วันเสาร์

ปัญหาในสมาธิ ๘ ข้อ

ปริจเฉทที่ ๓
กัมมัฏฐานคหณนิเทศ

เริ่มเรื่องสมาธิ

โดยเหตุที่โยคีบุคคลเมื่อตั้งตนไว้ในศีลอันบริสุทธิ์ผุดผ่องด้วยคุณทั้งหลาย มีความเป็นผู้มักน้อยเป็นต้น ซึ่งสำเร็จขึ้นด้วยการบำเพ็ญธุดงควัตรฉะนี้แล้ว จำต้องจะเจริญสมาธิภาวนาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ด้วยหัวข้อว่า จิตฺตํ โดยพระบาลี ว่า สีเล ปติฏฺฐาย นโร สปญฺโญ จิตฺตํ ปญฺญฺจ ภาวยํ ดังนี้ประการหนึ่งกับอีกประการหนึ่ง โดยเหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสมาธินั้นไว้อย่างย่อสั้นมากไม่ต้องกล่าวถึงที่จะเจริญภาวนาแม้แต่เพียงจะเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะกระทำได้ง่ายเลย ฉะนั้น บัดนี้ เพื่อที่จะแสดงสมาธินั้นอย่างพิสดาร และเพื่อที่จะแสดงวิธีเจริญสมาธินั้น จึงขอตั้งปัญหากรรมเป็นมาตรฐานขึ้นไว้ดังต่อไปนี้ คือ

ปัญหาในสมาธิ ๘ ข้อ

๑. อะไร ชื่อว่าสมาธิ
๒. ที่ชื่อว่าสมาธิ เพราะอรรถว่ากระไร
๓. อะไร เป็นลักษณะ, เป็นรส, เป็นอาการปรากฏ และเป็นปทัฏฐานของสมาธิ
๔. สมาธิ มีกี่อย่าง
๕. อะไร เป็นความเศร้าหมองของสมาธิ
5. อะไร เป็นความผ่องแผ้วของสมาธิ
๗. สมาธินั้น จะพึงเจริญภาวนาอย่างไร
๘. อะไร เป็นอานิสงส์ของสมาธิภาวนา

🙏วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๑
บรรดาปัญหาเหล่านั้น มีคำวิสัชนาดังต่อไปนี้ :-
ปัญหาข้อว่า อะไรชื่อว่าสมาธิ
วิสัชนาว่า สมาธินั้นมีหลายอย่างหลายประการด้วยกัน การที่จะยกมาวิสัชนาแสดงให้แจ่มแจ้งทุก ๆ อย่างนั้น เห็นทีจะไม่สำเร็จสมความหมายเฉพาะที่ต้องการ กลับจะทำให้เกิดความฟันเฟือยิ่งขึ้นเสียด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงขอวิสัชนาเจาะเอาเฉพาะที่ต้องการในที่นี้ว่า ภาวะที่จิตมีอารมณ์อันเดียวฝ่ายกุศลชื่อว่าสมาธิ

🙏วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๒
ปัญหาข้อว่า ที่ชื่อว่าสมาธิ เพราะอรรถว่ากระไร 
วิสัชนาว่า ที่ชื่อว่าสมาธิ เพราะอรรถว่า ความตั้งมั่น ที่ว่า ความตั้งมั่น นี้ได้แก่อะไร ? ได้แก่ความตั้งอยู่หรือความดำรงอยู่ของจิตและเจตสิกทั้งหลายในอารมณ์อันเดียวอย่างสม่ำเสมอ และโดยถูกทางด้วย เพราะฉะนั้น จิตและเจตสิกทั้งหลายย่อมตั้งอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างสม่ำเสมอและโดยถูกทางด้วย ไม่ฟุ้งซ่านและไม่ส่ายไปในอารมณ์อื่น ด้วยอำนาจแห่งธรรมชาติใดธรรมชาตินี้ พึงทราบว่า คือ ความตั้งมั่น

🙏วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๓
ปัญหาข้อว่า อะไรเป็นลักษณะ, เป็นรส, เป็นอาการปรากฏ และเป็นปทัฏฐานของสมาธิ 
วิสัชนาว่า สมาธินั้นมีความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ มีการกำจัดเสียซึ่งความฟุ้งซ่านเป็นรส มีการไม่หวั่นไหวเป็นอาการปรากฏ มีความสุขเป็นปทัฏฐาน เพราะพระบาลีรับรองว่า "สุขิโน จิตฺตํ สมาธิยติ" จิตของบุคคลผู้มีความสุขย่อมตั้งมั่น ฉะนี้

🙏วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๔
ปัญหาข้อว่า สมาธิ มีกี่อย่าง 
วิสัชนาว่า :-
๑. สมาธิมีอย่างเดียว ด้วยมีลักษณะไม่ฟุ้ง เป็นประการแรก
๒. สมาธิมี ๒ อย่าง มีดังนี้ คือ
หมวดที่ ๑ โดยแยกเป็น อุปจารสมาธิ ๑ อัปปนาสมาธิ ๑
หมวดที่ ๒ โดยแยกเป็น โลกิยสมาธิ ๑ โลกุตตรสมาธิ ๑
หมวดที่ ๓ โดยแยกเป็น สัปปีติกสมาธิ ๑ สมาธิประกอบด้วยปีติ ๑ นิปปีติกสมาธิ สมาธิปราศจากปีติ ๑
หมวดที่ ๔ โดยแยกเป็น สุขสหคตสมาธิ สมาธิประกอบด้วยสุขเวทนา ๑ อุเปกขาสหคตสมาธิ สมาธิประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา ๑
๓. สมาธิมี ๓ อย่าง ดังนี้ คือ
หมวดที่ ๑ โดยแยกเป็น หีนสมาธิ ๑ มัชฌิมสมาธิ ๑ ปณีตสมาธิ ๑
หมวดที่ ๒ โดยแยกเป็น สวิตักกสวิจารสมาธิ สมาธิมีทั้งวิตกมีทั้งวิจาร ๑ อวิตักกวิจารมัตตสมาธิ สมาธิไม่มีวิตกมีแต่วิจาร ๑ อวิตกกาวิจารสมาธิ สมาธิไม่มีทั้งวิตกทั้งวิจาร ๑
หมวดที่ ๓ โดยแยกเป็น ปีติสหคตสมาธิ สมาธิประกอบด้วยปีติ ๑ สุขสหคตสมาธิ สมาธิประกอบด้วยสุขเวทนา ๑ อุเปกขาสหคตสมาธิ สมาธิประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา ๑
หมวดที่ ๔ โดยแยกเป็น ปริตตสมาธิ สมาธิมีประมาณน้อย ๑ มหัคคตสมาธิ สมาธิอันยิ่งใหญ่ ๑ อัปปมาณสมาธิสมาธิอันหาประมาณมิได้ ๑
๔. สมาธิมี ๔ อย่าง ดังนี้ คือ
หมวดที่ ๑ โดยแยกเป็น ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญาสมาธิ สมาธิที่มีปฏิปทาลำบากทั้งรู้ช้า ๑ ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญาสมาธิ สมาธิที่มีปฏิปทาลำบากแต่รู้เร็ว ๑ สุขาปฏิปทาทันธาภิญญาสมาธิ สมาธิ
ที่มีปฏิปทาสบายแต่รู้ช้า ๑ สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญาสมาธิ สมาธิที่มีปฏิปทาสบาย ด้วยรู้เร็วด้วย ๑
หมวดที่ ๒ โดยแยกเป็น ปริตตปริตตารัมมณสมาธิ สมาธิที่ไม่คล่องแคล่วและไม่ได้ขยายอารมณ์ ๑ ปริตตอัปปมาณารัมมณสมาธิ สมาธิที่ไม่คล่องแคล่วแต่ขยายอารมณ์ ๑ อัปปมาณปริตตารัมมณสมาธิ สมาธิที่คล่องแคล่วแต่ไม่ได้ขยายอารมณ์ ๑ อัปปมาณอัปปมาณารัมมณสมาธิ สมาธิที่คล่องแคล่วและขยายอารมณ์ ๑
หมวดที่ ๓ โดยแยกเป็นองค์แห่งฌาน ๔ คือ องค์แห่งปฐมฌาน ๑ องค์แห่งทุติยฌาน ๑ องค์แห่งตติยฌาน ๑ องค์แห่งจตุตถฌาน ๑
หมวดที่ ๔ โดยแยกเป็น หานภาคิยสมาธิ สมาธิเป็นไปในส่วนแห่งความเสื่อม ๑ ฐิติภาคิยสมาธิ สมาธิเป็นไปในส่วนแห่งความติดแน่น ๑ วิเสสภาคิยสมาธิ สมาธิเป็นไปในส่วนแห่งคุณวิเศษ ๑ นิพเพธภาคิยสมาธิ สมาธิเป็นไปในส่วนแห่งอันแทงทะลุสัจธรรม ๑
หมวดที่ ๕ โดยแยกเป็น กามาวจรสมาธิ สมาธิเป็นกามาวจร ๑ รูปาวจรสมาธิ สมาธิเป็นรูปาวจร ๑ อรูปาวจรสมาธิ สมาธิเป็นอรูปาวจร ๑ อปริยาปันนสมาธิ สมาธิเป็นโลกุตตระ ๑
หมวดที่ ๖ โดยแยกเป็น ฉันทาธิปติสมาธิ สมาธิมีฉันทะเป็นอธิบดี ๑ วีริยาธิปติสมาธิ สมาธิมีวีริยะเป็นอธิบดี ๑ จิตตาธิปติสมาธิ สมาธิมีจิตเป็นอธิบดี ๑ วิมังสาธิปติสมาธิ สมาธิมีวิมังสาคือปัญญาเป็นอธิบดี ๑
๕. สมาธิมี ๕ อย่าง ดังนี้ คือ
โดยแยกเป็น องค์แห่งฌาน ๕ ในปัญจกนัยได้แก่ องค์แห่งปฐมฌาน ๑ องค์แห่งทุติยฌาน ๑ องค์แห่งตติยฌาน ๑ องค์แห่งจตุตถฌาน ๑ องค์แห่งปัญจมฌาน ๑


อธิบายสมาธิอย่างเดียว
สมาธิที่มีส่วนอย่างเดียวมีเนื้อความกระจ่างอยู่แล้ว ไม่ต้องพรรณนาความอีก

อธิบายสมาธิ ๒ อย่าง
ในสมาธิที่มีส่วน ๒ อย่าง
หมวดที่ ๑ ที่ว่า สมาธิมี ๒ อย่าง โดยแยกเป็น อุปจารสมาธิ ๑ อัปปนาสมาธิ ๑ นั้น มีอรรถาธิบาย ดังนี้
อุปจารสมาธิ คือ ภาวะที่จิตเป็นเอกัคคตา* ที่โยคีบุคคลได้มาด้วยอำนาจกัมมัฏฐาน ๑๐ เหล่านี้คือ 🔎อนุสสติ ๖ (พุทธานุสสติถึงเทวตานุสสติ) มรณสติ ๑ อุปสมานุสสติ ๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ นี้อย่างหนึ่ง กับเอกัคคตาในบุพภาคเบื้องต้นแห่งอัปปนาสมาธิทั้งหลายอย่างหนึ่ง  (คำว่า เอกัคคตา* ตามรูปศัพท์แปลว่า ภาวะที่จิตมีอารมณ์อันเดียว โดยความหมาย ได้แก่เอกัคคตาเจตสิกในอัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวง ซึ่งโดยปกติย่อมเข้าประกอบกับจิตทุกดวง แต่มีกำลังอ่อน ในที่นี้มีกำลังกล้าสามารถจะทำให้สัมปยุตธรรมตั้งอยู่ในอารมณ์อันเดียวได้นาน ๆ ซึ่งจัดเป็นองค์ฌานองค์หนึ่ง)
อัปปนาสมาธิ คือ เอกัคคตาถัดไปแต่บริกรรมภาวนา เอกัคคตาชนิดนี้ เรียกว่าอัปปนาสมาธิ  เพราะมีพระบาลีรับรองว่าบริกรรมภาวนาแห่งปฐมฌาน ย่อมเป็นปัจจัยแก่ปฐมฌานโดยอนันตรปัจจัย ฉะนี้

หมวดที่ ๒ ที่ว่า สมาธิมี ๒ อย่าง โดยแยกเป็น โลกยสมาธิ ๑ โลกุตตรสมาธิ ๑ นั้น มีอรรถาธิบาย ดังนี้
โลกียสมาธิ คือ เอกัคคตาที่ประกอบด้วยกุศลจิต ในภูมิ ๓ คือ กามภูมิ, รูปภูมิและอรูปภูมิ
โลกุตตรสมาธิ คือ เอกัคคตาที่ประกอบด้วยอริยมัคคจิต

หมวดที่ ๓ ที่ว่า สมาธิมี ๒ อย่าง โดยแยกเป็น สัปปีติกสมาธิ ๑ นิปปีติกสมาธิ ๑ นั้น มีอรรถาธิบาย ดังนี้
เอกัคคตาในฌาน ๒ ข้างต้นในจตุกกนัย และในข้างต้นในปัญจกนัย เรียกว่า
สัปปีติกสมาธิ คือสมาธิที่ประกอบด้วยปีติ
เอกัคคตาในฌาน ๓ ที่เหลือข้างปลาย เรียกว่า
นิปปีติกสมาธิ คือสมาธิที่ปราศจากปีติ
ส่วนอุปจารสมาธิที่ประกอบด้วยปีติก็มีที่ปราศจากปีติก็มี

หมวดที่ ๔ ที่ว่า สมาธิมี ๒ อย่าง โดยแยกเป็น สุขสหคตสมาธิ ๑ อุเปกขาสหคตสมาธิ ๑ นั้น มีอรรถาธิบาย ดังนี้ เอกัคคตาในฌาน ๓ ข้างต้นในจตุกกนัยและในฌาน ๔ ข้างต้นในปัญจกนัย เรียกว่า
สุขสหคตสมาธิ คือสมาธิที่ประกอบด้วยสุขเวทนา
เอกัคคตาในฌานที่เหลือข้างปลาย เรียกว่า
อุเปกขาสหคตสมาธิ คือสมาธิที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา
ส่วนอุปจารสมาธิที่ประกอบด้วยสุขเวทนาก็มีที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาก็มี

อธิบายสมาธิ ๓ อย่าง
ในสมาธิที่แยกเป็น ๓ อย่าง
หมวดที่ ๑ ที่ว่า สมาธิมี ๓ อย่าง โดยแยกเป็น หีนสมาธิ ๑ มัชฌิมสมาธิ ๑ ปณีตสมาธิ ๑ นั้น มีอรรถาธิบาย ดังนี้ 
หีนสมาธิ คือสมาธิขั้นต่ำ สมาธิที่พอได้บรรลุ ยังไม่ได้ต้องเสพให้หนัก ยังไม่ได้ทำให้มาก ๆ
มัชฌิมสมาธิ คือสมาธิขั้นกลาง สมาธิที่ทำให้เกิดขึ้นยังไม่ได้ที่ คือยังไม่ได้ทำให้ถึงความคล่องแคล่วเป็นอย่างดี
ปณีตสมาธิ คือสมาธิขั้นประณีต สมาธิที่ทำให้เกิดขึ้นได้ที่ดีแล้ว คือถึงความเป็นวสีมีความสามารถอย่างคล่องแคล่วแล้ว

ไขความทั้ง ๓ อย่าง
ที่ชื่อว่า หีนสมาธิ เพราะให้เป็นไปด้วยความปรารถนาผลบุญอันโอฬา
ที่ชื่อว่า มัชฌิมสมาธิ เพราะให้เป็นไปด้วยจะให้สำเร็จอภิญญาโลกีย์
ที่ชื่อว่า ปณีตสมาธิ เพราะท่านผู้ดำรงอยู่ในอริยภาพให้เป็นไปด้วยปรารถนาความสงัดจิต

อีกนัยหนึ่ง
ที่ชื่อว่า หีนสมาธิ เพราะให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนด้วยต้องการภวสมบัติ
ที่ชื่อว่า มัชฌิมสมาธิ เพราะให้เป็นไปด้วยอัธยาศัยที่ไม่โลภอย่างเดียว
ที่ชื่อว่า ปณีตสมาธิ เพราะให้เป็นไปเพื่อประโยชน์คนอื่น

อีกนัยหนึ่ง
ที่ชื่อว่า หีนสมาธิ เพราะให้เป็นไปด้วยมีอัธยาศัยติดอยู่ในวัฏฏะ
ที่ชื่อว่า มัชฌิมสมาธิ เพราะให้เป็นไปด้วยอัธยาศัยชอบความสงัด
ที่ชื่อว่า ปณีตสมาธิ เพราะให้เป็นไปด้วยอัธยาศัยใคร่ปราศจากวัฏฏะด้วยต้องการให้บรรลุถึงโลกุตตรธรรม

หมวดที่ ๒ ที่ว่า สมาธิมี ๓ อย่าง โดยแยกเป็น สวิตักกสวิจารสมาธิ ๑ อวิตกกวิจารมัตตสมาธิ ๑ อวิตกกาวิจารสมาธิ ๑ นั้น มีอรรถาธิบาย ดังนี้ สมาธิในปฐมฌานรวมทั้งอุปจารสมาธิ เรียกว่า
สวิตักกสวิจารสมาธิ คือสมาธิมีทั้งวิตกทั้งวิจาร
อวิตักกวิจารมัตตสมาธิ คือสมาธิไม่มีวิตกมีแต่วิจาร อธิบายว่า โยคีบุคคลใดเห็นโทษแต่ในวิตกอย่างเดียวไม่เห็นโทษในวิจาร จึงปรารถนาที่จะละวิตกอย่างเดียว ผ่านพ้นปฐมฌานไป โยคีผู้นั้นย่อมได้สมาธิที่ไม่มีวิตกมีแต่วิจาร ข้อว่า อวิตักกวิจารมัตตสมาธินั้น หมายเอาสมาธิในทุติยฌานในปัญจกนัย
อวิตกกาวิจารสมาธิ คือสมาธิไม่มีทั้งวิตกทั้งวิจาร เอกัคคตาในฌาน ๓ สำหรับจตุกกนัย มีทุติยฌานเป็นต้นไป สำหรับปัญจกนัย มีตติยฌานเป็นต้นไป

หมวดที่ ๓ ที่ว่า สมาธิมี ๓ อย่าง โดยแยกเป็น ปีติสหคตสมาธิ ๑ สุขสหคตสมาธิ ๑ อุเปกขาสหคตสมาธิ ๑ นั้น มีอรรถาธิบาย ดังนี้
เอกัคคตาในฌาน ๒ เบื้องต้นในจตุกกนัย และในฌาน ๓ เบื้องต้นในปัญจกนัย เรียกว่า
ปีติสหคตสมาธิ คือสมาธิประกอบด้วยปีติ เอกัคคตาในฌานที่ ๓ และฌานที่ ๔
ในจตุกกนัยและปัญจกนัยนั้นนั่นแหละ เรียกว่า
สุขสหคตสมาธิ คือสมาธิประกอบด้วยสุขเวทนา
เอกัคคตาในฌานอันสุดท้ายทั้งในจตุกกนัย และปัญจกนัย คือในจตุตถฌานหรือในปัญจมฌาน เรียกว่า
อุเปกขาสหคตสมาธิ คือสมาธิประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา ส่วนอุปจารสมาธิ ประกอบด้วยสุขเวทนาก็มี ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาก็มี

หมวดที่ ๔ ที่ว่าสมาธิมี ๓ อย่าง โดยแยกเป็น ปริตตสมาธิ ๑ มหัคคตสมาธิ ๑ อัปปมาณสมาธิ ๑ นั้น มีอรรถาธิบาย ดังนี้ เอกัคคตาในอุปจารฌานภูมิ คือในจิตตุปบาทที่ประกอบด้วยอุปจารฌาน เรียกว่า
ปริตตสมาธิ สมาธิมีประมาณน้อย (หรือกามาวจรสมาธิ)
เอกัคคตาในรูปาวจรกุศลจิตและอรูปาวจรกุศลจิต เรียกว่า
มหัคคตสมาธิ คือสมาธิอันยิ่งใหญ่ อธิบายว่า สมาธิที่ถึงภาวะอันยิ่งใหญ่โดยการข่มกิเลส ๑ โดยมีผลอันไพบูลย์กว้างขวาง ๑ โดยสืบต่ออยู่ได้นาน ๆ ๑ หรือสมาธิที่ดำเนินไปด้วยคุณอันยิ่งใหญ่มีฉันทะอันยิ่งใหญ่เป็นต้น เรียกว่า มหัคคตสมาธิ
เอกัคคตาที่ประกอบด้วยอริยมัคคจิต คือที่เกิดร่วมกับอริยมัคคจิต เรียกว่า
อัปปมาณสมาธิ คือสมาธิอันหาประมาณมิได้ หรือสมาธิอันมีธรรมหาประมาณมิได้เป็นอารมณ์

อธิบายสมาธิ ๔ อย่าง
ในสมาธิที่แยกเป็น ๔ อย่าง
หมวดที่ ๑ ที่ว่า สมาธิมี ๔ อย่าง โดยแยกเป็นทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญาสมาธิ เป็นต้นนั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ คือ : สมาธิ ๔ อย่าง ได้แก่ ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญาสมาธิ ๑ ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญาสมาธิ ๑ สุขาปฏิปทาทันธาภิญญาสมาธิ ๑ สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญาสมาธิ ๑ อธิบายว่า ในปฏิปทาและอภิญญา ๒ อย่างนั้น การเจริญภาวนาสมาธิที่ดำเนินไปนับตั้งแต่ลงมือสำรวจจิตเจริญกัมมัฏฐานครั้งแรก จนถึงอุปจารฌานของฌานนั้น ๆ เกิดขึ้น เรียกว่า ปฏิปทา คือการปฏิบัติ ส่วนปัญญาที่ดำเนินไปนับตั้งแต่อุปจารฌานไปจนถึงอัปปนาฌาน เรียกว่า อภิญญา คือการรู้แจ้ง ก็แหละ ปฏิปทาคือการปฏิบัตินี้นั้น ย่อมเป็นทุกข์คือลำบาก ต้องเสพไม่สะดวกสำหรับโยคีบุคคลบางคน เพราะการรบเร้าและยึดครองของธรรมที่เป็นข้าศึกมีนิวรณ์เป็นต้น แต่เป็นความสะดวกสบายสำหรับโยคีบุคคลบางคน เพราะไม่มีการรบเร้าและยึดครองของธรรมที่เป็นข้าศึก แม้อภิญญาคือการรู้แจ้งก็เป็นการเชื่องช้าเฉื่อยชา ไม่เกิดโดยฉับพลันสำหรับโยคีบุคคลบางคน แต่สำหรับโยคีบุคคลบางคนก็รวดเร็วไม่เฉื่อยชาเกิดโดยฉับพลัน ก็แหละ ธรรมอันเป็นที่สบายและไม่เป็นที่สบาย ๑ บุพกิจเบื้องต้นมีการตัดปลิโพธ คือเครื่องกังวลให้สิ้นห่วง ๑ และความฉลาดในอัปปนาทั้งหลาย ๑ เหล่าใดที่ข้าพเจ้าจักยกมาพรรณนาข้างหน้า ในบรรดาธรรมเหล่านั้น

โยคีบุคคลใดเป็นผู้ร้องเสพธรรมอันไม่เป็นที่สบาย โยคีบุคคลผู้นั้นย่อมมีปฏิปทาคือการปฏิบัติลำบากเป็นทุกข์ และมีอภิญญาคือการรู้แจ้งเชื่องช้า โยคีบุคคลผู้ร้องเสพธรรมอันเป็นที่สบาย ย่อมมีปฏิปทาคือการปฏิบัติสะดวกสบาย และมีอภิญญาคือการรู้แจ้งอย่างรวดเร็ว ส่วนโยคีบุคคลใด ในตอนต้นก่อนแต่ได้บรรลุอุปจารสมาธิ ต้องเสพธรรมอันไม่เป็นที่สบาย ตอนหลังจากที่บรรลุอุปจารสมาธิแล้ว ได้ร้องเสพธรรมอันเป็นที่สบาย หรือในตอนต้นได้ต้องเสพธรรมอันเป็นที่สบาย ตอนหลังได้ร้องเสพธรรมอันไม่เป็นที่สบาย พึงทราบว่า ปฏิปทาและอภิญญาของโยคีบุคคลนั้นคละกัน อธิบายว่า โยคีบุคคลใดในตอนต้นส้องเสพธรรมอันไม่เป็นที่สบาย ตอนหลังได้ร้องเสพธรรมอันเป็นที่สบายโยคีบุคคลนั้นมีปฏิปทาลำบากเป็นทุกข์แต่มีอภิญญาการรู้แจ้งอย่างรวดเร็ว ส่วนโยคีบุคคลใด ในตอนต้นต้องเสพธรรมอันเป็นที่สบาย ตอนหลังได้ร้องเสพธรรมอันไม่เป็นที่สบาย โยคีบุคคลนั้น มีปฏิปทาสะดวกสบายแต่มีอภิญญาการรู้แจ้งเชื่องช้า พึงทราบสมาธิที่ ๒ และที่ ๓ เพราะความคละกันแห่งสมาธิที่ ๑ และที่ ๔ ฉะนี้ สำหรับโยคีบุคคลผู้ไม่ได้จัดแจงทำบุพกิจเบื้องต้น มีการตัดปลิโพธเครื่องกังวล ให้สิ้นห่วงเป็นต้นเสียก่อน แล้วลงมือประกอบการเจริญภาวนาก็เหมือนกัน คือ ย่อมมีปฏิปทาการปฏิบัติลำบากเป็นทุกข์ โดยปริยายตรงกันข้าม สำหรับโยคีบุคคลผู้จัดแจงทำบุพกิจให้เสร็จสิ้นแล้ว จึงลงมือประกอบการเจริญภาวนา ย่อมมีปฏิปทาสะดวกสบาย ส่วนโยคีบุคคลผู้ที่ไม่ได้เรียนอัปปนาโกศล คือความเป็นผู้ฉลาดในอัปปนาให้สำเร็จก่อน ย่อมมีอภิญญาการรู้แจ้งอย่างเชื่องช้า ผู้ที่เรียนอัปปนาโกศลให้สำเร็จก่อน ย่อมมีอภิญญาการรู้แจ้งอย่างรวดเร็ว อีกประการหนึ่ง พึงทราบประเภทของปฏิปทาและอภิญญานี้ด้วยอำนาจแห่งตัณหาและอวิชชา ๑ ด้วยอำนาจแห่งสมถาธิการและวิปัสสนาธิการ ๑ ต่อไป

กล่าวคือ
โยคีบุคคลผู้อันตัณหาครอบงำ ย่อมมีปฏิปทาลำบากเป็นทุกข์
ผู้ที่ไม่ถูกตัณหาครอบงำ ย่อมมีปฏิปทาสะดวกสบาย
โยคีบุคคลผู้อันอวิชชาครอบงำ ย่อมมีอภิญญาเชื่องช้า
ผู้ที่ไม่ถูกอวิชชาครอบงำ ย่อมมีอภิญญารวดเร็ว
โยคีบุคคลผู้มีอธิการอันไม่ได้ทำไว้ในสมถภาวนา ย่อมมีปฏิปทาลำบากเป็นทุกข์
ผู้มีอธิการอันได้ทำไว้แล้ว ย่อมมีปฏิปทาสะดวกสบาย
ส่วนผู้มีอธิการอันไม่ได้ทำไว้ในวิปัสสนาภาวนา ย่อมมีอภิญญาเชื่องช้า
ผู้มีอธิการอันได้ทำไว้แล้ว ย่อมมีอภิญญารวดเร็ว

พึงทราบประเภทของปฏิปทาและอภิญญาเหล่านี้ แม้ด้วยอำนาจแห่งกิเลสและอินทรีย์ ๕ อีก กล่าวคือ

โยคืบุคคลผู้มีกิเลสรุนแรงแต่มีอินทรีย์ย่อหย่อน ย่อมมีปฏิปทาลำบากเป็นทุกข์ และมีอภิญญาเชื่องช้า
ผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้า ย่อมมีอภิญญารวดเร็ว
โยคีบุคคลผู้มีกิเลสบางเบามีอินทรีย์ย่อหย่อน ย่อมมีปฏิปทาสะดวกสบาย แต่มีอภิญญาเชื่องช้า
ผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้า ย่อมมีอภิญญารวดเร็ว

ด้วยประการฉะนี้ ในปฏิปทาและอภิญญาเหล่านี้ โยคีบุคคลใดได้บรรลุซึ่งสมาธิด้วยปฏิปทาอันลำบากเป็นทุกข์และด้วยอภิญญาอันเชื่องช้า สมาธิของโยคีบุคคลนั้นเรียกว่า ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญาสมาธิ โยคีบุคคลใดได้บรรลุซึ่งสมาธิด้วยปฏิปทาอันลำบากเป็นทุกข์และด้วยอภิญญาอันรวดเร็ว สมาธิของโยคีบุคคลนั้น เรียกว่าทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญาสมาธิ โยคีบุคคลใดได้บรรลุซึ่งสมาธิด้วยปฏิปทาอันสะดวกสบายและด้วยอภิญญาอันเชื่องช้า สมาธิของโยคีบุคคลนั้น เรียกว่า สุขาปฏิปทาทันธาภิญญาสมาธิ โยคีบุคคลใดได้บรรลุซึ่งสมาธิด้วยปฏิปทาอันสะดวกสบายและด้วยอภิญญาอันรวดเร็ว สมาธิของโยคีบุคคลนั้น เรียกว่า สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญาสมาธิ

หมวดที่ ๒ ที่ว่า สมาธิมี ๔ อย่างโดยแยกเป็น ปริตตปริตตารัมมณสมาธิเป็นต้นนั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ คือ : สมาธิ ๔ อย่าง ได้แก่ ปริตตปริตตารัมมณสมาธิ ๑ ปริตตอัปปมาณารัมมณสมาธิ ๑ อัปปมาณปริตตารัมมณสมาธิ ๑ อัปปมาณอัปปมาณารัมมณสมาธิ ๑ อธิบายว่า ในสมาธิเหล่านั้น สมาธิใดยังไม่คล่องแคล่ว ไม่สามารถที่จะเป็นปัจจัยแก่ฌานเบื้องสูงขึ้นไปได้ สมาธินี้ชื่อว่า
ปริตตสมาธิ คือสมาธิมีประมาณน้อย ส่วนสมาธิใดเป็นไปในอารมณ์ที่ไม่ได้ขยาย สมาธินั้นชื่อว่า
ปริตตารัมมณสมาธิ คือสมาธิมีอารมณ์มีประมาณน้อย สมาธิใดคล่องแคล่วแล้ว เจริญให้เกิดขึ้นได้ที่แล้วสามารถที่จะเป็นปัจจัยแก่ฌานเบื้องสูงขึ้นไปได้ สมาธินี้ชื่อว่า
อัปปมาณสมาธิ คือสมาธิหาประมาณมิได้ และสมาธิใดเป็นไปในอารมณ์ที่ขยายแล้ว สมาธินี้ชื่อว่า อัปปมาณารมมณสมาธิ คือสมาธิมีอารมณ์หาประมาณมิได้ ส่วนนัยที่คละกันแห่งสมาธิที่ ๑ และที่ ๔ ซึ่งสงเคราะห์เข้าเป็นสมาธิที่ ๒ และที่ ๓ พึงทราบโดยความคละกันแห่งลักษณะที่กล่าวแล้วดังนี้คือ สมาธิใดยังไม่คล่องแคล่ว ไม่สามารถที่จะเป็นปัจจัยแก่ฌานเบื้องสูงขึ้นไปได้ แต่เป็นไปในอารมณ์ที่ขยายแล้ว สมาธินี้ชื่อว่า
ปริตตอัปปมาณารัมมณสมาธิ คือสมาธิมีประมาณน้อย มีอารมณ์หาประมาณมิได้ ส่วนสมาธิใดคล่องแคล่วแล้ว สามารถที่จะเป็นปัจจัยแก่ฌานเบื้องสูงขึ้นไปได้ แต่เป็นไปในอารมณ์ที่ไม่ได้ขยาย สมาธินี้ชื่อว่า อัปปมาณปริตตารัมมณสมาธิคือ สมาธิหาประมาณมิได้ มีอารมณ์มีประมาณน้อย

หมวดที่ ๓ ที่ว่า สมาธิมี ๔ อย่าง โดยแยกเป็นองค์แห่งฌาน ๔ นั้นมีอรรถาธิบายดังนี้ คือ :
ปฐมฌาน มีองค์ ๕ ด้วยอำนาจวิตก ๑ วิจาร ๑ ปีติ ๑ สุข ๑ สมาธิ ๑ ซึ่งข่มนิวรณ์ได้แล้ว เหนือจากปฐมฌานไป วิตกกับวิจารสงบลง (องค์แห่งปฐมฌานองค์ที่ ๕ นี้ บางทีก็เรียกว่า เอกัคคตา ในที่นี้ท่านเรียกว่า สมาธิ พึงทราบว่าสมาธิกับเอกัคคตา โดยความหมายเป็นอย่างเดียวกัน)
ทุติยฌาน จึงมีเพียงองค์ ๓ คือ ปีติ ๑ สุข ๑ สมาธิ ๑ เหนือจากทุติยฌานไป ปีติสร่างหายไป
ตติยฌาน จึงมีเพียงองค์ ๒ คือ สุข ๑ สมาธิ ๑ เหนือจากตติยฌานไปละสุขเสีย 
จตุตถฌาน คงมีองค์ ๒ คือสมาธิ ๑ อุเบกขาเวทนา ๑
ด้วยประการฉะนี้ องค์แห่งฌาน ๔ เหล่านี้จึงเป็นสมาธิ ๔ อย่าง สมาธิ ๔ อย่างโดยแยกเป็นองค์ฌาน ๔ ยุติเพียงเท่านี้ 

หมวดที่ ๔ ที่ว่า สมาธิมี ๔ โดยแยกเป็น หานภาคิยสมาธิ เป็นต้น มีอรรถาธิบายดังนี้ คือ : สมาธิ ๔ อย่าง ได้แก่ หานภาคิยสมาธิ ๑ ฐิติภาคิยสมาธิ ๑ วิเสสภาคียสมาธิ ๑ นิพเพธภาคิยสมาธิ ๑ อธิบายว่า ในสมาธิ ๔ อย่างนั้น พึงทราบว่าที่ชื่อว่า
หานภาคิยสมาธิ สมาธิเป็นไปในส่วนแห่งความเสื่อม ด้วยอำนาจของความรบกวนของธรรมเป็นข้าศึกของฌานนั้น ๆ มีนิวรณ์, วิตกและวิจาร เป็นต้น 
ฐิติภาคิยสมาธิ สมาธิเป็นไปในส่วนแห่งความติดแน่น ด้วยอำนาจความติดแน่นด้วยสติอันสมควรแก่สมาธินั้น ที่ชื่อว่า
วิเสสภาคิยสมาธิ สมาธิเป็นไปในส่วนแห่งคุณวิเศษ ด้วยอำนาจเป็นเหตุบรรลุซึ่งคุณวิเศษเบื้องสูงขึ้นไป และที่ชื่อว่า
นิพเพธภาคิยสมาธิ สมาธิเป็นไปในส่วนแห่งอันแทงทะลุสัจธรรม ด้วยอำนาจความใฝ่ใจในสัญญาอันประกอบด้วยนิพพิทาญาณและความเร่งเร้า เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า :-

"บุคคลผู้ได้สำเร็จปฐมฌาน ความใฝ่ใจในสัญญาทั้งหลายอันประกอบด้วยความหมายมั่นในกามคุณ ย่อมเร่งเร้ารบกวนอยู่ ปัญญาก็ยังมีส่วนแห่งความเสื่อม, สติอันสมควรแก่ฌานนั้น ย่อมติดแน่น ปัญญาก็มีส่วนแห่งความติดมั่น, ความใฝ่ใจในสัญญาทั้งหลายอันประกอบด้วยฌานที่ไม่มีวิตก ย่อมเร่งเร้า ปัญญาก็มีส่วนแห่งคุณวิเศษ, ความใฝ่ใจในสัญญาทั้งหลายอันประกอบด้วยญาณเป็นเหตุให้เบื่อหน่าย ย่อมเร่งเร้า ปัญญามีส่วนแห่งความแทงทะลุสัจธรรม ประกอบด้วยธรรมอันคลายความกำหนัด"


ก็แหละ แม้สมาธิที่ประกอบด้วยปัญญานั้น ก็จัดเป็นสมาธิ ๔ อย่าง ฉะนี้สมาธิ ๔ อย่างโดยแยกเป็น หานภาคิยสมาธิ เป็นต้น ยุติเพียงเท่านี้

หมวดที่ ๕ ที่ว่า สมาธิมี ๔ อย่างโดยแยกเป็นกามาวจรสมาธิ เป็นต้นนั้นมีอรรถาธิบายดังนี้ คือ : สมาธิ ๔ อย่างนั้น คือ กามาวจรสมาธิ ๑ รูปาวจรสมาธิ ๑ อรูปาวจรสมาธิ ๑ อปริยาในนสมาธิ ๑ อธิบายว่า ในสมาธิ ๔ อย่างนั้น เอกัคคตาในอุปจารฌานแม้ทั้งสิ้น เรียกว่า กามาวจรสมาธิ จิตเตกัคคตาอันเป็นรูปาวจรกุศล เรียกว่า รูปาวจรสมาธิ จิตเตกัคคตาอันเป็นอรูปาวจรกุศล เรียกว่า อรูปาวจรสมาธิ จิตเตกัคคตาอันเป็นโลกุตตรกุศล เรียกว่า อปริยาปันนสมาธิ สมาธิ ๔ อย่างนี้โดยแยกเป็น กามาวจรสมาธิ เป็นต้น ยุติเพียงเท่านี้

หมวดที่ ๖ ที่ว่า สมาธิมี ๔ อย่างโดยแยกเป็นอธิบดี ๔ นั้น มีอรรถาธิบายโดยมีพระบาลีรับสมอ้างดังนี้ คือ : ถ้าภิกษุทำฉันทะให้เป็นอธิบดีแล้ว ได้สมาธิ ได้ภาวะที่จิตมีอารมณ์อันเดียว สมาธินี้เรียกว่า ฉันทาธิปติสมาธิ ถ้าภิกษุทำวีริยะให้เป็นอธิบดีแล้ว ได้สมาธิ ได้ภาวะที่จิตมีอารมณ์อันเดียว สมาธินี้เรียกว่า วีริยาธิปติสมาธิ ถ้าภิกษุทำจิตให้เป็นอธิบดีแล้วได้สมาธิ ได้ภาวะที่จิตมีอารมณ์อันเดียว สมาธินี้เรียกว่า จิตตาธิปติสมาธิ ถ้าภิกษุทำวิมังสาคือ ปัญญาให้เป็นอธิบดีแล้ว ได้สมาธิ ได้ภาวะที่จิตมีอารมณ์ อันเดียว สมาธินี้เรียกว่า วิมังสาธิปติสมาธิ สมาธิ ๔ อย่าง โดยแยกเป็นอธิบดี ๔ ยุติเพียงเท่านี้


อธิบายสมาธิ ๕ อย่าง
ในสมาธิที่แยกเป็น ๕ อย่างนั้น นักศึกษาพึงทราบภาวะที่แยกสมาธิเป็น ๕ อย่างด้วยอำนาจแห่งองค์ฌานทั้ง ๕ ในปัญจกนัยดังนี้ คือ :- ฌานที่จัดเป็น ๕ ฌานนั้น เพราะแยกทุติยฌานที่กล่าวไว้ในประเภทแห่งฌาน โดยจตุกกนัยเป็น ๒ ฌานอย่างนี้ คือ เป็นทุติยฌานด้วยก้าวล่วงแต่วิตก ๑ เป็นตติยฌานด้วยก้าวล่วงทั้งวิตกทั้งวิจาร ๑ (นอกนั้นเหมือนในจตุกกนัย กล่าวคือปฐมฌานมีองค์ ๕ ได้แก่ วิตก วิจาร, ปีติ, สุข, และสมาธิ ทุติยฌานมีองค์ ๔ ได้แก่ วิจาร, ปีติ, สุข, และสมาธิ, ตติยฌานมีองค์ ๓ ได้แก่ ปีติ, สุข, และสมาธิ จตุตถฌานมีองค์ ๒ ได้แก่ สุข และสมาธิ ปัญจมฌานมีองค์ ๒ ได้แก่ อุเบกขาและสมาธิ) ก็แหละ องค์แห่งฌาน ๔ เหล่านั้น เรียกว่า สมาธิ ๕ อย่าง ด้วยประการฉะนี้

🙏วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๕ ข้อที่ ๖
ก็แหละ ในปัญหา ๒ ข้อที่ว่า อะไรเป็นความเศร้าหมองของสมาธิและอะไรเป็นความผ่องแผ้วของสมาธินี้ พระผู้มีพระภาคทรงวิสัชนาไว้ในญาณวิภังค์แห่งคัมภีร์วิภังคปกรณ์แล้วนั่นเทียว เป็นความจริงทีเดียว ในญาณวิภังค์นั้นท่านแสดงไว้ว่า ธรรมอันเป็นไปในส่วนแห่งความเสื่อม ชื่อว่า สังกิเลสคือความเศร้าหมอง ธรรมอันเป็นไปในส่วนแห่งคุณวิเศษ ชื่อว่า โวทานะคือความผ่องแผ้วในธรรม ๒ อย่างนั้น ธรรมอันเป็นไปในส่วนแห่งความเสื่อม นักศึกษาพึงทราบโดยนัยดังนี้ว่า :- บุคคลผู้ได้สำเร็จปฐมฌาน ความใฝ่ใจในสัญญาทั้งหลายซึ่งประกอบด้วยความมุ่งมั่นในกามคุณ ย่อมรบเร้าได้อยู่ ปัญญาก็มีส่วนแห่งความเสื่อม อธิบายว่า โยคีบุคคลผู้ได้สำเร็จปฐมฌานอันไม่คล่องแคล่ว เมื่อออกจากปฐมฌานนั้นแล้ว ความใฝ่ใจในสัญญาทั้งหลาย ซึ่งเป็นสภาวะที่ประกอบด้วยความมั่นหมายในกามคุณ ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ย่อมรบเร้า คือกระตุ้นเตือนได้อยู่ ปัญญาในปฐมฌานของโยคีบุคคลนั้นก็เสื่อมไปด้วยอำนาจความใฝ่ใจในสัญญาทั้งหลายที่มุ่งดิ่งไปหากามคุณเพราะฉะนั้น ปัญญาจึงมีส่วนแห่งความเสื่อม

ธรรมอันเป็นไปในส่วนแห่งคุณวิเศษ นักศึกษาพึงทราบโดยนัยดังนี้ว่า :- ความใฝ่ใจในสัญญาทั้งหลายอันประกอบด้วยฌานที่ไม่มีวิตก ย่อมเร่งเร้า ปัญญาก็มีส่วนแห่งคุณวิเศษ อธิบายว่า เมื่อโยคีผู้ฌานลาภีบุคคลนั้นใฝ่ใจถึงทุติยฌานอันไม่มีวิตกอยู่ ความใฝ่ใจในสัญญาทั้งหลายซึ่งประกอบด้วยฌานอันไม่มีวิตกด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ย่อมเร่งเร้า คือกระตุ้นเตือน ซึ่งโยคีบุคคลนั้นผู้ออกจากปฐมฌานอันคล่องแคล่วแล้ว ทั้งนี้เพื่อต้องการที่จะบรรลุซึ่งทุติยฌานต่อไป ปัญญาในปฐมฌานของโยคีบุคคลนั้นด้วยอำนาจความใฝ่ใจในสัญญาทั้งหลายที่มุ่งหน้าสู่ทุติยฌาน ชื่อว่า เป็นปัญญามีส่วนแห่งคุณวิเศษ เพราะเป็นปทัฏฐานแห่งการบังเกิดขึ้นของทุติยฌาน อันนับเป็นคุณวิเศษแต่อย่างไรก็ดี ณ ที่นี้ประสงค์เอาสมาธิซึ่งประกอบด้วยปัญญานั้น ส่วนหานภาคิยธรรม ธรรมอันเป็นไปในส่วนแห่งความเสื่อม และวิเสสภาคิยธรรม ธรรมอันเป็นไปในส่วนแห่งคุณวิเศษ ในทุติยฌานเป็นต้น นักศึกษาพึงทราบโดยวิธีที่กล่าวไว้แล้วในปฐมฌานนี้


🙏วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๗
ก็แหละ ในปัญหาข้อที่ว่า สมาธินั้นจะพึงเจริญภาวนาอย่างไรนั้น มีอรรถาธิบาย ดังต่อไปนี้ : สมาธิอันประกอบด้วยอริยมรรคนี้ใดที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในคำมีอาทิว่า สมาธิมี ๒ อย่าง โดยแยกเป็น โลกยสมาธิ ๑ โลกุตตรสมาธิ ๑ ฉะนี้ นัยแห่งการภาวนาซึ่งสมาธิอันประกอบด้วยอริยมรรคนั้น ท่านสงเคราะห์เข้าไว้กับนัยแห่งปัญญาภาวนาแล้วนั่นเทียว เพราะว่า เมื่อปัญญาอันโยคีบุคคลภาวนาให้เกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นอันได้ภาวนาให้สมาธินั้นเกิดขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น อริยมัคคสมาธินั้น ข้าพเจ้าจะไม่ยกเอามาอธิบายไว้แผนกหนึ่งต่างหากจากปัญญาภาวนาแต่ประการใดว่า อริยมัคคสมาธินั้นพึงเจริญภาวนาอย่างนี้

วิธีภาวนาสมาธิโดยสังเขป
ส่วนสมาธิที่เป็นโลกิยะนี้ใด สมาธินั้นข้าพเจ้าจะยกมาอธิบายด้วยภาวนาวิธีต่อไป ดังนี้ : โยคีบุคคลชำระศีลทั้งหลายให้บริสุทธิ์ตามนัยที่ได้แสดงมาในสีลนิเทศนั้นแล้วพึงตั้งตนไว้ในศีลอันบริสุทธิ์ดีแล้วนั้น บรรดาปลิโพธเครื่องกังวล ๑๐ ประการอย่างใดมีอยู่แก่ตน ก็จงตัดปลิโพธเครื่องกังวลอย่างนั้นเสียให้สิ้นห่วง แล้วจึงเข้าไปหากัลยาณมิตรผู้ให้พระกัมมัฏฐาน เรียนเอาพระกัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาพระกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ อันเหมาะสมแก่จริตจริยาของตน แล้วจึงออกจากวัดที่ไม่สมควรแก่การที่จะภาวนาสมาธิไปอยู่ในวัดที่สมควร ครั้นแล้วจึงทำการตัดเครื่องกังวลเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นตัดเล็บโกนหนวดเป็นต้นให้สิ้นเสร็จเรียบร้อย แต่นั้นจึงลงมือภาวนาสมาธินั้น ด้วยไม่ทำวิธีภาวนาทุก ๆ อย่าง ให้ขาดตกบกพร่องไป นี้เป็นวิธีภาวนาอย่างสังเขปในสมาธิภาวนานี้ (คำวิสัชนาปัญหาข้อนี้มีความยืดยาวมาก เพราะเป็นการแสดงถึงสมาธิภาวนาวิธีในกัมมัฏฐานทั้ง ๔๐ ประการ ศึกษาเพิ่มใน 🔎อภิธรรมเบื้องต้น หมวดที่ ๐๙ สมถกรรมฐาน)

วิธีภาวนาสมาธิโดยพิสดาร
ส่วนวิธีภาวนาอย่างพิสดาร มีอรรถาธิบายตามลำดับ โดยต้องทำความเข้าใจในเรื่องปลิโพธ เครื่องกังวล ๑๐ อย่างในบทต่อไป 



วันพฤหัสบดี

วินิจฉัยโดยย่อและโดยพิสดาร

วินิจฉัยโดยย่อและโดยพิสดาร

ข้อว่า โดยย่อและโดยพิสดารนั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้:

โดยย่อ
ก็แหละ ธุดงค์ ๑๓ ประการนี้ เมื่อจัดโดยย่อมีเพียง ๘ ประการเท่านั้น คือ องค์ที่เป็นหัวใจ ๓ องค์ที่ไม่เจือปน ๕ 
ใน ๒ ลักษณะนั้น องค์ที่เป็นหัวใจ ๓ นั้นคือ สปทานจาริกังคะ ๑ เอกาสนิกังคะ ๑ อัพโภกาสิกังคะ ๑ อธิบายว่า เมื่อโยคีบุคคลรักษาสปทานจาริกังคธุดงค์ จักได้ชื่อว่ารักษาปิณฑบาติกังคธุดงค์ไปด้วย และเมื่อโยคีบุคคลรักษาเอกาสนิกังคธุดงค์จำเป็นอันต้องรักษาด้วยดี แม้ซึ่งปัตตปิณฑิกังคธุดงค์และขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ไปด้วย เมื่อโยคีบุคคลรักษาอัพโภกาสิกังคธุดงค์ ก็เป็นอันต้องรักษาในรุกขมูลกังคธุดงค์และยถาสันถติกังคธุดงค์อยู่ในตัวมิใช่หรือ

องค์ที่เป็นหัวใจ ๓ ดังอธิบายมานี้ กับองค์ที่ไม่เจือปนอีก ๕ คือ อารัญญิกังคะ ๑ ปังสุกูลิกงคะ ๑ เตจีวริกังคะ ๑ เนสัชชิกังคะ ๑ โสสานิกังคะ ๑ จึงรวมเป็นธุดงค์ โดยย่อ ๘ ประการพอดี

อีกประการหนึ่ง ธุดงค์ ๑๓ ประการนี้ สงเคราะห์ลงมีเพียง ๔ ประการเท่านั้น คือ
ประการที่ ๑ ธุดงค์ที่ประกอบด้วยจีวร ๒
ประการที่ ๒ ธุดงค์ที่ประกอบด้วยบิณฑบาต ๕
ประการที่ ๓ ธุดงค์ที่ประกอบด้วยเสนาสนะ ๕
ประการที่ ๔ ธุดงค์ประกอบด้วยความเพียร ๑

ในบรรดาธุดงค์เหล่านี้ เนสัชชิกังคธุดงค์ จัดเป็นธุดงค์ที่ประกอบด้วยความเพียร ธุดงค์นอกนี้ความปรากฏชัดอยู่แล้ว

อีกประการหนึ่ง เมื่อว่าด้วยอำนาจเครื่องอาศัยแล้ว ธุดงค์ทั้งหมดนั้นมีเพียง ๒ ประการ คือ
ประการที่ ๑ ธุดงค์ที่อาศัยปัจจัย ๑๒
ประการที่ ๒ ธุดงค์ที่อาศัยความเพียร ๑

แม้เมื่อว่าด้วยอำนาจเป็นสิ่งที่ควรเสพและสิ่งที่ไม่ควรเสพ ธุดงค์ทั้งหมดนั้นก็ย่นลงเพียง ๒ ประการเหมือนกัน อธิบายว่า
ประการที่ ๑ เมื่อโยคีบุคคลใดเสพธุดงค์ กัมมัฏฐานย่อมเจริญ อันโยคีบุคคลนั้นพึงเสพธุดงค์เถิด เมื่อโยคีบุคคลใดเสพธุดงค์ กัมมัฏฐานย่อมเสื่อม อันโยคีบุคคลนั้นไม่พึงเสพธุดงค์ ก็แต่ว่าเมื่อโยคีบุคคลใดจะเสพธุดงค์ก็ตามไม่เสพก็ตาม กัมมัฏฐานย่อมเจริญอย่างเดียวไม่เสื่อมเลย
ประการที่ ๒  แม้อันโยคีบุคคลนั้นหวังที่จะอนุเคราะห์ชุมนุมชนภายหลังจึงเสพธุดงค์เถิด แม้เมื่อโยคีบุคคลใดเสพธุดงค์ ก็เท่านั้นไม่เสพก็เท่านั้น กัมมัฏฐานไม่เจริญขึ้น แม้อันโยคีบุคคลนั้นก็พึงเสพธุดงค์เถิด ทั้งนี้เพื่อให้สำเร็จเป็นวาสนาต่อไป

ธุดงค์ทั้งหมดนั้นซึ่งย่อลงเป็น ๒ ด้วยอำนาจเป็นสิ่งที่ควรเสพและไม่ควรเสพดังอธิบายมาแล้วนี้ ก็สรุปลงเป็นอย่างเดียวด้วยอำนาจแห่งเจตนา เป็นความจริง ธุดงค์มีอย่างเดียวเท่านั้น คือ เจตนาเป็นเครื่องสมาทาน แม้ในคัมภีร์อรรถกถาท่านก็พรรณนาไว้ว่า นักปราชญ์ทั้งหลายรับรองว่า เจตนาอันใด ธุดงค์ก็อันนั้น ฉะนี้

โดยพิสดาร
ก็แหละ เมื่อว่าโดยพิสดาร ธุดงค์มีถึง ๔๒ ประการ คือ
ธุดงค์สำหรับ ภิกษุ ๑๓
สำหรับภิกษุณี ๘
สำหรับสามเณร ๑๒
สำหรับนางสิกขมานาและสามเณรี ๗
สำหรับอุบาสกและอุบาสิกา ๒

แหละถ้าสุสานอันถึงพร้อมด้วยองค์แห่งภิกษุผู้อยู่ในป่าเป็นปกติ มีอยู่ ณ ที่กลางแจ้ง ภิกษุแม้เพียงรูปเดียวก็สามารถเพื่อที่จะเสพธุดงค์ทั้งหมดได้ โดยวาระเดียวกัน แต่สำหรับภิกษุณีนั้น ธุดงค์ ๒ ประการคือ อารัญญิกังคธุดงค์ ๑ ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ๑ ทรงห้ามไว้ด้วยสิกขาบทแล้วนั่นเทียว ธุดงค์ ๓ ประการนี้คือ อัพโภกาสิกังคธุดงค์ ๑ รุกขมูลกังคธุดงค์ ๑ โสสานิกังคธุดงค์ ๑ เป็นสิ่งที่รักษาได้โดยยาก เพราะว่าอันภิกษุณีนั้นที่จะอยู่โดยปราศจากเพื่อนย่อมไม่สมควร และเพื่อนซึ่งจะมีฉันทะเสมอกันในสถานที่เห็นปานดังนั้นก็หาได้ยาก แม้ถ้าจะพึงหาได้ก็ไม่พ้นไปจากการอยู่คลุกคลี เมื่อเป็นดังนี้ ภิกษุณีจึงเสพธุดงค์เพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์นั้นนั่นแลก็จะไม่พึ่งสำเร็จแก่ตน นักศึกษาพึงทราบว่า เพราะเหตุที่เป็นสิ่งไม่อาจจะเสพได้ดังบรรยายมานี้ ธุดงค์สำหรับภิกษุณีจึงมีเพียง ๘ ประการเท่านั้น โดยลดเสีย ๕ ประการ

ก็แหละ ในบรรดาธุดงค์ตามที่กล่าวแล้ว ยกเว้นเตจีวริกังคธุดงค์เสีย ๑ ธุดงค์ที่เหลือ ๑๒ ประการ เป็นธุดงค์สำหรับสามเณร (ในธุดงค์ ๘ ประการสำหรับภิกษุณีนั้นลดเสีย ๑ คือ เตจีวริกังคธุดงค์) ที่เหลือ ๗ ประการ พึงทราบว่าเป็นธุดงค์สำหรับนางสิกขมานาและสามเณรี ก็แหละ ธุดงค์ ๒ ประการนี้คือ เอกาสนิกังคธุดงค์ ๑ ปัตตปิณฑิกังคธุดงค์ ๑ เป็นสิ่งที่คู่ควรแก่อุบาสกและอุบาสิกาด้วย สามารถที่จะเสพได้ด้วย ฉะนั้น ธุดงค์สำหรับอุบาสกและอุบาสิกาจึงมีเพียง ๒ ประการ ว่าโดยพิสดารธุดงค์ทั้งหมด ๔๒ ประการ ด้วยประการฉะนี้ พรรณนาความโดยย่อและโดยพิสดาร ยุติลงเพียงเท่านี้ก็แหละ ด้วยอรรถาธิบายเพียงเท่านี้ ย่อมเป็นว่าข้าพเจ้าได้แสดงแล้วซึ่งธุตั้งคกถา อันสาธุชนควรสมาทานเอา เพื่อความบริบูรณ์แห่งคุณทั้งหลายมีความเป็นผู้มักน้อยและความเป็นผู้สันโดษเป็นต้น อันเป็นเครื่องผ่องแผ้วแห่งศีล ซึ่งมีประการที่ได้กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรคที่ทรงแสดงด้วยมุข คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ด้วยพระพุทธนิพนธคาถานี้ว่า "นรชนผู้มีปัญญา เป็นภิกขุ มีความเพียร มีปัญญา เครื่องบริหาร ตั้งตนไว้ในศีลแล้วทำสมาธิจิต และปัญญาให้เจริญอยู่ เธอจะพึงถางรกชัฏอันนี้เสียได้"

จบ ปริจเฉทที่ ๒ ชื่อว่า ธุตังคนิเทศในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค
อันข้าพเจ้ารจนาขึ้นเพื่อความปราโมชแห่งสาธุชน ดังนี้



วินิจฉัยโดยแยกเป็นคำ ๆ มีคำว่าธุตะเป็นต้น

วินิจฉัยโดยแยกเป็นคำ ๆ

ในข้อว่า โดยแยกออกเป็นคำ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ นักศึกษาพึงเข้าใจคำเหล่านี้คือ ธุตะ ๑ ธุตวาทะ ๑ ธุตธรรม ๑ ธุตังคะ ๑ การเสพธุดงค์เป็นที่สบายแก่บุคคลชนิดไร ๑

ธุตะ
ในคำเหล่านั้น คำว่า ธุตะ หมายเอาบุคคลผู้มีกิเลสอันกำจัดแล้ว อีกอย่างหนึ่ง หมายเอาธรรมอันเป็นเครื่องกำจัดซึ่งกิเลส

ธุตวาทะ
ก็แหละ ในคำว่า ธุตวาทะ นี้ มีอรรถาธิบายดังนี้ คือ บุคคลมีธุตะแต่ไม่มีธุตวาทะ ๑ บุคคลไม่มีธุตะแต่มีธุตวาทะ ๑ บุคคลไม่มีทั้ง ธุตะทั้งธุตวาทะ ๑ บุคคลมีทั้งธุตะทั้งธุตวาทะ๑ ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลใดกำจัดกิเลสของตนได้ด้วยธุดงค์ แต่ไม่โอวาท ไม่อนุสาสน์บุคคลอื่นด้วยธุดงค์ เหมือนอย่างพระพากุลเถระบุคคลนี้ชื่อว่า ผู้มีธุตะแต่ไม่มีธุตวาทะ สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ท่านพากุละนี้นั้น เป็นผู้มีธุตะแต่ไม่มีธุตวาทะ แหละบุคคลใดมิได้กำจัดกิเลสของตนด้วยธุดงค์ย่อมโอวาทย่อมอนุสาสน์บุคคลอื่นด้วยธุดงค์แต่อย่างเดียว เหมือนอย่างพระอุปนันทเถระ บุคคลนี้ชื่อว่าไม่มีธุตะ แต่มีธุตวาทะ สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ท่านอุปนันทะผู้ศากยบุตรนี้นั้น เป็นผู้ไม่มีธุตะแต่มีธุตวาทะ

บุคคลใดวิบัติจากธุตะและธุตวาทะทั้งสองอย่าง เหมือนอย่างพระโลสุทายี บุคคลนี้ชื่อว่า ผู้ไม่มีทั้งธุตะทั้งธุตวาทะ สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า พระโลพุทายีนั้นเป็นผู้ไม่มีทั้งธุตะทั้งธุตวาทะนั่นเทียว แหละบุคคลใดสมบูรณ์ด้วยธุตะและธุตวาทะทั้งสอง เหมือนอย่างพระธรรมเสนาบดีสารีปุตตะ บุคคลนี้ชื่อว่า มีทั้งธุตะมีทั้งธุตวาทะนั่นเทียว สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ท่านสารีปุตตะนี้นั้น เป็นผู้มีทั้งธุตะมีทั้งธุตวาทะ

ธุติธรรม
คำว่า พึ่งเข้าใจธุตธรรม นั้น มีอรรถาธิบายว่า ธรรม ๕ ประการ อันเป็นบริวารแห่งธุตังคเจตนาเหล่านี้ คือ ความมักน้อย ๑ ความสันโดษ ๑ ขัดเกลา ๑ ความสงัด ๑ ความต้องการด้วยกุศลนี้ (อิทมตฺถิตา) ๑ ชื่อว่า ธุตธรรม ทั้งนี้ เพราะมีพระบาลีรับรองว่า "เพราะอาศัยความเป็นผู้มีความมักน้อยนั้นเที่ยว" ในธุตธรรม ๕ ประการนั้น

ความมักน้อยกับความสันโดษ สงเคราะห์เป็นอโลภะ
ความขัดเกลากับความสงัดคล้อยไปในธรรม ๒ อย่าง คือ อโลภะและอโมหะ
ความต้องการด้วยกุศลนี้ จัดเป็นตัวญาณโดยตรง

แหละในอโลภะและอโมหะนั้น โยคีบุคคลย่อมกำจัดความโลภในวัตถุที่ต้องห้ามทั้งหลายได้ด้วยอโลภะ ย่อมกำจัดความหลงอันปกปิดโทษในวัตถุที่ต้องห้ามนั้นแลได้ด้วยอโมหะ อนึ่ง โยคีบุคคลย่อมกำจัดกามสุขัลลิกานุโยค คือการประกอบตนในกามสุข อันเป็นไปโดยมุข คือการเสพวัตถุที่ทรงอนุญาตแล้วด้วยอโลภะ ย่อมกำจัดอัตตา กิลมถานุโยคคือการประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นไปโดยมุข คือความขัดเกลาอย่างเคร่งเครียดในธุดงค์ทั้งหลายด้วยอโมหะ เพราะเหตุดังนั้น ธรรมเหล่านี้นักศึกษาพึงทราบว่าคือ ธุตธรรม

ธุตังคะ
คำว่า พึงเข้าใจธุตังคะ นั้น มีอรรถาธิบายว่า นักศึกษาพึงทราบว่า ธุตังคะ คือธุดงค์ มี ๑๓ ประการ คือ ปังสุกูลกังคะ ๑ เตจีวริกังคะ ๑ ปิณฑบาติกังคะ ๑ สปทานจาริกังคะ ๑ เอกาสนิกังคะ ๑ ปัตตปิณฑิกังคะ ๑ ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ๑ อารัญญิกังคะ ๑ รุกขมูลกังคะ ๑ อัพโภกาสิกังคะ ๑ โสสานิกังคะ ๑ สันถติกังคะ ๑ เนสัชชิกังคะ ๑ ธุตังคะทั้ง ๑๓ ประการนี้ ได้อรรถาธิบายโดยอรรถวิเคราะห์และโดยลักษณะเป็นต้นมาแล้วในตอนต้น ในที่นี้จึงไม่อธิบายซ้ำอีก

การเสพธุดงค์เป็นที่สบายแก่บุคคลชนิดไร
คำว่า การเสพธุดงค์เป็นที่สบายแก่บุคคลชนิดไร นั้น มีอรรถาธิบายว่า การเสพธุดงค์เป็นที่สบายแก่บุคคลที่เป็นรากจริตกับโมหจริต

เพราะเหตุไร ? เพราะการเสพธุดงค์เป็นข้อปฏิบัติที่ลำบากและเป็นการอยู่อย่างขัดเกลากิเลส จริงอยู่ ราคะย่อมสงบลงเพราะอาศัยการปฏิบัติลำบาก ผู้ไม่ประมาทย่อมละโมหะได้เพราะอาศัยความขัดเกลากิเลส อีกประการหนึ่ง ในบรรดาธุดงค์เหล่านี้ การเสพอารัญญิกังคธุดงค์กับรุกขมูลกังคาธุดงค์ ย่อมเป็นที่สบายแม้สำหรับบุคคลที่เป็นโทสจริตด้วย เพราะว่าเมื่อโยคีบุคคลอยู่อย่างที่ไม่ถูกกระทบกระทั่งในป่าหรือที่โคนไม้นั้น แม้โทสะก็ย่อมสงบลงเป็นธรรมดา

พรรณนาความโดยแยกออกเป็นคำ ๆ มีคำว่าธุตะเป็นต้น ยุติลงเพียงเท่านี้



ข้อวินิจฉัยธุดงค์ โดยความเป็นกุสลติกะ

วินิจฉัยโดยความเป็นกุสลติกะ

ในอาการเหล่านั้น คำว่า โดยความเป็นกุสลติกะ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ก็แหละ ธุดงค์หมดทั้ง ๑๓ ประการนั้นแล จัดเป็นกุศลด้วยอำนาจแห่งเสกขบุคคลและปุถุชนก็มี จัดเป็นอัพยากฤตด้วยอำนาจแห่งพระอรหันต์ขีณาสพก็มี แต่ธุดงค์ที่จัดเป็นอกุศลหามีไม่ อาจจะมีผู้ใดท้วงติงว่า แม้ธุดงค์ที่จัดเป็นอกุศลก็มีเหมือนกัน โดยมีพระพุทธวจนะเป็นอาทิว่า "ภิกษุผู้มีความปรารถนาลามก อันความปรารถนาครอบงำแล้วเป็นผู้อยู่ในป่า" ฉะนี้นักศึกษาพึงแถลงแก้เขาดังนี้:-

เรามิได้กล่าวปฏิเสธว่า ภิกษุไม่อยู่ในป่าด้วยอกุศลจิต ความจริง ภิกษุใดมีอาการอยู่ในป่า ภิกษุนั้นชื่อว่าผู้อยู่ในป่า อันภิกษุผู้อยู่ในป่านั้นจะพึงเป็นผู้มีความปรารถนาลามกก็มี จะพึงเป็นผู้มีความมักน้อยก็มีเป็นธรรมดา ข้าพเจ้าได้อรรถาธิบายมาแล้วว่า ก็แหละ ธุดงค์เหล่านี้เป็นองค์ของภิกษุผู้ได้นามว่า ธุระ เพราะเป็นผู้มีกิเลสอันกำจัดแล้วด้วยเจตนาเป็นเครื่องสมาทานนั้น ๆ ฉะนั้น จึงชื่อว่า ธุตังคะ อีกอย่างหนึ่ง ญาณอันได้โวหารว่า ธุระ เพราะเป็นการกำจัดซึ่งกิเลส เป็นเหตุแห่งการสมาทานเหล่านั้น ฉะนั้น การสมาทานเหล่านั้นจึงชื่อว่า ธุตังคะ อีกนัยหนึ่ง การสมาทานเหล่านั้นได้ชื่อว่า ธุระ เพราะเป็นเครื่องกำจัดซึ่งธรรมอันเป็นข้าศึก และเป็นเหตุแห่งสัมมาปฏิบัติด้วย ฉะนั้น การสมาทานเหล่านั้น จึงชื่อว่า ธุตั้งคะ ก็เมื่อการสมาทานเหล่านี้จะพึงเป็นองค์ของภิกษุใด ภิกษุนั้นเป็นผู้ชื่อว่ากำจัดอะไร ๆ ด้วยอกุศลก็หามิได้ ด้วยว่าอกุศลย่อมกำจัดบาปอะไร ๆ ไม่ได้ เพราะคำอธิบายว่า อกุศลนั้นเป็นองค์แห่งการสมาทานเหล่าใด ก็จะพึงเรียกการสมาทานเหล่านั้นว่าธุตังคะไปเสีย ที่แท้อกุศลย่อมกำจัดกิเลสมีความละโมบในจีวรเป็นต้นไม่ได้ เป็นองค์แห่งสัมมาปฏิบัติก็ไม่ได้ เพราะเหตุฉะนั้น คำว่า ธุดงค์ที่จัดเป็นอกุศลหามีไม่ นี้เป็นอันกล่าวชอบแล้ว

อนึ่ง แม้ความพิรุธจากพระบาลีก็จะถึงแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า ธุดงค์แม้ของภิกษุเหล่าใด ซึ่งพ้นไปจากกุสลติกะ ธุดงค์ของภิกษุเหล่านั้นนั่นแหละ ย่อมไม่มีโดยความหมาย สิ่งที่ไม่มีความหมายจักชื่อว่า ธุตังคะ เพราะกำจัดสิ่งอะไรเล่า ผู้บำเพ็ญธุดงค์ย่อมจะสมาทานเอาธุตคุณไปประพฤติปฏิบัติอยู่ เพราะฉะนั้น คำของภิกษุเหล่านั้น (หมายเอาทรรศนะของพวกภิกษุชาววัดอภัยคีรี) ไม่ควรถือเอาเป็นประมาณ พรรณนาโดยความเป็นกุสลติกะ อันเป็นประการแรกในคาถานี้ ยุติเพียงเท่านี้



วันพุธ

๑๓. เนสัชชิกังคกถา

เนสัชชิกังคกถา

การสมาทาน
แม้เนสัชชิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ เสยฺยํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธอิริยาบถนอน ดังนี้อย่างหนึ่ง เนสซฺชิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ด้วยอิริยาบถนั่งเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในเนสัชชิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันเนสัชชิกภิกษุนั้น ต้องลุกขึ้นเดินจงกรมให้ได้ยามหนึ่งในบรรดายามสามแห่งราตรี เพราะในอิริยาบถ ๔ นั้น อิริยาบถนอนเท่านั้นย่อมไม่สมควรแก่ผู้บำเพ็ญเนสัชชิกังคธุดงค์ ว่าด้วยกรรมวิธีในเนสัชชิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้เนสัชชิกภิกษุนี้ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
เนสัชชิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ หมอนอิงข้าง แคร่นั่งทำด้วยผ้า และผ้าสายโยคใช้ไม่ได้ทั้งนั้น
เนสัชชิกภิกษุชั้นกลาง ในของ ๓ อย่างนี้ เพียงแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ใช้ได้
เนสัชชิกภิกษุชั้นต่ำ พนักอิงข้างก็ดี แคร่นั่งทำด้วยผ้าก็ดี ผ้าสายโยคก็ดี หมอนพิงก็ดี เก้าอี้มีองค์ ๕ ก็ดี เก้าอี้มีองค์ ๗ ก็ดี ใช้ได้ทั้งนั้น

ก็แหละ เก้าอี้ที่ทำมีพนักข้างหลัง ชื่อว่าเก้าอี้มีองค์ ๕ (คือเท้า ๔ พนักหลัง ๑) เก้าอี้ที่ทำมีพนักข้างหลังด้วย มีพนักในข้างทั้ง ๒ ด้วย ชื่อว่าเก้าอี้มีองค์ ๗ ได้ยินว่า เก้าอี้มีองค์ ๗ นั้น พวกทายกได้ทำถวายแก่ท่านพระจูฬอภัยเถระ พระเถระสำเร็จพระอนาคามีปรินิพพานแล้วว่าด้วยประเภทในเนสัชซิกังคธุดงค์นี้เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะพอเมื่อเนสัชชิกภิกษุ ทั้ง ๓ ประเภทนี้ สำเร็จซึ่งอิริยาบถนอนนั่นเทียว ว่าด้วยความแตกในเนสัชชิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ เป็นการตัดเสียซึ่งความผูกพันแห่งจิตที่ตรัสไว้ว่า เป็นผู้ขวนขวายหาความสุขในการนอน ความสุขในการเอนหลัง ความสุขในการหลับ ฉะนี้, ความเป็นที่สัปปายะแก่การบำเพ็ญกัมมัฏฐานทั้งปวง, ความเป็นผู้มีอิริยาบถเป็นที่น่าเลื่อมใส, เป็นการเกื้อหนุนแก่การเริ่มทำความเพียร, เป็นการเพิ่มพูนการปฏิบัติชอบให้เจริญยิ่งขึ้น เนสัชชิกภิกษุผู้สำรวม นั่งคู่บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ย่อมยังดวงหฤทัยของพญามารให้หวาดหวั่น ภิกษุผู้ยินดีในการนั่ง มีความเพียรปรารภแล้ว ละความสุขในการนอน ความสุขในการหลับแล้ว ย่อมทำป่าอันเป็นที่บำเพ็ญตบะให้งดงาม เพราะเหตุที่ตนจะได้ประสบซึ่งปีติและสุขอันปราศจากอามิสฉะนั้น อันภิกษุผู้บัณฑิตพึงหมั่นบำเพ็ญเนสัชชิกังคธุดงค์อยู่เนือง ๆ นั่นเถิด ว่าด้วยอานิสงส์ในเนสัชชิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ในเนสัชชิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้ 


๑๒. ยถาสันถติกังคกถา

ยถาสันถติกังคกถา

การสมาทาน
แม้ยถาสันถติกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้วด้วย คำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ เสนาสนโลลุปฺปํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธความละโมบในเสนาสนะ ดังนี้อย่างหนึ่ง ยถาสนุถติกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะตามที่จัดแจงไว้แล้วอย่างไรเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในยถาสันถติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ เสนาสนะใดที่สงฆ์ให้เธอรับเอาแล้วด้วยคำว่า เสนาสนะนี้ถึงแก่ท่านฉะนี้ อันยถาสันถติกภิกษุนั้น พึงยินดีด้วยเสนาสนะนั้นเท่านั้น ไม่พึงขับไล่ภิกษุอื่นให้ลุกหนีไป ว่าด้วยกรรมวิธีในยถาสันถติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้


ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้ยถาสันถติกภิกษุนี้ ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
ยถาสันถติกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ จะสอบถามถึงเสนาสนะที่ถึงแก่ตนว่าไกลไหม ? ใกล้ไหม ? อันอมนุษย์และจำพวกสัตว์ทีฆชาติเป็นต้นรบกวนไหม ? ร้อนไหม ? หรือเย็นไหม ? ดังนี้หาได้ไม่
ยถาสันถติกภิกษุชั้นกลาง จะสอบถามดังนั้นได้อยู่ แต่จะไปตรวจดูหาได้ไม่
ยถาสันถติกภิกษุชั้นต่ำ ครั้นไปตรวจดูเสนาสนะแล้ว ถ้าไม่ชอบใจเสนาสนะหลังนั้น จะถือเอาเสนาสนะหลังอื่นก็ได้
ว่าด้วยประเภทในยถาสันถติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะพอเมื่อยถาสันถติกภิกษุทั้ง ๓ ประเภท เกิดความละโมบขึ้นในเสนาสนะนั่นเทียว ว่าด้วยความแตกในยถาสันถติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ เป็นการกระทำตามพระพุทธโอวาทข้อว่าได้สิ่งใดก็จึงยินดีด้วยสิ่งนั้น เป็นผู้มุ่งประโยชน์ให้แก่เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย เป็นการสละความเลือกในของเลวและของประณีต, เป็นการสละเสียได้ซึ่งความดีใจและความเสียใจ, เป็นการปิดประตูแห่งความมักมาก, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น ภิกษุผู้สำรวม มีอันอยู่ในเสนาสนะตามที่จัดแจงไว้แล้วเป็นปกติ ได้สิ่งใดก็ยินดีด้วยสิ่งนั้น ไม่เลือก ย่อมนอนเป็นสุขในเสนาสนะที่ปูลาดด้วยหญ้าก็ตาม ยถาสันถติกภิกษุนั้น ย่อมไม่ดีใจในเสนาสนะที่ดี ๆ ได้ของเลวมาแล้วก็ไม่เสียใจ ย่อมสงเคราะห์บรรดาเพื่อนพรหมจรรย์รุ่นใหม่ ๆ ด้วยประโยชน์เกื้อกูล เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้มีปัญญา จงประกอบเนือง ๆ ซึ่งความเป็นผู้ยินดีในเสนาสนะตามที่จัดแจงไว้แล้ว อันเป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าจำนวนร้อย ๆ สั่งสมแล้ว อันพระมหามุนีผู้ยอดเยี่ยมทรงสรรเสริญแล้ว ว่าด้วยอานิสงส์ในยถาสันถติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ ในยถาสันตติกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้


๑๑. โสสานิกังคกถา

 โสสานิกังคกถา

การสมาทาน
แม้โสสานิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ น สุสานํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธที่อันมิใช่สุสาน ดังนี้อย่างหนึ่ง โสสานิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้อยู่ในป่าช้าเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่งว่าด้วยการสมาทานในโสสานิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละอันภิกษุผู้อยู่ในสุสานเป็นปกตินั้นไม่พึ่งอยู่ในสถานที่ที่พวกมนุษย์อาศัยบ้านอยู่แล้วกำหนดหมายเอาไว้ว่า ที่ตรงนี้ทำเป็นสุสาน เพราะเมื่อยังมิได้เผาศพสถานที่นั้นจะได้ชื่อว่าสุสานหาได้ไม่ แต่นับแต่เวลาที่เผาศพแล้วไป แม้เขาจะทอดทิ้งไปแล้วถึง ๑๒ ปี สถานที่นั้นก็ยังคงสภาพเป็นสุสานอยู่นั่นเอง แหละเมื่อโสสานิกภิกษุอยู่ในสุสานนั้น จะให้ปลูกสร้างสถานที่ เช่นปะรำสำหรับจงกรม จะให้จัดแจงเตียงและทั่ง จะให้ตั้งน้ำฉันและน้ำใช้ จะสอนธรรมหาเป็นการสมควรไม่ ก็ธุดงค์นี้เป็นภาระหนัก (บริหารได้ยาก) เพราะฉะนั้น เพื่อป้องกันอันตรายซึ่งอาจจะเกิดขึ้น อันโสสานิกภิกษุพึงกราบเรียนพระสังฆเถระ หรือบอกเจ้าหน้าที่ให้ทราบไว้ จึงอยู่อย่างไม่ประมาทนั่นเถิด เมื่อเดินจงกรม ก็พึงเดินชำเลืองตาดูสุสานไปพลาง ท่านผู้ชำนาญในคัมภีร์อังคุตตรนิกายพรรณนาไว้ว่า แม้เมื่อโสสานิกภิกษุจะไปสู่สุสานนั้น พึงหลบจากทางสายใหญ่ ๆ เสีย ลัดเลาะไปตามนอกเส้นทาง จึงกำหนดหมายอารมณ์ไว้เสียแต่ในกลางวันที่เดียว (เช่นหมายไว้ว่า ตรงนี้เป็นจอมปลวก ตรงนี้เป็นต้นไม้ ตรงนี้เป็นตอ) เพราะเมื่อกำหนดหมายไว้อย่างนี้ อารมณ์นั้นจักไม่ทำให้เกิดความหวาดกลัวแก่เธอในเวลากลางคืน แม้ถึงจะมีพวกอมนุษย์เที่ยวร่ำร้องอยู่ไปมาในเวลากลางคืน ก็อย่าขว้างปาด้วยวัตถุอะไร (เช่น ก้อนดินและก้อนหินเป็นต้น) อันโสสานิกภิกษุนั้นที่จะไม่ไปยังสุสานแม้เพียงวันเดียวหาได้ไม่ ต้องทำให้มัชฌิมยาม (๔ ทุ่ม ถึง ๘ ทุ่ม : ๒๒.๐๐-๐๒.๐๐ น.) หมดสิ้นไปอยู่ในสุสาน แล้วจึงกลับออกมาในเวลาปัจฉิมยาม (๙ ทุ่ม ถึง ๑๒ ทุ่ม : ๐๓.๐๐-๐๖.๐๐ น.) ของเคี้ยวของฉันอันเป็นที่ชอบใจของพวกอมนุษย์ เช่น แป้งผสมงา, ข้าวผสมถั่ว, ปลา, เนื้อ, นม, น้ำมันและน้ำอ้อยเป็นต้น ไม่ควรจะเสพ ไม่ควรเข้าไปสู่เรือนแห่งตระกูล ว่าด้วยกรรมวิธีในโสสานิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้โสสานิกภิกษุนี้ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
โสสานิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ ต้องอยู่ ณ สุสานซึ่งมีการเผาศพประจำ, มีศพประจำและมีการร้องไห้เป็นเนืองนิจเท่านั้น
โสสานิกภิกษุชั้นกลาง ในองค์คุณแห่งสุสาน ๓ ชนิดนั้น แม้จะมีเพียงชนิดเดียว ก็สมควร
โสสานิกภิกษุชั้นต่ำ อยู่ในสุสานที่พอเข้าลักษณะแห่งสุสาน ตามนัยที่กล่าวแล้ว ก็เป็นการสมควร
ว่าด้วยประเภทในโสสานิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ โดยที่โสสานิกภิกษุทั้งประเภทนี้ สำเร็จการอยู่ในสถานที่ซึ่งมิใช่สุสานนั่นเทียว ท่านผู้ชำนาญในคัมภีร์อังคุตตรนิกายอรรถาธิบายไว้ว่า ธุดงค์นี้ย่อมแตกในวันที่ไม่ไปสู่สุสาน ว่าด้วยความแตกในโสสานิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ ได้มรณสติ, มีการอยู่อย่างไม่ประมาท ได้ประสบอสุภนิมิต, บรรเทาเสียได้ซึ่งความกำหนัดในกาม, ได้เห็นสภาวะแห่งกายเนื่อง ๆ, เป็นผู้มากด้วยความสังเวชสลดใจ, ละเสียใต้ซึ่งความเมาในความไม่มีโรคเป็นต้น, ครอบงำเสียได้ซึ่งภัยอันน่ากลัว, มีภาวะเป็นที่เคารพและเป็นที่น่าสรรเสริญของอมนุษย์ทั้งหลาย, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น ก็แหละ โทษเพราะประมาททั้งหลายย่อมไม่ถูกต้องพ้องพาน ซึ่งภิกษุผู้อยู่ในสุสานเป็นปกติแม้จะหลับอยู่ก็ตาม ทั้งนี้เพราะอำนาจแห่งมรณานุสสติภาวนา แหละเมื่อโสสานิกภิกษุนั้นเห็นศพอยู่อย่างมากมาย จิตของท่านไม่ตกไปสู่อานุภาพและอำนาจของกามเลย โสสานิกภิกษุย่อมประสบความสังเวชสลดใจอย่างไพศาลย่อมไม่เข้าถึงซึ่งความมัวเมา อนึ่ง ชื่อว่าพยายามแสวงหาอยู่ซึ่งพระนิพพานโดยชอบ

ด้วยประการฉะนี้ อันภิกษุผู้เป็นบัณฑิต ผู้มีจิตน้อมเอียงไปหาพระนิพพาน จึงต้องเสพซึ่งโสสานิกังคธุดงค์เถิด เพราะเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งคุณเป็นอเนกประการ ว่าด้วยอานิสงส์ในโสสานิกังคธุดงค์นี้เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ในโสสานิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้



๑๐. อัพโภกาสิกังคกถา

อัพโภกาสิกังคกถา

การสมาทาน
แม้อัพโภกาสิกังคธุดงค์ ก็เป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้วด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ ฉนุนญฺจ รุกฺขมูลญฺจ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธที่อยู่อันมีหลังคาและโคนไม้ ดังนี้อย่างหนึ่ง อพฺโภกาสิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้อยู่ ณ ที่กลางแจ้งเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันอัพโภกาสิกภิกษุนั้นจะเข้าไปยังโรงอุโบสถ เพื่อจะฟังธรรมเทศนาหรือเพื่อจะทำอุโบสถกรรมก็ได้ เมื่อเข้าไปแล้วฝนเกิดตกขึ้นมา ครั้นฝนกำลังตกอยู่ก็ไม่ต้องออก เมื่อฝนหายแล้วจึงค่อยออก จะเข้าไปโรงฉันหรือโรงไฟเพื่อทำกิจวัตรก็ได้ จะไปบอกอำลาภัตติกภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระในโรงฉันก็ได้เมื่อจะแสดงพระบาลีเอง หรือให้ผู้อื่นแสดงให้ฟัง จะเข้าไปยังที่อยู่อันมีหลังคาก็ได้ และจะเอาเตียงและทั่งเป็นต้นซึ่งทิ้งเกะกะอยู่ข้างนอกเข้าไปเก็บไว้ข้างในก็ได้ ถ้าเมื่อกำลังเดินทางถือเครื่องบริขารของพระเถระผู้ใหญ่ไปเมื่อฝนตกจะเข้าไปยังศาลาซึ่งอยู่กลางทางก็ได้ ถ้าไม่ได้ถืออะไร ๆ จะรีบเดินไปด้วยหมายใจว่าจะพักอยู่ในศาลาย่อมไม่สมควร แต่เมื่อเดินไปอย่างปกติเข้าไปในศาลาแล้วก็พึงอยู่จนกว่าฝนจะหายจึงค่อยไป ว่าด้วยกรรมวิธีในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้เพียงเท่านี้ แม้วิธีแห่งรุกขมูลิกภิกขุก็มีนัยนี้เหมือนกัน
ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้อัพโภกาสิกภิกษุนี้ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
อัพโภกาสิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ จะเข้าไปพะพิงอิงต้นไม้หรือภูเขาหรือเรือนอยู่ไม่ได้ ต้องทำกระท่อมผ้า (กางกลด) อยู่ ณ ที่กลางแจ้งเท่านั้น
อัพโภกาสิกภิกษุชั้นกลาง จะเข้าไปพะพิงอิงต้นไม้ภูเขาและบ้าน แต่ไม่เข้าไปอยู่ข้างในได้อยู่
อัพโภกาสิกภิกษุชั้นต่ำ เอื้อมเขาซึ่งมีขอบเขตมิได้มุงบังก็ดี ปะรำที่มุงบังด้วยกิ่งไม้ก็ดี ผ้ากลดหยาบ ๆ ก็ดี (ผ้าเต็นท์กระมัง) กระต๊อบซึ่งอยู่ตามที่นั้น ๆ ที่พวกคนเฝ้านาเป็นต้นทอดทิ้งแล้วก็ดี ใช้ได้ทั้งนั้น
ว่าด้วยประเภทในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะที่อัพโภกาสิกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนี้ เข้าไปสู่ที่อยู่อันมีหลังคาหรือเข้าไปสู่โคนไม้เพื่อจะอยู่อาศัย ท่านผู้ชำนาญคัมภีร์อังคุตตรนิกายอธิบายไว้ว่า ธุดงค์นี้ย่อมแตกในขณะที่ อัพโภกาสิกภิกษุรู้แล้วทำอรุณให้ขึ้นในที่อยู่ซึ่งมีหลังคาหรือที่โคนไม้นั้นว่าด้วยความแตกในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ เป็นการตัดความกังวลในที่อยู่เสียได้, เป็นอุบายบรรเทาถีนมิทธะคือความง่วงเหงาหาวนอน, เป็นผู้สมควรแก่การที่จะสรรเสริญว่า “ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ไม่มีบ้าน ไม่ติดข้องเที่ยวไป มีอาการปานดังฝูงเนื้อฉะนั้น” เป็นผู้สิ้นความเกี่ยวเกาะ, เป็นผู้จาริกไปได้ในทิศทั้งเป็นผู้จาริกไปได้ในทิศทั้ง ๔, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น ภิกษุมีจิตใจเป็นดังจิตใจของเนื้อทราย อาศัยอยู่ ณ ที่กลางแจ้ง อันมีเพดานประดับด้วยแก้วมณีคือดวงดาวอันสว่างไสวด้วยดวงประทีปคือพระจันทร์ อันสมควรแก่ภาวะของท่านผู้ไม่มีเรือน ทั้งหาได้ไม่ยาก กำจัดความง่วงเหงาหาวนอนให้ส่างซาแล้ว อาศัยแล้วซึ่งความเป็นผู้ยินดีในภาวนา ไม่นานสักเท่าไร ย่อมจะได้ประสบซึ่งความยินดีในรสอันเกิดแต่ความสงัดเป็นแน่แท้ เพราะเหตุนั้นแหละ อันภิกษุผู้มีปัญญา พึงเป็นผู้ยินดีในที่กลางแจ้งนั่นเทอญ ว่าด้วยอานิสงส์ในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์
ในอัพโภกาสิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้





๙. รุกขมูลิกังคกถา

รุกขมูลิกังคกถา
การสมาทาน
แม้รุกขมูลิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้วด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่าง คือ ฉนฺนํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธที่อยู่ที่มีหลังคา ดังนี้อย่างหนึ่ง รุกฺขมูลิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาองค์แห่งภิกษุผู้อยู่ที่โคนไม้เป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในรุกขมูลกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันภิกษุผู้อยู่โคนไม้เป็นปกตินั้น พึงยึดเอาต้นไม้ที่อยู่สุดเขตวัด โดยละเว้นต้นไม้เหล่านี้เสียคือ ต้นไม้อยู่ในระหว่างเขตรัฐสีมา ต้นไม้เป็นที่นับถือบูชา ต้นไม้มียาง ต้นไม้ผล ต้นไม้มีค้างคาว ต้นไม้มีโพรง และต้นไม้อยู่กลางวัด ว่าด้วยกรรมวิธีในรุกขมูลกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้รุกขมูลิกภิกษุนี้ ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
รุกขมูลิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ จะยึดถือเอาต้นไม้ตามชอบใจแล้วใช้คนอื่นให้ปัดกวาดไม่ได้ จึงใช้เท้าเขียใบไม้ที่ร่วงหล่นด้วยตนเองแล้วอยู่เถิด
รุกขมูลิกภิกษุชั้นกลาง จะใช้บรรดาผู้ที่บังเอิญมาถึง ณ ที่ตรงนั้นให้ช่วยปัดกวาดก็ได้
อันรุกขมูลิกภิกษุชั้นต่ำ จึงเรียกคนรักษาวัดหรือสามเณรมาแล้วใช้ให้ช่วยชำระปัดกวาดให้สะอาด ให้ช่วยปราบพื้นให้สม่ำเสมอ ให้ช่วยเกลี่ยทราย ให้ช่วยล้อมรั้ว ให้ช่วยประกอบประตูแล้วอยู่เถิด แต่ในวันงานมหกรรมฉลอง อันรุกขมูลิกภิกษุอย่านั่งอยู่ ณ ที่นั้น พึงหลบไปนั่ง ณ ที่กำบังแห่งอื่นเสีย
ว่าด้วยประเภทในรุกขมูลกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะที่รุกขมูลิกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนี้ สำเร็จการอยู่ในที่อันมีหลังคานั่นเทียว ท่านผู้ชำนาญคัมภีร์อังคุตตรนิกาย อธิบายไว้ว่า ธุดงค์นี้ ย่อมแตกในขณะที่รุกขมูลิกภิกษุเหล่านั้นรู้แล้วทำอรุณให้ขึ้นในที่อยู่อันมีหลังคา ว่าด้วยความแตกในรุกขมูลกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ เป็นผู้มีข้อปฏิบัติสมควรแก่ปัจจัยเครื่องอาศัยตามพระพุทธวจนะข้อว่า การบวช อาศัยเสนาสนะคือโคนไม้, เป็นผู้มีปัจจัยอันพระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญไว้มีอาทิ เช่นว่า ปัจจัยเหล่านั้นเป็นสิ่งเล็กน้อยด้วยหาได้ง่ายด้วย เป็นสิ่งที่หาโทษมิได้ด้วย เป็นการยังอนิจจสัญญาให้ปรากฏ ด้วยได้ เห็นความเปลี่ยนแปลงของใบไม้, ไม่มีความตระหนี่เสนาสนะและความหลงยินดีการงาน, เป็นผู้มีการอยู่ร่วมกับรุกขเทวดาทั้งหลาย เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความสันโดษเป็นต้น

ที่อยู่อาศัยของภิกษุผู้ชอบความสงัด อันพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทรงสรรเสริญและเชยชมแล้วว่าเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยที่จะเปรียบเสมอด้วยโคนไม้ จะมีแต่ที่ไหน จริงอยู่ ภิกษุผู้อาศัยอยู่ที่โคนไม้อันสงัด เป็นที่นำออกซึ่งความตระหนี่อาวาส อันเทวดาอภิบาลรักษา ย่อมเป็นผู้มีวัตรปฏิบัติอันดีงาม เมื่อรุกขมูลิกภิกษุได้เห็นใบไม้หลายชนิด คือชนิดที่แดงเข้มบ้าง ชนิดที่เขียวสดบ้าง ชนิดที่เหลืองซึ่งร่วงหล่นแล้วบ้าง ย่อมจะบรรเทานิจจสัญญาคือความหมายว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของเที่ยงเสียได้ เพราะฉะนั้นแหละ ภิกษุผู้เห็นแจ้ง อย่าได้พึงดูหมิ่นโคนไม้อันสงัด อันเป็นมรดกที่พระพุทธเจ้าทรงประทานให้และเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ยินดีแล้วในการภาวนา ว่าด้วยอานิสงส์ในรุกขมูลกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ในรุกขมูลกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้


วันอังคาร

๘. อารัญญิกังคกถา

อารัญญิกังคกถา

การสมาทาน
แม้อารัญญิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ คามนฺตเสนาสนํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธเสนาสนะภายในบ้าน ดังนี้อย่างหนึ่ง อารญฺฌิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในอารัญญิกกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันภิกษุผู้อยู่ในป่าเป็นปกตินั้น ต้องออกจากเสนาสนะภายในบ้านไปทำให้อรุณตั้งขึ้นในป่า, ในเสนาสนะ ๒ อย่างนั้น บ้านพร้อมทั้งอุปจารแห่งบ้านนั่นเที่ยว ชื่อว่า เสนาสนะภายในบ้าน

อธิบายคำว่าบ้าน
ที่อยู่อาศัยอย่างใดอย่างหนึ่ง จะมีกระท่อมหลังเดียวหรือหลายหลังก็ตาม จะมีเครื่องล้อมหรือไม่มีเครื่องล้อมก็ตาม จะมีคนหรือไม่มีคนก็ตาม แม้ชั้นที่สุดหมู่เกวียนเหล่าใดเหล่าหนึ่งซึ่งจอดพักอยู่เกิน ๔ เดือน ชื่อว่า บ้าน

อธิบายคำว่าอุปจารบ้าน
สำหรับบ้านที่มีเครื่องล้อมเหมือนดังเมืองอนุราธปุรี ย่อมมีเขื่อนอยู่ ๒ ชั้น ชั่วเลฑฑุบาตหนึ่ง (ชั่วขว้างก้อนดินตก) ของบุรุษผู้มีกำลังปานกลาง ซึ่งยืนอยู่ที่เขื่อนด้านใน ชื่อว่า อุปจารบ้าน (บริเวณรอบ ๆ บ้าน) ท่านผู้ชำนาญพระวินัยอธิบายลักษณะของเลฑฑุบาตนั้นไว้ดังนี้ ที่ภายในแห่งก้อนดินตก ซึ่งบุรุษผู้มีกำลังปานกลางขว้างไปนั้น เหมือนอย่างพวกเด็กวัยหนุ่มเมื่อจะออกกำลังของตน จึงเหยียดแขนออกแล้วขว้างก้อนดินไป ฉะนั้น ส่วนท่านผู้ชำนาญพระสูตรอธิบายไว้ว่า ที่ภายในแห่งก้อนดินตก ซึ่งบุรุษขว้างไปด้วยหมายที่จะห้ามกา ชื่อว่า อุปจารบ้าน ในบ้านที่ไม่มีเครื่องล้อม มาตุคาม (สตรี) ยืนอยู่ที่ประตูเรือนหลังสุดท้ายแล้วสาดน้ำไปด้วยภาชนะ ภายในที่ตกแห่งน้ำนั้น ชื่อว่า อุปจารเรือน นับแต่อุปจารเรือนนั้นออกไปชั่วเลฑฑุบาตหนึ่งโดยนัยที่กล่าวมาแล้ว ยังนับเป็นบ้าน ชั่วเลฑฑุบาตที่สองจึงนับเป็น อุปจารบ้าน

อธิบายคำว่าป่า
ส่วนป่านั้น ประการแรก โดยปริยายแห่งพระวินัยท่านอธิบายไว้ว่า ยกเว้นบ้านและอุปจารบ้านเสีย ที่ทั้งหมดนั้นเรียกว่า ป่า โดยปริยายแห่งพระอภิธรรมท่าน อธิบายไว้ว่า ที่ภายนอกจากเขื่อนออกไปทั้งหมดนั้น เรียกว่า ป่า ส่วน ณ ที่นี้ โดยปริยายแห่งพระสูตรท่านอธิบายลักษณะไว้ดังนี้ เสนาสนะหลังสุดท้ายที่ตั้งอยู่ชั่วระยะ ๕๐๐ ชั่วธนู เรียกว่า เสนาสนะป่า” ลักษณะที่กล่าวมานี้ จึงกำหนดวัดด้วยคันธนูแบบที่ขึ้นแล้ว สำหรับบ้านที่มีเครื่องล้อมวัดตั้งแต่เสาเขื่อนไปจนจรด รั้ววัด (วิหาร) สำหรับบ้านที่ไม่มีเครื่องล้อม วัดตั้งแต่ชั่วเลฑฑุบาตแรกไปจนจรดรั้ววัด (วิหาร) พระอรรถกถาจารย์ อธิบายไว้ในอรรถกถาวินัยทั้งหลายว่า “แหละถ้าเป็นวัดที่ไม่มีรั้วล้อม ฟังวัดเอาเสนาสนะหลังแรกให้เป็นเครื่องกำหนด หรือฟังวัดเอาโรงครัวหรือที่ประชุมประจำ หรือต้นโพธิ์ หรือพระเจดีย์ แม้มีอยู่ในที่ห่างไกลไปจากเสนาสนะ ให้เป็นเครื่องกำหนดก็ได้” ส่วนในอรรถกถามัชฌิมนิกายท่านอธิบายไว้ว่า แม้อุปจารวัดก็เหมือนอุปจารบ้าน จึงออกมาวัดเอาตรงระหว่างเลฑฑบาตทั้งสองนั่นเถิด ข้อนี้นับเอาเป็นประมาณในการคำนวณนี้ได้

แม้หากว่ามีหมู่บ้านอยู่ในที่ใกล้กับวัด ภิกษุสามเณรซึ่งอยู่ในวัดก็ได้ยินเสียงของชาวบ้านอยู่ แต่ก็ไม่อาจจะเดินทางตรง ๆ ถึงกันได้ เพราะมีภูเขาและแม่น้ำเป็นต้นคั่นอยู่ในระหว่าง ทางใดอันเป็นทางเดินโดยปกติของวัดนั้น แม้หากจะพึงสัญจรไปมาด้วยเรือก็ตามพึงถือเอาเป็น ๕๐๐ ชั่วธนูด้วยทางนั้น แต่อารัญญิกภิกษุใดปิดกั้นทางเล็ก ๆ ในที่นั้น ๆ เสีย เพื่อประสงค์ที่จะให้สำเร็จเป็นองค์ของบ้านใกล้วัด อารัญญิกภิกษุนี้ ย่อมชื่อว่า โจรธุดงค์ก็แหละ ถ้าอุปัชฌาย์หรืออาจารย์ของอารัญญิกภิกษุเกิดต้องอาพาธขึ้นมา เมื่อท่านไม่ได้ความสัปปายะในป่า จะพึงนำพาอุปัชฌาย์หรืออาจารย์ไปอุปัฏฐากที่เสนาสนะภายในบ้านก็ได้ แต่ต้องรีบกลับออกไปให้ทันกาล ทำให้อรุณขึ้นในที่อันประกอบด้วยองค์แห่งป่าถ้าโรคของอุปัชฌาย์หรืออาจารย์กำเริบขึ้นในเวลาอรุณขึ้นพอดีก็พึงอยู่ทำกิจวัตรถวายแต่อุปัชฌาย์หรืออาจารย์นั่นเถิด ไม่ต้องห่วงทำธุดงค์ให้บริสุทธิ์ดอก ว่าด้วยกรรมวิธีในอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้ภิกษุผู้อยู่ในป่าเป็นปกตินี้ ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
อารัญญิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ ย่อมทำให้อรุณขึ้นในป่าตลอดกาล (คืออยู่ในป่าเป็นนิจ)
อารัญญิกภิกษุชั้นกลาง ย่อมอยู่ในเสนาสนะภายในบ้านได้ตลอดกาล ๔ เดือน ในฤดูฝน
อารัญญิกภิกษุชั้นต่ำ ย่อมอยู่ในเสนาสนะภายในบ้านได้ตลอดกาล ๔ เดือนในฤดูหนาวด้วย (รวมเป็นเวลา ๘ เดือน)
ว่าด้วยประเภทในอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ เมื่ออารัญญิกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนั้น มาจากป่าแล้วฟังธรรมเทศนาอยู่ในเสนาสนะภายในบ้าน แม้ถึงอรุณจะขึ้นในกาลตามที่กำหนดไว้นั้น ธุดงค์ก็ไม่แตก ครั้นฟังธรรมแล้วกำลังเดินทางกลับไปอยู่ ถึงแม้อหุณจะตั้งขึ้นในระหว่างทาง ธุดงค์ก็ไม่แตก แต่ถ้าเมื่อพระธรรมกถึกลุกไปแล้ว อารัญญิกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนั้นคิดว่า “จักพักนอนสักครู่หนึ่งแล้วจึงจักไป” ดังนี้ แล้วเลยหลับไปทำให้อรุณขึ้นในเสนาสนะภายในบ้าน หรือทำให้อรุณขึ้นในเสนาสนะภายในบ้านตามความชอบใจของตน ธุดงค์ย่อมแตก ว่าด้วยความแตกในอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ อารัญญิกภิกษุผู้สนใจถึงซึ่งความสำคัญแห่งป่า เป็นผู้ควรที่จะได้บรรลุซึ่งสมาธิที่ยังมิได้บรรลุ หรือเป็นผู้ควรที่จะรักษาไว้ได้ซึ่งสมาธิที่ได้บรรลุแล้ว แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็ทรงพอพระหฤทัยต่อท่าน เหมือนดังที่ตรัสไว้ว่า “นาคิตภิกขุ ด้วยเหตุนั้น เราย่อมพอใจต่อภิกษุนั้นด้วยการอยู่ในป่า” ดังนี้ อนึ่ง สิ่งต่าง ๆ มีรูปอันไม่เป็นที่สัปปายะเป็นต้น ย่อมไม่รบกวนจิตของอารัญญิกภิกษุนั้นผู้อยู่ในเสนาสนะอันสงัด, ภิกษุผู้อยู่ในป่าเป็นปกติเป็นผู้สิ้น ความสะดุ้งหวาดเสียวแล้ว ละความพอใจอาลัยในชีวิตได้แล้ว ท่านย่อมได้เสวยรสแห่งความสุขอันเกิดแต่วิเวก, อนึ่ง ภาวะที่เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติ เป็นต้น ย่อมเป็นภาวะที่เหมาะสมแก่ท่านอารัญญิกภิกษุนั้น อารัญญิกภิกษุผู้ชอบความสงบ ไม่คลุกคลี ยินดีในเสนาสนะอันสงัด เป็นผู้ยังพระมานัสของสมเด็จพระโลกนาถให้ทรงโปรดปรานได้ด้วยการอยู่ในป่า อารัญญิกภิกษุผู้สำรวม อยู่ในป่าแต่เดียวดาย ย่อมได้ประสบความสุขอันใด รสแห่งความสุขอันนั้น แม้แต่ทวยเทพกับพระอินทร์ ก็ไม่ได้ประสบ แหละอารัญญิกภิกษุนี้ เที่ยวสวมสอดผ้าบังสุกุลจีวรเป็นเสมือนกษัตริย์ทรงสวมสอดเกราะ เข้าสู่สงครามคือป่า มีธูตธรรมที่เหลือเป็นอาวุธ เป็นผู้สามารถที่จะได้ชัยชนะซึ่งพญามารพร้อมทั้งราชพาหนะ โดยไม่นานเท่าไรนักเลย เพราะเหตุฉะนั้น อันภิกษุผู้เป็นบัณฑิต พึงกระทำความยินดีในการอยู่ป่า นั่นเทอญ

ว่าด้วยอานิสงส์ในอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ ในอารัญญิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้



๗. ขลุปัจฉาภัตติทั้งคกถา

ขลุปัจฉาภัตติทั้งคกถา

การสมาทาน
แม้ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ อติริตฺตโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธโภชนะอันล้นเหลือ ดังนี้อย่างหนึ่ง ขลุปจฺฉาภตฺติกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุมิใช่ผู้มีอันฉันปัจฉาภัตเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันภิกษุมิใช่ผู้มีอันฉันปัจฉาภัตเป็นปกตินั้น ครั้นห้ามโภชนะเสียแล้วไม่พึงให้ทำโภชนะให้เป็นกัปปิยะ (ให้เป็นของควรฉัน) แล้วฉันอีก ว่าด้วยกรรมวิธีในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภทแล้ว ภิกษุมิใช่ผู้ฉันปัจฉาภัตเป็นปกตินี้มี ๓ ประเภท ดังนี้คือ โดยเหตุที่การห้ามโภชนะย่อมมีไม่ได้ในบิณฑบาตครั้งแรก แต่เมื่อบิณฑบาตครั้งแรกนั้น อันภิกษุผู้ขลุปัจฉาภัตติกะกำลังฉันอยู่ ย่อมเป็นอันปฏิเสธซึ่งบิณฑบาตอื่น ฉะนั้น ในขลุปัจฉาภัตติกภิกษุ ๓ ประเภทนั้น

ขลุปัจฉาภัตติกภิกษุชั้นอุกฤษฏ ห้ามโภชนะแล้วด้วยอาการอย่างนี้ คือ ฉันบิณฑบาตครั้งแรกแล้ว ย่อมไม่ฉันบิณฑบาตครั้งที่สอง
ขลุปัจฉาภัตติกภิกษุชั้นกลาง ตนห้ามแล้วในเพราะโภชนะใด ยังฉันโภชนะนั้นได้อยู่นั่นเที่ยว
ขลุปัจฉาภัตติกภิกษุชั้นต่ำ ย่อมฉันบิณฑบาตได้ตลอดเวลาที่ตนยังไม่ลุกจากที่นั่ง
ว่าด้วยประเภทในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะที่ขลุปัจฉาภัตติกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนี้ซึ่งห้ามโภชนะแล้ว ให้ทำโภชนะให้เป็นกัปปิยะแล้วฉันอีกนั่นเทียว ว่าด้วยความแตกในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ เป็นการห่างไกลจากอาบัติเพราะฉันโภชนะอันไม่เป็นเดน, ไม่มีการแน่นท้อง, เป็นการไม่สะสมอามิส, ไม่มีการแสวงหาอีก เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น โยคืบุคคลผู้ขลุปัจฉาภัตติกซึ่งเป็นบัณฑิตย่อมไม่เผชิญกับความลำบาก เพราะการแสวงหาอาหาร ย่อมไม่ทำการสะสมอามิส ย่อมหายจากความแน่นท้อง เพราะฉะนั้น อันโยคีบุคคลผู้ใคร่ที่จะกำจัดเสียซึ่งโทษทั้งหลาย พึงบำเพ็ญขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระสุคตเจ้าทรงสรรเสริญพระปฏิบัติศาสนาว่า เป็นที่เกิดแห่งความเจริญขึ้นแห่งคุณมีคุณคือความสันโดษเป็นต้นนั่นเทียว

ว่าด้วยอานิสงส์ในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ ในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้




วันจันทร์

๖. ปัตตปิณฑิกังคกถา

ปัตตปิณฑิกังคกถา
การสมาทาน
แม้ปัตตปิณฑิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาด้วยคำสมาทาน อย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ ทุติยกภาชน์ ปฏิกขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธภาชนะอันที่ ๒ ดังนี้อย่างหนึ่ง ปตฺตปิณฑิกงค์ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์ของภิกษุผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่งว่าด้วยการสมาทานในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันภิกษุผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกตินั้น ถึงเวลาจะดื่มข้าวยาคูเมื่อได้อาหารมาไว้ในภาชนะแล้ว พึงฉันอาหารก่อนหรือจะดื่มข้าวยาคูก่อนก็ได้ ก็ถ้าใส่อาหารลงในข้าวยาคู เมื่ออาหารที่ใส่ลงไปนั้นเป็นปลาเน่าเป็นต้น ข้าวยาคูก็จะเป็นสิ่งที่น่าเกลียด และควรทำข้าวยาคูให้หายน่าเกลียดเสียจึงค่อยฉัน เพราะฉะนั้น คำว่า พึงฉันอาหารก่อนก็ได้ นี้ ท่านกล่าวหมายเอาอาหารเช่นนั้น ส่วนอาหารใดย่อมไม่เป็นสิ่งที่น่าเกลียด เช่น น้ำผึ้ง และน้ำตาลกรวดเป็นต้น อาหารนั้นจึงใส่ลงในข้าวยาคูได้ แต่เมื่อจะหยิบเอาอาหารเช่นนั้น ก็พึงหยิบเอาแต่พอสมควรแก่ประมาณเท่านั้น ผักสดจะใช้มือจับกัดกินก็ได้ แต่เมื่อไม่ทำดังนั้นจึงใส่ลงในบาตรนั่นเทียว ส่วนภาชนะอย่างอื่นแม้จะเป็นใบไม้ก็ตามก็ไม่ควรใช้ เพราะได้ปฏิเสธภาชนะอันที่ ๒ ไว้แล้ว ว่าด้วยกรรมวิธีในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้ภิกษุผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกตินี้ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
ปัตตปิณฑิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ แม้จะคายกากอาหารทิ้งก็ไม่ควร ยกเว้นแต่เวลาฉันอ้อยขั้น (อ้อยลำ) แม้ก้อนข้าวสุก, ปลา, เนื้อและขนมจะใช้มือบิฉันก็ไม่ควร
ปัตตปิณฑิกภิกษุชั้นกลาง จะใช้มือข้างหนึ่งบิแล้วฉันก็ควร ปัตตปิณฑิกภิกษุนี้ ชื่อว่า หัตถโยคี (โยคีผู้ใช้มือ)
ปัตตปิณฑิกภิกษุชั้นต่ำ เป็นผู้ชื่อว่า ปัตตโยคี (โยคีผู้ใช้บาตร) คือ ของเคี้ยวของฉันสิ่งใดสามารถที่จะบรรจุเข้าไปในบาตรของท่านได้ จะบิของเคี้ยวของฉันนั้นด้วยมือหรือจะขบด้วยฟันแล้วฉันก็ควร 
ว่าด้วยประเภทในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์ของภิกษุผู้ปัตตปิณฑิกทั้ง ๓ ประเภทนี้ ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะที่ท่านเหล่านั้นยินดีต่อภาชนะอันที่ ๒ นั่นเทียว ว่าด้วยความแตกในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ เป็นการบรรเทาเสียซึ่งตัณหาในรสต่าง ๆ เป็นการเสียสละได้ซึ่งภาวะที่มีความอยากในรสในภาชนะนั้น ๆ, ความเป็นผู้เห็นประโยชน์ และประมาณในอาหาร, ไม่มีความลำบากเพราะการรักษาเครื่องใช้ เช่นถาดเป็นต้น, ไม่มีความเป็นผู้ฉันลอกแลก, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณ มีความมักน้อยเป็นต้น ภิกษุผู้มีวัตรปฏิบัติอันงดงาม เลิกละความลอกแลกในภาชนะนานาชนิดเสีย มีตาทอดลงแต่ในบาตร ย่อมเป็นเสมือนขุดอยู่ซึ่งรากเหง้าแห่งตัณหาในรส ภิกษุผู้มีใจงดงาม รักษาไว้ซึ่งความสันโดษเสมือนดังรูปร่างของตน พึงสามารถที่จะฉันอาหารเช่นนี้ได้ ภิกษุอื่นใครเล่าที่จะพึงเป็นผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกติ ว่าด้วยอานิสงส์ในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ ในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้






วันพฤหัสบดี

จากขันธ์ ๕ และไตรลักษณ์ สู่อนัตตลักขณสูตร

ตัวอย่างแนวทางการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
“จากขันธ์ ๕ และไตรลักษณ์ สู่อนัตตลักขณสูตร”

ในภาพรวมจะแบ่งเป็น ๓ ขั้นตอน คือ ทำความเข้าใจหลักขันธ์ ๕ หลักไตรลักษณ์ และพิจารณาความเป็นไตรลักษณ์ของขันธ์ ๕ ตามแนวของ🔎อนัตตลักขณสูตร ในขั้นแรก พึงทำความเข้าใจ🔎ขันธ์ ๕ ให้กระจ่างดีเสียก่อนว่า สิ่งที่สมมติว่าเป็นตัวเรานั้น ตามสภาวะแท้จริงประกอบขึ้นด้วยองค์ประกอบ ๕ อย่าง กล่าวโดยย่อดังนี้

(ส่วนรูปธรรม ๑)
รูป คือ องค์ประกอบส่วนรูปธรรมทั้งหมด
(ส่วนนามธรรม ๔)
เวทนา คือ ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ
สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้
สังขาร คือ ความปรุงแต่งอารมณ์ให้ดีชั่วอันมีเจตนาเป็นแกน
วิญญาณ คือ ธาตุรู้ทางประสาทสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ทั้งนี้ ในการพิจารณาอย่าใช้วิธีนึกคิดตามตัวอักษรเพียงอย่างเดียว ให้พิจารณาแยกแยะองค์ประกอบทั้ง ๕ อย่างนี้ที่ตัวเราเองด้วย เพราะสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นกันไว้ด้วยกิเลสมากที่สุด ก็คือสิ่งที่สมมติว่าเป็นตัวเรานี้เอง และตัวเราดังกล่าวก็ไม่ได้มีองค์ประกอบอื่นใดนอกเหนือไปจากที่พระพุทธเจ้าทรงแจกแจงแสดงออกเป็นขันธ์ ๕ นี้ แม้ผู้อื่น หรือสิ่งอื่นใดในโลก ก็ไม่มีอะไรเกินเลยออกไปจากขันธ์ ๕ นี้เช่นเดียวกัน ในขั้นแรกพึงทำความเข้าใจดังนี้ ต่อมาพิจารณาหลัก🔎ไตรลักษณ์ กล่าวโดยย่นย่อ การทำความเข้าใจหลักไตรลักษณ์นั้น พึงพิจารณาจากหยาบไปหาละเอียด จากส่วนที่เห็นได้ง่ายปรากฎแก่สายตาไปหาส่วนที่ลึกซึ้งเข้าใจได้ยาก

เริ่มด้วยการพิจารณาว่าสิ่งทั้งปวงในโลกล้วนเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัย มีสภาวะความเกิดดับไม่เที่ยง (อนิจจัง) > สิ่งใดเกิดดับไม่เที่ยง สิ่งนั้นย่อมถูกกดดันบีบคั้นด้วยความเกิดดับนั่นเอง (ทุกขัง) > เมื่อเกิดดับแปรปรวนไปตามเหตุปัจจัยและเป็นสภาวะกดดันบีบคั้น ไม่สามารถครอบครองควบคุมสั่งบังคับให้เป็นอย่างไรๆตามต้องการนอกเหนือเหตุปัจจัยได้ ย่อมไม่เป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา) สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลก (สังขตธรรม) มีสามัญลักษณะเสมอเหมือนกันเช่นนี้

วิปัสสนากรรมฐานไตรลักษณ์ขันธ์ ๕
เมื่อได้ทำความเข้าใจขันธ์ ๕ และไตรลักษณ์ดีแล้ว พึงพิจารณาความเป็นไตรลักษณ์ของขันธ์ ๕ ตามแนวของ อนัตตลักขณสูตร 

รูป เป็นของไม่เที่ยง เกิดดับแปรเปลี่ยนเรื่อยไป (อนิจจัง) > แม้ว่าผู้ใดจะได้รูปกายอันงดงามก็ย่อมเจ็บป่วยโทรมทรุดด้วยประการต่างๆเป็นธรรมดา (ทุกขัง) > เมื่อรูปไม่อาจยั่งยืนสมบูรณ์แบบตามต้องการแล้วไซร้ ควรหรือที่จะยึดถือว่ารูปเป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา), ความยึดติดถือมั่นในรูปอัน ไม่เที่ยง แปรปรวน ว่าเป็นอัตตาตัวตนย่อมเป็นเหตุแห่งทุกข์ ควรละเสีย

เวทนา เป็นของไม่เที่ยง เกิดดับแปรเปลี่ยนเรื่อยไป (อนิจจัง) > แม้ปรารถนาความสุขทั้งหลายให้ยั่งยืน ทุกข์ให้หมดสิ้นไป ก็มิได้ (ทุกขัง) > เมื่อเวทนาไม่อาจยั่งยืนสมบูรณ์แบบตามต้องการแล้วไซร้ ควรหรือที่จะยึดถือว่าเวทนาเป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา), ความยึดติดถือมั่นในเวทนาอัน ไม่เที่ยง แปรปรวน ว่าเป็นอัตตาตัวตนย่อมเป็นเหตุแห่งทุกข์ ควรละเสีย

สัญญา เป็นของไม่เที่ยง เกิดดับแปรเปลี่ยนเรื่อยไป (อนิจจัง) > แม้ปรารถนาให้จำเอาไว้แต่เรื่องราวอันเป็นสุข ลืมเรื่องทุกข์ทั้งหลายให้หมดสิ้น ก็มิได้ (ทุกขัง) > เมื่อสัญญาไม่อาจยั่งยืนสมบูรณ์แบบตามต้องการแล้วไซร้ ควรหรือที่จะยึดถือว่าสัญญาเป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา), ความยึดติดถือมั่นในสัญญาอัน ไม่เที่ยง แปรปรวน ว่าเป็นอัตตาตัวตนย่อมเป็นเหตุแห่งทุกข์ ควรละเสีย

สังขาร เป็นของไม่เที่ยง เกิดดับแปรเปลี่ยนเรื่อยไป (อนิจจัง) > แม้ปรารถนาจะให้มีเฉพาะเจตนาอันประกอบด้วยปัญญาและความเพียร ไม่ประกอบด้วยเจตนาอันจะก่อโทษให้เดือดร้อนใดๆ ก็มิได้ (ทุกขัง) > เมื่อสังขารไม่อาจยั่งยืนสมบูรณ์แบบตามต้องการแล้วไซร้ ควรหรือที่จะยึดถือว่าสังขารเป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา), ความยึดติดถือมั่นในสังขารอัน ไม่เที่ยง แปรปรวน ว่าเป็นอัตตาตัวตนย่อมเป็นเหตุแห่งทุกข์ ควรละเสีย

วิญญาณ เป็นของไม่เที่ยง เกิดดับแปรเปลี่ยนเรื่อยไป (อนิจจัง) > แม้ปรารถนาจะรับรู้เฉพาะสิ่งที่ต้องการ ไม่รับรู้สิ่งที่ไม่ต้องการ ก็มิได้ (ทุกขัง) > เมื่อวิญญาณไม่อาจยั่งยืนสมบูรณ์แบบตามต้องการแล้วไซร้ ควรหรือที่จะยึดถือว่าวิญญาณเป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา), ความยึดติดถือมั่นในวิญญาณอัน ไม่เที่ยง แปรปรวน ว่าเป็นอัตตาตัวตนย่อมเป็นเหตุแห่งทุกข์ ควรละเสีย

ลองทบทวนสอบถามกับตัวเองตามแนวทางที่ท่านทรงแสดงไว้แล้วว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ตนเองและผู้อื่นคงที่เที่ยงแท้ หรือ เกิดดับไม่เที่ยง ? สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้น เหตุปัจจัยบีบคั้นเป็นทุกข์ หรือ คล่องสบายเป็นสุข ? ก็สิ่งใดเกิดดับไม่เที่ยง บีบคั้นเป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ไม่ใช่สิ่งที่จะควบคุมได้เหนือเหตุปัจจัย ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่าเป็นอัตตาตัวตนของเรา ? (ควรตอบตามความเห็นของตัวเองจริงๆไม่ใช่ตอบแบบท่องจำ เพื่อเป็นการประเมินความเห็นของตัวเองตามที่เป็นอยู่จริงในขณะนั้น) พิจารณาให้เห็นว่าขันธ์ ๕ นี้ เกิดดับแปรปรวนไปตามเหตุปัจจัยเสมอเหมือนกับสิ่งอื่นๆในโลก ไม่ใช่อัตตาตัวตนของเราที่ควรจะยึดติดถือมั่นไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายสมดังคำกล่าวที่ว่า ผู้ละความยึดติดถือมั่นทั้งปวงลงได้แล้ว ทุกข์ทางใจย่อมไม่มีที่ตั้งและที่ให้กระทบ เป็นผู้ไม่หวั่นไหวทั้งในสุขและทุกข์ มีจิตใจเบิกบานทุกเมื่อ ส่วนทุกข์ทางกาย ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติไป

ไม่มีอัตตาได้อย่างไร
อาจมีข้อสงสัยว่า มนุษย์หรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็สามารถควบคุมความคิดและการกระทำของตัวเองให้เป็นอย่างที่ตนต้องการได้มิใช่หรือ? ถ้าไม่มีอัตตาแล้วเจตจำนงที่จะเลือกทำหรือไม่ทำสิ่งใดนั้นจะมาจากไหน? ความคิดเช่นนี้ถูกบางส่วนแต่ไม่ถูกทั้งหมด กล่าวคือ สิ่งมีชีวิตสามารถควบคุมความคิดและการกระทำของตัวเองได้ เพราะมีเจตนา (เจตนาทำหน้าที่เป็นแกนของสังขารขันธ์ พระอภิธรรมว่าเป็นสัพพสาธารณะเจตสิก คือเกิดกับจิตทุกดวง) เจตนานั้นทำหน้าที่เป็นผู้คิด ผู้ริเริ่ม ที่จะทำหรือไม่ทำสิ่งใด ที่ว่าเจตนาควบคุมได้นั้น มันเพียงเป็นไปตามหน้าที่ของมันซึ่งมีคุณสมบัติเป็นตัวริเริ่มทำการต่างๆ แต่ทั้งหมดก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยเช่นเดิม

กล่าวคือ การริเริ่มกระทำต่ออารมณ์เป็นหน้าที่หรือเป็นคุณสมบัติตามธรรมชาติของเจตนา เหมือนกับที่ เวทนามีหน้าที่เสวยอารมณ์ สัญญามีหน้าที่ทรงจำอารมณ์ วิญญาณมีหน้าที่รู้อารมณ์ ต่างกันตรงที่สังขารขันธ์ซึ่งมีเจตนาเป็นแกนนั้นเป็นผู้กระทำต่ออารมณ์ (เป็นช่วงเหตุใน🔎ปฏิจจสมุปบาท) ส่วนขันธ์อื่นๆนั้นเป็นผู้รับอารมณ์ (เป็นช่วงผลในปฏิจจสมุปบาท) การที่สิ่งมีชีวิตมีความคิดริ่เริ่มเป็นของตนเอง จึงไม่ได้หมายความว่าสิ่งมีชีวิตนั้นมีอัตตาเป็นของตัวเอง

พิจารณาแนวของอนัตตลักขณสูตร
ถ้าความคิดริเริ่มหรือเจตนารมณ์ใดๆที่มีอยู่ในตนเป็นอัตตาแล้ว ย่อมบังคับควบคุมได้ว่าให้มีเฉพาะส่วนดี เช่น ย่อมเลือกได้ควบคุมบังคับได้ว่าจะทำสิ่งใดให้มีแต่เจตนาอันประกอบพร้อมด้วยปัญญาอย่าตกเป็นทาสหรือเผลอทำอะไรตามกิเลส, เจตนาพึงประกอบด้วยความเพียรอย่าย่อท้อไม่มีความตรอมตรมหมดอาลัยตายอยาก เป็นต้น เจตนาใดๆล้วนไม่เที่ยง เกิดดับแปรปรวนเรื่อยไป จึงไม่มีเหตุให้ยึดถือเป็นตัวตน การที่สิ่งมีชีวิตมีเจตนาสามารถกำหนดทิศทางของตัวเองได้ตามเหตุปัจจัย ทำให้ทุกชีวิตมีความหวังที่จะไปถึงจุดหมายที่ต้องการได้ด้วยความเพียรและสติปัญญา ดังที่เราจะพบพุทธพจน์ที่ตรัสเรื่องความเพียรอยู่มากมายในพระไตรปิฎกนั่นเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง : 🔎สติปัฏฐาน ๔