วันศุกร์

๐๙. พุทธกิจ ๔๕ พรรษา

พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เป็นหนังสือที่พรรณนาเหตุการณ์เกี่ยวกับพุทธประวัติในครั้งพุทธกาล ตั้งแต่เริ่มประกาศพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา พร้อมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ ตลอดเวลาที่พระองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ 

พรรษาที่ ๑ จำพรรษาที่อิสิปตนมฤคทายวัน 

•โปรดปัญจวัคคีย์ สังฆรัตนะ เกิดขึ้นครั้งแรกในโลก 
•โปรดพระยสะ และสหาย ๕๔ คน
ออกพรรษา 
•ให้สาวกมีอำนาจบวชกุลบุตร ได้โดยวิธีให้รับไตรสรณคมน์ 
•โปรดภัททวัคคีย์ ๓๐ รูป
•โปรดชฎิลสามพี่น้อง บวชเป็นเอหิภิกขุ ๑,๐๐๐ รูป แสดงอาทิตตปริยายสูตรสำเร็จพระอรหันต์หมด 
•ไปราชคฤห์โปรดชาวเมืองและพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระโสดาบัน 
•ถวายวัดเวฬุวันเป็นวัดแรก
•ให้สงฆ์สาวกรับอารามที่มีผู้ถวายได้ 
•พระอัญญาโกณฑัญญะบวชปุณณมันตานีบุตร (ลูกน้องสาว) บรรลุอรหันต์
•ได้ ๒ อัครสาวก อุปติสสะและโกลิตะบวชบรรลุเป็นพระอรหันต์ 
•บวชพระมหากัสสปะโดยรับโอวาท ๓ ข้อ 


พรรษาที่ ๒-๔ จำพรรษาที่เวฬุวัน
ออกพรรษา 
•เสด็จเมืองเวสาลี แคว้นวัชชี 
•สอนพระอานนท์ให้สาธ ยายรัตนสูตร บรรเทาภัยของชาวเมือง 
•พระอานนท์ฟังกถาวัตถุ ๑๐ ประการ (ของพระปุณณมันตาณีบุตร) เป็นพระโสดาบัน 

พรรษาที่ ๓ จำพรรษาที่เวฬุวัน 
•ราชคฤหเศรษฐี ขอสร้างเสนาสนะถวายสงฆ์ เป็นที่พำนักถาวร 
•อนุญาตเภสัช ๕ ชนิด และภัตฯ ประเภทต่างๆ
•อนุญาตการอุปสมบทโดยวิธีญัตติจตุตถกรรม 
•พระสารีบุตรบวชให้ราธะพราหมณ์เป็นรูปแรก
•อนุญาตวันประชุมสงฆ์ และแสดงธรรมใน ๑๔ คํ่า ๑๕ คํ่า และ ๘ คํ่า ของข้างขึ้นและข้างแรม 

พรรษาที่ ๔ จำพรรษาที่เวฬุวัน
•โปรดหมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นพระโสดาบัน 
•ถวายชีวกอัมพวันอนุญาตผ้าไตรจีวร ๓ ผืน, ผ้าจีวร ๖ ชนิด 
ออกพรรษา 
•เทศน์โปรดพุทธบิดา สำเร็จพระอรหันต์และนิพพาน และจุดเพลิงพระบรมศพ 


พรรษาที่ ๕ จำพรรษาที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน นอกเมืองเวสาลี 
•พระนางประชาบดี ยอมรับคุรุธรรม ๘ ประการ บวชเป็นภิกษุณีองค์แรก แล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ 
•พระนางยโสธราบวชในสำนักพระนางประชาบดีเถรี บรรลุเป็นพระอรหันต์
•นางรูปนันทา บวชตามหมู่ญาติ ทรงแสดงฤทธิ์โปรด สำเร็จเป็นพระอรหันต์ 
ออกพรรษา 
•เสด็จไปภัททิยนคร แคว้นอังคะ โปรดเมณฑกะเศรษฐี ธนัญชัยเศรษฐี นางวิสาขาและหมู่ญาติ เป็นพระโสดาบัน 
•ทรงอนุญาตโครสทั้ง ๕ ทรงอนุญาตนํ้าผลไม้ทุกชนิด (เว้นนํ้ากับเมล็ดนํ้าข้าวเปลือก) นํ้าใบไม้ทุกชนิด (เว้นนํ้าผักดอง) นํ้าดอกไม้ทุกชนิด (เว้นนํ้าดอกมะซาง) นํ้าอ้อยสด ทรงอนุญาตให้ฉันผักสดทุกชนิด และของขบฉันที่ทำด้วยแป้ง ให้ฉันผลไม้ได้ทุกชนิด 
•แสดงมหาปเทส ๔ สิ่งที่ควรและไม่ควรสำหรับสงฆ์

พรรษาที่ ๖ จำพรรษาที่มกุลบรรพต แคว้นมคธ
•ห้ามพระภิกษุแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ 
•ปรารภจะแสดงยมกปาฏิหาริย์เอง 
ออกพรรษา 
•เดียรถีย์สร้างสำนักหลังวัดเชตวัน พระเจ้าปเสนทิโกศล เปลี่ยนเป็นสร้างอารามสำหรับภิกษุณี เรียกราชการาม 
•เพ็ญเดือน ๘ แสดงยมกปาฏิหาริย์ นอกเมืองสาวัตถี



พรรษาที่ ๗ จำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ 
•แสดงพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดาตลอดไตรมาสจนบรรลุเป็นพระโสดาบัน
•เรื่องอังกุรเทพบุตรและอินทกเทพบุตร 
•ลงจากชั้นดาวดึงส์ ที่ประตูเมืองสังกัสสะ 
ออกพรรษา 
•เสด็จกรุงสาวัตถี 
•ปรารภเรื่องนางปฏิปูชิกา ภรรยาของมาลาภารีเทพบุตร 
•นางจิญจมาณวิกาใส่ความพระพุทธเจ้า ถูกธรณีสูบลงอเวจีมหานรก 


รรษาที่ ๘ จำพรรษาที่เภสกฬาวัน ภัคคชนบท 
•บิดาของสิงคาลกมานพบวช บรรลุพระอรหันต์
ออกพรรษา 
•บัญญัติสิกขาบทเรื่องการผิงไฟของภิกษุ 
•โปรดมาคันทิยาพราหมณ์และภรรยา จนขอบวชทั้ง ๒ คนแล้วได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ 
•นางมาคันทิยาผู้เป็นธิดาผูกจิตอาฆาตในพระศาสดา 
•เศรษฐีโกสัมพี ๓ คนตามไปฟังธรรมที่วัดเชตวันเมืองสาวัตถีบรรลุเป็นพระโสดาบันและได้สร้าง โฆสิตาราม ปาวาริการาม และกุกกุฏาราม ถวายที่โกสัมพี

 
พรรษาที่ ๙ จำพรรษาที่โกสัมพี 
•เรื่องนางสามาวดี ได้เป็นมเหสีพระเจ้าอุเทน ถูกนางมาคันทิยาวางแผนเผาทั้งปราสาทจนตาย 
ออกพรรษา 
•สงฆ์ที่โฆสิตาราม โกสัมพี แตกความสามัคคี 


พรรษาที่ ๑๐ จำพรรษาที่รักขิตวัน (ป่าปาริเลยยกะ) อยู่ระหว่างกรุงโกสัมพีกับกรุงสาวัตถี 
•ช้างปาริเลยยกะและวานรถวายอุปัฏฐากพระพุมธองค์
ออกพรรษา 
•หมู่สงฆ์ชาวโกสัมพีมาขอขมาต่อพระองค์ทำให้สังฆสามัคคี 


พรรษาที่ ๑๑ จำพรรษาที่หมู่บ้านพราหมณ์ เอกนาลา ใต้เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ 
ออกพรรษา (ไม่ปรากฏหลักฐาน) 


พรรษาที่ ๑๒ จำพรรษาที่ควงไม้สะเดาเมืองเวรัญชา 
•ทรงไม่อนุญาตให้มีการบัญญัติสิกขาบท 
ออกพรรษา 
•เรื่องเอรกปัตตนาคราช
•พระนางปชาบดีเถรี ทูลลานิพพาน ประชุมเพลิง 
•การอุปสมบท ๘ วิธี 


รรษาที่ ๑๓ จำพรรษา ที่จาลิกบรรพต เมืองจาลิกา
•เรื่องพระเมฆิยะ 
ออกพรรษา 
•แสดงมงคลสูตร ๓๘ ประการ 
•แสดงกรณีเมตตาสูตร 
•เรื่องพระพาหิยะทารุจิริยะ 
•พระอัญญาโกณฑัญญะทูลลานิพพาน 


พรรษาที่ ๑๔ จำพรรษา ที่วัดเชตวัน สาวัตถี 
•สามเณรราหุลอุปสมบท
•ตรัสภัทเทกรัตตคาถา 
•แสดงนิธิกัณฑสูตร 
ออกพรรษา 
•บัญญัติวิธีกรานกฐิน
•อนุญาตสงฆ์ รับการปวารณาปัจจัยเภสัชเป็นนิตย์  


พรรษาที่ ๑๕ จำพรรษาที่นิโคธาราม กรุงกบิลพัสดุ์
•เจ้าศากายะถวายสัณฐาคาร 
•แสดงสัปปุริสธรรม ๗ ประการ 
•เรื่องพระเจ้าสุปปพุทธะถูกธรณีสูบลงอเวจี 
ออกพรรษา (ไม่ปรากฏหลักฐาน)

พรรษาที่ ๑๗ จำพรรษาที่วัดเวฬุวัน
•พระทัพพมัลลบุตรทูลลานิพพาน
ออกพรรษา
•เรื่องพระวักกลิ

พรรษาที่ ๑๘ จำพรรษาที่จาลิกบรรพต เมืองจาลิกา ออกพรรษา
•เสด็จเมืองอาฬาวี ครั้งที่ ๒
•โปรดธิดาช่างหูกบรรลุโสดาปัตติผล
•ช่างหูกผู้เป็นบิดาขอบวชสำเร็จอรหัตตผล
•ตรัสอริยทรัพย์ ๗ ประการ

พรรษาที่ ๑๙ จำพรรษาที่จาลิกบรรพต เขตเมืองจาลิกา
ออกพรรษา
•เรื่องโปรดโจร องคุลีมาล
•เรื่องสันตติมหาอำมาตย์บรรลุอรหัตตผลแล้วนิพพาน

พรรษาที่ ๒๐ จำพรรษาที่เวฬุวัน เมืองราชคฤห์
•พระอานนท์ได้เป็นอุปัฏฐากประจำพระองค์
•พระอานนท์ทูลขอพร ๘ ประการ

พรรษาที่ ๒๑-๔๕ จำพรรษาที่วัดเชตวัน หรือ วัดบุพพาราม สลับกันไป
ออกพรรษา จาริกไปตามตำบลต่างๆ เพื่อโปรดเวไนยสัตว์ ประมาณพรรษาที่๒๑ จำวัดที่บุพพารามสาวัตถี
•พระองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโทกข์ในที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ครั้งแรก ประมาณพรรษาที่๒๖
•พระราหุลนิพพาน

พรรษาที่๓๗ เทวทัตคิดปกครองสงฆ์
•วางแผนปลงพระชนม์พระศาสดา
•ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร
•พระเทวทัตถูกธรณีสูบ

พรรษาที่๓๘ แสดงสามัญญผลสูตรแก่อชาตศัตรู
•อชาตศัตรูแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
•กรุงสาวัตถี อำมาตย์ก่อการขบถ
•พระเจ้าปเสนทิโกศลสิ้นพระชนม์
•พระเจ้าวิฑูฑภะฆ่าล้างวงศ์ศากยะ
•พระเจ้าวิฑูฑภะสิ้นพระชนม์

พรรษาที่๔๓
พระยโสธราเถรีนิพพาน

พรรษาที่๔๔ แสดงธรรมที่วัดเชตวัน
•ตอบปัญหาเทวดา
ออกพรรษา
•พระสารีบุตรทูลลานิพพาน
•พระสารีบุตรโปรดมารดาจนบรรลุโสดาปัตติผลพระสารีบุตรนิพพาน
•พระโมคคัลลานะถูกโจรที่เดียรถีย์จ้างมาทำร้าย
•พระโมคคัลลานะนิพพาน
•นางอัมพปาลีถวายอาราม นางอัมพปาลีบรรลุธรรม

พรรษาที่๔๕ ภิกษุจำพรรษารอบกรุงเวสาลี
•ตรัสอานุภาพอิทธิบาท ๔
•ทรงปลงอายุสังขาร ตรัสโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ
•นายจุลทะถวายสุกรมัททวะ
•ตรัสถึงสังเวชนียสถาน ๔แห่ง
•วิธีปฏิบัติกับพุทธสรีระปัจฉิมโอวาทแก่ภิกษุ
•เสด็จปรินิพพาน

วันพุธ

คุณแห่งการฉันทอาหารหนเดียว

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภัททาลิสูตร คุณแห่งการฉันอาหารหนเดียว

ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว เมื่อเราฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว ย่อมรู้สึกคุณ คือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กายเบา มีกำลัง และอยู่สำราญ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลายจงมา จงฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียวเถิด ด้วยว่า เมื่อเธอทั้งหลายฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว จักรู้สึกคุณคือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กายเบา มีกำลัง และอยู่สำราญ

พระภัททาลิฉันอาหารหนเดียวไม่ได้ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระภัททาลิได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สามารถจะฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียวได้ เพราะเมื่อข้าพระองค์ฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว จะพึงมีความรำคาญ ความเดือดร้อน

ดูกรภัททาลิ ถ้าอย่างนั้น เธอรับนิมนต์ ณ ที่ใดแล้ว พึงฉัน ณ ที่นั้นเสียส่วนหนึ่งแล้ว นำส่วนหนึ่งมาฉันอีกก็ได้ เมื่อเธอฉันได้ แม้อย่างนี้ ก็จักยังชีวิตให้เป็นไปได้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สามารถจะฉันแม้ด้วยอาการอย่างนั้นได้ เพราะเมื่อข้าพระองค์ฉันแม้ด้วยอาการอย่างนั้น จะพึงมีความรำคาญ ความเดือดร้อน

ครั้งนั้นแล ท่านพระภัททาลิประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังจะทรงบัญญัติสิกขาบทในเมื่อภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ครั้งนั้นแล ท่านพระภัททาลิไม่ได้ให้ตนประสบพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคตลอดไตรมาสนั้นทั้งหมดเหมือนภิกษุอื่น ผู้ไม่ทำความบริบูรณ์ในสิกขาในพระศาสนาของพระศาสดาฉะนั้นฯลฯ

อาการฉันทอาหารของพระพุทธเจ้า
๑) ไม่ติดในรส พระพุทธเจ้าแม้พระองค์จะอุบัติขึ้นในโลก แต่พระองค์ก็ไม่ทรงติดโลก ในเรื่องอาหารก็เช่นเดียวกันพระองค์เสวยอาหารแต่พระองค์ก็ไม่ทรงยึดติดในรสอาหารทุกชนิด โดยที่พระองค์ไม่ยินดียินร้ายกับรสอาหารว่าอร่อยหรือไม่อร่อย แต่ทรงมุ่งประโยชน์หรือคุณค่าแท้เป็นหลักใหญ่ของการบริโภค พระองค์ทรงวางท่าทีต่อการเสวยพระกระยาหารโดยไม่ทำความยินดียินร้ายในอาหารทำให้ทรงเห็นเป็นเพียงธาตุ

ในพรหมายุสูตร ได้กล่าวถึงการไม่ติดในรสของพระองค์ไว้ว่า เมื่อทรงรับข้าวสุกก็ไม่ทรงชูบาตรขึ้นรับ ไม่ทรงลดบาตรลงรับ ไม่ทรงยื่นบาตรคอยรับ ไม่ทรงแกว่งบาตรคอยรับ ทรงรับข้าวสุกไม่น้อยนักไม่มากนัก ทรงรับกับข้าว เสวยพระกระยาหารพอประมาณกับข้าว ไม่ทรงทำกับข้าวให้เกินกว่าคำข้าวทรงเคี้ยวคำข้าวข้างในพระโอษฐ์สองสามครั้งแล้วทรงกลืน ข้าวยังไม่ละเอียด ไม่ทรงกลืนลงไป ไม่มีข้าวเหลืออยู่ในพระโอษฐ์จึงน้อมคำข้าวอีกคำหนึ่งเข้าไป ทรงมีปกติกำหนดรสอาหารแล้วเสวยอาหาร แต่ไม่ทรงติดในรส แต่พระองค์ทรงเสวยพระกระยาหารด้วยความมีสติพิจารณาและมีเป้าหมาย ดังความในพระสูตรเดียวกันว่า ท่านพระโคดมพระองค์นั้นเสวยพระกระยาหารประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ
    ๑. ไม่เสวยเพื่อเล่น
    ๒. ไม่เสวยเพื่อมัวเมา
    ๓. ไม่เสวยเพื่อประดับ
    ๔. ไม่เสวยเพื่อตกแต่ง
    ๕. เสวยเพื่อดำรงพระวรกายนี้ไว้
    ๖. เสวยเพื่อยังพระชนม์ให้เป็นไปได้
    ๗. เสวยเพื่อป้องกันความลำบาก
    ๘. เสวยเพื่อทรงอนุเคราะห์พรหมจรรย์
พระองค์ทรงเน้นย้ำให้เห็นการเข้าใจความจริงของการบริโภคเพื่อการพัฒนาจิตใจและ ปัญญาของผู้บริโภคให้สูงกว่าการติดอยู่แค่รสอาหารที่บริโภค ไม่ให้หลงใหลในความอร่อยความน่า ปรารถนาที่ยั่วยวน ซึ่งจะเป็นตัวชนวนนำไปสู่การไม่ได้ใช้ปัญญา
      
๒) ไม่ตำหนิอาหาร พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เป็นผู้วางใจเป็นกลางในอาหารที่จะได้รับ ไม่ทรงติหรือชมอาหารที่เขาน้อมมาถวาย แม้ว่ากันโดยชาติกำเนิดพระองค์กำเนิดในตระกูลกษัตริย์พระกระยาหารที่เสวยก็ เป็นอาหารของชาววัง ซึ่งมีความพิเศษกว่าอาหารของชาวบ้านธรรมดาแทบเทียบกันไม่ได้ แต่เมื่อ พระองค์ออกบวชแล้วพระองค์ก็ไม่ทรงรังเกียจอาหารที่ชาวบ้านนำมาถวาย จะเป็นคนรวยหรือคนจน เข็ญใจ พระองค์มิได้ทรงเลือกรับเฉพาะที่ดีหรือเลิศ แต่พระองค์ทรงรับด้วยความอนุเคราะห์ประการ หนึ่ง อีกประการหนึ่งเพราะพระองค์ไม่ตำหนิอาหารไม่ทำศรัทธาของทายกให้ตกไป เห็นได้จากตัวอย่างที่พระองค์ไม่ทรงตำหนิอาหารของคนจน และอนุเคราะห์คนจน เช่น ชายยากจนเข็ญใจคนหนึ่ง มีความประสงค์จะเลี้ยงพระภิกษุสักรูปหนึ่ง

เมื่อได้รับการชักชวนทั้งที่ตนก็ทำงานรับจ้าง จะได้กินอิ่มแต่ละวันยังยาก แต่ก็รับที่จะเลี้ยงพระภิกษุสักรูปหนึ่ง แต่เจ้าหน้าที่ลืมจัดพระภิกษุให้แก่เขา เหลือเพียงพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเขาจึงเข้าไปทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าพระองค์ก็รับอาราธนาไปฉัน ที่บ้านคนเข็ญใจนั้น

พระพุทธองค์ทรงแสดงเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ปรินิพพานในปัจจุบันว่า รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้นที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่พาใจให้กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่เชยชม ไม่ยึดติดรสนั้นอยู่ เมื่อเธอไม่เพลิดเพลิน ไม่เชยชม ไม่ยึดติดรสนั้น วิญญาณที่อาศัยตัณหานั้นก็ไม่มีความยึดมั่นตัณหานั้นก็ไม่มีภิกษุผู้ไม่มีอุปาทานย่อมปรินิพพาน

การไม่ติชมอาหารของพระพุทธองค์ด้วยอาศัยอาหารของชาวบ้านเป็นเครื่องเลี้ยงชีพ แม้พระองค์จะอาศัยภัตที่เป็นเดนที่ผู้อื่นให้แล้ว พระองค์ก็ทรงสรรเสริญการให้ทานของทายก อาหารที่เขาถวายเป็นของควรแก่สมณะ การไม่เลือกอาหารว่าดีเลิศหรือเลวทราม เป็นเครื่องยืนยันให้เห็นข้อว่าพระองค์ไม่ได้บริโภคอาหารด้วยความยึดติดและทำพระองค์เป็นผู้เลี้ยงง่าย บนพื้นฐานของความเรียบง่าย ไม่ยุ่งยากกับการเลี้ยงดู แต่ให้ความสำคัญทางด้านการพัฒนาจิตใจและปัญญามากกว่าการยินดีด้วยรสที่สนองการเสพ

๓) การฉันอาหารมื้อเดียว การออกบวชของพระพุทธองค์ทรงวางเป้าหมายไว้ คือ การแสวงหาโมกขธรรมทางดับทุกข์ด้วยวิธีการที่พระองค์ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าพระองค์ไม่ได้เสียเวลาอยู่กับการบริโภคอาหาร เพื่อประหยัดเวลาที่ผ่านไปในแต่ละวันไม่ให้สูญเสียไปกับเรื่องที่เกี่ยวเนื่องด้วยอาหารและการขบฉันของพระภิกษุ พระองค์จึงทรงประพฤติเป็นแบบอย่างโดยการบริโภคอาหารวันละมื้อ และแนะนำชักชวนพระภิกษุทั้งหลายให้ประพฤติตาม พระองค์ได้ทรงแสดงข้อดีของการฉันมื้อเดียวว่า ภิกษุทั้งหลาย เราฉันอาหารมื้อเดียว เราเมื่อฉันอาหารมื้อเดียว ย่อมรู้สึกว่าสุขภาพดีมี โรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์อยู่สำราญ โดยธรรมดาของคนทั่วไปการบริโภคอาหารสามารถบริโภคได้ทั้งวัน แต่คิดจากการบริโภค อาหารตามปกติวันละ ๓ มื้อ นับเวลาที่ต้องเสียไปกับการเตรียมอาหารที่จะบริโภค เวลาในการ บริโภค เมื่อบริโภคแล้วต้องเสียเวลาในการจัดเก็บทำความสะอาดภาชนะและสถานที่ รวมกันแล้ว ต้องเสียเวลาไปกับการที่บริโภคนี้มาก ยิ่งบริโภคมากก็ยิ่งเสียเวลามาก ซึ่งเป้าหมายของผู้ออกบวช คือการทำที่สุดทุกข์ให้แจ้ง คือเป็นผู้พ้นจากความทุกข์วิมุตติถ้ายุ่งอยู่กับเรื่องการบริโภคมากเกินไป ก็จะไม่มุ่งมั่นต่อการปฏิบัติธรรมเป้าหมายก็อาจจะคลาดเคลื่อนไป หรือไปไม่ถึงเป้าหมายของการ ออกบวชได้

การฉันมื้อเดียวของพระภิกษุมีคุณต่อผู้ออกบวชอย่างยิ่ง พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงคุณ ของการไม่บริโภคอาหารกลางคืนไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เราไม่ฉันโภชนะในราตรีเลย เราเมื่อไม่ฉันโภชนะในราตรีก็รู้สึกว่าสุขภาพดีมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์อยู่สำราญ



กิเลส ๑,๕๐๐ ตัณหา ๑๐๘

กิเลส ๑,๕๐๐

สิ่งที่ทําให้เกิดกิเลส หรือ อารมณ์ของกิเลส ที่เกิดจากภายใน คือ ตัวเรา มี ๗๕ และ กิเลสที่เกิดจากภายนอก คือ คนอื่น มี ๗๕ รวมเป็น ๑๕๐ 
  
ตัวเรา ก็คือ รูป - นาม (รูป ๒๒ – นาม ๕๓) = ๗๕ คนอื่น ก็คือ รูป - นาม (รูป ๒๒ - นาม ๕๓) = ๗๕  รวมเป็น ๑๕๐ 

ตัวเรา คือ รูป– นาม รวมได้ ๗๕ เป็นอย่างไร? คนอื่น คือรูป –นามรวมได้ ๗๕ เป็นอย่างไร?  
ตัวเราและคนอื่น ประกอบด้วย นาม มีองค์ประกอบคือ จิต๑ เจตสิก ๕๒ 
รูป มีองค์ประกอบคือ นิปผันนรูป ๑๘ ลักขณรูป ๔ รวมรูป+นาม = ๗๕ 

กิเลสภายในคือ ตัวเรา มี ๗๕ เป็นอารมณให้ คนอื่น เกิดกิเลสได้ เช่น มีคนมารัก เรา หรือ เกลียด เรา
กิเลสภายนอก คือ คนอื่น มี ๗๕ เป็นอารมณให้ เรา เกิดกิเลสได้ เช่น ทําให้เรารัก หรือทําให้เราเกลียด กิเลส มี ๑๐ อารมณ์ของกิเลสจากตัวเราและตัวเขา มี ๑๕๐ (๑๕๐ x ๑๐ = กิเลส ๑,๕๐๐)  

อาการของกิเลส  
กิเลสทั้งหลายไม่ว่าจะนับว่ามี๑๐หรือมี๑,๕๐๐ก็ตามเมื่อพิจารณาถึงอาการของกิเลสแล้วกิเลส ทั้งหลายก็มีอาการ๓ประการคือ
 
๑. กิเลสที่นอนสงบนิ่ง เรียกว่าอนุสัยกิเลสเป็นกิเลสที่นอนเนื่องสงบนิ่งอยู่ในขันธสันดานยังไม่ ลุกขึ้นมาแผลงฤทธิ ซึ่งตัวเองก็ไม่สามารถรู้ได้และคนอื่นก็ไม่สามารถรู้ได้ 
๒. กิเลสที่กลุ้มรุมอยู่ภายใน เรียกว่า ปริยุฏฐานกิเลส เป็นกิเลสที่คุกรุ่นอยู่ในใจ เกิดขึ้นแผลงฤทธิ อยู่เพียงในใจทำให้หงุดหงิดใจ ยังไม่แสดงออกทางกายทางวาจา ซึ่งตัวเองรู้ ส่วนคนอื่นบางทีรู้ บางทีก็ไม่รู้   
๓. กิเลสที่ล้น เรียกว่า วีติกกมกิเลส เป็นกิเลสที่แผลงฤทธิออกมาอย่างโจ่งแจ้งล่วงออกมาทางกายทางวาจา ตัวเองรู้ชัดคนอื่นก็รู้ชัดอย่างโจ่งแจ้ง เช่น ความอยากได้ การด่า การทำร้ายร่างกาย 
 
อุปกิเลส ๑๖ ความเศร้าหมองอีกนัยหนึ่ง ชื่อว่า อุปกิเลส มีจํานวน ๑๖ ประการ คือ
๑. อภิชฌาวิสมโลภะ เพ่งเล็งอยากได้ของเขา องค์ธรรมได้แก่ โลภเจตสิก
๒. โทสะ ความร้ายกาจ การทําลาย องค์ธรรมได้แก่ โทสเจตสิก
๓. โกธะ ความโกรธ องค์ธรรมได้แก่ โทสเจตสิก 
๔. อุปนาหะ การผูกโกรธไว้ องค์ธรรมได้แก่ โทสเจตสิก 
๕. มักขะ การลบหลู่คุณท่าน องค์ธรรมได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก
๖. ปลาสะ การตีเสมอ ยกตนเทียมท่าน องค์ธรรมได้แก่ มานเจตสิก
๗. อิสสา การริษยา องค์ธรรมได้แก่ อิสสาเจตสิก
๘. มัจฉริยะ ความตระหนี่ องค์ธรรมได้แก่ มัจฉริยเจตสิก
๙. มายา มารยา เจ้าเล่ห องค์ธรรมได้แก่ โลภเจตสิก
๑๐. สาเถยยะ โอ้อวด องค์ธรรมได้แก่ มานเจตสิก
๑๑. ถัมภะ หัวดื้อ องค์ธรรมได้แก่ มานเจตสิก
๑๒. สารัมภะ แข่งดี องค์ธรรมได้แก่ 
มานเจตสิก 
๑๓. มานะ ถือตัว องค์ธรรมได้แก่ 
มานเจตสิก 
๑๔. อติมานะ ดูหมิ่นท่าน องค์ธรรมได้แก่ 
มานเจตสิก 
๑๕. มทะ มัวเมา องค์ธรรมได้แก่ โมหเจตสิก
๑๖. ปมาทะ เลินเล่อ องค์ธรรมได้แก่ 
โมหเจตสิก
 



ตัณหา ๑๐๘ 

ตัณหา คือ ความปรารถนา ความอยากได้ ความต้องการ เป็นตัวสมุทัย เป็นต้นเหตุให้เกิดทุกข์ โทษต่าง ๆ ติดตามมามากมาย ตราบเมื่อคนเรายังมีตัณหาอยู่ ก็จะต้องเวียนว่ายในสังสารทุกข์ต่อไปอีกช้านาน ตัณหา ๑๐๘ คิดกันอย่างไร ?
ชนิดของตัณหา มี ๓ (คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา) อารมณ์ของตัณหา มี ๖ (คือ รูปรมณ์ สัททารมณ์ คันทารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ธัมมารมณ์) ฉะนั้น (๓ x ๖) = ๑๘ 
 
การเกิดของตัณหามี ๒ ทาง 
๑. ตัณหาที่เกิดภายในมี ๑๘ 
๒. ตัณหาที่เกิดภายนอกมี ๑๘
ฉะนั้นทั้ง ๒ ทางรวมเป็น (๑๘ x ๒) = ๓๖ 

ตัณหา ๓๖ เกิดได้ทั้ง ๓ กาล (อดีต ปัจจุบัน อนาคต)
ฉะนั้นตัณหาที่เกิดได้ทั้ง ๓ กาล รวมเป็น (๓๖ x ๓) = ๑๐๘ 

กิเลสและตัณหา เป็นอกุศลทั้งหลายที่มีอยู่ในตน มีทั้งที่เป็นแบบที่เกิดขึ้นและเรารู้ได้ และมีทั้งอย่างที่ติดแน่นเป็นยางเหนียวขัดออกได้ยากล้างออกได้ยาก กิเลสตัณหาทั้งหลายจะ ถูกประหาณได้เด็ดขาดราบคาบก็ต้องเจริญวิปัสสนาจนมัคคจิตเกิดขึ้น แต่ในขณะปัจจุบันที่เราสาธุชนทั้งหลายยัง เป็นปุถุชนที่หนาแน่นด้วยกิเลส ถึงแม้นว่าจะชําระขัดล้างกิเลสทั้งหลายได้ไม่เด็ดขาดก็จริงอยู่ แต่ถ้าได้ศึกษาได้รู้จัก และหมั่นพิจารณา หมั่นสังเกตกิเลสที่เกิดขึ้นแก่ตนเองบ่อย ๆ แล้วพยายามทําให้กิเลสทั้งหลายลดลงเบาบางลง ก็จะเป็นอุปนิสัยที่ดีในปัจจุบัน และเป็นการเพาะบ่มสั่งสมอุปนิสัยเพื่อการบรรลุมรรคผลในกาลข้างหน้าต่อไป




อภิธรรมเบื้องต้น


 🙏 พระอภิธรรมเบื้องต้น

พระอภิธรรมเปรียบเสมือนแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา มีเนื้อหาสุขุมล้ำลึกอันนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องธรรมชาติของชีวิต เรื่องของกรรมและการส่งผลของกรรม เรื่องภพภูมิต่างๆ เรื่องของการเวียนว่ายตายเกิดและเรื่องของการปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดซึ่งเป็นจุดหมายอันสูงสุดในพระพุทธศาสนา ในที่นี้เป็นการปูพื้นฐานเพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจในเบื้องต้นเกี่ยวกับประวัติความ เป็นมาและเนื้อหาของพระอภิธรรม อันจะนำไปสู่การศึกษาที่ละเอียดลึกซึ้งต่อไป

พระอภิธรรมเบื้องต้นย่อจาก ๗ คัมภีรย์ ตามหลักสูตรพระอภิธรรมโชติกะวิทยาลัย

หมวดที่ ๐๑ พระอภิธรรมคืออะไร
๑. ประวัติพระอภิธรรม
๒. ประโยชน์จากพระอภิธรรม
๓. ปรมัตถและบัญญัติ
๔. พระอภิธัมมัตถสังคหะ

หมวดที่ ๐๒ ชีวิต
๑. ชีวิตคืออะไร
๒. จิตคืออะไร
๓. ที่เกิดและอำนาจของจิต
๔. บุญบาปเกิดขึ้นได้อย่างไร
๕. ลักษณะของจิต

หมวดที่ ๐๓ จิต
๑. ประเภทของจิต
๒. กามาวจรจิต ๕๔ ดวง
๓. รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
๔. อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง
๕. โลกุตตรจิต ๘ ดวง

หมวดที่ ๐๔ เจตสิก 
๑. เจตสิก ๕๒ ดวง
๒. เจตสิกกลุ่มที่ ๑
๓. เจตสิกกลุ่มที่ ๒
๔. เจตสิกกลุ่มที่ ๓

หมวดที่ ๐๕ รูปปรมัตถ์ 
นัยที่ ๑ รูปสมุทเทสนัย
นัยที่ ๒ รูปวิภาคนัย
นัยที่ ๓ รูปสมุฏฐานนัย
นัยที่ ๔ รูปกลาปนัย
นัยที่ ๕ รูปปวัตติกมนัย

หมวดที่ ๐๖ ภพภูมิ
๑. ความเป็นไปในสังสารวัฏ
๒. ภพภูมิทั้ง ๓๑ ภูมิ
๓. นรกภูมิ
๔. ดิรัจฉานภูมิ
๕. เปรตภูมิ
๖. อสุรกายภูมิ
๗. มนุษยภูมิ
๘. เทวภูมิ
๙. รูปาวจรภูมิ
๑๐. อรูปาวจรภูมิ
๑๑. อายุของสัตว์ในภูมิทั้ง ๓๑

หมวดที่ ๐๗ กฎแห่งกรรม
ความรู้เบื้องต้นของกรรม
กรรมหมวดที่ ๑
    ๑.๑ ชนกกรรม
    ๑.๒ อุปัตถัมภกกรรม
    ๑.๓ อุปปีฬกกรรม
    ๑.๔ อุปฆาตกกรรม

กรรมหมวดที่ ๒
    ๒.๑ ครุกกรรม
    ๒.๒ อาสันนกรรม
    ๒.๓ อาจิณณกรรม
    ๒.๔ กฏัตตากรรม

กรรมหมวดที่ ๓
    ๓.๑ ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม
    ๓.๒ อุปปัชชเวทนียกรรม
    ๓.๓ อปราปริยเวทนียกรรม
    ๓.๔ อโหสิกรรม

กรรมหมวดที่ ๔
    ๔.๑ อกุศลกรรม
        ๔.๑.๑ กายทุจริต ๓
        ๔.๑.๒ วจีทุจริต ๔
        ๔.๑.๓ มโนทุจริต ๓
    ๔.๒ กามาวจรกุศลกรรม
        ๔.๒.๑ บุญกิริยาวัตถุ ๑๐
    ๔.๓ รูปาวจรกุศลกรรม
    ๔.๔ อรูปาวจรกุศลกรรม

หมวดที่ ๐๘ สมุจจยสังคหะ
๑. อกุศลสังคหะ (ธรรมที่เป็นบาปล้วนๆ)
๒. มิสสกสังคหะ (ธรรมที่เป็นเหตุของการทำบุญ, ทำบาป, อพยากตะ)
๓. โพธิปักขิยสังคหะ (ธรรมที่จะทําให้เข้าถึงมรรคผล)
๔. สัพพสังคหะ (ธรรมที่สงเคราะห์จิต เจตสิก รูป นิพพาน)

หมวดที่ ๐๙ สมถกรรมฐาน
๑. ความรู้เบื้องต้นของกรรมฐาน
๒. รูปฌาน อรูปฌาน
๓. ประโยชน์ของสมาธิ
๔. กสิณ ๑๐
๕. อสุภะ ๑๐
๖. อนุสสติ ๑๐
๗. อัปปมัญญา ๔
๘. อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑
๙. จตุธาตุววัฏฐาน ๑
๑๐. อรูปกรรมฐาน ๔

หมวดที่ ๑๐ วิปัสสนากรรมฐาน
๑. สติปัฏฐาน
    ๑.๑ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
    ๑.๒ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
    ๑.๓ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
    ๑.๔ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
๒. วิสุทธิ ๗
๓. ลักษณะ ๓
๔. อนุปัสสนา 
๕. ญาณ ๑๖


💛🔘💛🔘💛🔘💛🔘💛🔘💛

🙏 พระอภิธัมมัตถสังคหะ
ปริเฉทที่ ๑ จิตปรมัตถ์


ปริเฉทที่ ๒ เจตสิกสังคหวิภาค
    - จำนวนของเจตสิก
    - แสดงการจำแนกเจตสิกโดยราสี
    - อนุตตรสังคหนัย
    - มหัคคตสังคหนัย
    - กามาวจรโสภณสังคหนัย
    - อกุศลสังคหนัย
    - สัพพากุศลโยคีเจตสิก
    - อเหตุกสังคหนัย



ภวังคจิต

ภวังคจิต ภวังคะ หรือ ภะ-วัง-คะ ภว+องฺคะ แปลตามพยัญชนะว่า "องค์ของภพ" มักใช้รวมกับจิต เป็นภวังคจิต ในทางพระพุทธศาสนา ถือว่า จิตมีลักษณะเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการสืบต่อสันตติของจิต ย่อมอาศัยการถ่ายทอดข้อมูลจากภวังคจิตจิตดวงเดิม ไปสู่จิตดวงใหม่ ด้วยกระบวนการของการทำงานของภวังคจิต เพราะเหตุว่าภวังคจิตเป็นเหตุให้สร้างจิตดวงใหม่ตลอดเวลาก่อนจิตดวงเก่าจะดับไป จึงชื่อว่าเป็นเหตุแห่ง "ภพ" หรือเป็นเหตุสร้าง"ภพ" 


จิต ในทางศาสนาพุทธแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ
๑.วิถีจิต จิตสำนึก
๒.ภวังคจิต จิตใต้สำนึก

ภวังคจิต คือจิตใต้สำนึกในทางศาสนาพุทธหมายถึงเป็นกระบวนการทำงานแบบอัตตโนมัติของจิต จิตใต้สำนึกในความหมายของภวังคจิตนี้จึงอาจแตกต่างจากทางจิตวิทยาภวังคจิต เป็น วิบากจิต คือ จิตใต้สำนึกส่วนลึกที่สุดของจิตเป็นที่สั่งสมอารมณ์จนกลายเป็นอุปนิสัย ภวังคจิต จะเกิดคั่นระหว่างวิถีจิตในแต่ละวาระ ทำหน้าที่สืบต่อและดำรงภพชาติ ภวังคจิต จะเกิดขึ้นเมื่อวิถีจิตดับและเมื่อเกิดวิถีจิตกลับมาทำหน้าที่ ภวังคจิตก็จะดับลง เมื่อวิถีจิตดับลงภวังคจิตจะเกิดขึ้นมาใหม่ ถ้าไม่มีภวังคจิต พอขาดวิถีจิต จิตจะไม่มีการสืบต่อสันตติก็เท่ากับสิ้นชีวิต ภวังคจิต ในขณะที่เปลี่ยนภพจุติใหม่สู่ชาติใหม่ จะใช้ชื่อว่า ปฏิสนธิจิตแทน ซึ่งเป็นขณะจิตแรกของแต่ละชาติ ภวังคจิตจึงสืบต่อภพในระดับเปลี่ยนชาติด้วย ภวังคจิต คือมโนทวารเป็นอายตนะที่ ๖ อันเป็นวิบาก เป็นอัพยากฤต(ธรรมอันเป็นกลาง ระหว่างกุศลกับอกุศล ไม่จัดเป็นกุศลหรืออกุศล, กลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว) ซึ่งเป็นจิตตามสภาพปกติ เมื่อยังไม่ขึ้นสู่วิถีจิตรับรู้อารมณ์ จะเป็นเพียงมโน ยังไม่เป็นมโนวิญญาณ เมื่อรับอารมณ์คือเจตสิก จะกลายเป็นมโนวิญญาณ

มีพุทธพจน์ว่า “จิตนี้ประภัสสร (ผุดผ่อง ผ่องใส บริสุทธิ์) แต่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสที่จรมา" จิตที่ประภัสสรในที่นี้พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่าหมายถึงภวังคจิต

จิตกับตัณหา

ลำดับนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาต่อไปอีกว่า ดูกรอานนท์ เราตถาคตจะแสดงในข้ออันเป็นที่สุดแต่โดยย่อ ๆ พอให้เข้าใจง่ายที่สุดนั้นก็คือ จิตกับตัณหา

จิตนั้นจำแนกออกไปเรียกว่ากองกุศลคือกองสุข ตัณหานั้นจำแนกออกไปเรียกว่ากองอกุศลคือกองทุกข์

ต้นเหง้าเค้ามูลแห่งทุกข์นั้น ก็คือจิตและตัณหานี้เอง จิตเป็นผู้คิดให้ได้ดีมีสุขขึ้น ส่วนตัณหานั้นก็ให้เกิดเห็นตาม จิตมีความสุขมากขึ้นเท่าใด ตัณหาก็ให้เกิดทุกข์ตามมากขึ้นไปเท่านั้น ดูกรอานนท์ แต่เบื้องต้น เมื่อเราตถาคต ยังไม่รู้แจ้งว่าสุขและทุกข์อยู่ติดด้วยกัน เราก็ถือเอากุศลจิตอันเดียวหมายจักให้เป็นสุขอยู่ทุกเมื่อ ส่วนทุกข์จะไม่ให้มา ก็ตั้งหน้าบำเพ็ญกุศลจิตเรื่อยไป เมื่อได้สุขเท่าใด ทุกข์ก็พลอยเกิดมีเท่านั้น ครั้นภายหลัง เราพิจารณาด้วยญาณจักษุปัญญา และเห็นแจ้งชัดว่าสุขและทุกข์ติดอยู่ด้วยกัน ครั้นรู้แจ้งแล้วก็ตรึกตรองหาอุบายที่จะกำจัดสุขและทุกข์ให้พรากออกจากกันมันแสนยากแสนลำบากเหลือกำลัง จนสิ้นปัญญาหาทางไปทางมาไม่ได้เราตถาคตจึงวางเสียซึ่งสุขคืนให้แก่ทุกข์ คือวางใจให้แก่ตัณหา ครั้นเราวางใจไว้ให้แก่ตัณหาแล้ว ความสุขในพระนิพพานก็เลยเข้ามารับเราให้ถึงนิพพานดิบในขณะนั้นพร้อมกับวางใจไว้ให้แก่ตัณหา

  
ดูกรอานนท์ เมื่อวางใจได้ จึงเป็นอัพยากฤต จึงเรียกชื่อว่าถือเอาอัพยากฤตเป็นอารมณ์ เป็นองค์พระอรหันต์ คือได้เข้าตั้งอยู่ในพระนิพพานด้วยอาการดังนี้.  ลำดับนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาแก่ข้าฯ อานนท์ สืบต่อไปอีกว่า ดูกรอานนท์ อันว่าอรหันต์นั้น จะได้มีจำเพาะแต่เราตถาคตพระองค์เดียวก็หามิได้ ย่อมมีเป็นของสำหรับโลก สำหรับไว้โปรดสัตว์โลกทั่วไป ไม่ใช่ของเราตถาคตและของผู้หนึ่งผู้ใดเลย ดูกรอานนท์ เราตถาคตเป็นผู้ไกลจากกิเลสแล้ว จึงได้มาซึ่งพระอรหันต์ บุคคลผู้ใดปราศจากกิเลสแล้ว บุคคลผู้นั้นก็เป็นผู้ได้พระอรหันต์เสมอกันทุกคน บุคคลผู้ใดที่ยังไม่ปราศจากกิเลส ถึงแม้จะอ้อนวอนเราตถาคตว่า อรหันต์ อรหันต์ ดังนี้ จนถึงวันตาย ก็ไม่อาจได้ซึ่งพระอรหันต์เลย เป็นแต่กล่าวด้วยปากเปล่า ๆ เท่านั้น และมาเข้าใจว่าการละกิเลสได้ หรือไม่ได้นั้นไม่เป็นประมาณ เมื่อได้อ้อนวอนหาซึ่งองค์พระอรหันต์เจ้าด้วยปากด้วยใจแล้ว พระอรหันต์เจ้าก็จะนำเราให้เข้าสู่พระนิพพาน เข้าใจเสียอย่างนี้ได้ชื่อว่าเป็น คนหลงแท้ แม้เมื่อตนยังไม่พ้นลามกมลทินแห่งกิเลสแล้วไปอ้อนวอนพระอรหันต์ที่หมดมลทินกิเลสให้มาตั้งอยู่ในตัวตนอันแปดเปื้อนด้วยลามกมลทินแห่งกิเลส จะมีทางได้ มาแต่ไหน เปรียบเหมือนดังมีสระอยู่สระหนึ่ง เต็มไปด้วยของเน่าของเหม็นสารพัดทั้งปวง เป็นสระมีน้ำเน่าเหม็นสาบ เหม็นคาวน่าเกลียดยิ่งนัก และมีบุรุษคนหนึ่งตกอยู่ในสระนั้น หากว่าบุรุษคนนั้นร้องเรียกให้อานนท์ลงไปอยู่ในสระน้ำเน่ากับเขาด้วย อานนท์จะไปอยู่ด้วยกับเขาหรือ ดูกรอานนท์ เราจะบอกให้สิ้นเชิง ถ้าอานนท์ลงไปอยู่ในสระกับบุรุษผู้แปดเปื้อนด้วยน้ำเน่าได้ ดังนั้นองค์พระอรหันตเจ้าก็อาจไปตั้งอยู่กับบุคคลผู้แปดเปื้อนด้วยกิเลสได้เหมือนกัน ถ้าอานนท์ลงไปอยู่ด้วยกับบุรุษแปดเปื้อนไม่ได้ องค์พระอรหันตเจ้าก็ไม่อาจตั้งอยู่กับบุคคลผู้แปดเปื้อนด้วยกิเลสได้เหมือนกันเช่นนั้น
ดูกรอานนท์ท่านจะลงไปอยู่ด้วยกับบุรุษแปดเปื้อนได้หรือไม่ มีพุทธฎีกาตรัสถาม ฉะนี้ ข้าฯ อานนท์จึงกราบทูลว่าลงไปอยู่ด้วยไม่ได้ ถ้าท่านไม่ลงไป บุรุษผู้นั้นก็กล่าววิงวอนท่านอยู่ร่ำไปจะสำเร็จหรือไม่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าข้าพระองค์ไม่ลงไปบุรุษผู้นั้นก็ทำอะไรแก่ข้าพระองค์ไม่ได้ ความปรารถนาก็ไม่สำเร็จ เป็นแต่วิงวอนอยู่เปล่า ๆ เท่านั้นเอง

ดูกรอานนท์ข้ออุปมานี้ฉันใด บุรุษผู้จมอยู่ในน้ำนั้น เปรียบเหมือนบุคคลผู้ไม่ปราศจากมลทินลามกแห่งกิเลส พระอรหันต์นั้นเปรียบเหมือนตัวของอานนท์ อานนท์ไม่ลงไปอยู่ด้วยกับบุรุษแปดเปื้อนฉันใด พระอรหันต์ท่านก็ไม่ไปอยู่กับบุคคลผู้แปดเปื้อนด้วยกิเลสฉันนั้น แม้จะวิงวอนด้วยปากด้วยใจสักเท่าไรก็ไม่สำเร็จ พระอรหันต์ท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็น ผู้พ้นทุกข์แล้ว ท่านไม่น้อมเข้าไปหาบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเลย ครั้นบุคคลผู้ใดปรารถนาความสุขแล้ว จงน้อมตัวเข้าไปหาท่าน ท่านก็โปรดให้ได้ความสุข ทุกคนจะเข้าใจว่า พระอรหันต์ท่านเลือกหน้าเลือกบุคคล จะติเตียนอย่างนั้น ไม่ควร ถ้าผู้ใดพ้นจากกิเลสกามและพัสดุกามได้แล้ว ชื่อว่าน้อมตัวเข้าไปหาท่านๆ ก็โปรดนำเข้าสู่พระนิพพาน เสวย สุขอยู่ด้วยท่าน ไม่เลือกหน้าบุคคลเลย แต่ผู้จมอยู่ด้วย กิเลสกาม ละกิเลสไม่ได้ ชื่อว่าไม่น้อมตัวเข้าไปหาท่านเอง ดูกรอานนท์ ถึงตัวเราตถาคต ก็ต้องน้อมตัวเข้าไปหาท่าน ท่านจึงโปรดให้ตถาคตนี้ ได้เป็นครูแก่โลก ดังนี้

เพราะว่าพระอรหันต์ท่านเป็นผู้ดี และจักให้ท่านเข้าไปคบหาคนชั่วนั้นเป็นไปไม่ได้ และผิดธรรมเนียมด้วย สมควรแต่ผู้เลวทรามต่ำช้าจะเข้าไปหาท่านผู้ดี ผู้สูงศักดิ์โดยส่วนเดียว ข้าแต่พระมหากัสสปะผู้มีอายุ พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาแก่ ข้าฯอานนท์ ดังนี้แล. ตทนนฺตรํ ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนา สืบไปอีกว่า ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ใดปรารถนาซึ่งพระอรหันต์ ก็พึงยกตัวและห้ามใจให้ห่างไกลจากกองกิเลส เพราะพระอรหันต์ท่านเป็นผู้ไกลจากกิเลส จะบริกรรมแต่ด้วยปากด้วยใจว่าอรหันต์ๆแล้วเข้าใจว่าตนได้พระอรหันต์ เห็นว่าเป็นบุญเป็นกุศลจะได้ความสุข ในมนุษย์และสวรรค์และพระนิพพาน จะทำความเข้าใจอย่างนี้ไม่สมควรพระนามชื่อว่าพระอรหันต์นี้ เราบอกไว้ให้รู้ว่าผู้ไกลจากกิเลสจะถือเอาแต่พระนามว่าอรหันต์ๆ แล้วเข้าใจว่าตนได้สำเร็จเช่นนี้ไม่ควร เพราะคำที่ว่าอรหันต์ใครๆ ก็กล่าวได้ จะมิเป็นพระอรหันต์ก็คือเราตถาคตนี้เอง เหตุที่เราปราศจากกิเลสละกิเลสสิ้นแล้ว เราจึงได้ถึงที่สุดแห่งพระ อรหันต์ องค์อรหันต์กับเราตถาคตก็หากเป็นอันเดียวกัน จะร้องเรียกพระอรหันต์ว่าเป็นตถาคตก็ไม่ผิด หรือจะร้องเรียกเราตถาคตเป็นพระอรหันต์ก็ไม่ผิด ผู้ใดละกิเลสได้สิ้นเชิงแล้ว ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าถึงที่สุดแห่งพระอรหันต์สิ้นด้วยกัน จะถือพระอรหันต์เป็นเราตถาคตองค์เดียวหามิได้ จงเข้าใจองค์แห่งพระอรหันต์ ดังเราตถาคตแสดงมานี้เถิด ข้าแต่ พระมหากัสสปะผู้มีอายุ พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาแก่ข้าฯ อานนท์ ดังนี้แล.

วันอังคาร

พุทธวิธีในการสอนของพระพุทธเจ้า

อานนท์ การแสดงธรรมให้คนอื่นฟัง มิใช่สิ่งที่กระทำโดยง่าย ผู้แสดงธรรมแก่คนอื่นพึงตั้งธรรมห้าอย่างไว้ในใจ คือ
๑.เราจักกล่าวชี้แจงไปตามลำดับ
๒.เราจักกล่าวชี้แจงยกเหตุผลมาแสดงให้เข้าใจ
๓.เราจักแสดงด้วยอาศัยเมตตา
๔.เราจักไม่แสดงด้วยเห็นแก่อามิส
๕.เราจักแสดงไปโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น

ภารกิจสำคัญของการศึกษาคือการฝึกอบรมบุคคลให้พัฒนาปัญญา ให้เกิดความรู้ความเข้าใจในข้อเท็จจริงและสภาวะของสิ่งทั้งหลาย มีทัศนคติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ปฏิบัติและจัดการกับสิ่งทั้งหลายตามที่ควรจะเป็น เพื่อให้เกิดเป็นประโยชน์ตน คือ ความมีชีวิตอยู่อย่างสำเร็จผลดีที่สุด มีจิตใจเป็นอิสระ มีสุขภาพจิตสมบูรณ์ และประโยชน์ต่อผู้อื่น คือ สามารถช่วยสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ชนทั้งหลายที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคมได้ ลีลาการสอน เมื่อมองกว้างๆ การสอนของพระพุทธเจ้าแต่ละครั้ง จะดำเนินไปจนถึงผลสำเร็จ โดยมีคุณลักษณะซึ่งเรียกได้ว่าเป็น

ลีลาในการสอน ๔ อย่าง ดังนี้

๑. สันทัสสนา อธิบายให้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง เหมือนจูงมือไปดูเห็นกับตา
๒. สมาทปนา จูงใจให้เห็นจริงด้วย ชวนให้คล้อยตาม จนต้องยอมรับและนำไปปฏิบัติ
๓. สมุตเตชนา เร้าใจให้แกล้วกล้า บังเกิดกำลังใจ ปลุกให้มีอุตสาหะแข็งขัน มั่นใจว่าจะทำให้สำเร็จได้ ไม่หวั่นระย่อต่อความเหนื่อยยาก
๔. สัมปหังสนา ชโลมใจให้แช่มชื่น ร่าเริง เบิกบาน ฟังไม่เบื่อ และเปี่ยมด้วยความหวัง เพราะมองเห็นคุณประโยชน์ที่จะได้รับจากการปฏิบัติ อาจผูกเป็นคำสั้นๆ ว่า แจ่มแจ้ง จูงใจ หาญกล้า ร่าเริง หรือ ชี้ชัด เชิญชวน คึกคัก เบิกบาน 

วิธีสอนแบบต่างๆ วิธีสอนของพระพุทธเจ้า มีหลายแบบหลายอย่าง ที่น่าสังเกตหรือพบบ่อย คงจะได้แก่วิธีต่อไปนี้
๑. แบบสากัจฉา หรือสนนทนา วิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่ทรงใช้บ่อยไม่น้อยกว่าวิธีใดๆ โดยเฉพาะในเมื่อผู้มาเฝ้าหรือทรงพบนั้น ยังไม่ได้เลื่อมใสในพระศาสนา ยังไม่รู้ ไม่เข้า ใจหลักธรรม 
๒. แบบบรรยาย วิธีสอนแบบนี้ น่าจะทรงใช้ในที่ประชุมใหญ่ ในการแสดงธรรมประจำวัน ซึ่งมีประชาชน หรือพระสงฆ์จำนวนมาก และส่วนมากเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจ กับมีความเลื่อมใสศรัทธาอยู่แล้ว มาฟังเพื่อหาความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติมและหาความสงบสุขทางจิตใจ นับได้ว่าเป็นคนประเภทและระดับใกล้เคียงกัน พอจะใช้วิธีบรรยายอันเป็น แบบกว้างๆ ได้
๓. แบบตอบปัญหา ผู้ที่มาถามปัญหานั้น นอกจากผู้ที่มีความสงสัยข้องใจในข้อธรรมต่างๆ แล้ว โดยมากเป็นผู้นับถือลัทธิศาสนาอื่น บ้างก็มาถามเพื่อต้องการรู้คำสอนทาง ฝ่ายพระพุทธศาสนา หรือเทียบเคียงกับคำสอนในลัทธิของตน บ้างก็มาถามเพื่อลองภูมิ บ้างก็เตรียมมาถามเพื่อข่มปรามให้จน หรือให้ได้รับความอับอาย
๔. แบบวางกฎข้อบังคับ ในการสอนแบบนี้พึงสังเกตว่าพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทโดยความเห็นชอบของสงฆ์ หมายความว่า ทรงบัญญัติ โดยชี้แจงให้เห็นแล้วว่า ถ้าไม่รับจะเกิดผลเสียอย่างไร เมื่อรับจะมีผลดีอย่างไร จนสงฆ์รับคำของพระองค์ว่า ดีแล้ว ไม่ทรงบังคับเอาโดยพลการ

 

กลวิธีและอุบายประกอบการสอน 

  • ๑. ยกอุทาหรณ์ และการเล่านิทานประกอบ ช่วยให้เข้าใจความได้ง่ายและชัดเจน ช่วยให้จำแม่น เห็นจริง และเกิดความเพลิดเพลิน ทำให้การเรียนการสอนมีรสยิ่งขึ้น 
  • ๒. การเปรียบเทียบด้วยข้ออุปมา คำอุปมาช่วยให้เรื่องที่ลึกซึ้งเข้าใจยาก ปรากฎความหมายเด่นชัดออกมา และเข้าใจง่ายขึ้น 
  • ๓. การใช้อุปกรณ์ในการสอน ในสมัยพุทธกาล หากจะใช้อุปกรณ์บ้าง ก็ต้องอาศัยวัตถุสิ่งของที่มีในธรรมชาติ หรือเตรื่องใช้ต่างๆ ที่ผู้คนใช้กันอยู่ 
  • ๔. การทำเป็นตัวอย่าง วิธีสอนที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการสอนแบบไม่ต้องกล่าวสอน เป็นทำนองสาธิตให้ดู 
  • ๕. การเล่นภาษา เล่นคำ และใช้คำในความหมายใหม่ เป็นเรื่องของความสามารถในการใช้ภาษาผสมกับปฏิภาณ 
  • ๖. อุบายเลือกคนและการปฏิบัติรายบุคคล ทรงพิจารณาว่าเมื่อจะเข้าไปประกาศพระศาสนาในถิ่นในถิ่นหนึ่งควรไปโปรดใครก่อน 
  • ๗. การรู้จักจังหวะและโอกาส ผู้เรียนยังไม่พร้อม ก็ต้องมีความอดทน ไม่ชิงหักหาญหรือดึงดันทำ แต่ต้องตื่นตัวอยู่เสมอเมื่อถึงจังหวะหรือเป็นโอกาส 
  • ๘. ความยืดหยุ่นในการใช้วิธีการ ถ้าผู้สอนสอนอย่างไม่มีอัตตา ตัดตัณหา มานะ ทิฏฐิเสียได้ ก็จะมุ่งไปยังผลสำเร็จในการเรียนรู้เป็นสำคัญ สุดแต่จะใช้กลวิธีใดให้การ สอนได้ผลดีที่สุด ก็จะทำในทางนั้น 
  • ๙. การลงโทษและให้รางวัล สำหรับผู้สอนทั่วไป อาจต้องคิดคำนึงว่า การลงโทษ ควรมีหรือไม่ แค่ไหน และอย่างไร แต่ผู้ที่สอนคนได้สำเร็จผลโดยไม่ต้องอาญาโทษเลย ย่อมชื่อว่าเป็นผู้มีความสามารถในการสอนมากที่สุด 
  • ๑๐. กลวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าย่อมอาศัยปฏิภาณ คือ ความสามารถในการประยุกต์หลัก วิธีการ และกลวิธีต่างๆ มาใช้ให้เหมาะสม เป็นเรื่อง เฉพาะครั้ง เฉพาะคราวไป 

ข้อสรุปที่เกี่ยวกับการสอน มีดังนี้ 

๑. ปัญญาเป็นสิ่งสร้างสรรค์ขึ้นภายในตัวผู้เรียนเอง 
๒. ผู้สอนทำหน้าที่เป็นกัลลยาณมิตร ช่วยชี้นำทางการเรียน 
๓. วิธีสอน อุบาย และกลวิธีต่างๆ เป็นสื่อหรือเป็นเครื่องผ่อนแรงการเรียนการสอน 
๔. อิสรภาพทางความคิด เป็นอุปกรณ์สำคัญในการสร้างปัญญา

พระโพธิสัตว์เป็นอย่างไร

พระโพธิสัตว์ หมายถึง ผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า คำว่า "โพธิสัตว์" แปลว่า ผู้ข้องอยู่ในพระโพธิญาณ ทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายานเชื่อว่ามีพระโพธิสัตว์เป็นจำนวนมาก แต่รายละเอียดความเชื่อแตกต่างกันไป

ประเภทของพระโพธิสัตว์ 

พระธัมมปาละ ระบุไว้ในอรรถกถาสโมทานกถา (ในปรมัตถทีปนี) ว่าพระโพธิสัตว์มี  ๓ ประเภท คือ

๑. พระมหาโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อให้ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า

๒. พระปัจเจกโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อให้ได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

๓. พระสาวกโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อให้ได้เป็นพระอนุพุทธะ

นอกจากนี้ ในอรรถกถาเถรคาถา (ในปรมัตถทีปนี) พระธัมมปาละยังจำแนกพระมหาโพธิสัตว์ออกเป็นอีก ๓ ประเภท คือ

 ๑. ปัญญาธิกโพธิสัตว์ คือพระโพธิสัตว์ที่สร้างบารมีโดยใช้ปัญญาเป็นตัวนำ ระยะเวลาการสร้างบารมีทั้งหมด ๒๐ อสงไขยกับเศษแสนมหากัป คือตั้งความปรารถนาอยู่ในใจเป็นเวลา ๗ อสงไขย หลังจากนั้นจึงออกปากกล่าววาจาต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธเจ้าเป็นเวลา ๙ อสงไขย รวมเป็น ๑๖ อสงไขย และได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรกเป็น พระนิยตโพธิสัตว์ เมื่อเหลือเวลาอีก ๔ อสงไขยกับเศษแสนมหากัป เป็นการสร้างบารมีอย่างยิ่งและเข็มงวดขึ้นเรื่อย และได้รับพยากรณ์ซ้ำมาตลอดเมื่อได้พบกับพระพุทธเจ้าจนถึงสมัยพุทธภูมิของท่าน

๒. สัทธาธิกโพธิสัตว์ คือพระโพธิสัตว์ที่สร้างบารมีโดยใช้ศรัทธาเป็นตัวนำ ระยะเวลาการสร้างบารมีทั้งหมด ๔๐ อสงไขยกับเศษแสนมหากัป คือตั้งความปรารถนาอยู่ในใจเป็นเวลา ๑๔ อสงไขย หลังจากนั้นจึงออกปากกล่าววาจาต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธเจ้าเป็นเวลา ๑๘ อสงไขย รวมเป็น ๓๒ อสงไขย และได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรกเป็น พระนิยตโพธิสัตว์ เมื่อเหลือเวลาอีก ๘ อสงไขยกับเศษแสนมหากัป เป็นการสร้างบารมีอย่างยิ่งและเข็มงวดขึ้นเรื่อย และได้รับพยากรณ์ซ้ำมาตลอดเมื่อได้พบกับพระพุทธเจ้า จนถึงสมัยพุทธภูมิของท่าน

 ๓. วิริยาธิกโพธิสัตว์ คือพระโพธิสัตว์ที่สร้างบารมีโดยใช้วิริยะเป็นตัวนำ ระยะเวลาการสร้างบารมีทั้งหมด ๘๐ อสงไขยกับเศษแสนมหากัป คือตั้งความปรารถนาอยู่ในใจเป็นเวลา ๒๘ อสงไขย หลังจากนั้นจึงออกปากกล่าววาจาต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธเจ้าเป็นเวลา ๓๖ อสงไขย รวมเป็น ๖๔ อสงไขย และได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรกเป็น พระนิยตโพธิสัตว์ เมื่อเหลือเวลาอีก ๑๖ อสงไขยกับเศษแสนมหากัป เป็นการสร้างบารมีอย่างยิ่งและเข็มงวดขึ้นเรื่อย และได้รับพยากรณ์ซ้ำมาตลอดเมื่อได้พบกับพระพุทธเจ้า จนถึงสมัยพุทธภูมิของท่าน




ปกิณกะธรรม

🔆 ปฐมเหตุโลกและชีวิต
🔆 สวรรค์อยู่ที่ไหน
🔆 สวรรค์อยู่ที่ไหน
🔆 ข้อคิดเรื่อง เวสสันดรชาดก
🔆 บทปลงมนุษย์เอ๋ย
🔆 รู้จักพระไตรปิฎกเพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้ (ย่อความ)
🔆 ปฏิจจสมุปบาทอย่างง่ายๆสำหรับผู้เริ่มศึกษา
🔆 ความรัก ๒ ระดับ ของบุคคลสำคัญสมัยพุทธกาล
🔆 กาลามสูตร ตรรกวิทยาและความศรัทธา
🔆 องุ่นเปรี้ยวและการมองโลกในแง่ร้าย กับ การปฏิบัติธรรม
🔆 ความสำคัญของสัมมาสมาธิในพุทธศาสนา
🔆 การฝึกสมาธิเบื้องต้นเพื่อความสุขในชีวิตประจำวัน
🔆 ๗ สิ่งที่พึงระวังในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
🔆 การทำทานและผลของทาน
🔆 จากขันธ์ ๕ และไตรลักษณ์ สู่อนัตตลักขณสูตร
🔆 นางขุชชุตตราสาวพิการหลังค่อม
🔆 การเวียนว่ายตายเกิด
🔆 ปล่อยว่าง (อัญญาณุเบกขา)
🔆 วิปัสสนูปกิเลส
🔆 พุทธวงศ์ ๒๕ พระองค์
🔆 ญาณทัสสนะ วน ๓ รอบ มี ๑๒ อาการ พระญาณก่อนการตรัสรู้
🔆 สมสีสีบุคคล
🔆 จากอินเดียสู่เอเซีย
🔆 บารมี ๑๐ สำหรับผู้ปราถนาเป็นพระพุทธเจ้า
🔆 ที่มาของการแบ่งนิกายในศาสนาพุทธ
🔆 เถรวาท-มหายาน 
🔆 พระโพธิสัตว์
🔆 มหายานปัญจขันธศาสตร์
🔆 พุทธวิธีในการสอนของพระพุทธเจ้า
🔆 จิตกับตัณหา
🔆 ภวังคจิต
🔆 กิเลส ๑,๕๐๐ ตัณหา ๑๐๘
🔆 คุณแห่งการฉันทอาหารหนเดียว
🔆 นวโกวาท (ฉบับประชาชน)
🔆 ความประเสริฐของมนุษย์
🔆 ชาวบ้านก็เป็นภิกษุได้
🔆 อธิยายเรื่องกรรม
🔆 ทำไมเทวดาจึงอยากเกิดเป็นมนุษย์

เถรวาท-มหายาน ต่างกันอย่างไร

 คำถามที่คนจำนวนมากมักถามกัน: พุทธมหายานกับเถรวาทต่างกันอย่างไร ? หากต้องการเห็นสิ่งต่าง ๆ ใน ๒ นิกาย เราต้องย้อนกลับไปที่ประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาและพิจารณาการเกิดขึ้นและการพัฒนาของนิกายทั้ง ๒ นี้

หลังจากการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์มีพระชันษา ๓๕ ชันษาจนถึงพระมหาปรินิพพานเมื่อชันษา ๘๐ ท่านใช้ชีวิตในการเทศนาสั่งสอนด้วยความทุ่มเททั้งกลางวันและกลางคืน พระพุทธองค์จะใช้เวลาในการนอนเพียงแค่วันละ ๒ ชั่วโมง การนอนของพุทธองค์ก็เพียงเพื่อให้กายดำรงอยู่ได้โดยปกติเท่านั้น ไม่ใช่การนอนเพราะความอยากนอน

พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนธรรมะกับคนทุกประเภท กษัตริย์, เจ้าชาย, พราหมณ์, ชาวนา, ขอทาน ฯ โดยพระพุทธเจ้าจะเป็นผู้ตรวจสอบว่าจะใช้วิธีการใด คุณลักษณะใดในการสอน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นลีลาในการสอนของพุทธองค์




คำสอนของพุทธองค์ทั้งหมดเรียกว่าพุทธวจนะ มี ๒ ส่วนคือ
ส่วนแรก คือการวางกฏระเบียบต่างๆเรียกว่าพระวินัย
ส่วนสอง คือคำเทศนาหรือวาทกรรมต่างๆเรียกว่าพระธรรม

การประชุมสงฆ์หรือการสังคายนาครั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจให้ตรงกันเกี่ยวกับหลักคำสอนและมีแนวทางปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

การสังคายนาครั้งที่ ๑

สามเดือนหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ได้มีการประชุมคณะสงฆ์เพื่อทำการสังคายนาที่กรุงราชคฤห์ โดยมีพระมหากัสสปะซึ่งเป็นที่เคารพสูงสุดและเป็นประธานในการประชุม โดยคัดเลือกพระอรหันต์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านที่แตกต่างกันคือด้านของพระธรรมและด้านของพระวินัย ตัวอย่างท่านหนึ่งคือพระอานนท์ซึ่งเป็นพระสหายและอัครสาวกของพระพุทธเจ้าที่อยู่รับใช้ใกล้ชิดพุทธองค์ที่สุดเป็นเวลานานถึง ๒๕ ปี พระอานนท์สามารถท่องสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสได้ด้วยความทรงจำได้ทั้งหมด อีกท่านหนึ่งคือพระอุบาลี อัครสาวกที่ทรงจำพระวินัยได้ทั้งหมด ในการสังคายนาครั้งแรกมีเพียงธรรมสองส่วนนี้เท่านั้นคือ พระธรรมและพระวินัย ยังไม่ไม่มีการจัดหมวดหมู่พระอภิธรรมร่วมอยู่ด้วย ในการสังคายนาครั้งที่ ๑ มีการอภิปรายเกี่ยวกับพระวินัยกฎ โดยก่อนที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พุทธองค์ได้กล่าวกับพระอานนท์ว่า ในกาลต่อไปหากหมู่คณะสงฆ์ต้องการแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนธรรมวินัยที่พุทธองค์บัญญัติกฏข้อเล็กน้อยก็สามารถทำได้ แต่ในครั้งนั้นพระอานนท์ท่านก็ยังไม่บรรลุอรหันต์ จิตใจยังมีแต่ความเศร้าโศกเพราะพระพุทธเจ้ากำลังจะปรินิพพานจึงไม่ได้คิดถามพระพุทธเจ้าว่ากฎวินัยเล็กน้อยคืออะไร 

ในขณะที่หมู่สงฆ์ในการสังคายนานั้นก็ไม่สามารถตกลงกันได้ว่าการกำหนดหรือจะเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เล็กน้อย จะเปลี่ยนอะไรหรืออย่างไรได้บ้าง ในที่สุดพระมหากัสสปะจึงวินิจฉัยว่าไม่ควรเปลี่ยนแปลงกฎวินัยที่พระพุทธเจ้าวางไว้และไม่ควรเพิ่มกฎขึ้นมาใหม่ ให้ดำรงค์ไว้ตามเดิมทั้งหมดที่พุทธองค์ได้บัญญัติไว้ดีแล้ว ในการสังคายนาครั้งนี้พระธรรมถูกแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆและแต่ละส่วนได้รับมอบหมายให้ภิกษุผู้อาวุโสเป็นผู้ถ่ายทอดให้แก่ลูกศิษย์ของตนด้วยการท่องจำ และเมื่อมีการตรวจสอบความถูกต้องก็จะมาสวดสาธยายธรรมหรือต่อคำกัน ซึ่งหากท่องจำได้ครบถ้วนถูกต้องก็จะสวดหรือสาธยายออกมาได้เหมือนกัน หากพบความไม่เหมือนกันก็จะทำการแก้ไขตรวจสอบว่าของใครถูก ของใครไม่ถูก (นี้จึงเป็นเหตุที่ต้องมีบทสวดมนต์)

การสังคายนาครั้งที่ ๒

เกิดขึ้นหลังจากการสังคายนาครั้งที่ ๑ ราวหนึ่งร้อยปี การสังคายนาครั้งนี้นี้จัดขึ้นเพื่อหารือเกี่ยวกับพระวินัยบางข้อ โดยถือว่าการสังคายนาครั้งที่ ๑ หลังมหาปรินิพพานของพระพุทธเจ้า สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ทางสังคมยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ในช่วง ๑๐๐ ปีต่อมา มีการเปลี่ยนแปลงไปมากจึงสมควรเปลี่ยนแปลงกฏวินัยเล็กๆน้อยได้ แต่ก็มีภิกษุอีกจำนวนหนึ่งเห็นว่าพระวินัยที่พุทธองค์บัญญัติไว้ดีแล้ว ไม่สมควรมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ ในขณะที่ภิกษุอีกกลุ่มก็ยืนยันที่จะเปลี่ยนกฏในพระวินัยบางข้อ ในที่สุดภิกษุกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ขอแยกตัวออกมาตั้งคณะสงฆ์ใหม่เป็น มหาสังฆิกะ โดยแยกตัวออกไปทำสังคายนาต่างหาก ในระยะแรกนิกายนี้ไม่ได้รุ่งเรืองอะไรมาก เนื่องจากมีความขัดแย้งกับฝ่ายเถรวาทอย่างรุนแรง แต่ต่อมากลับมีการแพร่หลายมีผู้นับถือมากขึ้นที่เมืองปาฏลีบุตร เวสาลี แคว้นมคธ ไปจนถึงอินเดียใต้ และยังมีนิกายที่แยกแตกตัวออกไปอีก ๕ นิกาย คือ นิกายโคกุลิกวาท นิกายเอกัพโยหาริกวาท นิกายปัญญตติกวาท นิกายพหุสสุติกวาท และนิกายเจติยวาท และถือเป็นต้นกำเนิดของมหายานในปัจจุบัน

การสังคายนาครั้งที่ ๓ 

หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไป ๒๓๔ ปี ในช่วงเวลาของจักรพรรดิอโศก การสังคายนาครั้งที่สามถูกจัดขึ้นเพื่อหารือเกี่ยวกับความแตกต่างของความคิดเห็นในหมู่ภิกษุสงฆ์ของนิกายที่แตกต่างกัน ความแตกต่างนี้ไม่ได้ต่างกันในเฉพาะพระวินัยแต่ยังรวมถึงความแตกต่างในพระธรรมด้วย ในตอนท้ายของสภานี้พระโมคคัลลีบุตรติสสะ ประธานสังคายนาได้รวบรวมหนังสือชื่อกถาวัตถุเพื่อหักล้างมุมมองและทฤษฎีที่ผิด ๆ ที่เป็นเท็จซึ่งมีอยู่ในบางนิกาย (พระอภิธรรมปิฎกรวมอยู่ในกถาวัตถุของสภานี้)

หลังจากการสังคายนาครั้งที่ ๓ ลูกชายของพระเจ้าอโศกที่บวชเป็นภิกษุนามว่าพระมหินทะได้นำ พระธรรมที่ถูกรวบรวมไปยังศรีลังกาพร้อมกับข้อคิดที่อ่านจากการสังคายนาครั้งที่ ๓ นี้ไปเก็บรักษาไว้ที่ลังกาจนถึงทุกวันนี้โดยสมบูรณ์ครบถ้วนทุกหน้า ด้วยภาษาบาลีซึ่งมีพื้นฐานมาจากภาษามคธที่พระพุทธเจ้าตรัส

ที่มาของมหายาน

ประมาณ พ.ศ. ๕๐๐-๖๐๐ นิกายมหายานและหินยานทั้งสองนิกายปรากฏอยู่ใน สัทธรรมปุณฑริกสูตร เป็นพระสูตรที่สำคัญในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนิกชนมหายานโดยเฉพาะในประเทศเอเชียตะวันออก พระสูตรนี้มีสาระสำคัญกล่าวถึงยาน ๓ อย่าง อันจะพาสรรพสัตว์ข้ามพ้นห้วงวัฏสงสารได้ ประกอบด้วย
๑. สาวกยาน (ศฺราวกยาน)
๒. ปัจเจกพุทธยาน (ปฺรตฺเยกพุทฺธยาน)
๓. โพธิสัตวยาน (โพธิสตฺตฺวยาน)

ยานทั้งสามนี้มิใช่หนทาง ๓ สายที่แตกต่างกัน อันจะนำไปสู่เป้าหมาย ๓ อย่างต่างกันแต่ทว่าทั้ง ๓ ยานนี้เป็นหนทางหนึ่งเดียวที่จะนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

ประมาณ พ.ศ. ๖๐๐-๗๐๐ มหายานได้ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนในนาคารชุนะ เป็นตำราปรัชญาของมหายานเกี่ยวกับปรัชญาศูนยตวาท ที่กล่าวถึงทางสายกลางของทั้งสัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่ามีอยู่อย่างเที่ยงแท้) และอุจเฉททิฏฐิ (ความเห็นว่าขาดสูญ) และปรัชญานี้พิสูจน์ถึงทุกสิ่งเป็นโมฆะ เป็นสูญยตา

ประมาณ พ.ศ. ๘๐๐-๙๐๐ มีนิกายโยคาจาร หรือนิกายวิชญานวาท นำโดยพระอสังคะและพระวสุพันธุ ภิกษุทั้ง ๒ เป็นผู้เผยแผ่คำสอนแนวอภิธรรม มีจารึกจากบันทึกของพระถังซำจั๋ง ระบุว่า แรกเริ่มนั้น ท่านอสังคะเป็นพระในนิกายมหีศาสกะ ต่อมาเกิดความซาบซึ้งในคำสอนของฝ่ายมหายาน ขณะที่น้องชายต่างบิดาของท่านคือ ท่านวสุพันธุ แรกเริ่มนั้นเป็นพระในสังกัดนิกายวรวาทสตวาท แต่ต่อมาท่านแปลงเป็นฝ่ายมหายาน หลังได้พบกับ พระอสังคะพี่ชายของท่าน

พุทธศาสนานิกายเถรวาทเข้าสู่ศรีลังกาในช่วงประมาณ พ.ศ. ๗๐๐-๘๐๐ นิกายหินยานยังถูกเผยแผ่ในอินเดียและมีการดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระ โดยปราศจากรูปแบบของพุทธศาสนาดั้งเดิมที่มีอยู่ในศรีลังกา (ปัจจุบันนิกายหินยานได้สูญหายไปจากโลกนี้แล้ว) ดังนั้นในปีพ.ศ ๒๔๙๓ สมาคมโลกของชาวพุทธเปิดตัวในโคลัมโบตัดสินใจเป็นเอกฉันท์ว่านิกายหินยานควรถูกยกเลิกไป นี่คือประวัติโดยย่อของเถรวาทมหายานและหินยาน

มหายานและเถรวาท

ทีนี้มหายานกับเถรวาทต่างกันอย่างไร?
จากการศึกษาพบว่าเถรวาทกับมหายานแทบจะไม่แตกต่างกันเลยในเรื่องของคำสอนพื้นฐาน

- ทั้งสองยอมรับพระโคดมพุทธเจ้าเป็นบรมครู
- อริยสัจสี่เหมือนกันทุกประการในทั้งสองนิกาย
- ทางสายกลาง มรรคมีองค์ ๘ เหมือนกันทุกประการ
- ปฎิจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตา เหมือนกันทั้งสองนิกาย
- ทั้งสองปฏิเสธความเชื่อว่าเอกภพนี้มีพระผู้สร้าง
- ทั้งสองยอมรับกฏไตรลักษณ์ 
- ทั้งสองยอมรับศีล สมาธิ ปัญญา เป็นทางสู่นิพพาน

นี่คือคำสอนที่สำคัญที่สุดของพระพุทธเจ้าและเป็นที่ยอมรับของทั้งสองโนิกายโดยไม่มีการขัดแย้งกัน

มีเฉพาะบางจุดที่แตกต่างกัน สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ อุดมคติของพระโพธิสัตว์ หลายคนกล่าวว่ามหายาน มีไว้เพื่อความเป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งนำไปสู่ความเป็นพุทธะในขณะที่เถรวาทนั้นมีไว้สำหรับสาวกผู้ต้องการการหลุดพ้นจากวัฎสงสารเฉพาะตัวเอง

เถรวาทพิจารณาพระโพธิสัตว์ในฐานะมนุษย์ แต่มหายานให้ความสำคัญและยกย่องกับการบำเพ็ญเยี่ยงพระโพธิสัตว์ การอุทิศทั้งชีวิตเพื่อสร้างสมบารมีให้เต็ม เพื่ออุบัติเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่เพื่อนำความผาสุกมาสู่โลกอีกครั้ง

วันอาทิตย์

พระโพธิสัตว์ ๕๔๗ ชาติ



พุทธประวัติ

พุทธประวัติ คือ ประวัติเรื่องราวต่าง ๆ ของพระโคตมพุทธเจ้า ตลอดถึงเรื่องราวต่างของบุคคลและสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ จนถึงดับขันธปรินิพพาน

สารบัญหน้าเว็บย่อย
๐๑.ศากยวงศ์
๐๒.พระโพธิสัตว์จุติ
๐๓.ประสูติ
๐๔.คำทำนายโหราจารย์
๐๕.เสด็จออกบรรพชา
๐๖.ตรัสรู้
๐๗.เสวยวิมุติสุข
๐๘.ปฐมเทศนา
๐๙.พุทธกิจ ๔๕ พรรษา
 - ๐๙.๑ พรรษาที่ ๑   🔊
 - ๐๙.๒ พรรษาที่ ๒-๔   🔊
 - ๐๙.๓ พรรษาที่ ๕   🔊
 - ๐๙.๔ พรรษาที่ ๖   🔊
 - ๐๙.๕ พรรษาที่ ๗   🔊
 - ๐๙.๖ พรรษาที่ ๘    🔊
 - ๐๙.๗ พรรษาที่ ๙   🔊
 - ๐๙.๘ พรรษาที่ ๑๐   🔊 
 - ๐๙.๙ พรรษาที่ ๑๑-๔๕ 
๑๐.ปรินิพพาน

สถานที่หลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์๔ สังเวชนียสถาน
แห่งที่๑ เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช ปักไว้เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังทราบว่าตรงจุดนี้ เป็นที่ที่พระบรมศาสดาออกจากพระครรภ์ของพระมารดา ปัจจุบันสถานที่นี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของประเทศอินเดีย และสถานที่ประสูตินี้ตั้งอยู่ห่างจากชายแดนอินเดีย-เนปาลประมาณ ๓๒ กิโลเมตร ปัจจุบันสังเวชนียสถานแห่งนี้ ภาษาทางราชการเรียกว่า "ลุมมินเด" แต่ชาวบ้านทั่วไปก็ยังเรียกว่า "ลุมพินี"


แห่งที่ ๒ วิหารตรัสรู้ สถานที่ตรัสรู้นี้ แต่เดิมทีเดียวในสมัยพุทธกาลนั้น คือตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมืองคยา แคว้นมคธ ซึ่งมีเมืองราชคฤห์ เป็นเมืองหลวง ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้นี้เรียก ตำบลพุทธคยา ขึ้นอยู่กับจังหวัดคยา (ห่างจากจังหวัดคยา ๑๒ กิโลเมตร) รัฐพิหาร มีเมืองหลวงชื่อ ปัฎนะ หรือ ปัฎนา (หรือชื่อเดิมว่า ปาฎลีบุตร) ;

แห่งที่ ๓ ธัมเมกขสถูป คือสถานที่แสดงปฐมเทศนา หรือสถานที่พระตถาคตเจ้าทรงยังพระอนุตรธัมจักให้เป็นไป สถานที่นี้อยู่ในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ปัจจุบันเรียกสารนาถ ห่างจากเมืองประมาณ ๘ กิโลเมตร ซึ่งเมืองพาราณสีนี้อยู่ห่างจากเมืองพุทธคยา สถานที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตร

แห่งที่ ๔ สถูปและวิหารปรินิพพานที่เมืองกุสินารา คือ สถานที่ดับขันธปรินิพพาน ด้วยอนุาทิเสสนิพพานธาตุดับไม่มีส่วนเหลือ คือทั้งกิเลส ทั้งเบญจขันธ์ดับหมด ตามปกติพระอรหันต์ทั่วไปๆไปจะนิพพาน ๒ ครั้ง คือ ครั้งแรกนั้นเป็นการดับกิเลส ส่วนเบญจขันธ์ยังอยู่ เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน หรือนิพพาน เมื่อยังมีชีวิตอยู่ เพียงแต่จิตเข้าสู่แดนพระนิพพานเท่านั้น เป็นจิตที่สะอาด ไม่มีกิเลส ไม่มีทุกข์แล้ว ดังเช่นพระพุทธเจ้า นิพพานครั้งแรกนี้เมื่อวันเพ็ญ เดือนวิสาขะ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ส่วนนิพพานครั้งที่ ๒ ก็คือ อนุปาทิเสสนิพาน ดังได้กล่าวแล้วนั้นเอง สถานที่นิพพานที่พุทธประวัติระบุว่า สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา ปัจจุบันมีสถูปและวิหารเป็นสัญลักษณ์ เป็นอุทยานที่ได้รับการรักษาจากทางการอินเดียเป็นอย่างดี มีต้นสาละและไม้อื่นปลูกอยู่ทั่วไป ให้ความร่มรื่นพอสมควร