RSS

อเหตุกจิต ๑๘ (หน้า ๑)

คำว่า “อเหตุกะ” หมายถึง ไม่ประกอบด้วยเหตุ “อเหตุกจิต” จึงหมายถึง จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ตามธรรมดาจิตที่ปรากฏขึ้นส่วนมาก ต้องประกอบด้วยเหตุ ไม่เหตุบุญ ก็เหตุบาป อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า กุศลเหตุ อกุศลเหตุ

เหตุบาป หรือ อกุศลเหตุนั้น ได้แก่ โลภเหตุ, โทสเหตุ, และโมหเหตุ
เหตุบุญ หรือ กุศลเหตุ ก็ได้แก่ อโลภเหตุ, อโทสเหตุ และ อโมหเหตุ

รวมเหตุบุญและเหตุบาปมีอยู่ด้วยกันเพียง ๖ เหตุนี้เท่านั้น ธรรมที่เป็นเหตุนี้เป็นเจตสิกธรรม ที่ประกอบกับจิต จิตที่เกิดขึ้นโดยมีเหตุดังกล่าวประกอบด้วยนั้น ชื่อว่า “สเหตุกจิต” แต่ยังมีจิตอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ได้ประกอบด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งใน ๖ เหตุดังกล่าวแล้วนั้นเลย จิตประเภทนี้แหละ ที่ชื่อว่า “อเหตุกจิต” เป็นจิตที่ไม่มีทั้งเหตุบุญและเหตุบาปประกอบด้วยเลย เหตุที่ประกอบนี้ มุ่งหมายถึง สัมปยุตเหตุ คือเหตุที่ประกอบกับจิตทันที แต่อุปัตติเหตุ คือเหตุที่ทำให้จิตแต่ละดวงปรากฏขึ้น เหล่านี้ย่อมมีอยู่ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

อเหตุกจิต จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุนี้ มีอยู่ ๑๘ ดวง แบ่งออกตามที่แสดงไว้ในคาถาสังคหะได้ ๓ จำพวก

คาถาสังคหะ

สตฺตากุศลปากานิ  ปุญฺญปากานิ อฏฺฐธา กริยาจิตฺตานิ ตีณีติ  อฏฐารส อเหตุกา ฯ แปลความว่า อกุศลวิปากจิต ๗ อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ อเหตุกกริยาจิต ๓ รวมจิต ๑๘ ดวงนี้ เป็น "อเหตุกจิต"

🔆 แสดงอเหตุกจิต ๑๘ ดวง

อกุศลวิปากจิต ๗ เป็นจิตที่เป็นผลของอกุศลกรรม หมายความว่า อกุศลกรรมอันเป็นกรรมฝ่ายชั่ว ฝ่ายบาป ที่ได้กระทำไว้แล้วแต่อดีต ย่อมไม่สูญหายไปไหน จะคอยโอกาสเพื่อสนองให้ได้รับผลเป็นอกุศลวิปากจิต ๗ ดวง มีการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รส ถูกต้องสัมผัส รับ และพิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดีต่าง ๆ อันมีแต่จะเป็นผลให้จิตต้องรับรู้อารมณ์ในทางที่ไม่ดี ๗ ประการด้วยกัน จิตที่รับรู้ผลของอกุศลกรรมเหล่านี้ จึงชื่อว่า อกุศลวิปากจิต ซึ่งมีจำนวน๗ ดวง

อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ เป็นจิตที่เป็นผลของกุศลกรรม หมายความว่ากุศลกรรมอันเป็นกรรมฝ่ายดี คือ บุญ ที่ได้กระทำไปแล้วในอดีต ย่อมจะไม่สูญหายไปไหนเช่นเดียวกัน จะคอยโอกาสที่จะสนองให้ได้รับผลเป็นอเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ ดวง กล่าวคือ ถ้ากุศลกรรมที่ได้ทำไว้แล้วในอดีตนั้นมีกำลังอ่อน คือเป็นกุศลกรรมชนิดปรารภอกุศลเป็นมูลเดิม หรือกุศลกรรมชนิดที่มีอกุศลตามเป็นบริวาร หรือกุศลชวนะดวงที่ ๑ ในปัจจุบันภพนี้ ย่อมจะมีกำลังในการให้ผลอ่อนเป็นอเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ มีการเห็น ได้ยินได้กลิ่น รู้รสที่ดีๆ เป็นต้น ผลของกุศลกรรมที่มีกำลังอ่อนนี้ ย่อมให้จิตรับรู้โดยความเป็นอเหตุกกุศลวิปากจิต คือเป็นจิตที่รับรู้ผลในทางที่มีอยู่ ๘ ดวง

อเหตุกกิริยาจิต ๓ เป็นจิตที่ไม่ได้เป็นผลของอกุศลกรรม หรือกุศลกรรมแต่อย่างใด และก็ไม่ใช่เป็นกุศลจิตด้วย หรืออกุศลจิตด้วย แต่เป็นจิตที่เกิดขึ้นตามหน้าที่การงานของตนเท่านั้น คือ ทำหน้าที่เปิดทวารให้อารมณ์ที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้า ได้ผ่านเข้ามากระทบกับ หรืออีกอย่างหนึ่ง เป็นจิตที่ทำให้เกิดการยิ้มของพระอรหันต์เพราะประสบกับอนิฏฐารมณ์ ซึ่งสักแต่ว่าเป็นกิริยาของจิตที่จะทำหน้าที่การงานในการรับอารมณ์เช่นนั้น จึงชื่อว่า เป็นอเหตุกกิริยาจิตมีจำนวน ๓ ดวง


ข้อควรสังเกต จิตที่เป็นผลของอกุศลกรรม เรียกว่า “อกุศลวิปากจิต” แต่ส่วนจิตที่เป็นผลของกุศลกรรม เรียกว่า “อเหตุกกุศลวิปากจิต” ที่เรียกเช่นนี้ เพราะอกุศลกรรมนั้น มีกำลังอ่อน ให้ผลแต่ในประเภทอเหตุกจิตประเภทเดียว ทั้งนี้เพราะอกุศลกรรมย่อมเกิดจากอกุศลจิต และอกุศลจิตทุกดวง สัมปยุตด้วยอุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านที่ทำให้จิตจับอารมณ์ไม่มั่นคงทำให้อกุศลเจตนาที่ประกอบด้วยเหตุนั้นอ่อนกำลังลง และไม่สามารถที่จะให้ผลเป็นอกุศลวิบากชนิดที่ประกอบด้วยเหตุได้ฉะนั้น ผลของอกุศลกรรม จึงมีแต่ประเภทอเหตุกจิตฝ่ายเดียว ไม่มีผลเป็นประเภทสเหตุกจิต เหมือนอย่างผลของมหากุศล จึงไม่จำเป็นต้องเรียก “อเหตุกอกุศลวิปากจิต” คงเรียกแต่ “อกุศลวิปากจิต”เท่านั้น

ส่วนผลของกุศลกรรมนั้น ถ้ากุศลกรรมมีกำลังมาก ก็ให้ผลเป็นสเหตุกจิต คือ มีกุศลเหตุเข้าประกอบ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุสัมปยุตด้วย แต่ถ้ากุศลกรรมมีกำลังในการให้ผลน้อย เพราะกุศลมีอกุศลเป็นบริวารแล้ว ก็จะให้ผลเป็นอเหตุกจิต คือ ไม่มีกุศลสัมปยุตเหตุ ด้วยเหตุนี้ ผลของกุศลจึงมี ๒ ฝ่าย คือ สเหตุกกุศลวิปากจิต และอเหตุกกุศลวิปากจิต ฉะนั้น ผลของกุศลที่มีกำลังน้อย จึงต้องแยกเรียกเป็น“อเหตุกกุศลวิปากจิต”

กิริยาจิตก็มี ๒ ฝ่าย คล้ายกุศลวิปากจิต คือมีทั้งสเหตุกกิริยาจิต ได้แก่จิตของพระอรหันต์ที่กระทำการงานต่าง ๆ เป็นกิริยาจิตที่ประกอบด้วยเหตุที่เรียกว่ามหากิริยาจิตมีจำนวน ๘ ดวง และอเหตุกิริยาจิต ซึ่งได้แก่ จิตที่ทำหน้าที่การงานเปิดทวารรับกระทบอารมณ์ใหม่ๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของสัตว์ทั้งหลายมีจำนวน ๒ ดวง และจิตที่ทำให้เกิดการยิ้มของพระอรหันต์ ที่เรียกว่า “หสิตุปปาทจิต” เกิดขึ้น เพราะประสบอนิฏฐารมณ์อีก ๑ ดวง จิตทั้ง ๓ ประเภทที่กล่าวนี้ ไม่มีสัมปยุตเหตุ จึงชื่อว่า “อเหตุกจิต” และสักแต่ว่ามีหน้าที่ในการกระทำกิจการงานจึงชื่อว่า “อเหตุกกิริยาจิต” ซึ่งจะได้ศึกษารายละเอียดต่อไป


👉 อกุศลวิปากจิต ๗

อกุศลวิปากจิต เป็นจิตที่เป็นผลของอกุศลกรรม ที่ได้กระทำไปแล้วในอดีต มีจำนวน ๗ ดวง ได้แก่

๑. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ จักขุวิญญาณํ จิตที่อาศัยจักขุวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของอกุศลกรรม เห็นรูปารมณ์ที่ไม่ดี
๒. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ โสตวิญญาณํ จิตที่อาศัยโสตวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของอกุศลกรรม ได้ยินเสียงที่ไม่ดี
๓. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ  ฆานวิญญาณํ จิตที่อาศัยฆานวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของอกุศลกรรม ได้กลิ่นที่ไม่ดี
๔. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ ชิวหาวิญญาณํ จิตที่อาศัยชิวหาวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉย ๆ เป็นผลของอกุศลกรรม ได้รสที่ไม่ดี
๕. ทุกขสหคตํ อกุศลวิปากํ กายวิญญาณ จิตที่อาศัยกายวัตถุเกิดพร้อมทุกขเวทนา เป็นผลของอกุศลกรรม ได้สัมผัสสิ่งที่ไม่ดี

๖. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ  สมปฏิจฉนจิตฺตํ จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆเป็นผลของอกุศลกรรม รับอารมณ์ทั้ง ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่าง ๆ) ที่ไม่ดี
๗. อุเปกขาสหคตํ อกุศลวิปากํ  สนุรณจิตฺตํ จิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของอกุศลกรรม พิจารณาอารมณ์ทั้ง ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) ที่ไม่ดี

ในอกุศลวิปากจิต ๗ ดวงนี้ มีสิ่งที่ควรทำความเข้าใจอยู่ ๒ ประการ คือ

        ๑. อกุศลวิปากจิต ๗ ดวงนั้น มีชื่อเรียกต่างกัน คือ เรียกว่า “วิญญาณ” บ้าง เรียกว่า “จิต” บ้าง ที่เรียกว่า “วิญญาณ” นั้น ได้แก่

  • จักขุวิญญาณ หมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ทางตา คือ เห็น
  • โสตวิญญาณ หมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ทางหู คือ ได้ยิน
  • ฆานวิญญาณ หมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ทางจมูก คือ รู้กลิ่น
  • ชิวหาวิญญาณ หมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ทางลิ้น คือ รู้รส
  • กายวิญญาณ หมายถึง จิตที่รู้อารมณ์ทางกาย คือ รู้สัมผัสถูกต้อง

การบัญญัติชื่อเรียก จิต ธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์นั้น บัญญัติขึ้นโดยอาศัย เวทนา, เหตุ, กิจ, ทวาร, อารมณ์และวัตถุ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่ความเหมาะสม ในที่นี้จักขุวิญญาณ เป็นจิตที่อาศัยรู้อารมณ์ทางจักขุทวาร เมื่อรูปารมณ์มากระทบจักขุทวาร ถ้าเรียกว่า จักขุจิต จะทำให้เข้าใจไปว่า “จักขุ” นั้นเป็น “จิต” แท้ที่จริงแล้วจักขุมีสภาพเป็นรูปธรรม ซึ่งไม่อาจรู้อารมณ์ได้ สภาพที่รู้อารมณ์ได้แก่วิญญาณซึ่งเป็นนามธรรม แต่วิญญาณนี้อาศัยรู้อารมณ์ทางจักขุ จึงเรียกว่า “จักขุวิญญาณ” วิญญาณอื่นๆ มีโสตวิญญาณ เป็นต้น ก็เป็นไปโดยทำนองเดียวกัน แต่ส่วนอกุศลวิปากจิตที่เหลืออีก ๒ ดวง คือ สัมปฏิจฉนจิต และสันตีรณจิตนั้น เรียกว่า “จิต” ไม่เรียกว่า “วิญญาณ”

เพราะดังที่กล่าวมาแล้ว จักขุวิญญาณ เป็นต้น บัญญัติขึ้นโดยอาศัยทวารและวัตถุ ซึ่งเป็นชื่อของรูปธรรมเป็นหลัก เพื่อป้องกันมิให้เข้าใจผิดไปว่า รูปธรรมนั้นเป็นจิตได้ ส่วนสัมปฏิจฉนจิต และสันตีรณจิตนี้ บัญญัติโดยอาศัยกิจคือ หน้าที่การงานของจิต ซึ่งเป็นนามธรรม และจิตก็เป็นผู้กระทำอยู่แล้ว จึงไม่ต้องเอาคำว่าวิญญาณมาซ้อนกับจิตอีกซึ่งเรียกชื่อโดยตรงว่า “สัมปฏิจฉนจิต” เป็นจิตที่ทำหน้าที่รับปัญจารมณ์โดยตรง และ “สันตีรณจิต” ก็เป็นจิตที่ทำหน้าที่พิจารณาปัญจารมณ์โดยตรง

        ๒. เวทนาที่เกิดพร้อมกับอกุศลวิปากจิตนั้น มี ๒ เวทนา คือ อุเบกขาเวทนาและทุกขเวทนา จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ สัมปฏิจฉนจิตและสันตีรณจิต จิตทั้ง ๖ นี้ เกิดพร้อมกับอุเบกขาเวทนา คือความเฉยๆ ไม่รู้สึกว่า เป็นทุกข์หรือเป็นสุข เพราะจิตเหล่านี้เกิดขึ้นโดยการกระทบกันระหว่างอุปาทายรูป กับ อุปาทายรูป คือ รูปารมณ์ กับ จักขุปสาท เป็นต้น อุปมาเหมือนสำลีกระทบกับสำลีย่อมมีกำลังแห่งการกระทบกันน้อย จึงไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกขนาดเป็นทุกข์ เป็นสุขขึ้นมาได้ ส่วนกายวิญญาณนั้น จิตรู้การสัมผัสถูกต้องทางกายอกุศลวิบากกายวิญญาณจิตย่อมเกิดพร้อมกับทุกขเวทนา เพราะกายวิญญาณนี้ จะเกิดขึ้นได้ก็โดยอาศัยการกระทบกันระหว่างมหาภูตรูป คือ ปถวี เตโช วาโย ธาตุ (เว้นอาโป คือ ธาตุน้ำ) กับอุปาทายรูป (กายปสาท) อุปมาเหมือนเอาฆ้อนทุบสำลีที่วางอยู่บนทั่ง ย่อมมีกำลังในการกระทบกันแรง จึงก่อให้เกิดทุกขเวทนาปรากฏขึ้นได้


👉 อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘

อเหตุกกุศลวิปากจิต เป็นจิตที่เป็นผลของกุศลกรรม หรือจิตที่เกิดจากอำนาจของกุศลเจตนาในมหากุศลจิต ๘ ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต แต่เพราะความบกพร่องแห่งเจตนาในกาลทั้ง ๓ คือ เจตนาก่อนการกระทำกุศลกรรม เจตนาขณะกำลังกระทำกุศลกรรม และเจตนาภายหลังที่ได้กระทำกุศลกรรมนั้นแล้ว กาลใดกาลหนึ่งจึงทำให้ผลแห่งกุศลเจตนานั้น มีกำลังอ่อน และให้ผลเป็นอเหตุกะ คือ เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีกุศลเหตุ อันได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุ ประกอบในฐานะเป็นสัมปยุตเหตุ อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ จึงปรากฏขึ้น เป็นผลของกุศลกรรมในอดีต มีจำนวน ๘ ดวง คือ

๑. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก จักขุวิญญาณํ จิตที่อาศัยจักขุวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล เห็นรูปที่ดีๆ
๒. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก โสตวิญญาณํ จิตที่อาศัยโสตวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล ได้ยินเสียงที่ดี
๓. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก ฆานวิญญาณํ จิตที่อาศัยฆานวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล ได้กลิ่นที่ดี
๔. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก ชิวหาวิญญาณํ จิตที่อาศัยชิวหาวัตถุเกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล ได้รสที่ดี
๕. สุขสหคตํ กุสลวิปากํ กายวิญญาณํ จิตที่อาศัยกายวัตถุเกิดพร้อมกับสุขเวทนาเป็นผลของกุศล ได้สัมผัสสิ่งที่ดี
๖. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก สมปฏิจฉนจิตตํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล ทำหน้าที่รับอารมณ์ทั้ง ๕ ที่ดี
๗. อุเบกขาสหคตํ กุสลวิปาก สนุรณจิตตํ จิตที่เกิดพร้อมด้วยความรู้สึกเฉยๆ เป็นผลของกุศล ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ทั้ง ๕ ที่ดี
๘. โสมนสฺสสหคตํ กุสลวิปากํ สนุตีรณจิตตํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความยินดีเป็นผลของกุศล ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ทั้ง ๕ ที่ดียิ่ง


อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ ดวงนี้ เป็นสภาพจิตที่รับอารมณ์ทางปัญจทวารทำนองเดียวกับอกุศลวิปากจิต ๗ ดวงที่กล่าวแล้ว แต่ต่างกันที่ว่า อเหตุกกุศลวิปากจิตนี้ เป็นผลในทางดีที่เป็นฝ่ายกุศล ทำให้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รส ถูกต้องสัมผัสแต่ที่ดีๆ ซึ่งเป็นไปโดยนัยที่ตรงกันข้ามกับอกุศลวิปากจิต เป็นที่น่าสังเกตว่า อเหตุกกุศลวิปากจิตนั้น มีจำนวน ๘ ดวง ซึ่งมีมากกว่าอกุศลวิปากจิต ๑ ดวง คือ โสมนัสสันตีรณจิต ที่เป็นเช่นนี้ เพราะสันตีรณจิต เป็นจิตที่ทำหน้าที่ในการพิจารณาอารมณ์ และอารมณ์ทางฝ่ายกุศลวิปากจิตนั้นจำแนกเป็น ๒ ชนิด คือ

  • อิฏฐมัชฌัตตารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ดีอย่างธรรมดาอย่างหนึ่ง
  • อติอิฏฐารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ดีอย่างยิ่งอีกอย่างหนึ่ง
กุศลวิบากสันตีรณจิตนั้นเมื่อเวลาได้รับอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ ย่อมเกิดขึ้นพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา กุศลวิบากสันตีรณจิตนี้ จึงชื่อว่า อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิต << ขยายความ เช่น ท่านได้ทานอาหารเช้าเป็นข้าวต้มทุกวัน ๆ  อาหารเป็นกุศลวิบากที่ท่านได้รับ แต่อารมณ์ที่ได้ลิ้มรสอาหารมันก็ธรรมดาๆ เหมือนๆเ ดิม อารมณ์ในการกินอาหารจึงเป็นได้แค่อิฎมัชฌัตตารมณ์ แต่ถ้าวันไหนมื้อเช้าเปลี่ยนจากข้าวต้ม เป็นอาหารเริสรสอย่างอื่น เป็นเป็ดย่าง ขาหมูรมควัน อารมณ์ท่านก็จะดียิ่งขึ้น มีความโสมนัส ความพอใจยิ่งๆกว่าเก่า เกิดขึ้น อารมณ์ที่ดียิ่งขึ้นเป็นโสมนัสนี้ก็เรียกว่า อติอิฎฐารมณ์ >> เมื่อเวลาได้รับอติอิฏฐารมณ์ย่อมเกิดขึ้นพร้อมด้วยโสมนัสเวทนา กุศลวิบากชนิดนี้ จึงชื่อว่า โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากจิต

แต่ส่วนอกุศลวิบากสันตีรณจิตนั้น เมื่อเวลาได้รับอนิฏฐมัชฌัตตารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่ดีอย่างธรรมดา หรือได้รับอติอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่ดีอย่างยิ่ง ทั้ง ๒ อารมณ์นี้ย่อมเกิดขึ้นพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาอย่างเดียว ไม่อาจเกิดพร้อมด้วยโทมนัสเวทนา (ความเสียใจ, ทุกข์ใจ เกิดขึ้นเฉพาะทางใจ) ได้เพราะโทมนัสเวทนา (ความเสียใจ) นั้น จะต้องประกอบกับโทสมูลจิตเท่านั้น ดังได้กล่าวแล้วว่าโทสมูลจิตนี้ เมื่อว่าโดยชาติตระกูลของจิตแล้วก็เป็นอกุศลชาติ และเมื่อว่าโดยเหตุแล้ว ก็เป็นอกุศลเหตุ คือ โทสะเหตุ แต่สันตีรณจิตนั้น ย่อมเป็นจิตที่เป็นวิปากชาติอย่างเดียว คือ เป็นจิตชนิดที่เป็นผล ไม่ใช่ชนิดที่เป็นเหตุ และยังเป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุต่าง ๆ อีกด้วย ฉะนั้นอกุศลวิบากสันตีรณจิต ถึงแม้จะได้รับอารมณ์ชนิดที่เป็นอติอนิฏฐารมณ์ ก็เกิดพร้อมด้วยโทมนัสเวทนาไม่ได้เลยต้องเกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาอยู่นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ อกุศลวิปากจิต จึงต้องมีเพียง ๗ ดวง น้อยกว่าอเหตุกกุศลวิปากจิตอยู่ ๑ ดวง <<ตรงนี้ให้พิจารณา อกุศลวิบากสันตีรณจิตก็เป็นจิตดวงนึง โทมนัสที่เกิดร่วมกับโทสะก็เป็นจิตดวงนึง ตัวสันตีรณะ เป็นวิบากจิตก็จริง ตัวมันเองไม่เป็นบุญเป็นบาป แต่ก็เป็นเหตุส่งต่ออารมณ์ให้จิตดวงต่อไปว่าจะเกิดเป็นโทสะ,โทมนัส หรือ มีปัญญาไต่สรวญอารมณ์ที่ไม่ดีให้ยุติที่อุเบกขาคือรู้ตามสภาพจริงว่ามันคืออกุศลวิบาก ข้อนี้พระพุทธองค์จึงกล่าวแยกจิตออกเป็น ๒ ดวง เพราะแม้แต่ผู้บรรลุอรหันตผลแล้วก็ยังต้องรับอกุศลวิบากอยู่ แต่การปรุงแต่งของจิตต่อจากนั้นไม่มีแล้ว คือก็สักแต่ว่ารับรู้จิตดวงที่เป็นอกุศลวิบากแต่จิตที่เป็นโทสะจะไม่เกิดขึ้นตาม โทสะมูลจิตไม่เกิดโทมนัสก็เกิดไม่ได้>>

อนึ่ง จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ และกายวิญญาณ ที่เป็นไปทั้งฝ่ายอกุศลวิบาก และ กุศลวิบากนั้น นิยมเรียกกันว่า “ทวิปัญจวิญญาณจิต ซึ่งหมายถึงจิต ๑๐ ดวง ที่อาศัยเกิดทางตา หู จมูก ลิ้น และกายทั้งทางฝ่ายดี และไม่ดีเพื่อประโยชน์แก่การจดจำ และเรียกชื่อจิตเหล่านั้นนั่นเอง

👉 หน้าต่อไป

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

โมหมูลจิต ๒

โมหมูลจิต เป็นจิตที่หลงไปจากรูป-นาม ตามความเป็นจริงหรือจิตที่ไม่สามารถรู้เหตุผลตามความเป็นจริงของสภาวธรรมได้ กล่าวคือ เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยมีโมหเจตสิกเป็นประธานหรือเป็นมูลเหตุ จึงเรียกจิตนี้ว่า โมหมูลจิต จิตที่ถูกโมหเจตสิกเข้าครอบงำนั้น ย่อมหลงใหลงมงาย ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะธรรมชาติของโมหเจตสิกนั้น มีลักษณะพิเศษอยู่ ๔ ประการ คือ

๑. อญาณลกฺขโณ มีความไม่รู้ในอริยสัจ เป็นลักษณะ
๒. อารมมณสภาวจฺฉาทนรโส มีการปกปิดไว้ซึ่งสภาวะแห่งอารมณ์ เป็นกิจ
๓. อนฺธการปจฺจุปฏฐาโน มีความมืดมน เป็นผล
๔. อโยนิโสมนสิการปทฎฺฐาโน มีการไม่ได้พิจารณาอารมณ์นั้นๆ ด้วยดี เป็นเหตุใกล้

🔆โมหมูลจิต มี ๒ ดวง
๑. อุเปกขาสหคตํ วิจิกิจฉาสมฺปยุตตํ แปลว่า จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉย ๆ ประกอบด้วยความสงสัย
๒. อุเบกขาสหคตํ อุทธจฺจสมปยุตตํ แปลว่า จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉย ๆ ประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน

โมหมูลจิตแต่ละดวง ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ คือ "อุเบกขาสหคตํ" เกิดพร้อมกับ เวทนา อย่างหนึ่ง และวิจิกิจฉา หรือ อุทธจจ สัมปยุต ประกอบด้วย ความสงสัย หรือความฟุ้งซ่าน อีกอย่างหนึ่ง

“อุเบกขาสหคตํ” หมายความว่า เกิดพร้อมกับเวทนา ซึ่งมีอยู่เวทนาเดียว คือ อุเบกขาเวทนา แต่สภาพของอุเบกขาเวทนาในโมหมูลจิตนี้ ต่างกันกับอุเบกขาเวทนาในโลภมูลจิต อุเบกขาเวทนาในโมหมูลจิตนั้น หมายถึงสภาพความรู้สึกเฉย ๆ ต่ออารมณ์ที่ปรากฏนั้น เพราะความโง่ไม่รู้ถึงคุณค่าของสภาพอารมณ์ที่ปรากฏขึ้นตามความเป็นจริง ส่วนอุเบกขาเวทนาในโลภมูลจิตนั้น หมายถึงความยินดีเพียงเล็กน้อย ยังไม่ถึงกับจะทำให้เกิดความรู้สึกยินดีมากเป็นโสมนัสเวทนาไป

วิจิกิจฉาสมปยุตตํ” แปลว่า ประกอบด้วยความสงสัย, ความสงสัยมีอยู่ ๒ อย่าง คือ
    ๑. นิวรณวิจิกิจฉา ความสงสัยที่เป็นนิวรณ์สกัดกั้นกุศลกรรม
    ๒. ปฏิรูปกวิจิกิจฉา ความสงสัยในชื่อคน สัตว์ สิ่งของที่ยังไม่รู้จัก หรือ สงสัยในวิชาความรู้ต่างๆ ที่ยังไม่เข้าใจ หรือพระอรหันต์ สงสัยในอาบัติเหล่านี้ ไม่จัดว่าเป็นวิจิกิจฉาในโมหมูลจิต

ความสงสัยที่ประกอบกับโมหมูลจิตที่เป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตนั้น มุ่งหมายเอานิวรณวิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัยที่เป็นไปเพื่อสกัดกั้น มรรค ผล นิพพาน ซึ่งมีอยู่ ๘ ประการ ด้วยกันคือ
            ๑. พุทฺเธ กงฺขติ มีความสงสัยในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แก่ สงสัยในพระสรีระ เช่น สงสัยว่า พระพุทธเจ้านี้ ถ้าจะไม่มีตัวตนจริงๆ คงจะสมมุติขึ้นมาเพื่อเป็นอุบายล่อให้คนมีความสามัคคี ไม่ทะเลาะวิวาทบาดหมางใจกัน หรือสงสัยในพระพุทธคุณ ๙ ประการ เช่นสงสัยว่า พระพุทธเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลสดังพระคุณบทว่า “อรหํ” เป็นผู้ตรัสรู้ธรรมเองโดยชอบ “สมมาสมพุทโธ” เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้และการปฏิบัติอย่างประเสริฐ “วิชชาจรณสมฺปนฺโน” เป็นผู้เสด็จไปด้วยดีแล้ว “สุคโต” เป็นผู้รู้แจ้งโลกทั้ง ๓ คือ สัตว์โลก โอกาสโลก สังขารโลก ในพระคุณ บทว่า “โลกวิทู” เป็นผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม “อนุตตโร ปุริสทมุมสารถิ” เป็นศาสดาของมนุษย์ เทวดา พรหม ทั้งหลาย “สตฺถา เทวมนุสสานํ” เป็นผู้รู้ แจ้งอริยสัจโดยถูกถ้วน และสามารถยังสัตว์ทั้งหลายให้รู้ตาม “พุทโธ” เป็นผู้มี บุญญาธิการอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง “ภควา” ทรงเป็นผู้มีโชค คือ หวังพระโพธิญาณก็ได้สมหวัง ประกาศพระศาสนาก็ชักจูงผู้คนให้ได้บรรลุธรรมสมปรารถนา ความสงสัยในพระพุทธคุณต่างๆ เหล่านี้ พระพุทธคุณต่าง ๆ ดังกล่าวนั้นจะมีจริงหรือไม่ หรือจะเป็นคำกล่าว เพื่อมุ่งยกย่องสรรเสริญกันในฐานะเป็นผู้วิเศษ
            ๒. ธมฺเม กงฺขติ  สงสัยในพระธรรมว่า สวากขาตธรรม คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ และพระไตรปิฎกนั้นมีจริง ๆ หรือสงสัยว่า พระธรรมคุณอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ดังบทว่า “สวากขาโต” เป็นของอันบุคคลพึงเข้าไปเห็นเอง “สนุทิฏฐิโก” เป็นของไม่มีกาลเวลา “อกาลิโก, เป็นของอันจะเรียกร้องท้าทายให้ผู้อื่นมาพิสูจน์ความจริงดูได้ “เอหิปัสสิโก” เป็นของที่มีอยู่อันบุคคลพึงน้อมเข้ามาใส่ใจได้ “โอปนยิโก” เป็นของอันวิญญูชนทั้งหลายพึงรู้ได้เฉพาะตัว “ปจฺจตต์ เวทิตพฺโพวิญญ” ผู้สงสัยย่อมเกิดความสงสัยต่าง ๆ ได้ เช่น สงสัยว่าสวากขาตธรรม จะทำให้พ้นออกจากทุกข์ได้จริงหรือ?
            ๓. สังเฆ กงฺขติ  สงสัยในพระสงฆ์ว่า พระอริยสงฆ์มีจริงหรือ หรือสงสัยว่าพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว “สุปฏิปันโน, เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว “อุชุปฏิปันโน, เป็นผู้ปฏิบัติมุ่งต่อพระนิพพานแล้ว “ญายปฏิปันโน, เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้ว “สามีจิปฏิปันโน” เป็นผู้ควรสักการะ “อาหุเนยโย, เป็นผู้ควรต้อนรับ “ปาหุเนยโย, เป็นผู้ควรทักษิณาทาน “ทุกขิเนยโย, เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม “อญชลีกรณีโย” เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาอื่นยิ่งกว่า “อนุตตร์ ปุญญกเขตต์ โลกสฺส, เหล่านี้จะมีจริง เป็นจริงหรือ?
            ๔. สิกขาย กงฺขติ  สงสัยว่า สิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์นั้น มีผลจริงหรือ และผลานิสงส์แห่งการปฏิบัติในสิกขานั้น จะป้องกันผู้ปฏิบัติมิให้ตกล่วงไปในทุคติภูมิ แต่กลับจะเป็นผลน้อมนำให้เป็นไปในสุคติภูมิ และสามารถพาให้เข้าถึงความพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง คือ พระนิพพาน จะเป็นไปได้เช่นนั้นหรือ?
            ๕. ปุพฺพนฺเต กงฺขติ  สงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ คือ สภาพตัวตน คนสัตว์ที่เคยปรากฏเป็นอดีตนั้น มีจริงหรือ คือสงสัยว่า ชาติก่อนนั้น มีจริงหรือ?
            ๖. อปรนฺเต กงฺขติ  สงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ คือ สภาพความเป็นตัวตนคน สัตว์ ที่จะปรากฏอีกใหม่ในอนาคต มีจริงหรือ คือสงสัยว่า ชาติหน้าจะมีจริงหรือ?
            ๗. ปุพฺพนตาปรนฺเต กงฺขติ  สงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ คือสภาพความเป็นตัวตน คน สัตว์ ที่เคยปรากฏแล้วในชาติก่อนและชาติหน้า ซึ่งรวมทั้งชาตินี้จะมีจริงหรือ?
            ๘. ปฏิจฺจสมุปปาเท กงฺขติ  สงสัยว่า ธรรม คือรูปนามที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเหตุเป็นผล เกี่ยวเนื่องอาศัยกันเกิดขึ้นสืบต่อกันโดยไม่ขาดสาย เป็นปัจจยาการตามนัยแห่งปฏิจจสมุปบาท จะเป็นไปได้ และมีจริงหรือ สิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยเหตุให้เกิด จะไม่มีบ้างทีเดียวหรือ?

“วิจิกิจฉาสัมปยุตจิต” นั้น ย่อมมุ่งหมายเอาจิตที่ประกอบด้วยความลังเลสงสัย ๔ ประการดังกล่าวแล้วเท่านั้น ส่วนความสงสัยอื่นๆ นอกจากนี้ ย่อมไม่ใช่ความสงสัยที่เกิดจากวิจิกิจฉา ที่ประกอบในโมหมูลจิต

อุทธจจสมปยุตตํ” แปลว่า ประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน หมายความว่าจิตนั้นฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไปในอารมณ์ต่าง ๆ แต่อารมณ์เหล่านั้นไม่มั่นคง จึงซัดส่ายปรวนแปรไปเรื่อยๆ

โมหมูลจิตทั้ง ๒ ดวงนี้ ในพระบาลีมิได้แสดงความต่างกันของสังขารเภท คือ ประเภทแห่งสังขาร อันได้แก่ อสังขาริก และสสังขารึกไว้ในวิสุทธิมรรคและในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกากล่าวไว้ว่า จิตที่ยังลังเลสงสัย ไม่แน่ใจก็ดี จิตที่ฟุ้งซ่านก็ดี เป็นจิตที่เว้นจากความกำหนัดหรืออภิชฌา และเว้นจากความขัดเคืองหรือโทมนัส จึงเป็นจิตที่มีกำลังน้อย และขาดความอุตสาหะในกิจการงานต่าง ๆ ความแตกต่างกันในสภาพแห่งสังขารจึงไม่มี แต่ก็ได้สงเคราะห์โมหมูลจิตทั้ง ๒ ดวงนี้ว่า เป็นอสังขาริกจิต เพราะความโง่ความไม่รู้ในเหตุผลตามความเป็นจริงนั้น ย่อมไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลชักชวนของผู้ใด คือความโง่นั้นย่อมเกิดขึ้นที่ตนเอง ผู้ใดอื่นจะมาชักชวนให้โง่ ย่อมไม่ได้

โมหมูลจิต ๒ ดวงนี้ ไม่ประกอบด้วยทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด และปฏิฆะ คือ ความโกรธ เพราะโมหมูลจิตมีความไม่รู้อารมณ์ตามความเป็นจริงเป็นพื้นฐานหรือเป็นมูลเหตุอยู่อย่างเดียว จึงรับอารมณ์ด้วยความรู้สึกเฉย ๆ ไม่ยินดียินร้ายในอารมณ์ เพราะฉะนั้น ทิฏฐิ ซึ่งอาศัยความยินดีในอารมณ์ และปฏิฆะ ซึ่งอาศัยความไม่ยินดีในอารมณ์เป็นตัวการให้เกิด โมหมูลจิตมีแต่ความไม่รู้ในอารมณ์ตามความเป็นจริงเสียแล้ว จึงไม่มีทิฏฐิ และปฏิฆะ ประกอบด้วย

🔆 เหตุให้เกิดโมหะ มี ๒ ประการ

๑. อโยนิโสมนสิการ
๒. อาสวสมุปปาท

อธิบาย “อโยนิโสมนสิการ” การกระทำในใจไม่แยบคายนั้น คือ ขาดการพิจารณาอารมณ์ให้รอบคอบในเหตุและผลด้วยดี เพราะการคิดพิจารณาอารมณ์ไม่สุขุม การกระทำในใจไม่แยบคายมีอาสวะเป็นเหตุให้เกิดคัมภีรภาพนั้น ย่อมก่อให้เกิดความลังเลสงสัยและความฟุ้งซ่าน ซึ่งความสงสัยและความฟุ้งซ่านนี้ ก็จะกลับเป็นเหตุให้เกิดความไม่รู้ คือ โมหะ ต่อไปอีก

อาสวสมุปปาท” มีอาสวะเป็นเหตุให้เกิดอวิชชา คือเครื่องหมักดองกิเลสที่เก็บหมักหมมไว้ในจิตใจ มีกามาสวะ คือ หมักดองกามคุณอารมณ์ไว้ในจิตใจเป็นต้น เมื่อได้ประสบกับกามคุณอารมณ์ใหม่อีกก็จะหลงงมงายติดใจในกามคุณอารมณ์นั้นอีก จึงทำให้ปิดบังสภาพความรู้ตามความเป็นจริงต่ออารมณ์นั้นเสีย ซึ่งเป็นธรรมชาติของโมหะหรืออวิชชา นั่นเอง

🙏 ผลที่เกิดจากโมหมูลจิต

โมหมูลจิต เป็นจิตที่สร้างเหตุหลงงมงาย ฉะนั้น บุคคลใดถูกครอบงำด้วยอำนาจโมหะ ย่อมหลงใหลเพลิดเพลินไปตามความรู้ไม่เท่าทันอารมณ์นั้นๆ อำนาจแห่งโมหะนี้ ถ้าสมัยใดมนุษย์มีสันดานมากไปด้วยโมหะ สมัยนั้นย่อมเกิดโรคันตราย คือ อันตรายที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน เป็นเหตุให้เกิดโรคระบาดล้มตายเป็นอันมาก สรรพโรคจะปรากฏ คร่าชีวิตประชาชนทั้งหลายให้สิ้นไป สำหรับผลของโมหะที่เกิดขึ้นในอนาคตนั้น ย่อมผลักส่งให้เกิดในดิรัจฉานภูมิ ดังพระบาลีแสดงว่า

โมเหน หิ นิจฺจสมมุฬฺหํ ติรจฺฉานโยนีย์ อุปปฺชชนฺติฯ สัตว์ทั้งหลายย่อมไปเกิดเป็นเดรัจฉาน ด้วยอำนาจแห่งโมหะ เพราะเป็นสภาพที่ยังสัตว์ให้ลุ่มหลงงมงายอยู่เสมอ

🔆 แสดงสัมปยุตในอกุศลจิต

ในอกุศล ๑๒ คือ โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ และโมหมูลจิต ๒ ที่กล่าวมาแล้วนั้นพระอนุรุทธาจารย์แสดงสัมปยุตไว้เพียง ๔ ประการ คือ

        ๑. ทิฏฐิคตสมฺปยุตฺต มีความเห็นผิดเข้าประกอบในโลภมูลจิต ๔ ดวง
        ๒. ปฏิฆสมปยุตฺต ความโกรธที่ประกอบในโทสมูลจิต ๒ ดวง
        ๓. วิจิกิจฉาสมปยุตต ความสงสัยที่ประกอบในโมหมูลจิต ๑ ดวง
        ๔. อุทธจฺจสมุปยุตฺต ความฟุ้งซ่านที่ประกอบอย่างชัดแจ้งในโมหมูลจิต ๑ ดวง

คำว่า “สมปยุตต” นี้ แปลว่า “ประกอบ” (กับจิต) เป็นวิเสสนบท มีหน้าที่แสดงให้รู้ถึงการแตกต่างกันของจิต เช่น ทิฏฐิคตสมปยุตฺต แปลว่า จิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิด แสดงให้เห็นว่าทิฏฐิคือความเห็นผิดนี้ เป็นธรรมที่ประกอบกับจิต แต่มิได้ประกอบกับจิตทุกดวงเหมือนอย่างผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เหล่านี้ เป็นต้น แต่อกุศลโลภมูลจิตที่มีจำนวนทั้งหมด ๘ ดวงนั้น มีทิฏฐิเข้าประกอบเพียง ๔ ดวงเท่านั้น มิได้ประกอบในโลภมูลจิตทั้งหมด เพราะฉะนั้น ปฏิฆสมปยุตต วิจิกิจฉาสมปยุตต หรือ อุทธจจสมปยุตต ก็ล้วนเป็นวิเสสนบท ที่แสดงให้เห็นความแตกต่างของจิตโดยทำนองเดียวกันเป็นการแสดงสภาพธรรมที่ประกอบกับจิตโดยเฉพาะอย่างเด่นชัด ทำให้เห็นความแตกต่างของจิตได้ชัดเจน

🔆 สงเคราะห์อกุศลกรรมบถ ๑๐ ลงในอกุศลจิต ๑๒

อกุศลกรรมบถ คือ ทางแห่งการกระทำบาป มี ๑๐ เรียกว่า อกุศลกรรมบถ ๑๐ หรือทุจริต ๑๐ ซึ่งเกิดได้ ๓ ทาง คือ ถ้าเกิดขึ้นทางกาย เรียกว่า อกุศลกายกรรมหรือกายทุจริต เกิดทางวาจา เรียกว่า อกุศลวจีกรรม หรือวจีทุจริต และถ้าเกิดทางใจเรียกว่าอกุศลมโนกรรม หรือมโนทุจริต อกุศลที่เกิดขึ้นทางกายทวาร เป็นอกุศลกายกรรม หรือกายทุจริตนั้น มี ๓ ประการ คือ
        ๑. ปาณาติบาต ฆ่าสัตว์
        ๒. อทินนาทาน ลักทรัพย์
        ๓. กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม

อกุศลที่เกิดขึ้นทางวจีทวาร เป็นอกุศลวจีกรรม หรือวจีทุจริตนั้น มี ๔ ประการ คือ
        ๔. มุสาวาท พูดปด
        ๕. ปิสุณวาจา พูดส่อเสียด
        ๖. ผรุสวาจา พูดคําหยาบ
        ๗. สัมผัสปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ

อกุศลที่เกิดขึ้นมาในมโนทวาร เป็นอกุศลมโนกรรม หรือมโนทุจริต มี ๓ ประการ คือ
        ๘. อภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่น
        ๙. พยาบาท คิดปองร้ายเขา
        ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิด (นิยตมิจฉาทิฏฐิ)

ในโลภมูลจิต ๘ ดวง มีทุจริตเกิดได้ทั้ง ๓ ทวาร ๗ ประการ คือ
ทางกายกรรม มี ๒ คือ อทินนาทาน และกาเมสุมิจฉาจาร
ทางวจีกรรม มี ๓ คือ มุสาวาท ปีสุณวาจา สัมผัปปลาปะ
ทางมโนกรรม มี ๒ คือ อภิชฌา มิจฉาทิฏฐิ

ในโทสมูลจิต ๒ ดวง มีทุจริตเกิดได้ทั้ง ๓ ทวาร ๗ ประการ คือ
ทางกายกรรม มี ๒ คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน
ทางวจีกรรม มี ๔ คือ มุสาวาท ปิสุณวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ
ทางมโนกรรม มี ๑ คือ พยาบาท

ในโมหมูลจิต ๒ ดวง มีทุจริตเกิดได้ทั้ง ๓ ทวาร ๑๐ ประการ คือ
ทางกายกรรม มี ๓ คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร
ทางวจีกรรม มี ๔ คือ มุสาวาท ปิสุณวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ
ทางมโนกรรม มี ๓ คือ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ

ในอกุศลกรรมบถ ๑๐ นี้ ถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว ก็จะเห็นว่า อกุศลกรรมบถ ๓ ได้แก่ ปาณาติบาต ผรุสวาจา และพยาบาท เกิดได้ด้วยอำนาจโทสมูลจิต อันมีโทสะเป็นเหตุนำ อกุศลกรรมบถอีก ๓ ได้แก่ กาเมสุมิจฉาจาร อภิชฌา และมิจฉาทิฏฐิ เกิดด้วยอำนาจแห่งโลภมูลจิต อันมีโลภเป็นเหตุ ส่วนอกุศลกรรมบถที่เหลือ คือ อทินนาทาน มุสาวาท ปิสุณวาจา และสัมผัปลาปะ ทั้ง ๔ ประการนี้ บางครั้งก็เกิดโดยโลภมูลจิต เช่น ลักทรัพย์ เพราะหวังร่ำรวย หรือพูดปด เพื่อแสวงหาประโยชน์ เป็นต้น ขณะนั้นก็มีโลภะ เป็นเหตุ แต่บางครั้ง เช่น ลักทรัพย์ อกุศลกรรมบถดังกล่าว ก็เกิดขึ้นโดยโทสมูลจิต อันมีโทสะ เป็นเหตุ เอาไปทิ้ง เพราะเกลียดเจ้าทรัพย์ หรือพูดปด เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เป็นต้น

อกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ นี้ อาศัยโลภมูลจิตและโทสะมูลจิตเป็นมูลเหตุก่อให้เกิดขึ้นโดยตรง แต่ที่กล่าวว่า อกุศลกรรมบถเกิดได้ในโมหมูลจิตครบ ๑๐ ประการบริบูรณ์นั้นเพราะเป็นการกล่าวโดยอ้อม เพราะอกุศลกรรมบถ ๑๐ อาศัยอวิชชาเป็นมูลเหตุนั่นเอง ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า เมื่อ

โลภมูลจิต เกิดขึ้น มีโลภะ เป็นเหตุนำ - โมหะเป็นเหตุหนุน
โทสมูลจิต เกิดขึ้น มีโทสะ เป็นเหตุนำ - โมหะเป็นเหตุหนุน
โมหมูลจิต เกิดขึ้น มีโมหะ เป็นเหตุนำอย่างเดียว

🔆 เหตุให้เกิดอกุศลจิต

การเกิดขึ้นแห่งอกุศลจิต ๑๒ ดวงนั้น เพราะการไม่ใส่ใจพิจารณาอารมณ์ให้แยบคาย เรียกว่า “อโยนิโสมนสิการ สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ผู้ที่มีอโยนิโสมนสิการนั้น อกุศลจิตที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น อกุศลจิตที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญยิ่งขึ้น กุศลจิตที่จะเกิดย่อมไม่มีโอกาสจะเกิด และกุศลจิตที่กำลังเกิดขึ้น ย่อมดับสิ้นลงพลัน อโยนิโสมนสิการนี้ ย่อมเกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุ ๕ ประการ คือ

๑. ปุพเพอกตปุญญตา ไม่ได้สร้างสมบุญไว้แต่ปางก่อน
๒. อปฏิรูปเทสวาส อยู่ในประเทศที่ไม่สมควร
๓. อสปปุริสปนิสฺสย ไม่ได้คบหาสนทนากับสัปบุรุษ
๔. อสทฺธมฺมสฺสวน ไม่ได้ฟังธรรมของสัปบุรุษ
๕. อตฺตมิจฉาปณิธิ ตั้งตนไว้ผิด

เหตุให้เกิดอโยนิโสมนสิการ ๕ ประการนี้ ย่อมมีอุปาระแก่กัน คือไม่ได้สร้างสมบุญไว้แต่ปางก่อน เป็นอดีตเหตุ เพราะไม่ได้สร้างสมบุญไว้แต่ปางก่อน จึงทำให้มาเกิดในประเทศที่ไม่สมควร คือ ไม่มีสัปบุรุษ จึงทำให้ไม่ได้ฟังธรรมและเพราะเหตุที่ไม่ได้ฟังธรรม จึงทำให้หลงผิดตั้งจิตไว้โดยไม่ชอบ คือตั้งตนไว้ผิดนั่นเอง จึงทำให้อกุศลจิตเกิดขึ้นโดยอาศัยอโยนิโสมนัสสิการ เหตุให้เกิดอโยนิโสมนัสสิการนี้จึงเท่ากับเป็นเหตุให้เกิดอกุศลจิตด้วย

🔆 อกุศลจิตเป็นธรรมที่ควรละ

อกุศลจิต เป็นจิตที่ชั่ว ที่บาป มีโทษและให้ผลเป็นทุกข์ ซึ่งตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนานั้น สอนให้ละชั่ว เป็นประการแรก ให้ประพฤติดี เป็นประการที่สอง และให้ทำจิตให้บริสุทธิ์ ปราศจากเรื่องเศร้าหมอง เป็นประการสุดท้าย เพราะฉะนั้น อกุศลจิตเป็นจิตที่ก่อให้เกิดการทำ การพูด และการคิดที่ไม่ดีเป็นการงานที่ชั่ว ที่บาปจึงจำเป็นต้องละอกุศลจิตก่อน การละอกุศลจิตนั้น ย่อมกระทำได้ ๓ ลักษณะ คือ
        ๑. ตทงฺคปหาน ละได้ชั่วคราว ด้วยศีล
        ๒. วิกฺขมฺภนปหาน ละโดยการข่มไว้ ด้วยสมาธิ
        ๓. สมุจเฉทปหาน ละโดยเด็ดขาด ด้วยปัญญา

การละอกุศลจิตได้ชั่วคราวนั้น หมายถึง การที่บุคคลระมัดระวังไม่ให้อกุศลจิต คือ โลภมูลจิต โทสมูลจิต และ โมหมูลจิต เกิดขึ้น ซึ่งจะต้องอาศัยธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเกิดขึ้นของอกุศลจิตเหล่านั้น คือ

โลภมูลจิต ซึ่งเป็นจิตที่เกิดจากความโลภ คือ ความอยากได้ ถ้าไม่สำรวมระวังให้ดีแล้ว ความโลภอยากได้ในอารมณ์ที่น่ายินดีนั้น ก็จะลุกลามแผ่ขยายกว้างขวางออกไปจนหาประมาณที่สุดมิได้เพื่อป้องกันมิให้ความโลภอยากได้ฟูขึ้นในใจต้องอาศัยธรรมที่ชื่อว่า สันโดษ คือ ความพอใจเท่าที่มีอยู่ หรือพอใจเท่าที่จะพึงหาได้โดยชอบธรรมรู้จักประมาณความอยากได้ ซึ่งองค์ธรรมได้แก่ อโลภเจตสิกการละโลภะด้วยอโลภะมีสันโดษ เป็นต้นนี้ เป็นการละได้เพียงชั่วคราวเท่าที่มีความระมัดระวังไม่ให้ความโลภอยากได้เกิดขึ้นชั่วขณะเท่านั้น เรียกว่า ละได้โดย ตทังคปหาน ถ้าจะละโดยอาการข่มความโลภไว้ไม่ให้เกิดขึ้นเป็นเวลานานๆ นั้นต้องอาศัย สมาธิ หรือฌานเป็นเครื่องมือ การละอกุศลจิตโดยการข่มไว้นี้ เรียกว่าละโดย วิกขัมภนปหาน ส่วนการที่จะละโลภมูลจิตโดยเด็ดขาดนั้น ต้องใช้ ปัญญาในมัคจิตเป็นผู้ละ ซึ่งสามารถจะละความโลภอย่างหยาบไปจนถึงขั้นละเอียดที่สุดในชั้นอรหัตมัคจิต การละโดยปัญญานี้ เป็นการละโดยเด็ดขาดที่เรียกว่า สมุจเฉทปหาน

โทสมูลจิต เป็นจิตที่เกิดจากความโกรธ เกลียด กลัว ความประทุษร้ายอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา เมื่อใครก็ตาม มีความเห็นเข้าข้างตนเป็นใหญ่แล้ว ย่อมมีแต่จะขู่วามเดือดร้อนก่อให้เกิดโทษประทุษร้ายตนเอง และผู้อื่นที่สมาคมด้วย เพราะความนิยมชมชื่นในตนเองมากเกินไปนั่นเอง จึงมองข้ามความผิดของตนเองไปมองเห็นแต่โทษผู้อื่นและคอยหาโอกาสเบียดเบียนเสมอ ฉะนั้น เพื่อผ่อนคลายความเบียดเบียนอันมีสภาพเป็นโทสมูลจิตนี้จึงจำเป็นต้องละโทสะโดยวิธีเจริญเมตตา คือ ต้องพิจารณาเสมอว่า ตัวเราเกลียดทุกข์ ปรารถนาสุขฉันใด ผู้อื่น สัตว์อื่น ก็เกลียดทุกข์ ปรารถนาสุขเหมือนเราฉันนั้น เมื่อพิจารณาดังนี้แล้ว ย่อมผ่อนคลายความเบียดเบียนซึ่งกันและกันลงได้ เป็นการละอกุศลโทสมูลจิตลงได้ชั่วคราวที่เรียกว่า ตทังคปหาน ในสติปัฏฐานอรรถกถาแสดงเหตุที่ประหาณโทสะไว้ ๖ ประการ คือ
    ๑. เมตตานิมิตฺตสฺส อุคุคโห ศึกษาในเครื่องหมายแห่งการเจริญเมตตา
    ๒. เมตตาภาวนานุโยโค ประกอบภาวนาในเมตตาเนือง ๆ
    ๓. กมฺมสฺสกตาปัจจเวกขณ พิจารณาเนือง ๆ ว่า เป็นกรรมของตน
    ๔. ปฏิสงฺขานพหุลีกตา ทำให้มากด้วยปัญญา
    ๕. กลยาณมิตตตา คบมิตรที่ดีมีเมตตา
    ๖. สปปยกถา ได้ฟังถ้อยคำที่สบาย (เมตตากถา)

นอกจากจะละโทสะด้วยเมตตาและเหตุอื่นๆ ทั้ง ๖ ประการดังกล่าวแล้ว ยังใช้สมาธิหรือฌานละได้โดยการข่มไว้ ตราบเท่าที่อยู่ในฌาน หรือสมาธิยังคงอยู่ เรียกการละนี้ว่า วิกขัมภนปหาน ส่วนการจะละโทสะขั้นเด็ดขาดไม่ให้เกิดขึ้นใหม่อีกนั้นต้องละโดยปัญญาแห่งอนาคามิมัคจิต เป็นการละที่สิ้นสุด เป็นสมุจเฉทปหาน

โมหมูลจิต เป็นจิตที่ไม่ได้แสดงโทษออกมาให้ประจักษ์ แต่ก็เป็นรากเหง้าแห่งอกุศลจิตทั้งปวง มีสภาพปิดบังความจริงไว้ ซึ่งเปรียบเสมือนความมืด ฉะนั้น การประหานความมืดนั้น ต้องอาศัยความสว่าง ซึ่งได้แก่ ปัญญานั่นเอง ในสติปัฏฐานอรรถกถาแสดงเหตุที่ประหาณโมหะ ประกอบด้วยวิจิกิจฉา และอุทธัจจะไว้ดังนี้ คือ

เหตุที่ประหาณวิจิกิจฉา ๖ ประการ
๑. พหุสสุตตา เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก
๒. ปริปุจฺฉกตา หมันสอบสวนทวนถาม
๓. วินเย ปกตญฺญุตา รอบรู้ชำนาญและเคร่งครัดในระเบียบวินัย
๔. อธิโมกขพหุลตา เต็มไปด้วยการตัดสินใจมั่น
๕. กลยาณมิตตตา มีมิตรที่ดี
๖. สปฺปายกถา ได้ฟังถ้อยคำอันคลายสงสัย

เหตุที่ประหาณอุทธัจจะ ๖ ประการ
๑. พหุสฺสุตตา เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก
๒. ปริปุจฺฉกตา หมันสอบสวนทวนถาม
๓. วินเย ปกตญฺญุตา รอบรู้ชำนาญและเคร่งครัดในระเบียบวินัย
๔. พุทฺธเสวิตา ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าบ่อยๆ
๕. กลยาณมิตฺตตา มีมิตรที่ดี
๖. สปปายกถา ได้ฟังถ้อยคำอันเป็นที่สบาย

การละโมหะ หรือ อวิชชานั้น ต้องอาศัยปัญญา ตั้งแต่สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา และ ภาวนามยปัญญา โดยลำดับ เพราะปัญญานั้นเป็นแสงสว่างที่จะทำลายความมืด คือ โมหะโดยตรง แต่การที่จะละโมหะ หรืออวิชชาได้โดยเด็ดขาดไม่ให้มีเหลืออยู่เลยนั้น จะต้องใช้ปัญญาในอรหัตมัคจิตเป็นผู้ละ

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

โทสมูลจิต ๒

โทสมูลจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพราะมีโทสะเป็นเหตุ ความไม่ปรารถนาอารมณ์นั้นๆ ย่อมมีโทสะ เป็นตัวนำ หรือเป็นเหตุ โทสะ เป็นเจตสิกธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความเสียใจ ความกลัดกลุ้มรำคาญใจ และความกลัว จิตที่ถูกโทสเจตสิกครอบงำนั้น ย่อมเป็นจิตประทุษร้ายอารมณ์ เพราะธรรมชาติของโทสเจตสิก มีคุณลักษณะอยู่ ๔ ประการ คือ

    จณฺฑิกลกฺขโณ มีความหยาบกระด้าง เป็นลักษณะ
    นิสฺสยาทาหนรโส มีการทำให้จิตใจตนและผู้อื่นหม่นไหม้ เป็นกิจ
    ทูสนปจฺจุปฏฺฐาโน มีการประทุษร้ายอารมณ์ เป็นอาการปรากฏ
    อาฆาตวัตถุปทฏฐาโน มีอาฆาตวัตถุ เป็นเหตุใกล้

ฉะนั้น โทสมูลจิต จึงมีหมายความว่า จิตที่เกิดขึ้น โดยมีโทสเจตสิกเป็นมูลเป็นประธาน

🔆โทสมูลจิต มี ๒ ดวง

๑. โทมุนสุสสหคตํ ปฏิฆสมปยุตตํ อสงฺขาริกํ แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน พร้อมด้วยความเสียใจประกอบด้วยความโกรธ
๒. โทมนสุสสหคตํ ปฏิฆสมฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน พร้อมด้วยความเสียใจประกอบด้วยความโกรธ

โทสมูลจิต ๒ ดวงนี้ มีสภาพธรรม ๓ ประการ คือ

๑. โทมนสุสสหคตํ เกิดพร้อมด้วยความเสียใจ ทุมนะ แปลตามศัพท์ว่า "ใจชั่ว" แปลตามอรรถว่า มีใจชั่ว คือภาวะแห่งใจชั่ว เร่าร้อน เศร้าหมอง บุคคลที่มีใจชั่วนั้นชื่อว่า “โทมนัส” ซึ่งมีองค์ธรรม ได้แก่ เวทนาเจตสิก (ธรรมชาติที่เสวยอารมณ์) เป็นเวทนาประเภท ๑ ในเวทนา ๕ ข้อ คือ ทุกขเวทนา สุขเวทนา โสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา และอุเบกขาเวทนา

โทมนัสเวทนานี้ จะเกิดพร้อมโทสมูลจิต ๒ ดวงนี้เท่านั้น จะเกิดพร้อมกับจิตอื่นหาได้ไม่ เพราะฉะนั้น เมื่อโทสมูลจิตเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้น โทมนัสเวทนาจะต้องเกิดพร้อมด้วยเสมอ จึงเรียกว่า “โทมนสุสสหคต์”

๒. ปฏิฆสมฺปยุตตํ ประกอบด้วยความโกรธ ปฏิฆะ แปลว่า ความโกรธ ความคับแค้น หรือการกระทบกระทั่ง ซึ่งเมื่อแปลโดยอรรถแล้ว หมายถึงการกระทบกระทั่งในอารมณ์ คือ มีสภาพประทุษร้าย ทำลายอารมณ์ที่กระทบให้เสียหายไปองค์ธรรม ได้แก่ โทสเจตสิก (ธรรมชาติที่ประทุษร้ายอารมณ์) ปฏิฆะ หรือโทสะนี้เป็นภาวะที่จะต้องประกอบกับโทมนัสเวทนา จะเกิดพร้อมกับเวทนาอื่น ๆ ไม่ได้

คำที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า โทมนัส และปฏิฆะ มีสภาพต่างกัน คือ

โทมนัส เป็นเวทนาเจตสิก และเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในเวทนาขันธ์ มีการเสวยอนิฏฐารมณ์ (เป็นอารมณ์ที่ไม่ดี) เป็นลักษณะ
ปฏิฆะ นั้น เป็นโทสเจตสิก และเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ มีความประทุษร้ายอารมณ์ เป็นลักษณะ

รวมทั้ง ๒ ประการนี้ แม้ต่างกันโดยสภาวะลักษณะ แต่ด้วยอำนาจแห่งโทสจิตตุปบาทแล้ว โทมนัสเวทนาจะต้องเกิดร่วมกับปฏิฆะเสมอไป

๓. อสงฺขาริกํ เป็นอาการที่ปฏิฆจิตมีกำลังกล้าแข็งเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักชวน ส่วน สสงขาริกํ นั้น เป็นปฏิฆจิตที่เกิดขึ้นโดยมีสิ่งที่ชักชวนยั่วยุให้เกิดขึ้นจึงเป็นจิตที่มีกำลังอ่อน ทำนองเดียวกับอสังขาริกํ และ สสังขาริกํ ในโลภมูลจิตนั่นเอง

โทมนัส และ ปฏิฆะ นี้ อาศัยการที่ได้ประสบกับอนิฏฐารมณ์และอาฆาตวัตถุ ๑๐ อย่าง เป็นเหตุใกล้ให้เกิดอาฆาตวัตถุ ๑๐ ประการ
๑. อาฆาตเขาโดยคิดว่า ได้เคยทำความเสื่อมเสียแก่เรา
๒. อาฆาตเขาโดยคิดว่า กำลังทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา
๓. อาฆาตเขาโดยคิดว่า จะทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา
๔. อาฆาตเขาโดยคิดว่า ได้เคยทำความเสื่อมเสียให้แก่ผู้ที่เรารัก
๕. อาฆาตเขาโดยคิดว่า กำลังทำความเสื่อมเสียแก่ผู้ที่เรารัก
๖. อาฆาตเขาโดยคิดว่า จะทำความเสื่อมเสียแก่ผู้ที่เรารัก
๗. อาฆาตเขาโดยคิดว่า ได้เคยทำคุณประโยชน์แก่ผู้ที่เราเกลียดชัง
๘. อาฆาตเขาโดยคิดว่า กำลังทำคุณประโยชน์แก่ผู้ที่เราเกลียดชัง
๙. อาฆาตเขาโดยคิดว่า จะทำคุณประโยชน์แก่ผู้ที่เราเกลียดชัง
๑๐. อาฆาตในฐานะอันไม่ควร เช่น ขณะที่เดินสะดุด หรือเหยียบหนาม เป็นต้น


แต่กล่าวรวมถึง อดีตเหตุ คือเหตุใกล้ด้วยแล้ว เหตุให้เกิดโทสะหรือปฏิฆะ มี ๕ ประการ คือ

๑. โทสชฺฌาสยตา มีอัธยาศัยเป็นคนมักโกรธ
๒. อคมฺภีรปกติตา มีความคิดไม่สุขุม
๓. อปฺปสสุตตา มีการศึกษาน้อย
๔. อนิฏฐารมฺมณสมาโยโค ประสบอารมณ์ที่ไม่ดี
๕. อาฆาตวตถุสมาโยโค ประสบกับอาฆาตวัตถุ ๑๐ ประการ


เป็นที่น่าสังเกตว่า ในโทสมูลจิตนี้ เป็นจิตที่มีแต่ปฏิสัมปยุต คือ ประกอบด้วยความโกรธ แต่ไม่มีความเห็นผิดประกอบ คือทิฏฐิคตสัมปยุตที่เป็นเช่นนี้เพราะ ทิฏฐิ ความเห็นผิดนั้น ย่อมรับสภาพอารมณ์ที่น่ายินดีพอใจแต่โทสจิตนั้น มีแต่รับสภาพอารมณ์ที่ไม่พอใจ ฉะนั้น ความยินดีพอใจจะเกิดพร้อมกับความไม่พอใจในขณะเดียวกันไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ โทสจิตจึงไม่มีทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดเข้าประกอบด้วย


 🙏 ผลที่เกิดจากโทสมูลจิต 🙏 

โทสมูลจิตนี้ เป็นจิตที่ประกอบด้วยเหตุโกรธ ไม่พอใจในอารมณ์ที่กำลังประสบอยู่ ฉะนั้น เมื่อโทสะปรากฏแก่บุคคลใดแล้ว บุคคลนั้นย่อมเศร้าหมองเร่าร้อนดิ้นรน เพื่อทําลายอารมณ์ที่ไม่พอใจนั้นให้สูญหายไป หน้าตาบูดบึ้งตึงเครียดจนเป็นเหตุให้ผู้ที่ได้พบเห็นขณะนั้นได้รู้ว่ากำลังโกรธ และจิตใจพลอยเศร้าหมองเร่าร้อนไปด้วย สมัยใด มนุษย์มีสันดานมากไปด้วยโทสะ สมัยนั้น ย่อมเกิด สตฺถนตราย คือ อันตรายที่เกิดจากศัสตราวุธต่างๆ เป็นเหตุให้ทำสงครามฆ่าฟันกันตาย สรรพภัยต่าง ๆ จะปรากฏแก่ประชาชนอย่างน่ากลัว

สำหรับผลแห่งโทสะในอนาคต คือ ในภพหน้า ชาติหน้า ย่อมจะผลักส่งไปให้เกิดเป็นสัตว์นรกในนิรยภูมิ ดังบาลีที่แสดงว่า โทเสน หิ จณฺฑชาติตาย โทสสฺทิสํ นิรยํ อุปปชฺชนฺติฯ สัตว์ทั้งหลายย่อมไปเกิดในนรกเป็นส่วนมากด้วยอำนาจแห่งโทสะ อันเป็นที่ทรมานสัตว์ให้เร่าร้อน เช่นเดียวกับสภาวะของโทสะที่ทรมานตนเองให้เร่าร้อนอยู่เสมอฉะนั้น

การแสดงโทสมูลจิต ต่อจากโลภมูลจิต เพราะโทสะย่อมเกิดขึ้นโดยอาศัยกามราคะ (โลภะ) ถ้าบุคคลละกามราคะได้แล้ว โทสะก็เกิดขึ้นไม่ได้ ดังเช่น พระอนาคามีทั้งหลาย ท่านละกามราคะได้แล้ว โทสะก็พลอยถูกละไปด้วย

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

โลภมูลจิต ๘

โลภมูลจิต ๘ ดวงนี้ เพราะความยินดีอยากได้ และติดใจในอารมณ์ต่างๆ จิตประเภทนี้จึงปรากฏขึ้น โลภมูลจิตนี้เป็นจิตที่ประกอบกับโลภเจตสิกเป็นประธาน เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยความโลภเป็นเหตุ กล่าวคือสภาวธรรมที่เกิดพร้อมกับโลภเจตสิกนั้น จึงต้องคล้อยตามอำนาจของโลภเจตสิก ซึ่งมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว ดังนี้

    อารมฺมณคหณลกฺขโณ มีการถือมั่นในอารมณ์ เป็นลักษณะ
    อภิสงฺครโส มีการยึดติดในอารมณ์ เป็นกิจ
    อปริจาคปจฺจุปฎฺฐาโน มีการไม่สละอารมณ์ เป็นผล
    สงฺโยชนีย ธมฺเมสุ อสุสาททสฺสน ปทฏฐาโน มีการเห็นสังโยชน์ธรรมเป็นที่น่ายินดีพอใจเป็นเหตุใกล้

โลภมูลจิตมีจำนวน ๘ ดวง การที่จำแนกจิตประเภทนี้ออกไปได้ถึง ๘ ดวงนั้น เพราะโลภจิตแต่ละดวงนั้น ย่อมประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ คือ ประกอบด้วยเวทนา (ความเสวยอารมณ์) ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) และสังขาร (มีการชักชวน หรือ ไม่มีการชักชวน)

🔅 โลภจิต มีจำนวน ๘ ดวงนี้ มีชื่อและความหมายดังนี้ คือ

  • ๑.โสมนสุสสหคตํ ทิฏฐิคตสมปยุตตํ อสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความยินดี ประกอบด้วยความเห็นผิด โดยไม่มีการชักชวน
  • ๒. โสมนสุสสหคตํ ทิฏฐิคตสมปยุตตํ สสงขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความยินดี ประกอบด้วยความเห็นผิดโดยมีการชักชวน
  • ๓. โสมนสสสหคตํ ทิฏฐิคตวิปปยุตตํ อสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความยินดี ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด โดยไม่มีการชักชวน
  • ๔. โสมนสุสสหคตํ ทิฏฐิคตวิปปยุตตํ สสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความยินดี ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด โดยมีการชักชวน
  • ๕. อุเปกขาสหคตํ ทิฏฐิคตสมปยุตตํ อสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความรู้สึกเฉย ๆ ประกอบด้วยความเห็นผิด โดยไม่มีการชักชวน
  • ๖. อุเปกขาสหคตํ ทิฏฐิคตสมปยุตตํ สสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความรู้สึกเฉยๆ ประกอบด้วยความเห็นผิด โดยมีการชักชวน
  • ๗. อุเปกขาสหคต์ ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ อสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความรู้สึกเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดโดยไม่มีการชักชวน
  • ๘. อุเปกขาสหคตํ ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ สสงขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความรู้สึกเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดโดยมีการชักชวน

โลภมูลจิตแสดงการจําแนกโลภมูลจิต ๘


ข้อสังเกต

ในโลภมูลจิต ๘ ดวงนี้ แสดงสภาพธรรมที่ปรากฏ ๓ ประการ คือ
    ๑. สภาพที่เกี่ยวแก่ความรู้สึกในการเสวยอารมณ์ คือ โสมนสฺสสหคตํ และ อุเปกฺขาสหคตํ
            โสมนสุสสหคตํ แปลว่า เกิดพร้อมด้วยความยินดีมาก มีความปีติ อิ่มเอิบใจ
            อุเปกขาสหคต์ แปลว่า เกิดพร้อมด้วยความรู้สึกดีใจบ้างเพียงเล็กน้อย

    ๒. แสดงภาพธรรมที่จิตบางขณะประกอบด้วย ความเห็นผิด บางขณะก็มิได้ประกอบด้วยความเห็นผิด คือทิฏฐิคตสมฺปยุตฺตํ และ ทิฏฐิคตวิปปยุตตํ ทิฏฐิ แปลตามพยัญชนะว่า “ความเห็น” แต่เมื่อแปลโดยอรรถ คือ เนื้อความแห่งธรรมแล้ว ทิฏฐิในที่นี้ คือ ทิฏฐิเจตสิกที่ประกอบอยู่ในโลภมูลจิต อันเป็นอกุศลจิตฉะนั้น ทิฏฐิ จึงมีความหมายไปในทางไม่ดี คือ ย่อมมุ่งหมายถึง “มิจฉาทิฏฐิ” ที่จะนำไปสู่ มิจฉาทิฏฐิ ในมโนทุจริต (นิยตมิจฉาทิฏฐิ)
        ทิฏฐิคตสมปยุตตํ จึงมีความหมายว่า ประกอบด้วยความเห็นผิด
        ทิฏฐิคตวิปปยุตตํ หมายความว่า ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด จิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดนี้ ไม่ได้หมายความว่า เป็นจิตที่มีความเห็นถูก เพียงแต่หมายถึงจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่เกี่ยวข้องกับความเห็นผิดเท่านั้น

    ๓. แสดงสภาพธรรมของจิตที่เกิดขึ้น โดยกำลังแรงกล้า และกำลังอ่อนต้องมีการกระตุ้นชักจูง คือ อสงฺขาริกํ และสสงฺขาริกํ
        อสงฺขาริกํ แปลว่า เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยการชักชวนจากผู้หนึ่งผู้ใด เป็นปุพพปโยค คือ ปรารภขึ้นมาก่อน
        สสงฺขาริกํ แปลว่า เกิดขึ้นโดยอาศัยมีสิ่งชักชวน หรือปรารภตามผู้อื่น การชักชวนที่เรียกว่า สสงฺขาริกํนั้น ก็คือสังขารที่แปลว่า ปรุงแต่งนั่นเอง

การปรุงแต่งหรือชักชวน มี ๓ ทาง

กายปโยค คือ การชักชวนโดยอาศัยกิริยาอาการทางกาย เช่น จูงมือ, ชี้มือ, กวักมือ, พยักหน้า, ขยิบตา เป็นต้น
วจีปโยค คือ การชักชวนด้วยวาจา เช่น พูดชักชวน, พูดหมิ่นประมาท, ยุยง, สรรเสริญ, ส่อเสียดให้เกิดมานะ เป็นต้น
มโนปโยค คือ การชักชวนตนเอง โดยอาศัยปลุกใจให้คิดถึงเรื่องราวที่จะทำให้เกิดความยินดีพอใจ เป็นต้น ที่ปรากฏชัดเจนในการเจริญสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนาต้องอาศัยมโนปโยคแน่นอน

วิธีการชักชวนดังกล่าวแล้ว ถ้าเป็นการชักชวนของผู้อื่นก็มีได้เพียง ๒ วิธี คือกายปโยค และวิปโยค แต่ถ้าเป็นตัวเองชักชวนตัวเองแล้ว ก็ย่อมกระทำได้ทั้ง ๓ วิธี คือ กายปโยค วจีปโยค และมโนปโยค

การจำแนกโลภมูลจิต ๘ เกิดพร้อมกับสภาพธรรม ๓ ประการ

๑. โลภมูลจิต ๘ โดยการเกิดพร้อมกับเวทนา จะประกอบด้วยอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ โสมนสุสสหคตํ ๔ (ยินดีมาก) , อุเปกขาสหคตํ ๔ (ยินดีเล็กน้อย)
๒. โลภมูลจิต ๘ โดยการเกิดที่ประกอบความเห็นผิดหรือไม่ประกอบความเห็นผิด คือ ทิฏฐิคตสมปยุตตํ ๔ ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔
๓. โลภมูลจิต ๘ โดยการเกิดขึ้นจากการปรุงแต่ง คือ อสงฺขาริกํ ๔, สสงฺขาริกํ ๔

เหตุที่เกิดโลภมูลจิต ๘ มี ๔ ประการ

๑. โลภปริวารกมุมปฏิสนฺธิกตา ปฏิสนธิมาด้วยกรรมที่มีความโลภเป็นบริวาร
๒. โลภอุสฺสนุนภวโต จวนตา จุติมาจากภพที่มีโลภะมาก
๓. อิฏฐารมุมณสมาโยโค ได้ประสบกับอารมณ์ที่ดีอยู่เสมอ
๔. อุสสาททสฺสนํ ได้เห็นสิ่งที่เป็นที่ชอบใจ

🔘 เหตุที่เกิดโลภโสมนัส (เกิดพร้อมด้วยความยินดีมาก)

๑. โสมนสฺสปฏิสนธิกตา มีปฏิสนธิพร้อมโสมนัสเวทนา
๒. อคมฺภีรปกติกา ไม่มีความสุขุมคัมภีรภาพ
๓. อิฏฐารมุมณสมาโยโค ได้ประสบกับอารมณ์ที่ดี
๔. พุยสนมุตฺติ พ้นจากความพินาศ ๕ ประการ
            ความพินาศ ๕ ประการ คือ...
            - ญาติพฺยสน ความพินาศแห่งญาติ
            - โภคพฺยสน ความพินาศแห่งทรัพย์สมบัติ
            - โรคพฺยสน ความพินาศแห่งโรคภัยเบียดเบียน
            - ทิฏฐิพฺยสน ความพินาศ เพราะความเห็นผิด
            - สีลพฺยสน ความพินาศ เพราะประพฤติผิดศีล

🔘 เหตุที่เกิดโลภอุเบกขา (เกิดพร้อมด้วยความยินดีเล็กน้อย)

    ๑. อุเปกขาปฏิสนธิกตา มีปฏิสนธิจิตพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา
    ๒. คมฺภีรปกติกา มีความสุขุมคัมภีรภาพ
    ๓. มชุมตตารมุมณสมาโยโค ได้ประสบกับอารมณ์ที่ปานกลาง
    ๔. พฺยสนมุตฺติ พ้นจากความพินาศ ๕ ประการ (เหมือนกับของโลภโสมนัส)
    ๕. มูคธาตุกตา มีสันดานเป็นคนใบ้


🔘 เหตุให้เกิดทิฏฐิดตสัมปยุต (มีความเห็นผิดประกอบด้วย)

    ๑. ทิฏฐิชฺฌาสยตา มีความเห็นผิดเป็นอัธยาศัย
    ๒. ทิฏฐิวิปฺปนฺนปุคคลเสวนตา ชอบคบหากับบุรุษผู้มีความเห็นผิด
    ๓. สทฺธมฺมวิมุขตา ไม่ได้ศึกษาพระสัทธรรม
    ๔. มิจฺฉาวิตกฺกพหุลตา ชอบคิดแต่เรื่องที่ผิด ๆ
    ๕. อโยนิโส อุมุมชุชนํ ไม่พิจารณาโดยแยบคาย

🔘 เหตุให้เกิดทิฏฐิดวิปปยุต (ไม่มีความเห็นผิดประกอบด้วย)

    ๑. สสฺสตอุจฺเฉททิฏฐิอนชฺฌาสยตา ไม่มีสัสตทิฏฐิ และ อุจเฉททิฏฐิเป็นอัธยาศัยมาแต่อดีตชาติ
    ๒. ทิฏฐิวิปปนฺนปุคฺคลอเสวน ไม่คบหาสมาคมกับคนมิจฉาทิฏฐิ
    ๓. สทฺธมฺมสมฺมุขตา มุ่งหน้าเข้าหาพระสัทธรรม
    ๔. สมฺมาวิตกฺกพหุลตา ชอบคิดแต่เรื่องที่ถูกที่ชอบ
    ๕. อโยนิโส น อุมมุชฺชนํ ไม่จมฝังอยู่แต่ในความพิจารณาที่ไม่แยบคาย

🔘 เหตุให้เกิดอกุศลอสังขาริก (ไม่ต้องมีสิ่งกระตุ้นชักจูง)

    ๑. อสงฺขาริกกมุมชนิตปฏิสนฺธิกตา มีปฏิสนธิจิตเกิดจากอสังขาริก
    ๒. กลลกายจิตฺตตา มีความสุขกายสบายใจ
    ๓. สีตุณหาทีนํ ขมนพหุลตา มีความอดทนต่อความเย็นร้อน เป็นต้น จนเคยชิน
    ๔. กตฺตพฺพกมเมสุ ทิฏฐานิสํสตา เคยเห็นผลในการงานที่จะพึงกระทำ
    ๕. กมฺเมสุจิณฺณวสิตา มีความชำนาญในการงานที่ทำ
    ๖. อุตุโภชนาทิสปปายลาโภ ได้รับอากาศและอาหารดี เป็นต้น

🔘 เหตุให้เกิดอกุศลสสังขาริก (ต้องมีสิ่งกระตุ้นชักจูง)

๑. สสงฺขาริกกมุมชนิตปฏิสนฺธิกตา มีปฏิสนธิจิตเกิดจากสสังขาริก
๒. อกลลกายจิตฺตตา ไม่มีความสุขกายสบายใจ
๓. สีตุณฺหาที่นํ อขมนพหุลตา ไม่มีความอดทนต่อความร้อนและเย็นเป็นต้น
๔. อกตฺตพฺพกมุเมสุ ทิฏฐานิสํสตา ไม่เคยเห็นผลในการงานที่จะกระทำ
๕. กมฺเมสุ อจิณณวสิตา ไม่มีความชำนาญในการทำงาน
๖. อุตุโภชนาทิอสปฺปายลาโภ ไม่ได้รับอากาศและอาหารที่ดี เป็นต้น


 🙏 ผลที่เกิดจากโลภมูลจิต 🙏

โลภมูลจิต เป็นจิตที่สร้างเหตุโลภ คือ ความอยากได้ หรือความปรารถนาในอารมณ์ที่น่ายินดีพอใจ เมื่อสร้างเหตุขึ้นแล้ว ผลก็ย่อมจะต้องปรากฏขึ้น เพราะอาศัยเหตุนั้นเป็นธรรมดา และผลที่จะเกิดขึ้น เพราะอาศัยเหตุโลภ หรือผลที่เกิดจากโลภมูลจิตนั้น ท่านแสดงว่า สมัยใด มนุษย์มีสันดานมากไปด้วยความโลภ สมัยนั้น ย่อมเกิดทุพพิกขนตราย คือ อันตรายที่เกิดจากความแร้นแค้น ข้าวยากหมากแพง เป็นเหตุให้ความหิวโหย อดอยากเข้าครอบงำ จนพากันล้มตายลงเป็นอันมาก สรรพทุกข์ต่าง ๆ จะปรากฏแก่ มหาชนอย่างหาประมาณมิได้ นี้เป็นผลปัจจุบัน ที่เกิดจากอำนาจของโลภมูลจิต แต่สำหรับผลที่เกิดจากโลภะในอนาคตนั้น มีแสดงว่า เยภุยฺยเยน หิ สตฺตา ตณฺหาย เปตฺติวิสยํ อุปฺปชฺชนฺติ ฯ สัตว์ทั้งหลายโดยมาก ย่อมไปเกิดเป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง ตามอำนาจแห่งโลภะอันมีความอยากได้เป็นมูลฐาน

อนึ่ง โลภมูลจิตนี้ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ หมายถึง ทุกขสัจจะ เกิดขึ้นได้ เพราะอาศัยสมุทยสัจจะ เป็นเหตุ คือ > โลภะ ในชาติอดีตได้ทำกรรมในอดีต เป็นเหตุให้ ชาติทุกข์, ชราทุกข์, มรณทุกข์ จึงเกิดขึ้น เป็นผล
> โลภะ ในปัจจุบัน คือ ความหวัง ความต้องการ, ความอยากได้ กามคุณอารมณ์เป็นเหตุ โสกะ, ปริเทวะ, โทมนัส, อุปายาส จึงปรากฏขึ้น เป็นผล



  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

จิตตสังคหวิภาค


ปริเฉจที่ ๑
จิตปรมัตถ์


🔅 จิต คืออะไร?

จิตเป็นธรรมชาติรู้อารมณ์ คือ ได้รับอารมณ์อยู่เสมอ จึงเรียกว่า รู้อารมณ์ ดังพระบาลีที่ว่า อารมณํ จินฺเตตีติ - จิตฺตํ ธรรมชาติใด ย่อมรู้อารมณ์อยู่เสมอธรรมชาตินั้น ชื่อว่า "จิต"

อารมณ์ เป็นธรรมชาติที่ถูกจิตรู้ มี ๖ อย่าง คือ : -

๑. รูปารมณ์ ได้แก่รูปสี ถูกจิตรู้ด้วยการ เห็น
๒. สัททารมณ์ ได้แก่เสียง ถูกจิตรู้ด้วยการ ได้ยิน
๓. คันธารมณ์  ได้แก่กลิ่น ถูกจิตรู้ด้วยการ รู้กลิ่น
๔. รสารมณ์ ได้แก่รส ถูกจิตรู้ด้วยการ รู้รส
๕. โผฏฐัพพารมณ์  ได้แก่ แข็ง-อ่อน, เย็น-ร้อน, หย่อน-ตึง ถูกจิตรู้ด้วยการ รู้สัมผัส
๖. ธรรมารมณ์ ได้แก่จิต-เจตสิก, ปสาทรูป, สุขุมรูป, นิพพาน, บัญญัติ ถูกจิตรู้ด้วยการ คิดนึก

การรู้อารมณ์ มี ๓ แบบ คือ : -

๑. การรู้แบบสัญญารู้ คือ การรู้โดยอาศัยการกำหนดจดจำเอาไว้ เช่น จำได้ว่าสีขาว สีดำ ผู้หญิง ผู้ชาย เป็นต้น
๒. การรู้แบบปัญญารู้ คือ การรู้เหตุผลตามความเป็นจริง เช่น รู้บาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ หรือรู้รูปนามตามความเป็นจริงเป็นการรู้เพื่อทำลายกิเลส มีความเห็นผิด เป็นต้น เรียกว่า "ปัญญารู้"
๓. การรู้แบบวิญญาณ คือ รู้ว่า ได้มีการรับอารมณ์อยู่เสมอตามทวารต่างๆ ได้แก่ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รส รู้สึกถูกต้อง และรู้คิดนึก

การรู้อารมณ์ของจิต จึงเป็นการรู้แบบวิญญาณรู้นั่นเอง เพราะคำว่า “จิต” หรือ “วิญญาณ” มีความหมายเป็นอย่างเดียวกันในปฏิสัมภิทาพระบาลีมหาวรรคได้แสดงไว้ว่าจิตมีชื่อต่าง ๆ ที่ใช้เรียกขานกันถึง ๑๐ ชื่อ ดังแสดงว่า

ยํ จิตฺตํ มโน หทยํ มานสํ ปณฺฑรํ มนายตนํ มนินฺทฺรียํ วิญญาณํ วิญญาณกฺขนฺโธ ตชฺชา มโนวิญญาณธาตุ อิทํ จิตฺตํ อัฏฐสาลินีอรรถกถาธิบายไว้ว่า

ธรรมชาติใดย่อมคิด ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า “จิต”
ธรรมชาติใดย่อมน้อมไปหาอารมณ์ ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า “มโน”
จิตที่รวบรวมไว้ภายในนั่นแหละ ชื่อว่า “หทัย”
ธรรมชาติฉันทะ คือความพอใจที่มีอยู่ในใจนั้น ชื่อว่า “มานัส”
จิตเป็นธรรมชาติที่ผ่องใส จึงชื่อว่า “ปัณฑระ”
มนะที่เป็นอายตนะ คือเครื่องต่อ จึงชื่อว่า “มนายตนะ”
มนะที่เป็นอินทรีย์ คือครองความเป็นใหญ่ จึงชื่อว่า “มนินทรีย์”
ธรรมชาติใดที่รู้อารมณ์ ธรรมชาตินั้น ชื่อ “วิญญาณ”
วิญญาณที่เป็นขันธ์ จึงชื่อว่า “วิญญาณขันธ์”
มนะที่เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งรู้อารมณ์ จึงชื่อว่า “มโนวิญญาณธาตุ”


🔅 สามัญลักษณะของจิต

จิตเป็นสังขตธรรม คือ เป็นธรรมชาติที่ถูกปรุงแต่งโดยอำนาจแห่งปัจจัยมี อารัมณปัจจัย อนันตรปัจจัย เป็นต้น จิตจึงมีสภาวะที่เป็นสามัญลักษณะ หรือไตรลักษณะคือ: -

อนิจจลักษณะ คือ สภาพความไม่เที่ยง แปรปรวน
ทุกขลักษณะ คือ สภาพความทนอยู่ไม่ได้ เพราะถูกบีบคั้นเบียดเบียน
อนัตตลักษณะ คือ สภาพความไม่ใช่ตัวตน ไม่เป็นแก่นสารที่เหนืออำนาจการบังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างใด ๆ ได้

เพราะจิตมีสภาพที่เป็นไตรลักษณ์ดังกล่าวนี้ จิตจึงมีอาการเกิด-ดับ สืบต่อเนื่องกันไปเป็นสาย และการเกิด-ดับสืบต่อนี้รวดเร็วมาก มีอนุมานว่า ชั่วลัดนิ้วมือเดียว จิตเกิด-ดับถึงแสนโกฏิขณะ

สังขตธรรมอื่น คือ เจตสิกและรูป ก็มีสามัญลักษณะเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจสภาวะลักษณะอันแท้จริงของจิตนั้นได้จะต้องพิจารณาจากวิเสสลักษณะ คือ ลักษณะพิเศษประจำตัวของจิต ๔ ประการ ที่เรียกว่า ลักขณาทิจตุกะของจิต คือ : -

วิชานนลกขณํ มีการรู้อารมณ์ เป็นลักษณะ
ปุพฺพงฺคมรสํ มีการเป็นประธานในธรรมทั้งปวง เป็นกิจ
สนธานปัจจุปัฏฐาน มีการเกิดสืบเนื่องกันไม่ขาดสาย เป็นอาการปรากฏ
นามรูปปทฏฐานํ มีนามรูป เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

ในธรรมบท ภาค ๒ ได้แสดงถึงสภาพของจิตไว้ ดังนี้

ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คุหาสยํ เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา แปลว่า ชนทั้งหลายใดจักระวังจิต ซึ่งไปไกล ไปเดี่ยว ไม่มีสรีระ มีคูหา เป็นที่อาศัยไว้ได้ ชนทั้งหลายนั้นจะพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร

จากคาถาธรรมบทนี้ แสดงสภาพของจิตให้ได้ทราบไว้หลายนัย คือ : -

จิต ธรรมชาติรู้อารมณ์ ไปได้ไกล (ทูรงฺคมํ) หมายถึง จิตสามารถน้อมเอาอารมณ์ที่อยู่ไกลแสนไกล ที่เคยพบเห็นมาแล้ว เอามาคิดนึกได้ ไม่ใช่จิตออกจากร่างไปท่องเที่ยวได้ไกล

จิต เป็นธรรมชาติไปเดี่ยว หรือไปดวงเดียว (เอกจร) หมายถึง จิตรู้อารมณ์ได้ทีละอย่าง จิตขณะหนึ่งจะรู้อารมณ์หลายอย่างพร้อมกันไม่ได้ จิตขณะหนึ่งรู้อารมณ์ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เนื่องจากจิตเกิด-ดับรวดเร็วมาก จึงเหมือนกับสามารถรู้อารมณ์ได้หลายอย่างในคราวเดียวกันได้จิตขณะหนึ่ง ๆ ย่อมรู้อารมณ์ได้อย่างเดียวเท่านั้น

จิต เป็นนามธรรมไม่มีรูปร่างสัณฐานให้รู้ได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ต้องรู้ได้ด้วยใจเท่านั้น มีสภาวะเป็นอรูปธรรม จึงไม่อาจแสดงรูปร่างสัณฐานให้ปรากฏได้ (อสรีรํ)

จิต เป็นธรรมชาติที่ต้องมีวัตถุเป็นที่เกิดและที่อาศัย (คหาสนํ) สำหรับสัตว์ที่เกิดในปัญจโวการภูมิ คือ ภูมิที่มีรูปนามขันธ์ ๕ วัตถุที่อาศัยของจิตมี ๖ แห่ง ได้แก่ จักขุวัตถุ, โสตวัตถุ, ฆานวัตถุ, ชิวหาวัตถุ, กายวัตถุ, และหทัยวัตถุ โดยสภาวปรมัตถธรรมได้แก่ ปสาทรูป ๕ และหทัยวัตถุรูป ๑ จิตจะล่องลอยออกไปนอกวัตถุที่อาศัยไม่ได้ แม้เวลาตาย จิตก็ดับลงพร้อมกับความดับของหทัยวัตถุรูป นั่นเอง

จิตของสัตว์ทั้งหลาย นอกจากจิตของพระอรหันต์ ย่อมถูกอาสวกิเลสผูกพันอยู่เป็นประจำ ทำให้ไม่รู้ความจริงของรูปนาม คือทุกขสัจจะ จึงเกิดความสำคัญผิดว่ารูปนามขันธ์ ๕ เป็นอัตตาตัวเรา ปรารถนาความสวย ความสุข ความเที่ยง วิปลาสไปจากความเป็นจริงอยู่เสมอ เพราะเหตุนั้นพระพุทธองค์จึงให้ระวังรักษาจิตให้พ้นจากเครื่องผูกของมาร (กิเลส) โดยจะต้องเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นทางเดียว ที่จะทำให้หมดจดจากกิเลส, แจ้งพระนิพพาน และพ้นจากสังสารทุกข์ได้ ฉะนั้น จึงไม่มีจิตของใครที่เกิดมาพร้อมความบริสุทธิ์ได้ ต้องถูกกิเลสมารผูกพันไว้อยู่ทั่วหน้ากัน จำเป็นต้องฟังธรรม และปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์เท่านั้น จึงจะสามารถหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องผูกของมารได้

🔅 อำนาจจิต

จิต นอกจากจะมีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะแล้ว ยังมีกิจหรือหน้าที่เป็นประธานในธรรมทั้งปวง คือ ทำให้สำเร็จการงานทั้งหลาย ทางกาย วาจา ใจ ดังในธรรมบทกล่าวว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฎฐา มโนมยา มนสา เจ ปทุฏฺเฐน ภาสติ วา กโรติ วา ตโตนํ ทุกฺขมเนฺวติ จกฺกํว วหโต ปทํ ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าบุคคลใด มีใจชั่วแล้ว พูดอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม เพราะความชั่วนั้น ทุกข์ย่อมตามบุคคลนั้นไปดุจล้อหมุนตามรอยเท้าแห่งโค ที่นำแอกไปอยู่ ฉะนั้น

มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฐา มโนมยา มนสา เจ ปสนฺเนน ภาสติ วา กโรติ วา ตโตนํ สุขมเนฺวติ ฉายาว อนุปายินี ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าบุคคลใด มีใจดีแล้ว พูดอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม เพราะความดีนั้น สุขย่อมตามบุคคลนั้นไปดุจเงาติดตามตน ฉะนั้น

แสดงว่า การงานต่าง ๆ ของสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำบาป ทำบุญอย่างไรก็ตาม ล้วนสำเร็จได้ด้วยจิตใจทั้งสิ้น ถ้าไม่มีจิตแล้วก็ไม่อาจทำกรรมอะไรได้เลย จิตจึงมีอำนาจกระทำความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลายให้วิจิตรต่าง ๆ ดังวจนะว่า :-

จิตฺตึกโรตีติ = จิตฺตํ แปลความว่า ธรรมชาติใด ทำความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลายให้วิจิตร ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า จิต ฉะนั้น จิตจึงมีอำนาจทำให้ธรรมชาติทั้งหลายเป็นไปโดยวิจิตร ประมวลความวิจิตรของจิตไว้ ๖ ประการ คือ : -

  • ๑. วิจิตรโดยการกระทำ หมายความว่า วัตถุสิ่งของทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในโลกและความประพฤติเป็นไปของสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นย่อมมีทั้งงดงามแปลกประหลาดน่าพิศวง และน่าสยดสยองนั้น ล้วนสำเร็จได้ด้วย จิต
  • ๒. วิจิตรด้วยตนเอง หมายถึง สภาพของจิตนั่นเอง มีความเป็นไปอย่างน่าพิศวงนานาประการ มีทั้งจิตที่เป็นอกุศล กุศล, วิบาก, อภิญญาและกิริยา เช่น จิตที่มีราคะ, จิตมีโทสะ และจิตที่มีศรัทธา, อภิญญา, ปัญญา และจิตที่สงบ เป็นต้น
  • ๓. วิจิตรในการสั่งสมกรรม และ กิเลส หมายถึง กรรม คือ การกระทำและกิเลสเครื่องทำให้จิตใจเศร้าหมอง ที่ปรากฏขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลายอยู่เป็นประจำนั้น เพราะมีการสั่งสมไว้ในจิตมาแล้วแต่อดีต ครั้นมาได้รับอารมณ์ใหม่ในปัจจุบัน ก็สนับสนุนกรรมและกิเลสให้ปรากฏขึ้นมาใหม่ และจะเก็บสั่งสมไว้ต่อไปอีก
  • ๔. วิจิตรในการรักษาวิบากที่กรรมและกิเลสได้สั่งสมไว้ หมายถึง กรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรมที่จิตก่อให้เกิดขึ้น ผลของกรรมคือวิบาก ย่อมไม่สูญหายไปไหน แม้กรรมนั้นจะเล็กน้อย หรือได้กระทำมาแล้วช้านานปานใดก็ตามผลแห่งกรรม คือวิบากนั้น จะติดตามไปให้ต้องได้รับผล เมื่อถึงโอกาส
  • ๕. วิจิตรในการสั่งสมสันดานตนเอง หมายถึง จิตที่ก่อให้เกิดการกระทำอย่างใดขึ้นก็ตามเมื่อได้กระทำอยู่เสมอๆ เป็นนิตย์แล้วย่อมจะติดเป็นนิสัยเป็นสันดาน ทำให้เกิดความชำนาญในการกระทำอย่างนั้นเรื่อยๆ ไป ทั้งนี้ เพราะเมื่อจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป และทำให้จิตดวงใหม่เกิดสืบต่ออยู่เรื่อย ๆ ไป จิตดวงเก่าที่ดับไปนั้น ย่อมส่งมอบกิจการงานให้จิตดวงใหม่โดยไม่ขาดสาย ในลักษณะที่เป็นอนันตรปัจจัย และอาเสวนปัจจัย เป็นต้น
  • ๖. วิจิตรด้วยอารมณ์ต่าง ๆ หมายถึง จิตย่อมรับอารมณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ คือ ประเดี๋ยวเห็น, ประเดี๋ยวได้ยิน ได้กลิ่น, รู้รส เป็นต้น สับเปลี่ยนเวียนวนอยู่ในอารมณ์ทั้ง ๖ มีรูปารมณ์บ้าง สัททารมณ์บ้าง คันธารมณ์บ้าง เป็นต้น


ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่า 
สิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งหมดที่วิจิตรพิสดารนั้น เพราะอำนาจแห่งจิต คือ มีจิตเป็นผู้กระทำให้วิจิตร ในสิ่งที่ไม่มีชีวิต ก็ได้แก่วัตถุสิ่งของทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในโลก และในสิ่งที่มีชีวิต ก็ได้แก่สัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายที่วิจิตรนั้น เพราะกำเนิดวิจิตร, กำเนิดวิจิตร เพราะการกระทำ (อกุศลกุศล) วิจิตร, การกระทำวิจิตร เพราะตัณหา คือ ความยินดีติดใจวิจิตร, ตัณหาวิจิตร เพราะสัญญาวิจิตร, สัญญาวิจิตร เพราะจิตสั่งสมวิจิตร ดังบาลีในปรมัตถทีปนีฎีกาแสดงว่า

จิตฺตวิจิตฺตตาย สญฺญาวิจิตฺตตา, สญฺญาวิจิตตตาย ตณฺหาวิจิตฺตตา, ตณฺหาวิจิตฺตตาย กมฺมานิ วิจิตฺตานิ กมฺมวิจิตตฺตา โยนิโย วิจิตฺตตา, โยนิวิจิตฺตตาย เตสํ ติรจฺฉานคตานํ วิจิตฺตตา เวทิตพฺพา แปลว่า ความวิจิตรของสัตว์ทั้งหลายนั้น เพราะกำเนิดวิจิตร, กำเนิดวิจิตรเพราะการกระทำทางกาย วาจา ใจ วิจิตร, การกระทำทางกาย วาจา ใจ วิจิตร เพราะตัณหา คือ ความพอใจวิจิตร, ตัณหาวิจิตรก็เพราะสัญญา คือ ความจำเรื่องราวต่างๆ วิจิตร, สัญญาวิจิตรก็เพราะจิตวิจิตร รวมความแล้ว จิต ทำให้วิจิตรทั้งภายในและภายนอกสันดานของตน คือ ทำให้สัตว์ทั้งหลายวิจิตร และทำให้วัตถุภายนอกวิจิตร

🔅 จํานวนจิต

เมื่อกล่าวตามสภาวลักษณะของจิตแล้ว จิตมีจำนวนเพียง ๑ เท่านั้น เพราะจิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ขณะใดจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นการรู้อารมณ์ก็เกิดขึ้น จะห้ามการรู้อารมณ์ไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้ สภาวลักษณะของจิตเมื่อกล่าวโดยทั่วไป จึงเป็นการรู้อารมณ์อย่างเดียว เมื่อนับจำนวนโดยสภาวลักษณะแล้ว จึงมีเพียง ๑ แต่จะกล่าวถึงลักษณะที่รู้อารมณ์พิเศษของจิตแล้ว จิตจะมีความสามารถในการรู้อารมณ์ไม่เหมือนกัน โดยอำนาจการปรุงแต่งของเจตสิกที่เกิดขึ้นพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีที่อาศัยและมีอารมณ์อันเดียวกันกับจิต จึงทำให้จิตมีความสามารถในการรู้อารมณ์พิเศษแตกต่างกันออกไป เช่น รู้ในเรื่องที่เป็นบุญ เป็นบาป รู้ในการสงบระงับจากกาม คือ รู้ในเรื่องรูปฌาน อรูปฌาน และรู้อารมณ์นิพพาน เพราะฉะนั้น เมื่อจะศึกษากันถึงความพิสดารของจิตแล้ว จะต้องศึกษาประเภทต่าง ๆ ของจิตที่รับอารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ต่อไป ซึ่งจำแนกจิตออกไปทั้งหมดได้อย่างย่อ ๘๙ และอย่างพิสดารได้ ๑๒๑


🔅 จําแนกประเภทจิตโดยนัยต่าง ๆ

จิตจำนวน ๘๙ หรือ ๑๒๑ นั้น จำแนกเป็นนัยต่างๆ ได้ ๙ นัย คือ: -

  • ๑. ชาติเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตโดยชาติ มี ๔ ชาติ ได้แก่ อกุศลชาติ กุศลชาติ วิปากชาติ และกิริยาชาติ   
  • ๒. ภูมิเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตโดยภูมิ มี ๔ ภูมิ ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ และโลกุตรภูมิ 
  • ๓. โสภณเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตที่ดีงามประเภทหนึ่ง เรียกว่า “โสภณจิต” และประเภทจิตที่เหลือนอกนั้น เรียกว่า “อโสภณจิต” 
  • ๔. โลกเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตที่เป็นอยู่ในโลกทั้ง ๓ มี กามโลก รูปโลก และอรูปโลก เรียกว่า “โลกียจิต” กับจิตที่พ้นจากความเป็นไปในโลกทั้งที่เรียกว่า “โลกุตรจิต”
  • ๕. เหตุเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตที่ประกอบด้วยเหตุ ที่เรียกว่า “สเหตุกจิต” และที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ที่เรียกว่า “อเหตุกจิต
  • ๖. ฌานเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตที่สามารถกระทำฌานเรียกว่า "ฌานจิต" และที่ไม่สามารถกระทำฌาน เรียกว่า "อฌานจิต"
  • ๗. เวทนาเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตโดยการเสวยอารมณ์ ได้แก่จิตที่เกิดพร้อมด้วย สุขเวทนา ทุกขเวทนา โสมนัสสเวทนา โทมนัสสเวทนา และอุเบกขาเวทนา
  • ๘. สัมปโยคเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตโดยสัมปยุตและวิปปยุต
  • ๙. สังขารเภทนัย คือ การแยกประเภทของจิตโดยสภาพมีกำลังแก่กล้าเรียกว่า “อสังขาริก” และสภาพที่มีกำลังอ่อนกว่า เรียกว่า “สสังขาริก

การอธิบายจิตต่อไปนี้ พระอนุรุทธาจารย์ แสดงจิตโดยภูมิเภทนัยก่อนเพราะเป็นการแสดงความเป็นไปของจิตที่ท่องเที่ยวไปในภูมิต่างๆ มีกามภูมิ เป็นต้น อย่างที่เราท่านทั้งหลายกำลังประสบอยู่นี้ ย่อมเข้าใจง่ายกว่าการแสดงจิตในประเภทอื่นๆ


🔅 
จำแนกจิตโดยภูมิ

ตตฺถ จิตตํ ตาว จตุพฺพิธํ โหติ กามาวจรํ รูปาวจรํ อรูปาวจรํ โลกุตฺตรญฺเจติ จิตปรมัตถ์ที่แสดงภูมิไว้เป็นอันดับแรกนี้ มี ๔ ประเภท คือ กามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต และโลกุตรจิต

ในจำนวนจิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ นั้น เมื่อจำแนกโดยภูมิแล้วได้ ๔ ประเภทคือ 
๑. กามาวจรจิต ๕๔ ดวง
๒. รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
๓. อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง
๔. โลกุตรจิต ๘ ดวง หรือ ๔๐

🔅 กามาวจรจิต ๕๔

คำว่า กามาวจรจิต เมื่อแยกบทแล้วได้ ๓ บท คือ กาม + อวจร + จิต = กามาวจรจิต 
กาม” หมายถึง ความยินดีติดใจในอารมณ์ ๖ มีรูป, เสียง, กลิ่น รส โผฏฐัพพะและเรื่องราวที่คิดนึก หรือหมายถึงสิ่งใดอันเป็นที่ชอบใจ สิ่งนั้นก็ได้ชื่อว่า "กาม" 

ดังมีวจนัตถะว่า กาเมตีติ = กาโมกามียตีติ

กาโม ซึ่งแปลว่า “ธรรมชาติใด
ย่อมมีความต้องการกามอารมณ์ ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า “กาม” ได้แก่ กิเลสกาม คือ กามตัณหา หรือ “ธรรมชาติใดเป็นที่ชอบของกามตัณหา ธรรมชาตินั้นก็ชื่อว่า "กาม" ได้แก่ วัตถุกาม คือ กามจิต เจตสิก รูป ที่เป็นอารมณ์ของกามตัณหา

กิเลสกาม หมายถึง สภาพที่เป็น ตัวปรารถนา ตัวใคร่ ตัวกำหนัดยินดีเพลิดเพลินในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ที่เป็นกามธรรม

วัตถุกาม หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ให้กามตัณหาเข้าไปยึดหน่วงไว้ได้แก่ กามอารมณ์ คือ กามจิต กับ เจตสิกที่ประกอบและรูปธรรม

“อวจร” แปลว่า “ท่องเที่ยวไป” หรือ “ซึ่งอาศัยอยู่” ฉะนั้น “กามาวจรจิตจึงหมายถึง จิตที่ท่องเที่ยว หรืออาศัยอยู่ในภูมิ อันเป็นที่เกิดของกิเลสกามและวัตถุกามรวมความว่า กามาวจรจิต หรือเรียกสั้นๆ ว่า กามจิตนั้น มีความหมายเป็น ๓ นัย คือ: -

๑. หมายถึง จิตที่รับกามอารมณ์โดยมาก
๒. หมายถึง จิตที่เกิดอยู่ในกามภูมิ ๑๑ โดยมาก
๓. หมายถึง จิตที่ข้องอยู่ในกามคุณอารมณ์

มีวจนัตถะว่า กาเม อวจรตีติ = กามาวจรํ แปลว่า "จิตเหล่าใดท่องเที่ยวอยู่ในกามอารมณ์หรือกามภูมิโดยมาก จิตเหล่านั้น ชื่อว่า กามาวจร"

กามาวจรจิตหรือกามจิต ซึ่งมีจำนวน ๕๔ ดวงนั้น จำแนกได้ ๓ ชนิด คือ

  • อกุศลจิต ๑๒
  • อเหตุกจิต ๑๘
  • กามาวจรโสภณจิต ๒๔

ในกามาวจรจิต ๕๔ ดวงนี้ พระอนุรุทธาจารย์ ได้แสดงอกุศลจิตก่อนเพราะอกุศลจิตนี้ เมื่อเกิดขึ้นแก่ผู้ใด ก็ย่อมให้โทษแก่ผู้นั้น จึงสมควรที่จะได้รู้สภาพของจิตที่ก่อให้เกิดโทษภัยแก่ชีวิตก่อน เป็นเบื้องต้น

🔅 อกุศลจิต ๑๒

อกุศลจิต เป็นจิตที่ไม่ดีไม่งาม เป็นจิตที่หยาบ ที่ต่ำทราม หรือเป็นจิตที่ประกอบด้วยอกุศลเจตสิก ที่เป็นโทษ มีโทษ และให้ผลเป็นความทุกข์

คาถาสังคหะ
อฏฐิธา โลภมลานิ โทสมูลานิ จ ทฺวิธา โมหมูลานิ จ เทฺวติ ทฺวาทสากุสลา สิยุํฯ
แปลความว่า “โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ รวม ๑๒ ดวงนี้เป็น อกุศลจิต

อธิบายอกุศลจิต ๑๒ ดวงนี้ จำแนกออกเป็น ๓ ชนิด คือ โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ และโมหมูลจิต ๒

โลภมูลจิต หมายความว่า จิตที่เกิดขึ้น โดยมีอกุศลเจตสิกประกอบ และมีโลภเจตสิก เป็นประธาน
โทสมูลจิต หมายความว่า จิตที่เกิดขึ้น โดยมีอกุศลเจตสิกประกอบ และมีโทสเจตสิก เป็นประธาน
โมหมูลจิต หมายความว่า จิตที่เกิดขึ้น โดยมีอกุศลเจตสิกประกอบ และมีโมหเจตสิก เป็นประธาน

แสดงการจําแนกอกุศลจิตเป็น ๓ ชนิด

อกุศลจิต ๑๒

  • โลภมูลจิต ๘
  • โทสมูลจิต ๒
  • โมหมูลจิต ๒

ผังภาพอกุศลจิต ๓ ชนิดโดยพิสดาร


  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

แผนผังปรมัตถธรรม


  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS