วันเสาร์

ปัญหาเรื่องศีล

พรรณนาศีลโดยพิสดาร
ก็แหละ วิสุทธิมรรค คือทางแห่งวิสุทธินี้ แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะได้ทรงแสดงโดยมุขคือศีลสมาธิปัญญาอันสงเคราะห์ด้วยคุณธรรมเป็นอเนกประการดังที่พรรณนามาแล้วก็ตาม นับว่าทรงแสดงไว้อย่างย่อมาก เหตุนั้น จึงยังไม่เพียงพอเพื่อความเป็นอุปการะ แก่เวไนยสัตว์ทั่ว ๆ ไป ดังนั้น เพื่อจะพรรณนาความแห่งวิสุทธิมรรคนั้นอย่างพิสดาร ขอตั้งปัญหากรรมปรารภถึงศีล เป็นประการแรก ดังนี้ :-


ปัญหาเรื่องศีล
๑. อะไร ชื่อว่าศีล
๒. ที่ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่ากระไร
๓. อะไรเป็นลักษณะ, เป็นรส, เป็นอาการปรากฏและเป็นปทัฏฐานของศีล
๔. ศีลมีอานิสงส์อย่างไร
๕. ศีลนี้มีกี่อย่าง
๖. อะไรเป็นความเศร้าหมองของศีล
๗. อะไร เป็นความผ่องแผ้วของศีล

🔅 วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๑ 
ในปัญหากรรมเหล่านั้น มีคำวิสัชนาดังต่อไปนี้
ปัญหาข้อว่า อะไร ชื่อว่าศีล วิสัชนาว่า ธรรมทั้งหลายมีเจตนาเป็นต้น ของบุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้นอยู่ก็ดี ของบุคคลผู้บำเพ็ญวัตตปฏิบัติอยู่ก็ดี ชื่อว่าศีล คำนี้สมดังที่พระธรรมเสนาบดีสารีปุตตะกล่าวไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค

“อะไร ชื่อว่าศีล เจตนา  ชื่อว่าศีล เจตสิก ชื่อว่าศีล สังวร ชื่อว่าศีล การไม่ล่วงละเมิด 
ชื่อว่าศีล”

เจตนาศีล
ในศีลเหล่านั้น คำว่า เจตนาชื่อว่าศีล ได้แก่เจตนาของบุคคลผู้งดเว้นจากบาปธรรมมีปาณาติบาตเป็นต้นอยู่ หรือเจตนาของบุคคลผู้กำลังบำเพ็ญวัตตปฏิบัติอยู่

เจตสิกศีล
เจตสิก ชื่อว่าศีล ได้แก่ วิรติเจตสิก ของบุคคลผู้งดเว้นจากบาปธรรมมีปาณาติบาตเป็นต้น อีกประการหนึ่ง เจตนา ชื่อว่าศีล ได้แก่เจตนาในกรรมบถ ๗ ดวง ของบุคคลผู้ละอยู่ซึ่งบาปธรรมทั้งหลายมีปาณาติบาตเป็นต้น เจตสิก ชื่อว่าศีล ได้แก่กุศลธรรมทั้งหลายคือความไม่โลภ ความไม่พยาบาท ความเห็นชอบ ที่ตรัสไว้โดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุละอภิชฌาแล้วเป็นผู้มีจิตปราศจากอภิชฌาอยู่สังวรศีล

สังวร
ในคำว่าสังวรชื่อว่าศีลนี้ นักศึกษาพึงทราบโดยประการ ๕ อย่าง คือ ปาติโมกขสังวร ๑ สติสังวร ๑ ญาณสังวร ๑ ขันติสังวร ๑ วีริยสังวร ๑ ในสังวร ๕ อย่างนั้น สังวรนี้คือ “ภิกษุเป็นผู้เข้าถึงแล้ว เข้าถึงพร้อมแล้วด้วยความสังวรคือปาติโมกข์นี้ ชื่อว่า ปาติโมกขสังวร สังวรนี้คือ “ภิกษุย่อมรักษาซึ่งอินทรีย์คือจักษุ ย่อมถึงซึ่งความสังวรในอินทรีย์คือจักษุ ชื่อว่า สติสังวร สติสังวรสังวรนี้ คือ “พระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาอชิตมานพว่า อชิตะ กระแสกิเลสเหล่าใดในโลก สติเป็นเครื่องกั้นซึ่งกระแสเหล่านั้น เรากล่าวสติว่าเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น กระแสเหล่านั้นจะพึงตัดให้เด็ดขาดได้ด้วยปัญญา ชื่อว่า ญาณสังวร แม้การเสพปัจจัย
ก็ถึงซึ่งอันรวมลงในญาณสังวรนี้ด้วย ส่วนสังวรนี้ใดซึ่งมาโดยนัยมีอาทิว่า “ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อความหนาว เป็นผู้อดทนต่อความร้อน” สังวรนี้ชื่อว่า ขันติสังวร อนึ่ง สังวรใดที่มาโดยนัยมีอาทิว่า “ภิกษุย่อมไม่ให้กามวิตกซึ่งเกิดขึ้น แล้วตั้งอยู่ในภายใน” สังวรนี้ชื่อว่า วิริยสังวร แม้อาชีวปาริสุทธิคือความบริสุทธิ์แห่งอาชีพ ก็ถึงซึ่งอันรวมลงในวีริยสังวรนี้ด้วย

สังวรทั้ง ๕ อย่างนี้ก็ดี การงดเว้นจากวัตถุที่ประจวบเข้าของเหล่ากุลบุตรผู้กลัวบาปก็ดี แม้ทั้งหมดนี้ พึงทราบเถิดว่าเป็น สังวรศีล ด้วยประการฉะนี้

อวีติกกมศีล
คำว่า การไม่ล่วงละเมิด ชื่อว่าศีล ได้แก่ การไม่ล่วงละเมิดที่เป็นไปทางกายและเป็นไปทางวาจาของบุคคลผู้สมาทานศีลแล้ว การวิสัชนาปัญหาข้อว่า อะไรชื่อว่าศีล ประการแรก ยุติด้วยประการฉะนี้

🔅 วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๒
จะวิสัชนาในปัญหาข้อที่เหลือต่อไปดังนี้ ปัญหาข้อว่า ที่ชื่อว่าศีลเพราะอรรถว่ากระไร วิสัชนาว่า ที่ชื่อว่าศีลเพราะอรรถว่า ความปกติ

ถาม ที่ว่าความ
ปกติ นี้คืออย่างไร ? ตอบอย่างหนึ่ง คือ ความทรงอยู่อย่างเรียบร้อย หมายความว่า ความเป็นผู้มีกิริยาทางกายเป็นต้นไม่เกะกะด้วยอำนาจความสุภาพเรียบร้อย อีกอย่างหนึ่ง คือ ความรองรับ หมายความว่า ภาวะที่รองรับด้วยสามารถเป็นฐานรองรับกุศลธรรมทั้งหลาย ก็แหละ ความหมาย ๒ อย่างนี้เท่านั้น ใน สีล ศัพท์นี้
บรรดาอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในลักษณะของศัพท์รับรองต้องกัน

ส่วนอาจารย์ฝ่ายอื่น 
พรรณนาความหมายใน สีล ศัพท์นี้ไว้แม้โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า ความหมายแห่งสีลศัพท์ หมายความว่า ยอด ความหมายแห่งสีลศัพท์ หมายความว่า เย็น ฉะนี้ (ฉบับพม่า บาลีเป็น สิรฏโฐ สีลตโถ, สีตลฏโฐ สีลตโถ แปลตามนี้)


🔅 วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๓
ลำดับนี้ จะวิสัชนาในปัญหาข้อที่ว่าอะไรเป็นลักษณะ, เป็นรส, เป็นอาการปรากฏและเป็นปทัฏฐานของศีล ต่อไปดังนี้

แม้ศีลนั้นถึงจะต่างกันโดยประเภทเป็นอันมาก ก็มีความปกติเป็นลักษณะเหมือนรูปซึ่งต่างกันโดยประเภทเป็นอันมาก ก็มีภาวะจะพึงเห็นได้เป็นลักษณะ ฉะนั้นเหมือนอย่างว่า แม้รูปายตนะถึงจะต่างกันโดยประเภทเป็นอันมากโดยที่ต่างกันด้วยสีเขียวสีเหลืองเป็นต้น ก็มีภาวะที่จะพึงเห็นได้เป็นลักษณะ เพราะถึงแม้รูปายตนะ จะต่างกันโดยประเภทแห่งสีเขียวเป็นต้น ก็ไม่พ้นไปจากภาวะที่จะพึงเห็นได้ ฉันใด แม้ศีลถึงจะต่างกันโดยประเภทเป็นอันมากโดยต่างกัน มีเจตนาเป็นต้น ก็มีความปกติซึ่งได้กล่าวมาแล้วด้วยสามารถแห่งความทรงอยู่อย่างเรียบร้อยของกิริยาทางกายเป็นต้น และด้วยสามารถแห่งความเป็นฐานรองรับกุศลธรรมทั้งหลายนั้นนั่นแลเป็นลักษณะเพราะถึงแม้ศีลจะต่างกันโดยประเภทแห่งเจตนาเป็นต้น ก็ไม่พ้นไปจาก ความทรงอยู่อย่างเรียบร้อย และ ความรองรับ ฉันนั้น

อนึ่ง การขจัดเสียซึ่งความเป็นผู้ทุศีล หรือคุณคือความหาโทษมิได้ ท่านกล่าวว่าเป็นรสของศีลอันมีลักษณะดังกล่าวมาแล้ว โดยอรรถว่า เป็นกิจ และ เป็นสมบัติ เพราะฉะนั้น ชื่อว่าศีลนี้นักศึกษาพึงทราบว่า ที่ว่ามีการขจัดเสียซึ่งความเป็นผู้ทุศีลเป็นรสนั้น ด้วยรสเพราะอรรถว่า กิจ ที่ว่ามีความหาโทษมิได้เป็นรสนั้น ด้วยรสเพราะอรรถว่า สมบัติ เป็นความจริง ในปัญหากรรมมีลักษณะเป็นต้น กิจ หรือ สมบัตินั่นเองท่านเรียกว่า รส

ศีลนี้นั้นมีความสะอาด เป็นอาการปรากฏ วิญญูชนทั้งหลายรับรองกันว่า โอตตัปปะและหิริ เป็นปทัฏฐานของศีลนั้น จริงอยู่ ศีลนี้นั้นมีความสะอาดที่ตรัสไว้อย่างนี้คือ “ความสะอาดกายความสะอาดวาจาความสะอาดใจ” เป็นอาการปรากฏย่อมปรากฏโดยสภาวะอันสะอาด ย่อมถึงภาวะอันจะพึงถือเอาได้ ส่วนหิริและโอตตัปปะวิญญูชนทั้งหลายรับรองกันว่าเป็นปทัฏฐานของศีลนั้น อธิบายว่า หิริและโอตตัปปะเป็นเหตุใกล้ของศีล เป็นความจริง เมื่อหิริและโอตตัปปะมีอยู่ ศีลจึงเกิดขึ้นและดำรงอยู่ เมื่อหิริและโอตตัปปะไม่มี ศีลย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ตั้งอยู่ไม่ได้เลย นักศึกษาพึงทราบลักษณะ, รส, อาการปรากฏและปทัฏฐานของศีลตามที่พรรณนามา ด้วยประการฉะนี้

🔅 วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๔
ปัญหาข้อว่า ศีลมีอานิสงส์อย่างไร วิสัชนาว่า ศีลนั้นมีอันได้ซึ่งคุณเป็น
อันมากมีความไม่เดือดร้อนเป็นต้นเป็นอานิสงส์ สมดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า

“อานนท์
กุศลศีลมีความไม่เดือดร้อนเป็นผล มีความไม่เดือดร้อนเป็นอานิสงส์แล”

ยังมีพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้อย่างอื่นอีกว่า คหบดีทั้งหลาย อานิสงส์ของศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล มี ๕ ประการเหล่านี้
อานิสงส์ ๕ ประการนั้น คืออะไรบ้าง ?
    ๑. คหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลในโลกนี้ ย่อมประสบกองแห่งโภคทรัพย์อันยิ่งใหญ่ซึ่งมีความไม่ประมาทเป็นเหตุนี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๑ ของศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
    ๒. คหบดีทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก เกียรติศัพท์อันงามของบุคคลผู้มีศีลสมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมฟุ้งขจรไป นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒ ของศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
    ๓. คหบดีทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล เข้าไปสู่สังคมใด ๆ จะเป็นสังคมกษัตริย์ก็ดี จะเป็นสังคมพราหมณ์ก็ดี จะเป็นสังคมคหบดีก็ดี จะเป็นสังคมสมณะก็ดี ย่อมเข้าไปอย่างองอาจไม่เก้อเขิน นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓ ของศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
    ๔. คหบดีทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไม่หลงทำกาลกิริยา นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๔ ของศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
    ๕. คหบดีทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลเบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ, โลกสวรรค์

นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๕ ของศีล

สมบัติของบุคคลผู้มีศีล 
แม้อานิสงส์ของศีลอย่างอื่น ๆ เป็นอเนกประการซึ่งมีความเป็นที่รักเป็นที่เจริญใจเป็นต้น มีความสิ้นไปแห่งอาสวะเป็นที่สุด พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสไว้โดยนัยมีอาทิว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุพึงมุ่งหวังอยู่ว่า ขอให้เราพึงเป็นที่รักเป็นที่เจริญใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่สรรเสริญของบรรดาภิกษุเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย เธอพึงทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลายนั่นเถิด”

ศีลมีคุณเป็นอันมากมีความไม่เดือดร้อนเป็นต้นเป็นอานิสงส์ ดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้

อานิสงส์แห่งศีลอีกนัยหนึ่ง ที่พึ่งของกุลบุตรทั้งหลายในพระศาสนา เว้นเสียซึ่งศีลอันใดแล้วย่อมไม่มี ใครเล่าจะพึ่งพรรณนากำหนดอานิสงส์ของศีลอันนั้นได้ น้ำคือศีลย่อมล้างมลทินอันใดของสัตว์ทั้งหลายได้ แม่น้ำสายใหญ่ ๆ คือ คงคา, ยมนา, สรภู, สรัสวดี, อจิรวดีหรือมหีที่ไหลไป หาสามารถล้างมลทินนั้นของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ได้ไม่ , ศีลที่รักษาดีแล้วเป็นศีลห่างไกลจากกิเลสมีความเย็นอย่างที่สุดนี้ ย่อมบันดาลความร้อนกลุ่มของสัตว์ทั้งหลายให้สงบลงได้ ลมปนฝนก็ดี จันทน์เหลืองก็ดี แก้วมุกดาหารก็ดี แก้วมณีก็ดี แสงจันทร์อ่อนก็ดี หาบันดาลความร้อนลุ่มของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ให้สงบลงได้ไม่ , กลิ่นอันใดที่ฟุ้งไปได้ทั้งทวนลมและตามลมเสมอกัน กลิ่นอันนั้นที่จะทัดเทียมด้วยกลิ่นคือศีล จักมีแต่ที่ไหน บันไดสำหรับขึ้นสู่สวรรค์ หรือประตูในอันเข้าสู่นครนฤพานอย่างอื่น ๆ ที่จะเสมอด้วยศีล จักมีแต่ที่ไหน , พระราชาทั้งหลายผู้ทรงประดับแล้วด้วยแก้วมุกดาและแก้วมณีก็ไม่งามเหมือนนักพรตทั้งหลายผู้ประดับด้วยเครื่องประดับคือศีล ศีลของบุคคลผู้มีศีล ย่อมกำจัดภัยมีการตำหนิตนเป็นต้นเสียได้โดยประการทั้งปวง และย่อมบันดาลให้เกิดเกียรติและความหรรษาในกาลทุกเมื่อ

นักศึกษาพึงทราบกถามุขอันแสดงถึงอานิสงส์ของศีลอันเป็นมูลรากแห่งคุณทั้งหลาย และเป็นเครื่องทำลายกำลังแห่งโทษทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้แล

🔅 วสัชนาปัญหาข้อที่ ๕
ลำดับนี้ จะวิสัชนาในปัญหากรรมข้อที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า ศีลนี้มีกี่อย่าง ต่อไปดังนี้

ศีลมีอย่างเดียว
ศีลนี้สิ้นทั้งมวล ชื่อว่า มีอย่างเดียว ด้วยลักษณะคือความปกติของตน เป็นประการแรก

ศีล ๒ อย่าง
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๑ โดยแยกเป็น จาริตตศีล ๑ วาริตตศีล ๑
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๒ โดยแยกเป็น อาภิสมาจาริกศีล ๑ อาทิพรหมจริยกศีล ๑
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๓ โดยแยกเป็น วิรติศีล ๑ อวิรติศีล ๑
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๔ โดยแยกเป็น นิสสตศีล ๑ อนิสสตศีล ๑
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๕ โดยแยกเป็น กาลปริยันตศีล ๑ อาปาณโกฏิกศีล ๑
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๖ โดยแยกเป็น สปริยันตศีล ๑ อปริยันตศีล ๑
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๗ โดยแยกเป็น โลกิยศีล ๑ โลกุตตรศีล ๑

ศีล ๓ อย่าง
☉ ศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๑ โดยแยกเป็น หีนศีล ๑ มัชฌิมศีล ๑ ปณีตศีล ๑
☉ ศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๒ โดยแยกเป็น อัตตาธิปไตยศีล ๑ โลกาธิปไตยศีล ๑ ธัมมาธิปไตยศีล ๑
☉ ศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๓ โดยแยกเป็น ปรามัฏฐศีล ๑ อปรามัฏฐศีล ๑ ปฏิปัสสิทธิศีล ๑
☉ ศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๔ โดยแยกเป็น วิสุทธศีล ๑ อวิสุทธศีล ๑ เวมติกศีล ๑
☉ ศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๕ โดยแยกเป็น เสกขศีล ๑ อเสกขศีล ๑ เนวเสกขนาเสกขศีล ๑

ศีล ๔ อย่าง
☉ ศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๑ โดยแยกเป็น หานภาคิยศีล ๑ ฐิติภาคิยศีล ๑ วิเสสภาคิยศีล ๑ นิพเพธภาคิยศีล ๑
☉ ศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๒ โดยแยกเป็น ภิกขุศีล ๑ ภิกขุนีศีล ๑ อนุปสัมปันนศีล ๑ คหัฏฐศีล ๑
☉ ศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๓ โดยแยกเป็น ปกติศีล ๑ อาจารศีล ๑ ธัมมทาศีล ๑ ปุพพเหตุกศีล ๑
☉ ศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๔ โดยแยกเป็น ปาติโมกขสังวรศีล ๑ อินทรียสังวรศีล ๑ อาชีวปาริสุทธิศีล ๑ ปัจจยสันนิสสตศีล ๑

ศีล ๕ อย่าง
☉ ศีล ๕ อย่าง หมวดที่ ๑ โดยแยกเป็น ปริยันตปาริสุทธิศีลเป็นต้น ข้อนี้สมจริง ดังที่ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีปุตตะแสดงไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคว่า ศีล ๕ อย่าง คือ ปริยันตปาริสุทธิศีล ๑ อปริยันตปาริสุทธิศีล ๑ ปริปุณณปาริสุทธิศีล ๑ อปรามัฏฐปาริสุทธิศีล ๑ ปฏิปัสสัทธิปาริสุทธิศีล ๑
☉ ศีล ๕ อย่าง หมวดที่ ๒ โดยแยกเป็น ปหานศีล  เวรมณีศีล ๑ เจตนาศีล ๑ สังวรศีล  อวีติกกมศีล 



 ปัญหาเรื่องศีล หน้าที่๑ 🔎 หน้าที่ ๒ 

วันศุกร์

๓.๘ นิพพานสุข และบทลงท้าย

ความสุขนั้นไม่จำเป็นต้องหมายเอาเฉพาะสุขเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น ในที่ใดๆ ภาวะใดๆ มีความสุข ก็ย่อมบัญญัติภาวะนั้นๆเข้าเป็นความสุข ความสุขสูงสุดตามหลักพระพุทธศาสนา ก็คือ “นิพพานัง ปรมัง สุขัง” นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง หรือเป็นความสุขที่สูงสุด โดยมีลักษณะที่พอจะปรากฏออกมาให้พูดถึงได้ ก็คือ

เป็นสุขตลอดเวลา : ไม่ต้องหา เป็นคุณสมบัติประจำของชีวิต มีอยู่กับตัว
เป็นสุขอิสระ : ไม่ต้องพึ่งพา ไม่ขึ้นต่ออะไรๆ ตรงข้ามกับกามสุขที่เป็นสุขแบบพึ่งพาอาศัยสิ่งเสพอย่างเต็มที่
เป็นสุขล้วน : บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่มีทุกข์แฝงหรือค้างคาเหลืออยู่เลย

เมื่อมองที่ตัวสภาวะตามกฏไตรลักษณ์ (มองขั้นปรมัตถสัจจะ) สุขที่ยังเป็นเวทนา หรือสุขที่ยังอาศัยการเสวยอารมณ์ ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น เพราะสุขเวทนาเป็นสังขารธรรม จึงย่อมมีความสิ้น สลาย จางหาย แปรปรวนไปได้เป็นธรรมดา ดังทรงแสดงในพระสูตร

“พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ คือ ๑. สุขเวทนา  ๒. ทุกขเวทนา ๓. อทุกขมสุขเวทนา … พระดำรัสที่ว่า ‘ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นทุกข์’ นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงอะไร”

“ดีละ ดีละ ภิกษุ เรากล่าวเวทนาไว้ ๓ ประการนี้ คือ ๑. สุขเวทนา  ๒. ทุกขเวทนา ๓. อทุกขมสุขเวทนา เรากล่าวเวทนาไว้ ๓ ประการนี้ สมจริงดังคำที่เรากล่าวว่า ‘ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นทุกข์’

“คำที่ว่า ‘ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นทุกข์’ นั้นเรากล่าวหมายถึงความที่สังขารทั้งหลายนั้นแลไม่เที่ยง ฯลฯ มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความแตกไปเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความดับไปเป็นธรรมดา ฯลฯ คำที่ว่า ‘ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นทุกข์’ นั้นเรากล่าวหมายถึงความที่สังขารทั้งหลายนั้นแลมีความแปรผันเป็นธรรมดา” (รโหคตสูตร)

นิพพานเป็นภาวะที่ตรงข้ามกับความสุขจากกามและฌาน เพราะในขณะที่ภาวะของกามและฌานสมาบัติ ยังเป็นภาวะแห่งการเข้าหา ยังต้องขึ้นต่ออารมณ์ แต่นิพพานเป็นภาวะหลุดออก ปลอดพ้น โปร่งโล่ง

ความสุขที่ไม่เป็นเวทนา ไม่พึ่งพา ไม่ขึ้นต่ออารมณ์นี้ เป็นเรื่องยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ เพราะไม่เคยประสบ ตัวอย่างที่จะเทียบก็ไม่มี แต่กระนั้นก็อาจพูดให้เห็นเค้าว่า ตามปกติ คนทั่วไปก็มีความสุขพื้นฐานอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งต่างจากความสุขจากการเสพรสอารมณ์ ได้แก่ ภาวะที่จิตใจปลอดโปร่งผ่องใสเบิกบาน ไม่มีความกังวลใจใดๆ เช่น ทำงานสำคัญเสร็จ, หายจากการป่วยหนัก, พ้นจากการเป็นหนี้ เป็นต้น ผู้ที่มีภาวะจิตเช่นนี้ ย่อมเรียกได้ว่าเป็นผู้มีความสุขอยู่แล้วในตัว

ผู้ใดสามารถปล่อยวาง ละความติดใจพัวพันในภาวะเลิศล้ำของฌานสมาบัติได้ คือถอนความติดในกามมาได้ขั้นหนึ่งแล้ว ยังถอนความติดในฌานสมาบัติได้อีก ไม่มีความเกี่ยวเกาะติดพันใดๆเลย เขาก็จะถึงภาวะหลุดพ้นเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ นี้คือภาวะที่เรียกว่า นิพพาน ซึ่งเป็นภาวะหลุดออก ปลอดพ้น โปร่งโล่ง เบิกบาน แม้นิพพานจะเป็นสุข และผู้บรรลุนิพพานก็เป็นผู้มีความสุข แต่ผู้บรรลุนิพพานไม่ติดในความสุข ไม่ว่าชนิดใดๆ รวมทั้งไม่ติดเพลินนิพพาน ไม่ถือว่านี่คือนิพพานของเราด้วย แต่ถึงจะเป็นเช่นนี้ ผู้ประจักษ์แจ้งนิพพานแล้ว กลับเป็นผู้มีสิทธิหรือพร้อมที่จะเสวยความสุขชนิดก่อนๆทั้งหมดได้อย่างดีที่สุด โดยไม่มีพิษภัยอีกด้วย ทั้งนี้ ธรรมดาปรากฏเป็นของมันเองว่า ผู้ที่บรรลุนิพพานแล้วไม่เสพกามสุข เพราะไม่นึกอยากเสพ เขาได้ประสบสิ่งอื่นที่ดีกว่าจนไม่เห็นกามคุณนั้นมีคุณค่าที่เขาจะเกี่ยวข้องเสพเสวยแล้ว

การทำบุญหรือทำความดีในทางพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นทาน ศีล ภาวนา ว่าตามหลักแท้แล้ว ท่านไม่สอนให้มุ่งหาผลตอบแทนเป็นกามสุข เช่น ลาภ ยศ การไปเกิดในสวรรค์ เป็นต้น แต่ท่านสนับสนุนให้ทำความดีเพื่อขัดเกลาจิตใจตนเอง เพื่อลดละกิเลส ทำลายความสั่งสมก่อตัวของตัณหาเชื้อทุกข์ ทำให้ผู้ทำความดีนั้นประสบสุขประณีตที่ลึกซึ้งภายใน ซึ่งจะนำความร่มเย็นเป็นสุขมาให้ พัฒนาชีวิตก้าวสูงขึ้นไปในความสุขที่แท้จริงยั่งยืน โดยมีนิพพานสุขเป็นจุดหมายสุดท้าย ท่านจึงกล่าวแสดงภาวะของนิพพานอยู่บ่อยครั้งว่า คือ ความเป็นสุขที่ยอดเยี่ยม สุขยิ่งกว่านิพพานสุขไม่มี ตัวอย่างจากพระสูตรบางตอน เช่น

“กามสุขในโลก และทิพยสุข ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งความสุขคือความสิ้นตัณหา” (ราชสูตร)

“ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี โทษเสมอด้วยโทสะไม่มี ทุกข์เช่นด้วยขันธ์ไม่มี สุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง, บัณฑิตทราบเนื้อความนี้ตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน เพราะนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง, ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง ทรัพย์มีความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง ญาติทั้งหลายมีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” (สุขวรรค)

แม้แต่ผู้ปฏิบัติธรรม ก็ต้องมองนิพพานว่าเป็นสุข จึงจะเป็นทรรศนะที่ถูกต้อง ดังพุทธพจน์

“ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุผู้มองเห็นนิพพานโดยความเป็นทุกข์ จักเป็นผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ ย่อมเป็นไปไม่ได้, ข้อที่ภิกษุผู้ไม่ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ จักบรรลุโสดาปัตติผล … ฯลฯ ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้

“ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุผู้มองเห็นนิพพานโดยความเป็นสุข จักเป็นผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้, ข้อที่ภิกษุผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ จักบรรลุโสดาปัตติผล … ฯลฯ ก็ย่อมเป็นไปได้” (นิพพานสูตร)

พระอรหันต์ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ท่านเองก็ร่าเริงใจได้หมด แล้วก็พาคนอื่นให้รื่นรมย์ไปด้วย นี่เป็นเรื่องของความสามารถในการพัฒนาการมีความสุข การปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าถูกทางแล้ว ความสุขก็จะเลื่อนขั้นพัฒนาไป

“ไม่ว่าบ้าน ไม่ว่าป่า ไม่ว่าที่ลุ่ม ไม่ว่าที่ดอน ท่านผู้ไกลกิเลสอยู่ที่ไหน ที่นั้นไซร้ เป็นภูมิสถานอันรื่นรมย์” (คาถาธรรมบท อรหันตวรรค)

จะพูดว่า พระพุทธศาสนาคือระบบการพัฒนาความสุขก็ได้ จะพูดว่า กระบวนการกำจัดทุกข์ก็ได้ ทั้งหมดก็เป็นแง่ความหมายที่มาโยงถึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พระพุทธศาสนา จึงเป็นระบบการพัฒนาความสุข และเป็นศาสนาแห่งความสุข ตามนัยที่ได้กล่าวมาฉะนี้แล


จบการย่อความหนังสือพุทธธรรม ฉบับปรับขยาย


๓.๗ ข้อบกพร่องของฌานสุข

ภาวะในฌานยังไม่โปร่งโล่งเต็มที่ มีความคับแคบด้วยสัญญาและองค์ธรรมอื่นๆที่เนื่องอยู่ในฌานนั้นๆ ยังมีความคำนึงด้วยสัญญาเกี่ยวกับฌานชั้นต่ำกว่าฟุ้งขึ้นมาในใจได้ ถึงแม้จะจัดเป็นนิรามิสสุข แต่ก็เป็นภาวะปรุงแต่งถูกปัจจัยทางจิตสรรสร้างขึ้นมา ไม่เที่ยงแท้ จะต้องดับไปตามสภาวะ ลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่งของฌานสุข คือ ยังเป็นสุขระดับเวทนา หมายความว่า เป็นสุขที่เกิดจากการเสวยอารมณ์ หรือเสพรสอารมณ์ ซึ่งในแง่นี้เหมือนกับกามสุข คือเป็นสุขเวทนา ส่วนข้อดีที่สำคัญของฌานสุข นอกจากความสุขที่ดื่มด่ำกว่ากามสุขแล้ว ฌานสุขยังเป็นสุขที่ไม่มีความเบียดเบียน เพราะเป็นการเสพอารมณ์ภายใน ไม่ต้องอิงอาศัยอารมณ์ภายนอก (อามิส) จึงจัดฌานสุขเป็นนิรามิสสุข ส่วนนิพพานเป็นยอดแห่งนิรามิสสุข

“ภิกษุทั้งหลาย ถ้านักบวชลัทธิอื่นกล่าวหาว่า สมณะศากยบุตรประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข พึงถามว่าประกอบแบบไหน เพราะมีอยู่มากด้วยกัน คือ บางคนฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ พูดปด บำเรอตนด้วยกามคุณ อย่างนี้ชื่อว่าประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุขแบบชาวบ้าน ซึ่งไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน การประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข ที่เป็นไปเพื่อนิพพาน ได้แก่ ความสุขในฌาน ๔ ถ้านักบวชลัทธิอื่นกล่าวว่า สมณะศากยบุตร ประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข ๔ อย่างนี้ ก็พึงรับรองว่ากล่าวถูกต้อง” (ปาสาทิกสูตร)

เมื่อมีความสุขที่ประณีตกว่าเข้ามาเทียบแล้ว ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่กามสุขจะตกต่ำมีค่าน้อย ดังคำที่ท่านใช้เรียกกามสุข ว่าเป็นปุถุชนสุข ตรงข้ามกับฌานสุข ซึ่งเป็นเนกขัมมสุข สุขที่เอื้อต่อการบรรลุนิพพาน มีพุทธพจน์ตรัสว่า ผู้ยังติดอยู่ในกามสุข ก็คือติดข้องอยู่ในโลก ผู้ใดเข้าถึงฌาน (จะเป็นรูปฌานหรืออรูปฌานก็ตาม) ท่านเรียกผู้นั้นว่าได้มาถึงที่สุดของโลกแล้ว และอยู่ ณ ที่สุดแห่งโลก แต่ก็ยังเป็นผู้เนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตัวไม่พ้นจากโลก ส่วนผู้ใดสำเร็จฌานขั้นสูงสุดแล้วก้าวล่วงความยึดติดถือมั่นในฌานสุขไปได้ เป็นผู้หมดอาสวะเพราะเห็น (สัจธรรม) ด้วยปัญญา ผู้นี้จึงจะเรียกได้ว่า ได้มาถึงที่สุดแห่งโลกแล้ว อยู่ ณ ที่สุดแห่งโลก และทั้งได้ข้ามพ้นโยงใยที่เหนี่ยวพันให้ติดอยู่ในโลกไปได้


ส่วนแทรกเสริม

ในอรรถกถาปุคคลบัญญัติ ท่านว่าอย่างน้อยต้องเป็นพระอนาคามีฌานถึงไม่เสื่อม พระโสดาบัน พระสกทาคามี ฌานอาจเสื่อมได้ มิใช่ด้วยเหตุอกุศล แต่เป็นเพราะธรรมอันเป็นข้าศึกบางอย่าง เช่น ความกังวลใจในการงานที่จะต้องทำ ส่วนโลกุตรธรรม ธรรมอันมิใช่วิสัยของโลก, สภาวะพ้นโลก, ประกอบด้วยมรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑.ที่ได้สำเร็จแล้วของพระอริยบุคคลทุกระดับ ไม่มีวันเสื่อมได้เลย



๓.๖ ข้อเสีย หรือจุดบกพร่องของกามสุข

ความเอร็ดอร่อยสนุกสนานหวานชื่นที่คนปรารถนา กามอำนวยให้เพียงชั่วครู่ยามในเวลาที่เสพ ไม่มีความจิรังยั่งยืน ไม่ให้ความสุขที่เต็มอิ่มแท้จริง เมื่อเสพนานเข้าก็เกิดความเบื่อหน่าย ต้องเปลี่ยนอารมณ์อยู่เรื่อยๆ ดังพุทธพจน์

“ความอิ่มด้วยกามทั้งหลาย ไม่มีในโลก” (รัฐปาลสูตร)

ในเวลาที่ไม่ได้เสพ รวมถึงเมื่อกามสุขจางคลายหายลับล่วงผ่านไปแล้ว กลับเหลือความเจ็บปวดชอกช้ำ เสียดายหวนหาอาลัยทุกข์ทรมานประทับลงอย่างแน่นแฟ้น ความลำบากทุกข์ยากในการแสวงหา ระวังรักษากามวัตถุไว้เสพเสวย ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการวิวาท แย่งชิง จนไปถึงสงครามเข่นฆ่ากัน ครั้นประกอบการทุจริตแล้ว ตายไปก็ยังได้รับโทษ คือ ความทรมานในอบาย ทั้งนี้ก็เพราะสาเหตุจากกาม



ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา คำว่า “กาม” โดยปกติจะใช้ในความหมายกว้าง คือหมายถึง ความอยากในสิ่งเสพทางประสาทสัมผัสทางกาย ๕ ประกอบด้วย รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่ได้ใช้ในความหมายแคบดังที่ใช้ใน ศีล ๕ ข้อ ๓ อันเจาะจงเฉพาะการเสพเมถุน ท่านที่บรรลุความสุขประณีตอย่างสูงแล้ว หลายท่านก็ยังดำเนินชีวิตโดยเสพเสวยสุขควบกันไปทั้งสองอย่าง (เสพเสวยกามอย่างรู้เท่าทัน ปฏิบัติต่อกามคุณอย่างถูกต้อง) จึงมีทางเลือกในการเสวยความสุขมากขึ้น เมื่อประสบความทุกข์ก็มีทางบรรเทาพิษภัยของกิเลสโดยไม่ต้องถูกบีบบังคับให้พึ่งกามสุขเพียงอย่างเดียว คือ มีความสุขฝ่ายนิรามิสเป็นทางเลือกและทางออก (นิสสรณะ)

ผู้ปฏิบัติถูกต้องต่อกามสุข ย่อมก้าวหน้าไปสู่สุขที่ประณีตได้ง่ายขึ้น
เพราะกามสุขที่บริหารจัดการได้ดี ก็จะเป็นฐานที่ค้ำจุนสนับสนุนในการพัฒนาตนให้ก้าวขึ้นสู่ประโยชน์สุขที่สูงขึ้นไป เมื่อประสบสุขประณีตแล้ว สุขประณีตนั้นก็กลับเป็นเครื่องช่วยควบคุมการแสวงหาและการเสพกามสุข ให้อยู่ในขอบเขตแห่งความถูกต้องดีงามยิ่งขึ้นไปอีก เพราะบุคคลผู้นั้น มีหลักประกันในด้านความสุขสำหรับตนเองแล้ว และเห็นคุณค่าของสุขประณีตที่สูงกว่า ครั้นบุคคลนั้นบรรลุภูมิธรรมสูงยิ่งขึ้นไปอีก ประสบสุขประณีตยิ่งขึ้นไปอีก ในที่สุดก็จะไม่วกเวียนมาหากามสุขอันเป็นสุขระดับล่างอีกเลย




๓.๕ ระดับขั้นของความสุข

ความสุขมีความสำคัญมากในการปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา กล่าวได้ว่า พุทธจริยธรรมไม่แยกต่างหากจากความสุข เริ่มแต่ขั้นต้น ในการทำความดีหรือกรรมดีทั่วๆไป ที่เรียกว่าบุญ ก็มีพุทธพจน์ตรัสว่า

“บุญเป็นชื่อของความสุข” (ปุญญวิปากสูตร)

ในการเจริญภาวนา บำเพ็ญเพียรทางจิต ความสุขก็เป็นปทัฏฐานให้เกิดสมาธิ แม้ฌานในระดับสูง ไม่มีสุขเป็นองค์ฌาน ก็พึงเข้าใจว่าเป็นความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไปอีก

จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือ นิพพาน เป็นบรมสุข คือ สุขสูงสุด ก็พึงบรรลุได้ด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์ (หมายถึง ทุกรกิริยา, ไม่พึงสับสนกับ ทุกขาปฏิปทา ซึ่งคำว่าทุกข์ในที่นั้น หมายถึง ปฏิบัติด้วยความยากลำบาก)


ระดับขั้นของความสุข แนวที่ ๑ : แบ่งออกเป็น ๑๐ ขั้น ๓ ระดับ

ระดับที่ ๑. กามสุข (ขั้นที่ ๑) กามสุข แปลว่า ความสุขทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ (เรียกว่า สามิสสุข, อามิสสุข ตรงข้ามกับ นิรามิสสุข คือ สุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม)
ระดับที่ ๒. ฌานสุข (ขั้นที่ ๒-๙) ได้แก่ รูปฌาน ๔, อรูปฌาน ๔ จัดเป็นเป็นนิรามิสสุข ภาวะในฌาน ท่านเรียกว่าเป็นนิพพานได้โดยปริยาย คือ เทียบคล้ายในบางด้าน
ระดับที่ ๓. นิโรธสมาบัติสุข (ขั้นที่ ๑๐) เป็นนิรามิสสุขอย่างยิ่ง นิโรธสมาบัติ เป็นสมาบัติที่เข้าได้เฉพาะพระอนาคามี และพระอรหันต์ ท่านจัดเป็น นิพพานโดยนิปริยาย คือ โดยตรง แต่ยังเป็นของชั่วคราว ข้อนี้อาจเรียกว่า นิพพานสุขก็ได้ ซึ่งในความหมายอย่างที่ผ่อนลงมา ถือเป็นความสุขที่มีอยู่เป็นปกติของพระอริยบุคคลทุกลำดับ ตามระดับขั้นของภูมิธรรม

สุขทั้ง ๓ ระดับนี้ ท่านยอมรับว่าเป็นความสุขทั้งนั้น หากแต่เป็นความสุขที่ดีกว่า ประณีตลึกซึ้งยิ่งกว่ากันขึ้นไปตามลำดับ เพราะความสุขขั้นต้นๆ มีส่วนเสีย หรือแง่ที่เป็นทุกข์แทรกอยู่ด้วยมาก เมื่อเป็นสุขขั้นสูงขึ้นไป ก็ยิ่งประณีตบริสุทธิ์มากขึ้น เมื่อเห็นโทษของสุขที่หยาบ ก็จะหน่ายหายติด และโน้มใจไปหาสุขที่ประณีตยิ่งกว่า เมื่อรู้จักและได้ประสบความสุขที่ประณีตประจักษ์กับตัวแล้ว ก็จะละความสุขที่หยาบกว่าเสียได้ มุ่งบรรลุสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไปตามลำดับ จนถึงภาวะที่เป็นที่หมายโดยสมบูรณ์ หรืออย่างน้อยก็จะไม่มัวเมาหมกมุ่นในสุขที่หยาบนั้นจนเกินไป ข้อที่ว่านี้ ก็เป็นลักษณะด้านหนึ่งของความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม

พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ได้ทรงบรรลุถึงความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม และความสุขอย่างอื่นที่ประณีตยิ่งไปกว่านั้นแล้ว จึงทรงยืนยันได้ว่าจะไม่ทรงเวียนกลับมาหากามอีก พร้อมกันนั้นก็ได้ตรัสทำนองเตือนผู้ปฏิบัติธรรมให้ระลึกว่า ถึงหากอริยสาวกจะมองเห็นอย่างชัดเจนตามความเป็นจริงด้วยสัมมาปัญญาว่า กามทั้งหลายมีความหวานชื่นน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้ยิ่งนัก แต่ถ้าอริยสาวกนั้นยังไม่ประสบ ยังไม่รู้จักปีติและความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม หรือความสุขที่ประณีตยิ่งไปกว่านั้น ก็ยังวางใจไม่ได้ว่าเธอจะไม่วกเวียนกลับมาหากามอีก

ในทำนองเดียวกันนั้น ได้ตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายไว้โดยจำเพาะว่า ถ้าผู้บวชแล้ว ยังมิได้ประสบปีติและความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม หรือความสุขที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น กิเลสทั้งหลาย เช่น อภิชฌา พยาบาท ความฟุ้งซ่าน เกียจคร้าน เบื่อหน่าย ก็จะเข้าครอบงำจิตได้ หมายความว่า ก็จะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ หรือทนประพฤติพรหมจรรย์อยู่ไม่ได้ (อาจารย์บางท่านจึงมักแนะนำให้ผู้ที่ต้องการบวชเจริญอุปจารสมาธิให้ได้ก่อนเป็นอย่างน้อย เพื่อเป็นทิฏฐธรรมสุขวิหาร, ธรรมเพื่อการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน)

สำหรับคฤหัส พระพุทธเจ้ามิได้ทรงเพ่งแต่จะสอนให้ละเลิกความเกี่ยวข้องกับกามคุณไปถ่ายเดียว แต่ทรงสอนให้รู้จักปฏิบัติต่อกามคุณอย่างถูกต้อง โดยยังคงความเป็นอิสระอยู่ได้ ไม่ตกไปเป็นทาสของกามคุณ และมิให้กามคุณกลายเป็นสิ่งก่อโทษทุกข์ภัย กล่าวคือ ทั้งที่กามคุณยังเป็นของขาดพร่องแหว่งเว้านี้แหละ เมื่อรู้จักบริหารจัดการได้ดี ก็ยังเป็นคุณที่ดีแก่ชีวิตและขยายออกไปให้เกื้อกูลเป็นประโยชน์แก่สังคมให้อยู่กันร่มเย็นเป็นสุข ยิ่งกว่านั้น ก็จะเป็นฐานที่ค้ำจุนสนับสนุนในการพัฒนาตนให้ก้าวขึ้นสู่ประโยชน์สุขที่สูงขึ้นไปๆ


กามโภคีสุข ๔ : สุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนควรมี

สุขของคฤหัสถ์ หรือ คิหิสุข หรือ กามโภคีสุข ๔ (สุขของชาวบ้าน, สุขที่ชาวบ้านควรพยายามเข้าถึงให้ได้สม่ำเสมอ, สุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนควรมี

๑. อัตถิสุข สุขเกิดจากความมีทรัพย์ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ ว่าตนโภคทรัพย์ที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงความขยันหมั่นเพียรของตน และโดยชอบธรรม
๒. โภคสุข สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ ว่าตนได้ใช้ทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบนั้น เลี้ยงชีพ เลี้ยงผู้ควรเลี้ยง และบำเพ็ญประโยชน์
๓. อนณสุข สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ ว่าตนเป็นไท ไม่มีหนี้สินติดค้างใคร
๔. อนวัชชสุข สุขเกิดจากความประพฤติไม่มีโทษ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ ว่าตนมีความประพฤติสุจริต ไม่บกพร่องเสียหาย ใครๆ ติเตียนไม่ได้ ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ

บรรดาสุข ๔ อย่างนี้ อนวัชชสุข มีค่ามากที่สุด

ความที่ยกมานี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาถือความสุขเป็นเรื่องสำคัญแล้ว ยังให้ข้อสังเกตต่อไปว่า การที่อริยสาวกละกามนั้น มิใช่เพราะกามไม่มีความสุข แต่อริยสาวกละกาม เพราะเห็นว่า กามมีความสุขก็จริง แต่ยังปะปนด้วยทุกข์มาก และข้อสำคัญคือ ยังมีความสุขอย่างอื่นที่สุขยิ่งกว่า อริยสาวกละกาม ก็เพราะได้ประสบความสุขที่ประณีตกว่านั้น


ระดับขั้นของความสุข แนวที่ ๒ : แบ่งออกเป็น ๒ ระดับ

ความสุขที่เกิดจากการสนองความต้องการ : ขั้นโลกียะ
๑.๑) ความสุขเมื่อได้สนองตัณหา (ความสุขจากการสนองความต้องการที่เป็นอกุศล)
๑.๒) ความสุขเมื่อได้สนองฉันทะ (ความสุขจากการสนองความต้องการที่เป็นกุศล)

ความสุขทุกกาล โดยไม่ต้องสนองความต้องการ : ขั้นโลกุตระ
ความสุขในระดับโลกียะ มีความหมายว่า การได้สนองความต้องการ หรือ ความสมอยาก สมปรารถนา, คนมีความอยากต้องการอย่างไหน (ตัณหา, ฉันทะ) เมื่อเขาได้สนองความต้องการอย่างนั้น เขาก็มีความสุข ดังนั้น ก็แสดงว่าความสุขนั้นยังไม่มีอยู่ จึงต้องรอการได้สนอง 

ความสุขขั้นโลกุตระนี้มีเป็นคุณสมบัติในตัวอยู่แล้ว จึงไม่ต้องขึ้นต่อการสนอง ทั้งไม่ต้องหา และไม่ต้องสร้าง (พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย มีฉันทะเต็มบริบูรณ์ แต่ความสุขของท่านไม่ขึ้นต่อการสนองฉันทะ คือท่านมีความสุขอยู่แล้วเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง)

เทียบกับแนวที่ ๑. ขั้นที่ ๑-๙ เป็นโลกียสุข, ขั้นที่ ๑๐ เป็นโลกุตรสุข

“กามสุขในโลก และทิพยสุข ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งความสุขคือความสิ้นตัณหา” (ราชสูตร)

“ดูก่อนอานนท์ มีฐานะอยู่ที่นักบวชเจ้าลัทธิอื่นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมบัญญัติสัญญาเวทยิตนิโรธ (นิโรธสมาบัติ) ในความสุข ข้อนั้นคืออะไรกัน? เป็นไปได้อย่างไรกัน? ดูก่อนอานนท์ท่านพึงชี้แจงว่า ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคย่อมไม่ทรงบัญญัติในความสุขหมายเอาเฉพาะสุขเวทนาอย่างเดียว ในที่ใดๆย่อมหาความสุขได้ ในฐานะใดๆมีความสุข พระผู้มีพระภาคย่อมทรงบัญญัติฐานะนั้นๆในความสุข” (ภิกขุสูตร)

“ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี โทษเสมอด้วยโทสะไม่มี ทุกข์เช่นด้วยขันธ์ไม่มี สุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง, บัณฑิตทราบเนื้อความนี้ตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน เพราะนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง, ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง ทรัพย์มีความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง ญาติทั้งหลายมีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” (สุขวรรค)

ในขณะที่พวกชาวสวรรค์บันเทิงด้วยวัตถุและกิจกรรมทางกามสุข พวกชั้นพรหมอิ่มอยู่กับความสุขทางจิตถึงขั้นฌานสุข และพระอรหันต์ลุนิพพานสุข พ้นไปแล้วจากเยื่อใยในอามิสสุข บุคคลโสดาบันเข้าถึงความสุขใน ๓ ภูมินั้น ทั้งกามสุข ทั้งอธิจิตตสุข (สุขด้วยคุณธรรมเช่น พรหมวิหารธรรม และฌาน) และโลกุตรสุข โดยยังไม่ทิ้งอย่างหนึ่งอย่างใด

บทที่เกี่ยวข้อง : 🔎พระโสดาบัน



วันพฤหัสบดี

๓.๔ พุทธศาสนา คือ ระบบการพัฒนาความสุข

“คนมีปัญญา ถึงเผชิญอยู่กับความทุกข์ ก็ไม่ยอมสิ้นหวังที่จะได้ประสบความสุข” (มหาชนกชาดก)

“ความเสื่อมจากญาติ ทรัพย์ ยศ ยังนับว่าเป็นความเสื่อมเพียงเล็กน้อย ภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมที่นับว่าเลวร้ายยิ่งกว่าความเสื่อมทั้งหลาย คือความเสื่อมจากปัญญา “ความเจริญด้วยญาติ ทรัพย์ ยศ ยังนับว่าเป็นความเจริญเพียงเล็กน้อย ภิกษุทั้งหลาย ความเจริญที่เรากล่าวว่าเป็นยอด คือความเจริญด้วยปัญญา เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้เจริญด้วยปัญญา” (กัลยาณมิตตาทิวรรค)

        ความสุขมีมากมาย หลายขั้น หลายระดับ และความสุขนั้นพัฒนาได้ ทุกคนจึงควรพัฒนาขึ้นไป จนกว่าจะถึงความสุขที่ดีเลิศยอดเยี่ยมที่สุด เมื่อพูดถึงความสุขระดับต่างๆ พึงพิจารณาดูว่า ความสุขอย่างนี้มีข้อดีอย่างไร (อัสสาทะ) มีข้อเสียอย่างไร (อาทีนวะ) และในเมื่อมันยังไม่สมบูรณ์ เราจะมีทางพัฒนาให้พ้นไปจากสภาพที่ไม่สมบูรณ์อย่างไร (นิสสรณะ) ซึ่งลักษณะสำคัญของความสุขที่พัฒนาสูงขึ้นไปนั้น ก็คือเป็นความสุขที่เป็นอิสระมากขึ้น สามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องพึ่งพา ไม่ต้องขึ้นต่อการเสพวัตถุ ไม่ค่อยได้สังเกตกันว่า พระพุทธศาสนานี้เป็นศาสนาแห่งความสุข การปฏิบัติในพระพุทธศาสนา พูดในสำนวนหนึ่ง ก็คือการพัฒนาให้ก้าวไปในความสุขเหล่านี้ และจะพูดว่า พระพุทธศาสนา คือระบบการพัฒนาความสุข ก็ได้

วิธีปฏิบัติต่อความสุข ไม่เอาทุกข์ทับถมตน ที่มิได้ถูกทุกข์ท่วมทับ ไม่ละทิ้งความสุขที่ชอบธรรม ไม่หมกมุ่นสยบในความสุข แม้ที่ชอบธรรมนั้น เพียรพยายามทำเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไป, เพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสุขที่สูงขึ้นไป จนถึงสุขสูงสุดที่เป็นภาวะอันไร้ทุกข์โดยสิ้นเชิง


ส่วนแทรกเสริม เมื่อจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับภาวะที่ยากลำบากแสนสาหัส ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ พึงพิจารณาว่า ถึงกายป่วยแต่ใจเราจะไม่ป่วย ดังพุทธพจน์ที่ตรัสแก่นกุลบิดาผู้ชราความตอนหนึ่ง ดังนี้

“ดูกรคฤหบดี ก็บุคคลผู้บริหารกายนี้อยู่ พึงรับรองความเป็นผู้ไม่มีโรคได้แม้เพียงครู่เดียว จะมีอะไรเล่า นอกจากความเป็นคนเขลา ดูกรคฤหบดี เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเรามีกายกระสับกระส่ายอยู่ จิตของเราจักไม่กระสับกระส่าย” (นกุลปิตาสูตร) (พระสารีบุตรได้ขยายความตอบนกุลบิดาว่า บุคคลชื่อว่ากายป่วยแต่ใจไม่ป่วย เพราะละสักกายทิฏฐิ ไม่ยึดติดถือมั่น ไม่เห็นขันธ์ ๕ ว่าเป็นตน ถือเป็นการฝึกขันติ ความอดทน)

“ขันติความอดทน เป็นตบะ อย่างยิ่ง” (มหาปทานสูตร)

พระอริยสาวกที่ท่านบรรลุอรหัตตผลในขณะเจ็บป่วยทุกขเวทนาใกล้จะดับขันธ์ก็ยังมี เราอาจหาประโยชน์อะไรจากการพิจารณาความทุกข์ความลำบากนี้ได้บ้างก็เป็นได้ (เช่น โคธิกสูตร อรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร เรื่องทุกข์ของภิกษุ ๓๐ รูป เป็นต้น)



๓.๓ ความหมายของ ศีล วินัย สิกขาบท พรต วัตร ตบะ

ศีล คือ ความประพฤติดีงามสุจริต, เป็นคุณสมบัติของคนตามปกติ จึงใช้เป็นคำเอกพจน์ ไม่ได้เป็นข้อๆ

วินัย ความหมายตามศัพท์ แปลว่า การชี้นำอย่างวิเศษหรือการจัดการให้ดี (ที่จะฝึกคนให้มีศีล), วินัยจึงเป็นประมวลแห่งสิกขาบททั้งหลายนั่นเอง เป็นคำเอกพจน์

สิกขาบท แปลว่า ข้อศึกษา ข้อฝึกความประพฤติ คือ ข้อบัญญัติ โดยเฉพาะข้อที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เป็นข้อปฏิบัติที่จะต้องทำหรือต้องเว้นการใดๆ ตามที่บัญญัติไว้นั้น เพื่อให้มีความประพฤติและการปฏิบัติที่ถูกต้องดีงาม จะเห็นว่าสิกขาบทเป็นข้อๆ เมื่อพูดถึงหลายข้อ ก็เป็นพหูพจน์ ตามที่ว่ามานี้ สิกขาบททั้งหลายทั้งหมด รวมกันเป็นวินัย

การปฏิบัติตามสิกขาบททั้งหลาย คือ ตั้งอยู่ในวินัย ก็เป็นศีล เช่น สิกขาบท ๕ ข้อ เรียกรวมว่า วินัยของคฤหัสถ์ เมื่อประพฤติถูกต้อง ก็เป็นผู้มีศีล, สิกขาบท ๒๒๗ ข้อ เรียกรวมว่า วินัยของภิกษุ ภิกษุที่ตั้งอยู่ในวินัยนี้ ประพฤติถูกต้อง ก็เป็นผู้มีศีล กล่าวคือ วินัย และสิกขาบท มีเป้าหมายเพื่อ ศีล

พรต หมายถึง การสมาทานถือปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เรียกว่าธุดงค์ทั้งหลาย (ธุดงค์ ๑๓ เป็น พรต ที่พระพุทธเจ้ายอมรับให้นำไปปฏิบัติได้) ไม่เป็นศีล ถือเป็นส่วนพิเศษเพื่อความเคร่งครัด ขัดเกลา ฝึกอบรมตนเองให้ยิ่งกว่าปกติ เน้นที่ความมักน้อยสันโดษ เป็นเรื่องของความสมัครใจและความเหมาะสมของแต่ละคน ใครจะถือปฏิบัติหรือไม่ก็ได้ไม่มีความผิด โดยถือหลักว่าถ้ารับข้อใดมาปฏิบัติแล้ว กุศลธรรมเจริญขึ้น อกุศลธรรมเสื่อมลง ก็เป็นอันว่าผู้นั้นควรปฏิบัติข้อนั้น ต่างจากศีลซึ่งสมาชิกทุกคนของหมู่พึงรักษาเสมอเหมือนกัน ถ้าไม่รักษาย่อมมีผลเสียหายทั้งส่วนตัวและส่วนรวม

พรตบางอย่างเช่น ไม่พูด ฉันอาหารเฉพาะผลไม้ที่ตกพื้นเท่านั้น ถือว่าผิดวินัย เพราะเป็นการทรมานตนเกินพอดี

วัตร เป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมเนียมและมารยาทอันควรปฏิบัติ

ตบะ มีความหมาย ๒ นัย 
        ๑. ความหมายตามแนวพระพุทธศาสนา คือ การบำเพ็ญเพียรอย่างยวดยิ่งเพื่อกำจัดกิเลส
        ๒. ความหมายตามแนวศาสนาอื่น คือ พิธีข่มกิเลสโดยการทรมานตน



๓.๒ ความสุข และปัญหาเกี่ยวกับแรงจูงใจ

ความสุข คืออะไร ?
ความสุข (ความหมายพื้นฐาน) คือ การได้สนองความต้องการ ความสมอยากสมปรารถนา

ที่จริงความสมอยาก หรือการได้สนองความต้องการนั้น พูดอีกสำนวนหนึ่ง ก็คือการทำให้ความต้องการสงบระงับไปนั่นเอง เหมือนอย่างระงับความกระหาย ด้วยการดื่มน้ำ หรือระงับความหิว ด้วยการกินอาหาร เมื่อความหิวสงบไป หรือเมื่อความกระหายสงบไป ก็เป็นความสุข ดังนั้น เมื่อพูดตามความหมายนี้ ความสงบระงับไปของความต้องการนั่นเอง เป็นความสุข หรือพูดให้สั้นว่า ความสุขคือความสงบ เมื่อความต้องการเกิดขึ้นแล้วพยายามระงับด้วยการไม่สนองมัน ฝืนข่มบังคับ ก็จะยิ่งทำให้มีอาการรุนแรง เร่าร้อนกระวนกระวายมากขึ้น ทำให้เกิดทุกข์แก่ตน และอาจเป็นภัยแก่ผู้อื่น ไม่ใช่สงบจริง เป็นขั้นการฝึกหัดฝืนข่มใจ แต่การฝึกฝนพัฒนายังมีแนวทางวิธีมากกว่านี้ กล่าวคือ

วิธีที่ ๑. วิธีการทางจิต โดยให้ฝ่ายกุศลมีกำลังเหนือกว่า เช่น อยากหนีเรียนกินเหล้าเที่ยวเตร่ ให้เจริญฉันทะที่ใฝ่รู้ใฝ่ดีอยากศึกษาหาความรู้ จนแรงเข้มกว่าตัณหา, อยากขโมยเงิน ให้เจริญเมตตากรุณา นึกถึงว่าเขาหามาด้วยความลำบาก ไม่ควรไปเบียดเบียนเขา เป็นต้น

วิธีที่ ๒. วิธีทางปัญญา ก็เช่นว่า เขาเอาทองมาขายให้ในราคาถูก ก็ตาลุกอยากได้เหลือเกิน แต่พอรู้ทันว่าเป็นทองเก๊ ความอยากได้ก็หายวับไปหมดสิ้น สงบลงได้ แต่ปัญญาอย่างนี้ ควรเรียกล้อว่าเป็นปัญญาเทียม แค่รู้ทันทองเก๊ พอแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปที จะเป็นปัญญาแท้ ก็ต้องอย่างพระสาวกที่มองเห็นความจริงว่า เงินทองเพชรนิลจินดาประดาทรัพย์ ไม่ใช่แก่นสารของชีวิต ไม่เป็นของเราของเขาของใครจริง ทำชีวิตให้ดีงามประเสริฐเป็นสุขแท้จริงไม่ได้ ทั้งเราทั้งมันก็เป็นไปตามธรรมชาติ คืออนิจจังทุกขังอนัตตาทั้งนั้น ถ้าจะอยู่กับมัน ก็ต้องใช้ประโยชน์อย่างรู้เท่าทัน ไม่ให้เป็นเหตุก่อทุกข์ภัย อย่างนี้คือปัญญาที่ทำให้ตัณหาไม่มีที่ตั้งตัว จึงสงบจริง

รวมแล้ว ไม่ว่าจะสงบระงับด้วยการสนองความต้องการก็ตาม หรือสงบระงับด้วยวิธีทางจิตทางปัญญาให้ไม่ต้องสนองความต้องการที่ไม่ถูกไม่ดีก็ตาม ความสงบนั้นก็เป็นความสุข และความสุขก็คือความสงบ สันติเป็นสุข สุขเป็นสันติ คือสันติสุข ดังความหมายที่ได้ว่ามา


ปัญหาเกี่ยวกับแรงจูงใจ
การจะพัฒนาความสุขได้นั้น ก็ต้องพัฒนาความอยาก ความปรารถนาด้วย มิฉะนั้น การพัฒนาความสุข ก็จะไม่สำเร็จ ความอยาก (ทั้งการกระทำและไม่กระทำ) นี้เป็นเรื่องใหญ่ จะต้องเข้าใจกันให้ชัดเต็มที่ ถ้ามิฉะนั้นจะไม่มีทางเข้าถึงพระพุทธศาสนา ในชีวิตของคนที่ว่าเป็นสัตว์ประเสริฐนั้น เรามิใช่มีตัณหาเท่านั้นเป็นแรงจูงใจ แต่เรามีความอยากหรือความต้องการอีกอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า ฉันทะ แต่เดิม คำว่า ฉันทะ เป็นศัพท์ที่มีความหมายกว้าง ครอบคลุมความอยากที่เป็นแรงจูงใจของมนุษย์ทุกอย่าง ทั้งด้าน อกุศล และกุศล ดังในพุทธพจน์ที่ใช้ ฉันทะ ในความหมายเดียวกับ ตัณหา

“อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ มีฉันทะเป็นมูล” (ปุณณมสูตร)
“ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อจะเกิดก็เกิด ทุกข์ทั้งหมดนั้น มีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะเป็นต้นเหตุ เพราะฉันทะเป็นมูลแห่งทุกข์” (คันธภกสูตร)

เมื่อได้ทราบความหมายเดิมที่แผกผันหลากหลายของคำว่าฉันทะแล้ว ก็ควรจะสรุปให้ยุติเพื่อให้สะดวกในการใช้และไม่สับสน โดยสอดคล้องตามมติที่ถือสืบมาของอรรถกถาและคัมภีร์ทั้งหลาย จึงใช้คำว่า
        ฉันทะ ในความหมายที่เป็นกุศล เป็นความอยากเพื่อสภาวะของสิ่งนั้นๆเอง อยากทำให้ดี ใฝ่ศึกษา ใฝ่สร้างสรรค์ เพื่อความดี เพื่อความสมบูรณ์ของสิ่งนั้นๆ
        ตัณหา ในความหมายที่เป็นอกุศล เป็นความอยากเพื่อตัวตนของเรา อยากได้ อยากเอา อยากมี อยากเสพ อยากเป็น อยากทำลาย

คนมีฉันทะรักที่จะทำเหตุของความเจริญ คนมากด้วยตัณหาได้แต่รอเสพผลของความเจริญนั้น พูดสั้นๆว่า พวกฉันทะเป็นนักสร้าง มีความสุขในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม พวกตัณหาเป็นนักเสพมีสุขต่อเมื่อได้เสพ จุดต่างที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ ตลอดกระบวนการของความอยากแบบฉันทะนี้ มีแต่ความอยาก แต่ไม่เกิดตัวผู้อยาก เมื่อไม่สมอยากจึงไม่กระทบกระทั่งในจิตใจ ตรงข้ามกับกระบวนการของตัณหา ที่จะต้องเกิดมีอัตตาตัวตนขึ้นมาเป็นผู้เสพ เป็นเจ้าของ เป็นผู้ครอบครอง เมื่อมนุษย์พัฒนาขึ้น ชีวิตก็ลดขบวนงานของ อวิชชา > ตัณหา > เจตนา (อกุศลธรรม) ให้น้อยลงไป พร้อมกันนั้น ก็เปิดให้ขบวนงานที่ก้าวหน้าของ ปัญญา > ฉันทะ > เจตนา (กุศลธรรม) ที่เป็นความอยากให้สิ่งนั้นๆ ดีงามสมบูรณ์ตามสภาวะของมัน เข้ามาดำเนินการมากขึ้นๆ จนกลายเป็นวิถีชีวิตของอริยชนในที่สุด

จะเห็นว่าเมื่อยกเอาตัณหาออกไปแล้ว การเคลื่อนไหว การกระทำ ก็ยังคงดำเนินต่อไป แถมดีขึ้นอีกด้วย จึงควรหันไปสร้างเสริมปัญญา ปลูกฉันทะขึ้นแทน อย่างไรก็ตาม ในหลายกรณี ตัณหา สามารถนำมาใช้เป็นอุบายในการนำเข้าไปให้ถึงจุดหมายได้ เช่นตัวอย่างหนึ่งในพระไตรปิฎก ภิกษุรูปหนึ่ง (พระนันทะ ภายหลังบรรลุอรหัตตผล เป็นเอตทัตตะทางด้าน อินทรีย์สังวรณ์) เกิดความคิดถึงคู่รัก เบื่อหน่ายพรหมจรรย์ คิดจะสึก พระพุทธเจ้าทรงทราบ จึงทรงพาไปเที่ยวชมนางฟ้า ภิกษุนั้นหายคิดถึงคู่รัก เกิดความอยากได้นางฟ้าแทน พระพุทธเจ้าจึงตรัสรับรองว่าภิกษุนั้นจะได้นางฟ้า ๕๐๐ ตน โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ ต่อมาเมื่อตั้งใจปฏิบัติแล้ว จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ภิกษุนั้นก้าวหน้าต่อไปจนบรรลุอรหัตตผลในที่สุด

ซึ่งวิธีการล่อด้วยตัณหานี้ ไม่ปรากฏว่าท่านใช้บ่อย ท่านคงใช้เมื่อปัจจัยแวดล้อมต่างๆ กำหนดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด และคงใช้อย่างระมัดระวัง โดยคำนึงถึงผลติดตาม และวิธีนี้จะสำเร็จก็ต่อเมื่อตัณหาชักจูงให้เกิดฉันทะขึ้นมาร่วมด้วย มีข้อสังเกตว่า คนไทยทั่วไปโดยเฉพาะชาวพุทธไทยนี้เอง พอพูดถึงความอยาก ก็มักจะบอกว่าไม่ดี ไม่ถูก ใช้ไม่ได้ แล้วก็ชอบบอกกัน สอนกันไม่ให้อยาก ซึ่งนับว่าเป็นอันตราย อาจกลายเป็นการตัดรอนพัฒนาการของคน และขัดขวางการพัฒนาสังคมประเทศชาติ ส่วนอีกพวกหนึ่งก็เลยเถิดไปในทางตรงข้าม ชอบพูดชอบสอนว่าให้อยากได้อยากเอา อยากมั่งอยากมี บางทีถึงกับสอนให้โลภ อยากเด่นดัง เป็นใหญ่เป็นโต บอกว่าอย่างนี้สังคมจึงจะพัฒนา แต่ไม่ได้พัฒนาจริงเลย มีแต่พัฒนาไปสู่ความไม่ยั่งยืน จนถึงพินาศ พาคนพาโลกออกจากสันติภาพ ทั้งสองพวกนี้ ก็คือสุดโต่งไปคนละด้าน แต่เหมือนกันคือไม่รู้จักความอยาก ไม่รู้ไม่เข้าใจธรรมชาติของความต้องการ แล้วก็จัดการกับความอยากนั้นไม่ถูกต้อง

เรื่องความอยากนั้น เมื่อแยกได้แล้ว เรื่องราวอะไรต่างๆ ก็จะกระจ่างแจ้งชัดเจนขึ้นอย่างมากมาย ฉันทะในกรณีที่ใช้กับสรรพสัตว์ โดยเฉพาะมนุษย์ด้วยกันนี้ เป็นส่วนสำคัญ ท่านจึงมีศัพท์พิเศษให้แทนที่จะใช้คำว่าฉันทะคำเดียว คือ แยกเป็น ๔ คำ ได้แก่ เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา โดยใน ๓ ขั้นแรก เป็นขั้นของความรู้สึก มาจบเต็มที่อุเบกขา ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เกิดจากมีปัญญาเข้ามาร่วมเพื่อรักษาธรรม เป็นตัวสร้างสมดุล ให้ ๔ ข้อ ครบบริบูรณ์เต็มที่นั่นเอง จึงเป็นพระพรหมผู้อภิบาลโลกได้จริง ตามความหมายในแบบของพระพุทธศาสนา (พรหมวิหาร ๔ : ธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ)

“ถึงผู้ใดจะชนะเหล่าชน ได้พันครั้งในสงคราม ก็หาชื่อว่าเป็นผู้ชนะยอดเยี่ยมไม่ ส่วนผู้ใดชนะตนคนเดียวได้ ผู้นั้นแล ชื่อว่าผู้ชนะยอดเยี่ยมในสงคราม “ผู้ใดเกียจคร้าน หย่อนความเพียร ถึงจะมีชีวิตอยู่ได้ร้อยปี ก็ไม่ดีอะไร ชีวิตของผู้เพียรพยายามจริงจังมั่นคง เพียงวันเดียวยังประเสริฐกว่า” (สหัสสวรรค)



วันพุธ

ปฏิจจสมุปบาทอย่างง่ายๆสำหรับผู้เริ่มศึกษา

ท่านผู้อ่านผู้ศึกษาคงเคยได้เห็นมาบ้างแล้วว่าหลักปฏิจจสมุปบาทมีความสุขุมลุ่มลึกเพียงใด ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยที่จะทำความเข้าใจให้กระจ่าง ทั้งในด้านความหมายของคำศัพท์ และด้านความเป็นไปของกระบวนธรรม รวมไปถึงการที่ปฏิจจสมุปบาทนั้นสามารถแสดงยักเยื้องไปในรูปแบบต่างๆเช่น แทนที่ อวิชชา ด้วยกุศลมูล ในปฏิจจสมุปบาทนิโรธวาร (แสดงการดับทุกข์)

สำหรับในเบื้องต้น ผู้บันทึกขอเสนอสำนวนการอธิบายปฏิจจสมุปบาท (สมุทยวาร, แสดงกระบวนการเกิดทุกข์) อีกสำนวนหนึ่งให้พิจารณา ซึ่งโปรดเข้าใจว่าไม่ใช่การสรุปหลัก เป็นเพียงการพยายามอธิบายวงจรปฏิจจสมุปบาทแบบข้ามภพชาติอย่างง่ายๆโดยยอมเสียอรรถและพยัญชนะบางส่วนที่สุขุมลุ่มลึกไป ด้วยวิธีการรวบเข้ามาเป็นช่วงๆ เพื่อให้สะดวกในการมองภาพรวม ตามแนวที่อรรถกถาจารย์ท่านได้แสดงไว้แล้ว เสมือนการปีนเชือกเส้นเดียวขึ้นที่สูง ถ้าเชือกเส้นนั้นมีการขมวดปมไว้เป็นระยะ สำหรับจับยึดพยุงตัว ก็คงจะปีนได้ง่ายขึ้น แลกกับการที่เชือกนั้นต้องบิดเสียรูปไปบ้าง ขอเริ่มต้นด้วยการชวนให้ท่านลองพิจารณาตนเองดูว่า

👉 เราย่อมมีกิเลสตัณหา และความไม่รู้แจ้ง มาแต่เดิมเป็นธรรมดา (อดีตกิเลส : อวิชชา)

👉 ด้วยแรงจูงใจนั้นเป็นเหตุให้เกิดเจตนาในการทำสิ่งต่างๆในอดีตที่ผ่านมาแล้ว (อดีตกรรม : สังขาร)

👉กรรมในอดีตส่งผลให้เกิดวิบาก คือ ตัวเราในปัจจุบัน พร้อมทั้งการเสพเสวยสุข และทุกข์ (ปัจจุบันวิบาก : วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา)

👉เพราะความไม่รู้แจ้ง เมื่อได้เสพสุขย่อมติดใจ เมื่อได้เสวยทุกข์ย่อมขัดใจ (ปัจจุบันกิเลส : ตัณหา อุปาทาน)

👉ด้วยแรงจูงใจนั้นเป็นเหตุให้เกิดเจตนาในการทำสิ่งต่างๆในปัจจุบัน (ปัจจุบันกรรม : ภพ)

👉กรรมในปัจจุบันส่งผลให้เกิดวิบาก คือ ตัวเราในอนาคตซึ่งล่วงกาลผ่านวัย เข้าสู่มรณะ (อนาคตวิบาก : ชาติ ชรามรณะ)

เมื่อกิเลสตัณหา และความไม่รู้แจ้ง (อวิชชา) ยังมีอยู่ ย่อมส่งผลให้วงจรหมุนเวียนต่อไปสู่ภพชาติใหม่สืบเนื่องเป็นวัฏฏะ หาที่สุดเบื้องต้นและเบื้องปลายมิได้

ศึกษาเพิ่ม 🔎ปฎิจจสมุปบาท 



วันศุกร์

การเวียนว่ายตายเกิด ๒

กลับไปการเวียนว่ายตายเกิด 🔰หน้าแรก

ถ้าหากว่าจะพิจารณาแล้วจะเห็นว่าธรรมะในพุทธศาสนานี้ไม่ใช่จะเกณฑ์คนทุกคนให้เป็นพระอรหันต์ในพริบตาเดียวหมด ถ้าไปถืออย่างนั้นละก็เอ่ยคำอะไรจะไปนิพพานกันร่ำไปอย่างนี้น่ากลัวพุทธศาสนาจะไม่ได้แพร่หลายยั่งยืนถึงทุกวันนี้เป็นแน่ เพราะว่าธรรมะในพุทธศาสนามีหลายชั้น หลายวิธีการเหมือนกับอัธยาศัยของสัตว์ตั้งแต่โง่กระทั่งถึงคนฉลาด เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาจึงเป็นสาธารณะประโยชน์แก่ผู้ที่น้อมนำไปปฏิบัติ ได้ทุกชั้นทุกวัย ไม่ใช่จะเกณฑ์คนให้เป็นพระอรหันต์กันหมดในพริบตาทั้งโลก เป็นไปไม่ได้ เพราะเรายังต่างกรรมต่างวาระ ต่างอัธยาศัย

อย่างไรก็ตาม เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดนี้เป็นประเด็นสำคัญที่สุดในพุทธศาสนา เราจะเป็นชาวพุทธที่สมบูรณ์ไม่ได้ ถ้าเราไม่เชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิดอันนี้ สัมมาทิฏฐิในองค์มรรคในมรรค ๘ นี่ สัมมาทิฏฐิแบ่งเป็น ๒ ชั้น คือ โลกียสัมมาทิฏฐิ โลกียสัมมาทิฏฐิได้แก่อะไร ได้แก่ กัมมัสสกตาญาณ ถ้าคนที่มีกัมมสกตาญาณเชื่อในเรื่องว่าทำกรรมได้รับผลแห่งกรรมนั้นเท่ากับเชื่อว่าจะต้องมีเวียนว่ายตายเกิด ถ้าเชื่อกรรมก็ต้องเชื่อเวียนว่ายตายเกิดเป็นเงาตามตัว คน ๆ นั้นก็ขาดโลกียสัมมาทิฏฐิ เมี่อไม่มีโลกียสัมมาทิฏฐิแล้ว โลกุตตรสัมมาทิฏฐิก็เกิดไม่ได้ โลกุตตรสัมมาทิฏฐิได้แก่การเห็นแจ้ง ในอริยสัจจ์ ๔ เป็นโลกุตตรสัมมาทิฏฐิแต่การที่จะเห็นแจ้งในอริยสัจจ์ ๔ ได้นั้น คนนั้นจะต้องมี โลกียสัมมาทิฏฐิเป็นบุพภาค ไม่มีโลกียสัมมาทิฏฐิเป็นบุพภาคแล้ว การเห็นแจ้งในอริยสัจจ์เป็นไปไม่ได้ คือพูดง่ายๆ ว่าถ้าไม่มีกัมมัสสกตาญาณเสียแล้ว ที่ไหนจะมาเชื่อเรื่องมรรคผลนิพพาน ถ้าคนเราไม่มีกัมมัสสกตาญาณแล้ว ไม่เชื่อเรื่องมรรคผลนิพพานอย่างเด็ดขาด

อันนี้แหละครับเป็นปัจจัยสำคัญที่ว่าทำอย่างไรจะทำให้กัมมัสสกตาญาณในคนปัจจุบันนี้มีมาก ๆ เพราะความชั่วในสังคมปัจจุบันเกิด เพราะคนในสังคมปัจจุบันนี้ ขาดกัมมัสสกตาญาณ ขาดโลกียสัมมาทิฏฐิ โลกุตตรสัมมาทิฏฐินี่เราอย่าเพิ่งไปหวังเลย เอาแค่โลกียสัมมาทิฏฐิ ก่อนว่าทุกวันนี้เราจะช่วยสังคมให้ปลอดภัยจากเรื่องความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมได้อย่างไร ถ้าหากว่าเราทุกคนเชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิดแล้ว สังคมก็จะเป็นสังคมที่ปลอดโปร่งสบาย เรื่องการทำร้ายเรื่องการเบียดเบียนก็จะบรรเทาเบาบางลงเหมือนอย่างสังคมสมัยโบราณ ซึ่งเป็นสังคมของชาวพุทธแท้ ๆ กลัวบาปกลัวกรรมกัน เรื่องการทำร้ายคดีอุกฉกรรจ์แปลก ๆ ที่ทุกวันนี้มีอยู่ในครั้งกระโน้นก็ไม่มี อันนี้แหละครับสำคัญมาก เพราะเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตอบปัญหาบางครั้ง ถ้าหากว่าไม่พิจารณา ก็นึกว่าพระพุทธเจ้าปฏิเสธเรื่องชาติหน้า อย่างตอบวัชชโคตรปริพาชก ถ้าไปอ่านเพียงครึ่งเดียวเหมือนพระพุทธเจ้าไม่ตอบ ก็แสดงว่าพระพุทธเจ้าบอกว่าชาติหน้าไม่มีซิ ถ้านึกอย่างนั้นเข้าใจผิด ต้องไปดูตอนปลายว่าพระพุทธเจ้าพูดกับวัชชโคตรว่าอย่างไร แล้ววัชชโคตรมีสันดาน มีทิฏฐิมาก่อนอย่าไร แล้วเพราะเหตุใดพระพุทธเจ้าจึงไม่พูดกับวัชชโคตรทันทีทันควัน ว่าชาติหน้ามีอะไรไปเกิด นี่เราต้องพิจารณาโดยโยนิโสมนสิการให้ดีว่าข้างหน้าข้างหลังชนปลายอย่างไร โดยมากคนที่นึกอย่างนั้น ไปจับเอาความข้างเดียวมาพูด ไม่ได้ดูความถ่องแท้ทั้งเบื้องต้นเบื้องหลัง แล้วก็บอกว่าพระพุทธศาสนานี่ปฏิเสธภพชาติ นี่เป็นเรื่องนอกศาสนาเป็นเรื่องศาสนาพราหมณ์ พระพุทธเจ้าแท้ ๆ ท่านแสดงมีแต่เรื่องพ้นทุกข์อย่างเดียว เรื่องจะไปนิพพานอย่างเดียว เรื่องนอกนั้นเป็นเรื่องนอกศาสนา เป็นพราหมณ์ทั้งนั้นแหละ นึกอย่างนั้นเป็นความเข้าใจผิด

คราวนี้ถ้าจะเกิดชาติหน้ามีอยู่ การเวียนว่ายตายเกิดมีอยู่ ก็มักจะมีปัญหาขึ้นมาว่าทำไมเรายังระลึกชาติไม่ได้ ถ้าชาติหน้ามี อะไรเป็นเหตุที่ให้เราระลึกชาติไม่ได้ และเหตุที่เป็นเหตุให้เราระลึกชาติไม่ได้?

ไม่ใช่อื่นไกลหรอกครับ เพราะว่า เรามารับ จิตตชรูป อุตุชรูป อาหารชรูปในปัจจุบันภพ รูปที่เราติดมาแต่อดีตภพเกิดจากอดีตกรรมนี่ มี 🔎กัมมชรูป อันเดียว กัมมชรูปที่เกิดพร้อมในปฐมปฏิสนธิขณะจิต กัมมชรูปเกิดหยั่งลงสู่ครรภ์ของมารดา ปฏิสนธิจิตเกิดขณะต้นกัมมชรูปก็เกิดพร้อมทีเดียว อันนี้กัมมชรูปนี้สืบมาจากอดีต อดีตกรรม ปรุงโดยตรง สายตรงมาทีเดียว แต่ว่าอาหารชรูป อุตุชรูป เรามารับเอารูปใหม่ในปัจจุบันภพ กายเนื้อ กายหยาบที่เราเห็นอยู่นี้ มหาภูตรูปนี่เรามารับเอาใหม่ในปัจจุบันภพ รับเอาใหม่อันสำเร็จมาจากเลือดเนื้อเชื้อไขของพ่อแม่ร่วมกัน เพราะฉะนั้นมันสมองคือ สมองของเรานี่แหละก็เป็นของใหม่ ไม่ใช่ของเก่า มันสมองนี่เป็นรูปใหม่ในปัจจุบันภพ ไม่ใช่ของเก่าสืบมาจากชาติก่อน ของเก่าที่เป็นส่วนรูปธาตุมาจากชาติก่อนมีเพียงกัมมชรูปอย่างเดียว

คราวนี้เมื่อมันสมองเป็นของใหม่ มันสมองเท่ากับว่าเป็นเครื่องมือสำหรับให้จิตเหมือนกระแสไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าจะปรากฏจะมีปฏิกิริยาออกมาก็ต้องผ่านไดนาโม ถ้าไม่มีเครื่องไดนาโมแล้ว ไฟฟ้าจะไม่มีปฏิกิริยาออกมา ทุกวันนี้ในอากาศเรานี่มีไฟฟ้าทั้งนั้นแหละ แต่ที่ไม่มีปฏิกิริยาเพราะเรามองไม่เห็นมัน เพราะว่ายังไม่มีเครื่องเข้าไปจับไปกระจายพลังงานมันออกมา ไปกลั่นกรองพลังงานมันออกมา เราก็ยังไม่สามารถสัมผัสไฟฟ้าได้ แต่ว่าความจริงแล้ว ไฟฟ้ามีอยู่รอบบรรยากาศในรอบตัวเรานี่ฉันใด จิตก็เหมือนกัน จิตสืบสันตติมาจากภพเก่าเป็นองค์แห่งภพ เก็บเอาพฤติกรรม ต่างๆ ในชาติก่อน ๆ เอาไว้ แต่จิตนั้นจะสำแดงพฤติการณ์ออกมาได้ก็ต้องผ่านสมอง ผ่านทางสมองออก แล้วสมองก็สั่งงานไปทางประสาท ทางร่างกายอีกชั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้นท่านจึงเปรียบบอกว่า สมองนี่เหมือนกับเครื่องจักร ชีวิตกับร่างกายเหมือนกับลำเรือ มันสมองเหมือนเครื่องจักร ส่วนผู้คุมเครื่องจักร กัปตันเรือคือ 
🔎จิต



มีเพียงลำพังกัปตันเรือ แต่ว่าไม่มีเครื่องเรือก็ไม่มีลำเรือก็ไม่สำเร็จอีก มีแต่ลำเรือ มีเครื่องเรือ ไม่มีกัปตันเรือ เรือลำนั้นก็เป็นซาก ทำอะไรไม่ได้ แล่นก็ไม่ไป ไม่มีคนคุมคนจัดการให้เครื่องมันเดิน มันก็แล่นไม่ไปฉันใด ชีวิตกับร่างกายมันสมองก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมื่อมันสมองเป็นเนื้อก้อนใหม่ ๆ ที่สำเร็จในปัจจุบันภพเช่นนี้แล้ว มันสมองก้อนนี้จึงไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะทำให้จิตระลึกชาติเก่า ๆได้ เพราะเป็นของใหม่ในปัจจุบัน ก็คิดได้ทำได้แต่ของใหม่ ๆ

จิตเองแม้จะระลึกชาติก็ระลึกไม่ออก เพราะอะไร เพราะความที่จิตนั้นถูกความเศร้าหมองของกิเลสสะกดเอาไว้ ท่านเปรียบจิตเหมือนกับบ่อน้ำ บ่อน้ำที่แสนจะลึก แล้วก็อารมณ์ต่างๆ หรือพฤติกรรมต่างๆ ที่เราทำมาแต่ชาติภพเก่า ๆ เหมือนกับเราโยนเอาทัพพสัมภาระวัตถุต่างๆ ลงในบ่อน้ำนั้น โยนทับถมกันเรื่อยไป ที่โยนไปก่อน ๆ ก็ถูกของใหม่ ๆ ทับเอาไว้ มองไม่เห็น เราจะเห็นได้เฉพาะที่เพิ่งจะโยนประเดี๋ยวประด๋าวใหม่ๆ เมื่อกี้นี้ โยนเมื่อกี้นี้แต่โยนเมื่อกี้นี้ขณะที่ยังไม่จมถึงก้นบ่อก็ยังพอเห็น แต่พอจมถึงก้นบ่อแล้วก็ไม่เห็นอีก เพราะอะไร เพราะความขุ่นของน้ำ ความขุ่นอันนี้ก็คือ กิเลส กิเลสตัณหาที่มันเกาะเป็นสนิมใจ เกาะกันมา ทับถมกันมา ธรรมดาบ่อน้ำของโยนมากก็จะไม่เห็นอยู่แล้วนะ มิหนำซ้ำเจ้าน้ำในบ่อนั้น ยังเป็นน้ำขุ่นอีกเสียด้วย ขุ่นอย่างน้ำครำอย่างนี้ เพราะฉะนั้นของอะไรร้อยแปด โยนลงไปจึงไม่มีเห็นหรอก ไม่มีเห็น ขณะดังป๋อมใหม่ ๆ พอเห็น พอรู้ แต่โยนแล้วไม่ใช่วันเดียวสองวันตั้งหลายร้อยอเนกอันนตชาติ แล้วเราจะไประลึกได้อย่างไร ไม่มีทางระลึกได้ มิหนำซ้ำสดๆ ร้อนๆ เช่นว่าเราตายปุบเกิดปับอย่างนี้ ควรจะระลึกชาติเก่าได้ยังระลึกไม่ได้ ก็เพราะอะไร เพราะมาเจอมันสมองก้อนใหม่นี่มาเป็นอุปสรรคสำคัญ คอยกีดกั้นเอาไว้  มันสมองก้อนนี้แหละที่เรารับจากพ่อแม่ในภพปัจจุบันนี้แหละ  มันกีดกั้นเอาไว้ บังเอาไว้ ถ้าจะเปรียบ มันสมองก็เหมือนหนึ่งวัตถุแท่งทึบที่แสงไม่สามารถทะลุไปได้มากีดกั้นเอาไว้ พฤติกรรมของจิตในอดีตอารมณ์ในอดีต ภวังค์ไม่สามารถที่จะมาปรากฏได้ก็เพราะอานุภาพของสมองในปัจจุบันนี้กีดกั้นเอาไว้ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งเกิดเพราะความขุ่นมัวของกิเลสในพื้นเพของจิต อีกประการหนึ่งเกิดเพราะว่าพฤติกรรมต่างๆ ที่ทับถมหมักหมมอยู่ในพื้นเพของจิตใจมีมากมายก่ายกองเหลือเกิน จนกระทั่งเราไม่สามารถที่จะจับต้นชนปลายถูกว่าอะไรเป็นอะไร วัตถุสิ่งนั้น เพราะมันทับถมมากมายหลายโกฎิหลายพันล้าน สิ่งอยู่ในบ่อน้ำบ่อเดียว คือ จิตนี่แหละครับ ๓ กรณี เหตุนี้เป็นเหตุให้เราระลึกชาติไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เราเกิดสดๆ ร้อนๆ ตายปุบเกิดปับเรายังระลึกไม่ได้เลย



การเวียนว่ายตายเกิด ๑

ท่านสาธุชนทั้งหลาย หัวข้อปาฐกถาธรรมวันนี้เป็นการพูดข้อเบ็ดเตล็ดบางสิ่งบางอย่างที่ยังเป็นปัญหาในกลุ่มชาวพุทธมามกะของเรา เรื่องเบ็ดเตล็ดที่เป็นปัญหาที่ชาวพุทธของเรา พูดกันถกเถียงกันอยู่นั้นไม่ใช่มีอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ความจริงแล้วถ้าจะประมวลเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่สมัยพุทธกาลลงมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ เรื่องราวก็มีมาก เป็นปัญหาที่น่าขบคิดทั้งนั้น เพราะในวันนี้จะได้นำเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่มาวิจารณ์สักสองเรื่องด้วยกันก่อน

🔅เรื่องแรกก็คือปัญหาเรื่องของ การเวียนว่ายตายเกิด
        เรื่องนี้ไม่ว่าจะไปพูดในที่ใด ถ้ายิ่งไปพูดตามโรงเรียนด้วยแล้วมักจะมีนักเรียนนักศึกษาเอาปัญหานี้มาถามว่าตายแล้วเกิดจริงหรือไม่จริง สวรรค์นรกมีจริงหรือไม่จริง ถามกันอย่างนี้บ่อย และก็เป็นปัญหาที่มีมาก่อนพุทธกาลแล้ว เคยมีคนไปทูลถามพระพุทธองค์ก็เคย แล้วพระพุทธองค์ก็ได้ตอบไปแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องกันเรื่อยมากระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ และเชื่อว่าจะต้องเป็นปัญหาต่อเนื่องกันต่อไปจนกว่ามนุษย์ในโลกนี้จะไม่มี

คือถ้าหาว่าในโลกนี้ยังมีมนุษย์อยู่ ปัญหาเรื่องว่าสงสัยว่าตายแล้วเกิดหรือไม่นี้มันก็มีอยู่เรื่อยไปละครับ อันนี้ก็น่าจะเป็นประเด็นอันหนึ่งที่เราน่าจะเอามาวิจารณ์กันเกี่ยวกับปัญหาเรืองนี้ ปัญหาตายแล้วเกิดหรือไม่ ถ้าหากว่าจะพูดตามนัยในพระพุทธศาสนา การตอบปัญหาในพระพุทธศาสนาเรา พระพุทธเจ้า ท่านได้เสนอวิธีการที่จะโต้ตอบปัญหานี้ออกเป็น ๔ ประการด้วยกัน คือว่าปัญหาบางอย่างเมื่อมีผู้ตั้งขึ้นแล้ว ผู้ที่จะแก้ปัญหาก็ต้องตอบด้วยวิธียืนกระต่ายขาเดียว ปัญหาประเภทนี้เรียกว่า เอกังสพยากรณ์ คือ การตอบโดยการยืนกระต่ายขาเดียว

ปัญหาบางอย่างตอบด้วยวิธีการยืนกระต่ายขาเดียวไม่ได้ จะต้องกล่าวจำแนกตามประเภทตามเหตุการณ์ อย่างนี้เรียกว่า วิภัชพยากรณ์ 

ปัญหาบางอย่างผู้ตั้งปัญหาถามขึ้นแล้ว ผู้ตอบก็ต้องเอาคำถามของเขานี่ยันผู้ถามอย่างนี้ เรียกว่าย้อนหรือเรียกว่าศอกกลับ ถ้าจะว่าไปแล้วก็เรียกว่าศอกกลับก็ว่าได้ เรียกว่า ปฏิปุจฉาพยากรณ์

ปัญหาบางอย่างตั้งขึ้นมาถามแล้วผู้ถามมีเจตนาที่ไม่ใคร่จะบริสุทธิ์ ผู้ตอบพิจารณาเห็นว่า ตอบไปแล้วไม่เกื้อกูลต่อประโยชน์ทั้งใน อดีต ปัจจุบันและอนาคต ก็เป็นสิทธิที่ผู้ตอบจะยกเลิก ยกปัญหาเสีย ไม่ตอบ อย่างนี้เรียกว่า ฐปนียพยากรณ์

เป็นวิธีการตอบปัญหาในพระพุทธศาสนา ๔ ประการ วิธีการตอบปัญหา ๔ ประการนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงใช้มาตลอดสมัยของพระองค์ในการโต้ตอบกับพวกสมณพราหมณ์ เดียรถีนิครนถ์ต่างๆ ที่เข้ามาลองดีพุทธิปัญญาของพระองค์ หรือผู้ที่เข้ามาตั้งคำถามโดยความเจตนาบริสุทธิ์ ต้องการจะมีความรู้ความสว่างจากพระองค์ก็ต้องอาศัยการพิจารณาของพระองค์ว่าปัญหาเหล่านี้ควรจะตอบด้วยวิธีอะไร ควรที่จะตอบด้วยเอกังสพยากรณ์ก็ตอบด้วยเอกังสพยากรณ์ ควรที่จะตอบด้วยวิภัชชพยากรณ์ก็ตอบด้วยวิภัชชพยากรณ์ ควรที่จะตอบด้วยปฏิปุจฉาพยากรณ์ก็ตอบด้วยปฏิปุจฉาพยากรณ์ แล้วควรที่จะตอบด้วยฐปนียพยากรณ์ก็ตอบด้วยฐปนียยพยากรณ์ไปตามเรื่อง


คราวนี้ปัญหาเรื่อง ตายแล้วเกิด ในข้อนี้ถ้าจะเอาวิธีการตอบปัญหา ๔ ประเด็นมาตอบปัญหาตายแล้วเกิดควรจะเอาอะไรมาตอบ ในวิธีการ ๔ ข้อ ก็ต้องดูเหตุการณ์อีกนะครับ ยกตัวอย่างเช่นว่ามีปริพาชกคนหนึ่งเป็นคนถือ🔎สัสสตทิฏฐิ ถึอว่าตายแล้วอัตตาของเขานี่ อัตตาตัวนี้แหละหรือเรียกว่าวิญญาณนี่แหละ ไปเวียนว่ายตายเกิด อัตตาตัวนี้ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แปรผัน มั่นคงดุจเสาระเนียด ชื่อว่า วัชชโคตรปริพาชก

วัชชโคตรมีทิฏฐิอย่างนี้ เมื่อตั้งปัญหาถามพระพุทธเจ้าว่าพระสมณโคดม ตายแล้วเอาอะไรไปเกิด ? 
พระพุทธเจ้าไม่ตอบ ไม่ตอบปัญหาข้อนี้แก่วัชชโคตร วัชชโคตรก็เสียใจ ก็ตัดพ้อพระพุทธเจ้าว่า แหม ช่างกระไรเลย เขาเองมีความสงสัยในปัญหาข้อนี้ ผูกใจมานานนักหนาแล้ว นึกว่าได้รับความสว่างในสำนักของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ากลับไม่ตอบปัญหา เขาตัดพ้อพระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็บอกว่าวัชชโคตร ถ้าหากว่าตถาคตจะตอบปัญหาข้อนี้แก่เธอ เธอเป็นสัสสตทิฉฐิอยู่แล้วนะ ถ้าตอบปัญหาข้อนี้แก่เธอเมื่อไหร่ละก็ เธอจะเข้าใจผิด ยิ่งจะเป็นสัสสตทิฉฐิยิ่งขั้นไปอีก เป็นทวีตรีคูณทีเดียวละ เพราะฉะนั้นปัญหาข้อนี้เราจึงไม่ตอบเธอ

เพราะอะไรถึงทรงแสดงอย่างนั้น เพราะว่าโดยความจริงแล้วคนที่ยังมีกิเลสอยู่ ตายแล้วก็ต้องเกิด ถ้าพระองค์ตรัสบอกกับวัชชโคตรบอกว่าคนเราตายแล้วเกิด วัชชโคตรซึ่งกำลังหลงผิดยึดถืออยู่แล้ว ว่าอัตตาของตัวนี่แหละมั่นคงดุจจะเสาระเนียด เป็นผู้ไปเวียนว่ายตายเกิดในชาติภพต่างๆ ก็ยิ่งจะเตลิดเปิดเปิงนึกวาพระพุทธเจ้ามาสนับสนุนทิฏฐิของตัวว่าจริง เมื่อคนเราตายแล้วต้องเกิด สิ่งที่ไปเกิดเป็นตัวนั่นแหละ คือตัวอัตตาที่ข้ากำลังถืออยู่ ณ บัดนี้นี่แหละ พระพุทธเจ้ามาสนับสนุนทิฏฐิของตัวอย่างนี้แหละ พระพุทธเจ้าจึงไม่ตอบวัชชโคตรก่อน

เป็นเหตุให้เขาเกิดความสงสัยยิ่งขึ้น เมื่อตัดพ้อเช่นนี้แล้วพระองค์จึงแสดง “🔎 ปฏิจจสมุปบาท “ ให้เห็นเป็นการทำลายสัสสตทิฏฐิของวัชชโคตรปริพาชก ถ้าไปตอบอย่างง่ายๆ บอกว่า เออ คนเราตายแล้วก็ต้องไปเกิดซิ วิญญาณนี่แหละไปเกิด ตอบง่าย ๆ อย่างนี้ คนที่เป็นสัสสตทิฏฐิก็จะหลงผิดเป็นสัสสตทิฏฐิยิ่งขึ้น จึงไม่ทรงตอบในเบื้องแรก แล้วก็แสดง ปฏิจจสมุปบาท ในเบื้องปลายเป็นการทำลายความเข้าใจผิดของวัชชโคตรปริพาชกไปเสีย นี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง

คราวนี้ถ้าหากว่าสำหรับคนที่เชื่ออยู่แล้วว่ากฏแห่งกรรมมีจริง การเวียนว่ายตายเกิดมีจริง แล้วสิ่งที่ไปเวียนว่ายตายเกิดนี่ ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน เราเขาอะไร แต่ทว่าเป็นสังขารธรรมที่เกิดดับสืบสันตติกันได้ ถ้าคนมีความเชื่อถือเช่นนี้มาตั้งปัญหากับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงพยากรณ์ไปตามเหตุคือ พยากรณ์ใช้วิธีวิภัชชพยากรณ์ บอกว่าถ้าคนยังมีกิเลสตัณหาอยู่ก็ต้องทำอะไรที่เป็นกรรม เมื่อมีกรรมแล้วก็มีวิบาก ชีวิตยังสั้นอยู่ในชาติหนึ่งภพหนึ่ง ไม่สามารถจะชดเชยวิบากในชาติหนึ่งภพหนึ่งได้ มันก็ต้องไปยกยอดในชาติหน้า ไปรับวิบากในชาติใหม่ภพใหม่ต่อไป อย่างนี้ก็ทรงตอบ อย่างเช่นมีอุบาสก อุบาสกหรือชาวพุทธในพระศาสนาที่มีความเข้าใจในเรื่องกฎของกรรมดีพอแล้ว ตั้งปัญหาถามพระองค์พระองค์ก็แสดงโดยวิภัชชพยากรณ์หรือแม้ไม่ต้องตั้งปัญหา พระองค์ก็แสดงอยู่แล้ว เช่นว่าแสดงกับพระอานนท์เถรเจ้า พยากรณ์คติพจน์ของบรรดาอุบาสก อุบาสิกาในนาลันทคามว่า อุบาสกชื่อนั้นมรณะไปแล้วกำลังเสวยอยู่ในสวรรค์ชั้นนั้น ๆ ตาม ทิฏฐานุคติอันชอบของผู้นั้น ทรงพยากรณ์ทิฏฐิอยู่แล้ว ทรงพยากรณ์คติของผู้ล่วงลับไปแล้วให้กับพระอานนท์เถระเจ้าฟัง แล้วก็ตรัสบอกว่าดูก่อนอานนท์ ที่ตถาคตพยากรณ์คติสัปรายภพของอุบาสกชื่อนั้น อุบาสิกาชื่อนั้น ณ. ตำบลบ้านนั้น ๆ เพราะเหตุไร ก็เพื่อว่าจะเป็นเครื่องพยุงใจให้แก่ปัจฉิมาชนตาชน คือชนที่เกิดภายหลัง ได้มีความกระปรี้กระเปร่า มีกำลังใจในการประกอบกุศลกรรม มีกำลังใจในการทำความดี เพราะมีข้อยืนยันว่าเมื่อทำกรรมดีอย่างนี้แล้ว ตายไปแล้วก็ได้เสวยผลกรรมดีในคติสัมปรายภพนั้น ๆ ทรงแสดงอย่างนี้

คนที่ไม่เข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวตะวันตกที่แรกเริ่มศึกษาพุทธศาสนาใหม่ ๆ พอรู้ว่าพระพุทธเจ้าปฏิเสธเรื่องโซล คือ วิญญาณหรือตัวอาตมัน ภาษาฝรั่งเรียกกันว่าโซลก็นึกว่าพุทธศาสนานี้ไม่ได้สอนเรื่องเวียนว่ายตายเกิด เรื่องเวียนว่ายตายเกิดเป็นเรื่องไร้สาระ หรือแม้แต่นักปราชญ์บางท่านในเมืองไทยเรา เวลาแสดงปาฐกถาก็ยังโจมตีว่าการพูดเรื่อง เวียนว่ายตายเกิดนี้เป็นเรื่องนอกคอก นอกบาลี ที่ไหนพระพุทธเจ้าจะมาสนใจเรื่องนี้ ควรจะพูดแต่เรื่องทางพ้นทุกข์ลัดนิ้วมือเดียว ทำอย่าไรถึงจะพ้นทุกข์ดีกว่า พูดเรื่องพุทธภาวะในจิตเดิมแท้นี่ดีกว่า จะได้พ้นทุกข์ไปไว ๆ ตรัสรู้เร็ว ๆ ดีกว่าจะไปมัวแต่พูดเรื่องเนิ่นช้า เรื่องเวียนว่ายตายเกิด เรื่องวัฏสงสาร เป็นเรื่อทำให้คนเนิ่นช้า ไปพูดเรื่องนี้ทำไม ปฏิจจสมุปบาทว่าที่จริงแล้วก็มีขณะ ปัจจุบันขณะเดียว นี่มติของบางท่านนะ แต่ไม่ใช่ทั่วไปหรอก บางท่านว่าปฏิจจสมุปบาทอยู่ในขณะจิต ปัจจุบันขณะเดียวอย่างนี้ โดยปฏิเสธอตีตอัทธา อนาคตอัทธาปฏิเสธหมด ว่าเรื่องการแบ่งปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องอดีต ปัจจุบัน อนาคต เป็นมติของพระอรรถกถาจารย์ ที่ไหนจะมีในบาลีพุทธพจน์ ปฏิเสธอย่างนี้ก็มีอยู่

🔰อ่านหน้าต่อไป


๓.๑ อารยธรรมวิถี (วิถีชีวิตของคนมีอารยธรรม)

ทางดำเนินเพื่อเข้าถึงธรรมของอริยชน, วิถีชีวิตของคนมีอารยธรรม

ในยุคสมัยแห่งบริโภคนิยม มีวัตถุสิ่งเสพปรนเปรออยู่เป็นอันมาก คนยุคปัจจุบันอาจมีความรู้สึกต่อนิพพานในทางลบ เห็นเป็นภาวะที่พึงผละหนี หรือรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลเหลือเกิน ไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ในสภาพเช่นนี้ นอกจากจะต้องพยายามสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับนิพพานให้เกิดขึ้นแล้ว มีภูมิธรรมระดับหนึ่งที่ควรช่วยกันชักจูงคนให้หันมาสนใจ คือความเป็นโสดาบัน ซึ่งเป็นอริยบุคคลระดับต้นในชุมชนอารยะ ซึ่งมีภาวะชีวิตที่ไม่ห่างไกลสำหรับปุถุชนทั้งหลาย แม้ในสมัยปัจจุบัน กลับจะเป็นที่น่าชื่นชมอย่างยิ่งอีกด้วย

แม้พระพุทธองค์เอง ก็ได้ตรัสแนะนำย้ำไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เหล่าชน ทั้งคนที่พวกเธอพึงอนุเคราะห์ และคนที่พอจะรับฟังคำสอน ไม่ว่าจะเป็นมิตร เป็นผู้ร่วมงาน เป็นญาติ หรือสาโลหิตก็ตาม พวกเธอพึงชักชวน พึงสอนให้ตั้งอยู่ ให้ดำรงมั่น ในองค์คุณของโสดาบัน ๔ ประการ” (มิตตามัจจสูตร)

“เลิศล้ำ เหนือความเป็นเอกราชบนผืนปัฐพี ดีกว่าการไปสู่สรวงสวรรค์ ประเสริฐกว่าสรรพโลกาธิปัตย์ คือ ผลการตัดถึงกระแสแห่งโพธิธรรม (โสดาปัตติผล)” (โลกวรรค)

หากว่ายังไม่แล่นรุดออกเดินทางจริง ก็ยังอาจก้าวมาอยู่ในขั้นเตรียมพร้อมที่จะเดินทางได้ เรียกว่าเป็นกัลยาณปุถุชน (ผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม) เริ่มได้ชื่อว่าเป็นผู้มีการศึกษา คือผู้ได้เล่าเรียน ได้รู้จักอารยธรรม หรือเป็นผู้ที่ได้ยินเสียงกู่เรียกแล้ว สำหรับในขั้นต้นนี้ สุตะ (การหาความรู้) ถือเป็นคุณสมบัติสำคัญของการพัฒนาชีวิต ที่จะก้าวไปในอริยมรรคา เพราะเมื่อมีความรู้ถูกต้องแล้ว ศรัทธาก็เกิดขึ้น และมีแรงที่จะปฏิบัติคุณธรรมอื่นๆ

“ผู้ใดเจริญด้วยศรัทธา และศีล กับทั้งสุตะ จาคะ และปัญญา, ผู้นั้น นับเป็นสัตบุรุษผู้ปรีชา ย่อมถือเอาสาระในโลกนี้ไว้แก่ตนได้”

“สตรีใดเจริญด้วยศรัทธา และศีล กับทั้งสุตะ จาคะ และปัญญา, สตรีเช่นนั้น เป็นอุบาสิกาผู้มีศีล ย่อมถือเอาสาระในโลกนี้ไว้แก่ตนได้” (วัฑฒิสูตร)

บทที่เกี่ยวข้อง : 🔎พระอริยะบุคคล
บทที่เกี่ยวข้อง : 🔎โสดาปัตติยังคะ ๔

หลักการครองชีวิตของคฤหัสถ์, คุณสมบัติของผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตทางโลก ๔ ประการ คือ

ประการที่ ๑. สัจจะ แปลว่า ความจริง, ซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริง ทำจริง
ประการที่ ๒. ทมะ แปลว่า การฝึกฝน, การปรับปรุงตนให้เจริญก้าวหน้าด้วยสติปัญญา (เน้นด้านปัญญา)
ประการที่ ๓. ขันติ แปลว่า ความอดทน, ตั้งหน้าทำหน้าที่การงานด้วยความขยันหมั่นเพียร มั่นในจุดหมาย ไม่ท้อถอย (เน้นด้านวิริยะ)
ประการที่ ๔. จาคะ แปลว่า ความเสียสละ, ใจกว้าง ไม่คับแคบเห็นแก่ตนหรือเอาแต่ใจตัว ไปจนถึงสละกิเลส

พระพุทธเจ้าทรงแนะให้คิดพิจารณาดูว่า
🔅มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างเกียรติยศ และความเคารพจากผู้อื่น ให้คนเราได้เท่ากับการมี “สัจจะ” หรือไม่
🔅มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างปัญญาให้คนเราได้เท่ากับการมี “ทมะ” หรือไม่
🔅มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างทรัพย์สมบัติให้คนเราได้เท่ากับการมี “ขันติ” หรือไม่
🔅มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างหมู่มิตรให้คนเราได้เท่ากับการมี “จาคะ” หรือไม่


สุขของคฤหัสถ์
หรือ คิหิสุข หรือ กามโภคีสุข ๔ (สุขของชาวบ้าน, สุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนควรมี)

อัตถิสุข : สุขเกิดจากความมีทรัพย์
โภคสุข : สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ ทั้งการเสพบริโภคและบำเพ็ญประโยชน์
อนณสุข : สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้
อนวัชชสุข : สุขเกิดจากความประพฤติสุจริต ไม่มีโทษ

บรรดาสุข ๔ อย่างนี้ อนวัชชสุข มีค่ามากที่สุด

คฤหัสถ์ที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่าเป็นผู้เลิศ ควรมีทั้ง ๔ สถาน
๑. แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม
๒. ได้มาแล้วก็เลี้ยงตนให้อิ่มหนำเป็นสุข
๓. แจกจ่ายแบ่งปันและใช้ทำความดี
๔. ไม่สยบมัวเมา ไม่หมกมุ่น บริโภคโภคะเหล่านั้นโดยรู้เท่าทันเห็นโทษ มีปัญญาทำตนให้เป็นอิสระหลุดพ้น เป็นนายเหนือโภคทรัพย์

“ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งแท้จริงได้ มีตนที่ฝึกดีแล้วนั่นแหละชื่อว่าได้ที่พึ่งที่หาได้ยาก” (อัตตวรรค)



วันพฤหัสบดี

๒.๗ ความไม่ประมาท

ชีวิตมนุษย์หรือสังคม จะเจริญอย่างเดียวไม่เสื่อมก็ได้ ปัจจัยสำคัญคือ ความไม่ประมาท ถ้ามนุษย์สามารถศึกษาพัฒนาตนเอง จนมีความรู้ความเข้าใจในอนิจจัง (ความเจริญและความเสื่อม) รู้เหตุปัจจัยที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมหลีกเลี่ยงแก้ไขป้องกันเหตุปัจจัยนั้น, รู้เหตุปัจจัยที่จะนำมาซึ่งความเจริญ ทำด้วยความเพียร ก็จะรักษาความเจริญป้องกันความเสื่อมได้ และทำให้เจริญยิ่งขึ้นไป นี่แหละคือ ความไม่ประมาท กล่าวอีกแง่หนึ่ง ความไม่ประมาท คือหลักที่ทำให้เราสามารถเอาประโยชน์จากอนิจจังได้

    บัณฑิตเพียงเห็นภัยมาถึงผู้อื่น ก็ไม่ประมาทขวนขวายเพื่อให้ตนพ้นไปจากภัยนั้น ส่วนผู้ที่มีปัญญาน้อยลงมา ต้องประสบทุกข์ภัยเองกับตัว จึงจะเกิดสติ เริ่มตั้งความเพียร ส่วนคนเขลาเมื่อประสบทุกข์ภัยกับตัวแล้ว ได้แต่คร่ำครวญ

    ความสำเร็จและความสุขสบาย มักทำให้เกิดความประมาท คนที่ประสบความสำเร็จด้วยความสามารถของตนเอง รวมไปถึงคนที่สุขสบายมาแต่ต้น เมื่อสุขสบายแล้วมักจะหยุดหรือเฉื่อยชา หลงเพลินในความสุขความสำเร็จนั้น ทำให้เกิดเป็นวงจรของความเจริญและความเสื่อมขึ้น

    ดังปรากฏซ้ำๆในประวัติศาสตร์ คือ เมื่อเจอความทุกข์ ก็ดิ้นรนขวนขวาย แล้วก็เจริญขึ้นมา แต่พอเจริญรุ่งเรืองแล้ว มีความสุขสำราญ พรั่งพร้อม ก็เริ่มหลงมัวเมา ไม่ขยันหมั่นเพียรทำกิจหน้าที่ ก็กลับเสื่อมลงไปใหม่ เป็นวงจรเช่นนี้ ดังนั้น เมื่อเจริญขึ้นแล้ว ไม่ประมาท รักษาความเพียรไว้ ทำกิจที่ควรทำ ก็จะรักษาความเจริญไว้ได้ รวมถึงทำให้เจริญยิ่งขึ้นไป ไม่มีความเสื่อม

อย่างไรก็ตาม พึงเข้าใจว่าบางเรื่องก็หลีกหนีความเสื่อมไม่พ้น เช่น ร่างกายส่วนที่เป็นรูปธรรม, ความเปลี่ยนแปลงต่างๆอันอยู่นอกเหนือจากที่เราสามารถควบคุมได้ ซึ่งเราก็ควรพิจารณารู้ทันว่า เหตุปัจจัยส่วนไหนเราทำได้ เราก็ทำ เราทำดีที่สุดได้แค่นี้ๆ ตามเหตุปัจจัย เราก็ใช้ประโยชน์จากอนิจจังได้ด้วย พร้อมกันนั้น เราก็ไม่ทุกข์ร้อนเกินไปเพราะความเปลี่ยนแปลงแห่งอนิจจัง


พึงยึดถือตามพุทธพจน์

“ผู้ปรารถนาโภคสมบัติอันโอฬาร ยิ่งๆขึ้นไป พึงมีความไม่ประมาท, บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาทในบุญกิริยาทั้งหลาย, บัณฑิตไม่ประมาท จึงยึดเอาได้ซึ่งอัตถะทั้ง ๒ ประการ คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ปัจจุบัน) และสัมปรายิกัตถะ (ประโยชน์เบื้องหน้า), คนที่เรียกว่าเป็นปราชญ์ เป็นบัณฑิต ก็เพราะบรรลุอัตถะ” (อัปปมาทสูตร)

“วันคืนเคลื่อนคล้อย อายุเหลือน้อยเข้าทุกที สัตว์โลกถูกมฤตยูห้ำหั่น ถูกชราปิดล้อม แม่น้ำเต็มฝั่ง ไม่ไหลทวนขึ้นที่สูง ฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมไม่เวียนกลับมาสู่วัยเด็กอีก ฉันนั้น” (เตมิยชาดก)

“อายุของมนุษย์ทั้งหลายน้อย สัตบุรุษพึงดูหมิ่นอายุที่น้อยนั้น พึงประพฤติเหมือนดังถูกไฟใหม้ศีรษะ การที่มัจจุราชจะไม่มาหานั้น เป็นอันไม่มี วันคืนย่อมล่วงไป ชีวิตก็หดสั้นเข้า อายุของสัตว์ทั้งหลายย่อมหมดสิ้นไป เหมือนดังน้ำในธารน้ำน้อย” (คุหัฏฐกสุตตนิทเทส)

“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญแม้ความตั้งอยู่ได้ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ต้องพูดถึงความเสื่อมจากกุศลทั้งหลาย เราสรรเสริญเพียงอย่างเดียว คือความก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปในกุศลธรรมทั้งหลาย” (ฐิติสูตร)

“ภิกษุยังไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ อย่าถึงความชะล่าใจด้วยเหตุเพียงศีลและวัตร ด้วยความเป็นพหูสูต ด้วยการได้สมาธิ ด้วยการนอนในที่สงัด หรือด้วยเหตุเพียงความดำริเท่านี้ว่า เราถูกต้องสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ ซึ่งปุถุชนเสพไม่ได้” (ธัมมัตถวรรค)

“ผู้ไม่ประมาท ความเจริญอย่างเดียวเป็นอันหวังได้ ไม่มีความเสื่อม” และปัจฉิมวาจา อันเป็นพุทธพจน์สำคัญยิ่ง “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม” (มหาปรินิพพานสูตร)



๒.๖ ถ้าปฏิบัติธรรมถูกทาง ต้องได้ปราโมทย์

พระพุทธเจ้าตรัสถึงปราโมทย์ (ความเบิกบานใจ) นี้บ่อยมาก สามารถตั้งเป็นจุดกำหนดได้เลยว่า เมื่อใดพระพุทธเจ้าตรัสแสดงความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมมาตามลำดับ พอการปฏิบัตินั้นเข้าทางถูกต้องดี ก็จะมาถึงจุดร่วมที่เดียวกันว่า “เกิดปราโมทย์” เช่น

เมื่อตั้งใจปฏิบัติดี รักษาศีลได้ถูกต้อง ไม่มีความเดือดร้อนใจ ก็เกิดปราโมทย์
ยกหลักธรรมคำสอนที่ได้เล่าเรียนมาพิจารณาเกิดความเข้าใจ ก็เกิดปราโมทย์
ดำเนินชีวิตดีงาม มีความมั่นใจว่า แม้ถึงคราวจะตาย ก็ต้องไปเกิดดีแน่ ก็เกิดปราโมทย์
ระลึกถึงพระพุทธคุณ มีความเลื่อมใสลึกซึ้ง แล้วเพียรพยายามปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไปโดยไม่ประมาท ก็เกิดปราโมทย์

อย่างไรก็ตาม ปราโมทย์ ปีติ สุข ไม่ใช่ว่าจะเป็นของดีทุกกรณี บางทีระคนอยู่กับเรื่องบาปอกุศล เช่นที่เกี่ยวกับอามิส และเกิดจากกิเลส จึงไม่ใช่ความเจริญก้าวหน้าในธรรมเสมอไป, ที่พึงประสงค์นั้น จะต้องไม่พึ่งพาหรือขึ้นต่ออามิส และไม่ต้องอาศัยกิเลส แต่เป็นอิสระ ทำให้จิตที่เป็นกุศลมีกำลังเข้มแข็ง (คัมภีร์อภิธรรม อธิบายว่า โลภะ เป็นเหตุให้เกิดโสมนัสจิตได้ เช่น ใกล้สิ้นเดือนก็รู้สึกปีติยินดีที่จะได้เงินเดือนไปจับจ่ายใช้สอยตามต้องการ เป็นต้น ทั้งนี้ ความสุขที่เกิดจากโลภะจิตเช่นนี้ ในระดับคฤหัสท่านไม่ได้ให้ปฏิเสธแต่แนะให้ไม่หมกมุ่นจนเกิดพอดี)

ถ้าใครปฏิบัติธรรมได้ผล ก็จะเกิดปราโมทย์ ส่วนถ้าเดินไม่ถูกทาง อาจจะเกิดภาวะตรงข้าม คือ ความเครียด เป็นต้น ซึ่งเป็นตัวรบกวน ตัวกีดขวาง จิตใจไม่ดี ไม่ปลอดโปร่ง เลยพัฒนาไม่ไป หรือเอาดีไม่ได้



๒.๕.๓.๒ วิธีเจริญสมาธิโดยใช้กรรมฐาน : อานาปานสติ /โอทาตกสิณ / อัปปมัญญา ๔

วิธีเจริญสมาธิโดยใช้กรรมฐาน
กรรมฐาน หมายถึง อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการงานของใจ, อุบายหรือวิธีฝึกจิตเจริญปัญญา

กรรมฐาน มี ๒ คือ
๑. สมถกรรมฐาน : กรรมฐานเป็นอุบายสงบใจ เจริญสมาธิ
๒. วิปัสสนากรรมฐาน : กรรมฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา (พิจารณาความเป็นไตรลักษณ์ของสภาวธรรม)

ในที่นี้ด้านสมถกรรมฐานจะยกตัวอย่าง อานาปานสติ, โอทาตกสิณ, อัปปมัญญา ส่วนด้านวิปัสสนาจะยกตัวอย่าง สติปัฏฐาน ๔ อย่างไรก็ตาม ในกรรมฐานทุกชนิดสามารถถือเป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนาขึ้นอยู่กับแง่ด้านในการปฏิบัติ เช่น การฝึกอานาปานสติเพื่อให้เกิดสมาธิเป็นด้านสมถะ ฝึกแล้วพิจารณาความเกิดดับของสภาวธรรมที่เกิดขึ้นขณะกำลังเจริญอานาปานสติก็เป็นด้านวิปัสสนา เป็นต้น

๑. สมถกรรมฐาน
เท่าที่พระอรรถกถาจารย์รวบรวมแสดงไว้ มี ๔๐ อย่าง ท่านแนะนำว่า แตกต่างกันโดยความเหมาะสมแก่ผู้ปฏิบัติ ซึ่งควรเลือกใช้ให้เหมาะกับลักษณะนิสัย ความโน้มเอียงของแต่ละบุคคล ที่เรียกว่าจริยา (จริต) ต่างๆ ถ้าเลือกได้ถูกกันเหมาะกัน ก็ปฏิบัติได้ผลดี และรวดเร็ว ถ้าเลือกผิด อาจทำให้ปฏิบัติได้ล่าช้า หรือไม่สำเร็จผล อย่างไรก็ตามอย่าถึงกับตายตัวทีเดียว พูดอย่างกว้างๆ กรรมฐานทุกอย่างก็เป็นประโยชน์ ช่วยข่มอกุศล และเกื้อหนุนกุศลธรรมได้ทั้งนั้น

“…ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงเจริญสมาธิเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วย่อมรู้ตามความเป็นจริง” (สมาธิสูตร)

อานาปานสติ
“ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธินี้แล เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นสภาพสงบประณีต สดชื่น เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข และยังอกุศลธรรมชั่วร้ายที่เกิดขึ้นแล้ว ให้อันตรธานสงบไปได้โดยพลัน เปรียบเหมือนฝนใหญ่ที่ตกในสมัยมิใช่ฤดูกาล ยังฝุ่นละอองที่ฟุ้งขึ้นในเดือนท้ายฤดูร้อน ให้อันตรธานสงบไปโดยพลัน ฉะนั้น” (เวสาลีสูตร)

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อกล่าวถึงอานาปานสติ ก็พึงกล่าวว่า อริยวิหารบ้าง พรหมวิหารบ้าง ตถาคตวิหารบ้าง, ภิกษุเหล่าใดยังเป็นเสขะ เมื่อปรารถนาธรรมอันยอดเยี่ยม ปลอดโปร่งจากโยคะ (โยคะ มี ๒ ความหมาย คือ กิเลส, ความเพียร) อานาปานสติอันภิกษุเหล่านั้นเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ, ภิกษุเหล่าใดที่เป็นอรหันตขีนาสพ อานาปานสติ ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และเพื่อสติสัมปชัญญะ” (อิจฉานังคละสูตร)

อานาปานสติ เป็นวิธีเจริญสมาธิที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญมาก ทรงสนับสนุนบ่อยครั้ง และพระพุทธองค์เองก็ได้ทรงใช้เป็นวิหารธรรมมาก ทั้งก่อนและหลังตรัสรู้ ปฏิบัติได้สะดวก ร่างกายผ่อนคลายสบายในขณะปฏิบัติ ส่งเสริมสุขภาพ ปราชญ์บางท่านชี้ให้สังเกตความแตกต่าง ระหว่างอานาปานสติ กับวิธีฝึกหัดเกี่ยวกับลมหายใจของลัทธิอื่นๆ เช่น โยคะ ว่าเป็นคนละเรื่องกันทีเดียว โดยเฉพาะว่า อานาปานสติ “เป็นวิธีฝึกสติ” “ไม่ใช่ฝึกการหายใจ” คือ อาศัยลมหายใจ เป็นอุปกรณ์สำหรับฝึกสติ

วิธีปฏิบัติ
พึงทราบว่า ตัวอย่างวิธีปฏิบัติในที่นี้ เขียนตามคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ ให้เห็นแบบแผนเดิม ผู้ปฏิบัติจะยักเยื้องไปอย่างอื่นอีกก็ได้ เช่น อย่างที่สำนักต่างๆในปัจจุบัน สอนให้ว่า พุทโธ แทนการนับเป็นต้น สาระอยู่ที่เป็นอุบายตรึงจิตไว้เท่านั้น

พึงหาสถานที่สงบสงัด นั่งในอิริยาบถที่ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะผ่อนคลายสบาย ไม่เมื่อยล้า และหายใจคล่องสะดวก โดยทั่วไปที่ได้ผลดีคือ นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง แต่สำหรับผู้ที่ไม่สะดวก ก็อาจนั่งบนเก้าอี้ ให้ตัวตรงสบาย หรืออยู่ในอิริยาบถอื่นที่สบายพอดี ในช่วงแรกของการลงมือปฏิบัติ พระอรรถกถาจารย์ได้เสริมวิธีการนับเข้ามา เพื่อช่วยในการตรึงจิตได้ดี โดยเริ่มแรกให้นับเป็นคู่ๆ คือ หายใจเข้านับ ๑ หายใจออก นับ ๑ เรื่อยไปจนถึง ๕/๕ แล้วตั้งต้นใหม่ จาก ๑/๑ ไปจนถึง ๖/๖ เพิ่มทีละคู่จนนับจาก ๑/๑ จนถึง ๑๐/๑๐ แล้วย้อนกลับไปตั้งต้นที่ ๑/๑ ถึง ๕/๕ ใหม่อย่างนี้เรื่อยไป

ต่อมาให้นับเร็ว คือเมื่อลมหายใจเข้าออกปรากฏชัดดีแล้ว คราวนี้ไม่ต้องคำนึงถึงลมเข้าใน หรือออกนอก กำหนดแต่ลมที่มาถึงช่องจมูก แล้วนับจาก ๑ ถึง ๕ (ไม่ต้องนับเป็นคู่) ๑ ถึง ๖ เรื่อยไปจน ๑ ถึง ๑๐ แล้วเริ่มใหม่ เมื่อใช้การนับเร็ว กรรมฐานก็จะปรากฏต่อเนื่อง กำหนดนับอย่างนี้เรื่อยไป จนกว่าเมื่อใด แม้ไม่นับแล้ว สติก็ยังตั้งแน่วอยู่ได้ในอารมณ์ คือลมหายใจเข้าออก (วัตถุประสงค์ของการนับ ก็เพิ่อให้สติตั้งอยู่ได้ในอารมณ์ ตัดความคิดฟุ้งซ่านภายนอกได้นั่นเอง)

เมื่อจิตอยู่กับลมหายใจโดยไม่ต้องนับแล้ว ก็หยุดนับเสีย ใช้สติตามลมหายใจอยู่ตรงจุดที่ลมกระทบ (ปลายจมูก หรือริมฝีปากบน) เปรียบเหมือนคนเลื่อยไม้ ตั้งสติไว้ตรงที่ฟันเลื่อยกระทบไม้เท่านั้น หาได้ส่ายตาไปตามหัวเลื่อย กลางเลื่อย ปลายเลื่อยไม่ แต่ทั้งที่ตามองอยู่ตรงที่ฟันเลื่อยกระทบไม้แห่งเดียว ฟันเลี่อยที่มาหรือไป เขาก็ตระหนักรู้ (ท่านว่าถ้าส่งจิตตามลมเข้าไป จะรู้สึกอึดอัด ถ้าส่งจิตตามลมออกไปข้างนอกจะฟุ้งซ่าน) ด้วยวิธีนี้ เมื่อกำหนดอารมณ์กรรมฐานเรื่อยไป นิมิตแห่งลมหายใจของผู้ปฏิบัติจะละเอียดยิ่งขึ้นไปตามลำดับ เมื่อผู้ปฏิบัติพยายามมีสติรักษาอารมณ์กรรมฐานนั้นไว้ (ซึ่งก็คือรักษาสมาธิด้วยนั่นเอง) มนสิการบ่อยๆ ให้เจริญงอกงาม ในที่สุด อัปปนาสมาธิ ก็จะเกิดขึ้น บรรลุปฐมฌาน

🔎อานาปานสติ เพิ่มเติม (ดูหัวข้อที่ ๑๐)

โอทาตกสิณ : กษิณสีขาว โดย (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. สารานุกรมพระพุทธศาสนา)

สาธุชนผู้จะเจริญกสิณชนิดนี้ พึงขดไม้เป็นวงกลมกว้างโดยศูนย์ไส้สัก ๑๖ นิ้ว หรือราวนั้น พอตาจับได้ถนัด อย่าให้เล็กเกินจนนัยน์ตาจับเอาอื่นด้วย หรือใหญ่เกินไปจนนัยน์ตาจับไม่ทั่ววง เอาผ้าขาวอันบริสุทธิ์หุ้ม แล้วเอาวางห่างจากที่นั่งสัก ๒ ศอกคืบ หรือราวนั้น พอเพ่งดูถนัด อย่าให้ชิดเกินไปจนนัยน์ตาจับไม่ถนัด แล้วพึงนั่งเพ่งดูโดยอาการตามถนัด ตากำหนดจำกสิณนั้นใจนึกถึงสีว่า “โอทาตัง โอทาตัง” แปลว่า ขาว ขาว คุมนัยน์ตาอันแลเห็น กับใจอันนึก ให้อยู่ที่กสิณพร้อมกัน กิริยาที่ทำนี้เรียกว่า บริกรรม ดวงกสิณเรียกว่า บริกรรมนิมิต กิริยาที่นึกว่า “โอทาตัง โอทาตัง” เรียกว่า บริกรรมภาวนา นี้เป็นชั้น ๑ (บริกรรม แปลว่า ทำซ้ำๆ)

ครั้นทำในชั้นนี้ชำนาญแล้ว ถึงตั้งใจจำกสิณนั้นให้ติดตา ลองหลับตาดูในระหว่างๆ ถ้ายังไม่ติดตา ลืมตาดูใหม่ ในสมัยใดจำได้ติดตา หลับตาลง ดวงกสิณปรากฏในใจเหมือนแลเห็น ในสมัยนั้น นิมิตที่ปรากฏในใจนั้น เรียก อุคคหนิมิต แปลว่านิมิตที่จิตจำได้ หรือนิมิตติดตา กิริยาที่นึกนั้น เรียก บริกรรมสมาธิ ที่กล่าวว่าปรากฏในใจนั้น เช่นกับคนขลาดได้พบสิ่งที่น่ากลัวอันให้ตกใจ หรือคนที่ผูกพันอยู่ในสิ่งหนึ่งหลับตาลง ย่อมแลเห็นสิ่งนั้นติดตา แต่ท่านไม่จัดว่าเป็นอารมณ์ของกัมกัฏฐาน เพราะเป็นเหตุตกใจ หรือเป็นเหตุติดข้อง บริกรรมสมาธินี้เป็นชั้นที่ ๒

ครั้นในชั้นนี้ช่ำชองแล้ว พึงลองหลับตานึกถึงนิมิตนั้นขยายให้ใหญ่บ้างเล็กบ้าง แต่อย่าให้เสียส่วนตามสัณฐาน ตัวอย่างเช่น รูปถ่ายของมีขนาดต่างกัน แต่ส่วนแห่งอวัยวะนั้นๆของรูปทั้งปวงทุกชนิด คงสมกันกับกาย ในสมัยใด จิตจำนิมิตนั้นได้จนขยายออกหรือย่นเข้าได้ สมัยนั้นนิมิตนั้นเรียกว่า ปฏิภาคนิมิต แปลว่านิมิตเทียบเคียง ภาวนานั้นเรียกว่า อุปจารภาวนา นี้เป็นชั้นที่ ๓

ผู้ทำได้แม่นยำจนถึงชั้นนี้แล้ว บำเพ็ญภาวนาต่อไปจนเข้าองค์กำหนดชั้นต้น (วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา) จัดได้ว่าบรรลุปฐมฌาน เป็นสมาธิแน่นแฟ้น อัปปนาสมาธินี้เป็นชั้นที่ ๔

ผู้ศึกษาในกัมมัฏฐานไม่ควรมุ่งเฉพาะคุณที่สูงอย่างเดียว ควรมุ่งเฉพาะคุณที่เป็นวิสัยของตน พึงเจริญกัมกัฏฐานอันเป็นที่สบายแก่ตน เช่น คนสามัญปรารถนาฐานันดรเป็นมหาอำมาตย์ จะได้สมหวังนั้นเทียวหรือถ้าไม่ได้ พยายามนั้นก็ไม่มีผล ใช้ในทางอื่นยังจะดีกว่า เพราะเหตุนั้น ต้องรู้จักกำลังของตน ทั้งแลเห็นช่องทางก่อน อุปมานี้ฉันใด ผู้จะเจริญกัมมัฏฐานก็พึงประพฤติฉันนั้น ไม่ควรจะละเลยคุณเบื้องต่ำ ซึ่งตนควรจะถือเอาได้ก่อน แม้แต่เพียงในชั้นบริกรรม ต่อมาในสมัยใด คุมจิตไว้ที่กสิณแห่งเดียวได้ ไม่คิดพล่านในทางอื่น ได้ให้ความแช่มชื่นไม่อึดอัดเบื่อหน่าย ในสมัยนั้น จัดว่าเป็นอันสำเร็จผลที่มุ่งหมายแห่งกัมมัฏฐานนั้น


อัปปมัญญา ๔
กรรมฐาน อีกชนิดหนึ่งที่ท่านสนับสนุนให้ปฏิบัติ ได้แก่ อัปปมัญญาเจโตวิมุตติ คือ การเจริญสมาธิด้วยการแผ่เมตตาจิต กรุณาจิต มุทิตาจิต อุเบกขาจิต ออกไปอย่างกว้างขวางทั่วไปหมด ไม่จำกัดขอบเขต ไม่มีประมาณ จนจิตน้อมดิ่งไปในคุณธรรมนั้นๆ เกิดอัปปนาสมาธิ

ตามหลักท่านให้เจริญเมตตา ไปตามลำดับ ดังนี้
๑. ตนเอง : เพื่อเป็นสักขีพยานว่า เรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด ผู้อื่นก็ฉันนั้น
๒. ผู้เป็นที่รัก : เพราะเจริญได้ง่าย
๓. ผู้ที่เป็นกลางๆ
๔. ศัตรู

เมื่อชำนาญแล้ว ก็ไม่ต้องแบ่งแยกกลุ่ม แผ่ออกไปโดยไม่มีขอบเขต

“พึงแผ่ไม่ตรีจิตในสัตว์ทั้งหลายว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้มีสุข มีความเกษม มารดาถนอมบุตรน้อยคนเดียวผู้เกิดจากตน แม้ด้วยยอมสละชีวิต ฉันใด พึงเจริญเมตตาไม่จำกัดในสัตว์ทั้งปวง ฉันนั้น” (กรณียเมตตสูตร)

🔎อัปปมัญญา ๔ เพิ่มเติม

ข้อควรรู้เพิ่มเติมสำหรับกรรมฐานต่างๆ โดย (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. สารานุกรมพระพุทธศาสนา)

บุคคลผู้มีถีน มิทธะ (ความหดหู่ เซื่องซืม) เป็นเจ้าเรือน ควรเจริญอนุสติกรรมฐาน พิจารณาความดีของตนบ้าง (เช่น มีศีลดี มีความเอื้อเฟื้อ นิยมให้ทาน) พิจารณาคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์บ้าง เพื่อให้มีแก่ใจหวนอุตสาหะ เพราะความก้าวไปข้างหน้า เป็นคู่ปรับกับความหดหู่เซื่องซึม
บุคคลราคะจริต ผู้มีกามฉันท์ เป็นเจ้าเรือน ควรเจริญอสุภกรรมฐาน หรือ กายคตาสติ
บุคคลผู้มีอุทธัจจะ กุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ) เป็นเจ้าเรือน ควรเพ่งกสิณ หรือ มรณานุสติ
บุคคลผู้มีวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) เป็นเจ้าเรือน ควรเจริญธาตุกัมมัฏฐาน เพื่อกำหนดรู้สภาวธรรมที่เป็นอยู่อย่างไร

ในบุคคลผู้เดียว นิวรณ์เหล่านี้อาจเข้าครอบงำต่างคณะ ต่างสมัย พึงเจริญกรรมฐานให้เหมาะสม

ข้อสำคัญ พึงทราบว่า กรรมฐานที่ให้มองเห็นอะไรๆเป็นอสุภะ เป็นปฏิกูล ไม่สวยไม่งาม (อสุภกรรมฐาน ปฏิกูลมนสิการ) เรียกว่าอยู่ขั้นสมถะ ยังมองไปตามสมมติบัญญัติ เพียงแต่ถือเอาสมมติในแง่ที่จะมาใช้แก้กิเลสของตน ส่วนวิปัสสนามองเห็นตามสภาวะแท้ๆ ตรงตามที่สิ่งทั้งหลายมันเป็นของมัน ตามเหตุปัจจัย เรียกว่า ตามเป็นจริงในขั้นปรมัตถ์ ที่สิ่งทั้งหลาย ไม่มีงาม หรือไม่งาม ไม่มีสวย ไม่มีน่าเกลียด

อรรถกถาเมตตสูตร

“ได้ยินว่า สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกรรมฐานทั้งหลายที่อนุกูลแก่จริตจำนวน ๘๔,๐๐๐ ประเภท โดยนัยนี้คือ อสุภกรรมฐาน ๑๑ อย่าง คือ อสุภที่มีวิญญาณและไม่มีวิญญาณ สำหรับคนราคจริต, กรรมฐานมีเมตตากรรมฐานเป็นต้น ๔ อย่าง สำหรับคนโทสจริต, กรรมฐานมีมรณัสสติกรรมฐานเป็นต้น สำหรับคนโมหจริต, กรรมฐานมีอานาปานัสสติและปฐวีกสิณเป็นต้น สำหรับคนวิตกจริต, กรรมฐานมีพุทธานุสสติกรรมฐานเป็นต้น สำหรับคนสัทธาจริต, กรรมฐานมีจตุธาตุววัตถานกรรมฐานเป็นต้น สำหรับคนพุทธิจริต”