แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ พระอภิธัมมัตถสังคหะ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ พระอภิธัมมัตถสังคหะ แสดงบทความทั้งหมด

วันศุกร์

อรูปาวจรจิต ๑๒

เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยการเจริญสมถภาวนาของผู้ที่ได้รูปาวจรปัญจมฌานแล้ว เมื่อได้เจริญฌานให้ยิ่งขึ้นไป ก็จะเข้าถึงอรูปฌาน ฉะนั้นอรูปาวจรจิตจึงเป็นจิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในภูมิ อันเป็นที่เกิดแห่งวัตถุอรูปและกิเลส อรูปเป็นส่วนมาก

    วัตถุอรูป ได้แก่ อรูปาวจรจิต ๑๒ เจตสิก ๓๐ (วัตถุธรรม)
    กิเลสอรูป ได้แก่ อรูปตัณหา หรือความยินดีพอใจในอรูปฌานและอรูปภพ

อรูปสฺฺส ภโวติ = อรูปํ 
ภูมิใด เป็นที่เกิดแห่งวัตถุอรูปและกิเลสอรูป ฉะนั้น ภูมินั้น ชื่อว่า อรูปภูมิ ได้แก่ อรูปภูมิ ๔

อรูเป อวจรตีติ = อรูปาวจรํ
จิตใดย่อมท่องเที่ยวเกิดอยู่ในภูมิอันเป็นที่เกิดแห่งกิเลสอรูป และวัตถุอรูปฉะนั้น จิตนั้น ชื่อว่า อรูปาวจรจิต


คาถาสังคหะ

อาลมฺพนปุปเภเทน  จตุธารุปฺปมานสํ
ปุญฺญปากกฺริยาเภทา  ปุน ทฺวาทสธาฐิตํฯ

แปลความว่า "อรูปาวจรจิตนั้น กล่าวโดยประเภทแห่งอารมณ์ มี ๔ อย่าง เมื่อจำแนกโดยประเภทแห่งชาติ คือกุศล วิบาก กิริยา แล้ว มีจำนวน ๑๒ ประเภท"

อธิบาย อรูปาวจรจิตนั้น เมื่อกล่าวโดยประเภทแห่งอารมณ์ มี ๔ อย่าง คือ

อากาสานัญจายตนะ ๑
วิญญาณัญจายตนะ ๑
อากิญจัญญายตนะ ๑
เนวสัญญานาสัญญายตนะ ๑

อรูปาวจรจิตทั้ง ๔ อย่างนี้ เมื่อจำแนกโดยประเภทแห่งชาติ คือ กุศล วิบาก กิริยาแล้ว ได้แก่ อรูปาวจรกุศลจิต ๔ อรูปาวจรวิบากจิต ๔ อรูปาวจรกิริยาจิต ๔ รวมเป็นอรูปาวจรจิต ๑๒ ประเภท อรูปาวจรจิต ๑๒ ประเภทนี้ นับเป็นฌานจิตในชั้นปัญจมฌานทั้งหมด เพราะองค์ของอรูปฌานประกอบด้วย อุเบกขา เอกัคคตา อย่างเดียวกัน และเหมือนกันกับองค์ฌานของรูปาวจรปัญจมฌาน แต่ความแตกต่างกันของอรูปาวจรจิต นี้ ต่างกันที่อารมณ์ มิใช่ต่างกันที่องค์ฌาน เหมือนอย่างในรูปาวจรจิต คือ 

อากาสานัญจายตนะ (ปฐมารูปฌาน) มีอากาศที่เพิกแล้วจากกสิณ (กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ) เป็นอารมณ์วิญญาณัญจายตนะ (ทุติยารูปฌาน) มีปฐมารูปฌานจิต เป็นอารมณ์
อากิญจัญญายตนะ (ตติยารูปฌาน) มีนัตถิภาวบัญญัติ เป็นอารมณ์
เนวสัญญานาสัญญายตนะ (จตุตถารูปฌาน) มีตติยารูปฌานจิตเป็นอารมณ์


อารมณ์ของอรูปาวจรจิต

อารมณ์ของอรูปาวจรจิต มี ๔ อย่าง คือ : -

๑. กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ เป็นอารมณ์ หมายถึงการกำหนดเอาอากาศที่เพิกแล้วจากองค์กสิณ ๙ (เว้นอากาศกสิณ) เป็นอากาศที่ว่างเปล่าหาที่สุดมิได้โดยบริกรรมว่า “อากาโส อนนฺโต” อากาศไม่มีที่สิ้นสุด ๆ จนกว่าฌานจิตจะเกิดฌานจิตที่เกิดขึ้น โดยมีกสิณุคฆาฏิกาสบัญญัติเป็นอารมณ์นี้ มีชื่อว่า "อากาสานัญจายตนฌาน" หรือ "ปฐมารูปจิต"

๒. อากาสนัญจายตนฌาน เป็นอารมณ์ หมายถึงมีวิญญาณที่เป็นไปในอากาศที่ว่างเปล่านั้นเป็นอารมณ์ หรือมีการเพ่งหน่วงเอาปฐมารูปจิตฌานเป็นอารมณ์ โดยบริกรรมว่า “วิญญาณํ อนนฺตํ” วิญญาณที่ไม่มีที่สิ้นสุด ๆ จนกว่าฌานจิตจะเกิด ฌานจิตที่เกิดโดยมีอากาสานัญจาตนฌานจิตเป็นอารมณ์นี้ ชื่อว่า "วิญญาณัญจายตนฌาน" หรือ "ทุติยารูปจิต"

๓. นัตถิภาวบัญญัติ เป็นอารมณ์ คือ สภาวะที่ไม่มีอะไรเหลือเป็นอารมณ์เลยหมายความว่า เมื่อต้องการเจริญอากิญจัญญายตนฌาน จะต้องเข้าวิญญาณัญจายตนฌานบ่อยๆ จนเป็นวสีแล้ว พิจารณาเห็นโทษของวิญญาณัญจายตนฌานว่า ถ้าขาดการเข้าฌานนี้อยู่เสมอแล้ว ฌานนี้อาจจะเสื่อมคลาย กลับไปตั้งอยู่ในอากาสานัญจายตนฌานตามเดิมอีก และสมาธิที่เกิดจากวิญญาณัญจายตนฌานนี้ก็ยังหยาบอยู่ จึงเกิดการฝักใฝ่สนใจที่จะให้อากาสานัญจายตนฌานดับขาดสูญไปจากจิตสันดานอย่างไม่มีเหลืออยู่เลย โดยกลับพยายามหน่วงให้นัตถิภาวบัญญัติปรากฏขึ้นแทน โดยบริกรรมว่า “นตฺถิ กิญฺจิ” ความเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยก็ไม่มี ๆ จนกว่าฌานจิตจะเกิดขึ้น โดยมีนัตถิภาวบัญญัติเป็นอารมณ์นี้ ชื่อว่า "อากิญจัญญายตนฌาน" หรือ "ตติยารูปจิต"

๔. อากิญจัญญายตนฌาน เป็นอารมณ์ คือ หน่วงเอาตติยารูปจิตเป็นอารมณ์ กำหนดเอาความละเอียดประณีตของตติยารูปจิต โดยสร้างความรู้สึกว่าสัญญา คือจิตที่ไม่มีความเหลืออยู่แม้เพียงเล็กน้อย จะว่าไม่มีก็ไม่ใช่ เพราะยังมีตัวที่รู้ว่า มีอยู่ จะว่าไม่มีก็ไม่เชิง เพราะสัญญานั้นประณีตละเอียดอ่อนสงบนิ่ง จนไม่รู้ว่ามีอะไร แล้วพยายามหน่วงเอาอากิญจัญญายตนฌานให้มาปรากฏแทน โดยบริกรรมว่า "สนุตเมตํ ปณีตเมตํ" หรือ "เอตํ สนฺติ เอตํ ปณีตํ" สงบหนอประณีตหนอจนฌานจิตเกิดขึ้น ฌานที่เกิดขึ้นโดยมีอากิญจัญญายตนฌาน เป็นอารมณ์นี้ชื่อว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน แปลว่า ฌานที่ไม่มีสัญญาหยาบ มีแต่สัญญาละเอียด หรือฌานที่จะว่าไม่มี สัญญาก็ไม่ใช่ มีสัญญาก็ไม่เชิง บางที เรียกฌานนี้ว่า จตุตถารูปจิต


จําแนกอรูปาวจรจิตโดยประเภทแห่งชาติ

อรูปาวจรจิต เมื่อจำแนกโดยประเภทแห่งชาติ คือ อรูปาวจรกุศลจิต อรูปาวจรวิบากจิต และอรูปาวจรกิริยาจิต มี อย่างละ ๔ ประเภท ตามประเภทแห่งอารมณ์ คือ

อรูปาวจรกุศลจิต

อรูปาวจรกุศลจิต เป็นจิตที่เจริญสมถภาวนาจนถึงอรูปฌาน เป็นไปพร้อมด้วยการปรุงแต่งอรูปกุศลไว้ให้ได้รับสมบัติเป็นอรูปพรหมในพรหมโลก หรืออรูปภูมิมีจำนวน ๔ ดวง คือ : -

  • ๑. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ อากาสานญฺจายตนกุสลจิตตํ 
    อรูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๑ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นอากาสานัญจายตนฌานกุศล
  • ๒. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ วิญฺญาณญฺจายตนกุสลจิตตํ 
    อรูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๒ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นวิญญาณัญจายตนฌานกุศล
  • ๓. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ อากิญฺจญฺจายตนกุสลจิตตํ 
    อรูปวจรกุศลจิตดวงที่ ๓ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นอากิญจัญญายตนฌานกุศล
  • ๔. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ เนวสัญฺญานาสัญฺญายตนกุสลจิตตํ
    อรูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๔ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌานกุศล

อรูปาวจรวิบากจิต

อรูปาวจรวิบากจิต เป็นจิตที่เป็นผลของอรูปาจรกุศลจิต กล่าวคือ อรูปาวจรกุศลจิต เป็นเหตุ อรูปาวจรวิบากจิต เป็นผล ให้ได้เสวยสมบัติเป็นอรูปพรหมในอรูปภูมิ ๔ ตรงกันดวงต่อดวงกับอรูปาวจรกุศลจิตนั่นเอง จึงมีจำนวน ๔ ดวง คือ :-

  • ๑. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ อากาสานญฺจายตนวิปากจิตตํ
    อรูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๑ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นอากาสานัญจายตนฌานวิบาก
  • ๒. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ วิญฺญาณญฺจายตนวิปากจิตตํ
    อรูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๒ เกิดพร้อมด้วยอุเบกขา เอกัคคตา เป็นวิญญานัญจายตนฌานวิบาก
  • ๓. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ อากิญฺจญฺจายตนวิปากจิตตํ
    อรูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๓ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นอากิญจัญญายตนฌานวิบาก
  • ๔. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ เนวสัญฺญานาสัญฺญายตนวิปากจิตตํ
    อรูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๔ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌานวิบาก

อรูปาวจรกิริยาจิต

อรูปาวจรกิริยาจิต เป็นจิตของพระอรหันต์ ที่เข้าถึงอรูปฌาน โดยนัยเดียวกันกับอรูปาวจรกุศลจิต จึงกล่าวได้ว่า อรูปาวจรกิริยาจิต ก็คือ อรูปาวจรกุศลนั่นเอง หากแต่จิตนั้นเกิดขึ้นในสันดานของพระอรหันต์โดยเฉพาะเท่านั้น อรูปาวจรกิริยาจิต จึงมีจำนวน ๔ ดวง คือ : -

  • ๑. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ อากาสานญฺจายตกริยจิตตํ
    อรูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๑ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นอากาสานัญจายตนฌานกิริยา
  • ๒. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ วิญฺญาณญฺจายตนกริยจิตตํ
    อรูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๒ เกิดพร้อมด้วยอุเบกขา เอกัคคตา เป็นวิญญาณัญจายตนฌานกิริยา
  • ๓. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ อากิญฺจญฺจายตนกริยจิตตํ
    อรูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๓ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นอากิญจัญญายตนฌานกิริยา
  • ๔. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ เนวสัญฺญานาสัญฺญายตนกริยจิตตํ
    อรูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๔ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌานกิริยา

ความหมายของอรูปฌาน ๔

ความหมายของอรูปฌานทั้ง ๔ คือ

๑. อากาสานัญจายตน แยกศัพท์ได้เป็น ๓ คำ คือ
อากาส + อนัญจ + อายตน = อากาสานัญจายตน
อากาสะ = ที่ว่าง (หมายถึงที่ที่เพิกออกจากปฏิภาคนิมิต)
อนัญจะ = หาที่สุดมิได้ (มาจาก อนันตะ)
อายตนะ = เป็นที่ตั้ง

อากาสานัญจายตน จึงหมายถึง อากาศที่เพิกปฏิภาคนิมิตออกแล้วหาที่สุดมิได้ เป็นที่ตั้งแห่งจิต หรือ จิตที่ยึดเอาที่ว่าง (อากาศที่เพิกปฏิภาคนิมิตออก) อุปมาเหมือนศาลาใหญ่หลังหนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยเครื่องประดับ การเพิกปฏิภาคนิมิตเหมือนกับการยกเอาเครื่องประดับออกไปเสีย เหลือแต่ศาลาว่างเปล่า จิตนี้ จึงเพ่งอยู่ที่ว่างเปล่าภายในขอบเขตแห่งศาลา

๒. วิญญาณัญจายตน แยกศัพท์ออกได้ ๓ ศัพท์เช่นกัน คือ
วิญญาณ + อนัญจ + อายตน = วิญญาณัญจายตน
วิญญาณ = จิต (ธรรมชาติรู้อารมณ์)
อนัญจะ = หาที่สุดมิได้
อายตนะ = - เป็นที่ตั้ง

วิญญาณัญจายตน จึงหมายถึง จิตที่ยึดหน่วงจิตดวงก่อนที่รู้อากาศนิมิตอันหาที่สุดมิได้มาเป็นอารมณ์ อุปมาเหมือนศาลาที่ว่างอยู่นั้น บัดนี้ มีพระสงฆ์มาประชุมกันทำสังฆกรรมอยู่ จิตจึงเพ่งอยู่เฉพาะพระสงฆ์หมู่ที่มาประชุมกันอยู่นั้นโดยมิได้เอาใจใส่ในขอบเขตแห่งศาลานั้นเลย

๓. อากิญจัญญายตน แยกศัพท์ได้เป็น
น + กิญจน + อายตน = อากิญจัญญายตน
น = ไม่มี
กิญจนะ = เหลืออยู่
อายตนะ = เป็นตั้ง

อากิญจัญญายตน หมายถึง จิตที่ยึดสภาพความไม่มีปฐมารูปจิตเป็นอารมณ์ อุปมาเหมือนศาลาใหญ่ที่พระสงฆ์ประชุมกันทำสังฆกรรมอยู่นั้น บัดนี้ได้ออกไปจากศาลานั้นหมดแล้ว ไม่มีเหลืออยู่แม้แต่องค์เดียว จิตดวงนี้จึงเพ่งอยู่ที่ความไม่มีพระสงฆ์หมู่นั้นเลย และพร้อมทั้งไม่เอาใจใส่ในขอบเขตแห่งศาลานั้นด้วย

๔. เนวสัญญานาสัญญายตน แยกศัพท์ได้เป็น
น + เอว + สัญญา + น + อสัญญา + อายตน = เนวสัญญานาสัญญายตน
น = ไม่ใช่
เอว = นั่นเทียว
น = ไม่ใช่
สัญญา = มีสัญญา
อสัญญา =ไม่มีสัญญา
อายตนะ = เป็นที่ตั้ง

เนวสัญญานาสัญญายตน จึงหมายถึง สภาพจิตที่ยึดอารมณ์อันละเอียดยิ่งเฉพาะอารมณ์เท่านั้น จะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ อุปมาเหมือน สามเณรเอาน้ำมันทาบาตไว้เพื่อกันสนิม พระเถระเรียกเอาบาตจากสามเณรเพื่อใส่ภัตสามเณรจึงเรียนว่า “บาตติดน้ำมันอยู่” พระเถระก็ว่า “ยกเอามาเถิด เราจะเทไว้ในกระบอกน้ำมัน สามเณรจึงตอบว่า “น้ำมันนั้นทาบาตไว้แต่พอกันสนิมไม่มีมากพอจนถึงเทใส่กระบอกได้” อารมณ์ของเนวสัญญานาสัญญายตน จึงกล่าวว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ คือ มีแต่สภาพสัญญาอันละเอียด

ภูมิอันเป็นที่เกิดของอรูปาวจรกุศลจิต

อรูปาวจรกุศลจิต ๔  >>> ย่อมเกิดได้ใน ๒๖ ภูมิ คือ
                                            กามสุคติภูมิ ๗
                                            รูปภูมิ ๑๕ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ ๑)
                                            อรูปภูมิ ๔ (เว้นฌานที่ต่ำกว่าภูมิของตน)

อรูปาวจรวิบากจิต ๔  >>> ย่อมเกิดได้ในอรูปภูมิ ๔ (โดยเฉพาะภูมิของตนๆ )

อรูปาวจรกิริยาจิต ๔  >>> ย่อมเกิดได้ใน ๒๖ ภูมิ คือ
                                             กามสุคติภูมิ ๗
                                             รูปภูมิ ๑๕ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ ๑)
                                             อรูปภูมิ ๔ (เว้นฌานที่ต่ำกว่าภูมิของตน)  


ติเหตุกบุคคลที่อยู่ในกามสุคติภูมิก็ดี ที่อยู่ในรูปภูมิ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ) ก็ดี อาจเจริญสมถภาวนาให้อรูปฌานจิตเกิดขึ้นได้ในสันดานแห่งตน ถ้าอรูปฌานจิตเกิดขึ้นในสันดานของปุถุชน หรือพระเสกขบุคคลแล้ว ก็ชื่อว่า อรูปาวจรกุศลจิตเกิด แต่ถ้าอรูปฌานจิตเกิดขึ้นในสันดานของพระอรหันต์ ที่ชื่อว่า อรูปาวจรกิริยาจิตเกิด ส่วนในอสัญญสัตตภูมินั้น อรูปาวจรจิตย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเป็นภูมิที่ไม่มีจิตอยู่แล้ว ไม่อาจที่จะกระทำกิจใดๆ ได้ ในอรูปภูมิทั้ง ๔ นั้น แต่ละภูมิย่อมเจริญอรูปฌานเฉพาะที่เป็นฌานในภูมิของตน หรือในอรูปฌานที่สูงกว่าของตนเท่านั้น จะไม่เจริญอรูปฌานที่ต่ำกว่าภูมิของตนเลย ทั้งนี้ เพราะได้เห็นโทษในแต่ละอารมณ์ที่ผ่านมาแล้วนั้น


มหัคคตจิต

มหัคคตจิต หมายถึงจิตที่เข้าถึงความเป็นใหญ่ ในอัฏฐสาลินีอรรถกถาแสดงว่า มหนฺตภาวํ คตาติ มหคฺคตา แปลว่า ธรรมชาติใดที่ถึงความเป็นใหญ่ ฉะนั้นธรรมชาตินั้น ชื่อว่า “มหัคคตะ” หรือ “มหนฺตํ คโตติ = มหคฺคโต” จิตใดย่อมเข้าถึงความเป็นใหญ่ จิตนั้นชื่อว่า “มหัคคตะ” จิตที่เข้าถึงความเป็นใหญ่นั้น หมายถึง มีกำลังจิตอันแก่แล้วสามารถกระทำให้สำเร็จกิจต่าง ๆ ได้ คือ

    ก. ข่มกิเลสไว้ได้นานตามสมควร ที่เรียกว่า วิกขัมภนปหาน
    ข. ให้ผลอันไพบูลย์ คือ มีพรหมวิหารธรรม ให้ได้เสวยพรหมสมบัติในพรหมโลก
    ค. ให้ชวนจิตมีการเกิดขึ้นสืบต่อกันได้เป็นเวลานานเป็นพิเศษ คือ ฌาน

สมาบัติ หรือความเป็นรูปพรหม อรูปพรหม ที่มีอายุยืนยาวกว่าสัตว์อื่นๆทั้งหลาย ล้วนอาศัยมหัคคตปฏิสนธิจิตทั้งสิ้น จิตที่เข้าถึงความเป็นใหญ่และประเสริฐดังกล่าวนี้ ชื่อ มหัคคตจิต มีจำนวน ๒๗ ดวง คือ

  • รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
  • อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง

วันเสาร์

รูปาวจรจิต ๑๕

🙏 รูปาวจรจิต ๑๕ 🙏 

รูปาวจรจิต หมายถึงจิตที่เข้าถึงอารมณ์ของรูปฌาน หรือหมายถึงจิตที่ท่องเที่ยวเกิดอยู่ในภูมิอันเป็นที่เกิดแห่งวัตถุรูป และกิเลสรูปเป็นส่วนมาก

วัตถุรูป ได้แก่ รูปาวจรจิต ๑๕ เจตสิก ๓๕ (วัตถุธรรม)
กิเลสรูป ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกี่ยวด้วยรูปตัณหา คือ ความพอใจในรูป ฌาน อภิญญา และรูปภพ มีพระบาลีว่า

รูปสฺส ภโวติ = รูป “ภูมิใด เป็นที่เกิดแห่งวัตถุรูปและกิเลสรูป ภูมินั้นชื่อว่า รูป” ได้แก่ รูปภูมิ ๑๕
รูเป อวจรตีติ = รูปาวจรํ “จิตใด ย่อมท่องเที่ยวเกิดอยู่ในภูมิอันเป็นที่เกิดแห่งวัตถุรูปและกิเลสรูป จิตนั้นชื่อว่า รูปาวจรจิต

คาถาสังคหะ
ปญฺจธา ฌานเภเทน รูปาวจรมานสํ ปุญฺญปากกฺกริยาเภทา ตํ ปญฺจทสธา ภเว ฯ

แปลความว่า รูปาวจรจิต กล่าวโดยประเภทฌาน มี ๕ เมื่อจำแนกโดยกุศล วิบาก กิริยา แล้วมี ๑๕
อธิบาย รูปาวจรจิตนั้น เมื่อกล่าวโดยประเภทแห่งฌาน มี ๕ คือ

  • รูปาวจรปฐมฌานจิต ๑
  • รูปาวจรทุติยฌานจิต ๑
  • รูปาวจรตติยฌานจิต ๑
  • รูปาวจรจตุตถฌานจิต ๑
  • รูปาวจรปัญจมฌานจิต ๑

รูปาวจรฌานจิตทั้ง ๕ นี้ เมื่อจำแนกโดยประเภทแห่งชาติ คือ กุศล วิบาก กิริยา แล้วได้รูปาวจรกุศลจิต ๕ รูปาวจรวิบากจิต ๕ รูปาวจรกิริยาจิต ๕ รวมรูปาวจรจิต มี ๑๕

📀 อรรถแห่งฌาน

ฌาน หมายถึงการเพ่งอารมณ์เพื่อให้จิตติดแนบอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน ได้แก่การที่จิตเข้าไปเพ่งอารมณ์ มีปฐวีกสิณ เป็นต้น ด้วยอำนาจของอัปปนาสมาธิอย่างหนึ่งและหมายถึงธรรมชาติที่เป็นเครื่องแผดเผาธรรมที่เป็นข้าศึกต่อการเพ่งอารมณ์เพื่อให้ฌานจิตเกิดอีกอย่างหนึ่ง ธรรมที่เป็นข้าศึกหรือปฏิปักษ์ต่อฌานจิตนั้น เรียกว่า นิวรณ์ คือ เครื่องกั้นขัดขวางของการกระทำความดี ในที่นี้ หมายถึงกั้นขัดขวางไม่ให้เข้าถึงฌานจิตได้

ฌานมี ๒ อย่าง คือ

๑. อารัมมนูปนิชฌาน ได้แก่ การเพ่งนิมิตของอารมณ์ เพื่อให้จิตแนบแน่นกับอารมณ์ องค์ธรรม ได้แก่ มหัคคตกุศลจิต ๙ ดวง และมหัคคตกิริยาจิต ๙ ดวง
๒. ลักขณูปนิชฌาน ได้แก่ การเพ่งสภาวลักษณะของอารมณ์ เพื่อให้ปัญญารู้ปรมัตถอารมณ์โดยมีอนิจลักษณะ เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ มหากุศลญาณสัมปยุตจิต ๔ และโลกุตรจิต ๘ ขณะที่วิปัสสนาญาณ มัคคญาณ และผลญาณเกิดขึ้น

ในฌานทั้ง ๒ นี้ โดยอรรถประสงค์เอาอารัมมนูปนิชฌาน เพราะฉะนั้นฌานในที่นี้ จึงมีความหมายว่า เพราะเพ่งอารมณ์ หรือเพราะเป็นเครื่องแผดเผาธรรมที่เป็นข้าศึกแก่ฌานจิต

ในอัฏฐสาลินีอรรถกถา แสดงว่า “อารมฺมณูปนิชฺฌานโต ปจฺจนิกฌานปนโต วาฌานํ” แปลว่า ธรรมชาติที่เพ่งอารมณ์ก็ดี หรือธรรมชาติที่แผดเผาธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ก็ดี ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า ฌาน

อารมณ์สำหรับเพ่ง ได้แก่ อารมณ์กรรมฐาน คือ สมถกรรมฐาน มีจำนวนทั้งหมด ๔๐ คือ 🔎กสิณ ๑๐ 🔎อสุภะ ๑๐ 🔎อนุสสติ ๑๐ (ให้เข้าถึงฌานได้เพียง ๒ คือ กายคตาสติและ อานาปานสติ เท่านั้น) 🔎อัปปมัญญา ๔ 🔎อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ 🔎ตุธาตุววัตถานะ ๑ 🔎อรูปกรรมฐาน ๔   รวมอารมณ์กรรมฐาน ๔๐

ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ของฌาน ได้แก่นิวรณ์ คือ เครื่องกั้นการกระทำความดีในที่นี้ หมายถึงขัดขวางไม่ให้เข้าถึงฌานได้ นิวรณ์มี ๕ ประการ คือ

๑. กามฉันทนิวรณ์ ได้แก่ โลภเจตสิก ที่เป็นความยินดีติดใจในกามคุณอารมณ์ มี รูป รส กลิ่น และสัมผัสถูกต้อง เป็นต้น กามารมณ์เหล่านี้เป็นเครื่องขัดขวางไม่ให้ฌานจิตเกิด
๒. พยาปาทนิวรณ์ ได้แก่ โทสเจตสิก ที่เป็นความผูกโกรธ คิดจะปองร้ายผู้อื่นย่อมเป็นเครื่องกีดกั้นไม่ให้จิตเข้าถึงฌาน
๓. ถีนมิทธนิวรณ์ ได้แก่ ถีนะและมิทธเจตสิก ที่มีความหดหู่ท้อถอยจากอารมณ์ที่เพ่งเพียร ย่อมเป็นเครื่องกั้นไม่ให้จิตเข้าถึงฌาน
๔. อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ได้แก่ อุทธัจจเจตสิก และกุกกุจจเจตสิก ที่เป็นความฟุ้งซ่านรำคาญใจย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อฌานเพราะต้องอาศัยการเพ่งอารมณ์ด้วยความสงบฌานจึงเกิดไม่ได้
๕. วิจิกิจฉานิวรณ์ ได้แก่ วิจิกิจฉาเจตสิกที่มีความลังเลไม่แน่ใจเคลือบแคลงสงสัย ย่อมทำลายความเข้มแข็งของการเพ่งอารมณ์ให้เสียไป จึงไม่สามารถเข้าถึงฌานได้

นิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการนี้ ชื่อว่า เป็นปฏิปักษธรรม หรือ เป็นธรรมอันเป็นข้าศึกที่ต้องใช้องค์ฌานเป็นเครื่องทำลาย

📀 ฌานสงัดจากกามคุณ และ อกุศลธรรม

ในอัฏฐสาลินีอรรกถา แสดงว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ วิวิจฺจ อกุสเลหิ ธมฺเมหิ มีอรรถว่า สงัดจากกามทั้งหลาย และสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย 

วิวิจฺจ
หมายถึง วิเวก แปลว่า ความสงัด คือ หลีกออก
วิวิจฺเจว กาเมหิ หมายถึง หลีกออกไปจากกามทั้งหลาย คือ ทั้งวัตถุกามและกิเลสกาม

กามทั้งหลายดังกล่าวนี้ แม้จะไม่มีอยู่ในเวลาเข้าปฐมฌานก็จริง แต่ก็ยังเป็น
ข้าศึกต่อปฐมฌานได้ ดังนั้น การบรรลุปฐมฌานได้จำต้องสลัดกามออกไปให้ได้ ที่เรียกว่าสงัดจากกาม นั่นเอง แม้ฌานนี้จะปรากฏผลว่า เป็นเครื่องสลัดกามทั้งหลายออกไปก็จริง แต่ก็มิได้หมายความว่าเพียงสลัดกามทั้งหลายออกไปเท่านั้น พระโยคาวจรก็จะสามารถเข้าฌานได้ เพราะกามหรือกามฉันทะนั้น เป็นเพียง ๑ ใน ๕ ของนิวรณธรรมเท่านั้น นิวรณ์เหล่าอื่นนอกจากกามยังมีเหลืออยู่ พวกเหล่านั้นก็เป็นข้าศึกต่อฌานด้วยเหมือนกัน จึงต้องละนิวรณธรรม หรือ อกุศลธรรมเหล่านั้นด้วย จึงจะเข้าถึงได้ จึงแสดงว่า ฌานย่อมสงัดจากกามทั้งหลายและอกุศลธรรมทั้งปวง สมดังบาลีที่ยกมากล่าวข้างบนนี้

สรุปความว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ นี้ ย่อมหมายถึง วิเวก อันเป็นเครื่องข่มกามฉันทะ และ วิวิจฺจ อกุสเลหิ ธมฺเมหิ ย่อมหมายถึง วิเวก อันเป็นเครื่องข่มนิวรณ์ธรรมที่เหลือ คือ พยาปาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ และวิจิกิจฉานิวรณ์ ซึ่งเมื่อกล่าวโดยอภิธรรมนัยแล้ว ย่อมเป็นอันหมายถึง วิเวก อันเป็นเครื่องข่มความเกิดขึ้นแห่งโลภมูลจิต ๘ ดวง และย่อมหมายถึง วิเวก อันเป็นเครื่องข่มความเกิดขึ้นแห่งโทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวงเท่านั้น

📀 องค์แห่งฌาน

ในการประกอบกุศลกรรม อันมีทานเป็นต้นนี้ กุศลเจตนา ปรากฏขึ้นในขณะใดมหากุศลจิต ย่อมเกิดขึ้นในขณะนั้นทันที แต่รูปาวจรกุศลจิต มิใช่เป็นเช่นนั้น รูปาวจรจิตจะเกิดขึ้นได้ เมื่อการเจริญสมถภาวนานั้นเข้าถึงอัปปนาสมาธิ คือ จิตเข้าถึงความแนบแน่นอยู่ในอารมณ์ ฌาน มีกสิณ เป็นต้น กล่าวคือ ขณะที่กำลังเจริญภาวนาอยู่นั้น กลุ่มเจตสิกธรรม อันเกิดพร้อมกับจิตกลุ่มหนึ่ง จะทำหน้าที่เผาหรือข่มนิวรณธรรม ซึ่งเป็นเครื่องกีดขวางมิให้ฌานจิตเกิดขึ้นได้ นิวรณธรรมทั้ง ๕ แม้อย่างใดอย่างหนึ่งยังมีอยู่ ฌานจิตจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ฉะนั้น เมื่อกลุ่มเจตสิกธรรมดังกล่าว ทำหน้าที่ขับไล่หรือข่มนิวรณธรรมให้สลายไปโดยสิ้นเชิงแล้ว ฌานจิตย่อมเกิดขึ้นได้

ขณะที่ฌานจิตปรากฏขึ้นนี้เอง กลุ่มเจตสิกธรรม คือ วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ปีติเจตสิก เวทนา (สุข หรือ อุเบกขา) เจตสิก และเอกัคคตาเจตสิกที่ทำหน้าที่ข่มนิวรณธรรมได้แล้ว จึงปรากฏเด่นชัดเป็นองค์ฌาน เพราะฉะนั้น องค์แห่งฌานจึงได้แก่ วิตกวิจาร ปีติ สุข (เวทนา) เจตสิก และเอกัคคตา เพียง ๕ องค์นี้

📀 ฌานประหาณนิวรณ์

การข่มนิวรณ์ หรือ ประหาณนิวรณ์ด้วยอำนาจของฌาน เรียกว่า วิกขัมภนประหาณ ตราบใดที่ฌานจิตยังไม่เสื่อม ตราบนั้นนิวรณธรรมย่อมถูกข่มไว้ไม่ให้ปรากฏขึ้นมาได้ หรือกล่าวว่า นิวรณธรรมกำเริบขึ้นเมื่อใด ฌานก็เสื่อมไปเมื่อนั้น การประหาณนิวรณธรรม ๕ ประการได้นั้น ย่อมต้องอาศัยองค์ฌาน เป็นเครื่องประหาณ ดังนี้ คือ

  • วิตก ประหาณ ถีนมิทธนิวรณ์
  • วิจาร ประหาณ วิจิกิจฉานิวรณ์
  • ปีติ ประหาณ พยาปาทนิวรณ์
  • สุข (เวทนา) ประหาณ อุทธัจจกุกุจจนิวรณ์
  • เอกัคคตา ประหาณ กามฉันทนิวรณ์

อธิบาย
๑. วิตก คือ การยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ในการทำฌาน (รูปฌาน) นั้นต้อง
สร้างบัญญัติอารมณ์ ที่เรียกว่า องค์กสิณ เป็นต้น ไว้สำหรับให้จิตเข้าไปเพ่งให้ทั่วองค์กสิณนั้น เพราะฉะนั้น การเพ่งองค์กสิณนี้ พระโยคาวจรผู้ปฏิบัติจะต้องยกจิตขึ้นสู่อารมณ์กรรมฐานที่กำหนดไว้เสมอ จะต้องพยายามไม่ปล่อยให้จิตหลุดจากอารมณ์ที่กำหนดไว้ไปคิดเรื่องอื่น ถ้าขณะใดจิตหลุดจากอารมณ์ที่เพ่ง ถีนมิทธะคือสภาพที่ทำให้จิตหดหู่ท้อถอยจากอารมณ์ที่เพ่ง หรือคลายความสนใจต่ออารมณ์ที่เพ่ง ขณะนั้น จิตย่อมตกไปจากองค์กสิณต้องยกจิตให้กลับมาตั้งที่องค์กสิณใหม่คือให้เพ่งองค์กสิณอีก จนไม่คลาดไปจากองค์กสิณ ฉะนั้น วิตก คือ ธรรมชาติที่ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์นี้ จึงทำหน้าที่ประหาณ ถีนมิทธะ โดยลักษณะแห่งการข่มไว้

๒. วิจาร คือ การประคองจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่เพ่ง เมื่อวิตกยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ที่เพ่งแล้ว วิจารณ์ก็ทำหน้าที่ประคองจิตไม่ให้ตกไปจากอารมณ์ที่เพ่งนั้น ถ้าเกิดความลังเลสงสัยขึ้นในขณะเพ่งอารมณ์ว่า การเพ่งอารมณ์เช่นนั้นจะสามารถทำให้ฌานเกิดขึ้นได้จริงหรือ เมื่อความลังเลสงสัยเกิดขึ้น การประคองจิตให้ตั้งมั่นในอารมณ์ก็จะเสื่อมคลายความหน่ายในการประคองจิตจะเกิดขึ้น ฉะนั้น พระโยคาวจร จำต้องใช้วิจารคอยประคองจิตให้เพ่งอารมณ์โดยปราศจากความลังเลสงสัยพร้อมกับวิจาร ย่อมทำหน้าที่ข่มวิจิกิจฉานิวรณ์ในลักษณะวิกขัมภนปหาณ

๓. ปีติ คือ ความปลาบปลื้มยินดี เมื่อวิตกได้ทำหน้าที่ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์และวิจารประคองจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์แล้ว ย่อมเกิดความปลาบปลื้มยินดีอิ่มเอิบใจในการที่สามารถทำได้เช่นนั้น ขณะจิตที่กำลังชื่นชมยินดีอยู่นั้น ความพยาบาทมาดร้ายต่อใคร ๆ ย่อมไม่เกิด ฉะนั้น ปีนี้ จึงสามารถข่มความพยาบาทนิวรณ์ได้โดยวิกขัมภนปหาณ ปีติ ความปลาบปลื้มยินดีอิ่มเอิบใจนี้ มี ๕ ประการ คือ

            ๓.๑ ขุททกาปีติ คือความปลาบปลื้ม ที่สามารถทำให้ขนในร่างกายชูชันได้
            ๓.๒ ขณิกาปีติ คือความปลาบปลื้มเหมือนสายฟ้าแลบเกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นขณะๆ
            ๓.๓ โอกกันติกาปีติ คือความปลาบปลื้มที่ซึมไปทั่วร่างกาย ถึงกับไหวโคลง
            ๓.๔ อุพเพงคาปีติ คือปลาบปลื้มจนตัวลอยขึ้นไปในอากาศ
            ๓.๕ ผรณาปีติ คือความปลาบปลื้มที่ซาบซ่านไปทั่วร่างกาย เหมือนสูบที่เต็มลม และเหมือนหลืบภูเขา ที่ห้วงน้ำใหญ่ไหลเข้าไปซึมซาบ

ปีติที่เป็นองค์ฌานสามารถประหาณพยาบาทนิวรณ์ได้นั้น ต้องถึงขนาดผรณาปีติ ส่วนปีตินอกนั้นอีก ๔ ยังไม่นับว่าเป็นองค์ฌาน เพราะยังมีสภาพหยาบและมีกำลังน้อย

๔. สุข คือ สุขเวทนาในองค์ฌาน หมายถึงความสุขใจหรือโสมนัสเวทนานั่นเอง ขณะบริกรรม คือ ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ และประคองจิตให้ตั้งอยู่ในอารมณ์ จนเกิดความปลาบปลื้มปีติเช่นนี้แล้ว ย่อมรู้สึกเป็นสุขใจ เพราะมีความสงบปราศจากความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ขณะที่กำลังเสวยความสุข สุขเวทนาจึงมีสภาพเป็นผู้เผาหรือข่มอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ไม่ให้บังเกิดขึ้นได้ สุขเวทนา จึงชื่อว่า เป็นผู้ประมาณอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์โดยวิกขัมภนปหาณ

ปีติและสุข มีสภาวะที่ใกล้เคียงกัน กล่าวคือ ปีติ คือความปลาบปลื้มยินดีที่ได้ประสบกับอิฏฐารมณ์ ส่วนสุข มีการเสวยอารมณ์ที่ได้ประสบแล้ว ปีติมีในที่ใด สุขก็มีในที่นั้น แต่ถ้าสุขมีในที่ใด ปีติอาจมีไม่ได้ในที่นั้นปีติ เป็นสังขารขันธ์ ส่วนสุข เป็นเวทนาขันธ์

๕. เอกัคคตา ได้แก่ การที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว เมื่อจิตตั้งอยู่ในอารมณ์ที่เพ่งอันเดียวแล้วชื่อว่า จิตมีสมาธิคือความไม่ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เรื่องราวที่เกี่ยวข้องด้วยกามคุณอารมณ์ จิตจะตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่เพ่งอย่างเดียว ย่อมเป็นสมาธิ คือความหยุดนิ่งแห่งจิต ดุจความตั้งอยู่นิ่ง ๆ ของเปลวประทีปในที่ที่สงัดลมฉะนั้น สมาธิจิตนั้นไม่ซัดส่ายฟุ้งซ่านดิ้นรนไปสู่อารมณ์ที่ปรารถนา นั่นคือ อำนาจแห่งสมาธิหรือเอกัคคตานี้ ย่อมเผากิเลสหรือข่มกามฉันทนิวรณ์

📀 สมาธิ มี ๓ อย่าง

ขณิกสมาธิ หมายถึง สมาธิที่ทำให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ได้ชั่วขณะหนึ่ง
อุปจารสมาธิ หมายถึง สมาธิที่ทำให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ใกล้จะได้ฌาน
อัปปนาสมาธิ หมายถึง สมาธิที่ทำให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่กำหนด กิเลสไม่สามารถรบกวนได้ และฌานจิตย่อมเกิดขึ้นได้ที่อัปปนาสมาธินี้ 

📀 ประเภทแห่งฌาน

ฌานปัญจกนัย ได้แก่ 
ตามนัยแห่งพระอภิธรรมได้จำแนกประเภทแห่งฌานไว้ ๕ ประเภท เรียกว่า
ปฐมฌาน มีองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
ทุติยฌาน มีองค์ฌาน ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
ตติยฌาน มีองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
จตุตถฌาน มีองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา
ปัญจมฌาน มีองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

๑. ปฐมฌาน หมายถึง ฌานที่ ๑ เพราะเป็นฌานที่เกิดขึ้นก่อนเป็นครั้งแรกที่ข้ามจากโคตรกามได้ ปฐมฌานนี้ จึงต้องอาศัยองค์ฌานครบทั้ง ๕ องค์ เป็นเครื่องข่มนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการนั้น จิตที่สงัดจากนิวรณธรรมโดยการข่มไว้ได้ในครั้งแรกนี้ จึงชื่อว่า ปฐมฌานกุศลจิต องค์ฌานทั้ง ๕ ย่อมเกิดพร้อมกันและขณะเดียวกัน ย่อมทำหน้าที่เผาหรือข่มนิวรณ์พร้อมกันอีกด้วย มิใช่ว่าองค์ฌานจะเกิดขึ้นทีละองค์ และข่มนิวรณ์ทีละอย่างไม่

๒. ทุติยฌาน หมายถึง ฌานที่ ๒ ที่เกิดขึ้นได้ในลำดับต่อไป ภายหลังจากที่ปฐมฌานได้เกิดขึ้นแล้วในการปฏิบัติ เพื่อให้ทุติยฌานเกิดขึ้นได้นั้น จะต้องกระทำปฐมฌานให้เกิดขึ้นติดต่อกันบ่อยๆ เพื่ออบรมจิตใจให้มีสมาธิกล้าแข็งยิ่งขึ้น และมีความคล่องแคล่วชำนิชำนาญในการเข้าฌานและออกจากฌาน ความชำนาญเกี่ยวกับฌานนี้ เรียกว่า “วสี” ซึ่ง มี ๕ อย่าง คือ

            ๒.๑ อาวชชนวสี ได้แก่ความชำนาญในการพิจารณาองค์ฌานก่อนเข้าฌานเพื่อให้เข้าฌานได้โดยเร็วพลัน
            ๒.๒ สมาปัชนวสี ได้แก่ ความชำนาญในการเข้าสมาบัติ
            ๒.๓ อธิฏฐานวสี ได้แก่ ความชำนาญในการตั้งอยู่ในฌาน
            ๒.๔ วุฏฐานวสี ได้แก่ ความชำนาญในการออกจากฌาน
            ๒.๕ ปัจจเวกขณวสี ได้แก่ ความชำนาญในการพิจารณาองค์ฌานหลังออกจากฌาน

เมื่อพระโยคาวจร ได้ปฐมฌานชำนิชำนาญพร้อมด้วยวสีทั้ง ๕ แล้ว ก็สามารถเจริญทุติยฌานได้ โดยเพ่งปฏิภาคนิมิตที่เคยได้จากปฐมฌานมาแล้วไม่ต้องเพ่งองค์ กสิณเหมือนเมื่อเริ่มเจริญปฐมฌาน การเพ่งปฏิภาคนิมิตนี้ เพราะความชำนาญจนได้เป็นวสีแล้ว จึงไม่ต้องอาศัยวิตกยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ และเพราะจิตที่เข้าฌานจนชำนาญแล้ว จิตย่อมไม่หดหู่ท้อถอยจากอารมณ์ แต่จะติดอยู่กับอารมณ์ที่เพ่งอยู่นั้นเป็นอันดี จึงไม่ต้องอาศัยวิตกข่มถีนมิทธนิวรณ์ ซึ่งไม่เกิดขึ้นอีกเพราะข่มมาแล้วแต่ในปฐมฌาน ฉะนั้น ทุติยฌาน จึงมีองค์ฌานเพียง ๔ โดยละวิตกออกได้แล้ว

๓. ตติยฌาน เป็นฌานขั้นที่ ๓ เมื่อได้ทุติยฌานแล้ว จะต้องหมั่นกระทำทุติยฌานให้ชำนาญจนเป็นวสีเสียก่อน ผู้ที่จะเจริญฌานให้เข้าถึงตติยฌานนั้นย่อมเห็นโทษของวิจารว่า มีสภาพหยาบไม่คงทน มีความเสื่อมง่าย จึงพยายามละวิจาร อันเป็นองค์ฌานที่ตนเห็นว่า มีสภาพหยาบนี้เสีย เพื่อเข้าสู่ตติยฌาน อันมีสภาพของปีติ สุขและเอกัคคตา ที่ประณีตกว่าทุติยฌาน จึงตั้งต้นด้วยการเพ่งปฏิภาคนิมิต และบริกรรมจนตติยฌานเกิด ตติยฌานจิต จึงมีองค์ฌานเพียง ๓ คือ ปีติ สุข และเอกัคคตา โดยละได้ทั้งวิตกและวิจาร

๔. จตุตถฌาน เป็นฌานขั้นที่ ๔ ตติยฌานลาภีบุคคล เมื่อได้เข้าตติยฌานคล่องแคล่วจนเป็นวสี ย่อมเกิดความเบื่อหน่ายในตติยฌานนั้น พร้อมกับพิจารณาเห็นว่า ปีติที่เกิดในตติยฌาน เป็นความปลาบปลื้มซาบซ่านไปทั้งกายและใจ มีอาการโน้มน้าวไปในทางลิงโลดใจ ซึ่งนับว่า เป็นสภาพที่ยังหยาบอยู่ และประสงค์จะได้ฌานที่ประณีตยิ่งขึ้นไปอีก ไม่ควรที่จะติดใจอยู่ในปีติที่เป็นของหยาบอยู่เพียงนี้ จึงเริ่มเจริญจตุตถฌาน โดยเพ่งปฏิภาคนิมิตเพื่อละปีติเสีย เมื่อจตุตถฌานจิตเกิด จึงเหลือองค์ฌานเพียง ๒ องค์ คือ สุขกับเอกัคคตาเท่านั้น

๕. ปัญจมฌาน เป็นฌานขั้นสุดท้ายของรูปฌาน จตุตถฌานลาภีบุคคลเมื่อจะขึ้นปัญจมฌาน ต้องพิจารณาเห็นโทษของสุข ที่มีสภาพหยาบกว่าอุเบกขาเอกัคคตาแล้วก็ตั้งต้นเพ่งปฏิภาคนิมิต โดยภาวนาทั้ง ๓ ตามลำดับ คือ บริกรรมภาวนา อุปจารภาวนาและอัปปนาภาวนา เพื่อละสุขต่อไป จนเข้าถึงปัญจมฌาน ฉะนั้น ในปัญจมฌานนี้จึงเปลี่ยนเวทนาจากสุขเวทนาในจตุตถฌานมาเป็นอุเบกขาเวทนา องค์ฌาน จึงมี ๒ ได้แก่อุเบกขา และเอกัคคตา สุขที่เป็นองค์ฌาน อันจตุตถฌานลาภีบุคคลละได้นั้น หมายถึง สุขทางใจ คือโสมนัสเวทนา นั่นเอง ส่วนความสุขกายและโทมนัสนั้น แม้พระพุทธองค์จะไม่ได้ตรัสไว้โดยลำดับแห่งการละองค์ฌานเหล่านี้ก็ตาม แต่ก็ได้ตรัสไว้โดยลำดับแห่งอินทรีย์ทั้งหลายในอินทรีย์วิภังค์ โดยอรรถว่าทุกข์โทมนัสและสุขกายย่อมละได้ ในขณะแห่งอุปจารภาวนาของฌานที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ โดยอาการอย่างนี้

อานิสงส์ของโสมนัสเวทนา และ อุเบกขาเวทนา

ในมหากุศล หรือ กามาวจรกุศล โสมนัสเวทนา ย่อมมีอานิสงส์เหนือกว่าอุเบกขาเวทนา แต่ในฌานกุศล อุเบกขาเวทนา ย่อมมีอานิสงส์เหนือกว่าโสมนัสเวทนาความต่างกันของประเภทแห่งฌาน ประเภทแห่งฌานทั้ง ๕ มีปฐมฌานเป็นต้น จนถึงปัญจมฌานเป็นที่สุดนั้นย่อมมีแตกต่างที่องค์ฌานแต่ละฌาน ซึ่งจะมีจำนวนองค์ฌานมากน้อยลดหลั่นกันเป็นข้อสำคัญ ส่วนอารมณ์ที่เพ่งนั้น ย่อมเป็นอารมณ์เดียว ไม่แตกต่างกันก็ได้

อารมณ์ของฌานประเภทต่าง ๆ

อารมณ์ที่ใช้เพ่งเพื่อให้เกิดฌานจิตประเภทต่าง ๆ ในฌานทั้ง ๕ นั้น จะต้องอาศัยบัญญัติอารมณ์ทั้งสิ้น คือ จะต้องสมมุติกำหนดเครื่องหมายอันใดอันหนึ่งมาเป็นเครื่องเพ่ง และอารมณ์ที่เป็นเครื่องเพ่งให้ฌานจิตเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่ปฐมฌานจนถึงปัญจมฌานนั้น ย่อมจำกัดอยู่เฉพาะอารมณ์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ คือ

  • ปฐมฌาน อาศัยอารมณ์เป็นเครื่องเพ่งได้ ๒๕ อย่าง ได้แก่ กสิณบัญญัติ ๑๐ อสุภบัญญัติ ๑๐ อานาปานบัญญัติ ๑ โกฏฐาสบัญญัติ ๑ และสัตวบัญญัติ ๓ คือ ปิยมนาปสัตวบัญญัติ, ทุกขิตสัตวบัญญัติ, สุขิตสัตวบัญญัติ
  • ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน อาศัยอารมณ์เป็นเครื่องเพ่งให้ฌานจิตเกิดได้ ๑๔ อย่าง ได้แก่กสิณบัญญัติ ๑๐ อานาปานบัญญัติ ๑ และสัตวบัญญัติ ๓ (เว้นมัชฌัตตสัตวบัญญัติ)
  • ปัญจมฌาน อาศัยอารมณ์เป็นเครื่องเพ่งให้ฌานจิตเกิดได้ ๑๒ อย่าง คือ กสิณบัญญัติ ๑๐ อานาปานบัญญัติ ๑ และสัตวบัญญัติ ๑ คือ มัชฌัตตสัตวบัญญัติ 

ฌานจตุกนัย และ ปัญจกนัย

ประเภทแห่งฌานตามที่กล่าวมาแล้ว ๕ อย่าง อันเป็นการกล่าวตามนัยแห่งพระอภิธรรม ซึ่งจำแนกประเภทของฌานไปตามองค์ฌาน ที่ปัญญาของมันทบุคคลผู้มีปัญญารู้ช้า ไม่อาจพิจารณาเห็นโทษของวิตกและวิจารทั้งสองนี้ ในเวลาเดียวกันได้จึงจำแนกฌานออกเป็น ๕ ประเภท เรียกว่า ปัญจกนัย ส่วนตามนัยแห่งพระสูตร ได้จำแนกประเภทของฌานออกเป็น ๔ ประเภท โดยแสดงถึงติกขบุคคลผู้เจริญทุติยฌานนั้น เมื่อจะขึ้นทุติยฌาน จึงมีองค์ฌานเพียง ๓ คือ ปีติ สุข และเอกัคคตา ทั้งนี้ เพราะสามารถละทิ้งวิตกและวิจารได้ในขณะเดียวจึงจำแนกออกเป็น ๔ ประเภท เรียกว่า จตุกนัย ซึ่งมีองค์ฌานดังนี้

ปฐมฌาน มีองค์ฌาน ๔ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
ทุติยฌาน มีองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
ตติยฌาน มีองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา
จตุตถฌาน มีองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

นัยแห่งพระอภิธรรม ที่จำแนกฌานเป็นปัญจกนัยนั้นก็เพื่อให้ตรงตามสภาวะเพราะจิตของมันทบุคคลตรงตามประเภทและจำนวนของจิตที่มีอยู่ในส่วนข้างมาก ผู้รู้ช้านั้น จะละองค์ฌานได้เพียงฌานละหนึ่งองค์เท่านั้น คือ ทุติยฌาน ละวิตก และ ตติยฌาน และวิจาร แต่ถ้าเป็น ติกขบุคคล คือ ผู้รู้เร็วนั้น ย่อมมีสติปัญญาไหวพริบแหลมคมสามารถที่จะละองค์ฌาน ทั้งวิตก วิจาร ได้ในคราวเดียวพร้อมกัน ด้วยเหตุนี้ พระโยคาวจรที่สามารถเข้าฌานสมาบัติ ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุดนั้นจึงกล่าวว่า ได้ฌานสมาบัติ ๘ และในบางแห่งก็กล่าวว่า ได้ฌานสมาบัติ ๙ 

ที่ว่าได้ฌานสมาบัติ ๘ นั้น เป็นการกล่าวตามนัยแห่งพระสูตร ซึ่งแสดงว่า 
รูปฌานมี ๔ อรูปฌานมี ๔ รวมเป็นฌานสมาบัติ ๘ และที่ว่าได้ฌานสมาบัติ ๙ นั้นเป็นการกล่าวตามนัยแห่งพระอภิธรรม ซึ่งแสดงว่า รูปฌานนั้นมี ๕ อรูปฌานมี ๔ รวม เป็นฌานสมาบัติ ๙ ฌานปัญจกนัย ตามแนวแห่งพระอภิธรรมนี้ เมื่อจำแนกโดยประเภทแห่งชาติ คือ กุศล วิบาก และกิริยาแล้ว จึงได้แก่ รูปาวจรกุศลจิต ๕ รูปาวจรวิบากจิต ๕ และ รูปาวจรกิริยาจิต ๕ รวมรูปาวจรจิตทั้งหมด ๑๕ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

📀  รูปาวจรกุศลจิต

รูปาวจรกุศลจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยการเจริญสมถภาวนา ซึ่งย่อมต้องอาศัยบัญญัติของรูปธรรม อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอารมณ์ จิตที่เริ่มเพ่งจับบัญญัติอารมณ์ในตอนแรกนี้ ย่อมเป็นมหากุศลจิต สมาธิที่ประกอบกับมหากุสลจิตอยู่ในชั้นบริกรรม สมาธิกับอุปจารสมาธิ เมื่อเจริญภาวนาสมาธิจนแนบแน่นเข้าถึงอัปปนาสมาธิแล้ว จิต จะเปลี่ยนจากมหากุศลจิต เป็นรูปาวจรกุศลจิต ที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๔ เป็นกุศลจิตชนิดที่จะส่งผลให้ปฏิสนธิเป็นรูปพรหมในภูมิต่าง ๆ ได้ตามสมควรแก่ฌานจิตนั้นๆ รูปาวจรกุศลจิต มีจำนวน ๕ ดวง คือ

  • ๑. วิตกฺกวิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ปฐมชฺฌานกุสลจิตฺตํ รูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๑ เกิดพร้อมด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
  • ๒. วิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ทุติยชฺฌานกุสลจิตฺตํ รูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๒ เกิดพร้อมด้วยวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
  • ๓. ปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ตติยชฺฌานกุสลจิตตํ รูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๓ เกิดพร้อมด้วยปีติ สุข เอกัคคตา
  • ๔. สุเขกคฺคตาสหิตํ จตุตถฌานกุสลจิตตํ รูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๔ เกิดพร้อมด้วยสุข เอกัคคตา
  • ๕. อุเปกฺเขกคคตาสหิตํ ปญฺจมชุฌานกุสลจิตตํ รูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๕ เกิดพร้อมด้วยอุเบกขา เอกัคคตา

รูปวจรวิบากจิต

รูปาวจรวิบากจิต เป็นจิตที่เป็นผลของรูปาวจรกุศลจิต ทำหน้าที่ปฏิสนธิภวังค์และจุติของรูปพรหม ในรูปภูมิ ๑๕ มีจำนวน ๕ ดวง เท่ากันกับรูปาวจรกุศลจิต

๑. วิวิตกฺกวิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ปฐมชฺฌานวิปากจิตฺตํ รูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๑ เกิดพร้อมด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
๒. วิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ทุติยชฺฌานวิปากจิตฺตํ  รูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๒ เกิดพร้อมด้วยวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
๓. ปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ตติยชฺฌานวิปากจิตตํ รูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๓ เกิดพร้อมด้วยปีติ สุข เอกัคคตา
๔. สุเขกคฺคตาสหิตํ จตุตถฌานวิปากจิตตํ รูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๔ เกิดพร้อมด้วยสุข เอกัคคตา
๕. อุเปกฺเขกคคตาสหิตํ ปญฺจมชุฌานกุสลจิตตํ  รูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๕ เกิดพร้อมด้วยอุเบกขา เอกัคคตาวิปาก

📀  รูปาวจรกุศลจิตให้ผลเป็นรูปาวจรวิบากจิต

รูปาวจรกุศลจิต เป็นเหตุทำให้รูปาวจรวิบากจิตปรากฏขึ้น เป็นผลตรงกันดวงต่อดวง และให้ปฏิสนธิในรูปภูมิต่าง ๆ ดังนี้ คือ 

  • ปฐมฌานกุศล ให้ผลเป็น ปฐมฌานวิบาก ปฏิสนธิในปฐมฌานภูมิ
  • ทุติยฌานกุศล ให้ผลเป็น ทุติยฌานวิบาก ปฏิสนธิในทุติยฌานภูมิ
  • ตติยฌานกุศล ให้ผลเป็น ตติยฌานวิบาก                 "
  • จตุตถฌานกุศล ให้ผลเป็น จตุตถฌานวิบาก ปฏิสนธิในตติยฌานภูมิ
  • ปัญจมฌานกุศล ให้ผลเป็น ปัญจมฌานวิบาก ปฏิสนธิในจตุตถฌานภูมิ

ข้อสังเกต

ทุติยฌานวิบาก และตติยฌานวิบากให้ผลปฏิสนธิในทุติยฌานภูมิเดียวกันนั้น เพราะสภาพองค์ฌานของวิตกและวิจารทั้งสองนี้ใกล้ชิดกันมาก และย่อมอุปถัมภ์ซึ่งกันและกัน ฉะนั้น เมื่อพระโยคาวจรละวิตกได้ แต่ละวิจารไม่ได้หรือละได้ทั้งวิตกและวิจาร ก็คงให้ผลปฏิสนธิในทุติยฌานภูมิเดียวกันนั้นเอง แต่ผลที่จะได้รับในปวัตติกาลนั้น ย่อมจะยิ่งหย่อนกว่ากันบ้าง


📀  
รูปาวจรกิริยาจิต

รูปาวจรกิริยาจิต เป็นจิตของพระอรหันต์ที่เข้าถึงรูปฌานโดยนัยเดียวกันกับรูปาวจรกุศลจิต จึงกล่าวได้ว่า รูปาวจรกิริยาจิต ก็คือ รูปาวจรกุศลจิต นั่นเอง หากแต่เกิดขึ้นในสันดานของพระอรหันต์โดยเฉพาะเท่านั้น ดังนั้น รูปาวจรกิริยาจิต จึงมีจำนวน ๕ ดวง เช่นเดียวกันกับรูปาวจรกุศลจิต คือ

    ๑. วิตกฺกวิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ปฐมชฺฌานกฺริยจิตฺตํ รูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๑ เกิดพร้อมด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
    ๒. วิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ทุติยชฺฌานกฺริยจิตตํ รูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๒ เกิดพร้อมด้วยวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
    ๓.ปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ตติยชฺฌานกฺริยจิตตํ รูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๓ เกิดพร้อมด้วยปีติ สุข เอกัคคตา
    ๔. สุเขกคฺคตาสหิตํ จตุตฺถชฺฌานกฺริยจิตฺตํ รูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๔ เกิดพร้อมด้วยสุข เอกัคคตา
    ๕. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ ปญฺจมฌานกริยจิตฺตํ รูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๕ เกิดพร้อมด้วยอุเบกขา เอกัคคตา

ข้อสังเกต

ในการเจริญฌานโดยทั่วไปนั้น เมื่อเข้าถึงฌาน องค์ฌานย่อมข่มนิวรณ์ใน ขณะที่ฌานจิตเกิดเป็นวิกขัมภนปทาน เมื่อจิตพ้นจากฌานแล้ว หรือฌานจิตเสื่อมเสีย นิวรณ์ที่เกิดขึ้นได้อีก ย่อมแสดงให้เห็นว่า องค์ฌานนั้นมีหน้าที่ ข่มนิวรณ์ แต่สำหรับพระอรหันต์ขีณาสพ ผู้ปราศจากกิเลสนิวรณ์โดยสิ้นเชิงแล้ว การกำหนดองค์ฌาน เพื่อละองค์ฌานที่หยาบถือเอาองค์ฌานที่ประณีต โดยสภาวะของสัมปยุตธรรมที่เพ่งอารมณ์ตามธรรมนิยาม เพื่อจำแนกให้กำหนดรู้ได้ว่า พระอรหันต์ผู้เจริญฌานนั้น ได้เข้าถึงฌานชั้นไหน มิฉะนั้นแล้ว จะไม่เป็นอันกำหนดรู้ฌานจิตสำหรับพระอรหันต์ได้เลย

📀  ภูมิอันเป็นที่เกิดของรูปาวจรจิต ๑๕

  • รูปาวจรกุศลจิต ๕ เกิดได้ใน ๒๒ ภูมิ คือ กามสุคติภูมิ ๗ (มนุษย์ ๑ เทวดา ๖) รูปภูมิ ๑๕ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ ๑)
  • รูปาวจรวิปากจิต ๕ เกิดได้ใน ๑๕ ภูมิ คือ รูปภูมิ ๑๕ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ ๑)
  • รูปาวจรกิริยาจิต ๕  เกิดได้ใน ๒๒ ภูมิ (เท่ากับรูปาวจรกุศลจิต) คือกามสุคติภูมิ ๗ รูปภูมิ ๑๕

ส่วนใน อรูปภูมิ รูปาวจรจิต ย่อมเกิดไม่ได้ เพราะไม่มีกรรมฐาน อันเป็นอารมณ์ของรูปฌาน ใน อสัญญสัตตภูมิ นั้น ไม่มีสัญญา หมายถึง ไม่มีจิตและเจตสิกเกิดขึ้นได้เลย รูปาวจรจิต จึงเกิดไม่ได้ และใน อบายภูมิ ๔ ไม่มีติเหตุกบุคคล คือ ผู้ปฏิสนธิด้วยไตรเหตุ และฌานจิตนั้น ย่อมเกิดได้เฉพาะแต่ติเหตุกบุคคลเท่านั้น อบายภูมิ มีแต่ทุคติอเหตุกบุคคล ฌานจิต จึงเกิดไม่ได้

วันพุธ

มหากิริยาจิต ๘

กิริยาจิต” หมายถึงจิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบาก เป็นเพียงจิตที่กระทำหน้าที่รับอารมณ์ผ่านมาทางทวารทั้ง ๖ หรือทำหน้าที่ให้สำเร็จการคิด การทำ การพูด เป็นกิริยาโดยภาวะที่เกิดขึ้นแก่พระขีณาสพ ไม่มีปัจจัยแห่งกุศล และอกุศลในอนาคตอีก กิริยาจิต จึงมี ๒ ประเภท คือ : -

  • ๑. อเหตุกกิริยาจิต ได้แก่ จิตที่ไม่ใช่เป็นผลของกุศลและอกุศล และทั้งไม่ใช่จิตที่เป็นตัวกุศลและอกุศลด้วยเป็นจิตที่สักแต่เพียงกระทำหน้าที่รับอารมณ์ผ่านทวารทั้ง ๖ เท่านั้น ยังไม่ให้ถึงความเป็นชวนะ (เว้นแต่ หสิตุปาทะ เกิดที่ชวนะ) จึงยังไม่มีโอกาสสร้างเหตุ ฉะนั้น ย่อมไม่มีเหตุผลเหมือนดอกไม้ลม กล่าวคือ เป็นดอกไม้ที่ไร้ผล
  • ๒. สเหตุกกามาวจรกิริยาจิต หรือ มหากิริยาจิต เป็นจิตที่ทำให้สำเร็จ การทำการพูด การคิดของพระอรหันต์ ผู้สิ้นกิเลสทั้งปวง เป็นกิริยาจิตที่เข้าถึงความเป็นชวนะ เสวยอารมณ์ที่เป็นโสมนัส หรือ อุเบกขา ซึ่งสักแต่เพียงว่าเป็นเวทนาชนิดที่ไม่ใช่เป็นเหตุแห่งตัณหาและอุปาทาน จึงไม่สามารถก่อให้เกิดผลในอนาคตขึ้นใหม่อีกได้ เปรียบเหมือนดอกไม้ที่มีต้นอันขาดรากเสียแล้ว

อเหตุกกิริยาจิตได้แสดงมาแล้วในบทเรียนก่อน ต่อไปนี้จะได้แสดงถึง สเหตุกกามาวจรกิริยาจิต หรือ มหากิริยาจิต

สเหตุกกามาวจรกิริยาจิต (มหากิริยาจิต)

สเหตุกกามาวจรกิริยาจิต หรือ มหากิริยาจิตนี้ เป็นจิตที่มีเหตุประกอบเกิดขึ้นรับกามารมณ์เป็นส่วนมาก และเกิดขึ้นได้กว้างขวางในภูมิต่าง ๆ ได้ถึง ๒๖ ภูมิ (เว้นอบายภูมิ ๔ และอสัญญสัตตภูมิ ๑ ซึ่งไม่มีพระอรหันต์) มหากิริยาจิตนี้ จึงมีสภาพคล้ายกันกับมหากุศลจิต ผิดกันแต่ว่า ถ้าเกิดขึ้นแก่บุคคลอื่นที่ไม่ใช่พระอรหันต์ จิตเหล่านั้นคงเรียกว่า มหากุศลจิต แต่ถ้าเกิดกับพระอรหันต์โดยเฉพาะแล้ว จิตเหล่านั้นก็เรียกว่า “มหากิริยาจิต” ฉะนั้น มหากิริยาจิต จึงมีจำนวนเท่ากับมหากุศลจิต ๘ ดวง

🔅 มหากิริยาจิต ๘

โสมนสุสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
มหากิริยาจิตดวงที่ ๑ เกิดพร้อมกับความยินดี ประกอบด้วยปัญญา เกิดขึ้นเองโดยไม่มีการชักชวน
โสมนสุสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
มหากิริยาจิตดวงที่ ๒ เกิดพร้อมกับความยินดี ประกอบด้วยปัญญา เกิดขึ้นเองโดยมีการชักชวน
โสมนสุสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
มหากิริยาจิตดวงที่ ๓ เกิดพร้อมกับความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นเองโดยไม่มีการชักชวน
โสมนสุสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
มหากิริยาจิตดวงที่ ๔ เกิดพร้อมกับความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นเองโดยมีการชักชวน

อุเปกขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
มหากิริยาจิตดวงที่ ๕ เกิดพร้อมกับความเฉยๆ ประกอบด้วยปัญญา เกิดขึ้นเองโดยไม่มีการชักชวน
อุเปกขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
มหากิริยาจิตดวงที่ ๖ เกิดพร้อมกับความเฉยๆ ประกอบด้วยปัญญา เกิดขึ้นเองโดยมีการชักชวน
อุเปกขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
มหากิริยาจิตดวงที่ ๗ เกิดพร้อมกับความเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นเองโดยไม่มีการชักชวน
อุเปกขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
มหากิริยาจิตดวงที่ ๘ เกิดพร้อมกับความเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นเองโดยมีการชักชวน


🔅 มหากิริยาจิตที่เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา

มหากิริยาจิต เป็นจิตที่เกิดแต่เฉพาะในสันดานของพระอรหันต์ผู้ประหาณกิเลสเป็นสมุจเฉทโดยสิ้นเชิง ฉะนั้น เมื่ออารมณ์ผ่านมาทางทวารทั้ง ๖ ย่อมจะพิจารณาอารมณ์นั้นๆ ด้วยความเป็นอุเบกขาไม่มีความยินดียินร้ายประการใดแล้ว มหากิริยาจิตจึงเกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนาได้ เช่น

จักขุทวารของพระอรหันต์ได้เห็นสถานที่อันเป็นสัปปายะ เหมาะสมแก่การเจริญกรรมฐาน ย่อมเข้าถึงความเป็นผู้โสมนัสด้วยมหากิริยาจิตดวงนี้ หรือ ทางโสตทวาร สดับเสียงเซ็งแซ่ของผู้ละโมบโลภมากในโรงทาน ก็เป็นผู้เข้าถึงซึ่งความโสมนัส ด้วยมหากิริยาจิตนี้ โดยคิดว่า “เราละตัณหาอันโลเลเห็นปานนี้ได้แล้ว” ทางฆานทวาร เวหาทวาร กายทวาร และมโนทวาร ก็เป็นไปในทำนองเดียวกับที่เป็นผู้ถึงความโสมนัสด้วยมหากริยาจิตได้

ความโสมนัสที่เกิดพร้อมกับมหากิริยาจิตของพระขีณาสพ สักแต่เป็นเวทนาที่เป็นผลของผัสสะเท่านั้นหาใช่เป็นเหตุแห่งตัณหา อุปาทาน และกรรมต่อไปไม่ มหากิริยาจิต จึงเกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนาได้ ส่วนมหากิริยาจิตที่เกิดพร้อมกับอุเบกขาเวทนานั้น ย่อมปรากฏในขณะพิจารณาอารมณ์นั้นด้วย 👉ฉฬังคุเบกขา ซึ่งไม่มีความยินดีประการใด

🔅 มหากิริยาจิตกับการประกอบด้วยปัญญา

มหากิริยาจิตที่เกิดในสันดานของพระขีณาสพนั้น ย่อมเป็นจิตที่บริสุทธิ์สะอาดปราศจากกิเลสมลทิน จิตที่บริสุทธิ์เช่นนี้ น่าจะเป็นจิตที่ประกอบด้วยปัญญาแต่ฝ่ายเดียว ที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา คือ ชนิดที่เป็นญาณวิปปยุตนั้น ไม่น่าจะมีได้

มหากิริยาจิตที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา ย่อมมีได้ กล่าวคือ ในขณะที่พระอรหันต์ทั้งหลาย ต้องประกอบกิจการอันเป็นไปตามธรรมดาของสังขาร หรือกิจการที่ได้กระทำจนเป็นความเคยชินซึ่งไม่ต้องประกอบด้วยปัญญาเลยก็มีได้ เช่น การยืน เดิน นั่ง นอน ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้น การงานต่าง ๆ เหล่านี้ ย่อมต้องอาศัยมหากิริยาจิตเป็นผู้จัดแจง และไม่ต้องใช้ปัญญามาประกอบด้วยเลย

มหากิริยาจิต ๘ เป็นจิตที่กระทำกิจการงานของกุศลนั่นเอง แต่ การงานของกุศล นั้น ย่อมให้ผลเป็นความสุขต่อไปอีก ส่วนพระอรหันต์ท่านทำกิจการงานที่ไม่ต้องการผล แม้เป็นความสุขต่อไปอีก จึงเรียกว่า สักแต่ทำ, พูด, คิด ด้วยมหากิริยาจิตเท่านั้นเอง ที่ว่าเป็นการงานของกุศลนั้น หมายความว่า การงานที่พระอรหันต์ทำนั้นถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ คือ ปุถุชน หรือ พระเสกขบุคคลทำ ก็ล้วนเป็นการงานที่เป็นกุศลไปทั้งสิ้น ส่วนการงานที่เป็นอกุศลนั้น แม้เพียงแต่คิดด้วยจิตอันเป็นอกุศลก็ไม่มีแล้วแก่จิตใจของพระอรหันต์ทั้งหลาย

คาถาสังคหะ

กาเม เตวีส ปากานิ     ปุญฺญาปุญฺญานิ วีสติ
เอกาทส กฺริยา เจติ     จตุปญฺญาส สพฺพถาฯ

แปลความว่า : กามาวจรวิบากจิต มี ๒๓, กามาวจรกุสลจิต และอกุสลจิต มี ๒๐, กามาวจรกิริยาจิต มี ๑๑ รวมกามาวจรจิต มี ๕๔ ดวง ดังนี้

วันศุกร์

มหาวิบากจิต ๘

วิบากจิต มีสภาพดังนี้ คือ : -

๑. ไม่ใช่เป็นจิตที่ต้องทำให้เกิดขึ้น ถ้ามีกุศลกรรม อกุศลกรรม เป็นเหตุแล้ววิบากจิต คือ ผล ก็ต้องมีแน่นอน
๒. วิบากจิต เป็นจิตที่สงบ ไม่ปรากฏอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นจิตที่ไม่มีความขวนขวาย หรือวิริยะ อุตสาหะ ยังมีกำลังอ่อน ต่างกับกุศล อกุศล และกิริยา
๓. วิบากจิต ไม่ปรากฏชัด ที่รู้สึกปรากฏชัดเฉพาะขณะหลับ ส่วนเวลาตื่น จิตขึ้นสู่วิถี เป็นกุศลบ้าง อกุสลบ้าง กิริยาบ้าง ย่อมเด่นชัดมากกว่าวิบากจิต
๔. เจตสิกที่เกิดกับวิบากจิต ก็มีกำลังอ่อนไปด้วย รวมทั้งปฏิสนธิ กัมมชรูปและจิตชรูป ที่เกิดจากวิบากจิตนั้น ก็ไม่ปรากฏอาการอย่างใดอย่างหนึ่งชัดเจนเหมือนกุศลจิต อกุศลจิต และกิริยาจิต เช่น ความชรา ย่อมเกิดแก่บุคคลทุกคน เมื่อความเกิดมีแล้ว ความชราจะต้องมีแน่นอน

🔅สเหตุกกามาวจรวิบากจิต (มหาวิบาก)

สเหตุกามาวจรวิบากจิต นิยมเรียกกันว่า กามาวจรวิบาก หรือมหาวิบากเพราะเป็นจิตที่เป็นผลของกามาวจรกุศลจิต หรือ มหากุศลจิต ๘ ดวงโดยตรง กล่าวคือ

มหากุศลจิต ๘ ดวง เป็นเหตุให้มหาวิบากจิตเกิด ๘ ดวง เป็นผล และย่อมให้ผลตรงกันดวงต่อดวง เช่น มหากุศลจิต เป็นโสมนัส ญาณสัมปยุต อสังขาริก ก็ให้ผลเป็น มหาวิบากโสมนัส ญาณสัมปยุต อสังขาริก ด้วยเหมือนกัน ดังนี้ เป็นต้น กามาวจรวิบากจิตนั้น เมื่อกล่าวโดยทั่วไปแล้ว ย่อมมี ๒๓ ดวง คือ

        กามาวจรวิบากจิต
                🅞 อเหตุกะ >> อกุศลวิบาก ๗ 
                                  >> กุศลวิบาก ๘ 
                🅞 สเหตุกะ >> กามาวจรวิบาก ๘

                      รวมเป็นจิตที่เกิด ๒๓ ดวง

ในกามาวจรวิบากจิต ๒๓ ดวงนั้น อกุศลวิบากจิต ๗ ดวง เป็นผลของอกุศลจิต ๑๒ ดวง อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ และสเหตุกกามาวจรวิบากจิต ๘ รวมจิต ๑๖ ดวงนี้ เป็นผลของกามาวจรกุศลจิต ๘ หรือที่เรียกว่า มหากุศลจิต ๘ ดวง เพราะเหตุที่ให้ผลมากกว่าตน เช่นนี้เอง แม้อเหตุกกุศลวิบากจิต และมหาวิบากจิต จะเนื่องแต่มหากุศลจิตอย่างเดียวกันก็ตาม แต่ความแตกต่างกันระหว่างอเหตุกกุศลวิบากจิต กับ มหาวิบากจิตย่อมมีอยู่เสมอ คือ

อเหตุกกุศลวิบากจิต คือ จิตที่เป็นผลของมหากุศล แต่ไม่ประกอบด้วยเหตุอย่างใด ๆ ประการหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นรับอารมณ์ก็ไม่มั่นคง ประการหนึ่ง และเกิดได้กว้างขวาง ทั้งในกามภูมิและรูปภูมิตามสมควร ประการหนึ่ง

มหาวิบากจิต คือ จิตที่เป็นผลของมหากุศลจิต แต่ประกอบด้วยเหตุประการหนึ่งเมื่อเกิดขึ้นรับอารมณ์ก็มั่นคง ประการหนึ่ง และเกิดได้เฉพาะในกามสุคติภูมิ ๗ เท่านั้นประการหนึ่ง

ฉะนั้น สเหตุกกามาวจรวิบากจิต หรือมหาวิบากจิต ที่จะกล่าวต่อไปนี้จึงหมายถึงจิตที่จะเป็นผลของมหากุศล เพราะเมื่อกล่าวโดยเวทนา สัมปโยคะ และสังขารแล้ว ก็เหมือนกันกับมหากุศลจิตทุกประการ จึงชื่อว่า "มหาวิบากจิต" สเหตุกกามาวจรวิบากจิตนี้ มีจำนวน ๘ ดวง และมีชื่อเหมือนกันกับมหากุศลจิต คือ 

๑. โสมนสุสสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๑ เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๒. โสมนสุสสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๒ เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน
๓. โสมนสุสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๓ เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๔. โสมนสุสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๔ เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน

๕. อุเบกขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๕ เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉย ๆ ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๖. อุเบกขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๖ เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน
๗. อุเบกขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๗ เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉย ๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๘. อุเบกขาสหคตํญาณวิปฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๘ เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน

🔅 มหาวิบากเป็นอัพยากตธรรม

มหาวิบากที่เป็นอัพยากตธรรม คือ ในสมัยใด เพราะกามาวจรกุศล อันได้กระทำไว้แล้ว จึงก่อให้เกิดผลเป็นมโนวิญญาณธาตุ อันเป็นวิบาก เกิดพร้อมกับความยินดีบ้าง ความเฉยๆ บ้าง ประกอบด้วยปัญญาบ้าง ไม่ประกอบด้วยปัญญาบ้าง มีรูปารมณ์ หรือปรารภอารมณ์ใดๆ เกิดขึ้นเอง โดยไม่มีการชักชวน หรือมีการชักชวน เป็นมหาวิบากจิต ๘ ดวง

ในสมัยนั้น ย่อมเกิดผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์มนสิการ สัทธา ฯลฯ เกิด อวิกเขป คือ สภาวะที่สงบอยู่ ไม่ฟุ้งซ่าน สภาวธรรมเหล่านั้น ชื่อว่าธรรมเป็นอัพยากต เพราะมีอัพยากตมูล คือ อโลภะ อโทสะ หรืออโมหะ เป็นมูลฐานให้สภาวธรรมเหล่านั้น ปรากฏขึ้น

🔅 มหาวิบากแตกต่างจากมหากุศล

มหาวิบากแตกต่างจากมหากุศล คือ ในมหากุศลทั้งหลาย มีความแตกต่างกันแห่งกรรม, ทวาร, กรรมบถและบุญกิริยาวัตถุ แต่ความแตกต่างกันเหมือนในมหากุศลนั้นไม่มีในมหาวิบาก ทั้งนี้ เพราะมหาวิบากไม่ยังวิญญัติให้เกิด เพราะมหาวิบากเป็นผลที่สุกแล้ว ไม่มีวิบากต่อไปอีก และเพราะมหาวิบากไม่ได้กระทำสัตวบัญญัติให้เป็นอารมณ์ คือ กรุณา มุทิตา และแม้วิรัติ คือ สัมมากัมมันตะ สัมมาวจาและสัมมาอาชีวะ ไม่มี ธรรมทั้ง ๕ ประการดังกล่าวนั้น จึงเกิดกับมหาวิบากจิตไม่ได้เลย ส่วนสภาวะแห่งสังขารธรรมนั้น คือ ประเภทแห่งอสังขาริกและสสังขาริกเหมือนกันกับมหากุศลทุกประการ

🔅 ฐานะที่อำนวยผลของมหาวิบาก

มหาวิบากจิตทั้ง ๘ ดวงนั้น ย่อมอำนวยผลในฐานะ ๔ ประการ คือ

ในฐานะที่เกิดขึ้นครั้งแรกในภพใหม่ เรียกว่า ปฏิสนธิกิจ
ในฐานะที่รักษาภพชาติที่ดำรงอยู่นั้นไว้ เรียกว่า ภวังคจิต
ในฐานะสิ้นไปจากภพชาตินั้น เรียกว่า จุติกิจ
ในฐานะหน่วงอารมณ์ที่เหลือจากการที่เสพแล้ว เรียกว่า ตทาลัมพนกิจ

 🅞 ฐานะผู้อำนวยผลเป็นปฏิสนธิกิจ ผู้ที่เคยทำบุญกุศล ทั้งชนิดที่ประกอบด้วยปัญญาก็ตาม อำนาจแห่งกุศลจิตดวงใดดวงหนึ่งใน ๘ ดวงนั้น ย่อมยังผลให้ปฏิสนธิเป็นมนุษย์ และเป็นเทวดา ชั้นกามาวจร ผู้ปฏิสนธิ คือ มหาวิบากจิต ๘ และกัมมชรูป
🅞 ฐานะอำนวยผลเป็นภวังค์กิจ เมื่อสัตว์ทั้งหลายผ่านการปฏิสนธิไปแล้ว ก็อำนวยผลเป็นภวังค์ ทำหน้าที่ในการรักษาภพชาติของมนุษย์ หรือเทวดาชั้นกามาวจรเหล่านั้นไว้ในปวัตติกาลตลอดอายุขัย ๗๕ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง ตามสมควรแก่อายุขัยแห่งสัตว์ในภพภูมิที่เป็นอยู่นั้น
🅞 ฐานะอำนวยผลเป็นตทาลัมพูนกิจ ยึดหน่วงอารมณ์ที่เหลือต่อจากขณะเสพอารมณ์นั้น ได้แก่ รับอารมณ์ที่เหลือต่อจากชวนจิตวิบากจิตที่จะอำนวยผลเป็นตทาลัมพนกิจนี้มีได้แต่เฉพาะกามสัตว์ที่ในกามภูมิ เท่านั้น คือ เป็นกามบุคคล มีกามอารมณ์ และกามชวนะ
🅞 ฐานะอำนวยผลเป็นจุติกิจ ในมรณกาลแห่งภพชาติที่เป็นอยู่นั้น มหาวิบากจิตที่ปรากฏครั้งแรกในภพชาตินั้นๆ และดำรงสืบต่อมาเรื่อยๆ จนถึงเวลาที่ต้องเคลื่อนไปจากภพชาติที่เป็นอยู่ ฉะนั้น มหาวิบากจิตประเภทเดียวกับที่ถือปฏิสนธินั่นเอง เป็นผู้จุดสิ้นไปจากภพชาตินั้น



ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า มหาวิบากทั้ง ๘ ดวงนี้ ย่อมเป็นผู้ตั้งต้นสัตว์ให้ปรากฏขึ้นใหม่ในกามสุคติภูมิ ๗ ตามสมควรแก่กำลังของมหากุศล ซึ่งทำให้สัตว์แตกต่างกันด้วยภูมิหรือกำเนิด และแม้อยู่ในภูมิเดียวกัน ก็ยังต่างกันด้วยอำนาจแห่งกิเลสและต่างกันด้วยอำนาจแห่งศรัทธา ปัญญาของกุศลเจตนาในอดีต อันยังเป็นวิบากที่ให้สัตว์เหล่านั้นพึงได้รับภายหลังจากที่ได้เกิดมาแล้ว สัตว์เหล่านี้ บางพวกมีโลภะเป็นส่วนมาก บางพวกมีโทสะเป็นส่วนมาก และบางพวกมีโมหะเป็นส่วนมาก ถ้าจะตั้งปัญหาถามว่า ธรรมอันใดเป็นผู้กำหนดภาวะที่เป็นส่วนข้างมาก ก็ให้ปรากฏเป็นผลขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้น คำตอบ ก็คือ เพราะเหตุ ๖ ประการ คือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ที่สัตว์เหล่านั้นได้กระทำไว้แล้วนั่นเอง เป็นผู้กำหนดให้ด้วยเหตุนี้ในขณะที่ขวนขวายประกอบกรรมในปัจจุบัน ความแตกต่างในการขวนขวายของบรรดาสัตว์เหล่านั้น ย่อมปรากฏเป็นผลที่แตกต่างกัน คือ 


  • ผู้ใด มีโลภะ อโทสะ อโมหะ แรง แต่อโลภะ โทสะ และโมหะอ่อน ผู้นั้นเป็นคนมักได้ ชอบสบาย มักไม่โกรธ แต่ย่อมเป็นผู้มีปัญญา
  • ผู้ใด มีโลภะ โทสะ และอโมหะ แรง แต่มีอโลภะ อโทสะ และโมหะอ่อน ย่อมเป็นคนมักได้และฉุนเฉียว แต่ย่อมเป็นผู้มีปัญญา
  • ผู้ใด มีโลภะ อโทสะ และโมหะ แรง ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มักได้ โง่เขลาและชอบสบาย มักไม่โกรธง่าย
  • ผู้ใด มีโลภะ โทสะ โมหะ แรง ย่อมเป็นผู้มักได้ ฉุนเฉียวและลุ่มหลง
  • ผู้ใด มีอโลภะ โทสะ โมหะ แรง ผู้นั้นย่อมมักน้อย แต่เป็นผู้ฉุนเฉียว และมีปัญญาน้อย
  • ผู้ใด มีอโลภะ อโทสะ และโมหะ แรง ย่อมเป็นผู้มักน้อย ไม่ฉุนเฉียว และ เป็นคนเขลา
  • ผู้ใด มีอโลภะ โทสะ และอโมหะ แรง ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มักน้อย และมีปัญญาแต่เป็นผู้ฉุนเฉียว มักโกรธ
  • ผู้ใด มือโลภะ อโทสะ และอโมหะ ทั้ง ๓ แรง ย่อมเป็นผู้ไม่มักได้ ไม่ฉุนเฉียวและมีปัญญา

ตามที่กล่าวมานี้ ย่อมเห็นได้ว่า เหตุเบื้องต้น ย่อมกำหนดผลให้ปรากฏขึ้นเพื่อเป็นอุปการะในการประกอบกรรมในปัจจุบัน ความต่างกัน จึงย่อมปรากฏขึ้นในขณะขวนขวายประกอบกรรมนั้น ๆ ภาวะที่ติดมาแต่อดีตนั้น จึงเข้าใจว่าเป็นวิบากนั่นเอง แต่การที่จะชี้เฉพาะเจาะจงลงไปว่า วิบากใด เป็นผลของกรรมอันไหน ได้ทำไว้แล้วเมื่อใด ย่อมไม่อาจชี้เจาะจงลงได้ และยิ่งกว่านั้น พระพุทธองค์ยังทรงแสดงไว้ในจตุกนิบาตอังคุตรพระบาลีว่า การค้นหาวิบากกรรมนั้น เป็นสิ่งไม่ควรคิดเพราะไม่ใช่วิสัยของผู้ใด เว้นแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะค้นคิดได้พระองค์ตรัสมีใจความว่า

“ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย สิ่งไม่ควรคิด ที่ชื่อว่า อจินไตยธรรม มีอยู่ ๔ ประการ และถ้ามีผู้ใดเอามาคิด ผู้นั้นอาจจะเป็นบ้า มีความลำบากใจเป็นแน่แท้ สิ่งที่ไม่ควรคิด ๔ อย่างนั้น คืออะไรบ้าง?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

พุทธวิสัย คือ เรื่องเกี่ยวกับพระสัพพัญญุตญาณ ความเป็นไปและอานุภาพของพระสัพพัญญุตญาณ พระพุทธคุณแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิดอย่างหนึ่ง
ฌานวิสัย คือ ฌานอภิญญาแห่งท่านทั้งหลายผู้ทรงฤทธิ์ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิดอย่างหนึ่ง
กรรมวิบาก คือ ผลแห่งกรรมทั้งหลาย มีทิฏฐธรรมเวทนียกรรมเป็นต้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรคิดอย่างหนึ่ง
โลกจินตา คือ ความเป็นไปของโลก อันเป็นที่อาศัยของสัตว์ และสัตว์ทั้งหลาย แผ่นดิน ภูเขา แม่น้ำ ต้นไม้ เป็นต้น เหล่านี้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิดอย่างหนึ่ง

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่ควรคิด ๔ อย่าง ดังกล่าวนี้ ถ้าผู้ใดคิดผู้นั้นจะเป็นบ้า มีความลำบากใจเป็นแน่แท้ การที่พระพุทธองค์ได้ทรงห้ามคิดในเรื่องของวิบากไว้นั้น ก็เพราะสภาวะที่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลายอยู่ตลอดเวลานั้น ย่อมจะห้ามวิบากไม่ให้เกิดไม่ได้ เพราะสัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นผู้ประกอบกรรมให้เป็นไปตามกุศล อกุศลกรรมแห่งตน อันย่อมประพฤติเพื่อความหมุนเวียนเปลี่ยนไปในคติทั้ง ๕ ประการ ที่เรียกว่า "สมังคีตา" สมังคีตา ๕ หมายถึง กุศลกรรม หรืออกุศลกรรมที่สำเร็จลงได้ครั้งหนึ่ง ๆ นั้น ย่อมยังความพร้อมแห่งธรรม ๕ ประการให้เกิดขึ้น คือ

๑. อายุหนสมงฺคิตา ได้แก่ ความเพียร ในขณะกระทำกุศลกรรม อกุศลกรรม
๒. เจตนาสมงฺคิตา ได้แก่ เจตนาในกาลทั้ง ๓ คือ ปุพพเจตนา มุญจเจตนาและอปรเจตนา ในการกระทำกุศล อกุศลกรรม เจตนา สมังคีตานี้ มีในบุคคลทั่วไป เว้นแต่ในพระอรหันต์
๓. กมุมสมงฺคิตา ได้แก่ กุศลกรรม อกุศลกรรม อันเป็นเหตุที่จะก่อให้เกิดผลในอนาคต ครบองค์แห่งกรรมบถ
๔. วิปากสมงฺคิตา ได้แก่ ผลของกุศลกรรม อกุศลกรรมในอดีตที่ประกอบพร้อมด้วยกรรมในปัจจุบัน ถ้ายังไม่ถึงซึ่งพระนิพพานตราบใด ย่อมไม่แคล้วคลาดไปจากวิปากสมังคีตาอยู่ตราบนั้น คือ จะต้องรับผลของกรรมนั้นๆ
๕. อุปฎฐานสมงฺคิตา ได้แก่ กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ที่ปรากฏขึ้นในเวลาใกล้จะตายอุปัฏฐานสมังคีตานี้มีกำลังอ่อนกว่าสมังคีทั้งปวงอำนาจของกรรมที่จะส่งผลย่อมกระทำอารมณ์ให้ปรากฏเมื่อใกล้ตาย

วันพฤหัสบดี

มหากุศลจิต ๘

กามาวจรกุศลจิต หรือมหากุศลจิต เป็นจิตที่ประกอบด้วยเจตนาที่ดีงาม จึงเป็นจิตที่ไม่มีโทษและให้ผลเป็นความสุข และยังสามารถให้ผลเกิดขึ้นได้มากกว่าตน คือให้เกิดผลเป็นอเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ ดวง และมหาวิบากจิต ๘ ดวง ยิ่งกว่านั้นที่ชื่อว่า “มหากุศลจิต” นั้น เพราะเหตุที่

ก. เป็นจิตที่เกิดได้กว้างขวางในอารมณ์ ๖ คือเกิดได้ในอารมณ์ที่เป็นรูป, เสียง, กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ทั้งเป็นจิตที่ดีงามที่เกิดขึ้นได้กว้างขวางทั่วไปไม่จำกัดขอบเขตภพภูมิ และประเภทแห่งสัตว์และบุคคล กล่าวคือเกิดได้ในภูมิต่าง ๆ ตลอด ๓๐ ภูมิ ตั้งแต่นิรยภูมิ จนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ) และเกิดได้ในจิตสันดานของสัตว์ทั้งหลาย ตั้งแต่อบายสัตว์ มนุษย์ เทวดา รูปพรหม (เว้นอสัญญสัตตพรหม) และอรูปพรหม เกิดได้ในบุคคลทั่วไป เว้นแต่ในจิตสันดานของมรรคบุคคลกับพระอรหันต์ทั้งหลายเท่านั้น

ข. เป็นจิตเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญทาน รักษาศีล และภาวนาเบื้องต้นให้เกิดฌาน มรรค ผล ตลอดจนน้อมเอาอารมณ์พระนิพพาน (ขณะที่มหากุศลจิตเข้าถึงโคตรภูญาณ และปัจจเวกขณญาณ) อีกด้วย

สภาพจิต ซึ่งประกอบด้วยเจตนาที่ดีงาม อันเป็นกามาวจรกุศลนี้ จึงชื่อว่า “มหากุศลจิต” ด้วยเหตุดังกล่าว และมหากุศลจิต จำแนกออกได้เป็น ๘ ประเภท คือ

๑. โสมนสุสสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๒. โสมนสุสสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน
๓. โสมนสุสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๔. โสมนสุสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน
๕. อุเบกขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความเฉยๆ ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๖. อุเบกขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความเฉยๆ ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน
๗. อุเบกขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๘. อุเบกขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน


🔅 แสดงการจำแนกมหากุศลจิต ๘ ดวง

มหากุศลจิต
    โสมนัส
        - ญาณสัมปยุต > อสังขาริก ๑
                                > สสังขาริก ๑
        - ญาณวิปปยุต > อสังขาริก ๑
                                > สสังขาริก ๑

    อุเบกขา
        - ญาณสัมปยุต > อสังขาริก ๑
                                > สสังขาริก ๑
        - ญาณวิปปยุต > อสังขาริก ๑
                                > สสังขาริก ๑

ข้อควรสังเกต
มหากุศลจิตที่จำแนกออกไปได้เป็น ๘ ดวงนั้น เพราะอาศัยสภาพธรรม ๓ ประการ คือ เวทนา ญาณ และสังขาร เป็นตัวการที่ปรุงแต่งจิตให้ผิดแผกแตกต่างกันไป คล้ายกับสภาพของเวทนา ทิฏฐิ และสังขาร ที่จำแนกโลภมูลจิตให้แตกต่างกันไปได้ ๘ ดวง ฉะนั้น


🔅 แสดงการจำแนกมหากุศลจิต ๘ โดยธรรม ๓ ประการ

๑. มหากุศลจิต ๘ โดยประเภทแห่งเวทนา
  • โสมนัส ๔
  • อุเบกขา ๔
๒. มหากุศลจิต ๘ โดยประเภทแห่งญาณ

  • ญาณสัมปยุต ๔
  • ญาณวิปปยุต ๔

๓. มหากุศลจิต ๘ โดยประเภทแห่งสังขาร

  • อสังขาริก ๔
  • สสังขาริก ๔


๑. มหากุศลจิต ๘ ดวง นั้น เมื่อกล่าวโดยประเภทแห่งเวทนาแล้ว มหากุศลจิตย่อมเกิดพร้อมกับเวทนาได้ ๒ เวทนา คือ เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา และเกิดพร้อมกับอุเบกขาเวทนา หมายความว่า จิตที่เป็นไปในการกระทำความดีของสัตว์ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความดีของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปพร้อมกับความรู้สึกปีติยินดีมาก ที่เรียกว่า โสมนัสเวทนา หรือมิฉะนั้นก็เป็นไปพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ ที่เรียกว่า อุเบกขาเวทนา จะเป็นไปพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับ ศรัทธา ของผู้กระทำ ถ้าผู้กระทำมีศรัทธามาก การกระทำความดีนั้นเป็นไปพร้อมด้วยความรู้สึกยินดีมาก แต่ผู้กระทำมีศรัทธาน้อย การกระทำความดีนั้นเป็นไปพร้อมด้วยความรู้สึกเฉยๆ

๒. มหากุศลจิต ๘ ดวง เมื่อกล่าวโดยประเภทแห่งญาณ คือ การประกอบด้วยปัญญาแล้วก็มี ๒ อย่าง คือจิตที่ประกอบด้วยปัญญา เรียกว่า “ญาณสัมปยุต” และจิตที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา เรียกว่า “ญาณวิปปยุต

ญาณสัมปยุต หมายถึง ประกอบด้วยปัญญา คือ มีความเห็นถูกต้องตามสภาวะความจริง ปัญญาที่กล่าวนี้ มุ่งหมายเอาปัญญาที่ประกอบกับกามาวจรกุศลจิตเท่านั้น คือ กัมมัสสกตาปัญญา และวิปัสสนาปัญญา กัมมัสสกตาปัญญา หมายถึง ปัญญาที่รู้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีสิทธิในการกระทำของตน ทั้งที่เป็นไปในฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดีด้วยกันทั้งนั้น ทรัพย์สินเงินทอง บิดา มารดา สามี ภรรยา หรือบุตร ธิดา ทั้งหลาย มิใช่เป็นสิทธิของสัตว์เหล่านั้นโดยแท้ เพราะไม่อาจติดตามสัตว์ทั้งหลายไปในภพอื่นได้ และแม้ในภพนี้ ก็ยังมีสิทธิอันไม่แน่นอนอีกด้วย เพราะอาจมีภัยพิบัติให้ต้องเสียหาย ต้องล้มตาย ต้องพลัดพรากจากกัน หรือถูกแย่งชิงเอาไปได้

กมุม สกํ เยสนฺติ = กมฺมสฺสกา แปลว่า กรรมเป็นกรรมสิทธิ์ของตน มีแก่สัตว์ทั้งหลาย ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลาย จึงชื่อว่า กัมมัสกะ

กมฺมสฺสกานํ ภาโว = กมฺมสฺสกตา แปลว่า ความเป็นอยู่แห่งสัตว์ทั้งหลายที่มีกรรมเป็นกรรมสิทธิ์ของตน ชื่อว่า กัมมัสสกตา

กมฺมสฺสกตา ญาณํ = กมฺมสฺสกตาญาณํ แปลว่า ความรู้เหตุผล ในความเป็นอยู่แห่งสัตว์ชื่อว่า กัมมัสสกตาปัญญา

ฉะนั้น ความรู้เหตุผลในความเป็นอยู่ของสัตว์ที่รู้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีสิทธิในการกระทำของตน หรือรู้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ความรู้นั้น ชื่อว่า “กัมมัสสกตาปัญญา” และปัญญาย่อมเกิดขึ้นต่อเนื่องกัน ๓ ประการ

🙏 การเกิดขึ้นของปัญญา ๓ ประการ

๑. สุตมยปัญญา ปัญญาใดที่เกิดขึ้นด้วยการศึกษาเล่าเรียน หรือได้ยิน ได้ฟังมา ปัญญานั้น เรียกว่า “สุตมยปัญญา” ปัญญานี้ แก้ความเข้าใจผิดที่เคยได้ยินได้ฟังมา หรือให้เข้าใจในสิ่งที่ยังไม่เคยรู้มาก่อน
๒. จินตามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการคิดพิจารณาในความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลาย โดยความมีโรค ไม่มีโรค โดยความโง่ ความฉลาด สุข หรือทุกข์ อายุยืนหรือสั้น ยากจนหรือมั่งมี เหล่านี้ เป็นต้น หรือปัญญาใดที่เคยได้ยินได้ฟังมาแล้วนำมานึกคิด หรืออนุมานโดยเทียบเคียงตามวัตถุเหล่านั้นว่า ไม่เที่ยง เป็นต้น โดยอาศัยกาลทั้ง ๓ (อดีต ปัจจุบัน อนาคต) ปัญญานี้ เรียกว่า “จินตามยปัญญา
๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการเจริญภาวนา ได้แก่ วิปัสสนาภาวนา ปัญญาใดเข้าไปรู้ความจริงของนามรูปว่า ไม่เที่ยง เป็นต้น ปัญญานั้น เรียกว่า “ภาวนามยปัญญา”

ปัญญาตามที่ได้แสดงมาแล้ว จึงแบ่งได้เป็น ๒ อย่าง คือ ปัญญาที่เป็นเหตุ ได้แก่ปัญญาทั้ง ๓ ดังกล่าวนั้น และ ปัญญาที่เป็นผล ได้แก่ กัมมัสสกตาปัญญาหรือวิปัสสนา ปัญญา แม้ว่า ชนทั้งหลายยังไม่อาจละสักกายทิฏฐิ (ความยึดมั่นในขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวตน) ได้ก็ตาม แต่เมื่อมีความเห็นถูกตรงอยู่ในอารมณ์ ๑๐ ประการที่เรียกว่า ทสวัตถุกสัมมาทิฏฐิ ดังจะกล่าวต่อไปนี้ ก็ชื่อว่า เป็นผู้รู้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ๆ เป็นกัมมัสสกตาปัญญา แต่วิปัสสนาปัญญานั้น ต้องรู้รูป-นามไม่เที่ยง เป็นต้น ย่อมละสักกายทิฏฐิ

🙏 ทสวัตถุกสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการ

๑. อตฺถิ ทินนํ เห็นว่า การทำบุญให้ทานได้รับผลดีมีประโยชน์
๒. อตฺถิ ยิฏฐํ เห็นว่า การบูชาได้รับผลดีมีประโยชน์
๓. อตฺถิ หุตํ เห็นว่า การเชื้อเชิญ ปฏิสันถาร ได้รับผลดีมีประโยชน์
๔. อตฺถิ สุกตทุกกตานํ กมุมาน ผลํ วิปาโก เห็นว่า การทำดีและทำชั่ว มีการได้รับผลทั้งทางตรงและทางอ้อม
๕. อตฺถิ อยํ โลโก เห็นว่า ภพนี้มีอยู่ คือ ผู้ที่จะมาเกิดในภพนี้มีอยู่
๖. อตฺถิ ปโร โลโก เห็นว่า ภพหน้ามีอยู่ คือผู้ที่จะไปเกิดภพหน้าในอนาคตมี
๗. อตฺถิ มาตา เห็นว่า การทำดีทำชั่วต่อมารดา ย่อมมีผลในภายหน้า
๘. อตฺถิ ปิตา เห็นว่า การทำดีทำชั่วต่อบิดา ย่อมมีผลในภายหน้า
๙. อตฺถิ สตฺตา โอปปาติกา เห็นว่า สัตว์ที่เติบโตขึ้นทันทีมีอยู่ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เทวดา และพรหม นั้นมี
๑๐. อตฺถิ โลเก สมณพราหมณา สมมาปฏิปันนา เห็นว่า สมณพราหมณ์ ผู้ปฏิบัติชอบประจักษ์แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยตนเอง และประกาศให้ผู้อื่นได้นั้น มีอยู่

ความเห็นตรงตามหลักของทสวัตถุกสัมมาทิฏฐิแล้วทุกประการนั้น ชื่อว่า กัมมัสสกตาญาณได้เกิดขึ้นแล้ว การบริจาคทาน การรักษาศีล เจริญภาวนาของผู้นั้น มีอานิสงส์สมบูรณ์เหมือนการเพาะเมล็ดโพธิ์ให้เจริญเป็นต้นโพธิ์ใหญ่ ตรงกันข้ามถ้าทาน ศีล ภาวนา ของผู้ที่ไม่มีกัมมัสสกตาญาณ มีอานิสงส์น้อยเหมือนต้นโพธิ์ที่ให้ผลเกิดเป็นเมล็ดโพธิ์เท่านั้น ทสวัตถุกสัมมาทิฏฐิ อุปมาเหมือนหินฝน ที่ใช้ฝนดูเนื้อทองว่า แท้หรือเทียม หรือเหมือนน้ำกรดที่ใช้หยอดดูเนื้อเงิน, ทอง, นาก ว่าแท้หรือไม่ฉันใด ความเห็นชอบประกอบด้วยปัญญาอาศัยทสวัตถุกสัมมาทิฏฐิเป็นเครื่องมือตรวจกรรมของสัตว์ก็อุปไมยฉันนั้น

วิปัสสนาปัญญา เป็นปัญญาที่รู้ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ สัจจะ ๔ และปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ว่า เป็นสภาวะของรูปนาม ที่เป็นอนิจจัง ทุกขังและอนัตตา กล่าวคือ มีปัญญารู้ว่า บรรดาสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิตก็ตาม คงมีแต่รูปกับนาม ใน ๒ อย่างนี้เท่านั้น และรูปนามนี้ก็เป็นของไม่เที่ยง เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไปเสมอ ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งสิ้น ปัญญาใดเข้าไปรู้ความจริงของนามรูปว่าไม่เที่ยง เป็นต้น โดยเข้าไปพิสูจน์แล้วด้วยตนเอง ปัญญานั้นเรียกว่า “วิปัสสนาปัญญา”

ญาณวิปปยุต นั้น แปลว่า ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา ทั้งที่เป็นกัมมัสสกตาปัญญา และวิปัสสนาปัญญาฉะนั้น มหากุศลจิตชนิดที่เป็นญาณวิปปยุตนั้น จึงหมายถึง จิตที่มีเจตนามุ่งกระทำความดี แต่มิได้เป็นไปโดยประกอบด้วยปัญญา เช่น การทำบุญให้ทานตามเทศกาลประเพณี เป็นต้น อาศัยศรัทธาเป็นประธาน

มหากุศลจิต ๘ ดวงเมื่อว่าโดยประเภทแห่งสังขาร คือ ต้องอาศัยมีการชักชวนและไม่ต้องอาศัยการชักชวน ได้แก่ อสังขาริกจิต ๔ ดวง และสสังขาริกจิต อีก ๔ ดวง ตาม นัยเดียวกันกับโลภมูลจิต ๘ ดวง นั่นเอง

🙏 แสดงการจําแนกกามาวจรกุศลโดยเหตุ
กามาวจรกุศลนี้ เมื่อจำแนกโดยเหตุแล้ว มี ๒ อย่าง คือ ติเหตุกกุศล และทวิเหตุกกุศล

ติเหตุกกุศล
ในการกระทำกุศลต่าง ๆ มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น จะกระทำด้วยกาย วาจา หรือใจ ก็ตาม ถ้ากุศลจิตของผู้กำลังกระทำกุศลอยู่นั้นประกอบด้วยกัมมัสสกตาญาณ หรือวิปัสสนาญาณ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว กุศลกรรมชนิดนี้ ชื่อว่า “ติเหตุกกุศล” เพราะเป็นกุศลกรรม ที่ประกอบด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุ องค์ธรรมได้แก่ มหากุศลญาณสัมปยุตจิต ๔

ทวิเหตุกกุศล
ในการกระทำกุศลต่าง ๆ มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น จะกระทำด้วยกาย วาจา หรือใจ ก็ตาม ถ้ากุศลจิตของผู้ที่กำลังกระทำกุศลอยู่นั้นมิได้ประกอบด้วยกัมมัสสกตาญาณ หรือวิปัสสนาญาณแต่อย่างใด กุศลกรรมชนิดนี้ ชื่อว่า “ทวิเหตุกกุศล” เพราะเป็นกุศลกรรม ที่ประกอบด้วยกุศลเหตุเพียง ๒ ประการ คือ อโลภเหตุ และอโทสเหตุเท่านั้น (ไม่ประกอบด้วยอโมหเหตุ) ฉะนั้น องค์ธรรม จึงได้แก่มหากุศลญาณวิปปยุตจิต ๔ ดวง

🙏 แสดงการจําแนกกามาวจรกุศลโดยเจตนา

ในการกระทำกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นติเหตุกกุศล หรือทวิเหตุกกุศล ก็ตาม ย่อมประกอบด้วยเจตนาในกาลทั้ง ๓ คือ
๑. ปุพพเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นก่อนการกระทำ
๒. มุญจฺเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นในขณะกำลังกระทำ
๓. อปรเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นในภายหลัง เมื่อกระทำไปแล้ว

ติเหตุกกุศล และทวิเหตุกกุศลนั้น เมื่อจำแนกออกโดยอำนาจแห่งเจตนาดังกล่าวแล้ว ย่อมได้อย่างละ ๒ ชนิด คือ

๑. อุกกัฏฐกุศล หมายถึง กุศลชั้นสูง คือ ในการกระทำกุศลต่าง ๆ มีทาน ศีล ภาวนาเป็นต้น ก่อนจะทำก็ดี ขณะกำลังกระทำก็ดี หรือภายหลังที่ทำเสร็จแล้วก็ดี ถ้าจิตของผู้กระทำนั้น ไม่มีอกุศลเจือปน คือ มีเจตนาบริสุทธิ์ในกาลทั้ง ๓ ด้วยเหตุนี้ ทานกุศล ศีลกุศล หรือภาวนากุศลที่เกิดขึ้นแก่ผู้นั้น จะเป็นเหตุกกุศลหรือทวิเหตุกกุศล ก็ตาม จัดเป็นอุกกัฏฐกุศล คือ กุศลชั้นสูง
๒. โอมกกุศล หมายถึง กุศลชั้นต่ำ คือ ในการกระทำกุศลต่าง ๆ มีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น ก่อนจะทำก็ดี ขณะกำลังกระทำก็ดี หรือภายหลังที่ทำเสร็จแล้วก็ดี ถ้าจิตของผู้กระทำ นั้นมีอกุศลเข้าเจือปน คือมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ในกาลทั้ง ๓ ด้วยเหตุนี้ ทานกุศล ศีลกุศลหรือภาวนากุศล ที่เกิดขึ้นแก่ผู้นั้น จะเป็นเหตุกกุศล หรือทวิเหตุกกุศลก็ตาม จัดเป็นโอมกกุศล คือ กุศลชั้นต่ำทั้งสิ้น

🔅 จำแนกติเหตุกกุศล และ ทวิเหตุกกุศลโดยอุกกัฏฐะ และ โอมกะ

ติเหตุกกุศล

  • อุกกัฏฐะ คือ กุศลชั้นสูง
  • โอมกะ คือ กุศลชั้นต่ำ

ทวิเหตุกกุศล

  • อุกกัฏฐะ คือ กุศลชั้นสูง
  • โอมกะ คือ กุศลชั้นต่ำ

บรรดา เจตนา ที่เป็นเครื่องตัดสินกุศลกรรมว่า เป็นชนิดอุกกัฏฐกุศล หรือ โอมกกุศลนั้น อปรเจตนา มีความสำคัญมากกว่าปุพพเจตนาและมุญจเจตนา เพราะอปรเจตนาเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นภายหลังจากการทำกุศลนั้น ๆ สำเร็จแล้วแม้ปุพพเจตนาหรือมุญจเจตนา จะไม่บริสุทธิ์ แต่อปรเจตนาบริสุทธิ์ก็จัดว่า เป็นอุกกัฏฐกุศล แต่ถ้าปุพพเจตนาและมุญจเจตนาบริสุทธิ์อปรเจตนาไม่บริสุทธิ์กุศลนั้น จัดเป็นโอมกกุศล ด้วยเหตุนี้อปรเจตนา จึงมีความสำคัญมากในการตัดสินว่ากุศลนั้นเป็นกุศลชนิดอุกกัฏฐกุศล หรือ โอมกกุศล

อปรเจตนานี้ ท่านอรรถกถาจารย์ได้จำแนกพิสดารออกไปอีก เป็น "อปราปรเจตนา" นั้น คือเจตนาที่เกิดขึ้นภายหลังอปรเจตนาได้เกิดล่วงไปแล้ว ๑ วัน หรือ ๑ เดือน เป็นต้น กล่าวคือ เมื่อได้นึกถึงการบริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนาของตนที่ได้ทำไปแล้ว แม้จะล่วงเลยมาหลายวันหลายเดือนแล้วก็ตาม แต่ความปีติ โสมนัสศรัทธา และปัญญาอันมีในกุศลของตนนั้นยังเกิดอยู่เสมอๆ เจตนาที่เป็นความคิดคำนึงในหนหลังนี้ จัดเป็นกุศลอปราปรเจตนา ถ้าการบริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนาของตนที่ได้ทำไปแล้วในเวลาต่อๆ มา เกิดความเสียดาย กลุ้มใจ หรือมิฉะนั้นเกิดความยินดีเพลิดเพลินเกี่ยวด้วยตัณหา หรือเกิดความผยองในใจว่า เราทำได้ดีกว่าผู้อื่นอันเป็นตัวมานะอปราปรเจตนาเป็นอกุศล กุศลกรรมนั้นๆ ก็จัดเป็นกุศลชนิดโอมกะ

ฉะนั้น เมื่อจะจำแนกอุกกัฏฐกุศล และโอมกกุศล ทั้งที่เป็นเหตุกกุศล และ ทวิเหตุกกุศลโดยอปราปรเจตนาแล้ว ย่อมจำแนกได้ ๘ ประการ

🔅 แสดงการจำแนกอุกกัฏฐะ และ โอมกะของติเหตุกกุศล และทวิเหตุกกุศลโดยอปราปรเจตนา

ติเหตุกกุศล

  • อุกกัฏฐะ  > ติเหตุกอุกกัฏฐุกกัฏฐะ
                   >  ติเหตุกอุกกัฏโฐมกะ
  • โอมกะ    >  ติเหตุกโอมกุกกัฏฐะ
                   >  ติเหตุกโอมโกมกะ

ทวิเหตุกกุศล

  • อุกกัฏฐะ  > ทวิเหตุกอุกกัฏฐุกกัฏฐะ
                   >  ทวิเหตุกอุกกัฏโฐมกะ
  • โอมกะ    >  ทวิเหตุกโอมกุกกัฏฐะ
                   >  ทวิเหตุกโอมโกมกะ

ความเป็นไปของเหตุกกุศล และ ทวเหตุกกุศลทั้ง ๘ ประการนี้ อาศัยมุญจเจตนาเป็นตัวนำ และอาศัย อปรเจตนา กับ อปราปรเจตนา เป็นตัวจำแนกกล่าวคือ ขณะที่มุญจเจตนาเกิดขึ้นประกอบด้วยไตรเหตุ ชื่อว่า "ติเหตุกกุศล" แต่ถ้าขณะมุญจเจตนาประกอบด้วยทวิเหตุ (ไม่มีอโมหะประกอบ) ก็ชื่อว่า "ทวิเหตุกกุศล" ทั้งติเหตุกกุศล และ ทวิเหตุกกุศลเหล่านี้ ถ้าเกิดขึ้นขณะที่...

อปรเจตนาดี และ อปราปรเจตนาก็ดี จัดเป็น อุกกัฏฐุกกัฏฐะ
อปรเจตนาดี และ อปราปรเจตนาไม่ดี จัดเป็น อุกกัฏโฐมกะ

อปรเจตนาไม่ดี แต่อปราปรเจตนาดี จัดเป็น โอมกุกกัฏฐะ
อปรเจตนาไม่ดี และ อปราปรเจตนาก็ไม่ดี จัดเป็น โอมโกมกะ

🙏 กามาวจรกุศลกรรม

กามาวจรกุศลกรรม หมายถึง การกระทำความดี หรือการกระทำสุจริตที่เกี่ยวข้องด้วยกามารมณ์ มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นต้น และกรรมดีหรือสุจริตกรรมนั้น ย่อมเกิดขึ้นได้ด้วยอำนาจของเจตนาที่มีอยู่ในมหากุศลจิตเป็นประการสำคัญ จึงสำเร็จเป็นการงานที่ชื่อว่า “กามาวจรกุศลกรรม” หรือ “กามกุศลกรรม” 

กามาวจรกุศลกรรม หรือกามกุศลกรรมนี้ มีการแสดงไว้เป็น ๒ นัย คือ
๑. โดยกรรมทวาร
๒. โดยบุญกิริยาวัตถุ

จะได้แสดงนัยทั้ง ๒ นี้ ต่อไปโดยลำดับ

👉ก. กามาวจรกุศลว่าโดยกรรมทวาร 
กามาวจรกุศล เมื่อว่าโดยกรรมทวารแล้ว มีอยู่ ๓ ทวาร คือ
๑. กรรมที่เกิดขึ้นทางกาย เรียกว่า “กายกรรม”
๒. กรรมที่เกิดขึ้นทางวาจา เรียกว่า “วจีกรรม”
๓. กรรมที่เกิดขึ้นทางใจ เรียกว่า “มโนกรรม”

และเมื่อว่าโดยประเภทแห่งกุศลกรรมแล้วมี ๑๐ อย่าง

กายกรรม ๓ คือ

  • ๑. ปาณาติปาตวิรติ เว้นจากการฆ่าสัตว์
  • ๒. อทินนาทานวิรติ เว้นจากการลักทรัพย์
  • ๓. กาเมสุมิจฉาจารวิรติ เว้นจากการประพฤติผิดทางเพศ
วจีกรรม ๔ คือ

  • ๑. มุสาวาทวิรติ เว้นจากการกล่าวเท็จ
  • ๒. ปิสุณวาจาวิรติ เว้นจากการกล่าวส่อเสียด
  • ๓. ผรุสวาจาวิรติ เว้นจากการกล่าวคำหยาบ
  • ๔. สัมผัปปลาปวิรติ เว้นจากการกล่าวคำที่ไม่เป็นประโยชน์

มโนกรรม ๓ คือ

  • ๑. อนภิชฌา สังวรเพื่อไม่ให้ความโลภเกิด
  • ๒. อพยาปาท สังวรเพื่อไม่ให้พยาบาทเกิด
  • ๓. สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง

กามาวจรกุศลกรรม ๑๐ ประการนี้ เรียกว่า "กุศลกรรมบถ ๑๐ หรือ สุจริต ๑๐"

🙏  องค์ธรรมของกุศลกรรมบถ ๑๐

กายกรรม ๓ องค์ธรรมได้แก่ สัมมากัมมันตเจตสิก สัมมาอาชีวเจตสิก
วจีกรรม ๔ องค์ธรรมได้แก่ สัมมาวาจาเจตสิก สัมมาอาชีวเจตสิก
มโนกรรม ๓ อนภิชฌา องค์ธรรมได้แก่ อโลภเจตสิก
                    อพยาปาท องค์ธรรมได้แก่ อโทสเจตสิก
                    สัมมาทิฏฐิ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก


👉 ข. กามาวจรกุศลโดยบุญกิริยาวัตถุ

บุญกิริยาวัตถุ มาจากคำบาลีว่า "ปุญญกริยาวตฺถุ"
ปุญฺญ หมายถึง ความดีที่ชำระความเศร้าหมองเร่าร้อน
กริย หมายถึง ควรกระทำ
วัตถุ หมายถึง เป็นเหตุเป็นที่ตั้งแห่งผลดี

ฉะนั้น บุญกิริยาวัตถุ จึงแปลความว่า ความดีที่ควรกระทำ เพราะเป็นเหตุเป็นที่ตั้งแห่งผลดีที่เกิดขึ้น คือ เป็นสิ่งที่ให้สำเร็จเป็นบุญเป็นกุศล พร้อมทั้งอานิสงส์ผลที่ผู้กระทำพึงได้รับ ตามสมควรแก่โอกาส

🔅 กามาวจรกุศลกรรมที่เป็นบุญกิริยาวัตถุนี้ มี ๑๐ ประการ

๑. ทาน การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขแก่ผู้รับ
๒. ศีล การระวังรักษากาย วาจา ให้ตั้งอยู่ในศีล
๓. ภาวนา การเจริญสมถะ และวิปัสสนา
๔. อปจายนะ การคารวะอ่อนน้อมแก่ผู้เจริญด้วยชาติวุฒิวัยวุฒิและคุณวุฒิ
๕. เวยยาวัจจะ การเข้าช่วยเหลือกิจการงานเกี่ยวกับปริยัติ และปฏิบัติ
๖. ปัตติทานะ การอุทิศแผ่กุศลให้ผู้อื่น
๗. ปัตตานุโมทนา การอนุโมทนารับส่วนบุญที่เขาอุทิศให้
๘. ธรรมสวนะ การตั้งใจฟังธรรม
๙. ธรรมเทศนา การแสดงธรรม
๑๐. ทิฏฐชุกรรม การทำความเห็นให้ถูกต้องตามความเป็นจริง

บุญกิริยาวัตถุทั้ง ๑๐ ประการนี้เป็นการงานของจิต ซึ่งประกอบด้วยเจตนาที่ดีงาม อันเป็นเหตุให้เกิดผลดีมีสุข ฉะนั้น จิตที่จัดว่าเป็นมหากุศลจิตนั้น จึงต้องเป็นจิตที่เป็นไปในอารมณ์แห่งบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ดังกล่าวแล้ว

🔅 สงเคราะห์บุญกิริยาวัตถุ โดย ทาน ศีล ภาวนา

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ เมื่อจะสงเคราะห์ลงในประเภทแห่งทาน ศีล และภาวนา ได้ดังนี้ คือ

สงเคราะห์ในทาน ได้แก่

  • ๑. ทาน
  • ๒. ปัตติทาน
  • ๓. ปัตตานุโมทนา

สงเคราะห์ในศีล ได้แก่

  • ๑. ศีล
  • ๒. อปจายนะ
  • ๓. เวยยาวัจจะ

สงเคราะห์ในภาวนา ได้แก่

  • ๑. ภาวนา
  • ๒. ธรรมสวนะ
  • ๓. ธรรมเทศนา
  • ๔. ทิฏฐชุกรรม

อนึ่ง ตามนัยแห่งพุทธภาษิตอรรถกถา แสดงว่า ธรรมสวนะ คือ ให้การฟังธรรมด้วยสัจจะเคารพ และธรรมเทศนา คือ การแสดงธรรมเพื่อให้เป็นธรรมทาน สงเคราะห์ลงใน ทาน ก็ได้ ดังพุทธพจน์ที่ว่า สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ การให้ธรรมย่อมชนะการให้ทั้งปวง และส่วนทิฏฐธุกรรมนั้น ก็สงเคราะห์ลงในทาน ศีล ภาวนาได้ทั้ง ๓ ประการ เพราะในสังคีติสูตร ปาฏิกวรรค อรรถกถา แสดงว่า ทิฏฐชุกมุมํ สพเพสํ นิยมกฺขณํ หมายความว่า ทิฏฐธุกรรม คือปัญญาที่เห็นถูกต้องตรงตามความจริง ถ้าการบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา โดยไม่มีทิฏฐธุกรรมประกอบด้วยแล้ว การให้ผลของทาน ศีล ภาวนาเหล่านั้นก็ไม่สมบูรณ์ มีการขาดตกบกพร่อง และยิ่งกว่านั้น ทิฏฐธุกรรมนี้เป็นที่ตั้งและเป็นปัจจัยให้เกิดบุญกิริยาวัตถุอื่นๆ ทั้งปวง จึงสงเคราะห์ลงในทาน ศีล และภาวนา ได้ทั้งสิ้น

🔅 เหตุให้เกิดมหากุศล

เหตุที่ทำให้เกิดกามาวจรกุศลจิต หรือมหากุศลจิตเกิดขึ้นได้นั้น ย่อมอาศัย “โยนิโสมนสิการ” คือ การพิจารณาอารมณ์โดยแยบคาย กล่าวคือ เมื่อจิตกระทบกับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งทางทวารทั้ง ๖ ก็มีการพิจารณากำหนดถึงสภาวะความจริงที่ปรากฏขึ้นแห่งอารมณ์นั้นๆ การพิจารณากำหนดตามสภาวะความจริงที่ปรากฏนั้นชื่อว่า มี โยนิโสมนสิการ แต่การที่จะมี โยนิโสมนสิการต่ออารมณ์ที่กระทบจิตนั้น ย่อมอาศัยเหตุอดีต และปัจจุบัน ๕ ประการ คือ 

๑. ปุพเพกตปุญญตา เคยสร้างบุญไว้แต่ชาติปางก่อน
๒. ปฏิรูปเทสวาส ได้อยู่ในประเทศที่สมควร มีพุทธศาสนา
๓. สปปุริสปนิสสย ได้คบหาสมาคมกับสัปบุรุษ
๔. สทฺธมฺมสฺสวน ได้ฟังธรรมของสัปบุรุษ
๕. อตฺตสมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ

เหตุให้เกิดโยนิโสมนสิการทั้ง ๕ ประการดังกล่าวนี้ ประการแรกอาศัยอดีตกรรมเป็นเหตุ ส่วนที่เหลืออีก ๔ ประการ อาศัยปัจจุบันกรรม เป็นเหตุ