วันเสาร์

๒.๕.๑ หมวดปัญญา : สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปปะ

สัมมาทิฏฐิ : ความเห็นชอบ, ความเข้าใจถูกต้อง

“ข้อที่ภิกษุจักทำลายอวิชชา ยังวิชชาให้เกิด ทำให้แจ้งซึ่งนิพพานได้ ด้วยทิฏฐิที่ตั้งไว้ชอบ ด้วยมรรคภาวนาที่ตั้งไว้ชอบ นี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ นั่นเพราะเหตุใด? ก็เพราะตั้งทิฏฐิไว้ชอบแล้ว” (สุกสูตร)

“เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลธรรม ที่ยังไม่เกิด ได้เกิดขึ้น หรือ กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นไปเพื่อความเพิ่มพูนไพบูลย์ เหมือนอย่างสัมมาทิฏฐินี้เลย” (เอกธัมมบาลี ทุติยวรรค)

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นธรรมอื่นสักข้อหนึ่งที่มีโทษมากเหมือนมิจฉาทิฏฐิ, โทษทั้งหลาย มีมิจฉาทิฏฐิ เป็นอย่างยิ่ง” (เอกธัมมบาลี ตติยวรรค)

สัมมาทิฏฐิ เป็นจุดเริ่มต้น หรือเป็นตัวนำ ในการดำเนินตามมรรคาแห่งมัชฌิมาปฏิปทา และเป็นตัวยืนที่มีบทบาทอยู่ตลอดเวลาทุกขั้นตอนของการปฏิบัติ ไปจนถึงปลายสุดของมรรคา การที่สัมมาทิฏฐิเจริญขึ้นตามลำดับในระหว่างมรรคานี้ ส่องความในตัวว่าสัมมาทิฏฐิในลำดับหรือในขั้นตอนต่างๆของการปฏิบัตินั้น ย่อมมีความแตกต่างกันโดยคุณภาพไปตามลำดับ

สัมมาทิฏฐิ คือ ความรู้ในธรรม ที่สำคัญ เช่น อริยสัจ ๔, กุศลมูลและอกุศลมูล, ไตรลักษณ์, ปฏิจจสมุปบาท กล่าวคือ ความเห็นที่ตรงตามสภาวะ คือ เห็นตามที่สิ่งทั้งหลายเป็นจริง การที่สัมมาทิฏฐิเจริญขึ้น ย่อมต้องอาศัยโยนิโสมนสิการเรื่อยไป เพราะโยนิโสมนสิการช่วยให้ไม่มองสิ่งต่างๆ อย่างผิวเผิน หรือมองเห็นเฉพาะผลรวมที่ปรากฏ

สัมมาทิฏฐิ ๒ ระดับ

๑.๑) โลกิยสัมมาทิฏฐิ : ความเห็นของระดับโลกีย์ คือ ยังเนื่องในโลก ได้แก่ ความเห็น ความเชื่อ ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิตที่ถูกต้องตามหลักแห่งความดี เชื่อกรรมและผลของกรรม เป็นไปตามคลองธรรม สอดคล้องกับศีลธรรม โลกียสัมมาทิฏฐิ อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันไปตามกาลสมัย แต่ก็ต้องมีความสอดคล้องกับหลักกรรม หรือสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติ โลกิยสัมมาทิฏฐินี้ จึงอาจเชื่อมต่อให้ก้าวไปยังโลกุตรสัมมาทิฏฐิได้

๑.๒) โลกุตรสัมมาทิฏฐิ : ความเห็นของระดับโลกุตระ คือเหนือโลก ไม่ขึ้นต่อโลก ได้แก่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิตถูกต้องตามความเป็นจริง รู้เข้าใจสภาวะของธรรมชาติอย่างแท้จริง เป็นสัจธรรมที่ไม่ขึ้นต่อกาลสมัย (อกาลิโก) ปรโตโฆสะ (ปัจจัยภายนอก เช่น กัลยาณมิตร) ที่ดี สามารถชักจูงให้เกิด โลกียสัมมาทิฏฐิ แต่ในขั้นบรรลุมรรคผล คือ โลกุตรสัมมาทิฏฐิ ต้องอาศัยโยนิโสมนสิการของตนเองร่วมเข้ามาด้วยเป็นสำคัญ ในการพิจารณาให้เกิดปัญญา ไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงด้วยการรับฟังแล้วเชื่อตามคนอื่นด้วยศรัทธา เพราะต้องเป็นการรู้จักที่ตัวสภาวะเอง ต้องเอาธรรมชาตินั่นเองเป็นข้อพิจารณาโดยตรง ซึ่งกัลยาณมิตร อาจช่วยได้เพียงสนับสนุน โลกุตรสัมมาทิฏฐิ เป็นการเกี่ยวข้องกับธรรมชาติเองแท้ๆ ซึ่งมีสภาวะและธรรมดา เสมอเหมือนกันทุกถิ่นฐานทุกกาลสมัย จำเป็นสำหรับปรีชาญาณและความหลุดพ้น ถึงขั้นเป็นมรรคเป็นผล ทำให้เป็นอริยบุคคล สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในบุคลิคภาพอย่างที่เรียกว่า ถอนรากถอนโคน

สัมมาสังกัปปะ : ความดำริชอบ หรือ ความนึกคิดในทางที่ถูกต้อง

สัมมาทิฏฐิ คือ ความเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ส่งผลให้เกิด สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริ นึกคิด และมีทัศนคติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ไม่เอนเอียง ยึดติด หรือเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งส่งผลสะท้อนให้เกิดสัมมาทิฏฐิต่อไป หรือยิ่งขึ้นไปอีก องค์ประกอบทั้งสองร่วมกับโยนิโสมนสิการจึงส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน ในแง่ของหน้าที่หลัก สัมมาทิฏฐิ แก้ โมหะ สัมมาสังกัปปะ แก้ โลภะ โทสะ

สัมมาสังกัปปะตรงข้ามกับความดำริผิดที่เรียกว่า มิจฉาสังกัปปะ ซึ่งมี ๓ อย่าง คือ
๑. กามวิตก คือ ความดำริที่เกี่ยวข้องกับกาม ในทางแสวงหาหรือหมกมุ่นพัวพันติดข้อง ความคิดในทางเห็นแก่ตัว (จัดเป็นฝ่ายโลภะ)
๒. พยาบาทวิตก คือ ความดำริที่ประกอบด้วยความขัดเคือง เคียดแค้น ชิงชัง (จัดเป็นฝ่าย โทสะ)
๓. วิหิงสาวิตก คือ ความดำริในทางที่จะเบียดเบียน ทำร้าย ทำลาย กระทบกระทั่งรุกรานผู้อื่น อยากทำให้เขาประสบความทุกข์ความเดือดร้อน (จัดเป็นฝ่าย โทสะ)

ความดำริ หรือแนวคิดแบบนี้ เป็นเรื่องปรกติของปุถุชน เพราะตามธรรมดาเมื่อปุถุชนรับรู้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งก็จะเกิดความรู้สึกคือ ชอบ หรือ ไม่ชอบ จากนั้นความดำรินึกคิดต่างๆก็จะดำเนินไปตามแรงผลักดันของความชอบและไม่ชอบนั้น ด้วยเหตุนี้ ความคิดของปุถุชนโดยปกติจึงเป็นความคิดเห็นที่เอนเอียง มีความชอบใจ (กามวิตก) ไม่ชอบใจ (พยาบาทวิตก และ วิหิงสาวิตก) ของตนเข้าไปเคลือบแฝง ทำให้ไม่เห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นของมันเองล้วนๆ

ความดำริที่เอนเอียงเช่นนี้ เกิดขึ้นเพราะการขาดโยนิโสมนสิการ ในภาวะจิตที่มีโยนิโสมนสิการ จึงมีความดำริตริตรึกนึกคิด ซึ่งปลอดโปร่ง เป็นอิสระ ปราศจากความเอนเอียง เรียกว่า
สัมมาสังกัปปะ มี ๓ อย่าง คือ
๑. เนกขัมมวิตก คือ ความดำริที่เป็นกุศล ปลอดจากโลภะ ความนึกคิดที่ปลอดโปร่งจากกาม ไม่หมกมุ่นพัวพันติดข้องในสิ่งสนองความอยากต่างๆ ปราศจากความเห็นแก่ตัว
๒. อพยาบาทวิตก คือ ความดำริที่ไม่มีความรู้สึกกระทบกระทั่ง ขัดเคือง ชิงชัง, มีเมตตา
๓. อวิหิงสาวิตก คือ ความดำริที่ไม่มีการเบียดเบียน การคิดทำร้าย ข่มเหง ทำลาย, มีกรุณา

สัมมาสังกัปปะ นอกจากเกื้อกูลต่อ สัมมาทิฏฐิแล้ว ในด้านศีล ยังทำให้ พรหมวิหาร (จัดเป็นคุณธรรมที่เป็นรากฐานอยู่ในจิตใจ) และ สังคหวัตถุ (จัดเป็นขั้นแสดงออกทางสังคม หรือขั้นปฏิบัติการ) เจริญขึ้นด้วย ยกตัวอย่างด้านเมตตา (ความปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข)

ข้อควรสังเกตสำคัญอย่างหนึ่งของเมตตา ก็คือ สมบัติ (ความสำเร็จ) และวิบัติ (ความล้มเหลว ผิดพลาดคลาดเคลื่อน) ของเมตตา สมบัติของเมตตา คือ ระงับพยาบาท วิบัติของเมตตา คือ การเกิดสิเนหะ (เสน่หา ความรักใคร่เยื่อใยเฉพาะบุคคล เช่น ความรักอย่างบุตร ภริยา เป็นต้น) เป็นเหตุให้เกิดความลำเอียง ทำให้ช่วยเหลือกันในทางที่ผิดได้ ซึ่งเป็นความวิบัติของเมตตามากกว่า หาใช่เมตตาไม่

ส่วนเมตตาที่แท้จริงนั้น เป็นธรรมที่เอื้อต่อการรักษาความเที่ยงธรรม ทำให้มีภาวะจิตที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว ที่จะเอนเอียงเข้าหา หรือเกลียดชังคิดร้าย มีปรารถนาดีต่อทุกคนสม่ำเสมอกัน จึงช่วยให้พิจารณาตัดสินและกระทำการต่างๆไปตามเหตุผล โดยมุ่งประโยชน์สุขที่แก่จริงแก่คนทั้งหลาย  เมตตาที่แท้จริง จะเป็นไปในแบบที่ว่า “พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงมีพระทัยเสมอกัน ทั้งต่อนายขมังธนู (ที่รับจ้างมาลอบสังหารพระองค์) ต่อพระเทวทัต ต่อโจรองคุลีมาล ต่อช้างธนบาล (ที่พระเทวทัตปล่อยมาเพื่อฆ่าพระองค์) และต่อพระราหุล ทั่วทุกคน” (อุปาลีเถราปทาน)

(ท่านกล่าวว่า ควรแยกขั้นคุณธรรมในจิตใจกับขั้นปฏิบัติการให้ออก มีเมตตาเสมอกันไม่จำเป็นต้องปฏิบัติเสมอกันในทุกกรณี แต่เลือกปฏิบัติไปตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ด้วยใจเป็นธรรม)

ประโยชน์หนึ่งของเมตตา จะเห็นได้ในกรณีของการถกเถียง การแย้งทางเหตุผล ทำให้ต่างฝ่ายยอมพิจารณาเหตุผลของกันและกัน ช่วยให้คู่โต้บรรลุถึงเหตุผลที่ถูกต้องได้ ในกรณีที่มิจฉาสังกัปปะเกิดขึ้น เมื่อจะแก้ไขโดยวิธีการแห่งปัญญา ก็ต้องไม่ใช้วิธีดึงดัน หรือมัวฟุ้งซ่านกลัดกลุ้ม แต่ต้องใช้โยนิโสมนสิการ พิจารณาให้เห็นคุณโทษของมันดังพุทธพจน์

“ภิกษุทั้งหลาย ก่อนสัมโพธิกาล เมื่อเราเป็นโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ ได้มีความคิดเกิดขึ้นว่า, ถ้ากระไร เราพึงแยกความดำริออกเป็น ๒ ฝ่าย ดังนี้แล้ว จึงได้แยกกามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก ออกเป็นฝ่ายหนึ่ง และแยกเนกขัมมวิตก อพยายาทวิตก และอวิหิงสาวิตก ออกเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง

“เมื่อเกิดมีกามวิตกเกิดขึ้น เราก็รู้ชัดว่า เราเกิดกามวิตกขึ้นแล้ว กามวิตกนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง ทำให้ปัญญาดับ จัดเป็นพวกสิ่งบีบคั้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน

“เมื่อเราพิจารณาเห็นดังนี้ กามวิตกนั้นก็สลายตัวไป เราจึงละ จึงบรรเทา กามวิตก ที่เกิดขึ้นมาให้หมดสิ้นไปได้ทั้งนั้น (พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ก็ทำนองเดียวกัน)

“ภิกษุ ยิ่งตรึก ยิ่งคิดคำนึงถึงความดำริใดๆมาก ใจของเธอก็ยิ่งน้อมไปทางความดำรินั้นๆ ถ้าภิกษุยิ่งตรึก ยิ่งคิดคำนึงถึงกามวิตกมาก เธอก็ละทิ้งเนกขัมมวิตกเสีย ทำแต่กามวิตกให้มาก จิตของเธอนั้น ก็น้อมไปทางกามวิตก ฯลฯ ถ้าภิกษุยิ่งตรึก ยิ่งคิดคำนึงถึงเนกขัมมวิตกมาก เธอก็ละทิ้งกามวิตกเสีย ทำแต่เนกขัมมวิตกให้มาก จิตของเธอนั้น ก็น้อมไปทางเนกขัมมวิตก ฯลฯ” (เทวธาวิตักกสูตร)

การปฏิบัติธรรมช่วงแรกตามองค์มรรค ๒ ข้อต้นนี้ สรุปได้ด้วยพุทธพจน์ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ อย่าง ชื่อว่าเป็นผู้ดำเนินปฏิปทาอันไม่ผิดพลาด และเป็นอันได้เริ่มก่อต้นกำเนิดของความสิ้นอาสวะแล้ว ธรรม ๔ อย่างนั้น คือ เนกขัมมวิตก อพยาบาทวิตก อวิหิงสาวิตก สัมมาทิฏฐิ” (ทิฏฐิสูตร)



วันศุกร์

๒.๕ มรรค ๘ : ทางแห่งการเป็นอยู่ด้วยปัญญา

มรรค ๘ เรียกอย่างสั้นว่า การเป็นอยู่ด้วยปัญญา ดังนั้น ความรู้ความเข้าใจจึงเป็นแกนนำของความประพฤติปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้ มรรค ๘ จึงมีสัมมาทิฏฐิเป็นองค์ประกอบข้อแรก ดังพุทธพจน์ “ภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์มรรคเหล่านั้น สัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ สัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำอย่างไร? ด้วยสัมมาทิฏฐิ จึงรู้จักมิจฉาทิฏฐิ ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ รู้จักสัมมาทิฏฐิ ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ …ฯลฯ… รู้จึกมิจฉาสมาธิ ว่าเป็นมิจฉาสมาธิ รู้จักสัมมาสมาธิ ว่าเป็นสัมมาสมาธิ

“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้าอย่างไร? เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาญาณ สัมมาวิมุตติจึงพอเหมาะได้” (มหาจัตตารีสกสูตร)

มรรค ๘ แบ่งเป็น ๓ หมวด
🔅 ๑ หมวดศีล (สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ)
🔅 ๒ หมวดสมาธิ (สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ)
🔅 ๓ หมวดปัญญา (สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปปะ)

(ส่วนในระดับชาวบ้าน ท่านใช้บุญกิริยาวัตถุ ๓  (ดูความหมายในข้อ ทาน ศีล ภาวนา โดยภาวนาเน้นไปที่การเจริญเมตตา หรือใช้ กุศลกรรมบถ ๑๐ แทนบุญกิริยาวัตถุ ๓ ก็ได้)








มรรค ๘ : สาระโดยย่อ

๑. สัมมาทิฏฐิ : ความเห็นชอบ, ความเข้าใจถูกต้อง สัมมาทิฏฐิ เป็นจุดเริ่มต้น ทั้งยังเป็นแกนหลักที่มีบทบาทอยู่ตลอดเวลาทุกขั้นตอนของการปฏิบัติ ไปจนถึงปลายสุดของมรรคา การที่สัมมาทิฏฐิเจริญขึ้นตามลำดับในระหว่างมรรคานี้ ส่องความในตัวว่าสัมมาทิฏฐิในลำดับหรือในขั้นตอนต่างๆของการปฏิบัตินั้น ย่อมมีความแตกต่างกันโดยคุณภาพไปตามลำดับ สัมมาทิฏฐิ คือ ความรู้ในธรรม ที่สำคัญ เช่น อริยสัจ ๔, กุศลมูลและอกุศลมูล, ไตรลักษณ์, ปฏิจจสมุปบาท กล่าวคือ ความเห็นที่ตรงตามสภาวะ คือ เห็นตามที่สิ่งทั้งหลายเป็นจริง การที่สัมมาทิฏฐิเจริญขึ้น ย่อมต้องอาศัยโยนิโสมนสิการ (การใช้ความคิดถูกวิธี) เรื่อยไป เพราะโยนิโสมนสิการช่วยให้ไม่มองสิ่งต่างๆ อย่างผิวเผิน หรือมองเห็นเฉพาะผลรวมที่ปรากฏ

๒. สัมมาสังกัปปะ : ความดำริชอบ หรือ ความนึกคิดในทางที่ถูกต้อง สัมมาทิฏฐิ คือ ความเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ส่งผลให้เกิด สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริ นึกคิด และมีทัศนคติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ไม่เอนเอียง ยึดติด หรือเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งส่งผลสะท้อนให้เกิดสัมมาทิฏฐิต่อไป หรือยิ่งขึ้นไปอีก องค์ประกอบทั้งสองร่วมกับโยนิโสมนสิการจึงส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกันในแง่ของหน้าที่หลัก สัมมาทิฏฐิ แก้ โมหะ สัมมาสังกัปปะ แก้ โลภะ โทสะ

๓. สัมมาวาจา : เจรจาชอบ กล่าวคือ เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ, ส่อเสียด, หยาบคาย, เพ้อเจ้อ

๔. สัมมากัมมันตะ : กระทำชอบ กล่าวคือ เจตนางดเว้นจากการเบียดเบียน และตัดรอนชีวิตผู้อื่น, เจตนางดเว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้, เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย, ไม่เสพสิ่งเสพติดที่เป็นเหตุให้เกิดความประมาท

๕. สัมมาอาชีวะ : เลี้ยงชีพชอบ กล่าวคือ ละมิจฉาอาชีวะ การหลอกลวง การประจบ การบีบบังคับขู่เข็ญ, อาชีพที่ไม่ควรประกอบ ๕ อย่าง คือ ขายอาวุธ, ค้ามนุษย์, ค้าสัตว์มีชีวิต (เพื่อนำไปฆ่า), ค้ายาเสพติด, ขายยาพิษ นอกจากนี้การเลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ ยังหมายรวมถึง การทำหน้าที่ หรือการดำรงตนอย่างถูกต้องอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เป็นผู้สมควรแก่การได้ปัจจัยบำรุงเลี้ยงชีวิตด้วย เช่น พระสงฆ์, เด็ก, คนชรา ย่อมมีสัมมาอาชีวะที่ควรแก่ตน

๖. สัมมาวายามะ : ความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม และทำกุศลธรรมให้เจริญขึ้น

๗. สัมมาสติ : การระลึกได้, การไม่ยอมถลำลงไปในทางเสื่อม และเดินก้าวหน้าต่อไปอยู่เสมอ

๘. สัมมาสมาธิ : สมาธิที่ใช้ถูกทางเพื่อจุดหมายในทางหลุดพ้น เพื่อเป็นฐานให้ปัญญารู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง

“ภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคา ไหลหลั่ง ลาดเอน เบนไปสู่มหาสมุทร ฉันใด ภิกษุเมื่อเจริญอยู่ ทำให้มากอยู่ ซึ่งมรรคามีองค์ ๘ ประการ อันประเสริฐ ย่อมเป็นผู้โน้มน้อม ลาดเอน เบนไปสู่นิพพาน ฉันนั้น” (คังคาสมุทนินนสูตร)



๒.๔ การมองโลกตามความเป็นจริง

“ภิกษุทั้งหลาย ก่อนสัมโพธิ เมื่อยังเป็นโพธิสัตว์ ผู้ยังมิได้ตรัสรู้ เราได้มีความคิดว่า อะไรหนอคือส่วนดี (อัสสาทะ) ในโลก อะไรคือส่วนเสีย (อาทีนวะ) อะไรคือทางออกปลอดพ้นเป็นอิสระ? (นิสสรณะ) เรานั้นได้มีความคิดว่า ความสุขความฉ่ำชื่นใจ ที่เกิดขึ้นด้วยอาศัยสิ่งใดๆในโลก นี้คือส่วนดีในโลก, ข้อที่โลกไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา นี้คือส่วนเสียในโลก, ภาวะที่บำราศฉันทราคะ เป็นที่ละฉันทราคะในโลกได้ (นิพพาน) นี้คือทางออกในโลก …

“ภิกษุทั้งหลาย เราได้เที่ยวแสวงหาคุณของโลก  อันใดเป็นคุณในโลก อันนั้นเราได้ประสบแล้ว คุณในโลกมีเท่าใด คุณนั้น เราได้เห็นเป็นอย่างดีแล้วด้วยปัญญา ; เราได้เที่ยวแสวงหาโทษของโลก อันใดเป็นโทษในโลก อันนั้นเราได้ประสบแล้ว โทษในโลกมีเท่าใด โทษนั้น เราได้เห็นเป็นอย่างดีแล้วด้วยปัญญา ; เราได้เที่ยวแสวงหานิสสรณะของโลก อันใดเป็นนิสสรณะของโลก อันนั้นเราได้ประสบแล้ว นิสสรณะในโลกมีเท่าใด นิสสรณะนั้น เราได้เห็นเป็นอย่างดีแล้วด้วยปัญญา

“ภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้ประจักษ์ชัดตามเป็นจริง ซึ่งคุณของโลก โดยความเป็นคุณ ซึ่งโทษ โดยความเป็นโทษ และซึ่งนิสสรณะ โดยความเป็นนิสสรณะ ตราบใด ตราบนั้น เราก็ยังไม่ปฏิญาณว่าตรัสรู้แล้ว ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ …

“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าคุณจักมิได้มีในโลกแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงติดใจในโลก แต่เพราะคุณในโลกมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงติดใจในโลก ; ถ้าโทษจักมิได้มีในโลกแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงเบื่อหน่ายในโลก แต่เพราะโทษในโลกมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงเบื่อหน่ายในโลก ; ถ้านิสสรณะจักมิได้มีในโลกแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงสลัดออกได้จากโลก แต่เพราะนิสสรณะในโลกมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงสลัดออกจากโลกได้

“ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายยังไม่รู้ประจักษ์ชัดตามเป็นจริง ซึ่งคุณของโลก โดยความเป็นคุณ ซึ่งโทษ โดยความเป็นโทษ ซึ่งนิสสรณะ โดยความเป็นนิสสรณะ ตราบใด ตราบนั้น สัตว์ทั้งหลายก็ยังสลัดออก ไม่เกาะเกี่ยว หลุดพ้นจากโลก … เป็นอยู่ด้วยใจไร้เขตแดนไม่ได้, แต่เมื่อใด สัตว์ทั้งหลายรู้ประจักษ์ชัดตามเป็นจริง ซึ่งคุณของโลก โดยความเป็นคุณ ซึ่งโทษ โดยความเป็นโทษ และซึ่งนิสสรณะ โดยความเป็นนิสสรณะ เมื่อนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงจะสลัดออก ไม่เกาะเกี่ยว หลุดพ้นจากโลก … เป็นอยู่ด้วยจิตใจไร้เขตแดน

 “ภิกษุทั้งหลาย สมณะทั้งหลายก็ดี พราหมณ์ทั้งหลายก็ดี เหล่าหนึ่งเหล่าใด ยังไม่รู้ชัดซึ่งคุณของโลก โดยความเป็นคุณ ซึ่งโทษ โดยความเป็นโทษ และซึ่งนิสสรณะโดยความเป็นนิสสรณะ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ก็ยังยอมรับไม่ได้ว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะทั้งหลาย ยังยอมรับไม่ได้ว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ทั้งหลาย และท่านเหล่านั้นก็ยังไม่ชื่อว่าประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอรรถแห่งความเป็นสมณะ หรือซึ่งอรรถแห่งความเป็นพราหมณ์” (ตติยปัณณาสก์ สัมโพธิวรรค)

“เมื่อยังเป็นโพธิสัตว์ ผู้ยังมิได้ตรัสรู้ เราได้เห็นเป็นอย่างดีด้วยสัมมาปัญญา ตามเป็นจริงว่า กามทั้งหลายมีอัสสาทะน้อย มีทุกข์มาก มีความคับข้องมาก อาทีนวะในกามนี้ยิ่งนัก แต่เรานั้นยังมิได้ประสบปีติสุข ที่ไม่อาศัยกาม ไม่ต้องมีอกุศลธรรมทั้งหลาย หรือปีติสุขอื่นที่ประณีตยิ่งกว่านั้น เราก็ยังปฏิญาณมิได้ก่อนว่า จะเป็นผู้ไม่วกเวียนมาหากามทั้งหลาย

“แต่เมื่อใดเราได้มองเห็นอย่างดีด้วยสัมมาปัญญา ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่ากามทั้งหลายมีอัสสาทะน้อย และเรานั้นได้ประสบปีติสุข อันปลอดจากกาม ปลอดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย พร้อมทั้งปีติสุขอื่นที่ประณีตยิ่งกว่านั้น เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณได้ว่า เป็นผู้ไม่วกเวียนมาหากามทั้งหลาย (จูฬทุกขักขันธสูตร)



วันพุธ

๒.๓ ธรรมานุธรรมปฏิบัติ

ในการปฏิบัติธรรม จะต้องเข้าใจความหมาย ความมุ่งหมาย ขอบเขตและตำแหน่งเชื่อมโยงกับหลักธรรมอื่น ของธรรมหรือหลักการนั้นๆ ความเข้าใจถูกต้องนี้ นำไปสู่การปฏิบัติถูกต้องที่เรียกว่า ธรรมานุธรรมปฏิบัติ ซึ่งแปลว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม, ปฏิบัติธรรมถูกหลัก, ปฏิบัติธรรมย่อยคล้อยตามธรรมใหญ่ ธรรมานุธรรมปฏิบัติ เป็นหลักการสำคัญมากของการศึกษาและปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา อาจเรียกได้ว่า เป็นตัวตัดสินว่า การปฏิบัติธรรม หรือการกระทำนั้นๆ จะสำเร็จผลบรรลุจุดมุ่งหมายได้หรือไม่ ถ้าไม่มีธรรมานุธรรมปฏิบัติ ก็อาจคลาดเคลื่อน ผิดพลาด เลื่อนลอย งมงาย ไร้ผล หรืออาจเกิดโทษขึ้นได้ ธรรมทุกข้อมีความมุ่งหมาย จะปฏิบัติอะไร ต้องถามได้ตอบได้ ว่าเพื่ออะไร

ในขั้นศีล ผู้ถือศีลโดยเข้าใจความมุ่งหมาย ก็ย่อมตระหนักถึงความหมาย และความมุ่งหมายของศีลนั้น และเข้าใจว่าสัมพันธ์กับส่วนอื่นในกระบวนการปฏิบัติอย่างไร รู้จักแยกว่า นี้เป็นศีล (ระเบียบกลาง) นี้เป็นวัตร (ธรรมเนียมปฏิบัติ) เป็นพรต (ข้อปฏิบัติเสริม) ท่านผู้นี้ควรถือข้อปฏิบัติเข้มงวดมากข้อนี้ด้วยเหตุผลดังนี้ๆ ท่านผู้นี้ไม่ควรถือข้อนี้ด้วยเหตุผลดังนี้



เมื่อมองในแง่ปรมัตถ์ ศีล สมาธิ และปัญญา ต่างก็มีจุดหมายสุดท้ายเพื่อนิพพานเหมือนกัน แต่เมื่อมองจำกัดเฉพาะตัว แต่ละอย่างมีขีดขั้นขอบเขตของตน ที่จะต้องไปเชื่อมต่อกับอย่างอื่นๆ จึงจะให้บรรลุจุดหมายสุดท้ายได้ ลำพังอย่างหนึ่งอย่างเดียวหาสำเร็จผลล่วงตลอดไม่ แต่จะขาดอย่างหนึ่งอย่างใดเสียทีเดียว ก็ไม่ได้ จึงมีหลักว่า ศีลเพื่อสมาธิ สมาธิเพื่อปัญญา ปัญญาเพื่อวิมุตติ

ดังพุทธพจน์ “ผู้ปฏิบัติธรรมถูกหลัก (ธรรมานุธรรมปฏิบัติ) เป็นบุคคลหาได้ยาก (พวกหนึ่ง) ในโลก” (สารันททสูตร)

“คนที่สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติ เป็นผู้ประเสริฐสุดทั้งในหมู่มนุษย์และเทวดา” (อัคคัญสูตร)

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบ เป็นผู้ประพฤติตามธรรม ผู้นั้นชื่อว่าสักการะ เคารพนับถือ บูชา พระตถาคต ด้วยบูชาอย่างยิ่ง” (มหาปรินิพพานสูตร)



๒.๒ บุพนิมิตแห่งมรรค

บุพนิมิตแห่งมรรค ปัจจัยแห่งการเกิดขึ้นของสัมมาทิฏฐิ รุ่งอรุณแห่งการศึกษาและปัญญา

สัมมาทิฏฐิ เป็นองค์ประกอบสำคัญของมรรค ในฐานะที่เป็นขั้นเริ่มแรกและเป็นแกนกลางในระบบการศึกษาตามหลักการของพระพุทธศาสนา และเป็นธรรมที่ต้องพัฒนาให้บริสุทธิ์ ชัดเจน เป็นอิสระมากขึ้นตามลำดับ จนกลายเป็นการตรัสรู้ในที่สุด ถ้าไม่เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ ก็ไม่มีมัชฌิมาปฏิปทา ถ้าไม่ดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา ก็แก้ปัญหาดับทุกข์ไม่สำเร็จ ดังพุทธพจน์ “ธรรมรถ ประกอบด้วยล้อ คือ ธรรม, หิริ เป็น ฝา, สติ เป็นเกราะกั้น, สัมมาทิฏฐิ นำหน้าเป็นสารถี บุคคลใดมียานเช่นนี้ เขาย่อมใช้ยานนั้น ขับไปถึงในสำนักแห่งนิพพาน” (อัจฉราสูตร)

ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิ หรือ เรียกว่า บุพนิมิตแห่งมรรค มี ๒ ประการ คือ
ประการที่ ๑ ปรโตโฆสะ (องค์ประกอบภายนอก) : ที่สำคัญที่สุดคือกัลยาณมิตร ในระดับสูงสุดคือพระบรมศาสดา ครูอาจารย์ มิตรสหาย ตลอดจน หนังสือ สื่อการสอนต่างๆ เป็นฝ่ายศรัทธา ปัจจัยทางสังคมที่ดีงามนั้น เป็นทั้งเครื่องจุดชนวนความรู้จักคิดที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการ และเป็นเครื่องประคับประคองคอยเสริมเติม และกระตุ้นโยนิโสมนสิการนั้นในระหว่างก้าวเดินคืบหน้าต่อๆไป
ประการที่ ๒ โยนิโสมนสิการ (องค์ประกอบภายใน) : ความคิดชนิดที่ทำให้เกิดการใช้ปัญญา ความคิดที่ทำให้ปัญญานั้นเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป แปลให้ง่ายคือ ความฉลาดคิด เป็นฝ่ายปัญญา เป็นตัวชี้ขาดในการบรรลุสัจธรรม

เมื่อธรรม ๒ ข้อนี้ เป็นปัจจัยให้สัมมาทิฏฐิเจริญขึ้น จึงจัดว่าธรรม ๒ ข้อนี้เป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเจริญขึ้นในกุศลธรรม ข้อตัดสินว่า ทำหน้าที่กัลยาณมิตรได้สำเร็จ คือ ทำให้ผู้เสวนาเกิดมีสัมมาทิฏฐิ ถ้าตรงกันข้ามจากนี้ คือ ได้ผู้ไม่เป็นกัลยาณมิตร ทำให้ประสบปรโตโฆสะที่ผิดพลาด และใช้ความคิดผิดวิธี ไม่ฉลาดคิด เป็นอโยนิโสมนสิการ ก็จะได้รับผลตรงข้าม คือเป็นมิจฉาทิฏฐิไปได้

อย่างไรก็ตาม กัลยาณมิตรล้วนๆ ส่งผลได้ถึง โลกิยสัมมาทิฏฐิ (ขั้นศรัทธา) เท่านั้น ผู้ปฏิบัติต้องมี โยนิโสมนสิการ มารับช่วงทำงานต่อไป จึงจะสามารถนำไปสู่โลกุตรสัมมาทิฏฐิได้ กัลยาณมิตรที่ดี พึงช่วยจุดชนวนโยนิโสมนสิการในตัวผู้เรียนขึ้นด้วย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดฉันทะ และการศึกษาของเขาก็ก้าวหน้าต่อไปสู่ขั้นที่สูงขึ้นได้ด้วยตัวเขาเอง พึงสังเกตว่า แม้แต่ความสงสัยเคลือบแคลงในพระพุทธเจ้า ก็ไม่ได้ถูกถือว่าเป็นบาปหรือความชั่ว ถือว่าเป็นเพียงสิ่งที่จะต้องแก้ไขให้รู้แน่ชัดลงไปจนหมดสงสัย ด้วยวิธีการแห่งปัญญา และยังส่งเสริมให้ใช้ความคิดสอบสวนพิจารณาตรวจสอบอีกด้วย (เอหิปัสสิโก : ควรเรียกให้มาดู เชิญชวนให้มาชม ท้าทายต่อการตรวจสอบ)

พุทธพจน์ที่กล่าวถึงความสำคัญของปัญญา “เพราะเจริญ เพราะกระทำให้มาก ซึ่งอินทรีย์อย่างเดียว ภิกษุผู้ขีณาสพ ย่อมพยากรณ์อรหัตตผลได้ อินทรีย์อย่างเดียวนั้น ก็คือ ปัญญินทรีย์, สำหรับอริยสาวกผู้มีปัญญา ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ อันเป็นของคล้อยตามปัญญานั้น ย่อมทรงตัวอยู่ได้” (ปุพพารามสูตร) (ถึงมีอินทรีย์อื่นๆ ถ้าขาดปัญญาเสียเพียงอย่างเดียว ก็ไม่อาจให้บรรลุผลสำเร็จนี้ได้ อีกทั้งอินทรีย์อื่น เมื่อไม่มีปัญญาเป็นแกนก็อาจเสื่อมไปได้)

“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายเหล่าหนึ่งเหล่าใดก็ตาม ที่เป็นกุศล อยู่ในภาคกุศล อยู่ในฝ่ายกุศล ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด มีโยนิโสมนสิการเป็นมูลราก ประชุมลงในโยนิโสมนสิการ, โยนิโสมนสิการ เรียกว่า เป็นยอดของธรรมเหล่านั้น” (กุสลสูตร)

“สำหรับภิกษุผู้เสขะ ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ปรารถนาความเกษมจากโยคะ อันยอดเยี่ยม เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายในอย่างอื่นแม้สักอย่าง ที่มีประโยชน์มาก เหมือนโยนิโสมนสิการเลย ภิกษุผู้ใช้โยนิโสมนสิการ ย่อมกำจัดอกุศลได้ และบำเพ็ญกุศลให้เกิดขึ้น” (เสขสูตร) (องค์ประกอบภายในที่มีประโยชน์มากที่สุดคือ โยนิโสมนสิการ ส่วนองค์ประกอบภายนอกที่มีประโยชน์มากที่สุดคือ กัลยาณมิตร)

“การฟังด้วยดี การสอบถามค้นคว้า เป็นอาหารของปัญญา” (อิฏฐสูตร)



๒.๑ มัชฌิมาปฏิปทา (มรรค ๘)

มัชฌิมาปฏิปทา : ข้อปฏิบัติที่เป็นกลางตามธรรมชาติ หรือ ทางสายกลาง

    เมื่อเรียนรู้เรื่องมัชเฌนธรรมเทศนามาตามลำดับ จนถึงรู้จักกระบวนการดับทุกข์ในข้อว่าด้วยนิโรธ (นิพพาน) เป็นอันได้เข้าใจหลักการดับทุกข์ หรือหลักการแก้ปัญหาแล้ว ต่อมาเป็นภาคปฏิบัติ อันกล่าวถึงวิธีการที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จตามหลักการหรือกระบวนการนั้นได้อย่างไร มัชฌิมาปฏิปทา หรืออริยสัจข้อสุดท้าย คือ มรรค เป็นประมวลหลักความประพฤติปฏิบัติ หรือระบบจริยธรรมทั้งหมดในพระพุทธศาสนา เป็นคำสอนภาคปฏิบัติที่จะช่วยให้การดำเนินสู่จุดหมายตามแนวทางที่ได้พิจารณาไว้แล้วนั้น เป็นผลสำเร็จขึ้นมาในชีวิตจริง พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ผ่านจากขั้นรู้ความจริงเกี่ยวกับกฎธรรมชาติ มาสู่ขั้นประยุกต์ความรู้นั้นจัดวางเป็นระบบวิธีประพฤติปฏิบัติของมนุษย์

ทางสายกลางนั้น มิใช่หมายถึงอยู่กึ่งกลางระหว่าง ที่สุดทั้ง ๒ ทาง หรือกึ่งกลางของทางหลายๆทาง แต่หมายถึง ความมีเป้าหมายที่แน่ชัด แล้วกระทำตรงจุด ตรงกลางเป้าหมาย พอเหมาะพอดีจะให้ผลสำเร็จตามเป้าหมายนั้น ไม่เขวออกไปเสีย การเพียรพยายามไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป บางคราวก็นิยมพูดกันว่า เป็นทางสายกลาง คำพูดนี้เข้าลักษณะทางสายกลางได้ในบางแง่ แต่ไม่ถูกแท้ทีเดียว บางคราวถ้าชัดเจนว่าเดินถูกทาง มั่นใจและพร้อมทุกอย่างแล้ว ท่านให้ระดมความเพียรสุดกำลังก็มี เรื่องนี้จึงไม่ควรสับสนกับทางสายกลาง

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธา สมควรแท้เพื่อปรารภความเพียรในธรรมอันเรากล่าวดีแล้วอย่างนี้ทำให้ตื้น เปิดเผย ประกาศ เป็นดุจผืนผ้าเก่าที่ตัดไว้แล้ว ด้วยความตั้งใจว่า หนัง เอ็น และกระดูกจงเหลืออยู่ เนื้อเลือดในสรีระของเราจงเหือดแห้งไปก็ตามที อิฐผลใดที่จะพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษ ยังไม่บรรลุอิฐผลนั้น จักไม่หยุดความเพียร ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลผู้เกียจคร้านเกลื่อนกล่นด้วยธรรมอันเป็นบาปอกุศล ย่อมอยู่เป็นทุกข์ และย่อมยังประโยชน์ของตนอันใหญ่ให้เสื่อมเสีย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนบุคคลผู้ปรารภความเพียร ผู้สงัดจาธรรมอันเป็นบาปอกุศล ย่อมอยู่เป็นสุข และยังประโยชน์ของตนอันใหญ่ให้บริบูรณ์ได้” (ทศพลสูตรที่ ๒)

อนึ่ง โดยเหตุที่ทางสายกลางเป็นทางที่มีจุดหมายแน่ชัด ผู้ปฏิบัติจึงต้องรู้จุดหมาย จึงจะเดินทางได้ เปรียบเหมือนเมื่อจะเดินทางก็ต้องรู้ว่าชัดตนจะไปไหนจึงจะไม่เขวออกนอกทิศทาง ด้วยเหตุนี้ ทางสายกลางจึงเริ่มด้วยสัมมาทิฏฐิ คือเริ่มต้นด้วยความเข้าใจปัญหาของตน และรู้จุดหมายที่จะเดินทางไป ทางสายกลางเป็นทางแห่ง ปัญญา ความรู้ ความมีเหตุผล และกล้าเผชิญหน้ากับความจริง

“ภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคา ไหลหลั่ง ลาดเอน เบนไปสู่มหาสมุทร ฉันใด ภิกษุเมื่อเจริญอยู่ ทำให้มากอยู่ ซึ่งมรรคามีองค์ ๘ ประการ อันประเสริฐ ย่อมเป็นผู้โน้มน้อม ลาดเอน เบนไปสู่นิพพาน ฉันนั้น” (คังคาสมุทนินนสูตร)

อย่างไรก็ตาม พระพุทธศาสนามิได้มองข้ามประโยชน์หรือจุดหมายขั้นรองลดหลั่นกันลงมา ที่มนุษย์จะพึงถึงตามระดับความพร้อมของตน โดยจัดแบ่งจุดหมายไว้เป็น ๓ ระดับ

ระดับที่ ๑ ทิฏฐธัมมิกัตถะ : ประโยชน์ปัจจุบัน เป็นจุดหมายขั้นต้น หมายถึงประโยชน์อย่างที่มองเห็นๆกันอยู่ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ทรัพย์สิน ยศ เกียรติ ไมตรี เป็นต้น อันจะสำเร็จด้วยธรรม ๔ ประการ คือ ความเพียร การดูแลรักษา กัลยาณมิตร และการเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หาได้
ระดับที่ ๒ สัมปรายิกัตถะ : ประโยชน์เบื้องหน้า ประโยชน์ที่ลึกล้ำยิ่งกว่าที่จะมองเห็นกันอย่างผิวเผินภายนอก เกี่ยวด้วยชีวิตด้านใน เป็นจุดหมายขั้นสูงขึ้นไป ซึ่งเป็นหลักประกันชีวิตเมื่อละโลกนี้ไป หรือเป็นเครื่องประกันการได้คุณค่าที่สูงล้ำเลิศยิ่งขึ้นไป ได้แก่ ความเจริญงอกงามแห่งชีวิตจิตใจอันประกอบด้วยคุณธรรม ๕ ประการคือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา
ระดับที่ ๓ ปรมัตถะ : ประโยชน์อย่างยิ่ง หรือประโยชน์ที่เป็นสาระแท้จริงของชีวิต ได้แก่ การรู้แจ้งสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จึงไม่ตกเป็นทาสของชีวิตและโลก มีจิตใจเป็นอิสระ โปร่งโล่ง ผ่องใส เบิกบาน สะอาดบริสุทธิ์สิ้นเชิง คือ นิพพาน

ตามคติของพระพุทธศาสนา บุคคลทุกคนควรดำเนินชีวิตให้บรรลุจุดหมายอย่างน้อยถึงขั้นที่ ๒ จึงได้ชื่อว่าเป็น บัณฑิต เป็นผู้มีชีวิตไม่ว่างเปล่าไร้ค่า ถือเอาสาระในโลกนี้ไว้ได้



วันจันทร์

๑.๓๑ ประเด็นเรื่องจิตเดิมแท้

ส่วนแทรกเสริม : ประเด็นเรื่องจิตเดิมแท้ (จดบันทึกโดยย่อความจากเทปปาฐกกถาธรรมของ อ.เสถียร โพธินันทะ)

“ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผ่องใส ปภัสสร แต่จิตนั้นแล เศร้าหมองด้วยอุปกิเลสที่จรมา , ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผ่องใส และจิตนั้นแล หลุดพ้นแล้วจากอุปกิเลสที่จรมา” (อัจฉราสังฆาตวรรค)

“… แต่ไม่ใช่ว่าทำให้จิตกลับไปสะอาดดังจิตเดิมแท้ในอดีต พุทธพจน์นี้ไม่ได้มีคำว่า จิตเดิมแท้ คำสอนทำนองว่าจิตเดิมแท้นั้นเป็นการปรุงแทรกขึ้นในนิกายมหาสังฆิกะ และนิกายเซนฝ่ายใต้ จากพุทธพจน์ จิตนี้ผ่องใส หมายความว่า จิตยังมีอวิชชาอยู่ (หรือมีอนุสัยนอนก้นอยู่) เมื่อกิเลสอย่างกลาง กับอย่างหยาบ (อุปกิเลส ๑๖) ยังไม่ถูกกระตุ้นให้ฟุ้งขึ้น ท่านก็ยังถือว่าผ่องใสในระดับหนึ่งเหมือนจิตของเด็กทารก แต่ไม่ใช่บริสุทธิ์จากกิเลสโดยสิ้นเชิง ยังมีกิเลสอย่างละเอียดนั้นตกตะกอนนอนก้นอยู่”

พิจารณาได้จาก ถ้าจิตเดิมแท้บริสุทธิ์ไม่มีอวิชชาอยู่แล้วโดยสิ้นเชิง กิเลสใดๆก็จะฟุ้งขึ้นมาอีกไม่ได้ การบรรลุธรรมจึงไม่ได้เป็นการละกิเลสเพื่อให้จิตกลับไปสู่จิตเดิมแท้ ความเห็นในทำนองที่ยังมีตัวผู้เสพเสวยนิพพานนั้นอยู่ ในลักษณะของจิตเดิมแท้ จัดเป็นสัสสตทิฏฐิ

ส่วนประเด็นที่ว่าเมื่อตายลง ขันธ์ ๕ ในชาตินี้ดับหมดตั้งแต่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วอะไรเป็นตัวไปเกิดชาติหน้า อธิบายว่า จุติจิต คือ จิตที่ดับไปในตอนสุดท้ายนั้น ส่งไปในลักษณะเหมือนพลังงาน ไปที่จิตดวงใหม่ คือ อุบัติจิต, ปฏิสนธิวิญญาณ เป็นการเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไม่มีระหว่างคั่น เปรียบเทียบได้กับ การนำเทียนมาต่อไฟกัน เทียนเล่มแรกไส้เทียนจวนหมดแล้วต่อไฟเข้ากับเทียนเล่มที่สองแล้วเทียนเล่มแรกก็ดับไป ไฟของเทียนเล่มที่สองนั้นไม่ใช่ไฟของเทียนเล่มแรก แต่ก็มีปฐมเหตุมาจากเทียนเล่มแรกนั่นเอง ซึ่งจะเห็นได้ว่าการสืบต่อของเหตุปัจจัยนั้นไม่มีลักษณะของความเป็นอัตตาที่เที่ยงแท้แต่อย่างใด



🪷 จากใจ: เถรใบลานว่าง

✍️ เรียบเรียงบทความธรรมะจากพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม 🌿 ถือใบลานหนาในใจว่างพร้อมสดับ ใช้ปัญญาเดินตามทางแห่งมรรคาด้วยการอ่านและการฟัง 📜 เราเองมิใช่ครูบาอาจารย์มาชี้แนะ เป็นแค่เพียงศิษย์ผู้น้อมรับลงต่อธรรมองค์พระสัมมาฯ


🙏 หากสิ่งใดยังมัวหมอง ขัดข้อง ขอให้อย่าถือไว้
สิ่งใดตรงต่อธรรม ขอธรรมนั้นจงงอกงามขึ้นในใจทุกท่านเถิด 🙏

Dhamma-Sutta.com | ศึกษาพระธรรมคำสอนตามพระไตรปิฎก © 2008. Template by Dicas Blogger.

กลับขึ้นด้านบน