ทรงมีความรู้ในห้วงอวกาศก่อนหน้านักวิทยศาสตร์ถึงสองพันกว่าปี ตรัสว่ามีจุลหัสสีโลกธาตุ มหาสหัสสี ติสหัสสี โลกธาตุ โลกธาตุน้อยหนึ่งพัน โลกธาตุใหญ่โลกธาตุน้อยอีกสามพัน แล้วก็ยังมีอีก ใช้คำว่าแสนโกฏิจักรวาลอีก คำว่าแสนโกฏิจักรวาลนี่ แปลว่าพระพุทธเจ้าทรงรู้แล้วว่ามีดวงดาวต่าง ๆ เป็นโลกธาตุมากมายในอวกาศนี้นับไม่ถ้วน ก็เมื่อโลกเรายังมีมนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ ทำไมโลกอื่นซึ่งเขามีสิ่งแวดล้อมบางอย่างอาจจะคล้ายคลึงกับโลกเราจะมีสิ่งมีชีวิตบ้างไม่ได้เล่า เพราะฉะนั้นในข้อนี้ ความเจริญของอวกาศกลับมาพิสูจน์ถึงเรื่องนรกสวรรค์ว่า นรกสวรรค์ที่เป็นภูมิเป็นโลกสัณฐานต่างจากโลกเรานี้มีจริง ไม่ใช่เรื่องโกหกมดเท็จ แต่ว่าไม่ใช่ตั้งอยู่บนก้อนเมฆ เพราะก้อนเมฆเป็นเรื่องใกล้ ๆ ไม่ใช่เรื่องไกลอะไร ก้อนเมฆที่เราเห็นทุกชั้นนี้ลอยละล่องอยู่บนท้องฟ้านี่นะเป็นเรื่องใกล้ ๆ ระยะทางเหนือจากโลกเราไม่กี่สิบกิโลเมตร ก็ถึงก้อนเมฆแล้ว ขี่เครื่องบินยังเหนือเมฆเสียกว่าอีก บางทีเราขึ้นไปบนยอดเขาสูง ๆ ก้อนเมฆยังลอยต่ำกว่ายอดเขาเสียอีก ไม่เชื่อลองขึ้นไปบนภูพานหรือภูกระดึงดูซิ ก้อนเมฆลอยต่ำกว่ายอดเขา เวลามีพยับพโยมเมฆฝนตกนี้ ก้อนเมฆพยับพโยมน่ะลอยต่ำกว่าที่เราเหยียบ เพราะฉะนั้นเราจะไปหาวิมานบนก้อนเมฆน่ะ ไม่เจอแน่ อยากจะเจอวิมานเทวดาต้องไปหาบนดวงดาวอีกโลกหนึ่ง แต่จะไปอย่างไรล่ะ เวลานี้ไม่ใช่ว่าจรวดยังไปไม่ถึง แค่ดาวพระจันทร์คนก็ยังไปไม่ถึงเลยนี่ แล้วก็อะไรที่จะรับประกันได้ว่า ในดาวพระจันทร์จะมีวิมาน

สมมติว่าอเมริกาสามารถผลิตจรวดเอาคนออกนอกโลกไปลงดวงจันทร์ได้ในอีกห้าปีข้างหน้า ตามที่นักวิทยาศาสตร์อเมริกาคาดพยากรณ์ไว้ สมมติว่าอย่างนั้น คราวนี้ถ้าเราจะขี่จรวดจากดวงจันทร์ เอาดวงจันทร์เป็นสถานีกลาง จะไปเที่ยวเมืองสวรรค์ละ ไปค้นคว้าว่าเมืองสวรรค์น่ะมีอยู่ในดวงนพเคราะห์ดวงไหน ขี่ไป เราตายเปล่า จรวดไปไม่ถึง เราตายในกลางจรวดแล้ว เพราะอายุขัยมนุษย์มีจำกัด คนอย่างมากอยู่ ๑๒๐ ตาย เป็นอายุกัปปะ ในสัตว์ ในภัทรกัปนี้ อายุสัตว์ในศาสนาพระพุทธเจ้าของเราองค์ปัจจุบันนี้ ๑๒๐ ปี เรียกว่าอายุยืนที่สุดแล้ว เป็นกำหนดเป็นอายุขัย ของกัลป์ ของมนุษย์ในกัลป์นี้ เรียกว่า อายุขัยของมนุษย์ คราวนี้โลกสวรรค์ต่างจากโลกมนุษย์ เราเปรียบว่าห่างกันล้านล้านไมล์เถอะนะ เราขี่จรวดวิ่งไป เหาะไป จรวดสมมติว่า วินาทีหนึ่งมีความเร็วประมาณร้อยไมล์ เราไปตายกลางทางแล้ว แก่หง่อมตายไปเลย ถ้าจะไปถึงก็จะมีแต่จรวดเปล่า เราไม่ได้ตามจรวดไปด้วย มีแต่ศพติดไป อาจจะเหลือแต่โครงกระดูกกองหนึ่งอยู่ในจรวดก็ได้ ไปถึงเมืองสวรรค์แล้ว เพราะฉะนั้นการจะไปเมืองสวรรค์ด้วยการขี่จรวดน่ะ รับรองว่าไม่ทางสำเร็จ เพราะว่าเมืองสวรรค์อยู่ห่างจากโลกมนุษย์นี้หลายล้านหลายโกฏิพันล้านไมล์ อย่างที่ว่ามานี้แหละว่า ถ้าไปทางกายไม่ได้ ไปได้ทางเดียว คือทางใจ ทางใจนี่แหละ เพราะว่าใจนั้นไม่ได้ถูกอำนาจขอบเทศะจำกัด เทศะจำกัดใจเราไม่ได้ แต่ว่าใจเองก็ถูกอำนาจกาละจำกัด ถ้าใจไม่ถูกอำนาจกาละจำกัดแล้ว ใจก็เป็นอมตะเป็นนิพพานน่ะซิ ใจยังเกิด แก่ เจ็บ ตายได้ มีอุปปาทะ ฐิติภังคะ เพราะฉะนั้นใจจึงเป็นทาสของกาละแต่ไม่เป็นทาสของเทศะ สมมติว่า เรานั่งที่นี่ เราจะคิดถึงจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดเชียงใหม่ เมืองนอกเมืองนาที่เราเคยไป เราไม่ต้องเอาใจไปขี่จรวดขี่เครื่องบิน นั่งที่นี่คิดปับก็ถึงปุ๊บนี่แสดงว่าใจเราน่ะ ไม่ถูกเทศะจำกัดเลย ไปคล่อง ไปรวดเร็ว มาเร็วทีเดียว พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ลหุปริวตฺตํ จิตฺตํ จิตนี้นะเป็นไปอย่างรวดเร็วเชียว ชั่วลัดนิ้วมือเดียวก็ถึง นี่แสดงว่ามันไม่ถูกจำกัดด้วยเทศะ คราวนี้ถ้าหากว่ากาย กายเราจำกัดด้วย เทศะ เรานั่งเก้าอี้ตัวนี้ใครจะมานั่งซ้อนเราไม่ได้ จะมานั่งตรงที่เรานั่งไม่ได้ นอกจากนั่งซ้อนบนตักเราน่ะซิ นั่งได้ แต่จะมานั่งตรงที่เรานั่งสัมผัสอยู่แล้วไม่ได้ นี่แปลว่า กายน่ะมันเทอะทะ มันจำกัด มันเกะกะรุงรัง เป็นของหนัก แต่ไอ้ใจนี่น่ะคนร้อยคน พันคน พุ่งใจไปในจุดเดียวกันไม่เกะกะ ไม่เชื่อท่านทั้งหลายลองส่งกระแสจิตไปที่พระพุทธรูปองค์นี้ซิ จะเห็นว่าไม่มีเนื้อที่เกะกะใจเราเลย ไม่ว่ากี่ร้อยกี่พันกี่แสนโกฏิดวง ส่งกระแสจิตพุ่งมาที่พระพุทธรูป พระพุทธรูปท่านรับกระแสจิตทุกคนไว้หมด ถ้าหากว่าคนตั้งแต่สองคนขึ้นไปจะไปนั่งเก้าอื้ตัวเดียวกัน นั่งกันไม่ได้แล้ว เกะกะแล้ว ต้องนั่งซ้อนบนตักแล้ว จะมานั่งบนที่เขานั่งก่อนไม่ได้แล้ว นี่แหละจึงแสดงให้เห็นว่า ใจนี้ไม่มีอำนาจเทศะจำกัด แต่ว่าถูกจำกัดด้วยกาละ

เพราะฉะนั้นเมื่อเราอยากจะไปสวรรค์ทางกาย ไม่มีทาง เพราะจะต้องไปตายกลางทางไปไม่ถึงหรอก มันไกล ก็ไปได้ทางเดียวคือทางใจ ทางใจจะไปอย่างไรล่ะ ก็ต้องใช้เครื่องอุปกรณ์เหมือนหนึ่งเราจะขึ้นเครื่องบิน ก็ต้องอาศัยเครื่องบินเป็นอุปกรณ์ เครื่องบินก็ต้องอาศัยนักบิน อาศัยน้ำมันเป็นอุปกรณ์ มันถึงบินได้ ไม่ใช่ว่ามีเครื่องบินเปล่า ๆ แล้วเราจะบินได้เมื่อไรเล่า เราขับเครื่องบินก็ไม่เป็น ขับเครื่องบินเป็นไม่มีน้ำมัน เครื่องบินมันก็ไม่บินให้ เพราะฉะนั้นการไปเที่ยวโลกสวรรค์ก็เหมือนกัน ต้องมีอุปกรณ์ นอกจากมีใจแล้วต้องอุปกรณ์ของใจสำหรับพาเราไปเที่ยว อุปกรณ์ในที่นี้ก็คือว่า การฝึกจิตตามวิธีของฌาน เราฝึกจิตตามวิธีของฌานจนกระทั่งเกิดอภิญญา เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เรื่องของฌานเป็นเรื่องของจิตกรีฑา คือเป็นกีฬาเครื่องเล่นของจิตเหมือนกับ เรามองดูเขาเล่นกรีฑาทางโลก บางคนก็กระโดดสูงตั้งสองสามเมตร เรากระโดดได้ไหม ให้เรากระโดดสูงตัง ๒ - ๓ เมตร เรากระโดดได้ไหม เรากระโดดไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ฝึกใช่ไหม บางคนว่ายน้ำ ว่ายเร็ว เพียง ๕ นาทีนี่ มีความเร็วเป็นระยะตั้ง ๕ เส้น ๖ เส้น นี่ถ้าเรามาว่ายบ้าง เราไปไม่ไหว เพราะเราไม่ใช่นักกีฬาว่ายน้ำนี่ บางคนขว้างจานได้ไปที่ตั้งไกล ๆ ขว้างตั้งห่างกันตั้ง ๒ เส้น ๓ เส้น เราขว้างเองไม่ถึง แค่เส้นหนึ่งก็ไม่ถึงแล้วสุดกำลังของเรา เพราะอะไร เราไม่ใช่นักขว้างจาน เราไม่ได้ฝึกในทางขว้างจาน บางคนวิ่ง วิ่งทน วิ่งมาราธอน เขาอาจจะวิ่งรอบสนามหลวงตั้งสามรอบ ของเราล่ะ แค่ครึ่งรอบก็แย่แล้ว อย่าว่าแต่สามรอบเลยไปไม่ไหว บางคนไต่เส้นลวดเท่านิ้วหัวแม่มือ เขาเดินสองขาไต่สบายข้ามตึกหลังหนึ่งไปยังตึกอีกหลังหนึ่ง ตึกสูงลิ่ว ๑๐ ชั้น ๒๐ ชั้น เอาเส้นลวดขึงจากตึกฟากนี้ไปตึกฟากโน้น แล้วก็เดินไต่ไป มิหนำซ้ำก็ยังปล่อยมืออีก ไม่มีเครื่องอุปกรณ์ ทำไมเขาไม่พลัดตกลงมา เราเองเดินท้องร่องสวน ต้นหมากต้นหนึ่งยังตกโครมลงไปในท้องร่อง ทำไมเป็นอย่างนั้น นี่แสดงว่าเป็นเพราะการฝึก คนฝึกกับคนไม่ฝึก มันมีความสามารถต่างกันฉันใด ผู้ที่ฝึกจิตเล่นจิตกรีฑาบ่อย ๆ จนกระทั่งมีวสีความเชี่ยวชาญในฌานมาก ๆ แล้ว ผู้นั้นก็อาจจะทำสิ่งซึ่งคนธรรมดาทำไม่ได้ มองเห็นเป็นเรื่องเหลือวิสัยไป คือว่ามีทิพยจักษุ มีทิพยโสต อาจจะติดต่อโลกทิพย์กายทิพย์ได้ ฉันใดก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราจงมีความไว้วางใจเถิดว่า สวรรค์มีจริงแน่ ยิ่งวิทยาศาสตร์เจริญเท่าไร ก็ยิ่งพิสูจน์ความจริงว่า สวรรค์มีไม่ใช่ว่าไม่มี

ก็เมื่อสวรรค์มีจริงแล้ว สิ่งที่ตรงกันข้ามกับสวรรค์ คือนรก ทำไมจักมีไม่ได้ นรกก็คือโลกหนึ่งเหมือนกัน อีกดาวพระเคราะห์อีกดวงหนึ่งเหมือนกัน แต่ว่าเป็นดาวพระเคราะห์ที่มีอุตุนิยมไม่มี อุณหภูมิก็ไม่ดี อาหารก็ไม่ดี ดินฟ้าอากาศก็ไม่ดี ใครไปเกิดที่นั่นก็ทรมานทรกรรมด้วยดินฟ้าอากาศ, ด้วยอุตุ, ด้วยการหาอาหารบริโภค หาฝืดเคืองลำบากอดแห้งอดแล้ง อด ๆ อยาก ๆ กินกรวด กินดิน กินทราย กินอิฐ กินปูน กินของร้อน กินของสกปรก กินพวกนี้ ไม่เหมือนกับพวกที่ไปเกิดในโลกสวรรค์ กินอาหารที่เป็นของประณีต เป็นของทิพย์ เพราะฉะนั้นนรกก็ได้แก่โลกทรมานที่ไปเกิดขึ้นแล้ว ก็เริ่มทรมานด้วยชีวิต ความเป็นอยู่ลำบากลำบน วิกลวิการต่าง ๆ นานา เพราะอำนาจดินฟ้าอากาศที่โหดร้ายทารุณ อำนาจแห่งสังคมที่โหดร้ายทารุณ อำนาจความเป็นอยู่ที่โหดร้ายทารุณ ท่านจึงเรียกว่าโลกนั้นเป็นนรกอย่างคำว่า ตายแล้วตกใต้เถรอเวจีให้ไฟลุกเผาไหม้ตลอดกัปตลอดกัลป์ พูดอย่างนี้เป็นคำอุปมา ความจริงใต้เถรอเวจีนรก ก็คือว่าเป็นโลก ๆ หนึ่งที่อากาศแสนจะร้อนเหลือหลาย ใครไปเกิดที่นั่นแล้วต้องถูกดินฟ้าอากาศเผาผลาญกาย เผาผลาญใจ ไม่มีความสุขชั่วมื้อชั่วยาม ไม่มีเลย นี่แหละอเวจีนรกละ สมมติว่าไปเกิดในโลกที่มีภูเขาไฟเยอะ ๆ ดีไม่ดีก็ตกนรกเขาเรียกว่าตกนรกกระทะทองแดง ตกหลุมถ่านเพลิง นรกหลุมถ่านเพลิงหมายความว่าไปเกิดในโลกดาวพระเคราะห์ที่มีแผ่นดินไหวบ่อย ๆ และมีภูเขาไฟระเบิดบ่อย ๆ มองไปสารทิศมีแต่ภูเขาไฟลุกนั้นก็กำลังคุ ลูกนี้ ก็กำลังคุ ลูกโน้นก็กำลังคุ ดีไม่ดีเดินไป ๒ ก้าวก็แผ่นดินแยกตกหลุมไป ไฟกรดในใต้โลกมันพุ่งขึ้นมาเผาผลาญไหม้มอดไปหมด นี่แหละเรียกว่า นรกหลุมถ่านเพลิง



นรกป่างิ้ว ต้นงิ้วนะ ทำศีลผิดข้อกาเมไปตกนรกป่างิ้ว ก็หมายความว่า ไปเกิดในดาวพระเคราะห์ที่อุดมไปด้วยป่า ป่าไม้ ป่าไม้โบราณสมัยหลายล้านปี แต่ละต้นแหงนคอตั้งบ่ามองไม่เห็นยอด เวลานี้ไม้โบราณไม่ต้องไปหานรกงิ้วดูหรอก โลกมนุษย์ก็มีต้นไม้โบราณอย่างที่ว่าในแคนาดา ประเทศแคนาดากับในสหรัฐอเมริกา มีต้นไม้ยักษ์ชนิดหนึ่งเรียกว่า ต้น Giant sequoia เฉพาะลำต้นของมันนะ เจาะเป็นอุโมงค์รถเก๋งสวนกันได้ ๓ คันสบาย ๆ ท่านทั้งหลายเชื่อไหมว่าต้นไม้ต้นหนึ่งในอเมริกาในแคนาดานี่ โพรงของมันเขาตัดถนนทะลุโพรงไม้ต้นนี่ รถเก๋ง ๓ คันสวนกันไปสวนกันมา เข้า ๆ ออก ๆ สบาย ๆ แล้วยอดของมันหรือแหงนคอตั้งบ่ามองไม่เห็น หายไปในทิวเมฆ ต้นซีคอยยามีในอเมริกากับแคนาดา รัฐบาลของแคนาดากับอเมริกา เขารักษาเป็นป่าสงวนเอาไว้ เพราะว่าต้นไม้ชนิดนี้เป็นพืชพันธุ์ของต้นไม้ยักษ์สมัยโลกล้านปีสืบทอดมา ตานี้ต้นงิ้วอย่างนรกฉิมพลี ที่ว่าป่าไม้งิ้วนี้ก็ได้แก่ไปเกิดในโลกยุคดึกดำบรรพ์ ดาวพระเคราะห์ที่มีความเจริญยุคดึกดำบรรพวิวัฒนาการยัง ไม่ถึงขั้นความเจริญอย่างโลกมนุษย์เรา แล้วก็เป็นป่าไปหมด เป็นป่าไม้หนาม หนามแต่ละอันนี้ยาวตั้ง ๒ ศอก ๓ ศอก ธรรมดาต้นงิ้วในบ้านเรา ไม่มียาว ๒ ศอก ๓ ศอกหรอก แต่ว่าต้นไม้ยักษ์ในโลกที่ว่านี้หนามงิ้วมันยาวตั้ง ๒ ศอก ๓ ศอก สัตว์โลกที่ไปเกิดในแดนนั้น จะหากินก็แสนจะลำบาก ต้องปีนป่ายต้นไม้ ประเภทนี้ขึ้นไปหาก็ถูกหนามงิ้วนั้นแหละมันทิ่มตำเอาตาย เรียกว่าตกนรกป่าไม้ฉิมพลี ตกนรกต้นงิ้วปีนต้นงิ้ว

 ฉะนั้นเรื่องนรกสวรรค์เป็นเรื่องจริง เพียงแต่ว่าเราต้องรู้จักอ่านรู้จักถอดโดยเอาหลักความรู้ของดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์มาปรับแล้วเราจะเชื่อมั่นว่า เรื่องของปรโกลนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องนิยายเลย เป็นเรื่องจริง แล้วความรู้พวกนี้ใครรู้ ผู้ที่รู้คือผู้ที่มีทิพยจักษุญาณตั้งแต่พระพุทธองค์ลงมา แม้กระทั่งฤษีชีไพรนอกศาสนาที่เขาทำอภิญญาได้โลกียอภิญญา เขาก็รู้เห็นแล้ว ไม่ต้องโลกุตตระหรอก เอาแค่โลกียอภิญญานี่แหละ เขาก็รู้เห็น เมื่อเขารู้เห็น เขาก็มาถ่ายทอดให้เราฟังว่ามีนะนรกอย่างนั้นน่ะ นรกทุกข์ สวรรค์สบาย ถ่ายทอดให้เราฟัง อย่างว่าเทวดากินอาหารทิพย์ไม่ต้องหุงหาอาหาร นั่งเฉย ๆ ก็อิ่ม อยากจะกินอาหารก็ลอยมา อิ่มทิพย์ ฟังดูคล้าย ๆ เป็นเรื่องนิยาย แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กำลังจะทำให้เราอิ่มทิพย์แล้ว ท่านทั้งหลายทราบไหม? นักวิทยาศาสตร์ในเยอรมันเขาค้นพบบอกว่า ในอากาศที่เราหายใจนี่มีวิตามินเยอะแยะ เขาว่าเขากำลังสกัดวิตามินในอากาศให้เรากิน ต่อไปนี้เราไม่ต้องไปปลูกผักปลูกหญ้า ทำไร่ไถนาให้ลำบากแล้ว โลกของเราในอนาคต ความเจริญของวิทยาศาสตร์ซึ่งเขากำลังค้นคว้าอยู่ เขาจะสกัดเอาวิตามินในอากาศนี่มาเป็นอาหารเราแล้ว ใครอยากกินก็อ้าปากขึ้นมองในอากาศ แล้วใช้เครื่องสกัดนี้สกัดแผล็บเดียว แค่ไม่ถึงวินาที แล้วหุบปาก หุบเอาแต่ลมเข้าไป พอหุบกลืนลงไปในท้องเราอิ่มขึ้นมาทันที สบายกันมื้อหนึ่งอิ่มไปได้เป็นวัน กิริยาอย่างนี้ คล้าย ๆ กับแม่หนุมาน-นางสวาหะ ยืนขาเดียวกินวาตา กินลมอิ่ม เรื่องนิยายกลายเป็นเรื่องจริงแล้ว ท่านทั้งหลายทราบไหมวิทยาศาสตร์เขาพิสูจน์แล้วว่าในอากาศมีวิตามินเยอะแยะเลย เพราะฉะนั้นเทวดาอิ่มทิพย์ คืออิ่มอย่างนี้ ท่านอิ่มด้วยวิธีนี้ คือวิตามินมันมีไม่ต้องไปกินอะไร ไม่ต้องไปทำไร่ไถนาปลูกผักให้ลำบาก เพียงอ้าปากกินก็อิ่มแล้ว อาหารทิพย์สำเร็จรูปปรุงมาเลยในอากาศ หมายความว่าโลกสวรรค์ วิทยาศาสตร์เขาล้ำยุคยิ่งกว่าโลกเราตั้งกี่โกฏิเท่าก็ไม่รู้ในโลกสวรรค์ ส่วนโลกนรกน่ะเป็นที่ด้อยพัฒนา ไม่มีความเจริญด้านวิทยาศาสตร์ มิหนำซ้ำยังถูกดินฟ้าอากาศ สิ่งแวดล้อมลงโทษ ต้องให้มีความเป็นอยู่อย่างทรมานทรกรรม

เราจึงเรียกว่าโลกนรก มนุษย์เราเป็นก้ำกึ่งของสวรรค์และนรก คือว่ามีทั้งสุขอนันต์และทุกข์มหันต์ในโลกเรา เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ จึงต้องมาตรัสรู้ในโลกมนุษย์ ถ้าไปตรัสรู้ในโลกสวรรค์ ไปสอนให้เทวดาฟัง ให้เห็นทุกข์ ให้เห็นอนิจจัง เทวดายากที่จะเห็นได้ เพราะแต่ละองค์แต่ละองค์ อายุยืนกันเหลือเกิน เทวดาชั้นจตุมหาราชิกา ซึ่งเป็นชั้นต่ำของสวรรค์ ๑ วันเท่ากับ ๔๐๐ ปี ในเมืองมนุษย์ เรา ๔๐๐ ปี ตายแล้ว เกิดไม่รู้กี่ชาติ เทวดาในชั้นจาตุมหาราชิกาเพิ่ง ๒๔ ชั่วโมง เพราะฉะนั้นจะไปเทศนาสั่งสอนพวกเทพพวกพรหมบอกว่า รูปํ อนิจจํ สงฺขารา อนิจฺจา พวกนี้ยากที่จะหยั่งถึงธรรม นอกจากเทวดาที่มีสัมมาทิฏฐิ ได้สร้างบารมีมาแต่โลกมนุษย์ติดตัวขึ้นไปแล้ว อย่างนี้แหละก็เห็นธรรมได้ง่าย ถ้าหากว่าเป็นพวกที่ประมาทเป็นพวกที่ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิมาก่อนแล้ว ไปเกิดเป็นพวกกายทิพย์แล้วละก็ยากนักที่จะเห็นในเรื่องอนิจจังได้ เพราะความที่อายุของโลกสวรรค์มันยืนมาก มูลเหตุที่ยืนมากน่ะไม่ใช่อะไรหรอก เกี่ยวกับกับการหมุนรอบตัวเองของดาวพระเคราะห์ดวงนั้น บางดวงหมุนช้าไป บางดวงหมุนเร็ว โลกเรากำหนดวัน เดือน ปี ด้วยอะไรล่ะ ด้วยการหมุนใช่ไหม หมุนรอบตัวเอง ๒๔ ชั่วโมง เป็นหนึ่งวัน หมุนรอบดวงอาทิย์ ๓๖๕ วัน เป็นหนึ่งปี ดาวพระเคราะห์บางดวงกว่าจะหมุนรอบพระอาทิตย์กินเวลาโลกเรา ๑๑ ปีเศษ ดาวพฤหัสฯ นี่นะใหญ่กว่าโลกเราตั้งพันเท่า ใหญ่มหึมากว่าโลกเรา ตั้งพันโลกจึงเท่าพฤหัสดวงหนึ่ง ดาวพฤหัสหมุนรอบดวงอาทิตย์ ๑๑ ปีเศษ ถ้าเราไปเกิดในดาวพฤหัสแล้ว ๑ ปีของดาวพฤหัสจะเท่ากับ ๑๑ ปีเศษของโลกเรา นี่ดาราศาสตร์ เขาพิสูจน์มาอย่างนี้ จะป่วยการไปไยกับโลกสวรรค์ ซึ่งห่างจากโลกเราแสนโกฏิล้านไมล์ อายุก็ต้องยืนเป็นธรรมดา เพราะมันเกี่ยวกับการหมุนเวียนรอบตัวกับดวงอาทิตย์เป็นเกณฑ์ เพราะฉะนั้นดาราศาสตร์ยิ่งเจริญก็ทำให้เรายิ่งเชื่อว่า นรกสวรรค์ที่เป็นปรโลกน่ะมีจริง ๆ ใครเชื่อเรื่องนี้ คนนั้นก็มีกัมมัสกตญาณเป็นโลกียสัมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิซึ่งเป็นองค์ของมรรคในมรรคองค์ ๘ นั้น ท่านจัดเป็นโลกียทิฏฐิอย่างหนึ่ง

โลกุตตรสัมมาทิฏฐินั้น คือ กัมมัสกตาญาณหนึ่ง ตถาคตโพธิสัทธาหนึ่ง ความที่มีญาณทัสสนะแทงทะลุเห็นอริยสัจจ์ ๔ เป็นโลกุตตรสัมมาทิฏฐิ เพราะฉะนั้นชาวพุทธทั่วไปจึงควรที่จะปลูกโลกียสัมมาทิฏฐิ คือ ความเชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตัว ใครทำดีได้ดีใครทำชั่วได้ชั่ว จังหวะของกรรมดีกรรมชั่วจะให้ผลนั้น อยู่ที่คิวของมัน เพราะว่าเราทำกรรมดีกรรมชั่วมามากมายอเนกอนันต์นับไม่ถ้วนชาติ มันก็มีคิว ต้องต่อคิวกันซิ จะมาให้ผลทันตาเราไม่ได้หรอก ไม่ใช่ว่าตักบาตรทอดกฐินวันนี้ แล้วอธิษฐานว่า พรุ่งนี้แทงลอตเตอรี่ให้ถูกที่หนึ่งเถอะ อำนาจผลบุญที่รวมอนุโมทนากฐิน ขอให้ลอตเตอรี่ถูกที่หนึ่งเถอะ แล้วพอไม่ถูก มาโทษบอกว่าทำบุญไม่เห็นได้ผลบุญเลย ไม่ถูก มันอยู่ที่คิว ก่อนที่จะถูกเราต้องรอคิวเสียก่อนว่าบางทีกรรมชั่วเราทำมาก คิวของกรรมชั่วต้องเรียงมาตั้งเป็นชาติ ๆ รอเราอยู่ เราก็ต้องชดใช้หนี้มันก่อนซิ เหมือนเราทำกรรมชั่วเหมือนกันแหละ วันนี้ไปปล้นเขาปิดบังหลักฐานได้ก็หัวเราะชอบใจว่าตำรวจไม่รู้ เราไม่ต้องเข้าคุก เพราะฉะนั้นใครทำชั่วก็ไม่ได้ผลชั่ว ไม่จริงหรอก ที่ศาสนาสอนไม่จริง อย่างนี้แปลว่าคิวดีของเขายังไม้ผลอยู่ คิวชั่วยังมาไม่ถึง ก็เหมือนเราตีตั๋วนี่แหละ เราไปช้าก็ต้องไปยืนหลังเขา ใครไปก่อนก็ไปยืนหน้าเรา แล้วเราจะไปต่อว่า โอ๊ย ไม่ได้หรอก ไม่ถูกไม่ต้องไม่ได้ กรรมดีกรรมชั่วมันมีจังหวะจะให้ผล เราปลูกกล้วย ปลูกมะละกอ ปลูกพริก ปีหนึ่งก็ได้กินผล ปลูกทุเรียนปีหนึ่งได้กินผลไหม ไม่ได้ ห้าปี หกปี เจ็ดปีกว่าจะได้กินผลทุกเรียน ปลูกมะม่วงสามปีสี่ปีก็ได้กินผลแล้ว เมื่อปลูกพริกปีหนึ่งห้าเดือนหกเดือนก็ได้กินแล้ว สามเดือนได้กินแล้ว ปลูกพริกฉันใด กรรมดีกรรมชั่วก็เหมือนกัน มันมีจังหวะเร็วจังหวะช้า เพราะฉะนั้นเราจึงควรเชื่อกัมมัสกตาญาณว่า นรกสวรรค์มีจริงดีกว่า เป็นเครื่องอุ่นใจให้เรามีความหวัง มีความพากเพียรวิริยะที่จะประกอบกรรมดีต่อไป แล้วก็ได้ดีทั้งในชาตินี้และชาติหน้าด้วย