วันอาทิตย์

อ. เสถียร โพธินันทะ #๑

อาจารย์เสถียร โพธินันทะ
ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาคนหนึ่งของไทย ผู้บุกเบิกการศึกษาพระพุทธศาสนามหายาน และอดีตเลขาธิการคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย

๑. ประวัติมนุษยชาติและศาสนา
๒. ศาสนาของชนชาติอริยกะโบราณ
๓. การตั้งถิ่นฐานและศาสนาของชาวอารยัน
๔. เหตุการณ์สมัยพุทธกาล
๕. ปฐมสังคายนา
๖. ทุติยสังคายนา
๗. การรุกรานของพวกกรีกและพระเจ้าอโศก
๘. ความรุ่งเรืองของพุทธศาสนา
๙. การแผ่ขยายของพุทธศาสนา
๑๐. การเสื่อมสลายของพุทธศาสนา
๑๑. พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์
๑๒. พทธศาสนาในเอเซียบรูพา ๑
๑๓. พทธศาสนาในเอเซียบรูพา ๒
๑๔. พุทธศาสนาในจีน ๑
๑๕. พุทธศาสนาในจีน ๒
๑๖. พุทธศาสนาในธิเบต
๑๗. พุทธศาสนาในญี่ปุ่น
๑๘. พุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ
๑๙. พุทธศาสนาในประเทศไทย
๒๐. สุนทรียภาพในพระพุทธศาสนา
๒๑. พุทธวิธีในการปฏิรูป
๒๒. ประวัติ อ.เสถียร โพธินันทะ
๒๓. ปฏิจจสมุปบาท ๑
๒๔. ปฏิจจสมุปบาท ๒
๒๕. ปฏิจจสมุปบาท ๓
๒๖. ปฏิจจสมุปบาท ๔
๒๗. คัมภีร์กถาวัตถุ ๑
๒๘. คัมภีร์กถาวัตถุ ๒
๒๙. ขันทวาที
๓๐. ปกติวาทีสมวายวาที




วันเสาร์

๑.๘ ธรรมนิยาม

ธรรมนิยาม คือ หลักความจริงที่มีอยู่โดยธรรมดาตามที่ดำรงอยู่หรือเป็นไปของมันเอง พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ มันก็มีก็เป็นไปของมันอยู่อย่างนั้นๆ (นิยามแปลว่ากำหนดอันแน่นอน) มี ๒ หมวดสำคัญ คือ

๑. ไตรลักษณ์
๒. ปฏิจจสมุปบาท

ถ้าจะเข้าใจไตรลักษณ์ให้ชัด ต้องลงให้ถึงปฏิจจสมุปบาท เช่น ที่ว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงนั้น มันไม่ได้เปลี่ยนไปอย่างเลื่อนลอย แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย จึงต้องศึกษาระบบความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลาย ข้อสังเกตที่สำคัญ (เทียบเคียงกับหลัก อริยสัจ ๔) เมื่อขันธ์ ๕ เป็นไปตามปฏิจจสมุปบาท โดยมีลักษณะเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันจึงมีสภาพเป็นที่ตั้ง ที่ก่อตัวของทุกข์ หรือเป็นที่รวมไว้แห่งศักยภาพของการที่จะเป็นทุกข์ (เข้าใจว่าเพ่งที่ทุกข์ทางใจเป็นหลัก) ขันธ์  อันประกอบพร้อมด้วยความยึดมั่นถือมั่น (อุปาทานขันธ์ ) จึงเป็นความหมายของ ทุกขอริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท ถือเป็นความหมายของ สมุทัยอริยสัจ ดังที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทสมุทัยวาร

นอกจากธรรมที่เป็นสังขตธรรมหรือสังขาร ก็ยังมีธรรมที่เป็นอสังขตธรรม ซึ่งพ้นเหนือปฏิจจสมุปบาท ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง จึงไม่เป็น อนิจจัง และทุกขัง นี่ก็คือ นิโรธอริยสัจ อันได้แก่ นิพพาน

ส่วนอริยสัจข้อที่ ๔ มรรค คือ วิธีปฏิบัติในการที่จะให้กระบวนการปฏิจจสมุปบาทสมุทัยวาร ไม่เป็นไป หรือพลิกกลับเป็นปฏิจจสมุปบาทนิโรธวารนั่นเอง ในการปฏิบัติเมื่อแยกแยะออกไปแล้วจัดเป็นระบบชีวิตที่ดีงามเรียกว่า มรรคมีองค์ ๘

พุทธพจน์ ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว ก็ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง

ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนั้น อะไรเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก เป็นข้อแตกต่างระหว่างอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ กับปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้?

ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ย่อมเศร้าโศกคร่ำครวญ เขาย่อมเสวยเวทนาทั้ง ๒ อย่าง คือ เวทนาทางกาย และเวทนาทางใจ

เปรียบเหมือนนายขมังธนู ยิงบุรุษด้วยลูกศรดอกหนึ่ง แล้วยิงซ้ำด้วยลูกศรดอกที่ ๒ อีก เมื่อเป็นเช่นนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศรทั้ง ๒ ดอก คือ ทั้งทางกาย ทั้งทางใจ ฉันใด ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ก็ฉันนั้น ย่อมเสวยเวทนาทั้ง ๒ อย่าง คือ ทั้งทางกาย และทางใจ

อนึ่ง เพราะถูกทุกขเวทนานั้นกระทบ เขาย่อมเกิดความขัดใจ เมื่อเขามีความขัดใจเพราะทุกขเวทนา ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนาก็ย่อมนอนเนื่อง เขาถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ก็หันเข้าระเริงกับกามสุข เพราะไม่รู้ทางออกจากทุกขเวทนา นอกไปจากกามสุข และเมื่อเขาระเริงอยู่กับกามสุข ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้นย่อมนอนเนื่อง เขาย่อมไม่รู้เท่าทันความเกิดขึ้น ความสูญสลาย ข้อดีข้อเสีย และทางออกของเวทนาเหล่านั้นตามที่มันเป็น เมื่อเขาไม่รู้ตามที่มันเป็น อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา ย่อมนอนเนื่อง

ถ้าได้เสวยสุขเวทนา เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว ถ้าเสวยทุกขเวทนา เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว, นี้แล เรียกว่า ปุถุชน ผู้มิได้เรียนรู้ ผู้ประกอบด้วยชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เราเรียกว่าผู้ประกอบด้วยทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ ถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก คร่ำครวญ เธอย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่เสวยเวทนาทางใจ

เปรียบเหมือนนายขมังธนู ยิงบุรุษด้วยลูกศร แล้วยิงซ้ำด้วยลูกศรดอกที่ ๒ ผิดไป เมื่อเป็นเช่นนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศรดอกเดียว ฉันใด อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ก็ฉันนั้น ย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ

อนึ่ง เธอย่อมไม่มีความขัดใจเพราะทุกขเวทนานั้น เมื่อไม่มีความขัดใจเพราะทุกขเวทนานั้น ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนานั้น ย่อมไม่นอนเนื่อง เธอถูกทุกขเวทนากระทบ ก็ไม่หันระเริงเข้ากับกามสุข เพราะอริยสาวกผู้เรียนรู้แล้ว ย่อมรู้ทางออกจากทุกขเวทนา นอกจากกามสุขไปอีก เมื่อไม่ระเริงกับกามสุข ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้นก็ไม่นอนเนื่อง เธอย่อมรู้เท่าทันความเกิดขึ้น ความสูญสลาย ข้อดี ข้อเสีย และทางออกของเวทนาเหล่านั้นตามที่มันเป็น เมื่อเธอรู้ตามที่มันเป็นอวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา ก็ไม่นอนเนื่อง

ถ้าเสวยสุขเวทนา ก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว ถ้าเสวยทุกขเวทนา ก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว นี้เรียกว่า อริยสาวก ผู้ได้เรียนรู้ ผู้ปราศจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เราเรียกว่า ผู้ปราศจากทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก เป็นข้อแตกต่าง ระหว่างอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ กับปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ (สัลลัตถสูตร)


ธรรมดาโลก ธรรมนิยาม

สังขตธรรม (ธรรมที่ถูกปรุงแต่ง, สิ่งทั้งหลายในโลกทั้งรูปธรรมและนามธรรม) ล้วนเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย เรียกว่า นิยาม  คือ ความเป็นไปอันมีระเบียบแน่นอน เพราะเมื่อมีเหตุปัจจัยอย่างนั้นๆแล้ว ก็จะมีความเป็นไปอย่างนั้นๆแน่นอน ประกอบด้วย

๑. อุตุนิยาม : เกี่ยวกับอุณหภูมิ
๒. พีชนิยาม : เกี่ยวกับพันธุกรรม
๓. จิตตนิยาม : เกี่ยวกับการทำงานของจิต
๔. กรรมนิยาม : การกระทำและผล
. ธรรมนิยาม : อาการที่เป็นเหตุเป็นผลแก่กันแห่งสิ่งทั้งหลาย (ข้ออื่นๆรวมลงได้ในข้อนี้ทั้งหมด)
อาจมีอีก ๑ อย่าง คือ
๖. สมมตินิยาม : กฎระเบียบต่างๆที่มนุษย์ตั้งขึ้นใช้ในสังคม ไม่มีผลกับความจริงตามธรรมชาติ และอาจสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับความจริงตามธรรมชาติก็ได้ สังคมที่เจริญแล้วคนทั้งหลายมีปัญญา มักบัญญัติสมมตินิยาม ได้สอดคล้องกับกรรมนิยาม เพื่อสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นในสังคม



วันศุกร์

ปฎิจจสมุปบาทนานาทัศนะ(หน้า๒)

คำว่า "ปัณณธรรม" นี้แหละในสมัยโบราณได้พัฒนาการมานานในรูปของคำว่าปัจจยุคปัณณธรรม คำนี้แหละมาจากในพระสูตรว่าปฏิจจสมุปปัณณธรรม มาถึงยุคพัฒนาทางอภิธรรม ศัพท์นี้ พระอาจารย์ก็ได้เขียนขึ้นว่าเป็นปัจจยุคปัณณธรรม คำที่เกิดจากปัจจัยคำนี้ ด้านในพระสูตรเรียกว่าปัณณธรรม เพราะฉะนั้นในปัฏฐานที่ท่านกล่าวว่าเป็นปัจจยธรรม ๑ ปัจจยะสมุปปัณณธรรม หรือปัจจยุคปัณณธรรม ๑ อันนี้มีแล้วในพระสูตร คือในคำว่าปาณธรรมกับปัณณธรรม

ทั้ง ๒ คำนี้แตกต่างกันอย่างไร ? 
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจว่าอะไรที่เป็นปาณธรรม ธรรมอันอาศัยการเกิด ? ทำไมจึงเป็นธรรมอันอาศัยการเกิด ? เพราะว่าตามพุทธมติ สรรพสิ่งในโลกนี้ที่เป็นไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเลยที่จะยืนอยู่ได้โดยเอกเทศ โดยตัวของมันเอง พุทธมติค้านเรื่องสมบูรณภาพนิยมไม่ว่าสมบูรณภาพนิยมนั้นจะปรากฏในรูปของวิญญาณ อันเป็นทิพย์ก็ดี หรือปรากฏในรูปของพระเจ้าอันเป็นทิพยสภาวะ เบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด ไม่ปรากฏ ก็ดี พระพุทธศาสนาคัดค้านทั้งสิ้น เพราะถือว่าสรรพสิ่งในโลกล้วนแต่อิงอาศัยกันเกิดทั้งนั้น ไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นได้โดด ๆ เดี่ยว ๆ โดยไม่ต้องแอบอิงอีกสิ่งหนึ่งสัมพันธ์กันเกิด

ทั้งนี้เราจะพูดง่าย ๆ ว่าพระพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องสัมพันธภาพนิยมก่อนไอสไตน์ตั้งสองพันกว่าปี ไอสไตน์เพิ่งจะมาค้นพบหลักทฤษฎีสัมพันธภาพนิยมในชั่วระยะเพียงไม่นานมานี้เอง แต่ว่าพระพุทธศาสานั้น ได้เข้าถึงหลักแห่งสัมพันธภาพนิยมตั้งสองพันกว่าปีมาแล้ว เพราะมองว่าสรรพสิ่งที่เป็นโลก โลกธรรมทั้งหมดนี้สัมพันธ์กันทั้งสิ้น ไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นธาตุแท้ของบริสุทธิ์เป็นอยู่ด้วยตัวมันเองไม่มีเลย หลักการอันนี้ในวิทยาศาสตร์สมัยก่อนหน้าไอสไตน์ไม่มีใครเชื่อ เพราะว่าวิทยาศาสตร์สมัยก่อนนั้นเชื่อว่าธาตุแท้มีอยู่ในโลกที่เป็นอันติมะ (ความจริงสุดท้าย ความจริงสูงสุด) ไม่สามารถจะย่อยได้อีกแล้ว ไม่สามารถกระจายได้อีกแล้ว เป็นธาตุแท้ทั้งหมดเพียงแค่นี้

วิทยาศาสตร์ในสมัยก่อนนั้นสอนอย่างนี้ ก็คล้ายกันกับไวเสสิกะในสัททัสสนะของอินเดีย ลัทธิไวเสสิกะสอนว่าปรมาณูนี้เป็นอสังขตะ เราไม่สามารถจะแยกปรมาณูออก ปรมาณูนั้นเป็นอันติมะชิ้นสุดท้ายของสสาร ไม่สามารถจะแยกย่อยสลายปรมาณูไปได้อีกแล้ว ไวเสสิกะสอนอย่างนี้ ซึ่งลัทธินี้มีอายุก่อนนักวิทยาศาสตร์จะค้นพบหลักปรมาณูตั้งหลายพันปีที่เดียว อันนี้เราต้องชมเชยความก้าวหน้าในทางความคิดของนักปราชญ์อินเดียในสมัยโบราณเป็นอย่างมาก ที่มีความก้าวหน้าถึงขั้นรู้จักปรมาณู รู้จักความเที่ยงแท้ของปรมาณู แต่พอพระพุทธเจ้าอุบัติ พระพุทธเจ้าก็สอนว่า แม้แต่ปรมาณูที่พวกท่านนึกว่าเป็นอันติมะนั้นก็ยังไม่ใช่อันติมะ แต่ยังแยกได้อีก มันไม่ใช่มีด้วยลำพังตัวมันเอง มันต้องแอบอิงปัจจัยอีกหลาย ๆ สิ่งปรุงมันขึ้นมา เพราะฉะนั้นการที่ลัทธิไวเสสิกะจะถือว่าปรมาณูเป็นอันติมะนั้นเป็นโมฆะไปเสียแล้ว พระพุทธองค์ไม่ทรงรับรองในทิฎฐิของไวเสสิกะ ไม่ถือว่ามีสิ่งอันสมบูรณ์ในเอกภพ ถ้าหากว่าสิ่งสมบูรณ์ในเอกภพจะพึงมี สิ่งนั้นก็ไม่ใช่ของในเอกภพแต่เป็นของนอกเอกภพออกไป นั่นคือโลกุตตรธรรมหรือพระนิพพาน 

พระนิพพานเป็นภาวะที่ตรงกันข้ามกับโลก ไม่เป็นโลก แต่ถ้าหากว่าเป็นโลกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแก่นโลกหรือเป็นพฤติการณ์ของโลกล้วนแต่ไม่เป็นสิ่งสมบูรณ์ทั้งสิ้น เพราะอะไร ? เพราะโลกเป็นปฏิจจสมุปบาทแอบอิงอาศัยปัจจัยต่างๆ เกิดขึ้นมา ไม่มีภาวะโดดเดี่ยวที่เป็นอยู่ได้โดยตัวมันเอง ถ้าสิ่งใดที่จะเรียกว่าเป็นภาวะโดดเดี่ยวเป็นอยู่ได้ในตัวมันเองนั้น สิ่งนั้นไม่ใช่โลก สิ่งนั้นต้องตรงกันข้ามโลก คือ โลกุตตระ คือพระนิพพานนั้นเอง นิพพานนั้นดับโลก เพราะฉะนั้นจึงดับในสิ่งที่เป็นปฏิจจสมุปบาท สิ่งอันใดเป็นโลก อันนั้นก็เป็นปฏิจจสมุปบาท อันนี้พุทธภาษิตก็มีเป็นอันมากในพระสูตรที่ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าโลก โลกเป็นไฉน ? ธรรมชาติใดย่อมแปรเปลี่ยนไปได้ ธรรมชาดนั้นชื่อว่าโลก" เพราะฉะนั้นไม่ว่าเป็นปรมาณูก็ตาม ไม่ว่าเป็นพลังงานอะไรต่าง ๆ ก็ตามถ้าเป็นโลกแล้วมันแปรเปลี่ยนไปได้ทั้งนั้น มันแปรปรวนไปได้ทั้งนั้น แล้วแต่ปัจจัยของมัน เพราะสรรพสิ่งที่ปรากฏแก่เรานั้นเป็นปฏิจจสมุปปาณธรรม

คราวนี้เมื่อเรามาพูดถึงปฏิจจสมุปปาณธรรม ก็ทำให้นึกถึงปาฐกถาของศาสตราจารย์ชาวเยอรมันที่เคยมาพูดที่นี้ วันนั้นผมไม่ได้มาฟังหรอก ฟังจากข้อเขียนที่ภายหลังที่มาพูดแปลออกมาแล้ว ศาสตราจารย์บอนชมิดท์ ชาวเยอรมันที่มาพูดบอกว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาทในคืนตรัสรู้หรอก มาตรัสรู้หลังจากวันตรัสรู้แล้ว อ้างอิงพระสูตรบ้าง หลักฐานต่าง ๆ มาอ้างบ้าง น่าเสียดาย วันนั้นผมเองก็ไม่ได้มาฟังด้วย คือข้อเสนอของศาสตราจารย์บอนชมิดท์นั้นผิดพลาดจากข้อเท็จจริงทีเดียว อาจจะเกิดจากตัวท่านเองไม่ได้ค้นคว้าหรืออาจจะลืมไป ความจริงหลักฐานในพระสูตรแสดงไว้ชัดเจนว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาทในวันตรัสรู้ แสดงไว้ชัดเจน ยกตัวอย่างในสิขายตนะสูตร แห่งบาลีติกนิบาตอังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าตรัสกับพระภิกษุทั้งหลายว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่ชื่อว่า โลกกับสมุทัยนั้นเป็นไฉน ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยนั้นแล สังขารจึงมี เพราะสังขารนั้นแล วิญญาณจึงมี" แสดงเป็นลำดับ แสดงเป็นปฏิจจสมุปบาท โลกกับสมุทัย คือเหตุเกิดของโลกนั้นได้แก่ปฏิจจสมุปบาท และในประการตรงกันข้ามก็ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่ว่าโลกนิโรธนั้นเป็นไฉนเล่า ? ก็แยกเป็นนิเทศว่า เพราะอวิชชาดับ สังขารดับ, สังขารดับ วิญญาณดับ, วิญญาณดับ นามรูปดับ, นามรูปดับ สฬายตนะ สฬายตนะดับ ผัสสะดับ. ผัสสะดับ เวทนาดับ เวทนาดับ ตัณหาดับ, ตัณาราดับ อุปาทานดับ, อุปาทานดับ ภพดับ, ถ้าพบดับแล้ว ชาติชรามรณะโสกะปริเทวะ ทุกขะโทมนัสอุปายาสะ และกองทุกข์กองมหึมาก็ดับสลายไปด้วย นี้แล ชื่อว่าโลกนิโรธ เพราะฉะนั้นหลักฐานในอังคุตรนิกายอันหนึ่ง หลักฐานอีกอันหนึ่งในบาลีสังยุตตนิกายนิทานวรรค ทรงแสดงบอกว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาลที่ตถาคตยังเป็นโพธิสัตว์อยู่นั้น ได้มนสิการว่า เพราะอะไรหนอ โสกะปริเทวะจึงมี ? ทุกขโทมนัสอุปายาสจึงมี ? ครั้นคิดค้นแล้วก็ปรากฏว่า เพราะชาตินั่นเอง โสกะปริเทวะ ทุกขะโทมนัสอุปายาสจึงมี คิดค้นต่อไปอีกว่า เพราะอะไรหนอ ชาติจึงมี ? ก็ได้พบความจริงว่า เพราะภพนั่นเองชาติจึงมี อย่างนี้เป็นรูปของปฏิโลม คิดย้อนขึ้น ทั้งอนุโลม ทั้งปฏิโลม ทั้งปฏิโลม ทั้งอนุโลม ตถาคตจึงพบว่า ถ้าหากว่าอวิชชาดับแล้ว ของพวกนี้ก็ดับเป็นทิวแถวกันหมดทีเดียว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล ตถาคตได้มารู้แจ้งแล้วในปฏิจจสมุปบาท จึงกล้าปฏิญาณตนว่าเป็นสัมมาสัมพทธะ อันยังธรรมจักรให้หมุนไป ซึ่งเทวดามารพรหมสมณพราหมณ์ ไม่มีคนใดคนหนึ่งที่สามารถยังธรรมจักรนี้หมุนกลับไปได้”


นี่ พุทธภาษิตในอาคตะสถานเป็นอันมาก มีปรากฏมากมาย ไม่ทราบว่าท่านศาสตราจารย์เยอรมันไม่ได้ดูหรืออย่างไรก็ไม่รู้ มากล่าวตู่บอกว่า พระพุทธเจ้านะไม่ได้ตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาทในวันตรัสรู้ ตรัสรู้แต่อริยสัจจ์ อริยสัจจ์นั่นแหละคือปฏิจจสมุปบาท แต่ว่าปฏิจจสมุปบาทนั้นถูกอริยสัจจ์ครอบปฏิจจสมุปบาท ครอบอย่างไร ? ทุกขอริยสัจจกับสมุทัยอริยสัจจ์นั้นได้แก่ปฏิจจสมุปบาท สายสมุทยวาระ คือสายโลกกับสมุทัย
เหตุเกิดของโลกได้แก่อะไร ? ได้แก่ อวิชชา ตัณหาอุปาทานเป็นลำดับ เพราะฉะนั้นปฏิจจสมุปบาทสายสมุทวาระ ก็คือทุกขอริยสัจจ์กับสมุทัยอริยสัจจ์ ปฏิจจสมุปบาทสายนิโรธวาระ อวิชชาดับ สังขารดับ เป็นลำดับนั้น ก็ได้แก่นิโรธอริยสัจจ์นั่นเอง โลกนิโรธนั้นเอง และอันใดเป็นโลกนิโรธ อันนั้นก็เป็นมรรคด้วย คือการที่ปฏิบัติเพื่อความดับอันนั้นแลเป็นมรรคสัจจ์ เพราะเหตุนั้น ปฏิจจสมุปบาทนั้นอยู่ในอริยสัจจ์นั่นเอง ไม่ใช่หนีไปไหนเลย

พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจจ์ในยามสุดท้ายแห่งราตรีหรือในอาสวักขยะญาณ อันเป็นเหตุให้ได้อาสวักขยะญาณ ญาณนั้นแลตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทอันใด อริยสัจจ์ก็อันนั้น อริยสัจจ์อันใด ปฏิจจสมุปบาทก็อันนั้นเอง ไม่ได้ต่างไปจากไหนเลย เรามาเข้าใจผิดมาแยกเอาเองต่างหากว่าปฏิจจสมุปบาทก็ปฏิจจสมุปบาท อริยสัจจ์ก็ส่วนอริยสัจจ์ ในบาลีอุทานวรรคมีเค้าความอันหนึ่งที่ชวนให้นึกว่าพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาทหลังตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ คือว่าในบาลีอันนั้นเล่าว่า พระพุทธเจ้าหลังวันวิสาขปุณณมีแล้วได้ทรงพิจารณาธรรมะแล้วในขณะที่พิจารณานั้น ได้ทรงยกเอาปฏิจจสมุปบาทขึ้นพิจารณา ข้อนี้เองที่ท่านบอนชมิดท์ที่เอามาอ้างบอกว่า นี่แหละพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ปฏิจจสมุปบาทหลังตรัสรู้ ข้อนี้เอง แต่บาลีเนื้อความอุทานวรรคข้อนั้นเป็นเพียงแต่แสดงว่า พระองค์นำปฏิจจสมุปบาทขึ้นมาพิจารณาเป็นปัจจเวกขณญาณ ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะมาทำให้มีขึ้นหลังวันตรัสรู้ ไม่ใช่เลย เพียงแต่ทรงมนสิการว่า อวิชามี สังขารมี วิญญาณมี เป็นลำดับ มนสิการ ท่านใช้ศัพท์ว่า "กาโร มนสิการ" ไม่ได้ใช้คำว่า "อภิสัมโพธิ" คือเข้าไปทำให้แจ้ง หรือเข้าไปแทงให้ทะลุ เปล่าเลย เพราะทำให้แจ้งตั้งแต่ในอาสวักขยญาณ ราตรีสุดท้ายแห่งวันตรัสรู้แล้ว ไม่ต้องมาทำให้แจ้งกันบ่อยๆ อีกแล้ว เป็นเพียงแต่ยกขึ้นมาพิจารณาทบทวนอีกที

นี่แหละที่ทำให้ท่านโปรเฟสเซอร์ชาวเยอรมันเข้าใจผิดไปคว้าเอาตอนนี้บอกว่า นี่แหละพระพุทธเจ้ามารู้ปฏิจจสมุปบาทหลังวันตรัสรู้ เพราะฉะนั้นขอให้ท่านทั้งหลายที่ฟังปาฐกถาวันนั้นแล้วโปรดทำความเข้าใจเสียใหม่ให้ถูกต้องตามที่ว่ามานด้วยว่า พระพุทธเจ้านั้นตรัสรู้อริยสัจจ์กับปฏิจจสมุปบาทเหมือนกัน อันเดียวกัน ปฏิจจสมุปบาทสงเคราะห์เข้าในอริยสัจจ์ ๔ ให้เข้าใจอย่างนี้ด้วย จะได้ไม่หลงผิดต่อไป เมื่อเรารู้ว่าปฏิจจสมุปบาทได้แก่ธรรมที่อิงอาศัยกันเกิดแล้ว คำว่า "อิมัสมิง สติ อิทัง โหติ" ข้อนี้สำคัญที่สุด อธิบายปฏิจจสมุปบาทอย่างย่อที่สุด เรียกว่าหัวใจปฏิจจสมุปบาทก็ว่าได้ 

อิมัสมิง สติ อิทั้งโหติ เพราะสิ่งอันนี้มี สิ่งอันนั้นจึงมี อันหนึ่ง
อิมัสสปาทา อิทะมุปัชชติ เพราะสิ่งอันนี้เกิด สิ่งอันนั้นจึงเกิด
อิดัง นโหติ เพราะสิ่งอันนี้ไม่มี สิ่งอันนั้นก็ไม่มี
อิมัสสะ นิโรธา อิทั้ง นิรุชชตีติ เพราะสิ่งอันนี้ดับ สิ่งอันนั้นจึงดับ


นี่เป็นลูกโซ่กันเลย เป็นสายโซ่ที่เดียว ที่กล่าวว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุผลนั้น นอกจากจะเป็นเหตุผลในแง่คำสั่งสอน เหตุผลในแง่เผยแพร่ เหตุผลในแง่ตรรกะ เหตุผลในแง่อะไรร้อยแปดอะไรก็ตาม แต่ว่าเหตุผลอันเป็นแก่นสารสำคัญที่สุด ซึ่งเป็นสาระสำคัญในพุทธศาสนานั้นก็คืออันนี้ เหตุผลอันนี้ อิมัสมิงสติ สิ่งนี้มี อิทัง โหติ สิ่งนั้นก็มี เพราะอันนี้มี อันนั้นก็มี อันนี้มีอันนั้นมี อันนี้คืออะไร? อวิชชา สังขารมี อิมัสมิงสติ เปรียบว่าอวิชชา อิทัง โหติ เปรียบว่าสังขาร เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นมันก็มี อิมัสสุปาทา สิ่งนี้เกิด อิทะมุปัชชติ สิ่งอันนั้นมันจึงเกิดได้ อวิชชา เกิดแล้วสังขารมันจึงเกิดขึ้นมาได้ ถ้าหากว่าอวิชชาไม่เกิดแล้ว สังขารอันนั้นก็ไม่เกิด 

อันหนึ่ง อิมัสมิง อัสสติ ถ้าอันนี้ไม่มีแล้ว อิทัง โหติ อันโน้นก็ไม่มี อวิชชาถ้าไม่มีแล้ว สังขารก็มีไม่ได้ อิมัสสะ นิโรธา อิทั้ง นิรุชชตีติ เพราะอันนี้มันดับ อันนั้นก็พลอยดับไปด้วย เมื่ออวิชชาดับ สังขารก็พลอยดับไปด้วย อันนี้เป็นหลักเหตุผล หรือหลักหัวใจย่อ ๆ ของปฏิจจสมุปบาท แสดงอย่างนี้ เป็นหลักย่อ ๆ (อ่านหน้าต่อไป)


หน้า๑  หน้า๒  หน้า๓  หน้า๔  หน้า๕  หน้า๖  หน้า๗ 

















ปฎิจจสมุปบาทนานาทัศนะ(หน้า๑)

ปฎิจจสมุปบาทนานาทัศนะ 
โดย นายเสถียร โพธินันทะ

ก่อนที่จะพูดถึงปฏิจจสมุปบาทนี้ ได้โปรดทำความเข้าใจว่า หลักธรรมในพระพุทธศาสนามีจุดมุ่งหมายที่สูง และแตกต่างกับหลักปรัชญาของศาสนาพราหมณ์ ก็ตรงปฏิจจสมุปบาทนี้เอง เพราะว่าในนานาลัทธิของศาสนาพราหมณ์นั้นก็ดี หรือว่าในนานาลัทธิในภาคตะวันตกก็ดี หรือนานาลัทธิในภาคตะวันออกของโลกก็ดี ลัทธิเหล่านั้น ปรัชญาเหล่านั้นล้วนแต่มิได้สอนลักษณะธรรมะแบบปฏิจจสมุปบาทซึ่งพระพุทธเจ้าทรงสอนมาทั้งสิ้น

คือลัทธิเหล่านั้นอย่างเช่นศาสนาพราหมณ์เป็นต้น ศาสนาพราหมณ์นั้นถ้าเราตัดเรื่องพวกที่เป็นเปลือกออกเสียก็มีหลักปรัชญาที่สูงกว่า เช่น ในศาสนาพราหมณ์เขาก็สูงกว่าเช่นว่าปรัชญาที่เรียกกันว่าทัสสนะ ทัสสนะ ๖ ประการ อันประกอบด้วย วิมังสา เวดานตะ สังขยะ โยคะ ไวเสลีกะ นยายะ ทั้งลัทธิ ๖ ลัทธินี้เรียกว่าทัสสนะ หรือทัศนะ ๖ ประการ แต่ทั้ง ๖ ทัศนะนี้มีหลักใหญ่ใจความอันหนึ่งที่เหมือนกันก็คือสอนหลักสมบูรณภาพนิยม แม้ในปรัชญาทางตะวันตกก็เหมือนกัน เช่นว่า ปรัชญา ของยิวหรือของสปีโนชา พวกนี้ก็สอนหลักลัทธิสมบูรณภาพนิยมอีกเหมือนกัน หนีไม่พันหลักสมบูรณภาพนิยม

อะไรที่เรียกว่าสมบูรณภาพนิยม ?
ก็หมายความว่าสอนว่าสากลจักรวาฬมปทัฏฐานอยู่ในภาวะอันเป็นทิพย์ ภาวะอันเป็นทิพย์นี้ ถ้าพวกที่ชอบทางเทวนิยมก็บัญญัติเรียกว่าพระผู้เป็นเจ้า พวกที่ไม่ชอบทางเทวนิยมแต่ชอบหนักในทางจิตก็เรียกว่าเป็น Universal Mind (จิตสากล) หรือไม่ก็บัญญัติเรียกว่าเต๋าในทางตะวันออก เช่นลัทธิเต๋าของจีนเรียกภาวะสมบูรณภาพ นี้ว่าเต๋า หรือไม่ในอินเดียก็เรียกภาวะนี้ว่าพรหม อย่างนี้เป็นต้น แล้วแต่จะเรียก แต่ทั้งนั้นทั้งนี้เหมือนกันคือสอนว่า "สิ่งซึ่งเป็นของไม่จริงนั้นจะต้องมีปทัฏฐานจากสิ่งที่เป็นของจริงอันหนึ่ง" และเหมือนกันในข้อที่ว่า "สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่หยุดหย่อนนั้นจะต้องมีปทัฏฐานมาจากสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง" 

สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงนี้คืออะไร ? คือพรหม เต๋า จิตสากล แล้วแต่ลัทธิหรือแล้วแต่ปรัชญาแขนงนั้น ๆ จะเรียก แต่ว่าทั้งหมดเขาก็ยอมรับความเปลี่ยนแปลง เช่นว่าอย่างในศาสนาพรหมณ์สอนว่า ชีวิตนี้ไม่เที่ยง อนิจจัง ทุกขัง เขารู้ในศาสนาพราหมณ์ก่อนหน้าพระพุทธเจ้าจะอุบัติ ฤาษีแต่ปางก่อนเช่นฤาษีก่อนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อย่างท่านอรกะศาสดา ท่านสุเนตรศาสดา แม้แต่พระพุทธองค์เมื่อเวลาแสดงธรรมก็ยังชักตัวอย่างฤาษีทั้งสององค์นี้มาเปรียบเทียบว่า
"ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตแต่ปางก่อนก็ยังเข้าถึงอนิจจสัญญา ทุกขสัญญา ยกตัวอย่างเช่นท่านอรกะศาสดา ท่านสุเนตรศาสดา" ศาสดาทั้งสองท่านนี้แม้ชีวิตจะยาวยืน คือคนในสมัยโบราณเขาถือว่ามีอายุยาวกว่าคนเราในสมัยนี้ คนในสมัยนั้นมีอายุตั้ง ๘ หมื่นปี แล้วแม้กระนั้นศาสดาทั้งสองก็ยังสอนให้มนสิการว่าชีวิตนี้เป็นของน้อยนิด เกิดขึ้น พักเดียวเหมือนหนึ่งน้ำค้างบนใบหญ้าพาลจะแห้งเหือดไป" เพราะฉะนั้นเท่าที่ทั้งสองท่านสอนถึงเรื่องอนิจจสัญญา ทุกขสัญญา แล้วนี้ก็ทำให้เราเห็นว่าหลักปฏิจจสมุปบาทนั้นเป็นของใหม่จริง ๆ ในโลกของศาสนาใหม่จริง ๆ ในโลกของปรัชญา


ก่อนหน้าที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติ ไม่เคยมีการรู้กันมาก่อนเลยว่า หลักปฏิจจสมุปบาทนั้นเป็นไฉน แม้จะมีบางลัทธิอย่าง ลัทธิสางขยะ อันเป็นลัทธิที่เก่าก่อนกว่าพุทธศาสนาของเรา ในลัทธิสางขยะนั้นมีลีลาคล้ายกับจะสอนปฏิจจสมุปบาทเหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่ แม้จะมีลีลาแสดงเรื่องตัดตระต่าง ๆ ที่เกิดการวิกาลแปรเปลี่ยนออกจากสิ่ง ๒ สิ่ง สิ่งหนึ่งเรียกว่าปุรุสะหรืออาตมัน อีกสิ่งหนึ่งเรียกว่าประกริตหรือในภาษาบาลีเรียกว่าปกติ สันสกฤต ก็ว่าเป็นประกริต ประกริตกับปรุสะมีความสัมพันธ์กัน แล้วก็เกิดความวิกาลออกมา เกิดเป็นวัฏฏสงสาร เกิดความเป็นไป ชีวิตก็วิวัฒนาการเกิดขึ้น ลักษณะอย่างนี้ยังไม่ใช่เป็น ปฏิจจสมุปบาท เพราะว่าลัทธิสางขยะยังยืนยันว่ามีของจริงอยู่ ๒ ชั้น คือปุรุสะกับประกริต เพราะยังเป็นสมบูรณภาพอยู่ หนีไม่พ้นสมบูรณภาพนิยม คือถือว่าของไม่เที่ยงต้องเกิดจากของเที่ยง ของไม่เที่ยงต้องมี
ปทัฏฐานแอบอิงคือของเที่ยง นี่หนีไม่พ้นสมบูรณภาพนิยม 

มาถึงพระพุทธเจ้าของเราทรงค้นพบหลักอนัตตาขึ้น อนัตตาอันใดปฏิจจสมุปบาทก็อันนั้น ถ้าเราเข้าใจหลักอนัตตาดี คือปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทอันใด อนัตตาก็อันนั้น เราไม่สามารถจะแยกอนัตตาออกจากปฏิจจสมุปบาทได้ เพราะว่าปฏิจจสมุปบาทนั้นเป็นคำอธิบายหลักอนัตตานั่นเอง อย่าง ยกตัวอย่างเช่นในอนัตตลักขณสูตรที่พระศาสดาตรัสถามเบญจวัคคีย์ว่ารูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ? เบญจวัคคีย์ก็ทูลว่าไม่เที่ยง รูปนี้ควรเห็นว่าเป็นตนหรือไม่เป็นตน? ก็ทูลว่าไม่ควรเห็นว่าเป็นตน เพราะถ้าหากว่ารูปนี้เป็นตนแล้วก็จะจึงเป็นไปตามใจเราปรารถนาได้ว่า อย่าให้แก่เลย อย่าให้เกิดเลย อย่าให้เจ็บเลย อย่าให้ตายเลย หลักการเพียงแค่นี้เป็นเพียงแต่หลักย่อ ถ้าหากว่าจะกระจายการแสดงหลักอนัตตาแล้วพระศาสดาจะยกหลักปฏิจจสมุปบาทขึ้นแสดง เราจะไม่สามารถซาบซึ้งหลักอนัตตาได้ดีพอ ถ้าเราไม่เคยผ่านปฏิจจสมุปบาทมา เพราะฉะนั้นพูดในประการเดียวกัน ถ้าเราซาบซึ่งหลักปฏิจจสมุปบาทดีพอแล้วนั่นคือเราเข้าถึงหลักอนัตตา อันเป็นแก่นสารสำคัญของพระพุทธศาสนา และเป็นธรรมะที่ทำให้พระพุทธศาสนาแตกต่างไปจากลัทธิสมบูรณภาพนิยม แตกต่างไปจากลัทธิทัสสนะทั้ง ๖ ซึ่งเป็นหลักปรัชญาชั้นสูงของอินเดียแล้ว เพราะเหตุนั้น พวก ศาสดาจารย์ ชาวฮินดูของเขา เมื่อศึกษาธรรมะแล้ว เขาตระหนักว่าหลักพระพุทธศาสนานี้มีข้อที่เหมือนกัน เช่นว่าหลักกฎแห่งกรรม รับรองเรื่องวัฏฏสงสาร ศาสนาฮินดูก็สอนให้เชื่อกรรม เชื่อการเวียนว่ายตายเกิด เขาก็สอนเรื่องอนิจจัง ถ้าไม่สอนเรื่องอนิจจังแล้วฤาษีชีไพรจะทิ้งลูกทิ้งเมียทิ้งทรัพย์สมบัติไปอยู่ป่า ทำไม ? นี่ก็เพราะเห็นความเป็นอนิจจัง เขาจึงไม่ต้องการ เขาเห็นทุกขัง เขาจึงเบื่อหน่ายใน ในวัฏฏะ ต้องการหาความสุขอันเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับทุกขัง เพราะเหตุนั้นสมบูรณภาพที่ เขาจะบรรลุ คือ พรหม ซึ่งมีลักษณะเป็น อาตมัน สุคัม สำคำ อาตมันเป็นตน, สุคำเป็นสุขอย่างยิ่ง, สำคา สงบระงับอย่างยิ่ง, นี่เป็นองคคุณสมบรณ์ของพราหมณ์ ถ้าต้องการจะบรรลุ 

แต่ว่าเขายอมแพ้พระพุทธเจ้าข้อหนึ่งว่าที่พระพุทธศาสนากลายเป็นศาสนาแหวกวงศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาฮินดูออกมาได้ ก็เพราะหลักอนัตตานี่แหละ หลักอนัตตานี้พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงในรูปของปฏิจจสมุปบาท คำว่า ปฏิจจสมุปบาทนั้น แปลว่าอะไร ? แปลกันอย่างง่าย ๆ อย่างภาษาชาวบ้าน ไม่ต้องอาศัยหลักไวยากรณ์ศัพท์แสงมากเป็นพิเศษ แปลกันว่าธรรมอันอิงอาศัยกันเกิดขึ้น ปฏิจจสมุปบาทแปล
ว่าธรรมซึ่งอิงอาศัยกันเกิด มีอีกคำหนึ่งคือ ปฏิจจสมุปปัณณธรรม ท่านทั้งหลาย มีอยู่ ๒ คำทำให้เราต้องศึกษา ๒ คำนี้ คำหนึ่งคือ ปฏิจจสมุปบาท อีกคำหนึ่งคือ ปฏิจจสมุปปาณธรรม
ฟังให้ดี ปฏิจจะ + อุปปาณะ เป็นปฏิจจสมุปปาณะ อันหนึ่งปฏิจจะ + อุปบัณณะ เป็น ปฏิจจะสมุปบัณ ณะ พระองค์แสดงเสมอว่า "ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยนั้นแล ปฏิจจสมุปปัณณธรรมคือสังขารจึงได้เกิดขึ้น" 
อวิชชา เป็นปฏิจจสมุปปาณธวรม สังขารเป็นปฏิจจสมุปบัณณธรรม 
สังขารเป็นปฏิจจสมุปปาณธรรม วิญญาณเป็นปฏิจจสมุปปัณณธรรม
ทั้งปฏิจจสมุปปาณธรรม และปฏิจจสมุปปัณณธรรมนั้นแอบอิงกัน ในอันหนึ่ง ๆ เป็นได้ทั้ง ๒ อัน (อ่านหน้าต่อไป)

หน้า๑  หน้า๒  หน้า๓  หน้า๔  หน้า๕  หน้า๖  หน้า๗ 


ปฎิจจสมุปบาท

🔅 ปฎิจจสมุปบาท โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
        หน้า๑ ความหมายของคำว่า "ปฏิจจสมุปบาท"
        หน้า๒ กระบวนการของปฏิจจสมุปบาท ๑๒ หัวข้อ

🔅 ปฎิจจสมุปบาทนานาทัศนะ โดย เสถียร โพธินันทะ
        หน้า๑ สมบูรณภาพนิยม
        หน้า๒ ปัจจยธรรม ปัจจยะสมุปปัณณธรรม
        หน้า๓ ปฎิจจสมุปบัณณะคืออะไร
        หน้า๔ มัชฌิมาปฏิปทาคืออะไร
        หน้า๕ อวิชชากับภวตัณหา
        หน้า๖ เหตุแห่งภพ
        หน้า๗ 
เหตุแห่งภพ (๒)

วันพฤหัสบดี

๑.๖ อนัตตา

เมื่อว่าโดยสรุป พระอรรถกถาจารย์ประมวลความหมายของอนัตตาแสดงไว้ ดังนี้

๑. ไม่เป็นไปในอำนาจ คือ โดยธรรมดาที่เป็นสภาวธรรมซึ่งมีสภาวะตามที่เป็นของมันอย่างนั้นๆ มันจึงไม่อยู่ในอำนาจของใคร ไม่ขึ้นต่อผู้ใด ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีตัวตนที่ไหนจะมีอำนาจสั่งบังคับมันได้ ใครจะเรียกร้องหรือปรารถนาให้มันเป็นอย่างใดๆ ไม่ได้

ถ้าเป็นสังขตธรรม มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน จึงมีแต่ว่า ถ้าต้องการจะให้มันเป็นอย่างไร ก็ต้องทำการอันเป็นเหตุปัจจัยที่จะให้มันเป็นไปของมันที่จะเป็นอย่างนั้น
ถ้าเป็นอสังขตธรรม (นิพพาน) ก็มีอยู่เป็นอยู่ตามสภาวะที่ไม่ขึ้นต่อเหตุปัจจัยอยู่อย่างนั้น

๒. แย้งต่ออัตตาและเป็นสภาพว่าง (แต่ไม่ใช่ความขาดสูญ) คือ โดยสภาวะของมันเองก็ปฏิเสธอัตตาอยู่ในตัว หมายความว่า โดยธรรมดาที่เป็นสภาวะธรรมซึ่งมีภาวะตามที่เป็นของมันอย่างนั้นๆ ถ้ามีอัตตา ก็ย่อมขัดแย้งกัน ทำให้ภาวะของสภาวะธรรมไม่เป็นอยู่เป็นไปตามที่มันเป็นของมันอย่างนั้นๆ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีอัตตา แต่มีลักษณะเป็นสภาพว่าง คือ ว่างจากความเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาที่แท้จริง ไม่มีตัวผู้สิงสู่อยู่ครอง ไม่มีตัวผู้สร้างสรรค์บันดาล ไม่มีตัวผู้เสพเสวย นอกจากโดยการสมมติ พูดง่ายๆว่า ว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา จากความเป็นนั่นเป็นนี่ ที่ยึดถือกันไปหรือกำหนดหมายกันขึ้น

อนัตตา คือ ภาวะที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยตามสภาพของมันไม่ขึ้นต่อการสั่งบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาของใคร แต่ด้วยอิทธิพลของตัณหาทำให้เกิดการสร้างตัวตนขึ้นมายึดไว้ จึงกระทบกระทั่งเป็นทุกข์เมื่อไม่ได้สมดังปรารถนา ต่อเมื่อเห็นตามเป็นจริงว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามครรลองของมันเองแล้ว ตัวตนในความเป็นจริงย่อมเกิดไม่ได้ ทุกข์ก็ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่กระทบ ไม่มีที่ก่อตัว

คัมภีร์วิสุทธิมรรค แสดงอรรถของอนัตตาไว้ว่า “ชื่อว่าเป็นอนัตตา โดยความหมายว่า ไม่มีแก่นสาร ไม่มีแกน ไม่มีสิ่งซึ่งเป็นตัวแท้ที่ยืนยงคงตัวอยู่ตลอดไป เป็นผู้สิงสู่อยู่ครอง เป็นผู้สร้างหรือบันดาล เป็นผู้เสวย เป็นผู้มีอำนาจในตัว เพราะว่าสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นย่อมเป็นทุกข์ (คงตัวอยู่ไม่ได้) มันไม่สามารถห้ามความไม่เที่ยงแม้ของตัวมันเองได้ แล้วความเป็นผู้สร้างผู้บันดาล เป็นต้นของมัน จะมีมาจากที่ไหน เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้ารูปนี้จักได้เป็นอัตตาแล้วไซร้ รูปนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ มีความบีบคั้นขัดแย้งข้องขัดต่างๆ ดังนี้เป็นอาทิ”

นอกจากนี้คัมภีร์วิสุทธิมรรคยังกล่าวไว้น่าฟังว่า “ผู้ทำกรรมไม่มี ผู้เสวยผลก็ไม่มี มีแต่ธรรมล้วนๆเป็นไป ผู้สร้างสังสารวัฏฏ์ หามีไม่ มีแต่ธรรมล้วนๆเป็นไป เพราะเหตุปัจจัยประกอบกันเข้า ความเห็นอย่างนี้จึงเป็นสัมมาทัศนะ” ความเห็นว่ามีอัตตานั้นเป็นเพียงมิจฉาทิฏฐิ เป็นความยึดถือไปตามความเห็นผิด การละอัตตา จึงไม่ได้หมายถึงการละตัวอัตตาจริงๆ (เพราะไม่มีมาตั้งแต่ต้น) แต่เป็นการละความยึดติดว่ามีอัตตา

หลักการของพระพุทธศาสนา บางครั้งก็สรุปด้วยคำว่า “ธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่อาจเข้าไปยึดมั่นถือมั่นได้” เพราะอะไร? เพราะว่าสิ่งทั้งหลายนั้นไม่ได้เป็นไปตามความปรารถนา หรือตามความยึดมั่นของเรา แต่มันเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยของมัน ถึงเราจะไปยึดมั่น ก็ไม่มีผลอะไรต่อตัวความจริง มีแต่จะกระทบกระเทือนต่อตัวเราเอง ทำให้เราแย่เอง คือ เดือดร้อนเป็นทุกข์

วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องคือ เราจะต้องรู้ความจริงของเหตุปัจจัยแล้วไปทำที่เหตุปัจจัย “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมพิจารณาอย่างนี้ว่า ข้อที่ว่าเรายังยึดถืออยู่จะเป็นผู้ไม่มีโทษนั้น จะมีอยู่บ้างหรือไม่หนอในโลก อริยสาวกนั้นย่อมรู้อย่างนี้ว่า ข้อที่ว่าเรายังยึดถืออยู่จะเป็นผู้ไม่มีโทษนั้น ไม่มีเลยในโลก” (ปิณโฑลยสูตร)

ประเด็นนี้ควรทำความเข้าใจให้ชัด บางท่านเมื่อได้ยินได้ฟังเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว กลายเป็นว่า ไม่เอาเรื่องเอาราว ปล่อยปละละเลย ต้องการผลแต่ไม่ทำเหตุที่ควรทำ ซึ่งเป็นความประมาท ที่ท่านว่าไม่ยึดนั้นหมายถึง ไม่ยึดติดถือมั่นด้วยกิเลสอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ในหัวข้อนี้



มีมิจฉาทิษฐิซึ่งเป็นการแล่นสุดโต่งแห่งความคิดเห็นด้านหนึ่งไปยังสุดโต่งอีกด้านหนึ่ง ที่อาจพบได้
🔅
พวกหนึ่งเห็นว่าเที่ยง ชีวิตเมื่อตายลง ตัวอัตตานี้จะคงอยู่และไปเวียนว่ายตายเกิด คือเห็นว่า สัตว์บุคคลตัวตน เที่ยงแท้ยั่งยืนตลอดไป (สัสสตทิฏฐิ)
🔅 พวกหนึ่งเห็นว่าขาดสูญ ชีวิตเมื่อตายลง ก็จบสิ้นไปคือ เห็นว่าสัตว์ บุคคล ตัวตน หรืออัตตา ไม่เที่ยง ดำรงอยู่ชั่วคราวแล้วสูญสิ้นไป (อุจเฉททิฏฐิ)
🔅 พวกหนึ่งเห็นว่า ทำก็ไม่เป็นอันทำ หรือการกระทำไม่มีผล (อกิริยทิฏฐิ)
🔅 พวกหนึ่งเห็นว่า ไม่มีอะไรเลย ไม่มีสภาวะที่จะกำหนดเอาเป็นหลักเป็นสาระได้ (นัตถิกทิฏฐิ)

(อกิริยทิฏฐิ และนัตถิกทิฏฐิ สามารถรวมลงใน อุจเฉททิฏฐิได้ ถ้าจัดอย่างคร่าวๆ จึงเหลือแค่ สัสสตทิฏฐิ กับ อุจเฉททิฏฐิ)


แม้แต่ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าเข้าใจไม่ชัดเจนถ่องแท้ ก็อาจตกไปในมิจฉาทิฏฐิ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ที่ศึกษาหลักกรรมในแง่สังสารวัฏ ถ้าเข้าใจพลาด ก็อาจกลายเป็นสัสสตทิฏฐิ, ผู้ที่ศึกษาหลักอนัตตา ถ้าเข้าใจพลาด ก็อาจกลายเป็นอุจเฉททิฏฐิ อกิริยทิฏฐิ หรือนัตถิกทิฏฐิ ผู้เห็นโลกอย่างเป็นกลางๆตามความเป็นจริง ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ ดังพุทธพจน์ที่ท่านมักแสดงแก้ความเข้าใจผิดของผู้ถามในเรื่องนี้โดยมีความในตอนท้ายๆเหมือนกันว่า “ตถาคตไม่เข้าไปติดที่สุดทั้งสองข้างนั้น ย่อมแสดงธรรมเป็นกลางๆว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ”

วิสุทธิมรรค “ในกระบวนแห่งสังสาระนี้ ผู้สร้างสังสาระ หามีไม่ มีแต่ธรรมทั้งหลายล้วนๆ เป็นไป ด้วยอาศัยการประชุมพร้อมแห่งเหตุเป็นปัจจัย” และในเมื่อกระบวนธรรมในสังสารวัฏฏ์ดำเนินไปตามเหตุปัจจัย การกระทำทุกอย่างจึงย่อมต้องมีผล ไม่มีทางสูญเปล่า และเป็นการมีผลโดยไม่ต้องมีผู้รับผล คือผลเกิดขึ้นในกระบวนธรรมเอง

อนึ่ง การพูดถึงเรื่อง อัตตามีหรือไม่มีนั้น ถ้าผู้ฟังไม่มีพื้นความรู้เพียงพอ จะทำให้เกิดความคิดฟุ้งซ่าน สร้างความคิดเหตุผลไปตามแนวตัณหาและทิฏฐิของตน และต้องแล่นไปตกในทิฏฐิที่ตรงข้ามกันสองอย่างเสมอไป คือถ้าไม่ลงสัสสตทิฏฐิ ก็ต้องลงอุจเฉททิฏฐิ แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง ก็ตรัสเรื่องอัตตา-อนัตตา อย่างทรงระมัดระวัง ตามพื้นความรู้ของผู้ฟัง (คนเรามักมีความรู้สึกยึดถือในความเป็นตัวเป็นตนอยู่โดยสัญชาติญาณ เมื่อได้ศึกษาเรื่องอนัตตา อาจเกิดความสงสัยว่า ถ้าไม่มีตัวตนที่เที่ยงแท้คงที่อยู่แล้ว สิ่งใดเป็นผู้เวียนว่ายตายเกิด ควรพิจารณาว่ากระบวนธรรมนี่แหละที่เป็นไป ทำกรรมดีย่อมส่งผลให้วิบากอันเป็นสุขเกิดแก่กระบวนธรรมนี้ ทำกรรมชั่วย่อมส่งผลให้วิบากอันเป็นทุกข์เกิดแก่กระบวนธรรมนี้ สืบต่อเนื่องกันเรื่อยไปตามธรรมดา)

(เสถียร โพธินันทะ) “ผู้ที่มีสัสสตทิฏฐินั้นยังดีกว่าอุจเฉททิฏฐิ เพราะมักจะถือว่ากรรมมี เมื่อขวนขวายทำกรรมดีให้มากแล้ว จึงอาจไปสวรรค์หรือพรหมโลกได้ แต่อุจเฉททิฏฐิ (อย่างแรงชนิดที่ว่าไม่เชื่อกรรมและผลของกรรม เห็นว่าทำดีทำชั่วล้วนไม่มีผล) ลงอบายอย่างเดียว”



ปล่อยว่าง (อัญญาณุเบกขา)

อัญญาณุเบกขา หมายถึง เฉยไม่รู้เรื่อง เฉยไม่เอาเรื่อง เฉยไม่ได้เรื่อง
คนทั่วไปนึกไม่ออกว่า อุเบกขา ดีอย่างไร
ต้องมีปัญญาชั้นเลิศจึงจะรู้จักความประเสริฐของอุเบกขา
อุเบกขาที่เราเอามาใช้กันในหมู่คนไทยนั้นต้องระวัง ถ้าเฉยเรื่อยเปื่อยทางพระเรียกว่า “เฉยโง่” เป็นอกุศล



คำพระว่า “อัญญาณุเบกขา” หมายถึง เฉยไม่รู้เรื่อง เฉยไม่เอาเรื่อง เฉยไม่ได้เรื่อง
แต่เฉยของธรรม คือ เฉยด้วยปัญญา เพราะรู้แล้ว ก็วางตัวพอดี โดยทั่วไป เมื่อมีสถานการณ์ตื่นเต้นเกิดขึ้น จะมีคน ๓ พวก คือ…
๑. คนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย จึงเฉย
๒. คนที่รู้ครึ่งไม่รู้ครึ่ง อาจจะตื่นเต้นโวยวาย ลุกขึ้นมากระโดดโลดเต้น แต่แก้ไขปัญหาไม่ค่อยได้ บางทีตื่นเต้นโวยวายไปยิ่งทำให้เรื่องลุกลามใหญ่โต
๓. คนที่รู้เข้าใจหมด มองเห็นว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างไร เหตุปัจจัยเป็นอย่างไร มันจะเป็นไปอย่างไร จะแก้ไขที่จุดไหน ถึงจุดไหนจะต้องทำอะไร พวกนี้เฉยเหมือนกัน แต่เฉยพร้อมรอจังหวะ เมื่อถึงจุดนั้น ต้องทำอันนั้น ที่จุดนั้น ต้องทำอันนั้น เขาเฉย แต่พร้อมที่จะทำไปตามลำดับ ให้ถูกจุดถูกที่ พวกนี้แก้ปัญหาได้

ความนิ่งเฉยด้วย”รู้”นี่แหละ เรียกว่า “อุเบกขา”
อุเบกขานี้เป็นธรรมสูงสุดในทางจริยธรรม สภาพจิตปกติของพระอรหันต์ คือ อุเบกขา เพราะอยู่ด้วยจิตที่ลงตัวพอดี ด้วยปัญญา มีอุปมาอย่างหนึ่ง คือ เรื่องสารถีขับรถ

สมัยก่อนนี้ คนขับรถม้า เอาม้าผูกเข้ากับรถแล้ว ม้าก็พารถไป สารถีที่เชี่ยวชาญขับรถม้า ก่อนที่รถจะวิ่งเข้าที่ แกก็ต้องชักบังเหียนบ้าง ใช้แส้บ้าง เพื่อให้ม้าพารถเข้าสู่ทาง แล้วก็ปรับความเร็วให้พอดี พอม้าวิ่งเข้าทางดี และได้ความเร็วพอดีตามที่ต้องการแล้ว สารถีผู้เชี่ยวชาญนั้น จะอยู่พร้อมด้วยความตระหนักรู้ แกนั่งสบายเลย สงบนิ่ง แต่จิตนั้นอยู่ด้วยความรู้ ไวต่อการที่จะรับรู้ และความคิดที่จะแก้ไข ไม่ว่าจะมีอะไรผิดพลาด เมื่อทุกอย่างลงตัวเข้าที่พอดีแล้ว เขานั่งสงบ และพร้อมที่จะแก้ไขปัญหา

ต่างจากคนที่ไม่ชำนาญ ซึ่งตื่นเต้น หวาด ไม่แน่ใจว่าจะเอาอย่างไร จะทำอย่างไร จิตไม่สบาย ไม่นิ่ง ไม่สงบ ไม่ลงตัว มนุษย์ที่ยังไม่รู้เท่าทันจัดเจนโลก ไม่รู้ความจริงของชีวิต ก็เหมือนกับสารถีที่ยังไม่เจนจบส่วนพระอรหันต์นั้น เหมือนกับสารถีที่เจนจบ ท่านรู้เข้าใจโลกและชีวิตตามเป็นจริง จนวางจิตพอดีลงตัวหมด

ต่างจากมนุษย์ปุถชน ที่ยังไม่รู้ว่าชีวิตนี้คืออะไร โลกนี้เป็นอย่างไร อยากนั่น ยึดนี่ กังวลโน่น อยู่ด้วยความหวาดหวั่นพรั่นใจตื่นเต้นไป จิตลงตัวอุเบกขาไม่ได้ อุเบกขานั้น ไม่ต้องวางหรอก มันถึงเอง เพราะมันเป็นสภาพจิตอัตโนมัติที่เกิดจากปัญญา โดยปัญญามาปรับสภาพจิต ฉะนั้น ปัญญา กับ อุเบกขาจึงคู่กัน พอปัญญาถึงขั้นเป็นโพธิญาณ หยั่งรู้ความจริงของชีวิตและโลก เจนจบ รู้เท่าทันสังขาร จิตก็ลงตัว เรียกว่าวางพอดีกับชีวิตและโลก เป็นอุเบกขาด้วยปัญญานั้น นี่คือจิตพระอรหันต์ ฉะนั้น จึงเหมือนสารถีที่ว่าเจนจบ สภาพนี้ดีแค่ไหน ก็ลองคิดดู

คนทั่วไปนึกไม่ออกว่า อุเบกขาดีอย่างไร นึกว่าเฉยๆ ไม่ได้เรื่องได้ราว อย่างนั้นเป็นเฉยโง่ (อัญญาณุเบกขา)”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : ธรรมนิพนธ์ “จะอยู่อย่างเป็นเหยื่อ หรือขึ้นเหนือไปนำเขา”



วันอังคาร

๑.๕ ไตรลักษณ์

ธรรม(สิ่ง)ทั้งหลายทั้งปวงแยกได้เป็น ๒ อย่าง

สังขตธรรม (สังขาร) : ธรรมที่ถูกปรุงแต่ง, สิ่งทั้งหลายในโลกทั้งรูปธรรมและนามธรรมซึ่งมีความเกิด ดับ ผันแปร (มีลักษณะทั้ง ๓ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)

อสังขตธรรม (วิสังขาร) : ธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่ง, สภาวะพ้นโลก, ธรรมอันเป็นที่สิ้นเหตุปัจจัย พ้นจากปัจจัยปรุงแต่ง ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ พ้นจากความไม่เที่ยงและพ้นจากความเป็นทุกข์ แต่ก็เป็นอนัตตา ไร้ตัว มิใช่ตน หมายถึง นิพพาน (มีลักษณะ อนัตตา)

ไตรลักษณ์ แสดงลักษณะอาการสามด้านหรือสามอย่างของเรื่องเดียวกัน เป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน ด้วยเหตุเพราะสิ่งทั้งหลายในโลกเป็นธรรมชาติ  ซึ่งมีลักษณะความเป็นไป โดยทั่วไปเสมอเหมือนกันตามธรรมดาของมัน ในฐานะที่เป็นของปรุงแต่ง เกิดจากเหตุปัจจัย และขึ้นต่อเหตุปัจจัยทั้งหลายเช่นเดียวกัน กล่าวได้ว่าเป็นสามัญลักษณะของสังขตธรรมนั่นเอง



คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชา

สิ่งทั้งหลายทั่วไป มีอยู่เป็นไปในรูปของกระแส ที่ประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ อันสัมพันธ์เนื่องอาศัยกัน เกิดดับสืบต่อกันไปอยู่ตลอดเวลาไม่ขาดสาย องค์ประกอบทุกอย่างไม่คงที่ จึงเป็นสภาวะที่ไม่เที่ยง (อนิจจัง)

เมื่อแต่ละสิ่งแต่ละส่วนที่สัมพันธ์กัน เกิดดับไม่คงที่และเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่อาศัย ก็ย่อมแสดงถึงความบกพร่องไม่สมบูรณ์อยู่ในตัว, เป็นของมีภัย, คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้, ถูกเบียดเบียนด้วยความเกิดและความดับ, เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ (ทุกขัง)

(อนึ่ง ศัพท์คำว่า ทุกข์ เป็นคำศัพท์สำคัญในพระพุทธศาสนา ใช้ในความหมายที่กว้างและลึกกว่าในภาษาไทยมาก โดยปกติในภาษาไทยเราใช้คำว่า ทุกข์ กับ ความรู้สึกที่ไม่น่าพอใจ ความทรมาน หรือความทุกข์ระทมขมขื่น แต่ในภาษาบาลี ทุกข์ หมายถึง ความคงสภาพอยู่ไม่ได้ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นของมีภัย ไม่อาจให้ความปลอดโปร่งใจได้ของสิ่งต่างๆในโลกดังกล่าว การทำความเข้าใจศัพท์คำว่า ทุกข์ ให้กระจ่าง จะช่วยให้ผู้ศึกษาไม่เกิดความรู้สึกว่าพระพุทธศาสนามองโลกในแง่ร้าย เมื่ออ่านเนื้อหาบางตอน เช่น “การเกิดเป็นทุกข์” “ทั้งในกาลก่อนและบัดนี้ เราสอนแต่ทุกข์ และนิโรธแห่งทุกข์” เป็นต้น ทั้งนี้เพราะท่านมุ่งชี้ไปที่ตัวสภาวะนั่นเอง)

และเมื่อทุกสิ่งทุกอย่าง (ทั้งสังขตะและอสังขตะ) ก็มีภาวะที่เป็นอย่างนั้นๆ ตามธรรมดาของมันเอง จึงย่อมไม่มี อัตตาตัวตนตัวแกนถาวรอะไร ที่มาแฝงมาซ้อนมาคุมให้เป็นไปอย่างไรๆอีกชั้นหนึ่ง ไม่มีตัวตนของมันเองจริงแท้ที่จะมีอำนาจเป็นเจ้าของครอบครองสั่งบังคับให้เป็นไปอย่างไรๆได้ (อนัตตา)

อนัตตา ที่แปลว่า ไม่มีตัวตน ไม่เป็นตัวตนนั้น ไม่ได้หมายถึงไม่มีอะไรเลย คือมีอยู่จริง แต่หมายถึง มีอยู่เป็นอยู่เป็นไป ตามธรรมดาของสภาวะธรรม ไม่มีตัวตนที่จะครอบครองสั่งบังคับให้เป็นหรือไม่เป็นตามที่ปรารถนาโดยไม่ทำตามเหตุปัจจัย, มีอยู่อย่างไม่เป็นอัตตา

อนัตตา แปลว่า ไม่มีอัตตา แต่ไม่ได้แปลว่า ตรงข้ามกับอัตตา สิ่งที่ตรงข้ามกับอัตตาคือ นิรัตตา แปลว่า ความขาดสูญ ซึ่งถือเป็นความยึดถือชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับอัตตา (อัตตา/นิรัตตา เป็นมิจฉาทิฏฐิสุดโต่งไปคนละด้าน)

ในการแสดงไตรลักษณ์ ควรจะแสดงหมดทั้ง ๓ ลักษณะ ควบคู่กันไป เนื่องจากมีความสัมพันธ์กัน อนิจจัง ทุกขัง เป็นลักษณะที่ปรากฏแก่สายตา จึงเข้าใจได้ไม่ยาก แต่ อนัตตา เป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏจึงเข้าใจได้ยาก ต้องอาศัยความเชื่อมโยงของ อนิจจัง ทุกขัง มาเป็นส่วนช่วยในการทำความเข้าใจ (ดังที่พระบรมศาสดาตรัสใน 🔎อนัตตลักขณสูตรว่า “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”

เป็นไตรลักษณ์หรือไม่ “สังขาร ทั้งปวง ไม่เที่ยง สังขาร ทั้งปวง เป็นทุกข์ ธรรม ทั้งปวง เป็นอนัตตา”

พุทธพจน์ที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในพระไตรปิฏกนี้ แสดงให้เห็นความแตกต่างอยู่แล้วว่า ขอบเขตของอนัตตากว้างขวางกว่าอนิจจัง และทุกข์ กล่าวคือ ในสองอย่างแรก สังขารทั้งปวง (คือสังขตธรรม) ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แต่ในข้อสุดท้าย ธรรมทั้งปวง (คือสังขตธรรม+อสังขตธรรม) ซึ่งบอกชัดอยู่แล้วว่า ไม่เฉพาะสังขารคือสังขตธรรมเท่านั้น แต่ทั้งสังขารและธรรมอื่นนอกจากสังขาร คือ ทั้งสังขตธรรม และอสังขตธรรม เป็นอนัตตา

ความแตกต่างนี้จะเข้าใจได้ชัดเมื่อเข้าใจความหมายของ “สังขาร” และ “ธรรม”

ธรรม เป็นคำที่มีความหมายกว้างที่สุด กินความครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างบรรดามี ทั้งเรื่องทางวัตถุและทางจิตใจ รูปธรรมและนามธรรม ทั้งที่ดีและชั่ว โลกียธรรมและโลกุตรธรรม สังขตธรรมและอสังขตธรรม รวมอยู่ในคำว่าธรรมทั้งสิ้น กล่าวคือ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นสภาวธรรม เป็นไปตามธรรมชาติ (ในหลายกรณี ศัพท์คำว่า “ธรรม” ก็สามารถใช้ในความหมายที่จำเพาะบางขอบเขตความหมายได้ เช่น เมื่อมาคู่กับ “อธรรม” “ธรรม” ก็จะหมายถึง คุณธรรมความดี, เมื่อใช้เกี่ยวกับการศึกษาธรรมะ “ธรรม” ก็จะหมายถึง พุทธพจน์ หรือคำสั่งสอน เป็นต้น)

สังขาร ในไตรลักษณ์ หมายถึง สภาวะที่เกิดจากเหตุปัจจัยปรุงแต่ง (สังขตธรรม) กินความหมายกว้างรองลงมา กล่าวโดยย่อคือหมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่าง ยกเว้น นิพพาน นั่นเอง (ทั้งนี้คำว่า “สังขาร” หลายกรณีก็ใช้ในความหมายอื่นที่แคบกว่านี้ เช่น สังขาร ในขันธ์ ๕ หมายถึง สภาพปรุงแต่งจิต คุณสมบัติต่างๆของจิต เนื่องจากโดยรูปศัพท์แล้ว “สังขาร” แปลว่า ปรุงแต่ง)



๑.๔ สัจจะ ๒ ระดับ

ผู้สดับคำสอนในพระพุทธศาสนาบางคน เกิดความสับสน เมื่อได้อ่านได้ฟังข้อความบางอย่าง เช่น บางแห่งว่าตนเป็นที่พึ่งของตน ควรยินดีในของของตน แต่บางแห่งว่า ไม่ใช่ตัวตนของเรา สิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา ดังนี้เป็นต้น แล้วมองไปว่าคำสอนขัดแย้งกันเอง หรือบางคนเข้าใจแต่ไม่ชัดเจนพอ ทำให้เกิดการปฏิบัติสับสน ในเวลาที่ควรพูดหรือควรปฏิบัติตามความรู้ในชีวิตประจำวัน กลับพูดหรือปฏิบัติด้วยความยึดถือในความรู้ตามสภาวะ

คัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม หวังจะช่วยป้องกันความสับสนผิดพลาดเช่นนี้ จึงสอนให้รู้จักแยกสัจจะหรือความจริง เป็น ๒ ระดับ กล่าวคือ

สมมติสัจจะ (โวหารสัจจะ) : ความจริงโดยสมมติ ไม่ใช่จริงแท้ (สม+มติ) คือ จริงตามมติร่วมกัน โดยสำนวนพูด หมายรู้ร่วมกัน เป็นเครื่องมือสื่อสารพอให้สำเร็จประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น อัตตา คน สัตว์ โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น

พุทธพจน์ที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งของตน” นั้นเป็นการใช้ภาษาสมมติ ตามสภาวะ ตัวตนนั้นไม่มีจริง มีแต่สภาวะธรรมที่มีจริง (อาจารย์บางท่านกล่าวโดยสำนวนว่า “มีอยู่อย่างเป็นอนัตตา”)

ปรมัตถสัจจะ (สภาวะสัจจะ) : ความจริงตามความหมายสูงสุด ตามความหมายแท้ขั้นสุดท้ายที่ตรงตามสภาวะและเท่าที่พอจะกล่าวถึงได้ เพื่อสำหรับให้เกิดความรู้ความเข้าใจเท่าทันความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดคือ การหยั่งรู้สัจธรรม เช่น รูปธรรม นามธรรม ขันธ์ ๕ นิพพาน ผัสสะ เจตนา ฯลฯ

ตัวอย่างที่พอเทียบให้เห็นเค้า เช่น คำว่า น้ำ ว่า เกลือ  ยังไม่ตรงสภาวะแท้ เมื่อพูดให้ถูก คือ H2O, NaCl (ข้อเปรียบเทียบนี้ไม่ใช่ตรงกันแท้ แต่เทียบพอให้เห็นว่าในวิชาการอื่น ก็มีการมองเห็นความจริงด้านอื่นของสิ่งสามัญ)

“ภิกษุใดเป็นผู้ไกลจากกิเลส มีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในชาติสุดท้าย ภิกษุนั้นพึงกล่าวว่า ‘เราพูด’ ดังนี้บ้าง กล่าวว่า ‘บุคคลทั้งหลายพูดกับเรา’ ดังนี้บ้าง ภิกษุนั้นเป็นผู้ฉลาด ทราบคำพูดในโลก พึงกล่าวตามสมมติที่เขาพูดกัน” (อรหันตสูตรที่ ๕, ๑๕/๖๕)

“จิตตะ เหล่านี้แลเป็นโลกสมัญญา (ชื่อที่ชาวโลกใช้เรียก) เป็นโลกนิรุตติ (ภาษาของชาวโลก) เป็นโลกโวหาร (โวหารของชาวโลก) เป็นโลกบัญญัติ (บัญญัติของชาวโลก) ซึ่งตถาคตก็ใช้กล่าวอยู่ แต่มิได้ยึดถือ” (โปฏฐปาทสูตร, ๙/๓๑๒)

อ่านเพิ่มเติม 🔎ปรมัติและบัญญัต


พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับสัจจะทั้ง ๒ ระดับ สมมติไม่ใช่ของเหลวไหลไร้สาระ แต่มีขึ้นเพื่อที่จะให้มนุษย์เอาความจริงมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างได้ผล เช่น การสมมติบัญญัติภาษาพูด และการสมมติบัญญัติกฏหมายต่างๆขึ้นใช้ในสังคม, พระพุทธศาสนาในส่วนของวินัย ถือเป็นสมมติสัจจะทั้งหมด, พระปัจเจกพุทธเจ้า บรรลุปรมัตถสัจจะ แต่ไม่สามารถจัดตั้ง สมมติสัจจะขึ้นอย่างเป็นระบบเพื่อสั่งสอนมนุษย์ในวงกว้างได้ (ปัจจุบันในภาษาไทยใช้ความหมายของสมมติเพี้ยนไปจากความหมายเดิม คือ เป็นลักษณะการยกตัวอย่าง ไม่ใช่การมีมติร่วมกัน)

จุดสำคัญของการจัดวางสมมติ คือ ต้องจัดวางขึ้นบนพื้นฐานของความรู้จริงตามสภาวะนั้น จึงจะทำให้สมมตินั้นเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง เช่น การสมมติบัญญัติกฏหมายต่างๆขึ้นใช้ในสังคม จะมีความยุติธรรมแท้จริงได้ก็ต่อเมื่อสอดคล้องกับเหตุปัจจัยตามธรรมชาติ จึงกล่าวได้ว่า สมมติเป็นแกนของสังคม


๑.๓ อายตนะ ๖

อายตนะ ๖ : ช่องทางเสพเสวยโลก

อายตนะภายใน ๖
(อินทรีย์) คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
อายตนะภายนอก ๖ (อารมณ์) คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย) ธรรมมารมณ์ (สิ่งที่ใจคิด)

การเสพเสวยโลกนั้น เราต้องรู้ตามความเป็นจริงคือ สิ่งทั้งหลายในโลกทั้งภายในและภายนอก เป็นไปตามหลักไตรลักษณ์ การยึดติดทั้งทางชอบและชัง (ชอบใจ ติดใจ / เกลียดชัง หลีกหนี) เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อเข้าใจตามความเป็นจริงแล้วก็จะละความยึดติดในสิ่งทั้งปวงได้ เมื่อไม่ยึดติดถือมั่นแล้วก็จะเป็นอิสระ เข้าสู่ภาวะที่อยู่ดีมีสุขทางจิตใจได้โดยสมบูรณ์ นี่คือหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเข้าใจผิดบางประการ ในเบื้องต้นควรศึกษาหลักวิธีปฏิบัติต่อทุกข์-สุข ดังนี้

(ทำความเข้าใจ อายตนะ เพิ่มเติม ใน 🔎สัพพสังคหะ หมวดที่ ๓ อายตนะ ๑๒)


วิธีปฏิบัติต่อทุกข์-สุข ๔

หลักการเพียรพยายามให้ได้ผลในการละทุกข์ละสุข, การปฏิบัติที่ถูกต้องต่อความทุกข์และความสุข ซึ่งเป็นไปตามหลักพระพุทธศาสนา ที่แสดงว่า ความเพียรพยายามที่ถูกต้อง จะมีผลจนสามารถเสวยสุขที่ไร้ทุกข์ได้
๑. ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่มิได้ถูกทุกข์ท่วมทับ
๒. ไม่สละความสุขที่ชอบธรรม
๓. ไม่สยบหมกหมุ่น (แม้)ในสุขที่ชอบธรรมนั้น
๔. เพียรพยายามทำเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไป (อาจพูดอีกสำนวนหนึ่งว่า เพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสุขที่ประณีตสูงขึ้นไป)

ความสุขอย่างที่เข้าใจกันในโลก ก็เป็นไปตามหลักไตรลักษณ์ จึงย่อมมีความไม่สมบูรณ์อยู่ในตัวในแง่ที่ว่า จะต้องแปรปรวนไป ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจให้ความพึงพอใจได้โดยสมบูรณ์ ผู้ที่ฝากความหวังในความสุขไว้กับสิ่งทั้งหลายอย่างขาดสติ ย่อมเท่ากับทำตัวให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความไม่สมบูรณ์ของสิ่งเหล่านั้น ผู้หาความสุขที่ฉลาด เมื่อยังยินดีที่จะหาความสุขจากสิ่งเหล่านี้อยู่ จึงต้องมีชีวิตอยู่อย่างรู้เท่าทันความจริง แสวงหาและเสวยความสุขอย่างมีสติปัญญา โดยให้ความแปรปรวนของมันก่อโทษน้อยที่สุด



วันจันทร์

๑.๒ ขันธ์ ๕

ขันธ์ ๕ คือ ส่วนประกอบ ๕ อย่างของชีวิต แบ่งเป็นรูปธรรม ๑ นามธรรม ๔

รูป : ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด สสารและพลังงานฝ่ายวัตถุ

เวทนา
: การเสวยอารมณ์, การเสพรสอารมณ์, ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ซึ่งเกิดจากผัสสะทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ, ความรู้สึกต่อสิ่งที่ถูกรับรู้ ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการรับรู้, เวทนาเป็นกิจกรรมของจิตในขั้นรับ คือเกี่ยวข้องกับผลที่อารมณ์มีต่อจิตเท่านั้น ยังไม่ใช่ขั้นที่เป็นฝ่ายจำนงหรือกระทำต่ออารมณ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมของสังขาร ดังนั้น คำว่า ชอบ ไม่ชอบ ตามปกติจะใช้แสดงกิจกรรมในหมวดสังขาร โดยเป็นอาการสืบเนื่องจากเวทนาอีกต่อหนึ่ง, เวทนา จัดอยู่ในพวกวิบาก ไม่ดีไม่ชั่ว โดยลำพังตัวของมัน 
(อารมณ์ หมายถึง สิ่งที่จิตยึดหน่วง, สิ่งที่ถูกรู้ ได้แก่ อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์)

สัญญา
: ความกำหนดได้หมายรู้ อันเป็นเหตุให้จำอารมณ์นั้นๆได้

สังขาร : คุณสมบัติต่างๆของจิต หรือเครื่องปรุงแต่งของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ไม่ว่าเครื่องแต่งคุณภาพกี่อย่างจะเกิดขึ้นทำหน้าที่ในคราวหนึ่งคราวใด จะต้องมีเจตนาร่วมอยู่ด้วยเป็นแกนนำเสมอไปทุกคราว บางครั้งท่านถึงกับใช้คำว่า เจตนา คำเดียวเป็นคำแทน หมายถึงสังขารทั้งหมด และเจตนา ก็เป็นคำจำกัดความของคำว่ากรรมด้วย ดังนั้น คำว่า สังขาร เจตนา กรรม จึงมีความหมายอย่างคร่าวๆเท่ากัน, โลภะ โทสะ โมหะ ทิฏฐิ ศรัทธา ปัญญา ฯลฯ จัดอยู่ในหมวดสังขาร, นามขันธ์อื่นเป็นฝ่ายรับอารมณ์แต่สังขารเป็นฝ่ายกระทำต่ออารมณ์ (การที่สังขารมีเจตนาเป็นประธานมันจึงมีคุณสมบัติของการเป็นฝ่ายริเริ่ม กระทำต่ออารมณ์ต่างๆ ด้วยเหตุนี้ความเพียรจึงมีผล แต่ไม่ใช่ว่ามีอัตตาตัวตนอะไรอยู่ตรงที่นี้ การริเริ่มกระทำต่ออารมณ์เป็นหน้าที่หรือคุณสมบัติตามธรรมชาติของสังขาร เหมือนกับที่ เวทนา มีหน้าที่เสวยอารมณ์นั่นเอง)

วิญญาณ : ความรู้แจ้งอารมณ์ทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ, กระแสความรู้ยืนพื้น ซึ่งเกิดดับต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาควบไปกับนามขันธ์อื่นๆ หรือกิจกรรมทุกอย่างในจิตใจ


ถ้าเข้าใจตัวมนุษย์เองแล้ว กล่าวได้ว่าเข้าใจหมดทุกอย่าง พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้เราค้นพบตัวเอง ให้รู้จักตัวเอง ให้เข้าถึงความจริงที่มีอยู่ในขันธ์ ๕ นี้ เพราะสภาวธรรมที่ประกอบกันขึ้นเป็นมนุษย์นั้น ไม่มีส่วนอื่นใดเกินเลย นอกเหนือไปจากขันธ์ ๕ คือ รูปธรรม ๑ นามธรรม ๔ นี้ พระสารีบุตรท่านเปรียบเทียบความอิงอาศัยกันของรูปและนามเหมือนไม้สองท่อนที่ค้ำยันกัน

คำว่า “รูปธรรม” นั้นรวมไปถึงพลังงานฝ่ายวัตถุ เช่น พลังงานความร้อน คลื่นสัญญาณต่างๆ และคลื่นเสียง ที่ตามองไม่เห็นด้วย อ.เสถียร โพธินันทะอธิบายว่า “หลักในการวินิจฉัยแยกนามรูปอย่างง่ายๆคือ รูปกับรูปนั้นกระทบกันเองได้แต่รูปกระทบนามไม่ได้” คำว่ากระทบในที่นี้เข้าใจว่าหมายถึงเป็นลักษณะการกระทบทางฟิสิกส์เท่านั้น นอกจากนี้นามไม่ถูกจำกัดด้วยเทศะ คือ ไม่กินพื้นที่ เช่น ภวังคจิต สามารถเก็บความทรงจำต่างๆได้อย่างไม่สิ้นสุด

อธิบายศัพท์ “สังขาร” สังขาร แปลว่า ปรุงแต่ง ใช้ในความหมายหลักๆ ๔ อย่าง คือ

- สังขารในขันธ์ ๕ หมายถึง สภาวะที่ปรุงแต่งจิต, คุณสมบัติต่างๆของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ เป็นส่วนนามธรรมอย่างเดียว
- สังขารในปฏิจจสมุปบาท สังขารในขันธ์ ๕ มุ่งแสดงส่วนประกอบ ส่วนในปฏิจจสมุปบาทมุ่งแสดงกระบวนการปฏิบัติการ โดยจำแนกตามทวาร คือ เจตนาที่กระทำทางกาย วาจา ใจ หรือ จำแนกตามสภาพที่เป็นกุศลหรืออกุศล
- สังขารในไตรลักษณ์ หมายถึง สภาวะที่ถูกปรุงแต่ง (ความหมายกว้าง) คือ สภาวะที่เกิดจากเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตาม มีชีวิตหรือไร้ชีวิตก็ตาม เรียกอีกอย่างว่า สังขตธรรม คือ ทุกสิ่งทุกอย่าง เว้นแต่ นิพพาน ซึ่งเป็น วิสังขาร หรือ อสังขตธรรม
- สังขาร บางครั้งก็ใช้ในความหมายเท่ากับ ขันธ์ ๕ ทั้งหมด (ในภาษาไทยใช้ในความหมายนี้เป็นส่วนใหญ่)


ส่วนแทรกเสริม : การจัดแบ่งแบบคัมภีร์อภิธรรม 
ตามแนวพระสูตรนิยมแบ่งเป็นขันธ์ ๕ ส่วนในพระอภิธรรมแบ่งเป็น ๓ คือ รูป (รูปขันธ์), จิต (วิญญาณขันธ์), เจตสิก (เวทนาขันธ์+สัญญาขันธ์+สังขารขันธ์) 

เจตสิก เจตสิก คือ ธรรมที่ประกอบกับจิต, มีอารมณ์และวัตถุที่อาศัยเดียวกับจิต, อาการหรือคุณสมบัติต่างๆของจิต มี ๕๒ อย่าง (เวทนา๑+สัญญา ๑+สังขาร ๕๐)

อัญญาสมานาเจตสิก : เจตสิกที่มีเสมอกันแก่จิตพวกอื่น คือ ประกอบเข้าได้กับจิตทุกฝ่ายทั้งกุศลและอกุศล มี ๑๓ อย่าง แบ่งเป็น
    ๑.๑) เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับจิตทุกดวง (สาธารณะ) ได้แก่ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ (อินทรีย์คือชีวิต, สภาวะที่เป็นใหญ่ในการรักษานามธรรมทั้งปวง) มนสิการ
    ๑.๒) เจตสิกที่ไม่เกิดขึ้นกับจิตแน่นอนเสมอไปทุกดวง (ปกิณณกะ) ได้แก่ วิตก วิจาร อธิโมกข์ วิริยะ ปีติ ฉันทะ

อกุศลเจตสิก : เจตสิกฝ่ายอกุศล มี ๑๔ อย่าง แบ่งเป็น
    ๒.๑) เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับอกุศลจิตทุกดวง ได้แก่ โมหะ อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อบาป) อโนตตัปปะ (ความไม่กลัวต่อบาป) อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน)
    ๒.๒) เจตสิกที่ไม่เกิดขึ้นกับอกุศลจิตแน่นอนเสมอไปทุกดวง ได้แก่ โลภะ ทิฏฐิ (หมายเอาเฉพาะมิจฉาทิฏฐิ ส่วนสัมมาทิฏฐิจัดเข้าในปัญญา) มานะ โทสะ อิสสา (ความริษยา) มัจฉริยะ (ความตระหนี่) กุกกุจจะ (ความเดือดร้อนใจ) ถีนะ (ความหดหู่) มิทธะ (ความง่วงเหงา) วิจิกิจฉา

โสภณเจตสิก : เจตสิกฝ่ายดีงาม (เกิดกับจิตที่เป็นกุศลและอัพยากฤต) มี ๒๕ อย่าง แบ่งเป็น
    ๓.๑) เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับกุศลเจตสิกทุกดวง ได้แก่ ศรัทธา สติ หิริ (ความละอายต่อบาป) โอตตัปปะ (ความกลัวต่อบาป) อโลภะ อโทสะ ตัตรมัชฌัตตตา (ความเป็นกลางในอารมณ์นั้นๆ, อุเบกขา) กายปัสสัทธิ (คำว่ากายในที่นี้หมายถึง เวทนา สัญญา สังขาร คือ ความสงบแห่งกองเจตสิก) จิตตปัสสัทธิ (คำว่าจิตในที่นี้หมายถึง วิญญาณ คือ ความสงบแห่งจิต) กายลหุตา (ความเบาแห่งกองเจตสิก) จิตตลหุตา (ความเบาแห่งจิต) กายมุทุตา (ความนุ่มนวลแห่งกองเจตสิก) จิตตมุทุตา (ความนุ่มนวลแห่งจิต) กายกัมมัญญตา (ความควรแก่งานแห่งกองเจตสิก) จิตตกัมมัญญตา (ความควรแก่งานแห่งจิต) กายปาคุญญตา (ความคล่องแคล่วแห่งกองเจตสิก) จิตตปาคุญญตา (ความคล่องแคล่วแห่งจิต) กายุชุกตา (ความซื่อตรงแห่งกองเจตสิก) จิตตุชุกตา (ความซื่อตรงแห่งจิต)
     ๓.๒) เจตสิกที่เป็นตัวความงดเว้น ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
    ๓.๓) อัปปมัญญาเจตสิก ได้แก่ กรุณา มุทิตา (เมตตา = อโทสะ, อุเบกขา = ตัตรมัชฌัตตตา)
    ๓.๔) ปัญญินทรีย์เจตสิก ได้แก่ ปัญญินทรีย์ (หรือ อโมหะ)



วันเสาร์

๑.๑ มัชเฌนธรรมเทศนา

หลักความจริงที่เป็นกลางตามธรรมชาติ หรือ ธรรมที่เป็นกลาง

มัชเฌนธรรมเทศนา คือ ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นกลางๆ ตามความจริงของธรรมชาติ คือตามสภาวะที่สิ่งทั้งหลายมันเป็นของมันเอง ตามเหตุปัจจัย ไม่ติดข้องในทิฏฐิ คือทฤษฎีหรือแนวคิดเอียงสุดทั้งหลาย ที่มนุษย์วาดให้เข้ากับความหมายรู้ที่ผิดพลาด และความยึดความอยากของตน ที่จะให้โลกและชีวิตเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไปตามที่ตนปรุงแต่ง

พุทธธรรมมองเห็นสิ่งทั้งหลายเป็นธาตุ เป็นธรรม เป็นสภาวะ อันมีอยู่เป็นอยู่ตามภาวะของมัน ที่เป็นของมันอย่างนั้น เช่นนั้น ตามธรรมดาของมัน มิใช่มีเป็นสัตว์ บุคคล อัตตา ตัวตน เราเขา ที่จะยึดถือเอาเป็นเจ้าของ ครอบครอง บังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนาอย่างไรๆได้ บรรดาสิ่งทั้งหลายที่รู้จักเข้าใจกันอยู่โดยทั่วไปนั้น มีอยู่เป็นอยู่เป็นไปในรูปของส่วนประกอบต่างๆที่มาประชุมกันเข้า ตัวตนแท้ๆของสิ่งทั้งหลายไม่มี (ปรมัตถสัจจะ) เมื่อแยกส่วนต่างๆ ที่มาประกอบกันเข้านั้นออกไปให้หมด ก็จะไม่พบตัวตนของสิ่งนั้นเหลืออยู่ เมื่อจะพูดว่าสิ่งทั้งหลายมีอยู่ (สมมติสัจจะ) ก็ต้องเข้าใจในความหมายว่า มีอยู่ในฐานะมีส่วนประกอบต่างๆมาประชุมเข้าด้วยกัน นิยมเรียกว่า “สภาวธรรม” แปลว่า สิ่งที่มีภาวะของมันเอง


(ศัพท์คำว่า “ธรรม” มีหลายความหมาย อย่างเจาะจงหมายถึง พระธรรมคำสั่งสอน, หลักการ แบบแผน อย่างกว้างหมายถึง สภาพตามธรรมดาธรรมชาติ ซึ่งเป็นศัพท์ที่มีความหมายกว้างที่สุด ครอบคลุมถึงทุกสิ่งทุกอย่าง)



พุทธธรรม

หลักธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะมีชื่อใดๆ ล้วนสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งสิ้น เพราะแสดงถึงหรือสืบเนื่องมาจากสัจธรรมเดียวกัน และเป็นไปเพื่อจุดหมายเดียวกัน แต่นำมาแสดงในชื่อต่างๆกัน โดยชี้ความจริงเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง คนละส่วนละตอนกันบ้าง แสดงคนละรูปละแนว เพื่อวัตถุประสงค์คนละอย่างบ้าง บางข้อเป็นส่วนย่อยของหลักใหญ่ บางข้อเป็นหลักใหญ่ด้วยกัน แต่มีแนวหรือรูปแบบการแสดงและความมุ่งหมายจำเพาะในการแสดงต่างกัน ลักษณะทั่วไปของพุทธธรรมนั้น สรุปได้ ๒ อย่าง คือ

๑. มัชเฌนธรรมเทศนา (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ)

หลักความจริงที่เป็นกลางตามธรรมชาติ หรือ ธรรมที่เป็นกลาง ว่าด้วยความจริงตามแนวของเหตุผลบริสุทธิ์ตามกระบวนการของธรรมชาติ นำมาแสดงเพื่อประโยชน์ในทางปฏิบัติในชีวิตจริงเท่านั้น ไม่ส่งเสริมการเข้าถึงสัจธรรมด้วยวิธีถกเถียงสร้างทฤษฎีต่างๆ และการเก็งความจริงทางปรัชญา

๒. มัชฌิมาปฏิปทา (มรรค)

ข้อปฏิบัติที่เป็นกลางตามธรรมชาติ หรือ ทางสายกลาง เป็นภาคปฏิบัติอันเป็นหลักการครองชีวิตของผู้ฝึกอบรมตน ผู้รู้เท่าทันชีวิต ไม่หลงงมงาย มุ่งผลสำเร็จคือ ความสุข สะอาด สว่าง สงบ เป็นอิสระ ที่สามารถมองเห็นได้ในชีวิตนี้

ทางสายกลางนั้น มิใช่หมายถึงอยู่กึ่งกลางระหว่าง ที่สุดทั้ง ๒ ทาง หรือกึ่งกลางของทางหลายๆทาง แต่หมายถึง ความมีเป้าหมายที่แน่ชัด แล้วกระทำตรงจุด พอเหมาะพอดีจะให้ผลสำเร็จตามเป้าหมายนั้น ไม่เขวออกไปเสีย ทางสายกลางนี้ถ้าไม่เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ ก็ไม่มีมัชฌิมาปฏิปทา ถ้าไม่ดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา ก็แก้ปัญหาดับทุกข์ไม่สำเร็จ


( พุทธธรรมอย่างย่อ)

๑ . มัชเฌนธรรมเทศนา (ภาคแสดงหลักการ)
๑.๑ มัชเฌนธรรมเทศนา
๑.๒ ขันธ์ ๕
๑.๓ อายตนะ ๖ และวิธีปฏิบัติต่อทุกข์-สุข ๔
๑.๔ สัจจะ ๒ ระดับ
๑.๕ ไตรลักษณ์
๑.๖ ประมวลความหมายของอนัตตา
๑.๗ ปฏิจจสมุปบาท
๑.๘ ธรรมนิยาม
๑.๙ กิเลส
๑.๑๐ กรรม
๑.๑๑ กรรม ๑๒
๑.๑๒ แก้กรรม ด้วยปฏิกรรม
๑.๑๓ นิพพาน : ประโยชน์สูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้จากชีวิตนี้
๑.๑๔ ภาวะแห่งนิพพาน
๑.๑๕ ลักษณะของพระอรหันต์ผู้เข้าถึงนิพพาน (ภาวิต ๔)
๑.๑๖ ความพร้อมที่จะมีความสุข
๑.๑๗ วิมุตติ ๕
๑.๑๘ ความเข้าใจสับสนเกี่ยวกับนิพพาน
๑.๑๙ นิพพาน มีอัตตาไหม เป็นอัตตาไหม?
๑.๒๐ พระอริยบุคคล
๑.๒๑ สังโยชน์ ๑๐
๑.๒๒ พระอริยบุคคล ๗ (ทักขิไฌยบุคคล ๗)
๑.๒๓ โสดาปัตติยังคะ ๔
๑.๒๔ สำนวนแสดงความแตกต่างระหว่างพระอริยบุคคลแต่ละระดับ
๑.๒๕ หลักการบรรลุนิพพาน
๑.๒๖ ปริญญา
๑.๒๗ หลักวิปัสสนาบางส่วนจากพระไตรปิฎก
๑.๒๘ วิสุทธิ ๗
๑.๒๙ ความเข้าใจเรื่องจิตตามหลักพระพุทธศาสนา
๑.๓๐ ตัวอย่างกระบวนการของจิตแบบ “อติมหันตารมณ์”
๑.๓๑ ประเด็นเรื่องจิตเดิมแท้

๒. มัชฌิมาปฏิปทา (ภาคปฏิบัติ)
๒.๑ มัชฌิมาปฏิปทา (มรรค ๘)
๒.๒ บุพนิมิตแห่งมรรค
๒.๓ ธรรมานุธรรมปฏิบัติ
๒.๔ การมองโลกตามความเป็นจริง
๒.๕ มรรค ๘ : ทางแห่งการเป็นอยู่ด้วยปัญญา
        ๒.๕.๑ หมวดปัญญา : สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปปะ
        ๒.๕.๒ หมวดศีล : สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ
        ๒.๕.๓ หมวดสมาธิ : สัมมาวายามะ, สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ
                ๒.๕.๓.๑ ระดับของสมาธิ
                ๒.๕.๓.๒ วิธีเจริญสมาธิโดยใช้กรรมฐาน : อานาปานสติ /โอทาตกสิณ / อัปปมัญญา ๔
                ๒.๕.๓.๓ ประโยชน์ของสมาธิ
                ๒.๕.๓.๔ สติปัฏฐาน ๔
๒.๖ ถ้าปฏิบัติธรรมถูกทาง ต้องได้ปราโมทย์
๒.๗ ความไม่ประมาท
๒.๘ อริยสัจ ๔ : ความจริงอันประเสริฐ, สัจจะอย่างอริยะ

๓. อารยธรรมวิถี
๓.๑ อารยธรรมวิถี (วิถีชีวิตของคนมีอารยธรรม)
๓.๒ ความสุข และปัญหาเกี่ยวกับแรงจูงใจ
๓.๓ ความหมายของ ศีล วินัย สิกขาบท พรต วัตร ตบะ
๓.๔ พุทธศาสนา คือ ระบบการพัฒนาความสุข
๓.๕ ระดับขั้นของความสุข
๓.๖ ข้อเสีย หรือจุดบกพร่องของกามสุข
๓.๗ ข้อบกพร่องของฌานสุข
๓.๘ นิพพานสุข และบทลงท้าย