วันพฤหัสบดี

จีวรวรรคที่ ๑

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จัดเป็น ๓ วรรค คือ
จีวรวรรค ๑๐
โกสิยวรรค ๑๐
ปัตตวรรค ๑๐

จีวรวรรคที่ ๑ มี ๑๐ สิกขาบท ดังนี้
๑. ปฐมกฐินสิกขาบท
ความว่า จีวรสำเร็จแล้ว กฐินเดาะแล้ว คือภิกษุได้เข้าปุริมพรรษาในวันเดือนแปด แรมค่ำหนึ่งแล้ว ได้กรานหรือได้อนุโมทนากฐินแล้ว ถ้ายังมี
🔎ปลิโพธ(๔๓) อยู่ในอาวาสนั้น เมื่อล่วงเพ็ญเดือน ๔ ไปแล้ว ตั้งแต่แรมค่ำหนึ่ง เดือน ๔ ไปถึงเพ็ญเดือน ๑๑ ถ้าภิกษุได้อดิเรกจีวรมา คือผ้าที่ยังไม่ได้🔎วิกัป(๔๔) หรือว่าอธิษฐาน ตั้งแต่ผ้ากว้างคืบหนึ่ง ยาวศอกหนึ่งขึ้นไป พึงเก็บไว้ได้เพียง ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง ถ้าไม่ได้วิกับหรือวิกัปอธิษฐานล่วงราตรีที่ ๑๐ ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์ ควรสละให้ภิกษุอื่นเป็นวินัยกรรม ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์นับเท่าผืนผ้านั้น ก็แต่อติเรกจีวรที่เกิดภายใน ๕ เดือนตั้งแต่เดือน ๑๑ แรมค่ำหนึ่ง ถึงเพ็ญเดือน ๔ นั้น ถึงไม่วิกัป ไม่ได้🔎ธิษฐาน(๔๕) ก็ยังไม่เป็นนิสสัคคีย์ ถ้าเข้า🔎ปริมพรรษา(๔๖) แต่ไม่ได้กราน ไม่ได้อนุโมทนากฐิน คุ้มอติเรกจีวรได้เดือนหนึ่ง คือตั้งแต่แรมค่ำหนึ่ง เดือน ๑๑ ถึงเพ็ญเดือน ๑๒ ถ้าเข้าปัจฉิมพรรษาในวันแรมค่ำหนึ่ง เดือน ๙ หรือภิกษุขาดพรรษาไซร้ ก็ไม่มีกาลจะคุ้มอติเรกจีวรได้ เมื่อได้มาถึง ก็ถึงวิกัปหรืออธิษฐานเสียภายใน ๑๐ วันนั้น

๒. ทุติยกฐินสิกขาบท
ที่เรียกว่า อุทโธสิตสิกขาบทนั้น ความว่า เมื่อมีจีวรสำเร็จแล้ว กฐินเดาะแล้วมีกำหนดกาลและอธิบายดังกล่าวแล้วในปฐมสิกขาบทนั้น ถ้าหากว่าภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวรแม้แต่ราตรีเดียว คือละไตรจีวรไว้นอก
🔎หัตถบาส(๔๗) เมื่อราตรีรุ่งขึ้น ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ภิกษุใช้ที่สงฆ์สมมติให้อยู่ปราศจากไตรจีวร ละไว้ได้ ไม่ต้องอาบัติ

๓. ตติยกฐินสิกขาบท
ความว่า เมื่อจีวรสำเร็จแล้ว กฐินเดาะแล้ว มีกำหนดกาลและอธิบายดังกล่าวแล้วในปฐมสิกขาบทนั้น ถ้าว่า
🔎อกาลจีวร(๔๘) จึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุ คือมีทายกนำผ้ามาถวายให้เป็นอกาลจีวร ภิกษุปรารถนาจะทำไตรจีวร ก็พึงรับเอาไว้ แล้วรีบเร่งทำเสียให้เสร็จภายใน ๑๐ วัน ถ้าผ้านั้นยังไม่พอแก่🔎สังฆาฏิ(๔๙) หรือ🔎อุตตราสงฆ์(๕๐) หรือ🔎อันตรวาสก(๕๑) ผืนใดผืนหนึ่งก็ดี ถ้าหมายใจเป็นแน่ว่ายังจะได้ผ้าอื่นมาบรรจบให้พอได้ภายใน ๑ เดือนแล้ว ก็พึงเก็บผ้านั้นไว้ได้อีกเพียงเดือน ๑ เป็นอย่างยิ่ง ถ้าพ้นจากนั้นไม่วิกัปหรืออธิษฐานไว้ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าว่าได้ผ้าอื่นมาในภายเดือน ๑ เอามาผสมยังไม่พอเล่า แม้ยังหมายใจว่าจะได้ผ้าอื่นต่อไปอีก ก็พึงวิกับหรืออธิษฐานผ้าเดิมนั้นเก็บไว้ ผ้าที่ได้มาใหม่นั้นตั้งเป็นผ้าเดิมขึ้นไว้ใหม่ได้อีกเดือน ๑ ต่อไป เพื่อจะได้บรรจบกับผ้าที่จะได้มาใหม่เป็นไตรจีวรให้พอตามความปรารถนา

๔. จีวรโธวาปนสิกขาบท
ความว่า ภิกษุใช้นางภิกษุณีที่มิใช่ญาติ หรือคฤหัสถ์ที่มิใช่ญาติ มิใช่ปวารณา ให้ชัก หรือย้อม หรือทุบ รีดจีวรเก่า ตั้งแต่ผ้าที่ได้นุ่งห่ม หนุนศีรษะนอนแต่คราวหนึ่งขึ้นไป จีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์

๕. จีวรปฏิคคหณสิกขาบท
ความว่า ภิกษุรับจีวรแต่มือนางภิกษุณีอันมิใช่ญาติ จีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยนกัน ผ้านั้นไม่เป็นนิสสัคคีย์ ไม่เป็นอาบัติ

๖. จีวรวิญญัติสิกขาบท
ความว่า ภิกษุพึงขอจีวรแต่คฤหัสถ์ คหบดีหรือคหปตานี คฤหัสถ์ชายหญิงที่มิใช่ญาติ จีวรที่ได้มาต้องนิสสัคคีย์ ภิกษุผู้ขอต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่สมัยที่ขอได้ คือเป็นคราวเมื่อจีวรอันโจรตีชิงเอาไปเสียหรือว่าไฟไหม้ หนูกัด ปลวกกัดกินเป็นต้น จนมีผ้านุ่งผืนเดียว หรือต้องตัดใบไม้นุ่งแล้ว เที่ยวไปขอได้ ไม่มีโทษต้องห้าม

๗. ตทุตตรสิกขาบท
ความว่า ภิกษุได้วิญญัติสมัย คือคราวที่จะเที่ยวขอได้เช่นนั้น แล้วเที่ยวขอจีวรอยู่ ถ้ามีคหบดีหรือคหปตานี คฤหัสถ์ชายหญิงที่มิใช่ญาติมาปวารณาด้วยผ้ามากหลายผืนนำมาถวายให้ทำไตรจีวรจนพอประโยชน์ ก็พึงยินดีรับแต่เพียงสองผืน คือผ้าอันตรวาสกและผ้าอุตตราสงค์ ที่เรียกว่าสบงจีวรครองตามสังเกตทุกวันนี้ พอจะได้นุ่งผืนหนึ่งเท่านั้น ผ้าของตนยังมีอยู่ผืนหนึ่งพึงรับได้อีกเพียงผืน ๑ ถ้ายินดีรับยิ่งกว่า ๒ ผืนขึ้นไป ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์
   
๘. ปฐมอุปักขฏสิกขาบท
ความว่า คหบดีหรือคหปตานี คฤหัสถ์ชายหญิงที่มิใช่ญาติ พึงตั้งกำหนดราคาจีวรไว้ว่า จะซื้อจีวรถวายภิกษุชื่อนั้น แต่หาได้ปวารณาไว้แก่ภิกษุนั้นก่อนไม่ ภิกษุนั้นครั้นรู้แล้ว ก็อยากจะได้จีวรที่ดี จึงเข้าไปสู่หากล่าวกำหนดให้ซื้อผ้าที่เนื้อดีให้ยาว ให้กว้าง ให้เกินราคาที่เขากำหนดไว้ เขาได้ผ้ามาถวายถึงมือเมื่อไร ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

๙. ทุติยอุปักขฏสิกขาบท
ความว่า คหบดีหรือคหปตานี คฤหัสถ์ชายหญิงที่มิใช่ญาติเป็นสองพวกสองหมู่ ต่างคนต่างกำหนดราคาจีวรไว้ว่า จะซื้อจีวรคนละผืนถวายแก่พระภิกษุเฉพาะองค์เดียวกัน แต่ก็หาได้ปวารณาไว้แก่ภิกษุนั้นไม่ ครั้นภิกษุนั้นรู้ข่าวแล้ว ก็อยากได้จีวรเนื้อดีที่งามตามชอบใจแต่สักผืนดียว จึงเข้าไปสู่หาว่ากล่าวชักโยงคนทั้งสองฝ่ายให้รวมราคาเข้ากันกำหนดให้ซื้อจีวรที่เนื้อดีกว้างยาวตามใจชอบแต่ผืนเดียวให้เกินราคาที่เขากำหนดให้ เขาซื้อผ้ามาถวายถึงมือเมื่อใด ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

๑๐. ราชสิกขาบท
ความว่า พระเจ้าแผ่นดินก็ดีอำมาตย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี คฤหบดีก็ดี จึงมอบหมายราคาจีวรให้แก่ทูต บังคับให้ไปซื้อจีวรมาถวายแก่พระภิกษุที่ตนเฉพาะไว้ แต่ทูตนั้นหาได้ซื้อจีวรไปถวายตามคำที่ใช้ไม่ นำเอารูปิยะเงินทองราคาซื้อจีวรไปถวายแก่พระภิกษุนั้นแจ้งว่า “ราคาจีวรนี้ท่านผู้นั้นใช้ให้ข้าพเจ้านำมาถวายแก่ท่านผู้มีอายุ ขอท่านผู้มีอายุจงซื้อหาจีวรตามปรารถนาเถิด” ภิกษุพึงกล่าวแก่ทูตนั้นว่า “อันเราจะรับทรัพย์เงินทองเป็นราคาจีวรนี้ไม่ได้ ไม่ควร จะควรรับได้ก็แต่จีวรที่ควรตามกาล” ทูตนั้นถามว่า “
🔎ไวยาวัจกร(๕๒) ของพระผู้เป็นเจ้ามีอยู่หรือหามิได้เล่า” ถ้าภิกษุมีประโยชน์ด้วยจีวรไซร้ก็พึงแสดงไวยาวัจกร คือผู้รักษาอารามหรืออุบาสกว่า “ผู้นั้นเป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย” ทูตนั้นจึงนำราคาจีวรไปมอบหมายส่งให้ไว้แก่ไวยาวัจกร แล้วจึงมาบอกเล่าแก่ภิกษุนั้นว่า “ราคาจีวรนั้นข้าพเจ้าได้มอบหมายสั่งไวยาวัจกรไว้แล้ว พระผู้เป็นเจ้าจะประโยชน์ด้วยจีวรเมื่อไร จงไปบอกเล่าแก่ไวยาวัจกรเถิด เขาจะได้จัดหามาถวายตามประสงค์”

ถ้าภิกษุมีประโยชน์ด้วยจีวรไซร้ก็พึงไปทวงเตือนไวยาวัจกรนั้นว่า “เราประโยชน์ด้วยจีวร” ดังนี้ ถ้าทวงเตือนครั้งที่ ๑ แล้วก็ยังไม่ได้มา ก็ให้ทวงเตือนซ้ำได้ ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง เมื่อครบ ๓ ครั้งแล้ว จีวรนั้นไม่ได้มา ก็พึ่งไปยืนนิ่งเฉยพอให้รู้ว่า “ทวงจีวร” ได้อีก ๖ ครั้งเป็นอย่างยิ่ง ถ้าไปยืนครบ ๖ ครั้งแล้ว ไวยาวัจกรนั้นให้จีวรสำเร็จมาได้ก็เป็นอันดี ถ้าไม่สำเร็จได้เล่า เมื่อภิกษุทำเพียรไปยืนให้ยิ่งกว่า ๖ ครั้ง จึงให้จีวรสำเร็จมาได้ จีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

ถ้าภิกษุไปทวงเตือน ๓ ครั้งแล้วไปยืน ๖ ครั้งตามกำหนดนี้แล้ว ไวยาวัจกรไม่ให้จีวรมา ราคาจีวรนั้นอันทูตได้นำมาแต่ตระกูลใด ให้ภิกษุนั้นไปเอง หรือส่งทูตไปยังตระกูลนั้น ให้บอกเล่าว่า “ท่านทั้งหลายได้ส่งราคาจีวรไปแก่ทูต อุทิศต่อพระภิกษุรูปใด ก็หาสำเร็จประโยชน์แต่อย่างใดไม่ ท่านจงทวงคืนมาเสียเถิด อย่าให้ของ ๆ ตนสูญจากประโยชน์เลย” อันนี้แลเป็นวัตรในราคาจีวรที่ทายกส่งไปเฉพาะภิกษุนั้น ถ้าภิกษุไม่ไปบอกเล่าให้เจ้าของเดิมรู้ ต้องอาบัติ🔎วัตตเภท(๕๓) ทุกกฏ

จบจีวรวรรค ๑๐ สิกขาบท เท่านี้

🔅 ปาราชิก ๔ 
🔅 สังฆาทิเสส ๑๓ 
🔅 อนิยต ๒ 
🔅 นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐
        (จีวรวรรค ๑๐)
        (โกสิยวรรค ๑๐)
        (ปัตตวรรค ๑๐)
🔅 ปาจิตตีย์ ๙๒
        (มุสาวรรค ๑๐)
        (ภูตคามวรรค ๑๐)
        (ภิกขุโนวาทวรรค ๑๐)
        (โภชนวรรค ๑๐)
        (อเจลกวรรค ๑๐)
        (สุราปานวรรค ๑๐)
        (สัปปาณวรรค ๑๐)
        (สหธัมมิกวรรค ๑๒)
        (ราชวรรค ๑๐)
🔅 ปาฎิเทสนียะ ๔
🔅 เสขิยวัตร ๗๕
        (สารูป ๒๖)
        (โภชนปฎิสังยุตต์ ๓๐)
        (ธัมมเทสนาปฎิสังยุตต์ ๑๖)
        (ปกิณกะ ๓)
🔅 อธิกรณสมถะ ๗

อนิยต ๒

อนิยต ๒

๑. อลังกัมมนียสิกขาบท
ความว่า ภิกษุรูปเดียวนั่งอยู่ด้วย🔎มาตุคาม(๔๑) คนเดียวในที่ลับตา มีฝากั้นม่านกั้นเป็นที่ควรจะเสพเมถุนได้ ถ้ามีอุบาสกอุบาสิกามีถ้อยคำควรเชื่อได้ ได้เห็นอาการของภิกษุแลมาตุคามนั้น แลพึงโจทก์ด้วยอาบัติปาราชิก หรือสังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์แต่อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ตนเห็น ภิกษุก็รับสมอ้างตามคำโจทก์ จึงให้พระวินัยธร ปรับโทษ ตามปฏิญาณของภิกษุนั้นเป็นประมาณ

๒. นาลังกัมมนียสิกขาบท
ความว่า ภิกษุนั่งกับมาตุคามอย่างนั้น ก็แต่ที่ ๆ นั่งนั้นไม่มีที่บังที่มุง ไม่ควรจะเสพเมถุนได้ ควรแต่จะเจรจาคำหยาบ เปรียบปรายเกี้ยวพานกันได้เท่านั้น ถ้ามีอุบาสกอุบาสิกามีถ้อยคำควรจะเชื่อได้ ได้เห็น ได้ยิน แล้วมาโจทก์ด้วยอาบัติสังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์ ภิกษุก็รับสมตามคำโจทก์ จึงให้พระวินัยธรปรับโทษตามคำปฏิญาณของพระภิกษุนั้นเป็นประมาณ

สิกขาบททั้งสองนี้ มีอาบัติธรรมไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เป็นแบบแผนที่🔎พระวินัยธร(๔๒)จะตัดสินโทษของภิกษุผู้อาบัติอธิกรณ์นั้น ๆ

จบอนิยต ๒ สิกขาบท เท่านี้

🔅 ปาราชิก ๔ 
🔅 สังฆาทิเสส ๑๓ 
🔅 อนิยต ๒ 
🔅 นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐
        (จีวรวรรค ๑๐)
        (โกสิยวรรค ๑๐)
        (ปัตตวรรค ๑๐)
🔅 ปาจิตตีย์ ๙๒
        (มุสาวรรค ๑๐)
        (ภูตคามวรรค ๑๐)
        (ภิกขุโนวาทวรรค ๑๐)
        (โภชนวรรค ๑๐)
        (อเจลกวรรค ๑๐)
        (สุราปานวรรค ๑๐)
        (สัปปาณวรรค ๑๐)
        (สหธัมมิกวรรค ๑๒)
        (ราชวรรค ๑๐)
🔅 ปาฎิเทสนียะ ๔
🔅 เสขิยวัตร ๗๕
        (สารูป ๒๖)
        (โภชนปฎิสังยุตต์ ๓๐)
        (ธัมมเทสนาปฎิสังยุตต์ ๑๖)
        (ปกิณกะ ๓)
🔅 อธิกรณสมถะ ๗

วันพุธ

สังฆาทิเสส ๑๓

สังฆาทิเสส ๑๓ 


๑. สัญเจตนิกสิกขาบท
ความว่า ภิกษุอันกำหนัดแกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อนออกมาประกอบความเพียรจับ กำ ครูด สี ลูบคลำองคชาต หรือหนีบในระหว่างขา หรือเด้งดันเด้าในท่อนผ้าแลที่มีช่อง และที่ว่างเปล่าเป็นต้นก็ดีให้น้ำอสุจิเคลื่อนออกจากลำกล้ององคชาตสักหยดหยาดหนึ่ง ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เว้นไว้แต่นอนหลับฝันเห็น เมื่อเวลาหลับไม่มีโทษ แต่พอตื่นฟื้นขึ้น ถ้าพลอยเพียรซ้ำเมื่อกำหนัดมิพ้นโทษ

๒. กายสังสัคคสิกขาบท
ความว่า ภิกษุมีจิตกำหนัดในการจะสัมผัสต้องกายหญิงมนุษย์ มาจับมือ จับมวยผม จับผ้าห่ม จับนม จับแก้ม เคล้าคลึง จูบกอดหญิงมนุษย์ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

๓. ทุฏฐลลวาจสิกขาบท
ความว่า ภิกษุมีจิตกำหนัดน้อมในกาม พึงกล่าวคำชั่วหยาบ เกี้ยวพาน แทะโลมหญิงดังชายหนุ่มอันเกี้ยวพานหญิงสาว กล่าวแทะโลม ถากถางโดยทางเมถุน มาเจรจาเปรียบปรายเฉพาะทวารหนัก ทวารเบา พูดถึงการชำเราให้หญิงได้ยิน แม้จะทักทายว่าสิ่งอื่น ๆ ว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ สีแดง สีดำ สีเขียว สีขาว ว่าขนยาว ขนดก ว่าทางรก ทางเตียน ทางแคบ ทางกว้าง เป็นต้นก็ดี แต่จิตมุ่งเอาที่ลับของหญิง หญิงรู้อธิบายของภิกษุขณะเมื่อกล่าวนั้น ภิกษุกล่าวคำหยาบเช่นนี้ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

๔. อัตตกามปาริจริยสิกขาบท
ความว่า ภิกษุมีจิตกำหนัดน้อมไปในกาม พึงกล่าวคำสรรเสริญคุณการบำเรอด้วยกามแก่ตน ในสำนักแห่งหญิงมนุษย์ว่า หญิงคนใดได้บำเรอภิกษุผู้มีศีล เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์เห็นปานดังตัวเรา ที่เป็นคนขัดสนจนด้วยเมถุนสังวาส การบำเรอด้วยเมถุนแก่ภิกษุที่ขัดสนนั้น จะมีผลอานิสงส์เป็นอย่างยอดยิ่ง จะนำตนให้ไปสวรรค์ได้ง่าย ๆ หญิงก็รู้อธิบายในขณะนั้น ภิกษุนั้นต้องอาบัติสังฆาทิเสส

๕. สัญจริตสิกขาบท
ความว่า ภิกษุที่ชักสื่อหญิงและชายให้อยู่ร่วมเป็นผัวเมียและชู้กัน นำความประสงค์ของหญิงไปบอกเล่าแก่ชาย ชักโยงให้ทั้งสองได้เป็นตัวเมีย เป็นชู้กัน จะชักนำให้ได้สังวาสกัน แต่ในขณะนั้นเป็นอย่างที่สุด ภิกษุผู้ชักสื่อต้องอาบัติสังฆาทิเสส

(สิกขาบททั้ง ๕ นี้ ให้ภิกษุหมั่นดู หมั่นจำระวังให้จงมาก ภิกษุที่ไม่ได้ศึกษา เป็นคนคะนองกาย วาจา อยู่แล้วก็ล่วงง่าย ๆ ให้จำให้หมายไว้เป็นสำคัญ เทอญ)

๖. สัญญาจิกสิกขาบท
ความว่า ภิกษุทำเองหรือใช้ให้ผู้อื่นทำกุฏิที่อยู่ ด้วย
🔎ทัพสัมภาระ(๒๘) มีอิฐ ปูน ไม้ เป็นต้น อันตนเที่ยวขอมาเอง ไม่มี🔎ทายก(๒๙) เป็นเจ้าของผู้สร้างถวาย เฉพาะจะทำอยู่เอง หาให้สงฆ์แสดงพื้นที่ให้ไม่ ทำลงในที่มีอุปัทวันตรายทั้งไม่มีอุปจาร ทำให้เกินประมาณ คือยาวกว่า ๑๒ คืบสุคต กว้างกว่า ๗ คืบสุคต กำหนดวัดในร่วมฝาข้างใน ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

๗. มหัลลกาสิกขาบท
ความว่า ภิกษุทำเองหรือให้ผู้อื่นทำวิหารที่อยู่เป็นอารามใหญ่ ไม่กำหนดประมาณ มีทายกเป็นเจ้าของลงทุนสร้างถวาย แต่หมายใจเฉพาะอยู่เอง หาให้สงฆ์ชี้ที่ตั้งให้ไม่ ทำตามอำเภอใจ ทำลงในที่มีอุปัทวันตรายและไม่มีอุปจาร ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

๘. อมูลกสิกขาบท
ความว่า ภิกษุซึ่งโกรธขัดเคืองภิกษุอื่น คิดจะให้เคลื่อนจากพรหมจรรย์ คือจะให้สึกเสีย พึ่งตามกำจัดโจทก์ยกโทษด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล คือ ตัวไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ได้รังเกียจเลย แกล้งโจทก์เล่นเฉย ๆ จะให้สึกเสียเท่านั้น ภิกษุผู้โจทก์ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

๙. อัญญภาคิยสิกขาบท
ความว่า ภิกษุซึ่งโกรธภิกษุ แล้วโจทก์ด้วยอาบัติปาราชิกอย่างฉะนั้น ต่างกันแต่เอาเลศมาใส่ไคล้เสแสร้งแกล้งยกโทษ คือ ตนได้เห็นสัตว์เดรัจฉานอันสัดกันเป็นต้น หรือได้รู้ได้เห็นใครลักทรัพย์สิ่งของ ใครฆ่ามนุษย์ ใครอวดฤทธิ์เดชพิเศษทางอุตตริมนุสสธรรม ก็ถือเอาเลศนั้นมาใส่ไคล้แก่ภิกษุที่ตนขัดเคืองกัน กล่าวหายกโทษโจทก์ภิกษุนั้นว่าเสพเมถุน หรือลักทรัพย์ ฆ่ามนุษย์ อวดอุตตริมนุสสธรรมแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุผู้โจทก์นั้นต้องอาบัติสังฆาทิเสส

(สิกขาบททั้ง ๔ นี้ ชื่อว่าปฐมาปัตติกา เพราะภิกษุล่วงพระพุทธบัญญัติเมื่อใด ก็ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
เมื่อนั้น)

๑๐. สังฆเภทสิกขาบท
ความว่า ภิกษุอันเพียรพยายามจะทำลายสงฆ์ให้แตกร้าวจากกัน หรือถือเอา
🔎อธิกรณ์(๓๐) ที่เป็นไป เพื่อจะทำลายพระสงฆ์ขึ้นเชิดชูอยู่ ภิกษุทั้งหลายที่ได้รู้ได้เห็นพากันว่ากล่าวห้ามปราม ก็ยังดื้อดึงมิได้ลดละความพยายามที่จะทำลายสงฆ์นั้นเสีย ภิกษุทั้งหลายพึ่งพาภิกษุนั้นมาในท่ามกลางสงฆ์ 🔎สวดสมนุภาสน์(๓๑) ห้ามด้วยบัญญัติจตุตถกรรมวาจา เมื่อจบ🔎อนุสาวนา(๓๒) ที่ ๓ ลง ถ้ายังไม่ละอายละความเพียรลงเสียไซร้ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

๑๑. เภทานุวัตตกสิกขาบท
ความว่า ภิกษุรูปหนึ่งหรือสองรูป เป็นพรรคพวกประพฤติตามภิกษุที่เพียรจะทำลายสงฆ์นั้น พลอยเข้ามาโต้ท่านต่อเถียงแทนว่า ภิกษุนั้นว่ากล่าวตามธรรมตามวินัย ภิกษุทั้งหลายห้ามปรามสั่งสอนจะให้ละทิฏฐินั้นเสียก็ไม่เชื่อถือ ให้ภิกษุทั้งหลายพามายังท่ามกลางสงฆ์ สวดสมนุภาสน์ห้ามอย่างฉะนั้น เมื่อจบอนุสาวนาที่ ๓ ลง หากยังไม่ละกรรมนั้นไซร้ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

๑๒. ทุพพจสิกขาบท
ความว่า ภิกษุเป็นผู้สอนยาก เมื่อภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวสั่งสอนด้วยข้อพระวินัยบัญญัติก็กลับดื้อดึง ถือตนไม่ยอม ให้ภิกษุทั้งหลายพามายังท่ามกลางสงฆ์ สวดสมนุภาสน์ห้ามปราม เพื่อจะให้ละความเป็นผู้สอนยากนั้นเสีย เมื่อจบอนุสาวนาที่ ๓ ลง ถ้ายังไม่โอนอ่อนหย่อนพยศ ลดมานะทิฏฐิเสียไซร้ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

๑๓. กูลทูสกสิกขาบท
ความว่า ภิกษุอันอาศัยอยู่ในบ้านหรือนิคมใดแห่งหนึ่ง เป็นผู้ประทุษร้ายต่อตระกูลด้วยให้ดอกไม้ผลไม้ แลอาสารับใช้สอยแต่คฤหัสถ์มิใช่ญาติ มิใช่
🔎ปวารณา(๓๓) เป็นต้น เป็นบุคคลมีมารยาทอันลามกหยาบช้า ภิกษุทั้งหลายได้รู้ได้เห็นได้ยินข่าว ก็ไม่ปรารถนาจะ🔎สมโภค(๓๔) คบหาร่วม🔎สังวาส(๓๕) จึงทำ🔎ปัพพาชนียกรรม(๓๖) ขับเสียจากพวกจากหมู่ กลับโต้แย้งติเตียนว่าภิกษุทั้งหลายลุอำนาจแก่อคติ ๔ ลำเอียงไม่เที่ยงธรรม ภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวเพื่อจะให้ละถ้อยคำนั้นเสีย ถ้ายังละเสียไม่ได้ จึงให้พามายังท่ามกลางสงฆ์ สวดสมนุภาสน์ห้ามอย่างฉะนั้น เมื่อจบอนุสาวนาที่ ๓ ลง ถ้ายังขืนติเตียน🔎การกสงฆ์(๓๗) อยู่ไซร้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

(สิกขาบททั้ง ๔ นี้ตั้งแต่ ๑๐ มาถึงที่ ๑๓ ชื่อว่ายาวตติยกา ภิกษุทำกิจผิดวินัยวัตร ถ้าพระสงฆ์ยังไม่ได้สวดสมนูภาสน์ห้าม ก็ยังไม่ต้องสังฆาทิเสสก่อน ต่อเมื่อสงฆ์สวดสมนูภาสน์จบอนุสาวนาที่ ๓ ลง จึงต้องสังฆาทิเสสเมื่อนั้น)


อาบัติสังฆาทิเสสทั้ง ๑๓ นี้เป็นวุฏฐานสุทธิภิกษุต้องเข้าอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจะทำตนให้บริสุทธิ์เป็นปกติได้ด้วย🔎ปริวาสกรรม(๓๘) ถ้าต้องเข้าแล้วก็ให้สำแดงบอกเล่าแก่ภิกษุแล้วจึงขอปริวาสแก่พระภิกษุต่อไป ถ้าปกปิดไว้นานวัน นับด้วยวันเดือนปีเท่าไร เมื่อรู้สึกตนจะใคร่พ้นโทษ ก็ต้องอยู่ปริวาสกรรมนับเท่าวันเดือนปีที่ปกปิดไว้นั้นแล้วจึงขอ🔎มานัต(๓๙) แต่องค์สงฆ์อีกหกราตรีสงฆ์คณะ ๒๐ รูปให้🔎อัพภาน(๔๐) ชักออกจากโทษได้แล้วจึงเป็นผู้บริสุทธิ์ได้ ให้ภิกษุพึงจำ แล้วศึกษาให้ชัดเจนถูกต้องเทอญ

จบสังฆาทิเสส ๑๓ สิกขาบท ยันความพอเป็นที่กำหนดเท่านี้

🔅 ปาราชิก ๔ 
🔅 สังฆาทิเสส ๑๓ 
🔅 อนิยต ๒ 
🔅 นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐
        (จีวรวรรค ๑๐)
        (โกสิยวรรค ๑๐)
        (ปัตตวรรค ๑๐)
🔅 ปาจิตตีย์ ๙๒
        (มุสาวรรค ๑๐)
        (ภูตคามวรรค ๑๐)
        (ภิกขุโนวาทวรรค ๑๐)
        (โภชนวรรค ๑๐)
        (อเจลกวรรค ๑๐)
        (สุราปานวรรค ๑๐)
        (สัปปาณวรรค ๑๐)
        (สหธัมมิกวรรค ๑๒)
        (ราชวรรค ๑๐)
🔅 ปาฎิเทสนียะ ๔
🔅 เสขิยวัตร ๗๕
        (สารูป ๒๖)
        (โภชนปฎิสังยุตต์ ๓๐)
        (ธัมมเทสนาปฎิสังยุตต์ ๑๖)
        (ปกิณกะ ๓)
🔅 อธิกรณสมถะ ๗

ปาราชิก ๔

ปาราชิก ๔ คือ
เมถุนปาราชิก ๑
อทินนาทานปาราชิก ๑
มนุสสวิคคหปาราชิก ๑
อุตตริมนุสสธรรมปาราชิก ๑
เป็น ๔ สิกขาบท ฉะนี้

๑. เมถุนสิกขาบทที่หนึ่ง
พุทธบัญญัติห้ามมิให้เสพเมถุนธรรม ภิกษุรูปใดไม่บอกคืนสิกขาบท ยังปฏิญาณตนว่าเป็นภิกษุมาเสพเมถุน คือ ให้องคชาตเข้าไปในทวารทั้ง ๓ คือ ทวารหนัก ๑ ทวารเบา ๑ ปาก ๑ ของมนุษย์และอมนุษย์ คือเทวดา ยักษ์ เปรต ผี ปีศาจและสัตว์เดรัจฉานทั้งหญิงชาย ตัวผู้ตัวเมีย เป็น ๓ จำพวกด้วยกัน แม้ว่าภิกษุเสพเมถุนในซากศพที่มีทวารทั้ง ๓ นั้น อันสัตว์กัดกินเสียยังไม่ครึ่งหนึ่งก็ดี ภิกษุให้ผู้อื่นใส่องคชาตเข้าไปในทวารหนักและปากของตนก็ดี ภิกษุหลังอ่อนก้มลงอมองคชาตของตนเองก็ดี ภิกษุที่มีองคชาตยาวจับองคชาตแหย่แยงเข้าไปในทวารหนักของตนเองก็ดี อาการเหล่านี้ชื่อว่าเสพเมถุนทั้งสิ้น ภิกษุเสพเมถุนในทวารทั้ง ๓ ดังกล่าวนั้น ให้องคชาตเข้าไปในทวารทั้ง ๓ ต้องที่ซุ่มประมาณเมล็ดงาหนึ่งเป็นที่สุด ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก

๒. อทินนาทานสิกขาบทที่สอง
พุทธบัญญัติห้ามมิให้ลักทรัพย์สิ่งของที่เจ้าของหวงแหน มิได้อนุญาตยอมให้ ภิกษุมี🔎ไถยจิต(๑๕) คิดจะขโมย ล้วง ลัก เบียดบัง ฉ้อ ตระบัด ปล้นสะดม ข่มเหง แย่งซื้อ ลอบริบถือเอาพัสดุสิ่งของที่เจ้าของหวงแหน ควรแก่ราคา ๕ มาสก ที่เรียกว่าหนึ่งบาทของชาวมคธขึ้นไป คิดเป็นราคาทองหนัก ๒๐ เมล็ดข้าวเปลือก ทอนลงเป็นเงินสองสลึงเฟื่องกับห้ากล่ำในสยามประเทศนี้ ลักเองก็ดี ให้ผู้อื่นลักก็ดี ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก

ในอทินนาทานนี้ ใช่เฉพาะแต่ลักขโมยนำเอาของ ๆ ท่านมาเท่านั้นเมื่อไร อันการทำประโยชน์ของท่าน
ให้ตกไปก็เป็นอทินนาทานเหมือนอย่างยุยงทาสของท่านให้หนีไปจากเจ้าเงินก็ดี ทาสท่านหนีไปชี้ทางบอกตำแหน่งที่ให้หนีไปให้พ้น หรือจะเสียดส่อให้เจ้าเงินไปจับตัวมาได้ก็ดี อาการเหล่านี้จัดเป็นอทินนาทานทั้งสิ้น

อนึ่ง แม้ว่าของ ๆ ตนที่จำต้องเสียค่าภาษีตลอดด่านขนอน เบียดบัง ซ่อนเร้นไปให้พ้นเขตด่านหรือจะขึ้นขัดไม่เสียให้ผู้ที่เรียกทอดอาลัยก็ดี หรือจะช่วยคุ้มให้แก่ญาติโยมพวกพ้องด้วยเลศนัย อุบายให้ผู้เรียกเข้าใจว่าเป็นของพระสงฆ์ก็ดี เหล่านี้เรียกว่า🔎สุงกฆาตะ(๑๖) จัดเป็นอทินนาทานเหมือนกัน

อนึ่ง ของที่ทายกจะให้ด้วยสลาก เมื่อจับถูกชื่อวัตถุสิ่งของที่ตนไม่ชอบใจ ซ่อนทิ้งสลากนั้นเสีย แล้วจับใหม่ ก็ไม่ทดแทนทอนราคากันลงได้ คงปลง🔎อวหาร(๑๗) ตามราคาสลากที่จับใหม่นั้นเอง แม้🔎สลากภัต(๑๘) ที่ปักชื่อภิกษุรูปอื่นแล้ว แลชักธงชื่อท่านเสีย แลปักธงชื่อของตนหรือธงชื่อพระภิกษุพวกของตัวลง ก็เป็นอทินนาทานเช่นเดียวกัน

อนึ่ง ภิกษุเบียดเสียดปักที่แดนดินที่มีเจ้าของหวงแหน ให้ล่วงล้ำเข้าไปในเขตแดนของท่าน แม้ประมาณเส้นผมหนึ่ง ก็เป็นอทินนาทาน

ภิกษุให้ประโยชน์ของท่านตกไป ด้วยอาการดังว่ามานี้ พอครบราคาสองสลึงเฟื้องกับห้ากล้ำเมื่อใด ก็เป็นปาราชิกเมื่อนั้น

๓. มนุสสวิคคหสิกขาบทที่สาม
พุทธบัญญัติห้ามมิให้ฆ่ามนุษย์ในครรภ์ นอกครรภ์ ภิกษุรูปใดรู้ว่ามนุษย์มีชีวิตคิดแกล้งจะฆ่าให้ตายด้วยอุบายต่าง ๆ จำเดิมแต่ประกอบยาให้หญิงมีครรภ์กิน ให้ครรภ์คือสัตว์ที่เกิดในท้องมารดา ตั้งแต่แรกตั้งปฐมวิญญาณให้ตกไป ฆ่าด้วยมือตนก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นฆ่าก็ดี หรือวางศัสตราวุธไว้ใกล้ เพื่อจะให้เขาฆ่ากันตายก็ดี หรือแกล้งพรรณนาคุณความตายให้เขาเกลียดหน่ายร่างกาย ไม่เสียดายชีวิต ฆ่าตัวตายเสียก็ดี หรือชักชวนให้ถือเอาถ้อยคำของตนว่า ท่านอยู่ทนทุกข์ลำบากไปต้องการอะไร ตายเสียดีกว่าอยู่ดังนี้

ถ้าเขาฆ่าตัวตายตามคำก็ดี หรือแกล้งหลอกหลอนให้เขาตกใจตายก็ดี เมื่อคิดจะให้มนุษย์ตายแกล้งประกอบอุบายต่าง ๆ สมตามความคิดของตนได้แล้ว ชื่อว่าเป็นอันฆ่ามนุษย์ตายทั้งสิ้น ภิกษุแกล้งให้มนุษย์ตายตัวยอุบายต่าง ๆ ดังว่ามานี้ ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก

๔. อุตตริมนุสสธรรมสิกขาบทที่สี่
พระพุทธบัญญัติห้ามมิให้อ้าง
🔎อวดอุตตริมนุสสธรรม(๑๙) ที่ไม่มีในตน ภิกษุรูปใดไม่รู้ไม่เห็น ไม่ได้ ไม่ถึง ไม่ได้ตรัสรู้ แต่เป็นคนใจบาป อยากจะได้ลาภสักการะ จะให้มีผู้สรรเสริญเลื่องลือชื่อคุณ กล่าวอวดซึ่งธรรมของมนุษย์ผู้ยิ่งด้วยคุณทาง🔎มหรคต(๒๐) แล🔎โลกุตตระ(๒๑) ให้น้อมเข้ามาสู่ตน คือความรู้เห็นด้วยปัญญาอันอาจกำจัดกิเลส คืออวดว่า “ข้าได้ถึง🔎ฌาน(๒๒) ถึง🔎วิโมกข์(๒๓) ข้าได้ถึง🔎สมาธิสมาบัติ(๒๔) ข้าได้บรรลุ🔎ไตรวิชชา(๒๕) มรรคภาวนา ข้าทำให้แจ้งอริยผล ข้าละกิเลสเสียได้ จิตของข้าปลดเปลื้องจากราคะ โทสะ โมหะ ข้ายินดีจะอยู่ในเรือนว่างเปล่าเป็นที่สงัด พอใจพักอยู่ด้วยฌาน ข้าได้ฤทธิ์จะทำอะไรก็สำเร็จด้วยใจ รู้ใจสัตว์ ระลึกชาติได้ ข้าได้ตาทิพย์ หูทิพย์ เป็นผู้สิ้นกิเลส อวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตนให้มนุษย์เชื่อถือ แม้จะใช้เล่ห์อุบายเปรียบปรายแสดงกายวิการเป็นเลศกระหยิบตา พยักหน้าเป็นต้น ให้สังเกตสำคัญตนว่าได้คุณวิเศษดังว่ามานี้ก็ดี เมื่อมนุษย์เชื่อถือตามความคิดของตนในขณะนั้นแล้ว ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก

เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้ ว่าถึง ก็ไม่มีโทษ เพราะไม่แกล้งอวด แม้กล่าวมุสาว่า “ข้านั่งธรรมเข้าบำเพ็ญ ได้เห็นสวรรค์หรือนรก เห็นผู้มีชื่อคนนั้น ๆ ไปบังเกิดบนสวรรค์ มีสมบัติอย่างนั้น หรือผู้มีชื่อคนนั้น ๆ ไปบังเกิด
ในนรก เปรต อสุรกาย ทนทุกขเวทนาอย่างนั้น ๆ คำอวดอ้างนั่งภาวนาเช่นนี้ เพื่อเข้าในมหรคตและ
🔎อภิญญา(๒๖) เห็นว่าเป็นอันไม่พ้นอวดอุตตริมนุสสธรรม คนที่เขลา ๆ ก็เชื่อง่าย ๆ ท่านผู้รักใคร่ในสิกขาจงระวังรักษาตัวให้จงดี เทอญ

ปาราชิก ๔ นี้ ภิกษุต้องแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ชื่อว่าเป็นบุคคลพ่ายแพ้แก่พระพุทธศาสนา ไม่ได้อยู่ร่วมกิจกรรมกับด้วยภิกษุต่อไปได้อีกแล้ว ถึงจะปฏิญาณตนและอุปสมบทใหม่ก็ไม่เป็นภิกษุได้อีกแล้ว ตายแล้วเที่ยงแท้ที่จะไปบังเกิดใน🔎อบาย(๒๗) เป็นแน่นอน อย่าสงสัยเลย ให้ผู้อุปสมบทจึงรักษาตัวให้จงดี อย่าให้เสียทีที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้บวชในพระพุทธศาสนา

ปาราชิก ๔ ข้อนี้ กล่าวความพอเป็นที่กำหนดไว้เท่านี้

🔅 ปาราชิก ๔ 
🔅 สังฆาทิเสส ๑๓ 
🔅 อนิยต ๒ 
🔅 นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐
        (จีวรวรรค ๑๐)
        (โกสิยวรรค ๑๐)
        (ปัตตวรรค ๑๐)
🔅 ปาจิตตีย์ ๙๒
        (มุสาวรรค ๑๐)
        (ภูตคามวรรค ๑๐)
        (ภิกขุโนวาทวรรค ๑๐)
        (โภชนวรรค ๑๐)
        (อเจลกวรรค ๑๐)
        (สุราปานวรรค ๑๐)
        (สัปปาณวรรค ๑๐)
        (สหธัมมิกวรรค ๑๒)
        (ราชวรรค ๑๐)
🔅 ปาฎิเทสนียะ ๔
🔅 เสขิยวัตร ๗๕
        (สารูป ๒๖)
        (โภชนปฎิสังยุตต์ ๓๐)
        (ธัมมเทสนาปฎิสังยุตต์ ๑๖)
        (ปกิณกะ ๓)
🔅 อธิกรณสมถะ ๗

คำอภิธานศัพท์ (๓)

 

คำอภิธานศัพท์ 


หัวข้อที่  ๑ - ๓๐  ,  ๓๑ - ๖๐  ,  ๖๑ - ๙๓ 

๖๑. สิกขมานา คือนางผู้กำลังศึกษา, สามเณรีผู้มีอายุถึง ๑๘ ปีแล้ว อีก ๒ ปี จะครบบวชเป็นภิกษุณี ภิกษุณีสงฆ์สวดให้สิกขาสมมติคือตกลงให้สมาทานสิกขาบท ๖ ประการ ตั้งแต่ปาณาติปาตา เวรมณี จนถึง วิกาลโภชนา เวรมณี ให้รักษาอย่างเคร่งครัด ไม่ขาดเลย ตลอดเวลา ๒ ปีเต็ม (ถ้าล่วงข้อใดข้อหนึ่งต้องสมาทานตั้งต้นใหม่อีก ๒ ปี) ครบ ๒ ปี ภิกษุณีสงฆ์จึงทำพิธีอุปสมบทให้ ขณะที่สมาทานสิกขาบท ๖ ประการอย่างเคร่งครัดนี้ เรียกว่านางสิกขมานา

๖๒. วันมหาปวารณา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันที่ภิกษุทุกรูปจะกล่าวปวารณา คือเปิดโอกาสให้กันและกันว่ากล่าวตักเตือนกันได้ เป็นสังฆกรรมที่พระพุทธเจ้าทรงประทานอนุญาตให้หมู่สงฆ์ทำในวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษา

๖๓. โคจร คือหนทางไปของภิกษุ โคจรคาม คือหมู่บ้านที่พระภิกษุไปบิณฑบาตเสมอ

๖๔. อรุณ คือ ระยะเวลาใกล้อาทิตย์จะขึ้น มีสองระยะ คือ มีแสงขาวเรื่อ ๆ (แสงเงิน) และแสงแดด (แสงทอง) หรือเวลาย่ำรุ่ง

๖๕. ครุธรรม คือธรรมอันหนัก เป็นหลักความประพฤติสำหรับนางภิกษุณีจะพึงปฏิบัติตามด้วยความเคารพไม่ละเมิดตลอดชีวิต มี ๘ ประการ คือ
        ๑. ภิกษุณีแม้บวชร้อยพรรษาแล้ว ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้บวชวันเดียว
        ๒. ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้
        ๓. ภิกษุณีต้องไปถามวันอุโบสถ และเข้าไปฟังโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน
        ๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย โดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยินโดยรังเกียจ (รังเกียจหมายถึงระแวงสงสัย หรือเป็นพฤติกรรมอะไรที่น่าเคลือบแคลง)
        ๕. ภิกษุณีต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์สองฝ่าย (คือทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) ๑๕ วัน
        ๖. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์สองฝ่าย เพื่อนางสิกขมานา
        ๗. ภิกษุณีไม่พึงด่า ไม่พึงบริภาษภิกษุ ไม่ว่าจะโดยปริยายใด ๆ
        ๘. ไม่ให้ภิกษุณีว่ากล่าวภิกษุ แต่ภิกษุว่ากล่าวภิกษุณีได้

๖๖. อามิส คือสิ่งของ, เครื่องล่อใจ

๖๗. อจิตตกะ คือไม่มีเจตนา เป็นชื่อของอาบัติพวกหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยสมุฏฐานที่แม้ไม่มีเจตนา คือถึงแม้ไม่จงใจทำก็ต้องอาบัติ เช่น ฉันอาหารในเวลาวิกาล ดื่มน้ำเมาเป็นต้น

๖๘. จุณ คือของที่ละเอียดเป็นผง ใช้ทาตัว

๖๙. วินัยกรรม คือการกระทำเกี่ยวกับพระวินัย หรือการปฏิบัติตามวินัย เช่น การปลงอาบัติ, การอธิษฐานบริขาร, การวิกับบาตรและจีวร เป็นต้น

๗๐. สายกายพันธน์ คือสายรัดประคดเอว

๗๑. ญัตติจตุตถกรรม คือกรรมมีญัตติเป็นที่สี่ ได้แก่สังฆกรรมที่สำคัญ มีการอุปสมบทเป็นต้น ซึ่งเมื่อตั้ง
ญัตติแล้วต้องสวดประกาศขอมติถึง ๓ หน เพื่อสงฆ์ที่ชุมนุมนั้นจะได้มีเวลาพิจารณาหลายเที่ยวว่าจะอนุมัติหรือไม่

๗๒. ขนอน คือด่านเก็บภาษี

๗๓. วิปลาส คือความเห็นหรือความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากสภาพที่เป็นจริง มีดังนี้
        ก. วิปลาสด้วยอำนาจจิตและเจตสิก ๓ ประการ คือ
            ๑. วิปลาสด้วยอำนาจสำคัญผิด เรียกว่า สัญญาวิปลาส
            ๒. วิปลาสด้วยอำนาจคิดผิด เรียกว่า จิตตวิปลาส
            ๓. วิปลาสด้วยอำนาจเห็นผิด เรียกว่า ทิฏฐิวิปลาส
        ข. วิปลาสด้วยสามารถวัตถุเป็นที่ตั้ง ๔ ประการ คือ
            ๑. วิปลาสในของที่ไม่เที่ยง ว่าเที่ยง
            ๒. วิปลาสในของที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นสุข
            ๓. วิปลาสในของที่ไม่ใช่ตน ว่าเป็นตน
            ๔. วิปลาสในของที่ไม่งาม ว่างาม

๗๔. โมหาโรปนกรรม คือกิริยาที่สวดประกาศยกโทษภิกษุว่าแสร้งทำหลง คือรู้แล้วทำเป็นไม่รู้ เมื่อสงฆ์สวดประกาศแล้ว ยังแกล้งทำไม่รู้อีก ต้องอาบัติปาจิตตีย์

๗๕. เผดียง คือบอกให้รู้ บอกให้นิมนต์

๗๖. สูปะ คือของกินของต้มที่เป็นน้ำ, แกง

๗๗. ปริมณฑล คือความเป็นระเบียบ ความเรียบร้อย

๗๘. ศีลวิบัติ คือการเสียศีล สำหรับภิกษุ คือต้องอาบัติปาราชิก หรือสังฆาทิเสส

๗๙. อาจารวิบัติ คือเสียอาจาระ เสียจรรยา มารยาทเสียหาย ประพฤติย่อหย่อน รุ่มร่าม มักต้องอาบัติเล็กน้อยตั้งแต่ถุลลัจจัย ลงมาถึงทุพภาสิต

๘๐. ทิฏฐิวิบัติ คือความวิบัติแห่งทิฏฐิ ความผิดพลาดแห่งความคิดเห็น ความเห็นคลาดเคลื่อนผิดธรรมวินัย ทำให้ประพฤติตนนอกแบบแผน ทำความผิดอยู่เสมอ

๘๑. อาชีววิบัติ คือการเสียอาชีวะ ความเสียหายแห่งการเลี้ยงชีพ คือประกอบมิจฉาอาชีวะ มีการหลอกลวงเขาเลี้ยงชีพ เป็นต้น

๘๒. อปโลกนกรรม คือกรรมที่ทำด้วยการบอกกันในที่ประชุมสงฆ์ ไม่ต้องตั้งญัตติ คือคำเผดียงไม่ต้องสวดอนุสาวนา คือประกาศความปรึกษาและตกลงของสงฆ์ เช่น ประกาศลงพรหมทัณฑ์, ลงโทษสามเณรผู้กล่าวตู่พระพุทธเจ้า บอกกล่าวเรื่องการแจกอาหารในโรงฉัน เป็นต้น (พรหมทัณฑ์ คือโทษอย่างสูง สงฆ์ตกลงกันลงโทษภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง โดยภิกษุทั้งหลายพร้อมใจกันไม่พูดด้วยไม่ว่ากล่าวตักเตือนหรือสั่งสอนภิกษุนั้น) พระฉันนะซึ่งเป็นพระมีความพยศ ถือตัวว่าเป็นคนเก่าใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามาก่อนใครอื่น ใครว่าไม่ฟัง ภายหลังถูกสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ถึงกับเป็นลมล้มสลบ จึงหายจากความพยศได้

๘๓. สัมมุขาวินัย คือระเบียบอันพึงทำในที่พร้อมหน้า ได้แก่การระงับอธิกรณ์ในที่พร้อมหน้าสงฆ์

๘๔. ติตถิยะ คือเดียรถีย์ นักบวชนอกพระพุทธศาสนา

๘๕. บัณเฑาะก์ คือพวกกะเทย คนไม่ปรากฏว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง ได้แก่
        กะเทยโดยกำเนิด ๑
        ชายถูกตอนเรียกว่าขันที่ ๑
        ชายมีราคะกล้า ประพฤตินอกจารีตในทางเสพกาม และยั่วยวนชายอื่นให้เป็นเช่นนั้น ๑

๘๖. อุภโตพยัญชนก คือคนที่มี ๒ เพศ

๘๗. ปาริวาสิก คือภิกษุผู้อยู่ปริวาสกรรม

๘๘. มูลายปฏิกัสสนารหะ คือภิกษุผู้ควรแก่การชักเข้าหาอาบัติเดิม หมายถึงภิกษุผู้กำลังอยู่ปริวาส หรือประพฤติมานัตอยู่ ต้องอาบัติสังฆาทิเสสข้อเดียวกัน หรืออาบัติสังฆาทิเสสข้ออื่นเข้าอีก ก่อนที่สงฆ์จะอัพภาน ต้องตั้งต้นอยู่ปริวาสหรือประพฤติมานัตใหม่

๘๙. ธัมกรก คือที่กรองน้ำฉันน้ำใช้ของสงฆ์

๙๐. ลูกถวิน คือลูกกลมๆที่ผูกติดสายประคดเอว ห่วงร้อยสายรัดประคด

๙๑. อักโกสวัตถุ คือเรื่องสำหรับด่ามี ๑๐ อย่าง คือ
        ๑. ชาติ ได้แก่ชั้นหรือกำเนิดของคน
        ๒. ชื่อ
        ๓. โคตร คือตระกูล หรือแซ่
        ๔. การงาน
        ๕. ศิลปะ
        ๖. โรค
        ๗. รูปพรรณสัณฐาน
        ๘. กิเลส
        ๙. อาบัติ
        ๑๐. คำสบประมาทอย่างอื่น ๆ

๙๒. กาลิก คือของที่เนื่องด้วยกาล ของอันจะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไป ซึ่งพระวินัยบัญญัติให้ภิกษุรับเก็บไว้และฉันได้ภายในที่กำหนด จำแนกเป็น ๔ อย่าง คือ
        ๑. ยาวกาลิก รับประเคนไว้ และฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น เช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้ ขนมต่าง ๆ
        ๒. ยามกาลิก รับประเคนไว้ และฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือก่อนอรุณของวันใหม่ ได้แก่น้ำปานะ คือน้ำผลไม้คั้นที่ทรงอนุญาต
        ๓. สัตตาหกาลิก รับประเคนไว้แล้วฉันได้ภายใน ๗ วัน ได้แก่ เภสัชทั้งห้า คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อย
        ๔. ยาวชีวิก รับประเคนไว้แล้วฉันได้ตลอดไปไม่จำกัดเวลา ได้แก่ของที่ใช้ปรุงเป็นยา
นอกจากกาลิก ๓ ข้อต้น (ความจริงยาวชีวิกไม่เป็นกาลิก แต่นับเข้าโดยปริยายเพราะเป็นของเนื่องกัน)

๙๓. กุมมาส คือขนมสด เป็นขนมที่เก็บไว้นานเกินไปจะ บูด เช่น ขนมด้วง ขนมครก ขนมถ้วย ขนมตาล เป็นต้น พระพุทธเจ้าหลังจากเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยาแล้ว ก็เสวยข้าวสุกและกุมมาส

หัวข้อที่  ๑ - ๓๐  ,  ๓๑ - ๖๐  ,  ๖๑ - ๙๓ 

วันอังคาร

คำอภิธานศัพท์(๒)

 คำอภิธานศัพท์ 


หัวข้อที่  ๑ - ๓๐  ,  ๓๑ - ๖๐  ,  ๖๑ - ๙๓ 

๓๑. สวดสมนุภาสน์ คือการสวดประกาศห้ามไม่ให้ถือรั้นในการอันมิชอบ

๓๒. อนุสาวนา คือคำสวนประกาศ คำประกาศข้อปรึกษาและข้อตกลงของสงฆ์, คำขอมติ

๓๓. ปวารณา คือยอมให้ขอ, เปิดโอกาสให้ขอ, ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน

๓๔. สมโภค คือการกินร่วม หมายถึงการคบหากันในทางให้ หรือรับอามิสและคบหากันในทางสอนธรรมเรียนธรรม

๓๕. สังวาส คือธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมกันของหมู่สงฆ์ ได้แก่การทำสังฆกรรมร่วมกัน สวดปาฏิโมกข์ร่วมกัน มีสิกขาบทเสมอกัน คือเป็นพวกเดียวกันอยู่ด้วยกันได้ มีฐานะและสิทธิเสมอกัน ในภาษาไทยใช้หมายถึงร่วมประเวณีด้วย

๓๖. ปัพพาชนียกรรม หรือ บัพพาชนียกรรม คือกรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันพึงจะไล่เสีย การไล่ออกจากวัด กรรมนี้สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้ประทุษร้ายสกุล และประพฤติเลวทรามเป็นข่าวเซ็งแซ่ หรือทำแก่ภิกษุผู้เล่นคะนอง ๑ อนาจาร ๑ ลบล้างพระพุทธ บัญญัติ ๑ มิจฉาชีพ ๑

๓๗. การกสงฆ์ คือสงฆ์ผู้กระทำ หมายถึงสงฆ์หมู่หนึ่งผู้ดำเนินการในกิจสำคัญ เช่น การสังคายนา หรือในสังฆกรรมต่าง ๆ

๓๘. ปริวาส คือการอยู่ชดใช้ เรียกสามัญว่าอยู่กรรม, เป็นชื่อวุฏฐานวิธี (ระเบียบปฏิบัติสำหรับออกจากครุกาบัติ) อย่างหนึ่ง ซึ่งพระภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ จะต้องประพฤติเป็นการลงโทษตนเองชดใช้ให้ครบเท่าจำนวนวันที่ปิดอาบัติก่อนที่จะประพฤติมานัต อันเป็นขั้นตอนปกติของการออกจากอาบัติต่อไป ระหว่างอยู่ปริวาสต้องประพฤติวัตรต่าง ๆ เช่น งดใช้สิทธิบางอย่าง ลดฐานะของตน และประจานตัว เป็นต้น

๓๙. มานัต เป็นชื่อวุฏฐานวิธี คือระเบียบปฏิบัติในการออกจากครุกาบัติ แปลว่า นับ หมายถึงการนับราตรี ๖ ราตรี คือภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว เมื่อจะปลดเปลื้องตนออกจากอาบัติตาม ธรรมเนียมจะต้องไปหาสงฆ์จตุรวรรค (คือหมู่สงฆ์ที่กำหนดจำนวนภิกษุอย่างต่ำ ๔ รูป เช่นสงฆ์ที่ทำอุโบสถกรรม เป็นต้น) ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบภิกษุแก่กว่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวคำขอมานัตตามอาบัติที่ต้อง ภิกษุรูปหนึ่งสวดประกาศให้มานัต ภิกษุรูปนั้นประพฤติมานัต ๖ ราตรีแล้ว สงฆ์จึงสวดระงับอาบัติให้ได้

๔๐. อัพภาน คือการรับกลับเข้าหมู่, เป็นขั้นตอนสุดท้ายแห่งระเบียบปฏิบัติในการออกจากครุกาบัติขั้นสังฆาทิเสส ได้แก่การที่สงฆ์สวดระงับอาบัติ รับภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส และได้ทำโทษตนเองตามวิธีที่กำหนดเสร็จแล้ว ให้กลับคืนเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นขั้นตอนต่อจากการประพฤติมานัตสิ้น ๖ ราตรีแล้ว

๔๑. มาตุคาม คือผู้หญิง

๔๒. พระวินัยธร คือพระผู้ทรงวินัย พระภิกษุผู้ชำนาญในพระวินัย

๔๓. ปลิโพธ ในทางพระวินัยเกี่ยวกับการกรานกฐิน หมายถึงความกังวลที่เป็นเหตุให้กฐินยังไม่เดาะ คือ ยังรักษาอานิสงส์กฐินและเขตแห่งจีวรกาลตามกำหนดไว้ได้ มี ๒ อย่าง คือ
        ๑. เรื่องอาวาส คือยังอยู่ในวัดนั้นหรือหลีกออกไป แต่ยังผูกใจว่า จะกลับมา เรียกว่า อาวาสปลิโพธ
        ๒. เรื่องจีวร ความกังวลในจีวร คือยังไม่ได้ทำจีวร หรือทำค้างอยู่ หรือหายเสียในเวลาทำ แต่ยังไม่สิ้นหวังว่าจะได้จีวรอีก เรียกว่า จีวรปลิโพธ

ถ้าสิ้นปลิโพธครบทั้งสองอย่าง จึงเป็นอันเดาะกฐิน (หมดอานิสงส์และสิ้นเขตจีวรกาลก่อนกำหนด)

๔๔. วิกัป คือการทำให้เป็นของสองเจ้าของ คือขอให้ภิกษุสามเณรอื่นร่วมเป็นเจ้าของบาตรหรือจีวรนั้น ๆ ด้วย ทำให้ไม่ต้องอาบัติเพราะเก็บอติเรกบาตร หรืออติเรกจีวรไว้เกินกำหนด

๔๕. อธิษฐาน ในทางพระวินัย หมายถึงการตั้งใจกำหนดเอาไว้ว่าจะใช้ของนั้น ๆ เป็นของประจำตัว เช่นได้ผ้ามาผืนหนึ่งตั้งใจว่าจะใช้เป็นจีวร เราก็อธิษฐานผ้านั้นและเรียกว่าจีวรอธิษฐาน เรานิยมเรียกโดยทั่ว ๆ ไปว่าจีวรครอง

๔๖. ปริมพรรษา คือพรรษาต้น เริ่มตั้งแต่วันแรมหนึ่งค่ำเดือนแปดในปีที่ไม่มีอธิกมาสเป็นต้นไป เป็นเวลา ๓ เดือน คือถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑

๔๗. หัตถบาส คือที่ใกล้ตัวชั่วคนหนึ่ง (นั่งตัวตรง) เหยียดแขนออกไปจับตัวอีกคนหนึ่งได้ ท่านว่าเท่ากับช่วงสองศอกกับหนึ่งคืบ หรือสองศอกครึ่ง วัดจากส่วนสุดด้านหลังของผู้เหยียดมืออกไป (เช่น ถ้ายืนวัดจากส้นเท้า ถ้านั่งวัดจากสุดหลังอวัยวะที่นั่ง) โดยนัยนี้ท่านว่านั่งห่างกันไม่เกิน ๑ ศอก

๔๘. อกาลจีวร คือจีวรที่เกิดขึ้นนอกเขตจีวรกาล นอกเขตอานิสงส์กฐิน

๔๙. สังฆาฏิ คือผ้าทาบ, ผ้าคลุมกันหนาวที่พระใช้ทาบบนจีวรเหนือไหล่ซ้าย เป็นผ้าผืน ๑ ในจำนวน ๓ ผืน ที่เรียกว่า ไตรจีวร

๕๐. อุตตราสงค์ คือผ้าห่ม, เป็นผ้าผืนหนึ่งในจำนวน ๓ ผืนของไตรจีวร ได้แก่ ผืนที่เรียกกันสามัญทั่วไปว่า จีวร

๕๑. อันตรวาสก คือผ้านุ่ง, เรียกทั่วไปว่า สบง เป็นหนึ่งในไตรจีวร

๕๒. ไวยาวัจกร คือผู้ทำกิจธุระหรือผู้ช่วยเหลือรับใช้พระภิกษุสงฆ์

๕๓. วัตตเภท คือการละเลยวัตร, ละเลยหน้าที่ ไม่ทำตามข้อปฏิบัติที่กำหนดไว้ เช่น ภิกษุผู้กำลังประพฤติมานัตหรือกำลังอยู่ปริวาส ละเลยวัตรของตน พระอรรถกถาจารย์ปรับอาบัติทุกกฏ

๕๔. สันถัต คือผ้ารองนั่ง

๕๕. มาสก คือชื่อมาตราเงินสมัยโบราณ ราคาห้ามาสกเท่ากับหนึ่งบาท

๕๖. กัปปิยะ คือของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภคใช้สอย คือพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุใช้ หรือฉันได้ เช่น ข้าวสุก จีวร ร่ม ยาแดง เป็นกัปปิยะ แต่สุรา เสื้อ กางเกง หมวก น้ำอบ ไม่เป็นกัปปิยะ ไม่ทรงอนุญาตไว้

๕๗. วัตรปฏิบัติ คือความประพฤติที่เป็นไปตามขนบธรรมเนียมแห่งเพศและภาวะ หรือวิถีดำเนินชีวิตของตน

๕๘. กัปปิยการก คือผู้ทำของที่สมควรแก่สมณะ, ลูกศิษย์พระ

๕๙. รูปิยสังโวหาร คือการซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยเงินตรา

๖๐. สมณบริขาร คือเครื่องใช้สอยต่าง ๆ ของพระในพระพุทธศาสนา มี ๔ อย่าง คือ สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร / มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ เข็ม ประคดเอว กระบอกกรองน้ำ นิยมเรียกว่า อัฏฐบริขาร

หัวข้อที่  ๑ - ๓๐  ,  ๓๑ - ๖๐  ,  ๖๑ - ๙๓ 

คำอภิธานศัพท์(๑)

 คำอภิธานศัพท์ 


หัวข้อที่  ๑ - ๓๐  ,  ๓๑ - ๖๐  ,  ๖๑ - ๙๓ 

๑. อธิศีลสิกขา คือข้อปฏิบัติสำหรับการฝึกฝนอบรมความประพฤติทางกาย วาจา หรือคือระเบียบวินัยในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ด้วยดี ให้เกื้อกูลไม่เบียดเบียน ไม่ทำลาย ปาฏิโมกขสังวรศีล คือการสำรวมในพระปาฏิโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ทำตามข้อที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาต เป็นข้อ ๑ ในปาริสุทธิศีล ๕

๒. อันติมวัตถุ คือวัตถุมีในที่สุดหมายถึงอาบัติปาราชิก ซึ่งทำให้ภิกษุและภิกษุณีผู้ล่วงละเมิดมีโทษถึงที่สุด คือขาดจากภาวะของตน

๓. ครุกาบัติ คืออาบัติหนัก ได้แก่อาบัติปาราชิก เป็นอาบัติที่แก้ไขไม่ได้ ภิกษุต้องเข้าแล้ว จำต้องสึกเสีย และอาบัติสังฆาทิเสส ต้องอยู่กรรมจึงจะพ้นได้ ลหุกาบัติ คืออาบัติเบา ได้แก่อาบัติที่มีโทษเล็กน้อย ได้แก่ อาบัติถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ และทุพภาษิต

๔. อาณาวีติกกมันตราย คืออันตรายอันเกิดจากการล่วงละเมิดพระพุทธบัญญัติ, การทำผิดล่วงพระวินัยบัญญัติ

๕. อปริยันตปาริสุทธิศีล คือปาริสุทธิศีลที่ไม่มีสิ้นสุดอย่างน้อย มี ๒๒๗ ข้อ
ปาริสุทธิศีล คือศีลเป็นเครื่อง หรือเป็นเหตุให้บริสุทธิ์มีอยู่ ๔ ประการ คือ
        ๑. ปาฏิโมกขสังวรศีล สำรวมในพระปาฏิโมกข์
        ๒. อินทรียสังวรศีล สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
        ๓. อาชีวปาริสุทธิศีล เลี้ยงชีพโดยทางที่ชอบธรรม
        ๔. ปัจจัยสันนิสิตศีล พิจารณาก่อน จึงบริโภคปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาตร เสนาสนะ และเภสัช

๖. ปาริยันตปาริสุทธิศีล คือปาริสุทธิศีลทั้ง ๔ อย่าง แต่เป็นศีลของสามเณรและของคฤหัสถ์ มีจำกัดข้อไว้ 
คือสามเณรมีเพียง ๑๐ สิกขาบท ศีลของ คฤหัสถ์มีเพียง ๘ และ ๕ สิกขาบทเท่านั้น

๗. อุเทศ คือหมวดหนึ่ง ๆ แห่งปาฏิโมกข์ที่จัดไว้สำหรับสวด ในคำว่าสงฆ์มีอุเทศเดียวกัน หมายความว่า ร่วมฟังสวดปาฏิโมกข์ด้วยกัน

๘. ทำอุโบสถ คือการสวดปาฏิโมกข์ของพระสงฆ์ทุกกึ่งเดือน เป็นการซักซ้อมตรวจสอบความบริสุทธิทาง
พระวินัยของภิกษุทั้งหลาย และเป็นเครื่องแสดงความพร้อมเพรียงของหมู่สงฆ์ด้วย ในการทำอุโบสถนี้ จะมีการสวดปาฏิโมกข์ได้ต่อเมื่อมีภิกษุครบ ๔ รูปขึ้นไป

๙. อาบัติเจ็ดกอง คืออาบัติประเภทต่าง ๆ ต่อไปนี้คือ
        ๑. ปาราชิก
        ๒. สังฆาทิเสส
        ๓. ถุลลัจจัย
        ๔. ปาจิตตีย์
        ๕. ปาฏิเทสนียะ
        ๖. ทุกกฎ
        ๗. ทุพภาสิต

๑๐. อาจิณณกรรม คือการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนาทำซ้ำ ๆ กันมากจนเกิดความเคยชิน

๑๑. มนุสสวิคคหะ คือพระพุทธบัญญัติห้ามภิกษุฆ่ามนุษย์ทั้งในครรภ์และนอกครรภ์

๑๒. อนันตริยกรรม คือกรรมอันหนัก กรรมที่เป็นบาปหนักที่สุด ตัดทางสวรรค์ ตัดทางนิพพาน กรรมที่ให้ผล คือความเดือดร้อนไม่เว้นระยะเลย มี ๕ อย่าง คือ
        ๑. มาตุฆาต ฆ่ามารดา
        ๒. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา
        ๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์
        ๔. โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป
        ๕. สังฆเภท ทำสงฆ์ให้แตกกัน

๑๓. อุปจาร คือที่ใกล้ชิด, ระยะใกล้เคียง, บริเวณรอบ ๆ
อุปจารพระสงฆ์ คือบริเวณรอบ ๆ เขตที่พระสงฆ์ชุมนุมกัน,
อุปจารเรือนในอรรถกถาพระวินัยท่านได้อธิบายไว้ดังนี้ อาคารที่ปลูกขึ้นร่วมในแค่ระยะน้ำตกที่ชายคาเป็นเรือน บริเวณรอบ ๆ เรือนซึ่งกำหนดเอาที่แม่บ้านยืนอยู่ที่ประตูเรือนสาดน้ำล้างภาชนะออกไป หรือแม่บ้านยืนอยู่ในเรือนโยนกระด้ง หรือไม้กวาดออกไปภายนอก ตกลงที่ใด ระยะรอบ ๆ กำหนดนั้นเป็นอุปจารเรือน บุรุษวัยกลางคนมีกำลังดียืนอยู่ที่เขตอุปจารเรือนขว้างก้อนดินไป ก้อนดินที่ขว้างนั้นตกลงที่ใด ที่นั้นจาก
รอบ ๆ บริเวณอุปจารเรือน เป็นกำหนดเขตบ้าน บุรุษวัยกลางคนมีกำลังดีนั้นแหละ ยืนอยู่ที่เขตบ้านนั้นโยนก้อนดินไปเต็มกำลัง ก้อนดินตกที่ใด ที่นั้นเป็นเขตอุปจารบ้าน

สีมาที่สมมติเป็นติจีวราวิปปวาสนั้น จะต้องเว้นบ้านและอุปจารบ้านดังกล่าวนี้เสีย จึงจะสมมติขึ้น คือใช้เป็น
ติจีวาราวิปปวาสสีมาได้ ติจีวราวิปปวาส คือ การไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร คือภิกษุอยู่ในแดนสมมติ เป็นติจีวราวิปปลาสแล้ว อยู่ห่างจากไตรจีวร ก็ไม่เป็นอันอยู่ปราศ ไม่ต้องอาบัติด้วยนิสสัคคิยปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ ๑

๑๔. แดนสีมา คือเขตแดนที่หมู่สงฆ์ตกลงไว้สำหรับภิกษุทั้งหลายที่อยู่ภายในเขตแดนนั้น จะต้องทำสังฆกรรมร่วมกัน

๑๕. ไถยจิต คือจิตคิดจะลักจะขโมย, จิตประกอบด้วยความเป็นขโมย

๑๖. สุงกฆาตะ คือการเบียดเบียนส่วย การหนีหรือหลบเลี่ยงภาษี

๑๗. อวหาร คืออาการที่ถือว่าเป็นการลักทรัพย์ ในอรรถกถาแสดงไว้ ๒๕ อย่าง พึงทราบในที่นี้ ๑๓ อย่าง คือ ๑. ลัก ๒. ชิงหรือวิ่งราว ๓. ลักต้อน ๔. แย่ง ๕. ลักสับ ๖. ตู่ ๗. ฉ้อ ๘. ยักยอก ๙. ตระบัด ๑๐. ปล้น ๑๑. หลอกลวง ๑๒. กดขี่หรือกรรโชก ๑๓. ลักซ่อน

๑๘. สลากภัต คืออาหารถวายตามสลาก หมายเอาภัตตาหารอันทายกพร้อมใจถวาย ต่างคนต่างจัดมา เป็นของต่างชนิดกัน มักทำในช่วงเทศกาลผลไม้ ถวายพระด้วยวิธีการให้พระจับสลาก

๑๙. อุตตริมนุสสธรรม คือธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์ ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ มรรคผล บางทีเรียกให้ง่ายว่า ธรรมวิเศษหรือคุณวิเศษ

๒๐. มหรคต คือการเข้าถึงสภาวะอันยิ่งใหญ่ หมายถึงพระนิพพาน

๒๑. โลกุตตระ คือพ้นจากโลก พ้นวิสัยของโลก ไม่เนื่องในภพทั้งสาม คือกามภพ รูปภพ และอรูปภพ

๒๒. ฌาน คือการเพ่งอารมณ์จนใจแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ เป็นภาวะที่จิตสงบ ประณีต มีสมาธิเป็นองค์ธรรมหลัก

๒๓. วิโมกข์ คือความหลุดพ้นจากอำนาจกิเลส

๒๔. สมาบัติ คือภาวะอันสงบ ประณีต ซึ่งพึงเข้าถึง สมาบัติมีหลายอย่าง เช่น ฌานสมาบัติ ๔ ผลสมาบัติ เป็นต้น

๒๕. ไตรวิชชา คือความรู้แจ้ง, ความรู้วิเศษ ๓ ประการ คือ
        ๑. ความรู้ที่ทำให้ระลึกชาติในหนหลังได้
        ๒. ความรู้การจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย
        ๓. ความรู้ที่ทำอาสวะให้สิ้นไป

๒๖. อภิญญา คือความรู้อันยิ่ง, ความรู้ชั้นสูงในพระพุทธศาสนา มี ๖ ประการ คือ
        ๑. อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้
        ๒. ทิพพโสต หูทิพย์
        ๓. เจโตปริยญาณ ญาณที่ให้ทายใจคนอื่นได้
        ๔. ปุพเพนิวาสนุสสติญาณ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้
        ๕. ทิพพจักขุ ตาทิพย์
        ๖. อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะกิเลสสิ้นไป

๒๗. อบาย คืออบายภูมิ หมายถึง ภูมิกำเนิดที่ปราศจากความเจริญ มี ๔ อย่าง คือ
        ๑. สัตว์นรก
        ๒. สัตว์เดรัจฉาน
        ๓. เปรต
        ๔. อสุรกาย

๒๘. ทัพพสัมภาระ คือสิ่งและเครื่องอันเป็นส่วนประกอบที่จะประกอบกันเข้าเป็นบ้านเรือน เรือ รถ เครื่องบินหรือเกวียน เป็นต้น

๒๙. ทายก คือผู้ให้ที่เป็นผู้ชาย ทายิกา คือผู้ให้ที่เป็นผู้หญิง

๓๐. อธิกรณ์ คือเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องจัดต้องทำ, เรื่องที่สงฆ์ต้องดำเนินการมี ๔ อย่าง คือ
        ๑. วิวาทาธิกรณ์ การเถียงกันเกี่ยวกับพระธรรมวินัย
        ๒. อนุวาทาธิกรณ์ การโจทก์หรือกล่าวหากันด้วยอาบัติ
        ๓. อาปัตตาธิกรณ์ การต้องอาบัติ การปรับอาบัติและการแก้ไขตัวให้พ้นจากอาบัติ
        ๔. กิจจาธิกรณ์ กิจธุระต่างๆที่สงฆ์ต้องทำ เช่นให้อุปสมบท


หัวข้อที่  ๑ - ๓๐  ,  ๓๑ - ๖๐  ,  ๖๑ - ๙๓