แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ปกิณกะธรรม แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ปกิณกะธรรม แสดงบทความทั้งหมด

วันจันทร์

องุ่นเปรี้ยว กับ การปฏิบัติธรรม

ในหมู่ผู้สนใจศึกษาธรรมะนั้น คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิเสธว่า มีอยู่ไม่น้อยที่หันหน้าเข้าหาธรรมะด้วยเหตุเพราะต้องการดิ้นรนให้พ้นจากความทุกข์หรือความผิดหวังบางประการในชีวิต ซึ่งผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในนั้นจากปัญหาด้านสุขภาพ เมื่อเข้ามาด้วยแรงจูงใจจากความผิดหวังในชีวิตทางโลก ก็อาจพลั้งเผลอหยิบจับเอาคำสอนของพระพุทธศาสนาบางช่วงบางตอน ที่กล่าวถึงโทษภัยของโลก เช่น “กามเป็นทุกข์” “ทุกข์เสมอด้วยเบญจขันธ์ไม่มี” “สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง” ด้วยความเข้าใจอย่างตื้นเขิน เพราะรู้สึกว่าเข้ากันได้พอดิบพอดีกับความเห็นของตัวในขณะนั้น คล้ายๆสำนวน “องุ่นเปรี้ยว” คือ เมื่อหมดโอกาสที่จะได้เสียแล้วก็หลอกตัวเองโดยมองว่าสิ่งนั้นไร้ประโยชน์ไปเสียเลยทั้งที่จริงๆแล้วลึกๆตัวเองก็ยังอยากได้สิ่งนั้นมาครอบครอง ยังตัดไม่ขาด ยังละไม่ได้ อีกทั้งคำสอนบางช่วงก็มีสำนวนที่เมื่อพิจารณาเพียงผิวเผิน ชวนให้เกิดความรู้สึกหดหู่ เบื่อหน่ายเกลียดชังชีวิต สิ้นหวังต่อโลก เช่น

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วรู้เห็นตามเป็นจริงนี้ เป็นธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้รู้เห็นตามเป็นจริง ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอเราจงเบื่อหน่ายเถิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้รู้เห็นตามเป็นจริงเบื่อหน่ายนี้ เป็นธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เบื่อหน่าย ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอเราจงคลายกำหนัดเถิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้เบื่อหน่ายคลายกำหนัดนี้ เป็นธรรมดา…” (เจตนาสูตร)

เมื่อศึกษาผิวเผินเช่นนี้ ประกอบเข้ากับปัญหาชีวิตที่หนักหน่วงของตนเองแล้ว จึงเป็นการง่ายที่ความคิดจะเลยเถิดผิดไปในทางที่เห็นแต่โทษภัยของโลกเพียงด้านเดียว ทรรศนะเช่นนี้นอกจากเป็นความเข้าใจผิดในหลักการของพระพุทธศาสนา ไม่เข้าใจความหมายอันลึกซึ้งที่ท่านทรงแสดงแล้ว ยังนำทุกข์มาท่วมทับตน ไม่นำไปสู่ความเจริญงอกงามในชีวิตแต่อย่างใด จริงอยู่ที่การมองโลกแบบองุ่นเปรี้ยวเช่นนี้ อาจสามารถลดความทุกข์จากความผิดหวังรุนแรงลงได้บ้างในช่วงแรก แต่ทัศนคติผิดๆเช่นนี้ ในระยะยาวย่อมไม่สามารถนำพาชีวิตให้ก้าวหน้าไปได้จริง ทั้งในทางโลกและทางธรรม บางครั้งพระพุทธศาสนาจึงถูกมองเป็นเพียงที่พึ่งขณะเมื่อชีวิตมีทุกข์หนัก แต่เมื่อทุกข์เริ่มจางคลายลงไปตามกาลเวลาที่ล่วงเลยผ่านแล้ว ความสนใจ ความฝักใฝ่ในธรรม ก็จางหายไปด้วย เพราะมองไม่เห็นและเข้าไม่ถึงคุณค่าที่แท้จริงของพระพุทธศาสนามาตั้งแต่แรก

อย่างไรก็ตาม การที่มีข้อความหรือถ้อยคำสำนวนในบางช่วงตอนที่อาจชวนให้เกิดความรู้สึกชังชีวิตเช่นนี้ จะเป็นปัญหาของธรรมะก็หามิได้ แท้จริงเป็นปัญหาด้านข้อจำกัดของภาษาที่ไปไม่ถึงสิ่งที่ลึกซึ้ง เช่นในเจตนาสูตรที่ยกมาข้างต้น คำว่า “เบื่อหน่าย” ท่านแปลจากบาลีคือ “นิพพิทา” ศัพท์คำว่า นิพพิทา นี้จะแปลด้วยคำศัพท์ภาษาไทยคำใดให้ตรงตามความหมายที่ต้องการครบถ้วน ก็เห็นจะไม่มี ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้ให้ความหมายว่า นิพพิทา “ความหน่าย” หมายถึง ความหน่ายที่เกิดขึ้นจากปัญญาพิจารณาเห็นความจริง, ความเบื่อหน่ายในกองทุกข์

ความมุ่งหมายของพระสูตรที่แสดงโทษภัยของโลกนั้น ล้วนเป็นไปเพื่อให้เกิด “นิพพิทา” ซึ่งเป็นความหน่ายอันประกอบด้วยปัญญารู้เห็นตามเป็นจริง เป็นความหน่ายที่ทำให้รู้สึกปลอดโปร่ง เบิกบาน มีความสุขอย่างเป็นอิสระ เนื่องจากกิเลสทั้งหลายสงบลงไปจากความไม่ยึดติดถือมั่น อาจกล่าวแบบภาษาง่ายๆได้ว่า เพราะเข้าถึงวิถีทางใหม่ที่ดียิ่งกว่า จึงเลิกสนใจวิถีทางเดิมๆ ต่างจากความเบื่อหน่ายเกลียดชังต่อโลกซึ่งเกิดจากกิเลสจำพวกโทสะ หรือความอยากจะพ้นไปจากสิ่งที่ตนไม่ปรารถนาซึ่งเป็นกิเลสจำพวกโลภะ (วิภวตัณหา) เหล่านี้ก่อให้เกิดเป็นความเบื่อหน่ายที่ทำให้ตรอมตรม งอมระงมเผาอยู่ในจิตใจ ซึ่งจะเห็นว่าในความคล้ายของคำศัพท์ภาษาไทยที่ว่า “เบื่อหน่าย” นี้ มีความแตกต่างอย่างใหญ่หลวงที่จำเป็นจะต้องแยกออกจากกันให้ชัด เพื่อมิให้เผลอปล่อยให้กิเลสจำพวกนี้ก่อตัวขึ้นเผาจิตใจตัวเองอย่างเงียบๆให้เป็นทุกข์ แม้ในขณะที่กำลังพยายามพิจารณาเพื่อต้องการลดละกิเลสอยู่นั่นเอง

กล่าวคือ การมองโลกในแง่ร้ายในลักษณะที่ว่าสิ่งต่างๆเป็นความทุกข์ทรมานนั้น ส่งผลให้เกิดความ “เบื่อหน่ายโลกด้วยโทสะ ซึ่งทำให้เป็นทุกข์โดยไม่จำเป็น ส่วนการ “เบื่อหน่ายโลกเพราะรู้เห็นตามเป็นจริงด้วยนิพพิทาญานทำให้ปลอดโปร่งเบิกบาน จะเห็นว่าทั้งสองกรณีนี้แม้โดยคำศัพท์อาจมีส่วนเหมือนกัน แต่แท้จริงความหมายที่ต้องการจะสื่อต่างกันอย่างตรงข้ามทีเดียว ผู้ที่หันหน้าเข้าหาธรรมด้วยเหตุจากความผิดหวังใดๆในชีวิต พึงพิจารณาว่า ควรหรือที่จะเอาสุขทุกข์ของตนไปขึ้นต่อ ไปยึดโยงอยู่กับสิ่งใดๆ เพื่อสนองตัณหาของตน คราวเมื่อได้สิ่งนั้นมาก็เป็นสุข เมื่อสูญเสียสิ่งนั้นไป หรือขวนขวายแล้วไม่ได้ตามต้องการก็เป็นทุกข์ เหตุแห่งทุกข์จึงเกิดเพราะความที่เรามีตัณหาอยู่ในขันธสันดาน เมื่อจะแก้ที่ต้นตอของปัญหาจึงต้องแก้ที่กิเลสตัณหาในจิตใจของเรานี่เอง เมื่อตัณหาเบาบาง ทุกข์ต่างๆในจิตใจก็จางคลายลงไปด้วย เมื่อปราศจากตัณหา ย่อมอยู่เป็นสุขทุกเมื่อ

อย่างไรก็ตาม การกล่าวถึงความปราศจากตัณหา แม้เป็นการเอาชนะปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ก็อาจดูจะเป็นเป้าหมายที่ไกลตัวเกินไปสักหน่อย ในที่นี้จึงนำเสนอแนวทางอยู่ร่วมกับกิเลสตัณหาอย่างเป็นปกติสุขตามสมควรสำหรับคฤหัส โดยพยายามจะให้เป็นวิถีทางที่ทำได้ไม่ยากและสามารถจะเห็นประจักษ์กับตัวเองได้ค่อนข้างชัด ซึ่งแท้จริงแล้วทุกคนสามารถสร้างขึ้นได้มากมาย หลายกรณีก็มิใช่ของยากหรือไกลตัวแต่อย่างใด ยกตัวอย่าง ดังนี้

สุขจากความพอใจในสิ่งที่ตนมี ใช้จ่ายทรัพย์ตามสมควร ความประพฤติไม่เป็นโทษ (🔎 กามโภคีสุข “สุขของคฤหัสถ์”)
สุขจากการทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ (สุขจากการสนองฉันทะ)
สุขจากการมีศรัทธาถูกทาง : เป็นศรัทธาที่นำไปสู่ปัญญา ไม่เป็นศรัทธาที่งมงายแต่เป็นศรัทธาที่ทำให้หายงมงาย มีความปีติยินดีว่าทางที่มุ่งไปเป็นทางแห่งความสุขความเจริญโดยแท้
สุขจากทาน : เช่น จากที่เคยหวังพึ่งแต่สุขจากการกินการใช้อย่างหรูหราราคาแพง ลองมองหาผู้ที่ขาดแคลนแล้วแบ่งปันให้เขาโดยที่ไม่หวังผลตอบแทน แล้วสังเกตสุขในจิตใจของตนดูว่าเกิดขึ้นหรือไม่เพียงใด บางครั้งการให้ผู้อื่นโดยที่มีต้นทุนเพียงเล็กน้อย อาจสร้างสุขให้แก่ตนเองมากกว่าการกินใช้หรูหราก็เป็นไปได้
สุขจากศีล : การมีศีลที่ดีย่อมเป็นเหตุ เป็นพื้นฐาน และเป็นต้นทางแห่งความสุขความเจริญทั้งหลายทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพียงระลึกถึงความมีศีลที่ดีของตนแล้วก็พาให้แช่มชื่นใจ
สุขจากการเจริญเมตตา : การมีความคิดขุ่นเคืองแค้น อาฆาตพยาบาท อิจฉาริษยา ล้วนเป็นมลทินโทษของจิตใจ เป็นไฟที่เผาผลาญอยู่ภายในให้เป็นทุกข์ พึงเจริญเมตตาแก่ตนเอง แก่ผู้เป็นที่รัก แก่ศัตรูทั้งหลาย เผื่อแผ่ความปรารถนาดีไปโดยไม่จำกัดขอบเขตเช่นนี้ จิตใจย่อมผาสุข
สุขจากสมาธิ : จากที่เคยหวังสุขที่ต้องพึ่งพิงสิ่งอื่นหรือผู้อื่น ลองฝึกปฏิบัติสมาธิเพื่อให้ได้รับสุขจากความสงบประณีต การได้สัมผัสสุขจากสมาธินั้น สามารถกล่าวได้ว่าเป็นก้าวย่างสำคัญของความเจริญในกุศลธรรมต่างๆ
สุขจากปัญญา : มีความสุขจากความใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาในธรรม ความยินดีในธรรม ความปลอดโปร่งจากกิเลส พึงทราบว่าปัญญาเป็นยอดแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย

แม้ยังไม่สามารถถอนกิเลสให้หมดสิ้นไปโดยสิ้นเชิง การบรรเทากิเลสตัณหาของตนให้เบาบางในระดับที่ไม่สร้างปัญหาเดือดร้อนให้แก่ตนและผู้อื่น จับจ่ายใช้สอยพอเหมาะ มีศีลที่ดี มีจิตใจเมตตากรุณา มีความรู้ความเข้าใจธรรมะตามสมควร รู้จึกสุขอื่นที่ดีกว่าสุขจากการสนองกิเลส ก็ได้ชื่อว่าเป็น กัลยาณปุถุชน ผู้ซึ่งเมื่อครั้งหนึ่งได้มีโอกาสสดับสัทธรรมแล้ว สามารถรับเอาความเจริญงอกงามติดตัวกลับไปตามสมควรแก่ตน

อะไรเล่าเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐสุดของคนในโลกนี้ ?
อะไรเล่าที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ ?
อะไรเล่าเป็นรสที่ดีกว่ารสทั้งหลาย ?
บุคคลมีความเป็นอยู่อย่างไร นักปราชญ์จึงกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ ?

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้
ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐสุดของคนในโลกนี้
ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้
สัจจะเท่านั้น เป็นรสที่ดีกว่ารสทั้งหลาย
บุคคลมีความเป็นอยู่ด้วยปัญญา นักปราชญ์จึงกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ (อาฬวกสูตร)

“ดูกรมหานามะ สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระตถาคตเนืองๆ สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุมไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม ย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว ก็อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภพระตถาคต ย่อมได้ความทราบซึ้งอรรถ ย่อมได้ความทราบซึ้งธรรมย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม เมื่อปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติเมื่อมีใจประกอบด้วยปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น ดูกรมหานามะ นี้อาตมภาพกล่าวว่า อริยสาวกเป็นผู้ถึงความสงบเรียบร้อยอยู่ ในเมื่อหมู่สัตว์ยังไม่สงบเรียบร้อย เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ ในเมื่อหมู่สัตว์ยังมีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมกระแสธรรม ย่อมเจริญพุทธานุสสติ” (ตรัสถึง ธรรมานุสสติ, สังฆานุสสติ, สีลานุสสติ, จาคานุสสติ, เทวตานุสสติ ด้วย) (มหานามสูตร)



กาลามสูตร ตรรกวิทยาและความศรัทธา

สมัยหนึ่ง พวกชนกาลามะโคตร ชาวเกสปุตตนิคม ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า 

“พระเจ้าข้า มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม สมณพราหมณ์พวกนั้น พูดประกาศแต่เฉพาะวาทะของตัวเท่านั้น ส่วนวาทะของผู้อื่นช่วยกันกระทบกระเทียบ ดูหมิ่นพูดกด ทำให้ไม่น่าเชื่อ พระเจ้าข้า มีสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคมถึงพราหมณ์พวกนั้น ก็พูดประกาศแต่เฉพาะวาทะของตนเท่านั้น ส่วนวาทะของผู้อื่นช่วยกันกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น พูดกด ทำให้ไม่น่าเชื่อ พระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ยังมีความเคลือบแคลงสงสัยในสมณพราหมณ์เหล่านั้นอยู่ทีเดียวว่า ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็ควรแล้วที่ท่านทั้งหลายจะเคลือบแคลงสงสัย กาลามสูตร (วิธีปฏิบัติในเรื่องที่ควรสงสัย)
๑. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
๒. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบๆกันมา
๓. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
๔. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
๕. อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ
๖. อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน (คาดเดา คาดคะเน)
๗. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการตรึกตามอาการ
๘. อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับความเห็นของตน
๙. อย่าปลงใจเชื่อเพราะผู้พูดสมควรเชื่อถือได้
๑๐. อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่า ท่านผู้นี้เป็นครูของเรา
“ต่อเมื่อใด พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมเหล่าใด เป็นอกุศล มีโทษ นักปราชญ์ติเตียน เมื่อทำแล้วย่อมให้เกิดแต่ส่วนที่ไม่เป็นประโยชน์และความทุกข์ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสีย ธรรมเหล่าใด เป็นกุศล ไม่มีโทษ นักปราชญ์สรรเสริญ เมื่อทำแล้วย่อมให้เกิดประโยชน์และความสุข ท่านควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้น” (กาลามสูตร)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ท่านได้ชี้จุดที่ควรทำความเข้าใจเป็นพิเศษ คือคำว่า “อย่าปลงใจเชื่อ” ไม่ใช่การห้ามไม่ให้เชื่อ หรือปฏิเสธความศรัทธา แต่ท่านหมายความว่า อย่าพึ่งเชื่อสนิทใจ นั่นคือ ให้พิจารณาดูก่อน ปฏิบัติดูก่อน จนประจักษ์แก่ตน ว่าเป็นของดีจริง จึงค่อยเพิ่มพูนความเชื่อมั่นขึ้นไปตามลำดับ ขอให้สังเกตข้อ ๕-๗ เป็นเรื่องของตรรกะ หรือ Logic ซึ่งมีความหมายอย่างกว้างๆ คือ เป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนวิธีคิดเพื่อนำความจริงที่รู้แล้วขยายไปสู่ความจริงที่ยังไม่รู้ หรือความรู้โดยตรงขยายไปสู่ความรู้โดยอ้อม การพูดโดยอาศัยตรรกะนั้น ถ้าผู้พูดมีวาทะศิลป์ที่ยอดเยี่ยมแล้ว ก็จะทำให้คำพูดของเขานั้นดูมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ สละสลวยน่าฟัง ชวนให้คล้อยตามไปได้โดยง่าย แม้จะไม่ใช่เรื่องจริงก็ตาม เพราะการอ้างตรรกะก็มีช่องโหว่ ไม่ใช่การเข้าถึงความจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ในทุกกรณี ในกาลามสูตรท่านจึงไม่ให้ถือตรรกะเป็นที่ยุติ ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น

คนที่เคยติดคุก เป็นคนเลว นาย ก. เคยติดคุก ดังนั้น นาย ก. เป็นคนเลว, ในความเป็นจริงนาย ก. อาจเป็นแพะรับบาป หรือกลับตัวเป็นคนดีแล้วก็ได้

ประเทศชาติของเราจะเจริญรุ่งเรือง ถ้าทุกคนในชาติมีแนวคิดชาตินิยม เราจึงควรปลูกฝังแนวคิดชาตินิยม นาย ก. ไม่สนับสนุนแนวคิดชาตินิยม ดังนั้น นาย ก. เป็นคนไม่รักชาติ, ในความเป็นจริงนาย ก. อาจเป็นคนที่รักชาติ แต่ไม่เห็นด้วยว่าแนวคิดชาตินิยมจะทำให้ชาติเจริญก็ได้

อย่างไรก็ตาม การใช้ตรรกะแม้จะมีช่องโหว่อยู่บ้าง แต่ก็มีประโยชน์ช่วยในการคิดพิจารณา ปะติดปะต่อเรื่องราวและความรู้ต่างๆได้อย่างมีเหตุมีผล แม้จะไม่อยู่ในขั้นที่สมบูรณ์แบบเหมือนการรู้เห็นอย่างประจักษ์แจ้งด้วยปัญญา แต่ก็สามารถทำหน้าที่เป็นบันไดต่อไปสู่ความรู้อย่างประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาได้ ตัวอย่างเช่น พระปุณณาเถรีได้กล่าวแก่พราหมณ์ผู้ถือธรรมเนียมการอาบน้ำล้างบาปในแม่น้ำว่า “ …ถ้าคนจะพ้นจากบาปกรรมได้ก็เพราะการอาบน้ำ (ล้างบาป) พวกกบ เต่า งู จระเข้ และสัตว์เหล่าอื่นที่เที่ยวหากินอยู่ในน้ำทั้งหมดก็คงพากันไปสวรรค์แน่แท้, ถ้าแม่น้ำเหล่านี้จะพึงนำบาปที่ท่านก่อไว้แต่ก่อนไปได้ แม่น้ำเหล่านี้ก็จะพึงนำทั้งบุญของท่านไปด้วย, ท่านพราหมณ์ ท่านกลัวบาปใด จึงลงอาบน้ำเป็นประจำ ท่านก็อย่าได้ทำบาปอันนั้น… ” (ปุณณิกาเถรีคาถา) เมื่อได้ฟังการอธิบายเช่นนี้ แม้แต่พราหมณ์ที่ถือธรรมเนียมของตนมาอย่างยาวนานก็เข้าใจได้โดยง่าย

กล่าวถึงเรื่องของความศรัทธา พระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธประโยชน์ของศรัทธา คนเดินทางไกลในถิ่นทุรกันดาล ถ้ามีผู้นำทางที่ยอดเยี่ยม ย่อมไม่กลัวความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวและภัยอันตรายฉันใด ความมีศรัทธาก็เปรียบเสมือนมีประทีปส่องนำทางให้ความรู้สึกอบอุ่นใจแก่ผู้ศึกษาฉันนั้น แต่ท่านกล่าวว่าความศรัทธาเป็นการพึ่งปัญญาของผู้อื่น ถ้าผู้ที่เราน้อมใจศรัทธา แท้จริงเป็นคนพาลผู้มาในรูปของกัลยาณมิตรแล้ว ย่อมจะนำความเสื่อมและโทษภัยมาให้แก่ผู้หลงตามไปเป็นอย่างยิ่ง

อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ (จากหนังสือ คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา) ได้ชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจว่า “…ในพระพุทธศาสนานั้น ไม่มีที่ไหนเลย เมื่อกล่าวถึงศรัทธาแล้วจะไม่กล่าวถึงปัญญากำกับไว้ด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดเหลือเกินว่า ในที่ใดใช้ศรัทธาความเชื่อ ในที่นั้นจะต้องใช้ปัญญากำกับไว้เป็นข้อสุดท้ายเสมอ เพราะถือว่าเป็นเครื่องมือขั้นสุดท้ายที่จะให้ประจักษ์แจ้งความจริง หรือได้รับผลสมบูรณ์ใดๆ เช่น อินทรีย์ ๕, อริยทรัพย์ ๗, สัปปุริสธรรม ๗, สัมปรายิกัตถะ ๔, เวสารัชชกรณธรรม ๕ เป็นต้น”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ศรัทธาที่แท้ในทางพระพุทธศาสนา คือศรัทธาที่ไม่ทำให้งมงายแต่เป็นศรัทธาที่ทำให้หายงมงาย หรือศรัทธาที่เอื้อต่อปัญญา

พุทธพจน์ “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นคนพาล ไม่เฉียบแหลม ไม่ใช่สัตบุรุษ ย่อมเป็นผู้ประกอบไปด้วยโทษ นักปราชญ์ติเตียน ย่อมประสบกรรมมิใช่บุญเป็นอันมาก และย่อมเกิดในนรกเหมือนถูกนำมาโยนลง ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ
    บุคคลไม่พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว กล่าวสรรเสริญบุคคลที่ไม่ควรสรรเสริญ ๑
    ไม่พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว กล่าวติเตียนบุคคลที่ควรสรรเสริญ ๑
    ไม่พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว ปลูกความเลื่อมใสในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส ๑
    ไม่พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว ปลูกความไม่เลื่อมใสในฐานะที่ควรเลื่อมใส ๑

“บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นบัณฑิตเฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ เป็นผู้หาโทษมิได้ ทั้งนักปราชญ์ไม่ติเตียน ย่อมประสบบุญเป็นอันมาก และย่อมเกิดในสวรรค์เหมือนถูกเชิญมา ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ
    บุคคลพิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว ย่อมติเตียนบุคคลที่ควรติเตียน ๑
    พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว ย่อมสรรเสริญบุคคลที่ควรสรรเสริญ ๑
    พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว ปลูกความไม่เลื่อมใสในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส ๑
    พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว ปลูกความเลื่อมใสในฐานะที่ควรเลื่อมใส ๑ (ขตสูตร ; วัณณสูตร)



ความรัก ๒ ระดับ ของบุคคลสำคัญสมัยพุทธกาล

ประเด็นเรื่องความรักกับคำสอนของพระพุทธศาสนานั้น เราๆท่านๆอาจได้ยินได้ฟังกัน หรือจำกันได้ติดหู ในประโยคที่ว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” ซึ่งเป็นข้อความบางส่วนจากพระพุทธพจน์ในวิสาขาสูตร จากสำนวนที่ค่อนข้างรวบรัดตัดตอนนี้ทำให้บางครั้งอาจเกิดทัศนคติต่อความรักในเชิงลบ หรือมองว่าความรักเป็นสิ่งที่ขัดขวางความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย ซึ่งทัศนคติดังกล่าวนี้ ถูกต้องเพียงบางส่วน บทความนี้จึงมุ่งหวังให้เกิดความกระจ่างในประเด็นเรื่องของความรัก ในทัศนะของพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้นตามแนวทางที่ครูอาจารย์ได้เคยชี้แนะเอาไว้แล้ว

ความรักที่เกิดจากตัณหา ราคะ ย่อมเป็นความเกิดพร้อมของเหตุแห่งทุกข์ ความรักด้วยแรงจูงของกิเลสนั้น ท่านมีศัพท์เฉพาะว่า “สิเนหะ” (เสน่หา ในภาษาไทย) “เปมะ” หรือ “ปิย” เป็นต้น นอกจากนี้คำว่า “หึง” นั้น ผู้เขียนเคยได้ยินว่าแผลงมาจากบาลีว่า “หิงสะ” ที่แปลว่า เบียดเบียน (ตรงข้ามกับ อหิงสา ไม่เบียดเบียน) ความรักใดที่มาพร้อมกับความหึงหวง ความรักนั้นย่อมมีมูลเหตุมาจากกิเลส ส่วนความรักแบบเมตตา กรุณา เป็นความเกิดพร้อมของเหตุแห่งสุข อาจกล่าวได้ว่า เป็นด้านดีของความรัก

ประเด็นเรื่องความรักนี้ จริงๆแล้วไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากนัก แต่ที่เป็นปัญหาส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของการใช้คำศัพท์ ทั้ง ตัณหา ราคะ สิเนหะ กับ เมตตา กรุณา ภาษาไทยเราเรียกคลุมๆกันไปหมดว่า เป็นความรัก ทั้งๆที่อย่างหนึ่งเป็นอกุศลธรรม อีกอย่างหนึ่งเป็นกุศลธรรม ดังนั้น จึงควรสังเกตความแตกต่าง และแยกออกจากกันให้ชัดเจน โดย แบ่งเป็นความรัก ๒ แบบ

แบบที่ ๑ ความรักด้วยตัณหา : คือ ความรักเพราะอยากได้ มีความเห็นแก่ตัวเป็นสมุทฐาน มองผู้นั้นเป็นเครื่องสนองความสุข สนองความต้องการของตนเอง เมื่อผิดหวังไม่ได้ดังใจตนก็เกิดความรู้สึกกระทบกระทั่งรุนแรง หรือถ้าผู้นั้นไม่อยู่ในภาวะที่จะสนองความต้องการให้แก่ตนได้ ความรักก็อาจเปลี่ยนเป็นความเบื่อหน่าย รังเกียจ ความรักแบบนี้แท้จริงแล้วคือการคิดจะได้จะเอาจากผู้อื่น ไม่ใช่ความดีงามอะไร ผู้ที่มีความรักด้วยกิเลสตัณหามากย่อมเป็นการสะสมเหตุแห่งความทุกข์ทางใจเอาไว้มากด้วย

แบบที่ ๒ ความรักอันประเสริฐ : คือ ความรักด้วยพรหมวิหาร ๔ อยู่ในฝ่ายของฉันทะ เป็นกุศลธรรมล้วนๆ เป็นความรักที่ทำให้การให้กลายเป็นความสุข เป็นความรักเพื่อตัวเขา โดยไม่ต้องเอาตัวเราเข้าไปรอรับผลตอบแทนใดๆ เพราะความที่ไม่ต้องมีตัวเราเข้าไปรับกระทบใดๆนี่แหละ ผู้มีความรักอย่างประเสริฐจึงมีความสุข ความเบิกบานในจิตใจอย่างยิ่ง ยามเขาปกติก็บันเทิงอยู่ด้วยเมตตาอยากให้เขามีความสุข เมื่อเขาทุกข์ร้อนก็ชุ่มด้วยกรุณาอยากให้พ้นจากความทุกข์ เมื่อเขาเจริญรุ่งเรืองประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นก็พลอยยินดีด้วยมุทิตาจิต แม้ยามพ้นวิสัยที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลอะไรได้ ก็วางใจสงบด้วยอุเบกขา ผู้ที่มีความรักด้วยเมตตากรุณามากย่อมเป็นการสะสมเหตุแห่งความสุขทางใจเอาไว้มากด้วย

การแยกออกเป็นสองแบบนั้น ไม่ใช่ว่าความรักแต่ละกรณีจะจัดลงในแบบใดแบบหนึ่งได้โดยสิ้นเชิง ปกติแล้วก็มักจะประกอบด้วยส่วนผสมทั้งสองด้านนี้เจือปนกันอยู่ เช่น ความรักของพ่อแม่ ก็มักจะมีส่วนของความรักอันประเสริฐด้วยพรหมวิหารมาก ความรักของหนุ่มสาว ก็มักจะมีส่วนของความรักด้วยตัณหามาก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม พึงทราบว่าผลสำเร็จที่เป็นอุดมคติของความรักอันประเสริฐ หรือการเจริญพรหมวิหารธรรม คือ มีความปรารถนาดีต่อสัตว์ทั้งปวงอย่างเสมอกัน โดยไม่แบ่งแยกหมู่คณะ มิตร ศัตรู ดี เลว ดังพุทธพจน์

“มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน แม้ด้วยการยอมสละชีวิตได้ ฉันใด กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้น”

อาจมีคำถามเกิดขึ้นว่า ความรักแบบหนุ่มสาว ที่ว่าเป็นความรักเพราะอยากได้ ประกอบด้วยกิเลสตัณหามาก นำมาซึ่งความทุกข์นั้น …มันก็นำมาซึ่งความสุข เป็นเหตุแห่งความสุขด้วยมิใช่หรือ?

ข้อนี้ข้าพเจ้าขอแสดงความเห็นว่า กามสุข (สุขจาก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) มันก็เป็นเหตุแห่งความสุขตามเหตุปัจจัยปกติของมัน เช่น รูปที่น่ารัก อาหารอร่อย ดนตรีไพเราะ ธรรมชาติงดงาม เป็นต้น มันก็ให้ความสุขตามระดับของมันเช่นนั้น ไม่ว่าเราจะยือถือมันไว้ด้วยกิเลสตัณหาหรือไม่ก็ตาม (พระอรหันต์ยามว่างจากภาระกิจที่พึงกระทำก็ยังนิยมเข้าฌานเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน อันเป็นสุขที่เหนือกว่าสุขจากกามคุณ ๕ แม้ท่านไม่มี รูปราคะ และอรูปราคะแล้ว) ที่ว่าความรักของหนุ่มสาวก็นำมาซึ่งความสุขได้นั้น จึงเป็นความจริงในแง่ด้านหนึ่ง เพราะกามคุณ ๕ ก็ย่อมเป็นเหตุแห่งสุขตามระดับของมัน (กามสุข < ฌานสุข < นิพพานสุข) ประเด็นคือกิเลสตัณหานั้น เป็นส่วนโทษเป็นเหตุแห่งทุกข์ ความรักใดๆก็ตามที่เคยประกอบด้วยกิเลสตัณหามาก ผู้ฉลาดควรที่จะค่อยๆแทนที่ด้วยความรักแบบ เมตตา กรุณา เพื่อให้การเข้าไปเกี่ยวข้องกับสัตว์บุคคลทั้งหลาย เป็นทั้งเหตุแห่งสุขตามปกติธรรมดาของมันและเป็นเหตุแห่งสุขด้วยกุศลธรรมความปรารถนาดีโดยไม่หวังผลตอบแทน ในขณะที่เป็นเหตุแห่งทุกข์เพียงเล็กน้อยตามระดับของกิเลสตัณหาที่เบาบางลง หรือแม้กระทั่งไปจนถึงเป้าหมายในอุดมคติคือ ปลอดกิเลส ปลอดทุกข์ มีแต่ความสุข

ในภาพรวมของเนื้อหา จะนำเสนอเรื่องราวความรักของบุคคลสำคัญในสมัยพุทธกาล ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถา โดยจัดเป็นคู่ๆ เพื่อให้สามารถมองเห็นความแตกต่าง และเปรียบเทียบลักษณะของ “ความรัก” ที่เกิดขึ้นในแต่ละเหตุการณ์ได้โดยสะดวก


🙏 ๑) นางวิสาขา กับ พระโพธิสัตว์ในอุรคชาดก
(วิสาขาสูตร)

นางวิสาขาเกิดในตระกูลเศรษฐี แคว้นอังคะ เมื่อพระบรมศาสดาเสร็จมาสู่เมือง ได้ตามผู้เป็นปู่ไปฟังธรรม และบรรลุเป็นโสดาบันบุคคล ในขณะที่มีอายุเพียง ๗ ขวบ กาลต่อมาท่านได้รับยกย่องว่าเป็นมหาอุบาสิกาผู้เลิศในด้านการถวายทาน เป็นผู้สร้างวัดบุพพาราม และเป็นผู้ริเริ่มการถวายผ้าอาบน้ำฝน

ครั้งหนึ่ง… นางวิสาขา ได้สูญเสียหลานอันเป็นที่รักยิ่งไป ด้วยเหตุเพราะหลานสาวผู้นี้เป็นเด็กหญิงที่มีความเพียบพร้อมทั้งกิริยามารยาทอันน่ารักน่าชมและคุณธรรมอันดีงาม เธอเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ที่พึงกระทำแก่ ภิกษุ ภิกษุณี เมื่อนางวิสาขาไม่อยู่บ้าน จึงเป็นที่รักที่พึงใจของนางวิสาขาอย่างยิ่ง เมื่อหลานสาวผู้นี้ป่วยจนถึงแก่อสัญกรรม ท่านจึงบังเกิดความโศกเศร้าเสียใจ ร้องให้น้ำตานองหน้าเข้ามากราบทูลพระพุทธเจ้า เพื่อประสงค์จะฟังธรรมเพื่อคลายความทุกข์โศก มีใจความตอนหนึ่งว่า

“ดูกรนางวิสาขา ท่านพึงปรารถนาบุตรและหลานเท่ามนุษย์ในพระนครสาวัตถีหรือ”
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ หม่อมฉันพึงปรารถนาบุตรและหลานเท่ามนุษย์ในพระนครสาวัตถี เจ้าค่ะ”
“ดูกรนางวิสาขา มนุษย์ในพระนครสาวัตถีมากเพียงไร ทำกาละ (ตาย) อยู่ทุกวันๆ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มนุษย์ในพระนครสาวัตถี ๑๐ คนบ้าง ๙ คนบ้าง ๘ คนบ้าง ๗ คนบ้าง ๖ คนบ้าง ๕ คนบ้าง ๔ คนบ้าง ๓ คนบ้าง ๒ คนบ้าง ๑ คนบ้าง ทำกาละอยู่ทุกวันๆ”
“ดูกรนางวิสาขา ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านพึงเป็นผู้มีผ้าเปียกหรือมีผมเปียกเป็นบางครั้งบางคราวหรือหนอ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่ใช่อย่างนั้น เจ้าค่ะ พอเพียงแล้วด้วยบุตรและหลานมากเพียงนั้นแก่หม่อมฉัน”
“ดูกรนางวิสาขา ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑๐๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑๐๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๙๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๙๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๘๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๘๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๗๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๗๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๖๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๖๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๕๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๕๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๔๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๔๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๓๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๓๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๒๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๒๐ … ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑ ผู้ใดไม่มีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่มีความโศก ปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่มีอุปายาส”  “ความโศกก็ดี ความร่ำไรก็ดี ความทุกข์ก็ดี มากมายหลายอย่างนี้มีอยู่ในโลก เพราะอาศัยสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักเมื่อไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก ความโศก ความร่ำไรและความทุกข์เหล่านี้ย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้นแล ผู้ใดไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในโลกไหนๆ ผู้นั้นเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความโศก เพราะเหตุนั้น ผู้ปรารถนาความไม่โศก อันปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่พึงทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รัก ในโลกไหนๆ”

ทั้งนี้ เมื่อนางวิสาขามีความรักอันประกอบด้วยกิเลสตัณหา หรืออาจเรียกว่า รักด้วยเสน่หาต่อหลาน ในขณะเดียวกันท่านย่อมมีความรักในลักษณะของกุศลธรรม คือ เมตตา กรุณา ต่อผู้เป็นหลานอยู่มากมายด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย จะเห็นว่าแม้แต่ผู้ที่มีคุณธรรมสูงถึงเพียงนี้ ยังมีความรักอันเจือด้วยกิเลสต่อหลานของตน (ในขณะเดียวกันท่านย่อมมีความรักด้วย เมตตา กรุณา ต่อผู้เป็นหลานอยู่มากมายเช่นกัน) ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่า เป็นธรรมดาของผู้ที่ยังไม่หมดกิเลส ย่อมจะมีความรักด้วยเสน่หาเช่นนี้อยู่มากเช่นเดียวกัน หากแต่ความเข้าใจว่าความรักชนิดนี้เป็นของมีโทษ ความรักด้วยเมตตากรุณา เป็นของมีคุณประโยชน์ ก็เป็นสิ่งที่ควรศึกษาเพื่อความผาสุขยิ่งในชีวิตและเพื่อประดับปัญญา

มีทัศนคติหนึ่งในสังคม ที่พบบ่อยแต่ไม่สู้จะถูกต้องนัก กล่าวคือ แม้แต่ความรักที่เจือด้วยกิเลสตัณหา ก็ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ดี (สุดโต่งไปคนละทางกับกลุ่มที่มองว่าความรักนั้นไม่ดีทั้งหมด) ยกตัวอย่างสถานการณ์สมมติเช่นว่า ถ้าผู้ที่เป็นที่รักล่วงลับจากไป แล้วเราไม่โศกเศร้าเสียใจ อาจถูกมองว่าเป็นคนมีจิตใจหยาบไม่มีเมตตากรุณา ทั้งๆที่จริงๆแล้ว ถ้ามีเมตตากรุณาแท้ๆโดยไม่มีกิเลสตัณหา ไม่มีความยึดติดเสน่หาในตัวบุคคลผู้นั้นเจือปน จะไม่โศกเศร้าเสียใจเลย

ด้วยปรารถนาจะให้ความกระจ่าง 🔎คัมภีร์วิสุทธิมรรคจึงได้แสดงวิบัติ (ความผิดพลาด) ของพรหมวิหารธรรมแต่ละข้อไว้ ดังนี้
เมตตา : มีราคะ และสิเนหะเป็นวิบัติ
กรุณา : มีความรู้สึกพลอยโศกเศร้าเป็นวิบัติ
มุทิตา : มีความรู้สึกพลอยยินดีด้วยกิเลสตนเป็นวิบัติ
อุเบกขา : มีความเฉยโง่เป็นวิบัติ

ดังจะเห็นตัวอย่างเพิ่มเติมจากพระสูตรบทถัดไป

พ่อค้าผู้หนึ่ง บุตรได้ตายลงมีความโศกเศร้ายิ่ง พระบรมศาสดาได้ตรัสต่อพ่อค้าผู้นั้นว่า

“ชื่อว่าสิ่งที่มีการแตกทำลายเป็นธรรมดา ย่อมจะแตกทำลายไป ชื่อว่าสิ่งที่มีการพินาศไปเป็นธรรมดา ย่อมจะพินาศไป ก็แหละสิ่งที่มีการแตกและการพินาศไปนั้น จะมีแก่คนผู้เดียวเท่านั้นก็หามิได้ จะมีในหมู่บ้านเดียวเท่านั้น ก็หามิได้ ชื่อว่าสภาวธรรม คือ ความไม่ตายย่อมไม่มีในภพทั้งสาม ในจักรวาลอันหาประมาณมิได้ แม้สังขารอย่างหนึ่งซึ่งสามารถดำรงอยู่โดยภาวะนั้นเท่านั้น ชื่อว่าเที่ยงยั่งยืนย่อมไม่มี สัตว์ทั้งปวงมีความตายเป็นธรรมดา สังขารทั้งหลายมีการแตกสลายไปเป็นธรรมดา แม้โบราณบัณฑิตทั้งหลาย เมื่อบุตรตายแล้ว คิดว่าสิ่งที่มีการพินาศไปเป็นธรรมดา พินาศไปแล้ว จึงไม่เศร้าโศกเลย”

และได้ทรงแสดงเรื่องในอดีตเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ ความโดยย่อดังนี้

ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ ทำอาชีพกสิกรรม ครอบครัวประกอบด้วย ภรรยา บุตร ธิดา ลูกสะใภ้ และคนรับใช้ พระโพธิสัตว์ได้ให้โอวาทแก่บุคคลดังกล่าวเรื่อง ศีล ความไม่ประมาท และมรณานุสติ ชนเหล่านั้นรับไปปฏิบัติเป็นอันดีเรื่อยมา กาลล่วงมาวันหนึ่ง บุตรของพระโพธิสัตว์ถูกงูพิษกัดเสียชีวิตลง เมื่อทุกคนทราบข่าว ก็มิได้ร้องให้คร่ำครวญ เพราะเป็นผู้เจริญมรณานุสติไว้ดีแล้ว ท้าวสักกะเห็นดังนี้ก็บังเกิดความสนใจใคร่รู้ จึงเสด็จลงมาตรัสถาม

เขาคงจะเป็นบุตรผู้ไม่เป็นที่รักของท่าน? 
พระโพธิสัตว์กล่าวว่า เขาเป็นบุตรที่รักยิ่งของข้าพเจ้า บุตรละทิ้งร่างกายตนเหมือนงูลอกคราบ เมื่อเขาตายแล้วเขาย่อมไม่รับรู้ถึงความเสียใจของญาติ เพราะฉะนั้นการโศกเศร้าเสียใจจึงไม่มีประโยชน์ เขาย่อมไปตามคติที่ไปอันควรแก่เขา ภรรยาพระโพธิสัตว์กล่าวว่า  ดิฉันไม่ได้เชิญให้เขามาเกิด เมื่อจะไปก็มิได้อนุญาต การโศกเศร้าจะมีประโยชน์อะไร เขาย่อมไปตามคติที่ไปอันควรแก่เขา ลูกสาวกล่าวว่า เมื่อพี่ชายตายแล้วดิฉันร้องให้เสียใจก็จะผ่ายผอม ญาติมิตรก็จะเสียใจยิ่งขึ้น ดิฉันจึงไม่โศกเศร้า เขาย่อมไปตามคติที่ไปอันควรแก่เขา ภรรยาของผู้ตายกล่าวว่า บุคคลร้องให้ถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเปรียบเสมือนเด็กร้องให้ขอพระจันทร์ในอากาศ จะพึงมีประโยชน์อันใด เขาย่อมไปตามคติที่ไปอันควรแก่เขา คนรับใช้ของพระโพธิสัตว์กล่าวว่า ลูกเจ้านายของดิฉัน เป็นผู้เสมือนบุตรที่ดิฉันให้เจริญเติบโตในอก หม้อน้ำที่แตกแล้วเชื่อมให้สนิทอีกไม่ได้ ฉันใด การที่บุคคลมาเศร้าโศกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็ ฉันนั้น จะพึงมีประโยชน์อันใด เขาย่อมไปตามคติที่ไปอันควรแก่เขา

ชนทั้ง ๕ เมื่อทราบข่าวการตายของบุตร มิได้มีอาการโศกเศร้า เป็นเพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่มีความรักต่อผู้ตายหรือ? โปรดพิจารณาข้อความที่พระโพธิสัตว์ตรัสตอบท้าวสักกะว่า เขาเป็นบุตรที่รักยิ่งของข้าพเจ้า แสดงว่าความรักที่ไม่ได้เป็นเหตุแห่งทุกข์มีอยู่ นั่นคือ ความรักด้วยเมตตา กรุณา มิใช้รักด้วย ตัณหา ราคะ สิเนหะ (อุรคชาดก)

🙏 ๒) พระสารีบุตร และพระอานนท์ (อุปปติสสะสูตร)

บทนี้เป็นภาษิตของพระสารีบุตรเถระเจ้า ซึ่งได้กล่าวแก่พระอานนท์และพระสงฆ์กลุ่มหนึ่ง โดยพระสารีบุตรได้กล่าวว่าความเศร้าโศก เสียใจ ร่ำให้ จะไม่เกิดแก่ตัวท่าน เพราะเหตุของการที่สิ่งใดๆในโลกเกิดความแปรผันไป ท่านพระอานนท์จึงถามว่า แม้ความแปรผันไปของพระบรมศาสดา ความเศร้าโศก เสียใจ ก็จะไม่บังเกิดขึ้นแก่ท่านหรือ พระสารีบุตรได้กล่าวตอบ ดังนี้

“ท่านผู้มีอายุ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสไม่พึงเกิดขึ้นแก่ผมเพราะความแปรผันเป็นอย่างอื่นแม้แห่งพระศาสดา แต่ผมมีความคิดว่า ‘ท่านผู้เจริญพระศาสดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ มีฤทธานุภาพมาก อันตรธานไปแล้ว ถ้าพระองค์พึงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และเพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย‘”

พระอานนท์ได้ฟังก็กล่าวยอมรับ เพราะเหตุที่พระสารีบุตรได้ถอนกิเลสทั้งหลายหมดสิ้นแล้ว

“จริงอย่างนั้น ท่านพระสารีบุตรได้ถอนอหังการ มมังการ และมานานุสัย หมดสิ้นมานานแล้ว เพราะฉะนั้น โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จึงไม่เกิดขึ้นแก่ท่านพระสารีบุตร เพราะความแปรผันเป็นอย่างอื่นแม้แห่งพระศาสดา”

ถ้าจะพิจารณาว่า พระสารีบุตร มีความรัก ความปรารถนาดี ต่อพระพุทธเจ้าหรือไม่? พระสารีบุตร ท่านย่อมมีความรักและความปรารถนาดีต่อพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง พิจารณาได้จากพระสูตรหลายๆบทที่ท่านกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ เช่น สาริปุตตสุตตนิทเทสที่ ๑๖ ว่าด้วยพระสารีบุตรกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ และในพระสูตรอื่นอีกหลายแห่ง แต่การที่ท่านไม่มีความโศกเศร้าเพราะเหตุแห่งความแปรผันของพระศาสดา ก็เพราะท่านไม่ได้มีความรักชนิดที่เจือด้วยกิเลสตัณหาในพระบรมศาสดา ต่างจากพระอานนท์ซึ่งสมัยนั้นท่านยังไม่บรรลุอรหัตตผล ดังจะได้พิจารณาต่อไป

หลังจากที่พระบรมศาสดาทรงปลงอายุสังขาร และจะปรินิพพานในไม่ช้า พระอานนท์เถระเจ้าได้เกิดความโศกเศร้าอย่างรุนแรง จนต้องปลีกตัวออกไปร้องไห้ เนื้อความในพระไตรปิฎก ส่วนหนึ่งบันทึกไว้ ดังนี้

“ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปสู่วิหารยืนเหนี่ยวไม้สลักเพชรร้องไห้อยู่ว่า เรายังเป็นเสขบุคคลมีกิจที่จะต้องทำอยู่ แต่พระศาสดาของเรา ซึ่งเป็นผู้อนุเคราะห์เรา ก็จักปรินิพพานเสีย”

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งถามพวกภิกษุว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์ไปไหน พวกภิกษุกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านอานนท์นั้น เข้าไปสู่วิหารยืนเหนี่ยวไม้สลักเพชรร้องไห้อยู่ว่าเรายังเป็นเสขบุคคล มีกิจที่จะต้องทำอยู่ แต่พระศาสดาของเรา ซึ่งเป็นผู้อนุเคราะห์เรา ก็จักปรินิพพานเสีย …”

จะเห็นว่าในเนื้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า ท่านพระอานนท์เสียใจเนื่องจากตัวท่านยังไม่บรรลุอรหัตตผล (ขณะนั้นท่านดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล) ยังจำเป็นต้องศึกษาให้ยิ่งขึ้นไปอีก แต่พระบรมศาสดากำลังจะปรินิพพานแล้ว ในกรณีนี้อาจวิเคราะห์ได้ว่า พระอานนท์ท่านปล่อยให้ความยึดติดด้วยกิเลสส่วนตัว มามีอิทธิพลต่อจิตใจ กล่าวคือ ท่านเกรงว่าเมื่อไม่มีพระบรมศาสดาชี้แนะแล้ว ตัวท่านจะเจริญขึ้นในธรรมได้อย่างไร ในที่นี้เทียบเข้ากันได้กับความรักแบบที่ ๑ คือ ความรักเพราะอยากได้บางสิ่งบางอย่างเพื่อตัวเอง

ทั้งนี้ ข้าพเจ้าไม่ได้มีเจตนาล่วงเกินหรือลบหลู่คุณธรรมของพระอานนท์ ตรงกันข้ามข้าพเจ้านับถือท่านเป็นอย่างยิ่งที่นอกจากมีความสามารถด้านต่างๆเป็นเลิศแล้ว (พระอานนท์ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะ ถึง ๕ ด้าน คือ มีสติเป็นเลิศ, มีความทรงจำเป็นเลิศ, มีความเพียรเป็นเลิศ, พหูสูต, ยอดพระพุทธอุปัฏฐาก) ยังถือเป็นผู้เสียสละตัวเองเพื่อประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาอย่างหาผู้ใดจะเทียบได้ยาก  พระบรมศาสดาเมื่อทราบว่าพระอานนท์มีความเศร้าโศกเสียใจ ได้ตรัสกับพระอานนท์ ดังนี้

 “ดูกรอานนท์ เธอได้อุปัฏฐากตถาคตด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา ซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นความสุข ไม่มีสอง หาประมาณมิได้มาช้านาน เธอได้กระทำบุญไว้แล้ว อานนท์ จงประกอบความเพียรเถิด เธอจักเป็นผู้ไม่มีอาสวะโดยฉับพลัน ฯ” (มหาปรินิพพานสูตร)

🙏 ๓) พระวักกลิ และภิกษุณีมารดาพระกุมารกัสสปะ

ประวัติของพระวักกลิ และพระกุมารกัสสปะ เป็นตัวอย่างของการมีความรักอย่างยึดติดถือมั่นด้วยกิเลสตัณหา ซึ่งนอกจากเป็นเหตุแห่งทุกข์แล้ว ในกรณีนี้ยังเป็นเหตุขัดขวางการเจริญขึ้นของกุศลธรรมด้วย ต่อเมื่อได้ปลดเปลื้องความยึดติดเสน่หาแล้ว ความเจริญในธรรมก็ก้าวรุดหน้าไปได้

พระวักกลิ
พระวักกลิเมื่อครั้งเป็นทารก เป็นผู้มีโรคภัยเบียดเบียนมาก มารดาจึงได้นำท่านมาถวายแก่พระพุทธเจ้า เมื่อได้พึ่งพระพุทธคุณ ทารกวักกลิก็หายจากการเป็นผู้มีโรคภัยมาก จึงเป็นผู้ที่มีความใฝ่ใจ ลุ่มหลง ในพระบรมศาสดาอย่างมาก เมื่อพระองค์ทรงห่างไปเพียงครู่เดียวก็กระวนกระวาย เมื่อบวชเป็นภิกษุแล้ว พระวักกลิจึงเฝ้าติดตามพระพุทธเจ้าไปทุกหนแห่ง พระวักกลิเที่ยวติดตามชื่นชมรูปโฉมเรื่อยไป จนถึงวันหนึ่งพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า

“ดูก่อนวักกลิ จะมีประโยชน์อะไรด้วยการที่เธอต้องมาดูร่างกายอันเปื่อยเน่านี้ วักกลิเอย ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม ก็วักกลิเห็นธรรมอยู่ ก็ชื่อว่าเห็นเรา”

แต่พระวักกลิไม่อาจเข้าใจได้ เนื่องจากมีความยึดติดในรูปโฉมของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างรุนแรง พระองค์เมื่อประสงค์จะเปลื้องความยึดติดของพระวักกลิ วันหนึ่ง จึงได้ตรัสขับไล่พระวักกลิไปเสีย เมื่อเป็นเช่นนั้น… พระวักกลิบังเกิดความสะเทือนใจอย่างรุนแรงขึ้นไปบนภูเขาหมายจะปลิดชีวิตตนเอง เมื่อไปถึงยอดเขา พระบรมศาสดาได้เนรมิตกายปรากฎให้เห็นและแสดงธรรมเรื่องความเกิด ความเสื่อม แห่งขันธ์ทั้งหลาย พระวักกลิจึงได้บรรลุอรหัตตผล ณ ที่นั้น

ภิกษุณีมารดาพระกุมารกัสสปะ

พระกุมารกัสสปะ ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะผู้แสดงธรรมอันวิจิตรไพเราะ เป็นบุตรของภิกษุณีผู้ซึ่งตั้งครรภ์ในขณะบวช เมื่อครรภ์แก่ถูกพระเทวทัตขับไล่ให้ลาสิกขา นางไม่ยอมเนื่องจากอ้างว่าเมื่อบวชแล้วนางมิได้ละเมิดวินัยร้ายแรงใด พระพุทธเจ้าจึงให้พระอุบาลีชำระความ โดยมีนางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นผู้ช่วย ความจึงกระจ่างว่านางตั้งครรภ์ก่อนบวชเป็นภิกษุณีจริงๆ

เมื่อคลอดบุตรแล้วเลี้ยงดูบุตรชั่วระยะเวลาหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ขอรับไปเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรม ประทานนามว่า กัสสปะ แต่เพราะพระองค์ทรงชุบเลี้ยงประดุจราชกุมาร จึงเรียกกันว่า “กุมารกัสสปะ” …ครั้นกุมารกัสสปะเจริญวัยขึ้นทราบความเป็นมาของตน แล้ว เกิดความสลดใจในชะตาชีวิตจึงออกบวช และบรรลุพระอรหัตผลในกาลต่อมา ฝ่ายนางภิกษุณีมารดาของพระกุมารกัสสปะ ตั้งแต่วันที่พระเจ้าปเสนทิโกศลรับเอาบุตรไปชุบเลี้ยงก็เศร้าโศกเสียใจเพราะความพลัดพรากจากบุตรผู้เป็นที่รักเป็นเวลานานถึง ๑๒ ปี แม้ต่อมาจะทราบว่าบุตรชายของนางบวชแล้วก็ตาม แต่นางก็ยังมิได้เห็นหน้าพระลูกชายเลย จนกระทั่งเช้าวันหนึ่ง นางได้พบพระกุมารกัสสปะกำลังออกเดินรับบิณฑบาตอยู่ ด้วยความดีใจสุดจะยับยั้ง นางได้ร้องเรียกขึ้นว่า “ลูก ลูก” แล้ววิ่งเข้าไปหาด้วยปรารถนาจะกอดพระลูกชายด้วยความคิดถึง แต่เพราะรีบร้อนเกินไป จึงได้สะดุดล้มลงตรงหน้า

พระกุมารกัสสปะคิดว่า “ถ้าหากว่าเราพูดกับมารดาด้วยถ้อยคำอันไพเราะแล้ว นางก็ยิ่งเกิดความสิเนหารักใคร่ในตัวเรามากยิ่งขึ้น และจะเป็นเหตุทำให้นางเสื่อมเสียโอกาสบรรลุอมตธรรมได้ ควรที่เราจะกล่าวคำพูดที่ทำให้นางหมดอาลัยในตัวเรา นางก็จะได้บรรลุอมตธรรม” ดังนี้แล้ว จึงกล่าวแก่นางว่า “ท่านมัวทำอะไรอยู่ จึงตัดไม่ได้แม้กระทั่งความรัก”ถ้อยคำของพระกุมารกัสสปะทำให้นางรู้สึกน้อยใจเสียใจเป็นอย่างยิ่งพลางคิดว่า “เราร้องไห้เพราะคิดถึงลูกชายนานถึง ๑๒ ปี เมื่อพบลูกชายแล้วกลับถูกลูกชายพูดจาตัดเยื่อใยให้ต้องช้ำใจอีก” ด้วยความน้อยใจเช่นนี้ จึงตัดรักตัดอาลัย หมดความสิเนหาในตัวลูกชายอย่างสิ้นเชิง แล้วนางก็ได้ตั้งใจปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนได้บรรลุอรหัตผลในวันนั้นนั่นเอง

สรุป

การมีความรักด้วยกิเลสตัณหามากย่อมเป็นการพอกพูนเหตุแห่งทุกข์มาก อีกทั้งยังมักเป็นเหตุขัดขวางการเจริญขึ้นของกุศลธรรม ส่วนความรักด้วยเมตตา กรุณา ย่อมเป็นการพอกพูนเหตุแห่งความสุข ด้วยประโยชน์และโทษที่ตรงข้ามกันดังนี้ จึงควรพัฒนาจิตใจ ให้เบาบางจากความรักที่เจือด้วยทุกข์ มาสู่ความรักแบบบริสุทธิ์ ที่มีแต่ความสุขความเบิกบาน มากขึ้นไปตามลำดับ



รู้จักพระไตรปิฎกเพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้ (ย่อความ)

พระไตรปิฎก คือคัมภีร์ที่ประมวลเอาพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้ามาจารึกไว้ จึงกล่าวได้ว่า พระไตรปิฎก คือที่จารึกไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า

“ดูกรอานนท์ ธรรมและวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย ในเมื่อเราล่วงลับไป”
(มหาปรินิพพานสูตร)

คำสอน คำกล่าว และข้อปฏิบัติใดๆ จะถือว่าเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนาได้ จะต้องสอดคล้องกับพระธรรมวินัยซึ่งมีมาในพระไตรปิฎก การอธิบายหรือกล่าวอ้างเกี่ยวกับหลักการของพระพุทธศาสนา จะเป็นที่น่าเชื่อถือหรือยอมรับได้ด้วยดี เมื่ออ้างอิงหลักฐานในพระไตรปิฎก ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานอ้างอิงขั้นสูงสุด

เราจึงได้ถือกันมาเป็นหลักว่า จะต้องรักษา เล่าเรียน และปฏิบัติตามหลักคำสอนในพระไตรปิฎกนี้ ประการสำคัญการธำรงพระไตรปิฎก ก็คือการธำรงพระพุทธศาสนา ไม่มีพระไตรปิฎกเสียอย่างเดียว เป็นอันหมดสิ้นพระพุทธศาสนา พระเถระรุ่นก่อนนั้น ถือความสำคัญของพระไตรปิฎกเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ในยุคที่จารึกเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วก็ต้องถึงกับพูดกันว่า “อักษรตัวหนึ่งๆ อันเป็นพระปริยัติศาสน์ของพระศาสดา มีค่าเท่ากับพระพุทธรูปองค์หนึ่ง” (ญาโณทยปกรณ์)

เพราะฉะนั้น ถ้ามองในแง่บวก ก็คือจะต้องช่วยกันรักษาไว้ให้ดี แม้แต่จารึกหรือสนับสนุนการจารึกเพียงนิดหน่อย ก็เป็นบุญเป็นกุศลมาก แต่มองในแง่ลบก็คือ ถ้าใครไปทำให้ผิดพลาด แม้แต่อักษรเดียว ก็เหมือนทำลายพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เป็นบาปมาก ท่านให้ความสำคัญถึงเพียงนี้ เพราะฉะนั้น พระเถระรุ่นก่อน ท่านจึงระวังมากในเรื่องการรักษาทรงจำพระไตรปิฎกไม่ให้ผิดเพี้ยน

การสังคายนา เป็นการที่จะรักษาคำสอนเดิมเอาไว้ให้แม่นยำที่สุด และซักซ้อมตรวจสอบคนที่ไปทรงจำ หรือไปนับถืออะไรต่างๆ ที่อาจจะผิดเพี้ยนไป ให้มาปรับความเห็น ความเชื่อ การปฏิบัติ ให้ตรงตามพระไตรปิฎกที่รักษากันมาอย่างแม่นยำ ที่เป็นหลักกลางนี้ ไม่ใช่ว่าพระภิกษุที่สังคายนามีสิทธิ์ไปปรับแต่ง หรือเอาความคิดเห็นของตนใส่ลงไป ควรทราบว่าในพระไตรปิฎกไม่ใช่มีเฉพาะคำตรัสของพระพุทธเจ้าอย่างเดียว คำของพระสาวกก็มีไม่น้อย เช่น ภาษิตของพระสารีบุตร (ซึ่งมีคุณค่าควรแก่การศึกษาอย่างยิ่ง)

คัมภีร์ที่นิพนธ์หลังพุทธกาลก็มีบ้าง อย่างในคราวสังคายนาครั้งที่ ๓ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานสังคายนา ท่านได้เห็นว่าพระในสมัยนั้น บางพวกมีความเชื่อถือวิปริตผิดแผกแตกออกไป จึงเรียบเรียงคัมภีร์กถาวัตถุขึ้น เพื่อแก้ความเข้าใจที่ผิดแผกแตกต่างกันออกไปดังกล่าว แต่ก็เป็นการยกเอาพุทธพจน์มารวมไว้ในอีกลักษณะหนึ่ง โดยมีเรื่องราว หรือข้อคิด หรือข้อพิจารณาอะไรอย่างหนึ่งเป็นแกน รวมความก็คือ ประเทศพุทธศาสนาเถรวาททั้งหมดมีพระไตรปิฎกชุดเดียวกัน ซึ่งเนื้อหาเหมือนกันทั้งหมด จะตกหล่นบางคำบ้าง ก็น้อยเต็มที เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาเถรวาทจึงมีความภูมิใจโดยชอบธรรมว่า เรารักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้เป็นแบบเดิมแท้ ส่วนพระสูตรต่างๆของพระพุทธศาสนาแบบมหายาน หลายบทเป็นของที่แต่งขึ้นภายหลัง เรื่องนี้เป็นที่ยอมรับกันเป็นสากล ในวงวิชาการทั่วโลก

นอกจากพระไตรปิฎกอันเป็นมาตรฐานชั้นสูงสุดแล้ว ยังมีคัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎกนั้นอีกทีหนึ่ง เรียกว่า อรรถกถา คัมภีร์รุ่นหลังต่อจากอรรถกถาเรียกว่า ฎีกา และอนุฎีกา ส่วนคำสอนหรือคำอธิบายของพระอาจารย์รุ่นหลัง เรียกกันว่าเป็น อัตตโนมติ คือ มติส่วนตัว คัมภีร์เหล่านี้ทรงความสำคัญลดหลั่นกันลงมาตามลำดับ

ย่อความจากผลงานของ : สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)



วันพุธ

ปฏิจจสมุปบาทอย่างง่ายๆสำหรับผู้เริ่มศึกษา

ท่านผู้อ่านผู้ศึกษาคงเคยได้เห็นมาบ้างแล้วว่าหลักปฏิจจสมุปบาทมีความสุขุมลุ่มลึกเพียงใด ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยที่จะทำความเข้าใจให้กระจ่าง ทั้งในด้านความหมายของคำศัพท์ และด้านความเป็นไปของกระบวนธรรม รวมไปถึงการที่ปฏิจจสมุปบาทนั้นสามารถแสดงยักเยื้องไปในรูปแบบต่างๆเช่น แทนที่ อวิชชา ด้วยกุศลมูล ในปฏิจจสมุปบาทนิโรธวาร (แสดงการดับทุกข์)

สำหรับในเบื้องต้น ผู้บันทึกขอเสนอสำนวนการอธิบายปฏิจจสมุปบาท (สมุทยวาร, แสดงกระบวนการเกิดทุกข์) อีกสำนวนหนึ่งให้พิจารณา ซึ่งโปรดเข้าใจว่าไม่ใช่การสรุปหลัก เป็นเพียงการพยายามอธิบายวงจรปฏิจจสมุปบาทแบบข้ามภพชาติอย่างง่ายๆโดยยอมเสียอรรถและพยัญชนะบางส่วนที่สุขุมลุ่มลึกไป ด้วยวิธีการรวบเข้ามาเป็นช่วงๆ เพื่อให้สะดวกในการมองภาพรวม ตามแนวที่อรรถกถาจารย์ท่านได้แสดงไว้แล้ว เสมือนการปีนเชือกเส้นเดียวขึ้นที่สูง ถ้าเชือกเส้นนั้นมีการขมวดปมไว้เป็นระยะ สำหรับจับยึดพยุงตัว ก็คงจะปีนได้ง่ายขึ้น แลกกับการที่เชือกนั้นต้องบิดเสียรูปไปบ้าง ขอเริ่มต้นด้วยการชวนให้ท่านลองพิจารณาตนเองดูว่า

👉 เราย่อมมีกิเลสตัณหา และความไม่รู้แจ้ง มาแต่เดิมเป็นธรรมดา (อดีตกิเลส : อวิชชา)

👉 ด้วยแรงจูงใจนั้นเป็นเหตุให้เกิดเจตนาในการทำสิ่งต่างๆในอดีตที่ผ่านมาแล้ว (อดีตกรรม : สังขาร)

👉กรรมในอดีตส่งผลให้เกิดวิบาก คือ ตัวเราในปัจจุบัน พร้อมทั้งการเสพเสวยสุข และทุกข์ (ปัจจุบันวิบาก : วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา)

👉เพราะความไม่รู้แจ้ง เมื่อได้เสพสุขย่อมติดใจ เมื่อได้เสวยทุกข์ย่อมขัดใจ (ปัจจุบันกิเลส : ตัณหา อุปาทาน)

👉ด้วยแรงจูงใจนั้นเป็นเหตุให้เกิดเจตนาในการทำสิ่งต่างๆในปัจจุบัน (ปัจจุบันกรรม : ภพ)

👉กรรมในปัจจุบันส่งผลให้เกิดวิบาก คือ ตัวเราในอนาคตซึ่งล่วงกาลผ่านวัย เข้าสู่มรณะ (อนาคตวิบาก : ชาติ ชรามรณะ)

เมื่อกิเลสตัณหา และความไม่รู้แจ้ง (อวิชชา) ยังมีอยู่ ย่อมส่งผลให้วงจรหมุนเวียนต่อไปสู่ภพชาติใหม่สืบเนื่องเป็นวัฏฏะ หาที่สุดเบื้องต้นและเบื้องปลายมิได้

ศึกษาเพิ่ม 🔎ปฎิจจสมุปบาท 



วันศุกร์

การเวียนว่ายตายเกิด ๒

กลับไปการเวียนว่ายตายเกิด 🔰หน้าแรก

ถ้าหากว่าจะพิจารณาแล้วจะเห็นว่าธรรมะในพุทธศาสนานี้ไม่ใช่จะเกณฑ์คนทุกคนให้เป็นพระอรหันต์ในพริบตาเดียวหมด ถ้าไปถืออย่างนั้นละก็เอ่ยคำอะไรจะไปนิพพานกันร่ำไปอย่างนี้น่ากลัวพุทธศาสนาจะไม่ได้แพร่หลายยั่งยืนถึงทุกวันนี้เป็นแน่ เพราะว่าธรรมะในพุทธศาสนามีหลายชั้น หลายวิธีการเหมือนกับอัธยาศัยของสัตว์ตั้งแต่โง่กระทั่งถึงคนฉลาด เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาจึงเป็นสาธารณะประโยชน์แก่ผู้ที่น้อมนำไปปฏิบัติ ได้ทุกชั้นทุกวัย ไม่ใช่จะเกณฑ์คนให้เป็นพระอรหันต์กันหมดในพริบตาทั้งโลก เป็นไปไม่ได้ เพราะเรายังต่างกรรมต่างวาระ ต่างอัธยาศัย

อย่างไรก็ตาม เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดนี้เป็นประเด็นสำคัญที่สุดในพุทธศาสนา เราจะเป็นชาวพุทธที่สมบูรณ์ไม่ได้ ถ้าเราไม่เชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิดอันนี้ สัมมาทิฏฐิในองค์มรรคในมรรค ๘ นี่ สัมมาทิฏฐิแบ่งเป็น ๒ ชั้น คือ โลกียสัมมาทิฏฐิ โลกียสัมมาทิฏฐิได้แก่อะไร ได้แก่ กัมมัสสกตาญาณ ถ้าคนที่มีกัมมสกตาญาณเชื่อในเรื่องว่าทำกรรมได้รับผลแห่งกรรมนั้นเท่ากับเชื่อว่าจะต้องมีเวียนว่ายตายเกิด ถ้าเชื่อกรรมก็ต้องเชื่อเวียนว่ายตายเกิดเป็นเงาตามตัว คน ๆ นั้นก็ขาดโลกียสัมมาทิฏฐิ เมี่อไม่มีโลกียสัมมาทิฏฐิแล้ว โลกุตตรสัมมาทิฏฐิก็เกิดไม่ได้ โลกุตตรสัมมาทิฏฐิได้แก่การเห็นแจ้ง ในอริยสัจจ์ ๔ เป็นโลกุตตรสัมมาทิฏฐิแต่การที่จะเห็นแจ้งในอริยสัจจ์ ๔ ได้นั้น คนนั้นจะต้องมี โลกียสัมมาทิฏฐิเป็นบุพภาค ไม่มีโลกียสัมมาทิฏฐิเป็นบุพภาคแล้ว การเห็นแจ้งในอริยสัจจ์เป็นไปไม่ได้ คือพูดง่ายๆ ว่าถ้าไม่มีกัมมัสสกตาญาณเสียแล้ว ที่ไหนจะมาเชื่อเรื่องมรรคผลนิพพาน ถ้าคนเราไม่มีกัมมัสสกตาญาณแล้ว ไม่เชื่อเรื่องมรรคผลนิพพานอย่างเด็ดขาด

อันนี้แหละครับเป็นปัจจัยสำคัญที่ว่าทำอย่างไรจะทำให้กัมมัสสกตาญาณในคนปัจจุบันนี้มีมาก ๆ เพราะความชั่วในสังคมปัจจุบันเกิด เพราะคนในสังคมปัจจุบันนี้ ขาดกัมมัสสกตาญาณ ขาดโลกียสัมมาทิฏฐิ โลกุตตรสัมมาทิฏฐินี่เราอย่าเพิ่งไปหวังเลย เอาแค่โลกียสัมมาทิฏฐิ ก่อนว่าทุกวันนี้เราจะช่วยสังคมให้ปลอดภัยจากเรื่องความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมได้อย่างไร ถ้าหากว่าเราทุกคนเชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิดแล้ว สังคมก็จะเป็นสังคมที่ปลอดโปร่งสบาย เรื่องการทำร้ายเรื่องการเบียดเบียนก็จะบรรเทาเบาบางลงเหมือนอย่างสังคมสมัยโบราณ ซึ่งเป็นสังคมของชาวพุทธแท้ ๆ กลัวบาปกลัวกรรมกัน เรื่องการทำร้ายคดีอุกฉกรรจ์แปลก ๆ ที่ทุกวันนี้มีอยู่ในครั้งกระโน้นก็ไม่มี อันนี้แหละครับสำคัญมาก เพราะเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตอบปัญหาบางครั้ง ถ้าหากว่าไม่พิจารณา ก็นึกว่าพระพุทธเจ้าปฏิเสธเรื่องชาติหน้า อย่างตอบวัชชโคตรปริพาชก ถ้าไปอ่านเพียงครึ่งเดียวเหมือนพระพุทธเจ้าไม่ตอบ ก็แสดงว่าพระพุทธเจ้าบอกว่าชาติหน้าไม่มีซิ ถ้านึกอย่างนั้นเข้าใจผิด ต้องไปดูตอนปลายว่าพระพุทธเจ้าพูดกับวัชชโคตรว่าอย่างไร แล้ววัชชโคตรมีสันดาน มีทิฏฐิมาก่อนอย่าไร แล้วเพราะเหตุใดพระพุทธเจ้าจึงไม่พูดกับวัชชโคตรทันทีทันควัน ว่าชาติหน้ามีอะไรไปเกิด นี่เราต้องพิจารณาโดยโยนิโสมนสิการให้ดีว่าข้างหน้าข้างหลังชนปลายอย่างไร โดยมากคนที่นึกอย่างนั้น ไปจับเอาความข้างเดียวมาพูด ไม่ได้ดูความถ่องแท้ทั้งเบื้องต้นเบื้องหลัง แล้วก็บอกว่าพระพุทธศาสนานี่ปฏิเสธภพชาติ นี่เป็นเรื่องนอกศาสนาเป็นเรื่องศาสนาพราหมณ์ พระพุทธเจ้าแท้ ๆ ท่านแสดงมีแต่เรื่องพ้นทุกข์อย่างเดียว เรื่องจะไปนิพพานอย่างเดียว เรื่องนอกนั้นเป็นเรื่องนอกศาสนา เป็นพราหมณ์ทั้งนั้นแหละ นึกอย่างนั้นเป็นความเข้าใจผิด

คราวนี้ถ้าจะเกิดชาติหน้ามีอยู่ การเวียนว่ายตายเกิดมีอยู่ ก็มักจะมีปัญหาขึ้นมาว่าทำไมเรายังระลึกชาติไม่ได้ ถ้าชาติหน้ามี อะไรเป็นเหตุที่ให้เราระลึกชาติไม่ได้ และเหตุที่เป็นเหตุให้เราระลึกชาติไม่ได้?

ไม่ใช่อื่นไกลหรอกครับ เพราะว่า เรามารับ จิตตชรูป อุตุชรูป อาหารชรูปในปัจจุบันภพ รูปที่เราติดมาแต่อดีตภพเกิดจากอดีตกรรมนี่ มี 🔎กัมมชรูป อันเดียว กัมมชรูปที่เกิดพร้อมในปฐมปฏิสนธิขณะจิต กัมมชรูปเกิดหยั่งลงสู่ครรภ์ของมารดา ปฏิสนธิจิตเกิดขณะต้นกัมมชรูปก็เกิดพร้อมทีเดียว อันนี้กัมมชรูปนี้สืบมาจากอดีต อดีตกรรม ปรุงโดยตรง สายตรงมาทีเดียว แต่ว่าอาหารชรูป อุตุชรูป เรามารับเอารูปใหม่ในปัจจุบันภพ กายเนื้อ กายหยาบที่เราเห็นอยู่นี้ มหาภูตรูปนี่เรามารับเอาใหม่ในปัจจุบันภพ รับเอาใหม่อันสำเร็จมาจากเลือดเนื้อเชื้อไขของพ่อแม่ร่วมกัน เพราะฉะนั้นมันสมองคือ สมองของเรานี่แหละก็เป็นของใหม่ ไม่ใช่ของเก่า มันสมองนี่เป็นรูปใหม่ในปัจจุบันภพ ไม่ใช่ของเก่าสืบมาจากชาติก่อน ของเก่าที่เป็นส่วนรูปธาตุมาจากชาติก่อนมีเพียงกัมมชรูปอย่างเดียว

คราวนี้เมื่อมันสมองเป็นของใหม่ มันสมองเท่ากับว่าเป็นเครื่องมือสำหรับให้จิตเหมือนกระแสไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าจะปรากฏจะมีปฏิกิริยาออกมาก็ต้องผ่านไดนาโม ถ้าไม่มีเครื่องไดนาโมแล้ว ไฟฟ้าจะไม่มีปฏิกิริยาออกมา ทุกวันนี้ในอากาศเรานี่มีไฟฟ้าทั้งนั้นแหละ แต่ที่ไม่มีปฏิกิริยาเพราะเรามองไม่เห็นมัน เพราะว่ายังไม่มีเครื่องเข้าไปจับไปกระจายพลังงานมันออกมา ไปกลั่นกรองพลังงานมันออกมา เราก็ยังไม่สามารถสัมผัสไฟฟ้าได้ แต่ว่าความจริงแล้ว ไฟฟ้ามีอยู่รอบบรรยากาศในรอบตัวเรานี่ฉันใด จิตก็เหมือนกัน จิตสืบสันตติมาจากภพเก่าเป็นองค์แห่งภพ เก็บเอาพฤติกรรม ต่างๆ ในชาติก่อน ๆ เอาไว้ แต่จิตนั้นจะสำแดงพฤติการณ์ออกมาได้ก็ต้องผ่านสมอง ผ่านทางสมองออก แล้วสมองก็สั่งงานไปทางประสาท ทางร่างกายอีกชั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้นท่านจึงเปรียบบอกว่า สมองนี่เหมือนกับเครื่องจักร ชีวิตกับร่างกายเหมือนกับลำเรือ มันสมองเหมือนเครื่องจักร ส่วนผู้คุมเครื่องจักร กัปตันเรือคือ 
🔎จิต



มีเพียงลำพังกัปตันเรือ แต่ว่าไม่มีเครื่องเรือก็ไม่มีลำเรือก็ไม่สำเร็จอีก มีแต่ลำเรือ มีเครื่องเรือ ไม่มีกัปตันเรือ เรือลำนั้นก็เป็นซาก ทำอะไรไม่ได้ แล่นก็ไม่ไป ไม่มีคนคุมคนจัดการให้เครื่องมันเดิน มันก็แล่นไม่ไปฉันใด ชีวิตกับร่างกายมันสมองก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมื่อมันสมองเป็นเนื้อก้อนใหม่ ๆ ที่สำเร็จในปัจจุบันภพเช่นนี้แล้ว มันสมองก้อนนี้จึงไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะทำให้จิตระลึกชาติเก่า ๆได้ เพราะเป็นของใหม่ในปัจจุบัน ก็คิดได้ทำได้แต่ของใหม่ ๆ

จิตเองแม้จะระลึกชาติก็ระลึกไม่ออก เพราะอะไร เพราะความที่จิตนั้นถูกความเศร้าหมองของกิเลสสะกดเอาไว้ ท่านเปรียบจิตเหมือนกับบ่อน้ำ บ่อน้ำที่แสนจะลึก แล้วก็อารมณ์ต่างๆ หรือพฤติกรรมต่างๆ ที่เราทำมาแต่ชาติภพเก่า ๆ เหมือนกับเราโยนเอาทัพพสัมภาระวัตถุต่างๆ ลงในบ่อน้ำนั้น โยนทับถมกันเรื่อยไป ที่โยนไปก่อน ๆ ก็ถูกของใหม่ ๆ ทับเอาไว้ มองไม่เห็น เราจะเห็นได้เฉพาะที่เพิ่งจะโยนประเดี๋ยวประด๋าวใหม่ๆ เมื่อกี้นี้ โยนเมื่อกี้นี้แต่โยนเมื่อกี้นี้ขณะที่ยังไม่จมถึงก้นบ่อก็ยังพอเห็น แต่พอจมถึงก้นบ่อแล้วก็ไม่เห็นอีก เพราะอะไร เพราะความขุ่นของน้ำ ความขุ่นอันนี้ก็คือ กิเลส กิเลสตัณหาที่มันเกาะเป็นสนิมใจ เกาะกันมา ทับถมกันมา ธรรมดาบ่อน้ำของโยนมากก็จะไม่เห็นอยู่แล้วนะ มิหนำซ้ำเจ้าน้ำในบ่อนั้น ยังเป็นน้ำขุ่นอีกเสียด้วย ขุ่นอย่างน้ำครำอย่างนี้ เพราะฉะนั้นของอะไรร้อยแปด โยนลงไปจึงไม่มีเห็นหรอก ไม่มีเห็น ขณะดังป๋อมใหม่ ๆ พอเห็น พอรู้ แต่โยนแล้วไม่ใช่วันเดียวสองวันตั้งหลายร้อยอเนกอันนตชาติ แล้วเราจะไประลึกได้อย่างไร ไม่มีทางระลึกได้ มิหนำซ้ำสดๆ ร้อนๆ เช่นว่าเราตายปุบเกิดปับอย่างนี้ ควรจะระลึกชาติเก่าได้ยังระลึกไม่ได้ ก็เพราะอะไร เพราะมาเจอมันสมองก้อนใหม่นี่มาเป็นอุปสรรคสำคัญ คอยกีดกั้นเอาไว้  มันสมองก้อนนี้แหละที่เรารับจากพ่อแม่ในภพปัจจุบันนี้แหละ  มันกีดกั้นเอาไว้ บังเอาไว้ ถ้าจะเปรียบ มันสมองก็เหมือนหนึ่งวัตถุแท่งทึบที่แสงไม่สามารถทะลุไปได้มากีดกั้นเอาไว้ พฤติกรรมของจิตในอดีตอารมณ์ในอดีต ภวังค์ไม่สามารถที่จะมาปรากฏได้ก็เพราะอานุภาพของสมองในปัจจุบันนี้กีดกั้นเอาไว้ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งเกิดเพราะความขุ่นมัวของกิเลสในพื้นเพของจิต อีกประการหนึ่งเกิดเพราะว่าพฤติกรรมต่างๆ ที่ทับถมหมักหมมอยู่ในพื้นเพของจิตใจมีมากมายก่ายกองเหลือเกิน จนกระทั่งเราไม่สามารถที่จะจับต้นชนปลายถูกว่าอะไรเป็นอะไร วัตถุสิ่งนั้น เพราะมันทับถมมากมายหลายโกฎิหลายพันล้าน สิ่งอยู่ในบ่อน้ำบ่อเดียว คือ จิตนี่แหละครับ ๓ กรณี เหตุนี้เป็นเหตุให้เราระลึกชาติไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เราเกิดสดๆ ร้อนๆ ตายปุบเกิดปับเรายังระลึกไม่ได้เลย



การเวียนว่ายตายเกิด ๑

ท่านสาธุชนทั้งหลาย หัวข้อปาฐกถาธรรมวันนี้เป็นการพูดข้อเบ็ดเตล็ดบางสิ่งบางอย่างที่ยังเป็นปัญหาในกลุ่มชาวพุทธมามกะของเรา เรื่องเบ็ดเตล็ดที่เป็นปัญหาที่ชาวพุทธของเรา พูดกันถกเถียงกันอยู่นั้นไม่ใช่มีอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ความจริงแล้วถ้าจะประมวลเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่สมัยพุทธกาลลงมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ เรื่องราวก็มีมาก เป็นปัญหาที่น่าขบคิดทั้งนั้น เพราะในวันนี้จะได้นำเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่มาวิจารณ์สักสองเรื่องด้วยกันก่อน

🔅เรื่องแรกก็คือปัญหาเรื่องของ การเวียนว่ายตายเกิด
        เรื่องนี้ไม่ว่าจะไปพูดในที่ใด ถ้ายิ่งไปพูดตามโรงเรียนด้วยแล้วมักจะมีนักเรียนนักศึกษาเอาปัญหานี้มาถามว่าตายแล้วเกิดจริงหรือไม่จริง สวรรค์นรกมีจริงหรือไม่จริง ถามกันอย่างนี้บ่อย และก็เป็นปัญหาที่มีมาก่อนพุทธกาลแล้ว เคยมีคนไปทูลถามพระพุทธองค์ก็เคย แล้วพระพุทธองค์ก็ได้ตอบไปแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องกันเรื่อยมากระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ และเชื่อว่าจะต้องเป็นปัญหาต่อเนื่องกันต่อไปจนกว่ามนุษย์ในโลกนี้จะไม่มี

คือถ้าหาว่าในโลกนี้ยังมีมนุษย์อยู่ ปัญหาเรื่องว่าสงสัยว่าตายแล้วเกิดหรือไม่นี้มันก็มีอยู่เรื่อยไปละครับ อันนี้ก็น่าจะเป็นประเด็นอันหนึ่งที่เราน่าจะเอามาวิจารณ์กันเกี่ยวกับปัญหาเรืองนี้ ปัญหาตายแล้วเกิดหรือไม่ ถ้าหากว่าจะพูดตามนัยในพระพุทธศาสนา การตอบปัญหาในพระพุทธศาสนาเรา พระพุทธเจ้า ท่านได้เสนอวิธีการที่จะโต้ตอบปัญหานี้ออกเป็น ๔ ประการด้วยกัน คือว่าปัญหาบางอย่างเมื่อมีผู้ตั้งขึ้นแล้ว ผู้ที่จะแก้ปัญหาก็ต้องตอบด้วยวิธียืนกระต่ายขาเดียว ปัญหาประเภทนี้เรียกว่า เอกังสพยากรณ์ คือ การตอบโดยการยืนกระต่ายขาเดียว

ปัญหาบางอย่างตอบด้วยวิธีการยืนกระต่ายขาเดียวไม่ได้ จะต้องกล่าวจำแนกตามประเภทตามเหตุการณ์ อย่างนี้เรียกว่า วิภัชพยากรณ์ 

ปัญหาบางอย่างผู้ตั้งปัญหาถามขึ้นแล้ว ผู้ตอบก็ต้องเอาคำถามของเขานี่ยันผู้ถามอย่างนี้ เรียกว่าย้อนหรือเรียกว่าศอกกลับ ถ้าจะว่าไปแล้วก็เรียกว่าศอกกลับก็ว่าได้ เรียกว่า ปฏิปุจฉาพยากรณ์

ปัญหาบางอย่างตั้งขึ้นมาถามแล้วผู้ถามมีเจตนาที่ไม่ใคร่จะบริสุทธิ์ ผู้ตอบพิจารณาเห็นว่า ตอบไปแล้วไม่เกื้อกูลต่อประโยชน์ทั้งใน อดีต ปัจจุบันและอนาคต ก็เป็นสิทธิที่ผู้ตอบจะยกเลิก ยกปัญหาเสีย ไม่ตอบ อย่างนี้เรียกว่า ฐปนียพยากรณ์

เป็นวิธีการตอบปัญหาในพระพุทธศาสนา ๔ ประการ วิธีการตอบปัญหา ๔ ประการนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงใช้มาตลอดสมัยของพระองค์ในการโต้ตอบกับพวกสมณพราหมณ์ เดียรถีนิครนถ์ต่างๆ ที่เข้ามาลองดีพุทธิปัญญาของพระองค์ หรือผู้ที่เข้ามาตั้งคำถามโดยความเจตนาบริสุทธิ์ ต้องการจะมีความรู้ความสว่างจากพระองค์ก็ต้องอาศัยการพิจารณาของพระองค์ว่าปัญหาเหล่านี้ควรจะตอบด้วยวิธีอะไร ควรที่จะตอบด้วยเอกังสพยากรณ์ก็ตอบด้วยเอกังสพยากรณ์ ควรที่จะตอบด้วยวิภัชชพยากรณ์ก็ตอบด้วยวิภัชชพยากรณ์ ควรที่จะตอบด้วยปฏิปุจฉาพยากรณ์ก็ตอบด้วยปฏิปุจฉาพยากรณ์ แล้วควรที่จะตอบด้วยฐปนียพยากรณ์ก็ตอบด้วยฐปนียยพยากรณ์ไปตามเรื่อง


คราวนี้ปัญหาเรื่อง ตายแล้วเกิด ในข้อนี้ถ้าจะเอาวิธีการตอบปัญหา ๔ ประเด็นมาตอบปัญหาตายแล้วเกิดควรจะเอาอะไรมาตอบ ในวิธีการ ๔ ข้อ ก็ต้องดูเหตุการณ์อีกนะครับ ยกตัวอย่างเช่นว่ามีปริพาชกคนหนึ่งเป็นคนถือ🔎สัสสตทิฏฐิ ถึอว่าตายแล้วอัตตาของเขานี่ อัตตาตัวนี้แหละหรือเรียกว่าวิญญาณนี่แหละ ไปเวียนว่ายตายเกิด อัตตาตัวนี้ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แปรผัน มั่นคงดุจเสาระเนียด ชื่อว่า วัชชโคตรปริพาชก

วัชชโคตรมีทิฏฐิอย่างนี้ เมื่อตั้งปัญหาถามพระพุทธเจ้าว่าพระสมณโคดม ตายแล้วเอาอะไรไปเกิด ? 
พระพุทธเจ้าไม่ตอบ ไม่ตอบปัญหาข้อนี้แก่วัชชโคตร วัชชโคตรก็เสียใจ ก็ตัดพ้อพระพุทธเจ้าว่า แหม ช่างกระไรเลย เขาเองมีความสงสัยในปัญหาข้อนี้ ผูกใจมานานนักหนาแล้ว นึกว่าได้รับความสว่างในสำนักของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ากลับไม่ตอบปัญหา เขาตัดพ้อพระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็บอกว่าวัชชโคตร ถ้าหากว่าตถาคตจะตอบปัญหาข้อนี้แก่เธอ เธอเป็นสัสสตทิฉฐิอยู่แล้วนะ ถ้าตอบปัญหาข้อนี้แก่เธอเมื่อไหร่ละก็ เธอจะเข้าใจผิด ยิ่งจะเป็นสัสสตทิฉฐิยิ่งขั้นไปอีก เป็นทวีตรีคูณทีเดียวละ เพราะฉะนั้นปัญหาข้อนี้เราจึงไม่ตอบเธอ

เพราะอะไรถึงทรงแสดงอย่างนั้น เพราะว่าโดยความจริงแล้วคนที่ยังมีกิเลสอยู่ ตายแล้วก็ต้องเกิด ถ้าพระองค์ตรัสบอกกับวัชชโคตรบอกว่าคนเราตายแล้วเกิด วัชชโคตรซึ่งกำลังหลงผิดยึดถืออยู่แล้ว ว่าอัตตาของตัวนี่แหละมั่นคงดุจจะเสาระเนียด เป็นผู้ไปเวียนว่ายตายเกิดในชาติภพต่างๆ ก็ยิ่งจะเตลิดเปิดเปิงนึกวาพระพุทธเจ้ามาสนับสนุนทิฏฐิของตัวว่าจริง เมื่อคนเราตายแล้วต้องเกิด สิ่งที่ไปเกิดเป็นตัวนั่นแหละ คือตัวอัตตาที่ข้ากำลังถืออยู่ ณ บัดนี้นี่แหละ พระพุทธเจ้ามาสนับสนุนทิฏฐิของตัวอย่างนี้แหละ พระพุทธเจ้าจึงไม่ตอบวัชชโคตรก่อน

เป็นเหตุให้เขาเกิดความสงสัยยิ่งขึ้น เมื่อตัดพ้อเช่นนี้แล้วพระองค์จึงแสดง “🔎 ปฏิจจสมุปบาท “ ให้เห็นเป็นการทำลายสัสสตทิฏฐิของวัชชโคตรปริพาชก ถ้าไปตอบอย่างง่ายๆ บอกว่า เออ คนเราตายแล้วก็ต้องไปเกิดซิ วิญญาณนี่แหละไปเกิด ตอบง่าย ๆ อย่างนี้ คนที่เป็นสัสสตทิฏฐิก็จะหลงผิดเป็นสัสสตทิฏฐิยิ่งขึ้น จึงไม่ทรงตอบในเบื้องแรก แล้วก็แสดง ปฏิจจสมุปบาท ในเบื้องปลายเป็นการทำลายความเข้าใจผิดของวัชชโคตรปริพาชกไปเสีย นี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง

คราวนี้ถ้าหากว่าสำหรับคนที่เชื่ออยู่แล้วว่ากฏแห่งกรรมมีจริง การเวียนว่ายตายเกิดมีจริง แล้วสิ่งที่ไปเวียนว่ายตายเกิดนี่ ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน เราเขาอะไร แต่ทว่าเป็นสังขารธรรมที่เกิดดับสืบสันตติกันได้ ถ้าคนมีความเชื่อถือเช่นนี้มาตั้งปัญหากับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงพยากรณ์ไปตามเหตุคือ พยากรณ์ใช้วิธีวิภัชชพยากรณ์ บอกว่าถ้าคนยังมีกิเลสตัณหาอยู่ก็ต้องทำอะไรที่เป็นกรรม เมื่อมีกรรมแล้วก็มีวิบาก ชีวิตยังสั้นอยู่ในชาติหนึ่งภพหนึ่ง ไม่สามารถจะชดเชยวิบากในชาติหนึ่งภพหนึ่งได้ มันก็ต้องไปยกยอดในชาติหน้า ไปรับวิบากในชาติใหม่ภพใหม่ต่อไป อย่างนี้ก็ทรงตอบ อย่างเช่นมีอุบาสก อุบาสกหรือชาวพุทธในพระศาสนาที่มีความเข้าใจในเรื่องกฎของกรรมดีพอแล้ว ตั้งปัญหาถามพระองค์พระองค์ก็แสดงโดยวิภัชชพยากรณ์หรือแม้ไม่ต้องตั้งปัญหา พระองค์ก็แสดงอยู่แล้ว เช่นว่าแสดงกับพระอานนท์เถรเจ้า พยากรณ์คติพจน์ของบรรดาอุบาสก อุบาสิกาในนาลันทคามว่า อุบาสกชื่อนั้นมรณะไปแล้วกำลังเสวยอยู่ในสวรรค์ชั้นนั้น ๆ ตาม ทิฏฐานุคติอันชอบของผู้นั้น ทรงพยากรณ์ทิฏฐิอยู่แล้ว ทรงพยากรณ์คติของผู้ล่วงลับไปแล้วให้กับพระอานนท์เถระเจ้าฟัง แล้วก็ตรัสบอกว่าดูก่อนอานนท์ ที่ตถาคตพยากรณ์คติสัปรายภพของอุบาสกชื่อนั้น อุบาสิกาชื่อนั้น ณ. ตำบลบ้านนั้น ๆ เพราะเหตุไร ก็เพื่อว่าจะเป็นเครื่องพยุงใจให้แก่ปัจฉิมาชนตาชน คือชนที่เกิดภายหลัง ได้มีความกระปรี้กระเปร่า มีกำลังใจในการประกอบกุศลกรรม มีกำลังใจในการทำความดี เพราะมีข้อยืนยันว่าเมื่อทำกรรมดีอย่างนี้แล้ว ตายไปแล้วก็ได้เสวยผลกรรมดีในคติสัมปรายภพนั้น ๆ ทรงแสดงอย่างนี้

คนที่ไม่เข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวตะวันตกที่แรกเริ่มศึกษาพุทธศาสนาใหม่ ๆ พอรู้ว่าพระพุทธเจ้าปฏิเสธเรื่องโซล คือ วิญญาณหรือตัวอาตมัน ภาษาฝรั่งเรียกกันว่าโซลก็นึกว่าพุทธศาสนานี้ไม่ได้สอนเรื่องเวียนว่ายตายเกิด เรื่องเวียนว่ายตายเกิดเป็นเรื่องไร้สาระ หรือแม้แต่นักปราชญ์บางท่านในเมืองไทยเรา เวลาแสดงปาฐกถาก็ยังโจมตีว่าการพูดเรื่อง เวียนว่ายตายเกิดนี้เป็นเรื่องนอกคอก นอกบาลี ที่ไหนพระพุทธเจ้าจะมาสนใจเรื่องนี้ ควรจะพูดแต่เรื่องทางพ้นทุกข์ลัดนิ้วมือเดียว ทำอย่าไรถึงจะพ้นทุกข์ดีกว่า พูดเรื่องพุทธภาวะในจิตเดิมแท้นี่ดีกว่า จะได้พ้นทุกข์ไปไว ๆ ตรัสรู้เร็ว ๆ ดีกว่าจะไปมัวแต่พูดเรื่องเนิ่นช้า เรื่องเวียนว่ายตายเกิด เรื่องวัฏสงสาร เป็นเรื่อทำให้คนเนิ่นช้า ไปพูดเรื่องนี้ทำไม ปฏิจจสมุปบาทว่าที่จริงแล้วก็มีขณะ ปัจจุบันขณะเดียว นี่มติของบางท่านนะ แต่ไม่ใช่ทั่วไปหรอก บางท่านว่าปฏิจจสมุปบาทอยู่ในขณะจิต ปัจจุบันขณะเดียวอย่างนี้ โดยปฏิเสธอตีตอัทธา อนาคตอัทธาปฏิเสธหมด ว่าเรื่องการแบ่งปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องอดีต ปัจจุบัน อนาคต เป็นมติของพระอรรถกถาจารย์ ที่ไหนจะมีในบาลีพุทธพจน์ ปฏิเสธอย่างนี้ก็มีอยู่

🔰อ่านหน้าต่อไป


วันพฤหัสบดี

ปล่อยว่าง (อัญญาณุเบกขา)

อัญญาณุเบกขา หมายถึง เฉยไม่รู้เรื่อง เฉยไม่เอาเรื่อง เฉยไม่ได้เรื่อง
คนทั่วไปนึกไม่ออกว่า อุเบกขา ดีอย่างไร
ต้องมีปัญญาชั้นเลิศจึงจะรู้จักความประเสริฐของอุเบกขา
อุเบกขาที่เราเอามาใช้กันในหมู่คนไทยนั้นต้องระวัง ถ้าเฉยเรื่อยเปื่อยทางพระเรียกว่า “เฉยโง่” เป็นอกุศล



คำพระว่า “อัญญาณุเบกขา” หมายถึง เฉยไม่รู้เรื่อง เฉยไม่เอาเรื่อง เฉยไม่ได้เรื่อง
แต่เฉยของธรรม คือ เฉยด้วยปัญญา เพราะรู้แล้ว ก็วางตัวพอดี โดยทั่วไป เมื่อมีสถานการณ์ตื่นเต้นเกิดขึ้น จะมีคน ๓ พวก คือ…
๑. คนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย จึงเฉย
๒. คนที่รู้ครึ่งไม่รู้ครึ่ง อาจจะตื่นเต้นโวยวาย ลุกขึ้นมากระโดดโลดเต้น แต่แก้ไขปัญหาไม่ค่อยได้ บางทีตื่นเต้นโวยวายไปยิ่งทำให้เรื่องลุกลามใหญ่โต
๓. คนที่รู้เข้าใจหมด มองเห็นว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างไร เหตุปัจจัยเป็นอย่างไร มันจะเป็นไปอย่างไร จะแก้ไขที่จุดไหน ถึงจุดไหนจะต้องทำอะไร พวกนี้เฉยเหมือนกัน แต่เฉยพร้อมรอจังหวะ เมื่อถึงจุดนั้น ต้องทำอันนั้น ที่จุดนั้น ต้องทำอันนั้น เขาเฉย แต่พร้อมที่จะทำไปตามลำดับ ให้ถูกจุดถูกที่ พวกนี้แก้ปัญหาได้

ความนิ่งเฉยด้วย”รู้”นี่แหละ เรียกว่า “อุเบกขา”
อุเบกขานี้เป็นธรรมสูงสุดในทางจริยธรรม สภาพจิตปกติของพระอรหันต์ คือ อุเบกขา เพราะอยู่ด้วยจิตที่ลงตัวพอดี ด้วยปัญญา มีอุปมาอย่างหนึ่ง คือ เรื่องสารถีขับรถ

สมัยก่อนนี้ คนขับรถม้า เอาม้าผูกเข้ากับรถแล้ว ม้าก็พารถไป สารถีที่เชี่ยวชาญขับรถม้า ก่อนที่รถจะวิ่งเข้าที่ แกก็ต้องชักบังเหียนบ้าง ใช้แส้บ้าง เพื่อให้ม้าพารถเข้าสู่ทาง แล้วก็ปรับความเร็วให้พอดี พอม้าวิ่งเข้าทางดี และได้ความเร็วพอดีตามที่ต้องการแล้ว สารถีผู้เชี่ยวชาญนั้น จะอยู่พร้อมด้วยความตระหนักรู้ แกนั่งสบายเลย สงบนิ่ง แต่จิตนั้นอยู่ด้วยความรู้ ไวต่อการที่จะรับรู้ และความคิดที่จะแก้ไข ไม่ว่าจะมีอะไรผิดพลาด เมื่อทุกอย่างลงตัวเข้าที่พอดีแล้ว เขานั่งสงบ และพร้อมที่จะแก้ไขปัญหา

ต่างจากคนที่ไม่ชำนาญ ซึ่งตื่นเต้น หวาด ไม่แน่ใจว่าจะเอาอย่างไร จะทำอย่างไร จิตไม่สบาย ไม่นิ่ง ไม่สงบ ไม่ลงตัว มนุษย์ที่ยังไม่รู้เท่าทันจัดเจนโลก ไม่รู้ความจริงของชีวิต ก็เหมือนกับสารถีที่ยังไม่เจนจบส่วนพระอรหันต์นั้น เหมือนกับสารถีที่เจนจบ ท่านรู้เข้าใจโลกและชีวิตตามเป็นจริง จนวางจิตพอดีลงตัวหมด

ต่างจากมนุษย์ปุถชน ที่ยังไม่รู้ว่าชีวิตนี้คืออะไร โลกนี้เป็นอย่างไร อยากนั่น ยึดนี่ กังวลโน่น อยู่ด้วยความหวาดหวั่นพรั่นใจตื่นเต้นไป จิตลงตัวอุเบกขาไม่ได้ อุเบกขานั้น ไม่ต้องวางหรอก มันถึงเอง เพราะมันเป็นสภาพจิตอัตโนมัติที่เกิดจากปัญญา โดยปัญญามาปรับสภาพจิต ฉะนั้น ปัญญา กับ อุเบกขาจึงคู่กัน พอปัญญาถึงขั้นเป็นโพธิญาณ หยั่งรู้ความจริงของชีวิตและโลก เจนจบ รู้เท่าทันสังขาร จิตก็ลงตัว เรียกว่าวางพอดีกับชีวิตและโลก เป็นอุเบกขาด้วยปัญญานั้น นี่คือจิตพระอรหันต์ ฉะนั้น จึงเหมือนสารถีที่ว่าเจนจบ สภาพนี้ดีแค่ไหน ก็ลองคิดดู

คนทั่วไปนึกไม่ออกว่า อุเบกขาดีอย่างไร นึกว่าเฉยๆ ไม่ได้เรื่องได้ราว อย่างนั้นเป็นเฉยโง่ (อัญญาณุเบกขา)”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : ธรรมนิพนธ์ “จะอยู่อย่างเป็นเหยื่อ หรือขึ้นเหนือไปนำเขา”



วันเสาร์

วิปัสสนูปกิเลส ๑๐

วิปัสสนูปกิเลส มี ๑๐ คือ
๑. โอภาส คือ แสงสว่าง หมายถึงแสงสว่างในวิปัสสนา สำหรับผู้ปฏิบัติแต่ละท่านจะมีกำลังของแสงสว่างไม่เท่ากัน บางท่านส่องสว่างเพียงที่นั่ง ส่องสว่างตลอดภายในห้อง ส่องสว่างภายนอกห้องด้วย ส่องสว่างไปทั่ววิหารทั้งหมด เป็นต้น ส่องสว่างไปไกลเป็นโยชน์ๆ (แต่ของพระพุทธเจ้าส่องสว่างไปตลอด ๑๐,๐๐๐ โลกธาตุ) เมื่อเกิดขึ้นอย่างนี้ผู้ปฏิบัติก็คิดว่า “ แสงสว่างเช่นนี้ไม่เคยปรากฏแก่ตัวเราเลยเราคงบรรลุมรรคผลแน่แล้ว ” เมื่อเข้าใจผิดเช่นนี้ก็ยึดถือเอาแสงสว่างนั้นเองว่าเป็นมรรคผล จึงเป็นเหตุให้วิปัสสนาญาณออกไปนอกทาง เพราะผู้ปฏิบัติจะละทิ้งอารมณ์วิปัสสนาเดิมแล้วกลับไปนั่งชื่นชมแสงสว่างนั้นอยู่ด้วยอำนาจของตัณหา มานะ และทิฏฐิ โดยส่วนมากวิปัสสนูปกิเลสนี้มักเกิดแก่ผู้ที่เจริญวิปัสสนาภาวนา แบบสมถวิปัสสนา คือ เจริญสมถะมาก่อนแล้วจึงเจริญวิปัสสนาภายหลัง เมื่อเกิดโอภาสแสงสว่าง และกิเลสทั้งหลายก็ไม่เกิดขึ้นกับเราเลย เพราะว่ากิเลสที่ถูกข่มไว้ด้วยอำนาจของสมาธิไม่สามารถกำเริบได้ จึงทำให้ผู้ที่ได้สมถวิปัสสนานั้นเกิดความคิดว่า “ ได้เป็นพระอรหันต์

๒. ญาณ หมายถึง วิปัสสนาญาณ ในขณะที่ผู้ปฏิบัติกำลังเทียบเคียงไตร่ตรองรูป และนามทั้งหลายอยู่นั้นญาณซึ่งมีกระแสอันปราดเปรียวแหลมคม แก่กล้าชัดแจ้งก็บังเกิดขึ้น ประดุจดังวชิระของพระอินทร์ที่ทรงซัดออกไป ก็ทำให้ผู้ปฏิบัติหลงติดอยู่ในปัญญานั้นและทำให้เข้าใจผิดได้ว่าเราบรรลุแล้วหนอ เพราะปัญญาอันแก่กล้าเช่นนี้ที่ไม่เคยเกิดได้เกิดขึ้นแก่เรา ทำให้ละทิ้งอารมณ์กรรมฐานที่ควรเจริญไปเสีย

๓. ปีติ หมายถึง ความเอิบอิ่มที่ประกอบด้วยวิปัสสนา ปีติที่เกิดขึ้นในระยะนี้มี ๕ อย่าง คือ
    ๑. ขุททกาปีติ ความเอิบอิ่มเล็กน้อย
    ๒. ขณิกาปีติ ความเอิบอิ่มที่เกิดขึ้นชั่วขณะ
    ๓. โอกกันติกาปีติ ความเอิบอิ่มที่เกิดเป็นระลอกๆ
    ๔. อุพเพงคาปีติ ความเอิบอิ่มโลดแล่น
    ๕. ผรณาปีติ ความเอิบอิ่มซาบซ่านแผ่ไปทั่วกาย

๔. ปัสสัทธิ หมายถึง ความสงบในวิปัสสนา ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาภาวนากำลังนั่งอยู่ในที่พักกลางคืนหรือกลางวันก็ตาม ในขณะนั้นทั้งกายและใจของผู้ปฏิบัติจะปราศจากสิ่งรบกวนทั้งหลาย เช่น ความกระวนกระวาย ความหนัก ความแข็งกระด้างความไม่ควรแก่การงาน ความเจ็บไข้ แต่กายและใจของผู้ปฏิบัติจะประกอบไปด้วย ความสงบ ความเบา ความอ่อน ความควรแก่การงาน ความผ่องใส ความเที่ยงตรง บุคคลที่ประกอบไปด้วยปัสสัทธิเช่นนี้แล้วก็จะมีความเพลิดเพลินยินดีอยู่อย่างนั้น ทำให้ ทิ้งอารมณ์กรรมฐาน ไม่สามารถทำให้ญาณปัญญาในขั้นสูงเกิดขึ้นเพราะติดอยู่ในปัสสัทธิ

๕. สุข หมายถึง ความสุขที่ประกอบด้วยวิปัสสนา คือในขณะที่ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญวิปัสสนาอยู่นั้น ความสุขอันประณีตยิ่งก็จะเกิดขึ้นมาก ชนิดท่วมท้นไปทั่วสรีระ เป็นสุขชนิดที่ท่วมท้นหัวใจ ไม่สามารถที่จะบรรยายได้ เพราะเป็นสุขที่มีรสอันล้ำลึก เป็นสุขที่ประเสริฐกว่าความสุขธรรมดาที่มนุษย์พบเห็น สรุปว่า บรรดาความสุขทั้งหลาย อะไรจะมาสุขเท่าสุขในวิปัสสนาไม่มี ฉะนั้นถ้าพิจารณาในสุขอย่างนี้ไม่รอบคอบจะทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจผิดยึดว่าสุขนี้เป็นมรรค เป็นผล

๖. อธิโมกข์ หมายถึง ความเชื่อ หรือ ศรัทธาที่ประกอบด้วยวิปัสสนา อธิโมกข์ที่เป็นวิปัสสนูปกิเลสนี้ จะมีลักษณะความผ่องใสอย่างยิ่งของจิตและเจตสิกเป็นศรัทธาที่มีกำลังมาก เพราะจิตและเจตสิกผ่องใสเป็นอย่างยิ่ง ด้วยอำนาจศรัทธากล้า พาให้นึกคิดไปใหญ่โต เช่นคิดถึงคนทั้งหลายอยากให้เขาได้เข้ากรรมฐานอย่างตนบ้าง นึกถึงบุญคุณของพระพุทธศาสนา บุญคุณของอาจารย์ผู้สอน เป็นต้น เมื่อคิดเพลิดเพลินไปด้วยศรัทธาอันแรงกล้าทำให้ผู้ปฏิบัติลืมอารมณ์กรรมฐาน ละเลยอารมณ์กรรมฐาน ทำให้เสียเวลาในการปฏิบัติวิปัสสนา ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะมีตัณหา มานะ ทิฏฐิ เข้ามาผสมกับศรัทธานี้ก็ยิ่งทำให้การบำเพ็ญไม่มั่นคง ไม่ก้าวหน้า

๗. ปัคคาหะ หมายถึง ความเพียรที่ประกอบด้วยปัญญาซึ่งเป็นความเพียรที่ไม่หย่อนเกินไป ไม่ตึงเกินไปประคับประคองไว้เป็นอย่างดี พยายามในการปฏิบัติวิปัสสนาอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่ก่อนแม้อาจารย์จะคอยเตือนให้พยายามทำความเพียรก็รู้สึกเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลีย หมดความเพียร แต่บัดนี้ความคิดเช่นนั้นหายไปสิ้น เกิดความขยันขึ้นเป็นพิเศษจนทำให้ตนเองแปลกใจว่า เหตุใดตนจึงมีวิริยะมากไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในการปฏิบัติเช่นนี้ และเมื่อพิจารณาไม่ดี ใส่ใจไม่ถูกก็จะเข้าใจผิดไปว่าได้มรรคผลแล้ว

๘. อุปัฏฐานะ หมายถึง สติที่ประกอบด้วยวิปัสสนา ซึ่งเป็นสติที่เข้าไปตั้งอยู่อย่างดีมั่นคงฝังลึกไม่หวั่นไหวประดุจภูเขาหลวง สติที่เป็นชนิดอุปัฏฐานะนี้ เมื่อเกิดแก่ผู้ปฏิบัติแล้ว ถ้ารำพึงหรือนึกถึงอารมณ์ใดอารมณ์นั้นก็ปรากฏชัดเจนมากที่สุด ชนิดว่าไม่เคยเกิดกับตนเช่นนี้มาก่อน ทำให้ผู้ปฏิบัติหลงเข้าใจผิดว่าตนนั้นเป็นผู้วิเศษแล้ว แต่ที่จริงแล้วยังถูกครอบงำด้วย ตัณหา มานะ ทิฏฐิ

๙. อุเบกขา หมายถึง วิปัสสนูเปกขา และ อาวัชชนูเปกขา วิปัสสนูเปกขา ได้แก่ ความเป็นกลางในสังขารทั้งปวง ส่วนอาวัชชนูเปกขา ได้แก่ ความเป็นกลางที่เกิดขึ้นในมโนทวารนั่นเอง อุเบกขาทั้งสองนี้เกิดขึ้นแก่โยคีบุคคลผู้ซึ่งเริ่มต้นบำเพ็ญวิปัสสนา เมื่ออุเบกขากำลังดำเนินไปอย่างนี้ ผู้ปฏิบัติรำพึงถึงอารมณ์ใด อุเบกขานั้นก็จะดำเนินไปอย่างแก่กล้าแหลมคม ไม่ยินดียินร้ายต่อทุกสิ่งเหมือนคนไม่มีกิเลสวางเฉยได้ทุกประการ จนตนเองก็แปลกใจในภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้เป็นยิ่งนัก ถ้าเข้าใจผิดก็จะคิดไปว่าตนเป็นพระอรหันต์แล้วเพราะวางเฉยได้เป็นอย่างดีแล้ว

๑๐. นิกันติ หมายถึง ความยินดีพอใจในวิปัสสนา นิกันตินี้เป็นสภาพที่มีอาการสุขุม และเมื่อเกิดแก่ผู้ปฏิบัติแล้ว ย่อมทำความติดใจหรืออาลัยต่อวิปัสสนูปกิเลส ได้แก่โอภาสเป็นต้น นิกันติในวิปัสสนานี้เป็นความยินดีพอใจที่ใครๆ ไม่สามารถกำหนดรู้ได้ว่าเป็นกิเลส เพราะเป็นสภาพของกิเลสที่ละเอียดมาก

การที่ธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้จัดเป็นกิเลสของวิปัสสนาก็เพราะว่าเมื่อธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นจะทำให้ติดอยู่ในอารมณ์นั้นแล้วจะทำให้รู้สึกว่าเป็นสุข เป็นเหตุให้เกิดความพอใจ เมื่อความพอใจเกิดขึ้น การพิจารณารูปนามว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น จิตจะละเลยการปฏิบัติทำให้ไม่สามารถพิจารณาธรรมให้เห็นถึงไตรลักษณ์ จึงเป็นเหตุให้ไม่บรรลุมรรคผลได้เลย

วิปัสสนูปกิเลสทั้ง ๑๐ ประการนี้ ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติทุกคนที่เป็นปุถุชน เมื่อบรรลุถึง อุทยัพพยญาณอย่างอ่อน ฉะนั้นเมื่อวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้นก็ให้พิจารณาให้ดีและให้มีสติ อย่าหลงอยู่ในวิปัสสนูปกิเลสเหล่านี้เป็นอันขาด เพราะจะทำให้การปฏิบัติหยุดชะงักไม่ก้าวหน้าถึงญาณเบื้องสูง

วิปัสสนูปกิเลสจะไม่เกิดกับบุคคล ๔ พวก คือ
๑. พระอริยสาวกผู้บรรลุปฏิเวธแล้ว
๒. ผู้ปฏิบัติผิดเริ่มตั้งแต่ศีลวิบัติ เครื่องมือวัดว่าปฏิบัติถูกทางหรือไม่ ก็คือวิปัสสนูปกิเลสนี้เอง
๓. ผู้ละทิ้งกรรมฐาน
๔. ไม่มีแก่ผู้เกียจคร้าน แม้จะปฏิบัติถูกต้องมาตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อวิริยะความเพียรน้อยก็ทำให้มีกำลังสมาธิอ่อน เพราะว่าอารมณ์ในวิปัสสนูปกิเลสนั้นเกิดขึ้นจากกำลังสมาธิ

ผู้ปฏิบัติเมื่อประสบกับวิปัสสนูปกิเลสแล้วควรทำอย่างไร
เมื่อผู้ปฏิบัติเป็นผู้มีสติอย่างดีเฉียบแหลม ผู้นั้นก็จะผ่านกับดักคือวิปัสสนูปกิเลสไปได้โดยการใคร่ครวญด้วยสติปัญญา ดังนี้

๑. โอภาสนี้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว แต่สภาวะของโอภาสนั้นไม่เที่ยง มีปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยจึงเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา
๒. ถ้าโอภาสนี้เป็นอัตตาแล้ว การยึดถือโอภาสว่าเป็นอัตตาก็สมควร แต่โอภาสนี้มิใช่อัตตา แต่เป็นอนัตตา เพราะว่าไม่เป็นไปในอำนาจ เป็นอนิจจัง เพราะว่ามีแล้วก็ไม่มี เป็นทุกขัง เพราะว่ามีการเบียดเบียน

เมื่อผู้ปฏิบัติที่ชาญฉลาดใคร่ครวญดังนี้แล้วก็จะเห็นเนืองๆ ในโอภาสว่า “ โอภาสนี้มิใช่ของเรา เรามิใช่โอภาส โอภาสนี้มิใช่อัตตาของเรา ” (การพิจารณา ญาณ ปีติ เป็นต้นก็เป็นไปทำนองเดียวกัน) เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาเห็นอย่างนี้อยู่เสมอเนืองๆ ก็จะสามารถผ่านพ้นวิปัสสนูปกิเลสทั้งหลายได้



วันอังคาร

พุทธวงศ์ ๒๕ พระองค์

พุทธวงศ์ หมายถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงอุบัติขึ้นมาแล้วในโลก มีทั้งสิ้นจนถึงปัจจุบัน ๒๕ พระองค์

๑. ทีปังกรพุทธวงศ์
พระโพธิสัตว์พระนามว่าทีปังกรพระองค์นี้ ทรงบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต ทรงบำเพ็ญบารมีมา ๑๖ อสงไขยกับอีกแสนกัป เมื่อพระองค์จะทรงสงเคราะห์มหาชนได้เสด็จจาริกไปบนภูเขานารทกูฏซึ่งมียักษ์ อยู่ทรงแสดงอานุภาพ และโปรดให้ยักษ์ตนนั้นพร้อมบริวาร ๑๐,๐๐๐ ตนให้ดำรงอยู่ในศีลธรรม

๒. โกณฑัญญพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า โกณฑัญญะ เสด็จปฏิสนธิในตระกูลกษัตริย์แห่งนครรัมมวดี ทรงมีพระชนมายุ ๑๐๐,๐๐๐ ปี ครั้นทรงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วทรงยับยั้งอยู่ด้วยความสุขในผล สมาบัติ ณ โคนโพธิพฤกษ์ ๗ สัปดาห์ ทรงประกาศพระสัทธรรมให้รุ่งเรือง

๓. มังคลพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า มังคละ พระประยูรญาติทั้งหลายได้ขนานพระนามว่ามงคล เพราะพระองค์ประสูติด้วยมงคลสมบัติทุกอย่าง ครั้นเมื่อพระองค์ทรงยังเป็นพระโพธิสัตว์ ได้มอบลูกน้อย ๒ องค์แก่ยักษ์เพื่อเป็นทาน พระองค์ทรงมีพระชนมายุ ๙๐,๐๐๐ ปี พระศาสนาของพระองค์ดำรงอยู่ ๙๐,๐๐๐ ปีแล้วได้อันตรธานไป

๔. สุมนพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า สุมนะ เสด็จอุบัติในตระกูลกษัตริย์แห่งพระนครเมขละ ทรงมีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายส่องสว่างไสวไปทั่วหมื่นโลกธาติ ทรงมีพระชนมายุ ๙๐,๐๐๐ ปี และพระศาสนาของพระองค์ได้ดำรงอยู่ ๙๐,๐๐๐ ปีแล้วได้อันตรธานไป

๕. เรวตพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า เรวตะ เสด็จอุบัติในตระกูลกษัตริย์แห่งพระนครสุทัญญวดี ผู้ทรงมีพระยศใหญ่และมีพระปัญญามาก ผู้ทรงอนุเคราะห์เหล่าสรรพสัตว์ พระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายของพระองค์ไปได้ ๑ โยชน์โดยรอบ ทั้งกลางวันและกลางคืน ทรงมีพระชนมายุ ๖๐,๐๐๐ ปี

๖. โสภิตพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า โสภิตะ เสด็จอุบัติในตระกูลกษัตริย์แห่งนครสุธรรม ทรงมีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ ทรงมีพระชนมายุ ๙๐,๐๐๐ ปี ทรงยังสัตว์ให้เผาผลาญกิเลสได้ดังเปลวไฟไหม้ ทรงยังฝนให้ตกทั่วแล้วทรงยังโลกพร้อมทั้งเทวโลกให้ชุ่มชื่นด้วยน้ำฝน คืออมฤตธรรมนั้น

๗. อโนมทัสสีพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า อโนมทัสสี เสด็จอุบัติในตระกูลกษัตริย์แห่งพระนครจันทวดีราชธานี ทรงมีพระชนมายุ ๑๐๐,๐๐๐ ปี พระองค์ทรงประกาศพระสัทธรรมให้รุ่งเรือง ทรงยังสัตว์ที่มีอุปนิสัยแก่กล้าให้ได้ตรัสรู้ธรรม ทรงพร่ำสอนชนเหล่าอื่นที่เหลือให้พ้นทุกข์

๘. ปทุมพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมะ พระประยูรญาติทั้งหลายได้ขนานนามว่าปทุมะเพราะในขณะที่พระองค์ประสูติจากพระครรภ์ บังเกิดฝนดอกปทุมตกจากอากาศลงมาในมหาสมุทรทั่วทั้งชมพูทวีป พระปทุมสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงแสวงหาคุณอันใหญ่ ทรงมีพระชนมายุ ๑๐๐,๐๐๐ ปี

๙. นารทพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า นารทะ เสด็จอุบัติในตระกูลกษัตริยืแห่งนครธัญญวดี พระองค์ทรงปราบพยศของพญานาคชื่อโทณะ เนรมิตมณฑปสำเร็จด้วยรัตนะ ๗ ประการขึ้นในแม่น้ำคงคา ทรงมีพระชนมายุ ๙๐,๐๐๐ ปี

๑๐. ปทุมุตตรพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ เสด็จอุบัติในตระกูลกษัตริย์แห่งนครหังสวดี พระองค์ทรงยังมหาชนผู้เร่าร้อนด้วยความเร่าร้อนในนรกให้สงบร่มเย็นด้วยน้ำ อมฤตธรรม ทรงมีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายสว่างไสวไปได้ ๑๒ โยชน์ โดยรอบ ทรงมีพระชนมายุ ๑๐๐,๐๐๐ ปี พระศาสนาของพระองค์ดำรงอยู่ ๑๐๐,๐๐๐ ปีแล้วได้อันตรธานไป

๑๑. สุเมธพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธ เจ้าพระนามว่า สุเมธะ เสด็จอุบัติในตระกูลกษัตริย์แห่งนครสุทัศน์ เมื่อครั้งพระองค์เสด็จไปโปรดยักษ์ที่ดุร้ายซึ่งมีฤทธิ์อานุภาพมากที่อาศัย อยู่ในป่าดงใหญ่แห่งหนึ่ง พระองค์ทรงยังธรรมจักษุให้เกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลาย ทรงมีพระชนมายุ ๙๐,๐๐๐ ปี

๑๒. สุชาตพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า สุชาตะ เสด็จอุบัติในตระกูลกษัตริย์แห่งนครสุมงคล พระประยูรญาติทั้งหลายได้ขนานนามว่าสุชาตะ เพราะเมื่อพระองค์ประสูติจากรพระครรภ์ก็ยังความสุขให้เกิดแก่สัตว์ทั้งหลายไปทั่วชมพูทวีป ทรงมีพระชนมายุ ๙๐,๐๐๐ ปี พระศาสนาของพระองค์ดำรงอยู่ ๙๐,๐๐๐ ปีแล้วได้อันตรธานไป

๑๓. ปิยทัสสีพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปิยทัสสี เสด็จอุบัติในตระกูลกษัตริย์แห่งนครธัญญวดี พระองค์ไปแสดงธรรมโปรดท้าวสุทัสสนเทวราชผู้เป็นจอมเทพซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิจน เกิดความเลื่อนใสศรัทธาแล้วตั้งอยู่ในสัมมาทิฏฐิ ทรงมีพระชนมายุ ๙๐,๐๐๐ ปี พระศาสนาของพระองค์ดำรงอยู่ ๙๐,๐๐๐ ปีแล้วได้อันตรธานไป

๑๔. อัตถทัสสีพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า อัตถทัสสี เสด็จอุบัติในตระกูลกษัตริย์แห่งนครโสภณ พระองค์เสด็จไปแสดงธรรมโปรดพวกมนุษย์และเทพยดาในดิถีวันเพ็ญเดือนมาฆมาส ทรงมีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายไปได้ ๑ โยชน์โดยรอบทุกเวลา ทรงมีพระชมมายุ ๑๐๐,๐๐๐ ปี

๑๕. ธัมมทัสสีพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ธัมมทัสสี เสด็จอุบัติในตระกูลกษัตริย์แห่งนครสรณะ พระประยูรญาติทั้งหลายได้ขนานพระนามว่าธัมมทัสสี เพราะเมื่อพระองค์ทรงประสูติ การว่ากล่าวกันโดยไม่ชอบธรรมในเรื่องการตัดสินคดีต่าง ๆ ก็เสื่อมหายไปเอง คงมีแต่การกล่าวกันโดยชอบธรรมเท่านั้น ทรงมีพระชนมายุ ๑๐๐,๐๐๐ ปี

๑๖. สิทธัตถพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า สิทธัตถะ พระองค์เสด็จไปแสดงธรรมโปรด ๒ พี่น้องคือ พระเจ้าสมพลและพระเจ้าสุมัตตี ผู้ครองนครอมร จนมีจิตศรัทธาเลื่อมใสแล้วออกผนวชตามพระองค์ ทรงงดงามดังรูปปฏิมาทองอันล้ำค่า ทรงมีพระรัศมีสว่างไสวไปในหมื่นโลกธาตุ พระองค์ทรงมีพระชนมายุ ๑๐๐,๐๐๐ ปี

๑๗. ติสสพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ติสสะ พระองค์เสด็จไปในมหามงคลสมาคมเพื่อตรัสมงคลปัญหาโปรดเวไนยสัตว์ผู้มาทูลถาม มงคลปัญหาให้หลุดพ้นจากกิเลสเป็นเครื่องผูกมัด ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนพระองค์ ทรงปรากฏดังขุนเขาหิมวันตี

๑๘. ปุสสพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปุสสะ พระองค์เสด็จไปยังพระนครพาราณสีเพื่อแสดงธรรมโปรดพระเจ้าสิริวัฒน์ผู้ทรงละกองโภคสมบัติแล้วออกบวชเป็นปฎิลดาบสพร้อมด้วยบริวาร จนมีจิตศรัทธาเลื่อมใสออกบวชพระองค์ทรงสง่างามดังพระอาทิตย์อุทัยแสง และเหมือนพระจันทร์เต็มดวงในวันเพ็ญที่ปราศจากเมฆหมอกทรงมีพระชนมายุ ๙๐,๐๐๐ ปี

๑๙. วิปัสสีพุทธวงศ์
พระประยูรญาติทั้งหลายได้ขนานนามว่า วิปัสสี เพราะแลเห็นพระองค์ทรงเป็นผู้หมดจดจากความมืดที่เกิดจากการกะพริบตาใน ระหว่างกลางวันและกลางคืนได้ด้วยตาเปล่า ทรงมีพระรัศมีงามเปล่งปลั่งแผ่ซ่านอกจากพระวรกายของพระองค์ไปได้ถึง ๗ โยชน์ ทรงมีพระชนมายุ ๘๐,๐๐๐ ปี

๒๐. สิขีพุทธวงศ์
พระประยูรญาติทั้งหลายได้ขนานพระนามว่า สิขี เพราะพระยอดกรอบพระพักตร์ของพระองค์พุ่งขึ้นสูงดุจยอดพระอุณหิส (มงกุฎ) ทรงมีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายของพระองค์งามเปล่งปลั่งดังทองคำล้ำค่าสว่างไสวไปได้ ๓ โยชน์โดยรอบทั้งกลางวันและกลางคืน ทรงมีพระชนมายุ ๗๐,๐๐๐ ปี

๒๑. เวสสภูพุทธวงศ์
พระประยูรญาติทั้งหลายได้ขนานนาม พระนามว่า เวสสภู เพราะพระองค์ทรงร้องเสียงดังเหมือนเสียงร้องของวัวตัวผู้ในขณะที่ประสูติ ทรงมีพระชนมายุ ๖๐,๐๐๐ ปี พระองค์ทรงวางมหาชนไว้บนธรรมนาวาทรงสร้างสะพานพระสัทธรรมไว้อย่างมั่นคงสำหรับให้ชนที่เหลือเดินตามกระแสการ เวีนว่ายตายเกิดแล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน

๒๒. กกุสันธพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากกุสันธะเสด็จไปแสดงธรรมโปรดพระเทพยักษ์ ซึ่งอาศัยอยู่ที่เทวาลัยแห่งหนึ่งใกล้เขมวดีนครทรงมีพระรัศมีสีทองแผ่ซ่านออกจากพระวรกายของพระองค์สว่างไสวไปได้ ๑๐ โยชน์โดยรอบ ทรงมีพระชนมายุ ๔๐,๐๐๐ ปี

๒๓. โกนาคมนพุทธวงศ์
พระประยูรญาติทั้งหลายได้ขนานนามของพระองค์ว่า โกนาคมน์ เพราะในขณะที่พระองค์ประสูติ ฝนทองได้ตกลงมาทั่วทั้งชมพูทวีป พระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดภิยโยสราชกุมารและอุดรราชกุมาร พร้อมด้วยบริวารทรงมีพระชนมายุ ๓๐,๐๐๐ ปี

๒๔. กัสสปพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ เสด็จอุบัติในตระกูลพราหมณ์แห่งพระนครพาราณสี ทรงมีรัศมีแผ่ซ่านอกจากพระวรกายสว่างไสวเหมือนกับพระจันทร์ทรงกลด ทรงมีพระชนมายุ ๒๐,๐๐๐ ปี ทรงสร้างสระธรรมประธานศีลเป็นเครื่องลูบไล้ ทรงประธานพระสัทธรรมเป็นเศวตฉัตรไว้ป้องกันบาป


๒๕. โคตมพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า โคตมะ เสด็จอุบัติในตระกูลกษัตริย์แห่งกบิลพัสดุ์นคร พระองค์ทรงแสดงราหุโลวาทสูตรโปรดพระราหุลผู้เป็นพระโอรสของพระองค์ มีการประชุมพระสงฆ์สาวกขีณาสพ (ผู้ปราศจากมลทิน) ๑,๒๕๐ รูป โดยผู้ที่บวชด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทามาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย และทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่ท่านเหล่านั้นในวันเพ็ญเดือนมาฆมาส ทรงมีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายของพระองค์สว่างไสวไปได้โดยรอบด้านละ ๑ วา ทรงมีพระชนมายุ ๘๐ ปี