วันพุธ

๑๒. ยถาสันถติกังคกถา

ยถาสันถติกังคกถา

การสมาทาน
แม้ยถาสันถติกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้วด้วย คำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ เสนาสนโลลุปฺปํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธความละโมบในเสนาสนะ ดังนี้อย่างหนึ่ง ยถาสนุถติกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะตามที่จัดแจงไว้แล้วอย่างไรเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในยถาสันถติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ เสนาสนะใดที่สงฆ์ให้เธอรับเอาแล้วด้วยคำว่า เสนาสนะนี้ถึงแก่ท่านฉะนี้ อันยถาสันถติกภิกษุนั้น พึงยินดีด้วยเสนาสนะนั้นเท่านั้น ไม่พึงขับไล่ภิกษุอื่นให้ลุกหนีไป ว่าด้วยกรรมวิธีในยถาสันถติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้


ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้ยถาสันถติกภิกษุนี้ ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
ยถาสันถติกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ จะสอบถามถึงเสนาสนะที่ถึงแก่ตนว่าไกลไหม ? ใกล้ไหม ? อันอมนุษย์และจำพวกสัตว์ทีฆชาติเป็นต้นรบกวนไหม ? ร้อนไหม ? หรือเย็นไหม ? ดังนี้หาได้ไม่
ยถาสันถติกภิกษุชั้นกลาง จะสอบถามดังนั้นได้อยู่ แต่จะไปตรวจดูหาได้ไม่
ยถาสันถติกภิกษุชั้นต่ำ ครั้นไปตรวจดูเสนาสนะแล้ว ถ้าไม่ชอบใจเสนาสนะหลังนั้น จะถือเอาเสนาสนะหลังอื่นก็ได้
ว่าด้วยประเภทในยถาสันถติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะพอเมื่อยถาสันถติกภิกษุทั้ง ๓ ประเภท เกิดความละโมบขึ้นในเสนาสนะนั่นเทียว ว่าด้วยความแตกในยถาสันถติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ เป็นการกระทำตามพระพุทธโอวาทข้อว่าได้สิ่งใดก็จึงยินดีด้วยสิ่งนั้น เป็นผู้มุ่งประโยชน์ให้แก่เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย เป็นการสละความเลือกในของเลวและของประณีต, เป็นการสละเสียได้ซึ่งความดีใจและความเสียใจ, เป็นการปิดประตูแห่งความมักมาก, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น ภิกษุผู้สำรวม มีอันอยู่ในเสนาสนะตามที่จัดแจงไว้แล้วเป็นปกติ ได้สิ่งใดก็ยินดีด้วยสิ่งนั้น ไม่เลือก ย่อมนอนเป็นสุขในเสนาสนะที่ปูลาดด้วยหญ้าก็ตาม ยถาสันถติกภิกษุนั้น ย่อมไม่ดีใจในเสนาสนะที่ดี ๆ ได้ของเลวมาแล้วก็ไม่เสียใจ ย่อมสงเคราะห์บรรดาเพื่อนพรหมจรรย์รุ่นใหม่ ๆ ด้วยประโยชน์เกื้อกูล เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้มีปัญญา จงประกอบเนือง ๆ ซึ่งความเป็นผู้ยินดีในเสนาสนะตามที่จัดแจงไว้แล้ว อันเป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าจำนวนร้อย ๆ สั่งสมแล้ว อันพระมหามุนีผู้ยอดเยี่ยมทรงสรรเสริญแล้ว ว่าด้วยอานิสงส์ในยถาสันถติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ ในยถาสันตติกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้


๑๑. โสสานิกังคกถา

 โสสานิกังคกถา

การสมาทาน
แม้โสสานิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ น สุสานํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธที่อันมิใช่สุสาน ดังนี้อย่างหนึ่ง โสสานิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้อยู่ในป่าช้าเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่งว่าด้วยการสมาทานในโสสานิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละอันภิกษุผู้อยู่ในสุสานเป็นปกตินั้นไม่พึ่งอยู่ในสถานที่ที่พวกมนุษย์อาศัยบ้านอยู่แล้วกำหนดหมายเอาไว้ว่า ที่ตรงนี้ทำเป็นสุสาน เพราะเมื่อยังมิได้เผาศพสถานที่นั้นจะได้ชื่อว่าสุสานหาได้ไม่ แต่นับแต่เวลาที่เผาศพแล้วไป แม้เขาจะทอดทิ้งไปแล้วถึง ๑๒ ปี สถานที่นั้นก็ยังคงสภาพเป็นสุสานอยู่นั่นเอง แหละเมื่อโสสานิกภิกษุอยู่ในสุสานนั้น จะให้ปลูกสร้างสถานที่ เช่นปะรำสำหรับจงกรม จะให้จัดแจงเตียงและทั่ง จะให้ตั้งน้ำฉันและน้ำใช้ จะสอนธรรมหาเป็นการสมควรไม่ ก็ธุดงค์นี้เป็นภาระหนัก (บริหารได้ยาก) เพราะฉะนั้น เพื่อป้องกันอันตรายซึ่งอาจจะเกิดขึ้น อันโสสานิกภิกษุพึงกราบเรียนพระสังฆเถระ หรือบอกเจ้าหน้าที่ให้ทราบไว้ จึงอยู่อย่างไม่ประมาทนั่นเถิด เมื่อเดินจงกรม ก็พึงเดินชำเลืองตาดูสุสานไปพลาง ท่านผู้ชำนาญในคัมภีร์อังคุตตรนิกายพรรณนาไว้ว่า แม้เมื่อโสสานิกภิกษุจะไปสู่สุสานนั้น พึงหลบจากทางสายใหญ่ ๆ เสีย ลัดเลาะไปตามนอกเส้นทาง จึงกำหนดหมายอารมณ์ไว้เสียแต่ในกลางวันที่เดียว (เช่นหมายไว้ว่า ตรงนี้เป็นจอมปลวก ตรงนี้เป็นต้นไม้ ตรงนี้เป็นตอ) เพราะเมื่อกำหนดหมายไว้อย่างนี้ อารมณ์นั้นจักไม่ทำให้เกิดความหวาดกลัวแก่เธอในเวลากลางคืน แม้ถึงจะมีพวกอมนุษย์เที่ยวร่ำร้องอยู่ไปมาในเวลากลางคืน ก็อย่าขว้างปาด้วยวัตถุอะไร (เช่น ก้อนดินและก้อนหินเป็นต้น) อันโสสานิกภิกษุนั้นที่จะไม่ไปยังสุสานแม้เพียงวันเดียวหาได้ไม่ ต้องทำให้มัชฌิมยาม (๔ ทุ่ม ถึง ๘ ทุ่ม : ๒๒.๐๐-๐๒.๐๐ น.) หมดสิ้นไปอยู่ในสุสาน แล้วจึงกลับออกมาในเวลาปัจฉิมยาม (๙ ทุ่ม ถึง ๑๒ ทุ่ม : ๐๓.๐๐-๐๖.๐๐ น.) ของเคี้ยวของฉันอันเป็นที่ชอบใจของพวกอมนุษย์ เช่น แป้งผสมงา, ข้าวผสมถั่ว, ปลา, เนื้อ, นม, น้ำมันและน้ำอ้อยเป็นต้น ไม่ควรจะเสพ ไม่ควรเข้าไปสู่เรือนแห่งตระกูล ว่าด้วยกรรมวิธีในโสสานิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้โสสานิกภิกษุนี้ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
โสสานิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ ต้องอยู่ ณ สุสานซึ่งมีการเผาศพประจำ, มีศพประจำและมีการร้องไห้เป็นเนืองนิจเท่านั้น
โสสานิกภิกษุชั้นกลาง ในองค์คุณแห่งสุสาน ๓ ชนิดนั้น แม้จะมีเพียงชนิดเดียว ก็สมควร
โสสานิกภิกษุชั้นต่ำ อยู่ในสุสานที่พอเข้าลักษณะแห่งสุสาน ตามนัยที่กล่าวแล้ว ก็เป็นการสมควร
ว่าด้วยประเภทในโสสานิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ โดยที่โสสานิกภิกษุทั้งประเภทนี้ สำเร็จการอยู่ในสถานที่ซึ่งมิใช่สุสานนั่นเทียว ท่านผู้ชำนาญในคัมภีร์อังคุตตรนิกายอรรถาธิบายไว้ว่า ธุดงค์นี้ย่อมแตกในวันที่ไม่ไปสู่สุสาน ว่าด้วยความแตกในโสสานิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ ได้มรณสติ, มีการอยู่อย่างไม่ประมาท ได้ประสบอสุภนิมิต, บรรเทาเสียได้ซึ่งความกำหนัดในกาม, ได้เห็นสภาวะแห่งกายเนื่อง ๆ, เป็นผู้มากด้วยความสังเวชสลดใจ, ละเสียใต้ซึ่งความเมาในความไม่มีโรคเป็นต้น, ครอบงำเสียได้ซึ่งภัยอันน่ากลัว, มีภาวะเป็นที่เคารพและเป็นที่น่าสรรเสริญของอมนุษย์ทั้งหลาย, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น ก็แหละ โทษเพราะประมาททั้งหลายย่อมไม่ถูกต้องพ้องพาน ซึ่งภิกษุผู้อยู่ในสุสานเป็นปกติแม้จะหลับอยู่ก็ตาม ทั้งนี้เพราะอำนาจแห่งมรณานุสสติภาวนา แหละเมื่อโสสานิกภิกษุนั้นเห็นศพอยู่อย่างมากมาย จิตของท่านไม่ตกไปสู่อานุภาพและอำนาจของกามเลย โสสานิกภิกษุย่อมประสบความสังเวชสลดใจอย่างไพศาลย่อมไม่เข้าถึงซึ่งความมัวเมา อนึ่ง ชื่อว่าพยายามแสวงหาอยู่ซึ่งพระนิพพานโดยชอบ

ด้วยประการฉะนี้ อันภิกษุผู้เป็นบัณฑิต ผู้มีจิตน้อมเอียงไปหาพระนิพพาน จึงต้องเสพซึ่งโสสานิกังคธุดงค์เถิด เพราะเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งคุณเป็นอเนกประการ ว่าด้วยอานิสงส์ในโสสานิกังคธุดงค์นี้เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ในโสสานิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้



๑๐. อัพโภกาสิกังคกถา

อัพโภกาสิกังคกถา

การสมาทาน
แม้อัพโภกาสิกังคธุดงค์ ก็เป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้วด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ ฉนุนญฺจ รุกฺขมูลญฺจ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธที่อยู่อันมีหลังคาและโคนไม้ ดังนี้อย่างหนึ่ง อพฺโภกาสิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้อยู่ ณ ที่กลางแจ้งเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันอัพโภกาสิกภิกษุนั้นจะเข้าไปยังโรงอุโบสถ เพื่อจะฟังธรรมเทศนาหรือเพื่อจะทำอุโบสถกรรมก็ได้ เมื่อเข้าไปแล้วฝนเกิดตกขึ้นมา ครั้นฝนกำลังตกอยู่ก็ไม่ต้องออก เมื่อฝนหายแล้วจึงค่อยออก จะเข้าไปโรงฉันหรือโรงไฟเพื่อทำกิจวัตรก็ได้ จะไปบอกอำลาภัตติกภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระในโรงฉันก็ได้เมื่อจะแสดงพระบาลีเอง หรือให้ผู้อื่นแสดงให้ฟัง จะเข้าไปยังที่อยู่อันมีหลังคาก็ได้ และจะเอาเตียงและทั่งเป็นต้นซึ่งทิ้งเกะกะอยู่ข้างนอกเข้าไปเก็บไว้ข้างในก็ได้ ถ้าเมื่อกำลังเดินทางถือเครื่องบริขารของพระเถระผู้ใหญ่ไปเมื่อฝนตกจะเข้าไปยังศาลาซึ่งอยู่กลางทางก็ได้ ถ้าไม่ได้ถืออะไร ๆ จะรีบเดินไปด้วยหมายใจว่าจะพักอยู่ในศาลาย่อมไม่สมควร แต่เมื่อเดินไปอย่างปกติเข้าไปในศาลาแล้วก็พึงอยู่จนกว่าฝนจะหายจึงค่อยไป ว่าด้วยกรรมวิธีในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้เพียงเท่านี้ แม้วิธีแห่งรุกขมูลิกภิกขุก็มีนัยนี้เหมือนกัน
ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้อัพโภกาสิกภิกษุนี้ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
อัพโภกาสิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ จะเข้าไปพะพิงอิงต้นไม้หรือภูเขาหรือเรือนอยู่ไม่ได้ ต้องทำกระท่อมผ้า (กางกลด) อยู่ ณ ที่กลางแจ้งเท่านั้น
อัพโภกาสิกภิกษุชั้นกลาง จะเข้าไปพะพิงอิงต้นไม้ภูเขาและบ้าน แต่ไม่เข้าไปอยู่ข้างในได้อยู่
อัพโภกาสิกภิกษุชั้นต่ำ เอื้อมเขาซึ่งมีขอบเขตมิได้มุงบังก็ดี ปะรำที่มุงบังด้วยกิ่งไม้ก็ดี ผ้ากลดหยาบ ๆ ก็ดี (ผ้าเต็นท์กระมัง) กระต๊อบซึ่งอยู่ตามที่นั้น ๆ ที่พวกคนเฝ้านาเป็นต้นทอดทิ้งแล้วก็ดี ใช้ได้ทั้งนั้น
ว่าด้วยประเภทในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะที่อัพโภกาสิกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนี้ เข้าไปสู่ที่อยู่อันมีหลังคาหรือเข้าไปสู่โคนไม้เพื่อจะอยู่อาศัย ท่านผู้ชำนาญคัมภีร์อังคุตตรนิกายอธิบายไว้ว่า ธุดงค์นี้ย่อมแตกในขณะที่ อัพโภกาสิกภิกษุรู้แล้วทำอรุณให้ขึ้นในที่อยู่ซึ่งมีหลังคาหรือที่โคนไม้นั้นว่าด้วยความแตกในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ เป็นการตัดความกังวลในที่อยู่เสียได้, เป็นอุบายบรรเทาถีนมิทธะคือความง่วงเหงาหาวนอน, เป็นผู้สมควรแก่การที่จะสรรเสริญว่า “ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ไม่มีบ้าน ไม่ติดข้องเที่ยวไป มีอาการปานดังฝูงเนื้อฉะนั้น” เป็นผู้สิ้นความเกี่ยวเกาะ, เป็นผู้จาริกไปได้ในทิศทั้งเป็นผู้จาริกไปได้ในทิศทั้ง ๔, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น ภิกษุมีจิตใจเป็นดังจิตใจของเนื้อทราย อาศัยอยู่ ณ ที่กลางแจ้ง อันมีเพดานประดับด้วยแก้วมณีคือดวงดาวอันสว่างไสวด้วยดวงประทีปคือพระจันทร์ อันสมควรแก่ภาวะของท่านผู้ไม่มีเรือน ทั้งหาได้ไม่ยาก กำจัดความง่วงเหงาหาวนอนให้ส่างซาแล้ว อาศัยแล้วซึ่งความเป็นผู้ยินดีในภาวนา ไม่นานสักเท่าไร ย่อมจะได้ประสบซึ่งความยินดีในรสอันเกิดแต่ความสงัดเป็นแน่แท้ เพราะเหตุนั้นแหละ อันภิกษุผู้มีปัญญา พึงเป็นผู้ยินดีในที่กลางแจ้งนั่นเทอญ ว่าด้วยอานิสงส์ในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์
ในอัพโภกาสิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้





๙. รุกขมูลิกังคกถา

รุกขมูลิกังคกถา
การสมาทาน
แม้รุกขมูลิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้วด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่าง คือ ฉนฺนํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธที่อยู่ที่มีหลังคา ดังนี้อย่างหนึ่ง รุกฺขมูลิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาองค์แห่งภิกษุผู้อยู่ที่โคนไม้เป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในรุกขมูลกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันภิกษุผู้อยู่โคนไม้เป็นปกตินั้น พึงยึดเอาต้นไม้ที่อยู่สุดเขตวัด โดยละเว้นต้นไม้เหล่านี้เสียคือ ต้นไม้อยู่ในระหว่างเขตรัฐสีมา ต้นไม้เป็นที่นับถือบูชา ต้นไม้มียาง ต้นไม้ผล ต้นไม้มีค้างคาว ต้นไม้มีโพรง และต้นไม้อยู่กลางวัด ว่าด้วยกรรมวิธีในรุกขมูลกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้รุกขมูลิกภิกษุนี้ ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
รุกขมูลิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ จะยึดถือเอาต้นไม้ตามชอบใจแล้วใช้คนอื่นให้ปัดกวาดไม่ได้ จึงใช้เท้าเขียใบไม้ที่ร่วงหล่นด้วยตนเองแล้วอยู่เถิด
รุกขมูลิกภิกษุชั้นกลาง จะใช้บรรดาผู้ที่บังเอิญมาถึง ณ ที่ตรงนั้นให้ช่วยปัดกวาดก็ได้
อันรุกขมูลิกภิกษุชั้นต่ำ จึงเรียกคนรักษาวัดหรือสามเณรมาแล้วใช้ให้ช่วยชำระปัดกวาดให้สะอาด ให้ช่วยปราบพื้นให้สม่ำเสมอ ให้ช่วยเกลี่ยทราย ให้ช่วยล้อมรั้ว ให้ช่วยประกอบประตูแล้วอยู่เถิด แต่ในวันงานมหกรรมฉลอง อันรุกขมูลิกภิกษุอย่านั่งอยู่ ณ ที่นั้น พึงหลบไปนั่ง ณ ที่กำบังแห่งอื่นเสีย
ว่าด้วยประเภทในรุกขมูลกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะที่รุกขมูลิกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนี้ สำเร็จการอยู่ในที่อันมีหลังคานั่นเทียว ท่านผู้ชำนาญคัมภีร์อังคุตตรนิกาย อธิบายไว้ว่า ธุดงค์นี้ ย่อมแตกในขณะที่รุกขมูลิกภิกษุเหล่านั้นรู้แล้วทำอรุณให้ขึ้นในที่อยู่อันมีหลังคา ว่าด้วยความแตกในรุกขมูลกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ เป็นผู้มีข้อปฏิบัติสมควรแก่ปัจจัยเครื่องอาศัยตามพระพุทธวจนะข้อว่า การบวช อาศัยเสนาสนะคือโคนไม้, เป็นผู้มีปัจจัยอันพระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญไว้มีอาทิ เช่นว่า ปัจจัยเหล่านั้นเป็นสิ่งเล็กน้อยด้วยหาได้ง่ายด้วย เป็นสิ่งที่หาโทษมิได้ด้วย เป็นการยังอนิจจสัญญาให้ปรากฏ ด้วยได้ เห็นความเปลี่ยนแปลงของใบไม้, ไม่มีความตระหนี่เสนาสนะและความหลงยินดีการงาน, เป็นผู้มีการอยู่ร่วมกับรุกขเทวดาทั้งหลาย เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความสันโดษเป็นต้น

ที่อยู่อาศัยของภิกษุผู้ชอบความสงัด อันพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทรงสรรเสริญและเชยชมแล้วว่าเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยที่จะเปรียบเสมอด้วยโคนไม้ จะมีแต่ที่ไหน จริงอยู่ ภิกษุผู้อาศัยอยู่ที่โคนไม้อันสงัด เป็นที่นำออกซึ่งความตระหนี่อาวาส อันเทวดาอภิบาลรักษา ย่อมเป็นผู้มีวัตรปฏิบัติอันดีงาม เมื่อรุกขมูลิกภิกษุได้เห็นใบไม้หลายชนิด คือชนิดที่แดงเข้มบ้าง ชนิดที่เขียวสดบ้าง ชนิดที่เหลืองซึ่งร่วงหล่นแล้วบ้าง ย่อมจะบรรเทานิจจสัญญาคือความหมายว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของเที่ยงเสียได้ เพราะฉะนั้นแหละ ภิกษุผู้เห็นแจ้ง อย่าได้พึงดูหมิ่นโคนไม้อันสงัด อันเป็นมรดกที่พระพุทธเจ้าทรงประทานให้และเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ยินดีแล้วในการภาวนา ว่าด้วยอานิสงส์ในรุกขมูลกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ในรุกขมูลกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้


วันอังคาร

๘. อารัญญิกังคกถา

อารัญญิกังคกถา

การสมาทาน
แม้อารัญญิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ คามนฺตเสนาสนํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธเสนาสนะภายในบ้าน ดังนี้อย่างหนึ่ง อารญฺฌิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในอารัญญิกกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันภิกษุผู้อยู่ในป่าเป็นปกตินั้น ต้องออกจากเสนาสนะภายในบ้านไปทำให้อรุณตั้งขึ้นในป่า, ในเสนาสนะ ๒ อย่างนั้น บ้านพร้อมทั้งอุปจารแห่งบ้านนั่นเที่ยว ชื่อว่า เสนาสนะภายในบ้าน

อธิบายคำว่าบ้าน
ที่อยู่อาศัยอย่างใดอย่างหนึ่ง จะมีกระท่อมหลังเดียวหรือหลายหลังก็ตาม จะมีเครื่องล้อมหรือไม่มีเครื่องล้อมก็ตาม จะมีคนหรือไม่มีคนก็ตาม แม้ชั้นที่สุดหมู่เกวียนเหล่าใดเหล่าหนึ่งซึ่งจอดพักอยู่เกิน ๔ เดือน ชื่อว่า บ้าน

อธิบายคำว่าอุปจารบ้าน
สำหรับบ้านที่มีเครื่องล้อมเหมือนดังเมืองอนุราธปุรี ย่อมมีเขื่อนอยู่ ๒ ชั้น ชั่วเลฑฑุบาตหนึ่ง (ชั่วขว้างก้อนดินตก) ของบุรุษผู้มีกำลังปานกลาง ซึ่งยืนอยู่ที่เขื่อนด้านใน ชื่อว่า อุปจารบ้าน (บริเวณรอบ ๆ บ้าน) ท่านผู้ชำนาญพระวินัยอธิบายลักษณะของเลฑฑุบาตนั้นไว้ดังนี้ ที่ภายในแห่งก้อนดินตก ซึ่งบุรุษผู้มีกำลังปานกลางขว้างไปนั้น เหมือนอย่างพวกเด็กวัยหนุ่มเมื่อจะออกกำลังของตน จึงเหยียดแขนออกแล้วขว้างก้อนดินไป ฉะนั้น ส่วนท่านผู้ชำนาญพระสูตรอธิบายไว้ว่า ที่ภายในแห่งก้อนดินตก ซึ่งบุรุษขว้างไปด้วยหมายที่จะห้ามกา ชื่อว่า อุปจารบ้าน ในบ้านที่ไม่มีเครื่องล้อม มาตุคาม (สตรี) ยืนอยู่ที่ประตูเรือนหลังสุดท้ายแล้วสาดน้ำไปด้วยภาชนะ ภายในที่ตกแห่งน้ำนั้น ชื่อว่า อุปจารเรือน นับแต่อุปจารเรือนนั้นออกไปชั่วเลฑฑุบาตหนึ่งโดยนัยที่กล่าวมาแล้ว ยังนับเป็นบ้าน ชั่วเลฑฑุบาตที่สองจึงนับเป็น อุปจารบ้าน

อธิบายคำว่าป่า
ส่วนป่านั้น ประการแรก โดยปริยายแห่งพระวินัยท่านอธิบายไว้ว่า ยกเว้นบ้านและอุปจารบ้านเสีย ที่ทั้งหมดนั้นเรียกว่า ป่า โดยปริยายแห่งพระอภิธรรมท่าน อธิบายไว้ว่า ที่ภายนอกจากเขื่อนออกไปทั้งหมดนั้น เรียกว่า ป่า ส่วน ณ ที่นี้ โดยปริยายแห่งพระสูตรท่านอธิบายลักษณะไว้ดังนี้ เสนาสนะหลังสุดท้ายที่ตั้งอยู่ชั่วระยะ ๕๐๐ ชั่วธนู เรียกว่า เสนาสนะป่า” ลักษณะที่กล่าวมานี้ จึงกำหนดวัดด้วยคันธนูแบบที่ขึ้นแล้ว สำหรับบ้านที่มีเครื่องล้อมวัดตั้งแต่เสาเขื่อนไปจนจรด รั้ววัด (วิหาร) สำหรับบ้านที่ไม่มีเครื่องล้อม วัดตั้งแต่ชั่วเลฑฑุบาตแรกไปจนจรดรั้ววัด (วิหาร) พระอรรถกถาจารย์ อธิบายไว้ในอรรถกถาวินัยทั้งหลายว่า “แหละถ้าเป็นวัดที่ไม่มีรั้วล้อม ฟังวัดเอาเสนาสนะหลังแรกให้เป็นเครื่องกำหนด หรือฟังวัดเอาโรงครัวหรือที่ประชุมประจำ หรือต้นโพธิ์ หรือพระเจดีย์ แม้มีอยู่ในที่ห่างไกลไปจากเสนาสนะ ให้เป็นเครื่องกำหนดก็ได้” ส่วนในอรรถกถามัชฌิมนิกายท่านอธิบายไว้ว่า แม้อุปจารวัดก็เหมือนอุปจารบ้าน จึงออกมาวัดเอาตรงระหว่างเลฑฑบาตทั้งสองนั่นเถิด ข้อนี้นับเอาเป็นประมาณในการคำนวณนี้ได้

แม้หากว่ามีหมู่บ้านอยู่ในที่ใกล้กับวัด ภิกษุสามเณรซึ่งอยู่ในวัดก็ได้ยินเสียงของชาวบ้านอยู่ แต่ก็ไม่อาจจะเดินทางตรง ๆ ถึงกันได้ เพราะมีภูเขาและแม่น้ำเป็นต้นคั่นอยู่ในระหว่าง ทางใดอันเป็นทางเดินโดยปกติของวัดนั้น แม้หากจะพึงสัญจรไปมาด้วยเรือก็ตามพึงถือเอาเป็น ๕๐๐ ชั่วธนูด้วยทางนั้น แต่อารัญญิกภิกษุใดปิดกั้นทางเล็ก ๆ ในที่นั้น ๆ เสีย เพื่อประสงค์ที่จะให้สำเร็จเป็นองค์ของบ้านใกล้วัด อารัญญิกภิกษุนี้ ย่อมชื่อว่า โจรธุดงค์ก็แหละ ถ้าอุปัชฌาย์หรืออาจารย์ของอารัญญิกภิกษุเกิดต้องอาพาธขึ้นมา เมื่อท่านไม่ได้ความสัปปายะในป่า จะพึงนำพาอุปัชฌาย์หรืออาจารย์ไปอุปัฏฐากที่เสนาสนะภายในบ้านก็ได้ แต่ต้องรีบกลับออกไปให้ทันกาล ทำให้อรุณขึ้นในที่อันประกอบด้วยองค์แห่งป่าถ้าโรคของอุปัชฌาย์หรืออาจารย์กำเริบขึ้นในเวลาอรุณขึ้นพอดีก็พึงอยู่ทำกิจวัตรถวายแต่อุปัชฌาย์หรืออาจารย์นั่นเถิด ไม่ต้องห่วงทำธุดงค์ให้บริสุทธิ์ดอก ว่าด้วยกรรมวิธีในอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้ภิกษุผู้อยู่ในป่าเป็นปกตินี้ ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
อารัญญิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ ย่อมทำให้อรุณขึ้นในป่าตลอดกาล (คืออยู่ในป่าเป็นนิจ)
อารัญญิกภิกษุชั้นกลาง ย่อมอยู่ในเสนาสนะภายในบ้านได้ตลอดกาล ๔ เดือน ในฤดูฝน
อารัญญิกภิกษุชั้นต่ำ ย่อมอยู่ในเสนาสนะภายในบ้านได้ตลอดกาล ๔ เดือนในฤดูหนาวด้วย (รวมเป็นเวลา ๘ เดือน)
ว่าด้วยประเภทในอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ เมื่ออารัญญิกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนั้น มาจากป่าแล้วฟังธรรมเทศนาอยู่ในเสนาสนะภายในบ้าน แม้ถึงอรุณจะขึ้นในกาลตามที่กำหนดไว้นั้น ธุดงค์ก็ไม่แตก ครั้นฟังธรรมแล้วกำลังเดินทางกลับไปอยู่ ถึงแม้อหุณจะตั้งขึ้นในระหว่างทาง ธุดงค์ก็ไม่แตก แต่ถ้าเมื่อพระธรรมกถึกลุกไปแล้ว อารัญญิกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนั้นคิดว่า “จักพักนอนสักครู่หนึ่งแล้วจึงจักไป” ดังนี้ แล้วเลยหลับไปทำให้อรุณขึ้นในเสนาสนะภายในบ้าน หรือทำให้อรุณขึ้นในเสนาสนะภายในบ้านตามความชอบใจของตน ธุดงค์ย่อมแตก ว่าด้วยความแตกในอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ อารัญญิกภิกษุผู้สนใจถึงซึ่งความสำคัญแห่งป่า เป็นผู้ควรที่จะได้บรรลุซึ่งสมาธิที่ยังมิได้บรรลุ หรือเป็นผู้ควรที่จะรักษาไว้ได้ซึ่งสมาธิที่ได้บรรลุแล้ว แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็ทรงพอพระหฤทัยต่อท่าน เหมือนดังที่ตรัสไว้ว่า “นาคิตภิกขุ ด้วยเหตุนั้น เราย่อมพอใจต่อภิกษุนั้นด้วยการอยู่ในป่า” ดังนี้ อนึ่ง สิ่งต่าง ๆ มีรูปอันไม่เป็นที่สัปปายะเป็นต้น ย่อมไม่รบกวนจิตของอารัญญิกภิกษุนั้นผู้อยู่ในเสนาสนะอันสงัด, ภิกษุผู้อยู่ในป่าเป็นปกติเป็นผู้สิ้น ความสะดุ้งหวาดเสียวแล้ว ละความพอใจอาลัยในชีวิตได้แล้ว ท่านย่อมได้เสวยรสแห่งความสุขอันเกิดแต่วิเวก, อนึ่ง ภาวะที่เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติ เป็นต้น ย่อมเป็นภาวะที่เหมาะสมแก่ท่านอารัญญิกภิกษุนั้น อารัญญิกภิกษุผู้ชอบความสงบ ไม่คลุกคลี ยินดีในเสนาสนะอันสงัด เป็นผู้ยังพระมานัสของสมเด็จพระโลกนาถให้ทรงโปรดปรานได้ด้วยการอยู่ในป่า อารัญญิกภิกษุผู้สำรวม อยู่ในป่าแต่เดียวดาย ย่อมได้ประสบความสุขอันใด รสแห่งความสุขอันนั้น แม้แต่ทวยเทพกับพระอินทร์ ก็ไม่ได้ประสบ แหละอารัญญิกภิกษุนี้ เที่ยวสวมสอดผ้าบังสุกุลจีวรเป็นเสมือนกษัตริย์ทรงสวมสอดเกราะ เข้าสู่สงครามคือป่า มีธูตธรรมที่เหลือเป็นอาวุธ เป็นผู้สามารถที่จะได้ชัยชนะซึ่งพญามารพร้อมทั้งราชพาหนะ โดยไม่นานเท่าไรนักเลย เพราะเหตุฉะนั้น อันภิกษุผู้เป็นบัณฑิต พึงกระทำความยินดีในการอยู่ป่า นั่นเทอญ

ว่าด้วยอานิสงส์ในอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ ในอารัญญิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้



๗. ขลุปัจฉาภัตติทั้งคกถา

ขลุปัจฉาภัตติทั้งคกถา

การสมาทาน
แม้ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ อติริตฺตโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธโภชนะอันล้นเหลือ ดังนี้อย่างหนึ่ง ขลุปจฺฉาภตฺติกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุมิใช่ผู้มีอันฉันปัจฉาภัตเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันภิกษุมิใช่ผู้มีอันฉันปัจฉาภัตเป็นปกตินั้น ครั้นห้ามโภชนะเสียแล้วไม่พึงให้ทำโภชนะให้เป็นกัปปิยะ (ให้เป็นของควรฉัน) แล้วฉันอีก ว่าด้วยกรรมวิธีในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภทแล้ว ภิกษุมิใช่ผู้ฉันปัจฉาภัตเป็นปกตินี้มี ๓ ประเภท ดังนี้คือ โดยเหตุที่การห้ามโภชนะย่อมมีไม่ได้ในบิณฑบาตครั้งแรก แต่เมื่อบิณฑบาตครั้งแรกนั้น อันภิกษุผู้ขลุปัจฉาภัตติกะกำลังฉันอยู่ ย่อมเป็นอันปฏิเสธซึ่งบิณฑบาตอื่น ฉะนั้น ในขลุปัจฉาภัตติกภิกษุ ๓ ประเภทนั้น

ขลุปัจฉาภัตติกภิกษุชั้นอุกฤษฏ ห้ามโภชนะแล้วด้วยอาการอย่างนี้ คือ ฉันบิณฑบาตครั้งแรกแล้ว ย่อมไม่ฉันบิณฑบาตครั้งที่สอง
ขลุปัจฉาภัตติกภิกษุชั้นกลาง ตนห้ามแล้วในเพราะโภชนะใด ยังฉันโภชนะนั้นได้อยู่นั่นเที่ยว
ขลุปัจฉาภัตติกภิกษุชั้นต่ำ ย่อมฉันบิณฑบาตได้ตลอดเวลาที่ตนยังไม่ลุกจากที่นั่ง
ว่าด้วยประเภทในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะที่ขลุปัจฉาภัตติกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนี้ซึ่งห้ามโภชนะแล้ว ให้ทำโภชนะให้เป็นกัปปิยะแล้วฉันอีกนั่นเทียว ว่าด้วยความแตกในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ เป็นการห่างไกลจากอาบัติเพราะฉันโภชนะอันไม่เป็นเดน, ไม่มีการแน่นท้อง, เป็นการไม่สะสมอามิส, ไม่มีการแสวงหาอีก เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น โยคืบุคคลผู้ขลุปัจฉาภัตติกซึ่งเป็นบัณฑิตย่อมไม่เผชิญกับความลำบาก เพราะการแสวงหาอาหาร ย่อมไม่ทำการสะสมอามิส ย่อมหายจากความแน่นท้อง เพราะฉะนั้น อันโยคีบุคคลผู้ใคร่ที่จะกำจัดเสียซึ่งโทษทั้งหลาย พึงบำเพ็ญขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระสุคตเจ้าทรงสรรเสริญพระปฏิบัติศาสนาว่า เป็นที่เกิดแห่งความเจริญขึ้นแห่งคุณมีคุณคือความสันโดษเป็นต้นนั่นเทียว

ว่าด้วยอานิสงส์ในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ ในขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้




วันจันทร์

๖. ปัตตปิณฑิกังคกถา

ปัตตปิณฑิกังคกถา
การสมาทาน
แม้ปัตตปิณฑิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาด้วยคำสมาทาน อย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ ทุติยกภาชน์ ปฏิกขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธภาชนะอันที่ ๒ ดังนี้อย่างหนึ่ง ปตฺตปิณฑิกงค์ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์ของภิกษุผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่งว่าด้วยการสมาทานในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันภิกษุผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกตินั้น ถึงเวลาจะดื่มข้าวยาคูเมื่อได้อาหารมาไว้ในภาชนะแล้ว พึงฉันอาหารก่อนหรือจะดื่มข้าวยาคูก่อนก็ได้ ก็ถ้าใส่อาหารลงในข้าวยาคู เมื่ออาหารที่ใส่ลงไปนั้นเป็นปลาเน่าเป็นต้น ข้าวยาคูก็จะเป็นสิ่งที่น่าเกลียด และควรทำข้าวยาคูให้หายน่าเกลียดเสียจึงค่อยฉัน เพราะฉะนั้น คำว่า พึงฉันอาหารก่อนก็ได้ นี้ ท่านกล่าวหมายเอาอาหารเช่นนั้น ส่วนอาหารใดย่อมไม่เป็นสิ่งที่น่าเกลียด เช่น น้ำผึ้ง และน้ำตาลกรวดเป็นต้น อาหารนั้นจึงใส่ลงในข้าวยาคูได้ แต่เมื่อจะหยิบเอาอาหารเช่นนั้น ก็พึงหยิบเอาแต่พอสมควรแก่ประมาณเท่านั้น ผักสดจะใช้มือจับกัดกินก็ได้ แต่เมื่อไม่ทำดังนั้นจึงใส่ลงในบาตรนั่นเทียว ส่วนภาชนะอย่างอื่นแม้จะเป็นใบไม้ก็ตามก็ไม่ควรใช้ เพราะได้ปฏิเสธภาชนะอันที่ ๒ ไว้แล้ว ว่าด้วยกรรมวิธีในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้ภิกษุผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกตินี้ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
ปัตตปิณฑิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ แม้จะคายกากอาหารทิ้งก็ไม่ควร ยกเว้นแต่เวลาฉันอ้อยขั้น (อ้อยลำ) แม้ก้อนข้าวสุก, ปลา, เนื้อและขนมจะใช้มือบิฉันก็ไม่ควร
ปัตตปิณฑิกภิกษุชั้นกลาง จะใช้มือข้างหนึ่งบิแล้วฉันก็ควร ปัตตปิณฑิกภิกษุนี้ ชื่อว่า หัตถโยคี (โยคีผู้ใช้มือ)
ปัตตปิณฑิกภิกษุชั้นต่ำ เป็นผู้ชื่อว่า ปัตตโยคี (โยคีผู้ใช้บาตร) คือ ของเคี้ยวของฉันสิ่งใดสามารถที่จะบรรจุเข้าไปในบาตรของท่านได้ จะบิของเคี้ยวของฉันนั้นด้วยมือหรือจะขบด้วยฟันแล้วฉันก็ควร 
ว่าด้วยประเภทในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์ของภิกษุผู้ปัตตปิณฑิกทั้ง ๓ ประเภทนี้ ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะที่ท่านเหล่านั้นยินดีต่อภาชนะอันที่ ๒ นั่นเทียว ว่าด้วยความแตกในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ เป็นการบรรเทาเสียซึ่งตัณหาในรสต่าง ๆ เป็นการเสียสละได้ซึ่งภาวะที่มีความอยากในรสในภาชนะนั้น ๆ, ความเป็นผู้เห็นประโยชน์ และประมาณในอาหาร, ไม่มีความลำบากเพราะการรักษาเครื่องใช้ เช่นถาดเป็นต้น, ไม่มีความเป็นผู้ฉันลอกแลก, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณ มีความมักน้อยเป็นต้น ภิกษุผู้มีวัตรปฏิบัติอันงดงาม เลิกละความลอกแลกในภาชนะนานาชนิดเสีย มีตาทอดลงแต่ในบาตร ย่อมเป็นเสมือนขุดอยู่ซึ่งรากเหง้าแห่งตัณหาในรส ภิกษุผู้มีใจงดงาม รักษาไว้ซึ่งความสันโดษเสมือนดังรูปร่างของตน พึงสามารถที่จะฉันอาหารเช่นนี้ได้ ภิกษุอื่นใครเล่าที่จะพึงเป็นผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกติ ว่าด้วยอานิสงส์ในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ ในปัตตปิณฑิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้






วันพฤหัสบดี

จากขันธ์ ๕ และไตรลักษณ์ สู่อนัตตลักขณสูตร

ตัวอย่างแนวทางการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
“จากขันธ์ ๕ และไตรลักษณ์ สู่อนัตตลักขณสูตร”

ในภาพรวมจะแบ่งเป็น ๓ ขั้นตอน คือ ทำความเข้าใจหลักขันธ์ ๕ หลักไตรลักษณ์ และพิจารณาความเป็นไตรลักษณ์ของขันธ์ ๕ ตามแนวของ🔎อนัตตลักขณสูตร ในขั้นแรก พึงทำความเข้าใจ🔎ขันธ์ ๕ ให้กระจ่างดีเสียก่อนว่า สิ่งที่สมมติว่าเป็นตัวเรานั้น ตามสภาวะแท้จริงประกอบขึ้นด้วยองค์ประกอบ ๕ อย่าง กล่าวโดยย่อดังนี้

(ส่วนรูปธรรม ๑)
รูป คือ องค์ประกอบส่วนรูปธรรมทั้งหมด
(ส่วนนามธรรม ๔)
เวทนา คือ ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ
สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้
สังขาร คือ ความปรุงแต่งอารมณ์ให้ดีชั่วอันมีเจตนาเป็นแกน
วิญญาณ คือ ธาตุรู้ทางประสาทสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ทั้งนี้ ในการพิจารณาอย่าใช้วิธีนึกคิดตามตัวอักษรเพียงอย่างเดียว ให้พิจารณาแยกแยะองค์ประกอบทั้ง ๕ อย่างนี้ที่ตัวเราเองด้วย เพราะสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นกันไว้ด้วยกิเลสมากที่สุด ก็คือสิ่งที่สมมติว่าเป็นตัวเรานี้เอง และตัวเราดังกล่าวก็ไม่ได้มีองค์ประกอบอื่นใดนอกเหนือไปจากที่พระพุทธเจ้าทรงแจกแจงแสดงออกเป็นขันธ์ ๕ นี้ แม้ผู้อื่น หรือสิ่งอื่นใดในโลก ก็ไม่มีอะไรเกินเลยออกไปจากขันธ์ ๕ นี้เช่นเดียวกัน ในขั้นแรกพึงทำความเข้าใจดังนี้ ต่อมาพิจารณาหลัก🔎ไตรลักษณ์ กล่าวโดยย่นย่อ การทำความเข้าใจหลักไตรลักษณ์นั้น พึงพิจารณาจากหยาบไปหาละเอียด จากส่วนที่เห็นได้ง่ายปรากฎแก่สายตาไปหาส่วนที่ลึกซึ้งเข้าใจได้ยาก

เริ่มด้วยการพิจารณาว่าสิ่งทั้งปวงในโลกล้วนเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัย มีสภาวะความเกิดดับไม่เที่ยง (อนิจจัง) > สิ่งใดเกิดดับไม่เที่ยง สิ่งนั้นย่อมถูกกดดันบีบคั้นด้วยความเกิดดับนั่นเอง (ทุกขัง) > เมื่อเกิดดับแปรปรวนไปตามเหตุปัจจัยและเป็นสภาวะกดดันบีบคั้น ไม่สามารถครอบครองควบคุมสั่งบังคับให้เป็นอย่างไรๆตามต้องการนอกเหนือเหตุปัจจัยได้ ย่อมไม่เป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา) สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลก (สังขตธรรม) มีสามัญลักษณะเสมอเหมือนกันเช่นนี้

วิปัสสนากรรมฐานไตรลักษณ์ขันธ์ ๕
เมื่อได้ทำความเข้าใจขันธ์ ๕ และไตรลักษณ์ดีแล้ว พึงพิจารณาความเป็นไตรลักษณ์ของขันธ์ ๕ ตามแนวของ อนัตตลักขณสูตร 

รูป เป็นของไม่เที่ยง เกิดดับแปรเปลี่ยนเรื่อยไป (อนิจจัง) > แม้ว่าผู้ใดจะได้รูปกายอันงดงามก็ย่อมเจ็บป่วยโทรมทรุดด้วยประการต่างๆเป็นธรรมดา (ทุกขัง) > เมื่อรูปไม่อาจยั่งยืนสมบูรณ์แบบตามต้องการแล้วไซร้ ควรหรือที่จะยึดถือว่ารูปเป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา), ความยึดติดถือมั่นในรูปอัน ไม่เที่ยง แปรปรวน ว่าเป็นอัตตาตัวตนย่อมเป็นเหตุแห่งทุกข์ ควรละเสีย

เวทนา เป็นของไม่เที่ยง เกิดดับแปรเปลี่ยนเรื่อยไป (อนิจจัง) > แม้ปรารถนาความสุขทั้งหลายให้ยั่งยืน ทุกข์ให้หมดสิ้นไป ก็มิได้ (ทุกขัง) > เมื่อเวทนาไม่อาจยั่งยืนสมบูรณ์แบบตามต้องการแล้วไซร้ ควรหรือที่จะยึดถือว่าเวทนาเป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา), ความยึดติดถือมั่นในเวทนาอัน ไม่เที่ยง แปรปรวน ว่าเป็นอัตตาตัวตนย่อมเป็นเหตุแห่งทุกข์ ควรละเสีย

สัญญา เป็นของไม่เที่ยง เกิดดับแปรเปลี่ยนเรื่อยไป (อนิจจัง) > แม้ปรารถนาให้จำเอาไว้แต่เรื่องราวอันเป็นสุข ลืมเรื่องทุกข์ทั้งหลายให้หมดสิ้น ก็มิได้ (ทุกขัง) > เมื่อสัญญาไม่อาจยั่งยืนสมบูรณ์แบบตามต้องการแล้วไซร้ ควรหรือที่จะยึดถือว่าสัญญาเป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา), ความยึดติดถือมั่นในสัญญาอัน ไม่เที่ยง แปรปรวน ว่าเป็นอัตตาตัวตนย่อมเป็นเหตุแห่งทุกข์ ควรละเสีย

สังขาร เป็นของไม่เที่ยง เกิดดับแปรเปลี่ยนเรื่อยไป (อนิจจัง) > แม้ปรารถนาจะให้มีเฉพาะเจตนาอันประกอบด้วยปัญญาและความเพียร ไม่ประกอบด้วยเจตนาอันจะก่อโทษให้เดือดร้อนใดๆ ก็มิได้ (ทุกขัง) > เมื่อสังขารไม่อาจยั่งยืนสมบูรณ์แบบตามต้องการแล้วไซร้ ควรหรือที่จะยึดถือว่าสังขารเป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา), ความยึดติดถือมั่นในสังขารอัน ไม่เที่ยง แปรปรวน ว่าเป็นอัตตาตัวตนย่อมเป็นเหตุแห่งทุกข์ ควรละเสีย

วิญญาณ เป็นของไม่เที่ยง เกิดดับแปรเปลี่ยนเรื่อยไป (อนิจจัง) > แม้ปรารถนาจะรับรู้เฉพาะสิ่งที่ต้องการ ไม่รับรู้สิ่งที่ไม่ต้องการ ก็มิได้ (ทุกขัง) > เมื่อวิญญาณไม่อาจยั่งยืนสมบูรณ์แบบตามต้องการแล้วไซร้ ควรหรือที่จะยึดถือว่าวิญญาณเป็นอัตตาตัวตน (อนัตตา), ความยึดติดถือมั่นในวิญญาณอัน ไม่เที่ยง แปรปรวน ว่าเป็นอัตตาตัวตนย่อมเป็นเหตุแห่งทุกข์ ควรละเสีย

ลองทบทวนสอบถามกับตัวเองตามแนวทางที่ท่านทรงแสดงไว้แล้วว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ตนเองและผู้อื่นคงที่เที่ยงแท้ หรือ เกิดดับไม่เที่ยง ? สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้น เหตุปัจจัยบีบคั้นเป็นทุกข์ หรือ คล่องสบายเป็นสุข ? ก็สิ่งใดเกิดดับไม่เที่ยง บีบคั้นเป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ไม่ใช่สิ่งที่จะควบคุมได้เหนือเหตุปัจจัย ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่าเป็นอัตตาตัวตนของเรา ? (ควรตอบตามความเห็นของตัวเองจริงๆไม่ใช่ตอบแบบท่องจำ เพื่อเป็นการประเมินความเห็นของตัวเองตามที่เป็นอยู่จริงในขณะนั้น) พิจารณาให้เห็นว่าขันธ์ ๕ นี้ เกิดดับแปรปรวนไปตามเหตุปัจจัยเสมอเหมือนกับสิ่งอื่นๆในโลก ไม่ใช่อัตตาตัวตนของเราที่ควรจะยึดติดถือมั่นไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายสมดังคำกล่าวที่ว่า ผู้ละความยึดติดถือมั่นทั้งปวงลงได้แล้ว ทุกข์ทางใจย่อมไม่มีที่ตั้งและที่ให้กระทบ เป็นผู้ไม่หวั่นไหวทั้งในสุขและทุกข์ มีจิตใจเบิกบานทุกเมื่อ ส่วนทุกข์ทางกาย ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติไป

ไม่มีอัตตาได้อย่างไร
อาจมีข้อสงสัยว่า มนุษย์หรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็สามารถควบคุมความคิดและการกระทำของตัวเองให้เป็นอย่างที่ตนต้องการได้มิใช่หรือ? ถ้าไม่มีอัตตาแล้วเจตจำนงที่จะเลือกทำหรือไม่ทำสิ่งใดนั้นจะมาจากไหน? ความคิดเช่นนี้ถูกบางส่วนแต่ไม่ถูกทั้งหมด กล่าวคือ สิ่งมีชีวิตสามารถควบคุมความคิดและการกระทำของตัวเองได้ เพราะมีเจตนา (เจตนาทำหน้าที่เป็นแกนของสังขารขันธ์ พระอภิธรรมว่าเป็นสัพพสาธารณะเจตสิก คือเกิดกับจิตทุกดวง) เจตนานั้นทำหน้าที่เป็นผู้คิด ผู้ริเริ่ม ที่จะทำหรือไม่ทำสิ่งใด ที่ว่าเจตนาควบคุมได้นั้น มันเพียงเป็นไปตามหน้าที่ของมันซึ่งมีคุณสมบัติเป็นตัวริเริ่มทำการต่างๆ แต่ทั้งหมดก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยเช่นเดิม

กล่าวคือ การริเริ่มกระทำต่ออารมณ์เป็นหน้าที่หรือเป็นคุณสมบัติตามธรรมชาติของเจตนา เหมือนกับที่ เวทนามีหน้าที่เสวยอารมณ์ สัญญามีหน้าที่ทรงจำอารมณ์ วิญญาณมีหน้าที่รู้อารมณ์ ต่างกันตรงที่สังขารขันธ์ซึ่งมีเจตนาเป็นแกนนั้นเป็นผู้กระทำต่ออารมณ์ (เป็นช่วงเหตุใน🔎ปฏิจจสมุปบาท) ส่วนขันธ์อื่นๆนั้นเป็นผู้รับอารมณ์ (เป็นช่วงผลในปฏิจจสมุปบาท) การที่สิ่งมีชีวิตมีความคิดริ่เริ่มเป็นของตนเอง จึงไม่ได้หมายความว่าสิ่งมีชีวิตนั้นมีอัตตาเป็นของตัวเอง

พิจารณาแนวของอนัตตลักขณสูตร
ถ้าความคิดริเริ่มหรือเจตนารมณ์ใดๆที่มีอยู่ในตนเป็นอัตตาแล้ว ย่อมบังคับควบคุมได้ว่าให้มีเฉพาะส่วนดี เช่น ย่อมเลือกได้ควบคุมบังคับได้ว่าจะทำสิ่งใดให้มีแต่เจตนาอันประกอบพร้อมด้วยปัญญาอย่าตกเป็นทาสหรือเผลอทำอะไรตามกิเลส, เจตนาพึงประกอบด้วยความเพียรอย่าย่อท้อไม่มีความตรอมตรมหมดอาลัยตายอยาก เป็นต้น เจตนาใดๆล้วนไม่เที่ยง เกิดดับแปรปรวนเรื่อยไป จึงไม่มีเหตุให้ยึดถือเป็นตัวตน การที่สิ่งมีชีวิตมีเจตนาสามารถกำหนดทิศทางของตัวเองได้ตามเหตุปัจจัย ทำให้ทุกชีวิตมีความหวังที่จะไปถึงจุดหมายที่ต้องการได้ด้วยความเพียรและสติปัญญา ดังที่เราจะพบพุทธพจน์ที่ตรัสเรื่องความเพียรอยู่มากมายในพระไตรปิฎกนั่นเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง : 🔎สติปัฏฐาน ๔



๕. เอกาสนิกงคกถา

เอกาสนิกงคกถา

การสมาทาน
แม้เอกาสนิกังคธุดงค์ก็เป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้คือ นานาสนโภชน์ ปฏิกขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธการฉันในที่นั่งมากแห่ง ดังนี้อย่างหนึ่ง เอกาสนิกงค์ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้มีอันฉันในที่นั่งอันเดียวเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในเอกาสนิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันภิกษุผู้ฉันในที่นั่งอันเดียวเป็นปกตินั้น เมื่อจะนั่งในหอฉัน อย่านั่งบนที่นั่งของพระเถระ พึงกำหนดเอาที่นั่งอันสมควรแก่ตนว่า ที่นั่งนี้จักได้แก่อาตมา ฉะนี้แล้วจึงนั่งที่นั่งนั่น ถ้าเมื่อภิกษุผู้เอกาสนิกนั้นกำลังฉันค้างอยู่ มีอาจารย์หรืออุปัชฌาย์มาถึงเข้า สมควรที่จะลุกขึ้นทำอาจริยวัตรหรืออุปัชฌายวัตร แหละพระจูฬอภยเถระผู้ทรงพระไตรปิฎกได้แสดงมติไว้ว่าจะพึงรักษาซึ่งที่นั่งหรือโภชนะไว้ ด้วยว่าเอกาสนิกภิกษุนี้มีการฉันยังค้างอยู่ เพราะฉะนั้น จึงทำอาจริยวัตรหรืออุปัชฌายวัตรเถิด แต่จงอย่าฉันโภชนะเลย ว่าด้วยกรรมวิธีในเอกาสนิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้
ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้ภิกษุผู้ฉันในที่นั่งอันเดียวเป็นปกตินี้ก็มี ๓ ประเภทเช่นกัน ใน ๓ ประเภทนั้น
เอกาสนิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ โภชนะจะน้อยหรือมากก็ตามเมื่อหย่อนมือลงไปในโภชนะอันใดแล้ว ย่อมไม่ยอมรับเอาซึ่งโภชนะอื่นจากโภชนะนั้น แม้คนทั้งหลายเขาเห็นว่า พระเถระไม่ได้ฉันอะไร ๆ แล้วพากันเอาเภสัชเช่นเนยใสเป็นต้นมาถวาย ควรจะรับไว้ได้ก็แต่เพียงเพื่อเป็นเภสัช จะรับไว้เพื่อเป็นอาหารหาได้ไม่
เอกาสนิกภิกษุชั้นกลาง เมื่อภัตตาหารในบาตรยังไม่หมดเพียงใด ก็ยังรับภัตตาหารอื่นได้อยู่เพียงนั้น ด้วยว่าเอกาสนิกภิกษุชั้นกลางนี้ ย่อมชื่อว่าเป็นผู้มีโภชนะเป็นที่สุด
เอกาสนิกภิกษุชั้นต่ำ เมื่อยังไม่ลุกขึ้นจากที่นั่งเพียงใด ก็ยังฉันภัตตาหารได้อยู่เพียงนั้น ด้วยว่าเอกาสนิกภิกษุชั้นต่ำนี้ ย่อมชื่อว่าเป็นผู้มีน้ำเป็นที่สุด เพราะฉันได้ตลอดเวลาที่ยังไม่รับน้ำล้างบาตร หรือชื่อว่าเป็นผู้มีการนั่งเป็นที่สุด เพราะฉันได้ตลอดเวลาที่ยังไม่ลุกขึ้นจากที่นั่ง ว่าด้วยประเภทในเอกาสนิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะที่เอกาสนิกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนี้ฉันโภชนะในที่นั่งหลายแห่ง ว่าด้วยความแตกในเอกาสนิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ ความเป็นผู้มีอาพาธน้อย, ความเป็นผู้มีความลำบากกายน้อย, ฐานเบา คือกลับเนื้อกลับตัวคล่องแคล่ว, กำลังแข็งแรงมีการอยู่อย่างผาสุกสบาย, ไม่ต้องอาบัติเพราะโภชนะอันไม่เป็นเดนเป็นเหตุ, บรรเทาความติดในรสอาหารเสียได้, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อย เป็นต้น โรคทั้งหลายซึ่งมีการฉันเป็นเหตุ ย่อมไม่เบียดเบียน ภิกษุผู้สำรวมผู้ยินดีในการฉันในที่นั่งอันเดียว ภิกษุไม่ละโมบในรสอาหาร ย่อมอดทนได้ ไม่ทำให้งานคือการบำเพ็ญเพียรของตนเสื่อมเสียไปด้วยประการฉะนี้ ภิกษุผู้สำรวม มีใจสะอาด พึงสร้างความพอใจให้บังเกิดในการฉันในที่นั่งอันเดียว อันเป็นเหตุแห่งความผาสุกที่ผู้ยินดีในการขัดเกลากิเลสให้สะอาดเข้าไปร้องเสพแล้วนั่นเถิด ว่าด้วยอานิสงส์ในเอกาสนิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ในเอกาสนิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้



๔. สปทานจาริกังคกถา

สปทานจาริกังคกถา

การสมาทาน
แม้สปทานจาริกังคธุดงค์ก็เหมือนกัน จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ โลลุปปาจาร ปฏิกขิปามิ ข้าพเจ้าปฏิเสธการเที่ยวไปด้วยความละโมบ ดังนี้ อย่างหนึ่ง สปทานจาริกงค์ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาองค์แห่งภิกษุผู้มีอันเที่ยวไปไม่ขาดตอนเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในสปทานจาริกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันภิกษุผู้เที่ยวไปไม่ขาดตอนเป็นปกตินั้น ครั้นไปยืนอยู่ที่ประตูบ้านแล้วต้องกำหนดดูให้รู้ถึงความไม่มีอันตรายก่อน ถนนหรือบ้านใดมีอันตราย จะเที่ยวไปในถนนหรือบ้านอื่น โดยข้ามถนนหรือบ้านที่มีอันตรายนั้นไปก็ได้ เมื่อไม่ได้ภิกษาอะไร ๆ ณ ที่ประตูเรือนหรือถนนหรือบ้านใด พึงทำความสำคัญว่าไม่ใช่บ้าน แล้วผ่านเลยไป เมื่อได้ภิกษาอะไร ๆ ณ ที่ใด จะผ่านเลยที่นั้นไป ย่อมไม่สมควร แหละอันภิกษุผู้สปทานจาริกนี้ต้องเข้าไปบิณฑบาตแต่เช้า ๆ หน่อย เพราะเมื่อเข้าไปแต่เช้า ๆ อย่างนี้ จึงจักสามารถเพื่อที่จะผ่านสถานที่อันไม่สะดวกแล้วเที่ยวไป ณ ที่อื่นได้ทันกาล ก็แหละ ถ้าคนทั้งหลายให้ทานอยู่ในวัดของภิกษุผู้สปทานจาริกนั้น หรือเขาเดินมาพบในระหว่างทาง เขาจะขอรับเอาบาตรแล้วถวายบิณฑบาตก็สมควร และแม้เมื่อภิกษุผู้สปทานจาริกนี้เดินทาง จะพึงเดินเลยบ้านที่ตนไปถึงในเวลาแห่งภิกษาจารหาได้ไม่ เมื่อไม่ได้ภิกษาในบ้านนั้น หรือได้เพียงนิดหน่อย ก็พึงเดินเที่ยวไปตามลำดับบ้านนั่นเถิด ว่าด้วยกรรมวิธีในสปทานจาริกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท
ว่าโดยประเภท แม้ภิกษุผู้เที่ยวไปไม่ขาดตอนเป็นปกตินี้ ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
สปทานจาริกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ ย่อมไม่รับภิกษาที่เขานำมาข้างหน้า ย่อมไม่รับภิกษาที่เขานำตามมาข้างหลัง ย่อมไม่รับภิกษาแม้ที่เขากลับไปเอามาถวาย แต่ยอมสละบาตรให้ที่ประตูบ้านซึ่งไปถึงแล้ว ก็แหละ ในธุดงค์นี้ใคร ๆ ที่จะปฏิบัติเสมอเหมือนกับพระมหากัสสปเถระเป็นอันไม่มี แม้สถานที่สละให้บาตรของ
ท่านยังปรากฏอยู่นั่นเทียว (ที่สละให้บาตรนี้ ได้ถูกสร้างขึ้นเป็นอนุสาวรีย์ไว้ที่ประตูเรือนของท้าวสักกะ ซึ่งเขาสร้างรูปนายช่างหูก ประดิษฐานไว้ที่ถนนนายช่างหูก)
สปทานจาริกภิกษุชั้นกลาง ย่อมรับภิกษาที่เขานำมาข้างหน้าหรือข้างหลัง แม้ภิกษาที่เขากลับไปเอามาก็รับ ย่อมสละบาตรให้แม้ที่ประตูบ้านซึ่งตนเดินไปถึงแล้วก็แต่ว่า ไม่นั่งรอรับภิกษา โดยนัยนี้ เป็นอันว่าสปทานจาริกภิกษุชั้นกลางนั้น ย่อมอนุโลมแก่ปิณฑบาติกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์
สปทานจาริกภิกษุชั้นต่ำ ย่อมนั่งคอยรับภิกษาในวันนั้นได้
ว่าด้วยประเภทในสปทานจาริกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ขณะเมื่อมีการเที่ยวไปด้วยความละโมบเกิดขึ้นแก่สปทานจาริกภิกษุ ทั้ง ๓ ประเภทนี้ ธุดงค์ย่อมแตก คือ หายจากสภาพธุดงค์ ว่าด้วยความแตกในสปทานจาริกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ ความเป็นผู้ใหม่อยู่เป็นนิจในทุก ๆ ตระกูล เป็นผู้มีอาการเหมือนพระจันทร์, เป็นการละเสียได้ซึ่งความตระหนี่ตระกูล, เป็นผู้มีการอนุเคราะห์อย่างเสมอหน้ากัน, ไม่มีโทษในเพราะการเข้าไปสู่ตระกูล, ไม่ใยดีต่อคำนิมนต์, เป็นผู้ไม่มีความต้องการด้วยการยื่นให้ซึ่งภิกษา, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น ภิกษุผู้มีอันเที่ยวไปอย่างไม่ขาดตอนเป็นปกติในศาสนานี้ ย่อมเป็นผู้มีอาการปานดังพระจันทร์ เป็นผู้ใหม่อยู่เป็นนิจในตระกูลทั้งหลาย ไม่ตระหนี่ตระกูล มีความอนุเคราะห์เสมอทั่วหน้ากัน เป็นผู้พ้นแล้วจากโทษในเพราะการเข้าไปสู่ตระกูล เพราะเหตุฉะนั้น อันภิกษุสปทานจาริกผู้เป็นบัณฑิตพึงละเสียซึ่งการเที่ยวไปด้วยความละโมบ มีตาทอดลงมองดูประมาณชั่วแอก และเมื่อยังหวังอยู่ซึ่งการเที่ยวไปอย่างเสรีในโลกปฐพีก็พึงเที่ยวไป (เพื่อบิณฑบาต) อย่างไม่ขาดตอน คือเที่ยวไปตามลำดับเรือนนั่นเถิด ว่าด้วยอานิสงส์ในสปทานจาริกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ในสปทานจาริกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้




วันพุธ

๓. ปิณฑปาติกังคกถา

๓. ปิณฑปาติกังคกถา

การสมาทาน
ปิณฑบาติกังคธุดงค์ก็เช่นเดียวกัน จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ อติเรกลาภํปฏิกขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธลาภอันฟุ่มเฟือย ดังนี้อย่างหนึ่ง ปิณฺฑปาติกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้มีอันเที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียม ดังนี้อย่างหนึ่ง ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้วด้วยคำสมาทานอันใดอันหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในปิณฑบาติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันภิกษุผู้มีอันเที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียมนั้น จะยินดีภัต ๑๔ อย่างเหล่านี้ไม่ได้ คือ
สังฆภัต ภัตที่เขาถวายสงฆ์ ๑
อุทเทสภัต ภัตที่เขาถวายเจาะจง ๑
นิมันตนภัต ภัตที่เขาถวายด้วยการนิมนต์ ๑
สลากภัต ภัตที่เขาถวายด้วยสลาก ๑
ปักขิกภัต ภัตที่เขาถวายประจำปักษ์ ๑
อุโปสถิกภัต ภัตที่เขาถวายประจำวันอุโบสถ ๑
ปาฏิปทกภัต ภัตที่เขาถวายในวันขึ้นค่ำหนึ่งหรือแรมค่ำหนึ่ง ๑
อาคันตุกภัต ภัตที่เขาถวายแก่พระอาคันตุกะ ๑
คมิกภัต ภัตที่เขาถวายแก่ภิกษุผู้เตรียมจะเดินทาง ๑
คิลานภัต ภัตที่เขาถวายแก่ภิกษุอาพาธ ๑
คิลานุปัฏฐากภัต ภัตที่เขาถวายแก่ภิกษุผู้อุปัฏฐากภิกษุอาพาธ ๑
วิหารภัต ภัตที่เขาหุงต้มขึ้นในวัด ๑
ธุรภัต ภัตที่เขาถวาย ณ ที่บ้านใกล้เรือนเคียง ๑
วารกภัต ภัตที่เขาผลัดกันถวายโดยวาระ ๑

แต่ถ้าภัตเหล่านี้เขาถวายโดยมิได้ระบุชื่อโดยมีนัยอาทิว่า “ขอนิมนต์ท่านทั้งหลายรับสังฆภัต” แต่ระบุเพียงว่า “ขอสงฆ์จงรับภิกษา ณ ที่บ้านของพวกข้าพเจ้า แม้ท่านทั้งหลายก็ขอนิมนต์ไปรับภิกษาด้วย” ดังนี้ จะยินดีภัตเหล่านั้นก็สมควรอยู่ สลากภัตที่ไม่มีอามิสจากสงฆ์ก็ดี ภัตที่อุบาสกอุบาสิกาหุงต้มจัดทำขึ้นในวัดก็ดีสมควรแก่ภิกษุผู้มีอันเที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียม ว่าด้วยกรรมวิธีในปิณฑบาติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้


ประเภท
ก็แหละ โดยประเภท แม้ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียมนี้ ก็มี ๓ ประเภทเหมือนกัน ใน ๓ ประเภทนั้น
ปิณฑปาติกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ จะรับภิกษาที่เขานำมาถวายข้างหน้าบ้างข้างหลังบ้างก็ได้ แม้เมื่อพวกทายกซึ่งอยู่ประตูบ้านที่ตนไปถึงขอรับบาตรจะให้บาตรก็ได้ แม้จะรับภิกษาที่พวกทายกกลับไปนำมาถวายก็ได้ แต่ในวันนั้น ครั้นนั่งเสียแล้ว ย่อมไม่รับภิกษา (อื่น)
ปิณฑบาติกภิกษุชั้นกลาง ในวันนั้น แม้ถึงจะนั่งเสียแล้วก็รับภิกษาอื่นอีกได้แต่จะรับนิมนต์รับภิกษาเพื่อวันพรุ่งนี้ไม่ได้
ปิณฑบาติกภิกษุชั้นต่ำ จะรับนิมนต์รับภิกษาแม้เพื่อวันพรุ่งนี้ก็ได้ แม้เพื่อวันต่อไปอีกก็ได้

แต่อย่างไรก็ดี ปิณฑปาติกภิกษุ ๒ จำพวกหลังนั้น ย่อมไม่ได้รับความสะดวกสบายในอันอยู่อย่างเสรี คงได้แต่เฉพาะปิณฑบาติกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์เท่านั้น มีเรื่องสาธกอยู่ว่า ได้มีธรรมเทศนาเรื่องอริยวังสสูตรขึ้นในบ้าน ๆ หนึ่ง ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียมชั้นอุกฤษฎ์ ได้ชักชวนภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็น
ธรรมเนียมชั้นกลางและชั้นต่ำนอกนี้ว่า “อาวุโสทั้งหลาย เรามาไปฟังธรรมกันเถิด” ในภิกษุ ๒ รูปนั้น รูปหนึ่งพูดขอตัวว่า “ท่านครับ กระผมถูกโยมคนหนึ่งนิมนต์ให้ไปรับบิณฑบาต” อีกรูปหนึ่ง ก็พูดขอตัวว่า “ท่านครับ กระผมรับนิมนต์เพื่อภิกษาไว้กับโยมคนหนึ่งในวันพรุ่งนี้” ด้วยประการดังนี้ จึงเป็นอันว่า ภิกษุ ๒ รูปผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียมชั้นกลางและชั้นต่ำนั้นเป็นผู้พลาดจากธรรม ส่วนภิกษุชั้นอุกฤษฎ์นอกนี้บิณฑบาตแต่เช้ามืดแล้วก็ไป จึงได้เสวยรสพระธรรมสมประสงค์ ว่าด้วยประเภทในปิณฑบาติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ในขณะที่ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียมทั้ง ๓ ประเภทนี้ ยินดีต่อลาภอันเหลือเฟือมีสังฆภัตเป็นต้นนั่นแล ธุดงค์ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ว่าด้วยความแตกในปิณฑบาติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ โดยที่มีพระพุทธพจน์อยู่ว่าการบวชอาศัยโภชนะคือคำข้าวอันจะพึงได้ด้วยกำลังปลีแข้ง ดังนี้ ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียมนั้น เป็นผู้มีข้อปฏิบัติสมควรกับปัจจัยอันเป็นเครื่องอาศัย, เป็นการดำรงตนไว้ในอริยวงศ์ข้อที่ ๒ (ความสันโดษในบิณฑบาต), เป็นผู้ไม่มีพฤติการณ์เป็นที่เกาะอาศัยของคนอื่น, เป็นผู้มีปัจจัยเครื่องอาศัยตรงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญไว้ว่า ปัจจัยเหล่านั้นเป็นสิ่งเล็กน้อยด้วย เป็นสิ่งที่หาได้ง่ายด้วย เป็นสิ่งที่หาโทษมิได้ด้วย, เป็นผู้ย่ำยีเสียได้ซึ่งความเกียจคร้าน, เป็นผู้มีอาชีพอันบริสุทธิ์ เป็นการทำข้อปฏิบัติ คือเสขิยวัตรให้บริบูรณ์, ไม่ใช่ผู้ที่ผู้อื่นเลี้ยงดู, เป็นการกระทำความอนุเคราะห์แก่คนอื่น (ทั่วถึงกัน), เป็นการละมานะ เป็นการปิดกั้นความติดในรส, ไม่ต้องอาบัติ โดยคณโภชนสิกขาบท ปรัมปรโภชนสิกขาบท และจาริตตสิกขาบท” มีความประพฤติอันสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น, เป็นการเพิ่มพูนสัมมาปฏิบัติให้เจริญยิ่งขึ้น เป็นการสงเคราะห์มวลชนในภายหลัง ภิกษุผู้สำรวม ยินดีแต่ในคำข้าวที่หาได้ด้วยกำลังปลีแข้งไม่มีชีวิตเกาะอาศัยคนอื่น ละความละโมบในอาหารแล้วย่อมเป็นผู้ไปได้ในทิศทั้ง ๔ ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียมนั้น ย่อมกำจัดปัดเป่าความเกียจคร้านเสียได้ ชีวิตของท่านก็บริสุทธิ์เพราะเหตุฉะนั้นแล ผู้มีปัญญาอันหลักแหลมจึงไม่ควรดูหมิ่นในการภิกษาจาร เป็นความจริงแม้ทวยเทพทั้งหลายมีท้าวสักกะเป็นต้น ย่อมกระหยิ่มอิ่มใจต่อภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นธรรมเนียมเลี้ยงตนเองได้ อันผู้อื่นไม่ต้องเลี้ยงดู ผู้มีความมั่นคงเห็นปานดังนั้น ถ้าหากว่าภิกษุนั้นไม่เป็นผู้มุ่งหวังลาภสักการะและความสรรเสริญ ว่าด้วยอานิสงส์ในปิณฑบาติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ในปิณฑบาติกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้





วันอังคาร

๗ สิ่งที่พึงระวังในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

สิ่งที่พึงระวังในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

๑. ธรรมที่เหมาะสมแก่ตน
ในการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้านั้น ด้วยทรงมุ่งหวังประโยชน์ของผู้ฟังแต่ละหมู่คณะตามความเป็นจริง เนื้อหาที่ทรงแสดงกับพระภิกษุและชาวบ้านจึงมีระดับของความยากง่ายและความลึกซึ้งที่ต่างกันอยู่พอสมควร ในระดับชาวบ้านท่านมักทรงแสดงธรรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง ทาน ศีล และความเมตตากรุณา ส่วนในระดับพระภิกษุท่านมักทรงแสดงธรรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความไม่ยึดติดถือมั่นซึ่งเป็นโลกุตรธรรมโดยตรง ดังตัวอย่างใน อนาถปิณฑิโกวาทสูตร ความโดยย่อว่า พระสารีบุตรกล่าวธรรมแก่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีซึ่งกำลังป่วยหนักจวนเจียนจะสิ้นชีพ โดยธรรมกถามีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวธรรมีกถาจบแล้ว ท่านเศรษฐีซาบซึ้งในรสพระธรรมอย่างยิ่ง กล่าวว่าไม่เคยได้สดับธรรมเห็นปานนี้ (แม้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีจะมีโอกาศใกล้ชิดได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าอยู่บ่อยครั้ง แต่พระพุทธองค์ก็ไม่เคยเทศนาเรื่องของอัตตาให้ท่านเศรษฐีฟังแม้แต่ครั้งเดียว ด้วยเรื่องของอัตตาเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยากและพระพุทธองค์ก็ทรงระวังในเรื่องนี้เพราะหากผู้ฟังยังไม่พร้อมก็จะเกิดทิฎฐิให้ยึดอัตตาให้เหนี่ยวแน่นกว่าเดิม เมื่อพระพุทธองค์ทรงเห็นว่าถึงเวลาที่เหมาะสมแล้วจึงส่งพระสารีบุตรไปเทศนาสอนท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี) พระอานนท์ตอบว่า ธรรมีกถาเห็นปานนี้ไม่แจ่มแจ้งแก่คฤหัสถ์ แต่แจ่มแจ้งแก่บรรพชิต (อนาถปิณฑิโกวาทสูตร) 

ความไม่ยึดติดถือมั่น สามารถกล่าวได้ว่าเป็นหลักการอันสำคัญยิ่งของพระพุทธศาสนา เป็นการแสดงโลกุตรธรรมโดยย่อ ดังที่ท่านตรัสตอบแก่ผู้ต้องการฟังธรรมอย่างย่นย่อ ในจูฬตัณหาสังขยสูตรว่า “ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น” นั่นเอง แต่ควรเข้าใจว่าเป็นธรรมในระดับสูงและไม่ใช่ง่ายที่จะทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ จึงควรศึกษาด้วยความระมัดระวัง การประเมินตัวเองตามความเป็นจริงและเลือกเฟ้นธรรมที่เหมาะกับตนจึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากธรรมในระดับสูงที่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นแล้ว ธรรมเพื่อความอยู่ดีมีสุขในสังคมที่สามารถจะเอื้อประโยชน์และปฏิบัติได้ไม่ยากมีอยู่มากมาย เช่น บุญกิริยาวัตถุ (หลักการทำความดี), สังคหวัตถุ (หลักประสานสามัคคี) เป็นต้น ธรรมเหล่านี้นอกจากสะดวกต่อการปฏิบัติในชีวิตประจำวันแล้วยังเป็นพื้นฐานที่ดีให้แก่ธรรมในระดับที่สูงยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกด้วย


๒. ศึกษาหลักธรรมสำคัญที่เป็นพื้นฐานให้เข้าใจเพียงพอก่อน
เนื่องจากการเจริญวิปัสสนากรรมฐานไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม กล่าวในภาพรวมแล้วล้วนมีวัตถุประสงค์ให้เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของขันธ์ ๕ เพื่อละวางเสียจากความยึดติดถือมั่นเสมอเหมือนกันทั้งสิ้น พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวว่า “มรรคนั้นต่างกันโดยเทศนา แต่โดยอรรถก็อันเดียวกันนั้นเอง” แต่ถ้าผู้ปฏิบัติไม่มีความเข้าใจในหลักธรรมสำคัญอย่างเพียงพอ ก็อาจทำให้เกิดความไขว้เขวในการปฏิบัติได้

ยกตัวอย่างเช่น หลักไตรลักษณ์แม้จะเป็นหลักธรรมที่ท่องจำกันได้คล่อง แต่โดยสาระแท้ๆแล้วกลับสุขุมลุ่มลึกอย่างยิ่ง ส่วนที่ง่ายมีเพียงบางส่วนที่ตื้นและปรากฏชัด เช่น เห็นความไม่เที่ยงของสิ่งต่างๆทั่วไป เห็นปัญหาความเป็นทุกข์ในชีวิตประจำวัน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม
หลักไตรลักษณ์แสดงความเป็นจริงตามธรรมชาติของโลกในระดับที่ลึกซึ้งถึงสภาวะ ซึ่งครอบคลุมเสมอกันไปหมด (สามัญลักษณะ) ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะทำความเข้าใจให้ถูกแท้ ทั้งนี้ ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานถ้าผู้ปฏิบัติก้าวไปถูกก็จะส่งเสริมความเข้าใจหลักธรรมต่างๆให้มากขึ้นพร้อมกันไปด้วย อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจในระดับหลักการควรที่จะมีให้ชัดไว้ก่อน (🔎ไตรลักษณ์, 🔎อริยสัจ, 🔎ปฏิจจสมุปบาท, 🔎นิพพาน เป็นต้น) เปรียบเสมือนสร้างตึกสูงต้องเริ่มจากรากฐานที่มั่นคง และสมดังที่ท่านตรัสว่า “ธรรมรถมีสัมมาทิฏฐินำหน้าเป็นสารถี” นั่นเอง

๓. ระวังการมองโลกในแง่ร้าย กลายเป็นคนมีความสุขยาก
เมื่อได้ยินได้ฟังเนื้อหาบางตอนเช่น “กามเป็นทุกข์” “ทุกข์เสมอด้วยเบญจขันธ์ไม่มี” “สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง” ดังนี้แล้ว บางท่านเกิดความเห็นแล่นเลยเถิดไปว่าความสุขนั้นไม่มีอยู่จริงโดยสิ้นเชิง มองไปทางใดก็พบเจอแต่ทุกข์ ด้วยความเห็นนี้เขาย่อมละทิ้งสุขอันชอบธรรม แล้วเอาทุกข์เข้าท่วมทับตน ซึ่งเป็นทางดำเนินที่ผิดพลาด เสียประโยชน์ ในเบื้องต้นควรเข้าใจว่า “ทุกข์” ในที่นี้แปลโดยย่อว่า ความเป็นภาวะบีบคั้นคงสภาพอยู่ไม่ได้ เป็นศัพท์ต่อเนื่องกับ อนิจจัง ความเกิดดับไม่เที่ยง เป็นการมองที่ตัวสภาวะแท้ อันเป็นสามัญลักษณะของโลก มิใช่มองแต่เพียงว่าเป็น ความทุกข์ระทม ขมขื่น ซึ่งเป็นความหมายอย่างแคบๆ

การมองโลกในแง่ร้ายในลักษณะที่ว่าสิ่งต่างๆเป็นความทุกข์ทรมานนั้น ส่งผลให้เกิดความ “เบื่อหน่ายโลกด้วยโทสะ, วิภวตัณหา”
ซึ่งทำให้ใจเป็นทุกข์โดยไม่จำเป็น ส่วนการ “เบื่อหน่ายโลกเพราะรู้เห็นตามเป็นจริงด้วยนิพพิทาญาน” ทำให้ปลอดโปร่งเบิกบาน ทั้งสองกรณีนี้แม้โดยคำศัพท์อาจมีส่วนเหมือนกัน แต่แท้จริงความหมายและผลลัพธ์ต่อชีวิตจิตใจต่างกันอย่างตรงข้ามทีเดียว จึงจำเป็นที่จะต้องแยกให้ออกว่าการมองสิ่งทั้งหลายในโลกเป็นทุกข์นี้ เป็นการมองแบบเจาะลึกลงไปในขั้นสภาวะ (ปรมัตถสัจจะ) ไม่ได้เป็นการกล่าวตามความรู้สึกทั่วไป (สมมติสัจจะ) ซึ่งพุทธพจน์ที่ท่านตรัสตามความรู้สึกทั่วไป (ว่าเป็นสุข) ก็มีอยู่มากมายแม้แต่กามสุข พระพุทธศาสนาก็ถือว่าเป็นความสุข เพียงแต่ท่านเตือนว่ามีโทษมากและมีสุขอื่นที่ดียิ่งกว่า (ดู ธรรมหมวด🔎กามโภคีสุข ๔ (สุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนควรมี)  นอกจากนี้พึงทราบว่า กรรมฐานที่ให้มองเห็นอะไรๆเป็นของไม่สวยไม่งาม (🔎อสุภกรรมฐาน ปฏิกูลมนสิการ เช่น 🔎อาหาเรปฏิกูลสัญญา) เป็นการปฏิบัติในขั้นสมถะ ยังมองไปตามสมมติบัญญัติ เพียงแต่ถือเอาสมมติในแง่ที่จะมาใช้ข่ม ตัณหา ราคะ ที่ฟุ้งขึ้นให้สงบลง ส่วนในขั้นวิปัสสนา มองเห็นตามสภาวะแท้ๆ ตรงตามที่สิ่งทั้งหลายมันเป็นของมัน ตามเหตุปัจจัย เรียกว่า ตามความเป็นจริงในขั้นปรมัตถ์ ที่สิ่งทั้งหลาย ไม่มีงาม หรือไม่งาม เป็นแต่ธาตุทั้งหลายที่มาประกอบกันเข้า

ผู้ศึกษาพึงเข้าใจว่าการเจริญวิปัสสนา เป็นการมองโลกตามความเป็นจริง มิใช่การมองโลกในแง่ร้าย ซึ่งการมองโลกตามความเป็นจริงย่อมต้องมองทั้งสองระดับ คือ ในระดับของความรู้สึก ความรู้สึกสุข ความรู้สึกว่าสิ่งนั้นสวยงามมีอยู่ในขั้นสมมติก็เข้าใจไปตามเป็นจริง (สมมติสัจจะ) ส่วนในระดับของสภาวะแท้ (ปรมัตถสัจจะ) ซึ่งสิ่งทั้งหลายทั้งรูปธรรมและนามธรรม เป็นธาตุมาประกอบกันเข้า เกิดดับไม่คงอยู่เที่ยงแท้ (อนิจจัง) ถูกความแปรปรวนบีบคั้น (ทุกขัง) ไม่มีอัตตาตัวตน (อนัตตา) เมื่อมองในแง่นี้ ก็เข้าใจไปตามความเป็นจริงเช่นกัน ทั้งนี้ การตั้งมุมมองและทัศนคติในภาพรวมว่า “พุทธศาสนา คือ ระบบการพัฒนาความสุข” ผู้จดบันทึกเชื่อว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ศึกษาส่วนใหญ่ในยุคสมัยนี้ (รวมถึงตัวผู้บันทึกเองซึ่งนิยมชมชอบมุมมองนี้เป็นอย่างมาก) เนื่องจากการตั้งหลักคิดที่มั่นคงแข็งแรงโดยถือเอามุมมองด้านประโยชน์สุขเป็นที่ตั้งเช่นนี้ เป็นการปิดความเสี่ยงที่ตัวผู้ศึกษาจะตกไปในฝั่งของการมองโลกในแง่ร้ายซึ่งอาจเกิดขึ้นได้บ้างในระหว่างการพิจารณาสภาวธรรมต่างๆ เหตุเพราะยังไม่เข้าถึงความเป็นจริงได้โดยสมบูรณ์ (🔎พุทธศาสนา คือ ระบบการพัฒนาความสุข) อย่างไรก็ตาม การมองพุทธศาสนาในแง่มุมอื่น เช่น เป็นศาสนาแห่งความพ้นทุกข์ เป็นศาสนาแห่งปัญญา เป็นต้น ล้วนเป็นแง่มุมที่น่าศึกษาพิจารณาทั้งสิ้น เพราะไม่ว่าจะมองในแง่มุมไหนถ้าความเห็นนั้นเป็นไปอย่างถูกต้อง สุดท้ายแล้วย่อมส่องให้เห็นสัจธรรมเดียวกัน

๔. ปัญหาเรื่องการหมดแรงจูงใจในชีวิต
ดังที่ท่านเจ้าคุณสมเด็จประยุทธ์ฯ ได้กล่าวสอนไว้ว่า “เมื่อศึกษาเรื่องการปล่อยวาง ไม่ยึดติดถือมั่นแล้ว ควรทำความเข้าใจให้ชัด มิใช่กลายเป็นว่า ไม่เอาเรื่องเอาราว ปล่อยปละละเลย ใช้ชีวิตอย่างเลื่อนลอยปราศจากเป้าหมาย ต้องการผลแต่ไม่ทำเหตุที่ควรทำ ปล่อยเวลาให้ล่วงผ่านไปเปล่า ซึ่งถือเป็นความประมาทอย่างยิ่ง” ข้อนี้ผู้จดบันทึกเองเคยมีปัญหาว่า เมื่อพิจารณาโลกุตรธรรมอย่างเข้มข้นแล้ว เป็นเหตุให้แรงจูงใจในการดำเนินชีวิตลดลงอย่างมาก ทั้งยังเกิดความรู้สึกชังชีวิตอยู่ลึกๆ จนน่ากังวลว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปในระยะยาวจะส่งผลเสียต่อความสำเร็จทางโลกได้ จึงต้องเตือนสติตัวเองให้กลับมาตั้งหลักให้ดี เพราะในความเป็นจริง ถ้าเรารู้สึกว่าการศึกษาธรรมะนั้น ก่อให้เกิดผลเสียไม่ว่าจะในแง่ใดๆก็ตาม ควรตระหนักว่า เป็นความผิดพลาดในการศึกษาพิจารณาของเราเอง มิใช่ธรรมะนั้นมีโทษ หลักธรรมทั้งหลายท่านตรัสไว้ดีแล้ว มีแต่คุณประโยชน์ถ้าทำความเข้าใจได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับตน หากแต่ต้องยอมรับว่า โลกุตรธรรมนั้นเป็นของยาก ก็คงจะมีบ้างที่ความเข้าใจของผู้ศึกษาเอนเอียง เฉไฉไปบ้าง ไม่ถูกต้องถ่องแท้ตามความหมายที่แท้จริง จึงเกิดโทษบางประการจากความเห็นที่ไม่ตรงนั้น

ในภาพรวมถ้าศึกษาพิจารณาธรรมะใดแล้ว ผู้ปฏิบัติรู้สึกว่าเกิดความรู้สึกในแง่ลบ หดหู่ กดดัน เคร่งเครียด จนเกินไป หรือสูญเสียแรงจูงใจในการดำเนินชีวิตปกติไปอย่างมาก มีความเป็นไปได้สูงว่าการปฏิบัตินั้นจะผิดทาง หรืออาจไม่ผิดแต่ยังไม่เหมาะสมกับตน กรณีเช่นนี้ ขอให้ตั้งหลักให้ดีแล้วมองภาพรวมกว้างๆว่า เราศึกษาปฏิบัติตามหลักของพระพุทธศาสนา ก็เพื่อความสุขและความเจริญ ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า “ถ้าปฏิบัติธรรมถูกทาง ต้องได้ปราโมทย์ (ความเบิกบานใจ)”

๕. สงบนิวรณ์เพื่อให้ปัญญาแสดงศักยภาพได้เต็มที่
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย 🔎นิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้แล ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ทุรพล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นไม่ละนิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ อันครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทุรพลแล้ว จักรู้จักประโยชน์ของตน ประโยชน์ของผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ สามารถกระทำความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ด้วยปัญญาที่ไม่มีกำลัง ทุรพล ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้” (อาวรณสูตร)

ดังที่พบเห็นได้ว่า ผู้ที่จิตใจถูกกลุ้มรุมไปด้วยกิเลส เมื่อจะคิดพิจารณาเรื่องที่ไม่ยากก็เป็นเสมือนยาก คิดพิจารณาเรื่องที่ไม่ซับซ้อนไม่น่าจะผิดพลาดก็กลับผิดพลาดไปได้ คนเราถ้าจะก่อความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่รู้สึกว่าไม่น่าให้อภัยตัวเอง ก็มักเกิดขึ้นในเวลาที่สติปัญญามืดบอดเพราะถูกกิเลสกลุ้มรุมเข้ามาอย่างรุนแรงนี่เอง กล่าวคือ แม้ในการคิดพิจารณาเรื่องทั่วๆไป กิเลสก็ฉุดรั้งปัญญาให้ถดถอยลงจนหวังผลสำเร็จได้ยากแล้ว
เมื่อเล็งถึงการเจริญวิปัสสนาเพื่อให้เห็นแจ้งในธรรมอันเป็นของลึกซึ้งอย่างยิ่งนั้น ผู้ปฏิบัติย่อมต้องสงบความฟุ้งซ่านของนิวรณ์ลงให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ก่อน จึงสามารถใช้ศักยภาพทางปัญญาของตนได้อย่างเต็มที่

ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุละนิวรณ์ (นีวรณปหานวรรค, ๒๐/๑๗-๒๑)
ละกามราคะ ด้วยการกำหนดใจให้ปราศจากความเพ่งเล็งในโลก, พิจารณาอสุภนิมิตโดยแยบคาย
ละพยาบาท ด้วยการกำหนดใจให้ปราศจากความคิดประทุษร้าย, เจริญเมตตา
ละถีนมิทธะ ด้วยการกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง (เมื่ออยู่ในที่มืดก็ง่วงซึมได้ง่าย) ,ปรารภความเพียรมั่น
ละอุทธัจจกุกกุจจะ ด้วยความสงบใจ (ไม่ให้ฟุ้งซ่าน)
ละวิจิกิจฉา ด้วยการคิดพิจารณาโดยแยบคาย ไม่คลางแคลงใจในกุศลธรรมทั้งหลาย

ทั้งนี้ ผู้ที่มีความสามารถด้านสมาธิ นิวรณ์ย่อมถูกข่มลงได้ชั่วคราวด้วยกำลังของอุปจารสมาธิเป็นต้นไปนั่นเอง การเจริญวิปัสสนาต่อเนื่องจากการเจริญสมาธิจึงเป็นแนวทางปฏิบัติที่ยอดเยี่ยมนอกจากนี้ ท่านผู้ปรารถนาจะทำเหตุปัจจัยแวดล้อมให้นิวรณ์สงบลงได้ง่าย เพื่อให้เอื้อต่อการเข้าถึงธรรมที่ลึกซึ้ง พึงดูการปฏิบัติ สีลขันธ์ อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ สันโดษ อย่างผู้เจริญแล้ว จากพระสูตรหลายบทในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๙. ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เช่น สามัญญผลสูตร, อัมพัฏฐสูตร เป็นต้น

๖. ไม่ควรละเลยการปฏิบัติด้านสมถกรรมฐาน
ความสำเร็จในด้านสมาธินั้น น่าจะกล่าวได้ว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติจะเข้าถึงสุขประณีตลึกซึ้งอันเกิดจากความสงบได้ด้วยตัวเองในปัจจุบัน ดังมีพุทธพจน์มากมายที่ตรัสสนับสนุนไว้ทั้งในด้านการเป็นฐานของปัญญาและในด้านความสุข เช่น “การประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข ที่เป็นไปเพื่อนิพพาน ได้แก่ ความสุขในฌาน ๔ …” (ปาสาทิกสูตร) เป็นต้น

ธรรมทั้งหลายมีปัญญาเป็นยอดยิ่ง
การเจริญวิปัสสนาเพื่อถอนรากถอนโคนกิเลสนั้นเป็นหน้าที่โดยตรงของปัญญา หากแต่ถ้าปราศจากความสนับสนุนทางด้านสมาธิแล้ว ก็คล้ายกับการเข้าสู่สนามรบโดยปราศจากอาวุธที่ยอดเยี่ยม แม้อาจมีหวังชนะได้แต่คงจะยากมิใช่น้อยเลย ดังจะเห็นได้จากในพระสูตรมากมายหลายบทที่ท่านกล่าวถึงการเจริญสมาธิเพื่อให้ได้ฌาน ๔ ในลักษณะที่เป็นขั้นตอนหนึ่งของการปฏิบัติเพื่อเชื่อมต่อไปให้ถึงการเกิดญาณทัสสนะ นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับสุขจากสมาธิอยู่เป็นประจำ ความจำเป็นต้องพึ่งพาสุขจากสิ่งเสพบริโภคย่อมลดลง ความโลภ การแก่งแย่ง ความอิจฉา ความขัดข้องใจต่างๆ ก็มักจะบรรเทาเบาบางลงไป จึงมีชีวิตที่เป็นสุขและสามารถจะมีศีลที่ดีได้โดยง่าย อย่างไรก็ตาม ตามหลักฐานในประไตรปิฎกพระอรหันต์ที่ไม่ได้ฌานสมาบัติก็มีอยู่ เช่น ในปุตตสูตร ซึ่งคัมภีร์ชั้นอรรถกถาได้จัดแบ่งพระอรหันต์ที่ไม่ได้ฌานสมาบัติว่า พระอรหันต์สุกขวิปัสสก (อาจารย์บางท่านกล่าวว่าได้ฌานเฉพาะในขณะจิตที่เกิดมรรคผล)

๗. พึงนึกเสมอว่าพระพุทธศาสนาเป็น กรรมวาที วิริยะวาที
ถือความเพียรพยายามเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในความเจริญก้าวหน้า ดังพุทธพจน์มากมายที่ตรัสถึงความเพียร อาทิเช่น “บุคคลผู้ปรารภความเพียรมั่น มีชีวิตอยู่วันเดียว ประเสริฐกว่าบุคคลผู้เกียจคร้านมีความเพียรอันเลว มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี” (คาถาธรรมบท สหัสสวรรคที่ ๘)
“บุคคลอย่าพึงดูหมิ่นบุญว่า บุญมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยาดๆ นักปราชญ์สั่งสมบุญแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบุญ” (คาถาธรรมบท ปาปวรรคที่ ๙)
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เกียจคร้านอาเกียรณ์ด้วยธรรมอันเป็นบาปอกุศล ย่อมอยู่เป็นทุกข์ และย่อมยังประโยชน์ของตนอันใหญ่ให้เสื่อมเสีย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนบุคคลผู้ปรารภความเพียร ผู้สงัดจากธรรมอันเป็นบาปอกุศล ย่อมอยู่เป็นสุข และยังประโยชน์ของตนอันใหญ่ให้บริบูรณ์ได้” (ทสพลสูตรที่ ๒)



การทำทานและผลของทาน

พระพุทธพจน์                    
เย นํ ททนฺติ สทฺธาย วิปฺปสนฺเนน เจตสา ตเมว อนฺนํ ภชติ อสฺมึ โลเก ปรมฺหิ จ
บุคคลเหล่าใดมีใจผ่องใส ย่อมให้ข้าวด้วยศรัทธา บุคคลเหล่านั้นย่อมได้ข้าวนั้นเอง ทั้งโลกนี้และโลกหน้า
ตสฺมา วิเนยฺย มจฺเฉรํ ทชฺชา ทานํ มลาภิภู ปุญฺญานิ ปรโลกสฺมึ ปติฏฺฐา โหนฺติ ปาณินํ
เพราะเหตุนั้นพึงเปลื้องความตระหนี่เสีย แล้วให้ทานบุญเท่านั้น เป็นที่พึ่งของสัตว์ในโลกหน้า
จากเสรีสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ข้อ ๒๘๔


🔅 ทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
คนเราที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ มิได้อยู่โดยลำพังเพียงคนเดียว ย่อมมีพ่อแม่ พี่น้อง ญาติ มิตร สหาย ข้าทาส บริวาร และบุตรภรรยา สามีด้วยกันทั้งนั้น การที่เราจะอยู่ร่วมกับคนเหล่านั้นด้วยความสุขและเป็นที่รักของคนเหล่านั้น นอกจากจะต้องเป็นคนดี มีเมตตากรุณา มีสัมมาคารวะต่อผู้ที่ควรคารวะ พูดวาจาอ่อนหวานแล้ว ยังต้องอาศัยความมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อุดหนุน เจือจานกันเป็นเครื่องผูกใจคนเหล่านั้นด้วย

ผู้ขอบ่อยๆ ย่อมเป็นที่รังเกียจของผู้อื่นฉันใด ผู้ให้ก็ย่อมเป็นที่รักของผู้อื่นฉันนั้น ด้วยเหตุนี้ การให้จึงเป็นการผูกน้ำใจผู้อื่นไว้ได้ประการหนึ่ง ปกตินั้นคนเรามักจะมีความตระหนี่หวงแหนอยู่เป็นประจำใจ ยากนักที่จะหยิบยื่นสิ่งใดให้แก่ใครๆ ได้โดยง่าย เพราะฉะนั้น คนที่สามารถหยิบยื่นของๆ ตนให้แก่ผู้อื่นได้นั้นนับว่าน่าสรรเสริญอย่างยิ่ง ถ้ารู้จักให้เสียครั้งหนึ่งแล้ว ก็ไม่ยากเลยที่จะให้ในครั้งต่อๆไป ทั้งๆ ที่ทุกคนรู้จักการรับ และการให้มาตั้งแต่เด็กๆ เพราะต่างก็เคยรับและเคยให้กันมาแล้ว การรับนั้นไม่ยาก ขอให้รับด้วยความอ่อนน้อมเป็นพอ ส่วนการให้นั้นเชื่อว่าคงมีคนไม่มากนักที่จะให้ได้ถูกต้องให้เกิดประโยชน์ ทั้งฝ่ายผู้ให้และผู้รับ เป็นการให้แบบสัตบุรุษ คือคนดีทั้งหลาย ตามที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ ถ้าไม่ได้ศึกษาเรียนรู้มาก่อน น้อยคนนักที่จะประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้อง แม้แต่ทรัพย์ที่เราขวนขวายแสวงหามา เราก็ยังไม่ทราบว่าจะใช้ทรัพย์นั้นไปในทางใดจึงจะเกิดประโยชน์ ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงแสดงเรื่องการใช้ทรัพย์ ไว้ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต อาทิยสูตรที่ ๑ (ข้อ ๔) ๕ ประการ คือ

๑. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยสุจริตชอบธรรม บำรุงเลี้ยงตนเอง บิดา มารดา บุตร ภรรยาและบ่าวไพร่ให้มีความสุข ไม่อดยาก
๒. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยสุจริตชอบธรรม เลี้ยงดูมิตรสหายให้อิ่มหนำสำราญ
๓. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยสุจริตชอบธรรม ป้องกันอันตรายอันเกิดจากไฟ จากน้ำ พระราชา โจร หรือทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก เพื่อให้ตนปลอดภัยจากอันตรายนั้นๆ
๔. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยชอบธรรม ทำพลี คือบูชา หรือบำรุงในที่ ๕ สถาน คือญาติพลี บำรุงญาติ อติถิพลี ต้อนรับแขก ปุพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ราชพลี บำรุงราชการมีการเสียภาษีอากรเป็นต้น และเทวตาพลี ทำบุญแล้วอุทิศให้แก่เทวดา เพราะว่าเทวดาย่อมคุ้มครองรักษาผู้นั้นด้วยคิดว่า 
"คนเหล่านี้แม้ไม่ได้เป็นญาติของเราเขาก็ยังมีน้ำใจให้ส่วนบุญแก่เรา เราควรอนุเคราะห์เขาตามสมควร"
๕. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยชอบธรรม บำเพ็ญทักษิณาทานที่มีผลเลิศ เกื้อกูลแก่สวรรค์ มีวิบากเป็นสุข ไว้ในสมณะพราหมณ์ผู้เว้นจากความประมาท มัวเมา ตั้งอยู่ในขันติโสรัจจะเป็นผู้หมั่นฝึกฝนตนให้สงบระงับจากกิเลส

ในข้อ ๕ นี้ตรัสสอนให้ใช้ทรัพย์ที่หามาได้ให้ทานแก่ผู้มีศีล ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเพื่อความหมดจดจากกิเลส ผู้เป็นทักขิเณยยบุคคล เพราะทานที่ให้แก่ผู้มีศีลมีผลมาก ทำให้เกิดในสวรรค์ ได้รับความสุขอันเป็นทิพย์ นอกจากนั้นผู้ถวายยังอาจบรรลุคุณวิเศษ เพราะธรรมที่ท่านผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบเหล่านั้นยกมาแสดงให้ฟังได้อีกด้วย ผู้มีปัญญาย่อมไม่เสียดายทรัพย์ที่หมดเปลืองไปเพราะเหตุ
เหล่านี้ เพราะว่าท่านได้ใช้ทรัพย์นั้นถูกทางแล้วเกิดประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นแล้ว โดยเฉพาะทรัพย์คือบุญที่ท่านถวายไว้ในผู้มีศีลเหล่านั้น ยังสามารถติดตามตนไปในโลกหน้าได้อีกด้วย ควรหรือไม่ที่เราจะใช้ทรัพย์ให้ถูกต้องตามที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้และควรหรือไม่ที่เราจะใช้ทรัพย์นั้นจำแนกแจกทาน ด้วยเหตุนี้ จึงควรที่จะรับรู้เรื่องของทาน ตลอดจนการให้ทานที่ถูกต้องไว้บ้าง เพื่อทานของเราจะได้เป็นทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก

คำว่า ทาน ที่แปลว่า การให้ นั้น จัดเป็นบุญเป็นกุศล เป็นความดีอย่างหนึ่ง หมายถึง เจตนาที่เป็นเหตุให้เกิดการให้ก็ได้ หมายถึงวัตถุ คือสิ่งของที่ให้ก็ได้ ทานจึงมีความหมายที่เป็นทั้งนามธรรมและรูปธรรม ถ้าหมายถึงเจตนาที่ให้ก็เป็นนามธรรม ถ้าหมายถึงวัตถุที่ให้ก็เป็นรูปธรรม ในที่นี้จะขอกล่าวถึงทานในความหมายทั้งสองอย่างนี้รวมๆ กันไป

เจตนาที่เป็นเหตุให้เกิดการให้ทานนั้น แบ่งตามกาลเวลาได้ ๓ กาล คือ
ปุพเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นก่อน คือเมื่อนึกจะให้ ก็แสวงหาตระเตรียมสิ่งที่จะให้นั้นให้พร้อม
มุญจเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นในขณะกำลังให้ของเหล่านั้น
อปรเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นหลังจากได้ให้เรียบร้อยแล้ว แล้วเกิดความปีติยินดีในการให้ของตน

บุคคลใดที่ทำบุญหรือให้ทานด้วยจิตใจที่โสมนัสยินดี ทั้งประกอบด้วยปัญญา เชื่อกรรมและผลของกรรมครบทั้ง ๓ กาลแล้ว บุญของผู้นั้นย่อมมีผลมาก เจตนาทั้ง ๓ กาลนี้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องดับไปเช่นเดียวกับสังขารธรรมอื่นๆ และเมื่อดับไปแล้วสามารถจะส่งผลนำเกิดในสุคติภูมิเป็นมนุษย์และเทวดาได้ ในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน แสดงความบุพกรรม คือกรรมในชาติก่อนๆ ของผู้ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ที่เกี่ยวกับทานไว้มากมาย ตัวอย่างเช่น พระอรหันต์รูปหนึ่งในอดีตชาติได้ถวายผลมะกอกผลหนึ่งแก่พระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ในป่าใหญ่ รูปหนึ่งเคยถวายดอกบุนนาค รูปหนึ่งเคยถวายขนม รูปหนึ่งเคยถวายรองเท้าเป็นต้น นับแต่นั้นมาท่านเหล่านั้นไม่เคยเกิดในทุคติภูมิเลย เกิดอยู่แต่ในสุคติภูมิ เป็นมนุษย์และเทวดาเท่านั้น ตราบจนในชาติสุดท้ายได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

🔅 วัตถุทาน
คือสิ่งของที่ให้นั้นก็มีหลายอย่าง กล่าวกว้างๆ ก็ได้แก่ปัจจัย ๔ คือ จีวร ซึ่งรวมทั้งเครื่องนุ่งห่มด้วย บิณฑบาต ซึ่งรวมทั้งอาหารเครื่องบริโภคทุกอย่าง เสนาสนะ ที่อยู่อาศัย คิลานเภสัช คือยารักษาโรค 
ในโภชนทานสูตร อัง. ปัญจก. ข้อ ๓๗ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ทายกผู้ให้โภชนะเป็นทาน ชื่อว่าให้ฐานะ ๕ อย่างแก่ปฏิคาหก คือ ผู้รับ ๕ อย่าง คือ
๑. ให้อายุ
๒. ให้วรรณะ คือผิวพรรณ
๓. ให้ความสุข คือสุขกายสุขใจ
๔. ให้กำลัง คือความแข็งแรงของร่างกาย
๕. ให้ปฏิภาณ คือฉลาดในการตั้งปัญหาและตอบปัญหา

ถ้าจะพูดให้ละเอียดขึ้นไปอีก พระพุทธองค์ก็ทรงจำแนกวัตถุทานไว้ ๑๐ อย่างคือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน (พาหนะ) ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่อยู่ ที่อาศัย และประทีปดวงไฟ ในกินททสูตร สัง. สคาถ. ข้อ ๑๓๘ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
การให้ข้าวและน้ำ ชื่อว่าให้กำลัง
การให้ผ้า เครื่องนุ่งห่ม ชื่อว่าให้ผิวพรรณ
การให้ยานพาหนะ ชื่อว่าให้ความสุขทั้งกายและใจ
การให้ประทีบดวงไฟ ชื่อว่าให้ดวงตา
การให้ที่อยู่อาศัย ชื่อว่าให้ทุกอย่าง คือให้กำลัง ให้ผิวพรรณ ให้ความสุขและให้ดวงตา
การพร่ำสอนธรรม คือการให้ธรรมะ ชื่อว่าให้สิ่งที่ไม่ตาย (นิพพาน) เพราะบุคคลจะพ้นจากความตายไม่ต้องเกิดอีกได้ ก็เพราะอาศัยการได้สดับตรับฟังธรรม ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า การให้ธรรมะชนะการให้ (สิ่งอื่น) ทั้งปวง แม้การจะทำทานให้ถูกต้องก็ต้องอาศัยการฟังธรรม

ในวนโรปสูตร สัง สคาถ. ข้อ ๑๔๖ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบเทวดาที่มาทูลถามว่า ชนพวกไหนมีบุญเจริญในกาลทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน ชนพวกไหนตั้งอยู่ในธรรมสมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์ ?
ชนเหล่าใดสร้างอาราม (คือสวนดอกไม้ สวนผลไม้) ปลูกหมู่ไม้ (เพื่อให้ร่มเงา) สร้างสะพาน และชนเหล่าใดให้โรงน้ำดื่มเป็นทาน บ่อน้ำ บ้านเป็นที่พักอาศัย ชนเหล่านั้นย่อมมีบุญเจริญในกาลทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์

ซึ่งมีความหมายว่า ชนเหล่าใดทำกุศลมีการสร้างอารามเป็นต้นเหล่านี้ เมื่อระลึกถึงการทำกุศลนั้นในกาลใด ในกาลนั้นบุญย่อมเจริญ คือเพิ่มขึ้น และเมื่อชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม คือกุศลธรรม ๑๐ มีการไม่ฆ่าสัตว์เป็นต้น ย่อมเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ ละโลกนี้ไปแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ นอกจากนั้น เจตนาที่เป็นเครื่องงดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น พระพุทธองค์ก็ตรัสว่าเป็นมหาทาน เป็นทานที่ยิ่งใหญ่ดังที่ตรัสไว้ในปุญญาภิสันทสูตร อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๒๙ ว่า
ㆍการงดเว้นจากปาณาติบาต คือการไม่ฆ่าสัตว์ทั้งด้วยตนเองและใช้ผู้อื่น เป็นการให้ความไม่มีเวรไม่มีภัยแก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นการให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตสัตว์
ㆍการงดเว้นจากอทินนาทาน คือการถือเอาของที่เจ้าของเขามิได้ให้ทั้งโดยตนเอง และใช้ผู้อื่นเป็นการให้ความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น
ㆍการงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร คือการประพฤติผิดในบุตร ภรรยา สามีของผู้อื่น ชื่อว่าให้ความบริสุทธิ์แก่บุตร ภรรยา สามีของผู้อื่น
ㆍการงดเว้นจากมุสาวาท คือการกล่าวเท็จ กล่าวไม่จริง ชื่อว่าให้ความจริงแก่ผู้อื่น
ㆍการงดเว้นจากสุรา เมรัย และของมึนเมา เสพติด อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ชื่อว่าให้ความปลอดภัยแก่ทุกสิ่ง คือให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตสัตว์ แก่ทรัพย์สินของผู้อื่น แก่บุตร ภรรยา สามีของผู้อื่น และให้แต่คำพูดที่เป็นจริงแก่ผู้อื่น ทั้งนี้เพราะผู้ที่มึนเมาแล้วย่อมขาดสติ เป็นผู้ประมาท สามารถจะประพฤติล่วงศีลได้ทุกข้อ รวมทั้งประพฤติผิดอื่นๆ ด้วย

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่อัตคัตขาดแคลนทรัพย์สิ่งของที่จะนำออกให้เป็นทานก็ไม่ควรเดือดร้อนใจ เพราะเราสามารถจะบำเพ็ญทานที่ยิ่งใหญ่เป็นมหาทาน เป็นทานที่ไม่เจาะจง เป็นทานที่แผ่ไปยังสัตว์ทั้งหลายหาประมาณมิได้ ด้วยการรักษาศีล ๕ ยิ่งถ้าสามารถจะทำได้ทั้งสองอย่างก็ยิ่งประเสริฐ


🔅 ทานของอสัตบุรุษและทานของสัตบุรุษ
ขอกล่าวถึงทาน ที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า ทานของอสัตบุรุษและทานของสัตบุรุษ ตามที่แสดงไว้ในอสัปปุริสสูตร และสัปปุริสสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ดังต่อไปนี้

ทานของอสัตบุรุษ คือทานของคนไม่ดี มีอยู่ ๕ อย่าง คือ
ให้โดยไม่เคารพ ๑
ให้โดยไม่ยำเกรง ๑ 
ไม่ให้ด้วยมือของตนเอง ๑
ให้โดยทิ้งขว้าง ๑
ไม่เห็นผลในอนาคตแล้วให้ ๑

ทานของสัตบุรุษ คือทานของคนดี มีอยู่ ๕ อย่าง คือ 
ย่อมให้ทานโดยเคารพ ๑
ให้โดยยำเกรง ๑
ให้ด้วยมือของตนเอง ๑
ให้โดยไม่ทิ้งขว้าง ๑
เห็นผลในอนาคตจึงให้ ๑

อีกนัยหนึ่ง แสดงว่า ทานของสัตบุรุษ มี ๕ อย่าง คือให้ทานโดยศรัทธา ๑ ให้ทานโดยเคารพ ๑ ให้ทานตามกาลอันควร ๑ เป็นผู้มีจิตคิดอนุเคราะห์ให้ทาน ๑ ให้ทานโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น ๑ ถ้าตรงข้ามกับ ๕ ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นทานของอสัตบุรุษ

ทานของสัตบุรุษนัยที่ ๑
๑. ให้ทานโดยเคารพ คือให้โดยความเต็มใจ ไม่ได้ให้ด้วยความเกรงกลัวหรือจำใจให้ เวลาให้ก็ให้ด้วยกิริยาที่นอบน้อมยิ้มแย้มแจ่มใส
๒. ให้ทานโดยยำเกรง คือเคารพในทานของตนและเคารพในผู้รับ การเลือกให้แต่ของดี ของมีประโยชน์ ของสะอาดมีรสดีเป็นต้น ชื่อว่าเคารพทานของตน อีกประการหนึ่ง ผู้ที่ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ผู้ที่ให้ของที่เลิศ ย่อมได้ของที่เลิศ ผู้ที่ให้ของที่ดี ย่อมได้ของดี ผู้ที่ให้ของที่ประเสริฐย่อมเข้าถึงสถานที่ประเสริฐ นรชนใดให้ของที่เลิศ ให้ของที่ดี ให้ของที่ประเสริฐ นรชนนั้นจะบังเกิดในที่ใดๆ ย่อมมีอายุยืน มียศ นี้เป็นพระดำรัสของพระพุทธเจ้า การเลือกผู้รับที่สมควรแก่ของ และเลือกผู้รับที่เป็นผู้มีศีล มีคุณธรรม ชื่อว่าเคารพในผู้รับ ข้อนี้มิได้หมายความว่าถ้าผู้รับเป็นสัตว์ดิรัจฉาน หรือเป็นผู้ไม่มีศีลแล้ว ไม่ต้องให้ ควรให้ทั้งสิ้น แต่ของที่ดี ของที่ประณีต ของที่สะอาด มีรสเลิศ ย่อมสมควรแก่ผู้รับที่เลิศ คือผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรม ผู้มีศีลยิ่งกว่าผู้อื่น ยิ่งให้แก่ผู้มีศีลจำนวนมากเป็นประโยชน์สุขแก่ผู้มีศีลจำนวนมาก ที่เรียกว่าสังฆทาน ยิ่งมีผลมากจนประมาณไม่ได้ว่าเท่านั้นเท่านี้ชาติ
๓. ให้ด้วยมือของตน ข้อนี้หมายความว่า เวลานี้เราเป็นมนุษย์ มีมือ มีเท้า มีอวัยวะครบบริบูรณ์เราจึงควรทำทานนั้นด้วยมือตนเอง ไม่ควรใช้ผู้อื่นทำแทนอยู่เสมอๆ ถ้าจะใช้ก็ควรใช้เป็นบางครั้งบางคราวในเวลาจำเป็น นอกจากนั้นแล้วควรทำทานด้วยมือของตนเอง เพราะนอกจากจะทำให้เกิดเจตนาที่เป็นบุญในขณะที่กำลังให้แล้ว ในวัฏฏะอันยาวนานนี้ เราไม่อาจทราบได้ว่าเราจะเกิดเป็นคนมือขาดเท้าขาดเมื่อใด ถ้าเราเกิดเป็นคนมือขาดแล้ว แม้ของมีอยู่และเราอยากให้ทานด้วยมือของเราเอง เราจะให้ได้อย่างไร นอกจากจะอาศัยผู้อื่นทำแทนเท่านั้น
๔. ให้โดยไม่ทิ้งขว้าง ข้อนี้หมายถึงไม่ทิ้งขว้างการให้ คือให้อยู่โดยสม่ำเสมอ ให้อยู่เป็นประจำ
๕. เห็นผลในอนาคตจึงให้ หมายความว่า ให้เพราะเชื่อว่า ทานมีจริง ผลของทานมีจริง ทานทำให้เกิดในสวรรค์ได้จริง แม้เกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นผู้มั่งคั่งบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สิน หรือเชื่อว่าทานเป็นการขัดเกลาความตระหนี่ เป็นบันไดก้าวไปสู่สวรรค์และมรรคผล นิพพานได้ สัตบุรุษท่านเชื่ออย่างนี้จึงให้ทาน ถ้าเป็นทานของอสัตบุรุษ ก็มีนัยตรงข้ามกับที่กล่าวนี้

ทานของสัตบุรุษนัยที่ ๒
๑. ให้ทานโดยศรัทธา ผู้ที่เป็นสัตบุรุษ คือคนดีทั้งหลายนั้นย่อมให้ทานเพราะเชื่อกรรม และผลของกรรมว่ามีจริงจึงให้ ครั้นให้แล้วย่อมเป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีรูปงาม น่าดูน่าเลื่อมใส มีผิวพรรณงดงามในที่ๆ ทานนั้นเผล็ดผล
๒. ให้ทานโดยเคารพ คือ ให้ด้วยกิริยาที่เคารพ นอบน้อม ครั้นให้แล้วย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีบุตร ภรรยา ทาส และคนใช้หรือคนงาน เป็นผู้เคารพเชื่อฟัง สนใจสดับรับฟังคำสั่ง ตั้งใจใคร่รู้ในที่ๆ ทานนั้นเผล็ดผล
๓. ให้ทานตามกาลอันควร ครั้นให้แล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และย่อมเป็นผู้มีความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลบริบูรณ์ ในที่ๆ ทานนั้นเผล็ดผล คือ เป็นผู้มีทรัพย์มาตั้งแต่วัยเด็ก สามารถจะนำทรัพย์สินนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในขณะที่ยังมีกำลังวังชาแข็งแรง สติปัญญาเฉียบแหลม ไม่ใช่ได้ทรัพย์มาเมื่อหมดกำลังกายและกำลังปัญญาจะนำทรัพย์สินนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์แล้ว
กาลทาน ทานที่ให้ในกาลอันควรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ในกาลทานสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจก นิบาต ว่ามีอยู่ ๕ อย่าง คือ
        ก. อาคันตุกะทาน คือทานที่ให้แก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน หมายความว่าผู้นั้นเป็นผู้มาใหม่ ยังไม่รู้จักสถานที่และบุคคลในถิ่นนั้น เราก็ช่วยสงเคราะห์ให้ที่พักหรือข้าวของต่างๆ เพื่อให้เขาได้รับความสะดวกสบาย แม้พระภิกษุที่จรมาจากที่อื่น ท่านยังไม่รู้จักทางที่จะไปบิณฑบาตเป็นต้น ภิกษุที่อยู่ก่อนหรืออุบาสก อุบาสิกา ก็ช่วยอนุเคราะห์ท่าน ด้วยการถวายอาหารบิณฑบาต และของใช้ที่จำเป็นแก่สมณะ ทำให้ท่านได้รับความสะดวกสบายไม่เดือดร้อน อย่างนี้จัดเป็น อาคันตุกะทาน และเป็นกาลทาน
        ข. คมิกะทาน คือทานที่ให้แก่ผู้เตรียมตัวจะไป หมายความว่า ให้แก่บุคคลที่เตรียมตัวจะไปยังถิ่นอื่น สัตบุรุษย่อมสงเคราะห์คนที่จะเดินทางไปนั้น ด้วยค่าพาหนะ หรือด้วยยานพาหนะ ตลอดจนเครื่องอุปโภคบริโภคที่สมควร
        ค. ทุพภิกขทาน คือ ทานที่ให้ในสมัยข้าวยากหมากแพง ผู้คนอดอยาก ได้รับความเดือดร้อน แม้ในสมัยที่น้ำท่วม ไฟไหม้ ผู้คนเดือดร้อนไร้ที่อยู่ การให้ที่พักอาศัย และข้าวของ เครื่องใช้ข้าวปลาอาหารในเวลานั้น ก็จัดเป็นกาลทาน
        ง. นวสัสสะทาน การให้ข้าวใหม่แก่ผู้มีศีล
        จ. นวผละทาน การให้ผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล
ที่ข้อ ง และข้อ จ จัดเป็นกาลทาน เพราะข้าวใหม่ก็ดีผลไม้ที่ออกใหม่ตามฤดูกาลก็ดี มิใช่ว่าจะมีอยู่เสมอตลอดปี มีเป็นครั้งเป็นคราวตามฤดูกาลเท่านั้น สัตบุรุษย่อมนำข้าวใหม่และผลไม้ที่เพิ่งออกใหม่ ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีล แล้วจึงบริโภคเองต่อภายหลัง ท่านที่เคยมีชีวิตอยู่ในชนบทคงจะเคยพบเห็นว่า เวลาที่ข้าวออกรวงเป็นน้ำนม ชาวนาก็จะเก็บเอารวงข้าวอ่อนมาทำเป็นข้าวยาคูถวายพระ ข้าวแก่อีกนิดก็เอามาทำเป็นข้าวเม่า ข้าวสุกแล้วก็เอามาสีเป็นข้าวสารหุง ถวายพระภิกษุผู้ทรงศีลก่อน แม้ชาวสวนเมื่อผลไม้แก่จัดเขาก็จะเก็บเอามาถวายพระเสียก่อน แล้วจึงนำออกขายหรือบริโภคเอง คนที่มิใช่ชาวนา ชาวสวนบางคน เมื่อเห็นข้าวใหม่หรือผลไม้ออกใหม่วางขายตามตลาด ก็ซื้อมาแบ่งถวายพระเสียก่อนแล้วจึงบริโภค นับว่าท่านเหล่านี้ ได้ทำบุญของท่านถูกกาละเทศะเป็นอย่างยิ่ง ตรงต่อคำสอนของพระบรมศาสดา ในข้อกาลทาน บางแห่งท่านรวมเอาการให้ข้าวใหม่ และการให้ผลไม้ใหม่ไว้เป็นข้อเดียวกัน แล้วเพิ่มคิลานทาน คือการให้ทานแก่คนเจ็บไข้ไร้ที่พึ่ง ด้วยยา และอาหารเป็นต้น ซึ่งคิลานทาน นี้ก็สมควรจะเป็นกาลทานได้เช่นกัน เพราะเหตุที่กาลทาน เป็นทานที่ให้ในเวลาจำกัดทำไม่ได้โดยสม่ำเสมอ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าเป็นทานที่มีผลมาก ยิ่งให้ในผู้มีศีลผู้ประพฤติตรงยิ่งมีผลมาก แม้บุคคลผู้อนุโทนาต่อทานของผู้นั้น หรือช่วยเหลือให้ทานของผู้นั้นสำเร็จผล ก็ได้รับผล ทั้งบุญของผู้ให้ก็ไม่บกพร่อง เพราะฉะนั้นบุคคลจึงควรยินดีในการให้ทาน ทานที่บุคคลให้แล้วย่อมมีผลมาก ทั้งยังติดตามไปเป็นที่พึ่งแก่เขาในโลกหน้าด้วย

๔. มีจิตคิดอนุเคราะห์จึงให้ หมายความว่า สัตบุรุษนั้นเมื่อเห็นผู้ใดได้รับความลำบาก ขาดแคลนสิ่งใด ก็มีจิตคิดช่วยเหลือคนเหล่านั้นด้วยความเต็มใจ โดยไม่หวังผลตอบแทนโดยไม่คิดว่าเมื่อเราช่วยเหลือเขาแล้ว เขาจะต้องตอบแทนคุณของเรา แต่ช่วยเหลือเพราะต้องการให้คนเหล่านั้นได้รับความสุขสบาย ครั้นให้แล้วย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีโภคะมาก และเป็นผู้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ ที่สูงๆที่ประณีตที่เป็นของดียิ่งๆ ขึ้นไปในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล
๕. ให้ทานโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น หมายความว่าไม่กระทบคุณงามความดีของตน และไม่กระทบคุณงามความดีของผู้อื่น บางคนเคยทำทานด้วยทรัพย์สินและเงินทองครั้งละมากๆ แต่บางคนก็ทำเพียงครั้งละเล็กๆ น้อยๆ ตามฐานะของตน คนที่ทำมากบางคนทำแล้วก็ชอบข่มคนอื่น ชอบกล่าววาจาดูถูกผู้อื่นที่ทำน้อยกว่า เป็นการยกตนข่มท่านอย่างนี้ชื่อว่าทำให้คุณงามความดีของตนลดน้อยลง เพราะอะไร เพราะเราอุตส่าห์ละความตระหนี่ นำทรัพย์สินเงินทองออกทำบุญให้ทาน แต่แล้วเราก็กลับทำลายความดีของเราเองด้วยการเพิ่มกิเลส คือดูถูก ดูหมิ่นผู้อื่น ทั้งผู้ที่ทำบุญให้ทานน้อยนั้นเกิดได้ยินคำพูดอันไม่เพราะหูนั้นเข้า ถ้าเขาขาดโยนิโสมนสิการ จิตใจที่เป็นกุศลของเขาก็ดับวูบลง แล้วอกุศลคือความโทมนัสเสียใจก็จะเกิดขึ้นแทน อย่างนี้ชื่อว่าทำลาย คุณงามความดีของผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นเสื่อมจากคุณความดี คือกุศลที่มีอยู่ หรือบางคนเป็นผู้รักษาศีล ๕ โดยเคร่งครัดแต่ได้ให้สุรายาเมาเป็นทานแก่ผู้อื่นไม่ว่าจะด้วยกรณีใดๆ ก็ตามทำให้ผู้รับมึนเมา ขาดสติ สามารถจะกระทำบาปอกุศลต่างๆ มีการฆ่าสัตว์เป็นตนได้ อย่างนี้ก็เป็นการให้ที่กระทบความดีของตนและผู้อื่นเช่นกัน เพราะเราเป็นผู้มีศีลอยู่แล้ว แทนที่จะชักชวนคนอื่นให้เขามีศีลอย่างเรา กลับทำให้เขาเสื่อมเสียจากศีล ทานอย่างนี้สัตบุรุษท่านไม่กระทำ สัตบุรุษครั้นให้ทานโดยไม่กระทบตนและผู้อื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และโภคทรัพย์นั้น ย่อมไม่เป็นอันตรายจากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากทายาทหรือจากคนที่ไม่เป็นที่รักในที่ๆ ทานนั้นให้ผล

นี่คือการให้ทานของสัตบุรุษ ถ้าตรงกันข้ามก็เป็นทานของอสัตบุรุษ ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ถ้าไม่มีเหตุ ผลก็เกิดไม่ได้ทั้งเหตุก็สมควรแก่ผลด้วย คือเหตุดี ผลต้องดี เหตุชั่วผลต้องชั่ว ไม่ใช่เหตุดีแล้วผลชั่ว หรือเหตุชั่วแล้วผลดี ถ้าเป็นอย่างนั้นเหตุก็ไม่สมควรแก่ผล สัตบุรุษท่านทำเหตุ คือทานของท่านดีผลที่ได้รับก็ต้องดีเป็นธรรมดาในอิสสัตถสูตร สัง. สคาถ. ข้อ ๔๐๕ พระเจ้าปเสนทิโกศลได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลควรให้ทานในที่ไหน ?
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า มหาบพิตร ควรให้ทานในที่ที่จิตเลื่อมใส คือจิตเลื่อมใสในที่ใด ในบุคคลใด ควรให้ในที่นั้น ในบุคคลนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานที่ให้แล้วในที่ไหนจึงมีผลมากพระเจ้าข้า ?
ทานที่ให้แล้วแก่ท่านผู้มีศีล มีผลมาก ให้ในท่านผู้ไม่มีศีลหามีผลมากไม่ เพราะฉะนั้น ควรให้ทานในที่ใด จึงเป็นอย่างหนึ่ง ที่นั้นมีผลมากหรือไม่ เป็นอีกอย่างหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ หากบุคคลที่ท่านเลื่อมใสเป็นผู้มีศีล ทานของท่านย่อมมีผลมาก ยิ่งผู้มีศีลนั้นเป็นผู้ละกิเลสทั้งปวงได้แล้ว เป็นพระอรหันตขีณาสพแล้ว ทานของท่านที่ถวายในท่านผู้มีศีลนั้น ด้วยจิตผ่องใส ยิ่งมีผลมาก

ถึงแม้พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแสดงว่า ควรให้ทานในผู้ที่ท่านเลื่อมใส และมีศีลก็จริง แต่พระองค์ก็มิได้ทรงสอนให้ละเลยบุคคลที่ท่านมิได้เลื่อมใส ตลอดจนสัตว์เดรัจฉาน ยาจก วณิพก เป็นต้นเสีย เพราะเห็นว่าได้ผลน้อย ทั้งนี้เพราะขึ้นชื่อว่าบุญแล้วแม้เล็กน้อย ก็ไม่ควรประมาท ปล่อยให้ผ่านไปโดยไม่สนใจ ด้วยว่าน้ำที่หยดลงในตุ่มทีละหยด ก็ยังเต็มตุ่มได้ ฉันใด บุญที่ว่าเล็กน้อยนั้น เมื่อสะสมไว้บ่อยๆ เนืองๆ ก็เป็นบุญมากได้ฉันนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า การสาดน้ำล้างภาชนะลงไปในบ่อน้ำครำ ด้วยเจตนาที่จะให้สัตว์ที่อาศัยอยู่ในที่เหล่านั้นได้รับความสุข ก็ยังมีอานิสงส์ไม่น้อย จะป่วยกล่าวไปไยกับการให้ทานในผู้มีศีล หรือในบุคคลหมู่มากที่ประพฤติปฏิบัติตรง ทั้งโดยเจาะจงและไม่เจาะจง

🔅 อานิสงส์ของทาน
ในทักขิณาวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกอานิสงส์ของทานที่ให้โดยเจาะจงและไม่เจาะจงไว้ตามลำดับขั้น ถึง ๒๑ ประเภท คือ
๑. ให้ทานแก่ดิรัจฉาน มีอานิสงส์ร้อยชาติ คือ ให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ ถึง ๑๐๐ ชาติ
๒. ให้ทานแก่ปุถุชนทุศีล มีอานิสงส์พันชาติ
๓. ให้ทานแก่ปุถุชนผู้มีศีล มีอานิสงส์แสนชาติ
๔. ให้ทานแก่ปุถุชนผู้ปราศจากความยินดีในกาม นอกพุทธศาสนา อย่างพวกนักบวชหรือฤาษีที่ได้ฌานเป็นต้น แม้ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา ก็ยังมีอานิสงส์ถึงแสนโกฏิชาติ

สี่ประเภทนี้เป็นปาฏิปุคคลิกทาน เป็นทานที่ให้โดยเจาะจง คือให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ และมีผลจำกัด ยังมีปาฏิปุคคลิกทานที่มีผลไม่จำกัด คือให้ผลนับประมาณชาติไม่ได้ มากน้อยตามลำดับขึ้นอีก ๑๐ ประเภท ดังต่อไปนี้

๕. ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่ง โสดาปัตติผล
๖. ให้ทานแก่พระโสดาบันบุคคล คือผู้ที่บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว
๗. ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล
๘. ให้ทานแก่พระสกทาคามีบุคคล
๙. ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล
๑๐. ให้ทานแก่พระอนาคามีบุคคล
๑๑. ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล
๑๒. ให้ทานแก่พระอรหันต์
๑๓. ให้ทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า
๑๔. ให้ทานแก่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

รวมเป็นปาฏิปุคคลิกทาน คือทานที่ให้โดยเจาะจง ๑๔ ประเภท ใน ๑๔ ประเภทนี้ ประเภทที่ ๑ มีผลน้อยที่สุด ประเภทที่ ๑๔ มีผลมากที่สุด
ทานที่ให้โดยไม่เจาะจงผู้ใดผู้หนึ่ง ที่เรียกว่าสังฆทาน มี ๗ อย่าง

๑๕. ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย (คือภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
๑๖. ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ในเมื่อพระตถาคตปรินิพพานไปแล้ว
๑๗. ให้ทานในภิกษุสงฆ์
๑๘. ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์
๑๙. ให้ทานในบุคคลที่ขอมาจากสงฆ์ ๒ ฝ่าย ด้วยคำว่าขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า
๒๐. ให้ทานในบุคคลที่ขอมาจากภิกษุสงฆ์ ด้วยคำว่าขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า
๒๑. ให้ทานในบุคคลที่ขอมาจากภิกษุณีสงฆ์ ด้วยคำว่าขอได้โปรดจัดภิกษุณีสงฆ์จำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า

สังฆทานทั้ง ๗ อย่างนี้ ปัจจุบันเราทำได้เพียง ๒ อย่าง คือให้ทานในภิกษุสงฆ์ และให้ทานในบุคคลที่ขอมาจากภิกษุสงฆ์เท่านั้น เพราะพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว ภิกษุณีสงฆ์ก็สูญวงศ์แล้ว

🔅 สังฆทาน
ขึ้นชื่อว่าสังฆทานย่อมมีผลมาก มากจนประมาณไม่ได้ว่าเท่านั้นเท่านี้ชาติ
แม้ในอนาคตกาล จักมีแต่ โคตรภูภิกษุ มีผ้ากาสาวะพันที่คอ หรือผูกข้อมือ เป็นคนทุศีล มีธรรมลามก พระพุทธองค์ก็ยังตรัสว่า คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะสงฆ์ได้ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้ในเวลานั้นก็มีผลนับประมาณไม่ได้ ปาฏิปุคคลิกทานจะมีผลมากกว่าสังฆทาน คือทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้โคตรภูสงฆ์ หาเป็นไปได้ไม่แต่ว่าสังฆทาน จะเป็นสังฆทานได้ก็ต่อเมื่อผู้ถวายมีความเคารพยำเกรงต่อสงฆ์เท่านั้น วางใจในสงฆ์เสมอเหมือนกันหมด ไม่ยินดีเมื่อได้พระหรือสามเณรที่ชอบใจ หรือไม่ยินร้ายเมื่อได้พระหรือสามเณรที่ไม่ชอบใจ หรือต้องการผู้แทนของสงฆ์ที่เป็นพระเถระ แต่ได้พระนวกะหรือสามเณรก็เสียใจ หรือได้พระเถระผู้ใหญ่ก็ดีใจอย่างนี้ ทานของผู้นั้นก็ไม่เป็นสังฆทานเพราะขาดความเคารพในสงฆ์ หรือผู้แทนที่สงฆ์ส่งไปในนามของสงฆ์ ด้วยเหตุนี้การถวายสังฆทานที่ถูกต้องจึงทำได้ไม่ง่ายนัก ในทางพระวินัย ภิกษุ ๔ รูปขึ้นไป จึงเรียกว่า สงฆ์ แต่การถวายไทยธรรมแก่ภิกษุแม้รูปเดียว ที่สงฆ์จัดให้เป็นองค์แทนของสงฆ์ ก็จัดเป็นสังฆทานเหมือนกัน ดังมีเรื่องเล่าไว้ใน อรรถกถาปปัญจสูทนี ภาค ๓ (หน้า ๗๑๗) อรรถกถาทักขิณาวิภังคสูตร ว่า

กุฎุมพี คือ เศรษฐีคนหนึ่งเป็นเจ้าของวัดวัดหนึ่ง ได้ไปขอภิกษุรูปหนึ่งมาจากสงฆ์ ด้วยคำว่า ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายจงให้ภิกษุรูปหนึ่งจากสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แม้เขาจะได้ภิกษุทุศีลรูปหนึ่งเขาก็ปฏิบัติต่อภิกษุรูปนั้นด้วยความเคารพนอบน้อม ตกแต่งเสนาสนะและเครื่องบูชาสักการะพร้อม ล้างเท้าให้ภิกษุนั้น เอาน้ำมันทาเท้าให้ แล้วถวายไทยธรรมด้วยความเคารพยำเกรงต่อสงฆ์เหมือนกับบุคคลเคารพยำเกรงต่อพระพุทธเจ้า ภิกษุรูปนั้นฉันภัตตาหารแล้วก็กลับวัด หลังจากนั้นได้กลับมาขอยืมจอบที่บ้านของกุฎุมพีนั้นอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้กุฎุมพีเอาเท้าเขี่ยจอบให้ คนที่เห็นกิริยาของกุฎุมพีนั้นก็ถามว่า เมื่อเช้านี้ท่านถวายทานแก่ภิกษุรูปนี้ด้วยความเคารพนบนอบอย่างยิ่ง แต่บัดนี้แม้สักว่ากิริยาที่เคารพก็ไม่มี กุฎุมพีตอบว่า เมื่อเช้านี้เราเคารพยำเกรงต่อสงฆ์ เราหาได้เคารพยำเกรงต่อภิกษุรูปนี้เป็นส่วนตัวไม่

การถวายทานในสงฆ์ที่เรียกว่าสังฆทานนั้น คำว่า สงฆ์ ท่านมุ่งเอา พระอริยสงฆ์ คือ พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล พระสกทาคามิมรรค พระสกทาคามิผล พระอนาคามิมรรค พระอนาคามิผล พระอรหัตตมรรค และพระอรหัตตผล รวมเป็น ๔ คู่ ๘ บุคคล หาได้หมายเอาสมมุติสงฆ์ไม่ ทั้งนี้เพราะพระอริยสงฆ์นั้นเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุปฏิปันโน คือปฏิบัติดี อุชุปฏิปันโน ปฏิบัติตรง ญายปฏิปันโน ปฏิบัติแล้วเพื่อญายธรรม สามีจิปฏิปันโน ปฏิบัติชอบ ทั้งพระอริยสงฆ์เหล่านั้นยังเป็น อาหุเนยโย คือ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาบูชา ปาหุเนยโย เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาต้อนรับ ทักขิเณยโย เป็นผู้ควรแก่ไทยธรรมที่เขานำมาถวายด้วยศรัทธา อัญชลีกรณีโย เป็นผู้ควรแก่การกระทำอัญชลี อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ เป็นนาบุญอันเยี่ยมของโลก ไม่มีนาบุญอื่นที่ยิ่งกว่า
ใน ขุ. วิมานวัตถุ ทัททัลลวิมาน ข้อ ๓๔ กล่าวถึงอานิสงส์ของสังฆทานมากกว่าทานธรรมดา ดังนี้
นางภัททาเทพธิดาผู้พี่สาว ได้ถามนางสุภัททาเทพธิดาผู้น้องสาวว่า

นางภัททาเทพธิดาผู้พี่สาว : ท่านรุ่งเรืองด้วยรัศมี ทั้งเป็นผู้เรืองยศ ย่อมรุ่งโรจน์ล่วงเทพเจ้าชาวดาวดึงส์ทั้งหมดด้วยรัศมี ดิฉันไม่เคยเห็นท่าน เพิ่งจะมาเห็นในวันนี้เป็นครั้งแรก ท่านมาจากเทวโลกชั้นไหน จึงมาเรียกดิฉันด้วยชื่อเดิมว่าภัททา ดังนี้เล่า ?
นางสุภัททาเทพธิดาผู้น้องสาว : ข้าแต่พี่ภัททา ฉันชื่อว่าสุภัททา ในภพก่อนครั้งยังเป็นมนุษย์อยู่ ดิฉันได้เป็นน้องสาวของพี่ ทั้งได้เคยเป็นภริยาร่วมสามีเดียวกับพี่ด้วย ดิฉันตายจากมนุษย์โลกนั้นมาแล้ว ได้มาแล้วเกิดเป็นเทพธิดาประจำสวรรค์ ชั้นนิมมานรดี
นางภัททาเทพธิดาผู้พี่สาว : ดูก่อนแม่สุภัททา ขอเธอได้บอกการอุบัติของเธอในหมู่เทพเจ้าเหล่านิมมานรดี ซึ่งเป็นที่ๆ สัตว์ได้สั่งสมบุญกุศลไว้มากแล้วจึงได้มาบังเกิด เธอได้มาเกิดในที่นี้ เพราะทำบุญกุศลสิ่งใดไว้ และใครเป็นครูแนะนำสั่งสอนเธอ เธอเป็นผู้เรืองยศ และถึงความสุขพิเศษไพบูลย์ถึงเช่นนี้ เพราะได้ให้ทานและรักษาศีลเช่นไรไว้ ดูก่อนแม่เทพธิดา ฉันถามเธอแล้ว นี่เป็นผลของกรรมอะไร โปรดตอบฉันด้วย
นางสุภัททาเทพธิดาผู้น้องสาว : เมื่อชาติก่อน ดิฉันมีใจเลื่อมใส ได้ถวายบิณฑบาต ๘ ที่แก่สงฆ์ผู้เป็นทักขิไณยบุคคล ๘ รูป ด้วยมือของตน เพราะบุญกรรมนั้น ดิฉันจึงมีวรรณะงามเช่นนี้ ฯลฯ และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ เพราะบุญกรรมนั้น
นางภัททาเทพธิดาผู้พี่สาว : พี่เลี้ยงดูพระภิกษุทั้งหลาย ผู้สำรวมดี ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ให้อิ่มหนำสำราญด้วยข้าวและน้ำ ด้วยมือของตนเองมากกว่าเธอ ครั้นให้ทานมากกว่าเธอแล้ว ก็ยังได้บังเกิดในเหล่าเทพเจ้าต่ำกว่าเธอ ส่วนเธอได้ถวายทานเพียงเล็กน้อย อย่างไรจึงมาได้ผลอย่างพิเศษไพบูลย์ถึงเช่นนี้เหล่าแน่ะแม่เทพธิดา ฉันถามเธอแล้ว นี่เป็นผลเป็นกรรมอะไร โปรดตอบฉันด้วย
นางสุภัททาเทพธิดาผู้น้องสาว : เมื่อชาติก่อน ดิฉันได้เห็นพระภิกษุผู้อบรมทางจิตใจเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่ จึงได้นิมนต์ท่านรวม ๘ รูปด้วยกัน มีพระเรวตเถระเป็นประธาน ด้วยภัตตาหาร ท่านพระเรวตเถระนั้นมุ่งจะให้เกิดประโยชน์ อนุเคราะห์แก่ดิฉัน จึงบอกดิฉันว่าจงถวายสงฆ์เถิด ดิฉันได้ทำตามคำของท่าน ทักขิณาของดิฉันนั้นจึงเป็นสังฆทาน อันดิฉันให้เข้าไปตั้งไว้ในสงฆ์ เป็นทานที่ไม่อาจปริมาณผลได้ว่ามีอยู่เท่าไร ส่วนทานที่คุณพี่ได้ถวายแก่ภิกษุด้วยความเลื่อมใสนั้น เป็นรายบุคคล จึงมีผลไม่มาก

นางภัททาเทพธิดา เมื่อจะรับรองความข้อนั้น จึงกล่าวว่า พี่เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า การถวายสังฆทานนี้ มีผลมาก ถ้าว่าพี่ได้ไปบังเกิดเป็นมนุษย์อีก จักเป็นผู้รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่ถวายสังฆทาน และไม่ประมาทเป็นนิตย์ เมื่อสนทนากันแล้ว นางสุภัททาเทพธิดาก็กลับไปสู่ทิพวิมานของตนบนสวรรค์ขั้นนิมมานรดี ท้าวสักกเทวราชได้ทรงสดับการสนทนานั้น จึงตรัสถามนางภัททาเทพธิดาว่า เทพธิดาผู้นั้นเป็นใคร มาสนทนากับเธอ มีรัศมีรุ่งโรจน์กว่าเทพเจ้าเหล่าดาวดึงส์ทั้งหมด นางภัททาเทพธิดา เมื่อจะบรรยายข้อที่สังฆทานของเทพธิดาผู้น้องสาวว่ามีผลมาก จึงทูลว่าขอเดชะ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมเทพ เทพธิดาผู้นั้นเมื่อชาติก่อนยังเป็นมนุษย์อยู่ในมนุษย์โลก เป็นน้องสาวของหม่อมฉัน และยังได้เคยร่วมสามีเดียวกับหม่อมฉันด้วย เธอสั่งสมบุญกุศล คือ 
ถวายสังฆทาน จึงได้ไพโรจน์ถึงอย่างนี้เพคะ

สมเด็จอมรินทราธิราช เมื่อจะทรงสรรเสริญสังฆทานจึงตรัสว่า ดูก่อนนางภัททา น้องสาวของเธอไพโรจน์กว่าเธอ ก็เพราะเหตุในปางก่อน คือ การถวายสังฆทานที่ไม่อาจปริมาณผลได้ อันที่จริง ฉันได้ทูลถามพระพุทธเจ้า ครั้งประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ถึงผลแห่งไทยธรรมที่ได้จัดแจงถวายในเขตที่ผลมากของมนุษย์ทั้งหลาย ผู้มุ่งบุญ ให้ทานอยู่หรือทำบุญปรารภเหตุแห่งการเวียนเกิดเวียนตาย จะถวายในบุคคลประเภทใดจึงจะมีผลมาก พระพุทธเจ้าตรัสตอบข้อความนั้นแก่ฉันอย่างแจ่มแจ้งว่า ท่านผู้ปฏิบัติเพื่ออริยมรรค ๔ จำพวก และท่านผู้ตั้งอยู่ในอริยผล ๔ จำพวก พระอริยบุคคล ๘ จำพวกนี้ ชื่อว่าสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติตรง ดำรงมั่นอยู่ในปัญญาและศีล เมื่อมนุษย์ทั้งหลายผู้มุ่งบุญถวายทานในท่านเหล่านี้ หรือทำบุญปรารภการเวียนเกิดเวียนตาย ทานที่ถวายในสงฆ์ย่อมมีผลมาก พระสงฆ์นี้เป็นผู้มีคุณความดีอันยิ่งใหญ่ ยังผลให้เกิดแก่ผู้ถวายทานในท่านอย่างไพบูลย์ ยากที่ใครจะปริมาณว่าเท่านี้ๆ ได้ เหมือนทะเลยาก ที่คาดคะเนได้ว่ามีน้ำเท่านี้ๆ ฉะนั้นพระสงฆ์เหล่านี้แล เป็นพระผู้ประเสริฐสุด เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีความเพียรเป็นเยี่ยมในหมู่นรชน เป็นแหล่งสร้างแสงสว่าง คือญาณของชาวโลก ได้แก่ นำเอาแสงสว่าง คือ พระสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศไว้แล้วมาชี้แจง ปวงชนผู้ใคร่ต่อบุญเหล่าใด ถวายทานมุ่งตรงต่อสงฆ์ทักขิณาของเขาเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นทักขิณาที่ถวายดีแล้ว เป็นยัญวิธีที่เซ่นสรวงถูกต้อง จัดเป็นบูชากรรมที่บูชาแล้วชอบเพราะทักขิณานั้นจัดเป็นสังฆทาน มีผลมาก อันพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้าทั้งหลายผู้รู้แจ้งโลก ทรงสรรเสริญ ชนเหล่าใดยังท่องเที่ยวอยู่ในโลก มาหวนระลึกถึงบุญเช่นนี้ได้ เกิดปีติโสมนัส ก็จะกำจัดมลทิน คือความตระหนี่ทั้งความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความลังเลในใจ และความวิปลาสอันเป็นมูลฐานเสียได้ ทั้งจะไม่เป็นผู้ถูกผู้รู้ติเตียน ชนเหล่านั้นก็จะเข้าถึงสถานที่ที่เป็นแดนสวรรค์

จากวิมานวัตถุเรื่องนี้ แสดงชัดว่า สังฆทาน ที่ถวายเจาะจงแด่พระอริยสงฆ์นั้น มีผลมาก มีอานิสงส์มากจริง ทั้งนี้ เพราะเหตุที่พระอริยสงฆ์ท่านประกอบด้วย พระคุณ ๙ ประการดังกล่าวมาแล้ว ทานที่ถวายในท่านเหล่านี้จึงมีผลมาก ถ้ายังเกิดอยู่ตราบใดสังฆทานนี้ก็ให้ผลไปเกิดในที่ดีมีความสุขนับชาติไม่ได้ทีเดียว ยิ่งกว่านั้น พระอริยสงฆ์ท่านยังอาจแสดงธรรมที่ท่านได้เห็นแล้วบรรลุแล้วให้ผู้ถวายได้เห็นตามบรรลุตามเป็นผู้บริสุทธิ์ หมดจดจากกิเลสเช่นเดียวกับท่านได้อีกด้วย การหมดจดจากกิเลสนี้เป็นอานิสงส์สูงที่สุดสำหรับบุคคลที่ถวายในสงฆ์ ด้วยเหตุนี้ ทานที่ถวายในสงฆ์หรือสังฆทานจึงมีผลมากและอานิสงส์มากอย่างนี้

🔅 เศรษฐีเท้าแมว ก็พระคุณ ๙ ประการ ของพระอริยสงฆ์นั้น ๔ ประการแรก เป็นพระคุณเฉพาะส่วนตัวของท่าน ๕ ประการหลัง มีอาหุเนยโยเป็นต้น เป็นพระคุณที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่ถวายทานแก่ท่าน คือให้ได้รับผลมาก แม้อุทิศให้แก่เปรต เปรตทราบแล้วอนุโมทนาชื่นชมยินดี ก็ยังพ้นสภาพเปรต เป็นเทวดาได้ ขอนำเรื่องของ เศรษฐีเท้าแมว ใน ธรรมบทภาค ๕ มาเล่าประกอบไว้ด้วย

เรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ อุบาสกผู้หนึ่งไปฟังธรรมที่วัดเชตวัน ในกรุงสาวัตถีได้ยินพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

"บุคคล
บางคนให้ทานด้วยตนเอง แต่ไม่ชักชวนผู้อื่น เพราะฉะนั้นเมื่อเขาตายไป เขาย่อมได้รับโภคสมบัติ แต่ไม่ได้รับบริวารสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิดส่วนบางคนตนเองไม่ให้ทาน แต่เที่ยวชักชวนคนอื่นให้ให้ทาน เพราะฉะนั้นเมื่อเขาตายไป เขาก็ย่อมได้รับแต่บริวารสมบัติ แต่ไม่ได้รับโภคสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิด ส่วนบางคนตนเองก็ไม่ให้ทาน ทั้งไม่ชักชวนคนอื่นให้ให้ทานด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเขาตายไป เขาก็ย่อมไม่ได้รับทั้งโภคสมบัติ และบริวารสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิดส่วนบางคนตนเองก็ไห้ทาน ทั้งยังชักชวนคนอื่นให้ให้ทานด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเขาตายไป เขาก็ได้รับทั้งโภคสมบัติ และบริวารสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิด"

อุบาสกผู้นี้เป็นบัณฑิต ได้ฟังดังนั้นก็คิดจะทำบุญให้ได้รับผลครบทั้งโภคสมบัติและบริวารสมบัติ เขาจึงเข้าไปกราบทูลขอถวายภัตตาหารแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกทั้งหมดในวันรุ่งขึ้น พระพุทธเจ้าก็ทรงรับคำอาราธนานั้น อุบาสกนั้นจึงได้เที่ยวป่าวร้องไปตามชาวบ้านร้านตลาดทั้งหลาย ชักชวนให้บริจาคข้าวสารและของต่างๆ เพื่อนำมาประกอบอาหารถวายก็ได้รับสิ่งของต่างๆ มากบ้างน้อยบ้างตามศรัทธาและ ฐานะของผู้บริจาค อุบาสกคนนั้นเที่ยวป่าวร้องไปอย่างนี้ จนมาถึงร้านค้าของท่านเศรษฐีผู้หนึ่ง ท่านเศรษฐีเกิดไม่ชอบในที่เห็นอุบาสกนั้นเที่ยวป่าวร้องไปอย่างนั้น ท่านคิดว่า "อุบาสกคนนี้เมื่อไม่สามารถถวายอาหารแก่พระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวกทั้งวัดเชตวันได้ ก็ควรจะถวายตามกำลังของตน ไม่ควรจะเที่ยวชักชวนคนอื่นเขาทั่วไปอย่างนี้" เพราะเหตุที่คิดอย่างนี้ แม้ท่านจะร่วมทำบุญกับอุบาสกนั้นด้วย แต่ท่านก็ทำด้วยความไม่เต็มใจ ได้หยิบของให้เพียงอย่างละนิดละหน่อย คือใช้นิ้ว ๓ นิ้วหยิบของนั้น จะหยิบได้สักเท่าไร เวลาให้น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ก็ให้เพียงไม่กี่หยด เพราะเหตุที่ท่านมือเบามาก หยิบของให้ทานเพียงนิดหน่อย คนทั้งหลายก็เลยตั้งชื่อท่านว่า เศรษฐีเท้าแมว เป็นการเปรียบเทียบความมือเบาของท่านกับความเบาของเท้าแมว

อุบาสกนั้นเป็นคนฉลาด เมื่อรับของจากท่านเศรษฐีจึงได้แยกไว้ต่างหาก ไม่ได้รวมกับของที่ตนรับมาจากผู้อื่นเศรษฐีก็คิดว่า "อุบาสกนี้คงจะเอาเราไปเที่ยวประจานเป็นแน่" เมื่อคิดอย่างนี้ จึงใช้ให้คนใช้ติดตามไปดู คนรับใช้ได้เห็นว่าอุบาสกนั้นนำเอาของของเศรษฐีไปแบ่งใส่ลงในหม้อที่ใช้หุงต้มอาหารนั้นหม้อละนิด อย่างข้าวสารก็ใส่หม้อละเมล็ดสองเมล็ดเพื่อให้ทั่วถึง พร้อมกับกล่าวให้พรท่านเศรษฐีด้วยว่า "ขอให้ทานของท่านเศรษฐีจงมีผลมาก" คนรับใช้ก็นำความมาบอกนาย ท่านเศรษฐีก็คิดอีกว่า "วันนี้เขายังไม่ประจานเราพรุ่งนี้เวลานำเอาอาหารไปถวายพระที่วัดเชตวัน เขาคงจะประจานเรา ถ้าเขาประจานเรา เราจะฆ่าเสีย" ดังนั้นในวันรุ่งขึ้นท่านจึงเหน็บกริชซ่อนไว้แล้วไปที่วัดเชตวัน ในเวลาที่อุบาสกและชาวเมืองช่วยกันอังคาสเลี้ยงดูพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ เมื่อช่วยกันถวายภัตตาหารแล้ว อุบาสกผู้นั้นได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้เที่ยวชักชวนมหาชนให้ถวายทานนี้ขอให้คนทั้งหลายผู้ที่ข้าพระองค์ชักชวนแล้ว บริจาคแล้ว ทั้งผู้บริจาคของมาก ทั้งผู้บริจาคของน้อย จงได้รับผลมากทุกคนเถิด" ท่านเศรษฐีได้ยินแล้วก็ไม่สบายใจ กลัวอุบาสกจะประกาศว่า ท่านให้ของเพียงหยิบมือเดียว คิดอีกว่า "ถ้าอุบาสกเอ่ยชื่อเรา เราจะแทงให้ตาย" แต่อุบาสกนั้นกลับกราบทูลว่า "แม้ผู้ที่บริจาคของเพียงหยิบมือเดียว ทานของผู้นั้นก็จงมีผลมากเถิด"

ท่านเศรษฐีได้ฟังดังนั้นก็ได้สติ คิดเสียใจว่า "เราได้คิดร้ายล่วงเกิดต่ออุบาสกนี้อยู่ตลอดเวลา แต่อุบาสกนี้เป็นคนดีเหลือเกิน ถ้าเราไม่ขอโทษเขา เราก็เห็นจะได้รับกรรมหนัก" คิดดังนี้แล้ว จึงเข้าไปหมอบแทบเท้าของอุบาสกนั้น เล่าเรื่องให้ฟังพร้อมทั้งขอให้ยกโทษให้ พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็นกริยาอาการของท่านเศรษฐีอย่างนี้ก็ตรัสถามขึ้น เมื่อทรงทราบแล้วจึงได้ตรัสว่า "ขึ้นชื่อว่าบุญแล้ว ใครๆ ไม่ควรดูหมิ่นว่าบุญนี้เล็กน้อย ทานที่บุคคลถวายแล้วแก่ภิกษุสงฆ์ อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขเช่นนี้ ไม่ควรดูหมิ่นว่าบุญนี้เล็กน้อย คนที่ฉลาดทำบุญอยู่ ย่อมเต็มด้วยบุญ เหมือนหม้อน้ำที่เปิดปากไว้ ย่อมเต็มด้วยน้ำฉันนั้น" ในตอนท้าย พระพุทธองค์ตรัสพระคาถาว่า "บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบุญเล็กน้อยว่าจะไม่มาถึง แม้หม้อน้ำก็ยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมาฉันใด ผู้ฉลาดเมื่อสะสมบุญแม้ทีละน้อยทีละน้อย ก็ย่อมเต็มด้วยบุญฉะนั้น"

ท่านเศรษฐีได้ฟังแล้วก็ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคล พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ประกอบด้วยประโยชน์อย่างยิ่งอย่างนี้ ถ้าเราหมั่นฟังอยู่เสมอและฟังด้วยความตั้งใจ ก็ย่อมได้ปัญญา ดังเศรษฐีท่านนี้เป็นตัวอย่าง จากเรื่องของท่านเศรษฐีผู้นี้ ทำให้ทราบว่าการให้ทานนั้น เป็นเหตุให้ได้รับโภคสมบัติ การชักชวนผู้อื่นให้ทานนั้นเป็นเหตุให้ได้รับบริวารสมบัติ ในที่ๆ ตนไปเกิด เพราะฉะนั้น เมื่อใครเขาทำบุญ หรือใครเขาชักชวนใครๆ ทำบุญ ก็อย่างได้ขัดขวางห้ามปรามเขาเพราะการกระทำเช่นนี้เป็นบาป เป็นการทำลายประโยชน์ของบุคคลทั้ง ๓ ฝ่าย คือตนเองเกิดอกุศลจิตก่อน ๑ ทำลายลาภของผู้รับ ๑ ทำลายบุญของผู้ให้ ๑ และจากเรื่องนี้ก็ทำให้เห็นชัดว่า สังฆทานนั้นมีผลมาก และมีอานิสงส์มาก การที่กิเลสคือความตระหนี่ได้ถูกขัดเกลาออกไป ทำให้จิตใจที่หนาอยู่ด้วยกิเลสเบาบางลงไปได้ชั่วขณะนี้แหละ คืออานิสงส์ที่แท้จริงของบุญ ยิ่งกิเลสถูกขัดเกลาไปได้มากเท่าไร ทานของผู้นั้นก็มีอานิสงส์มากเท่านั้น เสื้อผ้าที่สกปรกเปรอะเปื้อนต้องการสบู่หรือผงซักฟอกเข้าไปช่วยชำระล้างให้สะอาดฉันใด จิตใจที่เปรอะเปื้อนด้วยกิเลสก็ต้องการบุญ มีทานเป็นต้น เข้าไปช่วยชำระล้างขัดเกลาให้สะอาดหมดจดฉันนั้น

🔅 ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา คือทานไว้ ๔ อย่าง คือ
๑. ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายทายกคือผู้ให้ แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคคาหกคือผู้รับ กล่าวคือผู้ให้เป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม ได้ของมาโดยชอบธรรม เป็นผู้เชื่อกรรมและผลของกรรม แต่ผู้รับเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก
๒. ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคคาหก แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก กล่าวคือผู้รับเป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม แต่ผู้ให้เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก ได้ของมาโดยไม่ชอบธรรม เป็นผู้ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรม
๓. ทักษิณาบางอย่าง ไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและปฏิคคาหก คือทั้งผู้ให้และผู้รับเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก
๔. ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและปฏิคคาหก คือทั้งผู้ให้และผู้รับเป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงามทานที่บริสุทธิ์ทั้งสองฝ่ายอย่างนี้ย่อมมีผลไพบูลย์

อนึ่ง พระบรมศาสดาตรัสว่า ถ้าทายกคือผู้ให้เป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม ได้ของมาโดยชอบธรรม มีศรัทธาเชื่อกรรมและผลของกรรม และปฏิคคาหกคือผู้รับ เป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม ปราศจากราคะแล้วทานของผู้นั้นเลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย

อนึ่งในทานานิสังสสูตร อัง. ปัญจก. ข้อ ๓๕ พระพุทธองค์ทรงแสดงอานิสงส์ของทานไว้ ๕ อย่างคือ
๑. ผู้ให้ทาน ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก
๒. สัปบุรุษ ผู้สงบ มีพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมคบหาผู้ให้ทาน
๓. กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทาน ย่อมขจรขจายไปทั่ว
๔. ผู้ให้ทาน ย่อมไม่เหินห่างจากธรรมของคฤหัสถ์ คือมีศีล ๕ ไม่ขาด
๕. ผู้ให้ทาน เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

แล้วทรงสรุปเป็นคาถาว่า
ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักของชนเป็นอันมาก ชื่อว่าดำเนินตามธรรมของสัปบุรุษ (คือ มหาบุรุษ หรือพระโพธิสัตว์) สัปบุรุษผู้สงบ ผู้สำรวมอินทรีย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ย่อมคบหาผู้ให้ทานทุกเมื่อ สัปบุรุษเหล่านั้น ย่อมแสดงธรรมเป็นที่บรรเทาทุกข์แก่เขา เขาได้ทราบชัดแล้ว ย่อมเป็นผู้หาอาสวะมิได้ ปรินิพพานในโลกนี้

ควรอย่างยิ่งที่เราจะสะสมบุญ มีทานเป็นต้น ให้งอกงามเพิ่มพูนขึ้นในจิตใจของเรา เพราะว่าเมื่อไรที่จิตใจของเราเต็มเปี่ยมไปด้วยบุญ เมื่อนั้นกิเลสจะไม่มีหลงเหลืออยู่ในจิตใจของเราเลย ในทานสูตร อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ข้อ ๔๙ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้ทานที่ให้แล้ว มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก และเหตุปัจจัยที่ทำให้ทานที่ให้แล้วมีผลมาก และมีอานิสงส์มาก ไว้ดังต่อไปนี้

๑. บุคคลบางคนให้ทานด้วยความหวังว่าเมื่อตายไปแล้ว จักได้เสวยผลของทานนี้ เมื่อตายไป ได้เกิดในเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกา สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก
๒. บุคคลบางคนไม่ได้ให้ทาน เพราะหวังผลของทาน แต่ให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี เป็นบุญ เป็นกุศล จึงให้ เมื่อตายไปได้เกิดในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก
๓. บุคคลบางคนไม่ได้ให้ทาน เพราะหวังผลของทาน ไม่ได้ให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี แต่ให้ทานเพราะละอายใจที่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย บรรพบุรุษเคยทำมา ถ้าไม่ทำก็ไม่สมควร ครั้นตายลงได้เกิดในเทวโลกชั้นยามา สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก
๔. บุคคลบางคน ไม่ได้ให้ทานเพราะหวังผลของทาน ไม่ได้ให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี ไม่ได้ให้ทานตามบรรพบุรุษ แต่ให้ทานเพราะเห็นสมณพราหมณ์เหล่านั้นหุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ ถ้าไม่ให้ก็ไม่สมควร ครั้นตายลงได้เกิดในเทวโลกชั้นดุสิต สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก
๕. บุคคลบางคน ไม่ได้ให้ทานเพราะหวังผลของทาน ไม่ได้ให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี ไม่ได้ให้ทานตามบรรพบุรุษ ไม่ได้ให้ทานเพราะเห็นว่า สมณพราหมณ์หุงหากินไม่ได้ แต่ให้ทานเพราะ
ต้องการจำแนกแจกทานเหมือนกับฤาษีทั้งหลายในปางก่อนได้กระทำมหาทานมาแล้ว เขาตายไปได้เกิดในเทวโลกชั้นนิมมานรดี สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก
๖. บุคคลบางคน ไม่ได้ให้ทานเพราะหวังผลของทาน ไม่ได้ให้ทานเพราะว่าทานเป็นของดี ไม่ได้ให้ทานตามบรรพบุรุษ ไม่ได้ให้ทานเพราะเห็นว่าสมณพราหมณ์หุงหากินไม่ได้ ไม่ได้ให้ทานเพราะต้องการจำแนกแจกทานเหมือนฤาษีทั้งหลายในปางก่อนได้กระทำมหาทาน แต่ให้ทานเพราะคิดว่า เมื่อให้แล้ว จิตจะเลื่อมใสโสมนัสจึงให้ ครั้นตายไปย่อมเกิดในเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัตดี สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก
๗. บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ให้ทานเพราะเหตุที่กล่าวแล้วทั้ง ๖ อย่างข้างต้นนั้น แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต คือให้ทานนั้นเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจหมดจดจากกิเลสด้วยอำนาจของสมถะและวิปัสสนา จนได้ฌานและบรรลุ จนได้ฌานและบรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล ตายแล้วได้ไปเกิดในพรหมโลก เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในพรหมโลกแล้ว เป็นผู้ไม่ต้องกลับมาเกิดในโลกนี้อีก คือปรินิพพานในพรหมโลกนั้นเอง ทานชนิดนี้เป็นทานที่มีผลมาก และมีอานิสงส์มาก

สรุปรวมความว่า ทานชนิดใดก็ตาม เป็นปัจจัยให้ต้องเกิดอีก ทานชนิดนั้นแม้มีผลมาก ได้เกิดที่ดีมีความสุขอันเป็นทิพย์ แต่ทานนั้นก็ไม่มีอานิสงส์มาก เพราะไม่สามารถจะทำให้หมดจดจากกิเลสได้ ส่วนทานชนิดใดเป็นปัจจัยให้ไม่ต้องเกิดอีก ทานชนิดนั้นชื่อว่ามีผลมากด้วย มีอานิสงส์มากด้วย ฉะนั้นคำว่า "อานิสงส์มาก" ในที่นี้ จึงหมายถึงการหมดจดจากกิเลสทั้งปวง ไม่ต้องเกิดอีก

จริงอยู่ การเกิดในสวรรค์แต่ละชั้นนั้น มีความสุขมาก เพราะได้รับกามคุณอันเลอเลิศที่เป็นทิพย์ ละเอียดประณีตขึ้นไปตามลำดับชั้น แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสว่า กามคุณนั้นเป็นของเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของชวนให้หลงใหล เป็นของมีสุขน้อย แต่มีโทษมาก เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรม คือ อนุปุพพิกถา แก่คฤหัสถ์ จึงได้ทรงแสดงโทษของกามไว้ด้วย ผู้ที่ยินดีหลงไหลเพลิดเพลินในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันน่าใคร่ น่าพอใจ ย่อมไม่อาจล่วงทุกข์ไปได้ ผู้ที่จะล่วงทุกข์ได้ก็เพราะเห็นโทษของกาม ก้าวออกจากกามด้วยสมถะและวิปัสสนาเท่านั้น ด้วยเหตุนั้น ทานที่เป็นเครื่องปรุงแต่งจิต ขัดเกลาจิตให้อ่อน ให้ควรแก่การเจริญสมถะและวิปัสสนาจนบรรลุมรรคผลไม่ต้องกลับมาเกิดอีก จึงเป็นทานที่มีผลมาก และมีอานิสงส์มากแม้สังฆทานที่กล่าวว่ามีผลมาก มีอานิสงส์มาก ก็เพราะผู้ถวายมีโอกาสได้ฟังธรรมจากสงฆ์แล้วบรรลุอริยสัจธรรม ก้าวล่วงทุกข์ทั้งปวงไม่ต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก

พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่แก่สัตว์โลกแม้เมื่อทรงแสดงเรื่องทาน ก็ทรงแสดงให้พุทธบริษัทได้รับประโยชน์ครบทั้ง ๓ ประการ คือ ประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง คือ มรรค ผล นิพพาน ด้วยเหตุนี้ จึงควรทำใจให้เลื่อมใส บำเพ็ญทานให้เกิดประโยชน์ทั้ง ๓ ประการ จึงจะได้ชื่อว่า ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์อย่างแท้จริง