วันพุธ

ปาราชิก ๔

ปาราชิก ๔ คือ
เมถุนปาราชิก ๑
อทินนาทานปาราชิก ๑
มนุสสวิคคหปาราชิก ๑
อุตตริมนุสสธรรมปาราชิก ๑
เป็น ๔ สิกขาบท ฉะนี้

๑. เมถุนสิกขาบทที่หนึ่ง
พุทธบัญญัติห้ามมิให้เสพเมถุนธรรม ภิกษุรูปใดไม่บอกคืนสิกขาบท ยังปฏิญาณตนว่าเป็นภิกษุมาเสพเมถุน คือ ให้องคชาตเข้าไปในทวารทั้ง ๓ คือ ทวารหนัก ๑ ทวารเบา ๑ ปาก ๑ ของมนุษย์และอมนุษย์ คือเทวดา ยักษ์ เปรต ผี ปีศาจและสัตว์เดรัจฉานทั้งหญิงชาย ตัวผู้ตัวเมีย เป็น ๓ จำพวกด้วยกัน แม้ว่าภิกษุเสพเมถุนในซากศพที่มีทวารทั้ง ๓ นั้น อันสัตว์กัดกินเสียยังไม่ครึ่งหนึ่งก็ดี ภิกษุให้ผู้อื่นใส่องคชาตเข้าไปในทวารหนักและปากของตนก็ดี ภิกษุหลังอ่อนก้มลงอมองคชาตของตนเองก็ดี ภิกษุที่มีองคชาตยาวจับองคชาตแหย่แยงเข้าไปในทวารหนักของตนเองก็ดี อาการเหล่านี้ชื่อว่าเสพเมถุนทั้งสิ้น ภิกษุเสพเมถุนในทวารทั้ง ๓ ดังกล่าวนั้น ให้องคชาตเข้าไปในทวารทั้ง ๓ ต้องที่ซุ่มประมาณเมล็ดงาหนึ่งเป็นที่สุด ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก

๒. อทินนาทานสิกขาบทที่สอง
พุทธบัญญัติห้ามมิให้ลักทรัพย์สิ่งของที่เจ้าของหวงแหน มิได้อนุญาตยอมให้ ภิกษุมี🔎ไถยจิต(๑๕) คิดจะขโมย ล้วง ลัก เบียดบัง ฉ้อ ตระบัด ปล้นสะดม ข่มเหง แย่งซื้อ ลอบริบถือเอาพัสดุสิ่งของที่เจ้าของหวงแหน ควรแก่ราคา ๕ มาสก ที่เรียกว่าหนึ่งบาทของชาวมคธขึ้นไป คิดเป็นราคาทองหนัก ๒๐ เมล็ดข้าวเปลือก ทอนลงเป็นเงินสองสลึงเฟื่องกับห้ากล่ำในสยามประเทศนี้ ลักเองก็ดี ให้ผู้อื่นลักก็ดี ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก

ในอทินนาทานนี้ ใช่เฉพาะแต่ลักขโมยนำเอาของ ๆ ท่านมาเท่านั้นเมื่อไร อันการทำประโยชน์ของท่าน
ให้ตกไปก็เป็นอทินนาทานเหมือนอย่างยุยงทาสของท่านให้หนีไปจากเจ้าเงินก็ดี ทาสท่านหนีไปชี้ทางบอกตำแหน่งที่ให้หนีไปให้พ้น หรือจะเสียดส่อให้เจ้าเงินไปจับตัวมาได้ก็ดี อาการเหล่านี้จัดเป็นอทินนาทานทั้งสิ้น

อนึ่ง แม้ว่าของ ๆ ตนที่จำต้องเสียค่าภาษีตลอดด่านขนอน เบียดบัง ซ่อนเร้นไปให้พ้นเขตด่านหรือจะขึ้นขัดไม่เสียให้ผู้ที่เรียกทอดอาลัยก็ดี หรือจะช่วยคุ้มให้แก่ญาติโยมพวกพ้องด้วยเลศนัย อุบายให้ผู้เรียกเข้าใจว่าเป็นของพระสงฆ์ก็ดี เหล่านี้เรียกว่า🔎สุงกฆาตะ(๑๖) จัดเป็นอทินนาทานเหมือนกัน

อนึ่ง ของที่ทายกจะให้ด้วยสลาก เมื่อจับถูกชื่อวัตถุสิ่งของที่ตนไม่ชอบใจ ซ่อนทิ้งสลากนั้นเสีย แล้วจับใหม่ ก็ไม่ทดแทนทอนราคากันลงได้ คงปลง🔎อวหาร(๑๗) ตามราคาสลากที่จับใหม่นั้นเอง แม้🔎สลากภัต(๑๘) ที่ปักชื่อภิกษุรูปอื่นแล้ว แลชักธงชื่อท่านเสีย แลปักธงชื่อของตนหรือธงชื่อพระภิกษุพวกของตัวลง ก็เป็นอทินนาทานเช่นเดียวกัน

อนึ่ง ภิกษุเบียดเสียดปักที่แดนดินที่มีเจ้าของหวงแหน ให้ล่วงล้ำเข้าไปในเขตแดนของท่าน แม้ประมาณเส้นผมหนึ่ง ก็เป็นอทินนาทาน

ภิกษุให้ประโยชน์ของท่านตกไป ด้วยอาการดังว่ามานี้ พอครบราคาสองสลึงเฟื้องกับห้ากล้ำเมื่อใด ก็เป็นปาราชิกเมื่อนั้น

๓. มนุสสวิคคหสิกขาบทที่สาม
พุทธบัญญัติห้ามมิให้ฆ่ามนุษย์ในครรภ์ นอกครรภ์ ภิกษุรูปใดรู้ว่ามนุษย์มีชีวิตคิดแกล้งจะฆ่าให้ตายด้วยอุบายต่าง ๆ จำเดิมแต่ประกอบยาให้หญิงมีครรภ์กิน ให้ครรภ์คือสัตว์ที่เกิดในท้องมารดา ตั้งแต่แรกตั้งปฐมวิญญาณให้ตกไป ฆ่าด้วยมือตนก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นฆ่าก็ดี หรือวางศัสตราวุธไว้ใกล้ เพื่อจะให้เขาฆ่ากันตายก็ดี หรือแกล้งพรรณนาคุณความตายให้เขาเกลียดหน่ายร่างกาย ไม่เสียดายชีวิต ฆ่าตัวตายเสียก็ดี หรือชักชวนให้ถือเอาถ้อยคำของตนว่า ท่านอยู่ทนทุกข์ลำบากไปต้องการอะไร ตายเสียดีกว่าอยู่ดังนี้

ถ้าเขาฆ่าตัวตายตามคำก็ดี หรือแกล้งหลอกหลอนให้เขาตกใจตายก็ดี เมื่อคิดจะให้มนุษย์ตายแกล้งประกอบอุบายต่าง ๆ สมตามความคิดของตนได้แล้ว ชื่อว่าเป็นอันฆ่ามนุษย์ตายทั้งสิ้น ภิกษุแกล้งให้มนุษย์ตายตัวยอุบายต่าง ๆ ดังว่ามานี้ ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก

๔. อุตตริมนุสสธรรมสิกขาบทที่สี่
พระพุทธบัญญัติห้ามมิให้อ้าง
🔎อวดอุตตริมนุสสธรรม(๑๙) ที่ไม่มีในตน ภิกษุรูปใดไม่รู้ไม่เห็น ไม่ได้ ไม่ถึง ไม่ได้ตรัสรู้ แต่เป็นคนใจบาป อยากจะได้ลาภสักการะ จะให้มีผู้สรรเสริญเลื่องลือชื่อคุณ กล่าวอวดซึ่งธรรมของมนุษย์ผู้ยิ่งด้วยคุณทาง🔎มหรคต(๒๐) แล🔎โลกุตตระ(๒๑) ให้น้อมเข้ามาสู่ตน คือความรู้เห็นด้วยปัญญาอันอาจกำจัดกิเลส คืออวดว่า “ข้าได้ถึง🔎ฌาน(๒๒) ถึง🔎วิโมกข์(๒๓) ข้าได้ถึง🔎สมาธิสมาบัติ(๒๔) ข้าได้บรรลุ🔎ไตรวิชชา(๒๕) มรรคภาวนา ข้าทำให้แจ้งอริยผล ข้าละกิเลสเสียได้ จิตของข้าปลดเปลื้องจากราคะ โทสะ โมหะ ข้ายินดีจะอยู่ในเรือนว่างเปล่าเป็นที่สงัด พอใจพักอยู่ด้วยฌาน ข้าได้ฤทธิ์จะทำอะไรก็สำเร็จด้วยใจ รู้ใจสัตว์ ระลึกชาติได้ ข้าได้ตาทิพย์ หูทิพย์ เป็นผู้สิ้นกิเลส อวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตนให้มนุษย์เชื่อถือ แม้จะใช้เล่ห์อุบายเปรียบปรายแสดงกายวิการเป็นเลศกระหยิบตา พยักหน้าเป็นต้น ให้สังเกตสำคัญตนว่าได้คุณวิเศษดังว่ามานี้ก็ดี เมื่อมนุษย์เชื่อถือตามความคิดของตนในขณะนั้นแล้ว ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก

เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้ ว่าถึง ก็ไม่มีโทษ เพราะไม่แกล้งอวด แม้กล่าวมุสาว่า “ข้านั่งธรรมเข้าบำเพ็ญ ได้เห็นสวรรค์หรือนรก เห็นผู้มีชื่อคนนั้น ๆ ไปบังเกิดบนสวรรค์ มีสมบัติอย่างนั้น หรือผู้มีชื่อคนนั้น ๆ ไปบังเกิด
ในนรก เปรต อสุรกาย ทนทุกขเวทนาอย่างนั้น ๆ คำอวดอ้างนั่งภาวนาเช่นนี้ เพื่อเข้าในมหรคตและ
🔎อภิญญา(๒๖) เห็นว่าเป็นอันไม่พ้นอวดอุตตริมนุสสธรรม คนที่เขลา ๆ ก็เชื่อง่าย ๆ ท่านผู้รักใคร่ในสิกขาจงระวังรักษาตัวให้จงดี เทอญ

ปาราชิก ๔ นี้ ภิกษุต้องแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ชื่อว่าเป็นบุคคลพ่ายแพ้แก่พระพุทธศาสนา ไม่ได้อยู่ร่วมกิจกรรมกับด้วยภิกษุต่อไปได้อีกแล้ว ถึงจะปฏิญาณตนและอุปสมบทใหม่ก็ไม่เป็นภิกษุได้อีกแล้ว ตายแล้วเที่ยงแท้ที่จะไปบังเกิดใน🔎อบาย(๒๗) เป็นแน่นอน อย่าสงสัยเลย ให้ผู้อุปสมบทจึงรักษาตัวให้จงดี อย่าให้เสียทีที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้บวชในพระพุทธศาสนา

ปาราชิก ๔ ข้อนี้ กล่าวความพอเป็นที่กำหนดไว้เท่านี้

🔅 ปาราชิก ๔ 
🔅 สังฆาทิเสส ๑๓ 
🔅 อนิยต ๒ 
🔅 นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐
        (จีวรวรรค ๑๐)
        (โกสิยวรรค ๑๐)
        (ปัตตวรรค ๑๐)
🔅 ปาจิตตีย์ ๙๒
        (มุสาวรรค ๑๐)
        (ภูตคามวรรค ๑๐)
        (ภิกขุโนวาทวรรค ๑๐)
        (โภชนวรรค ๑๐)
        (อเจลกวรรค ๑๐)
        (สุราปานวรรค ๑๐)
        (สัปปาณวรรค ๑๐)
        (สหธัมมิกวรรค ๑๒)
        (ราชวรรค ๑๐)
🔅 ปาฎิเทสนียะ ๔
🔅 เสขิยวัตร ๗๕
        (สารูป ๒๖)
        (โภชนปฎิสังยุตต์ ๓๐)
        (ธัมมเทสนาปฎิสังยุตต์ ๑๖)
        (ปกิณกะ ๓)
🔅 อธิกรณสมถะ ๗

คำอภิธานศัพท์ (๓)

 

คำอภิธานศัพท์ 


หัวข้อที่  ๑ - ๓๐  ,  ๓๑ - ๖๐  ,  ๖๑ - ๙๓ 

๖๑. สิกขมานา คือนางผู้กำลังศึกษา, สามเณรีผู้มีอายุถึง ๑๘ ปีแล้ว อีก ๒ ปี จะครบบวชเป็นภิกษุณี ภิกษุณีสงฆ์สวดให้สิกขาสมมติคือตกลงให้สมาทานสิกขาบท ๖ ประการ ตั้งแต่ปาณาติปาตา เวรมณี จนถึง วิกาลโภชนา เวรมณี ให้รักษาอย่างเคร่งครัด ไม่ขาดเลย ตลอดเวลา ๒ ปีเต็ม (ถ้าล่วงข้อใดข้อหนึ่งต้องสมาทานตั้งต้นใหม่อีก ๒ ปี) ครบ ๒ ปี ภิกษุณีสงฆ์จึงทำพิธีอุปสมบทให้ ขณะที่สมาทานสิกขาบท ๖ ประการอย่างเคร่งครัดนี้ เรียกว่านางสิกขมานา

๖๒. วันมหาปวารณา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันที่ภิกษุทุกรูปจะกล่าวปวารณา คือเปิดโอกาสให้กันและกันว่ากล่าวตักเตือนกันได้ เป็นสังฆกรรมที่พระพุทธเจ้าทรงประทานอนุญาตให้หมู่สงฆ์ทำในวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษา

๖๓. โคจร คือหนทางไปของภิกษุ โคจรคาม คือหมู่บ้านที่พระภิกษุไปบิณฑบาตเสมอ

๖๔. อรุณ คือ ระยะเวลาใกล้อาทิตย์จะขึ้น มีสองระยะ คือ มีแสงขาวเรื่อ ๆ (แสงเงิน) และแสงแดด (แสงทอง) หรือเวลาย่ำรุ่ง

๖๕. ครุธรรม คือธรรมอันหนัก เป็นหลักความประพฤติสำหรับนางภิกษุณีจะพึงปฏิบัติตามด้วยความเคารพไม่ละเมิดตลอดชีวิต มี ๘ ประการ คือ
        ๑. ภิกษุณีแม้บวชร้อยพรรษาแล้ว ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้บวชวันเดียว
        ๒. ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้
        ๓. ภิกษุณีต้องไปถามวันอุโบสถ และเข้าไปฟังโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน
        ๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย โดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยินโดยรังเกียจ (รังเกียจหมายถึงระแวงสงสัย หรือเป็นพฤติกรรมอะไรที่น่าเคลือบแคลง)
        ๕. ภิกษุณีต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์สองฝ่าย (คือทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) ๑๕ วัน
        ๖. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์สองฝ่าย เพื่อนางสิกขมานา
        ๗. ภิกษุณีไม่พึงด่า ไม่พึงบริภาษภิกษุ ไม่ว่าจะโดยปริยายใด ๆ
        ๘. ไม่ให้ภิกษุณีว่ากล่าวภิกษุ แต่ภิกษุว่ากล่าวภิกษุณีได้

๖๖. อามิส คือสิ่งของ, เครื่องล่อใจ

๖๗. อจิตตกะ คือไม่มีเจตนา เป็นชื่อของอาบัติพวกหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยสมุฏฐานที่แม้ไม่มีเจตนา คือถึงแม้ไม่จงใจทำก็ต้องอาบัติ เช่น ฉันอาหารในเวลาวิกาล ดื่มน้ำเมาเป็นต้น

๖๘. จุณ คือของที่ละเอียดเป็นผง ใช้ทาตัว

๖๙. วินัยกรรม คือการกระทำเกี่ยวกับพระวินัย หรือการปฏิบัติตามวินัย เช่น การปลงอาบัติ, การอธิษฐานบริขาร, การวิกับบาตรและจีวร เป็นต้น

๗๐. สายกายพันธน์ คือสายรัดประคดเอว

๗๑. ญัตติจตุตถกรรม คือกรรมมีญัตติเป็นที่สี่ ได้แก่สังฆกรรมที่สำคัญ มีการอุปสมบทเป็นต้น ซึ่งเมื่อตั้ง
ญัตติแล้วต้องสวดประกาศขอมติถึง ๓ หน เพื่อสงฆ์ที่ชุมนุมนั้นจะได้มีเวลาพิจารณาหลายเที่ยวว่าจะอนุมัติหรือไม่

๗๒. ขนอน คือด่านเก็บภาษี

๗๓. วิปลาส คือความเห็นหรือความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากสภาพที่เป็นจริง มีดังนี้
        ก. วิปลาสด้วยอำนาจจิตและเจตสิก ๓ ประการ คือ
            ๑. วิปลาสด้วยอำนาจสำคัญผิด เรียกว่า สัญญาวิปลาส
            ๒. วิปลาสด้วยอำนาจคิดผิด เรียกว่า จิตตวิปลาส
            ๓. วิปลาสด้วยอำนาจเห็นผิด เรียกว่า ทิฏฐิวิปลาส
        ข. วิปลาสด้วยสามารถวัตถุเป็นที่ตั้ง ๔ ประการ คือ
            ๑. วิปลาสในของที่ไม่เที่ยง ว่าเที่ยง
            ๒. วิปลาสในของที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นสุข
            ๓. วิปลาสในของที่ไม่ใช่ตน ว่าเป็นตน
            ๔. วิปลาสในของที่ไม่งาม ว่างาม

๗๔. โมหาโรปนกรรม คือกิริยาที่สวดประกาศยกโทษภิกษุว่าแสร้งทำหลง คือรู้แล้วทำเป็นไม่รู้ เมื่อสงฆ์สวดประกาศแล้ว ยังแกล้งทำไม่รู้อีก ต้องอาบัติปาจิตตีย์

๗๕. เผดียง คือบอกให้รู้ บอกให้นิมนต์

๗๖. สูปะ คือของกินของต้มที่เป็นน้ำ, แกง

๗๗. ปริมณฑล คือความเป็นระเบียบ ความเรียบร้อย

๗๘. ศีลวิบัติ คือการเสียศีล สำหรับภิกษุ คือต้องอาบัติปาราชิก หรือสังฆาทิเสส

๗๙. อาจารวิบัติ คือเสียอาจาระ เสียจรรยา มารยาทเสียหาย ประพฤติย่อหย่อน รุ่มร่าม มักต้องอาบัติเล็กน้อยตั้งแต่ถุลลัจจัย ลงมาถึงทุพภาสิต

๘๐. ทิฏฐิวิบัติ คือความวิบัติแห่งทิฏฐิ ความผิดพลาดแห่งความคิดเห็น ความเห็นคลาดเคลื่อนผิดธรรมวินัย ทำให้ประพฤติตนนอกแบบแผน ทำความผิดอยู่เสมอ

๘๑. อาชีววิบัติ คือการเสียอาชีวะ ความเสียหายแห่งการเลี้ยงชีพ คือประกอบมิจฉาอาชีวะ มีการหลอกลวงเขาเลี้ยงชีพ เป็นต้น

๘๒. อปโลกนกรรม คือกรรมที่ทำด้วยการบอกกันในที่ประชุมสงฆ์ ไม่ต้องตั้งญัตติ คือคำเผดียงไม่ต้องสวดอนุสาวนา คือประกาศความปรึกษาและตกลงของสงฆ์ เช่น ประกาศลงพรหมทัณฑ์, ลงโทษสามเณรผู้กล่าวตู่พระพุทธเจ้า บอกกล่าวเรื่องการแจกอาหารในโรงฉัน เป็นต้น (พรหมทัณฑ์ คือโทษอย่างสูง สงฆ์ตกลงกันลงโทษภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง โดยภิกษุทั้งหลายพร้อมใจกันไม่พูดด้วยไม่ว่ากล่าวตักเตือนหรือสั่งสอนภิกษุนั้น) พระฉันนะซึ่งเป็นพระมีความพยศ ถือตัวว่าเป็นคนเก่าใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามาก่อนใครอื่น ใครว่าไม่ฟัง ภายหลังถูกสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ถึงกับเป็นลมล้มสลบ จึงหายจากความพยศได้

๘๓. สัมมุขาวินัย คือระเบียบอันพึงทำในที่พร้อมหน้า ได้แก่การระงับอธิกรณ์ในที่พร้อมหน้าสงฆ์

๘๔. ติตถิยะ คือเดียรถีย์ นักบวชนอกพระพุทธศาสนา

๘๕. บัณเฑาะก์ คือพวกกะเทย คนไม่ปรากฏว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง ได้แก่
        กะเทยโดยกำเนิด ๑
        ชายถูกตอนเรียกว่าขันที่ ๑
        ชายมีราคะกล้า ประพฤตินอกจารีตในทางเสพกาม และยั่วยวนชายอื่นให้เป็นเช่นนั้น ๑

๘๖. อุภโตพยัญชนก คือคนที่มี ๒ เพศ

๘๗. ปาริวาสิก คือภิกษุผู้อยู่ปริวาสกรรม

๘๘. มูลายปฏิกัสสนารหะ คือภิกษุผู้ควรแก่การชักเข้าหาอาบัติเดิม หมายถึงภิกษุผู้กำลังอยู่ปริวาส หรือประพฤติมานัตอยู่ ต้องอาบัติสังฆาทิเสสข้อเดียวกัน หรืออาบัติสังฆาทิเสสข้ออื่นเข้าอีก ก่อนที่สงฆ์จะอัพภาน ต้องตั้งต้นอยู่ปริวาสหรือประพฤติมานัตใหม่

๘๙. ธัมกรก คือที่กรองน้ำฉันน้ำใช้ของสงฆ์

๙๐. ลูกถวิน คือลูกกลมๆที่ผูกติดสายประคดเอว ห่วงร้อยสายรัดประคด

๙๑. อักโกสวัตถุ คือเรื่องสำหรับด่ามี ๑๐ อย่าง คือ
        ๑. ชาติ ได้แก่ชั้นหรือกำเนิดของคน
        ๒. ชื่อ
        ๓. โคตร คือตระกูล หรือแซ่
        ๔. การงาน
        ๕. ศิลปะ
        ๖. โรค
        ๗. รูปพรรณสัณฐาน
        ๘. กิเลส
        ๙. อาบัติ
        ๑๐. คำสบประมาทอย่างอื่น ๆ

๙๒. กาลิก คือของที่เนื่องด้วยกาล ของอันจะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไป ซึ่งพระวินัยบัญญัติให้ภิกษุรับเก็บไว้และฉันได้ภายในที่กำหนด จำแนกเป็น ๔ อย่าง คือ
        ๑. ยาวกาลิก รับประเคนไว้ และฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น เช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้ ขนมต่าง ๆ
        ๒. ยามกาลิก รับประเคนไว้ และฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือก่อนอรุณของวันใหม่ ได้แก่น้ำปานะ คือน้ำผลไม้คั้นที่ทรงอนุญาต
        ๓. สัตตาหกาลิก รับประเคนไว้แล้วฉันได้ภายใน ๗ วัน ได้แก่ เภสัชทั้งห้า คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อย
        ๔. ยาวชีวิก รับประเคนไว้แล้วฉันได้ตลอดไปไม่จำกัดเวลา ได้แก่ของที่ใช้ปรุงเป็นยา
นอกจากกาลิก ๓ ข้อต้น (ความจริงยาวชีวิกไม่เป็นกาลิก แต่นับเข้าโดยปริยายเพราะเป็นของเนื่องกัน)

๙๓. กุมมาส คือขนมสด เป็นขนมที่เก็บไว้นานเกินไปจะ บูด เช่น ขนมด้วง ขนมครก ขนมถ้วย ขนมตาล เป็นต้น พระพุทธเจ้าหลังจากเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยาแล้ว ก็เสวยข้าวสุกและกุมมาส

หัวข้อที่  ๑ - ๓๐  ,  ๓๑ - ๖๐  ,  ๖๑ - ๙๓ 

วันอังคาร

คำอภิธานศัพท์(๒)

 คำอภิธานศัพท์ 


หัวข้อที่  ๑ - ๓๐  ,  ๓๑ - ๖๐  ,  ๖๑ - ๙๓ 

๓๑. สวดสมนุภาสน์ คือการสวดประกาศห้ามไม่ให้ถือรั้นในการอันมิชอบ

๓๒. อนุสาวนา คือคำสวนประกาศ คำประกาศข้อปรึกษาและข้อตกลงของสงฆ์, คำขอมติ

๓๓. ปวารณา คือยอมให้ขอ, เปิดโอกาสให้ขอ, ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน

๓๔. สมโภค คือการกินร่วม หมายถึงการคบหากันในทางให้ หรือรับอามิสและคบหากันในทางสอนธรรมเรียนธรรม

๓๕. สังวาส คือธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมกันของหมู่สงฆ์ ได้แก่การทำสังฆกรรมร่วมกัน สวดปาฏิโมกข์ร่วมกัน มีสิกขาบทเสมอกัน คือเป็นพวกเดียวกันอยู่ด้วยกันได้ มีฐานะและสิทธิเสมอกัน ในภาษาไทยใช้หมายถึงร่วมประเวณีด้วย

๓๖. ปัพพาชนียกรรม หรือ บัพพาชนียกรรม คือกรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันพึงจะไล่เสีย การไล่ออกจากวัด กรรมนี้สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้ประทุษร้ายสกุล และประพฤติเลวทรามเป็นข่าวเซ็งแซ่ หรือทำแก่ภิกษุผู้เล่นคะนอง ๑ อนาจาร ๑ ลบล้างพระพุทธ บัญญัติ ๑ มิจฉาชีพ ๑

๓๗. การกสงฆ์ คือสงฆ์ผู้กระทำ หมายถึงสงฆ์หมู่หนึ่งผู้ดำเนินการในกิจสำคัญ เช่น การสังคายนา หรือในสังฆกรรมต่าง ๆ

๓๘. ปริวาส คือการอยู่ชดใช้ เรียกสามัญว่าอยู่กรรม, เป็นชื่อวุฏฐานวิธี (ระเบียบปฏิบัติสำหรับออกจากครุกาบัติ) อย่างหนึ่ง ซึ่งพระภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ จะต้องประพฤติเป็นการลงโทษตนเองชดใช้ให้ครบเท่าจำนวนวันที่ปิดอาบัติก่อนที่จะประพฤติมานัต อันเป็นขั้นตอนปกติของการออกจากอาบัติต่อไป ระหว่างอยู่ปริวาสต้องประพฤติวัตรต่าง ๆ เช่น งดใช้สิทธิบางอย่าง ลดฐานะของตน และประจานตัว เป็นต้น

๓๙. มานัต เป็นชื่อวุฏฐานวิธี คือระเบียบปฏิบัติในการออกจากครุกาบัติ แปลว่า นับ หมายถึงการนับราตรี ๖ ราตรี คือภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว เมื่อจะปลดเปลื้องตนออกจากอาบัติตาม ธรรมเนียมจะต้องไปหาสงฆ์จตุรวรรค (คือหมู่สงฆ์ที่กำหนดจำนวนภิกษุอย่างต่ำ ๔ รูป เช่นสงฆ์ที่ทำอุโบสถกรรม เป็นต้น) ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบภิกษุแก่กว่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวคำขอมานัตตามอาบัติที่ต้อง ภิกษุรูปหนึ่งสวดประกาศให้มานัต ภิกษุรูปนั้นประพฤติมานัต ๖ ราตรีแล้ว สงฆ์จึงสวดระงับอาบัติให้ได้

๔๐. อัพภาน คือการรับกลับเข้าหมู่, เป็นขั้นตอนสุดท้ายแห่งระเบียบปฏิบัติในการออกจากครุกาบัติขั้นสังฆาทิเสส ได้แก่การที่สงฆ์สวดระงับอาบัติ รับภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส และได้ทำโทษตนเองตามวิธีที่กำหนดเสร็จแล้ว ให้กลับคืนเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นขั้นตอนต่อจากการประพฤติมานัตสิ้น ๖ ราตรีแล้ว

๔๑. มาตุคาม คือผู้หญิง

๔๒. พระวินัยธร คือพระผู้ทรงวินัย พระภิกษุผู้ชำนาญในพระวินัย

๔๓. ปลิโพธ ในทางพระวินัยเกี่ยวกับการกรานกฐิน หมายถึงความกังวลที่เป็นเหตุให้กฐินยังไม่เดาะ คือ ยังรักษาอานิสงส์กฐินและเขตแห่งจีวรกาลตามกำหนดไว้ได้ มี ๒ อย่าง คือ
        ๑. เรื่องอาวาส คือยังอยู่ในวัดนั้นหรือหลีกออกไป แต่ยังผูกใจว่า จะกลับมา เรียกว่า อาวาสปลิโพธ
        ๒. เรื่องจีวร ความกังวลในจีวร คือยังไม่ได้ทำจีวร หรือทำค้างอยู่ หรือหายเสียในเวลาทำ แต่ยังไม่สิ้นหวังว่าจะได้จีวรอีก เรียกว่า จีวรปลิโพธ

ถ้าสิ้นปลิโพธครบทั้งสองอย่าง จึงเป็นอันเดาะกฐิน (หมดอานิสงส์และสิ้นเขตจีวรกาลก่อนกำหนด)

๔๔. วิกัป คือการทำให้เป็นของสองเจ้าของ คือขอให้ภิกษุสามเณรอื่นร่วมเป็นเจ้าของบาตรหรือจีวรนั้น ๆ ด้วย ทำให้ไม่ต้องอาบัติเพราะเก็บอติเรกบาตร หรืออติเรกจีวรไว้เกินกำหนด

๔๕. อธิษฐาน ในทางพระวินัย หมายถึงการตั้งใจกำหนดเอาไว้ว่าจะใช้ของนั้น ๆ เป็นของประจำตัว เช่นได้ผ้ามาผืนหนึ่งตั้งใจว่าจะใช้เป็นจีวร เราก็อธิษฐานผ้านั้นและเรียกว่าจีวรอธิษฐาน เรานิยมเรียกโดยทั่ว ๆ ไปว่าจีวรครอง

๔๖. ปริมพรรษา คือพรรษาต้น เริ่มตั้งแต่วันแรมหนึ่งค่ำเดือนแปดในปีที่ไม่มีอธิกมาสเป็นต้นไป เป็นเวลา ๓ เดือน คือถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑

๔๗. หัตถบาส คือที่ใกล้ตัวชั่วคนหนึ่ง (นั่งตัวตรง) เหยียดแขนออกไปจับตัวอีกคนหนึ่งได้ ท่านว่าเท่ากับช่วงสองศอกกับหนึ่งคืบ หรือสองศอกครึ่ง วัดจากส่วนสุดด้านหลังของผู้เหยียดมืออกไป (เช่น ถ้ายืนวัดจากส้นเท้า ถ้านั่งวัดจากสุดหลังอวัยวะที่นั่ง) โดยนัยนี้ท่านว่านั่งห่างกันไม่เกิน ๑ ศอก

๔๘. อกาลจีวร คือจีวรที่เกิดขึ้นนอกเขตจีวรกาล นอกเขตอานิสงส์กฐิน

๔๙. สังฆาฏิ คือผ้าทาบ, ผ้าคลุมกันหนาวที่พระใช้ทาบบนจีวรเหนือไหล่ซ้าย เป็นผ้าผืน ๑ ในจำนวน ๓ ผืน ที่เรียกว่า ไตรจีวร

๕๐. อุตตราสงค์ คือผ้าห่ม, เป็นผ้าผืนหนึ่งในจำนวน ๓ ผืนของไตรจีวร ได้แก่ ผืนที่เรียกกันสามัญทั่วไปว่า จีวร

๕๑. อันตรวาสก คือผ้านุ่ง, เรียกทั่วไปว่า สบง เป็นหนึ่งในไตรจีวร

๕๒. ไวยาวัจกร คือผู้ทำกิจธุระหรือผู้ช่วยเหลือรับใช้พระภิกษุสงฆ์

๕๓. วัตตเภท คือการละเลยวัตร, ละเลยหน้าที่ ไม่ทำตามข้อปฏิบัติที่กำหนดไว้ เช่น ภิกษุผู้กำลังประพฤติมานัตหรือกำลังอยู่ปริวาส ละเลยวัตรของตน พระอรรถกถาจารย์ปรับอาบัติทุกกฏ

๕๔. สันถัต คือผ้ารองนั่ง

๕๕. มาสก คือชื่อมาตราเงินสมัยโบราณ ราคาห้ามาสกเท่ากับหนึ่งบาท

๕๖. กัปปิยะ คือของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภคใช้สอย คือพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุใช้ หรือฉันได้ เช่น ข้าวสุก จีวร ร่ม ยาแดง เป็นกัปปิยะ แต่สุรา เสื้อ กางเกง หมวก น้ำอบ ไม่เป็นกัปปิยะ ไม่ทรงอนุญาตไว้

๕๗. วัตรปฏิบัติ คือความประพฤติที่เป็นไปตามขนบธรรมเนียมแห่งเพศและภาวะ หรือวิถีดำเนินชีวิตของตน

๕๘. กัปปิยการก คือผู้ทำของที่สมควรแก่สมณะ, ลูกศิษย์พระ

๕๙. รูปิยสังโวหาร คือการซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยเงินตรา

๖๐. สมณบริขาร คือเครื่องใช้สอยต่าง ๆ ของพระในพระพุทธศาสนา มี ๔ อย่าง คือ สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร / มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ เข็ม ประคดเอว กระบอกกรองน้ำ นิยมเรียกว่า อัฏฐบริขาร

หัวข้อที่  ๑ - ๓๐  ,  ๓๑ - ๖๐  ,  ๖๑ - ๙๓ 

คำอภิธานศัพท์(๑)

 คำอภิธานศัพท์ 


หัวข้อที่  ๑ - ๓๐  ,  ๓๑ - ๖๐  ,  ๖๑ - ๙๓ 

๑. อธิศีลสิกขา คือข้อปฏิบัติสำหรับการฝึกฝนอบรมความประพฤติทางกาย วาจา หรือคือระเบียบวินัยในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ด้วยดี ให้เกื้อกูลไม่เบียดเบียน ไม่ทำลาย ปาฏิโมกขสังวรศีล คือการสำรวมในพระปาฏิโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ทำตามข้อที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาต เป็นข้อ ๑ ในปาริสุทธิศีล ๕

๒. อันติมวัตถุ คือวัตถุมีในที่สุดหมายถึงอาบัติปาราชิก ซึ่งทำให้ภิกษุและภิกษุณีผู้ล่วงละเมิดมีโทษถึงที่สุด คือขาดจากภาวะของตน

๓. ครุกาบัติ คืออาบัติหนัก ได้แก่อาบัติปาราชิก เป็นอาบัติที่แก้ไขไม่ได้ ภิกษุต้องเข้าแล้ว จำต้องสึกเสีย และอาบัติสังฆาทิเสส ต้องอยู่กรรมจึงจะพ้นได้ ลหุกาบัติ คืออาบัติเบา ได้แก่อาบัติที่มีโทษเล็กน้อย ได้แก่ อาบัติถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ และทุพภาษิต

๔. อาณาวีติกกมันตราย คืออันตรายอันเกิดจากการล่วงละเมิดพระพุทธบัญญัติ, การทำผิดล่วงพระวินัยบัญญัติ

๕. อปริยันตปาริสุทธิศีล คือปาริสุทธิศีลที่ไม่มีสิ้นสุดอย่างน้อย มี ๒๒๗ ข้อ
ปาริสุทธิศีล คือศีลเป็นเครื่อง หรือเป็นเหตุให้บริสุทธิ์มีอยู่ ๔ ประการ คือ
        ๑. ปาฏิโมกขสังวรศีล สำรวมในพระปาฏิโมกข์
        ๒. อินทรียสังวรศีล สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
        ๓. อาชีวปาริสุทธิศีล เลี้ยงชีพโดยทางที่ชอบธรรม
        ๔. ปัจจัยสันนิสิตศีล พิจารณาก่อน จึงบริโภคปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาตร เสนาสนะ และเภสัช

๖. ปาริยันตปาริสุทธิศีล คือปาริสุทธิศีลทั้ง ๔ อย่าง แต่เป็นศีลของสามเณรและของคฤหัสถ์ มีจำกัดข้อไว้ 
คือสามเณรมีเพียง ๑๐ สิกขาบท ศีลของ คฤหัสถ์มีเพียง ๘ และ ๕ สิกขาบทเท่านั้น

๗. อุเทศ คือหมวดหนึ่ง ๆ แห่งปาฏิโมกข์ที่จัดไว้สำหรับสวด ในคำว่าสงฆ์มีอุเทศเดียวกัน หมายความว่า ร่วมฟังสวดปาฏิโมกข์ด้วยกัน

๘. ทำอุโบสถ คือการสวดปาฏิโมกข์ของพระสงฆ์ทุกกึ่งเดือน เป็นการซักซ้อมตรวจสอบความบริสุทธิทาง
พระวินัยของภิกษุทั้งหลาย และเป็นเครื่องแสดงความพร้อมเพรียงของหมู่สงฆ์ด้วย ในการทำอุโบสถนี้ จะมีการสวดปาฏิโมกข์ได้ต่อเมื่อมีภิกษุครบ ๔ รูปขึ้นไป

๙. อาบัติเจ็ดกอง คืออาบัติประเภทต่าง ๆ ต่อไปนี้คือ
        ๑. ปาราชิก
        ๒. สังฆาทิเสส
        ๓. ถุลลัจจัย
        ๔. ปาจิตตีย์
        ๕. ปาฏิเทสนียะ
        ๖. ทุกกฎ
        ๗. ทุพภาสิต

๑๐. อาจิณณกรรม คือการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนาทำซ้ำ ๆ กันมากจนเกิดความเคยชิน

๑๑. มนุสสวิคคหะ คือพระพุทธบัญญัติห้ามภิกษุฆ่ามนุษย์ทั้งในครรภ์และนอกครรภ์

๑๒. อนันตริยกรรม คือกรรมอันหนัก กรรมที่เป็นบาปหนักที่สุด ตัดทางสวรรค์ ตัดทางนิพพาน กรรมที่ให้ผล คือความเดือดร้อนไม่เว้นระยะเลย มี ๕ อย่าง คือ
        ๑. มาตุฆาต ฆ่ามารดา
        ๒. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา
        ๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์
        ๔. โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป
        ๕. สังฆเภท ทำสงฆ์ให้แตกกัน

๑๓. อุปจาร คือที่ใกล้ชิด, ระยะใกล้เคียง, บริเวณรอบ ๆ
อุปจารพระสงฆ์ คือบริเวณรอบ ๆ เขตที่พระสงฆ์ชุมนุมกัน,
อุปจารเรือนในอรรถกถาพระวินัยท่านได้อธิบายไว้ดังนี้ อาคารที่ปลูกขึ้นร่วมในแค่ระยะน้ำตกที่ชายคาเป็นเรือน บริเวณรอบ ๆ เรือนซึ่งกำหนดเอาที่แม่บ้านยืนอยู่ที่ประตูเรือนสาดน้ำล้างภาชนะออกไป หรือแม่บ้านยืนอยู่ในเรือนโยนกระด้ง หรือไม้กวาดออกไปภายนอก ตกลงที่ใด ระยะรอบ ๆ กำหนดนั้นเป็นอุปจารเรือน บุรุษวัยกลางคนมีกำลังดียืนอยู่ที่เขตอุปจารเรือนขว้างก้อนดินไป ก้อนดินที่ขว้างนั้นตกลงที่ใด ที่นั้นจาก
รอบ ๆ บริเวณอุปจารเรือน เป็นกำหนดเขตบ้าน บุรุษวัยกลางคนมีกำลังดีนั้นแหละ ยืนอยู่ที่เขตบ้านนั้นโยนก้อนดินไปเต็มกำลัง ก้อนดินตกที่ใด ที่นั้นเป็นเขตอุปจารบ้าน

สีมาที่สมมติเป็นติจีวราวิปปวาสนั้น จะต้องเว้นบ้านและอุปจารบ้านดังกล่าวนี้เสีย จึงจะสมมติขึ้น คือใช้เป็น
ติจีวาราวิปปวาสสีมาได้ ติจีวราวิปปวาส คือ การไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร คือภิกษุอยู่ในแดนสมมติ เป็นติจีวราวิปปลาสแล้ว อยู่ห่างจากไตรจีวร ก็ไม่เป็นอันอยู่ปราศ ไม่ต้องอาบัติด้วยนิสสัคคิยปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ ๑

๑๔. แดนสีมา คือเขตแดนที่หมู่สงฆ์ตกลงไว้สำหรับภิกษุทั้งหลายที่อยู่ภายในเขตแดนนั้น จะต้องทำสังฆกรรมร่วมกัน

๑๕. ไถยจิต คือจิตคิดจะลักจะขโมย, จิตประกอบด้วยความเป็นขโมย

๑๖. สุงกฆาตะ คือการเบียดเบียนส่วย การหนีหรือหลบเลี่ยงภาษี

๑๗. อวหาร คืออาการที่ถือว่าเป็นการลักทรัพย์ ในอรรถกถาแสดงไว้ ๒๕ อย่าง พึงทราบในที่นี้ ๑๓ อย่าง คือ ๑. ลัก ๒. ชิงหรือวิ่งราว ๓. ลักต้อน ๔. แย่ง ๕. ลักสับ ๖. ตู่ ๗. ฉ้อ ๘. ยักยอก ๙. ตระบัด ๑๐. ปล้น ๑๑. หลอกลวง ๑๒. กดขี่หรือกรรโชก ๑๓. ลักซ่อน

๑๘. สลากภัต คืออาหารถวายตามสลาก หมายเอาภัตตาหารอันทายกพร้อมใจถวาย ต่างคนต่างจัดมา เป็นของต่างชนิดกัน มักทำในช่วงเทศกาลผลไม้ ถวายพระด้วยวิธีการให้พระจับสลาก

๑๙. อุตตริมนุสสธรรม คือธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์ ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ มรรคผล บางทีเรียกให้ง่ายว่า ธรรมวิเศษหรือคุณวิเศษ

๒๐. มหรคต คือการเข้าถึงสภาวะอันยิ่งใหญ่ หมายถึงพระนิพพาน

๒๑. โลกุตตระ คือพ้นจากโลก พ้นวิสัยของโลก ไม่เนื่องในภพทั้งสาม คือกามภพ รูปภพ และอรูปภพ

๒๒. ฌาน คือการเพ่งอารมณ์จนใจแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ เป็นภาวะที่จิตสงบ ประณีต มีสมาธิเป็นองค์ธรรมหลัก

๒๓. วิโมกข์ คือความหลุดพ้นจากอำนาจกิเลส

๒๔. สมาบัติ คือภาวะอันสงบ ประณีต ซึ่งพึงเข้าถึง สมาบัติมีหลายอย่าง เช่น ฌานสมาบัติ ๔ ผลสมาบัติ เป็นต้น

๒๕. ไตรวิชชา คือความรู้แจ้ง, ความรู้วิเศษ ๓ ประการ คือ
        ๑. ความรู้ที่ทำให้ระลึกชาติในหนหลังได้
        ๒. ความรู้การจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย
        ๓. ความรู้ที่ทำอาสวะให้สิ้นไป

๒๖. อภิญญา คือความรู้อันยิ่ง, ความรู้ชั้นสูงในพระพุทธศาสนา มี ๖ ประการ คือ
        ๑. อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้
        ๒. ทิพพโสต หูทิพย์
        ๓. เจโตปริยญาณ ญาณที่ให้ทายใจคนอื่นได้
        ๔. ปุพเพนิวาสนุสสติญาณ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้
        ๕. ทิพพจักขุ ตาทิพย์
        ๖. อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะกิเลสสิ้นไป

๒๗. อบาย คืออบายภูมิ หมายถึง ภูมิกำเนิดที่ปราศจากความเจริญ มี ๔ อย่าง คือ
        ๑. สัตว์นรก
        ๒. สัตว์เดรัจฉาน
        ๓. เปรต
        ๔. อสุรกาย

๒๘. ทัพพสัมภาระ คือสิ่งและเครื่องอันเป็นส่วนประกอบที่จะประกอบกันเข้าเป็นบ้านเรือน เรือ รถ เครื่องบินหรือเกวียน เป็นต้น

๒๙. ทายก คือผู้ให้ที่เป็นผู้ชาย ทายิกา คือผู้ให้ที่เป็นผู้หญิง

๓๐. อธิกรณ์ คือเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องจัดต้องทำ, เรื่องที่สงฆ์ต้องดำเนินการมี ๔ อย่าง คือ
        ๑. วิวาทาธิกรณ์ การเถียงกันเกี่ยวกับพระธรรมวินัย
        ๒. อนุวาทาธิกรณ์ การโจทก์หรือกล่าวหากันด้วยอาบัติ
        ๓. อาปัตตาธิกรณ์ การต้องอาบัติ การปรับอาบัติและการแก้ไขตัวให้พ้นจากอาบัติ
        ๔. กิจจาธิกรณ์ กิจธุระต่างๆที่สงฆ์ต้องทำ เช่นให้อุปสมบท


หัวข้อที่  ๑ - ๓๐  ,  ๓๑ - ๖๐  ,  ๖๑ - ๙๓ 

วันจันทร์

ตัวกฎ หรือตัวสภาวะ (ไตรลักษณ์)

ตอน ๒: ชีวิตเป็นอย่างไร?

ไตรลักษณ์ ลักษณะโดยธรรมชาติ ๓ อย่างของสิ่งทั้งปวง

บทที่ ๓ 
🔅 ตัวกฏหรือตัวสภาวะ

ตามหลักพุทธธรรมเบื้องต้นที่ว่า สิ่งทั้งหลายเกิดจากส่วนประกอบต่างๆ มาประชุมกันเข้า หรือมีอยู่ในรูปของการรวมตัวเข้าด้วยกันของส่วนประกอบต่างๆ นั้น มิใช่หมายความว่าเป็นการนำเอาส่วนประกอบที่เป็นชิ้นๆ อันๆ อยู่แล้วมาประกอบเข้าด้วยกัน และเมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้ว ก็เกิดเป็นรูปเป็นร่างคุมกันอยู่เหมือนเมื่อเอาวัตถุต่างๆ มารวมกันเป็นเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ

ความจริงที่กล่าวว่าสิ่งทั้งหลายเกิดจากการประชุมกันของส่วนประกอบต่างๆ นั้น เป็นเพียงคำกล่าวเพื่อเข้าใจง่ายๆ ในเบื้องต้นเท่านั้น แท้จริงแล้ว สิ่งทั้งหลายมีอยู่ในรูปของกระแส ส่วนประกอบแต่ละอย่างๆ ล้วนประกอบขึ้นจากส่วนประกอบอื่นๆ ย่อยลงไป แต่ละอย่างไม่มีตัวตนของมันเองเป็นอิสระ ล้วนเกิดดับต่อกันไปเรื่อย ไม่เที่ยง ไม่คงที่ กระแสนี้ไหลเวียนหรือดำเนินต่อไป อย่างที่ดูคล้ายกับรักษารูปแนวและลักษณะทั่วไปไว้ได้อย่างค่อยเป็นไป ก็เพราะส่วนประกอบทั้งหลายมีความสัมพันธ์เนื่องอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นเหตุปัจจัยสืบต่อแก่กันอย่างหนึ่ง และเพราะส่วนประกอบเหล่านั้นแต่ละอย่างล้วนไม่มีตัวตนของมันเอง และไม่เที่ยงแท้คงที่อย่างหนึ่ง ความเป็นไปต่างๆ ทั้งหมดนี้ เป็นไปตามธรรมชาติ อาศัยความสัมพันธ์และความเป็นปัจจัยเนื่องอาศัยกันของสิ่งทั้งหลายเอง ไม่มีตัวการอย่างอื่นที่นอกเหนือออกไปในฐานะผู้สร้างหรือผู้บันดาล จึงเรียกเพื่อเข้าใจง่ายๆ ว่าเป็นกฎธรรมชาติ

มีหลักธรรมใหญ่อยู่ ๒ หมวด ที่ถือได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงในรูปของกฎธรรมชาติ คือ ไตรลักษณ์และ ปฏิจจสมุปบาท ความจริงธรรมทั้ง ๒ หมวดนี้ถือได้ว่าเป็นกฎเดียวกัน แต่แสดงในคนละแง่หรือคนละแนว เพื่อมองเห็นความจริงอย่างเดียวกัน คือ

ไตรลักษณ์ มุ่งแสดงลักษณะของสิ่งทั้งหลายซึ่งปรากฏให้เห็นว่าเป็นอย่างนั้น ในเมื่อสิ่งเหล่านั้นเป็นไปโดยอาการที่สัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยสืบต่อแก่กันตามหลักปฏิจจสมุปบาท
ปฏิจจสมุปบาท ก็มุ่งแสดงถึงอาการที่สิ่งทั้งหลายมีความสัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยสืบต่อแก่กันเป็นกระแส จนมองเห็นลักษณะได้ว่าเป็นไตรลักษณ์

กฎธรรมชาตินี้ เป็น
๑. ธาตุ คือภาวะที่ทรงตัวอยู่โดยธรรมดา
๒. ธรรมฐิติ คือภาวะที่ตั้งอยู่หรือยืนตัว เป็นหลักแน่นอนอยู่โดยธรรมดา
๓. ธรรมนิยาม คือกฎธรรมชาติ หรือกำหนดแห่งธรรมดา ไม่เกี่ยวกับผู้สร้างผู้บันดาล หรือการเกิดขึ้นของศาสนาหรือศาสดาใดๆ

(ในคัมภีร์อภิธรรมรุ่นอรรถกถา แบ่ง นิยาม หรือกฎธรรมชาติเป็น ๕ อย่าง คือ
๑. อุตุนิยาม (physical laws) กฎธรรมชาติเกี่ยวกับอุณหภูมิ หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องลมฟ้าอากาศ และฤดูกาล ในทางอุตุนิยม อันเป็นสิ่งแวดล้อมสำหรับมนุษย์
๒. พีชนิยาม (genetic laws) กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ รวมทั้งพันธุกรรม
๓. จิตตนิยาม (psychic law) กฎธรรมชาติเกี่ยวกับกระบวนการทำงานของจิต
๔. กรรมนิยาม (karmic law) กฎธรรมชาติเกี่ยวกับเจตจำนงและพฤติกรรมมนุษย์ คือ กระบวนการให้ผลของการกระทำ
๕. ธรรมนิยาม (general law of the suchness of natural states, esp., that of cause and effect) กฎธรรมชาติเกี่ยวกับสภาวะแห่งธรรมดาทั่วไป เฉพาะอย่างยิ่ง ความสัมพันธ์ และความเป็นเหตุเป็นผลแก่กันของสิ่งทั้งหลาย (ที.อ.๒/๓๔, สงคณี อ.๔๐๔))


กฎธรรมชาตินี้แสดงฐานะของศาสดาในความหมายของพุทธธรรมด้วยว่าเป็นผู้ค้นพบกฎเหล่านี้ แล้วนำมาเปิดเผยชี้แจงแก่ชาวโลก สำหรับไตรลักษณ์นั้น มีพุทธพจน์แสดงหลักไว้ในรูปของกฎธรรมชาติ ว่าดังนี้
“ตถาคต (พระพุทธเจ้า) ทั้งหลาย จะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ธาตุ (หลัก) นั้นก็ดำรงอยู่เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยามว่า
๑. สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง....
๒. สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์....
๓. ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา....
ตถาคตตรัสรู้ เข้าถึงหลักนั้นแล้ว จึงบอก แสดง วางเป็นแบบ ตั้งเป็นหลัก เปิดเผย แจกแจง ทำให้เข้าใจง่ายว่า “สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา”(อง,ติก.๒๐/๕๗๖/๓๖๘)

ไตรลักษณ์นี้ ในอรรถกถาบางทีเรียกว่า “สามัญลักษณะ” ในฐานะเป็นลักษณะร่วม ที่มีแก่สิ่งทั้งหลายเป็นสามัญเสมอเหมือนกัน คือ ทุกอย่างที่เป็น🔎สังขตะ เป็นสังขาร ล้วนไม่เที่ยง คงทนอยู่มิได้ เสมอเหมือนกันทั้งหมด ทุกอย่างที่เป็นธรรม ไม่ว่าสังขตะคือสังขาร หรืออสังขตะคือวิสังขาร ก็ล้วนมิใช่ตน ไม่เป็นอัตตา เสมอกันทั้งสิ้น เพื่อความเข้าใจง่าย ๆ จะแสดงความหมายของไตรลักษณ์ (The Three Characteristics of Existence) โดยย่อ ดังนี้

๑. อนิจจตา (Impermanence) ความไม่เที่ยง ความไม่คงที่ ความไม่ยั่งยืน ภาวะที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อม และ
สลายไป
๒. ทุกขตา (Stress and Conflict) ความเป็นทุกข์ ภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัว ภาวะที่กดดัน ฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัว เพราะปัจจัยที่ปรุงแต่งให้มีสภาพเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้คงอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ ภาวะที่ไม่สมบูรณ์มีความบกพร่องอยู่ในตัว ไม่ให้ความสมอยากแท้จริง หรือความพึงพอใจเต็มที่แก่ผู้อยากด้วยตัณหา และก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้เข้าไปอยากเข้าไปยึดด้วยตัณหาอุปาทาน
๓. อนัตตตา (Soullessness หรือ Non-Self) ความเป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน ความไม่มีตัวตนจริงแท้ที่จะเป็นเจ้าของครอบครองสั่งบังคับให้เป็นไปอย่างไรๆ ได้

คำว่า “สังขาร” ในไตรลักษณ์นี้ ต้องเข้าใจว่าต่างกับคำว่าสังขารในขันธ์ ๕,
- ในขันธ์ ๕ สังขาร = ความดีความชั่วที่ปรุงแต่งจิตใจ เป็นนามธรรมอย่างเดียว
- ส่วนในไตรลักษณ์ สังขาร = สิ่งทั้งปวงที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง หรือที่เกิดจากส่วนประกอบต่างๆ ประชุมกันเข้า จะเป็นรูปธรรม หรือนามธรรมก็ตาม คือ เท่ากับขันธ์ ๕ ทั้งหมด 

สิ่งทั้งหลายทั่วไป มีอยู่เป็นไปในรูปของกระแส ที่ประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ อันสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันเกิดดับสืบต่อกันไปอยู่ตลอดเวลาไม่ขาดสาย จึงเป็นภาวะที่ไม่เที่ยง เมื่อแต่ละสิ่งแต่ละส่วนที่สัมพันธ์กัน เกิดดับไม่คงที่ และเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่อาศัย ก็ย่อมมีความบีบคั้น กดดัน ขัดแย้ง และแสดงถึงความบกพร่องไม่สมบูรณ์อยู่ในตัว และทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นไปในรูปกระแสที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลา ขึ้นต่อเหตุปัจจัยเช่นนี้ก็ตาม ไม่ขึ้นต่อเหตุปัจจัย ก็ตาม ก็มีภาวะที่เป็นอย่างนั้นๆ ตามธรรมดาของมันอยู่แล้ว จึงย่อมไม่เป็นไม่มีตัวตน อะไรที่เหมือนกับมาแฝงมาซ้อนมาคุม ดังเป็นเจ้าของครอบครองสั่งบังคับให้เป็นไปอย่างไรๆ ได้ตามที่ปรารถนา

ในกรณีของสัตว์บุคคล ให้แยกว่า สัตว์บุคคลนั้นประกอบด้วยขันธ์ ๕ เท่านั้น ไม่มีสิ่งใดอื่นอีกนอกเหนือจากขันธ์ ๕ เป็นอันตัดปัญหาเรื่องที่จะมีตัวตนเป็นอิสระอยู่ต่างหาก จากนั้นหันมาแยกขันธ์ ๕ ออกพิจารณาแต่ละอย่างๆ ก็จะเห็นว่า ขันธ์ทุกขันธ์ไม่เที่ยง เมื่อไม่เที่ยง ก็เป็นทุกข์ เป็นสภาพบีบคั้นกดดันแก่ผู้เข้าไปยึด เมื่อเป็นทุกข์ ก็ไม่ใช่ตัวตน ที่ว่าไม่ใช่ตัวตน ก็เพราะแต่ละอย่างๆ ล้วนเกิดจากเหตุปัจจัย ไม่มีตัวตนของมันเอง อย่างหนึ่ง เพราะไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นของของสัตว์บุคคลนั้นแท้จริง (ถ้าสัตว์บุคคลนั้นเป็นเจ้าของขันธ์ ๕ แท้จริง ก็ย่อมต้องบังคับเอาเองให้เป็นไปตามความต้องการได้ และไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปจากสภาพที่ต้องการได้ เช่น ไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บป่วย เป็นต้น)

อย่างหนึ่งพุทธพจน์แสดงไตรลักษณ์ในกรณีของขันธ์ ๕ มีตัวอย่างที่เด่น ดังนี้
“ภิกษุทั้งหลาย รูป..เวทนา สัญญา สังขาร...วิญญาณ เป็นอนัตตา หากรูป...เวทนา....สัญญา...สังขาร วิญญาณ จักเป็นอัตตา (ตัวตน) แล้วไซร้ มันก็จะไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามปรารถนาในรูป ฯลฯ ในวิญญาณว่า “ขอรูป...ขอเวทนา...ขอสัญญา...ขอสังขาร....ขอวิญญาณ ของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย”

แต่เพราะเหตุที่รูป ฯลฯ วิญญาณ เป็นอนัตตา ฉะนั้น รูป ฯลฯ วิญญาณ จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และใครๆ ไม่
อาจได้ตามความปรารถนา ในรูป ฯลฯ วิญญาณ ว่า
“ขอรูป.ขอเวทนา...ขอสัญญา...ขอ สังขาร...ขอวิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย”
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายมีความเห็นเป็นไฉน?”
“รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง?” (ตรัสถามทีละอย่าง จนถึง วิญญาณ)
"ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเฝ้าเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา?”
ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล รูป เวทนา...สัญญา...สังขาร วิญญาณ อย่างใด อย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ทั้งภายในและภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ทั้งที่ไกลและที่ใกล้ ทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันถูกต้อง ตามที่มันเป็นว่า “นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่นั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา"(ส.ข.๑๗/๑๒๗-๑๒๔/๘๒-๘๔)

มีปราชญ์ฝ่ายฮินดูและฝ่ายตะวันตกหลายท่าน พยายามแสดงเหตุผลว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงปฏิเสธอัตตา หรือ อาตมัน ในชั้นสูงสุด ทรงปฏิเสธแต่เพียงธรรมที่เป็นปรากฏการณ์ต่าง ๆ อย่างเช่นในพระสูตรนี้เป็นต้น ทรงปฏิเสธขันธ์ ๕ ทุกอย่างว่าไม่ใช่อัตตา เป็นการแสดงเพียงว่า ไม่ให้หลงผิดยึดเอาขันธ์ ๕ เป็นอัตตา เพราะอัตตาที่แท้จริงซึ่งมีอยู่นั้น ไม่ใช่ขันธ์ ๕ และยกพุทธพจน์อื่นๆ มาประกอบอีกมากมาย เพื่อแสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธเฉพาะธรรมที่เป็นปรากฏการณ์ต่างๆ ว่าไม่ใช่อัตตา แต่ทรงยอมรับอัตตาในขั้นสูงสุด และพยายามอธิบายว่า นิพพานมีสภาวะอย่างเดียวกับอาตมัน หรือว่านิพพานนั่นเอง คือ อัตตา เรื่องนี้ ถ้ามีโอกาสจะได้วิจารณ์ในตอนที่เกี่ยวกับนิพพาน ในขั้นนี้ แค่ชี้หลักได้ง่ายๆ คือ ความจริงก็ชัดเจนอยู่ทุกเวลาว่า สิ่งทั้งหลายมีสภาวะของมันเองอยู่แล้วจึงย่อมมีอัตตาไม่ได้ และสิ่งทั้งหลายจะมีอยู่เป็นอยู่ตามภาวะของมันอย่างนั้นๆ ได้ ก็ต้องไม่มีอัตตา (ถ้ามีอัตตาสิ่งทั้งหลายก็ดำรงสภาวะของมันอยู่ไม่ได้ คือเป็นอยู่เป็นไปตามภาวะของมันที่เป็นอย่างนั้นๆ ไม่ได้)

ส่วนในที่นี้ขอกล่าวสั้นๆ เพียงในแง่จริยธรรมว่า ปุถุชน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับการศึกษาอบรมมาในระบบความเชื่อถือเกี่ยวกับเรื่องอาตมัน ย่อมมีความโน้มเอียงในทางที่จะยึดถือหรือไขว่คว้าไว้ให้มีอัตตาในรูปหนึ่งรูปใดให้จงได้ เป็นการสนองความปรารถนาที่แฝงอยู่ในจิตส่วนลึกที่ไม่รู้ตัว เมื่อจะต้องสูญเสียความรู้สึกว่ามีตัวตนในรูปหนึ่ง (ชั้นขันธ์ ๕) ไป ก็พยายามยึดหรือคิดสร้างเอาที่เกาะเกี่ยวอันใหม่ขึ้นไว้ แต่ตามหลักพุทธธรรมนั้นมิได้มุ่งให้ปล่อยอย่างหนึ่ง เพื่อไปยึดอีกอย่างหนึ่ง หรือพ้นอิสระจากที่หนึ่ง เพื่อตกไปเป็นทาสอีกที่หนึ่ง อาการที่สิ่งทั้งหลายมีอยู่ในรูปกระแส มีความสัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นปัจจัยสืบต่อกัน และมีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างไร ยังจะต้องอธิบายด้วยหลักปฏิจจสมุปบาทต่อไปอีก ความจึงจะชัดยิ่งขึ้น

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
    ตัวกฎ หรือตัวสภาวะ
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา



วันศุกร์

บันทึกพิเศษท้ายบท (บันทึกที่ ๑ เรื่อง ปัญญา ๓)

บันทึกพิเศษท้ายบท

เพื่อความเข้าใจลึกลงไปจำเพาะเรื่อง

🔅 บันทึกที่ ๑: เรื่อง ปัญญา ๓
ปัญญานั้น แท้จริงก็มีอย่างเดียว ได้แก่ธรรมชาติที่เป็นความรู้เข้าใจสภาวะ คือหยั่งถึงความจริงของสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น แต่ก็นิยมจำแนกแยกประเภทออกไปเป็นหลายอย่าง ตามระดับของความรู้เข้าใจบ้าง ตามหน้าที่หรือแง่ด้านของการทำงานของปัญญาบ้าง ตามทางที่ปัญญานั้นเกิดขึ้นบ้าง เป็นต้น

ปัญญาชุดหนึ่งซึ่งจำแนกตามแหล่งที่มา หรือทางเกิดของปัญญา ได้แก่ ปัญญา ๓ อย่าง ชุดที่แยกออกไปเป็นสุตมยปัญญา จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญา คำท้ายคือปัญญาเป็นตัวกลางร่วมกัน ส่วนคำข้างหน้าที่ต่างกัน บอกที่มาหรือแหล่งเกิดของปัญญานั้น ว่า หนึ่ง เกิดจากสุตะ (การสดับฟัง การอ่าน และเล่าเรียน) สอง เกิดจากจินตะ (การคิดไตร่ตรองพิจารณา) และสาม เกิดจากภาวนา (การปฏิบัติต่อจากนั้น)

ปัญญา ๓ อย่างชุดนี้ ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงน้อย แต่มีผู้นำมาพูดกันค่อนข้างบ่อย ข้อสำคัญคือเข้าใจความหมายกันไม่ค่อยชัด จึงควรแสดงคำอธิบายที่พ่วงมากับถ้อยคำเหล่านี้สืบแต่เดิมไว้ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา เริ่มด้วยการเรียงลำดับ ปัญญา ๓ นั้น ตามที่พูดกัน มักเรียงสุตมยปัญญาเป็นข้อแรก แต่ของเดิมในพระไตรปิฎก ทั้งในพระสูตร (ที.ปา.๑๑/๒๒๔/๒๓๑) และในพระอภิธรรม (อภิ.วิ.๓๕๗๙๗/๕๒๒) เริ่มด้วยจินตามยปัญญาเป็นข้อแรก อย่างไรก็ตามในเนตติปกรณ์ ซึ่งพระเถรวาทสายพม่าถือเป็นคัมภีร์หนึ่งในพระไตรปิฎกด้วย (จัดรวมไว้ใน ขุททกนิกาย แห่งพระสุตตันตปิฎก) เรียงสุตมยปัญญาขึ้นก่อน (และเรียกชื่อต่างไปเล็กน้อยเป็น สุตมยปัญญา จินตามยีปัญญา ภาวนามยปัญญา) และต่อมา ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา ฎีกา นิยมมากขึ้นในทางที่จะเรียกชื่อเป็น สุตมยญาณ จินตามยญาณ และภาวนามยญาณ ในที่นี้ ขอเรียงลำดับ ปัญญา ๓ ตามพระไตรปิฎกชั้นเดิมไว้ก่อน พร้อมด้วยแสดงความหมายสั้นๆ ดังนี้

๑. จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิดพิจารณา (ปัญญาเกิดจากโยนิโสมนสิการที่ตั้งขึ้นในตนเอง)
๒. สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการสดับเล่าเรียน (ปัญญาเกิดจากปรโตโฆสะ)
๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการปฏิบัติบำเพ็ญ (ปัญญาเกิดจากปัญญาสองอย่างแรกนั้นแล้วหมั่นมนสิการในประดาสภาวธรรม)

การที่ท่านเรียงจินตามยปัญญาขึ้นก่อน หรือสุตมยปัญญาขึ้นก่อนนั้น จับความได้ว่า อยู่ที่การคำนึงถึงบุคคลเป็นหลักหรือมองธรรมตามความเกี่ยวข้องของบุคคล ในกรณีที่เรียงจินตามยปัญญาเป็นข้อแรก ก็คือ ท่านเริ่มที่บุคคลพิเศษประเภทมหาบุรุษก่อน หมายความว่า พระพุทธเจ้า (และพระปัจเจกพุทธเจ้า) ผู้ค้นพบและเปิดเผยความจริงขึ้นนั้น มิได้อาศัยสุตะ ไม่ต้องมีปรโตโฆสะคือการฟังจากผู้อื่น แต่รู้จักคิดพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการของตนเอง สามารถสืบสาว เรียงต่อ ไล่ตามประสบการณ์ทั้งหลายอย่างถึงทันทั่วรอบทะลุตลอด จนหยั่งเห็นความจริงได้ จากจินตามยปัญญาจึงต่อเข้าภาวนามยปัญญาไปเลย ไม่ต้องอาศัยสุตมยปัญญา)

แต่เมื่อมองที่บุคคลทั่วไป ท่านเริ่มด้วยสุตมยปัญญาเป็นข้อแรก โดยมีคำอธิบายตามลำดับว่า บุคคลเล่าเรียนสดับฟังได้สุตะ ได้ข้อธรรม ได้ข้อมูลแล้ว เกิดศรัทธาขึ้นเป็นพื้นเบื้องต้น จึงนำไปใคร่ครวญตรวจสอบพิจารณาได้ความรู้เข้าใจในสุตะนั้น ก็เกิดเป็นสุตมยปัญญา แล้วในขั้นต่อไป อาศัยสิ่งที่ได้เรียนสดับนั้นเป็นฐาน เขาตรวจสอบชั่งตรองเพ่งพินิจขบคิดลึกชัดลงไป มองเห็นเหตุผลความสัมพันธ์เป็นไปชัดเจน เกิดเป็นจินตามยปัญญา เมื่อเขาใช้ปัญญาทั้งสองนั้นขะมักเขม้นมนสิการในสภาวธรรมทั้งหลาย (พูดอีกสำนวนหนึ่งว่า อาศัยหรือตั้งอยู่ในปัญญาทั้งสองนั้นแล้ว เจริญวิปัสสนา (สุตจินตามยญาเณสุ หิปติฏฐิโต วิปสุสน์ อารภูติ, เนตุติ.) แล้วเกิดญาณ มีความรู้สว่างประจักษ์แจ้งความจริง เป็นมรรคที่จะให้เกิดผลขึ้น ก็เป็นภาวนามยปัญญา

พึงสังเกตด้วยว่า สำหรับคนทั่วไปนี้ ถึงจะได้รับสุตะคือข่าวสารข้อมูลมากมาย แต่คนจำนวนมากก็ได้แค่สุตะเท่านั้นหาได้ปัญญาไม่ คือ ในข้อที่ ๑ นั้น ต้องแยกว่า คนจำนวนมากได้แค่สุตะ มีเพียงบางคนที่อาศัยสุตะนั้นแล้วสามารถทำให้เกิดสุตมยปัญญา น่าสังเกตว่า ในคัมภีร์วิภังค์แห่งอภิธรรมปิฎก ท่านอธิบายภาวนามยปัญญาว่า ได้แก่ “สมาปนนสุส ปญญา” ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า “ปัญญาของผู้ประกอบ” หรือ “ปัญญาของผู้ถึงพร้อม” (สมาปนุน คือประกอบ หรือถึงพร้อมนี้ ในที่ทั่วไป ใช้ได้ทั้งทางดีและทางร้าย เช่น ถึงพร้อมด้วยสิกขาสาชีพ ประกอบการบรรพชา ถึงพร้อมด้วยอิจฉาและโลภะ ประกอบการสนุกสนาน เล่นหัว ประกอบด้วยโสกะปริเทวะ เปี่ยมด้วยกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก ฯลฯ แต่เวลาใช้โดดๆ ในทางธรรม มักหมายถึงเข้าฌานสมาบัติ) และอรรถกถาแห่งคัมภีร์วิภังค์นั้น (วิภงด.อ.๕๔๑) ไขความว่า “สมาปตฺติสมงคิสส, อนุโตสมาปตติย์ ปรตุตา ปญญา ภาวนามยา นาม” (ปัญญาของผู้ประกอบด้วยสมาบัติ อันเป็นไปในสมาบัติ ชื่อว่าเป็นภาวนามัย) ทำให้รู้สึกว่าความหมายจำกัดเฉพาะมาก แต่คัมภีร์ต่างๆ เช่น ปรมัตถมัญชุสา อธิบายว่า คำไขความดังกล่าวนั้นเป็นเพียงการแสดงตัวอย่าง โดยสาระก็มุ่งเอาการเห็นแจ้งความจริงที่เป็นมัคคปัญญาอันเป็นไปด้วยวิปัสสนานั่นเอง

มีแง่ของการอธิบายที่กินความคลุมถึงฌานสมาบัติ และมองได้กว้างออกไป พร้อมทั้งเข้าใจง่ายขึ้นด้วย คือจับที่คำว่าอัปปนา ซึ่งหมายถึงสมาธิที่เป็นแกนของฌานทั้งหมด ดังที่ท่านไขความว่า “ปัญญาที่สำเร็จด้วยอำนาจภาวนา อันถึงอัปปนาชื่อว่า "ภาวนามัย" (วิสุทธิ.๓/๔) คำไขความตรงนี้ ที่กล่าวถึงภาวนา โยงไปถึงข้อความข้างต้นที่ว่าขะมักเขม้นมนสิการในประดาสภาวธรรม ซึ่งก็คือ🔎วิปัสสนา เมื่อวิปัสสนาปัญญาเห็นแจ้งชัดถึงขีด จิตก็เป็นสมาธิถึงอัปปนา (ถึงฌาน) ความประจักษ์แจ้งจดจิตสนิทแน่ว ถึงกับทำให้สิ่งหมักหมมผูกรัดหุ้มพอกจิต ที่เรียกว่ากิเลส ถูกสลายล้างออกไป จิตพ้นจากกิเลสสิ้นเชิงหรือบางส่วนก็ตาม ความรู้แจ้งถึงขั้นทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของชีวิตอย่างนี้ได้ คือภาวนามยปัญญา ซึ่งเป็นมรรคญาณ 

มีความรู้ประกอบอีกหน่อยว่า ในเนตติปกรณ์ (เนตติ.๘) ท่านโยงปัญญา ๓ นี้ กับการจัดประเภทบุคคล ๔ ด้วย โดยแสดงความหมายของบุคคล ๓ ประเภทแรกที่เป็นเวไนย (เวไนย ๓) ให้เห็นทุนเดิมก่อนจะก้าวสู่ภาวนามยปัญญาว่า
  • คนที่มี ๒ อย่าง ทั้งสุตมยปัญญา และจินตามยปัญญา เป็น อุคฆฏิตัญญู (ผู้รู้ได้ฉับพลันเพียงแค่ฟังหัวข้อก็เข้าใจ) 
  • คนที่มีสุตมยปัญญาอย่างเดียว เป็น วิปจิตัญญ (ผู้รู้เข้าใจต่อเมื่อมีการขยายความ)
  • คนที่ยังไม่มีปัญญา ๒ อย่าง ทั้งสุตมยปัญญา และจินตามยปัญญา เป็น เนยยะ (ผู้ที่จะพึงแนะนำโดยฝึกสอนอบรมให้เข้าใจต่อไป) 
ส่วนปทปรมะ (พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ) ไม่เป็นเวไนย เป็นอันไม่ต้องพูดถึง เมื่อรู้เข้าใจหลักต่างๆ ข้างต้นเป็นพื้นฐานแล้ว อาจจะประมวลเป็นคำอธิบาย ปัญญา ๓ สำหรับคนทั่วไป ที่จะเข้าใจได้ง่ายๆ คร่าวๆ ทวนความก่อนว่า อัจฉริยบุคคล ในขั้นพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นนักคิดที่แท้จริง คือมีปัญญายิ่งใหญ่เหนือคนทั่วไป อย่างที่ว่า ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ทั้งหลาย ที่คนอื่นๆ พบเห็นกันมาเป็นสิบปีร้อยปีพันปีแล้ว กี่รุ่นกี่ชั่วคน เขาก็อยู่กันมา ก็รู้เข้าใจตามๆ กันมาอยู่แค่นั้น แต่พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมา ทรงมีโยนิโสมนสิการ ที่จะมองเห็นสิ่งทั้งหลายในแง่มุมอื่นๆ ที่คนทั่วไปนึกไม่ถึง มองไม่เห็น สามารถคิดสืบสาวหยั่งเห็นความจริงที่ลึกล้ำอยู่เบื้องหลัง คิดริเริ่มใหม่ๆ ในสิ่งที่คนอื่นยังไม่เคยคิด ทำให้มีการมองใหม่เห็นใหม่ค้นพบใหม่ ได้ความรู้ความเข้าใจใหม่ และก้าวต่อไปในโยนิโสมนสิการนั้น จนเข้าถึงความจริงที่ไม่มีใครอื่นหยั่งถึงได้

ปัญญาที่เกิดจากการรู้จักคิดด้วยโยนิโสมนสิการของตนเองอย่างนี้ เรียกว่าจินตามยปัญญา ซึ่งพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงมีโดยไม่ต้องอาศัยการสั่งสอนแนะนำจากผู้อื่น และก็ไม่มีคนอื่นมีปัญญารู้ที่จะมาบอกมาสอนให้ได้ จึงเป็นปัญญาของบุคคลพิเศษ ที่คนทั่วไปไม่มี ถ้าไม่มีบุคคลพิเศษที่มีจินตามยปัญญาอย่างนี้ การค้นพบใหม่ การแหวกวงล้อมหรือกรอบทางปัญญาออกไป ก็ไม่อาจเป็นไปได้ และคนก็อยู่ก็รู้ก็คิดตามๆ กันเรื่อยๆ ไป ในเมื่อคนทั่วไปไม่มีจินตามยปัญญาจากการใช้โยนิโสมนสิการเริ่มคิดด้วยตนเอง จึงต้องอาศัยการสดับตรับฟังเล่าเรียนคำแนะนำสั่งสอนจากผู้อื่นเป็นจุดเริ่ม นี่คือเริ่มจากการสร้างสุตมยปัญญาก่อน ในขณะที่บุคคลพิเศษข้ามสุตมยปัญญานี้ไป

สำหรับในที่นี้ เมื่อแยกบุคคลพิเศษออกไปแล้ว จึงจะกล่าวถึง ปัญญา ๓ ครบจำนวน และเรียงลำดับโดยถือเอาคนทั่วไปเป็นที่ตั้ง ดังนี้

๑. สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากสุตะ ได้แก่ปัญญาที่คนทั่วไปจะพัฒนาขึ้นได้ โดยต้องอาศัยสุตะ คือ เมื่อยังคิดเองไม่เป็น หรือคิดไปไม่ถึง มองอะไรๆ ไม่ออก ไม่เข้าใจ ก็ต้องมีผู้แนะนำสั่งสอนบอกให้ เช่นมีท่านที่เรียกว่าเป็นกัลยาณมิตร อย่างพระพุทธเจ้า ท่านผู้รู้ ครูอาจารย์ มาแนะนำชี้แจงอธิบาย จึงรู้เข้าใจหยั่งความจริงได้ในระดับหนึ่ง

๒. จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากจินตะ ได้แก่การรู้จักคิด คือ เมื่อได้ความรู้เข้าใจในสุตะ เกิดมีสุตมยปัญญาจากการเล่าเรียนสดับฟังแล้ว ก็ฝึกโยนิโสมนสิการให้มองเห็นรู้เข้าใจกว้างไกลลึกรอบทั่วตลอดแยกโยงได้ ทำให้ก้าวต่อไปในการเข้าถึงความจริง และใช้ความรู้อย่างได้ผล

๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากภาวนา คือการปฏิบัติบำเพ็ญ ทำให้เป็นให้มีขึ้นได้จริง โดยลงมือทำกับประสบการณ์ตรง หมายถึงปัญญาที่พัฒนาต่อจากสุตมยปัญญาและจินตามยปัญญาสองอย่างแรกนั้น คืออาศัยปัญญาสองอย่างแรกนั้น พัฒนาต่อไปด้วยการมนสิการ (หมายถึงโยนิโสมนสิการ) ที่ตัวสภาวะ จนเกิดปัญญารู้แจ้งจริงที่สำเร็จเป็นมรรคให้บรรลุผล

ขอให้สังเกตไว้เป็นข้อสำคัญประการแรกว่า ภาวนามยปัญญานี้ อาศัยและต่อจากสุตมยปัญญาและจินตามยปัญญา ไม่ใช่ว่ายังไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย ไปนั่งสมาธิ แล้วมาบอกว่าเข้าฌานได้ภาวนามยปัญญา อย่างนั้นไม่ใช่ พึงตระหนักว่า คนทั่วไปนี้แม้แต่จินตามยปัญญาก็ยังทำให้เกิดเองไม่ได้ ต้องเริ่มจากสุตมยปัญญา (สุตมยปัญญาก็ยังไม่ค่อยจะได้ มีแต่ได้แค่สุตะ อย่างที่พูดแล้วข้างต้น)

จุดสังเกตสำคัญประการที่สอง คือ โยนิโสมนสิการ เป็นตัวทำงาน เรียกได้ว่าเป็นแกนในการพัฒนาหรือสร้างปัญญาทั้งสามอย่างนี้ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่บุคคลพิเศษอย่างพระพุทธเจ้า ที่ว่าตั้งต้นด้วยจินตามยปัญญา โดยไม่ต้องอาศัยสุตะจากคนอื่น (ไม่ต้องพึ่งปรโตโฆสะ) ก็คือใช้โยนิโสมนสิการที่มีขึ้นมาเป็นของเริ่มต้นในตนเอง เป็นที่มาของปัญญาที่เกิดจากการคิด ที่ทำให้คิดเป็นได้อย่างเฉพาะพิเศษ ส่วนคนทั่วไป แม้จะได้พึ่งสุตะจากผู้อื่น แต่เมื่อจะก้าวต่อไปจากนั้น จะให้ปัญญาพัฒนาขึ้นไป ก็ต้องใช้โยนิโสมนสิการจนกระทั่ง ในที่สุดการเกิดของปัญญาข้อที่ ๓ อันสูงสุดนั้น มีการทำงานของโยนิโสมนสิการเป็นสาระสำคัญเลยทีเดียว

เรื่องจึงเป็นอย่างที่พูดแล้วแต่ต้นว่า ปัญญา ๓ อย่างในชุด สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญานี้ ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงน้อยนัก พระสารีบุตรประมวลมาแสดงไว้ เป็นการให้มองเห็นแหล่งที่เกิดที่มาของปัญญา ไม่เป็นหลักที่ท่านเน้นย้ำมาก

เรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นย้ำบ่อยมาก ตรัสอยู่เสมอ ก็คือ โยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติในการทำให้เกิดปัญญา เมื่อมีโยนิโสมนสิการแล้ว ปัญญาทั้งสามนั้นก็มาได้ และให้สัมฤทธิ์บรรลุจุดหมาย

ก็มาสรุปไว้ท้ายนี้อีกทีว่า คนทั้งหลายที่รับข่าวสารข้อมูลกันนั้น บางคนได้แค่สุตะ โดยไม่ได้ปัญญาเลย แม้แต่สุตมยปัญญาก็ไม่ได้ บางคนรู้จักมนสิการไตร่ตรองพิจารณาสุตะนั้นแล้ว สามารถทำสุตมยปัญญาให้เกิดขึ้น บางคนได้สุตมยปัญญาแล้ว รู้จักมนสิการคิดพินิจยิ่งขึ้นไป ก็พัฒนาจินตามยปัญญาให้เกิดขึ้นมา บางคน ใช้สุตมยปัญญา และจินตามยปัญญา ที่มีที่ได้แล้วนั้น เป็นฐาน พัฒนาปัญญาด้วยโยนิโสมนสิการยิ่งขึ้นไป ก็อาจทำภาวนามยปัญญาให้เกิดขึ้นได้

🔅 บทที่ ๒ อายตนะ ๖
ประเภทของความรู้
ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้
บันทึกพิเศษท้ายบท
    บันทึกที่ ๑: เรื่อง ปัญญา ๓