RSS

ปล่อยว่าง (อัญญาณุเบกขา)

อัญญาณุเบกขา หมายถึง เฉยไม่รู้เรื่อง เฉยไม่เอาเรื่อง เฉยไม่ได้เรื่อง
คนทั่วไปนึกไม่ออกว่า อุเบกขา ดีอย่างไร
ต้องมีปัญญาชั้นเลิศจึงจะรู้จักความประเสริฐของอุเบกขา
อุเบกขาที่เราเอามาใช้กันในหมู่คนไทยนั้นต้องระวัง ถ้าเฉยเรื่อยเปื่อยทางพระเรียกว่า “เฉยโง่” เป็นอกุศล



คำพระว่า “อัญญาณุเบกขา” หมายถึง เฉยไม่รู้เรื่อง เฉยไม่เอาเรื่อง เฉยไม่ได้เรื่อง
แต่เฉยของธรรม คือ เฉยด้วยปัญญา เพราะรู้แล้ว ก็วางตัวพอดี โดยทั่วไป เมื่อมีสถานการณ์ตื่นเต้นเกิดขึ้น จะมีคน ๓ พวก คือ…
๑. คนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย จึงเฉย
๒. คนที่รู้ครึ่งไม่รู้ครึ่ง อาจจะตื่นเต้นโวยวาย ลุกขึ้นมากระโดดโลดเต้น แต่แก้ไขปัญหาไม่ค่อยได้ บางทีตื่นเต้นโวยวายไปยิ่งทำให้เรื่องลุกลามใหญ่โต
๓. คนที่รู้เข้าใจหมด มองเห็นว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างไร เหตุปัจจัยเป็นอย่างไร มันจะเป็นไปอย่างไร จะแก้ไขที่จุดไหน ถึงจุดไหนจะต้องทำอะไร พวกนี้เฉยเหมือนกัน แต่เฉยพร้อมรอจังหวะ เมื่อถึงจุดนั้น ต้องทำอันนั้น ที่จุดนั้น ต้องทำอันนั้น เขาเฉย แต่พร้อมที่จะทำไปตามลำดับ ให้ถูกจุดถูกที่ พวกนี้แก้ปัญหาได้

ความนิ่งเฉยด้วย”รู้”นี่แหละ เรียกว่า “อุเบกขา”
อุเบกขานี้เป็นธรรมสูงสุดในทางจริยธรรม สภาพจิตปกติของพระอรหันต์ คือ อุเบกขา เพราะอยู่ด้วยจิตที่ลงตัวพอดี ด้วยปัญญา มีอุปมาอย่างหนึ่ง คือ เรื่องสารถีขับรถ

สมัยก่อนนี้ คนขับรถม้า เอาม้าผูกเข้ากับรถแล้ว ม้าก็พารถไป สารถีที่เชี่ยวชาญขับรถม้า ก่อนที่รถจะวิ่งเข้าที่ แกก็ต้องชักบังเหียนบ้าง ใช้แส้บ้าง เพื่อให้ม้าพารถเข้าสู่ทาง แล้วก็ปรับความเร็วให้พอดี พอม้าวิ่งเข้าทางดี และได้ความเร็วพอดีตามที่ต้องการแล้ว สารถีผู้เชี่ยวชาญนั้น จะอยู่พร้อมด้วยความตระหนักรู้ แกนั่งสบายเลย สงบนิ่ง แต่จิตนั้นอยู่ด้วยความรู้ ไวต่อการที่จะรับรู้ และความคิดที่จะแก้ไข ไม่ว่าจะมีอะไรผิดพลาด เมื่อทุกอย่างลงตัวเข้าที่พอดีแล้ว เขานั่งสงบ และพร้อมที่จะแก้ไขปัญหา

ต่างจากคนที่ไม่ชำนาญ ซึ่งตื่นเต้น หวาด ไม่แน่ใจว่าจะเอาอย่างไร จะทำอย่างไร จิตไม่สบาย ไม่นิ่ง ไม่สงบ ไม่ลงตัว มนุษย์ที่ยังไม่รู้เท่าทันจัดเจนโลก ไม่รู้ความจริงของชีวิต ก็เหมือนกับสารถีที่ยังไม่เจนจบส่วนพระอรหันต์นั้น เหมือนกับสารถีที่เจนจบ ท่านรู้เข้าใจโลกและชีวิตตามเป็นจริง จนวางจิตพอดีลงตัวหมด

ต่างจากมนุษย์ปุถชน ที่ยังไม่รู้ว่าชีวิตนี้คืออะไร โลกนี้เป็นอย่างไร อยากนั่น ยึดนี่ กังวลโน่น อยู่ด้วยความหวาดหวั่นพรั่นใจตื่นเต้นไป จิตลงตัวอุเบกขาไม่ได้ อุเบกขานั้น ไม่ต้องวางหรอก มันถึงเอง เพราะมันเป็นสภาพจิตอัตโนมัติที่เกิดจากปัญญา โดยปัญญามาปรับสภาพจิต ฉะนั้น ปัญญา กับ อุเบกขาจึงคู่กัน พอปัญญาถึงขั้นเป็นโพธิญาณ หยั่งรู้ความจริงของชีวิตและโลก เจนจบ รู้เท่าทันสังขาร จิตก็ลงตัว เรียกว่าวางพอดีกับชีวิตและโลก เป็นอุเบกขาด้วยปัญญานั้น นี่คือจิตพระอรหันต์ ฉะนั้น จึงเหมือนสารถีที่ว่าเจนจบ สภาพนี้ดีแค่ไหน ก็ลองคิดดู

คนทั่วไปนึกไม่ออกว่า อุเบกขาดีอย่างไร นึกว่าเฉยๆ ไม่ได้เรื่องได้ราว อย่างนั้นเป็นเฉยโง่ (อัญญาณุเบกขา)”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : ธรรมนิพนธ์ “จะอยู่อย่างเป็นเหยื่อ หรือขึ้นเหนือไปนำเขา”



  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

๑.๕ ไตรลักษณ์

ธรรม(สิ่ง)ทั้งหลายทั้งปวงแยกได้เป็น ๒ อย่าง

สังขตธรรม (สังขาร) : ธรรมที่ถูกปรุงแต่ง, สิ่งทั้งหลายในโลกทั้งรูปธรรมและนามธรรมซึ่งมีความเกิด ดับ ผันแปร (มีลักษณะทั้ง ๓ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)

อสังขตธรรม (วิสังขาร) : ธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่ง, สภาวะพ้นโลก, ธรรมอันเป็นที่สิ้นเหตุปัจจัย พ้นจากปัจจัยปรุงแต่ง ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ พ้นจากความไม่เที่ยงและพ้นจากความเป็นทุกข์ แต่ก็เป็นอนัตตา ไร้ตัว มิใช่ตน หมายถึง นิพพาน (มีลักษณะ อนัตตา)

ไตรลักษณ์ แสดงลักษณะอาการสามด้านหรือสามอย่างของเรื่องเดียวกัน เป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน ด้วยเหตุเพราะสิ่งทั้งหลายในโลกเป็นธรรมชาติ  ซึ่งมีลักษณะความเป็นไป โดยทั่วไปเสมอเหมือนกันตามธรรมดาของมัน ในฐานะที่เป็นของปรุงแต่ง เกิดจากเหตุปัจจัย และขึ้นต่อเหตุปัจจัยทั้งหลายเช่นเดียวกัน กล่าวได้ว่าเป็นสามัญลักษณะของสังขตธรรมนั่นเอง



คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชา

สิ่งทั้งหลายทั่วไป มีอยู่เป็นไปในรูปของกระแส ที่ประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ อันสัมพันธ์เนื่องอาศัยกัน เกิดดับสืบต่อกันไปอยู่ตลอดเวลาไม่ขาดสาย องค์ประกอบทุกอย่างไม่คงที่ จึงเป็นสภาวะที่ไม่เที่ยง (อนิจจัง)

เมื่อแต่ละสิ่งแต่ละส่วนที่สัมพันธ์กัน เกิดดับไม่คงที่และเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่อาศัย ก็ย่อมแสดงถึงความบกพร่องไม่สมบูรณ์อยู่ในตัว, เป็นของมีภัย, คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้, ถูกเบียดเบียนด้วยความเกิดและความดับ, เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ (ทุกขัง)

(อนึ่ง ศัพท์คำว่า ทุกข์ เป็นคำศัพท์สำคัญในพระพุทธศาสนา ใช้ในความหมายที่กว้างและลึกกว่าในภาษาไทยมาก โดยปกติในภาษาไทยเราใช้คำว่า ทุกข์ กับ ความรู้สึกที่ไม่น่าพอใจ ความทรมาน หรือความทุกข์ระทมขมขื่น แต่ในภาษาบาลี ทุกข์ หมายถึง ความคงสภาพอยู่ไม่ได้ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นของมีภัย ไม่อาจให้ความปลอดโปร่งใจได้ของสิ่งต่างๆในโลกดังกล่าว การทำความเข้าใจศัพท์คำว่า ทุกข์ ให้กระจ่าง จะช่วยให้ผู้ศึกษาไม่เกิดความรู้สึกว่าพระพุทธศาสนามองโลกในแง่ร้าย เมื่ออ่านเนื้อหาบางตอน เช่น “การเกิดเป็นทุกข์” “ทั้งในกาลก่อนและบัดนี้ เราสอนแต่ทุกข์ และนิโรธแห่งทุกข์” เป็นต้น ทั้งนี้เพราะท่านมุ่งชี้ไปที่ตัวสภาวะนั่นเอง)

และเมื่อทุกสิ่งทุกอย่าง (ทั้งสังขตะและอสังขตะ) ก็มีภาวะที่เป็นอย่างนั้นๆ ตามธรรมดาของมันเอง จึงย่อมไม่มี อัตตาตัวตนตัวแกนถาวรอะไร ที่มาแฝงมาซ้อนมาคุมให้เป็นไปอย่างไรๆอีกชั้นหนึ่ง ไม่มีตัวตนของมันเองจริงแท้ที่จะมีอำนาจเป็นเจ้าของครอบครองสั่งบังคับให้เป็นไปอย่างไรๆได้ (อนัตตา)

อนัตตา ที่แปลว่า ไม่มีตัวตน ไม่เป็นตัวตนนั้น ไม่ได้หมายถึงไม่มีอะไรเลย คือมีอยู่จริง แต่หมายถึง มีอยู่เป็นอยู่เป็นไป ตามธรรมดาของสภาวะธรรม ไม่มีตัวตนที่จะครอบครองสั่งบังคับให้เป็นหรือไม่เป็นตามที่ปรารถนาโดยไม่ทำตามเหตุปัจจัย, มีอยู่อย่างไม่เป็นอัตตา

อนัตตา แปลว่า ไม่มีอัตตา แต่ไม่ได้แปลว่า ตรงข้ามกับอัตตา สิ่งที่ตรงข้ามกับอัตตาคือ นิรัตตา แปลว่า ความขาดสูญ ซึ่งถือเป็นความยึดถือชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับอัตตา (อัตตา/นิรัตตา เป็นมิจฉาทิฏฐิสุดโต่งไปคนละด้าน)

ในการแสดงไตรลักษณ์ ควรจะแสดงหมดทั้ง ๓ ลักษณะ ควบคู่กันไป เนื่องจากมีความสัมพันธ์กัน อนิจจัง ทุกขัง เป็นลักษณะที่ปรากฏแก่สายตา จึงเข้าใจได้ไม่ยาก แต่ อนัตตา เป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏจึงเข้าใจได้ยาก ต้องอาศัยความเชื่อมโยงของ อนิจจัง ทุกขัง มาเป็นส่วนช่วยในการทำความเข้าใจ (ดังที่พระบรมศาสดาตรัสใน 🔎อนัตตลักขณสูตรว่า “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”

เป็นไตรลักษณ์หรือไม่ “สังขาร ทั้งปวง ไม่เที่ยง สังขาร ทั้งปวง เป็นทุกข์ ธรรม ทั้งปวง เป็นอนัตตา”

พุทธพจน์ที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในพระไตรปิฏกนี้ แสดงให้เห็นความแตกต่างอยู่แล้วว่า ขอบเขตของอนัตตากว้างขวางกว่าอนิจจัง และทุกข์ กล่าวคือ ในสองอย่างแรก สังขารทั้งปวง (คือสังขตธรรม) ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แต่ในข้อสุดท้าย ธรรมทั้งปวง (คือสังขตธรรม+อสังขตธรรม) ซึ่งบอกชัดอยู่แล้วว่า ไม่เฉพาะสังขารคือสังขตธรรมเท่านั้น แต่ทั้งสังขารและธรรมอื่นนอกจากสังขาร คือ ทั้งสังขตธรรม และอสังขตธรรม เป็นอนัตตา

ความแตกต่างนี้จะเข้าใจได้ชัดเมื่อเข้าใจความหมายของ “สังขาร” และ “ธรรม”

ธรรม เป็นคำที่มีความหมายกว้างที่สุด กินความครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างบรรดามี ทั้งเรื่องทางวัตถุและทางจิตใจ รูปธรรมและนามธรรม ทั้งที่ดีและชั่ว โลกียธรรมและโลกุตรธรรม สังขตธรรมและอสังขตธรรม รวมอยู่ในคำว่าธรรมทั้งสิ้น กล่าวคือ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นสภาวธรรม เป็นไปตามธรรมชาติ (ในหลายกรณี ศัพท์คำว่า “ธรรม” ก็สามารถใช้ในความหมายที่จำเพาะบางขอบเขตความหมายได้ เช่น เมื่อมาคู่กับ “อธรรม” “ธรรม” ก็จะหมายถึง คุณธรรมความดี, เมื่อใช้เกี่ยวกับการศึกษาธรรมะ “ธรรม” ก็จะหมายถึง พุทธพจน์ หรือคำสั่งสอน เป็นต้น)

สังขาร ในไตรลักษณ์ หมายถึง สภาวะที่เกิดจากเหตุปัจจัยปรุงแต่ง (สังขตธรรม) กินความหมายกว้างรองลงมา กล่าวโดยย่อคือหมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่าง ยกเว้น นิพพาน นั่นเอง (ทั้งนี้คำว่า “สังขาร” หลายกรณีก็ใช้ในความหมายอื่นที่แคบกว่านี้ เช่น สังขาร ในขันธ์ ๕ หมายถึง สภาพปรุงแต่งจิต คุณสมบัติต่างๆของจิต เนื่องจากโดยรูปศัพท์แล้ว “สังขาร” แปลว่า ปรุงแต่ง)



  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

๑.๔ สัจจะ ๒ ระดับ

ผู้สดับคำสอนในพระพุทธศาสนาบางคน เกิดความสับสน เมื่อได้อ่านได้ฟังข้อความบางอย่าง เช่น บางแห่งว่าตนเป็นที่พึ่งของตน ควรยินดีในของของตน แต่บางแห่งว่า ไม่ใช่ตัวตนของเรา สิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา ดังนี้เป็นต้น แล้วมองไปว่าคำสอนขัดแย้งกันเอง หรือบางคนเข้าใจแต่ไม่ชัดเจนพอ ทำให้เกิดการปฏิบัติสับสน ในเวลาที่ควรพูดหรือควรปฏิบัติตามความรู้ในชีวิตประจำวัน กลับพูดหรือปฏิบัติด้วยความยึดถือในความรู้ตามสภาวะ

คัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม หวังจะช่วยป้องกันความสับสนผิดพลาดเช่นนี้ จึงสอนให้รู้จักแยกสัจจะหรือความจริง เป็น ๒ ระดับ กล่าวคือ

สมมติสัจจะ (โวหารสัจจะ) : ความจริงโดยสมมติ ไม่ใช่จริงแท้ (สม+มติ) คือ จริงตามมติร่วมกัน โดยสำนวนพูด หมายรู้ร่วมกัน เป็นเครื่องมือสื่อสารพอให้สำเร็จประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น อัตตา คน สัตว์ โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น

พุทธพจน์ที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งของตน” นั้นเป็นการใช้ภาษาสมมติ ตามสภาวะ ตัวตนนั้นไม่มีจริง มีแต่สภาวะธรรมที่มีจริง (อาจารย์บางท่านกล่าวโดยสำนวนว่า “มีอยู่อย่างเป็นอนัตตา”)

ปรมัตถสัจจะ (สภาวะสัจจะ) : ความจริงตามความหมายสูงสุด ตามความหมายแท้ขั้นสุดท้ายที่ตรงตามสภาวะและเท่าที่พอจะกล่าวถึงได้ เพื่อสำหรับให้เกิดความรู้ความเข้าใจเท่าทันความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดคือ การหยั่งรู้สัจธรรม เช่น รูปธรรม นามธรรม ขันธ์ ๕ นิพพาน ผัสสะ เจตนา ฯลฯ

ตัวอย่างที่พอเทียบให้เห็นเค้า เช่น คำว่า น้ำ ว่า เกลือ  ยังไม่ตรงสภาวะแท้ เมื่อพูดให้ถูก คือ H2O, NaCl (ข้อเปรียบเทียบนี้ไม่ใช่ตรงกันแท้ แต่เทียบพอให้เห็นว่าในวิชาการอื่น ก็มีการมองเห็นความจริงด้านอื่นของสิ่งสามัญ)

“ภิกษุใดเป็นผู้ไกลจากกิเลส มีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในชาติสุดท้าย ภิกษุนั้นพึงกล่าวว่า ‘เราพูด’ ดังนี้บ้าง กล่าวว่า ‘บุคคลทั้งหลายพูดกับเรา’ ดังนี้บ้าง ภิกษุนั้นเป็นผู้ฉลาด ทราบคำพูดในโลก พึงกล่าวตามสมมติที่เขาพูดกัน” (อรหันตสูตรที่ ๕, ๑๕/๖๕)

“จิตตะ เหล่านี้แลเป็นโลกสมัญญา (ชื่อที่ชาวโลกใช้เรียก) เป็นโลกนิรุตติ (ภาษาของชาวโลก) เป็นโลกโวหาร (โวหารของชาวโลก) เป็นโลกบัญญัติ (บัญญัติของชาวโลก) ซึ่งตถาคตก็ใช้กล่าวอยู่ แต่มิได้ยึดถือ” (โปฏฐปาทสูตร, ๙/๓๑๒)

อ่านเพิ่มเติม 🔎ปรมัติและบัญญัต


พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับสัจจะทั้ง ๒ ระดับ สมมติไม่ใช่ของเหลวไหลไร้สาระ แต่มีขึ้นเพื่อที่จะให้มนุษย์เอาความจริงมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างได้ผล เช่น การสมมติบัญญัติภาษาพูด และการสมมติบัญญัติกฏหมายต่างๆขึ้นใช้ในสังคม, พระพุทธศาสนาในส่วนของวินัย ถือเป็นสมมติสัจจะทั้งหมด, พระปัจเจกพุทธเจ้า บรรลุปรมัตถสัจจะ แต่ไม่สามารถจัดตั้ง สมมติสัจจะขึ้นอย่างเป็นระบบเพื่อสั่งสอนมนุษย์ในวงกว้างได้ (ปัจจุบันในภาษาไทยใช้ความหมายของสมมติเพี้ยนไปจากความหมายเดิม คือ เป็นลักษณะการยกตัวอย่าง ไม่ใช่การมีมติร่วมกัน)

จุดสำคัญของการจัดวางสมมติ คือ ต้องจัดวางขึ้นบนพื้นฐานของความรู้จริงตามสภาวะนั้น จึงจะทำให้สมมตินั้นเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง เช่น การสมมติบัญญัติกฏหมายต่างๆขึ้นใช้ในสังคม จะมีความยุติธรรมแท้จริงได้ก็ต่อเมื่อสอดคล้องกับเหตุปัจจัยตามธรรมชาติ จึงกล่าวได้ว่า สมมติเป็นแกนของสังคม


  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

๑.๓ อายตนะ ๖

อายตนะ ๖ : ช่องทางเสพเสวยโลก

อายตนะภายใน ๖
(อินทรีย์) คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
อายตนะภายนอก ๖ (อารมณ์) คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย) ธรรมมารมณ์ (สิ่งที่ใจคิด)

การเสพเสวยโลกนั้น เราต้องรู้ตามความเป็นจริงคือ สิ่งทั้งหลายในโลกทั้งภายในและภายนอก เป็นไปตามหลักไตรลักษณ์ การยึดติดทั้งทางชอบและชัง (ชอบใจ ติดใจ / เกลียดชัง หลีกหนี) เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อเข้าใจตามความเป็นจริงแล้วก็จะละความยึดติดในสิ่งทั้งปวงได้ เมื่อไม่ยึดติดถือมั่นแล้วก็จะเป็นอิสระ เข้าสู่ภาวะที่อยู่ดีมีสุขทางจิตใจได้โดยสมบูรณ์ นี่คือหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเข้าใจผิดบางประการ ในเบื้องต้นควรศึกษาหลักวิธีปฏิบัติต่อทุกข์-สุข ดังนี้

(ทำความเข้าใจ อายตนะ เพิ่มเติม ใน 🔎สัพพสังคหะ หมวดที่ ๓ อายตนะ ๑๒)


วิธีปฏิบัติต่อทุกข์-สุข ๔

หลักการเพียรพยายามให้ได้ผลในการละทุกข์ละสุข, การปฏิบัติที่ถูกต้องต่อความทุกข์และความสุข ซึ่งเป็นไปตามหลักพระพุทธศาสนา ที่แสดงว่า ความเพียรพยายามที่ถูกต้อง จะมีผลจนสามารถเสวยสุขที่ไร้ทุกข์ได้
๑. ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่มิได้ถูกทุกข์ท่วมทับ
๒. ไม่สละความสุขที่ชอบธรรม
๓. ไม่สยบหมกหมุ่น (แม้)ในสุขที่ชอบธรรมนั้น
๔. เพียรพยายามทำเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไป (อาจพูดอีกสำนวนหนึ่งว่า เพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสุขที่ประณีตสูงขึ้นไป)

ความสุขอย่างที่เข้าใจกันในโลก ก็เป็นไปตามหลักไตรลักษณ์ จึงย่อมมีความไม่สมบูรณ์อยู่ในตัวในแง่ที่ว่า จะต้องแปรปรวนไป ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจให้ความพึงพอใจได้โดยสมบูรณ์ ผู้ที่ฝากความหวังในความสุขไว้กับสิ่งทั้งหลายอย่างขาดสติ ย่อมเท่ากับทำตัวให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความไม่สมบูรณ์ของสิ่งเหล่านั้น ผู้หาความสุขที่ฉลาด เมื่อยังยินดีที่จะหาความสุขจากสิ่งเหล่านี้อยู่ จึงต้องมีชีวิตอยู่อย่างรู้เท่าทันความจริง แสวงหาและเสวยความสุขอย่างมีสติปัญญา โดยให้ความแปรปรวนของมันก่อโทษน้อยที่สุด



  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

๑.๒ ขันธ์ ๕

ขันธ์ ๕ คือ ส่วนประกอบ ๕ อย่างของชีวิต แบ่งเป็นรูปธรรม ๑ นามธรรม ๔

รูป : ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด สสารและพลังงานฝ่ายวัตถุ

เวทนา
: การเสวยอารมณ์, การเสพรสอารมณ์, ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ซึ่งเกิดจากผัสสะทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ, ความรู้สึกต่อสิ่งที่ถูกรับรู้ ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการรับรู้, เวทนาเป็นกิจกรรมของจิตในขั้นรับ คือเกี่ยวข้องกับผลที่อารมณ์มีต่อจิตเท่านั้น ยังไม่ใช่ขั้นที่เป็นฝ่ายจำนงหรือกระทำต่ออารมณ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมของสังขาร ดังนั้น คำว่า ชอบ ไม่ชอบ ตามปกติจะใช้แสดงกิจกรรมในหมวดสังขาร โดยเป็นอาการสืบเนื่องจากเวทนาอีกต่อหนึ่ง, เวทนา จัดอยู่ในพวกวิบาก ไม่ดีไม่ชั่ว โดยลำพังตัวของมัน 
(อารมณ์ หมายถึง สิ่งที่จิตยึดหน่วง, สิ่งที่ถูกรู้ ได้แก่ อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์)

สัญญา
: ความกำหนดได้หมายรู้ อันเป็นเหตุให้จำอารมณ์นั้นๆได้

สังขาร : คุณสมบัติต่างๆของจิต หรือเครื่องปรุงแต่งของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ไม่ว่าเครื่องแต่งคุณภาพกี่อย่างจะเกิดขึ้นทำหน้าที่ในคราวหนึ่งคราวใด จะต้องมีเจตนาร่วมอยู่ด้วยเป็นแกนนำเสมอไปทุกคราว บางครั้งท่านถึงกับใช้คำว่า เจตนา คำเดียวเป็นคำแทน หมายถึงสังขารทั้งหมด และเจตนา ก็เป็นคำจำกัดความของคำว่ากรรมด้วย ดังนั้น คำว่า สังขาร เจตนา กรรม จึงมีความหมายอย่างคร่าวๆเท่ากัน, โลภะ โทสะ โมหะ ทิฏฐิ ศรัทธา ปัญญา ฯลฯ จัดอยู่ในหมวดสังขาร, นามขันธ์อื่นเป็นฝ่ายรับอารมณ์แต่สังขารเป็นฝ่ายกระทำต่ออารมณ์ (การที่สังขารมีเจตนาเป็นประธานมันจึงมีคุณสมบัติของการเป็นฝ่ายริเริ่ม กระทำต่ออารมณ์ต่างๆ ด้วยเหตุนี้ความเพียรจึงมีผล แต่ไม่ใช่ว่ามีอัตตาตัวตนอะไรอยู่ตรงที่นี้ การริเริ่มกระทำต่ออารมณ์เป็นหน้าที่หรือคุณสมบัติตามธรรมชาติของสังขาร เหมือนกับที่ เวทนา มีหน้าที่เสวยอารมณ์นั่นเอง)

วิญญาณ : ความรู้แจ้งอารมณ์ทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ, กระแสความรู้ยืนพื้น ซึ่งเกิดดับต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาควบไปกับนามขันธ์อื่นๆ หรือกิจกรรมทุกอย่างในจิตใจ


ถ้าเข้าใจตัวมนุษย์เองแล้ว กล่าวได้ว่าเข้าใจหมดทุกอย่าง พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้เราค้นพบตัวเอง ให้รู้จักตัวเอง ให้เข้าถึงความจริงที่มีอยู่ในขันธ์ ๕ นี้ เพราะสภาวธรรมที่ประกอบกันขึ้นเป็นมนุษย์นั้น ไม่มีส่วนอื่นใดเกินเลย นอกเหนือไปจากขันธ์ ๕ คือ รูปธรรม ๑ นามธรรม ๔ นี้ พระสารีบุตรท่านเปรียบเทียบความอิงอาศัยกันของรูปและนามเหมือนไม้สองท่อนที่ค้ำยันกัน

คำว่า “รูปธรรม” นั้นรวมไปถึงพลังงานฝ่ายวัตถุ เช่น พลังงานความร้อน คลื่นสัญญาณต่างๆ และคลื่นเสียง ที่ตามองไม่เห็นด้วย อ.เสถียร โพธินันทะอธิบายว่า “หลักในการวินิจฉัยแยกนามรูปอย่างง่ายๆคือ รูปกับรูปนั้นกระทบกันเองได้แต่รูปกระทบนามไม่ได้” คำว่ากระทบในที่นี้เข้าใจว่าหมายถึงเป็นลักษณะการกระทบทางฟิสิกส์เท่านั้น นอกจากนี้นามไม่ถูกจำกัดด้วยเทศะ คือ ไม่กินพื้นที่ เช่น ภวังคจิต สามารถเก็บความทรงจำต่างๆได้อย่างไม่สิ้นสุด

อธิบายศัพท์ “สังขาร” สังขาร แปลว่า ปรุงแต่ง ใช้ในความหมายหลักๆ ๔ อย่าง คือ

- สังขารในขันธ์ ๕ หมายถึง สภาวะที่ปรุงแต่งจิต, คุณสมบัติต่างๆของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ เป็นส่วนนามธรรมอย่างเดียว
- สังขารในปฏิจจสมุปบาท สังขารในขันธ์ ๕ มุ่งแสดงส่วนประกอบ ส่วนในปฏิจจสมุปบาทมุ่งแสดงกระบวนการปฏิบัติการ โดยจำแนกตามทวาร คือ เจตนาที่กระทำทางกาย วาจา ใจ หรือ จำแนกตามสภาพที่เป็นกุศลหรืออกุศล
- สังขารในไตรลักษณ์ หมายถึง สภาวะที่ถูกปรุงแต่ง (ความหมายกว้าง) คือ สภาวะที่เกิดจากเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตาม มีชีวิตหรือไร้ชีวิตก็ตาม เรียกอีกอย่างว่า สังขตธรรม คือ ทุกสิ่งทุกอย่าง เว้นแต่ นิพพาน ซึ่งเป็น วิสังขาร หรือ อสังขตธรรม
- สังขาร บางครั้งก็ใช้ในความหมายเท่ากับ ขันธ์ ๕ ทั้งหมด (ในภาษาไทยใช้ในความหมายนี้เป็นส่วนใหญ่)


ส่วนแทรกเสริม : การจัดแบ่งแบบคัมภีร์อภิธรรม 
ตามแนวพระสูตรนิยมแบ่งเป็นขันธ์ ๕ ส่วนในพระอภิธรรมแบ่งเป็น ๓ คือ รูป (รูปขันธ์), จิต (วิญญาณขันธ์), เจตสิก (เวทนาขันธ์+สัญญาขันธ์+สังขารขันธ์) 

เจตสิก เจตสิก คือ ธรรมที่ประกอบกับจิต, มีอารมณ์และวัตถุที่อาศัยเดียวกับจิต, อาการหรือคุณสมบัติต่างๆของจิต มี ๕๒ อย่าง (เวทนา๑+สัญญา ๑+สังขาร ๕๐)

อัญญาสมานาเจตสิก : เจตสิกที่มีเสมอกันแก่จิตพวกอื่น คือ ประกอบเข้าได้กับจิตทุกฝ่ายทั้งกุศลและอกุศล มี ๑๓ อย่าง แบ่งเป็น
    ๑.๑) เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับจิตทุกดวง (สาธารณะ) ได้แก่ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ (อินทรีย์คือชีวิต, สภาวะที่เป็นใหญ่ในการรักษานามธรรมทั้งปวง) มนสิการ
    ๑.๒) เจตสิกที่ไม่เกิดขึ้นกับจิตแน่นอนเสมอไปทุกดวง (ปกิณณกะ) ได้แก่ วิตก วิจาร อธิโมกข์ วิริยะ ปีติ ฉันทะ

อกุศลเจตสิก : เจตสิกฝ่ายอกุศล มี ๑๔ อย่าง แบ่งเป็น
    ๒.๑) เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับอกุศลจิตทุกดวง ได้แก่ โมหะ อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อบาป) อโนตตัปปะ (ความไม่กลัวต่อบาป) อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน)
    ๒.๒) เจตสิกที่ไม่เกิดขึ้นกับอกุศลจิตแน่นอนเสมอไปทุกดวง ได้แก่ โลภะ ทิฏฐิ (หมายเอาเฉพาะมิจฉาทิฏฐิ ส่วนสัมมาทิฏฐิจัดเข้าในปัญญา) มานะ โทสะ อิสสา (ความริษยา) มัจฉริยะ (ความตระหนี่) กุกกุจจะ (ความเดือดร้อนใจ) ถีนะ (ความหดหู่) มิทธะ (ความง่วงเหงา) วิจิกิจฉา

โสภณเจตสิก : เจตสิกฝ่ายดีงาม (เกิดกับจิตที่เป็นกุศลและอัพยากฤต) มี ๒๕ อย่าง แบ่งเป็น
    ๓.๑) เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับกุศลเจตสิกทุกดวง ได้แก่ ศรัทธา สติ หิริ (ความละอายต่อบาป) โอตตัปปะ (ความกลัวต่อบาป) อโลภะ อโทสะ ตัตรมัชฌัตตตา (ความเป็นกลางในอารมณ์นั้นๆ, อุเบกขา) กายปัสสัทธิ (คำว่ากายในที่นี้หมายถึง เวทนา สัญญา สังขาร คือ ความสงบแห่งกองเจตสิก) จิตตปัสสัทธิ (คำว่าจิตในที่นี้หมายถึง วิญญาณ คือ ความสงบแห่งจิต) กายลหุตา (ความเบาแห่งกองเจตสิก) จิตตลหุตา (ความเบาแห่งจิต) กายมุทุตา (ความนุ่มนวลแห่งกองเจตสิก) จิตตมุทุตา (ความนุ่มนวลแห่งจิต) กายกัมมัญญตา (ความควรแก่งานแห่งกองเจตสิก) จิตตกัมมัญญตา (ความควรแก่งานแห่งจิต) กายปาคุญญตา (ความคล่องแคล่วแห่งกองเจตสิก) จิตตปาคุญญตา (ความคล่องแคล่วแห่งจิต) กายุชุกตา (ความซื่อตรงแห่งกองเจตสิก) จิตตุชุกตา (ความซื่อตรงแห่งจิต)
     ๓.๒) เจตสิกที่เป็นตัวความงดเว้น ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
    ๓.๓) อัปปมัญญาเจตสิก ได้แก่ กรุณา มุทิตา (เมตตา = อโทสะ, อุเบกขา = ตัตรมัชฌัตตตา)
    ๓.๔) ปัญญินทรีย์เจตสิก ได้แก่ ปัญญินทรีย์ (หรือ อโมหะ)



  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

๑.๑ มัชเฌนธรรมเทศนา

หลักความจริงที่เป็นกลางตามธรรมชาติ หรือ ธรรมที่เป็นกลาง

มัชเฌนธรรมเทศนา คือ ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นกลางๆ ตามความจริงของธรรมชาติ คือตามสภาวะที่สิ่งทั้งหลายมันเป็นของมันเอง ตามเหตุปัจจัย ไม่ติดข้องในทิฏฐิ คือทฤษฎีหรือแนวคิดเอียงสุดทั้งหลาย ที่มนุษย์วาดให้เข้ากับความหมายรู้ที่ผิดพลาด และความยึดความอยากของตน ที่จะให้โลกและชีวิตเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไปตามที่ตนปรุงแต่ง

พุทธธรรมมองเห็นสิ่งทั้งหลายเป็นธาตุ เป็นธรรม เป็นสภาวะ อันมีอยู่เป็นอยู่ตามภาวะของมัน ที่เป็นของมันอย่างนั้น เช่นนั้น ตามธรรมดาของมัน มิใช่มีเป็นสัตว์ บุคคล อัตตา ตัวตน เราเขา ที่จะยึดถือเอาเป็นเจ้าของ ครอบครอง บังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนาอย่างไรๆได้ บรรดาสิ่งทั้งหลายที่รู้จักเข้าใจกันอยู่โดยทั่วไปนั้น มีอยู่เป็นอยู่เป็นไปในรูปของส่วนประกอบต่างๆที่มาประชุมกันเข้า ตัวตนแท้ๆของสิ่งทั้งหลายไม่มี (ปรมัตถสัจจะ) เมื่อแยกส่วนต่างๆ ที่มาประกอบกันเข้านั้นออกไปให้หมด ก็จะไม่พบตัวตนของสิ่งนั้นเหลืออยู่ เมื่อจะพูดว่าสิ่งทั้งหลายมีอยู่ (สมมติสัจจะ) ก็ต้องเข้าใจในความหมายว่า มีอยู่ในฐานะมีส่วนประกอบต่างๆมาประชุมเข้าด้วยกัน นิยมเรียกว่า “สภาวธรรม” แปลว่า สิ่งที่มีภาวะของมันเอง


(ศัพท์คำว่า “ธรรม” มีหลายความหมาย อย่างเจาะจงหมายถึง พระธรรมคำสั่งสอน, หลักการ แบบแผน อย่างกว้างหมายถึง สภาพตามธรรมดาธรรมชาติ ซึ่งเป็นศัพท์ที่มีความหมายกว้างที่สุด ครอบคลุมถึงทุกสิ่งทุกอย่าง)



  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

พุทธธรรม

หลักธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะมีชื่อใดๆ ล้วนสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งสิ้น เพราะแสดงถึงหรือสืบเนื่องมาจากสัจธรรมเดียวกัน และเป็นไปเพื่อจุดหมายเดียวกัน แต่นำมาแสดงในชื่อต่างๆกัน โดยชี้ความจริงเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง คนละส่วนละตอนกันบ้าง แสดงคนละรูปละแนว เพื่อวัตถุประสงค์คนละอย่างบ้าง บางข้อเป็นส่วนย่อยของหลักใหญ่ บางข้อเป็นหลักใหญ่ด้วยกัน แต่มีแนวหรือรูปแบบการแสดงและความมุ่งหมายจำเพาะในการแสดงต่างกัน ลักษณะทั่วไปของพุทธธรรมนั้น สรุปได้ ๒ อย่าง คือ

๑. มัชเฌนธรรมเทศนา (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ)

หลักความจริงที่เป็นกลางตามธรรมชาติ หรือ ธรรมที่เป็นกลาง ว่าด้วยความจริงตามแนวของเหตุผลบริสุทธิ์ตามกระบวนการของธรรมชาติ นำมาแสดงเพื่อประโยชน์ในทางปฏิบัติในชีวิตจริงเท่านั้น ไม่ส่งเสริมการเข้าถึงสัจธรรมด้วยวิธีถกเถียงสร้างทฤษฎีต่างๆ และการเก็งความจริงทางปรัชญา

๒. มัชฌิมาปฏิปทา (มรรค)

ข้อปฏิบัติที่เป็นกลางตามธรรมชาติ หรือ ทางสายกลาง เป็นภาคปฏิบัติอันเป็นหลักการครองชีวิตของผู้ฝึกอบรมตน ผู้รู้เท่าทันชีวิต ไม่หลงงมงาย มุ่งผลสำเร็จคือ ความสุข สะอาด สว่าง สงบ เป็นอิสระ ที่สามารถมองเห็นได้ในชีวิตนี้

ทางสายกลางนั้น มิใช่หมายถึงอยู่กึ่งกลางระหว่าง ที่สุดทั้ง ๒ ทาง หรือกึ่งกลางของทางหลายๆทาง แต่หมายถึง ความมีเป้าหมายที่แน่ชัด แล้วกระทำตรงจุด พอเหมาะพอดีจะให้ผลสำเร็จตามเป้าหมายนั้น ไม่เขวออกไปเสีย ทางสายกลางนี้ถ้าไม่เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ ก็ไม่มีมัชฌิมาปฏิปทา ถ้าไม่ดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา ก็แก้ปัญหาดับทุกข์ไม่สำเร็จ


( พุทธธรรมอย่างย่อ)

๑ . มัชเฌนธรรมเทศนา (ภาคแสดงหลักการ)
๑.๑ มัชเฌนธรรมเทศนา
๑.๒ ขันธ์ ๕
๑.๓ อายตนะ ๖ และวิธีปฏิบัติต่อทุกข์-สุข ๔
๑.๔ สัจจะ ๒ ระดับ
๑.๕ ไตรลักษณ์
๑.๖ ประมวลความหมายของอนัตตา
๑.๗ ปฏิจจสมุปบาท
๑.๘ ธรรมนิยาม
๑.๙ กิเลส
๑.๑๐ กรรม
๑.๑๑ กรรม ๑๒
๑.๑๒ แก้กรรม ด้วยปฏิกรรม
๑.๑๓ นิพพาน : ประโยชน์สูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้จากชีวิตนี้
๑.๑๔ ภาวะแห่งนิพพาน
๑.๑๕ ลักษณะของพระอรหันต์ผู้เข้าถึงนิพพาน (ภาวิต ๔)
๑.๑๖ ความพร้อมที่จะมีความสุข
๑.๑๗ วิมุตติ ๕
๑.๑๘ ความเข้าใจสับสนเกี่ยวกับนิพพาน
๑.๑๙ นิพพาน มีอัตตาไหม เป็นอัตตาไหม?
๑.๒๐ พระอริยบุคคล
๑.๒๑ สังโยชน์ ๑๐
๑.๒๒ พระอริยบุคคล ๗ (ทักขิไฌยบุคคล ๗)
๑.๒๓ โสดาปัตติยังคะ ๔
๑.๒๔ สำนวนแสดงความแตกต่างระหว่างพระอริยบุคคลแต่ละระดับ
๑.๒๕ หลักการบรรลุนิพพาน
๑.๒๖ ปริญญา
๑.๒๗ หลักวิปัสสนาบางส่วนจากพระไตรปิฎก
๑.๒๘ วิสุทธิ ๗
๑.๒๙ ความเข้าใจเรื่องจิตตามหลักพระพุทธศาสนา
๑.๓๐ ตัวอย่างกระบวนการของจิตแบบ “อติมหันตารมณ์”
๑.๓๑ ประเด็นเรื่องจิตเดิมแท้

๒. มัชฌิมาปฏิปทา (ภาคปฏิบัติ)
๒.๑ มัชฌิมาปฏิปทา (มรรค ๘)
๒.๒ บุพนิมิตแห่งมรรค
๒.๓ ธรรมานุธรรมปฏิบัติ
๒.๔ การมองโลกตามความเป็นจริง
๒.๕ มรรค ๘ : ทางแห่งการเป็นอยู่ด้วยปัญญา
        ๒.๕.๑ หมวดปัญญา : สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปปะ
        ๒.๕.๒ หมวดศีล : สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ
        ๒.๕.๓ หมวดสมาธิ : สัมมาวายามะ, สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ
                ๒.๕.๓.๑ ระดับของสมาธิ
                ๒.๕.๓.๒ วิธีเจริญสมาธิโดยใช้กรรมฐาน : อานาปานสติ /โอทาตกสิณ / อัปปมัญญา ๔
                ๒.๕.๓.๓ ประโยชน์ของสมาธิ
                ๒.๕.๓.๔ สติปัฏฐาน ๔
๒.๖ ถ้าปฏิบัติธรรมถูกทาง ต้องได้ปราโมทย์
๒.๗ ความไม่ประมาท
๒.๘ อริยสัจ ๔ : ความจริงอันประเสริฐ, สัจจะอย่างอริยะ

๓. อารยธรรมวิถี
๓.๑ อารยธรรมวิถี (วิถีชีวิตของคนมีอารยธรรม)
๓.๒ ความสุข และปัญหาเกี่ยวกับแรงจูงใจ
๓.๓ ความหมายของ ศีล วินัย สิกขาบท พรต วัตร ตบะ
๓.๔ พุทธศาสนา คือ ระบบการพัฒนาความสุข
๓.๕ ระดับขั้นของความสุข
๓.๖ ข้อเสีย หรือจุดบกพร่องของกามสุข
๓.๗ ข้อบกพร่องของฌานสุข
๓.๘ นิพพานสุข และบทลงท้าย

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS